Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


เศรษฐี mai /ธันวา เลาหศิริวงศ์

เวลาล่วงเลยมาเกือบ 9 เดือนของปี 2557 แม้ประเทศไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้านมานานในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่พร้อมนำพาประเทศก้าวเดินหน้าต่อไป ตลาดหุ้นไทยจึงให้ผลตอบแทนการลงทุนในเกณฑ์ดีมากแห่งหนึ่งของโลก ลองมาดูข้อมูลที่สำคัญจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2557 ว่าตลาดหุ้นไทยมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

    ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,581.36 จุด เพิ่มขึ้นจากต้นปีถึง +21.8% มีมูลค่าตลาดโดยรวมสูงถึง 14,337,833 ล้านบาท ปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ PE 18.36 เท่า PBV 2.27 เท่า อัตราหมุนเวียนปริมาณการซื้อขาย (YTD, Turnover Ratio) ที่ 97.47% มีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 2.84%

    ดัชนีตลาด mai ปิดที่ระดับ 685.75 จุด ปรับสูงขึ้นจากต้นปีถึง +92.2% หรือเกือบเท่าตัว ทำให้มีมูลค่าตลาดโดยรวมเพิ่มเป็น 333,593 ล้านบาท ซื้อขายที่ระดับ PE 80 เท่า PBV 4.88 เท่า อัตราหมุนเวียนปริมาณการซื้อขายมากถึง 286% โดยมีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 1% หากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจะพบว่า 5 อันดับหลักทรัพย์ที่มีมูลตลาดสูงสุดได้แก่ EA 89,520 ล้านบาท EFORL 17,296 ล้านบาท AIRA 13,003 ล้านบาท CGD 12,178 ล้านบาทและ AUCT 9,955 ล้าน โดยทั้ง 5 บริษัทมีสัดส่วนสูงถึง 42.5% ของมูลค่าตลาด mai โดยรวมจากทั้งหมด 104 บริษัท

    หากพิจารณาในด้านระดับ PE จะพบว่าหุ้น mai ที่ PE สูงสุด 10 อันดับแรก มีการซื้อขายที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด mai ที่ 80 เท่า นอกจากนี้หุ้น 20 อันดับแรก ยังซื้อขายที่ PE สูงกว่า 63 เท่าอีกด้วย ส่วนในด้าน BPV นั้นหุ้นในตลาด mai 20 อันดับแรกซื้อขายที่ PBV 4.53 เท่าโดย หุ้นที่ซื้อขายที่ระดับ PBV สูงสุดนั้นสูงถึง 23.24 เท่า

    จากปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น นักลงทุนทั่วไปในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายในตลาด SET ตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ย 56.6%  ของปริมาณซื้อขายรวม โดยข้อมูลซื้อขายครึ่งเดือนกันยายนยังเพิ่มขึ้นเป็น 65.0%  นักลงทุนต่างชาติลดสัดส่วนจากซื้อขายเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีที่ 23.2% ลงมาเหลือ 17.1%  โดยนักลงทุนสถาบันและบัญชีหลักทรัพย์มีสัดส่วนใกล้เคียงเดิมที่ประมาณ 9-10% สำหรับสัดส่วนการซื้อขายในตลาด mai นั้น ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขการลงทุนของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ จึงทำให้นักลงทุนทั่วไปในประเทศมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 97% ของปริมาณการซื้อขายรวมตลอดมา

    จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา อาจพอสรุปได้ว่า ผู้ที่ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คือกลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศ และหากเลือกเน้นการลงทุนหุ้นในตลาด mai แบบถูกที่ถูกเวลาแล้ว ชีวิตอาจเปลี่ยนจนถึงขั้นเป็น “เศรษฐีใหม่” หรือ “เศรษฐี mai” ได้ในช่วงเวลาไม่นานเลย

    หากลองวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ราคาหุ้นในตลาด mai ปรับตัวสูงขึ้นมาก อาจเป็นเพราะปัจจัยดังต่อไปนี้ ปัจจัยแรก หุ้น mai มีความ “สดใหม่” ทั้งในด้านข้อมูลและเรื่องราวที่น่าติดตามเมื่อเทียบกันหุ้นในตลาด SET นอกจากนี้ หุ้น mai ส่วนหนึ่งคือหุ้น IPO หรือเพิ่งมีการปรับโครงสร้างให้อยู่ในธุรกิจตามกระแส การเข้าลงทุนในบริษัท mai ยังให้ความรู้สึกว่าไม่เสียเปรียบเรื่องราคาต้นทุนนักเพราะเริ่มเข้าลงทุนในเวลาใกล้เคียงกับนักลงทุนอื่น ปัจจัยที่สอง หุ้น mai ยังไม่ได้ถูกจัดกลุ่มแบ่งตามประเภทธุรกิจ นักลงทุนบางส่วนจึงอาจตัดสินใจลงทุนโดยไม่ได้พิจารณาเทียบเคียงกับระดับความถูกแพงของกิจการประเภทธุรกิจเดียวกัน ปัจจัยที่สาม หุ้น mai ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีจำนวนหุ้นหมุนเวียนไม่มากนัก หากเกิดกระแสนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในกิจการเดียวกัน ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก ปัจจัยสุดท้าย กระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วไปในประเทศยังคงไหลเข้าตลาด mai อย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียงไม่กี่พันล้านบาท และแตะระดับหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ย่อมเป็นส่วนสำคัญทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

    หากถามว่าตลาดหุ้นจะปรับขึ้นไปจากนี้อีกมากน้อยเพียงใด คงไม่มีใครตอบได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แต่คำพูดกวนๆ ที่ว่า “หุ้นจะปรับขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าถึงจุดที่มันจะลง และเมื่อปรับตัวลงไปเรื่อยๆ จนกว่าถึงจุดที่มันจะขึ้น” จะเป็นจริงเมื่อเวลานั้นมาถึง นักลงทุนจึงต้องตอบคำถามของตนที่ว่า ตลาดหุ้นไทยในยามนี้อยู่ที่จุดใด และต้องใช้ “สติและเหตุผล” และต้อง “หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์” ในการตัดสินใจในการลงทุนทุกครั้ง

    ในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับนักลงทุนทุกท่านที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างยอดเยี่ยมในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรต้องพิจารณาและทบทวนถึงแนวทาง วิธีการ ขบวนการลงทุนว่าสามารถ “ทำซ้ำ” เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งโดยได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดีเช่นเดิมในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด หากคิดว่ายังทำได้ ก็เปรียบเสมือนการค้นพบสูตรสำเร็จในการลงทุนที่น่าทึ่งทีเดียว แต่หากยังไม่มั่นใจ นี่คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทบทวนและปรับกลยุทธ์การลงทุนของตน เพราะช่วงเวลาเปลี่ยนชีวิตเป็น “เศรษฐีใหม่” อาจเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนที่เข้าข่าย “Too good to be true” นั่นเอง
 

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58063



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 22 September 2014

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ



Value Investor จำนวนมากนั้นถูกสอนให้คิดแบบ  “Bottom Up” หรือวิเคราะห์จากตัวบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุนมากกว่าที่จะคิดถึง “ภาพใหญ่” ของอุตสาหกรรม  ภาวะเศรษฐกิจสังคมหรือประเทศชาติเมื่อคิดจะลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง  แต่ความเป็นจริงก็คือ  มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ามากที่เราจะหาหุ้นที่ดีจากภาวะหรือภาพใหญ่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการเติบโตของบริษัท  จริงอยู่  ในประเทศหรือในสังคมที่มีระดับการพัฒนาต่ำและ/หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจช้า  เราก็อาจจะยังพบบริษัทที่ดีได้   แต่เทียบกันแล้วมันก็คงจะหาได้ยากและ/หรือดีไม่เท่ากับบริษัทที่อยู่ในสังคมที่ก้าวหน้าและมีการเติบโตสูง  และนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจว่าประเทศไหนจะดีหรือเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนถ้าเราต้องการที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ

           วิธีที่จะดูว่าประเทศไหนจะ “รุ่ง” หรือจะ “ร่วง” ในระยะยาวนั้น  ผมคิดว่าเราต้องดูถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างที่มีการจัดอันดับกันมาตลอด  เพราะนี่จะเป็นการบอกว่าประเทศไหนจะ “ชนะ” หรือ “แพ้” ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลก  อย่างไรก็ตาม  การจัดอันดับที่มีอยู่นั้นผมคิดว่ายังเป็นการมองแบบระยะสั้นหรือกลางมากกว่าระยะยาวเห็นได้จากข้อมูลหรือตัวเลขที่ใช้นั้นมักจะอิงจากข้อมูลมหภาคที่วัดกันเป็นปี ๆ  มากกว่าข้อมูลเชิง  “โครงสร้าง”  ที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก  ดังนั้น  ในฐานะของ VI ผมจึงอยากที่จะเสนอแนวทางการวัดความสามารถการแข่งขันของประเทศอีกแนวหนึ่งที่เน้นการมองระยะยาวและอิงอยู่กับเรื่องของ  “วิวัฒนาการ” ของมนุษย์ที่มีการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ  และมีตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์พอสมควรดังต่อไปนี้

            ประเด็นแรกก่อนที่จะพูดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของรัฐหรือประเทศ  ผมคิดว่าเราควรจะทำความเข้าใจก่อนว่าไม่มีปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่กำหนดความสามารถได้หมด  ความสามารถของการแข่งขันนั้นถูกกำหนดโดยปัจจัยหลาย ๆ  อย่าง  และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ปัจจัยที่ “บวก” อย่างหนึ่งนั้นบางทีมันไม่สามารถทำงานได้ถ้าปัจจัยอีกอย่างหนึ่งมันเป็น “ลบ”ที่รุนแรง  นอกจากนั้น  ปัจจัยต่าง ๆ  จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมันมีการเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ตาม  เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดความสัมพันธ์ต่าง ๆ  เหล่านี้อย่างแม่นยำ  ดังนั้น  มันจึงเป็นเรื่องของศิลปะในการมองว่าความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรโดยดูจากปัจจัยต่าง ๆ  ที่ประเทศนั้นมีอยู่

           ปัจจัยแรกที่น่าจะสำคัญมากที่จะกำหนดว่าประเทศไหนจะรุ่งหรือร่วงในระยะยาวก็คือ  ระดับ IQ ของคนในชาติ  เพราะระดับ IQ นั้น  ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อ “ผลสำฤทธิ์ทางการศึกษา”  และอื่น ๆ  อีกหลายเรื่องซึ่งน่าจะรวมถึงระดับของเงินเดือนและความก้าวหน้าอื่น ๆ   ดังนั้น  ประเทศที่คนมีระดับ IQ เฉลี่ยสูงก็น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ  ถ้ามองแบบนี้  ประเทศในแบบเอเซียตะวันออกซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น  เกาหลี และจีนก็น่าจะได้เปรียบเพราะคนมี IQ เฉลี่ยค่อนข้างสูงประมาณ 105 ขึ้นไป  ในขณะที่คนในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วมี IQ เฉลี่ยเท่ากับ 100 โดยนิยามก็อยู่ในระดับกลาง ๆ  และคนในอาฟริการวมถึงคนไทยและรอบบ้านเราที่อาจจะเสียเปรียบเนื่องจากระดับ IQ เฉลี่ยดูเหมือนว่าจะต่ำกว่า  อาจจะอยู่ที่ประมาณ 95  อย่างไรก็ตาม  IQ  ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่กำหนดความสามารถในการแข่งขัน  มิฉะนั้น  ประเทศในยุโรปก็คงไม่ได้มีการพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศในเอเซียตะวันออกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

           ปัจจัยสำคัญเรื่องที่สองนั้นอาจจะเป็นเรื่องของระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจของประเทศ  ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่าระบบเศรษฐกิจแบบ “เปิด”  หรือเศรษฐกิจที่อิงกับตลาดเสรีและเปิดทำมาค้าขายอย่างเสรีกับประเทศอื่น ๆ  นั้น  เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น  ประเทศที่ “ปิด” ไม่ค้าขายกับต่างประเทศเท่าไรนักและระบบการค้าขายไม่เสรีแต่มักอยู่ใน  “กำกับ”  ของรัฐ จะเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำซึ่งทำให้ประเทศมีพัฒนาการที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น  เกาหลีเหนือที่คนมี IQ สูงแต่เนื่องจากระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการและระบบเศรษฐกิจปิด  ทำให้กลายเป็นประเทศที่ล้าหลังมากทางเศรษฐกิจเทียบกับเกาหลีใต้ที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  เช่นเดียวกัน  ประเทศพม่าและเวียตนามที่เคยมีระดับการพัฒนาสูงเท่า ๆ  กับไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนก็ด้อยกว่ามากในปัจจุบันเนื่องจากประเทศถูกปิดกลายเป็นสังคมนิยมที่ไม่เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขัน   อย่างไรก็ตาม  เมื่อเร็ว ๆ  นี้  ทั้งสองก็เริ่ม “เปิดประเทศ” ซึ่งทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเร็วขึ้นมากเทียบกับไทย  และถ้ายังอยู่ในระดับนี้ต่อไป  ก็อาจจะตามทันประเทศไทยในที่สุด

             ความมั่นคงและสงบสุขของประเทศหรือการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองที่มีกฎเกณฑ์ราบรื่น  เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ประเทศที่มีสงครามสู้รบกัน  ไม่ว่าจะระหว่างประเทศหรือการสู้รบของคนในชาติเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่ทำลายความสามารถในการแข่งขันที่ร้ายแรง  สงครามในจีนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับเจียงไคเช็ค  สงครามเกาหลี  สงครามเวียตนาม  และอื่น ๆ  ทำให้ประเทศเหล่านั้นถดถอยไปมาก  อย่างไรก็ตาม  เมื่อสงครามสงบ  ความสามารถในการแข่งขันก็กลับมา  ในบางประเทศอย่างในตะวันออกกลางหรือในอาฟริกานั้น  สงครามระหว่าง “ชนเผ่า”  ยังมีอยู่ตลอดเวลาและเรื้อรังมากทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงมากจนทำให้ประเทศแทบไม่มีอนาคต

             ประเด็นที่อาจจะยังมีการถกเถียงกันก็คือ  ระหว่างประเทศที่  “ไม่เป็นประชาธิปไตย”  แบบที่มีคนบางคนหรือบางกลุ่มมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น  และสามารถ  “สั่งซ้ายหันขวาหันได้” อย่างจีนหรือเกาหลีใต้ในช่วงหนึ่ง  กับประเทศ  “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ที่ทุกคนเท่าเทียมกันไม่มีใครสั่งใครได้และทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย  แบบไหนจะเอื้ออำนวยกับความสามารถในการแข่งขันมากกว่ากัน?  ผมเองก็ไม่มีคำตอบ  ผมเพียงแต่คิดว่าแบบแรกนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าแบบหลัง  เหตุผลก็คือ  ถ้าคนที่มีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นนั้นทำสิ่งที่ไม่ดีแล้ว  การเปลี่ยนแปลงจะทำได้ยากมาก  และถ้าเป็นแบบนั้น  ประเทศอาจจะ  “ลงสู่เหว”   ตัวอย่างน่าจะเป็นแบบฟิลิปปินส์ในสมัยมาร์กอสที่ทำให้ฟิลิปปินส์ซึ่งครั้งหนึ่งรุ่งเรืองมากและเด็กไทยจำนวนหนึ่งต้องไปเรียนหนังสือแต่ปัจจุบันห่างชั้นกับไทยมาก  และในประเทศอีกมากมายในละตินอเมริกา เป็นต้น

            สุดท้ายก็คือเรื่องของ Culture หรือขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของคน  นี่เป็นเรื่องที่ยากที่จะรู้จริงพอสมควร  วัฒนธรรมของ  “ฝรั่ง”  นั้น  อาจจะแตกต่างกับคนเอเชีย  พวกเขามีความเป็นปัจเจกชนสูงกว่า  มีความคิดที่เป็นอิสระกว่า  ดังนั้น  พวกเขาจึงอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเห็นได้จากนักคิดและนักประดิษฐ์ของโลกจำนวนมากมักมาจากคนตะวันตก  ในขณะที่คนเอเชียนั้น  มักจะมี  “วัฒนธรรมพึ่งพิงกัน”    เราเคารพผู้มีอาวุโสและผู้มี “ศักดิ์” ที่สูงกว่า  เราไม่อยากทำตัว “แปลกแยก” จากสังคม  ดังนั้นเราจึงไม่อยากคิดหรือทำอะไรใหม่ ๆ ที่  “เสี่ยง” ต่อสถานะของตน  ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ของเราจึงน้อยกว่าและนี่อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราด้อยลง

          และทั้งหมดนั้นก็คือปัจจัยที่สำคัญบางส่วนที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  หลาย ๆ  ประเทศสามารถเพิ่มความสามารถนี้และกลายเป็นประเทศที่เติบโตเร็วหรือกลายเป็นประเทศพัฒนาไปแล้ว  หลาย ๆ  ประเทศที่เคยมีความสามารถสูงแต่ด้วยนโยบายที่ผิดพลาดหรือโชคไม่ดีก็ตกต่ำลง  สำหรับนักลงทุนแล้ว  สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือประเทศที่กำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากและราคาหุ้นยังไม่ตอบสนอง  และนี่ก็คือประเทศที่เราควรเข้าไปก่อนคนอื่น
 
Posted by nivate at 10:17 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/09/22/1471



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
Check List…คุณเป็น Value Invester จริงหรือ?


