Tigger Sound

สินค้าเครื่องเสียง จากสมาชิกร้านค้า ทั่วไทย
=> ตลาดกลาง การค้า เครื่องเสียง และอุปกรณ์ทุกชนิด จากร้านค้า ที่ร่วมสนับสนุน => www.STS-AUDIO.com Tel.081-032-2062 => ข้อความที่เริ่มโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 24, 2013, 12:04:59 pm

หัวข้อ: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 24, 2013, 12:04:59 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

คอลัมน์: โลกในมุมมองของVALUE INVESTOR: หลักที่คนไม่ทำตาม
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th) Tuesday, January 22, 2013  05:56
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   niwes_h@hotmail.com

          วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยพูดหลักการของเขาไว้ว่า "มีคนเอาไปกล่าวอ้างมากมาย แต่น้อยคนที่จะทำตาม" คงเป็นเรื่องดูดี ดูเท่ สำหรับคนที่อ้างคำพูดของบัฟเฟตต์ แต่ลึกๆ แล้ว เขาคงไม่เชื่อหลักการของบัฟเฟตต์ จะทำกำไรได้ดีเท่ากับแนวคิดและวิธีการของเขาเอง เขาอาจเชื่อสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ ว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบัฟเฟตต์  หรือเป็นสิ่งที่ดีในตลาดหุ้นอย่างตลาดหุ้นนิวยอร์ค หรืออาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักลงทุนบางคน ที่มีเงินมากมหาศาลอย่างบัฟเฟตต์ แต่ไม่ใช่สำหรับเขาที่มีพอร์ตเล็กนิดเดียว หรือในตลาดหุ้นไทยที่บริษัทส่วนมากเป็นบริษัทขนาดเล็ก และถ้าเป็นบริษัทใหญ่คุณภาพไม่โดดเด่นเหมือนอย่างในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่ทำตามสิ่งที่

          บัฟเฟตต์สอนในหลายเรื่อง   ว่าที่จริงในหลายหลักการที่บัฟเฟตต์พูดถึง เขากลับทำตรงกันข้าม ข้ออ้างของเขา คือ วิธีการลงทุนที่ดีที่สุด คือวิธีที่ถูกกับ "จริต" หรือสไตล์ หรือความชำนาญของตัวเอง "อย่าไปตีกอล์ฟตามวงของไทเกอร์วู้ด แต่ตีตามวงสวิงเหมาะกับร่างกายหรือความสามารถของตนเอง" เขาอาจพูดแบบนี้ ผมคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่นเป็นความคิดถูกหรือไม่ แต่อยากจะลองลิสต์ดูรายการที่ VI ไทยจำนวนไม่น้อยคิดและทำที่ดูเหมือนจะไม่ใช่แนวคิดของบัฟเฟตต์เลย

          เรื่องแรกคือบัฟเฟตต์บอกว่า การซื้อหุ้นของบริษัทดีเยี่ยมในราคายุติธรรม ดีกว่าการซื้อหุ้นของบริษัทธรรมดาราคาถูกมาก แต่ VI น้อยคนที่จะซื้อหุ้นของบริษัทดีมาก เพราะเขามักคิดว่า "แพง" เสมอ เมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่ง ที่กำลังมองอยู่ที่มีราคา "ถูกมาก" หลายคนอาจคิดหรือบอกว่า เขาคิดว่าการซื้อบริษัทที่ดีมาก บางทีอาจให้ผลตอบแทนที่ใช้ได้อยู่ แต่เมื่อเทียบกับบริษัทที่ "ถูกมาก" แล้ว ก็ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า ขณะที่ความเสี่ยงที่ราคาจะตกลงมามากกว่าเพราะราคา"สูง" สำหรับเขาแล้ว การซื้อบริษัทระดับรองลงมา ที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามากจึงคุ้มค่ากว่า

          เรื่องที่สองคือ ระยะเวลาลงทุนในหุ้นแต่ละตัว เรื่องนี้บัฟเฟตต์พูดไว้มากในหลายๆ โอกาส เริ่มตั้งแต่การโค้ดคำพูดของ ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์  ที่ว่า  ถ้าคุณซื้อหุ้นดีเยี่ยมในราคายุติธรรมได้แล้ว เวลาจะขายหุ้นคือ "ไม่มีวันขาย" หรือถือตลอดไป   หรืออีกครั้งหนึ่งบัฟเฟตต์ได้พูดถึงพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของคนในตลาดหลักทรัพย์ว่า  "นานมาแล้ว  เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน ได้ค้นพบทฤษฎีของการเคลื่อนไหวของวัตถุสามข้อซึ่งเป็นงานของอัจฉริยะ  แต่ความเป็นอัจฉริยะของเขานั้นไม่ได้ส่งมาถึงเรื่องการลงทุน  เขาขาดทุนอย่างหนักจากเหตุการณ์ฟองสบู่เซ้าธ์ซี ซึ่งทำให้เขาออกมาพูดว่า  ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวแต่ไม่สามารถวัดความบ้าคลั่งของมนุษย์   ถ้าเซอร์ไอแซ็คนิวตันไม่ชอกช้ำจากการสูญเสียครั้งนั้นเกินไป  เขาคงสามารถค้นพบกฎข้อที่สี่ของการเคลื่อนไหวนั่นคือ  สำหรับนักลงทุนโดยรวมแล้ว  ผลตอบแทนจะลดลงเมื่อการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น"

          VI ไทยส่วนใหญ่ที่ผมเห็นนั้น  ลงทุนในหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างสั้นมาก  น่าจะไม่เกิน 3-4 เดือน  คนที่ลงทุนยาวหน่อยก็อาจจะถึงปี  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เกินปีหรือสองปี จริงอยู่  นี่ก็อาจจะยาวแล้วเมื่อเทียบกับนักเล่นหุ้นทั่วไปที่อาจจะเล่นกันเป็นรายวัน แต่ถ้าจะบอกว่ามันเป็นการลงทุนที่เน้นในเรื่องของพื้นฐานหรือผลประกอบระยะยาวของธุรกิจตามหลักการแบบ VI แล้ว  ผมคิดว่าไม่ใช่  มันอาจจะเป็นเพียงการ "เล่นเก็งกำไรจากผลประกอบการระยะสั้น" มากกว่า

          เรื่องที่สามคือ  เรื่องของหุ้น Turnaround หรือหุ้นที่กำลัง "ฟื้นตัว" ซึ่งก็เป็นกลุ่มหุ้นที่กำลังร้อนแรงมากในช่วงนี้  เนื่องจากมันเป็นกลุ่มหุ้นที่มีราคากระโดดขึ้นไปมหาศาลเป็นหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้น  บางตัวขึ้นไปถึง 10 เท่าภายในเวลาปีเดียวก็มี   บัฟเฟตต์พูดสั้นๆ ว่า "Turnarounds seldom turnaround"  แปลว่าหุ้น "ฟื้นตัว"  นั้น น้อยครั้งที่จะ "ฟื้น"  ถ้าจะขยายความก็คือ  หุ้นกลุ่มนี้มักจะ  "ตาย"  มากกว่ารอด

          แต่สำหรับ VI ไทย  โดยเฉพาะในช่วงนี้  หุ้น "ฟื้นตัว" มีเพียบ  แทบจะพูดกันว่าตัวไหนจะ "ฟื้นตัว" รายต่อไป   ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างโดดเด่นตัวแล้วตัวเล่าพร้อมๆ  กับกำไรของบริษัทที่กำลังกลับมา  ไม่ว่าจะมาจาก "กิจการใหม่" หรือการ "ปรับโครงสร้างการเงินใหม่"  เป็นตัวยืนยันว่ามันกำลัง "ฟื้น"  เพราะฉะนั้น  ราคาจะต้องวิ่งแรง  ดังนั้น  การเข้าไปซื้อลงทุนก่อนก็จะทำเงินได้มหาศาล "หลายๆ เด้ง"  ดังนั้น  หุ้นก็วิ่งขึ้นไปไม่ว่าความจริงของธุรกิจจะเป็นอย่างไร   ถ้าจะพูดแบบคมๆ แบบ "วัดรอยบัฟเฟตต์"  เราก็อาจจะพูดว่าในตลาดหุ้นไทยนั้น  "Turnarounds always turnaround" แปลว่า  "หุ้นฟื้นตัวนั้น  ยังไงก็ต้องฟื้น"  ถ้ามีคนเชื่อและทำให้มันฟื้น

          เรื่องที่สี่ที่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ในการลงทุนนั้น  สิ่งหนึ่งที่บัฟเฟตต์พูดตลอดก็คือเรื่องความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร  เขาบอกว่า   "ครั้งหนึ่งมีคนบางคนพูดว่าในการจ้างคนมาทำงานนั้น  คุณมองหาคุณสมบัติสามประการคือ  ความซื่อสัตย์  ความฉลาดเฉลียว และความขยันหมั่นเพียร  และถ้าเขาไม่มีคุณสมบัติข้อแรก  คุณสมบัติอีกสองข้อจะฆ่าคุณ  ลองคิดดู  มันเป็นเรื่องจริง  ถ้าคุณจ้างคนที่ไม่มีคุณสมบัติข้อแรก  คุณก็อยากที่จะให้เขาโง่และขี้เกียจ"  เขายังเคยบอกว่าเขาไม่ต้องการลงทุนกับคนที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่เคยประสบความสำเร็จในการลงทุนกับผู้บริหารที่ไว้ใจไม่ได้และมีประวัติที่น่าสงสัย

          สำหรับ VI ไทยนั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะยึดกับหลักการนี้  อย่างน้อยเวลาพูด  แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเวลาเจอกับหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะมี "ประวัติ" ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่  "โปร่งใส"  แต่เวลานี้หุ้นดูเหมือนว่ามีราคาถูกมากหรือหุ้นอาจจะกำลัง  "ฟื้นตัว"  เขาจะยังสามารถยึดอยู่กับหลักการ  "ไม่เกี่ยวข้อง"  ได้หรือเปล่า    VI หลายคนอาจจะเปลี่ยนใจหรือไม่ก็อาจจะอ้างว่าพฤติกรรมที่ถูกกล่าวขวัญอาจจะไม่ชัดเจน  บางทีก็อาจจะดูว่าผู้บริหารอื่นก็ทำกัน  มากบ้างน้อยบ้างเป็นเรื่อง "ปกติ"

          ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ต่อให้ไม่น่าไว้วางใจยังไงก็ตาม  กำไรหรือผลประกอบการที่กำลังเกิดขึ้นนั้น  มันก็อาจจะคุ้มค่าอยู่ดี  กล่าวโดยสรุปก็คือ  เขาพร้อมจะ "หรี่ตาข้างหนึ่ง"  และเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะออก  "สีเทา" เพราะเขาคิดว่า  โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว  ว่าที่จริงการที่ผู้บริหารเป็นแบบนี้  ในใจเขากลับคิดว่าจะทำให้ราคาหุ้นมักจะวิ่งได้แรง และเร็วยิ่งกว่าที่ผู้บริหารยึดแต่ธรรมาภิบาลเป็นไหน ๆ  เพราะผู้บริหารที่ขาดธรรมาภิบาลนั้น  มักจะเข้ามาร่วม  "เล่นหุ้น"  ด้วย

          ทั้งหมดเป็นบางส่วนของคำพูดหรือหลักการที่คนชอบพูด แต่ไม่ใคร่จะปฏิบัติโดยอ้างเหตุยกเว้นและความไม่เหมาะสมกับสภาพและสถานการณ์ของตลาด  การที่คนปฏิบัติใน ทางตรงข้ามนั้น  แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีเหตุผล  ตรงกันข้าม  เขาอาจจะมีประสบการณ์ ที่ดี จากการทำแบบนั้น  พูดง่ายๆ สามารถทำกำไรได้มากกว่าจากการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่บัฟเฟตต์สอน  อย่างไรก็ตาม  ข้อเตือนใจของผมคือ  ผลการลงทุนที่ดีในช่วงเวลาหนึ่งนั้น  อาจจะไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าหลักการถูกต้อง   มันต้องอาศัยเวลาที่ยาวนาน  หลักการ ของบัฟเฟตต์หรือของ "เซียน" ระดับโลกนั้น  ส่วนใหญ่ถูกทดสอบมายาวนานว่าได้ผลดีและผมเชื่อว่าไม่ใคร่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือตลาดแต่ละแห่ง--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 27, 2013, 12:52:32 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 14 January 2013
The New Elite

เมื่อผมยังเป็นเด็กนั้น  คนที่เป็น  “ชนชั้นนำ”  หรือที่เรียกกันว่า Elite ในภาษาอังกฤษนั้น  ที่สูงที่สุดน่าจะอยู่ในแวดวงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รวมถึงนายทหารชั้นสูงที่มี  “นามสกุล”  ที่เก่าแก่เป็นที่รู้จักกันในสังคม  พวกเขามีทรัพย์สมบัติมากกว่าคนทั่วไปมากโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นที่ดินในทำเลทองของกรุงเทพ  ลูกหลานของพวกเขามักเล่าเรียนในโรงเรียนชั้นนำของประเทศและถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็จะย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำในต่างประเทศเมื่ออายุอาจจะซัก 12-15 ขวบ  และหลังจากนั้นก็อาจจะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีชื่อเสียงระดับโลก  หลังจากนั้น  หลายคนก็กลับมารับราชการและอาจจะเล่นการเมืองจนมีตำแหน่งใหญ่โตมีชื่อเสียง  นั่นก็คืออีลิทชั้นสูงที่สุดซึ่งก็มีจำนวนน้อยมาก

           อีลิทระดับรองลงมาที่มีจำนวนมากกว่าและ  “มาแรงกว่า”  ก็คือ  กลุ่มเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้เริ่มสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว  คนกลุ่มนี้มักเป็นคน  “รุ่นที่สอง” ของชาวจีนอพยพที่เข้ามาริเริ่มธุรกิจที่ยังมีไม่มากนักในเมืองไทย  พวกเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะ  “สร้างสถานะ”  ทางสังคมในด้านต่าง ๆ  โดยอิงกับธุรกิจและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในกลุ่มอีลิทชั้นสูงและพวกเดียวกัน  ลูกหลานของอีลิทในกลุ่มนี้มักเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำของประเทศเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในเครือคาทอลิกซึ่งมีประมาณ 7-8 แห่งทั้งโรงเรียนชายและหญิง  ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ก็มักจะรับนักเรียนจากพ่อแม่ที่เคยเป็นศิษย์เก่าทำให้ภาพของโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนของอีลิทไปด้วย   เด็กเหล่านี้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็มักจะเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ  บางคนที่สอบเอนทร้านซ์ไม่ติดก็เดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศที่เจริญแล้ว  เฉพาะอย่างยิ่งก็คืออเมริกาและอังกฤษ

          เวลาผ่านไปพร้อม ๆ  กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมหาศาล  ระบบการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  ข้าราชการที่เคยมีบทบาทและบารมีสูงส่งถูกลดบทบาทลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่นักการเมืองที่มักจะมาจากประชาชนธรรมดากลับมีอำนาจมากขึ้นและมากขึ้น  ในด้านของนักธุรกิจเองนั้น  พวกเขาก็เติบโตและร่ำรวยขึ้นมากกว่า  “เศรษฐีและผู้ดีเก่า”  อย่างเทียบกันไม่ได้  เหล่านี้ทำให้อีลิทที่เป็นชนชั้นนำรุ่นแรกที่กล่าวถึงลดสถานะลง  ว่าที่จริงถ้ามีแต่  “นามสกุลเก่า”  แต่ไม่ได้ร่ำรวยมากแล้ว  ความเป็นอีลิทก็อาจจะถือได้ว่าหมดไปแล้ว  “อีลิทรุ่นใหม่”  ที่มักประกอบด้วยเจ้าของธุรกิจ  “สมัยใหม่”  ที่มีขนาดใหญ่ในวันนี้ไม่ได้มี  “นามสกุลเก่า”    พวกเขามีนามสกุลยาวที่อาจจะตั้งขึ้นมานาน 2-3 ชั่วอายุคน   ครอบครัวไม่มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับงานราชการและก็ไม่สนใจที่จะทำราชการยกเว้นว่าอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐในฐานะของนักการเมืองสำหรับบางคน

          ลูกของคนที่เป็นอีลิทรุ่นใหม่นั้น  ผมคิดว่าพวกเขาจะเริ่มเรียนในโรงเรียนอินเตอร์มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ  หลายคนก็อาจจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก  แต่การส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกอย่างที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้น่าจะค่อย ๆ ลดลง   การมีลูกเรียนในโรงเรียนแบบไทยนั้นในไม่ช้าผมคิดว่าจะไม่ใช่หนทางของอีลิทรุ่นใหม่อีกต่อไป  คนที่ร่ำรวยมาก ๆ  และถือว่าเป็นอีลิทในวันนี้ที่ผมเห็นดูเหมือนว่าจะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ที่เปิดขึ้นมามากมาย  บางคนก็ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ  ในโรงเรียนอินเตอร์ที่ “แพงและโดดเด่น”  บางแห่งนั้น  เวลานี้เต็มไปด้วยเด็กที่พ่อแม่มีฐานะร่ำรวยมหาศาลและอาจจะต้องการที่จะให้ลูกได้อยู่ในบรรยากาศและเพื่อนที่มีพ่อแม่เป็นอีลิท  ดังนั้น  เราก็พอจะคาดได้ว่าเด็กเหล่านี้ที่จะกลายเป็นอีลิทในอนาคตจะเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก  พวกเขาจะ  “โกอินเตอร์”  อย่างเป็นเรื่องปกติโดยใช้ภาษาอังกฤษที่มีการใช้กันแพร่หลายเพิ่มขึ้นทั่วโลก

          ภาษาจีนที่อาจจะมีคนคิดว่าเราต้องรู้เพื่อสื่อสารติดต่อกับคนจีนที่มีกว่าพันล้านคนและธุรกิจของจีนที่กำลังเติบโตขึ้นมหาศาลและคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในที่สุดนั้น  ผมไม่คิดว่าอีลิทรุ่นใหม่จะสนใจเรียนรู้มากนัก  เหตุผลก็คือ  การติดต่อกับธุรกิจจีนโดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่นั้น  สามารถติดต่อเป็นภาษาอังกฤษได้เนื่องจากคนจีนเองก็จะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ  การที่อีลิทรุ่นใหม่จะเรียนรู้ภาษาจีนนั้นจึงไม่น่าจะ  “คุ้มค่า”   พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงเพื่อนนักเรียนร่วมสมัยของผมที่เรียนภาษาฝรั่งเศสและสเปนที่ป่านนี้อาจจะมีโอกาสใช้ให้เป็นประโยชน์น้อยมาก  เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่นที่ผมคิดว่าไม่น่าจะสามารถทำเงินหรือเป็นประโยชน์มากนัก  เหตุผลที่ภาษาอื่น ๆ  มีการพูดในระดับสากลน้อยลงนั้นผมคิดว่าเป็นเพราะภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาที่  “ชนะ”  และเมื่อมันชนะมันก็จะได้เปรียบมากขึ้น  มันก็คล้าย ๆ  เครือข่ายสังคมที่ถ้ามีคนเข้ามาร่วมมากขึ้นก็ทำให้คนใหม่ ๆ  อยากเข้ามาร่วมมากขึ้น  และทำลายเครือข่ายที่เล็กกว่าในที่สุด  ด้วยเหตุผลแบบนี้   ผมจึงคิดว่าการเรียนภาษาจีนอาจจะไม่คุ้ม  และถ้าจะให้เลือกว่าเราสามารถใช้ภาษาอังกฤษที่ดีมากภาษาเดียว  กับการที่ใช้ได้สองภาษาแบบงู ๆ ปลา ๆ  ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้เท่ากัน  ผมเลือกที่จะขอใช้ภาษาอังกฤษดีกว่า

          อีลิทรุ่นใหม่นั้นไม่ได้เหมือนอีลิทรุ่นเก่าในด้านของสังคม  พวกเขาไม่จำเป็นต้องมี  “หัวโขน” หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าตามสายบังคับบัญชา  คนไม่สนใจว่าคุณจะเป็นหัวหน้ากอง  เป็นอธิบดี  เป็นทูต  เช่นเดียวกับตำแหน่งทางบริษัทหรือองค์กรทางธุรกิจว่าคุณเป็นผู้จัดการฝ่าย  เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ  หรือตำแหน่งอะไรในบริษัท  ชื่อเสียงหรือความ “ดัง”  หรือความสามารถที่เป็นที่ยอมรับจะเป็นสิ่งที่อีลิทแสวงหา  นี่คงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานอีลิทในช่วงเวลานี้ต่างก็อยากเป็นดารา  นักร้อง  พิธีกร  แม้แต่ลูกหลานนักการเมืองใหญ่ที่โด่งดังหรือนักธุรกิจใหญ่มาก ๆ หลาย ๆ  คนเดี๋ยวนี้เลือกที่จะเป็นดารา  พิธีกร  หรือเป็นนักเขียน  แทนที่จะทำงานตามรอยพ่อแม่  แม้ว่างานนั้นอาจจะไม่ใช่งานถาวรที่จะทำต่อไปตลอด  ในอีกด้านหนึ่ง  อีลิทรุ่นใหม่หลายคนก็เข้ามาเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับดาราซึ่งก็ทำให้ตนเองกลายเป็นคนดังไปด้วย  ว่าที่จริง  ดาราระดับ “ซุปเปอร์สตาร์”  ของไทยในขณะนี้ผมก็คิดว่าพวกเขาก็มีสถานะเป็นอิลิทกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยแล้วเมื่อดูจากฐานะการเงินและชื่อเสียงของพวกเขา

          ผมคงจะจบเรื่องอีลิทรุ่นใหม่ไปไม่ได้ถ้าจะไม่พูดว่านักลงทุนโดยเฉพาะแบบ VI ที่ประสบความสำเร็จสูงและ/หรือหรือมีพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่โตด้วยเหตุผลอะไรก็ตามนั้น  กำลังน่าจะกลายเป็นอีลิทอีกกลุ่มหนึ่งที่ใหม่ที่สุดและใหม่กว่ากลุ่มดารา  แน่นอน  พวกเขาหลาย ๆ คนนั้นมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย  ทำธุรกิจ  และก็มีสถานะที่ดี  บางทีก็อาจจะเป็นอีลิทอยู่แล้ว  แต่การเป็นนักลงทุนนั้น  มันเป็นอีกสถานะหนึ่งที่สังคมน่าจะเริ่มยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ  พูดง่าย ๆ  คนไม่คิดว่าการร่ำรวยจากการลงทุนนั้นเป็นเรื่องของการพนันหรือเป็นเรื่องของคนขี้เกียจไม่ทำงาน   ที่สำคัญ  มันเป็นสถานะที่คนทั่วไปไขว่คว้าได้  มันมีบทเรียนที่คนสามารถเรียนรู้และใช้มันเพื่อที่จะไปถึงสถานะที่เป็นอีลิทในสังคม  และถ้าจะว่าไป  นี่คือเส้นทางที่จะทำให้คนเปลี่ยนสถานะได้โดยที่เขาไม่ต้องทำสิ่งที่เป็นการฉ้อฉลหรือเอาเปรียบคนอื่น  เพราะการลงทุน  โดยเฉพาะที่เป็นแบบ VI นั้น  มันเป็นเกมหรือการทำงานที่แฟร์ที่สุดอย่างหนึ่ง

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/01/14/1238
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 01, 2013, 12:40:32 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 28 January 2013
ชีวิตที่เรียบง่าย

วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่งติดต่อกันมานาน  นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้บริหารของ เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับต้น ๆ  ของอเมริกาและของโลก  ดูจากโปรไฟล์แบบนี้คนก็ต้องคิดว่าชีวิตของเขาในแต่ละวันคงจะยุ่งเหยิงมากจนหาเวลาที่เป็นส่วนตัวได้ยาก  แต่เปล่าเลย  ในแต่ละวันเขาเดินทางไปทำงานอย่างสบาย ๆ  ขับรถเองออกจากบ้านถึงที่ทำงานก็กินเวลาไม่กี่นาที  เวลาทำงานของเขาส่วนใหญ่ก็คือการนั่งอ่านหนังสือซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ  เช่นหนังสือรายงานประจำปี  หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อเสนอขายหุ้นหรือกิจการให้เบิร์กไชร์  เวลาอีกส่วนหนึ่งก็คือการพูดคุยทางโทรศัพท์ที่น่าจะรวมถึงการสั่งซื้อหรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งก็ไม่ได้บ่อยหรือใช้เวลามากนัก  ที่น่าทึ่งก็คือ  เขาไม่นั่งดูจอคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามราคาหุ้นหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย  ว่าที่จริงเขาไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน  พูดกันว่าเขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือด้วย  แต่เรื่องนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจริงไหม  ครั้งหนึ่ง ลูกชายของ นางแคทเธอรีน เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ที่บัฟเฟตต์ร่วมถือหุ้นและสนิทสนมด้วยต้องการมาพบบัฟเฟตต์และขอนัดเวลา  บัฟเฟตต์ตอบว่า  “มาได้เลย  ผมไม่มีตารางเวลานัด”

          บัฟเฟตต์ไม่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น  เขากลับบ้านตามเวลาปกติ  ช่วงหัวค่ำเขาอาจจะนั่งดูทีวีพร้อมกับข้าวโพดคั่ว  บางวันก็เล่นบริดจ์ผ่านอินเตอร์เน็ตกับคู่ขา  ลูกของบัฟเฟตต์เคยเล่าว่า  ในช่วงวัยเด็กเขาไม่เคยเห็นพ่อทำงานบ้านอะไรเลย  วัน ๆ  เอาแต่อ่านหนังสือ  เวลาที่บัฟเฟตต์กินอาหารนอกบ้าน  เขาก็มักจะไปกินที่ร้านเดิม ๆ  และอาหารก็น่าจะ  “เดิม ๆ”  เขาบอกว่า  “ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม  อาหารร้านนี้อร่อยอยู่แล้ว”  เวลาที่บัฟเฟตต์เดินทางโดยเครื่องบินนั้น  เขาไปของเขาเองโดยไม่มีคนติดตาม  ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่ามีคนไปเจอบัฟเฟตต์ในสนามบิน  อาจจะในร้านแม็คโดนัลด์  เขาเข้าไปทักและพูดทำนองว่า  “คุณคือ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเปล่า”  ซึ่งบัฟเฟตต์ตอบว่า “ใช่”  แต่เขากลับอุทานว่า  “เป็นไปไม่ได้”  เขาคงคิดว่าบัฟเฟตต์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะมาเดินลากกระเป๋าแบบนี้ได้อย่างไร   ข้อสรุปของผมก็คือ  ชีวิตของวอเร็น บัฟเฟตต์  นั้น  เป็นชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของเขาในสังคม  และนั่นนอกจากเป็นเพราะอาชีพนักลงทุนนั้น  ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีความซับซ้อนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จแล้ว  ชีวิตที่เรียบง่ายยังเป็นสิ่งที่เขาเลือก  ครั้งหนึ่ง  เขาได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีของสหรัฐซึ่งในทางสังคมแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่มีเกียรติอย่างสูงและทุกคนต่างแสวงหา  แต่บัฟเฟตต์ปฏิเสธ  เขาคงคิดว่า  “ไม่รู้ไปทำไม”

           ผมเองเคยผ่านชีวิตของการเป็นผู้บริหารของธุรกิจมานาน  แม้ว่าจะไม่เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดแต่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่และเกี่ยวข้องกับสังคมในตลาดหลักทรัพย์  หลังจากลาออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวประมาณสิบปีมาแล้วผมก็พบความแตกต่างระหว่างการเป็นพนักงานหรือผู้บริหารธุรกิจกับการเป็นนักลงทุนในด้านของการใช้ชีวิตและสังคมอย่างชัดเจน

            ข้อแรกก็คือ  ชีวิตของการเป็นผู้บริหารโดยเฉพาะในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคมหรือราชการนั้น  เป็นชีวิตที่มีความเครียดสูงมาก  ประเด็นก็คือ   การที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องและจ้าวนายจำนวนมากนั้น  ทำให้ชีวิตเรา “ซับซ้อน” มาก  แต่ละวันเราจะมีเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจแตกต่างกันออกไป  เรื่องส่วนใหญ่ก็ไม่สำคัญอะไรนักต่อความสำเร็จขององค์กร  แต่การตัดสินใจอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจคนอื่นก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อหน้าและลับหลังทำให้เราเครียด  เรื่องที่สำคัญมากจริง ๆ  บางครั้งหรือบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถทำตามที่เราคิดได้เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัย  “เสียงส่วนใหญ่”  ที่คิดไปอีกทางหนึ่งหรือมี  “แรงจูงใจ”  บางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจไปอย่างนั้น  ประเด็นสำคัญก็คือ  แม้ว่าเราจะคิดและตัดสินใจในทางตรงกันข้ามแต่เราก็ต้อง “รับผิดชอบ” กับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นั้น  และนี่ก็ทำให้เกิดความเครียด  เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดในอนาคต  เราอาจจะต้องรับผิดไปด้วย

            ในเมืองไทยเรานั้น   ประเด็นที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นอีกก็คือ  กฎเกณฑ์และระบบกฎหมายและความยุติธรรมของเรานั้นยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร  ดังนั้น  ถ้าเราอยู่ในธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือรัฐมาก  เช่น  บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจการเงินอย่างที่ผมเคยทำ  “ความเสี่ยง” ของผู้บริหารก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ  ประเด็นก็คือ  ในระบบของบ้านเรานั้น  การ “กล่าวโทษ” ทำได้ง่าย  และความผิดนั้น  อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องของการทุจริตหรือความผิดพลาดของการตัดสินใจแต่เป็นเรื่องของการทำผิด “กฎระเบียบ”  ที่สุดจะ  “ซับซ้อน”  ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้คุณต้องตกเข้าไปสู่ “วังวน”  ของปัญหาที่จะทำให้ชีวิตของเราเครียดไปอีกนานถ้าถูกกล่าวโทษ

           ข้อที่สองก็คือ  การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารขององค์กรที่ใหญ่โตนั้นทำให้เรามีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนที่เป็นนักลงทุนในสายตาของคนทั่วไป  นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ยังยึดถือในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าค่อนข้างมากแม้ว่าจะค่อย ๆ  ลดลงในช่วงหลังนี้   การมี  “หัวโขน”  นั้น  แม้ว่าจะทำให้คนที่  “สวม”  อยู่รู้สึกดี  แต่มันก็ทำให้ชีวิตของเราซับซ้อนขึ้น  เราถูกทำให้ต้องคิดคำนึงถึงการ  “วางตัว”  ให้เหมาะสมกับ  “ชั้น”  หรือสถานะที่เราอยู่อย่างเคร่งครัด  เราจะทำตัว “มอซอ” หรือไม่ไปเคารพนบนอบ “ผู้ใหญ่”  ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ  ไม่ได้   แม้แต่ชีวิตส่วนตัวของเราเอง   เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแบบสบาย ๆ  ที่ดูแล้วอาจจะทำให้เรา  “เสียลุค”  ทำให้คน  “ขาดความนับถือ”  ได้    นอกจากนั้น  การเป็น  “คนสำคัญ”  ยังหมายความว่าคุณจะต้องมีหรือทำกิจกรรม  “เพื่อสังคม”  หรือต้อง  “เข้าสังคม”  กับคนกลุ่มต่าง ๆ  โดยเฉพาะที่อยู่ในระดับเดียวกันเป็นประจำซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตค่อนข้างที่จะเครียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีพื้นฐานนิสัยที่ค่อนข้างเป็นแบบ  “เสรีชน”

             ชีวิตของคนที่ทำงานหรือเป็นผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่นั้นดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงการมีชีวิตที่ซับซ้อนไปได้ยากและหลายคนก็อาจจะชอบมัน  ว่าที่จริงการมีชีวิตที่เรียบง่ายนั้นอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ทำงานในองค์กรด้วยซ้ำ  แต่ชีวิตของนักลงทุนนั้น  ผมคิดว่าเราต้องการความเรียบง่ายมากกว่า  เหตุผลก็คือ  ความเรียบง่ายนั้น  มักทำให้เราได้สัมผัสกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายได้มากกว่าความซับซ้อน  ว่าที่จริง  ปีเตอร์ ลินช์ เองเคยพูดไว้ว่า  “ถ้าคุณเป็นคนขับรถสิบล้อ  คุณจะได้เปรียบในการลงทุน”   ส่วนตัวผมเองนั้น  สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัทนั้น  ผมเองก็ยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีร้านสะดวกซื้อมากมายนัก  เหตุผลก็เพราะผมมีคนคอยจัดการเรื่องกาแฟและใบเสร็จค่าน้ำไฟรวมถึงเรื่องจิปาถะต่าง ๆ  แต่หลังจากออกมาเป็นนักลงทุนที่ต้องทำทุกอย่างเองเหมือนกับคนทั่วไป  ผมถึงได้ค้นพบว่านี่คือสิ่งที่คนเกือบทั้งประเทศต้องการแทบจะขาดไม่ได้
             ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น  ไม่ได้ช่วยแต่ในเรื่องของการลงทุน  ส่วนตัวผมเองนั้น  สามารถลดความเครียดลงได้น่าจะ 80-90%  จากการที่เลิกทำงานที่มีความซับซ้อนและความเครียดสูงลง  การที่พูดเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าเราควรลาออกจากงานมาลงทุนเต็มตัวเพื่อใช้ชีวิตที่เรียบง่าย  ผมเพียงแต่ต้องการบอกว่า  การทำชีวิตให้เรียบง่ายนั้น  เป็นสิ่งที่ดีและทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น  และการลงทุนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจจะทำให้เราสามารถเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้

Posted by nivate at 11:27 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/01/28/1244
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 06, 2013, 04:11:47 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 4 February 2013
Stocks Mania

สถานการณ์หรือภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องของการ  “เก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง”  ในตลาดของทรัพย์สินต่าง ๆ  ที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวในที่ต่าง ๆ  ทั่วโลกและในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปีเท่าที่ผมยังจำความได้  และแน่นอน  ผมต้องนึกถึงประวัติของการเก็งกำไรระดับโลกที่ได้มีการจารึกไว้และเล่าขานต่อเนื่องกันมานานนั่นก็คือเรื่องของการเก็งกำไรอย่าง  “บ้าคลั่ง”  ในหัวดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงปี ค.ศ. 1634-1637  ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า  “Tulip Mania”

           เล่ากันว่าในช่วงนั้นผู้คน  “ขายบ้านขายช่อง” เพื่อที่จะนำเงินมาซื้อหัวทิวลิปที่มีลวดลายสวยงามที่เกิดขึ้นจากการที่มัน “ติดเชื้อไวรัส”  หรือจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตามที่ทำให้มันแปลกตาและหายากที่ทำให้คน  “อยากเล่น”  เพื่อที่จะ  “ขายต่อ”  ให้คนอื่นที่จะเข้ามา  “บิดราคา”  เพื่อที่จะซื้อและก็  “ขายต่อ”  ให้กับคนอื่นไปเรื่อย ๆ  ผ่าน  “ตลาดล่วงหน้า”  ที่เป็น  “สัญญากระดาษ”    ว่ากันว่าในช่วงที่ราคาหัวทิวลิปขึ้นสูงสุดนั้น  ทิวลิปที่  “สวยจริง ๆ” จะมีราคาเท่ากับรายได้ของช่างชำนาญงานถึง 10 ปี  คนที่เล่นเก็งกำไรหัวทิวลิปนั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนร่ำรวย  คนชั้นสูงและขุนนางที่ต่างก็  “ทนไม่ไหว”  กับการที่เห็นคนอื่น “รวยเอา ๆ  อย่างง่าย ๆ”  โดยการเข้าไปซื้อหัวทิวลิปในตลาด

            แน่นอนว่าราคาของหัวทิวลิปที่ขึ้นไปจน  “เกินพื้นฐาน”  ไปมาก ๆ  นั้น  ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้และก็ตกลงมาจนแทบจะไม่มีค่าหรือเท่ากับพื้นฐานของมัน   ว่าที่จริง  มูลค่าที่แท้จริงของทิวลิปนั้น  ถ้าไม่คิดถึงสีสันลวดลายของมันที่เป็นเรื่องของจิตใจแล้ว  มันก็คือดอกไม้ธรรมดา ๆ  ที่มีค่าน้อยมาก  การที่คนให้คุณค่ามันมากมายนั้น   แท้ที่จริงแล้วก็คือ  คุณค่าของการ  “เก็งกำไร”  คือซื้อเพื่อหวังจะขายต่อในราคาที่สูงขึ้น  แต่ตัวของมันสร้างรายได้หรือทำเงินน้อยมาก  หลังจากกรณีของ  “ฟองสบู่ดอกทิวลิป”  แล้ว  โลกและประเทศไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของการเก็งกำไรมาเรื่อย ๆ  ราวกับว่าคนไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น  หรือถ้าจะอธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ  คนไม่ได้สนใจว่า  “จุดสุดท้าย” จะเป็นอย่างไร  พวกเขาอาจจะเพียงแต่คิดว่าในระหว่างที่ราคากำลังขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” นั้น  โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว  “ยิ่งรอก็ยิ่งเสียโอกาส”  ดังนั้นเขาจึงเข้าไปเล่น  เหนือสิ่งอื่นใด  ฟองสบู่แต่ละครั้งมักจะอยู่นานเป็นปี ๆ

             ในประเทศไทยเองนั้น  ผมยังจำได้ว่าในช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ  ซึ่งก็ประมาณเกือบ 40 ปีมาแล้ว  ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่อยู่ ๆ  คนไทยก็เริ่มสนใจและเริ่มซื้อขายหินสวยงามชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  “โป่งข่าม”  นี่คือหินที่มีสีและลวดลายแปลก ๆ ในแต่ละเม็ดไม่ซ้ำกัน  ขนาดของแต่ละเม็ดก็แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของหิน  เมื่อได้มาแล้วคนก็จะนำไปเจียระไนเพื่อนำไปทำหัวแหวนและเครื่องประดับอื่น ๆ เพื่ออวดกันในหมู่เพื่อนฝูง  เมื่อความนิยมในสังคมมีมากขึ้น  การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตามมา  หนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ  ก็เริ่มตีพิมพ์เรื่องราวและความสวยงามของหินชนิดนี้  และแล้วเรื่องราว“ปาฏิหาริย์”  ก็ตามมา   บ้างก็ว่าเมื่อสวมใส่โป่งขามแล้วทำให้โชคดี  บ้างก็อ้างว่ามันมี  “พลัง”  ในตัวที่ทำให้โรคภัยบางอย่างของผู้สวมใส่เช่นอาการหืดหอบหาย   ผู้หญิงบางคนบอกว่าใส่โป่งข่ามแล้วทำให้ใบหน้า  “มีน้ำมีนวลขึ้น”  ด้วย   ราคาของโป่งข่ามพุ่งขึ้นไปสูงมาก  บางเม็ดอาจจะขึ้นไปเป็นหมื่นหรือเท่าไรผมก็จำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าไป “เล่น” เลย   แต่หลังจากนั้นความนิยมก็ลดลงเรื่อย ๆ  จนแทบไม่มีราคา  เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักแล้วว่าโป่งข่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

            เมื่อราวซัก 10 ปีที่ผ่านมาเราคงจำกันได้ว่าคนไทยเริ่ม  “บ้า”  จตุคาม ที่เป็นเหรียญที่เข้าใจว่ามีคนจัดทำขึ้นเพื่อเป็น  “สิ่งศักดิสิทธ์”  เริ่มต้นจากนครศรีธรรมราชถ้าผมจำไม่ผิด  ต่อมาก็มีคนจัดทำมากขึ้น  ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่วัดหรือหน่วยงานจะหารายได้มาทำนุบำรุงองค์กรของตน   เมื่อมีการทำกันมากขึ้นก็เริ่มมีเรื่องราว  “ปาฏิหาริย์”  ตามมา   บางคนก็เริ่มสนใจในความ “งดงาม”  ของจตุคามที่ออกกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ   หลายคนแขวนจตุคาม  “เต็มคอ”  กลายเป็นแฟชั่น  และก็เช่นเคย  สื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์ก็เริ่มจับเรื่องนี้มาเล่น  ราคาของจตุคามบางรุ่นถูก  “ไล่ราคา”  ขึ้นไป   ผมก็ไม่แน่ใจว่ารุ่นที่แพงมาก ๆ  เป็นเท่าไร   แต่ราคาในระดับแสนบาทก็น่าจะมีอยู่บ้าง  อย่างไรก็ตาม   การเล่นจตุคามก็ตกลงอย่างรวดเร็ว  ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ  Supply หรือของใหม่นั้นออกมาได้เร็วและมากอย่างไม่มีข้อจำกัด  เดี๋ยวนี้คนเลิกหมดแล้ว  และผมเชื่อว่าจตุคามที่เคยโด่งดังก็คงมีราคาน้อยมาก

            ความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่มีผลกระทบ “ระดับชาติ”  ของไทยนั้นก็คือการเล่น  “แชร์แม่ชม้อย”  ซึ่งเป็น  “แชร์ลูกโซ่”  กองแรก ๆ ของไทยเมื่อประมาณซัก 35 ปีก่อน  นั่นก็คือ  การที่ “เจ้ามือ”  เสนอการลงทุนในอะไรบางอย่างที่กำลัง  “ร้อนแรง” เช่น  น้ำมันในกรณีของแม่ชม้อย  คนที่เข้ามาเล่นจะต้องจ่ายเงินค่าแชร์เช่น  ซื้อน้ำมันหนึ่งคันรถอาจจะเท่ากับ 10,000 บาท  หลังจากนั้นแต่ละเดือนเขาจะได้รับเงินปันผลตอบแทนเช่น  1,000 บาททุกเดือน   แน่นอน  เงินนั้นไม่ได้นำไปลงทุนซื้อน้ำมัน  แต่ถูกนำไปจ่ายเป็นปันผลให้กับคนที่ลงทุนมาก่อน   ตราบใดที่ยังมีคนใหม่มาลงทุนเพิ่ม  คนเก่าที่ลงทุนไว้ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเดือนละ 10% ไปเรื่อย ๆ  ซึ่งนี่ทำให้คนที่ยังไม่ได้ลงทุนเห็นและอยากเข้ามาลงทุนเพราะเป็นหนทางที่จะทำเงินได้ง่าย ๆ  บางคนอาจจะ “ขายบ้าน”  มาลงทุน  เพราะ  “ถ้าอยู่ได้ถึงปี  เงินก็ได้คืนมาหมดแล้ว”  ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคนที่เข้ามาตั้งแต่แรก ๆ  และอยู่ได้เกินปีแต่น่าเสียดายที่ว่าเขาไม่ได้เงินคืนเลย  เพราะเมื่อได้ปันผลมา  เขาก็ “โลภ”  แทนที่จะเก็บไว้  กลับนำไปลงทุนต่อ  ซึ่งทำให้ต้องหมดตัวเมื่อแชร์ “ล้ม”

            สุดท้ายของเรื่องความ “บ้าคลั่ง”  ของการเก็งกำไรที่แทบทุกประเทศต้องเคยประสบถ้าตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่งเกิดก็คือ  การเก็งกำไรในหุ้นที่รุนแรงจนกลายเป็น  “ฟองสบู่”  แน่นอน  ประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่องของ  “ฟองสบู่เซ้าท์ซี”  และฟองสบู่ในปี 1929 ในตลาดสหรัฐที่มีผลกระทบกว้างขวางทั่วโลกและกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อ  “ฟองสบู่แตก”  ราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 10%  แต่ความบ้าคลั่งหรือฟองสบู่ขนาดย่อม ๆ  นั้นก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ  แต่ละครั้งก็มักจะทิ้งเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 15-20 ปีขึ้นไป  ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศอาจจะมีน้อย   อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแล้ว  บ่อยครั้งมันเป็น  “หายนะ”   เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้นนั้น  แทบจะไม่มี “สัญญาณเตือน”  หรือมีก็ “ไม่มีใครเชื่อ”  เหตุเพราะว่า  “ฟองสบู่”  นั้นมักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ดีเยี่ยม  โดยทั่วไปก็มักจะเริ่มต้นจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดี  เศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นฐานใหม่ เช่น  “การเปิดเสรีทางการเงิน”  “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”  “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่”  หรือไม่ก็หลาย ๆ  เรื่องประกอบกันที่ทำให้คนเห็นว่า  หุ้นนั้นจะมีแต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ  และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ทำให้ราคาที่สูงลิ่วนั้นคงอยู่ไม่ได้  ต่อเมื่อหุ้นตกลงมาแล้ว  คนถึงได้รู้ว่าราคาที่เห็นนั้นเป็น  “ฟองสบู่”

            ก่อนที่จะจบบทความนี้  ผมคงต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เป็นฟองสบู่แล้ว  เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้  ผมเพียงแต่รู้สึกว่าในช่วงเวลานี้  คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังสนใจลงทุนในหุ้นกันมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน  ดังนั้น  ถ้าผมจะบอกว่าในช่วงนี้เป็นช่วง  “Stocks Mania”  หรือคนกำลังคลั่งไคล้ในหุ้น  ก็คงไม่ผิดจากความจริงไปมากนัก   
                                 
Posted by nivate at 11:27 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/04/1245

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 12, 2013, 12:30:03 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 11 February 2013

The New Middle Class



ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ “ยิ่งใหญ่” เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาพร้อม ๆ  กันทั่วโลก  นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่คนมีรายได้  “น้อย”  คิดหรือทำตัวคล้าย ๆ  กับ  “ชนชั้นกลาง”  โดยเฉพาะในการประท้วง  เรียกร้องสิทธิทางการเมือง  และต่อสู้เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในอดีตหรือโดยปกติจะเป็นเรื่องของคนชั้นกลางที่มีรายได้ประมาณ 10,000 เหรียญหรือ 300,000 บาทต่อปีขึ้นไปที่มีความมั่นคงในชีวิตและไม่ต้องคำนึงถึงปากท้องประจำวันที่จะคิดและทำ  ส่วนคนที่มีรายได้น้อยกว่านั้นในอดีตพวกเขามักจะขาดการศึกษา  การเรียนรู้  และข้อมูล  ที่มีราคาแพงและพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอ    แต่ในปัจจุบัน  ด้วยการพัฒนาและการกระจายตัวของอินเตอร์เน็ตที่มีราคาถูก  รวมถึงทีวีผ่านดาวเทียม  โทรศัพท์มือถือ  และข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซ้ต์ต่าง ๆ  ที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้คนที่มีรายได้ “น้อย”  สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตหรือคิดและทำแบบที่ชนชั้นกลางทำ  และนี่ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นในประเทศย่านแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง  ที่เรียกกันว่า  “อาหรับสปริง”  การประท้วงต่อต้านคอร์รัปชั่นและการเรียกร้องสิทธิทางสังคมต่าง ๆ  ในอินเดียและจีน  และแน่นอน  การประท้วงเรียกร้องต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้โดยเฉพาะของ  “คนเสื้อแดง”

          คำที่ใช้เรียกคนที่มีรายได้ “น้อย”  ที่ทำตัวคล้ายคนชั้นกลางนั้น  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า  “Virtual middle class” หรือ  “ชนชั้นกลางเสมือนจริง”  ในเมืองไทยนั้น  นักวิชาการบางคนเรียกว่า  “คนชั้นกลางระดับล่าง”   ชนชั้นกลางเสมือนจริงในประเทศอย่างอินเดียหรือจีนนั้น  มองกันว่ามีจำนวนหลายร้อยล้านคนหรือพอ ๆ  กับคนชั้นกลางในสองประเทศนั้น    ในประเทศไทยเองนั้น  คนชั้นกลางระดับล่างนั้นน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนหรือน่าจะเท่า ๆ  หรือมากกว่าคนชั้นกลางจริง ๆ  ด้วยซ้ำ  ดังนั้น  อิทธิพลหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความคิดและการกระทำของพวกเขาจึงมีมหาศาลแทบจะ  “เปลี่ยนโลก”  หรือ  “ปฏิวัติ”  แนวทางในการดำเนินชีวิต  สังคม  และการเมืองของประเทศ

           ในส่วนของประเด็นทางเศรษฐกิจที่เราสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากมันมีผลต่อการลงทุนของเรานั้น  เรื่องแรกก็คือ  คนชั้นกลางระดับล่างหรือผมอยากจะเรียกว่า   “คนชั้นกลางรุ่นใหม่”  นั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ทำงาน  “นอกระบบ”  นั่นคือ  พวกเขาไม่ได้ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ  ที่มีระบบของการบริหารงานบุคคลเป็นมาตรฐาน  มีสวัสดิการที่ดี  ตรงกันข้าม  คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น  มักเป็นพ่อค้าแม่ขายตามตลาด  เป็นคนขับรถรับจ้าง  เป็นพนักงานบริการ  เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็น  SME  ที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย  หรือเป็นเกษตรกร “มืออาชีพ”   พูดถึงรายได้  พวกเขามักจะมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000-20,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 180,000-240,000 บาท  อย่างไรก็ตามรายได้ของพวกเขามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อานิสงค์จากการที่แรงงานขาดแคลนอย่างหนักและการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล

            คนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยนั้น  กำลังบริโภคหลาย ๆ  สิ่ง หลาย ๆ  อย่างที่คนชั้นกลางทำ  ปรากฏการณ์ของ  “รถยนต์คันแรก”  ที่มียอดขายจำนวนมหาศาลนั้น  เกิดขึ้นเนื่องจากมันมีราคาเพียงไม่กี่แสนและสามารถผ่อนได้ด้วยเงินไม่กี่พันต่อเดือนซึ่งทำให้คนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถซื้อได้   เช่นเดียวกัน  คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นนิยมซื้อคอนโดที่มีราคาที่พวกเขาสามารถผ่อนได้จากเดิมที่บ้านนั้นเป็นความฝันเฉพาะของคนชั้นกลาง  นี่ไม่ต้องพูดถึงการผ่อนมอเตอร์ไซต์หรือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่สูง  แต่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงสำหรับชีวิตแบบคนชั้นกลางทั่วไป

            การซื้อสินค้าของคนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น   กำลังเหมือนกับคนชั้นกลางนั่นคือ  พวกเขาเข้าห้างค้าปลีกสมัยใหม่  พวกเขาอยากได้สินค้าและบริการที่ดี  “ในราคาที่ย่อมเยา”   ค่าที่ว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากและโตขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น  จึงเป็นเรื่องคุ้มค่าสำหรับธุรกิจที่จะขายให้กับพวกเขา   เช่นเดียวกัน  คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น  กินอาหารในภัตตาคารมากขึ้นมาก  อาหารที่ขายในภัตตาคารตามห้างนั้น  เนื่องจากปริมาณการขายสูงทำให้มีการ  “ประหยัดจากขนาด”  ส่งผลให้ราคาต่อมื้อไม่แพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถกินได้  อาจจะเดือนละหลายครั้ง  หรืออย่างน้อยในวันเงินเดือนออก

            คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นมักเป็น  “เสรีชน”  แบบเดียวกับคนชั้นกลาง  พวกเขาไม่ต้องการ  “พึ่งพิง”  ใครอย่างที่  “คนจน”  ในอดีตของไทยต้องทำกับคนที่ร่ำรวยหรือมีสถานะในสังคมที่สูงกว่า  เดี๋ยวนี้เราต้อง“ง้อ” ลูกจ้างที่มาทำงานกับเราในที่ทำงานหรือที่บ้าน  ความ  “เสมอภาค”  ของคนในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  สะท้อนได้จากละครทีวีหลังข่าวที่หนังแนว  “แรงเงา”  ที่ตัวเอกฝ่ายหญิงนั้นใช้วิธีต่อสู้แบบ  “ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน”  กับคนที่  “สูงกว่าทางสังคม”  ได้รับความนิยมล้นหลาม  ในขณะที่หนังแบบ  “บ้านทรายทอง”  ที่นางเอกยอมเป็น  “เบี้ยล่าง” คนที่ “สูงกว่าทางสังคม”  เพื่อที่จะใช้  “ความดี” เอาชนะใจพวกเขานั้น  ผมเชื่อว่าจะลดความนิยมลงไปเรื่อย ๆ  และแม้ว่าจะยังมีคนชื่นชอบอยู่  บทละครก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของ “คนรุ่นใหม่” ที่ดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าความคิดและการกระทำของนางเอก  “ไม่มีเหตุผล”

             ลัทธิ  “บริโภคนิยม”  ที่เป็นเรื่องของคนชั้นกลางในอดีตนั้น  แน่นอน  ขณะนี้เป็นเรื่องที่คนชั้นกลางรุ่นใหม่รับเข้าไปอย่างเต็มที่   ราคาของสินค้าที่เคยแพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อหาหรือใช้ได้นั้น  ปัจจุบันพวกเขาสามารถใช้มัน  ผ่านระบบการ “ผ่อนส่ง”  ที่มีประสิทธิภาพสูง  ดังนั้น  พวกเขามีหนี้สินพอกพูนซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะ “ไม่แคร์”  พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ  การอดออมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมีความจำเป็นน้อยลงไปมากหลังจากที่รัฐได้เข้ามาดูแลผ่านโครงการสวัสดิการสังคมที่เรียกว่า  “ประชานิยม”  หลายอย่างโดยเฉพาะรายการ “30 บาทรักษาทุกโรค”
             ในฐานะของ VI นั้น  ความเข้าใจในพฤติกรรมของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ผมคิดว่ามีความสำคัญยิ่ง  เหตุผลก็คือ  พวกเขาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ใหญ่มาก  บริษัทที่สามารถหรือมีโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาจะสามารถสร้างรายได้และเติบโตไปได้มาก  หัวใจก็คือการออกแบบสินค้าและบริการที่มีราคาถูกและ  “คุ้มค่า”  นอกจากนั้น  มันต้องมีคุณภาพที่ดีและให้ความรู้สึกที่ทำให้ผู้ใช้มี  “ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ”  เมื่อได้ใช้หรือบริโภคมัน  นอกจากนั้น  ผลิตภัณฑ์จะต้องสอดคล้องกับ  “ไล้ฟสไตล์”  หรือแนวทางการใช้ชีวิตของพวกเขา  นั่นก็คือ  ต้องมีความสะดวกสบายและบริการที่ดี  ทั้งหมดนี้จะทำได้ก็จะต้องมีปริมาณธุรกิจที่ใหญ่หรือมากพอที่จะทำให้เกิด  Economies of Scale หรือใหญ่พอที่จะทำให้ต้นทุนลดลงมากจนคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถบริโภคได้  “เป็นประจำ”  และถ้าเราสามารถค้นพบบริษัทแบบนี้  การลงทุนก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

Posted by nivate at 10:04 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/11/1249

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2013, 12:13:10 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 18 February 2013
ถนนทุกสาย..มุ่งสู่ตลาดหุ้น


   ตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงวันนี้เป็นเวลาแค่เดือนครึ่ง  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วเกือบ 10% และนี่เกิดขึ้นหลังจากที่ตลาดเมื่อปีที่แล้วปรับตัวขึ้นมาถึง 36% มูลค่าตลาดของหุ้นไทยในขณะนี้ประมาณ 13 ล้าน ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าผลผลิตรวมต่อปีหรือ GDP ของประเทศไปแล้ว  ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนั้น “มหาศาล” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ถ้านับจากสิ้นปี 2551 หรือเพียงประมาณ 4 ปีเศษๆ ที่ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 450 จุดนั้น  มูลค่าตลาดของหุ้นได้เพิ่มขึ้นมาแล้วน่าจะประมาณ 9 ล้านล้านบาท  และถ้าคิดว่าคนไทยเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นประมาณ 70% ในบริษัทจดทะเบียน ความมั่งคั่งของคนไทยก็เพิ่มขึ้นประมาณ 6.3 ล้าน ล้านบาท และถ้าคิดต่อไปอีกว่าในส่วนของคนไทยนั้น ผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่รัฐหรือก็คือนักลงทุนที่เป็น “ชาวบ้าน” ทั่วๆไปถือหุ้นประมาณ 70% ก็จะพบว่าคนไทยที่ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นอยู่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท

   ในเม็ดเงิน 4.4 ล้านล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมาใน “กระเป๋า” ของคนไทยที่มีหุ้นหรือถือหุ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น  ผมไม่รู้ว่ามีคนไทยกี่คนที่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ แต่ก็คงเป็นแค่หลักไม่เกิน 2-3 ล้านคน เฉลี่ยแล้วได้รับกันไปคนละประมาณ 2 ล้านบาทถ้าจะพูดอย่างหยาบๆ แต่คนจำนวนมากที่ถือหุ้นผ่านกองทุนรวมหุ้น โดยเฉพาะของกองทุนบำเหน็จบำนาญของราชการหรือ กบข. น่าจะได้เงินไปน้อยกว่านี้มาก  คนกลุ่มต่อมาที่จะได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นพอสมควรก็คือ คนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF และกองทุนเพื่อการเกษียณหรือ RMF ที่ลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว   กลุ่มต่อมาที่น่าจะได้รับเม็ดเงินไปค่อนข้างมากก็คือ คน “เล่นหุ้น” ที่อยู่ในตลาดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบแทนน่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 200% เช่นลงทุนไป 1 ล้านบาทก็น่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ล้านบาทกลายเป็น 3 ล้านบาท ในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมา

   กลุ่มคนที่ได้เงินไปเต็มๆ คือน่าจะ “ร่ำรวย” จากการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในรอบนี้ก็คือ  นักลงทุนที่ “มุ่งมั่น” ซึ่งบางคนก็เป็น “นักลงทุนอาชีพ” นั่นก็คือ ไม่ได้ทำงานประจำอื่น แต่ลงทุนเป็นหลักในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  คนเหล่านี้มักจะลงทุนเงินเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ และหลายคนนั้นกู้เงินและ/หรือใช้มาร์จินในการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้นเข้ามาซื้อหุ้นขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  คนที่ได้เงินมากจริงๆ ในหมู่คนกลุ่มนี้ก็คือคนที่เรียกตัวเองว่า “Value Investor” นั่นก็คือ  พวกเขาซื้อขายหุ้นโดยเน้นการเลือกหุ้นโดยอิงกับพื้นฐานของกิจการเป็นหลักแม้ว่าจังหวะการซื้อขายอาจจะแตกต่างกันออกไป พวกเขาอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าคน “เล่นหุ้น” ที่ซื้อขายรายวัน แต่เม็ดเงินของพวกเขานั้นมากกว่ามาก อาจจะเรียกได้ว่ารายใหญ่หรือ “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นในช่วงเวลานี้คือ VI  ผลตอบแทนของพวกเขาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้สูงมาก การได้ผลตอบแทนเป็น 10 เท่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับ VI ที่มุ่งมั่น  และผมเชื่อว่ามีบางคนโดยเฉพาะที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนน้อย  สามารถได้เป็นร้อยเท่า คือลงทุน 1 ล้านบาทภายใน 4 ปี กลายเป็น 100 ล้านบาท

   ความร่ำรวยของ VI ผู้มุ่งมั่น ซึ่งนาทีนี้อาจจะมีเป็นพันๆ คนเข้าไปแล้วและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเริ่มจะมีผลกระทบกับการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาแพงเช่น บ้านและรถยนต์  VI กลายเป็นกลุ่มที่เข้าไปซื้อคอนโดหรูในบางโครงการอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกัน รถยนต์หรูราคาแพงมากผมก็คิดว่ามาจากเงินในตลาดหุ้นของนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเหล่านี้ไม่น้อย  โดยในกรณีของคอนโดนั้น ผมคิดว่า VI ที่ซื้อหลายคนก็มองเป็นเรื่องของการลงทุนไปด้วย  ส่วนในกรณีของรถหรูนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะเป็น “รางวัลชีวิต” สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ VI หลายคนได้เงินมามากเสียจนราคาของรถนั้น เป็นรายจ่ายเพียง “เล็กน้อย” ที่เขาอยากจะหาความสุขบ้าง

   กลุ่มคนที่รวยจากตลาดหุ้นมากที่สุดก็คือ เจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปมาก  ไม่ใช่เฉพาะกิจการที่มีผลประกอบการที่ดีเท่านั้นที่มีราคาหุ้นขึ้นไป หุ้นเกือบทุกตัวปรับตัวขึ้นไปสูงมาก บางบริษัทมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นเพิ่มขึ้นไปเป็น 10 เท่าตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  บางบริษัทหุ้นขึ้นไปร้อยเท่าก็น่าจะมี เจ้าของบริษัทหลายๆแห่งน่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีนี้เป็นพันๆล้านบาท  หลายบริษัทเป็นหมื่นล้านบาท และบางบริษัทเป็นแสนล้านบาท  แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเลยบางทีก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเท่าตัวมีเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านบาท  ที่โดดเด่นยิ่งกว่านั้นก็คือบริษัทที่เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเป็นครั้งแรกหรือหุ้น IPO ซึ่งทำให้เจ้าของได้เงินเพิ่มขึ้นมาก บางคน “มโหฬาร” จากบริษัทเดิมที่ทำกำไร “กระท่อนกระแท่น” และถ้าคิดจากเงินลงทุนที่ลงไปก็อาจจะหลักหลายสิบหรือร้อยล้านบาท เมื่อเข้าตลาดหุ้น มูลค่าก็กลายเป็นพันล้านบาท บางบริษัทเป็นหมื่นล้านบาทในชั่วเวลาข้ามคืน จากเจ้าของธุรกิจที่ “พออยู่ได้” เช่นเดียวกับเพื่อนนักธุรกิจระดับเล็กด้วยกัน พวกเขากลายเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีเมื่อหุ้นเข้าตลาดและราคาวิ่งขึ้นไปสิบเท่าหรือร้อยเท่าจากเม็ดเงินที่เขาลงไป

   นักลงทุนกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ นักลงทุนต่างชาติ พวกเขามีจำนวนไม่มากแต่ได้เม็ดเงินมหาศาล ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเขาได้เงินไป 2.7 ล้าน ล้านบาท  แน่นอน  กองทุนที่เป็นสถาบันขนาดใหญ่คือคนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป แต่ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนแล้ว  กองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงมากก็คือพวกเฮดจ์ฟันด์หรือ Private Fund ที่รับเงินจากคนที่มีเงินมากๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและในเอเซียที่เป็นตลาดเกิดใหม่  ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมานั้น กำไรต่อปีที่พวกเขาได้รับจากตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 30% ในช่วง 4 ปี นั้นเงิน 1เหรียญน่าจะได้ผลกำไรมากกว่า 2 เหรียญหรือ 200%  ซึ่งเป็นอัตราที่นักลงทุนต่างชาติแทบจะหาที่ไหนในโลกไม่ได้

   และทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากในประเทศไทยที่มีเงินสดเหลืออยู่ในธนาคารจำนวนมาก รวมถึงคนที่ยังไม่ค่อยมีเงินแต่หวังที่จะ “รวย” หรือสะสมเงิน “เพื่ออนาคต” ต่างก็ “มุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น” พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะลงทุนหรือเลือกหุ้นที่ถูกต้อง  พวกเขารู้เพียงแต่ว่าตลาดหุ้นนั้นกำลังปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าบางวันมันจะตกลงมาบ้าง แต่ชั่วไม่กี่วันมันก็ดีดกลับมาและสูงกว่าเดิม การซื้อและขายหุ้นก็ดูไม่ยากอะไรนัก บางคนอาจจะคิดว่าก็ใช้วิธีถามจากเพื่อนที่ “มีความสามารถ” หรือเล่นอยู่และได้กำไรมามาก  ผลกำไรนั้นอยู่ที่ “ปลายนิ้ว” พวกเขาไม่คิดถึงเรื่องขาดทุนเท่าไร เพราะอาจจะยังไม่เห็นใครเล่นแล้วขาดทุนเลยในช่วงหลายๆ ปี  มีแต่รวยขึ้นเรื่อยๆ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาก็ไม่ได้ลงทุนมากมายอะไรเทียบกับความมั่งคั่งที่มีอยู่ การที่จะแบ่งเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยน้อยนิดมาลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีทางผิดพลาด เขาลองมาแล้วเพียงแค่ 2 เดือน ตอนนี้ได้ไปแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับการฝากเงิน 5 ปี  ดังนั้น ขณะนี้เขาอยากลงทุนเพิ่ม เขาได้รับคำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดผ่านสื่อมากมาย ทุกคนบอกว่าตลาดหุ้นยังไม่แพงและดัชนีจะไปถึง 1700 จุดในสิ้นปีนี้  เขาไม่เข้าใจหรอกว่ามันคือขึ้นไปแค่ไหน เขาคิดเพียงแต่ว่า ตลาดหุ้นคือที่ที่จะทำเงินได้เร็วมาก ดังนั้น เขาจึงเข้ามา ถนนทุกสาย..กำลังมุ่งสู่ตลาดหุ้น

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/18/1251
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2013, 11:33:03 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Tuesday, 26 February 2013

หุ้นล่าฝัน


ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดขีดนั้น  ถ้าสังเกตดูคร่าว ๆ  ก็จะพบว่า  หนึ่ง  บริษัทขนาดใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นบ้าง  ส่วนใหญ่ก็ไม่มากนัก  คิดทั้งปีก็อาจจะโตซัก 10% -15%  เรียกว่าไม่ได้โดดเด่นมากขนาดที่จะทำให้หุ้นขึ้นไปได้ถึง 30%-40%  อย่างที่เกิดขึ้น  แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่ก็คือ  พวกเขามักจะมีแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาก  มีการกู้เงินหรือบางทีก็เพิ่มทุนกันขนานใหญ่เพื่อที่จะไปลงทุน  ทั้งในและต่างประเทศ  สอง  บริษัทเล็ก ๆ  นั้นมักมีกำไรที่โตแบบ  “ก้าวกระโดด”  ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ภาวะเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีขึ้นและอื่น ๆ  อีกมากมายรวมถึงการที่บริษัทเหล่านั้นมีขนาดเล็ก  กำไรที่เคยมีก็มักจะน้อยหรือมีฐานที่ต่ำ   ดังนั้น  เวลาที่กำไรดีขึ้น  เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะสูง  บางบริษัทจึงโตได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นไปนั้นกลับสูงลิ่วยิ่งกว่ามาก  ผลก็คือ  หุ้นตัวเล็ก ๆ  มีค่า PE สูงมาก  ค่า PE 30-40 เท่าจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับหุ้นกลุ่มนี้  สาม  หุ้นจำนวนไม่น้อยนั้น  กำไรของบริษัทเองก็ไม่ได้โดดเด่นนัก  บางบริษัทเองอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่โตยากหรือแข่งขันหนัก  การหวังให้กำไรเติบโตจึงทำได้ยาก  ดังนั้น  พวกเขาจะหาอะไรมาเป็นตัว  “ขับเคลื่อนหุ้น”  ที่มักจะพร้อมจะวิ่งอยู่แล้วถ้ามีอะไรมากระตุ้นในภาวะแบบนี้?

กลยุทธ์ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนราคาหุ้นที่ “ทรงพลัง” มากอย่างหนึ่งในภาวะตลาดหุ้น “กระทิงดุ” ก็คือ  การทำธุรกิจที่กำลังร้อนแรง  เป็นธุรกิจแห่งอนาคต  เป็นธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก  และเป็นธุรกิจที่บริษัทเองนั้นก็อาจจะทำอยู่แล้ว  หรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่บริษัทอ้างว่าสามารถทำได้และมีความรู้ความสามารถเพียงพอ  ถ้าจะให้เรียกแบบให้เห็นภาพผมอยากจะเรียกว่าเป็น  “ธุรกิจในฝัน”  ซึ่งความหมายอาจจะออกได้เป็นสองแนวทางนั่นคือ  หนึ่ง  มันเป็นธุรกิจ “ในฝัน” เพราะว่ามันเป็นธุรกิจที่คนทั่วไปรู้สึกว่ามันมีศักยภาพที่จะโตและทำกำไรได้มากมายซึ่งจะทำให้หุ้นมีมูลค่าสูงมาก  เพราะนอกจากกำไรหรือค่า E ที่เพิ่มขึ้นแล้ว  ค่า PE ของหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปได้หลาย ๆ  เท่าอย่างง่ายดาย  และในอีกความหมายหนึ่งก็คือ  มันเป็นธุรกิจ  “ในฝัน”  เพราะว่ามันเป็นธุรกิจที่สามารถ “สร้างฝัน”  ให้กับคนทำหรือนักลงทุนก่อนที่ “ผลลัพธ์” จะเกิดขึ้นจริงอีกนาน   ซึ่งในระหว่างนี้ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปได้มากมาย  บางทีเป็นหลายเท่าตัว  เพียงพอที่จะทำให้ใครต่อใครรวยไปได้มากมายอยู่แล้ว

มาดูกันว่าหุ้นบูมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้มี “ธุรกิจในฝัน” อะไรที่บริษัทจดทะเบียนนำมาใช้ในการขับเคลื่อนหุ้นกันบ้าง  เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นที่ราคาน้ำมันกำลังพุ่งขึ้นแรงก็คือ  ถ่านหิน  ซึ่งก็มีการพูดกันว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีมากมายและจะมาแทนที่น้ำมันดิบที่กำลังหมดไป  หุ้นที่ทำเกี่ยวกับถ่านหินอยู่แล้วหรือคนที่มีธุรกิจใกล้เคียงต่างก็เตรียมตัว “ลุย”  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปไม่น้อย  น่าเสียดายว่าความฝันเรื่องถ่านหินค่อนข้างสั้น  นักเล่นหุ้นที่เข้าไปเก็งกำไรกับธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหินบางคนที่ถอนตัวไม่ทันจึงน่าจะเจ็บตัวไป   แต่เรื่องของพลังงานทดแทนนั้นไม่หมดลงไป  ธุรกิจเกี่ยวกับเอทธานอลที่ทำจากผลิตผลการเกษตรก็เกิดขึ้น  รวมถึงไบโอดีเซลเช่นน้ำมันที่ทำจากปาล์มน้ำมัน  อย่างไรก็ตาม  ความฝันในเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปไกลนัก  ราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวขึ้นไปมากนัก  เหตุผลก็คงเป็นว่ามันได้รับการสนับสนุนจากรัฐค่อนข้างน้อยมากเนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐที่จะมารับซื้อผลิตผลเป็นเรื่องเป็นราวในราคาที่ทำกำไรได้  ผลก็คือ  มันกลายเป็น “ฝันร้าย”  ในเวลาอันสั้น  คนที่ทำกำไรจากฝันนี้น่าจะมีน้อยมาก

เรื่องของพลังงานทดแทนที่เป็นธุรกิจ  “ในฝัน” จริง ๆ  น่าจะเป็นเรื่องของโซลาร์เซลหรือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด  และพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม  ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจ “ในฝัน” ก็คือ  การที่รัฐบาลมาช่วย “สร้างฝัน” ให้กับบริษัทและนักลงทุน  นั่นก็คือ  การไฟฟ้าจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับผู้ผลิตและขายไฟทุกหน่วยไฟฟ้าที่จ่ายเข้ามาในระบบของการไฟฟ้าซึ่งทำให้การทำธุรกิจนี้ไม่ขาดทุนและมีผลตอบแทนที่เหมาะสม  นั่นก็คือ  บริษัทที่ลงทุนได้ผลตอบแทนคุ้มค่าของเงินที่ลงทุนไปเช่น  อาจจะปีละ 10%   แต่นี่ก็คงจะไม่ใช่อะไรที่จะทำให้นักลงทุนจริง ๆ  ตื่นเต้น   เพราะผลตอบแทนที่ 10%  ต่อปีนั้น  เป็นผลตอบแทนที่คนลงเงินจะต้องได้อยู่แล้ว  ประเด็นอยู่ที่รัฐนั้น  ยินดีที่จะจ่ายค่าชดเชยในช่วงประมาณซัก 8-9 ปีแรกมากผิดปกติที่จะทำให้บริษัทกำไรมาก ๆ  และหลังจากนั้นบริษัทก็จะไม่ได้รับการชดเชยเลย  พูดง่าย ๆ  บริษัทจะกำไรมากผิดปกติใน 8 ปีแรก  และหลังจากนั้นจะ “ขาดทุน”  และนี่ก็คือความฝันที่ “คนเล่นหุ้น”  อยากได้  นั่นก็คือ  กำไรของบริษัทในช่วงเวลาถึงแปดปีจะดูดีมาก  บริษัทจะเป็นบริษัทที่  กำไรดีและ  “โตเร็ว” รวมทั้งมีผลประกอบการที่  “สม่ำเสมอ”   และถ้าจะแถมอีกก็คือ  มีกระแสเงินสดที่ดีมากเนื่องจากการไฟฟ้าจะจ่ายเงินสดให้ตลอดเวลาโดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนเพิ่ม  มองหยาบ ๆ  อาจจะกลายเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ดังนั้น  ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะ  “พุ่งทะลุฟ้า”  เพราะไม่มีคนสนใจว่าอีก 8-9 ปีที่กำไรอาจจะหายไปนั้นบริษัทจะทำอย่างไร  คนเล่นหุ้นนั้น  มีน้อยคนที่จะมองเกินปีสองปี  แม้แต่นักลงทุนระยะยาวบางคนก็มองไม่เกิน 3-4 ปี  ดังนั้น  นี่คือฝันที่แท้จริงโดยเฉพาะในยามหุ้นบูม

ธุรกิจ “ในฝัน” ล่าสุดที่กำลังขับเคลื่อนราคาหุ้นหลาย ๆ  ตัวในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง  สิ่งพิมพ์  สื่อสาร และอื่น ๆ  ก็คือ  ทีวีดาวเทียม  ทีวีและทีวีดิจิตอล  โทรศัพท์ระบบ 3G และอาจจะ 4G  ซึ่งเป็นผลจากการที่ กสทช. จะเปิดให้มีการประมูลใบอนุญาตประกอบการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ธุรกิจที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นจะทำให้บริษัทที่เข้าไปประมูลสามารถที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณโดยที่รายจ่ายก็อาจจะไม่สูงนักเนื่องจากบริษัทอาจจะมีอุปกรณ์  และ/หรือมี Content หรือเนื้อหาอยู่แล้ว   บริษัทเพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มคนในการนำเสนอบ้างก็สามารถให้บริการหรือเข้าสู่ธุรกิจที่มี  “กำไรสูงลิ่ว”  เหล่านี้ได้  นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างก็มองถึงอัตราค่าโฆษณาที่เป็นอยู่ว่าผู้ให้บริการรายใหม่คงจะได้ส่วนแบ่งไปไม่น้อย  และนั่นจะทำให้กำไรของบริษัทก้าวกระโดด  พวกเขาอาจจะลืมไปว่าตัวเลขที่ใช้นั้นคือตัวเลขอัตราค่าโฆษณาในภาวะ  “ผูกขาด” ซึ่งอาจจะแตกต่างจากอัตราในภาวะที่มีการแข่งขันแบบ  “เชือดคอ”  ก็เป็นได้  แต่จะอย่างไรก็ตาม  ในเวลานี้ดูเหมือนว่าคนจะไม่สนใจเรื่องความจริง  เขาสนใจเรื่องความฝัน   ดังนั้น  ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ  ที่ประกาศจะเข้ามาทำธุรกิจต่างก็วิ่งกันอุตลุต
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ผมก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่  “ล่าฝัน”  ทั้งหลายนั้น  ในที่สุดก็จะพบกับความจริงที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  แต่ผมเชื่อว่าบริษัทจำนวนมากซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่จะล้มเหลวไม่ได้กำไรมากอย่างที่ฝันในธุรกิจใหม่ ๆ  ที่ร้อนแรงที่เข้าไปทำ  ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นที่พัฒนาทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น  อย่างไรก็ตาม  ก็จะมีบางบริษัทที่ทำธุรกิจ “ในฝัน”  และประสบความสำเร็จสูงจนกลายเป็นบริษัทที่โดดเด่นและยิ่งใหญ่   และหุ้นของบริษัทที่ดีดตัวขึ้นไปมากในช่วงของ  “ความฝัน”  ก็จะยังเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ทำให้คนที่เข้าไปซื้อและถือไว้ยาวนานรวยไป  ส่วนบริษัทที่ล้มเหลวไม่สามารถทำได้ตามที่ฝันไว้  หุ้นของบริษัทที่ปรับตัวขึ้นไปมากก็จะตกต่ำลงมามากจนกลายเป็น  “ฝันร้าย” ของนักลงทุน   สำหรับผมเองแล้ว  ผมไม่ค่อยถนัดและก็ไม่อยากเสี่ยงในการทำนาย “ฝัน” ดังนั้น  โดยส่วนใหญ่แล้วผมก็จะหลีกเลี่ยง  “หุ้นล่าฝัน”  ที่มักจะมีมากในช่วงตลาดกระทิงอย่างที่เป็นอยู่ในช่วงนี้
Posted by nivate at 1:39 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/26/1254
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 04, 2013, 09:47:16 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 4 March 2013

ก้าวเล็ก ๆ ในตลาดหุ้น-ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต


ในช่วงประมาณปี 2539 ถึงปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทยนั้น  ผมเองเป็นหนึ่งในผู้บริหารสถาบันการเงินที่ตกอยู่ในท่ามกลาง “มรสุม”  ที่พัดกระหน่ำสถาบันการเงินและกิจการธุรกิจเกือบจะทุกแห่งของประเทศไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุด  แต่ละวันเราต้องหาทาง  “เอาตัวรอด”  นั่นก็คือ  หาเงินจากทุกแหล่งที่ทำได้เพื่อนำมาคืนผู้ฝากเงินที่กำลังขาดความมั่นใจและทยอยถอนเงินออกเมื่อตั๋วเงินครบกำหนดอายุการฝาก  ทุกวันพนักงานที่ดูแลการฝากเงินจะรายงานว่าวันนั้นมีคนมาถอนออก “สุทธิ” เป็นจำนวนเท่าไร  ตัวเลขสามสี่ร้อยล้านบาทดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่ “ปกติ”  เราเรียกมันว่า Bleeding  หรือเลือดไหลไม่หยุดและในไม่ช้าเราอาจจะต้อง  “ตาย”  เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะหยุดมัน  วิธีหนึ่งก็คือ  การรวมกิจการสถาบันการเงินหลาย ๆ  แห่งแล้วก็อาจจะหาทุนมาเพิ่ม  แต่ในยามนั้นไม่มีใครต้องการถือหุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน  ดูเหมือนว่าธุรกิจกำลังล้มละลายทั้งประเทศ  และแล้วเมื่อมีการประกาศลอยค่าเงินบาทในกลางปี 2540 บริษัทจำนวนมาก  และเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินเกือบทั้งหมดก็ “ล้ม” กันจริง ๆ

           ผมต้องถูกให้ออกจากงาน  ด้วยวัย 44 ปี และวุฒิการศึกษาปริญญาเอกทางด้านการเงิน  โอกาสที่จะหางานใหม่ในธุรกิจการเงินไม่มีเพราะสถาบันต่าง ๆ ถูกปิดหรือลดขนาดลง  มีลูกเล็กที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนอินเตอร์ที่มีค่าเล่าเรียนแพงลิ่วปีละหลายแสนบาท  และภรรยาทำงานพาร์ทไทม์ในฐานะครูเปียโนผมย่อมต้องกังวลว่าจะ  “ทำอย่างไรกับชีวิต”  หรือถ้าจะพูดกันให้ตรงที่สุดก็คือ  จะจัดการเรื่องการเงินอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่ธุรกิจต่างๆ กำลัง “ล่มสลาย” โชคยังดีที่ผมพอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง  ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทบวกลบ  เงินจำนวนนี้ผมคิดดูแล้วไม่เพียงพอที่จะส่งลูกเรียนตลอดจนจบปริญญาตรีในสายที่เป็นการเรียนอินเตอร์ได้ถ้าผมไม่ทำอะไรซักอย่างนอกจากการฝากเงินกินดอกเบี้ย

          การบริหารการเงินส่วนบุคคล  “มาตรฐาน”  ที่บอกว่า   ถ้าอายุมากและโอกาสทำงานหาเงินในอนาคตมีน้อยเราก็ไม่ควรลงทุนในอะไรที่  “เสี่ยง”  เช่น หุ้น  เพราะถ้าเรา “พลาด”  เราจะไม่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายได้อีก   แต่ถ้าไม่ลงทุนในหุ้นเพราะ “เสี่ยงเกินไป”  และการฝากเงินก็ไม่ใช่ทางออก   การ  “ทำธุรกิจ” เองก็ยิ่งเสี่ยง  โดยเฉพาะในยามที่ความต้องการของประชาชนลดลงมากมาย  แล้วผมจะต้องทำอย่างไรที่จะสามารถรักษามาตรฐานการดำรงชีวิตแบบเดิมได้?

          ทางออกที่ผมค้นพบก็คือ  Value Investment!  ลงทุนในหุ้นเหมือนกับการทำธุรกิจ   ว่าที่จริงจุดเริ่มต้นจริง ๆ  ควรจะเป็นว่าผม “ทำธุรกิจ”  โดยการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์!  ด้วยเงิน 10 ล้านบาท  ผมสามารถเริ่มทำธุรกิจได้  ไม่ใช่ธุรกิจเดียว  แต่หลาย ๆ  ธุรกิจ    ธุรกิจที่ผมเลือกนั้นจะต้อง “ปลอดภัย”  ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างแรง  เช่น  อาหารราคาถูก  หรือกิจการส่งออกที่ประเทศไทยกำลังได้เปรียบในเรื่องของค่าเงินบาทที่ลดลงมาก   ผมวิเคราะห์แล้วพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลประกอบการที่ดี  มีฐานะการเงินยอดเยี่ยมแทบจะ  “ปลอดหนี้”  และบริษัทนั้นปลอดภัยดีทีเดียวในแง่ของการดำเนินการ   ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น  “ถูกเหลือเชื่อ”  ค่า PE มักไม่เกิน 10 เท่า  หลายบริษัทเพียง 6-7 เท่า  เฉพาะปันผลที่ผมจะได้เมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็ประมาณปีละ 10%  ซึ่งแปลว่า  ด้วยเงิน 10 ล้านบาท  ผมจะได้รับปันผลถึงปีละ 1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่ผมจะใช้จ่ายได้โดยไม่กินเงินต้นเลย   อาจจะมีประเด็นว่า  หุ้นเหล่านั้นแทบไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย  คือซื้อได้  แต่อย่าหวังที่จะขายได้ราคา  ถ้าจะว่าไป  ตลาดหุ้นโดยรวมก็มีการซื้อขายน้อยมาก  วันละประมาณ 2-3 พันล้านบาทเท่านั้น  แต่ผมก็ไม่แคร์เลย  เพราะผมลงทุนโดยมีสมมุติฐานว่าผม  “ทำธุรกิจ”  ผมพร้อมที่จะถือมันไปตลอดชีวิต

         แน่นอน  ผมไม่ได้เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ  ผม “เล่นหุ้น”  มานานก่อนหน้านั้นเป็นสิบปี  การเล่นหุ้นของผมนั้นเป็นเรื่องของการ “เสี่ยงโชค”  โดยอาศัยฝีมือในการวิเคราะห์ผลประกอบการระยะสั้น ๆ  ของกิจการประกอบกับภาวะตลาดหุ้น  ผมเล่นหุ้นเพราะต้องการได้กำไรเร็ว ๆ  เงินที่ได้กำไรนั้นผมก็จะเก็บเข้ามาในบัญชีเงินฝากรวมเข้ากับเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ  ที่ผมได้รับ  สำหรับผม  มันคล้าย ๆ  กับเงินโบนัสที่จะทำให้ผมมีเงินเก็บเพิ่มเร็วขึ้นและมากขึ้น  แต่มันไม่เคยเป็น  “ชีวิต”  ของผม  ผมไม่ต้องการ  “เสี่ยง”  เงินจำนวนมากในตลาดหุ้น  ผมไม่เคยคิดที่จะ  “รวย” จากหุ้นหรือตลาดหุ้น  ผมคิดว่าถ้าจะรวยก็ต้องมาจากการทำงาน  ว่าที่จริงผมไม่เคยคิดที่จะรวยอย่างจริง ๆ  จัง ๆ ด้วยซ้ำเพราะผมรู้สึกว่าเวลาของการที่จะร่ำรวยของผมมันผ่านไปแล้วหลังจากที่ผมไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา  การจบปริญญาเอกนั้นผมคิดว่ามันเป็นปัจจัยที่ลดโอกาสของการที่จะเป็นคนรวยไปมากเนื่องจากข้อแรก  มันเสียเวลากับการเรียนมาก  และข้อสอง  มันทำให้เราไม่กล้าเสี่ยง

          ผมเป็น  Value Investor โดยความจำเป็น   การเปลี่ยนแปลงจากคนเล่นหุ้นเป็น VI ในช่วงปี 2539-40 นั้นเพื่อความอยู่รอด  ไม่ได้หวังรวยเร็วและก็ไม่คิดว่าจะรวย  แม้ว่าต่อมาเมื่อเริ่มเห็นผลว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดีโดยมีความเสี่ยงต่ำผมจะเริ่มตั้ง  “ความฝัน” ว่าจะรวย  แต่ทั้งหมดนั้นก็อิงอยู่กับผลตอบแทนประมาณ 10%  ต่อปีเท่านั้น  ความรวยที่ผมหวังนั้น  มาจากระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวมาก  คือผมคิดที่จะลงทุนไปจนตายที่ประมาณ 80 ปี  ซึ่งโดยวิธีแบบนี้  ทุกคนสามารถรวยได้ถ้ามีความตั้งใจพอและรักษาหลักการลงทุนแบบปลอดภัยสไตล์ VI อย่างมั่นคง 

          “ก้าวเล็ก ๆ”  ที่ผมเริ่มเดินเข้าไปในตลาดหุ้นโดยเปลี่ยนวิธีการลงทุนเป็นแบบ VI ในปี 2540 นั้น  ได้ส่งผลที่ยิ่งใหญ่กับชีวิตของผม  ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ  ผมคิดว่าโชคคงมีส่วนอยู่ไม่น้อย  ผมบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งในชีวิตที่เคยตั้งไว้ก่อนเวลา 20 ปี   ที่จริงมากกว่าที่ตั้งไว้หลายเท่า  นอกจากเงินแล้ว  แนวความคิดเรื่อง Value Investment ที่ผมเผยแพร่มาตลอดกว่า 15 ปีได้กลายเป็นแนวความคิดหลักอย่างหนึ่งในตลาดหุ้นไทย  คนที่ใช้แนวทางนี้ในการลงทุนต่างก็ทำกำไรได้มากมาย  หลาย ๆ  คนนั้นรวยเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่ถึง 40 ปีจากการลงทุนแบบ VI และนั่นทำให้คนจำนวนมากต่างก็มุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น
           ประเด็นก็คือ  คนที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงนี้ต่างก็มักจะก้าวเข้ามาด้วย  “ก้าวที่ยิ่งใหญ่”  เพียงไม่กี่เดือนหรืออาจจะเพียงปีหรือสองปีเขาก็คิดไปถึงวันที่ตนเองจะรวยเป็นเศรษฐีที่คนทำงานหรือผู้ประกอบการอาจจะต้องใช้เวลาเป็นหลายสิบปี  พวกเขาคงคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ  นี้และผลตอบแทนที่เขาทำได้ในช่วงสั้น ๆ  ที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไปอีกนานเท่านานซึ่งทำให้เขารวยได้แม้ว่าจะเริ่มด้วยเงินลงทุนที่ไม่มาก  แต่นี่จะเป็นจริงหรือ?  ส่วนตัวผมเองคิดว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา  อาจจะซักประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงเวลา “พิเศษ”  สำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ไทยที่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่นักลงทุนทั้งโลก  “อิจฉา”  แต่สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ  และต่อเนื่องยาวนาน  ผมเชื่อว่าช่วงเวลาพิเศษนี้น่าจะใกล้จบลงและตลาดหุ้นไทยและ VI จะกลับมาสู่ภาวะปกติ  ดังนั้น  ผมคิดว่าคนที่กำลังเข้ามาในตลาดหุ้นควรที่จะรักษา  “ก้าว”  ที่จะเข้ามาในตลาดให้เป็น “ก้าวเล็ก ๆ”  คืออย่าหวังผลเลิศเกินไป  และถ้าทำได้แบบนี้  มันก็จะกลายเป็น “ก้าวที่ยิ่งใหญ่” ในชีวิตในอนาคต     

Posted by nivate at 10:03 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/04/1258
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 13, 2013, 12:32:36 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 11 March 2013

จะขายหุ้นเมื่อไร



ในช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์บูมมาก ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้  ผมมักได้ยินหรือได้รับรู้ถึงความกระตือรือร้น-และความกังวลของคนสองกลุ่มที่อยู่ในตลาดหุ้น-หรือกำลังจะเข้ามาในตลาดหุ้น เกี่ยวกับว่า  เขาควรจะซื้อหรือเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือยัง?  นี่เป็นคำถามข้อแรกโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือนักลงทุนที่ไม่ได้ทุ่มเทนักกับการลงทุนแต่รู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้น่าจะมีโอกาสทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากเงิน   และอีกคำถามหนึ่งก็คือ  เขาควรจะขายหุ้นได้แล้วหรือยัง?  นี่ก็มักเป็นคำถามโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือเก่าหรือคนที่ทุ่มเทกับการลงทุนที่อาจจะมองว่าราคาหุ้นในตลาดได้ปรับตัวขึ้นมาสูงและเร็วมาก  พวกเขากลัวว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐาน  ดังนั้น  เขาควรจะขายหุ้นไปก่อนหรือไม่ก่อนที่มันจะตกลงมาและทำให้ผลกำไรหรือความมั่งคั่งของเขาลดลงไปมาก   ในการตอบคำถามของคนสองกลุ่มในสถานการณ์หรือภาวะตลาดเดียวกัน  แต่คำถามกลับเป็นตรงกันข้าม  ผมอยากจะบอกดังนี้

          ข้อแรก  เราควรจะซื้อหุ้นไหม?  คำตอบของผมก็คือ  ในการซื้อหุ้นนั้น  หลักการแบบ VI ก็คือ  เราต้องพอจะมีไอเดียหรือประเมินได้ว่า  “มูลค่าพื้นฐาน”  ของบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นควรจะเป็นเท่าไร  เมื่อได้แล้ว  เราก็มาดูว่า  “ราคา” ของหุ้นตัวนั้นเป็นเท่าไร  จุดที่เราจะซื้อก็คือ  ราคาหุ้นจะต้องต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน  และในกรณีที่เราไม่ใคร่มั่นใจว่าเราคำนวณหรือประมาณมูลค่าพื้นฐานได้ถูกต้อง  เนื่องจากว่าเรายังไม่มีความสามารถมากนักหรือกิจการของบริษัทไม่ใคร่สม่ำเสมอ  เราก็จะต้องซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของบริษัทมากขึ้น  โดยส่วนต่างที่ว่านี้ก็คือ  “Margin of Safety”  ซึ่งต้องมีเพื่อความปลอดภัยในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

          การหา “มูลค่าพื้นฐาน” นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก  ในทางปฏิบัตินักวิเคราะห์จึงหาตัวเลขที่ง่าย ๆ  มาใช้  ตัวเลขยอดนิยมตัวหนึ่งก็คือค่า  PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นต่อปีของบริษัท  วิธีก็คือ  ดูว่ากำไรต่อหุ้นในปีที่ผ่านมาหรือใน 4 ไตรมาศที่ผ่านมาเป็นเท่าไร  เสร็จแล้วก็คูณด้วยตัวเลขตัวหนึ่ง  เช่น  15 เท่า  ก็จะได้  “ราคาพื้นฐาน”  ต่อหุ้น  ตัวเลข 15 นั้นอาจจะมาจากค่า PE เฉลี่ยของหุ้นตัวนั้นในอดีต  หรืออาจจะมาจากค่า PE ของอุตสาหกรรมของหุ้นตัวนั้น  หรืออาจจะอ้างอิงจากค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ที่ประมาณ 18 เท่าในช่วงนี้   และนี่ก็จะจบประเด็นว่าเราควรจะซื้อหุ้นหรือไม่

          ข้อที่สองที่ผมอยากจะพูดถึงมากกว่าก็คือ  กฎเกณฑ์ในการขายหุ้น  ซึ่งสำหรับ VI หลายคนนั้นอาจจะมองว่ามันควรจะเป็นเกณฑ์เดียวกับการซื้อหุ้น  นั่นก็คือ  ถ้าราคาหุ้นเกินหรือสูงกว่ามูลค่าหรือราคาพื้นฐาน  เราก็ควรจะขายหุ้นทิ้ง  คือถ้าคุณไม่ซื้อซึ่งจะทำให้คุณต้องถือมัน  มันก็จะต้องถูกขายออกไป  แต่นี่ไม่ใช่วิธีการของ “VI ในตำนาน” หลาย ๆ  คน  ที่ดูเหมือนว่าการขายหุ้นอาจจะมีกฎเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมรวบรวมมาเพื่อให้พิจารณา
          ข้อแรกก็คือ  เราควรขายหุ้นถ้าเรา  “คิดผิด”  ซึ่งนี่อาจจะไม่เกี่ยวกับราคาหรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นเลยก็ได้  ตัวอย่างเช่น  เราคิดว่าบริษัทนั้นเป็นกิจการที่ “โตเร็ว” ต่อมาเราพบว่ายอดขายหรือกำไรที่เห็นนั้นไม่ได้มาจากธุรกิจปกติแต่เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว  แบบนี้  เราอาจจะขายหุ้นทิ้งเลย  หรืออาจจะต้องวิเคราะห์ใหม่ซึ่งอาจจะทำให้เราพบว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะถือไว้

          ข้อสอง  พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่เราถือหุ้นมาระยะหนึ่ง  นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลง  แต่เป็นเรื่องที่ว่าพื้นฐานหรือการดำเนินงานหรือความเข้มแข็งของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง   อาจจะเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหรือเกิดจากคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้าและเริ่มได้เปรียบในการแข่งขัน  ถ้าเป็นแบบนี้  การขายหุ้นก็มักเป็นทางเลือกที่ดีแม้ว่าอาจจะต้องขายในราคาที่ลดลงไปมากหรือแม้แต่ขายขาดทุน

          ข้อสาม  มีหุ้นหรือทางเลือกอื่นที่คุ้มค่ากว่าหุ้นที่เราถือไว้อย่างชัดเจนและเราไม่มีเงินสดในการลงทุน  ในกรณีนี้เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อไปซื้อหุ้นตัวใหม่  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าหุ้นตัวใหม่นั้นดีกว่าหุ้นบางตัวที่เราถือไว้จริง ๆ  เนื่องจากโดยปกติแล้ว  ความเข้าใจของเราในหุ้นตัวใหม่มักจะน้อยกว่าหุ้นที่เราถืออยู่   การขายหุ้นในกรณีนี้เองมักจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของมูลค่าพื้นฐานหรือราคาหุ้น  นั่นคือ  มันอาจจะยังเป็นหุ้น  Value อยู่   เพียงแต่ว่าเราไปเจอหุ้นที่ดีมี Value มากกว่ามากเท่านั้น

          ข้อสี่  หุ้นที่เราถืออยู่นั้น  มีราคาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานไปมากอย่างเห็นได้ชัด  นี่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นเป็น  “กระทิงดุ”  อย่างในช่วงนี้   หรืออาจจะเกิดขึ้นได้กับหุ้นขนาดเล็กที่มีแรงเก็งกำไรเข้ามาสูงหรือมีการ  “ปั่นหุ้น”  ตัวนั้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินพื้นฐานมากอย่างไม่ต้องสงสัย  ในกรณีแบบนี้  เราก็ควรจะขายทิ้ง  และก็หวังว่าจะกลับเข้าไปซื้อใหม่ได้ในราคาที่ต่ำลงเมื่อตลาดตกลงมาหรือเมื่อการเก็งกำไรหรือการปั่นหุ้นนั้นหมดไป   เกณฑ์ข้อนี้น่าจะเป็นข้อเดียวที่การตัดสินใจขายหุ้นนั้น  อิงอยู่กับราคาหุ้นตัวนั้นในตลาด  หัวใจสำคัญก็คือ  เราต้องเห็นว่ามันมีสถานการณ์สองอย่างนั่นก็คือ  ตลาดหลักทรัพย์ใกล้เป็นฟองสบู่  หรือไม่ก็ปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นสูงลิ่วมีการซื้อขายเกินวันละ 4-5% ของ Market Cap. ติดต่อกันนาน บางวันอาจจะหลายสิบเปอร์เซ็นต์

          ข้อสุดท้ายก็คือ  ในบางครั้งหุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากจนมันมีมูลค่าสูงเกินไปในพอร์ตโฟลิโอของเรา  ในกรณีนี้  เราอาจจะรู้สึกว่ามันเสี่ยงเกินไปถ้าเกิดอะไรขึ้น  ยกตัวอย่างเช่นเราไม่อยากให้หุ้นตัวไหนใหญ่เกิน 30% ของพอร์ต  และเกิดมีหุ้นตัวหนึ่งซึ่งเราอาจจะซื้อมาครั้งแรกเท่ากับ 10% ของพอร์ต  แต่ราคามันเพิ่มขึ้นเร็วและมากกว่าหุ้นตัวอื่นจนทำให้มันเป็น 35% แบบนี้เราก็อาจจะขายไป 5% ให้เหลือเพียง 30%  เป็นต้น
          กล่าวโดยสรุปก็คือ  การขายหุ้นนั้นอาจจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างจากการซื้อหุ้น  เหตุผลใหญ่น่าจะเกิดจากการที่เราไม่สามารถที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำทำให้เราไม่รู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงหรือไม่-ยกเว้นในบางกรณีที่ตัวเลขและสัญญาณทุกอย่างชัดเจน  ในกรณีของวอเร็น บัฟเฟตต์เองนั้น  จะเห็นว่าเขาขายหุ้นน้อยมาก  เคยมีครั้งหนึ่งที่เขาซื้อหุ้นน้ำมันแห่งชาติของจีนและขายไปเนื่องจากราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนเขาต้องขายไปนั่นคือการขายในกรณีข้อสี่  เขาขายหุ้นของบริษัทการบินแห่งหนึ่งไปเพราะเขา  “คิดผิด”  ตามข้อหนึ่ง  ตั้งแต่นั้นเขาไม่เคยสนใจหุ้นการบินอีกเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นธุรกิจที่ “ลำบากมาก” รวมถึงกิจการสิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เขาบอกว่าคิดผิดที่ไปซื้อ    หุ้นที่พื้นฐานเปลี่ยนไปตามข้อสองของบัฟเฟตต์น่าจะมีเหมือนกันถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอาจจะรวมถึงกิจการรองเท้าที่บัฟเฟตต์เคยซื้อ  ในข้อสามนั้น  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะมีเงินสดใหม่ ๆ  เข้ามาลงทุนตลอดเวลา  ดังนั้น  เขาแทบไม่ต้องขายหุ้นเพื่อหาเงินสดมาลงทุนในหุ้นตัวใหม่เลย  และในข้อสุดท้ายเรื่องของขนาดของหุ้นนั้น  บัฟเฟตต์เองเคยซื้อหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรสเกือบ 50% ของพอร์ต  แต่ผมก็จำไม่ได้ว่าเขาต้องขายออกไปเพื่อลดขนาดของมันลงหรือไม่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น  เขาก็ไม่เคยมีปัญหาว่าหุ้นตัวไหนจะใหญ่เกินไปเนื่องจากพอร์ตของเขาใหญ่โตมหาศาล  ส่วนตัวผมเองนั้น  เท่าที่จำได้ก็ดูเหมือนว่าจะยึดเกณฑ์การขายหุ้น 5 ข้อดังกล่าวพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  ที่เน้นลงทุนหุ้นแนว  “ซุปเปอร์สต็อก”

Posted by nivate at 2:00 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/11/1261

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 23, 2013, 10:48:02 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 18 March 2013

VI กับฟองสบู่

 
สถานการณ์ตลาดหุ้นที่ร้อนแรงมากในช่วงนี้ทำให้ VI รุ่นเก่า ๆ อย่างผมและอาจจะอีกหลายคนที่เคยผ่านสภาวะตลาดหุ้นตกต่ำและ “อับเฉา” มานานรู้สึกกังวลว่าราคาหุ้นส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะรวมถึงหุ้นที่ตนเองถืออยู่อาจจะมีราคาแพงเกิน “พื้นฐาน”  และในไม่ช้าก็อาจจะตกลงมาได้มากมายเมื่อ  “ฟองสบู่แตก”  แน่นอนว่าจะต้องมีข้อถกเถียงว่าภาวะตลาดหุ้นตอนนี้เป็นฟองสบู่จริงหรือ?  ราคาหุ้นที่ขึ้นมามากนั้นดูแล้วก็ยังมีเหตุผลรองรับได้  ว่าที่จริงค่า PE ในปีหน้าที่วัดความถูก-แพงของหุ้นไทยก็ยังแค่ 13-14 เท่า  พอ ๆ  กับตลาดหุ้นอื่นในเอเชียและในโลก  แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในปีหน้านั้นจะเติบโตสูงกว่า  ดังนั้น  ในสายตาของนักวิเคราะห์จำนวนมาก  หุ้นไทยยังน่าสนใจยิ่งกว่าอีกหลาย ๆ ตลาด  ดังนั้น  “ฟองสบู่” จึงยังไม่มี  ถ้าจะมีบริษัทที่แพงจัดก็คงเป็นบริษัทเล็ก ๆ  ที่มีการเก็งกำไรกันสูงและราคาขึ้นไปมากจนทำให้ PE สูงลิ่วเกิน 40 เท่า  หรือบางบริษัทเป็นร้อยเท่า  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เรายังหาหุ้นที่ไม่แพงและน่าสนใจลงทุนเป็นหุ้นแบบ VI ได้อีกไม่น้อย  ดังนั้น  เราก็จะยังลงทุนต่อไป  เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์  หรือ  “เกินร้อย”  โดยการใช้มาร์จิน  สำหรับนักลงทุนจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็น VI หรือไม่  นี่เป็น  “โอกาสทอง”  ที่จะรวยได้อย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์  “กลัวอะไร?”

           สิ่งที่ผมกลัวก็คือ กลัวว่ามันจะเป็น “ฟองสบู่”  จริงอยู่  ราคาหุ้นอาจจะดูไม่แพงเมื่อมอง PE ในปีหน้า  แต่ถ้าดูค่า PE ย้อนหลังหนึ่งปีซึ่งเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่การคาดการณ์  ค่า PE ตอนนี้ก็น่าจะเกือบ 20 เท่าซึ่งก็ต้องถือว่าแพง  แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเหตุการณ์หรือสภาวะแวดล้อมและสัญญาณต่าง ๆ  โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่สูงจนบางวันกว่า 8 หมื่นล้านบาทนั้น  มันบอกว่าฟองสบู่อาจจะกำลังเกิดขึ้นแล้วและมันอาจจะแตกเมื่อไรก็ได้  ว่าที่จริงในตลาดหุ้นที่เป็นฟองสบู่เกือบทุกครั้งนั้น  เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นฟองสบู่  จนถึงวันที่มันแตกนั่นแหละที่เราถึงรู้ว่ามันคือฟองสบู่  และทุกครั้งที่หุ้นขึ้นไปแรงมากมันก็มี  “เหตุผล”  เสมอ  และมันไม่ใช่เหตุผลของคนธรรมดา  แต่เป็นเหตุผลของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังและ  “เซียนหุ้น” ทั้งหลาย  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  นี่เป็นเวลาที่ผม  “กังวล”  ความกังวลของผมนั้น  ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการศึกษาประวัติศาสตร์  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือประวัติของ เบน เกรแฮม กับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เคยผ่านเหตุการณ์ที่อาจจะคล้าย ๆ  แบบนี้เหมือนกัน

           ในปี 1969 นั้น  ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในช่วงที่ “บูมจัด”  มันเป็นการปรับตัวขึ้นที่ติดต่อกันมายาวนานเกือบ 20 ปี  หลังจากประมาณปี 1950 ที่ตลาดหุ้นเริ่มวิ่งขึ้นอย่างแรงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงและเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มบูม     วอเร็น บัฟเฟตต์  เองนั้น  เข้าตลาดหุ้นเต็มที่ในปี 1957 เขาเข้ามาลงทุนในยามที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างค่อนข้าง  “มีเสถียรภาพ” มาตลอดจนถึง 1969 ที่ตลาดขึ้นไปอยู่ที่  “ดอย” ในความรู้สึกของเขา  เขาตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเกือบหมดเพื่อคืนเงินให้กับคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหารในห้างหุ้นส่วนที่เขาจัดตั้งขึ้น  เขาบอกว่าเขาไม่สามารถหาหุ้นที่ถูกพอที่เขาจะลงทุนได้  ดังนั้น  เขาจึงคืนเงินให้กับคนที่มาลงทุนกับเขา  หลังจากนั้น  เขาก็ “อยู่เฉย ๆ”  และคงรอว่าเมื่อไรหุ้นจะตกลงมาจนมีราคาถูกพอที่จะให้เขากลับไปซื้อได้    อย่าลืมว่าในช่วงต้นของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์ซึ่งก็คงประมาณ 12 ปีเศษ ๆ นั้น  เขาเน้นการซื้อหุ้นราคาถูกแบบ เบน เกรแฮม

           หลังจากบัฟเฟตต์ขายหุ้นทิ้ง  ดัชนีดาวโจนส์ก็เริ่มปรับตัวลงมาบ้างแต่ก็ยังกระเด้งกลับเป็นระยะ ๆ  อย่างไรก็ตาม  การลดลงของราคาหุ้นคงจะไม่มากพอที่บัฟเฟตต์จะกลับเข้าไปซื้อเขาจึงยังนิ่งอยู่  เขาเล่าว่ามันเป็นเวลาการรอคอยที่  “ยาวนาน”  และคงจะน่าเบื่อและ “ทรมาน” มากสำหรับเขา  เขาบอกว่าเขาต้อง  “นั่งทับมือตัวเอง”  ไว้ในขณะที่มองดูเพื่อนฝูงและนักลงทุนคนอื่นรวยเอา ๆ เป็นเวลา 3 ปีจนถึงปี 1973 ซึ่ง  “ฟองสบู่แตก” อันเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงลิ่ว  อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 10%  สงครามเวียตนามกำลังร้อนแรงและเงินเฟ้อขึ้นสูงลิ่ว  ดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง 45% ภายในเวลาปีครึ่ง  ชาร์ลี มังเกอร์ ซึ่งบริหารกองทุนของเขาเองนั้นขาดทุนไปกว่า 50%   แต่บัฟเฟตต์เองมีเงินสด “เต็มมือ”  เขาเข้าไปซื้อหุ้นในยามที่ตลาดหุ้นตกต่ำสุดขีดและเต็มไปด้วยความ “โลภ” เขาเล่าว่า  “ผมรู้สึกเหมือนชายที่อดอยากขาดเซ็กส์มานานที่ตกเข้าไปในฮาร์เร็ม”  พอถึงสิ้นปี 1974  เงินทั้งหมดของเขาก็กลับเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้น  แต่ในตอนนี้เขากลับไม่ซื้อหุ้น “ถูก ๆ”  แบบเกรแฮมที่เคยทำ  เขาเริ่มซื้อหุ้นของกิจการ  “สุดยอด”  ในราคาที่ต่ำมากเช่น วอชิงตันโพสต์  ในปริมาณที่มากจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  เขาทำได้เพราะหุ้นคงจะถูกมาก

            ผมไม่แน่ใจว่าบัฟเฟตต์ขายหุ้นทิ้งและหลีกเลี่ยง “หายนะ” ในปี 1973-74 ได้เพราะเขามีบทเรียนจาก เบน เกรแฮม หรือไม่  แต่ประวัติศาสตร์บอกว่า  เกรแฮมนั้น  “เจ๊งหุ้น”  ในช่วงวิกฤติครั้งใหญ่ในปี 1929 ที่ตลาดหุ้นร่วงลงมาเกือบ 90% ในเวลาประมาณ 3 ปีจนถึงปี 1932-33  เพราะเขาไม่ได้ขายหุ้นทิ้งในยามที่ตลาดหุ้นบูมแบบ  “บ้าคลั่ง”  แต่ “ผู้เชี่ยวชาญ” นักวิเคราะห์  และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโนเบลไพรซ์ บอกว่าตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น  “อย่างมีเหตุผล” หลังจากที่มัน “หักปากกา”  คนที่พร่ำพูดว่าหุ้นแพงเกินไปมาตลอดครั้งแล้วครั้งเล่า  “หายนะ”  ครั้งนั้นทำให้หุ้นตกลงมามโหฬารและทำให้หุ้นจำนวนมากมีราคาต่ำจนไม่น่าเชื่อซึ่งทำให้เกรแฮมกลับเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นที่ราคาต่ำแบบ  “แบกับดิน” ซึ่งมีอยู่มากมาย  ในระหว่างนั้นเขาได้เริ่มสอนวิชาการวิเคราะห์หลักทรัพย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและได้รวบรวมคำสอนเขียนเป็นหนังสือชื่อ  Securities Analysis ซึ่งกลายเป็น “ไบเบิล”  ของการลงทุนแบบ  Value Investments ในเวลาต่อมา

            เบน เกรแฮม นั้น  ในที่สุดก็สามารถ  “ชดใช้”  คือทำผลตอบแทนคืนให้คนที่นำเงินมาให้เขาลงทุนและขาดทุนในปี 1929 ได้ด้วยหลักการการลงทุนแบบ VI ที่เขาคิดขึ้น  ส่วนตัวเขาเองนั้น  เขาก็ลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีมาก  อย่างไรก็ตาม  เนื่องด้วยวัยที่สูง  เขาเกษียณอายุไปด้วยเงินไม่มาก  แค่เพียงพอใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสบายในฝรั่งเศสและเสียชีวิตไปนานแล้วและกลายเป็นตำนานที่คนเรียกว่า  “บิดาแห่ง VI”  ส่วน วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  ตั้งแต่กลับมาลงทุนหลังวิกฤติปี 1973-74 เขาก็ปรับตัวไม่เน้นการลงทุนแบบ VI ดั้งเดิมที่เน้นซื้อหุ้นถูก  แต่ชอบที่จะลงทุนหุ้นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก”  และถือหุ้นยาวแบบแทบจะไม่ขายเลยไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน  เขาอาจจะค้นพบว่าถ้าเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยมจริง ๆ  แล้ว  ความจำเป็นต้องขายแทบจะไม่มี  ดังนั้น  หลังจากวิกฤติปี 1973 แล้ว  เขาก็ไม่เคย “ออกจากตลาดหุ้น”  อีกเลย  อาจจะมีบ้างในบางช่วงที่หุ้นอาจจะแพงจนหาหุ้นที่จะลงทุนไม่ใคร่ได้  สิ่งที่เขาจะทำก็คือการ “สะสมเงินสด”  ที่อาจจะได้จากปันผลหรืออื่น ๆ  ให้มากเพื่อรอว่าจะได้มีโอกาสซื้อหุ้นที่อาจจะตกลงมามาก ๆ  ในยามที่เกิดวิกฤติ  ซึ่งเขาก็เพิ่งได้ทำเมื่อเร็ว ๆ นี้หลังจาก  “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ในปี 2008 ที่เขาได้เข้าซื้อหุ้นของกิจการดี ๆ จำนวนมากในราคาที่ถูกสุด ๆ และนี่ก็คือคนที่กลายเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตในฐานะนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในโลก
            ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น  ผมเองก็ไม่ได้แนะนำว่า VI ของไทยในช่วงนี้ควรที่จะทำตามสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำในปี 1969 แม้ว่าจะมีอะไรหรือมีสถานการณ์บางอย่างเหมือนกัน  นอกจากนั้น  การที่บัฟเฟตต์ขายหุ้นทิ้งในปี 1969 นั้น  แม้ว่าจะดูเหมือนว่าตัดสินใจถูกต้อง  แต่ที่จริงถ้าเขาตัดสินใจถือไปอีก 1-2 ปี  เขาก็อาจจะได้ผลตอบแทนดีขึ้นไปอีก  ดังนั้น  สิ่งที่ VI จะทำจึงควรต้องคิดคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ  เฉพาะตัวของตนเองประกอบด้วย  ประวัติศาสตร์นั้น  ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องทำตาม  มันเป็นเพียงสิ่งที่เราต้องตระหนักและคิดตามเท่านั้น

Posted by nivate at 10:00 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/18/1263


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 27, 2013, 04:42:49 pm


(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 25 March 2013

PE3

 

การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นต่อปีของบริษัทนั้น  เป็นวิธีการที่ถูกใช้โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มากที่สุด  เหตุผลสำคัญก็คือ  มันเป็นวิธีการที่ง่าย  เข้าใจได้ง่าย  และมันพอที่จะเป็น  “ตัวแทน” แบบหยาบ ๆ  ของการคำนวณหา  “มูลค่าที่แท้จริง”  ของหุ้นตามทฤษฎีทางการเงิน

           คำอธิบายเรื่อง PE  ที่ใช้กับคนทั่วไปแล้วฟังดูรู้เรื่องเข้าใจง่ายข้อแรกก็คือ  ค่า PE นั้นบอกให้เรารู้ว่าถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้นจะใช้เวลาเท่าไรจึงจะ “คืนทุน”  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นมีค่า PE 15 เท่าก็แปลว่าถ้าลงทุนในหุ้นตัวนั้นจะใช้เวลา 15 ปีจึงจะคืนทุนถ้าบริษัทกำไรเท่าเดิมทุกปี   นี่ก็เป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่ายมาก  แต่จริง ๆ  แล้วก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่มักจะไม่เป็นความจริงเท่าไรนัก  นั่นก็คือ  สมมุติว่าถ้าบริษัทกำไรหุ้นละ 1 บาทต่อปีและราคาหุ้นเท่ากับ 15 บาทต่อหุ้นซึ่งทำให้หุ้นมีค่า PE เท่ากับ 15 เท่า  บริษัทนั้นจะต้องจ่ายปันผลปีละ 1 บาท  คือจ่ายปันผลจากกำไรทั้งหมดเราถึงจะได้เงินทุนคืนใน 15 ปี  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  บริษัทส่วนใหญ่มักจะจ่ายปันผลเพียงประมาณ 50% ของกำไร  ดังนั้น  ถ้าบริษัทจ่ายแค่ 50 สตางค์  หุ้นที่มี PE 15 เท่าก็ต้องใช้เวลาถึง 30 ปีถึงจะคืนทุน
           คำอธิบายอีกแบบหนึ่งที่อาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่าก็คือ  ให้แปลงค่า PE เป็น EP คือกลับเศษเป็นส่วน  เช่นค่า PE เท่ากับ 20 เท่า  ถ้ากลับกันก็กลายเป็น 1 ส่วน 20 หรือเท่ากับ  .05  แล้วคูณด้วย 100 ก็จะเป็น 5%  นั่นก็คือ  ถ้าลงทุนหุ้นตัวนี้จะได้ผลตอบแทนปีละ 5%  ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างอื่น  เช่น การฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรซึ่งอาจจะได้ผลตอบแทน 2% และ 4% ต่อปี ตามลำดับ  ซึ่งในกรณีอย่างนี้เราก็สามารถตัดสินใจได้ว่าเราต้องการซื้อหุ้นตัวนี้หรือไม่  มันแพงหรือถูกในสายตาของเรา  แต่นี่ก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานเช่นกันว่ากำไรของบริษัทยังเท่าเดิมทุกปีและบริษัทจะจ่ายปันผลจากเงินกำไรทั้งหมดซึ่งก็มักจะไม่จริง

           แม้ว่าสมมุติฐานที่ว่าบริษัทจะมีกำไรเท่าเดิมและบริษัทจะจ่ายปันผล 100% ของกำไรมักจะไม่จริง  แต่การใช้ค่า PE ก็ยังมีเหตุผลอยู่ดี  เหตุเพราะว่า  ข้อแรก  กำไรของบริษัทนั้นจริง ๆ  แล้วไม่เท่าเดิมแต่มันมักจะเพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง  ดังนั้น  ถ้าเราตั้งสมมุติฐานว่าเท่าเดิมแต่มันเพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนที่ลงทุนซื้อหุ้นไว้  เพราะจำนวนปีที่ได้ทุนคืนก็จะลดลง  หรือถ้ามองเป็น EP ผลตอบแทนในอนาคตต่อปีก็จะเพิ่มขึ้น  แทนที่จะเป็น 5% ก็อาจจะกลายเป็น 10%  หรือมากกว่านั้นถ้ากำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          ข้อสอง  ของสมมุติฐานที่ว่าบริษัทจะต้องจ่ายปันผลจากกำไรทั้งหมดซึ่งมักจะไม่จริง   แต่คำอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ  ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่จ่ายปันผลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ของกำไร  แต่กำไรส่วนที่เหลือก็ไม่ได้หายไปไหนยังคงเก็บอยู่ในบริษัทซึ่งจะถูกนำไปลงทุนขยายกิจการเพิ่มซึ่งก็จะทำให้กำไรในอนาคตสูงขึ้น  ดังนั้น  สมมุติฐานข้อนี้จึงไม่น่าที่จะกระทบกับเรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้น   สรุปแล้วก็คือ  ค่า PE นั้นน่าจะยังพอใช้ได้ในการที่จะบอกว่าหุ้นถูกหรือแพง

          แต่ประเด็นของการใช้ค่า PE ก็ยังไม่จบ  เพราะนักวิเคราะห์บางคนก็ใช้ค่า E ของอดีตหนึ่งปีหรือ 4 ไตรมาศที่ผ่านมาเรียกว่า Trailing PE  ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะค่าที่ได้นั้นเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว  เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์บางคนก็ใช้ค่า E หรือกำไรต่อหุ้นในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้าหรือเรียกว่า Forward PE ซึ่งตัวเลขผลกำไรต่อหุ้นของบริษัทที่นำมาใช้นั้นมาจากการประมาณการณ์ของตนเองหรือจากค่าเฉลี่ยของประมาณการของนักวิเคราะห์หลาย ๆ คน   การใช้ตัวเลข  “ในอนาคต”  นั้น  นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับทฤษฎีทางการเงินที่ว่าราคาหรือมูลค่าของหุ้นนั้น  ควรที่จะเป็นราคาที่สะท้อนอนาคตของกำไรของกิจการ  เวลาเราซื้อหุ้นนั้น  เราซื้ออนาคต  เราจะได้ปันผลจากผลประกอบการในอนาคต  ไม่ได้ได้จากอดีต  ดังนั้น  การใช้ค่า E ของปีหน้าน่าจะดีกว่าค่า E ของปีที่แล้ว

          ความเห็นของผมก็คือ  ผมชอบที่จะดู  “ความจริง” การใช้ข้อมูลที่เกิดจากการคาดการณ์นั้นมีโอกาสผิดพลาดได้มากโดยเฉพาะกับบริษัทบางประเภทที่ผลกำไรของกิจการขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกมากมายเช่น ราคาสินค้าในตลาดโลก  ภาวะเศรษฐกิจ  หรือการแข่งขันจากคู่แข่ง เป็นต้น  ดังนั้น ถ้าให้เลือก  ผมอยากจะใช้ค่า Trailing PE มากกว่า Forward PE ที่ใช้ค่า E ที่คาดว่าจะเกิดใน 1 ปีข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม  ค่า Trailing PE เองนั้นก็มีข้อเสียมากมายที่ทำให้มันใช้ไม่ได้เลยถ้ากำไรในอนาคตของบริษัทลดลงหรือลดลงไปมากซึ่งนี่มักจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ที่ราคาสินค้าขึ้นลงรุนแรงโดยที่ต้นทุนไม่สามารถปรับตามได้ทันที  หรือไม่ก็เกิดขึ้นกับบริษัทที่ไม่แข็งแกร่งและไม่มีความได้เปรียบในแข่งขันอย่างยั่งยืนที่จะทำให้สามารถรักษาผลประกอบการให้สม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้   ดังนั้น  ในกรณีของหุ้นแบบนี้ผมจะทำอย่างไร

           คำตอบของผมก็คือ  ส่วนใหญ่แล้วผมก็จะไม่ใช้ค่า PE เลยในการประเมินมูลค่าหุ้นเหล่านั้น  และถ้าจะพูดไป  ส่วนใหญ่แล้วผมก็จะไม่ลงทุนในหุ้นประเภทที่กำไรในอนาคตระยะยาวไม่แน่นอนและมีโอกาสลดลง  แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ค่า PE สำหรับหุ้นแบบนี้  ผมจะใช้ค่า PE ที่มาจากการคาดการณ์ค่า E หรือกำไรใน 3-4 ปีข้างหน้า  จะเรียกว่าใช้ PE3 ก็ได้  โดยที่กำไรในอีกสามปีข้างหน้านั้นผมจะมีวิธีการคาดการณ์โดยอิงจากหลาย ๆ  ปัจจัย  ที่สำคัญก็คือ  ผมไม่ดูแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมขณะนั้นเพราะผมคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้ามันน่าจะเปลี่ยนไปแล้ว   สิ่งที่ผมจะดูก็คือ  ยอดขายของบริษัทจะเป็นเท่าไร  เสร็จแล้วผมก็คูณด้วย Profit Margin หรือกำไรต่อยอดขายที่ควรจะเป็นในอุตสาหกรรมนั้นหรือกำไรต่อยอดขายโดยเฉลี่ย 4-5 ปีย้อนหลังของบริษัท ซึ่งจะทำให้ผมได้ตัวเลขกำไรของบริษัทในอีก 3 ปีข้างหน้าและดังนั้นผมก็คำนวณค่า PE3ได้  ถ้าผลออกมาว่าค่า PE3 ที่ได้นั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งหมายความว่าหุ้นตัวนั้นถูก  ผมก็อาจจะตัดสินใจซื้อ  ถ้าไม่ใช่ผมก็คงไม่ทำอะไร
           ข้อดีของการใช้ PE3 หรือ PE5 ซึ่งใช้ตัวเลขกำไรในอีก 5 ปีข้างหน้าก็คือ  มันช่วยตัดปัญหาเรื่องวัฏจักรธุรกิจออกไปได้มาก  เช่นเดียวกับที่มันตัดประเด็นเรื่องภาวะธุรกิจขาขึ้นหรือขาลงของบริษัทที่ไม่ได้แข็งแกร่งแต่ผลประกอบการที่เห็นนั้นขึ้นอยู่กับ “โชคเคราะห์” ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น   แต่ถ้าถามว่าผมมั่นใจแค่ไหนกับตัวเลขการประมาณการณ์กำไรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า  คำตอบของผมก็คือ  ผมไม่คิดว่าผมจะคาดการณ์ได้ถูกตรงตามเวลาที่กำหนด  แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นก็คือ  ในช่วงเวลา 3-5 ปีข้างหน้านั้น  มันน่าจะต้องมีสักวันหรือปีหนึ่งที่บริษัทจะสามารถทำกำไรอย่างน้อยเท่ากับที่ผมประมาณการณ์ไว้  และเมื่อถึงวันนั้น   ผมก็คิดว่าหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นไปตามผลประกอบการที่ดี ๆ  หรือตามที่ผมคาด  และนั่นก็คือวันที่ผมจะมีโอกาสขายหุ้นทำกำไรที่เพียงพอต่อการรอคอยในช่วง 3 หรือ 5 ปีข้างหน้า  คำนวณอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  ผมอยากเห็นราคาหุ้นขึ้นไปหนึ่งเท่าตัวภายในเวลา 5 ปี
Posted by nivate at 3:16 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/25/1266
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 29, 2013, 01:12:32 am
มี ’100 ล้าน’ ไม่ยากอย่างที่คิด สูตรรวย ‘ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร’ : กรุงเทพธุรกิจ

(http://www.sarut-homesite.net/wp-content/uploads/2010/07/images.jpg)

เปิดวิธีคิดฉบับ How To..ทำอย่างไร? เคล็ดลับสู่เงิน ‘ร้อยล้าน’ ไม่ใช่แค่ฝันเฟื่อง ‘ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร’ แนะวิธีลงทุนเด็ดๆ โกยกำไรปีละ 20%

“ถ้าคนเราไม่ประหยัด หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ(ใช้) นอกจากไปโกงเขามา ไอ้การโกงนี่มันได้มาแบบเงินล้นฟ้า แต่ก็ไม่มีความสุข ถ้าคนเราทำอาชีพสุจริตแต่ไม่ประหยัด ชีวิตนี้ก็ไม่มีทางร่ำรวย”

วลีเด็ดของ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ประธานชมรมคนออมเงิน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเงินและภาษี วัย 65 ปี ที่ปัจจุบันมีทรัพย์สินเงินทองนับ “พันล้านบาท” จากนิสัยมัธยัสถ์มาตลอดชีวิต

ครอบครัว วลัยเสถียร นับถือคาทอลิก แต่มีความเชื่อว่า โชคดีมาหนเดียวแต่โชคร้ายอาจเกิดขึ้นได้หลายหน ดังนั้น พวกเราต้อง “จ่าย” ให้น้อยกว่า “รับ” เราจึงจะเก็บความมั่งคั่งเอาไว้ได้ … เมื่อหาเงินมาได้ 10 บาท ก็จะนำไปใช้ 5 บาท ส่วนที่เหลืออีก 5 บาท ก็เก็บออม อาจารย์สุวรรณทำมาแบบนี้ตลอดหลายสิบปี ด้วยความเชื่อที่ว่า หาได้มากน้อยเท่าไรไม่สำคัญ จ่ายมากน้อยเท่าไรเป็นเรื่องสำคัญกว่า

ดร.สุวรรณ สร้าง “เซอร์ไพรส์” ครั้งแสดงบัญชีทรัพย์สินเมื่อตอนเป็น รมช.พาณิชย์ ช่วงปี 2544 ส่วนตัวมีทรัพย์สินมากถึง 557 ล้านบาท ส่วนภรรยามีทรัพย์สิน 121 ล้านบาท สองคนรวมกันมีทรัพย์สินเกือบ 700 ล้านบาท ปัจจุบันอาจารย์เป็นประธานกรรมการ บมจ.เอสวีไอ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ใครหลายคนอาจเห็นชื่อประธานชมรมคนออมเงิน แอบ “ออมหุ้น” SVI เกือบ 5 ล้านหุ้น มูลค่าเฉียด 12 ล้านบาท มีต้นทุนอยู่ที่หุ้นละ 2.34 บาท ทำเอาหุ้นตัวนี้ “แอบขึ้น” ไปอย่างมากจากเหล่าสาวกที่แห่ซื้อตาม

ตั้งแต่เกษียณจากงานการเมือง ก็หันมาเอาดีทางด้านงานเขียนหนังสือประเภท “ฮาวทู” มีผลงานบนแผงหนังสือนับสิบเล่ม เรียกได้ว่าเป็น “กูรู” ด้านการเงินชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทย อาทิ พ่อสอนลูกให้รวย, สอนเมียให้รวย, สอนเพื่อนให้รวย, กลยุทธ์การปลดหนี้ และจ่ายภาษีก็รวยได้ เป็นต้น และเป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาต่างๆอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุวรรณ บอกผ่าน กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า ถ้าคุณอยากกอดเงิน “ร้อยล้าน” ไม่ได้อยากอย่างที่คิด หากเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ แต่อาจต้องใช้เวลานานถึง 15 ปีขึ้นไป เพราะคงไม่มีใครเก่งมากพอที่จะหาเงินก้อนโตได้ภายในเวลา 3-5 ปีหรอกจริงมั้ย!

หากคุณอยากพบกับ Road to Wealth หรือ หนทางสู่ความมั่งคั่ง ให้ปฏิบัติตัวดังนี้…

ข้อแรก ต้องเป็นคนที่หมั่นศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา ไม่ใช่เรียนจบแล้วก็แล้วกัน ความคิดต้องมีความทันสมัย ก้าวทันทุกเหตุการณ์ ที่สำคัญต้องเก่งภาษาอังกฤษ ไม่เช่นนั้นหากินลำบากแน่นอน

ข้อสอง คุณต้องขยัน เป็นคนหนักเอาเบาสู้ ถึงไหนถึงกัน

ข้อสาม ต้องหมั่นดูแลความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ตัวเองต้องตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย

ข้อสุดท้าย คุณต้องรู้จักประหยัด อดออม อย่าโลภเป็นอันขาด เพราะความโลภเป็นหนทางสู่ความไม่มั่นคงในชีวิต ข้อคิดและนิสัยเหล่านี้ ถือพื้นฐานของคนที่จะร่ำรวย

“เงินร้อยล้านบาท ถ้าอยากมีต้องรีบทำ ควรเริ่มคิดตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 หรือปี 3 ถ้าช้ากว่านั้นอาจไม่ทันการณ์ แต่ถ้าไม่หวังสูงมาก อยากมีเงินสัก 5 ล้านบาท ก่อนอายุ 40 ปี ก็สามารถทำตามวิธีนี้ได้เหมือนกัน”

การลงทุน เรื่องอายุก็สำคัญ ถ้าหากอายุยังน้อย 20-30 ปี ก็สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มาก เนื่องจากยังมีเวลาการทำงานเหลืออีกมากเมื่อพลาดพลั้งไปก็ยังหาเงินได้ใหม่ แต่หากอายุเยอะไม่ควรลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าผิดพลาดไปก็จะไม่มีเวลาแก้ตัว ชีวิตบั้นปลายจะลำบาก นอกจากนี้ เรื่องการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายประเภทก็มีความสำคัญ

ประธานชมรมคนออมเงิน แนะนำว่า สมมติ ถ้ามีเงิน 100 บาท อาจแบ่งเงินออกมาราวๆ 50-60% เพื่อนำไปลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าเป็นช่วงนี้ก็ควรเน้นหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากกลุ่มนี้จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แต่ควรจะเลือกซื้อตัวไหนบ้าง คงต้องขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล คงไม่สามารถบอกเป็นตัวๆได้

“ผมไม่ใช่เซียนหุ้น ไม่เชี่ยวชาญขนาดนั้น ที่สำคัญไม่อยากคุยเรื่องหุ้นเท่าไรนัก” อาจารย์ออกตัว

ส่วนหุ้นกลุ่ม Modern Trade (ธุรกิจค้าปลีก) ถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสยามแม็คโคร (MAKRO) ซีพี ออลล์ (CPALL) และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ส่วนตัวชอบ MAKRO มากที่สุด เพราะเมื่อปี 2552 มีกำไรต่อหุ้นสูงถึง 6.36 บาท เมื่อเทียบกับหุ้น BIGC ที่มีกำไรต่อหุ้นเพียง 3.58 บาท ส่วนหุ้น CPALL  มองว่าแพงไปหน่อย แต่หากมองในแง่เงินปันผลก็โอเค

มุมมองส่วนตัวของ ดร.สุวรรณ เชื่อว่า ตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปี 2553 และปี 2554 คงจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าดัชนีสิ้นปี 2553 จะขึ้นจาก 780-790 จุด มายืนแถวๆ 860 จุด หรือบวกมาประมาณ 10% กลุ่มยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ก็ชอบ เพราะหุ้นกลุ่มนี้จ่ายเงินปันผลดี ส่วนตัวมองว่ากลุ่มนิคมอุตสาหกรรมกำลังจะฟื้นตัว หลังลงไปสัมผัส “จุดต่ำสุด” ฉะนั้นหากมีเงินก็รีบหาจังหวะเก็บไว้ได้

โดยเฉพาะ ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) หุ้นตัวนี้เขามีดีตรงเงินปันผล ส่วน อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ซื้อเก็บไว้ก็ดีเชื่อว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นหลังสถานการณ์การเมือง และภาวะเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

ด้านกลุ่มท่องเที่ยว ถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง เพราะตอนนี้กลุ่มนักธุรกิจกลับมาแล้ว และอีกไม่นานกลุ่มท่องเที่ยวจะตามมา ส่วนกลุ่มที่เข้ามาจัดงานประชุม และแสดงสินค้า อาจยังกล้าๆกลัวๆ คงต้องให้เวลาเขาอีกสักหนึ่งปี

นอกจากการลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีและจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอแล้ว กูรูท่านนี้ยังแนะนำว่า ให้นักลงทุนแบ่งเงินประมาณ 10-15% ไปลงทุนในทองคำ เชื่อว่าสิ้นปีนี้ทองคำอาจขึ้นมายืนระดับ 20,000 บาท ได้ไม่ยาก และอีก 5-10% ให้เก็บเป็นเงินสดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ส่วนที่เหลือให้นำไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่ ดร.สุวรรณ แนะนำมานานแล้ว บ้านของอาจารย์ที่ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานด้วย อยู่ในซอยสุขุมวิท 8 (ซอยปรีดา) อาจารย์ซื้อมาเพียง 5 ล้านบาท เมื่อ 20-30 ปีก่อน ปัจจุบันเฉพาะที่ดินก็มีมูลค่าหลายสิบล้านบาทแล้ว ถ้าเทียบกับฝากเงินแบงก์ ใช้ประโยชน์กับบ้านไม่ได้ แต่บ้านทำให้เราอยู่สบาย

“หากคุณลงทุนตามแบบฉบับของผม รับรองได้ว่าจะได้รับกำไรเข้ากระเป๋าปีละ 20% แน่นอน แต่ทั้งหมดต้องทำบนความไม่เสี่ยง ไม่โลภ และหุ้นแต่ละตัวต้องมีการเติบโตที่ดี และมีเงินปันผลสม่ำเสมอ” อาจารย์ย้ำ

ถามเรื่องทิศทางเศรษฐกิจ ดร.สุวรรณ เชื่อว่าทุกอย่างคงไปได้ด้วยดี ดูจากราคาสินค้าเกษตรที่มีทิศทางดีขึ้น ปกติประเทศไทยจะส่งออกแต่วัตถุดิบ แต่วันนี้ส่งเป็นสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งการส่งออกในลักษณะนี้จะมีมาร์จินที่ดีกว่า ยิ่งมองไปในธุรกิจยานยนต์จะเห็นเลยว่า ปีนี้ผลิตรถยนต์ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนค่าเงินบาทอาจยืนราวๆ 32.2-32.3 บาท คงไม่ลงไปอยู่ 31 บาทแน่นอน สำหรับราคาน้ำมันอาจนิ่งอยู่ระดับ 80-85 เหรียญต่อบาร์เรล

“ผมมองการเมืองไทย คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเดือนเมษายน ปี 2554 ก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว”

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ ต้องมองว่า 3 ประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ก็คงดีขึ้นตามลำดับ แม้จะไม่ดีขึ้นมากมาย แต่ก็ดีกว่าย่ำอยู่ที่เดิม ส่วนตัวมองว่าประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรราวๆ 100 – 200 ล้านคน จะเป็นประเทศที่น่าจับตามอง เพราะการเมืองเขาดีกว่าเรามาก ฉะนั้น ถ้าเขาขยับทำอะไรขึ้นมา คงมีผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเหมือนกัน

ถ้าย้อนดูบทสัมภาษณ์เก่าๆ ปรัชญาการใช้ชีวิตของ ดร.สุวรรณ คงหนีไม่พ้นบทเรียนเกี่ยวกับ “คุณ ค่าของเงิน”  ความมัธยัสถ์ อดออม และการใช้เงินทำงาน ที่สำคัญชีวิตนี้อย่าไปเป็นหนี้ เรามีเราใช้เท่าที่มี อยากซื้ออะไรมีตังค์ซื้อก็ซื้อ ถ้าไม่มีตังค์ก็อดออมเอาไว้ก่อน วันหลังมีตังค์ก็ไปซื้อดีที่สุด ทั้งหมดคือหลักการใช้ชีวิตที่ต้องมีการวางแผน และไม่ประมาท

มี 100 ล้าน ไม่ยากอย่างที่คิด สูตรรวย ‘ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร’

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

http://www.cglifeapp.com/index.php?option=com_content&view=article&id=226%3A-100------&catid=8%3Aidea-hub&Itemid=82
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 02, 2013, 10:38:30 am
“สับเกียร์รอ”วันใดดัชนีสัมผัส 1,700 จุด พร้อมเร่งเครื่องหนี คำสถบของ “ต้นตำรับ VI” ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “เจ้าของพอร์ตกว่า 2 พันล้าน”

“เผ่น !!!” เป็นคำตอบสุดท้าย “หากตลาดหุ้นไทยแตะ 1,700 จุด เหมือนปี 2537” ประโยคนี้ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor -VI) คนแรกของเมืองไทย ประกาศกลางเวที “เปิดประสบการณ์ตามหาหุ้นตัวแรก Your First Stock” ที่มีนักลงทุนแนว VI จับจองเก้าอี้มากกว่าครึ่งห้องประชุมสังเวียน ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คำพูดนี้ถูกถ่ายทอดถึงหู “แฟนพันธุ์แท้ VI” เพียงไม่กี่วัน ก่อน SET INDEX ปรับตัวลดลงรวม 112.68 จุด ในช่วงวันที่ 18-22 มี.ค.56 มูลค่าซื้อขายสูงถึง 101,361.64 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะ “ดิ่งเหว” หนักสุด 50 จุด ปิดตลาดที่ 1,478.97 จุด เมื่อวันที่ 22 มี.ค.56 แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ"กระทิงหนุ่ม" นักลงทุน “ตะลุย” ซื้อหุ้นไม่ยั้งมากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทุบสถิติสูงสุดใหม่เกือบทุกวัน

“เซียนหุ้นลายคราม” ลงจากเวทีมาขยายความเรื่องนี้ให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า..."หากดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด เหมือนปี 2537 ที่ทำได้ 1,770 จุด จริงๆ บอกตรงๆผมคงไม่อยู่แล้ว (หัวเราะ) อย่างน้อยต้องขายหุ้นออกไปสัก 50% หรือไม่ก็ล้างพอร์ตลงทุนให้หมด กลัวซ้ำรอยอดีตที่หุ้นไทยค่อยย่อตัวลงมา หลังขึ้นไปแตะจุดสูงสุด"

เขาทำท่าคิด ก่อนพูดต่อว่า "แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ก็คงต้องมาดูสถานการณ์ต่างๆอีกครั้ง ผมอาจไม่ทำแบบนั้นก็ได้ นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น ตามสถิติของผมมักไม่ค่อยขายหุ้นครั้งละมากๆหรือล้างพอร์ต หมดเกลี้ยง เพราะผมจะถือหุ้นแต่ละตัวนาน 3-4 ปี บางตัวครอบครองยาว 7-8 ปี ส่วนตัวไม่ค่อยนิยมดูดัชนีเท่าไร"

ถ้าดัชนีแตะ 1,700 จุด ขณะที่พอร์ตลงทุนไม่ขยับเลย แบบนี้ก็ไม่ไหว คงต้องมีขายกันบ้าง เจ้าตัวบอก

หากจะให้ทำนาย SET index ปลายปี 2556 จะไปยืนจุดไหน? ดร.นิเวศน์ บอกว่า.. "คำถามนี้ยังตอบไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้ถ้าให้บอกเท่ากับว่าจะต้องคาดการณ์อารมณ์ของนักลงทุน แต่พอจะประเมินได้ว่า หากดัชนีขึ้นแตะ 1,700 จุด เท่ากับว่าตลาดหุ้นขึ้นไปแรงเกิน ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเหมือนกัน ปี 2555 ตลาดหุ้นขึ้นไป 36% ถ้าปี 2556 ขึ้นไปที่ 1,700 จุด เท่ากับว่าตลาดขึ้นไปกว่า 30% เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยหวือหวา 2 ปีติดต่อกัน เหตุการณ์อย่างนี้เป็นอะไรที่นานๆจะเกิดขึ้น ขึ้นแรงขนาดนี้บ่งบอกได้ว่า เกิดจากการ “เก็งกำไร” ฉะนั้นนักลงทุนต้องระวัง"

ถามต่อว่าภาวะตลาดหุ้นเช่นนี้ แนะนำนักการลงทุนอย่างไร? เขาบอกว่า.. "ดูจากตัวผมเอง ไม่ได้ช้อนหุ้นมาพักใหญ่แล้ว เท่าที่ดูราคาหุ้นทุกตัวแพงมาก (ลากเสียงยาว) ไม่มีหุ้นตัวไหนที่รู้สึกว่าเข้าไปซื้อแล้ว “สบายใจ” สักตัว ภาวะเช่นนี้เน้นถือลงทุนหุ้นที่มีอยู่แล้วต่อไป ดีกว่าไปไล่ซื้อหุ้นตัวใหม่ๆ ผมยังไม่เห็นหุ้นตัวไหนซื้อแล้ว “ปลอดภัย” ที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนเยอะขึ้น คนเหล่านี้มีโอกาส “ขาดทุนสูง” อย่าลืมคุณเข้ามาซื้อตอนราคาสูงแล้ว เว้นเสียแต่ว่าเจอ “เนื้อคู่” หลังเล็งแล้วพบว่า 3 ปีข้างหน้า โอกาสโกยผลตอบแทนจากการลงทุนสูง ก็ขอได้โปรดอย่ารีรอ”

ดร.นิเวศน์ ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัว “กังวล” ทุกครั้งที่เห็นตลาดหุ้นขึ้นๆ แบบนี้ ก่อนจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์” อภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งช่วงตลาดหุ้นมีลักษณะดีๆ แบบนี้ ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้หาซื้อหุ้นดีๆถูกๆไม่ได้ เพราะราคาแพงทุกตัว ซึ่ง “วอร์เรน” เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นช่วงหลังวิกฤติ เขาจึงตัดสินใจล้างพอร์ตลงทุนหมดเกลี้ยง ขายหุ้นทิ้งไม่นานราคาหุ้นก็ขึ้นไม่ยอมลง

“วอร์เรน” เคยเล่าว่า ในช่วงปี 1974 มันช่างเป็นเวลาของการรอคอยที่ “แสนยาวนาน น่าเบื่อ และทรมานมาก” เพราะเขาต้อง “นั่งทับมือตัวเอง” ไม่ยอมซื้อหุ้น ขณะเดียวกันต้องมานั่งมองเพื่อนๆและนักลงทุนคนอื่นๆโชว์ “ความร่ำรวย” ผ่านไป 3 ปี ตลาดหุ้นเกิดภาวะ “ฟองสบู่แตก” หลังราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงปรี๊ด อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10%

ขณะที่สงครามเวียดนามกำลังร้อนแรง และเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงลิ่ว ดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง 50% ภายในระยะเวลาปีครึ่ง ตอนนั้น “วอร์เรน” กระโดดเข้าสู่ตลาดหุ้นอีกครั้ง นำเงินทั้งหมดซื้อหุ้น ทำตัวเหมือนผู้ชายขาดเซ็กส์มานานกว่า 3 ปี พอเห็นฮาเร็มก็รีบกระโดดเข้าใส่ เจอหุ้นตัวไหนก็สวยและถูกไปหมด เขาซื้อแบบเป็นบ้าเป็นหลัง

หลังเล่าช่วงชีวิตหนึ่งของ “วอร์เรน” จบ “ด็อกเตอร์” ก็ย้อนมาพูดถึงพอร์ตลงทุนของตัวเองว่า.. "วันนี้ผมไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตลงทุนของตัวเองเลยจริงๆ ทุกอย่างยังคงเดิมรอรับเพียงแต่เงินปันผลเท่านั้น อย่างปี 2555 ผมได้รับเงินปันผลจากการลงทุน “หลักร้อยล้าน” แว่บแรกผมรู้สึก “เรื่องจริงหรอ” ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าจะได้ผลตอบแทนมากกมายอย่างนี้ เพราะช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน ผมได้เงินปันผลแค่หลัก “ล้านบาท” เท่านั้น ปัจจุบันสัดส่วนลงทุน 95% ยังอยู่ในตลาดหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 5% ถือเป็นเงินสด"

ถ้าจะให้วิเคราะห์ว่าหุ้นกลุ่มไหนที่ยังพอเข้าไปลงทุนได้? .."ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้จริงๆ ตลาดหุ้นเป็นแบบนี้ก็ต้องไปเสาะแสวงหุ้นดีๆกันเอาเอง (หัวเราะ) ในช่วงสภาวะแบบนี้หุ้นก็ยังไม่ปลอดภัยเท่าไร แต่หากต้องการลงทุนจริงๆก็อยากให้นักลงทุนเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และสามารถทนต่อวิกฤติ (ถ้ามี) ต้องทนต่อความผันผวนของภาวะแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่งหุ้นในลักษณะแบบนี้ ถ้าในอนาคตเกิดมีปัญหาขึ้นมาก ราคาก็ยังพอยืนอยู่ได้ คำแนะนำนี้ใช้ได้ตอนหุ้นอยู่ในภาวะขาลง"

ดร.นิเวศน์ ยอมรับว่า ณ เวลานี้ มีหุ้นบางตัวถึงเวลาลงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็กๆ ที่มีราคา “แพงเว่อร์” เรียกว่าสูงเกินพื้นฐาน หลังมีแรงเก็งกำไรเข้ามาเพียบ นั่นอาจรวมไปถึงหุ้น IPO ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นด้วย หลายตัวราคาสูงเกิน

"ผมคิดว่าหากจะเกิดภาวะฟองสบู่ หุ้นเหล่านี้มีผลทำให้เกิดโดยตรงจะเรียกว่า “ฟองสบู่ของหุ้นตัวเล็ก” ก็พูดได้นะ !! ตราบใดที่ตลาดหุ้นยัง “ฮอตฮิต” และ “ร้อนแรง” แถมหุ้นไอพีโอก็ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนแบบนี้"

ต้องยอมรับว่าหุ้นไอพีโอเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเก็งกำไร เพราะว่าหุ้น IPO ส่วนใหญ่เป็นหุ้นไซส์เล็ก และไม่มีราคาอ้างอิงพื้นฐานอะไรเลย เพราะว่าเป็นหุ้นที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่รู้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ไหน ดังนั้นนักลงทุนก็เข้ามาเก็งกำไรกันอย่างสนุนสนาน เขาบอก

นักลงทุนต่างชาติส่งสัญญาณ “ถอดเงิน” ออกจากหุ้นไทยหรือยัง? “อาจารย์” บอกว่า ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนว่าต่างชาติจะถอดเงินกลับประเทศ เพราะเศรษฐกิจบ้านเขายังไม่ฟื้นตัวหวือหวา แต่จริงๆแล้วต่างชาติ ก็ไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเยอะแยะ ถ้าลองดูตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาต่างชาติเข้ามาในเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจะเป็นรายย่อยภายในประเทศมากกว่าที่เข้ามาเล่น “เก็งกำไร” เพราะว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเงินฝากธนาคาร อีกอย่างต่างชาติคงยังไม่ถอนเงินกลับไป ตราบใดที่เงินยังอยู่ใน “ภาวะล้นโลก” แบบนี้

ก่อนจบบทสนทนา ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น "วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์เมืองไทย" แนะนำนักลงทุนมือใหม่ว่า..

"คุณควรกระจายความเสี่ยงไว้บ้าง อย่าลงทุนซื้อหุ้นกระจุกตัวเพียงหุ้นตัวเดียว คุณควรลงทุนหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 30% หากเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ใสกิ๊ก ควรซื้อหุ้นสัก 5 ตัว โดยให้เข้าไปลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเฉลี่ยประมาณ 20% ของพอร์ตลงทุน พยายามหาหุ้นที่มีพื้นฐานดีๆมีกิจการดีเยี่ยม มีความแข็งแกร่ง คู่แข่งสู้ไม่ได้ กิจการพวกนี้จะถูกกระทบโดยปัจจัยภายนอกน้อยมาก เชื่อผม...!!"

โดยแนะว่า หุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับ “น้ำมัน ถ่านหิน” จำพวกนี้ควรจะ “หลีกเลี่ยง” การเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ควรเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เห็นและจับต้องได้ ถ้าไม่รู้ว่าหุ้นตัวนี้ทำธุรกิจอะไร ก็ขออย่าเดินเข้าไปเสี่ยง แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ก็สามารถเป็นนักลงทุน VI ที่ครอบครองราคาหุ้นดีไม่แพงได้ เพียงแต่ต้องออกตามล่ากันหน่อย ถ้าเจอตัวดีๆลงทุนไปเลย 100% มันคือ “โอกาสทอง” ที่จะทำให้รวยได้อย่างรวดเร็วที่สุด

หลักการลงทุนของชายชื่อ “นิเวศน์” คือ “ถ้าไม่มั่นใจ ไม่ทำ การลงทุนต้องมีกำไร หากลงทุนแล้วพบว่ามีโอกาสขาดทุนภายใน 3 ปี ผมไม่เข้าไปซื้อเด็ดขาด”

“ย้อนรอย” เจ้าของพอร์ต 2 พันล้าน
“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ย้อนประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรก ก่อนมีมูลค่าลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาทให้ฟังว่า "ตอนนั้นผมอายุ 40 ปี ถูกให้ลาออกจากงานประจำ พูดง่ายๆ ไม่มีงานทำนั่นละ (หัวเราะ) ตอนนั้นกลับมานั่งคิดทบทวนว่าจะต้องหาอะไรทำเพื่อมาเลี้ยงชีวิต อายุก็มากขึ้นทุกวัน ภาระค่าใช้จ่ายก็เยอะ ลูกก็ยังเรียนอยู่แถมเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ที่มีค่าเล่าเรียนแพงลิ่วปีละหลายแสนบาทอีกต่างหาก ภรรยาก็ทำงานพาร์ทไทม์ เป็นคุณครูสอนเปียโน ตอนนั้นผมกังวลมากว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดี หากยังไม่มีงานทำมีหวังครอบครัวต้องลดมาตรฐานค่าครองชีพแน่ๆ ถือว่าช่วงนั้นหนักหนาเหมือนกัน ตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้หางานทำค่อนข้างยาก ผมเรียนจบด้านการเงิน ช่วงนั้นธนาคารโดนปิด ไฟแนนซ์ล้มเพียบ..."

ทางออกของเขาในขณะนั้นคือ “Value Investment” ลงทุนในหุ้นให้เหมือนกับการทำธุรกิจ

"ผมตัดสินใจควักเงิน 10 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถามว่าทำไมต้องลงทุนแนวนี้ ผมสามารถใช้เงินเพียงเท่านี้ แต่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้หลากหลาย และเป็นธุรกิจที่ผมคัดเลือกแล้วว่า “ปลอดภัย” ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ตอนนั้นเลือกช้อนหุ้นกลุ่มอาหารราคาถูก และหุ้นที่ดำเนินกิจการส่งออก"
ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ตอนนั้นนั่งวิเคราะห์แล้วพบว่า เมืองไทยยังมีบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลประกอบการที่ดี มีฐานะการเงินยอดเยี่ยม เรียกว่าแทบจะ “ปลอดหนี้” และมีความ “ปลอดภัยดี” ในแง่ของการดำเนินการ ที่สำคัญ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น “ถูกเหลือเชื่อ” ค่า P/E ไม่เกิน 10 เท่า หลายๆบริษัทมีค่า P/E เพียง 6-7 เท่า คิดเฉพาะเงินปันผลที่จะได้รับเมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็ประมาณปีละ10% แล้ว

"ผมไม่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 แต่ “เล่นหุ้น” มานานก่อนหน้านั้นเป็น 10 ปี ก็เข้ามาเหมือนกับทุกคน เดินมาด้วย “ความโลภ” เต็มๆ เพราะว่าเข้ามาตอนตลาดหุ้น “บูม” มากๆ ตอนนั้นคิดเพียงว่าอยากจะได้เงิน เล่นหุ้นแบบเก็งกำไร “ซื้อๆ ขายๆ” เล่นลักษณะนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ถามว่าตอนนั้นรวยไหม?? “ไม่รวย” ตอบเลย"
ตอนนั้นมีหุ้นตัวหนึ่งที่ใครๆพากันเรียกกันว่า “หุ้น IPO” ออกมาขายเพียบ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป 2-3 เท่า เหมือนกับตอนนี้เป๊ะเลย (อาจารย์กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง) ตอนโน่นทำงานอยู่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ก็จะได้หุ้นไอพีโอ 100-200 หุ้น เขาจะขายให้เราก่อน 2-3 สัปดาห์ แล้วค่อยนำไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เชื่อหรือไม่ยังไม่ทันจะเทรด ราคาหุ้นไอพีโอซื้อขายนอกตลาดสูงกว่าราคาไอพีโอ 50% แล้ว สุดยอดมั้ยละ !!! เขาเผย

"แรกๆ ก็เล่นหุ้นไอพีโอ สักพักก็เข้ามาเล่นหุ้นที่ซื้อขายอยู่แล้วในกระดาน เพราะว่าหุ้นไอพีโอนานๆจะมาสักตัว เปรียบเหมือนล็อตเตอรี่ เดือนหนึ่งออก 2 ครั้ง ไม่ทันกิน ก็เลยกระโดดเข้ามาในตลาดหุ้นเอง ตอนนั้นซื้อหวยแบบรายวันกันเลย เล่นหุ้นแบบว่าสนุกสนาน หวังจะได้เงินมาใช้ ขาดทุนก็คงไม่เป็นไรมาก เพราะว่าเราไม่ได้เล่นเยอะ แต่พอมาดูโดยรวม ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิต (ยิ้ม)"

“ด็อกเตอร์” ยืดอกยอมรับว่า ตัวเขาเป็นนักลงทุน Value Investor โดยความจำเป็น เปลี่ยนจากคนเล่นหุ้นมาเป็นนักลงทุนแนว VI ในช่วงปี 2539-2540 ก็เพื่อ “ความอยู่รอด” ไม่ได้หวัง “รวยเร็ว” และไม่คิดว่าจะ “รวย” แม้ว่าหลังจากนั้นจะเริ่มเห็นว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดี โดยมีความเสี่ยงต่ำ ทำให้เริ่มตั้ง “ความฝัน” ว่าจะ “รวย” แต่ทั้งหมดก็อิงอยู่กับผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น ความรวยที่หวังนั้นมาจากระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวมาก
ดร.นิเวศน์ ยังเล่าว่า เมื่อก่อนเวลาได้ “เงินปันผล” มักจะนำไปลงทุนต่อ ไม่ค่อยถือ “เงินสด” แต่ตอนนี้เริ่มถือบ้างแล้ว แต่ถ้าในช่วง 10 ปีก่อน ไม่ค่อยถือเท่าไร ได้เงินปันผลมา ก็นำไปลงทุนซื้อหุ้นต่อ ฉะนั้นถ้านักลงทุนหน้าใหม่ๆ เริ่มเข้ามาลงทุนแล้ว จงเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีเงินปันผลสูงๆ จะทำให้มองเห็นเป้าหมายในอนาคต เพราะว่าเงินปันผลในอดีตจะเป็นตัวบอกว่าปีนี้จะมีเงินปันผลเท่าไหร่ และปีต่อไปจะสามารถลงทุนได้เท่าไหร่ และเงินปันผลจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่

"ถ้าเดินกลยุทธ์แบบนี้ วันหนึ่งคุณจะมีเงินปันผล เกินเงินเดือน และเกินรายได้ประจำ เมื่อนั้นก็จะเป็น “อิสระทางการเงิน” เมื่อมีเงินแล้วก็ต้องนำไปลงทุนเรื่อยๆ สะสมเป็นหุ้นในพอร์ต จะได้ไม่ใช้เงินจากทางอื่น คุณก็จะมีพอร์ตลงทุนใหญ่ขึ้น อนาคตเงินปันผลก็จะมากขึ้น เมื่อนั้นก็อาจไม่ต้องทำงานเลยก็อยู่ได้สบายๆ......"
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 02, 2013, 02:30:41 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 1 April 2013

ตลาดหุ้น AEC


ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนตลาดหุ้นสิงคโปร์และตลาดหุ้นมาเลเซียในช่วงเร็ว ๆ นี้กับนักลงทุน VI กลุ่มหนึ่งโดยการจัดของ Money Channel  ร่วมกับโบรกเกอร์ในประเทศไทยบางแห่ง  วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือการที่จะได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับตลาดหุ้นของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลัง  “รวมเป็นตลาดเดียวกัน”  นอกจากนั้นก็เพื่อที่จะรู้จักกับบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจที่เราอาจจะสนใจลงทุน  โดยที่ในการเดินทางไป  เราได้พบกับบริษัทหลายแห่งที่ผู้บริหารได้มาเสนอข้อมูลและตอบข้อซักถามของพวกเราในแนวทางที่คล้าย ๆ  กับรายการ  Opportunity Day ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเป็นประจำ  และต่อไปนี้คือข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับตลาดหุ้นของสองประเทศนี้และอาจจะแถมข้อสังเกตอื่น ๆ ที่ผมได้รับทราบมาจากแหล่งอื่น ๆ  ที่ผมเคยสัมผัสหรือพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์บ้าง

          ก่อนที่จะเข้าประเด็นของตลาดหุ้นผมอยากจะพูดถึงสภาพของบ้านเมืองและผู้คนตามที่ผมได้เห็นนั่นก็คือ  ทั้งสองประเทศนั้นต่างก็ “เจริญ” กว่าประเทศไทย  เพราะรายได้ต่อหัวของคนสิงคโปร์นั้นสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า  ว่าที่จริงสิงคโปร์นั้นผมเข้าใจว่ากลายเป็นประเทศที่คนมีรายได้ตัวหัวสูงที่สุดในโลกไปแล้วและนี่ถ้าเปรียบเทียบก็น่าจะเป็น  “เมืองหลวง”  ของ AEC แต่มีประชากรน้อยน่าจะเพียง 3-4 ล้านคน  ส่วนมาเลเซียนั้น  รายได้ต่อหัวสูงเป็นสองเท่าของไทยแต่จำนวนคนก็ยังไม่มากประมาณเกือบ 30 ล้านคนยังไม่ถึงครึ่งของไทย   และจากการสังเกตถึงราคาสินค้าที่ซื้อขายรวมถึงบริการต่าง ๆ  นั้นผมรู้สึกว่ามีราคายุติธรรมไม่ใช่แบบในยุโรปหรือประเทศนอกเอเซียบางแห่งที่ตัวเลขรายได้ต่อหัวสูงแต่ซื้อสินค้าได้น้อยซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่า  “รวยไม่จริง”   ในกรณีของสิงคโปร์หรือมาเลเซียนั้น  ผมเชื่อว่าเขารวยกว่าเราจริง

          ความ “เจริญ”  อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเห็นได้ชัดก็คือสภาพของบ้านเมืองโดยเฉพาะตึกรามบ้านช่อง  ถนนหนทางและสาธารณูปโภคต่าง ๆ  ของสิงคโปร์และมาเลเซียนั้นเหนือกว่าไทยมาก  ข้อแรกก็คือ  ถนนของเขานั้นมีมากและเป็นแนวเดียวกับอังกฤษหรือยุโรปที่มี “พรุน” ไปหมด  รถทั้งหลายไม่ได้ออกมาจากซอยและเข้าสู่ถนนหลักไม่กี่เส้นที่ทำให้รถติดมากอย่างในกรุงเทพ  ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ถนนของเขาสะอาดและเต็มไปด้วยต้นไม้ยืนต้นที่เป็นระเบียบและทำให้ไม่ใคร่ร้อนและดูสบายตา  ในส่วนของอาคารต่าง ๆ  นั้น  ทั้งในสิงคโปร์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซียต่างก็ดูสวยงามและมี  “ศิลปะ”  แตกต่างจากกรุงเทพที่มักจะสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยม “ทื่อ ๆ” เน้นการใช้สอยเป็นหลัก  นอกจากนั้นอาคารขนาดเล็กประเภท  “ตึกแถว” ขายสินค้าจิปาถะที่เห็นกันเต็มเมืองอย่างในบ้านเราก็มีน้อยมาก  ร้านโชว์ห่วยหรือร้านสะดวกซื้อของเขาจึงมักจะสิงหรืออยู่ในตึกใหญ่และก็มีไม่มากเหมือนอย่างในเมืองไทย  ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเขาคง “ได้มา” จากอังกฤษที่ได้ “วางรากฐาน” ให้กับอาณานิคมสองแห่งนี้มาอย่างดี

          มาในเรื่องของตลาดหุ้นนั้น  ความแตกต่างที่ชัดเจนจากเมืองไทยที่ผมเห็นก็คือ  ตลาดของสิงคโปร์และมาเลเซียดูเหมือนว่าจะถูก “ครอบงำ”  โดยนักลงทุนสถาบัน  ความสนใจของนักลงทุนส่วนบุคคลมีน้อย  ผมไม่ได้ดูราคาและความเคลื่อนไหวของหุ้นต่าง ๆ  ในตลาด  แต่จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของตลาดและคนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองตลาดดูเหมือนว่าในตลาดหุ้นของเขาจะไม่ใคร่มีหุ้นตัวเล็กที่หวือหวาที่ราคาปรับตัวมากมายพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากยิ่งกว่าหุ้นยักษ์ระดับประเทศ  และนั่นทำให้การซื้อขายหุ้นของทั้งสองแห่งไม่ใคร่จะมี  “สีสัน”  ช่วงที่เราไปที่สิงคโปร์นั้น  หุ้นที่สร้างสีสันและกล่าวขวัญกันมากก็คือหุ้นของเบียร์ช้างของคนไทยที่ไปเทคโอเวอร์หุ้น F&N  และในช่วงที่เราอยู่ที่มาเลเซียนั้น  เขาบอกกับเราว่าเขา  “อิจฉา” ที่ตลาดหุ้นไทยนั้นมีปริมาณการซื้อขายสูงและมีความคึกคักมากซึ่งเป็นผลจากการที่เรามีนักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนส่วนบุคคลมาก  ถ้าจะสรุปก็คือ  ตลาดหุ้นไทยนั้นมีความผันผวนและมีการเก็งกำไรสูงกว่าตลาดหุ้นของสิงคโปร์และมาเลเซียมาก  สำหรับนักลงทุนที่ชอบเล่นหุ้นแบบ  “ได้เสีย” แล้ว  ผมคิดว่าตลาดหุ้นทั้งสองแห่งนี้คงไม่น่าจะ “สนุก” นัก

          พูดถึงหุ้นที่น่าสนใจสำหรับผมแล้ว  ในตลาดหุ้นสิงคโปร์  ผมคิดว่ากิจการที่น่าจะมีความเข้มแข็งแข่งขันได้ในระดับโลกอย่างน้อยมีสองสามประเภทนั่นคือ  สถาบันการเงินที่สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางการเงินโลก  แบงค์ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์นั้นใหญ่กว่าแบงค์ใหญ่ที่สุดในไทยหลายเท่า  ราคาหุ้นเองก็ไม่แพง  ค่า PE อยู่ในระดับสิบเท่าต้น ๆ  ในขณะที่ค่า PB ก็เพียงหนึ่งเท่าต้น ๆ  ปันผลก็ไม่น้อยกว่าแบงค์ไทย  ถัดจากสถาบันการเงินก็น่าจะเป็นพวกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ   ที่เป็นเจ้าของตึกหรูขนาดใหญ่จำนวนมากในสิงคโปร์ที่เป็นเกาะที่ขาดแคลนที่ดินที่ราคาน่าจะปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ ในระยะยาว  นอกจากนั้น  หุ้นที่น่าสนใจเนื่องจากความก้าวหน้าของสิงคโปร์ก็คือกิจการโรงพยาบาลที่สิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันไม่แพ้ใครในโลก

          ในส่วนของมาเลเซียนั้น  ผมคิดว่ามีหุ้นอยู่กลุ่มหนึ่งที่ผมไม่ได้มีโอกาสพบผู้บริหารก็คือ  กิจการเกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มที่มาเลเซียมีความได้เปรียบในระดับโลก  น้ำมันปาล์มนั้นสามารถนำไปใช้บริโภคได้ทั้งในด้านอาหารคนและการใช้เป็นไบโอดีเซลที่มีราคาแข่งขันกับน้ำมันประเภทอื่นได้  และด้านของอาหารและพลังงานนั้นก็เป็นอุตสาหกรรมที่น่าจะโตต่อเนื่องในระยะยาว  ที่สำคัญราคาน้ำมันปาล์มที่ตกต่ำในช่วงนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นได้   นอกจากน้ำมันปาล์มแล้ว  ธุรกิจที่ทำอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการ  “สร้างเมืองใหม่”  ที่อยู่ติดกับสิงคโปร์ก็น่าสนใจค่าที่ว่าสิงคโปร์นั้นขาดแคลนที่ดิน  ดังนั้น  คนสิงคโปร์ก็อาจจะสนใจมาซื้อที่และอสังหาริมทรัพย์ในเขตมาเลเซียที่อยู่ห่างออกไปแค่สะพานข้ามช่องแคบที่แบ่งระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย  นอกจากนั้น  หุ้นที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลของมาเลเซียเองก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกับในกรณีของสิงคโปร์  เหตุผลนั้นนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว  ยังอาจจะเป็นเพราะการเป็นประเทศมุสลิมที่ทำให้พวกเขาสามารถดึงดูดคนไข้ชาวมุสลิมทั่วโลกที่มาจากประเทศที่ระบบการรักษาพยาบาลยังไม่ได้มาตรฐานด้วย
          ปัจจัยในเรื่องของการเติบโตของเศรษฐกิจเรื่องหนึ่งก็คือในเรื่องของโครงสร้างของประชากร

ขณะนี้สิงคโปร์มีปัญหาในเรื่องที่มีคนเกิดน้อยลงมากจนรัฐบาลสิงคโปร์ต้องรณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้นแต่ก็ไม่ใคร่สำเร็จ  อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลสิงคโปร์ก็ส่งเสริมให้คนมาอาศัยและเป็นประชาชนของสิงคโปร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีเงินหรือเป็นคนที่มีคุณภาพสูง  ตัวอย่างเช่น จิม โรเจอร์ นักลงทุนที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็อพยพมาเป็นพลเมืองของสิงคโปร์  นอกจากนั้น รายชื่อคนรวยระดับโลกบางคนก็เริ่มเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสิงคโปร์เนื่องจากระบบภาษีที่เอื้ออำนวยรวมถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตในสิงคโปร์นั้นสูงไม่แพ้ที่ใดในโลก  ในส่วนของมาเลเซียนั้น  ประชากรมาเลเซียค่อนข้างจะมีอายุน้อย  คนหนุ่มสาวมีจำนวนมาก  ขณะที่เดินเล่นในมอลผมเองสังเกตเห็นว่ามีเด็กวัยรุ่นจำนวนมาก  ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสายมาเลย์เดินมาเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่  ส่วนหนึ่งที่คนเกิดมากอาจจะเป็นเพราะศาสนาอิสลามที่อาจจะไม่นิยมการคุมกำเนิดก็อาจจะเป็นได้  ดังนั้น  สำหรับมาเลเซียแล้ว  การเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะไปได้ยาวกว่าเมืองไทยที่อัตราคนเกิดน้อยลงและคนแก่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับประชากรโดยรวม
          ผมเองยังไม่มีการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์  ที่จริงผมน่าจะสนใจที่จะศึกษาและลงทุนในตลาด AEC มากกว่านี้ถ้าไม่ใช่เพราะว่าเรายังไม่ยกเว้นภาษีจากปันผลที่ได้รับจากตลาดต่างประเทศ  จริงอยู่  ในตลาดหุ้นไทยเราก็ต้องเสียภาษีจากปันผลแต่เราสามารถที่จะให้หัก ณ. ที่จ่ายและไม่ต้องนำมาคิดรวมกับรายได้ปกติ  ซึ่งทำให้เป็นภาระหลาย ๆ อย่าง  และแม้ว่าเราจะสามารถ  “เลี่ยง” ภาษีนี้ได้ทางเท็คนิค  แต่ผมก็ยังไม่อยากทำ  ผมได้แต่หวังว่าวันหนึ่งรัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้น AEC เป็นที่นิยมมากกว่านี้ และนั่นจะทำให้ตลาด AEC รวมกันอย่างแท้จริง

Posted by nivate at 1:51 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor 

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/04/01/1272
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 05, 2013, 11:56:53 pm

https://www.youtube.com/v/bwYBc-FEi4A

https://www.youtube.com/v/DJReHkPOMLc


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 10, 2013, 11:30:04 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Tuesday, 9 April 2013

ธรรมะกับการลงทุน


การลงทุนกับธรรมะซึ่งเป็นเรื่องของศาสนาพุทธนั้นดูเหมือนจะห่างไกลกันมาก  เนื่องจากการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นนั้นมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิง  เป็นเรื่องของกิเลสตันหาซึ่งจะก่อให้เกิดทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาพุทธสอนให้รู้จักวิธีการหลีกเลี่ยง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ศาสนาพุทธนั้นคนมักเชื่อกันว่าเป็นศาสนาที่สอนให้คนรู้จัก  “พอเพียง”  ในขณะที่คนเล่นหุ้นหรือนักลงทุนนั้น  ส่วนใหญ่หวังจะรวยอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  ถ้าจะพูดกันเรื่องการลงทุนแล้วเราก็ไม่ควรจะพูดถึงเรื่องธรรมะซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเช่นนั้นหรือ?  คำตอบของผมก็คือ  ไม่ใช่  ผมคิดว่าหลักธรรมะนั้นสามารถนำมาใช้กับการลงทุนได้  มีประโยชน์  และที่จริงอาจจะไม่มีอะไรขัดกันเลย  ลองมาดูกัน

              ธรรมะสำหรับผมแล้ว  ผมยึดถือแนวทางของท่านพุทธทาสซึ่งสอนเรื่องธรรมะในแนวทางที่  “เป็นวิทยาศาสตร์” มากกว่าใคร ๆ   ว่าที่จริงท่านบอกว่าธรรมะนั้นก็คือ  “ธรรมชาติ” ซึ่งเป็นเรื่องที่มีเหตุผล  สิ่งต่าง ๆ  ในโลกนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยกฎของธรรมชาติไม่มีใครสามารถที่จะฝืนมันได้  แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรคือธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ  เราก็จะสามารถปรับหรือทำตัวให้สอดคล้องกับมันและเราก็จะประสบความสำเร็จและพ้นจาก  “ทุกข์”  ได้  ตัวอย่างง่าย ๆ ที่อาจจะยกขึ้นมาพูดก็เช่น  น้ำนั้นโดยธรรมชาติแล้วจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ  ดังนั้นน้ำฝนจากภาคเหนือของไทยซึ่งเป็นที่สูงก็จะต้องไหลลงสู่ภาคกลางที่เป็นที่ต่ำและออกสู่ทะเลในที่สุด   แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีมากเมื่อสองปีก่อนประกอบกับทางน้ำหรือแม่น้ำมีไม่เพียงพอน้ำจึงท่วมอย่างรุนแรง  วิธีแก้ก็คือการกันน้ำบางส่วนไม่ให้ไหลมาเร็วเกินไป  อาจจะด้วยการสร้างเขื่อนเพิ่มหรือหาพื้นที่ “แก้มลิง” รับน้ำบางส่วนไม่ให้ไหลลงมา  นอกจากนั้นก็อาจจะต้องสร้างหรือขยายแม่น้ำหรือคลองที่จะให้น้ำไหลผ่านลงทะเลอย่างเร็วที่สุด  และนี่ก็คือการใช้ธรรมะในการทำงานแก้ปัญหาและ “ดับทุกข์”  ในกรณีแบบนี้การ  “สวดมนต์” แล้วไม่ทำอะไรจึงไม่ใช่เรื่องของ  “ธรรมะ”  แต่การทำโครงการอย่างที่กล่าวถึงคือการ  “ปฏิบัติธรรม”  อย่างแท้จริง

             ในเรื่องของการลงทุนหรือหุ้นนั้น  ผมคิดว่าเราต้องศึกษา “ธรรมะ” หรือธรรมชาติของหุ้นให้รู้แจ้งเสียก่อนว่าอะไรทำให้หุ้นมีราคาหรือมูลค่าเพิ่มขึ้น  อะไรทำให้บริษัทจ่ายปันผลเป็นเงินสดให้เรามากขึ้นซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของเรามากขึ้น   คำตอบก็คือ  ในระยะยาวแล้ว  หุ้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถ้าบริษัทมีผลประกอบการหรือกำไรเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งก็จะทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลเพิ่มมากขึ้นตามกันไป  ผลก็คือ  ถ้าเราถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของ  เราก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว   ดังนั้น  ถ้าเราต้องการลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดีหรือเหมาะสม  วิธีก็คือ  เราต้องซื้อหุ้นของบริษัทที่จะมีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อย ๆ  ในระยะยาว  แล้วเราก็ถือหุ้นตัวนั้นไว้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องสนใจเรื่องของดัชนีตลาดหรือราคาหุ้นในระยะสั้น  และนี่ก็คือการ  “ปฏิบัติธรรม”  ในเรื่องของการลงทุนในหุ้น

             ธรรมะหรือธรรมชาติของหุ้นในระยะสั้นนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของ  “ความผันผวน”  นั่นคือหุ้นจะปรับตัวขึ้นลงซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมายทั้งจากภายในบริษัทและนอกบริษัทอาทิเรื่องของ  ผลประกอบการ  เรื่องของเศรษฐกิจ  การเมือง และอื่น ๆ  ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ  ดังนั้น  การที่หุ้นจะขึ้นหรือลงในระยะสั้น ๆ  จึงบอกได้ยาก  จริงอยู่  บางคนอาจจะมีความสามารถมากกว่าคนอื่น  ดังนั้น  เขาอาจจะสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องมากกว่าผิด  และดังนั้น  เขาก็สามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดี  แบบนี้ก็อาจจะบอกว่าเขารู้ธรรมะของการลงทุนในระยะสั้นและปฏิบัติธรรมในการลงทุนได้เหมือนกัน  อย่างไรก็ตาม  ธรรมะของหุ้นในระยะสั้นนั้น  จากการพิสูจน์โดยทางสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่ยั่งยืนเท่าไรนัก  นั่นคือ  อาจจะเป็นจริงเป็นบางช่วงบางเวลาและเปลี่ยนแปลงไปได้เร็วซึ่งทำให้ไม่คุ้มที่จะทำเมื่อคิดถึงค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้นที่สูงเนื่องจากการซื้อขายบ่อย

              เรื่องที่สองของธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือ  การเดินสายกลาง   นี่คือหนทางที่ดีในการดำเนินชีวิต  ทางสายกลางนั้นแปลว่ามันไม่ใช่วิธีที่  “สุดโต่ง”  ทั้งด้านมากและน้อย   การทำอะไรมากเกินไปนั้นย่อมทำให้เกิดความเครียดและจะเป็นทุกข์ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร   ตรงกันข้าม  การทำอะไรที่ “หย่อน”  เกินไปนั้นก็ไม่ดีเช่นกัน  เนื่องจากมันจะทำให้ชีวิตเรา  “ไร้ความหมายหรือไร้คุณค่า”  ซึ่งก็จะทำให้เราเป็นทุกข์เช่นเดียวกัน  นอกจากนั้น  ผลที่ได้จากการใช้ชีวิตแบบนี้ก็อาจจะไม่เพียงพอในการที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดี   ถ้ามาประยุกต์กับการลงทุนในหุ้นแล้ว   ผมคิดว่าธรรมะของการลงทุนก็คือ  เราควร “เดินสายกลาง”  นั่นก็คือ  เราจะต้องออกแบบพอร์ตของเราให้เหมาะสมในแง่ที่ว่ามันจะไม่เสี่ยงเกินไปในขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่กลัวจนเกินไปจนทำให้เราไม่กล้าลงทุนในหุ้นมากพอ    การลงทุนที่เสี่ยงเกินไปนั้น  แม้ว่าอาจจะทำให้เรารวยได้เร็ว  แต่ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดหายนะ  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ในระหว่างที่เราลงทุนอยู่นั้น เราอาจจะเกิดความเครียดได้บ่อย ๆ  ซึ่งนี่คือบ่อเกิดของทุกข์  เช่นเดียวกัน  การไม่กล้าเสี่ยงเลยก็จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ต่ำมากและบางทีก็ติดลบเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่จะ “กินเงิน” ของเราตลอดเวลาอย่างไม่รู้ตัว  สุดท้ายมันก็เป็นความทุกข์เช่นเดียวกัน

              เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าแค่ไหนคือ  “สายกลาง” ของแต่ละคน  กฎง่าย ๆ  ของผมก็คือ  จะต้องเป็นพอร์ตที่เรารู้ถึงความเสี่ยงว่าในสถานการณ์ที่เลวร้ายเราจะเหลือเท่าไร  และเราถือแล้วสบายใจไม่มีความเครียดที่จะต้องคอยเฝ้าดูตลาดเกือบจะทุกวันหรือทุกชั่วโมง  โดยหลักการแล้วทางสายกลางในการลงทุนนั้นจะต้องมีการ  “กระจายความเสี่ยง” อย่างเหมาะสม  และโดยทั่วไป  การที่เราถือหุ้นน้อยตัวเกินไป  เช่นถือเพียง 2-3 ตัว  หรือใช้มาร์จินในการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เช่น  มีมาร์จินถึง 30-40% ของพอร์ตก็ต้องถือว่าเราไม่เดินสายกลาง  เช่นเดียวกัน  การไม่ลงทุนในหุ้นเลยหรือลงทุนน้อยมากไม่ถึง 5-10%  แบบนี้ก็เรียกว่าไม่ปฏิบัติธรรมในการลงทุนเหมือนกันแม้ว่าเราจะรู้สึกสบายใจและไม่เครียด

               ประเด็นสุดท้ายในเรื่องของธรรมะที่ผมคิดว่านำมาใช้กับการลงทุนได้เป็นอย่างดีและต้องถือว่าเป็น  “คำสอนหลัก”  ของท่านพุทธทาสอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง  “ตัวกู ของกู”  หรือการติดยึดว่าเราเป็นเจ้าของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุ  ความมั่งคั่ง  ชื่อเสียง  เราจึงทำทุกอย่างที่จะได้มันมา   เราเสียใจเมื่อต้องเสียมันไป  จิตใจของเราหมกมุ่นอยู่กับมันมากเกินไป  ประเด็นนี้ว่าที่จริงเกี่ยวเนื่องกับความโลภอยากได้ใคร่ดีจนสามารถที่จะทำสิ่งที่ผิดครรลองครองธรรม  ซึ่งในกรณีของการลงทุนก็อาจจะเกี่ยวกับการปั่นหุ้น  การชี้นำให้คนอื่นมาซื้อหุ้นที่ตนเองลงทุนโดยหวังที่จะขายหุ้นที่ตนเองถืออยู่ในราคาที่สูง  การปล่อยข่าวที่เป็นเท็จเกี่ยวกับหุ้นเพื่อที่จะสร้างราคาหุ้นให้ผิดไปจากความเป็นจริง  ต่าง ๆ  เหล่านี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการที่ไม่มีธรรมะในการลงทุนซึ่งในที่สุดก็จะทำร้ายหรือทำลายตัวเอง
            การติดยึดเรื่อง  ตัวกู ของกู ยังอาจจะทำให้เราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ในการซื้อขายหุ้นได้  เช่น  ในยามที่หุ้นขึ้นแรงเราอาจจะอยากขายทำกำไรเพื่อที่จะ “ยึดเม็ดเงิน” ไว้   เช่นเดียวกัน  ในยามที่หุ้นลงแรง  เราก็อาจจะกลัวว่าเงินจะหายจึงรีบขาย   นอกจากนั้น  ถ้าเราคิดว่าเงินจากหุ้นที่ถืออยู่นั้น  เป็น “ของกู”  การที่มันอาจจะหายหรือลดไปมากก็อาจจะทำให้เราเสียใจมาก  เช่นเดียวกัน  ในบางครั้งที่เงินในพอร์ตหุ้นโตขึ้นมาก  เราก็อาจจะดีใจเกินเหตุ  ลักษณะแบบนี้จะไม่ทำให้เรามีความสุขจากการลงทุนและผมเชื่อว่าทำให้การลงทุนของเราด้อยลงไป  ผมคิดว่าในการอยู่กับหุ้นระยะยาวหรือลงทุนระยะยาวนั้น  อย่าไปคิดว่าหุ้นเหล่านี้มันเป็น  “ของกู”  แม้ว่าในทางกฎหมายแล้วเราจะเป็นเจ้าของ  ถ้าทำได้แบบนี้  เราจะลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ  ถ้าพอร์ตหรือหุ้นมันขึ้น  เราก็ดีใจ  ถ้ามันลง ก็ช่างมัน  มันไม่ใช่ “ของกู” ถ้าเราได้วิเคราะห์และพิจารณาไตร่ตรองดีแล้ว  What ever will be, will be.

