Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


  Monday, 6 July 2015
  หุ้นแบ้งค์


    สัปดาห์ที่แล้วหุ้นกลุ่มแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งปรับตัวลดลงอย่างแรง  ประมาณ 4-5% ในวันเดียวทั้งที่ตลาดหุ้นโดยทั่วไปและหุ้นขนาดใหญ่ตัวอื่นไม่ได้ถูกกระทบอะไรมากนัก  เหตุผลนั้นมีการอธิบายว่าเป็นเรื่องของปริมาณหนี้เสียหรือ NPL ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กหรือ SME ที่มีอยู่มากในแบ้งค์ขนาดใหญ่บางแห่ง  ซึ่งจะทำให้แบ้งค์มีต้นทุนสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นและจะทำให้กำไรลดน้อยลงในไตรมาศสองและต่อไปในช่วงที่เหลือของปี  นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มปรับประมาณการกำไรของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลง

    นอกจากเรื่องของหนี้เสียของ SME แล้ว  ภาพของธุรกิจแบ้งค์เองนั้นก็ไม่สดใส  สภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำลงและยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวชัดเจนก็ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อมีน้อยซึ่งจะส่งผลให้กำไรโดยรวมไม่เติบโต  นอกจากนั้น  อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แบ้งค์ต้องประกาศลดเพื่อให้สอดคล้องกับการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบ้งค์ชาติ  แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นกลับลดลงน้อยกว่า  นั่นอาจทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยหรือ Net Interest Margin (NIM) ของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลดลงด้วย  ผลก็คือ  กำไรของแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีลูกค้าเป็นกิจการหรือบริษัทต่าง ๆ  จำนวนมากนั้น  น่าจะมีแนวโน้มลดลงพอสมควร

    ในส่วนของแบ้งค์ขนาดเล็กนั้น  ธุรกิจหลักอย่างหนึ่งก็คือ  การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่เป็นการเช่าซื้อรถยนต์  ธุรกิจนี้ถูกกระทบมาน่าจะเป็นปีแล้วก่อนที่แบ้งค์ขนาดใหญ่จะประสบปัญหาเรื่อง NPL  ในรอบนี้  เหตุผลก็เพราะว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ”  รอบนี้ดูเหมือนว่าจะเริ่มจากบุคคลธรรมดาที่ก่อหนี้มากขึ้นมากในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ขาดรายได้ที่จะจ่ายหนี้เงินกู้และกลายเป็น NPL  มาได้ระยะหนึ่งแล้วและอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก นี่ก็เป็นเรื่องของสินเชื่อ  แต่แบ้งค์ขนาดเล็กเองนั้น  ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือ  ธุรกิจหลักทรัพย์  ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะถูกกระทบเหมือนกันในยามที่ตลาดหุ้นซบเซาอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้  ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำลงในปีนี้ทำให้รายได้จากค่าคอมมิชชั่นลดลง  เช่นเดียวกัน  ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นที่ลดลงก็น่าจะส่งผลให้กิจกรรมด้านของวาณิชธนกิจลดลง  เช่นเดียวกับกิจกรรม “Prop Trade” หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของแบ้งค์ที่อาจจะมีกำไรลดลง  ผลก็คือ  แบ้งค์เล็กก็อยู่ในฐานะที่ไม่ดีเช่นเดียวกับแบ้งค์ใหญ่

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ทำให้หุ้นแบ้งค์เล็กถูก “เทขาย”  มาน่าจะหลายเดือนหรือปีก่อนและหุ้นแบ้งค์ใหญ่ถูกเทขายมากในช่วงนี้  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ทั้งกลุ่มตกลงมาต่อเนื่องจนกลายเป็นหุ้นกลุ่มที่มีราคา  “ถูกที่สุด”  ในตลาดหลักทรัพย์  โดยที่ค่า PE ของแบ้งค์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 เท่ากับ 9.74 เท่า ค่า PB เท่ากับ 1.31 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนเท่ากับปีละ 3.36% ในขณะที่ค่า PE ของตลาดอยู่ที่ 19.89 เท่า  ค่า PB อยู่ที่ 2.02 เท่า และปันผลเท่ากับ 2.94% ต่อปี   มองอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ในขณะนี้ถูกเป็น “ครึ่งหนึ่ง” ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม  อะไรทำให้หุ้นแบ้งค์มีราคาถูก?   หรือหุ้นแบ้งค์ไม่ได้ถูก  แต่ตลาดหุ้นไทยมีราคาแพง?  นี่คือคำถามที่ผมพยายามตอบ

    คำตอบหนึ่งที่คนอาจจะพยายามอธิบายก็คือ  หุ้นแบ้งค์มีราคาถูกกว่าหุ้นกลุ่มอื่นเพราะแบ้งค์นั้นอาจจะประสบปัญหาผลการดำเนินการตกต่ำมากกว่าบริษัทกลุ่มอื่น ๆ  ทั้งหมดเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นกระทบกับแบ้งค์มากกว่าภาค “เศรษฐกิจจริง”   ข้อนี้  ผมเองอยากเถียงว่า   จริงอยู่ในช่วง “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นจากภาค “การเงิน” นั้น  แบ้งค์อาจจะเสียหายมากกว่าคนอื่น  แต่ในช่วงที่เป็นเรื่องของความ “ซบเซา” ของเศรษฐกิจนั้น  แบ้งค์น่าจะถูกกระทบในระดับกลาง ๆ  คือเท่ากับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ  นั่นก็คือ  หุ้นบางกลุ่มอาจจะดีกว่าและบางกลุ่มก็อาจจะแย่กว่าแบ้งค์  ผลประกอบการของแบ้งค์น่าจะตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั่นคือ  ถ้าเศรษฐกิจโตแค่ 2-3% แบ้งค์ก็น่าจะโตเท่า ๆ  กันหรืออาจจะไม่โตแต่แบ้งค์ก็ไม่น่าจะ  “หายนะ” แบบที่มักเกิดขึ้นเวลามี  “วิกฤติการเงิน” ที่สภาพคล่องทางการเงินหดหายไปอย่างรวดเร็ว

    คำตอบส่วนตัวของผมก็คือ  หุ้นแบ้งค์นั้น  “ไม่ได้ถูก”  แต่หุ้นแบ้งค์ในขณะนี้นั้นน่าจะมีราคาที่  “สมเหตุผล” สำหรับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจของแบ้งค์ในขณะนี้  เพราะถ้าเราดู  “ประวัติศาสตร์” ของตลาดหุ้นไทยและหุ้นแบ้งค์ในระยะยาวแล้ว  เราก็จะพบว่าค่า PE ของตลาดหุ้น  ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียงกับค่า PE ของกลุ่มแบ้งค์ที่เป็น  “ตัวแทนเศรษฐกิจไทย”  นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในระดับประมาณ 10 เท่า เท่านั้น  การที่ค่า PE ของตลาดในช่วงนี้และหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในช่วงก่อนหน้านี้เล็กน้อยมีค่าสูงถึงเกือบ 20 เท่าหรือสิบกว่าเท่านั้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยมีการ “เก็งกำไร” ที่สูงกว่าปกติ  และการเก็งกำไรนี้มาจากนักลงทุนไทยโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่เข้ามาลงทุนหรือ  “เล่นหุ้น”  กันมากสังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากมาหลายปีโดยเฉพาะในหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงจนทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยนั้น  “สูงที่สุด” ในหมู่ประเทศใน AEC

    การเข้ามา  “เล่นหุ้น” ของนักลงทุนส่วนบุคคลทำให้เกิดภาวะที่คล้าย ๆ  กับมี  “ตลาดคู่” ในตลาดหลักทรัพย์  นั่นคือ  ตลาดของ “นักเก็งกำไร” ที่ประกอบด้วยนักลงทุนส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่  กับตลาดของ “นักลงทุน”  ที่ประกอบไปด้วยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก   โดยที่ “หุ้นเก็งกำไร”  นั้นก็มักจะเป็นหุ้นขนาดเล็กและ/หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ และมี Story หรือเรื่องราวที่จะชักจูงให้คนเข้ามาเล่นได้มาก  ในขณะที่หุ้น  “ลงทุน” นั้น  มักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากที่มีปริมาณหุ้นซื้อขายในตลาดมหาศาลและไม่มีใครสามารถไล่หรือทำราคาได้

   ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจนถึงปัจจุบันนั้น  ผมคิดว่าคนไทยรุ่นใหม่เข้าเล่นหุ้นกันมากขึ้นและได้นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นมาก  พวกเขามักจะเล่นหุ้นที่เป็นหุ้นเก็งกำไรมากกว่าหุ้นลงทุน  ทำให้ตลาดหุ้น “เก็งกำไร”  เช่น  หุ้นในตลาดหุ้น MAI และหุ้นเล็กและหุ้น  “มี Story” ในตลาดหลักทรัพย์มีราคาสูงขึ้นมาก  ค่า PE ในตลาดหุ้น MAI สูงขึ้นไปถึง 63 เท่าในปัจจุบัน  เช่นเดียวกับหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่มี Story ในตลาด SET ก็มีราคาแพงลิ่วพอ ๆ กัน  “ดีกรี”  หรืออัตราการเก็งกำไรใน  “ตลาดหุ้นเก็งกำไร”  นี้  ผมคิดว่ายังคง  “ร้อนแรง”  พอสมควรเห็นได้จากการที่หุ้นขนาดเล็กและหุ้น IPO ขนาดเล็กก็ยังสามารถแสดง  “อภินิหาร”  ได้แม้ในยามที่ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่เอื้ออำนวย

   ใน  “ตลาดหุ้นลงทุน” นั้น  คนที่เป็นผู้เล่นหลักซึ่งได้แก่นักลงทุนต่างประเทศนั้น  ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น  ตรงกันข้าม  พวกเขา  “ทยอยถอนทุน” ออกไปเรื่อย ๆ มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว  แม้ว่านักลงทุนสถาบันของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควรแต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  นี้ที่ภาวะเศรษฐกิจและเรื่องอื่น ๆ  ของไทยไม่เอื้ออำนวย  ดังนั้น  ราคา “หุ้นลงทุน”  จึงไม่เพิ่มขึ้นและบางทีกลับลดลง  โดยที่หุ้นกลุ่มแบ้งค์ซึ่งแทบจะเป็นหุ้นของนักลงทุนโดยเฉพาะนั้น  เป็นกลุ่มที่สะท้อนความคิดและมุมมองของ  นักลงทุนได้ดีที่สุด  และนั่นก็น่าจะเป็นที่มาว่าทำไมหุ้นกลุ่มแบ้งค์จึงมีราคา  “ถูก”  เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นกลุ่ม  “เก็งกำไร”

   ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ผมไม่รู้ว่าหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในเวลานี้ถูกหรือต่ำกว่าพื้นฐานหรือไม่  แต่เนื่องจากมันเป็นกลุ่มที่  “ถูกที่สุดในตลาด” ในเวลานี้  และก็ไม่แพงกว่าข้อมูลในประวัติศาสตร์ของมัน  ผมจึงคิดว่ามันเป็นกลุ่มที่ “น่าสนใจ” ถ้าเราคิดว่าประเทศและตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะเกิด “วิกฤติ” ในอนาคตอันใกล้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/06/1589


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


 Monday, 13 July 2015
ตลาดหุ้นจีน- ซุปเปอร์คาสิโน 

    ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ตลาดหุ้นจีนดูเหมือนจะเป็นตลาดหุ้นที่ “ร้อนแรงที่สุดในโลก”  เพราะดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นมาจากประมาณ 2,100 จุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2014 ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นประมาณ 5,370 จุดในวันที่ 10 มิถุนายน 2015 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ  155% ในเวลาเพียงปีเดียว  แต่แล้ว  ภายในเวลาเพียงไม่ถึงเดือน  ดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็ตกลงมาอย่างหนักเป็น “วิกฤตตลาดหุ้น” คือถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2015 ดัชนีก็ลดลงเหลือเพียง 3,659 จุด หรือเป็นการตกลงมาถึง 32% ก่อนที่จะดีดกลับมาประมาณ 6% ภายในเวลาเพียง 2 วัน เมื่อรัฐบาลจีนออกมาตรการ “กู้ตลาดหุ้น” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ดัชนีปิดตลาดวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2015 ที่ 3,878 จุด หรือคิดเป็นการตกลงมาจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนที่แล้วประมาณ 28%

   ผมเองไม่รู้ว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป  แต่เชื่อว่า  “ความผันผวน” ของราคาหุ้นจีนน่าจะดำรงต่อไปอีกนาน  เหตุผลก็เพราะว่าตลาดหุ้นจีนนั้น  เป็น  “ตลาดหุ้นของนักลงทุนส่วนบุคคล” นั่นคือ  ปริมาณการซื้อขายหุ้นน่าจะกว่า 80% นั้น  เป็นการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไป  “เก็งกำไร” ในตลาดหุ้น  ว่าที่จริง  ตลาดหุ้นจีนนั้นไม่ได้เพิ่ง “ผันผวนรุนแรง” หรือเป็นตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมากเมื่อเร็ว ๆ  นี้   ตลาดหุ้นจีนนั้นมีความผันผวนรุนแรงมาโดยตลอด  เพียงแต่ว่างวดนี้ดูเหมือนว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไป “ร่วมวง” มากเป็นพิเศษเนื่องจากจีนได้เปิดตลาดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ง่ายขึ้นมากในปีที่แล้ว  และตลาดหุ้นก็ใหญ่ขึ้นมาก  ดังนั้น  มันจึงเป็นข่าวใหญ่ที่คนสนใจกันทั่วโลกรวมถึงนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนกองทุนรวมหุ้นจีนทั้งที่กำไรและขาดทุนกันอย่างหนัก

   ความผันผวนของหุ้นจีนนั้นผมดูแล้วก็คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยเพียงแต่จะรุนแรงกว่าเนื่องจากพฤติกรรมและนักลงทุนในตลาดนั้นมีความคล้ายคลึงนั่นก็คือ  เป็นตลาดที่เต็มไปด้วยนักลงทุนส่วนบุคคลหรือนักลงทุนรายย่อย แต่ในตลาดหุ้นไทยนั้น  เรายังมีนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศที่ค่อนข้างใหญ่กว่าจีนโดยเปรียบเทียบเนื่องจากเราเปิดตลาดหุ้นและเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนนานกว่า    อีกส่วนหนึ่งที่คล้ายกันก็คือ  ลักษณะประชากรศาสตร์และระดับของความมั่งคั่งของคนจีนกับไทยนั้น  มีความใกล้เคียงกันมาก  นั่นคือ  เรามีอายุเฉลี่ยของคนในประเทศและรายได้ต่อหัวของคนพอ ๆ  กัน  และนั่นอาจจะทำให้พฤติกรรมการลงทุนคล้าย ๆ  กัน   ลองมาดูว่าตลาดหุ้นจีนกับไทยคล้ายกันอย่างไรและต่างกันตรงไหน

   เรื่องแรกนั้นลองมาดูกันที่ “ความเสี่ยง” ของการลงทุนในตลาดก่อน  ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้นั้น “เปิดใหม่” เมื่อปลายปี 1990 นับจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 24 ปี  ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบหรือขาดทุนเท่ากับ 10 ปี  ปีที่กำไรเท่ากับ 14 ปี  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือขาดทุนประมาณ 42% กำไรประมาณ 58%  ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นเปิดมาตั้งแต่ปี 2518 ถึงปีนี้ก็ 40 ปีแล้ว  ปีที่บวกน่าจะ 22 ปี และปีที่ลบ 18 ปี คิดแล้วเป็นปีที่ขาดทุน 45% และปีที่กำไรเท่ากับ 55% ซึ่งก็ต้องพูดว่าทั้งสองตลาดนั้นมีความเสี่ยงสูงทั้งคู่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาที่ตลาดหุ้นในแต่ละปีนั้นจะให้ผลตอบแทนแต่ละปีเป็นบวกน่าจะไม่ต่ำกว่า 70% ส่วนปีที่ผลตอบแทนติดลบน่าจะต่ำกว่า 30%

   ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องของผลตอบแทนรายปี  ตลาดหุ้นจีนนั้นต้องพูดว่าปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกนั้น  มักจะเป็นปีที่ได้ผลตอบแทนที่สูงมาก  คือให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 64.4%  เช่นเดียวกัน ปีที่เป็นลบก็ให้ผลตอบแทนที่เลวร้ายคือประมาณลบ 22.2%  ต่อปีโดยเฉลี่ย  ส่วนในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมดูแค่หลังจากวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา  ผลตอบแทนของปีที่เป็นบวกนั้นเท่ากับ 37% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ส่วนปีที่เป็นลบนั้นเท่ากับลบ 21.8% ต่อปี ซึ่งก็ต้องถือว่าผลตอบแทนแต่ละปีนั้นค่อนข้างจะผันผวนรุนแรงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะในปีที่ติดลบ

   ถ้ามองใน “ระยะยาว” และลืมความ “ผันผวน” ในแต่ละปี  เราก็จะพบว่าทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นจีนต่างก็ให้ผลตอบแทนที่ดี  หุ้นไทยนั้น  ในเวลา 40 ปี  ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจาก 100 จุดเป็น ประมาณ 1,485 จุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 คิดแล้วคนที่ลงทุนระยะยาว 40 ปีจะได้กำไรหรือผลตอบแทนปีละประมาณ 7%   ถ้าคิดรวมปันผลปีละประมาณ 3% ก็คือได้ผลตอบแทนปีละ 10% โดยเฉลี่ย  ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม  “ระดับโลก”  เหตุคงเป็นเพราะประเทศไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากระดับ  “ดารา” และน่าจะพอ ๆ  กับผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐที่ได้ผลตอบแทนปีละประมาณปีละ 10% เช่นเดียวกันเพียงแต่ของอเมริกานั้น  สถิติยาวกว่าไทยมาก  คือน่าจะเกือบ 100 ปี

   ตลาดหุ้นจีนนั้น  เพิ่งจะเริ่มดำเนินการใหม่มาได้ 24 ปี  ราคาหุ้นในวันเปิดตลาดน่าจะ 100 จุดเช่นกัน  แต่เวลาผ่านไป 24 ปีนั้น  ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นไปถึง 3,878 จุด สูง 2.6 เท่าของดัชนีตลาดหุ้นไทย  คิดเป็นผลกำไรจากราคาหุ้นโดยเฉลี่ยทบต้นถึงปีละประมาณปีละ 16.5% หรือกว่า 2 เท่าของหุ้นไทย  ถ้ารวมปันผลด้วยปีละ 3-4% ผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนก็สูงลิ่วถึงประมาณ 20% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนน่าจะระดับ “ต้น ๆ ของโลก”  เหตุผลก็คงเป็นเพราะประเทศจีนในช่วง 24 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงมากเป็น  “ซุปเปอร์สตาร์” อานิสงค์จากการปรับระบบของประเทศเป็น “ทุนนิยม” และ “เปิดประเทศ” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำของจีนยุคใหม่