1. ลงทุน โดย พุ่งความสนใจไปที่ Intrinsic Value และ จะลงทุนเมื่อ มี Margin of Safty มากพอ จะขายเมื่อ ราคาเต็ม หรือเกินมูลค่าเท่านั้น

2. มีความรู้ว่าจะหาข้อมูล ได้ที่ไหน และจะหา การลงทุนในบริษัท ที่ราคา ต่ำกว่ามูลค่า ยังไง

3. ทำการวิเคราะห์ ข้อมูล จากการ ศึกษาพื้นฐานกิจการ และ Analysis ได้ด้วยตนเอง โดนปราศจากการ เชื่อผู้อื่น โดยไม่วิเคราะห์ 4. ให้เวลาในการศึกษา รายละเอียด และการเติบโต ของบริษัท (micro) แทนที่ จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ วิ่งตามข้อมูล มหภาคของโลก ของเศรษฐกิจ (macro)

5. เข้าใจว่า ความสามารถของบริษัท ในอดีต กับในอนาคต ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

6. เข้าใจที่ตนเองจะลงทุน อย่างดีมาก และจะลงทุน เมื่อ บริษัท ไม่ได้เป็นที่สนใจ ของคนทั่วไป

7. มีความตั้งใจ จะลงทุนในบริษัทที่เลือก ยาวนานหลายปี แทนที่จะให้ความสนใจ ข่าววันๆ หรือ การเคลื่อนไหว ของราคา แค่ ควอเตอร์

8. เข้าใจ ว่า บริษัท ที่ดีมากๆ แข็งแกร่งมากๆ เป็นบริษัทที่หายาก และหากพบ เจอแล้ว ให้ลงทุน อย่างเต็มที่ และอย่าลืมว่า บริษัทเช่นนี้ มีน้อยมากๆ ต้องเชื่อมั่นว่าเจอเพรชแท้

9. ในยามที่เจอบริษัทดี แต่ตลาดและนักลงทุนทั่วไป ไม่เห็นด้วย ต้องเข้าใจว่า นี่คือ การไม่เห็นด้วย ไม่ได้บอกว่าบริษัท ไม่ดี เพราะถ้ามัวแต่ มีความเห็น เหมือนคนส่วนใหญ่ ผลลัพธ์ ก็เท่าค่าเฉลี่ย

10. โฟกัส ไปที่ Absolute returns อย่าไปอิงกับ ผลงาน ของตลาด หรือคนส่วนใหญ่

11. โฟกัส ไปที่ การป้องกัน เงินต้น มากกว่า กำไร

12. โฟกัส ไปที่ ผลตอบแทนระยะยาวมากๆ หลายๆปี ไม่ใช่ปี ต่อ ปี

13. ยอมรับความผิดพลาด และเรียนรู้จากมัน และ อย่าได้โทษ ว่าความผิดพลาดเกิดจาก ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

Credit : book “The Art of Value Investing” by John Heins and Whitney Tilson



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
ติดหุ้นทำไงดี/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ตลาดหุ้นไทยในปี 2557 นี้ในช่วงครึ่งปีแรกดูเหมือนนักลงทุนจะถอดใจเพราะหุ้นไม่ได้ขยับไปไหน เนื่องจากสถานการ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ความวุ่นวายในบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งการเดินประท้วงรายวันของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่ายจนถึงกับมีการเสียเลือดเสียเนื้อกันเป็นจำนวนมาก นักลงทุนต่างชาติต่างทยอยขายหุ้นไทยออกเพื่อลดความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนของประเทศไทยจนดัชนีตั้งแต่ต้นปีที่ 1,299 จุดนั้นย่ำอยู่กับที่มาตลอด

    จนเมื่อทหารออกมาปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการณ์เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนสถานการณ์ทางการลงทุนจะแย่ลงแต่ในที่สุดตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวขึ้นมาได้ถึงเกือบ 1,600 จุดในเดือนกันยายน นักลงทุนทั้งไทยและเทศต่างมองเห็นแสงสว่างปลายทางอุโมงค์ของการเมืองไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย การประท้วงลดน้อยถอยลงเพราะมีการใช้กฏอัยการศึกในการห้ามปรามการประท้วงอย่างได้ผล ประชาชนชาวไทยเริ่มปรับตัวและใช้ชีวิตเหมือนปกติสุขอีกครั้ง

    ถึงแม้ตลาดหุ้นไทยจะขึ้นไปมากในปีนี้ แต่ยังมีนักลงทุนหลายท่านพบว่ายังขาดทุนหุ้นในพอร์ต บางคนอาจจะขาดทุนบางบริษัท บางคนทั้งพอร์ตอาจจะขาดทุนยังอยู่ถึงแม้ว่าดัชนีหุ้นจะเพิ่มขึ้นมามากแล้วก็ตาม สาเหตุอาจเกิดจากเข้าซื้อหุ้นที่ตอนดัชนีสูงสุดเกือบ 1,600 จุดเมื่อปีที่แล้ว 2556 หรือไม่ก็พบว่าหุ้นที่ซื้อมาไม่ได้ดีตามที่คาดการณ์ทำให้ราคาหุ้นลดต่ำกว่าที่ซื้อมามาก โดยส่วนใหญ่หุ้นที่ขาดทุนมักเป็นหุ้นที่ซื้อมาโดยยังไม่มีความเข้าใจในธุรกิจที่ซื้อมากนัก หลายบริษัทซื้อตามที่คนอื่นๆบอกมาว่าดี ถ้าเช่นนั้นถ้าดัชนีหุ้นขึ้นๆแบบนี้ แต่หุ้นที่เราถือขาดทุนอยู่จะทำอย่างไรดี

    อันดับแรกควรหันมาดูพื้นฐานกิจการของบริษัทที่ซื้อมาว่าเป็นอย่างไร หลายบริษัทเป็นบริษัทที่ดีและยังมีอนาคต ผลประกอบการออกมาก็ไม่ได้เลวร้าย บางครั้งอาจะดีกว่าที่คาด นอกเหนือจากนั้นพื้นฐานของบริษัทก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ราคาที่ลดต่ำลงอาจเกิดจากนักลงทุนยังไม่ได้สนใจในหุ้นบริษัทนั้นมากนัก หรือบางโครงการยังไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ซึ่งรายได้ยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ทำให้ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ถ้าหุ้นที่ถืออยู่ยังมีพื้นฐานเหมือนเดิมตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นตามดัชนี ก็ไม่มีอะไรให้น่ากังวลมากนัก การถือหุ้นบริษัทนั้นต่อไปน่าจะเป็นกลยุทธที่ดี

    แต่ถ้าพิจารณาแล้วพบว่าบริษัทนั้นมีพื้นฐานกิจการที่แย่ลง เช่น รายได้ลดลงเนื่องจากคู่แข่งเข้ามาแย่งตลาดมากขึ้น หรือกำไรลดลงเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นจำนวนมากหรือควบคุมต้นทุนไว้ไมได้และคาดการณ์ว่าในอนาคตจะแย่ลงกว่าเดิม ราคาที่ลดลงเป็นสัญญานที่บอกว่าหุ้นบริษัทนี้อาจจะไม่ดีเหมือนที่เราคิดไว้ ถ้าคิดว่าเราคิดผิดในการลงทุน การขายหุ้นออกไปไม่ว่าจะขาดทุนเท่าไหร่ก็ตามถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีเพราะอนาคตราคาหุ้นอาจลดลงไปได้มากกว่าปัจจุบันได้อีก เช่น บริษัทเกมส์ออนไลน์ที่หลายปีก่อนมีผลประกอบการดีมาก ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ระยะหลังพบว่าคนเล่นเกมส์ออนไลน์ในคอมพิวเตอร์น้อยลงโดยหันไปเล่นในแทปเลตแทน นอกเหนือจากนั้นบริษัทยังมีปัญหาเรื่องบุคคลากร การบริหารงานและเกมส์ที่ไม่ได้รับความนิยมเช่นในอดีต ทำให้รายได้และกำไรลดลงอย่างมาก ราคาหุ้นก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน บริษัทเช่นนี้จะเห็นว่าถึงแม้ดัชนีหุ้นจะเพิ่มขึ้นมากจากต้นปี แต่ราคาหุ้นของบริษัทนี้กลับลดลงทุกวัน

    การเปลี่ยนบริษัทที่ถือจากหุ้นที่ไม่มีอนาคตไปเป็นบริษัทอื่นที่ดีกว่าก็เป็นทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนที่ติดหุ้นอยู่ โดยส่วนใหญ่คนเล่นหุ้นมักไม่อยากขายขาดทุนเพราะเสียดายเงินที่ลงทุนไปและอยากจะรอให้ราคาหุ้นกลับมาเท่าทุนก่อนถึงจะทำใจขายได้ ซึ่งในความเป็นจริงราคาหุ้นหลายบริษัทอาจจะไม่กลับมาที่จุดเดิมอีกเลย ถ้าพื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ดังนั้นการขายหุ้นที่ขาดทุนไปซื้อหุ้นที่ดีมีอนาคตมากกว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ที่สำคัญต้องมั่นใจว่าบริษัทที่ซื้อมาใหม่ต้องดีกว่าบริษัทที่ขาดทุนอยู่ในพอร์ต ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นขายหมูไปซื้อควายเข้ามาแทน

http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58092


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
การตกผลึกแนวคิดของเซียน

:D ทำไมในตลาดจึงมีแต่คนร่ำรวยจากหุ้นอยู่ไม่กี่คน แต่มีคนที่ขาดทุนกับหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

:D สาเหตุหนึ่งที่ผมพอจะสัมผัสได้จากหลายท่านที่ประสบความสำเร็จคือ แต่ละท่านมีแนวความคิดที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีจุดยืนที่มั่นคงหรือมีกฎที่ตายตัว แต่มีกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนตามสภาวะโอกาสได้ตลอดเวลา ดั่งเช่น ต้นไผ่ที่มีรากหยั่งลึกในดินอย่างมั่นคง แต่มีกิ่งก้านที่โน้มไหวตามลมได้เสมอในเวลาที่มีพายุ

:D คำถามต่อมาสำหรับนักลงทุนมือใหม่หลายๆท่านคือ "ทำอย่างไร เราจึงจะมีแนวความคิดได้อย่างพวกพี่ๆและอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น"
:D ผมขออนุญาตสรุปประเด็น การตกผลึกทางแนวความคิดให้นักลงทุนมือใหม่ที่สนใจเล่น(ลงทุน)หุ้นไว้พิจารณาเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางการลงทุน ไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของบรรดาเจ้ามือทั้งหลาย
:D ความหมายของ"แนวความคิด"คือ "การประมวลผลทางสมองที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ทางความคิดของบุคคลนั้นๆได้พบเจอมาในอดีต เช่นถ้าผมถามว่า เจ้าแท่งพลาสติกสีเงิน พับได้ มีเสา มีปุ่มตัวเลขให้กด อยู่ในกระเป๋ากางเกงของผมคืออะไร เกือบ100%จะต้องตอบได้ว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าผมเอาคำถามนี้ไปถามชาวอัฟริกาใต้ที่ล้าหลัง แน่นอนเขาคงตอบไม่ได้เกือบ100%
เช่นกันสำหรับคำถาม1คำถามที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น การตีความ ณ.จุดใดจุดหนึ่งของวันนั้น ของนักลงทุนที่ขายหุ้น เพราะเขาคิดว่าหุ้นตัวนั้นจะลง กับนักลงทุนที่ซื้อ เพราะคิดว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้น และผลที่ตามมาส่วนมากคนที่มีการตกผลึกทางแนวความคิดมักจะเป็นฝ่ายถูกอยู่เสมอๆ เพราะแนวความคิดเขาเฉียบคมและไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องอยู่นั่นเอง

:D แล้วแนวความคิดของเราจะเริ่มตกผลึกได้อย่างไร
อย่างที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า แนวความคิดของเรามาจาก ประสบการณ์ที่สมองเราบันทึกรูป รส กลิ่น เสียง ความรู้สึก อย่างถูกๆผิดๆ และนำมาประมวลผลสั่งการออกมา เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการให้แนวความคิดของเราตกผลึกได้ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
1.เราต้องมีความเชื่อความศรัทธาและความชอบในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เช่น ทุกๆคนชอบในการเล่นหุ้น และเชื่อว่าหุ้นทำให้เรารวยหรือเป็นอิสระภาพทางการเงินได้ เราจึงเล่น(ลงทุน)หุ้น แต่สำหรับคนที่เขาไม่ชอบหุ้น หรือคิดว่ามันจะทำให้ขาดทุน เขาก็คงจะไม่เล่นเช่นกัน
2.เราต้องมีความพยายามที่จะศึกษาและค้นคว้าหาแนวความคิดของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเท่าที่เราจะศึกษาได้(ทั้งแนวพื้นฐานและแนวเทคนิค) เพื่อนำมาเก็บไว้เป็นmemoryพื้นฐานในสมองของเรา สำหรับประมวลผลในขั้นต่อไป
3.เราต้องริเริ่มคิดโดยใช้เหตุผลของสิ่งที่เรารับรู้เข้ามา ประมวลผล ดูเหตุที่เกิดขึ้น หาคำตอบที่น่าจะเป็น และติดตามเฝ้าดูผลที่เกิดขึ้นจริง ว่าตรงกับที่เราคาดคิดไว้หรือไม่
เช่น เราอาจติดตามการเคลื่อนไหวของหุ้น10ตัวโดยกระจายทั้งหุ้นดี หุ้นวัฎจักร หุ้นเน่า หุ้นปั่น ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้งระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว ดูการเคลื่อนไหวเปรียบเทียบกับSET และปัจจัยพื้นฐาน
การคิดและประมวนผลระยะแรกอาจใช้เวลามากพอควร แต่ถ้าเราหมั่นฝึกฝนลับสมองเราอยู่บ่อยๆก็จะเร็วขึ้น เช่น เมื่อเราขับรถยนต์ใหม่ๆสมองต้องสั่งการ
ให้เท้าซ้ายเหยียบครัช เท้าขวาเหยียบเบรก แต่ถ้าเราฝึกฝนจนชำนาญ สมองเราจะสั่งการโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่รู้ตัว
หรือบางท่านอาจบอกว่ามันคือsenseอธิบายไม่ได้ แต่ผมว่ามันคือจิตใต้สำนึกที่เกิดจากการฝึกฝน ประมวลผล และสั่งการอยู่บ่อยๆนั่นเอง

:D ถ้าสังเกตุกันให้ดีๆที่ผมพูดไปนั้นคือหลัก อิทธิบาท4(ฉันทะ-วิริยะ-จิตตะ-วิมังสา) ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อธิบายไว้สำหรับบุคคลที่ต้องการจะยิ่งใหญ่ต้องยึดหลัก4ข้อดังนี้
ข้อที่1ตรงกับ ฉันทะ คือความชอบในสิ่งนั้นๆ
ข้อที่2ตรงกับ วิริยะ คือความเพียรพยายาม
ข้อที่3ตรงกับ จิตตะ คือความใส่ใจ และ วิมังสา คือความไตร่ตรอง
:D สรุปไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดสำหรับนักลงทุนทั้งชีวิตอย่าง วอเรนต์ บัฟเฟตต์, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือนักเล่นเงินตัวฉกาจอย่าง จอร์ส โซลอส  ก็มีโอกาสทำเงินเป็น1000 เป็น10000ล้านได้เช่นกัน แต่นักลงทุนมือใหม่ควรพิจารณาไว้ด้วยว่า
    นักลงทุนแบบดร.นิเวศน์ เปรียบเสมือนเรากำลังเลือกบริษัทที่เราต้องการเป็นเจ้าของ ถ้าเราเลือกดี โอกาสขาดทุนน้อยมาก ถ้าเราสามารถหาบ.ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย15%ทบต้น30ปี เงิน1ล้าน จะกลายเป็น64ล้านบาท ในวัยเกษียณของเรา
    แต่คิดจะเป็นนักเล่นเงิน หรือสนุกกับการเล่นรอบของหุ้น ถ้าหน้าตักเรามีไม่มากพอที่จะเป็นเจ้ามือ โอกาสที่เราจะถูกเจ้ามือคุมเกมและกินรวบเรามีโอกาสสูง
    เพราะฉะนั้นเราควรจะเรียนรู้ให้ครบทุกด้านแต่เลือกที่จะตกผลึกแนวความคิดของเราไปในทางvalueแบบอาจารย์ของผมจะดีกว่านะครับ

ผมขออนุญาติเอาหลักคำสั่งสอนอีกข้อของพระสัมมามัมพุทธเจ้าที่ผมเคยโพสท์ก่อนหน้านี้มาให้พิจารณาไว้ด้วยคือ
พละ5 หมายความว่าการจะทำะไรให้เกิดพลังจะมีองค์ประกอบ5อย่างดังนี้
1.ศรัทธา คือความเชื่อมั่นในสิ่งนั้นๆ ให้มีความเชื่อมั่นในแนวVI
2.ปัญญา คือความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นจริงๆ คิด-ไตร่ตรองบ. ที่เราจะลงทุนโดยใช้ปัญญา
3.วิริยะ คือความเพียรพยายาม มุ่งมั่นหาข้อมูลและสิ่งที่ต้องการอยากรู้
4.สมาธิ คือความจดจ่อ แน่วแน่ ไม่ตัดสินใจอะไรเร็วเกินไป
5.สติ คือความระลึกได้ รู้ว่ากำลังทำอะไร

เราจะสังเกตุเห็นว่า1จะจับคู่กับ2
ถ้าศรัทธาสูง แต่ ปัญญาต่ำ ก็งมงาย
ถ้าศรัทธาต่ำ แต่ ปัญญาสูง ก็พวกEGOสูง ไม่รับฟังใคร