Posted by nivate at 1:23 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor 

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/04/09/1275

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 24, 2013, 12:30:09 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Wednesday, 24 April 2013

โชว์ห่วย


การพยายาม “เปลี่ยนภาพ” ร้านขายของจิปาถะหรือร้านสะดวกซื้อแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่าร้านโชว์ห่วยของกระทรวงพาณิชย์โดยการจัดร้านและปรับปรุงบริการใหม่และเปลี่ยนคำเรียกใหม่ว่าเป็นร้าน  “โชว์สวย”  นั้น  ผมคิดว่าคงไม่สามารถทำให้ร้านโชว์ห่วยซึ่งมีภาพของความเก่า  ล้าสมัย  และบริการไม่ดี  เปลี่ยนไปเป็นร้านที่ทันสมัย  บริการดี  และน่าเข้าไปใช้บริการได้  เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าร้านเหล่านี้จะปรับปรุงตัวเองไม่ได้  แต่เพราะว่ามันไม่คุ้มที่จะทำเนื่องจากต้นทุนในการปรับปรุงร้านนั้นอาจจะสูงเกินไป  ระบบข้อมูลในการควบคุมสต็อกสินค้าและการเก็บเงินแพงเกินไป  ค่าจ้างพนักงานสูงเกินไป  และอื่น ๆ  อีกมาก  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้สำหรับร้านค้าปลีกดั้งเดิมที่มักจะมีร้านเดียวและบริหารโดยเจ้าของและคนในครอบครัวไม่สามารถทำได้อย่างคุ้มค่าเปรียบเทียบกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีร้านค้าเป็นเครือข่ายนับร้อยหรือนับพันสาขา   ดังนั้น  โชว์ห่วยซึ่งคนไปแปลความหมายว่าเป็นร้านที่  “ห่วย”  จึงยังจะแย่ต่อไป   เพราะมันเป็นเรื่องของ  “โครงสร้าง”  ที่  “แก้ไม่ได้”  แต่ถ้าถามว่าแล้วในที่สุดจะ  “ตาย”  หรือหมดไปไหม  คำตอบก็คือ  มันก็คงไม่ล้มหายตายจากไปหมด  พวกเขาก็จะยังอยู่ได้ในแบบที่เหมาะสม  แต่ก็จะไม่ดีหรือรุ่งเรืองหรือเติบโตขึ้น

            ที่ผมเกริ่นเรื่องของร้านโชว์ห่วยนั้น  ที่จริงไม่ได้ตั้งใจที่จะพูดถึงร้านหรือธุรกิจสะดวกซื้อเลย   เพียงแต่อยากจะเชื่อมโยงถึงธุรกิจหรือบริษัทอื่น ๆ  ที่โดยธรรมชาติของมันจริง ๆ  แล้วก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเด่นอะไรเลยแม้ว่าบางบริษัทจะใหญ่โตเป็นกิจการระดับประเทศ  และถ้าจะพูดไปก็อาจจะเป็นกิจการที่  “ห่วย” เหมือนกันในแง่ที่ว่ามันมีกำไรน้อย  ผลประกอบการไม่แน่ไม่นอน  และอื่น ๆ  อีกหลายอย่าง  และนี่ก็เช่นเดียวกัน  มันไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากผู้บริหารหรือเจ้าของไม่มีความสามารถ   แต่มันเป็นเรื่องของโครงสร้างที่  “แก้ไม่ได้”  และก็เช่นเดียวกัน  พวกเขาไม่ล้มหายตายจากไป  แต่ก็ยากที่จะเจริญรุ่งเรืองไปได้มาก ๆ   ถ้าเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  โอกาสที่มูลค่าของหุ้นจะสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีในระยะยาวก็มักจะมีน้อย  ในทางวิชาการแล้วเราเรียกธุรกิจเหล่านี้ว่าบริษัทที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์   โดยที่วิธีสังเกตว่าบริษัทไหนจะเป็น “บริษัทโชว์ห่วย”  นั้น  เราอาจจะดูจากข้อมูลบางอย่างดังต่อไปนี้

            ข้อแรกก็คือ  บริษัทมีกำไรน้อยเมื่อเทียบกับยอดขาย  หรือ Profit Margin ต่ำ  สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับสินค้าของคู่แข่ง  ดังนั้น  การแข่งขันจึงต้องอาศัยราคาเป็นหลักทำให้ราคาสินค้าลดลงจนเหลือกำไรที่ต่ำที่สุดที่ธุรกิจจะยังอยู่ได้  คำว่าต่ำนั้นโดยทั่วไปผมมองอยู่ที่กำไรต่อยอดขายที่ต่ำกว่า 5%  และนี่คือตัวเลขตัวแรก  แต่ก็ยังไม่ใช่เงื่อนไขว่าทุกบริษัทที่มีมาร์จินต่ำกว่า 5% จะต้อง “โชว์ห่วย” เสมอไป  ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย

            ข้อสองคือ  กำไรในระยะยาวเช่นตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปถ้ามองย้อนหลังก็จะพบว่ามีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง  บางปีกำไรดีมาก  แต่บางปีก็อาจจะขาดทุนหรือกำไรตกลงไปมาก  ส่วนใหญ่แล้วกำไรที่ขึ้น ๆ  ลง ๆ  มักจะมาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วในแต่ละปี  สำหรับผมแล้ว  ถ้ากำไรผันผวนมากในช่วงเวลาแค่ 5 ปีที่ผ่านมา  ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงบริษัทเหล่านี้

           ตัวเลขอีกตัวหนึ่งที่สำคัญและเป็นตัวที่บอกว่ามันอาจจะเป็นกิจการที่  “โชว์ห่วย” ก็คือ  กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำโดยเฉพาะที่ต่ำกว่า 10% เป็นส่วนใหญ่ในช่วง 5-10 ปี ที่ผ่านมา  เพราะนี่คือเหตุผลที่บริษัทหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ  ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของไม่ควรลงทุนเนื่องจากมันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงถ้าเอาเงินของตัวเองลงไปในบริษัทแล้วได้ผลตอบแทนไม่ถึง 10% ต่อปี

           ข้อสี่ก็คือ  ในการดูตัวเลขหลาย ๆ ปี เช่น 5 ปีย้อนหลัง  บางทีผมก็อาจจะดูตัวเลขกำไรโดยรวมด้วยว่า 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรรวมกันเท่าไร  ซึ่งบางครั้งก็พบว่าในบางปีบริษัทขาดทุนอย่างหนักจนทำให้กำไรรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้นมีน้อยมากแม้ว่ากำไรในปีหลัง ๆ  จะดูน่าประทับใจ  แบบนี้ผมก็จะต้องระวังเป็นพิเศษเหมือนกันว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร  ถ้ามันเป็นเรื่องของธุรกิจหลักมันก็อาจจะเป็นตัวบอกเหมือนกันว่านี่เป็นสัญญาณของกิจการ  “โชว์ห่วย” ที่กำไร 4 ปี ต้องหมดไปกับการขาดทุนเพียงปีเดียว

            ข้อห้าเป็นเรื่องเชิงคุณภาพที่จะบอกว่ามันเป็นกิจการที่แย่หรือไม่ก็คือ  จำนวนผู้ผลิตหรือคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงที่เข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกัน  นี่อาจจะรวมถึงคู่แข่งหรือสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย  ถ้าดูแล้วคู่แข่งมีเต็มไปหมด  แบบนี้ก็ต้องสงสัยว่ามันจะเป็นกิจการในกลุ่ม  “โชว์ห่วย”  ที่อาจจะทำกำไรได้ยาก

            ข้อหก  ลองคิดดูว่าสินค้าที่บริษัทขายนั้น  คนซื้อจะมีความภักดีต่อยี่ห้อมากน้อยแค่ไหน  หรือคนสนใจในเรื่องของโปรโมชั่นหรือราคามากกว่า  ถ้าเป็นอย่างหลัง  โอกาสก็คือบริษัทเป็นผู้ผลิตหรือขายสินค้า  “โชว์ห่วย”  ที่มักจะไม่สามารถทำกำไรที่ดีกว่าปกติได้

            ข้อเจ็ด  ในบางครั้งบริษัท  “โชว์ห่วย”  อาจจะมีข้อมูลดีมากติดต่อกันอาจจะถึง 4-5 ปี จนทำให้เราเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัท  “โชว์สวย”  ที่จริงบริษัทเหล่านี้อาจจะดียิ่งกว่าบริษัทที่ดีเยี่ยมด้วยซ้ำเนื่องจากตัวเลขทุกตัวเติบโตขึ้นแรงต่อเนื่องกันหลายปี  แต่ข้อมูลทางด้านคุณภาพบอกว่ามันน่าจะเป็นบริษัท “โชว์ห่วย”  เหตุผลที่ตัวเลขดีติดต่อกันหลายปีนั้นอาจจะเกิดจากสถานการณ์ผิดปกติบางอย่างเช่น  เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านของอุปสงค์-อุปทาน อย่างที่ไม่มีคนคาดคิดมาก่อนและการปรับตัวของกำลังการผลิตทำไม่ได้เร็วพอ  ดังนั้น  ราคาสินค้าอาจจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องยาวนานหลายปีทำให้บริษัทมีกำไรอย่างน่าประทับใจจนคนเข้าใจคุณสมบัติของบริษัทผิดไป

               ข้อสุดท้ายคือกรณีที่ตัวเลขบางตัว  เช่น  กำไรต่อยอดขายอาจจะไม่สูง  เช่นเดียวกับกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่อาจจะปริ่ม ๆ  ที่ 10% ต้น ๆ    นอกจากนั้น  ตัวสินค้าที่ขายก็อาจจะดูเหมือนว่าเป็นสินค้าที่คนไม่ติดยึดยี่ห้อแต่เน้นราคามากกว่า  เช่นเดียวกัน  คู่แข่งที่มีศักยภาพก็มีอยู่มาก  ดูไปแล้วก็อาจจะบอกว่ามันน่าจะเป็น  “โชว์ห่วย”   อย่างไรก็ตาม  ตัวเลขกำไรมีความสม่ำเสมอปีแล้วปีเล่าและอาจจะมีแนวโน้มค่อย ๆ  เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน  ในกรณีแบบนี้เราอาจจะต้องดูลึกลงไปอีกหน่อยว่าบางทีบริษัทอาจจะมี  “Local Monopoly”  หรือมีพลังทางตลาดเนื่องจากสถานที่ตั้งของกิจการหรือร้านค้าที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถมาแข่งขันได้หรือเปล่า  เพราะในกรณีแบบนี้  ลูกค้าที่อยู่ในรัศมีการเดินทางอาจจะต้องการใช้บริการจากบริษัทมากกว่าจะเดินทางไปหาบริการจากคู่แข่ง  ผลก็คือ  การแข่งขันโดยใช้ราคาก็ไม่ถึงกับรุนแรงจนหากำไรไม่ได้
              การที่จะสรุปว่าหุ้นหรือกิจการตัวไหนน่าจะเป็น  “โชว์ห่วย” หรือตัวไหนน่าจะเป็น  “โชว์สวย”  นั้น  นอกจากการดูข้อมูลด้านตัวเลขและข้อมูลด้านคุณภาพดังที่กล่าวมาแล้ว  บางทีเราก็อาจจะต้องดูอย่างอื่น ๆ  ที่ผมนึกไม่ถึงหรือรายละเอียดที่ไม่สามารถเขียนได้หมด  จริงอยู่  กิจการหรือบริษัทหลาย ๆ  แห่งนั้นมี  “หลักฐาน” ทั้งที่เป็นตัวเลขและคุณสมบัติอย่างอื่นบอกว่ามันเป็น  “โชว์ห่วย”  แต่หลาย ๆ  บริษัทก็ไม่ชัด  และหลายบริษัทก็อาจจะเป็นข้อยกเว้นเนื่องจากเหตุผลพิเศษอย่างอื่นทำให้มันไม่ใช่  เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว  เราก็สามารถตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นตัวนั้นได้โดยอิงอยู่กับคุณค่าที่ควรจะเป็นของมันนั่นก็คือ   หุ้น  “โชว์ห่วย” เราจะให้มูลค่าที่สูงมากไม่ได้  คิดจากค่า PE และเฉพาะอย่างยิ่ง PB ที่ต้องไม่สูง  มิฉะนั้นเราอาจจะเสียหายเมื่อในที่สุดตัวตนที่แท้จริงของกิจการปรากฏออกมา         

Posted by nivate at 11:04 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/04/24/1280
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 29, 2013, 11:47:00 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Wednesday, 29 April 2013

หุ้นที่(จะ)ใหญ่ที่สุดในตลาด


งานอดิเรกอย่างหนึ่งของผมก็คือ  ดูว่าบริษัทไหนในตลาดหุ้นของแต่ละประเทศมี  Market Cap. หรือมีมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ที่สุด  และหลาย ๆ  ครั้งก็ดูบริษัทที่ใหญ่รอง ๆ  ลงมา   นอกจากนั้น  ผมก็ชอบที่จะดูว่าในอดีตนั้น  บริษัทไหนเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดหรือใหญ่มาก ๆ  และเดี๋ยวนี้พวกเขายังใหญ่อยู่ไหม  เพราะข้อมูลนี้จะช่วยบอกถึง  “วิวัฒนาการ” ทางเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนหรือหุ้นว่าจะไปทางไหน  ถ้าจะพูดให้ตรงประเด็นก็คือ  ในอนาคตบริษัทไหนจะมีโอกาสเติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดหรือใหญ่มากในตลาดหลักทรัพย์  และถ้าเรารู้  เราก็สามารถลงทุนซื้อและถือหุ้นตัวนั้นในระยะยาวได้  ลองเริ่มต้นจากตลาดสหรัฐซึ่งมีข้อมูลยาวนานและหาได้ง่ายดู

         ในปัจจุบันหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐนั้นก็คือ  หุ้นของแอปเปิลคอมพิวเตอร์และหุ้นของบริษัทเอ็กซอนที่ผลิตน้ำมันที่สลับกันเป็นหมายเลขหนึ่ง  เอ็กซอนนั้นจริง ๆ  แล้วก็เคยเป็นหมายเลขหนึ่งมานานแล้ว  น่าจะหลายสิบปีมาแล้วและก็คงจะเป็นบริษัทหมายเลขหนึ่งในหลาย ๆ  ครั้งที่ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นไปสูงหรือมีวิกฤติน้ำมันที่ทำให้บริษัทมีกำไรสูงมากและทำให้มูลค่าหุ้นสูงลิ่ว  ประเด็นก็คือ  พลังงานนั้นเป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องบริโภคและมีการใช้จ่ายค่อนข้างมากมาตลอดน่าจะตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อนที่เริ่มมีการใช้รถยนต์  ดังนั้น  ยอดขายของบริษัทน้ำมันจึงมีมูลค่าสูงมากตลอดมา  นอกจากนั้น  บริษัทที่จะผลิตน้ำมันเองก็ต้องมีขนาดใหญ่มากส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทน้ำมันมีขนาดสูงลิ่วมาตลอด  ผลก็คือ  บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างเอ็กซอนจึงติดอันดับหนึ่งมาบ่อยครั้งและผมเชื่อว่ามากกว่าทุกบริษัท

          เมื่อโลกเปลี่ยนไป  คนอเมริกันร่ำรวยขึ้นมาก  พวกเขาเริ่มใช้จ่ายกับสินค้าไฮเท็คมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์เคลื่อนที่ได้อย่างไอโฟนและไอแพด  หุ้นของแอปเปิลที่เป็นหมายเลขหนึ่งของอุตสาหกรรมจึงกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกันและโลกได้ในช่วงเร็ว ๆ  นี้แม้ว่าเมื่อประมาณซักสิบกว่าปีที่ผ่านมามันยังเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ  บริษัทหนึ่งในตลาดหุ้น

         ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ของหุ้นหมายเลขหนึ่งย้อนหลังไปไกล ๆ   เราก็จะพบว่าหุ้นที่เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นอเมริกานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  ตามยุคสมัยของเศรษฐกิจ  เมื่อสมัยที่คนอเมริกันเริ่ม “ขับรถยนต์”  กันทั้งประเทศ  หุ้นของเจนเนอรัลมอเตอร์หรือ GM ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของอเมริกาน่าจะเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด  แต่หลังจาก “ยุคทอง”  ของรถยนต์ผ่านไปเนื่องจากการแข่งขันจากรถยนต์ต่างประเทศ  หุ้น GM ก็ไม่เคยกลับมายิ่งใหญ่อีกเลย

         ยุคที่คนอเมริกันหันมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในบ้านกันทุกบ้าน  หุ้นเจนเนอรัลอีเล็กทริกหรือ GE ก็น่าที่จะเคยเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาด   การใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นอิ่มตัวไปนานแล้ว  GE  เองก็ตกอันดับไปนานแล้วแต่ปัจจุบันก็ยังคงใหญ่มาก  แต่นี่เป็นเพราะ GE ได้หันไปทำกิจการอย่างอื่นที่ยังทำรายได้มากและยังมีคนจ่ายเงินซื้อบริการมากพอสมควรเช่น  การทำเครื่องยนต์ของเครื่องบินและการทำธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ทีเดียว   อย่างไรก็ตาม  โอกาสกลับมาเป็นที่หนึ่งนั้นน่าจะหมดไปแล้ว

         เมื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์  แน่นอน  IBM  ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งนั้นก็น่าจะเคยเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด  เพราะแทบทุกธุรกิจก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์  แต่ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งที่คนธรรมดาทุกคนต้องใช้  และการใช้นั้นต้องอาศัยซอฟท์แวร์  หุ้นของไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งที่โดดเด่นครอบงำธุรกิจนี้จึงกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าที่มากที่สุดในตลาดและในโลกทั้ง ๆ  ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีบริษัทยังทำงานกันใน  “โรงรถ”

         ย้อนหลังไปซัก 15-20 ปีที่ผ่านมา  วอลมาร์ทซึ่งสามารถเอาชนะคู่แข่งที่เหนือกว่าในด้านของการค้าปลีกสมัยใหม่และเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ  โดยอาศัยกลยุทธการ  “ขายถูกทุกวัน”  จนสามารถสร้างเครือข่ายที่มียอดขายมโหฬารสูงที่สุดในโลกและมากกว่าบริษัทน้ำมันที่มียอดขายสูงมากตลอดมา  ก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุด  แม้ว่าปัจจุบันมันตกอันดับไปแล้ว  แต่มูลค่าตลาดของวอลมาร์ทก็น่าจะยังสูงต่อไปเนื่องจากมูลค่าธุรกิจของโมเดิร์นเทรดเองนั้นก็จะยังสูงต่อไปตราบที่เศรษฐกิจยังขยายตัวเพราะทุกคนยังต้องกินต้องใช้ทุกวันและรูปแบบธุรกิจอื่นก็ยังไม่สามารถมาทดแทนได้

          สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์นั้น  ถ้ามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ามันเป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่มากและมีมูลค่าตลาดสูงมากและเป็นอันดับหนึ่งมาเป็นครั้งเป็นคราวแม้ว่าในระยะหลังโอกาสที่จะเป็นอันดับหนึ่งอีกคงจะน้อยลงไปมากแล้ว  เหตุผลก็ชัดเจนว่าคนมีเงินและต้องฝากธนาคารรวมถึงต้องมาใช้บริการของธนาคารพาณิชย์นั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตามความเจริญทางเศรษฐกิจที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่  อย่างไรก็ตาม  สถาบันการเงินนั้นเป็นกิจการที่อันดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้หมายความว่ามันจะรักษาอันดับของตนเองไว้ได้โดยเฉพาะเวลาที่เกิดวิกฤติขึ้น   ดังนั้น  เราก็จะเห็นว่าช่วงเวลาหนึ่งซิตี้แบงค์อาจจะเป็น “ราชันย์”  ต่อมาเราอาจจะเห็นแบงค์ออฟอเมริกาที่ยิ่งใหญ่

          กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย   ผมลองนึกดูอย่างคร่าว ๆ  แล้วก็คิดว่าในช่วงแรก ๆ  ของการเปิดตลาดหลักทรัพย์  กิจการที่น่าจะมีมูลค่าตลาดสูงสุดน่าจะเป็นแบงค์อันดับหนึ่งของประเทศซึ่งก็คือธนาคารกรุงเทพในยุคนั้น  หุ้นแบงค์ยังน่าจะเคยใหญ่ที่สุดในตลาดมาเป็นครั้งเป็นคราวจนมาถึงยุคหลังที่ประเทศเจริญขึ้นและคนหันมาบริโภคสิ่งอื่น ๆ  โดยเฉพาะพลังงานมากขึ้นทำให้หุ้นของแบงค์ตกอันดับไปและอาจจะไม่มีโอกาสกลับมาใหญ่ที่สุดอีก   อย่างไรก็ตาม  กลุ่มแบงค์ก็น่าจะเป็นกิจการที่ใหญ่มากไปอีกนานเหมือนอย่างในตลาดหุ้นสหรัฐ

          เมื่อประเทศเข้าสูโหมดการพัฒนาเศรษฐกิจ  มีการสร้างสาธารณูปโภคและการสร้างที่อยู่อาศัยมากมาย  หุ้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้างก็ย่อมมีโอกาสที่จะกลายเป็นหุ้นอันดับหนึ่ง  ดังนั้น  หุ้นของปูนใหญ่ซึ่งมีขนาดใหญ่ครอบงำอุตสาหกรรม  จึงน่าจะเคยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าอันดับหนึ่งของประเทศในช่วงหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเศรษฐกิจไทยก้าวมาสู่ระดับที่ใกล้จะเป็นเศรษฐกิจที่  “พัฒนาแล้ว”  การใช้จ่ายทางด้านของการก่อสร้างก็น่าจะลดลงเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายอย่างอื่น  ดังนั้น  โอกาสที่ธุรกิจในกลุ่มก่อสร้างจะกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดอีกก็น่าจะยาก

           ธุรกิจพลังงานของไทยนั้น  เริ่มกลายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งมาหลายปีแล้วโดยบริษัทปตท. ซึ่งครอบงำธุรกิจนี้สามารถรักษามูลค่าหุ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างที่ไม่มีใครแซงได้มานานหลายปี   อย่างไรก็ตาม  พลังของ “เศรษฐกิจใหม่” กำลังเข้ามาแทนที่  หุ้นที่อาจจะมีโอกาสกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในเวลาไม่นานก็คือธุรกิจสื่อสารที่เป็นโมไบล์หรือมือถือและแน่นอนหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมก็คือหุ้นของ ADVANC ที่มีมูลค่าหุ้นใกล้เข้ามาทุกที
           มองไกลออกไปในอนาคต  การหาหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศหรือหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่มาก ๆ นั้นคือ  “รางวัลอันสูงสุด”  สำหรับนักลงทุนระยะยาว  เพราะถ้าเรารู้หรือคาดการณ์ถูก  การลงทุนถือหุ้นตัวนั้นไว้จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย  เพียงแต่ซื้อแล้วถือเก็บไว้  รอเวลาให้มันเติบโตไปเรื่อย ๆ

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/04/29/1282
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 30, 2013, 03:42:36 pm
TK

http://www.youtube.com/v/eSNylitN3MU

http://www.youtube.com/v/57KKn7keqZ0
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 08, 2013, 09:11:32 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 7 May 2013
บทเรียนจากกรุงปร้าก


ช่วงสงกรานต์ผมได้ไปท่องเที่ยวสาธารณรัฐเชคโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงปร้ากที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ  และเช่นเคย  นอกจากความบันเทิงหย่อนใจแล้ว  ผมก็มักจะ “วิเคราะห์”  ถึงประวัติศาสตร์  ความเป็นไป  สถานะปัจจุบัน  และคิดไปถึงอนาคตว่าประเทศหรือดินแดนที่ผมกำลังเดินอยู่นั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป      แต่มันคงไม่มีความหมายมากนักหากผมจะไม่โยงมาว่าข้อมูลที่ผมได้จากการศึกษาเมืองปร้ากนั้นมันมีความหมายอะไรกับเมืองไทย  ลองมาดูกัน

            ข้อแรกที่ผมเห็นก็คือ  กรุงปร้ากนั้นดูเหมือนจะยังเป็นเมือง  “โบราณ”  เพราะอาคารบ้านเรือนและร้านค้าต่าง ๆ  นั้นส่วนใหญ่มากเป็นตึกเก่าที่อาจจะสร้างมาแล้วหลายร้อยปี  หรือบางแห่งอาจจะเป็นพันปี  ตึกเหล่านี้มีความสวยงามเต็มไปด้วยศิลปะแต่ที่สำคัญยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน  และก็แน่นอนว่าทุกอย่างภายในอาคารนั้นมีการปรับปรุงและใส่เครื่องมือและอุปกรณ์ของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้มันทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการอยู่อาศัยและทำงานในโลกสมัยใหม่  ข้อนี้ถ้าจะพูดไปก็มีความละม้ายคล้ายกับเมืองหลวงของหลายประเทศในยุโรปที่มีการอนุรักษ์อาคารและของเก่า ๆ  ไว้   ซึ่งผลพลอยได้ที่สำคัญก็คือ  ทำให้เมืองสวยและน่าท่องเที่ยว  ความแตกต่างของกรุงปร้ากเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ  ในยุโรปก็คือ  ปร้ากนั้นแทบไม่มีตึกสูงเลย  และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็ไม่แออัด นี่ทำให้ปร้ากนั้นเป็นเมือง “สบาย ๆ”  ที่ดูผ่อนคลาย   เมืองอาจจะไม่มีอะไรที่  “ยิ่งใหญ่” ระดับโลก  แต่มันก็มีทุกอย่างครบ  ไล่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ของโบฮีเมียนไปจนถึงการแสดงละครเวทีและโอเปร่าชั้นนำไปถึงพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายและสถานที่ช็อปปิงของที่ระลึกที่สวยงามน่าสนใจ  และนี่ทำให้การท่องเที่ยวน่าจะเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของเชค

           สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งอย่างหนึ่งเมื่อเดินตามสถานที่ท่องเที่ยวของปร้ากก็คือ  ร้านนวดแบบไทยซึ่งเสนอการนวดทุกประเภทเช่น  นวดแผนโบราณ  นวดน้ำมันหรือนวดฝ่าเท้า  โดยพนักงานที่ผมดูแล้วก็น่าจะเป็นคนไทยที่เดินทางไปจากเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่  ราคาค่านวดนั้นถ้าใช้มาตรฐานของฝรั่งแล้วก็ถือว่าไม่แพง  ราคาเริ่มต้นอาจจะ 300-400 บาทไทย ไม่ต่างจากเมืองไทยมากนัก  เพียงแต่เวลาอาจจะสั้นกว่า  สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งนั้นไม่ใช่ว่าเจอร้านนวดไทย  แต่ผมทึ่งเพราะมันมีค่อนข้างมากและเห็นทั่วไปหมด  ผมคิดว่าร้านนวดนั้นน่าจะเป็นเป็นธุรกิจที่ดีมากในเมืองท่องเที่ยวในแถบประเทศยุโรปที่มีอากาศหนาวเย็นที่คนเดินเที่ยวกันมากและจะรู้สึกเมื่อยอยากพักนวด  การที่มีร้านนวดแบบไทยที่นักท่องเที่ยว  “ทั่วโลก”  เห็นและคุ้นเคยนั้น  ผมคิดว่าเป็น  “ทรัพย์สิน” ที่ประเทศไทยควรใช้ให้เป็นประโยชน์  ผมมองไปว่าธุรกิจการนวดนั้นเราน่าจะทำให้มันเป็น  “ธุรกิจใหญ่”  ที่ไทยสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศและสามารถส่งออกได้ทั่วโลกตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ    ผมเองยัง “ฝัน”ว่าน่าจะมีบริษัทที่มุ่งมั่นทำร้านนวดไทยให้เติบโตและสามารถนำเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ผมจะซื้อหุ้นลงทุนได้ด้วย

            ข้อสังเกตเรื่องที่สองที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งก็คือ  ผมได้มีโอกาสใช้บริการคนขับรถของสถานทูตไทยในกรุงปร้าก  เขาเป็นคนหนุ่มอายุน่าจะซัก 30 เศษ ๆ ที่หน้าตาดีและการศึกษาก็น่าจะดีด้วย  ผมไม่รู้ว่ารายได้เขาเป็นอย่างไร  แต่ก็คงเดือนละหลายหมื่นบาทตามอัตราค่าแรงของคนขับรถในประเทศที่ “เจริญแล้ว” อย่างเชค  ผมทึ่งเพราะเขาสามารถพูดได้หลายภาษาซึ่งแน่นอนรวมถึงภาษาอังกฤษที่พูดได้คล่องแคล่ว  สามารถอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  ที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวหรืองานอื่น ๆ  ที่ “นาย” จะใช้  เช่น  จองตั๋วดูคอนเสิร์ต  แนะนำและพาไปแหล่งท่องเที่ยวหรือร้านอาหารที่น่าสนใจได้  ว่าที่จริงเขาคงทำได้อีกหลาย ๆ อย่างรวมถึงการ “รับแขก”  การแต่งตัวของเขานั้นดูดีเท่า ๆ  กับหรือดีกว่าเราที่เป็นแขกซะอีก   เมื่อได้คุยกันเขาบอกว่าเขาชอบเมืองไทยมากและมาพักผ่อนที่ประเทศไทยทุกปี ปีละครั้งโดยการเก็บเงินจากรายได้พิเศษเช่นค่าโอทีจากการขับรถ เป็นต้น   และนี่คือสิ่งที่ผม “ทึ่ง” ที่ว่าพนักงานขับรถของสถานทูตไทยในเชคนั้น  สามารถเที่ยวเมืองไทยได้ทุกปี  แต่พนักงานขับรถสถานทูตเชคในไทยนั้น  ผมเชื่อว่าไม่สามารถไปเที่ยวเชคได้  อย่าว่าแต่ทุกปีเลย

           ประเด็นก็คือ  ถ้าเราเชื่อว่างานอย่างเดียวกันน่าจะมีคุณค่าเท่ากันหรือใกล้เคียงกันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน  พนักงานขับรถไทยก็น่าจะสามารถไปเที่ยวต่างประเทศไกล ๆ ได้ซักปีละครั้งตามพนักงานขับรถเชค  แต่นี่ไม่ใช่  ดังนั้น  อาจจะแปลว่า  คนขับรถเชคมีหรือได้รับคุณค่าสูงเกินไป  หรือถ้าจะพูดแบบนักลงทุนก็เรียกว่า  Over Valued  หรือไม่ก็คนขับรถไทยได้รับคุณค่าหรือเงินรายได้น้อยเกินไป  หรือถ้าพูดแบบหุ้นก็คือ  Under Valued  แต่ก็อาจจะมีคนเถียงว่า  “คุณภาพ”  ของคนขับรถเชคนั้นสูงกว่าคนขับรถไทยมากเนื่องจากเหตุผลข้างต้นที่บอกว่าคนขับรถเชคนั้นสามารถทำอะไรต่าง ๆ ได้เหนือกว่าคนขับรถไทยมาก  ดังนั้น  “ราคา” ของคนขับรถเชคนั้นสมเหตุผลแล้วเช่นเดียวกับคนขับรถไทยที่ทำงานอย่างอื่นไม่ค่อยได้นอกจากขับรถ

           ในความรู้สึกของผมที่ต้องวิ่งหาคนขับรถที่บ้านในเมืองไทยอยู่เรื่อย ๆ  เพราะคนขับรถมักจะไม่อยู่นานเพราะเขาอยากไปขับแทกซี่หรือหางานอื่นทำ  แต่ในเวลาเดียวกัน  คนขับรถที่เชคนั้น  เมื่อได้งานแล้วก็มักจะต้อง  “เกาะไว้ให้แน่น” เพราะงานแบบนี้อาจจะหายากโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำลงเรื่อย ๆ   ผมคิดว่า  มองโดยเปรียบเทียบแล้ว  คนขับรถเชคน่าจะ Over Value กว่าคนขับรถไทย  และถ้าเป็นหุ้น  เราก็คงต้อง  Switch หรือขายหุ้นคนขับรถเชคและมาซื้อหุ้นคนขับรถไทย  เพราะในที่สุดแล้ว  ทุกอย่างก็ต้องวิ่งไปสู่  “พื้นฐาน” ความหมายก็คือ  ในอนาคต  คนขับรถเชคก็อาจจะมาเที่ยวเมืองไทยได้น้อยลง  อาจจะ 2 ปีครั้ง  ในขณะที่คนขับรถไทยอาจจะไปเที่ยวเชคได้ 3 ปีต่อครั้ง

           ที่ผมยกเรื่องคนขับรถมาพูดนั้น  เพื่อที่จะนำไปสู่ภาพใหญ่ที่ว่า  ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร  มันก็น่าจะมีความสัมพันธ์คล้าย ๆ  กันนั่นคือคนเชคก็อาจจะบริโภคได้น้อยลงเมื่อเทียบกับคนไทย  ถ้ามองจากตัวเลขก็คือ  เศรษฐกิจเชคจะโตช้ากว่าเศรษฐกิจไทยไปเรื่อย ๆ  ในระยะเวลาหนึ่ง  หรือไม่ก็ค่าเงินของเชคอาจจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเงินบาททำให้คนเชคมาเที่ยวเมืองไทยได้น้อยลงในขณะที่คนไทยไปเที่ยวเชคได้มากขึ้น  และสุดท้ายก็คือ  ประเทศไทยก็อาจจะกลายเป็น  “ประเทศพัฒนาแล้ว”  ใกล้เคียงกับเชคโดยที่รายได้หลักของไทยอาจจะมาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลายรวมถึงการท่องเที่ยวและมีชื่อเสียงในด้านของการเป็นประเทศที่ให้บริการ  “นวด”  ที่โดดเด่นคล้าย ๆ กับอิตาลีที่มีเรื่องของแฟชั่นหรือฝรั่งเศสที่มีไวน์เป็นสินค้าที่โดดเด่น ในขณะที่เชคเองก็ยังคงโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบางอย่างเช่นเรื่องของ  นาโนเทคโนโลยีหรือการแพทย์บางด้าน เป็นต้น
           สุดท้ายที่ผมไม่ใคร่ได้เห็นในกรุงปร้ากก็คือ  เรื่องของข่าวและความเคลื่อนไหวของธุรกิจและตลาดหุ้น  ตามร้านหนังสือซึ่งผมมักจะต้องแวะเยี่ยมเยือนทุกเมืองที่ไปนั้น  หนังสือเกี่ยวกับธุรกิจและหุ้นดูเหมือนจะมีน้อย  ซึ่งนี่แตกต่างจากกรุงเทพที่เรามีหนังสือหุ้นออกใหม่หรือแม้แต่เก่าที่ได้รับความนิยมสูง  หรือแม้แต่ประเทศในเอเซียอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซียที่ผมไปก็มักจะพบว่าชั้นที่เกี่ยวกับธุรกิจและหุ้นจะมีหนังสือดังอยู่พอสมควร  และนี่ทำให้ผมสรุปว่า  เมืองไทยเรานั้น  ยังเป็นประเทศที่กำลังเติบโตคึกคักและยังน่าจะโตต่อไปพอสมควรและนี่ก็เอื้ออำนวยต่อการลงทุนโดยเฉพาะของชาว VI ทั้งหลาย

Posted by nivate at 9:40 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/05/07/1285
[/quote]
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 14, 2013, 03:13:30 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 13 May 2013
หาผู้ชนะ


ถ้าจะถามผมว่าหลักการเลือกหุ้นที่สั้นที่สุดของผมคืออะไร  คำตอบของผมมีแค่ 3 คำ  “หาผู้ชนะ”  ความหมายก็คือ  ในการที่จะเลือกหุ้นลงทุนนั้น  สิ่งที่ผมพิจารณามากที่สุดก็คือ  ผมอยากได้บริษัทที่จะเป็นผู้ชนะในการขายผลิตภัณฑ์เหนือคู่แข่งทั้งหมด  ยิ่งชนะมากก็ยิ่งดี  พูดง่าย ๆ  คนเลือกผลิตภัณฑ์ของเรามากกว่าคู่แข่งมาก  หรือคนเลือกที่จะเข้าร้านของเรามากกว่าร้านคู่แข่งมาก  ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการของเราด้วยความเต็มใจเนื่องจากสินค้าของเราดีกว่าและมีคุณค่ามากกว่าสำหรับเงินแต่ละบาทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง   ผมต้องการลงทุนในบริษัทที่กำลังชนะ  บริษัทที่ชนะแล้วและจะชนะต่อไปอีกนาน  พูดแบบวิชาการหน่อยก็คือ  ผมชอบบริษัทที่มีการตลาดดีเยี่ยมและเหนือกว่าคู่แข่งมาก  ผมชอบบริษัทที่คู่แข่งไม่มีทาง  “ตามติด”  บริษัทของเราด้วยเหตุผลอะไรก็ตามรวมถึงเหตุผลที่ว่า  “มันไม่คุ้มที่จะทำ”  เนื่องจากยอดขายอาจจะไม่สูงพอ  ซึ่งทำให้บริษัทเราก็จะ “ทิ้งห่าง” เขาเพิ่มขึ้นไปอีก

           แน่นอนว่าผมคงไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องของการขายหรือการตลาด  ผมยังอยากเห็นการผลิตหรือการให้บริการที่ดีเยี่ยมของบริษัทที่ผมอยากลงทุน  ถ้าเป็นการผลิตหรือเป็นสินค้า  ผมก็อยากจะดูว่ามาตรฐานของสินค้าดีแค่ไหนหรืออร่อยแค่ไหนหรือสะอาดพอไหมหีบห่อสวยงามและแข็งแรงพอหรือเปล่า  ถ้าเป็นธุรกิจบริการโดยเฉพาะที่ผมสามารถใช้บริการได้ผมก็อยากจะเห็นบริการที่รวดเร็วถูกต้องและพนักงานมีสีหน้ายิ้มแย้มและเต็มใจให้บริการ  ผมคิดว่าถ้าการตลาดดีเยี่ยมแต่การผลิตหรือให้บริการไม่ดี  ในอนาคตความนิยมของลูกค้าก็จะค่อย ๆ  ตกลงและคู่แข่งก็จะเข้ามาแทนที่บริษัทได้

          เรื่องของการเงินเองนั้น  ผมก็อยากจะเห็นบริษัทมีฐานะทางการเงินที่ดี  มีหนี้กู้ยืมน้อย ๆ หรือไม่มีเลย  ถ้าบริษัทมีเงินสดมากก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก  บริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่ดีนั้นผมคิดว่าจะสามารถทนทานต่อภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็สามารถฉวยโอกาสในการซื้อหรือขยายกิจการที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท

          กระบวนการในการหาผู้ชนะนั้นเราจะต้องเริ่มต้นด้วยการดูว่าอะไรเป็นปัจจัยในการแข่งขันหรือการต่อสู้ของบริษัทกับคู่แข่ง  ซึ่งทำให้เราต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าใครคือคู่แข่งของบริษัทจริง ๆ  เพราะบ่อยครั้งเราอาจจะคิดผิดหรือมองไม่ครบก็ได้  ตัวอย่างเช่น  ร้านเครือข่ายสะดวกซื้อสมัยใหม่นั้น  คู่แข่งนอกจากจะเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อด้วยกันแล้ว   มันยังรวมถึงร้านโชว์ห่วยที่มีอยู่นับแสน ๆ รายทั่วประเทศ  นอกจากนั้น  ก็ยังมีคู่แข่งแบบอ้อม ๆ  ที่เป็นร้านแบบ “มินิมาร์ท”  ที่อาจจะขายอาหารสดด้วย    เมื่อพบคู่แข่งชัดเจนแล้ว  สิ่งที่จะต้องมองก็คือ  อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ชนะในการต่อสู้แข่งขัน?

          โดยทั่วไปแล้ว  สิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้ชัยชนะนั้นก็คือตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้มากกว่าหรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมากกว่า  แต่ในภาวะปัจจุบันที่การผลิตก้าวหน้าขึ้นไปมากการมีสินค้าที่เด่นกว่าคู่แข่งจริง ๆ ก็ทำได้ยาก  ปัจจัยที่สำคัญกว่าก็อาจจะเป็นเรื่องของการสร้างภาพพจน์ให้คนรู้สึกว่าอยากใช้หรือบริโภคสินค้าผ่านการโฆษณาอาจจะมีความสำคัญมากกว่า   นอกจากเรื่องของภาพพจน์แล้ว  การจัดจำหน่ายก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน  สินค้าที่มีช่องทางการขายมากกว่าหรือมีพื้นที่ในชั้นวางของของห้างร้านมากกว่าก็จะได้เปรียบและเป็นปัจจัยในการแข่งขันที่สำคัญ  ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกและลงความเห็นว่าใครจะเป็นผู้ชนะและใครจะเป็นผู้แพ้

          ในด้านของบริษัทหรือธุรกิจการบริการเองนั้น  ปัจจัยในการแข่งขันก็อาจจะแตกต่างออกไปจากธุรกิจของสินค้า   โดยหลักการก็คือ  บริษัทที่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้ดีที่สุดก็จะได้เปรียบและมีโอกาสเป็นผู้ชนะสูงกว่า  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเป็นธุรกิจขายความสะดวกในการซื้อสินค้าเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ซึ่งมักจะรวมถึงอาหารหรือน้ำดื่ม  บริษัทที่สามารถให้บริการได้ครบถ้วนและอยู่ใกล้กับลูกค้ามากที่สุดก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน  หรือในกรณีของการขายสินค้าราคาถูก  บริษัทหรือร้านที่สามารถเสนอสินค้าที่มีราคาถูกและอยู่ไม่ไกลเกินไปก็จะมีโอกาสเป็นผู้ชนะ เป็นต้น

           ธุรกิจแต่ละอย่างอาจจะมีปัจจัยในการแข่งขันไม่เหมือนกัน  หน้าที่ของเราก็คือ  กำหนดให้ได้ว่าปัจจัยนั้นคืออะไร  เสร็จแล้วก็ดูว่าบริษัทที่กำลังแข่งขันกันอยู่นั้นใครมีทรัพยากรมากที่สุดและเขาได้ใช้ทรัพยากรนั้นในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน  กฎของการแข่งขันก็คือ  ใครมีทรัพยากรมากกว่าและทุ่มเข้าไปในจุดที่เป็น  “สนามรบ”  อย่างถูกต้องมีโอกาสที่จะชนะสูงกว่า   เราเองต้องคอยสังเกตประสิทธิผลของปัจจัยต่าง ๆ  ที่ถูกนำมาใช้   ถ้าเราเองเป็นคนใช้บริการอยู่ด้วยเป็นประจำเราก็อาจจะมีข้อมูลนี้  ถ้าเรารู้สึกพอใจมากกับสินค้าหรือบริการและก็เห็นถึงการตอบรับของลูกค้ารายอื่น ๆ  จำนวนมาก  แบบนี้ก็อาจจะเป็นตัวบอกว่าในที่สุดบริษัทนี้ก็น่าจะเป็นผู้ชนะ   ว่าที่จริงถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ   จนชำนาญ  ถึงวันหนึ่งเราก็จะสามารถบอกได้จาก  “ความรู้สึก” ว่า  บริษัทไหนหรือสินค้าไหนจะเป็นผู้ชนะ

           ผมเองตั้งแต่กลายเป็นนักลงทุนแบบ VI  ที่เน้นการลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้ชนะและเป็นบริษัทที่  ยิ่งใหญ่แนวซุปเปอร์สต็อกนั้น  ผมก็ได้สร้างนิสัยส่วนตัวที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  และหุ้น  ผมมักจะต้องวิเคราะห์ถึงการแข่งขันหรือ  “สงคราม”  ผมจะดูว่าในแต่ละเรื่องใครกำลัง “แข่งขัน” หรือ  “รบ”  กับใคร  ปัจจัยอะไรเป็นตัวที่จะชี้ขาดว่าใครจะชนะ  และที่สำคัญ  ทรัพยากรของใครมีมากกว่าและเขาใช้มันถูกต้องหรือไม่  เสร็จแล้วผมก็  “ลงความเห็น”  ว่าใครน่าจะชนะ  ทั้งหมดนี้  ผมต้องศึกษาประวัติศาสตร์ในแต่ละเรื่องด้วยว่า  ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในที่อื่น  โดยเฉพาะในต่างประเทศมันเป็นอย่างไร   เพราะประวัติศาสตร์นั้นมันมีพลังสูงมาก  มันบอกว่าแนวโน้มในอนาคตของบ้านเราจะเป็นอย่างไร

          นิสัยการ “หาผู้ชนะ”  ของผมนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ  ผมรู้สึกสนุกกับการทำนายว่า  ใครจะชนะ?  ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องธุรกิจหรือหุ้น  ผมดูทุกอย่างตั้งแต่การเมืองว่าพรรคไหนหรือกลุ่มไหนจะชนะ   เรื่องของสถานศึกษาว่าโรงเรียนไหนหรือมหาวิทยาลัยไหนจะโดดเด่นขึ้นและแห่งไหนจะตกต่ำลง  บางทีก็มองไปถึงเรื่องของประเทศต่าง ๆ  ในโลกว่าประเทศไหนจะรุ่งเรืองประเทศไหนจะค่อย ๆ  ดับลง    ไล่ไปจนถึงว่าดาราคนไหนของไทยจะดังมากกว่าคนอื่นและดังในด้านไหนเช่น เป็น  ดาราที่โดดเด่นในด้านของการเป็น ดาราเซ็กซี่หรือเป็นแบบไทย ๆ  หรือเป็นแบบน่ารักแบบวัยรุ่น  ต่าง ๆ  เหล่านี้  ถ้าจะถามว่ามีประโยชน์อะไรกับการลงทุนโดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหุ้นโดยตรง  คำตอบของผมก็คือ  หลาย ๆ  เรื่องคงไม่เกี่ยวแต่ผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดเพราะมันเป็นนิสัยที่ติดตัวไปแล้ว   อย่างไรก็ตาม  หลาย ๆ  เรื่องก็อาจจะเกี่ยวข้องในระดับภาพใหญ่ของการลงทุน   เช่น  ความก้าวหน้าของไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต?  นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องคิดเพราะมันกระทบกับบริษัทที่เราลงทุนในระยะยาว  เช่นเดียวกับเรื่องของการเมืองการปกครองที่ก็สำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศและบริษัทที่เราลงทุนเช่นเดียวกัน
           เขียนจนเกือบถึงบรรทัดสุดท้ายแล้วก็ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ ชาร์ลี มังเกอร์ หุ้นส่วนสำคัญของบัฟเฟตต์ที่พูดว่า  ความรู้ในการลงทุนนั้นมาจากหลากหลายวิชา  เราต้องเอามาสอดประสานกันเพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ  ที่จะนำไปสู่การลงทุนที่ดี  ผมเองคิดว่า  นี่คงเป็นสิ่งที่ชาร์ลีแนะนำ
Posted by nivate at 2:02 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/05/13/1289
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 29, 2013, 01:29:49 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 21 May 2013
Appreciate Thailand


คนไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่เป็นคนร่ำรวยมีเงินทองในระดับเศรษฐีหรือคนที่เป็นคนชั้นกลางระดับสูงที่มีรายได้มากและกำลังสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  มักจะชอบวิจารณ์หรือบางทีถึงกับก่นด่าว่าประเทศไทยนั้นมีเรื่องที่  “แย่ ๆ” มากมายที่กำหนดหรือสร้างขึ้นโดย  “รัฐ”   นักการเมืองเองก็เอาแต่กอบโกยหาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือไม่ก็ใช้เงินที่ได้จากภาษีที่มาจากคนที่ทำงานมีรายได้สูงเอาไปแจกจ่ายให้กับฐานเสียงของตนเองซึ่งเป็นประชาชนที่มีรายได้ต่ำโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ  แต่ส่วนที่ “ดี ๆ”   ของประเทศไทยนั้นดูเหมือนว่าจะมาจาก “คนไทย”  และ “ขนบธรรมเนียม” ต่าง ๆ  ของคนไทยที่ทำให้ประเทศนี้  “น่าอยู่”  มากกว่าที่อื่นใดในโลก

           ผมเองคงไม่ไปถกเถียงในเรื่องของรายละเอียดต่าง ๆ  ของการทำงานของรัฐไทยว่าดีเลวอย่างไร  ว่าที่จริงผมเองก็เคยมีความคิดแบบนั้น  แต่หลังจากที่ผมกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัวและกลายเป็นคนที่มีเงินมากอยู่เหมือนกันและเงินเหล่านี้ล้วนเกิดหรือถูกสร้างขึ้นในประเทศไทยโดยคนไทยโดยเฉพาะที่เป็นคนมีเงินน้อยและภายใต้กฎเกณฑ์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีเงินน้อยเช่นกัน  ผมเริ่มจะรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเคยคิดว่า “แย่ ๆ”  นั้นมันอาจจะไม่จริง  ตรงกันข้าม  ผมคิดว่าผม “โชคดี” ที่เกิดและทำงานหากินในประเทศไทย   ผมรู้สึกแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า  “Appreciate ประเทศไทย”  นั่นคือ  ผมรู้สึกขอบคุณประเทศไทย  รู้สึกพึงพอใจที่ได้เป็นคนไทยและลงทุนในประเทศไทย  รู้สึกเห็นคุณค่าของประเทศไทย  และผมคิดว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่คิดอย่างนั้น  เพราะผมมีเพื่อนหรือรู้ว่าชาวต่างชาติจำนวนมากที่เป็นคน  “มีสตางค์”  นั้น  ไม่ได้  “โชคดี”  อย่างเรา  พวกเขาถูก  “ลิดรอน” ความมั่งคั่งด้วยภาษีและการกระทำหรือนโยบายหลายอย่างที่ทำให้ความมั่งคั่งที่มาจากหยาดเหงื่อและแรงงานลดลงจนบางที “ไม่รู้จะทำอย่างไร”

           ตัวอย่างเช่นชาวเมริกันนั้น  ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนและทำงานที่ไหนในโลก  พวกเขาจะต้องถูกรัฐเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลี่ยงไม่ได้  เพื่อนนักลงทุนชาวอเมริกันของผมที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยคนหนึ่งบอกกับผมว่าแต่ละปีเขาต้องเสียภาษีนับสิบล้านบาทให้กับรัฐบาลอเมริกันจากผลตอบแทนที่เขาได้จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง ๆ  ที่เขาไม่ได้ทำงานหรือมีรายได้ในอเมริกาเลย   ว่าที่จริงเขาแทบไม่ได้กลับอเมริกาเลยบางทีเป็นปี ๆ   สำหรับเขาในเวลานี้แล้ว  เมืองไทยคือบ้าน  เขามีความสุขในการใช้ชีวิตและลงทุนในตลาดหุ้นไทยและคงอยู่ไปเรื่อย ๆ ตลอดไป   ผมถามเขาว่าสรรพากรของอเมริกาจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำไรจากการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย  เขาตอบว่า  ถ้าเขาโกงภาษีและถูกจับได้ก็ต้องติดคุก  ดังนั้นเขาไม่เสี่ยงแน่นอน  ผมถามต่อว่าทำไมไม่แปลงสัญชาติอย่างที่ดาราหรือคนดังที่มีรายได้มากอย่าง จิม โรเจอร์ นักลงทุนทำกรณีแปลงสัญชาติเป็นคนสิงคโปร์  เขาบอกว่าเขาก็ทำ  แต่การ “ยกเลิก” สัญชาติอเมริกันนั้น  คุณก็จะต้องจ่ายภาษีทั้งหมดที่คุณกำไรจากหุ้นแม้ว่าคุณจะไม่ได้ขายมัน   ซึ่งนั่นก็จะเป็นเงินมหาศาล  อาจจะเป็นร้อย ๆ ล้านบาท  เห็นหรือยังครับว่าการเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลของคนอเมริกันนั้นมันยากเข็ญแค่ไหน?  โชคดีที่ผมไม่ใช่คนอเมริกัน!

           ถ้าคุณเป็นคนญี่ปุ่นและมีทรัพย์สินมาก  เวลาคุณตาย  รัฐก็จะเก็บภาษีจากทรัพย์มรดกของคุณอย่างหนัก  ดังนั้น  ความมั่งคั่งที่คุณสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงตลอดชีวิตก็จะถูกรัฐเอาคืนไปเหลือถึงลูกหลานน้อยไปมาก   เช่นเดียวกัน  การมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าตลาดสูงซึ่งรวมถึงบ้านที่เราใช้อยู่อาศัยนั้น  ทุกปีก็จะถูกเก็บภาษีทรัพย์สินที่หนักหนาสาหัส  นี่คือสิ่งที่เป็นในประเทศที่เจริญแล้วแทบจะทั่วโลก  ดังนั้น  แม้ว่าในบางครั้งคุณจะไม่ได้ทำอะไรกับทรัพย์สินที่มีค่าที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  คุณก็จะถูกเก็บภาษีซึ่งยิ่งเวลานานไปความมั่งคั่งของคุณก็จะค่อย ๆ  ลดลงไปเรื่อย ๆ     ทั้งเรื่องภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของความมั่งคั่งที่ในประเทศไทยยังไม่มี    ดังนั้น  สำหรับคนที่ร่ำรวยโดยเฉพาะที่มีที่ดินมากเขาควรจะต้อง  Appreciate ประเทศไทย

           ผมยังมีเพื่อนชาวต่างชาติที่ไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามในช่วงเร็ว ๆ นี้   เขาเล่าว่าหุ้นมีราคาถูกมาก PE ของบริษัทชั้นนำที่ดี ๆ  มีค่าไม่เกิน 10 เท่า  และเศรษฐกิจกำลังเติบโต  เขาทำกำไรจากหุ้นได้ไม่เลวนักแต่ปัญหาก็คือเรื่องของเงินเฟ้อและค่าเงินรวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ  ที่ยังค่อนข้างยุ่งยาก  ผลก็คือ  บางทีก็ขาดทุน   อย่างไรก็ตาม  เขาก็ยัง “เข้า-ออก”  ตลาดหุ้นเวียตนามเป็นระยะแบบนักเก็งกำไร   แต่ถ้ามองในฐานะของคนเวียตนามเองผมคิดว่าการเป็นคนมีเงิน  รวมถึงการเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นนั้น  คงจะไม่สะดวกสบายหรือให้ผลตอบแทนที่ดีนักเมื่อคำนึงถึงว่าดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อยังสูงลิ่วซึ่งทำลายค่าเงินตลอดเวลา   ค่าเงินด่องเองก็ไม่มีเสถียรภาพและลดค่าลงเรื่อย ๆ  ทำให้กำลังซื้อสินค้าจากต่างประเทศหรือการไปเที่ยวต่างประเทศของคนเวียตนามที่ “มีสตางค์” ลดต่ำลง  นอกจากนั้น  ถ้าเข้าใจไม่ผิด  การเป็นคนรวยในสังคมเวียตนามเองก็ยังเป็นสถานะที่ “ถูกเพ่งเล็ง” จากทางการหรือสังคมอยู่  ซึ่งทำให้ชีวิตคนรวยนั้นอาจจะไม่สดใสเท่ากับคนรวยของไทยที่มักจะเป็นที่นิยมชมชอบของคนในสังคม    ดังนั้น  คนที่มีฐานะดีควรที่จะ Appreciate ประเทศไทย

           ผู้บริหารชาวต่างชาติที่ถูกส่งมาจากบริษัทแม่ที่มาทำงานในกิจการของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยที่เรียกว่า Ex-Pat โดยเฉพาะที่เป็นคนญี่ปุ่นนั้น  ส่วนใหญ่แล้วจะมีความสุขมากที่ได้มาทำงานในไทย  เพราะชีวิตและมาตรฐานความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีและสูงขึ้นมาก   พวกเขามีรถหรูพร้อมคนขับรถ  มีแม่บ้านรับใช้  มีบ้านหรู  และมีสิ่งอื่น ๆ  อย่างกับ “ราชา”   ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่มีในประเทศของตนเอง  ดังนั้น  เวลาที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นได้รับการคัดเลือกให้มาทำงานในไทย  พวกเขาจะดีใจมาก  แต่ในวันที่พวกเขาถูกเรียกตัวกลับนั้น  บางคนบอกว่าพวกเขาแทบจะร้องไห้   การมีเงินนั้น  คุณสามารถซื้ออะไรหลาย ๆ  อย่างในประเทศไทยที่มีราคาถูกมากเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอีกหลายประเทศ  ตัวอย่างเช่นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจ้างแม่บ้านอยู่ดูแลรับใช้ในญี่ปุ่นแม้ว่าคุณจะมีเงินค่อนข้างมาก  ดังนั้น  เราควร  Appreciate ประเทศไทย

            ถ้าจะให้หรือจัดอันดับกันแล้ว  ผมคิดว่าประเทศไทยนั้น  น่าจะเป็นเมืองที่เป็น  “เพื่อน” กับคนที่ร่ำรวยหรือฐานะดีมีความมั่งคั่งสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งมองจากด้านของระบบภาษี  กฎเกณฑ์ และสภาวะทางเศรษฐกิจ  รวมถึงขนบประเพณีวัฒนธรรม  ถ้าจะมีประเทศไหนที่โดดเด่นกว่าเมืองไทยชัดเจนนั้น  ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิงคโปร์ที่เขามีการแก้ไขปรับปรุงระบบภาษีและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  เพื่อให้ประเทศเป็นแหล่งดึงดูดคนมีเงินทั่วโลกเข้ามาเพื่อเพิ่มพลเมืองและสร้างประเทศให้มีความก้าวหน้าและมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ    จุดอ่อนของไทยและของสิงคโปร์ในแง่ของการใช้ชีวิตนั้นน่าจะอยู่ที่เรื่องของภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อนตลอดปีซึ่งผมคิดว่ามีส่วนทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ง่ายและทำให้กิจกรรมหลาย ๆ  อย่างนอกอาคารไม่รื่นรมย์
            ในฐานะของการเป็นคนไทยและเป็นนักลงทุนนั้น  ผมคิดว่าแม้ว่าเราจะมีปัญหาและความขัดแย้งมากมายในสังคม การเมือง และความคิดในเรื่องของการกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านกฎหมายและเรื่องอื่น ๆ  อีกมากมายจนหลาย ๆ  คนอาจจะรู้สึกว่าประเทศไทยนั้นมี  “ความเสี่ยงของประเทศ”  ค่อนข้างสูง  แต่ผมก็ยังคิดว่านับจนถึงวันนี้ประเทศไทยเองก็ยังไม่เคยที่จะหลุดเข้าไปอยู่ใน  “แดนสนธยา”  ที่นักลงทุนหรือคนที่สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองซึ่งส่งเสริมให้ประเทศก้าวหน้าในแนวทางทุนนิยมไม่สามารถเติบโตอย่างมั่นคงได้  ผมเองก็ได้แต่หวังว่าประเทศไทยจะยังรักษาสถานะแบบนี้ได้ต่อไปได้อีกยาวนาน  และตราบใดที่มันยังเป็นแบบนั้น  ผมเองก็อยากจะบอกความรู้สึกของผมว่า  ผม  Appreciate ประเทศไทยอันเป็นที่รักที่ทำให้ผมมีวันที่ดี ๆ  เช่นในวันนี้ในฐานะของนักลงทุน

Posted by nivate at 10:39 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/05/21/1292

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 29, 2013, 01:31:44 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 27 May 2013
โรงเรียนสอนเปียโน




ภรรยาผมเป็นครูสอนเปียโนและก็ยึดอาชีพนี้มาตลอดตั้งเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ   นับถึงวันนี้ก็ประมาณ 30 ปีแล้ว   ดังนั้นผมจึงรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียนการสอนเปียโนอยู่บ้างแม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีเลยไม่ว่าจะเป็นเปียโนหรือดนตรีอย่างอื่น  เหตุผลที่ผมไม่มีความสามารถหรือความรู้เกี่ยวกับดนตรีเลยส่วนหนึ่งก็คือ  ในช่วงวัยเด็กฐานะทางบ้านผมจนมากทำให้เราไม่สามารถที่จะซื้อเครื่องดนตรีไม่ว่าชนิดไหนมาเล่นได้  ดนตรีในสมัยนั้นยังถือว่าเป็น  “สิ่งฟุ่มเฟือย”  และเปียโนนั้นเป็น  “ราชา”  ของดนตรีที่หรูหราและฟุ่มเฟือยที่สุด   เพราะเครื่องเปียโนมีราคาแพงมาก  นอกจากนั้น  การเล่นเปียโนให้เป็นและเก่งนั้นต้องอาศัยการเรียนและการฝึกฝนอย่างหนักและนานมากแถมค่าเรียนก็แพงกว่าการเรียนดนตรีอย่างอื่น

          ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาและเป็นช่วงที่ลูกผมยังเล็กอยู่นั้น  ผมจำได้ว่าเป็นช่วงที่การเรียนเปียโนเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมาก  ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะลูกของคนยุค “เบบี้บูม” ที่เป็นคน “เจน Y” เริ่มเกิด  พ่อแม่ของเด็กยุคนี้เริ่มจะมีฐานะดีขึ้นเนื่องจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย  พวกเขามีลูกน้อยและอยาก  “สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ”  หรือทำให้ลูกมีความสามารถและมีความ  “สุนทรี” กับ  “ศิลปะ” และพวกเขามีความเชื่อว่าดนตรีนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพัฒนาการของเด็ก  ดังนั้น  การให้ลูกเรียนเปียโนจึงเป็นสิ่งที่คนทำกันมาก  บ้านไหนของคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูงที่ลูกสาวไม่เรียนเปียโนนั้น   บางทีอาจจะถูกมองว่าเชยหรือไม่ค่อยทันสมัยไปเลย  และนั่นคือยุค “บูม” ของการเรียนการสอนเปียโน  โรงเรียนสอนดนตรีที่มีเปียโนเป็นคลาสใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นมาก  ครูเปียโนมีงานสอนเต็มเวลาไม่ต้องง้อโรงเรียนหรือนักเรียนเลย

            เวลาผ่านไปจนถึงช่วงเร็ว ๆ  นี้   สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก  วัฒนธรรม “ป็อบ”  เข้ามาแทนที่วัฒนธรรม  “รุ่นเก่า”  คน “รุ่นใหม่” ต้องการ  “ย่นระยะเวลาแห่งความสำเร็จ”  ในชีวิตให้เหลือสั้นที่สุด  ดังนั้นอะไรที่ทำได้เร็วใช้เวลาน้อยจึงเข้ามาแทนที่สิ่งที่ต้องใช้เวลามาก  คนรุ่นใหม่ไม่สามารถรอหรือต้องทุ่มเทความพยายามมากเกินไปในการที่จะ  “ประสบความสำเร็จในชีวิต”  ดังนั้น  การเรียนเปียโนจึงค่อย ๆ  จางหายไปในแวดวงคนรุ่นใหม่  และนี่ก็อาจจะรวมไปถึงกิจกรรมทางศิลปะที่ต้องใช้เวลามากในการฝึกฝนเช่น  การเต้นบัลเล่ต์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ  ในทำนองเดียวกัน

           เด็กรุ่นใหม่เขาไปเรียนอะไรกัน?  ผมเองก็ไม่ทราบรายละเอียดมากนักแต่สิ่งหนึ่งที่ภรรยาผมบอกก็คือ  พวกเขาไปเรียนการร้องเพลงสมัยใหม่แบบที่ผู้เข้าแข่งขันประกวดแนว  AF หรือ อะแคเดมี อะวอร์ด ทำกัน  บางคนก็ไปเรียนการแสดงเผื่อว่าจะได้มีโอกาสเข้าไปแข่งขันหรือเข้าวงการบันเทิงในอนาคต  ดนตรีเองก็อาจเน้นไปในเครื่องดนตรีที่สอดคล้องกับดนตรีสมัยใหม่ที่สามารถโชว์ได้เช่นกีตาร์หรือกลองเป็นต้น  ส่วนเปียโนนั้น  ดูเหมือนว่านักเรียนจะค่อย ๆ  ลดลงเรื่อย ๆ  และโรงเรียนเองก็อาจจะไม่ทำกำไรอย่างที่เคยและอาจจะต้องลดขนาดลงเนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ในห้างที่มีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี  มองไปแล้วนี่คืออุตสาหกรรมที่กำลังค่อย ๆ  ตกต่ำลงอย่างไม่หวนกลับ

            ผมถามต่อว่าแล้วใครหรือกิจการอะไรจะมาแทนที่โรงเรียน  คำตอบก็คือ  น่าจะเป็น  “ร้านเสริมความงาม”  ซึ่งเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   เพราะเดี๋ยวนี้คนไปเสริมเติมแต่งร่างกายให้สวยงามขึ้นมาก  ถ้าอยู่ในแวดวงบันเทิงแล้วแทบจะทุกคนต้องทำ  คนธรรมดาเดี๋ยวนี้ก็ทำกันมากเพราะรู้สึกว่าทำแล้ว “เห็นผลทันที”  คนไม่รู้สึกว่าการทำศัลยกรรมหรือเติมสารต่าง ๆ  เข้าไปในร่างกายเป็นความเสี่ยงอะไรมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับความสวยงามที่จะได้รับแถมราคาก็สมเหตุผล   สถานเสริมความงามนั้นสามารถที่จะจ่ายค่าเช่าที่แพง ๆ  ได้ในขณะที่โรงเรียนสอบเปียโนนั้นรับไม่ไหว   เหตุผลหลักก็คือ  ธุรกิจเสริมความงามนั้นกำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตมีคนเข้าเต็มร้านในขณะที่โรงเรียนสอนเปียโนนั้นเป็นธุรกิจที่กำลังตกต่ำนักเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ

            ผมนึกต่อไปถึงเรื่องของโรงเรียนสอนหนังสือสายสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา  แล้วก็ทำให้ผมเข้าใจว่าทำไม  “โรงเรียนติว” จึงเจริญรุ่งเรืองและอยู่ได้มายาวนานมากแถมทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ  เหตุผลก็คือ  พวกเขาสอนเร็ว  มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ดีขึ้นทำคะแนนได้สูงขึ้นและสามารถสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากขึ้น  นี่คือสิ่งที่ตรงกับความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอะไรที่เร็วและได้ผลทันที  เขาไม่ต้องการอะไรที่อาจจะหนักแน่นและอาจจะมีประโยชน์มากกว่าหรือดีกว่าในอนาคตที่ยังมองไม่เห็น   การประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยของ  “ไอดอล” ที่พวกเขาเห็นจากสื่อสมัยใหม่ที่เปิดกว้างนั้น   ทำให้พวกเขาต่างก็ต้องการที่จะเดินทาง  “สายตรง”  พวกเขาคิดว่าการ “สร้างฐาน” ที่หนักแน่นนั้นอาจจะเสียเวลาเกินไป

            ที่เขียนมาซะยืดยาวนั้นหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่ามันเกี่ยวอะไรกับการลงทุน  คำตอบของผมก็คือ  ผมกำลังจะอธิบายว่านี่คือการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่กำลังค่อย ๆ  ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  มันกำลังตกต่ำลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยและในที่สุดธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้  ในลักษณะแบบนี้โอกาสที่กิจการจะฟื้นตัวกลับมาอาจจะยากไม่เหมือนอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรที่ในที่สุดธุรกิจก็จะกลับมาดีได้อีก

            ถ้าลองมาดูธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ก็จะพบว่ามีธุรกิจหลายอย่างประสบกับปัญหายอดขายไม่เพิ่มและกำไรตกลงมาอย่างน่าใจหายทั้ง ๆ  ที่เคยเป็นกิจการที่รายได้เติบโตโดดเด่นรวมถึงกำไรที่โตต่อเนื่องเป็นหุ้นที่เป็นขวัญใจของนักลงทุนแบบ VI  แต่ในขณะนี้ต้องเผชิญกับคำถามสำคัญที่ว่าธุรกิจนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะที่จะตกต่ำลงยาวนานจนยากที่จะฟื้นตัวกลับมาหรือไม่  ตัวอย่างก็เช่น  ธุรกิจขายเครื่องและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ไม่อิงอยู่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงอย่างอื่นเลยที่กำลังถูกแย่งชิงจากผู้ขายสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตรวมถึงจากผู้ผลิตและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเองที่มาเปิดร้านแข่ง   อีกธุรกิจหนึ่งก็คือ  ธุรกิจร้านขายหนังสือที่เป็นเล่มมีหน้าร้านขนาดใหญ่ที่กำลังถูกแย่งลูกค้าโดยสื่ออิเล็คโทรนิกส์อื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงและขายถูกกว่าทำให้คนอ่านหนังสือเล่มน้อยลงไปเรื่อย ๆ    หรือธุรกิจผลิตและขายถ่านหินที่กำลังถูกคุกคามจากก๊าซธรรมชาติและแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ  ที่สะอาดและบางทีราคาก็ถูกกว่าทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินไม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับราคาที่อาจจะไม่ปรับตามราคาพลังงานอย่างอื่นเท่ากับที่เคยเป็นมา  ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธุรกิจนี้ตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน
            เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าธุรกิจไหนที่เราสงสัยจะกลายเป็นธุรกิจตะวันตกดินแน่นอนในช่วงต้น ๆ  ของยอดขายและกำไรที่ตกต่ำลง  ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้ชัดเจนก็ต่อเมื่อเวลามันผ่านไปยาวนานและยอดขายและกำไรมันลดลงไปมากจนกิจการแทบจะไปไม่ไหวแล้ว  ซึ่งถ้าถึงวันนั้น  ราคาหุ้นก็อาจจะตกไปมากจนทำให้การลงทุนกลายเป็นหายนะ  หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนก็คือ  เราต้อง  “รู้สึกตัว”  ให้เร็วที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรม?  มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือที่ทำให้ยอดขายและผลประกอบการออกมาไม่เป็นไปตามคาด?  การได้ “สัมผัส” กับธุรกิจโดยตรงจะช่วยเราได้มาก

Posted by nivate at 10:48 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/05/27/1293


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 03, 2013, 11:27:45 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 3 June 2013
Economies of Scale



ในการวิเคราะห์หุ้นหรือเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้น  ผมคิดว่าหลักการของ  Economies of Scale (EOS)  หรือ  “การประหยัดเนื่องมาจากขนาด” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ว่าที่จริงสำหรับผมแล้ว  นี่เป็นแนวความคิดหรือหลักการที่ผมใช้มากที่สุด  เหตุผลก็เพราะว่าขนาดนั้นมักจะก่อให้เกิดความได้เปรียบที่ยั่งยืนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  รวมถึงเรื่องของยี่ห้อหรือคุณภาพหรือคุณสมบัติอื่น ๆ  อีกมาก   จริงอยู่กิจการหลายอย่างนั้นอิงอยู่กับเรื่องของยี่ห้ออย่างยิ่งยวดตัวอย่างเช่นสินค้าระดับหรูหราสุด ๆ  แบบ Super Luxury เช่นกระเป๋าหลุยส์วิตตอง แต่ถ้ามองกันให้ลึกลงไปก็จะพบว่ายังมีปัจจัยที่สำคัญทาบซ้อนอยู่นั่นก็คือความจริงที่ว่า  ในบรรดากระเป๋าที่อยู่ในกลุ่มหรูสุด ๆ  นั้น  หลุยส์วิตตองน่าจะเป็นรายใหญ่ที่สุดและน่าจะใหญ่กว่าเบอร์สองมาก  และนี่ก็ทำให้เกิด EOS  ซึ่งก็คือ  มันทำให้กระเป๋าหลุยส์วิตตองได้เปรียบคู่แข่งในแง่ที่มันสามารถมีรูปแบบที่หลากหลายกว่าคู่แข่งเพราะมันคุ้มที่จะทำ  มันทำให้หลุยส์วิตตองมีร้านค้ามากกว่าซึ่งทำให้ผู้คนเห็นมันทั่วโลกซึ่งเท่ากับเป็นการ  “โฆษณาสินค้า” ที่กว้างขวางกว่าคู่แข่ง  ซึ่งนี่ทำให้ยี่ห้อของหลุยส์วิตตองแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ  หรือไม่ตกลงไป  ซึ่งก็เท่ากับว่ามันทำให้ความได้เปรียบทางด้านของยี่ห้อของหลุยส์วิตตองมีความยั่งยืน   EOS ยังทำให้การผลิตของหลุยส์วิตตองมีราคาต่อหน่วยต่ำกว่าคู่แข่งและทำให้บริษัทกำไรมากขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  กำไรนี้ทำให้กิจการมีเงินสดหรือฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่ทำให้สามารถต่อสู้กับการคุกคามต่าง ๆ  ได้ดีกว่าคู่แข่ง  นี่ช่วยรับประกันว่ากระเป๋าหลุยส์วิตตองไม่ถดถอยได้ง่าย ๆ

           ธุรกิจโทรศัพท์มือถือหรือผมอยากจะเรียกว่า  “คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่” นั้น   ถ้ามองแบบผิวเผินก็จะดูเหมือนว่าแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดของการใช้งานหรือการออกแบบไม่ได้แข่งกันที่ “ขนาด” ของกิจการ  แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ?   ในช่วงหนึ่งที่โนเกียเป็น “ราชัน”  นั้น  ยอดขายของโนเกียน่าจะสูงมาก   อย่างไรก็ตาม  มันไม่น่าจะ “ชนะขาด”  หรือใหญ่กว่าคู่แข่งอันดับรองมากนัก  จุดด้อยก็คือ  ตลาดในประเทศอย่างฟินแลนด์นั้นเล็กนิดเดียวทำให้โนเกียต้องพึ่งตลาดต่างประเทศเกือบทั้งหมด  และนี่เป็นข้อเสียเปรียบที่สำคัญพอสมควรและทำให้แอปเปิลซึ่งในช่วงแรกโดดเด่นขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดก้าวขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็วและกลายเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในธุรกิจมือถือ  แต่ขนาดของแอปเปิลเองนั้น  เอาเข้าจริง ๆ  ก็ไม่ได้ทิ้งห่างจากรายที่รองลงมามากจนได้เปรียบชัดเจน  ว่าที่จริงซัมซุงนั้นน่าจะมียอดขายมากกว่าแอปเปิลด้วยซ้ำในขณะนี้   ผลก็คือ  แอปเปิลเองก็ไม่สามารถ  “ครอบงำ”  และได้เปรียบคู่แข่งอย่างยั่งยืนในธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบกับหลุยส์วิตตอง  อย่างไรก็ตาม  การที่บริษัทแอปเปิลมีกำไรมากมายและเก็บเงินสดไว้  “มโหฬาร” ก็เป็นสิ่งที่การันตีว่าแอปเปิลคงไม่แพ้ง่าย ๆ  เพราะเงินเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขันทุกด้านรวมถึงเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่จะใช้ในการต่อกรกับคู่แข่ง

            ถ้าลองมองกว้างขึ้นมาในระดับของประเทศ  EOS เองก็มีส่วนสำคัญในการแข่งขันซึ่งจะส่งผลไปถึงการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ   มีการพูดกันในช่วงก่อนหน้านี้ว่าประเทศที่จะก้าวหน้าเร็วในช่วงต่อไปจนกลายเป็นพลังทางเศรษฐกิจสำคัญของโลกในอนาคตก็คือประเทศในกลุ่ม BRIC ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย  อินเดีย  และจีน  เหตุผลมีการพูดกันมากมายแต่ปัจจัยร่วมกันอย่างหนึ่งของทั้งสี่ประเทศก็คือ  มันคือประเทศที่มีคนมากที่สุดและมีปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างอื่นค่อนข้างพร้อม  ต่อมาก็มีการเพิ่มเติมขึ้นว่าประเทศอย่างอินโดนีเซียหรือไนจีเรียก็จะเจริญเติบโตเร็วและมีความสำคัญในระดับโลกมากขึ้น   เหตุผลก็คือ  นี่คือประเทศที่มีพลเมืองมากมายและจำนวนคนนับวันจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราการเกิดยังสูงลิ่วกว่าประเทศอื่นมาก

           การมีคนมากนั้นทำให้ประเทศพัฒนาเร็วได้อย่างไร?  ทำไมในสมัย 40-50 ปีก่อนประเทศที่มีคนมากจึงไม่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ?  คำตอบของผมก็คือ  การพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นก็คือการพัฒนาหรือก่อตั้งธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการขายให้คนอื่นที่มีเงินซื้อ   ดังนั้นมันต้องการความรู้หรือเทคโนโลยีในการผลิต  มันต้องการผู้ประกอบการที่มีเงินและมีความสามารถ  และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือมันต้องมีแรงงานมาผลิต   ในอดีตนั้น  ประเทศที่มีคนมากดังกล่าวนั้นอาจจะมีเทคโนโลยี  เงิน  และผู้ประกอบการไม่เพียงพอที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณค่าที่ดีได้  นอกจากนั้น  คนที่มีเงินพอที่จะซื้อสินค้าเองที่มักเป็นคนในประเทศก็อาจจะมีอย่างจำกัด  ทำให้การพัฒนาทำได้ช้า   แต่ในยุคปัจจุบันที่เป็นโลกาภิวัฒน์ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง--ยกเว้นคน—สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของประเทศโดยง่ายเพื่อที่จะหาผลตอบแทนที่สูงที่สุด  ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ  เช่น  เทคโนโลยี   เงินและผู้ประกอบการทั่วโลกจึงวิ่งไปหาประเทศที่มีคนมาก  ไม่ใช่เพื่อที่จะหาแรงงานอย่างเดียว  แต่ยังหาตลาดของสินค้าและบริการต่าง ๆ  ด้วย  ดังนั้น  ประเทศที่มีคนมากจึงได้รับการลงทุนต่าง ๆ  มากมาย  ตัวอย่างเช่นจีนที่กลายเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่ใหญ่โตที่สุด  เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ในอนาคตก็จะผลิตรถยนต์ไม่น้อยทั้ง ๆ  ที่ประเทศยังไม่ก้าวหน้ามากนักแต่มันคุ้มค่าที่จะทำเนื่องจาก “ขนาด” ของตลาด

             การประหยัดเนื่องจากขนาดหรือ EOS นั้น  ในอดีตที่ผมเคยเรียนในมหาวิทยาลัยเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น  ภาพของมันมักจะอิงอยู่กับขนาดของโรงงานที่ผลิตสินค้าที่จับต้องได้  แนวความคิดหลักก็คือ  โรงงานที่ใหญ่กว่าจะมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าโรงงานขนาดเล็ก  แต่เมื่อขนาดของโรงงานหรือกิจการใหญ่ถึงจุดหนึ่ง  การประหยัดเนื่องจากขนาดก็จะหมดไป  และถ้าทำให้ใหญ่ไปกว่านั้นอีก  บางทีต้นทุนกลับจะเพิ่มขึ้น   ดังนั้น  โรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมจึงมีขนาดที่  “เหมาะสม”  โดยที่โรงงานขนาดที่เล็กเกินไปในที่สุดก็ค่อย ๆ  ต้องปิดตัวลง  คำว่าโรงงานใหญ่ได้เปรียบจึงมีความหมายน้อยลงไปมาก  แนวความคิดเรื่อง EOS ก็น่าจะลดความสำคัญลงไปมาก  อย่างไรก็ตาม  ในด้านของธุรกิจบริการนั้นผมคิดว่า EOS ยังมีความสำคัญและน่าจะสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกเพราะธุรกิจบริการสมัยใหม่นั้นต้องอาศัยระบบไอทีและการตลาดในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ   ต้นทุนเหล่านี้จะต้องถูก  “กระจาย”  หรือจัดสรรให้กับลูกค้าแต่ละคนหรือยอดขายแต่ละบาทที่ทำได้   ดังนั้น  ยิ่งลูกค้าหรือยอดขายมาก  ต้นทุนของสินค้าหรือของบริษัทก็ถูกลง  กำไรของบริษัทก็มากขึ้น  หรือไม่กิจการก็สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งขันที่มีขนาดเล็กกว่ามาก
             ประเด็นสุดท้ายก็คือ  EOS ของบริษัทนั้นจะแปลงเป็นกำไรและราคาหุ้นของบริษัทในตลาดได้มากน้อยแค่ไหน?  นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดเป็นการทั่วไปได้อย่างแน่นอน  แต่ละธุรกิจเองก็ไม่เหมือนกัน  ถ้าเป็นอุตสาหกรรมการผลิต  โอกาสก็เป็นไปได้ว่าขนาดอาจจะมีผลไม่มาก  โดยทั่วไปในธุรกิจบริการนั้น  ผมคิดว่ายิ่งธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น  ต้นทุนต่อหน่วยหรือผลดีที่จะได้รับก็มากขึ้น  บริษัทที่มีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่พอนั้น   นอกจากจะมีต้นทุนต่ำลงแล้ว   พวกเขาก็สามารถมี  “ลูกเล่น”  ได้สารพัดทั้งทางด้านการตลาด  การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  การส่งเสริมการขาย  และการสร้างภาพพจน์ที่ดีในแง่ของการเป็นผู้นำ   จากการสังเกตของผมนั้น  กำไรของบริษัทที่มี  EOS ที่ดีมากเทียบกับคู่แข่งนั้นจะสูงกว่าบริษัทที่เป็นรองมาก  ส่วนราคาหุ้นหรือมองจากค่า  PE  ก็มักจะสูงกว่า  มูลค่าตลาดหรือ  Market Cap. ของหุ้นที่มีขนาดใหญ่กว่ามากนั้นมักจะสูงกว่าคู่แข่งระดับรองหลายเท่า   ดังนั้น  ในการวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียนทุกครั้ง  การมองไปถึง  EOS  จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ

Posted by nivate at 9:59 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/06/03/1296


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 10, 2013, 09:11:30 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 10 June 2013
รู้เขา-รู้เรา เล่นหุ้นร้อยครั้งชนะเจ็ดสิบครั้ง

เรื่องของการลงทุนนั้นหลายคนจะพูดว่ามันเหมือนกับการรบ   ดังนั้น  กลยุทธ์และปรัชญาของสงครามสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนหรือการเล่นหุ้นได้  และถ้าพูดถึงเรื่องนี้แล้วดูเหมือนว่ากฎแห่งการยุทธ์ที่โด่งดังที่ทุกคนคุ้นเคยที่สุดก็คือ  “รู้เขา-รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ของซุนหวู่ ปราชญ์แห่งสงครามชาวจีน   ในฐานะที่ศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์และกลยุทธ์ของสงครามมาบ้างบวกกับการที่อยู่ในตลาดหุ้นและการลงทุนมานาน   ผมเองคิดว่ากฎแห่งสงครามข้อนี้ใช้ได้   แต่ถ้าจะพูดให้ตรงความเป็นจริงไม่พูดโอเวอร์เพื่อเน้นหลักการผมอยากจะปรับคำเป็นว่า  “รู้เขา-รู้เรา  เล่นหุ้นร้อยครั้ง  ชนะเจ็ดสิบครั้ง”  ในกรณีของการลงทุนหรือการเล่นหุ้นซึ่งไม่มีทางที่เราจะเล่นร้อยชนะร้อย   ว่าที่จริงผมคิดว่าซุนหวู่เองก็ไม่ได้คิดว่ารบร้อยครั้งต้องชนะร้อยครั้ง  โลกนี้มีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามหรือหุ้น

           คำว่า “รู้เขา” นั้น  ในเรื่องของหุ้นผมคิดว่ามีอยู่สองเรื่องนั่นก็คือ  เขาคนแรกก็คือ Mr. Market หรือ “นายตลาด”  ตามคำพูดของ เบน เกรแฮม ซึ่งก็คือนักลงทุนโดยรวมในตลาดหุ้นหรือพูดง่าย ๆ  ก็คือตลาดหุ้นนั่นเอง   เราจะต้องรู้ว่าตลาดหุ้นนั้นมี  “พฤติกรรม” หรือ  “กลยุทธ์ในการเล่นหุ้น”  อย่างไร   ถ้าเราเชื่อ เบน เกรแฮม  ตลาดหุ้นนั้นมักจะ  “คุ้มดี คุ้มร้าย”  อยู่เรื่อย ๆ  เอาแน่อะไรไม่ได้  บางทีในช่วงที่  “อารมณ์ดี” เป็นพิเศษ  พวกเขาก็แห่กันเข้ามาซื้อหุ้นให้ราคาหุ้นสูงลิ่วเกินกว่าพื้นฐานไปมาก  แต่ในบางช่วงที่เกิดอาการ “หดหู่” อย่างหนัก  พวกเขาก็เทขายหุ้นจนราคาต่ำกว่าพื้นฐานไปมาก  หน้าที่ของเราก็คือ  เราต้องรู้และฉกฉวยประโยชน์จากพฤติกรรมของพวกเขาแทนที่จะดีใจหรือตกใจและทำตาม

          แต่ถ้าเราเชื่อนักวิชาการตลาดหุ้น  พวกเขาก็จะบอกว่านักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นในตลาดนั้นต่างก็มีเหตุผล  นั่นก็คือ  เขาจะซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะกับพื้นฐานของมันเสมอเช่นเดียวกับคนที่ขายหุ้น  แน่นอน  ความเห็นหรือการวิเคราะห์ว่ามูลค่าพื้นฐานคือเท่าไรนั้นคนสองคนอาจจะมองไม่เหมือนกันและนั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีการซื้อและขายหุ้นเกิดขึ้น  อย่างไรก็ตาม  โดยเฉลี่ยแล้วความคิดของนักลงทุนเกี่ยวกับมูลค่าของหุ้นแต่ละตัวก็มักจะถูกต้องเช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นที่เป็นตัวแทนของหุ้นทั้งหมดที่จะสะท้อนพื้นฐานของตลาด  ส่วนการที่บางครั้งราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากหรือตกต่ำลงมากนั้นเป็นเพราะว่าพื้นฐานของกิจการหรือภาวะทางการเงินเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรงทำให้นักลงทุนซื้อหรือขายหุ้นมาก  ไม่ใช่เรื่องที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นอารมณ์ดีหรืออารมณ์หดหู่แต่อย่างใด

           การรู้จัก “นายตลาด” หรือ “รู้เขา”  นั้น  จะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนหรือเล่นหุ้นได้ดีขึ้นแน่นอน  ประเด็นก็คือ  ถ้าเราสรุปว่าภาวะตลาดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้  อาจจะเนื่องจากเพราะคนในตลาดหุ้นเป็นคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน”  ทำให้คาดเดายาก  หรือคนในตลาดอาจจะมีเหตุผลเป็นนักลงทุนที่มีข้อมูลและความสามารถวิเคราะห์สูงแต่เนื่องจากภาวการณ์แวดล้อมเช่นเรื่องของเศรษฐกิจ  การเงิน และตลาดการเงินระหว่างประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดเวลา  ดังนั้น  การที่เราจะพยายามไปฉกฉวยประโยชน์จากภาวะตลาดจึงอาจจะไม่มีประโยชน์อะไร

             “เขา”  อีกคนหนึ่งที่เราจะต้องรู้ก็คือ  บริษัทจดทะเบียนหรือหุ้น  นี่คือเขาที่เราจะต้องรู้ก่อนที่จะเข้าไปลงทุน  สิ่งที่จะต้องรู้ก็คือ  เขาหรือบริษัทเป็นอย่างไร?  ทางหนึ่งที่จะใช้ในการเรียนรู้เขาก็คือ  การกำหนดหรือบอกให้ได้ว่าบริษัทอยู่ในหุ้นกลุ่มไหนใน 6 กลุ่ม ตามแนวทางของ ปีเตอร์ ลินช์ นั่นคือ  บริษัทเป็นกิจการที่โตช้า  โตเร็ว  วัฏจักร  แข็งแกร่ง ฟื้นตัว หรือมีทรัพย์สินมาก  ถ้าเรารู้  การลงทุนซื้อและขายหุ้นตัวนั้นก็ทำได้ง่าย  เพราะพวกเขาก็จะมีพฤติกรรมของราคาหรือการให้ผลตอบแทนที่พอจะคาดการณ์ได้  แต่การวิเคราะห์ว่าหุ้นแต่ละตัวควรจะเป็นกิจการประเภทไหนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  บ่อยครั้งเราก็เข้าใจผิดเนื่องจากเรายังศึกษาไม่ลึกพอ  เช่น  เราดูแต่ข้อมูลที่เป็นตัวเลขในระยะเวลาสั้นอาจจะเพียง 2-3 ปี แล้วก็สรุปโดยไม่ได้ดูปัจจัยทางคุณภาพซึ่งต้องใช้เหตุผลทางธุรกิจซึ่งประกอบไปด้วยการตลาด  การผลิต  การเงิน  การแข่งขัน  และอื่น ๆ  อีกมาก   หนทางที่จะเข้าใจหรือ “รู้เขา”  ในแง่ของตัวบริษัทนั้น  วิธีที่ดีก็คือ  หลังจากศึกษาข้อมูลด้านคุณภาพอย่างดีแล้ว   เราจะต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นตัวเลขย้อนหลังให้ยาวที่สุดเพื่อที่จะยืนยันหรือพิสูจน์ว่าความคิดหรือการวิเคราะห์ทางด้านคุณภาพของเราถูกต้อง ตัวอย่างเช่น  ถ้าเป็นกิจการโตเร็ว  ข้อมูลยอดขายและกำไรควรที่จะมีแนวโน้มโตขึ้นทุกปีอย่างมั่นคงไม่มีปีไหนถดถอยเป็นต้น

            การ “รู้เรา”  นั้น  หมายความว่าต้องรู้ว่าเราเป็นคนที่มีแนวทางการลงทุนหรือเล่นหุ้นอย่างไร  วิธีการนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องในแง่ของทฤษฎีและประวัติศาสตร์หรือไม่?  นอกจากนั้น  ในทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น  เรารู้หรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรหรือทำอย่างไรอยู่?   บางคนอาจจะคิดว่าการ  “รู้เรา”  นั้นไม่เห็นจะยาก  เราก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าเราคิดหรือทำอะไรไม่ใช่หรือ?  ผมเองคิดว่าไม่ใช่!

           คนจำนวนมากรวมถึงคนที่เรียกตัวเองว่า  VI  คิดว่าเขาเป็น  “นักลงทุน”  ซึ่งเน้นลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานหรือผลประกอบการระยะยาวของบริษัท   แต่สิ่งที่เขาทำมาตลอดนั้นก็คือการซื้อและขายหุ้นเปลี่ยนตัวอย่างรวดเร็วเป็นนิจสิน  ในกรณีแบบนี้  เราก็ควรจะต้องรู้ตัวหรือ  “รู้เรา”  ว่า  เราเป็น  “นักเก็งกำไร”  เพียงแต่เราอาศัยผลประกอบการที่อาจจะกำลังดีขึ้นมาเก็งกำไร

           การ “รู้เรา” อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ  “อัตราความกล้าเสี่ยงของเรา”  ว่าอยู่ในระดับไหน?  นี่ก็เช่นเดียวกัน  อย่าบอกหรือคิดว่าเราเป็นคน  “อนุรักษ์นิยม”  เป็นคนที่เน้นความปลอดภัยสูงไม่ชอบเสี่ยงถ้าพฤติกรรมตามปกติของเรานั้นมันขัดแย้งกัน   ตัวอย่างเช่น  เรามักจะลงทุนในหุ้นน้อยตัวมากหุ้นเพียง 2-3 ตัวมีสัดส่วนเป็น 70-80%  ของพอร์ตขึ้นไปเกือบตลอดเวลา  แถมใช้มาร์จินหรือกู้เงินมาซื้อหุ้นอีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์  แบบนี้จะบอกว่าเราเน้นความปลอดภัยไม่ได้   อย่างไรก็ตาม  การที่จะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างปราศจากความลำเอียงนั้นบางทีก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน   เหตุก็เพราะคนเรามักมีความเชื่อมั่นตนเองสูง  ดังนั้น  เรามักไม่ยอมรับว่าพอร์ตของเรามีความเสี่ยงสูง  เรามักจะคิดว่า  “เรารู้ดี”  เรารู้ว่าที่เราทำอยู่นั้นสำหรับคนที่ไม่รู้จริงอาจจะเสี่ยง   แต่สำหรับเราแล้วเรารู้ว่าหุ้นตัวนั้นดีมากมี Margin of Safety สูง  และดังนั้นมันจึงไม่เสี่ยง

             การ “รู้เรา”  ประเด็นสุดท้ายก็คือ  ในเรื่องสถานการณ์เฉพาะจุด  นั่นก็คือ  ในบางช่วงหรือบางสถานการณ์ที่ “ผิดปกติ”  เราอาจจะทำอะไรบางอย่างที่  “ออกนอกกรอบ” พฤติกรรมหรือแนวความคิดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับปรัชญาหรือแนวทางของตนเอง  ตัวอย่างเช่น  ในยามที่หุ้นตกหนักมากและเราดูว่าหุ้นถูกและมีความปลอดภัยสูง  เราอาจจะใช้มาร์จินบางส่วนมาซื้อหุ้น   หรือเราอาจจะมีหุ้นบางตัวมากเกินไปในพอร์ต  กรณีแบบนี้เราต้องรู้ว่ามันอาจจะอันตราย  และดังนั้นในไม่ช้าเมื่อมีโอกาสเราก็ควรจะต้องปรับพอร์ตให้กับมาสู่สถานะปกติ เป็นต้น
             การ “รู้เรา”  นั้น  บ่อยครั้งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการ  “รู้เขา”  เนื่องจากการมีความ  “ลำเอียง” ในเรื่องของการวิเคราะห์ตนเอง  แต่ถ้าเราจะประสบความสำเร็จในระยะยาวแล้วละก็  ผมคิดว่าเราจะต้องมีสติและรู้ตัวตลอดเวลา  เท็คนิคที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ  ในการลงทุนนั้นเราจะต้อง  “ถ่อมตัว”  อย่างจริงใจ  เตือนตัวเองว่า  เราอาจจะแพ้ได้เสมอ  อย่างที่จอร์จ โซรอส พูดว่า  “I am not invincible”   

Posted by nivate at 11:04 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/06/10/1299

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 18, 2013, 12:43:44 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 17 June 2013
เลือดนองตลาด



ช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่าตลาดหุ้นจะมีการปรับตัวลงมาแรงจนน่าตกใจ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาจากประมาณ  1640 กว่าจุดเหลือ 1465 จุดในวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นการตกลงมาเกือบ 200 จุดหรือลดลงประมาณ 10%    ในบางช่วงนั้น  บางวันหุ้นตกลงมาถึง 5%  และยังตกติดต่อกันอีกหลายเปอร์เซ็นต์ในวันต่อมาแม้ว่าจะมีการ “รีบาวด์”  เป็นระยะ ๆ  บางทีในวันเดียวกัน  เหตุผลที่หุ้นตกลงมานั้น  นักวิเคราะห์ต่างก็บอกว่าเป็นเรื่องของการที่สหรัฐอเมริกามีภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นดังนั้นมาตรการ QE ซึ่งคอยอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินทุกเดือนอาจจะต้องลดลงซึ่งจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินที่เคยไหลมาลงทุนในตลาดหุ้นเอเซียต้องถูกถอนกลับ  ผลก็คือ  นักลงทุนเทขายหุ้นและทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนักทั่วเอเซีย  ตัวเลขการขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นของไทยก็ฟ้องว่ามีการขายหุ้นจริงคิดเป็นหลายหมื่นล้านบาทตั้งแต่ต้นปี   วันที่หุ้นตกอย่างหนักบางวันก็เห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากถึง 5-6 พันล้านบาท   ปรากฏการณ์หุ้นตกครั้งนี้ผมมีความคิดและข้อสังเกตหลาย ๆ  อย่างที่อยากจะพูด

          เรื่องแรกก็คือ  การตกของหุ้นในรอบนี้ที่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงนั้น  ว่าที่จริงดัชนีหุ้นก็ยังสูงกว่าดัชนีเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 1392 จุด  ดังนั้น  สำหรับคนที่  “มองยาว”  อย่างผมซึ่งมักจะดูดัชนีเป็นปี ๆ  แล้ว  ผมไม่ได้คิดว่าหุ้นตกอะไรเลย  เพราะเมื่อผ่านมาประมาณเกือบครึ่งปีของปีนี้หุ้นก็ยังขึ้นมาประมาณ 5%  เมื่อรวมกับปันผลประมาณเกือบ 3%  ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมยังสูงถึง 8%  และถ้าเราคาดว่าหุ้นก็จะมีผลประกอบการแบบเดิมในครึ่งปีที่เหลือ   เราก็คูณด้วย 2  ก็จะได้ว่าหุ้นปีนี้อาจจะให้ผลตอบแทนถึง 16% ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดีเลิศ  ดังนั้น  เราจะเสียอกเสียใจไปทำไมถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว?   คนที่จะกลุ้มใจและอาจจะเสียหายหนักน่าจะเป็นคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงเร็ว ๆ   นี้ก่อนหุ้นจะตก   หรือไม่ก็เป็นคนที่ทุ่มเงินเข้ามาลงทุนมากในช่วงนี้   อย่างไรก็ตาม  คนที่มีหุ้นเต็มพอร์ตมาตลอดและถือหุ้นระยะยาวเองก็คงรู้สึกเศร้าอยู่เหมือนกันที่เห็นเงินในพอร์ต  “หาย”  หรือลดลงไปมากในช่วงเวลาสั้น ๆ   คำแนะนำหรือคำปลอบประโลมใจของผมก็คือ  นี่คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นถ้าเราอยู่ในตลาดหุ้นมานาน  วอเร็น บัฟเฟตต์ เองถึงกับบอกว่า   ถ้าคุณไม่สามารถมองเห็นพอร์ตหรือราคาหุ้นลดลงไปถึง 50% ได้  คุณก็ไม่ควรอยู่ในเกมของการลงทุน

          เรื่องที่สองก็คือ  การตกของหุ้นในรอบนี้เป็นสิ่งที่ผมเคยคาดไว้หรือไม่?   คำตอบก็คือ  ผมเองคิดไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่หุ้นอาจจะไม่ดี  ว่าที่จริงผมเองคิดว่ามีโอกาสที่ผลตอบแทนของปีนี้จะ  “ติดลบ”  ด้วยซ้ำ  เหตุผลของผมก็คือ  ตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไปถึงปี 2552 หรือ 4 ปีที่ผ่านมานั้นให้ผลตอบแทนที่  “สุดยอด” นั่นคือ  ปี 2552 หุ้นขึ้นมา 63%  ปี 53 หุ้นขึ้นอีก 41%  ส่วนปี 54 นั้น หุ้นนิ่งเท่ากับปี 53 หรืออาจจะเรียกว่า  “หยุดพัก”  หลังจากนั้นในปี 55  หุ้นก็เริ่มวิ่งใหม่  ขึ้นมาอีก 36%   จากดัชนีสิ้นปี 51 ที่ประมาณ 450 จุดขึ้นมาเป็น 1392 เมื่อสิ้นปี 55 หรือขึ้นมาสูงเป็นกว่า 3 เท่าในเวลา 4 ปี  ซึ่งเป็นสถิติที่ตลาดไทยไม่เคยเจอ  และถ้าปี 56 ตลาดหุ้นขึ้นมามากอีก  มันก็เป็นอะไรที่  “สุดโต่ง”  เมื่อเทียบกับสถิติ “ระยะยาว”  ของตลาดหุ้นไทยที่ผลตอบแทนประจำปีที่เป็นบวกต่อปีที่ผลตอบแทนเป็นลบนั้น  เป็นแค่ 60:40  และผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเป็นแค่ประมาณ 10%   ดังนั้น  ความหวังของผมในตอนสิ้นปี 2555 ก็คือ  ดัชนีตลาดในปี 2556 จะไม่เป็นลบ  แต่การณ์กลับเป็นว่า  เพียง 3-4 เดือนของปี 2556 ตลาดก็ขึ้นไปแล้วเกือบ 20%  ซึ่งทำให้ผมคิดว่า  การ “ปรับตัว”  น่าจะเกิดขึ้นได้เสมอ  ก็ได้แต่หวังว่าผลตอบแทนเมื่อสิ้นปีนี้จะไม่เป็นลบ

          เรื่องต่อมาก็คือ  ผมได้ทำอะไรเมื่อหุ้นตกลงมาแรง?  คำตอบก็คือ  ผมไม่ได้ทำอะไรเลย  ว่าที่จริงในทุกครั้งที่หุ้นตกแรงไม่ว่าจะในปีไหนหรือตกจากสาเหตุอะไร  ผมไม่เคยที่จะขายหุ้น  ผมคิดว่าในยามที่คนกำลัง “ขวัญผวา”  และเทขายหุ้นเหมือนฟ้าจะถล่มนั้น  หุ้นย่อมจะต้องตกเกินความเป็นจริง  ดังนั้น  ถ้าเราขายหุ้นในวันนั้น  เราก็จะขายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง  ผมคิดว่าถ้าเราคิดว่าพื้นฐานของกิจการเปลี่ยนจริง ๆ  เราก็รอขายในอีก 2- 3 วันที่คนหายตื่นตระหนกจะดีกว่า   ถ้าจะว่าไป  ในทุกครั้งที่เกิด “แพนิค”  หลังจากนั้นก็จะต้องมีการ  “รีบาวด์” ให้เราขายได้เสมอ  แต่ในกรณีที่พื้นฐานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  ผมก็ไม่ทำอะไร  บางทีถ้าหุ้นตัวที่เราสนใจตกลงมามากจนคุ้มค่า   ผมก็จะเข้าไปซื้อเท่าที่จะหาเงินมาได้

          เรื่องที่สี่ก็คือ  ในระดับดัชนีขณะนี้  มองไปข้างหน้าเราสามารถลงทุนระยะยาวโดยการเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือไม่?   นี่เป็นคำถามที่ตอบยาก  ประเด็นก็คือ  ในภาวะที่หุ้นร้อนแรงมาก แม้ว่าจะปรับตัวลงมาบ้าง)  ผมเองคิดว่าหุ้นที่มีราคาถูกมาก ๆ  นั้นหาได้ค่อนข้างยากหรือไม่ก็เป็นหุ้นที่อาจจะถูกแต่ก็มีความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะสูงสำหรับผม   ดังนั้น  ถ้าผมยังไม่มีหุ้นอยู่เลยหรือมีหุ้นจำนวนน้อยและมีเงินสดเหลือมาก  ผมก็คงจะ  “รอ”  หรือไม่ก็เลือกหุ้นบางตัวที่มีความปลอดภัยสูงและก็คงไม่เข้าไปลงทุนมากมายอะไรนัก   ผมคิดว่ายังน่าจะมีเวลาที่หุ้นจะตกต่ำลงมากกว่านี้  หรือไม่เราก็อาจจะพบหุ้นบางตัวที่โดดเด่นขึ้นมาจนมีคุณค่าและเป็นหุ้นที่มี Margin of Safety สูงพอที่เราจะลงทุนได้อย่างสบายใจ  จำไว้ว่าเราไม่มีแรงกดดันอะไรที่จะต้องตัดสินใจในสิ่งที่เราไม่แน่ใจ  อย่าลืมว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น  บ่อยครั้ง  นั่งทับเงินสดเป็นพัน ๆ ล้านเหรียญ เป็นปี ๆ
          คำถามสุดท้ายก็คือ  ถ้าเรามีหุ้นอยู่เต็มพอร์ต   เราควรทยอยขายออกไปไหมเพื่อ “ลดความเสี่ยง”  เหนือสิ่งอื่นใด  เราได้กำไรมามากแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ควรไหมที่เราจะ “ล็อก” กำไรหรือเม็ดเงินไว้  รอดูให้ทุกอย่าง “คลี่คลาย”  แล้วค่อยกลับมาลงทุนใหม่?   สำหรับคำถามนี้ผมเองยอมรับว่าตอบไม่ได้เหมือนกัน  จริงอยู่  ผมเองก็คิดว่าหุ้นในเวลานี้ไม่ถูกหรือบางทีอาจจะแพงด้วยซ้ำ  แต่ถ้าเราขายไปแล้วถือเงินสดหรือลงทุนในตราสารหนี้ก็ตาม  ผลตอบแทนที่ได้ก็จะต่ำมากอาจจะเพียง 2-3%  ในขณะที่การลงทุนในหุ้นนั้นอาจจะไม่ดี   แต่พอร์ตเราก็ยังอาจจะพอไปได้ให้ผลตอบแทนอาจจะ 4-5% แม้ว่าดัชนีตลาดอาจจะติดลบ  ในกรณีแบบนี้   การถือหุ้นไว้ก็ยังดีกว่า   และเมื่อตลาดเริ่มฟื้นตัว  พอร์ตของเราก็อาจจะเดินหน้าต่อไป  ดังนั้น  ดู ๆ  แล้ว  การที่จะขายหุ้นเพื่อถือเงินสดนั้น  อาจจะไม่ให้ประโยชน์อะไรและอาจจะทำให้พลาดอย่างแรงกรณีที่หุ้นไม่ได้ปรับลดดังคาด  และถ้าหากว่าหุ้นกลับขึ้นไปโดยที่เราไม่กล้ากลับเข้าไปในตลาดเร็วพอ  ความเสียหายก็จะเพิ่มทวีคูณ   ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ผมจึงมักจะ “อดทน” ถือหุ้นไว้แม้ในใจจะหวั่นว่าหุ้นอาจจะปรับตัวลงหนักได้ตลอดเวลา       

Posted by nivate at 1:22 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/06/17/1303

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 24, 2013, 06:05:55 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 24 June 2013
สื่อสายฟ้าแลบกับการลงทุน

ตั้งแต่มีระบบอินเตอร์เน็ตที่ทรงประสิทธิภาพผ่านระบบโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์แบบพกพาได้แล้ว   ผมก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  มากมายเกิดขึ้นในโลก  ในทางสังคมนั้น  เหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นแล้วคน  “ประทับใจ” ก็จะเกิดการส่งต่อด้วยวิธีการต่าง ๆ  ผ่านระบบสื่อที่เป็นธุรกิจและ “สื่อสังคม” ทันทีราวกับ  “สายฟ้าแลบ”   ผลก็คือ  มันก็กลายเป็น  “Talk of the town”  หรือเรื่องที่คนพูดถึงและวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางและส่งผลกระทบต่อไปเป็นทอด ๆ  บางเรื่องก็ทำให้คน  “ดังในชั่วข้ามคืน”  อย่างกรณีของนักร้องเกาหลีที่เต้นแบบ  “กังนัมสไตล์”  จนคนทั่วโลกคลั่งไคล้  ในทางตรงกันข้าม  มันก็อาจจะทำให้ธุรกิจหรือคนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้เช่นกัน

          ในทางการเมืองนั้น  เหตุการณ์  “อาหรับสปริง”  และการชุมนุมอีกหลายอย่างเช่น  “Occupy Wall Street” ที่คนประท้วง “ความโลภและความเลวร้าย” ของระบบตลาดทุนในสหรัฐนั้น  ก็เป็นผลจากระบบของ  “สื่อสังคมแบบสายฟ้าแลบ” ที่ทำให้คนออกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านสิ่งที่พวกเขาคิดเหมือนกันและมีความคิด  “รุนแรง” กับเรื่องดังกล่าว  โดยที่คนเหล่านี้อาจจะมีจิตวิทยาหรือความเชื่อของตนที่มีมานาน  หรืออาจจะเป็นคนที่ได้รับข้อมูลที่ถูกส่งมาจากคนที่มีความคิดและความเชื่ออย่างนั้นมาอย่างต่อเนื่องทำให้เขาคล้อยตามและเข้าร่วมชุมนุมด้วย  ผลก็คือ  ม็อบนั้นเกิดเร็วและแรงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตที่คนไม่สามารถส่งต่อหรือติดต่อความคิดและการนัดหมายกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ในทางเศรษฐกิจและการเงินเองนั้น  ผลกระทบจาก  “ข้อมูลสายฟ้าแลบ” นั้น  ส่งผลให้ระบบการเงินที่เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจจริงเกิดการปั่นป่วนรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ   มติการประชุมของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกานั้นถูกส่งต่อทันทีไปทั่วโลก   คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและการลงทุนแทบทุกประเทศต่างก็  “React” หรือตอบสนองโดยการปรับกลยุทธ์ทางด้านของอัตราดอกเบี้ย  อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน  และนโยบายในการจัดงบประมาณของประเทศ  ผลก็คือ  ในบางครั้งตลาดก็เกิดความปั่นป่วนเนื่องจากการ “เคลื่อนย้าย”  ของเม็ดเงินอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

          ช่วงเร็ว ๆ  นี้  ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวนรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยนั้น  บางวันดัชนีตกลงไปกว่า 40 จุดหรือประมาณ 3% ในช่วงเช้า  แต่พอถึงตอนบ่ายดัชนีกลับปรับตัวขึ้นเป็นประมาณเท่าเดิมได้  เช่นเดียวกัน  ในบางวันนั้นดัชนีเริ่มจากการบวกมากมายแต่แล้วก็กลับเป็นลบมากมายได้ในเวลาอันสั้น  ความผันผวนนั้นกว่า 5% ภายในวันเดียว  สำหรับคนที่ซื้อขายระยะสั้น ๆ  นั้น  การขาดทุนหรือกำไรต่อวันนั้นสูงลิ่วแทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อน  เหตุผลนั้นไม่ใช่เรื่องที่มาจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว  “สื่อสายฟ้าแลบ”  ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นในเมืองไทยเพียง 2-3 ปีนี้มีผลต่อนักลงทุนมหาศาล   นักลงทุน   ว่าที่จริงก็เกือบทุกคนในสังคมของคนที่มีเงินรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้น   ต่างก็พกโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตติดตัวตลอดเวลา  สายตาของพวกเขานั้น  ถ้าไม่ได้ทำงานหรือดูอย่างอื่นอยู่ก็จะอ่านข้อมูลข่าวสารที่มีคนส่งเข้ามาเป็นระยะ   เช่นเดียวกับที่บางครั้งเขาก็เป็นคนส่งข้อมูลที่เขาคิดหรือได้รับมาอีกต่อหนึ่งออกไปสู่คนอื่นอีกมากมายได้ด้วยการกดแป้นพิมพ์เพียงครั้งเดียว  ผลก็คือ  ทุกคนซื้อขายหุ้นกันตามข่าวสารนั้นและทำให้หุ้นผันผวนอย่างรวดเร็ว  “ตามข่าว”

          คนที่เป็น  “VI” นั้นควรที่จะต้องเข้าใจว่าปรากฏการณ์ของ “สื่อสายฟ้าแลบ”  และข่าวหรือข้อมูลต่าง ๆ  ที่ถูกส่งออกไปว่ามันอาจจะมีทั้งเรื่องจริงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง  หรือมันเป็นเรื่องที่ไม่จริงไม่ถูกต้องที่คนเข้าใจผิด  หรือมันเป็นเรื่องที่ไม่จริงไม่ถูกต้องและคนที่ส่งออกไปก็รู้แต่ต้องการให้มันมีผลต่อราคาหุ้นที่ตนถืออยู่หรือต้องการซื้อหรือขาย  ความสามารถในการที่จะแยกแยะหรือรับรู้ข่าวสารและข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุน   ในภาวะปัจจุบันนั้น  ผมคิดว่าการหาข้อมูลนั้นง่ายมาก  เราแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลยโดยเฉพาะหลังจากกำเนิดของกูเกิ้ล  แต่การที่จะเลือกรับเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก  บางทีอาจจะยากกว่าในสมัยก่อนที่การผลิตข้อมูลและส่งออกไปมีราคาแพงมากเนื่องจากสื่อที่เป็นมหาชนนั้นมีจำกัด ดังนั้น  ข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ถูกต้องจึงไม่สามารถผลิตและส่งออกมาได้ง่าย   แต่ในปัจจุบันนั้น  ทุกคนสามารถส่งข้อมูลให้คนเป็นร้อยเป็นพันได้และไม่มีใครมากรองหรือกีดกันข้อมูลนั้นเลย  ดังนั้น  ข้อมูลที่ท่วมท้นในตลาดหุ้นและการลงทุนในปัจจุบันจึงอาจจะมีที่ถูกต้องและมีคุณค่าในการใช้เวลาอ่านเพียง 1 ใน 10 หรือน้อยกว่านั้น  และถ้าเราอ่านไปเรื่อยโดยไม่แยกแยะเราก็ไม่ได้อะไร  ที่ยิ่งแย่ก็คือ  เราอาจจะรับในสิ่งที่ผิดหรือถูก  “ล้างสมอง” ให้เชื่อในสิ่งที่ผิดซึ่งจะทำให้แนวทางการลงทุนของเราไม่ประสบความสำเร็จ

          ถ้าจะลองมาดูว่าแต่ละวันเรารับอะไรมาบ้างและเรามีปฏิกริยาอย่างไรกับมันก็จะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงตัวเองให้เป็น VI ที่ดีขึ้นได้

          สิ่งแรกก็คือ  ข่าวต่าง ๆ  ที่มักเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความเห็นประกอบ  นี่ส่วนมากก็มักจะเป็นเรื่องของตัวเลข  เช่น ดัชนีหุ้น  ตัวเลขกลุ่มผู้ซื้อขายหุ้นแต่ละกลุ่ม  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้มักไม่เป็นปัญหา  แต่เหตุผลต่าง ๆ  ที่มักจะมีการอธิบายประกอบนั้น  เราก็ต้องระวังว่ามันอาจจะไม่จริงแต่เป็นความเห็นของนักวิเคราะห์เราก็อาจจะฟังแบบผ่าน ๆ  เนื่องจากมันอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรนักเพราะความเห็นหรือแม้แต่ความจริงที่ผ่านไปแล้วมักจะไม่มีผลอะไรกับราคาหุ้นในอนาคต

          ข้อมูลต่อมาที่มีมากมายไม่แพ้กันทุกวันก็คือ  การ “เชียร์หุ้น”  ทั้งซื้อหรือขายของนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่อาจจะเป็นเพื่อนกับเราหรือที่เราได้รับผ่านเพื่อน  ว่าที่จริง เดี๋ยวนี้จะเป็นใครก็ไม่มีความหมายอะไรเพราะมันผ่านมาถึงเราได้ตลอด  ประเด็นก็คือ  การ “แนะนำหุ้น”  แทบจะทุกรายการนั้น  ผู้แนะนำนั้นต่างก็มี  “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ทั้งสิ้น   บางทีก็อาจจะขัดแย้งกับคนที่เขาอยากให้ได้รับข่าวสาร  เช่น  แนะนำให้ซื้อในราคาสูงเพื่อเขาจะได้ขาย  หรือถึงบางคนไม่ต้องการขายแต่เขาก็อยากให้หุ้นที่เขาแนะนำขึ้นอยู่ดีถ้าเขาซื้อครบแล้ว   บางคน  เช่นนักวิเคราะห์เองนั้น  พวกเขาอาจจะไม่ได้มีหุ้นหรือต้องการทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นโดยตรง  แต่พวกเขาก็ต้องการให้คนซื้อขายหุ้นบ่อยขึ้นเพื่อที่บริษัทเขาจะได้ค่าคอมมิสชั่นหรือได้ธุรกิจอื่นเพิ่ม  ผลประโยชน์ของเขาก็คือ  เงินเดือนและโบนัสและชื่อเสียงในการที่แนะนำถูกต้อง--ในระยะสั้น

          ข้อมูลที่มีมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  “ข่าวลือ”  นี่ก็เป็นข่าวหรือเป็นข้อมูลที่ “ขายได้”  ในแง่ที่ทำให้คนเข้ามาอ่านหรือมารับเนื่องจากคนชอบฟังเรื่องที่ “ปิดลับ” หรือยังไม่ปรากฏต่อสื่อที่เป็น “ทางการ”  แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีผลกระทบต่อราคาหุ้น  ตัวอย่างมีมากมายรวมถึงเรื่องเช่น  การเทคโอเวอร์  การแจกหุ้นเพิ่มทุนหรือวอแรนต์ และเรื่องอื่น ๆ  อีกสารพัดเช่น  หุ้นตัวนั้นหรือตัวนี้มี “เซียน” กำลังเก็บหรือขาย  นี่ก็เป็นเรื่องของข้อมูลที่ฟังได้แต่จริง ๆ  แล้วผมคิดว่ามีประโยชน์น้อยมาก  ข้อแรกก็คือ  มันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่จริงโดยเฉพาะถ้ามันไม่มีสัญญาณอย่างอื่นประกอบ  ข้อสองถ้ามันจริงแต่ตอนที่มันมาถึงเราคนอีกจำนวนมากที่อยู่ในระบบ  “สื่อสายฟ้าแลบ”  ก็รู้กันหมดแล้วซึ่งทำให้มันไม่มีประโยชน์ในแง่ของการลงทุน

          ทั้งหมดนั้นก็คือ “เสี้ยวเดียว” ของปรากฏการณ์ “ใหม่” ของโลกและประเทศไทยที่เราจะต้องเรียนรู้และรับกับมัน  เราหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่เราไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามคนส่วนใหญ่  ผมเองนั้นพยายามที่จะไม่เปิดรับข้อมูลมากเกินไป  เราต้องกรองเอาเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์  เราต้องเป็นคนเลือกและ  แสวงหาข้อมูลที่จะรับ  มิฉะนั้น  เราอาจจะกลายเป็น “เหยื่อ” ของคนที่มีเป้าหมายที่จะทำให้เราเชื่อในข้อมูลของเขา

Posted by nivate at 9:56 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/06/24/1306


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 29, 2013, 01:49:15 am
ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

(http://www.prachachat.net/news-photo/prachachat/2012/06/fin02180655p1.jpg)

หลักการหรือหัวใจของ Value Investment หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ก็คือ การหามูลค่าที่ควรจะเป็นหรือมูลค่า ?พื้นฐาน? ของหุ้น

จากนั้นก็ดูว่าราคาหุ้นในตลาดเป็นเท่าไร ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่คำนวณได้ก็ให้ซื้อ ถ้าราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานก็ให้ขาย เพราะนักลงทุนแบบ VI เชื่อว่าในที่สุดราคาหุ้นจะวิ่งเข้าหามูลค่าพื้นฐานเสมอ

คำถามสำคัญมีอยู่ 2 ข้อ นั่นคือ หนึ่ง มูลค่าพื้นฐานคืออะไร มาจากไหน อะไรเป็นตัวกำหนดมูลค่าพื้นฐานของหุ้น พูดง่ายๆ คำนวณมูลค่าพื้นฐานอย่างไร ข้อสอง เมื่อไรเล่าที่ราคาจะวิ่งเข้าหาพื้นฐาน เป็นไปได้ไหมที่ราคาหุ้นอาจจะไม่สะท้อนพื้นฐานเป็นระยะเวลานานมาก เผลอๆ ตลอดไป กลายเป็นหุ้นที่อาจจะ ?ถูกตลอดกาล? และถ้าเป็นอย่างนั้น VI จะได้อะไร

คำตอบทั้งสองข้อนั้นเกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือ คำตอบของข้อแรกก็จะตอบคำถามของข้อสองได้ คำถามที่ว่ามูลค่าพื้นฐานคืออะไรนั้น ถ้าจะตอบ ก็คือ เป็นมูลค่าปัจจุบันของหุ้นที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้จากบริษัทตลอดไป และผลตอบแทนที่ว่านั้น ก็คือ ?ปันผล? ในอนาคตทั้งหมดของบริษัท

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพที่เข้าใจได้ง่ายไม่เป็นวิชาการ ก็คือ ?เป็นราคาหุ้นที่เรายินดีที่จะจ่ายเงินซื้อเพื่อเก็บกินปันผลไปตลอดชีวิต โดยที่เราจะไม่ขายหรือเป็นหุ้นที่เราไม่สามารถขายได้? ดังนั้น เวลาที่ผมจะซื้อหุ้น ผมจะต้องคิดว่าราคาที่ผมจ่ายนั้น ผมยินดีหรือไม่ที่จะเก็บมันไว้ตลอดชีวิต เพื่อรับปันผล ถ้าคำตอบ คือ ?ไม่เอา? นั่นก็แปลว่า ราคานั้นสูงเกินไป อาจจะเป็นเพราะผมไม่แน่ใจว่าปันผลจะลดลง หรืออาจจะเป็นเพราะว่าผมกลัวว่าอนาคตบริษัทอาจจะเจ๊ง หรือธุรกิจตกต่ำลงมากและจ่ายปันผลน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งผมจะ ?ไม่มีทางออก? แต่ถ้าคำตอบของผมก็คือ ?เอา? นั่นก็แปลว่าผมมั่นใจในตัวบริษัทว่าจะยังดีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ปันผลในอนาคตนั้นมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะตกต่ำลงมีน้อยมาก ดังนั้น ผมยินดีซื้อและถือหุ้นตัวนั้นตลอดชีวิต

แน่นอน ในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นที่จะต้องถือหุ้นตลอดชีวิตเพื่อเก็บกินปันผล แต่เวลาพิจารณาซื้อหุ้นโดยอิงกับ ?มูลค่าพื้นฐาน? ของหุ้น เราจะต้องคิดว่าเราจะต้องเก็บหุ้นไว้ตลอดชีวิตจริงๆ ถ้าเราคิดว่าเราสามารถขายได้ทุกนาที หรือเราสามารถขายได้ถ้า ?สถานการณ์เปลี่ยน? หรือแม้แต่เราจะขายเมื่อ ?บริษัทโตเต็มที่แล้ว? ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นใน 3-4 ปีข้างหน้า แบบนี้แสดงว่าเรายังไม่ได้ซื้อหุ้นโดยอิงกับมูลค่าพื้นฐานจริงๆ เราอาจจะ ?เก็งกำไร? โดยอาจจะอิงกับปัจจัยพื้นฐานบางส่วนเท่านั้น

นอกจากเรื่องของปันผลในอนาคตแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการคำนวณหามูลค่าพื้นฐานของหุ้น ก็คือ ?อัตราคิดลด? ซึ่งก็คือ อัตราผลตอบแทนที่เราต้องการในการลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น อัตราผลตอบแทนนี้จะคล้ายๆ กับอัตราดอกเบี้ยที่เราได้ถ้าเราเอาเงินไปฝากธนาคารหรือลงทุนซื้อพันธบัตรซึ่งเราจะได้ผลตอบแทนที่แน่นอนเช่นปีละ 1% หรือ 3-4% ตามลำดับ แต่การลงทุนในหุ้นนั้น เราจะได้ปันผลที่มีอัตราไม่แน่นอนขึ้นกับผลกำไรของบริษัท ดังนั้น เราจึงต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยเช่นอาจจะได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10%

ปัจจัยสำคัญตัวสุดท้ายที่สำคัญมาก ก็คือ อัตราการเติบโตหรือการเพิ่มขึ้นของเงินปันผลในอนาคต นี่คือ สิ่งที่จะทำให้มูลค่าหุ้นสูงหรือต่ำอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถ้าปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นทุกปีหรือเกือบทุกปี ยิ่งนานปันผลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น บางทีผ่านไป 15-20 ปี เงินปันผลแต่ละปีอาจจะเพิ่มขึ้นเท่ากับเงินค่าหุ้นที่เราจ่าย ถ้าเป็นแบบนี้มูลค่าของหุ้นก็จะมาก แต่ถ้าปันผลไม่โตเลย เคยได้เท่าไร ผ่านไป 5-10 ปีก็ยังได้ปันผลเท่าเดิม แบบนี้หุ้นก็จะมีมูลค่าน้อย

ผมคงไม่อธิบายวิธีคำนวณหามูลค่าพื้นฐานตามวิชาการซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเกินไป แต่จะลองให้แนวคิดในการพิจารณาลงทุนซื้อหุ้นโดยใช้หลักการของ ?มูลค่าพื้นฐาน? ดังที่ได้กล่าวมา โดยสมมติว่าเราพบหุ้นตัวหนึ่งที่ทำธุรกิจโมเดิร์นเทรดหรือค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีผลประกอบการที่สม่ำเสมอ และคาดการณ์ผลประกอบการไม่ยากนัก

บริษัท ก. มีกำไรปีละ 0.40 บาทต่อหุ้น จ่ายปันผลปีละ 0.30 บาท ราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาทต่อหุ้น เราคาดว่ากิจการของบริษัทนี้จะเติบโตขึ้นประมาณปีละ 10% ไปได้เรื่อยๆ โดยที่บริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุน เพราะฐานะทางการเงินดีมากไม่มีหนี้สินจากสถาบันการเงินเลย ถามว่ามองโดยพื้นฐานเราควรซื้อหุ้นบริษัทนี้หรือไม่

ก่อนอื่นลองคำนวณดูว่าในปีแรกที่เราลงทุนนั้น เราจ่ายเงินค่าหุ้น 10 บาท และได้ปันผล 0.30 บาทเท่ากับว่าเราได้ปันผลปีแรก 3% ดูแล้วก็อาจจะไม่น่าจูงใจอะไร เพราะเราลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งไม่มีความเสี่ยงเลยเรายังได้ดอกเบี้ยประมาณ 4% แต่เนื่องจากกำไรของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นได้ปีละ 10% ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลได้เพิ่มขึ้นปีละ 10% เช่นกัน ดังนั้น ปีที่สองปันผลน่าจะเป็น 3.3% และปีที่สามน่าจะเป็น 3.63% ปีที่สี่เท่ากับประมาณ 3.99 หรือ 4% ซึ่งเท่ากับพันธบัตรแล้ว หลังจากนั้น อัตราก็จะสูงกว่าไปเรื่อยๆ พอถึงปีที่ 10 ปันผลก็เท่ากับ 8.56% และเมื่อถึงปีที่ 37 ซึ่งอาจจะเป็นปีที่เราเกษียณ ปันผลที่ได้ในแต่ละปีอาจจะเป็น 10 บาท เท่ากับราคาหุ้นในวันนี้ และทำให้เราเกษียณอย่างมีความสุข เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ ตั้งแต่ปีที่ 4 ของการถือหุ้น เราก็ได้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นๆ แล้ว ดังนั้น เราจึงคิดว่าราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาท เป็นราคาหุ้นที่เหมาะสมกับพื้นฐานในแง่ของเราและเรายินดีที่จะซื้อมัน

คำถามต่อมา ก็คือ ถ้าราคาหุ้น ก. ที่ 10 บาทซึ่งเราคิดว่าถูก แต่ถ้าถือแล้วมันไม่ขึ้นทั้งที่กำไรและปันผลของบริษัทก็ดีขึ้นตามที่คาดแต่ราคาหุ้นกลับไม่ขึ้นสักทีเป็นเวลาหลายปี แบบนี้เราควรจะขายทิ้งไหม คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น จำไว้ว่าถ้าเรา ?ลงทุนตามพื้นฐาน? และมั่นใจว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ถูกต้อง เราก็ถือมันไป

ผลตอบแทนของเรานั้น เราต้องคิดว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยนักลงทุนคนอื่นในการมาซื้อหุ้นต่อจากเราในราคาที่สูงขึ้น แต่มันมาจากปันผลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของบริษัท แต่เชื่อผมเถอะครับว่า ในที่สุดแล้ว คนจะต้องเห็นว่าบริษัทดีและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ผมเองเคยถือหุ้นมา 3-4 ปีโดยที่ราคาไม่ไปไหน แต่พอมันวิ่ง มันก็ขึ้น ?ชดเชย? ช่วงเวลาที่มันนิ่งในเวลาอันรวดเร็ว ประเด็นสำคัญ ก็คือ VI ต้อง ?รอเป็น? ว่าที่จริง การที่หุ้นไม่ขึ้นเลยทั้งๆ ที่บริษัทดีขึ้นหรือจ่ายปันผลมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น กลับเป็นโอกาสที่เราจะซื้อหุ้นเพิ่ม และทำกำไรมากขึ้น


ปันผลคือพื้นฐานหุ้น

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

วันที่ 14 กันยายน 2553

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/d...%E0%B8%99.html

ขอบคุณแหล่งข้อมูลครับ
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 03, 2013, 02:15:22 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Tuesday, 2 July 2013

แรงปรารถนา


ในช่วงนี้  หรือที่จริงก็เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ  เรื่อยมา  มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องของพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เป็นของ  “ฆราวาส”  เช่น  การท่องเที่ยวและใช้สิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือยหรือการเกี่ยวพันกับผู้หญิงในแบบที่ไม่เหมาะสม   หรือที่ดีขึ้นมาก็คือ  ละเพศบรรพชิตก่อนที่จะอยู่กินกับผู้หญิงที่ได้เข้ามาใกล้ชิดในช่วงที่ยังเป็นพระอยู่   เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ  และก็คงจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ  เหตุผลก็เพราะว่า  ความรักและกามารมณ์    รวมถึงการท่องเที่ยวและการใช้ของหรูนั้นเป็นเรื่องของ  “ความต้องการที่รุนแรง” ของมนุษย์ที่แม้แต่พระก็  “ขัดขืน”  ยาก  เพราะมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่ใน “สมอง”  ที่เราอาจจะคิดและฝืนมันได้   แต่มันเกิดขึ้นใน  “ยีน” ของคนเราที่ต้องการมันซึ่งบ่อยครั้งสมองก็  “เอาไม่อยู่”

            Mission หรือ “ภารกิจ” หลักของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งนั้นก็เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์อย่างอื่นนั่นก็คือ  หนึ่ง  จะต้องเอาตัวรอด  ซึ่งก็คือจะต้องกินสิ่งมีชีวิตอื่นและหลีกเลี่ยงการถูกกินหรืออันตรายอื่น ๆ  และสอง  จะต้องสืบพันธุ์ขยายเผ่าพันธุ์หรือยีนของตนเองให้มากที่สุด  ส่วนเรื่องวิธีการที่จะทำให้ได้อย่างนั้นน่าจะต้องถือว่าเป็น “ภารกิจรอง” ยกตัวอย่างเช่น  มีคนเคยสงสัยว่าทำไมอดีตประธานาธิบดีคลินตันจึง  “เสี่ยง”  การสูญเสียตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเพียงเพื่อที่จะได้  “มีเซ็กส์”  กับเด็กฝึกงานคนหนึ่ง  คำตอบของนักวิชาการคนหนึ่งซึ่งผมลืมชื่อไปแล้วก็คือ  นี่เป็นข้อสงสัยของคนที่ไม่เข้าใจเรื่องของชีววิทยาที่แท้จริง   สำหรับนักวิชาการท่านนี้แล้ว  การที่คน “ดิ้นรน” เพื่อที่จะเป็นประธานาธิบดีนั้น  จริง ๆ  ไม่ใช่จุดสุดท้ายหรือเป้าหมายสุดท้ายของเขา  สิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ  ก็คือ  การมีโอกาสมีเซ็กส์เพื่อที่จะสืบทอดเผ่าพันธุ์หรือยีนของเขาต่างหาก  พูดง่าย ๆ  การเป็นประธานาธิบดีนั้นเป็นหนทางสู่การมีอำนาจ  การมีอำนาจเป็นหนทางสู่การอยู่รอดและการสืบพันธุ์ซึ่งเป็นภารกิจหลัก  ดังนั้นการมีเซ็กส์ของคลินตันจะเรียกว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่ได้ในทางชีววิทยา

             ผมเกริ่นมายาวเพื่อที่จะบอกว่าเราจะต้องเข้าใจเรื่องของ  “ความต้องการที่แรงกล้า”  ของคนเพื่อที่จะได้รู้ว่าสินค้าอะไรจะขายดี  บริษัทไหนที่จะมีโอกาสทำกำไรมากและเติบโตได้ดีหรือเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ประเด็นหลักก็คือ  อะไรก็ตามที่สนองตอบต่อการเอาตัวรอดและการสืบพันธุ์ของคนหรือถ้าจะให้ถูกต้องกว่าก็คือ “ยีน” ที่ดีขึ้น  สิ่งนั้นก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น  แต่เคล็ดลับของการดูว่าอะไรคือ “ความต้องการที่แรงกล้า” ของคนนั้น  เราจะต้องมอง  “ย้อนหลัง”  กลับไปยังอดีตที่โลกยังไม่เจริญและมนุษย์ผู้ชายยังมีหน้าที่ล่าสัตว์และมนุษย์ผู้หญิงอยู่ถ้ำเลี้ยงลูกและเก็บของป่าเพื่อประทังชีวิตที่ยากลำบากมาก  พฤติกรรมดังกล่าวนั้นดำรงอยู่มานานนับเป็นหมื่นหรือแสนปีซึ่งทำให้มัน  “ติดอยู่ในยีน” ซึ่งยังดำรงอยู่ในร่างกายของมนุษย์จนทุกวันนี้ส่งผลให้เรามีความสามารถและความต้องการอย่างที่เราเป็นในสังคมปัจจุบัน

นั่นก็คือ

            หนึ่ง  มันทำให้คนเราโดยเฉพาะผู้ชายชอบมีเซ็กส์และมีบ่อย ๆ  มากกว่าผู้หญิงที่จะต้องมั่นใจว่าถ้ามีเซ็กส์และมีลูก  ลูกจะต้องมีโอกาสรอดเพราะผู้ชายที่เป็นพ่อนั้นมีความสามารถ (สมัยก่อนก็คือการล่าสัตว์ สมัยนี้อาจจะเป็นการแสดง  การเล่นกีฬา  การบริหารหรือการลงทุน)  มีปัญญาที่จะหาเลี้ยงครอบครัวได้  สรุปก็คือ  ผู้ชายชอบผู้หญิงสวย เพราะผู้หญิงสวยคือคนที่มีสุขภาพดีมีหุ่นดีซึ่งจะมีลูกง่าย)  ส่วนผู้หญิงชอบผู้ชายที่ความสามารถสูง  รวยและเป็นผู้นำ  รวมถึงถ้าตัวสูงก็จะดีเพราะคนตัวโตมักล่าสัตว์ได้ดี)  ประเด็นเรื่องนี้ทำให้สินค้าเกี่ยวกับความสวยงาม  เช่น  เสื้อผ้าสตรี กระเป๋า เครื่องประดับ  เครื่องสำอาง  สถานเสริมสวยทั้งหลายรวมถึงการศัลยกรรมความงามนั้น   เป็นธุรกิจที่ดี  เพราะมันเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงในการสืบต่อเผ่าพันธุ์  มันจึงเป็นความปรารถนาที่แรงกล้าที่ผู้หญิงยินดีจ่าย  ธุรกิจในส่วนของผู้ชายที่น่าจะเป็นความต้องการที่แรงกล้าอาจจะเป็นเรื่องของรถสปอร์ตหรู  มอเตอร์ไซค์แบบหรู  ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเร็ว  การแข่งขันกีฬา  และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องของเซ็กส์ทั้งหลาย  เพราะผู้ชายนั้นเป็น “นักล่า”  ดังนั้น  เขามักชอบอะไรที่เป็นเรื่องของความเร็วและการต่อสู้  ซึ่งก็คือการแข่งขันต่าง ๆ  เช่นฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในปัจจุบัน

            สอง  ในเรื่องของการ “เอาตัวรอด”  นี่ก็มีสินค้ามากมายที่คนยินดีจ่าย  อาหารและการกินนั้น  แน่นอน  เป็นธุรกิจที่ดีเพราะมันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต  คนชอบกินอาหารที่มีโปรตีนสูง  เช่นเดียวกับแคลลอรี่สูง  อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันหรือหวานคืออาหารที่  “อร่อย” ในยีนของคน   การเอาตัวรอดของคนในสมัยก่อนนั้นยังรวมถึงการพยายาม “ลดการใช้พลังงาน”  ให้ต่ำลงเพราะอาหารในยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้หาได้ง่าย   ดังนั้น  นี่น่าจะทำให้คนเรา  “ชอบสบาย”  ไม่ชอบทำงานหนัก  เขาชอบที่จะ  “ล่า” สัตว์โดยใช้ความพยายามที่น้อยที่สุด  ดังนั้น  สินค้าของจำเป็นในชีวิตที่ตอบโจทย์เรื่องราคาที่ถูก  สามารถจับจ่ายในที่เดียว  หรือร้านที่ให้ความสะดวกสบายในการซื้อหาจึงเป็นธุรกิจที่ดี

             สาม  เรื่องของความตายนั้นเป็นสิ่งที่คนพยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด  ดังนั้น  อะไรที่สามารถลดความเสี่ยงหรือยืดอายุให้ยาวขึ้นย่อมเป็นธุรกิจที่ดี  ธุรกิจยา  โรงพยาบาล  อาหารเพื่อสุขภาพ  และอื่น ๆ  ต่างก็เป็นธุรกิจที่คนยอมจ่ายแพง ๆ   ถ้าเขามีเงินพอ

             สี่  เรื่องบางอย่างที่คนอาจจะไม่คิดว่าเกี่ยวพันกับความต้องการที่แรงกล้าเช่นกันก็คือ  เรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ไกล ๆ  เหตุผลที่คนชอบเดินทางนั้น  เป็นเพราะนี่จะช่วยเพิ่มโอกาสที่คนจะเอาตัวรอดและมีคู่ได้ดีขึ้น  ลองคิดดูว่าถ้ามนุษย์ไม่เดินทางออกไปไกล ๆ  เขาก็คงไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ไปได้มากเนื่องจากอาหารจะจำกัด  การอยู่แต่ในบริเวณหรือหมู่บ้านแคบ ๆ  พวกเขาก็อาจจะต้องแต่งงานกันเองซึ่งทำให้ยีนนั้นไม่หลากหลายและไม่สามารถต้านทานโรคร้ายบางอย่างได้ ผลก็คือในที่สุดเผ่าพันธุ์ก็อาจจะหมดไป   ดังนั้น  คนจึงชอบเดินทางไปสถานที่ใหม่ ๆ  และนี่ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องนั้นเติบโตไปเรื่อย ๆ  ซึ่งรวมถึงธุรกิจการบิน  โรงแรม  และอื่น ๆ

           ธุรกิจสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ธุรกิจของหรูหราฟุ่มเฟือย  นี่คือ สินค้าที่คนปรารถนาอย่างแรงกล้า  ผมคิดว่าของหรูที่มีราคาแพงนั้นคนต้องการเพราะว่ามันเป็นเครื่องบ่งบอกถึง “ความมั่งคั่ง” หรือความสำเร็จของคนใช้ที่มีปัญญาซื้อของเหล่านั้น  ดังนั้น  มันจึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เพศตรงข้ามเข้ามาหาได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง  ดังนั้น  มันจึงมักเป็นธุรกิจที่ดี
           ก่อนที่จะจบผมจำเป็นที่จะต้องเตือนด้วยว่า  เวลาเราดูว่ามันเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีนั้น  เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ต้องดูว่าบริษัทไหนที่สามารถสนองตอบต่อความปรารถนาที่แรงกล้านั้นได้แบบโดดเด่นมากและเหนือกว่าคู่แข่งเนื่องจากความได้เปรียบในเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนหรือไม่  ถ้าไม่ใช่  บริษัทก็อาจจะไม่มีค่าอะไรมากนัก  แต่ถ้าใช่  บริษัทนั้นก็จะมีคุณค่ามาก  และสุดท้ายก็คือ  การวิเคราะห์ในบทความนี้ผมหวังว่าจะไม่ทำให้นักการศาสนา  นักสิทธิมนุษยชนหรือคนที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเข้าใจผิดว่าผมเป็นคนไม่มีศีลธรรมหรือเหยียดผิวหรือเพศ  เพราะสิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้นเป็นเรื่องจริงทางธรรมชาติ  เป็นเรื่องของประวัติหรือวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง

Posted by nivate at 11:35 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/02/1308

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 08, 2013, 10:21:15 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 8 July 2013

คุณค่า(ทางจิตใจ) VS ราคา


ในแวดวงของนักลงทุนแบบแบบ Value Invesment นั้น  คำสองคำที่เราพูดถึงอยู่เสมอก็คือ  Value กับ Price หรือ  คุณค่า  กับ ราคา   “คุณค่า”  นั้นก็คือสิ่งที่เราจะได้จากการถือทรัพย์สินนั้น  พูดง่าย ๆ  เราจะได้อะไรจากทรัพย์สินนั้น  ซึ่งในเรื่องของหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นก็คือ  ปันผลที่เราจะได้ตลอดอายุของการลงทุนหรือตลอดไป    ส่วน “ราคา” ก็คือสิ่งที่เราจะต้องจ่ายในการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว  หน้าที่หลักของเราก็คือ  ประเมินดูว่าคุณค่าหรือมูลค่าของหุ้นตัวนั้นควรจะเป็นเท่าไรโดยหาจาก  “มูลค่าปัจจุบัน” ของปันผลที่จะได้รับในอนาคตทั้งหมด  แล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับราคา  หากมูลค่าสูงกว่าราคาเราก็ซื้อ  แต่ถ้ามูลค่าต่ำกว่าราคา  เราก็ขาย  เพราะเราเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว  ราคาจะวิ่งเข้าไปหามูลค่าที่แท้จริงเสมอ  ในเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  มูลค่าหรือคุณค่าของหุ้นมีเพียงหรือควรจะมีเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือปันผลที่จะได้รับเป็นเงินสด  คุณค่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินและมักจะไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นตัวเงิน  เช่น  ชื่อเสียงหรือความรู้สึกทางจิตใจนั้น   เราจะไม่นำมาคิด

         แต่ในโลกที่กว้างออกไป  “คุณค่า” นั้น  ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของเงิน  คุณค่าทางด้าน  “จิตใจ” ก็มีอยู่มากพอที่จะทำให้คนยอมจ่าย  “ราคา”  เพื่อที่จะได้มันมา  หรือถ้าจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ  คนแต่ละคนจะประเมินดู  “คุณค่าทางด้านจิตใจ” ที่เขาจะได้รับทั้งหมด  แล้วนำมาเปรียบเทียบกับ  “ราคาหรือเม็ดเงิน” ที่เขาจะต้องจ่าย  ถ้าคุณค่านั้นสูงกว่า  เขาก็จะ  “ซื้อ”   แต่ถ้าไม่  เขาก็อาจจะขายถ้าสามารถขายได้   ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คุณค่าทางจิตใจนั้นแตกต่างจากคุณค่าที่เป็นเม็ดเงินก็คือ  คุณค่าทางจิตใจนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน  ของสิ่งเดียวกันสำหรับคนหนึ่งอาจจะมีคุณค่ามาก  แต่สำหรับอีกคนหนึ่งมันอาจจะไม่มีค่าอะไรเลย  ลองมาดูกันว่าใน “ตลาด” ที่ขาย  “คุณค่าทางจิตใจ” ของประเทศไทยเรานั้นมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ

          ในเมืองไทยที่สังคมยังค่อนข้างติดยึดกับระบบ  “ศักดินา” ที่แบ่งคนเป็น  “ชนชั้น” ตามฐานันดรต่าง ๆ  นั้น  ทำให้ยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเป็นสิ่งที่คนต่างก็แสวงหา  คนมักจะยกย่องเชิดชูคนที่มีฐานะและตำแหน่งที่เป็นทางการสูงโดยที่ไม่ใคร่สนใจว่าคน ๆ  นั้นจะมีความรู้ความสามารถหรือมีคุณธรรมจริง ๆ หรือไม่  ดังนั้น  คนที่มีปัญญา  มีความรู้ความสามารถ  หรือเพียงแต่มีเงินจึงต้องการ  “หัวโขน” มาประดับด้วย  หัวโขนหรือตำแหน่งที่เป็น  “ทางการ”  จึงเป็นสิ่งที่มีค่า  เป็น  Value  สำหรับคนหลาย ๆ  คน  และดังนั้น  พวกเขาจึงยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อเป็น “ราคา”  ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับ “หัวโขน”  แต่ละแบบ   และนี่ก็เป็นที่มาของเรื่องการ  “ขายปริญญา”ของ  “มหาวิทยาลัย” ที่ไม่ได้มีมาตรฐาน  หรือไม่ก็เป็นปริญญากิตติมศักดิ์ที่มอบให้แต่ผู้รับต้อง  “จ่ายเงิน”   นอกจากนั้น  ในอดีตเราก็เคยมีกรณี  “เครื่องราช”  ที่คนต้องจ่ายเงินให้กับคนที่จัดการทำเรื่องหลอกลวงว่ามีการบริจาคเงินให้กับวัดเพื่อเสนอขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับคนที่ต้องการได้เครื่องประดับนี้โดยที่ตนไม่สมควรได้

          อาหารเสริมเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก  ผู้ผลิตมีตั้งแต่บริษัทระดับโลกไปยันกิจการครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่มีการค้นคว้าวิจัยอะไรเลย  “คุณค่า” ของอาหารเสริมจำนวนมากที่จะมีต่อร่างกายนั้นยังมีข้อสงสัยอยู่มาก  หมอหรือนักวิชาการจำนวนมากที่ผมรู้จักหรือได้อ่านบทความนั้นบอกว่าอาหารเสริมส่วนใหญ่นั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลยนอกจากความรู้สึกทางใจที่ว่ามันช่วยให้สุขภาพดีขึ้น  อย่างไรก็ตามคนจำนวนมากรวมทั้งผมต่างก็ดูว่ามีอาหารเสริมหลายอย่างที่ผมซื้อเพราะมัน  “คุ้มค่า”  คนจำนวนมากคิดว่าคุณค่าของมันเหนือกว่าราคาที่จ่าย  คุณค่าที่ว่านี้ก็คือการมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับเขานั้น  คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมาก   สำหรับผมเอง  ผมก็ไม่ได้เชื่อมากนักว่าอาหารเสริมที่ผมกินนั้นจะช่วยให้สุขภาพผมดีมากมายอะไร  อย่างไรก็ตาม  เงินที่ผมจ่ายนั้น  ก็น้อยนิดเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ผมมี  ดังนั้น เทียบแล้ว Value เหนือ Price และนี่เป็นเหตุผลที่อาหารเสริมนั้นเป็นธุรกิจที่เติบโตมาก

         การพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตไม่น้อยไปกว่าอาหารเสริม  ไล่ตั้งแต่การดูหมอและการผูกดวงชะตาต่าง ๆ    การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค  ไปจนถึงการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย  นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นักวิชาการมีการศึกษาและพบว่าการคาดการณ์ทั้งหลายดังกล่าวนั้นไม่มีความถูกต้องแม่นยำพอที่จะมีประโยชน์ในการตัดสินใจอะไรเลย   แต่คนจำนวนมากก็ยังยอมจ่ายเงินไปเพื่อซื้อการคาดการณ์เหล่านั้น  พวกเขาเห็น  “คุณค่า”  ของมัน  คนบางคนเชื่อว่าการคาดการณ์นั้นมีความถูกต้องและจะทำให้สามารถนำไป “ทำเงิน” และคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย   คนบางคนนั้นได้  “คุณค่าทางจิตใจ”  นั่นก็คือ  มันทำให้เขารู้สึกสบายใจที่มีคนมาช่วย  “รับภาระทางใจ”  ต่อการตัดสินใจของเขา   ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดเขาก็สามารถที่จะอ้างได้ว่าเขาตัดสินใจโดยได้ใช้ข้อมูลและความเห็นของคนที่เชี่ยวชาญในการพยากรณ์อนาคตอย่างรอบคอบแล้ว

          Value หรือคุณค่าของ  “ที่ปรึกษา” ทางธุรกิจนั้น  บ่อยครั้งก็ไม่ได้มีคุณค่าที่ทำให้ธุรกิจดำเนินงานได้ดีขึ้นคุ้มค่ากับค่าที่ปรึกษาที่สูงลิ่ว  เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของบริษัทหรือหน่วยงานเองนั้นส่วนใหญ่น่าจะรู้ดีกว่าที่ปรึกษาที่เป็นคนนอกและเพิ่งเข้ามาศึกษาการทำงานของบริษัทจากการสอบถามพนักงานภายในบริษัทเอง   แต่ประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น  ประเด็นอาจจะอยู่ที่ว่าคุณค่าของที่ปรึกษาในสายตาของคนจ้างซึ่งเป็นผู้บริหารอาจจะอยู่ที่ว่า  ที่ปรึกษานั้นเป็นผู้ที่จะบอกให้แต่ละหน่วยงานในบริษัททำตามเนื่องจากพวกเขาเป็น  “ผู้เชี่ยวชาญคนนอก”  ที่ไม่มี  “การเมืองในบริษัท”  ที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ง่ายกว่า  นอกจากนั้น  หากเกิดมีอะไรผิดพลาด  ผู้บริหารก็ยังมีข้ออ้างว่าที่ปรึกษาได้แนะนำไว้ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายบริหารทั้งหมด

          ตลาดพระเครื่องน่าจะเป็นตลาดที่  “คุณค่าทางด้านจิตใจ”  มีบทบาทสำคัญในทรัพย์สินที่มีตัวตนและเปลี่ยนมือได้  “คุณค่า” ของพระเครื่องแต่ละรุ่นนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยปัจจัยหลาย ๆ  อย่าง  เช่น  ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วคนที่ห้อยพระเครื่องบางองค์รอดปลอดภัยอย่าง  “มหัศจรรย์”  คุณค่าในสายตาของคนเล่นพระเครื่องในพระรุ่นนั้นก็อาจจะสูงขึ้นมากและทำให้  “ราคา”  ค่าเช่าพระองค์นั้นวิ่งสูงขึ้นด้วย  แต่ถ้าถามว่าพระเครื่องรุ่นนั้นช่วยให้  “แคล้วคลาด”  ได้จริงหรือเปล่า?  คงไม่มีใครตอบได้จริง ๆ   

            Value ของบริษัทจัดการกองทุนรวมหรือผู้บริหารกองทุนรวมนั้น  ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกามีการศึกษากันมากและพบว่า  ผู้จัดการกองทุนรวมส่วนใหญ่มีคุณค่าในแง่ของการเลือกหุ้นที่ถูกต้องน้อยไม่คุ้มค่ากับค่าบริหารกองทุนที่คิดค่อนข้างสูงอาจจะ 3-4% ต่อปีของสินทรัพย์สุทธิ  อย่างไรก็ตาม  คนจำนวนมากก็ยังใช้บริการยอมจ่ายค่าบริหารกองทุนในอัตราสูงแทนที่จะซื้อกองทุนอิงดัชนีที่ไม่ต้องเลือกหุ้นและคิดค่าบริหารกองทุนต่ำกว่ามาก   เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะคนยังเชื่อว่ามีกองทุนรวมที่มีฝีมือหรือคุณค่าสูงในการเลือกหุ้นเพราะพวกเขาเห็นว่ากองทุนนั้นมีผลงานที่ดีเด่นในช่วงเร็ว ๆ  นี้   ความหวังที่จะได้กำไรดี ๆ  และการ “ยกความรับผิดชอบ” ให้กับบริษัทจัดการการลงทุนที่  “มีผลงานโดดเด่น”  ทำให้พวกเขายอมจ่าย “ราคา”  ที่อาจจะสูงกว่าคุณค่าที่แท้จริงของ บลจ. นั้น
           ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น  ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมต้องการจะบอกก็คือ  ในฐานะของ VI  เราจะต้องเป็น  “ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Value” หรือคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ  เมื่อเทียบกับ ราคา ที่เราจะจ่าย  และเราต้องเข้าใจด้วยว่า Value นั้นมีหลายรูปแบบและในสายตาของแต่ละคนก็อาจจะไม่เท่ากันถ้ามันไม่ใช่ Value ที่เป็นเม็ดเงิน  ความเข้าใจเหล่านี้จะทำให้เราใช้เงินได้คุ้มค่าขึ้น  ทั้งทางด้านของการลงทุนและในด้านการใช้จ่ายอย่างอื่นของชีวิต
 

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/08/1311

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 16, 2013, 10:22:45 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 16 July 2013

นักลงทุนสายตาสั้น

การวิเคราะห์หามูลค่าของหุ้นเพื่อการลงทุนนั้น  แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะใช้ค่า PE ค่า PB หรือตัวเลขอื่น ๆ  ที่เป็นตัวเลขง่าย ๆ  ใช้ข้อมูลเพียงปีเดียวหรือข้อมูลปัจจุบัน   แต่ถ้าจะทำให้ถูกต้องตามทฤษฎีแล้ว   เราจะต้องประมาณการ “กระแสเงินสด”  หรือปันผลที่บริษัทจะจ่ายตลอดไปในอนาคต  เสร็จแล้วก็จะต้องคำนวณ  “มูลค่าส่วนลด”  หรือ  “ค่าปัจจุบัน” ของกระแสเงินทั้งหมดนั้นเราก็จะได้ว่า  “มูลค่าหุ้น” ควรเป็นเท่าไร  ซึ่งวิธีคำนวณแบบนี้เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะทำได้   ดังนั้นเราจึงเน้นไปที่การดูตัวเลขง่าย ๆ  เพียงตัวเดียวเป็นค่า  PE หรือพูดง่าย ๆ  ใช้ค่า E หรือกำไรเพียงปีเดียว

         แต่พอเราใช้ค่า PE ไปนาน ๆ  เข้าเราก็เลยลืมไปว่าค่า  E หรือกำไรต่อหุ้นเพียงปีเดียวนั้น   ที่จริงมีสมมุติฐานต่อว่า   จะต้องเป็นกำไรที่จะต้องต่อเนื่องไปตลอดไม่มีที่สิ้นสุดและต้องไม่ลดลงหรือหดหายไป  และนี่ก็คือสิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้เนื่องจากกำไรของบริษัทจำนวนไม่น้อยนั้นเป็นกำไรที่ไม่ต่อเนื่อง  บางบริษัทอาจจะกำไรต่อไปเพียงปีสองปี  บางบริษัทอาจจะยาวไป 8 ปีหรือ 15 ปี  หลังจากนั้นแล้วกำไรอาจจะหายไปมากหรือมีความไม่แน่นอนสูง  ดังนั้น  การใช้ค่า PE ในการกำหนดมูลค่าหุ้นจึงอาจจะไม่ถูกต้อง  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  มูลค่าหุ้นสูงเกินความเป็นจริง  ซึ่งทำให้การตัดสินใจซื้อขายหุ้นผิดพลาดไม่เป็น  “VI”  ปัญหานี้ผมอยากเรียกว่าเป็นการมองกิจการที่ไม่ไกลพอหรือเป็นเรื่องของ  “นักลงทุนสายตาสั้น”  มาดูกันว่ามีกิจการหรือบริษัทแบบไหนที่กำไรไม่ต่อเนื่องตลอดไป

          บริษัทกลุ่มแรกที่เห็นได้ชัดว่ากำไรน่าจะไม่ต่อเนื่องก็คือบริษัทที่มี “กำไรพิเศษ” ที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง  ส่วนใหญ่แล้วนี่มักจะเกิดจากการขายทรัพย์สินก้อนใหญ่แล้วเกิดกำไรขึ้นมากหรืออย่างมีนัยสำคัญ  ในกรณีแบบนี้เราต้องไม่ใช้ค่า PE มาเป็นตัวบอกว่าหุ้นถูกหรือแพง  หรือถ้าจะใช้ PE ก็จะต้องตัดกำไรส่วนที่เป็นรายการพิเศษออกซึ่งจะทำให้มูลค่าหุ้นหายไปมาก   อย่างไรก็ตาม  ในช่วงหลัง ๆ  นี้   เรามักจะเห็นบริษัททำ  “กองทุนอสังหาริมทรัพย์”  โดยการขายทรัพย์สินบางส่วนเข้ากองทุนซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น  “ผิดปกติ” ซึ่งนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนก็ไม่ควรที่จะให้มูลค่ากับกำไรนี้มากนัก   แต่ในบางบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าเป็นปกติและมีทรัพย์สินที่สร้างรายได้ค่อนข้างมากนั้น  พวกเขาก็มักจะมีการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนอยู่เรื่อย ๆ  บางทีเกือบจะทุกปี  ในกรณีแบบนี้เขาก็อาจจะอ้างได้ว่ากำไรของเขาที่ได้มาอย่างผิดปกติก็อาจจะกลายเป็นเรื่อง “ปกติ”  และดังนั้นก็น่าจะใช้ค่า PE ในการคำนวณมูลค่าหุ้นได้   แต่สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่าเราไม่ควรทำอย่างนั้น  ลองคิดดูก็จะเห็นว่าการขายทรัพย์สินอาจจะทำกำไรได้ดีขึ้นในปีนี้  แต่ในอนาคตกำไรของบริษัทก็จะน้อยลงจากทรัพย์สินตัวนั้น  ดังนั้น  ในกรณีแบบนี้ก็ต้องถือว่าเรากำลัง  “สายตาสั้น”

          กิจการที่ได้รับ “สัมปทาน” หรือได้รับ  “ใบอนุญาต”  ให้ทำธุรกิจที่กำหนด  ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีอายุยาวประมาณ 10-15 ปี นั้น  สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นที่มักจะมองกันเพียงไม่เกิน 2-3 ปี มันก็เป็นเวลาที่ยาวมากจนไม่ต้องคำนึงถึงว่ากำไรจะหมดไปก่อนที่เขาจะขายหุ้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงคิดคำนวณหามูลค่าโดยใช้ PE ที่ดูกำไรเพียงปีเดียวเป็นหลัก  ผลก็คือ  มูลค่าหุ้นมักจะสูงกว่าความเป็นจริง  อย่างไรก็ตาม   ก็อาจจะมีการโต้แย้งว่าสัมปทานหรือใบอนุญาตนั้นก็อาจจะถูกต่อออกไปเมื่อมันหมดอายุในอีกหลาย ๆ  ปีข้างหน้า   ดังนั้น  กำไรก็อาจจะถูกยืดออกไปไม่มีที่สิ้นสุด  ประเด็นนี้ผมเองก็คิดว่าถึงอายุจะต่อออกไปได้แต่กำไรนั้นก็อาจจะไม่เหมือนเดิม   ค่าสัมปทานหรือใบอนุญาตถ้ามีก็ต้องมีการปรับใหม่  โอกาสที่กำไรจะโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  อาจจะไม่ง่าย  สำหรับผม  มันเปรียบเทียบคล้าย ๆ  กับการ “เซ้ง” สิ่งปลูกสร้างไม่ใช่การ “ซื้อขาด”  ดังนั้น  เราจึงไม่สามารถให้มูลค่ามันสูง ๆ  ได้   ถ้าเราไปใช้ค่า PE ปกติในการประเมินมูลค่า  มันก็เหมือนกับว่าเรา  “สายตาสั้น”  ไม่มองไปไกลหลังจากสัมปทานหรือใบอนุญาตหมดอายุ

           ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  เราพบเห็นบริษัทที่ทำพลังงานทดแทนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กันค่อนข้างมาก   บริษัทเหล่านี้ต่างก็ขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานของรัฐโดยได้รับการ  Subsidize หรือสนับสนุนเป็นเป็นเม็ดเงินต่อหน่วยของพลังงานไฟฟ้าที่ขายซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรคุ้มกับการลงทุน  แต่การสนับสนุนนี้จะทำเพียงไม่กี่ปีเช่น  8 ปี  หลังจากนั้นบริษัทก็อาจจะ “ขาดทุน”  ในกรณีแบบนี้  กำไรของบริษัทในช่วงแรกก็จะดีกว่าปกติและถ้าเราใช้ PE มาคำนวณหามูลค่าหุ้น  ราคาหุ้นก็จะสูงกว่าปกติ   และนี่ก็คืออีกกรณีหนึ่งของการที่นักลงทุน  “สายตาสั้น”  ไม่ได้มองไปถึงอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าที่กำไรจะหดหายไปอย่างมาก

            สายตาสั้นในเรื่องของการวิเคราะห์หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งก็คือบริษัทที่มีแบ็คล็อกหรืองานหรือสินค้าที่ลงนามสัญญาจ้างหรือซื้อขายไปแล้วรอทำและส่งของ  เช่นบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย   ในเรื่องนี้นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์หุ้นก็จะตั้งสมมติฐานว่าในช่วงเวลาหนึ่งหรือสองปีข้างหน้าบริษัทจะมียอดขายเท่าไรอย่างแน่นอนตามแบ็คล็อกที่มีอยู่และอาจจะรวมถึงยอดขายใหม่ที่จะทำได้เพิ่ม  หลังจากนั้นพวกเขาก็จะคำนวณกำไรที่จะทำได้โดยใช้ตัวเลขมาร์จินที่บริษัทเคยทำได้  จากนั้นก็จะได้กำไรต่อหุ้นซึ่งก็จะคูณกับค่า PE ซึ่งก็จะได้ “มูลค่าหุ้นที่เหมาะสม”   ประเด็นก็คือ  การประมาณการกำไรนั้นอาจถกเถียงได้ว่าจะเป็นไปตามที่คำนวณได้หรือใกล้เคียง   แต่การมองไปที่กำไรเพียงปีหรือสองปีนั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่อาจจะ  “สายตาสั้น”  อนาคตหลังจากนั้นมีความไม่แน่นอนสูง  ดังนั้น  การให้ค่า PE ตามปกติจึงอาจจะไม่เหมาะสม

           ความล้าสมัยของเทคโนโลยีหรือระบบการผลิตและการจัดจำหน่ายในสินค้าไฮเท็คหรือที่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของไฮเทคโนโลยีเช่นสินค้าที่เป็น  “ซอฟแวร์” ทั้งหลายนั้น  อาจทำให้กิจการหรือบริษัทบางแห่งหรือบางแบบมีความเสี่ยงที่ “ซ่อน” อยู่  นั่นก็คือ  ยอดขายและ/หรือกำไร  ของบริษัทในอนาคตที่ไม่ไกลนักอาจจะตกลงมามากมายเพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี   บางทีอาจจะถึงขั้นคุกคามความอยู่รอดของกิจการได้   ในฐานะของนักลงทุนแบบ VI เราต้องมองไปให้ไกลว่าบริษัทจะมีวันที่ยากลำบากแบบนั้นหรือไม่  และถ้าเราเห็น  เราก็ไม่ควรให้มูลค่าบริษัทโดยอิงเฉพาะกับกำไรต่อหุ้นที่เราเห็นในช่วงใกล้ ๆ  เท่านั้น  จริงอยู่  เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นแต่เรารู้ว่าความเสี่ยงนั้นเป็น  “ความเสี่ยงจริง”  ถ้าเราไม่นำมาพิจารณาในการประเมินราคาหุ้น  เราก็จะเป็นคน  “สายตาสั้น”  และอาจจะพลาดไปซื้อหุ้นที่มีราคาสูงเกินพื้นฐานได้  พูดง่าย ๆ ก็คือ  เราให้ค่า PE กับบริษัทสูงเกินไป
            การไม่เป็นคน  “สายตาสั้น”  และอาจจะ  “มองไกลเกินเหตุ”  นั้น  หลาย ๆ  ครั้งผมพบว่ามี “ต้นทุน” สูงอยู่เหมือนกันนั่นก็คือ  หลายครั้งราคาหุ้นที่มีกำไรดีเพียงสั้น ๆ  จากการมองของเรา  แต่ตลาดซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยคน  “สายตาสั้น”  เป็นส่วนใหญ่นั้นมองไม่เห็นหรือไม่มอง   ดังนั้นพวกเขาจึงเข้ามาไล่ซื้อหุ้นเนื่องจากเห็นว่าค่า PE  ต่ำทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมากและทำให้เราพลาดที่จะทำกำไรได้ง่ายและรวดเร็ว   อย่างไรก็ตาม  การทำกำไรแบบนี้นั้นอาจจะไม่ใช่แนว VI  และเป็นสิ่งที่เรียกว่า  “ทำถูกด้วยเหตุผลที่ผิด”  ถ้าเราซื้อและขายไปเมื่อหุ้นมันขึ้นเราก็ได้กำไร  แต่ถ้าเราพลาดและราคาหุ้นมันสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงที่เป็นระยะยาว   เราก็จะขาดทุนอย่างถาวร

Posted by nivate at 10:39 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/08/1311


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 27, 2013, 01:01:31 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Wednesday, 24 July 2013

หุ้นถูก-หุ้นแพง


คำถามยอดนิยมในการลงทุนซื้อขายหุ้นแต่ละตัวของ VI ก็คือ  “หุ้นถูกหรือหุ้นแพง?”  คำถามยอดนิยมสำหรับนักเก็งกำไรที่มักจะเข้ามาเล่นหุ้นตามภาวะตลาดก็คือ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาจนต่ำหรือหุ้นถูกพอหรือยังที่จะ  “เข้าตลาด”  คำตอบสำหรับเรื่องนี้ก็คือ  ไม่มีใครรู้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์  เพราะถ้ารู้ก็รวยไปแล้ว   แต่ถ้าถามว่าในทางทฤษฎีนั้น  ปัจจัยอะไรเป็นตัวกำหนดว่าหุ้นแต่ละตัวควรมีราคาถูกหรือราคาแพง  แบบนี้เราก็พอพูดได้  เพราะทฤษฎีทางการเงินในเรื่องของการกำหนดราคาหุ้นนั้นมีการพัฒนามานานแล้วและหลักการอย่างคร่าว ๆ  มีดังต่อไปนี้

           ก่อนที่จะเข้าประเด็นเรื่องของทฤษฎี  เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า   คำว่าถูกหรือแพงของหุ้นแต่ละตัวนั้น  เราไม่ได้ดูว่าหุ้นแต่ละตัวมีราคากี่บาท  หุ้นราคา 100 บาทไม่ได้แปลว่ามันแพงกว่าหุ้นตัวละ 1 บาท  เพราะหุ้นตัวละร้อยบาทอาจจะมีกำไรปีละ 10 บาทและจ่ายปันผลปีละ 5 บาท ซึ่งดีกว่าหรือถูกกว่าหุ้นตัวละหนึ่งบาทที่มีกำไรปีละ 5 สตางค์และจ่ายปันผลปีละ 2 สตางค์   ดังนั้น  คำว่าหุ้นถูกหรือหุ้นแพงนั้น  จึงต้องเป็น  “ราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้นต่อปี”  หรือก็คือค่า  PE  อย่างที่เราคุ้นเคยกัน  สรุปก็คือหุ้นแพงก็คือ  หุ้นที่มีค่า PE สูง  และหุ้นถูกก็คือหุ้นที่มีค่า PE ต่ำ

           ประเด็นที่สำคัญก็คือ  หุ้นแบบไหนหรือกิจการแบบไหนที่ “ควร” จะแพงหรือมีค่า PE สูง  และกิจการแบบไหนที่ “ควร” จะถูกหรือมีค่า PE ต่ำ  เหตุผลก็เพราะว่า  ถ้าเราเจอกิจการที่ควรจะมีราคาแพงแต่ราคาหุ้นในตลาดนั้นยังถูกอยู่เราก็จะได้ซื้อหุ้นตัวนั้นไว้   เพราะเมื่อถึงวันหนึ่ง  ราคาหุ้นก็มักจะปรับขึ้นมาจนเหมาะสมกับคุณภาพของมันซึ่งทำให้เรากำไรจากการลงทุน  ตรงกันข้าม  ถ้าหุ้นตัวที่เราถืออยู่นั้นมีราคาแพงหรือมีค่า PE สูงลิ่ว  แต่เราดูจากปัจจัยต่าง ๆ  แล้วมันไม่ควรแพงขนาดนั้น  เราก็ควรที่จะขาย  เพราะในที่สุดราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงสะท้อน “พื้นฐาน” ของมัน

           ปัจจัยที่หุ้นควรมีราคาแพงตัวแรกก็คือ  การเจริญเติบโตของตัวธุรกิจ  ยิ่งกิจการมีการเติบโตของกำไรสูงและเติบโตต่อเนื่องยาวนาน  หุ้นก็ควรจะแพง  ยิ่งโตมากและโตได้นานมากหุ้นก็ควรจะยิ่งแพงหรือมีค่า PE สูงมากตาม   หุ้นที่โตน้อยหรือไม่โตเลย  ถ้า  “อย่างอื่นเหมือนกัน” ควรจะมีค่า PE ที่ต่ำกว่าหุ้นที่โตเร็วและโตนาน  ถ้าจะพูดกันในภาษาของนักลงทุนหุ้นก็คือ  หุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็วนั้น  ควรจะมี PE สูงกว่าหุ้นที่ไม่โตหรือโตน้อย  สูงกว่าเท่าไร?  บางคนก็บอกว่าสูงเท่ากับอัตราการเติบโต  เช่น  หุ้นที่โตปีละ 15%  ก็น่าจะมีค่า PE เท่ากับ 15 เท่า  หุ้นที่โตปีละ 20% ก็ควรจะมี PE 20 เท่า  แต่นี่ก็เป็นการพูดแบบหยาบ ๆ  เพราะไม่ได้บอกว่าต้องโตไปกี่ปี และก็ไม่ได้พูดว่า  “อย่างอื่นเหมือนกัน”  เพราะหุ้นแต่ละตัวนั้น  “อย่างอื่นมักไม่เหมือนกัน”

            ปัจจัยตัวที่สองก็คือ  ถ้า  “อย่างอื่นเหมือนกัน”  หุ้นของกิจการที่มีความเสี่ยงในการดำเนินการต่ำ  ควรจะแพงหรือมีค่า PE สูงกว่ากิจการที่มีความเสี่ยงสูง  ตัวอย่างเช่น  กิจการรับเหมาก่อสร้างที่มักจะมีรายได้และกำไรไม่ค่อยแน่นอนในแต่ละปีนั้น  ควรจะมีค่า PE  ต่ำกว่าธุรกิจสาธารณูปโภคเช่น  กิจการเกี่ยวกับ น้ำ  ไฟฟ้า  หรือการเดินทาง  ที่มีรายได้และกำไรมั่นคงกว่า  นี่ก็มาจากแรงจูงใจพื้นฐานของนักลงทุนที่มักจะ “ไม่ชอบเสี่ยง”  ดังนั้นจึงไม่อยากลงทุนในกิจการที่เสี่ยง  และดังนั้นเขาจะต้องซื้อในราคาที่ถูกหน่อยสำหรับกิจการที่เสี่ยงเช่น  การรับเหมาก่อสร้าง  ในทางตรงกันข้าม  นักลงทุนชอบลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงน้อย  ดังนั้น  พวกเขายอมจ่ายเงินแพงหน่อยเพื่อซื้อหุ้นที่ไม่ค่อยเสี่ยงแบบกิจการสาธารณูปโภค  ทำให้หุ้นพวกนี้มีค่า PE ที่สูงกว่า   แต่พอพูดแบบนี้  นักลงทุนไทยก็จะเถียงว่า  หุ้นรับเหมาในตลาดนั้นมักจะมีค่า PE ที่สูงกว่าหุ้นน้ำไฟมาก  แสดงว่าทฤษฎีน่าจะผิดไหม?  คำตอบของผมก็คือ  การที่ค่า PE ของหุ้นรับเหมาสูงกว่านั้น   อาจจะไม่ใช่เรื่องความเสี่ยงของธุรกิจ   แต่มันอาจจะสูงเพราะนักลงทุนคิดว่าการเติบโตของธุรกิจรับเหมานั้นสูงกว่าการเติบโตของธุรกิจน้ำไฟก็ได้ ไม่เกี่ยวกับความเสี่ยง  พูดง่าย ๆ  เพราะ  “อย่างอื่นไม่เหมือนกัน”

              ปัจจัยตัวที่สามก็คือ  ถ้า “อย่างอื่นเหมือนกัน”  บริษัทหรือหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลที่เป็นเงินสดสูงควรจะมีราคาแพงหรือมีค่า  PE สูงกว่าหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลต่ำ   คำว่าอัตราการจ่ายปันผลก็คือ  เงินปันผลเมื่อเทียบกับกำไรต่อปีของบริษัทหรือที่เรียกว่า  Dividend Payout Ratio  เหตุผลก็คือ  การจ่ายปันผลมากนั้นทำให้ผู้ถือหุ้นได้เงินสดไปใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการและนั่นทำให้เขายอมจ่ายเงินซื้อหุ้นแพงขึ้นหรือยอมซื้อหุ้นที่มีค่า PE สูงขึ้น  ตัวอย่างเช่น  หุ้นตัวหนึ่งจ่ายปันผล 50%  ของกำไรอาจจะมี PE 15 เท่า แต่หุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งมี “อย่างอื่นเหมือนกัน” แต่จ่ายปันผล 100% ของกำไร  หุ้นตัวหลังก็อาจจะมีหรือควรมี PE 30 เท่า   ประเด็นนี้ก็อาจจะมีข้อถกเถียงอีกว่า  หุ้นในตลาดไทยจำนวนมากนั้น  บางบริษัทจ่ายปันผลในอัตราที่ต่ำ  บางบริษัทก็จ่ายปันผลเป็นหุ้นแทนที่จะเป็นเงินสด  แต่หุ้นเหล่านี้กลับมีค่า PE สูงกว่าหุ้นที่จ่ายปันผล 100% มาก   คำตอบเรื่องนี้ของผมก็เช่นเดิมนั่นคือ   ที่ PE สูงนั้นอาจจะเป็นเพราะนักลงทุนมองว่าบริษัทที่จ่ายปันผลน้อยดังกล่าวนั้น  น่าจะมี Growth หรือการเติบโตสูงกว่า  ดังนั้น  ค่า PE จึงสูงกว่า    แต่ถ้าบริษัทสามารถจ่ายปันผล 100%  และยังโตได้เท่ากับบริษัทที่จ่ายปันผลน้อยหรือไม่จ่ายปันผล  ผมเชื่อว่าหุ้นของบริษัทที่จ่ายปันผลได้ 100% จะมีค่า PE สูงกว่ามาก

              ปัจจัยตัวสุดท้ายนั้นเป็นปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับตัวบริษัทแต่เป็นเรื่องของภาวะทางเศรษฐกิจนั่นก็คือ  อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด  ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำ  หุ้นทุกตัวควรจะมีราคาแพงขึ้นหรือค่า PE สูงขึ้น  เหตุผลก็คือ  เวลาที่ดอกเบี้ยต่ำนั้น  คนก็ไม่อยากจะฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ที่จะให้ผลตอบแทนต่ำ  ดังนั้น  พวกเขาก็จะย้ายเงินมาลงทุนในหุ้นที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่จูงใจกว่าถ้าหากผลประกอบการและเงินปันผลและอื่น ๆ   “ยังเหมือนเดิม”  ดังนั้น  โดยทั่วไปแล้วเราจึงเห็นว่าเวลาที่อัตราดอกเบี้ยลดลง  ดัชนีหุ้นจึงเพิ่มสูงขึ้น  และในทางตรงกันข้าม  เมื่อดอกเบี้ยเริ่มที่จะปรับตัวสูงขึ้น  ราคาหรือดัชนีหุ้นก็มักจะร่วง  การที่ดัชนีหุ้นตกนั้น  จริง ๆ  แล้วก็คือ  หุ้นทุกตัวต่างก็มักจะตกลงมาหรือถูกลงซึ่งทำให้ค่า PE ลดลง

              ปัจจัยที่จะทำให้หุ้นควรถูกหรือแพงหรือมี PE สูงหรือต่ำดังกล่าวทั้งหมดนั้น  จะเห็นว่ามี 3 ปัจจัยที่เป็นเรื่องของบริษัทโดยตรง  มีเพียงหนึ่งปัจจัยที่เป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของกิจการโดยตรง  ข้อดีของเรื่องนี้ก็คือ  มันทำให้เราสามารถวิเคราะห์กิจการได้แม่นยำพอที่จะทำให้เราเลือกหุ้นที่จะสามารถเอาชนะตลาดและให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีได้  ข้อสรุปก็คือ  เราต้องพยายามมองหาหุ้นหรือกิจการที่มีการเติบโตค่อนข้างดีในระยะยาว  ยิ่งยาวมากก็ยิ่งดี  เราต้องการบริษัทที่มีกิจการที่มั่นคงสม่ำเสมอสามารถคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำในแต่ละปีและมีความสามารถที่จะต่อสู้แข่งขันเหนือคู่แข่งที่จะมาแย่งธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  และสุดท้าย  เราอยากหาธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดี   ต้องการเงินลงทุนในสินทรัพย์น้อยซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราที่สูงได้  ยิ่งสูงยิ่งดี   เมื่อเราพบกิจการ “ในฝัน”  ดังกล่าวแล้ว  เราก็ลองให้ค่า  PE ที่ “ควรจะเป็น” แก่หุ้นตัวนั้น  แล้วเปรียบเทียบกับค่า PE  จริง  ๆ  ในตลาดหุ้น  หากพบว่าค่า PE ของหุ้นในตลาดต่ำกว่าที่ควรเป็นมาก  เราก็ซื้อแล้วรอ
              ความเสี่ยงของการลงทุนนั้น  แน่นอน  มีอยู่เสมอ  เพราะปัจจัยเรื่องของอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นผลทางตรงกับราคาหุ้น  และเศรษฐกิจที่มีผลทางอ้อมที่อาจจะทำให้การเจริญเติบโตลดลง  ความเสี่ยงของธุรกิจเปลี่ยนไป  ดังนั้น  ไม่ว่าเราจะวิเคราะห์มาดีแค่ไหน  เราก็ไม่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงนี้ได้  วิธีที่ดีที่สุดก็คือ  การกระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นเป็นพอร์ต  อย่างน้อยอาจจะ 5-6 ตัวขึ้นไปเพื่อที่ว่าแม้แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด  เราก็ยังอยู่รอด

Posted by nivate at 3:41 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/24/1316



หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 29, 2013, 03:26:23 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 29 July 2013

ฮอร์โมนกับการลงทุน



ซีรี่ส์ละครทางเคเบิลทีวีเรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” กำลังร้อนแรงเป็นที่กล่าวขวัญกันมากมาย  ก่อนหน้านี้ก็ในหมู่วัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลักของคนสร้าง  แต่ในขณะนี้สังคมทั่วไปก็ดูเหมือนกับเริ่มเข้ามาสนใจมากขึ้น  ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ผู้แสดงนำวัยรุ่นคนหนึ่งมีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลองใช้ยาเสพติดในชีวิตจริงที่คล้ายกับละครด้วย   เนื้อหาของละครเป็นเรื่องของชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่กำลังเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นผู้ใหญ่  และในกระบวนการนั้น  พวกเขาจำนวนมากไม่รู้หรือไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ  ในชีวิต    การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่รุนแรงที่สุดนั้น  แน่นอน  ก็คือเรื่องของเพศที่เด็กหญิงกับเด็กชายจะเริ่มมีความแตกต่างกันมากทั้งในด้านของร่างกายและจิตใจ  ความแตกต่างนี้ในทางชีววิทยาเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของฮอร์โมนเพศซึ่งสำหรับผู้หญิงก็คือ  Estrogen  และสำหรับเพศชายก็คือ  Testosterone  แต่ว่าที่จริงฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้  ไม่ได้มีผลเฉพาะกับวัยรุ่นและความเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น  มันยังมีผลต่อความคิด  พฤติกรรม และความสามารถของคนที่แตกต่างกันด้วย  มาดูกันว่า  ฮอร์โมนโดยเฉพาะ  เทสทอสเทอโรนที่มีมากในคนเพศชายมีผลอะไรกับการลงทุนกันบ้าง

            การศึกษาทางชีววิทยาสมัยใหม่นั้นพบว่าฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนหรือ  “ฮอร์โมนเพศชาย” นั้น  ทำให้ผู้ชายมักจะมีความสามารถและพฤติกรรมที่แตกต่างจากผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจนหรือ “ฮอร์โมนเพศหญิง” มากกว่า   หลัก ๆ  ก็คือ  ผู้ชายนั้นร่างกายถูก  “ออกแบบ” ผ่านระบบฮอร์โมนโดยเฉพาะเทสทอสเทอโรนให้มีความเหมาะสมกับการเป็น  “นักล่า”  ซึ่งจะต้องแข็งแรงกว่า กล้าเสี่ยงกว่า  และมีความสามารถในการคิดที่เป็นมิติสัมพันธ์เช่น  เรื่องของทิศทาง  ความเร็ว  แผนที่  การคำนวณต่าง ๆ  เพื่อที่จะสามารถเดินทางไปล่าสัตว์และนำอาหารกลับมาเลี้ยงลูกเมียได้  ส่วนผู้หญิงนั้น  ถูกออกแบบผ่านการมีฮอร์โมนเอสโทรเจนมากให้มีความเหมาะสมกับการเป็น  “ผู้เก็บสะสมและดูแลลูก”  ซึ่งจะต้องมีความอ่อนโยน  ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง  เข้าใจและสามารถอ่านความรู้สึกของคนอื่นว่าต้องการอะไรมากกว่าผู้ชาย  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถดูแลเลี้ยงดูลูกที่ยังเล็กให้อยู่รอดจากภยันตรายต่าง ๆ

              หลักฐานที่แสดงว่าความแตกต่างที่กล่าวข้างต้นเป็นจริงนั้นมีให้เห็นเต็มไปหมด  ดูกันง่าย ๆ  ก็อย่างเรื่องของการขับรถหรือการทำงานทางด้านของช่างหรือการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ  ที่ต้องอาศัยความแม่นยำนั้น   ผู้ชายจะมีความสามารถสูงกว่าผู้หญิงมาก  แต่ที่จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้นผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการคำนวณซึ่งผู้ชายมักจะทำได้ดีกว่าผู้หญิงโดยเฉพาะที่ขยันเรียนเท่ากัน   สถิติของการแข่งขันคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์โอลิมปิกนั้นผมเชื่อว่าเด็กนักเรียนชายนั้นน่าจะได้เหรียญทองมากกว่านักเรียนหญิงมาก   และนี่นำมาสู่ประเด็นว่าผู้ชายมีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นโดยเฉพาะทางด้านเชิงปริมาณสูงกว่าผู้หญิง  และนี่ก็ทำให้ Value Investment ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ตัวเลขค่อนข้างมากนั้น  เป็นสิ่งที่อยู่ในแวดวงของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงมาก

              การ “กล้าเสี่ยง” ของผู้ชายที่มีฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมากนั้น  ทำให้ผู้ชายกล้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงในขณะที่ผู้หญิงมักจะ Conservative หรืออนุรักษ์นิยมกว่าจึงมักจะไม่กล้าที่จะลงทุนซื้อขายหุ้นมากนัก   หรือถ้าเข้ามาในตลาดหุ้นแล้วก็มักจะไม่กล้าเสี่ยงซื้อหุ้นในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งทั้งหมด  ในทางตรงกันข้าม  ผู้ชายบางคนที่มีเทสทอสเทอโรนสูงกว่าปกติก็อาจจะกล้ารับความเสี่ยงอย่างมากโดยการซื้อขายหุ้นน้อยตัวและอาจจะใช้มาร์จินมาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างเต็มที่  และนี่อาจจะทำให้ผู้ชายในกลุ่มนี้บางคนสามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลสุดยอดแต่บางคนก็อาจจะขาดทุนจนล้มละลายได้เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือสถานการณ์ตลาดไม่เอื้ออำนวย  ความเชื่อของผมก็คือ  โดยเฉลี่ยแล้ว  ความกล้าเสี่ยงมากกว่าไม่ได้ทำให้ผู้ชายชนะในการลงทุนเมื่อเทียบกับผู้หญิง

            สัญชาติญาณของ  “นักล่า”  ของคนที่มีฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมากนั้น  ทำให้ผู้ชายน่าจะชอบเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่า  ในขณะที่การเป็นนักเก็บรวบรวมสะสมของผู้หญิงนั้น  น่าจะทำให้ผู้หญิงมีปฏิกริยาหรือซื้อขายหุ้นน้อยกว่าผู้ชาย  พูดง่าย ๆ  ผู้หญิงน่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาวที่สร้างผลตอบแทนจากการถือหุ้นหรือธุรกิจที่โตไปเรื่อย ๆ  มากกว่าผู้ชายที่พร้อมที่จะ  “กิน”  นักลงทุนคนอื่นโดยการซื้อหรือขายหุ้นเปลี่ยนตัวหุ้นไปมากกว่าผู้หญิง

            การถูกออกแบบตามธรรมชาติให้เป็น  “ผู้หาอาหาร”  ของผู้ชาย  ในขณะที่เป็น  “คนดูแลบ้านและลูก” ของผู้หญิงนั้น  ทำให้การ  “ลงทุนในหุ้น”  ซึ่งเป็นลักษณะของ   “การหาอาหารยุคใหม่”  เป็นเรื่องของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโดยเฉพาะที่เป็นการลงทุนแบบ  “เพื่อชีวิต”  ที่นักลงทุนทุ่มเททั้งเรื่องของเงิน  เวลา  และชีวิตจิตใจให้กับการลงทุน  จากการสังเกตของผมแล้ว  VI  ผู้มุ่งมั่นในเมืองไทยนั้น  ร้อยละ 90 ยังเป็นผู้ชาย  พูดถึงนักลงทุนรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็ยังเป็นหนุ่มมากกว่าสาวค่อนข้างมาก  ผมเองคิดว่าหน้าที่  “ผู้หาอาหาร”กับ “คนดูแลบ้านและลูก” ในสมัยนี้อาจจะอิงอยู่กับเรื่องเพศน้อยลงไปมากแล้ว  แต่เรื่องของการลงทุนในหุ้นเองนั้น  มันคงอิงอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของการ  “หาอาหาร”  เพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของ  “ความเสี่ยง”  และ  “ความเข้าใจในด้านของตัวเลข” ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเป็นเรื่องของความถนัดของผู้ชายและเป็นจุดอ่อนของผู้หญิง  ดังนั้น  ผู้หญิงในยุคนี้จึงคงยังไม่สบายใจนักที่จะทำในขณะที่พวกหล่อนต่างก็พร้อมกันออกไป  “หาอาหาร”  โดยการทำงานประจำในธุรกิจต่าง ๆ  ไม่น้อยกว่าผู้ชายไปแล้ว

            ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนนั้น  นิยามของมันอีกอย่างหนึ่งก็คือ  “ฮอร์โมนของผู้ชนะ”  นั่นคือ  ถ้าคุณอยากชนะหรือคนที่จะชนะนั้นคุณจะต้องมีฮอร์โมนตัวนี้ให้มาก  เพราะมันเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้คนอยากแข่งขันชิงดีชิงเด่น  ธรรมชาติสร้างผลกระทบนี้ขึ้นมาเพื่อดึงดูดเพศหญิงให้ชอบหรือมองหาผู้ชายที่จะเป็นผู้ชนะซึ่งจะเป็นพ่อที่ดีของลูกและเป็นผู้นำครอบครัว  ดังนั้น  นักลงทุนผู้ชายจึงมักจะเป็นนักลงทุนที่  Aggressive หรือกล้าได้กล้าเสียกว่าผู้หญิง  สิ่งนี้ผมไม่ได้คิดว่าดีหรือไม่ดี  เพราะการกล้ามากเกินไปก็อาจจะทำให้ผิดพลาดร้ายแรงได้   อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนที่ระมัดระวังมากนั้น  แม้ว่าโอกาสเสียหายร้ายแรงจะน้อย   แต่โอกาสที่จะโดดเด่นก็ยากเช่นเดียวกัน  ดังนั้น  เราจึงแทบไม่เคยได้ยินเซียนหุ้นระดับโลกที่เป็นผู้หญิงเลย  ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวว่ามีชมรมนักลงทุนในสหรัฐที่เป็นผู้หญิงล้วนกลุ่มหนึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมได้และมีการเขียนหนังสือการลงทุนที่มีชื่อเสียงออกมาชื่อ The Beardstown Ladies Common-Sense Investment Guide   แต่หลังจากนั้นก็พบว่าข้อมูลผลตอบแทนที่ใช้อ้างนั้นผิดพลาดและการลงทุนไม่ได้ดีอย่างที่อ้าง    นอกจากนั้น  ถ้าเราดูกันที่ประวัติหรือสถิติของเซียนหุ้นระดับโลกอย่างเช่นที่มีการเขียนเป็นหนังสือออกมาอยู่เรื่อย ๆ  ก็จะพบว่ามีเซียนหุ้นที่เป็นผู้หญิงน้อยมาก ๆ  หรือแทบไม่มีเลย
             “ฮอร์โมนของการลงทุน” นั้น  หรือที่จริงก็คือฮอร์โมนที่มีผลต่อความคิด  ความสามารถ  หรือพฤติกรรมของคน  ยังมีอยู่มากมาย  ตัวอย่างเช่น  ฮอร์โมน  Adrenaline ที่ทำให้คน  “ตอบสนองต่ออันตราย”  อย่างทันท่วงทีเพื่อให้มนุษย์เอาตัวรอดได้ในยามคับขัน  ก็เป็นสิ่งที่น่าจะมีผลต่อการลงทุนไม่น้อย  เพราะนี่ก็คือสิ่งที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นเวลามีข่าวที่  “น่าสะพรึงกลัว”  ทั้งที่มันอาจจะไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการ  ซึ่งทำให้เราเสียประโยชน์ไปมาก  ดังนั้น  เพื่อที่จะทำให้ฮอร์โมนเป็นมิตรกับเรา  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  เราต้องรู้และเข้าใจมันและต้องควบคุมมันด้วยเหตุผลที่มีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน

Posted by nivate at 3:22 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/29/1321

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 05, 2013, 04:36:46 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 5 August 2013

ธุรกิจโจร-Sunset Industry



ผมเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่ปลูกใหม่บนพื้นที่บ้านเดิมในซอยรางน้ำเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา   แต่ก็ถูกขโมยงัดแงะเข้าบ้านถึง 2 ครั้งเข้าไปแล้ว  ทั้ง ๆ ที่ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาโจรไม่เคยเข้าบ้านเลย   วิเคราะห์แล้วผมคิดว่าสาเหตุคือ   หนึ่ง  บ้านหลังเก่านั้นเป็นบ้านชั้นเดียวและใช้วัสดุพื้น ๆ ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย  ดังนั้น  โจรจึงคิดว่าไม่มีของอะไรให้ขโมย  แต่บ้านหลังใหม่นี้สวยงาม  เจ้าของคงมีเงินและคงมีทรัพย์สินมีค่าที่จะลักได้  ข้อสอง  ก็คือ  กำแพงบ้านยังไม่ได้ติดเหล็กแหลมและหน้าต่างบ้านก็ไม่ได้ติดเหล็กดัด   ดังนั้น เป็นการง่ายที่จะปีนเข้าไปและงัดหน้าต่างกระจกเข้าบ้าน  โชคยังดี  ผมติดสัญญาณป้องกันขโมยไว้  ดังนั้น  โจรจึงไม่สามารถลักของมีค่าไปได้ทั้งสองครั้ง  แต่ผมเองก็คิดต่อไปว่า  เอาเข้าจริง ๆ  เราก็ไม่มีของมีค่าอะไรที่ควรแก่การขโมย  อย่างมากก็เครื่องเสียงราคาไม่เกิน 3-4 พันบาทซึ่งไปขายต่อก็อาจจะได้แค่ 1-2 พันบาทเป็นอย่างมาก  สิ่งที่กลัวไม่ใช่ของแต่เป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนในบ้าน   ความคิดต่อมาของผมก็คือ  นี่คือ  “สัจธรรม”  หรือเปล่าที่ว่าเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วย  อาชญากรรมและมันไม่มีทางลดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