   มองย้อนหลังไปตั้งแต่เปิดตลาดหุ้น  หุ้นไทยเคยขึ้นไปแบบ  “ซุปเปอร์บูม” มาหนึ่งครั้งคือในปี  2537 ที่ดัชนีขึ้นไปถึง 1,753 จุด แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลงมาต่อเนื่องเหลือเพียง 200 จุดเศษ ๆ หรือเป็นการลดลงถึงเกือบ 90% หลังวิกฤติในปี 2540 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วราคาก็ยังไม่กลับไปที่จุดสูงสุดเดิมแม้ว่าหุ้นกำลังไต่ระดับขึ้นเป็นซุปเปอร์บูมอีกครั้งหนึ่งในช่วงเร็ว ๆ นี้    ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็เช่นเดียวกัน  ตลาดหุ้นเคยเป็น  “ซุปเปอร์บูม” มาหนึ่งครั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2007 ดัชนีขึ้นไปสูงสุดที่ 6,092 จุด แต่หลังจากนั้นมันก็เกิด  “วิกฤติ” ดัชนีร่วงลงมาจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2008 เหลือเพียง 1,628 จุด หรือเป็นการลดลงถึง 73% ในเวลาเพียงปีเศษ ๆ  และจนถึงวันนี้ดัชนีก็ยังไม่กลับไปถึงจุดเดิมแม้ว่าหุ้นกำลังไต่ระดับเป็นซุปเปอร์บูมอีกครั้งหนึ่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้

   มองโดยสรุปแล้ว  ภาพของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้นั้น  ผมคิดว่าเป็นตลาดหุ้นที่คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยในหลาย ๆ  ด้านเพียงแต่ว่ามัน “สุดโต่ง” ยิ่งกว่า  มันเป็นตลาดหุ้นที่มีการ  “เก็งกำไร”  สูงมากเห็นได้จาก  “ภาพใหญ่”  ต่าง ๆ  ที่ได้กล่าวถึงแล้ว  และ  “ภาพเล็ก”  จากข้อเท็จจริงที่ว่า  หุ้นตัวเล็กที่ทำราคาได้ง่ายนั้นมีค่า PE เกิน 50 เท่าเป็นเรื่องปกติ  ในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้นมีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยที่หุ้นตัวใหญ่ก็ไม่ได้มีค่า PE สูงมากนัก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กมีค่า PE 60 เท่าเป็นเรื่องปกติ  แต่ในแง่ของพื้นฐานของตลาดแล้ว  ที่ผ่านมา  ตลาดหุ้นจีนก็คล้าย ๆ กับหุ้นไทยในแง่ที่ว่ามันให้ผลตอบแทนระยะยาวที่งดงามมาจนถึงวันนี้โดยที่หุ้นจีนนั้นให้ผลตอบแทนที่  “สุดยอด”

   ถ้าจะให้นิยามกับตลาดหุ้นจีนในวันนี้  ผมคงต้องบอกว่ามันคือ  “ซุปเปอร์คาสิโน” ที่คนเล่นหุ้นเหมือนการพนันที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงมาก  แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็น  “ซุปเปอร์” ก็คือ  คุณมีโอกาสรวยมหาศาลถ้าคุณ  “เล่นเป็น”  นั่นก็คือ  ลงทุนระยะยาวผ่านร้อนผ่านหนาวไปให้ได้  ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยก็คงคล้ายกัน   อย่างไรก็ตาม  นั่นคืออดีต  อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน  นับจากวันนี้ไป  ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้  ทั้งตลาดหุ้นจีน--และไทย

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/13/1593


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


  Monday, 20 July 2015
นักลงทุน 4 แนว

    การลงทุนหรือเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  มีวิธีหรือแนวทางใหญ่ ๆ 4 แบบ  แนวทางแรกคือ  แนว  “เทคนิค”  ที่นักลงทุนระยะสั้นนิยมใช้กันมาก  เครื่องมือหรือข้อมูลที่ใช้ก็คือราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีต  แนวทางที่สองคือแนว Value Investment หรือ VI ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และตัวบริษัทอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการก่อนลงทุน  แนวทางที่สามคือ Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นเติบโตที่เน้นการค้นหากิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจสูงเป็นพิเศษ  และแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือการลงทุนที่ไม่เน้นการเลือกหุ้น  แต่เน้นการกระจายการลงทุนในหุ้นจำนวนมากและจัดสรรทรัพย์สินให้เหมาะสมเพื่อที่จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

    นักลงทุนแนว “เทคนิค”  มีความเชื่อว่า  การขึ้นลงของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับ  “จิตวิทยา” หรือความเห็นหรืออารมณ์ของคนเล่นหุ้นเป็นหลัก  พื้นฐานหรือผลประกอบการหรือความเข้มแข็งของกิจการนั้น  ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10%  ดังนั้น เราแทบไม่จำเป็นต้องดู  สิ่งที่ต้องดูจริง ๆ  ก็คือพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละช่วงเวลาซึ่งอาจจะเป็นนาทีเป็นวันหรือเป็นเดือน  เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวที่จะชี้ว่าราคาหุ้นในอนาคตอันสั้นจะวิ่งไปทางไหนและที่ราคาเท่าไร

    ทฤษฎีหรือความเชื่อของนักเทคนิคก็คือ  ข้อแรก ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทเช่น กำไรและปันผลในอดีต  และผลประกอบการในอนาคตของบริษัทนั้น  ถูกสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นทั้งอดีตและปัจจุบันหมดแล้วไม่ว่าจะดีหรือร้าย  ดังนั้นไม่ต้องไปวิเคราะห์หรือดูว่าผลประกอบการในอดีตเป็นอย่างไร  ว่าที่จริงแทบไม่ต้องดูด้วยซ้ำว่าบริษัททำอะไรหรือขายสินค้าอะไร  และ  หลักการข้อสองของนักเทคนิคก็คือ  ราคาหุ้นนั้นมักเคลื่อนไหวไปตาม  “เทรนด์” หรือแนวโน้มของมัน  หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นก็มักจะวิ่งขึ้นต่อไป  หุ้นที่กำลังลงก็มักจะวิ่งลงต่อไป  หุ้นที่กำลังนิ่ง ๆ  ก็จะอยู่อย่างนั้น  จนกว่า “เทรนด์” มันจะ “เปลี่ยน” ซึ่งสิ่งที่จะบอกก็คือ  กราฟของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีตและปัจจุบัน

    โชคดีที่ข้อมูลการซื้อขายหุ้นในปัจจุบันทั้งหมดนั้นถูกเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์  ดังนั้น  การวิเคราะห์กราฟราคาด้วยเกณฑ์ทาง “เทคนิค” ต่าง ๆ  จึงทำได้ง่ายมากและเป็น  “เรียลไทม์” นี่ทำให้ “นักเทคนิค”  สามารถกำหนดจุดซื้อหรือจุดขายของหุ้นแต่ละตัวได้ตลอดเวลา  มันจึงเป็นวิธีการลงทุนที่ทำได้ง่ายแทบจะ  อัตโนมัติสำหรับทุกคนที่ใช้แนวการลงทุนนี้

    ทฤษฎีการลงทุนที่สองก็คือ  การลงทุนแบบ Value Investment หรือ VI  นี่เป็นวิธีการที่นักลงทุนมองว่าหุ้นนั้นก็คือธุรกิจหรือบริษัท   สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พยายามวิเคราะห์หรือคำนวณหา  “มูลค่าที่แท้จริง” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความคิดเห็นของคนในตลาดหุ้น  พวกเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นนั้นมักแตกต่างจากมูลค่าที่แท้จริงและเป็น “คนละเรื่อง”  การหามูลค่าที่แท้จริงนั้น  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการประเมินหรือคาดการณ์ว่ากำไรและปันผลในอนาคตระยะยาวของบริษัทเป็นอย่างไร  ซึ่งถ้าจะทำได้ก็ต้องศึกษายอดขาย  ต้นทุน  ความสามารถในการแข่งขันของกิจการ  ฐานะการเงินและอื่น ๆ อีกมาก  หลังจากนั้นก็จะต้องคำนวณว่าหุ้นควรมีมูลค่าเท่าไร  ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  “กระแสเงินสด”  หรือปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากบริษัทตลอดไป และเนื่องจากผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทนั้น  มักจะขึ้นอยู่กับสภาวะทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย   ดังนั้น  การวิเคราะห์จึงมักจะต้องเริ่มจากการมองหรือคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดด้วย

    โดยหลักแล้ว  ถ้าปัจจัยอื่นเหมือนกัน  มูลค่าของกิจการนั้นจะสูงขึ้นถ้า  1)  กำไรและปันผลโตเร็วขึ้น  2) อัตราการจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับกำไรหรือ Dividend Payout Ratio สูงกว่าหรือเพิ่มขึ้น  3) กิจการหรือหุ้นมีความเสี่ยงต่ำกว่า  และ  4) อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำกว่าหรือต่ำลง

    นักลงทุนแนว VI แบบ “ต้นตำรับ” หรือดั้งเดิมนั้น  มักชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคาหุ้นต่ำกว่า “มูลค่าที่แท้จริง” มาก  หรือเรียกว่ามี “Margin of Safety” สูง  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคา  “ถูกมาก”  วัดจากค่า PE และ PB ที่ต่ำ และปันผลตอบแทนที่สูง  ซึ่งในแนวทางนี้มักจะทำให้พบแต่หุ้นที่มี “คุณภาพ” ต่ำในสายตาของนักลงทุนทั่วไปเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม  VI ก็มักจะไม่สนใจ  พวกเขาเชื่อว่า  “หุ้นแบกะดิน” เหล่านี้  ส่วนใหญ่แล้วในที่สุดราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปที่มูลค่าที่แท้จริงของมัน   ดังนั้น  การซื้อหุ้นเหล่านี้หลาย ๆ  ตัวเป็นพอร์ตโฟลิโอก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติ

    แนวทางการลงทุนที่สามคือแนวลงทุนในหุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็ว  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ว่าที่จริงก็ใช้หลักการคล้าย ๆ  กับหุ้น VI  ในแง่ที่ว่ามันจะต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน  นอกจากข้อมูลในอดีตแล้ว  นักลงทุนแนว Growth ยังต้องวิเคราะห์หรือคาดการณ์ “อนาคต” ไปไกลและต้องมั่นใจว่าไม่ผิดพลาด   หุ้นที่พวกเขาชอบนั้นมักจะต้องมี  “Story” หรือเรื่องราวที่  “เร้าใจ” ในแง่ที่ว่าบริษัทจะเติบโตเร็วมาก   อาจจะเพราะอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์และบริษัทจะเป็นผู้นำหรือได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  รายได้และกำไรจะเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ในอนาคตจนทำให้กิจการมีมูลค่าที่แท้จริงสูงขึ้นมามากและสูงกว่าราคาหุ้นในปัจจุบัน  ดังนั้น  ราคาหุ้นในปัจจุบันจึงไม่เป็นประเด็นว่าจะแพงหรือถูกเมื่อวัดด้วยค่า PE PB หรือปันผลที่ใช้ตัวเลขของอดีตและปัจจุบัน   ในความเป็นจริง  หุ้นต่าง ๆ  เหล่านี้  เนื่องจากมักเป็นหุ้นที่  “ร้อนแรง” และ “เร้าใจ” และเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก  จึงมักจะมีราคาสูงขึ้นมากทำให้ค่า PE และ PB สูงกว่าปกติและมักจะมีปันผลที่ต่ำมาก  อย่างไรก็ตาม  คนที่เล่นหุ้น Growth นั้นเชื่อว่านี่คือวิธีที่จะทำเงินได้เร็วและมากกว่าแนวทางอื่น

    นักลงทุนแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือแนวลงทุนหุ้น “ตามดัชนี”  เช่น  ซื้อกองทุนรวม “SET 50” ที่ไม่มีการคัดเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของตลาด 50 ตัว เป็นต้น  คนที่เลือกแนวทางนี้มีความเชื่อตามทฤษฎี  “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ”  ที่บอกว่า  หุ้นในตลาดทุกตัวนั้น  ต่างก็มีราคาที่เหมาะสมกับพื้นฐานอยู่แล้วเนื่องจากมันเป็นราคาที่คนจำนวนมากที่มีความรู้มีข้อมูลและมีเหตุผลมาตกลงซื้อขายกัน  เป็นไปไม่ได้ที่มันจะ  “ผิดราคา” อย่างเป็นระบบ  หรือพูดง่าย ๆ  หุ้นบางตัวและบางครั้งอาจจะ “ผิดราคา” ได้  แต่ซักพักหนึ่งราคาก็จะกลับมาที่ราคาที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยเฉลี่ยแล้ว  หุ้นบางตัวและบางเวลาอาจจะแพงแต่บางตัวบางเวลาก็อาจจะถูกไม่มีใครสามารถซื้อหุ้นถูกได้ตลอด  ดังนั้น  ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามเลือกหุ้น  การซื้อหุ้นลงทุนที่ดีที่สุดก็คือ  ซื้อหุ้นกระจายไปทุกตัวและจ่ายต้นทุนค่าธรรมเนียมการซื้อขายและบริหารการลงทุนที่ต่ำที่สุด  นั่นก็คือ ซื้อกองทุนหุ้นอิงดัชนีที่คิดค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนต่ำที่สุด

    การศึกษาจากข้อมูลในอดีต “ทั่วโลก” นั้นพบว่า  การลงทุนแนว VI ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในระยะยาว  รองลงมาน่าจะเป็นการลงทุนแบบ Passive ตามด้วยการลงทุนในหุ้นเติบโต  ส่วนการเล่นหุ้นแนวเทคนิคนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจศึกษาแล้วและน่าจะเป็นแนวที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดเนื่องจากต้นทุนการซื้อขายหุ้นที่สูงมากทำให้ผลตอบแทนต่ำลง    นั่นคือผลการศึกษาที่ใช้ข้อมูลจำนวนมาก  แต่ในเรื่องของนักลงทุนแต่ละคนนั้น  แน่นอน  ต้องมีคนประสบความสำเร็จสูงมากแม้ว่าจะใช้เทคนิคหรือแนวทางที่ด้อยกว่าโดยเฉลี่ย  และในชีวิตจริงนั้น  มีนักลงทุนน้อยคนที่จะยึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างเคร่งครัด  นักลงทุนหลายคนใช้แนวทางหลายแบบ “ผสมผสาน” กัน  เช่นบางคนบอกว่าเวลาเลือกหุ้นใช้แนวทาง VI หรือ Growth  แต่  “จังหวะซื้อ” หรือขายก็ “ดูกราฟ”  ทางเทคนิค เป็นต้น  ผมเองไม่รู้ว่าแต่ละคนควรใช้วิธีไหน  ประสบการณ์ส่วนตัวผมก็คือ  ผมชอบหุ้น Growth ที่มีความแน่นอนสูงและซื้อในราคาที่ต่ำหรือราคา “ยุติธรรม”

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/20/1595


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

หลังจากที่ผมอ่านหนังสือ "The little book of value investing" จบ
ผมก็รู้สึกประทับใจหลายๆ ประโยคที่อยู่ในเล่มนี้
อยากจะแชร์ให้ทุกคนได้รู้ไปด้วยกัน...
(ย้ำนิดนึงนะครับว่า เป็นหลักการในการลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า
แนวอื่นอาจจะมีหลักการคิดแบบอื่นก็ได้นะครับ)

1. การตัดสินใจลงทุนอย่างมีความรอบรู้  สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคุณ
    มันสามารถทำให้คุณเกษียณได้อย่างสบาย
2. การลงทุนแบบหุ้นคุณค่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีกฎกติกาที่ตายตัว
    แต่มันประกอบไปด้วยหลักการจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นปรัชญาการลงทุน
3. เวลาที่ควรซื้อหุ้น คือช่วงเวลาที่มันลดราคาอยู่
    ไม่ใช่ในช่วงที่มีราคาสูง อันเกิดจากการที่ใครๆ ก็อยากซื้อ
4. ความงดงามของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือ ความเรียบง่ายที่มีเหตุผล
    โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญสองข้อ คือ Intrinsic value, Margin of safety
5. การซื้อ 1 เหรียญในราคา 66 เซนต์ คือสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนหุ้นคุณค่า
    หลายต่อหลายคนมีผลงานที่เอาชนะตลาดโดยรวม
6. ถ้าคุณถือหลักการของการลงทุนแบบหุ้นคุณค่า เมื่อเวลาหุ้นมีราคาถูกคุณต้องกล้าซื้อ
    คุณต้องลืมเสียงนกเสียงการอบๆ ตัวคุณ และจงใช้ประโยชน์จากการลดราคาลงของหุ้น
    ในทางกลับกันถ้าหุ้นแพงและราคาเริ่มเข้าใกล้หรือเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง
    ซึ่งดูแล้วไม่มี Margin of safety เหลืออยู่ คุณต้องขายทิ้ง
7. วิธีการลงทุนที่ทดสอบจนเห็นผลแล้วว่าใช้ได้ดี
    คือการซื้อหุ้นที่ขายในราคาต่ำเพียงไม่กี่เท่าของกำไร (P/E ต่ำๆ)
8. แนวคิดเรื่อง Earnings yield จะช่วยได้มากเมื่อต้องมีการเปรียบเทียบ
    ถึงโอกาสในการลงทุน
9. ทุกแนวโน้มเดินไปชั่วนิรันดร์จนกระทั่งถึงจุดที่จบลง
    สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มไม่ได้ไปต่ออย่างถาวร
10. การก้าวข้ามไปลงทุนในต่างประเทศได้สร้างโอกาสเพิ่มขึ้นในการเลือกหุ้น
      ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าได้มากกว่าเดิมเยอะ
11. หุ้นที่ขายต่ำกว่า "ยอดเงินสดสุทธิ" เป็นอีกวิธีที่เกรแฮมโปรดปราน
12. เหตุผลจริงๆ ในการลงทุนทั่วโลก คือการเพิ่มโอกาสอีกเท่าตัวในการ
      หาหุ้นลงทุนที่มีศักยภาพเพื่อให้มีตัวเลือกมากขึ้นนั่นเอง
13. การไล่ล่าหาโอกาสลงทุนในต่างแดน ผมจะเลือกโดยเน้นหนักไปประเทศที่พัฒนาแล้ว
      ผมต้องการระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและรัฐบาลที่มีเหตุผล