และ3จะคู่กับ4
ถ้าวิริยะสูง แต่ สมาธิต่ำ ก็พวกไฮเปอร์แอกทีฟ
ถ้าวิริยะต่ำ แต่ สมาธิสูง ก็พวกเฉื่อยชา

และการที่จะทำให้4ข้อแรกสมดุล และสมบูรณ์ก็คือข้อที่5 คือความมีสติ คิดและทำทั้ง4ข้ออย่างมีสติ
อย่างมงาย คิดเหตุและผลอย่างเป็นธรรม
อย่าEGOสูงเพราะเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว
อย่าคิดเร็วทำเร็ว หูเบาฟังข่าวลือแล้วซื้อขาย
อย่าตัดสินใจช้า ถ้าปัจจัยพื้นฐานของเหตุและผลเปลี่ยนแปลง

ผมเชื่อว่า นักลงทุนมือใหม่ทุกคนจะประสบผลสำเร็จได้ถ้ายึดแนวทางปฎิบัติตามขั้นต้น


ปล.ที่มาเขียนมาเล่าให้ฟังนี้ ส่วนตัวผมมีวัตถุประสงค์เดียวคือ
ต้องการให้นักลงทุนแนวVIหน้าใหม่ได้มาศึกษา และจงมั่นใจในแนวVI และนำไปหล่อหลอมให้เป็นแนวความคิดของตนเองให้จงได้
เพราะแต่ละท่านจะมีลักษณะนิสัยในการลงทุน และปัจจัยพื้นฐานไม่เหมือนกัน ทำให้ผมเองนึกถึงตัวเองตอนเริ่มลงทุนใหม่ๆว่า เรายังไม่มีหลักยึดเหนี่ยวในการลงทุน
จนได้มาเจอเวปนี้ ได้เจอลายแทงขุมทรัพย์ที่พวกพี่ๆทั้งหลายได้ทิ้งไว้ให้กับน้องๆรุ่นหลัง
ถึงแม้นผมจะลงทุนในตลาดมาแค่1ปี6เดือน แต่ผมมีธุรกิจของตนเองมาเกือบ15ปี ได้มองเปรียบเทียบถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจของบริษัทต่างๆ ผมจึงเป็นแนวVIได้รวดเร็วกว่าคนที่ยังไม่เคยฝ่าวิกฤตNPL
ผมยังอยากจะยืนยันให้น้องๆที่ยังติดเล่นพนันทั้งหลายว่าVIทำเงินให้เราได้จริงๆจากพอร์ตที่ยังเขียวอื๋อจากที่เริ่มเล่นตอนindex770จุด ถ้าไม่ใช่แนวVIป่านนี้พอร์ตผมคงลบอย่างน้อยคือ13%เท่ากับindexที่ลดลง
ส่วนผมถ้าพอร์ตถึงเลข9หลักเมื่อไหร่ ถึงจะคิดว่าตัวเองเก่ง...แต่ตอนนี้ผมขอเป็นเต่าก่อนครับ


ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=11555



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 29 September 2014

สัญญาณฟองสบู่ (ของหุ้นตัวเล็ก)

ผมติดตามภาวะของตลาดหุ้นไทยมานานนับถึงวันนี้ก็คงประมาณ 20 ปีแล้ว  ตลอดเวลาที่ผ่านมา  ดัชนีตลาดหุ้นและราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นลงค่อนข้างแรง  ปีหนึ่งน่าจะผันผวนขึ้นลงอาจจะเฉลี่ยถึง 25%  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงที่หุ้นขึ้นไปสูงนั้น  ผมก็ไม่ได้คิดว่าราคาหุ้นเป็น  “ฟองสบู่” อะไรมากมายนัก  ดังนั้น  ผมจึงไม่เคยคิดที่จะขายหุ้นเพราะคิดว่าราคามันแพงเกินไป  แต่ในช่วงหลังสองสามปีที่ผ่านมานี้  ผมกลับรู้สึกว่าราคาหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นไปมากจนหาหุ้นที่มีราคาถูกยากขึ้นเรื่อย ๆ  แม้แต่หุ้นที่ผมถืออยู่ซึ่งเน้นหุ้นที่เป็นแนว  “ซุปเปอร์สต็อก” ก็มีราคาแพงขึ้นมาก  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่ผมรู้สึกว่ามีราคาแพงสุด ๆ  ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติโดดเด่นอะไรก็คือหุ้นตัวเล็ก ๆ  จำนวนมากโดยเฉพาะที่มีข่าวหวือหวาที่สามารถกระตุ้นราคาหุ้นได้  การปรับขึ้นของราคาหุ้นที่ผมเห็นอยู่นี้  ผมคิดว่ามันเป็น  “ฟองสบู่”  อย่างชัดเจนโดยที่ผมเห็น  “สัญญาณ”  ต่าง ๆ  มากมายดังต่อไปนี้

         สัญญาณตัวแรกซึ่งเป็นสัญญาณที่เชื่อถือได้มากในทุกครั้งที่เกิดฟองสบู่หุ้นก็คือ  หุ้นเข้าตลาดครั้งแรกหรือหุ้น IPO โดยเฉพาะในหุ้นตัวเล็กที่มีความต้องการล้นหลามและเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดเป็นวันแรกนั้นราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปแรงมาก  หลาย ๆ  ตัวหุ้นขึ้นไปชนเพดานที่ 200%  หุ้นที่ขึ้นไปเพียง 40%-50% บางทีกลายเป็นที่  “น่าผิดหวัง”  สัญญาณที่แรงขนาดนี้ของหุ้น IPO  ก็อาจจะพอบอกได้ถึงการเก็งกำไรที่ร้อนแรงและเป็นสัญญาณว่ามี  “ฟองสบู่” ได้แล้วในหุ้นตัวเล็ก  แต่เรายังมีสัญญาณอื่น ๆ  อีกมาก

          สัญญาณที่สองก็คือ  ความแพงของหุ้นตัวเล็กที่วัดจากค่า PE PB และ Dividend Yieldหรืออัตราปันผลของหุ้นในตลาดหุ้น MAI ซึ่งเป็นตลาดของหุ้นขนาดเล็ก  โดยค่า PE ของตลาด MAI เท่ากับประมาณ 80 เท่า ค่า PB ประมาณ 5 เท่า  และปันผลประมาณ 1%  นี่เป็นการบอกอย่างชัดเจนว่าหุ้นขนาดเล็กโดยเฉลี่ยมีราคาที่แพงมาก  ถ้าจะให้เดา  มันคงเป็นความแพงที่เหนือกว่าความแพงของตลาดหุ้น Nasdaq ของอเมริกาที่เป็นหุ้นไฮเท็คในช่วงปี 1999 ที่เกิดฟองสบู่และตลาดถล่มลงในปี 2000 ที่ทำให้ดัชนีหุ้นลดลงถึง 50% ในเวลาอันสั้น  ผมก็ได้แต่หวังว่าถ้าของเราเป็นฟองสบู่จริงและ “แตก”  มันจะไม่เลวร้ายขนาดนั้น

          สัญญาณที่สามที่ผมไม่ได้ทำสถิติแต่ใช้การสังเกตไปเรื่อย ๆ  ซึ่งพบว่ามีการเล่นหรือซื้อขายหุ้นตัวเล็กในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับ Market Cap. ของบริษัท  มองคร่าว ๆ ผมคิดว่าการซื้อขายต่อวันของหุ้นในตลาด MAI ในช่วงหลัง ๆ  นี้คิดแล้วน่าจะเฉลี่ยประมาณ 2%-3% ต่อวัน  ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 0.3%  หรือพูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ  หุ้นตัวเล็กนั้น  มีการ “หมุนหุ้น” เป็นเกือบ 10 เท่าของหุ้นตัวใหญ่  สำหรับผมแล้ว  หุ้นที่มีการซื้อขายถึง 1% ของ Market Cap. ต่อวันก็ต้องถือว่ามีการเก็งกำไรสูงมากแล้ว  ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  ถ้าดูหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 10 หรือ 20 อันดับในแต่ละวันก็จะพบว่าบ่อยครั้งประกอบไปด้วยหุ้นตัวเล็กกว่าครึ่งหรืออย่างน้อยก็ต้องมีหุ้นตัวเล็กแทรกมาหลาย ๆ ตัว  ซึ่งผมคิดว่าในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วมันไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่หุ้นที่มี Market Cap. เพียงพันหรือสองพันล้านบาทจะมีมูลค่าการซื้อขายมากกว่าหุ้นที่มีขนาดหลายแสนล้านบาทได้

           สัญญาณที่สี่เป็นเรื่องของ “Story” หรือข่าวต่าง ๆ  รวมถึงเรื่องของ “Concept” หรือหุ้นที่มีแนวคิดหรือโมเดลทางธุรกิจที่ “น่าตื่นเต้น”  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือเป็นหุ้นที่สามารถ  “สร้างจินตนาการ” ที่บรรเจิด  ในประเด็นนี้ก็คงคล้าย ๆ  กับหุ้นไฮเท็คในตลาด Nasdaq ในช่วงฟองสบู่ที่หุ้นจำนวนมากมีราคาที่ “สูงสุดฟ้า”  เพราะนักลงทุน “ฝัน” ว่ามันจะ  “ปฏิวัติโลก” ของสิ่งต่าง ๆ  ด้วยผลิตภัณฑ์ของบริษัท  อย่างไรก็ตาม  สำหรับหุ้นตัวเล็กของไทยในช่วงนี้คงไม่ถึงขนาดนั้น  แต่มันก็มีพลังพอที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นไปได้มหาศาล  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ราคาหุ้นของไทยในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมและคนเข้ามาเล่นหุ้นกันมากนั้น   แม้แต่เรื่องราวเล็ก ๆ  แต่ขอให้มันมีประเด็นและอิงไปได้ว่ามันจะทำให้บริษัท  “โต”  แบบก้าวกระโดดเท่านั้น  หุ้นก็จะวิ่งไปได้มาก

           สัญญาณที่ห้าก็คือ  นักวิเคราะห์หุ้นที่เป็นมืออาชีพบางคนจะมีการใช้เทคนิคในการประเมินมูลค่าบริษัทที่มี  “ความคิดสร้างสรรค์” สูงขึ้นเรื่อย ๆ  การให้ค่า PE ของบริษัทอาจจะอิงจากค่า PE ในอดีตที่ผ่านมาที่สูงลิ่วและอาจจะบวกค่าการ “เติบโต” ในอนาคตที่จะ  “ก้าวกระโดด”  นอกจากนั้น  มีการใช้ค่า PEG หรือค่า PE ต่อค่า G หรือการเจริญเติบโตที่สูงลิ่วมาแทนค่า PE ซึ่งอาจจะทำให้หุ้นสามารถมีค่า PE สูง 50-60 เท่าได้โดยที่หุ้นยัง  “ไม่แพง” ได้  หุ้นบางตัวนั้นเนื่องจากยังไม่มีกำไรหรือมีกำไรน้อยมาก  การใช้ PE ก็เป็นไปไม่ได้  ดังนั้น  วิธีการใช้ Discounted Cashflows หรือการใช้กระแสเงินสดในอนาคตที่ยาวไกลที่บริษัทจะได้รับมาเป็นฐานในการคำนวณจึงเป็นวิธีที่ใช้กันมากขึ้น  และด้วยวิธีการนี้  การ  “เล่นตัวเลข”  ก็ง่ายขึ้นมาก  พูดอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  คุณแทบจะทำ “มูลค่าที่เหมาะสม”  ของบริษัทให้เป็นเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับ  “สมมุติฐาน” ที่ใช้

           สัญญาณสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นที่ติดอันดับหนังสือขายดีบนแผงหนังสือนั้น  มีมากมายกว่าหนังสือแนวอื่น  นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานหลายปีมาแล้ว  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงหลัง ๆ  นี้  หนังสือแนวการลงทุนที่เน้นการ  “เทรด”  หรือซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ จะขายดีกว่าหนังสือที่เน้นแนว VI  แท้ ๆ  ที่เน้นการลงทุนระยะยาวซึ่งเป็นการแสดงว่าคนสนใจการ “เก็งกำไร”  มากขึ้นโดยเปรียบเทียบ

           สัญญาณทั้งหมดที่พูดถึงนั้นดูเหมือนว่าผมจะเน้นเฉพาะหุ้นตัวเล็ก  แต่จริง ๆ  แล้ว  หุ้นทั้งตลาดไทยเองนั้นก็มีสัญญาณของ  “ฟองสบู่” ที่กล่าวถึงเช่นกันแม้ว่าดีกรีหรืออัตราความรุนแรงจะไม่เท่ากัน  ตัวอย่างเช่น  หุ้น IPO ตัวใหญ่ก็มีราคาปรับขึ้นมากกว่าในภาวะปกติมาก  ค่า PE และ PB ของตลาดหลักทรัพย์เองก็สูงลิ่วเมื่อเทียบกับอดีตและกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศ  ปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดโดยรวมก็สูงลิ่วและสูงที่สุดในอาเซียนทั้ง ๆ  ที่ขนาดของตลาดเล็กกว่าสิงคโปร์หรือมาเลเซีย  หุ้นตัวใหญ่ของไทยเองก็มีการเล่นกันด้วย Story ต่าง ๆ  ไม่น้อย  Growth หรือการเจริญเติบโตของบริษัทกลายเป็นเรื่องที่นักลงทุนใช้ในการ “ขับดัน”  ราคาหุ้นที่ผมคิดว่า  “มากเกินไป”  เหตุผลก็คือ  มันอาจจะเป็นการโตได้แค่ช่วงสั้น ๆ  ปีหรือสองปีเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า  ส่วนในประเด็นของนักวิเคราะห์เองนั้น  พวกเขาไม่ได้ใช้ “เทคนิคที่สร้างสรรค์” เฉพาะบริษัทเล็กเท่านั้น  และสุดท้ายก็คือเรื่องของหนังสือเกี่ยวกับหุ้นนั้น  มันเป็นสัญญาณที่บอกว่าหุ้นโดยรวมของไทยเองนั้น  ได้รับความสนใจอย่างมากซึ่งก็หมายถึงว่าราคาของมันน่าจะสูงจากความต้องการซื้อของคน

          ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  หุ้นตัวเล็กนั้นมี  “ฟอง” อย่างแน่นอนเพราะสัญญาณนั้นชัดเจนมาก  และไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรผมคิดว่ามันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการ “แตก” ในระดับหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว  ประวัติศาสตร์ของหลาย ๆ  เหตุการณ์ในตลาดหุ้นหลาย ๆ  ประเทศมันบอกอย่างนั้น  แต่สำหรับตัวตลาดหลักทรัพย์เองนั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็น  “ฟอง” ไหม  ความเชื่อส่วนตัวก็คือ  มันคงมีบ้าง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันเป็นเรื่องยากที่ฟองจะเกิดเฉพาะในหุ้นเล็กโดยที่ภาวะของหุ้นใหญ่หรือหุ้นโดยรวมไม่เอื้ออำนวย
 
ที่มา :
Posted by nivate at 10:46 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
คุณภาพกำไร Quality of Earning

Quality of Earning = CFO / Net Income

บางทีเรียกย่อๆ ว่า QE เป็นคนละ QE กับที่รัฐบาลธนาคารกลางอเมริกาออกนะครับ อัตราส่วนนี้นำกำไรสุทธิมาหารด้วยเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานสุทธิ และต้องเป็นเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานที่หักการจ่ายดอกเบี้ยเงินสดแล้ว ดังนั้นเวลาดึงข้อมูลกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานสุทธิมาใช้ต้องตรวจสอบดูสักนิดว่าหักดอกเบี้ยจ่ายเงินสดหรือยัง ง่ายๆ คือดูที่กิจกรรมดำเนินงานว่ามีการหักดอกเบี้ยจ่ายเงินสดหรือไม่ ไม่ใช่รายการบวกลับดอกเบี้ยจ่ายเพราะนั้นเป็นการบวกรายการทางบัญชีกลับทั้งก้อนก่อนลบออกด้วยรายการเงินสดดอกเบี้ยจ่าย หรืออาจดูในกิจกรรมจัดหาเงินว่ามีลบด้วยรายจ่ายเงินสดดอกเบี้ย (ต้นทุนทางการเงิน) หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานยังไม่ลบดอกเบี้ยจ่ายเงินสดออก
ITD หน่วยล้านบาท 2555 2554
เงินสดสุทธิได้มาจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน 2,100.3 3,970.2
กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
จ่ายดอกเบี้ย (2,297.2) (2,344.0)
CK หน่วยล้านบาท
เงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน (1,273.6) (3,046.6)
จ่ายดอกเบี้ย (1,391.2) (1,080.7)
จ่ายภาษีเงินได้ (770.7) (266.1)
เงินสดสุทธิจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน (3,435.5) (4,393.5)
CFO ของ ITD จะเท่ากับ (196.9) และ 1,626.2 สำหรับปี 2555 และ 2554 ตามลำดับที่จะนำมาใช้ในการคำนวนอัตรส่วนคุณภาพกำไร ส่วนCFOของ CK ใช้ได้เลย

เคยเขียนมาก่อนหน้าว่า เป้าหมายกิจการคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ ไม่ใช่เพียงกำไรเท่านั้น ในเป้าหมาย Shareholders’ value creation กิจการต้องมุ่งทำให้สมดุลทั้งสามด้านคือ Make Profit, Generate Cash Flow และ Stay Solvency ซึ่งหลายกิจการมีกำไรสุทธิแต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นลบ กิจการเหล่านี้ถ้าสังเกตให้ดีกิจการที่มีกำไรแต่กระแสเงินสดดำนินงานเป็นลบ ล้วนแต่จะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น และมักหนีไม่พ้นต้องเพิ่มทุนเพื่อลดภาระหนี้ ในทางการเงินถือว่าไม่เป็นการเพิ่มทุนที่ดี เพราะการเพิ่มทุนควรสร้างผลกำไรจากการลงทุนที่ให้ ROE ที่สูงขึ้นจากโครงการใหม่ ไม่ใช่ผลตอบแทนจากการลดดอกเบี้ยเพราะเท่ากับได้ ROE จากทุนใหม่เพียงผลตอบแทนเงินกู้เท่านั้น เรื่องนี้ถ้าเข้าใจหลักการเรื่อง Capital Budgeting ใน Finance ก็จะเข้าใจไม่ยาก