             โดยความบังเอิญ  ผมได้อ่านพบว่า  อาชญากรรมในประเทศพัฒนาแล้ว  ที่แต่เดิมย้อนหลังไป 20-30 ปี  ก็มีความคิดแทบจะเป็น “สัจธรรม” ว่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นนั้น  บัดนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามันไม่เป็นความจริง  เพราะสถิติอาชญากรรมในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกมีการลดลงต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปีแล้วรวมถึงปีที่เศรษฐกิจตกต่ำคนตกงานเกือบ 20% อย่างในปัจจุบัน   คนไทยที่ยังคิดว่าเมืองนิวยอร์คโดยเฉพาะในบางย่านนั้นเป็นเขตอันตรายที่เดินแทบไม่ได้นั้นแสดงว่าเขาคงไม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้  เพราะนิวยอร์คเดี๋ยวนี้ปลอดภัยมาก  เช่น สถิติรถหายเคยสูงถึงปีละเกือบ 150,000 คันเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน  เดี๋ยวนี้เหลือแค่ปีละ 10,000 คัน   สถิติอาชญากรรมรุนแรงอื่น ๆ  ก็ลดลงน่าจะเหลือแค่ 20-30% จากอดีต  อาชญากรรมบางอย่างแทบจะสูญพันธุ์ไปเลย  ที่ดูเหมือนว่าน่าจะยังมีอยู่บ้างก็น่าจะเป็นเรื่องของการล้วงกระเป๋าโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในบางเมืองหรือการลักของในห้างร้าน  นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องของการโกงหรือต้มตุ๋นที่ไม่ได้มีอาการของความรุนแรงต่อร่างกาย

              สาเหตุที่อาชญากรรมลดลงอย่างต่อเนื่องมานานนั้นมีการวิเคราะห์กันมาก  ที่โดดเด่นและน่าจะมีผลจริง ๆ  ในระดับหนึ่งก็เช่น  ข้อแรก  คนในประเทศพัฒนาแล้วแก่ตัวลง  คนที่ก่ออาชญากรรมนั้นมักจะมีอายุระหว่าง 16- 24 ปี  ดังนั้นอาชญากรรมจึงมีน้อยลง  อย่างไรก็ตามสถิติในเมืองใหญ่บางแห่งที่มีคนอายุระดับนั้นมากขึ้นก็ไม่แสดงว่าอาชญากรรมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด  ดังนั้น  เรื่องอายุคนจึงเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น  เหตุผลต่อมาก็คือ  เรื่องการที่กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในสหรัฐในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดโดยแม่ที่ยากจนและไม่เป็นที่ต้องการลดลง  นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาชญากรรมที่อาจจะเกิดจากเด็กกลุ่มนี้ลดลง  แต่นี่ก็คงไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงเพราะบางประเทศเช่นในอังกฤษก็อนุญาตให้มีการทำแท้งได้ก่อนหน้านั้นนานแต่สถิติอาชญากรรมก็ยังลดลงต่อเนื่อง

             เหตุผลประการที่สามที่มีการพูดกันอีกก็คือ  การเลิกใช้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน  เพราะมีความเชื่อกันว่าสารตะกั่วทำให้คนก้าวร้าวก่ออาชญากรรมง่าย  แต่นี่ก็คงเหมือนกับกรณีอื่น ๆ  ที่ว่าถ้ามันเลิกใช้มานานแล้ว  สถิติก็ไม่น่าจะลดลงต่อไปอีก  เหตุผลข้อที่สี่นั้นผมไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้ไหมเพราะเขาบอกว่าเป็นเพราะเด็กรุ่นใหม่นั้นไม่ค่อยก้าวร้าว  มีนิสัยดีขึ้น  และจำนวนคนที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ทั้งที่อายุกว่า 30 ปีแล้วโดยเฉพาะในยุโรปสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม  สถิติของคนที่ถูกจับเพราะก่ออาชญากรรมเป็นครั้งแรกในอังกฤษนั้นลดลงถึง 44%

             ดูเหมือนว่าเหตุผลที่น่าจะมีน้ำหนักที่สุดที่ทำให้อาชญากรรมลดลงก็คือ  โอกาสหรือความคุ้มค่าของการก่ออาชญากรรม  นั่นก็คือ  ในอดีตนั้น  สินค้าที่เป็นทรัพย์สินต่าง ๆ  มักมีราคาแพงและเฉพาะคนที่มีรายได้สูงพอเท่านั้นที่มีปัญญาซื้อมาใช้  เช่น  รถยนต์  เครื่องเล่นวิดีโอหรือเครื่องเสียง  เครื่องประดับต่าง ๆ  ซึ่งทำให้คนอยากขโมย  แต่ต่อมาสิ่งเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะถูกลงมาเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับรายได้ของคน  ดังนั้น  มันจึงอาจจะดูไม่ค่อยคุ้มนักที่จะทำ   ประกอบกับเหตุผลที่สำคัญก็คือ  เทคโนโลยีในการป้องกันและตามจับโจรนั้นมีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดและต้นทุนถูกมากเช่นกล้อง CCTV และระบบสัญญาณกันขโมยตามบ้านและห้างร้าน  เป็นต้น  สิ่งนี้ทำให้อาชญากรรมลดลงเนื่องจากผลตอบแทนที่จะได้รับถ้าทำสำเร็จลดลง  ในขณะเดียวกันโอกาสที่จะถูกจับได้  ทั้งในช่วงที่ก่ออาชญากรรมและหลังจากการกระทำแล้วสูงขึ้นมาก  พูดง่าย ๆ  Low Return แต่ High Risk หรือผลตอบแทนต่ำแต่ความเสี่ยงสูง  ดังนั้นเขาก็ไม่อยากทำ

              ในประเทศไทยเองนั้น  ผมไม่มีสถิติการเกิดอาชญากรรมว่าเป็นอย่างไร  ถ้าดูแนวโน้มจากประเทศพัฒนาแล้วก็น่าจะต้องค่อย ๆ  ลดลงไปเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะการจี้ปล้นและการลักขโมย  อย่างไรก็ตาม  สถิติที่ดูแล้วไม่น่าที่จะลดลงในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็คือเรื่องของยาเสพติดที่ดูเหมือนว่าผลตอบแทนจะสูงมากซึ่งทำให้อาชญากรอยากหรือกล้าที่จะเสี่ยง  เช่นเดียวกัน  อาชญากรรมที่เกี่ยวกับการหลอกลวงทางด้านการเงินโดยเฉพาะผ่านทางอินเตอร์เน็ตน่าจะสูงขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนสูงและระบบการป้องกันและตามจับยังไม่ได้มีการพัฒนามากนัก  เช่นเดียวกัน  การหลอกลวงโดยอ้างอิงความเชื่อและอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อให้คนหลงเชื่อและจ่ายเงินให้แก่อาชญากรก็น่าจะยังคงดำเนินต่อไปไม่ลดลง  เหตุผลก็เพราะเราไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิผลพอในการป้องกันและตามจับ  พูดถึงเรื่องเหล่านี้แล้วก็ทำให้นึกถึงการลงทุนในตลาดหุ้นที่ผมคิดว่าอาจจะมีการประกอบอาชญากรรมอยู่ไม่น้อยโดยที่เราไม่รู้หรือทำอะไรไม่ได้ด้วย  เหตุผลก็เพราะผลตอบแทนนั้นสูงลิ่วแต่ความเสี่ยงกลับไม่มาก  บทลงโทษเองก็ไม่สูงนัก

             ผมไม่รู้ว่าสถิติการเกิดอาชญากรรมของไทยลดลงหรือยังใน พ.ศ. นี้  อาจจะยังเพิ่มอยู่  แต่ผมเชื่อว่าในที่สุดก็น่าจะลดลง  เพราะผมไม่เห็นว่าเราจะแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วตรงไหนยกเว้นรายได้ที่ในที่สุดเราก็น่าจะตามไปทันระดับของเขาในวันนี้   แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยเชื่อก็คือ  การคอร์รัปชั่นในวงราชการไม่มีลดมีแต่จะเพิ่มขึ้น  ผมเองก็ไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องจริงไหม  แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือ  มันก็มีความเป็นไปได้ว่าการคอร์รัปชั่นในที่สุดก็น่าจะต้องค่อย ๆ  ลดลง  ว่าที่จริงประเทศที่เจริญแล้วแม้แต่ในอเมริกาครั้งหนึ่งก็มีการคอร์รัปชั่นกันมาก  เช่นเดียวกัน  ประเทศในเอเชียเช่น  สิงคโปร์ มาเลเซีย  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮ่องกงนั้น  ในสมัยก่อนก็มีการคอร์รัปชั่นกันมากเหมือนกัน  แต่เมื่อประเทศเจริญขึ้นและมีการสร้างระบบที่ป้องกันและต่อต้าน   การคอร์รัปชั่นก็ลดลงไปมาก  เรียกว่าเป็น  “อุตสาหกรรมตะวันตกดิน” ไปเลย  พูดแบบนี้หลายคนอาจจะมีความเห็นแย้งอย่างแรง  เขาอาจคิดว่าในระบบการเมืองและนักการเมืองแบบไทย  การคอร์รัปชั่นนั้นมีแต่จะมากขึ้นจนประเทศอาจ  “ล้มละลาย”  หรือ  “สิ้นชาติ”  ผมเองก็ไม่รู้ว่าการคอร์รัปชั่นของไทยจะลดลงได้อย่างไร    ผมเพียงแต่รู้ว่าอะไรที่มัน  “Impossible” หรือที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้เช่นเรื่องการลดลงของอาชญากรรมนั้น  มันก็เป็นไปแล้ว  การคอร์รัปชั่นนั้น  ว่าที่จริงมันก็เป็นอาชญากรรมอีกแบบหนึ่ง  เมื่อถึงเวลา  มันก็ควรต้องค่อย ๆ  ลดลง
              พูดถึงตรงนี้ผมเองก็นึกว่า  ตกลงมันเกี่ยวข้องกับการลงทุนไหม?  บอกตรง ๆ  ยังนึกไม่ใคร่ออก  เรื่องหนึ่งที่จะอ้างได้ก็คือ  บทความเรื่องนี้อาจจะสอนให้รู้ว่า  อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทุกคนเชื่อกันขนาดเป็น  “สัจธรรม”  ว่ามันต้องไปเพียงทางเดียวเท่านั้น  มันก็อาจจะเปลี่ยนกลับทางได้อย่างไม่น่าเชื่อ  ไม่มีอะไร  Impossible  ทั้งด้านที่ดีและร้าย

Posted by nivate at 10:31 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/05/1322

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 13, 2013, 12:39:45 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Tuesday, 13 August 2013

เทคโนทำลายล้าง



กิจการบางแห่งที่เคยแข็งแกร่งมากจนดูเหมือนว่ามันจะ “ไม่มีวันแพ้” และก็ไม่มีใครเคยคิดว่าจะถดถอยได้ในเร็ววันนั้น  ณ. ขณะนี้ดูเหมือนว่าชะตากรรมจะเปลี่ยนไป  ความรุ่งเรืองในอดีตตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว  หลาย ๆ  บริษัทอาจจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างที่เคยเป็น  “ความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน”  หรือ DCA ที่บริษัทเคยมีเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้น  บริษัทก็ยังมีอยู่  แต่ว่า  “คู่แข่งใหม่” ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น  หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้ DCA ของบริษัทหมดความหมายลง  “เกมการแข่งขัน” หรือ “การต่อสู้”  ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเกิดขึ้นใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อมูลและการสื่อสารที่กำลัง  “ปฏิวัติโลก”  อย่างที่เราอาจจะ  “ไม่รู้ตัว”  และผมก็เริ่มที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อได้ดู  “เทป” เดี่ยว 10 ของ โน้ต อุดม แต้พานิช ที่พูดถึงว่าเรา – คนที่มีอายุมาก-  จะสอนลูกหลานอย่างไร  ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ  ที่เรารู้  กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย  สิ่งต่าง ๆ  ที่เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคดิจิตอล 1000% จะต้องเรียนรู้นั้น  ทั้งหมดอยู่ใน “กูเกิ้ล”

          ลองนึกถึงร้านขายหนังสือที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดอย่างร้านบาร์นแอนด์โนเบิลที่เราอาจจะเคยคิดว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่ดีเพราะในโลกยุคใหม่นั้นคนต้องค้นคว้าหาความรู้มากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน  การที่บริษัทมีร้านค้าเครือข่ายมากมายย่อมได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนรวมถึงทำเลที่เหมาะสมกว่าคู่แข่งประกอบกับชื่อเสียงและผลการดำเนินงานที่มีมาช้านานใครจะคิดว่ามันจะตกต่ำลงได้อย่างรวดเร็วและพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจมาไม่กี่ปี  แต่แล้วอเมซอนซึ่งขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตและขายหนังสือที่เป็น E-Book ซึ่งเป็นข้อมูลอิเลคโทรนิคก็เข้ายึดกุมธุรกิจหนังสือได้อย่างรวดเร็วในอเมริกาและอาจจะค่อย ๆ ลามไปในประเทศอื่น   ในเมืองไทยเองนั้น  แม้ว่าการขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตและหนังสือ E-Book อาจจะยังใช้เวลาอีกหลาย ๆ  ปี ที่จะเข้ามาแทนที่หนังสือเล่ม  แต่ผลกระทบจากการที่คนรุ่นใหม่เริ่มใช้เวลาอ่านข้อมูลอย่างอื่นในอินเตอร์เน็ตมากขึ้นแทนที่จะอ่านหนังสือเล่มก็ทำให้ธุรกิจหนังสือดูเหมือนว่าจะโตช้าลงมากหรืออาจจะไม่โตเลย  นี่ทำให้ธุรกิจขายหนังสือที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังเป็นธุรกิจที่โตเร็วและมีบริษัทที่เข้มแข็งเป็น  “ผู้ชนะ”  กลายเป็นบริษัทที่อาจจะต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อที่จะรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต   นี่เป็นผลจาก  “การทำลายล้างของเทคโนโลยี” เรื่องแรก

          ธุรกิจที่ผลิตและ/หรือขายสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้น  น่าจะเป็นผู้ที่รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรุนแรงที่สุด  เราเห็นความรุ่งเรืองและการดับสลายของสินค้าต่าง ๆ  เร็วมากจนไม่น่าเชื่อ  เช่นเดียวกับบริษัทที่เป็นผู้ผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ   ไล่ตั้งแต่เรื่องของโทรศัพท์มือถือของโมโตโรล่า  ถึงโนเกีย  และถึงโทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” ของแบล็กเบอร์รี่จนถึงแอปเปิลและซัมซุง  เราเห็นเครื่องเล่นดนตรีติดตัววอล์คแมนของโซนี่ที่ล้าสมัยไปเพราะเครื่อง  ไอพอด ของแอปเปิล ที่ก็ล้าสมัยไปเช่นเดียวกัน  แต่ที่หนักที่สุดน่าจะเป็นการตกต่ำลงของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เริ่มจากเครื่องตั้งโต๊ะ  เครื่องโน้ตบุ้ค  มาจนถึงเครื่องแบบแท็บเล็ตที่ต้องพึ่งพิงระบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออินเตอร์เน็ตไร้สายเป็นหลัก  ในด้านของเวบไซ้ต์ค้นหาเองนั้น  ในอดีตเรามียะฮูซึ่งก็ถูกทำลายโดยกูเกิลซึ่งดูเหมือนว่ากำลังจะ “สยายปีก”  ครอบงำธุรกิจอย่างที่ยากที่ใครจะท้าทายได้ง่าย   อย่างไรก็ตาม  เรื่องของเทคโนโลยีนั้น  ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต  ในเมืองไทยเองนั้น  กิจการที่อาจจะเป็น “เหยื่อ” รายแรก ๆ  ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกลุ่มนี้ก็คือผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อาจจะต้องปรับตัวอย่างมากที่จะรักษาผลประกอบการของตนเองไว้ให้ได้

          ธุรกิจบันเทิงและทีวีเป็นธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกระทบมาระดับหนึ่งแล้วและน่าจะกำลังถูกกระทบอย่างแรงในเร็ว ๆ  นี้  ก่อนหน้านี้ธุรกิจขายเทปล่มสลายไปเช่นเดียวกับแผ่นซีดีที่มียอดขายลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการเกิดขึ้นของการโหลดเพลงผ่านระบบอินเตอร์เน็ตอันทรงประสิทธิภาพ  การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลและทีวีผ่านระบบสายและไร้สายต่าง ๆ  ทั้งที่มีอยู่แล้วและอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตทำให้ธุรกิจทีวีที่ใช้คลื่นแบบอานาล็อกอยู่ในสภาพที่ไม่แน่นอนและมีอันตรายเป็นอย่างยิ่งที่จะ  “ถูกทำลาย”  โดยเทคโนโลยีใหม่ที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง

          อุตสาหกรรมบางอย่างเช่นพลังงานนั้น  ในอดีตเราไม่ใคร่จะนึกว่ามันอาจจะถูกกระทบโดยเทคโนโลยีใหม่ได้  ถ้าจะมีผลก็บ้างก็เป็นเรื่องของผลกระทบด้านบวกที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ทำให้การขุดค้นหาพลังงานนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถช่วยลดต้นทุนของกิจการได้  อย่างไรก็ตาม  การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการขุดเจาะและนำเชลแก๊สขึ้นมาใช้ในอเมริกานั้น   ว่ากันว่าทำให้ธุรกิจถ่านหินประสบปัญหาเนื่องจากเชลแก๊สมีราคาถูกกว่าถ่านหินและสะอาดกว่า  ทำให้ความต้องการถ่านหินลดลงส่งผลให้ราคาถ่านหินลดลงและอาจจะต่อเนื่องไปนาน  ผลก็คือ  หุ้นของบริษัทผลิตถ่านหินตกลงมาอย่างหนักราวกับว่ามันเป็นธุรกิจตะวันตกดินทั้ง ๆ  ที่ครั้งหนึ่งมันเป็นธุรกิจดาวรุ่งเนื่องจากความกลัวที่ว่าน้ำมันจะ “หมดโลก”  และมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ  ในช่วงก่อนหน้านี้

          ผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถทำลายล้างเทคโนโลยีเก่าสำเร็จนั้น  มักจะเจริญรุ่งเรืองกิจการมีกำไรก้าวกระโดด  หลาย ๆ  บริษัทกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่มหึมาในช่วงเวลาหนึ่ง  แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มักจะมีผู้ผลิตรายอื่นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะทำลายเทคโนโลยีที่เคยเป็นผู้ชนะ   ผลที่ตามมาก็คือ  บริษัทที่รุ่งเรืองตกต่ำลงมากมาย  บางทีแทบจะล้มละลาย  ดังนั้น  ชัยชนะของผู้ผลิตเทคโนโลยีจึงไม่แน่นอนมีขึ้นมีลง  บางทีก็เร็วมาก   อย่างไรก็ตาม  คนที่มักจะได้ประโยชน์อยู่เสมอจากการพัฒนาของเทคโนโลยีก็คือ  “ผู้ใช้” ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนหรือพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนเอง

          ผู้ใช้เทคโนโลยีที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ  ผู้ให้บริการที่ต้องใช้คนจำนวนมาก  นี่อาจจะรวมถึงกิจการบริการทางการเงินทั้งหลาย  เช่น  ธนาคาร  บริษัทการเงินที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคจำนวนเป็นล้าน ๆ  ราย   หรือกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเช่นร้านซุปเปอร์สโตร์อย่างวอลมาร์ท ที่ต้องให้บริการคนทั้งประเทศและใช้พนักงานนับล้านคน เป็นต้น    ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ทำให้กิจการเหล่านี้สามารถลดต้นทุนการดำเนินงานลงได้มหาศาลและสามารถให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น    ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นโดยไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย  ตัวอย่างของธุรกิจการเงินที่เห็นก็คือระบบเครื่อง ATM และอินเตอร์เน็ตหรือโฟนแบ้งกิ้งที่ลดภาระงานของพนักงานธนาคารไปจำนวนมาก  ในด้านของพวกร้านค้าปลีกสมัยใหม่ก็คือ  ระบบบาร์โค้ดที่ลดภาระงานและเพิ่มความรวดเร็วให้แก่การคิดเงินค่าสินค้าของพนักงานแคชเชียร์  นอกจากนั้น  ระบบการ  “ให้ลูกค้าคิดเงินเอง”  ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วก็น่าจะเป็น “คลื่น” ลูกต่อไปที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่
          ประเด็นของเทคโนโลยีนั้น  เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเหมือนกันว่ามันจะไปทางไหน   อย่างไรก็ตาม  โดยการวิเคราะห์อุตสาหกรรม  เราก็พอจะบอกได้เหมือนกันว่าบริษัทหรือหุ้นที่เราดูอยู่นั้นมีโอกาสที่จะถูกทำลาย  หรือมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี  เราเองคงต้องการแบบหลัง  และถึงแม้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นเราก็คงไม่ให้คุณค่ากับมัน    แต่ถ้าจะดีที่สุดก็คือ  ผมอยากได้ธุรกิจที่จะไม่ถูกกระทบโดยเทคโนโลยีมากกว่า    มันก็คงเหมือนกับที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดว่า  อินเตอร์เน็ตคงไม่ทำให้การซื้อหรือการเคี้ยวหมากฝรั่งเปลี่ยนไป  ดังนั้น  เขาสบายใจมากกับการถือหุ้นหมากฝรั่งริกรี่  เช่นเดียวกับหุ้นโค๊กที่ยังไงคนก็ดื่มเหมือนเดิมไม่ว่าเทคโนโลยีอะไรจะเปลี่ยนไป 

Posted by nivate at 11:13 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/13/1326

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 19, 2013, 12:38:51 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Tuesday, 19 August 2013

ลงทุนระยะยาว-ยาก



นักลงทุนจำนวนไม่น้อยอาจจะบอกว่าตนเองนั้น  “ลงทุนระยะยาว”  ผู้บริหารกองทุนต่าง ๆ  ทั้งไทยและต่างประเทศก็มักจะบอกว่าตนเองเน้น  “ลงทุนระยะยาว”  คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น  VI นั้น  ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าตนเอง  “ลงทุนระยะยาว”   แต่ถ้าเราไปสืบหรือได้มีโอกาสตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของคนส่วนใหญ่ที่ลงทุนหุ้นแบบ  “Active”  หรือใช้เวลากับการลงทุนค่อนข้างมากและบางคนเป็นนักลงทุนเต็มตัวหรือลงทุนเป็นอาชีพ  ผมเชื่อว่าพวกเขาส่วนใหญ่น่าจะมีการลงทุนที่ค่อนข้างสั้น  ถือหุ้นแต่ละตัวไม่เกินหนึ่งปีโดยเฉลี่ย  ถ้าคิดตามมาตรฐานทางวิชาการก็ต้องบอกว่าพวกเขา  “ลงทุนระยะสั้น”  หรือเป็นนักเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

           เริ่มต้นจากผู้บริหารกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไปก่อน  กองทุนเหล่านี้ต่างก็ต้องแข่งขันกับกองทุนอื่นที่มีอยู่มากมาย  พวกเขาต้องรายงานผลงานการลงทุนเป็นประจำทุกไตรมาศหรือทุกหกเดือนหรือทุกหนึ่งปีหรือว่าที่จริงคนก็อาจจะรู้ถึงผลงานการลงทุนได้แทบทุกวันผ่านมูลค่า  NAV หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยของกองทุน  ดังนั้น  ผู้บริหารกองทุนจึงมีแรงกดดันที่จะต้องสร้างผลงานให้ “น่าประทับใจ”  หรืออย่างน้อยก็ต้องให้  “เกาะกลุ่ม”  กับผลงานของคู่แข่งหรือดัชนีตลาดที่ใช้อ้างอิงตลอดเวลา   มิฉะนั้นลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนก็อาจจะถอนหรือขายหน่วยลงทุนออกทำให้กองทุนเล็กลงส่งผลให้การประเมินผลงานของผู้จัดการกองทุนที่ต้องทำทุกปีมีปัญหา  ด้วยเหตุดังกล่าว  การลงทุนซื้อขายหุ้นของผู้จัดการกองทุนจึงต้องเน้นหุ้นที่จะทำผลงานได้ดีในระยะเวลาไม่นานเกินไป  ซึ่งก็หมายความว่าต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในกระแสที่คนกำลัง  “เล่น”  นอกจากนั้น  เมื่อหุ้นตัวไหนมีกำไรมาก  พวกเขาก็มีความคิดที่อยากจะขายทำกำไรมากกว่าที่จะถือไว้ยาวซึ่งอาจจะเกิดการปรับตัวลงในช่วงที่จะมีการวัดผลงานได้  ผลก็คือ  กองทุนมีการซื้อขายหุ้นค่อนข้างมาก  ไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

            กองทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ซึ่งมักจะเป็นกองทุนที่ขายให้เฉพาะกับคนที่มีเงินมากและมีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มากและส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นกองทุนจากต่างประเทศ  ดังนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องสร้างผลงานระยะสั้นอะไรมากนักที่จะทำให้พวกเขาต้องซื้อหรือขายหุ้นบ่อย   อย่างไรก็ตาม  ผลตอบแทนของผู้บริหารกองทุนกลุ่มนี้มักจะอิงอยู่กับผลตอบแทนเป็นรายปีของกองทุน   ด้วยเกณฑ์ดังกล่าว  ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์จึงต้องสร้างผลงานในแต่ละปีให้ดีเพื่อที่ว่าตนเองจะได้ผลตอบแทนหรือโบนัสที่งดงาม  ดังนั้น  หุ้นที่มีกำไรมาก  พวกเขาก็มักจะอยาก “ล็อก” กำไรไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักประกันว่าผลงานประจำปีจะดีพอที่จะทำให้เขาได้เงินและได้ลูกค้าเพิ่มในปีต่อ ๆ  ไป   นอกจากนั้น  ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์เองก็มักจะต้องรายงานการซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวให้ผู้ลงทุนทราบ  ถ้าผู้บริหารซื้อและลงทุนระยะยาวโดยไม่ขายเพื่อที่จะไปซื้อหุ้นตัวใหม่เป็นเวลาหลาย ๆ  ปี  ผู้ถือหน่วยลงทุนจะรู้สึกอย่างไร?  มันคงดูเหมือนกับว่าพวกเขาไม่ใคร่ได้ทำงาน  ซึ่งถ้าผลการลงทุนไม่ดีด้วย  ในที่สุดก็คงไม่มีคนอยากจะนำเงินมาให้พวกเขาบริหาร  ดังนั้น  เฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่จึงมักไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

            นักลงทุนแนว VI ที่มุ่งมั่น  ซึ่งก็คือคนที่ลงทุนโดยอิงจากพื้นฐานของกิจการนั้น  พวกเขาไม่ต้องรายงานใครว่าแต่ละปีทำผลตอบแทนได้เท่าไร  แต่เนื่องจากระบบสื่อสังคมสมัยใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพมาก  ทำให้พวกเขารู้หรือเข้าใจว่า “คนอื่น”  นั้นกำลังทำผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน  ดังนั้น  หลาย ๆ  คนก็มี  “แรงกดดันทางใจ”  ที่จะต้องทำผลงานให้ดีพอ ๆ  กันหรือดีกว่า  ซึ่งวิธีที่เขาคิดว่าจะทำได้ก็คือ  การพยายามค้นหาหุ้นที่ยัง  Undervalue มากกว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่ตลอดเวลา  เสร็จแล้วก็ขายหุ้นตัวที่ถืออยู่เพื่อที่จะนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่  “ถูกกว่า” และมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าหุ้นตัวเดิม  ผลก็คือ  พวกเขาซื้อ ๆ  ขาย ๆ  หุ้นค่อนข้างบ่อยตามการปรับของราคาหุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า  “หุ้น VI” ซึ่งมีราคาขึ้นลงรุนแรงไม่แพ้ “หุ้นเก็งกำไร”  อื่น ๆ

            VI จำนวนมากที่ทำผลงานการลงทุนได้ยอดเยี่ยมในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมายังรู้สึกว่า   การลงทุนถือหุ้นยาวและเติบโตไปกับผลประกอบการของบริษัทนั้น  ก็อาจจะดี  แต่ก็ไม่สามารถจะโดดเด่นอย่างแน่นอน  เหตุผลก็คือ  ผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวจริง ๆ  แล้วแทบจะไม่สามารถโตได้ปีละเกิน 15%  ซึ่งก็จะทำให้การถือหุ้นของบริษัทในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนไม่เกินปีละ 15%   ตัวเลขนี้สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงที่ผ่านมานั้น  เป็นผลตอบแทนที่แทบจะ  “รับไม่ได้”  พวกเขาคิดว่าอย่างน้อยเขาควรจะทำได้อาจจะปีละ 25% ขึ้นไป   ดังนั้น  พวกเขาจึงไม่คิดที่จะถือหุ้นตัวเดียวยาวหลายปีไม่ว่ากิจการจะดีแค่ไหน  พวกเขาคิดว่าเมื่อได้กำไรจากหุ้นตัวไหนมากแล้วและราคาหุ้นอาจจะไม่ถูกอีกต่อไป   เขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวหุ้นใหม่  ผลก็คือ  แม้แต่ “VI ระดับเทพ”  เองก็มีน้อยมากที่จะลงทุนระยะยาว

            การที่เราหานักลงทุนระยะยาวจริง ๆ ได้ยากมากนั้น   ยังอยู่ที่เหตุผลทางจิตวิทยา  ความรู้และความเข้าใจของคน  และอื่น ๆ  อีกหลายอย่างที่ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเป็น  “นักลงทุนระยะสั้น”  มากกว่าระยะยาว  ลองมาดูข้อแรกก็คือ  คนเราโดยเฉพาะที่เป็นคนมีความสามารถสูงนั้น  มักจะเป็นคนที่  Active มีความกระตือรือร้นสูง  พวกเขาต้องการ  Action หรือต้องมีการ  “ทำอะไรบางอย่าง”  เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ  การนั่ง  “กระดิกเท้า”  ไม่ทำอะไร  หรือคิดหรือทำอะไรชักช้าไม่ทันการนั้น   เป็นสัญญาณของคนที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้  ดังนั้น  นักลงทุนที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการลงทุนในตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มที่จะต้อง  “ทำ”  บางคนอาจจะบอกว่าไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อหรือขายหุ้น   แต่เขาต้องไปศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์หาหุ้นที่ถูกมากเมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานของกิจการตลอดเวลาเพื่อหาโอกาสที่งดงาม   ประเด็นก็คือ  ในที่สุดเขาก็พบเพชรเม็ดงามเม็ดใหม่เสมอ  ประเด็นก็คือ  เขามีเงินจำกัด  เขาไม่เหมือน วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่มีเงินใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ   ดังนั้น  เขาต้องขายหุ้นตัวเดิมและไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่อาจจะไม่ดีกว่า   แต่ถูกกว่า  และดังนั้น  เขาก็กลายเป็นนักลงทุนระยะสั้นโดยพฤติกรรม

           การเป็นนักลงทุนระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ทำยากและไม่แน่นอน  คนที่ทำจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการอย่างลึกซึ้ง  เขาต้องดูถึงโครงสร้าง  ภาวะ  และแนวโน้มของอุตสาหกรรม ในระยะยาว  เสร็จแล้วก็ต้องดูถึงความสามารถหรือความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทว่ามีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน  เขายังต้องดูถึงผู้บริหารว่ามีความสามารถและไว้วางใจได้หรือไม่  และแม้ว่าจะดูอย่างดีแล้ว  เขามีความมั่นใจแค่ไหนว่ามันจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไปยาวนานในอนาคต    ตรงกันข้าม  การลงทุนระยะสั้นนั้นทำง่ายกว่ากันมาก  การวิเคราะห์หุ้นอาจจะมองแค่ว่าในระยะเวลาไม่เกินปีบริษัทน่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ค่อนข้างแน่นอนมองจากปัจจัยหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น  บางทีอาจจะรู้และได้รับคำมั่นจากผู้บริหารซึ่งเป็น “ข้อมูลภายใน”  ว่า  ทุกอย่างกำลังไปได้ดี  ดังนั้น  การตัดสินใจและลงมือทำจึงทำได้ง่ายด้วยความมั่นใจที่สูง
            สุดท้าย  ตลาดหุ้นที่ผันผวน  ราคาหุ้นแต่ละตัวที่ผันผวนหนักในแต่ละวันนั้น  กระตุ้นให้คนเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวมาก  สมองคนถูกออกแบบมาให้พยายามลดความไม่แน่นอน  ให้พยายาม  “ลดความเสี่ยง”   แม้บางทีเราอาจจะคิดว่าหุ้นลงมาอย่างไม่มีเหตุผลไม่ควรทำอะไร  แต่เราก็อาจจะขายไปก่อนแล้วคิดว่าค่อยไปเก็บคืนที่ราคาต่ำกว่านั้นก็ได้   ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เรามีแนวโน้มเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวถ้าเราไม่ฝืนมัน         

Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/19/1329

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 22, 2013, 11:52:39 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


หุ้นขั้นเทพ

กันยายน 1, 2012 Filed under บทความ Posted by ดร.นิเวศน์

การวิเคราะห์หุ้นนั้น มีปัจจัยที่ต้องพิจารณามากมายทั้งในด้านเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนบางคนที่อาจจะมีความรู้ในเชิงธุรกิจไม่มากเนื่องจากอาจจะไม่ได้เรียนมาทางสายธุรกิจหรืออาจจะเพิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นนักลงทุนมือใหม่ และนี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมข้อสรุปของหุ้นแต่ละตัวจึงไม่เหมือนกันระหว่างนักลงทุนแต่ละ
คน หุ้นตัวหนึ่งนักลงทุนคนหนึ่งอาจจะดูว่าดีมากเป็นซุปเปอร์สต็อกในขณะที่อีกคนหนึ่งมองว่าเป็นหุ้นธรรมดา ๆ หรือหุ้นตัวหนึ่งนักเล่นหุ้นคนหนึ่งบอกว่ามันเป็น Growth Stock หรือหุ้นโตเร็ว ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่ามันเป็นหุ้นวัฎจักรที่เพียงแต่อยู่ในช่วงขาขึ้นและพร้อมที่จะลงในอนาคต วิธีที่จะดูว่าหุ้นหรือบริษัทที่เราสนใจนั้นน่าจะดีหรือไม่อย่างง่าย ๆ ก็คือ หาปัจจัยสำคัญที่สำคัญมาก ๆ บางตัวมาเป็นเครื่องชี้ที่จะบอกว่ามันเป็นหุ้นดีหรือหุ้นแย่ ตัวอย่างเช่น ถ้าการตลาดหรือยี่ห้อของสินค้าของบริษัทนั้นแข็งแกร่งสุดยอดเหนือกว่าคู่แข่งมาก โอกาสก็สูงว่าหุ้นของบริษัทก็น่าจะดีโดยที่เราอาจจะไม่ค่อยต้องพิจารณาปัจจัยอื่นมากหรือละเอียดนัก เป็นต้น
เครื่องชี้วัดที่สำคัญและวิเคราะห์ได้ง่ายตัวหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและสามารถนำมาใช้ได้ในหุ้นเกือบทุกตัวก็คือตัวเลขของผลประกอบการหรือกำไรในอดีตเพราะนี่คือผลงานที่บริษัททำได้มาแล้ว มันเป็น “ของจริง” ที่เกิดขึ้น และมันสามารถบอกไปถึงอนาคตได้โดยเฉพาะถ้ากำไรที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากผลการทำงานของบริษัทจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากภาวะแวดล้อมที่ทำให้บริษัทกำไรดี พูดง่าย ๆ บริษัทไม่ได้กำไรดีเพราะบริษัท “โชคดี” แต่บริษัทกำไรดีเพราะบริษัทมีฝีมือดีมีความสามารถเหนือคู่แข่ง

วิธีที่จะตัดประเด็นของ “โชค” ออกจากตัวเลขผลประกอบการก็คือ การดูกำไรย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี เพราะถ้าเป็นเรื่องของโชคแล้ว มันคงไม่เกิดติดต่อกันหลาย ๆ ปี มันน่าจะเกิดขึ้นอย่างมากก็น่าจะไม่เกิน 2-3 ปี หลังจากนั้นก็น่าจะกลับมาเป็นปกติซึ่งเราก็จะเห็นว่ากำไรหลังจากนั้นก็จะแย่ลงและเราก็สรุปได้ว่าบริษัทคงไม่เก่งอะไรนัก ตรงกันข้าม ถ้าเรามองผลประกอบการย้อนหลังไปยาว ๆ แล้วพบว่าบริษัทมีผลงานหรือผลประกอบการที่น่าประทับใจมาตลอด เราก็น่าจะสรุปได้ว่าบริษัทนี้มีความสามารถในการแข่งขันสูงและแน่นอนในอนาคตต่อไปมันก็น่าจะสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะบริษัทก็เหมือนคน ถ้าเก่งและมีความสามารถ อย่างไรก็ทำเงินได้ต่อไปในอนาคต
ข้อมูลผลกำไรย้อนหลังที่ผมคิดว่าน่าจะเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าบริษัทดีจริงหรือไม่น่าจะไม่น้อยกว่า 7-10 ปีขึ้นไป เพราะนี่นอกจากจะตัดประเด็นเรื่องโชคของบริษัทแล้ว มันยังตัดประเด็นของเรื่องวัฏจักร์ของธุรกิจที่มักจะมีเวลาขึ้นลงไม่เกิน 3-5 ปีด้วย ดังนั้น ถ้าจะหาปัจจัยสำคัญบางตัวที่จะบอกว่าบริษัทหรือหุ้นดีหรือไม่ ผมคิดว่าข้อมูลผลกำไรย้อนหลังประมาณ 7-10 ปี เป็นตัวที่สำคัญมากตัวหนึ่ง และข้อเสนอของผมก็คือ ถ้าบริษัทไหนมีกำไรสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราตั้งแต่ 10% ต่อปีขึ้นไป มาตลอดโดยที่บริษัทไม่ต้องเรียกเงินจากผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเลย ก็ถือว่าบริษัทนั้นหรือหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยมโดยไม่ต้องไปดูปัจจัยอื่นมากมาย ถ้าจะใช้คำหรู ๆ แบบที่วัยรุ่นใช้กับดาราชายที่หน้าตาดีมากว่า “หล่อขั้นเทพ” ผมก็อยากจะเรียกหุ้นที่มีผลประกอบการดังกล่าวว่าเป็น “หุ้นขั้นเทพ”

นอกจากตัวเลขผลกำไรแล้ว ปันผลก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่สำคัญ เพราะถ้าบริษัทจ่ายปันผลออกมาน้อย กำไรในอนาคตก็ต้องมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าบริษัทจ่ายปันผลในแต่ละปีในอัตราสูงเช่นเกิน 50% ของกำไรแต่ละปีด้วย นี่ก็เป็นตัวเสริมให้เป็นหุ้นเทพมากขึ้น ถ้าอัตราการจ่ายปันผลต่ำความเป็นหุ้นขั้นเทพก็ควรจะลดลง นอกจากนั้น ความเป็นเทพมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับการเติบโตของกำไรเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา ถ้ากำไรโตปีละถึง 15% ขึ้นไป เราก็อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้นเทพมาก แต่ถ้ากำไรโตต่ำกว่า 10% แบบนี้ก็อาจจะเรียกว่าเทพธรรมดาหรืออาจจะไม่เทพเลยถ้ากำไรโตน้อยมากเพียงแค่ 4-5% เป็นต้น เช่นเดียวกัน ความสม่ำเสมอของกำไรในแต่ละปีก็เป็นตัวบอกความเป็นเทพมากหรือน้อยได้ บริษัทที่มีกำไรแทบจะเพิ่มขึ้นทางเดียวปีต่อปี ไตรมาศต่อไตรมาศ แบบนี้ก็เทพมาก แต่บริษัทที่มีกำไรสลับขึ้นลงและโดยเฉพาะที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงท้าย ๆ แบบนี้ความเป็นเทพก็ด้อยลง
หุ้นเทพนั้น โดยปกติราคาจะวิ่งขึ้นเสมอและต่อเนื่องยาวนานตราบที่แนวโน้มของกำไรยังโตขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับอดีต ดังนั้นการถือหุ้นเทพนั้นบางครั้งเราสามารถถือยาวเป็น 5 ปี 10 ปีได้โดยไม่ต้องทำอะไร ในช่วงสั้น ๆ นั้น แน่นอน หุ้นเทพอาจจะมีราคาสูงหรือต่ำจนดูเหมือนกับว่ามันจะ Overvalue หรือ Undervalue แต่เราก็ไม่ควรที่จะต้องมีปฏิกิริยาอะไรนักยกเว้นว่ามันจะเกินไปมาก เหตุผลก็คือ ในที่สุดมันก็จะ “กลับมา” คือหุ้นก็จะขึ้นต่อไปตามผลประกอบการของมัน ผมเองเคยพบนักลงทุนหลายคนที่พยายาม “เล่นสั้น ๆ” ในหุ้นเทพ นั่นคือ เขาจะขายเมื่อหุ้นขึ้นไปแรง เสร็จแล้วก็กลับเข้าไปเก็บเมื่อหุ้นเทพปรับตัวลงมา ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายมันคุ้มค่าไหม เพราะบางครั้งต้องกลับไปซื้อในราคาแพงขึ้นเพราะหุ้นไม่ตกกลับลงมาตามที่คาด บางคนที่ “ขายหมู” ไปแล้วก็ไม่กลับมาซื้ออีกและทำให้พลาด “กำไร” มหาศาลที่ตามมาอีกหลาย ๆ ปี
ข้อจำกัดของการลงทุนในหุ้นเทพนั้นมีพอสมควร เหตุผลหนึ่งก็คือหุ้นเทพนั้นมักจะไม่ถูก นั่นทำให้VIจำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน พวกเขามักจะดูว่ากำไรที่โตขึ้นต่อปีของหุ้นขั้นเทพนั้นมักจะ “ไม่ใคร่สูง” เช่น “แค่ 15%” แต่ค่า PE ของหุ้นนั้นอาจจะสูงถึง 20 เท่าหรือมากกว่า และดังนั้น ค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเติบโตนั้นสูงกว่า 1 เท่า ดังนั้น ตาม “ตำรา” ก็ต้องบอกว่าไม่คุ้มที่จะลงทุน สำหรับประเด็นนี้ผมเองคิดว่าค่า PEG นั้นอาจจะใช้ไม่ได้กับเรื่องของหุ้นเทพ และส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็มักจะมอง Growth หรือการเติบโตของกำไรไปแค่ 3-4 ปี ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของหุ้นเทพ

ข้อจำกัดต่อมาของหุ้นเทพก็คือ บางบริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนไม่นาน ดังนั้นจึงมีข้อมูลไม่พอ แต่ถ้าบริษัทนั้นกลายเป็นหุ้นเทพจริง ๆ ในเวลาต่อมา การลงทุนในหุ้นขั้นเทพตั้งแต่ตอนต้นอาจจะสามารถทำกำไรได้มหาศาล เพราะราคาหุ้นในขณะนั้นอาจจะไม่สูง และนี่นำมาสู่ข้อที่ต้องระวังที่สำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นเทพก็คือ เราต้องพิจารณาดูว่าหุ้นเทพที่เราดูอยู่นั้นกำลังอยู่ในหุ้นเทพ “ขั้นสุดท้าย” หรือเปล่า นั่นก็คือ การเติบโตของกำไรของหุ้นเทพนั้นใกล้สิ้นสุดหรือยังในขณะที่ราคาหุ้นเทพขึ้นไปสูงมาก เพราะถ้าเราเข้าไปลงทุนในช่วงที่บริษัทเริ่มอิ่มตัวไม่สามารถโตต่อไปได้แล้วด้วยเหตุผลต่าง ๆ ในที่สุดราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวลงไปเรื่อย ๆ โดยไม่กลับขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม หุ้นเทพส่วนมากก็มักจะมีอายุค่อนข้างยาว บางบริษัทอย่างหุ้นวอลมาร์ทในอเมริกานั้นเติบโตยาวนานหลายสิบปี ดังนั้น การสรุปว่าหุ้นขั้นเทพตัวที่มองอยู่นั้น “หมดยุค” แล้ว จะต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยทั่วไปแล้ว หุ้นขั้นเทพที่ไม่ใช่หุ้นไฮเท็คนั้น ถ้าจะตกต่ำลง ก็มักจะใช้เวลาเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี ความจำเป็นที่จะต้องรีบขายนั้นมักจะไม่มี





หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 27, 2013, 09:30:30 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 26 August 2013

ผลตอบแทนระยะสั้น-ยาวของหุ้น




ในการคำนวณหาผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นต่อปีที่เราคาดว่าจะได้รับแบบ VI นั้น   วิธีง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือการใช้สูตรที่ว่า  ผลตอบแทนการลงทุน “ระยะยาว” นั้น  จะเท่ากับอัตราปันผลตอบแทนในปีแรก  บวก  อัตราการเติบโตของกำไรหรือปันผลของบริษัท  ตัวอย่างเช่น  ถ้าในปีแรกที่เราลงทุนนั้น  เราคาดว่าจะได้ปันผลเป็นเงิน 3 บาทต่อหุ้น  ในขณะที่ราคาหุ้นเท่ากับ 100 บาท  แบบนี้ก็คืออัตราปันผลในปีแรกเท่ากับ 3%   และถ้าเราคาดว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ “โตเร็วมาก”  โดยเฉลี่ยแล้วกำไรหรือปันผลสามารถโตได้ถึง 12% ต่อปีไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาอาจจะ 20-30 ปีขึ้นไป  ถ้าเป็นแบบนี้  ผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นตัวนี้ก็คือ  ปีละ 15% ทบต้น  ซึ่งก็ถือว่าเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมากเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก” ที่หาได้ยาก  ในตลาดหลักทรัพย์อย่างตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นหลายร้อยตัวนั้น  ก็จะมีไม่กี่ตัวที่ทำได้  และถ้าใครถือหุ้นตัวนั้นไว้ยาวนานในปริมาณที่มาก  เขาก็อาจจะรวยไปเลย  ถ้าเป็นในต่างประเทศก็อาจจะเป็นระดับหุ้นโค๊กหรือวอลมาร์ท  ในตลาดหุ้นไทยนั้นผมไม่ได้ศึกษาดู  อาจจะเป็นหุ้นแบบปูนใหญ่ก็ได้

              ถ้าเราคิดว่าตลาดหลักทรัพย์นั้น  ก็เหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง  โดยที่ดัชนีตลาดหุ้นก็คือราคาหุ้น  เราก็จะพบว่า “หุ้นตลาด”  นั้น  เมื่อเข้ามาซื้อขายในวันแรกประมาณเดือนเมษายน 2518 มีราคาเท่ากับ 100 บาทต่อหุ้น  พอถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2556 คิดเป็นเวลาประมาณ 38 ปี 4 เดือนราคาหรือดัชนีขึ้นมาเป็น 1338 บาทต่อหุ้น นี่เท่ากับว่าผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาเท่ากับประมาณ 7% ต่อปีแบบทบต้น  นอกจากนั้น  ผู้ถือหุ้นตลาดยังได้ปันผลแต่ละปีประมาณ 3%   ดังนั้นเท่ากับว่าคนที่ลงทุนถือ “หุ้นตลาด” ในระยะยาวได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมและน่าจะเหนือกว่าการลงทุนหลักอย่างอื่น  ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน  ซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรรัฐบาล  หรือแม้แต่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ต้องพูดถึงทองหรือการลงทุน “ทางเลือก” อื่น ๆ   ว่าที่จริง ตลาดหุ้นไทยนั้นต้องถือว่าเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในสหรัฐทีเดียวและดีกว่าตลาดหุ้นจำนวนมากในโลก   ผมเองไม่รู้ว่าตอนที่เริ่มมีการซื้อขาย “หุ้นตลาด” ในปีแรกนั้น  อัตราการจ่ายปันผลเป็นเท่าไร   แต่ถ้าให้คาดเดาผมคิดว่าก็อาจจะประมาณปีละ 3%   และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราก็สามารถที่จะพูดต่อได้ว่าอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วง 38 ปีที่ผ่านมาก็คือ 7% ต่อปี

            ในกรณีผลตอบแทน “ระยะสั้น” หรือ  “ระยะกลาง” ตั้งแต่หนึ่งปีหรือหลาย ๆ ปีจนถึง 10 ปีหรืออาจจะ 20 ปี นั้น  เราจะต้องเพิ่มตัวเลขอีกตัวหนึ่งเข้าไปในสูตรหาผลตอบแทนระยะยาวที่กล่าวข้างต้น  ตัวเลขตัวนั้นก็คือ  การเปลี่ยนแปลงของค่า PE หรือราคาเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น   ในกรณีที่ค่า PE ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมผลตอบแทนจากการลงทุนของเราก็เหมือนกับกรณีการลงทุนระยะยาว  เช่น  ปันผลปีแรก 3%  และกำไรโต 12% ผลตอบแทนทั้งปีเท่ากับ 15%    แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง  เช่น  ค่า PE เดิมของหุ้นเมื่อตอนเราซื้อหุ้นเท่ากับ 10 เท่า  แต่ในวันที่เราขายหุ้นหลังจากถือหุ้นมา 1 ปีเท่ากับ 20 เท่า  แบบนี้ก็ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณหนึ่งเท่าตัวหรือเท่ากับเราได้กำไรเพิ่มขึ้น 100%  เมื่อบวกกับผลตอบแทนจากปันผล 3% และผลตอบแทนจากการเติบโตของกำไรอีก 12%  กลายเป็นว่าผลตอบแทนในระยะเวลา 1 ปีของบริษัทนี้คือ 115%    แต่ถ้าสมมุติว่าการเปลี่ยนแปลงของค่า PE นี้เกิดขึ้นในปีที่ 2แทนที่จะเป็นปีแรก  ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 100%  นั้นก็จะต้องแบ่งออกเป็น 2 ปี หรือเท่ากับกำไรต่อปีที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 50%  เมื่อรวมกับผลตอบแทนจากปันผลเริ่มแรกที่ 3%  และอัตราการเติบโตที่ 12%  เท่ากับว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของหุ้นตัวนี้ก็คือประมาณ 65%    ยิ่งระยะเวลาการลงทุนยาวมาก  ผลกระทบจากการปรับค่า PE  ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ  จนในที่สุดก็แทบไม่มีผล

             การเปลี่ยนแปลงของ PE นั้น  มักจะเกิดขึ้นจากมุมมองต่อหุ้นที่เปลี่ยนไปของนักลงทุนนั่นก็คือ  ถ้านักลงทุนมองว่าบริษัทมีพื้นฐานที่ดีขึ้น  อนาคตจะมีกำไรที่โตเร็วขึ้นเนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม  เขาก็จะเข้ามาลงทุนหรือยอมจ่ายมากขึ้นในการเข้ามาซื้อหุ้นหรือมาเป็นเจ้าของหุ้น   ผลก็คือราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปทั้งที่กำไรในระยะสั้น ๆ  อาจจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก  นี่ทำให้ค่า PE ปรับตัวสูงขึ้น  ตรงกันข้าม  ถ้านักลงทุนมองว่าพื้นฐานของบริษัทแย่ลง  อนาคตการเติบโตจะช้าลงหรืออาจจะติดลบ  เขาก็จะขายหุ้นทิ้งหรือจะซื้อแต่ต้องในราคาที่ต่ำลง  ผลก็คือ  ราคาหุ้นตกลงมา  ค่า PE ก็จะลดลง  และในกรณีหลังนี้  ผลตอบแทนของการลงทุนระยะสั้นหรือระยะกลางก็จะปรับตัวลง    จากตัวอย่างเดิมถ้าค่า PE ลดลงจาก 10 เท่า เหลือ 9 เท่า  ก็ทำให้ราคาหุ้นหายไป 1 เท่าของกำไรต่อหุ้นที่ 12%   ดังนั้น  ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ 15% ต่อปีก็กลายเป็นเหลือแค่ 3% ต่อปี ทั้ง ๆ ที่กำไรในปีแรกก็ยังโต 12%  อยู่

            จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเราก็จะเห็นว่าในระยะสั้นแล้ว  ผลตอบแทนจากการลงทุนส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับมุมมองหรือความเห็นของนักลงทุนต่อตัวหุ้นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรมากกว่าข้อเท็จจริงว่าผลประกอบการจะเป็นอย่างไรหรือบริษัทมีการจ่ายปันผลในปีแรกมากน้อยแค่ไหน  เพราะว่าผลตอบแทนการลงทุนนั้นมักจะถูกกระทบจากการปรับค่าของ PE ค่อนข้างมาก    แต่ในระยะยาวแล้ว  ผลตอบแทนของการลงทุนก็มักจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่เกิดขึ้นจริงต่อเนื่องยาวนานในอัตราที่ค่อนข้างสูงบวกกับอัตราการจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือ Dividend Yield ในปีแรก  ถ้าจะพูดตามหลักของ เบน เกรแฮม  ก็คือ  ในระยะสั้นตลาดหุ้นนั้นเป็นเหมือน “เครื่องลงคะแนน” ที่ “ความเห็น” ของนักลงทุนแต่ละคนจะเป็นตัวกำหนดราคาหุ้น  แต่ในระยะยาวแล้ว  ตลาดหุ้นเป็นเหมือน  “เครื่องชั่ง”  นั่นก็คือ  ราคาหรือผลตอบแทนของหุ้นขึ้นอยู่กับ  “น้ำหนัก”  หรือผลประกอบการที่บริษัททำได้จริง

             สำหรับ VI แล้ว  การที่จะเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหนนั้น  ผมคิดว่าเราควรคาดการณ์  “ผลตอบแทนระยะยาว”  เป็นหลัก    ค่าอัตราปันผลต่อราคาหุ้นหรือ Dividend Yield ในปีแรกนั้นน่าจะคาดการณ์ได้ไม่ยากนักเนื่องจากการคาดการณ์กำไรในระยะเวลาเพียงปีเดียวรวมถึงการจ่ายปันผลนั้นโอกาสผิดพลาดรุนแรงคงไม่สูง   ตัวเลขที่ยากกว่ามากก็คือ  อัตราการเจริญเติบโตของกำไรหรือปันผลในระยะยาวซึ่งอาจจะมองไปข้างหน้าอย่างน้อยประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป  ผมเองคิดว่าการประมาณการที่มากกว่าปีละ 15% ต่อปีนั้นเราจะต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นจริง ๆ  เพราะมันต้องหมายถึงว่าบริษัทเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”จริง ๆ    เมื่อเราได้ตัวเลขสองตัวนี้แล้ว  เราก็จะรู้ว่าผลตอบแทนที่เราคาดหวังสำหรับการลงทุนในหุ้นตัวนั้นคือเท่าไร   ถ้าเราพบว่าหุ้นตัวหนึ่งน่าจะมีการเติบโตของกำไรเกิน 10% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาว  นี่ก็เพียงพอในขั้นต้นแล้วว่ามันอาจจะเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนโดยไม่ต้องคิดถึงอัตราปันผลตอบแทนในปีแรก
             อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุน  ตัวเลขค่า PE ของหุ้นตัวนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเท่า ๆ  กันเพราะเราเองอาจจะไม่ได้ลงทุนในระยะเวลาที่ยาวมากขนาดเป็นสิบ ๆ  ปีขึ้นไป  ดังนั้น  การเปลี่ยนแปลงในค่าของ PE จึงอาจจะกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนของเราได้   บางครั้งก็ค่อนข้างมาก   วิธีการที่จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนที่ดีก็คือ  ถ้าค่า PE  ในวันที่เราซื้อมีค่าค่อนข้างต่ำเช่นไม่เกิน 10 เท่า  โอกาสที่ค่า PE จะปรับขึ้นก็มีมากกว่าซึ่งนั่นจะทำให้ผลตอบแทนต่อปีของเราดีขึ้น  ถ้าค่า PE  อยู่ในช่วงกลาง  ๆ  เช่น ประมาณ  13-14 เท่า  เราก็อาจจะมองว่าผลตอบแทนก็คงประมาณที่เราคำนวณได้ต่อปีในระยะยาว  แต่ถ้าค่า PE  ค่อนข้างสูงเช่น  20 เท่า ขึ้นไป  เราก็ต้องระวังว่าโอกาสที่ค่า PE ในอนาคตอาจจะปรับตัวลงก็เป็นไปได้เพราะมุมมองของนักลงทุนต่อหุ้นในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปได้และนั่นจะทำให้ผลตอบแทนลดลง   แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน  ผลกระทบของ PE จะน้อยลงถ้าเราถือหุ้นยาวขึ้น  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนระยะยาวจริง ๆ  แล้ว  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็น่าจะยังเป็นเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตในระยะยาวของบริษัท

Posted by nivate at 10:30 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/26/1332


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 04, 2013, 11:08:10 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 2 September 2013

การทำใจยามหุ้นตก


เวลาที่หุ้นตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเดือนอย่างเช่นในช่วงนี้ที่ดัชนีหุ้นได้ตกลงมาจากจุดสูงสุดประมาณ 1650 จุด เหลือเพียง 1294 จุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2556 หรือเป็นการตกลงมาถึงเกือบ 22% ภายในเวลา 2-3 เดือน คำถามที่ผมมักจะได้รับก็คือ  เราควรทำอย่างไร?  ขายหรือซื้อ?  คำตอบของผมก็มักจะเป็นว่า  ไม่ควรทำอะไร  ถ้ามีหุ้นอยู่ก็ต้อง  ทำใจ!

           สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ถือหุ้นลงทุนต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบ ๆ ปีอย่างตัวผมเองนั้น  การทำใจข้อแรกก็คือ  คิดว่าหุ้นนั้นยังไม่ได้ตกลงมามากนัก-- มองจากการวัดผลระยะยาวปีต่อปี  เพราะถ้าดูจากดัชนีหุ้นเมื่อตอนสิ้นปี 2555 ที่ 1392 จุด  ดัชนีหุ้นก็เพิ่งตกลงมาเพียง 7% และถ้ารวมปันผลที่ประมาณ 3%  ที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ได้จ่ายไปแล้วในเดือนพฤษภาคม ก็แปลว่าตลาดนั้นติดลบไปเพียง 4%  ไม่ได้ร้ายแรงอะไรเลย   ว่าไปแล้ว  นี่อาจจะเป็นสถานการณ์ปกติที่มักจะเกิดขึ้นนั่นก็คือ  ตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมามากต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว  จากดัชนีเมื่อสิ้นปี 2551 ที่ 450 จุด คิดแล้วเป็นการปรับขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นปีละกว่า 30%  ดังนั้น  การที่ดัชนีในปีนี้จะปรับตัวลดลงบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ  และคนที่ลงทุนระยะยาวก็ยังไม่น่าจะเดือดเนื้อร้อนใจอะไรมากนัก

             การทำใจหรือปลอบใจตัวเองข้อที่สองก็คือ  ดูว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหรือหุ้นที่เราถืออยู่นั้น  ยังมีกำไรดีรวมถึงเงินปันผลที่คาดว่าจะจ่ายนั้นจะต่ำลงหรือเปล่า?  ถ้าคำตอบของเราก็คือ  บริษัทยังดีเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม   กำไรก็ยังไปได้  ปันผลก็น่าจะยังจ่ายได้ไม่ลดลง  มีแต่ราคาหุ้นเท่านั้นที่ตกลงไปมาก  ในกรณีอย่างนี้เราก็ไม่ควรจะเสียใจหรือวิตกอะไรมากนัก  เพราะการตกลงมาของหุ้นอาจจะเป็นเรื่องระยะสั้น   ในที่สุดราคาหุ้นก็จะกลับมา  ในระหว่างนั้น  เราก็รอรับปันผล  และถ้าเงินปันผลที่เราได้รับยังใกล้เคียงกับของปีก่อนหน้า   นั่นก็หมายความว่าการลงทุนของเราก็ยังอยู่ในเส้นทางของความสำเร็จเหมือนเดิม—ในระยะยาว

             การปลอบใจตัวเองในกรณีหุ้นตกลงมาแรงในระยะสั้น ๆ  นั้น  น่าจะมีหลายอย่างที่ทำได้  เช่น  ถ้าการตกลงมาของมูลค่าหุ้นในพอร์ตของเรานับจากปลายปีที่แล้วยังน้อยกว่าการตกลงมาของดัชนีหุ้นในตลาด  เราก็ควรจะรู้สึกดีใจที่ว่า  ยังไงเสียเราก็ยังทำได้ชนะตลาด  และถ้าเรายังรักษาสถิตินี้ได้  ในระยะยาวเราก็น่าจะทำได้ดีอยู่  อย่าไปคิดว่าเราเคยมีพอร์ตสูงสุดเท่านั้นเท่านี้แล้วตอนนี้มูลค่ามันหายไปมาก  พยายามคิดว่าพอร์ตของหุ้นในระยะสั้น ๆ  นั้น  บางครั้งมันก็ไม่ใช่ของจริง!  มันอาจจะเกิดจากการที่ตลาดกำลังร้อนแรงเกินไปและทำให้มูลค่าหุ้นของเราสูงเกินไป   ตอนนี้มันอาจจะปรับตัวลงมาที่มูลค่าที่มันควรจะเป็น  พูดง่าย ๆ  ผลงานของเราไม่ได้เลวร้ายอะไร  และนี่ก็อาจจะเป็นการปรับตัวเพื่อ  “สร้างฐานใหม่”

              บางทีหุ้นที่เราถืออยู่รวมถึงมูลค่าพอร์ตหุ้นของเราอาจจะทำได้แย่กว่าดัชนีตลาดหุ้น  นี่ก็อาจจะทำให้เราเศร้า  แต่ถ้าเรามองไปที่คนอื่นหรือเพื่อนบางคนแล้วพบว่าเขายิ่งหนักกว่า  เราก็อาจจะรู้สึกดีขึ้น  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ลองดูว่าย้อนหลังไปหลายปีผลการลงทุนของเราเป็นอย่างไร   ถ้าพบว่าเราทำผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดมาก   การที่เราทำได้แพ้ตลาดในครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  เพราะเป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะดีกว่าตลาดไปตลอด   แม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เองก็เคยแพ้ตลาดอยู่เป็นครั้งคราว  โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  นี้  ดังนั้น  เราจะเศร้าไปทำไม?

             สำหรับคนที่ไม่ได้มีเงินอยู่ในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์และโดยเฉพาะที่มีเงินสดอยู่ในอัตราที่สูง   การที่หุ้นตกมาแรงนั้น   เราก็ไม่ควรต้องเสียใจว่าขาดทุนจากหุ้น   เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะลงทุนซื้อหุ้นที่คุ้มค่า  เป็นหุ้น VI ด้วยเงินสดที่เรามีอยู่   การลงทุนของเราหลังจากนี้น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต  ว่าที่จริงคนที่ลงทุนหุ้นเต็มร้อยในขณะนี้จะต้องอิจฉาเราที่จะสามารถซื้อหุ้นคุณภาพดีราคาถูก  ประเด็นก็คือ  อย่าเสียใจกับการขาดทุนจากหุ้นจนทำให้หมดกำลังใจที่จะใช้เงินสดที่ถืออยู่เข้ามาลงทุนเพิ่ม  และนี่จะเป็น  “คำปลอบใจ” ที่มีค่าในระยะยาว

             ถ้าเรารู้สึกว่าผลการลงทุนของเรา ณ. ขณะนี้ก็คือ  “แพ้เกือบทุกด้าน” พอร์ตเสียหายหนัก  ทั้งเครียดทั้งเศร้า  แต่อย่า “ยอมแพ้”  การลงทุนนั้นมองอีกด้านหนึ่งก็คือการต่อสู้ที่มีเดิมพันที่สูงมาก  หลายครั้งนั้นเราได้ชัยชนะที่งดงาม   หลายครั้งเราแพ้และหดหู่  ทางหนึ่งก็คือคิดว่าหนทางข้างหน้ายังยาวไกล  วันหนึ่งเราก็จะต้องกลับมาได้ชัยชนะถ้าเรายึดหลักการการลงทุนอย่างถูกต้อง  ถ้าอยากให้กำลังใจกับตัวเองก็ลองนึกถึงเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สองที่นายพล แมคอาเธอร์ ต้องพ่ายแพ้กองทัพญี่ปุ่นและหนีออกจากฟิลิปปินส์พร้อมกับคำกล่าวอมตะที่ว่า  “I shall return” ก็น่าจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น  เพราะหลังจากการหนีออกจากฟิลิปปินส์อย่าง “เสียศักดิศรี” อเมริกันก็ตีโต้กองทัพญี่ปุ่นในทุกด้านและกลายเป็นฝ่ายชนะอย่างสมบูรณ์ในภายหลัง

             การปลอบใจตนเองอีกอย่างหนึ่งที่ควรทำก็คือ  การศึกษาบริษัทหรือหุ้นที่เราถืออยู่อย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่งว่าพื้นฐานและความแข็งแกร่งของกิจการเป็นอย่างไร  อนาคตระยะยาวของบริษัทยังดีเหมือนเดิมหรือเปล่า  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจยังเอื้ออำนวยต่อบริษัทหรือไม่  การถือหุ้นต่อไปน่าจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าใช่ไหม   ถ้าคำตอบก็คือใช่  เราก็ต้องมั่นใจว่าในที่สุดราคาหุ้นก็จะกลับมา  เพราะ  “สัจธรรม” ของหุ้นก็คือ  ราคาหุ้นในระยะยาวนั้นจะโตขึ้นตามกำไรของบริษัท  ดังนั้น  ใจเย็น ๆ  ไม่ต้องกระวนกระวายใจกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาในระยะสั้น

            ในบางเวลาเราอาจจะรู้สึกว่าเม็ดเงินหรือมูลค่าของพอร์ตของเราหายไปมากเหลือเกิน  บางคนเป็นหลายล้านหรือหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาท  เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากที่จะไม่เสียใจหรือเสียดาย  แต่ถ้าจะปลอบใจตนเองเราก็ต้องหันมามองในอีกมุมหนึ่งว่า  เงินที่เราเหลืออยู่นั้น  ที่จริงมันก็อาจจะยังมากอยู่มาก  มันยังสามารถรองรับการใช้ชีวิตของเราเหมือนเดิมอย่างไม่มีข้อสงสัย  ชีวิตเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปสักนิดเดียวเพราะการที่หุ้นตกลงมา  เราเศร้าเพราะ “ตัวเลขในบัญชีหุ้น” ลดลง  ซึ่งมันไม่น่าจะมีเหตุผลเลย  ดังนั้น  วิธีที่จะปลอบใจตนเองก็คือ  คิดเสียว่ามันเป็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  โดยที่เราไม่เคยได้ใช้มัน  ตราบใดที่ถึงเวลารอบบัญชีแล้วมีเม็ดเงินจากเงินปันผลเข้ามาในบัญชีเงินฝากของเรามากเหลือเฟือที่จะใช้จ่ายในชีวิตของเรา  ทุกอย่างก็  o.k.
              และสุดท้ายของการที่จะช่วยให้เราทำใจได้ดีในภาวะที่หุ้นตกลงมาเป็นตลาดหมีและทำให้กำไรของเราหดหายหรือขาดทุนไปมากเมื่อเทียบกับช่วงประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาหรือเทียบกับเมื่อตอนสิ้นปีที่แล้วก็คือการหันเข้าหาธรรมะและ/หรือการทำสมาธิ  ธรรมะนั้นผมมองว่าเป็นการช่วยให้เราทำใจได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในระยะยาว  เหตุผลที่สำคัญก็คือ  ธรรมะช่วยให้เรามองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต  สอนให้เรายอมรับ “ชะตากรรม” ได้ดีขึ้น  พูดง่าย ๆ  สอนให้เรารู้จัก “ปลง” และ “ละกิเลส”  ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ  มีทุกข์น้อยลงเมื่อมีเงินน้อยลง  ส่วนการทำสมาธินั้น  ผมคิดว่าช่วยในระยะสั้นที่บางครั้งจิตใจเรากระวนกระวายใจเกิดความเครียด  ผมเชื่อว่าการนั่งทำสมาธิหายใจเข้าออกช้า ๆ   นั้นจะทำให้จิตใจเราสงบและเราลืมหรือไม่สนใจว่าหุ้นกำลังตกเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ได้

Posted by nivate at 10:35 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/09/02/1334


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 09, 2013, 09:31:14 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 16 September 2013

หลีกเลี่ยงหายนะจากวิกฤติตลาดหุ้น



   สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ  “วิกฤติตลาดหุ้น”  เพราะวิกฤติทำให้หุ้นตกลงมามาก  ผมเองนิยามว่าถ้าดัชนีตลาดลดลงตั้งแต่ประมาณ 40% ขึ้นไปภายในระยะเวลาหนึ่งปี  แบบนี้ผมถือว่าเป็นวิกฤติ   และถ้าเราถือหุ้นไว้เต็มพอร์ต  เราก็อาจจะขาดทุนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ได้ทั้ง ๆ  ที่หุ้นที่เราถืออยู่อาจจะมีพื้นฐานและผลประกอบการที่ยังดีอยู่  อย่างไรก็ตาม  บางครั้งวิกฤติตลาดหุ้นก็ฉุดให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปและการขาดทุนของเราก็อาจจะหนักจนแทบจะเป็น  “หายนะ”  ดังนั้น  หน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผมก็คือ  การพยายามหลีกเลี่ยง  “หายนะ”  ซึ่งรวมถึงหายนะจากภาวะตลาดหุ้น   ว่าที่จริง  ถ้านักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติตลาดหุ้นได้แล้วละก็  ผมคิดว่าเขาแทบจะไม่ต้องเลือกหุ้นเก่งกาจอะไรเลย   แค่ซื้อกองทุนรวมหุ้น  ถือไว้  แล้วก็ขายหน่วยลงทุนทิ้งเมื่อเห็นว่าตลาดหุ้นจะวิกฤติในระยะประมาณหนึ่งปีข้างหน้า   ทำได้แบบนี้ผลตอบแทนของเขาก็จะดีมากในระดับ  “เซียน”  ผมลองศึกษาคร่าว ๆ  ดูถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นว่าถ้าเราสามารถเลี่ยงหายนะที่เกิดจากวิกฤติตลาดหุ้นตั้งแต่เปิดตลาดมาจนถึงปัจจุบัน  ผลตอบแทนของเราจะเป็นอย่างไร?
   เริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ในเดือนเมษายน 2518 จนถึงสิ้นปี 2521 เป็นเวลาประมาณ 3 ปีแปดเดือนนั้น  ดัชนีตลาดเพิ่มขึ้นจาก 100 จุดเป็นประมาณ 258 จุด  หรือเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 160%  เท่ากับผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 29.5%  ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่หุ้นบูมอย่างหนักโดยเฉพาะในช่วงปี 2520 ถึง 2521 ส่วนหนึ่งจากการปั่นหุ้นและการใช้เงินกู้จากบริษัทเงินทุนบางแห่งเช่นราชาเงินทุนมาซื้อหุ้นของตนเองดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงเกินพื้นฐานไปมากในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมธุรกิจหลักทรัพย์   ในช่วงปลายปี 2521 นั้น  ถ้านักลงทุนตระหนักว่าตลาดหุ้นกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติและขายหุ้นออกไปหมด  เขาก็จะหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติตลาดหุ้นในปี 2522 ที่ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาประมาณ 42% เหลือเพียง 149 จุดในตอนสิ้นปีได้  ในช่วงเกือบ 4 ปีแรกของตลาดหุ้นนั้นเรายังไม่มีกองทุนรวมให้ลงทุนแต่นักลงทุนที่ลงทุนในช่วงนั้นต่างก็ได้กำไรกันโดยไม่ต้องเลือกหุ้น  เขาเพียงแต่อยู่ในตลาดก็พอแล้ว
   สมมุติว่าหลังจากปีวิกฤติ 2522  นักลงทุนนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นใหม่ในตอนสิ้นปี 2522 หรือต้นปี 2523 ที่ดัชนี 149 จุด  และเขาก็ถือมันไปเรื่อย ๆ  ตราบที่ยังไม่มีสัญญาณวิกฤติรอบใหม่แม้ว่าในช่วงปีแรก ๆ  ตลาดหุ้นจะซบเซามาก  ดัชนีตลาดหุ้นแทบจะไม่ขยับเลยเป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 6 ปี  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ทะยานขึ้นในปี 2529 และพุ่งขึ้นอย่างแรงในปี 2530 ตามตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจนถึงเดือนตุลาคมที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday ที่ตลาดหุ้นถล่มทะลายทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม  เหตุการณ์แบล็กมันเดย์นั้น  ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจไทยเลย  ตลาดไทยเองก็ยังเป็นตลาดปิดที่ต่างชาติไม่สามารถลงทุนได้    ตลาดตกลงมาสั้นมากไม่กี่เดือนก็ปรับขึ้นไปใหม่  และผมคิดว่าหุ้นไทยน่าจะตกไม่ถึง 40%  ไม่ถือว่าเป็นวิกฤติตลาดหุ้น  ดังนั้นเราก็ถือหุ้นต่อไปจนถึงสิ้นปี 2532 ที่ดัชนีปรับขึ้นไปเป็น 770 จุด  เราตัดสินใจขายหุ้นไปเพราะเราเชื่อว่าตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติหลังจากที่มันปรับตัวขึ้นไปเกือบ 100%  ตั้งแต่ต้นปี 2532  ผลตอบแทนที่เราได้คือประมาณ 17.9%  ทบต้นเป็นเวลาถึง 10 ปี
   ตลาดหุ้นไทยวิกฤติและตกลงมาถึงเกือบ 50% ในช่วงปี 2533 ผลจากการที่อิรักเข้ายึดคูเวตซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของโลก  พอถึงสิ้นปี 2533 เราก็เริ่มกลับเข้าไปลงทุนที่ดัชนี 613 จุด   ในช่วงต้น ๆ  เราก็ประสบกับปัญหาทางการเมืองมากมายเช่นการปฏิวัติและเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535  อย่างไรก็ตามเราไม่คิดว่ามันจะกระทบกับตลาดหุ้นมากมายอะไร  แต่ข้อดีหลังจากนั้นก็คือ  ประเทศไทยหลังจากนั้นเราได้นายกที่มาจากการเลือกตั้งที่เน้นทางด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจ  ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นปีละกว่า 10% ติดต่อกันถึง 3 ปี  ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น  “ฟองสบู่”  เช่นเดียวกับดัชนีหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นไปสูงสุดถึง 1750 กว่าจุดในปี 2537  แต่เราก็ยังไม่ขายเนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังดีอยู่มากประมาณไม่ต่ำกว่า 7-8% ต่อปี อานิสงค์จากการลงทุนของเอกชนที่กู้เงินต่างประเทศเข้ามามากมาย  อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวลงมา 25- 30%  ในช่วงปี 2537-2538  พอถึงสิ้นปี 2538  เราก็เริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะไปต่อได้เนื่องจากการขาดดุลการค้าที่สูงมาก  สินค้าส่งออกของไทยไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากค่าเงินบาทที่ถูกผูกติดกับเงินดอลลาร์  เราจึงขายหุ้นไปที่ดัชนี 1281 จุด เพื่อเลี่ยงภาวะวิกฤติ  ผลตอบแทนที่ได้คือ  15.9% ต่อปีแบบทบต้นในเวลา 5 ปี
   ในปี 2539 และ 2540 เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ  เงินสำรองของประเทศหมดและเราต้องเข้าขอความช่วยเหลือจาก IMF  ต้องบอกว่าเรา “ล้มละลาย” ผลจากการใช้เงินเกินตัวของภาคธุรกิจเอกชนและความผิดพลาดของหน่วยงานการเงินของรัฐโดยเฉพาะแบงค์ชาติ  ปี 2539 ดัชนีตกลงไปจากจุดสูงสุดประมาณ 41% ปี 2540 ที่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท  ดัชนีตกลงไปอีก 55%  พอถึงสิ้นปี  เราตัดสินใจเข้าไปลงทุนในหุ้นอีกครั้งที่ดัชนี 373 จุด ภายในเวลา 2 ปี หุ้นฟื้นขึ้นมาเป็น 482 จุด แต่เราก็รู้สึกว่าปัญหาต่าง ๆ  โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากหายนะ  เราจึงขายไปได้ผลตอบแทน 13.7% ทบต้น    วิกฤติตลาดหุ้นเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงในปี 2543 ทำให้ดัชนีลดลงจาก 482 เป็น 269 เมื่อสิ้นปี 2543  เป็นการลดลงถึง 44% และเช่นเคย  เราคิดว่าเป็นโอกาสที่จะลงทุนในยามที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด
   เริ่มต้นจากปี 2544  ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ  ฟื้นตัว  การแก้ปัญหาของบริษัทต่าง ๆ  และสถาบันการเงินคืบหน้าไปเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ค่อย ๆ  ปรับตัวขึ้น  พอถึงปี 2546 ไทยก็ประกาศใช้หนี้คืน IMF  ก่อนกำหนด  ทุกอย่างดูสดใสทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความมั่นคงเนื่องจากเราได้รัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนสูง  ดัชนีในปีนั้นปรับขึ้นไปถึง 117%  แต่หลังจากนั้นเพียง 2-3 ปี  ประเทศไทยก็เกิดปัญหาการชุมนุมประท้วงเรียกร้องทางการเมืองอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549  อย่างไรก็ตาม  หุ้นก็ไม่ได้ถูกกระทบอะไรมากนักเช่นเดียวกับทุกครั้งจนมาถึงปี 2551 ที่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและลามไปทั่วโลกทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมา 47.5% แต่นี่เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถคาดได้แน่เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีปัญหาอะไร  ราคาหุ้นเองก็ไม่แพงเลย  ดังนั้น  เราไม่ได้ขายหุ้นเลยและยังคงถือมาตลอดจนถึงวันนี้ที่ดัชนีประมาณ 1400 จุด คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณ  13.9% ในช่วงเวลา 12 ปี 8 เดือน นับเป็นผลตอบแทนของตลาดที่ดีเยี่ยมยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทย
   จาก “ตุ๊กตา”  ที่ผมตั้งขึ้นว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงหายนะส่วนใหญ่ของวิกฤติตลาดหุ้นได้  ถ้านำภาพเหล่านั้นมาต่อกัน  ก็คำนวณได้ว่า  ผลตอบแทนจากการลงทุนจะได้ผลตอบแทนทบต้นสูงถึงประมาณ 17% ต่อปี  เป็นเวลาลงทุนประมาณ 33 ปี  เงินต้น 100 บาทจะกลายเป็น 19,500 บาท  ถ้าคิดรวมปันผลปีละประมาณ 3% ต่อปี จะได้ว่าผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นเท่ากับ 20% เงิน 100 บาทจะกลายเป็นประมาณ 43,000 บาท หรือโตขึ้น 430เท่า ในเวลาประมาณ 33 ปี โดยไม่ต้องเลือกหุ้นลงทุนเลย
   ในชีวิตจริงคงไม่ง่ายที่จะหลีกเลี่ยงจากหายนะของวิกฤติตลาดหุ้นได้ง่ายนัก  อย่างไรก็ตาม  สำหรับนักลงทุน  โดยเฉพาะคนที่เลือกจะเป็นนักลงทุนผู้มุ่งมั่นที่จะเลือกหุ้นเองนั้น  หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงก็คือ  การหลีกเลี่ยงหายนะจากการลงทุน  โดยเฉพาะจากวิกฤติตลาดหุ้น  เพราะเรา  “ไม่สามารถคาดการณ์ตลาด” ได้  อย่างไรก็ตาม  การตระหนักว่านี่คือความเสี่ยงจะช่วยให้เราเลือกการลงทุนได้ดีขึ้น  นั่นก็คือ  หากเกิดวิกฤติตลาดหุ้นขึ้น  พอร์ตของเราจะเป็นอย่างไร?  หายนะตามตลาดหรือไม่?  ถ้าใช่ เราก็อาจจะต้องเปลี่ยนตัวหุ้นลงทุน

โลกในมุมมองของ Value Investor   

ที่มา :


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 23, 2013, 10:10:06 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 23 September 2013

Fund Flow



ตัวเลขที่นักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดตามมากที่สุดตัวหนึ่งนอกจากดัชนีตลาดก็คือ  ข้อมูลการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติประจำวัน   นอกจากนั้น  นักวิเคราะห์หุ้นเองก็มักจะคอยดูว่านักลงทุนต่างชาติกำลังขายหรือกำลังซื้อหุ้นสุทธิอยู่และก็อาจจะนำไปพยากรณ์ว่าวันพรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง   เหตุผลก็คือ  คนที่อยู่ในวงการหุ้นแทบทุกคนต่างก็เชื่อว่า  ถ้านักลงทุนต่างชาติซื้อ  หุ้นก็จะขึ้น  และถ้าพวกเขาขาย  หุ้นก็จะลง  อิทธิพลของนักลงทุนต่างชาตินั้นค่อนข้างสูง  เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขามักจะเข้ามาซื้อหรือขายพร้อม ๆ  กันในหุ้นตัวใหญ่ที่มีผลต่อดัชนีตลาดสูง  ดังนั้น  ถ้ารู้ว่าพวกเขาจะเข้ามาซื้อ  หุ้นก็จะขึ้น   นักลงทุนไทยก็จะเข้าไปซื้อด้วยเพื่อที่จะ  “เกาะกระแส”  การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ  ตรงกันข้าม  ถ้า  “ฝรั่ง”  ขาย  เราก็ต้อง  “โกย”   แต่ประเด็นก็คือ  เราจะสามารถเล่นหุ้นหรือลงทุนตาม  “Fund Flow”  หรือการเข้ามาซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติได้หรือไม่?  และต่อไปนี้คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องของ  Fund Flow ซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่การไหลเข้าตลาดหุ้นของ  “เงินฝรั่ง”หรือ  “เงินไทย”

           ข้อสังเกตของผมเรื่องแรกก็คือ  ผมไม่แน่ใจว่าการซื้อหรือขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติประจำวันนั้น  ถ้าดูตามสถิติแล้วมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยจริง ๆ  หรือไม่  ผมเองเคยศึกษาเรื่องนี้นานมาแล้วในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังเล็กและยังไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากนักย้อนหลังไปน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ปี   ในครั้งนั้นผมจำได้ว่าตัวเลขออกมาชัดเจนขนาดบอกได้ว่า  ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิ 1,000 ล้านบาท  ดัชนีขึ้นไป 7 จุด  อะไรทำนองนี้  แต่ในช่วงหลังผมไม่แน่ใจว่ายังมีผลหรือไม่  ถ้าจะให้เดา  ผมคิดว่าไม่มีผลแล้วในยามที่คนไทยโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลมีการซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มากล้น   จริงอยู่  ในบางช่วงที่ต่างชาติซื้อสุทธิในปริมาณที่มากเป็น 2-3,000 ล้านบาทต่อวันขึ้นไป  เราอาจจะเห็นว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างโดดเด่นเป็นเลขสองหลัก   แต่ถ้าพวกเขาซื้อหรือขายสุทธิเพียงเล็กน้อยในระดับไม่เกิน 5-600 ล้านบาทต่อวัน  ผลที่มีต่อดัชนีอาจจะไม่ชัดเลยในทางสถิติ  และถ้าเป็นแบบนี้  การซื้อขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจึงอาจจะไม่มีผลอะไรเลยยกเว้นแต่ว่าเป็นการซื้อหรือขายสุทธิในปริมาณที่มากกว่าปกติ  เช่น  เกินหนึ่งพันล้านบาทต่อวันขึ้นไป  นี่เป็นประเด็นแรก

           ประเด็นที่สองที่ตามมาก็คือ  ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิมากและหุ้นจะขึ้นเป็นเรื่องจริง  เราก็อาจจะไม่สามารถทำเงินจากการซื้อขายหุ้นได้ถ้าเราไม่ได้ซื้อหุ้นไว้ก่อน   การที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นหลังจากที่เห็นข้อมูลการซื้อขายหุ้นประจำวันแล้วกลับจะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงขึ้นไปแล้ว  ผลก็คือ  เราอาจจะขาดทุนได้  ดังนั้น  การซื้อขายหุ้นโดยอิงกับข้อมูลการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติประจำวันจึงไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่รู้ว่าเขายังจะซื้อหุ้นสุทธิหรือขายหุ้นสุทธิมาก ๆ  อีกหรือเปล่าในวันพรุ่งนี้หรือวันต่อ ๆ  ไป

           ข้อถกเถียงของคนที่เชื่อในการเล่นหุ้นตาม Fund Flow ของต่างชาติก็คือ  เราสามารถคาดการณ์  “การเคลื่อนย้ายของเงินต่างชาติ”  ได้   และการเคลื่อนย้ายนี้จะมาเป็นระลอก  ไม่ใช่มาวันเดียวจบ  ดังนั้น  ถ้าเราเห็นเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นหนัก ๆ  ติดต่อกันหลายวัน  เราก็น่าจะสามารถบอกได้ว่าแนวโน้มจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง  และการเล่นหุ้นตามกระแสเงินไหลเข้าออกของต่างชาติน่าจะทำให้เราสามารถทำกำไรได้   คนที่ถกเถียงเรื่องแบบนี้นั้นยังมักจะมีเหตุผลในเชิงการเงินและเศรษฐกิจประกอบอีกมาก  อย่างเช่นในช่วงนี้ก็พูดถึงเรื่อง “การผ่อนคลายเชิงปริมาณ”  ของอเมริกาหรือ  QE ว่าจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินกันอย่างไร เป็นต้น   โดยส่วนตัวผมเองนั้น  ผมคิดว่าการพยากรณ์เรื่อง Fund Flow เป็นเรื่องที่ยาก  หรือถึงแม้จะพยากรณ์ได้ถูกต้องแต่ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ถ้าคนอื่นหรือคนส่วนใหญ่ก็พยากรณ์ได้ถูกต้อง  ตัวอย่างเช่นเรื่องของ QE นั้น  ทุกคนก็รู้ว่าในที่สุดธนาคารกลางของสหรัฐก็ต้องลดอยู่ดี   แต่ในวันที่ประกาศลด  เงินลงทุนต่างชาติที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ได้ไหลออกก็ได้   เหตุผลก็เพราะนักลงทุนที่กลัวเรื่องนี้ต่างก็ถอนตัวออกไปหมดก่อนหน้านี้แล้วเพราะเขาคาดว่าการทำ QE นั้นจะต้องลดลงในที่สุด  เขาจึง “หนี” ก่อน

           สิ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่องของ “Fund Flow” จริง ๆ  นั้นอยู่ที่กระแสเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นในระยะยาวโดยเฉพาะของคนในประเทศ  เหตุผลก็เพราะว่า  การเคลื่อนย้ายเงินจากสถาบันการเงินหรือจากที่ไหนก็ตามเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในขณะที่จำนวนหุ้นจดทะเบียนมีการเพิ่มขึ้นน้อยมากนั้น   จะเป็นพลังที่สำคัญในการผลักดันราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน  พูดง่าย ๆ  ความต้องการหรือ Demand ของหุ้นมีมาก  แต่ Supply หรือจำนวนหุ้นที่มีไว้ขายมีน้อย  หุ้นก็ขึ้น

           ในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น  อาจจะมีช่วงเวลาที่คนในประเทศมีเงินสดมากกว่าปกติ  ในขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ ทำให้คนหรือประเทศมีเงินเหลือมาก  ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงมาก  ดังนั้น  เงินบางส่วนก็ถูกผันไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  ผลก็คือราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น  กระบวนการนี้อาจจะเกิดขึ้นนาน  อาจจะเนื่องจากมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมที่ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว   ผมกำลังบอกว่าอายุของประชากร  ซึ่งสัมพันธ์กับรายได้และรายจ่ายของคนในประเทศอาจจะมีส่วนสำคัญต่อเรื่องของ Fund Flow ที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นมากจนทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีทิศทางและแนวโน้มทางใดทางหนึ่งต่อเนื่องยาวนาน

           ถ้าเราลองคิดถึงว่าคน ๆ  หนึ่งนั้น  ช่วงเวลาในชีวิตของเขาที่เริ่มทำงาน  แต่งงาน  มีลูก  เงินที่เขาหาได้นั้น  มักจะต้องถูกใช้จ่ายไปแทบจะไม่เหลือสำหรับคนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก  แต่เมื่อลูก ๆ  โตและทำงานได้แล้ว  ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เขามีอายุประมาณ 45-60 ปี  เขาก็จะมีเงินเหลือมากทีเดียวเนื่องจากไม่ต้องเลี้ยงดูลูกและไม่ต้องผ่อนบ้านที่ผ่อนไปจนหมดแล้ว  นอกจากนั้น  เขาก็ต้องเริ่มเก็บและ “ลงทุน”  เพื่อการเกษียณที่จะตามมา  ดังนั้น เงินนี้บางส่วนก็จะ  “ไหล” เข้าตลาดหุ้น   ประเด็นก็คือ  ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น  มีอัตราการเกิดของเด็กใหม่ที่ลดลงและทำให้สังคมประกอบไปด้วยคนที่มีอายุระหว่าง 45-60 ปีมากขึ้น  นี่ก็จะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษ  และการไหลนี้จะต่อเนื่องประมาณ 10-15 ปี จนกว่าคนจะแก่และเลิกทำงานซึ่งทำให้มีเงินน้อยลงและเงินก็อาจจะเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นไปเรื่อย ๆ

           อาการเงินไหลเข้าตลาดหุ้นยาวนานและทำให้ดัชนีหุ้นขึ้นเป็นสิบปีขึ้นไป  และหลังจากนั้นหุ้นก็โตช้าลงยาวนานนั้น  เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์คในช่วงทศวรรษ ปี 1991-2000 ที่หุ้นปรับตัวขึ้นจาก ประมาณ 2600 จุดเป็น 10450 จุด หรือประมาณ 4 เท่าในเวลา 10 ปี  คิดเป็นการเพิ่มขึ้นปีละ 15% แบบทบต้น ซึ่งถือว่าเป็น“ประวัติการณ์” ครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปี  ดัชนีดาวโจนส์ขึ้นมาอยู่ที่เพียง 15450 จุดหรือขึ้นมาแค่ 50% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเพียงปีละ 3% เท่านั้น
           ตลาดหุ้นไทยนั้น  ตั้งแต่ต้นปี 2544  ที่ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 270 จุด จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 13 ปี ได้ปรับขึ้นเป็น 1500 จุด หรือประมาณ 5.5 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 14.5% นับเป็นการเติบโตต่อเนื่องยาวนานและสอดคล้องกับอายุของประชากรที่ดูเหมือนว่ากำลังมีรายได้สูง  ลูกโต และกำลังใกล้เกษียณดังที่กล่าวไว้   อนาคตของตลาดหุ้นไทยนั้น  ถ้าเชื่อในทฤษฎีดังกล่าว  ประกอบกับการที่คนไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนสูงอายุในเวลาอาจจะ 10-20 ปีข้างหน้า  ผมก็คิดว่าในที่สุดผลตอบแทนการลงทุนก็จะลดลงไปยาวนาน  แต่ในระหว่างนี้  กระแสเงินจากคนไทยก็น่าจะยังไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไม่น้อยและน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยดีต่อไปได้อีกระยะหนึ่งอาจจะ 5-10 ปี  แต่หลังจากนั้นเราก็อาจจะต้องไปลงทุนในตลาดอื่นที่คนยังหนุ่มและเพิ่มขึ้นเร็วอย่างในประเทศ AEC ส่วนใหญ่  เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป   

Posted by nivate at 10:39 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/09/23/1342


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 25, 2013, 09:47:03 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ลงทุนอย่างมีความสุข

ความผันผวนของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นรุนแรงมากโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ สิ่งนี้ก่อให้เกิดกำไรหรือผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับความเสียหายมากมายให้กับคนที่เข้ามาเล่นหุ้นในตลาดแบบเก็งกำไร

ความสุขแบบเพ้อฝันและความโศกเศร้าเสียใจดูเหมือนว่าจะเป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้นในตลาดหลักทรัพย์ ชีวิตของคนเล่นหุ้นจำนวนมากผูกพันอยู่กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ นั่นก็คือเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นชีวิตเขาก็มีความสุข เมื่อดัชนีปรับตัวลงชีวิตเขาก็เป็นทุกข์

ความหวาดกลัวต่อการสูญเสียทำให้นักเล่นหุ้นมีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาตราบที่ยังมีหุ้นอยู่ในมือ การแก้ปัญหาสำหรับหลายคนก็คือการถือหุ้นให้สั้นลง โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นผันผวนสูงนั้นคนจำนวนมากไม่ยอมถือหุ้นข้ามวันด้วยซ้ำ นั่นเป็นเหตุที่ทำให้การซื้อขายแบบหักลบกลบหนี้ภายในวันเดียวกันหรือเรียกว่า Net Settlement หรือการซื้อหุ้นตอนเช้าแล้วขายตอนบ่ายมีมากถึง 20 ? 30% ของการซื้อขายหุ้นทั้งตลาด

คนเล่นหุ้นจำนวนมากคงเห็นว่านั่นคือความสุขของการเล่นหุ้น คือเมื่อลงเงินแล้วก็อยากเห็นผลเร็วว่าได้หรือเสีย และคำว่าได้หรือเสียก็คือต้องเห็นเม็ดเงินในบัญชีว่ามีเพิ่มขึ้นหรือลดลง แน่นอน ถ้าเม็ดเงินเพิ่มขึ้นความสุขก็ตามมา แต่ถ้าเม็ดเงินลดลง ความสุขจากการเล่นหุ้นก็กลายเป็นความทุกข์

โดยเฉลี่ยแล้วคนที่เล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นซื้อๆขายๆเป็นนิจสินในช่วงเกือบ 30 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดมานั้น ผมคิดว่านอกจากจะไม่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ยังขาดทุนด้วย เพราะในช่วง 28 ปีของตลาดหลักทรัพย์นั้น การลงทุนให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 6 ? 7% เท่านั้น ในขณะที่คนเล่นหุ้นระยะสั้นต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายปีหนึ่งๆผมคิดว่ามากกว่านั้น เพราะฉะนั้นข้อสรุปของผมก็คือ คนเล่นหุ้นในช่วงที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี โดยเฉลี่ยแล้วมีความทุกข์มากกว่าความสุข และนั่นทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากจะลงทุนในหุ้น

วิธีการลงทุนในหุ้นที่จะมีความสุขมากกว่าความทุกข์ โดยเฉพาะสำหรับคนทั่วๆไปที่มีเงินออมระยะยาวนั้น ผมมีความเห็นว่าควรจะเป็นการลงทุนในแนว Value Investment ที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีคุณภาพดีและราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรเป็น โดยสูตรง่ายๆที่ผมเสนอก็คือ

ข้อแรก กันเงินประมาณ 30% ของทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องหรือเงินในบัญชีที่คุณไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อีกนานมาก(ไม่ต่ำกว่า 5 ปี) เอามาลงทุนในหุ้น โดยที่เงินนี้ถ้าเกิดต้องสูญเสียไปมาก คุณก็ยังไม่เดือดร้อน แต่อย่าเพิ่งห่วงไปว่าคุณจะสูญเสียมาก ผมพูดเผื่อไว้เท่านั้นเพราะโอกาสเกิดอย่างนั้นมีน้อย ถ้าคุณปฏิบัติตามวิธีที่ผมจะพูดต่อไป

ข้อสอง เลือกหุ้น 5 ? 6 ตัวในอุตสาหกรรมต่างๆกัน โดยหุ้นแต่ละตัวจะต้องเป็นกิจการที่มีคุณภาพดี นั่นก็คือเป็นธุรกิจที่อยู่มานานพอสมควร มีกำไรและจ่ายปันผลตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เจ้าของไม่มีประวัติที่เสียหาย และถ้าจะให้ปลอดภัยขึ้นไปอีก ก็ควรเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของเขาก็จะยิ่งดี แต่นี่ก็ยังไม่พอจะต้องพิจารณาประกอบกับข้อสาม

ข้อสาม ราคาที่ซื้อหุ้นดังกล่าวในข้อสองจะต้องถูก และการที่จะดูว่าหุ้นถูกหรือแพงนั้นจะต้องดูที่ค่า PE, PB และ DP โดยเงื่อนไขง่ายๆก็คือ ค่า PE ไม่ควรจะเกิน 10 เท่า ซึ่งแปลว่าการลงทุนจะให้ผลตอบแทนปีละไม่ต่ำกว่า 10% ค่า PB เป็นตัวประกอบว่าเราจ่ายเงินแพงกว่าผู้ถือหุ้นเดิมมากน้อยแค่ไหน พยายามอย่าให้เกิน 2 เท่า ค่า DP บอกว่าในแต่ละปีเราจะได้เงินปันผลคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินที่เราลงทุนไป ซึ่งผมคิดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 4% ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเหลือเพียงปีละ 1%

ข้อสี่ เมื่อซื้อเสร็จแล้วก็ให้กอดหุ้นเหล่านั้นไว้อย่าไปขายเมื่อหุ้นขึ้นหรือลงในช่วงสั้นๆ โดยเฉลี่ยแล้วผมคิดว่าควรถือหุ้นไว้สัก 5 ปี นั่นก็คือ ถ้าคุณมีเงินลงทุน 1 ล้านบาท ปีหนึ่งคุณควรขายออกไปโดยเฉลี่ยเพียง 200,000 บาท แต่เมื่อขายแล้วก็ต้องเอาเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นตัวใหม่แทน โดยที่การตัดสินใจขายหุ้นและซื้อหุ้นตัวใหม่นั้นมาจากการวิเคราะห์และติดตามที่จะกล่าวถึงในข้อห้า

ข้อห้า เมื่อคุณซื้อหุ้นแล้วคุณก็คือเจ้าของบริษัทคนหนึ่ง ดังนั้นคุณจะต้องติดตามผลการดำเนินงานของกิจการในทุกไตรมาส จะต้องติดตามข่าวคราวจากหน้าหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจเป็นประจำ ติดตามการเคลื่อนไหวทางการตลาดของบริษัทซึ่งรวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ และถ้าบริษัทเป็นผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภค คุณก็ควรจะลองใช้หรือคอยสังเกตว่าสินค้าหรือบริการของบริษัทเป็นอย่างไรด้วย

ข้อหก ในส่วนของราคาหุ้นนั้น คุณจะต้องไม่ตื่นเต้นเมื่อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งวิ่งขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วในบางช่วง คุณไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบขาย สิ่งที่คุณควรสนใจมากกว่าก็คือมูลค่าของราคาหุ้นทั้งพอร์ตหรือของหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ว่ามันปรับตัวขึ้นลงอย่างไร ถ้ามูลค่าปรับตัวขึ้นก็ถือว่าคุณมาถูกทาง และถ้ามันปรับตัวลงหลังจากลงทุนมานานพอสมควรแล้ว(เป็นปี) บางทีคุณอาจจะต้องทบทวนตัวหุ้นที่เลือกมา

ถ้าคุณทำอย่างที่กล่าวมาทั้ง 6 ข้อ อย่างมั่นคง ผมคิดว่าโอกาสที่คุณจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10% โดยที่บางส่วนประมาณ 4 ? 5% จะมาจากเงินปันผล และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นจะมีสูง นั่นหมายความว่าภายในเวลาประมาณ 7 ปี มูลค่าของพอร์ตลงทุนของคุณจะโตขึ้นเป็นเท่าตัว โดยที่คุณจะไม่ต้องกังวลว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร

คุณอาจจะกังวลบ้างในช่วงแรกๆที่คุณเริ่มลงทุนตามแบบที่กล่าว โดยเฉพาะถ้าคุณเฝ้าตามดัชนีหรือราคาหุ้นในพอร์ตมากเกินไป หรือคุณไปฟังนักเล่นหุ้นหรือเพื่อน ?ผู้หวังดี? มากเกินไป

แต่ถ้าคุณผ่านช่วงเวลามาพอสมควรและพอร์ตคุณเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ จนโอกาสที่คุณจะ ?ขาดทุน? คือมูลค่าของพอร์ตลดลงต่ำกว่าต้นทุน มีน้อยลงมากแล้ว เมื่อนั้นคุณก็จะเลิกกังวล และจะรู้สึกว่าการลงทุนของคุณนั้นไม่เสี่ยง ความมั่นใจในการลงทุนจะเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคุณจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการเล่นหุ้นระยะสั้น ทั้งหมดนี้จะทำให้คุณเป็นนักลงทุนที่มีความสุข

***********************

ลงทุนอย่างมีความสุข

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://www.sarut-homesite.net/2009/07/%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-%E0%B8%94%E0%B8%A3/

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 25, 2013, 10:15:16 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นิสัยเซียน

โลกในมุมมองของ Value Investor

เซียนหุ้นชั้นนำของโลกแต่ละคนมักมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ละคนมักมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ศึกษาดูจะพบว่าเซียนเหล่านั้นมักมีนิสัยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในหลายๆเรื่อง และต่อไปนี้คือนิสัยที่ผมคิดว่าเราควรศึกษาและประยุกต์ใช้ ถ้าเราอยากจะเป็น “เซียน” บ้าง
.
เรื่องแรกก็คือ เซียนตัวจริงนั้น เวลาลงทุน เรื่องที่คิดมากที่สุดกลับไม่ใช่ว่าจะทำกำไรได้มหาศาลแค่ไหน แต่เป็นว่า จะรักษาเงินต้นเอาไว้ได้อย่างไร และนี่ก็คือกฎข้อหนึ่งและข้อสองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ซึ่งบอกว่า หลักการลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าขาดทุน และอย่าขาดทุน
.
เรื่องที่สองก็คือ การลงทุนนั้น เซียนแต่ละคนจะมีหลักปรัชญา หลักการ และวิธีการลงทุนที่ชัดเจนเป็นแบบฉบับของตนเอง ไม่มีการมั่วหรือเป็น “มวยวัด” สิ่งต่างๆเหล่านั้นถูกพัฒนาและทดสอบมาเป็นอย่างดีเป็นเวลายาวนาน และจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลับไปกลับมา
.
เรื่องที่สามก็คือ เซียนหุ้นนั้นไม่ชอบความเสี่ยงแต่ชอบความแน่นอน และความ “ได้เปรียบ” เวลาจะลงทุนอะไรมักจะคิดถึงโอกาสชนะว่ามีสูงกว่าโอกาสที่จะแพ้มากน้อยแค่ไหน ถ้าโอกาสชนะมากกว่าแพ้เพียงเล็กน้อย เขามักจะ “ไม่เล่น” เพราะฉะนั้น เราจะไม่เห็นคนเหล่านี้เล่นรูเล็ตหรือเข้าคาสิโนเพื่อการพนันซึ่งโอกาสชนะมี แค่ 30-40% ขณะที่โอกาสแพ้อยู่ที่ 60-70% แต่การลงทุนที่โอกาสชนะสูงมากๆนั้นมีไม่มาก ดังนั้นเซียนจึงมักไม่เล่นหรือลงทุนบ่อยนัก
.
เรื่องที่สี่ก็คือ เซียนนั้นลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้จักดี มีการวิเคราะห์และคิดเอง ไม่เชื่อคนอื่นโดยไม่ได้พิจารณาด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง ในทางตรงกันข้าม เซียนจะไม่ลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ หรือการลงทุนนั้นไม่เข้าเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด หรือตนเองไม่สบายใจที่จะลง ตัวอย่างเช่นหุ้นที่มีค่า PE และ/หรือ PB สูงเกินไป หุ้นที่ผู้บริหารไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น แม้ว่าหุ้นเหล่านั้นอาจจะทำกำไรให้ได้ง่ายและเร็วในบางสถานการณ์
.
นิสัยที่ห้าก็คือ เซียนส่วนใหญ่จะไม่ “กระจายความเสี่ยง” โดยการกระจายการถือหุ้นมากเกินไป เซียนมักจะมีหุ้นหลักตัวใหญ่ๆในพอร์ตซึ่งเป็นตัวที่จะกำหนดผลงานหรือความเป็นความตายในการลงทุนเพียงไม่กี่ตัวแม้ว่าเขาจะมีหุ้นย่อยๆเป็น 10 หรือ 100 และแม้แต่ 1,000 ตัว อย่างพอร์ตของ ปีเตอร์ ลินช์ หุ้นตัวหลักๆเหล่านั้นก็คือหุ้นที่สร้างความแตกต่างและทำให้เซียนเป็นเซียนขึ้นมาได้
.
ข้อสรุปในเรื่องนี้ก็คือ การเป็นเซียนนั้น คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกหุ้นถูกทุกตัวหรือแม้จะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ข้อสำคัญก็คือ ในหุ้น 10 ตัว คุณอาจจะเลือกถูกเพียง 3 ตัว แต่ถ้าหุ้น 3 ตัวนั้นเป็นหุ้นที่ทำกำไรมหาศาลก็เพียงพอแล้วสำหรับผลงานที่ดีเยี่ยม
.
นิสัยที่หกก็คือ เซียนหุ้นตัวจริงนั้นมี “EQ” ของการลงทุนสูง ไม่ใคร่หวั่นไหวกับภาวะตลาดผันผวนหรือข่าวต่างๆ ที่อาจจะดูรุนแรงแต่ผลกระทบจริงต่อการลงทุนมีน้อย นิสัยในกลุ่มนี้ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักใจเย็น สามารถอดทนรอได้อย่าง “ไม่มีเวลาจำกัด” ถ้ายังไม่เห็นโอกาส ขณะเดียวกัน ถ้าเห็นโอกาส “ลอยมาตรงหน้า” เซียนหุ้นสามารถตัดสินใจ และลงมือได้ทันทีไม่มีการผัดวันประกันพรุ่ง หรือต้องไปศึกษาพินิจพิจารณายืดยาว ความรู้สึกของผมก็คือ เซียนหุ้นชั้นนำคงจะมีความคิดต่างๆอยู่ในใจที่พร้อมอยู่แล้ว เมื่อโอกาสเปิดก็คว้าได้ทันที
.
พฤติกรรมที่เจ็ดของเซียนหุ้นก็คือ ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ภาษาหุ้นและการลงทุนก็คือ สามารถ “Cut Loss” ได้ทันทีเมื่อเห็นว่าหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่ไม่เป็นไปตามที่คาด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เหตุผลในการซื้อหมดไป พูดง่ายๆ เซียนหุ้นมักไม่ยอม “ติดหุ้น” อย่างนักลงทุนประเภท “แมงเม่า” ซึ่งไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดโดยการขายหุ้นที่ขาดทุนมากทิ้งได้
.
ข้อแปดที่ผมเลือกมาก็คือ เซียนหุ้นนั้น เวลาลงทุนแต่ละครั้งจะต้องมี “Story” หรือเรื่องราว หรือเหตุผลหลักว่าทำไมจึงลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้น ซึ่งไม่ใช่เพราะคิดว่าราคาหุ้นจะขึ้น แต่จะต้องเป็นเรื่องอื่นๆที่เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลต่อราคาหุ้นในที่สุด เรื่องราวอาจเป็นได้ทั้งเรื่องระยะสั้นหรือระยะยาว อาจเป็นได้ทั้งเรื่องของตัวธุรกิจเอง หรือเรื่องภายนอกที่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อตัวธุรกิจและราคาหลักทรัพย์ในที่สุด
.
นิสัยที่เก้าก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักจะเป็นคนบ้าหุ้น หายใจเข้าออกเป็นเรื่องของการลงทุน ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของตนมักจะอยู่ในหลักทรัพย์ การลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่ใช่คนที่เฝ้ากระดานหุ้น ติดตามราคาหุ้นทุกนาที เพราะเซียนหุ้นตัวจริงนั้นไม่จำเป็นและมักไม่สนใจการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ในระยะสั้น เซียนหุ้นชอบศึกษาและติดตามความเป็นไปของกิจการ ภาวะแวดล้อม และประเด็นอื่นๆที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์มากกว่า
.
สุดท้ายก็คือ นิสัยส่วนตัวของเซียนการลงทุน ที่ดูแล้วก็น่าแปลก ค่าที่ว่าเซียนหุ้นมักจะเป็นคนที่มีความมั่งคั่งมหาศาล (ถ้าไม่มั่งคั่ง ใครจะเรียกว่าเป็นเซียน!) แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับใช้ชีวิตธรรมดาแบบคนชั้นกลางระดับสูงเล็กน้อย และไม่มีใครเลยที่ใช้ชีวิตความเป็นอยู่สูงกว่าระดับความมั่งคั่งของตนเอง ทั้งที่ดูไปแล้ว เงินสำหรับเซียนนั้น หามาได้ง่ายและเร็ว แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ชอบใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือใช้เงินไม่คุ้มค่า
.
นิสัยทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่ได้หมายความว่าเซียนทุกคนต้องมีเหมือนกันหมด เพียงแต่เป็นนิสัยที่เซียนหลายๆคนที่ผมศึกษามี และผมคิดว่านิสัยหลายๆข้อมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จในการลงทุนให้แก่เขา และผมเชื่อว่า ถ้า Value Investor นำเอาไปใช้และทำให้เป็นนิสัย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนคงจะมีสูงขึ้น
.
นิสัยเซียน
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
22 ตุลาคม 2547



หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 01, 2013, 12:07:20 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 30 September 2013

ภาษาเปลี่ยนโลก

ผมอยู่มาจนถึงปัจจุบันก็ 60 ปีเข้าไปแล้ว  สิ่งที่รู้สึกว่าเป็น “จุดด้อย” ที่สำคัญของตนเองและไม่สามารถปรับขึ้นได้จนเท่ากับหรือใกล้เคียงกับ  “เจ้าของ”  ก็คือ  “ภาษาอังกฤษ”   ปัญหาก็คือ  ในช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่มนั้น  ผมไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนภาษาอังกฤษที่ดีพอและผมไม่รู้ว่าภาษาอังกฤษนั้นเป็นวิชาที่สำคัญมากและสำคัญยิ่งกว่าวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ที่ผมคิดว่าเป็นวิชาของคนเก่งที่ต้องอาศัยตรรกะและความคิดระดับสุดยอด   ภาษาอังกฤษเริ่มมีความสำคัญก็ในตอนที่ผมเริ่มเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องอ่านตำราทางวิชาการจากต่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม  ความสำคัญของมันก็เป็นแต่ในเรื่องของการที่จะทำความเข้าใจทฤษฎีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง  ในกรณีของผมก็คือเรื่องทางวิทยาศาสตร์  วิศวกรรม  เศรษฐศาสตร์  และบริหารธุรกิจ   ความสามารถของผมในด้านเหล่านี้ก็เป็นแต่ในเรื่องของการอ่านและการเขียนเท่านั้นซึ่งก็ยังช้าและด้อยกว่าเจ้าของภาษาอยู่ไม่น้อย  ส่วนภาษาอังกฤษในสาขาความรู้อื่น ๆ  และเรื่องทั่วไปนั้น  ความสามารถของผมต้องบอกว่าต่ำกว่าเจ้าของภาษามาก  ระดับความเร็วในการอ่านนั้นผมคิดว่าอาจจะทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของเจ้าของภาษาที่มีศักยภาพในระดับเดียวกัน   ส่วนการฟังและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดนั้น   ความสามารถของผมยิ่งห่างจากเจ้าของภาษาสุดกู่อันเป็นผลจากการขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ในช่วงต้นของชีวิตซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะในด้านของการพูด

          ความสำคัญของภาษาอังกฤษในความเห็นของผมนั้นอยู่ที่ว่ามันเป็นภาษา  “สากล”  และมันเป็นภาษาของประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกติดต่อกันมาน่าจะเกือบ 200 ปี  ตั้งแต่อังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 และสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 และจนถึงปัจจุบัน  นี่ทำให้หนังสือที่รวบรวมความรู้ทั้งหลายในโลกต่างก็ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ  การติดต่อทางการทูต การค้า และสังคมทั่วโลกซึ่งรวมถึงระบบอินเตอร์เน็ตต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ  เช่นเดียวกับกิจกรรมบันเทิงชั้นนำระดับโลกเช่นภาพยนตร์และละครเวทีต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก  และด้วยเหตุที่โลกของเรานั้นอยู่ในกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ขอบเขตของดินแดนกำลังลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ  และประชาชนสามารถที่จะเดินทางหรือติดต่อกับคนอื่นได้ทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำลงมาก  ภาษา  “กลาง” ที่ทุกคนต้องใช้จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และสำหรับคนที่  ก้าวหน้าที่สุดในแต่ละสังคม  ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษาที่ผมคิดว่า “จำเป็น” อย่างยิ่งยวด  และถ้าจะให้ผมทำนายในขั้นนี้ก็คือ  ถ้าหากคุณจะเป็นคนชั้นนำอย่างที่เรียกว่า  “อิลิท”  ในยุคต่อไป  คุณจำเป็นที่จะต้องรู้และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาก  ไม่ใช่แค่ 40-50% ของเจ้าของภาษาอย่างที่ผมเป็น

          ทุกวันนี้  ผมเองรู้สึกว่าผมอ่านหนังสือดี ๆ  ซึ่งส่วนมากก็คือหนังสือภาษาอังกฤษได้ “ไม่ทัน”  กับหนังสือที่ออกใหม่และวางบนแผงไม่ต้องพูดถึงหนังสือคลาสสิกเก่า ๆ  ที่ยังมีอีกมากมายในหัวข้อความรู้ที่ผมสนใจ   เหตุผลสำคัญก็คือ  ผมอ่านได้ไม่เร็วพอ  หนังสือหลายเล่มกองอยู่บนโต๊ะทำงานและบางเล่มอาจจะถูกอ่านเพียงสั้น ๆ  แล้วก็ทิ้งไว้เนื่องจากคุณภาพที่ไม่ดีพอหรือไม่ตรงกับความสนใจของผมจริง ๆ   โชคดีที่ในระยะหลัง ๆ  นี้  เริ่มมีหนังสือแปลเป็นภาษาไทยหรือมีคนไทยที่เริ่มเขียนหนังสือที่มีคุณภาพสูงมากขึ้นในเรื่องที่ผมสนใจ  ซึ่งในกรณีแบบนี้ผมก็จะซื้อมาอ่านอย่างไม่ลังเล  เพราะผมจะอ่านได้เร็วขึ้นมาก

          หนังสือที่ช่วย  “เปลี่ยนโลก” ของผม  นั่นคือ  ทำให้ผมรู้จักโลกดีขึ้นมาก  เข้าใจชีวิต  สังคม  และรัฐชาติต่าง ๆ ในโลกนั้นมักจะอิงอยู่กับเรื่องของทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน  ที่พูดถึงพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร  หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ “มนุษยชาติ” และประวัติศาสตร์ของอารยะธรรมและประเทศต่าง ๆ  นั้นทำให้เราเห็นวิวัฒนาการของคนและสังคมและรู้ว่าอนาคตน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป  ประวัติศาสตร์ของสงครามและการทำลายล้างอย่างเช่นเรื่องของสงครามโลกและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นก็สอนให้เราตระหนักในเรื่องของความเสี่ยงเช่นเดียวกับการเรียนรู้ว่าทำไมฝ่ายหนึ่งจึงชนะและฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้  ว่าที่จริงนี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตต่างก็ต้องต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาตัวรอด  ทั้งหมดนั้นก็จะช่วยให้เรารู้ว่าอนาคตของประเทศไทยหรือสังคมไทยที่เราอาศัยอยู่นั้นจะเป็นอย่างไรเพื่อที่ว่าเราจะได้ตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ  ได้ถูกต้อง  ซึ่งสำหรับผมแล้ว   การลงทุนก็เป็นหนึ่งในนั้น   และหนังสือดี ๆ  ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ส่วนมากมักจะเป็นภาษาอังกฤษ  ส่วนหนังสือภาษาไทยนั้น  หลายเล่มก็เขียนได้ดี  อย่างไรก็ตาม  หนังสือบางเล่มที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือการเมืองนั้น  บางทีก็มี “ความลำเอียง” ที่ทำให้เราไม่ได้ความจริงที่จะชี้นำอนาคตได้

          ความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ดีนั้น   ผมคิดว่าน่าจะทำให้ชีวิตของเราได้สัมผัสกับความรื่นรมย์  “ระดับโลก”  เช่น  การดูละครเพลงบอร์ดเวย์  ซึ่งต้องอาศัยภาษาอังกฤษที่ดีมาก  หรือการชมภาพยนต์โดยไม่ต้องอ่านซับไตเติลมากนัก  นอกจากนั้น  สำหรับคนที่ชอบอ่านวรรณกรรม  ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษก็น่าจะช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้นมากสำหรับความบันเทิงที่สุนทรีกว่าความบันเทิงที่จำกัดเฉพาะที่มีในภาษาไทยเท่านั้น  จริงอยู่  ในปัจจุบันนั้นหนังสือแปลมีแพร่หลายขึ้นมาก   แต่ผมคิดว่าการอ่านจากต้นฉบับน่าจะมีอรรถรสกว่าไม่น้อย

          การเขียน  ฟัง และพูด ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น  ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การอ่านโดยเฉพาะคนที่ยังต้องทำงาน   ในตำแหน่งที่สูงของทุกองค์กรในปัจจุบันและเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตนั้น  ภาษาอังกฤษที่เป็นเรื่องของการฟัง  พูด  และเขียนได้อย่างดีจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนคนที่ภาษาอังกฤษแย่นั้นแทบจะไม่มีโอกาสที่จะก้าวหน้าอย่างโดดเด่นได้  เหตุผลก็เพราะเมื่อองค์กรใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับคนต่างประเทศที่ต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร  โดยส่วนตัวผมเองจากประสบการณ์การทำงานกับองค์กรใหญ่ ๆ  มาหลายแห่งก็พบว่าภาษาอังกฤษที่ไม่ดีของตนเองโดยเฉพาะการฟัง พูด และเขียน นั้น  น่าจะเป็นตัวที่ถ่วงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอยู่ไม่น้อยทั้ง ๆ  ที่เวลานั้นประเทศไทยก็ยังไม่ได้เปิดมากเหมือนวันนี้

          ผมคงตระหนักในความสำคัญของภาษาอังกฤษมานานและนั่นเป็นเหตุผลที่ผมส่งลูกเรียนในโรงเรียนอินเตอร์มาตั้งแต่ชั้นอนุบาลซึ่งจะทำให้เขาได้ภาษาอังกฤษที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา  มันเป็น  “การลงทุน” ที่สำคัญและใช้เงินมากทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้ในช่วงนั้นของผมเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว  ผลของการที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เกือบจะเหมือนกับเจ้าของภาษาทำให้ลูกผมสามารถเดินทางและติดต่อกับชาวต่างชาติได้อย่างสบายใจและมีความสุขจากสิ่งบันเทิงระดับโลกได้โดยไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษา  เขาไปเรียนในสถาบันชั้นนำระดับโลกได้ในขณะที่ผมต้องเรียนในสถาบันการศึกษาธรรมดามาก ๆ  ในสหรัฐส่วนหนึ่งเพราะภาษาอังกฤษไม่ดี  เขามีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติหลายชาติขณะศึกษาในกรุงลอนดอนที่หลังจากจบการศึกษาแล้วก็ยังติดต่อกันตลอดเวลาและเมื่อมีโอกาสก็มาเยี่ยมเยียนกัน   เมื่อคนหนึ่งแต่งงานเพื่อน ๆ  ก็ยังไปร่วมพิธีเหมือนกับเพื่อนที่อยู่ประเทศเดียวกัน

          ผมเองคิดว่าภาษาอังกฤษนั้น “เปลี่ยนโลก” ของลูกผมจากสิ่งที่ผมทำ  ภาษาอังกฤษ “เปลี่ยนโลก” ของผมแต่มันก็ยังไปได้ไม่เต็มที่เนื่องจากผมไม่มีโอกาสในยามเด็ก  ผม “ดิ้นรน”  ไปเรียนต่างประเทศหลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งแล้วโดยมีเหตุผลลึก ๆ  จริง ๆ  อยู่ที่การได้เรียนรู้และอยู่ในสังคมของคนพูดภาษาอังกฤษ  สี่ปีของการศึกษานั้น  สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ผมได้รับก็คือ  ความสามารถในการอ่านและศึกษาเรื่องการเงินและการลงทุนแบบ VI ในภายหลัง  เช่นเดียวกัน  ผมยังมีความสามารถในการอ่านและเสพสิ่งอื่น ๆ  ที่มีความสำคัญและเป็นความบันเทิงของชีวิตแม้ว่าจะไม่เต็มร้อย    สำหรับคนที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษ  การ “ลงทุน” เรียนรู้มันอย่างทุ่มเทนั้นจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า  ยิ่งเรียนอายุน้อยก็ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น   

Posted by nivate at 10:44 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/09/30/1344

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 07, 2013, 11:53:31 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 7 October 2013

ตลาดหุ้นเวียตนาม


“ผมอยากมีลูกมาก ๆ  ซัก 6 คนถ้าเป็นไปได้  เขาจะได้เลี้ยงเราในยามแก่เฒ่า  ถ้ามีลูกน้อยแล้วเขาเกิดตายไปด้วยเราจะลำบาก  ดูซิมันอันตรายเวลาขับมอเตอร์ไซต์บนท้องถนน   หรือบางทีก็อาจจะเป็นโรคตายก่อนวัยอันควรก็ได้  มีลูกมากก็มีความสุข”

           นั่นเป็นคำพูดของไก้ด์หนุ่มเวียตนามอายุ 24-25 ปี ที่พูดไทยได้ชัดเจนคล่องแคล่ว  เขาเป็นชายหนุ่มที่ดูทันสมัย  แต่งตัวและทำผมแบบวัยรุ่นสไตล์เด็กแนวของไทย  เขาเป็นคนนำทางร่วมไปกับกลุ่มนักลงทุนไทยที่ไปท่องเที่ยวและชมตลาดหุ้นโฮจิมินของเวียตนามและพบปะกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งซึ่งจัดโดยมันนีแชนเนล  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปด้วย  และต่อไปนี้คือข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับตลาดหุ้นเวียตนามและอนาคตของการลงทุนในประเทศนั้น

           ความน่าทึ่งของเวียตนามสำหรับผมก็คือ  ประเทศนี้กำลังมีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจคล้าย ๆ  กับประเทศไทยเมื่อสมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นเป็นเวลา 40 ปี มาแล้ว  เพียงแต่ว่ามันอาจจะแรงกว่ามากเนื่องจากประเทศเวียตนามขณะนี้มีประชากรถึงกว่า 90 ล้านคน  คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนุ่มสาวอายุก็คงพอ ๆ  กับไก้ด์หนุ่ม  ประเด็นก็คือ  ประชากรของเวียตนามในอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้าคงจะเพิ่มขึ้นไปอีกมากทีเดียวอนุมานจากความคิดและความต้องการของไก้ด์ที่อยากมีลูกมากและยังมองว่าการมีลูกมากนั้นเป็นเสมือนการลงทุนอย่างหนึ่งที่จะทำให้ตนเองสบายในยามแก่เฒ่าซึ่งเป็นความคิดของคนในยุคพ่อแม่ผม   การมีประชากรที่เป็นคนอายุน้อยมากมายในปัจจุบันและต่อไปอีกในอนาคตนั้น   ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเซียและที่อื่น ๆ  ทั่วโลก

             ผมถามเขาว่ารับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูไหวหรือ?  รัฐบาลให้เรียนฟรีหรือเปล่า?  คำตอบก็คือ  ทุกอย่างคนเวียตนามต้องออกเอง  การเรียนโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยนั้นแพงมาก  อย่างไรก็ตาม  น่าจะมีคนเวียตนามเพียง 10-15% เท่านั้นที่เรียนถึงระดับวิทยาลัย  ทั้งหมดนั้น  ผมนึกดูแล้วก็คล้าย ๆ  กับเมืองไทยในสมัยหลายสิบปีก่อนที่  “ไม่มีอะไรฟรีหรือที่รัฐบาลออกให้”   แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกไม่น้อยกว่า 5-6 คน ก็สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามอัตภาพ  ลูกคนที่เรียนดีบางคนก็ได้รับการศึกษาถึงระดับวิทยาลัย  ส่วนคนที่  “ไม่ได้เรียน”  ก็ออกไปทำงานเป็นช่าง  เป็นคนงานโรงงาน  และอื่น ๆ  ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ระดับมหาวิทยาลัย   งานของคนเหล่านี้  แม้ว่าจะไม่ได้ทำรายได้มากเพราะค่าแรงต่ำ  แต่ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ  อานิสงค์จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนไต้หวัน  และนั่นได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตมาโดยตลอด  และบังเอิญ  นี่ก็เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวียตนามที่นักลงทุนใหญ่ในปัจจุบันก็คือ  ไต้หวันและญี่ปุ่น

            คนเวียตนามในเวลานี้ต้องถือว่ายังยากจนอยู่มากเหมือนเมืองไทยในสมัย 40 ปีก่อน  พวกเขายังบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลักแม้ว่าในโฮจิมินจะมีร้านแบรนด์เนมหรูจากต่างประเทศที่ดัง ๆ  เกือบทุกยี่ห้อ  แต่จำนวนร้านก็มีไม่มากและคนที่เข้าร้านนั้นส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเวียตนามและคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศหยิบมือเดียว   สินค้าที่ต้องใช้เงินมากเช่น  บ้านจัดสรรหรือรถยนต์ที่มีราคาขายพอ ๆ  กับเมืองไทยนั้น  ยังคงมียอดขายน้อยกว่าเมืองไทยมาก  เหตุผลนอกจากความมั่งคั่งแล้วก็คือ  ระบบการซื้อเงินผ่อนยังไม่เกิดขึ้น  คนชั้นกลางต้องค่อย ๆ  เก็บสะสมเงินจนได้เป็นล้านบาทขึ้นไปถึงจะมีปัญญาซื้อบ้านหรือรถได้  ซึ่งนี่ทำให้การบริโภคน้อยลงไปมากเทียบกับเศรษฐกิจที่มีระบบนี้  เรื่องสินค้าเงินผ่อนนี่ก็เช่นกัน  ก่อนหน้าที่เมืองไทยจะมีระบบนี้แพร่หลาย  ผมก็จำได้ว่าการซื้อบ้านหรือการมีรถยนต์นั้น  เป็นเรื่อง “ไกลเกินเอื้อม” ในช่วงที่ผมเพิ่งทำงานหลังจบปริญญาตรีใหม่ ๆ   สิ่งที่คนเวียตนามมีปัญญาซื้อค่อนข้างมากในขณะนี้ก็คือมอเตอร์ไซต์  ที่มีอยู่เต็มท้องถนนและทำให้รถยนต์ต้องแล่นช้ากว่าปกติมาก  ชั่วโมงละประมาณ 20 กิโลเมตรในเมือง  และอาจจะ 30-40 ก.ม. นอกเมือง  ทำให้ประสิทธิภาพในด้านของโลจิสติกต่ำมาก  การเดินทางเพียง 100 ก.ม. ออกไปยังเมืองท่าหรือเมืองตากอากาศอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง

            ปัญหาที่ฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจโตได้เร็วไปกว่าปีละ 6-7% ที่เป็นอยู่ในช่วงนี้นั้น  ที่สำคัญที่สุดในความเห็นของผมน่าจะอยู่ที่ระบบของความคิดและการปกครองของรัฐบาลที่ยังติดอยู่กับระบบสังคมนิยมที่รัฐควบคุมอยู่พอสมควร  ความไม่แน่นอนของแนวทางการควบคุมระบบการเงินซึ่งทำให้ตลาดการเงินไม่มีเสถียรภาพเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่วระดับอาจจะ 7-8% ต่อปี  และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด่องกับเงินเหรียญสหรัฐผันผวนมากและลดลงมาต่อเนื่องเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นหรือตราสารการเงินขาดทุนทั้ง ๆ  ที่ราคาหุ้นอาจจะสูงขึ้นในแง่ของเงินด่อง

           ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เศรษฐกิจเวียตนามก็ยังร้อนแรงมากในช่วงหลาย ๆ  ปีที่ผ่านมา  และแล้วมันก็ “ระเบิด”  ขึ้นในช่วงปีสองปีนี้  ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงอย่างหนัก  เศรษฐกิจมหภาคดูไม่ดีเนื่องจากมีภาวะขาดดุลการค้าสูงและเงินทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐต่ำ  เศรษฐกิจภายในประเทศก็ชะลอตัวลงอย่างแรง  ดัชนีตลาดหุ้นลดลงมามาก  สำหรับคนเวียตนามแล้วดูเหมือนว่านี่จะเป็นวิกฤติ  แต่สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนแล้ว  มันอาจจะเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก

           ประการแรกก็คือ  อัตราเงินเฟ้อดูเหมือนจะลดลงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้มากขึ้นอานิสงค์จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ  อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นก็ดูเหมือนจะมีเสถียรภาพขึ้น  ซึ่งก็คงต้องเป็นอย่างนั้นเมื่อค่าเงินด่องลดลงมามากแล้ว  มันจะลดกันลงไปได้อีกแค่ไหน!  เช่นเดียวกัน  ดัชนีหุ้นก็ลดลงมามากมายและคนเล่นหุ้นในเวียตนามซึ่งมีจำนวนเป็นล้านคนและมากกว่านักลงทุนรายย่อยในบ้านเรานั้นต่างก็  “เลิกเล่น”  เนื่องจากขาดทุนกันอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา  ว่าที่จริง  Market Cap. หรือมูลค่าตลาดหุ้นของโฮจิมินนั้นลดลงเหลือน้อยมาก  ประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3-4% ของตลาดหลักทรัพย์ไทย  ในขณะที่ขนาดของเศรษฐกิจเวียตนามนั้นเท่ากับ 30-40% ของไทย  ดังนั้น  โอกาสที่ตลาดหุ้นเวียตนามจะโตขึ้นจึงน่าจะมีมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ระยะสั้นก็คือเมื่อเศรษฐกิจของเวียตนามฟื้นจากภาวะ  “วิกฤติ” เล็ก ๆ ในช่วงนี้   ระยะยาวก็คือ  เมื่อเศรษฐกิจเวียตนามมีการพัฒนาขึ้นตามศักยภาพที่ควรเป็นของประเทศที่มีทรัพยากรมากประกอบกับการที่มีประชากรสูง  ยิ่งไปกว่านั้น  คนเวียตนามเอง  จากการสำรวจขององค์กรระหว่างประเทศพบว่าเป็นคนที่มีระดับ IQ สูงระดับต้น ๆ  ของเอเชีย  ดังนั้น  เมื่อระบบการปกครองและบริหารเศรษฐกิจของประเทศลงตัวแล้ว  ประเทศก็ควรจะก้าวหน้าและเติบโตต่อไปได้มาก  และแน่นอน  มูลค่าของบริษัทจดทะเบียนก็ต้องสูงขึ้นตาม
           ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นโฮจิมินนั้นน่าสนใจมากด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว  อย่างไรก็ตาม  อุปสรรคในการลงทุนก็ยังมีอยู่มาก  ข้อแรกก็คือ  ความน่าเชื่อถือของการบริหารงานของบริษัทรวมถึงระบบบัญชีต่าง ๆ  ที่อาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน  ว่าที่จริง  กลต. เวียตนามเองก็เพิ่งตั้งขึ้นเข้าใจว่าปีที่แล้วนี่เอง  อีกข้อหนึ่งก็คือ  บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมักจะถือหุ้นและควบคุมโดยรัฐที่มีผลประกอบการดีนั้น  ดูเหมือนว่าจะถูกต่างชาติซื้อจนเต็มเพดาน  ถ้าเราต้องการจะต้องซื้อเป็นบล็อกและจ่ายราคาพรีเมียมอย่างน้อย 20% และราคาหุ้นก็ไม่ถูก  และสุดท้ายก็คือ  ข้อจำกัดของแบ็งค์ชาติของไทยเองที่ไม่อนุญาตให้คนไทยเอาเงินออกไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามอาจจะเนื่องจากดูว่ามัน  “อันตราย”  ซึ่งสำหรับประเด็นหลังนี้  ผมเองก็รู้สึกประหลาดใจมากว่า  ทำไมเจ้าหน้าที่จึงต้องมาห่วงแทนผมซึ่งเป็นเจ้าของเงิน?
   
Posted by nivate at 10:48 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor 

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/07/1346

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 07, 2013, 11:55:20 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

ศักดิ์ศรีของหุ้น


เวลาที่จะเลือกหุ้นลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะคิดถึงอยู่เสมอก็คือ ความโดดเด่น ความยิ่งใหญ่ และความสำคัญของบริษัท ต่อลูกค้า

   และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศว่ามีมากน้อยแค่ไหน  ถ้าไม่มีบริษัทนี้จะเกิดอะไรขึ้น  ถ้าคำตอบก็คือ  บริษัทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของคนจำนวนมาก  หรือสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของคนมากมายในขณะที่หาสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันจากบริษัทอื่นไม่ได้หรือได้ยาก  ในกรณีอย่างนี้  ผมก็จะสนใจและอาจจะให้คุณค่าสูง  และคำว่าคุณค่าสูงของผมนั้น  ผมจะวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท

 ตัวอย่างเช่นบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดว์สนั้น สำคัญหรือยิ่งใหญ่ขนาดที่ว่าทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีโปรแกรมนี้มิฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำงานอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น มูลค่าหุ้นของไมโครซอฟท์จะต้องสูง  “มโหฬาร”  เหตุเพราะว่าคนจำนวนเป็นพันล้านทั่วโลกต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน  ข้อเท็จจริงก็คือ  ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้  หุ้นไมโครซอฟท์เป็นหุ้นที่มี Market Cap. สูงที่สุดในโลก  แนวคิดที่ว่ามูลค่าหุ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับความสำคัญของบริษัท  ผมขอใช้คำว่า  “ศักดิ์ศรี” ของหุ้น  นั่นคือ  ศักดิ์ศรีของการที่เป็นโปรแกรมที่คนทั่วโลกต้องใช้

 ลองมาดูอีกบริษัทหนึ่งคือบริษัทแอ๊ปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ของ สตีฟ จ็อบส์ นี่คือบริษัทที่คนทั่วโลกคอยติดตามหาซื้อผลิตภัณฑ์ไฮเทครุ่นใหม่ล่าสุด ทั้งๆ ที่สินค้าของบริษัทไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นแต่มันเป็นสิ่งที่คน “คลั่งไคล้” ศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำนวัตกรรมที่โดดเด่นโดนใจสุดๆ ของคนรุ่นใหม่ทำให้หุ้นของแอปเปิลมีมูลค่าสูงขึ้นมโหฬารและแซงไมโครซอฟท์ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 เรายังเห็นศักดิ์ศรีของหุ้นกูเกิล  เว็บไซต์ที่คนทั่วโลกต่างก็เข้าไปค้นหาข้อมูลที่หลากหลายไม่จำกัด  หรือเฟซบุ๊คที่คนนับหลายร้อยล้านและกำลังเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เข้ามาใช้บริการ เหล่านี้ผมคิดว่าจะต้องมีมูลค่าหุ้นมหาศาล ซึ่งเราไม่สามารถประเมินมูลค่าได้จากตัวเลขกำไรในปัจจุบัน เหตุก็เพราะว่ามันยังขยายตัวไปเรื่อยๆ และยังเป็นช่วงที่บริษัทอาจต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายมากเพื่อรองรับกับการขยายตัวในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะคาดการณ์หรือคำนวณหามูลค่าที่เหมาะสมก็อาจจะต้องมองไปข้างหน้าที่ยาวไกล  ดูว่าในที่สุดแล้วจะมีคนกี่คนที่จะเป็นลูกค้าและบริษัทจะมีกำไรเท่าไรซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเราก็อาจจะพบว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นในปัจจุบันนั้น  ยังน่าจะห่างจากมูลค่าที่น่าจะเป็นในอนาคตอีกมาก พูดง่ายๆ ราคามัน “ไม่สมศักดิ์ศรี” ในฐานะที่เป็น …. และถ้าเราพบหุ้นแบบนี้  การซื้อลงทุนก็อาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาล

 ธุรกิจจำนวนมากนั้นผลิตสินค้าที่สำคัญมากและเป็นสินค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อลูกค้าและระบบเศรษฐกิจ  เช่น โรงกลั่นน้ำมัน แต่ถ้ามองในแง่บริษัทแล้ว ความสำคัญก็อาจจะมีไม่มาก เพราะถ้าบริษัทเป็นอะไรไป บริษัทหรือโรงกลั่นอื่นก็ยังผลิตอยู่สามารถทดแทนได้ และแม้ว่าจะทดแทนได้ไม่หมด เราก็ยังสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้  ดังนั้น ศักดิ์ศรีของการเป็นโรงกลั่นในแง่ของหุ้นก็มีไม่มากนัก

 กิจการบางอย่าง เช่น สาธารณูปโภค นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผู้คนทั้งประเทศและไม่มีบริษัทอื่นมาแทนได้ถ้าบริษัทเป็นอะไรไป แต่กิจการเหล่านั้นก็มักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่ให้ตั้งราคาสูง บางกิจการถูกบังคับให้ตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ แบบนี้ ศักดิ์ศรีก็มีแต่แปลงให้เป็นราคาหุ้นไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น

 ตัวอย่างของกิจการในเมืองไทยที่ผมเห็นว่าสามารถนำเรื่องของศักดิ์ศรีมาพูดได้และก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็คือ  หุ้นการบินไทย ย้อนหลังไปเพียงไม่เกิน 2-3 ปีในช่วงที่หุ้นการบินไทยตกต่ำลงเหลือเพียง 7-8 บาทถ้าผมจำไม่ผิด ในช่วงนั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทของการบินไทยอยู่ที่หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเท่ากับราคาเครื่องบินโบอิง 747 เพียง 2-3 ลำ แต่ถ้าดูจริงๆ แล้ว ศักดิ์ศรีของการบินไทยคือการเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนเกือบครึ่งหนึ่งที่ต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยด้วยเครื่องบินต้องใช้บริการ  นอกจากนั้นการบินไทยยังถือหุ้นใหญ่โดยรัฐที่มี  “ศักดิ์ศรี” ที่จะต้องรักษาบริษัทไว้  ดังนั้น ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นการบินไทยในช่วงนั้นจึงดู “ไม่สมศักดิ์ศรี” ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องกำไรขาดทุนหรือฐานะการเงินอะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เป็นอย่างที่เห็น หุ้นการบินไทยปรับตัวขึ้นมหาศาลสมกับฐานะหรือศักดิ์ศรีของบริษัทคือกว่าแสนล้านบาท

 ลองมาดูบริษัทเอกชนธรรมดาที่สถานะหรือตำแหน่งในตลาดหรือในระบบเศรษฐกิจ “ยิ่งใหญ่” แต่ในช่วงหนึ่งราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้น “ไม่สมศักดิ์ศรี” ตัวแรกก็คือ หุ้น CPF ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ฐานะของบริษัทในสังคมการค้าและอุตสาหกรรมทางด้านอาหารนั้นเป็นที่ประจักษ์มานาน  ยอดขายของบริษัทก็สูงเป็นแสนล้านบาทและยังเติบโตไปเรื่อยๆ แต่ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปี มูลค่าหุ้นของบริษัทก็เพียงแค่ 2-3 หมื่นล้านถ้าผมจำไม่ผิด  และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPF ปรับตัวขึ้นมารับกับศักดิ์ศรีของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาจจะเติบโตยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้  มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาท

 หุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งบังเอิญอยู่ในกลุ่มของ CP เช่นเดียวกันก็คือ หุ้น CPALL ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปีเช่นเดียวกัน  ศักดิ์ศรีของบริษัทก็คือ เป็นผู้นำที่โดดเด่นในตลาดสะดวกซื้อที่คนไทยนับวันจะใช้บริการมากขึ้นและในที่สุดก็น่าจะทั้งประเทศ  สำหรับหลายๆ  คนแล้ว  การขาดร้าน 7-11 นั้นก็จะเป็นการ “ยุ่งยาก” หรือ “ไม่สะดวก” เอามากๆ  แต่ในขณะนั้น  หุ้นของ CPALL ซึ่งโดยศักยภาพนั้นน่าจะมียอดขายเป็นแสนล้านบาทขึ้นไปกลับมี Market Cap. เพียง 3-4 หมื่นล้านบาทโดยไม่มีหนี้เงินกู้เลย  เป็นไปได้อย่างไรที่กิจการที่คนทั้งประเทศต้องใช้บริการเกือบทุกวันโดยที่หาคู่แข่งแทบไม่ได้จะมีมูลค่าเพียงเท่านั้น  และก็อย่างที่เห็น  หุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาทสมกับศักดิ์ศรีที่ควรจะเป็น

 การดูว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้นสมกับศักดิ์ศรีของกิจการหรือไม่ เป็นศิลปะอยู่มากทีเดียว เนื่องจากตัวเลขผลการดำเนินงานในขณะที่วิเคราะห์นั้นใช้ไม่ได้  หลายครั้งต้องใช้จินตนาการว่าอนาคตของบริษัทจะเป็นอย่างไรใน 5 ปี 10 ปีหรือยาวกว่านั้น  การวิเคราะห์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม  ถ้าทำถูก  ผลตอบแทนก็มหาศาล

ที่มา :


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 14, 2013, 11:19:37 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 14 October 2013

หุ้นน่ากลัว


การที่ลงทุนในตลาดหุ้นมานานมากและได้เห็นเหตุการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ  ของผู้บริหารจำนวนมากในตลาดทำให้ผมพบความ “ไม่โปร่งใส”  ในการบริหารงานในบริษัทจำนวนมาก  บางเรื่องก็เป็น  “ความจำเป็น”  ทางธุรกิจ  บางเรื่องก็เป็นการกระทำของผู้บริหารที่เอาเปรียบหรือโกงบริษัท    บริษัทที่มีอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้มักจะมีลักษณะหรือโครงสร้างของการทำธุรกิจที่ “เอื้ออำนวย”  ให้เกิดการโกงได้ง่าย  การโกงนั้น  บางทีก็ทำให้บริษัทถึงกับล้มละลาย  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ทำให้ผลประกอบการไม่ดีหรือลุ่ม ๆ  ดอน ๆ   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  การลงทุนในหุ้นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่  “น่ากลัว”  และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ   และถ้าหุ้นไม่ถูกจริงหรือมีประเด็นที่น่าสนใจจริง ๆ  แล้ว  ผมก็จะไม่ลงทุน  และต่อไปนี้คือบางส่วนของหุ้นที่ผมคิดว่า  “น่ากลัว”

          หุ้นกลุ่มแรกก็คือ   หุ้นของบริษัทที่รับงานจากหน่วยงานของรัฐเช่น  งานรับเหมาก่อสร้างโครงการต่าง ๆ   เหตุผลก็เพราะว่างานเหล่านี้มักจะต้องมี  “รายจ่ายพิเศษ”  ที่เราคาดการณ์ไม่ได้  รายจ่ายนี้คือรายจ่ายที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อให้  “ได้งานและเพื่อที่จะสามารถส่งมอบงานอย่างไม่ติดขัด”   จริงอยู่  บริษัทมักจะรวมค่าใช้จ่ายนี้ไว้แล้วเวลาเสนอราคา   แต่การเปลี่ยนแปลงในระหว่างที่กำลังทำงานก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ซึ่งอาจทำให้บริษัทขาดทุนได้    นอกจากนั้น  การที่บริษัทมีรายจ่ายพิเศษที่ต้องจ่ายออกไปให้คนอื่นโดย  “ไม่มีใบเสร็จ”  อยู่แล้ว  การที่บริษัทจะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้กับผู้บริหารหรือคนที่ทำเรื่องจ่ายจึงเป็นเรื่องง่ายและตรวจสอบไม่ได้   ผลก็คือ  กำไรของบริษัทอาจจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่ารายจ่ายพิเศษจะมีมากน้อยแค่ไหน  และนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลาย ๆ  บริษัทที่มียอดขายมากมายแต่กลับไม่มีกำไรอยู่บ่อย ๆ

          หุ้นกลุ่มที่สองที่ “น่ากลัว”  คือบริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านดีลเลอร์รายใหญ่ ๆ  หรือตัวแทนที่ผู้บริหารเป็นเจ้าของ   ประเด็นก็คือ  ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้น  มักมียอดขายที่สูงมากแต่มีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำ  หากผู้บริหารต้องการทำกำไรให้ตนเองสูงสุด   เขาก็สามารถลดราคาขายให้กับดีลเลอร์ที่เป็นบริษัทส่วนตัว  อาจจะเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อยแต่เขาก็จะได้เงินมาก   และนั่นก็ทำให้บริษัทเสียหายและกำไรน้อยลงหรือไม่ได้กำไรเลย  ดังนั้น    การลงทุนในหุ้นแบบนี้  นักลงทุนจึงคาดผลประกอบการได้ยากและมีโอกาสเสียหายหนักถ้าเจ้าของหรือผู้บริหารไม่โปร่งใส

          หุ้นกลุ่มที่สามที่ผมรู้สึกไม่สบายใจและกลัวว่าผู้บริหารอาจจะไม่โปร่งใสก็คือ  บริษัทที่ซื้อกิจการหรือทรัพย์สินขนาดใหญ่จากบริษัทหรือคนที่  “ตรวจสอบไม่ได้”  หรือเป็นคนที่ไม่มีความน่าเชื่อถือพอ  ประเด็นก็คือ  ราคาที่จ่ายไปนั้นอาจจะสูงเกินไปมาก  หรือกิจการมีคุณสมบัติที่แย่หรือกำลังจะย่ำแย่ลง   แต่เหตุผลที่ซื้อในราคาแพงนั้น   อาจจะเป็นเพราะซื้อแล้วมี  “เงินทอน”  ให้กับผู้บริหารจากคนที่ขายซึ่งตรวจสอบไม่ได้เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนหรือเป็นบุคคลธรรมดา   ในกรณีแบบนี้  ในที่สุดแล้ว  บริษัทก็จะเสียหายเนื่องจากกิจการหรือทรัพย์สินที่ซื้อมาไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีคุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายไป

           หุ้นกลุ่มที่สี่ที่ผมรู้สึกกลัวตลอดเวลาถ้าต้องถือหุ้นไว้ก็คือ  หุ้นของบริษัทที่มีลูกหนี้มากเมื่อเทียบกับยอดขายหรือขนาดทรัพย์สินหรือขนาดของเงินทุนของบริษัท  โดยเฉพาะถ้าลูกหนี้นั้นไม่ได้เป็นบริษัทหรือกิจการที่มีขนาดใหญ่ที่มีเรทติ้งที่ดีมาก  เหตุผลก็คือ  ลูกหนี้นั้นอาจจะเบี้ยวหนี้หรือกลายเป็นหนี้เสียและทำให้บริษัทเสียหายหนัก  บางครั้งอาจจะล้มละลายได้   การที่ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสียนั้นก็อาจจะมีได้หลายสาเหตุซึ่งรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่ตกต่ำลงอย่างหนัก  หรือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้บางรายที่เป็นลูกค้ารายใหญ่มาก  หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือ  เป็นลูกหนี้ที่เป็นกิจการของผู้บริหารที่ตั้งขึ้นเพื่อที่จะ  “โกงบริษัท”  ตั้งแต่แรกก็เป็นไปได้

           หุ้นกลุ่มที่ห้าที่ไม่ใช่เรื่องของการโกง  แต่เป็นบริษัทที่มีหนี้มากในขณะที่กิจการมีความไม่แน่นอนของผลประกอบการสูงเนื่องจากเป็นกิจการที่ขายสินค้าที่เป็นวัฏจักรหรือสินค้าที่มีความเป็นโภคภัณฑ์สูง  ประเด็นก็คือ  ในยามที่เกิดความยากลำบากขึ้น  บริษัทอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ซึ่งทำให้บริษัทมีปัญหาทางการเงินหนัก  บางทีอาจจะถึงกับล้มละลายได้  หรือในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นมาก  ผลกำไรของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้

           หุ้นกลุ่มที่หกที่บ่อยครั้งคนในวงการนักเล่นหุ้นชอบมากเพราะเป็นหุ้นกลุ่มที่อาจจะให้ผลตอบแทนในระยะสั้นหวือหวา   แต่สำหรับผมที่เน้นการลงทุนในพื้นฐานและเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว  กลับเป็นหุ้นที่น่ากลัว  เนื่องจากผมไม่ใคร่เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี  หลายครั้งผมรู้สึกด้วยว่ามันเป็น  “เกมปั่นหุ้น”  ที่อาจจะไม่ผิดกฎหมาย  แต่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้มาก  และทำให้คนที่รู้ขายทำกำไรไปก่อน  แล้วทิ้งให้คนที่มาทีหลังหรือคนไม่รู้รับความเสี่ยงไป   และนี่ก็คือหุ้นของบริษัทที่มี  “วิศวกรรมการเงิน”  หรือการ  “ปรับโครงสร้าง”  ใหญ่ ๆ  ของบริษัทตลอดเวลา  โดยที่ผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินการหลักของบริษัทนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนอะไรที่สำคัญและก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเลิศอะไรนัก

           บริษัทที่น่ากลัวในกลุ่มที่หกก็เช่น  บริษัทที่เปลี่ยนแปลงหรือมีธุรกิจใหม่ ๆ  ที่มีนัยสำคัญสูงอยู่เรื่อย ๆ   บางทีนอกจากธุรกิจใหม่แล้ว  ชื่อของบริษัทก็ถูกเปลี่ยนไปตามแนวของธุรกิจใหม่จนเราจำไม่ได้ว่าเดิมบริษัทชื่ออะไร  ความน่ากลัวอยู่ที่ว่า  ธุรกิจใหม่นั้นอาจจะไม่ดีและทำให้ผลประกอบการเลวลงเนื่องจากบริษัทอาจจะไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์พอในการทำงาน  เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าของเดิมบริษัทก็ทำไม่ได้ดีอยู่แล้ว  ของใหม่จะทำได้เหนือกว่าคู่แข่งได้อย่างไร!

           นอกจากเรื่องของการเปลี่ยนธุรกิจไปเรื่อย ๆ  แล้ว    บริษัทที่  “ใช้เครื่องมือทางการเงิน”  อย่างพร่ำเพรื่อ  โดยที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ  ก็เป็นสิ่งที่ผมมักจะกลัว  ตัวอย่างเช่น  การแตกพาร์จาก 1 บาทเหลือ 25 สตางค์ เพื่อ  “เพิ่มสภาพคล่อง”  ของหุ้น  ทั้งที่ราคาหุ้นก็ไม่ถึง 10 บาทอยู่แล้ว   หรือการออกวอแรนต์แจกให้ผู้ถือหุ้นมากมายหลาย ๆ  ชุดต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ  จนวอแรนต์นั้นมีสัดส่วนอาจจะเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งบริษัท  แบบนี้ผมก็ถือว่าไม่สมเหตุผล    ประเด็นก็คือ  ผมคิดว่าผู้บริหารไปเน้นการ “บริหารหุ้น”  มากกว่าการบริหารกิจการ  และดังนั้น  การเข้าไปซื้อหุ้นที่มีคนบริหารนั้น  จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว  เพราะเราอาจจะเข้าไปซื้อที่ราคาแพงเกินไปมากได้

           หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือหุ้นที่  “กินก่อน  จ่ายทีหลัง”  ตัวอย่างเช่น  สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่กิจการธุรกิจ    สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการแบบเงินผ่อน  บริษัทประกันภัย  เป็นต้น  บริษัทเหล่านี้นั้น   เมื่อขายบริการหรือผลิตภัณฑ์ของตน  พวกเขาก็จะกำไรทันทีในระยะสั้น  แต่ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นยังไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับลูกค้าหรือเหตุการณ์ในอนาคตว่าบริษัทจะได้รับเงินคืนหรือไม่  แต่โดยธรรมชาติของคนก็คือ  เราอยาก  “กินก่อน”  อนาคตไม่แน่นอนอย่าไปคิดมาก   เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าลูกค้าเสีย  เจ้านายก็อาจลืมไปแล้วว่าใครเป็นคนทำ  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  ธุรกิจแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว  เพราะเราอาจจะคิดว่าบริษัทกำลังโต  กำลังดีขึ้น  ทั้งที่อาจจะไม่จริงเพราะในที่สุด  บริษัทอาจจะต้อง  “จ่ายหนักทีหลัง” นั่นก็คือ  บริษัทเสียหายอย่างหนัก
            ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหุ้นที่น่ากลัวสำหรับผม  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะลงทุนไม่ได้  เพียงแต่ว่าเราจะต้อง Discount หรือลดมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นลง  นั่นก็คือ  หุ้นจะต้องมีราคาต่ำพอที่จะคุ้มสำหรับการลงทุน

Posted by nivate at 10:46 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/14/1350

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 21, 2013, 09:30:25 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 21 October 2013

บิดาแห่งตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ



หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้คือ  Eugene Fama ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา  ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น  “บิดาแห่งตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ”  จากการเป็นผู้บุกเบิกแนวความคิดของ  “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” ที่เป็นความคิดที่ทรงพลังยิ่งตั้งแต่ช่วงต้นทรรศวรรษปี 1970 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

            แนวคิดหลักของทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพก็คือ  ตลาดหุ้นนั้นประกอบไปด้วยนักลงทุนที่มีความรู้  มีเหตุผล  มีข้อมูลเต็มเปี่ยม  และลงมือซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วทันทีเมื่อมีข่าวสารที่กระทบกับพื้นฐานของกิจการ  กระบวนการนี้ทำให้ราคาของหุ้นปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงเสมอ  ทำให้ไม่มีใครสามารถที่จะซื้อขายหุ้นทำกำไรได้เหนือกว่าปกติต่อเนื่องยาวนานได้   พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพบอกว่า  ราคาหุ้นทุกตัวในตลาดนั้นมีราคาที่เหมาะสม—โดยเฉลี่ย  ดังนั้น  การที่จะทำกำไรจากการลงทุนในหุ้นโดยการวิเคราะห์หุ้น  หาซื้อหุ้นที่มีราคาถูกและขายหุ้นที่แพง  หรือหาจังหวะเข้าซื้อขายหุ้นนั้น  ไม่สามารถทำได้  ไม่ว่าจะใช้เทคนิคอะไร  รวมถึงหลักการแบบ VI ที่เราเชื่อถือกันว่าทำให้เราสามารถทำกำไรมากกว่าปกติได้

            ในการที่จะพิสูจน์ทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ  ฟามายังแบ่งแยกระดับของประสิทธิภาพของตลาดออกเป็น 3 ระดับ  นั่นคือ  หนึ่ง  “ประสิทธิภาพระดับอ่อน” หรือ “Weak Form” ซึ่งบอกว่า  การใช้ข้อมูลเฉพาะด้านของราคาหุ้นมาคาดการณ์ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงในอนาคตนั้น  ไม่สามารถทำได้  เพราะราคาหุ้นที่ขึ้นลงวันต่อวันหรือแม้แต่นาทีต่อนาทีนั้น  ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน  ราคาหุ้นนั้นขยับขึ้นลงเหมือน  “คนเดินสุ่ม”  หรือ  “Random Walk”  ไม่มีแบบแผน  เหตุผลก็คือ  ข้อมูลที่เข้ามากระทบหุ้นนั้นก็เป็นข้อมูลที่ “เดินสุ่ม”  เหมือนกัน  ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อนได้  ดังนั้น  ราคาจึงผันผวนไปตามข้อมูลที่ผันผวนคาดเดาไม่ได้ในระยะสั้น

           ถ้าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพอย่างอ่อนจริง  การใช้  “การวิเคราะห์ทางเทคนิค”  เพื่อหา “แนวรับแนวต้าน”  หรือ  “ราคาเป้าหมาย”  ของหุ้นหรือดัชนี  หรือการกำหนดจุดซื้อหรือขาย  ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้  พูดง่าย  ๆ  ถ้าซื้อขายหุ้นตามสัญญาณทางเทคนิคนั้น  ไม่มีทางทำกำไรได้  ถ้าทำไปเรื่อย ๆ  โอกาสที่จะขาดทุนสูงมาก  เพราะค่าคอมมิชชั่นจะกินหมด

           ประสิทธิภาพของตลาดระดับสองคือ  “ประสิทธิภาพระดับกลาง”  หรือ “Semi-Strong Form”  นั้น  ฟามาบอกว่า  ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีนักลงทุนอาชีพหรือนักลงทุนที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ  ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะจำนวนมาก  พวกเขาเหล่านี้จะซื้อขายหุ้นทันทีที่มีข่าวหรือมีการแจ้งข้อมูลออกสู่สาธารณะ  ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเข้าสู่มูลค่าที่เหมาะสมทันทีที่มีข่าวหรือข้อมูล  หรือทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขาย  ดังนั้น  การนำข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วมาทำการซื้อขายหุ้นจึงไม่มีประโยชน์  ถ้าพูดกันในวงการหุ้นก็เรียกว่า  ข่าวนั้น ถูก  Discount ไปแล้ว  หรือราคาหุ้นถูกตอบสนองไปหมดแล้ว  ราคาหุ้นหลังจากนั้นจะไม่เกี่ยวกับข่าวเดิมอีกต่อไป

            ถ้าประสิทธิภาพของตลาดระดับกลางเป็นความจริง  การวิเคราะห์หุ้นโดยใช้ข้อมูลสาธารณะ  เช่น ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ  อุตสาหกรรม  หรือข้อมูลผลประกอบการและฐานะการเงินรวมถึงความเข้มแข็งทางด้านการตลาดหรืออื่น ๆ  ของบริษัทก็จะไม่เป็นประโยชน์  เพราะข้อมูลเหล่านี้นักลงทุนคนอื่นจำนวนมากก็  “รู้อยู่แล้ว”  ถ้าหุ้นนั้นดี  เขาก็ซื้อกันไปแล้ว  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงเหมาะสมกับพื้นฐานของบริษัทอยู่แล้ว   การเข้าไปซื้อจึงไม่สามารถทำกำไร “เกินกว่าปกติ”  ได้  พูดง่าย ๆ  หุ้นดี ราคาก็แพง  หุ้นแย่  ราคาก็ถูก  ไม่มีหุ้นดีราคาถูกหรอก  เพราะถ้าราคาถูก  คนก็เข้าไปซื้อ  ราคาก็ต้องปรับตัวขึ้นจนแพงอยู่แล้ว  ดังนั้น  ถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริง  การวิเคราะห์หุ้นไม่ว่าจะใช้เทคนิคไหน  รวมถึงหลักการแบบ Value Investment ก็ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

            สุดท้าย ก็คือ “ประสิทธิภาพระดับสูงของตลาด”  หรือ  “Strong Form”  ซึ่งบอกว่า  ไม่มีข้อมูลอะไร  รวมถึง  “ข้อมูลภายใน”  ที่ยังไม่ได้เปิดเผยกับตลาดแต่รู้กันเฉพาะผู้บริหารหรือคนที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้สอบบัญชี  หรือหน่วยงานรัฐ ที่จะสามารถนำมาใช้ซื้อขายหุ้นทำกำไรได้เกินกว่าปกติ  เหตุผลก็คือ  ไม่มีใครสามารถ  “ผูกขาด”  ข้อมูลได้  คนที่รู้ข้อมูลภายในก็อาจจะมีหลายคน  และดังนั้นพวกเขาก็แย่งกันซื้อขายหุ้นก่อนที่ข่าวจะออก  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็สะท้อนไปก่อนที่คนใดคนหนึ่งจะลงมือทำ  ดังนั้น  การใช้ข้อมูลภายในก็ไม่สามารถทำให้สามารถทำกำไรเกินกว่าปกติไปได้

            การพิสูจน์ความถูกต้องของตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้น  ฟามาบอกว่าทำได้ยากมาก  ข้อแรกก็คือ  เราจะต้องหาว่าหุ้นแต่ละตัวนั้น   ควรจะมีผลตอบแทนที่เหมาะสมเท่าไรเสียก่อน  ถึงจะบอกได้ว่าเราได้กำไร “เกินกว่าปกติ” หรือไม่  การหาว่าหุ้นแต่ละตัวควรจะมีราคาที่เหมาะสมหรือให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมนั้นจำเป็นต้องมีโมเดลหรือสูตรที่จะคิด  หลังจากได้โมเดลนี้แล้ว  เราถึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเราสามารถใช้ข้อมูลหรือเทคนิคอะไรที่ทำให้เราสามารถทำกำไรได้เกินจากนั้นหรือไม่  ถ้าพบว่า  ไม่มีเทคนิคอะไรที่ทำผลตอบเกินกว่าปกติต่อเนื่องยาวนานเลยก็แสดงว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพสูง  ถ้าเราใช้ข้อมูลสาธารณะประเมินมูลค่าหุ้นแบบ VI  แล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติก็แสดงว่าตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพในระดับกลาง  ถ้าเราสามารถใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งใช้แต่ข้อมูลด้านราคาหุ้นอย่างเดียวแล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติได้ก็แสดงว่าตลาดหุ้นไม่มีประสิทธิภาพเลย

            หลังจากบทความของ ฟามา ออกมาแล้ว  นักวิชาการก็สามารถพัฒนาโมเดลที่บอกว่าหุ้นแต่ละตัวควรจะมีมูลค่าหรือให้ผลตอบแทนเท่าไรต่อปี นำโดย มาร์โควิตซ์และชาร์ป ซึ่งบอกว่า  ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เหมาะสมแต่ละตัวนั้นขึ้นอยู่กับ  “ความเสี่ยง”  หรือค่า เบต้า  ถ้าหุ้นตัวนั้นเสี่ยงมากหรือ  “เบต้าสูง”  ผลตอบแทนที่เหมาะสมก็จะต้องมาก  ถ้าเสี่ยงน้อย  ผลตอบแทนก็น้อย  ถ้าไม่เสี่ยงเลยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากับพันธบัตรรัฐบาล   และนี่ก็กลายเป็น  “ทฤษฎีทางการเงินสมัยใหม่”  ที่นักศึกษาทางการเงินทุกคนต้องเรียน  และทั้งมาร์โควิตซ์และชาร์ป ต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลทั้งคู่ก่อนหน้านี้

            การพิสูจน์ว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเป็น  “ดรามา” มาตลอดจนถึงทุกวันนี้  เช่น  มีการพบว่าการลงทุนแบบ VI ที่ซื้อหุ้นถูกค่า PE ต่ำสามารถทำกำไรเกินกว่าปกติได้  แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ดีว่า  โมเดลของชาร์ปนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง  เพราะผลตอบแทนนั้น  อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องของความเสี่ยงหรือเบต้าอย่างเดียว  ว่าที่จริง ฟามาเองก็เคยเสนอการศึกษาที่มีชื่อเสียงว่า  มีปัจจัยอื่นที่กำหนดผลตอบแทนของหุ้นด้วยนอกจากความเสี่ยง  และถ้าใช้โมเดลใหม่นั้น  ก็อาจจะพบว่าผลตอบแทนที่เกินกว่าปกตินั้น  เป็นผลตอบแทนที่เกิดจากปัจจัยอื่นที่ได้รับการชดเชย  เช่น  เป็นความเสี่ยงที่บริษัทจะเกิดการล้มละลายเป็นต้น  ในขณะที่เบต้านั้นเป็นความเสี่ยงของความผันผวนของราคาหุ้น

           ในฐานะของ VI ผมคิดว่าเราต้องมีเหตุผลและไม่ควรมีอคติ  ผมเองเชื่อว่าตลาดโดยรวมแล้วน่าจะต้องมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งขึ้นอยู่กับนักลงทุนหรือคนที่ “เล่น” อยู่  ดังนั้น  อย่าไปคิดว่า  “เรารู้แต่ตลาดไม่รู้”  โดยเฉพาะในยามที่มีนักลงทุนมืออาชีพและ  “VI”  มากมายในตลาดในปัจจุบัน  การวิเคราะห์ดูแบบง่าย ๆ  แล้วสรุปว่าหุ้นถูกหรือหุ้นแพงนั้น  ผมคิดว่าในช่วงเร็ว ๆ  นี้ทำเงินได้ยาก
 
Posted by nivate at 10:31 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/21/1352

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 28, 2013, 09:35:50 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 28 October 2013

แววเซียน



จากประสบการณ์ของผม  คนที่มีความสามารถพิเศษ  มี “พรสวรรค์” และประสบความสำเร็จในการงานสูงนั้น  มักจะมีประวัติในตอนเด็กจนถึงประมาณอายุ 20 ปี หรือตอนจบปริญญาตรี  ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความชอบ  คุณสมบัติทางร่างกายและสมอง  และทักษะของเขา  ตัวอย่างเช่น  ไทเกอร์ วู้ด นักกอล์ฟมือหนึ่งของโลกนั้น  เขาจับไม้กอล์ฟและชอบตีกอล์ฟตั้งแต่เป็นเด็กเล็กมากถือไม้แทบไม่ไหว   แน่นอนว่าพ่อของเขานั้นตั้งใจฝึกเขาตั้งแต่ยังเล็กมากและนั่นอาจทำให้เขาชอบ  แต่ร่างกายและสมองของเขาก็คงต้องมีส่วนอยู่ไม่น้อยที่ทำให้เขาตีได้ดี  หลาย ๆ  อย่างคงประกอบกันทำให้ ไทเกอร์ วู้ด กลายเป็นยอดนักกอล์ฟในตำนานคนหนึ่ง

              สตีป จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งและสร้างผลิตภัณฑ์ของแอบเปิลคอมพิวเตอร์และถือว่าเป็นตำนานของนักประดิษฐ์มือต้น ๆ  ที่โลกรู้จักนั้น  ในวัยที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่นเขาน่าจะเป็นนักคิดและมีจินตนาการสูง  ผมไม่รู้จักประวัติของเขามากนัก  แต่ทราบว่าเขาเคยเดินทางไปแสวงหาความหมายของชีวิตในเอเซียและหันมานับถือศาสนาพุทธ  เขาเคยเรียนการออกแบบตัวอักษรแบบต่าง ๆ  ในมหาวิทยาลัย  ที่สำคัญเขาหมกมุ่นเล่นและคลุกคลีกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในช่วงที่อุปกรณ์ชนิดนี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นบนโลก   ในกรณีนี้  “สถานการณ์”  และ “โอกาสที่ได้สัมผัส”  มีส่วนสำคัญที่ทำให้จ็อบส์กลายเป็นอัจฉริยะทางด้าน IT และกลายเป็นตำนานของนักประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่คนทั้งโลกต่างก็ต้องการใช้อย่างแอบเปิล

            ในเรื่องของการลงทุนนั้น  ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเหนือไปกว่า วอเร็น บัฟเฟตต์  แต่อัฉริยะภาพของเขานั้น  ไม่ได้เกิดเมื่อเขาเรียนจบ  ทำงาน  และเริ่มลงทุน  เรามาดูประวัติของบัฟเฟตต์ตั้งแต่เด็กจนถึงเรียนจบปริญญาตรีและโทก็จะพบว่า  “แวว” ของความเป็น  “เซียน”  ของบัฟเฟตต์นั้น  น่าจะเริ่มตั้งแต่เขายังเป็นเด็กชั้นอนุบาลและก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ  ไม่มีหยุด

            ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ  บัฟเฟตต์ก็เริ่มรู้จักเร่ขายโค๊ก  โดยเขาซื้อโค๊กมาเป็นแพ็ค ๆ  ละ 6 ขวดในราคา 25 เซ็นต์ แต่ขายมันในราคาขวดละ 5 เซ็นต์ซึ่งทำให้เขาได้เงิน 30 เซ็นต์ ได้กำไร 5 เซ็นต์  หรือคิดเป็นกำไร 16% ของยอดขาย   ความสนใจในการที่จะ “หาเงิน” ของเขานั้นคงจะวนเวียนอยู่กับเขาตลอดเวลา  เพราะว่าแค่อายุ 11 ขวบ  เขาก็เริ่มซื้อหุ้นตัวแรก  ซึ่งก็คือหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท Cities Service โดยที่เขาซื้อร่วมกับพี่สาว เป็นจำนวน 6 หุ้น ในราคาหุ้นละ 38  เหรียญ พอซื้อแล้วราคาก็ตกลงมาเหลือ 27 เหรียญ ซึ่งทำให้พี่สาวเขากังวลและถามเขาทุกวันว่ามันจะเป็นอย่างไร  ดังนั้น  พอหุ้น Cities Service ปรับตัวขึ้นมาเป็น 40 เหรียญ  เขาก็ขายมันไป  และแทบจะทันทีหลังจากนั้น  หุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปจนถึง 200 เหรียญ สอนบทเรียนให้บัฟเฟตต์รู้ว่าเขาไม่ควรรีบขายหุ้นเพราะกลัวว่าหุ้นจะตก

             เหตุผลที่บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นตั้งแต่เด็กนั้นไม่ได้มีการกล่าวถึง  แต่ผมเชื่อว่าเป็นเพราะพ่อของบัฟเฟตต์เป็นเจ้าของและทำธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น  ดังนั้น  บัฟเฟตต์คงคุ้นเคยกับหุ้นตั้งแต่เด็ก  เขาคงรู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาขึ้นลงและเป็นหนทางหรือเครื่องมือในการทำเงินให้เขาได้  และดังนั้นเขาจึงเข้าไปลองดู   ความต้องการที่จะหาเงินของบัฟเฟตต์  หรือแรงขับที่จะสร้างความร่ำรวยของบัฟเฟตต์นั้นเป็นที่ประจักษ์  เพราะเมื่อเขาอายุแค่ 13 ขวบ  เขาก็ประกาศว่าเขาจะเป็นเศรษฐีเงินล้านเมื่ออายุ 30 ปี และถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเขาก็จะไป   “กระโดดตึกที่สูงที่สุดในเมืองโอมาฮา”

             บัฟเฟตต์เริ่มทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ  เขาขยายสมาชิกและเส้นทางส่งหนังสือพิมพ์ไปจนมีสมาชิกถึง 500 รายต่อวัน  พออายุถึง 15 ขวบ  เขาก็สามารถทำเงินได้ถึงสัปดาห์ละ 175 เหรียญซึ่งเท่ากับเงินเดือนของผู้ใหญ่อายุ 25 ปีทีเดียว

            การลงทุนเพื่อหาเงินหรือทำกำไรของบัฟเฟตต์นั้น  ดูเหมือนจะไม่จำกัดว่าเป็นอะไร  เพราะเมื่อเขาอายุ 14 ขวบและคงมีเงินเก็บอยู่พอสมควรนั้น  เขาก็ได้ซื้อฟาร์มขนาด 40 เอเคอร์หรือประมาณ 100 ไร่ ในราคา 1,200 เหรียญเพื่อเก็งกำไร   พอถึงอายุ 17 ปี  ซึ่งบัฟเฟตต์กำลังเรียนในปีสุดท้ายของชั้นมัธยม  เขาก็เริ่ม  “ทำธุรกิจ”   นั่นก็คือ  เขาซื้อเครื่องเล่นพินบอลเก่าในราคาเครื่องละ 25 เหรียญไปวางไว้ที่ร้านตัดผมเพื่อให้ลูกค้าหยอดเหรียญเล่น  ภายในเวลาไม่กี่เดือน  เขาก็มีเครื่องเล่นวางถึง 3 จุด  ซึ่งเขาก็ขายธุรกิจนี้ให้กับนายทหารผ่านศึกคนหนึ่งในปีเดียวกันที่ราคา 1,200 เหรียญ  ในเวลานั้น  บัฟเฟตต์มีเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 เหรียญแล้วโดยเฉพาะจากการทำงานส่งหนังสือพิมพ์  ดูเหมือนว่าเขาจะมีความสุขกับการหาเงินมากจนไม่ใคร่อยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย  อย่างไรก็ตาม  พ่อเขาก็กดดันให้เขาเรียน  และบัฟเฟตต์เองก็ได้รับการตอบรับให้เรียนที่วาร์ตันซึ่งเป็นคณะบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียอันโด่งดัง

            ถึงจุดนี้คงต้องกล่าวเสริมว่าบัฟเฟตต์นั้นเป็นเด็กที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในเรื่องของตัวเลขและคณิตศาสตร์   และการที่สามารถเข้าเรียนที่วาร์ตันได้นั้นแสดงให้เห็นว่าเขาน่าจะ “หัวดี” ทีเดียว  เพียงแต่อาจจะไม่ใคร่ชอบเรียน  เขาบ่นว่าเขา  “รู้ดีกว่าอาจารย์”  และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เขาย้ายมหาวิทยาลัยกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเนบราสกาที่บ้านเกิดในปี 3 และเรียนจบใน 3 ปีครึ่ง เวลานั้นเขาอายุเพียง 20 ปี และมีเงินเก็บถึงเกือบหนึ่งหมื่นเหรียญซึ่งถือว่ามากทีเดียว

           จุดเปลี่ยนชีวิตจริง ๆ ของบัฟเฟตต์อาจจะอยู่ที่การเรียนปริญญาโทซึ่งเขาสมัครที่คณะบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด  มหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของโลก  แต่ได้รับการปฏิเสธ  เขาจึงสมัครและได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนที่โคลัมเบีย มหาวิทยาลัยที่โดดเด่นพอ ๆ  กันเมื่อเขารู้ว่า เบน เกรแฮม อาจารย์และนักลงทุนที่มีชื่อเสียงทางด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์สอนอยู่ที่นั่น    และนี่ก็เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งว่าบัฟเฟตต์เองนั้นคงเรียนดีมากจึงสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำแบบนี้ได้

           เมื่อเรียนจบ  บัฟเฟตต์เสนอตัวทำงานให้กับเบน เกรแฮม โดยไม่รับเงินเดือนเพื่อที่จะได้เรียนรู้กับอาจารย์ในทางปฏิบัติ  และแม้ว่าบัฟเฟตต์จะเป็นนักเรียนเกรด A+ เพียงคนเดียวของเกรแฮม  แต่เขากลับไม่รับบัฟเฟตต์เนื่องจากเขาต้องการให้คนยิวซึ่งด้อยโอกาสได้งานนั้น  ทำให้บัฟเฟตต์เดินทางกลับบ้านไปทำงานในบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อ    สองปีต่อมา  เบน เกรแฮม จึงเสนองานให้กับบัฟเฟตต์ซึ่งเขาตอบรับทันทีและได้ทำงานเป็นเวลาสองปีก่อนที่เกรแฮมจะเกษียณปิดบริษัท  บัฟเฟตต์ ซึ่งอายุ 26 ปี มีเงินถึง 140,000 เหรียญ จึงกลับโอมาฮาและตั้งกองทุนบริหารหุ้นให้กับญาติและคนรู้จัก  และเริ่มตำนานการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน
             ประเด็นของเรื่องทั้งหมดที่ผมต้องการนำเสนอก็คือ  “เส้นทางชีวิต”  ของคนโดยทั่วไปนั้น  โดยสาระสำคัญแล้ว  มันเป็นเส้นที่มีความต่อเนื่องไม่ขาดตอน  มันคงคล้าย ๆ  กับระบบอานาล็อกที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแบบ 0 หรือ 1 แต่ค่อย ๆ  พัฒนาไปเรื่อย ๆ  ชีวิตของคนนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เกิดและค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่  ความสามารถต่าง ๆ  หรือศักยภาพต่าง ๆ  มีมาตั้งแต่เกิด  ความสนใจความชอบค่อย ๆ  ก่อตัวขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตในบางเรื่องมากกว่าเรื่องอื่น  สิ่งต่างๆ  เหล่านี้ประกอบเข้าด้วยกันทำให้คน ๆ  หนึ่งค่อย ๆ  พัฒนาไปในทิศทางที่ชัดเจนที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เด็ก  น้อยคนที่จะมีชีวิตที่หักเหไปจากสาระสำคัญเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่    ส่วนใหญ่แล้วคนเราถ้าจะหักเห  ก็มักจะหักเหในรายละเอียด  เช่น  สาระสำคัญก็คือ  คน ๆ หนึ่งนั้น  เส้นทางคือ ความร่ำรวย แต่รายละเอียดอาจจะเป็นว่าคน ๆ นั้นควรจะรวยจากการทำงานด้วยแรงงาน  แต่แล้วชีวิต “ผกผัน” กลายเป็นรวยจากการลงทุน เป็นต้น   ด้วยตรรกะแบบนี้  ผมจึงสรุปว่า  คนแทบทุกคนมี  “แวว”  ตั้งแต่เด็กแล้วว่าเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อเขาโตขึ้น  เป็นสิ่งที่ยากมากที่คนจะ “เปลี่ยนไป” เมื่อเป็นผู้ใหญ่  เซียนนั้นมักจะต้องมีพื้นฐานเป็นเซียนเสมอ

Posted by nivate at 11:09 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/28/1354

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 04, 2013, 01:33:20 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 4 November 2013
Inter Brand


การเติบโตขึ้นของการบริโภคของคนไทยนั้นเห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  เหตุผลก็เพราะว่ารายได้ของคนชั้นกลางและชั้นกลาง-ล่าง ที่เป็น “มนุษย์เงินเดือน”  นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อานิสงค์จากการที่แรงงานในประเทศไทยขาดแคลนอย่างหนัก  สิ่งนี้ส่งผลให้บริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับผู้บริโภคเติบโตเฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว  ไม่ใช่เป็นเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น  ความสามารถในการกู้เงินของคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นมหาศาล  อานิสงค์จากการที่พวกเขามีรายได้ที่แน่นอนและอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ต่ำมากติดต่อกันมานานหลายปี  บริษัทที่ขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างก็มียอดขายและกำไรที่เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต่างก็มักจะเป็นบริษัทที่ใหญ่และมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง  สิ่งนี้ส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้นและทำให้ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของหุ้นสูงขึ้นมาก   หุ้นกลุ่มผู้บริโภคที่นักลงทุนไม่ใคร่สนใจในอดีตนั้นกลายเป็นหุ้นยอดนิยม  จากหุ้นที่มีราคาถูกค่า PE ต่ำ ก็กลายเป็นหุ้นที่มีราคาแพงและค่า PE สูงลิ่ว      เทรนด์หรือแนวโน้มแบบนี้จะไปต่อไหม?  ความเสี่ยงคืออะไร?

              ย้อนหลังไป  อาจจะไม่ถึงหนึ่งหรือสองปี  ผมเอง  “รู้สึกดี” และสบายใจกับกิจการที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่มีความโดดเด่นและเป็นผู้นำ  สิ่งที่ผมได้  “สัมผัส”  อยู่บ่อย ๆ-  อาจจะเนื่องจากคนใกล้ชิดชอบ-ก็คือเรื่องของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวที่เป็นแฟชั่นและราคาย่อมเยาหรือไม่แพง  ผมเองคิดว่านี่เป็นธุรกิจที่ดีโดยเฉพาะถ้ากิจการนั้นมีความได้เปรียบคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นทางด้านของต้นทุนหรือด้านของยี่ห้อหรือด้านของการเป็นช่องทางการขายที่เป็นจุดหมายของคนซื้อ  ในตอนนั้นผมจึงสรุปว่ากิจการขายเสื้อผ้าที่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่คงได้เปรียบและน่าจะเติบโตไปได้ดีนั่นคือกลุ่มหนึ่ง  กลุ่มที่สองก็คือกิจการที่ขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มียี่ห้อและราคาไม่แพงน่าจะไปได้ดี  และสาม  ศูนย์การค้าที่เป็น  “ศูนย์กลาง” ในการจำหน่ายเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นราคาไม่แพงคงทำได้ดี  ว่าที่จริงผมเคยรับรู้มาว่าอัตราค่าเช่าสำหรับร้านค้าในศูนย์เช่นที่อยู่แถวประตูน้ำนั้น   มีราคาแพงมากจนไม่น่าเชื่อ

             และแล้วในวันหนึ่งที่ศูนย์การค้าพารากอนซึ่งผมมักจะไปจ่ายตลาดเป็นประจำ   ผมก็พบกับความประหลาดใจมากที่เห็นว่ามีร้านขายเสื้อผ้าขนาดใหญ่มากเปิดขึ้นในจุดที่คนเดินผ่านมากที่สุด  ร้านนั้นคือ H&M ซึ่งเป็นร้านที่ผมเห็นเป็นประจำเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่ค่อนข้างเจริญอย่างในอังกฤษหรือฮ่องกง  ว่าที่จริงมันเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่คนใกล้ชิดผมต้องแวะเข้าไปซื้อเสื้อผ้าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ  เนื่องจากมันเป็นร้านที่ขายเสื้อผ้าที่มีแบบสวยงามทันสมัยออกแบบโดยนักออกแบบมีชื่อระดับโลกแต่ขายในราคาปกติ  ทุกครั้งที่เข้าร้านก็จะได้เสื้อผ้ามาหลายตัวเพราะสินค้ามีมากมายและหลากหลาย   ความประหลาดใจของผมนั้นไม่ใช่เพราะร้าน H&M มาเปิดที่เมืองไทย  แต่เป็นเพราะผมได้เห็นคนจำนวนมากเข้าคิวรอเข้าไปจับจ่ายในร้านที่เต็มไปด้วยผู้คนที่แทบจะแย่งกันซื้อราวกับว่าของนั้นแจกฟรี

             เดี๋ยวนี้ร้าน H&M ที่พารากอนไม่ได้แน่นเหมือนตอนเปิดร้านใหม่ ๆ  แต่ก็น่าจะยังขายดีมาก  และความสำเร็จนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ H&M เริ่มไปเปิดร้านที่สองหรือร้านที่เท่าไรผมไม่ทราบแต่ก็เห็นร้าน H&M เปิดใหม่ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 ที่เป็นแหล่งขายสินค้าแนวแฟชั่นที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   เหตุผลที่  H&M ประสบความสำเร็จมากนั้น  ช่วงแรกผมคิดว่ามันอาจจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว  เป็นเรื่องของ  H&M  เอง  แต่แล้วผมก็เริ่มได้รับรู้ว่า   ห้าง Uniqlo เครือข่ายขายเสื้อผ้าชั้นนำจากญี่ปุ่น  ซึ่งก็มีร้านอยู่ที่พารากอนและอาจจะที่ห้างชั้นนำอื่น ๆ  ด้วยนั้น  ก็ขายได้ดีมาก  ภาพของ Uniqlo เองนั้น  อาจจะไม่ได้เน้นทางด้านแฟชั่นมากเท่า H&M  แต่เป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีมาก  และที่สำคัญก็คือ  มีราคาถูกมากไม่ได้ต่างจากแบรนด์ที่เป็นของไทยเลย  ว่าที่จริงอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำถ้าเป็นยี่ห้อระดับสูงของไทย   ดังนั้น  ข้อสรุปของผมจึงกลายเป็นว่า  ตลาดของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของไทยนั้น  ได้เข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลเช่นเดียวกับตลาดในอังกฤษหรือฮ่องกงแล้ว  และสภาพการแข่งขันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

             แบรนด์ที่เป็นสากลหรือ International Brand ที่เข้ามาทำตลาดหรือขายสินค้าหรือบริการในประเทศไทยนั้นมีมานานและมีมากมาย  ในอดีตนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเข้ามาจับตลาด  “ระดับบน”  ก่อน  แต่เมื่อคนไทยที่เป็น Mass  หรือคนกลุ่มใหญ่  รวยขึ้นหรือมีเงินมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง  เขาก็เริ่มเข้ามาบริโภคมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ  คู่แข่งที่เป็นกิจการของคนไทยหรือแบรนด์ไทยก็ค่อย ๆ  ปรับตัวจนบางทีเราไม่เห็นว่ามันได้กระทบกับใครบ้าง  ตัวอย่างเช่น  อาหารจานด่วนเช่นพวกไก่ทอดหรือแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้น  แต่ในกรณีของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนี้   ผมคิดว่ามันมาเร็วมากและคงกระทบกิจการต่าง ๆ  ที่เป็นของคนไทยไม่น้อย  ผมเชื่อว่าร้านเครือข่ายขายเสื้อผ้าของไทยตอนนี้คงเริ่มรับรู้ถึงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกรุงเทพที่เป็นจุดที่อินเตอร์แบรนด์เริ่มบุก  ต่อไปผมเชื่อว่าในหัวเมืองใหญ่ก็จะตามมา   เสื้อผ้าที่มียี่ห้อเป็นแบรนด์ไทยนั้นผมคิดว่าจะยิ่งลำบากขึ้นไปอีกเนื่องจากภาพพจน์ที่ด้อยกว่าแถมราคาอาจจะแพงกว่า  สุดท้าย  แม้แต่ศูนย์การค้าปลีก-ส่งเสื้อผ้าแนวแฟชั่นนั้น   ผมก็คิดว่าความนิยมจะลดลงไปเรื่อย ๆ   เหตุผลก็เพราะคนที่นิยมเรื่องของแฟชั่นที่มีราคาถูกนั้น  เริ่มจะหันมาซื้อสินค้าอินเตอร์แบรนด์ที่มีราคาไม่ต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  นี่สังเกตจากคนใกล้ชิดผมเองที่ไปซื้อสินค้าน้อยลงมาก

             ถ้าเราถือหุ้นของกิจการที่ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคเป็นหลักและไม่ใช่เป็นยี่ห้อของต่างประเทศ  บริษัทเราเป็นผู้นำหรืออยู่ในกลุ่มผู้นำที่ประสบความสำเร็จ  มียอดขายและรายได้เติบโตดี  อานิสงค์จากการเปลี่ยนแปลงของการเป็นสังคมผู้บริโภค  และหุ้นมีราคาปรับตัวขึ้นสูงและหุ้นไม่ถูกหรือกลายเป็นหุ้นที่แพงมีค่า PE ที่สูงไปแล้ว  เราก็ต้องคิดไปถึงอนาคตด้วยว่าหุ้นตัวนั้นมีโอกาสที่จะต้องประสบกับการแข่งขันจาก  Inter Brand มากน้อยแค่ไหนและที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  บริษัทของเรานั้นจะสู้ได้หรือไม่และเพราะเหตุใด?  โดยทั่วไปเราต้องวิเคราะห์ปัจจัยของการแข่งขันในอุตสาหกรรมหรือในธุรกิจว่าอะไรเป็นตัวสำคัญและเรามีแค่ไหนเทียบกับอินเตอร์แบรนด์  หัวใจอยู่ที่สองเรื่องนั่นก็คือ  Economy of Scale  หรือต้นทุนว่าใครได้เปรียบ  กับเรื่องของยี่ห้อของสินค้าว่าใครโดดเด่นกว่าและสินค้านั้นคนคำนึงถึงยี่ห้อมากน้อยแค่ไหนด้วย
              ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ  ที่เป็นเรื่องของการบริโภคและอินเตอร์แบรนด์เข้ามาแข่งขันหรือเกี่ยวข้องด้วยหรืออาจจะเข้าในอนาคตนั้นมีมากมาย  ลองนึกคร่าว ๆ  ก็รวมถึง  เฟอร์นิเจอร์  อาหาร  มือถือ  เครื่องสำอาง  ค้าปลีก  ผู้ให้บริการการสื่อสาร  แบ็งค์และบริการทางการเงิน  และอื่น ๆ  อีกมาก   ผลิตภัณฑ์ไหนที่มีกำไรต่อยอดขายดีหรือมีมาร์จินสูงและมีตลาดขนาดใหญ่ก็มักจะมีโอกาสที่อินเตอร์แบรนด์จะเข้ามามากกว่า  ความเข้มแข็งของบริษัทในประเทศก็มีส่วนสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินว่าอินเตอร์แบรนด์อยากเข้ามาหรือไม่  เพราะเขาเองก็รู้ว่า  การเข้ามาแข่งกับบริษัทที่ใหญ่  โดดเด่น  และอยู่ในบ้านตนเองนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่าย  กฎของสงครามที่ว่าผู้รุกต้องมีทรัพยากรเป็น 2 เท่าจึงจะเอาชนะฝ่ายรับได้นั้นยังเป็นจริง  ทั้งหมดนี้เราต้องรู้ไว้  เพราะในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัท  เราไม่อยากที่จะต้องสู้กับอินเตอร์แบรนด์ถ้าไม่จำเป็น  เพราะไม่ว่าจะชนะหรือแพ้  เราก็อาจจะเสียหายอยู่ดี  และในกรณีที่แพ้  ก็อาจจะกลายเป็นหายนะ   ดังนั้น  การวิเคราะห์เรื่องของอินเตอร์แบรนด์จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหุ้นที่ขายสินค้าให้ผู้บริโภค

Posted by nivate at 10:36 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/04/1362

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 09, 2013, 01:29:25 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

ข่าวร้าย


ผมไม่ทราบว่ามีใครเคยทำวิจัยหรือไม่ ว่าข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะแนวธุรกิจมีข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีมากน้อยแค่ไหน แต่ผมพนันได้ว่า ข่าวร้าย มีมากกว่าหลายเท่า

คำว่า ข่าวร้าย นั้น ในความหมายของผมก็คือ ข่าวที่คนอ่านแล้วคิดว่ามันจะมีผลที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลง กำไรของธุรกิจต่างๆลดลง ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลง และหุ้นบางตัวจะมีราคาลดลง ทำให้คนรู้สึกวิตกกังวล และอาจจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อคลายความวิตกกังวลนั้น เช่น ลดการบริโภค หรือขายหุ้นทิ้ง

แต่ในความเป็นจริง ข่าวร้าย ที่ปรากฏนั้นอาจจะไม่เป็นจริง หรือถ้าเป็นจริงก็อาจจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ ต่อยอดขายหรือกำไรของกิจการต่างๆ ดังนั้น พื้นฐานของเศรษฐกิจและกิจการต่างๆอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจิตใจของคนรับข่าวอาจเปลี่ยนและราคาหุ้นอาจปรับตัวลงเนื่องจากปฎิกริยาของคนอ่านที่บังเอิญซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ลองมาดูสิครับว่ามันน่าเป็นอย่างนั้นไหม?