14. เมื่อคณะกรรมการซื้อหุ้นคืนจากตลาด น่าจะเป็นการบ่งบอกถึงความเชื่อของพวกเขา
      ว่าราคาหุ้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
15. หุ้นที่ดูไม่ดีในวันนี้ กลายเป็นหุ้นที่ดีในวันหน้า
      และหุ้นขวัญใจในวันนี้ กลายเป็นหุ้นในวันหน้า
16. กฎข้อสำคัญของการลงทุนหุ้นคุณค่า คือพยายามรักษาตัว Margin of safety
17. หุ้นหลายตัวที่ราคาถูก ถูกเลือกเข้ามาด้วยเหตุผลที่ว่ามันมีปัญหาปัจจัยทางด้านพื้นฐาน
      ที่ทำให้มันไม่มีคุณค่า
18. บริษัทที่มีหนี้มากเกินไปมักจะมีโอกาสรอดยาก เมื่อถึงเวลาเศรษฐกิจขาลง
19. นักวิเคราะห์มักจะสนใจผลกำไรระยะสั้นมากกว่าความสำเร็จในระยะยาว
20. ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือ อยู่ในอุตสาหกรรมที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้
21. ผมชอบอยู่กับธุรกิจที่เราเข้าใจและมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
22. การมีชัยในการลงทุน หมายถึงการไม่ขาดทุน
      งบดุลที่แข็งแรงเป็นตัววัดที่ดี โดยเฉพาะความสามารถในการอยู่รอดยามวิกฤติ
23. บริษัทในอุดมคติ คือบริษัทที่สามารถใช้เงินทุนที่เพิ่มขึ้น
      และนำไปลงทุนเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น โดยมีผลตอบแทนในระดับที่สูง
24. จริงอยู่ครับที่คุณต้องใช้ความอุตสาหะเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจถึงความแตกต่าง
      ในโลกใบนี้ แต่ก็คุ้มค่า วิถีการลงทุนหุ้นคุณค่าแบบโลกาภิวัฒน์
      ทำให้คุณมีโอกาสในการลงทุนมากขึ้น
25. การลงทุนนอกประเทศมีข้อแตกต่างที่สำคัญกับการลงทุนเฉพาะในตลาดบ้านเราคือ สกุลเงิน
26. การลงทุนหุ้นคุณค่าระยะยาว เปรียบเหมือนการนั่งเครื่องบิน
      ระหว่างทางคุณอาจจะเจออากาศที่เลวร้าย แต่ถ้าเครื่องบินของคุณอยู่ในสภาพที่ดี
      ช้าหรือเร็วคุณก็จะถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย และอาจจะตรงเวลาด้วย
27. ปัญหาของคนส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากการที่เขาไม่สามารถนั่งอยู่เงียบๆ คนเดียวได้
28. การลงทุนแบบหุ้นคุณค่าจะให้ผลดีมากต่อเมื่อเป็นการลงทุนแบบระยะยาว
      และยังไม่เห็นวิธีการลงทุนแบบอื่นที่ดีกว่า
29. การลงทุนแบบหุ้นคุณค่า ยังต้องการความกล้าที่จะซื้อหุ้นที่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการถือ
      มันดูไม่ดี มันดูไม่น่าสนใจ
30. ที่จริงแล้ว ผมยังไม่เคยพบนักลงทุนหุ้นคุณค่าที่ได้ผลลัพท์ไม่ดี ถ้าได้ลงทุนมานานกว่า10 ปี
      การลงทุนแนวหุ้นคุณค่าต้องการความวิริยะมากกว่าปัญญา และการมีขันติที่สูง
      มันเป็นเรื่องของการทำงานหนักมากกว่าการมีแต่สูตรยากๆ ที่สำคัญเมื่อเวลาผ่านไป
      นักลงทุนควรจะได้รางวัลจากการซื้อหุ้นในราคาที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง

             - Traveller's trade -




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


 Monday, 27 July 2015
  หุ้นในฝัน ปั่น 100 เด้ง

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้  แทบทุกวันเราจะเห็นหุ้นตัวเล็ก ๆ ติดเข้ามาในอันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับในตลาดหลักทรัพย์   ในบรรดาหุ้นตัวเล็กเหล่านั้น  หุ้นกลุ่มหนึ่งที่มักติดอันดับเข้ามาบ่อยมากที่สุดก็คือหุ้นที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นบางคนเรียกว่า  “หุ้นปั่น”  ซึ่งความหมายก็คือ  เป็นหุ้นที่มี  “เจ้ามือ” ที่เป็นนักลงทุน “รายใหญ่” หรือเป็น “เจ้าของบริษัท” เข้ามา  “ทำราคาหุ้น”  ด้วยกระบวนการต่าง ๆ  เช่น  การปล่อยข่าวลือ  การประกาศ “ข่าวดี” ต่าง ๆ  เช่น การเทคโอเวอร์  การทำธุรกิจใหม่  “แห่งอนาคต”  การแจกหุ้นและวอแรนต์ฟรี  การแตกพาร์หุ้น การออกหุ้นใหม่ทั้งที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและที่ให้นักลงทุนรายใหญ่  และอื่น ๆ  อีกมากที่จะทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยตื่นเต้นและเข้ามาเก็งกำไรในหุ้น  นอกจากนั้น  “เจ้ามือ” เองก็ต้องเข้ามา “เล่น” ซื้อขายหุ้นให้คึกคักและ “ดันราคา” ขึ้นไปอย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว  พื้นฐานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทไม่ดีหรือ  “แย่มาก”  บางบริษัทนั้นแทบจะอยู่ในสถานะใกล้  “ล้มละลาย”

    แน่นอนว่า  “เจ้ามือ” จะไม่เคยประกาศว่าตนเองกำลัง “ปั่น” หรือทำราคาหุ้น  เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย  ตรงกันข้าม  พวกเขาจะบอกหรือแสดงออกว่าที่ราคาหุ้นขึ้นไปนั้นเป็นเพราะบริษัทกำลัง “ฟื้นตัวอย่างยิ่งใหญ่” ที่จะทำให้อนาคตของบริษัทสดใสมากและบริษัทจะมีรายได้และกำไรสูงมากด้วยธุรกิจใหม่ ๆ  ที่บริษัทกำลังจะสร้างหรือซื้อมา  การ “เติบโต” ของบริษัทในอนาคตนั้นจะเป็น “ร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปี” ดังนั้นราคาหุ้นที่คิดจากค่า PE ในวันนี้ก็ควรจะสูงมากได้เท่า ๆ  กับการเติบโตนั่นก็คือ ค่า PE ก็ควรสูงได้เป็น 100 เท่า  และนั่นทำให้เขาซื้อแบบ  “Strong Buy” คือซื้อมากและไม่สนใจราคา และนั่นทำให้ราคาวิ่งอย่างแรง  และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยซื้อตาม  และนั่นทำให้ราคาวิ่งแรงขึ้นไปอีก  และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยอื่นซื้อตามซึ่งทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วเนื่องจากปริมาณหุ้นที่ Float หรือกระจายอยู่ในตลาดมีน้อย  ผลก็คือ   ราคาหุ้นขึ้นไป “เกินพื้นฐาน” มาก  แต่นักเล่นหุ้นก็ไม่สนใจ  เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว  เขาไม่ได้ลงทุนถือหุ้นยาว  พวกเขาเข้ามา “เล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น”

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการอธิบายโดยภาพรวม  หลักฐานที่เป็นตัวเลขหรือกรณีศึกษานั้น  ผมเองก็ไม่ค่อยได้เห็นและส่วนตัวก็ไม่สนใจเนื่องจากมันไม่ใช่หุ้นที่เราสนใจลงทุน   อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่ามันก็คงไม่เสียหายและเสียเวลานักที่จะลองดูหุ้นที่เข้าข่าย  “หุ้นปั่น”  ว่าหน้าตาและพฤติกรรมของมันเป็นอย่างไร ผมจะไม่บอกชื่อหุ้นแต่ข้อมูลที่ผมใช้นั้นเป็นข้อมูลจริงที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์

    หุ้นตัวแรกนั้น  ชื่อเดิมผมเองก็จำไม่ได้และบริษัทอาจจะเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง  แต่มองย้อนหลังถึงปี 2554 พบว่ารายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3-400 ล้านบาท กำไรไม่ถึง 5 ล้านบาท  ในเวลานั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดก็ประมาณ 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งก็อาจจะดูว่าปกติและเหมาะสม  แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่ายอดขายของบริษัทจะลดลงเรื่อย ๆ  และจากกำไรก็กลายเป็นขาดทุน ปี 2555 บริษัทขาดทุนกว่า 50 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท และปีที่แล้วก็ยังขาดทุนอีกกว่า 50 ล้านบาทในขณะที่รายได้เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท  เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทอาจจะมีปัญหาแข่งขันไม่ได้  และบริษัทเองก็จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้ติดลบซึ่งจะทำให้หุ้นต้องออกจากตลาด  อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียว  มูลค่าหุ้นของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่แล้วที่ Market Cap. ขึ้นมาเป็นกว่า 10,000 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 100 เท่า  กลายเป็นหุ้น 100 เด้งภายในเวลา 3-4 ปี เหตุผลที่ขึ้นนั้น  พูดกันว่าเพราะบริษัทหันไปทำธุรกิจใหม่ “แห่งอนาคต” ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อนและมีศักยภาพหรือมีขนาดของธุรกิจสูงมาก  อย่างไรก็ตาม  ล่าสุดหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงและรายได้และกำไรก็ยังไม่เกิดขึ้น  มูลค่าหุ้นก็ลดลงเหลือ “เพียง”กว่า 4,000 ล้านบาท หรือยังเป็นหุ้น 40 เด้งในเวลา 4 ปี

    หุ้นตัวที่สองนั้น  เคยอยู่ในธุรกิจวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก  ย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทเศษแต่ขาดทุนประมาณ 40 ล้านบาท นั่นอาจจะเพราะปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น มูลค่าตลาดของหุ้นเองอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาทซึ่งก็ดูไม่ผิดปกติ  ถึงปี 2555 บริษัทก็ฟื้นขึ้นบ้าง แต่พอถึงปี 2556 และ 2557 ธุรกิจของบริษัทก็แย่ลงอาจจะเนื่องจากคู่แข่งที่มีมากขึ้น  รายได้ของบริษัทลดเหลือเพียง 100-200 ล้านบาทต่อปี กำไรปีล่าสุดติดลบถึงเกือบ 100 ล้านบาท  แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงกว่า 30,000 ล้านบาท หรือเป็นการเพิ่มขึ้น 100 เท่าตัวในเวลา 3 ปี เหตุผลน่าจะเป็นเพราะบริษัทได้ประกาศทำธุรกิจใหม่  “แห่งอนาคต” นั่นก็คือ  “พลังงานทดแทน”  ที่บริษัทได้รับสัญญาขายไฟฟ้ามาแล้วจำนวนมาก  ดังนั้น  แม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลงในช่วงนี้  หุ้นของบริษัทก็ยังคงราคาอยู่ได้แม้ว่าไตรมาศ 1 ปีนี้บริษัทจะยังแทบไม่มีรายได้และยังขาดทุนอยู่  ดูเหมือนว่าทุกคนมองไปที่อนาคต  ว่าที่จริง บริษัทสามารถเรียกทุนเพิ่มขึ้นได้จำนวนมากเพื่อที่จะทำธุรกิจที่จะ “โตไปได้อีกนาน”

    หุ้น “100 เด้ง” ตัวที่ 3 นั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าบริษัทเคยทำอะไรมาก่อน  แต่ช่วงหลังที่หุ้นบริษัทวิ่งขึ้นมามากนั้นน่าจะเป็นเพราะบริษัทเปลี่ยนไปทำธุรกิจที่มี “อนาคตสดใส” มาก  และสามารถทำได้แทบจะไม่จำกัดนั่นก็คือ  “รายการทีวี”   มองย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทและมีกำไรประมาณ 20 ล้านบาทซึ่งก็น่าจะถือว่าใช้ได้แต่คงเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจ  “ขนาดเล็ก” ที่มีศักยภาพจำกัด มูลค่าหุ้นของบริษัทจึงเท่ากับเพียงประมาณ 50 ล้านบาท  ในปีต่อ ๆ มาก็ดูเหมือนว่าธุรกิจของบริษัทก็ทรง ๆ  และโตขึ้นบ้างในแง่รายได้  แต่กำไรของบริษัทนั้นก็ไม่ไปไหน  ที่สำคัญปี 2557 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของวงการทีวีที่กลายเป็นดิจิตอล  กำไรของบริษัทก็เหลือเพียง 1 ล้านบาทและล่าสุดในไตรมาศ 1 ปี 2558 นั้นบริษัทขาดทุนกว่า 20 ล้านบาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 ล้านบาท  แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ  ราคาหุ้นของบริษัทได้เพิ่มขึ้นมโหฬารทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทสูงถึงกว่า 5,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าในเวลา 3 ปีครึ่ง

    นอกจาก “หุ้นปั่น  100 เด้ง” ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว  ยังมี  “หุ้นปั่น 50 เด้ง”  “หุ้นปั่น 20 เด้ง”  และ “หุ้นปั่น 10 เด้ง” ในเวลา 3-4 ปี อีกหลาย ๆ  ตัวที่ผมไม่มีเนื้อที่จะเขียน  แต่ละตัวก็มี “Story” หรือ “วีรกรรม” ที่ “น่าทึ่ง” แต่ที่สำคัญก็คือ  “ซ้ำซาก” ที่กลายมาเป็น  “สิ่งบ่งบอก” หรือ“อาการ” ของ  “หุ้นปั่น”  นั่นก็คือ

    “หุ้นปั่น” มักจะมีอดีตของผลประกอบการที่ย่ำแย่ขาดทุนต่อเนื่องหรือกำไรน้อยมาก   ข้อสองก็คือ  พวกเขาอ้างว่าบริษัทจะมี  “อนาคต” ที่ “สดใสมาก” ที่อาจจะต้องใช้เวลายาวหน่อยแต่ผู้บริหารมั่นใจว่าจะสำเร็จแน่นอน  ข้อสาม พวกเขาต้องการและมักจะต้องเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาในอดีตของบริษัทและนำเงินนั้นมาสร้างธุรกิจใหม่ที่สดใสมากนั้น   ข้อสี่ บ่อยครั้งพวกเขาจะเปลี่ยนชื่อบริษัทให้สะท้อนถึงความเป็นธุรกิจ  “แห่งอนาคต” ที่น่าตื่นเต้นและทำเงินมหาศาลรวมทั้งอาจจะเพื่อให้คน “ลืม” ความล้มเหลวของอดีต  ข้อห้า  ธุรกิจใหม่ของพวกเขานั้น  บ่อยครั้ง  คำนวณหามูลค่าที่แท้จริงยากเนื่องจากเหตุผลมากมายเช่น  เป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด  เป็นธุรกิจที่อิงอยู่กับกับอนาคตที่ไกลและไม่แน่นอน  เป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับภาวะหรือปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้  และเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีกำไรแต่คาดว่าจะเติบโตมหาศาล  เป็นต้น   และสุดท้าย  หุ้นปั่นแทบจะทุกตัวนั้น  จะใช้เทคนิค “วิศวกรรมทางการเงิน” เช่น  แตกพาร์  แจกวอแร้นต์ฟรี เพื่อสร้างความรู้สึกว่าหุ้นถูกและผู้ถือหุ้นหรือคนเล่นหุ้นได้ผลประโยชน์ “ฟรี”

    คำถามสุดท้ายก็คือ  หุ้นปั่นนั้น  บางทีสามารถขึ้นไปได้ 100 เท่าแต่ขาดทุนได้แค่ 100% น่าเล่นหรือไม่?  คำตอบของผมก็คือ  โอกาสของคนเล่นที่จะได้กำไรขนาดนั้นมีน้อยมากถ้าไม่ใช่เจ้ามือ  แต่โอกาสที่หุ้นปั่นราคา 100 บาทที่เราถืออยู่จะเหลือ 1 บาทกลับมีมากกว่า  ดังนั้น คำตอบของผมก็คือ  ถ้าเจอหุ้นที่มีอาการเป็น “หุ้นปั่น” ดังที่ว่า  เราก็ควรจะถอยห่างไว้  มิฉะนั้น  เราอาจจะทนไม่ไหวที่จะเข้าไปเล่น

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/27/1597


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


 Monday, 3 August 2015
Warrant=Worry

    ถ้าจะถามว่ามีหลักทรัพย์อะไรที่ผมไม่ชอบและไม่อยากเกี่ยวข้องหรือลงทุนถ้าไม่มีเหตุผลพิเศษจริง ๆ  แล้วละก็  มันก็คือ  Warrant หรือ “สิทธิที่จะซื้อหุ้นออกใหม่ของบริษัท”   โดยธรรมชาติแล้ว  หลักทรัพย์ที่มีการคิดค้นขึ้นมาและมีการนำออกมาใช้อย่างแพร่หลายในโลกทุกประเภทนั้น  มันก็จะต้องมีประโยชน์ต่อบริษัทหรือหน่วยธุรกิจที่ออกมัน  และก็แน่นอน  มันก็ต้องมีประโยชน์ต่อการดำรงอยู่หรือการเติบโตของธุรกิจและต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของวอแรนต์ที่มีการนำออกมาใช้กันมากมายในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมเห็นว่าจำนวนมากเป็นการออกมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ผิดจากที่ควรเป็นเพื่อผลประโยชน์ของคนบางคนหรือบางกลุ่มมากกว่าที่จะเป็นผลดีต่อตัวบริษัทหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ  ต่อมูลค่าของบริษัท  ซึ่งก็คือไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม  และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มันอาจจะเป็น  “ยาพิษ” ต่อนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในราคาสูงเพราะคิดว่าวอแรนต์เป็นสิ่งที่ดีและจะทำให้บริษัทเติบโตหรือมีคุณค่ามากขึ้น

    เหตุผลหลักของผมก็คือ  วอแรนต์นั้น  มีโอกาสที่จะถูกใช้สิทธิหรือแปลงเป็นหุ้นได้ในราคาที่กำหนดไว้ตายตัวซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดของหุ้นในอนาคต  บางทีต่ำกว่ามาก  และนี่จะทำให้ “สัดส่วน” ของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง  ยิ่งมีการออกวอแรนต์จำนวนมากและราคาแปลงสภาพหรือราคาใช้สิทธิต่ำ  ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะถูก  “Dilute” หรือถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทมากเท่านั้น  และในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่ออกวอแรนต์จำนวนมากเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งหมดของบริษัทในราคาใช้สิทธิค่อนข้างต่ำ  ซึ่งนี่ก็จะทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านั้นมีความน่าสนใจลดลง  ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาวที่  ลงทุนในหุ้นที่เราคิดว่าจะมีกำไรต่อหุ้นโตขึ้นเรื่อย ๆ  ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  แต่พอถึงเวลานั้นกลับมีหุ้นใหม่ที่ถูกใช้สิทธิจากวอแรนต์เข้ามาเพิ่มทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ผลก็คือ กำไรต่อหุ้นไม่โตและดังนั้นราคาหุ้นก็จะไม่ไปไหน  หุ้นแบบนี้เราจึงไม่ค่อยสนใจ  มันเหมือน  “ตาลยอดด้วน” คือต้นตาลที่ถูกตัดยอดเสียแล้ว  โอกาสที่จะโตไปมาก ๆ  ก็ไม่มี  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  หุ้นที่มีวอแรนต์ออกมานั้น  จะเป็นหุ้นที่ทำให้ผมกังวล  และหุ้นทุกตัวนั้น  ก่อนที่จะซื้อ  ผมจะต้องตรวจสอบดูว่ามันมีวอแรนต์ไหม

    เป็นที่น่าตกใจว่า  มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากออกวอแรนต์มากมายเหมือนกับไม่สนใจว่าในอนาคตบริษัทอาจจะมีหุ้นเพิ่มขึ้นมากและทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ดูคร่าว ๆ  วอแรนต์ในตลาดหุ้นหลักหรือ SET มีกว่า 100 หลักทรัพย์จากหุ้นทั้งหมด 500 กว่าบริษัท หรือประมาณ 20% แต่ในตลาดหุ้นขนาดเล็กหรือ MAI นั้น  เรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 50 หลักทรัพย์จากหุ้นเพียงร้อยกว่าตัว  คิดแล้วเรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 40% ของหุ้น  จริงอยู่ว่าบางบริษัทนั้นมีวอแรนต์หลายตัวที่ออกมาขาย  แต่ผมคิดว่าจำนวนบริษัทที่ออกวอแรนต์นั้นมีมากเกินไป  และเหตุผลที่บริษัทออกวอแรนต์นั้น  ผมคิดว่าเกิดจากแรงจูงใจที่จะ  “ขับดันราคาและ/หรือมูลค่าหุ้น” มากกว่าเหตุผลทางการเงินของบริษัท