กำไรที่แสดงในงบกำไรขาดทุนเป็นผลมาจากการรับรู้ด้วยหลักเกณฑ์ค้างรับหรือเกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) ซึ่งถือว่าถูกต้องในการวัดผลทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่บางครั้งกำไรที่เห็นอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงได้ หากกำไรนั้นไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาในรูปเงินสดที่แท้จริง เช่นเมื่อขายสินค้า 100 บาท ต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาเท่ากับ 80 บาท ณ จุดที่ขายเวลานั้นกำไรเกิดขึ้นเท่ากับ 20 บาท ถ้ากิจการซื้อเงินสดขายเงินสด กิจการจะมีเงินสดเพิ่มขึ้นทันที 20 บาท แต่ถ้ากิจการขายโดยให้เครดิต 10 วัน ในทางบัญชีวันนั้น รับรู้กำไร 20 บาทแปลความว่า กิจกกรมที่ทำในวันนั้น ทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้น 20 บาท มูลค่าหรือสินทรัพย์ที่เพิ่มนั้นคือประโยชน์เชิงเศรษฐกิจนั่นเองเพียงแต่ประโยชน์ดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องได้ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงินเท่านั้น หากรับรู้กำไรตามเกณฑ์เงินสด ผลงานจะไปเกิดขึ้นในอีก 10 วันหลังขาย กิจกรรมการขายได้จบสิ้นไปแล้ว เพียงแต่ในทางปฏิบัติเราซื้อขายทุกวัน จ่ายเงินเก็บเงินทุกวัน จึงทำให้ดูเหมือนมีเงินเข้าออกทุกวัน ความจริงเงินนั้นมาจากการขายก่อนหน้าไม่ใช่จากกิจกรรมปัจจุบัน ดังนั้นทุกครั้งที่การขายเกิดขึ้นแล้วเสร็จเครดิตการค้าที่เราให้ลูกหนี้ก็เหมือนกับการที่ลูกหนี้ได้เก็บกำไรกิจการไว้ช่วงหนึ่งนั่นเอง แต่มูลค่ากิจการวัดจากกระแสเงินสดที่เกิดจริง ดังที่กล่าวไว้ว่าการรับเงินทุกวันทำให้ดูเหมือนกับขายแล้วได้เงินสดมาทุกวัน ดังตัวอย่างขาย 100 บาท กำไร 20 บาท ถ้าเช่นนี้ทุกวัน 10 วันให้หลังกิจการจะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นวันละ 20 บาทต่อเนื่องตลอด มูลค่าของกิจการก็จะใช้กระแสเงินสดรับเข้าสุทธิวันละ 20 บาทเป็นตัวคำนวณมูลค่า ถ้าสมมติว่า การเก็บเงินมีปัญหาสะดุดบางช่วง กำไรจะยังคงเดิมอยู่แต่กระแสเงินสดจะเปลี่ยนไป เมื่อรูปแบบกระแสเงินสดเปลี่ยน ย่อมกระทบต่อมูลค่าธุรกิจ ในการวิเคราะห์งบการเงินกำไรที่เห็นกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานควรจะเปรียบเทียบกันได้ จากตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกมากิจการมีกำไรวันละ 20 บาท เงินสดได้วันละ 20 บาท ถือได้ว่ากำไรที่เห็นมีคุณภาพกำไรทางบัญชีที่ผ่านมาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ตามปกติ โดยมีข้อสมมติว่าดำเนินกิจกรรมตามหลักการดำรงอยู่ต่อเนื่อง กำไรในอดีตคือเงินสดในวันนี้ และกำไรในวันนี้ก็จะเป็นเงินสดในวันหน้า ถ้าเงินสดได้รับน้อยกว่ากำไรที่เกิดขึ้น อาจจะกำลังสะท้อนปัญหาบางอย่างในกิจการที่บ่งชี้ถึงคุณภาพกำไรในอนาคตว่าจะมีปัญหาในการเปลี่ยนกำไรเป็นเงินสดสุทธิเข้ามาในกิจการ เช่น
บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง SCCC
หน่วยล้านบาท 2555 2554 2553
จ่ายดอกเบี้ย (205.4) (187.4) (188.9)
จ่ายภาษีเงินได้ (1,088.6) (1,444.2) (1,118.8)
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 4,250.9 4,159.0 4,082.1
กำไรสำหรับปี 3,637.3 3,291.4 2,696.3
QE 1.17 1.26 1.51

บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ITD
หน่วยล้านบาท 2555 2554 2553
เงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน 2,100.3 3,970.2 748.7
กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
จ่ายดอกเบี้ย (2,297.2) (2,344.0) (1,973.6)
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (196.9) 1,626.2 (1,224.9)
กำไรสำหรับปี 91.5.0 (1,642.1) 317.9
QE (Quality of Earning) (2.15) (0.99) (3.85)

อัตราส่วนที่ดีคือ > 1 ยิ่งสูงยิ่งดีและถ้ามีความผันผวนน้อยจะแสดงคุณภาพกำไรที่แปลงเป็นเงินสดเข้าบริษัทมาก ส่วนภ้าต่ำกว่า 1 บ่งชี้ถึงคุณภาพที่ต่ำ ยิ่งน้อยยิ่งไม่ดี ส่วนกรณที่ติดลบถือว่าคุณภาพยิ่งแย่มากวึ่งจะกระทบต่อการจ่ายปันผล เพราะQE ลบหมายถึง มีกระแสเงินสดแต่ไม่มีกำไร ก็จะจ่ายปันผลไม่ได้ (แม้จะมีกำไรสะสมก็จ่ายไม่ได้ถ้าวงดนั้นขาดทุน เพราะกฎหมายให้จ่ายปันผลได้เมื่อมีกำไรเท่านั้น) หากจะจ่ายได้ (รวมกำไรสะสมด้วย) ต้องรอในปีที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนกรณีมีกำไรแต่เงินสดจากการดำเนินงานติดลบ แสดงว่าถ้าจะจ่ายก็ต้องกู้เงินมาจ่ายเท่านั้น (หรือขายสินทรัพย์เท่านั้น) ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไม ITD จึงมี D/E สูง และต้องมาเพิ่มทุน เพราะปีที่มีกำไรเงินสดจากการดำเนินงานกลับติดลบ และต้องมาจ่ายปันผล (ข้อมูลการจ่ายปันผลจะเหลื่อมปีกับปีที่แสดงกำไรเพราะการประกาศจ่ายเกิดในปีถัดไปหลังปิดบัญชีประจำปี)

SCC 2552 2553 2554 2555
ราคาล่าสุด(บาท) 235 234 258 420
อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน(%) 4.68 4.7 4.26 3.1
DPS 11.00 11.00 10.99 13.02

ITD
ราคาล่าสุด(บาท) 2.94 4.64 3.62 4.2
ตอบแทน(%) N.A. N.A. 1.38 N.A.
DPS 0.0 0.0 0.0 0.0

ข้อสังเกต อัตราส่วนคุณภาพกำไรคำนวณจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานหารด้วยกำไรสุทธิ คำถามที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่ใช้งบการเงินรวมคือ กำไรสุทธิควรใช้กำไรสุทธิก่อนหรือหลังหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออก ถ้าพิจารณาจากสูตรและวัตถุประสงค์ของการสื่อความหมายของค่าที่ได้ที่จะใช้บอกถึงกำไรจากการดำเนินงานและเงินสดจากการดำเนินงาน กำไรสุทธิควรเป็นกำไรของส่วนเจ้าของทั้งหมดก่อนการแบ่งระหว่างผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่และผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพราะกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แสดงในงบกระแสเงินสดไม่ได้แสดงแยกออกว่าเป็นเงินสดของกลุ่มใดเท่าไร แม้ว่าการนำเสนอแบบทางออ้อมที่นิยมใช้จะเริ่มต้นด้วยกำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายในงบกำไรขาดทุนที่เป็นส่วนหลังจากหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออกแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจะนำไปปรับปรุงในกิจกรรมการลงทุนเพื่อกระทบยอดเงินสดทั้งหมดโดยรวมให้ถูกต้อง ดังนั้นกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานจึงเป็นกระแสเงินสดของบริษัทโดยรวมที่มาจากการดำเนินงานทั้งหมด กำไรที่จะนำมาเปรียบเทียบจึงควรเป็นกำไรก่อนหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (กำไรสุทธิรวม ไม่ใช่กำไรของบริษัท)

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58112
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58112


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
วิเคราะห์งบการเงินและอัตราส่วนการเงินของหุ้นอสังหาริมทรัพย์จะดูอะไรบ้าง

มีคำถามว่าถ้าจะดูหุ้นอสังหาริมทรัพย์จะดูอะไรบ้าง ในที่นี้จะเริ่มจากงบการเงิน แล้วค่อยเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอก เป็นการวิเคราะห์ในแนวทาง Bottom up ซึ่งหากใครจะมองแบบ Top down ก็เพียงกลับทิศทางกันเท่านั้น บางครั้งTop down บ่งชี้ว่ายังไม่ใช้จังหวะเราก็อาจรอดูทั้งกลุ่ม เพียงแต่เมื่อทิศทางมาทั้งกลุ่ม เราก็ค่อยเลือกลงทุนในตัวที่วิเคราะห์แล้วดูเข้าตาก็ได้ Bottom up นั้นเมื่อเจอตัวหุ้นที่ดีก็ ดูมูลค่าที่ต่ำพอที่ลงทุนได้ ก็ทยอยซื้อเก็บลงทุนไป

เมื่อพูดถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เมื่อก่อนจะรวมกลุ่มรับเหมาก่อสร้างไว้ด้วย แม้จะดึงออกมาไม่รวมแล้ว แต่ในกลุ่มอสังหาฯ ก็ยังมีความหลากหลาย มีทั้งสร้างที่อยู่อาศัย (บ้านและคอนโด) ขาย สร้างอาคารพาณิชย์ให้เช่า พัฒนาพื้นที่ทำนิคมอุตสาหกรรม สร้างคลังสินค้าขายหรือให้เช่า เป็นต้น ดังนั้น การเปรีบยเทียบและวิเคราะห็ต้องระมัดระวังอย้างมากในการวิเคราะห์และนำมาเปรียบเทียบ ในที่นี้ขอมุ่งเน้นที่สร้างที่อยู่อาศัย (บ้านและคอนโด) ขาย เป็นหลัก

โครงสร้างหรือรายการในงบการเงินที่สำคัญ
v รายการในงบดุลให้สังเกตรายการงาน สินค้าคงเหลือ ต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย
v เงินมัดจำค่าซื้อที่ดิน
v เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า/วัสดุก่อสร้าง
v ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (และสิทธิการเช่า)
v หนี้สิน-เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้
v รายได้ ---- > รายได้ อสังหาฯ รับรู้เมื่อโอนฯ
v ต้นทุน
v ดอกเบี้ยจ่าย

1. ในโครงสร้างงบการเงินนี้คือรายการสาระสำคัญที่ทำให้เราสามารถมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน (หากตีความได้เป็นและถูกต้องตามกิจกรรมของธุรกิจ) รายการที่มีสาระสำคํญที่สุด มีจำนวนที่มาก คิดแล้วมีมูลค่ากว่า 90% ของสินทรัพย์ทั้งหมด คือ ต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ในการวิเคราะห์ที่ถูกต้องนั้น ต้องมองว่ารายการนี้คือ สินค้าคงเหลือของธุรกิจนี้ แต่เป็นสินค้าที่ต้องถือรอบนาน เพราะกว่าจะก่อสร้างเสร็จและขายได้ต่างจากการผลิตสินค้าเพื่อขายทั่วไป

2. ลูกหนี้ในธุรกิจนี้แทบจะไม่มีเลยเพราะ เมื่อสร้างเสร็จ หากลูกค้าที่ซื้อบ้านหรือคอนโด รับโอนก็จะจ่ายเงินทันที โดยส่วนมากเกือบทั้งหมด (>90-95%) จะขอสินเชื่อธนาคาร ดังนั้นธนาคารจะเป็นผู้ชำระค่าบ้านให้ทันที จึงไม่มียอดลูกหนี้

3. เนื่องจากธุรกิจนี้พึ่งพิงกับสถาบันการเงินสูง ส่วนมากแทบทุกโครงการจะมีสถาบันการเงินเป็นผู้ให้เงินกู้เพื่อขึ้นโครงการ เมื่อคนซื้อบ้านต้องการซื้อบ้าน ทางโครงการหรือบริษัทมักแนะนำธนาคารเพื่อขอสินเชื่อให้ (ซึ่งมักจะง่ายกว่าที่ผู้ซื้อบ้านไปขอที่ธนาคารอื่นเอง) บริษัทก็จะเอาเงินที่โอนขายบ้านได้จากธนาคารคืนเงินกู้ธนาคารไป ที่เหลือก็คือกำไร ถ้าคนซื้อไม่ผ่านอนุมัติเงินกู้สินเชื่อ ก็จะเกิดปัญหาแน่นอน เพราะขานบ้านไม่ได้ รายได้ไม่เกิด เงินกู้ธนาคารก็คืนไม่ได้ ตรงนี้แหละครับคือประเด็นที่เกี่ยวพันกับภาวะเศรษฐกิจ ตามปกติธนาคารจะกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อโดยรวมตามภาวะเศรษฐกิจ โดยทั่วไปมักจะมียอดขยายสินเชื่อราวๆ 1.5-2.5 เท่าของ GDP และกระจายตามกลุ่มธุรกิจเพื่อป้องกันหรือเป็นการบริหารความเสี่ยงวิธีหนึ่งของธนาคาร ถ้าเศรษฐกิจดี พอร์ตสินเชื่อบ้านก็จะเพิ่มมากตามไปด้วย บริษัทอสังหาก็ขายง่ายขึ้น ถ้าเศรษฐกิจหดตัวก็ขายยากขึ้น เพราะลูกค้าบ้านได้รับการอนุมัติยากขึ้น โอนขายยากก็รับรู้รายได้น้อยลง

4. ภาวะดอกเบี้ยเป็นปัจจัยที่สอง คือเมื่อในช่วงดอกเบี้ยกำลังเริ่มขึ้นใหม่ (มักเกิดในตอนกำลังโตขึ้น) มักเป็นผลดีเพราะกำลังซื้อคนยังสูง การตัดสินใจคนซื้อจะง่ายขึ้น ยอดขายจึงโตเร็ว ส่วนในภาวะเศรษฐกิจถ้าโตมาระดับหนึ่งแล้วและดอกเบี้ยยังคงขึ้นต่อเนื่องตามวงจรเศรษฐกิจ ช่วงนี้จะเริ่มเป็นแรงกดดันการตัดสินใจซื้อ จะส่งผลให้การเติบโตยอดขายของอสังหาฯไม่สูงดังที่เกิดขึ้น ซึ่งหากอำนาจซื้อโดยทั่วไปเริ่มลดลงเพราะแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อด้วยแล้ว ยิ่งมีผลสูง

5. จากที่กล่าวในข้อแรกว่ารายการหลักในงบการเงินคือ ต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ดังนั้นหากวิแคราะห์อัตราส่วน current ratio จะไม่ได้ความหมายอะไร ช่วงดีก็เกิน 1 ใกล้ล้มละลายก็เกิน 1 ขาดสภาพคล่องก็เกิน 1 แล้วจะดู Liquidity อย่างไร เพราะธุรกิจนี้หากใครสภาพคล่องดี สายป่านดี ถือเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบข้อหนึ่งของธุรกิจ (Strength) กิจการที่สภาพคล่องไม่ดีจะพึ่งเงินกู้ระยะสั้นสูง จะมีต้นทุนการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย) สูงเป็นเงาตามตัว อ้ตราส่วนสภาพคล่องควรใช้ Modified Current Ratio = CFO/Current Liabbility แทน โดย CFO คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (หักการจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินสดแล้ว) หารด้วย หนี้สินหมุนเวียนเฉลี่ย ค่าที่ได้ควรสูงกว่า 1 จึงจะถือว่าสถาพคล่องดี ถ้า CFO ต่ำหรือติดลบ แสดงว่าธุรกิจปัจจุบันดำเนินไปประจำวันด้วยเงินกูล้วนๆ แบบนี้ช่วงเศรษฐกิจดีก็ไม่น่าห่วง แต่ช่วงไม่ดีน่าห่วง เพราะล้มง่ายเกิดปัญหาง่าย