ก่อนหน้านี้เพียงปีสองปี เราวิตกกันว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด ราคาข้าวของไม่ขึ้นเลยเพราะเงินเฟ้อต่ำมาก เรากลัวว่าคนจะไม่ยอมใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคและจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

เดี๋ยวนี้อัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มขึ้น ราคาสินค้ากำลังเริ่มปรับตัวขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เงินเฟ้อกำลังมา นี่เป็นข่าวร้ายที่น่าวิตกว่าจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ผมไม่รู้ว่าข่าวดอกเบี้ยลง หรือข่าวดอกเบี้ยขึ้นเป็นข่าวร้ายที่แท้จริงกันแน่ หรือทั้งสองข่าวต่างก็ไม่ใช่ข่าวร้ายทั้งคู่ รู้แต่ว่าคนอ่านข่าวโดยเฉพาะที่เป็นนักเล่นหุ้นจำนวนมากต่างก็วิตกกังวลทั้ง 2 เรื่อง เห็นได้จากการซื้อขายหุ้นมหาศาลในแต่ละวันโดยเฉพาะในวันที่มีข่าวพาดหัวตัวใหญ่และดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นลงเหมือนลูกดิ่ง

ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจยากไม่แพ้กัน เพราะในช่วงเกิดวิกฤติใหม่ๆที่ค่าเงินบาทอ่อนมาก คนต่างก็วิตกกันว่าเราคงต้องล้มละลายกันทั้งประเทศ เพราะบริษัทต่างก็ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมหาศาล นี่เป็นข่าวร้ายแน่นอนในช่วงนั้น แต่พอตอนหลัง ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยๆ คนก็เริ่มบ่นและเริ่มวิตกกันว่า ค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถส่งออกสินค้าได้เนื่องจากสินค้าของเราจะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เพราะฉะนั้น ข่าวค่าเงินบาทก็สามารถเป็นข่าวร้ายได้ในทุกกรณี

บางช่วงที่ค่าเงินบาทนิ่งและอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ขยับ เราก็มีข่าวร้ายเรื่องสงครามและการก่อการร้ายในต่างประเทศ ไล่ตั้งแต่สงครามในตะวันออกกลางซึ่งที่จริงเกิดขึ้นเกือบทุกวันอยู่แล้ว ไปจนถึงการถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ การโจมตีในบาหลี ยุโรป และรัสเซีย และสุดท้ายก็คือ การก่อการร้ายในภาคใต้ของเราเอง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปอย่างไร แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

แต่ถ้าถามว่า การก่อการร้ายกระทบอะไรกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้น คำอธิบายอาจจะมีได้เป็นสิบๆหน้า แต่เกือบทั้งหมดเป็นการกระทบ ?ทางอ้อม? ที่ไม่รู้ว่าจะมีผลแค่ไหน แต่สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมแล้วละก็ เขาบอกว่าน่าจะมีผลโดยตรง เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้นจะดีกว่า แต่ผมก็ยังเห็นเครื่องบินมีผู้โดยสารเต็มแน่นกันทุกเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ยังคงมากันตามปกติ แม้แต่บาหลีผมก็ได้ข่าวว่าคนกลับไปอย่างเดิมแล้ว ดูที่ผลการดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวกับโรงแรมและการขนส่งก็ดูดีเป็นปกติ เพียงแต่หุ้นยังไม่ไปไหนเพราะคนอาจจะยังวิตกกับการก่อการร้ายอยู่

ข่าวร้ายที่เกี่ยวกับคนบางทีก็ยังพอคาดการณ์ได้บ้าง แต่เรื่องของธรรมชาตินั้นก็ทำให้คนช็อคได้ไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่โรคซาร์เมื่อปีสองปีก่อนซึ่งช็อคคนทั้งโลก โดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางทำธุระหรือท่องเที่ยว คนต่างกลัวกันว่านี่อาจจะเป็นหายนะของมนุษย์ถ้าควบคุมไม่ได้ และก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง และแน่นอน คนเล่นหุ้นก็ต้องทิ้งหุ้นก่อนเพื่อความปลอดภัย

เรื่องของโรคซาร์จบไป ก็ตามด้วยโรคไข้หวัดนก ซึ่งผลกระทบหรือเป็นข่าวร้ายน้อยกว่า แต่ก็กระทบโดยตรงกับผู้ผลิตไก่เต็มๆและก็แน่นอน หุ้นในกลุ่มนี้ก็ถูกเทขายเพื่อความปลอดภัย

น้ำมันแพง ดูเหมือนจะเป็นข่าวร้ายที่รุนแรงและอาจ ทำลายเศรษฐกิจโลก และโดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพิงน้ำมันอย่างไทย เศรษฐกิจของประเทศจะถูกกระทบ ดุลการค้าอาจจะขาดดุล บริษัทที่ต้องใช้น้ำมันมาก เช่น ซีเมนต์ การขนส่ง หรือแม้แต่ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนจะถูกกระทบอย่างหนัก โดยรวมแล้ว นี่เป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นการถือหุ้นยาวในช่วงนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ข่าวร้าย ที่กระทบกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเฉพาะอย่างนั้น ยิ่งมีมากจนนับไม่ถ้วน บางเรื่องก็เป็นจริง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องที่นักลงทุนปริวิตกกันเกินเหตุซึ่งเป็นผลจาก แนวโน้มเล็กๆ หรือ แฟชั่น ที่เกิดขึ้นและมี นักอนาคตศาสตร์ ช่วยรับรอง ว่าเป็นจริง

หลายปีก่อนที่วิดีโอกำลังเฟื่อง คนก็พูดกันว่าโรงภาพยนต์จะต้องเจ๊งกันหมดเพราะวิดีโอจะถูกกว่า สะดวกกว่า และมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆจนไม่มีใครอยากเข้าโรงหนังหนังสือพิมพ์ นิตยสารเองก็จะต้องเจ๊ง เพราะว่าอินเตอร์เน็ทจะเข้ามาแทนที่ คนไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์เพราะสามารถอ่านได้จากคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน ธุรกิจเพลงจะตกต่ำลงเพราะวัยรุ่นหรือคนซื้อเทปเดี๋ยวนี้สามารถดาวโหลดเพลงเฉพาะที่ตนเองชอบทางอินเตอร์เน็ท เพราะฉะนั้นใครจะซื้อซีดีเพลง

คนรุ่นใหม่ดูแลรักษาสุขภาพกันมาก และนี่เป็นแนวโน้มใหญ่ เพราะฉะนั้นธุรกิจเหล้า บุหรี่ และแม้แต่น้ำอัดลมจะค่อยๆหดตัวลง และธุรกิจอย่างชาเขียวและน้ำผลไม้จะรุ่งเรือง เออ แต่เรื่องชีวจิตที่เคยดังระเบิดคงไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่กระมัง จึงเงียบๆไป

ไม่ว่า ข่าวร้าย จะเป็นจริงหรือไม่ หรือจะมีผลหรือไม่มีผล แต่ ข่าวร้าย ในอนาคตก็คงจะมีมากเหมือนเดิม ถ้าไม่มากขึ้น นักเล่นหุ้นเองก็จะยังคงวิตกกังวลกันทุกวัน และก็ซื้อและเทขายหุ้นตามข่าวอย่างไร้เหตุผลเหมือนเดิม

Value Investor ที่ดีนั้น ต้องวิเคราะห์ข่าวอย่างใจเย็น ส่วนใหญ่แล้ว ข่าวร้าย ไม่ใช่เรื่องอันตรายที่จะต้องทำอะไร แต่มันคือโอกาสที่จะเก็บหุ้นดีที่มีราคาถูกลงมากเพราะเป็นข่าวร้ายที่ไม่ร้ายนักในระยะยาว

*****************************

ข่าวร้าย
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
21 กันยายน 2547



หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 11, 2013, 02:09:35 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 11 November 2013
การค้นหาหุ้นเมกาเทรนด์

คำถามยอดนิยมสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนระยะยาวในกิจการที่จะเติบโตต่อเนื่องยาวเป็น   “เมกาเทรนด์”  ก็คือ  สำหรับประเทศไทยแล้ว  อุตสาหกรรมอะไรเป็นเมกาเทรนด์  เราจะดูได้อย่างไรว่าอะไรจะเป็นเมกาเทรนด์ในอนาคต?  และหุ้นตัวไหนจะได้ประโยชน์มากที่สุด?

          ก่อนอื่นเราจะต้องกำหนดนิยามของคำว่าเมกาเทรนด์เสียก่อนว่ามันคืออะไร   สำหรับผมแล้ว  นิยามที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนนั้น  จะต้องเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจง  การบอกว่าอุตสาหกรรม IT เป็นเมกาเทรนด์นั้นกว้างเกินไป  ไม่มีประโยชน์ต่อการลงทุนนัก  เพราะอุตสาหกรรม IT นั้นครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก  ผลิตภัณฑ์บางอย่างเช่น  คอมพิวเตอร์ที่  “อยู่กับที่”  อาจจะไม่อยู่ในเมกาเทรนด์แล้ว  แต่คอมพิวเตอร์ที่  “เคลื่อนที่”  และต่อกับอินเตอร์เน็ตนั้นยังเป็นเมกาเทรนด์อยู่  เป็นต้น  นิยามอีกข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ  เมกาเทรนด์นั้นหมายความว่าผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจนั้นจะต้องมียอดขายเติบโตขึ้นเท่าไรและต่อเนื่องไปกี่ปี?   นิยามคร่าว ๆ ของผมอาจจะบอกว่าผลิตภัณฑ์จะต้องเติบโตขึ้นจากที่เป็นอยู่ไม่น้อยกว่า 3 เท่าภายในเวลา 10 ปี หรือพูดง่าย ๆ  ถ้าจุดเริ่มต้นของยอดขายของผลิตภัณฑ์เท่ากับ 100 บาท   ภายในเวลา 10 ปี  ยอดขายจะต้องเป็นอย่างน้อย 400 บาท  และนี่ก็คือการเติบโตแบบทบต้นอย่างน้อยปีละ 15%  ด้วย

          โดยนัยของนิยามเมกาเทรนด์ข้างต้น  เราก็จะพบว่า  ธุรกิจที่จะเป็นเมกาเทรนด์นั้น  อาจจะเป็นธุรกิจที่โตเร็วมาก  โตแบบทบต้นปีละ 30% และภายในเวลาเพียง 5 ปี  ยอดขายก็เป็น 4 เท่า แล้ว  และนี่ก็คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว  คนที่ซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์บางคนอาจจะดูเหมือนว่ามีความคลั่งใคล้  ผู้คนกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “เมกาเทรนด์”    ตัวอย่างก็เช่น  คอมพิวเตอร์แบบแทบเล็ตที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นต้น   แต่ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจบางอย่าง  ก็อาจจะไม่ได้โต “ระเบิด” อย่างนั้น  มันอาจจะโตปีละ 15-20%  ในบางปีที่ดี  และอาจจะโตแค่ 10-15% ในปีที่ไม่ดี  ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็น 10 ปี  ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตเป็น 4 เท่า  ตัวอย่างเช่น ธุรกิจโมเดินเทรดบางประเภท เป็นต้น  แบบนี้ผมก็ถือว่ามันเป็นเมกาเทรนด์เหมือนกัน

          ถัดจากเรื่องของนิยามเราต้องพูดถึงสาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากขึ้นเป็น 4 เท่าได้   ในกรณีอย่างนี้เหตุผลสำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ  เรื่องของพัฒนาการหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถสนองความต้องการของคนได้ดีกว่าเดิมไม่ว่าในด้านของคุณภาพหรือราคา  ส่งผลให้คนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นมากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องยาวนาน  ในบางกรณีก็อาจจะทำให้ผลิตภัณฑ์เดิมล้มหายตายจากไปเลยก็มี

          ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่จะกลายเป็นเมกาเทรนด์ได้นั้น  มักจะต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์  นั่นก็คือ  ข้อแรก  มันจะต้องทำให้มนุษย์ที่คำนึงถึงการอยู่รอด  รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นช่วยให้เขาอยู่รอดได้ดีขึ้น   หรือสอง  ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นจะต้องทำให้คนรู้สึกว่าเขาจะมีโอกาสมีคู่เผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ดีขึ้น   ความต้องการพื้นฐานข้อแรก  นั้นที่เห็นได้ชัดก็อาจจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ  อาหาร  ธุรกิจที่จัดให้เกิดความสะดวกสบายในทุก ๆ  ด้าน  และธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและความรู้ เป็นต้น  ส่วนข้อที่สองนั้นเป็นเรื่องที่กว้างมากที่อาจจะเกี่ยวข้องกับความสวยงาม  สินค้าฟุ่มเฟือย  การท่องเที่ยวเดินทาง  ข่าวสารและความรู้ต่าง ๆ  เป็นต้น   

          ประเด็นที่สำคัญของการเป็นเมกาเทรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องของความต้องการพื้นฐานเท่านั้น  เหตุเพราะว่าเราพัฒนามาไกลมากและคนก็มีปัจจัยเหล่านั้นอยู่แล้ว  เมกาเทรนด์นั้นจะเกิดขึ้นก็ต้องมีการพัฒนาหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาที่ทำได้ดีกว่าของเดิมจนคนเปลี่ยนมาใช้ของใหม่ที่ดีกว่า  และนี่ก็คือการเกิดขึ้นของเมกาเทรนด์ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างในอเมริกาหรือประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก  แต่สำหรับประเทศที่ยังมีรายได้ไม่สูงนักอย่างประเทศไทย  เมกาเทรนด์อาจจะเกิดขึ้นจากการที่คนไทยจำนวนมากขึ้นหันมาบริโภคหรือใช้บริการสิ่งที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่มีการคิดค้นขึ้นในโลก  แต่เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้วแต่ในอดีตมีคนที่มี  “ความสามารถที่จะใช้”  จำกัดเนื่องจากมันเป็นสินค้าที่  “แพงเกินไป”    แต่ในปัจจุบันนั้น  ด้วยรายได้ที่สูงขึ้น  คนไทยจำนวนมากขึ้นก็หันมาใช้บริการนั้น   และเมื่อรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนถึงจุดหนึ่ง  จำนวนคนที่มีความสามารถที่จะใช้ก็อาจจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ  และนี่ก็คือกระบวนการหรือเส้นทางที่ก่อให้เกิด  “เมกาเทรนด์”  ในหลาย ๆ  ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย

          ตัวอย่างของเมกาเทรนด์ที่เกิดเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้นั้น  ผมคิดว่าน่าจะรวมถึงผลิตภัณฑ์  สินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคส่วนบุคคล   “สมัยใหม่”  ทั้งหลาย   แต่เดิมนั้น  เราพูดว่าคนชั้นกลางขึ้นไปจะใช้ชีวิตทำงานในออฟฟิส  เดินห้าง  กินอาหารภัตตาคาร  ซื้อเสื้อผ้าตามร้านติดแอร์  ดูหนัง  ขับรถ  เล่นเน็ต อยู่คอนโด  อะไรต่าง ๆ  เหล่านี้  ในขณะที่คนต่างจังหวัดและคนที่มีรายได้ต่ำยังไม่ใคร่จะได้ทำ  อย่างไรก็ตาม  รายได้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเร็วมากในช่วงหลัง ๆ  ก่อให้เกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด  ซึ่งทำให้สินค้าเหล่านั้นขายได้มากขึ้นในต่างจังหวัดและอาจจะกลายเป็นเมกาเทรนด์ได้ในบางผลิตภัณฑ์

          การที่จะดูว่าหุ้นตัวไหนจะได้ประโยชน์จากเมกาเทรนด์นั้นผมคิดว่าในกรณีของการที่เมกาเทรนด์เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้นั้นอาจจะดูไม่ยากนัก  เหตุผลก็เพราะว่าในกรณีแบบนี้เราอาจจะเห็นผู้ชนะอยู่แล้วเนื่องจากมันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจใหม่   ถ้าเราพบว่ามีบริษัทที่ Dominant หรือบริษัทที่แทบจะ  “ครอบงำ” ธุรกิจอยู่แล้ว  นั่นก็คือบริษัทที่จะได้ประโยชน์ชัดเจน  แต่ในกรณีของธุรกิจใหม่หรือธุรกิจที่ยังไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่  การวิเคราะห์ว่าบริษัทไหนจะชนะก็เป็นสิ่งที่จะจำเป็น  ในกรณีแบบนี้  เราก็จะต้องดูว่าใครมีกลยุทธ์ที่ดีและมีทรัพยากรที่จะต่อสู้แข่งขันมากกว่ากัน   อย่างไรก็ตาม  เราจะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า  โครงสร้างหรือลักษณะของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรด้วย  เพราะในบางธุรกิจนั้น  เราอาจจะไม่สามารถหาผู้ชนะที่แท้จริงได้  การแข่งขันอาจจะรุนแรงอยู่ตลอดเวลาและแม้แต่  ผู้ชนะเองก็อาจจะทำกำไรไม่ได้มากนักก็ได้

          ที่พูดมาทั้งหมดนั้น  บางทีอาจจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าเมกาเทรนด์ที่น่าสนใจนั้นจะต้องเป็นธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องโตไม่ต่ำกว่าปีละ 15% หรือกำลังโตเร็วมาก ๆ  เท่านั้น  ที่จริงแล้ว  เมกาเทรนด์เองก็มีระดับของมันเหมือนกันและแต่ละคนก็มีนิยามที่แตกต่างกัน  สำหรับผมเองนั้น  บริษัทที่โตต่อเนื่องยาวนานเฉลี่ยทบต้นปีละ 10%  แต่ถ้ามันโตไปยาวนานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปผมก็คิดว่ามันเป็นบริษัทที่โตเร็วน่าสนใจมาก  ประเด็นก็คือ  มันต้องเป็นการโตที่มั่นคงแน่นอนและโอกาสที่จะหดตัวลงน้อยมาก  ในกรณีอย่างนี้  ผมเองก็จะให้คุณค่ามันค่อนข้างมาก  เหตุผลข้อแรกก็คือ  ผมเชื่อว่าธุรกิจที่โตขึ้นเรื่อย ๆ  นั้นมักจะมีกำไรดีขึ้นมากกว่ายอดขายเพราะบริษัทจะมี Economy of Scale ดีขึ้น  หรือต้นทุนต่อหน่วยลดลง  และเหตุผลข้อสองก็คือ  การโตช้าลงมาหน่อยอาจจะไม่ใช่ข้อเสียมากนักถ้ามันจะช่วยไม่ให้คู่แข่งเข้ามามากเกินไป

          สุดท้ายก็คือ  เมื่อค้นพบหุ้นที่จะเป็นเมกาเทรนด์แล้ว  หน้าที่ของเราก็คือ  ดูว่าราคาหุ้นเหมาะสมหรือไม่  โดยอาจจะดูจากอัตราผลตอบแทนจากปันผลในปีแรกบวกกับแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวพอสมควรของธุรกิจ  ถ้าดูแล้วคุ้มค่า  เราก็ควรจะซื้อและถือหุ้นไว้ให้ยาวนานตราบที่กิจการยังดีอยู่โดยที่ยังไม่มีคู่แข่งที่สามารถมาท้าทายบริษัทได้  และอย่าสนใจกับความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น

Posted by nivate at 9:45 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/11/1366

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 18, 2013, 04:32:37 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 18 November 2013
จับคู่วิเคราะห์หุ้น


ในการวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะหาว่าตัวไหนน่าลงทุนหรือไม่นั้น  ในบางครั้งผมก็มักจะดูข้อมูลของบริษัทสองแห่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและอาจจะแข่งขันกันด้วย  เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านต่าง ๆ  ทั้งทางด้านเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ   การหาหุ้นที่คล้ายคลึงกันนั้น  บางครั้งก็ง่ายเนื่องจากทั้งสองบริษัททำธุรกิจแบบเดียวกันและมีฐานลูกค้าใกล้เคียงกัน  ตัวอย่างเช่น  บริษัททั้งสองต่างก็เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำและมีฐานลูกค้าที่เป็นคนมีรายได้สูงและชาวต่างประเทศ   หรืออีกตัวอย่างหนึ่งอาจจะเป็นธุรกิจที่เป็นเครือข่ายโรงแรมชั้นนำและขายอาหารภัตตาคารและจานด่วนหลากหลาย  เป็นต้น  แต่ในหลาย ๆ  กรณีการที่จะหาคู่บริษัทที่จะมาเปรียบเทียบก็อาจจะไม่ง่ายนัก  ในกรณีแบบนี้ผมก็มักจะหาทางเปรียบเทียบแบบอื่น ๆ   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะใช้ในการ  “ปิดท้าย”  การวิเคราะห์แบบจับคู่ก็คือเรื่องของมูลค่าของกิจการที่ตลาดให้กับแต่ละบริษัท  นั่นก็คือ  ดูว่า Market Cap. ของแต่ละบริษัทเป็นเท่าไร  สมเหตุผลหรือไม่?  โดยทั่วไปผมจะดูว่าหุ้นตัวไหนน่าจะถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกันทุกด้านแล้ว   จากนั้นก็อาจจะตัดสินใจ  บางครั้งก็อาจจะไม่เลือกทั้งสองตัว  บางครั้งเลือกตัวที่เด่นและคุ้มค่ากว่า  น้อยครั้งที่จะเลือกทั้งสองตัว   วิธีการจับคู่วิเคราะห์หุ้นนี้  ที่จริงคนที่ใช้เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ  เบน  เกรแฮม ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Intelligent Investor อันโด่งดังนั่นเอง

          ถ้ามีบริษัทที่คล้ายกันอยู่แล้ว  การวิเคราะห์แบบจับคู่ก็ง่าย  เริ่มต้นนั้นผมจะดูที่ความสามารถในการแข่งขันก่อน  สิ่งที่ผมจะพิจารณาก็คือ  บริษัทไหนแน่หรือเก่งกว่ากันซึ่งก็จะต้องดูว่าอะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญของการแข่งขันในธุรกิจ   เช่นถ้าเป็นเรื่องของโรงพยาบาล  แน่นอนว่าความสามารถหรือชื่อเสียงของแพทย์ก็ต้องเป็นเรื่องสำคัญ  นอกจากนั้นเรื่องของสถานที่และอุปกรณ์รวมถึงการบริการก็มีความสำคัญเป็นลำดับตามกันมา  เสร็จแล้วผมก็จะให้เรทติ้งว่าใครเหนือกว่าใครและเหนือกว่ามากไหม   จากนั้น  ผมก็จะต้องวิเคราะห์ตัวเลขผลประกอบการต่าง ๆ  ที่ผ่านมาเพื่อที่จะ “ยืนยัน”  ว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นจริงไหม  โดยปกติ  ผลประกอบการเช่น  อัตราการทำกำไรเมื่อเทียบกับยอดขายก็มักจะเป็นตัวบอกถึงความเข้มแข็งทางด้านการตลาดหรือความสามารถในการแข่งขันได้พอสมควร

          นอกจากการวิเคราะห์สิ่งที่เป็นอยู่แล้ว  ผมยังต้องดูถึงอนาคตว่าบริษัทไหนจะดีขึ้นหรือแย่ลงโดยเปรียบเทียบ  สิ่งสำคัญก็คือ  เราจะต้องดูถึงกลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทใช้ในการแข่งขันและการเติบโต  ดูว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นนั้น  ใครกำลังโดดเด่นและใครกำลังถดถอย  ข้อมูลชิ้นนี้มีความสำคัญไม่น้อยโดยเฉพาะถ้าบริษัทหนึ่งโดดเด่นขึ้นในแง่ของการขายและการตลาดและแสดงออกให้เห็นจากผลประกอบการในช่วงเร็ว ๆ  นี้ที่ดีขึ้นมากกว่าคู่เทียบอย่างเห็นได้ชัด  เพราะนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าอย่างแท้จริงในอนาคต

         หลังจากการวิเคราะห์ตัวกิจการหรือบริษัทแล้ว  สิ่งที่เราจะต้องดูต่อไปก็คือ  ราคา  นั่นก็คือ  ดูว่าค่า PE ค่า PB  อัตราผลตอบแทนปันผล   Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัท  และอื่น ๆ  ที่จะบอกว่าหุ้นตัวไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน   ในกรณีที่ใช้ค่า PE เป็นตัวดูความถูกแพง  ผมก็จะเปรียบเทียบ “คุณภาพ” กับ “ราคา”  หรือค่า PE ว่าแต่ละตัวเป็นอย่างไร  ถ้าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE ต่ำกว่า  แบบนี้ก็ชัดเจนว่าผมคงจะเลือกมัน  แต่ถ้าพบว่าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE ก็สูงกว่าด้วย  ในกรณีแบบนี้  เราก็ต้องใช้วิจารณญาณว่า  คุณภาพสูงกว่าแค่ไหน  และ PE สูงกว่าแค่ไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะบอก  เพราะนี่เป็นศิลปะและก็คงต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน   เป็นไปได้สูงเหมือนกันที่บางทีเราก็บอกไม่ใคร่ได้ว่าตัวไหนดีกว่า

          นอกจากการใช้ PE แล้ว  ผมก็มักจะต้องพิจารณาถึงมูลค่าตลาดของหุ้นว่าบริษัทไหนมากกว่ากันและมากเท่าไร  นี่เป็นการดูแบบ  “ภาพใหญ่”  ว่า  หุ้นที่เปรียบเทียบกันนั้น  ใครมีค่ามากกว่ากันและมากกว่าเท่าไร   ถ้าพบว่าบริษัทหนึ่งที่มีคุณภาพด้อยกว่าหรือพอ ๆ  กันและมีขนาดของธุรกิจใกล้เคียงกันแต่กลับมีมูลค่าตลาดสูงกว่ามาก  แบบนี้ผมก็อาจจะมองได้ว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งน่าสนใจกว่าและควรจะเป็นตัวเลือกถ้าเราจะลงทุนระยะยาว

           ในกรณีของหุ้นที่หาคู่วิเคราะห์เปรียบเทียบกับคู่แข่งไม่ได้เนื่องจากไม่มีบริษัทที่ใกล้เคียงในด้านของอุตสาหกรรมและขนาดที่เหมาะสม  การจับคู่วิเคราะห์สำหรับผมก็มักจะเน้นไปทางด้านของ Market Cap. เสียเป็นส่วนใหญ่  ในกรณีแบบนี้บ่อยครั้งก็มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่ที่ธุรกิจหรือยอดขายของบริษัทนั้นมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม  บางบริษัทอาจจะเกือบผูกขาดด้วยซ้ำ   หลักคิดของผมก็คือ  ถ้าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำนั้น  เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือจะใหญ่มากในอนาคต  บริษัทที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่ก็จะต้องมีมูลค่าตลาดที่มากตาม  แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น  เราอาจจะบอกได้ยาก  ดังนั้น  วิธีที่ดีกว่าก็คือ  เปรียบเทียบกับอีกบริษัทหนึ่งที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่แบบเดียวกัน   แต่อยู่ในอีกธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศเราเหมือนกัน  พูดง่าย  ๆ  เปรียบเทียบกับบริษัทที่มีมูลค่าพอ ๆ  กัน –ข้ามอุตสาหกรรม

           ถ้าบริษัทที่เราดูอยู่นั้น  อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่น่าจะโตเร็วกว่ามากและจะโตไปอีกมากจนมีขนาดที่ใหญ่กว่าอีกอุตสาหกรรมหนึ่งมาก    โอกาสที่บริษัทจะมีมูลค่าในอนาคตที่สูงกว่าบริษัทที่เราเปรียบเทียบก็จะมาก   ดังนั้น  เราก็จะบอกว่าหุ้นตัวนี้น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งโดยเปรียบเทียบ  และถ้าให้เราเลือกที่จะลงทุน  เราก็คงเลือกบริษัทนี้

           การเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรมนั้น  เป็นเรื่องที่ทำไม่ง่าย  ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะเห็นไม่ชัดว่าหุ้นที่เราดูอยู่นั้นถูกหรือไม่  แต่ในบางครั้ง  เราก็อาจจะพบว่าหุ้นบางตัวมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีคุณสมบัติทางด้านการแข่งขันในตลาดพอ ๆ กันแต่มีศักยภาพที่จะเติบโตน้อยกว่ามาก  ในกรณีแบบนี้  หน้าที่เราก็คือ  ซื้อหุ้นและก็ถือไว้ให้ยาวนาน  ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามคาด  หุ้นก็จะปรับตัวขึ้นจนมี Market Cap. หรือมีมูลค่าตลาดของหุ้น  “สมกับศักดิ์ศรี”  ของมัน
             การจับคู่  หรือบางทีจับหุ้นหลายตัวโดยเฉพาะที่มีธุรกิจคล้ายคลึงกัน  มาวิเคราะห์ร่วมกันนั้น  ผมคิดว่าเป็นการวิเคราะห์เสริมที่มีประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว  ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ  มันช่วยให้เราเข้าใจบริษัทมากขึ้นไปอีกจากการวิเคราะห์หุ้นตัวเดียว  มันทำให้เรารู้ว่าคุณภาพของหุ้นดีระดับไหนและมันแพงหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับอีกตัวหนึ่ง  ตัวอย่างง่าย ๆ  เช่น  ถ้าเราอยากซื้อหุ้นแบงค์ขนาดใหญ่  เราก็ควรศึกษาเทียบกับแบงค์ใหญ่ที่คล้ายกัน  เช่นเดียวกัน  ถ้าเราอยากซื้อแบงค์เล็ก  เราก็ควรต้องเปรียบเทียบกับแบงค์เล็กด้วยกัน  และบางทีเราก็อาจจะเปรียบเทียบกับแบงค์ใหญ่ไปด้วย  หรือถ้าเราต้องการซื้อหุ้นบันเทิง “ครบวงจร”  เราก็ควรจะเปรียบเทียบกับหุ้นอีกตัวหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน  เช่นเดียวกับหุ้นที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เราสามารถจะเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนเพราะพวกเขาทำธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมากและแข่งขันกันตลอดเวลา   ถ้าจะสรุปก็คือ  หุ้นจำนวนมากนั้น  หาคู่ที่จะมาเปรียบเทียบได้เสมอ  และ VI ผู้มุ่งมั่นก็ควรจะทำทุกครั้งที่มีโอกาส

Posted by nivate at 1:45 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/18/1368

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 25, 2013, 11:14:24 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 25 November 2013
ทำงานไปลงทุนไป


ในระยะหลังประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมาหรือตั้งแต่สิ้นปี 2551 ในวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงเหลือเพียง 450 จุด  มาจนถึงปัจจุบันที่ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 1400 จุด  สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “VI”  จำนวนหนึ่งร่ำรวยขึ้นมากจนสามารถลาออกจากการเป็นพนักงานที่ทำงานกินเงินเดือนในกิจการธุรกิจหรือบริษัทต่าง ๆ  และหันมาเป็นนักลงทุน  “เต็มตัว”  หรือจะเรียกว่าเป็น  “นักลงทุนอาชีพ” ก็ไม่ผิด  เหตุผลที่พวกเขาลาออกมาลงทุนเต็มตัวนั้นก็เพราะว่าเขาจะได้มีเวลาศึกษาและค้นหาหุ้นที่น่าลงทุนซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากและบ่อย ๆ  ต้องใช้เวลาในเวลางาน  เช่น การไป Visit Company เยี่ยมชมบริษัท  หรือไปพบผู้บริหารในงาน Opportunity Day ซึ่งจัดในเวลางาน

           การทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาและค้นหาหุ้นลงทุนนั้น  นักลงทุน “ผู้มุ่งมั่น”  ที่กล่าวถึงนั้นเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้พวกเขาลงทุนได้ดีขึ้น  สามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น “คุ้ม” กับรายได้ที่จะเสียไปจากการทำงาน  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้ามีเงินในพอร์ต 10 ล้านบาท  และถ้าเขาทำผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้จากปกติปีละ 5-10%  ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะทำได้ “ไม่ยาก”  เขาก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท  ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนทั้งปีของเขา  ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจลาออกจากงาน  และมุ่งมั่นสู่  “ดวงดาว”  นั่นก็คือ  รวยเป็นเศรษฐีจากตลาดหุ้น  และนั่นก็คือนักลงทุนที่  Aggressive หรือกล้าหาญและมั่นใจสุด ๆ  อาจจะ  เนื่องจากผลงานที่ทำมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นโดดเด่นมาก ๆ  ผลตอบแทนทำได้ปีละอาจจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย

            เช่นเดียวกัน นักลงทุนรุ่นหนุ่มสาวที่เพิ่งจะจบการศึกษาหลายคนที่พ่อแม่มีเงินมากและอาจจะไม่ได้มีธุรกิจใหญ่พอที่จะต้องให้ลูกมาดูแลธุรกิจหรือไม่อยากให้ลูกเข้ามาทำงานในธุรกิจของตนเอง  อาจจะรู้สึกว่าการลงทุนโดยเฉพาะแบบที่เป็น  “VI”นั้น  ก็เป็น  “การทำธุรกิจ”  เหมือนกัน  ดังนั้น  พวกเขาก็เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ  โดยการขอเงินพ่อแม่มาลงทุน   การลงทุนในช่วงแรกด้วยเงินไม่มากอาจจะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีทำให้เกิดความมั่นใจทั้งตัวเองและพ่อแม่  ดังนั้น  เขาจึงได้เงินลงทุนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ     ด้วย “ฝีมือ”  และอาจจะด้วยโชคหรืออะไรก็ตามแต่  ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังสูงลิ่วทำให้พอร์ตของเขาโตขึ้นเป็นสิบล้านบาทขึ้นไปในเวลาอันสั้น  ดังนั้น  เขาก็เลิกทำงานอย่างอื่นทั้งหมดและหันมาเป็นนักลงทุนอาชีพเต็มตัว  ลึก ๆ  แล้วเขาอาจจะกำลังคิดถึง วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่แทบไม่เคยทำงานประจำอย่างอื่นหลังจากเรียนจบ  แต่ประสบความสำเร็จระดับโลก  ว่าที่จริงเขาอาจจะคิดว่าเขาเก่งไม่แพ้บัฟเฟตต์เลย  เพราะผลตอบแทนของเขาที่ผ่านมานั้นสูงกว่าสถิติของบัฟเฟตต์มากแม้ในช่วงที่บัฟเฟตต์ยังมีพอร์ตเล็ก ๆ  ในช่วงต้นของชีวิตการลงทุน

          ประเด็นที่ผมจะพูดต่อไปก็คือ  เราควรที่จะเลิกทำงานประจำเป็นคนกินเงินเดือนแล้วมาลงทุน  เป็นนักลงทุนอาชีพเต็มตัวไหม?  และจะเลิกทำงานเมื่อไร?  หรือสำหรับคนที่พ่อแม่มีเงินมากพอ  ควรหรือไม่ที่เราจะเริ่มชีวิตการลงทุนตั้งแต่เรียนจบ  หรือเราควรที่จะทำงานไป-ลงทุนไป?

          ผมเองอยากจะเริ่มที่เรื่องของการทำงานประจำหรืองานที่ต้อง  “ใช้แรง”  เสียก่อนว่าทุกคนควรที่จะต้องทำเพื่อเป็น  “ประสบการณ์ของชีวิต”  การทำงานใช้แรงหรือทำงานประจำในหน่วยงานหรือการทำงานที่ต้องประสานเกี่ยวข้องกับคนอื่นนั้น  จะช่วยให้เราเป็นคนที่ “สมบูรณ์” ขึ้น  มันไม่ใช่เรื่องของการหาเงินเพียงอย่างเดียว  แต่มันเป็นเรื่องของสังคมที่คนควรจะมีเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวข้องกันซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่ดีขึ้น  เข้าใจชีวิตของคนอื่นได้ดีขึ้น  ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้การลงทุนในอนาคตของเราดีขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว  ดังนั้น  ผมคิดว่าการเริ่มต้นเป็นนักลงทุนเต็มตัวตั้งแต่อายุยังน้อยและยังไม่ได้ผ่านการทำงานแบบใช้แรงมานานพอนั้น  เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร  วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น  ทำงานใช้แรงมานานหลายปีทีเดียวตั้งแต่เรียนชั้นประถมและมัธยมรวมถึงช่วงจบมหาวิทยาลัยไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปีในฐานะนักวิเคราะห์หุ้นก่อนที่จะเริ่มชีวิตการลงทุนอาชีพ  ดังนั้น  คนที่เรียนจบใหม่ ๆ  จึงควรที่จะต้องทำงานไปด้วยถ้าอยากจะลงทุน  คนที่ไม่ทำงานเลยเอาแต่จะลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  บางทีอาจจะเป็น  “ข้ออ้าง”  ของคนที่  “ขี้เกียจ”  ทำงานที่ต้องใช้แรงงานก็ได้  โดยเฉพาะถ้าเขาลงทุนโดยไม่ได้ใช้เวลาศึกษาอะไรมากนัก

         สำหรับคนที่ไม่ได้มีพ่อแม่รวยและต้องพึ่งตนเองเป็นหลักนั้น  การทำงานกินเงินเดือนหรือการใช้แรงทำงานนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก  รายได้จากการทำงานนั้นเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอและมักจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะคนที่มีความสามารถและทุ่มเทให้กับการทำงาน  และถ้าโชคดีได้งานที่ชอบ   การทำงานก็ไม่ได้เป็นภาระที่หนักอกหรือต้อง “ฝืนใจทำ”   มันก็อาจจะเป็นกิจกรรมที่ทำแล้ว “มีความสุข”  ว่าที่จริงในยุคสมัยปัจจุบันและในอนาคต  การทำงานมีโอกาสที่จะทำให้เรา “ร่ำรวย” ได้เหมือนกัน  ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่คนทำงานกินเงินเดือนนั้น  “ไม่มีโอกาสรวย”   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การทำงานนั้น  เป็นกิจกรรมที่ดีเยี่ยมในแง่ของสังคมและบ่อยครั้งในแง่ของการทำเงิน  เหนือสิ่งอื่นใด  มันเป็นการได้ผลตอบแทนที่มักจะมีความเสี่ยงต่ำ  ดังนั้น  ก่อนที่เราจะละทิ้งมัน  เราควรจะพิจารณาให้รอบคอบจริง ๆ

         ข้อเสียของการทำงานสำหรับนักลงทุนก็คือ  พวกเขาคิดว่ามันทำให้เขาไม่มีเวลาไปวิเคราะห์หุ้นเท่าที่ควรและเขา  “เชื่อว่า”  มันทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยลงไม่ต่ำกว่า 5% หรือ 10% หรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี  แต่ในประเด็นนี้ผมเองคิดว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้น  อาจจะไม่จริง  เหตุผลก็คือ  ในสมัยนี้เรามีเทคโนโลยีที่สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อเอามาศึกษานอกเวลาได้อย่างสะดวก  การไปเยี่ยมบริษัทเองนั้น  ก็อาจจะไม่ได้เพิ่มคุณค่าของการวิเคราะห์มากนัก  ดังนั้น  ความจำเป็นต้องลาออกจากงานเพื่อมาศึกษาหุ้นจึงมีความจำเป็นน้อยโดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้มีพอร์ตใหญ่โตมากมายอะไรนัก

         ส่วนตัวผมเองคิดว่ากลยุทธ์ที่ดีกว่าก็คือ  เราควรที่จะทำงานไป-ลงทุนไปเรื่อย ๆ   การทำงานนั้นเป็นขั้นตอนแรกที่จะสะสมเงินทุนเริ่มต้นที่จะต้องนำไปลงทุนซื้อหุ้นในตลาด  รายได้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากการทำงานจะทำให้เรามีเงินเติมลงไปในพอร์ตเรื่อย ๆ  ทำให้พอร์ตโตเร็วขึ้นซึ่งในที่สุดก็จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงิน  นั่นก็คือ  คร่าว ๆ  พอร์ตควรจะใหญ่เป็นประมาณอย่างน้อย 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยซึ่งจะทำให้เราสามารถเลิกทำงานประจำได้โดยไม่เดือดร้อน  อย่างไรก็ตาม  เรายังไม่ควรเลิกทำงาน  เหตุผลก็คือ  รายจ่ายในอนาคตของเราอาจจะเพิ่มขึ้นมาก  อาจจะเนื่องจากการแต่งงาน  มีลูก  เจ็บป่วยรุนแรง  และเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่น ๆ  รวมถึงการที่หุ้นอาจจะตกลงมารุนแรงทำให้ความมั่งคั่งที่เหลืออยู่ไม่พอใช้จ่ายอย่างสบายใจ  การทำงานต่อไปจะทำให้เรามี  “Margin of Safety” หรือความปลอดภัยเพิ่มขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
         การที่เราจะเลิกทำงานและหันมาลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  ผมคิดว่าเราควรยึดหลักว่า  หนึ่ง เราชอบทำงานหรือไม่  ถ้าชอบ  เราก็ไม่จำเป็นต้องเลิกเลย  ทำไปลงทุนไป  แต่ถ้าไม่ได้รักหรือชอบงานที่ทำ  เราก็ต้องคำนึงถึงว่ามันทำเงินให้เราคุ้มค่าหรือเพียงพอหรือไม่ที่เราจะทำต่อ  ผมเองคิดว่าตราบใดที่ผลตอบแทนจากการทำงานยังสูงถึง 20-30% ของรายได้จากการลงทุนต่อปี  ผมก็เห็นว่ามันยังคุ้มค่าที่จะทำ  เพราะการทำงานประจำด้วยจะทำให้พอร์ตหรือเงินเราโตเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  แต่หากว่ามันน้อยกว่านั้นแล้ว  การเลิกทำงานและลงทุนเพียงอย่างเดียวก็อาจจะดีกว่าและทำให้เรามีความสุขในชีวิตมากกว่า
Posted by nivate at 10:32 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/25/1372

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 03, 2013, 01:12:37 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 2 December 2013
หุ้นผู้บริโภค

ช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมานั้น  หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในด้านของ  “คุณภาพ”  ของกิจการ  ก่อนหน้านั้นดูเหมือนว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์เป็นหลัก   บริษัทที่ขายสินค้ามี “ยี่ห้อ”  หรือบริษัทที่ขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค  ที่มีกำไรต่อยอดขายหรือมีมาร์จินสูง  ซึ่งถือว่าเป็นกิจการที่มี  “คุณภาพสูง”  นั้น  มักจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก  สัดส่วน Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของบริษัทที่มี  “คุณภาพดี”  เหล่านั้นมีน้อยมาก   แต่เดี๋ยวนี้  “หุ้นผู้บริโภค” มีมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ขึ้นมาก  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทเหล่านั้นมีการขยายตัวของยอดขายและกำไรสูงกว่าหุ้นโภคภัณฑ์  แต่ที่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การที่ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น   “แพง” ขึ้นมาก  นั่นก็คือ  ค่า PE  ของหุ้นผู้บริโภคสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับหุ้นโภคภัณฑ์ที่ยังมีค่า PE ในระดับ 10 เท่าบวก-ลบ  ในขณะที่หุ้นผู้บริโภคจำนวนมากมีค่า PE ในระดับอาจจะ 20 เท่าบวก-ลบ   และมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          หุ้น “ผู้บริโภค” ที่ผมกำลังพูดถึงนั้น  ไม่ใช่หุ้นตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจัดโดยตลาดหลักทรัพย์   แต่เป็นหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าหรือบริการด้วยตนเอง  บริษัทนั้นเป็นคนทำการตลาดเพื่อเชิญชวนให้คนมาซื้อสินค้า  บริษัทเป็นคนตั้งราคาขายสินค้าเอง  ยอดขายและกำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับนโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ  ที่บริษัทใช้แข่งขันกับคู่แข่งหรือต่อรองกับหน่วยงานควบคุมของรัฐในกรณีที่เป็นบริษัทที่อิงอยู่กับสัมปทานหรือกฎระเบียบต่าง ๆ    ดังนั้น  หุ้นผู้บริโภคจึงมีกระจายกันไปในหลาย ๆ  กลุ่มอุตสาหกรรม  ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร  ถ้าเขาขายให้คนซื้อที่มีเป็นพัน  หมื่น  แสน  หรือเป็นล้าน ๆ คน  สินค้าของเขามียี่ห้อที่คนรับรู้  และเขาเป็นคนทำการตลาดและกำหนดราคาเองได้  แบบนี้ก็เข้าข่ายที่เขาจะเป็น  “หุ้นผู้บริโภค”

           หุ้นผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่เริ่มปรากฏมากขึ้นในระยะหลังประมาณ 10 ปีมานี้   มักจะเป็นบริษัทที่เป็น  “ผู้ชนะ”  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของตนเอง  พวกเขามักเป็นคนที่ขายสินค้าโดยตรงต่อผู้บริโภค  นั่นคือ  ไม่ได้ขายผ่านผู้อื่นมากนัก  ความหมายก็คือ  พวกเขามักมี “หน้าร้าน”  ที่ได้สัมผัสกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด  ที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือ  สินค้าหรือบริการของพวกเขานั้น  มักเป็นสินค้า “สมัยใหม่”  หรือเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ใช้กันมากขึ้น  พูดง่าย ๆ  เป็นสินค้าที่อยู่ใน “เมกาเทรนด์”    ลองมาดูกันว่ามีบริษัทไหนบ้าง  ไล่กันไปทีละกลุ่มอุตสาหกรรม

           กลุ่มแรกคือหุ้นในกลุ่มอาหารก็จะพบว่า  หุ้นผู้บริโภคขนาดใหญ่ตาม Market Cap. ก็คือ  หุ้น  CPF  ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนคิดเป็นมูลค่าตลาด 2 แสนล้านบาท  อย่างไรก็ตาม  สินค้าส่วนใหญ่ของ CPF นั้น  จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากนั้น  น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่บริษัทถือหุ้นจำนวนมากใน CPALL ซึ่งเป็นหุ้นผู้บริโภคที่เติบโตขึ้นมาก  หุ้นตัวที่สองคือหุ้น M เครือข่ายร้านภัตตาคารซึ่งเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดที่มีมูลค่าตลาดกว่า 4 หมื่นล้านบาทกลายเป็นหุ้นใหญ่อันดับ 4 ในกลุ่ม  หุ้นตัวที่สามคือหุ้น MINT ซึ่งทำโรงแรมและร้านอาหาร ที่มีมูลค่าตลาดเกือบหนึ่งแสนล้านบาท เช่นเดียวกับ CENTEL ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 5 หมื่นล้านบาท  และนี่คือหุ้นที่ทำให้มูลค่าหุ้นในกลุ่มอาหารโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

           หุ้นกลุ่มที่สองก็คือ  หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะถือว่าอยู่ในหุ้นกลุ่มผู้บริโภคเช่นกันเนื่องจากมีการรับเงินฝากและให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม  การหาผู้ชนะในกลุ่มแบงค์เป็นเรื่องยาก  และธุรกิจนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างในการที่จะประสบความสำเร็จเช่นเรื่องของภาวะหนี้เสียและอื่น ๆ  ทำให้มูลค่าตลาดของแบงค์เองนั้นโตขึ้นไม่ได้มากเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม  พูดง่าย ๆ  เดิมเมื่อ 10 ปีก่อนแบงค์เองก็ใหญ่มากอยู่แล้ว  สำหรับผมแล้ว  กลุ่มแบงค์ยังไม่อาจจะพูดได้เต็มที่ว่าเป็นหุ้นผู้บริโภค

           หุ้นสถาบันการเงินที่เป็นหุ้นผู้บริโภคที่น่าสนใจมากเนื่องจากเพิ่งจะเติบโตขึ้นมาไม่นานก็คือ หุ้นในกลุ่มประกันชีวิตที่มีหุ้น  BLA และ SCBLIF ที่มีมูลค่าตลาด ประมาณ 7 หมื่นล้านบาททั้งคู่  จากที่ในอดีตนั้น  หุ้นในกลุ่มนี้แทบไม่มีใครสนใจและ Market Cap. น้อยมาก  ข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือ ทั้งสองบริษัทนั้น  มีลูกค้าที่อิงอยู่กับธนาคารขนาดใหญ่ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันและทำให้ประสบความสำเร็จ  เป็น  “ผู้ชนะ”

           กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผมคิดว่าเป็นหุ้นผู้บริโภคที่มีการเติบโตขึ้นมากในช่วง 10 ปีนี้มีหลาย บริษัทซึ่งน่าจะรวมถึงบริษัทที่พัฒนาห้างอย่าง CPN ซึ่งเติบโตขึ้นมากลายเป็นบริษัทขนาด  2  แสนล้านบาท  และบริษัทสร้างบ้านขายที่เติบโตขึ้นมากซึ่งรวมถึง LH ที่มีขนาด 1 แสนล้านบาท PS ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และบริษัทที่มีขนาดประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงหุ้น BLAND  LPN MBK QH SIRI SPALI

           หุ้นกลุ่มพาณิชย์น่าจะถือเป็นหุ้นกลุ่มผู้บริโภคที่ตรงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง และน่าจะเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดเพิ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ  ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  ในช่วงก่อนนั้น  กลุ่มพาณิชย์แทบจะไม่มีหุ้นที่มี Market Cap. ขนาดใหญ่เลย  แต่ปัจจุบันนั้น  หุ้นหลาย ๆ  ตัวกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่  บางตัวติดอันดับหนึ่งในสิบของหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาด  ประกอบไปด้วย  หุ้น CPALL ซึ่งมีมูลค่าถึงประมาณ 3 แสน 5หมื่นล้านบาท  หุ้น BIGC และหุ้น MAKRO ที่ต่างก็มีมูลค่าตลาดประมาณ 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท  หุ้น HMPRO ที่มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท  และหุ้น ROBINS ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

          ในกลุ่มของหุ้นบันเทิงซึ่งเป็นหุ้นผู้บริโภคที่เป็นผู้ชนะและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากก็คือ หุ้น BEC ซึ่งก็คือทีวีช่อง 3 มีมูลค่าตลาดสูงขึ้นมากถึงประมาณ แสนล้านบาท  นอกจากนั้นก็ยังมีหุ้น VGI ที่ขายโฆษณาที่เพิ่งเข้าตลาดไม่นานก็มีมูลค่าสูงขึ้นถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

          หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ในอดีตไม่ใคร่จะมีค่ามากนักในตลาดหุ้น  แต่ด้วยการเติบโตของหุ้นผู้บริโภคก็ทำให้หุ้นของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ BGH เติบโตขึ้นมหาศาลมีมูลค่าตลาดถึง 2 แสนล้านบาท  เช่นเดียวกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์  BH  ก็เติบโตมีมูลค่าประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท

          หุ้นกลุ่มขนส่งซึ่งในอดีตมีเพียง THAI เท่านั้นที่มีมูลค่าตลาดสูง  ในปัจจุบันกลับกลายเป็นหุ้น AOT และหุ้นของ BTS ที่เป็นหุ้นผู้บริโภคที่มีมูลค่าสูงมากคือประมาณ 2 แสน 6 หมื่นล้านบาทและ 1 แสนล้านบาทตามลำดับ

          หุ้นกลุ่มสื่อสารที่เป็นหุ้นผู้บริโภคและมีขนาดเพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบนั้นรวมถึงหุ้นที่มีขนาดใหญ่มากอยู่แล้วอย่าง ADVANC ที่มีขนาดประมาณ 6 แสน 7 หมื่นล้านบาท หุ้น DTAC และ INTUCH หุ้นละ  2 แสน 5 หมื่นล้านบาท TRUE แสนสองหมื่นล้านบาท และ JAS 5.6 หมื่นล้านบาท
          หุ้นผู้บริโภคที่รวมเฉพาะในรายการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  มี Market Cap. ถึงประมาณ  4 ล้านล้านบาทซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดหุ้นทั้งหมด  และนั่นก็คือตัวเลขที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  ตลาดหุ้นไทยกำลังเคลื่อนไปสู่การเป็นตลาดหุ้นที่มีหุ้นที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ   และดังนั้น  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยก็ควรต้องสูงขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ PE 10 เท่า

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/02/1374


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 08, 2013, 11:33:33 am
สัมมนาหัวข้อ "สอนมือใหม่ ลงทุนอย่างไรได้หุ้นคุณค่า"
จากมหกรรมการลงทุนครบวงจรแห่งปี SET in the City 2013
วันอาืทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17.00-18.00 น.

http://www.youtube.com/v/UK8Bl8quEuc
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 09, 2013, 09:32:16 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 9 December 2013
หุ้น 10 เด้ง

บทความเมื่อสัปดาห์ก่อนของผมพูดถึง  “หุ้นผู้บริโภค” ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นในปัจจุบันว่าเป็น  หุ้นที่เป็น  “ผู้ชนะ”  ในแง่ที่มันได้เติบโตขึ้นมาจนมีขนาดใหญ่มาก  สัดส่วนของหุ้นผู้บริโภคในตลาดหุ้นคิดตาม  Market Cap. หรือมูลค่าตลาดนั้นเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นโดยเฉพาะหุ้นของบริษัทผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์  ในบทความนั้น  ผมพูดถึงหุ้นผู้บริโภคขนาดใหญ่จำนวนประมาณเกือบ 30 ตัว    ในบทความนี้  ผมจะมองย้อนหลังไป 10 ปี และดูว่ามีหุ้นตัวไหนบ้างที่เติบโตขึ้นมากจนมีมูลค่าตลาดโตขึ้นเป็น 10 เท่าขึ้นไป  หรือเป็นหุ้น  “10  เด้ง”  ซึ่งเท่ากับการที่หุ้นให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 25%  ต่อปีแบบทบต้นและสามารถเรียกว่าเป็นหุ้น  “Super Stock” ได้

          หุ้นตัวแรกก็คือ  หุ้น MINT ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีราคาเพียง 1.99 บาท จนถึงช่วงปัจจุบันมีราคา 24 บาท  เท่ากับราคาปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 12 เท่า  นี่คือหุ้นที่ทำกิจการภัตตาคารทั้งที่เป็นอาหารจานด่วน  อาหารทั่วไป  ร้านไอศกรีม  และอีกครึ่งหนึ่งทำกิจการโรงแรมที่มีเครือข่ายกว้างขวางและขยายไปทั่วโลก   ส่วนหุ้นตัวที่สองก็คือหุ้น  CENTEL  ซึ่งก็เป็นบริษัทที่ทำกิจการแบบเดียวกับหุ้น MINT เกือบจะทุกประการ  หุ้น CENTEL ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคา 2.15 บาทเป็น 36 บาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16.7 เท่าในเวลา 10 ปี

          หุ้นตัวต่อมาคือหุ้น SCBLIF ซึ่งทำกิจการประกันชีวิตซึ่งมีการเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดให้ธนาคารเข้ามาเป็นผู้ขายประกันให้กับลูกค้าของธนาคารได้  ส่งผลให้ SCBLIF ซึ่งอยู่ในเครือแบงค์ขนาดใหญ่ในขณะนั้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว  ราคาหุ้นของ SCBLIF ปรับเพิ่มขึ้นจาก 13.28 บาทกลายเป็น 1046 บาท หรือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารถึง 78.8 เท่า  ถึงแม้ว่าราคาที่ประมาณ 13 บาทนั้นจะไม่ใคร่มีการซื้อขาย  และราคาที่เริ่มมีการซื้อขายในช่วง 7- 8 ปีที่ผ่านมาจะเป็นประมาณ 70 กว่าบาท  หุ้นตัวนี้ก็ยังเป็นหุ้น 10 เด้ง อยู่ดี

          หุ้นกลุ่มที่มีหุ้น 10 เด้งมากที่สุด  และเป็นหุ้นขนาดใหญ่ทุกตัวที่ผมได้กล่าวถึงก็คือหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ซึ่งประกอบด้วยหุ้น  BIGC CPALL  MAKRO HMPRO และ ROBINS  โดยที่หุ้น BIGC ปรับตัวขึ้นจาก 18.1 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็น 185 บาท  หรือเพิ่มขึ้นเป็น 10.2 เท่า   หุ้น CPALL เพิ่มขึ้นจาก 3.03 บาทเป็น 41.75 บาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13.8 เท่า  หุ้น MAKRO เพิ่มขึ้นจาก 2.4 บาทเป็น 32.75 บาท หรือเพิ่มเป็น 13.7 เท่า  หุ้น HMPRO เพิ่มขึ้นมหาศาลจาก 0.49 บาท เป็น 10.6 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 21.6 เท่าในเวลา 10 ปี  และสุดท้ายหุ้น ROBINS ที่เพิ่มขึ้นจาก 3.5 บาทเป็น 53 บาทหรือเพิ่มขึ้น 15.1 เท่า

         หุ้นโรงพยาบาลที่โตขึ้นเป็นหุ้น 10 เด้งก็คือหุ้น  BGH ซึ่งโตขึ้นจาก 6.66 บาทเป็น 129.5 บาทหรือเพิ่มขึ้นมากถึง  19.4 เท่า  และนี่ก็คือหุ้นของโรงพยาบาลที่โตขึ้นเร็วมากด้วยกลยุทธ์การเทคโอเวอร์โรงพยาบาลทั่วประเทศ  กลายเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่  “ระดับโลก”  โดยที่ยังไม่ได้มีท่าทีว่าจะหยุด

          หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่น่าสนใจเนื่องจากมีหุ้นขนาดใหญ่มากอยู่หลายตัวก็คือหุ้นในกลุ่มสื่อสาร  ถ้ามองย้อนหลังไป 10 ปี กลับพบว่าไม่มีหุ้นตัวไหนที่เป็นหุ้น 10 เด้งเลยสำหรับหุ้นขนาดใหญ่  ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่บอกว่าหุ้นในกลุ่มสื่อสารขนาดใหญ่นั้น  ในอดีตก็ใหญ่มากอยู่แล้ว   อย่างไรก็ตาม  หุ้น TRUE นั้น  ในช่วงปลายปี 2551 มีราคาเพียง 0.81 บาท  ในขณะนี้ที่ช่วงปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 9.05 บาทหรือเพิ่มขึ้นเป็น 11.2 เท่า  เช่นเดียวกับหุ้น JAS ในช่วงต้นปี 2552 ก็มีราคาประมาณ 0.37 บาท และปรับเพิ่มขึ้นในปัจจุบันเป็น 7.9 บาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 21.4 เท่า

         นอกจากหุ้น 10 เด้ง ดังที่กล่าวถึงแล้ว  หุ้นผู้บริโภคขนาดใหญ่บางตัวก็มีการเติบโตขึ้นมากเป็นหลายเท่าในช่วง 10 ปี โดยหุ้นตัวแรกก็คือ  หุ้น CPF ที่ราคาปรับขึ้นจาก 3.9 บาทเป็น 27.5 บาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า  หุ้นตัวที่สองคือหุ้น CPN ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.75 บาทเป็น 42 บาท หรือเพิ่มขึ้น 8.8 เท่า ในเวลา 10 ปี  และสุดท้ายคือหุ้น BH ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.3 บาท เป็น 90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 เท่า  และนี่ก็คือหุ้นที่โตประมาณ ปีละ 20% เศษ ๆ  แบบทบต้นในเวลา 10 ปี ซึ่งต้องถือว่าเป็น  หุ้นที่ “ยิ่งใหญ่”  ได้

        หุ้นชุดสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือหุ้นที่โตประมาณปีละ 15% แบบทบต้นเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยมประกอบไปด้วยหุ้น PS ที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.86 บาทเป็น 20.3 บาทหรือโตขึ้นเป็น 4.2 เท่าในเวลา 10 ปี  หุ้น LPN ที่โตขึ้นจาก 3.71 บาทเป็น 18.7 บาท  หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า  หุ้น JAS ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.41 บาทเป็น 7.9 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5.6 เท่าในเวลา 10 ปี

         หุ้น 10 เด้ง ในเวลา 10 ปี ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น  ผมเห็นว่าเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม  “หุ้นเติบโต”  หรือเป็น Growth Stock และเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  ในแง่ที่มันเป็นกิจการที่แข็งแกร่งเป็นผู้นำโดยเฉพาะในด้านของฐานะทางการตลาด  อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น  “เมกาเทรนด์”  ที่ยังเติบโตได้ดีไปอีกหลาย ๆ ปีและมีศักยภาพสูงในแง่ที่ว่าตลาดในอนาคตยังเติบโตต่อไปได้อีกมาก    มีผลประกอบการที่มั่นคงสม่ำเสมอ  มีคุณสมบัติทางธุรกิจที่ดีเยี่ยมอื่น ๆ เช่น  เป็นกิจการที่มีกระแสเงินสดที่ดีมาก  มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ  ROE ในระดับที่สูง  และสุดท้ายก็คือ  เป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่พอสมควรในช่วงก่อนที่มันจะเริ่มเติบโตกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่หรือใหญ่มากในปัจจุบันซึ่งทำให้มันเป็นหุ้นที่นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นในจำนวนที่มีนัยสำคัญได้ในช่วงที่ราคาหุ้นยังต่ำอยู่  พูดง่าย ๆ  หุ้น 10 เด้งที่พบนั้น  ไม่ใช่กิจการขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูง   สำหรับนักลงทุนทั่ว ๆ ไปแล้ว  นี่คือหุ้นดีที่ลงทุนได้อย่างสบายใจและให้ผลตอบแทนสุดยอดในระยะยาว

          แน่นอนว่าหุ้นที่กลายเป็นหุ้น 10 เด้งในเวลา 10 ปีในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมานั้น  ไม่ได้มีเฉพาะซุปเปอร์สต็อกดังที่กล่าวเท่านั้น   มีหุ้นอีกจำนวนไม่น้อยที่มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าหรือมากกว่านั้นโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กถึงเล็กมากที่โตขึ้นมากและสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนมหาศาลในเวลาอันสั้น  หุ้นเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วก็คือหุ้นกลุ่ม  “Turnaround” หรือหุ้นที่เคยมีปัญหาหนักแทบเอาตัวไม่รอดแต่ในที่สุดก็  “ฟื้นตัว”  ด้วยเหตุผลต่าง ๆ  เช่น หันไปทำธุรกิจใหม่หรือแก้ไขปัญหาทางการเงินสำเร็จ  หรือแก้ไขหรือปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจจนสามารถฟื้นผลการดำเนินงานของกิจการขึ้นมาได้  อย่างไรก็ตาม  หุ้นเหล่านี้  บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถซื้อหุ้นจำนวนมากในราคาที่ต่ำมากได้เนื่องจากสภาพคล่องในการซื้อขายอาจจะน้อยมาก  นอกจากนั้น  ก็เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงหากกิจการไม่ฟื้นและต้องเพิ่มทุนมหาศาลซึ่งจะ Dilute หรือลดสัดส่วนหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมลงไปมาก
           หุ้น 10 เด้งอีกกลุ่มหนึ่งถ้าจะมีก็คือ  หุ้น “Cyclical” หรือหุ้นวัฏจักร  ซึ่งมักเป็นหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโภคภัณฑ์ที่มีราคาผันผวนรุนแรง  ในยามที่ราคาสินค้าตกต่ำสุดขีดนั้น  ราคาหุ้นก็มักจะตกต่ำลงไปมากอย่างไม่น่าเชื่อ  และนั่นก็คือจุดที่จะทำให้มันกลายเป็นหุ้น “10 เด้ง”  ถ้าราคาสินค้าเริ่มเปลี่ยนทิศอย่างแรงซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตาม  และในบางครั้งมากเป็น 10 เท่าในเวลาอันสั้น  ประเด็นก็คือ  หุ้นวัฏจักรนั้น  ราคาที่สูงขึ้นเป็น 10 เท่านั้น  อาจจะไม่สามารถยืนอยู่ได้นาน  เมื่อ “หมดรอบ”  มันก็มักจะปรับตัวลงอย่างแรงซึ่งทำให้การลงทุนโดยเฉพาะในยามที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงแล้วกลายเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนทั่ว ๆ  ไปแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะทำกำไรจากหุ้นในกลุ่มนี้

Posted by nivate at 10:07 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/09/1377

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 16, 2013, 02:12:37 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 16 December 2013
กองทุนรวม สิ่งที่เจ้าของไม่มีสิทธิ์ควบคุม


Value Investor มีแนวคิดในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นว่า  เวลาเราลงทุนซื้อหุ้นก็เหมือนกับว่าเราเป็น  “เจ้าของกิจการ”  การเป็นเจ้าของกิจการนั้นหมายความว่าเราย่อมมีสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมเวลาบริษัทหรือธุรกิจมีกำไรและเราเห็นว่าควรจะนำเงินมาแบ่งให้เจ้าของตามที่สมควร    การเป็นเจ้าของนั้นหมายความว่าเราสามารถที่จะติดตามข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของกิจการ  และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ  เราต้องสามารถที่จะแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทเช่นเดียวกับการอนุมัติแผนหรือการดำเนินงานที่สำคัญยิ่งยวดของกิจการได้

          เป็นความจริงที่ว่าสำหรับบริษัทที่มีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นเกิน 50% ของบริษัท  ก็เป็นเรื่องยากที่เราในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยจะสามารถเข้าไปกำหนดหรือแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทหรือเข้าไปมีสิทธิมีเสียงให้บริษัทจ่ายปันผลให้ถูกใจเราได้  แต่บ่อยครั้งเราก็เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้น  เหตุผลก็เพราะเราเชื่อว่า  ในฐานะของผู้ถือหุ้นใหญ่  เขาก็คงควบคุมการบริหารงานของบริษัทให้ดีที่สุดเช่นเดียวกับการจ่ายปันผลในอัตราที่เหมาะสม  เพราะนั่นเป็นผลประโยชน์ของเขาเองด้วย  แต่สำหรับบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นที่กระจายตัวมาก  ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เลย  เป็นบริษัทมหาชนจริง ๆ  ในกรณีแบบนี้  ผู้ถือหุ้นรายย่อยก็มีความหมายและอาจจะมีความสามารถที่จะควบคุมการบริหารงานของบริษัทได้ผ่านกลไกทางกฎหมายและกฎเกณฑ์ของการเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมใหญ่ประจำปีของผู้ถือหุ้น

          บางคนอาจจะพูดว่านั่นคือ  “ความฝัน”  จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมีคะแนนเสียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในบริษัทได้  นักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีหุ้นไม่กี่ร้อยหุ้นจะเสียเวลาไปควบคุมหรือให้ความเห็นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นทำไม?  ถ้าเขาไม่พอใจการบริหารงานของบริษัทเขาก็คงขายหุ้นทิ้งมากกว่าที่จะพยายามไปแก้ไขอะไรในบริษัท  ดังนั้น  การควบคุมกิจการของนักลงทุนนั้นจึงเป็นไปไม่ได้  นั่นฟังดูมีเหตุผล  แต่ความจริงก็คือกระบวนการของตลาดทุนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้  นั่นก็คือ  ถ้ามีคนไม่พอใจการบริหารงานของบริษัทมาก ๆ  และทยอยขายหุ้นทิ้งไปเรื่อย ๆ   ราคาหุ้นก็จะตกลงไปเรื่อย ๆ  และนั่นจะทำให้มีนักลงทุนบางคนเห็นโอกาสที่จะเข้าไปซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเข้าไปควบคุมบริษัทได้ผ่านการลงคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น  หลังจากนั้น  เขาก็จะสามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนผู้บริหารหรือวิธีการดำเนินงานที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีและจ่ายปันผลให้กับตัวเองได้มากคุ้มค่า  ราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นมาก  ซึ่งจะทำให้เขาได้กำไรอย่างงดงาม  และนี่ก็คือกระบวนการของตลาดทุนที่สามารถควบคุมบริษัทจดทะเบียนให้ดำเนินการในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นได้

          หลักทรัพย์ที่เป็น “หุ้น” ของแต่ละบริษัทนั้น  ไม่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุม  เนื่องจากเรามีกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีและมีกฎเกณฑ์อื่น ๆ  ตามที่กำหนดโดยหน่วยงานรัฐที่บริษัทจะต้องปฏิบัติ   แต่ในกรณีของกองทุนรวมต่าง ๆ  ที่นำเงินของกองทุนไปลงทุนในหุ้นหรือทรัพย์สินหรือกิจการต่าง ๆ  ที่มีธรรมชาติเป็น  “หุ้น”  นั้น   การควบคุมกลับทำไม่ได้หรือทำได้น้อยมาก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่า   “ผู้ถือหน่วยลงทุน”  นั้น  ไม่ใช่  “ผู้ถือหุ้น”  และไม่มีการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนประจำปีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเข้ามามีสิทธิมีเสียงจัดการ  “การบริหารหน่วยลงทุน”  ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนมากที่สุด  นอกจากนั้น  ผู้ถือหน่วยลงทุนนั้น  โดยปกติจะเป็นนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทุนด้วยเหตุผลเดียวนั่นคือ  ต้องการได้ผลตอบแทนเป็นรายปีในอัตราที่ตนเองคาดว่าจะได้จากการลงทุนที่บริหารโดยคนที่เสนอตัวตั้งแต่แรก  ถ้าผู้บริหารทำไม่ดี  สิ่งที่ผู้ถือหน่วยจะทำได้ก็คือ  ขายหน่วยลงทุนนั้นทิ้ง  อาจจะโดยการขายคืนกับกองทุนหรือขายในท้องตลาดแล้วแต่กรณี   ผู้ถือหน่วยไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปเทคโอเวอร์กองทุนแล้วปลดผู้บริหารกองทุนออก

           ในกรณีของกองทุนรวมหุ้นนั้น  ผมคิดว่าความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้บริหารกองทุนนั้นมีไม่มากนัก  การขายหน่วยลงทุนทิ้งเมื่อเราดูว่าเขาบริหารไม่ดีเป็นทางออกที่เหมาะสมและนั่นจะทำให้บริษัทต้องปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้ามาซื้อหน่วยลงทุนใหม่  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของกองทุนรวมอื่นเช่น  กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น  ผมคิดว่าการที่เจ้าของหน่วยลงทุนไม่มีสิทธิหรือมีน้อยมากในการควบคุมการบริหารกองทุนนั้น  เป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์ในกรณีที่ผู้บริหารกองทุนทำงานไม่ดีและไม่เป็นผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เข้าไปลงทุน  เหตุผลก็เพราะ  ในหลาย ๆ กรณี  เงินในกองทุนทั้งหมดนั้นถูกเอาไปลงทุนในทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวเช่น  เป็นตึก ๆ  เดียว  เป็นสนามบินเดียว  เป็นระบบรถไฟฟ้า  ต่าง ๆ  เป็นต้น  นี่เท่ากับว่ากองทุนก็คือเจ้าของทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นหุ้นที่มีผลตอบแทนขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของตัวทรัพย์สินที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ  รวมถึงฝีมือหรือความสามารถของผู้บริหารทรัพย์สินนั้น   ดังนั้น  เราควรจะต้องมีเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถควบคุมกิจการได้  ไม่ใช่บอกแค่ว่าถ้าไม่พอใจก็ให้ขายหน่วยลงทุนทิ้ง

           ตัวอย่างที่ผมอยากจะยกมาให้เห็นถึงจุดอ่อนในเรื่องของการควบคุมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็คือ  ถ้าสมมุติว่ามีอาคารสำนักงานให้เช่าแห่งหนึ่งอยู่ใน “ทำเลทอง” และอาคารนี้มีเจ้าของเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ถือหน่วยจำนวนมาก  คนที่ซื้อหน่วยลงทุนนั้นถูกทำให้เชื่อว่าตึกนี้จะมีผู้เช่าเต็มและทำรายได้ซึ่งจะจ่ายเป็นปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยคิดเป็น  8% ต่อปี  อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตึกแล้วก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่สามารถหาผู้เช่าได้มากเท่าที่ควรเนื่องจากปัญหาหลายอย่าง  ผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยแทบจะไม่มีโดยที่ผู้บริหารดูเหมือนจะไม่ได้แก้ไขอะไรที่เหมาะสม  ราคาของหน่วยลงทุนตกต่ำลงไปกว่าครึ่ง  คิดไปแล้ว  ถ้าเราสามารถซื้อหน่วยได้ทั้งหมดเราจะใช้เงินอาจจะแค่ 1 พันล้านบาท  แต่ตัวอาคารสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่นั้น  สามารถขายในท้องตลาดได้ 2 พันล้านบาท  ในฐานะที่เป็น VI ผมคิดว่านี่คือโอกาสที่ผมจะทำกำไรได้ถ้าผมสามารถเทคโอเวอร์กองทุนและเปลี่ยนผู้บริหารที่จะสามารถหาผู้เช่าและสร้างรายได้มาจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยคุ้มค่า  หรือถ้าทำไม่ได้ก็สามารถขายตึกและคืนเงินให้กับเจ้าของหน่วยลงทุนได้ในอัตราที่สูงกว่าราคาหน่วยในตลาดหุ้นถึง 2 เท่า  แต่ประเด็นก็คือ  ถึงผมจะซื้อหน่วยลงทุนได้แต่ผมก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอาคารได้  มันเป็นกรณีที่  “เจ้าของไม่มีสิทธิ”
           ผมคิดว่าน่าจะมีกรณีที่การบริหารมีปัญหาแต่เจ้าของแก้ไม่ได้เพราะไม่มีสิทธิในกรณีของกองทุนรวมต่าง ๆ  ยกเว้นกองทุนรวมหุ้นอีก  และมันจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ   นอกจากเหตุผลเรื่องฝีมือหรือความสามารถในการบริหารแล้ว  ยังมีประเด็นของเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ระหว่างผู้บริหารกับตัวทรัพย์สิน  นั่นคือ  ผู้บริหารนั้นมีธุรกิจและกิจกรรมเกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์สินมากมายและลึกซึ้งซึ่งจะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวแต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีช่องทางที่จะเข้าไปควบคุมเกี่ยวข้อง ประเด็นเหล่านี้บางทีจะค่อย ๆ  เกิดมากขึ้นในอนาคตและนี่ก็คือความเสี่ยงที่ทำให้ผมเองไม่อยากรับและทำให้ผมเองหลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุนเหล่านี้  ผมเองคิดว่าถ้าทรัพย์สินดีและผมอยากจะลงทุน  ผมจะลงทุนในบริษัทที่ขายทรัพย์สินให้กับกองทุนดีกว่า  เพราะนอกจากจะได้ราคาดีแล้ว  อนาคตเขาก็อาจจะยังบริหารหรือควบคุมทรัพย์สินเหล่านั้นที่เขาอาจจะต้องใช้อยู่เป็นหลัก    เขาน่าจะได้เปรียบในการทำข้อตกลง  คนที่เสียเปรียบน่าจะเป็นผู้ถือหน่วยลงทุน

Posted by nivate at 11:05 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/16/1379

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 23, 2013, 10:22:30 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 23 December 2013
มองเทคนิคแบบ VI

เวลาฟังนักวิเคราะห์ทางเทคนิคพูดถึงราคาหุ้นของแต่ละตัวว่าจะไปทางไหน  ควรจะซื้อหรือขาย  หรือมีแนวต้านแนวรับเท่าไรแล้ว  ผมจะไม่สนใจเลย  เหตุผลก็เพราะผมไม่เชื่อว่าวิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะสามารถทำเงินได้  ประเด็นสำคัญก็คือ  การซื้อ ๆ ขาย ๆ  เมื่อราคาขยับไปเพียงเล็กน้อยนั้นทำให้กำไรที่ได้รับคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็น้อยตามไปด้วย  และนี่หมายความว่าราคาหุ้นต้องขยับไปตามที่เราคาดด้วยวิธีทางเทคนิคด้วย  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  ราคาหุ้นอาจจะขยับไปในทางตรงกันข้าม  ผลก็คือเราก็จะขาดทุน  ดังนั้น  ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคอาจจะบอกได้ถูกต้องถึง 60-70%  บอกผิด 30-40%  แต่ในขณะเดียวกัน  เราต้องเสียค่าคอมมิชชั่นทุกครั้งไม่ว่าเราจะถูกหรือผิด  ผลก็คือ  เราก็ไม่เหลืออะไร  เป็นไปได้ว่าเราจะขาดทุนมากกว่ากำไรเพราะเราซื้อขายบ่อยมาก  ดังนั้น  โอกาสที่เราจะรวยหรือได้กำไรมาก ๆ  จากการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาซื้อขายหุ้นเป็นประจำจึงเป็นไปได้ยากมาก

           ถ้าจะถามว่าผมไม่ยอมรับเลยใช่ไหมว่าเรื่องของเทคนิคนั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุผลและก็อาจจะเป็นจริงสามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้  คำตอบของผมก็คือ  ไม่ใช่!  เรื่องของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้น  อาจจะมี “รูปแบบ”  ที่พอจะคาดการณ์ได้  มันอาจจะมีเหตุผลรองรับ   ว่าที่จริงผมเองก็มักจะสังเกตดูการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบางตัวอยู่เรื่อย ๆ เมื่อมีเวลาว่าง  ผมไม่ได้ใช้กราฟราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้นแบบนักเทคนิคมืออาชีพ   ผมแค่นั่งดูการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นแต่ละวันและก็พยายามคิดว่ามีอะไรเกิดขึ้น  “เบื้องหลัง”  หุ้นตัวนั้น  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นเคลื่อนไหวอย่างที่มันกำลังเป็น

           เหตุผลข้อแรกก็คือเรื่องของ “จิตวิทยา” ของนักลงทุน   ผมคิดว่าเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นอาจจะเคลื่อนไหวไปตาม  “จิตวิทยาหมู่”  ของ  “มวลมหาประชากรของนักลงทุน”  ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นที่พวกเขาเชื่อว่าจะวิ่งขึ้นไปมากด้วยเหตุผลบางอย่าง   ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นขึ้นไปจริงตามคำทำนาย  หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า  Self- Prophecy  กระบวนการก็คือ  เมื่อนักลงทุนเห็นราคาหุ้นของหุ้น  “ยอดนิยม”  ปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  พวกเขาก็อยากจะ  “กระโดดขึ้นรถ”  เพื่อขอทำกำไรไปด้วย  นั่นก็คือ  พวกเขาเข้าไปซื้อหุ้น   และการซื้อหุ้นของพวกเขาก็มีส่วนที่จะช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น  ดังนั้นหุ้นก็จะวิ่งขึ้นต่อไปตามที่พวกเขาคาดไว้   และนี่ก็จะดึงดูดให้นักลงทุนคนใหม่เข้ามาซื้อเพิ่มเพื่อหวังทำกำไรและก็ทำให้หุ้นเพิ่มต่อขึ้นไปอีก

            เหตุผลข้อสองที่อาจจะเป็นเบื้องหลังของราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  หรือปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ  “ตามเทคนิค”  ก็คือเรื่องของการ  “มีข้อมูลที่ไม่เท่ากัน”  ของนักลงทุนเกี่ยวกับตัวบริษัทนั้น ๆ  ยกตัวอย่างเช่น  บริษัทอาจจะค้นพบเหมืองทองคำ  หรือกำลังได้งานหรือสัญญาที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยมในอีกหลายปีข้างหน้า  คนที่รู้ก่อนก็คือบุคคลภายในบริษัท Insider) หรือคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเข้ามาซื้อหุ้นก่อนและทำให้ราคาหุ้นขยับปรับตัวขึ้น   ครั้นแล้วคนเหล่านั้นก็จะบอกคนใกล้ชิดหรือเพื่อนซึ่งก็จะเข้ามาซื้อเป็นรายต่อไปซึ่งก็จะทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก   ต่อมานักวิเคราะห์ซึ่งสังเกตเห็นราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นก็ค้นพบข้อมูล  อาจจะโดยการเปิดเผยของบริษัท  ก็จะออกบทวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อหุ้น   ต่อจากนั้น  นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ก็อาจจะเข้ามาซื้อหุ้นล็อตใหญ่เก็บเข้าพอร์ตส่งผลให้ราคาวิ่งขึ้นอย่างแรง  และสุดท้าย  นักลงทุนรายย่อยประเภท  “แมงเม่า”  ก็ได้รับรู้ข่าวสารที่  “ดีสุดยอด”  นั้นและเข้ามาซื้อหุ้นซึ่งก็ยิ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอีก  กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดทันทีแต่ค่อย ๆ  ทยอยเกิดขึ้นส่งผลให้ราคาค่อย ๆ  ปรับตัวขึ้น  อาจจะเป็นหลายเดือน  ดังนั้น  นี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเทคนิคสามารถเข้ามาทำกำไรได้ในจุดใดจุดหนึ่ง

           เหตุผลข้อที่สาม  เป็นเรื่องของการตอบสนองของคนหรือนักลงทุนต่อข่าวสารที่มักจะไม่พอดีหรือไม่สมบูรณ์หรือไม่ทันทีโดยเฉพาะข้อมูลที่จะต้องนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติม  ตัวอย่างเช่นเรื่องของผลประกอบการที่ประกาศออกมาของบริษัท   สมมุติว่าบริษัทประกาศว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด   นักลงทุนบางส่วนก็จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มแต่หลายคนก็ยังอาจจะรีรอเพราะยังไม่แน่ใจว่ากำไรนั้นจะดีต่อไปมากน้อยแค่ไหน   หลายคนอาจจะยังไม่ทันได้วิเคราะห์  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นบ้างแต่ยังไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น  ต่อมาเมื่อนักวิเคราะห์เข้าไปตรวจสอบและออกคำแนะนำให้ซื้อ  ราคาหุ้นก็อาจจะขยับตัวขึ้นไป   กระบวนการนี้ทำให้ราคาค่อย ๆ  ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้นักเทคนิคสามารถเข้าไปซื้อหุ้นทำกำไรได้

            ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  เบื้องหลังของ “แนวรับแนวต้าน”  นั้น  อาจจะเกิดขึ้นจาก  “ความทรงจำ”  ของนักลงทุนต่อราคาหุ้นในอดีต   ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีการซื้อขายกันที่ราคาประมาณ 10 บาทต่อหุ้นเป็นระยะเวลานานซึ่งทำให้มีคนจำนวนมากที่ซื้อหุ้นมาในต้นทุนประมาณนั้น   ครั้นแล้วราคาหุ้นก็ตกลงมาเหลือเพียง 8 บาทต่อหุ้น   ดังนั้น  เมื่อหุ้นค่อย ๆ  ปรับตัวกลับมาที่ 10 บาทต่อหุ้น  คนที่ขาดทุนจำนวนมากก็จะขายเพื่อ “เอาทุนคืน”    ผลก็คือ  หุ้นจะวิ่งเกิน 10 บาทไปยาก   ดังนั้น 10 บาทจึงกลายเป็น  “แนวต้าน”  ในทางตรงกันข้าม  เมื่อหุ้นแกว่งตัวอยู่ที่ระดับราคาค่อนข้างต่ำในระดับหนึ่งมานาน   นักลงทุนจำนวนมากที่พลาดโอกาสหรือพลาดจังหวะที่จะซื้อเมื่อหุ้นอยู่ในระดับราคาที่สูงก็จะเข้ามาช้อนซื้อหุ้นเมื่อหุ้นตัวนั้นตกลงมาที่ระดับราคาที่ต่ำ  ผลก็คือ  ที่ราคานั้นจะเป็น  “แนวรับ”  ที่ราคาจะไม่ลดต่ำกว่านั้นง่าย ๆ

           จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองนั้น  ผมคิดว่าเหตุผลต่าง ๆ  ที่กล่าวถึงคงมีความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย  ผมเคยเห็นหุ้นที่วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  ยาวนานและสูงมาก  โดยที่ผมไม่คิดว่าพื้นฐานของมันจะดีพอที่จะรองรับราคาที่ขึ้นไป  แต่ในใจก็รู้สึกว่ามันคงจะขึ้นไปอีก  เหตุผลก็เพราะว่ามี  “แรงเชียร์” และมีคนสนใจพูดถึงกันมาก  และแม้แต่ VI ชั้นนำบางคนก็ถือหุ้นจำนวนมาก  ดังนั้น  หุ้นตัวนั้นก็คงต้องขึ้นตามที่มีการคาดไว้  เป็น  Self Prophecy  ส่วนในกรณีของหุ้นที่ขยับขึ้นไปในลักษณะที่ว่าอาจจะมีข่าวดีที่บุคคลภายในรู้ก่อนและเริ่มซื้อหุ้นและต่อมาก็มีคนใกล้ชิดหรือคนที่อาจจะรู้ข่าวเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ  ก็เป็นสิ่งที่ผมเคยพบมาก่อน  เช่นเดียวกับเรื่องของการประกาศผลประกอบการที่ดีขึ้นแต่การปรับขึ้นของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาเป็นระยะ ๆ   ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา  สุดท้ายในเรื่องของแนวรับแนวต้านนั้น  ผมก็รู้สึกว่ามันอาจจะมีความเป็นจริงอยู่เหมือนกันแต่ไม่ใช่ในแบบที่นักเทคนิคพูด  แนวรับแนวต้านที่บางครั้งผมพบนั้น  จะเป็นลักษณะที่หุ้นบางตัวนั้น  พอลงถึงจุดหนึ่งก็มักจะมีแรงซื้อเข้ามารับเหมือน  ๆ  กับว่าคราวก่อนที่หุ้นลงมาแล้วไม่ได้ซื้อ  คราวนี้เป็นโอกาส  และดังนั้น  หุ้นก็มักไม่ลงต่ำกว่านั้น
           ทั้งหมดที่พูดถึงนั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่จริงแท้แค่ไหน  มันอาจจะเป็นความรู้สึกของผมเองที่ติดตามดูราคาของหุ้นบางตัวที่ผมสนใจและก็เห็น  “อาการ”  หรือรูปแบบของราคาหุ้นเป็นแบบนั้น  แต่ถ้าทำการศึกษาจริง ๆ  ในหุ้นจำนวนมาก  มันอาจจะไม่เป็นแบบนั้นก็ได้   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ผมก็ยังไม่เคยใช้การสังเกตหรือการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาตัดสินใจซื้อขายหุ้นจริง ๆ  เลย  ผมยังยึดมั่นว่าจะไม่ใช้ความรู้สึกมาเป็นหลักในการซื้อขายหุ้นเพราะความรู้สึกนั้นอาจจะผิดเพราะมันมักจะ “ลำเอียง”  โดยที่เราไม่มีทางจะรู้ตัว  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ความรู้สึกนั้น  มักจะทำให้การถือหุ้นลงทุนของเราสั้นลง  และนี่อาจจะไม่คุ้มค่าเลย  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  “อาการทางเทคนิค” ของหุ้นนั้น  เอาไว้ดูเล่นดีกว่า  อย่าเอาไปตัดสินใจซื้อขายหุ้นเลย

Posted by nivate at 11:34 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/23/1381


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 06, 2014, 10:48:26 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 6 January 2014

นิยามความรวยแบบ VI



ผมได้อ่านบทความของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ซีอีโอ ของบริษัท CPALL ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้เรื่อง  “นิยามความรวยแห่งศตวรรษใหม่”  ซึ่งพูดถึงเรื่องของคนรวยจีนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ถูก  “เยาะเย้ย” ว่า  “ขาดรสนิยม ขาดความรู้และขาดวัฒนธรรม”  เพราะ  “มีแต่เงิน”  ในบทความนั้นบอกว่า  การมีแต่เงินนั้นไม่เพียงพอที่จะบอกว่าเป็นคนรวยได้  คนรวยแห่งศตวรรษใหม่นั้นยังต้องมีอีกหลายอย่างที่ผมจะอ้างถึงต่อไป  นอกจากนั้น  ผมก็จะเสริมหรือเพิ่มเติมความเห็นของผมว่า  คนรวยที่แท้จริงนั้นควรจะทำตัวอย่างไรถึงจะมีความสุข   และในฐานะที่เป็นคนรวยด้วยการลงทุนแบบ VI นั้น  เราทำได้มากน้อยแค่ไหน?         

         ข้อแรกที่คุณก่อศักดิ์พูดถึงก็คือ  คนรวยจะต้องมีเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขในครอบครัว  ไม่ใช่คุณพ่อวางมาดผู้ยิ่งใหญ่คอยดุลูก ๆ ให้กลัวจนตัวลีบเหมือนคนรุ่นก่อน  สำหรับเรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพราะนี่คือความสุขที่เงินไม่สามารถซื้อได้  ครอบครัวที่มีความหรรษากลมเกลียวกันดีและพ่อแม่ลูกสามารถพูดจาหยอกล้อกันได้อย่างสนุกสนานโดยที่ไม่ต้อง  “วางมาด” นั้น  ผมคิดว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์  หมดยุคแล้วที่พ่อจะต้องเป็นคนเคร่งขรึม  มีอำนาจเด็ดขาด   เป็นคนสั่งให้คนในบ้านทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  บ้านที่จะมีความสุขที่ดีควรจะเป็นบ้านที่ปกครองแบบ  “ประชาธิปไตย”  ที่คนในบ้านต่างก็มีสิทธิมีเสียงที่จะออกความเห็นและตัดสินใจร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ  ในกรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็ควรจะต้องตามเสียงส่วนใหญ่  ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย   การใช้ความเป็นพ่อหรือแม่หรือการ “ใช้เงิน”เพื่อมาบังคับให้สมาชิกในบ้านปฏิบัติตามนั้น  มักจะทำให้เกิดความเครียดหรือความไม่สบายใจและทำให้เสียงหัวเราะน้อยลง         

          คนที่รวยนั้น  หลายคนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจหรือการบริหารที่ต้องจัดการเรื่องคนค่อนข้างมาก  จึงอาจจะทำให้ “ติดนิสัย”  ชอบสั่งการหรือบริหารคนอื่น  เช่นเดียวกัน  การที่ต้องมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจและการงานมากมายก็อาจจะทำให้ต้อง  “วางมาด” และก็อาจจะติดนิสัยเช่นเดียวกัน  ดังนั้น  คนรวยเหล่านี้อาจจะต้อง “ปรับตัว”  เวลากลับมาที่บ้าน  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่รวยด้วยการลงทุนแบบ VI แล้ว  ดูเหมือนว่า  เขาน่าจะมีปัญหาน้อยที่จะ “เล่นหัว” กับลูก  หรือหยอกล้อกับคู่ครองโดยไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ         

          ข้อสอง  คนรวยศตวรรษใหม่ควรมีเวลาสำหรับครอบครัว  ญาติมิตร และสังคม  นี่ก็เป็นสิ่งที่คนรวยอาจจะขาดแคลน  เหตุผลก็คือคนรวยส่วนใหญ่นั้น  มักจะเกิดจากการทำธุรกิจหรือการทำงานอย่างหนักจนกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง  ดังนั้น  พวกเขามักจะมีแต่เวลาทำงานแต่ไม่ใคร่มีเวลาให้กับครอบครัว  ญาติมิตรและสังคม  ในประเด็นนี้  ผมคิดว่าคนรวยควรที่จะต้องจำกัดเวลาการทำงานให้พอเหมาะและกันเวลาโดยเฉพาะสำหรับครอบครัว  ญาติมิตร  และสังคมให้เหมาะสม  ตัวอย่างเช่น  การอุทิศเวลาในวันหยุดให้กับครอบครัว  การเสียสละเวลาให้กับงานทางสังคม  เช่น  การสอนหนังสือหรือการทำงานเพื่อสังคมอย่างอื่นในระดับที่เหมาะสม  เป็นต้น  ซึ่งสำหรับ VI แล้ว  มักจะไม่มีปัญหาเลย  เพราะเรามักจะมีเวลา  “เหลือเฟือ”         

          ข้อสาม  คนรวยศตวรรษใหม่ต้องใช้เงินเป็น  ไม่ใช่เอาแต่สะสมแต่ปล่อยให้ตัวเองและครอบครัวอยู่อย่างแร้นแค้น  ข้อนี้ก็คือกรณีของคนที่ตระหนี่เกินไป   มีเงินแล้วไม่ยอมใช้เลย  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ไม่ยอมให้คนในครอบครัวใช้จ่ายตามควรแก่อัตภาพด้วย  ถ้าเป็นอย่างนี้  การมีเงินก็ไม่มีประโยชน์จะเป็นคล้าย ๆ  กับ  “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์”  คนรวยนั้น  จริง ๆ  แล้วผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยหรูหราเกินเหตุ  แต่ก็ควรจะใช้เท่าที่มันจะทำให้เราและครอบครัวมีความสะดวกสบายและมีความสุข  “เท่าที่เงินจะซื้อได้”  แต่ต้องไม่พยายาม  “หาหรือสร้างความสุขด้วยเงิน”  ความหมายก็คือ  อย่าคิดหาวิธีใช้เงิน  เพราะนี่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง         

          ข้อสี่  คนรวยศตวรรษใหม่นั้น  ต้องรู้จักชื่นชมความงามแห่งชีวิตและท่องเที่ยวพักผ่อน  พูดง่าย ๆ  ถ้ามีเงินก็ควรต้องท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ  ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมของโลก  ชื่นชมกับธรรมชาติที่แปลกตาในประเทศต่าง ๆ   เช่นเดียวกัน  การชมการแสดง  กีฬาและการละเล่นต่าง ๆ  ที่เป็นความงดงามหรือแสดงออกถึงความสามารถระดับสูง  ก็เป็นสิ่งที่คนรวยควรทำ  นี่เป็นเรื่องที่เราให้ “รางวัลชีวิต” กับตัวเองเมื่อเราสามารถทำเงินมากและประสบความสำเร็จในชีวิต         

          ข้อห้า  คนรวยในศตวรรษใหม่จะต้องรู้จักชื่นชมและยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น  อย่าอิจฉาริษยา   และอย่าพยายามเปรียบเทียบความมั่งมีกับคนอื่น  เหตุผลของผมก็คือ  การทำอย่างนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์  เพราะเราจะไม่มีวันพอใจกับสิ่งที่มีแม้ว่ามันจะมากจนเหลือใช้แล้ว  เราต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกันมากตั้งแต่เกิด  เรามีความสามารถในแบบที่ไม่เหมือนกัน  เช่นเดียวกัน  แต่ละคนก็  “มีโชค”  ไม่เท่ากัน  ดังนั้น  การเปรียบเทียบกันจึงไม่มีประโยชน์  จงพยายามเข้าใจว่า  เงินที่ได้มาโดยสุจริตนั้นเป็น  “ผลพลอยได้”  จากการทำสิ่งที่ดีและถูกต้องในสังคมโลกของเศรษฐกิจในปัจจุบัน    ถ้าเรารวยก็หมายความว่าสังคมได้ตอบแทนการทำงานของเราเป็นอย่างดี  และถ้าคนอื่นจะร่ำรวยแบบเดียวกัน  สิ่งที่เราควรทำก็คือ  “อนุโมทนา”           

          ข้อหก  ซึ่งเป็นความเห็นของผมเองนั้น  ผมคิดว่าคนรวยในนิยามนั้น   ควรที่จะต้องเคารพและให้เกียรติคนอื่นเท่า ๆ  กับที่อยากเห็นคนอื่นให้เกียรติกับตนเอง  พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ  เห็นว่าทุกคนมี  “ศักดิ์ศรี”  เท่า ๆ  กัน  ไม่ว่าเขาจะมีเงินน้อยกว่าหรือมากกว่าเราแค่ไหน   นี่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ผมประสบกับตัวเองนั่นก็คือ  ผมเคยจนไม่มีเงินเลยมาก่อน  เช่นเดียวกับไม่มีสถานะอะไรในทางสังคม  และผมก็ได้พบปะกับผู้คนที่ร่ำรวยและมีสถานะที่สูงส่งกว่ามาก  เวลาผ่านไป  ผมมีฐานะดีขึ้นเรื่อย ๆ  และมากขึ้นเรื่อย ๆ  และมากกว่าคนที่เคยร่ำรวยกว่าผม   เช่นเดียวกัน  สถานะทางสังคมของผมก็เปลี่ยนไปในทางที่สูงกว่าคนที่สถานะสูงที่ผมรู้จัก  ทั้งหมดนั้นมันเคยดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้แต่มันก็เป็นไปแล้ว   นี่ทำให้ผมรู้สึกว่าทุกสิ่งเปลี่ยนไปได้   ไม่มีใครเหนือกว่าใครหรือมีศักดิ์ศรีมากกว่ากันจริง ๆ   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  ทุกคนมีโอกาสรวยและประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ  กัน  ไม่มีใครด้อยกว่าใครโดยเฉพาะคนที่มีความพยายามมาก  ซึ่งผมจะให้เกียรติเสมอ         

          สุดท้าย  สำหรับคนรวยในศตวรรษนี้ก็คือ  เราก็ควรจะต้องรู้จักแบ่งปัน  นี่คือการให้กับคนอื่นซึ่งในความเห็นผมนั้น  ควรจะเริ่มต้นจากญาติที่ใกล้ชิดถ้าพวกเขายังขาดแคลน  ต่อมาก็คือคนที่ด้อยโอกาสหรือคนที่ขาดแคลน  การให้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินแต่อาจจะเป็นแรงงานหรือการเผยแพร่ความรู้ก็ได้ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าด้วยซ้ำ  ประเด็นสำคัญก็คือ  มันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการให้เพื่อผลทางการประชาสัมพันธ์หรือหน้าตาที่ไม่ได้เกิดผลอะไรกับผู้รับมากนักอย่างที่คนรวยรุ่นเก่าอาจจะทำกันอยู่แล้ว

Posted by nivate at 11:26 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/06/1385

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 13, 2014, 10:59:14 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 13 January 2014

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ผมได้ไปเยี่ยมเยือนมาหลายครั้งย้อนหลังไปประมาณ 30 ปีเศษ ๆ  ความรู้สึกในภาพรวมทั่ว ๆ ไปก็คือ  ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่  “เจริญมาก”  ในทุก ๆ  ด้านทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจซึ่งส่งผลให้สังคมของญี่ปุ่นที่ผมมองเห็นจากภายนอกนั้นดู  “สมบูรณ์”  ไปหมด  ประเด็นก็คือ  มันดีแบบนี้มาตั้งแต่ครั้งแรก ๆ  ที่ผมไปญี่ปุ่น  ดังนั้น  ถ้าจะพูดถึงการ “เติบโต”  หรือ  “อัตราการพัฒนา” ให้ดีขึ้นนั้น  อาจจะไม่สูงเลย  ว่าที่จริงในช่วงกว่า 10 ปี หรืออาจจะใกล้ ๆ 20 ปีมาแล้วที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะ “ไม่ไปไหนเลย”  สาเหตุใหญ่นั้นผมคิดว่าน่าจะมาจากการที่อัตราการเกิดของพลเมืองญี่ปุ่นนั้นต่ำมาก  และคนก็มีอายุที่ยืนยาวมาก  ดังนั้นอายุเฉลี่ยของคนจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจน  กลายเป็นสังคมของ “คนแก่”  และญี่ปุ่นเองก็ไม่ต้องการที่จะรับคนต่างชาติเข้าเมืองเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สังคมของญี่ปุ่น “ด้อยลง”  นอกจากประเด็นเรื่องคนแก่ตัวลงแล้ว  ผมคิดว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะงักงันยาวนานอาจจะเป็นเพราะนิสัยหรือแนวความคิดของคนญี่ปุ่นเองนั้น  ค่อนข้างที่จะอนุรักษ์นิยมมาก  หรือเป็นคนที่มีวินัยสูง  ทุกคนต่างก็ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเคร่งครัด  ไม่ใคร่มีใคร  “แหกกฎ” หรือ  “คิดแตกต่าง”  ซึ่งนี่อาจจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดน้อยลงไป   ซึ่งในอดีตนั้น  อาจจะไม่มีปัญหาในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากนัก   แต่ในระยะหลังเป็นสิ่งจำเป็น  และนี่อาจจะทำให้ญี่ปุ่นมีปัญหาพอสมควรทีเดียวในโลกยุคปัจจุบัน

          สิ่งที่ผมพูดข้างต้นนั้นก็เป็นเรื่องของการพรรณนาที่เราต่างก็ได้รับรู้จากการได้สัมผัส  จากสื่อและหนังสือที่มีการเผยแพร่มาต่อเนื่อง  ในฐานะที่เป็นนักลงทุน  ผมเองอยากที่จะ  “อ่าน” ข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่สะท้อนออกมาจากตลาดหุ้นนั่นก็คือ  ดัชนีนิกเกอิที่เป็นดัชนีตลาดหุ้นหลักของญี่ปุ่นเพื่อที่จะดูหรือยืนยันว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นเป็นจริงตามที่มีการพูดกันแค่ไหน  และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  พยายามทำนายว่ามันจะไปอย่างไรต่อไป

           มองย้อนหลังไป 30 ปี ตั้งแต่ปี 1983 นั้น  ดัชนีนิกเกอิเริ่มต้นประมาณ 10,000 จุดเศษ ๆ  และนั่นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลัง  “ขึ้นสุดยอด”  ผมยังจำได้ถึงสถานะและบทบาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ  ของญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลก  ไล่ตั้งแต่บริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเนชั่นแนล  เครื่องเสียงของโซนี่ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของเจมส์บอนด์  รถยนต์ของโตโยต้าและนิสสันที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศไทย  และชิ้นส่วนสินค้าไฮเท็คจำนวนมากที่แม้แต่บริษัทชั้นนำของอเมริกันหรือนาซ่าก็ต้องพึ่งพิง  นอกจากนั้น  ความรู้และแนวความคิดในการบริหารงานแบบญี่ปุ่นเช่น  ระบบการควบคุมสินค้าคงคลังแบบเป็นศูนย์หรือการบริหารงานแบบ  Just in Time   และแนวความคิดอื่น ๆ  อีกมากต่างก็ได้รับการขานรับว่าเป็นวิธีการบริหารงานที่ทำให้ญี่ปุ่น  “ครองโลก”  ในทางธุรกิจ   หนังสือ How To หรือการพัฒนาตนเองทางธุรกิจบนแผงหนังสือต่างก็เป็นเรื่องของญี่ปุ่น

           ในช่วงประมาณ 6 ปี คือถึงสิ้นปี 1989 ดัชนีนิเกอิได้ปรับขึ้นไปอย่างต่อเนื่องแทบไม่สะดุดเลยขึ้นไปเป็นประมาณ 39,000 จุดหรือขึ้นไปเป็นเกือบ 4 เท่า  คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณปีละ 25%  และนี่น่าจะเรียกว่าเป็น  “ทศวรรษทอง” ของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง  ราคาของหุ้นญี่ปุ่นนั้นสูงจนนักวิชาการหลายคนบอกว่า  “เป็นไปไม่ได้”  ค่า PE ของตลาดสูงเป็นหลายสิบเท่า  ผมจำได้ว่ามากกว่า 50 เท่า  แต่นักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมากที่เห็นดัชนีขึ้นเอา ๆ  ต่างก็เถียงว่าญี่ปุ่นนั้น “ไม่เหมือนสหรัฐ”  หรือประเทศอื่นในโลก  หุ้นของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถือโดยสถาบันหรือบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันล็อกกันไว้หมดและไม่ขาย  แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยของญี่ปุ่นต่ำมากแค่ 1-2% ต่อปี  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นที่มีค่า PE 50 เท่าก็ไม่แพง  เพราะเท่ากับมีผลตอบแทนของกำไรปีละประมาณ 2% เหมือนกัน  ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  ราคาที่ดินของญี่ปุ่นเองก็สูงมาก  อาจจะยิ่งกว่าหุ้น  มีการคำนวณกันว่า  ราคาที่ดินทั้งประเทศของญี่ปุ่นนั้น  ถ้าคิดตามราคาตลาดแล้ว  มีค่ามากกว่าราคาที่ดินทั้งหมดของสหรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าไม่รู้กี่สิบเท่า  ที่ดินเฉพาะในโตเกียวก็สูงกว่ารัฐใหญ่ที่สุดหลาย ๆ รัฐของอเมริการวมกัน

           สิ้นปี 1989 สำหรับผมก็คือ “ยอดดอยฟูจี” ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น  ตลาดหุ้นเริ่มถล่มทะลาย  ภายในเวลาหนึ่งปี  ดัชนีตกลงไปเหลือประมาณ 24,000 จุด  หรือลดลงประมาณ 38%  แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพังทะลายของความเชื่อเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ว่าหุ้นของญี่ปุ่นไม่มีวันตกเพราะมันถูกถือโดยคนที่จะไม่ขาย  มันเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของความคิดที่ว่าญี่ปุ่นคือ “ราชัน” ทางเศรษฐกิจที่จะยึดกุมโลก  มันเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของความเชื่อที่ว่าสินค้าญี่ปุ่นนั้นจะครองใจคนทั้งโลกโดยที่คู่แข่งไม่มีทางตามทันเพราะญี่ปุ่นมีคนที่ดีและฉลาดที่สุดและมีตลาดภายในที่ใหญ่พอที่จะสร้าง Economies of Scale ที่เป็นฐานให้กับกิจการทุกชนิดได้  มีแต่อเมริกาเท่านั้นที่อาจจะเป็นคู่แข่ง  ประเทศเล็กอย่างเกาหลีในเอเซียหรือฟินแลนด์ในยุโรปไม่ได้อยู่ในสายตาที่จะก้าวเข้ามาแข่งขันได้

           ดัชนีนิกเกอิตกลงมาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปีจนถึงเดือนมีนาคม 2003 เหลือเพียงประมาณ 8,000 จุด  หรือลดลงมาประมาณ 80% ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของวิกฤติอย่างแท้จริงซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก  หลายประเทศรวมถึงไทยนั้นพบว่าเมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ดัชนีหุ้นมักจะลดลงต่อเนื่องประมาณ 3 ปี  และดัชนีจะตกลงมาเหลือเพียง 10% ถึง 20% จากจุดสูงสุด  หลังจากนั้นดัชนีนิกเกอิก็เริ่มฟื้นตัว  ดัชนีปรับขึ้นไปเป็นเวลากว่า 4 ปีเป็นประมาณ 18,000 จุด  ในปี 2007  แต่แล้วในปี 2008 ก็เกิดวิกฤติซับไพรม์ในอเมริกาและลามไปทั่วโลกซึ่งทำให้ดัชนีนิกเกอิตกลงไปถึงเกือบ 60% เหลือเพียงประมาณ 7,500 จุดในช่วงต้นปี 2009

           จนถึงสิ้นปี 2012  ดัชนีนิกเกอิก็ยังอยู่ที่เพียงประมาณ 10,400 จุด ห่างไกลจากจุดสูงสุดก่อนซับไพรม์ที่ 18,000 จุด มากในขณะที่ตลาดหุ้นอื่น ๆ  โดยเฉพาะในเอเชียที่ดัชนีวิ่งเกินไปมากแล้ว  ญี่ปุ่นนั้นดูเหมือนว่ามีปัญหาทางด้าน  “พื้นฐาน”  ของเศรษฐกิจประเทศและบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ  บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่หลายบริษัทใกล้ล้มละลายและไม่สามารถแข่งขันได้โดยเฉพาะในสินค้าไฮเท็คยุคใหม่  แม้แต่สินค้าธรรมดา ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ถูกแย่งชิงตลาดไปมาก  คนญี่ปุ่นเองแม้ว่าจะยังฉลาดและมีวินัยสูงแต่ด้วยวัยที่สูงขึ้นมากก็ยากที่จะเติบโตต่อไป  การเติบโตทางเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะนิ่งมาเป็นสิบ ๆ  ปี  เรียกว่าเป็น  Loss Decade หรือเป็น “ทศวรรษที่หายไป”   อย่างไรก็ตาม  การตกต่ำของดัชนีนิกเกอินั้นก็ทำให้หุ้นของญี่ปุ่นกลายเป็นหุ้นที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอดีต  ว่าที่จริงหลาย ๆ บริษัทนั้นถูกกว่าหุ้นของบริษัทในเมืองไทยที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ  กันด้วยซ้ำ

           สังคมญี่ปุ่นเองคงถึงจุดที่ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ประเทศ  “ติดหล่ม” มานาน  และนี่ก็เป็นที่มาของการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีนโยบาย  “ก้าวร้าว”  และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ  นายอาเบะกล้าที่จะพิมพ์เงินเพื่อ “สร้างเงินเฟ้อ” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ  เขากล้าแม้กระทั่งยอมให้คนไทยเข้าประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว  เขายังทำอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่มีใครเคยคิดทำในสังคมแบบญี่ปุ่น  และนี่ทำให้ดัชนีนิกเกอิของปีที่แล้วปรับตัวขึ้นถึง 57% เป็นประมาณ 16,300 จุด  เป็นการปรับตัวสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และน่าจะดีที่สุดในโลกสำหรับตลาดหุ้นหลัก ๆ   ประเด็นต่อจากนี้ก็คือ  เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะไปได้ต่อไหมและมากน้อยแค่ไหน  จริงอยู่  แนวความคิด  วัฒนธรรม  และวิธีการนั้นสามารถเปลี่ยนได้โดยเฉพาะในคนญี่ปุ่นที่ฉลาด  มุ่งมั่นและมีวินัยสูงรวมถึงการเป็นคนที่มีสุขภาพดีเลิศ  แต่การที่คนแก่ตัวลงและโอกาสหรือความตั้งใจที่จะเพิ่มคนนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย  มองในระยะยาวแล้ว  ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นนั้นจะฟื้นได้จริง ๆ  มากน้อยแค่ไหน  ดังนั้น  ถ้าจะลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นแล้ว  ผมคิดว่าผมคงอยากที่จะเลือกเป็นรายตัวมากกว่าการซื้อกองทุนรวมที่อิงอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่น

Posted by nivate at 9:21 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/13/1387


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 18, 2014, 11:28:57 am
"ชีวิตนั้นช่างง่ายดายหรือนั่นเป็นแค่เพียงฝันกลางวัน"

อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนไม่ประสบความสำเร็จได้ก็ตือ พวกเขามุ่งมั่นในความเชื่อที่ผิดว่า "ชีวิตนั้นช่างง่ายดาย" พวกเขาจึงเลือกที่จะทำแต่สิ่งที่ง่ายกว่า เลือกทำตามคำแนะนำที่ทำได้ง่าย และมั่งมุ่งไปสู่เป้าหมายเล็กๆ ง่ายๆ สุดท้ายพวกเขาจึงเป็นได้แค่คนตัวเล็กๆ อยู่อย่างนั้น "คนที่ประสบความสำเร็จมุ่งมั่นจะทำงานไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเขาเสมอ" คนที่มุ่งมั่นอยากมีเงิน 1 แสนในตอนนี้ ความมุ่งมั่นครั้งถัดไปของเขาคือ ทำให้ได้ 1 ล้านบาท เมื่อไปถึงเป้ายหมาย 1 ล้านบาทแล้ว ต่อไปก็จะมุ่งมั่นทำ 100 ล้าน 1000 ล้าน การมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยสร้างให้คนคนนั้นเก่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม อย่ากลายเป็นคนช่างฝัน ซึ่งหมายถึงหลายๆ คนที่ตั้งเป้าหมายไว้แบบผิดๆ เช่น ฝันอยากรวยหุ้นร้อยล้านแต่กลับไม่เคยศึกษาใฝ่หาความรู้ ไม่มีการวางแผน แต่ก็ยังหวังลมๆแล้งๆ ว่าจะมีปาฏิหาริย์ "การใฝ่ฝันโดยไม่มีการศึกษา ไม่มีมีแผน และไม่มีการลงมือทำ ทำให้กลายเป็นคนเพ้อเจ้อ พวกช่างฝัน"

-Robert T.Kiyosaki
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 20, 2014, 10:25:21 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 20 January 2014

4 พลังการเมืองกับหุ้นไทย

เคยสงสัยไหมว่าทำไมการเมืองไทยจึง  “วุ่นไม่รู้จบ”  และการเมืองมีผลกระทบกับหุ้นมากน้อยแค่ไหน?  วันนี้ผมจะพยายามอธิบายความเข้าใจของผมที่เคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงของประเทศไทยมานับไม่ถ้วนตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และได้พยายามศึกษาบทความข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์  รัฐศาสตร์ และผู้รู้อื่น ๆ  โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ผมกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองซึ่งมีผลกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว   ในระยะสั้นนั้น  แน่นอน  ทำให้หุ้นผันผวนรุนแรงตามสภาพการณ์ของการเมือง  และในระยะยาวนั้น  การเมืองเป็นตัวกำหนดเสถียรภาพทางสังคมและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อหรือทำลายธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีซึ่งเป็นเสาหลักของระบบทุนนิยมเสรี  ทั้งสองประการนั้นเป็น  “น้ำที่หล่อเลี้ยง”  ให้หุ้นแต่ละตัวอยู่ได้ดีหรือเหี่ยวเฉา

โชคร้ายของประเทศไทยก็คือ  เรามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายบ่อยเหลือเกินซึ่งทำให้หุ้นมีความผันผวนเป็นระยะ ๆ  ตลอดมา  แต่โชคดีที่ว่า  หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาทุกครั้ง  การเมืองไทยก็กลับมาสู่ระบบที่มีเสถียรภาพทางสังคมและระบบเศรษฐกิจค่อนข้างจะเอื้ออำนวยกับธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีและดังนั้น  หุ้นไทยหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวไปตามพื้นฐานของหุ้นตามปกติ   ผลก็คือ  ความผันผวนในระยะสั้นที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาก็มักจะกลายเป็นโอกาสของคนที่กล้าและเข้าใจเรื่องของการเมืองในประเทศไทยและเป็นนักลงทุนระยะยาว

การที่ประเทศไทยมี “วิกฤติทางการเมือง” บ่อยครั้งนั้น  ผมคิดว่ามาจากการที่เรามีระบบหรือแนวคิดทางการเมืองรวมถึงผู้เล่นหรือผู้ที่มีบทบาททางการเมืองใหญ่ ๆ อยู่อย่างน้อย 4 กลุ่ม ที่ต่างก็มีบทบาทหรืออำนาจใกล้เคียงกัน  อำนาจทั้ง 4 นี้ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่แต่มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา  บางช่วงบางเวลาอำนาจที่ 1 ก็จับมือกับอำนาจที่ 3 เพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ 2 โดยมีอำนาจหรือพลังที่ 4 ที่อยู่เฉย  บางช่วงบางตอนอำนาจหรือพลังที่ 3 ก็อาจจะโดดเด่นเหนือกว่าอำนาจอื่นและปกครองประเทศอย่างราบรื่นจนเกิดวิกฤติการเมืองและมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอำนาจของกลุ่มใหม่    ในบางช่วงบางเวลาพลังหนึ่งอาจจะโดดเด่นเติบโตในขณะที่อำนาจบางอย่างก็ถดถอยลง  ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยมีพลวัตในการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤติสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่พลังหรืออำนาจทางการเมืองนั้นตกอยู่กับพลังบางอย่างเพียงพลังเดียวที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่มายาวนาน

พลังอำนาจทางการเมืองของไทยกลุ่มแรกก็คือ  พลังของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่มีมานาน  นี่คือสิ่งที่มีมานานตั้งแต่โบราณกาลแต่ก็ยังมีบทบาทสูงมาก  ตัวอย่างขนบธรรมเนียมที่คนไทยยึดถือซึ่งค่อนข้างมากกว่าหลายประเทศในโลกก็เช่น  เรานับถือความอาวุโสมากกว่าสังคมอื่น  เรายึดถือความเป็น “จ้าวคนนายคน”  ว่าเป็นเรื่องมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมากกว่าความมีชื่อเสียงอย่างอื่น  เรานับถือเรื่องของ  “ชาติตระกูล” สูง  เรามีการแบ่งแยกระหว่าง “ชนชั้น”  อยู่  “ในใจ”  แต่ก็ยอมรับให้มีการ “เลื่อนชั้น”  ได้ในระดับหนึ่ง  เป็นต้น  ขนบธรรมเนียมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปทางการเมืองมาตลอด  ว่าที่จริง  ในช่วงที่ผมเป็นเด็กวัยรุ่นนั้น  คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างก็มักจะต้องมาจากคนที่มีเกียรติประวัติหรือฐานะทางตระกูลที่สูงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการระดับสูงและมีผลงานที่ “ดีเด่น”   แม้ว่าในระยะหลัง ๆ  คนรุ่นใหม่อาจจะยึดถือขนบธรรมเนียมเก่า ๆ  เหล่านี้น้อยลงแต่คนรุ่นเก่าส่วนมากก็ยังยึดมั่นกับอุดมการณ์และความเชื่อนี้   พลังของขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ก่อนปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองถือว่าเป็นพลังที่สูงที่สุดแทบจะพลังเดียว  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น  พลังนี้ก็ถดถอยและมีการขึ้นลงเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน

พลังที่สองก็คือ  พลังของสามัญชนหรือประชาชนธรรมดา  หรือถ้าจะพูดก็คือ  พลัง “ประชาธิปไตย”  นี่คือพลังการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในปี 2475  ซึ่งในช่วงเกิดขึ้นใหม่ ๆ  นั้นมีพลังสูง  อย่างไรก็ตาม  ด้วยระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต่ำอยู่ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่พอ  ยังไม่เข้าใจถึงสิทธิของตนเองและไม่มีทรัพยากรในการสื่อสารที่จะทำให้เกิดพลังทางการเมือง  ดังนั้น  พลังของประชาชนจึงถดถอยลงต่อเนื่องยาวนาน  และแม้ว่าจะมีระบบการเลือกตั้งที่เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองของตนซึ่งเป็นอานิสงค์จากอำนาจอื่นที่จะกล่าวถึงต่อไป    แต่พลังนี้ก็มักจะไม่สามารถที่จะเป็นแกนนำในการกำหนดความเป็นไปของประเทศมากนักจนกระทั่งในช่วงหลัง ๆ  สิบกว่าปีมานี้ที่พลังนี้มีการเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก  เหตุผลส่วนสำคัญก็คือ  การพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศที่ก้าวหน้ามากขึ้นมากประกอบกับการพัฒนาขึ้นของระบบการสื่อสารที่ทำให้พลังนี้เติบโตขึ้นมาก

พลังที่สามก็คือ  พลังของคนที่ถืออาวุธ  ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือทหาร  นี่คือพลังทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนักและกลายเป็นพลังที่เหนือกว่าและครอบงำการเมืองไทยมายาวนานจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้บทบาทของทหารลดลง  และแม้ว่าพลังอำนาจของทหารจะกลับขึ้นมาเป็นระยะเช่นหลังช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์ปี 2534  แต่อำนาจทางการเมืองของทหารก็ดูเหมือนว่าจะค่อย ๆ ลดลงแบบต่อเนื่องยาวนานและอาจจะกลายเป็นพลังอำนาจที่สนับสนุนอำนาจอื่นมากกว่าที่จะเป็นตัวหลักเห็นได้จากการที่ทหารไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้แม้ว่าจะสามารถทำรัฐประหารได้สำเร็จในระยะหลัง    เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าพลังอำนาจอื่นเติบโตขึ้น  “ระเบียบโลก”  เปลี่ยนไป  โดยเฉพาะการจบลงของ “สงครามเย็น”  ระหว่างโลกเสรีและสังคมนิยมที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักของการปกครองในประเทศต่าง ๆ  ทั่วโลก

พลังที่ 4 ที่เป็นพลังสุดท้ายนั้นถือว่าเป็น  “Soft Power”  หรือพลังที่อ่อนไม่รุนแรง   ดูเหมือนไม่มีตัวตน  แต่เป็นพลังที่มีอำนาจไม่น้อยไปกว่าพลังอื่น  นี่คือความเป็น  Globalization หรือการที่โลกนั้นจะกลายเป็นหนึ่งเดียว  ประเทศแต่ละประเทศที่มีความเจริญถึงจุดหนึ่งจะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ต้องพึ่งพิงประเทศอื่น  โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น  เรามีการค้าขายกับต่างประเทศสูงมาก  เราซื้อและขายกับต่างประเทศมากกว่าสินค้าที่เราบริโภคเองเสียอีก  และโลกก็ได้กำหนด  “ระเบียบโลก”  ซึ่งเราไม่สามารถฝ่าฝืนได้ถ้าเรายังต้องการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น  ใน “ระเบียบโลก” ซึ่งหลาย ๆ  เรื่องก็ไม่ได้มีการเขียนไว้ชัดเจนแต่เป็นที่รู้กันว่าไม่เป็นที่ยอมรับนั้นรวมไปถึงเรื่องของการเมืองและอำนาจทางการเมืองที่ขัดแย้งกับความเชื่อสากลเช่นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นต้น   พลังของสังคมโลกนี้เป็นพลังที่อ่อนเนื่องจากมันไม่สามารถมายึดกุมอำนาจของประเทศไทยได้  แต่พลังอื่น ๆ  ทั้งหลายต้องฟังต้องพิจารณาเวลาตนเองจะทำอะไร  ประเด็นสำคัญก็คือ  มันต้องไม่ฝืน “กระแสโลก” มากนัก    ดังนั้น  พลังนี้จึงเป็นได้เพียงพลังที่สนับสนุนหรือต่อต้านคัดค้านพลังอื่น   มองในแง่นี้  พลังที่ได้ประโยชน์จากพลังของสังคมโลกก็คือ  พลังประชาธิปไตย  เนื่องกระแสโลกก็คือ  กระแสของประชาธิปไตย

พลังทั้ง 4 ที่กล่าวมานั้น  ในประเทศไทยผมคิดว่ายังคงจะต่อสู้กันไปและไม่สามารถจบลงโดยที่เหลือพลังเพียง 1 หรือ 2 พลังได้ในระยะเวลาอันสั้น  ในฐานะของนักลงทุน  ผมเพียงแต่หวังว่าการต่อสู้นั้นจะไม่รุนแรงจนเกินไป  และที่หวังต่อไปก็คือ  เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงในรอบนี้  ระบอบ  ปรัชญา  และแนวความคิดความเชื่อในการปกครองของไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิมนั่นก็คือ  ประเทศก็ยังมีความสงบทางด้านของสังคม  และระบบเศรษฐกิจก็ยังเป็นเสรี  เป็นทุนนิยม  ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการลงทุนในตลาดหุ้น  และนั่นก็คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการสำหรับคนทุกคน   

 
Posted by nivate at 9:56 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/20/1389

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 20, 2014, 10:45:49 pm
คนนั้นเต็มไปด้วยความโลภ ความกลัว และความโง่เขลา

"ความจริงที่ว่าคนนั้นเต็มไปด้วย ความโลภ ความกลัว และ ความโง่เขลา เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ แต่สิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้คือ สิ่งไหนจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเท่านั้น " วอร์เร็น บัฟเฟต์ รู้ดีเสมอว่า ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นักลงทุนจะตื่นเต้นอย่างมากกับราคาหุ้นที่พุ่งขึ้น ขณะนั้นนักลงทุนจะพร้อมซื้อหุ้นมากขึ้น และเขายังรู้อีกว่า ในอีกช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งนักลงทุนจะตื่นกลัว และ ขายหุ้นทิ้งในราคาต่ำอย่างไร้เหตุผล แต่สิ่งที่วอเร็นไม่ทราบคือ มันจะเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นนานเท่าไร และเกิดขึ้นเวลาใด แต่เขาพร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสที่เกิดจากความโลภและความกลัวของนักลงทุนที่สร้างโอกาสให้เค้า นี่คือแนวทางของนักลงทุนผู้ชาญฉลาด

(http://sphotos-f.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn2/t1/1495464_636538923059427_1654511212_n.jpg)

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 27, 2014, 07:17:32 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 27 January 2014

Spiritual Freedom


Value Investor ผู้มุ่งมั่นเกือบทุกคนนั้น  ผมเชื่อว่าต่างก็มีเป้าหมายใหญ่ในชีวิตอย่างหนึ่งนั่นก็คือ  เขาต้องการที่จะมี  “อิสรภาพทางการเงิน” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่ามี  “Financial Freedom”  ความหมายก็คือ  เป็นคนที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง  มีเงินและทรัพย์สินมากพอที่จะเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียงแม้ว่าจะไม่มีรายได้อื่นเลยตลอดชีวิต  ซึ่งผมเองคิดว่าถ้าจะทำอย่างนั้นได้  เขาจะต้องมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้  เช่น  หุ้น  พันธบัตร  หรือเงินสด  ที่มีคุณภาพดีอย่างน้อย 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยและเขารู้จักบริหารการลงทุนในระดับพื้นฐานที่จำเป็น    อิสรภาพทางการเงินนี้จะทำให้เขาแทบจะไม่ต้องกังวลกับการทำงานหาเงินซึ่งจะทำให้เขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ  ที่เขาชอบหรืออยากที่จะทำโดยไม่ต้องคิดถึงผลตอบแทนทางการเงิน  ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคน  “ฝัน”  ที่จะได้ไม่ใช่เฉพาะแต่ VI เท่านั้น   อย่างไรก็ตาม  ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ที่ได้ผ่านจุดแห่งเสรีภาพทางการเงินมาแล้ว   ผมคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ได้  ว่าที่จริงอิสรภาพทางการเงินนั้นอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นอิสระของชีวิตมากนักด้วยซ้ำไปหาก  “อิสรภาพทางใจ”  หรือ  “Spiritual Freedom”  ของเรายังไม่มีหรือมีน้อยเกินไป

           คำว่าอิสรภาพทางใจนั้นมีความหมายมากมายแล้วแต่ว่าใครจะนิยาม  องค์กรหรือแนวความคิดที่พูดถึงเรื่องของ Spiritual Freedom มากที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นศาสนาต่าง ๆ  ที่มักจะเน้นให้ผู้ที่นับถือประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เรา  “หลุดพ้น”  จากกิเลสหรือพันธะทางใจทั้งมวลเพื่อที่จะทำให้เกิดความสุข  “ทางใจ” ที่มีความสำคัญและความหมายมากที่สุดในชีวิตของคนเรา   แต่ “อิสรภาพทางใจ” ที่ผมจะพูดถึงนั้น  จะเป็นไปในความหมายแบบคนธรรมดาหรือเป็นแนวปรัชญาอิงกับความคิดของ Victor Frankl  ที่อธิบายว่า Spiritual Freedom นั้น  เป็นเสรีภาพที่สูงและยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ที่จะเลือกทัศนะคติในชีวิตของตนเองภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนที่เขาก็ยังสามารถเลือกที่จะคิดและเดินในแนวทางของตนเองที่คิดว่าดีและถูกต้อง  ตัวอย่างที่นำมาซึ่งแนวความคิดดังกล่าวก็คือการที่คนยิวในค่ายกักกันของนาซีบางคนที่พยายามช่วยเหลือปลอบใจเพื่อนในขณะที่บางคนต้อง  “ขายจิตวิญญาณ” เพื่อเอาตัวรอด  หรืออย่างในกรณีของฉากการจมลงของเรือไททานิกที่เราเห็นในภาพยนต์ที่มีทั้งคนที่สงบช่วยเหลือปลอบใจคนอื่น  ในขณะที่คนบางคนแสดง “ธาตุแท้” ที่เห็นแก่ตัวออกมา

           ในการที่จะมี  “อิสรภาพทางใจ” ได้นั้น  เขาบอกว่า  ถ้าเราไม่ตั้งใจกำหนดหรือตัดสินใจว่าเราจะเป็นคนอย่างไรและพยายามทำและปฏิบัติตามสิ่งที่เรากำหนดนั้นไว้   สภาวะแวดล้อมและประสบการณ์ของเราก็จะกลายเป็นตัวกำหนดทั้งตัวตนของเราและชะตากรรมของเราเองในท้ายที่สุด   ในความหมายนี้ก็แปลว่า  การที่เราจะมีอิสรภาพทางใจได้นั้น  เราจะต้องศึกษาและหาความหมายต่าง ๆ  ในชีวิตที่เราคิดว่าเหมาะสม  เราไม่สามารถที่จะคิดโดย  “อัตโนมัติ” ในเรื่องต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมเพราะเหตุว่าความคิดของเรานั้นอาจจะถูก  “ครอบงำ”  โดยสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างมานานดังนั้นความคิดเราก็จะไม่อิสระที่จะคิดนอกกรอบนั้นออกไป  ส่วนตัวผมเองก็รู้สึกว่าตั้งแต่เด็กก็ถูก  “อบรมสั่งสอน”  จากบุคคลต่าง ๆ  มากมายรวมถึงหน่วยงานรัฐ  ศาสนา  และองค์กรต่าง ๆ  อีกมากมายนับไม่ถ้วน  ประสบการณ์ต่าง ๆ  ที่พบในสังคมเองก็  “หล่อหลอม”  ให้คิดและปฏิบัติในสิ่งที่เป็นกรอบประเพณีอันดีและถูกต้องในสังคม  ผมไม่เคยตั้งคำถามกับแนวคิดหรือสิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้น   ว่าที่จริงผมก็ไม่ควรคิดเพราะว่าถ้าเรายังต้องทำงานในองค์กรและมีตำแหน่งหน้าที่ในสังคม  การ  “ฝืน”  แนวทางเหล่านั้นคงทำให้เส้นทางอาชีพหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมีปัญหา   อย่างไรก็ตาม  เมื่อผมมีอายุมากขึ้นและกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ผู้มุ่งมั่นและประสบความสำเร็จมีอิสรภาพทางการเงินที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น  ผมก็เริ่มค้นหาความหมายของชีวิต

           ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไป  ผมเริ่มมี  “อิสรภาพทางใจ” มากขึ้น  ไม่ใช่ในแบบของศาสนา  ว่าที่จริงอาจจะมีบางสิ่งที่แย้งด้วยซ้ำ  เพราะผมเริ่มที่จะคิดว่าเราอยากที่จะเป็น  “เสรีชน”  มากกว่าที่จะเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดของสังคมที่มีกรอบมากมายที่หลายอย่างผมก็ไม่เห็นด้วยและรู้สึกค้านอยู่ในใจ  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่ใช่  “กบฏ”  หรือนักปฏิวัติอะไร   ผมแก่เกินที่จะไปทำแบบนั้น  ผมเพียงแต่คิดว่าผมไม่ต้องการนับถือหรือเชื่ออะไรตามที่คนส่วนใหญ่ทำถ้าการศึกษาหรือมโนธรรมของผมพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมหรือถูกต้อง  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะหรือเป็นอานิสงค์จากการที่ผมกลายเป็น VI ที่ได้รับอิสรภาพทางการเงินและเริ่มที่จะมองหา  “อิสรภาพทางใจ” ที่มองอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นสิ่ง  “หรูหรา” ที่หลายคนไม่อาจจะแสวงหาได้ง่ายนักแม้ว่าเขาจะมีเงินมากยิ่งกว่า  เหตุผลก็คือ  ชีวิตและเงินทองของพวกเขายังต้องพึ่งพิงกับคนอื่น ๆ  อีกมากในสังคมที่ไม่ยอมรับความเป็น “เสรีชน” ของเขา  หรือที่เป็นไปได้มากกว่าก็คือ  เขาเองอยู่กับ “สภาพแวดล้อม” ที่มีอิทธิพลสูงในการกำหนดชีวิตของเขา

          ความเป็น  “เสรีชน”  ของผมนั้น  แน่นอน  เราก็ต้องมีสัญลักษณ์หรือสิ่งประทับใจที่ตรงหรือถูกจริตกับเรา  หนึ่งในนั้นก็คือเพลงซึ่งในอดีตผมก็เพียงแต่รู้สึกว่ามันมีความไพเราะและเป็นเพลงยอดนิยม  “อมตะ” แต่ก็ไม่มีความหมายใด ๆ  แต่ยิ่งนานและในระยะหลัง ๆ  ผมก็  “อิน” กับมันนั่นก็คือเพลง  “Imagine” ของ จอห์น เลนนอน  อดีตนักร้องของวง The Beetle ที่เป็นตำนานของวงดนตรีโลก  เพลง Imagine นี้เกิดขึ้นในปี 1971 ในยุคของสงครามเวียตนามที่ทำให้เกิดกระบวนการประท้วงต่อต้านสงครามและต่อต้านสังคมของคนหนุ่มสาวที่เรียกว่าพวก “ฮิบปี้” ซึ่งต่างก็  “แหกกฎ” ของสังคมโดยการไว้ผมยาว  แต่งตัวไม่เรียบร้อย  รวมถึงการประพฤติตนในแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับของธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม

         เนื้อหาของเพลงนั้นเรียบง่ายมากแต่มีพลังสูง  ผมคงไม่แสดงเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษแต่นำคำแปลมาให้อ่านดังนี้คือ  :   ลองจินตนาการสิว่าโลกนี้ไม่มีสวรรค์   มันง่ายถ้าคุณจะลอง  ไม่มีนรกอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา  เหนือหัวเราก็มีแต่ท้องฟ้า  ลองจินตนาการว่าทุกคนต่างก็อยู่เพื่อวันนี้  ลองจินตนาการว่าโลกนี้ไม่มีประเทศ  มันไม่ยากหรอกถ้าจะทำ   ไม่มีอะไรที่จะต้องฆ่าหรือต้องตายแทน   และก็ไม่มีศาสนาด้วย  ลองจินตนาการว่าคนทุกคนต่างก็ใช้ชีวิตอย่างสงบ   คุณคงบอกว่าผมเป็นนักฝันแต่ผมก็ไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น  ผมหวังว่าวันหนึ่งคุณจะร่วมฝันกับเรา  และวันนั้นโลกทั้งโลกก็จะเป็นหนึ่งเดียว   ลองจินตนาการว่าไม่มีการครอบครองอะไรทั้งสิ้น  ผมไม่รู้ว่าคุณจะทำได้ไหม  ไม่มีความจำเป็นต้องมีความโลภหรือความหิวโหย  เราทุกคนจะเป็นเหมือนดั่งพี่น้องร่วมโลก  ลองจินตนาการดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทุกคนแบ่งปันโลกนี้อย่างเท่าเทียมกัน
         
    ผมไม่รู้ว่า VI ผู้มุ่งมั่นและมีอิสรภาพทางการเงินแล้วนั้น  ส่วนใหญ่มีอิสรภาพทางใจมากน้อยแค่ไหนและแนวความคิดของพวกเขาไปในทางไหน  แม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่รู้ว่าตนเองนั้นมีจิตใจที่  “เสรี”  และเป็น  “เสรีชน”  มากน้อยแค่ไหน  ผมรู้เพียงแต่ว่าการเป็น VI ที่มุ่งมั่นคงมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้แนวคิดของผมเปลี่ยนแปลงไปและกลายเป็น  “เสรีชน”  มากขึ้น  ผมเองไม่มั่นใจว่าการเป็นเสรีชนทำให้ผมมีความสุขมากขึ้นหรือไม่  ผมรู้เพียงแต่ว่าผมไม่สามารถที่จะกลับไปเป็นอย่างเดิมที่อยู่ในกรอบของขนบธรรมเนียมที่ผมพยายาม  “หนี”  ออกมาได้

Posted by nivate at 9:53 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/27/1391


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 03, 2014, 11:02:13 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 3 Feb 2014

VI-Why?



ถ้าต้องการที่จะเป็น VI ที่เก่งกาจ  ผมคิดว่าเขาจะต้องสร้างนิสัย  “ขี้สงสัย”  ในทุก ๆ  เรื่องแม้แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่เคยแม้แต่คิดว่ามันจะเป็นอย่างอื่นนอกจากสิ่งที่  “รู้กันอยู่แล้ว”  หรือเป็นสิ่งที่คนยอมรับกันอย่างกว้างขวาง    ดังนั้น  สำหรับ VI แล้ว  เขาควรจะต้องหมั่น  “ตั้งคำถาม”  และ  “ตอบให้ได้”  ว่า  ทำไม?  ทำไม? และ ทำไม?  จึงเป็นอย่างนั้นหรือเป็นอย่างนี้  ถ้าตั้งคำถามเป็นและตอบได้ถูกต้อง  โอกาสที่จะเป็นนักลงทุนที่ดีและสร้างผลตอบแทนได้น่าประทับใจในระยะยาวก็เป็นไปได้สูง

          คำถามสำคัญข้อแรกที่ VI ต้องใช้เป็นประจำก็คือ  ทำไมบริษัทถึงกำไรดีกว่าหรือแย่กว่าคู่แข่งหรือบริษัทที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กัน?   โดยที่คำว่ากำไรดีในที่นี้ก็คือ  กำไรต่อยอดขาย หรือ Net Profit Margin

          ความสำคัญของคำถามนี้ก็คือ  กำไรเป็นตัวที่จะบอกถึง “คุณภาพ”  ของธุรกิจ  บริษัทที่กำไรดีกว่าก็มักจะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพสูงกว่า  และบริษัทที่มีคุณภาพสูงกว่าก็มักจะต้องมีค่ามากกว่าถ้าทั้งสองบริษัทมีกำไรคิดเป็นเม็ดเงินเท่ากัน  หรือถ้าจะสรุปก็คือ  บริษัทที่มีกำไรต่อยอดขายสูงกว่าควรจะมีค่า PE สูงกว่าถ้าปัจจัยอย่างอื่นเหมือน ๆ  กัน

          กำไรที่ดีกว่านั้น  จะต้องเป็นกำไรที่ดีกว่าเป็นปกติทุกปีหรือเกือบทุกปี  เช่นเดียวกัน  ธุรกิจนั้นจะต้องคล้ายกันมากหรือเหมือนกัน  ตัวอย่างเช่นเป็นบริษัทที่ทำโรงพยาบาล  หรือขายอาหารแบบภัตตาคารเป็นหลัก  หรือเป็นห้างค้าปลีกประเภทเดียวกัน  หรือเป็นธนาคารหรือธุรกิจหลักทรัพย์  หรือเป็นโรงแรมหรู เป็นต้น

          ถ้าเราพบว่าบริษัทหนึ่งมีกำไรต่อยอดขายที่ดีกว่าคู่แข่งทั้งหลายต่อเนื่องยาวนาน  นี่ก็คือข้อเท็จจริงว่ามันน่าจะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีอย่างแน่นอน  คำถามก็คือ  ทำไม?  อะไรทำให้มันดีกว่าคู่แข่ง?  และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  สิ่งที่ทำให้มันดีกว่าคู่แข่งนั้นจะมีอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน?

          คำตอบของแต่ละบริษัทและในแต่ละธุรกิจนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน  บางทีอาจจะเป็นเรื่องของคุณภาพหรือยี่ห้อที่ทำให้คนยอมจ่ายราคาที่สูงขึ้นทำให้บริษัทมีกำไรดีกว่าปกติหรือดีกว่าคู่แข่ง  บางทีอาจจะเกิดจากการที่ต้นทุนของบริษัทต่ำกว่าปกติหรือต่ำกว่าคู่แข่งเนื่องจากบริษัทมียอดขายสูงกว่าบริษัทอื่นมาก  ทำให้มี Economies of Scale สูงกว่าคู่แข่งโดยทั่วไป   และในทั้งสองกรณีเราต้องถามต่อไปว่า  ถ้าเป็นเรื่องของคุณภาพหรือยี่ห้อนั้น  บริษัทจะยังรักษาให้โดดเด่นต่อไปได้มากน้อยและนานแค่ไหน  หรือถ้าเป็นเรื่องของต้นทุน  จะมีบริษัทอื่นหรือคู่แข่งสามารถสร้างยอดขายหรือปรับกระบวนการผลิตจนทำให้มีต้นทุนเท่ากับบริษัทผู้นำได้หรือไม่  เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องถามและหาคำตอบที่ถูกต้อง

          คำถามที่อาจจะได้ถามบ่อย ๆ ข้อสองก็อาจจะเป็นเรื่องของการเติบโตของบริษัท  ทั้งในด้านของยอดขายและกำไร  ถ้าบริษัทเติบโตเร็วและ/หรือเติบโตต่อเนื่องยาวนาน  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?  และมันจะโตต่อไปอีกมากน้อยและนานแค่ไหน?

         คำว่าเติบโตนั้น  เราก็ต้องรู้ว่ามันจะต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ  เช่น  มันควรจะเป็นการเติบโตจากภายในหรือ  Organic Growth นั่นคือ  โตจากการขยายงานหรือเพิ่มลูกค้าของบริษัทเอง  ไม่ใช่ไปซื้อกิจการมา  การเติบโตของกำไรก็ควรจะต้องเป็นการเติบโตของกำไรต่อหุ้นไม่ใช่กำไรโตขึ้นแต่ต้องเพิ่มทุนมากกว่า  ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  นอกจากนั้น  การที่ยอดขายโตแต่กำไรกลับลดลงหรือโตน้อยกว่ามากก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์อะไรนัก   สรุปก็คือ  ต้องกำหนดให้ชัดเจนเสียก่อนว่าบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ  นั่นก็คือ  มียอดขายและกำไรเติบโตสอดคล้องกันต่อเนื่องยาวนานอาจจะไม่ต่ำกว่า 3-4 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย  และเหตุผลที่มันเติบโตก็คือ…

          คำตอบของคำถามว่าทำไมบริษัทจึงโตจะช่วยบอกให้เรารู้ว่ามันจะโตต่อไปหรือไม่และจะโตไปได้อีกแค่ไหน?

          บางทีอาจจะเป็นว่าบริษัทโตเพราะอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั้นโตขึ้น  โดยที่บริษัทก็โตไปกับอุตสาหกรรมโดยที่ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทก็คงเดิม  แบบนี้เราก็ต้องดูว่าอุตสาหกรรมจะโตไปได้อีกมากน้อยแค่ไหนซึ่งก็จะทำให้เราพอจะรู้หรือคาดได้ว่าบริษัทจะโตไปอีกเท่าไรในกรณีที่บริษัทยังสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้เท่าเดิม   บางทีอาจจะเป็นว่าบริษัทโตขึ้นเนื่องจากสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งมากขึ้นเนื่องจากคู่แข่งนั้นเป็นบริษัทที่ดำเนินการด้วยเทคโนโลยีหรือรูปแบบธุรกิจที่กำลัง  "ล้าสมัย”  ไม่สามารถแข่งขันได้  และดังนั้นจะค่อย ๆ  ลดจำนวนและปริมาณลงไปเรื่อย ๆ  โดยที่บริษัทก็จะเข้าไปแย่งตลาดมาเป็นของตนเองจนมีขนาดใหญ่ขึ้นไปถึงระดับหนึ่งซึ่งพอจะคาดการณ์ได้  หรือบางทีการเติบโตของบริษัทนั้น  อาจจะขึ้นอยู่กับฝีมือหรือความสามารถของบริษัทเองในการที่จะโตเนื่องจากตลาดนั้นอาจจะใหญ่มากแทบไม่มีข้อจำกัด  ถ้าเป็นแบบนี้  เราก็คงต้องวิเคราะห์ดูว่าบริษัทจะมีความสามารถและทรัพยากรที่จะโตต่อไปอีกมากน้อยแค่ไหน

             สำหรับ VI แล้ว  เมื่อเราพบกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ  ที่อาจจะกระทบกับการลงทุน  เราควรจะต้องถามว่า  ทำไมมันถึงเกิดแบบนั้น?  ตัวอย่างเช่น  เรื่องของการเมืองที่กำลังวิกฤติอยู่ในช่วงนี้  แทนที่จะดูว่าใครพูดหรือทำอะไรและเกิดเหตุการณ์รุนแรงอะไรบ้าง  เราควรจะต้องถามคำถามว่า  ทำไมประเทศไทยจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้?   เราควรจะวิเคราะห์  “ภาพใหญ่” ที่เป็นเรื่องของ  “ระบบ” ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุหรือสถานการณ์ต่าง ๆ    ตัวบุคคลหรือข้อขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของ “ภาพเล็ก” ที่เป็นผล  ไม่ใช่  สาเหตุ   ดังนั้น  ถ้าเราตอบคำถามได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้การเมืองเป็นแบบนี้ได้  เราก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องขึ้นว่าสุดท้าย  หรืออนาคต  การเมืองของไทยจะเป็นอย่างไรและมันจะกระทบกับบริษัทต่าง ๆ  อย่างไร

           เรื่องของเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน  คำถามอาจจะต้องเริ่มจากคำว่า  ทำไม?  เช่น  ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงเติบโตต่อเนื่องมาช้านานและเอื้ออำนวยกับบริษัทจดทะเบียนให้เติบโตขึ้นส่งผลให้การลงทุนในหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมมาในช่วงเกือบ 40 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นถึงประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งก็เป็นอัตราที่ดีในระดับ “ยอดเยี่ยม” ทีเดียว  และคำตอบที่ได้ก็จะช่วยบอกเราว่าตลาดหุ้นไทยจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีต่อไปอีกมากน้อยแค่ไหน
          คำถามว่า  ทำไม?  นั้น  การที่จะตอบได้ดีและถูกต้อง  บ่อยครั้งเราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งต่าง ๆ มากมายรวมถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ  ประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง  และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญมากทีเดียว  ว่าที่จริงในระยะหลัง ๆ  นี้  เวลาที่ผมใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งต่าง ๆ  รวมกันนั้นมากกว่าเวลาในการศึกษาเรื่องของการลงทุนโดยตรงหลายเท่า  เหตุผลสำคัญที่ผมทำอย่างนั้นก็เพื่อที่จะตอบคำถามว่า  Why? ทำไม?  มันจึงเป็นอย่างนั้น     

Posted by nivate at 10:14 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/03/1394



หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2014, 06:45:10 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 10 Feb 2014

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย

ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก  มีบทกลอนที่ทำนายถึงอนาคตของประเทศไทยบทหนึ่ง  ซึ่งลงท้ายด้วยคำว่า  “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย  น้ำเต้าน้อยจะถอยจมลง”  ความหมายกว้าง ๆ  ก็คือ  คนที่ “ต่ำต้อยไร้ค่า” ในคำนิยามสมัยนั้น  จะมีอำนาจวาสนาขึ้น  ในขณะที่คนที่ “สูงศักดิ์” กว่า  จะถดถอยตกต่ำลง   คำทำนายนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันที่เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ  โดยเฉพาะในทางการเมือง  ก็มักจะมีคนยกขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ในการชักนำความคิดคนอ่านหรือคนฟังให้เป็นคุณกับฝ่ายตน  อย่างไรก็ตาม  ในบทความนี้  ผมจะใช้ในความหมายที่เป็นกลาง  นั่นก็คือ  สิ่งที่ด้อยกว่าจะเติบโตโดดเด่นขึ้น  ในขณะที่สิ่งที่ดีเด่นกว่าจะถดถอยลง-ในทางเศรษฐกิจและหุ้น

             เริ่มต้นที่ประเทศต่าง ๆ  ในโลกนี้  ย้อนหลังไปไกลอาจจะซัก 40 ปีขึ้นไป  โลกของเราในขณะนั้นดูเหมือนว่าจะถูก “ครอบงำ”  โดยประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งก็คือ  ประเทศซีกโลกด้านตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส   ต่อมา  เยอรมันและญี่ปุ่นก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย   สัดส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกนั้นดูเหมือนว่าจะตกอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว   ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนานั้นน่าจะโตช้าหรือบางประเทศถึงกับถดถอยลง  พูดง่าย ๆ  ประเทศที่จนอยู่แล้ว  ยิ่งจนลง  ปัญหาใหญ่ก็คือ  ประเทศเหล่านั้นมีเด็กเกิดใหม่มาก  พูดกันในสมัยนั้นก็คือ  “ลูกมากยากจน”  ประเด็นสำคัญก็คือ  ประเทศขาดคนที่มีความรู้  เทคโนโลยีในการผลิต  ทุน  และผู้ประกอบการที่จะสร้างผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง  ดังนั้น  คนที่มีอยู่มากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ไม่มีประโยชน์  ตรงกันข้าม  กลับเป็น “ภาระ”  ที่ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น

            ต่อมาเมื่อโลก “เปิดกว้าง” ขึ้น  ผลจากความสงบ  ปราศจากสงคราม  ทั้งสงครามเย็นและสงครามร้อนของประเทศมหาอำนาจ  ประเทศต่าง ๆ  ก็เริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนมากขึ้น  การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มต้นขึ้นอย่างคึกคักโดยเฉพาะประเทศในเอเซียซึ่งนำโดยประเทศ  “เสือแห่งเอเซีย”  ที่มีประชากรน้อยและอยู่ในกลุ่มโลกเสรีในช่วงสงครามเย็นที่โลกยังไม่เปิดกว้างทั้งหมด  ต่อมาก็คือประเทศในเอเชียที่มีประชากรมากอย่างจีน  และอินเดีย ที่ได้เปิดประเทศเต็มที่หลังจากสงครามเย็นสงบลง   การเปิดประเทศนั้นทำให้ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาทำการผลิตได้โดยสะดวก  ปัญหาเรื่องความรู้  เทคโนโลยี  ทุน  และแรงงานหมดไป  ดังนั้น  การผลิตและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  ผลก็คือ  เศรษฐกิจของประเทศยากจนที่  “เปิดประเทศ”  จึงเติบโตเร็วอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็น Emerging Economy ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นทุกที ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วโตช้าลงไปมากเนื่องจากระดับการพัฒนาที่สูงอยู่แล้วกอร์ปกับการที่ประชากรไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

             “กระเบื้อง” ชิ้นใหญ่มโหฬารอย่างจีนได้เฟื่องฟูขึ้นมาแล้วและน่าจะยังขึ้นต่อไป  กระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ อีกหลายชิ้นข้างบ้านเราเช่น  เวียตนาม  พม่า  กัมพูชา  ลาว  กำลัง  “เปิดประเทศ”  ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นกระเบื้องที่จะเฟื่องฟูลอยต่อไป  และนี่ก็คือจุดที่ประเทศไทยควรจะต้องเข้าไป  “เกาะ” หรือเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมให้เรามีความก้าวหน้าหรือมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเมื่อคำนึงถึงว่าประชากรของเราไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว    ประเด็นปัญหาของเราที่อาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าไปมีบทบาทที่คึกคักในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็คือ  “ปัญหาทางการเมือง”  และการบริหารประเทศที่ทำให้รัฐไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการที่เหมาะสม  ตัวอย่างที่เห็นชัดในช่วงนี้ก็คือ  ระบบการขนส่งและ Logistic ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น  ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องใช้เวลาอีก 20 ปีเพื่อเชื่อมต่อรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน  เราจะเหลืออะไรเมื่อ  “กระเบื้อง” ทั้งหลายได้เฟื่องฟูไปหมดแล้ว?

               ผมพูดแต่เรื่องนอกบ้านซึ่งยังห่างไกลจากประเด็นของการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่บ้าง  แต่ “กระเบื้อง” ไม่ได้มีเฉพาะในต่างประเทศ  “กระเบื้อง” ที่อยู่ในบ้าน  หรือคนไทยที่ด้อยกว่าทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยเองก็มีมากมาย  ว่าที่จริง ในอดีตย้อนหลังไป 40-50 ปี นั้น  ต่างจังหวัดทั้งหมดของประเทศไทยมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจน้อยมากเมื่อเทียบกับกรุงเทพ  จนคนแทบจะพูดกันว่า    “กรุงเทพก็คือประเทศไทย”  ต่อมา  อาจจะราว ๆ  20-30 ปีที่ผ่านมาเมื่อผมเริ่มทำงานที่เกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ  ตัวเลขที่ผมรู้สึกว่าเป็น “Magic Number”  หรือตัวเลข “อัศจรรย์” ก็คือ  กรุงเทพและปริมณฑลมักจะมียอดรวมของยอดขายของสิ่งต่าง ๆ  ประมาณ 50%  ส่วนต่างจังหวัดที่มีมากถึง 50-60 จังหวัดมีสัดส่วนรวมกันเท่ากับ 50%  เหมือนกัน  ตัวอย่างเช่น  ยอดขายรถยนต์  ยอดขายเทปเพลง  และอื่น ๆ  อีกมาก

              ประมาณซัก 10-20 ปีที่ผ่านมา  อาการกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอยของจังหวัดหัวเมืองของไทยก็เริ่มขึ้น   การเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั้งหลายโดยเฉพาะที่เป็นขนาดใหญ่เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี  ต่อมาก็เป็นธุรกิจรถยนต์  นี่ยังไม่นับอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออกทั้งหลายที่ถูกย้ายมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น  นั่นส่งผลให้จังหวัดชายทะเลที่เป็นท่าเรือน้ำลึก เช่น ชลบุรีและระยองเติบโตขึ้นมหาศาล  รายได้ต่อหัวสูงขึ้นเท่าเทียมหรือสูงกว่ากรุงเทพ  ต่อมาการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก็ส่งผลให้จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ  เช่น  ภูเก็ต  เชียงใหม่  ชลบุรี  ประจวบคีรีขันธ์ เติบโตขึ้นมากจากธุรกิจที่ให้บริการนักท่องเที่ยว  คนในจังหวัดเหล่านี้มีรายได้และพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ต่างจากกรุงเทพเท่าใดนัก  เวลาต่อมาเมื่อแรงงานเป็นที่ต้องการมากขึ้น จังหวัดที่มีคนมากและระยะทางไม่ห่างจากกรุงเทพหรือท่าเรืออย่างเช่นโคราชก็เริ่มมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากขึ้น  และสุดท้ายที่ดูเหมือนว่าจะเป็น  “คลื่นลูกล่าสุด”  ก็คือจังหวัดที่เป็นชายแดนทางผ่านติดต่อกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเปิดประเทศ  เช่น  อุดรธานี  แม่สอด  อรัญประเทศ  เชียงราย  ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอานิสงค์จากการค้าขายกับประเทศเหล่านั้นที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด  การค้าขายผ่านชายแดนรวมกันน่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่าการค้าขายกับประเทศใหญ่ ๆ  ของโลกแล้ว

              ตัวเลขกรุงเทพ 50% และต่างจังหวัด 50% นั้น  ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ต่างจังหวัดของไทยโตเร็วขึ้นขณะที่กรุงเทพโตช้าลง  ธุรกิจหลาย ๆ  อย่างเริ่มจะอิ่มตัว  ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 เคยมีจำนวนร้าน 50% ในกรุงเทพขณะนี้กลายเป็น 45% และที่เปิดใหม่ก็เปิดในต่างจังหวัดมากกว่า  เช่นเดียวกัน  ชอปปิงมอลอย่างห้างของเครือเซ็นทรัลในระยะหลัง ๆ ต่างก็เปิดในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพ  สิ่งที่ตามก็คือร้านค้าทั้งหลายที่ขายสินค้าระดับสูงรวมไปถึงภัตตาคารที่ขายอาหารราคาสูงก็ขยายไปในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพ  ว่าที่จริงบริษัทที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่ยังเติบโตได้ในเวลานี้  ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องเน้นไปที่ต่างจังหวัดแทบทุกบริษัท   ครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีเวลาว่างหลังจากการบรรยายและได้ไปเดินเล่นในห้างเซ็นทรัลที่เชียงใหม่  ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ   มันแทบจะไม่ต่างจากชอปปิ้งมอลที่กรุงเทพเลย  และทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผมสรุปว่า  “กระเบื้อง” ในประเทศไทยนั้นกำลังเฟื่องฟูลอย  กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไป

             ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น  ข้อสรุปรวบยอดของผมก็คือ  “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย  น้ำเต้าน้อยจะถอยจมลง”  นั้น  กำลังเป็น “เมกาเทรนด์”  ในหลาย ๆ  สิ่งของโลกและของประเทศไทย  การวิเคราะห์หุ้นของเราจะต้องตระหนักในเรื่องนี้       
 
Posted by nivate at 2:04 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/10/1398


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 17, 2014, 11:30:27 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 17 Feb 2014

โอกาสลงทุน


นักลงทุนระยะยาวที่เป็น Value Investor นั้น   โดยปกติมักจะไม่ใคร่ทำอะไรกับการซื้อ-ขายหุ้นมากนัก  เขาจะ “ขยับ” ก็ต่อเมื่อมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวหุ้นหรือสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อตัวกิจการหรือบริษัทจดทะเบียน  การขายหุ้นนั้น  โดยปกติก็มักจะเกิดจากการที่กิจการมีพื้นฐานที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ  หรือไม่ก็ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจนแพงเกินพื้นฐานอย่างเห็นได้ชัด  หรือไม่ก็เพราะเขาพบหุ้นตัวอื่นที่มี Value หรือคุณค่าดีกว่ามากแต่เขาไม่มีเงินสดในมือที่จะซื้อมันได้   ส่วนการซื้อหุ้นนั้น  เขามักจะทำก็ต่อเมื่อเขาพบ  “โอกาสในการลงทุน”  ในหุ้นของบริษัทที่มีคุณสมบัติดีเด่นในระยะยาวที่มีราคาหุ้นที่เหมาะสมหรือราคาถูกกว่าพื้นฐาน
           หุ้นที่มีคุณสมบัติดีเด่นในระยะยาวนั้นควรมีคุณสมบัติหลาย ๆ  ข้อที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ:

          ข้อแรก  สินค้าหรือบริการของบริษัทจะต้องมีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่างเห็นได้ชัด  นั่นก็คือ  มันเป็นสิ่งที่ลูกค้าเลือกที่จะใช้มากกว่าคู่แข่ง  คนใช้รู้สึกมีความภูมิใจหรือมีความรู้สึกที่ดีที่ได้ใช้  ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือ  มันเป็นยี่ห้อยอดนิยมมานานที่ผู้คนหรือคนที่ใช้ส่วนใหญ่ต่างก็ชอบและมีความเชื่อมั่นในคุณสมบัติของมันจนไม่อยากจะเลือกยี่ห้ออื่นถ้าทั้งสองต่างก็สะดวกที่จะซื้อเหมือน ๆ  กัน   ประเด็นสำคัญก็คือ  ยี่ห้อนั้น  ไม่ใช่เพียงแต่เป็นยี่ห้อที่คนรู้จักกันแพร่หลายเท่านั้น  แต่ต้องเป็นยี่ห้อที่คนเลือกที่จะซื้อหรือใช้บริการเหนือกว่ายี่ห้ออื่นอย่างชัดเจน  นอกจากเรื่องของยี่ห้อแล้ว  กิจการที่โดดเด่นที่คู่แข่งต่อสู้ได้ยากก็คือ  บริษัทที่สามารถ  “ล็อค”  ลูกค้าให้อยู่ในมือได้ยาวนานโดยที่คู่แข่งเข้ามาแย่งธุรกิจไม่ได้หรือแย่งได้ยาก   อาจจะเพราะว่าบริษัทเป็นรายเดียวหรือน้อยรายที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการในกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค  หรือบริษัทอาจจะควบคุมหรือได้ทำเลของสถานที่ให้บริการที่ดีเด่นกว่าที่คู่แข่งไม่สามารถหาได้แล้วเนื่องข้อจำกัดทางด้านที่ดิน  เหล่านี้เป็นต้น

          ข้อสอง  คุณสมบัติที่ดีเด่นในระยะยาวของกิจการก็คือ  มันเป็นกิจการที่ทำกำไรได้สูงวัดจากกำไรต่อยอดขายเมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยตรง  และกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงกว่า 15% ต่อปีต่อเนื่องยาวนาน  ยิ่งสูงก็ยิ่งดี

          ข้อสาม  บริษัทต้องขายสินค้าหรือบริการที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่ดี  นั่นอาจจะหมายความว่า  บริษัทขายสินค้าเป็นเงินสดและจ่ายเจ้าหนี้การค้าเป็นเงินเชื่อระยะยาว  บริษัทมีสินค้าคงคลังน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายหรือแทบไม่มีสินค้าคงคลังเลยเนื่องจากเป็นงานบริการ  บริษัทไม่ต้องลงทุนในการ  Maintain หรือบำรุงรักษาทรัพย์สินถาวรที่ใช้ในการให้บริการมากนัก  และสุดท้ายก็คือ  ถ้าบริษัทขยายงานหรือขยายกำลังการผลิตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทรัพย์สินถาวรหรือเพิ่มน้อย  แบบนี้ก็จะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทดีเยี่ยมขึ้นไปอีก

          ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  กิจการยังมีการเติบโตต่อไปอีกยาวนานเนื่องจากตลาดเดิมยังไม่อิ่มตัวและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพกำลังเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนและชัดเจนและจะต่อเนื่องไปอีกนานเนื่องจากตลาดเหล่านั้นจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          หลังจากการกำหนดตัวกิจการที่เข้าข่ายเป็นหุ้นดีที่เหมาะสมจะลงทุนระยะยาวได้แล้ว  สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ  รอโอกาสที่จะซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม  ซึ่งโดยปกติมักจะเกิดขึ้นไม่ง่าย  เหตุก็เพราะว่าหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นของกิจการที่คนเชื่อหรือยอมรับกันว่าเป็นบริษัทที่ดี  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็มักจะไม่ถูก  ค่า PE ก็มักจะสูงกว่าค่า PE เฉลี่ยของตลาด  หรือของบริษัทที่ดีเหมือนกันแต่ไม่ใช่บริษัทที่ดีเลิศ  เช่น  มีคุณสมบัติดีบางข้อแต่ขาดบางข้อ  หรือเป็นกิจการที่กำไรเติบโตเร็วอย่างเดียวแต่ความแข็งแกร่งหรือกระแสเงินสดไม่ดี  เป็นต้น  โอกาสที่หุ้นชั้นเยี่ยมจะมีราคาลดลงมาจนเหมาะสมที่จะลงทุนนั้นมักจะเกิดจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ดังต่อไปนี้

           เรื่องแรกที่มักจะเป็น  “โอกาสทอง”  ก็คือ  เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้บริษัทเสียหาย  ไม่ว่าจะเกิดจากสถานการณ์แวดล้อมหรือเกิดจากความผิดพลาดของผู้บริหารซึ่งทำให้กำไรของบริษัทลดลงมาก  บางทีอาจจะถึงกับขาดทุน  แต่นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว  พื้นฐานของกิจการไม่เปลี่ยนแปลง  หรือเหตุการณ์นั้นสามารถแก้ไขได้ค่อนข้างแน่นอนในอนาคตไม่ไกลนัก  อย่างไรก็ตาม  ราคาหุ้นตกลงมามากจนต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ  กรณีอย่างนี้  เราต้องไม่รีรอที่จะซื้อหุ้นและถือไว้  อย่างน้อยจนกระทั่งบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว

           เรื่องที่สองที่มักเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นก็คือ  ตลาดหุ้นตกต่ำลงมามากและทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีเลิศตกต่ำลงไปด้วยจนคุ้มค่าที่จะซื้อลงทุนระยะยาว   กรณีแบบนี้ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเข้าไปลงทุน   เพราะถ้าสภาวะตลาดปรับตัวดีขึ้นแล้ว  ราคาหุ้นของบริษัทที่ดีเลิศก็มักจะปรับขึ้นไปด้วย  ประเด็นก็คือ  ในบางครั้งที่ดัชนีตลาดตกต่ำลงแรงนั้น  หุ้นของบริษัทที่ดีเลิศอาจจะไม่ใคร่ตกลงมามากนักเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น  ๆ  ผลก็คือ  โดยเปรียบเทียบแล้ว  บางทีเราก็อาจจะอยากซื้อหุ้นตัวอื่นมากกว่า  โดยอาจจะหวังว่าเมื่อตลาดปรับตัวขึ้น  เราจะได้กำไรจากหุ้นตัวที่ปรับลดลงแรงกว่า  อย่างไรก็ตาม  โอกาสลงทุนหุ้นดีในระยะยาวในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวแรงนั้น  เป็นโอกาสที่เกิดได้บ่อยพอสมควรในตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีหุ้นผันผวนแรง

          เรื่องที่สามที่เป็นโอกาสในการลงทุนในหุ้นสุดยอดก็คือ  ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอย  ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นซบเซาและราคาหุ้นไม่ไปไหนมานาน  ราคาหุ้นที่ดีเลิศเองก็นิ่งมานานและมีแนวโน้มตกลงมาเนื่องจากผลประกอบการที่เติบโตน้อยลงอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปของนักลงทุนต่อคุณสมบัติของกิจการในประเด็นของการเติบโตของบริษัท  ผลก็คือ  ค่า PE ของบริษัทปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่หุ้นกำลังร้อนแรง  ถ้าเรามองดูแล้วพบว่าเศรษฐกิจในที่สุดก็จะฟื้นตัว  การเติบโตของบริษัทจะกลับมาเหมือนเดิมในไม่ช้าอย่างแน่นอนเนื่องจากการขยายตัวของตลาดที่มีศักยภาพสูงที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแบบเป็นเมกาเทรนด์  ในกรณีอย่างนี้   เราก็สามารถ  “ทยอย” ซื้อหุ้นที่มีคุณสมบัติดีที่เราต้องการจะถือยาว  เมื่อซื้อครบแล้วก็รอไปเรื่อย ๆ  จนกว่าภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะดีขึ้นและนั่นก็มักจะทำให้หุ้นชั้นยอดปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง  เราต้องมีความมั่นใจว่า  หุ้นของบริษัทที่แข็งแกร่งและมีคุณสมบัติที่ดีมากนั้น  จะต้องกลับมาเป็นหุ้นที่โดดเด่นเสมอโดยเฉพาะในช่วงที่ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดีวันหนึ่งวันใดในอนาคต
           ผมเองคิดว่า  เรื่องที่สามดังกล่าวนั้น  กำลังเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ก่อนหน้านี้ที่หุ้นร้อนแรงมากทำให้หุ้นที่ดีเลิศมีราคาขึ้นไปสูงมากและอาจจะทำให้มีราคาที่ไม่เหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว  ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้หุ้นคุณภาพดีเลิศปรับตัวลง  ถ้าบริษัทเหล่านั้นเป็นกิจการที่มีคุณสมบัติครบ  ซึ่งรวมถึงการเติบโตที่น่าจะยังไปต่อได้อีกมากโดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดของไทยที่บริษัทยังไม่ได้เข้าไปอีกมาก  ผมคิดว่าบริษัทเหล่านั้นจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเข้าไปซื้อลงทุนระยะยาว  ผลตอบแทนที่จะตามมาเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ  กลับมาเป็นปกติน่าจะอยู่ในอัตราที่ใช้ได้โดยที่ความเสี่ยงอาจจะไม่สูงนัก

Posted by nivate at 10:41 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/17/1400


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 19, 2014, 10:09:08 pm
กฏมา10ข้อ ของแม่ทัพสุมาอี้ พี่นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

1. ซื้อก็ต่อเมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลจนมั่นใจว่ามูลค่าตลาดของหุ้นตัวนั้นต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคตทั้งหมดที่คาดหวังได้ของบริษัทเท่านั้น ซึ่งถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริง ซื้อมาแล้วไม่ต้องขายเลยก็ยังกำไร (กฎข้อนี้สำคัญมากห้ามผ่าฝืนเด็ดขาด)

2. ทิศทางของราคาหุ้นเป็นสิ่งที่ไม่มีทางทำนายได้ อย่าพยายามทำกำไรด้วยการ BLASH การเทรดหุ้นทุกวันเปรียบเสมือนการกระโจนเข้าใส่เครื่องบดเนื้อ

3. ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์บริษัทและอุตสาหกรรมให้มากที่สุด ไม่ต้องให้ความสำคัญกับการทำนายทิศทางเศรษฐกิจมหภาค เรือทุกลำต้องเผชิญพายุเหมือนกันหมด จงพยายามเลือกเรือลำที่ดีที่สุดแทนที่จะพยายามคาดเดาว่าพายุจะมาเมื่อไร

4. ราคาหุ้นไม่มีความสัมพันธ์กับกำไรในปัจจุบันแต่จะวิ่งไปตามความเชื่อของตลาดว่าพรุ่งนี้กำไรของบริษัทจะเป็นเท่าไร หุ้นที่ขึ้นไม่ใช่หุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี แต่หุ้นที่ขึ้นคือหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดีในวันนี้แต่กำลังจะดีขึ้นวันหน้าหรือหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดีอยู่แล้วและจะดีขึ้นไปอีก

5. หุ้นบูลชิพที่เติบโตช้า แม้ downside จะต่ำ -20% แต่ upside ก็ต่ำด้วย +20% หุ้นเติบโตสูงจึงน่าลงทุนมากกว่าเพราะแม้ว่า downside ของมันอาจจะมากถึง -100% แต่ upside ของมันไม่มีขีดจำกัด (อาจเป็น 200% 500% 1000%...) พอร์ตที่มีหุ้นเติบโตสูงหลายๆ ตัวแม้จะผันผวนมากกว่าแต่จะวิ่งได้ไกลกว่าพอร์ตที่เต็มไปด้วยหุ้นบูลชิพในระยะยาวๆ

6. อย่าให้ความสำคัญกับ dividend yield มากนัก เพราะไม่มีกฎว่าบริษัทต้องจ่ายเงินปันผลเท่าเดิมทุกปี จงสนใจว่าบริษัทเอา retained earnings ไปลงทุนทำอะไรมากกว่า มูลค่าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบริษัทลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเท่านั้น

7. หุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่ากับการเสี่ยงมากที่สุด อย่าเสียเวลาคิดว่าควรแบ่งเงินไปลงตราสารหนี้เท่าไรหุ้นเท่าไร เงินส่วนใหญ่ของคุณควรอยู่ในหุ้นกับเงินสดตลอดเวลา อย่ากลัว market crash เพราะในระยะยาวๆ ไม่มีตลาดหุ้นไหนในโลกที่ไม่สามารถกลับมาสูงกว่าจุดสูงสุดเดิมได้ เพราะเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยมโตต้องขึ้นเรื่อยๆ

8. จงละเลยหุ้นที่มีประวัติเรื่องเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือมีพฤติกรรมดูแลราคาหุ้นแม้แต่ครั้งเดียว ราวกับว่าบริษัทเหล่านั้นมิได้ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

9. โอกาสในตลาดหุ้นไม่ได้มีมากขนาดหาได้ทุกวันมิฉะนั้นผู้คนคงเลิกทำงานประจำ บริษัทคงเลิกนำเงินไปลงทุนนอกตลาด ในบรรดาหุ้น 20 ตัวที่คุณอยากซื้อในหนึ่งปี จงใช้เงินทั้งหมดที่มีอยู่ซื้อแค่ 1-2 ตัวที่คุณคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดใน 20 ตัวนั้น คุณจะพบว่าคุณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการแบ่งเงินออกเป็น 20 ส่วนเพื่อซื้อทั้ง 20 ตัว

10. นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จร้อยทั้งร้อยมีความคิดที่เป็นอิสระ ถ้าคุณจอดรอไฟแดงอยู่ที่สี่แยกที่ไม่มีรถวิ่งอยู่ แต่รถคันหลังรุมกดดันคุณด้วยการบีบแตรไล่ให้คุณวิ่งออกไปเลย ถ้าคุณไม่สนใจแรงกดดันนั้นและรอจนไฟเขียวจึงค่อยไป คุณมีแนวโน้มที่จะเล่นหุ้นแล้วประสบความสำเร็จครับ

ทุกวันนี้blogของท่านแม่ทัพก็ไปติดอยู่ที่settrade
เป็นblogที่น่าอ่านมากครับ
http://portal.settrade.com/blog/1001ii/
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2014, 01:54:20 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 24 Feb 2014

ก้าวกระโดดของตลาดหุ้นไทย


ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา  หรือตั้งแต่สิ้นปี 2543 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้   ตลาดหุ้นไทยมีการพัฒนามาอย่าง  “ก้าวกระโดด” ในเกือบทุกด้าน

             เริ่มตั้งแต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ปิดที่ประมาณ 269 จุดตอนสิ้นปี 2543 ได้ปรับขึ้นมาเป็นประมาณ 1300 จุดเมื่อสิ้นปี 2556 หรือเติบโตขึ้นเกือบ 4 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยปีละประมาณ 13%   และถ้ารวมปันผลอีกปีละประมาณ 3% ก็จะเห็นว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้นให้ผลตอบแทนถึง 16% ต่อปีแบบทบต้น  ถ้าเราลงทุนระยะยาวต่อเนื่องมาตลอดโดยถือกองทุนรวมอิงดัชนีตลาด  เงิน 1 บาทจะกลายเป็นเงินเกือบ 7 บาท ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีและหาได้ยากมาก  โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงแรกตั้งแต่เปิดตลาดในช่วงต้นปี 2518 จนถึงสิ้นปี 2543 ที่ดัชนีปรับขึ้นน้อยมาก   กล่าวคือ  ในช่วงเวลา 26 ปี  ดัชนีตลาดปรับขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ  3.9%  แบบทบต้น  ดังนั้นต้องถือว่าในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมานั้น  ดัชนีตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นอย่าง  “ก้าวกระโดด”  และนี่ก็ตรงกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2540

               การฟื้นตัวหรือการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์นั้น  ไม่ได้เกิดเฉพาะกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น  เพราะหลังจากภาวะวิกฤติและทุกอย่างเริ่มฟื้นตัวในปี 2544  สิ่งต่าง ๆ  ในตลาดหุ้นก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ  ทุก ๆ  อย่างกำลังดีขึ้นอย่าง  “ก้าวกระโดด”  ในความรู้สึกของผม

            นักลงทุนที่เข้ามาหลังจากปี 2543 นั้น  ผมคิดว่ามี Profile  หรือมีคุณสมบัติหรือมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากนักลงทุนที่  “เล่นหุ้น”  อยู่ในตลาดก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ  เพราะพวกเขากลายเป็น  “นักลงทุน”  ที่เน้นการเลือกซื้อหุ้นที่มี  “พื้นฐาน”  การดำเนินงานที่ดี  หุ้นที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนหรือมีกำไรต่ำ  มีผลประกอบการไม่แน่นอน  หุ้นมีการ  “ปั่น”  โดยนักลงทุน  “ขาใหญ่”  ที่เคยเป็นหุ้น  “ยอดนิยม”  นั้น  หมดความนิยมลงไปอย่างสิ้นเชิง  นักลงทุนหน้าใหม่นั้น  ไม่ใช่  “นักเก็งกำไร” ที่เข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อที่จะ  “เสี่ยงโชค”  อีกต่อไป   พวกเขาคือคนที่มีเงินเหลือเก็บที่ต้องการสร้างผลตอบแทนให้แก่เงินที่พวกเขาอาจจะต้องเก็บไว้เพื่อการเกษียน   พวกเขาคิดว่าการฝากเงินในสถาบันการเงินที่  “ปลอดภัย”  นั้น  “ไม่คุ้มค่า”  เพราะดอกเบี้ยแต่ละปีที่ได้รับนั้นต่ำมาก  ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่เคยสูงกว่า 10% ต่อปีก่อนวิกฤติลดลงมาเรื่อย ๆ  เหลือ 6% ในปี 2542  4% ในปี 2543  3.5% ในปี 2544 และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำกว่า 3% มาเกือบทุกปีในช่วงเวลา 13 ปี

            นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย “รุ่นใหม่” นั้น  จำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่  กินเงินเดือนในบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่  พวกเขาเป็นคนที่มีการศึกษาสูงและมีความคิดที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกับคนรุ่นก่อน  พวกเขาเป็นคน “Gen- X” ที่มีความคิด “เสรี” กล้ารับความคิดใหม่ ๆ  ในทุกด้านของสังคม  และสำหรับเรื่องของเงินทองแล้ว  พวกเขาไม่เดินตามคนรุ่นก่อนที่มักคิดแต่ว่าหนทางแห่งความมั่งคั่งที่ดีและมีคุณธรรมนั้นจะต้อง  “ท่วมไปด้วยหยาดเหงื่อ”  พวกเขาเชื่อว่าหนทางแห่งความมั่งคั่งนั้นมีมากมายและมันมักจะมาจากความคิดสร้างสรรค์และ—การลงทุน  และพวกเขาก็ค้นพบว่าตลาดหุ้นนั้น  คือแหล่งการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะกับพวกเขาที่สุด  ตลาดหุ้นไม่ใช่แหล่ง  “อบายมุข” สำหรับนักเก็งกำไรหรือนักพนันในสายตาของพวกเขาและสังคมอีกต่อไป   นักลงทุนรุ่นใหม่เลิกพูดว่าตนเอง  “เล่นหุ้น”  แต่เป็น  “นักลงทุน”  คนที่ทุ่มเทและศึกษาการลงทุนเลือกแนวทางการลงทุนใหม่ที่กำลังเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยที่เรียกว่า Value Investment ที่เพิ่งถูกนำมาเผยแพร่ในตลาดหุ้นไทยหลังวิกฤติตลาดหุ้นเป็นปรัชญาการลงทุนใหม่   “VI” กลายเป็นสัญลักษณ์ของความโดดเด่นของการลงทุน   คุณภาพของนักลงทุนส่วนบุคคลในตลาดหุ้นไทยนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งปริมาณและคุณภาพ

           บริษัทจดทะเบียนก่อนปี 2544 นั้น  ที่มีขนาดใหญ่ดูเหมือนว่าจะมีแต่หุ้นธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก  หุ้นกลุ่มใหญ่ที่มีอยู่ก็มักจะเป็นบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะของโภคภัณฑ์ เช่น บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  และธุรกิจอื่น ๆ ที่มีรายได้และกำไรที่ไม่แน่นอน  เรียกว่าเป็นกิจการที่มี  “คุณภาพต่ำ”  และเหมาะสำหรับ “เก็งกำไร” เท่านั้น   แต่หลังจากการเข้าตลาดของหุ้น  ปตท. ในปี 2546  ก็ดูเหมือนว่าคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  หุ้นจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทยเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น  เรามีกลุ่มพลังงานที่ใหญ่โตเช่นเดียวกับกลุ่มธนาคาร  เรามีหุ้นที่อิงกับการบริโภคที่ไม่ใช่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์  เรามีหุ้นในกลุ่มสื่อสารที่เติบโตขึ้นมาก  เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่มค้าปลีกและอื่น ๆ  ที่มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างมั่นคง  หุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับในตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันถึง 7 อุตสาหกรรม

            ไม่เพียงแต่ขนาดและคุณภาพของกิจการเท่านั้นที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่น   Corporate Governance หรือบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนของไทยก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่าง  “ผิดหูผิดตา”  ความโปร่งใสของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่นั้นดีขึ้นมาก  บริษัทขนาดกลางและแม้แต่บริษัทขนาดเล็กก็มีเรื่อง “ฉาวโฉ่”  น้อยลง  กรณีของการ “ปั่นหุ้น” ของผู้บริหารก็ลดลงไปมาก  ว่าที่จริง  CG ของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ได้รับการยกย่องว่าดีระดับต้น  ๆ  ของเอเซียโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอย่างจีนที่ยังมีปัญหามากจนนักลงทุนต่างชาติต่างก็ยังไม่สบายใจนักในการลงทุนในหุ้นจีนโดยเฉพาะในบริษัทที่เจ้าของยังเป็นเอกชน  ดังนั้น  พูดโดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่า  คุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น  เติบโตแบบ  “ก้าวกระโดด”  ในช่วง 13 ปีหลัง

            เรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือ  การหาข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลสำหรับนักลงทุน  นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการพัฒนาไปมากหลังวิกฤติเศรษฐกิจ  เริ่มตั้งแต่เวบไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีการจัดเรียงเป็นระเบียบที่ทำให้สามารถดูและวิเคราะห์ได้อย่างสะดวกย้อนหลังไป 4-5 ปี  รวมถึงข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ที่นักลงทุนสามารถหาเพิ่มเติมได้ทั้งจากเวบของตลาดและเวบของ กลต. ทำให้ตลาดหุ้นไทยนั้น   เป็นตลาดที่นักวิเคราะห์ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาบริษัทและหุ้นจดทะเบียนได้อย่างสะดวกโดยเฉพาะใน  “ข้อมูลพื้นฐาน”  ที่จำเป็นในการลงทุน   นอกจากนั้น  ตลาดหุ้นไทยยังได้สร้างโปรแกรมประจำที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมาพบกับนักลงทุนที่เรียกว่า  Opportunity Day ซึ่งทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ข้อมูลในรายละเอียดของบริษัท  เข้าใจกลยุทธ์การดำเนินงานและรู้จักกับผู้บริหารซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนในแบบที่ถูกต้อง  เท่าที่รู้  ยังไม่เห็นมีตลาดหุ้นที่ไหนในเอเชียที่จะเป็นเพื่อนกับนักลงทุนส่วนบุคคลขนาดนี้

            การให้ข้อมูลความรู้ในบริษัทจดทะเบียนและความรู้ทั่ว ๆ  ไปของตลาดทุนในบ้านเรายังขยายไปถึงสื่อต่าง ๆ  โดยเฉพาะทางทีวีที่เรามีช่องที่เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรงอย่างช่อง  Money Channel  ของตลาดหลักทรัพย์  และยังมีทีวีช่องอื่น ๆ  ที่เน้นการลงทุนค่อนข้างมากอย่างกรุงเทพธุรกิจทีวี  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วก็เกิดขึ้นหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงประมาณ 13 ปีที่ผ่านมา  และผมคิดว่านี่เป็นการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด”  ของเรื่องข้อมูลข่าวสารในการลงทุนของตลาดหุ้นไทย
           ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้น  ตลาดหุ้นไทยได้พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลาย ๆ  ด้านที่จำเป็นต่อการลงทุนของนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อย  มันทำให้นักลงทุนค่อนข้างที่จะสบายใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ  อีกหลายตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจพอ ๆ  กัน  และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมยังยึดกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแม้ว่าราคาหุ้นอาจจะแพงกว่าหุ้นในประเทศอื่น ๆ  โดยเปรียบเทียบในขณะนี้
         
Posted by nivate at 11:40 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/24/1402



หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 24, 2014, 10:52:56 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