    ประเด็นที่สองที่ผมคิดว่าน่ากังวลยิ่งกว่าก็คือเรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้นของเหล่านักวิเคราะห์หรือนักลงทุน  เท่าที่ผมเห็นนั้นดูเหมือนว่าคนจะไม่สนใจเรื่องของ Dilution ในอนาคต  ในทางบัญชีเองนั้น  ผมก็ไม่เห็นว่าปริมาณหุ้นที่จะมาจากวอแรนต์ในอนาคตจะถูกนำมาคิดในงบบัญชีปัจจุบัน  ดังนั้น  บริษัทที่ออกวอแรนต์มากมาย  คิดเป็นปริมาณหุ้นก็อาจจะหลาย ๆ  สิบเปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมดนั้น  จึงไม่ถูกกระทบอะไรเลยทั้ง ๆ ที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะ “มหาศาล”  กำไรต่อหุ้นอาจจะหายไปครึ่งหนึ่งก็ได้  นักบัญชีหรือนักวิเคราะห์อาจจะเถียงว่าวอแรนต์นั้นอาจจะไม่ถูกใช้สิทธิในอนาคต  ดังนั้น  ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาลงบัญชีในวันนี้  แต่ข้อถกเถียงของผมก็คือ  มันก็อาจจะถูกใช้สิทธิได้  ดังนั้น  ถ้าเราจะ “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งก็เป็นหลักการของนักบัญชี  เราก็ควรจะ  “สำรอง”  ไว้ก่อนไหม  เหมือน ๆ  กับที่เราสำรองค่าเผื่อ “หนี้สูญ” หรือ “ทรัพย์สินเสื่อมค่า”  ทั้ง ๆ  ที่หนี้หรือทรัพย์สินนั้นอาจจะยังไม่เสียแต่มีโอกาสเกิดขึ้นพอสมควร   พูดง่าย ๆ  ข้อเสนอผมก็คือ  บริษัทไหนออกวอแรนต์ก็จะต้องคิดจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเลยเวลาคิดกำไรต่อหุ้น  หรือไม่ก็ต้องคิดเป็น  “ต้นทุน” ของการออกวอแรนต์เพื่อเอาไปหักจากรายได้หรือกำไรประจำปีของบริษัท  นี่ก็จะทำให้บริษัทต้องคิดก่อนว่าคุ้มไหมที่จะออกวอแรนต์แต่ละครั้ง

    ผมเองไม่ใช่นักบัญชีและก็ไม่แน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นถูกต้องเป็นไปได้แค่ไหน  แต่ถ้ามองตาม Common Sense หรือสามัญสำนึกแล้ว  มันน่าจะเป็นอย่างนั้น   ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรายอมให้ออกวอแรนต์ได้อย่างไม่จำกัดและไม่มีผลอะไรต่อบัญชีในวันนี้  โดยผมสมมุติว่าบริษัท W นั้น  ตั้งขึ้นมาเพื่อ  “ขายวอแรนต์” โดยไม่ทำอย่างอื่น  สิ่งที่บริษัททำก็คือออกวอแรนต์ราคาใช้สิทธิต่ำมากขายแก่บุคคลทั่วไปที่เป็น  “ลูกค้า”   ราคาวอแรนต์ที่ขายหน่วยละ 1 บาท จำนวน 100 ล้านหุ้น บริษัทก็ได้เงินปีละ 100 ล้านบาท  ต้นทุนสินค้าก็มีแค่ของใช้และค่าเช่าสำนักงาน  ค่าแรงพนักงานขายและธุรการเล็กน้อย สิ้นปีบริษัทอาจจะทำกำไรได้ปีละ 90 ล้านบาท  ดังนั้นถ้าเราให้ค่า PE แค่ 20 เท่า เท่ากับ PE ตลาด  หุ้นก็มีมูลค่าถึง 1800 ล้านบาทเข้าไปแล้ว  กลายเป็นหุ้นที่คนอยากเล่นกันมากและก็น่าจะวิ่งขึ้นไปอีกเพราะว่าอีกซักระยะหนึ่งก็จะมีวอแรนต์ชุดสองตามมาในราคาใช้สิทธิที่น่าสนใจยิ่งกว่า “วอร์ 1” โดยที่  “วอร์ 2” เองนั้น  ก็ “ไม่มีต้นทุน”  กำไรที่ได้ก็ “มโหฬาร”

    บางคนอาจจะเถียงว่าในชีวิตจริงใครจะทำ  การขายวอแรนต์แล้วเอามาเป็นรายได้ทำไม่ได้ในทางบัญชี  เรื่องนี้ถ้าเป็นปัญหาผมก็สามารถสมมุติเรื่องใหม่  แปลงเป็นว่าบริษัท G นั้นทำธุรกิจปกติขายสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการโฆษณามหาศาล  ต้นทุนโฆษณาปีละ 100 ล้านบาท แต่ผลประกอบการของบริษัทนั้นไม่มีกำไร  วันหนึ่งบริษัทก็คิด “ลดต้นทุน” โดยการออกวอแรนต์ให้กับบริษัทโฆษณาแทนการจ่ายเป็นเงินซึ่งบริษัทโฆษณาก็ยินดี  ดังนั้น  พอสิ้นปีบริษัท G ก็มีกำไร 100 ล้านบาท หุ้นก็วิ่ง  เช่นเดียวกับวอแรนต์ที่วิ่งขึ้นไปยิ่งกว่า และนั่นก็เป็นเหตุผลที่บริษัทโฆษณายินดีรับวอแรนต์แทนเงิน  ทุกฝ่ายต่างก็มีความสุข  รวมถึงคนที่เล่นหุ้น G ในตลาดหุ้นที่เห็นว่าบริษัทกำลัง  “Turnaround” หรือฟื้นตัวจากภาวะย่ำแย่

    เรื่องราวที่ผมสมมุติขึ้นมานี้  แม้ว่าจะยังไม่เห็นหรือไม่ชัดเจนว่ามีใครทำบ้าง  แต่ผมคิดว่าในตลาดหุ้นทุกวันนี้  วอแรนต์ถูกนำมาใช้ในวิธีการต่าง ๆ  เสมือนหนึ่งว่ามัน  “ไม่มีต้นทุน”  และมันสามารถขับดันราคาหรือมูลค่าหุ้นได้โดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้น  อย่างไรก็ตาม  “ความจริงที่แท้จริง” ของหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ  มูลค่าของบริษัทหรือหุ้นนั้น  จะต้องเกิดจากการกระทำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ  ไม่ใช่การพิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขง่าย ๆ ไม่กี่ตัว  ดังนั้น  แม้ว่าในระยะสั้น ๆ  คนจะ “ถูกลวง” ว่าวอแรนต์นั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นในตลาดก็จะต้องกลับมาสู่มูลค่าที่แท้จริงตามตัวธุรกิจที่แท้จริง  ผลที่เราจะคาดได้ก็คือ  คนที่เข้าไปเล่นหุ้นที่มีการนำวอแรนต์มา “เล่น” และราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปหรือมูลค่าหุ้นรวมวอแรนต์ปรับตัวขึ้นไปมากเกินความเป็นจริง  ก็จะขาดทุนอย่างหนัก  ความเสียหายของคนเล่นวอแรนต์อาจจะเป็น  “หายนะ”

    สิ่งที่เราในฐานะ VI จะทำได้นั้นก็คงเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ  คือเรา “เฉย” เสียกับหุ้นที่มีวอแรนต์พ่วงเต็มไปหมด  ไม่ต้องพูดว่าเราจะเล่นตัววอแรนต์เองเลย    แต่ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นมานาน  ผมก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง  ระบบการรายงานทางบัญชีของเราจะสามารถสะท้อนเรื่องของการออกวอแรนต์ของบริษัทจดทะเบียนอย่างที่มันควรจะเป็น   และเช่นเดียวกัน  ผมก็หวังด้วยว่าวันหนึ่งหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของเราจะออกกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้คนใช้วอแรนต์ในทางที่จะฉกฉวยประโยชน์จากสังคมของการลงทุนโดยรวม  สำหรับผมแล้ว  Warrant = Worry 

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/03/1600


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
 


  Monday, 10 August 2015
เวลาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อก

   นักลงทุนแนว VI “พันธุ์แท้” ที่ชื่นชมและศรัทธา วอเร็น บัฟเฟตต์ หลายคนมักชอบที่จะอ้างคำพูดที่ “คลาสสิก” ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ว่า  “หุ้นนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน  สิ่งที่คุณต้องทำทั้งหมดก็คือ  ซื้อหุ้นในธุรกิจที่ยิ่งใหญ่  บริหารโดยผู้จัดการที่มีความสามารถและความซื่อสัตย์สูงสุด  ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของมัน  เสร็จแล้วคุณก็ถือหุ้นนั้นไว้ตลอดกาล”

   ผมเองก็ยึดถือแนวทางส่วนใหญ่ของบัฟเฟตต์ในการลงทุนมานาน  อย่างไรก็ตาม  “ดีกรี” หรือความเข้มข้นในการที่จะปฏิบัติตามหลักการของบัฟเฟตต์นั้น  ก็ยังคงไม่เท่าสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ  เหตุผลไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อเขา  แต่เป็นเพราะสถานการณ์และตัวบริษัทหรือหุ้นที่อยู่ในประเทศไทยนั้น  ด้อยกว่าในตลาดหุ้นสหรัฐมาก   ประการแรกก็คือ  บริษัทที่  “ยิ่งใหญ่” ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ยังห่างชั้นจากตลาดหุ้นสหรัฐมาก  เราเป็นได้เพียงบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยในขณะที่บริษัทในสหรัฐที่ยิ่งใหญ่นั้น  ยิ่งใหญ่ในระดับโลกทั้งนั้น  ประการที่สองก็คือเรื่องของความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์ของผู้บริหารเองนั้น  เราก็ต้องยอมรับว่า  ในสังคมไทยที่ยังพัฒนาน้อยกว่า  บางทีเราก็ต้องยอมลดมาตรฐานลงมาบ้าง  และในประการสุดท้ายก็คือ  เรื่องของการถือหุ้นไว้ “ตลอดกาล”  นี่ก็เป็นเรื่องที่ยาก  เนื่องจากความ “ยิ่งใหญ่” ของหุ้นไทยนั้น  อาจจะไม่พอหรือไม่สามารถดำรงไว้ได้นานเหมือนกับหุ้นของสหรัฐ  ว่าที่จริง  แม้แต่หุ้นที่ยิ่งใหญ่หลายบริษัทของสหรัฐเองนั้น  เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ  มันก็ตกต่ำลงมาเหมือนกันเพราะ  ไม่มีอะไรจะอยู่ “ค้ำฟ้า” ได้

   คำถามสำคัญสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนในแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ก็คือ  เราจะขายหุ้นเมื่อไร?   คำตอบนั้นผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเวลาที่เป็นเดือนหรือปี  ผมเองลงทุนซุปเปอร์สต็อกมานาน  วันที่ผมซื้อหุ้นนั้น  ผมไม่เคยคิดว่าจะขายในอีกกี่เดือนหรือกี่ปีข้างหน้า  ผมไม่เคยคิดว่าราคาเท่าไรจะขาย  พูดง่าย ๆ ไม่มีเป้าหมายว่าจะขาย  แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะถือตลอดกาล  ถ้าจะต้องตอบก็คือ  ผมจะถือไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์มันจะบอกว่าเราควรจะขายแล้ว   และต่อไปนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าผมควรที่จะพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่ถืออยู่

   เรื่องแรกก็คือ  ตลาดของสินค้าของบริษัทเริ่ม “อิ่มตัว”  นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่ง  เพราะในความหมายของซุปเปอร์สต็อกนั้น  มันมักจะเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่กำลังเติบโตและบริษัทเป็น  “ผู้ชนะ” ที่ครอง Market Share หรือส่วนแบ่งตลาดที่สูงสุดและเหนือคู่แข่งมาก  ดังนั้น  การที่ยอดขายจะเติบโตได้เร็วต้องหมายความว่าตัวอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะต้องโตต่อไป  แต่ถ้าคนเกือบ “ทั้งประเทศ” ที่มีเงินและต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทต่างก็ได้ใช้แล้ว  โอกาสที่บริษัทจะโตเร็วแบบเดิมก็จะยาก  และเมื่อถึงจุดนั้น  บริษัทก็จะสูญเสียสถานะของการเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  ค่า PE ที่สูงของหุ้นก็จะค่อย ๆ  ลดลง  บริษัทจะกลายเป็นหุ้น  “แข็งแกร่ง”  ที่ยังใหญ่โต  มีกำไรที่ดี  แต่ไม่โตหรือโตช้า  ผลก็คือ  ราคาหุ้นอาจจะไม่ไปไหนหรือลดลงด้วยซ้ำ  ดังนั้น  ถ้าเราคิดว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว  เราก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นทิ้งก่อนที่ “ภาพ” ของบริษัทจะเปลี่ยนไป

   ข้อที่ต้องระวังมากสำหรับเรื่องของการ “อิ่มตัว” ของตลาดก็คือ  เราอาจจะเข้าใจผิดหรือสับสนระหว่างการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดขายของบริษัทโตช้าลง  กับการอิ่มตัวของตลาด  วิธีที่จะดูทางหนึ่งก็คือ  ดูว่าอัตราการใช้สินค้าหรือบริการหรือยอดขายของอุตสาหกรรมเทียบกับ GDP ว่ามันสูงพอ ๆ  กับอัตราของประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาพอ ๆ กันหรือสูงกว่าหรือยัง  ถ้ายังห่างมาก  นี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าการชะลอตัวของยอดขายน่าจะเป็นเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่า เป็นต้น

   ประเด็นที่สองที่ทำให้เราต้องพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็คือเรื่องของ  “การแข่งขัน”  นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่ตลาดสินค้าอิ่มตัว  จริงอยู่ที่ว่าซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะเป็น  “ผู้ชนะ”  ในการแข่งขันที่ค่อนข้าง “เด็ดขาด”  อย่างไรก็ตาม  นั่นมักจะเป็นการชนะที่เกิดจาก Model หรือรูปแบบทางธุรกิจที่ใช้อยู่  แต่ประเด็นสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ  มี Model ทางธุรกิจใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและมากซึ่งเป็นอานิสงค์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ  สามารถนำมาใช้และทำให้ได้เปรียบธุรกิจที่ใช้ Model เดิม  ตัวอย่างเช่น  บริษัทวอลมาร์ทที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในด้านของการค้าปลีกสินค้าของใช้ประจำวันนั้น  เมื่อเร็ว ๆ  นี้ก็ดูเหมือนว่ากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทอะเมซอนที่ขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต  เป็นต้น  ในกรณีแบบนี้  เราอาจจะมองว่าวอลมาร์ทกำลัง “แพ้” อะเมซอนในการแข่งขันและราคาหุ้นก็สะท้อนออกมาโดยการที่หุ้นอะเมซอนในขณะนี้มีมูลค่าสูงกว่าหุ้นวอลมาร์ทแล้ว

   ในตลาดไทยเองนั้น  เราก็ได้เห็นหุ้นค้าปลีกหรือหุ้นบันเทิงบางตัวสูญเสีย “ความสามารถในการแข่งขัน” ให้กับ  “เทคโนโลยีไอที” ที่เปลี่ยน “แผนภูมิ”  ในการแข่งขันไปอย่างสิ้นเชิง  ตัวอย่างเช่น กิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ทั้งหลายที่เสีย “ลูกค้า”  ให้กับสื่ออิเลคโทรนิกที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกมาก  หรือตลาดเทปเพลงหรือภาพยนตร์ที่กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในยุคที่ทุกอย่างสามารถ “ดาวน์โหลด” จากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

   เรื่องที่สามก็คือ  บางครั้งเราอาจจะต้องพิจารณาขายซุปเปอร์สต็อกเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านของกฎหมาย  กฎเกณฑ์ และระเบียบใหม่ในการทำธุรกิจของหน่วยงานรัฐ  ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็น  “อำนาจที่ยิ่งใหญ่” ที่สามารถ “Overrule” หรือ “ลบล้าง”  ทุกเรื่องรวมถึงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ได้  โดยปกติ  บริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้นมักจะไม่ได้อาศัย “รัฐ” ในการแข่งขัน  แต่ในทางตรงกันข้าม  กฎเกณฑ์ที่ออกใหม่สามารถ “ทำลาย”  หรือลดความสามารถในการทำกำไรของซุปเปอร์สต็อกได้มาก  ผมเองเวลาที่ถือหุ้นซุปเปอร์สต็อกไว้  ผมจะไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎระเบียบอะไรทั้งสิ้นในอุตสาหกรรม   เพราะซุปเปอร์สต็อกนั้น  โดยปกติไม่มีคู่แข่งที่จะทำลายมันได้อยู่แล้วยกเว้น  “อำนาจรัฐ”

   ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์ในเร็ว ๆ  นี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านของธุรกิจทีวี  การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรคมนาคม  และที่เราอาจจะไม่ได้คิดหรือตระหนักถึงก็คือ  การเปลี่ยนแปลงที่มาจากหน่วยงาน  “เหนือรัฐ” จากนอกประเทศ  เช่น เรื่องของการบิน การประมง และอื่น ๆ  อีกมาก  ทั้งหมดนั้นเราต้องคอยติดตามและวิเคราะห์ว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรกับซุปเปอร์สต็อกของเรา

   เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ  ราคาหรือมูลค่าหุ้นซุปเปอร์สต็อก  นี่เป็นประเด็นที่ผมจะไม่ค่อยสนใจมากนักยกเว้นแต่ว่าราคามัน  “เวอร์”  ไปจริง ๆ  อย่างไรก็ตาม  ประสบการณ์ก็คือ  หุ้นซุปเปอร์สต็อกที่แท้จริงนั้น  แม้ว่าบางครั้งราคาจะขึ้นไปสูงมากวัดจากค่า PE  เช่นสูงเป็น 30-40 เท่า มันก็ไม่ใช่ราคาที่ Overvalue หรือราคาสูงเกินพื้นฐานโดยเฉพาะถ้าวัดจาก  Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัท  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะมีศักยภาพสูงมาก  มันจะโตไปเรื่อย ๆ  ไปอีกนานจนมีขนาดใหญ่มาก  ดังนั้น  แม้ว่าในบางช่วงที่ดูเหมือนว่าจะแพงเกินไป  เราก็มักจะไม่จำเป็นต้องขาย  อย่างไรก็ตาม  ในบางครั้ง  โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นมีมูลค่าสูงมากแล้ว  และตลาดหุ้นกำลังเป็น “ฟองสบู่”  แบบนี้  เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/10/1604



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 17 August 2015 
  บทเรียนหุ้นขาลง

