Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 28 July 2014

หุ้น 10 เด้งในทศวรรษหน้า

การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในระยะสั้นนั้นอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรนักต่อหุ้นหรือการลงทุนในสายตาของ VI หรือคนที่ลงทุนระยะยาว  แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในระยะยาวนั้นผมคิดว่าเราต้องติดตามให้ดี  เพราะสภาวะเศรษฐกิจและสังคมหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปนั้น  ย่อมทำให้ความต้องการสินค้าและบริการของคนเปลี่ยนไป  บริษัทหรือกิจการที่เคยรุ่งเรืองอาจจะถดถอยลง  บริษัทใหม่หรือบริษัทเดิมที่ยังไม่สำคัญอาจจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นกิจการที่ยิ่งใหญ่  และนั่นก็ทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านั้นกลายเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  คือเป็นหุ้นที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องยาวนานประมาณว่าเป็น 10 เท่า ในเวลา 10 ปี

          บทเรียนเรื่องหุ้นกลุ่มที่ทำได้ดีเป็นช่วงเวลาประมาณ 10 ปี นั้น  ถ้าดูจากตลาดหุ้นอเมริกาก็จะพบว่ามันเกิดขึ้นมาตลอด เช่น ในช่วงทศวรรษที่ 70 หรือตั้งแต่ปี 1970 ถึง 1980 นั้น  หุ้นกลุ่มที่เติบโตโดดเด่นมากและทุกคนต่างก็เข้ามาลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดีมากก็คือหุ้นที่เรียกว่า  “Nifty Fifty” หรือหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตสูงอย่างเช่นหุ้น IBM  หุ้น GM อะไรทำนองนี้  หุ้นเหล่านี้มักมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้ามีการปรับตัวลงซักพักก็จะขึ้นใหม่  ทุกคนเชื่อว่ามันเป็นหุ้น  “ทางเดียว” คือมีแต่จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  และมีความมั่นคงสูง  “ซื้อแล้วไม่ต้องขาย”  แต่แล้ว  พอถึงปลายทศวรรษ  คนที่เข้าไปลงทุนก็  “เจ๊ง”  เพราะการเติบโตของมันคงเริ่มสะดุดและราคาของมันขึ้นไปสูงมากเกินไป  ทศวรรษที่ 80 ตามมาด้วยหุ้นน้ำมันที่ราคาของน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้นมโหฬารทำให้หุ้นน้ำมันกลายเป็น “พระเอก” ไป  “10 ปี”  แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันถดถอยลงหุ้นก็ “ลงเหว”  และสิ่งที่ตามมาก็คือในทศวรรษที่ 90 ที่หุ้นเกี่ยวกับยาและสินค้าไฮเทคเริ่มเป็นกระแสใหม่ของโลกที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ “ลงมาสู่ประชาชนทั่วไป”  ดังนั้นทศวรรษที่ 90 จึงเป็นของหุ้นไฮเทค  แต่พอขึ้นสหัสวรรษใหม่ปี 2000 “ฟองสบู่” หุ้นไฮเทคก็  “แตก”  คนที่ร่ำรวยจากหุ้นเหล่านั้นหลายคนก็  “เจ๊ง”  ทศวรรษใหม่ที่ตามมาเราได้เห็นโลก “เปลี่ยนแปลง” อย่างสำคัญอีกครั้งนั่นก็คือการก้าวขึ้นมาของประเทศกำลังพัฒนาที่มีคนมาก เช่นจีนและกลุ่ม BRIC ที่ต้องการวัตถุดิบมหาศาลและนี่นำมาซึ่งการ “บูม” ของสินค้าโภคภัณฑ์ และล่าสุดทศวรรษ 10 นี้ก็อาจจะเป็นหุ้นของสังคมข้อมูลออนไลน์ก็ได้

           ตลาดหุ้นไทยเองนั้น  ในอดีตเราก็ผ่านช่วงเวลา “10 ปี” ของความรุ่งเรืองของหุ้นแต่ละกลุ่มมาแล้ว  โดยที่ 10 ปีสุดท้ายถึงวันนี้ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาทองของกลุ่ม “ผู้บริโภค”  ซึ่งส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาโดดเด่นมากกลายเป็นหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เท่าในช่วงเวลา 10 ปี  นี่คงเป็นผลจากการที่คนไทยมีรายได้ต่อหัวถึงจุดที่สามารถบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่มากขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวและทำให้บริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็น  “ผู้ชนะ”  สามารถสร้างรายได้และผลกำไรมหาศาลซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปเร็วและต่อเนื่องติดต่อกันมานานหลาย ๆ  ปี จนถึงปัจจุบัน    แต่อนาคตอีก 10 ปีหรือในทศวรรษหน้า  หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกแล้วในวันนี้จะยังคงเติบโตต่อไปอีก 10 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือไม่?  และถ้าไม่ใช่หุ้นในกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะมีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น?  นี่คือคำถามที่นักลงทุนคงอยากรู้

           ก่อนที่จะเข้าประเด็นเรื่องการวิเคราะห์ทางด้านคุณภาพเรามาดูตัวเลขว่า “หุ้น 10 เด้ง ใน 10 ปี” นั้นจะต้องเป็นอย่างไร?  ประการแรกเลยก็คือ  หุ้นตัวนั้นจะต้องให้ผลตอบแทนหรือมีราคารวมปันผลปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นปีละอย่างน้อยประมาณ 26 % ขึ้นไปเป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี  ฟังดูอาจจะไม่สูงสำหรับหุ้นหลายตัวที่อาจจะปรับตัวขึ้นเป็น 100%  ในเวลาอันสั้นไม่กี่วันหรือเดือน  แต่ประเด็นก็คือ  หุ้นเหล่านั้นมักจะดีแต่ในช่วงสั้น ๆ  หุ้นที่ปรับตัวยาวติดต่อกันปีแล้วปีเล่านั้นมักจะหาได้ยาก

           ข้อที่สองของตัวเลขก็คือ  ถ้าราคาจะปรับตัวขึ้นปีละ 26% กำไรของบริษัทก็ควรจะต้องปรับตัวขึ้นอย่างน้อยปีละ 26% แบบทบต้นเป็นเวลา 10 ปีด้วย  แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่จะเติบโตได้ในอัตราขนาดนั้น  ดังนั้น  สำหรับหุ้น 10 เด้งใน 10 ปี ที่เกิดขึ้นแล้วในตลาดหุ้นไทย  ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะมีกำไรแบบทบต้นไม่ถึง 26% ต่อปี  แต่โตขึ้นเช่นเพียง 17%-18% ขึ้นไปเท่านั้นซึ่งทำให้ราคาหุ้นควรจะขึ้นไปเป็นเพียง 5 เท่าในเวลา 10 ปี  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความนิยมของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น  ทำให้ค่า PE ของหุ้นถูกปรับขึ้นเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้นซึ่งทำให้ราคาหุ้นที่ควรขึ้นไป 5 เท่า  กลายเป็นเพิ่มขึ้นไป 10 เท่าและกลายเป็นหุ้น 10 เด้ง   ตัวอย่างก็เช่น หุ้นในกลุ่มค้าปลีกนั้น  ถ้าดูเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะพบว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ  ค่า PE ของหุ้นจึงเป็นแค่ 10 เท่าต้น ๆ  แต่ถึงปัจจุบันค่า PE กลายเป็นกว่า 20 เท่า   เช่นเดียวกับหุ้นโรงพยาบาลที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในปัจจุบันนั้น  เมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่มีนักลงทุนคนไหนสนใจ  ค่า PE จึงค่อนข้างต่ำอย่างมากก็ 10 กว่าเท่า  แต่ในปัจจุบันก็มีค่า PE หลายสิบเท่า

           การวิเคราะห์เชิงคุณภาพของหุ้น 10 เด้งในอีก 10 ปี ข้างหน้านั้น  ผมคิดว่าน่าจะคล้าย ๆ  กับหุ้น 10 เด้งในอดีต  นั่นก็คือ  ข้อแรก  มันควรเป็นหุ้นที่อยู่ใน “เทรนด์”  ของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่จะเติบโตเร็วต่อไปในอนาคตอย่างน้อย 5-6 ปี ขึ้นไป  ข้อสอง  มันควรจะเป็นหุ้นของผู้ชนะเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอันดับหนึ่ง  และถ้าจะให้ดีต้องเหนือกว่าอันดับสองมาก  ข้อสาม  การชนะของบริษัทจะก่อให้เกิดความได้เปรียบในด้านของการแข่งขันอย่างถาวร  เช่น  ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนเนื่องจากขนาดของบริษัทที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก  หรือการชนะทำให้ชื่อเสียงหรือแบรนด์เนมของสินค้าเป็นที่ยอมรับว่าเหนือกว่ารายอื่นอย่างชัดเจน เป็นต้น  ข้อที่สี่  หุ้นที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น  ควรที่จะเป็นกิจการที่ไม่ต้องลงทุนในการขยายงานสูงและเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีถึงดีมาก  และสุดท้ายก็คือ  ขนาดของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั้นจะต้องใหญ่พอที่จะรองรับการขยายตัวของบริษัทที่จะโตขึ้นอีก 10 เท่าได้

           จากเงื่อนไขต่าง ๆ  ที่กล่าวข้างต้นก็จะพบว่าผมไม่ได้บอกว่าหุ้นตัวไหนหรือกลุ่มไหนจะเป็นหุ้น 10 เด้งในทศวรรษหน้า  สิ่งที่บอกได้ก็คือ  หุ้นแบบไหนหรือกิจการแบบไหนจะไม่สามารถเป็นหุ้น 10 เด้งได้มากกว่า  ยกตัวอย่างง่าย ๆ  ก็คือ หุ้นที่เป็นหุ้น 10 เด้งแล้วในปัจจุบันอย่างหุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งหลายนั้น  ผมคิดว่าไม่สามารถเป็นหุ้น 10 เด้งในอนาคต  เหตุเพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้น  มูลค่าหุ้นของมันจะต้องสูงจนแทบจะ  “กลืนกิน”  อุตสาหกรรมทั้งหมดซึ่งไม่น่าเป็นไปได้   หุ้นกลุ่มที่กำลังร้อนแรงมากและเข้าข่ายว่าอาจจะเป็นธุรกิจที่จะเติบโตไปได้อีกหลาย ๆ  ปี เช่น  หุ้นพลังงานทดแทนแนว  “โซลาร์ฟาร์ม”  นั้น  ผมก็คิดว่ายากที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกเนื่องจากมันเป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูงถ้าจะโต  นอกจากนั้น  มันยังยากที่จะหาผู้ชนะจริง ๆ  เนื่องจากทุกวันนี้อุตสาหกรรมจริง ๆ  ยังไม่ได้มีการแข่งขันแต่เป็นเรื่องที่ยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐเพื่อที่จะอยู่รอด

ก่อนที่จะจบบทความนี้  ผมคงต้องบอกว่าสิ่งที่ผมพูดนั้น  เป็นเรื่องของ “พื้นฐาน”  ของกิจการที่   จะส่งผลให้หุ้นมีโอกาสกลายเป็นหุ้น 10 เด้งใน 10 ปี  สำหรับหุ้นขนาดพอสมควรที่เน้นในด้านของการเติบโตของธุรกิจตามปกติ  แน่นอน  หุ้นขนาดเล็กหรือขนาดจิ๋วที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่และกลายเป็นหุ้น 10 เด้งนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาและไม่สามารถกำหนดเป็นเกณฑ์ได้  เช่นเดียวกับหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว  หรือหุ้น Cyclical หรือหุ้นวัฏจักร  เหล่านี้ก็มีโอกาสเป็นหุ้น 10 เด้งได้  แต่ความเสี่ยงในการลงทุนก็สูงและผมเองก็ไม่มีความสามารถจะกำหนดตัวได้  ว่าที่จริง  แม้แต่หุ้น 10 เด้งในอดีตที่ผมได้ลงทุนมาหลาย ๆ  ตัวนั้น  ตอนที่เริ่มลงทุนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นหุ้น 10 เด้ง  เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว  โดยที่โชคดีที่ผมไม่ได้ขายมัน  ผมถึงได้รู้ว่ามันเป็นหุ้น 10 เด้งที่ได้เปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง  ถึงนาทีนี้ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะได้หุ้น 10 เด้งในจำนวนเหมือนเดิม  เหตุผลง่ายที่สุดก็คือ  หุ้นที่ผมถือในปัจจุบันต่างก็เป็นหุ้นตัวใหญ่ที่คงไม่สามารถโตได้ขนาดนั้นใน 10 ปี

Posted by nivate at 10:08 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/07/28/1456



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 4 August 2014

ตรวจสอบตัวเองก่อนลงทุน

ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องการลงทุนนั้น  สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการตรวจสอบหรือประเมินตัวเราเองว่าสถานะและศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร  จากนั้นเราถึงจะสามารถวางกลยุทธ์และแนวทางที่ถูกต้องที่จะทำให้การลงทุนของเรามีความเหมาะสมที่สุด  การวางแผนการเงินแบบ “มาตรฐาน” เช่น  เราควรจะจัดพอร์ตการลงทุนที่ประกอบไปด้วยเงินลงทุนระยะสั้นที่เป็นเงินสดเท่านั้นเท่านี้  ต้องมีตราสารหนี้ระยะยาว  มีหุ้นและมีตราสารการเงินอื่น ๆ  ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงหรืออายุของเรา   และสุดท้ายบางทีก็บอกว่าเราควรจะต้องมีประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เราตายก่อนกำหนด  เป็นต้น  นั้น  ผมคิดว่าเป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ  ที่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน  ลองมาดูกันว่าอะไรคือปัจจัยที่เราจะต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลของเรา

          เรื่องแรกก็คือ  เรามีทรัพย์สินสุทธิเท่าไร?  บางคนมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติมากเป็นหลายร้อยหรือเป็นพัน ๆ ล้านบาท  เหตุผลในการที่จะทำประกันชีวิตจึงแทบไม่มี  เพราะถ้าเขาตาย  เงินมรดกก็มากมายพอที่จะทำให้ลูกหลานสบายเต็มที่อยู่แล้ว  เงินทุนประกันชีวิตสูงสุดที่ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 10-20 ล้านบาทนั้นย่อมไม่มีความหมายอะไร  เหตุผลที่จะซื้อประกันเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่ดี  เช่น  เฉลี่ยปีละอาจจะถึง 4% เมื่อรวมการได้รับลดหย่อนเรื่องภาษีเงินได้อาจจะถึง 5%  ที่คนขายประกันมักพยายามนำมาชักชวนให้ซื้อประกันนั้น  ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วไม่คุ้มค่าสำหรับคนที่มีเงินมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราไม่สามารถ“ลงทุน” ในการประกันชีวิตเป็นเงินมาก ๆ  เมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดของเราได้

           “ความเสี่ยง”  สำหรับคนที่มีเงินมากเหลือเฟือและไม่มีหนี้หรือภาระที่อาจจะต้องรับ  กับความเสี่ยงของคนที่มีเงินหรือทรัพย์สินสุทธิไม่มากนั้นผมคิดว่าแตกต่างกัน  คนที่มีเงินมากพอที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายตลอดชีวิตทั้งของตนเองและลูกหลานอยู่แล้วนั้น  ความเสี่ยงที่สำคัญอาจจะไม่ใช่ความเสี่ยงในการลงทุนตามปกติที่เกิดจากตราสารการเงินเช่น หุ้นหรือพันธบัตร หรือเงินฝาก หรือแม้แต่การลงทุนในธุรกิจหรือในอสังหาริมทรัพย์  เพราะการลงทุนเหล่านั้น  แม้ว่าเขาจะขาดทุนไปครึ่งหนึ่งหรือขาดทุนไป 75%  เงินที่เหลืออยู่ 25% ก็ยังเพียงพอที่เขาอาจจะอยู่ได้อย่างสบาย   แต่ความเสี่ยงของเขาจริง ๆ  นั้น  อาจจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจาก  “ระบบ” หรือกฎเกณฑ์ของรัฐหรือประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปที่อาจจะทำลายการลงทุนของเขาจนหมดสิ้นไป  สิ่งเหล่านี้ในบ้านเราอาจจะไม่เคยเกิดขึ้น  แต่ในบางประเทศเช่น  ในยุโรปตะวันออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น  ผมคิดว่าคนรวยหรือแม้แต่มหาเศรษฐีจำนวนไม่น้อยต้อง  “สิ้นเนื้อประดาตัว”  เพราะเมื่อเกิดสงคราม  โรงงานหรือธุรกิจอาจถูกระเบิดทำลายไป   เงินฝากที่มีอยู่ก็เฟ้อเนื่องจากประเทศแพ้สงครามหมดค่าลง  บางคนมีที่ดินเหลือแต่หลังสงครามประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดินจึงถูกยึดเป็นของรัฐ  ดังนั้น  สำหรับคนเหล่านี้  การลงทุนที่สำคัญมากที่จะลดความเสี่ยงจริง ๆ  จึงอาจจะอยู่ที่การกระจายการลงทุนไปในหลาย ๆ  ประเทศซึ่งจะทำให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เขาก็ยังมีเงินพอที่จะใช้ชีวิตที่สุขสบายได้

          ข้อตรวจสอบตัวเองต่อมาก็คือเรื่องของรายได้จากการทำงาน  ถ้างานของเรานั้นทำเงินได้ดีและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างสม่ำเสมอ เช่น  เรามีอาชีพเป็นหมอศัลยกรรม  และเราคิดว่าเมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้เงินมากในอนาคตเช่น  การส่งลูกเรียนต่างประเทศ เราก็น่าจะมีกำลังที่ทำได้ด้วยรายได้จากเงินเดือน   ในกรณีแบบนี้  เราก็สามารถลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงเช่นหุ้นได้มากในขณะนี้   แต่ถ้างานในปัจจุบันนั้นถึงจะมีรายได้ดีแต่ไม่ได้มีความแน่นอนมาก  การลงทุนของเราก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น  เช่น  อาจจะต้องลงทุนในตราสารการเงินที่เสี่ยงน้อยกว่าเช่น  การลงทุนในพันธบัตรมากกว่า เป็นต้น   หรือในกรณีที่เรามีรายได้ไม่มากแต่มีความมั่นคงในการทำงาน  แผนการเงินของเราอาจจะเป็นเรื่องของการพยายามอดออมและกันเงินไว้ลงทุนในหุ้นอย่างสม่ำเสมอ  ด้วยวิธีนี้  แม้ว่าเงินที่ลงทุนอาจจะน้อย  แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปยาวนาน  เราก็อาจจะมีทรัพย์สินที่มากพอและมีชีวิตที่สุขสบายได้ในยามที่เราแก่ตัวลง