โลกในมุมมองของ Value Investor         11 กุมภาพันธ์ 55

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

   การวิเคราะห์หุ้นนั้น  เราต้องวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณก่อน  นั่นก็คือ  เขาจะดูตัวเลขผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร  ถ้าดูไม่ดีโดยเฉพาะในปีล่าสุด  เขาก็อาจจะเลิกสนใจไปเลย  ถ้าดูดีหรือดีมาก  เขาก็จะศึกษาต่อทางด้านคุณภาพ  นั่นก็คือ  ดูว่าบริษัทขายอะไร  สินค้าโดดเด่นไหม  แนวโน้มของราคาของสินค้าหรือบริการเป็นอย่างไร  บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหนของอุตสาหกรรม  เป็นต้น   แต่สำหรับผมเองนั้น  ผมมักจะเริ่มต้นวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพก่อน  เริ่มจากการมองด้านการตลาดและต่อเนื่องไปทางด้านต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความได้เปรียบในเชิงแข่งขันของกิจการเทียบกับคู่แข่ง  เมื่อสนใจแล้ว  ผมจึงเริ่มวิเคราะห์ทางด้านปริมาณ  และตัวเลขทางการเงินที่ผมจะดูก่อนเลยก็คือตัวเลขสรุปข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ 4-5 ปี ย้อนหลัง  ที่มีอยู่ในเวบไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์ set.or.th ของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท  และต่อไปนี้คือการแนวการวิเคราะห์ของผม

   ตัวเลขตัวแรกที่ผมสนใจมากก็คือ  กำไรสุทธิ  สิ่งที่ผมมองก็คือ  ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมากำไรของบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง  ถ้ากำไรของบริษัทนั้น  “ลุ่ม ๆ  ดอน ๆ”  นั่นคือ  บางปีก็กำไร  บางปีก็ขาดทุน  แบบนี้ก็อาจจะบอกได้ว่า  กำไรของบริษัทนั้น  “คาดการณ์ได้ยาก”   ดังนั้น  อนาคตกำไรของบริษัทก็คงไม่แน่นอน  อาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้  ลักษณะแบบนี้ผมก็จะรู้ว่าการหามูลค่าที่แท้จริงทำได้ยากมาก  ดังนั้น  บ่อยครั้งผมก็มักจะปล่อย  “ผ่าน”  ไป   ถ้ากำไรของบริษัทมีความผันผวนพอสมควรทีเดียวแต่ก็ยังกำไรอยู่ทุกปี  แบบนี้ผมก็จะดูว่าปีที่แย่ที่สุดเป็นอย่างไร  ถ้าพบว่าปีที่แย่ก็ยังได้กำไรคิดแล้วเท่ากับ  10%ของ Market Cap. หรือของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในปัจจุบัน  แบบนี้  ผมก็คิดว่าหุ้นของบริษัทก็อาจจะยังน่าสนใจ  เพราะถ้าในอนาคตกำไรไม่ต่ำกว่านั้น  การลงทุนซื้อหุ้นของผมในวันนี้ก็ยังทำผลตอบแทนได้ 10%  ต่อปี  ซึ่งถือว่าไม่เลวนัก

   ถ้ากำไร 4-5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็นนั้น  มีความ  “สม่ำเสมอ”  คือขึ้นลงในระดับ 10-20 %  แบบนี้  ผมก็จะสรุปว่ากำไรของบริษัทในอนาคตนั้นน่าจะพอ  “คาดการณ์ได้”  ผมก็จะศึกษาต่อไปว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้นน่าจะเป็นเท่าไรโดยอาจจะเทียบกับกำไรล่าสุดที่ผมเห็น     ถ้ากำไรที่สม่ำเสมอนั้น  เป็นกำไรที่ไม่ค่อยจะเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปีแรกสุดจนถึงปีสุดท้ายที่แสดงในตาราง   ผมก็มักจะสรุปว่าเป็นหุ้นของกิจการที่อาจจะ  “โตช้าหรือไม่โต”  แบบนี้มูลค่าพื้นฐานที่ผมจะให้ก็จะต่ำ  เช่น  อาจจะให้มูลค่าพื้นฐานไม่เกิน 10 เท่าของกำไรของปีล่าสุดที่ผมเห็น   แต่ถ้ากำไร 5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็นนั้น  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจเช่นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 15-20%  แบบนี้ผมก็อาจจะบอกตัวเองว่ามันอาจจะเป็นบริษัทที่กำลังโตเร็ว  ถ้าเป็นแบบนี้  ผมก็จะให้มูลค่ากับหุ้นสูงกว่าหุ้นที่ไม่โตมาก  อาจจะให้มูลค่าเท่ากับ 15-20 เท่าของกำไรของปีล่าสุดก็ได้

   ตัวเลขตัวสำคัญต่อมาที่ผมจะดูก็คือ  ค่า  ROE  หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  ถ้าตัวเลขนี้ในทั้ง 4-5 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 10%  ต่อปี    ผมก็จะบอกตัวเองว่าบริษัทนี้กำไรไม่ดี  เป็นบริษัทที่มีคุณค่าค่อนข้างน้อยในเชิงธุรกิจ  บริษัทไม่ควรลงทุนขยายงานเพิ่มเพราะทำไปก็ไม่คุ้ม  ถ้ามีเงินสดเหลือควรจะจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า  แต่ถ้าค่า ROE ของบริษัทสูงเกิน 15%  ทุกปี  หรืออาจจะสูงเกิน 20%  ทุกปี  แบบนี้ก็แสดงว่าเป็นธุรกิจที่ดีมากเพราะทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นสูงกว่าการลงทุนอื่นของผู้ถือหุ้นเอง  และสูงกว่าต้นทุนการเงินของบริษัท   อย่างไรก็ตาม  ผมก็จะต้องดูเพิ่มว่า  ROE ที่สูงนี้  ไม่ได้เป็นเพราะบริษัทมีหนี้เงินกู้จากธนาคารสูงเกินไปด้วย

   ตัวเลขสำคัญตัวที่สามก็คืออัตรากำไรสุทธิคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย  ตัวเลขนี้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกัน  เช่น  ถ้าเป็นผู้ค้าปลีก  ตัวเลขอาจจะอยู่ที่เพียง 3-5%   แต่ธุรกิจเช่น โรงแรม อาจจะสูงถึง 20%  เหตุผลสำคัญก็คือ  ผู้ค้าปลีกมักมียอดขายสูงดังนั้น  กำไรเพียง 3%  ก็ได้กำไรมากแล้ว  ในขณะที่โรงแรมนั้น  ยอดขายมักจะต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้สร้างโรงแรม  ดังนั้น  Profit Margin ก็จะต้องสูงจึงจะคุ้ม  ประเด็นสำคัญของตัวเลขนี้ก็คือ  ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว  บริษัทที่มี Margin สูงกว่าก็มักจะแสดงว่าเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติหรือคุณภาพที่สูงกว่า  พูดง่าย ๆ  มี Value สูงกว่า   นอกจากตัวเลขรายปีแล้ว  แนวโน้มของตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญมาก  ถ้า  Profit Margin  ค่อย ๆ  เพิ่มขึ้นทุกปี  เช่น  ปีแรกเป็น 4%  ต่อมาเป็น 4.2%  และถึงปีสุดท้ายหรือปีล่าสุดกลายเป็น 5%  แบบนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า  คุณภาพของบริษัทนั้นดีขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้ Value หรือมูลค่าของบริษัทสูงขึ้นเรื่อย ๆ

   ตัวเลขที่สี่ที่ผมสนใจก็คือ    มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ  Market Cap.  นี่คือตัวเลขที่บอกว่าอดีต 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดให้มูลค่าบริษัทเท่าไร  และปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าเท่าไร  ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ   บริษัทมีวอแร้นต์หรือสิทธิที่จะเพิ่มจำนวนหุ้นอยู่หรือไม่และมีมากเท่าไร   เพราะถ้ามีมากและจะออกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก  ตัวเลข Market Cap. ที่เห็นล่าสุดก็อาจจะไม่จริง  เราอาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าสิ่งที่เห็น  ข้อมูลมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นนี้เป็นตัวที่บอกว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไรถ้าเราจะเป็นเจ้าของบริษัททั้งหมด ลองเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขหลาย ๆ  ตัวเราก็จะพอมีไอเดียว่ามันถูกหรือแพง

   ตัวเลขที่ห้าที่สำคัญมากก็คือ ค่า PE ซึ่งบอกถึงความถูกหรือแพงของหุ้นในกรณีที่บริษัท  “มีกำไรที่สม่ำเสมอ”  ค่า PE  ที่ปานกลางก็คือค่า PE ที่เท่า ๆ  กับค่า PE  ของตลาดโดยรวมซึ่งในช่วงนี้มีค่าประมาณ 12 -13 เท่า  ถ้าหุ้นที่เราดูอยู่มีค่า PE ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าถูกและถ้าสูงกว่านี้ก็ถือว่าแพง  แต่หุ้นจะน่าซื้อหรือไม่นั้นต้องดูราคาเปรียบเทียบกับคุณภาพด้วย  ถ้ากิจการดี  ค่า PE จะสูงบ้างก็อาจจะคุ้ม  ตรงกันข้าม  ถ้าบริษัทไม่ดีเลย  ค่า PE แม้ว่าจะต่ำก็อาจจะไม่คุ้มค่า

   ตัวเลขที่หกก็คือค่า PB ซึ่งบอกถึงราคาหุ้นเทียบกับมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิของบริษัท  ค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงนี้ก็ประมาณเท่ากับ 2 เท่าเศษ ๆ ดังนั้น  หุ้นที่มีค่า PB สูงกว่า  2 เท่าก็ถือว่าแพงกว่าค่าเฉลี่ย  อย่างไรก็ตาม  ค่า PB นั้นก็มักจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่สินทรัพย์มีราคาตลาดใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชีอย่างเช่นในกรณีของสถาบันการเงิน  ส่วนบริษัทอีกจำนวนมากนั้น  ค่า PB  ก็บอกอะไรได้ไม่มากนัก

   และสุดท้ายก็คือ  อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน  นี่คือตัวเลขที่บอกว่ามันเป็น  “หุ้นปันผล”หรือเปล่า  ถ้าตัวเลขนี้อยู่ในขั้น 5-6%  เกือบทุกปี  นี่ก็อาจจะบอกได้ว่าหุ้นตัวนี้น่าจะเป็นแนวหุ้นปันผลดี  ความเสี่ยงก็น่าจะต่ำหน่อยและก็อาจจะเหมาะสำหรับบางคนหรือเหมาะสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหุ้นที่ไม่เสี่ยงมาก 




หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 03, 2014, 08:16:07 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 3 March 2014

VI กับความสุข


เป้าหมายในชีวิตของ Value Investor นั้น  ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่ความมั่งคั่งและการมี “อิสรภาพทางการเงิน”  แต่ถ้าคิดให้ลึกขึ้นไปอีกนิดหนึ่งเราก็ต้องบอกว่าเป้าหมายสุดท้ายจริง ๆ นั้นก็คือ  การมีความสุขในชีวิต  ซึ่งเงินก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำให้เรามีความสุข   อย่างไรก็ตาม  ลำพังแต่เงินนั้น  มันอาจจะไม่สามารถสร้างความสุขได้จริง  เพราะความสุขนั้น  มักจะมาจากแหล่งอื่น ๆ  โดยที่เงินเป็นเพียงปัจจัยที่  “อำนวย”  ให้เกิดความสุข  มากกว่าที่มันจะก่อให้เกิดความสุขโดยตัวของมันเอง  เพราะจากการศึกษาของ Arthur Brooks ประธานของสถาบัน American Enterprise ที่มีการเผยแพร่เป็นหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้  ได้พบว่าใครคือคนที่มีความสุขรวมถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร   และในสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้  ผมก็จะพยายามอธิบายว่า  ในฐานะของ VI  เราจะเป็นคนที่มีความสุขไหม  และเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้เรามีความสุขมากที่สุด

           เรื่องแรกที่พบก็คือ  ยีนส์เป็นสิ่งที่มีบทบาทในการกำหนดความสุขของคนเรามาก  ข้อนี้ส่วนตัวผมเองคิดว่าเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง  คนบางคนนั้น แม้ว่าจะไม่ได้มีเงินทองอะไรมากนัก  แต่ชีวิตเขาก็ดูมีความสุขดีกว่าคนที่รวยกว่ามาก  ประเด็นก็คือ  เขามีอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ  เขาไม่เป็นคนที่  “ดิ้นรน”  หาเงินทองอะไรมากนักและพึงพอใจกับการใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ   เขาเป็นคนไม่เครียดและ “ปล่อยวาง”  ในเรื่องต่าง ๆ  ได้มาก  ซึ่งทั้งหมดนั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากยีนส์ของเขาที่กำหนดให้เขาเป็นคนอย่างนั้นมากกว่าที่จะมาจากการอบรมสั่งสอนหรือจากสภาวะแวดล้อมรอบตัว  ในทางตรงกันข้าม  คนอีกคนหนึ่งอาจจะเกิดมาเป็นคนที่มีอารมณ์ “ร้าย”  หรืออารมณ์รุนแรง  มีเรื่องอะไรมากระทบก็จะตอบสนองมากกว่าปกติ  เขาอาจจะเป็นคน  “ขี้หงุดหงิด”  หรืออาจจะเป็นคน  “ขี้กังวล”  หรือมองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา  ดังนั้น  แม้ว่าเขาอาจจะมีเงินมากเหลือเฟือ  เขาก็มักจะมีความสุขน้อยกว่าคนแรก

          นอกจากเรื่องของจิตใจแล้ว  ยีนส์ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดสุขภาพทางกายของแต่ละคนค่อนข้างมาก  คนที่เกิดมามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์  มีภูมิต้านทานโรคสูง  และไม่มีจุดอ่อนของยีนส์ที่จะทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเป็นโรคที่ไม่มีเชื้อเช่น  เบาหวาน  มะเร็ง  และอื่น ๆ  อีกมาก นั้น  ผมคิดว่าเขาน่าจะมีความสุขมากกว่าคนที่เกิดมาด้วยยีนส์ที่อ่อนแอกว่า  มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือมีโอกาสที่จะเกิดโรคความเสื่อมของร่างกายที่จะทำให้เกิดโรคร้ายโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น  ในกรณีแบบนี้  คนที่มียีนส์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านอารมณ์จิตใจและทางด้านร่างกายก็น่าที่จะมีความสุขมากกว่า   และดังนั้น  ผมเองคิดว่าเขาเป็นคนที่โชคดีไม่แพ้คนที่  “เกิดมารวย”

           ข้อสรุปเรื่องที่สองก็คือ  ความยากจนนั้น  จะลดความสุขในชีวิตลง  แต่คนที่มีเงินถึงจุดหนึ่งแล้ว  เงินที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ช่วยให้ความสุขเพิ่มขึ้นมากนัก  ประเด็นก็คือ  เงินเท่าไรถึงจะเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขเกือบเต็มที่?  สำหรับเรื่องนี้  ผมคิดว่าคำตอบคงขึ้นอยู่กับแต่ละคน  แต่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ  เราจะต้องดูว่ารายจ่ายของเรานั้น  เริ่ม “นิ่ง” หรือยัง?  คนที่ยังไม่แต่งงานหรือยังไม่มีลูกครบจำนวนตามที่ต้องการนั้น  จะไม่สามารถบอกได้เลยว่ารายจ่ายจะเป็นอย่างไรในอนาคต  ดังนั้น  การคำนวณว่าเราจะต้องมีรายได้เท่าไรหรือพอร์ตลงทุนเท่าไรจึงจะทำให้เรามีความสุขค่อนข้างเต็มที่นั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  คำแนะนำของผมก็คือ  เราควรจะมีเงินมากกว่าที่เราคิดว่าจำเป็นที่จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงินซักเท่าตัวเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมีความสุขค่อนข้างเต็มที่ตาม  “ศักยภาพ”  ของเรา

           เรื่องที่สามที่ผมคิดว่าสำคัญมากและคนทั่วไปอาจจะไม่ตระหนักก็คือข้อสรุปที่ว่า  เมื่อความต้องการทางด้านวัตถุและบริการพื้นฐานของเราได้รับการตอบสนองแล้ว  งานที่เราพึงพอใจนั้นมีความสำคัญมากกว่าเงิน  สิ่งที่คนเราต้องการนั้น  ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นความสำเร็จ  แต่จะต้องเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามหรือความสามารถของเราไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดโดยโชคหรือความบังเอิญเช่น  การถูกหวยหรือลอตเตอรี่หรือจากการพนัน  เพราะจากการศึกษาพบว่า  คนที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลแจ็คพอตนั้น  หลังจาก 6 เดือนผ่านไป  ความสุขกลับลดลง  ผมเองคิดว่าคนที่เป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและมีเงินมากนั้น  หลังจากเลิกเล่นแล้ว  แม้ว่าจะยังมีเงินแต่ความสุขน่าจะลดลงมาก  สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จเองนั้น  ผมก็คิดว่า  ความสุขที่เกิดจากการได้เงินนั้นจะเกิดขึ้นมากในช่วงแรก ๆ  แต่ในระยะยาวต่อมาที่มีเงินมากขึ้นและมากขึ้น   ความสุขจากการได้เงินเพิ่มก็จะลดน้อยลงแต่จะกลายมาเป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากกว่า  และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนยังลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ  แม้ว่าจะมีเงินมากมายเหลือเฟือแล้ว

            เรื่องที่สี่ก็คือ  การศึกษาพบว่า  คนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น  โดยทั่วไปมักจะมีความสุขมากกว่าพวกที่เป็นนักเสรีนิยม  เหตุผลนั้นผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะคนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น  มักจะมีที่  “ยึดเหนี่ยว”  มากกว่า  พวกเขามีศรัทธาและความเชื่อต่อศาสนา  ครอบครัว  และขนบธรรมเนียมประเพณีโดยที่อาจจะไม่มีการ  “ตั้งคำถาม” อะไรที่จะทำให้จิตใจว้าวุ่น  ในขณะที่คนที่เป็นนักเสรีชนนั้น  มักจะคิดมากกว่าและตั้งคำถามกับสิ่งเป็นอยู่  ซึ่งบ่อยครั้ง  เขาอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยและต่อต้าน - อย่างน้อยก็ในใจ  และนั่นก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึก  “แปลกแยก”  และทำให้มีความสุขน้อยลง

           การศึกษายังสรุปด้วยว่า  แหล่งของความสุขนั้น  อย่างน้อยมี 4 อย่างที่สำคัญและอยู่ในความควบคุมของเราเองและไม่เกี่ยวกับเรื่องของเงิน  นั่นก็คือ  ความศรัทธา  ครอบครัว  เพื่อน  และงาน  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  คนเราจะมีความสุขมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเรามีหรือเราสร้างสิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้นในทางที่ดี ๆ  ไว้มากน้อยแค่ไหนด้วย   คร่าว ๆ  ก็คือ  ถ้าเรามีศรัทธาในคำสอนหรือศาสนา  มีครอบครัวที่อบอุ่น  มีเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาหารือได้  และมีงานที่เราพอใจและมีความสุขที่จะทำ  เราก็จะมีความสุขในระดับหนึ่งแล้วเมื่อเทียบกับคนที่  “ขาดตกบกพร่อง”  ในประเด็นดังกล่าว  ว่าที่จริงมีการศึกษาที่พบว่าคนที่เข้าโบสถ์โดยเฉลี่ยมีความสุขกว่าคนที่ไม่ไป  คนที่แต่งงานมักมีความสุขมากกว่าคนโสด  เช่นเดียวกับคนที่มีเพื่อนมากและคนที่พึงพอใจในงานที่มักจะมีความสุขมากกว่าคนที่มีเพื่อนน้อยและไม่ชอบงานของตนเอง

           การเป็น VI นั้น  ผมคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียในแง่ของความสุข  เรื่องของพื้นฐานสุขภาพใจและกายที่เป็นเรื่องของยีนส์นั้น  เราเลือกไม่ได้เป็นเรื่องของ  “ดวง”  แต่การเป็น VI โดยเฉพาะที่ประสบความสำเร็จพอสมควรนั้น  ผมคิดว่าจะช่วย “ปลดปล่อย”  ความเครียดและความกังวลจากงานประจำและน่าจะมีเวลาที่จะดูแลสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้นซึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้มีความสุขมากขึ้น  นี่เป็นข้อดีที่ผมเห็นข้อแรก   เรื่องของเงินหรือความยากจนที่อาจจะทำให้ความสุขลดลงนั้น  ผมก็คิดว่าการเป็น VI น่าจะช่วยได้ไม่น้อย  โดยเฉพาะถ้าเราลงทุนทบต้นไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินของเราเพิ่มพูนขึ้นตามอายุของเราซึ่งจะสอดคล้องกับรายจ่ายของเราที่มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อเรามีลูกและต้องดูแลคนสูงอายุ  ดังนั้น  นี่ก็ส่งเสริมความสุข  ประเด็นต่อมาคือเรื่องของงานหรือความสำเร็จจากการกระทำนั้น  ผมเชื่อว่า  VI ส่วนใหญ่น่าจะชอบการลงทุนของตนเอง  พวกเขาอยากทำงานนี้  และจะมีความสุขเมื่อเห็นพอร์ตโตขึ้นอย่างมั่นคง  นี่ก็เป็นความสุขที่สำคัญ  สุดท้ายที่ผมคิดว่าการเป็น VI อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความสุขเพิ่มก็คือ  เรื่องของแนวทางของความคิดและสังคม  นั่นก็คือ  VI นั้น  อาจจะเป็นคนที่ “คิดมาก”  กว่าปกติ  หลายคนเป็น “ศิลปินเดี่ยว”  มีความคิดที่อิสระและอาจจะมีเพื่อนน้อย  ซึ่งไม่ส่งเสริมการมีความสุข   อย่างไรก็ตาม  โดยรวมแล้ว  ผมคิดว่า  การเป็น VI นั้น  น่าจะเป็นหนทางที่มีความสุขมากขึ้นและมากกว่าคนอีกหลายอาชีพ

Posted by nivate at 11:56 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/03/1404

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 11, 2014, 05:44:54 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 10 March 2014

Hi-So Party



การใช้เวลาว่างเพื่อการพักผ่อนของผมนั้น   ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการชมละครหลังข่าวในตอนค่ำ  เวลาที่ผมไปจ่ายตลาดประจำสัปดาห์ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสมัยใหม่นั้น  ผมก็มักจะไปแวะตามร้านหนังสือเพื่อที่จะดูว่ามีหนังสือที่เป็นวิชาความรู้ใหม่ ๆ  ที่ผมสนใจไหม   และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ  การแวะดูนิตยสารต่าง ๆ  บนแผงหนังสือซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะดูแค่นางแบบหรือนายแบบและเรื่องราวที่อยู่บนปกหนังสือ  สิ่งที่ผมสนใจนอกจากความรู้และความบันเทิงแล้วก็คือ  “เทรนด์หรือกระแสของสังคม”  ว่าเป็นอย่างไรหรือกำลังไปทางไหน?  สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องของดาราหรือคนที่อยู่บนจอทีวีหรืออยู่บนปกนิตยสาร  เพราะคนเหล่านี้ก็คือคนที่มีชื่อเสียงหรือกำลัง “ดัง”  ด้วยเหตุผลต่าง ๆ  และก็มักจะเป็นคนร่ำรวยเป็นที่อิจฉาหรือหมายปองของคนในสังคม  พวกเขาเป็น “เซเลบ” และอยู่ในสังคมที่เรียกกันว่าเป็น “Hi-So Party”  ความคิดและวิถีชีวิตของพวกเขานั้นมักจะเป็นสิ่งที่ล้ำหรือนำหน้าคนทั่วไปในสังคมหรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่คนในสังคมกำลังทำอยู่   ดังนั้น  การติดตามพวกเขาจะทำให้เรารู้ว่าสังคมกำลังคิดและทำอย่างไรและกำลังไปทางไหนซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการลงทุนหรือนักลงทุน  เพราะประเด็นของเราก็คือ  เราต้องการลงทุนในธุรกิจที่กำลังเติบโต  เราต้องการอยู่ในสิ่งที่เป็นอนาคต  เราต้องการเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่และกำลังเปลี่ยนไปเพื่อที่เราจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้นได้อย่างราบรื่น

          คนที่สูงอายุอย่างผมนั้นหลายคนอาจจะบอกว่าเสียเปรียบที่จะเรียนรู้และเข้าใจความคิดหรือพฤติกรรมของคน  “รุ่นใหม่”  ข้อนี้ผมก็คิดว่าจริง  อย่างไรก็ตาม  ผมมีข้อดีที่พอจะชดเชยความเสียเปรียบได้เหมือนกันนั่นก็คือ  ผมอาจจะเข้าใจ  “การเปลี่ยนแปลง”  ได้มากกว่าคนรุ่นใหม่  เหตุผลก็เพราะผมได้เห็นว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีนั้นแต่ละช่วงเป็นอย่างไร  ใครคือผู้นำหรือเซเลบในสังคม  ความคิดของคนและขนบธรรมเนียมประเพณีในสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง  ซึ่งนั่นก็ส่งผลไปถึงการใช้จ่ายต่าง ๆ  และการเติบโตและร่วงโรยของธุรกิจและกิจการต่าง ๆ  ของประเทศไทยมากกว่าคนรุ่นใหม่ที่อาจจะเห็นเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้   แต่ไม่รู้ว่าในอดีตเป็นอย่างไร   และก็อาจจะทำให้ไม่รู้ว่าอนาคตนั้นอาจจะเปลี่ยนไปได้อีกมากน้อยแค่ไหน  และนี่ก็เป็นข้อได้เปรียบของคนสูงอายุที่พยายาม “หวนรำลึก”  ถึงความหลัง… ตั้งแต่เด็ก

          เริ่มตั้งแต่ผมเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับแรกเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบเศษ ๆ  เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว  ผมก็รู้จักกับเซเลบคนแรกที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์นั่นก็คือ  คุณ อาภัสรา หงสกุล อดีตนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย  หลังจากได้รับตำแหน่ง  คุณอาภัสราก็เป็นข่าวมากมาย  และแน่นอนหนึ่งในเรื่องต่าง ๆ  ก็คือเรื่องของ  “คู่หมาย”  ที่เป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวง  “Hi-So Party”    ซึ่งก็เป็นข้าราชการที่มีอนาคตไกลหรือบุคคลที่สูงศักดิ์ในสายตาของคนในสังคมในช่วงเวลานั้น    นั่นก็แสดงให้เห็นว่า  สังคมไทยในช่วงนั้นยังไม่ได้อยู่ใน  “เทรนด์”  ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะทำให้มี  “เซเลบ” ในวงการอื่น ๆ เป็นเรื่องเป็นราว

          ต่อมาเมื่อผมจบปริญญาตรีและเริ่มทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดระดับอำเภอที่เริ่มมีความ “เจริญ”  เข้าถึงบ้าง   ในช่วงเวลานั้นกลุ่มคนที่สังคมยอมรับว่าร่ำรวยมากกลุ่มหนึ่งก็คือ  เจ้าของร้านทองย่านเยาวราช   ผมจำไม่ได้ว่ามี “เซเลบ”  ที่เป็นเจ้าของร้านทองเยาวราชหรือไม่   แต่สิ่งที่ผมเจอก็คือ  เซเลบ  “ระดับท้องถิ่น”  ที่เป็นลูกสาวเจ้าของร้านทองในอำเภอที่ผมทำงานอยู่  ผมเองคงเป็น  เซเลบระดับท้องถิ่นเหมือนกันเนื่องจากการเป็นวิศวกรในโรงงานขนาดใหญ่ในท้องถิ่นนั้นก็ต้องถือว่ามีศักดิ์ศรีอยู่ไม่น้อยในสายตาของคนที่อยู่ในอำเภอนั้น  ผมเองไม่ได้คิดที่จะจีบสาวที่ว่าเป็นเรื่องเป็นราวอะไร  เพียงแต่จะยกประเด็นให้เห็นว่า  ในช่วงเวลานั้น  สังคมไทยกำลังเริ่มมีธุรกิจเกี่ยวกับทองที่กำลังร้อนแรง  เป็นจุดที่คนไทยเริ่มมีเงินเหลือและต้องรักษาหรือ “เก็บ”  ไว้ในรูปของทองรูปพรรณ  การฝากเงินไว้ในธนาคารยังเป็นเรื่องที่ “ใหม่”  สำหรับคนจำนวนมาก

          ช่วงต่อมาคือยุคที่การเกษตรของไทยกำลังโตเต็มที่นั้น  ผมจำได้ว่าเจ้าของโรงสีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้น  เป็นคนมีชื่อเสียงมากในแวดวงของสังคมและการค้า  บ่อยครั้งเขาให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางหรือนโยบายที่รัฐบาลควรทำเมื่อเกิดภาวะผิดปกติหรือภาวะวิกฤติในเรื่องของข้าวที่เป็นพืชผลส่งออกที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ  แต่หลังจากนั้นไม่นาน  ประเทศไทยก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นประเทศที่ทำอุตสาหกรรมมากขึ้น  เซเลบที่อยู่ในวงการข้าวก็ค่อย ๆ  ลดระดับลง  จนถึงปัจจุบันแม้ว่าเรายังส่งออกข้าวจำนวนมากไม่น้อยกว่าเดิมแต่ความมั่งคั่งหรือสถานะของคนที่อยู่ในวงการข้าวนั้นไม่อาจเทียบได้กับวงการอื่น ๆ  อีกหลายอย่างที่เติบโตเร็วกว่ามากได้

          อุตสาหกรรมแรกที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้าง  “เซเลบ”  ที่รวมไปถึงนักการเมืองชื่อดังก็คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ   “จ้าวพ่อ” สิ่งทอกลายเป็นคนที่เป็นข่าวมากที่สุดในแวดวงของเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ  เวลามีวิกฤติหรือมีปัญหาทั้งเรื่องของการค้าหรือเรื่องแรงงาน  หนังสือพิมพ์ก็จะต้องถามเจ้าของโรงงานสิ่งทอรายใหญ่ของประเทศ  ความร้อนแรงของธุรกิจสิ่งทอนั้นสะท้อนออกมาทางเพลงซึ่ง “ดังระเบิด”  เช่น  เพลง “สาวโรงงาน” ที่ชื่อฉันทนา  แต่แล้ว  เวลาของธุรกิจสิ่งทอก็หมดลง  บริษัทสิ่งทอขนาดใหญ่มากบางแห่งก็ล้มละลาย  จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีเซเลบจากวงการสิ่งทอแล้ว

          จากธุรกิจโรงงานก็ข้ามมาถึงธุรกิจบริการ เช่น  การเงินโดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับธนาคารและหลักทรัพย์ และต่อมาก็คือสื่อสาร  สุขภาพ  อสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าและให้เช่า  ค้าปลีกและภัตตาคาร   นี่คือกลุ่มที่ยังอยู่ใน “เทรนด์”  แม้ว่าความร้อนแรงของแต่ละธุรกิจอาจจะมาไม่พร้อมกันเช่นเดียวกับการสิ้นสุดที่น่าจะไม่พร้อมกันเช่นเดียวกัน

          ธุรกิจธนาคารนั้น  ว่าที่จริงมีเซเลบที่ “ดังระเบิด”  ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นเด็กและช่วงทำงานใหม่ ๆ   เฉพาะอย่างยิ่งก็คือคุณบุญชู โรจนเสถียร อดีตผู้จัดการแบงค์กรุงเทพ ที่ได้ชื่อว่าเป็น  “ซาร์เศรษฐกิจ”  ที่ต่อมาได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และคนในแวดวงธนาคารต่างก็เป็นข่าวและได้รับการร้องขอคำปรึกษาจากผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐอยู่เป็นประจำ  แม้จนถึงทุกวันนี้  นายธนาคารก็ยังเป็นเซเลบอยู่ไม่น้อยซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าธุรกิจธนาคาร  “ไม่มีวันตาย”   ถัดจากธนาคารแล้ว  สื่อสารดูเหมือนจะสร้างเซเลบที่ดังระเบิดสุด ๆ  เมื่อไม่นานมานี้  เจ้าของธุรกิจอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดังขนาดกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ  ในด้านอื่น ๆ  เช่น สุขภาพนั้น  ถึงแม้ว่าจะมีน้อยที่เป็นเซเลบแต่ก็อยู่ในระดับที่เป็นคนรวยระดับต้น ๆ  ของประเทศเช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเซเลบมากมายทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์
          ในด้านของบุคคลธรรมดาที่ทำเงินจากผลการทำงานของตนเองนั้น  ดารา  นักร้อง  ดูเหมือนว่าจะเป็นเซเลบมากขึ้นมากมายโดยอาจจะมีนักกีฬาที่มีชื่อเสียงตามมาห่าง ๆ  โดยที่นักการเมืองที่มีตำแหน่งในระดับรัฐบาลและข้าราชการนั้น  ความเป็นเซเลบได้ตกลงมามาก  สังคมไทยดูเหมือนว่าจะมุ่งเข้าสู่สังคมของการบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ  และนี่ก็น่าจะเอื้ออำนวยต่อสินค้าหรือบริษัทที่เน้นการบริโภคของประชาชนระดับที่เป็น Mass ที่เน้น  “ความหรูหรามีระดับ” แต่มีราคาที่คนส่วนใหญ่พอรับได้  และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงมุมมองเล็ก ๆ  เกี่ยวกับการติดตามสังคมของ Hi-So Party ที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนโดยเฉพาะแบบ VI ที่เน้นการลงทุนระยะยาวตามกระแสของสังคม

Posted by nivate at 10:41 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/03/1404

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 18, 2014, 11:14:09 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 17 March 2014

หุ้นเครื่องแต่งตัว

เมื่อคนมีรายได้มากขึ้นจนสามารถใช้จ่ายในสิ่ง  “จำเป็น”  ของชีวิต เช่น อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และการรักษาโรค ที่เป็นพื้นฐานแล้ว  สิ่งต่อมาที่คนจะใช้จ่ายก็คือ  การทำให้ตนเอง  “ดูดี” โดยเฉพาะในสายตาของเพศตรงข้าม  นี่ก็เป็นเรื่อง  “ธรรมชาติ”  ที่ว่ามนุษย์นั้นมี  “ภารกิจสำคัญ” ที่จะต้อง  เอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์   การทำให้ตัวเองดูดีขึ้นเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามนี้จึงเป็นธุรกิจใหญ่และจะเติบโตได้ดีในภาวะที่คนในสังคมมีรายได้สูงขึ้นจนผ่านจุดที่มีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นอย่างอื่นแล้วและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่คนมีรายได้สูงขึ้น  อาจจะเรียกว่าเป็นสังคมของ  “คนชั้นกลาง” ก็ได้   และนี่ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ากำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย  นั่นก็คือ  คนไทยกำลังมีเงินมากขึ้นถึงจุดที่จะ “แต่งตัว” กันมากขึ้น  และนี่อาจจะทำให้บริษัทหรือหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการแต่งตัวมีโอกาสที่จะเติบโต  เป็นโอกาสในการลงทุนของ VI ที่เน้นการลงทุนระยะยาวได้

           ความหมายของคำว่า  “เครื่องแต่งตัว”  ของผมนั้น  รวมถึงการทำอะไรก็ได้ที่ทำหรือใช้  “ติดกับตัว” เราที่จะทำให้เรา  “ดูดีขึ้น”   ดังนั้น  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงรวมไปถึงเรื่องที่ลึกลงไปถึงผิวหนังเช่น  การศัลยกรรมพลาสติกและการดูแลผิวที่ทำโดยคลินิคเสริมความงามทั้งหลายที่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แม้ว่าจะมีการพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ  และอาจจะเข้าตลาดในไม่ช้า   ธุรกิจนี้ผมคิดว่าน่าสนใจเห็นได้จากการขยายตัวของธุรกิจอย่างรวดเร็วและมีการเปิดกิจการไปทั่วทุกหัวระแหงในที่ชุมนุมชนในเมืองใหญ่ ๆ  รวมถึงในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ก็มีคลินิกเสริมความงามเป็นมาตรฐานกันไปแล้ว

           ธุรกิจต่อมาก็คือ  ธุรกิจเครื่องสำอางซึ่งก็เป็นธุรกิจใหญ่มานานแต่ในช่วงระยะหลังนี้ดูเหมือนว่าจะโตขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในเครื่องสำอางที่มีคุณภาพสูงขึ้นแต่ราคากลับไม่สูงมากนัก  นอกจากนั้น  การใช้เครื่องสำอางของคนไทยในระยะหลังนั้น  เพิ่มจำนวนและปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ   คนไทยยุคใหม่นี้ไม่ได้ใช้แค่แป้งผัดหน้า  แต่เราใช้ตั้งแต่ครีมที่ทำให้ผิวขาว  ครีมทาตัวที่ทำให้ผิวนุ่ม  เรามีผลิตภัณฑ์สารพัดที่ทำให้ผมและตาดูสวยงามขึ้น  เรามีผลิตภัณฑ์สารพัดที่ทำให้ดูอ่อนเยาว์  นอกจากนั้น  ผู้ชายเองก็เริ่มหันมาใช้เครื่องสำอางกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้น  ธุรกิจเครื่องสำอางจึงน่าจะโตได้ดีโดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีคุณภาพแต่มีราคาที่รับได้ของคนชั้นกลาง  ซึ่งในตลาดหลักทรัพย์เราก็บริษัทจดทะเบียนที่เพิ่งเข้าตลาดอยู่ 2-3 บริษัทที่ทำธุรกิจนี้เป็นเรื่องเป็นราว

           ธุรกิจเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นนั้นต้องถือว่าอยู่ในตลาดหุ้นมานานมาก   อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าหุ้นส่วนใหญ่นั้นเป็นเพียงหุ้น  “สิ่งทอ”  ที่ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับคนที่ผลิตและขายเสื้อผ้าที่เป็นสินค้าแฟชั่น  ซึ่งในกรณีแบบนี้  หุ้นก็จะไม่ใช่หุ้นเครื่องแต่งตัวในนิยามของผมจริง ๆ    ในความหมายที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ  เสื้อผ้าที่จะเป็นเครื่องแต่งตัวที่คนไทยรุ่นใหม่ที่มีเงินมากขึ้นต้องการนั้น   จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีแบรนด์ที่ดูดี  มีราคาที่ไม่แพง  และนี่ก็คือสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะโตเร็วในสภาวะของประเทศไทยในช่วงนี้  โดยที่หุ้นที่เข้าข่ายก็คล้าย ๆ  กับในกรณีของเครื่องสำอางที่มักเป็นบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดในระยะหลัง ๆนอกจากเสื้อผ้าแล้ว  พวกรองเท้าและกระเป๋าถือที่เป็นเครื่องหนังก็เป็นเครื่องแต่งตัวอีกอย่างหนึ่งที่โตตามกันไป  อย่างไรก็ตาม  กิจการเหล่านี้ดูเหมือนว่าในเมืองไทยอาจจะเล็กเกินไปหรือไม่มีบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

           กลุ่มสุดท้ายของเครื่องแต่งตัวก็คือ  เครื่องประดับโดยเฉพาะที่เป็นทองหรือเพชรพลอย   ดูเหมือนว่าทองที่เคยเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องแต่งตัวหลักสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนั้นจะถดถอยไปจนเกือบล้าสมัยแล้ว  ส่วนเพชรนั้นผมคิดว่ายังอยู่ในกระแส  เหตุผลก็คงเป็นเพราะคนไทยที่เป็นคนชั้นกลางมีรายได้มากขึ้นในขณะที่ราคาของเครื่องประดับเพชรในปัจจุบันจะไม่ได้ปรับขึ้นไปมาก  การซื้อเครื่องประดับเพชรจึงน่าจะเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตไปได้  และนี่ก็เช่นเดียวกัน  บริษัทที่อยู่ในตลาดที่ทำเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชรก็ยังค่อนข้างใหม่  และสุดท้ายที่เป็นกลุ่มเล็กและผมไม่รู้จะไปรวมไว้กับใครก็คือ   ธุรกิจแว่นตาแฟชั่นซึ่งในเมืองไทยก็ดูเหมือนว่าจะเติบโตขึ้น  คนหันมาใส่แว่นมากขึ้น  และซักวันหนึ่งเราก็อาจจะมีบริษัทขายแว่นเข้ามาจดทะเบียนก็เป็นได้

           ในแง่ของการลงทุน  ผมคิดว่าธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องแต่งตัวนั้นมีความน่าสนใจ  เหตุผลไม่ใช่แค่ว่ามันเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็วเนื่องจากคนไทยรวยขึ้นและต้องการแต่งตัวมากขึ้นเท่านั้น  แต่เป็นเพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เป็นที่  “ต้องการ”  ไม่ใช่สินค้า  “จำเป็น”  ดังนั้น  คนจะยอมจ่ายเงินมากกว่าต้นทุนการผลิตมากด้วยเหตุผลที่ว่าเขา  “พอใจ”  หรือ   “อยากได้”   ด้วยเหตุนี้  สินค้าเครื่องแต่งตัวจึงมักจะมีมาร์จินหรือเปอร์เซ็นต์กำไรขั้นต้นต่อยอดขายสูงเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ๆ  อีกหลายอย่าง  พูดหยาบ ๆ  ก็เช่น  เสื้อผ้าขายตัวแถมตัวก็ยังกำไร  หรือเพชรเม็ดหนึ่งราคาต้นทุนค่าเพชร 3,000 บาทแต่ขาย 10,000 บาท  อย่างไรก็ตาม  ถ้าขายน้อยชิ้น  กำไรที่ได้อาจจะไม่พอกับค่าเช่าหรือค่าโสหุ้ยอื่น   ดังนั้นประเด็นยอดขายที่ทำได้  ซึ่งมักจะอิงกับเรื่องของแบรนด์หรืออื่น ๆ  จึงเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายว่าบริษัทไหนจะกำไรหรือขาดทุน  หรือบริษัทไหนจะกำไรดีมากและบริษัทไหนจะไปไม่รอด

           ความสามารถในการทำการตลาด  ซึ่งรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์  การจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย  การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของบริษัทเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแข่งขัน  บริษัทที่โดดเด่นในช่วงเร็ว ๆ  นี้ที่ผมสังเกตเห็นก็คือบริษัทที่ขายสินค้าที่มีคุณภาพดีและตั้งราคาไม่ใคร่แพง
ที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่รับได้  การออกแบบหีบห่อนั้นต้องดูทันสมัยแนวเกาหลีหรือญี่ปุ่นในกรณีของเครื่องสำอาง  ส่วนทางด้านของเสื้อผ้าและเครื่องประดับอาจจะเป็นแนวของยุโรปที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบ  ช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นดูเหมือนว่าคนจะสนใจซื้อจากร้านที่ขายสินค้าเฉพาะอย่างเช่น  เป็นร้านขายเสื้อผ้าหรือขายเครื่องสำอางที่คนมีโอกาสเลือกสินค้าได้หลากหลาย   อย่างไรก็ตาม  ในกรณีสินค้าราคาถูกลงมาหรือเป็นสินค้าพื้น ๆ  นั้น   ความสะดวกก็เป็นเรื่องสำคัญในการจัดจำหน่าย

          ขนาดของกิจการเทียบกับคู่แข่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะบอกว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือไม่  การมียอดขายที่สูงกว่านั้น  ทำให้บริษัทจะมี Economies of Scale คือมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนซึ่งรวมถึงต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนของสินค้า  และต้นทุนทางด้านการตลาด   การมีสาขาร้านที่ขายสินค้าเฉพาะที่มีจำนวนมากนั้นโดยตัวของมันเองก็เหมือนกับเป็นการโฆษณาเนื่องจากผู้บริโภคจะเห็นบ่อยและช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ  นอกจากนั้น  บริษัทจะสามารถมีสินค้าหลากหลายกว่าคู่แข่งได้  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้จะดึงดูดให้คนอยากเข้าร้านและเลือกซื้อสินค้าของบริษัทมากกว่าคู่แข่งที่มียอดขายน้อยและ/หรือไม่มี “หน้าร้าน” เพียงพอ    ดังนั้น  การได้เปรียบทางด้านของต้นทุนไม่เพียงแต่จะทำให้บริษัทกำไรดีแต่ยังทำให้ยอดขายของบริษัทโตเร็วขึ้นและก่อให้เกิดกำไรเพิ่มขึ้นอีก  เป็นวงจรแห่งความมั่งคั่ง

           ข้อเสียของธุรกิจเครื่องแต่งตัวก็มีอยู่เหมือนกันนั่นคือ  ธุรกิจนี้ใช้ทุนไม่มากและการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย  นอกจากนั้น  ปัจจัยในการแข่งขันเองก็เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายคล้าย ๆ  กับแฟชั่นเหมือนกัน  ความนิยมเกาหลีหรือญี่ปุ่นอาจจะเปลี่ยนไป  ช่องทางการจัดจำหน่ายก็อาจจะเปลี่ยนไปได้ง่ายเนื่องจากสินค้ามักจะเป็นชิ้นเล็ก  ช่องทางใหม่ ๆ  และการตลาดแบบใหม่อาจจะทำให้บริษัทที่ดีเยี่ยมเดิมตกยุคหรือล้าสมัย  นอกจากนั้น  สินค้าจากต่างประเทศที่เรียกว่า  Inter Brand ที่โดดเด่นระดับโลกก็มีโอกาสที่จะเข้ามาแข่งขันกับผู้ที่ประสบความสำเร็จเดิมได้  ดังนั้น  การติดตามข้อมูลและพัฒนาการของหุ้นเครื่องแต่งตัวเป็นเรื่องสำคัญ  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าหากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดขายได้สูง  การทำกำไรก็จะดีมาก  ซึ่งจะทำให้หุ้นของบริษัทเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

           ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการวิเคราะห์ในด้านของตัวธุรกิจซึ่งจะเห็นว่ามีทั้งโอกาสและความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย   การที่จะเลือกลงทุนในหุ้นนั้นเราก็ยังจำเป็นที่จะต้องดูถึงความถูกความแพงหรือความคุ้มค่าของราคาหุ้น  สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือค่า PE ของหุ้นเครื่องแต่งตัวนั้น  ถ้าสูงเกินไปก็ต้องระวังเนื่องจากธุรกิจนี้ของไทยดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับบริษัทระดับซุปเปอร์สต็อกของต่างประเทศบางแห่ง
Posted by nivate at 9:52 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/17/1408


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 24, 2014, 10:32:46 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 24 March 2014

กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก



ในช่วงที่ผมเริ่มเป็น VI ใหม่ ๆ เกือบ 20 ปีมาแล้วนั้น  ผมเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาถูก  เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงนั้นตลาดหุ้นตกต่ำมาก  หุ้นในตลาดแทบทุกตัวต่างก็มีราคา  “ถูก”  การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกจึงทำได้ง่าย  กลยุทธการลงทุนของผมในตอนนั้นก็คือการซื้อหุ้นที่มีคุณภาพพอใช้ได้แต่มีราคาถูกมาก   หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีราคาถูกพอสมควรทีเดียว  ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นพร้อม ๆ  กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ  ราคาหุ้นทั่วไปในตลาดก็ไม่ถูกเหมือนเดิมแต่ก็ยังค่อนข้างถูก   กลยุทธการลงทุนของผมก็เปลี่ยนแปลงไป  ผมหันมาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดีมากที่มีราคาถูกหรือราคา  “ไม่แพง”  เป็นแนวลงทุนแบบ  Super Stock  จวบจนถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นปกติแล้วและตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาเต็มที่ตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น  ส่งผลให้หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นซุปเปอร์สต็อกมีราคาแพงขึ้นมากจนแทบจะไม่เหลือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยในการลงทุน   ปัญหาของผมก็คือ  ถ้าเราได้รับปันผลมาหรือขายหุ้นบางตัวทิ้งเราควรจะเอาเงินไปลงทุนแบบไหน?  และนี่นำมาสู่ประเด็นที่ผมจะพูด  นั่นก็คือ  กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์

             ในภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นนั้น  เรายังมีกลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มที่มีหุ้นราคาถูกอยู่ในความหมายที่ว่า  ค่า PE  ยังต่ำกว่าหรือประมาณ 10 เท่าต้น ๆ    ค่า PB ไม่ถึง 1 หรือหนึ่งเท่าเศษ ๆ  และผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3-4% ของปีล่าสุด  การที่หุ้นมีราคาถูกนั้น   ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดีหรืออาจจะมีปัญหาการทำกำไรในอนาคตทำให้ตลาดไม่ให้คุณค่ามันเท่ากับธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ   อย่างไรก็ตาม  “ตลาดอาจจะผิด”  ในบางอุตสาหกรรมหรือในหุ้นบางตัว   ดังนั้น  กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูกของผมนั้น  หลัก ๆ แล้วก็คือ  พยายามหาหุ้นที่  “ถูกมาก”  ที่ตัวธุรกิจหรือกิจการอาจจะไม่  “เลวร้าย”  อย่างที่ตลาดหรือนักลงทุนทั่ว ๆ  ไปคิด  ลองมาดูกันไปทีละกลุ่มที่อาจจะเป็นเป้าหมายในการลงทุนเนื่องจากว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ยังมีราคาถูกหรือไม่แพงในยามนี้

              หุ้นกลุ่มแรกที่ยังถูกอยู่และก็คงถูกไปเรื่อย ๆ  ก็คือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม  “ตะวันตกดิน”  เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร  ผู้ผลิตสิ่งทอที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแฟชั่น  และอุตสาหกรรมเหล็ก  เป็นต้น  หุ้นในกลุ่มนี้มีปัญหาว่าในระยะยาวแล้วอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นซึ่งทำให้ธุรกิจต้องค่อย ๆ  หดตัวลง  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นถูกกลุ่มนี้จึงไม่มีประโยชน์  โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจะยากมาก  กลยุทธก็อาจจะเป็นว่าเราไม่สนใจจะดู  อย่างไรก็ตาม  คนที่เข้าใจกิจการอย่างลึกซึ้งก็อาจจะหาหุ้นที่ไม่ได้ผลิตสินค้า  “ตะวันตกดิน”  อย่างที่คนอื่นคิดแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น   ถ้าพบบริษัทที่มีอนาคตแต่ราคาถูกมากก็สามารถลงทุนได้  ประเด็นสำคัญก็คือ   เราไม่ควรมองผลประกอบการระยะสั้นแล้วเข้าไปซื้อหุ้นในกลุ่มตะวันตกดินแม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูกมาก

              หุ้นกลุ่มต่อมาที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็คือหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายอานิสงค์จากการที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ  นี้จากผลกระทบเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนตัวลง    การที่หุ้นขายบ้านจัดสรรหรือทำคอนโดมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะธุรกิจนี้อาจจะค่อนข้าง  “อิ่มตัว”  และมีคู่แข่งมาก  อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ  ดังนั้น  โดยปกติที่หุ้นอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มีราคาถูกจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผล  การที่จะหวังให้หุ้นมีค่า PE ที่สูงขึ้นจึงอาจจะหวังไม่ได้มากนัก  ดังนั้น  ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้  นอกจากหุ้นจะต้องถูกมากแล้ว  ผมคิดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่จะมีกำไรมากขึ้นอย่างน้อยในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอย่างค่อนข้างแน่  เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น  ด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น  ราคาหุ้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม  โดยที่ค่า PE ก็ยังเท่าเดิมหรือไม่น่าจะต่ำลง  แต่ถ้าโชคดี  ค่า  PE  ก็เพิ่มขึ้นด้วยเราก็จะได้  “สองเด้ง”   ส่วนข้อที่ต้องระวังก็คือ  อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน  ถ้ามีการปรับขึ้นแรง  ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลง  เช่นเดียวกัน  ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก การซื้อบ้านก็อาจจะลดลงมาก  และนั่นทำให้การลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงพอสมควร

             หุ้นกลุ่มใหญ่มากกลุ่มหนึ่งที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่พอสมควรก็คือหุ้นธุรกิจการเงินซึ่งรวมถึงหุ้น ธนาคาร  เงินทุน  และหลักทรัพย์  หุ้นในกลุ่มนี้ที่นักลงทุนให้คุณค่าน้อยทำให้มีค่า PE PB ไม่สูง  และปันผลตอบแทนค่อนข้างดีนั้น  เป็นเพราะเรื่องของความเสี่ยงที่ “รุนแรง”  ในกรณีของบริษัทที่อิงอยู่กับการปล่อยกู้อย่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทให้สินเชื่อเช่าซื้อทั้งหลาย  โดยที่บริษัทเหล่านี้อาจจะประสบกับปัญหาหนี้เสียที่รุนแรงซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุนหนักหรืออาจจะล้มละลายได้เนื่องจากจำนวนเงินปล่อยกู้นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัทเอง  ส่วนในกรณีของธุรกิจหลักทรัพย์เองนั้น  การแข่งขันในธุรกิจรุนแรงและมักเป็นการแข่งขันกันทางด้านของราคาเป็นหลัก  ในอีกด้านหนึ่งนั้น   ปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทโบรกเกอร์เองนั้น  ก็มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะของตลาด  ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความไม่แน่นอนสูงมาก  ดังนั้นราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จึงไม่สามารถจะแพงเหมือนธุรกิจอื่นที่มีความแน่นอนกว่า

              กลยุทธการลงทุนในธุรกิจปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นแบงค์หรือบริษัทให้กู้เช่าซื้อนั้น  ผมคิดว่าการที่หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกลัวเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในด้านของบุคคลธรรมดา  ดังนั้น กลยุทธที่ควรใช้ก็คือ  เราควรเลือกหุ้นที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มที่ราคาก็ถูกอยู่แล้ว  นอกจากนั้น  เราควรต้องดูว่าหนี้เสียของบริษัทนั้นจะสามารถควบคุมได้ไม่สูงเกินไป  นอกจากนั้น  ความสม่ำเสมอของผลงานในอดีตก็ควรจะต้องเป็นปัจจัยประกอบในการวิเคราะห์ด้วย  ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์นั้น  ผมคิดว่าถ้าจะลงทุนควรจะเน้นที่ความถูกมาก ๆ  เช่น  เฉพาะเงินสดที่มีในบริษัทก็อาจจะมากกว่าราคาหุ้นแล้ว  ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าเลิกบริษัทเอาเงินมาแบ่งกันก็อาจจะคุ้มแล้ว  ผมเองไม่ทราบว่ายังมีหุ้นหลักทรัพย์ที่ถูกขนาดนั้นหรือไม่  แต่นี่ก็คือกลยุทธหนึ่งที่จะซื้อหุ้นหลักทรัพย์

              หุ้นพลังงาน “ดั้งเดิม” บางตัว  นี่คือหุ้นขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานที่มีมานาน  หุ้นบางตัวนั้นขนาดใหญ่มากและทำธุรกิจหลากหลายเกี่ยวกับพลังงาน   แม้ว่ากิจการจะมีกำไรผันผวนตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวไปเรื่อย ๆ  แต่ในระยะยาวแล้ว  กำไร  “ปกติ”  ของบริษัทก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้  อย่างไรก็ตาม  หุ้นในกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ทำให้ขาดแรง  “เก็งกำไร” จากนักลงทุนรายย่อย  นอกจากนั้น  การเติบโตของกิจการเองก็ไม่สูง  ทำให้ตลาดไม่ใคร่ให้คุณค่ามากนัก  ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ถือว่ายังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็ควรจะต้องเข้าใจว่า  ข้อแรก  ราคานั้นไม่ได้ถูกมาก  ข้อสอง  การจะได้ผลตอบแทนมากและเร็วน่าจะยาก  การลงทุนควรจะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนพอสมควรและความเสี่ยงไม่สูง  ส่วนกลยุทธการลงทุนก็เช่นเคย  ต้องเน้นที่หุ้นที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน  ขณะเดียวกัน  ผลประกอบการก็จะต้องมีความสม่ำเสมอมั่นคงพอสมควร  และปันผลที่ได้ก็ต้องค่อนข้างดี  อย่างน้อยควรจะได้ถึง 4%ในปีล่าสุด

              ทั้งหมดนั้นก็คือกลยุทธคร่าว ๆ  ของการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์  การลงทุนนี้  สำหรับผมแล้ว  มันเป็นการเลือกที่เรียกว่า  “Second Best”  คือ  ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้  และจริง ๆ  ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด  แต่มันยังดีกว่าการเก็บเป็นเงินสดไว้ในธนาคาร  การลงทุนในหุ้นถูกแบบนี้  อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ถือไว้ยาวนานมาก  เราต้องคอยเฝ้าดูอยู่เสมอว่ามันถึงเวลาขายหรือยัง  ไม่ใช่แค่ดูหุ้นตัวที่เราลงทุน  แต่ต้องดูว่ามีโอกาสที่จะพบหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่าและถือลงทุนระยะยาวกว่าได้หรือไม่  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  นี่คือการลงทุนที่อาจจะไม่  “ถาวร”  แต่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้  และดังนั้น  มันจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ของพอร์ตของเรา
 
Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/24/1410


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 31, 2014, 12:44:39 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 31 March 2014

Investment by…

เรื่องของการบริหารนั้น  เรามักจะมี “Key Word” หรือเป็นคำที่อธิบายหัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมต่าง ๆ  เช่นคำว่า  “Management by Objective”  หมายความว่าเป็นการบริหารแบบที่ยึดเอา  “เป้าหมาย” เป็นตัวตั้งหรือเป็นหัวใจสำคัญ   ในการลงทุนนั้น  ไม่มีคำแบบนี้ในตำรา  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าการลงทุนนั้น  อาจจะไม่ใคร่มีปัจจัยเดียวที่โดดเด่นขนาดเอามาเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน   อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีคนถามผมว่าผมลงทุนโดย  “ทำอย่างไร?”  คำตอบของผมก็คือ  ผมทำหลายอย่าง  และถ้าจะใช้คำเลียนแบบเรื่องของการบริหาร   ผมจะบอกอย่างนี้ครับ

                เริ่มต้นผมจะบอกว่า  การลงทุนของผมนั้นเป็น  “Investment by walking around” นั่นก็คือ  เวลาผมจะเลือกหุ้นลงทุน  ผมแทบไม่ฟังนักวิเคราะห์หรืออ่านจากบทวิเคราะห์ใด ๆ  เลย  ผมชอบ “เดินหา” ไปเรื่อย ๆ   ความหมายของผมก็คือ  ผมชอบเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางไปทำกิจกรรมเรื่องต่าง ๆ  ในสถานที่ ๆ แตกต่างกันไป  ผมไปทั้งในที่ ๆ เจริญหรือเป็นแหล่งที่คนมีฐานะดีไปกันและไปในที่ ๆ คนชั้นกลางหรือคนจนไปกันหรือเป็นแหล่งของคนชั้นรากหญ้า   ผมชอบไปต่างประเทศและก็เดินเล่นในที่ ๆ  สุดหรูเช่นเดียวกับที่ ๆ เสื่อมโทรม   การทำอย่างนั้น  จริง ๆ  แล้วไม่ใช่ว่าผมตั้งใจทำ  ผมเพียงแต่เป็นคนที่สนใจชีวิตและโลกกว้าง  ผมรู้สึกสนุกที่ได้ไปสัมผัสกับผู้คนที่หลากหลายและได้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของพฤติกรรมที่น่าสนใจของคนที่มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับวัฒนธรรมของคนแต่ละถิ่น  และนี่ก็คือมิติแรกของการลงทุนในแบบของผม  ผมเชื่อว่าการที่เราได้รู้จักหรือสัมผัสกับ  “โลกที่กว้าง” จะทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้นและจะสามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ได้ถูกต้องมากกว่าการอยู่กับที่ในบริเวณแคบ ๆ

               ถัดจากการลงทุนแบบเดินไปหรือท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ  ก็คือ  การลงทุนแบบ  “Investment by watching around” นั่นคือ  การลงทุนของผมนั้น  มาจากการมองหรือสังเกตสิ่งต่าง ๆ  ที่อยู่รอบตัวโดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ  ที่เราสามารถนำไปประกอบในการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่เราจะลงทุน  ผมทำแบบนั้นจนเป็นนิสัยที่ติดตัว   เวลาผมเดินเข้าห้าง  ผมจะมองดูแทบทุกร้านที่ผมเดินผ่าน  ผมดูว่าร้านไหนมีคนมากและร้านไหนเหงา   ผมดูว่ามีสินค้าอะไรขายและมันเป็นอย่างนั้นมานานแล้วหรือมันเพิ่งมีมาไม่นาน   ผมชอบดูคนที่เดินผ่านไปมา  พวกเขามีหน้าตาท่าทางอย่างไร  แต่งตัวอย่างไรและเดินเร็วไหม?   เวลาผมไปบรรยายหรือไปสอนนักศึกษาในแต่ละแห่ง  ผมก็มักจะสังเกตว่าผู้ฟังเป็นอย่างไร  อายุเท่าไร  เขาสนใจมากน้อยแค่ไหน  ผมไม่ค่อยมองผ่าน ๆ  แต่ผมมักจะตั้งใจมอง  ผมคิดว่าการ  “สังเกต” สิ่งต่าง ๆ  นั้น  จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบและหา  “ผู้ชนะ” ได้ถูกต้อง  และนี่ก็คือกระบวนการในการเลือกหุ้นที่สำคัญข้อหนึ่ง

              วิธีการลงทุนของผมข้อต่อมาก็คือ  “Investment by  thinking around”  นี่คือกระบวนการสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ผมมักจะทำตลอดเวลา  นั่นก็คือ  ผมเป็นคนที่คิดตลอดเวลา  เวลาผมพบอะไรหรือสังเกตอะไรอยู่ผมก็จะคิดไปด้วย  เวลาคิดผมจะคิดในแง่ของการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ผมเห็นกับสิ่งที่เป็นแบบเดียวกันที่ผมเก็บไว้ในสมองที่ได้พบมาในอดีต  เวลาผมเห็นว่าร้านอาหารแห่งหนึ่งมีคนรอคิวยาว  ผมก็จะดูว่ามันเป็นอย่างนั้นแทบทุกวันหรือมันมีโปรโมชั่นพิเศษ  สิ่งที่ผมคิดนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีไหม  มันเป็นสถาบันที่ดีไหม  มันเป็นผู้ชนะหรือไม่  และมันจะเติบโตขึ้นหรือไม่ในอนาคต   แม้แต่เวลาที่ผมไม่ได้เดินดูอะไรหรือไม่ใช่เวลาที่ควรจะคิด เช่น  เวลาที่ผมกำลังวิ่งออกกำลังประจำวันในสวนข้างบ้าน  ผมก็มักจะคิดไปเรื่อย ๆ  ทบทวนสิ่งที่ผมเห็นหรือคิดค้างอยู่  ผมรู้สึกว่าเวลาวิ่งเหยาะ ๆ  นั้น  เหมาะกับการคิดในแบบ  “จินตนาการ”  ได้ดีกว่าเวลานั่งอยู่กับที่  บางทีมันอาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในที่กว้างที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีขีดจำกัดในการคิดหรือทำอะไรต่าง ๆ

              นอกจากการคิดแล้ว  ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมากที่สุดหรือใช้เวลามากที่สุดอย่างหนึ่งในแต่ละวันก็คือการอ่าน  ดังนั้น  หลักสำคัญของวิธีการลงทุนของผมก็คือ  “Investment by reading around”  ความหมายในข้อนี้ก็คือ  วิธีหาหุ้นลงทุนของผมนั้นมาจากการวิเคราะห์ที่ผมใช้ศาสตร์หรือความรู้ต่าง ๆ  หลากหลายมาก  และการที่จะมีความรู้แบบนั้นได้ก็หมายความว่าผมต้องอ่านหนังสือมากมายในหลาย ๆ  สาขาวิชาไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องของเศรษฐศาสตร์  การเงิน  การลงทุน  หรือเรื่องของการบริหารธุรกิจเท่านั้น  ว่าที่จริง  เวลาที่ใช้อ่านหนังสือถ้าคิดเป็นเรื่องของวิชาการแล้ว  ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่าจะมากที่สุด  ทั้งประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ  เหตุผลที่ผมชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์นั้น  เป็นเพราะมันช่วยเล่าเรื่องของ  “วิวัฒนาการ”  ของสิ่งต่าง ๆ และของมนุษย์  ซึ่งจะทำให้ผมได้  “ภาพกว้าง”  หรือ  “ภาพใหญ่”  ซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ  เกิดขึ้นอย่างไร  ใครชนะ  ใครแพ้  และอนาคตน่าจะมุ่งไปทางไหน  และที่สำคัญที่สุด  ใครจะเป็นผู้ชนะ?   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  การลงทุนก็คือการที่เราต้อง  “Reading around”   

              หลักการลงทุนข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญหรือหัวใจข้อหนึ่งในการลงทุนที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จก็คือ  “Investment by staying around”  หรือการลงทุนที่ลงทุนไปเรื่อย ๆ  ไม่หนีออกจากตลาดในแง่ของพอร์ตความมั่งคั่งนั่นก็คือ  ทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดของผมมักจะอยู่กับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตลอดเวลา  เพราะผมคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนในหุ้นของกิจการคือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว  นี่เป็นข้อหนึ่ง  ข้อที่สองในความหมายของการ Staying around  ก็คือ  ผมอยากลงทุนในหุ้นแต่ละตัวแบบถือยาว  ไม่ต้องคิดขายในเวลาอันสั้น  ผมคิดว่าปรัชญาการลงทุนที่ถูกต้องที่สุดก็คือ  ถ้าบริษัทดีเด่นและสามารถทำกำไรและเติบโตไปได้เรื่อย ๆ  บริษัทนั้นจะต้อง  “รวย”  และรวยขึ้นเรื่อย ๆ  และเราในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของมัน  เราก็จะต้องรวยตามกันไป  ไม่มีทางเป็นอื่น  ดังนั้น  หน้าที่สำคัญของการหาหุ้นลงทุนก็คือ  หาบริษัทที่ดีเยี่ยมและจะเติบโตในระยะยาว

                ความหมายของการ  Staying around ข้อที่สามของผมก็คือ  หัวใจสำคัญของการลงทุนนั้นอยู่ที่  “ระยะเวลาของการลงทุน”   ยิ่งเรามีเวลาลงทุนยาวนานเท่าไร  เราก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น  ทุกปีที่ผ่านไป  หุ้นในพอร์ตของเราควรจะโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 10% ขึ้นไป  ถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 7 ปี  ความมั่งคั่งหรือเงินเราก็โตขึ้นไปไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าตัว  ซึ่งผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก—ถ้าเราอายุยังน้อยและ/หรือมีสุขภาพดี  และเรายึดมั่นอยู่กับการลงทุนในหุ้นตลอดเวลาแม้ในยามที่ทุกอย่างดู  “น่ากลัว”  สำหรับผมแล้ว  การมีเวลาในการลงทุนมากนั้นถือว่าเป็น  “พร” ที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งของการลงทุน  ดังนั้น  เราจะต้องหาเวลาให้ได้มากที่สุดเพื่อที่ว่าเราจะได้อยู่ดูการเติบโตของพอร์ตของเรา  โชคไม่ดีที่ผมอายุค่อนข้างมากแล้วเมื่อเริ่มการลงทุนอย่างจริงจัง   สิ่งที่ผมยังพอจะทำได้ก็คือ  พยายามรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อที่จะทำให้อายุยืนขึ้น  โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องทำงานหรือวิเคราะห์การลงทุนให้หนักหรือเครียดเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนปีต่อปีแต่ทำให้อายุสั้นลง  ความสำเร็จของการลงทุนของผมในยามนี้อยู่ที่ว่าจะสามารถอยู่ลงทุนต่อไปได้อีกกี่ปีมากกว่าเรื่องของผลตอบแทนปีต่อปี  ถ้าจะพูดแบบ  “ดรามา”  หน่อยก็อาจจะบอกว่า   เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราอายุมากจน  “ใกล้ตาย”  การ “ลุ้น” ในเรื่องของผลตอบแทนหรือความมั่งคั่งของเราคงจะออกมาว่า  ปีนี้จะยัง  “Staying around”  หรือยังอยู่ไหม?  ถ้ายังรอดได้  โอกาสก็คือ  เราก็จะรวยขึ้นไปอีก 10%  ไม่ต้องไปคิดว่าจะทำได้ดีแค่ไหนเทียบกับตลาดหรือเทียบกับใคร ๆ

Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/31/1411

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 07, 2014, 10:09:52 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 8 Apr 2014

หุ้นท่องเที่ยว …

การท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่โตต่อเนื่องระยะยาวเป็นเมกาเทรนด์มานานมาก  แม้แต่ในยามที่ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองรุนแรงและยาวนานกว่า 5-6 เดือน อย่างช่วงเร็ว ๆ นี้  การท่องเที่ยวก็ยังคงเติบโตได้ไม่ชะงักเหมือนกับธุรกิจอย่างอื่นทั้ง ๆ  ที่การท่องเที่ยวน่าจะถูก  “ผลกระทบ”  มากกว่า   เหตุผลที่การท่องเที่ยวเติบโตมาตลอดนั้นผมคิดว่ามีสาเหตุหลายประการนั่นคือ  ข้อแรก  การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่อาจจะพูดได้ว่า  “ฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์”  นั่นก็คือ  มนุษย์ที่อยู่รอดมาได้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนั้นก็มักจะเป็นคนที่ชอบการท่องเที่ยวที่จะทำให้สามารถหาอาหารเลี้ยงดูตนเองและเผยแพร่เผ่าพันธุ์โดยการแต่งงานกับคนที่อยู่ต่างถิ่นที่ทำให้เผ่าพันธุ์แข็งแรงไม่เป็นโรคภัยได้ง่าย  ดังนั้น  คนทั่วโลกต่างก็ชอบการท่องเที่ยวเมื่อมีความสามารถที่จะทำได้

          ข้อสอง  การ “เปิดประเทศ” เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวนั้น   เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา  นอกจากนั้น  ข้อมูลข่าวสารที่สามารถส่งถึงกันทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำมากผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็ทำให้คนสนใจไปเที่ยวในประเทศต่างๆ  เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และข้อสาม  ที่อาจจะสำคัญที่สุดก็คือ  ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่าแทบไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของการบินโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นน้อยในขณะที่รายได้ของประชากรในโลกและประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง  ผลก็คือ  คนรายได้ปานกลางสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศหรือจังหวัดไกล ๆ ได้มากขึ้นมาก  และทั้งหมดนั้นก็คือเหตุผลที่ทำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง—เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

          จุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่ามีอยู่ไม่น้อย  ข้อแรกที่ผมคิดว่าค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็คือ  คนไทยนั้น  “ให้บริการ”  ในแบบ  “Human touch” หรือการมี  “จิตใจ” ในการให้บริการสูง   คนไทยจะมีนิสัยอ่อนน้อมกับผู้ที่  “อยู่สูงกว่าตน”  เช่น  อายุหรือตำแหน่งทางสังคมสูงกว่า  นี่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมที่มีมานานและยังไม่ได้จางหายไปมากนัก  ดังนั้น  เวลาที่คนไทยให้บริการ  เราก็มักจะดูว่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติหรือคนที่รวยกว่านั้น  เป็นผู้ที่  “อยู่สูงกว่า”  เราก็จะให้บริการอย่างอ่อนน้อมซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ  ส่วนใหญ่ที่คนมีความรู้สึก  “เสมอภาค”  กันมากกว่าและไม่รู้สึกว่าจะต้องอ่อนน้อมให้กับลูกค้าที่มารับบริการมากนัก  ทำให้บริการในหลาย ๆ  ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยนั้น  มักจะมีความแข็งกระด้างกว่า  ในหลาย ๆ  แห่งที่ผมพบนั้น  บริการอาจจะรวดเร็วมากแต่ความอ่อนโยนนั้นไม่ใคร่มี   ดังนั้น  ความประทับใจจึงไม่เกิดขึ้น

           จุดแข็งข้อที่สองของไทยผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ทะเลและชายหาดที่สามารถนอนเล่นอาบแดดได้ตลอดปี  หาดทรายของไทยหลายแห่งสวยงามมีชื่อติดระดับโลก  ดังนั้น  คนในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นซึ่งจำนวนมากเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูงจึงนิยมมาพักผ่อนตากอากาศ  จริงอยู่  ประเทศที่มีอุณหภูมิคล้าย ๆ  ประเทศไทยและมีชายหาดที่สวยงามไม่น้อยกว่าไทยก็มีอยู่หลายแห่ง  แต่ประเทศเหล่านั้นหลายแห่งก็อาจจะยังไม่พัฒนามากนักโดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคทางด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว  ทำให้ความนิยมของนักท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือสามารถรับนักท่องเที่ยวได้น้อยกว่า

          จุดเด่นข้อสุดท้ายที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยมีความได้เปรียบในด้านของการท่องเที่ยวนั้น  ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น   น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าอีกหลาย  ๆ  ประเทศ  ในขณะที่คุณภาพอาจจะสูงกว่า  ตัวอย่างเช่น  ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถแท็กซี่หรือรถสาธารณะอื่น ๆ  ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักอย่างหนึ่งนั้น  ในประเทศไทยค่อนข้างจะถูกและคุณภาพดีโดยเฉพาะในด้านของอาหาร  นอกจากนั้น  สินค้าโดยทั่วไปของไทยนั้นมีราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น   ดังนั้น  เราจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบต้นทุนต่ำประเภท  “แบ็คแพ็ค”  ได้มาก  และก็มักจะได้รับการโหวตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ  ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่เรื่อย ๆ

           ธุรกิจหรือหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้น  มีหลายกลุ่มแต่ที่โดดเด่นและตรงที่สุดประกอบด้วยหุ้นบริษัทการบิน  ท่าอากาศยาน  และโรงแรมและอาหาร  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องดีเสมอไป  เหตุผลอยู่ที่ว่า  การที่อุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่องยาวนานนั้นจริงอยู่ก่อให้เกิดความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย  ๆ   อย่างไรก็ตาม  มันก็ดึงดูดให้ผู้เล่นทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่เข้ามาลงทุนให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ    ในยามที่กำลังการให้บริการเหลือล้น  ราคาการให้บริการก็อาจจะลดลงทำให้ไม่มีใครอยากเปิดบริการใหม่   ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น  ก็จะทำให้กำลังการให้บริการเริ่มจะไม่ใคร่เพียงพอและส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  สำหรับธุรกิจการบินและโรงแรมแล้ว  เวลาดี ๆ  ของอุตสาหกรรมจะสลับกับเวลาที่ไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ  ในขณะที่ท่าอากาศยานนั้น  ลักษณะของการเป็นผู้ให้บริการแทบจะรายเดียว  ก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมเสมอ

          มองในด้านของผลประกอบการจะพบว่า  ธุรกิจทั้งสามต่างก็เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ  ดังนั้น  ต้นทุนคงที่ของบริษัทต่าง ๆ  จะสูง  แต่ในด้านของต้นทุนแปรผัน  หรือต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการนั้นจะต่ำมาก  นั่นก็คือ  ถ้าเครื่องบินบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 50% ของที่นั่งเป็น  70% รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นเพียงอาหารที่ต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น  และนี่ก็คล้าย ๆ  กับกรณีของโรงแรมที่มีผู้เข้าพัก 50%  ซึ่งก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับการที่แขกเข้าพัก 70%  และก็เช่นเดียวกับสนามบินที่ค่าใช้จ่ายผันแปรนั้นจะต่ำมากในขณะที่ต้นทุนคงที่ที่เป็นต้นทุนเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคาจะสูงมาก

          ผลกระทบของบริษัทที่มีต้นทุนคงที่สูงและต้นทุนแปรผันต่ำก็คือ   กำไรหรือขาดทุนของบริษัทจะมีความหวือหวามากขึ้นอยู่กับปริมาณของลูกค้าหรือธุรกิจ  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  บริษัทที่มีปริมาณลูกค้าสูงกว่าจุดคุ้มทุนแล้ว  การเพิ่มขึ้นของลูกค้าหรือรายได้จะช่วยเพิ่มกำไรได้สูง  ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่าไร  กำไรก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นจนกระทั่งเต็มกำลังการผลิต  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าบริษัทมีลูกค้าน้อยลง  บริษัทก็จะขาดทุนรุนแรงเนื่องจากต้นทุนคงที่ที่อยู่ในระดับสูงจะไม่ลดลง  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นของกิจการอย่างการบินและโรงแรมนั้น  การติดตามดู Demand กับ Supply  รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทจึงเป็นหัวใจสำคัญ   โดยที่การเปลี่ยนแปลงในด้านของการบินนั้นจะค่อนข้างรวดเร็วมากเนื่องจากธรรมชาติของเครื่องบินที่สามารถจะ  “บิน”  ได้ ซึ่งทำให้การปรับตัวของการผลิตทำได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม  ธุรกิจการบินยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่ผันแปรอย่างรวดเร็วด้วย  ทำให้การบินนั้นมีความผันผวนของผลประกอบการสูง  ในส่วนของโรงแรมนั้น  การปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานจะทำได้ช้ากว่าเนื่องจากระยะเวลาของการสร้างโรงแรมต้องใช้เวลานาน  ดังนั้น  การเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการจึงเป็นไปอย่างไม่รวดเร็วนัก

           ในส่วนของสนามบินนั้น  ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสดใสกว่า  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากธุรกิจสนามบินนั้นเป็นธุรกิจที่มักถูกควบคุมโดยรัฐ   ราคาค่าบริการจึงถูกควบคุมไม่ให้สูงเกินไปเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและเป็นการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องของการเดินทาง  ดังนั้น  กำไรของกิจการจึงไม่อาจจะทำได้เต็มที่หรือสูงสุดตาม  Demand  หรือความต้องการใช้ของลูกค้า  อย่างไรก็ตาม  ในยามที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว  กำไรก็จะเพิ่มขึ้นเร็วตามการเพิ่มของลูกค้าจนกว่าสนามบินจะ  “เต็มกำลังการให้บริการ”  และต้องลงทุนขยายสนามบินใหม่

          ก่อนที่จะจบการวิเคราะห์  ผมคงต้องเตือนว่า  เรายังต้องพิจารณาในด้านของราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวด้วยว่ามันจะต้องเหมาะสมกับพื้นฐานของมัน  ซึ่งนอกจากธรรมชาติของธุรกิจแล้ว  ก็ยังต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้บริหารและปัจจัยเฉพาะของแต่ละบริษัทด้วย
     
Posted by nivate at 9:57 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/04/08/1416

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 09, 2014, 10:41:24 pm
เซียนหุ้นวีไอ” ต้องการมีอิสระภาพทางการเงิน

นายแพทย์ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ คุณหมอวัยกลางคนวัย 43 ปี เคยล้มเหลวจากการลงทุนเพราะยึดนโยบาย “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ทำให้ “ขาดทุน” จากวอร์แรนท์ตัวหนึ่งถือไว้จนราคาหุ้นแทบเป็น "ศูนย์" จากนั้นก็หยุดเล่นหุ้นไปพักใหญ่ก่อนจะกลับมาซื้อขายอีกครั้งในปี 2544 ด้วยแนวทาง Value Investor อย่างเต็มตัว ปัจจุบันคุณหมอเป็นเจ้าของพอร์ตหุ้นหลักเท่าไร “ไม่รู้” เพราะเจ้าตัวกอดความลับนี้ไม่ยอมเปิดเผย บอกเพียงว่าไม่แตกต่างอะไรจากคณะกรรมการสมาคมวีไอคนอื่นๆ...ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า "พอร์ตคงใหญ่ไม่ใช่เล่น"

หมอมุขเจ้าของชื่อล็อกอิน Paul vi ในเว็บไซต์ไทยวีไอ เปิดเผยกลยุทธ์การลงทุนส่วนตัวให้ฟังว่า หลักๆ จะเน้นดู 7 ข้อ คือ

1.หุ้นตัวนั้นต้องมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูง 15-20% ขึ้นไป ROE จะบ่งบอกความสามารถของผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น “ยิ่งสูง ยิ่งดี” แต่บางครั้งก็มีตัวหลอกเหมือนกัน หากบริษัทนั้นมีหนี้สินจำนวนมาก ฉะนั้นต้องดูดีๆ อย่ารีบเชื่อทันที!

ข้อ 2. หุ้นตัวนั้นต้องมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) สูงกว่า 10% ข้อ 3.ต้องมี PEG ratio น้อยกว่า 1 เท่า คือการเทียบค่า P/E ratio กับการเจริญเติบโตของกำไรสุทธิ (Growth) หาโดยเอาค่า P/E ratio ตั้งหารด้วยเปอร์เซ็นต์การเจริญเติบโตนั้น บริษัทใดที่ราคาหุ้นต่ำจะน่าซื้อ ถ้าค่า PEG ratio เกิน 1 แสดงว่าราคาหุ้นสูงเกินไป

ข้อ 4.ต้องมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ในระดับ 3.5-4% ขึ้นไป ถามว่าทำไมต้องเป็นตัวเลขนี้ เพราะเป็นตัวเลขที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปกติจะอยู่ระดับ 3%

5. หุ้นตัวนั้นต้องมีกระแสเงินสดสูงๆ ยิ่งไม่ต้องจ่ายหนี้ "ผมจะชอบมากเป็นพิเศษ"

ข้อ 6. ผู้บริหารต้องไว้ใจได้ (โปร่งใส) พูดแล้วทำได้จริง ซึ่งเราต้องไปคุยกับผู้บริหารบ่อยๆ ยิ่งเขาถือหุ้น 20-25% ผมยิ่งชอบเพราะมันจะบ่งบอกว่า เขาจะทุ่มเทในการทำงานมากขนาดไหน ข้อสุดท้าย จะดูปัจจัยทางกายภาพ ธุรกิจนี้มีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน โอกาสเติบโตของรายได้และกำไรเป็นอย่างไร สินค้าหรือธุรกิจหลักจะเติบโตไปตามชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และลูกค้านิยมชมชอบสินค้ามากหรือน้อยแค่ไหน ที่สำคัญจะดูว่าคู่แข่งของเขามีใครบ้าง หากจะมีคู่แข่งเกิดขึ้นใหม่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ได้ง่ายหรือยาก

“ผมไม่นิยมดูเส้นเทคนิคและไม่เคยนำมาประยุกต์ใช้ เพราะไม่เข้าใจในหลักการ ส่วนใหญ่จะดูเพียงราคา ณ ปัจจุบัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าที่ประเมินไว้ว่ามันมีส่วนลด (Margin of Safety) เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ เช่น ถ้ามีส่วนลด 40-50% จากมูลค่าที่คิดไว้ก็พอใจที่จะซื้อแล้ว”

เซียนหุ้นคุณพ่อลูกสอง กล่าวต่อว่า ในพอร์ตมีหุ้นที่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ประมาณ 4-5 เท่า อยู่ใน 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.กลุ่มโมเดิร์นเทรด (ไม่บอกชื่อหุ้น) ตัวนี้ชอบมากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดค่อนข้างมาก มีอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์สูง ที่สำคัญการขยายสาขาส่วนใหญ่จะใช้โมเดลเดิมๆ ใช้เงินลงทุนไม่มากสามารถทำซ้ำๆ ได้ตลอดเวลา

ข้อดีของหุ้นโมเดิร์นเทรดตัวที่ลงทุนเขายังสามารถขยายสาขาได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามจังหวัดหัวเมืองขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และหาดใหญ่ รวมถึงหัวเมืองรองๆ เช่น ราชบุรี และนครปฐม เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ไปเปิดสาขาใหม่ พวกโมเดิร์นเทรดเล็กๆ ก็จะตามไปเปิดด้วย

รองลงมา คือ กลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ เช่น กลุ่มสื่อสาร โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย เพราะเขาจะมีอำนาจการต่อรองกับผู้บริโภคสูง และมีแนวโน้มจะเติบโตไปตามวิถีชีวิตของประชาชน

“จุดเด่นของหุ้นสื่อสารตัวนี้ (ที่ลงทุน) คือเขาจะมีกระแสเงินสดเยอะ ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อยี่ห้อสูงไม่ค่อยเปลี่ยนค่าย รวมถึงได้เปรียบในความใหญ่ ที่สำคัญสเปกทางการเงินของเขาตรงใจผมทุกอย่าง (หัวเราะ)"

กลุ่มที่สาม คือ หุ้นเทิร์นอะราวด์ กลุ่มนี้เคยสร้างผลตอบแทนได้ดีมาก โดยมักจะเข้าไปซื้อในช่วงที่ไม่มีนักลงทุนรายใดสนใจ หลังพบว่าธุรกิจนั้นเกิดความผิดพลาดเพียงชั่วคราวหากศึกษาแล้วพบว่าอนาคตเขากำลังจะดีขึ้นจะเข้าไปซื้อไว้ จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจ BizWeek พบว่า นพ.ประมุข เคยเข้าไปลงทุนในหุ้นเทิร์นอะราวด์ อาทิ หุ้นทาพาโก้, ไดเมท (สยาม), พรีบิลท์ และ ซิงเกอร์ประเทศไทย เป็นต้น

“นอกจากนี้ผมก็ชอบลงทุนหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทน 7-10% เพราะมันจะทำให้พอร์ตของผมมั่งคงมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของผมอยู่ในรูปเงินสด หุ้นกู้ และสินทรัพย์อื่นๆ 10-20% ที่เหลือ 80% จะลงทุนในหุ้น โดยจะเน้นลงทุนหุ้นเติบโต 80% อีก 10-20% จะลงทุนหุ้นปันผล"

หมอมุข เล่าต่อว่า ตอนนี้มีหุ้นอยู่ในพอร์ต 8 ตัว ปกติจะถือลงทุนไม่เกิน 10 ตัว มากกว่านี้จะดูไม่ทัน หลังจากที่ซื้อหุ้นตัวไหนแล้วก็จะถือไปจนกว่าราคาหุ้นจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ถ้าราคาหุ้นขึ้นมาถึงราคาที่เหมาะสมแล้วแต่ยังหาตัวใหม่ที่ดีกว่าไม่ได้ ก็จะยังไม่ขาย บางตัวเคยถือนาน 2-3 ปี ระยะสั้นที่สุด 8 เดือน

"ตั้งแต่ผมเปลี่ยนมาลงทุนแนว VI "ผมไม่เคยขาดทุน" เพราะราคาที่ซื้อจะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ไม่ค่อยไล่ราคา..ผมรอได้ ไม่อยากติดบนรถไฟนานๆ (หัวเราะ) อีกอย่างราคาที่ซื้อคิดแล้วไม่แพงเกินไป และทุกครั้งที่ซื้อหุ้นตัวไหนผมจะจดไว้เสมอว่า ซื้อเมื่อไร ซื้อเพราะอะไร ราคาเป้าหมายเท่าไร และจะขายเมื่อไร”

นพ.ประมุข บอกว่า เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปถึงเป้าหมาย ก็จะย้อนกลับไปดูว่าหุ้นตัวนั้นขึ้นเพราะเหตุผลนี้(ที่จดไว้)หรือไม่ ถ้าขึ้นมาเร็วเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบของนักลงทุน แต่ราคายังไม่ถึงเป้าหมายก็อาจจะขายออกไปก่อน แล้วอาจกลับมาซื้อใหม่ถ้าราคาลดลง ตรงกันข้ามหากราคาหุ้นขึ้นเพราะจะมีข่าวดีที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนก็จะถือต่อไป การลงทุนจะถือคติว่า “การเป็นนักลงทุนแนว VI ไม่จำเป็นต้องซื้อจุดต่ำสุด ขายจุดสุงสุดเสมอไป”

คุณหมอ อธิบายยุทธวิธีการซื้อหุ้นของตัวเองให้ฟังว่า หากมั่นใจ 100% จะเข้าซื้อหุ้นตัวนั้น 30% ของพอร์ต (ไม่เกินนี้) วิธีการซื้อจะไม่ซื้อครั้งเดียว 30% แต่จะแบ่งซื้อเป็น 5-10 ไม้ ไม้ละ 10-20% มีทั้งเคาะซื้อทันที และตั้งรอ (ช่อง Bid) เพื่อเฉลี่ยต้นทุนและเพื่อความปลอดภัย เพราะถ้าซื้อทีเดียวบางครั้งความคิดเราอาจยังไม่ตกผลึกพอ แม้จะทำการบ้านมาดีแค่ไหนก็มีโอกาสพลาดได้

"บางคนใจร้อนไม่ยอมรอ..อาจพลาดได้ เวลาซื้อหุ้นกรุณาใจเย็นๆ จงให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นก่อนเสมอ ทุกครั้งที่ผมลงทุนถ้ามีความมั่นใจ 100% มักจะได้กำไร 3-4 เท่า แต่หากมั่นใจหุ้นตัวนั้นเพียง 50% ผมจะซื้อเพียง 10% ของพอร์ต เน้นซื้อแบบตั้งรับ (ตั้งรอ) ไม่ซื้อทันที โดยจะถอยไป 2-3 ช่องราคา บางครั้งก็ไม่ซื้อเลย ขอดูเรื่อยๆ ขอต่อรองราคา ผมจะไม่รู้สึกเสียดายถ้าตกรถไฟ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจธุรกิจ..อย่าซื้อ!!”

จากสถิติการลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณหมอได้รับผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจมาก ในปี 2553 ได้กำไร 100% ปี 2554 ทำกำไรได้ประมาณ 75% น้อยกว่าปี 2553 เพราะราคาหุ้นหลายตัวขึ้นมาสูงแล้ว และหาหุ้นดีๆ ได้ยากขึ้น รวมถึงมูลค่าพอร์ตเริ่มใหญ่ขึ้น ส่วนในปี 2555 ตอนต้นปีตั้งเป้าผลตอบแทนไว้ 40-50% แต่มาถึง ณ วันนี้ กำไรเกินมามากแล้ว เจ้าตัวบอกถ้าเฉลี่ยแต่ละปีได้กำไร 20% ก็ถือว่า “หรู” มากแล้ว

ส่วนคำถามประจำ..คุณหมอมีพอร์ตลงทุนเท่าไร? ความลับนี้เจ้าตัวไม่ยอมเปิดเผยโดยบอกเพียงว่า ทุกวันนี้ได้พบกับ “อิสระภาพทางการเงิน” แล้ว (อยู่ได้โดยให้เงินทำงานให้) คุณหมอบอกว่า กำลังค้นหา "หุ้นที่โลกลืม" ที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในอนาคต ถ้าใครค้นพบหุ้นลักษณะนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงมาก บางครั้งได้กำไร 3-4 เด้ง ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีครึ่ง นั่นเป็นเพราะไม่มีใครสนใจ

"ผมเคยซื้อหุ้นตัวหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เขาเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น เพราะงบการเงินเขาตรงสเปกผมทุกอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของกระแสเงินสด เขามีเยอะมาก ตอนนั้นมีคนบอกผมว่า ประเมินหุ้นตัวนี้ยากนะ แต่หลังจากผมหาข้อมูลจนครบถ้วนก็ซื้อเลยเพราะเชื่อว่าหุ้นตัวนี้ไปได้ไกลแน่นอน สุดท้ายก็เป็นจริง"

สำหรับหุ้นที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเลย นพ.ประมุข กล่าวว่า หุ้นที่มีการฟ้องร้องทางกฎหมายมีคดียาวเป็นหางว่าว รวมถึงหุ้นที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และหุ้นที่มีปัญหาด้านศีลธรรม ยิ่งเป็นหุ้นที่มีผู้บริหารไม่โปร่งใสออกแนวสีเทาๆ "ผมไม่ซื้อเลย"

"ผมไม่ค่อยชอบพวกหุ้นโรงงานที่มีการลงทุนเยอะๆ และหุ้นวัฎจักร เช่น คอมมูนิตี้ น้ำมัน และเหล็ก เพราะคาดการณ์ลำบาก ต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา แต่หากเป็นธุรกิจที่มีวัฎจักรยาวๆ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางตัวที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่า ก็ยังพอลงทุนได้"

แม้ชีวิตจะพบกับอิสระภาพทางการเงินแล้ว แต่คุณหมอและภรรยาจะยังยึดอาชีพ "หมอรักษาคนไข้" ต่อไป แต่อาจลดเวลาการทำงานลงบ้างตามอายุ ทุกวันนี้คุณหมอจะสอนลูกทั้ง 2 คน (ผู้หญิงคนโตอายุ 14 ปี และลูกชายอายุ 8 ปี) เกี่ยวกับการลงทุนโดยคนโตเริ่มซึมซับบางแล้ว ส่วนลูกๆจะเลือกเดินทางไหนทั้งสองหมอให้อิสระเต็มที

สุดท้าย

นพ.ประมุข ฝากบอกนักลงทุนมือใหม่ว่า นักลงทุนที่ดีควรจะเป็น “นักสำรวจ” ที่ดีด้วย ต้องหมั่นไปดูสินค้าที่เราเป็นเจ้าของ เช่น ไปเยี่ยมชมเคาน์เตอร์ หรือไปดูสินค้าตามห้าง และไปถามว่าเขาขายดีหรือไม่ เราจะได้กลับมาประเมินอนาคตของหุ้นตัวนั้นได้ถูก
"หนทางนี้จะนำท่านไปสู่คำว่า "อิสระภาพทางการเงิน" ได้หรือไม่..อยู่ที่ตัวของท่านเองแล้ว” คุณหมอกล่าวปิดท้าย
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 09, 2014, 11:08:31 pm
World’s VI


(http://clubvi.files.wordpress.com/2011/08/benjamin_graham_3001.jpg)

เบนจามิน เกรแฮม
(1894-1976)
“บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เบนจามิน เกรแฮม คือปรมาจารย์การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 เขาได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” เกรแฮมเป็นผู้นำเสนอทฤษฏีใหม่ๆ ต่อแวดวงการลงทุนโลก ในยุคที่ทุกคนต่างมองหุ้นเป็นการเก็งกำไร นอกจากนี้ ตัวเขายังเป็นที่ปรึกษาและอาจารย์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคปัจจุบัน

เกรแฮมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียด้วยผลการเรียนที่เยี่ยมยอด ก่อนจะไปทำงานในวอลสตรีทร่วมสิบปี และเติบโตในสายงานอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงออกมาตั้งบริษัทจัดการกองทุนของตัวเอง และได้ร่วมหุ้นกับ พอล นิวแมน ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ เกรแฮมได้ลงทุนด้วยทฤษฏีการลงทุนที่ตัวเองคิดค้นขึ้น และประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ร่วม 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าตลาดเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ด้วยจิตวิญญาณของนักวิชาการ เกรแฮมยังกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียควบคู่ไปด้วย และได้เขียนหนังสือสองเล่ม ซึ่งโด่งดังและได้รับการยอมรับสูงมากในแวดวงการลงทุนสหรัฐฯ นั่นก็คือ “Security Analysis” หรือ “การวิเคราะห์หลักทรัพย์” และ “The Intelligent Investor” หรือ “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด”

โดยเฉพาะหนังสือเล่มหลัง ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้อ่านตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและประทับใจมาก จนตัดสินใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยโคลัมเบียเพื่อที่จะได้เรียนกับเกรแฮม บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า The Intelligent Investor จากปลายปากกาของเกรแฮม คือหนังสือการลงทุนที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

หลักที่เป็นหัวใจของทุกทฤษฏีการลงทุนของเกรแฮมก็คือ การ “ใช้เหตุผล” ในการลงทุน โดยให้คว้าโอกาสจากความผิดพลาดของตลาด อย่าไปบ้าคลั่งตามมัน

เกรแฮมเปรียบเทียบตลาดหุ้นซึ่งมีแต่ความผันผวนและไร้เหตุผลเป็นเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง สมมุติชื่อว่า “Mr.Market”หรือ “คุณตลาด” ชายผู้มีพฤติกรรมแปรปรวน บางวันก็ตื่นกลัวจนไร้สติ บางวันก็อารมณ์ดีเกินเหตุ โดยนักลงทุนต้องรู้จักหาประโยชน์จากความไม่มีเหตุผลของเพื่อนที่แสนดีผู้นี้

นอกจากนี้ เกรแฮมยังชี้ชัดอีกว่า ในการเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนนั้น ควรมี “Margin of Safety”หรือ “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” ราคาหุ้นที่เข้าไปซื้อ ต้องต่ำกว่า “Intrinsic Value” หรือ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” ของบริษัท เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสียหายจากการลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

ที่สำคัญคือ นักลงทุนต้องมอง “หุ้น” เป็นส่วนหนึ่งของ “ธุรกิจ” ต้องมองภาพให้ออกว่าการ “เข้าซื้อหุ้น” คือการ “เข้าซื้อธุรกิจ” อย่ามองหุ้นแบบ “นักเก็งกำไร” คือเข้าไปซื้อหุ้นเพียงเพราะหวังว่าราคาของมันจะสูงขึ้นไป โดยไม่สนใจพื้นฐานใดๆ ไม่สนใจว่าบริษัททำธุรกิจอะไร อย่างไร

แม้หลักการลงทุนของเกรแฮม จะเป็นการเสนอการลงทุนในมิติใหม่ให้กับแวดวงการลงทุนโลก แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหลักที่ “เข้มงวด” และมีความเป็น “อนุรักษ์นิยม” จนเกินไป ทั้งยังเน้นหนักแต่ตัวเลขและงบการเงิน ซึ่งหากยึดหลักของเกรแฮมอย่างเคร่งครัด นักลงทุนอาจสูญเสียโอกาสในการลงทุนงามๆ มากมาย

ในช่วงที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เรียนจบใหม่ๆ เขาได้มาทำงานให้เกรแฮมอยู่ 2 ปี โดยลงทุนด้วยวิธีของเกรแฮมอย่างเคร่งครัด หลายปีต่อมา บัฟเฟตต์ได้พัฒนาตัวเองขึ้นไป และเอาหลักการลงทุนของเกรแฮมไปปรับใช้ โดยเน้นไปที่ “คุณภาพ” ของกิจการมากขึ้น มิใช่ดูแค่เพียง “ตัวเลข” ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงและกลายเป็นนักลงทุนผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์ก็ยังยกคุณความดีให้กับเกรแฮม โดยบอกว่า หลักการลงทุนที่เขาเอามาใช้จนร่ำรวยมหาศาลนั้น มาจากเกรแฮม 85%และ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ 15% ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันถึงความยิ่งใหญ่ของ เบนจามิน เกรแฮม “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

ภาพประกอบ : wikipedia.org

———————–

(http://clubvi.files.wordpress.com/2011/08/philip20fisher.gif?w=253&h=292)
ฟิลลิป ฟิชเชอร์
(1907-2004)
“ผู้จุดประกายให้การลงทุนแบบเน้นการเติบโต”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ฟิลลิป ฟิชเชอร์ เป็นผู้จุดประกายให้วิถีทาง “การลงทุนแบบเน้นการเติบโต” และเป็นหนึ่งในสองบุคคลที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ยึดเป็นแบบอย่างในการลงทุน อีกคนหนึ่งที่บัฟเฟตต์ยึดถือเป็นแม่แบบก็คือ “เบนจามิน เกรแฮม”

ฟิชเชอร์มีใจรักในการลงทุนมาต้ังแต่เด็ก ชอบฟังญาติผู้ใหญ่คุยกันเรื่องหุ้น เมื่อโตขึ้น เขาได้เข้าศึกษาที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยในหลักสูตรที่เรียน อาจารย์ผู้สอนจะพานักศึกษาไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทต่างๆ ทุกสัปดาห์ ทำให้เขาพัฒนาความคิดในการวิเคราะห์ธุรกิจขึ้นมานับตั้งแต่นั้น

เมื่อเรียนจบแล้ว ฟิชเชอร์ได้ไปทำงานธนาคารอยู่หลายปี และสั่งสมความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มเติม ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทจัดการกองทุนของตัวเอง ชื่อ “ฟิชเชอร์ แอนด์ โค” (Fisher & Co.)

“การลงทุนแบบเน้นการเติบโต” (Growth Investment) ตามหลักของฟิชเชอร์นั้น หมายถึงการเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ที่จริงแล้ว ต้องถือว่าการลงทุนประเภทนี้ แยกไม่ออกจาก “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investment) เพราะทั้งสองวิธีล้วนต้องศึกษามูลค่าพื้นฐานของกิจการให้ถ่องแท้ก่อนจะเข้าไปลงทุน

ประเด็นสำคัญที่สุดที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของฟิชเชอร์ก็คือ เขาให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” สูงมาก ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์คุณลักษณะของบริษัทในแง่ที่ไม่เกี่ยวกับตัวเลข เช่น การตลาด การขาย ความสามารถและจริยธรรมของผู้บริหาร ความได้เปรียบในการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือแม้แต่แบรนด์และเฟรนไชส์ของบริษัท ฯลฯ

ฟิชเชอร์มองว่า บริษัทที่น่าลงทุน ต้องไม่เพียงผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค และการจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องมี “การตลาด” ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตัวฟิชเชอร์เองก็อาจถือได้ว่าเป็น “นักการตลาด” ที่ยอดเยี่ยมและมีสายตาอันเฉียบคมคนหนึ่ง

วิธีค้นคว้าหาข้อมูลของธุรกิจที่ฟิชเชอร์ใช้และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ เทคนิค “การล้วงลึก” (Scuttlebutt) โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเชิงลึกเป็นหลัก อาทิ ไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร สัมภาษณ์อดีตพนักงานของบริษัท ตลอดจนสัมภาษณ์พนักงานของบริษัทคู่แข่ง ฯลฯ แล้วเอาข้อมูลมาประมวลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

ที่สำคัญก็คือ ฟิชเชอร์แนะให้ “มุ่งเน้น” (Focus) คือให้ลงทุนในบริษัทที่ “ดีที่สุด” จำนวน “น้อยบริษัท” แทนที่จะลงทุนในบริษัทที่ “ดีปานกลาง” จำนวนมากมายหลายบริษัท

เขาเชื่อว่ายิ่งกระจายการลงทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เรามีเวลาสำหรับบริษัทแต่ละบริษัทที่เข้าไปลงทุนน้อยลงเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง เพราะถูกถัวเฉลี่ยไปในหุ้นหลายตัว

การมุ่งเน้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฟิชเชอร์ที่แตกต่างจาก เบน เกรแฮม โดยสิ้นเชิง เขาย้ำว่า นักลงทุนควรเลือกลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ตนเองมีความชำนาญ

ที่สำคัญก็คือ ฟิชเชอร์บอกไว้ในหนังสือ “Common Stocks and Uncommon Profits” ที่เขาเขียนว่า …

เมื่อตัดสินใจลงทุนในบริษัทใดแล้ว ก็ควรถือหุ้นไว้ตลอดไปโดยไม่จำเป็นต้องขาย เว้นเสียแต่จะพบทีหลังว่าตัวเองวิเคราะห์ผิดพลาด หรือปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับฟิชเชอร์ เขาถนัดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามกับบัฟเฟตต์ที่ไม่ยอมข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเลย สุดยอดการลงทุนครั้งหนึ่งของฟิชเชอร์ คือการเข้าไปซื้อบริษัทเทคโนโลยีนอกสายตาที่ชื่อว่า “โมโตโรล่า” (Motorola) และบริษัทนี้ก็กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้

บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการลงทุนแบบเน้นการเติบโตไม่สนใจ “ราคาหุ้น” ขอเพียงเป็นกิจการพื้นฐานดีที่กำลังโตก็เข้าไปซื้อได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่จริงแล้ว ฟิชเชอร์ เน้นเสมอว่า ราคาของ “หุ้นเติบโต” (Growth Stock)ที่จะเข้าไปลงทุนนั้น ต้องเป็น “ราคาเหมาะสม” (Fair Price) แต่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเท่าไร เขาจึงเคยซื้อหุ้นของบริษัท ณ ราคาซึ่งพีอีเกิน 30 เท่ามาแล้ว

แม้บัฟเฟตต์จะบอกว่า ตัวเขาเป็นส่วนผสมของ “เกรแฮม 85 เปอร์เซ็นต์ และฟิชเชอร์ 15 เปอร์เซ็นต์” แต่หลายคนมองว่า อัตราส่วนนั้นน่าจะกลับกัน เพราะบัฟเฟตต์ลงทุนเหมือนฟิชเชอร์ยิ่งกว่าเกรแฮมเสียอีก

ไม่ว่าเราจะเรียกฟิชเชอร์ว่า “นักลงทุนแบบเน้นการเติบโต” (Growth Investor) หรือ “นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investor) ก็ตาม แต่วิธีลงทุนของเขาก็ถือเป็นแบบอย่างที่วีไอทุกคนควรเรียนรู้และปฏิบัติตาม หากมิได้ต้องการแค่ “ขจัดความเสี่ยง” แต่ “หวังผลเลิศ” และ “ขุมทรัพย์มหาศาล” จากการลงทุน

ภาพประกอบ : wikipedia.org

————————
(http://clubvi.files.wordpress.com/2011/08/sir_john_templeton.jpg?w=212&h=300)

 Sir_John_Templeton
เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน
“อัศวินวีไอ”
(1912-2008)

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในยุคบุกเบิก เขาเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของเบนจามิน เกรแฮม และเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของโลกไม่กี่คนที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นอัศวิน

เทมเพิลตันเกิดเมื่อปี 1912 ในชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบในเมืองวินเชสเตอร์ รัฐเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา เขาถูกปลูกฝังด้านคุณธรรมและจริยธรรมจากพ่อแม่ที่เป็นคนเคร่งศาสนา

พ่อของเขาเป็นนักกฎหมาย  แต่ก็รู้จักลงทุนและทำธุรกิจ โดยมักลงทุนซื้อไร่นาที่ไม่ค่อยมีใครต้องการมาด้วยราคาถูกๆ และขายทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สิ่งนี้ช่วยปลูกฝังจอห์นให้รู้จักมองหาสินทรัพย์ที่ต่ำกว่ามูลค่าอยู่เสมอ

เทมเพิลตันเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก โดยได้เกรด A แทบทุกวิชา เมื่อโตขึ้น เขาสอบเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล และเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนอย่างจริงจัง

ระหว่างนั้น สหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง หรือ “The Great Depression” ทำให้พ่อของเขาประสบปัญหาทางการเงินและไม่มีเงินส่งเขาเรียน จอห์นจึงยิ่งต้องเรียนให้ดีเพื่อให้ได้ทุนการศึกษา มิเช่นนั้นจะไม่มีเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน

แม้วิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน แต่มันก็เป็นจุดสตาร์ทที่ทำให้เทมเพิลตันในวัย 20 เริ่มต้นลงทุนในหุ้น ด้วยความรู้ที่สั่งสมมาประกอบกับสายตาอันเฉียบคม รู้จักมองหาสินทรัพย์ที่ “Undervalued” อยู่เสมอ ทำให้เขามองเห็นว่าหุ้นทั้งตลาดในขณะนั้นราคาถูกจนไม่น่าเชื่อ

พอเรียนจบจากเยล เทมเพิลตันได้ทุนไปศึกษาต่อด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นลงทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จอห์นยังออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก ประสบการณ์จากการท่องเที่ยว ทำให้เขาได้ศึกษาธุรกิจของประเทศต่างๆ ตลอดจนเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เทมเพิลตันเชื่อว่า การจะเข้าใจในบริษัทหนึ่งๆ อย่างถ่องแท้ คุณต้องเข้าใจบริษัทคู่แข่งซึ่งอยู่ในประเทศอื่นๆ ด้วย

ในปี 1937 หลังจากจบอ็อกซ์ฟอร์ด เทมเพิลตันก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนของบริษัทแห่งหนึ่งในนิวยอร์ค จอห์นเปลี่ยนงานอยู่ 1-2 ครั้ง ครั้นถึงปี 1940 เขาได้เข้าซื้อบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนแห่งหนึ่งด้วยเงิน 5,000 เหรียญ และเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มตัว

ในปี 1954 เทมเพิลตันได้ตั้งกองทุนชื่อ Templeton Growth Fund หรือ TGF เริ่มต้นด้วยสินทรัพย์ 7 ล้านเหรียญ (ตอนนั้นเขามั่งคั่งระดับหนึ่งแล้ว)

พอถึงปี 1992 หรือเกือบ 40 ปีต่อมา สินทรัพย์ของกองทุนก็ทวีค่าเพิ่มเป็น 22,000 ล้านเหรียญ ครั้นถึงปี 1997 TGF มีสินทรัพย์ถึง 80,000 ล้านเหรียญ มีผู้ถือหน่วยกว่า 4 ล้านคน เป็นผลงานการลงทุนที่น่าอัศจรรย์มาก

ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เทมเพิลตันได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนักที่เกาะบาฮามาส ในอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ด้วยความศรัทธาในวิถีชีวิตของชาวเกาะที่นั่น และอยากทุ่มเทเวลาเพื่องานการกุศลและศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเชื่อมั่นและศรัทธา โดยตั้งสำนักงานเล็กๆ อยู่บนชั้นสองของร้านตัดผม

ต่อมา เขาได้สัญชาติอังกฤษและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “อัศวิน” จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่สอง เมื่อปี 1987 ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของโลกไม่กี่คนที่ได้รับเกียรติยศอันนี้

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน เสียชีวิตลงในปี 2008 ขณะอายุ 95 ปี มีผู้คำนวณไว้ว่า ใครก็ตามที่ลงทุนใน Templeton Growth Fund ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ ในปี 1954 จนถึงวันที่เทมเพิลตันตาย เงินจำนวนนั้นจะเพิ่มมูลค่ากลายเป็น 7 ล้านเหรียญ เลยทีเดียว

หัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จของเทมเพิลตัน เกิดจากการมุ่งมั่นค้นหาหุ้นราคาถูกไปทั่วโลก เขาไปลงทุนในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งจีน ซึ่งนักลงทุนในเวลานั้นไม่เคยสนใจ และทำกำไรได้มหาศาล การกระจายการลงทุนแบบไร้พรมแดน ทำให้จอห์นพบโอกาสงามๆ มากกว่าคนอื่น และยังช่วยให้เขารอดตัวจากการพังครืนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษ 60 ด้วย

หลักการลงทุนของเทมเพิลตันที่น่าจดจำไปใช้มีอยู่มากมาย เช่น จงอย่าลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะนั่นเท่ากับเป็นการจำกัดโอกาสของตัวเอง โดยให้ติดตามข่าวสารทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างดียิ่ง อีกทั้งต้องมองการณ์ไกลไปข้างหน้าหลายๆ ปี อย่ามองสั้นๆ เพียงแค่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบริษัทนี้ในเดือนต่อไปหรือไตรมาสถัดไป

ที่สำคัญคือต้องรู้จัก “ทำตรงข้ามกับฝูงชน” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของเทมเพิลตัน เขาเป็นเจ้าของคำขวัญ “จงซื้อเมื่อคนอื่นขายอย่างสิ้นหวัง และจงขายเมื่อคนอื่นซื้ออย่างหิวกระหายบ้าคลั่ง”  ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชัดเจนมาก

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน ถูกยกย่องว่าเป็นครูผู้ชี้ทางให้นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าทั่วโลก ซึ่งนอกจากความสามารถในการลงทุนแล้ว การดำรงตนอยู่ในศีลธรรม รู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างสมถะ มัธยัสถ์อดออม ..

ทำให้ “อัศวินวีไอ” ผู้นี้ ได้รับความยอมรับนับถือสูงส่งยิ่ง และสมควรถูกจารึกชื่อไว้ในฐานะตำนานบทหนึ่งของแวดวงการลงทุนโลกอย่างไม่ต้องลังเลสงสัยเลย

แหล่งข้อมูล 1) Wikipedia  2) Investing the Templeton Way: The Market Beating Strategies of Value Investings Legendary Bargain Hunter, 2007. 3) The Great Investors, 2011.

————————

(http://clubvi.files.wordpress.com/2012/12/one-up-on-wall-street.jpg?w=212&h=300)
one-up-on-wall-street
ปีเตอร์ ลินช์
ต้นตำรับ “รวยหลายเด้ง”
(1944 – ปัจจุบัน)

ปีเตอร์ ลินช์ เป็นหนึ่งในนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดในโลก กองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน ที่เขาบริหารอยู่เป็นเวลา 13 ปี ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ยปีละ 29.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นผลงานอันน่าอัศจรรย์และไม่เคยมีใครเทียบเทียมได้จนกระทั่งทุกวันนี้

ลินช์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 1944 ที่สหรัฐอเมริกา สมัยเด็ก เขาทำงานเป็นแคดดี้ที่สนามกอล์ฟ และได้ฟังแขกที่มาเล่นกอล์ฟคุยกันเรื่องหุ้น ทำให้เริ่มสนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ พออายุ 19 ปี เขาได้ทดลองซื้อหุ้นเป็นครั้งแรก โดยซื้อหุ้นของสายการบินฟลายอิ้ง ไทเกอร์ส ที่ราคา 7 เหรียญ ต่อมาหุ้นดังกล่าวทวีค่าเป็น 32.75 เหรียญ นั่นเป็น “หุ้นหลายเด้ง” ตัวแรกในชีวิตของเขา

ต่อมา ลินช์ เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่บอสตัน คอลเลจ ก่อนจะไปต่อปริญญาโท MBA ที่วอร์ตัน ซึ่งเป็น Business School ชั้นนำของโลก แต่ยังคงหาลำไพ่ด้วยการเป็นแคดดี้อยู่เหมือนเดิม นั่นทำให้เขาได้รู้จักกับ ดี. จอร์จ ซุลลิแวน ประธานกองทุนฟิเดลิตี้ และได้มาทำงานช่วงซัมเมอร์ที่ฟิเดลิตี้ โดยได้รับมอบหมายให้เขียนรายงานวิเคราะห์บริษัทต่างๆ

การได้ศึกษาข้อมูลธุรกิจอย่างลึกซึ้ง ทำให้เขารู้ว่าการเรียน MBA จากสถาบันอย่างวอร์ตัน แทบไม่ได้ช่วยอะไรในการลงทุนเลย ตรงกันข้าม กลับจะเป็นผลร้ายเสียด้วยซ้ำ เขาพบว่าทฤษฏีเชิงปริมาณทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ทฤษฏีตลาดทรงประสิทธิภาพ” (EMT) หรือ “ทฤษฏีการเดินสุ่ม” ที่สั่งสอนกันล้วนเป็นเรื่องเหลวไหล และไม่สามารถใช้ได้จริงในโลกแห่งการลงทุน

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลินช์เลิกเชื่อทฤษฏี และหันมาเน้น “ภาคปฏิบัติ” แทน ซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

หลังจากไปเกณฑ์ทหารมาสองปี ลินช์ได้เข้าทำงานเต็มเวลาที่ฟิเดลิตี้ในตำแหน่งนักวิจัย อีกไม่กี่ปีต่อมา เขาได้รับมอบหมายให้บริหารกองทุนแม็คเจลแลน ซึ่งขณะนั้นมีมูลค่า 18 ล้านเหรียญ โดยมีอำนาจในการซื้อขายหุ้นและตัดสินใจต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระ

และลินช์ก็ตอบแทนความไว้วางใจที่บริษัทให้กับเขาอย่างงดงามยิ่ง โดยในเวลา 13 ปี ที่บริหารกองทุน (1977-1990) เขาทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 29.2 เปอร์เซ็นต์ และทำให้มูลค่ากองทุนเพิ่มจาก 18 ล้านเหรียญ เป็น 14,000 ล้านเหรียญ

ใครก็ตามที่เริ่มต้นลงทุนในกองทุนแม็คเจลแลนด้วยเงิน 1,000 เหรียญ ณ วันที่ลินช์เข้ามาบริหาร เงินจำนวนนั้นจะงอกเงยกลายเป็น 28,000 เหรียญ ในวันที่เขาวางมือ

หลักการลงทุนของลินช์คือ ให้เน้น “การเติบโต” เป็นหลัก โดยลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างน้อย “10 เด้ง” หรือ 1,000 เท่า ลินช์บอกว่า นักลงทุนสามารถศึกษาหาข้อมูลในการลงทุนได้ตลอดเวลาจากสิ่งรอบๆ ตัว และไม่ต้องกลัวเลยว่าจะสู้พวกมืออาชีพไม่ได้ เขาเคยบอกว่า คณิตศาสตร์ทุกอย่างที่ต้องใช้ในการลงทุน เราทุกคนเรียนมาแล้วตั้งแต่อายุ 16

ลินช์ยังบอกอีกว่า นักลงทุนสมัครเล่นมีความได้เปรียบเหนือมืออาชีพเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่มีข้อจำกัดในการลงทุน จะลงทุนยังไงก็ได้ ซื้อหุ้นตัวไหนก็ได้ ด้วยเงินเท่าไรก็ได้ ต่างจากผู้จัดการกองทุนที่มีข้อจำกัดมากมาย

ในหนังสือ One Up on Wall Street ปีเตอร์ ลินช์ ได้แบ่งบริษัทออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ บริษัทโตช้า บริษัทแข็งแกร่ง บริษัทที่เป็นวัฏจักร บริษัทที่มีทรัพย์สินมาก บริษัทฟื้นตัว และบริษัทโตเร็ว (หรือบริษัทเฉพาะทาง)

ที่เขาโปรดปรานที่สุดก็คือ บริษัทเติบโต โดยต้องโตได้อย่างน้อย 20% ต่อปี หรือตั้งแต่ 10 เด้ง ถึง 40 เด้ง เขาบอกว่า ถ้าคุณลงทุนในหุ้นแบบนี้เพียง 1-2 ครั้ง คุณจะสบายไปทั้งชีวิตเลยทีเดียว

หลักในการเลือกหุ้นของลินช์ยังมีอีกหลายประการ เช่น ต้องเป็นหุ้นที่มี P/E ต่ำ มีคนสนใจน้อย งบดุลดี ยอดขายโต เงินสดเยี่ยม สินค้าคงเหลือโตช้า บริษัทมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ผู้บริหารต้องถือหุ้นของบริษัท เป็นธุรกิจที่ง่ายๆ แต่ยังโตได้อีกมาก และมีอุปสรรคในการที่คู่แข่งจะเข้ามาในตลาด

ที่สำคัญคือ นักลงทุนต้องเข้าใจบริษัทนั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยสามารถอธิบายได้ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร ภายในเวลา “สองนาที” มิฉะนั้นถือว่า “สอบไม่ผ่าน” และยังไม่ควรเข้าลงทุน

ทั้งนี้ การเข้าใจในตัวบริษัทที่คุณลงทุนสำคัญกว่าเรื่องมหภาค และถ้าได้ลงทุนในบริษัทที่ดีแล้วก็ไม่ควรหวั่นไหวกับราคาที่ผันผวนไปมา เหตุผลเดียวที่คุณควรจะขายหุ้นก็ต่อเมื่อพื้นฐานของมันเปลี่ยนไปเท่านั้น

นอกจากนี้ ลินช์ยังเตือนไม่ให้สนใจเรื่องเทคนิค อย่าไปดูชาร์ต อย่าไปปวดหัวกับเทรนด์บ้าบอ อย่าไปแตะต้องฟิวเจอร์สหรือออปชั่น วิธีที่เหนือกว่าคือวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ อย่างการไปเดินในห้างสรรพสินค้าเพื่อมองหาธุรกิจชั้นดีที่มีลูกค้ามาอุดหนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยตัวลินช์เองก็ใช้วิธีนี้ และทำให้ได้สุดยอดหุ้นมามากมาย

เคล็ดลับประการหนึ่งในการหาหุ้นหลายเด้งก็คือ ให้ลองดูธุรกิจที่น่าเบื่อ เพราะมันมักจะไม่ได้รับความสนใจและทำให้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และควรลงทุนในบริษัทที่แม้แต่ “คนโง่” ยังบริหารได้ เพราะใครจะรู้ว่าสักวันคนโง่อาจจะมาบริหารมัน หุ้นคุณภาพที่ ลินช์ เคยลงทุน (บางตัวเป็น หุ้นหลายเด้ง) ก็อย่างเช่น ดังกิ้น โดนัท, IBM, แฟนนี่ เม, ฟอร์ด, ฟิลลิป มอร์ริส, วอลโว่, จีอี ฯลฯ

ปีเตอร์ ลินช์ เกษียณตัวเองเมื่ออายุเพียง 46 หลังจากบริหารกองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน มาได้ 13 ปี เพราะไม่อยากโหมงานหนักอีกต่อไป ประกอบกับอยากให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น และจะได้ไปทำงานการกุศลอย่างที่ต้องการ

หลังจากวางมือ ลินช์ได้ถ่ายทอดหลักการลงทุนของตัวเองไว้ในหนังสือ 3 เล่ม คือ “One Up on Wall Street”, “Beating the Street” และ “Learn to Earn” ซึ่งเป็นหนังสือการลงทุนที่อ่านสนุก ขายดีและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย ทำให้ชื่อเสียงของเขาขจรขจายไปไกล และมีนักลงทุนหลายชาติหลายภาษาเดินตามแนวทางของเขา

ผลงานอันยอดเยี่ยม บวกกับแก่นความรู้ในการเลือกหุ้นที่ทั้งง่าย มันส์ และเน้นการเติบโต ทำให้แม้จะเกษียณตัวเองไปนานแล้ว นักลงทุนทั่วโลกยังคงจดจำ ปีเตอร์ ลินช์ ในฐานะต้นตำรับ “รวยหลายเด้ง” แห่งแวดวงการลงทุนจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง : Beating the Street, One Up on Wall Street, The Great Investors, Wikipedia

ภาพประกอบ : Forbes.com

————————

(http://clubvi.files.wordpress.com/2011/08/snowball.jpg?w=201&h=300)
 วอร์เรน บัฟเฟตต์
(1951-ปัจจุบัน)
“เทพเจ้าแห่งโอมาฮา”

เขียนโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เขาได้รับการจัดอันดับเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลกโดยนิตยสารฟอร์บส์เมื่อปี 2008 และเป็นอันดับที่ 3 ในปี 2010

ในบรรดามหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก บัฟเฟตต์เป็นคนเดียวที่เป็น “นักลงทุนมืออาชีพ” คือลงทุนอย่างเดียว ไม่ได้ทำธุรกิจอื่นใด ความสำเร็จของบัฟเฟตต์ ทำให้โลกได้รู้จักกับแนวทาง “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” และทำให้ตัวเขากลายเป็นไอดอลของนักลงทุนแบบเน้นปัจจัยพื้นฐานทั่วโลก

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เกิดที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา เป็นลูกชายของโฮเวิร์ด บัฟเฟตต์ นักธุรกิจและ ส.ส.พรรครีพับลิกันหลายสมัย เขามีสายเลือดของผู้ประกอบการและความเป็นนักลงทุนมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย

สมัยเด็ก บัฟเฟตต์รู้จักหาเงินด้วยสมองอันปราดเปรื่อง เขาซื้อโค้กมาหนึ่งแพ็ค 6 ขวด ราคา 25 เซนต์ แล้วเอาไปเร่ขายปลีกในราคาขวดละ 5 เซนต์ ได้กำไรแพ็คละ 5 เซนต์ และเคยเก็บลูกกอล์ฟที่หลงอยู่ในสนามไดรฟ์เอาไปขาย หาค่าขนมได้เป็นกอบเป็นกำ

พอเข้าสู่วัยรุ่น พ่อของเขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. วอร์เรนจึงย้ายตามพ่อไปอยู่ที่วอชิงตัน แต่ก็ยังมุ่งมั่นหาเงินต่อไป เขาหาลำไพ่ด้วยการเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ โดยบุกเบิกเส้นทางส่งหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ หลายสาย และเริ่มสร้างสัมพันธ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ตั้งแต่ตอนนั้น เขาเคยซื้อเครื่องพินบอลมือสองราคา 25 เหรียญไปตั้งในร้านตัดผม และทำเงินได้ถึง 50 เหรียญต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้ผู้เป็นบิดาทึ่งในพรสวรรค์ในการหาเงินของลูกชาย

พอจบมัธยมฯ บัฟเฟตต์ได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดแต่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ทว่านั่นกลับเป็นโชคดี เพราะทำให้เขาตัดสินใจไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อที่จะได้เรียนกับ เบนจามิน เกรแฮม ปรมาจารย์การลงทุน ผู้เขียนหนังสือ The Intelligent Investor ซึ่งเขาเคยอ่านและประทับใจมาก พอเรียนจบ บัฟเฟตต์ถึงกับเสนอตัวที่จะทำงานให้กับเกรแฮมฟรีๆ โดยไม่รับเงินเดือน แต่เกรแฮมปฏิเสธข้อเสนอนี้ บัฟเฟตต์จึงไปทำงานกับบริษัทของพ่อของเขา

แต่แล้ว อีกสามปีต่อมา เกรแฮมก็ชวนเขาไปทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บัฟเฟตต์จึงได้ทำงานกับอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักสมใจ เขาร่วมงานกับเจ้าของฉายา “คณบดีแห่งวอลล์สตรีท” อยู่สองปีเต็ม โดยเรียนรู้แนวทางของเกรแฮมจนหมดไส้หมดพุง ครั้นเกรแฮมเกษียณตัวเอง บัฟเฟตต์จึงกลับไปที่โอมาฮา และเริ่มต้นธุรกิจการลงทุนของเขา ด้วยความรู้ที่ได้ซึมซับจากอาจารย์มาอย่างเต็มเปี่ยม

บัฟเฟตต์รวบรวมเงินทุนจากญาติๆ ได้ 1 ล้านดอลล่าร์ แล้วก่อตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน “บัฟเฟตต์ แอสโซซิเอทส์” (Buffett Associates Ltd.,) ซึ่งต่อมากลายเป็น “บัฟเฟตต์ พาร์ทเนอร์ชิพ” (Buffett Partnership Ltd.,) โดยทำผลตอบแทนได้อย่างน่าอัศจรรย์ และทวีมูลค่าสินทรัพย์จนมีค่ามากกว่า 100 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ตัวบัฟเฟตต์เองก็ได้กลายเป็นมหาเศรษฐี

ความสำเร็จของบัฟเฟตต์ เกิดจากการลงทุนในสุดยอดบริษัทอย่าง เกโค, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส วอชิงตัน โพสต์ ฯลฯ ในเวลาที่ใครๆ พากันมองข้าม รวมทั้งบริษัทนอกตลาดอย่าง ซีส์ แคนดี้, บัฟฟาโล่ นิวส์ ฯลฯ แต่แล้วในปี 1969 เขาตัดสินใจที่จะยุบเลิกห้างหุ้นส่วน เพราะภาวะตลาดกระทิงในขณะนั้นทำให้ไม่สามารถหาหุ้นที่น่าลงทุนได้อีกแล้ว

ครั้นถึงปี 1973 ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง หรือ “The Great Depression” บัฟเฟตต์ซึ่งคอยอยู่นานได้เข้าไปเก็บหุ้นของหลายบริษัท รวมทั้งบริษัทสิ่งทอ เบิร์คไชร์ แฮธาเวย์ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้ซื้อหุ้นไว้พอสมควร แต่แล้วกลับพบว่าเบิร์คไชร์ประสบปัญหาในการแข่งขัน เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอในอเมริกาอยู่ในภาวะขาลง ไม่สามารถต่อกรกับคู่แข่งต่างชาติซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าได้

ปัญหาจากกรณีเบิร์คไชร์ ทำให้บัฟเฟตต์เริ่มคิดใหม่ทำใหม่ จากเดิมที่เคยยึดมั่นลงทุนด้วยหลักของเบนจามิน เกรแฮม อย่างเคร่งครัด เขาเริ่มรู้สึกว่านั่นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสียแล้ว !!

พอถึงปี 1978 บัฟเฟตต์ได้ชักชวน “ชาร์ลี มังเจอร์” นักกฎหมายและนักลงทุนสมองเพชรซึ่งสนิทสนมกันมารับตำแหน่งรองประธานฯ ของเบิร์คไชร์ ซึ่งในเวลานั้นได้ถูกบัฟเฟตต์ทำให้กลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ เป็นกลไกในการเข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ

ชาร์ลี มังเจอร์ ได้ทำให้บัฟเฟตต์ก้าวออกจากเงาของเกรแฮมได้อย่างสมบูรณ์ และกล้าที่จะลงทุนโดยเน้นที่ “คุณภาพของกิจการ” มากขึ้น แทนที่จะมุ่งแต่ “ตัวเลขเชิงปริมาณ” อย่างเดียว

เบิร์คไชร์ภายใต้การกุมบังเหียนของบัฟเฟตต์และมังเจอร์ได้เข้าลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยมมากมาย อาทิ โคคาโคล่า, ดิสนีย์, ยิลเล็ตต์, วอลล์มาร์ท, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ฯลฯ และทำให้ชื่อของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้รับการยอมรับในฐานะนักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

หลักในการลงทุนของบัฟเฟตต์ เป็นการผสมผสานหลักของ เบนจามิน เกรแฮม เข้ากับหลักของ ฟิลิป ฟิชเชอร์ โดยเน้นว่า “ต้องวิเคราะห์ธุรกิจ อย่าวิเคราะห์ตัวหุ้น” อย่าทำตามฝูงชน จงคิดอย่างเป็นตัวเอง ต้องเน้นบริษัทที่มีอนาคตดีเยี่ยม มี “ความได้เปรียบในการแข่งขัน” มี “เฟรนไชส์” มีแบรนด์อันทรงพลัง มี “คูเมือง” หรืออุปสรรคสำหรับคู่แข่งหน้าใหม่ที่จะก้าวเข้ามาทำธุรกิจ มีผู้บริหารที่มีความสามารถและซื่อสัตย์

ที่สำคัญคือ คุณต้องเข้าใจในธุรกิจนั้นๆ อย่างถ่องแท้ โดยต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ใน “ขอบข่ายแห่งความชำนาญ” (Circle of Competence) ของคุณ ธุรกิจใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะดีขนาดไหน ไม่ว่าใครจะสรรเสริญอย่างไร หากบัฟเฟตต์ไม่รู้กระจ่างอย่างแจ่มแจ้ง เขาจะไม่ยอมซื้อหุ้นของมันเป็นอันขาด หลักข้อนี้ทำให้เขาเอาชนะวิกฤตได้ทุกครั้ง อาทิ เมื่อครั้งฟองสบู่ด็อตคอมแตกออกในปี 1999

นอกจากนี้ ราคาหุ้นต้องเป็น “ราคายุติธรรม” (Fair Price) คือต้องถูกหรือไม่แพงเกินไป โดยต้องมี “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” (Margin of Safety) อยู่ในระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” (Intrinsic Value) ของกิจการ และอย่าลืมเอากระแสเงินสดในอนาคตมา “คิดลด” (Discounted Cash Flow) ด้วย

เชื่อไหมว่า หากใครลงทุนกับบัฟเฟตต์ ด้วยเงิน 1,000 ดอลล่าร์ ตั้งแต่แรกเริ่มในปี 1956 จนถึงวันนี้ เงินจำนวนนั้นจะทวีมูลค่ากลายเป็นมากกว่า 25 ล้านดอลล่าร์ จนบัฟเฟตต์ได้รับฉายา “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา”

ในการประชุมประจำปีของเบิร์คไชร์ แฮธาเวย์ ที่จัดขึ้น ณ เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสก้า ได้กลายเป็นเทศกาลที่มีนักลงทุนหลายหมื่นคนทั่วโลกหลั่งไหลไปร่วมงาน เพื่อหวังจะได้พบปะพูดคุย และฟังถ้อยคำคมๆ จากตัวเขาและชาร์ลี มังเจอร์

ปัจจุบัน ในวัย 80 ปี บัฟเฟตต์ได้บริจาคเงินให้กับการกุศลเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้กับ มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ เขาให้คำมั่นสัญญาว่า จนถึงวันที่ตัวเขาตาย ทรัพย์สิน 99 เปอร์เซ็นต์ จะถูกผ่องถ่ายให้กับการกุศล หรือที่เขาเรียกว่า “My Philanthropic Pledge”

นอกจากนี้ ตัวเขาและบิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ยังออกเดินสายเพื่อร่วมรณรงค์ให้มหาเศรษฐีทั่วโลก สัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินของตัวเองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้กับการกุศล รวมทั้งออกมากระตุ้นให้คองเกรสเก็บภาษีคนรวยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก

ความเสียสละอันยิ่งใหญ่และจิตอันเป็นกุศลของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คงไม่เกินเลยไปหากจะบอกว่า เขาได้ยกระดับตัวเอง จากมหาเศรษฐีนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ กลายเป็น “ตำนาน” บทหนึ่งของโลกใบนี้ไปแล้ว

————————-

(http://clubvi.files.wordpress.com/2011/08/boltonbook.jpg?w=201&h=300)

  แอนโธนี่ โบลตัน
“สุภาพบุรุษยอดนักลงทุน”
   (1950-ปัจจุบัน)

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นผู้จัดการกองทุนชื่อดังชาวอังกฤษ เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักลงทุนที่ดีที่สุดของสหราชอาณาจักร แม้ ปีเตอร์ ลินช์ สุดยอดผู้จัดการกองทุนระดับตำนานยังยกย่องว่า โบลตันเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก

โบลตันเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 1950 ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ประเทศอังกฤษ พ่อของเขาเป็นทนายความ และได้เลี้ยงดูฟูมฟักลูกชายในแบบของผู้ดีอังกฤษแท้ๆ เขาเป็นคนบุคลิกดี สุขุม สุภาพ ซื่อสัตย์ รู้จักวางตัวและให้เกียรติผู้อื่น ว่ากันว่าใครที่ได้รู้จักโบลตันต่างนิยมชมชอบเขาแทบทุกคน

โบลตันเรียนจบปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนจะหันเหไปทำงานในสายการเงิน โดยทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์สองแห่ง ก่อนที่ในปี 1979 จะมาลงเอยกับ ฟิเดลิตี้ บริษัทการลงทุนชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ปีเตอร์ ลินช์ ทำงานอยู่ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการลงทุน สาขาลอนดอน คนแรกของฟิเดลิตี้

ทันทีที่รับตำแหน่ง โบลตันได้รับมอบหมายให้บริหารกองทรัสต์ชื่อ Fidelity Special Situations Trust โดยเน้นลงทุนในหุ้นยุโรป เขาได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหาร และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 19.5% ในระยะเวลา 28 ปี ระหว่างปี 1980-2007 เอาชนะ FTSE หรือดัชนีรวมหุ้นทุกตัวถึง 6 %

คนที่ลงทุนในกองทุนที่โบลตันบริหารตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 1980 ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ เงินจำนวนนั้นจะทวีมูลค่ากลายเป็น 1,480,200 เหรียญ ณ สิ้นปี 2007

ตรงจุดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้โบลตันจะทำได้ 19.5% ด้อยกว่า ปีเตอร์ ลินช์ ที่ทำได้ 29.2% เกือบ 10% แต่ลินช์บริหารกองทุนแม็คเจลแลนอยู่เพียง 13 ปี แล้วเกษียณตัวเองอย่างรวดเร็ว ขณะที่โบลตันทำงานต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปี ซึ่งย่อมต้องผ่านวัฏจักรต่างๆ ของตลาดหุ้นมามากกว่า

หลักการลงทุนของโบลตัน ข้อสำคัญที่สุดคือต้องกล้า “สวนกระแส” ต้องกล้าทำตรงข้ามกับฝูงชน รู้จักมองหาหุ้นที่ไม่มีใครสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่กำลังประสบปัญหา แต่มีสัญญาณว่ากำลังจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักเป็นโอกาสงามๆ ในการลงทุน

โบลตันให้ความสำคัญกับพื้นฐานของกิจการตามหลักของ เบนจามิน เกรแฮม เขาเน้นว่าในการซื้อหุ้น เราต้องมองว่ากำลังซื้อ “ส่วนหนึ่งของธุรกิจ” และถามตัวเองว่าถ้าต้องซื้อบริษัทนั้นทั้งบริษัท จะซื้อหรือไม่ รวมทั้งควรศึกษาถึงความได้เปรียบในการแข่งขัน แฟรนไชส์ของบริษัท อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่ง เขานิยมบริษัทที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงถาวร

อีกจุดหนึ่งที่โบลตันให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือเรื่องของ “ผู้บริหาร” เขาเน้นว่าผู้บริหารต้องมีความสามารถ และมีธรรมาภิบาล บริหารงานอย่างโปร่งใส พูดความจริง ไม่โม้ ที่สำคัญคือถ้าทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด จุดนี้จุดเดียวทำให้รู้ได้เลยว่าผู้บริหารคนไหนไว้ใจได้หรือไม่ โดยเขาไม่เคยละเลยที่จะสานสัมพันธ์กับผู้บริหารบริษัทต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ โบลตันจะนัดประชุมกับผู้บริหารของบริษัทที่เขาเข้าไปลงทุนอยู่เสมออย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยเขาจะจดบันทึกรายละเอียดในการประชุมทุกครั้งไว้เสมอ

ในเชิงปริมาณ โบลตันจะพิจารณาราคาหุ้นย้อนหลัง 3 – 10 ปี รวมทั้งตัวแปรอื่นๆ คือ ค่า P/E ค่า P/BV, กระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น (FCF), ดูผลตอบแทนจากเงินลงทุนเป็นกระแสเงินสด (CFROI), ดูอัตราส่วนราคาต่อยอดขาย ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ดูสัดส่วนของหุ้นที่คนในถือ ดูรายงานทางการเงิน อันดับเครดิตของบริษัท ดูความเห็นของนักวิเคราะห์เพื่อทราบถึงความนิยมที่ผู้คนมีต่อหุ้นตัวนั้น

ที่สำคัญคือ โบลตันต้องการชุดของข้อมูลย้อนหลังไป 20 ปี หรืออย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี เขาบอกว่า ข้อมูลที่ไม่ถึง 10 ปี อาจไม่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นๆ

โบลตันเชื่อว่านักลงทุนต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างในการที่จะประสบความสำเร็จ โดยต้องรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้ตรรกะ อย่าใช้อารมณ์ ต้องกล้าคิดอย่างเป็นอิสระ อย่าหลงใหลไปตามกระแสของคนหมู่มาก ขณะเดียวกันก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าหลงลำพอง มีความยืดหยุ่นและกล้าที่จะปรับเปลี่ยน ต้องรู้จักตั้งคำถาม รู้จักวิเคราะห์ รู้จักมองการณ์ไกล โดยให้ดูหุ้นเป็นรายตัว อย่าไปสนใจเรื่องมหภาคมากนัก

ก่อนวางมือไม่นาน โบลตันได้เอาเงินของกองทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นจีน เพราะเล็งเห็นว่าแผ่นดินมังกรจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งการณ์ก็เป็นไปตามที่เขาคาดทุกประการ

โบลตัน เกษียณตัวเองในปี 2007 ขณะอายุ 57 ปี โดยหันไปเล่นดนตรี และเคยออกอัลบั้มของตัวเองด้วย นอกจากนี้ เขายังเขียนคอลัมน์ลงใน นสพ. Financial Times เพื่อให้คำแนะนำด้านการลงทุน ทว่าล่าสุด ในปี 2009 เขาทนความเย้ายวนของตลาดหุ้นจีนไม่ไหว จึงกลับเข้าทำงานกับฟิเดลิตี้อีกครั้งหนึ่ง โดยรับตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายการลงทุน ก่อนจะย้ายไปพำนักในฮ่องกงและเน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะ

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นนักลงทุนในแบบฉบับของ “ผู้ดีอังกฤษ” แท้ๆ ผู้มากไปด้วยความสามารถและอุปนิสัยอันงดงาม การที่ ปีเตอร์ ลินช์ ยกย่องโบลตันว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก ย่อมเป็นเครื่องการันตีความสามารถของสุภาพบุรุษนักลงทุนผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

แหล่งข้อมูล : Wikipedia, The Great Investors

 ————————–

(http://clubvi.files.wordpress.com/2011/08/charlie_munger.jpg?w=229&h=300)
Charlie_Munger
ชาร์ลี มังเกอร์
“ที่สอง ที่โลกต้องจดจำ”
(1924-ปัจจุบัน)

ชาร์ลี มังเกอร์ เป็นรองประธานบริหารของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ เขาเป็นคู่หูของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และเป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างเบิร์คไชร์จนกลายเป็นมหาอาณาจักรการลงทุนที่ยิ่งใหญ่

มังเกอร์เกิดเมื่อปี 1924 ที่โอมาฮา เช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ โดยเขาแก่กว่าวอร์เรน 6 ปี สมัยวัยรุ่น เขาเคยทำงานในร้านขายของชำของคุณปู่ของวอร์เรน และถูกใช้งานหนักมาก แต่ก็ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจมากมายจากการรับจ็อบที่ร้านของครอบครัวบัฟเฟตต์ในครั้งนั้น

คู่หูของบัฟเฟตต์ผู้นี้ เป็นคนเฉลียวฉลาดและเชื่อมั่นในตัวเอง อุปนิสัยติดดิน กินง่ายอยู่ง่ายเช่นเดียวกับปู่บัฟฟ์ ที่ต่างกันคือปู่มังก์มีบุคลิกโผงผาง พูดจาขวานผ่าซากจนหลายคนมองว่าหยาบคาย ต่างจากบัฟเฟตต์ที่สุภาพ พูดจาดี และน่าคบหากว่า

หลังจบมัธยมฯ มังเกอร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ แต่แล้วเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาก็ต้องพักการเรียนและถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพเช่นเดียวกับคนหนุ่มในยุคนั้น โดยประจำการอยู่ที่อลาสก้าในตำแหน่งนักอุตุนิยมวิทยา พอสงครามยุติลง เขาไม่ได้กลับไปเรียนที่มิชิแกน แต่เบนเข็มไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณะนิติศาสตร์ และจบปริญญาตรีในปี 1948 ด้วยดีกรีเกียรตินิยม

หลังจากจบฮาร์วาร์ด มังเกอร์ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง ชื่อ มังเกอร์, โทลส์ แอนด์ โอลสัน โดยตัวเขาเป็นทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ พอถึงปี 1965 เขาวางมือจากการด้านกฎหมาย และหันมาทำงานด้านการลงทุนเต็มตัว โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริษัทการลงทุน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ตั้งแต่ปี 1962-75 บริษัทการลงทุนของมังเกอร์ทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19.8% ต่อปี ขณะที่ ดาวโจนส์ ให้ผลตอบแทนเพียง 5% จนฐานะของมังเกอร์ในเวลานั้น ถือว่าเข้าขั้น “เศรษฐี” เลยทีเดียว

นั่นหมายความว่า ชาร์ลี มังเกอร์ “เก่ง” และ “รวย” ตั้งแต่ก่อนที่จะมาเจอบัฟเฟตต์ ไม่ใช่รวยเพราะมาทำงานกับปู่บัฟฟ์เหมือนที่หลายคนเข้าใจ

ที่จริงแล้ว การพบกันครั้งแรกของมังเกอร์และบัฟเฟตต์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1959 ระหว่างที่มังเกอร์ยังทำงานด้านกฏหมายอยู่ โดยเพื่อนของพวกเขานัดให้มารับประทานอาหารกลางวันกัน ปรากฏว่าทั้งสองถูกชะตากันตั้งแต่แรกพบ และรู้สึกทันทีว่าอีกฝ่ายมีอะไรที่คล้ายคลึงกับตนเอง

บัฟเฟตต์พยายามหว่านล้อมมังเกอร์ว่าเขาน่าจะทำอย่างอื่นกับชีวิตแทนที่จะเป็นนักกฏหมาย โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเป็นอาชีพที่ดีและทำเงินได้เยอะกว่ามาก เป็นไปได้ว่าคำแนะนำของบัฟเฟตต์ครั้งนั้นน่าจะมีอิทธิพลให้มังเกอร์เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น ทั้งคู่ยังติดต่อกันเป็นครั้งคราว ก่อนจะมาร่วมงานกันอย่างเป็นทางการในปี 1978  โดยบัฟเฟตต์ชวนให้มังเกอร์มารับตำแหน่งรองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ซึ่งตัวเขาเป็นประธานอยู่

พอได้มาร่วมงานกัน มังเกอร์และบัฟเฟตต์กลายเป็นสองคน สองคม ต่างรู้อกรู้ใจ เติมเต็มความคิดซึ่งกันและกัน ทำงานเข้าขา จนเบิร์คไชร์เติบใหญ่ต่อเนื่องกลายเป็นองค์กรขนาดยักษ์อันดับต้นๆ ของโลก ต้องถือว่าเป็นคู่หูที่ฟ้าลิขิตให้มาเจอกันโดยแท้

ที่สำคัญที่สุดคือ มังเกอร์ได้ทำให้บัฟเฟตต์ มาถึง “จุดก้าวกระโดด” สำคัญของชีวิต โดยเขาเป็นผู้ทำให้ “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา” สลัดตัวเองหลุดจากกฏเกณฑ์ในการเลือกหุ้นอันเข้มงวดของเบนจามิน เกรแฮม และหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมากขึ้น อันเป็นแนวทางของฟิลิป ฟิชเชอร์ กูรูการลงทุนอีกคนหนึ่ง อันถือเป็นการ “เปิดโลกใหม่” ให้กับบัฟเฟตต์เลยก็ว่าได้

หลายคนมองว่า หากไม่ได้มังเกอร์ บัฟเฟตต์คงพลาดโอกาสงามๆ ในการลงทุนอีกมาก ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่า, พีแอนด์จี ฯลฯ แม้บัฟเฟตต์เองยังยอมรับว่า เขาเป็น “หนี้ความรู้” มังเกอร์ โดยบอกว่าตัวเขาคง “จน” กว่านี้เยอะ ถ้าฟังแต่ เบนจามิน เกรแฮม เพียงคนเดียว

หลักในการลงทุนข้อใหญ่ๆ ของมังเกอร์ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับบัฟเฟตต์ โดยให้เน้นธุรกิจที่มีคุณภาพ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ฐานะทางการเงินดี มีความสามารถในการทำกำไร มีส่วนต่างแห่งความปลอดภัย มีผู้บริหารที่เก่งและซื่อสัตย์

ทั้งนี้ มังเกอร์เป็นคนทำให้บัฟเฟตต์เลิกค้นหา “บริษัทระดับปานกลางในราคาถูก” แต่ให้หา “บริษัทยอดเยี่ยม ในราคายุติธรรม” อันเป็นหลักคิดที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างยิ่ง

ทุกวันนี้ มังเกอร์ยังทำงานกับบัฟเฟตต์ด้วยความสนุกสนานในออฟฟิศเล็กๆ ของเบิร์คไชร์ ในโอมาฮา เหมือนที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี บัฟเฟตต์บอกว่า เขาและมังเกอร์จะทำงานต่อไปจนกว่าจะจำกันและกันไม่ได้

นอกจากนี้ ในการประชุมประจำปีของเบิร์คไชร์ทุกครั้ง มังเกอร์จะนั่งเคียงข้างบัฟเฟตต์บนเวที ต่อหน้านักลงทุนหลายหมื่นคนที่หลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก เพื่อตอบคำถามและพบปะกับพวกเขาเหล่านั้นเป็นเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง

แม้ว่า “ที่สอง” มักไม่ค่อยเป็นที่จดจำของผู้คน แต่หากไม่มี “ที่สอง” อย่างมังเกอร์ ก็อาจไม่มี “ที่หนึ่ง” อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวันนี้ก็เป็นได้

นั่นทำให้เราควรยกย่อง ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ในฐานะ “ที่สอง ที่โลกต้องจดจำ” และจารึกชื่อของเขาไว้ในทำเนียบสุดยอดนักลงทุนโลกอย่างเต็มภาคภูมิ!!

ข้อมูลอ้างอิง: 4 Investment Gurus, The Great Investors, The Essays of Warren Buffett, Wikipedia

ภาพประกอบ : wikipedia.org

—————————

(http://clubvi.files.wordpress.com/2011/08/teetak3.jpg?w=222&h=300)

 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“ต้นแบบแห่งวีไอไทย”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เกิดในครอบครัวคนจีนยากจนที่กรุงเทพมหานครในย่านตรอกจันทน์ เขตยานนาวา เขาไม่ทราบแม้วันเกิดที่แท้จริงของตัวเอง บิดามารดาเป็นคนจีนกวางตุ้ง เดินทางมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ สมัยเด็กอยู่บ้านหลังคามุงจาก พ่อเป็นช่างก่อสร้าง หาเช้ากินค่ำ ความเป็นอยู่ลำบากมาก ของขวัญวันเกิดที่วิเศษมากสำหรับเขาคือได้กินบะหมี่หนึ่งชาม

ดร.นิเวศน์มีพี่น้องสามคน โดยตัวเองเป็นคนสุดท้อง และเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ได้เรียนหนังสือ เด็กชายนิเวศน์เริ่มเรียนหนังสือที่ “โรงเรียนวัดดอน” (วัดที่ร่ำลือไปทั่วประเทศว่ามีป่าช้าผีดุมาก คือ “ป่าช้าวัดดอน” นั่นเอง) จนถึง ป.7 แล้วมาศึกษาต่อมัธยมศึกษาที่ รร.วัดสุทธิวราราม จนถึง ม.3 ก่อนจะสอบเข้า ม.ปลาย ที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา

สมัยเด็ก เขาเคยทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ โดยซื้อหมากฝรั่งหนึ่งแถวราคา 7.50 บาท เอามาขายปลีก ขายจนหมดทั้งแถวได้เงิน 11 บาท แล้วเอาไปซื้อขนมอื่นๆ จากตลาดน้อยมาขายเพิ่ม (คล้ายกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ซื้อโค้กหนึ่งแพ็คมาขายปลีกยังไงยังงั้น)

ดร.นิเวศน์ เป็นคนเรียนดีมาโดยตลอด วิชาที่เขาชอบมากคือคณิตศาสตร์และเรขาคณิต แม้จะเรียนเก่ง แต่เขาไม่สนใจที่จะเรียนแพทย์ เพราะไม่ชอบวิชาชีววิทยา และรู้สึกว่าอาชีพหมอใช้เวลาเรียนนานเกิน เนื่องจากตัวเขาฐานะยากจน จึงอยากเรียนจบเร็วๆ เพื่อออกมาทำงานหาเงินใช้มากกว่า ทำให้ตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเครื่องกล

ระหว่างเรียนที่จุฬาฯ ดร.นิเวศน์ทำกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย สร้างฝายเก็บน้ำ ทำห้องสมุดให้กับเด็กยากไร้ ฯลฯ ซึ่งทำให้เขาได้เห็นโลกในมุมมองที่กว้างขวางขึ้น เขาบอกว่า ประสบการณ์ชีวิตสมัยเรียนปริญญาตรี มีส่วนสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมให้เขาเป็นตัวเขาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

หลังจากเรียนจบ งานแรกของ ดร.นิเวศน์ คือทำงานที่โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด เหตุผลที่เลือกงานดังกล่าวเพราะมี OT ทำให้ได้เงินเดือนเพิ่มเกือบสองเท่า ทั้งยังกินอยู่ฟรี หลังจากทำงานได้สองปี ดร.นิเวศน์ ได้มาเรียนต่อปริญญาโทที่นิด้า สาขาการตลาด จากการชักชวนของ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เพื่อนสนิท

หลังจากจบโทได้สองปี ดร.นิเวศน์จึงลาออกจากงานที่โรงงานน้ำตาล เพื่อตาม ดร.ไพบูลย์ ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ณ University of Mississippi โดยต้องสอบโทเฟลถึงสองรอบจึงผ่าน เนื่องจากไม่เก่งภาษาอังกฤษ

ครั้นจบปริญญาเอก ได้เป็นด็อกเตอร์ เขาจึงกลับมาเมืองไทย และเข้าสู่แวดวงการเงินเป็นครั้งแรก โดยไปทำงานที่ IFCT ก่อนจะย้ายไปทำงานที่นวธนกิจ เมื่อนวธรกิจปิดกิจการจึงไปเป็นที่ปรึกษาของดีแทค และไปทำงานที่ธนาคารนครหลวงไทยเป็นที่สุดท้าย

ดร.นิเวศน์เริ่ม “เล่นหุ้น” ในปี 2539 ระหว่างทำงานที่นวธรกิจ โดยใช้วิธีเก็งกำไร ซื้อๆ ขายๆ เหมือนนักลงทุนทั่วไป ก่อนจะเบนเข็มมาศึกษาแนวทาง “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” โดยอ่านคัมภีร์ของกูรูระดับโลกมากมายหลายเล่ม ที่สำคัญคือหนังสือ “The Intelligent Investor” ของเบนจามิน เกรแฮม ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับที่จุดประกายให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สนใจการลงทุน เช่นเดียวกับ ดร.นิเวศน์เองที่ตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ตลอดมา

ดร.นิเวศน์ เริ่มลงทุนแบบ Value Investment อย่างเป็นทางการในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งหุ้นไทยถูกมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยเงินต้น 10 ล้านบาทที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานประจำมาตลอดชีวิต ก่อนจะใช้เวลาสิบปี ทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจนมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท!!

นอกจากการเป็นนักลงทุนแล้ว ในปี 2541 เขายังได้เขียนหนังสือชื่อ “ตีแตก” ซึ่งเป็นเรื่องราวของโอกาสและความเป็นไปได้เพื่อประยุกต์ใช้กับการลงทุน และกลายเป็นหนังสือการลงทุนยอดนิยมของเมืองไทยมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ เขายังมีผลงานหนังสืออีกหลายเล่ม และจัดรายการโทรทัศน์ – วิทยุ ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

ดร.นิเวศน์ บอกว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เลือกเส้นทางเดินนี้ก็เพราะเขาได้ค้นพบตัวเองแล้วว่าชีวิตของเขาจะต้องเป็น “นักลงทุน” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขาบอกว่าตนเองได้รู้เป้าหมายของชีวิตอย่างชัดเจน จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่นำตัวเองไปมุ่งสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยจะไม่ “แวะข้างทาง” ให้เสียเวลาอีกต่อไป

ทุกวันนี้ แม้จะไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่จากการคิดคำนวณของ VI ไทยหลายคน คาดกันว่าพอร์ตการลงทุนของ ดร.นิเวศน์ มีค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เอาเฉพาะเงินปันผลของเขาแต่ละปี ก็เกินกว่าเงินต้น 10 ล้านบาทที่เริ่มลงทุนไปหลายต่อหลายเท่า ว่ากันว่าหากเขามีอายุถึง 80 ปี พอร์ตการลงทุนของเขาน่าจะทวีค่าถึง 10,000 ล้านบาท!!

คุณูปการของ ดร.นิเวศน์ ประการหนึ่งซึ่งมีคุณค่าอย่างประเมินไม่ได้สำหรับแวดวงการลงทุนไทยก็คือ เขาเป็นผู้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงในประเทศนี้ และลบล้างความเชื่อที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่สามารถใช้การลงทุนแบบเน้นพื้นฐานออกไปได้

หลายคนขนานนาม ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ว่าเป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย” แต่ที่แน่ๆ เขาคือ “ต้นแบบของวีไอไทย” ตัวจริงเสียงจริง ชนิดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอย่างแน่นอน

—————————

Copyrights @2013. สงวนลิขสิทธิ์ หากต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์ ClubVI.com ไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา และห้ามใช้เพื่อการค้าเป็นอันขาด
ที่มา:
http://clubvi.com/worldsvi/
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 21, 2014, 04:22:44 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday,  21 Apr 2014

บทสวด VI

การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น   ต้องการศรัทธาและความเชื่อมั่นในหลักการและกลยุทธ์บางอย่างที่แรงกล้าที่จะช่วยให้เราถือหุ้นระยะยาวได้อย่างถูกต้อง  เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักลงทุนจะสามารถทนถือหุ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นปี ๆ  หรือหลาย ๆ  ปี ผ่านช่วงเวลาที่หุ้นขึ้นไปเร็วและสูงหรือสูงมาก  และผ่านช่วงเวลาที่หุ้นตกลงมาเร็วและมากหรือตกลงมามากโดยไม่ได้ทำอะไร  เหตุเพราะคนเรานั้นต่างก็มีอารมณ์ที่จะสั่งให้ร่างกายและความคิดตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  ในช่วงเวลาที่ยาวนานของการลงทุนก็คงจะมีโอกาสบางครั้งที่เราจะตัดสินใจขายหุ้นที่เราถืออยู่ออกไปโดยใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น   เช่นเดียวกัน  ในบางช่วงเวลา  เราก็จะใช้เหตุผลวิเคราะห์หุ้นแล้วก็พบว่าหุ้นตัวที่เราถืออยู่นั้นมีราคา  “แพง” เกินไปแล้ว  ถึงเวลาที่จะต้องขายและเปลี่ยนตัวเล่นใหม่  ดังนั้นเราก็จะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้ง ๆ  ที่เพิ่งจะลงทุนมาได้ไม่นานแต่ราคาหุ้นขึ้นไป “เกินคาด” และเกินกว่า “พื้นฐาน”  ของกิจการ

           ในบางครั้งอีกเช่นกัน  หลังจากที่เราเข้าถือหุ้นบางตัว   เราก็อาจจะได้รับข่าวสารข้อมูลที่ดูเหมือนว่าจะเป็น  “ข้อมูลภายใน”  เช่น  บริษัทอาจจะมีกำไรถดถอยลงในไตรมาศที่จะถึงนี้  หรือบริษัทอาจจะประสบปัญหาบางอย่างที่จะทำให้ผลประกอบการลดลงแต่ไม่กระทบกับผลการดำเนินงานระยะยาว  นี่ก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเพราะเราคิดว่าเมื่อข้อมูลนั้นถูกเปิดเผยออกมา  ราคาหุ้นก็จะลดลง  ดังนั้น  เราจึงตัดสินใจขายหุ้นตัวนั้นเสียก่อน   ทั้งหมดนั้น  เป็นเหตุผลบางส่วนที่ทำให้การลงทุนระยะยาวเป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักลงทุนจำนวนมาก 

          เพื่อที่จะลดความลำเอียงที่จะทำให้เราขายหุ้นเร็วเกินไปเนื่องจากเหตุผลของอารมณ์หรือเหตุผลที่อิงกับการวิเคราะห์หุ้นแบบระยะสั้น  ผมเสนอว่าเราควรจะต้องมี  “บทสวด”  เหมือนกับการสวดมนต์ที่เราท่องเอาไว้จนขึ้นใจเพื่อที่จะเตือนเราตลอดเวลาไม่ให้เราไขว้เขวออกนอกแนวทางที่ถูกต้อง   บทสวดเหล่านั้นมีมากมายและขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละคนที่จะกำหนดขึ้น  สำหรับผมเองนั้น  บทสวดต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าสนองต่อแนวทางการลงทุนระยะยาวได้ค่อนข้างดี

          บทแรกก็คือ  “ความมั่งคั่งของเราขึ้นอยู่กับผลประกอบการในระยะยาวของบริษัท”  นี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจของการลงทุนแบบ VI อย่างแท้จริง  ความหมายก็คือ  ถ้าบริษัท  “รวย”  เราก็  “รวย”  ดังนั้น  หน้าที่ของเราก็คือ  ถือหุ้นของบริษัทที่จะรวยหรือมั่งคั่งในระยะยาวโดยอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดเรื่องอื่น  เช่น  ซื้อหุ้นที่จะมีคนเข้ามาซื้อต่อมากมายด้วยเหตุผลต่าง ๆ  ซึ่งรวมถึงผลประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นมากในระยะสั้นแต่ไม่แน่นอนในระยะยาว  เป็นต้น    ดังนั้น  ถ้าเราท่องบทสวดข้อนี้  เราก็จะถือหุ้นได้ยาวขึ้นตราบเท่าที่ผลประกอบการระยะยาวของบริษัทนั้นยังดีอยู่เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น

          บทสวดที่สองก็คือ  “อย่าตัดสินใจจากสิ่งที่เราไม่รู้” ความหมายข้อนี้จะต้องอธิบายเพิ่มเติมเนื่องจากความเป็นจริงที่ว่าในตลาดหุ้นนั้น  แทบจะไม่มีอะไรที่เราจะรู้ว่าต้องเกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  ไม่มีอะไรที่เราสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  คนที่คิดว่าตนเอง  “รู้”  นั้น  จำนวนมากเขา  “ไม่รู้”  คำว่ารู้ในความหมายของผมก็คือ  เป็นการรู้ถึง  “ความน่าจะเป็น”  ของสิ่งที่จะเกิดขึ้น   เช่น  ผมคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้า  จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะมากกว่าปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10%  หรือ  ยอดขายของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่ที่เราถืออยู่นี้  ในอีก 3 ปีข้างหน้าน่าจะโตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 20%  โอกาสที่ผมจะคาดการณ์ถูกต้องน่าจะไม่น้อยกว่า 80%-90%  ในกรณีแบบนี้  ผมคิดว่าผม  “รู้”  และถ้าผมจะตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับหุ้น  ผมก็สามารถอิงกับข้อมูลนี้   ตรงกันข้าม  ผมคิดว่าผมไม่รู้ว่าราคาน้ำมันดิบหรือถ่านหินในอีก 3 ปีข้างหน้าจะขึ้นหรือลง  ผมคิดว่าโอกาสที่มันจะขึ้นนั้นมีเพียง 50%  เท่า ๆ  กับโอกาสที่จะลง  ในลักษณะแบบนี้  ผมจะบอกตัวเองว่า  “ผมไม่รู้”  ดังนั้น  ผมจะไม่ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นโดยอิงกับราคาน้ำมันหรือถ่านหิน  ถ้าผมจะซื้อหุ้นเหล่านี้  ผมก็จะต้องตัดสินใจจากเหตุผลอื่นที่เรา “รู้” ด้วยความเป็นไปได้อย่างน้อยอาจจะ 70%-80% ขึ้นไป

           บทสวดที่สาม  หุ้นที่ดีเยี่ยมนั้นควรจะต้องมี  “ยอดขายเพิ่มขึ้น  กำไรเพิ่มขึ้น  และ ปันผลเพิ่มขึ้น”  งวดแล้ว  งวดเล่า  ต่อเนื่องยาวนาน  และถ้าบริษัทยังรักษาสถิติแบบนั้นได้  เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น  ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้น  ควรเป็นยอดขายสินค้าตามปกติของบริษัทและการเพิ่มนั้น  ควรจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณ 2 เท่าของอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือประมาณ 10% ต่อปีขึ้นไป   กำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น  ควรจะดูทั้งกำไรรวมของบริษัทที่ควรโตอย่างน้อยปีละ 10%  และกำไรต่อหุ้นที่ควรจะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน  และสุดท้ายก็คือ  ปันผลของบริษัทควรจะมีการปรับขึ้นตามสัดส่วนกับกำไรของบริษัท  ถ้าเราพบว่าหุ้นที่เราถืออยู่มีผลประกอบการแบบนี้  เราก็ไม่ต้องสนใจว่าจะขายหุ้นไม่ว่าราคาจะผันผวนอย่างไร อย่าลืมว่าเราต้องการรวยไปกับบริษัท  เราไม่ได้ต้องการรวยจากการขายหุ้น

           อย่างไรก็ตาม  ยอดขายเพิ่ม  กำไรเพิ่ม  ปันผลเพิ่ม ในอัตราเท่านั้นเท่านี้  อาจจะไม่ต้องถึงกับเป็นกฎตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์   ในบางงวด  ยอดขายอาจจะพลาดเป้าบ้าง  ยอดขายได้แต่กำไรอาจจะพลาด  หรือแม้ว่ายอดขายและกำไรอาจจะเป็นไปตามที่กำหนด  แต่ปันผลอาจจะไม่ได้ตามที่คิด  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้  แต่โดยรวมแล้ว  ทิศทางควรจะเป็นอย่างนั้นนั่นคือ  ในภาวะปกติ  เราพอจะคาดการณ์ได้ด้วยความถูกต้องอาจจะกว่า 70%-80% ว่า  ยอดขายจะต้องเพิ่มอย่างน้อย 7%-8%  กำไรต่อหุ้นเพิ่มอย่างน้อย 10%  และปันผลต่อหุ้นก็เพิ่มอย่างน้อย 10%  เช่นเดียวกัน  และถ้าเราพบว่าหุ้นตัวที่เราถืออยู่ยังมีผลประกอบการแบบนี้   เราก็ถือหุ้นต่อไป   ถ้าหุ้นที่เราถืออยู่มีผลประกอบการหย่อนไปจากนี้หรือกลายเป็นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ   เราก็ต้องตรวจสอบและพิจารณาดูว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหรือไม่  ถ้าใช่  เราก็ถือหุ้นต่อไป  ถ้าไม่ใช่  และเราคิดว่าต่อไปบริษัทอาจจะไม่สามารถดำรงสถานะที่  “รายได้เพิ่ม  กำไรเพิ่ม ปันผลเพิ่ม”  ต่อเนื่องยาวนานแล้ว  เราก็อาจพิจารณาขายหุ้นทิ้ง

           สุดท้ายในกรณีที่เราอาจจะอยากขายหุ้นด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม  บางทีเราอาจจะต้องกลับไปสวดมนต์บทที่ว่า  มันเป็นกิจการที่เป็น  “Monopoly” หรือมันมี  “อำนาจผูกขาด”   สูง  นั่นหมายความว่าลูกค้าของบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นมากนักหรือไม่มีทางเลือกเลย  อย่างไรเสียก็ต้องใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท   คำว่าอำนาจผูกขาดนี้  อาจจะมาจากหลาย ๆ  ทางรวมถึงการที่บริษัทมีความสามารถหรือมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันสูงกว่าคู่แข่งมาก ๆ  จนเสมือนหนึ่ง  “ผูกขาด”  ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรที่ค่อนข้างมั่นคงแน่นอนและคู่แข่งเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งธุรกิจและกำไรได้ยากมากด้วย   เหตุผลที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นบทสวดด้วยนั้น   เนื่องจากว่าในบางครั้งธุรกิจหรือบริษัทที่เราซื้อหุ้นลงทุนนั้น  เราอาจจะพบปัญหาหรือข้อเสียหรือบริษัทอาจจะประสบปัญหาบางอย่างจนทำให้เราท้อใจอยากขายหุ้นทิ้ง  แต่ก่อนที่เราจะทำอย่างนั้น  เราก็ควรจะคำนึงถึงประเด็นที่ว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทที่มีจุดเด่นที่สำคัญมากอย่างหนึ่งนั่นก็คือ  มันมีอำนาจผูกขาดที่สูงทีเดียวหรือสูงลิ่ว  และเราต้องคิดต่อไปว่าอำนาจนั้นมีประโยชน์มากแค่ไหนและจะสามารถทำเงินในภายหลังหรือไม่  ถ้าใช่  เราก็อาจจะพิจารณาถือหุ้นต่อไป

          และทั้งหมดนั้นก็คือส่วนหนึ่งของ “บทสวด VI”  ที่ผมใช้ในการลงทุนถือหุ้นระยะยาว  ซึ่งมันทำให้ผมถือหุ้นได้ยาวขึ้นและได้ผลดีในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว  ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันดีกว่าการ  “ซื้อและขายหุ้น” ไปเรื่อย ๆ  ตามสถานการณ์ไหม   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนระยะยาวแบบ VI เป็นสิ่งที่ผมเลือกและเป็นสิ่งที่ผมชำนาญ  ดังนั้น  ผมต้องมีกลยุทธ์และหลักการที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุดที่ผมต้องยึดถือจนกลายเป็นบทสวดดังกล่าว

 
Posted by nivate at 11:33 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor  

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/04/21/1419

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 28, 2014, 02:21:20 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 28 April 2014

หุ้นภัตตาคารVSบ้านจัดสรร

กลุ่มหุ้น  “ยอดนิยม-ตลอดกาล”  กลุ่มหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ก็คือ  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้านและคอนโดเพื่อขาย  หรือเรียกง่าย ๆ  ว่าหุ้นบ้านจัดสรร  เพราะนี่คือธุรกิจที่มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากในตลาดและมีนักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยซื้อขายหุ้นแต่ละวันจำนวนมาก  หุ้นในกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่งจะได้รับความนิยม  แต่เป็นหุ้นที่มีความคึกคักมานานหลายสิบปีแล้ว  มีแค่บางช่วงสั้น ๆ  ที่หุ้นซบเซาลง เช่น  ในภาวะที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤติขึ้นเท่านั้นที่ทำให้หุ้นเหงา  คุณลักษณะของหุ้นบ้านจัดสรรนั้นมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นพอสมควรจนทำให้วิธีการคิดวิเคราะห์นั้นควรจะแตกต่างจากกลุ่มอื่นค่อนข้างมาก

           หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งนั้นยังไม่ได้ร้อนแรงเท่าไรนักเนื่องจากว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดไม่มากเท่าและหลายบริษัทก็ยังทำธุรกิจอย่างอื่นด้วยนั่นก็คือ  ธุรกิจภัตตาคารขายอาหาร  อย่างไรก็ตาม  นับวันผมเชื่อว่าจะมีธุรกิจนี้เข้าจดทะเบียนเพิ่มขึ้นและบริษัทเหล่านั้นก็จะเน้นที่การทำภัตตาคารมากขึ้นเป็น  “Pure Play”  คือพูดได้ว่าเป็นหุ้นขายอาหารแบบภัตตาคารหรือขายอาหารพร้อมรับประทานเป็นหลัก  และเมื่อถึงวันนั้นผมเชื่อว่าหุ้นภัตตาคารจะเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมมากขึ้น   ดังนั้น  เราก็ควรจะมาทำความเข้าใจกับธุรกิจนี้ซึ่งผมคิดว่ามีอะไรน่าสนใจและก็มีความแตกต่างจากหุ้นของกิจการอื่น ๆ  พอสมควร

          ผมจับหุ้นบ้านจัดสรรมาพูดกับหุ้นภัตตาคารในบทความเดียวกันนั้น  เป็นเพราะผมคิดว่าหุ้นสองกลุ่มนี้  แม้ว่าจะดูเหมือนไม่มีอะไรใกล้เคียงกันนั้น  กลับมีความเหมือนกันในหลาย ๆ  เรื่อง  เช่นเดียวกับที่มีความแตกต่างกันในหลาย ๆ  เรื่อง  และถ้าเราเข้าใจก็จะทำให้เราวิเคราะห์หุ้นทั้งสองกลุ่มได้ดีขึ้น

          ความเหมือนกันของธุรกิจสองกลุ่มก็คือ  ตลาดของธุรกิจมีขนาดใหญ่มากคิดเป็นแสน ๆ  ล้านบาทต่อปี  แต่ในขณะเดียวกันมีผู้เล่นหรือผู้ขายหรือให้บริการจำนวนมากโดยที่ไม่มีบริษัทไหนที่จะ Dominate หรือครอบงำธุรกิจได้เลย   พูดง่าย  ๆ  แม้แต่บริษัทที่ใหญ่ที่สุดก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมาก  ดังนั้น  จึงพูดได้ว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์  ไม่มีใครกำหนดหรือควบคุมตลาดได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  เหตุผลก็คือ  ข้อแรก  ความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคนั้นมีความหลากหลายมาก  ในเรื่องของบ้านก็เป็นเรื่องของทำเลที่ไม่มีบริษัทไหนสามารถจะยึดกุมได้   ส่วนในเรื่องของอาหารนั้น  คนกินก็ต้องการอาหารที่มีรสชาติแตกต่างกันมากมายตลอดทั้งสัปดาห์  เดือนและปี  ความสามารถที่จะสนองความต้องการทั้งหมดเป็นไปไม่ได้  ข้อสองก็คือ  การเข้ามาของบริษัทหรือกิจการใหม่ ๆ  นั้นเกิดขึ้นได้เสมอและทำได้ไม่ยาก  บริษัทเหล่านั้นสามารถที่จะแข่งขันและอยู่ได้ถ้ามีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแม้ว่าจะเป็นกิจการขนาดเล็ก  ดังนั้น  ทั้งสองธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจที่ใครเก่ง  มียี่ห้อ และอาจจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าบ้างก็เติบโต  ใครไม่เก่งก็ค่อย ๆ ถดถอยลง

          ความเหมือนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสองธุรกิจนี้ก็คือ   แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์  แต่ก็เป็นธุรกิจที่มี “กำไรดี”  นั่นก็คือ กำไรก่อนต้นทุนค่าโสหุ้ยค่อนข้างจะสูง  ดังนั้น  ถ้าบริษัทสามารถขายสินค้าได้สูงพอ  เมื่อหักต้นทุนค่าโสหุ้ยต่าง ๆ  แล้ว  บริษัทก็มักจะสามารถทำกำไรต่อยอดขายได้ค่อนข้างสูง  เหตุผลที่เป็นแบบนี้ก็คือ  ลูกค้าที่ซื้อบ้านหรือลูกค้าที่เข้ามากินอาหารในภัตตาคารนั้น  ไม่ได้เข้ามาเพราะเรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว  คุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กัน  ดังนั้น  บริษัทสามารถตั้งราคาที่ทำให้มีกำไรที่ดีได้   และนี่ทำให้บริษัทที่มียอดขายที่ดีสามารถทำกำไรได้สูงโดยไม่ถูกแย่งชิงลูกค้าเหมือนธุรกิจโภคภัณฑ์ที่การแข่งขันขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลัก

            ข้อดีของสองธุรกิจที่คล้ายกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การขยายตัวหรือเพิ่มยอดขายนั้น  ต้องการเงินลงทุนโดยเฉพาะทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นไม่มากนัก  ในส่วนของภัตตาคารนั้น  บริษัทแทบไม่ต้องใช้ทุนอะไรเลย  เนื่องจากมักจะใช้วิธีการเช่าร้านและการขายก็เป็นเงินสดในขณะที่การซื้อวัตถุดิบมักเป็นเงินเชื่อ  แต่ในส่วนของการสร้างบ้านขายนั้น  อาจจะคิดว่าบริษัทต้องลงทุนสร้างบ้านให้เสร็จก่อนที่จะขายได้เงินมา  อย่างไรก็ตาม  บริษัทบ้านจัดสรรนั้นสามารถที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินมาซื้อที่และสร้างบ้านได้ค่อนข้างมาก  ดังนั้น  เงินทุนในส่วนของเจ้าของที่จะต้องใช้จริง ๆ  จึงไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขายหรือเทียบกับกำไรที่จะได้  สรุปก็คือ  นี่ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็น  Capital Intensive  หรือต้องลงทุนสูง  และดังนั้น  จึงเป็นธุรกิจที่ดี

            มาถึงเรื่องความแตกต่างของสองธุรกิจนี้  ผมพบว่าธุรกิจภัตตาคารดูเหมือนจะดีกว่าพอสมควรโดยมีประเด็นสำคัญก็คือ  ธุรกิจภัตตาคารนั้นมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการสูงกว่าธุรกิจบ้านจัดสรรมาก   เหตุผลก็คือ  ข้อแรก  ธุรกิจภัตตาคารนั้นมีจำนวนลูกค้ามากกว่ามาก  บางแห่งอาจจะมีลูกค้าเป็นล้าน ๆ  ราย  ในขณะที่ลูกค้าของบริษัทบ้านจัดสรรนั้นแต่ละปีอาจจะมีแค่หลักพันหรือหมื่นรายเท่านั้น   นอกจากนั้น  การที่ลูกค้าภัตตาคารส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่ซื้อซ้ำหรือเป็นลูกค้าประจำ  นี่ทำให้รายได้ของกิจการมีความสม่ำเสมอ  ในขณะที่ลูกค้าบ้านจัดสรรนั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกค้าใหม่และดังนั้น  บริษัทจะต้องเริ่ม  “นับหนึ่ง”  ใหม่ทุกปี  นี่ทำให้ผลประกอบการอาจจะไม่แน่นอนเนื่องจากสินค้าในปีใหม่อาจจะไม่ “โดนใจ” ลูกค้าใหม่ได้  และข้อสุดท้ายก็คือ  อาหารภัตตาคารนั้น  มีราคาต่ำกว่าบ้านมากและอาหารเป็นสิ่งที่เลื่อนการบริโภคไม่ได้  ดังนั้น  เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย  ยอดขายของภัตตาคารจะถูกกระทบน้อยกว่าบ้านจัดสรรมาก

           ความแตกต่างที่ทำให้ภัตตาคารน่าจะเป็นธุรกิจที่ดีกว่าบ้านจัดสรรอีกข้อหนึ่งก็คือ  ภัตตาคารนั้นมียี่ห้อหรือมีรสชาดอาหารและบริการที่ทำให้ลูกค้า “ติด”  ได้มากกว่าบ้านจัดสรรที่ลูกค้าอาจจะให้คุณค่าของยี่ห้อน้อยกว่ามาก  มองในแง่นี้  ภัตตาคารสามารถสร้างความได้เปรียบที่ยั่งยืนหรือ  Durable Competitive Advantage ได้ง่ายกว่า  ในขณะที่ธุรกิจบ้านจัดสรรนั้นทำได้ยาก

          ความแตกต่างที่สำคัญข้อสุดท้ายที่ทำให้ธุรกิจภัตตาคารน่าสนใจและทำให้มี  “คุณค่า” กว่าธุรกิจบ้านจัดสรรก็คือ  การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม  เหตุผลที่การซื้ออาหารกินเป็นธุรกิจที่โตเร็วกว่านั้น   เป็นเพราะรายได้ของคนไทยนั้นเพิ่มขึ้นในขณะที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง  นั่นทำให้คนยอมจ่ายเงินกินอาหารภัตตาคารที่อร่อยกว่าและต้นทุนเมื่อเทียบกับการทำอาหารกินเองที่บ้านนั้นแคบลง   แต่ในกรณีของบ้านจัดสรรนั้น  อุตสาหกรรมน่าจะโตช้าลงไปเรื่อย ๆ   เหตุผลเป็นเพราะคนไทยนั้นมีอัตราการเกิดน้อยลงมากและจะเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ   ดังนั้น  ความต้องการบ้านจะค่อย ๆ  ลดลงในเวลาไม่นานนัก

           ข้อสรุปของผมก็คือ  ธุรกิจภัตตาคารนั้น  โดยพื้นฐานแล้วเป็นธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจบ้านจัดสรรถ้าบริษัทประสบความสำเร็จ  เหตุผลก็คือ  มันเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ดีพอ ๆ  กันแต่มีความสม่ำเสมอกว่ามากและมีโอกาสที่จะเติบโตตามอุตสาหกรรมได้มากกว่า  ว่าที่จริงหุ้นภัตตาคารในสหรัฐหลายตัว เช่น หุ้นแม็คโดนัลด์นั้นเป็นหุ้นประเภท “ซุปเปอร์สต็อก”  ที่มีมูลค่าสูงมาก  ในตลาดหุ้นไทย  ผมคิดว่าเพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของหุ้นภัตตาคารที่จะเติบโต   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนในหุ้นภัตตาคารนั้นก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงราคาของหุ้นด้วย  เพราะถึงแม้ว่ากิจการภัตตาคารในระยะยาวอาจจะดีแต่ค่า PE  ก็สูงกว่าหุ้นในกลุ่มบ้านจัดสรร   ดังนั้น  จึงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าหุ้นในกลุ่มไหนน่าลงทุนกว่า   เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นภัตตาคารของไทยอาจจะไม่สามารถเติบโตกลายเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็ได้เมื่อคำนึงถึงว่าบริษัทที่เป็นอินเตอร์แบรนด์อย่างแม็คโดนัลด์หรือ KFC ต่างก็ดำเนินงานในประเทศไทยมาช้านานแล้ว  การเอาชนะภัตตาคารเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
 
Posted by nivate at 10:13 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/04/28/1421


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 08, 2014, 12:27:59 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 6 May 2014

วิธีโต

การลงทุนในหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมแบบหนึ่งก็คือ  การลงทุนในหุ้นที่  “โตเร็ว”  ในราคาที่ไม่แพงหรือราคาถูก  เรื่องของราคานั้น  หุ้นบางตัวก็ดูไม่ยากว่าแพงหรือไม่แพง   แต่หุ้นบางตัวก็ดูยาก  ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและผลประกอบการของบริษัท  ถ้าเราพบหุ้นที่โตเร็วในราคาหุ้นที่ดูไม่ยากว่าราคาไม่แพง  เราก็ควรจะซื้อและถือไว้นาน ๆ   แล้วผลตอบแทนที่ดีก็จะตามมา   ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้ก็คือ  หุ้นที่โตเร็วหรือหุ้นที่โตนั้น  บางทีก็มีความซับซ้อนที่ทำให้เราวิเคราะห์ผิดได้  ถ้าจะให้ดี  เราควรจะต้องรู้ว่าหุ้นตัวนั้นมี “วิธีโต”  อย่างไร  ซึ่งจะทำให้เรามีความมั่นใจว่า  การเติบโตนั้นจะไม่มีอุปสรรคและจะไม่ถดถอยกลับหรือหดตัวลงในภายหลัง

           วิธีโตแบบแรกที่ง่ายและแน่นอนกว่าวิธีอื่น ๆ  อีกหลายวิธีก็คือ  การขยายร้านสาขาของบริษัทไปยังทำเลอื่นที่มีลักษณะของผู้บริโภคและฐานะทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับฐานของลูกค้าเดิมของกิจการ   ตัวอย่างเช่น  กิจการค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งหลายที่ขายสินค้าในประเทศไทยและอาจจะมีร้านค้าครอบคลุมประมาณ 30% ของหัวเมืองในประเทศอยู่แล้ว   การเติบโตต่อไปก็คือ  การขยายสาขาไปยังหัวเมืองที่เหลืออยู่   โอกาสที่บริษัทจะประสบความสำเร็จก็น่าจะสูง  เหตุผลก็คือ  คนไทยนั้นมีพฤติกรรมคล้าย ๆ  กันในการบริโภคสินค้า  ถ้าหัวเมืองหลัก ๆ  ชอบ  คนเมืองอื่นก็น่าจะชอบ  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  รายได้ของคนในเมืองที่บริษัทจะขยายสาขาไปก็น่าจะใกล้เคียงกับเมืองเดิมหรือมีศักยภาพที่จะเป็นลูกค้าของร้านได้       ดังนั้น  การเติบโตโดยวิธีเปิดสาขาเพิ่มในประเทศจึงเป็นวิธีโตที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ  อย่างไรก็ตาม  การเปิดสาขา  “ข้ามประเทศ”  หรือในประเทศอื่นนั้น  บริษัทอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากความแตกต่างของผู้บริโภคและความเข้มแข็งของบริษัทยังไม่มีในตลาดนั้น

            วิธีโตแบบที่สองก็คือ  การเพิ่มปริมาณการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคมากขึ้น  นี่คือสินค้าที่ขายให้คนจำนวนมากซึ่งโดยปกติก็จะต้องมีการโฆษณาหรือมีการตลาดที่จะเข้าถึงผู้คนผ่านสื่อสารมวลชนต่าง ๆ   รวมถึงการที่ผลิตภัณฑ์จะต้องโดนใจลูกค้าเป้าหมาย  เช่นเดียวกัน  ช่องทางจัดจำหน่ายก็จะต้องทั่วถึงและจะต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ  อีกมาก   การเพิ่มปริมาณการขายนั้น  ยังขึ้นอยู่กับภาวะอุตสาหกรรมด้วยว่าสินค้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงของการเติบโต  อิ่มตัว  หรือถดถอย  ถ้าอุตสาหกรรมกำลังเติบโต  โอกาสที่บริษัทจะโตเร็วก็จะมากขึ้น  ถ้าอุตสาหกรรมอิ่มตัวหรือกำลังถดถอย  ก็เป็นเรื่องยากที่กิจการจะโตไปได้อย่างราบรื่น   ดังนั้น  การเติบโตโดยวิธีนี้  จึงเป็นการเติบโตที่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารของบริษัทและภาวะของอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เป็นเรื่องยาก   อย่างไรก็ตาม  ถ้าบริษัทไหนสามารถทำได้ดี  นี่ก็จะเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพ  เพราะเมื่อโตแล้วบริษัทก็มักจะสามารถรักษาการเติบโตต่อไปได้ไม่เปลี่ยนไปง่าย ๆ

           การเติบโตแบบที่สามก็คือ   โตเพราะราคาสินค้าปรับตัวขึ้น  นี่มักจะเกิดกับธุรกิจที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาปรับตัวขึ้นลงตามภาวะอุปสงค์-อุปทานของประเทศไทยหรือของโลก  การเติบโตแบบนี้  ซึ่งบางช่วงนั้นกินเวลาหลายปีอาจทำให้เราเข้าใจว่าบริษัทนั้นเติบโต  แต่จริง ๆ  แล้ว  การเติบโตนั้นอาจจะสะดุดหรือแม้แต่ถดถอยลงก็เป็นได้เนื่องจากราคาสินค้าอาจจะปรับตัวลดลงในอนาคต  ดังนั้น  การเติบโตแบบนี้จึงเป็นการโตที่ไม่ใคร่มีคุณภาพ  ในหลาย ๆ  บริษัทที่มีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้วและอยู่ในอุตสาหกรรมที่สินค้ามีราคาผันผวนมาก  เราอาจจะต้องบอกเลยว่ามันเป็นบริษัทที่  “ไม่โต”  แม้ในช่วงสั้น ๆ  ยอดขายจะเพิ่มขึ้นมาก

          การเติบโตแบบที่สี่ก็คือ  โตเพราะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น  นี่คือการเติบโตของธุรกิจที่มีลูกค้าน้อยรายและซื้อครั้งละมาก ๆ  เพื่อที่จะนำไปใช้งานหรือไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อที่จะไปขายต่อ   ตัวอย่างเช่น  โรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ   บริษัทรับเหมาก่อสร้าง  เป็นต้น  การเติบโตแบบนี้มีข้อเสียที่สำคัญก็คือ  มาร์จินหรือผลกำไรต่อยอดขายมักจะไม่ใคร่สูงและบ่อยครั้งไม่คงที่ขึ้นอยู่กับสภาวะการแข่งขันในแต่ละช่วง  เช่นเดียวกัน  การเติบโตบางครั้งก็ไม่ยั่งยืนเนื่องจากผู้ซื้อมักเป็นรายใหญ่ที่มีอำนาจในการต่อรองสูงและสามารถเปลี่ยนผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการซึ่งทำให้ยอดขายของบริษัทหดหายไปได้มาก  ดังนั้น  การโตของบริษัทแบบนี้ก็อาจจะมีคุณค่าไม่มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริษัทต้องลงทุนสูงและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 12%-13% ต่อปี