   ถ้าดูโดยภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วเราก็จะพบว่าดัชนีหรือราคาตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 นั้น  ไม่ได้มีการปรับตัวลงมามากนัก  ดัชนีตลาดลดลงมาเพียง 94 จุดหรือเป็นการปรับลงมาประมาณ 6.3% และถ้าคิดรวมปันผลที่ได้ประมาณ 3% นักลงทุนระยะยาวโดยเฉลี่ยก็น่าจะขาดทุนประมาณ 3.3% ถือว่าน้อยมาก  แต่ถ้าคุยกับนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากก็จะพบว่าตลาดปรับตัว “รอบนี้” ค่อนข้าง “หนัก”  หลายคน  “ร้องไห้หนักมาก”  เพราะเพิ่งเข้ามาเล่นหุ้นในตลาด  ไม่เคยได้กำไรแต่ขาดทุนหนักมากเนื่องจากหุ้นที่เข้าไปเล่นนั้นเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีความผันผวนสูง  จำนวนมากจดทะเบียนในตลาดหุ้น MAI อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่านักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ก็ยังไม่ถอนใจออกจากตลาด  ความหวังที่จะ “เอาคืน” หรือทำกำไรจากตลาดหุ้นยังมีอยู่  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขาอาจจะคิดว่าหุ้นก็ลงมามากแล้ว  คงไม่ลงไปอีกมากนักแต่น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้  เขาอาจจะเชื่อว่าการเล่นหุ้นนั้น  “ต้องกล้าในยามที่คนอื่นกลัว”

    ลองวิเคราะห์ดูข้อมูลตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันก็พบว่า  ตลาดของหุ้นขนาดใหญ่หรือ SET นั้น ราคาหุ้นตกลงมาไม่มากนักเพียงแค่ 6.3% วัดจากดัชนี   ส่วนค่าความถูกความแพงวัดจากค่า PE ก็ปรากฏว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้วค่า PE ของ SET เองอยู่ที่ 17.81 เท่าเทียบกับ 18.49 เท่าในปัจจุบัน  ซึ่งเท่ากับว่าหุ้นขนาดใหญ่นั้น  คนยังคงให้  “คุณค่า”  เท่าเดิม  นั่นก็คือ  ถ้าคุณลงทุนในตลาดหุ้นวันนี้  แต่ละปีก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 5-6%  หาได้จากการกลับเศษเป็นส่วนของค่า PE คือค่า EP ที่เท่ากับ 1 หารด้วย 18 โดยประมาณ)  ซึ่งก็เป็นอัตราที่ดีพอใช้เมื่อเทียบกับการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตร   การที่ราคาหุ้นตกลงมานั้น  เกิดจากผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา   นี่ก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมาในแง่ที่ว่าราคาหุ้นนั้น  “ขึ้นอยู่กับพื้นฐานหรือผลประกอบการ”  ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนับจากต้นปี

    ในส่วนของตลาดหุ้นขนาดเล็กที่วัดจากดัชนีหุ้น MAI นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ดัชนี MAI ปรับตัวลดลงจากประมาณ 700 จุดเหลือเพียง 585 จุดในช่วงเวลาเดียวกันหรือลดลงประมาณ 16.4%  และถ้าคิดรวมปันผลที่ประมาณ 0.9% ก็จะทำให้โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ยประมาณ 15.5% หรือนักเล่นหุ้นขาดทุนเป็นประมาณ 4.7 เท่าเมื่อเทียบกับตลาด SET และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนบุคคลรายย่อยจึงเสียหายค่อนข้างหนักทั้ง ๆ ที่ตลาดโดยรวมไม่ได้เลวร้ายมากนัก

    หุ้น MAI ที่ตกลงมานั้น  ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง  แต่ราคาหุ้นที่ลดลงนั้นน่าจะเกิดจากการที่การ “เก็งกำไร”  ในหุ้นตัวเล็กนั้นลดลง  ความหมายของผมก็คือ  ราคาของหุ้นนั้น  โดยปกติจะมาจากสองส่วนนั่นคือ  ราคาที่เกิดจากพื้นฐานกับราคาที่เกิดจากการเก็งกำไร  ราคาที่เกิดจากพื้นฐานนั้น  คือราคาที่เกิดจากความสามารถในการทำกำไรปกติของบริษัทที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ตัวเลขกำไรตัวนี้ถ้าคูณ 18 เท่าก็จะเป็นค่าของราคาหุ้นตามพื้นฐาน  ส่วนราคาที่มาจากการเก็งกำไรนั้น  จะเป็นราคาที่นักลงทุนให้กับหุ้นโดยดูจากการคาดการณ์กำไรในอนาคต  หุ้นตัวไหนหรือกลุ่มไหนที่คนคาดหวังสูงมากว่าจะทำกำไรได้ดีมากในอนาคตก็จะได้ราคาสูงมาก  เช่น ถ้านักลงทุนคาดว่าในอนาคตกำไรจะเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้น เขาอาจจะให้ราคาบริษัทเพิ่มขึ้น 50 เท่า เป็นต้น แต่ถ้าหุ้นตัวไหนไม่มีการ “เก็งกำไร”  ราคาหุ้นก็จะมาจาก  “พื้นฐาน”  เพียงอย่างเดียว

    ดูจากค่า PE ของตลาดหุ้น MAI นั้น  เมื่อปลายปีที่แล้วค่า PE เท่ากับ 69.6 เท่า  ก็น่าจะชัดเจนว่าไม่ใช่ราคาที่เกิดจากพื้นฐานเพียงอย่างเดียวแน่นอน  เพราะถ้าคิดเป็นค่า EP ก็จะให้ผลตอบแทนคนลงทุนเพียงปีละไม่ถึง 1% ดังนั้น  หุ้นตลาด MAI จึงมีมูลค่าที่เกิดจากราคาเก็งกำไรอยู่มาก  ถ้าเราสมมุติว่าหุ้นในตลาด MAI มี “คุณค่า” เท่ากับหุ้นในตลาด SET คือควรมีค่า PE ประมาณ 18-19 เท่า  เราก็จะคำนวณได้ว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เกิดจาก  “การเก็งกำไร” นั้นเท่ากับการมีค่า PE เพิ่มขึ้นอีก 50 เท่า 69.6-19) เมื่อสิ้นปีที่แล้ว  พูดง่าย ๆ  หุ้นในตลาด MAI เมื่อสิ้นปีที่แล้วนั้น  มีราคาตามพื้นฐานเพียง 18-19 เท่าของกำไรแต่มีราคาตามการเก็งกำไรถึง 50 เท่าของกำไรที่ “คาด” ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

    ถึงวันนี้  ค่า PE ของตลาด MAI ลดลงมาเหลือ 59.8  หรือลดลงมาประมาณ 10 เท่าของกำไรและนี่ทำให้ดัชนีหุ้น MAI ลดลงมาประมาณ 16.4%  การลดลงมานี้ผมคิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานอะไรนักเพราะกำไรของหุ้น MAI ก็ไม่ได้ลดลง  ราคาหุ้นที่ลดลงนั้น  ผมคิดว่าเกิดจากการเก็งกำไรที่ลดลง  และการเก็งกำไรที่ลดลงนั้น  ผมคิดว่าเกิดจากการที่ความคาดหวังที่บริษัทจะโตขึ้นลดลง  และความคาดหวังที่ลดลงนั้นผมคิดว่าน่าจะเกิดจากสองประเด็นใหญ่ก็คือ  หนึ่ง  Story ของบริษัทหรือเรื่องราวที่สร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุนนั้นเริ่ม  “สั่นคลอน” เช่น ที่คาดว่าจะทำธุรกิจใหม่มีกำไรมหาศาล  เมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นลดลง  คาดว่าจะได้สัญญาขายไฟฟ้าทางเลือกก็ยังไม่ได้  อะไรทำนองนี้  เป็นต้น  ข้อสอง กำไรที่เคยคาดการณ์หรือหวังว่าจะทำได้จากยอดขายสินค้าเดิมที่จะ “เพิ่มขึ้นมาก” นั้น  อาจจะยังไม่มาหรือยอดขายอาจจะเพิ่มขึ้นแต่มาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำกว่าเดิมมาก  เช่น เคยขาย 100 กำไร 20 ซึ่งเป็นกำไรที่ “มโหฬาร” นั้น  เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ากำไรแบบนั้นไม่สามารถทำต่อเนื่องได้  ในกรณีทั้งสองแบบนี้อาจจะเริ่มทำให้คนที่ซื้อหุ้นไว้เริ่มกลัวและขายหุ้นทิ้งก่อนที่  “ความจริงจะปรากฏ”  มากขึ้นเรื่อย ๆ  ราคาหุ้นตลาด MAI และหุ้นตัวเล็กหลาย ๆ ตัว จึงปรับตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ

    คำถามสำคัญก็คือ  การปรับตัวลงของหุ้น MAI นั้น  ลดลงมาพอหรือยัง?  คำตอบก็คือ  ไม่มีใครรู้!  แต่ถ้าดูจากค่า PE ที่ประมาณ 60 เท่าในวันนี้และสมมุติว่าค่า PE ที่เหมาะสมตาม  พื้นฐานควรจะประมาณไม่เกิน 20 เท่า  ราคาที่เกิดจากการเก็งกำไรก็ยังสูงถึง 40 เท่าของกำไร  หรือพูดง่าย ๆ  ถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น  ราคาปัจจุบันก็จะเท่ากับ 60 บาทต่อหุ้น  โดยเป็นราคาพื้นฐานแค่ 20 บาทและราคา “เก็งกำไร” อีก 40 บาท ก็หมายความว่าหุ้นตัวนี้หรือหุ้นกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะตกลงมา 40 บาทเหลือเพียง 20 บาทต่อหุ้นหรือเป็นการลดลงประมาณ 66% ถ้า  “การเก็งกำไรหมดไป”

    คำถามที่ตามมาก็คือ  แล้วการเก็งกำไรจะหมดไปได้อย่างไร?  คำตอบของผมก็คือ  ไม่รู้!  แต่ปัจจัยสำคัญของการเก็งกำไรก็คือ  ภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรงนั้นส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรสูง  แต่บางทีตลาดหุ้นที่ “ไม่เลวร้าย” ก็ไม่ทำลายการเก็งกำไรเท่าไรนัก  บางทีถ้าหุ้นตัวใหญ่ไม่ดี  คนก็ยังอาจจะหันมาเล่นเก็งกำไรในหุ้นตัวเล็กได้  แต่ในกรณีที่ตลาดหุ้นเกิด “แพนิก”  หุ้นตกลงมาแรงและกลายเป็นตลาดหมี  แบบนี้ก็อาจจะทำให้การเก็งกำไรหายไปได้

    บ่อยครั้ง  การเก็งกำไรในหุ้นรายตัวก็อาจจะหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไปและ Story ไม่เป็นไปตามที่คาด  หุ้นตัวนั้นอาจจะมีค่า PE 100 เท่าแต่เป็นราคาพื้นฐานเพียง 20% อีก 80% เป็นการเก็งกำไร ดังนั้น  เมื่อ  “ฝันสลาย”  ราคาหุ้นก็อาจจะตกลงมา 80% ได้

    บ่อยครั้งการเก็งกำไรนั้นมาจากการที่มี  “จ้าวมือ” ซึ่งเป็นรายใหญ่ซื้อและถือหุ้นจำนวนมากในบริษัททำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและหุ้น Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อย  ลักษณะนี้ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมาง่าย ๆ  แม้ว่า Story หรือกำไรที่คาดหวังยังไม่เกิด  “ภาพ” ที่ถูกส่งออกมาก็คือให้นักเก็งกำไร  “รอต่อไป  เดี๋ยวก็มา” ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมากนัก

    หุ้นตัวเล็กที่  “ล่มสลาย”  จริง ๆ  นั้น  มักจะเกิดจาก “ความเชื่อมั่นหมดไป” ด้วยเหตุอะไรก็ตามและมักรวมถึงการที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็น  “จ้าวมือ”  ทิ้งหุ้นหมดสิ้น  ในวันนั้นก็จะกลายเป็น “หายนะ” ของหุ้นที่ราคาหรือมูลค่าลดลงมา  บางที 90% หรือมากกว่านั้น  ประวัติศาสตร์สอนเราว่า  เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลกและก็อย่าได้คิดว่ามันจะไม่เกิดกับเราถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันเป็นนิจสิน

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/17/1606



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



 Monday, 24 August 2015
อารมณ์ของนักลงทุน 

    สิ่งที่นักลงทุนจะต้องคิดและจัดการนั้น  นอกจากการศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์กิจการและตัวหุ้นแล้วก็คือ  “อารมณ์และความรู้สึก” ของตัวเองเวลาลงทุน  เพราะเรื่องนี้มีผลต่อความสำเร็จ  อาจจะไม่น้อยไปกว่าความสามารถในการเลือกหุ้น  ลองมาดูกันว่ามีอารมณ์ที่สำคัญอะไรบ้างที่เราจะต้อง “ควบคุมดูแล” หรือจัดการให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

    ความโลภ  นี่เป็นอารมณ์ที่สำคัญมากที่มักจะมีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างแรง  สุภาษิตโบราณของไทยบอกว่า  “โลภมากมักลาภหาย”  แต่ในการลงทุนนั้น  นอกจากลาภจะหายแล้ว  เราก็อาจจะ “หมดตัว” ได้ด้วย  ความโลภในเรื่องของการลงทุนนั้นก็คือ  เราไม่ได้ต้องการเพียงผลตอบแทนที่ “เหมาะสม” จากการลงทุนซึ่งมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย  แต่เรา  “โลภมาก”  อยากได้ผลตอบแทนที่สูงลิ่วเกินกว่าที่ตัวกิจการหรือหุ้นจะให้ได้  ดังนั้นหลาย ๆ  คนจึงใช้ “เครื่องมือขยายผล” ที่จะเพิ่มผลตอบแทน  เช่น  การเล่นหุ้นด้วยมาร์จินซึ่งก็คือการกู้เงินมาลงทุน  หรือแทนที่จะลงทุนในหุ้นปกติก็ไปเล่นวอแร้นต์ของหุ้นที่มักมีราคาต่ำและราคาขึ้นลงบางทีเป็นหลายเท่าของหุ้นตัวแม่  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ความเสี่ยงของการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก  และมีโอกาสที่เราจะ “หมดตัว”  นั่นก็คือ  ถ้าหุ้นตกหนักถึงจุดหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง  เงินลงทุนของเราอาจจะกลายเป็นศูนย์ได้  ดังนั้น  ถ้าไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนจริง ๆ  แล้วละก็  เราก็อย่าไปโลภขนาดนั้น  ถ้าหุ้นมันดีจริงเราก็กำไรดีมากอยู่แล้ว  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไป “รีบรวย” เกินไป

    ความโลภนั้น  ยังทำให้เรา “ทุ่มซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหุ้นร้อนแรงมากกว่าปกติเพราะเราเห็นว่าจะทำเงินได้มาก  นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมานั่นก็คือ  คนจำนวนมากนั้น  ในช่วงที่ตลาดหุ้น “เหงา”   พวกเขาก็มักจะลงทุนในหุ้นไม่มากนัก  เงินส่วนใหญ่อาจจะถูกฝากไว้กับสถาบันการเงิน  ต่อมาหุ้นคึกคักและราคาปรับตัวขึ้นพวกเขาก็เริ่มรู้สึกดี  นักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นและราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนทำให้หุ้นคึกคักถึง  “ขีดสุด”  ในระหว่างนั้น  เม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนในหุ้นของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แต่เราก็ยังไม่พอใจ  เราคิดว่าถ้าเรานำเงินมาลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม  เราก็จะได้กำไรเพิ่มขึ้นไปอีก  เราเริ่มขอเงินหรือขอยืมเงินพ่อแม่  คู่ครอง หรือนำเงินจากแหล่งอื่นที่พอจะหาได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม เราไม่คิด  “ถอนเงิน” ที่ได้กำไรมาแล้วในช่วงที่หุ้นกำลังปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  เรานำเงินใหม่เข้าไปลงทุนทั้ง ๆ  ที่หุ้นนั้นมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ  และถ้ามองในฐานะนักลงทุนระยะยาวแล้ว  ราคาที่แพงหรือสูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนในอนาคตของการลงทุนลดลง  มันอาจจะไม่ใช่เวลาที่เราจะลงทุน  มันคือความเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียหายหนักได้และบ่อยครั้งมันก็เป็นอย่างนั้น

    ความกลัว  นี่เป็นอารมณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับความโลภ  เรากลัวการขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น  สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ  เรากลัวการขาดทุน  “หลังจากที่เราขาดทุนไปแล้ว” ทางตัวเลข  ก่อนที่หุ้นจะตกและเราขาดทุนนั้น  เราไม่ได้กลัวขาดทุน  เพราะถ้าเรากลัวเราก็คงจะไม่ซื้อตั้งแต่แรก  ตอนเราซื้อนั้น  เราไม่กลัวว่าจะขาดทุน  ตรงกันข้าม  เราคิดว่าเราจะได้กำไรเราไม่ได้คิดถึงการขาดทุน  พอหุ้นตกถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึก  “เจ็บ”  เช่น หุ้นตกไป 20%  เราจะเริ่มรู้สึกกลัว  กลัวว่ามันจะตกลงไปอีกและเราจะเสียหายหนัก  ดังนั้น  เราก็อาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้ง ๆ ที่กิจการของบริษัทอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย  ราคาหุ้นผันผวนด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่รู้แต่เราตัดสินใจขายด้วยอารมณ์ของความกลัว

    ความกลัวตลาดหุ้นตกหนัก  กลัววิกฤติตลาดหุ้น  กลัวว่าเมื่อตลาดหุ้นตกหนักหุ้นทุกตัวก็จะตกลงมาตาม  ดังนั้น  เมื่อตลาดหุ้นตกลงมาแรง  เราก็มักจะขายหุ้นทุกตัวที่ถืออยู่ทันทีเพราะเรากลัวว่าถ้าไม่รีบขายมันจะตกลงไปอีกในนาที  ชั่วโมงหรือวันต่อ ๆ  ไป  ความกลัวในเรื่องของดัชนีตลาดนั้น  ทำให้เราต้องซื้อขายหุ้นบ่อยมาก  และทำให้เรากลายเป็นคน “เล่นดัชนี” โดยไม่รู้ตัว  ไม่ใช่เป็นคนลงทุนในหุ้นเป็นรายตัวอย่างที่ควรจะเป็น  ผลก็คือ  เราไม่ได้กำไรอะไรเลยในระยะยาวเพราะค่าคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาซื้อ-ขายของหุ้นนั้น  กินผลตอบแทนที่จะได้หมด

    ถ้าเราจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้น  สิ่งสำคัญก็คือทำอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ บอก  นั่นก็คือ  “จงพยายามกลัวเมื่อคนอื่นกำลังกล้า และพยายามกล้าเมื่อคนอื่นกำลังกลัว” ดูว่าตนเองซื้อหุ้นน้อยลงไหมเวลาคนกำลังเล่นหุ้น  ซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มาก  และเราเข้าไปซื้อหุ้นอย่างคึกคักเวลาคนอื่นชะลอหรือหยุดเล่นหุ้นกันแล้วหรือไม่ ถ้าใช่ก็แปลว่าเราเริ่มสามารถควบคุมตัวเองในด้านของความโลภและความกลัวได้ดีขึ้น