          เรื่องของอายุก็เป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดแนวทางในการลงทุน  ถ้าอายุเราน้อยและมีกำลังทำงานเต็มที่  การลงทุนที่ “เสี่ยง” ประเภทลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือบางทีมากกว่านั้น  ก็อาจจะเป็นเรื่องที่  “ไม่เสี่ยง”  เพราะเราสามารถ “แก้ตัว”  นั่นคือ  หาเงินมาใช้เลี้ยงชีวิตตนเองตามอัตภาพได้เสมอ  แต่เมื่อเรามีครอบครัวที่ต้องอุปการะหรืออายุมาก 40-50 ปีขึ้นไปแล้ว  การลงทุนก็ควรจะ Balance หรือมีความสมดุลขึ้น  เช่น  ควรจะมีการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอที่มีการลงทุนทั้งด้านของหุ้น  ตราสารหนี้  และอสังหาริมทรัพย์  รวมทั้งเงินสดและการประกันชีวิต  ที่จะทำให้เรามีความสบายใจว่าเงินจะไม่หายไปมากในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายหรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  ในขณะเดียวกัน  เราก็ต้องการผลตอบแทนที่ดีพอสมควรที่จะทำให้ความมั่งคั่งของเราไม่ลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่กัดกินค่าของเงินอย่างช้า ๆ  ตลอดเวลา

           ค่าใช้จ่ายทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่เราจะต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้านั้น  น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งในการวางแผนการเงินและการลงทุน  รายจ่ายที่สำคัญมากที่สุดที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  รายจ่ายทางด้านการศึกษาของลูกและรายจ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลของพ่อแม่ถ้าเราเป็นคนที่จะต้องรับผิดชอบ  และค่าใช้จ่ายของตัวเราเองเวลาเจ็บไข้   เรื่องของลูกนั้น  นอกจากจำนวนที่เรามีหรือต้องการที่จะมีแล้ว  เราคงต้องวางแผนว่าจะให้เขาเรียนที่ไหนในระดับประถมถึงมัธยม  และระดับปริญญาตรี-โท  ในประเทศหรือต่างประเทศ  เพราะค่าใช้จ่ายนั้นแตกต่างกันมาก    ในเรื่องของการรักษาพยาบาลนั้น  โชคดีที่ประเทศเรามีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีมาก  ดังนั้น  ถ้าเราวางแผนที่ดีพอ  เราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากโดยการสมัครในโปรแกรมต่าง ๆ  เช่น  ประกันสังคม  ที่จะทำให้เราได้รับความคุ้มครองด้วยรายจ่ายที่ไม่สูงเกินไป  ส่วนในเรื่องของการศึกษานั้น  รายจ่ายที่มากน้อยมักจะอยู่ที่เราเลือกว่าจะให้ลูกไปทางสาย  “อินเตอร์”  หรือสาย  “ไทย”  ความเห็นของผมก็คือ  ในระดับกลาง ๆ  ค่อนข้างสูงก็คือ  เน้นอินเตอร์ในประเทศจนจบปริญญาตรี  แล้วถ้ามีโอกาสก็ไปต่อโทต่างประเทศที่เป็นโปรแกรม 1 ปี  นี่น่าจะเพียงพอสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้อง “ต่อสู้” ในโลกที่เป็น “สากล”

           สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน  คนที่มีพื้นฐานทางด้านการคำนวณหรือทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น  มักจะมีความได้เปรียบในการศึกษาเรื่องของการลงทุน  โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนมาทางสายการเงินหรือทางธุรกิจพวกเขาสามารถศึกษาเรื่องการลงทุนได้ไม่ยากนัก  แต่คนที่เป็น  “หัวศิลป์”  จำนวนไม่น้อยไม่สามารถวิเคราะห์หุ้นได้  แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นว่าเราไม่สามารถลงทุนในหุ้นได้  ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดว่า  “ถ้าเรารู้ว่าเราโง่เรื่องการเงิน  เราก็หายโง่แล้ว”  วิธีที่จะลงทุนในหุ้นแบบคนที่ไม่รู้เรื่องหรือวิเคราะห์หุ้นไม่เป็นที่ดีที่สุดก็คือ  การซื้อกองทุนอิงดัชนีเช่น SET 50 ไปเรื่อย ๆ  เมื่อมีเงินลงทุน  ด้วยวิธีนี้  คนที่ไม่เก่งเรื่องหุ้นก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีพอใช้ได้  และบ่อยครั้งก็ดีกว่า“มืออาชีพ”  ด้วยซ้ำ   การมีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนที่ดีนั้น  ผมคิดว่าทำให้แผนการเงินหรือการลงทุนของคน ๆ  นั้นอาจจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเกณฑ์มาตรฐาน  การ  “ถือหุ้น 100%  ตลอดไป”  นั้น  ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ของ VI ผู้มุ่งมั่น จำนวนมากในทศวรรษนี้  ว่าที่จริง  หลายคนที่ประสบความสำเร็จสูงนั้น  ลงทุนในหุ้นเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องยาวนาน  ผมเองคิดว่านี่ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมและอาจจะดีเฉพาะในบางสถานการณ์  อย่างไรก็ตาม  แผน แนวทาง  หรือกลยุทธ์การลงทุน  นั้นเป็นเรื่องของแต่ละคน  เขาอาจจะมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติที่จะสามารถ  “รองรับขั้นสุดท้าย”  เช่น  มีพ่อแม่ที่มีเงินมากพอในกรณีที่เขา “หายนะ”  เป็นต้น  ดังนั้น  เราจึงไม่สามารถจะบอกว่าผิดหรือถูก  เราควรจะคิดว่าเรื่องการลงทุนนั้น  “ตัวใครตัวมัน”
 
Posted by nivate at 1:42 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/08/04/1458



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 18 August 2014

Concept Stock

ในช่วงนี้ถ้ามี  “ข่าวลือ”  หรือมีการประกาศว่าบริษัทจะทำ  “Solar Farm” ราคาหุ้นก็มักจะ  “วิ่งระเบิด”  ว่าที่จริงแค่บอกว่าบริษัทจะหันมาทำกิจการ  “พลังงานทดแทน” ราคาหุ้นก็ “วิ่ง” แล้ว  ดูเหมือนว่านักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นจำนวนมากต่างก็คิดว่าพลังงานทดแทนนั้นเป็นธุรกิจที่มีอนาคตที่สดใสและเติบโตมาก  ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  คนคิดว่าบริษัทที่จะทำพลังงานทดแทนนั้น  จะต้องประสบความสำเร็จและจะมีกำไรที่เติบโตมาก  ดังนั้น  ค่า PE ที่ให้กับหุ้นก็จะสูงลิ่ว  บางทีเป็นหลายสิบเท่า  หรือบางทีก็เป็นร้อยเท่า  ทำให้คนที่เข้าไปเล่น “รวย” ไปตาม ๆ  กัน  แต่ความเป็นจริงนั้น  ราคาหุ้นก็อาจจะขึ้นไปในระยะสั้นเพียงแค่ไม่กี่เดือนหรือน้อยกว่านั้นซึ่งทำให้คนที่เข้าไปเล่นในช่วงที่ราคาขึ้นไปแล้วขาดทุน  บางบริษัทที่ดูมี  “น้ำหนัก”  เช่น  บริษัทมีใบอนุญาตหรือมีสัญญาที่จะขายพลังงานให้กับหน่วยงานรัฐชัดเจนแล้วในระดับหนึ่ง  ราคาหุ้นก็อาจจะวิ่งไปได้ยาวและอาจจะสูงอยู่ได้นานเป็นปีหรืออาจจะมากกว่านั้น  อย่างไรก็ตาม  จากการวิเคราะห์ดูถึงผลตอบแทนที่บริษัทจะได้จากการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนแล้วเราก็จะพบว่า  ผลตอบแทนที่แท้จริงของแต่ละโครงการก็เป็นผลตอบแทน “ปกติ”  เช่น  ประมาณ 10%  ต่อปี บวก-ลบ จากเงินลงทุน  ดังนั้น  มูลค่าของกิจการหรือราคาหุ้นก็ไม่ควรจะขึ้นไปมาก  แต่การที่หุ้นวิ่งขึ้นไปมากนั้น  ผมคิดว่ามันคงมีลักษณะของการเป็นหุ้น  “ขายฝัน”  หรือเป็น  “Concept Stock”(CS)

          เรื่องของ CS นั้น  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นบูมเป็นกระทิง  หุ้นที่จะเป็น CS นั้น  จะเป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจที่กำลังเป็นแนวโน้มหรือเป็นเทรนด์ใหม่ของเศรษฐกิจหรือสังคม  ดังนั้น  การเติบโตจะสูงมากและยังไม่มีผู้ชนะที่เด็ดขาดหรือชัดเจนหรือยังไม่รู้ว่าใครจะล้มเหลว  ทุกบริษัทต่างก็มี  “ความฝันที่ยิ่งใหญ่”  นั่นคือ  บริษัทจะเติบโตและทำกำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล  บริษัทที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีก็จะมีคนเข้าไปซื้อมากมายทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเหนือกว่ามูลค่าจากการประเมินราคาทุกวิธี  บริษัทที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีประสบการณ์พอหรือมีขนาดเล็กเองก็ยังได้ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่เอ่ยว่าจะเข้ามาทำธุรกิจหรือแค่เปลี่ยนชื่อบริษัท  มาดูกันว่าอะไรที่เป็น  เคยเป็น  หรือมีโอกาสที่จะกลายเป็น  Concept Stock ได้

          กลุ่มแรกก็คือสิ่งที่ผมขึ้นต้นบทความนั่นก็คือ  พลังงานทดแทน  นี่คือ CS ที่กำลังร้อนแรงมากในตลาดหุ้นไทย  ในระดับโลกเองนั้น  ผมไม่ได้ศึกษาว่ากลุ่มหุ้นที่ทำพลังงานทดแทนนั้นเป็นหุ้น CS หรือไม่  ความรู้สึกก็คืออาจจะไม่  เพราะผมคิดว่าเรื่องนี้ในประเทศพัฒนานั้นมีการทำกันมานานแล้ว  เทคโนโลยีเองก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นลักษณะของการ  “ปฏิวัติ” อุตสาหกรรมพลังงานอะไร  ว่าที่จริงในช่วงหลังที่มีการค้นพบวิธีการขุดก๊าซธรรมชาติ Shale Gas ที่ทำให้ได้ก๊าซราคาถูกในอเมริกา  เทรนด์ของพลังงานทดแทนก็อาจจะชะลอตัวได้  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การผลิตพลังงานทดแทนนั้น  อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรอะไรได้มากมายนัก  เหตุผลอาจจะเพราะว่ามันยังเป็นพลังงานที่ยังไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ล้วน ๆ ได้  ดังนั้น มันจึงไม่สามารถโตและทำกำไรได้ได้ด้วยตัวเอง

          CS ที่มักจะก่อให้เกิดความร้อนแรงของราคาหุ้นกลุ่มต่อมาก็คือ  หุ้น “Turnaround”  นี่คือหุ้นของบริษัทที่ถูกทำให้  “ฟื้นตัว”  จากภาวะวิกฤติของบริษัทโดยเฉพาะจากผู้บริหารและผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพทางการเงิน   การฟื้นธุรกิจนั้นเองส่วนมากก็เป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ทำอยู่  บ่อยครั้งก็เป็นการนำกิจการที่มีกำไรมาใส่ในบริษัทซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการฟื้นตัวอย่างแน่นอน  ผลก็คือ  คนก็แห่กันมาเล่นหุ้นและทำให้ราคาปรับตัวขึ้นไปมากมาย  บางทีเป็นสิบเท่าในเวลาไม่นาน  องค์ประกอบของความสำเร็จในการฟื้นกิจการอีกอย่างหนึ่งที่เริ่มจะมองเห็นในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็คือ  การมี “Turnaround Artist”  หรือนักฟื้นกิจการที่นักลงทุนเชื่อถือว่าจะสามารถทำการให้ประสบความสำเร็จ  อย่างน้อยในด้านของการเพิ่มราคาหุ้นในระยะเวลาอันสั้น

          CS อีกกลุ่มหนึ่งที่มีบางสิ่งบางอย่างใกล้เคียงกับหุ้นฟื้นตัวก็คือหุ้น “นัก Takeover” หรือบริษัทจดทะเบียนที่ใช้กลยุทธ์การเติบโตที่รวดเร็วโดยการซื้อกิจการไม่ว่าจะเป็นกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเดิม  หรือเป็นการเทคโอเวอร์กิจการแบบเดียวกันซึ่งก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีกเนื่องจากบริษัทอาจจะได้ประโยชน์ในด้านของ Economies of Scale หรือการทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดการประหยัดในด้านของต้นทุน  บริษัทที่ทำการ  “เทคโอเวอร์อย่างต่อเนื่อง”  ดูเหมือนจะกลายเป็น CS ที่ตลาดให้มูลค่าที่สูงลิ่วและโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  และก็เช่นเดียวกับเรื่องของหุ้น Turnaround  ก็ก่อให้เกิด “Takeover Artist”  หรือ “ศิลปิน” หรือเซียนทางด้านการควบรวมกิจการ  ซึ่งก็จะกลายเป็นมหาเศรษฐีในแวดวงตลาดหุ้นไทย

          หุ้นที่อาจจะถือว่าเป็น  Concept Stock กลุ่มหนึ่งของตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในอดีตย้อนหลังไปซัก 10 ปีก็คือหุ้นกลุ่ม Modern Trade หรือค้าปลีกสมัยใหม่ นี่คือบริษัทจดทะเบียนที่ค้าปลีกสินค้าผ่านเครือข่ายทั่วประเทศซึ่งเริ่มเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วแทนร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม  เมื่อแนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นมาก็จะพบว่าเกิดจากสินค้าจำเป็นก่อน  ต่อมาสินค้าอย่างอื่นก็เริ่มซื้อขายผ่าน Modern Trade มากขึ้นเรื่อย ๆ  จนกลายเป็นกระแส  หุ้นในตลาดที่ทำธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เกือบทุกตัวก็ทยอยปรับตัวขึ้นไปจากหุ้นที่มีค่า PE ประมาณ 10 เท่าหรือต่ำกว่าก็กลายเป็นหุ้นที่มี PE สูงลิ่วหลายสิบเท่าจนถึงปัจจุบัน

          หุ้นที่จะเป็น CS นั้น  น่าจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนที่หวังสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนสูงต่างก็แสวงหา  แนวทางนั้นน่าจะอยู่ที่การมองไปข้างหน้า  ดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราขาดแคลนและต้องการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศหรือสังคมในขณะที่ผู้เล่นหรือผู้ผลิตหรือให้บริการมีไม่พอ  ในอีกด้านหนึ่งการมองหา CS ก็อาจจะต้องเป็นเรื่องของการสังเกตหรือติดตามเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว  มองว่ามีสินค้าใหม่อะไรที่คนกำลังเริ่มใช้มากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะใช้ต่อไปอีกนานและมีผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพสูงในการเข้ามาให้บริการหรือแข่งขัน   แต่แม้ว่าเราจะชำนาญหรือมีประสบการณ์มากเพียงไรก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดีที่จะบอกได้ชัดเจนว่าอะไรจะเป็น CS ในอนาคต   ถ้าจะให้ผมเดาว่าภาคไหนของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอะไรที่น่าสนใจและอาจจะมีโอกาสเกิด CS ได้  ผมก็คิดว่าเรื่องของ Logistic ที่เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งเป็นกลุ่มหนึ่ง  อีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องของการขายปลีกผ่านช่องทางที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตก็อาจจะมาได้  ว่าที่จริงในต่างประเทศก็เกิดขึ้นแล้ว  นอกจากนั้นก็อาจจะมีเรื่องของธุรกิจที่  “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ที่ใกล้จะรวมเป็นหนึ่งเดียว  เป็นต้น

           ก่อนที่จะจบบทความผมคงต้องเตือนให้เห็นถึง “อันตราย”  จากการเล่นหุ้น CS ด้วยว่ามันมาพร้อม ๆ  กับผลตอบแทนสูงที่คาดว่าจะได้รับ  ว่าที่จริงคนที่ขาดทุนอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ  เหตุผลก็เพราะว่าเมื่อกลายเป็น  “Concept”  ไปแล้ว  นักลงทุนก็มักคิดไปว่าหุ้นทุกตัวที่ทำธุรกิจหรือมีแนวทางการทำธุรกิจแบบนั้นก็จะต้องดีหรือประสบความสำเร็จไปด้วยซึ่งไม่จริง  ดังนั้น  ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นโดยโดยเฉพาะที่ราคาขึ้นไปสูงมากแล้วเราก็อาจจะขาดทุนได้มาก  นอกจากนั้น  ค่าที่คนเชื่อและเข้าไปเล่นมาก  ก็มีโอกาสที่จะเกิดการ “ฉ้อฉล”  โดยผู้บริหารบริษัทเจ้าเล่ห์บางคนที่ต้องการ  “ปั่นหุ้น”  โดยอาศัย Concept ที่กำลังเป็นที่นิยม  ตัวอย่างหุ้น  Enron ในธุรกิจพลังงาน และหุ้น World Com ในกลุ่มสื่อสารของอเมริกาควรจะเป็นเรื่องเตือนใจพวกเราให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเวลาคิดเล่นหุ้น CS

 
Posted by nivate at 11:14 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/08/18/1461



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Thursday, 21 August 2014
บันทึกกรณีศึกษา SCBLIF

โลกธุรกิจย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป  อาจเพื่อความอยู่รอดของกิจการ เพื่อกลยุทธ์ธุรกิจตอบสนองสภาวะการแข่งขัน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจหรือผู้ถือหุ้น นักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนยาวนานจึงมักเห็นพัฒนาการและบทสรุปที่ แตกต่างกันไป เช่น กรณีศึกษา Hostile Takeover บจม.มติชน MATI) กรณีศึกษา Management Buyout ของ บจม. เอสวีไอ SVI)  กรณีศึกษาข้อตกลงจะซื้อจะขาย บจม. เสริมสุข SSC) กรณีศึกษากลยุทธ์ขยายธุรกิจและ M&As ของบจม.กรุงเทพดุสิตเวชการ BGH) หรือกรณีศึกษา Back Door Listing หรือการเป็นบริษัทจดทะเบียนทางอ้อม ที่มักมีให้เห็นกับในทุกตลาดทุนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
มีกรณีศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย นั่นคือการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ บจม. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต SCBLIF) โดย บจม. ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB) เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ พูดง่ายๆ คือ การขอเสนอซื้อหุ้น SCBLIF ส่วนที่เหลือทั้งหมดเพื่อนำบริษัทออกจากตลาดหุ้น Delisting) นั่นเอง

SCBLIF เดิมชื่อ บจม. ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต ประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยมีรายได้หลักจากธุรกิจประกันชีวิตและการลงทุน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งขายหุ้นให้กับ SCB จึงทำให้ SCB และกลุ่มนิวยอร์คไลฟ์ ถือหุ้นเท่าๆ กันประมาณฝ่ายละ 47.33 %  ธุรกิจประกันชีวิตมีผลประกอบโดดเด่นต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะการนำกลยุทธ์ขายประกันผ่านธนาคาร Bancassurance) มาใช้จนประสบความสำเร็จอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการของ SCB มีมติให้ซื้อหุ้นในจากผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มนิวยอร์คไลฟ์ที่ราคา 266.89 บาทและต้องทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายย่อย Tender Offer) ในราคาดังกล่าว แต่เนื่องจากราคาที่ซื้อขายในตลาดขณะนั้นสูงกว่าราคาเสนอซื้ออย่างมาก นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะถือหุ้น SCBLIF ต่อไป หลังเสร็จสิ้นธุรกรรมดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็น บจม. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ดังเช่นปัจจุบัน โครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันปิดสมุดที่ 8 เมษายน 2557 ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ 94.66% น.ส. จินตนา กาญจนกำเนิด 0.66% Mr. David John Scott 0.58% นางภาวนา อัจฉราวรรณ 0.54% นางประนอม ภู่ตระกูล 0.51% และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ โดย SCBLIF มีมูลค่าตลาด ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2557 ที่ 75,145 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 SCB ได้แสดงเจตจำนงขอทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ SCBLIF ที่เหลือทั้งหมดจำนวน 5.35% เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากไม่สามารถกระจายการถือหุ้นรายย่อยตามกฎเกณฑ์การดำรงสถานะที่ต้องไม่น้อยกว่า 15% มากว่า 2 ปี โดยเสนอซื้อที่ราคา 1,117.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