           วิธีการเติบโตแบบที่ห้าก็คือ  การโตโดยการซื้อหรือควบรวมกิจการ  วิธีนี้อาจจะทำให้ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดและไม่ลดลงในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  การโตโดยวิธีนี้มักจะไม่มีประโยชน์ถ้า   หนึ่ง  มันเป็นการซื้อกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเดิมของบริษัท  และสอง มันอยู่ในกิจการเดิมหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมแต่มันไม่ได้สร้าง Synergy หรือสร้างประโยชน์จากการรวมกิจการเข้าด้วยกันมากพอ  การโตแบบนี้เราไม่ควรที่จะไปเพิ่มค่าให้กับหุ้นเลยยกเว้นแต่ว่าราคาซื้อกิจการจะต่ำมาก   อย่างไรก็ตาม  การโตโดยการ Take Over ธุรกิจเดียวกันที่สามารถช่วยลดต้นทุนหรือเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้มากโดยที่ราคาซื้อไม่สูงเกินไปนั้น  ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการเติบโตที่ดีได้

            การโตเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การโตในธุรกิจการเงิน  วิธีโตในธุรกิจการเงินนั้น  หลายเรื่องเป็นเรื่องง่ายแต่มีความเสี่ยงสูงและอาจจะไม่มีประโยชน์   การโตที่มีประโยชน์  เช่น  การโตของฐานเงินฝากที่เป็นประชาชนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องยากพอสมควรและต้องใช้เวลา  แต่เมื่อโตแล้วก็ทำให้บริษัทมีต้นทุนเงินทุนที่ต่ำต่อเนื่องยาวนานและปริมาณค่อนข้างแน่นอน    การโตที่ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวเช่น  2-3 ปีขึ้นไปก็อาจจะล้มเหลวก็คือ  การเติบโตของสินเชื่อหรือลูกหนี้   เพราะการโตของสินเชื่อนั้น  ในช่วงแรกก็มักจะก่อให้เกิดรายได้สูงกว่ารายจ่ายที่เป็นต้นทุนของดอกเบี้ย  แต่เมื่อเวลาผ่านไปลูกหนี้อาจจะผิดนัดชำระหนี้กลายเป็นหนี้เสียซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุน  ประเด็นก็คือ  เราไม่รู้ว่าลูกหนี้ที่ปล่อยไปจะกลายเป็นหนี้เสียมากน้อยแค่ไหน  เราเพียงแต่รู้ว่า  การปล่อยเงินกู้นั้นสามารถทำได้ง่ายและเราสามารถโตได้ง่ายถ้าเรายอมปล่อยให้ลูกหนี้ที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี  ดังนั้น  การโตของสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ปล่อยเงินกู้เราจึงไม่ควรให้คุณค่ามากนักถ้าเราไม่มั่นใจว่าคุณภาพของลูกค้าเป็นอย่างไร

            การเติบโตของกิจการนั้น   ยังมีประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การเติบโตนั้นดีหรือมีคุณค่าไม่เท่ากันนั่นก็คือ  มันเป็นการโตที่ต้องลงทุนมากน้อยแค่ไหน?    ถ้าการโตต้องใช้เงินลงทุนสูง  การโตก็มีประโยชน์น้อยลงเทียบกับการโตที่ไม่ต้องลงทุนมาก  เหตุผลสำคัญก็คือ  ถ้าต้องใช้เงินลงทุนมากผลตอบแทนการลงทุนก็น้อยลง  และถ้าน้อยลงจนถึงจุดหนึ่ง  เช่น  ทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 10%  ต่อปี  ก็ไม่มีประโยชน์ที่บริษัทจะทำ  ในกรณีแบบนี้  บริษัทควรจะจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นจะดีกว่า  เพราะผู้ถือหุ้นสามารถที่จะนำเงินนั้นไปลงทุนในกิจการอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  ในอีกด้านหนึ่ง  การโตที่ต้องใช้ทุนมากนั้น  เราก็ต้องดูด้วยว่าทุนนั้นใช้ทำอะไร?  ถ้าเป็นอุปกรณ์แบบ  “ไฮเท็ค”  หรือเป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรพิเศษที่มีความเฉพาะตัว  เราก็ต้องระวังว่ามันอาจจะล้าสมัยได้ง่ายและทำให้เราต้องลงทุนเพิ่มเติมในภายหลังซึ่งทำให้กระแสเงินสดลดน้อยลง

           สุดท้ายที่ผมยังไม่ได้พูดถึงแต่อยากเตือนก็คือ  “ราคาของการเติบโต”  เพราะบ่อยครั้ง  บริษัท“ซื้อการเติบโต”  ด้วยราคาที่แพงมาก  และนั่นอาจจะไม่คุ้มค่าโดยเฉพาะถ้าผลประโยชนที่จะได้นั้นไม่ชัดเจน   
 
Posted by nivate at 3:02 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/05/06/1425


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 09, 2014, 11:38:35 pm
กลยุทธ์การลงทุน :เหตุการณ์ที่สร้างราคา

          บริษัทใดก็ตามที่มี Free Cash Flow หรืองบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักงบลงทุนเป็นบวกใน ไตรมาสแรก หลังจากติดลบมาหลายๆ ปี ราคาหุ้นตัวนั้นจะมีการตอบสนองเป็นบวกและบวกมากๆ ด้วยนักลงทุน ทุกคนต่างต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ (Abnormal Returns) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหมั่นศึกษาถึงงบการเงิน งบกระแสเงินสด ภาวะอุตสาหกรรม ความคิดของนักลงทุนสถาบันของหุ้นตัวนั้น เพื่อหาปัจจัยบวก (Drivers) ใน การผลักดันราคาหุ้นว่าจะปรับตัวขึ้นเมื่อไรและอย่างไร

          Drivers ต่างๆ เหล่านี้ จะมาพร้อมกับการปรับมุมมองของการลงทุนให้ดีขึ้น (Upgrade) นำไปสู่การเปลี่ยน คำแนะนำในที่สุด เช่น จากคำแนะนำเดิมจาก "ถือ" (Hold) เป็น "ซื้อ" (Buy) หรือจาก "ซื้อ" เป็น "ซื้ออย่างเต็มที่" (Strong Buy) แต่ Drivers ต่างๆ เหล่านี้ จะต้องเป็นสิ่งที่ตลาดไม่ได้คาดหมาย

          ถ้านักลงทุนสามารถคาดการณ์เหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ นักลงทุนท่านนั้นก็สามารถมีผลตอบแทน สูงกว่าปกติได้ (Buy before market expectations) เนื่องจากในตอนที่หุ้นตัวนั้นราคาถูกๆ นักลงทุนส่วนใหญ่ยัง ไม่มีหุ้นนั้นในพอร์ต จะเป็นสภาพ Under-owned Stocks เมื่อมีข่าวดีแบบไม่ได้คาดหมาย (Unexpected Good News) นักลงทุนจะรุมซื้อ และทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นในที่สุด

         ในทางกลับกัน ถ้านักลงทุนได้คาดการณ์เหตุการณ์นั้นแล้ว ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตแล้ว หุ้นตัวนั้นจะกลายเป็น สภาพ “Over-owned” คือสภาพที่ทุกคนมีหุ้นตัวนั้นอยู่ในพอร์ต เมื่อข่าวดีออกมา จะถูกเทขายทำกำไรทันที กลายเป็นสภาพ Buy on expectations and sell on facts

          ผมได้รวบรวมเหตุการณ์ 13 เหตุการณ์ (จริงๆ มีมากกว่านี้มาก) ที่จะเป็นตัวผลักดัน หรือทำให้หุ้นมีโอกาส ปรับ ตัวขึ้นในขณะที่ราคายังต่ำอยู่

          กรณีที่ 1 : ผลการดำเนินงาน "มากกว่า" คาดหมาย (Results beat market expectations) เช่น หุ้นใน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีตัวหนึ่ง นักวิเคราะห์และนักลงทุนได้คาดการณ์ว่า ผลกำไรในไตรมาส 1 ของปี 2548 ได้ กำไรกว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 250 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกันกับไตรมาสเดียวกันนี้แล้ว ซึ่งเป็นผล การเติบโตของกำไรอย่างมหาศาล แต่เมื่อบริษัทได้ประกาศผลการดำเนินงานแล้ว ก็เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด แต่ราคาหุ้นตัวนั้นกลับถูกแรงเทขายทำกำไร แสดงว่า การคาดการณ์ผลการประกอบการที่ดีนั้น ได้ถูกคาดการณ์ และนักลงทุนได้ซื้อหุ้น (Build Position) ไว้แล้ว นักลงทุนกลับมุ่งความสนใจไปในผล การดำเนินงานในไตรมาส ถัดไปทันที (Forward Expectation) แต่ในทางกลับกัน ถ้าผลกำไรของบริษัทได้เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท ซึ่งมาก กว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก หุ้นบริษัทปิโตรเคมีตัวนั้นจะตอบสนองในทางบวกทันที เนื่องจากบรรดานักวิเคราะห์ จะพากันพาเหรดกันปรับผลกำไรขึ้นทันที (Upgrade and Re-rate)

          กรณีที่ 2 : งบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักงบลงทุน (Free Cash Flow) เป็นบวกในไตรมาส แรกหลังจากติดลบมานาน ผมได้ศึกษาเรื่องนี้มา 15 บริษัท พบสิ่งที่น่าสนใจว่า บริษัทใดก็ตามที่มี Free Cash Flow หรืองบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักงบลงทุนเป็นบวกในไตรมาสแรก หลังจากติดลบมาหลายๆ ปี ราคาหุ้นตัวนั้นจะมีการตอบสนองเป็นบวกและบวกมากๆ ด้วย การที่ Free Cash Flow เป็นบวก สะท้อนให้เห็นถึง ธุรกิจกำลังฟื้นตัว (Turn Around) เนื่องจากบริษัทได้ผ่านขั้นตอนการลงทุนไปแล้ว และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว ดอก ผลจากการลงทุนนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เหลือจากการลงทุน สามารถคืนหนี้ได้เร็วขึ้น และจ่ายเงิน ปันผลให้ผู้ถือหุ้นเร็วขึ้น แต่ถ้า Free Cash Flow ยังคง "ติดลบ" หมายความว่า บริษัทต้องกู้เงินเพิ่ม หรืออาจต้อง รบกวน กระเป๋าเงินผู้ถือหุ้นเพิ่มโดยการเพิ่มทุน เช่นในปี 2546 Free Cash Flow ของ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART) เป็นบวกครั้งแรกในไตรมาส 3 ในรอบหลายปี ประกอบกับบริษัทได้ประสบความสำเร็จ ในการปรับโครง สร้างหนี้ด้วย หนี้ได้ลดลงอย่างมหาศาลในปีนั้น ทำให้ราคาหุ้นของ SAMART ได้ทะยานขึ้นราว 4-5 เท่า ในระยะ เวลา 1 ปี

          กรณีที่ 3 : การเปลี่ยนแปลงภาวะอุตสาหกรรม หุ้นจะเป็นไปตามวัฏจักรของอุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) ซึ่งจะมีผลต่ออำนาจการต่อรอง (Pricing Power) ของผู้ซื้อและผู้ขาย และกระทบต่อกำไร (Margins) ของผู้ขายเช่นเมื่อปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ในประเทศไทย มีจำนวนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Property Development) จำนวนมากกว่า 2,000 ราย แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จำนวนผู้ประกอบการกลับลดลงเหลือแค่ 100-200 ราย ในขณะที่ความต้องการบ้านถึงแม้จะลดลงแต่การลดลงยังน้อยกว่าจำนวนผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่ ซึ่งแน่นอนต้องเป็นผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่อยู่รอด สามารถกำหนดราคาขาย ได้ ในช่วงปี 2542-2547 เป็นยุคทองของผู้แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เช่น บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ในกรณีที่ผู้ขายรายอื่นล้มหายตายไป หรืออยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ LH กลับสามารถทำกำไรขั้นต้น (Gross Margins) โตถึง 40-45 เปอร์เซ็นต์ แทบจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของวงการอสังหาริมทรัพย์ ลักษณะ วัฏจักรอุตสาหกรรมแบบนี้เรียกว่า “Oligopoly Business” (อุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการน้อยราย แต่ผู้ประกอบการ สามารถตั้งราคาขายที่มีกำไรสูงได้) ซึ่งอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing Power) จะอยู่ที่ผู้ขาย หุ้นของบริษัท ในอุตสาหกรรมจะปรับตัวขึ้นอย่างมาก เช่น ราคาหุ้น LH ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 20 บาท (Par 10 บาท) มาเป็น 14 บาท (Par 1 บาท) เนื่องจากกำไรจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเมื่อไรก็ตามเมื่อกำไรมาก ก็ต้องดึงดูด จำนวนผู้ประกอบการเข้ามามากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการรายเก่าที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้สินมา มีการลดเงิน ต้นและลดดอกเบี้ยมากมาย ทำให้ต้นทุนของบริษัทเหล่านี้ถูกลง

            สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ประกอบการหน้าใหม่และหน้าเก่าเกิดขึ้นแทบจะทุกวันในปี 2546 ถึง 2547 วัฏจักร อุตสาหกรรมเปลี่ยนทันทีจาก Oligopoly เป็นการแข่งขันกันอย่างค่อนข้างดุเดือด (Perfect Competition) ราคา หุ้นของบริษัทในกลุ่มนี้ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน โรงกลั่นโรงสุดท้ายที่สร้าง ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสร้างเมื่อปี 2538-2539 จากนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โรงกลั่นไม่ว่าจะดีอย่างไรก็ขาดทุน มหาศาล ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ไทยออยล์ (THAI OIL), บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (STAR Refinery) เนื่องจากหนี้เพิ่มขึ้นและความต้องการลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนหลบเลี่ยงในช่วงนั้น ราคา หนี้ของโรงกลั่นเหล่านี้ถูกเทขายในราคา 25 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาด (ราคาได้ตกต่ำกว่าราคาหนี้มาก) จาก นั้นใช้เวลาประมาณเกือบ 8-9 ปี ทำให้กลุ่มโรงกลั่นถึงมีกำไรมากๆ ถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ธนาคารที่ซื้อหนี้ ของไทยออยล์ ที่ราคา 25-30 เปอร์เซ็นต์ ของราคาหน้าตั๋ว แล้วแปลงหนี้เป็นทุนสามารถทำกำไรมหาศาล

          กรณีที่ 4 : การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หรือแก้ไขสัญญาสัมปทาน เช่น ในกรณี บมจ.ไอทีวี (ITV) เมื่อปี 2547 ที่ได้รับการลดค่าสัมปทานจากที่ต้องจ่ายปีละกว่า 1,000 ล้านบาท มาเป็นจ่ายปีละ 200-300 ล้านบาท หรือการที่บริษัทยูบีซี (UBC) สามารถมีโฆษณาในเคเบิลทีวีได้ ตลอดจนการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้ของบริษัท โทรคมนาคมต่างๆ ซึ่งการแก้ไขเหล่านี้ ค่าต้นทุนและการแบ่งรายได้กับภาครัฐลดลง ผลกำไรของบริษัทนั้นเพิ่ม ขึ้น แต่ถ้ามีการกลับคืนของสัญญาสัมปทาน ราคาหุ้นก็พร้อมจะปรับตัวลงทันที

          กรณีที่ 5 : การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใหม่หรือเป็นมืออาชีพ (Strategic Partner) เช่น ในกรณีที่ บมจ.แมกเนคคอมพ์ พรีซิชั่น (Magnecomp) เข้าซื้อกิจการ บมจ.เค อาร์ พรีซิชั่น (KRP) เมื่อปลายปี 2547 ในอดีต KRP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์แขนจับหัวอ่าน ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ขาด ทุนมาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา และต้องมีการเพิ่มทุนอยู่เสมอ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ KRP ไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ เมื่อแมกเนคคอมพ์ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้เข้าซื้อกิจการของ KRP โดยการออกหุ้น ทำการแลกหุ้น (swap) และเอาโรงงานของแมกเนคคอมพ์ในสิงคโปร์มา ภายในไตรมาส แรกหลังเข้าซื้อกิจการ บริษัท KRP และแมกเนคคอมพ์มีผลการประกอบการที่ดีขึ้น นอกจากนี้ราคาที่แลก หุ้นกัน ทำให้เกิดค่าความนิยม (Good Will) น้อยมาก ทำให้บริษัทแมกเนคคอมพ์ไม่ต้องมีการคิดค่าใช้จ่ายทางด้าน ความนิยมด้วย หรือในกรณี บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย (TPI) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ซึ่งบมจ. ปตท. (PTT) และ “พันธมิตร” ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 3.30 บาท นักลงทุนก็มีความ เชื่อว่าหลังจากที่ บมจ.ปตท เข้ามาบริหารงานใน IRPC อาจจะทำให้มูลค่าหุ้นของ IRPC เพิ่มขึ้นกว่ามูลค่าทาง บัญชีได้

          กรณีที่ 6 : หุ้นที่ได้รับความสนใจภายใต้สภาพเศรษฐกิจภาวะใดภาวะหนึ่ง ในปกติสภาวะเศรษฐกิจจะมี ทั้งเงินเฟ้อและเงินฝืด ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งของเศรษฐกิจ อาจก่อให้เกิดกระแสเกี่ยวกับการลงทุน (Investment Theme) เกิดขึ้น เช่น ในภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งเป็นสภาวะที่ปริมาณสินค้ามีมากกว่าความต้อง การ (Over Capacity) ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวลดลง กำลังซื้อหดอย่างฉับพลัน ผู้บริโภคชะลอ การซื้อ ทำให้สินค้าหลายอย่างขายไม่ได้ กระแสการลงทุนในช่วงนี้จะเน้นไปสู่หุ้นกลุ่มที่มีอำนาจผูกขาด (Monopoly) หรือมีอำนาจเหนือผู้บริโภค เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้พลังงาน ทำให้หุ้นกลุ่ม พลังงานขนาดใหญ่บางบริษัท มีอำนาจในการผูกขาดหรือเกือบผูกขาดเป็นระยะเวลานาน อำนาจกึ่ง ผูกขาดนี้อาจ มาจากสิทธิมอบให้จากภาครัฐ หรือความที่บริษัทนั้นมีส่วนแบ่งตลาดมหาศาลจนสามารถกำหนดราคาได้ หรือเป็น บริษัทที่กระแสเงินสดแข็งแกร่ง จนกระทั่งการขยายตลาดในอนาคตนำไปสู่การผูกขาดในระยะยาว (Life-long Monopoly) เงินจะไหลไปสู่การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้และจะทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ

          กรณีที่ 7 : การเป็นบริษัทหายาก (Scarcity) โดยลักษณะผลิตภัณฑ์หรือรายได้ของบริษัทเหล่านี้ต้องไม่ เหมือนใครในท้องตลาด (มี Unique and Scarcity) จะมีอุปสงค์ (Demand) สูงทำให้นักลงทุนยินดีที่จะจ่ายราคา แพง (Premiums) เพื่อซื้อหุ้นกลุ่มนี้ P/E Ratio ของหุ้นกลุ่มนี้จะไม่ต่ำ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่นักลงทุนให้ Premium กับหุ้นกลุ่มนี้ เช่น หุ้นในกลุ่มพลังงานตัวหนึ่ง ทำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถซื้อขายที่ PE สูงถึง 20-30 เท่าได้ ตราบเท่าที่บริษัทจะมีผลกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถ้าผลกำไรเติบโตลดลง หุ้นก็มีโอกาส ปรับตัวลงได้อย่างมาก

         กรณีที่ 8 : หุ้นที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ และธุรกิจจนสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์จากการล้มละลาย (Bankruptcy and Distress) จะสังเกตได้ว่าก่อนวิกฤติทางการเงินปี 2540 บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้ลงทุน ในธุรกิจต่างๆ นอกเหนือจากธุรกิจที่ตัวเองทำและถนัดอยู่ โดยมีความคิดว่าการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ (Diversified) ถือว่าเป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ไกล (High Vision) และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้ โดยที่ตัวเอง ไม่มีความชำนาญ การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเป็นผู้ถือร่วมในลักษณะการร่วมทุน (Joint Ventures) ในอัตราส่วน 20-25 เปอร์เซ็นต์ โดยหวังจะได้ผลกำไร (Equity Accounting) มาช่วยผลกำไรบริษัทแม่ โดยมิได้ สนใจว่าบริษัทร่วมทุนนั้นจะมีเงินปันผลหรือไม่ เพื่อต้องการให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทแม่ดูดี เพื่อทำจะได้ P/E ที่ต่ำ หรืออาจจะจัดตั้งในรูปแบบบริษัท Holding Company ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งในขณะนี้ใช้โครงสร้างแบบนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงของรายได้

         บริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ ก็มักทำโครงสร้างแบบร่วมทุนโครงการต่างๆ เพื่อการประมูลงาน หรือเข้าไปถือใน บริษัทซัพพลายเออร์ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มักเป็นเงินกู้ เมื่อเศรษฐกิจถดถอย กระแสเงินสดในบริษัทร่วมทุน เหล่านี้ไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัทแม่ที่ยืมมาร่วมทุนได้ ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ มีการ ลดเงินต้นและลดดอกเบี้ย (Hair cut) ทำให้มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้น และมีการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ สินทรัพย์หลัก (Non-core Assets) เช่น บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งแน่นอนว่า ราคาหุ้นของบริษัท นั้นจะทรุดหนัก แต่นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษ ต้องหาจังหวะลงทุนในช่วง “ราคาที่ถูกทุบ ลงมา” (Distress) โดยที่เราต้องศึกษาและมั่นใจว่า บริษัทนั้นต้องไม่ถูก “ลดทุน” หรือถูก Written off ในส่วน ของทุนจดทะเบียนจนหมด ผมเคยแนะนำให้ “เฮดจ์ฟันด์” ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ผลตอบแทน 14 เท่า ในรอบ 2 ปี

         กรณีที่ 9 : การนำบริษัทลูก (Subsidiary) หรือบริษัทร่วม (Associates) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้บริษัทแม่ เพราะบริษัทแม่สามารถมี “กำไรที่ยังไม่รับรู้” (Unrealized Gains) เนื่องจากเป็นมูลค่า ซ่อนเร้น ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทแม่เพิ่มขึ้น ถ้ามูลค่าของบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมอยู่ในงบดุลของบริษัทแม่ มูลค่าเหล่านั้นจะถูกบันทึกเป็นมูลค่าทางบัญชีเท่านั้น แต่ถ้าบริษัทลูกและบริษัทร่วมนั้นถูกจดทะเบียนใน ตลาด หลักทรัพย์ มูลค่านั้นจะเป็น “มูลค่าตลาดทันที” (Market value) ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีมูลค่าประมาณ 2-3 เท่าของมูล ค่าทางบัญชี บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทที่ได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถค้นหาได้ว่า บริษัท ไหนมีมูลค่าซ่อนเร้นอยู่โดยการเปลี่ยนจากมูลค่าทางบัญชี เป็นมูลค่าตลาด เราก็ลงทุนหุ้นตัวนั้นล่วงหน้าก่อน ก่อนที่คนทั่วไปจะค้นพบ

         กรณีที่ 10 : บริษัทที่มีโครงสร้างทางการเงินหรือธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisitions) การควบรวมกิจการจะเกิดขึ้นได้ ถ้าบริษัทที่ต้องการซื้อ (Acquirers) เห็นประโยชน์ที่ “ซ่อนเร้น” (Hidden) หรือไม่ซ่อนเร้นในกิจการที่บริษัทกำลังถูกซื้อหรือ “ควบรวมกิจการ” (Takeover Target) ทำให้เกิดการ เก็งกำไรได้ บริษัทที่มีโอกาสถูกควบรวมกิจการ มักมีลักษณะ

          ก.เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ (Assets) , ที่ดิน (Land Bank) หรือใบอนุญาต (Licenses) ที่ซ่อนอยู่มหาศาล จนกระทั่งมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านั้น มีมูลค่ามากกว่ามูลค่าหุ้นทั้งหมดของ บริษัท (Market Capitalization) หรือมากกว่ามูลค่ากิจการทั้งหมดของบริษัท (Enterprise Value) อย่าลืมว่า Enterprise Value จะมีค่าเท่ากับมูลค่า หนี้สินสุทธิ + มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งโดยปกติมูลค่า Enterprise value จะมีค่ามากกว่ามาร์เก็ตแคปเสมอ ยกเว้นในกรณีที่บริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้หรือมีเงินสดในมือ

          ข.บริษัทที่ขาดทุนสะสมมากจนสามารถนำ “ขาดทุนสะสม” (Loss Carried Foreword) มาใช้ในการหักภาษี ได้

          ค.มีเงินสดในมือมากกว่ามาร์เก็ตแคป จะเห็นว่า บางช่วงขณะ ราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์บางบริษัท ได้ ตกลงมามาก จนกระทั่งมูลค่าเงินสดในงบดุลมากกว่ามาร์เก็ตแคปเสียอีกทำให้เป็นโอกาสในการถูกซื้อกิจการเพื่อ เอาเงินสดในบริษัทได้

          ง.การควบรวมกิจการในลักษณะแนวดิ่ง (Vertical Integration) ซึ่งสามารถทำได้ทั้งทางขึ้นหรือต้นน้ำ (Upward) และทางลงหรือปลายน้ำ (Downward) เช่น บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ หรือ NPC มีความพยายามที่จะ ขยายกิจการไปทางปลายน้ำ เพื่อลดความผันผวนของกำไรและราคาผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตอยู่ หรือกรณีกลุ่ม ธนาคารขนาดใหญ่ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ทำ ธนาคารเต็มรูปแบบ (Universal Banking) ทำให้ ธนาคารขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องการต่อยอดธุรกิจสินเชื่อประเภทเช่าซื้อ หรือ Leasing ที่ตัวเองยังไม่มีความถนัด กลุ่มบริษัท Leasing หรือสถาบันการเงินที่จะเป็นเป้าหมายในการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ บริษัทที่ถูก เข้าซื้อจะมีลักษณะทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในอัตราส่วนที่สูงหรือกองทุนขั้น 1 เช่น ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติ สถาบันการเงินถ้ามีทุน 10 บาท สามารถขยายสินเชื่อได้ 10-12 เท่า หรือ 100 บาท หรือ 120 บาท

          ถ้ามี “อัตราส่วนกองทุนขั้นที่หนึ่งสูง” หมายความว่า สถาบันการเงินนั้นสามารถขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มทุน นอกจากนี้การควบรวมอาจจะควบรวมกิจการทางแนวราบ (Horizontal Integration) เพื่อลด จำนวนคู่แข่งหรือสกัดดาวรุ่งก็ได้ เช่น การควบรวมกิจการระหว่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) กับ อีจีวี (EGV) แต่การควบรวมกิจการแบบนี้อาจก่อให้เกิดค่า “กู๊ดวิลล์” (Good will หรือส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายกับ มูลค่าทางบัญชี) และจะทำให้บริษัทที่เป็นบริษัทแม่ (Acquirers) มีกำไรที่ลดลงจากการตัดค่าใช้จ่ายทางกู๊ดวิลล์ ได้ แต่ถ้าการควบรวมกิจการเป็นไปในลักษณะการเกิดบริษัทใหม่ หรือ Amalgamation เช่นกรณี บมจ.ปิโตรเคมี แห่งชาติ (NP) กับ บมจ.ไทยโอเลฟินส์ (TOC) การรวมลักษณะนี้ทำให้ บมจ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สามารถมีสิทธิในการออกเสียงได้ ตลอดจนนำไปสู่การลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น บมจ.ไทยโอเลฟินส์ ได้

          เหมือนสมัยหนึ่งนานมาแล้ว บริษัทเคเบิลทีวี 2 แห่งในประเทศไทย เช่น ยูทีวี กับ ไอบีซี รวมกันเกิดบริษัท ใหม่เป็น “ยูบีซี” แต่ถ้าการควบรวมแบบซื้อกิจการเลยเหมือนในกรณีเมเจอร์ ผู้ถือรายใหญ่จะไม่มีสิทธิในการออก เสียง

         กรณีที่ 11 : การเพิ่มทุนแต่กลับทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นและทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น เช่น กรณีบมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) ที่มีการเพิ่มทุนในปี 2546 และการเพิ่มทุนนี้ทำให้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets) หลังเพิ่มทุนสูงขึ้น

         กรณีที่ 12 : การที่บริษัทสามารถเริ่มจ่ายเงินปันผลให้เป็นครั้งแรก (Dividend Signaling)ไม่ว่าจะมาก หรือ น้อยก็ตาม ราคาหุ้นจะตอบสนองในทางบวกทันที เช่น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) เริ่มจ่ายปันผลในปี 2546 หลังจากเป็น Holding company ที่ไม่จ่ายปันผลเสียนาน ราคาหุ้น SHIN ก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อมา

         กรณีที่ 13 : การที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าสร้างใหม่ (Replacement Cost) มาก ซึ่งจะทำให้หุ้นของบริษัทนั้น มีการปรับตัวขึ้นมาก เช่น HMPRO (เมื่อกลางปี 2547) TPI (เมื่อกลางปี 2547 เช่นกัน) รายละเอียดในเรื่องนี้ ผม จะขยายความต่อไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเราสามารถหาหุ้นที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นสูงเป็น ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ราคา

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ Money Game โดย วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล
ขอขอบคุณ คุณเงินเย็น ที่อนุเคราะห์สำหรับบทความที่ดี

ที่มา:
http://www.thaistockinfo.com/forum2010/f0058.html

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 16, 2014, 03:14:20 pm

principles of Success

(http://image.ohozaa.com/i/2ea/5mEa7a.jpg)

Paktor

ณ โรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง มีป้ายติดไว้ว่า..

(1.01)^365 = 37.8 และ (0.99)^365 = 0.03

อาจจะงงเล็กน้อยว่า มันหมายความว่าอย่างไร??
เชื่อว่า..เมื่อท่านรู้ความหมายแล้วจะทึ่ง!!!

1.01 หมายถึง ถ้าหากเราเพิ่มความขยันขึ้นเพียงวันละเล็กน้อย คือ มากกว่าแค่ 0.01 เราก็จะขยันขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย เราจะขยันขึ้นกว่าเดิม 37.8 เท่า ในเวลา 1 ปี !!

ในทางตรงข้าม ถ้าหากเราทำตัวแบบผลัดวันประกันพรุ่ง เหยาะแหยะ ลดความขยันลงเรื่อยๆ เช่น เอาน่า..วันนี้เหนื่อยแล้ว พักหน่อยนึง เมื่อวานก็อ่านเยอะแล้ว ให้รางวัลตัวเองหน่อยละกัน อ่านลดลงนิดนึงนะ ถ้าทำไปเรื่อยๆ แบบนี้ ในเวลาเพียงหนึ่งปี เราจะขยันลดน้อยลงกว่าเดิมถึง 33.3 เท่า !!

ดังนั้น จงอย่าดูถูกความขยัน แม้เพียงเล็กๆน้อยๆ ก็ตาม แล้วสุดท้าย เราก็จะได้เห็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ของมันอย่างแน่นอน!!

เชื่อว่า..หลักคิดนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง..
คราวนี้คงรู้กันแล้วนะว่า... “คนญี่ปุ่น เขาสร้างชาติกันได้อย่างไร??”

goPaktor
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=718917928152223&set=a.613030392074311.1073741829.593155360728481&type=1

Cr. : Superposition



福田愛 คือ ประเด็น ที่เค้า เขียนมา เค้าไม่ได้ ให้คำณวนตัวเลขค่ะ เค้าจะเปรียบเทียบ กับตัวเลขเฉยๆ ค่ะ เเต่ถ้าจะคำณวนก็จะออก มาเเบบนั้น
เค้าเปรียบเทียบว่า

>>1.01 = มีค่า มากกว่า เลข1 นิดเดียว
>>0.99= 0.99 มีค่า น้อยกว่า เลข1
>>ค่าของ 0.025518(0.3)จะมีความเเตกต่างของเลข1.01กับ0.99 นิดเดียว
เเต่ถ้าเอา เลข สองอย่างนี้ มารวมกันเป็นระยะเวลหนึ่งปี
สิ่งที่คิดว่า มีค่าน้อย ถ้ารวม เป็นความพยายาม ก็จะ ประสบความสำเร็จผล เหมือนหลักคณิตศาสตร์ 1.01^365=37.783
0.99^365=0.02

1.01 ถ้าคุณพยายาม กับ0.09 ที่คุณขี้เกียจ

" เวลาจะทำอะไร ถ้าใช้เวลาเป็นปีๆ การกระทำที่สะสมเรื่อยๆมาก็จะประสบความสำเร็จ"

ยกตัวอย่างง่ายๆ
มีคน สองคน คนนึง พยายาม วิดพื้นทุกวัน วันละสิบครั้ง กับอีกคน นึง กินๆๆๆ โดยไม่ออกกำลังกาย คุณคิดว่า คนสองคนนี้ อีกหนึ่งปีจะเป็นเช่นไร??

หรือ

มีออมสิน อยู่ หนึ่งใบ คนนึง สะสม เงินวันละสิบบาท กับอีกคน มีออมสินเเละไม่หยอด อีกหนึ่งปีต่อมา จะเป็นเช่นไร

เค้า ให้เปรียบเทียบ ความพยายาม ที่เราทำสะสม ค่ะ

ขอโทษนะคะถ้าเเตกประเด็น
แปลตามเว็บที่เซิรทค่ะ http://search.yahoo.co.jp/search?p=1.01&ei=UTF-8&fr=applep1&pcarrier=SoftBank&pmcc=440&pmnc=20

福田愛 การคำณวน เเบบ1.01(365)=378
เเปลภาษายี่ปุ่นตามป้าย "ถ้าคุณ พยายามเเค่ไหน ความพยายาม นั้น ก็จะส่งผลต่อคุณ "

การคำณวน0.99(365)=0.03
แปลภาษายี่ปุ่น ตามป้าย"ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่พยายาม ไม่ว่าจะทำอะไร ความสำเร็จก็จะไม่สำริดผล "

มันเป็นการคำณวนของ ท่านประธาน rakuten ชื่อ มิขิทานิ ท่านกล่าวว่า ถ้า คนเรา พยายาม ทำให้ 1.01 เป็นพลังต่อสู้ ทุกวันๆ (นับหนึ่งวันเป็นปี =365 วัน)
วันที่เหลือ ก็จะฮึด สู้ได้ เเต่ทางกลับกัน ถ้า 0.99 เปอรเซนต์ คุณไม่สุ้ 365วัน ที่เหลือก็จะไม่มีค่า
ตามสูตรคำณวน
1.01^365 =37.783 ปัดเศษ เปน 38
เเละ 0.09^365=0.255
ปัดเศษ เป็น 0.3

ท่านได้ตั้งชื่อการคำณวน นี้ว่า
principles of Success

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 17, 2014, 06:29:19 pm

Thai Focused Equity Fund Agora Vancouver talk July 26, 2012

http://www.youtube.com/v/86TDce8wVAI#t=1071

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 19, 2014, 09:34:47 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 19 May 2014

ลอนดอน...เมืองที่สองของโลก

ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวลอนดอน  หรือพูดให้ตรงกว่าก็คือ  ไป “เยี่ยมเยือน” ลอนดอนอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ไปมาหลายครั้ง  เหตุที่ผมไปลอนดอนบ่อยกว่าอีกหลาย ๆ  เมืองส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกสาวผมได้ไปเรียนปริญญาโทที่นั่น  และผมก็เชื่อว่าคนไทยอีกหลาย ๆ  คนที่ไปลอนดอนบ่อยกว่าไปเมืองอื่นก็คงมีเหตุผลคล้าย ๆ  กับผมที่ว่าไปลอนดอนเพราะลูกเรียนหนังสืออยู่    แต่ลอนดอนไม่ได้ดึงดูดเฉพาะคนที่ไปเรียนและครอบครัวเท่านั้น  ลอนดอนดึงดูดคนไปเยี่ยมเยือนหลากหลายมากจนทำให้มันกลายเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลกแทนที่เมืองปารีสไปแล้วในการจัดอันดับปีล่าสุดที่ลอนดอนได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวประมาณ 17-18 ล้านคนถ้าผมเข้าใจไม่ผิด  ในความรู้สึกของผม  ลอนดอนและอาณาเขตรอบ ๆ  ลอนดอนนั้น  ไม่ใช่เป็นแค่เมืองที่น่าเที่ยวเท่านั้น   แต่มันกำลังกลายเป็นหรือมีศักยภาพที่จะเป็น  “เมืองที่สองของโลก”

           ความหมายของเมืองที่สองของโลกก็คือ  มันคล้าย ๆ  กับ  “บ้านที่สอง”  ของเรา  เราอาจจะอยู่กรุงเทพเป็นหลักแต่มีอีกบ้านหนึ่งอยู่ที่เขาใหญ่หรือเชียงใหม่เรียกว่าเป็นบ้านที่สองที่เราจะไปพักเป็นบางโอกาส  หรือในบางทีก็ไปอยู่เลยนาน ๆ  และอาจจะกลายเป็น “บ้านที่หนึ่ง” หรือบ้านแรกเลยก็ได้เวลาที่เราเกษียณหรือต้องการ “หลบ”  จากอะไรบางอย่างหรือต้องการ  “ลี้ภัย”  ไปอยู่ในที่ ๆ  ปลอดภัยหรือปลอดจากสิ่งไม่พึงประสงค์  สำหรับผมแล้ว  ลอนดอนมีคุณสมบัติที่จะเป็น “เมืองที่สอง”  ของคนทั่วโลกมากกว่าเมืองอื่น ๆ  อีกหลายเมืองเช่นเดียวกับที่มันเป็นเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก  มาดูกันว่าทำไม?

          เรื่องแรกก็คือ  ภาษาของเมืองที่เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลที่คนใช้กันทั่วโลก  นี่ทำให้คนที่ไปเที่ยวหรือไปอยู่มีความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารโดยไม่ต้องไปเรียนรู้อะไรใหม่  เราสามารถไปท่องเที่ยวได้เองโดยไม่ต้องอาศัยล่าม  คนในลอนดอนนั้นสามารถที่จะเข้าใจคำพูดของเราแม้ว่าสำเนียงภาษาอังกฤษของเราจะไม่ดีนัก  อาจจะเนื่องจากพวกเขาคุ้นเคยกับคนต่างชาติหลากหลายมาก  เช่นเดียวกัน  คนที่ให้บริการที่เราต้องใช้นั้น  จำนวนมากก็เป็นคล้าย ๆ  กับเราคือเป็นชาวต่างชาติหรือมีเชื้อสายต่างชาติเช่นเป็นชาวอินเดียในอังกฤษที่มีอยู่มาก  ดังนั้น  เราจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าจะอึดอัดมากนักที่จะพูดภาษาอังกฤษในสำเนียงที่แปลกจากเจ้าของภาษา

          เรื่องที่สองก็คือ  ลอนดอนนั้นเป็นเมืองที่เป็น  “นานาชาติ”  มาก  สังเกตได้จากคนที่อยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีคนที่มีหน้าตาและผิวพรรณหลากหลายโดยเฉพาะที่เป็นชาวเอเซียใต้เช่นอินเดียหรือปากีสถานที่เป็นเมืองในเครือจักรภพของอังกฤษเป็นจำนวนมาก  ในสถานที่อื่น ๆ  โดยเฉพาะในสถานที่ ๆ  ให้บริการเช่นร้านค้าต่าง ๆ  ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารนั้น  พนักงานก็มักเป็นคนที่มาจากคนเชื้อชาติอื่น  ที่ไม่ใช่คนอังกฤษ  ดังนั้น  ความรู้สึก “แปลกแยก”  ของคนจะมีน้อย  ความรู้สึกประเภท  “เหยียดผิว”  ในลอนดอนเองนั้นผมก็แทบไม่เจอเลย  เหตุผลอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะคนอังกฤษและโดยเฉพาะคนในลอนดอนนั้นมีความ  “ก้าวหน้า”  มาก  และพวกเขาได้ผ่านสภาวการณ์การเลวร้ายด้านเชื้อชาติมามากและเข้าใจและยอมรับการอยู่ร่วมกันของคนต่างเชื้อชาติสูง  ดังนั้น  นี่ทำให้การอยู่ในลอนดอนเราจะไม่รู้สึกว่าเป็น  “ประชาชนชั้นสอง”  เราได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันกับคนอื่น ๆ

          เรื่องที่สามคือสาธารณูปโภค  โดยเฉพาะการเดินทางนั้น  ลอนดอนน่าจะเป็นเมืองที่มีความสะดวกมากที่สุดแห่งหนึ่ง  เหตุผลก็เพราะแทบทุกแห่งที่เราจะไปนั้นสามารถไปโดยรถไฟฟ้าใต้ดินได้โดยที่ไม่ต้องเดินมากนัก  ค่าโดยสารก็ไม่แพงและเราสามารถตีตั๋วเป็นรายวันหรือรายสิบวันหรือรายเดือนได้โดยที่เราจะสามารถไปได้ทุกแห่งที่กำหนด  ตั๋วนั้นนอกจากรถไฟใต้ดินแล้วยังใช้ร่วมกับรถเมลบนดินที่สะดวกสบายด้วย  นอกจากนั้น  แท็กซี่ในลอนดอนเองก็มีมากและสามารถเรียกได้ทุกแห่ง  ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  รถบนท้องถนนนั้นมีไม่มากและไม่ติดแม้ในช่วงเร่งรีบ  พูดง่าย  ๆ  การเดินทางในลอนดอนนั้น  ใช้เวลาค่อนข้างน้อยไม่ว่าจะไปที่ไหน  ดังนั้น  การอยู่ในลอนดอนนั้นทำให้เรามีเวลาทำสิ่งต่าง ๆ  ได้มากเพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางมากนัก

          เรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจและความบันเทิงต่าง ๆ  นั้น  ลอนดอนมีไม่น้อยหน้ากว่าใคร  เริ่มตั้งแต่  “ของฟรี”  เช่น  สวนสาธารณะเช่น  ไฮด์ปาร์ค ที่ใหญ่โตและสวยงามเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และทะเลสาบ  ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ  เช่น  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ  วิทยาศาสตร์  สงคราม  ศิลปะและภาพวาด และอื่น ๆ  ที่ไม่เก็บค่าผ่านประตู  ซึ่งผมคิดว่าเป็นนโยบายที่ยอดเยี่ยมของอังกฤษที่จะส่งเสริมให้คนมาชมและศึกษาประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม และความก้าวหน้าของประเทศและของโลกผ่านพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นและดูแลอย่างดีเยี่ยมสุดยอด  ทุกครั้งที่ผมไปลอนดอน ผมก็มักจะต้องไปสวนและไปพิพิธภัณฑ์บางแห่ง  นอกจากของฟรีแล้ว  ลอนดอนยังมีสิ่งบันเทิงที่ดีระดับโลกเช่น  การแสดงละครเพลงที่มีโรงละครระดับมาตรฐานจำนวนมาก  นอกจากนั้น  คนที่ชอบฟุตบอล  ลอนดอนก็เป็น “สวรรค์”อีกแห่งหนึ่งของพวกเขา  เพราะมีการแข่งขันของทีมดังในพรีเมียร์ลีกอยู่แทบจะตลอดปี

          ความปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการอยู่อาศัยและการท่องเที่ยวนั้น  ลอนดอนเองก็เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสูงมาก  การเดินอยู่ตามถนนแม้ว่าจะหลังเที่ยงคืนไปแล้วก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร  เช่นเดียวกับอันตรายจากรถยนต์เองก็ไม่สูงเหตุเพราะว่าผู้ขับขี่มักจะจอดให้คนเดินข้ามถนนตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  โรคภัยจากอาหารหรืออากาศเป็นพิษนั้นก็ดูเหมือนว่าจะน้อย   ว่าที่จริงผมไม่เคยท้องเสียเพราะเรื่องของอาหารเลยในลอนดอน เช่นเดียวกับการเป็นหวัดเพราะติดเชื้อ

          การศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการอยู่อาศัยนั้น  ในลอนดอนมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ดีระดับโลกมากมาย  ทั้งหมดสอนเป็นภาษาอังกฤษ  อีกเรื่องหนึ่งก็คือ  เรื่องของการเงินนั้น  ลอนดอนเป็นศูนย์กลางทางการเงินทำให้มีความสะดวกมากในการโอนเงิน  ฝาก  ลงทุน  และการถอนเงินมาใช้จ่ายไม่ว่าคุณจะเป็นคนจากประเทศไหน  ทั้งหมดนี้ทำให้ลอนดอนเป็นเมืองที่น่าอยู่และทำให้คนทั่วโลกถ้าเลือกได้มักจะอยากเลือกอยู่ลอนดอนเป็นบ้านที่สอง  ที่อาจจะเป็นประเด็นอยู่บ้างก็คือเรื่องของค่าครองชีพที่ลอนดอนนั้นไม่ได้ถูกอย่างอีกหลายเมือง  ค่าบ้านหรือค่าเช่าอพาร์ตเม้นต์เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ  อย่างมีราคาแพง  แต่นี่ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนรวย

          สถิติปัจจุบันก็คือ  ลอนดอนนั้นมีคนรวยที่ติดระดับโลกสูงที่สุด  พวกเขาบางส่วนมาจากหลายประเทศ  คนดังฮอลลีวูดเช่น  มาดอนน่าเลือกอยู่ลอนดอน  เจ้าของห้างแฮรอดที่ดังระดับโลกชาวอียิปต์ก็อยู่ลอนดอน  ดร. ป๋วย อึ๊งภากร  ตอนหนีจากเมืองไทยสมัย 6 ตุลา 19 ก็ไปอยู่เมืองใกล้ลอนดอน  ว่าที่จริงนักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยนั้นผมเชื่อว่ามี “เซฟเฮ้า” หรือบ้านอยู่ในหรือใกล้ลอนดอน  และนักธุรกิจหรือคนรวยจำนวนไม่น้อยในเมืองไทยก็มีบ้านอยู่ในลอนดอน  เหตุผลก็เพื่อเอาไว้ให้ลูกหลานอยู่เวลาไปเรียน  และบางคนก็อาจจะซื้อไว้ลงทุน  คนเชื่อมั่นในประเทศอังกฤษที่ซึ่งระบบกฎหมายมีมีความแน่นอนชัดเจนมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง  เชื่อมั่นในคนอังกฤษที่มีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันของคนทุกคน  และทั้งหมดนี้ก็ทำให้ถนนของ  “คนรวย”  ทั่วโลกมุ่งสู่ลอนดอน
 
Posted by nivate at 9:58 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/05/19/1428


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 26, 2014, 10:13:06 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 26 May 2014

IPO ร้อน ๆ


ตั้งแต่ปี 2552 หรือหลัง “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” เป็นต้นมา  ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องยกเว้นก็อาจจะปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงเล็กน้อย  ผลของมันก็คือ  ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ที่มุ่งมั่นจำนวนไม่น้อยร่ำรวยไปตาม ๆ  กันจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลาไม่นานเพียง 4-5 ปี  เหตุผลที่นักลงทุนทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนได้มโหฬารนั้น  นอกจากเรื่องของการที่ตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมากแล้ว  ยังอยู่ที่กลยุทธ์ในการลงทุนที่พวกเขาเน้นในหุ้นตัวเล็กที่มีการเติบโตสูงกว่าดัชนีโดยรวมมากด้วย  นี่เป็นประเด็นแรก   อีกประเด็นหนึ่งก็คือ  VI หรือนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเหล่านั้นยังมีการใช้มาร์จินหรือกู้เงินซื้อหุ้นในอัตราที่สูงมากซึ่งช่วย  “ขยาย”  ผลตอบแทนเป็นทวีคูณ  ผลก็คือ  ผลตอบแทนของนักลงทุนบางกลุ่มนั้นสูงลิ่วปีละหลายสิบหรือบางทีเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ และอาจจะทำให้หุ้นตัวเล็กเป็นหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยสนใจมากกว่าหุ้นตัวใหญ่มาก

           อาการที่หุ้นตัวเล็กที่มีผลประกอบการที่ดีหรือมี  Story หรือเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น  “วิ่ง”  ระเบิด  เมื่อมีการ  “โหม” เข้าซื้อของนักลงทุนนั้น  ผมคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่ “บูม”  จัดเป็นกระทิง  ยิ่งบูมนาน  หุ้นดังกล่าวก็จะมีมากและบ่อยขึ้น  แต่เมื่อการปรับตัวของดัชนีขึ้นไปสูงมากและนานพอจนอาจจะเริ่มชะลอตัว  หุ้นตัวเล็กที่มีผลการดำเนินงานดีและมีสตอรี่เด่นก็ถูกค้นพบและมีราคาปรับตัวขึ้นไปจนเกือบหมด  การวิ่งระเบิดของหุ้นตัวเล็กก็จะน้อยลง  นักลงทุนจำนวนหนึ่งก็จะหันมาหาหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถมาทดแทน   และนี่ก็คือหุ้นที่เข้าตลาดครั้งแรกหรือเข้ามาเทรดใหม่ที่เรียกกันว่าหุ้น  IPO  พวกเขาเข้ามาซื้อขายหุ้นเหล่านี้กันอย่าง  “บ้าคลั่ง”  โดยเฉพาะในวันแรก ๆ  ของการเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นมักปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่วจนไม่น่าเชื่อ  ราคาหุ้นคิดตามค่า PE หรือ PB สูงหรือแพงมากพอ ๆ  หรือมากกว่าหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก”   ในฐานะของ VI  เรามองหุ้น IPO อย่างไร?

            ประการแรก  ผมคิดว่าหุ้น IPO หลายตัวในภาวะตลาดบูมนั้น  อาศัยสภาวะของการเก็งกำไรที่มีอยู่มากในตลาดหุ้นเข้ามาระดมทุนและสร้างมูลค่าของกิจการที่สูงกว่าความเป็นจริง  พูดง่าย ๆ  บริษัทสามารถขายบางส่วนของกิจการในราคาที่สูงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น  เงินที่บริษัทได้รับจากการขายหุ้น IPO นั้นมีมากพอที่จะทำให้บริษัท  “สบาย”  และสามารถที่จะ “เติบโต”  เร็วขึ้นซึ่งสำหรับบริษัทนั้นแทบไม่มีอะไรจะเสียเลย  ในส่วนของเจ้าของนั้น  แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเมื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น   แต่มูลค่ารวมของความมั่งคั่งวัดจากจำนวนและราคาของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดก็มักจะสูงขึ้นมากจากเดิมที่ความมั่งคั่งนั้นวัดได้ไม่ชัดเจนเพราะไม่มีราคาซื้อขาย  แต่สำหรับนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้น IPO นั้น  พวกเขาได้อะไร?

            ในระยะสั้น  ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังอยู่ในโหมดของความสดใส  การซื้อ  “หุ้นจอง”  หรือหุ้น IPO  ก่อนเข้าตลาดนั้นดูเหมือนว่าจะ  “ปิดประตูขาดทุน”  เหตุเพราะว่าวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดนั้น  การเก็งกำไรหรือแม้แต่  การ “ดูแลราคาหุ้น”  ของเจ้าของหรือใครก็ตาม  มักจะทำให้ราคาหุ้นสามารถขึ้นไปเหนือราคาจองเสมอ  และถ้าโชคดี  ราคาขึ้นไปสูงกว่าราคาจองหลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือบางทีเป็นร้อย  คนได้หุ้นจองก็ทำเงินได้ง่าย ๆ อย่างรวดเร็วจากการลงทุนไปเพียงไม่กี่วัน   แต่ปัญหาก็คือ  หุ้นจองในภาวะที่ตลาดหุ้นร้อนแรงนั้น  “หาได้ยาก”  ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักเล่นหุ้นรายใหญ่หรือมีสายสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าของบริษัทหรือผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้น   ส่วนการเข้าไปซื้อหุ้นที่เข้าใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ในวันแรก ๆ  ของการซื้อขายนั้น  ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการเก็งกำไรล้วน ๆ  ด้วยเหตุผลที่ว่า  หุ้นจองหรือ IPO ในความเห็นของผมนั้น  มักจะถูกตั้งราคาที่สูงกว่าพื้นฐานอยู่แล้วโดยที่ปรึกษาและรับประกันการจำหน่ายหุ้น  และถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นในวันแรก ๆ  ที่ราคาวิ่งสูงขึ้นไปอีก  นั่นก็แปลว่าเรากำลังซื้อหุ้นที่ยิ่งสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก  ดังนั้น  ถ้าเราถือหุ้นลงทุนระยะยาว  เราก็น่าจะขาดทุนมากกว่าที่จะกำไร  เพราะในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งเข้าสู่พื้นฐานของมัน

            เหตุผลที่ผมเชื่อว่าหุ้น IPO ส่วนใหญ่นั้นถูกกำหนดให้มีราคาสูงกว่าพื้นฐานนั้น  เป็นเพราะว่าราคานั้นมักถูกกำหนดโดยเจ้าของบริษัทที่รู้จัก “พื้นฐาน” ของบริษัทเป็นอย่างดี  และขายให้กับนักลงทุนโดยทั่วไปที่มักจะไม่รู้จักกับบริษัทเลยหรือรู้จักแบบผิวเผินแต่มาซื้อหุ้นเพราะหวัง “เก็งกำไร”  ในระยะสั้น  ดังนั้น  เขาจึงไม่สนใจมากนักว่าราคาจะแพงหรือถูก    อาจจะมีข้อถกเถียงว่าคนที่กำหนดหรือคำนวณราคาหุ้น IPO คือผู้ที่รับประกันการจำหน่ายหุ้นซึ่งก็คือที่ปรึกษาการเงินที่มีความรู้ในการประเมินราคาหุ้นเป็นอย่างดี  ดังนั้น  ราคาหุ้นที่ขาย IPO ก็น่าจะเป็นราคาที่ยุติธรรม  ว่าที่จริงโบรกเกอร์ก็มักจะพูดว่าราคาหุ้นที่ตั้งนั้นมี  “ส่วนลด” จากราคาพื้นฐานด้วยซ้ำ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าขายไม่หมดเขาก็ต้องรับซื้อหุ้น IPO  นั้นไว้เอง  ดังนั้น  ราคาหุ้น IPO จึงไม่น่าจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น  แต่ข้อถกเถียงนี้ผมคิดว่าอาจจะไม่ถูกต้อง  ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ข้อแรก  ที่ปรึกษาไม่รู้หรือไม่สามารถประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมได้จริง  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอิงตัวเลขบางตัวเช่น  ค่า PE ของปีที่ผ่านมาหรือปีปัจจุบันที่กำลังจะมาถึงโดยที่บ่อยครั้งบริษัทนั้นไม่ได้มีผลประกอบการที่มั่นคงสม่ำเสมอพอที่จะใช้กำไรที่เห็นในช่วงสั้น ๆ  มาประเมินมูลค่าหุ้นได้  เป็นต้น  ข้อสอง โบรกเกอร์ไม่มีปัญหาในการขายหุ้น IPO ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูม  ดังนั้น  เขาก็ไม่กลัวว่าจะขายหุ้น IPO ไม่ได้

            เหตุผลที่ผมไม่ใคร่สนใจซื้อหุ้น IPO หลังจากเข้ามาเทรดในตลาดใหม่ ๆ  อีกข้อหนึ่งก็คือ  หุ้นเหล่านี้มักจะมีประวัติหรือข้อมูลผลประกอบการที่สั้นมากเพียง 2-3 ปีที่เปิดเผยให้เราเห็น  นอกจากนั้น  เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนมาก่อน  ความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็มักจะไม่เพียงพอ  ที่สำคัญก็คือ  ข้อมูลผลประกอบการปีล่าสุดเองนั้นก็มักจะต้องถูกทำให้ดูดีเพื่อที่ที่ปรึกษาการเงินจะได้สามารถตั้งราคาหุ้นให้สูงขึ้น  ดังนั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ากำไรที่ดูดีนั้นมาจากการ  “แต่งตัว”  หรือทำให้ดูดีด้วยวิธีการทางบัญชีหรือเกิดจากกลยุทธ์ประเภทดึงกำไรให้เกิดก่อนแล้วค่อยไปลดกำไรในภายหลังหรือไม่  ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมอาจจะไม่เข้าใจหรือรู้จักบริษัทจริง ๆ  และเป็นความเสี่ยง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นใหม่ ๆ  เหล่านี้มีอัตราของการเก็งกำไรสูงมากมองจากอัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนมือของหุ้นที่สูงลิ่ว  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็มักจะสูงกว่าความเป็นจริง   ผมจึงมักเลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่งหรือซื้อขายหุ้น IPO โดยเฉพาะการซื้อขายหลังจากเข้าตลาดไปแล้ว

            แน่นอนว่ามีหุ้น IPO บางตัวที่ “ร้อนแรง”  ตั้งแต่วันเปิดจอง    ร้อนแรงมากในวันที่เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยและผลประกอบการของบริษัทที่ประกาศออกมาดูน่าประทับใจรวมถึงการคาดการณ์อนาคตที่ดูสดใส  หรือร้อนแรงมากเนื่องจากเหตุผลที่ว่ามันเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีหุ้นจำนวนน้อยและอาจจะมีคนที่เล่นหรือ “ดูแล” หุ้นอย่างมีประสิทธิผล  แต่ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นก็จะต้องสะท้อนถึงพื้นฐานที่แท้จริงของมัน  และนั่นก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดหุ้นซบเซาหรือนักลงทุนหมดความสนใจในตัวหุ้นเนื่องจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คนคาดหวัง  ราคาหุ้นก็จะตกลงมาอย่างหนักและคนที่ซื้อหุ้นไว้ก็จะเสียหาย  ดังนั้น  โดยทั่วไปแล้ว  ถ้าผมได้หุ้นจองมา  ผมก็มักจะขายหุ้นค่อนข้างเร็วหลังจากที่มันเข้าซื้อขายในตลาด  โอกาสที่ผมจะถือเก็บไว้ยาวนานมีน้อย  โอกาสที่ผมจะซื้อหุ้น IPO ที่เข้าตลาดใหม่ ๆ เพื่อเก็บไว้ยาวเพื่อลงทุนแทบจะไม่มีเลย  เมื่อผมยังเป็นเด็กนั้น  มีเนื้อเพลงเกี้ยวสาวยอดนิยมประโยคหนึ่งบอกว่า  “เก่า ๆ  เป็นสนิม  ใหม่ ๆ  หน้าตาจุ๋มจิ๋ม”  แต่ในตลาดหุ้นนั้น  ผมคิดว่าหุ้น เก่า ๆ  นั้นไม่เป็นสนิมและหุ้นใหม่ ๆ  นั้นหน้าตาก็ไม่จุ๋มจิ๋ม ครับ
 
Posted by nivate at 2:42 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/05/26/1429


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 28, 2014, 02:59:47 am
สุข แบบ vi สบาย แบบ 3 แวลูอินเวสเตอร์

เปิดใจ 3 แวลูอินเวสเตอร์เล่นหุ้นอย่างไรให้ 'สุข+รวย' ยึดหลักการ 'ง่ายๆ-พอเพียง-มีเหตุผล' รับทั้งกำไรได้ทั้งความสุขแบบทูอินวัน

เป็นนักลงทุนมายาวนานและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บ ไซต์ Thaivi.com แต่ด้วยหน้าที่การงาน ทำให้ ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เพิ่งมีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์ลงทุนเป็นครั้งแรก เจ้าตัวเน้นย้ำก่อนว่าเป็นการลงทุนส่วนตัวเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำที่ทำอยู่

จุดเริ่มต้นในกระดานหุ้น ธันวาเล่าว่าหลังเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นและมีเงินเก็บพอสมควร จึงเริ่มลงทุนหุ้นตามคำชักชวนของคนรู้จัก สมัยนั้นยังใช้ระบบ เคาะกระดาน ผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน อยู่ตึกอมรินทร์ทาวเวอร์

ผมลงทุนตามอารมณ์สิบกว่าปีกำไรได้นิดเดียว แต่ขาดทุนเยอะล้างพอร์ตแล้วสองสามครั้ง ผ่านวิกฤติตั้งแต่อิรักบุกคูเวต จนถึงลอยตัวค่าเงินบาทปี 2540 เจ็บตัวมาตลอดทาง

จุดเปลี่ยนในชีวิตนักลงทุนของธันวา เกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางไปประเทศ สิงคโปร์มีโอกาสอ่านหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ และ ตีแตก ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ถึงเริ่มเดินเข้าสู่วิถีนักลงทุนหุ้นคุณค่า

ช่วงแรกๆ ผมเลือกลงทุนหุ้นปันผลเป็นหลัก ต่อมาก็พัฒนาเริ่มดูภาพเศรษฐกิจใหญ่ประกอบเน้นธุรกิจที่จับต้องได้และสามารถประเมินผลประกอบการข้างหน้าได้

พอร์ตลงทุนในปัจจุบัน มีหุ้นอยู่ 5 ตัว เป็นกลุ่มโมเดิร์นเทรด 2 ตัว โรงพยาบาล และอาหาร ส่วนตัวจะเลือกหุ้นที่อิงกับ "ปัจจัยสี่" แต่ให้น้ำหนักกับหุ้นที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าและที่อยู่อาศัยน้อยกว่าอาหารและยา ที่สำคัญต้องเป็นผู้นำในธุรกิจและมีธรรมาภิบาลระดับสูงด้วย

ธันวา อธิบายว่าข้อดีของหุ้นโรงพยาบาล คือ ลูกค้าแทบจะไม่มีอำนาจต่อรองราคาได้เลย ผลประกอบการก็ดีปันผลสูง แต่บางตัวก็ติดกับดักสภาพคล่อง โอกาสขายออกมีน้อย

โครงสร้างผู้ถือหุ้นก็สำคัญ ธันวาเลือกที่จะลงทุนบริษัทที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้บริหารด้วย เพราะจากประสบการณ์ผู้บริหารที่ไม่มีหุ้นจะให้ความสำคัญกับกิจการน้อยกว่าคนที่มีหุ้นในมือ

ด้วยภารกิจในงานประจำที่เร่งรัด จึงต้องลงทุนหุ้นไม่กี่ตัว ปกติจะถืออยู่ที่ 5 ตัว แต่ก็ติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่องถ้ามีเวลาก็จะไป Company Visit ทุกไตรมาส

นอกจากนี้ผมยังลงกองทุนหุ้นไว้ 3 กองเพราะผมคิดว่าผลตอบแทนยังไงก็ดีกว่าไปลงทุนแบบอื่นแน่นอน

ธันวา เล่าให้ฟังอีกว่า ทุกวันนี้พอใจกับชีวิตการเป็นแวลูอินเวสเตอร์ มีกลุ่มนักลงทุนที่มีแนวคิดเหมือนกับเป็นเพื่อนพูดคุย เมื่อมีการจัดกิจกรรมของชมรมก็จะมาแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่ทุกครั้ง

ส่วนการลงทุนครั้งใหญ่ของชีวิต เร็วๆ นี้ กำลังเตรียมสร้างบ้าน "หลังที่สอง" รวมถึงวางแผนการศึกษาให้บุตรสาว "สองคน" สร้างสมดุลระหว่าง "สุขใจ" และ "สบายกระเป๋า" ได้อย่างลงตัว

ด้าน พรชัย รัตนนนทชัยสุข คนไทยเพียงคนเดียวที่คลั่งไคล้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงขนาดดั้นด้นไปซื้อหุ้น "เบิร์คไชร์ ฮาธะเวย์" (Berkshire Hathaway) เพื่อหวังไปพบตัวจริงเสียงจริงของ "บัฟเฟตต์" ในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีถึงเมืองโอมาฮา สหรัฐอเมริกา

พรชัย เป็นผู้แปลและเรียบเรียงหนังสือของวอร์เรน บัฟเฟตต์, เบนจามิน เกรแฮม, ปีเตอร์ ลินช์ รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนหลายเล่ม เขาจบปริญญาตรีด้านเภสัชกรเมื่อปี 2537 เริ่มทำงานครั้งแรกในบริษัทยาแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ (MBA) และได้เข้าทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต

พรชัย เริ่มต้นชีวิตนักลงทุนเมื่อประมาณปี 2535-2537 ซึ่งตลาดหุ้นบูมมาก แต่ก็เล่นแบบเก็งกำไรและไม่ประสบความสำเร็จ

"แรกๆ ผมเลือกหุ้นโดยกางบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ว่าเขาเชียร์หุ้นตัวไหนบ้าง แต่แล้วก็ขาดทุน เพราะเราไม่ได้ดูเลยว่า ราคาหุ้น ค่าพี/อี ค่าพี/บี ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร พอซื้อเข้าไปจึงขาดทุน ช่วงที่เข้าไปดัชนี 1,000 จุดต้นๆ หลังจากนั้นมันตกลงมาต่ำสุด 207 จุด ผมรู้สึกเลยว่าการเชื่อผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่วิธีที่ทำกำไรได้"

จากประสบการณ์ครั้งนั้นเขาจำได้ว่า ซื้อหุ้นไว้ที่ดัชนี 1,300 จุด ตกลงมาเหลือ 200 จุด แต่หุ้น SE-ED ราคากลับขึ้นจาก 28 บาท ไป 36 บาท เริ่มเห็นว่ามันมีหุ้นบางตัวที่เอาชนะตลาดได้ จากนั้นมาก็เป็นแวลูอินเวสเตอร์เต็มตัว โดยวิธีการลงทุนจะค้นหาหุ้นที่ราคาตลาดถูกกว่ามูลค่ากิจการที่คำนวณได้ และต้องเป็นธุรกิจที่คาดการณ์รายได้ในอนาคตได้ ไม่ผันผวน มีจุดแข็งในธุรกิจ และมองเห็นคู่แข่งว่าเป็นใคร

"หุ้นพวกอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี งานประมูล พวกนี้ไม่แน่นอนคาดเดาไม่ได้เลย หุ้นพวกนี้ต้องหลีกเลี่ยง"

พอร์ตส่วนตัวตอนนี้พรชัยเปิดเผยว่า มีหุ้นไทยแค่ 2 ตัวเท่านั้น ตอนนี้เน้นถือเงินสดเพราะมองว่าราคาหุ้นขึ้นมาเยอะมากแล้ว แต่เริ่มนำเงินไปลงทุนที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนตรง ปัจจุบันมีอยู่ 8 ตัว โดยให้เหตุผลว่าต้องมีเยอะกระจายความเสี่ยงเพราะข้อมูลน้อยกว่าเมืองไทย

"ผมแบ่งสัดส่วนพอร์ตถือเงินสด 20% หุ้นที่สหรัฐฯ 10% ที่เหลือเป็นหุ้นไทยสองตัว 60-70% ถ้าผมลงทุนหุ้นกระจุกเพียงไม่กี่ตัว แปลว่า ผมมั่นใจในตลาดหุ้นมากๆ แต่ถ้าซื้อหลายตัว แปลว่า ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง"

ช่วงเวลาที่ขายหุ้น ปกติจะถือหุ้นไว้จนกว่าราคาจะขึ้นมาใกล้เคียงกับมูลค่าที่คำนวณไว้ หรือไปเจอหุ้นตัวอื่นที่มีมูลค่าถูกกว่าก็จะสลับตัวเล่น แต่บางครั้งถ้ารู้ว่าเลือกผิดตัวก็จะตัดใจขายไปเลย

สถานการณ์ที่ตลาดหุ้นลงมาแรงๆ อย่างช่วงปลายปี 2551 พรชัยบอกว่า หุ้นในพอร์ตไม่ได้ตกลงไปมาก แต่ถือโอกาสขายตัวที่แพงออกไปแล้วไปซื้อตัวอื่นที่ถูกกว่า เพื่อให้หุ้นในพอร์ต Under Value ตลอดเวลา

แนวทางของผมก็คือ เราซื้อหุ้นในตลาดไม่ใช่ซื้อตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ผมไม่ได้จำต้นทุนหรอก กำไรก็ไม่ได้จำ ถือว่าการลงทุน คือ ความสุขของชีวิต

ทุกวันนี้การลงทุนหลักๆ ยังคงเป็นการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อกองทุนหุ้นเหมือนกัน นอกจากนี้ก็ยัง "ลงทุนความรู้" โดยบินไปอบรมด้านการลงทุนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบีย รวมถึงให้ความสำคัญกับครอบครัวด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นการลงทุนเหมือน กันก็คือ การบินไปประชุมผู้ถือหุ้น เบิร์คไชร์ ฮาธะเวย์ ที่เมืองโอมาฮา สหรัฐอเมริกา พยายามทำให้ได้ทุกปี เจ้าตัวเผยว่าเป็น "ความสุข" ที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เพราะได้กระทบไหล่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตัวเป็นๆ

ทางด้านแวลูอินเวสเตอร์หมายเลขหนึ่งของเมืองไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ยอมรับในสังขารตอนนี้ แก่ลง คำนวณอะไรเยอะๆ ไม่ไหว วิธีเลือกหุ้นที่จะลงทุนจะดูบริษัทที่ทำงานเหมือน พนักงานเก็บเงิน มีความแน่นอนสูงและมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินได้ต่อเนื่องในอนาคต

บริษัทต้องไม่ลงทุนมาก แต่รับเงินเรื่อยๆ เราแค่มองดูว่า อนาคตผู้คนยังเลือกที่จะเดินทางไป ให้เก็บเงินอีกหรือไม่ แต่ไม่ใช่หุ้นทางด่วนนะบอกก่อน เจ้าตัวว่า ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าอาจารย์นิเวศน์ หมายถึงหุ้น CPALL ที่มีติดพอร์ต 22.50 ล้านหุ้น มูลค่าเกือบ 480 ล้านบาท

อาจารย์นิเวศน์ บอกว่า ตอนนี้มีหุ้นในพอร์ต "สิบตัว" (อาทิ CPALL, IT, HMPRO, IRC, APRINT) ลงทุนหนักๆ อยู่ 6-7 ตัว ส่วนใหญ่ซื้อแล้วไม่คิดจะขาย ถือยาวตั้งแต่ห้าปีเป็นต้นไป บางตัวสิบกว่าปีแล้วก็ไม่ขาย ถ้าจะขายก็คือไปเจอหุ้นตัวอื่นที่มูลค่าลดลงมาแล้ว เปลี่ยนตัวเล่น เท่านั้นเอง

ส่วนการลงทุนอื่นๆ ยังคงเป็นเรื่องการศึกษาของลูกสาวที่เตรียมบินไปเรียนต่อต่างประเทศเร็วๆ นี้

สุขใจ-สบายกระเป๋า หลักการของสามแวลูอินเวสเตอร์ "ง่ายๆ-พอเพียง-มีเหตุผล" รับทั้งกำไรได้ทั้งความสุขแบบทูอินวัน

Credit : thaivi.com
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 01, 2014, 08:04:21 pm
ลงทุนแบบวอร์เรนบัฟเฟตต์ – Money talk

http://www.blip.tv/file/3641809

ขอบคุณ คุณ sorawut แห่งเวป Thaivi ครับ

ขออนุญาตสรุปเนื้อหาแบบ hard core ที่เกี่ยวข้องกับหลักการงทุนหุ้นคุณค่านะครับ ฉบับเต็มสามารถฟังได้ตามลิงค์ด้านบนเลยครับ

วอร์เรน บัฟเฟตต์คือใครโดย ดร. นิเวศน์

อายุโดยประมาณราวๆ 80 ปี ในความคิดอาจารย์ คิดว่า วอร์เรน คือคนที่พระเจ้าสร้างมาเป็นตำนานแห่งการลงทุน เนื่องจากปัจจัยที่เกื้อหนุนหลายๆอย่างคือ

1) ชอบลงทุน ตั้งแต่เด็กชอบซื้อของมากขายต่อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือโพยม้า ทั้งที่ฐานะทางบ้านไม่ได้จนอะไร เพราะพ่อเป็นถึง สส. ของอเมริกา
2) มีความรู้ที่ถูกต้องในการลงทุน โดยที่มีอาจารย์คือ เบนจามิน เกรแฮม บิดาแห่ง value investment โดยวอ์เรนเป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนมาก ถึงขนาดเกรแฮมถือว่าเป็นนักศึกษาที่ได้เกรด A+ คือได้เกรด A แบบเต็มร้อย
3) มีเวลาในการลงทุนมาก ตั้งแต่อายุ 11 ปี แต่ลงทุนจริงๆจังๆตอนเรียนจบ ถ้านับประสบการณ์ ก็ได้ประมาณห้าสิบกว่าปี สำหรับนักลงทุนแล้ว เวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน เพราะพลังแห่งผลตอบแทนทบต้น
4) เข้าตลาดในจังหวะที่อเมริกากำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และมีการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยวอร์เรนเริ่มลงทุนในบริษัทที่ขณะนั้นยังมีขนาดเล็กอยู่ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆตามเศรษฐกิจ
แต่ปัจจัยเดียวที่วอร์เรนยังไม่มีคือจำนวนเงินลงทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก

คัมภีร์เล่มแรกที่สอนวอร์เรน บัฟเฟตต์ โดย คุณพรชัย
หนังสือ The Intelligence Investor ของเบนจามิน เกรแฮม เปรียบเสมือนตำราเล่มแรกที่ทำให้วอร์เรน รู้สึกเหมือนกับว่าได้เปิดหูเปิดตาสู่การลงทุนที่เฝ้ารอ หลังจากศึกษาตำราอื่นๆมานาน โดยเด็กหนุ่มวอร์เรนในขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี

หลักการลงทุนแบบวอร์เรน โดย ดร.กุษยา
สรุปแบบสั้นๆคือ
1) ให้รู้จักในสิ่งที่คุณลงทุนให้ดีที่สุด อะไรที่เราไม่เข้าใจ อย่าไปยุ่งกับมัน
2) อ่านให้มากๆ ก่อนที่จะลงทุน ไม่มีวิธีที่เป็นทางลัด อ่านแล้วคิดให้เป็นตัวของตัวเอง
3) ถ้าคุณไม่คิดที่จะถือหุ้นนั้นไปสิบปี แม้ สิบนาทีก็อย่าซื้อ ก็คือให้ซื้อแบบลงทุระยะยาว
4) ลงทุนซื้อหุ้น คือการลงทุนในกิจการ เสมือนการเป็นหุ้นส่วน ต้องดูผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์

การปรับใช้หลักคิดของวอร์เรนในการลงทุนในชีวิตจริงของคุณพรชัย
หลักการลงทุนของวอร์เรนต์แบ่งออกเป็นสองส่วน
1) ทัศนคติต่อการลงทุน: เวลาซื้อหุ้น ให้รู้ว่าเรากำลังซื้อธุรกิจ อย่าหวั่นไหวไปกับราคาหุ้น
2) การวิเคราะห์บริษัท: ลงทุนในธุรกิจที่เราเข้าใจ เข้าใจในที่นี้คือ การเข้าใจว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้านี้ บริษัทจะยังเป็นที่หนึ่งในตลาดอีกหรือไม่ และเลือกบริษัทที่มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เพราะวอร์เรนมองช่วงการลงทุนในระดับ 10-20 ปี
เช่น ปี 1988 การลงทุนในบริษัทโค้ก ในณะนั้น ซึ่งเทียบได้กับ 30% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์เลยทีเดียว
ปล. บริษัทเบิร์กไชร์ เกิดจากการที่วอร์เรนซื้อหุ้นโดยกรองหุ้นที่มีลักษณะเป็น Net Net คือมีสินทรัพย์หมุนเวียนลบหนี้สินหมุนเวียนที่ 19 USD ต่อหุ้นแต่ราคาขณะนั้นคือ 7 USD เขาจึงทำการสะสมหุ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในที่สุด

ตัวอย่างการลงทุนที่ประสบความสำเร็จของวอร์เรนที่ประสบความสำเร็จ
ดร.กุษยา: การลงทุนในบริษัทไจโก้ (GEIGO) บริษัทประกันที่วอร์เรนลงทุนทำให้มีเงินทุนที่เป็นแหล่งสนับสนุนเนื่องจากธรรมชาติของธุรกิจ
คุณพรชัย: การลงทุนในโค้ก ที่ขณะนั้นมี PE 15 เท่า โดย 10 ปีหลังจากนั้น ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 28%
ดร. นิเวศน์: การลงทุนในบริษัทอเมริกันเอกซ์เพรส ซึ่งวอร์เรนเคยถือถึง 50% ของพอร์ต เกิดเหตุการณ์สำคัญในขณะนั้นคือเกิดเรื่องฉาวโฉ่ในบริษัท ซึ่งขณะนั้นให้บริการบัตรเครดิตที่เป็นที่รู้จักอย่างทั่วโลก แต่เรื่องฉาวโฉ่นั้นเกิดจากคนใน เกี่ยวกับเรื่องน้ำมันสลัด ซึ่งทำให้เกิดค่าเสียหายมาก ทำให้หุ้นตกอย่างรุนแรง แต่วอร์เรนยังมองว่าตัวธุรกิจหลักยังคงไปได้ดี ทำให้วอร์เรนต์ทุ่มซื้ออย่างมาก
ทำให้เกิดข้อคิด classic ของวอร์เรนในเรื่องของการซื้อธุรกิจที่แข็งแกร่ง แต่เกิดวิกฤติเพียงชั่วคราวที่ไม่กระทบกับธุรกิจหลัก

ตัวอย่างการลงทุนที่ล้มเหลว
ดร.กุษยา:การลงทุนในบริษัทเบิร์กไชร์ ซึ่งซื้อแล้ว แต่บริษัทกลับต้องปิดและเปลี่ยนเป็น holding company อย่างในปัจจุบัน
คุณพรชัย: ซื้อแล้วขาดทุน –> ช่วงแรกดูจาก ratio แต่ไม่ได้ดูผู้บริหาร เช่น ห้างสรรพสินค้า (น่าจะเซียร์)
ควรซื้อแต่ไม่ซื้อ –> รู้ว่าธุรกิจน่าจะดีแต่ซื้อเพียงเล็กน้อย ไม่ซื้อต่อ เช่น หุ้น Wall mart
ดร.นิเวศน์: การลงทุนในหุ้นการบิน ซึ่งโดยธรรมชาติมีการแข่งขันที่สูง

หลักการของวอร์เรนกับการลงทุนในเมืองไทย

คุณพรชัย: คิดว่าใช้ได้ในเมืองไทย แต่สิ่งที่ลำบากคือการหาบริษัทที่เรามั่นใจว่าจะมีการเติบโตในระยะ 10-20 ปี อาจจะหาได้ยาก
ดร.นิเวศน์: มองว่าหลักการลงทุนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งวอร์เรนเปลี่ยนแนวจากการลงทุนแบบสเปะสปะ ซื้อถูกขายแพงแต่หลังๆ เปลี่ยนเป็นการลงทุนในการซื้อหุ้นที่ดีมากๆแล้วเก็บไว้ อาจด้วยประสบการณ์, อายุและขนาดพอร์ต
ดร.กุษยา: หลักใหญ่ๆที่เอามาใช้น่าจะทำได้หมด แต่เอามาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การทำความเข้าใจกับบริษัทที่จะลงทุนให้มากๆ แต่มีข้อระวังในส่วนของความถูกต้องของข้อมูล การพิจารณาแยกแยะระหว่างความเห็นกับความจริง และอาจจะต้องระวังในแง่ของจิตวิทยาในการลงทุน
ดร.นิเวศน์: ให้เอาหลักการมาใช้ โดยหามุมมองที่สำคัญ ที่ทำให้หุ้นแตกต่างและโดดเด่นชัดเจน ตัวอย่างเช่น หุ้นรถไฟ ซึ่งดูเป็นหุ้นที่หมดยุค แต่วันดีคืนดี (เร็วๆนี้) วอร์เรนกลับลงทุนในระดับที่สูงมาก โดยมีมุมมองใหม่คือ ราคาน้ำมัน ที่ไม่น่าจะถูกอีกต่อไป ทำให้ค่าขนส่งสูงมาก ซึ่งคนที่จะได้เปรียบก็คือ เรือกับรถไฟ แต่เรือค่อนข้างมีคู่แข่งและข้อจำกัดอยู่มาก ซึ่งในอนาคต คนน่าจะหันมาใช้รถไฟในการขนส่งแทน (ประกอบกับบริษัทมีที่ดินอยู่มาก)ดังนั้น การซื้อหุ้นทุกตัว จึงควรซื้อโดยซื้อหุ้นที่มีมุมมองที่เฉียบคม มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ราคาถูกแล้วเข้าซื้อ … ถ้ายังไม่มีมุมมองที่เฉียบคม ก็อย่าเพิ่งไปซื้อ…
ดร.กุษยา: เสริมเรื่องของมุมมองที่เฉียบคมว่า เกิดจากความเข้าใจในธุรกิจที่ทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเป็นวอร์ชิงตันโพสต์, โค้ก โดยวอร์เรนจะซื้อหุ้นในขณะที่ยังไม่เป็นที่สนใจ
คุณพรชัย: เสริมเรื่องความเฉียบคมว่า แค่ความเข้าใจอาจจะไม่พอ โดยตอนที่วอร์เรนซื้อ โค้กเริ่มมีการ focus ที่ตัวธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่มีการลงทุนกระจายไปยังธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกลับเป็นการเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายกระจายไปยังต่างประเทศ โดยวอร์เรนไม่ได้ดูเพียงแค่ PE ที่ดูเหมือนสูง แต่หากเมื่อดูอัตราการดื่มโค้กที่ยังมีโอกาสอีกมากในเอเชีย เช่น ในเมืองจีนบริโภคโค้กแค่ 0.3 ขวดต่อปีเท่านั้น ซ฿งเป็นมุมมองที่ตลาดยังไม่รับรู้

ความสนใจของหุ้นในโลกยุคใหม่
ดร.นิเวศน์: วอร์เรนไม่ซื้อหุ้นในโลกยุคใหม่ เช่น ในยุคดอทคอม เนื่องจากเพราะเค้าไม่แน่ใจว่าอนาคตในอีก 10-20 ปีเป็นอย่างไร

หากคนอายุมากๆแล้ว การมองยาวขนาดนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร
คุณพรชัย: อาจจะไม่ได้กำหนดตายตัวว่าเป็น 10-20 ปี เพียงแต่ในขณะที่ซื้อนั้น เรามองอนาคตระยะยาวหรือไม่

การลงทุนใน TFEX วอร์เรน สนใจหรือไม่
คุณพรชัย: ไม่เคยพบ แต่หากจะมี วอร์เรนก็จะลงทุนในปริมาณไม่มาก หรือกรณีชอบใจผู้บริหาร ก็อาจจะซื้อติดไว้ แต่ไม่มาก

วอร์เรนเล่นมาร์จินหรือไม่
ดร.กุษยา: วอร์เรนจะซื้อด้วยเงินสดเท่านั้น ไม่มีการกู้เงินมาซื้อหุ้น

วอร์เรนมีความสุขหรือไม่
คุณพรชัย: คิดว่ามีความสุข เพราะจะทำอะไรก็ได้ทำ แต่วอร์เรนไม่ค่อยอยากจะทำอะไรมาก
ดร.นิเวศน์: มีความสุข เพราะวอร์เรนสามารถอยู่บ้านเล่นบริดจ์อยู่กับบ้านได้
ดร.กุษยา: วอร์เรนไม่ได้กังวลเรื่องว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะตก

คนอเมริกามองวอร์เรนอย่างไร
คุณพรชัย: ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งเคยขอวีซ่าไปอเมริกา ปีแรกไม่ผ่าน แต่ปีสองพอโชว์ใบหุ้นของเบิรก์ไชร์ เจ้าหน้าที่กงสุลก็ออกวีซ่าให้ทันที
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 02, 2014, 06:10:49 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 2 June 2014

ลงทุนอสังหา ฯ แบบบัฟเฟตต์


สำหรับ Value Investor ที่เน้นการลงทุนในหุ้นแล้ว  การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นที่ดินเป็นสิ่งที่ไม่ใคร่พึงประสงค์นัก  ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองเกี่ยวกับการลงทุนในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ก็แย่มาก  เงินลงทุนย้อนหลังไปกว่า 10 ปีจนถึงวันนี้ก็ยังติดลบและว่าที่จริงไม่สามารถที่จะ “Cut Loss”  หรือขายตัดขาดทุนได้เพราะที่ดินนั้น  “หาคนซื้อไม่ได้”   ดังนั้น  เป็นเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้วที่ผมไม่เคยซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกเลย  และก็คิดว่าถ้าจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ผมก็จะซื้อเพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น  จะไม่ซื้อเพื่อการลงทุน  เพราะการลงทุนในอสังหา ฯ นั้น  ผมไม่มีความชำนาญและผมก็รู้สึกว่าส่วนใหญ่แล้วมันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น   และจากการศึกษาชีวิตของนักลงทุนเอกทั้งหลายของโลกอย่างเช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น  ผมก็แทบไม่เคยได้ยินเลยว่าเขาลงทุนในอสังหา ฯ ยกเว้นการซื้อไร่ที่บ้านเกิดในช่วงวัยรุ่น  บัฟเฟตต์เองนั้นคงไม่สนใจที่จะเอาเงินไปจมในสิ่งปลูกสร้างมากมายนัก  ดังนั้น  แม้แต่บ้านของเขาที่อาศัยอยู่นั้นก็เป็นบ้านแบบชนชั้นกลางที่เขาซื้อและอาศัยอยู่มาหลายสิบปี  เงินส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดถูกนำไปลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงและทำให้เขากลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกระดับต้น ๆ  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเร็ว ๆ  นี้  บัฟเฟตต์ได้เปิดเผยการลงทุนในอสังหา ฯ ของเขา  มันเป็นการลงทุนเล็ก ๆ  ที่เขานำขึ้นมาพูดเพื่อที่จะเป็นบทเรียนให้กับนักลงทุนในหุ้นแบบ VI

           บัฟเฟตต์พูดในหนังสือรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์ว่าเขาได้กลับไปเยี่ยมเยือนฟาร์มขนาด 400 เอเคอร์ น่าจะประมาณ 1,000ไร่) ที่เมืองเทคามาร์ของตนเอง  ซึ่งนี่เป็นการกลับไปดูเพียงครั้งที่สองหลังจากที่เขาซื้อมาเมื่อปี 1986 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้วในราคา 280,000 เหรียญ    เขาเล่าว่าในช่วงปี 1973 ถึง 1981 นั้นราคาพืชผลในย่านมิดเวสต์คือแถวเนบราสกาบ้านเกิดของเขามีราคาพุ่งขึ้นสูงมากเป็น  “ฟองสบู่”  สาเหตุเนื่องจากคนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น  ครั้นแล้วฟองสบู่ก็แตกทำให้ราคาที่ดินทำไร่ตกลงมาถึง 50% หรือมากกว่านั้นส่งผลให้ชาวไร่ที่กู้เงินมาซื้อที่และธนาคารท้องถิ่นที่ปล่อยกู้ล้มละลายเป็นจำนวนมากคิดเป็นจำนวนถึง 5 เท่าของการล้มละลายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้    ในปี 1986 บัฟเฟตต์ได้เข้าไปซื้อฟาร์มจากสถาบันประกันเงินฝากของรัฐที่ยึดที่ดินจากการล้มละลายมาขายในราคา 280,000 เหรียญ ซึ่งต่ำกว่าราคาที่แบงค์ปล่อยกู้ไปพอสมควรในหลายปีที่ผ่านมา  บัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำไร่เลย  แต่เขามีลูกชายที่รักการทำไร่และรู้ว่าที่แต่ละเอเคอร์จะสามารถปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้เท่าไรและต้องใช้ต้นทุนเท่าไรในการดำเนินการ  จากนั้นเขาก็คำนวณได้ว่ากำไรที่ได้จะเป็นประมาณ 10% ต่อปีในช่วงนั้น  นอกจากนั้น  บัฟเฟตต์ยังคาดว่าประสิทธิภาพของการเพาะปลูกในอนาคตจะต้องดีขึ้นและราคาของพืชผลก็น่าจะสูงขึ้นซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแม้ว่าระหว่างทางอาจจะมีบ้างที่ราคาพืชผลอาจจะผันผวนบ้าง   เวลาผ่านไปจนถึงวันนี้เป็นเวลา 28 ปี  กำไรของการทำฟาร์มเพิ่มขึ้น 3 เท่า และราคาของที่ดินเพิ่มขึ้น 5 เท่าหรือมากกว่านั้น  บัฟเฟตต์เองก็ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำฟาร์ม

            การลงทุนในอสังหา ฯ เรื่องที่สองของบัฟเฟตต์เกิดขึ้นในปี 1993  ขณะที่บัฟเฟตต์เป็น CEO ของซาโลมอนบราเดอร์ที่เขาเข้าไปแก้ปัญหาของบริษัทที่เมืองนิวยอร์ค   เขาได้รับทราบว่ามีอาคารพาณิชย์ที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์คประกาศขายโดยกองทุนแก้ปัญหาหนี้เสียที่ได้ยึดที่จากการล้มละลายเนื่องจาก  “ฟองสบู่แตก”   และนี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่บัฟเฟตต์บอกว่าการวิเคราะห์การลงทุนเป็นเรื่องง่ายเช่นเดียวกับเรื่องของฟาร์มที่เนบราสก้า   นั่นก็คือ  ราคาที่เขาซื้อนั้นจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 10% ต่อปีจากการปล่อยเช่าอาคารให้กับผู้เช่าที่เป็นร้านค้าขายสินค้าให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก  ข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือ  ในช่วงที่เขาซื้อนั้น  อาคารถูกบริหารโดยกองทุนซึ่งไม่มีประสิทธิภาพทำให้มีหลายห้องว่างอยู่โดยไม่มีคนเช่า  เขาคิดว่าเมื่อเขาซื้อแล้วก็สามารถนำมาปล่อยเช่าเพิ่มเติมได้   นอกจากนั้น  พื้นที่เช่าประมาณ 20% เป็นการเช่าระยะยาวในราคาตารางฟุตละ 5 เหรียญในขณะที่ราคาเช่าปกติของรายอื่นเท่ากับ 70 เหรียญ  ดังนั้น  ในเวลาอีก 9 ปีที่สัญญาเช่าจะหมดอายุ  เขาก็จะได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีกมาก   บัฟเฟตต์ตัดสินใจซื้ออาคารร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการบริหารอาคารพาณิชย์

           หลังจากสัญญาเช่าระยะยาวหมดอายุแล้ว  ผลตอบแทนของการลงทุนก็เพิ่มขึ้นเป็น 35% ต่อปีคิดจากเงินลงทุนครั้งแรก  ยิ่งกว่านั้น  ในระหว่างทาง  บัฟเฟตต์ได้ไปกู้เงิน “รีไฟแน้นซ์” หรือกู้หนี้ใหม่มาใช้คืนหนี้เก่าที่เขาไปซื้ออาคารอีก 2 ครั้งในปี 1996 และ 1999 ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเขาได้เงินคืนคิดเป็น 150% ของเงินที่เขาจ่ายไปเพื่อซื้ออาคาร  นั่นเท่ากับว่าเขาได้กำไร 50% หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 6 ปีแถมได้ตึกมาฟรี ๆ   ประเด็นที่น่าทึ่งก็คือ  วอเร็น บัฟเฟตต์ ยังไม่เคยไปดูอาคารหลังนี้เลย

          บัฟเฟตต์บอกต่อว่ารายได้ทั้งจากฟาร์มและอาคารพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ต่อไปเป็นสิบ ๆ  ปี    แม้ว่ากำไรอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายแต่การลงทุนทั้งสองจะมั่นคงและน่าพอใจสำหรับการลงทุนตลอดชีวิตของเขาและต่อไปถึงลูกและหลาน  เขาเล่าเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกถึงพื้นฐานของการลงทุนที่ว่า   คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในการลงทุน   แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ  คุณจะต้องตระหนักในข้อจำกัดของคุณและจะต้องปฎิบัติตามแนวทางที่แน่นอนว่าจะใช้ได้ผล   จงทำทุกอย่างให้ง่ายและอย่าพยายามเล็งผลเลิศ  เมื่อถูกเสนอว่าจะได้กำไรแบบง่าย ๆ และรวดเร็วต้องรีบปฎิเสธทันที   เน้นในเรื่องของผลิตภาพในอนาคตของทรัพย์สินที่คุณกำลังดูอยู่  ถ้าคุณไม่มั่นใจกับการประเมินผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินของทรัพย์สินในอนาคตก็อย่าไปซื้อ  ไม่มีใครสามารถประเมินการลงทุนได้ทุกตัว  คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องแต่คุณต้องเข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่

           ถ้าคุณเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของราคาของอสังหา ฯ ที่คุณกำลังคิดที่จะซื้อ  คุณก็กำลังเก็งกำไร  ไม่มีอะไรผิดหรือไม่เหมาะสม  อย่างไรก็ตามบัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความสามารถที่จะเก็งกำไรและก็ค่อนข้างไม่เชื่อคนที่อ้างว่าสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน  ในกรณีอสังหาฯเล็ก ๆ  สองแห่งของเขา  เขาคิดแต่เพียงว่ามันจะผลิตหรือให้บริการอะไรได้  เขาไม่สนใจความผันผวนของราคารายวัน  เกม ๆ  นี้คนที่จะชนะก็คือคนที่เน้นไปที่  “สนาม”  ไม่ใช่คนที่เน้นไปที่  “กระดานคะแนน”  ความหมายของเขาก็คือ  อย่าไปสนใจราคาอสังหาฯ แต่ให้สนใจว่าตัวอสังหาฯ นั้นทำเงินได้แค่ไหนและอย่างไร  เช่นเดียวกัน  การคิดถึงและพยากรณ์เรื่องภาวะเศรษฐกิจหรือภาพของตลาดก็เป็นเรื่องที่เสียเวลาและอาจจะอันตราย  เพราะว่ามันทำให้เรามองไม่เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ  กับการลงทุนของเรา  เขาบอกว่าเมื่อเขาซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งแล้ว  อะไรที่เกิดขึ้นในปีต่อมาคือปี 1987 และ 1994 ไม่มีความสำคัญกับความสำเร็จของการลงทุนของเขาเลยและเขาก็จำอะไรไม่ได้  เขารู้แต่เพียงว่า  ข้าวโพดก็ยังคงถูกปลูกและเติบโตขึ้นที่เนบราสก้า  และนักศึกษาก็ยังมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค

           สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับการลงทุนในอสังหาฯตัวเล็ก ๆ  สองตัวกับการลงทุนในหุ้นของบัฟเฟตต์ก็คือ  หุ้นนั้นมีราคาให้เราเห็นนาทีต่อนาทีในขณะที่อสังหาฯ ไม่มี แต่การวิเคราะห์การลงทุนนั้นก็เหมือนกัน  ก่อนที่จะจบบทความนี้ผมเองก็มีข้อสังเกตก็คือ  การซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งของบัฟเฟตต์นั้น  เป็นการซื้อจากการยึดของสถาบันการเงินในทรัพย์สินที่ราคาขึ้นไปเป็นฟองสบู่และตกลงมาอย่างหนักเมื่อฟองสบู่แตก  ซึ่งทำให้ราคาน่าจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก  และนี่ก็เป็นโอกาสของบัฟเฟตต์ที่จะซื้อทรัพย์สินที่มีคุณค่ายอดเยี่ยมในราคาที่ถูกสุดยอด  ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ  ก็ยังสามารถได้ผลตอบแทนที่งดงามจากการลงทุนได้โดยใช้หลักการแบบ VI
 
Posted by nivate at 3:54 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/06/02/1431


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 07, 2014, 08:25:53 am

Rakesh Jhunjhunwala’s tips on how to find multibagger stocks

สวัสดีครับ ผมมีคำแนะนำสำหรับการหาหุ้น 10 เด้งมาฝากครับเพื่อนๆ นลท ครับ

มีใครรู้จัก Rakesh Jhunjhunwala ไหมครับ เขาถูกขนานนามว่าเป็น  Warren Buffet India
จากเงินลงทุนในคร้งแรก ปี 1985 ตอนนี้เขามีทรัพย์สินมากกว่า 1000 ล้านเหรียญ จากการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของเขา
นิตยสาร Forbes ปีล่าสุด 2010 เขาติดอันดับคนที่รวยที่สุดในอินเดีย อันดับ 51 และ อันดับโลกที่ 1062

(http://image.ohozaa.com/i/f4b/FoQGKX.jpg)

ผมมีบทความของเขามาฝาก เรื่อง เทคนิคการมองหาหุ้นหลายเด้ง

Rakesh Jhunjhunwala’s tips on how to find multibagger stocks

Tip No. 1: Don’t Look For Multi-baggers
เขียนไม่ผิดครับ เทคนิคแรกสำหรับการมองหาหุ้นสิบเด้ง ก็คือ อย่ามองหาหุ้นสิบเด้ง อิอิ งงไหม
Rakesh บอกว่า อย่าปักธงว่าเราจะมองหาและเลือกลงทุนในหุ้น 2 เด้ง 3 เด้ง 10 เด้งเท่านั้น สิ่งที่ดีกว่าคือ
การกลับไปใช้วิธีการลงทุนแบบดั้งเดิมยึดหลักของปรมาจารย์ทั้งหลาย อาทิ Benjamin Graham,Peter Lynch และ Warren Buffet
การบ้านที่คุณต้องทำก็คือ เลือกลงทุนในหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี และมีการเติบโตในอนาคต  พอร์ตของหุ้นก็จะเติบโต
หลายเด้งเองเมื่อเวลาผ่านไป

Tip No. 2: Don’t Look for Profits; Look For Sources Of Profits
อย่ามองที่กำไร จงมองหาแหล่งที่มาของกำไร

Rakesh ให้ข้อคิดที่ว่านักลงทุนทั่วไป มักจะยึดติดเกินไปกับยอดขายและกำไรรายไตรมาสและ
สนใจกำไรในระยะสั้นๆ อาจทำให้เราหลุดจากการมองภาพใหญ่ได้ ("That’s missing the wood for the trees")
Rakesh แนะนำว่า "Look at the sources of Profits. What are the reasons that will give rise to Profits in the medium and long-term term".
"Look at the factors and circumstances that will create an opportunity for business in the sector".
 
Tip No. 3: Forget ‘Large Cap, Small Cap’ Nonsense – Look For Scalability Of Operations:
ลืมหุ้นใหญ่ ลืมหุ้นเล็กซะ ไร้สาระ! จงมองหาสิ่งที่มันขยายได้

Rakesh ให้ข้อคิด 2 อย่าง อย่างแรก นักลงทุน นักวิเคราะห์ ทั่วไปมักจะถกเถึยงกันถึงว่า หุ้น large cap
mid cap,small cap อันไหนดีกว่ากัน แต่ Rakesh บอกว่า
 "Forget all that and Look for Value" . "If there is value in Large Cap, buy it. If there is value in Small Cap, buy it. But don’t obsess on irrelevant matters",

Tip No. 4: Give it Time, Be Patient:
จงอดทนและให้เวลากับมัน

นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่เช่น Warren Buffet เคยบอกว่า
ระยะเวลาที่เราชอบในการถือครอง (หุ้น ) คือตลอดไป" Rakesh ก็เช่นเดียวกัน แนะนำว่า
"Give your investments time to mature. Be Patient for the World to discover your gems".

Tip No. 5: Don’t get carried away by short-term aberrations:
อย่าใส่ใจมากนักกับการเบี่ยงเบนระยะสั้น

นักลงทุนทั่วไปมักสนใจแนวโน้มระยะสั้น เช่นผลประกอบการรายไตรมาส Rakesh ตรงข้ามไม่ให้ความสนใจ
มากนักกับผลประกอบการรายไตรมาส ส่งที่เขาจะทำคือ การมองหา trend.
 ผลประกอบการรายไตรมาส จะบ่งขอกถึง trend ว่าอย่างไร

Tip No. 6: Invest in a business that you can understand:
จงลงทุนในธุรกิจที่คุณเข้าใจ

เหมือน vi ท่านอื่น คือเลือกลงทุนเฉพาะธุรกิจที่เราเข้าใจเท่านั้น

Tip No. 7: Don’t worry about the macro stuff like fiscal deficit, inflation etc which are unknowable. Focus on what is knowable:
อย่ากังวลกับปัจจัยมหภาคมากนัก เช่น การขาดดุลการคลัง เงินเฟ้อ อื่นๆที่ไม่สามารถรู้ได้ จงสนใจกับสิ่งทีสามารถรู้ได้

Rakesh แนะนำว่า อย่าสนใจกับสิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้ หรือแม้นว่ารู้แล้วก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่จงมุ่งมั่นทุ่มเทพลังงานของคุณทั้งหมด
ไปกับสิ่งที่คุณสามารถเรียนรู้ได้ดีเพียงพอ เช่นธุรกิจของบริษัทที่คุณลงทุน

Tip No. 8 : Don’t Try To Time The Market:
อย่าจับจังหวะตลาด

อย่าจับจังหวะตลาด เพราะคุณจะไม่สามารถหาจุดต่ำสุดของตลาดได้
ถ้าคุณหาหุ้นที่ถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าแท้จริง ซื้อมันซะ!

Tip No. 9 : If it’s cheap, buy it- Don’t pass up something cheap today in the hope that it will get cheaper tomorrow:
ถ้ามันถูกก็ซื้อมันซะ อย่าปล่อยสิ่งที่คิดว่าถูกวันนี้โดยคาดหวังว่ามันจะถูกกว่าในวันพรุ่งนี้

ถ้าคุณเห็นโอกาสในวันนี้ จงคว้ามันไว้ซะ! โอกาสดีเยี่ยมหลายครั้งหลุดลอยไปเพียงเพราะการผลัดวันประกันพรุ่ง


Tip No. 10 : Don’t buy stocks that have a fixed return:
อย่าซื้อหุ้นที่มีรายได้คงที่

คำแนะนำอันนี้ ตอนแรกดูเหมือนน่าขำ เพราะคงไม่มีใครอยากซื้อหุ้นที่อยู่กับที่หรอก
แต่พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่กับมองข้ามข้อแนะนำอันนี้ Rakesh ยกตัวอย่างของหุ้นพวกนี้เป้นพวกหุ้น
ของพวกบริษัทเช่นพวกขายไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภค ที่ไม่สามารถที่จะมีกำไรมากกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้เท่านั้น

Tip No. 11: Ride your winners!!
ปล่อยให้หุ้นวิ่งทำกำไร

Rakesh แนะนำว่า อย่าขายหุ้นสิบเด้งของคุณทิ้งไปเพียงเพราะคุณคิดว่าหุ้นสิบเด้งของวันนี้จะไม่สามารถเป็นหุ้นยี่สิบเด้งได้ในวันพรุ่งนี้

Tip No. 12: Concentrate, concentrate & concentrate!!
มุ่งมั่น มุ่งมั่น และ มุ่งมั่น

เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักลงทุนว่าการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงแบบไข่ในตระกร้าหลายใบหรือตระกร้าใบเดียว
อันไหนดีกว่ากัน
Rakesh เป็นพวกที่เน้นแนะนำให้ลงทุนที่เรามั่นใจเท่านั้นว่าจะมีผลตอบแทนดีกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ไม่สนใจการกระจายความเสี่ยง
ในหุ้นหลายตัวเพียงเพราะต้องการปกป้องพอร์ต

จบแล้วครับ ผิดพลาด ตกหล่น ขออภัยครับ

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=46674
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 10, 2014, 11:30:37 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 9 June 2014

ลงทุนในสุขภาพ

ผมพูดเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนมานานมากน่าจะประมาณ 20 ปีมาแล้ว  เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของเงินทอง  หลักการสำคัญของการลงทุนก็คือการ  “อดหรือเลื่อนการบริโภคหรือการใช้เงินในวันนี้เพื่อที่จะสามารถบริโภคหรือใช้เงินได้มากขึ้นในวันข้างหน้า”    แต่การ “ลงทุน” นั้น  ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว  เรื่องอื่น ๆ  ที่เราสามารถอดหรือเลื่อนออกไปในตอนนี้เพื่อที่จะได้สามารถใช้ได้มากขึ้นหรือดีขึ้นในวันข้างหน้าก็เป็นการลงทุนเหมือนกัน  ว่าที่จริงมีเรื่องอื่น ๆ  อีกไม่น้อยที่การลงทุนมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องของเงินทอง  หนึ่งในนั้นก็คือการลงทุนกับ “สุขภาพ”  นี่คือการลงทุนในเรื่องของการ “ใช้” ร่างกายและจิตใจในวันนี้อย่าง “ถนอมรักษา”  เพื่อที่จะได้สามารถใช้มันได้มากขึ้นและ/หรือดีขึ้นในวันข้างหน้า—เมื่อร่างกายของเราเข้าสู่โหมดเสื่อมโทรมตามอายุของเรา

          การลงทุนในสุขภาพนั้นก็อาจจะคล้าย ๆ  กับการลงทุนในเงินทองในแง่ที่ว่าในยามที่เรายังเป็นหนุ่มสาวเรามักจะไม่ใคร่สนใจที่จะทำนักเนื่องจากความจำเป็นยังมีน้อยนั่นก็คือ  ในยามที่เป็นหนุ่มสาว  เรามักจะยังมีสุขภาพที่ดีหรือมีเงินใช้เพียงพอจากการทำงาน   เราไม่เห็นความจำเป็นมากนักที่จะต้องดูแลสุขภาพหรือต้องเก็บเงินเพื่อลงทุน   เราอยากจะใช้มันให้  “เต็มที่กับชีวิต”  สำหรับวันนี้มากกว่าที่จะเลื่อนออกไปในวันข้างหน้า  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น  เราอาจจะตายเสียก่อนหรือถึงวันนั้นการมีเงินใช้มากก็ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่มี  “แรง”  ที่จะใช้มัน   ทั้งหมดนั้นก็มักจะเป็นความคิดของคนที่ยังไม่เคยแก่  ยังไม่รู้สึกถึงคุณประโยชน์ของการมีเงินหรือมีสุขภาพที่ดีในวันที่ตนเองแก่ตัวลง  แต่สำหรับผมซึ่งผ่านชีวิตทั้งสองแบบมาแล้วผมคิดว่าคนเราต้อง “ลงทุน”  ในทั้งสองเรื่องอย่างจริงจังตั้งแต่อายุยังน้อย  การลงทุนจะช่วยเพิ่ม  “ผลประโยชน์รวม”  หรือ “ความสุขโดยรวม” ในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ  พูดง่าย ๆ   ถ้าเราลงทุนอย่างพอเหมาะทั้งในเรื่องของการเงินและสุขภาพตั้งแต่ยังเด็ก  โอกาสที่เราจะมีความสุขในชีวิตตลอดชั่วอายุขัยจะสูงขึ้นมาก  ถ้าเราไม่ลงทุนหรือลงทุนน้อย  ชีวิตเราอาจจะมีความสุขสูงขึ้นในช่วงอายุไม่มากยังแข็งแรง  แต่เมื่อแก่ตัวลง  ความสุขแทบจะไม่เหลือ  เราจะลำบากตอนแก่  ถ้านำมาเฉลี่ยกัน  ความสุขโดยรวมของเราก็จะน้อยลงไปมาก

           การลงทุนในสุขภาพนั้นไม่เหมือนเงินทองในแง่ที่ว่า  ถ้าเรา “ไม่ใช้” ร่างกายหรือใช้น้อย  แบบนี้ไม่ใช่การลงทุน   ในทางตรงกันข้าม  การ  “ใช้” ร่างกายมากเกินไป  ก็ไม่ใช่การลงทุนเหมือนกัน   การลงทุนในสุขภาพนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราต้องทำให้พอเหมาะในแต่ละเรื่องและเราจะต้องรู้จริงและเข้าใจร่างกายและการทำงานของมัน  โดยหลักการก็คือ  เราจะต้องดูแลรักษาให้ทุกส่วนของร่างกายทำงานได้เต็มหรือเกือบเต็มประสิทธิภาพแต่ไม่เกินกำลังในแต่ละช่วงเวลา  และคำว่าทุกส่วนนั้นรวมถึงที่อยู่ภายในที่เรามองไม่เห็นเช่นตับไตไส้พุงและสมองของเราด้วย  และนี่ก็ทำให้การลงทุนในร่างกายหรือสุขภาพเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรและต้องการการศึกษาทำความเข้าใจกับมันคล้าย ๆ  กับการลงทุนเหมือนกัน

           หัวใจของการรักษาและดูแลสุขภาพซึ่งจะเป็นการ “ลงทุน”  ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ  การออกกำลังที่พอเหมาะตลอดช่วงอายุของเรา  การออกกำลังกายนั้นช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง  ทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยเรารักษาโครงของร่างกายเราในยามที่เราแก่ตัวลง  ซึ่งบางคนจะมีอาการกระดูกเปราะหรือบางซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการแตกหักหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเสี่ยงต่อการที่ข้อต่อกระดูกจะมีปัญหาต่าง ๆ  เช่นหมอนรองกระดูกเคลื่อน   เป็นต้น  อาการเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วคุณภาพชีวิตคงเสียไปไม่น้อย  นอกจากนั้น  การออกกำลังสม่ำเสมอยังช่วยในเรื่องของหัวใจและระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้มัน “แก่” ช้าลง  รวมไปถึงสมองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดด้วย   ประเด็นสำคัญที่ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ก็คือการออกกำลังมาก “เกินปกติ”  เช่น  นักกีฬาหรือคนที่เล่นกล้ามเพาะกายนั้น  เป็นการ “ลงทุน” หรือการ “ใช้” ร่างกายกันแน่  หรือพูดง่าย ๆ  มันคุ้มไหมที่จะทำอย่างนั้น?  ผมเองเคยพบเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบวิ่งจ็อกกิ้งมากจนน่าจะเรียกได้ว่า “ติด”  เขาวิ่งแทบทุกวันวันละเป็นสิบ ๆ ก.ม. ดูจากภายนอกเขาจะผอมเกร็งไม่มีไขมันเลย  ร่างกายดูแข็งแรงยิ่งกว่าหนุ่มวัยรุ่นทั้ง ๆ  ที่อายุน่าจะ 40 ปีแล้ว  ต่อมาเมื่อพบเขาอีกครั้งหนึ่งเขาบอกว่าเขาเป็นมะเร็ง  เหตุผลเขาบอกว่าอาจจะเกิดจากการที่เขาใช้พลังมากเกินไปและกินเนื้อสัตว์มากเพื่อชดเชยเสริมสร้างกล้ามเนื้อซึ่งก่อให้เกิดมะเร็ง  นั่นเป็นการบอกเป็นนัยว่า  เขาใช้ร่างกายเกินไป

           อาหารน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อสุขภาพไม่น้อย  การ “ลงทุน” ในเรื่องนี้  ไม่ใช่การกินแต่อาหารคุณภาพสูงราคาแพงอย่างเนื้อสัตว์หรืออาหารที่อร่อยที่มักมีไขมันหรือความหวานสูง  ตรงกันข้าม  การลงทุนในเรื่องนี้หมายความว่าเราจะต้อง “อด” หรือหักห้ามจิตใจที่อยากจะกินอาหารดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ประเด็นหลักก็คือ  การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่อ้วน  เพราะน้ำหนักตัวที่เกินกว่าปกตินั้นมักจะเป็นสาเหตุของโรคและความไม่สบายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในตอนที่เราแก่ตัวลง  เช่น  โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ  โรคเบาหวาน  ความดันและอื่น ๆ   ซึ่งโรคเหล่านี้มักจะ  “เรื้อรัง”  และทำให้คุณภาพชีวิตของเราลดลงไปมาก  นอกจากอาหารตามปกติแล้ว  การลงทุนในสุขภาพอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการการควบคุมจิตใจตัวเองสำหรับบางคนก็คือ  การบริโภค “สารพิษ”  หรือสิ่งที่จะทำลายอวัยวะบางอย่างของร่างกายเช่น  การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้บ่อย ๆ  การสูบบุหรี่หรือยาเสพติดอื่น ๆ   สิ่งเหล่านี้ในช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะไม่เห็นว่ามีผลอะไรต่อร่างกายเรา  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวแล้วผมคิดว่าร่างกายมันจะ “ฟ้อง”  การทำงานของตับหรือปอดอาจจะแย่ลงมากหรือบางคนอาจจะร้ายแรงถึงขนาดตับแข็งหรือเป็นมะเร็งในปอดหรือตับได้

           เมื่อเร็ว ๆ  นี้  ความคิดเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพได้พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่งนั่นก็คือ  การเกิดขึ้นของ  “Anti Ageing”  หรือการ “ชะลอวัย” ในวงการแพทย์  นี่คือการใช้ศาสตร์ทางการแพทย์และสุขภาพหลาย ๆ  ด้านมาแนะนำหรือมาดูแลรักษาผู้สูงวัยไม่ให้ “แก่”  ตัวเร็วหรือมีปัญหาทางสุขภาพเนื่องจากความเสื่อมโทรมของร่างกายมากเกินไป  หมอบางคนก็คิดถึงขนาด  “ลดวัย”  ให้กับคนไข้ที่มารับการรักษา   กระบวนการหรือวิธีของหมอที่ทำเรื่องชะลอวัยนั้น   นอกจากเรื่องของการออกกำลังและการกินอาหารซึ่งรวมถึงวิตามินแล้ว  ยังรวมถึงการ  “ปรับ” ปริมาณฮอร์โมนในร่างกายของเราด้วย  เพราะปริมาณฮอร์โมนในร่างกายนั้น  มีส่วนสำคัญมากต่อระบบการทำงานต่าง ๆ  ของร่างกาย  ว่ากันถึงขนาดว่า  ฮอร์โมนนั้นเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเป็นหนุ่มสาวหรือเราจะแก่กันเลยทีเดียว  แต่การทำเรื่องต่าง ๆ  เหล่านี้ก็มีต้นทุนที่สูงทั้งเรื่องของการตรวจวิเคราะห์  ยาหรืออาหารเสริม  และที่สำคัญค่าที่ปรึกษาแนะนำของแพทย์และบุคลากรด้านต่าง ๆ     และนี่ก็คือ  “การลงทุน” ในสุขภาพที่เป็นเม็ดเงินจริงสำหรับคนที่เชื่อหรือสนใจที่จะลอง  เรื่อง Anti Ageing นี้  ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มไหมสำหรับคนทั่วไป  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่อายุมากและมีเงินมากแล้ว  ดูเหมือนว่ามันจะคุ้มที่จะลงทุนจ่ายเงิน  และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำต่างก็เสนอบริการนี้

           สุดท้าย  การลงทุนในเรื่องของสุขภาพนั้นก็ไม่ได้ต่างจากการลงทุนในเรื่องการเงินในแง่ที่ว่า  ผลลัพธ์ปลายทางนั่นคือ  ความมั่งคั่งหรือสุขภาพที่ดีโดยรวมของแต่ละคนนั้น  ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการนั่นก็คือ  หนึ่ง  ต้นทุนเดิมของแต่ละคนที่มีอยู่  คนที่มี “ยีนส์” ดี ย่อมได้เปรียบคนที่มีกรรมพันธุ์ที่ไม่แข็งแรงซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ “ดวง” ของแต่ละคน  สอง การดูแลรักษาสุขภาพที่ดีและถูกต้องตามหลักวิชาซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงต่อสุขภาพ  และสุดท้ายก็คือ  ระยะเวลาของการปฏิบัติตามแนวทางนั้นอย่างมีวินัยสูง  ถ้าทำได้เช่นนี้  เราก็จะมีสุขภาพที่ดีโดยรวมตลอดอายุขัย  และนี่ก็คือการลงทุนในชีวิตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งไม่แพ้การลงทุนในเรื่องของเงินทอง   


Posted by nivate at 10:30 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/06/09/1434


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 12, 2014, 05:46:13 am

Check List

กันยายน 9, 2012 Filed under บทความ Posted by ธันวา เลาหศิริวงศ์

เราอาจเคยเห็นภาพนักบินตรวจสอบสภาพความพร้อมก่อนนำเครื่องขึ้นบินสู่ท้องฟ้า พนักงานโรงงานประกอบรถยนต์ตรวจสอบคุณภาพการผลิตครั้งสุดท้ายก่อนส่งออกจำหน่าย หรือการส่งมอบและตรวจรับบ้านระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กระบวนการที่กล่าวมาล้วนมี “Check List” หรือ แบบตรวจสอบขั้นตอนทำงาน  ที่ช่วยลดข้อจำกัดของการจดจำ  เพื่อผลการทำงานที่ถูกต้องและเป็นไปตามเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดและเพื่อไม่เกิดความเสียหายขึ้นภายหลังนั่นเอง

นักลงทุนสามารถนำ Check List มาประยุกต์ใช้ในทางการลงทุนเช่นกัน โดยรายละเอียดเงื่อนไขขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ความถนัด ความเสี่ยงที่รับได้ และแนวทางการลงทุนของแต่ละคน ตัวอย่าง Check List ของการลงทุนในหุ้น “เกรดเอ” หรือกิจการยอดเยี่ยม แข็งแกร่ง เงินปันผลสม่ำเสมอ ราคาหุ้นสะท้อนตามผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว มีดังนี้

ข้อหนึ่ง เป็นกิจการที่อยู่ในวัฏจักรของความรุ่งเรือง ไม่อยู่ในอุตสาหกรรมตะวันตกดิน ยังเติบโตอีกในระยะยาว หากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก่อนอุตสาหกรรมอื่น

ข้อสอง เป็นกิจการที่มีตราสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด มียอดขายและกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อยเท่ากับการเติบโตจีดีพีของประเทศจากอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต หุ้นเกรดเอที่ดีต้องเติบโตอย่างน้อยสองเท่าของจีดีพี

ข้อสาม เป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมและมีรูปแบบธุรกิจที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (DCA: Durable Competitive Advantage) กำหนดราคาขายได้โดยที่ลูกค้ายังภักดีต่อสินค้า ส่งผลให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นตามลำดับ

ข้อสี่ มีผู้บริหารเก่ง มีประสบการณ์เหมาะกับธุรกิจ ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย มีวิสัยทัศน์ที่นำพากิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว มีการวางแผนและการจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดี

ข้อห้า เป็นบรรษัทภิบาลที่ปฏิบัติต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ถือหุ้นทุกรายเท่าเทียมกัน เปิดโอกาสให้เยี่ยมชมกิจการ  ร่วมกิจกรรมพบปะนักลงทุนรายไตรมาส (Opportunity Day) มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (IR: Investor Relation) เปิดเผยข้อมูลครบถ้วนรายงานประจำปีและแบบรายงาน 56-1 ล้วนเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญโดยไม่คิดว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับบริษัท

นอกจาก Check List ในเชิงคุณภาพที่กล่าวข้างต้น นักลงทุนต้องมี Check List ในเชิงปริมาณ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ข้อหก ราคาซื้อขายที่มีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) เพียงพอ เมื่อเทียบกับมูลค่ากิจการจากการประเมินด้วยวิธีต่างๆ เช่น ส่วนลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) มูลค่ากิจการจากการทดแทน (Replacement Approach) หรืออัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield)

ข้อเจ็ด ผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราส่วนสภาพคล่อง อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรือ อัตราส่วนแสดงความสามารถในการหากำไร ได้แก่ อัตรากำไรขั้นต้น (GPM: Gross Profit Margin) อัตรากำไรสุทธิ (NPM: Net Profit Margin)  อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE: Return on Equity)  เป็นต้น นักลงทุนต้องพิจารณาประวัติการดำเนินงานในอดีตถึงปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต เพื่อเข้าลงทุนหากผ่านเงื่อนไขที่ตั้งไว้

อนึ่ง อุตสาหกรรมแต่ละชนิดมีโครงสร้าง รูปแบบธุรกิจ คุณสมบัติแตกต่างกัน สำหรับเงื่อนไขในเชิงปริมาณนั้น นักลงทุนต้องวิเคราะห์และเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมในแต่ละชนิดอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น  P/E คือวิธีที่เหมาะกับการประเมินมูลค่าของกิจการทั้งสองอุตสาหกรรม แม้ราคาหุ้นที่ P/E = 12 คือระดับที่น่าลงทุนของอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่จะสูงเกินไปสำหรับอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า Check List  ทำหน้าที่เหมือน “ตระแกรงร่อนหุ้น” ที่ช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของกิจการตามเงื่อนไขสำคัญที่กำหนด ความถี่หรือความห่างของตระแกรงร่อนจะบ่งบอกถึง คุณภาพของกิจการ วิธีการเลือกหุ้น และเป้าหมายการลงทุนของแต่ละคน นักลงทุนมากประสบการณ์ที่ “ตกผลึก” แล้วมักจะมี Check List อยู่ในใจตลอดเวลาแม้ไม่ได้เขียนเป็นรายการออกมาก็ตาม

สำหรับผู้ที่เริ่มลงทุนหรือยังไม่มี Check List ฉบับของตน ข้อแนะนำก็คือ ควรใช้เวลาคิด วิเคราะห์ ข้อดีข้อเสีย ตลอดจนข้อผิดพลาดในการลงทุนที่ผ่านมา เพื่อเริ่มพัฒนา Check List ของตน นำมาใช้ลงทุนจริง ปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อให้ได้ Check List  ที่ดีที่สุดและเหมาะกับแนวทางการลงทุนของตน นั่นคือ การลงทุนเวลาที่คุ้มค่าในระยะยาว มากกว่าการใช้เวลาเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวราคาหุ้นในระยะสั้นอย่างแน่นอน

http://www.thaivi.org/check-list/
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 17, 2014, 01:11:55 pm
การทำกำไรโดยการใช้ กลยุทธ์ Arbitrage (สำหรับคนที่ยังไม่รู้นะครับ)

    วันนี้นั่งศึกษาเกี่ยวกับการทำ Arbitrage เพราะไปงานสัมนางานหนึ่ง ซึ่งพิธีกรได้พูดเกี่ยวกับการทำ Arbitrage ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการทำกำไรโดย"ไม่มี"
    ความเสี่ยง (เห็นเขาพูดไว้อย่างนั้นนะครับ) ทำกันอย่างไร มีคนอธิบายไว้ดีมากเลยครับ

    การทำกำไรโดยวิธีการทำ Arbitrage หุ้น

    การทำกำไรสำหรับนักลงทุนระยะยาว โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการถือหุ้นนั้น เราสามารถใช้เทคนิคการ Arbitrage ซึ่งเป็นการหาผลตอบแทนเทียบกันระหว่าง 2 หลักทรัพย์ โดยมีวิธีการคือเราจะเปลี่ยนไปถือหลักทรัพย์ที่มีส่วนต่างของกำไรที่สูงกว่า โดยไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของราคาเข้ามากระทบแต่อย่างไร หรือไม่มีความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ครับ


    ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว เอาตัวอย่างของจริงมาดูกัน วันนี้วันที่ 4 ตุลาคม 2549 มีเหตุการณ์ของหุ้นตัวหนึ่งที่ทำให้สามารถทำ Arbitrage ระหว่างหลักทรัพย์ Warrant คือหุ้นลูก และหุ้นแม่ที่ใช้อ้างอิง

    ขอใช้เป็นระหัสนะครับ คือหุ้นสารพัดช่าง หรือหุ้นช้างครับ

    ตัวลูกสามารถแปลงสภาพได้ในราคา 4.50 บาทต่อหุ้น แปลงได้ทุกไตรมาส หมดเขตแปลง มี.ค. 50 ซึ่งหมายความว่า เราอาจใช้สิทธิแปลงสภาพทีละไตรมาส โดยแปลงหุ้นลูกเป็นหุ้นแม่ โดยมีระยะเวลาแปลงสภาพเหลืออยู่อีกประมาณ 6 เดือน ตัวลูกช่วงเช้าอยู่ที่ 3.70 - 3.72 แต่ตัวแม่อยู่ที่ 8.55

    ถ้าเราต้องการถือหุ้นแม่ในระยะยาว โดยไม่ต้องการขายในระยะสั้น เราสามารถทำ Arbitrage หุ้นได้ทันที โดยใช้วิธีการคือ

    เอาตัวลูกแปลงเป็นตัวแม่ได้ 3.72 + 4.5 บาท ได้ราคา 8.22 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นแม่อยู่ที่ 8.55 บาทต่อหุ้น ใครมีหุ้นสารพัดช่าง ขายตัวแม่ทิ้ง แล้วซื้อตัวลูกไปแปลงสภาพ ได้กำไรส่วนต่างเห็น ๆ 8.55 - 8.22 บาทต่อหุ้น หรือเท่ากับ 0.33 สตางค์ต่อหุ้น โดยไม่มีความเสี่ยงในการถือหุ้นแต่อย่างไร เพราะหุ้นลูกแปลงเป็นหุ้นแม่ได้ทุกไตรมาสอยู่แล้ว ใครถือยาวและเป็นนักลงทุนที่มีเหตุผล จึงต้อง Atbitage ครับกำไรเห็น ๆ ทันที ลดต้นทุนหุ้นแม่ไป 0.33 ต่อหุ้น

    แต่ช่วงที่เขียนต่อมาราคาปิดตลาดวันนี้ ราคาหุ้นแม่อยู่ที่ 9.05 บาทต่อหุ้น และหุ้นลูกอยู่ที่ 4.16 บาทต่อหุ้น หุ้นลูกแปลงเป็นหุ้นแม่ได้ในราคารวมเท่ากับ 8.66 บาท(4.16+4.5) ตอนนี้ราคายิ่งน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะ ราคาแปลงสภาพจะถูกกว่าหุ้นแม่ 9.05 - 8.66 บาทหรือเท่ากับ 0.39 บาท คิดเป็นกำไรส่วนต่าง 4.30% เทียบกับราคาหุ้นแม่ครับ แบบนี้ถือลูกแปลงแม่ดีกว่าครับ

    อันนี้เป็นเทคนิคที่อาจารย์ใหญ่ ดร.นิเวศน์เคยบอกไว้ในหนังสือผมอ่านมานานแล้ว จำไม่ได้ว่าเล่มไหนนะครับ เพราะอาจารย์แต่งหลายเล่มเหลือเกินครับ วันนี้เห็นของจริงเลยครับ เลยได้ทำ Arbitrage แล้วได้ค่าขนมไปเรียบร้อยแล้ว แถมวันนี้หุ้นลูกขึ้นแรงกว่าหุ้นแม่เสียอีกครับ อิ อิ ใครไม่อยากแลกหุ้นแม่ ก็หาโอกาสทำกำไร 2 ชั้น ได้กำไรทั้งหุ้นแม่ และกำไรหุ้นลูก 2 เด้งเลยครับ หรือถ้าคิดว่าเป็นหุ้นที่ดี เราก็อาจจะลงทุนระยะยาวต่อไป แถมเราก็สามารถประหยัดต้นทุนได้ตามที่อธิบายไว้ครับ อิ อิ

    ขอบคุณ ขอบคุณคุณ Bul และคุณเปิล ด้วยนะครับ

    Posted by : SiTh LoRd P@cK

-----------------------------------
Q:
เอ๋ แล้วถ้าท่าน ขายหุ้นแม่ปุ๊บ ซื้อหุ้นลูก เพื่อรอแปลง เกิดหุ้นแม่ราคาลงพรวดพราด หุ้นลูกเนี่ยจะลดลงมากกว่าหุ้นแม่ด้วยอัตราเท่าไร แล้วถ้าหุ้นแม่ลดลงต่ำกว่าราคาแปลง หุ้นลูกเท่ากับเป็น 0 นะครับ ผมไม่แน่ใจว่าแบบนี้เรียก arbitage ได้หรือเปล่า

A:
จากเท่าที่ผมศึกษามานะครับ มีท่านหนึ่งถามเหมือนกับท่านเลย มีคนตอบมาบอกว่า เจ้ามือหุ้นจะพยายามดันราคาหุ้นแม่ไว้ไม่ให้ราคาน้อยกว่าราคาแปลงครับ เพราะถ้าน้อยกว่าเมื่อไร นักลงทุนจะไม่เล่นหุ้นลูก แต่ไปเล่นหุ้นแม่แทนครับ กลยุทธ์แบบนี้ไม่เรียกว่า arbitage ครับ

อย่างไรก็ตาม นี้เป็นความคิดเห็นของผม ซึ่งผมเองก็เป็นมือใหม่ทางด้านหุ้นเหมือนกัน ถ้ามีผู้รู้ หรือมีผู้ชำนาญมากกว่า สามารถแสดงความคิดเห็นได้นะครับ รับฟังครับ

Posted by SiTh LoRd P@cK

http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=21213

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 17, 2014, 01:25:08 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 16 June 2014

แรงจูงใจกับการลงทุน

คนที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น  หุ้น  และการลงทุนนั้นมีมากมาย  แต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มนั้นต่างก็มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  พวกเขาอยากที่จะเห็นตลาด  หุ้น  และการลงทุนมีทิศทางที่สอดคล้องตรงกับผลประโยชน์ของตนเอง  พวกเขาจะทำสิ่งต่าง ๆ   ที่จะเอื้ออำนวยกับสิ่งที่ตนต้องการให้เป็น  ซึ่งก็รวมถึงการพูดโน้มน้าวจิตใจคนอื่นและสาธารณชนให้เห็นคล้อยตามคำพูดของเขา  ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเราที่เป็นนักลงทุนแบบ VI   ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

            เริ่มตั้งแต่โบรกเกอร์ที่ผลประโยชน์หลักอยู่ที่ค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหุ้นนั้น  สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นก็คือการซื้อขายหุ้นของลูกค้าบ่อย ๆ   ดังนั้นพวกเขาก็มักจะออกบทวิเคราะห์หุ้นที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นสูงและเป็นหุ้นที่มีความผันผวนของราคาสูงเนื่องจากความไม่แน่นอนของตัวกิจการ  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่การตลาดก็มักจะให้คำแนะนำให้ลูกค้าซื้อขายบ่อย ๆ  เวลาหุ้นขึ้นและลงแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ    และสำหรับลูกค้ารายใหญ่หรือไม่ใหญ่มากแต่ซื้อขายหุ้นแบบเทรดเดอร์ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงมากก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ  พวกเขาไม่ชอบและจะไม่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนถือหุ้นระยะยาวแม้ว่าหุ้นจะเป็นกิจการที่ดีมากและเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว  และถ้าลูกค้าถือหุ้นดังกล่าวไว้บางครั้งเขาก็แนะนำว่าควร  “ขายไปก่อนแล้วค่อยซื้อกลับทีหลัง”   ในหลาย ๆ  กรณี  พวกเขาอ้างการวิเคราะห์ทาง  “เทคนิค”  ที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อขายทันทีเมื่อราคาหุ้นถึงจุดเปลี่ยน   ดังนั้น  เวลาเราฟังโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์  เราจะต้องระวังว่า  วัตถุประสงค์ของเขาอาจจะไม่เหมือนของเรา  เราต้องการกำไรหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุน  ส่วนเขาต้องการค่าคอมมิชชั่น  แรงจูงใจไม่เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นคำแนะนำหรือความเห็นของเขาจึงอาจจะ  Bias หรือลำเอียงได้
          เจ้าของและ/หรือผู้บริหารบริษัทนั้น  ถ้ามองหยาบ ๆ  ก็น่าจะมีวัตถุประสงค์คล้ายกับนักลงทุนเนื่องจากต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นเหมือนกันหรือมีเป้าหมายที่อยากจะเห็นราคาหุ้นขึ้นไปสูงเหมือนกัน  อย่างไรก็ตาม  เจ้าของและ/หรือผู้บริหารนั้นมักมีผลประโยชน์อย่างอื่น  เช่น  มีเงินเดือน  โบนัส  และผลประโยชน์เกี่ยวพันอย่างอื่นกับบริษัทด้วย  ดังนั้น  ถ้าผลประโยชน์อย่างอื่นนอกจากปันผลจากหุ้นมีมากอย่างมีนัยสำคัญ  แรงจูงใจของเจ้าของหรือผู้บริหารก็อาจจะแตกต่างจากผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนได้  ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมง่าย ๆ  ที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการจ่ายเงินปันผลที่บางครั้งหรือบางบริษัทอาจจะจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเหตุเพราะว่าผู้บริหารอาจจะถือหุ้นน้อยหรือไม่มี  ดังนั้น  เขาก็อาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัทซึ่งเขาจะได้มีโอกาสใช้ได้มากกว่า  หรืออาจจะทำให้เขามีการบริหารงานที่สบายกว่าปกติ  ตัวอย่างของบริษัทที่เป็นแบบนี้ก็เช่น  บริษัทที่ผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติบางแห่งที่มีผู้บริหารที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นและจ่ายปันผลในอัตราที่ต่ำทั้งที่มีฐานะการเงินดี  เงินที่เหลืออยู่มากในที่สุดก็ถูกนำไปลงทุนซึ่งบางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จและตรวจสอบได้ยาก  ถ้าเราเจอบริษัทแบบนี้ก็พึงรู้ไว้ว่าแรงจูงใจของเขากับเราที่เป็นนักลงทุนนั้นไม่ไปด้วยกัน  ดังนั้นแม้บริษัทอาจจะกำไรดีก็อาจจะไม่คุ้มที่จะลงทุน

          หุ้น IPO หรือหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกนั้นเราก็จะต้องรู้ว่าเจ้าของน่าจะมีแรงจูงใจอย่างไร   ข้อแรกนั้นชัดเจนก็คือ  เขาต้องการขายหุ้นเพื่อเอาเงินเข้าบริษัทเพื่อเหตุผลในการขยายงานและทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง  หรือในบางกรณี  เจ้าของก็พ่วงหุ้นส่วนตัวเอามาขายด้วย  ในทุกกรณี  เขาต้องการขายได้ในราคาที่สูงเท่าที่จะเป็นไปได้และที่สำคัญก็คือเขาต้องคิดว่านั่นเป็นราคาที่เขาพอใจเมื่อเทียบกับคุณค่าของหุ้นในสายตาของเขา  แรงจูงใจนี้ทำให้เขาพยายามกำหนดราคาหุ้นให้สูงโดยอาจจะทำการแต่งตัวหรือใช้จังหวะที่เหมาะสมของบริษัทหรือภาวะตลาดหุ้นในการเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป  ผลก็คือ  หุ้น IPO มักจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นและนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่จูงใจให้เจ้าของเอาหุ้นเข้าตลาด   อย่างไรก็ตาม  ในบางกรณีก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมีแรงจูงใจอย่างอื่นที่สำคัญกว่า  เช่น  เขาต้องการเอาหุ้นเข้าตลาดเพื่อให้บริษัทมีการบริหารงานที่เป็นมาตรฐานและหุ้นมีสภาพคล่องและมีราคาตลาดที่ทำให้เขารู้มูลค่าความมั่งคั่งของตนเองและสามารถขายเพื่อกระจายความเสี่ยงรวมถึงสามารถที่จะนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทได้อย่างสะดวกในอนาคต  ในกรณีแบบนี้  การตั้งราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้สูงกว่าพื้นฐานก็ได้    สรุปก็คือการวิเคราะห์หรือมองถึงแรงจูงใจของเจ้าของที่นำหุ้นเข้าตลาดจะช่วยให้เรารู้ว่าราคา IPO นั้นมีความสมเหตุผลมากน้อยแค่ไหนได้

            นักลงทุนแต่ละคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเองนั้นก็มีแรงจูงใจที่แตกต่างกัน   คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนจนได้หุ้นครบจำนวนตามที่ต้องการแล้วนั้นต่างก็ต้องการให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไป  แรงจูงใจนี้ทำให้เขาอยากจะเชียร์หุ้นตัวนั้นถ้ามีโอกาสทำได้  คนที่ซื้อหุ้นตัวนั้นในปริมาณที่มากและเป็นการซื้อเพื่อ  “เก็งกำไร”  ก็จะมีแรงจูงใจที่จะเชียร์หุ้นมากเนื่องจากเขาอยากที่จะเห็นหุ้นขึ้นไปเร็วเพื่อที่ว่าเขาจะได้ขายทำกำไรและหันไป  “เล่น” หุ้นตัวอื่น  คนที่ลงทุนระยะยาวเองนั้น  การเชียร์อาจจะไม่มากเท่าเนื่องจากเขาไม่คิดที่จะขายหุ้นในระยะเวลาอันสั้น  ในทางตรงกันข้าม  คนที่ยังไม่ได้ซื้อหุ้นหรือคนที่ขายหุ้นตัวนั้นไปแล้วก็อาจจะมีแรงจูงใจในทางตรงกันข้าม  พวกเขาไม่อยากให้หุ้นขึ้น  ดังนั้นเขาไม่เชียร์  แถมอาจจะวิจารณ์ในด้านลบ  ดังนั้น  เวลาที่เราฟังการวิเคราะห์วิจารณ์หุ้นแต่ละตัวจากนักลงทุนคนอื่น  เราก็ควรจะรู้ว่าแต่ละคนมีแรงจูงใจไม่เหมือนกันและดังนั้นการวิเคราะห์หุ้นก็อาจจะมีความลำเอียงทั้งในด้านที่ดีและร้ายขึ้นอยู่กับแรงจูงใจของแต่ละคน

             การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ต้องมีการแจ้งต่อ กลต. ทุกครั้งนั้นเราก็ต้องพยายามมองหาว่าแรงจูงใจของเขาเป็นอย่างไร  โดยปกติ  ถ้าเป็นการขายรายการใหญ่มาก  เช่น  ขายถึง 10% ของบริษัท  ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงขายและขายให้ใคร  ในราคาเท่าไร  แรงจูงใจในการขายคืออะไร  เช่นเดียวกับแรงจูงใจของผู้ซื้อ  เป็นไปได้ว่าเจ้าของอาจจะมองเห็นถึงความเสี่ยงในอนาคตของบริษัทเขาจึงขายไปในขณะที่หุ้นมีราคาที่ดี  เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าคนซื้อมองเห็นว่าบริษัทมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไปอีกนานดังนั้นเขาจึงอยากซื้อหุ้นล็อตใหญ่เพื่อการลงทุนและเขาคิดว่าราคาที่ซื้อนั้นคุ้มค่า  ในหลาย ๆ  กรณี  การซื้อหุ้นล็อตใหญ่ก็เพื่อที่จะเข้ามาเป็น Strategic Partner หรือเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นหลังจากการเข้ามาลงทุน  ในกรณีแบบนี้  เราก็ต้องวิเคราะห์ว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือไม่  และถ้าราคาหุ้นสูงขึ้นไปมากจากช่วงก่อนการขาย   เราควรจะทำอย่างไร

              การซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่ไม่ใช่รายการใหญ่และเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นเราต้องดูเป็นกรณี ๆ  ไป  โดยปกติถ้าเป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัทหรือเป็นระดับซีอีโอหรือคนที่มีอำนาจกำหนดทิศทางของบริษัทจริง ๆ  นั้น  มักจะไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากนัก  แรงจูงใจในการขายหุ้นของพวกเขานั้นอาจจะเกิดจากความต้องการใช้เงินธรรมดาหรืออาจจะเกิดจากความรู้สึกว่าหุ้นมีราคาสูงเต็มมูลค่าหรือเกินพื้นฐานไปแล้ว  เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นที่อาจจะเกิดจากความคิดที่ว่าหุ้นมีราคาถูก  อย่างไรก็ตาม  เขาอาจจะคาดผิดได้เพราะเขาอาจจะไม่รู้จริง   แต่ในกรณีที่ผู้บริหารคนสำคัญหรือเจ้าของเข้ามาซื้อ ๆ  ขาย ๆ  หุ้นค่อนข้างบ่อยนั้นผมคิดว่าเราคงต้องวิเคราะห์แรงจูงใจของเขาว่าเพราะอะไร  เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะพยายาม  “ส่งสัญญาณ”  ซึ่งอาจจะ “ลวง” ให้นักลงทุนเข้าใจผิดในคุณค่าของหุ้นในเวลานั้น  โดยมีแรงจูงใจที่จะทำให้ราคาหรือสภาพคล่องของหุ้นแตกต่างจากที่ควรจะเป็นเพื่อเหตุผลบางอย่าง  เราในฐานะที่เป็น VI จะต้องติดตามและวิเคราะห์ว่ามันควรจะเป็นอะไร  ประเด็นสำคัญก็คือ  เราจะต้องคิดอย่างเป็นอิสระและไม่ถูกชักนำโดยข้อมูลที่ออกมาจากแรงจูงใจของคนอื่นที่ไม่ได้มีเป้าหมายเหมือนกับเราหรือตรงข้ามกับเรา


Posted by nivate at 2:53 PM in โลกในมุมมองของ Value Investorr
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/06/16/1437


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 24, 2014, 05:59:39 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 23 June 2014

การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือน


สำหรับ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ไม่ได้มีเงินจากพ่อแม่หรือมีความสามารถพิเศษในการลงทุนและคิดว่าตนเอง  “ไม่มีปัญญา” ในการที่จะเรียนรู้เทคนิคการลงทุนที่จะทำให้สามารถลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ  ได้   ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นกลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนระยะยาวที่  “ดีที่สุด” สำหรับเขา  มันจะเป็นการลงทุน  “เพื่อการเกษียณ” ที่จะทำให้เขาสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ตามสถานะที่เขาเป็นอยู่แบบเดิมไปได้ตลอดชีวิตหลังเกษียณโดยที่ความเสี่ยงที่จะ “ขาดเงิน” มีน้อยมาก ๆ  สิ่งที่เขาจะต้องทำหรือเงื่อนไขนั้นมีหลักการใหญ่ ๆ สามข้อ  มันเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากแต่ต้องอาศัยวินัยและความศรัทธาสูง

            หลักการสามข้อนั้นผมขอเรียกว่าเป็น  “แก้ว 3 ประการ ของการลงทุน”  ที่ผมเคยพูดไว้ในหลาย ๆ  โอกาสซึ่งผมจะทวนอีกครั้งหนึ่งก็คือ  ถ้าหากใครหวังจะรวยหรือประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงนั้น  เขาจะต้องมีแก้วที่ “สุกสว่าง” ทั้ง 3 ดวง  โดยที่แก้วดวงแรกก็คือ  เขาจะต้องมี  “เงินลงทุนเริ่มต้น”  หรือเงินที่ได้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากเงินจากการลงทุน  เช่น  จากเงินเดือน  เงินที่พ่อแม่ให้หรือเงินมรดก เป็นต้น  “แก้ว”  ดวงนี้จะ “สุกสว่าง” มากน้อยนั้น  บางทีก็ขึ้นอยู่กับ  “โชคชะตา” เช่น  คนที่มีพ่อแม่รวยและพ่อแม่แบ่งเงินมาให้ลงทุนมาก  “แก้ว”  ดวงนี้ของเขาก็สุกสว่างมาก  แต่ในอีกด้านหนึ่ง  ความสุกสว่างของแก้วก็อาจจะมากขึ้นได้จากการ  “อดออม”  ของเราเอง  นั่นก็คือ  เราสามารถเพิ่มความสว่างของแก้วของเราได้โดยการบริโภคน้อยลงและเก็บออมแล้วเอามาลงทุนมากขึ้น

            แก้วดวงที่สองคือ  ผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุน  ความสุกสว่างของแก้วดวงนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการวิเคราะห์และลงทุนอย่างถูกต้อง  อย่างไรก็ตาม  ตามทฤษฎีและตามประวัติศาสตร์การลงทุนที่มีการเก็บสถิติมายาวนานนั้นบอกว่า  หุ้นให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดในบรรดาการลงทุนหลักทั้งหลายในระยะยาว  ดังนั้น  แก้วดวงนี้จะสุกสว่างได้นั้น  เราคงต้องลงทุนในหุ้นเป็นหลัก  ในขณะที่การฝากเงินให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด  ถ้าเงินส่วนใหญ่ของเราอยู่ในเงินฝาก  แก้วดวงนี้ของเราก็จะหมองมัว  ส่วนพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นให้ผลตอบแทนกลาง ๆ   ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  ถ้าเราเน้นซื้อหุ้นลงทุนเป็นรายตัวที่อาจจะทำให้แก้วของเราสว่างที่สุด  มันก็มีโอกาสเช่นกันที่แก้วดวงนี้จะ  “แตก”  และความสว่างจะหายไปกลายเป็นแก้วที่  “มืดมน”   เปรียบเทียบก็คือ  แทนที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงก็อาจจะขาดทุนได้  โชคดีที่ว่าเราสามารถที่จะลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมที่จะให้ผลตอบแทนที่สุกสว่างพอสมควรได้โดยที่ความเสี่ยงที่จะเสียหายมีน้อยในระยะยาว  ดังนั้น  สำหรับคนที่ไม่เชี่ยวชาญในการเลือกหุ้น  การลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีจึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก

             แก้วดวงสุดท้ายก็คือ  ระยะเวลาในการลงทุน  ยิ่งเราลงทุนยาวนานเท่าไร แก้วของเราก็จะสุกสว่างมากขึ้นเท่านั้น  ดังนั้น  คนที่อายุน้อยและแน่วแน่ในการลงทุน  ไม่ออกจากตลาดไม่ว่าในสถานการณ์อะไร  จึงเป็นคนที่มีแก้วที่สุกสว่างอยู่ในมือ 1 ดวงเสมอ  เช่นเดียวกัน  คนที่มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีก็เป็นคนที่มีแก้วที่สว่างกว่าคนที่อายุสั้นกว่า

            คนที่มีแก้วที่สุกสว่างทั้ง 3 ดวง  และใช้มัน  โอกาสที่เขาจะรวยจากการลงทุนก็จะสูงมาก  คนที่มีแก้วอยู่ในมือแต่ไม่รู้จักใช้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  ส่วนคนที่แทบจะไม่มีแก้วที่สุกสว่างเลยซักดวงก็ต้องยอมรับว่าเราอาจจะไม่สามารถรวยจากการลงทุนได้   อย่างไรก็ตาม  คนส่วนใหญ่ที่  “กินเงินเดือน” และอายุยังไม่มากนั้น  หากมีการวางแผนการลงทุนที่ดี  และด้วยการ  “เสียสละ”  การบริโภคในปัจจุบันพอประมาณแต่อยู่ในระดับที่ไม่น่าจะเดือดร้อนนัก  จะสามารถที่จะลงทุนจนมีเงินเพียงพอที่จะใช้ในยามเกษียณได้อย่างสบายโดยที่ความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้มีน้อยมาก  มาดูกันว่าทำอย่างไรและเราจะบรรลุเป้าหมายอะไร?

            สมมุติว่าเราอายุ 30 ปี  มีงานประจำที่มั่นคง  มีเงินเดือนตามควรแก่อัตภาพเช่น  เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท และยังไม่เคยลงทุนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว  ข้อเสนอของผมก็คือ  เราต้องเริ่มเก็บออมเงินและลงทุนโดยการหักออกจากเงินรายได้ 15% ทุกครั้งที่ได้รับเงิน  ซึ่งก็คือเดือนละ 7,500 บาท  แล้วนำเงินนั้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนี  SET50 ซึ่งก็คือการลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 50 ตัวโดยไม่มีการเลือกหุ้น  เราทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน  ถ้าเงินเดือนเราสูงขึ้น  เม็ดเงิน 15% ของเราก็สูงขึ้นตามกันไป  เวลาได้เงินพิเศษเช่น โบนัส  เราก็ยังคงต้องหักเงิน 15% ก่อนเพื่อเอาไปลงทุนในหุ้น  การลงทุนในหุ้นทั้งหมดนั้นอาจจะดูว่า  “เสี่ยง”  แต่การที่เราทยอยลงไปเรื่อยเป็นเวลาถึง 30 ปี  ความเสี่ยงจะหายไปมาก  เพราะเราจะซื้อหุ้นเฉลี่ยกันไปทั้งช่วงที่หุ้นถูกและแพง  โอกาสที่เงินออมจะเสียหายมีน้อยมาก  แต่มีโอกาสสูงที่เราจะได้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละประมาณ 10% ตามสถิติที่เป็นมาในอดีต  ถ้าเราทำแบบนี้  ผลที่จะได้รับหลังจากที่เราเกษียณที่ 60 ปีคืออะไร?

            คำตอบอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือ  หลังจากเกษียณแล้ว  เราก็จะสามารถใช้เงินได้เดือนละเท่าเดิมเท่ากับช่วงที่เราทำงานอยู่โดยที่เราไม่ต้องทำงานต่อไปอีก 30 ปี เช่น ถ้าเราได้เงินเดือนในช่วงแรกที่อายุ 30 ปี เป็นเงิน 50,000 บาท ในวันที่เราเกษียณเดือนแรกเราก็สามารถใช้เงินได้เดือนละ 50,000 บาทเช่นกันหลังจากคำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อแล้ว  ที่จริงก็คือใช้ได้ประมาณ 120,000บาท ต่อเดือนซึ่งมีค่าเท่ากับ 50,000ในวันนี้)  และถ้าในช่วงที่เราอายุ 40 ปี  เรามีรายได้เดือนละ 100,000 บาท และเรากันเงิน 15% ซึ่งเท่ากับ 15,000 บาทไว้ลงทุน  ในช่วงที่เรามีอายุ 70 ปี  เราก็จะสามารถใช้เงินได้เดือนละ 100,000 บาทเช่นกันหลังคำนึงถึงเรื่องเงินเฟ้อแล้ว

           มองอีกด้านหนึ่งก็คือ  เงินเพียง 15% นั้น  ถ้าเรากันไว้ลงทุนในหุ้นในวันนี้  มันจะโตขึ้นเป็น 100% หลังหักอัตราเงินเฟ้อแล้ว  ภายในเวลา 30 ปี  ดังนั้น  เงินเพียง 15% ของทุกเดือนที่เราลงทุนไปในวันนี้  อีก 30 ปี มันก็จะกลับมาเลี้ยงเราเต็มจำนวน  ถ้าเราลงทุนตั้งแต่อายุ 25 ปี  โอกาสที่เราจะเกษียณอย่างสบายก็จะสูง  ถ้าเราลงทุนหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว เช่น เริ่มลงทุนเมื่ออายุ 40 ปี ถ้าจะให้เราสามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ  เราก็อาจจะต้องกันเงินไว้มากกว่า 15% ของเงินเดือนเพื่อที่จะลงทุน  ภาระก็จะหนักขึ้น หรือถ้ายังรักษาระดับที่ 15%  ในวันที่เกษียณเราก็มีเวลาลงทุนแค่ 20 ปี ซึ่งก็จะทำให้เงินที่เราจะได้นั้นไม่ถึง 100%  ซึ่งก็แปลว่า  ในวันเกษียณ  เราอาจจะต้องลดระดับความเป็นอยู่ลง

             คนอายุ 30 ปี ที่เริ่มกันเงินถึง 15% ของเงินเดือนเพื่อลงทุนแต่เขาเน้นไปที่การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนผสมที่มีหุ้นน้อย  ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำ  ซึ่งก็อาจจะทำให้เขาไม่สามารถใช้เงินได้เท่าเดิมหลังเกษียณ  และนี่สำหรับผมแล้ว  เป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสม  ในระยะสั้น ๆ  นั้น  ความรู้สึกมั่นคงและ “ไม่เสี่ยง”  จากการลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้น  ไม่คุ้มกับการเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้น  ว่าที่จริง  ในระยะยาวตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป  หุ้นโดยรวมนั้นมีความเสี่ยงน้อยมาก  โอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนรวมต่ำกว่าตราสารหนี้หรือเงินฝากนั้นผมคิดว่าน่าจะอยู่แค่ในช่วง 5-10 ปีแรกเท่านั้น  หลังจากนั้นแล้วหุ้นก็จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลอด  ดังนั้น  อย่ากลัวที่จะลงทุนหุ้นเต็มที่ถ้าเราจะลงระยะยาวมาก

           สุดท้ายที่ผมอยากจะเพิ่มเติมสำหรับคนที่ต้องเสียภาษีรายได้สูงนั้น  การลงทุนในกองทุน LTF และ RMS ในอัตราที่สูงได้ถึง 15% ของรายได้นั้น  ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ผมกล่าวถึงมาทั้งหมด  แต่ยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลด้วย  ดังนั้น  ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนควรทำ
 

Posted by nivate at 1:39 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/06/23/1439

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 26, 2014, 03:08:38 am
สิ่งสำคัญที่นักลงทุนทั้งหลายไม่พึงกระทำ

ในการลงทุนนั้น การหยุดการสั่งซื้อมีความสำคัญพอๆกับการสั่งซื้อ ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำจาก ฟิลิป ฟิชเชอร์ ในเรื่องที่คุณไม่พึงกระทำ

1.อย่าเน้นในเรื่องการกระจายความเสี่ยงมากจนเกินเหตุ

ที่ปรึกษาการลงทุนหลายๆคนและสื่อสารด้านการลงทุนได้อธิบายความถึงข้อดีของการกระจายตวามเสี่ยงโดยยกเอาประโยคที่น่าสนใจจดจำง่ายนี้ขึ้นมาพูดอยู่เสมอๆ " อย่าใส่ไข่หลายๆฟองของท่านไว้ในตระกร้าใบเดียว" อย่างไรก็ตาม ฟิชเชอร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ท่านใส่ไข่หลายฟองของท่านไว้ในตระกร้าใบโน้นบ้างใบนี้บ้าง ก็ไม่แน่เสมอไปว่าไข่ทั้งหมดทุกฟองจะอยู่ในที่ปลอดภัยดี อีกทั้งยังยากต่อการเฝ้าติดตามดูไข่ทุกฟองนั้น

ฟิชเชอร์,เป็นผู้ซึ่งถือหุ้นไม่เกิน 30 ตัวเป็นอย่างมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของอาชีพ,มีคำตอบที่ดีกว่าดังนี้คือ ให้เสียสละเวลาค้นคว้าและทำความเข้าใจบริษัทหนึ่งๆอย่างถ้วนถี่และถ้าหากเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทดังกล่าวเข้าเกณฑ์ 15 ข้อที่เขาตั้งเป็นเกณฑ์กำหนดไว้ครบถ้วน คุณควรที่จะลงทุนในปริมาณมากๆ ฟิชเชอร์ เห็นด้วยกับคำพูดของ มาร์ค ทเวน ที่ว่า "ใส่ไข่ทั้งหมดทุกฟองของคุณไว้ในตระกร้าใบเดียว และเฝ้าดูแลตระกร้านั้นให้ดี"

2. อย่าแห่ตามฝูงชน

การเฮโลไปกับฝูงชนโดยลงทุนในหุ้นที่กำลังอยู่ในความนิยม อย่างเช่น หุ้นกลุ่ม"นิฟตี้ ฟิฟตี้"(หุ้น 50 ตัวที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบัน)ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 หรือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี่ ในช่วงปลายทศวรรษปี 1990 เป็นอันตรายต่อสุขภาพการเงินของคุณได้ ในทางตรงกันข้าม การค้นคว้าหาข้อมูลในกลุ่มที่ฝูงชนละเลยไม่ให้ความสนใจก็สามารถสร้างผลกำไรให้สูงมากๆได้ ครั้งหนึ่ง เซอร์ ไอแซ๊ค นิวตัน เคยพูดยอมรับอย่างเศร้าใจว่า เขาสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆที่ตกมาจากท้องฟ้าได้ แต่กับความบ้าคลั่งของฝูงชนเขาไม่อาจจะทำได้ ฟิชเชอร์ต้องเห็นด้วยอย่างจริงใจกับคำกล่าวนี้

3. อย่าคิดเล็กคิดน้อย

หลังจากได้ศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง และคุณได้พบบริษัทที่คุณมั่นใจว่าจะเจริญเติบโตอย่างแน่นอนในช่วง 10 ปีข้างหน้า และราคาหุ้นปัจจุบันเสนอขายในราคาเหมาะสม คุณควรจะรอหรือละเว้นการลงทุนของคุณเพื่อให้ราคาลงมาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้นอีกซักไม่กี่เพนนีดีกว่า?

ฟิชเชอร์ได้เล่าให้ฟังเรื่องนักลงทุนที่ชำนิชำนาญคนหนึ่งที่ต้องการจะซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งซึ่งในวันนั้นราคาหุ้นปิดที่ 35.5 เหรียญต่อหุ้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนผู้นี้ตั้งใจว่าจะไม่ซื้อหุ้นตัวนั้นจนกว่าราคาจะลดลงมาอยู่ที่ 35 เหรียญ หุ้นตัวนี้ไม่เคยมีราคาต่ำกว่า 35 เหรียญอีกเลยหลังจากนั้น และต่อมาอีก25 ปีมูลค่าของหุ้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 เหรียญต่อหุ้น นักลงทุนผู้นี้พลาดโอกาสที่จะได้ส่วนต่างราคาที่มากมายมหาศาลไปอย่างน่าเสียดายเพียงแค่ต้องการประหยัดต้นทุนอีก 50 เซนต์ต่อหุ้น

แม้แต่วอร์เร็น บัฟเฟตต์เองก็มักจะปล่อยให้เกิดความผิดพลาดทางจิตใจในแบบนี้เช่นกัน บัฟเฟตต์ เคยเริ่มซื้อวอลมาร์ท เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น แต่ก็หยุดซื้อเมื่อราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย บัฟเฟตต์ยอมรับว่าความผิดพลาดอันนี้ทำให้เบิร์กชัวร์ แฮทธาเวย์สูญเสียกำไรที่ควรจะเป็นไปราว 1 หมื่นล้านเหรียญ แม้แต่นักทำนายผู้ปราดเปรื่องแห่งโอมาฮา ยังน่าได้รับประโยชน์จากข้อแนะนำของฟิชเชอร์ข้อนี้ที่ว่าอย่าคิดเล็กคิดน้อย

ที่มา:
http://thinkvalueinvestment.blogspot.com/2007/03/blog-post.html
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 27, 2014, 06:28:24 pm
(http://portal.settrade.com/StaticPage/images/th/blog/webblog_1_thanwa.gif)

Thursday, 26 June 2014
Business Model

นักลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐานล้วนให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์กิจการทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ การวิเคราะห์เชิงปริมาณได้แก่ การประเมินมูลค่ากิจการ การวิเคราะห์งบการเงิน  สถานะทางการเงิน อัตราส่วนทางการเงินซึ่งส่วนใหญ่ถูกแสดงเป็นตัวเลขที่ได้จากการคำนวณทั้งจากข้อเท็จจริงและจากการคาดการณ์ล่วงหน้า ส่วนการวิเคราะห์เชิงคุณภาพนั้น มักไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลข เช่น รูปแบบธุรกิจหรือ “Business Model” การวิเคราะห์ SWOT ศักยภาพในการแข่งขัน ความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินหรือมุมมองในการวิเคราะห์ของนักลงทุนแต่ละคน

          ในการลงทุนส่วนตัวของผมนั้น ผมมัก “คัดกรอง” ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เข้าเกณฑ์น่าสนใจลงทุนโดยให้ความสำคัญกับ Business Model เป็นลำดับแรกๆ ก่อนที่จะพิจารณารายละเอียดอื่นเพิ่มเติมทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ลองมาดูตัวอย่างกลุ่มธุรกิจว่ามี Business Model ข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง 

          กลุ่มค้าปลีก มีรูปแบบธุรกิจแบบ “Cost Plus” หรือ กำหนดราคาขายจากราคาต้นทุนบวกกำไร ดังนั้นหากสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ธุรกิจจะต้องมีกำไร ไม่ขาดทุน และควรจะต้องมีอัตราส่วนในการทำกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก นักลงทุนจึงควรเลือกลงทุนกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำและมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละประเภท เพราะมีความได้เปรียบทั้งด้านขนาด อำนาจการต่อรอง ได้รับประโยชน์สูงสุดจาก Economies of Scale ทำให้มีความพร้อมด้านเงินลงทุนในการขยายสาขาให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก   

          กลุ่มธุรกิจสัมปทาน มีรูปแบบธุรกิจ “กึ่งผูกขาด” จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการแข่งขัน มีคู่แข่งจำกัดและมีจำนวนน้อย กิจการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ทางด่วน รถไฟฟ้า ต้องใช้เงินลงทุนช่วงแรกสูงมาก มีระยะเวลาถึงจุดคุ้มทุนยาวนาน มักถูกควบคุมราคาและอาจไม่สามารถปรับราคาขึ้นโดยง่ายเพราะส่งผลกระทบวงกว้าง มีความเสี่ยงเรื่องหมดอายุสัมปทานและการต่ออายุ การเติบโตรายได้มักมาจากปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้นและการปรับราคา จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการความแน่นอน ไม่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากนักและควรพิจารณาลงทุนเมื่อราคาหุ้นมี Margin of Safety มากพอ

          กลุ่มธุรกิจมือถือ มีลักษณะคล้ายกับธุรกิจสัมปทาน แต่มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่รวดเร็วกว่า กิจการมักเติบโตสูงจากปริมาณความต้องการในช่วงแรก แต่ยอดขายและกำไรจะเติบโตช้าลงอย่างมากเมื่อเข้าใกล้จุดอิ่มตัวจนกว่าจะมีแนะนำเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนโครงสร้างส่วนแบ่งทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลดี ผู้ประกอบทุกรายจึงต้องเร่งโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาตให้เร็วที่สุดพร้อมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมากจากข้อเสนอ “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” อีกด้วย

          กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มผู้รับเหมานั้นมีรูปแบบธุรกิจ “ผู้ชนะเสนอราคาต่ำสุด” แม้มีกลุ่มผู้ประกอบการน้อยรายเข้าร่วมประกวดราคา แต่ผู้ชนะต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงและการขาดแคลนแรงงาน ค่าปรับจากการส่งมอบงานล่าช้า ผลประกอบการจึงคาดการณ์ได้ยาก กลุ่มสร้างบ้านและคอนโดนั้น ผู้ประกอบการที่มีกลยุทธ์ “สร้างเสร็จก่อนขาย” จะมีข้อมูลต้นทุนจริงเพื่อกำหนดราคาขาย จึงคาดการณ์ผลประกอบการได้ง่ายกว่า ส่วนผู้ประกอบการคอนโดต้องบริหารจัดการทรัพยากรดีเยี่ยมเพราะการก่อสร้างคอนโดให้แล้วเสร็จเพื่อส่งมอบต้องใช้เวลายาวนานกว่าการสร้างบ้านเดี่ยวซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นเฟสๆ ได้ ส่วนกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า จะมีรูปแบบธุรกิจที่มี “รายได้แน่นอน” กว่าเพราะยังมีความต้องการเช่าเพื่อขยายกิจการและตอบสนองแนวโน้มการขยายตัวของเมือง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เช่ายังสามารถทำกำไรด้วยการนำสินทรัพย์เสนอขายในรูปกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ต่อไปได้อีกด้วย

          กลุ่มการแพทย์ มีรูปแบบธุรกิจแบบ “Cost Plus ที่ไม่มีโอกาสต่อรองราคา” ผู้ป่วยมักต้องกลับมาใช้บริการซ้ำจากประวัติการตรวจรักษา โรงพยาบาลเอกชนยังมีข้อได้เปรียบจากการบริการที่สะดวกและรวดเร็วกว่าแม้ค่ารักษาพยาบาลจะสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐบาลที่ไม่เพียงพอ การควบรวมและการรวมกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังทำให้ภาวการณ์แข่งขันไม่รุนแรงนัก ส่งผลดีต่อผลประกอบการโดยรวม ราคาหุ้นกลุ่มนี้จึงมักซื้อขายที่ระดับสูงอยู่เสมอและเหมาะกับการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก

          นั่นคือตัวอย่างการวิเคราะห์เชิงคุณภาพอย่างคร่าวๆ ในฐานะ Value Investor นักลงทุนควรเพิ่มความสำคัญในการวิเคราะห์ Business Model ของกิจการและอุตสาหกรรมที่ตนสนใจอย่างละเอียด กิจการที่มี Business Model โดดเด่นและยังเป็นกิจการที่มีมูลค่าเพิ่ม value added) สูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน Supply  Chain) มักความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า ส่งผลดีต่อผลประกอบการและราคาหุ้นในอนาคต ส่วนกิจการที่มี Business Model ธรรมดาและยังมีข้อด้อย นอกจากผลประกอบการจะไม่โดดเด่นแล้ว หากการแข่งขันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลต่อ “ความอยู่รอดของกิจการ” ในอนาคตได้เช่นกัน
Posted by thanwa at 4:01 PM in คิด วิเคราะห์ แยกแยะ

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/thanwa/2014/06/26/1441
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 30, 2014, 09:30:19 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 30 June 2014

SPELT


Value Investor จำนวนมาก  “ถูกสอน” ไม่ให้สนใจภาวะเศรษฐกิจการเมืองหรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่  “ไม่เกี่ยว” กับบริษัทที่เราจะลงทุน  พวกเขาอ่านหนังสือของ ปีเตอร์ ลินช์ ที่บอกว่าเราไม่ควรสนใจว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร  สิ่งที่สำคัญก็คือตัวกิจการหรือบริษัทหรือหุ้นที่เราจะลงทุน  ถ้ามันดีเสียอย่าง  เราก็ไม่ต้องกังวล  ราคาหุ้นนั้นจะปรับตัวตามผลประกอบการของบริษัท  ไม่ใช่ตามภาวะเศรษฐกิจ  นอกจากนั้น  VI ยังมีประสบการณ์โดยตรงจากเหตุการณ์ในประเทศไทยเอง  ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงมาต่อเนื่องแต่ทั้งหมดก็ไม่ได้กระทบต่อหุ้นมากนัก  พวกเขาพบว่าเมื่อเกิดภาวะรุนแรงหรือวิกฤติเศรษฐกิจหุ้นก็อาจจะลงหนักแต่หลังจากนั้นมันก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติด้วยซ้ำ  นอกจากนั้น  เมื่อพูดถึงการเมืองที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง  บางทีแทนที่หุ้นจะลงมันกลับปรับตัวขึ้น  ดังนั้น  VI จึงค่อนข้างจะเชื่อและมั่นใจว่าเราไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องภาวะเศรษฐกิจ  การเมือง  หรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ  ที่เป็น  “ภาพใหญ่”  สิ่งที่เราต้องวิเคราะห์ก็คือตัวบริษัทว่ามันเป็นอย่างไรและอาจจะถูกกระทบโดยตรงอย่างไรจากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น         

          ผมเองคิดว่าแนวความคิดดังกล่าวนั้นอาจจะถูกต้องเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา  เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าปัจจัยภายนอกนั้นไม่ได้มีอะไรที่จะกระทบกับการลงทุน  แต่เหตุผลนั้นเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นนั้น  “ไม่เคย”  กระทบกับการทำธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ  ถ้าจะมีบ้างก็เป็นช่วงสั้น ๆ  ไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี  และดังนั้น  เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม  และในระยะยาวแล้ว  สภาพแวดล้อมก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ  และดังนั้น  VI ที่ไม่ได้สนใจกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ  ก็ไม่เกิดความเสียเปรียบหรือเสียหาย  นาน ๆ  เข้าเราก็เลยรู้สึกว่าเราไม่ต้องสนใจกับการวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ให้เสียเวลา  และถ้ายิ่งไป  “คิดมาก”  ก็อาจจะทำให้เรากระวนกระวายใจหรือกลัวและอาจจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้         

          แต่ความเป็นจริงก็คือ  ภาพใหญ่นั้นมีความสำคัญ  โดยเฉพาะถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปอย่าง  “ถาวร”  ซึ่งจะกระทบกับกิจการหรือบริษัทหรือหุ้นที่เราลงทุน  อย่าลืมว่า  กิจการนั้นเหมือน “ปลา”  และภาพใหญ่นั้นเหมือน  “น้ำ”  ถ้าน้ำนั้นมีปัญหาหรือไม่เหมาะสม  ปลาจะอยู่ลำบาก  ถ้าน้ำเป็น “พิษ”  ปลาก็อยู่ไม่ได้  ที่ผ่านมานั้นน้ำค่อนข้างจะ “สะอาด” และอยู่ในสภาพที่ดี  เราก็เลยไม่รู้สึกอะไร  เราไม่รู้สึกว่าคุณภาพของน้ำนั้นมีความสำคัญและเราไม่สนใจที่จะต้องเฝ้าดูและติดตาม  แต่เราไม่รู้หรอกว่าน้ำ  โดยเฉพาะของประเทศไทยนั้น  อาจจะเปลี่ยนไปได้มากมายและกลายเป็นพิษที่อาจจะทำลายปลาได้   การวิเคราะห์ภาพใหญ่หรือปัจจัยภายนอกนั้น  ถ้าจะให้ครอบคลุมเราควรใช้กรอบที่เรียกว่า  “SPELT”  ซึ่งเป็นคำย่อของคำต่อไปนี้:         

          S มาจากคำว่า Social  หรือสังคม  สิ่งที่เราจะต้องตามก็คือ พฤติกรรมของคนไทยในเรื่องต่าง ๆ  เราต้องรู้ว่าสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร  มีอะไรที่แตกต่างจากชาติอื่นและเป็นเพราะอะไร  และการเปลี่ยนแปลงจะไปทางไหนและเกิดขึ้นเมื่อไรและจะส่งผลกระทบอะไรบ้างโดยเฉพาะกับหุ้นที่เราลงทุน  วิธีการวิเคราะห์นั้น  ประเด็นใหญ่ก็คือการสังเกตพฤติกรรมของคนทั่วไป  คนรอบข้าง  ดูว่าเป็นใครและอายุเท่าไร  การอ่านข่าวสารทางสังคมในแวดวงต่าง ๆ  โดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นนำ เช่น เหล่า “ดารา” ในวงการต่าง ๆ  “ไอดอล”  ของคนแต่ละกลุ่มเป็นใคร  ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ดูการ  “เปลี่ยนแปลง”  ที่เกิดขึ้นซึ่งจะเป็นตัวที่จะกระทบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทและต่อหุ้นในที่สุด  ตัวอย่างง่าย ๆ  ที่เราเห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างชัดเจนในช่วงนี้ก็คือ  การที่คนมักจะ  “ก้มหน้าจิ้มเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่นาน ๆ”   หรือการที่ผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายบางคนทำศัลยกรรมหรือปรับแต่งใบหน้าและร่างกายส่วนอื่นกันจนเป็นเรื่อง  “ปกติ”  หรือการที่คนหนุ่มสาวต่างก็มีคอนโดมิเนียมกันแพร่หลายและอาศัยอยู่กันเป็นบ้านหลังแรกเป็นต้น         

          P มาจากคำว่า Politics นี่คือเรื่องของการเมือง  เราต้องวิเคราะห์ว่าแนวโน้มของการเมืองไทยนั้นจะเป็นอย่างไรและมันจะกระทบกับเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมอย่างไร  ประเด็นก็คือ  การเมืองที่อันตรายที่สุดของตลาดหุ้นก็คือ  ระบบการเมืองที่  “ปิดประเทศ”  หรือทำให้ประเทศกลายเป็นประเทศปิดเนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลก  อันตรายต่อมาก็คือ  การเมืองที่ทำให้เกิดความวุ่นวายเนื่องจากคนไทยกลุ่มใหญ่บางกลุ่มไม่ยอมรับ “กติกา” ในการเข้าสู่อำนาจในการปกครองและนำไปสู่การต่อสู้หรือการรบพุ่งจนทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้เป็นปกติอย่างเช่นที่เกิดในประเทศตะวันออกกลางบางประเทศ  เป็นต้น  ตรงกันข้าม  ระบบการเมืองที่เอื้ออำนวยที่สุดต่อตลาดหุ้นและบริษัทก็คือ  ระบบเสรีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นในประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลาย         

          E มาจากคำว่า Economics นี่คือเรื่องของเศรษฐกิจ  การวิเคราะห์ในเรื่องนี้ผมไม่ใคร่สนใจภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงสั้น ๆ  แค่ปีหรือสองปี  เพราะผมคิดว่ามันไม่ค่อยจะมีผลอะไรกับบริษัทในระยะยาว  สิ่งที่ผมสนใจติดตามและวิเคราะห์ก็คือ  การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศว่ามันจะไปถึงไหน?  การวิเคราะห์ในเรื่องนี้ผมมักจะดูถึง “โปรไฟล์”  ของประชากรคนไทย  ซึ่งรวมถึงอายุ  ความสามารถ  และรวมถึงทำเลที่ตั้งของประเทศ  และอื่น ๆ  ที่เป็นเรื่องของ “โครงสร้าง” ที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย  ซึ่งสิ่งที่ผมจะพยายามหาข้อสรุปก็เช่น  อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะโตต่อไปได้ประมาณปีละกี่เปอร์เซ็นต์และจะโตไปได้อีกกี่ปี  คำตอบของผมก็อาจจะเป็นว่า  ประเทศไทยก็อาจจะโตแบบค่อนข้างเร็วต่อไปได้อีกซัก 10 ปี  หลังจากนั้นคงจะโตช้าลงหรือหยุดโต  กลายเป็นประเทศที่  “ติดกับดัก”  ชาติที่มีรายได้ปานกลางเหมือนอย่างอาร์เจนตินาหรืออีกหลาย ๆ  ประเทศ เป็นต้น  และถ้าเป็นแบบนั้น  การลงทุนของผมจะทำอย่างไร?         