6. ต่อมาคือวัดรอบการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ สินค้าคงเหลือคือต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายนั่นเอง (ถ้ามีรายการสินค้าคงเหลืออีกบรรทัดให้เอามารวมกัน) ใช้สูตรเดียวกับ Inventory Turnover คือ ต้นทุนขายหารสินค้าคงเหลือเฉลี่ย แน่นอนรอบจะต่ำมาก บางบริษัมได้ 0.6 รอบต่อปี หาเป็นวันได้ 600 วัน หมายความว่า โดยเฉลี่ยโครงการหนึ่งนับแต่เริ่มขึ้นเสาเข็มจนสร้างเร็จแล้วโอนขายได้ ใช้เวลา ราว 1 ปี 8 เดือน เราสามารถนำค่านี้ไปพิจารณาความเหมาะสมได้ แต่ต้องระวังด้วยเพราะโครงการของแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมาย เช่นบางบรษัมเน่นลูกค้าระดับกล่างถึงกลางสูง กับบางบริษัทเน้นกลุ่มระดับสูงระยะเวลาอาจต่างกัน ซึ่งเราต้องอาศัยประสบการณ์และการสังเกต การพูดคุยหาข้อมูลเพื่อให้มั่นใจ แต่ถ้าจะพิจารณาให้เเร็วด้วยการเปรียบเทียบ บรฺษัทที่มีกลุ่มหรือภาพรวมโครงการคล้ายกัน ก็น่าจะใกล้เคียงกัน

7. เนื่องจากธุรกิจนี้ก่อหนี้สูงโดยสภาพธุรกิจ การพิจารณาเพียง D/E อาจจไม่พอที่จะได้ภาพชัดเจน จึงควรวิเคราะห์ควาสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยด้วย ปกติใช้ ICR (Interest Coverage Ratio = EBIT/I) แต่เนื่องจากธุรกิจนี้ จะมีการบันทึกต้นทุนการกู้ยืมบางส่วนเข้าในต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Interest Capitalization) ดอกเบี้ยจ่ายที่เห็นในงบกำไรขาดทุนจึงแสดงดอกเบี้ยจ่ายจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยที่แท้จรงจึงควรใช้ MICR (Modified Interest Coverage Ratio = (CFO+I)/I ) โดยการเอา CFO (ซึ่งหักดอกเบี้ยจ่ายเงินสดแล้ว) บวกกลับด้วยดอกเบี้ยจ่ายเงินสด หารด้วยดอกเบี้ยจ่ายเงินสด ทั้งหมดหาตัวเลขได้จากงบกระแสเงินสด ค่าที่ได้ควรมากกว่า 1 หากน้อยกว่าหรือติดลบ แสดงถึงสภาวะที่ไม่ดีของธุรกิจ ยิ่งหากเกิดในช่วงเศรษฐกิจชลอตัวยิ่งต้องระวัง

8. อัตราส่วนที่ใช้พิจารณาอีกตัวเกี่ยวกับหนี้สินคือ Modified Payback Period = ภาระหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด / CFO อัตราส่วนนี้บอกว่า ในภาระหนี้ที่ต้องจ่ายดอเกบี้ยทั้งหมดถ้าจ่ายด้วยกระแสเงินสดที่ได้รับ (หลังหักดอกเบี้ยจ่ายแล้ว) เงินต้นทั้งหมดจะหมดในกี่ปี ยิ่งสั้นยิ่งดี แต่ติดลบไม่ดีแปลว่าไม่มีเงินจ่ายเงินต้น ค่าที่พอรับได้ น่าจะอยู่ไม่เกิน 5 ปี เพราะปกติการกู้ยืมสถาบันการเงินจะได้ term ราว 3-5 ปี ถ้ายาวกว่านั้น แสดงว่าต้องมีการ refinance แน่นอน กิจการอยู่ได้โบการหมุนเงินกู้วันไหนแบงค์ล้มบริษัทล้มแน่นอน (เหมือนปี 40 ที่มีอสังหาจำนวนมากล้มตามสถาบันการเงิน ทุกที่ล้วนมีอัตราส่วนตัวนี้ยาวทั้งสิ้น) อีกแง่หนึ่งอาจบอกได้ว่า แนวโน้มเพิ่มทุนสูง ยิ่งค่าติดลบ บรษัทจะมี D/E สูงกว่าอัตสาหกรรม และโอกาสต้องเพิ่มทุนยิ่งสูง

9. GM (Gross Margin) และ NM (Net Margin) พิจารณาเชิงแนวโน้มจะได้ภาพที่ชัดเจน หากแนวโน้มคงที่รักษาระดีบได้ดี แสดงถึงการรักษาความได้เปรียบการแข่งขัน (Sustainable Competitive Advantage) อย่าดูเพียงค่าสูงหรือต่ำอย่างเดียว เพราะแต่ละบริษัทมีกลุ่มลูกค้าต่างกัน กลุ่ม High-end ย่อมมี GM สูงกว่าผู้จับตลาดกลุ่ม Middle-end เพราะเมื่อดู NM แล้วอาจใกล้เคียงกัน กลุ่ม High-end มักมีค่าใช้จ่ายขายและบริหารสูงกว่า การวิเคราะห์หาหุ้นดีในกลุ่มนี้จึงควรดู GM และ NM แบบแนวโน้มประกอบจึงชัดเจนกว่า

10. สุดท้ายก็คงเป็นค่ามาตราฐานที่ใช้ดูหลักๆในทุกกลุ่มคือ ROA และ ROE บริษัทที่มากกว่า และสูงกว่าย่อมดีกว่า แต่บางครั้ง ทำมาทุกข้อ 1-9 บางตัวสูงบางตัวต่ำเราก็เลือกสุดท้ายที่ค่านี้เพื่อเอาตัวที่เข้า win

เขียนมา 10 ข้อคงพอควรระดับหนึ่งที่ครอบคลุมพอควร ปลีกย่อยมีอีกบ้างแต่ที่เขียนมาคือหลักใหญ่ครับ

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58112


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 6 October 2014

The Marshmallow Test

เมื่อเร็ว ๆ  นี้มีนักศึกษาปริญญาโทของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิดา) ได้มาสัมภาษณ์ผมเพื่อทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานโดยอิงอยู่กับแนวความคิดที่มีการศึกษามานานและได้รับการเขียนเป็นหนังสือขายดีชื่อ “Don’t Eat The Marshmallow Yet” หรือ “หยุด อย่าเพิ่งรีบกินแมร์ชแมลโลว!”  หัวใจของคำถามส่วนใหญ่อยู่ที่ว่า  ผู้ถูกสัมภาษณ์คิดว่าในช่วงเด็กตนเองมีนิสัยที่ชอบ  “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”  หรือยอมเสียสละความพึงพอใจในวันนี้เพื่อที่จะได้ความพึงพอใจที่มากกว่าในวันข้างหน้าแค่ไหน?    หลังจากการสัมภาษณ์ในครั้งนั้น  ซึ่งผมรู้สึกประหลาดใจเล็กน้อยว่ามันเป็นนิสัยที่เป็นจริงกับผมมาก  แต่หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก  จนกระทั่งผมได้พบหนังสืออีกเล่มหนึ่งบนแผงหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้ชื่อ  “The marshmallow Test”  ผมจึงซื้อมาอ่านเพื่อดูว่ามันคืออะไรกันแน่  ทำไมการกินแมร์ชแมลโลวมาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องของจิตวิทยาแห่งความสำเร็จ  และสิ่งที่ผมพบก็คือ  มันน่าจะเป็นเรื่องจริง  โดยเฉพาะในกรณีของความสำเร็จของการเป็นนักลงทุนแบบ VI  ลองมาดูกันว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน?

    การทดลองที่เรียกว่า “Marshmallow Test” นั้น  เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 หรือประมาณ 50 ปีมาแล้วที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดโดยผู้ที่เป็นกลุ่มทดลองก็คือเด็กก่อนอนุบาลที่โรงเรียนเด็กเล็กของมหาวิทยาลัย  เด็ก ๆ ที่เข้ารับการทดสอบจะได้รับโอกาสที่จะเลือกว่าจะได้รางวัล 1 ชิ้น ตัวอย่างเช่น  แมร์ชแมลโลว ซึ่งเป็นขนมหวานที่เด็กมักจะชอบกินมาก)  ซึ่งเขาจะได้รับทันที  หรือรางวัลที่ใหญ่ขึ้น แมร์ชแมลโลว 2 ชิ้น) แต่เขาจะต้องรอในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที  เด็ก ๆ  จะมีโอกาสเลือกว่าเขาอยากได้อะไรที่สุด  เช่น  คุกกี้  เพรสเซล หรือลูกอม เป็นต้น  ซึ่งในกรณีของเด็กหญิง  “เอมี”  ที่ยกขึ้นมาเขียนเป็นหนังสือก็คือ แมร์ชแมลโลว

    วิธีการทดลองก็คือ  เอมีจะต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะในห้องคนเดียว  ข้างหน้าของหนูน้อยจะมีแมร์ชแมลโลว1 ชิ้นอยู่ทางมุมหนึ่งที่เอมีจะสามารถกินได้ทันที  และแมร์ชแมลโลว 2 ชิ้นอยู่อีกมุมหนึ่งที่เธอจะได้กินถ้ารอ   ข้าง ๆ โต๊ะจะมีกริ่งที่เอมีจะสามารถกดเรียกนักวิจัยกลับเข้ามาทันทีถ้าเธอต้องการกินแมร์ชแมลโลว 1 ชิ้น  หรือถ้าเอมีรอจนกระทั่งนักวิจัยกลับเข้ามาเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที  เธอก็จะได้กิน 2 ชิ้น   ห้องที่ใช้ทดลองนี้จะมีกระจกทึบที่มองเข้ามาได้จากภายนอกที่นักวิจัยจะสามารถสังเกตอากัปกริยาของเด็กได้ตลอดเวลา  พวกเขาจะเห็นว่าเด็กที่นั่งรออยู่นั้นทำอย่างไรที่จะพยายามอดกลั้นยับยั้งจิตใจไม่ให้กดกริ่งเพื่อที่จะได้กินแมร์ชแมลโลวมากขึ้น

    ผลของการทดลองที่เกิดขึ้นก็คือ  เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถรอที่จะกินแมร์ชแมลโลว 2 ชิ้นได้  บางคนนั้น  นักวิจัยยังไม่ทันก้าวพ้นประตูเด็กก็กดกริ่งแล้วเพราะต้องการกินขนมหวานทันที  ความพยายามของเด็กบางคนที่จะอดกลั้นยับยั้งการกดกริ่งนั้น  บางทีทำให้นักวิจัยแทบจะ  “น้ำตาไหล”  เพราะรู้สึกสงสารเด็ก  วิธีการที่เด็กแต่ละคนใช้ในการ “สะกดใจ” ตนเองไม่ให้อยากกินแมร์ชแมลโลวทันทีนั้นหลากหลายมากและพวกเขาแสดงออกทางอาการต่าง ๆ  เช่นอาจจะปิดตา  เอนไปข้างหลัง เบือนหน้าหนีหรือกอดอก  รวมถึง  จินตนาการว่าแมร์ชแมลโลวนั้นเหมือนปุยเมฆที่  “กินไม่ได้” เป็นต้น

    สิ่งที่เด็กเล็กอายุแค่ 4-5 ขวบทำในขณะที่พวกเขารอและวิธีการที่พวกเขาจัดการหรือไม่จัดการที่จะชะลอความพึงพอใจที่จะได้รับนั้น  โดยที่ไม่คาดคิด  กลายเป็นสิ่งที่กำหนดหรือพยากรณ์ชีวิตในอนาคตของพวกเขา  แต่ละนาทีที่พวกเขารอได้นั้น  สะท้อนออกมาเป็นคะแนนสอบ SAT ซึ่งมหาวิทยาลัยใช้ในการรับเด็กเข้าเอนทร้านซ์ที่สูงขึ้น   วินาทีในการรอที่มากขึ้นสะท้อนถึงความสามารถในการเข้าสังคมและการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ  ที่ดีขึ้นเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่  ที่อายุ 27-32 ปี ซึ่งนักวิจัยได้ติดตามเด็กเหล่านั้นพบว่า  เด็กที่สามารถรอได้นานกว่าในการทดสอบแมร์ชแมลโลวมีดัชนีมวลกายที่ดีกว่าคนที่ได้คะแนนที่แย่กว่า  พวกเขายังมีความรู้สึกที่ดีกับตนเองมากกว่าและสามารถปรับตัวเพื่อรับกับความเครียดต่าง ๆ  ในชีวิตได้ดีกว่า  จากการสแกนสมองของพวกเขาพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนในส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการ “ติด” สิ่งต่าง ๆ  และความอ้วนสำหรับคนที่ได้คะแนนการทดสอบต่างกัน

    การศึกษาต่อมาของผู้เขียนและวิจัยคือ Walter Mischel ยังพบว่า  ระบบการ  “ควบคุมตนเอง” ต่อสิ่งเร้าหรือความอยากของคนเรานั้นมีสองระบบนั่นคือ  ระบบ “ร้อน” และระบบ “เย็น”  โดยระบบร้อนนั้นมาจากสมองส่วนที่เป็นสัญชาตญาณมากกว่า  ในขณะที่ระบบเย็นนั้นมาจากสมองส่วนที่เป็นเหตุผลและความนึกคิดมากกว่า  คนที่สามารถใช้หรือบังคับให้ตนเองใช้ระบบเย็นได้มากกว่านั้นจะสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและถูกต้องกว่า  การที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองใช้ระบบร้อนและตัดสินใจโดยอิงกับเหตุการณ์หรือแรงกระตุ้นเฉพาะหน้านั้น  เราจะต้องมองไปในอนาคตและดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราตัดสินใจทำอะไรในตอนนี้  พยายามให้เห็นภาพของเราในสถานการณ์ภายหน้า  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเราติดบุหรี่และกำลังอยากสูบ  เราก็จะต้องจินตนาการให้เห็นภาพของตัวเรา  อาจจะ5-6 ปีข้างหน้าที่เราอาจจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง  หรือเป็นโรคมะเร็ง ที่มีความเจ็บปวดทรมานสูงอย่างที่เห็นบนซองบุหรี่ อย่างนี้เป็นต้น  และเมื่อเราคิดและจินตนาการแบบนี้  ระบบเย็นก็จะเข้ามาแทนที่ระบบร้อน และก็จะทำให้เราไม่อยากสูบบุหรี่และในที่สุดก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้  และนี่ก็คงคล้าย ๆ  กับเด็กเล็กที่พยายามจินตนาการว่า แมร์ชแมลโลวนั้นคล้ายก้อนเมฆที่กินไม่ได้  ดังนั้น  เขาก็ไม่อยากกินมัน

    ความสามารถในการอดกลั้นต่อสิ่งที่ยั่วเย้าหรือเลื่อนการบริโภคความพึงพอใจในปัจจุบันเพื่อที่จะได้ความพึงพอใจที่มากขึ้นในอนาคตนั้น  จะมีผลต่อความสำเร็จของชีวิตของคนในอาชีพไหนมากน้อยแค่ไหนผมเองก็ไม่แน่ใจนัก  เหตุเพราะว่าคงไม่ใคร่มีคนสามารถศึกษากรณีชีวิตจริงได้มากนัก  เพราะมันต้องใช้เวลาติดตามเป็นสิบ ๆ  ปีกว่าจะได้ข้อมูลของตัวอย่างซึ่งก็มักจะมีไม่มากนัก  แต่โดยส่วนตัวนั้น  ผมเชื่อว่ามันน่าจะมีผลต่อการเป็นนักลงทุนโดยเฉพาะในแบบ VI  ที่ต้องเน้นการลงทุนระยะยาว  เมื่อลองคิดย้อนหลังไป  ผมเองรู้สึกว่าตนเองนั้น  เลื่อนการบริโภคความพึงพอใจมาตลอดเพื่อหวังที่จะได้สิ่งที่พึงพอใจมากกว่าในอนาคตและนี่เป็นมาตั้งแต่เด็ก  ผมเป็นคนประหยัดและใช้เงินทุกอย่างเฉพาะที่จำเป็นเพื่อเก็บเงินแต่ก็ไม่ได้เก็บไว้เฉย ๆ  เอาเงินมาลงทุนค้าขายหรือทำ “ธุรกิจ”  ตั้งแต่เด็ก  นอกจากนั้น  ผมลงทุนเป็น  “แรง” และ “เวลา” ในการเรียนและการศึกษาด้วยตนเองเป็นจำนวนมากเพื่อหวังว่ามันจะช่วยให้ผมทำเงินและประสบความสำเร็จมากขึ้นในอนาคต  การเลื่อนการบริโภควันนี้เพื่อการที่จะได้บริโภคมากขึ้นในวันข้างหน้านั้น  แท้ที่จริงมันก็คือนิยามหรือ  “หัวใจ” ใจของการลงทุน  ดังนั้น  คนที่มีแนวโน้มหรือทักษะนี้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจจะหมายความว่าเขามีมันอยู่ในยีนส์จึงน่าจะมีความได้เปรียบเมื่อเขาโตขึ้นและจะต้องลงทุนในเรื่องต่าง ๆ  ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนในด้านการเงินเท่านั้น

    ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องของนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กเพราะยีนส์ก็คือ  นิสัยหรือความสามารถที่จะอดทนและควบคุมตัวเองได้ต่อสิ่งยั่วเย้านั้น  อาจจะสามารถสร้างขึ้นได้  เรื่องนี้อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แต่ผมคิดว่าไม่เสียหายที่จะทำ  สิ่งที่ผมคิดว่าเราน่าจะฝึกฝนได้นั้นอยู่ที่ความเป็นจริงของเรื่องพฤติกรรมในเรื่องต่าง ๆ  ที่มีการศึกษามามากนั้นบ่งชี้ว่า  นอกจากเรื่องของยีนส์แล้ว  สภาวะแวดล้อมและการฝึกฝนมีส่วนกำหนดอุปนิสัยและพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ  อาจจะถึงครึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อย 30%-40% ขึ้นไป  ดังนั้น  สำหรับเด็กหรือคนที่สอบตก  “Marshmallow Test” โอกาสที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้นั้นมีแน่นอน  และผมเชื่อว่านี่เป็นทักษะที่มีประโยชน์และจำเป็นโดยเฉพาะสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ และนั่นก็คือ  การใช้ “ระบบเย็น”  ในการลงทุนแทนที่ “ระบบร้อน”  ที่มักจะทำให้เราตัดสินใจอย่างรวดเร็วและไม่ถูกต้อง