การรับคำเสนอซื้อทั้งหมดและการขอเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น SCBLIF ผ่านการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ถูกกำหนดไว้ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 และเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 SCBLIF แจ้งว่า คณะกรรมการตรวจสอบได้คัดเลือกบริษัทปรึกษาทางการเงินอิสระ IFA) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เสนอแนะความเห็น และชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท

ความน่าติดตามของกรณีศึกษานี้คือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนหนึ่งเห็นว่า เงินค่าปรับในการไม่ดำรงสถานะตามเกณฑ์ไม่สูงมากและยังต้องการให้ซื้อขายในตลาดหุ้นต่อไป แต่หากต้องขายหุ้น ราคาที่เสนอซื้อก็เป็นราคาที่ต่ำเกินไป ไม่ได้รับความยุติธรรม จึงแสดงความคิดเห็นคัดค้านไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยงข้องทั้งหมดและผ่านสื่อต่างๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 SCBLIF ได้แจ้งมติการเปลี่ยนแปลงที่ปรึกษาการเงินอิสระเดิมพร้อมแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินใหม่และเลื่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นออกไปเป็นวันที่ 18 สิงหาคม 2557 แทน และเมื่อถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 จึงแจ้งเลื่อนการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นออกไปก่อน

วันที่ 28 กรกฎาคม 2557 SCBLIF ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงที่ปรึกษาทางการเงินอิสระใหม่อีกครั้งเป็นรายที่สาม และแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสัญญาการให้สิทธิพิเศษในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตระหว่าง SCB และ SCBLIF ซึ่งอาจส่งผลทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตรายได้ กำไรสุทธิและมูลค่ากิจการของ SCBLIF ในอนาคต

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา SCBLIF ได้รายงานผลกำไรสุทธิของไตรมาสสองเพิ่มขึ้น 37% และเพิ่มขึ้น 30% สำหรับ 6 เดือนแรก แม้ผลประกอบการจะโดดเด่นมากแต่ราคาหุ้นก็ไม่ตอบสนองมากนักและโดยปิดที่ระดับ 1,130 บาท ทั้งนี้เพราะราคาหุ้นถูกกดดันจากราคาเสนอซื้อที่ 1,117.25 บาทและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น สำหรับผู้ตัดสินใจลงทุน ณ ระดับราคานี้คงเหลือทางเลือกสองทางคือ ต้องยอมขายขาดทุนหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาเสนอซื้อ หรือต้องยอมเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทนอกตลาดที่มีกฎระเบียบน้อยลงอย่างมาก
ที่กล่าวมาเป็นเพียงบันทึกกรณีศึกษา SCBLIF ที่เดินทางมาถึงจุดที่ต้องมีบทสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาอีกไม่นานนัก ในฐานะ Value Investor ทุกคนแม้จะถือหรือไม่ถือหุ้น SCBLIF ก็ควรติดตามกรณีศึกษานี้ไว้ เพราะนี่คือบทพิสูจน์ “กลไกและฟันเฟือง” การทำงานของตลาดทุนไทยว่า คณะกรรมการบริษัท กรรมการอิสระ คณะกรรมการตรวจสอบ  ฝ่ายบริหาร ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หน่วยงานกำกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้ทำหน้าที่สมกับบทบาทของตนมากน้อยเพียงใด 
 
Posted by thanwa at 4:24 PM in คิด วิเคราะห์ แยกแยะ

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/thanwa/2014/08/21/1462


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
อ.ดร.นิเวศน์ ท้า อ.ดร.ไพบูลย์ และ ชาวไทยวีไอ (Ice bucket challenge)

<a href="http://www.youtube.com/v/UAhDLlFwdRA" target="_blank" class="new_win">http://www.youtube.com/v/UAhDLlFwdRA</a>


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 25 August 2014

นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุน

คนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นมักจะมีนิสัยที่สำคัญหลาย ๆ  ประการ  และต่อไปนี้คือบางส่วนที่ผมคิดว่าเราควรจะต้องมีหรือต้องฝึกฝนไว้:

          ข้อแรกคือ  เวลาลงทุนอะไรก็ตาม  คิดถึงเรื่องความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากกว่ากำไร  ในการคิดถึงเรื่องนี้นั้น  ผมมักจะดูหรือวิเคราะห์ถึง  “พื้นฐาน”  ที่แท้จริงของบริษัท  การดูเรื่องนี้แปลว่าเราจะต้องคิดถึงผลประกอบการในระยะยาวหลาย ๆ  ปี  ในกรณีของบริษัทปกติก็อย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไป  ในกรณีของกิจการที่เป็นสัมปทานหรือมีใบอนุญาตที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ส่วนใหญ่ผมก็จะต้องคิดไปถึงเวลาที่ครบกำหนด  ผมมักจะ  “หลอก”  ตัวเองว่า  เมื่อซื้อหุ้นแล้ว  ผมไม่มีสิทธิที่จะขายในเวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี  ดังนั้น  เวลาเราคิดแบบนี้   เราจะไม่เอาข่าวหรือการคาดการณ์ผลประกอบการในระยะสั้น ๆ  เพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปี มาเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุน  มีอยู่บ่อย ๆ  ที่ผมพลาดลงทุนในหุ้นที่ราคาพุ่งพรวดเพราะกำลังมีเหตุการณ์ที่ดี ๆ  เกิดขึ้นและผมก็คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่ซื้อมัน  เหตุเพราะว่าผมคิดว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว  อนาคตต่อไปก็ “ไม่แน่นอน”  ถ้าเราถือหุ้นยาวไปก็อาจจะขาดทุนได้    ความมี “วินัย” ที่แรงกล้าแบบนี้ทำให้เราพลาดโอกาสทำกำไรง่าย ๆ  แต่ก็ช่วยให้เราไม่ขาดทุนกับหุ้นตัวไหนได้ง่าย ๆ  และแม้ว่าบางตัวจะ  “สะบักสะบอม”  ในช่วงแรก  แต่เมื่อถือยาวต่อไปมันก็มักจะ “ได้ทุนคืนมา”

            ข้อสองคือ  ถ้าเราเลือกหุ้นที่พื้นฐานดีในระยะยาวและ/หรือมีระบบในการลงทุนที่ถูกต้อง  เช่น มีพอร์ตการลงทุนที่เราคิดว่าเหมาะกับตัวเราแล้ว  เช่น  มีจำนวนเงินลงทุนในหุ้น 50% มีหุ้นกู้หรือพันธบัตร 30%  มีสินทรัพย์ทางเลือกเช่น ทอง 10%  ที่เหลือเป็นเงินสด  เราก็ควรจะรักษาการลงทุนของเราให้  “คงเส้นคงวา”  ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปมาเมื่อประสบกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  อย่าตื่นเต้นหรือตกใจง่ายกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง  ว่าที่จริงอะไรก็ตามถ้าไม่กระทบกับบริษัทที่เราลงทุนตรง ๆ  และแรง  โดยส่วนใหญ่แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไร  นิสัยสำคัญที่เราจะต้องสร้างก็คือ  เราต้องทำใจให้สงบ  เป็นคนที่  “ใจเย็นเป็นน้ำ”  เวลาลงทุน    ผมเองไปลอนดอนบ่อย  สิ่งที่เห็นเป็นประจำก็คือป้ายคำขวัญที่ทำเป็นของที่ระลึกที่เขียนว่า  “Keep Calm  and Carry on” หรือ “ใจเย็นและสู้ต่อไป”   ซึ่งผมเข้าใจว่าเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่คนอังกฤษพยายาม “ปลอบใจ”  ให้คนใจเย็น ๆ  มีขวัญกำลังใจที่จะเอาชนะสงคราม  ตอนหลังสินค้าก็เอามาทำเป็นคำโฆษณามากมายเช่น Keep Calm and Have a Cupcake หรือ ใจเย็น ๆ  แล้วก็กินขนมเค้กซักชิ้น และอื่น ๆ  อีกมาก

           นิสัยข้อสามที่ผมคิดว่าควรจะเตือนตัวเองให้ปฏิบัติตลอดเวลาก็คือ  “สังเกตและคิดแบบนักลงทุน”  นี่จะทำให้เราพบโอกาสในการลงทุนเช่นเดียวกับฝึกฝนให้เราเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี  สูตรที่ผมใช้ก็คือ  พยายามคิดว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ต่างก็ “แข่งขันกัน”  ผู้ชนะนั้นจะได้ “รางวัล” มากน้อยตามระดับการชนะนั้น  ซึ่งก็จะส่งผลให้เขาหรือบริษัทหรือองค์กรอะไรก็ตามมี  “ค่า” ต่อ  “เจ้าของ”  ตามที่ควรจะเป็น   แน่นอน  บางสิ่งบางอย่างเช่นวัดหรือศิลปินที่ไม่มีสังกัดนั้นไม่มี  “เจ้าของ” ซึ่งในฐานะของนักลงทุนเราก็ทำอะไรไม่ได้  แต่ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนนั้น  เราสามารถเป็นเจ้าของได้  และนี่ก็คือโอกาสที่เราจะลงทุน  ในช่วงที่เรายังไม่คุ้นเคยกับการคิดแบบนี้  สิ่งที่เรามักจะสับสนก็คือ  เราไม่รู้ว่าใครแข่งกับใคร  บ่อยครั้งเราอาจจะสรุปว่ามัน  “ไม่มีคู่แข่ง”  แต่ในความคิดผมแล้ว  สิ่งมีชีวิตหรือองค์กรของสิ่งมีชีวิตนั้นมีคู่แข่งและแข่งกันเสมอ  เพียงแต่บางครั้งเราอาจจะยังหาไม่พบ

          นิสัยข้อสี่ที่สำคัญก็คือ  หมั่นศึกษาหาความรู้โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และจิตวิทยานอกเหนือไปจากการศึกษาเรื่องการลงทุน  การอ่านหนังสือควรเป็นนิสัยที่ติดตัว  ผมเองมีคติว่าเราต้องกินอาหารที่ดีทุกวันเช่นเดียวกับต้องบริโภค  “อาหารสมอง”  เป็นประจำ  ดังนั้น  ทุกสัปดาห์ที่ผมไปจ่ายตลาดเพื่อหาอาหารมากินตลอดสัปดาห์แล้ว   ผมก็มักจะต้องไปจ่าย  “อาหารสมอง”  ในร้านหนังสือที่มีหนังสือดี ๆ  ที่ผมต้องใช้เวลาอยู่กับมันพอ ๆ  กับการจ่าย “อาหารกาย” อาหารสมองหรือความรู้ที่เราได้รับนั้นจะช่วยให้เรามีพื้นฐานและความคิดในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ได้อย่างถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการลงทุน

           ข้อที่ห้า  นิสัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนก็คือ  อย่าเล่น  “หุ้นปั่น”  ทุกกรณี  และพยายามหลีกเลี่ยงหุ้นที่มี Story หรือเรื่องราวที่น่าสนใจที่ทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงมากในเวลาอันสั้นแล้ว  วิธีสังเกตว่าตัวไหนเข้าข่ายเป็นหุ้นปั่นหรือหุ้นที่มี Story นั้น  นอกจากข่าวและเหตุผลดี ๆ  ที่ออกมาจากบริษัทหรือแหล่งข่าวอื่น ๆ  แล้ว  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นก็เป็นข้อมูลสำคัญที่จะชี้ว่ามันเป็นหุ้นดังกล่าวหรือไม่  เกณฑ์คร่าว ๆ  ก็คือ  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงติดต่อกันหลายวันคิดแล้วหุ้นอาจจะขึ้นไปเป็น 100% ในเวลาเพียงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์  ส่วนปริมาณหุ้นเองก็สูงขึ้นมาก  อัตราการหมุนเวียนหุ้นนั้นอาจสูงเป็น 50-100% ของปริมาณหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายในการซื้อขายเพียงวันเดียว เป็นต้น  นอกจากนั้น  ในเวบบอร์ดเกี่ยวกับหุ้นที่แพร่หลายมีผู้ติดตามกันมากนั้นก็มักจะมีคนโพสต์ข้อความเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าวมากผิดปกติ    นิสัยไม่สนใจหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงและราคาหุ้นขึ้นไปมากแล้วนั้น  ผมคิดว่าจะช่วยปกป้องให้เราไม่ขาดทุนหรือล้มเหลวจากการลงทุนในระยะยาว   เหตุผลหนึ่งก็คือ  มันทำให้เราต้องเน้นการเลือกหุ้นลงทุนเฉพาะในกิจการที่มีผลประกอบการเป็นหลักแทนที่จะเน้นที่ข่าวและปัจจัยเอื้ออำนวยในระยะสั้นซึ่งอาจจะไม่ได้กระทบกับพื้นฐานจริง ๆ  ของบริษัท

          นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุนข้อที่หกก็คือ  ลงทุนเฉพาะในสิ่งที่ตนเองรู้และเข้าใจ  นั่นก็คือ  ไม่ลงทุนตามคนอื่นตราบใดที่ตนเองยังไม่เข้าใจตัวกิจการจริง ๆ  นั่นหมายความว่า  เราอาจจะไม่ยอมลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น ปิโตรเคมีเลยเนื่องจากมันเป็นอุตสาหรรมที่อยู่นอกเหนือความรู้ของเรา  นิสัยข้อนี้อาจจะทำให้เรามีหุ้นที่สามารถลงทุนได้น้อยลง  อย่างไรก็ตาม  ข้อดีก็คือ  ทำให้เรามีเวลาศึกษาวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวมากขึ้น  นอกจากนั้น  ความถูกต้องของการวิเคราะห์ก็จะสูงขึ้น  การลงทุนของเราก็จะ Focus หรือไม่กระจายมากเกินไป  และนี่ก็จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของเรามีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น

          นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การเน้นคุณค่าเวลาจะซื้อหรือทำอะไรต่าง ๆ  นี่ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนแต่รวมถึงการซื้อของอย่างอื่นหรือแม้แต่การทำงาน  พูดง่าย ๆ  ทำอะไรก็ต้องดูว่าเราจะได้ผลตอบแทนสูงกว่ารายจ่ายหรือต้นทุนที่เราทุ่มเทลงไป  เมื่อเราทำแบบนี้จนกลายเป็นนิสัย  การลงทุนของเราก็จะมีแนวทางหรือแนวคิดแบบเดียวกัน  และนั่นจะทำให้การลงทุนของเราเป็นเรื่องของ Value Investment หรือเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าโดยอัตโนมัติ  ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ  เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ  ถ้าจะว่าไป  ไม่มีเซียน VI คนไหนที่จะรักษาสถิติหรือผลงานการลงทุนที่ดีได้โดยปราศจากการมีนิสัยการลงทุนที่ดีด้วย  และไม่มีใครคนไหนที่จะกลายเป็นเซียนได้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติและพัฒนานิสัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการเป็น VI  ผมเชื่ออย่างนั้น

 
Posted by nivate at 11:32 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/08/25/1463




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

วันที่: 2012-08-08 10:18:12
วีไอ 'อนุรักษ์ บุญแสวง' จากทุน 8 แสน สู่หลัก 'ร้อยล้าน'

กำไรทบต้น สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก 'โจ' อนุรักษ์ บุญแสวง ผู้เดินตามแนวคิด 'อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์' วันนี้เขามีพอร์ตเลข 9 หลัก

ใครคนหนึ่งเอ่ยถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า "ท่านครับ! ท่านคิดว่าอะไรคือประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติครับ" อัจฉริยะผมยุ่งผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1879-1955 ตอบว่า ก็ดอกเบี้ยทบต้นไง!!! เจ้าของชื่อล็อกอิน “ลูกอีสาน” ในเว็บไซต์ Thaivi "โจ" อนุรักษ์ บุญแสวงวันนี้พอร์ตเขาแตะเลข 9 หลัก เพราะเดินตามทฤษฎี “กำไรทบต้น” สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของไอน์สไตน์
โจเป็นนักลงทุนวีไอที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขามีแฟนคลับคอยติดตามผลงานการลงทุนอย่างใกล้ชิดและเป็นหนึ่งในกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) โจและเพื่อน 2-3 คน ที่เป็นนักลงทุนแนว VI เหมือนกันลงทุนอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทุกไตรมาสพวกเขาจะจัดสัมมนาคุยกับแฟนๆ ประมาณ 50 ที่นั่ง ที่ร้านอาหาร สมิหลาซีสปอร์ต ในอำเภอหาดใหญ่
ชื่อ "ลูกอีสาน" ที่โจใช้เป็น "นามแฝง" หาใช้ภูมิลำเนาที่แท้จริงไม่ ความจริงโจเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่จังหวัดพังงา ก่อนจะเข้ามาอยู่กับญาติย่านลาดพร้าว เพื่อศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนชื่อ “ลูกอีสาน” เกิดขึ้นหลังอ่านนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2544 แล้วเกิดซาบซึ่งในชื่อนี้ขึ้นมา

เซียนหุ้นวีไอรายนี้ปัจจุบันอยู่ในวัย 38 ปี มีพี่น้อง 4 คน โจเป็นลูกชายคนรองคุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนคุณแม่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ยึดอาชีพขายของชำเลี้ยงดูลูกๆ ในวัยเด็กโจมีชีวิตค่อนข้างลำบาก ตัวเขา พี่ชายคนโตและแม่ ต้องแบกรับหน้าที่ทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวทั้ง 5 ชีวิต
โจลงทุนในตลาดหุ้นมานาน 12 ปีครึ่ง (2543-2555) มีพอร์ตทะยานขึ้นมาเลข 9 หลัก โดยมูลค่าการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี "เฉลี่ยปีละ 60%" มีผลตอบแทนในช่วง 12 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 400 เท่า สมมติฐานทั้งหมดตั้งอยู่บนหลักการไม่นำเงินออกมาใช้ แต่ความจริงเขานำเงินมาใช้เฉลี่ย 5-10% ของพอร์ต
อนุรักษ์ บุญแสวง นั่งเครื่องบินจากอำเภอหาดใหญ่ เพื่อมาเล่าประวัติชีวิตและเส้นทางการลงทุนให้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังโดยมี “ไก่” ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เป็นผู้ประสานงานให้