    อารมณ์ดีใจ-เสียใจ เวลาหุ้นขึ้น-หุ้นตก  นี่ก็เป็นความรู้สึกธรรมดาของนักลงทุน  แต่คนที่มีประสบการณ์หรือระดับ EQ ในการลงทุนสูงก็จะสามารถควบคุมตนเองได้ดีกว่า  นั่นก็คือ  เวลากำไรก็จะไม่ดีใจจนเกินไป  เช่นเดียวกัน  เวลาขาดทุนก็จะไม่ “ฟูมฟาย”  หรือเศร้าเสียใจมากนัก  พวกเขาจะดูว่ามันมีเรื่องของความ “ผันผวน” อยู่ในราคาหุ้นอยู่มากโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ  ดังนั้น  หุ้นขึ้นหรือหุ้นลงวันต่อวันหรือเดือนต่อเดือนนั้น  อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้อง  ในระยะเวลาสั้น ๆ  นั้น  ราคาหุ้นอาจจะขึ้นหรือลงได้โดยที่ไม่ได้อิงอยู่กับผลประกอบการหรือความเข้มแข็งหรือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก็ได้  ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจมากจนเกินไป  รอดูไปจนถึงสิ้นปีแล้วค่อยประเมินดูว่าเราควรจะดีใจหรือเสียใจโดยดูว่าหุ้นขึ้นหรือหุ้นลงไปเท่าใด  นอกจากนั้น  เราก็ควรจะต้องประเมินด้วยว่าหุ้นที่ขึ้นหรือลงนั้นสอดคล้องกับตัวกิจการหรือบริษัทหรือไม่

   ถ้าหุ้นขึ้นและบริษัทดีขึ้น  นี่คือสิ่งที่เราควรจะยินดี  ถ้าหุ้นขึ้นแต่ที่จริงบริษัทไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง  เราก็ควรจะ “ดีใจ” ที่เรา  “โชคดี”  แต่ถ้าหุ้นลงและบริษัทก็แย่ลงแบบนี้เราก็ควรจะเสียใจที่เราคาดการณ์ผิด  และในกรณีสุดท้าย  ถ้าหุ้นตกลงมาแต่กิจการของบริษัทกลับดีขึ้น  แบบนี้เราก็ไม่ควรที่จะเสียใจ  เพราะไม่ช้าก็เร็วหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นได้  พูดโดยสรุปก็คือ  หุ้นขึ้นลงในช่วงเวลาสั้น ๆ  นั้น  ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจอะไรมากมายเพราะมันอาจจะเปลี่ยนไปได้อีกมากระหว่างที่ยังไม่ “สิ้นปี” หรือยาวพอ  การ “วางเฉย” ต่ออารมณ์ดีใจหรือเสียใจนั้น  จะช่วยให้เราไม่ตัดสินใจอะไรอย่างรวดเร็วและไม่รอบคอบ  การตัดสินใจเวลาเราดีใจหรือเวลาเราเสียใจนั้น  ผมคิดว่าจะทำให้เรามีความลำเอียงและอาจไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ดี เช่น ทำให้เราซื้อหรือขายหุ้น  “ผิดเวลา”

   ความรู้สึกเหมือนถูก  “ทรมาน”  นั้น  นักลงทุนก็มักจะพบเจออยู่บ่อย ๆ   บางครั้งบางช่วงเวลานั้น  ตลาดหุ้นขึ้นเอา ๆ  แต่หุ้นที่เราถืออยู่กลับนิ่งหรือตกลงมาอีกต่างหาก  เราได้แต่มองและรู้สึก “ทรมานใจ”  จนในบางครั้งเราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเพื่อที่จะไปซื้อหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  เพราะ  ความ “อดทน” ของเราอาจจะมีจำกัด  นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่เรียกว่า  “สนามหญ้าของเพื่อนบ้านเขียวกว่าเสมอ” นักลงทุนที่ “ทนทรมาน” ได้น้อยก็จะมีแนวโน้มที่จะรอหุ้นให้ขึ้นตามพื้นฐานไม่ไหวและขายหุ้นเร็วเกินไปอยู่เรื่อย ๆ  เช่นเดียวกัน  บางช่วงเวลา  อาจจะเป็นปี ๆ ตลาดหุ้นเอาแต่ปรับตัวลงอยู่เรื่อย ๆ  พอร์ตหุ้นที่เราถืออยู่โดยรวมก็ไม่ไปไหนหรือปรับตัวลดลงเป็นระยะ ๆ  เรารู้สึก “ทรมานใจ” และถ้าทนไม่ไหว  เราก็อาจจะตัดสินใจทำอะไรที่ไม่เหมาะสม  เช่น  ขายหุ้นที่ดีมีคุณค่าทิ้ง เป็นต้น

   ความรู้สึก  “กังวล” นอนไม่หลับ  กลัวว่าบางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้นแล้วกระทบกับการลงทุนของเราอย่างแรง เช่นกลัวว่าตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติหรือกลัวว่าหุ้นที่เราถืออยู่นั้นอาจจะถูกผลกระทบที่รุนแรงที่เรา  “กลัว”  อยู่  นี่ทำให้เรากังวลทั้ง ๆ  ที่โอกาสจะเกิดขึ้นอาจจะน้อย  ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องพิจารณาวิเคราะห์  “Scenario”  หรือภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหลาย ๆ  ภาพแล้วดูว่าผลจะเป็นอย่างไรโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาพเลวร้ายที่สุด  เสร็จแล้วก็ตัดสินใจทำสิ่งที่จะช่วยลดความกังวลนั้นให้เหลือน้อยลงจนยอมรับได้  หลังจากนั้นก็  “เลิกกังวล” เพราะเราจะไม่มีวัน “เจ๊ง” จากการลงทุนอย่างแน่นอนถ้าเราวิเคราะห์ “ความเสี่ยง” อย่างดีแล้ว


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/24/1608


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
 



  Monday, 31 August 2015
ปัจจัยด้านต้นทุน 


    นักธุรกิจและนักลงทุนไทยนั้น  ดูเหมือนจะไม่ใคร่ให้ความสำคัญกับการ “ลดต้นทุน” ของการผลิตมากเท่ากับการ “เพิ่มรายได้”  โดยการขยายธุรกิจหรือการเพิ่มยอดขาย  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะการลดต้นทุนนั้น  มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการมองย้อนหลังหรืออยู่กับที่  เป็นการมองด้านลบ  เป็นเรื่องของงาน “หลังบ้าน” ที่คนทำไม่ได้เครดิตหรือหน้าตาแต่มักจะถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมงานที่บ่อยครั้งต้องถูกลดผลตอบแทนหรือรายได้หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่าง ๆ  ที่เคยได้รับ  ดังนั้น  เวลาที่บริษัทอยากที่จะทำกำไรเพิ่มหรือรักษากำไรไว้ให้ได้  กลยุทธ์หลักจึงมักจะเน้นไปที่การเพิ่มรายได้แทนที่จะลดรายจ่ายหรือต้นทุนของสินค้าหรือบริการ   แต่นั่นคือกลยุทธ์ในอดีตที่อาจจะเหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดีมีโอกาสที่จะขายสินค้าเพิ่มได้ง่าย   ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยลงและการเติบโตเร็ว ๆ  อาจจะเกิดยากขึ้นเรื่อย ๆ  กลยุทธ์การทำกำไรของธุรกิจในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนไป   การ “ลดต้นทุน”  อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ    “ปัจจัยด้านต้นทุน” อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดผลประกอบการของบริษัทในช่วงเร็ว ๆ  นี้  หรือพูดง่าย ๆ ในมุมของนักลงทุนก็คือ  หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีอาจจะมาจากการที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก  ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทเน้นโตเร็วอย่างที่ผ่านมา

   ต้นทุนหลัก 3 ด้านของธุรกิจเกือบทุกประเภทก็คือ  ต้นทุนทางด้านแรงงาน  ต้นทุนด้านวัตถุดิบ  และต้นทุนทางด้านการเงินหรือต้นทุนของการลงทุน   มองจาก “ภาพใหญ่” โดยทั่ว ๆ  ไปแล้ว  ก็เป็นเรื่องที่ “โชคดี” ที่ว่าดูเหมือนบริษัทส่วนใหญ่น่าจะมีต้นทุนที่ลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นเพราะ  ข้อแรก  ค่าแรงงานของไทยในช่วงนี้คงไม่ใคร่เพิ่มขึ้นมากนักเปรียบเทียบกับในอดีต   เรื่องของวัตถุดิบเองนั้น  ดูเหมือนว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบของสินค้าต่าง ๆ  มีราคาลดลงมากเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์การเกษตร  ในส่วนของต้นทุนการเงินนั้น  ดอกเบี้ยก็ลดลงอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์  ดังนั้น  ธุรกิจที่มีต้นทุนเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่สามารถขายสินค้าในราคาเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับราคาเดิมได้  ตัวอย่างเช่นกิจการที่ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อรายย่อยหรือผู้บริโภค  ตัวอย่างเช่น  ราคาอาหารสำเร็จรูปนั้นไม่ได้ลดลงในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และวัตถุดิบในการปรุงอาหารลดลง  เช่นเดียวกัน  ราคาค่าโดยสารแท็กซี่ก็ไม่ได้ลดแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงมาเป็นต้น

    ลองมาดูว่าบริษัทหรืออุตสาหกรรมไหนจะได้ประโยชน์มากน้อยเท่าไรจากการที่ราคาของปัจจัยการผลิตทั้งสามด้านลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ   ประเด็นแรกก็คือเรื่องแรงงาน  บริษัทที่ใช้คนจำนวนมากในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ  มีต้นทุนค่าแรงงานสูง  การที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นน้อยนั้นคงไม่ถึงกับทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดลงแต่ก็จะทำให้มันไม่ใคร่เพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นมาในอดีต  นอกจากนั้น  ในกรณีที่เป็นพนักงานในระดับที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง  การลดการใช้โอเวอร์ไทม์หรือการใช้เครื่องจักรมาแทนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็สามารถที่จะลดต้นทุนทางด้านแรงงานได้

    ในระยะยาวแล้ว  การเพิ่มประสิทธิภาพของคนงานและลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแรงงานอย่าง “ถาวร” มักจะขึ้นอยู่กับการ “ปรับกระบวนการทำงาน” โดยการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านไอทีเข้ามาช่วย  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตที่เด่นชัดก็เช่นในเรื่องของธุรกิจค้าปลีกที่มีการนำบาร์โค้ดมาใช้ในการคิดเงินค่าสินค้าและการใช้ระบบเอทีเอ็มในระบบธนาคารพาณิชย์เป็นต้น  ในส่วนของการผลิตทางอุตสาหกรรมเองนั้นก็มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคนในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม  ในส่วนนี้ถ้าหากเป็นการผลิตสินค้าเพื่อขายให้กับผู้ซื้อรายใหญ่  บริษัทก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนักเพราะราคาขายก็จะลดลงเนื่องจากคู่แข่งก็มักจะใช้หุ่นยนต์เหมือนกันทำให้ต้องลดราคาเพื่อให้แข่งขันได้  ดังนั้น  บริษัทที่จะได้ประโยชน์จริง ๆ  จะต้องเป็นบริษัทที่สามารถทำได้อยู่รายเดียวหรือน้อยรายในขณะที่คู่แข่งไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยเหตุผลบางอย่างเช่น  คู่แข่งเป็นรายเล็กที่ไม่คุ้มที่จะใช้ระบบอัตโนมัติเหล่านั้น เป็นต้น

    ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นโภคภัณฑ์นั้น  ราคาที่ลดลงซึ่งทำให้ต้นทุนลดลงนั้นมักจะเป็นเรื่องชั่วคราวแม้ว่าอาจจะเป็นหลายปี  ซึ่งนั่นก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ใช้วัตถุดิบเหล่านั้น  ตัวอย่างของบริษัทที่ได้ประโยชน์มากเช่น กิจการที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมัน เช่น บริษัทที่ทำเกี่ยวกับโลจิสติคขนส่งสินค้าจำนวนมากซึ่งน่าจะรวมถึงผู้ค้าปลีกที่ขายสินค้าประจำวัน  การบิน  การขนส่งทางเรือ  และรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในกระบวนการผลิตเช่น  ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์การเกษตรเช่น น้ำมันพืช ข้าว เนื้อสัตว์ เหล่านี้ ก็คงเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ขายอาหาร หรือถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อย่างยางพาราก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยางในการผลิตชิ้นส่วนยาง เป็นต้น

    ในระยะยาวแล้ว  การลดต้นทุนวัตถุดิบนั้น  ขึ้นอยู่กับกระบวนการการผลิตที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าแต่สามารถทดแทนกันได้เช่น  การใช้ถ่านหินแทนน้ำมันหรือก๊าซในการให้ความร้อนในกระบวนการผลิตสินค้า  การใช้วัสดุชีวมวลที่มีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้า “พลังงานทดแทน” ขายให้แก่การไฟฟ้าเป็นต้น

    สุดท้ายก็คือเรื่องของต้นทุนเงินทุนที่ลดลง  นี่ก็เป็นเรื่องของบริษัทที่มีเงินกู้สูงมากและเป็นต้นทุนที่สูงของกิจการ  การที่ดอกเบี้ยลดลงในรอบนี้และดูเหมือนว่าจะยังต่ำอยู่ยาวนานพอสมควร  นี่ก็จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนที่ลดลงโดยที่รายได้จากการขายสินค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น  พูดง่าย ๆ  ว่าได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย  บริษัทที่มีหนี้มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินและรายได้นั้น  ส่วนมากก็จะเป็นบริษัทที่ต้องลงทุนในโรงงานและ/หรืออุปกรณ์ที่มีราคาสูงเรียกว่าเป็นธุรกิจ Capital Intensive และกระแสเงินสดของกิจการไม่ดีนัก  เช่น เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก และปิโตรเคมี เป็นต้น

   บริษัทที่มี “หนี้” มากนั้น  ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจดังกล่าว  ว่าที่จริง  สถาบันการเงินต่าง ๆ  นั้น  ต่างก็มีหนี้มากทั้งนั้น  ดังนั้น  ต้นทุนในการกู้ยืมจึงลดลง  ประเด็นอยู่ที่ว่ารายได้หรือเงินที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าลดลงด้วยหรือไม่  ในกรณีของธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจทั่วไปนั้นรายได้ก็ลดลงตามดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย  จึงไม่ได้ประโยชน์  แต่ธนาคารหรือบริษัทลีสซิ่งที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยตายตัวรายได้จะไม่ลดลงก็จะได้ประโยชน์

   กล่าวโดยสรุปก็คือ  หุ้นหรือบริษัทที่มีต้นทุนลดลงอย่างมีนัยยะเนื่องจากบริษัทอาจจะมีต้นทุนด้านบุคลากรสูง  และ/หรือ มีต้นทุนด้านพลังงานสูง  และ/หรือมีต้นทุนทางด้านการเงินสูง ก็จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจในรอบนี้  ยิ่งมีปัจจัยต้นทุนสูงและหลายด้านก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น  นอกจากนั้น  ถ้าพิจารณาว่าเศรษฐกิจไทยเองอาจจะไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะโตเร็วมากอีกต่อไปแล้ว  บริษัทที่เน้นกลยุทธ์ในเรื่องของการลดต้นทุนในทุก ๆ ด้านดังกล่าวก็น่าจะเป็นบริษัทที่มีผลงานทำกำไรที่ดีกว่าบริษัทที่เน้นแต่กลยุทธ์การเติบโตเพียงอย่างเดียวและดังนั้นก็น่าจะมี Value หรือคุณค่ามากขึ้น  นั่นก็คือ  มันควรมีค่า PE ที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน 


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/31/1614



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

 รู้จัก “ฟิลลิป ฟิชเชอร์”/ประภาคาร ภราดรภิบาล

    “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นการเติบโต” และเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นครูที่สุดยอดนักลงทุนแห่งยุคอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ให้การยอมรับนับถือ

    “ฟิชเชอร์” เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากนั้นเขาได้ก่อตั้งบริษัท Fisher & Company ที่ซานฟรานซิสโกในเดือนมกราคม 1931 ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่ฤกษ์งามยามดีสักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นช่วงที่เพิ่งเกิดสภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression ปี 1929) แต่กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ถูกต้อง หลังจากผ่านพ้น 2 ปีแห่งความเลวร้ายของตลาดหุ้น นักลงทุนจำนวนมากรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจโบรกเกอร์ที่พวกเขาเคยใช้บริการ และหันมารับฟังมุมมองใหม่ๆ ในการลงทุนจากคนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง “ฟิชเชอร์” ประกอบกับช่วงเวลานั้นธุรกิจกำลังถดถอย จึงเป็นช่วงเวลาที่บรรดาผู้บริหารบริษัทมีเวลาว่างอย่างเหลือเฟือ “ฟิชเชอร์” เล่าว่า ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ เขาคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบและพูดคุยได้ง่ายๆ เช่นนั้นเป็นแน่

    Fisher & Company ค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 1935 ธุรกิจก็ติดลมบน และมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น

    “ฟิชเชอร์” มีความเชื่อมั่นในการลงทุนแบบเน้นการเติบโตเป็นอย่างมาก เขายังเคยเขียนเสียดสีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าไว้ว่า “การใช้ข้อมูลทางบัญชีและสถิติ ซึ่งคนทั่วไปมองว่าเป็นเหมือนหัวใจของความสำเร็จในการลงทุน ถ้าใช้ความพยายามมากพอ อาจจะทำให้ค้นพบหุ้นราคาถูก ซึ่งหุ้นบางตัวอาจมีราคาถูกจริง แต่ในบางกรณีมันอาจเป็นธุรกิจที่กำลังจะย่ำแย่หนัก ไม่เพียงเท่านั้น การวินิจฉัยจากข้อมูลทางสถิติล้วนๆ อาจทำให้เห็นว่าหุ้นมีราคาถูก ทั้งๆ ที่ราคาซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกในวันนี้ อาจเป็นราคาที่สูงมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็เป็นได้”

   นอกจากนี้ “ฟิชเชอร์” ยังมั่นใจว่าการลงทุนแบบเน้นการเติบโต ซึ่งก็คือ การซื้อหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งและน่าสนใจนั้น เป็นวิธีการลงทุนที่ฉลาดกว่า เขาเขียนไว้ว่า “ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา การค้นหากิจการที่มีความโดดเด่นจริงๆ และถือมันผ่านความผันผวนของวัฏจักรของตลาด ได้พิสูจน์ว่า สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าการพยายามซื้อหุ้นในราคาถูกแล้วขายในราคาแพง”

    “ฟิชเชอร์” ให้คำจำกัดความของบริษัทที่มีความโดดเด่นว่า “เป็นบริษัทที่มียอดขายและกำไรเติบโตเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี” การลงทุนแบบเน้นการเติบโตตามแบบของ “ฟิชเชอร์” มีเป้าหมายหลักคือบริษัทขนาดใหญ่ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ และใช้กลยุทธ์ซื้อแล้วถือระยะยาว ในขณะที่นักลงทุนแบบเน้นการเติบโตส่วนใหญ่ซื้อขายค่อนข้างถี่ แม้จะมีเป้าหมายเป็นบริษัทขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ “ฟิชเชอร์” แต่ต่างกันตรงที่พวกเขาไม่ชอบการถือหุ้นระยะยาว