ที่มา :
Posted by nivate at 8:46 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 13 October 2014

บัฟเฟตต์กับหุ้นเทสโก้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าตนเองนั้น  “ทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง” ในการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้  เจ้าของเครือข่ายค้าปลีกแบบดิสเคาท์สโตร์ขนาดใหญ่สัญชาติอังกฤษที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก  เหตุเพราะว่าหุ้นเทสโก้มีราคาร่วงลงอย่างแรงภายในสัปดาห์เดียวถึง 17% หลังจากที่ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทออกมายอมรับว่าบริษัทได้รายงานผลประกอบการครึ่งปีที่ผ่านมาผิดพลาดโดยมีการลงบัญชีว่าบริษัททำกำไรสูงกว่าความเป็นจริงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ  ราคาหุ้นตกลงมาเหลือประมาณ 1.8 ปอนด์ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปีหลังจากเดือนเมษายน 2003  และเป็นการตกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่ราคาหุ้นเทสโก้ลดลงถึง 48%

    วอเร็น บัฟเฟตต์เริ่มต้นซื้อหุ้นเทสโก้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2006  ในจำนวนประมาณ 330 ล้านเหรียญหรือประมาณหมื่นล้านบาท  หลังจากนั้นก็มีการซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีมูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 67,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 5% ของบริษัท  แต่ต่อมาเขาก็เริ่มขายหุ้นไปบ้างจนเหลือประมาณ 3.7% ณ. สิ้นปีที่ผ่านมาและเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของบริษัท  โดยรวมแล้ว  การถือหุ้นของบัฟเฟตต์ในหุ้นเทสโก้นั้นทำให้เขาขาดทุนไปประมาณ 700 ล้านเหรียญหรือประมาณ 22,400 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบัฟเฟตต์ในการถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง   จริงอยู่บัฟเฟตต์เคยเจ็บตัวจากการลงทุนหลายครั้งเหมือนกัน เช่นการลงทุนในหุ้นสายการบินและหุ้นของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  แต่การขาดทุนนั้นมักจะเป็นเรื่องของการ  “ขาดทุนชั่วคราว”  และเมื่อถือต่อไป  บางทีเขาก็  “ได้ทุนคืนมา” เหตุเพราะว่าราคาหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นและเขาขายมันทิ้งไปเมื่อรู้ว่าตนเอง “ผิดพลาด”

    โดยปกตินั้น  ถ้าบัฟเฟตต์ซื้อหุ้นตัวไหน  เขาจะต้องมั่นใจมากว่าพื้นฐานของบริษัทจะต้องดีและราคาที่เขาซื้อนั้นถูกหรือเหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท  และมูลค่าที่แท้จริงในความหมายของเขาก็คือ  มันเป็นมูลค่าที่มาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นตลอดชีวิต  ดังนั้น  ถ้าเขาคาดการณ์ไม่ผิดในเรื่องความสามารถในการทำเงินของบริษัทแล้ว   เขาก็พร้อมที่จะซื้อหุ้นและ  “ถือมันไปตลอดชีวิต”  โดยที่ไม่ต้องขายแม้ว่าหุ้นในระยะสั้นจะตกลงมามาก   ในบางกรณีที่บัฟเฟตต์ไม่แน่ใจในความสามารถของบริษัทที่จะทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดระยะยาวได้  เขาก็มักจะกำหนด “เงื่อนไขในการลงทุน”  เช่น  แทนที่จะซื้อเป็นหุ้น  เขาก็จะซื้อเป็นพันธบัตรที่มีสิทธิแปลงเป็นหุ้นหรือได้วอแรนต์มาฟรีเพื่อที่ว่าในกรณีที่บริษัทไม่ดีอย่างที่คิด  ทำให้หุ้นไม่ขึ้นหรือตกลงไปแต่บริษัทก็ไม่ถึงกับล้มละลาย  เขาก็จะสามารถได้เงินต้นคืนและแค่เสียโอกาสในการทำกำไรจากหุ้นเท่านั้น

ที่ผ่านมานั้น บัฟเฟตต์จึงมักจะลงทุนในบริษัทที่  “มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน”  มีผลประกอบการที่มั่นคงสม่ำเสมอ  และมีหนี้ไม่มาก  สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดีและไม่ต้องลงทุนมากนัก  อีกข้อหนึ่งที่อาจไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องของการทำกำไรนักก็คือ  เขาต้องการหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่ทำให้เขาสามารถลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวไม่เป็นเบี้ยหัวแตกที่ไม่มีความหมายกับพอร์ตที่มีขนาดยักษ์ของเขา  นอกจากนั้น  ช่วงจังหวะเวลาที่เขาชอบที่จะเข้าลงทุนก็คือช่วงเวลาที่บริษัทอาจจะมีปัญหาที่เขาคิดว่า “แก้ไขได้”  และราคาหุ้นตกลงมามากที่จะทำให้การลงทุนของเขาได้ผลตอบแทนมากขึ้น   ทั้งหมดนี้ผมคิดว่า  เข้ากับ Story และคุณสมบัติของหุ้นเทสโก้แทบจะสมบูรณ์แบบในปี 2006 ที่เขาเริ่มเข้าไปซื้อนั่นคือ

เทสโก้มีความได้เปรียบเนื่องจากมันมีขนาดที่ใหญ่มากโดยเฉพาะในอังกฤษและอีกหลายแห่งในโลกรวมถึงประเทศไทย  และธุรกิจขายสินค้าประจำวันแบบนี้  ขนาดเป็นเรื่องที่ทำให้ได้เปรียบค่อนข้างมาก  นอกจากนั้น  ผลการดำเนินงานของ Modern Trade นั้น  มักจะมีความสม่ำเสมอสูงเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนเป็นล้าน ๆ คนและบริษัทมักจะกำหนดมาร์จินหรือผลกำไรลงบนต้นทุนขายได้  กระแสเงินสดเองก็มักจะดีมากเพราะสามารถได้เครดิตการค้ายาวและขายเงินสด  เทสโก้จึงสามารถจ่ายปันผลได้สูงมาโดยตลอด  ในด้านของจังหวะเวลาในการเข้าซื้อเองนั้น  ในกรณีของเทสโก้นั้นดูเหมือนว่าที่ผ่านมาก่อนถึงปี 2006 ที่บัฟเฟตต์ซื้อนั้น  จะไม่มีช่วงเวลาที่บริษัทจะย่ำแย่หรือราคาหุ้นตกลงมาแรงมาก ๆ  ซึ่งนี่ก็คล้ายกับกรณีของหุ้นวอลมาร์ทที่บัฟเฟตต์ไม่ได้ซื้อและรอมาเรื่อย ๆ  จน “ทนไม่ไหว”  และเขาอาจจะเริ่มตระหนักว่าหุ้นค้าปลีกนั้น  จะโตไปเรื่อย ๆ  อย่างมั่นคงและมีโอกาสที่จะพลาดอย่างรุนแรงยาก  ดังนั้น  เขาจึงเริ่มเข้าซื้อหุ้นดิสเค้าท์สโตร์ขนาดใหญ่ทั้งวอลมาร์ทและเทสโก้ในเวลาต่อมา

หลังจากซื้อหุ้นเทสโก้แล้วก็ดูเหมือนว่า “ภาพใหญ่” นั่นคือภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโดยเฉพาะของยุโรปและอังกฤษจะไม่เข้าข้างเขาเลย  วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ทำให้หุ้นเทสโก้ตกลงมาประมาณ 30% และน่าจะทำให้กำไรในช่วงแรกของบัฟเฟตต์หดหายไปหมด  แต่หลังจากนั้น  ราคาหุ้นก็  “ตีตื้น” ขึ้นได้เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่อาจจะเป็น  “Defensive” คือไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนักเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน  อย่างไรก็ตาม  ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้  ผลการดำเนินงานของเทสโก้ก็เริ่ม “ออกอาการ”  ยอดขายเริ่มโตช้าหรือไม่โตเลย  ยอดขายของร้านเดิมติดลบแรงอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่  แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ  ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับร้านเครือข่ายอื่นแย่ลงมาก  ในส่วนของตลาดบน   คู่แข่งอย่าง Sainsbury ก็ดีขึ้นเทียบกับเทสโก้  ในส่วนของตลาดล่างลงมา  เครือข่ายของบริษัทเยอรมันเช่น  ALDI หรือ LIDL ก็ใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกที่สุดโดยเน้นขายสินค้าเฮ้าส์แบรนด์  ก็สามารถแย่งตลาดของเทสโก้ได้มาก  เทสโก้ถูกบีบทั้งสองด้าน  และนี่ทำให้ราคาหุ้นเริ่มไหลลงมาตลอด  และ “ตะปูตัวสุดท้าย” ก็คือความฉ่าวโฉ่ทางด้านบัญชีที่ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงมาอย่างหนัก

บัฟเฟตต์เองยังไม่ได้ขายหุ้นเทสโก้ทั้งหมดและผมเองก็ไม่รู้ว่าบัฟเฟตต์จะถือต่อไปแค่ไหน  ผมไม่รู้ว่าราคานี้เป็นราคาที่เหมาะสมหรือยังกับพื้นฐานที่แย่ลง  ผมเองเคยคิดที่จะซื้อหุ้นเทสโก้เหมือนกันก่อนที่จะเกิดเรื่องของบัญชี  เหตุผลที่ผมคิดในตอนนั้นก็คือ  ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่นั้น  ยังไงมันก็ยังน่าจะมีกำไรและมีเงินสดที่จะจ่ายปันผลได้ดี  และเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น  ผลประกอบการก็น่าจะดีขึ้น  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมจะซื้อได้ในราคาต่ำกว่าบัฟเฟตต์พอสมควรทีเดียว  โชคดีที่ผมไม่ได้ซื้อ  อย่างไรก็ตาม  หลังเกิดเหตุการณ์และราคาหุ้นตกลงไปมากพร้อม ๆ  กับที่บัฟเฟตต์ออกมาสารภาพว่าตนเองผิดพลาด  ผมก็ยังไม่ได้ทำอะไร  ผมคิดว่าแม้ราคาจะลดลงไปอีกแต่ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น  ผมเองก็เริ่มรู้สึกว่า  ค้าปลีกเองก็มีความเสี่ยงโดยเฉพาะในประเทศที่การบริโภค “อิ่มตัว” และพัฒนาการต่าง ๆ  ที่เปลี่ยนไปในโลกของการบริการ
    บทเรียนของเทสโก้กับบัฟเฟตต์นั้น  ผมคิดว่าสอนให้เราเรียนรู้ว่า  หนึ่ง  ไม่มีใครถูกเสมอไปในเรื่องของการลงทุนและเราไม่รู้ว่าเขาจะพลาดในวันไหน  สอง  ไม่มีบริษัทไหนที่แข็งแกร่งขนาดที่ไม่มีอะไรสามารถทำลายมันได้แม้ว่าในวันที่เรามองดู  ดูเหมือนว่ามันจะไม่มีวันแพ้สามถ้าคุณเข้าซื้อหุ้นในวันที่ราคามันอยู่ในระดับใกล้กับราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมันอย่างหุ้นเทสโก้ในปี 2006 ที่บัฟเฟตต์เข้าซื้อ  ความเสี่ยงก็น่าจะเพิ่มขึ้นมาก  และสุดท้ายก็คือ  เรื่องของผู้บริหาร  ซึ่งผมเชื่อว่าบัฟเฟตต์เองคงจะรู้สึกเจ็บหนักที่สุดก็คือ  ผู้บริหารที่แย่นั้น  ทำลายมูลค่าของบริษัทได้มากมายและเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร    เรื่องของเทสโก้กับบัฟเฟตต์นั้นยังไม่จบเพราะเขายังถือหุ้นอยู่ไม่น้อย  เราคงต้องดูกันต่อว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไรในอีก  “หลายตอน”  ข้างหน้า  ซึ่งก็คงอีกหลายปี เพราะกิจการที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ “ตาย” ง่าย ๆ

Posted by nivate at 10:27 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/10/13/1480



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



VI โลกสวย/ธันวา เลาหศิริวงศ์

หลายดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มและทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยรวมทำให้ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 17,279 จุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์มีความผันผวนและปรับตัวลงมาอยู่ที่  16,544 จุด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นการปรับลดลงต่อเนื่องถึง 4.25% ในเวลาเพียงสามสัปดาห์

    หลังจากประเทศไทยมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเช่นกัน ดัชนีตลาดหุ้นไทย SET ปรับตัวสูงสุดใหม่ที่ 1,600 จุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 แต่ทั้งปัจจัยจากภายในและภายนอกประเทศทำให้ดัชนีผันผวนต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1552 จุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 หรือลดลง 3% ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

    การปรับลดลงของตลาดหุ้นไทยโดยรวม อาจทำให้นักลงทุนที่ติดตามการเคลื่อนไหวราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดและคุ้นเคยกับการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นที่ตนถือ รู้สึกเสียดายเสียใจ และหวั่นไหวกับความผันผวนที่เกิดขึ้น นี่คือ สภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักลงทุนทุกคนจะต้องเผชิญ ทัศนคติและมุมมอง “เชิงบวก” คือแก่นสำคัญอย่างหนึ่งในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มุ่งเน้นการลงทุนในระยะยาว ลองมาดูกันว่า ในภาวะเช่นนี้  “vi โลกสวย” ควรมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนอย่างไร

    กรณีแรก หากตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวลดต่ำลงต่อไปอีกระยะหนึ่ง นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 นั้น ตลาดหุ้น SET ให้ผลตอบแทนรวมเงินปันผลสูงกว่า 20% และกว่า 90% สำหรับตลาดหุ้น mai  แม้ผลตอบแทนจะไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับผลตอบแทน 90% ของตลาดหุ้นประเทศอาร์เจนตินาหรือ 47% ของตลาดหุ้นดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่หากเปรียบเทียบกับผลตอบแทน 0% หรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ 1.2% ของตลาดหุ้นแนสแด็ก 2.7% ของตลาดหุ้น S&P500 ประเทศสหรัฐอเมริกา -5.0% ของตลาดนิเคอิของญี่ปุ่น -4.7% ของตลาดหุ้นลอนดอนของอังกฤษ และ -5.73% ของตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมัน vi โลกสวยต้อง “พอใจและมีความสุข” กับสภาวะการลงทุนของตลาดหุ้นไทยปีนี้

    กรณีที่สอง แม้ vi ควรเข้าลงทุนในระดับที่มี Margin of Safety แต่เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง การเปรียบเทียบผลตอบแทนของตนกับตลาดหรือกับเพื่อนนักลงทุนรอบข้าง ทำให้ vi ที่เคยถือเงินสดหรือเคยรีรออยู่หมดความอดทนและเพิ่งตัดสินใจเข้าลงทุน ส่งผลขาดทุนทางบัญชี หากราคาหุ้นยังลดลงต่อเนื่องจนถึงจุดที่มี Margin of Safety เพียงพอแล้ว vi โลกสวยต้องเห็นเป็น “โอกาส” เพิ่มสัดส่วนลงทุนหากพิจารณาอย่างรอบคอบพบว่าเป็นกิจการที่ยอดเยี่ยมและยังมีแนวโน้มผลประกอบการดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต แต่หากทบทวนแล้วว่าการเข้าลงทุนที่ผ่านมาเป็นการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล vi โลกสวยต้องถือว่าเป็น “ค่าวิชา” สำหรับบทเรียนที่คุ้มค่าในการป้องกันความผิดพลาดซ้ำที่อาจสร้างความสูญเสียมากกว่าในอนาคต

    กรณีที่สาม หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการของกิจการยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ย่อมต้องส่งผลดีต่อราคาหุ้นและตลาดหุ้นไทย ไม่เพียงเฉพาะ vi โลกสวยแต่นักลงทุนทุกคนต้องมีความสุขกันถ้วนหน้าจากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น การจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนคงมีเพียงกรณีเดียวคือ การพิจารณา upside/downside risk อย่างรอบคอบแล้วว่าคุ้มค่า นักลงทุนต้องคำนึงไว้เสมอว่า ราคาหุ้นส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น ไม่ถือว่าอยู่ในระดับราคาที่ถูกจนถึงกับ “รอไม่ได้” เช่นกัน   

    กรณีสุดท้าย หากตลาดหุ้นไทยหรือหุ้นที่ตนถืออยู่เคลื่อนไหวในกรอบราคาแคบๆ (sideway) จนถึงสิ้นปี 2557 และนักลงทุนยังได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายหรืออยู่ในระดับ 12-15% ต่อปี นักลงทุนทุกคนก็ควรพอใจ เพราะเป็นระดับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลในการลงทุนระยะยาว  vi โลกสวยที่มีรายได้จากภาระหน้าที่งานประจำ ก็เป็นโอกาสดีที่จะสะสมเงินส่วนเกินเพื่อพร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเมื่อโอกาสมาถึง ส่วน vi โลกสวยที่ลงทุนเต็มเวลา นี่คือโอกาสดีที่จะจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมที่ตนชื่นชอบ ทำประโยชน์ต่อเอง คนรอบข้างและสังคมส่วนรวมได้อย่างดี

    หากตัดสินใจแน่วแน่ที่จะลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นแล้ว การมีแต่มุมมองเชิงลบ การไม่พอใจการตัดสินใจของตน รู้สึกไม่เป็นสุข เสียดาย เสียใจและมักเกิดอาการ “รู้งี้” ล้วนเป็นการบั่นทอนสภาวะจิตใจโดยไม่จำเป็น อาจส่งผลให้ไม่สามารถ “ยืนระยะ” อยู่ในตลาดหุ้นได้อย่างยาวนาน จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากต้องแพ้ภัยตนเองและล้มเลิกภาระกิจการลงทุนและเป้าหมายที่ตนเคยตั้งไว้

    ในฐานะ Value Investor นักลงทุนทุกคนจำเป็นต้องมีทัศนคติและมุมมองเชิงบวก และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า แม้ในระยะสั้นตลาดหุ้นจะมีความผันผวน แต่การมีสภาวะจิตใจที่ดีและไม่เสียกำลังใจยามเพลี่ยงพล้ำในการรบย่อยชั่วคราว ย่อมจะมีโอกาส “ชนะสงครามใหญ่” หรือถึงเป้าหมายการลงทุนระยะยาวในที่สุด

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58193



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
บทเรียน 16 ข้อจาก Anthony Bolton สุดยอด VI ของอังกฤษ

บทเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการเป็นผู้จัดการกองทุนมานาน 25 ปีของผม

1. เข้าใจความได้เปรียบเชิงแข่งขันและคุณภาพของบริษัท

คุณจะต้องรู้ฐานะการแข่งขันของบริษัทและรู้ว่าบริษัททำผลกำไรได้ด้วยวิธีการใด ธุรกิจที่ผมชอบคือ ธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ยั่งยืนเป็นระยะเวลายาวนาน สิ่งที่ผมจะถามก็คือ : ในอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทนี้จะยังอยู่หรือไม่และบริษัทน่าจะมีมูลค่าสูงกว่านี้หรือเปล่า ?