ก่อนจะเล่าจุดเริ่มต้นในเส้นทางเซียนหุ้น โจระบายความใจว่า "พื้นฐานผมมาจากครอบครัวยากจน และเป็นคนบ้านนอก เมื่อก่อนจะมีประโยคฮิตว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ผมจึงอยากพิสูจน์ตัวเองว่า คนจนก็เล่นหุ้นได้หมือนกัน ขอเพียงแค่มีใครสักคนมาคอยชี้แนวทางที่ถูกต้องให้เดินเท่านั้น"
จุดสนใจตลาดหุ้นเกิดขึ้นตอนเด็กๆ ช่วงนั้นโจย้ายไปอยู่บ้านญาติแถวลาดพร้าว วันหนึ่งก็แอบได้ยินลูกชาย (คุณน้า) ของคุณปู่ ซึ่งอายุห่างกันประมาณ 15 ปี บอกกับคุณปู่ว่าอยากลาออกจากงานประจำมาเล่นหุ้น ไม่ต้องทำอะไรเลยก็มีเงินใช้ ตอนนั้นโจคิดในใจว่า “อาชีพอะไรทำไมน่าสนใจแบบนี้” เขาเรียกน้าชายคนนั้นว่า “คิ้ว” ซึ่งแปลว่า “พี่ชาย” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน

"จากนั้นผมก็เริ่มหาหนังสือและพ็อกเก็ตบุ๊คที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจมาอ่าน เรียกว่าช่วงนั้นไม่อ่านหนังสือเรื่องอื่นเลย ยกเว้นหนังสือเรียน เมื่อเรียนจบม.ปลาย ผมก็ไปเรียนต่อในคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใจจริงอยากเรียนเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ เพราะเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง แต่สอบไม่ผ่าน (หัวเราะ) จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านการเงินการธนาคารที่รามคำแหง เพราะอยากมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุน"
ช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่สงขลานครินทร์ โจจะใช้เวลาทุกเย็นอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เขาอ่านหนังสือลักษณะนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 4 ปี จนเรียนจบในเดือนมีนาคม 2539
หลังเรียนจบปริญญาตรีใบแรกถัดมาประมาณ 3 ปี เขาก็ตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก ตอนนั้นมีเงินประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บจากการทำงานในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นทำงานในบริษัทขายเครื่องใช้สำนักงานและกล้องถ่ายรูป เงินเดือนน้อยประมาณ 10,000 บาท แต่ก็ต้องทำ
"ช่วงเปิดพอร์ต ผมเจ็บใจมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาใหม่ๆ โบรกเกอร์แห่งหนึ่งจะให้ผมเปิดพอร์ต 5 ล้านบาท ตอนนั้นผมคิดในใจใครจะมีเงินมากขนาดนั้น สุดท้ายผมก็ไปเปิดพอร์ตที่ บล.เกียรตินาคินประมาณ 300,000 บาท"
ตอนนั้นเขาไปขอเงินแม่มา 100,000 บาท ทั้งครอบครัวคงมีเงินอยู่เท่านั้น แต่แม่ก็ให้เพราะรักลูก ส่วนที่เหลืออีก 150,000 บาท ไปชวนเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาร่วมลงทุน เพราะเขาอยากเล่นหุ้นอยู่แล้ว

"ผมซื้อหุ้น บล.เอกธำรง (S-one) เป็นตัวแรก ตอนนั้นปี 2541 ในราคา 11.30 บาท ถือมาประมาณ 1 ปี ก็ขายในราคา 5.80 บาท (หัวเราะ) เรียกได้ว่า “ขาดทุนยับเยิน” เหลือเงินติดพอร์ตเพียง 120,000 บาท สุดท้ายก็แบ่งคนละครึ่งกับเพื่อน" นั่นคือความล้มเหลวแรกที่เจ้าตัวไม่เคยลืมเลือน
ช่วงนั้นเขายอมรับว่าในหัวสมองไม่มีวิชาการวิเคราะห์หุ้น วันๆ อ่านแต่บทวิเคราะห์อย่างเดียว แถมรู้จักธุรกิจที่ลงทุนเพียงผิวเผินเท่านั้น ผนวกกับตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาใหม่ๆ ทำให้รายได้ของโบรกเกอร์ไม่ดี จำได้ช่วงซื้อหุ้น S-one ดัชนีหุ้นไทยหล่นจาก 600 จุด มายืน 200 จุด
หลังจากขาดทุนหนักโจก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ภรรยาที่เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคบกันมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยได้ทุนไปเรียนต่อ โจใช้เวลาช่วงนั้นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงบการเงิน วันหนึ่งไปอ่านเจอบทความของอาจารย์ที่แนะนำการลงทุนเน้นคุณค่าทางอินเตอร์เน็ต
คนหนึ่งชื่อว่า Paul A Renaud ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทย เขาเป็นเจ้าของ www.thaistocks.com เขาจะสอนให้ซื้อหุ้นขนาดเล็กเน้นดูพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก แต่ตอนนั้นโจยังไม่รู้ว่าลงทุนแบบนี้เขาเรียกว่าแนว VI เพราะยังไม่มีการบัญญัติคำเหล่านั้นขึ้นมา
อีกคนชื่อ ปีเตอร์ อีริค เดนนิส นักลงทุนชาวออสเตรีย คนนี้ก็อยู่เมืองไทยเหมือนกัน เขาเขียนบทความลงคอลัมน์ "ถนนนักลงทุน" (ก่อนที่จะเป็นหนังสือกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ในปัจจุบัน) ความยาว 17 หน้า โจอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำขึ้นใจ บทความชิ้นนี้ทำให้รู้ว่า ชีวิตการลงทุนของคนที่จะประสบความสำเร็จได้ "คุณต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้น"

ประโยคหนึ่งในบทความบอกว่า ทำไม! คนไทยต้องไปต่อคิวซื้อธนบัตรที่ได้ดอกเบี้ยเพียง 6% ในขณะที่เมืองไทยมีหุ้นดีๆ ที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 10% ทุกปี ทำไม! ถึงไม่ซื้อ เขาถึงขนาดทนไม่ได้ต้องเขียนเป็นบทความออกมาให้นักลงทุนอ่าน
ปีเตอร์ เดนนิส (สมัยก่อนจะเห็นเขาอยู่ที่ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำ) เขาบอกว่า หลักการนี้เหมือนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันเขายังแนะนำวิธีการซื้อหุ้นเน้นดูอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio) อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และเงินปันผล รวมถึงคุณภาพบริษัท

"ผมใช้เวลาอ่านบทความต่างๆ ในช่วงที่อาศัยในสหรัฐอเมริกาประมาณ 2-3 ปี หลังอ่านจบทำให้รู้ว่าแนว VI มันมีเหตุผลมากกว่าเส้นเทคนิค เพราะมีคนทำสำเร็จมาแล้วแถมมีความเป็นไปได้มากกว่า ในอดีตเคยศึกษาเส้นเทคนิคมาประมาณครึ่งปี แต่พอรู้ว่ามันไม่สามารถทำให้ “รวย” ได้ ผมก็เลยเลิก"
เจ้าของพอร์ตหุ้นหลักร้อยล้าน เล่าต่อว่า ในช่วงที่ศึกษาการลงทุนก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไปด้วย ตอนนั้นเล่น “หนักมาก” โดยจะนำเงินที่ได้จากการทำงานเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารเกาหลีประมาณ 1 ปีครึ่งมาเป็นทุน จำได้ตอนนั้นปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มลงทุนแนว VI ทุกเดือนจะโอนเงินกลับเมืองไทยประมาณ 1,000 เหรียญ เพื่อเข้าบัญชีน้องสาว ซึ่งน้องจะนำไปซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ แม้จะโดนหักค่าโอนครั้งละ 5% แต่ก็ต้องยอมเพราะตอนนั้นหุ้นเมืองไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจมัน “ถูกมาก”

ช่วงนั้นเขาซื้อหุ้น 2 ตัว มูลค่าลงทุน 800,000 บาท แบ่งเป็นเงินของภรรยา 50% และของตัวเอง 50% โดย 400,000 บาท นำไปซื้อหุ้น วนชัย กรุ๊ป (VNG) ตอนนั้นลงทุนโทรไปหาโบรกเกอร์ เขาคิดว่าโจพูดชื่อหุ้นผิด เพราะเขาถามกลับว่าหุ้น เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) หรือเปล่า! โจบอกว่า "ไม่ใช่" (หัวเราะ)
เหตุผลที่ซื้อหุ้น VNG เขาบอกว่า ตอนนั้นไม่มีใครสนใจหุ้น VNG ในหนึ่งสัปดาห์แทบไม่มีการซื้อขาย ที่กล้าซื้อ เพราะช่วงนั้นหุ้นมีค่า P/E ที่ 1.5 เท่า นั่นแปลว่า เราทำกำไรแค่ 1 ปีครึ่ง ก็คุ้มกับราคาที่ซื้อแล้ว สมมุติราคาหุ้น 15 บาท ปีครึ่งบริษัททำกำไรได้ 15 บาท ถามว่า “ถูกมั้ย!..มันถูกมาก" (ลากเสียงยาว)
ส่วนอีก 400,000 บาท นำไปลงทุนในหุ้น อาร์ ซี แอล (RCL) ตอนนั้นซื้อมา 28 บาท จำได้ค่า P/E อยู่ที่ 2.5 เท่า เขาถือหุ้น 2 ตัวนี้ (VNG, RCL) เกือบปี แต่ราคาหุ้นแทบไม่ขยับตอนนั้นเริ่มสงสัย “เราคิดถูกหรือเปล่า!”

แต่สุดท้ายมาถึง “จุดเปลี่ยน” มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง รวมถึง Paul A. Renaud เขาสนใจหุ้น VNG หลัง Paul A. Renaud ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น VNG ผ่านมาเพียง 1 สัปดาห์ ราคาหุ้น VNG ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว หรือประมาณ 30 บาท

"ผมตัดสินใจเทขายหมดเกลี้ยง ทำให้ได้กำไรกลับมา 400,000 บาท ส่งผลให้พอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาท จากนั้นภายใน 1 ปี ราคหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า เพราะมันกลายเป็นหุ้นมวลชนหลายคนแห่เข้ามาเก็งกำไร ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น VNG ก็นำไปซื้อหุ้นตัวอื่นๆ กระจายออกไป 2-3 ตัว เช่น หุ้น ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (PPPC) เป็นต้น ปัจจุบันหุ้นตัวนี้ออกจากตลาดไปแล้ว ตอนนั้นแฮปปี้มากเพราะได้กำไรเกือบทุกตัว
โจลูกอีสาน ทิ้งท้ายว่า อยากเป็นนักลงทุนแนว VI ต้องใช้หลัก “ยิ่งนานยิ่งดี” โจใช้เวลา 7 ปี ในการทำผลตอบแทนให้ได้ 9 เท่า แต่ใช้เวลา 5 ปีหลัง ทำผลตอบแทนให้ได้ 400 เท่า นั่นเป็นเพราะกลยุทธ์ “มหัศจรรย์การทบต้น”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์บอกไว้ว่า “ดอกเบี้ย" คือ สิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก โจปักใจเชื่อสนิทขณะที่คนส่วนใหญ่รอไม่ได้ จึงหันไปเก็งกำไร ซื้อหวย และเล่นพนันบอล ส่วนใหญ่ก็เห็นเจ๊งเป็นแถว

เขาอธิบายมหัศจรรย์ของ “กำไรทบต้น” ว่า สมมติเรามีเงิน 100 บาท สิ้นปีสามารถทำผลตอบแทนได้ 20% เท่ากับว่าสิ้นปีเราจะมีเงิน 120 บาท แทนที่จะเอา 20 บาท ไปกินขนม เราก็เอา 20% มาทบเป็นเงินต้น ดังนั้นต้นปีก็จะมีเงินต้น 120 บาท สมมติปีที่ 2 เราสามารถทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม กำไรก็จะเปลี่ยนเป็น 24 บาท เราก็เอา 24 บาท ไปทบต้นอีก ทำแบบนี้ไปทุกปีภายใน 10 ปี มันจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ทะลุฟ้า ฉะนั้นใครคิดอยากรวยเร็ว อย่ามาลงทุนแบบ VI

เรื่องราวของเซียนหุ้นบ้านนอกยังไม่จบ โจใช้เทคนิคแบบไหนถึงทำให้มูลค่าการลงทุนภายใน 12 ปีครึ่ง ทะยานขึ้นเป็น 9 หลัก ติดตามต่อไปในสัปดาห์หน้า..ห้ามพลาดเด็ดขาด!!
 
Tags : อนุรักษ์ บุญแสวง

http://www.nationejobs.com/content/money/sbenefit/template.php?conno=711



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 1 September 2014

ตรวจสอบผู้บริหารแบบ VI

การวิเคราะห์ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนนั้นเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนบอกว่ายากเนื่องจากเราไม่ได้รู้จักใกล้ชิด  ผู้บริหารที่คนหรือสื่อบอกว่าดีนั้น  หลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องของ  “ภาพ”  มากกว่าความเป็นจริง    บริษัทที่มีผลงานที่โดดเด่นก็มักจะมีผู้บริหารที่คนเชื่อว่าดีและโดดเด่น   เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าผู้บริหารไม่ดีแล้วบริษัทจะดีได้อย่างไร?    ดังนั้น  บางคนจึงคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ผู้บริหาร  แค่เห็นว่าบริษัทดีเราก็สรุปได้แล้วว่าผู้บริหารก็คงจะต้องดี  และหลายคนก็คิดว่า  ถึงจะมีผู้บริหารที่ดีก็ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอะไรให้กับหุ้นที่จะลงทุน  เพราะคุณค่าของหุ้นนั้นสูงขึ้นตามผลประกอบการของบริษัทซึ่งรวมถึงผลงานของผู้บริหารอยู่แล้ว  การไปให้คุณค่ากับผู้บริหารอีกก็เท่ากับว่าเราไป  “นับซ้ำ”  อย่างไรก็ตาม  มีบางประเด็นที่น่าจะสามารถแยกแยะให้เห็นได้ระหว่างผู้บริหารที่ดีกับผู้บริหารที่ไม่ดีโดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประกอบการปกติของบริษัทในระยะสั้น

            ประเด็นแรกและสำคัญมากก็คือ  ดูการจัดสรรเงินของบริษัท  ผู้บริหารที่ดีจะต้องไม่ใช้จ่ายเงินแบบ  “มั่ว”  ต้องลงทุนในโครงการที่ดีซึ่งก็มักจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในความเชี่ยวชาญของบริษัทที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม  การ Take Over หรือซื้อธุรกิจอื่นก็จะต้องมาในแบบเดียวกันและจะต้องมีราคาที่ไม่แพงเกินคุณค่าที่ได้รับ  ผู้บริหารที่ไม่ดีมักจะใช้จ่ายเงินลงทุนหรือซื้อธุรกิจอื่นที่ไม่เหมาะสมซึ่งแม้ว่าบ่อยครั้งจะทำให้หุ้นวิ่งหรือปรับตัวขึ้นโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วง “กระทิง”  แต่ในฐานะของ VI  เราควรจะมองว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี   ในระยะยาวมันจะทำให้บริษัทเสียหาย

           ในกรณีที่บริษัทมีเงินสดและไม่สามารถนำไปจัดสรรเพื่อลงทุนในโครงการที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีพอ   ผู้บริหารควรจะต้อง  “คืนเงิน” ให้ผู้ถือหุ้น   นั่นก็คือ  จ่ายปันผลในอัตราที่เหมาะสม  ซึ่งอาจจะมากกว่าที่เคยจ่ายตามปกติ  หรือไม่ก็  “ซื้อหุ้นคืน” ซึ่งก็คล้าย ๆ  กับการจ่ายปันผล  เพราะเป็นการ “คืนเงิน”ให้แก่  “ผู้ถือหุ้น” เหมือนกัน  แต่เป็นการคืนให้กับผู้ถือหุ้นบางคนเพื่อที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นปันผลที่ดีขึ้นในวันข้างหน้าถ้าราคาที่ซื้อหุ้นคืนนั้นต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท  อย่างไรก็ตาม  การซื้อหุ้นคืนในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าจำนวนมากนั้นไม่ได้เกิดจากเหตุผลดังกล่าว  หลาย ๆ  กรณีเป็นเรื่องของการ  “ดูแลราคาหุ้น”  ที่ตกลงไปมากโดยการเอาเงินบริษัทไป  “พยุง” ราคาไว้โดยไม่ได้พิจารณาว่าราคาหุ้นในขณะนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่   ดังนั้น  เวลาที่เห็นว่าบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนโดยที่เหตุผลนั้นไม่ชัดเจน   ผมก็มักจะคิดว่าบริษัทนั้นมีการบริหารงานที่ไม่ดี

            ประเด็นที่ VI ไม่ชอบเลย  ยกเว้นว่าจะมีคำอธิบายที่ดีพอและเป็นการกระทำที่จะสร้างความโปร่งใสครั้งเดียวให้จบ  ก็คือ  เรื่องของ Related Transaction  หรือการทำรายการระหว่างบริษัทกับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็น “เจ้าของ”  บริษัท  ในประเด็นนี้แม้ว่าจะมีการตรวจสอบโดย  “กรรมการอิสระ” และมีผู้ประเมินที่เป็น  “บุคคลภายนอก”  ผมก็ไม่เชื่อว่ามันจะมีความเที่ยงธรรมได้จริง ๆ  เพราะทั้งกรรมการอิสระและบุคคลภายนอกดังกล่าวนั้นต่างก็ถูกแต่งตั้งโดยบริษัทหรือผู้บริหาร  ดังนั้น  บริษัทที่มีรายการที่มีการ  “ขัดแย้งของผลประโยชน์”  บ่อย ๆ   หรือมีรายการที่  “น่าเกลียด”  อย่างแรงแม้เพียงรายการเดียว  สำหรับผมแล้ว  ผมมักจะถือว่าบริษัทอาจจะมีผู้บริหารที่ไม่ดี

           เรื่องที่สามนั้นแม้ว่าอาจจะดูว่าไม่กระทบกับบริษัทมากมาย  แต่ก็เป็นการ  “ส่งสัญญาณ”  ที่เตือนเราเหมือนกันว่าผู้บริหารอาจจะไม่ใคร่  “สมบูรณ์” นักก็คือ  การจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้บริหาร  “มากเกินไป” และอาจจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับผลประกอบการปกติของบริษัท  เพราะนี่เป็นเรื่องของการ  “เอาเปรียบบริษัท”  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นี่มักเป็นการอนุมัติโดยตัวเองหรือคนที่ตนเองมีอิทธิพลเหนือกว่า  หรือไม่ก็เป็นการอนุมัติโดยมีผลต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน   ดังนั้น  เวลาที่ผมพบว่าผู้บริหารได้รับผลตอบแทนที่  “สูงเหลือเชื่อ”  เปรียบเทียบกับขนาดและ Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของกิจการ  โดยที่ผมไม่ได้คิดว่าเขามีส่วนในความสำเร็จมากมายอะไรของบริษัท   ผมก็มักจะไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับหุ้นแบบนี้