          L มาจากคำว่า Legal หรือกฎหมายต่าง ๆ  ที่ออกมาและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือบริษัทหรือต่อความมั่งคั่งของเราในแง่ของการลงทุนในหุ้น  ยกตัวอย่างง่าย ๆ  เช่น  การเปลี่ยนแปลงที่จะเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในหุ้น  แบบนี้ก็เห็นได้ชัดว่าทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นลดลง  ราคาหุ้นคงถูกกระทบอย่างรุนแรงเพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับหุ้นโดยตรง  ยังมีกฎหมายมากมายที่อาจจะกระทบกับบริษัทโดยรวมหรือกระทบอย่างแรงต่อบางบริษัทในด้านของผลประกอบการ  แบบนี้เราก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด  และในบางครั้งเราก็ต้องลงมือทำอะไรบางอย่างถ้าดูแล้วว่าความเสี่ยงที่มันจะเกิดขึ้นนั้นสูงพอควรเป็นต้น         

          สุดท้ายก็คือ T ซึ่งมาจากคำว่า Technology  นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่นับวันเกิดบ่อยและเร็วขึ้นมากจนเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุนโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับเทคโนโลยี  หลาย ๆ  บริษัทต้องล้มหายตายจากหรือมีผลประกอบการตกต่ำลงมากอย่างรวดเร็วก็เพราะเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่หรือมาทำลายความเข้มแข็งเดิมที่มีอยู่  ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและเทปเพลงที่ถูกอินเตอร์เน็ตเข้าแย่งชิงตลาดไปมาก เป็นต้น  ดังนั้น  การติดตามเรื่องของเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะกิจการที่อาจจะอยู่ในข่ายที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงได้         

          ก่อนที่จะจบบทความนี้  ผมขอพูดย้ำอีกครั้งว่าภาพใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในการลงทุนของเรานั้นมักจะไม่เกิดขึ้นบ่อย  ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของระยะสั้นที่เรามักจะไม่ต้องทำอะไร  อย่างไรก็ตาม  ในบางครั้งมันก็อาจจะมีผลกระทบและเมื่อเกิดขึ้นก็มักจะแรงกว่าที่คิดและเราอาจจะต้องทำอะไรบางอย่างเช่น อาจจะต้องขายหุ้นทิ้ง  ผมเองก็ได้แต่หวังว่า  การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของประเทศไทยเรานั้น  ถ้าจะเกิดความเสียหายก็เกิดขึ้นเฉพาะจุด  เฉพาะบางบริษัท  อย่าได้เกิดรุนแรงจนกระทั่งกระทบไปทั้งระบบ  เพราะในกรณีอย่างนั้น  มันอาจจะเหมือนกับ  “น้ำ”  ที่เสียจนกระทั่ง  “ปลา”  ทั้งหลายไม่สามารถอยู่รอดได้     
       
Posted by nivate at 11:32 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/06/30/1442


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 11, 2014, 01:39:24 am

“อัจฉริยะ” กับการลงทุน

บทความ Value Way กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2557
โดย....ประภาคาร ภราดรภิบาล

“เซอร์ไอแซค นิวตัน” เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เป็นผู้ค้นพบ “กฎแห่งการเคลื่อนที่”, “กฎแห่งแรงโน้มถ่วง” และอื่นๆ อีกหลายประการซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่คงมีคนไม่มากนักที่ทราบว่าอัจฉริยะบุคคลท่านนี้ก็เคยมี “ประสบการณ์ที่เจ็บแสบ” จากการลงทุนซื้อขายหุ้นด้วยเช่นกัน
   หนังสือ “The Intelligent Investor” ฉบับ “Revised Edition” ของบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า “เบนจามิน เกรแฮม” ซึ่งมี “เจสัน ซวีจ” เป็นผู้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม ได้นำเรื่องราวการลงทุนของ “เซอร์ไอแซค นิวตัน” มาใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อหาคำตอบว่า การเป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาดกับการเป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาดนั้นมีความสัมพันธ์กันหรือไม่? อย่างไร?
   ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1720 “เซอร์ไอแซค นิวตัน” ได้ซื้อหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดของตลาดหุ้นอังกฤษ นามว่า South Sea Company เขาถือหุ้นดังกล่าวจนกระทั่งรู้สึกว่าตลาดกำลังเข้าสู่สภาวะแห่งความบ้าคลั่งมากเกินไป ในเวลานั้น “นิวตัน” นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ถึงกับเอ่ยปากว่า ตัวเขาเองนั้น “สามารถคำนวณความเคลื่อนไหวของดวงดาวบนท้องฟ้าได้ แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของผู้คนได้” จึงตัดสินใจเทขายหุ้น South Sea ของเขาออกไป ได้กำไร 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 7,000 ปอนด์
   แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมา สภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรงเกินห้ามใจก็ผลักดันให้ “นิวตัน” กระโจนกลับเข้าไปซื้อหุ้น South Sea อีกครั้งในราคาที่สูงกว่าเดิม ทว่าการซื้อครั้งนี้ไม่ได้สร้างผลกำไรงดงามให้กับเขาเหมือนดังคราวที่ผ่านมา แต่กลับกลายเป็นว่าเขาต้องขาดทุนยับเยินเป็นเงินถึง 20,000 ปอนด์ (หรือมากกว่า 3 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นเป็นต้นมา “นิวตัน” ถึงกับสั่งห้ามไม่ให้ใครพูดคำว่า South Sea ให้เขารู้สึกแสลงใจอีก
   ในมุมมองของ “เบนจามิน เกรแฮม” นั้น ระดับไอคิว และการศึกษาสูงๆ ไม่เพียงพอสำหรับการเป็น “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” หรือ “Intelligent Investor” คุณสมบัติสำคัญที่ควรจะมีก็คือ ความอดทน, ความมีวินัย, ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ นอกจากนี้ยังต้องสามารถควบคุมอารมณ์ และรู้จักคิดด้วยตัวเอง
   จากกรณีของ “เซอร์ไอแซค นิวตัน” แม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่เฉลียวฉลาดที่สุดคนหนึ่ง แต่จากมุมมองของ “เบนจามิน เกรแฮม” แล้ว ถือว่า “นิวตัน” ยังห่างไกลจากการเป็น “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด” ด้วยการที่เขาปล่อยให้เสียงอึกทึกบ้าคลั่งของฝูงชนมาครอบงำการตัดสินใจของตัวเอง
   ถ้าคุณผู้อ่านอยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ พร้อมทั้งข้อคิดดีๆ ด้านการลงทุนอีกมากมาย ผมขอแนะนำให้ไปหาหนังสือ “The Intelligent Investor” มาอ่านครับ (มีฉบับแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “คัมภีร์การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” แปลและเรียบเรียงโดย “คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข”)
   นอกจากนี้ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ศิษย์เอกของ “เบนจามิน เกรแฮม” ยังได้เคยหยิบยกบทเรียนการลงทุนของ “เซอร์ไอแซค นิวตัน” มากล่าวไว้ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นบริษัท เบิร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ของเขาว่า...
   นานมาแล้ว เซอร์ไอแซค นิวตัน ได้มอบกฎแห่งการเคลื่อนที่ ให้พวกเราไว้ 3 ข้อ ซึ่งเป็นผลงานที่บ่งบอกถึงอัจฉริยภาพ แต่ทว่าความสามารถพิเศษของเซอร์ไอแซค กลับไม่ได้ครอบคลุมมาถึงเรื่องของการลงทุนแต่อย่างใด เขาต้องขาดทุนอย่างหนักจากสภาวะฟองสบู่ของหุ้น South Sea... หากไม่เจ็บตัวจากการขาดทุนครั้งนั้น เซอร์ไอแซค นิวตัน อาจค้นพบกฎแห่งการเคลื่อนที่ ข้อที่ 4 เพิ่มขึ้นมาสำหรับนักลงทุนทั้งหลาย นั่นก็คือ
   “ยิ่งเคลื่อนที่มาก ผลตอบแทนยิ่งลดลง” 

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 13, 2014, 02:46:36 pm
(http://portal.settrade.com/StaticPage/images/th/blog/webblog_1_thanwa.gif)

Thursday, 10 July 2014
ลงทุนตามกระแส


วันเวลาล่วงเลยผ่านครึ่งทาง ของปี 2557 อย่างรวดเร็ว สถานการณ์การเมืองที่เคยคลุมเครือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลดีต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย โดยดัชนีตลาด SET ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ปิดที่ 1,495.83 จุด เพิ่มขึ้นจากต้นปี 14.98% ส่วนดัชนีตลาด mai ปิดที่ 521.07 จุดเพิ่มขึ้นถึง 45.40% ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET และ mai ยังจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราเฉลี่ย 3.0% และ 1.41% อีกด้วย

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญและความจำเป็นในการออม การวางแผนการเงินส่วนบุคคล และจากการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อการลงทุน จึงทำให้เกิด “กระแสเงินลงทุน” เพิ่มเติมในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ผู้เริ่มสนใจลงทุน และจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ แม้ว่านักลงทุนต่างชาติยังมีปริมาณขายสุทธิสะสมจากตั้งแต่ต้นปีสูงถึงสี่หมื่นล้านบาทก็ตาม

ในภาวะตลาดปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและมีปริมาณการซื้อขายหนาแน่น ลองมาดูกันว่า มี “กระแส” การลงทุนอะไรเกิดขึ้นบ้างและนักลงทุนที่ต้องการ “ลงทุนตามกระแส” ควรต้องทำอย่างไร

อันดับแรก ลงทุนตามกระแสข่าว มีข้อมูลข่าวสารของบริษัทจดทะเบียนเกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หุ้น บทวิเคราะห์ หรือสื่อโซเชียลมิเดียในโลกออนไลน์ นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการรับข่าวสารก่อนตัดสินใจลงทุนตามกระแสดังกล่าว เพราะหากข้อมูลบิดเบือนแต่มีกระแสคล้อยตามมากพอ จะเกิดพฤติกรรมหมู่สนับสนุนการเคลื่อนไหวราคาหุ้นให้เป็นไปในทิศทางตามกระแสข่าวได้ เมื่อเกิดขึ้นจริงบ่อยครั้งก็ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนตามกระแส โดยลดความสำคัญทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานของกิจการและด้านราคาที่มีส่วนต่างความปลอดภัยลง นักลงทุนต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ราคาหุ้นนั้นจะถูกสะท้อนจากพื้นฐานกิจการและผลประกอบการเท่านั้น ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและง่ายเกินไปอาจสร้างความเสียหายภายหลังได้

อันดับที่สอง ลงทุนตามกระแสหุ้น turnaround ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ในหกเดือนแรกของปี 2557 นั้น บริษัทจดทะเบียนที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดอันดับแรก เพิ่มขึ้นถึง 378% ส่วนอันดับที่ 20 ราคาหุ้นยังปรับเพิ่มขึ้นถึง 91% เมื่อตรวจดูรายชื่อบริษัทจะพบว่า กิจการส่วนใหญ่มักมีเรื่องราวเกี่ยวกับการพลิกกลับมาทำกำไร turnaround ) หรือมีการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ นักลงทุนที่สนใจลงทุนตามกระแส turnaround ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง โดยต้องประเมินถึงความสามารถของผู้บริหาร ความเป็นไปได้ที่กิจการจะพลิกกลับมาทำกำไรได้จริง ตลอดจนความคาดหวังของผลประกอบการว่าเหมาะสมกับราคาหุ้นที่ปรับสูงขึ้นอย่างมากแล้วเพียงใด หากต้องการลงทุนระยะยาวในกิจการดังกล่าว นักลงทุนยังต้องประเมินว่ากิจการที่ turnaround ได้จริงนั้น มีศักยภาพในเติบโตและได้เปรียบในการแข่งขันได้ดีมากน้อยเพียงใด เหมาะกับการถือลงทุนต่อไปหรือไม่

อันดับที่สาม ลงทุนตามกระแสหุ้นไอพีโอ มีหุ้นไอพีโอกว่า 10 บริษัทเข้ามาซื้อขายวันแรกในตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา หุ้นไอพีโอทุกบริษัทล้วนมีปริมาณความต้องการจองซื้อหุ้นอย่างล้นหลาม และสร้างผลตอบแทนอย่างงามให้ผู้ได้รับสิทธิจองซื้อภายในเวลาไม่กี่วัน หากนักลงทุนไม่ได้รับการจัดสรรและยังต้องการลงทุนตามกระแสหุ้นไอพีโอ ณ ราคาตลาดที่สูงกว่าราคาจองซื้ออย่างมากนั้น นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่เสี่ยง เพราะจากสถิติจะพบว่า หุ้นไอพีโอที่ปัจจัยพื้นฐานไม่โดดเด่นนั้น ราคาหุ้นมักปรับลดลงในเวลาต่อมา ทั้งนี้เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นและปริมาณการซื้อขายวันแรกบิดเบือนไปจากสภาวะปกตินั่นเอง

อันดับสุดท้าย ลงทุนตามกระแสกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มพลังงานทางเลือก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนระยะยาวมักคัดกรองหุ้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก เมื่อพบอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการเติบโตในระยะยาวแล้วจึงศึกษากิจการรายบริษัทเพื่อเลือกลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพโดดเด่นและมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หุ้นยอดเยี่ยมของแต่ละอุตสาหกรรมมักซื้อขายในระดับราคาที่มี Premium มากกว่า การเลือกลงทุนตามกระแสกลุ่มธุรกิจโดยเลือกซื้อหุ้นถูกกว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน แม้อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีแต่นักลงทุนต้องเข้าใจว่า อาจเนื่องจากกิจการมีคุณภาพด้อยกว่า จึงต้องประเมินระดับราคาที่เหมาะสมสำหรับคุณภาพกิจการที่ด้อยกว่าเช่นกัน

ที่กล่าวมาคือตัวอย่างของกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในตลาดหุ้นไทย กล่าวกันว่า ในช่วงภาวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “การลงทุนตามกระแส” สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงามให้กับนักลงทุนที่ติดตามข่าวสาร ศึกษาข้อมูลอย่างใกล้ชิดและยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้  สำหรับ Value Investor ที่ยึดมั่นลงทุนในกรอบ “ขอบข่ายความรู้” ของตน Circle of Competency) และ “ไม่โลภเกินความรู้” โดยเลือกที่จะไม่ลงทุนตามกระแสนั้น หากตั้งเป้าหมายและสามารถได้ผลตอบแทนชนะผลตอบแทนตลาดโดยรวมในภาวะตลาดขาขึ้นเช่นนี้ ก็ต้องพอใจกับผลตอบแทนที่ได้เพราะถือว่าไม่เลวเลยทีเดียว
 
Posted by thanwa at 7:16 PM in คิด วิเคราะห์ แยกแยะ

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/thanwa/2014/07/10/1450
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 21, 2014, 10:23:24 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 14 June 2014

อดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้า


การลงทุนในตลาดหุ้นแบบระยะยาวจริง ๆ  คือถือหุ้นแต่ละตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งปีหรือหลาย ๆ ปีขึ้นไปนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ยังมีอายุน้อยและมีความหวังที่จะ  “รวย”  จากการลงทุนในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่สำคัญก็คือ  คนจำนวนมากคิดว่าการลงทุนระยะสั้นนั้นน่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการซื้อหุ้นแล้วไม่ขาย  พวกเขาคิดว่าการ “ซื้อแล้วเก็บ” นั้น  ผลกำไรหรือผลตอบแทนของการลงทุนก็มักจะเป็นไปตามผลกำไรของบริษัทในระยะยาว  ซึ่งก็มักจะ  “ไม่สูง”  นั่นคืออย่างมากก็ประมาณ 15%  ต่อปี  แต่ถ้า  “เล่นสั้น”  ก็จะมีโอกาส  “ทำกำไร” ปีละหลายรอบ  บางทีรอบละ 10%-20%  ปีหนึ่งก็อาจจะสามารถสร้างผลตอบแทนหลายสิบเปอร์เซ็นต์  จริงอยู่  ในบางครั้งอาจจะพลาด  แต่โดยรวมแล้วเขาคิดว่ากำไรจะมากกว่าขาดทุน   ดังนั้น  คนส่วนใหญ่  แม้แต่ที่เป็น VI จึงนิยมลงทุนค่อนข้างสั้นไม่เกินหนึ่งปี   ถ้าไม่ใช่ VI ก็อาจจะสั้นขนาดเป็นวัน  ที่เป็น VI ก็อาจจะเป็นเดือนหรืออาจจะหลายเดือน  สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้คนเล่นสั้นนั้นมีหลากหลายและต่อไปนี้ก็คือ  “สิ่งยั่วเย้า”  ที่ทำให้คนเข้ามาซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนตัวหุ้นไปเรื่อย ๆ

             สำหรับคนที่เป็น  “เทรดเดอร์”  หรืออาจจะเป็น  “นักลงทุนรายวัน”  สิ่งที่ “ยั่ว” ให้เขาเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นนั้นก็คือ  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น  นี่คือการเล่นหุ้นตามแนวเทคนิคที่เน้นการซื้อขายหุ้นตามความผันผวนของราคาและความคึกคักของหุ้น  หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  เช่น  ภายในเวลาเพียงชั่วอึดใจราคาอาจจะปรับขึ้นไปเป็น 10%  หรือในช่วงไม่กี่วันราคาขยับขึ้นไปต่อเนื่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์  อาการแบบนี้ทำให้นักเล่นหุ้นระยะสั้นแนวเทรดเดอร์  “อดทนไม่ไหว”  ต้องเข้าไปเล่นโดยหวังว่าหุ้นจะวิ่งต่อไปและตนเองสามารถทำกำไรได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น   คนที่เข้าไปเล่นหุ้นตามแนวทางนี้เมื่อได้กำไรในระดับหนึ่ง  เช่น  อาจจะ 5%-6% ก็มักจะรีบขายทำกำไรเพราะอาจจะกลัวว่าหุ้นจะ “ปรับตัวลง”  เช่นเดียวกัน  บางคนเข้าไปซื้อ  “ช้าเกินไป”  และหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าต้นทุน  บางทีเข้าก็อาจจะขายทิ้งเหมือนกัน

             “สิ่งยั่วเย้า”  ต่อมาที่มักทำให้คนเข้าไปซื้อหุ้นโดยไม่ได้ศึกษาบริษัทอย่างลึกซึ้งก็คือ  “ข่าวดี” ของบริษัท  เช่น  บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้โดดเด่น  เช่น ขายคอนโดหมดได้อย่างรวดเร็ว  บริษัทได้รับงานใหม่ที่มีขนาดหรือรายได้สูง  เช่น  บริษัทรับเหมาก่อสร้างประมูลงานได้  หรือบริษัทชนะประมูลแข่งในกิจการสัมปทานหรืองานจากหน่วยงานรัฐและเอกชนต่าง ๆ  เป็นต้น   ข่าวดีเหล่านั้นถึงจะทำรายได้ให้บริษัทเพิ่มขึ้นในอนาคตและอาจจะช่วยทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้หุ้นมีค่ามากขึ้นได้  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นเรื่องที่  “เกิดขึ้นครั้งเดียว”  หรือไม่ถาวร  ดังนั้นผลกระทบในแง่ของมูลค่าของบริษัทก็อาจจะไม่มากนัก  อย่างไรก็ตาม  นั่นเป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  แต่ใน “ระยะสั้น”  คนก็น่าจะเข้ามาเก็บหุ้นและราคาก็จะปรับตัวขึ้น  นั่นคือสิ่งที่เราคิด  และนั่นทำให้เรา “อดไม่ได้” ที่จะต้องซื้อหุ้น  เราคิดว่านี่คือเงินที่จะได้มาง่าย ๆ  หรือเป็น  “Easy Money”

            สิ่งยั่วเย้าให้คนแห่กันเข้ามาซื้อหุ้นโดยที่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นฐานของบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า  “Financial Engineering” ในความหมายที่ไม่ได้ตรงกับชื่อจริง ๆ  แต่ในความหมายของผมก็คือ  การออกตราสารการเงินทั้งที่เป็นหุ้นหรืออนุพันธ์ที่ให้ฟรีหรือเกือบฟรีกับผู้ถือหุ้น  หรือการปรับแต่งตัวเลขทางการเงินเช่นการปรับพาร์หรือแตกหุ้นต่าง ๆ  เหล่านี้  ซึ่งในพื้นฐานจริง ๆ  แล้วเป็นเรื่องของการพิมพ์หรือปรับตัวเลขบนกระดาษเพื่อส่งให้ผู้ถือหุ้น  แต่ผลที่มักเกิดขึ้นก็คือ  นักลงทุนคิดว่าบริษัทกำลังจ่ายปันผลหรือให้สิทธิต่าง ๆ  ที่มีค่า  ดังนั้นพวกเขาก็เข้ามาเก็งกำไรโดยการซื้อหุ้นเพื่อหวังปันผลหรือสิทธินั้นโดยอาจจะไม่เข้าใจว่ามูลค่าของหุ้นเดิมจะต้องถูกลดทอนลงหรือเกิด  “Dilution”  ราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มขึ้น  นักลงทุนที่เห็นประกาศการทำ “Financial Engineering” ก็มักจะอดไม่ไหวที่จะเข้าไปซื้อหุ้นเพราะหวังที่จะได้กำไรอย่างง่าย ๆ

             นอกจาก “Financial Engineering” แล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่แพ้กันก็คือ  “Business Engineering” ในความหมายของผมอีกเช่นกันที่ผมหมายถึงการดัดแปลงหรือหาธุรกิจใหม่ที่  “หวือหวา”  ที่เป็นธุรกิจที่  “มีกำไรดี” และ  “ทำได้ง่าย ๆ”  เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์    หรือเป็นธุรกิจ  “แห่งอนาคต”  เช่น  พลังงานทดแทน  มาทำแทนหรือเสริมธุรกิจเดิมอย่างมีนัยสำคัญ  ผลที่เกิดมักเกิดขึ้นก็คือ  บริษัทถูกมองว่าจะกลายเป็นบริษัทที่มีกำไรและเติบโตมหาศาลจากเดิมที่เป็นบริษัทที่น่าเบื่อและไม่มีอนาคต  นักลงทุนจะเข้ามาซื้อหุ้นและให้มูลค่าเท่า ๆ  หรือมากกว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้ง ๆ ที่บริษัทยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานเป็นที่ประจักษ์  ผลก็คือ  ราคาหุ้นพุ่งพรวดและนักลงทุนจำนวนมากก็ “อดไม่ได้”  ที่จะ “ร่วมขบวน” การ  “หาเงินง่าย ๆ”  นี้

            ในยามที่ตลาดหุ้นบูมหนักอย่างในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะทำกำไรแบบ Easy Money มากเท่ากับหุ้น  IPO  หรือหุ้นเข้าตลาดครั้งแรก  นี่เป็นการเก็งกำไรที่ได้เสียเร็วมากที่สุดอย่างหนึ่งเพราะราคาหุ้นผันผวนเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง  แม้แต่ชั่วนาทีก็อาจจะทำกำไรหรือขาดทุนได้หลาย ๆ  เปอร์เซ็นต์  แน่นอน  คนที่เข้าไปเล่นในวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดนั้นต่างก็หวังกำไรทั้งนั้นและพวกเขาก็อดกลั้นไม่ไหวที่จะอยู่เฉย ๆ  และมอง  “กำไรที่หายไปต่อหน้าต่อตา”  ดังนั้น  พวกเขาก็เข้าไปเล่นโดยไม่ได้สนใจพื้นฐานของกิจการ

           การสนองตอบต่อสิ่งยั่วเย้านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะต่อนักลงทุนที่  “ไม่รอบรู้”  เท่านั้น  แม้แต่คนที่เก่งกาจและเป็น VI ผู้มุ่งมั่นเองก็ประสบกับมันเช่นกัน  ความต้องการกำไรที่มากและรวดเร็วหรือเป็น  Easy Money นั้น  ทำให้หุ้นประเภทที่มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นมากและรวดเร็วเป็นที่สนใจของ VI จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่อายุยังไม่มากและพอร์ตยังไม่ใหญ่นัก  นั่นก็คือหุ้นที่ถูกจัดว่าเป็นหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว  หรือหุ้น  Cyclical หรือหุ้นวัฎจักร  หุ้นสองกลุ่มนี้คือหุ้นที่พื้นฐานหรือผลการดำเนินงานกำลังเปลี่ยนจากบริษัทใกล้ล้มละลายหรือตกต่ำอย่างหนักจากภาวะแวดล้อมทางอุตสาหกรรม  กลายเป็นบริษัทที่ “เกิดใหม่” และจะมีกำไร  หรือกลายเป็นบริษัทที่กำลังจะมีกำไรดีต่อเนื่องไปในอนาคตหลังจากตกต่ำมาช่วงเวลาหนึ่ง  ภาวะที่ดีขึ้นอย่างมากในเวลาอันสั้นนั้นมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า  “Euphoria”  หรือเป็นความรู้สึกที่ดีอย่างเคลิบเคลิ้มจนลืมไปว่าผลประกอบการในอนาคตนั้นอาจจะไม่ได้สวยสดต่อเนื่องยาวนาน  และดังนั้นพวกเขาก็มักจะให้มูลค่าที่สูงเทียบกับผลกำไรของบริษัทที่กำลังดีขึ้นแต่อาจจะไม่คงทน  ผลก็คือ  ราคาหุ้นถูก “ดัน” ขึ้นไปมากเนื่องจากนักลงทุน  “ทนไม่ไหว”  ที่จะไม่เข้าไปซื้อหุ้นที่เห็นว่าอาจจะโตขึ้นไปได้อาจจะอีกหลายเท่า

             ยังมีสิ่งยั่วเย้าอีกมากมายในตลาดหุ้นที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในระยะสั้น  ตัวอย่างเช่น  การที่หุ้นถูกซื้อโดย  “เซียน”  หรือนักลงทุน  “รายใหญ่”  ในตลาดหุ้น  หรือถูกซื้อโดยผู้บริหารในจำนวนมาก  หรือเรื่องราวต่าง ๆ  อีกร้อยแปดที่อาจจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างรุนแรงและทำให้นักลงทุนที่ติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามาซื้อหุ้นโดยหวังที่จะทำกำไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเพราะเขา “อดกลั้นไม่ได้”

            ผมเองไม่ได้บอกว่าการเข้าซื้อหุ้นบ่อย ๆ  เพราะเราอดกลั้นไม่ได้ต่อสิ่งยั่วเย้าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี  มันคงเป็นประสบการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน  และคงขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ว่าถูกต้องหรือไม่และบางทีก็เป็นเรื่องของช่วงเวลาที่ทำ  ส่วนตัวผมเองเชื่อว่า  การทำหรือซื้อหุ้นบ่อย ๆ  ซึ่งก็แปลว่าต้องขายบ่อยด้วยนั้น  ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่  และนั่นทำให้การรู้จักอดกลั้นต่อสิ่งยั่วเย้านั้น  เป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่งของ VI

Posted by nivate at 11:44 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/07/14/1451

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 21, 2014, 10:38:49 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)


Monday, 21 July 2014

นิวตัน VS ดาร์วิน

ถ้าเราดูภูมิหลังหรือประวัติการเรียนและทักษะของนักการเงินซึ่งรวมถึงนักลงทุนแนวหน้าของโลกหรือของประเทศไทยเรามักจะพบว่าจำนวนไม่น้อยมีพื้นฐานของการเรียนทางด้านวิศวกรรม  ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น  ว่าที่จริงผมเองก็รู้สึกแปลกใจตั้งแต่เรียนวิชาการเงินในช่วงปริญญาเอกที่พบว่าทฤษฎีสำคัญทางการลงทุนบางเรื่องนั้น  ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการทางวิศวกรรมเรื่อง  “การส่งผ่านความร้อน”  หรือ  Heat Transfer ซึ่งเป็นวิชาที่ยากและผมทำได้ไม่ดีเลยในสมัยที่ผมเรียนปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรม  นอกจากนั้น  ทฤษฎีการเงินต่าง ๆ  มากมายต่างก็ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนจำพวก  Calculus ที่  “เด็กวิศวะ”  ต้องเรียนมากมาย  ดังนั้น  ผมจึงสรุปเองว่าคนที่เรียนมาทางด้านวิศวกรรมหรือเก่งทางด้านวิศวกรรมนั้น  หากหันมาเรียนและทำงานทางด้านการเงินก็น่าจะได้เปรียบคนที่เรียนมาทางสายอื่น   และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อาชีพทางการเงินถูก “ครอบงำ” โดยคนที่มีฐานทางด้านวิศวกรรม

            แต่ในเรื่องของการลงทุนในทางปฏิบัตินั้น  บางทีก็มีประเด็นที่ทำให้เราสงสัยอยู่เหมือนกันว่าคนที่เก่งทางด้านฟิสิกส์ซึ่งเป็นฐานของวิศวกรรมที่สำคัญที่สุดนั้นจะสามารถลงทุนได้ดีกว่าคนสายอื่นหรือไม่?  เพราะเรื่องที่มีการอ้างถึงกันบ่อย ๆ ก็คือ  เรื่องที่เซอร์ ไอแซ็ค นิวตัน  นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกเคยกล่าวไว้กว่า 300 ปีมาแล้วว่า  “ผมสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวบนฟากฟ้า  แต่ไม่สามารถคาดการณ์ความบ้าคลั่งของคนได้” เมื่อเขาขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นเซ้าท์ซีอย่างหนัก  อย่างไรก็ตาม  ความพยายามที่จะเอาชนะในการลงทุนก็ยังคงดำเนินต่อไปจากนักการเงินที่ใช้หลักการในแบบของนิวตัน  โดยล่าสุดดูเหมือนจะเป็นการพยายามซื้อขายหุ้นโดยกลุ่มนักการเงินที่เรียกว่า  “Quant” ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ  ในการสร้างแบบจำลองที่จะทำการซื้อขายหุ้น  ผมเองไม่แน่ใจว่าพวกเขาประสบความสำเร็จหรือไม่  แต่ประสบการณ์ของ “Long Term Capital Management (LTCM)” ซึ่งเคยเป็นกองทุนที่บริหารโดยนักการเงินระดับโนเบลไพร์ซที่เน้นการใช้วิชาการแบบของนิวตันนั้น  อาจจะบ่งบอกเราว่า  หลักการทางด้านของฟิสิกส์นั้น  อาจจะเหมาะเฉพาะกับการลงทุนในระยะสั้น ๆ  ที่ปัจจัยและภาวะแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ   เพราะในช่วงแรกนั้น LTCF ประสบความสำเร็จอย่างสูง  แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง  “คาดไม่ถึง”  กองทุนก็ล่มสลายลง

           นั่นนำมาถึงอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเองคิดว่าน่าจะสามารถอธิบายทฤษฎีการลงทุนในระยะยาวได้ดีกว่านั่นก็คือหลักการพื้นฐานที่ถูกค้นพบโดย  Charles Darwin นักชีววิทยาที่มีเสียงมากที่สุดในโลก  ทฤษฎีของดาร์วินอย่างที่เรารู้ก็คือ  ทฤษฎี  “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต”  ซึ่งบอกว่าสิ่งมีชีวิตต่างก็ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตลอดเวลา  ผู้ที่เหมาะสมนั้นจะรอดและเติบโตต่อไป  Survival of the fittest)  ส่วนผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือค่อย ๆ  หมดไป  การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตมาเป็นล้าน ๆ  ปีนี้เองที่นำไปสู่สิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อนอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งรวมถึงมนุษย์    ที่ประกอบไปด้วยระบบต่าง ๆ  ในร่างกายที่ทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่งและกระบวนการหรือระบบต่าง ๆ  เหล่านี้ก็ยังปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  เพียงแต่เราไม่สามารถสังเกตได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

            ทฤษฎีของดาร์วินซึ่งอธิบายเรื่องของสิ่งมีชีวิตนั้น  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีคนนำไปเปรียบเทียบกับระบบของสังคมว่ามันมีส่วนที่คล้ายกันมาก  การอธิบายเรื่องของการเมือง  เศรษฐกิจ  ตลาดหุ้น  การทำงานของธุรกิจข้ามชาติ  ระบบอินเตอร์เน็ตและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์  ต่าง ๆ  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณลักษณะและพฤติกรรมแบบเดียวกับสิ่งมีชีวิต  พูดง่าย ๆ  ระบบต่าง ๆ  เหล่านั้นจริง ๆ  แล้วมัน  “มีชีวิต”  ในแง่ที่ว่า  ระบบที่เหมาะสมก็จะอยู่รอด  ระบบที่  ปรับตัวไม่ได้ก็จะตายหรือหายไป  เราเรียกมันว่า “Complex Adaptive System” (CAS)  หรือ “ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัวตลอดเวลา”   ความหมายของ CAS ก็คือ  ระบบอย่างเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นนั้น  เป็นระบบใหญ่ คล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)  ที่ประกอบไปด้วย “ผู้เล่น”  หรือปัจจัยต่าง ๆ มากมาย อาจจะคล้าย ๆ กับระบบหายใจ  และระบบย่อยอาหาร ต่าง ๆ ) ที่ต่างก็มีบทบาทหรือมีอิทธิพลต่อระบบและต่อผู้เล่นอื่น ๆ   ผู้เล่นและปัจจัยนั้นมีหลากหลายมากมาย  เช่นเดียวกับผลกระทบนั้นก็มีหลากหลาย  นอกจากนั้น  เวลาที่ผู้เล่นหนึ่งเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบไปยังคนอื่น  คนอื่นก็เปลี่ยนแปลงและสุดท้ายก็ส่งผลกลับไปยังผู้เล่นคนแรก  และนี่จึงทำให้มันมีความซับซ้อนจนยากที่จะบอกว่าอะไรคือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบเกิดขึ้น  เรารู้แต่เพียงว่า  การเปลี่ยนแปลงนั้นเพื่อที่จะสะท้อนหรือปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ระบบอยู่รอดและทำงานต่อไป

            ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น  ไม่ใช่เส้นตรงและระบบนั้นไม่เสถียรและจำเป็นต้องมีพลังงานที่ต้องป้อนเข้ามาตลอดเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ  นอกจากนั้น  ระบบ CAS นั้นมี  “ประวัติศาสตร์” นั่นก็คือ  มันมี  “วิวัฒนาการ”  คล้าย ๆ  กับสิ่งมีชีวิตจริง ๆ   ข้อสรุปอย่างย่อที่สุดก็คือ  ระบบ CAS นั้น  เป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หรือ Dynamic  ปัจจัยต่าง ๆ  หรือผู้เล่นต่าง ๆ  ในระบบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ   ผลกระทบก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  และมีผลย้อนกลับด้วย  ดังนั้น  การคาดการณ์ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลต่อระบบหรือปัจจัยหรือผู้เล่นอื่นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหรือแทบจะทำไม่ได้เลย  ยกตัวอย่างง่าย ๆ  ก็อาจจะเป็นว่า  การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางขึ้นมา 1 เปอร์เซ็นต์นั้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์?  คำตอบที่ถูกต้องนั้นก็คือ  บอกไม่ได้!  ระบบการปรับตัวที่ซับซ้อนหรือ CAS ไม่ได้ทำงานเหมือนกับการคำนวณว่าถ้าจะไปดวงจันทร์ต้องยิงจรวดในทิศทางไหนและใช้เชื้อเพลิงเท่าไร

           กลับมาดูการลงทุนในตลาดหุ้นว่ามันควรเป็นอย่างไร?   ส่วนตัวผมคิดว่าตลาดหุ้นและการลงทุนนั้นเป็น  CAS  และมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด  เมื่อคิดย้อนหลัง  ผมเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของนักลงทุน  กลุ่มหุ้นที่เคยเป็นหุ้นยอดนิยมในตลาด  กลุ่มหุ้นที่เจริญรุ่งเรืองในแต่ละยุค  การควบคุมบริษัทจดทะเบียน  การเติบโตของ VI ในตลาดหุ้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้ผมคิดต่อไปว่าอนาคตมันก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปอีก  สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ไม่ว่าในด้านไหนหรือผู้เล่นไหนก็น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป  แม้แต่สภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่มีผลต่อตลาดหุ้นเองก็เปลี่ยนแปลงไป  บางทีอาจจะรุนแรง  “ไม่เป็นเส้นตรง”  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ  ดังนั้น  เราก็จะต้องพร้อมที่จะปรับตัวเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือคำว่า  “Survival of the fittest”  หรือคนที่เหมาะสมที่สุดก็จะอยู่รอดและเฟื่องฟู

            ประเด็นสำคัญของผมก็คือ  นักลงทุนในช่วงนี้—ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา  พวกเราคือคนที่ “เหมาะสมที่สุด”  โดยเฉพาะ  “VI” จำนวนมากที่ร่ำรวยขึ้นมามากอย่าง “ไม่น่าเชื่อ”  เหตุเพราะว่า  ระบบที่เป็น  CAS นั้นจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  บางทีก็เร็วมาก  ความเหมาะสมในวันนี้อาจจะกลายเป็นความไม่เหมาะสมในวันข้างหน้าได้  และถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราเป็นเราทำนั้นดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว  เราอาจจะกลายเป็นคนที่ล้าสมัยได้เมื่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ประวัติศาสตร์ของบริษัทที่ยิ่งใหญ่  ประวัติของผลงานการลงทุนที่ยิ่งใหญ่นั้น  ไม่ได้รับประกันว่ามันจะคงอยู่ได้ตลอดไป  และประวัติศาสตร์บอกว่า  การรักษามันเป็นสิ่งที่ยากมาก
 
Posted by nivate at 11:17 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/07/21/1453

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 26, 2014, 12:06:49 am


(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 7 June 2011

Take Over Target


    ในตลาดหุ้นต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่วัน ๆ อาจจะมองหาหุ้นที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายของการถูกซื้อหรือควบรวมกิจการโดยคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้บริหารปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเรียกบริษัทหรือหุ้นเหล่านี้ว่าเป็น “Take Over Target” หรือ บริษัทที่อาจจะถูกซื้อหรือควบรวมกิจการ เหตุผลก็คือ หากต่อมามีคนมาเทคโอเวอร์กิจการจริง ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งอย่างแรง ทำกำไรให้กับคนที่ซื้อหุ้นไว้ก่อนมหาศาล ตลาดหุ้นไทยเองก็น่าจะมีหุ้นที่จะถูกเทคโอเวอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การเรียนรู้ว่าหุ้นตัวไหนจะมีโอกาสถูกเทคโอเวอร์ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการลงทุน ลองมาดูเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่ทำให้บริษัทจะเป็น Take Over Target กัน
    ข้อแรกก็คือ โครงสร้างของผู้ถือหุ้น บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นกระจัดกระจายและไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว เช่น กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดมีหุ้นไม่ถึง 5 หรือ 10% และไม่มีหุ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ บริษัทแบบนี้ในทางทฤษฏีแล้วก็สามารถเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ได้ และนี่มักจะเป็นการเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร นี่คือโครงสร้างแบบที่หนึ่ง โครงสร้างแบบที่สองที่อาจทำให้บริษัทถูกเทคโอเวอร์ก็คือ บริษัทเป็น “บริษัทลูก” หรือ “บริษัทร่วม” ของบริษัทขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก ถ้าบริษัทแม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือ “ปรับโครงสร้าง” กลุ่มธุรกิจของบริษัท ก็มีโอกาสที่บริษัทแม่จะซื้อหรือขายกิจการบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมเข้ามาหรือออกไป ลักษณะนี้ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการเทคโอเวอร์แบบเป็นมิตร อย่างไรก็ตามบางทีก็ขึ้นอยู่กับหุ้นส่วนรายอื่นด้วยว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับการเทคโอเวอร์ ตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ของกรณีที่หนึ่งก็คือกรณีของหุ้น TTA ในขณะที่กรณีตามโครงสร้างที่สองก็คือ กรณีของหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีในเครือ ปตท.หลายบริษัทในตลาดและกรณีของหุ้นเสริมสุขเป็นต้น
    เงื่อนไขที่สอง หุ้นที่เป็นเป้าหมายการถูกเทคโอเวอร์โดยเฉพาะในแบบที่ไม่เป็นมิตรและไม่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจนั้น มักจะเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำ หรือตกต่ำลงมาก และต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็นหรือต่ำกว่ามูลค่าของสินทรัพย์สุทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินทรัพย์ที่เป็นเงินสดของบริษัท และเหตุผลที่หุ้นมีราคาตกต่ำนั้น เป็นเพราะการบริหารงานที่ไม่ดีหรือบริษัทมีนโยบายที่ไม่เหมาะสมทำให้กิจการมีกำไรน้อยหรือขาดทุน ส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงหรือตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน โดยที่ผู้ที่จะมาเทคโอเวอร์มองว่า ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือกลยุทธ์ของบริษัท ผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นมาก หรือคนเทคโอเวอร์อาจจะเห็นว่า บริษัทมีทรัพย์สินที่สามารถนำมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้มากคุ้มค่าแทนที่จะเก็บไว้กับบริษัทโดยที่ไม่รู้ว่าอนาคตผู้ถือหุ้นจะได้อะไร
    ตัวอย่างที่เกิดขึ้นมากกับกรณีของการบริหารงานก็คือ การที่บริษัทมีเงินสดมากอันเป็นผลจากกำไรที่ทำได้มากจากธุรกิจปกติของบริษัท แต่เมื่อผลประกอบการของธุรกิจเดิมเริ่มตกต่ำลง ผู้บริหารก็มักจะพยายามหาธุรกิจอื่นที่ตนเองไม่มีความรู้หรือประสบการณ์มาทำโดยการเข้าไปซื้อธุรกิจเหล่านั้นในราคาที่ “Aggressive” หรือราคาที่มักจะแพงกว่าปกติ ผลก็คือ กำไรของบริษัทก็ยิ่งตกต่ำลงไปกว่าเดิม ซึ่งทำให้ราคาหุ้นตกลงมามาก คนที่เทคโอเวอร์เองเห็นว่า ถ้าสามารถเข้าไปเปลี่ยนผู้บริหารหรือเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท ผลการดำเนินงานน่าจะดีขึ้นซึ่งก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมหาศาล
    ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องของทรัพย์สินของบริษัทที่มีมากแต่ผู้บริหารไม่จ่ายออกมาเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลงมาก จนบางกรณีราคาหุ้นต่ำกว่าเงินสดที่บริษัทมีอยู่ นี่ก็เป็นกรณีที่เกิดกับบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งและบริษัทอิเล็คโทรนิคบางบริษัท กรณีแบบนี้ หลังการเทคโอเวอร์ ก็มักจะมีการจ่ายปันผลจำนวนมากออกมาเพื่อให้คนที่เทคโอเวอร์นำเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้หรือคืนเงินค่าหุ้นที่ตนเองซื้อมาในราคาต่ำ ทำกำไรให้กับคนเทคโอเวอร์มหาศาลเช่นเดียวกับนักลงทุนที่เห็นและเข้าไปซื้อหุ้นไว้ก่อน
    เงื่อนไขข้อสามที่จะทำให้หุ้นเป็นเป้าหมายการเทคโอเวอร์ก็คือ การที่ผู้บริหารสูงสุดมักเป็น “นักบริหารมืออาชีพ” พูดง่าย ๆ ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้น การดูแลผู้ถือหุ้นจึงมักเป็นเป้าหมายรอง เพราะการที่ราคาหุ้นจะตกหรือขึ้นผู้บริหารก็ไม่ใคร่จะได้อะไร แต่การที่ขยายงานให้บริษัทใหญ่ขึ้นหรือการที่บริษัทมีเงินสดมาก ๆ นั้น ผู้บริหารก็มักจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือมีความมั่นใจว่าบริษัทจะไม่มีปัญหาในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง ดังนั้นจึงสร้างเงื่อนไขของการเทคโอเวอร์ขึ้น ประเด็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในสังคมไทยนั้น ถ้าบริษัทยังบริหารโดยคนในครอบครัวหรือตระกูลที่เคยหรือยังถือหุ้นค่อนข้างมากในบริษัท คน “ภายนอก” ก็คงไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องอาจจะขยายตัวไปเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ซึ่งไม่คุ้มสำหรับคนที่คิดจะเทคโอเวอร์
    เงื่อนไขข้อสุดท้ายก็คือ ในเรื่องเชิงเศรษฐศาสตร์และอาจจะเรื่องของตลาดหุ้นด้วย นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำให้การรวมกิจการเป็นหนทางที่สำคัญในการ “อยู่รอด” หรือ “รุ่งเรือง” ของบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มี Economy of Scale หรือไม่มีความคุ้มค่าในการแข่งขันเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่หรือมีขนาดที่เหมาะสมกว่า ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นธุรกิจอย่างโรงพยาบาลที่มีความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ แม้ว่าเหตุผลอาจจะเป็นเรื่องของการตอบสนองของราคาหุ้นมากกว่าเหตุผลเชิงเศรษฐกิจหรือต้นทุนการดำเนินงาน หรืออย่างที่เราอาจจะได้เห็นในอนาคตก็อาจจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์หลังจากการเปิดเสรีในเร็ว ๆ นี้ที่บริษัทเล็ก ๆ อาจจะอยู่ได้ยากเป็นต้น
    การลงทุนโดยตั้งความหวังว่าอาจจะมีคนมาเทคโอเวอร์บริษัทเพียงสถานเดียวนั้น เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างยิ่งโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยที่ยังต้องอิงกับ “ขนบธรรมเนียม” และ “กฎเกณฑ์ที่ไม่มีการประกาศ” อีกมาก นี่ไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีคนสนใจมาเทคโอเวอร์หรือเปล่าแม้ว่าจะมีเป้าหมายที่เด่นชัด สังคมไทยนั้น ความเชื่อก็คือ ถ้าเขาซึ่งก็คือ ผู้บริหาร “ถูกกระทำ” โดยที่ฝ่าย “ผู้กระทำ” ซึ่งเป็นคนเทคโอเวอร์นั้น มีแรงจูงใจก็คือ “ผลกำไรมหาศาล” โอกาสที่ผู้กระทำจะกลายเป็น “จำเลยสังคม” ก็มีไม่น้อย ดังนั้น ถ้าจะเล่นเรื่องเทคโอเวอร์ ผมคิดว่ากลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวหุ้นหรือกิจการนั้น ต้องมีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก แม้ว่าจะไม่มีคนมาเทคโอเวอร์มันก็คุ้มค่าที่จะลงทุนอยู่ดี ส่วนการที่มันอาจจะถูกเทคโอเวอร์นั้น เป็นเพียง “โบนัส” ที่จะได้ ซึ่งมันอาจจะเป็น “ลาภลอย” ที่มีมูลค่ามากยิ่งกว่าพื้นฐานจริง ๆ ที่เราคิดคำนวณไว้
 
ที่มา :
http://www.settrade.com/blog/nivate/2011/06/07/1025

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 28, 2014, 07:26:07 am

(http://portal.settrade.com/StaticPage/images/th/blog/webblog_1_thanwa.gif)

Friday, 25 July 2014

ลงทุนอย่างมีความสุข

เป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปบ้าง เช่น เพื่อผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำหรืออัตราเงินเฟ้อ เพื่อเป็นแหล่งรายได้สำรองเพิ่มเติมจากรายได้ประจำ เพื่อวางแผนทางการเงินสู่ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เพื่ออิสรภาพทางการเงิน หรือเพื่อเหตุผลอื่น แต่โดยรวมนั้น นอกเหนือจากการนำเงินที่หามาได้เพื่อใช้จ่ายกับสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันและสิ่งอำนวยความสะดวกสบายของตนและครอบครัวอย่างเหมาะสมแล้ว เป้าหมายสูงสุดของทุกคนก็คือ การมี “ความสุข” และได้ทำ “สิ่งที่ตนชอบและรัก” ในการใช้ชีวิตทุกๆ วันจนถึงบั้นปลายชีวิตวัยเกษียณ

แม้ในระยะยาว การลงทุนในตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยของสูงกว่าการลงทุนชนิดอื่น ช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นตามผลประกอบการที่ดีขึ้น แต่ในระยะสั้นนั้น ตลาดหุ้นและราคาหุ้นก็มีความผันผวนไม่น้อยเช่นกัน หากดูดัชนี SET ที่ปรับตัวขึ้นจากต้นปี 18.07% และตลาด mai ที่ปรับขึ้นถึง 53.79% จนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 อาจทำให้หลายคนคิดว่า นักลงทุนในตลาดหุ้น “ทุกคน” ล้วนต้องมี “ความสุข” จากผลกำไรที่ได้รับและมูลค่าพอร์ตที่เพิ่มขึ้น “อย่างมาก” ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีนักลงทุนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีความสุข “เต็มที่” นัก แม้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม ลองมาดูกันว่ามีกรณีใดบ้าง

กรณีแรก เมื่อขายหุ้น แต่ราคาหุ้นยังปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ หรือที่นิยมเรียกกันว่าการ “ขายหมู” แม้เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้อง “เสียดาย”  แต่หากคิดว่านั่นคือการ “แบ่งปันกำไร” ให้เพื่อนนักลงทุนอื่นก็จะทำให้เรามี “ความสุข” และต้องไม่รู้สึกเสียใจจนถึงขั้นแย่และเศร้าหมอง ในทางทฤษฎีนั้น เราต้องดีใจที่ราคาหุ้นปรับสูงขึ้นจนถึงระดับราคาที่เราพอใจและสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานที่คาดไว้มาก หรือเราได้ขายหุ้นออกมาเพราะพบกิจการที่ยอดเยี่ยมในราคาที่มี Margin of Safety มากกว่านั่นเอง นักลงทุนต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีใครที่สามารถซื้อหุ้นในราคาถูกที่สุดและขายหุ้นในราคาสูงที่สุดทุกครั้ง

ในภาวะตลาดขาขึ้น หากราคาหุ้นปรับสูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐานไม่มากนักและยังไม่พบกิจการยอดเยี่ยมอื่นในราคาที่เหมาะสม  การรีบขายหุ้นที่กิจการแข็งแกร่ง ยังมีการเติบโตอาจทำให้เสียโอกาสในการลงทุนได้ กลยุทธ์ Let profit run และให้เวลากับกิจการมากขึ้น เพื่อให้ผลประกอบการที่ดีออกมาสนับสนุนราคาที่ปรับสูงขึ้นก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีเช่นกัน

กรณีที่สอง เมื่อราคาหุ้นที่ตนถือหรือเพิ่งซื้อปรับลดลง หรือปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าหุ้นอื่น น้อยกว่าหุ้นของเพื่อนนักลงทุนอื่น  หรือน้อยกว่าภาวะตลาดโดยรวม การเลือก “เปรียบเทียบเฉพาะกับสิ่งที่ดีกว่า” จนทำให้ตนไม่พอใจถึงขั้นเกิด “ความทุกข์ใจ” กับสิ่งที่ตนเป็นอยู่ คล้ายกับสำนวนที่กล่าวว่า “The grass is always greener on the other side” ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึง สนามหญ้าของเพื่อนบ้านที่มักเขียวสวยกว่าของบ้านเราเสมอ นอกจากนี้ นักลงทุนแต่ละคนล้วนมีกลยุทธ์ แนวทาง วิธีการลงทุนและความเสี่ยงที่รับได้แตกต่างกัน การเปรียบเทียบเพียงเฉพาะผลตอบแทนกับนักลงทุนอื่นจะนำพาความไม่สบายใจสู่ตนได้

นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า ในทางปฏิบัตินั้น มีเหตุปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อการขึ้นลงของราคาหุ้นในระยะสั้นคำแนะนำของผมก็คือ เราควรลดการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกับสิ่งรอบข้างและเพิ่มความสำคัญในการเปรียบเทียบราคาหุ้นกับปัจจัยพื้นฐานธุรกิจปัจจุบัน หากพบว่ากิจการที่ตนถืออยู่ยังยอดเยี่ยม แข็งแกร่งและยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เราควรมี “ความสุข” ในการรอวันที่ราคาหุ้นตอบสนองกับผลประกอบการที่ดีขึ้นนั่นเอง

  กรณีสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่างๆ เช่น ภาวะวิกฤติที่ตลาดหุ้นตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน การถือเงินสดในสัดส่วนสูงยามตลาดหุ้นขาขึ้น การไม่มีเงินสดเพียงพอเพื่อซื้อหุ้นเมื่อพบโอกาสดีเยี่ยมในการลงทุน การถูกบังคับขายกรณีที่ใช้มาร์จิ้นซื้อขายหุ้น เป็นต้น หากตัดสินใจเลือกลงทุนในตลาดหุ้น นักลงทุนต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของตลาดหุ้นและต้องตระหนักถึงสัจธรรมที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” นักลงทุนทุกคนจึงต้องเตรียมใจและพร้อมรับมือหากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เพื่อที่จะได้ไม่ “เครียดหรือกังวล” มากเกินไป

            เพื่อ “การลงทุนอย่างมีความสุข” คำแนะนำของผมก็คือ นักลงทุนจำเป็นต้อง “รู้จักและเข้าใจ” ตัวตนของตนเองให้มากที่สุด และเริ่มปฏิบัติตาม 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ หนึ่ง จัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้อย่างเหมาะสมโดยไม่จำเป็นต้องนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นทั้งหมด สอง สำหรับการลงทุนในหุ้น  ต้องเลือกแนวทาง วิธีการ กลยุทธ์และขบวนการตัดสินใจลงทุนให้เหมาะและสอดคล้องกับแนวทางการใช้ชีวิตโดยไม่ฝืนธรรมชาติของตน และสาม นักลงทุนควรตั้งเป้าหมายที่ท้าทายแต่ไม่สูงและเป็นไปได้ยากเกินไปในการปฏิบัติ และต้องมีความสุขและพอใจเมื่อผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้และเห็นพอร์ตการลงทุนของตนเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงนั่นเอง ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการลงทุนตลอดไปครับ
                      สุดท้ายนี้ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณและ “เพิ่มความสุข” ให้กับผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจอย่างดีตลอดมา ผมได้ชักชวนคุณชาย มโนภาส อุปนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ประเทศไทย) ซึ่งเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จอีกท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศอย่างยาวนาน มาร่วมเขียนบทความกับผมและคุณวีระพงษ์ ธัม ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านทุกท่านจะได้รับข้อคิด มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีกแน่นอนครับ     

Posted by thanwa at 2:50 PM in คิด วิเคราะห์ แยกแยะ


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/thanwa/2014/07/25/1455
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 29, 2014, 12:01:14 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 28 July 2014

หุ้น 10 เด้งในทศวรรษหน้า

การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในระยะสั้นนั้นอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรนักต่อหุ้นหรือการลงทุนในสายตาของ VI หรือคนที่ลงทุนระยะยาว  แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในระยะยาวนั้นผมคิดว่าเราต้องติดตามให้ดี  เพราะสภาวะเศรษฐกิจและสังคมหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปนั้น  ย่อมทำให้ความต้องการสินค้าและบริการของคนเปลี่ยนไป  บริษัทหรือกิจการที่เคยรุ่งเรืองอาจจะถดถอยลง  บริษัทใหม่หรือบริษัทเดิมที่ยังไม่สำคัญอาจจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นกิจการที่ยิ่งใหญ่  และนั่นก็ทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านั้นกลายเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  คือเป็นหุ้นที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องยาวนานประมาณว่าเป็น 10 เท่า ในเวลา 10 ปี

          บทเรียนเรื่องหุ้นกลุ่มที่ทำได้ดีเป็นช่วงเวลาประมาณ 10 ปี นั้น  ถ้าดูจากตลาดหุ้นอเมริกาก็จะพบว่ามันเกิดขึ้นมาตลอด เช่น ในช่วงทศวรรษที่ 70 หรือตั้งแต่ปี 1970 ถึง 1980 นั้น  หุ้นกลุ่มที่เติบโตโดดเด่นมากและทุกคนต่างก็เข้ามาลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดีมากก็คือหุ้นที่เรียกว่า  “Nifty Fifty” หรือหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตสูงอย่างเช่นหุ้น IBM  หุ้น GM อะไรทำนองนี้  หุ้นเหล่านี้มักมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้ามีการปรับตัวลงซักพักก็จะขึ้นใหม่  ทุกคนเชื่อว่ามันเป็นหุ้น  “ทางเดียว” คือมีแต่จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  และมีความมั่นคงสูง  “ซื้อแล้วไม่ต้องขาย”  แต่แล้ว  พอถึงปลายทศวรรษ  คนที่เข้าไปลงทุนก็  “เจ๊ง”  เพราะการเติบโตของมันคงเริ่มสะดุดและราคาของมันขึ้นไปสูงมากเกินไป  ทศวรรษที่ 80 ตามมาด้วยหุ้นน้ำมันที่ราคาของน้ำมันดิบได้ปรับตัวขึ้นมโหฬารทำให้หุ้นน้ำมันกลายเป็น “พระเอก” ไป  “10 ปี”  แต่หลังจากที่ราคาน้ำมันถดถอยลงหุ้นก็ “ลงเหว”  และสิ่งที่ตามมาก็คือในทศวรรษที่ 90 ที่หุ้นเกี่ยวกับยาและสินค้าไฮเทคเริ่มเป็นกระแสใหม่ของโลกที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ “ลงมาสู่ประชาชนทั่วไป”  ดังนั้นทศวรรษที่ 90 จึงเป็นของหุ้นไฮเทค  แต่พอขึ้นสหัสวรรษใหม่ปี 2000 “ฟองสบู่” หุ้นไฮเทคก็  “แตก”  คนที่ร่ำรวยจากหุ้นเหล่านั้นหลายคนก็  “เจ๊ง”  ทศวรรษใหม่ที่ตามมาเราได้เห็นโลก “เปลี่ยนแปลง” อย่างสำคัญอีกครั้งนั่นก็คือการก้าวขึ้นมาของประเทศกำลังพัฒนาที่มีคนมาก เช่นจีนและกลุ่ม BRIC ที่ต้องการวัตถุดิบมหาศาลและนี่นำมาซึ่งการ “บูม” ของสินค้าโภคภัณฑ์ และล่าสุดทศวรรษ 10 นี้ก็อาจจะเป็นหุ้นของสังคมข้อมูลออนไลน์ก็ได้

           ตลาดหุ้นไทยเองนั้น  ในอดีตเราก็ผ่านช่วงเวลา “10 ปี” ของความรุ่งเรืองของหุ้นแต่ละกลุ่มมาแล้ว  โดยที่ 10 ปีสุดท้ายถึงวันนี้ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาทองของกลุ่ม “ผู้บริโภค”  ซึ่งส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาโดดเด่นมากกลายเป็นหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เท่าในช่วงเวลา 10 ปี  นี่คงเป็นผลจากการที่คนไทยมีรายได้ต่อหัวถึงจุดที่สามารถบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่มากขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวและทำให้บริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็น  “ผู้ชนะ”  สามารถสร้างรายได้และผลกำไรมหาศาลซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปเร็วและต่อเนื่องติดต่อกันมานานหลาย ๆ  ปี จนถึงปัจจุบัน    แต่อนาคตอีก 10 ปีหรือในทศวรรษหน้า  หุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกแล้วในวันนี้จะยังคงเติบโตต่อไปอีก 10 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือไม่?  และถ้าไม่ใช่หุ้นในกลุ่มไหนหรือตัวไหนจะมีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น?  นี่คือคำถามที่นักลงทุนคงอยากรู้

           ก่อนที่จะเข้าประเด็นเรื่องการวิเคราะห์ทางด้านคุณภาพเรามาดูตัวเลขว่า “หุ้น 10 เด้ง ใน 10 ปี” นั้นจะต้องเป็นอย่างไร?  ประการแรกเลยก็คือ  หุ้นตัวนั้นจะต้องให้ผลตอบแทนหรือมีราคารวมปันผลปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นปีละอย่างน้อยประมาณ 26 % ขึ้นไปเป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี  ฟังดูอาจจะไม่สูงสำหรับหุ้นหลายตัวที่อาจจะปรับตัวขึ้นเป็น 100%  ในเวลาอันสั้นไม่กี่วันหรือเดือน  แต่ประเด็นก็คือ  หุ้นเหล่านั้นมักจะดีแต่ในช่วงสั้น ๆ  หุ้นที่ปรับตัวยาวติดต่อกันปีแล้วปีเล่านั้นมักจะหาได้ยาก

           ข้อที่สองของตัวเลขก็คือ  ถ้าราคาจะปรับตัวขึ้นปีละ 26% กำไรของบริษัทก็ควรจะต้องปรับตัวขึ้นอย่างน้อยปีละ 26% แบบทบต้นเป็นเวลา 10 ปีด้วย  แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่จะเติบโตได้ในอัตราขนาดนั้น  ดังนั้น  สำหรับหุ้น 10 เด้งใน 10 ปี ที่เกิดขึ้นแล้วในตลาดหุ้นไทย  ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะมีกำไรแบบทบต้นไม่ถึง 26% ต่อปี  แต่โตขึ้นเช่นเพียง 17%-18% ขึ้นไปเท่านั้นซึ่งทำให้ราคาหุ้นควรจะขึ้นไปเป็นเพียง 5 เท่าในเวลา 10 ปี  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความนิยมของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น  ทำให้ค่า PE ของหุ้นถูกปรับขึ้นเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้นซึ่งทำให้ราคาหุ้นที่ควรขึ้นไป 5 เท่า  กลายเป็นเพิ่มขึ้นไป 10 เท่าและกลายเป็นหุ้น 10 เด้ง   ตัวอย่างก็เช่น หุ้นในกลุ่มค้าปลีกนั้น  ถ้าดูเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะพบว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ  ค่า PE ของหุ้นจึงเป็นแค่ 10 เท่าต้น ๆ  แต่ถึงปัจจุบันค่า PE กลายเป็นกว่า 20 เท่า   เช่นเดียวกับหุ้นโรงพยาบาลที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในปัจจุบันนั้น  เมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่มีนักลงทุนคนไหนสนใจ  ค่า PE จึงค่อนข้างต่ำอย่างมากก็ 10 กว่าเท่า  แต่ในปัจจุบันก็มีค่า PE หลายสิบเท่า

           การวิเคราะห์เชิงคุณภาพของหุ้น 10 เด้งในอีก 10 ปี ข้างหน้านั้น  ผมคิดว่าน่าจะคล้าย ๆ  กับหุ้น 10 เด้งในอดีต  นั่นก็คือ  ข้อแรก  มันควรเป็นหุ้นที่อยู่ใน “เทรนด์”  ของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่จะเติบโตเร็วต่อไปในอนาคตอย่างน้อย 5-6 ปี ขึ้นไป  ข้อสอง  มันควรจะเป็นหุ้นของผู้ชนะเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอันดับหนึ่ง  และถ้าจะให้ดีต้องเหนือกว่าอันดับสองมาก  ข้อสาม  การชนะของบริษัทจะก่อให้เกิดความได้เปรียบในด้านของการแข่งขันอย่างถาวร  เช่น  ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนเนื่องจากขนาดของบริษัทที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมาก  หรือการชนะทำให้ชื่อเสียงหรือแบรนด์เนมของสินค้าเป็นที่ยอมรับว่าเหนือกว่ารายอื่นอย่างชัดเจน เป็นต้น  ข้อที่สี่  หุ้นที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น  ควรที่จะเป็นกิจการที่ไม่ต้องลงทุนในการขยายงานสูงและเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีถึงดีมาก  และสุดท้ายก็คือ  ขนาดของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั้นจะต้องใหญ่พอที่จะรองรับการขยายตัวของบริษัทที่จะโตขึ้นอีก 10 เท่าได้

           จากเงื่อนไขต่าง ๆ  ที่กล่าวข้างต้นก็จะพบว่าผมไม่ได้บอกว่าหุ้นตัวไหนหรือกลุ่มไหนจะเป็นหุ้น 10 เด้งในทศวรรษหน้า  สิ่งที่บอกได้ก็คือ  หุ้นแบบไหนหรือกิจการแบบไหนจะไม่สามารถเป็นหุ้น 10 เด้งได้มากกว่า  ยกตัวอย่างง่าย ๆ  ก็คือ หุ้นที่เป็นหุ้น 10 เด้งแล้วในปัจจุบันอย่างหุ้นค้าปลีกขนาดใหญ่ทั้งหลายนั้น  ผมคิดว่าไม่สามารถเป็นหุ้น 10 เด้งในอนาคต  เหตุเพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้น  มูลค่าหุ้นของมันจะต้องสูงจนแทบจะ  “กลืนกิน”  อุตสาหกรรมทั้งหมดซึ่งไม่น่าเป็นไปได้   หุ้นกลุ่มที่กำลังร้อนแรงมากและเข้าข่ายว่าอาจจะเป็นธุรกิจที่จะเติบโตไปได้อีกหลาย ๆ  ปี เช่น  หุ้นพลังงานทดแทนแนว  “โซลาร์ฟาร์ม”  นั้น  ผมก็คิดว่ายากที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกเนื่องจากมันเป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูงถ้าจะโต  นอกจากนั้น  มันยังยากที่จะหาผู้ชนะจริง ๆ  เนื่องจากทุกวันนี้อุตสาหกรรมจริง ๆ  ยังไม่ได้มีการแข่งขันแต่เป็นเรื่องที่ยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐเพื่อที่จะอยู่รอด

ก่อนที่จะจบบทความนี้  ผมคงต้องบอกว่าสิ่งที่ผมพูดนั้น  เป็นเรื่องของ “พื้นฐาน”  ของกิจการที่   จะส่งผลให้หุ้นมีโอกาสกลายเป็นหุ้น 10 เด้งใน 10 ปี  สำหรับหุ้นขนาดพอสมควรที่เน้นในด้านของการเติบโตของธุรกิจตามปกติ  แน่นอน  หุ้นขนาดเล็กหรือขนาดจิ๋วที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่และกลายเป็นหุ้น 10 เด้งนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาและไม่สามารถกำหนดเป็นเกณฑ์ได้  เช่นเดียวกับหุ้น Turnaround หรือหุ้นฟื้นตัว  หรือหุ้น Cyclical หรือหุ้นวัฏจักร  เหล่านี้ก็มีโอกาสเป็นหุ้น 10 เด้งได้  แต่ความเสี่ยงในการลงทุนก็สูงและผมเองก็ไม่มีความสามารถจะกำหนดตัวได้  ว่าที่จริง  แม้แต่หุ้น 10 เด้งในอดีตที่ผมได้ลงทุนมาหลาย ๆ  ตัวนั้น  ตอนที่เริ่มลงทุนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นหุ้น 10 เด้ง  เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว  โดยที่โชคดีที่ผมไม่ได้ขายมัน  ผมถึงได้รู้ว่ามันเป็นหุ้น 10 เด้งที่ได้เปลี่ยนชีวิตผมไปอย่างสิ้นเชิง  ถึงนาทีนี้ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะได้หุ้น 10 เด้งในจำนวนเหมือนเดิม  เหตุผลง่ายที่สุดก็คือ  หุ้นที่ผมถือในปัจจุบันต่างก็เป็นหุ้นตัวใหญ่ที่คงไม่สามารถโตได้ขนาดนั้นใน 10 ปี

Posted by nivate at 10:08 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/07/28/1456

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 05, 2014, 03:52:43 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 4 August 2014

ตรวจสอบตัวเองก่อนลงทุน

ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องการลงทุนนั้น  สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการตรวจสอบหรือประเมินตัวเราเองว่าสถานะและศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร  จากนั้นเราถึงจะสามารถวางกลยุทธ์และแนวทางที่ถูกต้องที่จะทำให้การลงทุนของเรามีความเหมาะสมที่สุด  การวางแผนการเงินแบบ “มาตรฐาน” เช่น  เราควรจะจัดพอร์ตการลงทุนที่ประกอบไปด้วยเงินลงทุนระยะสั้นที่เป็นเงินสดเท่านั้นเท่านี้  ต้องมีตราสารหนี้ระยะยาว  มีหุ้นและมีตราสารการเงินอื่น ๆ  ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงหรืออายุของเรา   และสุดท้ายบางทีก็บอกว่าเราควรจะต้องมีประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เราตายก่อนกำหนด  เป็นต้น  นั้น  ผมคิดว่าเป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ  ที่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน  ลองมาดูกันว่าอะไรคือปัจจัยที่เราจะต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลของเรา

          เรื่องแรกก็คือ  เรามีทรัพย์สินสุทธิเท่าไร?  บางคนมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติมากเป็นหลายร้อยหรือเป็นพัน ๆ ล้านบาท  เหตุผลในการที่จะทำประกันชีวิตจึงแทบไม่มี  เพราะถ้าเขาตาย  เงินมรดกก็มากมายพอที่จะทำให้ลูกหลานสบายเต็มที่อยู่แล้ว  เงินทุนประกันชีวิตสูงสุดที่ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 10-20 ล้านบาทนั้นย่อมไม่มีความหมายอะไร  เหตุผลที่จะซื้อประกันเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่ดี  เช่น  เฉลี่ยปีละอาจจะถึง 4% เมื่อรวมการได้รับลดหย่อนเรื่องภาษีเงินได้อาจจะถึง 5%  ที่คนขายประกันมักพยายามนำมาชักชวนให้ซื้อประกันนั้น  ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วไม่คุ้มค่าสำหรับคนที่มีเงินมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราไม่สามารถ“ลงทุน” ในการประกันชีวิตเป็นเงินมาก ๆ  เมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดของเราได้

           “ความเสี่ยง”  สำหรับคนที่มีเงินมากเหลือเฟือและไม่มีหนี้หรือภาระที่อาจจะต้องรับ  กับความเสี่ยงของคนที่มีเงินหรือทรัพย์สินสุทธิไม่มากนั้นผมคิดว่าแตกต่างกัน  คนที่มีเงินมากพอที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายตลอดชีวิตทั้งของตนเองและลูกหลานอยู่แล้วนั้น  ความเสี่ยงที่สำคัญอาจจะไม่ใช่ความเสี่ยงในการลงทุนตามปกติที่เกิดจากตราสารการเงินเช่น หุ้นหรือพันธบัตร หรือเงินฝาก หรือแม้แต่การลงทุนในธุรกิจหรือในอสังหาริมทรัพย์  เพราะการลงทุนเหล่านั้น  แม้ว่าเขาจะขาดทุนไปครึ่งหนึ่งหรือขาดทุนไป 75%  เงินที่เหลืออยู่ 25% ก็ยังเพียงพอที่เขาอาจจะอยู่ได้อย่างสบาย   แต่ความเสี่ยงของเขาจริง ๆ  นั้น  อาจจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจาก  “ระบบ” หรือกฎเกณฑ์ของรัฐหรือประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปที่อาจจะทำลายการลงทุนของเขาจนหมดสิ้นไป  สิ่งเหล่านี้ในบ้านเราอาจจะไม่เคยเกิดขึ้น  แต่ในบางประเทศเช่น  ในยุโรปตะวันออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น  ผมคิดว่าคนรวยหรือแม้แต่มหาเศรษฐีจำนวนไม่น้อยต้อง  “สิ้นเนื้อประดาตัว”  เพราะเมื่อเกิดสงคราม  โรงงานหรือธุรกิจอาจถูกระเบิดทำลายไป   เงินฝากที่มีอยู่ก็เฟ้อเนื่องจากประเทศแพ้สงครามหมดค่าลง  บางคนมีที่ดินเหลือแต่หลังสงครามประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดินจึงถูกยึดเป็นของรัฐ  ดังนั้น  สำหรับคนเหล่านี้  การลงทุนที่สำคัญมากที่จะลดความเสี่ยงจริง ๆ  จึงอาจจะอยู่ที่การกระจายการลงทุนไปในหลาย ๆ  ประเทศซึ่งจะทำให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เขาก็ยังมีเงินพอที่จะใช้ชีวิตที่สุขสบายได้

          ข้อตรวจสอบตัวเองต่อมาก็คือเรื่องของรายได้จากการทำงาน  ถ้างานของเรานั้นทำเงินได้ดีและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างสม่ำเสมอ เช่น  เรามีอาชีพเป็นหมอศัลยกรรม  และเราคิดว่าเมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้เงินมากในอนาคตเช่น  การส่งลูกเรียนต่างประเทศ เราก็น่าจะมีกำลังที่ทำได้ด้วยรายได้จากเงินเดือน   ในกรณีแบบนี้  เราก็สามารถลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงเช่นหุ้นได้มากในขณะนี้   แต่ถ้างานในปัจจุบันนั้นถึงจะมีรายได้ดีแต่ไม่ได้มีความแน่นอนมาก  การลงทุนของเราก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น  เช่น  อาจจะต้องลงทุนในตราสารการเงินที่เสี่ยงน้อยกว่าเช่น  การลงทุนในพันธบัตรมากกว่า เป็นต้น   หรือในกรณีที่เรามีรายได้ไม่มากแต่มีความมั่นคงในการทำงาน  แผนการเงินของเราอาจจะเป็นเรื่องของการพยายามอดออมและกันเงินไว้ลงทุนในหุ้นอย่างสม่ำเสมอ  ด้วยวิธีนี้  แม้ว่าเงินที่ลงทุนอาจจะน้อย  แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปยาวนาน  เราก็อาจจะมีทรัพย์สินที่มากพอและมีชีวิตที่สุขสบายได้ในยามที่เราแก่ตัวลง

          เรื่องของอายุก็เป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดแนวทางในการลงทุน  ถ้าอายุเราน้อยและมีกำลังทำงานเต็มที่  การลงทุนที่ “เสี่ยง” ประเภทลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือบางทีมากกว่านั้น  ก็อาจจะเป็นเรื่องที่  “ไม่เสี่ยง”  เพราะเราสามารถ “แก้ตัว”  นั่นคือ  หาเงินมาใช้เลี้ยงชีวิตตนเองตามอัตภาพได้เสมอ  แต่เมื่อเรามีครอบครัวที่ต้องอุปการะหรืออายุมาก 40-50 ปีขึ้นไปแล้ว  การลงทุนก็ควรจะ Balance หรือมีความสมดุลขึ้น  เช่น  ควรจะมีการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอที่มีการลงทุนทั้งด้านของหุ้น  ตราสารหนี้  และอสังหาริมทรัพย์  รวมทั้งเงินสดและการประกันชีวิต  ที่จะทำให้เรามีความสบายใจว่าเงินจะไม่หายไปมากในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายหรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  ในขณะเดียวกัน  เราก็ต้องการผลตอบแทนที่ดีพอสมควรที่จะทำให้ความมั่งคั่งของเราไม่ลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่กัดกินค่าของเงินอย่างช้า ๆ  ตลอดเวลา

           ค่าใช้จ่ายทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่เราจะต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้านั้น  น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งในการวางแผนการเงินและการลงทุน  รายจ่ายที่สำคัญมากที่สุดที่ต้องคำนึงถึงก็คือ  รายจ่ายทางด้านการศึกษาของลูกและรายจ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลของพ่อแม่ถ้าเราเป็นคนที่จะต้องรับผิดชอบ  และค่าใช้จ่ายของตัวเราเองเวลาเจ็บไข้   เรื่องของลูกนั้น  นอกจากจำนวนที่เรามีหรือต้องการที่จะมีแล้ว  เราคงต้องวางแผนว่าจะให้เขาเรียนที่ไหนในระดับประถมถึงมัธยม  และระดับปริญญาตรี-โท  ในประเทศหรือต่างประเทศ  เพราะค่าใช้จ่ายนั้นแตกต่างกันมาก    ในเรื่องของการรักษาพยาบาลนั้น  โชคดีที่ประเทศเรามีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีมาก  ดังนั้น  ถ้าเราวางแผนที่ดีพอ  เราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากโดยการสมัครในโปรแกรมต่าง ๆ  เช่น  ประกันสังคม  ที่จะทำให้เราได้รับความคุ้มครองด้วยรายจ่ายที่ไม่สูงเกินไป  ส่วนในเรื่องของการศึกษานั้น  รายจ่ายที่มากน้อยมักจะอยู่ที่เราเลือกว่าจะให้ลูกไปทางสาย  “อินเตอร์”  หรือสาย  “ไทย”  ความเห็นของผมก็คือ  ในระดับกลาง ๆ  ค่อนข้างสูงก็คือ  เน้นอินเตอร์ในประเทศจนจบปริญญาตรี  แล้วถ้ามีโอกาสก็ไปต่อโทต่างประเทศที่เป็นโปรแกรม 1 ปี  นี่น่าจะเพียงพอสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้อง “ต่อสู้” ในโลกที่เป็น “สากล”

           สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน  คนที่มีพื้นฐานทางด้านการคำนวณหรือทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น  มักจะมีความได้เปรียบในการศึกษาเรื่องของการลงทุน  โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนมาทางสายการเงินหรือทางธุรกิจพวกเขาสามารถศึกษาเรื่องการลงทุนได้ไม่ยากนัก  แต่คนที่เป็น  “หัวศิลป์”  จำนวนไม่น้อยไม่สามารถวิเคราะห์หุ้นได้  แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นว่าเราไม่สามารถลงทุนในหุ้นได้  ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดว่า  “ถ้าเรารู้ว่าเราโง่เรื่องการเงิน  เราก็หายโง่แล้ว”  วิธีที่จะลงทุนในหุ้นแบบคนที่ไม่รู้เรื่องหรือวิเคราะห์หุ้นไม่เป็นที่ดีที่สุดก็คือ  การซื้อกองทุนอิงดัชนีเช่น SET 50 ไปเรื่อย ๆ  เมื่อมีเงินลงทุน  ด้วยวิธีนี้  คนที่ไม่เก่งเรื่องหุ้นก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีพอใช้ได้  และบ่อยครั้งก็ดีกว่า“มืออาชีพ”  ด้วยซ้ำ   การมีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนที่ดีนั้น  ผมคิดว่าทำให้แผนการเงินหรือการลงทุนของคน ๆ  นั้นอาจจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเกณฑ์มาตรฐาน  การ  “ถือหุ้น 100%  ตลอดไป”  นั้น  ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ของ VI ผู้มุ่งมั่น จำนวนมากในทศวรรษนี้  ว่าที่จริง  หลายคนที่ประสบความสำเร็จสูงนั้น  ลงทุนในหุ้นเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องยาวนาน  ผมเองคิดว่านี่ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมและอาจจะดีเฉพาะในบางสถานการณ์  อย่างไรก็ตาม  แผน แนวทาง  หรือกลยุทธ์การลงทุน  นั้นเป็นเรื่องของแต่ละคน  เขาอาจจะมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติที่จะสามารถ  “รองรับขั้นสุดท้าย”  เช่น  มีพ่อแม่ที่มีเงินมากพอในกรณีที่เขา “หายนะ”  เป็นต้น  ดังนั้น  เราจึงไม่สามารถจะบอกว่าผิดหรือถูก  เราควรจะคิดว่าเรื่องการลงทุนนั้น  “ตัวใครตัวมัน”
 
Posted by nivate at 1:42 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/08/04/1458

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 19, 2014, 12:02:56 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 18 August 2014

Concept Stock

ในช่วงนี้ถ้ามี  “ข่าวลือ”  หรือมีการประกาศว่าบริษัทจะทำ  “Solar Farm” ราคาหุ้นก็มักจะ  “วิ่งระเบิด”  ว่าที่จริงแค่บอกว่าบริษัทจะหันมาทำกิจการ  “พลังงานทดแทน” ราคาหุ้นก็ “วิ่ง” แล้ว  ดูเหมือนว่านักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นจำนวนมากต่างก็คิดว่าพลังงานทดแทนนั้นเป็นธุรกิจที่มีอนาคตที่สดใสและเติบโตมาก  ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  คนคิดว่าบริษัทที่จะทำพลังงานทดแทนนั้น  จะต้องประสบความสำเร็จและจะมีกำไรที่เติบโตมาก  ดังนั้น  ค่า PE ที่ให้กับหุ้นก็จะสูงลิ่ว  บางทีเป็นหลายสิบเท่า  หรือบางทีก็เป็นร้อยเท่า  ทำให้คนที่เข้าไปเล่น “รวย” ไปตาม ๆ  กัน  แต่ความเป็นจริงนั้น  ราคาหุ้นก็อาจจะขึ้นไปในระยะสั้นเพียงแค่ไม่กี่เดือนหรือน้อยกว่านั้นซึ่งทำให้คนที่เข้าไปเล่นในช่วงที่ราคาขึ้นไปแล้วขาดทุน  บางบริษัทที่ดูมี  “น้ำหนัก”  เช่น  บริษัทมีใบอนุญาตหรือมีสัญญาที่จะขายพลังงานให้กับหน่วยงานรัฐชัดเจนแล้วในระดับหนึ่ง  ราคาหุ้นก็อาจจะวิ่งไปได้ยาวและอาจจะสูงอยู่ได้นานเป็นปีหรืออาจจะมากกว่านั้น  อย่างไรก็ตาม  จากการวิเคราะห์ดูถึงผลตอบแทนที่บริษัทจะได้จากการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนแล้วเราก็จะพบว่า  ผลตอบแทนที่แท้จริงของแต่ละโครงการก็เป็นผลตอบแทน “ปกติ”  เช่น  ประมาณ 10%  ต่อปี บวก-ลบ จากเงินลงทุน  ดังนั้น  มูลค่าของกิจการหรือราคาหุ้นก็ไม่ควรจะขึ้นไปมาก  แต่การที่หุ้นวิ่งขึ้นไปมากนั้น  ผมคิดว่ามันคงมีลักษณะของการเป็นหุ้น  “ขายฝัน”  หรือเป็น  “Concept Stock”(CS)

          เรื่องของ CS นั้น  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นบูมเป็นกระทิง  หุ้นที่จะเป็น CS นั้น  จะเป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจที่กำลังเป็นแนวโน้มหรือเป็นเทรนด์ใหม่ของเศรษฐกิจหรือสังคม  ดังนั้น  การเติบโตจะสูงมากและยังไม่มีผู้ชนะที่เด็ดขาดหรือชัดเจนหรือยังไม่รู้ว่าใครจะล้มเหลว  ทุกบริษัทต่างก็มี  “ความฝันที่ยิ่งใหญ่”  นั่นคือ  บริษัทจะเติบโตและทำกำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล  บริษัทที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีก็จะมีคนเข้าไปซื้อมากมายทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเหนือกว่ามูลค่าจากการประเมินราคาทุกวิธี  บริษัทที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีประสบการณ์พอหรือมีขนาดเล็กเองก็ยังได้ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่เอ่ยว่าจะเข้ามาทำธุรกิจหรือแค่เปลี่ยนชื่อบริษัท  มาดูกันว่าอะไรที่เป็น  เคยเป็น  หรือมีโอกาสที่จะกลายเป็น  Concept Stock ได้

          กลุ่มแรกก็คือสิ่งที่ผมขึ้นต้นบทความนั่นก็คือ  พลังงานทดแทน  นี่คือ CS ที่กำลังร้อนแรงมากในตลาดหุ้นไทย  ในระดับโลกเองนั้น  ผมไม่ได้ศึกษาว่ากลุ่มหุ้นที่ทำพลังงานทดแทนนั้นเป็นหุ้น CS หรือไม่  ความรู้สึกก็คืออาจจะไม่  เพราะผมคิดว่าเรื่องนี้ในประเทศพัฒนานั้นมีการทำกันมานานแล้ว  เทคโนโลยีเองก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นลักษณะของการ  “ปฏิวัติ” อุตสาหกรรมพลังงานอะไร  ว่าที่จริงในช่วงหลังที่มีการค้นพบวิธีการขุดก๊าซธรรมชาติ Shale Gas ที่ทำให้ได้ก๊าซราคาถูกในอเมริกา  เทรนด์ของพลังงานทดแทนก็อาจจะชะลอตัวได้  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การผลิตพลังงานทดแทนนั้น  อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรอะไรได้มากมายนัก  เหตุผลอาจจะเพราะว่ามันยังเป็นพลังงานที่ยังไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ล้วน ๆ ได้  ดังนั้น มันจึงไม่สามารถโตและทำกำไรได้ได้ด้วยตัวเอง

          CS ที่มักจะก่อให้เกิดความร้อนแรงของราคาหุ้นกลุ่มต่อมาก็คือ  หุ้น “Turnaround”  นี่คือหุ้นของบริษัทที่ถูกทำให้  “ฟื้นตัว”  จากภาวะวิกฤติของบริษัทโดยเฉพาะจากผู้บริหารและผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพทางการเงิน   การฟื้นธุรกิจนั้นเองส่วนมากก็เป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ทำอยู่  บ่อยครั้งก็เป็นการนำกิจการที่มีกำไรมาใส่ในบริษัทซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการฟื้นตัวอย่างแน่นอน  ผลก็คือ  คนก็แห่กันมาเล่นหุ้นและทำให้ราคาปรับตัวขึ้นไปมากมาย  บางทีเป็นสิบเท่าในเวลาไม่นาน  องค์ประกอบของความสำเร็จในการฟื้นกิจการอีกอย่างหนึ่งที่เริ่มจะมองเห็นในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็คือ  การมี “Turnaround Artist”  หรือนักฟื้นกิจการที่นักลงทุนเชื่อถือว่าจะสามารถทำการให้ประสบความสำเร็จ  อย่างน้อยในด้านของการเพิ่มราคาหุ้นในระยะเวลาอันสั้น

          CS อีกกลุ่มหนึ่งที่มีบางสิ่งบางอย่างใกล้เคียงกับหุ้นฟื้นตัวก็คือหุ้น “นัก Takeover” หรือบริษัทจดทะเบียนที่ใช้กลยุทธ์การเติบโตที่รวดเร็วโดยการซื้อกิจการไม่ว่าจะเป็นกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเดิม  หรือเป็นการเทคโอเวอร์กิจการแบบเดียวกันซึ่งก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีกเนื่องจากบริษัทอาจจะได้ประโยชน์ในด้านของ Economies of Scale หรือการทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดการประหยัดในด้านของต้นทุน  บริษัทที่ทำการ  “เทคโอเวอร์อย่างต่อเนื่อง”  ดูเหมือนจะกลายเป็น CS ที่ตลาดให้มูลค่าที่สูงลิ่วและโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  และก็เช่นเดียวกับเรื่องของหุ้น Turnaround  ก็ก่อให้เกิด “Takeover Artist”  หรือ “ศิลปิน” หรือเซียนทางด้านการควบรวมกิจการ  ซึ่งก็จะกลายเป็นมหาเศรษฐีในแวดวงตลาดหุ้นไทย

          หุ้นที่อาจจะถือว่าเป็น  Concept Stock กลุ่มหนึ่งของตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะในอดีตย้อนหลังไปซัก 10 ปีก็คือหุ้นกลุ่ม Modern Trade หรือค้าปลีกสมัยใหม่ นี่คือบริษัทจดทะเบียนที่ค้าปลีกสินค้าผ่านเครือข่ายทั่วประเทศซึ่งเริ่มเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วแทนร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม  เมื่อแนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นมาก็จะพบว่าเกิดจากสินค้าจำเป็นก่อน  ต่อมาสินค้าอย่างอื่นก็เริ่มซื้อขายผ่าน Modern Trade มากขึ้นเรื่อย ๆ  จนกลายเป็นกระแส  หุ้นในตลาดที่ทำธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เกือบทุกตัวก็ทยอยปรับตัวขึ้นไปจากหุ้นที่มีค่า PE ประมาณ 10 เท่าหรือต่ำกว่าก็กลายเป็นหุ้นที่มี PE สูงลิ่วหลายสิบเท่าจนถึงปัจจุบัน

          หุ้นที่จะเป็น CS นั้น  น่าจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนที่หวังสร้างผลกำไรหรือผลตอบแทนสูงต่างก็แสวงหา  แนวทางนั้นน่าจะอยู่ที่การมองไปข้างหน้า  ดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราขาดแคลนและต้องการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศหรือสังคมในขณะที่ผู้เล่นหรือผู้ผลิตหรือให้บริการมีไม่พอ  ในอีกด้านหนึ่งการมองหา CS ก็อาจจะต้องเป็นเรื่องของการสังเกตหรือติดตามเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว  มองว่ามีสินค้าใหม่อะไรที่คนกำลังเริ่มใช้มากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะใช้ต่อไปอีกนานและมีผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพสูงในการเข้ามาให้บริการหรือแข่งขัน   แต่แม้ว่าเราจะชำนาญหรือมีประสบการณ์มากเพียงไรก็ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดีที่จะบอกได้ชัดเจนว่าอะไรจะเป็น CS ในอนาคต   ถ้าจะให้ผมเดาว่าภาคไหนของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอะไรที่น่าสนใจและอาจจะมีโอกาสเกิด CS ได้  ผมก็คิดว่าเรื่องของ Logistic ที่เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งเป็นกลุ่มหนึ่ง  อีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องของการขายปลีกผ่านช่องทางที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตก็อาจจะมาได้  ว่าที่จริงในต่างประเทศก็เกิดขึ้นแล้ว  นอกจากนั้นก็อาจจะมีเรื่องของธุรกิจที่  “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ที่ใกล้จะรวมเป็นหนึ่งเดียว  เป็นต้น

           ก่อนที่จะจบบทความผมคงต้องเตือนให้เห็นถึง “อันตราย”  จากการเล่นหุ้น CS ด้วยว่ามันมาพร้อม ๆ  กับผลตอบแทนสูงที่คาดว่าจะได้รับ  ว่าที่จริงคนที่ขาดทุนอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ  เหตุผลก็เพราะว่าเมื่อกลายเป็น  “Concept”  ไปแล้ว  นักลงทุนก็มักคิดไปว่าหุ้นทุกตัวที่ทำธุรกิจหรือมีแนวทางการทำธุรกิจแบบนั้นก็จะต้องดีหรือประสบความสำเร็จไปด้วยซึ่งไม่จริง  ดังนั้น  ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นโดยโดยเฉพาะที่ราคาขึ้นไปสูงมากแล้วเราก็อาจจะขาดทุนได้มาก  นอกจากนั้น  ค่าที่คนเชื่อและเข้าไปเล่นมาก  ก็มีโอกาสที่จะเกิดการ “ฉ้อฉล”  โดยผู้บริหารบริษัทเจ้าเล่ห์บางคนที่ต้องการ  “ปั่นหุ้น”  โดยอาศัย Concept ที่กำลังเป็นที่นิยม  ตัวอย่างหุ้น  Enron ในธุรกิจพลังงาน และหุ้น World Com ในกลุ่มสื่อสารของอเมริกาควรจะเป็นเรื่องเตือนใจพวกเราให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเวลาคิดเล่นหุ้น CS

 
Posted by nivate at 11:14 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/08/18/1461

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 21, 2014, 11:17:56 pm

(http://portal.settrade.com/StaticPage/images/th/blog/webblog_1_thanwa.gif)

Thursday, 21 August 2014
บันทึกกรณีศึกษา SCBLIF

โลกธุรกิจย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป  อาจเพื่อความอยู่รอดของกิจการ เพื่อกลยุทธ์ธุรกิจตอบสนองสภาวะการแข่งขัน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจหรือผู้ถือหุ้น นักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนยาวนานจึงมักเห็นพัฒนาการและบทสรุปที่ แตกต่างกันไป เช่น กรณีศึกษา Hostile Takeover บจม.มติชน MATI) กรณีศึกษา Management Buyout ของ บจม. เอสวีไอ SVI)  กรณีศึกษาข้อตกลงจะซื้อจะขาย บจม. เสริมสุข SSC) กรณีศึกษากลยุทธ์ขยายธุรกิจและ M&As ของบจม.กรุงเทพดุสิตเวชการ BGH) หรือกรณีศึกษา Back Door Listing หรือการเป็นบริษัทจดทะเบียนทางอ้อม ที่มักมีให้เห็นกับในทุกตลาดทุนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
มีกรณีศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย นั่นคือการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ บจม. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต SCBLIF) โดย บจม. ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB) เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ พูดง่ายๆ คือ การขอเสนอซื้อหุ้น SCBLIF ส่วนที่เหลือทั้งหมดเพื่อนำบริษัทออกจากตลาดหุ้น Delisting) นั่นเอง

SCBLIF เดิมชื่อ บจม. ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต ประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยมีรายได้หลักจากธุรกิจประกันชีวิตและการลงทุน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งขายหุ้นให้กับ SCB จึงทำให้ SCB และกลุ่มนิวยอร์คไลฟ์ ถือหุ้นเท่าๆ กันประมาณฝ่ายละ 47.33 %  ธุรกิจประกันชีวิตมีผลประกอบโดดเด่นต่อเนื่องตลอดมา โดยเฉพาะการนำกลยุทธ์ขายประกันผ่านธนาคาร Bancassurance) มาใช้จนประสบความสำเร็จอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการของ SCB มีมติให้ซื้อหุ้นในจากผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มนิวยอร์คไลฟ์ที่ราคา 266.89 บาทและต้องทำการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายย่อย Tender Offer) ในราคาดังกล่าว แต่เนื่องจากราคาที่ซื้อขายในตลาดขณะนั้นสูงกว่าราคาเสนอซื้ออย่างมาก นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะถือหุ้น SCBLIF ต่อไป หลังเสร็จสิ้นธุรกรรมดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็น บจม. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ดังเช่นปัจจุบัน โครงสร้างผู้ถือหุ้น ณ วันปิดสมุดที่ 8 เมษายน 2557 ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ 94.66% น.ส. จินตนา กาญจนกำเนิด 0.66% Mr. David John Scott 0.58% นางภาวนา อัจฉราวรรณ 0.54% นางประนอม ภู่ตระกูล 0.51% และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ โดย SCBLIF มีมูลค่าตลาด ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2557 ที่ 75,145 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 SCB ได้แสดงเจตจำนงขอทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ SCBLIF ที่เหลือทั้งหมดจำนวน 5.35% เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากไม่สามารถกระจายการถือหุ้นรายย่อยตามกฎเกณฑ์การดำรงสถานะที่ต้องไม่น้อยกว่า 15% มากว่า 2 ปี โดยเสนอซื้อที่ราคา 1,117.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

การรับคำเสนอซื้อทั้งหมดและการขอเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น SCBLIF ผ่านการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่ถูกกำหนดไว้ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2557 และเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 SCBLIF แจ้งว่า คณะกรรมการตรวจสอบได้คัดเลือกบริษัทปรึกษาทางการเงินอิสระ IFA) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เสนอแนะความเห็น และชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท

ความน่าติดตามของกรณีศึกษานี้คือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนหนึ่งเห็นว่า เงินค่าปรับในการไม่ดำรงสถานะตามเกณฑ์ไม่สูงมากและยังต้องการให้ซื้อขายในตลาดหุ้นต่อไป แต่หากต้องขายหุ้น ราคาที่เสนอซื้อก็เป็นราคาที่ต่ำเกินไป ไม่ได้รับความยุติธรรม จึงแสดงความคิดเห็นคัดค้านไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยงข้องทั้งหมดและผ่านสื่อต่างๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 SCBLIF ได้แจ้งมติการเปลี่ยนแปลงที่ปรึกษาการเงินอิสระเดิมพร้อมแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินใหม่และเลื่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นออกไปเป็นวันที่ 18 สิงหาคม 2557 แทน และเมื่อถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 จึงแจ้งเลื่อนการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นออกไปก่อน

วันที่ 28 กรกฎาคม 2557 SCBLIF ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงที่ปรึกษาทางการเงินอิสระใหม่อีกครั้งเป็นรายที่สาม และแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสัญญาการให้สิทธิพิเศษในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตระหว่าง SCB และ SCBLIF ซึ่งอาจส่งผลทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตรายได้ กำไรสุทธิและมูลค่ากิจการของ SCBLIF ในอนาคต

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา SCBLIF ได้รายงานผลกำไรสุทธิของไตรมาสสองเพิ่มขึ้น 37% และเพิ่มขึ้น 30% สำหรับ 6 เดือนแรก แม้ผลประกอบการจะโดดเด่นมากแต่ราคาหุ้นก็ไม่ตอบสนองมากนักและโดยปิดที่ระดับ 1,130 บาท ทั้งนี้เพราะราคาหุ้นถูกกดดันจากราคาเสนอซื้อที่ 1,117.25 บาทและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น สำหรับผู้ตัดสินใจลงทุน ณ ระดับราคานี้คงเหลือทางเลือกสองทางคือ ต้องยอมขายขาดทุนหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาเสนอซื้อ หรือต้องยอมเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทนอกตลาดที่มีกฎระเบียบน้อยลงอย่างมาก
ที่กล่าวมาเป็นเพียงบันทึกกรณีศึกษา SCBLIF ที่เดินทางมาถึงจุดที่ต้องมีบทสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาอีกไม่นานนัก ในฐานะ Value Investor ทุกคนแม้จะถือหรือไม่ถือหุ้น SCBLIF ก็ควรติดตามกรณีศึกษานี้ไว้ เพราะนี่คือบทพิสูจน์ “กลไกและฟันเฟือง” การทำงานของตลาดทุนไทยว่า คณะกรรมการบริษัท กรรมการอิสระ คณะกรรมการตรวจสอบ  ฝ่ายบริหาร ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หน่วยงานกำกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้ทำหน้าที่สมกับบทบาทของตนมากน้อยเพียงใด 
 
Posted by thanwa at 4:24 PM in คิด วิเคราะห์ แยกแยะ

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/thanwa/2014/08/21/1462
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 24, 2014, 04:41:33 pm
อ.ดร.นิเวศน์ ท้า อ.ดร.ไพบูลย์ และ ชาวไทยวีไอ (Ice bucket challenge)

http://www.youtube.com/v/UAhDLlFwdRA
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 25, 2014, 01:54:55 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 25 August 2014

นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุน

คนที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นมักจะมีนิสัยที่สำคัญหลาย ๆ  ประการ  และต่อไปนี้คือบางส่วนที่ผมคิดว่าเราควรจะต้องมีหรือต้องฝึกฝนไว้:

          ข้อแรกคือ  เวลาลงทุนอะไรก็ตาม  คิดถึงเรื่องความเสี่ยงที่จะขาดทุนมากกว่ากำไร  ในการคิดถึงเรื่องนี้นั้น  ผมมักจะดูหรือวิเคราะห์ถึง  “พื้นฐาน”  ที่แท้จริงของบริษัท  การดูเรื่องนี้แปลว่าเราจะต้องคิดถึงผลประกอบการในระยะยาวหลาย ๆ  ปี  ในกรณีของบริษัทปกติก็อย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไป  ในกรณีของกิจการที่เป็นสัมปทานหรือมีใบอนุญาตที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ส่วนใหญ่ผมก็จะต้องคิดไปถึงเวลาที่ครบกำหนด  ผมมักจะ  “หลอก”  ตัวเองว่า  เมื่อซื้อหุ้นแล้ว  ผมไม่มีสิทธิที่จะขายในเวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี  ดังนั้น  เวลาเราคิดแบบนี้   เราจะไม่เอาข่าวหรือการคาดการณ์ผลประกอบการในระยะสั้น ๆ  เพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปี มาเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุน  มีอยู่บ่อย ๆ  ที่ผมพลาดลงทุนในหุ้นที่ราคาพุ่งพรวดเพราะกำลังมีเหตุการณ์ที่ดี ๆ  เกิดขึ้นและผมก็คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่ซื้อมัน  เหตุเพราะว่าผมคิดว่าหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว  อนาคตต่อไปก็ “ไม่แน่นอน”  ถ้าเราถือหุ้นยาวไปก็อาจจะขาดทุนได้    ความมี “วินัย” ที่แรงกล้าแบบนี้ทำให้เราพลาดโอกาสทำกำไรง่าย ๆ  แต่ก็ช่วยให้เราไม่ขาดทุนกับหุ้นตัวไหนได้ง่าย ๆ  และแม้ว่าบางตัวจะ  “สะบักสะบอม”  ในช่วงแรก  แต่เมื่อถือยาวต่อไปมันก็มักจะ “ได้ทุนคืนมา”

            ข้อสองคือ  ถ้าเราเลือกหุ้นที่พื้นฐานดีในระยะยาวและ/หรือมีระบบในการลงทุนที่ถูกต้อง  เช่น มีพอร์ตการลงทุนที่เราคิดว่าเหมาะกับตัวเราแล้ว  เช่น  มีจำนวนเงินลงทุนในหุ้น 50% มีหุ้นกู้หรือพันธบัตร 30%  มีสินทรัพย์ทางเลือกเช่น ทอง 10%  ที่เหลือเป็นเงินสด  เราก็ควรจะรักษาการลงทุนของเราให้  “คงเส้นคงวา”  ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปมาเมื่อประสบกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  อย่าตื่นเต้นหรือตกใจง่ายกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง  ว่าที่จริงอะไรก็ตามถ้าไม่กระทบกับบริษัทที่เราลงทุนตรง ๆ  และแรง  โดยส่วนใหญ่แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไร  นิสัยสำคัญที่เราจะต้องสร้างก็คือ  เราต้องทำใจให้สงบ  เป็นคนที่  “ใจเย็นเป็นน้ำ”  เวลาลงทุน    ผมเองไปลอนดอนบ่อย  สิ่งที่เห็นเป็นประจำก็คือป้ายคำขวัญที่ทำเป็นของที่ระลึกที่เขียนว่า  “Keep Calm  and Carry on” หรือ “ใจเย็นและสู้ต่อไป”   ซึ่งผมเข้าใจว่าเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่คนอังกฤษพยายาม “ปลอบใจ”  ให้คนใจเย็น ๆ  มีขวัญกำลังใจที่จะเอาชนะสงคราม  ตอนหลังสินค้าก็เอามาทำเป็นคำโฆษณามากมายเช่น Keep Calm and Have a Cupcake หรือ ใจเย็น ๆ  แล้วก็กินขนมเค้กซักชิ้น และอื่น ๆ  อีกมาก

           นิสัยข้อสามที่ผมคิดว่าควรจะเตือนตัวเองให้ปฏิบัติตลอดเวลาก็คือ  “สังเกตและคิดแบบนักลงทุน”  นี่จะทำให้เราพบโอกาสในการลงทุนเช่นเดียวกับฝึกฝนให้เราเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี  สูตรที่ผมใช้ก็คือ  พยายามคิดว่าทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ต่างก็ “แข่งขันกัน”  ผู้ชนะนั้นจะได้ “รางวัล” มากน้อยตามระดับการชนะนั้น  ซึ่งก็จะส่งผลให้เขาหรือบริษัทหรือองค์กรอะไรก็ตามมี  “ค่า” ต่อ  “เจ้าของ”  ตามที่ควรจะเป็น   แน่นอน  บางสิ่งบางอย่างเช่นวัดหรือศิลปินที่ไม่มีสังกัดนั้นไม่มี  “เจ้าของ” ซึ่งในฐานะของนักลงทุนเราก็ทำอะไรไม่ได้  แต่ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนนั้น  เราสามารถเป็นเจ้าของได้  และนี่ก็คือโอกาสที่เราจะลงทุน  ในช่วงที่เรายังไม่คุ้นเคยกับการคิดแบบนี้  สิ่งที่เรามักจะสับสนก็คือ  เราไม่รู้ว่าใครแข่งกับใคร  บ่อยครั้งเราอาจจะสรุปว่ามัน  “ไม่มีคู่แข่ง”  แต่ในความคิดผมแล้ว  สิ่งมีชีวิตหรือองค์กรของสิ่งมีชีวิตนั้นมีคู่แข่งและแข่งกันเสมอ  เพียงแต่บางครั้งเราอาจจะยังหาไม่พบ

          นิสัยข้อสี่ที่สำคัญก็คือ  หมั่นศึกษาหาความรู้โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และจิตวิทยานอกเหนือไปจากการศึกษาเรื่องการลงทุน  การอ่านหนังสือควรเป็นนิสัยที่ติดตัว  ผมเองมีคติว่าเราต้องกินอาหารที่ดีทุกวันเช่นเดียวกับต้องบริโภค  “อาหารสมอง”  เป็นประจำ  ดังนั้น  ทุกสัปดาห์ที่ผมไปจ่ายตลาดเพื่อหาอาหารมากินตลอดสัปดาห์แล้ว   ผมก็มักจะต้องไปจ่าย  “อาหารสมอง”  ในร้านหนังสือที่มีหนังสือดี ๆ  ที่ผมต้องใช้เวลาอยู่กับมันพอ ๆ  กับการจ่าย “อาหารกาย” อาหารสมองหรือความรู้ที่เราได้รับนั้นจะช่วยให้เรามีพื้นฐานและความคิดในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ได้อย่างถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการลงทุน

           ข้อที่ห้า  นิสัยที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนก็คือ  อย่าเล่น  “หุ้นปั่น”  ทุกกรณี  และพยายามหลีกเลี่ยงหุ้นที่มี Story หรือเรื่องราวที่น่าสนใจที่ทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงมากในเวลาอันสั้นแล้ว  วิธีสังเกตว่าตัวไหนเข้าข่ายเป็นหุ้นปั่นหรือหุ้นที่มี Story นั้น  นอกจากข่าวและเหตุผลดี ๆ  ที่ออกมาจากบริษัทหรือแหล่งข่าวอื่น ๆ  แล้ว  ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นก็เป็นข้อมูลสำคัญที่จะชี้ว่ามันเป็นหุ้นดังกล่าวหรือไม่  เกณฑ์คร่าว ๆ  ก็คือ  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงติดต่อกันหลายวันคิดแล้วหุ้นอาจจะขึ้นไปเป็น 100% ในเวลาเพียงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์  ส่วนปริมาณหุ้นเองก็สูงขึ้นมาก  อัตราการหมุนเวียนหุ้นนั้นอาจสูงเป็น 50-100% ของปริมาณหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายในการซื้อขายเพียงวันเดียว เป็นต้น  นอกจากนั้น  ในเวบบอร์ดเกี่ยวกับหุ้นที่แพร่หลายมีผู้ติดตามกันมากนั้นก็มักจะมีคนโพสต์ข้อความเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าวมากผิดปกติ    นิสัยไม่สนใจหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงและราคาหุ้นขึ้นไปมากแล้วนั้น  ผมคิดว่าจะช่วยปกป้องให้เราไม่ขาดทุนหรือล้มเหลวจากการลงทุนในระยะยาว   เหตุผลหนึ่งก็คือ  มันทำให้เราต้องเน้นการเลือกหุ้นลงทุนเฉพาะในกิจการที่มีผลประกอบการเป็นหลักแทนที่จะเน้นที่ข่าวและปัจจัยเอื้ออำนวยในระยะสั้นซึ่งอาจจะไม่ได้กระทบกับพื้นฐานจริง ๆ  ของบริษัท

          นิสัยแห่งความสำเร็จของการลงทุนข้อที่หกก็คือ  ลงทุนเฉพาะในสิ่งที่ตนเองรู้และเข้าใจ  นั่นก็คือ  ไม่ลงทุนตามคนอื่นตราบใดที่ตนเองยังไม่เข้าใจตัวกิจการจริง ๆ  นั่นหมายความว่า  เราอาจจะไม่ยอมลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น ปิโตรเคมีเลยเนื่องจากมันเป็นอุตสาหรรมที่อยู่นอกเหนือความรู้ของเรา  นิสัยข้อนี้อาจจะทำให้เรามีหุ้นที่สามารถลงทุนได้น้อยลง  อย่างไรก็ตาม  ข้อดีก็คือ  ทำให้เรามีเวลาศึกษาวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวมากขึ้น  นอกจากนั้น  ความถูกต้องของการวิเคราะห์ก็จะสูงขึ้น  การลงทุนของเราก็จะ Focus หรือไม่กระจายมากเกินไป  และนี่ก็จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของเรามีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น

          นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การเน้นคุณค่าเวลาจะซื้อหรือทำอะไรต่าง ๆ  นี่ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนแต่รวมถึงการซื้อของอย่างอื่นหรือแม้แต่การทำงาน  พูดง่าย ๆ  ทำอะไรก็ต้องดูว่าเราจะได้ผลตอบแทนสูงกว่ารายจ่ายหรือต้นทุนที่เราทุ่มเทลงไป  เมื่อเราทำแบบนี้จนกลายเป็นนิสัย  การลงทุนของเราก็จะมีแนวทางหรือแนวคิดแบบเดียวกัน  และนั่นจะทำให้การลงทุนของเราเป็นเรื่องของ Value Investment หรือเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าโดยอัตโนมัติ  ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ  เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ  ถ้าจะว่าไป  ไม่มีเซียน VI คนไหนที่จะรักษาสถิติหรือผลงานการลงทุนที่ดีได้โดยปราศจากการมีนิสัยการลงทุนที่ดีด้วย  และไม่มีใครคนไหนที่จะกลายเป็นเซียนได้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติและพัฒนานิสัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการเป็น VI  ผมเชื่ออย่างนั้น

 
Posted by nivate at 11:32 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/08/25/1463


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 26, 2014, 04:24:08 am
เสียงบ่นดังๆ ของแกะดำทุนนิยม ‘บรรยง พงษ์พานิช’

Posted On: Wednesday, August 6th, 2014

ที่มา:
http://waymagazine.org/interview/banyongpongpanich
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 28, 2014, 02:02:07 pm

วันที่: 2012-08-08 10:18:12
วีไอ 'อนุรักษ์ บุญแสวง' จากทุน 8 แสน สู่หลัก 'ร้อยล้าน'

กำไรทบต้น สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก 'โจ' อนุรักษ์ บุญแสวง ผู้เดินตามแนวคิด 'อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์' วันนี้เขามีพอร์ตเลข 9 หลัก

ใครคนหนึ่งเอ่ยถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า "ท่านครับ! ท่านคิดว่าอะไรคือประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติครับ" อัจฉริยะผมยุ่งผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1879-1955 ตอบว่า ก็ดอกเบี้ยทบต้นไง!!! เจ้าของชื่อล็อกอิน “ลูกอีสาน” ในเว็บไซต์ Thaivi "โจ" อนุรักษ์ บุญแสวงวันนี้พอร์ตเขาแตะเลข 9 หลัก เพราะเดินตามทฤษฎี “กำไรทบต้น” สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของไอน์สไตน์
โจเป็นนักลงทุนวีไอที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขามีแฟนคลับคอยติดตามผลงานการลงทุนอย่างใกล้ชิดและเป็นหนึ่งในกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) โจและเพื่อน 2-3 คน ที่เป็นนักลงทุนแนว VI เหมือนกันลงทุนอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทุกไตรมาสพวกเขาจะจัดสัมมนาคุยกับแฟนๆ ประมาณ 50 ที่นั่ง ที่ร้านอาหาร สมิหลาซีสปอร์ต ในอำเภอหาดใหญ่
ชื่อ "ลูกอีสาน" ที่โจใช้เป็น "นามแฝง" หาใช้ภูมิลำเนาที่แท้จริงไม่ ความจริงโจเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่จังหวัดพังงา ก่อนจะเข้ามาอยู่กับญาติย่านลาดพร้าว เพื่อศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนชื่อ “ลูกอีสาน” เกิดขึ้นหลังอ่านนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2544 แล้วเกิดซาบซึ่งในชื่อนี้ขึ้นมา

เซียนหุ้นวีไอรายนี้ปัจจุบันอยู่ในวัย 38 ปี มีพี่น้อง 4 คน โจเป็นลูกชายคนรองคุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนคุณแม่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ยึดอาชีพขายของชำเลี้ยงดูลูกๆ ในวัยเด็กโจมีชีวิตค่อนข้างลำบาก ตัวเขา พี่ชายคนโตและแม่ ต้องแบกรับหน้าที่ทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวทั้ง 5 ชีวิต
โจลงทุนในตลาดหุ้นมานาน 12 ปีครึ่ง (2543-2555) มีพอร์ตทะยานขึ้นมาเลข 9 หลัก โดยมูลค่าการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี "เฉลี่ยปีละ 60%" มีผลตอบแทนในช่วง 12 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 400 เท่า สมมติฐานทั้งหมดตั้งอยู่บนหลักการไม่นำเงินออกมาใช้ แต่ความจริงเขานำเงินมาใช้เฉลี่ย 5-10% ของพอร์ต
อนุรักษ์ บุญแสวง นั่งเครื่องบินจากอำเภอหาดใหญ่ เพื่อมาเล่าประวัติชีวิตและเส้นทางการลงทุนให้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังโดยมี “ไก่” ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เป็นผู้ประสานงานให้

ก่อนจะเล่าจุดเริ่มต้นในเส้นทางเซียนหุ้น โจระบายความใจว่า "พื้นฐานผมมาจากครอบครัวยากจน และเป็นคนบ้านนอก เมื่อก่อนจะมีประโยคฮิตว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ผมจึงอยากพิสูจน์ตัวเองว่า คนจนก็เล่นหุ้นได้หมือนกัน ขอเพียงแค่มีใครสักคนมาคอยชี้แนวทางที่ถูกต้องให้เดินเท่านั้น"
จุดสนใจตลาดหุ้นเกิดขึ้นตอนเด็กๆ ช่วงนั้นโจย้ายไปอยู่บ้านญาติแถวลาดพร้าว วันหนึ่งก็แอบได้ยินลูกชาย (คุณน้า) ของคุณปู่ ซึ่งอายุห่างกันประมาณ 15 ปี บอกกับคุณปู่ว่าอยากลาออกจากงานประจำมาเล่นหุ้น ไม่ต้องทำอะไรเลยก็มีเงินใช้ ตอนนั้นโจคิดในใจว่า “อาชีพอะไรทำไมน่าสนใจแบบนี้” เขาเรียกน้าชายคนนั้นว่า “คิ้ว” ซึ่งแปลว่า “พี่ชาย” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน

"จากนั้นผมก็เริ่มหาหนังสือและพ็อกเก็ตบุ๊คที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจมาอ่าน เรียกว่าช่วงนั้นไม่อ่านหนังสือเรื่องอื่นเลย ยกเว้นหนังสือเรียน เมื่อเรียนจบม.ปลาย ผมก็ไปเรียนต่อในคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใจจริงอยากเรียนเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ เพราะเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง แต่สอบไม่ผ่าน (หัวเราะ) จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านการเงินการธนาคารที่รามคำแหง เพราะอยากมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุน"
ช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่สงขลานครินทร์ โจจะใช้เวลาทุกเย็นอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เขาอ่านหนังสือลักษณะนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 4 ปี จนเรียนจบในเดือนมีนาคม 2539
หลังเรียนจบปริญญาตรีใบแรกถัดมาประมาณ 3 ปี เขาก็ตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก ตอนนั้นมีเงินประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บจากการทำงานในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นทำงานในบริษัทขายเครื่องใช้สำนักงานและกล้องถ่ายรูป เงินเดือนน้อยประมาณ 10,000 บาท แต่ก็ต้องทำ
"ช่วงเปิดพอร์ต ผมเจ็บใจมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาใหม่ๆ โบรกเกอร์แห่งหนึ่งจะให้ผมเปิดพอร์ต 5 ล้านบาท ตอนนั้นผมคิดในใจใครจะมีเงินมากขนาดนั้น สุดท้ายผมก็ไปเปิดพอร์ตที่ บล.เกียรตินาคินประมาณ 300,000 บาท"
ตอนนั้นเขาไปขอเงินแม่มา 100,000 บาท ทั้งครอบครัวคงมีเงินอยู่เท่านั้น แต่แม่ก็ให้เพราะรักลูก ส่วนที่เหลืออีก 150,000 บาท ไปชวนเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาร่วมลงทุน เพราะเขาอยากเล่นหุ้นอยู่แล้ว

"ผมซื้อหุ้น บล.เอกธำรง (S-one) เป็นตัวแรก ตอนนั้นปี 2541 ในราคา 11.30 บาท ถือมาประมาณ 1 ปี ก็ขายในราคา 5.80 บาท (หัวเราะ) เรียกได้ว่า “ขาดทุนยับเยิน” เหลือเงินติดพอร์ตเพียง 120,000 บาท สุดท้ายก็แบ่งคนละครึ่งกับเพื่อน" นั่นคือความล้มเหลวแรกที่เจ้าตัวไม่เคยลืมเลือน
ช่วงนั้นเขายอมรับว่าในหัวสมองไม่มีวิชาการวิเคราะห์หุ้น วันๆ อ่านแต่บทวิเคราะห์อย่างเดียว แถมรู้จักธุรกิจที่ลงทุนเพียงผิวเผินเท่านั้น ผนวกกับตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาใหม่ๆ ทำให้รายได้ของโบรกเกอร์ไม่ดี จำได้ช่วงซื้อหุ้น S-one ดัชนีหุ้นไทยหล่นจาก 600 จุด มายืน 200 จุด
หลังจากขาดทุนหนักโจก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ภรรยาที่เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคบกันมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยได้ทุนไปเรียนต่อ โจใช้เวลาช่วงนั้นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงบการเงิน วันหนึ่งไปอ่านเจอบทความของอาจารย์ที่แนะนำการลงทุนเน้นคุณค่าทางอินเตอร์เน็ต
คนหนึ่งชื่อว่า Paul A Renaud ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทย เขาเป็นเจ้าของ www.thaistocks.com เขาจะสอนให้ซื้อหุ้นขนาดเล็กเน้นดูพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก แต่ตอนนั้นโจยังไม่รู้ว่าลงทุนแบบนี้เขาเรียกว่าแนว VI เพราะยังไม่มีการบัญญัติคำเหล่านั้นขึ้นมา
อีกคนชื่อ ปีเตอร์ อีริค เดนนิส นักลงทุนชาวออสเตรีย คนนี้ก็อยู่เมืองไทยเหมือนกัน เขาเขียนบทความลงคอลัมน์ "ถนนนักลงทุน" (ก่อนที่จะเป็นหนังสือกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ในปัจจุบัน) ความยาว 17 หน้า โจอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำขึ้นใจ บทความชิ้นนี้ทำให้รู้ว่า ชีวิตการลงทุนของคนที่จะประสบความสำเร็จได้ "คุณต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้น"

ประโยคหนึ่งในบทความบอกว่า ทำไม! คนไทยต้องไปต่อคิวซื้อธนบัตรที่ได้ดอกเบี้ยเพียง 6% ในขณะที่เมืองไทยมีหุ้นดีๆ ที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 10% ทุกปี ทำไม! ถึงไม่ซื้อ เขาถึงขนาดทนไม่ได้ต้องเขียนเป็นบทความออกมาให้นักลงทุนอ่าน
ปีเตอร์ เดนนิส (สมัยก่อนจะเห็นเขาอยู่ที่ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำ) เขาบอกว่า หลักการนี้เหมือนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันเขายังแนะนำวิธีการซื้อหุ้นเน้นดูอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio) อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และเงินปันผล รวมถึงคุณภาพบริษัท

"ผมใช้เวลาอ่านบทความต่างๆ ในช่วงที่อาศัยในสหรัฐอเมริกาประมาณ 2-3 ปี หลังอ่านจบทำให้รู้ว่าแนว VI มันมีเหตุผลมากกว่าเส้นเทคนิค เพราะมีคนทำสำเร็จมาแล้วแถมมีความเป็นไปได้มากกว่า ในอดีตเคยศึกษาเส้นเทคนิคมาประมาณครึ่งปี แต่พอรู้ว่ามันไม่สามารถทำให้ “รวย” ได้ ผมก็เลยเลิก"
เจ้าของพอร์ตหุ้นหลักร้อยล้าน เล่าต่อว่า ในช่วงที่ศึกษาการลงทุนก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไปด้วย ตอนนั้นเล่น “หนักมาก” โดยจะนำเงินที่ได้จากการทำงานเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารเกาหลีประมาณ 1 ปีครึ่งมาเป็นทุน จำได้ตอนนั้นปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มลงทุนแนว VI ทุกเดือนจะโอนเงินกลับเมืองไทยประมาณ 1,000 เหรียญ เพื่อเข้าบัญชีน้องสาว ซึ่งน้องจะนำไปซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ แม้จะโดนหักค่าโอนครั้งละ 5% แต่ก็ต้องยอมเพราะตอนนั้นหุ้นเมืองไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจมัน “ถูกมาก”

ช่วงนั้นเขาซื้อหุ้น 2 ตัว มูลค่าลงทุน 800,000 บาท แบ่งเป็นเงินของภรรยา 50% และของตัวเอง 50% โดย 400,000 บาท นำไปซื้อหุ้น วนชัย กรุ๊ป (VNG) ตอนนั้นลงทุนโทรไปหาโบรกเกอร์ เขาคิดว่าโจพูดชื่อหุ้นผิด เพราะเขาถามกลับว่าหุ้น เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) หรือเปล่า! โจบอกว่า "ไม่ใช่" (หัวเราะ)
เหตุผลที่ซื้อหุ้น VNG เขาบอกว่า ตอนนั้นไม่มีใครสนใจหุ้น VNG ในหนึ่งสัปดาห์แทบไม่มีการซื้อขาย ที่กล้าซื้อ เพราะช่วงนั้นหุ้นมีค่า P/E ที่ 1.5 เท่า นั่นแปลว่า เราทำกำไรแค่ 1 ปีครึ่ง ก็คุ้มกับราคาที่ซื้อแล้ว สมมุติราคาหุ้น 15 บาท ปีครึ่งบริษัททำกำไรได้ 15 บาท ถามว่า “ถูกมั้ย!..มันถูกมาก" (ลากเสียงยาว)
ส่วนอีก 400,000 บาท นำไปลงทุนในหุ้น อาร์ ซี แอล (RCL) ตอนนั้นซื้อมา 28 บาท จำได้ค่า P/E อยู่ที่ 2.5 เท่า เขาถือหุ้น 2 ตัวนี้ (VNG, RCL) เกือบปี แต่ราคาหุ้นแทบไม่ขยับตอนนั้นเริ่มสงสัย “เราคิดถูกหรือเปล่า!”

แต่สุดท้ายมาถึง “จุดเปลี่ยน” มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง รวมถึง Paul A. Renaud เขาสนใจหุ้น VNG หลัง Paul A. Renaud ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น VNG ผ่านมาเพียง 1 สัปดาห์ ราคาหุ้น VNG ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว หรือประมาณ 30 บาท

"ผมตัดสินใจเทขายหมดเกลี้ยง ทำให้ได้กำไรกลับมา 400,000 บาท ส่งผลให้พอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาท จากนั้นภายใน 1 ปี ราคหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า เพราะมันกลายเป็นหุ้นมวลชนหลายคนแห่เข้ามาเก็งกำไร ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น VNG ก็นำไปซื้อหุ้นตัวอื่นๆ กระจายออกไป 2-3 ตัว เช่น หุ้น ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (PPPC) เป็นต้น ปัจจุบันหุ้นตัวนี้ออกจากตลาดไปแล้ว ตอนนั้นแฮปปี้มากเพราะได้กำไรเกือบทุกตัว
โจลูกอีสาน ทิ้งท้ายว่า อยากเป็นนักลงทุนแนว VI ต้องใช้หลัก “ยิ่งนานยิ่งดี” โจใช้เวลา 7 ปี ในการทำผลตอบแทนให้ได้ 9 เท่า แต่ใช้เวลา 5 ปีหลัง ทำผลตอบแทนให้ได้ 400 เท่า นั่นเป็นเพราะกลยุทธ์ “มหัศจรรย์การทบต้น”
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์บอกไว้ว่า “ดอกเบี้ย" คือ สิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก โจปักใจเชื่อสนิทขณะที่คนส่วนใหญ่รอไม่ได้ จึงหันไปเก็งกำไร ซื้อหวย และเล่นพนันบอล ส่วนใหญ่ก็เห็นเจ๊งเป็นแถว

เขาอธิบายมหัศจรรย์ของ “กำไรทบต้น” ว่า สมมติเรามีเงิน 100 บาท สิ้นปีสามารถทำผลตอบแทนได้ 20% เท่ากับว่าสิ้นปีเราจะมีเงิน 120 บาท แทนที่จะเอา 20 บาท ไปกินขนม เราก็เอา 20% มาทบเป็นเงินต้น ดังนั้นต้นปีก็จะมีเงินต้น 120 บาท สมมติปีที่ 2 เราสามารถทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม กำไรก็จะเปลี่ยนเป็น 24 บาท เราก็เอา 24 บาท ไปทบต้นอีก ทำแบบนี้ไปทุกปีภายใน 10 ปี มันจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ทะลุฟ้า ฉะนั้นใครคิดอยากรวยเร็ว อย่ามาลงทุนแบบ VI

เรื่องราวของเซียนหุ้นบ้านนอกยังไม่จบ โจใช้เทคนิคแบบไหนถึงทำให้มูลค่าการลงทุนภายใน 12 ปีครึ่ง ทะยานขึ้นเป็น 9 หลัก ติดตามต่อไปในสัปดาห์หน้า..ห้ามพลาดเด็ดขาด!!
 
Tags : อนุรักษ์ บุญแสวง

http://www.nationejobs.com/content/money/sbenefit/template.php?conno=711

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 01, 2014, 03:42:04 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 1 September 2014

ตรวจสอบผู้บริหารแบบ VI

การวิเคราะห์ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนนั้นเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนบอกว่ายากเนื่องจากเราไม่ได้รู้จักใกล้ชิด  ผู้บริหารที่คนหรือสื่อบอกว่าดีนั้น  หลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องของ  “ภาพ”  มากกว่าความเป็นจริง    บริษัทที่มีผลงานที่โดดเด่นก็มักจะมีผู้บริหารที่คนเชื่อว่าดีและโดดเด่น   เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าผู้บริหารไม่ดีแล้วบริษัทจะดีได้อย่างไร?    ดังนั้น  บางคนจึงคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ผู้บริหาร  แค่เห็นว่าบริษัทดีเราก็สรุปได้แล้วว่าผู้บริหารก็คงจะต้องดี  และหลายคนก็คิดว่า  ถึงจะมีผู้บริหารที่ดีก็ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอะไรให้กับหุ้นที่จะลงทุน  เพราะคุณค่าของหุ้นนั้นสูงขึ้นตามผลประกอบการของบริษัทซึ่งรวมถึงผลงานของผู้บริหารอยู่แล้ว  การไปให้คุณค่ากับผู้บริหารอีกก็เท่ากับว่าเราไป  “นับซ้ำ”  อย่างไรก็ตาม  มีบางประเด็นที่น่าจะสามารถแยกแยะให้เห็นได้ระหว่างผู้บริหารที่ดีกับผู้บริหารที่ไม่ดีโดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประกอบการปกติของบริษัทในระยะสั้น

            ประเด็นแรกและสำคัญมากก็คือ  ดูการจัดสรรเงินของบริษัท  ผู้บริหารที่ดีจะต้องไม่ใช้จ่ายเงินแบบ  “มั่ว”  ต้องลงทุนในโครงการที่ดีซึ่งก็มักจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในความเชี่ยวชาญของบริษัทที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม  การ Take Over หรือซื้อธุรกิจอื่นก็จะต้องมาในแบบเดียวกันและจะต้องมีราคาที่ไม่แพงเกินคุณค่าที่ได้รับ  ผู้บริหารที่ไม่ดีมักจะใช้จ่ายเงินลงทุนหรือซื้อธุรกิจอื่นที่ไม่เหมาะสมซึ่งแม้ว่าบ่อยครั้งจะทำให้หุ้นวิ่งหรือปรับตัวขึ้นโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นกำลังอยู่ในช่วง “กระทิง”  แต่ในฐานะของ VI  เราควรจะมองว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี   ในระยะยาวมันจะทำให้บริษัทเสียหาย

           ในกรณีที่บริษัทมีเงินสดและไม่สามารถนำไปจัดสรรเพื่อลงทุนในโครงการที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีพอ   ผู้บริหารควรจะต้อง  “คืนเงิน” ให้ผู้ถือหุ้น   นั่นก็คือ  จ่ายปันผลในอัตราที่เหมาะสม  ซึ่งอาจจะมากกว่าที่เคยจ่ายตามปกติ  หรือไม่ก็  “ซื้อหุ้นคืน” ซึ่งก็คล้าย ๆ  กับการจ่ายปันผล  เพราะเป็นการ “คืนเงิน”ให้แก่  “ผู้ถือหุ้น” เหมือนกัน  แต่เป็นการคืนให้กับผู้ถือหุ้นบางคนเพื่อที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นปันผลที่ดีขึ้นในวันข้างหน้าถ้าราคาที่ซื้อหุ้นคืนนั้นต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท  อย่างไรก็ตาม  การซื้อหุ้นคืนในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าจำนวนมากนั้นไม่ได้เกิดจากเหตุผลดังกล่าว  หลาย ๆ  กรณีเป็นเรื่องของการ  “ดูแลราคาหุ้น”  ที่ตกลงไปมากโดยการเอาเงินบริษัทไป  “พยุง” ราคาไว้โดยไม่ได้พิจารณาว่าราคาหุ้นในขณะนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่   ดังนั้น  เวลาที่เห็นว่าบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนโดยที่เหตุผลนั้นไม่ชัดเจน   ผมก็มักจะคิดว่าบริษัทนั้นมีการบริหารงานที่ไม่ดี

            ประเด็นที่ VI ไม่ชอบเลย  ยกเว้นว่าจะมีคำอธิบายที่ดีพอและเป็นการกระทำที่จะสร้างความโปร่งใสครั้งเดียวให้จบ  ก็คือ  เรื่องของ Related Transaction  หรือการทำรายการระหว่างบริษัทกับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็น “เจ้าของ”  บริษัท  ในประเด็นนี้แม้ว่าจะมีการตรวจสอบโดย  “กรรมการอิสระ” และมีผู้ประเมินที่เป็น  “บุคคลภายนอก”  ผมก็ไม่เชื่อว่ามันจะมีความเที่ยงธรรมได้จริง ๆ  เพราะทั้งกรรมการอิสระและบุคคลภายนอกดังกล่าวนั้นต่างก็ถูกแต่งตั้งโดยบริษัทหรือผู้บริหาร  ดังนั้น  บริษัทที่มีรายการที่มีการ  “ขัดแย้งของผลประโยชน์”  บ่อย ๆ   หรือมีรายการที่  “น่าเกลียด”  อย่างแรงแม้เพียงรายการเดียว  สำหรับผมแล้ว  ผมมักจะถือว่าบริษัทอาจจะมีผู้บริหารที่ไม่ดี

           เรื่องที่สามนั้นแม้ว่าอาจจะดูว่าไม่กระทบกับบริษัทมากมาย  แต่ก็เป็นการ  “ส่งสัญญาณ”  ที่เตือนเราเหมือนกันว่าผู้บริหารอาจจะไม่ใคร่  “สมบูรณ์” นักก็คือ  การจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้บริหาร  “มากเกินไป” และอาจจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับผลประกอบการปกติของบริษัท  เพราะนี่เป็นเรื่องของการ  “เอาเปรียบบริษัท”  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นี่มักเป็นการอนุมัติโดยตัวเองหรือคนที่ตนเองมีอิทธิพลเหนือกว่า  หรือไม่ก็เป็นการอนุมัติโดยมีผลต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน   ดังนั้น  เวลาที่ผมพบว่าผู้บริหารได้รับผลตอบแทนที่  “สูงเหลือเชื่อ”  เปรียบเทียบกับขนาดและ Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นของกิจการ  โดยที่ผมไม่ได้คิดว่าเขามีส่วนในความสำเร็จมากมายอะไรของบริษัท   ผมก็มักจะไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับหุ้นแบบนี้

          เรื่องที่สี่คือ   ความโปร่งใสของผู้บริหาร  ผู้บริหารที่ดีนั้นควรจะต้องโปร่งใส ยิ่งเปิดเผยมาก  คะแนนคุณสมบัติของผู้บริหารก็ควรจะดีขึ้น  ผู้บริหารที่ไม่โปร่งใสมาก ๆ  นั้น  บางครั้งเราแทบจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นไปเลยเนื่องจากบริษัทอาจจะมีสิ่งที่เลวร้ายซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้และสิ่งที่เรารู้นั้นถูกทำลวงขึ้นมา   ความโปร่งใสเรื่องแรกก็คือเรื่องของระบบบัญชี  บริษัทที่มีระบบบัญชีที่ดีและมีการลงบัญชีแบบ  “อนุรักษ์นิยม”  มาก ๆ  นั้น  ควรจะต้องได้รับคะแนนที่ดีเทียบกับบริษัทที่มี “ลูกเล่น”  มาก  ตัวอย่างหนึ่งที่เราเคยพบในช่วงหนึ่งก็เช่น  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งใช้ระบบบัญชีที่ลงรายรับต่อเมื่อมีการโอนและรับเงินจากลูกค้าเรียบร้อยแล้ว  ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ จำนวนมากลงบัญชีรับรู้รายได้ตามการก่อสร้างหรือตามเกณฑ์อื่น   ในกรณีแบบนี้  ผมเองต้องให้คะแนนผู้บริหารบริษัทแรกสูงกว่า

           นอกจากเรื่องบัญชีแล้ว  การให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งที่ดีและไม่ดีต่อผู้ถือหุ้นเป็นระยะ ๆ  ตลอดเวลาก็เป็นการแสดงความโปร่งใสที่สำคัญ  บริษัทที่ผู้บริหารเก็บตัวเงียบและไม่ใคร่ยอมพบนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนเลยนั้น  ผมคิดว่าจะได้รับคะแนนผู้บริหารที่สูงไม่ได้    นอกจากนั้น  ผู้บริหารที่ดีก็ควรที่จะสามารถ  “รักษาคำพูด” ที่ตนได้ให้ไว้พอสมควร  ไม่ใช่พูดแล้วก็ผิดคำพูดมาก ๆ  ผู้บริหารที่ดีนั้น  ผมคิดว่าถ้าไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือคาดการณ์ถูกต้อง  ก็ไม่ควรจะพูดในเรื่องนั้น

            เรื่องที่ห้า  ผู้บริหารที่ดีนั้น  จะต้องดูแลไม่ให้บริษัทรับความเสี่ยงที่สูงเกินไป  ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้บริษัทปลอดภัยมากเกินไปจนกระทบกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นควรจะได้  สำหรับเรื่องนี้ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ  โครงสร้างเงินทุนของบริษัท  หรือพูดให้ชัดเจนก็คือ  สัดส่วนหรือปริมาณของหนี้ของบริษัทเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นหรือกำไรก่อนดอกเบี้ยของกิจการ   บริษัทที่มีหนี้มากเกินไปและอยู่ในกิจการที่มีความผันผวนของผลการดำเนินงานมากนั้น  จะเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด  และถ้าผู้บริหารไม่ได้ทำอะไรที่จะลดความเสี่ยงนี้  ก็ต้องถือว่าผู้บริหารไม่ดีพอที่จะได้รับคะแนนสูง ๆ   เช่นเดียวกัน  บางบริษัทมีเงินสดมาก  ไม่มีหนี้เลย  และธุรกิจก็ค่อนข้างสม่ำเสมอมาก  แต่บริษัทกลับจ่ายปันผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  แบบนี้ก็ต้องบอกว่าผู้บริหารไม่ดี  ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร

           สุดท้าย  เรื่องของโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็มีส่วนที่จะทำให้ผู้บริหารมีโอกาสที่จะได้คะแนนสูงหรือต่ำเช่นเดียวกันทั้ง ๆ  ที่เราอาจจะไม่ได้มีข้อมูลอะไรมากนัก  ตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผู้บริหารสูงสุดมักจะมาจาก  “สายการเมือง”  แบบนี้เรามักจะไม่ให้คะแนนผู้บริหารสูง   เหตุผลก็เพราะการคัดเลือกผู้บริหารอาจจะมาจากคุณสมบัติอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการบริหารงานมากนัก  หรือถึงจะได้คนที่โดดเด่นมาเป็นผู้บริหาร  แต่เขาก็อาจจะต้องทำงานหรือตัดสินใจเรื่องสำคัญบางอย่างในทางที่ไม่เป็นผลประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทได้  โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ดีอาจจะเป็นว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดกับรายรองลงมาที่มีจำนวนหุ้นใกล้เคียงกันที่เป็นสถาบันต่างประเทศที่น่าเชื่อถือและไม่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นใหญ่  และทั้งคู่ก็แต่งตั้งผู้บริหารที่เป็น  “มืออาชีพ” มาบริหารงาน  ถ้าเป็นแบบนี้  ผู้บริหารก็น่าจะได้คะแนนสูง  เพราะทุกอย่างจะมีเหตุผลและมีการ “คานอำนาจ” หรือตรวจสอบกันเป็นอย่างดี  เป็นต้น

           ทั้งหมดนั้นก็เป็นแนวทางที่จะใช้วิเคราะห์หรือตรวจสอบผู้บริหารนอกเหนือจากผลประกอบการระยะสั้นของบริษัท  ผมเองไม่รู้ว่าผู้บริหารดีนั้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทมากน้อยแค่ไหนแต่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนอยู่โดยเฉพาะในระยะยาว  ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดีเป็น ซุปเปอร์สต็อก

 
Posted by nivate at 11:12 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/09/01/1465

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 02, 2014, 02:36:44 pm
เลือกหุ้นสไตล์ ปีเตอร์ ลินซ์

Pick Stocks Like Peter Lynch


จากการเริ่มงานการจัดการกองทุนกับ Fidelity Fund ในเดือน พ.ค. 1977 ตอนนั้นกองทุนมีขนาดเพียง 20 ล้านเหรียญ แต่พอย่างเข้าปี 1980 Fidelity Fund ได้กลายเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสามารถเอาชนะตลาดได้เฉลี่ย 13.4% ต่อปี ถัดมาอีกเป็นเวลากว่า 20 ปี และนั้นก็ทำให้ ผู้จัดการกองทุนหนุ่มที่ชื่อ Peter Lynch (ปีเตอร์ ลินซ์) ได้กลายเป็นผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกคนหนึ่ง
Peter Lynch ประสบความสำเร็จด้านการลงทุนได้โดยการใช้หลักการการลงทุนเบื้องต้นที่เข้าใจง่าย ซึ่งเขายินดีที่จะแบ่งกันให้กับนักลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า จากหนังสือที่เขาเขียนหลายเรื่อง และหนึ่งเล่มที่ถือเป็นคัมภีร์สำหรับนักลงทุนแนว Value Investor ก็คือ “One up on Wallstreet” ลินซ์เชื่อมั่นว่า “นักลงทุนรายย่อยมีข้อได้เปรียบเหนือกว่านักลงทุนสถาบัน” เพราะกองทุนขนาดใหญ่ไม่สามารถจะลงทุนได้อย่างเต็มที่ในบริษัทเติบโตดีแต่มีขนาดเล็กซึ่งข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้น โดยที่หุ้นเหล่านี้ สุดท้ายเมื่อผลประกอบการแสดงชัดขึ้น ขนาดของกิจการขยายใหญ่ขึ้น ก็จะทยอยเข้าาตานักวิเคราะห์ของนักลงทุนสถาบันในเวลาต่อมา และสุดท้ายจะกลายเป็นหุ้นบลูชิพ ที่สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุนจริงๆ
แต่ถึงอย่างนั้น กองทุน Fedelity ของเขา ก็สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะเวลาที่ทำให้นักลงทุนรายสงสัย และกลับมามองตัวเองว่า แล้วปัจจัยใดที่ทำให้ กองทุนของเขา สามารถผลตอบแทนได้ดี ทั้งๆทีมีข้อจำกัดอย่างที่เขาบอก
อย่างที่บอกว่า ปีเตอร์ ลินซ์ ได้เขียนหนังสือเพื่อแบ่งปันแนวคิดของเขาไว้หลายเล่ม เพื่อที่จะเข้าใจหลักการการลงทุนของเขา จริงๆแล้ว สามารถสรุปได้ 3 ข้อหลักๆ ตามนี้

ปรัชญาของลินซ์
ลินซ์ได้แต่งหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนไว้หลายเล่ม แก่นของหลักการลงทุนสรุปได้ 3 ข้อหลักๆ


1. Only Buy What You Understand

เครื่องมือที่ลินซ์ใช้ในการค้นหาหุ้นก็คือ ตา หู และสามัญสำนึก ลินซ์ภาคภูมิใจอย่างมากที่หุ้นห่านทองคำหลายตัวของเขาถูกค้นพบในที่ที่เขาเดินไปตามร้านขายของชำ พูดคุยกับเพื่อนฝูงและกับครอบครัว
เราก็เช่นกันสามารถจะวิเคราะห์หุ้นในเบื้องต้นจากการดูทีวี, อ่านหนังสือพิมพ์, หรือฟังวิทยุ เมื่อเราขับรถไปตามถนนหรือท่องเทียวในวันหยุด ไอเดียการลงทุนใหม่ๆ ก็จะผุดขึ้นมา กล่าวได้ว่าหุ้นทั้งหมดในตลาดเป็นธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการพวกเราที่เป็นผู้บริโภครายย่อย ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งประทับใจเราในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ก็ย่อมจะตรึงใจเราในฐานะของนักลงทุนเช่นกัน

2. Always Do Your Homework

การสังเกตและรวบรวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับหุ้นเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ความคิดที่เลิศหรูทั้งหมดจำเป็นต้องตามมาด้วยการค้นคว้าอย่างชาญฉลาด แต่อย่าทึกทักเอาว่าวิธีค้นหาห่านของลินซ์ช่างง่ายเสียจริง เมื่อมาถึงขั้นตอนการวิเคราะห์จะต้องละเอียดและแม่นยำ ซึ่งนี่ก็คือกุญแจความสำเร็จของลินซ์ เมื่อไอเดียดีๆ ผุดขึ้นมาในใจแล้ว ลินซ์จะมองหามูลค่าพื้นฐานหลายๆ ตัวเลข ซึ่งเป็นคุณลักษณะของหุ้นที่มีคุณค่าต่อการซื้อ

- เปอร์เซ็นต์ยอดขาย ถ้าหากมีสินค้าตัวใดเตะตาคุณ ต้องแน่ใจว่าเปอร์เซ็นต์ยอดขายนั้นสูงมากพอ ถ้าสินค้าดีแต่มียอดขายเพียง 5% ก็จะไม่ส่งผลต่อยอดกำไรสุทธิของบริษัท

- PEG Ratio ค่าอัตราส่วนนี้เป็นการประเมินอัตราการเติบโตของผลกำไร เพื่อการให้น้ำหนักความคาดหวังกับหุ้นตัวนี้มากน้อยเท่าไร บริษัทที่เรามองหาย่อมจะต้องมีการเติบโตที่แข็งแกร่งและราคาเหมาะสม หุ้นแข็งแกร่งที่เติบโตมากกว่าจะมี PEG Ratio เท่ากับ 2 หรือมากกว่า แสดงว่าผลกำไรได้สะท้อนไปในราคาหุ้นแล้ว เหลือช่องว่างให้ผิดพลาดได้เพียงเล็กน้อย (ค่า PEG Ratio ต่ำแสดงว่าราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่า)

- สนใจบริษัทที่มีกระแสเงินสด (Cash Flow) แข็งแกร่ง และสัดส่วนของหนี้ต่อทรัพย์สินน้อย การบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างชาญฉลาดและมีกระแสเงินสดมาก จะช่วยให้บริษัทสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ทุกสภาวะ

3. Invest for the Long Run

ลินซ์เคยกล่าวไว้ว่า ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา เขาเข้าใจแล้วว่า ถ้าอยากจะรู้ว่าราคาหุ้นจะสูงหรือต่ำในอีก 23 ปีข้างหน้านั้น ไม่ยากเลย ที่คุณทำก็แค่เพียง โยนเหรียญหัวก้อยเท่านั้น!!
สิ่งที่ลินซ์พูด แปลว่าอะไร?
ลินซ์ กำลังบอกเราว่า ปรัชญาการลงทุนของเขา ก็คือ เกาะติดสถานการณ์ มีความรู้เข้าใจในบริษัทที่ลงทุน และตราบเท่าที่สิ่งที่นักลงทุนมองไว้ มันยังไม่เปลี่ยนแปลง นักลงทุนที่มีเหตุผล ก็ไม่ควรจะขายหุ้นนั้นออกจากพอร์ต ด้วยหลักการเช่นนี้ ทำให้ ลินซ์เป็นหนึ่งในผู้จัดการลงทุนที่ไม่เชื่อเรื่องการ TIming หรือ การพยายามจับจังหวะตลาด หรือพยายามคาดการณ์ทิศทางของเศรษฐกิจ เพราะ ถ้าบริษัทแข็งแกร่งจริง กำไรสุทธิก็จะสูง และหุ้นก็จะมีราคาสูงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น งานที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ “การค้นหาบริษัทที่ยิ่งใหญ่ให้เจอ”
ลินซ์ ยังได้ย้ำให้เห็นที่จุดอ่อนของการมองสิ่งใดเพียงแต่ในระยะสั้นๆ ยกตัวอย่าง ผู้จัดการกองทุนหลายๆคนที่เป็นเพื่อนร่วมอาชีพของเขา มักจะขายหุ้นตัวดีๆ เพียงแค่ใช้เหตุผลว่า มันวิ่งมาเยอะแล้ว แล้วเอาเงินที่ได้จากการขายไปถือหุ้นแย่ๆ เข้ามาในพอร์ต ด้วยเหตุผลที่ว่า ราคามันยังถูกแสนถูก
ซึ่งวิธีนี้ ลินซ์ เรียกว่า pulling the flowers and watering the weeds (เด็ดดอกไม้มาเชยชม แต่ก็ต้องระทม เริ่มต้นปลูกใหม่)

โดยสรุป วิธีการลงทุนของลินซ์นั้น มีทั้งในส่วนที่ง่าย และส่วนที่ยาก ซึ่งมันก็แน่นอนอยู่แล้วว่า ทางสู่ความสำเร็จ มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่สิ่งหนึ่งที่ลินซ์มั่นใจก็คือ เหมือนนักลงทุนเริ่มต้นด้วยหลักการที่ถูกต้องแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว ความสุขจากการเห็นหุ้นในพอร์ตเติบโตเรื่อยๆ จะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว ส่วนระหว่างทาง คุณจะได้อะไรไป สิ่งนั้นก็คือ “ความสนุก” นั้นเอง

ที่มา:
http://www.iammrmessenger.com/?p=409

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 13, 2014, 03:00:57 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 8 September 2014

ลงทุนหุ้นทั่วโลกแบบ VI



ย้อนหลังไปเพียงไม่กี่ปีผมแทบจะไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งตนเองจะออกไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ  ในตอนนั้นผมคิดแต่เพียงว่าเมืองไทยใหญ่พอสำหรับเม็ดเงินเล็ก ๆ  ของเรา  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ประเทศไทยยังค่อนข้างจำกัดไม่ให้คนไทยโดยเฉพาะที่เป็นบุคคลธรรมดานำเงินออกนอกประเทศ  นอกจากนั้น  ข้อจำกัดต่าง ๆ  เช่น  ความรู้ความเข้าใจในตัวกิจการ  ภาษา  วัฒนธรรม ระบบการค้าและเศรษฐกิจ และอื่น ๆ  ของหุ้นต่างประเทศยังทำให้ผมรู้สึกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศนั้นควรเป็นเรื่องของเด็กรุ่นหลังหรือรุ่นลูกที่มีความคุ้นเคยกับการสัมผัสเกี่ยวข้องกับนานาชาติมากกว่าเรามาก  อีกทั้งการ  “เปิดเสรี” ของประเทศต่าง ๆ  ที่ทำให้ความแตกต่างของแต่ละประเทศน้อยลงไปเรื่อย ๆ  ในอนาคตน่าจะทำให้การลงทุนต่างประเทศกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับ “เด็กรุ่นหลัง”   แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป  วันนี้ผมได้เริ่มลงทุนซื้อหุ้นต่างประเทศเป็นครั้งแรก  ทุกอย่างมาเร็วกว่าที่ผมเคยคิด  การลงทุนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องในอนาคตของลูกหลานอีกต่อไป  มันเป็นเรื่องของนักลงทุนในวันนี้  แน่นอน  อุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ  ที่กล่าวถึงก็ยังมีอยู่ไม่น้อย  แต่สิ่งที่ดีและข้อได้เปรียบของการไปลงทุนในต่างประเทศก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ  ลองมาดูกันว่าลงทุนหุ้นต่างประเทศดีอย่างไร

           ข้อแรกผมอยากที่จะมอง  “ภาพใหญ่”  ก่อนนั่นก็คือ  ถ้ามองว่าแต่ละประเทศเป็น  “หุ้น” ตัวหนึ่งโลกนี้ก็จะมีหุ้นอาจจะซัก 100-200 ตัว   “หุ้นประเทศไทย”  หรือตลาดหุ้นไทยก็คือหุ้นตัวที่เราลงถ้าเราลงทุนแต่ในประเทศ  การที่เราลงแต่หุ้นไทยนั้น  ถ้ามองย้อนหลังไปโดยเฉพาะหลังจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ก็ต้องบอกว่าเราลงทุนหุ้นถูกตัว  เพราะหุ้นประเทศไทยเวลานั้นน่าจะเป็นหุ้น “คุณภาพดี ราคาถูก”  คำว่าคุณภาพดีก็คือ  ประเทศมีการเติบโตของเศรษฐกิจสูง  เป็น  “หุ้นเติบโต” นอกจากนั้น  ถ้ามองไปในอนาคต “กิจการ” หรือประเทศก็ยังน่าจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงเนื่องจากประชากรอยู่ในวัยทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าแรงก็ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ  ที่มีฝีมือใกล้เคียงกัน  อาจจะเรียกได้ว่าหุ้นประเทศไทยมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนหรือมี Durable Competitive Advantage เทียบกับหลาย ๆ ประเทศ   ส่วนในด้านของราคานั้น  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยก็ค่อนข้างต่ำไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ก็ไม่เกิน 1 เท่า  ดังนั้น  หุ้นประเทศไทยในอดีตน่าจะเป็น  “หุ้นคุณค่า” และการลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็มีเหตุผลเต็มที่

            ถึงปัจจุบัน  ผมคิดว่าสถานการณ์ของไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย  การเติบโตของเศรษฐกิจช้าลงไปมากโดยที่ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเริ่ม “ช้าลงอย่างถาวร” หรือยัง  ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ  คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าจะกลายเป็น “สังคมคนสูงอายุ” ในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า  ความสามารถในการแข่งขันก็ดูเหมือนจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่มีโครงสร้างประชากรหนุ่มสาวมากกว่า  แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่อง “คุณภาพ” ของกิจการหรือของประเทศก็คือเรื่องของ  “ราคา”  ของหุ้นที่ได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างสูง  ค่า PE ของตลาดหุ้นขึ้นไปถึงประมาณ 18 เท่าซึ่งเท่า ๆ  กับหรือสูงกว่าหุ้นของประเทศที่มี  “คุณภาพสูง” อย่างหุ้นสหรัฐ  ในเวลาเดียวกัน  หุ้นของประเทศอย่างจีน  เกาหลีใต้ และเวียตนามซึ่งน่าจะมีคุณภาพที่ไม่ด้อยกว่าประเทศไทยต่างก็มีราคาลดลงมากกลายเป็น  “หุ้นถูก”  มีค่า PE ของตลาดต่ำกว่า 10 เท่า  หากมองแบบนี้  หุ้นไทยก็อาจจะไม่ใช่หุ้น “Value”  อีกต่อไปเมื่อเทียบกับหุ้นของหลาย ๆ ประเทศที่กล่าวถึง  ดังนั้น  การ Switch หรือย้ายหุ้นลงทุนจึงอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดี

           แน่นอน  VI ส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาด  แต่ซื้อหุ้นเป็นรายตัว ดังนั้น  ก็เป็นไปได้ว่ายังมีหุ้นบางตัวในตลาดหุ้นไทยที่คุ้มค่าและสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้  อย่างไรก็ตาม  ในยามที่  “ภาพใหญ่” ไม่เอื้ออำนวย  “ภาพเล็ก”  นั่นก็คือ  การหาหุ้นดีราคาถูกก็ยากขึ้นและโอกาสเจอหุ้นที่ดีเลิศเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพ-ราคาก็ยากขึ้นมาก  มันเป็นเรื่องง่ายกว่ามากที่จะหาหุ้นดี-ราคาถูกหรือถูกมากในยามที่ตลาดหุ้นโดยรวมมีราคาที่ต่ำมากและเศรษฐกิจกำลังเติบโตสูง—อย่างเช่นตลาดหุ้นไทยหลังปี 2540 ประมาณ 3-4 ปี  หรือตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งในปีนี้

           คำถามสำคัญต่อมาก็คือ  ถ้าเราจะไปลงทุนต่างประเทศ  เราจะไปตลาดประเทศไหนและด้วยกลยุทธ์หรือเลือกหุ้นอย่างไร?  คำตอบผมนั้นคงจะมองแบบ “ภาพใหญ่”  อีกเช่นกันและน่าจะมี 3 ทางเลือกที่น่าสนใจนั่นคือ  ทางเลือกที่หนึ่ง  เลือกการลงทุนแบบ  “หุ้นประเทศ”  นั่นก็คือ  ประเทศที่มีคุณภาพดี-ราคาถูก  หรือคุณภาพไม่ดีแต่ราคาถูกมากที่คุ้มค่าแบบแนว “ก้นบุหรี่”  นั่นก็คือ  เลือกลงทุนกองทุนหุ้นอิงดัชนีของประเทศที่เราคิดว่าอยู่ในข่ายดังที่กล่าว  นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ง่ายเพราะมีโบรกเกอร์ที่เปิดขายหน่วยลงทุนมากมายในช่วงเร็ว ๆ  นี้

           ทางเลือกที่สองก็คือ  การลงทุนซื้อหุ้นหรือเลือกหุ้นต่างประเทศเอง  โดยเลือกซื้อเฉพาะหุ้นที่เราพอจะเข้าใจธุรกิจของบริษัทเพราะมันเป็นบริษัท  “ระดับโลก”  ที่มีสินค้าขายทั่วโลกและเราเองก็รู้จักดีและมักจะเป็นลูกค้าด้วย เช่น เฟซบุคหรือหุ้นกูเกิล  ในราคาหุ้นที่ไม่แพงเมื่อคำนึงถึงศักยภาพในอนาคตของบริษัท  พูดง่าย ๆ  เราเลือกหาหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” ในช่วงที่มันยัง  “ไม่อิ่มตัว”  ยังมีโอกาสที่ธุรกิจจะขยายตัวอีกมากโดยเฉพาะในตลาดของประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย  กลยุทธ์นี้เป็นวิธีการลงทุนแบบหุ้นน้อยตัวและเราสามารถติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ได้  เราไม่ต้องกังวลมากในประเด็นการลงทุนอื่น ๆ  เนื่องจากบริษัทมักจะมีขนาดใหญ่และมีมาตรฐานในระดับสากล  เราเพียงแต่ต้องดูผลประกอบการและการขยายตัวหรือหดตัวของธุรกิจและเรื่องของการแข่งขันของคู่แข่งที่อาจจะมีมาโดยไม่คาดฝัน  และดูว่าราคาหุ้นยังไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพของกิจการ เป็นต้น

          ทางเลือกที่สามที่ผมใช้อยู่ก็คือ  เลือกหุ้นขนาดเล็กและราคาถูกของประเทศที่กำลังเติบโตหรือยังเติบโตได้โดยไม่ได้สนใจเรื่องของคุณภาพของกิจการ  นี่คือแนวการลงทุนแบบ เบน เกรแฮม  หรือแนวหุ้นก้นบุหรี่  โดยวิธีนี้เราจะต้องซื้อหุ้นจำนวนมากพอสมควรเพื่อกระจายความเสี่ยง  นอกจากนั้น  เราอาจจะไม่ถือหุ้นยาวมากนัก  เมื่อหุ้นมีการปรับตัวขึ้นหรือผลประกอบการลดต่ำลง  เราก็อาจจะต้องทยอยขายและปรับพอร์ตไปเรื่อย ๆ  โดยใช้เกณฑ์หลักก็คือ  ซื้อหุ้นถูก-ขายหุ้นแพง  ด้วยการทำแบบนี้  ผมหวังว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีตลาด  เหตุผลที่ผมเลือกวิธีนี้ที่สำคัญก็คือ  เราไม่รู้จัก  “คุณภาพ”  ของกิจการของหุ้นในต่างประเทศที่ไม่ได้เป็นหุ้น  “สากล”  และเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกอย่างหุ้นในแนวทางที่สอง  สิ่งที่เรารู้ก็คือข้อมูลตัวเลขรายได้  กำไร  และปันผล  รวมถึง อัตราส่วนต่าง ๆ ทางการเงิน  เราไม่รู้ว่าจริง ๆ  บริษัททำอะไรและมีความสามารถในการแข่งขันแค่ไหน  ว่าที่จริงในบางกรณีเราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์การทำธุรกิจของประเทศนั้นเป็นอย่างไร  เราลงทุนเพราะเราต้องการ  “ซื้อการเติบโตของประเทศ”  ในยามที่ราคาหุ้นยังถูกมาก  ซึ่งก็อาจจะคล้าย ๆ  กับการ  “ซื้อหุ้นประเทศไทย”  ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งได้สร้างผลตอบแทนมหาศาลให้กับคนที่ทำ  ส่วนตัวผมเองก็หวังว่าผมจะมีโอกาสทำมันซ้ำอีกในต่างประเทศ

            ไม่ว่าจะลงทุนแนวทางไหน  การลงทุนในต่างประเทศนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในประเทศมาก  ความเสี่ยงนั้นนอกจาก  “ความไม่รู้”  แล้ว  ยังรวมถึงความเสี่ยงของค่าเงิน  กฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ของการนำเงินออก  และกฎหมายต่าง ๆ  ของประเทศนั้น ๆ  มีบ่อยครั้งที่เราทำกำไรได้จากการลงทุนแต่กลับมาขาดทุนจากเรื่องอื่น ๆ  เช่น เรื่องของค่าเงินที่เปลี่ยนแปลง  ดังนั้น  คนที่จะไปต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ให้มาก  สำหรับคนที่มีพอร์ตเล็กเกินไปแล้วผมเองคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศยังไม่จำเป็นและไม่เหมาะนัก  แต่สำหรับคนที่มีพอร์ตค่อนข้างใหญ่  ผมคิดว่าการคิดถึงการลงทุนในต่างประเทศนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างแน่นอน   
 
Posted by nivate at 11:33 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/09/08/1468

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 15, 2014, 10:03:16 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 15 September 2014

หุ้นดีต้องมีคู

เงื่อนไขหรือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนระยะยาวในหุ้นของผมก็คือ  ดูว่าบริษัทมี “Moat” หรือ  “คูเมือง” สำหรับป้องกัน  “ข้าศึก” ที่จะเข้ามา “โจมตี”  แย่งชิงทรัพย์สมบัติของ  “ปราสาท” หรือบริษัทของเราหรือไม่   ความหมายของ Moat หรือคูเมืองก็คือ  ความได้เปรียบที่ทำให้บริษัทสามารถตั้งราคาขายสินค้าสูงกว่าปกติหรือ  “ขายอยู่คนเดียว”  และทำกำไรได้สูงกว่า  “ต้นทุนเงินทุน”  ของบริษัทโดยที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแย่งชิงธุรกิจได้—อย่างถาวร  หรือยาวนานอย่างน้อย 5-10 ปีขึ้นไป

            ที่มาของ Moat หรือคูเมืองหรือคูของกิจการหรือบริษัทนั้น  มีอยู่ 4 ประการหลัก ๆ คือ: เรื่องแรก  ความได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตหรือให้บริการของบริษัท  บริษัทที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งนั้น  จะต้องเป็นการได้เปรียบอย่างถาวรหรือยาวนาน  ยิ่งยาวนานเท่าไร  “คู”  ก็  “กว้าง” ขึ้นเท่านั้น  และคูที่กว้างก็เป็นเครื่องที่แสดงว่าบริษัทมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นตามกันไป   ถ้าจะนิยามว่ายาวนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าบริษัทมี  Moat  ผมก็อยากกำหนดว่า 5 ปี นั้นจะเป็นบริษัทที่มีคู “แคบ”  10 ปีก็น่าจะเป็นคูที่กลาง ๆ  และถ้าเกิน 20 ปีขึ้นไปเรียกว่าบริษัทมีคูที่กว้างซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติอย่าง  “ถาวร”  และดังนั้นจึงมีคุณสมบัติยอดเยี่ยมและสมควรที่หุ้นจะมีราคาแพง  มีค่า PE สูงได้มาก  ในขณะที่หุ้นที่ไม่มีคูเลยนั้น  ไม่ควรที่จะมีค่า PE ปกติสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า PE เกิน 10 เท่าขึ้นอยู่กับว่าค่าไหนต่ำกว่ากัน

           ต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งนั้น  ส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากเรื่องของ Economies of Scale (EOS) หรือขนาดของธุรกิจที่เหมาะสมซึ่งก็มักจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งทำให้ต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยต่ำกว่า  แต่ประเด็นที่สำคัญนั้นยังอยู่ที่ความสามารถหรือความตั้งใจของคู่แข่งที่จะขยายขนาดกิจการให้ใหญ่ขึ้นจนมี EOS หรือไม่  และถ้าเป็นอย่างนั้น  ความได้เปรียบของบริษัทก็จะหมดไปในไม่ช้า   โดยปกติแล้ว  คู่แข่งก็มักจะพยายามขยายขนาดเพื่อลดต้นทุน  แต่ในหลาย ๆ  กรณี  ขนาดของตลาดนั้นอาจจะไม่ใหญ่พอ  ถ้าขยายกำลังการผลิต  สินค้าก็อาจจะล้นตลาดและทำให้ราคาลดลงมากซึ่งจะทำให้  “ตายกันทั้งคู่”  ดังนั้น  แรงจูงใจที่จะขยายกำลังการผลิตก็ไม่มี  บริษัทที่ยึดกุมตลาดอยู่ก็ถือว่ามี  “คู”  ที่ป้องกันคู่แข่งได้  จะยาวนานแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป

           ต้นทุนต่ำนั้นยังอาจจะมีที่มาจากการที่บริษัทเป็นเจ้าของทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าราคาในตลาด  ตัวอย่างเช่นบริษัทเป็นเจ้าของเหมืองทอง  เหมืองถ่านหิน  หรือบ่อน้ำมันที่ค้นพบมานานและต้นทุนในการได้มาต่ำกว่าราคาปัจจุบันมากและมีปริมาณของแร่สูงสามารถใช้ไปได้นานมาก  แบบนี้  บริษัทก็จะสามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติไปอีกนาน

           แหล่งของคูเมืองที่สำคัญแหล่งที่สองก็คือเรื่องของ  Intangible Assets หรือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้  ซึ่งตัวใหญ่ก็คือ Brand หรือยี่ห้อสินค้าที่เป็นที่นิยมสูงจนคนเลือกที่จะซื้อมากกว่าของคู่แข่งการเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักแพร่หลายหรือดังแต่คนไม่ได้จำเพาะหรือเลือกที่จะใช้จริง ๆ  นั้นไม่อยู่ในข่ายนี้  ตัวอย่างเช่นน้ำดื่ม  แบตเตอรี่  ปูนซีเมนต์  เหล่านี้เราจะไม่ถือว่ามันจะเป็น  “คู” ที่มีค่ากีดกันคู่แข่งได้  แต่ถ้าเป็นแบรนด์อย่างกระเป๋าหลุยส์วิตตองหรือนาฬิกาโรเล็กซ์ แบบนี้ก็ต้องถือว่ามันเป็นแบรนด์ที่คนเลือกและยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อที่จะซื้อ  ดังนั้น  มันจึงเป็นธุรกิจที่มีคูที่กว้าง

          นอกจากแบรนด์แล้ว  ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้แต่มีค่าที่สำคัญก็คือเรื่องของสิทธิบัตร  เช่น สิทธิบัตรยาที่เป็นแหล่งของคูที่มีค่ามากของบริษัทยาในต่างประเทศ  อย่างไรก็ตามในตลาดหุ้นไทยเราน่าจะมีบริษัทที่หากินกับสิทธิบัตรน้อย  สิ่งที่อาจจะเปรียบเทียบได้บ้างก็อาจจะเป็นสิทธิหรือสัมปทานหรือสัญญาที่บริษัทจดทะเบียนได้ทำไว้กับหน่วยงานรัฐที่บริษัทได้ทำไว้นานแล้วและสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้บริษัทได้เปรียบหรือได้กำไรดีกว่าปกติ  หรืออาจจะเป็นสัญญาที่บริษัทได้ประโยชน์มากกว่าที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลร้อยแปดที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออก  อย่างไรก็ตาม  “คู” ในลักษณะแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะไม่ใช่คูที่กว้างนัก  เหตุผลก็คือ  ระยะเวลาในการทำกำไรสูงกว่าปกติอาจจะไม่นานนักและโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยต่าง ๆ  รวมถึง  “การเมือง”  ก็มักจะสูง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  คูเหล่านี้มักจะมีแนวโน้มที่จะ  “แคบ”  ลงไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้คุณภาพหุ้นลดลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่คูแบบอื่นนั้นอาจจะมีโอกาส  “กว้าง”  ขึ้น  ซึ่งก็จะทำให้หุ้นนั้นพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ

           คูอีกแบบหนึ่งคือเรื่องของ  “Switching Cost”  หรือ  “ต้นทุนในการเปลี่ยนผู้ให้บริการ”  นี่เป็น “ต้นทุน” ที่ทำให้คนที่ใช้บริการบริษัทเราอยู่แล้วไม่เปลี่ยนไปใช้ผู้บริการอื่นแม้ว่าเราอาจจะคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นที่จะทำให้เราได้กำไรมากกว่าปกติ  เหตุผลก็คือ  มันไม่คุ้มที่จะเปลี่ยน  เพราะถึงแม้จะได้ลดราคาจากผู้ให้บริการรายอื่น  แต่เขาอาจจะได้บริการที่แย่ลงหรือต้องทำงานอย่างอื่นมากขึ้น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นการเปลี่ยนโรงพยาบาลซึ่งจะทำให้เราต้องเจอหมอคนใหม่ที่ไม่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยของเราที่ทำให้เราไม่สบายใจในการไปรับการรักษา  หรืออย่างในกรณีของการย้ายบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ  ซึ่งในอดีตนั้นต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์หรือแม้แต่ปัจจุบันเราก็ยังต้องไปทำเรื่องต่าง ๆ  ที่อาจจะไม่ใคร่สะดวก  ดังนั้น  ถ้าไม่ได้อะไรที่ถูกกว่าจริง ๆ แล้ว  เราก็มักจะไม่ใคร่อยากย้ายผู้ให้บริการ  ดังนั้น  ถ้าเราพบว่าลักษณะของบริการของบริษัทนั้นมี Switching Cost สูง  โอกาสก็เป็นไปได้ว่าบริษัทจะมีคูที่จะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้สูงกว่าต้นทุนเงินทุน  และดังนั้นมันจึงสามารถมีค่า PE สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดได้

           คูเรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องของ  “Network Effect” หรือ  “คุณค่าของการอยู่ในเครือข่าย”  นี่ก็คือข้อได้เปรียบที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถเข้าแย่งชิงธุรกิจและทำให้บริษัทที่มีเครือข่ายที่ใหญ่จะได้เปรียบเครือข่ายที่เล็ก  เนื่องจากประโยชน์ของธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของคนที่อยู่ในธุรกิจ  ตัวอย่างเช่นพวกสื่อสังคมเช่น  Face Book หรือ Line หรือเวบไซ้ต์การประมูลขายสินค้าเช่น E-Bay นั้น  ลูกค้าผู้ใช้อยากใช้บริการเนื่องจากมันเป็นบริษัทที่มีคนเข้ามาใช้กันมากซึ่งทำให้เขาได้ประโยชน์สูงสุดในการติดต่อคนอื่น ๆ  ในเครือข่ายเดียวกัน  ที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับคูประเภทนี้ก็คือ  มันจะเป็นคูที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ  และโอกาสที่คู่แข่งจะเข้ามาแข่งก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น  หุ้นของบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้วยคูชนิดนี้จึงเป็นหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกอย่างแท้จริง

          สุดท้าย  ผมขอสรุปรวบยอดของเรื่อง Moat หรือคูเมืองว่า   มันจะทำให้บริษัทที่มีคูมีกำไรสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับต้นทุนเงินทุนของบริษัท  ถ้าจะดูง่าย ๆ  ก็คือดูว่าบริษัทมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ  เช่น  บางบริษัทมี ROE สูงกว่า 20% ต่อปีต่อเนื่องยาวนานเป็นต้น  นอกจากนั้น  บริษัทที่มีคูกว้างจะสามารถทำกำไรสูงกว่าปกติได้นานกว่า 20 ปี ในขณะที่บริษัทที่มีคูที่แคบอาจจะมีโอกาสทำกำไรสูงได้ไม่เกิน 10 ปี  อย่างไรก็ตาม  คูของแต่ละบริษัทอาจจะกว้างขึ้นหรือแคบลงเมื่อเวลาผ่านไป  บริษัทที่คูกว้างขึ้นก็คือบริษัทที่มีการพัฒนาความได้เปรียบของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่บริษัทที่มีคูแคบลงก็คือบริษัทที่ด้อยลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่พัฒนาตัวขึ้น ทั้งหมดนี้เราจะต้องคอยจับตาดูในเรื่องของการแข่งขันตลอดเวลา  ถ้าเรารู้ว่าคูของบริษัทกว้างแค่ไหนและมันมีแนวโน้มจะกว้างขึ้นหรือแคบลงเราก็สามารถนำมาช่วยตัดสินใจลงทุนได้  สำหรับบริษัทที่เราดูแล้วไม่มีคูหรือมีคูที่แคบมากแต่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่วคิดจากค่า PE  สิ่งที่เราต้องทำก็คือขาย  และนี่ก็คือศิลปะอย่างหนึ่งของ VI ที่ต้องเรียนรู้
 
Posted by nivate at 11:35 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 16, 2014, 12:43:54 am


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “การลงทุน ไม่ใช่การเล่นหุ้น”

“ทำไมไม่ทำธุรกิจบ้าง” เพาพิลาส เหมวชิรวรากร เอ่ยถามสามี ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

“ผมทำอยู่แล้ว” ดร.นิเวศน์ ตอบภรรยาสั้นๆ แต่ได้ใจความ

(http://image.ohozaa.com/i/40e/1FhlAs.jpg)

ตลอดเกือบ 12 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าธุรกิจของ ดร.นิเวศน์เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างงดงาม เป็นที่อิจฉาของใครต่อใครหลายๆ คน และดร.นิเวศน์ไม่ได้เป็นเจ้าของแค่ธุรกิจเพียงแห่งเดียว และอาจจะพูดได้ว่าเป็นบุคคลที่มีธุรกิจหลาย 10 ธุรกิจ และแต่ละธุรกิจเป็นผู้นำทางธุรกิจชนิดคู่แข่งแทบจะวิ่งไม่ทัน

ขอยกตัวอย่างบริษัทของ ดร.นิเวศน์ มาให้อิจฉากัน เริ่มจาก บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF), บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF), บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY), บมจ.ไทยสโตเรจ แบตเตอรี่ (BAT-3K) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.เสริมสุข (SSC) และ บมจ.ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)

นิยามแห่งความเป็นเจ้าของธุรกิจของ ดร.นิเวศน์ ไม่ใช่เป็นผู้ก่อตั้ง บุกเบิกแล้วค่อยก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา แต่ใช้ความเป็นเจ้าของผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหุ้นแล้วก็ถือไปยาวๆ เพื่อรอรับเงินปันผลในแต่ละปี

“บริษัทของเราดีๆ ทั้งนั้น” ดร.นิเวศน์ ตอบภรรยา

ปี 2540 ขณะที่ทุกคนกำลังตื่นกลัวและกระโดดหนีออกจากตลาดหุ้น ดร.นิเวศน์กลับมองว่าเป็นจังหวะโอกาสที่เข้าไปลงทุน ด้วยการมองหาหุ้นดีๆ ที่มีอนาคต ผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง จ่ายปันผลงาม ทนต่อสภาวะวิกฤติ เพียงแต่ในขณะนั้นเจอกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ราคาหุ้นตกลงมาตามตลาดโดยรวม

ดร.นิเวศน์ ทุ่มสุดตัวด้วยการใช้เงินที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิตราวๆ 10 ล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นที่ตัวเองได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่ามีความปลอดภัยและจะอยู่กับตัวเองไปตลอดชีวิต โดยมองว่าถึงแม้หุ้นตัวนี้จะไม่มีสภาพคล่อง ไม่มีคนซื้อต่อ แต่ก็ได้รับเงินปันผลที่คุ้มค่าและจ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง

“ผมคิดว่าจะอยู่กับหุ้นที่ลงทุนไปตลอดชีวิต เพราะมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของคนหนึ่งในบริษัทนั้น”

จากปี 2540 จนถึงวันนี้ ดร.นิเวศน์กลายเป็นเศรษฐีหุ้นอย่างแท้จริง ด้วยการคัดกรองมองหาหุ้นที่มีความอยู่รอดปลอดภัยและแข็งแกร่ง ภายใต้กลยุทธ์การลงทุนแบบ Value Investor

การลงทุนแบบ Value Investor

การลงทุนแบบ Value Investor ต้องคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจ ต้องมองหาธุรกิจที่เราอยากเป็นเจ้าของ แต่ธุรกิจที่เราอยากเป็นนั้นจะต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน เพราะเป็นความคิดแบบฝันเฟื่อง

ดังนั้นต้องรู้จัก รู้จริงในธุรกิจนั้นๆ พยายามหาธุรกิจที่เข้าใจง่ายและเห็นแล้วว่ามีความสามารถทำกำไรได้ หลักการใหญ่ของการลงทุนแบบ Value Investor คือ ต้องรู้ธุรกิจที่อยากจะเป็นเจ้าของ ถ้าไม่รู้จักธุรกิจนั้นๆ ไม่รู้ว่าขายสินค้าอะไร กำไรมาจากไหนอย่าไปลงทุนเด็ดขาด

ความจริงแล้วการลงทุนแบบ Value Investor เป็นการลงทุนเพื่อชีวิต คือ ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่การลงทุน “เล่นๆ” กำไรเล็กน้อยก็ดีใจ ขาดทุนเล็กน้อยก็เสียใจ ตลาดหุ้นดีก็เข้ามา ตลาดไม่ดีก็ถอยออกไป แต่การลงทุนแบบ Value Investor เหมือนกับกำลังปลูกต้นไม้ใหญ่ กำลังสร้างธุรกิจ และเมื่อถึงวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลับมาเลี้ยงชีวิตตัวเราให้อยู่แบบสบายๆ

หุ้นในแบบ Value Investor

ประเภทของกิจการที่น่าลงทุนตามหลัก Value Investor คือ บริษัทนั้นๆต้องขายสินค้าที่เป็นผู้นำในตลาด คนจำเป็นต้องซื้อสินค้านั้นๆ อาจเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ เป็นยี่ห้อที่คนชื่นชอบ ติดตลาดหรือขายอยู่เจ้าเดียว คู่แข่งเข้ามาตีตลาดยาก

เลือกลงทุนในธุรกิจดีๆ ในราคาหุ้นที่ต่ำ ราคายุติธรรม ซื้อไม่กี่ตัวแล้วถือยาวๆ ใจเย็นๆ ช้าๆ แต่มั่นคง อาจจะเปลี่ยนหุ้นปีละ 1-2 ตัว และหากเห็นว่าราคาหุ้นตัวนั้นปรับขึ้นไปสูงแล้วก็ขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวใหม่ และติดตามหุ้นไปเรื่อยๆ และอย่าลืมแนวคิดที่ว่าคุณกำลังลงทุนทำธุรกิจและเป็นเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้เมื่อได้กำไรหรือได้ผลตอบแทน ได้รับเงินปันผลก็นำเงินเหล่านี้ไปลงทุนเพิ่ม ซึ่งเรียกว่าการลงทุนแบบทบต้น ลงทุนทบต้นทุกปีๆ เพราะดร.นิวเศน์มองว่าการลงทุนแบบทบต้นเป็นสิ่งมหศจรรย์อันดับ 8 ของโลก

ปี 2540 เรียนรู้อะไร

วิกฤติการเงินปี 2540 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ดร.นิเวศน์มองว่าในท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาส ดังนั้นอย่าเพิ่งท้อถอย “ผมมองว่าเมื่อเกิดวิกฤติ การลงทุนจะต้องเปลี่ยนโฉม และผมรู้ว่าการเปลี่ยนโฉมครั้งนี้จะเป็นการลงทุนแบบ Value Investor ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้การวิเคราะห์ต่างๆ และการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความปลอดภัยทนต่อสภาวะวิกฤติ”

เมื่อเขาคิดแบบนี้จึงยอมทุ่มสุดตัว “บอกได้เลยว่าตอนนั้นผมเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการลงทุน ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ มองว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีความปลอดภัย แต่ผมมั่นใจว่ายังมีหุ้นที่ต้องอยู่รอดปลอดภัยและต้องดีขึ้นในอนาคต มีกำไร จ่ายเงินปันผลที่ดีขึ้น และจะมีศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น แต่ในปี 2540 ราคาหุ้นตกต่ำ เพราะคนกลัวและขายหุ้นทิ้ง”

แนวคิดการเข้ามาลงทุนแบบนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น Value Investor เกิดจากแนวคิดว่าต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจผ่านการลงทุนในหุ้น ไม่ใช่เข้ามาเพื่อการเล่นหุ้น ซึ่งการเป็นเจ้าของธุรกิจเราต้องจ่ายแพงมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ในช่วงปี 2540 เขาไม่ได้จ่ายแพง แต่จ่ายถูกกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นความเสี่ยงแทบจะไม่มีเลย

ถือเป็นการตัดสินใจถูกจังหวะ

ผมบอกได้เลยว่าตอนนั้นผมอ่านตลาดหุ้นไทย “ขาด” กว่าคนส่วนใหญ่ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินลงทุนได้ อีกทั้งผมเป็นผู้นำความคิด Value Investor ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจยังไม่มีคำว่าการลงทุนแบบนี้ แต่หลังจากผ่านวิกฤติเศรษฐกิจคำเหล่านี้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมเป็นต้นคิดในการลงทุนหุ้นด้วยการใช้การวิเคราะห์แบบละเอียด

ผลตอบแทนจากการลงทุน

ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนได้มาแบบไม่เคยคาดคิดมาก่อน โดยตลอด 11 ปีที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย ผลตอบแทนโตมากกว่า 30 เท่า เพราะช่วงลงทุนไม่ได้คิดว่าจะได้มากมาย แต่จังหวะนั้นเป็นโอกาสทองในการลงทุน ผมมองว่าโอกาสทองในชีวิตคนเราเกิดขึ้นได้แค่หน สองหน ซึ่งเมื่อโอกาสมาคุณจะคว้าทันหรือไม่ หรือปล่อยให้โอกาสทองลอยหายไป

ในช่วงนั้นไม่ได้ตั้งเป้าเอาไว้เลยว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไร ได้เท่าไรก็มีความพอใจ แต่บังเอิญได้มาโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว ซึ่งผมลงทุนไปเรื่อยๆ จนผลตอบแทนทบไปทบมาต่อปีสูงถึง 35%

โอกาสทอง ไม่จำเป็นต้องเกิดท่ามกลางวิกฤติ แต่โอกาสทองของแต่ละคนมีอยู่ตลอดเวลา ประเด็น ก็คือว่า ต้องพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมไม่มีความรู้ ไม่ได้ศึกษามาก่อน ต่อให้โอกาสทองลอยมาก็ไม่สามารถคว้าได้

คิดอย่างไรกับคำว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น”

คำว่า “เล่น” ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งคำๆ นี้หมายความว่าการทำให้เกิดความสนุกนาน ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่มีพื้นฐานมารองรับ และขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่คำว่า “ลงทุน” คือ การมีปัจจัยพื้นฐานมารองรับ มีการวิเคราะห์ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจ และเป็นการลงทุนเพื่อมีเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต

มองอย่างไรกับการซื้อขายแบบรายวัน

ผมไม่เห็นด้วยการกับการเทรดหุ้นเป็นรายวัน หรือในระยะสั้นๆ เพราะกำลังคิดว่าจะมีนักลงทุนคนอื่นๆ มาซื้อหุ้นต่อจากเรา ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ได้กำไร แต่ถ้าไม่มีใครมาซื้อต่อ ราคาหุ้นจะปรับลดลง เพราะในระยะสั้นๆ ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับแรงซื้อและแรงขาย และแรงซื้อแรงขายเกิดความความกลัว ความโลภของนักลงทุน ดังนั้นถ้าลงทุนในตอนที่มีความกลัวจะเกิดความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้

นั่นหมายความว่าโอกาสที่การลงทุนจะประสบความสำเร็จและล้มเหลวมีเท่ากัน คือ 50:50 และถ้าทำบ่อยๆ ตามสถิติแล้วผลตอบแทนจะเป็นศูนย์ ไม่ได้อะไรเลยจากการลงทุน เพราะโอกาสชนะ 50% โอกาสแพ้ 50% อีกทั้งจะสูญเสียค่าคอมมิชชั่น แม้จะเสียเพียงเล็กน้อยแต่ถ้าเสียบ่อยๆ ก็กลายเป็นเม็ดเงินที่สูงและไม่มีความคุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม มีคนประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะสั้นๆ แต่เป็นแค่ 1 ใน 100 คนเท่านั้น แล้วคุณจะเป็น 1 ใน 100 หรือคุณจะเป็น 99 ใน 100

มองความร่ำรวยย่างไร

เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต เมื่อมีถึงจุดหนึ่งก็เพียงพอ ความสุขของคนใช้เงินไม่มาก ถึงแม้จะมีเงินมากแต่ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย ความสุขมาจากด้านอื่นๆ เงินเป็นแค่องค์ประกอบเท่านั้น

การลงทุนให้ครอบครัว

ครอบครัวผมตอนนี้อยู่บ้านฝ่ายภรรยา ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผมกล้าลงทุน ส่วนภรรยาไม่ลงทุนในตลาดหุ้น ด้านลูกสาวคนเดียว (น้องพิซซ่า) กำลังเรียนอยู่ระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์ ดังนั้นการลงทุนครอบครัวจึงมุ่งไปที่ลูกสาว ในด้านการศึกษาอย่างเต็มที่

ถึงแม้ว่าผมจะประสบความสำเร็จในการลงทุนในตลาดหุ้น ผมเคยเล่าให้ภรรยาและลูกฟัง แต่ไม่ได้เป็นจริงเป็นจังอะไร เพราะคิดว่าแต่ละคนก็มีบุคลิกและสไตล์เป็นของตัวเอง จะให้ภรรยาและลูกสาวเป็นเหมือนผมคงไม่ได้ และไม่สามารถบังคับกันได้

การลงทุนครั้งสำคัญในชีวิต

การไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ไปโดยไม่มีเงินเลย แต่เรามีแรง มีเวลา นี่คือการลงทุน ซึ่งคนที่ไม่ร่ำรวย การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีสมอง มีแรง มีความขยัน มีเวลา ถึงแม้ว่าในช่วงนั้นเราไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าถ้ามีความสามารถเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์จะออกมาดี

ผมคิดว่าการศึกษาให้ผลตอบแทนที่ดี และมีความคุ้มค่า และทุกวันนี้ความรู้เป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งที่ดีที่สุด

จากคอลัมน์ ชีวิตคือการลงทุน
 
ที่มา :
http://2binvestor.blogspot.com/2012/02/blog-post_29.html#more


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 17, 2014, 04:46:22 pm
การประเมินกำไรในอนาคต (ตอน 1)

การรู้จักการประเมินกำไรล่วงหน้าอย่างถูกต้องจะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถประเมินอัตราการเติบโตและความถูกแพงของหุ้นได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นแล้ว การมีโมเดลในการประเมินกำไรจะเป็น “เครื่องจับโกหก” ชั้นดีที่เราสามารถนำไปใช้ในการประเมินความเป็นไปได้ของสิ่งที่ผู้บริหารพูดหรือสิ่งที่นักวิเคราะห์เขียนไว้ในบทวิจัย การที่เราสามารถใช้เครื่องมือตรงนี้ได้อย่างแม่นยำจะทำให้เราได้เปรียบนักลงทุนทั่วๆไปที่ไม่มีเครื่องมือตรงนี้

แต่ก่อนที่จะเริ่มประมาณการผลกำไร เราต้องเข้าใจคุณภาพของธุรกิจก่อน เราต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าธุรกิจมี “จุดตาย” หรือ “ข้อควรระวัง” อยู่ตรงไหน และอะไรเป็นประเด็นที่สำคัญ เช่น ธุรกิจเกษตรจะมีราคาขายผันผวนตามสภาวะตลาด ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น ธุรกิจโรงแรมจะมีความผันผวนตามฤดูกาล เพราะฉะนั้นงบในไตรมาส 1 และ 4 จะสูงกว่าอีกสองไตรมาสมาก การวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้จะทำได้ถ้าเราเข้าใจความเสี่ยงและโครงสร้างรายได้และต้นทุนของกิจการ การประเมินโดยขาดความเข้าใจในคุณภาพของกิจการจะทำให้เกิด Garbage In, Garbage Out (ขยะเข้า ขยะออก) หรือถ้าพูดง่ายๆคือความถูกต้องของการประเมินกำไรในอนาคตจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของการประเมินธุรกิจ ซึ่งในบทความนี้ผมจะไม่กล่าวถึงการวิเคราะห์เชิงคุณภาพแต่จะบอกว่าการวิเคราะห์เชิงคุณภาพจะทำให้เรารู้ว่า “สมมติฐาน” ข้อไหนมีความสำคัญต่อการประเมินกำไรในอนาคตของเรา

หลังจากประเมินมูลค่าเชิงคุณภาพแล้วเราก็สามารถเริ่มต้นทำการประมาณการกำไรได้ โดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้

1. สร้างโมเดลในการประเมิน (Creating a Model)
สามารถทำได้โดยทำการป้อนข้อมูลตัวเลขทางการเงินย้อนหลัง (จากงบการเงิน) เราจะกรอกข้อมูลย้อนหลังลงในไฟล์ Excel อย่างน้อย 3 ปี (ถ้าอยากเห็นแนวโน้มของธุรกิจมากขึ้น ผมแนะนำ 5 ปี) โดยที่เราจะกรอกตัวเลขแต่ละบรรทัดและทำการคำนวณกำไรสุทธิออกมา (เราจะไม่กรอกกำไรสุทธิลงไปตรงๆ) เราจะนำกำไรสุทธิที่คำนวณได้ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขในงบการเงิน ถ้าตรงก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ตรงแสดงว่า 1) สูตรผิด 2) ตัวเลขที่เรากรอกไม่ถูกต้อง เราต้องหาจนเจอจุดผิด (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่น่ารำคาญมากๆสำหรับคนที่พึ่งจะเริ่มทำโมเดลใหม่ๆ) เพราะไม่งั้นการประมาณการเราจะผิดทั้งหมด แต่ถ้าเราทำได้แล้วเราก็จะมีโมเดลที่พร้อมแล้วสำหรับการการประเมินกำไรต่อไป

2. กำหนดสมมติฐาน (Set Assumptions)
สามารถทำได้โดยดูแนวโน้มของการเติบโตของยอดขาย อัตราการทำกำไรย้อนหลัง และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ผู้บริหารให้มา หลังจากเปรียบเทียบแล้วเราจะทราบว่าผู้บริหารให้ Guidance ต่ำหรือสูงเกินไป เช่น ถ้าธุรกิจมีรายได้เติบโตแค่ปีละ 3% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาแต่ปีนี้ผู้บริหารให้เป้า 20% เราต้องสงสัยแล้วว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้บริษัทเติบโตได้ขนาดนั้น หลังจากนั้นเราก็ต้องทำการ “เลือกเชื่อ” ว่าเราจะนำตัวเลขไหนมาใช้ในการประเมินกำไร

3. ประเมินกำไรจากสมมติฐาน (Forecasting)
โดยนำตัวเลขสมมติฐานที่ได้มาทำการประมาณการกำไร ตัวเลขเหล่านี้ควรรวมถึง (แต่อาจจะมีมากกว่านี้) อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของยอดขายรวม อัตราภาษี ค่าใช้จ่ายทางการเงิน ในบางธุรกิจอาจจะมี กำไร(ขาดทุน)จากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายจากการขายสินทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งวิธีการประเมินอาจจะขึ้นอยู่กับว่ารายการนั้นมีนัยสำคัญต่อการประเมินของเราหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถตัดทิ้งได้ แต่ถ้ามีเราอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม

4. เปรียบเทียบตัวเลขที่ทำได้กับแหล่งอ้างอิงอื่นๆ (Benchmarking)
นำตัวเลขที่ได้มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้บริหารให้ไว้ รวมถึงเปรียบเทียบตัวเลขกับบทวิเคราะห์ว่าผลกำไรที่เราประเมินได้มากหรือน้อยกว่าอย่างไร อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ได้ตัวเลขใกล้เคียงกับนักวิเคราะห์อาจจะไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องเสมอไป การได้ตัวเลขที่น้อยกว่าหรือมากกว่ามากๆบางครั้งอาจจะถูกก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่สมมติฐานของเรา สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราต้องตอบให้ได้ว่า “ทำไม” ตัวเลขเราถึงแตกต่างกับคนอื่นๆ

5. ติดตามและอัพเดทงบรายไตรมาส (Earning Review)
ทุกครั้งที่งบออก เราจะป้อนข้อมูลงบล่าสุดเทียบกับประมาณการที่เราทำไว้สำหรับทั้งปี เช่นถ้ายอดขาย 6 เดือนแรกโต 50% แต่เราทำประมาณการไว้ 10% แสดงว่าเราอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรืออาจจะต้องศึกษาดูว่ากำไรที่โตเยอะมากเกิดจากเหตุการณ์พิเศษอะไรรึเปล่า แล้วเราก็ควรจะปรับโมเดลตามข้อมูลใหม่ที่เราได้รับมา
ช่วงที่ผมเป็นนักวิเคราะห์กองทุนใหม่ๆผมมักจะเจออาการ “โดนหลอก” เป็นประจำ เพราะผมเชื่อ 100% ในสิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังมาทำให้ตัวเลขที่ได้บางครั้งก็สูงเกินไป (ทำให้เราไม่ได้ระวังตัว) บางครั้งก็ต่ำเกินไป (ทำให้เราไม่กล้าซื้อ) เพราะฉะนั้นการประเมินกำไรให้ได้แม่นยำ ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม ความช่างสังเกต ประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก แต่สิ่งที่ได้รับคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดชิ้นหนึ่งในการเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า

อ่านจบแล้วก็อย่าลืมหยิบงบการเงินของหุ้นตัวโปรดแล้วมาลองทำการประเมินกำไรดูครับ การอธิบายเป็นคำพูดอาจจะมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นถ้ามีข้อสงสัยหรือคำแนะนำตรงไหนก็ถามกันได้ครับ

ตอนหน้าผมจะมาพูดถึงวิธีการวิเคราะห์และการประเมินงบในแต่ละบรรทัดว่าเราจะทำการประเมินได้อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไร มาวิเคราะห์แบบเจาะลึกไปเลย ติดตามอ่านกันได้

ที่มา:
http://www.thaivi.org/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95-%E0%B8%95/

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 17, 2014, 04:49:25 pm
การประเมินกำไรในอนาคต (ตอน 2)/road to billion

ในบทความ “การประเมินกำไรในอนาคต ตอนที่ 1” เราได้พูดถึงขั้นตอนในการประเมินกำไรทั้ง 5 ขั้นตอนแล้ว http://www.thaivi.org/การประเมินกำไรในอนาคต-ต/ ในบทความนี้เราจะลงในรายละเอียด โดยจะกล่าวปัจจัยที่มีผลต่อกำไรอย่างละเอียดมากขึ้น

รายได้

หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว มักจะมีการเติบโตของรายได้ที่สม่ำเสมอ การประเมินรายได้ของหุ้นพวกนี้อาจจะใช้อัตราการเติบโตในอดีตได้ แต่สำหรับหุ้นที่มีรายได้ในอดีตไม่สม่ำเสมอ ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือบริษัทที่มีผู้บริหาร ผลิตภัณฑ์ หรือหน่วยธุรกิจใหม่ๆ การใช้ตัวเลขในอดีตอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เราอาจจะต้องอาศัยข้อมูลการจากทางผู้บริหารประกอบ อย่างไรก็ตามเราต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของรายได้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีลูกค้าน้อยราย หรือบริษัทที่ไม่มีลูกค้าประจำหรือไม่สามารถกำหนดราคาขายแน่นอนได้ บริษัทเหล่านี้เราต้องมี “ส่วนเผื่อสำหรับข้อผิดพลาด” ไว้บ้าง

การประมาณการอัตราการทำกำไร

ต้นทุนของธุรกิจหลักๆมีสองส่วนคือ ต้นทุนในการขาย (Cost of Good Sold หรือ COGS) และค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร (Sale, General & Admin หรือ SG&A) ในการวิเคราะห์เราต้องมองให้ออกว่าทั้ง COGS และ SG&A มีส่วนไหนบ้างที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ และส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายทีแปรผันตามยอดขาย ธุรกิจโรงแรมจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ค่อนข้างเยอะจากค่าเสื่อมราคา ทำให้การเพิ่มขึ้นของยอดขายในวัฏจักรขาขึ้นจะทำให้อัตราการทำกำไรเติบโต (รายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่า) แต่ในขณะที่ธุรกิจเกษตรอาจจะมีต้นทุนแปรผันเยอะ เพราะฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของยอดขายอาจจะไม่ได้ถึงอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น (สำหรับธุรกิจนี้ ต้องมองกันที่ราคาขายและราคาของวัตถุดิบเป็นหลักๆ)

การใช้อัตราส่วนในอดีตจะสามารถใช้ได้แต่เราต้องดูผลกระทบที่บริษัทจะได้รับในปีปัจจุบัน ซึ่งอาจจะมาจากค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค หรือค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ของธุรกิจ ส่วนมากแล้วทางบริษัทจะสามารถให้ข้อมูลได้ว่าแนวโน้มของอัตราการทำกำไรในปีนี้จะเป็นยังไง แต่ก็อย่าลืมถามถึง “เหตุผล” ที่จะเป็นอย่างนั้นด้วยนะครับ เราจะได้นำมาวิเคราะห์ต่อได้

ต้นทุนทางการเงินและกระแสเงินสด

สองอย่างนี้ใกล้กันจนหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ บริษัทที่มีกระแสเงินสดดีจะมีเงินเหลือไปจ่ายหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน แต่สำหรับบริษัทที่ต้องใช้Working Capitalหรือเงินลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนมาก อาจจะต้องอาศัยการกู้ยืมที่มากขึ้นถ้าธุรกิจจะต้องการเติบโต การวิเคราะห์โดยละเอียดจะทำได้ยากสำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิเคราะห์มืออาชีพ แต่เราสามารถทำได้คร่าวๆโดยการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ถ้ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานหักด้วยเงินที่ใช้ในการลงทุนติดลบมากๆ บริษัทจำเป็นต้องจัดหาเงินจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งอาจจะหมายถึงการกู้เงินจากธนาคารหรือการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น สมมติว่าบริษัทต้องใช้

อัตราภาษี

ค่าใช้จ่ายบางประเภทไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีได้ เช่น การตั้งสำรองหนี้เสีย ทำให้อัตราการจ่ายภาษี (“ภาษีจ่าย” หารด้วย “กำไรก่อนหักภาษี”) มีอัตรามากกว่าปรกติ แต่ในบางกรณีบริษัทอาจจะจ่ายภาษีน้อยกว่าฐาน 20% เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น BOI การประเมินภาษีทำได้ยาก ถ้าอัตราการจ่ายภาษีในอดีตไม่ได้ผันผวนมากผมก็จะใช้ตัวเลขเดิม แต่ถ้าผันผวนประเมินยาก ผมจะโทรถามข้อมูลส่วนนี้จากทางเจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์โดยตรงเลย ซึ่งจะแม่นยำกว่าการคาดเดาของเราแน่นอน

ผลกระทบจาก Dilution

การออก Warrant การเพิ่มทุน การจ่ายหุ้นปันผล จะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลให้กำไรต่อหุ้นลดลง นักลงทุนหลายท่านประเมินมูลค่าโดยที่ยังไม่ได้นำหุ้นส่วนเพิ่มนี้มารวม ทำให้ได้ตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่สูงเกินจริง สุดท้ายแล้วเราต้องไม่ลืมว่าการเติบโตของ EPS ในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด

สุดท้ายแล้วหุ้นแต่ละตัว ในแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีปัจจัยที่มีผลต่อรายได้และกำไรแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการประเมินกำไรให้แม่นยำ จำเป็นต้องอาศัยการสะสมประสบการณ์ (รวมถึงข้อผิดพลาด) ในการวิเคราะห์ธุรกิจและประเมินกำไรในอนาคต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการทั้ง 5 ข้อที่ผมได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ http://www.thaivi.org/การประเมินกำไรในอนาคต-ต/  ถ้ากระบวนการถูกต้องแล้ว ในท้ายที่สุดเราจะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ ถ้าเราผิดพลาดตรงไหนก็ค่อยๆปรับแก้ไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องคอยประเมินตัวเองอยู่เสมอ ในบทความหน้า ผมจะมาพูดถึงข้อผิดพลาดในการประเมินกำไรในอนาคตที่นักลงทุนชอบทำกัน ติดตามกันได้ครับ

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58059

--------------------------------------------------------------

การประเมินกำไรในอนาคต (ตอน 3)/road to billion

ในทางทฤษฎีการประเมินกำไรเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่ยาก แต่เหมือนกับทุกอย่างในโลกนี้ โลกความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องใช้มุมมองภาพกว้างๆประกอบการตัดสินใจ ผมได้หยิบยก “ข้อผิดพลาด” จากประสบการณ์ของตัวเองและของนักลงทุนหลายนๆท่านที่ผมมีโอกาสได้การสอนและให้ความรู้ เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับหลายๆคน สรุปออกมาแบบง่ายๆให้ทุกคนได้อ่านกันแบบไม่ต้องจ่าย “ค่าเล่าเรียน” ด้วยตัวเอง