2. เข้าใจตัวแปรสำคัญๆ ที่เป็นตัวผลักดันธุรกิจ

ระบุตัวแปรหลัก ๆ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรที่บริษัทควบคุมไม่ได้อย่างเช่น ค่าเงิน, อัตราดอกเบี้ย และภาษี สำหรับผม ธุรกิจที่ดีคือ ธุรกิจที่สามารถควบคุมชะตากรรมส่วนใหญ่ของตัวเองได้

3. สนใจธุรกิจที่เข้าใจได้ง่ายมากกว่าธุรกิจที่ซับซ้อน

ธุรกิจที่ซับซ้อนจะวิเคราะห์ได้ยากว่ามีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนหรือเปล่า สำหรับผมแล้ว ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจ ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ๆ ในการดำเนินธุรกิจจะมีความน่าสนใจน้อยกว่า

4. ฟังข้อมูลจากผู้บริหารโดยตรง

ผมชอบผู้บริหารที่ตรงไปตรงมาและไม่ขี้โม้ ผมอยากได้ยินทั้งข่าวดีและข่าวร้าย

5. หลีกเลี่ยงบริษัทที่มีผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความน่าเชื่อถือในทุกกรณี

6. พยายามคิดล้ำหน้ากว่าคนอื่น ๆ ไปสองก้าว

ดูว่าอะไรถูกมองข้ามไปในปัจจุบัน แต่มันจะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนในอนาคตได้ โดยทั่วไปแล้ว ตลาดหุ้นไม่ได้มองอะไรไกล ๆ นัก ดังนั้น หากเรามองไกลกว่าคนอื่น ๆ เราจะทำกำไรได้

7. เข้าใจความเสี่ยงในงบดุล

การลงทุนเป็นการจำกัดความเสี่ยงและการหลีกเลี่ยงความหายนะ คุณต้องวิเคราะห์งบดุลอย่างละเอียด ดูเรื่องหนี้สินของบริษัทให้ดี

8. เสาะหาความคิดจากหลายๆแหล่ง

ยิ่งคุณมีแหล่งความคิดหลากหลายขึ้นเท่าไร คุณก็จะมีโอกาสหาหุ้นเด็ด ๆ ได้สูงขึ้นเท่านั้น แหล่งความคิดที่ชัดเจนที่สุดอาจจะไม่ใช่แหล่งที่ดีที่สุดเสมอไป ผมจะชอบแหล่งข้อมูลที่คนอื่น ๆ ไม่ค่อยใช้กัน

9. ดูการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารบริษัทด้วย

มันไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้องเสมอไป แต่มันก็มีประโยชน์มาก ดูจำนวนรายการที่เกิดขึ้น การซื้อจะบอกอะไรได้มากกว่าการขาย และผู้บริหารบางคนจะน่าสนใจกว่าคนอื่น ๆ

10. ตรวจสอบเหตุผลในการลงทุนของคุณเป็นระยะ ๆ

การซื้อหุ้นต้องมีเหตุผลรองรับ และคุณต้องตรวจสอบเหตุผลเหล่านั้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้ความเชื่อมั่นพัฒนากลายเป็นความดื้อรั้น

11. ลืมต้นทุนของคุณซะ

ราคาที่คุณซื้อหุ้นมาไม่มีความเกี่ยวข้องเลย มันแค่มีความสำคัญในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในเชิงลบ อย่างลังเลที่จะตัดขาดทุน

12. ผลงานที่ผ่านมาไม่ได้บ่งบอกถึงอนาคต

อย่างไรก็ตามคุณต้องวิเคราะห์ความผิดพลาดของคุณและเรียนรู้จากมัน

13. ใส่ใจกับมูลค่าเฉพาะของบริษัทนั้น ๆ ไม่ใช่ดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบ

หากคุณดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบ คุณอาจจะซื้อหุ้นตัวที่แพงน้อยกว่ามาซึ่งมันจะทำให้คุณขาดทุนอยู่ดี

14. ใช้วิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นตัวบ่งชี้เพิ่มเติม

ผมจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาช่วยกำหนดขนาดการซื้อหุ้นของผม หากปัจจัยทางเทคนิคช่วยยืนยันการวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน ผมจะซื้อหุ้นในปริมาณที่มากขึ้น แต่ถ้าไม่ ผมจะซื้อหุ้นอยู่ดีแต่จะซื้อในปริมาณที่ลดลง เมื่อไรก็ตามที่ปัจจัยทางเทคนิคชี้ว่าหุ้นกำลังอ่อนแอ ผมจะตรวจสอบปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผมพบว่ามันจะมีประโยชน์สำหรับหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า

15. หลีกเลี่ยงการทำนายทิศทางตลาดและการลงทุนตามเศรษฐกิจมหภาค

ผมจะลงทุนในบริษัทที่ผมคิดว่ามีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน

16. จงสวนกระแส

หากคุณรู้สึกสบายใจที่จะลงทุนในหุ้น คุณอาจจะเข้ามาสายไปแล้ว
จงลงทุนสวนกระแสฝูงชน อย่ารู้สึกมั่นใจสูงขึ้น เมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น
เวลาที่ทุกคนปราศจากความกังวลจะเป็นเวลาที่น่ากลัวที่สุด
เวลาที่ทุกคนกังวลอย่างมาก ความกังวลมันจะไปสะท้อนในราคาแล้ว

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=8267


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 20 October 2014

สิ้นสุดยุคทองของ VI

ผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของ  “สัจธรรม”  ข้อหนึ่งที่ว่า  อะไรก็ตาม  เมื่อมันดี  โต  ก้าวหน้า ไปมากและยาวนานเกินกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตหรือเกินกว่าสิ่งอื่นหรือคนอื่นที่เป็นคู่แข่งกัน  ในที่สุดมันก็ต้องชะลอและกลับตัวลงมาเพื่อที่จะทำให้มันไม่ดีเกินไป  โตเกินไป  หรือก้าวหน้ามากเกินไป  มิฉะนั้น  ในระยะยาวแล้ว  มันก็จะโตเกินกว่าที่เป็นไปได้ตาม  “ธรรมชาติ”  ผมมีความเชื่อว่าธรรมชาตินั้น  ในระยะยาวแล้วไม่มีความ  “ลำเอียง”  มันจะพยายามปรับให้เกิดความ  “สมดุล” ที่ไม่มีอะไรที่ใหญ่หรือ “ดีเด่น” เกินไปจนทำให้สิ่งอื่นนั้นเล็กเกินไปและ “ด้อย” กว่าจนอยู่ไม่ได้  ภาษาทางปรัชญาอาจจะเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า   “สูงสุดคืนสู่สามัญ”  ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า  “Regression to the Mean”  หรือแนวโน้มทางสถิติของสิ่งต่าง ๆ ในทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่จะวิ่งเข้าหาอัตราการเติบโตหรือตัวเลขของ  “ค่าเฉลี่ย”  โดยที่ไม่ต้องไปคิดหาเหตุผลว่าอะไรทำให้มันเป็นเช่นนั้น   เหตุผลนั้น  แน่นอนต้องมี  เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังไม่รู้หรือมันอาจจะยังไม่เกิด  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์นั้นมีอาชีพต้องหาเหตุผล  เพื่อที่จะบอกว่าอะไรที่จะทำให้การเติบโตนั้นจะต้องช้าลงกว่าเดิมไปอีกหลายปีเพื่อที่มันจะวิ่งเข้าสู่ค่าเฉลี่ย

           ผมกำลังจะบอกว่าความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าของการลงทุน  หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนโดยรวมและเฉพาะอย่างยิ่ง VI ของไทยเคยทำได้มายาวนานกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้  มันอาจจะถึงเวลาที่จะต้องชะลอตัวลง  การลงทุนที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนต่อปีที่เกิน 20%-30% แบบทบต้นในระยะยาวเป็น 10 ปีขึ้นไปนั้น  เป็นเรื่องที่ยากมาก  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ที่สามารถทำผลตอบแทนสูงในระดับนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมเชื่อว่ามีไม่น้อย  และมันทำให้เกิด  “ภาพลวง” ว่า  การทำผลตอบแทนเกินกว่า 20%-30% ต่อปี ในระยะยาวนั้นเป็นไปได้ไม่ยาก  แต่ในความคิดของผมแล้ว  นี่อาจจะเป็นเวลาที่แนวโน้มการทำกำไรงดงามอย่างง่าย ๆ  ของนักลงทุนในตลาดหุ้นกำลังเปลี่ยนไป  นี่อาจจะเป็นเวลาที่ “ยุคทองของ VI”  ที่ดำเนินมามากกว่า 10 ปี กำลังหมดลง  ภายในเวลา 10 ปีข้างหน้านั้น  การทำผลตอบแทนได้ปีละ 15%-20% แบบทบต้นอาจจะเป็นสิ่งที่ “ดีสุดยอด” แล้ว  เพราะนั่นสำหรับหลาย ๆ  คนจะเป็นสถิติระดับโลกที่สามารถทำผลตอบแทนในระดับ 20% ขึ้นไปเป็นเวลาอาจจะ 20 ปีติดต่อกัน  น้อยคนมากที่จะทำได้!
            เหตุผลที่ผมคิดว่ายุคทองของตลาดหุ้นไทยนั้นใกล้จบลงมีหลาย ๆ  เรื่อง  และมันคือเหตุผลที่ทำให้เกิดยุคทองหรือทศวรรษทองของตลาดหุ้นไทยในทางตรงกันข้าม   พูดง่าย  ๆ  สิ่งที่ขับดันราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น  กำลังหมดพลังลงหรือเปลี่ยนทิศ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

          การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นต้องบอกว่าอยู่ในระดับปานกลางคือช่วงหลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มานั้นเราโตปีละประมาณ 5% จากประมาณ 7% ก่อนหน้านั้น  จนถึงประมาณปี 2550   หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็เริ่มชะลอตัวลงมาค่อนข้างมากเหลือแค่ 3%-4%  ผมเองไม่รู้ว่านี่เป็นการชะลอตัวลงอย่างถาวรแล้วหรือไม่  เหตุผลก็เพราะว่าคนไทยนั้นเริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  เด็กเกิดใหม่มีน้อยลงมาก  กำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็น้อยลงและในอนาคตก็อาจจะเริ่มลดลง  และหากเป็นอย่างนั้น  ไทยก็อาจจะเหมือนประเทศของคนสูงอายุในยุโรปหรือในญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเติบโตยาก  ตลาดหุ้นก็จะไปไม่ได้

           สิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตสูงมากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าคือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มลดลงมาอย่างรวดเร็วหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2542 ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่ลดลงจากประมาณ 5% เหลือ ไม่ถึง 4%  พอถึงปี 2543 ดอกเบี้ยลดลงอีกเหลือประมาณ 2.5%  และลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียงประมาณ 1% ในปี 2546  หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอดจนถึงวันนี้  และนี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนถอนเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นต่อเนื่องยาวนานและทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม  อัตราดอกเบี้ยนับจากวันนี้ดูเหมือนว่ามันคงไม่สามารถลงต่อไปได้อีกและมีแต่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากนโยบายของสหรัฐที่จะลดสภาพคล่องทางการเงินโดยการยกเลิก QE และหากอัตราดอกเบี้ยของไทยเริ่มปรับตัวขึ้น  โอกาสก็เป็นไปได้ที่คนจะถอนเงินออกจากตลาดและทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลงหรือขึ้นต่อไปได้ยากขึ้น

            ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2543 เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นสอดคล้องกับเวลาที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงอย่างชัดเจน  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 14 ปี ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 16%-17% แบบทบต้น  เงินลงทุน 1 ล้านบาท กลายเป็นประมาณ 10 ล้านบาท  ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงมากในระยะเวลาที่ยาวมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ประเด็นก็คือ  อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้านั้น  ผมคิดว่าตลาดจะปรับตัวดีแบบเดิมคงเป็นไปได้ยากมาก  เพราะมันจะทำให้ตลาดหุ้นไทยใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศ

            การปรับตัวของหุ้นไทยยังน่าจะมาจากการที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตขึ้นหลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และการปรับโครงสร้างทางการเงินในช่วง 2-3 ปีต่อมา  ในช่วงเวลาประมาณ 12 ปีที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด  กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นประมาณ 117%  หรือโตปีละประมาณ 6.7% แบบทบต้น  แต่ดัชนีตลาดหรือราคาหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นถึงประมาณ 260%  หรือเพิ่มขึ้นปีละกว่า 13%  คิดเป็น 2 เท่าของกำไร  ดังนั้น  ราคาหุ้นของไทยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้นไม่ได้ขึ้นเพียงเพราะกำไรบริษัทเพิ่มขึ้น  แต่เพิ่มขึ้นด้วย “พลังเงิน” ของนักลงทุนที่ทำให้หุ้นแพงขึ้น  ซึ่งตัวเลขค่า PE ของตลาดมีการปรับตัวขึ้นจากค่า PE ในช่วงหลังวิกฤติใหม่ ๆ  ไม่เกิน 10 เท่าก็กลายเป็นประมาณ 18 เท่าในปัจจุบัน

          ประเด็นก็คือ  การเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น  เร่งตัวขึ้นในช่วงหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์  แต่ในช่วงปีหรือสองปีนี้  กำไรกลับไม่ได้โตขึ้นเท่าไรนัก  อาจจะมาจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤติการเมืองหรือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยหรืออาจจะมาจากผลของการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นได้  อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะดีขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาด  แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ดูเหมือนว่าจะไม่โดดเด่นนัก  นอกจากนั้น  ค่า PE ก็คงมีโอกาสสูงขึ้นยากและอาจจะมีแนวโน้มที่ลดลงได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่ดีอะไรบางอย่าง  ดังนั้น  ความหวังที่จะเห็นหุ้นปรับตัวดีขึ้นไปอีกจากปัจจุบันก็อาจจะไม่เป็นจริงได้

          ทั้งหมดที่ผมพูดมานั้น  ดูเหมือนจะเกี่ยวกับตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียนโดยรวมมากกว่า   บางคนอาจจะเถียงว่าหุ้น VI อาจจะไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าว  ดังนั้น  มันอาจจะไม่ใช่การหมด  “ยุคทองของ VI”   ในประเด็นนี้ผมเองกลับเห็นว่า  การปรับตัวขึ้นของหุ้นในระยะกว่า 10 ปี ที่ผ่านมานั้น  หุ้นที่เรียกว่า  “VI” นั้น  มีการปรับตัวขึ้นมามากกว่าหุ้นกลุ่มอื่น  และการปรับตัวขึ้นของมันเองนั้นก็มาจากเรื่องของกำไรที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทและการปรับตัวขึ้นของค่า PE เช่นเดียวกับหุ้นทั่วไป  สิ่งที่แตกต่างนั้น  ผมกลับคิดว่าหุ้นที่เรียกว่า VI นั้น  มีการปรับตัวขึ้นของ PE  มากกว่าการเพิ่มขึ้นของกำไร  หรือพูดง่าย ๆ  โดยเปรียบเทียบแล้ว  หุ้น VI นั้น  มีราคาแพงขึ้นมากกว่าหุ้นธรรมดา  ดังนั้น  โอกาสที่หุ้น VI จะทำผลตอบแทนดีกว่าหุ้นทั่วไปในอีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะยากขึ้นกว่าในอดีตมาก  และนี่ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า  มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้หมดยุคทองของ VI  อย่างไรก็ตาม  การลงทุนแบบ VI เองนั้น  ก็ยังเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด  เพียงแต่อย่าหวังว่ามันจะทำกำไรได้มหาศาลเหมือนเดิม  ตัวเลขที่หวังนั้น  ผมคิดว่าควรกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 10%-15% ต่อปีในระยะยาวซัก 5-10 ปีข้างหน้า
 
Posted by nivate at 1:16 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
บัฟเฟตกับหุ้นเทสโก้/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