          เรื่องที่สี่คือ   ความโปร่งใสของผู้บริหาร  ผู้บริหารที่ดีนั้นควรจะต้องโปร่งใส ยิ่งเปิดเผยมาก  คะแนนคุณสมบัติของผู้บริหารก็ควรจะดีขึ้น  ผู้บริหารที่ไม่โปร่งใสมาก ๆ  นั้น  บางครั้งเราแทบจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นไปเลยเนื่องจากบริษัทอาจจะมีสิ่งที่เลวร้ายซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้และสิ่งที่เรารู้นั้นถูกทำลวงขึ้นมา   ความโปร่งใสเรื่องแรกก็คือเรื่องของระบบบัญชี  บริษัทที่มีระบบบัญชีที่ดีและมีการลงบัญชีแบบ  “อนุรักษ์นิยม”  มาก ๆ  นั้น  ควรจะต้องได้รับคะแนนที่ดีเทียบกับบริษัทที่มี “ลูกเล่น”  มาก  ตัวอย่างหนึ่งที่เราเคยพบในช่วงหนึ่งก็เช่น  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งใช้ระบบบัญชีที่ลงรายรับต่อเมื่อมีการโอนและรับเงินจากลูกค้าเรียบร้อยแล้ว  ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ จำนวนมากลงบัญชีรับรู้รายได้ตามการก่อสร้างหรือตามเกณฑ์อื่น   ในกรณีแบบนี้  ผมเองต้องให้คะแนนผู้บริหารบริษัทแรกสูงกว่า

           นอกจากเรื่องบัญชีแล้ว  การให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งที่ดีและไม่ดีต่อผู้ถือหุ้นเป็นระยะ ๆ  ตลอดเวลาก็เป็นการแสดงความโปร่งใสที่สำคัญ  บริษัทที่ผู้บริหารเก็บตัวเงียบและไม่ใคร่ยอมพบนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนเลยนั้น  ผมคิดว่าจะได้รับคะแนนผู้บริหารที่สูงไม่ได้    นอกจากนั้น  ผู้บริหารที่ดีก็ควรที่จะสามารถ  “รักษาคำพูด” ที่ตนได้ให้ไว้พอสมควร  ไม่ใช่พูดแล้วก็ผิดคำพูดมาก ๆ  ผู้บริหารที่ดีนั้น  ผมคิดว่าถ้าไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือคาดการณ์ถูกต้อง  ก็ไม่ควรจะพูดในเรื่องนั้น

            เรื่องที่ห้า  ผู้บริหารที่ดีนั้น  จะต้องดูแลไม่ให้บริษัทรับความเสี่ยงที่สูงเกินไป  ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้บริษัทปลอดภัยมากเกินไปจนกระทบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นควรจะได้  สำหรับเรื่องนี้ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ  โครงสร้างเงินทุนของบริษัท  หรือพูดให้ชัดเจนก็คือ  สัดส่วนหรือปริมาณของหนี้ของบริษัทเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นหรือกำไรก่อนดอกเบี้ยของกิจการ   บริษัทที่มีหนี้มากเกินไปและอยู่ในกิจการที่มีความผันผวนของผลการดำเนินงานมากนั้น  จะเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด  และถ้าผู้บริหารไม่ได้ทำอะไรที่จะลดความเสี่ยงนี้  ก็ต้องถือว่าผู้บริหารไม่ดีพอที่จะได้รับคะแนนสูง ๆ   เช่นเดียวกัน  บางบริษัทมีเงินสดมาก  ไม่มีหนี้เลย  และธุรกิจก็ค่อนข้างสม่ำเสมอมาก  แต่บริษัทกลับจ่ายปันผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  แบบนี้ก็ต้องบอกว่าผู้บริหารไม่ดี  ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร

           สุดท้าย  เรื่องของโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็มีส่วนที่จะทำให้ผู้บริหารมีโอกาสที่จะได้คะแนนสูงหรือต่ำเช่นเดียวกันทั้ง ๆ  ที่เราอาจจะไม่ได้มีข้อมูลอะไรมากนัก  ตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผู้บริหารสูงสุดมักจะมาจาก  “สายการเมือง”  แบบนี้เรามักจะไม่ให้คะแนนผู้บริหารสูง   เหตุผลก็เพราะการคัดเลือกผู้บริหารอาจจะมาจากคุณสมบัติอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการบริหารงานมากนัก  หรือถึงจะได้คนที่โดดเด่นมาเป็นผู้บริหาร  แต่เขาก็อาจจะต้องทำงานหรือตัดสินใจเรื่องสำคัญบางอย่างในทางที่ไม่เป็นผลประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทได้  โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ดีอาจจะเป็นว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดกับรายรองลงมาที่มีจำนวนหุ้นใกล้เคียงกันที่เป็นสถาบันต่างประเทศที่น่าเชื่อถือและไม่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นใหญ่  และทั้งคู่ก็แต่งตั้งผู้บริหารที่เป็น  “มืออาชีพ” มาบริหารงาน  ถ้าเป็นแบบนี้  ผู้บริหารก็น่าจะได้คะแนนสูง  เพราะทุกอย่างจะมีเหตุผลและมีการ “คานอำนาจ” หรือตรวจสอบกันเป็นอย่างดี  เป็นต้น

           ทั้งหมดนั้นก็เป็นแนวทางที่จะใช้วิเคราะห์หรือตรวจสอบผู้บริหารนอกเหนือจากผลประกอบการระยะสั้นของบริษัท  ผมเองไม่รู้ว่าผู้บริหารดีนั้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทมากน้อยแค่ไหนแต่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนอยู่โดยเฉพาะในระยะยาว  ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดีเป็น ซุปเปอร์สต็อก

 
Posted by nivate at 11:12 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/09/01/1465



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
เลือกหุ้นสไตล์ ปีเตอร์ ลินซ์

Pick Stocks Like Peter Lynch


จากการเริ่มงานการจัดการกองทุนกับ Fidelity Fund ในเดือน พ.ค. 1977 ตอนนั้นกองทุนมีขนาดเพียง 20 ล้านเหรียญ แต่พอย่างเข้าปี 1980 Fidelity Fund ได้กลายเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสามารถเอาชนะตลาดได้เฉลี่ย 13.4% ต่อปี ถัดมาอีกเป็นเวลากว่า 20 ปี และนั้นก็ทำให้ ผู้จัดการกองทุนหนุ่มที่ชื่อ Peter Lynch (ปีเตอร์ ลินซ์) ได้กลายเป็นผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกคนหนึ่ง
Peter Lynch ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนได้โดยการใช้หลักการการลงทุนเบื้องต้นที่เข้าใจง่าย ซึ่งเขายินดีที่จะแบ่งกันให้กับนักลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า จากหนังสือที่เขาเขียนหลายเรื่อง และหนึ่งเล่มที่ถือเป็นคัมภีร์สำหรับนักลงทุนแนว Value Investor ก็คือ “One up on Wallstreet” ลินซ์เชื่อมั่นว่า “นักลงทุนรายย่อยมีข้อได้เปรียบเหนือกว่านักลงทุนสถาบัน” เพราะกองทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถจะลงทุนได้อย่างเต็มที่ในบริษัทเติบโตดีแต่มีขนาดเล็กซึ่งข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้น โดยที่หุ้นเหล่านี้ สุดท้ายเมื่อผลประกอบการแสดงชัดขึ้น ขนาดของกิจการขยายใหญ่ขึ้น ก็จะทยอยเข้าาตานักวิเคราะห์ของนักลงทุนสถาบันในเวลาต่อมา และสุดท้ายจะกลายเป็นหุ้นบลูชิพ ที่สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุนจริงๆ
แต่ถึงอย่างนั้น กองทุน Fedelity ของเขา ก็สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะเวลาที่ทำให้นักลงทุนรายสงสัย และกลับมามองตัวเองว่า แล้วปัจจัยใดที่ทำให้ กองทุนของเขา สามารถผลตอบแทนได้ดี ทั้งๆทีมีข้อจำกัดอย่างที่เขาบอก
อย่างที่บอกว่า ปีเตอร์ ลินซ์ ได้เขียนหนังสือเพื่อแบ่งปันแนวคิดของเขาไว้หลายเล่ม เพื่อที่จะเข้าใจหลักการการลงทุนของเขา จริงๆแล้ว สามารถสรุปได้ 3 ข้อหลักๆ ตามนี้

ปรัชญาของลินซ์
ลินซ์ได้แต่งหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนไว้หลายเล่ม แก่นของหลักการลงทุนสรุปได้ 3 ข้อหลักๆ


1. Only Buy What You Understand

เครื่องมือที่ลินซ์ใช้ในการค้นหาหุ้นก็คือ ตา หู และสามัญสำนึก ลินซ์ภาคภูมิใจอย่างมากที่หุ้นห่านทองคำหลายตัวของเขาถูกค้นพบในที่ที่เขาเดินไปตามร้านขายของชำ พูดคุยกับเพื่อนฝูงและกับครอบครัว
เราก็เช่นกันสามารถจะวิเคราะห์หุ้นในเบื้องต้นจากการดูทีวี, อ่านหนังสือพิมพ์, หรือฟังวิทยุ เมื่อเราขับรถไปตามถนนหรือท่องเทียวในวันหยุด ไอเดียการลงทุนใหม่ๆ ก็จะผุดขึ้นมา กล่าวได้ว่าหุ้นทั้งหมดในตลาดเป็นธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการพวกเราที่เป็นผู้บริโภครายย่อย ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งประทับใจเราในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ก็ย่อมจะตรึงใจเราในฐานะของนักลงทุนเช่นกัน

2. Always Do Your Homework

การสังเกตและรวบรวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับหุ้นเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ความคิดที่เลิศหรูทั้งหมดจำเป็นต้องตามมาด้วยการค้นคว้าอย่างชาญฉลาด แต่อย่าทึกทักเอาว่าวิธีค้นหาห่านของลินซ์ช่างง่ายเสียจริง เมื่อมาถึงขั้นตอนการวิเคราะห์จะต้องละเอียดและแม่นยำ ซึ่งนี่ก็คือกุญแจความสำเร็จของลินซ์ เมื่อไอเดียดีๆ ผุดขึ้นมาในใจแล้ว ลินซ์จะมองหามูลค่าพื้นฐานหลายๆ ตัวเลข ซึ่งเป็นคุณลักษณะของหุ้นที่มีคุณค่าต่อการซื้อ

- เปอร์เซ็นต์ยอดขาย ถ้าหากมีสินค้าตัวใดเตะตาคุณ ต้องแน่ใจว่าเปอร์เซ็นต์ยอดขายนั้นสูงมากพอ ถ้าสินค้าดีแต่มียอดขายเพียง 5% ก็จะไม่ส่งผลต่อยอดกำไรสุทธิของบริษัท

- PEG Ratio ค่าอัตราส่วนนี้เป็นการประเมินอัตราการเติบโตของผลกำไร เพื่อการให้น้ำหนักความคาดหวังกับหุ้นตัวนี้มากน้อยเท่าไร บริษัทที่เรามองหาย่อมจะต้องมีการเติบโตที่แข็งแกร่งและราคาเหมาะสม หุ้นแข็งแกร่งที่เติบโตมากกว่าจะมี PEG Ratio เท่ากับ 2 หรือมากกว่า แสดงว่าผลกำไรได้สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้ว เหลือช่องว่างให้ผิดพลาดได้เพียงเล็กน้อย (ค่า PEG Ratio ต่ำแสดงว่าราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่า)

- สนใจบริษัทที่มีกระแสเงินสด (Cash Flow) แข็งแกร่ง และสัดส่วนของหนี้ต่อทรัพย์สินน้อย การบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างชาญฉลาดและมีกระแสเงินสดมาก จะช่วยให้บริษัทสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ทุกสภาวะ

3. Invest for the Long Run

ลินซ์เคยกล่าวไว้ว่า ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา เขาเข้าใจแล้วว่า ถ้าอยากจะรู้ว่าราคาหุ้นจะสูงหรือต่ำในอีก 23 ปีข้างหน้านั้น ไม่ยากเลย ที่คุณทำก็แค่เพียง โยนเหรียญหัวก้อยเท่านั้น!!
สิ่งที่ลินซ์พูด แปลว่าอะไร?
ลินซ์ กำลังบอกเราว่า ปรัชญาการลงทุนของเขา ก็คือ เกาะติดสถานการณ์ มีความรู้เข้าใจในบริษัทที่ลงทุน และตราบเท่าที่สิ่งที่นักลงทุนมองไว้ มันยังไม่เปลี่ยนแปลง นักลงทุนที่มีเหตุผล ก็ไม่ควรจะขายหุ้นนั้นออกจากพอร์ต ด้วยหลักการเช่นนี้ ทำให้ ลินซ์เป็นหนึ่งในผู้จัดการลงทุนที่ไม่เชื่อเรื่องการ TIming หรือ การพยายามจับจังหวะตลาด หรือพยายามคาดการณ์ทิศทางของเศรษฐกิจ เพราะ ถ้าบริษัทแข็งแกร่งจริง กำไรสุทธิก็จะสูง และหุ้นก็จะมีราคาสูงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น งานที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ “การค้นหาบริษัทที่ยิ่งใหญ่ให้เจอ”
ลินซ์ ยังได้ย้ำให้เห็นที่จุดอ่อนของการมองสิ่งใดเพียงแต่ในระยะสั้นๆ ยกตัวอย่าง ผู้จัดการกองทุนหลายๆคนที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพของเขา มักจะขายหุ้นตัวดีๆ เพียงแค่ใช้เหตุผลว่า มันวิ่งมาเยอะแล้ว แล้วเอาเงินที่ได้จากการขายไปถือหุ้นแย่ๆ เข้ามาในพอร์ต ด้วยเหตุผลที่ว่า ราคามันยังถูกแสนถูก
ซึ่งวิธีนี้ ลินซ์ เรียกว่า pulling the flowers and watering the weeds (เด็ดดอกไม้มาเชยชม แต่ก็ต้องระทม เริ่มต้นปลูกใหม่)

โดยสรุป วิธีการลงทุนของลินซ์นั้น มีทั้งในส่วนที่ง่าย และส่วนที่ยาก ซึ่งมันก็แน่นอนอยู่แล้วว่า ทางสู่ความสำเร็จ มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่สิ่งหนึ่งที่ลินซ์มั่นใจก็คือ เหมือนนักลงทุนเริ่มต้นด้วยหลักการที่ถูกต้องแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว ความสุขจากการเห็นหุ้นในพอร์ตเติบโตเรื่อยๆ จะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว ส่วนระหว่างทาง คุณจะได้อะไรไป สิ่งนั้นก็คือ “ความสนุก” นั้นเอง

ที่มา:
http://www.iammrmessenger.com/?p=409



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 8 September 2014

ลงทุนหุ้นทั่วโลกแบบ VI



ย้อนหลังไปเพียงไม่กี่ปีผมแทบจะไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งตนเองจะออกไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ  ในตอนนั้นผมคิดแต่เพียงว่าเมืองไทยใหญ่พอสำหรับเม็ดเงินเล็ก ๆ  ของเรา  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ประเทศไทยยังค่อนข้างจำกัดไม่ให้คนไทยโดยเฉพาะที่เป็นบุคคลธรรมดานำเงินออกนอกประเทศ  นอกจากนั้น  ข้อจำกัดต่าง ๆ  เช่น  ความรู้ความเข้าใจในตัวกิจการ  ภาษา  วัฒนธรรม ระบบการค้าและเศรษฐกิจ และอื่น ๆ  ของหุ้นต่างประเทศยังทำให้ผมรู้สึกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศนั้นควรเป็นเรื่องของเด็กรุ่นหลังหรือรุ่นลูกที่มีความคุ้นเคยกับการสัมผัสเกี่ยวข้องกับนานาชาติมากกว่าเรามาก  อีกทั้งการ  “เปิดเสรี” ของประเทศต่าง ๆ  ที่ทำให้ความแตกต่างของแต่ละประเทศน้อยลงไปเรื่อย ๆ  ในอนาคตน่าจะทำให้การลงทุนต่างประเทศกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับ “เด็กรุ่นหลัง”   แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป  วันนี้ผมได้เริ่มลงทุนซื้อหุ้นต่างประเทศเป็นครั้งแรก  ทุกอย่างมาเร็วกว่าที่ผมเคยคิด  การลงทุนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องในอนาคตของลูกหลานอีกต่อไป  มันเป็นเรื่องของนักลงทุนในวันนี้  แน่นอน  อุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ  ที่กล่าวถึงก็ยังมีอยู่ไม่น้อย  แต่สิ่งที่ดีและข้อได้เปรียบของการไปลงทุนในต่างประเทศก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ  ลองมาดูกันว่าลงทุนหุ้นต่างประเทศดีอย่างไร

           ข้อแรกผมอยากที่จะมอง  “ภาพใหญ่”  ก่อนนั่นก็คือ  ถ้ามองว่าแต่ละประเทศเป็น  “หุ้น” ตัวหนึ่งโลกนี้ก็จะมีหุ้นอาจจะซัก 100-200 ตัว   “หุ้นประเทศไทย”  หรือตลาดหุ้นไทยก็คือหุ้นตัวที่เราลงถ้าเราลงทุนแต่ในประเทศ  การที่เราลงแต่หุ้นไทยนั้น  ถ้ามองย้อนหลังไปโดยเฉพาะหลังจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ก็ต้องบอกว่าเราลงทุนหุ้นถูกตัว  เพราะหุ้นประเทศไทยเวลานั้นน่าจะเป็นหุ้น “คุณภาพดี ราคาถูก”  คำว่าคุณภาพดีก็คือ  ประเทศมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูง  เป็น  “หุ้นเติบโต” นอกจากนั้น  ถ้ามองไปในอนาคต “กิจการ” หรือประเทศก็ยังน่าจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงเนื่องจากประชากรอยู่ในวัยทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าแรงก็ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ  ที่มีฝีมือใกล้เคียงกัน  อาจจะเรียกได้ว่าหุ้นประเทศไทยมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนหรือมี Durable Competitive Advantage เทียบกับหลาย ๆ ประเทศ   ส่วนในด้านของราคานั้น  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยก็ค่อนข้างต่ำไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ก็ไม่เกิน 1 เท่า  ดังนั้น  หุ้นประเทศไทยในอดีตน่าจะเป็น  “หุ้นคุณค่า” และการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็มีเหตุผลเต็มที่

            ถึงปัจจุบัน  ผมคิดว่าสถานการณ์ของไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย  การเติบโตของเศรษฐกิจช้าลงไปมากโดยที่ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเริ่ม “ช้าลงอย่างถาวร” หรือยัง  ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ  คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าจะกลายเป็น “สังคมคนสูงอายุ” ในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า  ความสามารถในการแข่งขันก็ดูเหมือนจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่มีโครงสร้างประชากรหนุ่มสาวมากกว่า  แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่อง “คุณภาพ” ของกิจการหรือของประเทศก็คือเรื่องของ  “ราคา”  ของหุ้นที่ได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างสูง  ค่า PE ของตลาดหุ้นขึ้นไปถึงประมาณ 18 เท่าซึ่งเท่า ๆ  กับหรือสูงกว่าหุ้นของประเทศที่มี  “คุณภาพสูง” อย่างหุ้นสหรัฐ  ในเวลาเดียวกัน  หุ้นของประเทศอย่างจีน  เกาหลีใต้ และเวียตนามซึ่งน่าจะมีคุณภาพที่ไม่ด้อยกว่าประเทศไทยต่างก็มีราคาลดลงมากกลายเป็น  “หุ้นถูก”  มีค่า PE ของตลาดต่ำกว่า 10 เท่า  หากมองแบบนี้  หุ้นไทยก็อาจจะไม่ใช่หุ้น “Value”  อีกต่อไปเมื่อเทียบกับหุ้นของหลาย ๆ ประเทศที่กล่าวถึง  ดังนั้น  การ Switch หรือย้ายหุ้นลงทุนจึงอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี

           แน่นอน  VI ส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาด  แต่ซื้อหุ้นเป็นรายตัว ดังนั้น  ก็เป็นไปได้ว่ายังมีหุ้นบางตัวในตลาดหุ้นไทยที่คุ้มค่าและสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้  อย่างไรก็ตาม  ในยามที่  “ภาพใหญ่” ไม่เอื้ออำนวย  “ภาพเล็ก”  นั่นก็คือ  การหาหุ้นดีราคาถูกก็ยากขึ้นและโอกาสเจอหุ้นที่ดีเลิศเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพ-ราคาก็ยากขึ้นมาก  มันเป็นเรื่องง่ายกว่ามากที่จะหาหุ้นดี-ราคาถูกหรือถูกมากในยามที่ตลาดหุ้นโดยรวมมีราคาที่ต่ำมากและเศรษฐกิจกำลังเติบโตสูง—อย่างเช่นตลาดหุ้นไทยหลังปี 2540 ประมาณ 3-4 ปี  หรือตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งในปีนี้

           คำถามสำคัญต่อมาก็คือ  ถ้าเราจะไปลงทุนต่างประเทศ  เราจะไปตลาดประเทศไหนและด้วยกลยุทธ์หรือเลือกหุ้นอย่างไร?  คำตอบผมนั้นคงจะมองแบบ “ภาพใหญ่”  อีกเช่นกันและน่าจะมี 3 ทางเลือกที่น่าสนใจนั่นคือ  ทางเลือกที่หนึ่ง  เลือกการลงทุนแบบ  “หุ้นประเทศ”  นั่นก็คือ  ประเทศที่มีคุณภาพดี-ราคาถูก  หรือคุณภาพไม่ดีแต่ราคาถูกมากที่คุ้มค่าแบบแนว “ก้นบุหรี่”  นั่นก็คือ  เลือกลงทุนกองทุนหุ้นอิงดัชนีของประเทศที่เราคิดว่าอยู่ในข่ายดังที่กล่าว  นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ง่ายเพราะมีโบรกเกอร์ที่เปิดขายหน่วยลงทุนมากมายในช่วงเร็ว ๆ  นี้

           ทางเลือกที่สองก็คือ  การลงทุนซื้อหุ้นหรือเลือกหุ้นต่างประเทศเอง  โดยเลือกซื้อเฉพาะหุ้นที่เราพอจะเข้าใจธุรกิจของบริษัทเพราะมันเป็นบริษัท  “ระดับโลก”  ที่มีสินค้าขายทั่วโลกและเราเองก็รู้จักดีและมักจะเป็นลูกค้าด้วย เช่น เฟซบุคหรือหุ้นกูเกิล  ในราคาหุ้นที่ไม่แพงเมื่อคำนึงถึงศักยภาพในอนาคตของบริษัท  พูดง่าย ๆ  เราเลือกหาหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” ในช่วงที่มันยัง  “ไม่อิ่มตัว”  ยังมีโอกาสที่ธุรกิจจะขยายตัวอีกมากโดยเฉพาะในตลาดของประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย  กลยุทธ์นี้เป็นวิธีการลงทุนแบบหุ้นน้อยตัวและเราสามารถติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ได้  เราไม่ต้องกังวลมากในประเด็นการลงทุนอื่น ๆ  เนื่องจากบริษัทมักจะมีขนาดใหญ่และมีมาตรฐานในระดับสากล  เราเพียงแต่ต้องดูผลประกอบการและการขยายตัวหรือหดตัวของธุรกิจและเรื่องของการแข่งขันของคู่แข่งที่อาจจะมีมาโดยไม่คาดฝัน  และดูว่าราคาหุ้นยังไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพของกิจการ เป็นต้น

          ทางเลือกที่สามที่ผมใช้อยู่ก็คือ  เลือกหุ้นขนาดเล็กและราคาถูกของประเทศที่กำลังเติบโตหรือยังเติบโตได้โดยไม่ได้สนใจเรื่องของคุณภาพของกิจการ  นี่คือแนวการลงทุนแบบ เบน เกรแฮม  หรือแนวหุ้นก้นบุหรี่  โดยวิธีนี้เราจะต้องซื้อหุ้นจำนวนมากพอสมควรเพื่อกระจายความเสี่ยง  นอกจากนั้น  เราอาจจะไม่ถือหุ้นยาวมากนัก  เมื่อหุ้นมีการปรับตัวขึ้นหรือผลประกอบการลดต่ำลง  เราก็อาจจะต้องทยอยขายและปรับพอร์ตไปเรื่อย ๆ  โดยใช้เกณฑ์หลักก็คือ  ซื้อหุ้นถูก-ขายหุ้นแพง  ด้วยการทำแบบนี้  ผมหวังว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีตลาด  เหตุผลที่ผมเลือกวิธีนี้ที่สำคัญก็คือ  เราไม่รู้จัก  “คุณภาพ”  ของกิจการของหุ้นในต่างประเทศที่ไม่ได้เป็นหุ้น  “สากล”  และเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกอย่างหุ้นในแนวทางที่สอง  สิ่งที่เรารู้ก็คือข้อมูลตัวเลขรายได้  กำไร  และปันผล  รวมถึง อัตราส่วนต่าง ๆ ทางการเงิน  เราไม่รู้ว่าจริง ๆ  บริษัททำอะไรและมีความสามารถในการแข่งขันแค่ไหน  ว่าที่จริงในบางกรณีเราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์การทำธุรกิจของประเทศนั้นเป็นอย่างไร  เราลงทุนเพราะเราต้องการ  “ซื้อการเติบโตของประเทศ”  ในยามที่ราคาหุ้นยังถูกมาก  ซึ่งก็อาจจะคล้าย ๆ  กับการ  “ซื้อหุ้นประเทศไทย”  ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งได้สร้างผลตอบแทนมหาศาลให้กับคนที่ทำ  ส่วนตัวผมเองก็หวังว่าผมจะมีโอกาสทำมันซ้ำอีกในต่างประเทศ

            ไม่ว่าจะลงทุนแนวทางไหน  การลงทุนในต่างประเทศนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในประเทศมาก  ความเสี่ยงนั้นนอกจาก  “ความไม่รู้”  แล้ว  ยังรวมถึงความเสี่ยงของค่าเงิน  กฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ของการนำเงินออก  และกฎหมายต่าง ๆ  ของประเทศนั้น ๆ  มีบ่อยครั้งที่เราทำกำไรได้จากการลงทุนแต่กลับมาขาดทุนจากเรื่องอื่น ๆ  เช่น เรื่องของค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง  ดังนั้น  คนที่จะไปต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ให้มาก  สำหรับคนที่มีพอร์ตเล็กเกินไปแล้วผมเองคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศยังไม่จำเป็นและไม่เหมาะนัก  แต่สำหรับคนที่มีพอร์ตค่อนข้างใหญ่  ผมคิดว่าการคิดถึงการลงทุนในต่างประเทศนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างแน่นอน   
 
Posted by nivate at 11:33 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/09/08/1468



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 15 September 2014

หุ้นดีต้องมีคู

เงื่อนไขหรือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนระยะยาวในหุ้นของผมก็คือ  ดูว่าบริษัทมี “Moat” หรือ  “คูเมือง” สำหรับป้องกัน  “ข้าศึก” ที่จะเข้ามา “โจมตี”  แย่งชิงทรัพย์สมบัติของ  “ปราสาท” หรือบริษัทของเราหรือไม่   ความหมายของ Moat หรือคูเมืองก็คือ  ความได้เปรียบที่ทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาขายสินค้าสูงกว่าปกติหรือ  “ขายอยู่คนเดียว”  และทำกำไรได้สูงกว่า  “ต้นทุนเงินทุน”  ของบริษัทโดยที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแย่งชิงธุรกิจได้—อย่างถาวร  หรือยาวนานอย่างน้อย 5-10 ปีขึ้นไป

            ที่มาของ Moat หรือคูเมืองหรือคูของกิจการหรือบริษัทนั้น  มีอยู่ 4 ประการหลัก ๆ คือ: เรื่องแรก  ความได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตหรือให้บริการของบริษัท  บริษัทที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งนั้น  จะต้องเป็นการได้เปรียบอย่างถาวรหรือยาวนาน  ยิ่งยาวนานเท่าไร  “คู”  ก็  “กว้าง” ขึ้นเท่านั้น  และคูที่กว้างก็เป็นเครื่องที่แสดงว่าบริษัทมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นตามกันไป   ถ้าจะนิยามว่ายาวนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าบริษัทมี  Moat  ผมก็อยากกำหนดว่า 5 ปี นั้นจะเป็นบริษัทที่มีคู “แคบ”  10 ปีก็น่าจะเป็นคูที่กลาง ๆ  และถ้าเกิน 20 ปีขึ้นไปเรียกว่าบริษัทมีคูที่กว้างซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติอย่าง  “ถาวร”  และดังนั้นจึงมีคุณสมบัติยอดเยี่ยมและสมควรที่หุ้นจะมีราคาแพง  มีค่า PE สูงได้มาก  ในขณะที่หุ้นที่ไม่มีคูเลยนั้น  ไม่ควรที่จะมีค่า PE ปกติสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า PE เกิน 10 เท่าขึ้นอยู่กับว่าค่าไหนต่ำกว่ากัน

           ต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งนั้น  ส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากเรื่องของ Economies of Scale (EOS) หรือขนาดของธุรกิจที่เหมาะสมซึ่งก็มักจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยต่ำกว่า  แต่ประเด็นที่สำคัญนั้นยังอยู่ที่ความสามารถหรือความตั้งใจของคู่แข่งที่จะขยายขนาดกิจการให้ใหญ่ขึ้นจนมี EOS หรือไม่  และถ้าเป็นอย่างนั้น  ความได้เปรียบของบริษัทก็จะหมดไปในไม่ช้า   โดยปกติแล้ว  คู่แข่งก็มักจะพยายามขยายขนาดเพื่อลดต้นทุน  แต่ในหลาย ๆ  กรณี  ขนาดของตลาดนั้นอาจจะไม่ใหญ่พอ  ถ้าขยายกำลังการผลิต  สินค้าก็อาจจะล้นตลาดและทำให้ราคาลดลงมากซึ่งจะทำให้  “ตายกันทั้งคู่”  ดังนั้น  แรงจูงใจที่จะขยายกำลังการผลิตก็ไม่มี  บริษัทที่ยึดกุมตลาดอยู่ก็ถือว่ามี  “คู”  ที่ป้องกันคู่แข่งได้  จะยาวนานแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป

           ต้นทุนต่ำนั้นยังอาจจะมีที่มาจากการที่บริษัทเป็นเจ้าของทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าราคาในตลาด  ตัวอย่างเช่นบริษัทเป็นเจ้าของเหมืองทอง  เหมืองถ่านหิน  หรือบ่อน้ำมันที่ค้นพบมานานและต้นทุนในการได้มาต่ำกว่าราคาปัจจุบันมากและมีปริมาณของแร่สูงสามารถใช้ไปได้นานมาก  แบบนี้  บริษัทก็จะสามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติไปอีกนาน

           แหล่งของคูเมืองที่สำคัญแหล่งที่สองก็คือเรื่องของ  Intangible Assets หรือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้  ซึ่งตัวใหญ่ก็คือ Brand หรือยี่ห้อสินค้าที่เป็นที่นิยมสูงจนคนเลือกที่จะซื้อมากกว่าของคู่แข่งการเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักแพร่หลายหรือดังแต่คนไม่ได้จำเพาะหรือเลือกที่จะใช้จริง ๆ  นั้นไม่อยู่ในข่ายนี้  ตัวอย่างเช่นน้ำดื่ม  แบตเตอรี่  ปูนซีเมนต์  เหล่านี้เราจะไม่ถือว่ามันจะเป็น  “คู” ที่มีค่ากีดกันคู่แข่งได้  แต่ถ้าเป็นแบรนด์อย่างกระเป๋าหลุยส์วิตตองหรือนาฬิกาโรเล็กซ์ แบบนี้ก็ต้องถือว่ามันเป็นแบรนด์ที่คนเลือกและยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อที่จะซื้อ  ดังนั้น  มันจึงเป็นธุรกิจที่มีคูที่กว้าง

          นอกจากแบรนด์แล้ว  ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้แต่มีค่าที่สำคัญก็คือเรื่องของสิทธิบัตร  เช่น สิทธิบัตรยาที่เป็นแหล่งของคูที่มีค่ามากของบริษัทยาในต่างประเทศ  อย่างไรก็ตามในตลาดหุ้นไทยเราน่าจะมีบริษัทที่หากินกับสิทธิบัตรน้อย  สิ่งที่อาจจะเปรียบเทียบได้บ้างก็อาจจะเป็นสิทธิหรือสัมปทานหรือสัญญาที่บริษัทจดทะเบียนได้ทำไว้กับหน่วยงานรัฐที่บริษัทได้ทำไว้นานแล้วและสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้บริษัทได้เปรียบหรือได้กำไรดีกว่าปกติ  หรืออาจจะเป็นสัญญาที่บริษัทได้ประโยชน์มากกว่าที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลร้อยแปดที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออก  อย่างไรก็ตาม  “คู” ในลักษณะแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะไม่ใช่คูที่กว้างนัก  เหตุผลก็คือ  ระยะเวลาในการทำกำไรสูงกว่าปกติอาจจะไม่นานนักและโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยต่าง ๆ  รวมถึง  “การเมือง”  ก็มักจะสูง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  คูเหล่านี้มักจะมีแนวโน้มที่จะ  “แคบ”  ลงไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้คุณภาพหุ้นลดลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่คูแบบอื่นนั้นอาจจะมีโอกาส  “กว้าง”  ขึ้น  ซึ่งก็จะทำให้หุ้นนั้นพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ

           คูอีกแบบหนึ่งคือเรื่องของ  “Switching Cost”  หรือ  “ต้นทุนในการเปลี่ยนผู้ให้บริการ”  นี่เป็น “ต้นทุน” ที่ทำให้คนที่ใช้บริการบริษัทเราอยู่แล้วไม่เปลี่ยนไปใช้ผู้บริการอื่นแม้ว่าเราอาจจะคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นที่จะทำให้เราได้กำไรมากกว่าปกติ  เหตุผลก็คือ  มันไม่คุ้มที่จะเปลี่ยน  เพราะถึงแม้จะได้ลดราคาจากผู้ให้บริการรายอื่น  แต่เขาอาจจะได้บริการที่แย่ลงหรือต้องทำงานอย่างอื่นมากขึ้น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นการเปลี่ยนโรงพยาบาลซึ่งจะทำให้เราต้องเจอหมอคนใหม่ที่ไม่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยของเราที่ทำให้เราไม่สบายใจในการไปรับการรักษา  หรืออย่างในกรณีของการย้ายบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ  ซึ่งในอดีตนั้นต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หรือแม้แต่ปัจจุบันเราก็ยังต้องไปทำเรื่องต่าง ๆ  ที่อาจจะไม่ใคร่สะดวก  ดังนั้น  ถ้าไม่ได้อะไรที่ถูกกว่าจริง ๆ แล้ว  เราก็มักจะไม่ใคร่อยากย้ายผู้ให้บริการ  ดังนั้น  ถ้าเราพบว่าลักษณะของบริการของบริษัทนั้นมี Switching Cost สูง  โอกาสก็เป็นไปได้ว่าบริษัทจะมีคูที่จะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้สูงกว่าต้นทุนเงินทุน  และดังนั้นมันจึงสามารถมีค่า PE สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดได้

           คูเรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องของ  “Network Effect” หรือ  “คุณค่าของการอยู่ในเครือข่าย”  นี่ก็คือข้อได้เปรียบที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถเข้าแย่งชิงธุรกิจและทำให้บริษัทที่มีเครือข่ายที่ใหญ่จะได้เปรียบเครือข่ายที่เล็ก  เนื่องจากประโยชน์ของธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของคนที่อยู่ในธุรกิจ  ตัวอย่างเช่นพวกสื่อสังคมเช่น  Face Book หรือ Line หรือเวบไซ้ต์การประมูลขายสินค้าเช่น E-Bay นั้น  ลูกค้าผู้ใช้อยากใช้บริการเนื่องจากมันเป็นบริษัทที่มีคนเข้ามาใช้กันมากซึ่งทำให้เขาได้ประโยชน์สูงสุดในการติดต่อคนอื่น ๆ  ในเครือข่ายเดียวกัน  ที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับคูประเภทนี้ก็คือ  มันจะเป็นคูที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ  และโอกาสที่คู่แข่งจะเข้ามาแข่งก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น  หุ้นของบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้วยคูชนิดนี้จึงเป็นหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกอย่างแท้จริง

          สุดท้าย  ผมขอสรุปรวบยอดของเรื่อง Moat หรือคูเมืองว่า   มันจะทำให้บริษัทที่มีคูมีกำไรสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับต้นทุนเงินทุนของบริษัท  ถ้าจะดูง่าย ๆ  ก็คือดูว่าบริษัทมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ  เช่น  บางบริษัทมี ROE สูงกว่า 20% ต่อปีต่อเนื่องยาวนานเป็นต้น  นอกจากนั้น  บริษัทที่มีคูกว้างจะสามารถทำกำไรสูงกว่าปกติได้นานกว่า 20 ปี ในขณะที่บริษัทที่มีคูที่แคบอาจจะมีโอกาสทำกำไรสูงได้ไม่เกิน 10 ปี  อย่างไรก็ตาม  คูของแต่ละบริษัทอาจจะกว้างขึ้นหรือแคบลงเมื่อเวลาผ่านไป  บริษัทที่คูกว้างขึ้นก็คือบริษัทที่มีการพัฒนาความได้เปรียบของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่บริษัทที่มีคูแคบลงก็คือบริษัทที่ด้อยลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่พัฒนาตัวขึ้น ทั้งหมดนี้เราจะต้องคอยจับตาดูในเรื่องของการแข่งขันตลอดเวลา  ถ้าเรารู้ว่าคูของบริษัทกว้างแค่ไหนและมันมีแนวโน้มจะกว้างขึ้นหรือแคบลงเราก็สามารถนำมาช่วยตัดสินใจลงทุนได้  สำหรับบริษัทที่เราดูแล้วไม่มีคูหรือมีคูที่แคบมากแต่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่วคิดจากค่า PE  สิ่งที่เราต้องทำก็คือขาย  และนี่ก็คือศิลปะอย่างหนึ่งของ VI ที่ต้องเรียนรู้
 
Posted by nivate at 11:35 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “การลงทุน ไม่ใช่การเล่นหุ้น”