    สำหรับ “ฟิชเชอร์” แล้ว การลงทุนระยะยาวในบริษัทที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นนั้น ก็เพื่อให้เงินลงทุนของเขาเติบโตไปในระยะยาวพร้อมๆ กับการเติบโตของบริษัทนั่นเอง

    นี่ก็คือ กลยุทธ์การลงทุนของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” นักลงทุนระดับตำนานอีกผู้หนึ่งในโลกของการลงทุน



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

... มองตลาดหุ้นขาลง ให้เป็นโอกาส
... ตลาดหุ้นขาลงไม่ได้ฆ่าใคร แต่กลับเป็นโอกาสในการซื้อหุ้น
... ถ้าผู้คนเริ่มวิ่งหนีออกจากหุ้นดี ๆ จงเตรียมพร้อมที่จะลุยไปกับหุ้น
... จงมองหาบริษัทที่มีคุณภาพที่กำลัง “ลดราคา”
... สำหรับคุณภาพ นั่นหมายถึง พื้นฐานที่รองรับธุรกิจและคุณภาพของทีมบริหาร

“นักลงทุนจะไม่ขาดทุนเมื่อตลาดปรับตัวลง จะมีก็เพียงนักเก็งกำไรเท่านั้นที่ขาดทุน”





ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



  Monday, 7 September 2015
Good Company in Bad Industry
 


    การเลือกหุ้นลงทุนนั้น  สิ่งแรกที่เราควรจะต้องวิเคราะห์ก็คือเรื่องของ “ภาพใหญ่”  หรือเรื่องของเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครองสังคมและกฎระเบียบต่าง ๆ  ของรัฐที่ใช้ในการควบคุมตัวธุรกิจในภาพรวม  ต่อมาก็คือ “ภาพกลาง” ซึ่งก็คือเรื่องของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจว่าโครงสร้างและการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไรหรืออาจจะพูดแบบง่าย ๆ  ธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยปัจจัยอะไรบ้าง   และสุดท้ายถึงจะวิเคราะห์ว่าตัวบริษัทเป็นอย่างไร  โดดเด่นแค่ไหน  ราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร  นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์แบบ “Top Down” ที่เป็นการวิเคราะห์แบบ  “มาตรฐาน”  ตามตำรา  แต่ VI จำนวนมากรวมถึงคนดังระดับโลกหลายคนเช่น ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเขาไม่สนใจภาพใหญ่โดยเฉพาะทางด้านของเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม  สิ่งที่เขาสนใจก็คือบริษัทที่เขาจะลงทุนเท่านั้น  บางคนเรียกการวิเคราะห์แนวนี้ว่าเป็น  “Bottom Up” ความหมายคงเป็นว่าเขาจะเน้นดูที่ตัวบริษัทเป็นหลัก  คือวิเคราะห์ดูเฉพาะตัวหุ้นที่เขาสนใจโดยไม่ดูว่าอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในสภาวะดีหรือร้าย  ว่าที่จริง  ปีเตอร์ ลินช์บอกว่า  หุ้นที่ “ดีมาก ๆ” กลุ่มหนึ่งก็คือ  “Good Company in Bad Industry”  เหตุผลก็คือ  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ “เลวร้าย” หรือกำลังตกต่ำนั้น  การแข่งขันมีน้อย  หลาย ๆ  บริษัทต้องถอนตัวออกไปหรือ  “เจ๊ง”  ทำให้บริษัทที่ดีนั้นกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและทำกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตัวอย่างในสหรัฐก็คือเรื่องของธุรกิจพรมปูพื้น เป็นต้น   

   ส่วนตัวผมเองนั้น  ผมชอบดูทั้งแบบ Top Down และ Bottom Up  หรือพูดง่าย ๆ  ดูทั้งสองด้าน  ผมคิดว่าปัจจัยของภาพใหญ่นั้น  มีส่วนสำคัญสำหรับการลงทุนไม่น้อยไปกว่าภาพเล็ก  ความคิดผมก็คือ  VI ระดับเซียนหรือตำนานนั้น  ส่วนมากอยู่และลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้วมานานแต่ที่สำคัญก็คือ  เป็นประเทศที่  “ภาพใหญ่”  นั้นดีต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบหรือเป็นร้อยปีมาแล้ว  จะมีก็แต่ช่วงสั้น ๆ  ที่ภาพใหญ่แย่เช่นช่วงสงครามโลกหรือสงครามใหญ่อย่างเช่นสงครามเวียตนามหรือเกาหลีที่กระทบภาพใหญ่โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในบางช่วง  แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ  ระบบโครงสร้างการปกครอง สังคมและกฎหมายของอเมริกานั้นไม่ใคร่มีปัญหาและดีขึ้นตลอดเช่นเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ดังนั้น  แม้ในบางช่วงที่ภาพใหญ่แย่  แต่ถ้าคุณลงทุนในหุ้นที่ดี  ผลลัพธ์ก็มักจะออกมาดีเสมอจนคุณไม่ต้องสนใจเรื่องภาพใหญ่หรือเศรษฐกิจเลย  แต่ในสังคมหรือตลาดหุ้นอื่นที่ภาพใหญ่ไม่ดี  ผมคิดว่าการลงทุนโดยมองแต่ภาพเล็กนั้นค่อนข้างอันตราย  ในตลาดหุ้นอย่างญี่ปุ่นหรือในยุโรปหลาย ๆ ประเทศ  หรือในลาตินอเมริกา  ที่เศรษฐกิจตกต่ำมานาน  การลงทุนแบบมองแต่ตัวหุ้นนั้นคงทำกำไรได้ยาก

    สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของการลงทุนที่มองเฉพาะภาพกลางกับภาพเล็กนั่นก็คือ  ระหว่างบริษัทกับภาพของอุตสาหกรรมและเป็นการมองในระดับโครงสร้างมากกว่าสถานการณ์หรือภาวะของอุตสาหกรรม   แนวความคิดพื้นฐานของผมก็คือ  อุตสาหกรรมหรือที่ถูกต้องก็คือธุรกิจนั้น  มีคำว่า  “ธุรกิจที่แย่”  หรือ  “ธุรกิจที่ดี”  ธุรกิจที่แย่นั้นในนิยามของผมก็คือธุรกิจที่โดยรวมแล้วทำผลกำไรหรือผลตอบแทนเทียบกับเงินลงทุนต่ำ  ยิ่งต่ำมากก็ยิ่งแย่  โดยที่ธุรกิจที่แย่นั้นมักจะขายสินค้าที่มีการแข่งขันสูงโดยลักษณะของธุรกิจ  และการที่มีการแข่งขันสูงนั้นเนื่องจากคนซื้อมีอำนาจการต่อรองสูงเพราะคนขายนั้นพร้อมที่จะเข้ามาเสนอขายตลอดเวลาถ้าการขายนั้นยังมี “กำไร” ที่คุ้มกับ  “ต้นทุน” การผลิตสินค้าแม้ว่าอาจจะไม่สามารถชดเชยต้นทุนทั้งหมดซึ่งรวมถึงต้นทุนที่  “คงที่”  เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร์เป็นต้น

    ถ้ามองอย่างหยาบ ๆ  ธุรกิจที่ “แย่มาก” นั้น  น่าจะเริ่มจากธุรกิจที่ขายสินค้าที่แข่งขันกันด้วยราคาเป็นหลักและสินค้านั้นมีตลาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ   เช่นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งออกตลาดโลกและเป็นสินค้าที่ประเทศไทยเสียเปรียบทางด้านต้นทุนเนื่องจากเหตุผลทางด้านค่าแรงงานและภาษีอาทิเช่น  สิ่งทอ หรืออาจจะรวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีบางอย่าง  ในกรณีแบบนี้  ก็เป็นเรื่องที่ยากมากที่บริษัทจะยังดีอยู่ได้แม้ว่าบริษัทนั้นจะเป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรม  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือผลิตภัณฑ์สิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เป็น “บริษัทสิ่งทอที่ดีเยี่ยม” ของบัฟเฟตต์แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่ “แย่มาก” เกินกว่าที่จะรับไหว  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่มากไม่น้อย  ซึ่งสำหรับผมแล้ว  ผมก็มักจะ “ขอบาย”  หรือไม่ขอเกี่ยวข้องสนใจลงทุนแม้ว่าบางบริษัทอาจจะ “ดีเยี่ยม”

    ธุรกิจที่ “แย่” แต่อาจจะไม่มากนั้น  ผมนิยามคร่าว ๆ  ว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผู้ซื้อไม่ได้มองที่ราคาสินค้าเป็นหลักแต่ดูคุณภาพด้วย  แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็มักจะมีความแตกต่างกันน้อยในแต่ละยี่ห้อของสินค้า    นอกจากนั้น  ผู้ขายเองก็ไม่ขายในราคาที่ต่ำจนไม่มีกำไรหรือไม่มีมาร์จิน  ว่าที่จริงในบางผลิตภัณฑ์นั้น  ส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนแปรผันหรือต้นทุนโดยตรงของการผลิตอาจจะสูงด้วยซ้ำ  แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็นธุรกิจแย่ก็เพราะว่ามีคนขายหรือผู้ให้บริการเข้ามาเสนอสินค้าได้อย่างแทบไม่จำกัด  และผู้เล่นรายใหม่นั้นต่างก็สามารถเสนอสินค้าได้ในราคาและคุณภาพที่ไม่ต่างจากคนที่ขายอยู่มากนัก  ผลก็คือ  มีการแข่งขันที่สูงมากตลอดเวลาในอุตสาหกรรมซึ่งทำให้คนที่ “ไม่เก่ง” นั้น  บ่อยครั้งก็อยู่ไม่รอด  แต่ก็จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแทนที่ตลอดเวลา  ดังนั้น  การทำกำไรสูง ๆ ในอุตสาหกรรมโดยรวมก็ทำไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่แบบนี้ก็อาจจะมี “บริษัทที่ดี” หรือดีเยี่ยมสามารถทำกำไรได้สูงหรือสูงมาก  บางทีต่อเนื่องยาวนานเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ได้  เพราะสามารถทำ “โมเดลธุรกิจ” ที่ทำให้ตนเอง “ได้เปรียบอย่างถาวร”  ในการแข่งขันกับคู่แข่ง

    ตัวอย่างของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่นั้น  น่าจะรวมถึงธุรกิจขายอาหารภัตตาคารที่มีผู้เล่นมากมายและแข่งขันกันได้หมด  อย่างไรก็ตาม  บริษัทที่ดีหรือดีเยี่ยมอย่างในอเมริกา เช่น หุ้นแมคโดนัลหรือเคเอฟซีนั้น  ก็เป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมที่สามารถทำกำไรได้มโหฬารและถือว่าเป็นซุปเปอร์สต็อกได้  ธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่เพราะมีร้านเฟอร์นิเจอร์มากมายที่เปิดขายและสามารถแข่งขันได้พอ ๆ  กันหมด  แต่บัฟเฟตต์ก็มีหุ้นเนบราสกาเฟอร์นิเจอร์มาร์ทและอีกหลายบริษัท  เช่นเดียวกัน ธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อนให้อุตสาหกรรมก็น่าจะถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่  แต่บัฟเฟตต์ก็เพิ่งลงทุนซื้อหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดของเขาในบริษัท Precision Castparts     ใช้เงินถึง 37.2 พันล้านล้านเหรียญ เนื่องจากนี่คือบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรมแย่นี้เพราะมันผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินที่บริษัทอื่นยากที่จะเข้ามาแข่งขันได้

    ธุรกิจที่แย่มากแต่ก็อาจจะมีบางบริษัททำได้ดีในต่างประเทศเช่น การบินที่แทบทุกบริษัทไม่มีกำไรหรือขาดทุนแต่หุ้นเซ้าท์เวสต์แอร์ไลน์  สายการบินแบบโลว์คอสท์สายแรก ๆ ของโลกทำกำไรได้ดี  อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น  สายการบินโลว์คอสท์ก็มีเพิ่มขึ้นมากและการทำกำไรในธุรกิจแย่นี้ก็ยังลำบากอยู่มาก  ดังนั้น  ถ้าเราพบว่าหุ้นที่เราลงทุนเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดี  มีการบริหารที่ดี  แต่อยู่ในธุรกิจที่แย่  เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทมีปัจจัยอะไรที่ทำให้มันสามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยมและปัจจัยนั้นน่าจะอยู่นานแค่ไหน  ถ้าตรวจสอบดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่คงทนและคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้มันก็เป็นหุ้นที่เราจะถือยาวและให้คุณค่าหรือให้ค่า PE สูงขึ้นได้บ้าง    แต่ถ้าดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่บริษัทได้เปรียบชั่วคราวและไม่ช้านานคู่แข่งก็จะเข้ามาเลียนแบบได้  แบบนี้เราก็ต้องระวังและไม่ให้มูลค่าหรือให้ค่า PE ที่สูงเกินไป  เพราะในไม่ช้า  ความได้เปรียบก็จะหายไปและบริษัทก็จะไม่สามารถรักษากำไรที่ดีนั้นไว้ได้เพราะมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่  ตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่มีลักษณะนี้ในตลาดหุ้นไทยนั้นก็คือ  ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายที่มีผู้เล่นมากมายแต่หา “ผู้ชนะ” ที่ถาวรยาก  เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ผมคิดว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ดีหรืออาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่ด้วยซ้ำเนื่องจากการแข่งขันที่มากแต่ก็มีบริษัทที่ดีที่ทำกำไรได้ดี  เพียงแต่ผมคิดว่าปัจจัยการแข่งขันนั้นไม่ได้มีความได้เปรียบอะไรที่ถาวรที่จะทำให้มันสามารถมีค่า PE ที่สูงมาก ๆ  ได้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/07/1617


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 14 September 2015
สั้น VS ยาว

    ผมอยู่ในตลาดหุ้นมานานและสังเกตเห็นว่า   สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะแยกแนวทางการลงทุนระหว่างนักลงทุนกลุ่มหนึ่งกับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งออกจากกันได้เด่นชัดที่สุดนั้น  ไม่ใช่การเป็น  “นักลงทุนหรือนักเก็งกำไร”  หรือไม่ใช่  “นักเทคนิคหรือเป็น VI”  หรือไม่ใช่  “นักเล่นหุ้นเติบโตหรือเล่นหุ้นถูก”  เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่นั้นต่างก็มีความเป็นนักเก็งกำไรและนักลงทุนอยู่ในตัว   ไม่รู้จะแยกยังไง  บางคนเป็น VI แต่ก็ดูกราฟด้วยหรือดูบ้าง  นักเทคนิคที่ผมรู้จักจำนวนมากนั้น  ต่างก็ดูพื้นฐานด้วยไม่ใช่มองแต่กราฟ  เช่นเดียวกัน  ผมแทบจะไม่เคยเห็นคนที่เล่นแต่ Growth โดยไม่สนใจหุ้นที่ถูกมากเลย

   สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สามารถที่จะแยกนักลงทุนออกจากกันได้ชัดที่สุดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนหรือมุมมองต่อเรื่องของระยะเวลาในการถือครองหุ้นหรือพูดง่าย ๆ  คุณเป็นคน  “เล่นสั้นหรือเล่นยาว”  เหตุที่ผมใช้คำว่า  “มุมมอง” นั้น  เป็นเพราะว่านี่คือ  “ฐานทางความคิด” ของการลงทุนในการพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกหุ้น  ถือหุ้น  ขายหุ้น  และเรื่องอื่น ๆ  อีกมาก  ถ้าจะหาชีวิตนักลงทุนเอกของโลกมาเปรียบเทียบที่ดี  เราก็คงจะเห็นได้ชัดเจนว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นคนที่  “เล่นยาว”  สุดโต่ง  ในอีกด้านหนึ่ง  จอร์จ โซรอส น่าจะเป็นตัวแทนของคนที่  “เล่นสั้น”  และสองคนนี้ผมคิดว่ามีมุมมองต่อเรื่องของการลงทุนคนละด้านอย่างเห็นได้ชัดทั้งเวลาซื้อ  เวลาถือครอง และเวลาขาย  รวมถึงเรื่องของความเสี่ยงและประเด็นอื่น ๆ แต่ทั้งสองต่างก็ประสบความสำเร็จพอ ๆ กัน   แน่นอนว่าบางครั้งบัฟเฟตต์ก็ถือหุ้นสั้นบ้างเช่นเดียวกับที่โซรอสเองก็น่าจะเคยถือหุ้นยาวแต่นั่นมักเป็นข้อยกเว้นหรือเป็นรายการย่อยไม่ใช่รายการหลัก  หุ้นหรือหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ของคนที่ “เล่นยาว” นั้นต้องถือยาว  ส่วนคนที่ “เล่นสั้น” นั้น  ต้องถือสั้น  ไม่ว่าเจ้าตัวจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนที่ลงทุนแนวไหน

   ในความคิดของผมแล้ว  คนที่ตั้งใจถือหุ้นไม่เกินประมาณ 1 ปี ก็ต้องถือว่าเป็นคน  “เล่นสั้น” แม้ว่าเจ้าตัวจะบอกว่าตนเองเป็นคนลงทุนระยะยาว  คนที่ตั้งใจถือหุ้นยาวกว่านั้นโดยเฉพาะที่ไม่ได้ตั้งเป้าเวลาที่จะขายเลยนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นคนที่  “เล่นยาว”  มองจากเกณฑ์นี้แล้วผมคิดว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่  รวมถึงสถาบันลงทุน เช่น บลจ. ทั้งหลายที่บริหารเงินให้กับคนอื่น  ก็น่าจะถือว่าเป็นคนที่ “เล่นสั้น”  คนที่ “เล่นยาว” นั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มของ VI ที่อายุมากหน่อยหรือไม่ก็เป็นสถาบันลงทุนที่เน้นระยะยาวเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กองทุนรวมระยะยาว LTF หรือ RMF กองทุนของบริษัทประกันภัยหรือประกันชีวิต  และกองทุนของบริษัทหรือกงสีที่ไม่เน้นที่จะต้องโชว์ผลงานการลงทุนให้กับใครมากนักและสามารถถือหุ้นได้โดยไม่ต้องพะวงกับการถูก “ถอน” การลงทุน

   ความแตกต่างของมุมมองระหว่างนักลงทุนที่ถือสั้นกับถือยาวนั้นผมคิดว่ามีมากมายผมจะลองไล่ไปเรื่อย ๆ  โดยสิ่งที่ผมจะพูดนั้นอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากการศึกษาทางวิชาการแต่เป็นเรื่องที่ผมเคยได้ยินนักลงทุนโดยเฉพาะที่ชอบ “เล่นสั้น” พูดหรือทำ  ส่วนสำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น  นอกจากสังเกตจากคนอื่นแล้วก็เป็นเรื่องของความคิดผมเองในฐานะนักลงทุนระยะยาวที่มักจะมีความคิดและวิธีทำที่แตกต่างจากนักลงทุนระยะสั้น