นักลงทุนส่วนใหญ่รู้จักวอร์เรน บัฟเฟตในฐานะนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มีชื่อเสียงระดับโลกและถือว่า เป็น”เทพ”ในการลงทุน เรามักได้ยินว่าบัฟเฟตทำกำไรจากการลงทุนได้เท่านั้นเท่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บัฟเฟตก็เหมือนนักลงทุนทั่วไปที่อาจจะทำผิดพลาดบ้างในชีวิตการลงทุน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเหนือกว่าก็คือเขานำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ ผิดพลาดซ้ำสองและเขียนบอกเรื่องความผิดพลาดของเขาในสมุดรายงานประจำปีถึงผู้ ถือหุ้นบริษัทเบิร์คไชน์แฮททาเวย์ทุกปี

ล่าสุดบัฟเฟตออกมายอมรับถึง ความผิดพลาดของการลงทุนในห้างค้าปลีกยักษ์อย่างเทสโก้ของอังกฤษ บัฟเฟตซื้อหุ้นห้างเทสโก้ในปี 2006 และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนกว่า 5 เปอร์เซนต์ ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหุ้นของเทสโก้ลดลงเกือบครึ่งเนื่องมาจากผลการ ดำเนินงานที่ไม่ดีดังที่คาด นอกเหนือจากนั้นยังมีคดีการตกแต่งบัญชีอีกด้วย บัฟเฟตถึงกับออกมายอมรับว่าการลงทุนในเทสโก้เป็นการลงทุนที่ผิดพลาดอย่าง มหันต์ของเขา
เทสโก้เป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจาก ห้างวอลมาร์ทและใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในยุโรป ขนาดของบริษัททำให้เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 63 ในการจัดอันดับของฟอร์จูน 500 เทสโก้ก่อตั้งเมื่อปี 1919 ปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งหมด 6,784 สาขาใน 12 ประเทศ ในต่างประเทศเทสโก้ไม่ได้เป็นแค่ห้างค้าปลีกเพียงอย่างเดียวแต่ยังทำธุรกิจ สถานีบริการน้ำมัน ให้เช่าวีดีโอรวมถึงธุรกิจการปล่อยกู้ทางการเงินอีกด้วยและในปี 2014 เทสโก้ยังประกาศผลิตมือถือเพื่อแข่งกับบริษัทซัมซุงอีกด้วย

หลังจากที่มี เรื่องอื้อฉาวในการตกแต่งบัญชีและผลประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เทสโก้ได้ซีอีโอใหม่ชื่อ เดฟ เลวิส อายุ 49 ปี เขามาจากบริษัทยูนิลีเวอร์ และเป็นซีอีโอคนแรกที่มาจากบริษัทข้างนอก แต่มีคนกล่าวว่าเขาไม่เคยทำงานด้านค้าปลีกมาก่อน สิ่งสำคัญที่ซีอีโอใหม่ต้องเข้ามาจัดการคือสงครามราคาที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ค้าปลีกของอังกฤษและยุโรป

เทสโก้เคยประสบความสำเร็จในการสร้างภาพ พจน์ในการเรื่องของ”ราคาที่ถูกที่สุด” (Everyday Low Prices) ซึ่งแคมเปญนี้ถูกนำมาใช้กับสาขาของเทสโก้ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จะเห็นว่าการโฆษณาของเทสโก้จะเน้นไปที่”ราคาถูกทุกวันที่นี่” ซึ่งใช้ได้ดีในอดีต แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่เริ่มเข้ามาในตลาดระดับล่างมากขึ้นอย่างเช่น ห้างอัลดีหรือลิดิล (Aldi and Lidl) ที่ขายสินค้าในราคาถูกรวมทั้งการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เริ่มได้รับ ความนิยมมากขึ้น ทำให้ลูกค้าของเทสโก้เริ่มหายไป นอกเหนือจากนั้นเทสโก้ยังตกอยู่ช่องว่างตรงกลางระหว่างห้างราคาถูกมากๆและ ห้างระดับหรูอย่างมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ทำให้ตำแหน่งทางการตลาดของเทสโก้ไม่ ชัดเจน ซึ่งเป็นงานหนักของผู้บริหารเทสโก้คนใหม่

ในช่วงที่อยู่ที่ยู นิลิเวอร์ เดฟ เลวิสมีผลงานในการลดค่าใช้จ่ายและพนักงานของหน่วยงานผลิตภัณท์ส่วนบุคคลลง ถึง 40 เปอร์เซนต์ในช่วงปีวิกฤติซัพไพร์ม 2007-2008 มีเรื่องเล่าว่าในช่วงที่เขาทำงานอยู่ที่อเมริกาใต้นั้น บริษัทคู่แข่งคือพีแอนจี (Procter & gamble) ได้ออกผงซักฟอกยี่ห้อใหม่ที่ชื่อ แอเรียล (Ariel) ด้วยความที่ต้องการกลบกระแสของสินค้าใหม่ของพีแอนจี เขาค้นพบว่ายูนิลีเวอร์มีผลิตภัณท์ที่ไม่ได้ทำตลาดมานานมาแล้วในชื่อแอเรียล เช่นเดียวกัน แต่เป็นกระดาษรองนั่งชักโครก เขาเริ่มโฆษณากระดาษรองนั่งนี้ทุกช่องทางอย่างทุ่มสุดตัว สุดท้ายพีแอนจีต้องถอนสินค้าผงซักฟอกแอเรียลออกจากตลาดโดยสิ้นเชิง

เทสโก้ยังต้องมีงานที่รออยู่อีกมากในการที่จะกลับตัวให้บริษัทกลับมาเติบโตและ ทำกำไรได้อีกครั้ง ซีอีโอใหม่จะทำได้หรือไม่และเทสโก้จะเป็นอย่างไรต่อไปคงต้องติดตามในอนาคต บัฟเฟตยังคงถือหุ้นเทสโก้อยู่ถึงแม้เขาจะขายหุ้นออกไปบ้างก็ตาม

สุดท้ายจะเห็นว่าแม้แต่บัฟเฟตยังทำผิดพลาดได้ ดังนั้นถ้านักลงทุนวีไออย่างเราๆท่านๆจะพลาดบ้างก็ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายแต่อยางใด

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58206


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 27 October 2014

เรียนรู้และปรับตัวตลอดชีวิต

เมื่ออายุผมผ่าน “วัยเกษียณ” ซึ่งในนิยามของคนทั่วไปก็คือ 60 ปี นั้น  ชีวิตและกิจวัตรประจำวันของผมก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย  มันไม่เหมือนคนกินเงินเดือนจำนวนมากที่พอถึงวันเกษียณ  ชีวิตก็เปลี่ยนไปมาก  เขาไม่ต้องแต่งตัวไปทำงานแต่เช้า  เขาไม่ต้องรับผิดชอบที่จะทำงานหรือสั่งงานลูกน้องหรือผู้ช่วย  เขาไม่ต้องประชุมกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำมาเกือบตลอดชีวิตการทำงาน  เขาไม่มีเพื่อนที่จะนั่งคุยในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน  ไม่ต้องนั่งนินทาใครต่อใคร  เพราะทั้งหมดนั้น  ผมเลิกทำมันตั้งแต่ผมลาออกจากงานประจำเมื่อผมอายุประมาณ 50 ปี  จะเรียกว่าเป็นการเกษียณก่อนกำหนดก็ได้แต่จริง ๆ  แล้วไม่ใช่  เพราะหลังลาออกจากงานประจำในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง  ผมก็ยังคงทำงานอยู่  นั่นก็คืองานเกี่ยวข้องกับการลงทุน  งานเขียนหนังสือ และงานสอนที่ผมทำพร้อม ๆ  กับการทำงานประจำอยู่แล้ว  การเลิกทำงานประจำที่ใช้เวลามากนั้น  ทำให้ผมมีเวลาไปทำงานอื่นที่ทำอยู่แล้วมากขึ้น  หลังจากนั้นผมก็เริ่มทำงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงานเดิมที่ผมถนัดเช่น  การทำรายการวิทยุและทีวีเกี่ยวกับการลงทุน  การบรรยายในงานสัมมนา  การเยี่ยมชมกิจการบริษัทจดทะเบียนและอื่น ๆ   ในส่วนของสังคมนั้น  สังคมของผมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  คนที่ผมคบหากลายเป็นกลุ่มนักลงทุนแนว VI ที่มีอายุและพื้นเพหลากหลาย  เรื่องที่คุยก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องของการลงทุนและอื่น ๆ  อีกมาก  ชีวิตผมไม่ได้หยุดหลังจากเลิกทำงานประจำ  ว่าที่จริงมันเป็นการเริ่ม “เดินทางใหม่”

การอ่านหนังสือและมีเวลาศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ  มากมายที่เกี่ยวข้องและอาจจะเกี่ยวข้องกับการลงทุน  รวมถึงการมี  “อิสรเสรี” ที่จะคิดหรือทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับแนวความคิดและธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ  ของสังคมที่เป็นทางการอย่างเช่นในบริษัทขนาดใหญ่นั้น  มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความเข้าใจ  ความเชื่อ  ความศรัทธา  และมุมมองในชีวิตต่าง ๆ  ของผมเปลี่ยนไปได้ง่ายขึ้น  กระบวนการ Evolution หรือวิวัฒนาการของผมเกิดเร็วขึ้นมาก  เมื่อคิดย้อนกลับไป  ผมคิดว่าถ้าผมยังทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทขนาดใหญ่จนถึงวันเกษียณ  ชีวิตผมคงไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้  เพราะตลอดเวลาที่ทำงานเป็นลูกจ้างนั้น  ผมรู้สึกว่าความคิด  ความเชื่อ  และศรัทธาของผมเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก  เหตุผลใหญ่อย่างหนึ่งก็คือ  เราทำงานซ้ำ ๆ  อย่างเดิมทุกวัน  ที่เปลี่ยนไปก็ดูเหมือนแต่ชื่อลูกค้าและอุตสาหกรรมที่เขาทำเท่านั้นที่เปลี่ยนไป  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  การทำงานประจำที่ต้องใช้เวลามากนั้น  ทำให้เรามีเวลาอ่านหนังสือที่เป็นความรู้ที่หลากหลายน้อยมาก  Scope หรือแวดวงของความรู้ของเราจะถูกจำกัดมาก  นั่นก็คือ  เรารู้แต่เรื่องของธุรกิจ  ซึ่งนี่ก็เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนแต่มันไม่เพียงพอ  เพราะเรื่องของการลงทุนนั้น  มันเป็นศิลปะขั้นสูงที่ต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายรอบด้าน  พูดง่าย ๆ  ต้องรู้จริง รู้กว้าง แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ลึก

การที่จะรู้กว้างและรู้จักโลกโดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งนั้น  วิธีที่ดีที่สุดก็คือ  ทำตัวเป็น  “นักศึกษา”  ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาทางสังคมศาสตร์ จิตวิทยา  และเรื่องต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต  โดยรหัสของวิชาที่เรียนก็คือเริ่มต้นจากเลข 1 เช่น  เศรษฐศาสตร์ 101 หรือ 102 ซึ่งสอนวิชาที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ  เป็นต้น   การเรียนวิชาเหล่านั้นโดยไม่ต้องสอบจะทำให้เราเข้าใจหลักการสำคัญของมันโดยไม่ต้องใส่ใจกับรายละเอียดมากนัก  และนั่นจะทำให้เราสามารถนำมาใช้ได้ในการวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ  เมื่อถึงเวลาต้องทำ

ผมเคยย้อนคิดถึงชีวิตสมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีแล้วก็พบว่าชีวิตเพียง 4 ปี นั้นได้เปลี่ยนโลกทัศน์ของตนเองไปแค่ไหนก็พบว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีสีสันมากมาย  มันไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาการที่ใช้ในการทำมาหากิน  แต่รวมไปถึงเรื่องแนวคิดในด้านต่าง ๆ  ทางจิตวิทยา สังคมและการเมือง  แต่หลังจากเรียนจบไปทำงานในโรงงานนั้น  นอกจากความรู้เรื่องทางการผลิตและวิศวกรรมแล้ว  อย่างอื่นก็แทบจะหยุดหมด  เวลาผ่านไป 6-7 ปีนั้น  ผมเปลี่ยนไปน้อยมาก  ความรู้ใหม่ ๆ แทบไม่เกิดขึ้นนอกจากความชำนาญในการผลิต  การเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจเองนั้น  ทำให้เรามีมุมมองใหม่ขึ้นทางธุรกิจแต่ก็เป็นเรื่องทางทฤษฎีที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ที่ไหน   เช่นเดียวกับการเรียนปริญญาเอกทางการเงินโดยเฉพาะทางด้านการลงทุนเองนั้น  มันไม่ได้สอนให้รู้จักการลงทุนที่ดีและจะเปลี่ยนชีวิตเราได้  มันแค่สอนให้รู้ว่า  เราจะทำผลตอบแทนได้เท่ากับค่าเฉลี่ยอย่างไรโดยที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด  อย่างไรก็ตาม  การเรียนในแบบของ  “นักศึกษา”  นั้น  มันมีประสิทธิภาพสูงกว่าการทำงานในการเปลี่ยนตัวเราไปในทางที่ดีขึ้นอยู่ดี

มองย้อนหลังกลับไป  ผมคิดว่าผมคิดถูกต้องมากที่ลาออกจากงานประจำในวัย 50 ปี  ชีวิตหลังลาออกจากงานของผมคล้าย ๆ  กับการกลับมาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีใหม่  สิ่งที่ผมทำส่วนใหญ่คล้าย ๆ  กับการทำ  “กิจกรรมนักศึกษา”  นั่นคือ เป็นเรื่องที่ทำเพราะเราอยากเรียนรู้  ทำเพราะรู้สึกสนุกสนาน  ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ดีและตรงกับทัศนะของเราและทั้งหมดนั้น  ไม่ได้ต้องการเงิน!  แม้แต่เพื่อนและสังคมเองก็เปลี่ยนแปลงไป  ในช่วงที่ทำงานประจำนั้น  ทุกคนมี  “ชนชั้น”  เป็นนาย  เป็นลูกน้อง  เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ใหญ่ และอีกร้อยแปด  แต่ในสังคมของการลงทุนนั้น  ทุกคนดูเหมือนจะเป็นเพื่อนกันแม้ว่าจะต่างอายุและฐานะทางสังคมอื่น ๆ  ว่าที่จริง ไม่มีใครมีสถานะทางสังคมเป็นพิเศษอยู่แล้ว  และอายุเองก็ไม่มีความหมาย  นี่อาจจะทำให้เรารู้สึกแก่ช้าลงและอาจจะทำให้เราเข้าใจ  “โลกยุคใหม่” ได้ดีขึ้น  ซึ่งทั้งหมดนั้น  ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนได้ดีขึ้น

Evolution หรือการวิวัฒนาการของผมหลังจากลาออกจากงานประจำนั้นผมคิดว่าเร็วและดีขึ้นมาก  ผมนึกไม่ออกว่าตนเองจะเป็นอย่างไรถ้ายังทำงานอยู่จนถึงอายุเกษียณที่ 60 ปี  แต่ผมเชื่อว่าผมคงเป็นคนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมที่ไม่สามารถเข้าใจความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ได้มากนัก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะผมคงไม่ได้อ่านหนังสือและศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ  ที่เป็น  “ธรรมชาติ”  ของชีวิตและสังคมที่จะต้องดำเนินไปตามวิวัฒนาการที่ควรจะเป็นของคนไทย

            มองย้อนหลังกลับไปตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาผมพบว่า  ผมเปลี่ยนไปไม่น้อยในด้านต่าง ๆ   ผมจำความคิด  ความเชื่อและความศรัทธาสมัยที่เป็นเด็กในมหาวิทยาลัย  เป็นพนักงานและผู้บริหารในบริษัทได้และมันไม่เหมือนกับในปัจจุบัน  แม้แต่การลงทุนของผมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไประหว่างช่วงที่ผมยังเทรดหุ้นเป็นรายหลายวันหรือรายเดือน  ระหว่างช่วงที่เป็น VI ใหม่ ๆ   และในปัจจุบัน   นอกจากนั้น  ผมยังคิดอีกว่าอนาคตผมก็ยังอาจจะเปลี่ยนไปอีก   ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หู วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า   บัฟเฟตต์เองนั้น  มีวิวัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ  ในการลงทุนแม้ว่าอายุจะ 70-80 ปีขึ้นไปแล้วเขาก็ยังพัฒนาไปได้ต่อเนื่อง  ผมเองก็หวังว่าผมก็จะไม่หยุด  ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่คนจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต  ผมพบเพื่อนหลายคนของผมตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีนั้น  เคยมีความโดดเด่นมากแต่หลังจากหลายสิบปีผ่านไปไม่ได้มีการพัฒนาหรือปรับตัวมากนัก  ผลก็คือความก้าวหน้าก็หยุดลงและกลายเป็นคนที่ล้าหลังเพื่อนที่เคยไม่โดดเด่นแต่ปรับตัวเองมาตลอด

เขียนมายืดยาวถึงเรื่อง “ความหลัง” ตั้งแต่เด็กก็เพื่อที่จะบอกว่า  การเรียนรู้ ปรับตัว  และพัฒนาไปเรื่อย ๆ  ไม่หยุดนั้น  เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในชีวิต  คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงหรือมีความสามารถโดดเด่นในช่วงเวลาหนึ่งแต่แล้ว  “ติด” อยู่กับสิ่งเดิมและไม่เรียนรู้เพิ่มเติมนั้น  ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จเท่าคนที่ “วิวัฒนาการ” ไปเรื่อย ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไปอย่างช้า ๆ  แต่การไม่หยุดนั้น  ย่อมทำให้สุดท้ายแล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า

Posted by nivate at 9:29 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/10/27/1485