“ทำไมไม่ทำธุรกิจบ้าง” เพาพิลาส เหมวชิรวรากร เอ่ยถามสามี ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

“ผมทำอยู่แล้ว” ดร.นิเวศน์ ตอบภรรยาสั้นๆ แต่ได้ใจความ



ตลอดเกือบ 12 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าธุรกิจของ ดร.นิเวศน์เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างงดงาม เป็นที่อิจฉาของใครต่อใครหลายๆ คน และดร.นิเวศน์ไม่ได้เป็นเจ้าของแค่ธุรกิจเพียงแห่งเดียว และอาจจะพูดได้ว่าเป็นบุคคลที่มีธุรกิจหลาย 10 ธุรกิจ และแต่ละธุรกิจเป็นผู้นำทางธุรกิจชนิดคู่แข่งแทบจะวิ่งไม่ทัน

ขอยกตัวอย่างบริษัทของ ดร.นิเวศน์ มาให้อิจฉากัน เริ่มจาก บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF), บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF), บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY), บมจ.ไทยสโตเรจ แบตเตอรี่ (BAT-3K) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.เสริมสุข (SSC) และ บมจ.ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)

นิยามแห่งความเป็นเจ้าของธุรกิจของ ดร.นิเวศน์ ไม่ใช่เป็นผู้ก่อตั้ง บุกเบิกแล้วค่อยก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา แต่ใช้ความเป็นเจ้าของผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหุ้นแล้วก็ถือไปยาวๆ เพื่อรอรับเงินปันผลในแต่ละปี

“บริษัทของเราดีๆ ทั้งนั้น” ดร.นิเวศน์ ตอบภรรยา

ปี 2540 ขณะที่ทุกคนกำลังตื่นกลัวและกระโดดหนีออกจากตลาดหุ้น ดร.นิเวศน์กลับมองว่าเป็นจังหวะโอกาสที่เข้าไปลงทุน ด้วยการมองหาหุ้นดีๆ ที่มีอนาคต ผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง จ่ายปันผลงาม ทนต่อสภาวะวิกฤติ เพียงแต่ในขณะนั้นเจอกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ราคาหุ้นตกลงมาตามตลาดโดยรวม

ดร.นิเวศน์ ทุ่มสุดตัวด้วยการใช้เงินที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิตราวๆ 10 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นที่ตัวเองได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่ามีความปลอดภัยและจะอยู่กับตัวเองไปตลอดชีวิต โดยมองว่าถึงแม้หุ้นตัวนี้จะไม่มีสภาพคล่อง ไม่มีคนซื้อต่อ แต่ก็ได้รับเงินปันผลที่คุ้มค่าและจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง

“ผมคิดว่าจะอยู่กับหุ้นที่ลงทุนไปตลอดชีวิต เพราะมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของคนหนึ่งในบริษัทนั้น”

จากปี 2540 จนถึงวันนี้ ดร.นิเวศน์กลายเป็นเศรษฐีหุ้นอย่างแท้จริง ด้วยการคัดกรองมองหาหุ้นที่มีความอยู่รอดปลอดภัยและแข็งแกร่ง ภายใต้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Value Investor

การลงทุนแบบ Value Investor

การลงทุนแบบ Value Investor ต้องคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจ ต้องมองหาธุรกิจที่เราอยากเป็นเจ้าของ แต่ธุรกิจที่เราอยากเป็นนั้นจะต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน เพราะเป็นความคิดแบบฝันเฟื่อง

ดังนั้นต้องรู้จัก รู้จริงในธุรกิจนั้นๆ พยายามหาธุรกิจที่เข้าใจง่ายและเห็นแล้วว่ามีความสามารถทำกำไรได้ หลักการใหญ่ของการลงทุนแบบ Value Investor คือ ต้องรู้ธุรกิจที่อยากจะเป็นเจ้าของ ถ้าไม่รู้จักธุรกิจนั้นๆ ไม่รู้ว่าขายสินค้าอะไร กำไรมาจากไหนอย่าไปลงทุนเด็ดขาด

ความจริงแล้วการลงทุนแบบ Value Investor เป็นการลงทุนเพื่อชีวิต คือ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่การลงทุน “เล่นๆ” กำไรเล็กน้อยก็ดีใจ ขาดทุนเล็กน้อยก็เสียใจ ตลาดหุ้นดีก็เข้ามา ตลาดไม่ดีก็ถอยออกไป แต่การลงทุนแบบ Value Investor เหมือนกับกำลังปลูกต้นไม้ใหญ่ กำลังสร้างธุรกิจ และเมื่อถึงวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลับมาเลี้ยงชีวิตตัวเราให้อยู่แบบสบายๆ

หุ้นในแบบ Value Investor

ประเภทของกิจการที่น่าลงทุนตามหลัก Value Investor คือ บริษัทนั้นๆต้องขายสินค้าที่เป็นผู้นำในตลาด คนจำเป็นต้องซื้อสินค้านั้นๆ อาจเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ เป็นยี่ห้อที่คนชื่นชอบ ติดตลาดหรือขายอยู่เจ้าเดียว คู่แข่งเข้ามาตีตลาดยาก

เลือกลงทุนในธุรกิจดีๆ ในราคาหุ้นที่ต่ำ ราคายุติธรรม ซื้อไม่กี่ตัวแล้วถือยาวๆ ใจเย็นๆ ช้าๆ แต่มั่นคง อาจจะเปลี่ยนหุ้นปีละ 1-2 ตัว และหากเห็นว่าราคาหุ้นตัวนั้นปรับขึ้นไปสูงแล้วก็ขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวใหม่ และติดตามหุ้นไปเรื่อยๆ และอย่าลืมแนวคิดที่ว่าคุณกำลังลงทุนทำธุรกิจและเป็นเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้เมื่อได้กำไรหรือได้ผลตอบแทน ได้รับเงินปันผลก็นำเงินเหล่านี้ไปลงทุนเพิ่ม ซึ่งเรียกว่าการลงทุนแบบทบต้น ลงทุนทบต้นทุกปีๆ เพราะดร.นิวเศน์มองว่าการลงทุนแบบทบต้นเป็นสิ่งมหศจรรย์อันดับ 8 ของโลก

ปี 2540 เรียนรู้อะไร

วิกฤติการเงินปี 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ดร.นิเวศน์มองว่าในท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาส ดังนั้นอย่าเพิ่งท้อถอย “ผมมองว่าเมื่อเกิดวิกฤติ การลงทุนจะต้องเปลี่ยนโฉม และผมรู้ว่าการเปลี่ยนโฉมครั้งนี้จะเป็นการลงทุนแบบ Value Investor ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้การวิเคราะห์ต่างๆ และการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความปลอดภัยทนต่อสภาวะวิกฤติ”

เมื่อเขาคิดแบบนี้จึงยอมทุ่มสุดตัว “บอกได้เลยว่าตอนนั้นผมเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการลงทุน ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ มองว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีความปลอดภัย แต่ผมมั่นใจว่ายังมีหุ้นที่ต้องอยู่รอดปลอดภัยและต้องดีขึ้นในอนาคต มีกำไร จ่ายเงินปันผลที่ดีขึ้น และจะมีศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น แต่ในปี 2540 ราคาหุ้นตกต่ำ เพราะคนกลัวและขายหุ้นทิ้ง”

แนวคิดการเข้ามาลงทุนแบบนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น Value Investor เกิดจากแนวคิดว่าต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจผ่านการลงทุนในหุ้น ไม่ใช่เข้ามาเพื่อการเล่นหุ้น ซึ่งการเป็นเจ้าของธุรกิจเราต้องจ่ายแพงมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ในช่วงปี 2540 เขาไม่ได้จ่ายแพง แต่จ่ายถูกกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นความเสี่ยงแทบจะไม่มีเลย

ถือเป็นการตัดสินใจถูกจังหวะ

ผมบอกได้เลยว่าตอนนั้นผมอ่านตลาดหุ้นไทย “ขาด” กว่าคนส่วนใหญ่ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินลงทุนได้ อีกทั้งผมเป็นผู้นำความคิด Value Investor ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจยังไม่มีคำว่าการลงทุนแบบนี้ แต่หลังจากผ่านวิกฤติเศรษฐกิจคำเหล่านี้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมเป็นต้นคิดในการลงทุนหุ้นด้วยการใช้การวิเคราะห์แบบละเอียด

ผลตอบแทนจากการลงทุน

ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนได้มาแบบไม่เคยคาดคิดมาก่อน โดยตลอด 11 ปีที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย ผลตอบแทนโตมากกว่า 30 เท่า เพราะช่วงลงทุนไม่ได้คิดว่าจะได้มากมาย แต่จังหวะนั้นเป็นโอกาสทองในการลงทุน ผมมองว่าโอกาสทองในชีวิตคนเราเกิดขึ้นได้แค่หน สองหน ซึ่งเมื่อโอกาสมาคุณจะคว้าทันหรือไม่ หรือปล่อยให้โอกาสทองลอยหายไป

ในช่วงนั้นไม่ได้ตั้งเป้าเอาไว้เลยว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไร ได้เท่าไรก็มีความพอใจ แต่บังเอิญได้มาโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว ซึ่งผมลงทุนไปเรื่อยๆ จนผลตอบแทนทบไปทบมาต่อปีสูงถึง 35%

โอกาสทอง ไม่จำเป็นต้องเกิดท่ามกลางวิกฤติ แต่โอกาสทองของแต่ละคนมีอยู่ตลอดเวลา ประเด็น ก็คือว่า ต้องพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมไม่มีความรู้ ไม่ได้ศึกษามาก่อน ต่อให้โอกาสทองลอยมาก็ไม่สามารถคว้าได้

คิดอย่างไรกับคำว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น”

คำว่า “เล่น” ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งคำๆ นี้หมายความว่าการทำให้เกิดความสนุกนาน ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่มีพื้นฐานมารองรับ และขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่คำว่า “ลงทุน” คือ การมีปัจจัยพื้นฐานมารองรับ มีการวิเคราะห์ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจ และเป็นการลงทุนเพื่อมีเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต

มองอย่างไรกับการซื้อขายแบบรายวัน

ผมไม่เห็นด้วยการกับการเทรดหุ้นเป็นรายวัน หรือในระยะสั้นๆ เพราะกำลังคิดว่าจะมีนักลงทุนคนอื่นๆ มาซื้อหุ้นต่อจากเรา ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ได้กำไร แต่ถ้าไม่มีใครมาซื้อต่อ ราคาหุ้นจะปรับลดลง เพราะในระยะสั้นๆ ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับแรงซื้อและแรงขาย และแรงซื้อแรงขายเกิดความความกลัว ความโลภของนักลงทุน ดังนั้นถ้าลงทุนในตอนที่มีความกลัวจะเกิดความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้

นั่นหมายความว่าโอกาสที่การลงทุนจะประสบความสำเร็จและล้มเหลวมีเท่ากัน คือ 50:50 และถ้าทำบ่อยๆ ตามสถิติแล้วผลตอบแทนจะเป็นศูนย์ ไม่ได้อะไรเลยจากการลงทุน เพราะโอกาสชนะ 50% โอกาสแพ้ 50% อีกทั้งจะสูญเสียค่าคอมมิชชั่น แม้จะเสียเพียงเล็กน้อยแต่ถ้าเสียบ่อยๆ ก็กลายเป็นเม็ดเงินที่สูงและไม่มีความคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม มีคนประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะสั้นๆ แต่เป็นแค่ 1 ใน 100 คนเท่านั้น แล้วคุณจะเป็น 1 ใน 100 หรือคุณจะเป็น 99 ใน 100

มองความร่ำรวยย่างไร

เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต เมื่อมีถึงจุดหนึ่งก็เพียงพอ ความสุขของคนใช้เงินไม่มาก ถึงแม้จะมีเงินมากแต่ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย ความสุขมาจากด้านอื่นๆ เงินเป็นแค่องค์ประกอบเท่านั้น

การลงทุนให้ครอบครัว

ครอบครัวผมตอนนี้อยู่บ้านฝ่ายภรรยา ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผมกล้าลงทุน ส่วนภรรยาไม่ลงทุนในตลาดหุ้น ด้านลูกสาวคนเดียว (น้องพิซซ่า) กำลังเรียนอยู่ระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์ ดังนั้นการลงทุนครอบครัวจึงมุ่งไปที่ลูกสาว ในด้านการศึกษาอย่างเต็มที่

ถึงแม้ว่าผมจะประสบความสำเร็จในการลงทุนในตลาดหุ้น ผมเคยเล่าให้ภรรยาและลูกฟัง แต่ไม่ได้เป็นจริงเป็นจังอะไร เพราะคิดว่าแต่ละคนก็มีบุคลิกและสไตล์เป็นของตัวเอง จะให้ภรรยาและลูกสาวเป็นเหมือนผมคงไม่ได้ และไม่สามารถบังคับกันได้

การลงทุนครั้งสำคัญในชีวิต

การไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ไปโดยไม่มีเงินเลย แต่เรามีแรง มีเวลา นี่คือการลงทุน ซึ่งคนที่ไม่ร่ำรวย การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีสมอง มีแรง มีความขยัน มีเวลา ถึงแม้ว่าในช่วงนั้นเราไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าถ้ามีความสามารถเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์จะออกมาดี

ผมคิดว่าการศึกษาให้ผลตอบแทนที่ดี และมีความคุ้มค่า และทุกวันนี้ความรู้เป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งที่ดีที่สุด

จากคอลัมน์ ชีวิตคือการลงทุน
 
ที่มา :
http://2binvestor.blogspot.com/2012/02/blog-post_29.html#more




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
การประเมินกำไรในอนาคต (ตอน 1)

การรู้จักการประเมินกำไรล่วงหน้าอย่างถูกต้องจะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถประเมินอัตราการเติบโตและความถูกแพงของหุ้นได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นแล้ว การมีโมเดลในการประเมินกำไรจะเป็น “เครื่องจับโกหก” ชั้นดีที่เราสามารถนำไปใช้ในการประเมินความเป็นไปได้ของสิ่งที่ผู้บริหารพูดหรือสิ่งที่นักวิเคราะห์เขียนไว้ในบทวิจัย การที่เราสามารถใช้เครื่องมือตรงนี้ได้อย่างแม่นยำจะทำให้เราได้เปรียบนักลงทุนทั่วๆไปที่ไม่มีเครื่องมือตรงนี้

แต่ก่อนที่จะเริ่มประมาณการผลกำไร เราต้องเข้าใจคุณภาพของธุรกิจก่อน เราต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าธุรกิจมี “จุดตาย” หรือ “ข้อควรระวัง” อยู่ตรงไหน และอะไรเป็นประเด็นที่สำคัญ เช่น ธุรกิจเกษตรจะมีราคาขายผันผวนตามสภาวะตลาด ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น ธุรกิจโรงแรมจะมีความผันผวนตามฤดูกาล เพราะฉะนั้นงบในไตรมาส 1 และ 4 จะสูงกว่าอีกสองไตรมาสมาก การวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้จะทำได้ถ้าเราเข้าใจความเสี่ยงและโครงสร้างรายได้และต้นทุนของกิจการ การประเมินโดยขาดความเข้าใจในคุณภาพของกิจการจะทำให้เกิด Garbage In, Garbage Out (ขยะเข้า ขยะออก) หรือถ้าพูดง่ายๆคือความถูกต้องของการประเมินกำไรในอนาคตจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของการประเมินธุรกิจ ซึ่งในบทความนี้ผมจะไม่กล่าวถึงการวิเคราะห์เชิงคุณภาพแต่จะบอกว่าการวิเคราะห์เชิงคุณภาพจะทำให้เรารู้ว่า “สมมติฐาน” ข้อไหนมีความสำคัญต่อการประเมินกำไรในอนาคตของเรา

หลังจากประเมินมูลค่าเชิงคุณภาพแล้วเราก็สามารถเริ่มต้นทำการประมาณการกำไรได้ โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้

1. สร้างโมเดลในการประเมิน (Creating a Model)
สามารถทำได้โดยทำการป้อนข้อมูลตัวเลขทางการเงินย้อนหลัง (จากงบการเงิน) เราจะกรอกข้อมูลย้อนหลังลงในไฟล์ Excel อย่างน้อย 3 ปี (ถ้าอยากเห็นแนวโน้มของธุรกิจมากขึ้น ผมแนะนำ 5 ปี) โดยที่เราจะกรอกตัวเลขแต่ละบรรทัดและทำการคำนวณกำไรสุทธิออกมา (เราจะไม่กรอกกำไรสุทธิลงไปตรงๆ) เราจะนำกำไรสุทธิที่คำนวณได้ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขในงบการเงิน ถ้าตรงก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ตรงแสดงว่า 1) สูตรผิด 2) ตัวเลขที่เรากรอกไม่ถูกต้อง เราต้องหาจนเจอจุดผิด (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่น่ารำคาญมากๆสำหรับคนที่พึ่งจะเริ่มทำโมเดลใหม่ๆ) เพราะไม่งั้นการประมาณการเราจะผิดทั้งหมด แต่ถ้าเราทำได้แล้วเราก็จะมีโมเดลที่พร้อมแล้วสำหรับการการประเมินกำไรต่อไป

2. กำหนดสมมติฐาน (Set Assumptions)
สามารถทำได้โดยดูแนวโน้มของการเติบโตของยอดขาย อัตราการทำกำไรย้อนหลัง และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ผู้บริหารให้มา หลังจากเปรียบเทียบแล้วเราจะทราบว่าผู้บริหารให้ Guidance ต่ำหรือสูงเกินไป เช่น ถ้าธุรกิจมีรายได้เติบโตแค่ปีละ 3% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแต่ปีนี้ผู้บริหารให้เป้า 20% เราต้องสงสัยแล้วว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ขนาดนั้น หลังจากนั้นเราก็ต้องทำการ “เลือกเชื่อ” ว่าเราจะนำตัวเลขไหนมาใช้ในการประเมินกำไร

3. ประเมินกำไรจากสมมติฐาน (Forecasting)
โดยนำตัวเลขสมมติฐานที่ได้มาทำการประมาณการกำไร ตัวเลขเหล่านี้ควรรวมถึง (แต่อาจจะมีมากกว่านี้) อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของยอดขายรวม อัตราภาษี ค่าใช้จ่ายทางการเงิน ในบางธุรกิจอาจจะมี กำไร(ขาดทุน)จากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายจากการขายสินทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งวิธีการประเมินอาจจะขึ้นอยู่กับว่ารายการนั้นมีนัยสำคัญต่อการประเมินของเราหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถตัดทิ้งได้ แต่ถ้ามีเราอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม

4. เปรียบเทียบตัวเลขที่ทำได้กับแหล่งอ้างอิงอื่นๆ (Benchmarking)
นำตัวเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารให้ไว้ รวมถึงเปรียบเทียบตัวเลขกับบทวิเคราะห์ว่าผลกำไรที่เราประเมินได้มากหรือน้อยกว่าอย่างไร อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ได้ตัวเลขใกล้เคียงกับนักวิเคราะห์อาจจะไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องเสมอไป การได้ตัวเลขที่น้อยกว่าหรือมากกว่ามากๆบางครั้งอาจจะถูกก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่สมมติฐานของเรา สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไม” ตัวเลขเราถึงแตกต่างกับคนอื่นๆ