   เริ่มต้นก็คือประเด็นสำคัญเรื่องของผลตอบแทน  คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าการเล่นสั้นนั้นกำไรดีกว่าการเล่นยาว  เหตุผลก็เพราะว่ามันสามารถทำกำไรได้ “หลายรอบ”  เช่น ถ้าคุณซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวภายใน 3 เดือน คุณก็จะมีโอกาสทำกำไรได้ปีละ 4 รอบ  ถ้าได้รอบละ “แค่ 10%” ปีหนึ่งก็กำไรไปแล้ว 40%  คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าหุ้นแต่ละตัวจะมีจังหวะของการวิ่งเร็วเป็นบางช่วง  ดังนั้น  เราก็ควรซื้อก่อนที่มันจะ  “วิ่ง”  หรือเริ่มวิ่ง  และขายเมื่อมันขึ้นไปอย่างรวดเร็วซึ่งมักจะไม่กี่เดือน  หลังจากนั้นมันก็อาจจะขึ้นช้าลงหรืออาจจะปรับตัวลงมา  ดังนั้นเราไม่ควรจะถือต่อแต่ควรจะขายทิ้งและไปหา “ตัวใหม่” ที่กำลังจะมา   ส่วนคนที่เล่นยาวนั้น  เชื่อว่าการถือหุ้นที่มีพื้นฐานมั่นคงโดดเด่นนั้น  หุ้นก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ปีหนึ่งอาจจะถึง 10-20% โดยเฉลี่ยตามกำไรของบริษัทที่เขาค่อนข้างมั่นใจว่าจะโตไปได้เรื่อย ๆ  ในอัตราที่ค่อนสูงเกิน 10% ต่อปีไปอีกหลายปี  การขายและเปลี่ยนตัวเล่นนั้นเขาก็ไม่แน่ใจว่าตัวใหม่จะมีผลงานเท่าตัวเก่าหรือไม่  พวกเขากลัวว่าจะเป็นการ  “ขายหมูแล้วไปซื้อควาย” อย่างที่ชอบพูดกันในหมู่นักลงทุน  นั่นคือขายหุ้นที่ขึ้นต่อแล้วไปซื้อหุ้นที่ซื้อแล้วก็ตกลงมา

   ประเด็นที่สองก็คือเรื่อง “จุดของการทำกำไร”  นักเล่นสั้นนั้นบอกว่า  “กำไรอยู่ที่การขาย”  นั่นคือ  การลงทุนนั้น  กำไรที่มากนั้นมักจะมาจากการขาย  นั่นก็คือ  คุณต้องรู้ว่าจะขายหุ้นตัวที่ซื้อมาเมื่อไร  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือต้องขายในช่วงที่หุ้นดีดตัวขึ้นมาแรงสู่จุดที่สูงมากในระยะสั้น  บางครั้งแค่พลาดไปไม่กี่วันหรือบางทีนาที  กำไรก็อาจจะหายหมดหรือลดน้อยลงไปมาก  ดังนั้น  ทักษะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนเล่นสั้นก็คือ  การจับจังหวะขาย  ส่วนคนเล่นยาวนั้นบอกว่าการขายนั้นไม่สำคัญ  กำไรเกิดขึ้นเมื่อเรา  “ซื้อหุ้นถูกตัว”  นั่นก็คือหุ้นที่มีคุณภาพที่ดีเยี่ยมในราคาถูก  ถ้าคุณซื้อหุ้นแบบนี้ได้  คุณไม่จำเป็นต้องรีบขายแม้ว่าในบางช่วงเวลาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าปกติและคุณ “พลาด” ที่จะขายมัน  แต่ในอนาคตต่อมา  มันก็มักจะปรับตัวขึ้นมาอีกจนสูงเท่าหรือสูงกว่าเดิม  ดังนั้น  การขายไม่สำคัญ  “กำไรอยู่ที่การซื้อ”

   “ยาวคือเสี่ยง  สั้นคือไม่เสี่ยง”  นี่คือคติประจำใจของคนเล่นสั้นที่คิดว่าการลงทุนระยะยาวนั้นเสี่ยงมากเนื่องจากในระยะยาวแล้วทุกอย่างก็อาจจะเปลี่ยนไป  ทั้งเรื่องของพื้นฐานของกิจการ  ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็เปลี่ยนไป  ยิ่งเวลาผ่านไปมากโอกาสที่เรื่องร้าย ๆ  จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้น  ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้  ดังนั้น  การถือหุ้นยาวคือเสี่ยง  บางคนนั้นแค่ถือหุ้นข้ามวันหยุดก็รู้สึกเสี่ยงแล้ว  แต่นักเล่นยาวนั้นมองตรงกันข้าม  พวกเขารู้สึกว่าในระยะสั้นนั้น  ทั้งตลาดและราคาหุ้นจะมีความผันผวนขึ้นลงเอาแน่อะไรไม่ได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  ดัชนีหุ้นก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้าเราถือยาวเป็น 5 ปีหรือ10 ปี  หรือถ้าเริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ 40 ปีที่แล้ว  ดัชนีตลาดจะให้ผลตอบแทนถึงปีละ 10% โดยเฉลี่ย  ไม่เสี่ยงเลย  นอกจากนั้น  สำหรับหุ้นรายตัวแล้ว  ถ้าคุณซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาวโดยการพิจารณาพื้นฐานของกิจการอย่างถี่ถ้วน  โอกาสก็สูงที่กำไรของบริษัทจะโตขึ้นเรื่อย ๆ  และถ้าเป็นอย่างนั้น  ราคาหุ้นก็ต้องปรับตัวขึ้นไปตาม  ดังนั้น  “ถือยาวไม่เสี่ยง ถือสั้นเสี่ยง”

   คนที่เล่นสั้นนั้นชอบหุ้นที่มี  “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งก็มีหลากหลาย  คนที่เล่นสั้นมากชอบการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น  หุ้นที่นิ่ง ๆ  เขาไม่สนใจ  เขาสนใจหุ้นที่กำลังขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วโดยไม่สนใจว่าบริษัททำอะไร   คนที่เล่นสั้นแต่ไม่มากอาจจะชอบหุ้นของกิจการที่เป็นวัฏจักรและวัฏจักรกำลังเป็นขาขึ้น   บางคนชอบหุ้นของกิจการที่กำลังฟื้นตัว  จำนวนมากชอบหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเนื่องจากสถานการณ์บางอย่างทางอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวย  ทั้งหมดนั้นมักจะมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ  มันต้องเป็นหุ้นขนาดเล็กหรือมี Free Float ต่ำที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งได้เร็วมากและมโหฬารได้  พวกเขาคิดว่านี่คือการทำเงินได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น  ส่วนพวกเล่นยาวนั้นมักจะชอบหุ้นที่  “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” แต่ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ  “ก็กิจการมันดีมากอยู่แล้ว”  การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอน  เป็นความเสี่ยง

   สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือมุมมองเกี่ยวกับปันผล  นักเล่นสั้นนั้นมักจะไม่ใคร่ “แคร์”  เรื่องเงินปันผลมากนัก  พวกเขาเห็นว่าเงินปันผลนั้นคิดเป็นผลตอบแทนน้อยนิด  พวกเขาคิดว่า “เทรดแค่ 2-3 วันก็เท่ากับเงินปันผลทั้งปีแล้ว” ดังนั้น  ปันผลจึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะมอง  ส่วนนักลงทุนระยะยาวนั้น  ปันผลเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกหุ้นลงทุนไม่น้อย  ว่าที่จริงในระยะยาวแล้ว  ปันผลในตลาดหุ้นไทยนั้นคิดเป็นผลตอบแทนเกือบครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนทั้งหมด  ดังนั้น  บ่อยครั้งในการลงทุนพวกเขาคิดถึงปันผลในการเลือกหุ้นลงทุนด้วย

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/14/1619


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



  Monday, 21 September 2015
  หลอก VI

    ในโลกของการลงทุนในหุ้นนั้น  การใช้ข่าวสารเพื่อ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับหุ้นนั้น  เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการทำกันเป็นล่ำเป็นสัน  ยิ่งมี “แรงจูงใจ” มากเท่าไร  การใช้ข่าวสารก็มีมากขึ้นเท่านั้น  แรงจูงใจที่จะเพิ่มมูลค่าของหุ้นนั้น  ส่วนใหญ่ก็มาจากผู้ถือหุ้นตั้งแต่รายเล็กย่อยไปจนถึงรายใหญ่ที่อาจจะเป็น  “เจ้าของ” ที่เป็นคนบริหารบริษัทด้วย   การเพิ่มมูลค่าของหุ้นโดยการใช้ข่าวสารในความหมายที่ผมพูดนั้น  เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลที่ดี ๆ เกี่ยวกับบริษัท เช่น  ทำให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทนั้นมีคุณสมบัติดีเยี่ยมในการแข่งขันทางธุรกิจ  สภาวะที่เอื้ออำนวยของอุตสาหกรรม  แผนงานการเจริญเติบโตของบริษัท   ในขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงหรือแก้ต่างข้อด้อยหรือจุดอ่อนที่มีคนชี้ให้เห็นหรือเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป

    กระบวนการให้ข่าวสารเพื่อทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าหรือราคาปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น  ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตก่อนวิกฤติปี 2540 ที่มักจะเล่นแต่เรื่องข่าวสารเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ “ขาใหญ่”และการ  “ปั่นราคาหุ้น”  เป็นหลัก  ในระยะหลังที่นักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น “VI” หรือนักลงทุนที่เน้นการลงทุนแนว  “พื้นฐาน” จำนวนมาก  ข่าวสารที่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในการ  “เพิ่มมูลค่า” ของกิจการ  นอกจากนั้นสื่อสารที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงไปมาก  นั่นคือ  มันมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกจนแทบจะ “ไม่มีต้นทุน” ผลก็คือ   หุ้นจำนวนมากนั้น  มีมูลค่าเพิ่มขึ้น “ตามพื้นฐาน”  หรือ  “สูงเกินกว่าพื้นฐาน”  เนื่องจากการให้ข่าวสารที่ดี ๆ  มากกว่าสิ่งที่แย่ ๆ  ทำให้นักลงทุนเห็นบริษัทในทางที่ดีเกินกว่าความเป็นจริงและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปมากกว่าความเป็นจริง

    คงไม่เป็นปัญหาถ้าข่าวสารที่ส่งออกไปเพื่อเพิ่มราคาหุ้นนั้นเป็นข่าวสารที่ถูกต้องและสิ่งที่คาดในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง  ประเด็นก็คือ  เนื่องจากแรงจูงใจที่จะเพิ่มราคาหุ้นนั้นมีสูง  ในบางครั้งและในบางบริษัทจึงมีผู้ถือหุ้นและ/หรือผู้บริหารที่ให้ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยเพื่อที่จะ  “หลอก” ให้คนเชื่อเพื่อที่จะได้หลงเข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้ขึ้นไปสูงเกินความเป็นจริง  โดยที่วิธีการหรือเรื่องที่จะใช้หลอกนั้น  แน่นอน  จะต้องไม่ทำให้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของทางการ  และคนที่จะถูกหลอกนั้นก็ต้องเชื่อและนำเรื่องนั้น “บอกต่อ” ให้คนอื่นเชื่อตามอีกอย่าง “ทวีคูณ”  ยิ่งมากก็ยิ่งดี  และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้นั่นก็คือ  การ  “หลอก VI” ซึ่งถ้าคิดโดยสามัญสำนึกแล้วพวกเขาไม่ควรทำ  เหตุเพราะว่า “VI” นั้นดูเหมือนว่าน่าจะเป็นคนที่มีความ  “รอบรู้”  มี “เหตุมีผล” และ  “ไม่ใช่คนที่จะถูกหลอกง่าย ๆ”  แต่นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง

    ผมเองมีความเชื่อว่าการที่คน ๆ หนึ่งจะถูกหลอกได้ง่ายหรือยากนั้น  อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็น “VI” หรือคุณเป็น  “แมงเม่า”  แต่มันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคนที่หลอก  ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยและคนที่จะถูกหลอกนั้นมี  “ความพร้อมที่จะให้หลอก” อาจจะเนื่องจากมีอารมณ์โลภหรืออะไรก็ตาม  และคนที่หลอกนั้นมีความรอบรู้ มีข้อมูล และ/หรือความเป็นเหตุเป็นผลเหนือกว่าคนที่จะถูกหลอก  การหลอกก็จะประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ  กัน   ว่าที่จริง  คนที่เป็น VI อาจจะถูกหลอกได้อย่างมั่นคงกว่าคนที่เป็นแมงเม่าด้วยซ้ำเนื่องจากพวกเขาอาจจะเชื่อด้วย  “เหตุผล”  โดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ผิด

    เรื่องราวการหลอกหรือเรื่องไม่จริงที่ผมเคยได้ประสบมาและ VI จำนวนไม่น้อยมักจะเชื่อนั้น  ผมจะลองจัดกลุ่มโดยเริ่มจากเรื่องแรกก็คือ  “บริษัทหรือกิจการเป็นผู้นำหรือมีเทคโนโลยีที่คนอื่นทำไม่ได้  ดังนั้นบริษัทก็จะได้งานหรือได้ธุรกิจที่กำลังจะโตมหาศาล”  ผมเองเคยเป็นวิศวกรโรงงานมานานหลายปี  “ธรรมเนียม” อย่างหนึ่งที่ผมเคยประสบและคิดว่าถึงวันนี้ก็คงไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากก็คือ  วิศวกรทั่ว ๆ ไปนั้น  ไม่ค่อยหวงเทคโนโลยี  เรายินดีต้อนรับถ้าใครอยากมาดูเทคนิคของเรา  ดังนั้น  ผมไม่ใคร่จะเชื่อเวลามีใครอ้างว่าคนอื่นหรือบริษัทอื่นทำไม่ได้  เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าจำเป็น  บริษัทอื่นอาจจะมา “ซื้อตัว” คนของบริษัทที่อ้างว่าเป็นรายเดียวที่ทำได้ก็ได้

    เรื่องที่ว่าบริษัทหนึ่งจะ  “เก่ง”  กว่าบริษัทอื่นนั้น  สิ่งที่ผมจะให้น้ำหนักจริง ๆ  ควรจะเป็นเรื่องของ  “โครงสร้าง” ของบริษัท  เช่น  บริษัทมีปัจจัยได้เปรียบในเรื่องของขนาดที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถทำเลียนแบบได้มากว่าเรื่องของเทคโนโลยีหรือระบบที่มักจะสามารถจัดหามาได้มากกว่า

    เรื่อง “หลอก VI” กลุ่มที่สองนั้น  ผมยกให้เป็นเรื่องของ  “อนาคตของบริษัท” นี่คือการที่หลอกว่าอนาคตยอดขายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรของบริษัทจะ “โตก้าวกระโดด” โดยดูตัวเลขจากอดีตที่บริษัทโตขึ้นมาหลายปีในอัตราที่สูงลิ่วแต่จากฐานที่ต่ำมาก  ประเด็นที่ไม่น่าจะจริงก็คืออัตรากำไรต่อยอดขายหรือมาร์จินที่สูงลิ่วในอดีตทั้ง ๆ ที่สินค้านั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือเป็นสินค้าที่โดยธรรมชาติไม่สามารถทำมาร์จินได้สูงนั้น  อาจจะมาจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวหรือรายได้พิเศษอื่น ๆ  ที่ผู้บริหารไม่ได้บอก  “VI” ที่  “ถูกหลอก” ก็จะรู้สึกดีกับกิจการมากว่าเป็นบริษัทที่  “โตเร็ว”  และดังนั้นจึงทุ่มซื้อหุ้นและบอกเพื่อน “VI” ด้วยกันว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและหุ้นจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

    การหลอก VI อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเองก็ไม่ได้แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือเรื่องของการซื้อหุ้นของเจ้าของและ/หรือผู้บริหาร  และนักลงทุน “รายใหญ่”  ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่ผมสังเกตพบอยู่เรื่อย ๆ ก็คือ การซื้อขายหุ้นและการ “โอนหุ้น” ของเจ้าของที่บางทีดูไม่ใคร่สมเหตุผล  ตัวอย่างเช่น  หุ้นบางตัวนั้น  เจ้าของมักเข้ามาซื้อหุ้นอยู่เรื่อย ๆ  ในจำนวนไม่มากนักหรือน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่เขาถืออยู่แล้ว  ส่วนตัวผมเองนั้นอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นการ  “หลอก” โดยการแสดงให้คนเห็นว่าเขาในฐานะเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเห็นว่าหุ้นนั้นมีราคาต่ำเกินไปจึงเข้ามาซื้ออยู่เรื่อย ๆ   เหตุผลของผมก็คือ  ถึงแม้ว่าหุ้นจะถูกในสายตาของเขา  เขาก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพื่อหวังกำไรเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย  เพราะถ้าในอนาคตหุ้นปรับตัวขึ้น  เขาก็มีหุ้นเดิมมากอยู่แล้ว  จะไปซื้อเพิ่มขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อยทำไม  ปล่อยให้หุ้นหมุนเวียนในตลาดให้มีสภาพคล่องดีขึ้นจะดีกว่า  เรื่องของการซื้อขายหรือโอนหุ้นรวมถึงการเข้ามาซื้อหุ้นแบบ PP ที่ต้องแสดงต่อสาธารณะนั้น  ผมคิดว่าในหลายกรณีมี  “ลูกหลอก” อยู่  ดังนั้น  เราต้องประเมินดูก่อนจะใช้ข้อมูลนั้น

    เรื่องของการถูกหลอกนั้น  ผมคิดว่าทุกคนแม้แต่ตัวผมเองที่เป็นคน  “ขี้สงสัยและเชื่อคนยาก”  ก็มีโอกาสที่จะถูกคนที่มีความรู้บางเรื่องสูงกว่าหลอกในเรื่องนั้น  กระบวนการที่สำคัญนอกจาก  “เรื่องราวที่สมเหตุสมผล”  แต่ไม่จริงแล้ว  ยังขึ้นอยู่กับ “ความถี่ในการรับรู้”  ด้วย  ดังนั้น  คนที่หลอกคนอื่นก็จะต้องพูดซ้ำหรือย้ำอยู่เรื่อย ๆ  ทุกครั้งที่มีโอกาส  นี่คือกระบวนการของการ  “ล้างสมอง”  ที่ได้ผลมาตลอดในประวัติศาสตร์  ความเป็นจริงก็คือ  ถ้าคนถูกป้อนข้อมูลเข้าสมองมากและนานพอ  เขาก็จะเชื่อในสิ่งนั้นแม้ว่าตอนแรกจะฟังดูไม่มีเหตุผลที่ดีพอ  แต่ในกรณีที่เหตุผลก็ดูดีแต่ไม่จริงและเราก็ไม่รู้ว่าไม่จริงแต่เราเชื่อเพราะว่าเราอยากเชื่อ)  เราก็จะเชื่อทันทีและเชื่ออย่างมั่นคงจนกว่าความจริงจะปรากฏและหักล้างความเชื่อนั้นอย่างสิ้นเชิง  และนี่ก็คือจุดอ่อนของนักลงทุนทุกคนไม่เว้นแม้แต่ VI เพราะในปัจจุบันนั้น  “VI” กลับกลายเป็นเป้าหมายของคนที่คิดจะหลอกในตลาดหุ้น

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/21/1621