5. ติดตามและอัพเดทงบรายไตรมาส (Earning Review)
ทุกครั้งที่งบออก เราจะป้อนข้อมูลงบล่าสุดเทียบกับประมาณการที่เราทำไว้สำหรับทั้งปี เช่นถ้ายอดขาย 6 เดือนแรกโต 50% แต่เราทำประมาณการไว้ 10% แสดงว่าเราอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรืออาจจะต้องศึกษาดูว่ากำไรที่โตเยอะมากเกิดจากเหตุการณ์พิเศษอะไรรึเปล่า แล้วเราก็ควรจะปรับโมเดลตามข้อมูลใหม่ที่เราได้รับมา
ช่วงที่ผมเป็นนักวิเคราะห์กองทุนใหม่ๆผมมักจะเจออาการ “โดนหลอก” เป็นประจำ เพราะผมเชื่อ 100% ในสิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังมาทำให้ตัวเลขที่ได้บางครั้งก็สูงเกินไป (ทำให้เราไม่ได้ระวังตัว) บางครั้งก็ต่ำเกินไป (ทำให้เราไม่กล้าซื้อ) เพราะฉะนั้นการประเมินกำไรให้ได้แม่นยำ ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม ความช่างสังเกต ประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก แต่สิ่งที่ได้รับคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดชิ้นหนึ่งในการเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า

อ่านจบแล้วก็อย่าลืมหยิบงบการเงินของหุ้นตัวโปรดแล้วมาลองทำการประเมินกำไรดูครับ การอธิบายเป็นคำพูดอาจจะมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อสงสัยหรือคำแนะนำตรงไหนก็ถามกันได้ครับ

ตอนหน้าผมจะมาพูดถึงวิธีการวิเคราะห์และการประเมินงบในแต่ละบรรทัดว่าเราจะทำการประเมินได้อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไร มาวิเคราะห์แบบเจาะลึกไปเลย ติดตามอ่านกันได้

ที่มา:
http://www.thaivi.org/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95-%E0%B8%95/



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
การประเมินกำไรในอนาคต (ตอน 2)/road to billion

ในบทความ “การประเมินกำไรในอนาคต ตอนที่ 1” เราได้พูดถึงขั้นตอนในการประเมินกำไรทั้ง 5 ขั้นตอนแล้ว http://www.thaivi.org/การประเมินกำไรในอนาคต-ต/ ในบทความนี้เราจะลงในรายละเอียด โดยจะกล่าวปัจจัยที่มีผลต่อกำไรอย่างละเอียดมากขึ้น

รายได้

หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว มักจะมีการเติบโตของรายได้ที่สม่ำเสมอ การประเมินรายได้ของหุ้นพวกนี้อาจจะใช้อัตราการเติบโตในอดีตได้ แต่สำหรับหุ้นที่มีรายได้ในอดีตไม่สม่ำเสมอ ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือบริษัทที่มีผู้บริหาร ผลิตภัณฑ์ หรือหน่วยธุรกิจใหม่ๆ การใช้ตัวเลขในอดีตอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เราอาจจะต้องอาศัยข้อมูลการจากทางผู้บริหารประกอบ อย่างไรก็ตามเราต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของรายได้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีลูกค้าน้อยราย หรือบริษัทที่ไม่มีลูกค้าประจำหรือไม่สามารถกำหนดราคาขายแน่นอนได้ บริษัทเหล่านี้เราต้องมี “ส่วนเผื่อสำหรับข้อผิดพลาด” ไว้บ้าง

การประมาณการอัตราการทำกำไร

ต้นทุนของธุรกิจหลักๆมีสองส่วนคือ ต้นทุนในการขาย (Cost of Good Sold หรือ COGS) และค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (Sale, General & Admin หรือ SG&A) ในการวิเคราะห์เราต้องมองให้ออกว่าทั้ง COGS และ SG&A มีส่วนไหนบ้างที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ และส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายทีแปรผันตามยอดขาย ธุรกิจโรงแรมจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ค่อนข้างเยอะจากค่าเสื่อมราคา ทำให้การเพิ่มขึ้นของยอดขายในวัฏจักรขาขึ้นจะทำให้อัตราการทำกำไรเติบโต (รายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่า) แต่ในขณะที่ธุรกิจเกษตรอาจจะมีต้นทุนแปรผันเยอะ เพราะฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของยอดขายอาจจะไม่ได้ถึงอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น (สำหรับธุรกิจนี้ ต้องมองกันที่ราคาขายและราคาของวัตถุดิบเป็นหลักๆ)

การใช้อัตราส่วนในอดีตจะสามารถใช้ได้แต่เราต้องดูผลกระทบที่บริษัทจะได้รับในปีปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมาจากค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค หรือค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของธุรกิจ ส่วนมากแล้วทางบริษัทจะสามารถให้ข้อมูลได้ว่าแนวโน้มของอัตราการทำกำไรในปีนี้จะเป็นยังไง แต่ก็อย่าลืมถามถึง “เหตุผล” ที่จะเป็นอย่างนั้นด้วยนะครับ เราจะได้นำมาวิเคราะห์ต่อได้

ต้นทุนทางการเงินและกระแสเงินสด

สองอย่างนี้ใกล้กันจนหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ บริษัทที่มีกระแสเงินสดดีจะมีเงินเหลือไปจ่ายหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน แต่สำหรับบริษัทที่ต้องใช้Working Capitalหรือเงินลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมาก อาจจะต้องอาศัยการกู้ยืมที่มากขึ้นถ้าธุรกิจจะต้องการเติบโต การวิเคราะห์โดยละเอียดจะทำได้ยากสำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิเคราะห์มืออาชีพ แต่เราสามารถทำได้คร่าวๆโดยการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ถ้ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานหักด้วยเงินที่ใช้ในการลงทุนติดลบมากๆ บริษัทจำเป็นต้องจัดหาเงินจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งอาจจะหมายถึงการกู้เงินจากธนาคารหรือการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น สมมติว่าบริษัทต้องใช้

อัตราภาษี

ค่าใช้จ่ายบางประเภทไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีได้ เช่น การตั้งสำรองหนี้เสีย ทำให้อัตราการจ่ายภาษี (“ภาษีจ่าย” หารด้วย “กำไรก่อนหักภาษี”) มีอัตรามากกว่าปรกติ แต่ในบางกรณีบริษัทอาจจะจ่ายภาษีน้อยกว่าฐาน 20% เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น BOI การประเมินภาษีทำได้ยาก ถ้าอัตราการจ่ายภาษีในอดีตไม่ได้ผันผวนมากผมก็จะใช้ตัวเลขเดิม แต่ถ้าผันผวนประเมินยาก ผมจะโทรถามข้อมูลส่วนนี้จากทางเจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์โดยตรงเลย ซึ่งจะแม่นยำกว่าการคาดเดาของเราแน่นอน

ผลกระทบจาก Dilution

การออก Warrant การเพิ่มทุน การจ่ายหุ้นปันผล จะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้กำไรต่อหุ้นลดลง นักลงทุนหลายท่านประเมินมูลค่าโดยที่ยังไม่ได้นำหุ้นส่วนเพิ่มนี้มารวม ทำให้ได้ตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่สูงเกินจริง สุดท้ายแล้วเราต้องไม่ลืมว่าการเติบโตของ EPS ในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด

สุดท้ายแล้วหุ้นแต่ละตัว ในแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีปัจจัยที่มีผลต่อรายได้และกำไรแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการประเมินกำไรให้แม่นยำ จำเป็นต้องอาศัยการสะสมประสบการณ์ (รวมถึงข้อผิดพลาด) ในการวิเคราะห์ธุรกิจและประเมินกำไรในอนาคต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการทั้ง 5 ข้อที่ผมได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ http://www.thaivi.org/การประเมินกำไรในอนาคต-ต/  ถ้ากระบวนการถูกต้องแล้ว ในท้ายที่สุดเราจะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ ถ้าเราผิดพลาดตรงไหนก็ค่อยๆปรับแก้ไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องคอยประเมินตัวเองอยู่เสมอ ในบทความหน้า ผมจะมาพูดถึงข้อผิดพลาดในการประเมินกำไรในอนาคตที่นักลงทุนชอบทำกัน ติดตามกันได้ครับ

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58059

--------------------------------------------------------------

การประเมินกำไรในอนาคต (ตอน 3)/road to billion

ในทางทฤษฎีการประเมินกำไรเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่ยาก แต่เหมือนกับทุกอย่างในโลกนี้ โลกความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องใช้มุมมองภาพกว้างๆประกอบการตัดสินใจ ผมได้หยิบยก “ข้อผิดพลาด” จากประสบการณ์ของตัวเองและของนักลงทุนหลายนๆท่านที่ผมมีโอกาสได้การสอนและให้ความรู้ เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับหลายๆคน สรุปออกมาแบบง่ายๆให้ทุกคนได้อ่านกันแบบไม่ต้องจ่าย “ค่าเล่าเรียน” ด้วยตัวเอง

ไม่ได้วัดผลการประเมินของตัวเอง

การประเมินกำไรที่ดีก็เหมือนกับการยิงปืน ยิงไปแล้วเราก็ต้องดูว่ามันเข้าไปหรือเปล่า สูงไปมั้ย? ต้องขยับซ้ายอีกรึเปล่า? ถ้าเราประเมินกำไรแล้ว ไม่เคยเอามาเปรียบเทียบกับตัวเลขจริงๆ เราก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากระบวนการในการประเมินของเรานั้นถูกต้องแค่ไหน ปรกติแล้วผมจะอัพเดทข้อมูลทุกๆไตรมาส และจะทำละเอียดๆหลังจากงบปีออก ผมจะทำการเปรียบเทียบดูว่างบที่ออกมาเมื่อเทียบกับที่เราทำไว้เป็นอย่างไร? อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ต้นทุนทางการเงิน อัตราภาษี และสุดท้ายกำไรต่อหุ้น งบที่ออกมาในไตรมาสนั้นสูงหรือต่ำเกินกว่าที่เราประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ (เกิน 10%) ผมก็จะพยายามหาเหตุผลว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร สมมติฐานที่ผมมีเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นๆยังถูกต้องอยู่หรือไม่ ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการพัฒนาตัวเองที่จะทำให้ความแม่นยำเราดีขึ้นอย่างมาก

ไม่ได้ทำการ BENCHMARK ตัวเลข

แน่นอนว่าการเปรียบเทียบกับตัวเลขจริง เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่บางครั้งเราก็อยากจะรู้ว่าตัวเลขที่เราทำออกมาเป็นอย่างไรก่อนที่จะรู้ผล วิธีที่ทำได้ง่ายและเร็วที่สุดคือการเปรียบเทียบตัวเลขของเรากับบทวิเคราะห์ โดยหลักผมจะเปรียบเทียบการเติบโตของยอดขาย อัตราการทำกำไร และกำไรต่อหุ้น ในอีก 3 ปีข้างหน้า กับบทวิเคราะห์อย่างน้อยซัก 2 – 3 ฉบับ หลายครั้งผมก็อาจจะโทรไปคุยกับนักวิเคราะห์เพื่อสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวสมมติฐานของงบการเงิน ในโลกของการลงทุน นักวิเคราะห์จะเป็นคนที่ได้รับข้อมูลดีที่แม่นยำและรวดเร็วที่สุด (หลายบริษัทจะจัดประชุมนักวิเคราะห์ก่อนจะให้ข้อมูลกับนักลงทุนทั่วไป และหลายๆบริษัทก็ไม่ให้ข้อมูลกับนักลงทุนโดยตรง) ซึ่งเป็นส่ิงที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ไม่อยากให้นักวิเคราะห์เปลี่ยนคำแนะนำกลับไปกลับมา นักวิเคราะห์ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะทำตัวเลขออกมาให้ไม่ต่างกับอดีตมากนัก มีนักวิเคราะห์จำนวนน้อยที่กล้าที่จะเปลี่ยนมุมมองอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบกำไรของเราต้องพิจารณาให้ครบทุกด้าน

หุ้นแต่ละตัวประเมินกำไรได้ยากง่ายแตกต่างกัน

“Not all stocks are created equal” หุ้นทุกตัวมีความแตกต่าง การประเมินกำไรก็เช่นกัน นักลงทุนหลายท่านมองการเติบโตของกำไร อยากได้หุ้นที่เติบโตดีๆ เลือกลงทุนในหุ้นเล็กๆที่มีการเติบโตดี แต่ลืมที่จะพิจารณาความเสี่ยง มองปริมาณ แต่ไม่ได้มองคุณภาพ เราคิดว่าธุรกิจจะโต 30% แต่เราไม่ได้คิดว่าโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน แล้วในทางกลับกันมันมีโอกาสที่จะลดลง 30% หรือเปล่า ในความเป็นจริงแล้วหุ้นที่มีความเป็นวัฏจักร มีราคาหรือต้นทุนที่ผันผวน มีลูกค้าน้อยราย เช่น ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ หุ้นที่มียอดขายไม่สม่ำเสมอ เช่น รับเหมา จะสามารถประเมินกำไรในอนาคตได้ยากกว่าธุรกิจที่มีลูกค้าหลายราย มีการซื้อซ้ำ และราคาขายและต้นทุนไม่ผันผวน ยกตัวอย่างหุ้น หุ้นกลุ่ม OEM กับ หุ้นค้าปลีก แต่ OEM ถ้าดีก็จะดีใจหาย แต่ถ้าลูกค้ารายหลักๆหายไปซักรายก็จะมีผลกระทบต่องบการเงินเป็นอย่างมาก (ซึ่งบางครั้งผู้บริหารก็ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต) ส่วนค้าปลีกก็ไม่ได้ว่าประเมินได้ง่ายเสมอไปเพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ต้นทุนอาจจะเพิ่มในขณะที่กำลังซื้อถดถอย ตัวอย่างเช่นช่วงต้นปี 2014 ที่ผ่านมา หุ้นค้าปลีกส่วนมากมีผลประกอบที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามความแน่นอนของการคาดการณ์งบการเงินของหุ้นค้าปลีกจะมีความแน่นอนกว่ามาก แต่ถ้ามองในมุมของการประเมินมูลค่า PE ที่สูงของหุ้นพวกนี้ (เทียบกับหุ้นค้าปลีกในต่างประเทศ) ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ

เชื่อผู้บริหารมากเกินไป

นักลงทุนหลายๆคนไม่ได้ติดตามว่าสิ่งที่ผู้บริหารเคยพูดในอดีต ทำให้ “ตีความ” ข้อมูลที่ผู้บริหารให้สูงหรือต่ำเกินจริง ผู้บริหารบางท่านเป็นนัก “ขายฝัน” มีโปรเจคเยอะ บอกว่าจะขยายให้ได้ 100 – 200 สาขา แต่พอทำจริงๆอาจจะไม่ถึง 10 สาขา นักลงทุนที่ไม่เคยติดตามผลงานก็ต้อง “ฝันสลาย” ไปตามๆกัน แต่ถ้าเราย้อนไปศึกษาข้อมูลในอดีตซักนิด ก็จะพบว่าผู้บริหารท่านนั้นมี Track Record ที่ไม่ค่อยดี พูดอะไรก็ทำไม่ค่อยได้ ในขณะที่บางพวกเป็นพวก “พูดน้อย ทำมาก” ถามว่าเป็นยังไง? จะโตแค่ไหน? อาจจะบอกแค่ 5-10% แต่พอทำจริงๆกลับได้เยอะกว่านั้น แบบนี้เราก็ต้องนำผลงานของท่านมาพิจารณาในการประเมินกำไร อย่างไรก็ตาม บางครั้งสิ่งที่ผู้บริหารพูดอาจจะไม่มีความสำคัญเท่ากับปัจจัยภาพนอก บางครั้งสภาวะอุตสาหกรรมดูดี มีปัจจัยเชิงบวกเป็นลมหนุน ไม่ว่าจะมาจากนโยบายรัฐ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เหตุการณ์พิเศษ ที่อาจจะเอื้อต่อธุรกิจ เวลาผู้บริหารพูดอะไร ก็อาจจะดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าสภาวะการณ์พลิกผัน เป้าหมายของผู้บริหารก็อาจจะดู “เกินจริง” ขึ้นมาทันที ในฐานะนักลงทุน การหาแหล่งข้อมูลอื่นมาประกอบเพื่อ “ตรวจสอบความถูกต้อง” ของผู้บริหารถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น บางครั้งการศึกษาและพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทคู่แข่ง บริษัทที่เป็นคู่ค้า หรือลูกค้า ก็จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ผู้บริหารให้มาได้

ไม่ได้พิจารณาความน่าจะเป็นของงบที่อาจจะเกิดขึ้น

ในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถคาดเดากำไรในอนาคตได้อย่างแม่นยำ 100% เรามองออกได้แค่เป็น “ช่วง” หรือ Range ของกำไรเท่านั้น สำหรับธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง (งบที่ดีที่สุดกับแย่ที่สุดมีความแตกต่างเกินกว่า 30%) ผมจะประเมินกำไรออกมาในหลายๆกรณี และจะดูว่าแต่ละกรณีมีความน่าจะเป็นอย่างไร นักลงทุนหลายท่านมองแต่กรณีปรกติ (Base Case) หรือ กรณีดีสุดๆ (Best Case) แต่ไม่ได้เพื่อโอกาสไว้สำหรับกรณีแย่สุดๆ (Worst Case) เลย ซึ่งหลายๆครั้งหมายถึงการประเมินมูลค่าที่ผิดพลาดและการขาดทุนแบบมหาศาลที่เกิดจากการไม่มี “ส่วนเผื่อความผิดพลาด” (Margin of Error) ที่มากพอ เปรียบเทียบก็เหมือนการทอยลูกเต๋าพิเศษที่มีตัวเลขทั้ง 6 ด้านคือ {1, 1, 5, 5, 5, 5} การที่มีเลข “5” ถึงสี่ด้านไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสที่ทอยได้เลข 1 ซึ่งถ้าเลข 1 ต่ำพอที่จะทำให้หุ้นตกลงอย่างมหาศาลได้ เราก็ต้องควรพิจารณาความน่าจะเป็นในส่วนนั้นด้วย สุดท้ายแล้วการประเมินมูลค่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องแบบไม่มีวันจบ (Continuous Improvement) เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความขยันทุ่มเท ทำการบ้านเยอะๆ และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและมุมมองของนักลงทุนท่านอื่น อย่างไรก็ตามในสภาวะตลาดที่ “หุ้นตามกระแสนิยม” มาแรง ราคาตลาดอาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หุ้นที่ Hot และเป็นที่นิยมก็จะมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ในขณะที่หุ้นบางกลุ่มก็จะไม่มีใครเหลียวแล และนั่นก็อาจจะเป็นโอกาสในการซื้อกิจการที่ดี แข็งแกร่ง มีการเติบโต ในราคาที่มีส่วนลด และสิ่งเหล่านั้นก็อาจจะเป็นรางวัลพิเศษให้กับนักลงทุนที่เฉลียวฉลาดและมีความอดทนมากพอ

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58311