ไม่ได้วัดผลการประเมินของตัวเอง

การประเมินกำไรที่ดีก็เหมือนกับการยิงปืน ยิงไปแล้วเราก็ต้องดูว่ามันเข้าไปหรือเปล่า สูงไปมั้ย? ต้องขยับซ้ายอีกรึเปล่า? ถ้าเราประเมินกำไรแล้ว ไม่เคยเอามาเปรียบเทียบกับตัวเลขจริงๆ เราก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากระบวนการในการประเมินของเรานั้นถูกต้องแค่ไหน ปรกติแล้วผมจะอัพเดทข้อมูลทุกๆไตรมาส และจะทำละเอียดๆหลังจากงบปีออก ผมจะทำการเปรียบเทียบดูว่างบที่ออกมาเมื่อเทียบกับที่เราทำไว้เป็นอย่างไร? อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ต้นทุนทางการเงิน อัตราภาษี และสุดท้ายกำไรต่อหุ้น งบที่ออกมาในไตรมาสนั้นสูงหรือต่ำเกินกว่าที่เราประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ (เกิน 10%) ผมก็จะพยายามหาเหตุผลว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร สมมติฐานที่ผมมีเกี่ยวกับหุ้นตัวนั้นๆยังถูกต้องอยู่หรือไม่ ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการพัฒนาตัวเองที่จะทำให้ความแม่นยำเราดีขึ้นอย่างมาก

ไม่ได้ทำการ BENCHMARK ตัวเลข

แน่นอนว่าการเปรียบเทียบกับตัวเลขจริง เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่บางครั้งเราก็อยากจะรู้ว่าตัวเลขที่เราทำออกมาเป็นอย่างไรก่อนที่จะรู้ผล วิธีที่ทำได้ง่ายและเร็วที่สุดคือการเปรียบเทียบตัวเลขของเรากับบทวิเคราะห์ โดยหลักผมจะเปรียบเทียบการเติบโตของยอดขาย อัตราการทำกำไร และกำไรต่อหุ้น ในอีก 3 ปีข้างหน้า กับบทวิเคราะห์อย่างน้อยซัก 2 – 3 ฉบับ หลายครั้งผมก็อาจจะโทรไปคุยกับนักวิเคราะห์เพื่อสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวสมมติฐานของงบการเงิน ในโลกของการลงทุน นักวิเคราะห์จะเป็นคนที่ได้รับข้อมูลดีที่แม่นยำและรวดเร็วที่สุด (หลายบริษัทจะจัดประชุมนักวิเคราะห์ก่อนจะให้ข้อมูลกับนักลงทุนทั่วไป และหลายๆบริษัทก็ไม่ให้ข้อมูลกับนักลงทุนโดยตรง) ซึ่งเป็นส่ิงที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ไม่อยากให้นักวิเคราะห์เปลี่ยนคำแนะนำกลับไปกลับมา นักวิเคราะห์ส่วนมากมีแนวโน้มที่จะทำตัวเลขออกมาให้ไม่ต่างกับอดีตมากนัก มีนักวิเคราะห์จำนวนน้อยที่กล้าที่จะเปลี่ยนมุมมองอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบกำไรของเราต้องพิจารณาให้ครบทุกด้าน

หุ้นแต่ละตัวประเมินกำไรได้ยากง่ายแตกต่างกัน

“Not all stocks are created equal” หุ้นทุกตัวมีความแตกต่าง การประเมินกำไรก็เช่นกัน นักลงทุนหลายท่านมองการเติบโตของกำไร อยากได้หุ้นที่เติบโตดีๆ เลือกลงทุนในหุ้นเล็กๆที่มีการเติบโตดี แต่ลืมที่จะพิจารณาความเสี่ยง มองปริมาณ แต่ไม่ได้มองคุณภาพ เราคิดว่าธุรกิจจะโต 30% แต่เราไม่ได้คิดว่าโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน แล้วในทางกลับกันมันมีโอกาสที่จะลดลง 30% หรือเปล่า ในความเป็นจริงแล้วหุ้นที่มีความเป็นวัฏจักร มีราคาหรือต้นทุนที่ผันผวน มีลูกค้าน้อยราย เช่น ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์ หุ้นที่มียอดขายไม่สม่ำเสมอ เช่น รับเหมา จะสามารถประเมินกำไรในอนาคตได้ยากกว่าธุรกิจที่มีลูกค้าหลายราย มีการซื้อซ้ำ และราคาขายและต้นทุนไม่ผันผวน ยกตัวอย่างหุ้น หุ้นกลุ่ม OEM กับ หุ้นค้าปลีก แต่ OEM ถ้าดีก็จะดีใจหาย แต่ถ้าลูกค้ารายหลักๆหายไปซักรายก็จะมีผลกระทบต่องบการเงินเป็นอย่างมาก (ซึ่งบางครั้งผู้บริหารก็ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต) ส่วนค้าปลีกก็ไม่ได้ว่าประเมินได้ง่ายเสมอไปเพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ต้นทุนอาจจะเพิ่มในขณะที่กำลังซื้อถดถอย ตัวอย่างเช่นช่วงต้นปี 2014 ที่ผ่านมา หุ้นค้าปลีกส่วนมากมีผลประกอบที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามความแน่นอนของการคาดการณ์งบการเงินของหุ้นค้าปลีกจะมีความแน่นอนกว่ามาก แต่ถ้ามองในมุมของการประเมินมูลค่า PE ที่สูงของหุ้นพวกนี้ (เทียบกับหุ้นค้าปลีกในต่างประเทศ) ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ

เชื่อผู้บริหารมากเกินไป

นักลงทุนหลายๆคนไม่ได้ติดตามว่าสิ่งที่ผู้บริหารเคยพูดในอดีต ทำให้ “ตีความ” ข้อมูลที่ผู้บริหารให้สูงหรือต่ำเกินจริง ผู้บริหารบางท่านเป็นนัก “ขายฝัน” มีโปรเจคเยอะ บอกว่าจะขยายให้ได้ 100 – 200 สาขา แต่พอทำจริงๆอาจจะไม่ถึง 10 สาขา นักลงทุนที่ไม่เคยติดตามผลงานก็ต้อง “ฝันสลาย” ไปตามๆกัน แต่ถ้าเราย้อนไปศึกษาข้อมูลในอดีตซักนิด ก็จะพบว่าผู้บริหารท่านนั้นมี Track Record ที่ไม่ค่อยดี พูดอะไรก็ทำไม่ค่อยได้ ในขณะที่บางพวกเป็นพวก “พูดน้อย ทำมาก” ถามว่าเป็นยังไง? จะโตแค่ไหน? อาจจะบอกแค่ 5-10% แต่พอทำจริงๆกลับได้เยอะกว่านั้น แบบนี้เราก็ต้องนำผลงานของท่านมาพิจารณาในการประเมินกำไร อย่างไรก็ตาม บางครั้งสิ่งที่ผู้บริหารพูดอาจจะไม่มีความสำคัญเท่ากับปัจจัยภาพนอก บางครั้งสภาวะอุตสาหกรรมดูดี มีปัจจัยเชิงบวกเป็นลมหนุน ไม่ว่าจะมาจากนโยบายรัฐ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เหตุการณ์พิเศษ ที่อาจจะเอื้อต่อธุรกิจ เวลาผู้บริหารพูดอะไร ก็อาจจะดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้าสภาวะการณ์พลิกผัน เป้าหมายของผู้บริหารก็อาจจะดู “เกินจริง” ขึ้นมาทันที ในฐานะนักลงทุน การหาแหล่งข้อมูลอื่นมาประกอบเพื่อ “ตรวจสอบความถูกต้อง” ของผู้บริหารถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น บางครั้งการศึกษาและพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทคู่แข่ง บริษัทที่เป็นคู่ค้า หรือลูกค้า ก็จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ผู้บริหารให้มาได้

ไม่ได้พิจารณาความน่าจะเป็นของงบที่อาจจะเกิดขึ้น

ในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถคาดเดากำไรในอนาคตได้อย่างแม่นยำ 100% เรามองออกได้แค่เป็น “ช่วง” หรือ Range ของกำไรเท่านั้น สำหรับธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง (งบที่ดีที่สุดกับแย่ที่สุดมีความแตกต่างเกินกว่า 30%) ผมจะประเมินกำไรออกมาในหลายๆกรณี และจะดูว่าแต่ละกรณีมีความน่าจะเป็นอย่างไร นักลงทุนหลายท่านมองแต่กรณีปรกติ (Base Case) หรือ กรณีดีสุดๆ (Best Case) แต่ไม่ได้เพื่อโอกาสไว้สำหรับกรณีแย่สุดๆ (Worst Case) เลย ซึ่งหลายๆครั้งหมายถึงการประเมินมูลค่าที่ผิดพลาดและการขาดทุนแบบมหาศาลที่เกิดจากการไม่มี “ส่วนเผื่อความผิดพลาด” (Margin of Error) ที่มากพอ เปรียบเทียบก็เหมือนการทอยลูกเต๋าพิเศษที่มีตัวเลขทั้ง 6 ด้านคือ {1, 1, 5, 5, 5, 5} การที่มีเลข “5” ถึงสี่ด้านไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสที่ทอยได้เลข 1 ซึ่งถ้าเลข 1 ต่ำพอที่จะทำให้หุ้นตกลงอย่างมหาศาลได้ เราก็ต้องควรพิจารณาความน่าจะเป็นในส่วนนั้นด้วย สุดท้ายแล้วการประเมินมูลค่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องแบบไม่มีวันจบ (Continuous Improvement) เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความขยันทุ่มเท ทำการบ้านเยอะๆ และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและมุมมองของนักลงทุนท่านอื่น อย่างไรก็ตามในสภาวะตลาดที่ “หุ้นตามกระแสนิยม” มาแรง ราคาตลาดอาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หุ้นที่ Hot และเป็นที่นิยมก็จะมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ในขณะที่หุ้นบางกลุ่มก็จะไม่มีใครเหลียวแล และนั่นก็อาจจะเป็นโอกาสในการซื้อกิจการที่ดี แข็งแกร่ง มีการเติบโต ในราคาที่มีส่วนลด และสิ่งเหล่านั้นก็อาจจะเป็นรางวัลพิเศษให้กับนักลงทุนที่เฉลียวฉลาดและมีความอดทนมากพอ

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58311
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 18, 2014, 06:17:00 pm
(http://portal.settrade.com/StaticPage/images/th/blog/webblog_1_thanwa.gif)

เศรษฐี mai /ธันวา เลาหศิริวงศ์

เวลาล่วงเลยมาเกือบ 9 เดือนของปี 2557 แม้ประเทศไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนรอบด้านมานานในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่พร้อมนำพาประเทศก้าวเดินหน้าต่อไป ตลาดหุ้นไทยจึงให้ผลตอบแทนการลงทุนในเกณฑ์ดีมากแห่งหนึ่งของโลก ลองมาดูข้อมูลที่สำคัญจนถึงวันที่ 12 กันยายน 2557 ว่าตลาดหุ้นไทยมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

    ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,581.36 จุด เพิ่มขึ้นจากต้นปีถึง +21.8% มีมูลค่าตลาดโดยรวมสูงถึง 14,337,833 ล้านบาท ปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ PE 18.36 เท่า PBV 2.27 เท่า อัตราหมุนเวียนปริมาณการซื้อขาย (YTD, Turnover Ratio) ที่ 97.47% มีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 2.84%

    ดัชนีตลาด mai ปิดที่ระดับ 685.75 จุด ปรับสูงขึ้นจากต้นปีถึง +92.2% หรือเกือบเท่าตัว ทำให้มีมูลค่าตลาดโดยรวมเพิ่มเป็น 333,593 ล้านบาท ซื้อขายที่ระดับ PE 80 เท่า PBV 4.88 เท่า อัตราหมุนเวียนปริมาณการซื้อขายมากถึง 286% โดยมีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 1% หากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจะพบว่า 5 อันดับหลักทรัพย์ที่มีมูลตลาดสูงสุดได้แก่ EA 89,520 ล้านบาท EFORL 17,296 ล้านบาท AIRA 13,003 ล้านบาท CGD 12,178 ล้านบาทและ AUCT 9,955 ล้าน โดยทั้ง 5 บริษัทมีสัดส่วนสูงถึง 42.5% ของมูลค่าตลาด mai โดยรวมจากทั้งหมด 104 บริษัท

    หากพิจารณาในด้านระดับ PE จะพบว่าหุ้น mai ที่ PE สูงสุด 10 อันดับแรก มีการซื้อขายที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด mai ที่ 80 เท่า นอกจากนี้หุ้น 20 อันดับแรก ยังซื้อขายที่ PE สูงกว่า 63 เท่าอีกด้วย ส่วนในด้าน BPV นั้นหุ้นในตลาด mai 20 อันดับแรกซื้อขายที่ PBV 4.53 เท่าโดย หุ้นที่ซื้อขายที่ระดับ PBV สูงสุดนั้นสูงถึง 23.24 เท่า

    จากปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น นักลงทุนทั่วไปในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายในตลาด SET ตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ย 56.6%  ของปริมาณซื้อขายรวม โดยข้อมูลซื้อขายครึ่งเดือนกันยายนยังเพิ่มขึ้นเป็น 65.0%  นักลงทุนต่างชาติลดสัดส่วนจากซื้อขายเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีที่ 23.2% ลงมาเหลือ 17.1%  โดยนักลงทุนสถาบันและบัญชีหลักทรัพย์มีสัดส่วนใกล้เคียงเดิมที่ประมาณ 9-10% สำหรับสัดส่วนการซื้อขายในตลาด mai นั้น ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขการลงทุนของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ จึงทำให้นักลงทุนทั่วไปในประเทศมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 97% ของปริมาณการซื้อขายรวมตลอดมา

    จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา อาจพอสรุปได้ว่า ผู้ที่ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คือกลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศ และหากเลือกเน้นการลงทุนหุ้นในตลาด mai แบบถูกที่ถูกเวลาแล้ว ชีวิตอาจเปลี่ยนจนถึงขั้นเป็น “เศรษฐีใหม่” หรือ “เศรษฐี mai” ได้ในช่วงเวลาไม่นานเลย

    หากลองวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ราคาหุ้นในตลาด mai ปรับตัวสูงขึ้นมาก อาจเป็นเพราะปัจจัยดังต่อไปนี้ ปัจจัยแรก หุ้น mai มีความ “สดใหม่” ทั้งในด้านข้อมูลและเรื่องราวที่น่าติดตามเมื่อเทียบกันหุ้นในตลาด SET นอกจากนี้ หุ้น mai ส่วนหนึ่งคือหุ้น IPO หรือเพิ่งมีการปรับโครงสร้างให้อยู่ในธุรกิจตามกระแส การเข้าลงทุนในบริษัท mai ยังให้ความรู้สึกว่าไม่เสียเปรียบเรื่องราคาต้นทุนนักเพราะเริ่มเข้าลงทุนในเวลาใกล้เคียงกับนักลงทุนอื่น ปัจจัยที่สอง หุ้น mai ยังไม่ได้ถูกจัดกลุ่มแบ่งตามประเภทธุรกิจ นักลงทุนบางส่วนจึงอาจตัดสินใจลงทุนโดยไม่ได้พิจารณาเทียบเคียงกับระดับความถูกแพงของกิจการประเภทธุรกิจเดียวกัน ปัจจัยที่สาม หุ้น mai ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีจำนวนหุ้นหมุนเวียนไม่มากนัก หากเกิดกระแสนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในกิจการเดียวกัน ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก ปัจจัยสุดท้าย กระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วไปในประเทศยังคงไหลเข้าตลาด mai อย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียงไม่กี่พันล้านบาท และแตะระดับหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ย่อมเป็นส่วนสำคัญทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

    หากถามว่าตลาดหุ้นจะปรับขึ้นไปจากนี้อีกมากน้อยเพียงใด คงไม่มีใครตอบได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แต่คำพูดกวนๆ ที่ว่า “หุ้นจะปรับขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าถึงจุดที่มันจะลง และเมื่อปรับตัวลงไปเรื่อยๆ จนกว่าถึงจุดที่มันจะขึ้น” จะเป็นจริงเมื่อเวลานั้นมาถึง นักลงทุนจึงต้องตอบคำถามของตนที่ว่า ตลาดหุ้นไทยในยามนี้อยู่ที่จุดใด และต้องใช้ “สติและเหตุผล” และต้อง “หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์” ในการตัดสินใจในการลงทุนทุกครั้ง

    ในวันนี้ ขอแสดงความยินดีกับนักลงทุนทุกท่านที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างยอดเยี่ยมในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรต้องพิจารณาและทบทวนถึงแนวทาง วิธีการ ขบวนการลงทุนว่าสามารถ “ทำซ้ำ” เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งโดยได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดีเช่นเดิมในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด หากคิดว่ายังทำได้ ก็เปรียบเสมือนการค้นพบสูตรสำเร็จในการลงทุนที่น่าทึ่งทีเดียว แต่หากยังไม่มั่นใจ นี่คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทบทวนและปรับกลยุทธ์การลงทุนของตน เพราะช่วงเวลาเปลี่ยนชีวิตเป็น “เศรษฐีใหม่” อาจเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนที่เข้าข่าย “Too good to be true” นั่นเอง
 

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58063

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 22, 2014, 01:47:40 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 22 September 2014

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ



Value Investor จำนวนมากนั้นถูกสอนให้คิดแบบ  “Bottom Up” หรือวิเคราะห์จากตัวบริษัทหรือหุ้นที่จะลงทุนมากกว่าที่จะคิดถึง “ภาพใหญ่” ของอุตสาหกรรม  ภาวะเศรษฐกิจสังคมหรือประเทศชาติเมื่อคิดจะลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง  แต่ความเป็นจริงก็คือ  มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่ามากที่เราจะหาหุ้นที่ดีจากภาวะหรือภาพใหญ่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการเติบโตของบริษัท  จริงอยู่  ในประเทศหรือในสังคมที่มีระดับการพัฒนาต่ำและ/หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจช้า  เราก็อาจจะยังพบบริษัทที่ดีได้   แต่เทียบกันแล้วมันก็คงจะหาได้ยากและ/หรือดีไม่เท่ากับบริษัทที่อยู่ในสังคมที่ก้าวหน้าและมีการเติบโตสูง  และนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจว่าประเทศไหนจะดีหรือเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนถ้าเราต้องการที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ

           วิธีที่จะดูว่าประเทศไหนจะ “รุ่ง” หรือจะ “ร่วง” ในระยะยาวนั้น  ผมคิดว่าเราต้องดูถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างที่มีการจัดอันดับกันมาตลอด  เพราะนี่จะเป็นการบอกว่าประเทศไหนจะ “ชนะ” หรือ “แพ้” ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลก  อย่างไรก็ตาม  การจัดอันดับที่มีอยู่นั้นผมคิดว่ายังเป็นการมองแบบระยะสั้นหรือกลางมากกว่าระยะยาวเห็นได้จากข้อมูลหรือตัวเลขที่ใช้นั้นมักจะอิงจากข้อมูลมหภาคที่วัดกันเป็นปี ๆ  มากกว่าข้อมูลเชิง  “โครงสร้าง”  ที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก  ดังนั้น  ในฐานะของ VI ผมจึงอยากที่จะเสนอแนวทางการวัดความสามารถการแข่งขันของประเทศอีกแนวหนึ่งที่เน้นการมองระยะยาวและอิงอยู่กับเรื่องของ  “วิวัฒนาการ” ของมนุษย์ที่มีการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ  และมีตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์พอสมควรดังต่อไปนี้

            ประเด็นแรกก่อนที่จะพูดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของรัฐหรือประเทศ  ผมคิดว่าเราควรจะทำความเข้าใจก่อนว่าไม่มีปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่กำหนดความสามารถได้หมด  ความสามารถของการแข่งขันนั้นถูกกำหนดโดยปัจจัยหลาย ๆ  อย่าง  และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ปัจจัยที่ “บวก” อย่างหนึ่งนั้นบางทีมันไม่สามารถทำงานได้ถ้าปัจจัยอีกอย่างหนึ่งมันเป็น “ลบ”ที่รุนแรง  นอกจากนั้น  ปัจจัยต่าง ๆ  จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมันมีการเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ตาม  เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดความสัมพันธ์ต่าง ๆ  เหล่านี้อย่างแม่นยำ  ดังนั้น  มันจึงเป็นเรื่องของศิลปะในการมองว่าความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรโดยดูจากปัจจัยต่าง ๆ  ที่ประเทศนั้นมีอยู่

           ปัจจัยแรกที่น่าจะสำคัญมากที่จะกำหนดว่าประเทศไหนจะรุ่งหรือร่วงในระยะยาวก็คือ  ระดับ IQ ของคนในชาติ  เพราะระดับ IQ นั้น  ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลต่อ “ผลสำฤทธิ์ทางการศึกษา”  และอื่น ๆ  อีกหลายเรื่องซึ่งน่าจะรวมถึงระดับของเงินเดือนและความก้าวหน้าอื่น ๆ   ดังนั้น  ประเทศที่คนมีระดับ IQ เฉลี่ยสูงก็น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ  ถ้ามองแบบนี้  ประเทศในแบบเอเซียตะวันออกซึ่งรวมถึง ญี่ปุ่น  เกาหลี และจีนก็น่าจะได้เปรียบเพราะคนมี IQ เฉลี่ยค่อนข้างสูงประมาณ 105 ขึ้นไป  ในขณะที่คนในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วมี IQ เฉลี่ยเท่ากับ 100 โดยนิยามก็อยู่ในระดับกลาง ๆ  และคนในอาฟริการวมถึงคนไทยและรอบบ้านเราที่อาจจะเสียเปรียบเนื่องจากระดับ IQ เฉลี่ยดูเหมือนว่าจะต่ำกว่า  อาจจะอยู่ที่ประมาณ 95  อย่างไรก็ตาม  IQ  ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่กำหนดความสามารถในการแข่งขัน  มิฉะนั้น  ประเทศในยุโรปก็คงไม่ได้มีการพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศในเอเซียตะวันออกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

           ปัจจัยสำคัญเรื่องที่สองนั้นอาจจะเป็นเรื่องของระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจของประเทศ  ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่าระบบเศรษฐกิจแบบ “เปิด”  หรือเศรษฐกิจที่อิงกับตลาดเสรีและเปิดทำมาค้าขายอย่างเสรีกับประเทศอื่น ๆ  นั้น  เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น  ประเทศที่ “ปิด” ไม่ค้าขายกับต่างประเทศเท่าไรนักและระบบการค้าขายไม่เสรีแต่มักอยู่ใน  “กำกับ”  ของรัฐ จะเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำซึ่งทำให้ประเทศมีพัฒนาการที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น  เกาหลีเหนือที่คนมี IQ สูงแต่เนื่องจากระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการและระบบเศรษฐกิจปิด  ทำให้กลายเป็นประเทศที่ล้าหลังมากทางเศรษฐกิจเทียบกับเกาหลีใต้ที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  เช่นเดียวกัน  ประเทศพม่าและเวียตนามที่เคยมีระดับการพัฒนาสูงเท่า ๆ  กับไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนก็ด้อยกว่ามากในปัจจุบันเนื่องจากประเทศถูกปิดกลายเป็นสังคมนิยมที่ไม่เอื้อต่อความสามารถในการแข่งขัน   อย่างไรก็ตาม  เมื่อเร็ว ๆ  นี้  ทั้งสองก็เริ่ม “เปิดประเทศ” ซึ่งทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเร็วขึ้นมากเทียบกับไทย  และถ้ายังอยู่ในระดับนี้ต่อไป  ก็อาจจะตามทันประเทศไทยในที่สุด

             ความมั่นคงและสงบสุขของประเทศหรือการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองที่มีกฎเกณฑ์ราบรื่น  เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ประเทศที่มีสงครามสู้รบกัน  ไม่ว่าจะระหว่างประเทศหรือการสู้รบของคนในชาติเดียวกันก็เป็นปัจจัยที่ทำลายความสามารถในการแข่งขันที่ร้ายแรง  สงครามในจีนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับเจียงไคเช็ค  สงครามเกาหลี  สงครามเวียตนาม  และอื่น ๆ  ทำให้ประเทศเหล่านั้นถดถอยไปมาก  อย่างไรก็ตาม  เมื่อสงครามสงบ  ความสามารถในการแข่งขันก็กลับมา  ในบางประเทศอย่างในตะวันออกกลางหรือในอาฟริกานั้น  สงครามระหว่าง “ชนเผ่า”  ยังมีอยู่ตลอดเวลาและเรื้อรังมากทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงมากจนทำให้ประเทศแทบไม่มีอนาคต

             ประเด็นที่อาจจะยังมีการถกเถียงกันก็คือ  ระหว่างประเทศที่  “ไม่เป็นประชาธิปไตย”  แบบที่มีคนบางคนหรือบางกลุ่มมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น  และสามารถ  “สั่งซ้ายหันขวาหันได้” อย่างจีนหรือเกาหลีใต้ในช่วงหนึ่ง  กับประเทศ  “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ที่ทุกคนเท่าเทียมกันไม่มีใครสั่งใครได้และทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย  แบบไหนจะเอื้ออำนวยกับความสามารถในการแข่งขันมากกว่ากัน?  ผมเองก็ไม่มีคำตอบ  ผมเพียงแต่คิดว่าแบบแรกนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าแบบหลัง  เหตุผลก็คือ  ถ้าคนที่มีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นนั้นทำสิ่งที่ไม่ดีแล้ว  การเปลี่ยนแปลงจะทำได้ยากมาก  และถ้าเป็นแบบนั้น  ประเทศอาจจะ  “ลงสู่เหว”   ตัวอย่างน่าจะเป็นแบบฟิลิปปินส์ในสมัยมาร์กอสที่ทำให้ฟิลิปปินส์ซึ่งครั้งหนึ่งรุ่งเรืองมากและเด็กไทยจำนวนหนึ่งต้องไปเรียนหนังสือแต่ปัจจุบันห่างชั้นกับไทยมาก  และในประเทศอีกมากมายในละตินอเมริกา เป็นต้น

            สุดท้ายก็คือเรื่องของ Culture หรือขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของคน  นี่เป็นเรื่องที่ยากที่จะรู้จริงพอสมควร  วัฒนธรรมของ  “ฝรั่ง”  นั้น  อาจจะแตกต่างกับคนเอเชีย  พวกเขามีความเป็นปัจเจกชนสูงกว่า  มีความคิดที่เป็นอิสระกว่า  ดังนั้น  พวกเขาจึงอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเห็นได้จากนักคิดและนักประดิษฐ์ของโลกจำนวนมากมักมาจากคนตะวันตก  ในขณะที่คนเอเชียนั้น  มักจะมี  “วัฒนธรรมพึ่งพิงกัน”    เราเคารพผู้มีอาวุโสและผู้มี “ศักดิ์” ที่สูงกว่า  เราไม่อยากทำตัว “แปลกแยก” จากสังคม  ดังนั้นเราจึงไม่อยากคิดหรือทำอะไรใหม่ ๆ ที่  “เสี่ยง” ต่อสถานะของตน  ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ของเราจึงน้อยกว่าและนี่อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราด้อยลง

          และทั้งหมดนั้นก็คือปัจจัยที่สำคัญบางส่วนที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  หลาย ๆ  ประเทศสามารถเพิ่มความสามารถนี้และกลายเป็นประเทศที่เติบโตเร็วหรือกลายเป็นประเทศพัฒนาไปแล้ว  หลาย ๆ  ประเทศที่เคยมีความสามารถสูงแต่ด้วยนโยบายที่ผิดพลาดหรือโชคไม่ดีก็ตกต่ำลง  สำหรับนักลงทุนแล้ว  สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดก็คือประเทศที่กำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากและราคาหุ้นยังไม่ตอบสนอง  และนี่ก็คือประเทศที่เราควรเข้าไปก่อนคนอื่น
 
Posted by nivate at 10:17 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/09/22/1471

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 26, 2014, 02:54:48 am
Check List…คุณเป็น Value Invester จริงหรือ?


1. ลงทุน โดย พุ่งความสนใจไปที่ Intrinsic Value และ จะลงทุนเมื่อ มี Margin of Safty มากพอ จะขายเมื่อ ราคาเต็ม หรือเกินมูลค่าเท่านั้น

2. มีความรู้ว่าจะหาข้อมูล ได้ที่ไหน และจะหา การลงทุนในบริษัท ที่ราคา ต่ำกว่ามูลค่า ยังไง

3. ทำการวิเคราะห์ ข้อมูล จากการ ศึกษาพื้นฐานกิจการ และ Analysis ได้ด้วยตนเอง โดนปราศจากการ เชื่อผู้อื่น โดยไม่วิเคราะห์ 4. ให้เวลาในการศึกษา รายละเอียด และการเติบโต ของบริษัท (micro) แทนที่ จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ วิ่งตามข้อมูล มหภาคของโลก ของเศรษฐกิจ (macro)

5. เข้าใจว่า ความสามารถของบริษัท ในอดีต กับในอนาคต ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

6. เข้าใจที่ตนเองจะลงทุน อย่างดีมาก และจะลงทุน เมื่อ บริษัท ไม่ได้เป็นที่สนใจ ของคนทั่วไป

7. มีความตั้งใจ จะลงทุนในบริษัทที่เลือก ยาวนานหลายปี แทนที่จะให้ความสนใจ ข่าววันๆ หรือ การเคลื่อนไหว ของราคา แค่ ควอเตอร์

8. เข้าใจ ว่า บริษัท ที่ดีมากๆ แข็งแกร่งมากๆ เป็นบริษัทที่หายาก และหากพบ เจอแล้ว ให้ลงทุน อย่างเต็มที่ และอย่าลืมว่า บริษัทเช่นนี้ มีน้อยมากๆ ต้องเชื่อมั่นว่าเจอเพรชแท้

9. ในยามที่เจอบริษัทดี แต่ตลาดและนักลงทุนทั่วไป ไม่เห็นด้วย ต้องเข้าใจว่า นี่คือ การไม่เห็นด้วย ไม่ได้บอกว่าบริษัท ไม่ดี เพราะถ้ามัวแต่ มีความเห็น เหมือนคนส่วนใหญ่ ผลลัพธ์ ก็เท่าค่าเฉลี่ย

10. โฟกัส ไปที่ Absolute returns อย่าไปอิงกับ ผลงาน ของตลาด หรือคนส่วนใหญ่

11. โฟกัส ไปที่ การป้องกัน เงินต้น มากกว่า กำไร

12. โฟกัส ไปที่ ผลตอบแทนระยะยาวมากๆ หลายๆปี ไม่ใช่ปี ต่อ ปี

13. ยอมรับความผิดพลาด และเรียนรู้จากมัน และ อย่าได้โทษ ว่าความผิดพลาดเกิดจาก ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

Credit : book “The Art of Value Investing” by John Heins and Whitney Tilson

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 27, 2014, 11:02:18 am
ติดหุ้นทำไงดี/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ตลาดหุ้นไทยในปี 2557 นี้ในช่วงครึ่งปีแรกดูเหมือนนักลงทุนจะถอดใจเพราะหุ้นไม่ได้ขยับไปไหน เนื่องจากสถานการ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ความวุ่นวายในบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งการเดินประท้วงรายวันของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่ายจนถึงกับมีการเสียเลือดเสียเนื้อกันเป็นจำนวนมาก นักลงทุนต่างชาติต่างทยอยขายหุ้นไทยออกเพื่อลดความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนของประเทศไทยจนดัชนีตั้งแต่ต้นปีที่ 1,299 จุดนั้นย่ำอยู่กับที่มาตลอด

    จนเมื่อทหารออกมาปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการณ์เนื่องจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนสถานการณ์ทางการลงทุนจะแย่ลงแต่ในที่สุดตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวขึ้นมาได้ถึงเกือบ 1,600 จุดในเดือนกันยายน นักลงทุนทั้งไทยและเทศต่างมองเห็นแสงสว่างปลายทางอุโมงค์ของการเมืองไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย การประท้วงลดน้อยถอยลงเพราะมีการใช้กฏอัยการศึกในการห้ามปรามการประท้วงอย่างได้ผล ประชาชนชาวไทยเริ่มปรับตัวและใช้ชีวิตเหมือนปกติสุขอีกครั้ง

    ถึงแม้ตลาดหุ้นไทยจะขึ้นไปมากในปีนี้ แต่ยังมีนักลงทุนหลายท่านพบว่ายังขาดทุนหุ้นในพอร์ต บางคนอาจจะขาดทุนบางบริษัท บางคนทั้งพอร์ตอาจจะขาดทุนยังอยู่ถึงแม้ว่าดัชนีหุ้นจะเพิ่มขึ้นมามากแล้วก็ตาม สาเหตุอาจเกิดจากเข้าซื้อหุ้นที่ตอนดัชนีสูงสุดเกือบ 1,600 จุดเมื่อปีที่แล้ว 2556 หรือไม่ก็พบว่าหุ้นที่ซื้อมาไม่ได้ดีตามที่คาดการณ์ทำให้ราคาหุ้นลดต่ำกว่าที่ซื้อมามาก โดยส่วนใหญ่หุ้นที่ขาดทุนมักเป็นหุ้นที่ซื้อมาโดยยังไม่มีความเข้าใจในธุรกิจที่ซื้อมากนัก หลายบริษัทซื้อตามที่คนอื่นๆบอกมาว่าดี ถ้าเช่นนั้นถ้าดัชนีหุ้นขึ้นๆแบบนี้ แต่หุ้นที่เราถือขาดทุนอยู่จะทำอย่างไรดี

    อันดับแรกควรหันมาดูพื้นฐานกิจการของบริษัทที่ซื้อมาว่าเป็นอย่างไร หลายบริษัทเป็นบริษัทที่ดีและยังมีอนาคต ผลประกอบการออกมาก็ไม่ได้เลวร้าย บางครั้งอาจะดีกว่าที่คาด นอกเหนือจากนั้นพื้นฐานของบริษัทก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ราคาที่ลดต่ำลงอาจเกิดจากนักลงทุนยังไม่ได้สนใจในหุ้นบริษัทนั้นมากนัก หรือบางโครงการยังไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ซึ่งรายได้ยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ทำให้ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ถ้าหุ้นที่ถืออยู่ยังมีพื้นฐานเหมือนเดิมตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นตามดัชนี ก็ไม่มีอะไรให้น่ากังวลมากนัก การถือหุ้นบริษัทนั้นต่อไปน่าจะเป็นกลยุทธที่ดี

    แต่ถ้าพิจารณาแล้วพบว่าบริษัทนั้นมีพื้นฐานกิจการที่แย่ลง เช่น รายได้ลดลงเนื่องจากคู่แข่งเข้ามาแย่งตลาดมากขึ้น หรือกำไรลดลงเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นจำนวนมากหรือควบคุมต้นทุนไว้ไมได้และคาดการณ์ว่าในอนาคตจะแย่ลงกว่าเดิม ราคาที่ลดลงเป็นสัญญานที่บอกว่าหุ้นบริษัทนี้อาจจะไม่ดีเหมือนที่เราคิดไว้ ถ้าคิดว่าเราคิดผิดในการลงทุน การขายหุ้นออกไปไม่ว่าจะขาดทุนเท่าไหร่ก็ตามถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีเพราะอนาคตราคาหุ้นอาจลดลงไปได้มากกว่าปัจจุบันได้อีก เช่น บริษัทเกมส์ออนไลน์ที่หลายปีก่อนมีผลประกอบการดีมาก ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ระยะหลังพบว่าคนเล่นเกมส์ออนไลน์ในคอมพิวเตอร์น้อยลงโดยหันไปเล่นในแทปเลตแทน นอกเหนือจากนั้นบริษัทยังมีปัญหาเรื่องบุคคลากร การบริหารงานและเกมส์ที่ไม่ได้รับความนิยมเช่นในอดีต ทำให้รายได้และกำไรลดลงอย่างมาก ราคาหุ้นก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน บริษัทเช่นนี้จะเห็นว่าถึงแม้ดัชนีหุ้นจะเพิ่มขึ้นมากจากต้นปี แต่ราคาหุ้นของบริษัทนี้กลับลดลงทุกวัน

    การเปลี่ยนบริษัทที่ถือจากหุ้นที่ไม่มีอนาคตไปเป็นบริษัทอื่นที่ดีกว่าก็เป็นทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนที่ติดหุ้นอยู่ โดยส่วนใหญ่คนเล่นหุ้นมักไม่อยากขายขาดทุนเพราะเสียดายเงินที่ลงทุนไปและอยากจะรอให้ราคาหุ้นกลับมาเท่าทุนก่อนถึงจะทำใจขายได้ ซึ่งในความเป็นจริงราคาหุ้นหลายบริษัทอาจจะไม่กลับมาที่จุดเดิมอีกเลย ถ้าพื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ดังนั้นการขายหุ้นที่ขาดทุนไปซื้อหุ้นที่ดีมีอนาคตมากกว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ที่สำคัญต้องมั่นใจว่าบริษัทที่ซื้อมาใหม่ต้องดีกว่าบริษัทที่ขาดทุนอยู่ในพอร์ต ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นขายหมูไปซื้อควายเข้ามาแทน

http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58092
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 28, 2014, 02:40:50 pm
การตกผลึกแนวคิดของเซียน

:D ทำไมในตลาดจึงมีแต่คนร่ำรวยจากหุ้นอยู่ไม่กี่คน แต่มีคนที่ขาดทุนกับหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

:D สาเหตุหนึ่งที่ผมพอจะสัมผัสได้จากหลายท่านที่ประสบความสำเร็จคือ แต่ละท่านมีแนวความคิดที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีจุดยืนที่มั่นคงหรือมีกฎที่ตายตัว แต่มีกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนตามสภาวะโอกาสได้ตลอดเวลา ดั่งเช่น ต้นไผ่ที่มีรากหยั่งลึกในดินอย่างมั่นคง แต่มีกิ่งก้านที่โน้มไหวตามลมได้เสมอในเวลาที่มีพายุ

:D คำถามต่อมาสำหรับนักลงทุนมือใหม่หลายๆท่านคือ "ทำอย่างไร เราจึงจะมีแนวความคิดได้อย่างพวกพี่ๆและอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้น"
:D ผมขออนุญาตสรุปประเด็น การตกผลึกทางแนวความคิดให้นักลงทุนมือใหม่ที่สนใจเล่น(ลงทุน)หุ้นไว้พิจารณาเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางการลงทุน ไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของบรรดาเจ้ามือทั้งหลาย
:D ความหมายของ"แนวความคิด"คือ "การประมวลผลทางสมองที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ทางความคิดของบุคคลนั้นๆได้พบเจอมาในอดีต เช่นถ้าผมถามว่า เจ้าแท่งพลาสติกสีเงิน พับได้ มีเสา มีปุ่มตัวเลขให้กด อยู่ในกระเป๋ากางเกงของผมคืออะไร เกือบ100%จะต้องตอบได้ว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าผมเอาคำถามนี้ไปถามชาวอัฟริกาใต้ที่ล้าหลัง แน่นอนเขาคงตอบไม่ได้เกือบ100%
เช่นกันสำหรับคำถาม1คำถามที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น การตีความ ณ.จุดใดจุดหนึ่งของวันนั้น ของนักลงทุนที่ขายหุ้น เพราะเขาคิดว่าหุ้นตัวนั้นจะลง กับนักลงทุนที่ซื้อ เพราะคิดว่าหุ้นตัวนั้นจะขึ้น และผลที่ตามมาส่วนมากคนที่มีการตกผลึกทางแนวความคิดมักจะเป็นฝ่ายถูกอยู่เสมอๆ เพราะแนวความคิดเขาเฉียบคมและไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องอยู่นั่นเอง

:D แล้วแนวความคิดของเราจะเริ่มตกผลึกได้อย่างไร
อย่างที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า แนวความคิดของเรามาจาก ประสบการณ์ที่สมองเราบันทึกรูป รส กลิ่น เสียง ความรู้สึก อย่างถูกๆผิดๆ และนำมาประมวลผลสั่งการออกมา เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการให้แนวความคิดของเราตกผลึกได้ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
1.เราต้องมีความเชื่อความศรัทธาและความชอบในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เช่น ทุกๆคนชอบในการเล่นหุ้น และเชื่อว่าหุ้นทำให้เรารวยหรือเป็นอิสระภาพทางการเงินได้ เราจึงเล่น(ลงทุน)หุ้น แต่สำหรับคนที่เขาไม่ชอบหุ้น หรือคิดว่ามันจะทำให้ขาดทุน เขาก็คงจะไม่เล่นเช่นกัน
2.เราต้องมีความพยายามที่จะศึกษาและค้นคว้าหาแนวความคิดของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเท่าที่เราจะศึกษาได้(ทั้งแนวพื้นฐานและแนวเทคนิค) เพื่อนำมาเก็บไว้เป็นmemoryพื้นฐานในสมองของเรา สำหรับประมวลผลในขั้นต่อไป
3.เราต้องริเริ่มคิดโดยใช้เหตุผลของสิ่งที่เรารับรู้เข้ามา ประมวลผล ดูเหตุที่เกิดขึ้น หาคำตอบที่น่าจะเป็น และติดตามเฝ้าดูผลที่เกิดขึ้นจริง ว่าตรงกับที่เราคาดคิดไว้หรือไม่
เช่น เราอาจติดตามการเคลื่อนไหวของหุ้น10ตัวโดยกระจายทั้งหุ้นดี หุ้นวัฎจักร หุ้นเน่า หุ้นปั่น ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้งระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว ดูการเคลื่อนไหวเปรียบเทียบกับSET และปัจจัยพื้นฐาน
การคิดและประมวนผลระยะแรกอาจใช้เวลามากพอควร แต่ถ้าเราหมั่นฝึกฝนลับสมองเราอยู่บ่อยๆก็จะเร็วขึ้น เช่น เมื่อเราขับรถยนต์ใหม่ๆสมองต้องสั่งการ
ให้เท้าซ้ายเหยียบครัช เท้าขวาเหยียบเบรก แต่ถ้าเราฝึกฝนจนชำนาญ สมองเราจะสั่งการโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่รู้ตัว
หรือบางท่านอาจบอกว่ามันคือsenseอธิบายไม่ได้ แต่ผมว่ามันคือจิตใต้สำนึกที่เกิดจากการฝึกฝน ประมวลผล และสั่งการอยู่บ่อยๆนั่นเอง

:D ถ้าสังเกตุกันให้ดีๆที่ผมพูดไปนั้นคือหลัก อิทธิบาท4(ฉันทะ-วิริยะ-จิตตะ-วิมังสา) ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อธิบายไว้สำหรับบุคคลที่ต้องการจะยิ่งใหญ่ต้องยึดหลัก4ข้อดังนี้
ข้อที่1ตรงกับ ฉันทะ คือความชอบในสิ่งนั้นๆ
ข้อที่2ตรงกับ วิริยะ คือความเพียรพยายาม
ข้อที่3ตรงกับ จิตตะ คือความใส่ใจ และ วิมังสา คือความไตร่ตรอง
:D สรุปไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดสำหรับนักลงทุนทั้งชีวิตอย่าง วอเรนต์ บัฟเฟตต์, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือนักเล่นเงินตัวฉกาจอย่าง จอร์ส โซลอส  ก็มีโอกาสทำเงินเป็น1000 เป็น10000ล้านได้เช่นกัน แต่นักลงทุนมือใหม่ควรพิจารณาไว้ด้วยว่า
    นักลงทุนแบบดร.นิเวศน์ เปรียบเสมือนเรากำลังเลือกบริษัทที่เราต้องการเป็นเจ้าของ ถ้าเราเลือกดี โอกาสขาดทุนน้อยมาก ถ้าเราสามารถหาบ.ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย15%ทบต้น30ปี เงิน1ล้าน จะกลายเป็น64ล้านบาท ในวัยเกษียณของเรา
    แต่คิดจะเป็นนักเล่นเงิน หรือสนุกกับการเล่นรอบของหุ้น ถ้าหน้าตักเรามีไม่มากพอที่จะเป็นเจ้ามือ โอกาสที่เราจะถูกเจ้ามือคุมเกมและกินรวบเรามีโอกาสสูง
    เพราะฉะนั้นเราควรจะเรียนรู้ให้ครบทุกด้านแต่เลือกที่จะตกผลึกแนวความคิดของเราไปในทางvalueแบบอาจารย์ของผมจะดีกว่านะครับ

ผมขออนุญาติเอาหลักคำสั่งสอนอีกข้อของพระสัมมามัมพุทธเจ้าที่ผมเคยโพสท์ก่อนหน้านี้มาให้พิจารณาไว้ด้วยคือ
พละ5 หมายความว่าการจะทำะไรให้เกิดพลังจะมีองค์ประกอบ5อย่างดังนี้
1.ศรัทธา คือความเชื่อมั่นในสิ่งนั้นๆ ให้มีความเชื่อมั่นในแนวVI
2.ปัญญา คือความรู้ความเข้าใจในสิ่งนั้นจริงๆ คิด-ไตร่ตรองบ. ที่เราจะลงทุนโดยใช้ปัญญา
3.วิริยะ คือความเพียรพยายาม มุ่งมั่นหาข้อมูลและสิ่งที่ต้องการอยากรู้
4.สมาธิ คือความจดจ่อ แน่วแน่ ไม่ตัดสินใจอะไรเร็วเกินไป
5.สติ คือความระลึกได้ รู้ว่ากำลังทำอะไร

เราจะสังเกตุเห็นว่า1จะจับคู่กับ2
ถ้าศรัทธาสูง แต่ ปัญญาต่ำ ก็งมงาย
ถ้าศรัทธาต่ำ แต่ ปัญญาสูง ก็พวกEGOสูง ไม่รับฟังใคร

และ3จะคู่กับ4
ถ้าวิริยะสูง แต่ สมาธิต่ำ ก็พวกไฮเปอร์แอกทีฟ
ถ้าวิริยะต่ำ แต่ สมาธิสูง ก็พวกเฉื่อยชา

และการที่จะทำให้4ข้อแรกสมดุล และสมบูรณ์ก็คือข้อที่5 คือความมีสติ คิดและทำทั้ง4ข้ออย่างมีสติ
อย่างมงาย คิดเหตุและผลอย่างเป็นธรรม
อย่าEGOสูงเพราะเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว
อย่าคิดเร็วทำเร็ว หูเบาฟังข่าวลือแล้วซื้อขาย
อย่าตัดสินใจช้า ถ้าปัจจัยพื้นฐานของเหตุและผลเปลี่ยนแปลง

ผมเชื่อว่า นักลงทุนมือใหม่ทุกคนจะประสบผลสำเร็จได้ถ้ายึดแนวทางปฎิบัติตามขั้นต้น


ปล.ที่มาเขียนมาเล่าให้ฟังนี้ ส่วนตัวผมมีวัตถุประสงค์เดียวคือ
ต้องการให้นักลงทุนแนวVIหน้าใหม่ได้มาศึกษา และจงมั่นใจในแนวVI และนำไปหล่อหลอมให้เป็นแนวความคิดของตนเองให้จงได้
เพราะแต่ละท่านจะมีลักษณะนิสัยในการลงทุน และปัจจัยพื้นฐานไม่เหมือนกัน ทำให้ผมเองนึกถึงตัวเองตอนเริ่มลงทุนใหม่ๆว่า เรายังไม่มีหลักยึดเหนี่ยวในการลงทุน
จนได้มาเจอเวปนี้ ได้เจอลายแทงขุมทรัพย์ที่พวกพี่ๆทั้งหลายได้ทิ้งไว้ให้กับน้องๆรุ่นหลัง
ถึงแม้นผมจะลงทุนในตลาดมาแค่1ปี6เดือน แต่ผมมีธุรกิจของตนเองมาเกือบ15ปี ได้มองเปรียบเทียบถึงการเป็นเจ้าของธุรกิจของบริษัทต่างๆ ผมจึงเป็นแนวVIได้รวดเร็วกว่าคนที่ยังไม่เคยฝ่าวิกฤตNPL
ผมยังอยากจะยืนยันให้น้องๆที่ยังติดเล่นพนันทั้งหลายว่าVIทำเงินให้เราได้จริงๆจากพอร์ตที่ยังเขียวอื๋อจากที่เริ่มเล่นตอนindex770จุด ถ้าไม่ใช่แนวVIป่านนี้พอร์ตผมคงลบอย่างน้อยคือ13%เท่ากับindexที่ลดลง
ส่วนผมถ้าพอร์ตถึงเลข9หลักเมื่อไหร่ ถึงจะคิดว่าตัวเองเก่ง...แต่ตอนนี้ผมขอเป็นเต่าก่อนครับ


ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=11555

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 29, 2014, 03:54:31 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 29 September 2014

สัญญาณฟองสบู่ (ของหุ้นตัวเล็ก)

ผมติดตามภาวะของตลาดหุ้นไทยมานานนับถึงวันนี้ก็คงประมาณ 20 ปีแล้ว  ตลอดเวลาที่ผ่านมา  ดัชนีตลาดหุ้นและราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นลงค่อนข้างแรง  ปีหนึ่งน่าจะผันผวนขึ้นลงอาจจะเฉลี่ยถึง 25%  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงที่หุ้นขึ้นไปสูงนั้น  ผมก็ไม่ได้คิดว่าราคาหุ้นเป็น  “ฟองสบู่” อะไรมากมายนัก  ดังนั้น  ผมจึงไม่เคยคิดที่จะขายหุ้นเพราะคิดว่าราคามันแพงเกินไป  แต่ในช่วงหลังสองสามปีที่ผ่านมานี้  ผมกลับรู้สึกว่าราคาหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นไปมากจนหาหุ้นที่มีราคาถูกยากขึ้นเรื่อย ๆ  แม้แต่หุ้นที่ผมถืออยู่ซึ่งเน้นหุ้นที่เป็นแนว  “ซุปเปอร์สต็อก” ก็มีราคาแพงขึ้นมาก  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่ผมรู้สึกว่ามีราคาแพงสุด ๆ  ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติโดดเด่นอะไรก็คือหุ้นตัวเล็ก ๆ  จำนวนมากโดยเฉพาะที่มีข่าวหวือหวาที่สามารถกระตุ้นราคาหุ้นได้  การปรับขึ้นของราคาหุ้นที่ผมเห็นอยู่นี้  ผมคิดว่ามันเป็น  “ฟองสบู่”  อย่างชัดเจนโดยที่ผมเห็น  “สัญญาณ”  ต่าง ๆ  มากมายดังต่อไปนี้

         สัญญาณตัวแรกซึ่งเป็นสัญญาณที่เชื่อถือได้มากในทุกครั้งที่เกิดฟองสบู่หุ้นก็คือ  หุ้นเข้าตลาดครั้งแรกหรือหุ้น IPO โดยเฉพาะในหุ้นตัวเล็กที่มีความต้องการล้นหลามและเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดเป็นวันแรกนั้นราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปแรงมาก  หลาย ๆ  ตัวหุ้นขึ้นไปชนเพดานที่ 200%  หุ้นที่ขึ้นไปเพียง 40%-50% บางทีกลายเป็นที่  “น่าผิดหวัง”  สัญญาณที่แรงขนาดนี้ของหุ้น IPO  ก็อาจจะพอบอกได้ถึงการเก็งกำไรที่ร้อนแรงและเป็นสัญญาณว่ามี  “ฟองสบู่” ได้แล้วในหุ้นตัวเล็ก  แต่เรายังมีสัญญาณอื่น ๆ  อีกมาก

          สัญญาณที่สองก็คือ  ความแพงของหุ้นตัวเล็กที่วัดจากค่า PE PB และ Dividend Yieldหรืออัตราปันผลของหุ้นในตลาดหุ้น MAI ซึ่งเป็นตลาดของหุ้นขนาดเล็ก  โดยค่า PE ของตลาด MAI เท่ากับประมาณ 80 เท่า ค่า PB ประมาณ 5 เท่า  และปันผลประมาณ 1%  นี่เป็นการบอกอย่างชัดเจนว่าหุ้นขนาดเล็กโดยเฉลี่ยมีราคาที่แพงมาก  ถ้าจะให้เดา  มันคงเป็นความแพงที่เหนือกว่าความแพงของตลาดหุ้น Nasdaq ของอเมริกาที่เป็นหุ้นไฮเท็คในช่วงปี 1999 ที่เกิดฟองสบู่และตลาดถล่มลงในปี 2000 ที่ทำให้ดัชนีหุ้นลดลงถึง 50% ในเวลาอันสั้น  ผมก็ได้แต่หวังว่าถ้าของเราเป็นฟองสบู่จริงและ “แตก”  มันจะไม่เลวร้ายขนาดนั้น

          สัญญาณที่สามที่ผมไม่ได้ทำสถิติแต่ใช้การสังเกตไปเรื่อย ๆ  ซึ่งพบว่ามีการเล่นหรือซื้อขายหุ้นตัวเล็กในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับ Market Cap. ของบริษัท  มองคร่าว ๆ ผมคิดว่าการซื้อขายต่อวันของหุ้นในตลาด MAI ในช่วงหลัง ๆ  นี้คิดแล้วน่าจะเฉลี่ยประมาณ 2%-3% ต่อวัน  ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 0.3%  หรือพูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ  หุ้นตัวเล็กนั้น  มีการ “หมุนหุ้น” เป็นเกือบ 10 เท่าของหุ้นตัวใหญ่  สำหรับผมแล้ว  หุ้นที่มีการซื้อขายถึง 1% ของ Market Cap. ต่อวันก็ต้องถือว่ามีการเก็งกำไรสูงมากแล้ว  ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  ถ้าดูหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 10 หรือ 20 อันดับในแต่ละวันก็จะพบว่าบ่อยครั้งประกอบไปด้วยหุ้นตัวเล็กกว่าครึ่งหรืออย่างน้อยก็ต้องมีหุ้นตัวเล็กแทรกมาหลาย ๆ ตัว  ซึ่งผมคิดว่าในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วมันไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่หุ้นที่มี Market Cap. เพียงพันหรือสองพันล้านบาทจะมีมูลค่าการซื้อขายมากกว่าหุ้นที่มีขนาดหลายแสนล้านบาทได้

           สัญญาณที่สี่เป็นเรื่องของ “Story” หรือข่าวต่าง ๆ  รวมถึงเรื่องของ “Concept” หรือหุ้นที่มีแนวคิดหรือโมเดลทางธุรกิจที่ “น่าตื่นเต้น”  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือเป็นหุ้นที่สามารถ  “สร้างจินตนาการ” ที่บรรเจิด  ในประเด็นนี้ก็คงคล้าย ๆ  กับหุ้นไฮเท็คในตลาด Nasdaq ในช่วงฟองสบู่ที่หุ้นจำนวนมากมีราคาที่ “สูงสุดฟ้า”  เพราะนักลงทุน “ฝัน” ว่ามันจะ  “ปฏิวัติโลก” ของสิ่งต่าง ๆ  ด้วยผลิตภัณฑ์ของบริษัท  อย่างไรก็ตาม  สำหรับหุ้นตัวเล็กของไทยในช่วงนี้คงไม่ถึงขนาดนั้น  แต่มันก็มีพลังพอที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นไปได้มหาศาล  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ราคาหุ้นของไทยในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมและคนเข้ามาเล่นหุ้นกันมากนั้น   แม้แต่เรื่องราวเล็ก ๆ  แต่ขอให้มันมีประเด็นและอิงไปได้ว่ามันจะทำให้บริษัท  “โต”  แบบก้าวกระโดดเท่านั้น  หุ้นก็จะวิ่งไปได้มาก

           สัญญาณที่ห้าก็คือ  นักวิเคราะห์หุ้นที่เป็นมืออาชีพบางคนจะมีการใช้เทคนิคในการประเมินมูลค่าบริษัทที่มี  “ความคิดสร้างสรรค์” สูงขึ้นเรื่อย ๆ  การให้ค่า PE ของบริษัทอาจจะอิงจากค่า PE ในอดีตที่ผ่านมาที่สูงลิ่วและอาจจะบวกค่าการ “เติบโต” ในอนาคตที่จะ  “ก้าวกระโดด”  นอกจากนั้น  มีการใช้ค่า PEG หรือค่า PE ต่อค่า G หรือการเจริญเติบโตที่สูงลิ่วมาแทนค่า PE ซึ่งอาจจะทำให้หุ้นสามารถมีค่า PE สูง 50-60 เท่าได้โดยที่หุ้นยัง  “ไม่แพง” ได้  หุ้นบางตัวนั้นเนื่องจากยังไม่มีกำไรหรือมีกำไรน้อยมาก  การใช้ PE ก็เป็นไปไม่ได้  ดังนั้น  วิธีการใช้ Discounted Cashflows หรือการใช้กระแสเงินสดในอนาคตที่ยาวไกลที่บริษัทจะได้รับมาเป็นฐานในการคำนวณจึงเป็นวิธีที่ใช้กันมากขึ้น  และด้วยวิธีการนี้  การ  “เล่นตัวเลข”  ก็ง่ายขึ้นมาก  พูดอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  คุณแทบจะทำ “มูลค่าที่เหมาะสม”  ของบริษัทให้เป็นเท่าไรก็ได้ขึ้นอยู่กับ  “สมมุติฐาน” ที่ใช้

           สัญญาณสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นที่ติดอันดับหนังสือขายดีบนแผงหนังสือนั้น  มีมากมายกว่าหนังสือแนวอื่น  นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานหลายปีมาแล้ว  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงหลัง ๆ  นี้  หนังสือแนวการลงทุนที่เน้นการ  “เทรด”  หรือซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ จะขายดีกว่าหนังสือที่เน้นแนว VI  แท้ ๆ  ที่เน้นการลงทุนระยะยาวซึ่งเป็นการแสดงว่าคนสนใจการ “เก็งกำไร”  มากขึ้นโดยเปรียบเทียบ

           สัญญาณทั้งหมดที่พูดถึงนั้นดูเหมือนว่าผมจะเน้นเฉพาะหุ้นตัวเล็ก  แต่จริง ๆ  แล้ว  หุ้นทั้งตลาดไทยเองนั้นก็มีสัญญาณของ  “ฟองสบู่” ที่กล่าวถึงเช่นกันแม้ว่าดีกรีหรืออัตราความรุนแรงจะไม่เท่ากัน  ตัวอย่างเช่น  หุ้น IPO ตัวใหญ่ก็มีราคาปรับขึ้นมากกว่าในภาวะปกติมาก  ค่า PE และ PB ของตลาดหลักทรัพย์เองก็สูงลิ่วเมื่อเทียบกับอดีตและกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศ  ปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดโดยรวมก็สูงลิ่วและสูงที่สุดในอาเซียนทั้ง ๆ  ที่ขนาดของตลาดเล็กกว่าสิงคโปร์หรือมาเลเซีย  หุ้นตัวใหญ่ของไทยเองก็มีการเล่นกันด้วย Story ต่าง ๆ  ไม่น้อย  Growth หรือการเจริญเติบโตของบริษัทกลายเป็นเรื่องที่นักลงทุนใช้ในการ “ขับดัน”  ราคาหุ้นที่ผมคิดว่า  “มากเกินไป”  เหตุผลก็คือ  มันอาจจะเป็นการโตได้แค่ช่วงสั้น ๆ  ปีหรือสองปีเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า  ส่วนในประเด็นของนักวิเคราะห์เองนั้น  พวกเขาไม่ได้ใช้ “เทคนิคที่สร้างสรรค์” เฉพาะบริษัทเล็กเท่านั้น  และสุดท้ายก็คือเรื่องของหนังสือเกี่ยวกับหุ้นนั้น  มันเป็นสัญญาณที่บอกว่าหุ้นโดยรวมของไทยเองนั้น  ได้รับความสนใจอย่างมากซึ่งก็หมายถึงว่าราคาของมันน่าจะสูงจากความต้องการซื้อของคน

          ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  หุ้นตัวเล็กนั้นมี  “ฟอง” อย่างแน่นอนเพราะสัญญาณนั้นชัดเจนมาก  และไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรผมคิดว่ามันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการ “แตก” ในระดับหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว  ประวัติศาสตร์ของหลาย ๆ  เหตุการณ์ในตลาดหุ้นหลาย ๆ  ประเทศมันบอกอย่างนั้น  แต่สำหรับตัวตลาดหลักทรัพย์เองนั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็น  “ฟอง” ไหม  ความเชื่อส่วนตัวก็คือ  มันคงมีบ้าง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันเป็นเรื่องยากที่ฟองจะเกิดเฉพาะในหุ้นเล็กโดยที่ภาวะของหุ้นใหญ่หรือหุ้นโดยรวมไม่เอื้ออำนวย
 
ที่มา :
Posted by nivate at 10:46 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 30, 2014, 11:02:12 pm
คุณภาพกำไร Quality of Earning

Quality of Earning = CFO / Net Income

บางทีเรียกย่อๆ ว่า QE เป็นคนละ QE กับที่รัฐบาลธนาคารกลางอเมริกาออกนะครับ อัตราส่วนนี้นำกำไรสุทธิมาหารด้วยเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานสุทธิ และต้องเป็นเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานที่หักการจ่ายดอกเบี้ยเงินสดแล้ว ดังนั้นเวลาดึงข้อมูลกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานสุทธิมาใช้ต้องตรวจสอบดูสักนิดว่าหักดอกเบี้ยจ่ายเงินสดหรือยัง ง่ายๆ คือดูที่กิจกรรมดำเนินงานว่ามีการหักดอกเบี้ยจ่ายเงินสดหรือไม่ ไม่ใช่รายการบวกลับดอกเบี้ยจ่ายเพราะนั้นเป็นการบวกรายการทางบัญชีกลับทั้งก้อนก่อนลบออกด้วยรายการเงินสดดอกเบี้ยจ่าย หรืออาจดูในกิจกรรมจัดหาเงินว่ามีลบด้วยรายจ่ายเงินสดดอกเบี้ย (ต้นทุนทางการเงิน) หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานยังไม่ลบดอกเบี้ยจ่ายเงินสดออก
ITD หน่วยล้านบาท 2555 2554
เงินสดสุทธิได้มาจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน 2,100.3 3,970.2
กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
จ่ายดอกเบี้ย (2,297.2) (2,344.0)
CK หน่วยล้านบาท
เงินสดจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน (1,273.6) (3,046.6)
จ่ายดอกเบี้ย (1,391.2) (1,080.7)
จ่ายภาษีเงินได้ (770.7) (266.1)
เงินสดสุทธิจาก (ใช้ไปใน) กิจกรรมดำเนินงาน (3,435.5) (4,393.5)
CFO ของ ITD จะเท่ากับ (196.9) และ 1,626.2 สำหรับปี 2555 และ 2554 ตามลำดับที่จะนำมาใช้ในการคำนวนอัตรส่วนคุณภาพกำไร ส่วนCFOของ CK ใช้ได้เลย

เคยเขียนมาก่อนหน้าว่า เป้าหมายกิจการคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ ไม่ใช่เพียงกำไรเท่านั้น ในเป้าหมาย Shareholders’ value creation กิจการต้องมุ่งทำให้สมดุลทั้งสามด้านคือ Make Profit, Generate Cash Flow และ Stay Solvency ซึ่งหลายกิจการมีกำไรสุทธิแต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นลบ กิจการเหล่านี้ถ้าสังเกตให้ดีกิจการที่มีกำไรแต่กระแสเงินสดดำนินงานเป็นลบ ล้วนแต่จะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น และมักหนีไม่พ้นต้องเพิ่มทุนเพื่อลดภาระหนี้ ในทางการเงินถือว่าไม่เป็นการเพิ่มทุนที่ดี เพราะการเพิ่มทุนควรสร้างผลกำไรจากการลงทุนที่ให้ ROE ที่สูงขึ้นจากโครงการใหม่ ไม่ใช่ผลตอบแทนจากการลดดอกเบี้ยเพราะเท่ากับได้ ROE จากทุนใหม่เพียงผลตอบแทนเงินกู้เท่านั้น เรื่องนี้ถ้าเข้าใจหลักการเรื่อง Capital Budgeting ใน Finance ก็จะเข้าใจไม่ยาก

กำไรที่แสดงในงบกำไรขาดทุนเป็นผลมาจากการรับรู้ด้วยหลักเกณฑ์ค้างรับหรือเกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) ซึ่งถือว่าถูกต้องในการวัดผลทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่บางครั้งกำไรที่เห็นอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงได้ หากกำไรนั้นไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาในรูปเงินสดที่แท้จริง เช่นเมื่อขายสินค้า 100 บาท ต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาเท่ากับ 80 บาท ณ จุดที่ขายเวลานั้นกำไรเกิดขึ้นเท่ากับ 20 บาท ถ้ากิจการซื้อเงินสดขายเงินสด กิจการจะมีเงินสดเพิ่มขึ้นทันที 20 บาท แต่ถ้ากิจการขายโดยให้เครดิต 10 วัน ในทางบัญชีวันนั้น รับรู้กำไร 20 บาทแปลความว่า กิจกกรมที่ทำในวันนั้น ทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้น 20 บาท มูลค่าหรือสินทรัพย์ที่เพิ่มนั้นคือประโยชน์เชิงเศรษฐกิจนั่นเองเพียงแต่ประโยชน์ดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องได้ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงินเท่านั้น หากรับรู้กำไรตามเกณฑ์เงินสด ผลงานจะไปเกิดขึ้นในอีก 10 วันหลังขาย กิจกรรมการขายได้จบสิ้นไปแล้ว เพียงแต่ในทางปฏิบัติเราซื้อขายทุกวัน จ่ายเงินเก็บเงินทุกวัน จึงทำให้ดูเหมือนมีเงินเข้าออกทุกวัน ความจริงเงินนั้นมาจากการขายก่อนหน้าไม่ใช่จากกิจกรรมปัจจุบัน ดังนั้นทุกครั้งที่การขายเกิดขึ้นแล้วเสร็จเครดิตการค้าที่เราให้ลูกหนี้ก็เหมือนกับการที่ลูกหนี้ได้เก็บกำไรกิจการไว้ช่วงหนึ่งนั่นเอง แต่มูลค่ากิจการวัดจากกระแสเงินสดที่เกิดจริง ดังที่กล่าวไว้ว่าการรับเงินทุกวันทำให้ดูเหมือนกับขายแล้วได้เงินสดมาทุกวัน ดังตัวอย่างขาย 100 บาท กำไร 20 บาท ถ้าเช่นนี้ทุกวัน 10 วันให้หลังกิจการจะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นวันละ 20 บาทต่อเนื่องตลอด มูลค่าของกิจการก็จะใช้กระแสเงินสดรับเข้าสุทธิวันละ 20 บาทเป็นตัวคำนวณมูลค่า ถ้าสมมติว่า การเก็บเงินมีปัญหาสะดุดบางช่วง กำไรจะยังคงเดิมอยู่แต่กระแสเงินสดจะเปลี่ยนไป เมื่อรูปแบบกระแสเงินสดเปลี่ยน ย่อมกระทบต่อมูลค่าธุรกิจ ในการวิเคราะห์งบการเงินกำไรที่เห็นกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานควรจะเปรียบเทียบกันได้ จากตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกมากิจการมีกำไรวันละ 20 บาท เงินสดได้วันละ 20 บาท ถือได้ว่ากำไรที่เห็นมีคุณภาพกำไรทางบัญชีที่ผ่านมาเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ตามปกติ โดยมีข้อสมมติว่าดำเนินกิจกรรมตามหลักการดำรงอยู่ต่อเนื่อง กำไรในอดีตคือเงินสดในวันนี้ และกำไรในวันนี้ก็จะเป็นเงินสดในวันหน้า ถ้าเงินสดได้รับน้อยกว่ากำไรที่เกิดขึ้น อาจจะกำลังสะท้อนปัญหาบางอย่างในกิจการที่บ่งชี้ถึงคุณภาพกำไรในอนาคตว่าจะมีปัญหาในการเปลี่ยนกำไรเป็นเงินสดสุทธิเข้ามาในกิจการ เช่น
บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง SCCC
หน่วยล้านบาท 2555 2554 2553
จ่ายดอกเบี้ย (205.4) (187.4) (188.9)
จ่ายภาษีเงินได้ (1,088.6) (1,444.2) (1,118.8)
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 4,250.9 4,159.0 4,082.1
กำไรสำหรับปี 3,637.3 3,291.4 2,696.3
QE 1.17 1.26 1.51

บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ITD
หน่วยล้านบาท 2555 2554 2553
เงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน 2,100.3 3,970.2 748.7
กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน
จ่ายดอกเบี้ย (2,297.2) (2,344.0) (1,973.6)
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (196.9) 1,626.2 (1,224.9)
กำไรสำหรับปี 91.5.0 (1,642.1) 317.9
QE (Quality of Earning) (2.15) (0.99) (3.85)

อัตราส่วนที่ดีคือ > 1 ยิ่งสูงยิ่งดีและถ้ามีความผันผวนน้อยจะแสดงคุณภาพกำไรที่แปลงเป็นเงินสดเข้าบริษัทมาก ส่วนภ้าต่ำกว่า 1 บ่งชี้ถึงคุณภาพที่ต่ำ ยิ่งน้อยยิ่งไม่ดี ส่วนกรณที่ติดลบถือว่าคุณภาพยิ่งแย่มากวึ่งจะกระทบต่อการจ่ายปันผล เพราะQE ลบหมายถึง มีกระแสเงินสดแต่ไม่มีกำไร ก็จะจ่ายปันผลไม่ได้ (แม้จะมีกำไรสะสมก็จ่ายไม่ได้ถ้าวงดนั้นขาดทุน เพราะกฎหมายให้จ่ายปันผลได้เมื่อมีกำไรเท่านั้น) หากจะจ่ายได้ (รวมกำไรสะสมด้วย) ต้องรอในปีที่มีกำไรเท่านั้น ส่วนกรณีมีกำไรแต่เงินสดจากการดำเนินงานติดลบ แสดงว่าถ้าจะจ่ายก็ต้องกู้เงินมาจ่ายเท่านั้น (หรือขายสินทรัพย์เท่านั้น) ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไม ITD จึงมี D/E สูง และต้องมาเพิ่มทุน เพราะปีที่มีกำไรเงินสดจากการดำเนินงานกลับติดลบ และต้องมาจ่ายปันผล (ข้อมูลการจ่ายปันผลจะเหลื่อมปีกับปีที่แสดงกำไรเพราะการประกาศจ่ายเกิดในปีถัดไปหลังปิดบัญชีประจำปี)

SCC 2552 2553 2554 2555
ราคาล่าสุด(บาท) 235 234 258 420
อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน(%) 4.68 4.7 4.26 3.1
DPS 11.00 11.00 10.99 13.02

ITD
ราคาล่าสุด(บาท) 2.94 4.64 3.62 4.2
ตอบแทน(%) N.A. N.A. 1.38 N.A.
DPS 0.0 0.0 0.0 0.0

ข้อสังเกต อัตราส่วนคุณภาพกำไรคำนวณจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานหารด้วยกำไรสุทธิ คำถามที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่ใช้งบการเงินรวมคือ กำไรสุทธิควรใช้กำไรสุทธิก่อนหรือหลังหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออก ถ้าพิจารณาจากสูตรและวัตถุประสงค์ของการสื่อความหมายของค่าที่ได้ที่จะใช้บอกถึงกำไรจากการดำเนินงานและเงินสดจากการดำเนินงาน กำไรสุทธิควรเป็นกำไรของส่วนเจ้าของทั้งหมดก่อนการแบ่งระหว่างผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่และผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพราะกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แสดงในงบกระแสเงินสดไม่ได้แสดงแยกออกว่าเป็นเงินสดของกลุ่มใดเท่าไร แม้ว่าการนำเสนอแบบทางออ้อมที่นิยมใช้จะเริ่มต้นด้วยกำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายในงบกำไรขาดทุนที่เป็นส่วนหลังจากหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออกแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยจะนำไปปรับปรุงในกิจกรรมการลงทุนเพื่อกระทบยอดเงินสดทั้งหมดโดยรวมให้ถูกต้อง ดังนั้นกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานจึงเป็นกระแสเงินสดของบริษัทโดยรวมที่มาจากการดำเนินงานทั้งหมด กำไรที่จะนำมาเปรียบเทียบจึงควรเป็นกำไรก่อนหักส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (กำไรสุทธิรวม ไม่ใช่กำไรของบริษัท)

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58112
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58112
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 30, 2014, 11:03:11 pm
วิเคราะห์งบการเงินและอัตราส่วนการเงินของหุ้นอสังหาริมทรัพย์จะดูอะไรบ้าง

มีคำถามว่าถ้าจะดูหุ้นอสังหาริมทรัพย์จะดูอะไรบ้าง ในที่นี้จะเริ่มจากงบการเงิน แล้วค่อยเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอก เป็นการวิเคราะห์ในแนวทาง Bottom up ซึ่งหากใครจะมองแบบ Top down ก็เพียงกลับทิศทางกันเท่านั้น บางครั้งTop down บ่งชี้ว่ายังไม่ใช้จังหวะเราก็อาจรอดูทั้งกลุ่ม เพียงแต่เมื่อทิศทางมาทั้งกลุ่ม เราก็ค่อยเลือกลงทุนในตัวที่วิเคราะห์แล้วดูเข้าตาก็ได้ Bottom up นั้นเมื่อเจอตัวหุ้นที่ดีก็ ดูมูลค่าที่ต่ำพอที่ลงทุนได้ ก็ทยอยซื้อเก็บลงทุนไป

เมื่อพูดถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เมื่อก่อนจะรวมกลุ่มรับเหมาก่อสร้างไว้ด้วย แม้จะดึงออกมาไม่รวมแล้ว แต่ในกลุ่มอสังหาฯ ก็ยังมีความหลากหลาย มีทั้งสร้างที่อยู่อาศัย (บ้านและคอนโด) ขาย สร้างอาคารพาณิชย์ให้เช่า พัฒนาพื้นที่ทำนิคมอุตสาหกรรม สร้างคลังสินค้าขายหรือให้เช่า เป็นต้น ดังนั้น การเปรีบยเทียบและวิเคราะห็ต้องระมัดระวังอย้างมากในการวิเคราะห์และนำมาเปรียบเทียบ ในที่นี้ขอมุ่งเน้นที่สร้างที่อยู่อาศัย (บ้านและคอนโด) ขาย เป็นหลัก

โครงสร้างหรือรายการในงบการเงินที่สำคัญ
v รายการในงบดุลให้สังเกตรายการงาน สินค้าคงเหลือ ต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย
v เงินมัดจำค่าซื้อที่ดิน
v เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า/วัสดุก่อสร้าง
v ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (และสิทธิการเช่า)
v หนี้สิน-เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้
v รายได้ ---- > รายได้ อสังหาฯ รับรู้เมื่อโอนฯ
v ต้นทุน
v ดอกเบี้ยจ่าย

1. ในโครงสร้างงบการเงินนี้คือรายการสาระสำคัญที่ทำให้เราสามารถมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน (หากตีความได้เป็นและถูกต้องตามกิจกรรมของธุรกิจ) รายการที่มีสาระสำคํญที่สุด มีจำนวนที่มาก คิดแล้วมีมูลค่ากว่า 90% ของสินทรัพย์ทั้งหมด คือ ต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ในการวิเคราะห์ที่ถูกต้องนั้น ต้องมองว่ารายการนี้คือ สินค้าคงเหลือของธุรกิจนี้ แต่เป็นสินค้าที่ต้องถือรอบนาน เพราะกว่าจะก่อสร้างเสร็จและขายได้ต่างจากการผลิตสินค้าเพื่อขายทั่วไป

2. ลูกหนี้ในธุรกิจนี้แทบจะไม่มีเลยเพราะ เมื่อสร้างเสร็จ หากลูกค้าที่ซื้อบ้านหรือคอนโด รับโอนก็จะจ่ายเงินทันที โดยส่วนมากเกือบทั้งหมด (>90-95%) จะขอสินเชื่อธนาคาร ดังนั้นธนาคารจะเป็นผู้ชำระค่าบ้านให้ทันที จึงไม่มียอดลูกหนี้

3. เนื่องจากธุรกิจนี้พึ่งพิงกับสถาบันการเงินสูง ส่วนมากแทบทุกโครงการจะมีสถาบันการเงินเป็นผู้ให้เงินกู้เพื่อขึ้นโครงการ เมื่อคนซื้อบ้านต้องการซื้อบ้าน ทางโครงการหรือบริษัทมักแนะนำธนาคารเพื่อขอสินเชื่อให้ (ซึ่งมักจะง่ายกว่าที่ผู้ซื้อบ้านไปขอที่ธนาคารอื่นเอง) บริษัทก็จะเอาเงินที่โอนขายบ้านได้จากธนาคารคืนเงินกู้ธนาคารไป ที่เหลือก็คือกำไร ถ้าคนซื้อไม่ผ่านอนุมัติเงินกู้สินเชื่อ ก็จะเกิดปัญหาแน่นอน เพราะขานบ้านไม่ได้ รายได้ไม่เกิด เงินกู้ธนาคารก็คืนไม่ได้ ตรงนี้แหละครับคือประเด็นที่เกี่ยวพันกับภาวะเศรษฐกิจ ตามปกติธนาคารจะกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อโดยรวมตามภาวะเศรษฐกิจ โดยทั่วไปมักจะมียอดขยายสินเชื่อราวๆ 1.5-2.5 เท่าของ GDP และกระจายตามกลุ่มธุรกิจเพื่อป้องกันหรือเป็นการบริหารความเสี่ยงวิธีหนึ่งของธนาคาร ถ้าเศรษฐกิจดี พอร์ตสินเชื่อบ้านก็จะเพิ่มมากตามไปด้วย บริษัทอสังหาก็ขายง่ายขึ้น ถ้าเศรษฐกิจหดตัวก็ขายยากขึ้น เพราะลูกค้าบ้านได้รับการอนุมัติยากขึ้น โอนขายยากก็รับรู้รายได้น้อยลง

4. ภาวะดอกเบี้ยเป็นปัจจัยที่สอง คือเมื่อในช่วงดอกเบี้ยกำลังเริ่มขึ้นใหม่ (มักเกิดในตอนกำลังโตขึ้น) มักเป็นผลดีเพราะกำลังซื้อคนยังสูง การตัดสินใจคนซื้อจะง่ายขึ้น ยอดขายจึงโตเร็ว ส่วนในภาวะเศรษฐกิจถ้าโตมาระดับหนึ่งแล้วและดอกเบี้ยยังคงขึ้นต่อเนื่องตามวงจรเศรษฐกิจ ช่วงนี้จะเริ่มเป็นแรงกดดันการตัดสินใจซื้อ จะส่งผลให้การเติบโตยอดขายของอสังหาฯไม่สูงดังที่เกิดขึ้น ซึ่งหากอำนาจซื้อโดยทั่วไปเริ่มลดลงเพราะแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อด้วยแล้ว ยิ่งมีผลสูง

5. จากที่กล่าวในข้อแรกว่ารายการหลักในงบการเงินคือ ต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ดังนั้นหากวิแคราะห์อัตราส่วน current ratio จะไม่ได้ความหมายอะไร ช่วงดีก็เกิน 1 ใกล้ล้มละลายก็เกิน 1 ขาดสภาพคล่องก็เกิน 1 แล้วจะดู Liquidity อย่างไร เพราะธุรกิจนี้หากใครสภาพคล่องดี สายป่านดี ถือเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบข้อหนึ่งของธุรกิจ (Strength) กิจการที่สภาพคล่องไม่ดีจะพึ่งเงินกู้ระยะสั้นสูง จะมีต้นทุนการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย) สูงเป็นเงาตามตัว อ้ตราส่วนสภาพคล่องควรใช้ Modified Current Ratio = CFO/Current Liabbility แทน โดย CFO คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (หักการจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินสดแล้ว) หารด้วย หนี้สินหมุนเวียนเฉลี่ย ค่าที่ได้ควรสูงกว่า 1 จึงจะถือว่าสถาพคล่องดี ถ้า CFO ต่ำหรือติดลบ แสดงว่าธุรกิจปัจจุบันดำเนินไปประจำวันด้วยเงินกูล้วนๆ แบบนี้ช่วงเศรษฐกิจดีก็ไม่น่าห่วง แต่ช่วงไม่ดีน่าห่วง เพราะล้มง่ายเกิดปัญหาง่าย

6. ต่อมาคือวัดรอบการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ สินค้าคงเหลือคือต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายนั่นเอง (ถ้ามีรายการสินค้าคงเหลืออีกบรรทัดให้เอามารวมกัน) ใช้สูตรเดียวกับ Inventory Turnover คือ ต้นทุนขายหารสินค้าคงเหลือเฉลี่ย แน่นอนรอบจะต่ำมาก บางบริษัมได้ 0.6 รอบต่อปี หาเป็นวันได้ 600 วัน หมายความว่า โดยเฉลี่ยโครงการหนึ่งนับแต่เริ่มขึ้นเสาเข็มจนสร้างเร็จแล้วโอนขายได้ ใช้เวลา ราว 1 ปี 8 เดือน เราสามารถนำค่านี้ไปพิจารณาความเหมาะสมได้ แต่ต้องระวังด้วยเพราะโครงการของแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไปตามกลุ่มเป้าหมาย เช่นบางบรษัมเน่นลูกค้าระดับกล่างถึงกลางสูง กับบางบริษัทเน้นกลุ่มระดับสูงระยะเวลาอาจต่างกัน ซึ่งเราต้องอาศัยประสบการณ์และการสังเกต การพูดคุยหาข้อมูลเพื่อให้มั่นใจ แต่ถ้าจะพิจารณาให้เเร็วด้วยการเปรียบเทียบ บรฺษัทที่มีกลุ่มหรือภาพรวมโครงการคล้ายกัน ก็น่าจะใกล้เคียงกัน

7. เนื่องจากธุรกิจนี้ก่อหนี้สูงโดยสภาพธุรกิจ การพิจารณาเพียง D/E อาจจไม่พอที่จะได้ภาพชัดเจน จึงควรวิเคราะห์ควาสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยด้วย ปกติใช้ ICR (Interest Coverage Ratio = EBIT/I) แต่เนื่องจากธุรกิจนี้ จะมีการบันทึกต้นทุนการกู้ยืมบางส่วนเข้าในต้นทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Interest Capitalization) ดอกเบี้ยจ่ายที่เห็นในงบกำไรขาดทุนจึงแสดงดอกเบี้ยจ่ายจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยที่แท้จรงจึงควรใช้ MICR (Modified Interest Coverage Ratio = (CFO+I)/I ) โดยการเอา CFO (ซึ่งหักดอกเบี้ยจ่ายเงินสดแล้ว) บวกกลับด้วยดอกเบี้ยจ่ายเงินสด หารด้วยดอกเบี้ยจ่ายเงินสด ทั้งหมดหาตัวเลขได้จากงบกระแสเงินสด ค่าที่ได้ควรมากกว่า 1 หากน้อยกว่าหรือติดลบ แสดงถึงสภาวะที่ไม่ดีของธุรกิจ ยิ่งหากเกิดในช่วงเศรษฐกิจชลอตัวยิ่งต้องระวัง

8. อัตราส่วนที่ใช้พิจารณาอีกตัวเกี่ยวกับหนี้สินคือ Modified Payback Period = ภาระหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด / CFO อัตราส่วนนี้บอกว่า ในภาระหนี้ที่ต้องจ่ายดอเกบี้ยทั้งหมดถ้าจ่ายด้วยกระแสเงินสดที่ได้รับ (หลังหักดอกเบี้ยจ่ายแล้ว) เงินต้นทั้งหมดจะหมดในกี่ปี ยิ่งสั้นยิ่งดี แต่ติดลบไม่ดีแปลว่าไม่มีเงินจ่ายเงินต้น ค่าที่พอรับได้ น่าจะอยู่ไม่เกิน 5 ปี เพราะปกติการกู้ยืมสถาบันการเงินจะได้ term ราว 3-5 ปี ถ้ายาวกว่านั้น แสดงว่าต้องมีการ refinance แน่นอน กิจการอยู่ได้โบการหมุนเงินกู้วันไหนแบงค์ล้มบริษัทล้มแน่นอน (เหมือนปี 40 ที่มีอสังหาจำนวนมากล้มตามสถาบันการเงิน ทุกที่ล้วนมีอัตราส่วนตัวนี้ยาวทั้งสิ้น) อีกแง่หนึ่งอาจบอกได้ว่า แนวโน้มเพิ่มทุนสูง ยิ่งค่าติดลบ บรษัทจะมี D/E สูงกว่าอัตสาหกรรม และโอกาสต้องเพิ่มทุนยิ่งสูง

9. GM (Gross Margin) และ NM (Net Margin) พิจารณาเชิงแนวโน้มจะได้ภาพที่ชัดเจน หากแนวโน้มคงที่รักษาระดีบได้ดี แสดงถึงการรักษาความได้เปรียบการแข่งขัน (Sustainable Competitive Advantage) อย่าดูเพียงค่าสูงหรือต่ำอย่างเดียว เพราะแต่ละบริษัทมีกลุ่มลูกค้าต่างกัน กลุ่ม High-end ย่อมมี GM สูงกว่าผู้จับตลาดกลุ่ม Middle-end เพราะเมื่อดู NM แล้วอาจใกล้เคียงกัน กลุ่ม High-end มักมีค่าใช้จ่ายขายและบริหารสูงกว่า การวิเคราะห์หาหุ้นดีในกลุ่มนี้จึงควรดู GM และ NM แบบแนวโน้มประกอบจึงชัดเจนกว่า

10. สุดท้ายก็คงเป็นค่ามาตราฐานที่ใช้ดูหลักๆในทุกกลุ่มคือ ROA และ ROE บริษัทที่มากกว่า และสูงกว่าย่อมดีกว่า แต่บางครั้ง ทำมาทุกข้อ 1-9 บางตัวสูงบางตัวต่ำเราก็เลือกสุดท้ายที่ค่านี้เพื่อเอาตัวที่เข้า win

เขียนมา 10 ข้อคงพอควรระดับหนึ่งที่ครอบคลุมพอควร ปลีกย่อยมีอีกบ้างแต่ที่เขียนมาคือหลักใหญ่ครับ

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58112
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 08, 2014, 10:09:26 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 6 October 2014

The Marshmallow Test

เมื่อเร็ว ๆ  นี้มีนักศึกษาปริญญาโทของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิดา) ได้มาสัมภาษณ์ผมเพื่อทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานโดยอิงอยู่กับแนวความคิดที่มีการศึกษามานานและได้รับการเขียนเป็นหนังสือขายดีชื่อ “Don’t Eat The Marshmallow Yet” หรือ “หยุด อย่าเพิ่งรีบกินแมร์ชแมลโลว!”  หัวใจของคำถามส่วนใหญ่อยู่ที่ว่า  ผู้ถูกสัมภาษณ์คิดว่าในช่วงเด็กตนเองมีนิสัยที่ชอบ  “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”  หรือยอมเสียสละความพึงพอใจในวันนี้เพื่อที่จะได้ความพึงพอใจที่มากกว่าในวันข้างหน้าแค่ไหน?    หลังจากการสัมภาษณ์ในครั้งนั้น  ซึ่งผมรู้สึกประหลาดใจเล็กน้อยว่ามันเป็นนิสัยที่เป็นจริงกับผมมาก  แต่หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก  จนกระทั่งผมได้พบหนังสืออีกเล่มหนึ่งบนแผงหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้ชื่อ  “The marshmallow Test”  ผมจึงซื้อมาอ่านเพื่อดูว่ามันคืออะไรกันแน่  ทำไมการกินแมร์ชแมลโลวมาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องของจิตวิทยาแห่งความสำเร็จ  และสิ่งที่ผมพบก็คือ  มันน่าจะเป็นเรื่องจริง  โดยเฉพาะในกรณีของความสำเร็จของการเป็นนักลงทุนแบบ VI  ลองมาดูกันว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน?

    การทดลองที่เรียกว่า “Marshmallow Test” นั้น  เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 หรือประมาณ 50 ปีมาแล้วที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดโดยผู้ที่เป็นกลุ่มทดลองก็คือเด็กก่อนอนุบาลที่โรงเรียนเด็กเล็กของมหาวิทยาลัย  เด็ก ๆ ที่เข้ารับการทดสอบจะได้รับโอกาสที่จะเลือกว่าจะได้รางวัล 1 ชิ้น ตัวอย่างเช่น  แมร์ชแมลโลว ซึ่งเป็นขนมหวานที่เด็กมักจะชอบกินมาก)  ซึ่งเขาจะได้รับทันที  หรือรางวัลที่ใหญ่ขึ้น แมร์ชแมลโลว 2 ชิ้น) แต่เขาจะต้องรอในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที  เด็ก ๆ  จะมีโอกาสเลือกว่าเขาอยากได้อะไรที่สุด  เช่น  คุกกี้  เพรสเซล หรือลูกอม เป็นต้น  ซึ่งในกรณีของเด็กหญิง  “เอมี”  ที่ยกขึ้นมาเขียนเป็นหนังสือก็คือ แมร์ชแมลโลว

    วิธีการทดลองก็คือ  เอมีจะต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะในห้องคนเดียว  ข้างหน้าของหนูน้อยจะมีแมร์ชแมลโลว1 ชิ้นอยู่ทางมุมหนึ่งที่เอมีจะสามารถกินได้ทันที  และแมร์ชแมลโลว 2 ชิ้นอยู่อีกมุมหนึ่งที่เธอจะได้กินถ้ารอ   ข้าง ๆ โต๊ะจะมีกริ่งที่เอมีจะสามารถกดเรียกนักวิจัยกลับเข้ามาทันทีถ้าเธอต้องการกินแมร์ชแมลโลว 1 ชิ้น  หรือถ้าเอมีรอจนกระทั่งนักวิจัยกลับเข้ามาเองภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 นาที  เธอก็จะได้กิน 2 ชิ้น   ห้องที่ใช้ทดลองนี้จะมีกระจกทึบที่มองเข้ามาได้จากภายนอกที่นักวิจัยจะสามารถสังเกตอากัปกริยาของเด็กได้ตลอดเวลา  พวกเขาจะเห็นว่าเด็กที่นั่งรออยู่นั้นทำอย่างไรที่จะพยายามอดกลั้นยับยั้งจิตใจไม่ให้กดกริ่งเพื่อที่จะได้กินแมร์ชแมลโลวมากขึ้น

    ผลของการทดลองที่เกิดขึ้นก็คือ  เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถรอที่จะกินแมร์ชแมลโลว 2 ชิ้นได้  บางคนนั้น  นักวิจัยยังไม่ทันก้าวพ้นประตูเด็กก็กดกริ่งแล้วเพราะต้องการกินขนมหวานทันที  ความพยายามของเด็กบางคนที่จะอดกลั้นยับยั้งการกดกริ่งนั้น  บางทีทำให้นักวิจัยแทบจะ  “น้ำตาไหล”  เพราะรู้สึกสงสารเด็ก  วิธีการที่เด็กแต่ละคนใช้ในการ “สะกดใจ” ตนเองไม่ให้อยากกินแมร์ชแมลโลวทันทีนั้นหลากหลายมากและพวกเขาแสดงออกทางอาการต่าง ๆ  เช่นอาจจะปิดตา  เอนไปข้างหลัง เบือนหน้าหนีหรือกอดอก  รวมถึง  จินตนาการว่าแมร์ชแมลโลวนั้นเหมือนปุยเมฆที่  “กินไม่ได้” เป็นต้น

    สิ่งที่เด็กเล็กอายุแค่ 4-5 ขวบทำในขณะที่พวกเขารอและวิธีการที่พวกเขาจัดการหรือไม่จัดการที่จะชะลอความพึงพอใจที่จะได้รับนั้น  โดยที่ไม่คาดคิด  กลายเป็นสิ่งที่กำหนดหรือพยากรณ์ชีวิตในอนาคตของพวกเขา  แต่ละนาทีที่พวกเขารอได้นั้น  สะท้อนออกมาเป็นคะแนนสอบ SAT ซึ่งมหาวิทยาลัยใช้ในการรับเด็กเข้าเอนทร้านซ์ที่สูงขึ้น   วินาทีในการรอที่มากขึ้นสะท้อนถึงความสามารถในการเข้าสังคมและการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ  ที่ดีขึ้นเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่  ที่อายุ 27-32 ปี ซึ่งนักวิจัยได้ติดตามเด็กเหล่านั้นพบว่า  เด็กที่สามารถรอได้นานกว่าในการทดสอบแมร์ชแมลโลวมีดัชนีมวลกายที่ดีกว่าคนที่ได้คะแนนที่แย่กว่า  พวกเขายังมีความรู้สึกที่ดีกับตนเองมากกว่าและสามารถปรับตัวเพื่อรับกับความเครียดต่าง ๆ  ในชีวิตได้ดีกว่า  จากการสแกนสมองของพวกเขาพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนในส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการ “ติด” สิ่งต่าง ๆ  และความอ้วนสำหรับคนที่ได้คะแนนการทดสอบต่างกัน

    การศึกษาต่อมาของผู้เขียนและวิจัยคือ Walter Mischel ยังพบว่า  ระบบการ  “ควบคุมตนเอง” ต่อสิ่งเร้าหรือความอยากของคนเรานั้นมีสองระบบนั่นคือ  ระบบ “ร้อน” และระบบ “เย็น”  โดยระบบร้อนนั้นมาจากสมองส่วนที่เป็นสัญชาตญาณมากกว่า  ในขณะที่ระบบเย็นนั้นมาจากสมองส่วนที่เป็นเหตุผลและความนึกคิดมากกว่า  คนที่สามารถใช้หรือบังคับให้ตนเองใช้ระบบเย็นได้มากกว่านั้นจะสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและถูกต้องกว่า  การที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองใช้ระบบร้อนและตัดสินใจโดยอิงกับเหตุการณ์หรือแรงกระตุ้นเฉพาะหน้านั้น  เราจะต้องมองไปในอนาคตและดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราตัดสินใจทำอะไรในตอนนี้  พยายามให้เห็นภาพของเราในสถานการณ์ภายหน้า  ตัวอย่างเช่น  ถ้าเราติดบุหรี่และกำลังอยากสูบ  เราก็จะต้องจินตนาการให้เห็นภาพของตัวเรา  อาจจะ5-6 ปีข้างหน้าที่เราอาจจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง  หรือเป็นโรคมะเร็ง ที่มีความเจ็บปวดทรมานสูงอย่างที่เห็นบนซองบุหรี่ อย่างนี้เป็นต้น  และเมื่อเราคิดและจินตนาการแบบนี้  ระบบเย็นก็จะเข้ามาแทนที่ระบบร้อน และก็จะทำให้เราไม่อยากสูบบุหรี่และในที่สุดก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้  และนี่ก็คงคล้าย ๆ  กับเด็กเล็กที่พยายามจินตนาการว่า แมร์ชแมลโลวนั้นคล้ายก้อนเมฆที่กินไม่ได้  ดังนั้น  เขาก็ไม่อยากกินมัน

    ความสามารถในการอดกลั้นต่อสิ่งที่ยั่วเย้าหรือเลื่อนการบริโภคความพึงพอใจในปัจจุบันเพื่อที่จะได้ความพึงพอใจที่มากขึ้นในอนาคตนั้น  จะมีผลต่อความสำเร็จของชีวิตของคนในอาชีพไหนมากน้อยแค่ไหนผมเองก็ไม่แน่ใจนัก  เหตุเพราะว่าคงไม่ใคร่มีคนสามารถศึกษากรณีชีวิตจริงได้มากนัก  เพราะมันต้องใช้เวลาติดตามเป็นสิบ ๆ  ปีกว่าจะได้ข้อมูลของตัวอย่างซึ่งก็มักจะมีไม่มากนัก  แต่โดยส่วนตัวนั้น  ผมเชื่อว่ามันน่าจะมีผลต่อการเป็นนักลงทุนโดยเฉพาะในแบบ VI  ที่ต้องเน้นการลงทุนระยะยาว  เมื่อลองคิดย้อนหลังไป  ผมเองรู้สึกว่าตนเองนั้น  เลื่อนการบริโภคความพึงพอใจมาตลอดเพื่อหวังที่จะได้สิ่งที่พึงพอใจมากกว่าในอนาคตและนี่เป็นมาตั้งแต่เด็ก  ผมเป็นคนประหยัดและใช้เงินทุกอย่างเฉพาะที่จำเป็นเพื่อเก็บเงินแต่ก็ไม่ได้เก็บไว้เฉย ๆ  เอาเงินมาลงทุนค้าขายหรือทำ “ธุรกิจ”  ตั้งแต่เด็ก  นอกจากนั้น  ผมลงทุนเป็น  “แรง” และ “เวลา” ในการเรียนและการศึกษาด้วยตนเองเป็นจำนวนมากเพื่อหวังว่ามันจะช่วยให้ผมทำเงินและประสบความสำเร็จมากขึ้นในอนาคต  การเลื่อนการบริโภควันนี้เพื่อการที่จะได้บริโภคมากขึ้นในวันข้างหน้านั้น  แท้ที่จริงมันก็คือนิยามหรือ  “หัวใจ” ใจของการลงทุน  ดังนั้น  คนที่มีแนวโน้มหรือทักษะนี้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจจะหมายความว่าเขามีมันอยู่ในยีนส์จึงน่าจะมีความได้เปรียบเมื่อเขาโตขึ้นและจะต้องลงทุนในเรื่องต่าง ๆ  ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนในด้านการเงินเท่านั้น

    ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องของนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กเพราะยีนส์ก็คือ  นิสัยหรือความสามารถที่จะอดทนและควบคุมตัวเองได้ต่อสิ่งยั่วเย้านั้น  อาจจะสามารถสร้างขึ้นได้  เรื่องนี้อาจจะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แต่ผมคิดว่าไม่เสียหายที่จะทำ  สิ่งที่ผมคิดว่าเราน่าจะฝึกฝนได้นั้นอยู่ที่ความเป็นจริงของเรื่องพฤติกรรมในเรื่องต่าง ๆ  ที่มีการศึกษามามากนั้นบ่งชี้ว่า  นอกจากเรื่องของยีนส์แล้ว  สภาวะแวดล้อมและการฝึกฝนมีส่วนกำหนดอุปนิสัยและพฤติกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ  อาจจะถึงครึ่งหนึ่งหรืออย่างน้อย 30%-40% ขึ้นไป  ดังนั้น  สำหรับเด็กหรือคนที่สอบตก  “Marshmallow Test” โอกาสที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้นั้นมีแน่นอน  และผมเชื่อว่านี่เป็นทักษะที่มีประโยชน์และจำเป็นโดยเฉพาะสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ และนั่นก็คือ  การใช้ “ระบบเย็น”  ในการลงทุนแทนที่ “ระบบร้อน”  ที่มักจะทำให้เราตัดสินใจอย่างรวดเร็วและไม่ถูกต้อง

ที่มา :
Posted by nivate at 8:46 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 13, 2014, 11:48:49 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 13 October 2014

บัฟเฟตต์กับหุ้นเทสโก้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าตนเองนั้น  “ทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง” ในการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้  เจ้าของเครือข่ายค้าปลีกแบบดิสเคาท์สโตร์ขนาดใหญ่สัญชาติอังกฤษที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก  เหตุเพราะว่าหุ้นเทสโก้มีราคาร่วงลงอย่างแรงภายในสัปดาห์เดียวถึง 17% หลังจากที่ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทออกมายอมรับว่าบริษัทได้รายงานผลประกอบการครึ่งปีที่ผ่านมาผิดพลาดโดยมีการลงบัญชีว่าบริษัททำกำไรสูงกว่าความเป็นจริงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ  ราคาหุ้นตกลงมาเหลือประมาณ 1.8 ปอนด์ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปีหลังจากเดือนเมษายน 2003  และเป็นการตกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่ราคาหุ้นเทสโก้ลดลงถึง 48%

    วอเร็น บัฟเฟตต์เริ่มต้นซื้อหุ้นเทสโก้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2006  ในจำนวนประมาณ 330 ล้านเหรียญหรือประมาณหมื่นล้านบาท  หลังจากนั้นก็มีการซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีมูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 67,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 5% ของบริษัท  แต่ต่อมาเขาก็เริ่มขายหุ้นไปบ้างจนเหลือประมาณ 3.7% ณ. สิ้นปีที่ผ่านมาและเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของบริษัท  โดยรวมแล้ว  การถือหุ้นของบัฟเฟตต์ในหุ้นเทสโก้นั้นทำให้เขาขาดทุนไปประมาณ 700 ล้านเหรียญหรือประมาณ 22,400 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบัฟเฟตต์ในการถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง   จริงอยู่บัฟเฟตต์เคยเจ็บตัวจากการลงทุนหลายครั้งเหมือนกัน เช่นการลงทุนในหุ้นสายการบินและหุ้นของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  แต่การขาดทุนนั้นมักจะเป็นเรื่องของการ  “ขาดทุนชั่วคราว”  และเมื่อถือต่อไป  บางทีเขาก็  “ได้ทุนคืนมา” เหตุเพราะว่าราคาหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นและเขาขายมันทิ้งไปเมื่อรู้ว่าตนเอง “ผิดพลาด”

    โดยปกตินั้น  ถ้าบัฟเฟตต์ซื้อหุ้นตัวไหน  เขาจะต้องมั่นใจมากว่าพื้นฐานของบริษัทจะต้องดีและราคาที่เขาซื้อนั้นถูกหรือเหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท  และมูลค่าที่แท้จริงในความหมายของเขาก็คือ  มันเป็นมูลค่าที่มาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นตลอดชีวิต  ดังนั้น  ถ้าเขาคาดการณ์ไม่ผิดในเรื่องความสามารถในการทำเงินของบริษัทแล้ว   เขาก็พร้อมที่จะซื้อหุ้นและ  “ถือมันไปตลอดชีวิต”  โดยที่ไม่ต้องขายแม้ว่าหุ้นในระยะสั้นจะตกลงมามาก   ในบางกรณีที่บัฟเฟตต์ไม่แน่ใจในความสามารถของบริษัทที่จะทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดระยะยาวได้  เขาก็มักจะกำหนด “เงื่อนไขในการลงทุน”  เช่น  แทนที่จะซื้อเป็นหุ้น  เขาก็จะซื้อเป็นพันธบัตรที่มีสิทธิแปลงเป็นหุ้นหรือได้วอแรนต์มาฟรีเพื่อที่ว่าในกรณีที่บริษัทไม่ดีอย่างที่คิด  ทำให้หุ้นไม่ขึ้นหรือตกลงไปแต่บริษัทก็ไม่ถึงกับล้มละลาย  เขาก็จะสามารถได้เงินต้นคืนและแค่เสียโอกาสในการทำกำไรจากหุ้นเท่านั้น

ที่ผ่านมานั้น บัฟเฟตต์จึงมักจะลงทุนในบริษัทที่  “มีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน”  มีผลประกอบการที่มั่นคงสม่ำเสมอ  และมีหนี้ไม่มาก  สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดีและไม่ต้องลงทุนมากนัก  อีกข้อหนึ่งที่อาจไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องของการทำกำไรนักก็คือ  เขาต้องการหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่ทำให้เขาสามารถลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวไม่เป็นเบี้ยหัวแตกที่ไม่มีความหมายกับพอร์ตที่มีขนาดยักษ์ของเขา  นอกจากนั้น  ช่วงจังหวะเวลาที่เขาชอบที่จะเข้าลงทุนก็คือช่วงเวลาที่บริษัทอาจจะมีปัญหาที่เขาคิดว่า “แก้ไขได้”  และราคาหุ้นตกลงมามากที่จะทำให้การลงทุนของเขาได้ผลตอบแทนมากขึ้น   ทั้งหมดนี้ผมคิดว่า  เข้ากับ Story และคุณสมบัติของหุ้นเทสโก้แทบจะสมบูรณ์แบบในปี 2006 ที่เขาเริ่มเข้าไปซื้อนั่นคือ

เทสโก้มีความได้เปรียบเนื่องจากมันมีขนาดที่ใหญ่มากโดยเฉพาะในอังกฤษและอีกหลายแห่งในโลกรวมถึงประเทศไทย  และธุรกิจขายสินค้าประจำวันแบบนี้  ขนาดเป็นเรื่องที่ทำให้ได้เปรียบค่อนข้างมาก  นอกจากนั้น  ผลการดำเนินงานของ Modern Trade นั้น  มักจะมีความสม่ำเสมอสูงเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนเป็นล้าน ๆ คนและบริษัทมักจะกำหนดมาร์จินหรือผลกำไรลงบนต้นทุนขายได้  กระแสเงินสดเองก็มักจะดีมากเพราะสามารถได้เครดิตการค้ายาวและขายเงินสด  เทสโก้จึงสามารถจ่ายปันผลได้สูงมาโดยตลอด  ในด้านของจังหวะเวลาในการเข้าซื้อเองนั้น  ในกรณีของเทสโก้นั้นดูเหมือนว่าที่ผ่านมาก่อนถึงปี 2006 ที่บัฟเฟตต์ซื้อนั้น  จะไม่มีช่วงเวลาที่บริษัทจะย่ำแย่หรือราคาหุ้นตกลงมาแรงมาก ๆ  ซึ่งนี่ก็คล้ายกับกรณีของหุ้นวอลมาร์ทที่บัฟเฟตต์ไม่ได้ซื้อและรอมาเรื่อย ๆ  จน “ทนไม่ไหว”  และเขาอาจจะเริ่มตระหนักว่าหุ้นค้าปลีกนั้น  จะโตไปเรื่อย ๆ  อย่างมั่นคงและมีโอกาสที่จะพลาดอย่างรุนแรงยาก  ดังนั้น  เขาจึงเริ่มเข้าซื้อหุ้นดิสเค้าท์สโตร์ขนาดใหญ่ทั้งวอลมาร์ทและเทสโก้ในเวลาต่อมา

หลังจากซื้อหุ้นเทสโก้แล้วก็ดูเหมือนว่า “ภาพใหญ่” นั่นคือภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโดยเฉพาะของยุโรปและอังกฤษจะไม่เข้าข้างเขาเลย  วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ทำให้หุ้นเทสโก้ตกลงมาประมาณ 30% และน่าจะทำให้กำไรในช่วงแรกของบัฟเฟตต์หดหายไปหมด  แต่หลังจากนั้น  ราคาหุ้นก็  “ตีตื้น” ขึ้นได้เนื่องจากลักษณะของธุรกิจที่อาจจะเป็น  “Defensive” คือไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนักเนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน  อย่างไรก็ตาม  ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้  ผลการดำเนินงานของเทสโก้ก็เริ่ม “ออกอาการ”  ยอดขายเริ่มโตช้าหรือไม่โตเลย  ยอดขายของร้านเดิมติดลบแรงอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่  แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ  ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับร้านเครือข่ายอื่นแย่ลงมาก  ในส่วนของตลาดบน   คู่แข่งอย่าง Sainsbury ก็ดีขึ้นเทียบกับเทสโก้  ในส่วนของตลาดล่างลงมา  เครือข่ายของบริษัทเยอรมันเช่น  ALDI หรือ LIDL ก็ใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกที่สุดโดยเน้นขายสินค้าเฮ้าส์แบรนด์  ก็สามารถแย่งตลาดของเทสโก้ได้มาก  เทสโก้ถูกบีบทั้งสองด้าน  และนี่ทำให้ราคาหุ้นเริ่มไหลลงมาตลอด  และ “ตะปูตัวสุดท้าย” ก็คือความฉ่าวโฉ่ทางด้านบัญชีที่ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงมาอย่างหนัก

บัฟเฟตต์เองยังไม่ได้ขายหุ้นเทสโก้ทั้งหมดและผมเองก็ไม่รู้ว่าบัฟเฟตต์จะถือต่อไปแค่ไหน  ผมไม่รู้ว่าราคานี้เป็นราคาที่เหมาะสมหรือยังกับพื้นฐานที่แย่ลง  ผมเองเคยคิดที่จะซื้อหุ้นเทสโก้เหมือนกันก่อนที่จะเกิดเรื่องของบัญชี  เหตุผลที่ผมคิดในตอนนั้นก็คือ  ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่นั้น  ยังไงมันก็ยังน่าจะมีกำไรและมีเงินสดที่จะจ่ายปันผลได้ดี  และเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น  ผลประกอบการก็น่าจะดีขึ้น  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมจะซื้อได้ในราคาต่ำกว่าบัฟเฟตต์พอสมควรทีเดียว  โชคดีที่ผมไม่ได้ซื้อ  อย่างไรก็ตาม  หลังเกิดเหตุการณ์และราคาหุ้นตกลงไปมากพร้อม ๆ  กับที่บัฟเฟตต์ออกมาสารภาพว่าตนเองผิดพลาด  ผมก็ยังไม่ได้ทำอะไร  ผมคิดว่าแม้ราคาจะลดลงไปอีกแต่ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น  ผมเองก็เริ่มรู้สึกว่า  ค้าปลีกเองก็มีความเสี่ยงโดยเฉพาะในประเทศที่การบริโภค “อิ่มตัว” และพัฒนาการต่าง ๆ  ที่เปลี่ยนไปในโลกของการบริการ
    บทเรียนของเทสโก้กับบัฟเฟตต์นั้น  ผมคิดว่าสอนให้เราเรียนรู้ว่า  หนึ่ง  ไม่มีใครถูกเสมอไปในเรื่องของการลงทุนและเราไม่รู้ว่าเขาจะพลาดในวันไหน  สอง  ไม่มีบริษัทไหนที่แข็งแกร่งขนาดที่ไม่มีอะไรสามารถทำลายมันได้แม้ว่าในวันที่เรามองดู  ดูเหมือนว่ามันจะไม่มีวันแพ้สามถ้าคุณเข้าซื้อหุ้นในวันที่ราคามันอยู่ในระดับใกล้กับราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมันอย่างหุ้นเทสโก้ในปี 2006 ที่บัฟเฟตต์เข้าซื้อ  ความเสี่ยงก็น่าจะเพิ่มขึ้นมาก  และสุดท้ายก็คือ  เรื่องของผู้บริหาร  ซึ่งผมเชื่อว่าบัฟเฟตต์เองคงจะรู้สึกเจ็บหนักที่สุดก็คือ  ผู้บริหารที่แย่นั้น  ทำลายมูลค่าของบริษัทได้มากมายและเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ว่าใครเป็นอย่างไร    เรื่องของเทสโก้กับบัฟเฟตต์นั้นยังไม่จบเพราะเขายังถือหุ้นอยู่ไม่น้อย  เราคงต้องดูกันต่อว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไรในอีก  “หลายตอน”  ข้างหน้า  ซึ่งก็คงอีกหลายปี เพราะกิจการที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ “ตาย” ง่าย ๆ

Posted by nivate at 10:27 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/10/13/1480

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 17, 2014, 09:59:52 am

(http://portal.settrade.com/StaticPage/images/th/blog/webblog_1_thanwa.gif)

VI โลกสวย/ธันวา เลาหศิริวงศ์

หลายดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มและทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยรวมทำให้ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 17,279 จุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโจนส์มีความผันผวนและปรับตัวลงมาอยู่ที่  16,544 จุด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นการปรับลดลงต่อเนื่องถึง 4.25% ในเวลาเพียงสามสัปดาห์

    หลังจากประเทศไทยมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเช่นกัน ดัชนีตลาดหุ้นไทย SET ปรับตัวสูงสุดใหม่ที่ 1,600 จุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 แต่ทั้งปัจจัยจากภายในและภายนอกประเทศทำให้ดัชนีผันผวนต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1552 จุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 หรือลดลง 3% ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

    การปรับลดลงของตลาดหุ้นไทยโดยรวม อาจทำให้นักลงทุนที่ติดตามการเคลื่อนไหวราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดและคุ้นเคยกับการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นที่ตนถือ รู้สึกเสียดายเสียใจ และหวั่นไหวกับความผันผวนที่เกิดขึ้น นี่คือ สภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักลงทุนทุกคนจะต้องเผชิญ ทัศนคติและมุมมอง “เชิงบวก” คือแก่นสำคัญอย่างหนึ่งในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มุ่งเน้นการลงทุนในระยะยาว ลองมาดูกันว่า ในภาวะเช่นนี้  “vi โลกสวย” ควรมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนอย่างไร

    กรณีแรก หากตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวลดต่ำลงต่อไปอีกระยะหนึ่ง นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 นั้น ตลาดหุ้น SET ให้ผลตอบแทนรวมเงินปันผลสูงกว่า 20% และกว่า 90% สำหรับตลาดหุ้น mai  แม้ผลตอบแทนจะไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับผลตอบแทน 90% ของตลาดหุ้นประเทศอาร์เจนตินาหรือ 47% ของตลาดหุ้นดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่หากเปรียบเทียบกับผลตอบแทน 0% หรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ 1.2% ของตลาดหุ้นแนสแด็ก 2.7% ของตลาดหุ้น S&P500 ประเทศสหรัฐอเมริกา -5.0% ของตลาดนิเคอิของญี่ปุ่น -4.7% ของตลาดหุ้นลอนดอนของอังกฤษ และ -5.73% ของตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมัน vi โลกสวยต้อง “พอใจและมีความสุข” กับสภาวะการลงทุนของตลาดหุ้นไทยปีนี้

    กรณีที่สอง แม้ vi ควรเข้าลงทุนในระดับที่มี Margin of Safety แต่เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง การเปรียบเทียบผลตอบแทนของตนกับตลาดหรือกับเพื่อนนักลงทุนรอบข้าง ทำให้ vi ที่เคยถือเงินสดหรือเคยรีรออยู่หมดความอดทนและเพิ่งตัดสินใจเข้าลงทุน ส่งผลขาดทุนทางบัญชี หากราคาหุ้นยังลดลงต่อเนื่องจนถึงจุดที่มี Margin of Safety เพียงพอแล้ว vi โลกสวยต้องเห็นเป็น “โอกาส” เพิ่มสัดส่วนลงทุนหากพิจารณาอย่างรอบคอบพบว่าเป็นกิจการที่ยอดเยี่ยมและยังมีแนวโน้มผลประกอบการดีขึ้นต่อเนื่องในอนาคต แต่หากทบทวนแล้วว่าการเข้าลงทุนที่ผ่านมาเป็นการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล vi โลกสวยต้องถือว่าเป็น “ค่าวิชา” สำหรับบทเรียนที่คุ้มค่าในการป้องกันความผิดพลาดซ้ำที่อาจสร้างความสูญเสียมากกว่าในอนาคต

    กรณีที่สาม หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการของกิจการยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ย่อมต้องส่งผลดีต่อราคาหุ้นและตลาดหุ้นไทย ไม่เพียงเฉพาะ vi โลกสวยแต่นักลงทุนทุกคนต้องมีความสุขกันถ้วนหน้าจากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น การจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนคงมีเพียงกรณีเดียวคือ การพิจารณา upside/downside risk อย่างรอบคอบแล้วว่าคุ้มค่า นักลงทุนต้องคำนึงไว้เสมอว่า ราคาหุ้นส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น ไม่ถือว่าอยู่ในระดับราคาที่ถูกจนถึงกับ “รอไม่ได้” เช่นกัน   

    กรณีสุดท้าย หากตลาดหุ้นไทยหรือหุ้นที่ตนถืออยู่เคลื่อนไหวในกรอบราคาแคบๆ (sideway) จนถึงสิ้นปี 2557 และนักลงทุนยังได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายหรืออยู่ในระดับ 12-15% ต่อปี นักลงทุนทุกคนก็ควรพอใจ เพราะเป็นระดับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลในการลงทุนระยะยาว  vi โลกสวยที่มีรายได้จากภาระหน้าที่งานประจำ ก็เป็นโอกาสดีที่จะสะสมเงินส่วนเกินเพื่อพร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเมื่อโอกาสมาถึง ส่วน vi โลกสวยที่ลงทุนเต็มเวลา นี่คือโอกาสดีที่จะจัดสรรเวลาสำหรับกิจกรรมที่ตนชื่นชอบ ทำประโยชน์ต่อเอง คนรอบข้างและสังคมส่วนรวมได้อย่างดี

    หากตัดสินใจแน่วแน่ที่จะลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นแล้ว การมีแต่มุมมองเชิงลบ การไม่พอใจการตัดสินใจของตน รู้สึกไม่เป็นสุข เสียดาย เสียใจและมักเกิดอาการ “รู้งี้” ล้วนเป็นการบั่นทอนสภาวะจิตใจโดยไม่จำเป็น อาจส่งผลให้ไม่สามารถ “ยืนระยะ” อยู่ในตลาดหุ้นได้อย่างยาวนาน จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากต้องแพ้ภัยตนเองและล้มเลิกภาระกิจการลงทุนและเป้าหมายที่ตนเคยตั้งไว้

    ในฐานะ Value Investor นักลงทุนทุกคนจำเป็นต้องมีทัศนคติและมุมมองเชิงบวก และต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า แม้ในระยะสั้นตลาดหุ้นจะมีความผันผวน แต่การมีสภาวะจิตใจที่ดีและไม่เสียกำลังใจยามเพลี่ยงพล้ำในการรบย่อยชั่วคราว ย่อมจะมีโอกาส “ชนะสงครามใหญ่” หรือถึงเป้าหมายการลงทุนระยะยาวในที่สุด

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58193

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 19, 2014, 09:42:07 pm
บทเรียน 16 ข้อจาก Anthony Bolton สุดยอด VI ของอังกฤษ

บทเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการเป็นผู้จัดการกองทุนมานาน 25 ปีของผม

1. เข้าใจความได้เปรียบเชิงแข่งขันและคุณภาพของบริษัท

คุณจะต้องรู้ฐานะการแข่งขันของบริษัทและรู้ว่าบริษัททำผลกำไรได้ด้วยวิธีการใด ธุรกิจที่ผมชอบคือ ธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ยั่งยืนเป็นระยะเวลายาวนาน สิ่งที่ผมจะถามก็คือ : ในอีก 10 ปีข้างหน้า บริษัทนี้จะยังอยู่หรือไม่และบริษัทน่าจะมีมูลค่าสูงกว่านี้หรือเปล่า ?

2. เข้าใจตัวแปรสำคัญๆ ที่เป็นตัวผลักดันธุรกิจ

ระบุตัวแปรหลัก ๆ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรที่บริษัทควบคุมไม่ได้อย่างเช่น ค่าเงิน, อัตราดอกเบี้ย และภาษี สำหรับผม ธุรกิจที่ดีคือ ธุรกิจที่สามารถควบคุมชะตากรรมส่วนใหญ่ของตัวเองได้

3. สนใจธุรกิจที่เข้าใจได้ง่ายมากกว่าธุรกิจที่ซับซ้อน

ธุรกิจที่ซับซ้อนจะวิเคราะห์ได้ยากว่ามีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนหรือเปล่า สำหรับผมแล้ว ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจ ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง ๆ ในการดำเนินธุรกิจจะมีความน่าสนใจน้อยกว่า

4. ฟังข้อมูลจากผู้บริหารโดยตรง

ผมชอบผู้บริหารที่ตรงไปตรงมาและไม่ขี้โม้ ผมอยากได้ยินทั้งข่าวดีและข่าวร้าย

5. หลีกเลี่ยงบริษัทที่มีผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความน่าเชื่อถือในทุกกรณี

6. พยายามคิดล้ำหน้ากว่าคนอื่น ๆ ไปสองก้าว

ดูว่าอะไรถูกมองข้ามไปในปัจจุบัน แต่มันจะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนในอนาคตได้ โดยทั่วไปแล้ว ตลาดหุ้นไม่ได้มองอะไรไกล ๆ นัก ดังนั้น หากเรามองไกลกว่าคนอื่น ๆ เราจะทำกำไรได้

7. เข้าใจความเสี่ยงในงบดุล

การลงทุนเป็นการจำกัดความเสี่ยงและการหลีกเลี่ยงความหายนะ คุณต้องวิเคราะห์งบดุลอย่างละเอียด ดูเรื่องหนี้สินของบริษัทให้ดี

8. เสาะหาความคิดจากหลายๆแหล่ง

ยิ่งคุณมีแหล่งความคิดหลากหลายขึ้นเท่าไร คุณก็จะมีโอกาสหาหุ้นเด็ด ๆ ได้สูงขึ้นเท่านั้น แหล่งความคิดที่ชัดเจนที่สุดอาจจะไม่ใช่แหล่งที่ดีที่สุดเสมอไป ผมจะชอบแหล่งข้อมูลที่คนอื่น ๆ ไม่ค่อยใช้กัน

9. ดูการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารบริษัทด้วย

มันไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้องเสมอไป แต่มันก็มีประโยชน์มาก ดูจำนวนรายการที่เกิดขึ้น การซื้อจะบอกอะไรได้มากกว่าการขาย และผู้บริหารบางคนจะน่าสนใจกว่าคนอื่น ๆ

10. ตรวจสอบเหตุผลในการลงทุนของคุณเป็นระยะ ๆ

การซื้อหุ้นต้องมีเหตุผลรองรับ และคุณต้องตรวจสอบเหตุผลเหล่านั้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้ความเชื่อมั่นพัฒนากลายเป็นความดื้อรั้น

11. ลืมต้นทุนของคุณซะ

ราคาที่คุณซื้อหุ้นมาไม่มีความเกี่ยวข้องเลย มันแค่มีความสำคัญในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในเชิงลบ อย่างลังเลที่จะตัดขาดทุน

12. ผลงานที่ผ่านมาไม่ได้บ่งบอกถึงอนาคต

อย่างไรก็ตามคุณต้องวิเคราะห์ความผิดพลาดของคุณและเรียนรู้จากมัน

13. ใส่ใจกับมูลค่าเฉพาะของบริษัทนั้น ๆ ไม่ใช่ดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบ

หากคุณดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบ คุณอาจจะซื้อหุ้นตัวที่แพงน้อยกว่ามาซึ่งมันจะทำให้คุณขาดทุนอยู่ดี

14. ใช้วิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นตัวบ่งชี้เพิ่มเติม

ผมจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาช่วยกำหนดขนาดการซื้อหุ้นของผม หากปัจจัยทางเทคนิคช่วยยืนยันการวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน ผมจะซื้อหุ้นในปริมาณที่มากขึ้น แต่ถ้าไม่ ผมจะซื้อหุ้นอยู่ดีแต่จะซื้อในปริมาณที่ลดลง เมื่อไรก็ตามที่ปัจจัยทางเทคนิคชี้ว่าหุ้นกำลังอ่อนแอ ผมจะตรวจสอบปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผมพบว่ามันจะมีประโยชน์สำหรับหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า

15. หลีกเลี่ยงการทำนายทิศทางตลาดและการลงทุนตามเศรษฐกิจมหภาค

ผมจะลงทุนในบริษัทที่ผมคิดว่ามีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน

16. จงสวนกระแส

หากคุณรู้สึกสบายใจที่จะลงทุนในหุ้น คุณอาจจะเข้ามาสายไปแล้ว
จงลงทุนสวนกระแสฝูงชน อย่ารู้สึกมั่นใจสูงขึ้น เมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น
เวลาที่ทุกคนปราศจากความกังวลจะเป็นเวลาที่น่ากลัวที่สุด
เวลาที่ทุกคนกังวลอย่างมาก ความกังวลมันจะไปสะท้อนในราคาแล้ว

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=8267
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 20, 2014, 09:07:03 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 20 October 2014

สิ้นสุดยุคทองของ VI

ผมเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของ  “สัจธรรม”  ข้อหนึ่งที่ว่า  อะไรก็ตาม  เมื่อมันดี  โต  ก้าวหน้า ไปมากและยาวนานเกินกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตหรือเกินกว่าสิ่งอื่นหรือคนอื่นที่เป็นคู่แข่งกัน  ในที่สุดมันก็ต้องชะลอและกลับตัวลงมาเพื่อที่จะทำให้มันไม่ดีเกินไป  โตเกินไป  หรือก้าวหน้ามากเกินไป  มิฉะนั้น  ในระยะยาวแล้ว  มันก็จะโตเกินกว่าที่เป็นไปได้ตาม  “ธรรมชาติ”  ผมมีความเชื่อว่าธรรมชาตินั้น  ในระยะยาวแล้วไม่มีความ  “ลำเอียง”  มันจะพยายามปรับให้เกิดความ  “สมดุล” ที่ไม่มีอะไรที่ใหญ่หรือ “ดีเด่น” เกินไปจนทำให้สิ่งอื่นนั้นเล็กเกินไปและ “ด้อย” กว่าจนอยู่ไม่ได้  ภาษาทางปรัชญาอาจจะเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า   “สูงสุดคืนสู่สามัญ”  ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า  “Regression to the Mean”  หรือแนวโน้มทางสถิติของสิ่งต่าง ๆ ในทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่จะวิ่งเข้าหาอัตราการเติบโตหรือตัวเลขของ  “ค่าเฉลี่ย”  โดยที่ไม่ต้องไปคิดหาเหตุผลว่าอะไรทำให้มันเป็นเช่นนั้น   เหตุผลนั้น  แน่นอนต้องมี  เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังไม่รู้หรือมันอาจจะยังไม่เกิด  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์นั้นมีอาชีพต้องหาเหตุผล  เพื่อที่จะบอกว่าอะไรที่จะทำให้การเติบโตนั้นจะต้องช้าลงกว่าเดิมไปอีกหลายปีเพื่อที่มันจะวิ่งเข้าสู่ค่าเฉลี่ย

           ผมกำลังจะบอกว่าความสำเร็จ หรือความก้าวหน้าของการลงทุน  หรือผลตอบแทนที่นักลงทุนโดยรวมและเฉพาะอย่างยิ่ง VI ของไทยเคยทำได้มายาวนานกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้  มันอาจจะถึงเวลาที่จะต้องชะลอตัวลง  การลงทุนที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนต่อปีที่เกิน 20%-30% แบบทบต้นในระยะยาวเป็น 10 ปีขึ้นไปนั้น  เป็นเรื่องที่ยากมาก  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ที่สามารถทำผลตอบแทนสูงในระดับนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมเชื่อว่ามีไม่น้อย  และมันทำให้เกิด  “ภาพลวง” ว่า  การทำผลตอบแทนเกินกว่า 20%-30% ต่อปี ในระยะยาวนั้นเป็นไปได้ไม่ยาก  แต่ในความคิดของผมแล้ว  นี่อาจจะเป็นเวลาที่แนวโน้มการทำกำไรงดงามอย่างง่าย ๆ  ของนักลงทุนในตลาดหุ้นกำลังเปลี่ยนไป  นี่อาจจะเป็นเวลาที่ “ยุคทองของ VI”  ที่ดำเนินมามากกว่า 10 ปี กำลังหมดลง  ภายในเวลา 10 ปีข้างหน้านั้น  การทำผลตอบแทนได้ปีละ 15%-20% แบบทบต้นอาจจะเป็นสิ่งที่ “ดีสุดยอด” แล้ว  เพราะนั่นสำหรับหลาย ๆ  คนจะเป็นสถิติระดับโลกที่สามารถทำผลตอบแทนในระดับ 20% ขึ้นไปเป็นเวลาอาจจะ 20 ปีติดต่อกัน  น้อยคนมากที่จะทำได้!
            เหตุผลที่ผมคิดว่ายุคทองของตลาดหุ้นไทยนั้นใกล้จบลงมีหลาย ๆ  เรื่อง  และมันคือเหตุผลที่ทำให้เกิดยุคทองหรือทศวรรษทองของตลาดหุ้นไทยในทางตรงกันข้าม   พูดง่าย  ๆ  สิ่งที่ขับดันราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น  กำลังหมดพลังลงหรือเปลี่ยนทิศ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

          การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นต้องบอกว่าอยู่ในระดับปานกลางคือช่วงหลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มานั้นเราโตปีละประมาณ 5% จากประมาณ 7% ก่อนหน้านั้น  จนถึงประมาณปี 2550   หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็เริ่มชะลอตัวลงมาค่อนข้างมากเหลือแค่ 3%-4%  ผมเองไม่รู้ว่านี่เป็นการชะลอตัวลงอย่างถาวรแล้วหรือไม่  เหตุผลก็เพราะว่าคนไทยนั้นเริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  เด็กเกิดใหม่มีน้อยลงมาก  กำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็น้อยลงและในอนาคตก็อาจจะเริ่มลดลง  และหากเป็นอย่างนั้น  ไทยก็อาจจะเหมือนประเทศของคนสูงอายุในยุโรปหรือในญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเติบโตยาก  ตลาดหุ้นก็จะไปไม่ได้

           สิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตสูงมากในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าคือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มลดลงมาอย่างรวดเร็วหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2542 ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่ลดลงจากประมาณ 5% เหลือ ไม่ถึง 4%  พอถึงปี 2543 ดอกเบี้ยลดลงอีกเหลือประมาณ 2.5%  และลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียงประมาณ 1% ในปี 2546  หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอดจนถึงวันนี้  และนี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนถอนเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นต่อเนื่องยาวนานและทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม  อัตราดอกเบี้ยนับจากวันนี้ดูเหมือนว่ามันคงไม่สามารถลงต่อไปได้อีกและมีแต่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากนโยบายของสหรัฐที่จะลดสภาพคล่องทางการเงินโดยการยกเลิก QE และหากอัตราดอกเบี้ยของไทยเริ่มปรับตัวขึ้น  โอกาสก็เป็นไปได้ที่คนจะถอนเงินออกจากตลาดและทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลงหรือขึ้นต่อไปได้ยากขึ้น

            ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2543 เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นสอดคล้องกับเวลาที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงอย่างชัดเจน  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 14 ปี ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 16%-17% แบบทบต้น  เงินลงทุน 1 ล้านบาท กลายเป็นประมาณ 10 ล้านบาท  ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สูงมากในระยะเวลาที่ยาวมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ประเด็นก็คือ  อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้านั้น  ผมคิดว่าตลาดจะปรับตัวดีแบบเดิมคงเป็นไปได้ยากมาก  เพราะมันจะทำให้ตลาดหุ้นไทยใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศ

            การปรับตัวของหุ้นไทยยังน่าจะมาจากการที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโตขึ้นหลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 และการปรับโครงสร้างทางการเงินในช่วง 2-3 ปีต่อมา  ในช่วงเวลาประมาณ 12 ปีที่ผ่านมาจนถึงล่าสุด  กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นประมาณ 117%  หรือโตปีละประมาณ 6.7% แบบทบต้น  แต่ดัชนีตลาดหรือราคาหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นถึงประมาณ 260%  หรือเพิ่มขึ้นปีละกว่า 13%  คิดเป็น 2 เท่าของกำไร  ดังนั้น  ราคาหุ้นของไทยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้นไม่ได้ขึ้นเพียงเพราะกำไรบริษัทเพิ่มขึ้น  แต่เพิ่มขึ้นด้วย “พลังเงิน” ของนักลงทุนที่ทำให้หุ้นแพงขึ้น  ซึ่งตัวเลขค่า PE ของตลาดมีการปรับตัวขึ้นจากค่า PE ในช่วงหลังวิกฤติใหม่ ๆ  ไม่เกิน 10 เท่าก็กลายเป็นประมาณ 18 เท่าในปัจจุบัน

          ประเด็นก็คือ  การเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น  เร่งตัวขึ้นในช่วงหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์  แต่ในช่วงปีหรือสองปีนี้  กำไรกลับไม่ได้โตขึ้นเท่าไรนัก  อาจจะมาจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤติการเมืองหรือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยหรืออาจจะมาจากผลของการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นได้  อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะดีขึ้นตามที่นักวิเคราะห์คาด  แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ดูเหมือนว่าจะไม่โดดเด่นนัก  นอกจากนั้น  ค่า PE ก็คงมีโอกาสสูงขึ้นยากและอาจจะมีแนวโน้มที่ลดลงได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่ดีอะไรบางอย่าง  ดังนั้น  ความหวังที่จะเห็นหุ้นปรับตัวดีขึ้นไปอีกจากปัจจุบันก็อาจจะไม่เป็นจริงได้

          ทั้งหมดที่ผมพูดมานั้น  ดูเหมือนจะเกี่ยวกับตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียนโดยรวมมากกว่า   บางคนอาจจะเถียงว่าหุ้น VI อาจจะไม่ได้เข้าข่ายดังกล่าว  ดังนั้น  มันอาจจะไม่ใช่การหมด  “ยุคทองของ VI”   ในประเด็นนี้ผมเองกลับเห็นว่า  การปรับตัวขึ้นของหุ้นในระยะกว่า 10 ปี ที่ผ่านมานั้น  หุ้นที่เรียกว่า  “VI” นั้น  มีการปรับตัวขึ้นมามากกว่าหุ้นกลุ่มอื่น  และการปรับตัวขึ้นของมันเองนั้นก็มาจากเรื่องของกำไรที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทและการปรับตัวขึ้นของค่า PE เช่นเดียวกับหุ้นทั่วไป  สิ่งที่แตกต่างนั้น  ผมกลับคิดว่าหุ้นที่เรียกว่า VI นั้น  มีการปรับตัวขึ้นของ PE  มากกว่าการเพิ่มขึ้นของกำไร  หรือพูดง่าย ๆ  โดยเปรียบเทียบแล้ว  หุ้น VI นั้น  มีราคาแพงขึ้นมากกว่าหุ้นธรรมดา  ดังนั้น  โอกาสที่หุ้น VI จะทำผลตอบแทนดีกว่าหุ้นทั่วไปในอีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะยากขึ้นกว่าในอดีตมาก  และนี่ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า  มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ใกล้หมดยุคทองของ VI  อย่างไรก็ตาม  การลงทุนแบบ VI เองนั้น  ก็ยังเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด  เพียงแต่อย่าหวังว่ามันจะทำกำไรได้มหาศาลเหมือนเดิม  ตัวเลขที่หวังนั้น  ผมคิดว่าควรกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 10%-15% ต่อปีในระยะยาวซัก 5-10 ปีข้างหน้า
 
Posted by nivate at 1:16 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 22, 2014, 10:44:41 pm
บัฟเฟตกับหุ้นเทสโก้/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

นักลงทุนส่วนใหญ่รู้จักวอร์เรน บัฟเฟตในฐานะนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มีชื่อเสียงระดับโลกและถือว่า เป็น”เทพ”ในการลงทุน เรามักได้ยินว่าบัฟเฟตทำกำไรจากการลงทุนได้เท่านั้นเท่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บัฟเฟตก็เหมือนนักลงทุนทั่วไปที่อาจจะทำผิดพลาดบ้างในชีวิตการลงทุน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเหนือกว่าก็คือเขานำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ ผิดพลาดซ้ำสองและเขียนบอกเรื่องความผิดพลาดของเขาในสมุดรายงานประจำปีถึงผู้ ถือหุ้นบริษัทเบิร์คไชน์แฮททาเวย์ทุกปี

ล่าสุดบัฟเฟตออกมายอมรับถึง ความผิดพลาดของการลงทุนในห้างค้าปลีกยักษ์อย่างเทสโก้ของอังกฤษ บัฟเฟตซื้อหุ้นห้างเทสโก้ในปี 2006 และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนกว่า 5 เปอร์เซนต์ ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหุ้นของเทสโก้ลดลงเกือบครึ่งเนื่องมาจากผลการ ดำเนินงานที่ไม่ดีดังที่คาด นอกเหนือจากนั้นยังมีคดีการตกแต่งบัญชีอีกด้วย บัฟเฟตถึงกับออกมายอมรับว่าการลงทุนในเทสโก้เป็นการลงทุนที่ผิดพลาดอย่าง มหันต์ของเขา
เทสโก้เป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจาก ห้างวอลมาร์ทและใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในยุโรป ขนาดของบริษัททำให้เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 63 ในการจัดอันดับของฟอร์จูน 500 เทสโก้ก่อตั้งเมื่อปี 1919 ปัจจุบันมีจำนวนสาขาทั้งหมด 6,784 สาขาใน 12 ประเทศ ในต่างประเทศเทสโก้ไม่ได้เป็นแค่ห้างค้าปลีกเพียงอย่างเดียวแต่ยังทำธุรกิจ สถานีบริการน้ำมัน ให้เช่าวีดีโอรวมถึงธุรกิจการปล่อยกู้ทางการเงินอีกด้วยและในปี 2014 เทสโก้ยังประกาศผลิตมือถือเพื่อแข่งกับบริษัทซัมซุงอีกด้วย

หลังจากที่มี เรื่องอื้อฉาวในการตกแต่งบัญชีและผลประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เทสโก้ได้ซีอีโอใหม่ชื่อ เดฟ เลวิส อายุ 49 ปี เขามาจากบริษัทยูนิลีเวอร์ และเป็นซีอีโอคนแรกที่มาจากบริษัทข้างนอก แต่มีคนกล่าวว่าเขาไม่เคยทำงานด้านค้าปลีกมาก่อน สิ่งสำคัญที่ซีอีโอใหม่ต้องเข้ามาจัดการคือสงครามราคาที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ค้าปลีกของอังกฤษและยุโรป

เทสโก้เคยประสบความสำเร็จในการสร้างภาพ พจน์ในการเรื่องของ”ราคาที่ถูกที่สุด” (Everyday Low Prices) ซึ่งแคมเปญนี้ถูกนำมาใช้กับสาขาของเทสโก้ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จะเห็นว่าการโฆษณาของเทสโก้จะเน้นไปที่”ราคาถูกทุกวันที่นี่” ซึ่งใช้ได้ดีในอดีต แต่ปัจจุบันมีผู้เล่นหน้าใหม่เริ่มเข้ามาในตลาดระดับล่างมากขึ้นอย่างเช่น ห้างอัลดีหรือลิดิล (Aldi and Lidl) ที่ขายสินค้าในราคาถูกรวมทั้งการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เริ่มได้รับ ความนิยมมากขึ้น ทำให้ลูกค้าของเทสโก้เริ่มหายไป นอกเหนือจากนั้นเทสโก้ยังตกอยู่ช่องว่างตรงกลางระหว่างห้างราคาถูกมากๆและ ห้างระดับหรูอย่างมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ทำให้ตำแหน่งทางการตลาดของเทสโก้ไม่ ชัดเจน ซึ่งเป็นงานหนักของผู้บริหารเทสโก้คนใหม่

ในช่วงที่อยู่ที่ยู นิลิเวอร์ เดฟ เลวิสมีผลงานในการลดค่าใช้จ่ายและพนักงานของหน่วยงานผลิตภัณท์ส่วนบุคคลลง ถึง 40 เปอร์เซนต์ในช่วงปีวิกฤติซัพไพร์ม 2007-2008 มีเรื่องเล่าว่าในช่วงที่เขาทำงานอยู่ที่อเมริกาใต้นั้น บริษัทคู่แข่งคือพีแอนจี (Procter & gamble) ได้ออกผงซักฟอกยี่ห้อใหม่ที่ชื่อ แอเรียล (Ariel) ด้วยความที่ต้องการกลบกระแสของสินค้าใหม่ของพีแอนจี เขาค้นพบว่ายูนิลีเวอร์มีผลิตภัณท์ที่ไม่ได้ทำตลาดมานานมาแล้วในชื่อแอเรียล เช่นเดียวกัน แต่เป็นกระดาษรองนั่งชักโครก เขาเริ่มโฆษณากระดาษรองนั่งนี้ทุกช่องทางอย่างทุ่มสุดตัว สุดท้ายพีแอนจีต้องถอนสินค้าผงซักฟอกแอเรียลออกจากตลาดโดยสิ้นเชิง

เทสโก้ยังต้องมีงานที่รออยู่อีกมากในการที่จะกลับตัวให้บริษัทกลับมาเติบโตและ ทำกำไรได้อีกครั้ง ซีอีโอใหม่จะทำได้หรือไม่และเทสโก้จะเป็นอย่างไรต่อไปคงต้องติดตามในอนาคต บัฟเฟตยังคงถือหุ้นเทสโก้อยู่ถึงแม้เขาจะขายหุ้นออกไปบ้างก็ตาม

สุดท้ายจะเห็นว่าแม้แต่บัฟเฟตยังทำผิดพลาดได้ ดังนั้นถ้านักลงทุนวีไออย่างเราๆท่านๆจะพลาดบ้างก็ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายแต่อยางใด

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58206
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 27, 2014, 10:35:58 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 27 October 2014

เรียนรู้และปรับตัวตลอดชีวิต

เมื่ออายุผมผ่าน “วัยเกษียณ” ซึ่งในนิยามของคนทั่วไปก็คือ 60 ปี นั้น  ชีวิตและกิจวัตรประจำวันของผมก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย  มันไม่เหมือนคนกินเงินเดือนจำนวนมากที่พอถึงวันเกษียณ  ชีวิตก็เปลี่ยนไปมาก  เขาไม่ต้องแต่งตัวไปทำงานแต่เช้า  เขาไม่ต้องรับผิดชอบที่จะทำงานหรือสั่งงานลูกน้องหรือผู้ช่วย  เขาไม่ต้องประชุมกับเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำมาเกือบตลอดชีวิตการทำงาน  เขาไม่มีเพื่อนที่จะนั่งคุยในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน  ไม่ต้องนั่งนินทาใครต่อใคร  เพราะทั้งหมดนั้น  ผมเลิกทำมันตั้งแต่ผมลาออกจากงานประจำเมื่อผมอายุประมาณ 50 ปี  จะเรียกว่าเป็นการเกษียณก่อนกำหนดก็ได้แต่จริง ๆ  แล้วไม่ใช่  เพราะหลังลาออกจากงานประจำในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง  ผมก็ยังคงทำงานอยู่  นั่นก็คืองานเกี่ยวข้องกับการลงทุน  งานเขียนหนังสือ และงานสอนที่ผมทำพร้อม ๆ  กับการทำงานประจำอยู่แล้ว  การเลิกทำงานประจำที่ใช้เวลามากนั้น  ทำให้ผมมีเวลาไปทำงานอื่นที่ทำอยู่แล้วมากขึ้น  หลังจากนั้นผมก็เริ่มทำงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงานเดิมที่ผมถนัดเช่น  การทำรายการวิทยุและทีวีเกี่ยวกับการลงทุน  การบรรยายในงานสัมมนา  การเยี่ยมชมกิจการบริษัทจดทะเบียนและอื่น ๆ   ในส่วนของสังคมนั้น  สังคมของผมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  คนที่ผมคบหากลายเป็นกลุ่มนักลงทุนแนว VI ที่มีอายุและพื้นเพหลากหลาย  เรื่องที่คุยก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องของการลงทุนและอื่น ๆ  อีกมาก  ชีวิตผมไม่ได้หยุดหลังจากเลิกทำงานประจำ  ว่าที่จริงมันเป็นการเริ่ม “เดินทางใหม่”

การอ่านหนังสือและมีเวลาศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ  มากมายที่เกี่ยวข้องและอาจจะเกี่ยวข้องกับการลงทุน  รวมถึงการมี  “อิสรเสรี” ที่จะคิดหรือทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับแนวความคิดและธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ  ของสังคมที่เป็นทางการอย่างเช่นในบริษัทขนาดใหญ่นั้น  มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความเข้าใจ  ความเชื่อ  ความศรัทธา  และมุมมองในชีวิตต่าง ๆ  ของผมเปลี่ยนไปได้ง่ายขึ้น  กระบวนการ Evolution หรือวิวัฒนาการของผมเกิดเร็วขึ้นมาก  เมื่อคิดย้อนกลับไป  ผมคิดว่าถ้าผมยังทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทขนาดใหญ่จนถึงวันเกษียณ  ชีวิตผมคงไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้  เพราะตลอดเวลาที่ทำงานเป็นลูกจ้างนั้น  ผมรู้สึกว่าความคิด  ความเชื่อ  และศรัทธาของผมเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก  เหตุผลใหญ่อย่างหนึ่งก็คือ  เราทำงานซ้ำ ๆ  อย่างเดิมทุกวัน  ที่เปลี่ยนไปก็ดูเหมือนแต่ชื่อลูกค้าและอุตสาหกรรมที่เขาทำเท่านั้นที่เปลี่ยนไป  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  การทำงานประจำที่ต้องใช้เวลามากนั้น  ทำให้เรามีเวลาอ่านหนังสือที่เป็นความรู้ที่หลากหลายน้อยมาก  Scope หรือแวดวงของความรู้ของเราจะถูกจำกัดมาก  นั่นก็คือ  เรารู้แต่เรื่องของธุรกิจ  ซึ่งนี่ก็เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนแต่มันไม่เพียงพอ  เพราะเรื่องของการลงทุนนั้น  มันเป็นศิลปะขั้นสูงที่ต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายรอบด้าน  พูดง่าย ๆ  ต้องรู้จริง รู้กว้าง แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ลึก

การที่จะรู้กว้างและรู้จักโลกโดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งนั้น  วิธีที่ดีที่สุดก็คือ  ทำตัวเป็น  “นักศึกษา”  ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาทางสังคมศาสตร์ จิตวิทยา  และเรื่องต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต  โดยรหัสของวิชาที่เรียนก็คือเริ่มต้นจากเลข 1 เช่น  เศรษฐศาสตร์ 101 หรือ 102 ซึ่งสอนวิชาที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ และวิชาอื่น ๆ  เป็นต้น   การเรียนวิชาเหล่านั้นโดยไม่ต้องสอบจะทำให้เราเข้าใจหลักการสำคัญของมันโดยไม่ต้องใส่ใจกับรายละเอียดมากนัก  และนั่นจะทำให้เราสามารถนำมาใช้ได้ในการวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ  เมื่อถึงเวลาต้องทำ

ผมเคยย้อนคิดถึงชีวิตสมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาตรีแล้วก็พบว่าชีวิตเพียง 4 ปี นั้นได้เปลี่ยนโลกทัศน์ของตนเองไปแค่ไหนก็พบว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีสีสันมากมาย  มันไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาการที่ใช้ในการทำมาหากิน  แต่รวมไปถึงเรื่องแนวคิดในด้านต่าง ๆ  ทางจิตวิทยา สังคมและการเมือง  แต่หลังจากเรียนจบไปทำงานในโรงงานนั้น  นอกจากความรู้เรื่องทางการผลิตและวิศวกรรมแล้ว  อย่างอื่นก็แทบจะหยุดหมด  เวลาผ่านไป 6-7 ปีนั้น  ผมเปลี่ยนไปน้อยมาก  ความรู้ใหม่ ๆ แทบไม่เกิดขึ้นนอกจากความชำนาญในการผลิต  การเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจเองนั้น  ทำให้เรามีมุมมองใหม่ขึ้นทางธุรกิจแต่ก็เป็นเรื่องทางทฤษฎีที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ที่ไหน   เช่นเดียวกับการเรียนปริญญาเอกทางการเงินโดยเฉพาะทางด้านการลงทุนเองนั้น  มันไม่ได้สอนให้รู้จักการลงทุนที่ดีและจะเปลี่ยนชีวิตเราได้  มันแค่สอนให้รู้ว่า  เราจะทำผลตอบแทนได้เท่ากับค่าเฉลี่ยอย่างไรโดยที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด  อย่างไรก็ตาม  การเรียนในแบบของ  “นักศึกษา”  นั้น  มันมีประสิทธิภาพสูงกว่าการทำงานในการเปลี่ยนตัวเราไปในทางที่ดีขึ้นอยู่ดี

มองย้อนหลังกลับไป  ผมคิดว่าผมคิดถูกต้องมากที่ลาออกจากงานประจำในวัย 50 ปี  ชีวิตหลังลาออกจากงานของผมคล้าย ๆ  กับการกลับมาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีใหม่  สิ่งที่ผมทำส่วนใหญ่คล้าย ๆ  กับการทำ  “กิจกรรมนักศึกษา”  นั่นคือ เป็นเรื่องที่ทำเพราะเราอยากเรียนรู้  ทำเพราะรู้สึกสนุกสนาน  ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ดีและตรงกับทัศนะของเราและทั้งหมดนั้น  ไม่ได้ต้องการเงิน!  แม้แต่เพื่อนและสังคมเองก็เปลี่ยนแปลงไป  ในช่วงที่ทำงานประจำนั้น  ทุกคนมี  “ชนชั้น”  เป็นนาย  เป็นลูกน้อง  เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ใหญ่ และอีกร้อยแปด  แต่ในสังคมของการลงทุนนั้น  ทุกคนดูเหมือนจะเป็นเพื่อนกันแม้ว่าจะต่างอายุและฐานะทางสังคมอื่น ๆ  ว่าที่จริง ไม่มีใครมีสถานะทางสังคมเป็นพิเศษอยู่แล้ว  และอายุเองก็ไม่มีความหมาย  นี่อาจจะทำให้เรารู้สึกแก่ช้าลงและอาจจะทำให้เราเข้าใจ  “โลกยุคใหม่” ได้ดีขึ้น  ซึ่งทั้งหมดนั้น  ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนได้ดีขึ้น

Evolution หรือการวิวัฒนาการของผมหลังจากลาออกจากงานประจำนั้นผมคิดว่าเร็วและดีขึ้นมาก  ผมนึกไม่ออกว่าตนเองจะเป็นอย่างไรถ้ายังทำงานอยู่จนถึงอายุเกษียณที่ 60 ปี  แต่ผมเชื่อว่าผมคงเป็นคนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมที่ไม่สามารถเข้าใจความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ได้มากนัก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะผมคงไม่ได้อ่านหนังสือและศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ  ที่เป็น  “ธรรมชาติ”  ของชีวิตและสังคมที่จะต้องดำเนินไปตามวิวัฒนาการที่ควรจะเป็นของคนไทย

            มองย้อนหลังกลับไปตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาผมพบว่า  ผมเปลี่ยนไปไม่น้อยในด้านต่าง ๆ   ผมจำความคิด  ความเชื่อและความศรัทธาสมัยที่เป็นเด็กในมหาวิทยาลัย  เป็นพนักงานและผู้บริหารในบริษัทได้และมันไม่เหมือนกับในปัจจุบัน  แม้แต่การลงทุนของผมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงไประหว่างช่วงที่ผมยังเทรดหุ้นเป็นรายหลายวันหรือรายเดือน  ระหว่างช่วงที่เป็น VI ใหม่ ๆ   และในปัจจุบัน   นอกจากนั้น  ผมยังคิดอีกว่าอนาคตผมก็ยังอาจจะเปลี่ยนไปอีก   ชาร์ลี มังเกอร์ คู่หู วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า   บัฟเฟตต์เองนั้น  มีวิวัฒนาการดีขึ้นเรื่อย ๆ  ในการลงทุนแม้ว่าอายุจะ 70-80 ปีขึ้นไปแล้วเขาก็ยังพัฒนาไปได้ต่อเนื่อง  ผมเองก็หวังว่าผมก็จะไม่หยุด  ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่คนจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต  ผมพบเพื่อนหลายคนของผมตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีนั้น  เคยมีความโดดเด่นมากแต่หลังจากหลายสิบปีผ่านไปไม่ได้มีการพัฒนาหรือปรับตัวมากนัก  ผลก็คือความก้าวหน้าก็หยุดลงและกลายเป็นคนที่ล้าหลังเพื่อนที่เคยไม่โดดเด่นแต่ปรับตัวเองมาตลอด

เขียนมายืดยาวถึงเรื่อง “ความหลัง” ตั้งแต่เด็กก็เพื่อที่จะบอกว่า  การเรียนรู้ ปรับตัว  และพัฒนาไปเรื่อย ๆ  ไม่หยุดนั้น  เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในชีวิต  คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงหรือมีความสามารถโดดเด่นในช่วงเวลาหนึ่งแต่แล้ว  “ติด” อยู่กับสิ่งเดิมและไม่เรียนรู้เพิ่มเติมนั้น  ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จเท่าคนที่ “วิวัฒนาการ” ไปเรื่อย ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไปอย่างช้า ๆ  แต่การไม่หยุดนั้น  ย่อมทำให้สุดท้ายแล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า

Posted by nivate at 9:29 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/10/27/1485

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 29, 2014, 03:30:03 am
http://www.youtube.com/v/bVuyjcNb_zw
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 08, 2014, 09:40:18 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 3 November 2014
The Lewis Turning Point

สำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น  การคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าประเทศที่ตนเองลงทุนนั้น  จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไรนับว่ามีประโยชน์มาก  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  จะได้รู้ว่าบริษัทจดทะเบียนที่เราจะลงทุนนั้นจะมีการเติบโตเร็วขึ้นหรือช้าลงและอาจจะหยุดโตเมื่อไรตามภาวะเศรษฐกิจ  นอกจากนั้น  ประเทศหรือสังคมที่เศรษฐกิจไม่โตนั้น  โอกาสก็ยากที่ดัชนีหุ้นของประเทศจะปรับตัวขึ้นไปได้มาก  ตัวอย่างของตลาดหุ้นในยุโรปและญี่ปุ่นที่ไม่ไปไหนมานานตามภาวะเศรษฐกิจที่โตน้อยมากมานานย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดี  ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร?  เรื่องนี้ผมคิดว่าโมเดลของ Arthur Lewis นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล  ที่ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 60 ปีที่แล้วสามารถจะอธิบายได้ดี

แนวความคิดของ Lewis ก็คือ  ในสังคมที่มีคนอยู่ในสองภาค  ภาคหนึ่งคือสังคมแบบ “ทุนนิยม” เช่นในเมืองหลวงหรือเมืองท่าขนาดใหญ่  กับอีกภาคหนึ่งคือสังคมแบบ  “พออยู่พอกิน”  เช่นในชนบทหรือในต่างจังหวัดที่ห่างไกลนั้น  กระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะเริ่มต้นโดยที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจสามารถที่จะลงทุนขยายงานโดยที่มี  “แรงงานส่วนเกินที่ไม่จำกัด”  จากชนบท  ดังนั้นพวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม  นี่ทำให้ธุรกิจมีกำไรดีกว่าปกติและกำไรที่ได้ก็นำไปลงทุนขยายงานเพิ่มโดยที่สามารถดึงคนจากชนบทมาทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม  กระบวนการนี้ทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่  จุดที่แรงงานในภาคพออยู่พอกินถูก “ดูดซับ” ไปหมดและการลงทุนเพิ่มต่อไปจะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นนั้นก็คือจุดที่เรียกว่า  “Lewis Turning Point” (LTP)

ณ. จุด LTP นั้น  ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  การหาแรงงานจะยากขึ้นมาก  อุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้นนั้นจะทำให้การลงทุนมีความคุ้มค่าน้อยลงเพราะผลตอบแทนจะต่ำลงส่งผลให้การขยายการลงทุนของประเทศลดลง  ผลก็คือ  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะชะลอลงกว่าที่เคยเป็นมาก  การที่จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตต่อไปนั้น  ก็จะต้องอาศัยแรงงานใหม่นั่นก็คือ  คนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานใหม่  แต่โดยปกติมันมักจะไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนกับการเคลื่อนย้ายคนจากภาคเกษตรในต่างจังหวัดอยู่แล้ว  อีกวิธีหนึ่งก็คือ  การเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้นซึ่งอาจจะใช้การเพิ่มสัดส่วนของเครื่องจักร  เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน  และอื่น ๆ  ซึ่งรวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ  ที่มีคุณค่าสูงขึ้น  อย่างไรก็ตาม  เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ  เหมือนกับการดึงคนที่มีค่าแรงต่ำจากภาคเกษตรมาทำงาน

    ประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจตรงกับโมเดลของ Arthur Lewis ก็คือจีน  ส่วนตัวผมเชื่อว่าประเทศไทยเองก็เป็นแบบเดียวกัน  ว่า  เศรษฐกิจของเรากำลังมุ่งเข้าสู่  “จุดกลับของลิวอิส” หรือ LTP  ซึ่งหมายความว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะช้าลงเมื่อเทียบกับอดีต  “อย่าถาวร”  สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นก็คือ  ในปัจจุบันการหาแรงงานของไทยนั้นยากขึ้นมากจนเราต้องนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ค่าแรงเองก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเร็ว ๆ  นี้  และว่ากันว่าในชนบทของไทยนั้น  เวลานี้มีแต่คนแก่กับเด็ก  อัตราการว่างงานของไทยนั้นต่ำมากจนแทบเป็นศูนย์  ส่วนคนหนุ่มสาวต่างก็เข้ามาทำงานในเมืองกันหมด  ประเทศจีนเองนั้นก็มีอาการแบบเดียวกันที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นสูงจากที่เคยต่ำมากจนเวลานี้สูงกว่าค่าแรงของไทยไปแล้ว

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ  Demography หรือโครงสร้างประชากรของทั้งจีนและไทยนั้นต่างก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่ประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น  มีการศึกษาและพบว่าประชากรในวัยทำงานทั้งของจีนและไทยนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็จะลดลง  คาดการณ์กันว่าอาจจะภายในปี 2020-2025 หรือประมาณ 6-11 ปี จีนก็อาจจะถึงจุด LTP ส่วนของไทยเองนั้น  ผมก็คิดว่าไม่ต่างกันมาก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นเช่นการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงาน  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็จะช้าลงมาก

โครงสร้างประชากรของจีนนั้น  กล่าวกันว่ามีความผิดเพี้ยนไปอย่างแรงตรงที่มีนโยบาย “ลูกคนเดียว” มานานซึ่งทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ในช่วงเวลานั้นมีน้อยลงไปมาก  แม้ว่าในขณะนี้เริ่มจะมีการปรับในบางเขตของประเทศ  ก็ไม่น่าจะทันกาล  ส่วนของไทยเองนั้น  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน “รุ่นใหม่” ทำให้เรามีลูกน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด   ผมดูตัวเลขประชากรของไทยกับของจีนแล้วปรากฏว่าต่างก็มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกันมากทั้ง ๆ  ที่เราไม่ได้มีนโยบายลูกคนเดียวแบบจีน  นั่นคือ เรามีเด็กอายุ 0-14 ปี 17.6% ในขณะที่จีนมี 17.1%  อายุ 15-24 ปี เรามี 15% ในขณะที่จีนมี 14.7%   ในด้านของคนสูงอายุ  ตั้งแต่ 55-64 ปี  เรามี 10.9% ขณะที่จีนมี 11.3%  และคนที่เกษียณแล้วที่ 65 ปีขึ้นไป  เรามี9.5% ในขณะที่จีนมี 9.6%  ว่าที่จริงทั้งไทยและจีนต้องบอกว่าเรากำลังเป็นสังคม  “คนแก่” ของเอเซียในขณะที่  “คู่แข่ง” ของเราในอาเซียนเองนั้น  ต่างก็ยังเป็นสังคมของคน  “หนุ่มสาว”

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่น่าจะ  “เด็ก”  ที่สุด เพราะมีเด็กอายุไม่เกิน 14 ปีสูงถึง 33.7% ของประชากรหรือเกือบเท่าตัวของไทยในขณะที่คนแก่อายุเกิน 65 ปี ที่เกษียณแล้วมีแค่ 4.5% หรือน้อยกว่าครึ่งของไทย  ลองลงมาคือมาเลเซียที่มีเด็ก 28.8%  และคนแก่แค่ 5.5%  ตามด้วยอินโดนีเซีย ที่มีเด็ก 26.2% และคนแก่ 6.5%  ทั้งหมดนั้นน่าจะมาจากเรื่องของศาสนาที่ห้ามคุมกำเนิดทำให้มีประชากรเกิดมาก  ส่วนเวียตนามซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามคุมกำเนิดเองก็ค่อนข้างเป็นสังคมคนหนุ่มสาวมีเด็ก 24.3% และคนแก่เพียง 5.7%  ในส่วนของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  แม้ว่าโดยรวมยังอ่อนกว่าไทยเล็กน้อย  แต่ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ  ปัจจุบันมีคนแก่ 8.5% แต่มีเด็กเพียง 13.4%  เท่านั้น  ทำให้สิงคโปร์ต้องรนณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้น

ประเทศคู่แข่ง-และ “คู่ค้า”  ที่อยู่รอบบ้านเรานี้  กำลังมาแรงในด้านของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  พวกเขายังห่างจากจุด LTP มาก  ว่าที่จริงหลายประเทศเพิ่งจะเริ่มพัฒนาทางเศรษฐกิจและอาศัยแรงงานที่มีค่าแรงถูกที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด  ไทยเองใกล้หรืออาจจะถึงจุด LTP แล้ว  ดังนั้น  การที่จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปจึงต้องการแรงงานเพิ่มซึ่งในปัจจุบันก็คือแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก  เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มคนโดยการกระตุ้นให้คนไทยมีลูกมากขึ้นหรือเปิดรับคนเข้าเมืองแบบ อเมริกาหรือออสเตรเลีย  นอกจากนั้น  การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเนื่องจากมันจะช่วยสร้างความ “อยู่ดีกินดี” ของประชาชนอย่างแท้จริง  อย่างไรก็ตาม  นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมันต้องอาศัยการศึกษาที่ดีของประชากรและอื่น ๆ  อีกมากรวมถึงการจัดการและลงทุนในด้านของสาธารณูปโภคต่าง ๆ  ซึ่งก็ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมองการณ์ไกล  ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไทยยังไม่พร้อมนัก

ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่าเมืองไทยเองนั้น  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะ “รวม”  เป็นเออีซีในปีหน้า  เราคงเสียเปรียบ  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเราคงสู้ไม่ได้  และผลที่ตามมาก็คือ  ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นก็อาจจะไม่ดีนัก  อย่างไรก็ตาม  บริษัทจดทะเบียนไทยที่สามารถรุกเข้าไปในเออีซีก็อาจจะเติบโตได้ดีและรุ่งเรืองได้ทั้ง ๆ  ที่เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่โดดเด่นนัก  นอกจาก “ซุปเปอร์สต็อก”  เหล่านั้นแล้ว   อีกวิธีหนึ่งที่จะอยู่รอดและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็คือ  เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นโดยตรง

Posted by nivate at 9:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/03/1487

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 10, 2014, 02:24:54 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 10 November 2014
Amazing Japan

ผมเพิ่งกลับจากการเที่ยวเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ซึ่งก็ทำให้ผมได้ความรู้และความเข้าใจในประเทศและคนญี่ปุ่นมากขึ้น  ว่าที่จริง  ผมเองไปเยี่ยมเยือนญี่ปุ่นมาหลายครั้งและต้องถือว่าเป็นประเทศที่ผมไปเที่ยวมากที่สุดประเทศหนึ่ง  ไม่ใช่ว่าผมจะชอบมากเป็นพิเศษ  แต่เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าคนใกล้ชิดผมนั้นชอบไปเนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่ “อะไร ๆ  ก็ดูดีไปหมด”  แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่ดูมหัศจรรย์หรือน่าทึ่งอย่างปิรามิดหรือกำแพงเมืองจีน  แต่ญี่ปุ่นมีสินค้ามากมายที่  “กุ๊กกิ๊ก”  สภาพของเมืองและสถานที่ที่สะอาดดูดี  มีดอกและใบไม้ที่สวยงามในบางช่วงเวลา  มีคนที่สุภาพน่ารัก  มีอาหารการกินที่คุ้นปาก  มีสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดสร้างและบริหารอย่างดีซึ่งรวมถึงสวนสัตว์และสวนสนุกที่ทำได้ดีมากไม่นับโบราณสถานที่ไม่ด้อยกว่าใครในย่านนี้  และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมไปมากขึ้นยังอยู่ที่การเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าเพื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  คนไทยที่ไปญี่ปุ่นหลังการเปิดให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด  เข้าใจว่าถึง 50% และผมก็รู้สึกได้จากการที่พบคนไทยจำนวนมากที่ฮอกไกโด

ความ “น่าทึ่ง” ของญี่ปุ่นนั้น  ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นในแง่ของสถานที่หรือโบราณสถานหรือการช็อบปิ้ง  แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากคนอื่นโดยเฉพาะคนไทยมากนั้นอยู่ที่คนและสังคมของคนญี่ปุ่นเองที่ผมคิดว่าหาได้ยากในโลกนี้  ในมุมหนึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่  “สมบูรณ์แบบ” ในแง่ที่ว่ามันทำให้การอยู่ร่วมกันของคนญี่ปุ่นมีความกลมเกลียว  ปรองดอง  และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี  การทะเลาะเบาะแว้งทำร้ายกันหรือการโกงหรือฉ้อฉลมีน้อยมากเมื่อเทียบกับสังคมอื่น ๆ  ทั้ง ๆ ที่เป็นสังคมหรือประเทศที่ใหญ่มาก  มีผู้คนกว่าร้อยล้านคนและอยู่กันอย่าง “แออัด”  นอกจากนั้น  นิสัยและพฤติกรรมนั้นยังส่งมาถึงนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนอย่างตัวผมด้วย   

เริ่มที่ระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นนั้น  ต้องบอกว่าเป็นจุดเด่นที่หาไม่ได้ง่ายในสังคมอื่น  การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้นั้นจะเป็นไปอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก  และเนื่องจากคนเกือบทั้งหมดทำตาม  คนที่ไม่ปฏิบัติจะถูกมองในแง่ที่ไม่ดีมาก  ผลก็คือ  น้อยคนจะ “แหกกฎ”   ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  การทิ้งขยะของแต่ละบ้านนั้น  เขาจะมีเวลากำหนดให้ทิ้งแน่นอนและขยะทุกชิ้นจะต้องมีการแยกแยะอย่างถูกต้องออกเป็นหลายใบ เช่น  ขยะเปียกหรือแห้งหรือขยะที่สามารถรีไซเคิลได้  เป็นต้น   ส่วนในที่สาธารณะนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่ทิ้งสิ่งของลงบนพื้น  ในบางกรณีที่ไม่สามารถหาถังขยะได้ซึ่งก็เกิดได้บ่อย ๆ  พวกเขาจะต้องเก็บกลับไปทิ้งที่บ้าน  ดังนั้น  ถนนหนทางและที่สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นจะสะอาดมาก   ไม่ต้องพูดถึงขยะ  แม้แต่ใบไม้ก็มักจะถูกเก็บโดยเจ้าของบ้านที่ต่างก็ต้องกวาดเก็บหน้าบ้านให้ดูสะอาดทุกวัน

คนไทยคงจำได้ถึงภาพที่คนญี่ปุ่นต่อแถวรับอาหารหรือความช่วยเหลือจากกรณีสึนามิอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มีการแซงคิวหรือแก่งแย่งกันทั้ง ๆ  ที่กำลังประสบความลำบากเหลือล้น   นั่นเป็นเรื่องปกติ  การเข้าคิวเพื่อรับบริการต่าง ๆ  หรือใช้บริการหรือทำสิ่งต่าง ๆ  นั้น  จะไม่มีการแซงคิวกันเลย  แม้แต่การข้ามถนน  ถึงจะไม่มีรถมาทุกคนต่างก็จะรอจนสัญญาณไฟเขียวขึ้นจึงจะข้าม  คนญี่ปุ่นนั้น  ตั้งแต่เด็กก็ถูกฝึกให้เป็นคนมีวินัยสูงมาก  ครูสอนเปียโนอย่างภรรยาผมเล่าว่า  เด็กเล็กชาติอื่นนั้น  มักจะไม่ค่อยซ้อมตามที่ครูสั่งก่อนเข้าเรียน  เวลาเรียน ก็มักจะลุกเดินไปมาและหาเรื่องคุย  แต่เด็กญี่ปุ่นนั้น  จะทำการบ้านหรือซ้อมเล่นตามที่ครูสั่งเสมอ  เวลาเรียนก็มักจะตั้งใจมีสมาธิในการเรียน  ผมเคยเห็นเด็กอนุบาลขึ้นรถไฟจากบ้านไปเรียนคนเดียวที่ญี่ปุ่นแล้วก็รู้สึกทึ่ง  ผมเพิ่งรู้จักไก้ด์คนไทยที่เคยเรียนที่ญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า  เขาไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมาส่ง  แต่ที่เขาทำอย่างนั้นได้ผมคิดว่าเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นนั้นสถิติอาชญากรรมต่ำมาก  และโรงเรียนก็ไม่ไกลจากบ้านและเด็กก็ไม่ไปเรียนที่ไกล ๆ  เนื่องจากโรงเรียนที่ญี่ปุ่นในระดับเด็กนั้นต่างก็มีมาตรฐานเท่ากัน

จุดที่เด่นมากที่สุดของญี่ปุ่นนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของวินัย  แต่เป็นเรื่องของความ  “เสมอภาค” ที่คนญี่ปุ่นยึดถือเมื่อมองคนอื่นหรือปฏิบัติต่อคนอื่น  ทุกคนเคารพสิทธิของคนอื่นอย่างเท่าเทียมกับสิทธิของตนเอง  เวลาจะทำอะไรจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้  และเรื่องของวินัยหลาย ๆ  เรื่องก็เกิดจากเรื่องนี้  เช่น  ที่เขาไม่แซงคิวคนอื่นก็เพราะเขารู้สึกว่าทุกคนเสมอกัน  การแซงคิวก็คือการไม่เคารพสิทธิของคนอื่นที่มาก่อนและต้องได้สิทธิก่อน  ดังนั้น  เรื่องของ  “มนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุง” ที่เอาเปรียบคนอื่นจึงไม่มี  เรื่องสิทธิของคนอื่นนั้นกินความไปถึงสิทธิที่จะอยู่อย่างสงบไม่มีใครมารบกวนไม่ว่ากรณีใดด้วย  ดังนั้น  เวลาที่ใครต้องการเลี้ยงสุนัข  สิ่งสำคัญก็คือเขาจะต้องเอาสุนัขไปเข้าโรงเรียนเพื่อสอนให้ไม่เห่าทำเสียงดังรบกวนชาวบ้านด้วย  พูดถึงความเสมอภาคแล้วต้องยอมรับว่าคนญี่ปุ่นนั้น  มีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่น ๆ    รายได้ระหว่างพนักงานในบริษัทที่เป็นผู้บริหารกับพนักงานนั้นไม่ต่างกันมาก  ผมเคยได้รับฟังมาว่าผู้บริหารกับคนขับรถของบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นนั้นเงินเดือนอาจจะห่างกันแค่ 1 หรือ 2 เท่าตัวในขณะที่ในประเทศไทยนั้นอาจจะเป็น 8 หรือ 10 เท่า  และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นนั้นมีความเสมอภาคกันสูงมาก

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าแปลกเหมือนกันเมื่อคำนึงถึงว่าคนญี่ปุ่นนั้นเป็นคนที่เก่งและฉลาดวัดจาก IQ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก  พวกเขาจะโค้งให้กันและกันเวลาพบเจอและทักทายกันไม่ว่าจะเป็นคนที่สูงกว่าในด้านของอายุหรือฐานันดรหรือความมั่งคั่ง  คำพูดในภาษาญี่ปุ่นนั้นบางทีจะรู้สึกว่ายาวมากในแต่ละประโยคที่พูด  คนที่รู้ภาษาบอกผมว่าเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่ามันมีความหมายที่เป็นการให้เกียรติหรือให้ความนับถือหรืออะไรทำนองนั้นอยู่ตลอดเวลาในการพูดกับคนอื่น  นอกจากนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่พูดอะไรที่จะทำให้คนอื่นเสียหน้าหรือเป็นการหักหน้าคนอื่น   บ่อยครั้งพวกเขาก็มักจะไม่พูดอะไรเลยในที่ประชุมสาธารณะ

พูดถึงเรื่อง  “หน้าตา” แล้ว  คนญี่ปุ่นคำนึงถึงหน้าตาสูงมาก  พวกเขาจะไม่ทำอะไรที่ทำให้หน้าตาเขาดูไม่ดี  พวกเขาต้องใช้สินค้าเช่นเสื้อผ้าที่มียี่ห้อดีถ้าสามารถทำได้  ว่ากันว่าผู้ชายญี่ปุ่นนั้นเลิกงานแล้วต้องกลับบ้านค่ำ  เพราะถ้ากลับเร็วจะถูกมองว่าไม่ได้ไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นธรรมเนียมของพนักงานที่ทำงานหนักและมีสังคมที่จะมีความก้าวหน้า  ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณเป็นพนักงานที่ไม่ค่อยมีอนาคต  ในด้านของผู้หญิงเอง  เมื่อแต่งงานแล้วก็มักจะต้องออกมาเป็นแม่บ้าน  ถ้ายังทำงานต่อก็จะถูกมองว่าสามีคงไม่ค่อยมีปัญญาเลี้ยงภรรยา  แต่เรื่องนี้ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ผมเองก็ไม่แน่ใจ  อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับเรื่องหน้าตาหรือไม่ก็คือ  คนญี่ปุ่นที่ทำงานผิดหรือพลาดนั้น  ก็มักจะต้องออกมาขอโทษต่อหน้าสาธารณชนอย่างที่เราพบเห็นบ่อย ๆ  เวลานักการเมืองหรือผู้บริหารกิจการทำผิดหรือทำพลาดรุนแรง  พวกเขาจะต้องออกมายอมรับและขอขมาซึ่งนี่ก็ตรงกันข้ามกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนทำผิดมักจะออกมาปฏิเสธหรือแก้ตัวเสมอ

สุดท้ายคือเรื่องของความ “เนี้ยบ”  ของคนญี่ปุ่นที่ผมประสบทุกครั้งที่มาซื้อของและใช้บริการในญี่ปุ่น  ตัวอย่างเช่น  ไม่ว่าเราจะซื้ออะไรที่ร้าน  เขาก็มักจะห่อด้วยกระดาษของขวัญให้เราเสมอ  ทำให้ดูเป็นของที่มีค่ามากทั้ง ๆ  ที่มันอาจจะเป็นแค่ขนมอบกรอบ  หรืออย่างเวลาเขายื่นของให้เราไม่ว่าจะเป็นจานอาหารหรือเงินทอน  เขาก็จะใช้สองมือจับของสิ่งให้เราเสมอ  และอีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ  เขาให้บริการทุกคนที่เป็นลูกค้าอย่างเสมอภาค  ไม่เหมือนสังคมอื่นที่มักจะดูว่าเราจะมีทิปให้หรือไม่  และคนญี่ปุ่นเองนั้นก็ไม่มีธรรมเนียมในการให้หรือรับทิปในการให้บริการด้วย

ผมไม่มีเนื้อที่เหลือพอที่จะสรุปอะไรทั้งสิ้น  ดูเหมือนว่าจะเป็นรายการโปรคนญี่ปุ่นสุด ๆ  แต่จริง ๆ  แล้วผมไม่มีอะไรซ่อนเร้น  ผมแค่ทึ่งและผมจึงเขียน  แค่นั้นจริง ๆ

Posted by nivate at 9:52 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/10/1490
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 11, 2014, 03:08:41 pm
ฤาจะสิ้นยุคทองวีไอ/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ในบทความของท่านดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากรในคอลัมน์ ”โลกในมุมมองของแวลูอินเวสเตอร์” ท่านดร.ได้กล่าวถึงการเติบโตของนักลงทุนแนววีไอในช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากสามารถสร้างฐานะจนร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยหลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือวีไอ จากตลาดหุ้นที่เติบโตจาก 400 จุดมาถึงเกือบ 1,600 จุดในปัจจุบันคิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 15 เปอร์เซนต์ต่อปี ในเวลาเดียวกันนักลงทุนวีไอจำนวนมากได้ผลตอบแทนมากกว่า 20-30 เปอร์เซนต์ต่อปี หรือหลายคนทำกำไรได้ปีละเป็นร้อยหรือสองร้อยเปอร์เซนต์ก็มีเป็นต้น

    หุ้นที่เป็นที่นิยมของวีไอในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นมาก ค่าพีอีของหุ้นในกลุ่มอย่างกลุ่มค้าปลีกหรือกลุ่มโรงพยาบาลมีค่ามากกว่า 40 เท่า ขณะที่พีอีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 18 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน 10 เท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่นับรวมถึงหุ้นขนาดเล็กในตลาดเอ็มเอไอหรือตลาดใหม่ (MAI) ที่บางบริษัทมีค่าพีอีมากเป็นร้อยเท่า และตลาดใหม่เองมีค่าพีอีถึง 50 เท่าเลยทีเดียว

    จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ท่านดร.นิเวศน์ถึงสรุปว่ายุคทองของวีไอได้จบสิ้นลงแล้ว โอกาสที่จะทำกำไรได้สูงๆเหมือนในอดีตที่ผ่านมานั้นได้หมดไป เนื่องจากหุ้นวีไอราคาเพิ่มสูงขึ้นมากรวมถึงดัชนีตลาดหุ้นเองที่สูงเป็นประวัติการณ์ ท่านกล่าวว่าการที่จะทำผลตอบแทนได้มากๆนั้นน้อยลงและนักลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนปีละ 10-15 เปอร์เซนต์ในอีกสิบปีข้างหน้า

    สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้ว คำกล่าวของท่านดร.นิเวศน์ถือว่าเป็นคำเตือนของปรมาจารย์วีไอของประเทศไทย ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจากหุ้นได้มาก โดยเฉพาะจากหุ้นเล็กๆที่มีมาร์เกตแคปไม่มากรวมถึงหุ้นเข้าข่ายหุ้นปั่นจำนวนมากที่ราคาหุ้นขึ้นได้ด้วยการสร้างข่าวหรือสร้างStoryที่ไม่รู้ว่าบริษัทจะทำได้ตามแผนในอนาคตที่วางไว้ได้หรือไม่แต่ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปรับข่าวล่วงหน้าไปแล้ว หุ้นที่เคยเป็นยอดนิยมของวีไอมีราคาสูงขึ้นมากโดยเฉพาะหุ้นที่เหล่านักลงทุนรายย่อยเข้าซื้อตามเซียนหุ้นรุ่นใหญ่

    ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้ามองในแง่ของพื้นฐานแล้วโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นนั้นก็ยังมีอยู่แต่ไม่มากนัก แต่โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานครั้งใหญ่นั้นมีโอกาสมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่มีใครตอบได้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ ในช่วงที่นักลงทุนมองโลกในแง่ดี ตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆได้โดยไม่มีเหตุผล ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นคือในช่วงตลาดหุ้นแนสแดคบูมในช่วงบริษัทดอดคอมปีก่อนคศ. 2000 จอร์จ โซรอสและทีมงานของเขาอย่างสแตนลี่ ดรักเกลมิลเลอร์มองว่าตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติและจะต้องตกลงอย่างรุนแรง โซรอสและทีมจึงทำการยืมหุ้นมาขายและช๊อตดัชนีของแนสแดคจำนวนมาก ปรากฏว่าตลาดหุ้นแนสแดคยังคงปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆและโซรอสขาดทุนจำนวนมาก เนื่องมาจากเขายังคงมองว่าตลาดหุ้นจะต้องตกในระยะเวลาอันสั้นทำให้เขาคงสถานะช๊อตนั้นไว้ สุดท้ายจนตลาดหุ้นขึ้นไปเกือบสูงสุด โซรอสและทีมงานจึงยอมยกธงขาวขายสถานะช๊อตทั้งหมดและขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาล การขาดทุนครั้งนั้นทำให้ดรักเกลมิลเลอร์ต้องลาออกจากองทุนควอนตัมของโซรอสเพราะเก็งตลาดผิดพลาด ซึ่งในที่สุดตลาดหุ้นแนสแดกก็ตกลงอย่างมากเหมือนที่โซรอสคิดไว้แต่ใช้เวลานานกว่าที่เขาคาดไว้มาก ดังมีคำกล่าวไว้ในอดีตที่ว่า “ตลาดหุ้นนั้นอาจบ้าคลั่งได้นานกว่าการอยู่รอดของนักลงทุนเอง”

    ถึงแม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมามากแล้วในปัจจุบัน แต่ในบรรยากาศที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ราคาสูงมากนั้น ยังมีหุ้นบางบริษัทที่ไม่เป็นที่นิยมของตลาดรวมถึงหุ้นที่นักลงทุนต่างพากันกลัวและไม่กล้าซื้อเนื่องจากมีข่าวร้ายในอุตสาหกรรมหรือข่าวร้ายของตัวบริษัทเองทั้งๆที่เป็นบริษัทที่ดีและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจึงต่ำกว่าราคาในอดีตมาก หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าหรือundervalue แต่ไม่มีใครกล้าซื้อ เพราะราคาหุ้นไม่ได้ขยับไปไหนมาเป็นเวลานาน  นักลงทุนส่วนใหญ่มักคิดว่าสู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่กำลังวิ่งๆจะได้เงินเร็วและง่ายกว่ามาซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่า สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้วคำพูดของบัฟเฟตที่จะยังใช้ได้ดีอยู่เสมอนั่นคือ “จงโลกเมื่อคนอื่นกลัว และจงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ” ปัจจุบันในตลาดหุ้นไทยความโลภกำลังครอบงำจิตใจของนักลงทุนไทยเป็นส่วนใหญ่

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58303
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 17, 2014, 02:15:00 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 17 November 2014
ออกหุ้นเพิ่ม-ซื้อหุ้นคืน

ในตลาดหุ้นไทยนั้น  อาจจะเป็นเพราะคนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นจำนวนมากเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่เข้ามา  “เล่นหุ้น”  เพื่อหวังทำกำไรระยะสั้นในลักษณะของการ “เก็งกำไร”  ดังนั้น  ผลประกอบการระยะยาวของบริษัทจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาจะสนใจมากนัก  สิ่งที่เขาสนใจมากกว่าก็คือ  ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงในระยะสั้น  และสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะทำให้หุ้นขึ้นหรือลงในระยะสั้นนั้น  นอกจากผลประกอบการในระยะสั้นเพียงหนึ่งหรือสองไตรมาศแล้วก็คือ  “ข่าว”  ต่าง ๆ  ที่พวกเขาคิดว่ามีผลต่อราคาหุ้นในระยะสั้นหรือทำให้มูลค่าหุ้นโดยรวมของเขาเพิ่มขึ้น  ซึ่งการประกาศเรื่องหนึ่งที่มีผลค่อนข้างมากต่อมูลค่าหุ้นโดยรวมก็คือ  ข่าวการ  “ออกหุ้นเพิ่ม” และการ “ซื้อหุ้นคืน” ของบริษัท  อย่างไรก็ตาม  เรามาดูกันว่าเรื่องนี้จะมีผลอย่างไร  ทั้งในด้านของผลกระทบต่อราคาหุ้นและมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทในด้านของพื้นฐาน

ก่อนอื่นคงต้องบอกเสียก่อนว่า  ในความคิดของ Value Investor “พันธุ์แท้” นั้น  การออกหุ้นเพิ่มแทบจะร้อยทั้งร้อยมักเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์  เพราะพวกเขาคิดว่านี่คือการ “ดูดเงิน” เข้าบริษัทของธุรกิจ  การดึงเงินเข้าบริษัทนั้นอาจจะส่งผลดีต่อฐานะทางการเงินของกิจการ  แต่การมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมานั้นก็จะทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มูลค่าของหุ้นในทางทฤษฎีนั้น  จะมากหรือน้อย  ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดที่บริษัทจะ  “จ่ายออก” มาให้ผู้ถือหุ้นมากหรือน้อยและจ่ายออกมาเร็วหรือจ่ายออกมาช้า  ส่วนการ “ดูดเงิน” เข้านั้นจะเป็นตัว  “ทำลาย” มูลค่าของหุ้น  ประเด็นสำคัญก็คือ  VI ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่ดีมาก ๆ  แนวซุปเปอร์สต็อกนั้น  มักจะไม่ชอบลงทุนในกิจการที่มีผลกำไรต่ำและต้องลงทุนมาก  พวกเขาชอบบริษัทที่ทำกำไรดีและมีกระแสเงินสดดีมากที่มักจะไม่มีความจำเป็นต้องระดมเงินเข้าบริษัท  ดังนั้น  บริษัทที่พวกเขาลงทุนจึงไม่ใคร่มีความจำเป็นที่จะต้อง  “หาเงิน” โดยการออกหุ้นใหม่  ตรงกันข้าม  หุ้นเหล่านั้นมักจะ  “จ่ายเงิน”  ออกมาให้กับผู้ถือหุ้น  โดยวิธีการจ่ายปันผล  หรือไม่ก็โดยการซื้อหุ้นคืน

การออกหุ้นเพิ่มเพื่อระดมเงินเข้าบริษัทนั้น  มีสองวิธีใหญ่ ๆ  คือ  การออกหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นการให้สิทธิในการจองซื้อ  ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดนั้นมักจะกำหนดราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาตลาด  และจำนวนมากนั้นบริษัทก็จะจ่ายปันผลเป็นเงินสดเพื่อที่จะเอามาจองหุ้นและจ่ายภาษีเงินปันผล  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  บริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้น  ในกรณีแบบนี้ก็อาจจะถือได้ว่าบริษัทไม่ได้ดูดเงินของผู้ถือหุ้น  แต่บริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นอย่างที่ควรจะทำ  ถามว่าดีหรือไม่ต่อมูลค่าของกิจการ?  คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเงินที่เก็บเอาไว้นั้นเอาไปทำอะไร  ถ้าเงินนั้นสามารถเอาไปลงทุนเพื่อขยายกิจการอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีโอกาสทางธุรกิจสูงและ “รอไม่ได้”  เนื่องจากจะทำให้คู่แข่งเข้ามา “ยึดหัวหาด” แทน  ในกรณีแบบนี้ก็น่าจะพอรับได้  และมันอาจจะช่วยให้มูลค่าหุ้นของบริษัทดีขึ้น   แต่ถ้าไม่ใช่  มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีและอาจจะเป็นสันญาณว่าบริษัทกำลังขาดเงินหรือบริษัทกำลังนำเงินไปทำในสิ่งที่สุ่มเสี่ยงและอาจเกิดความเสียหายได้

การออกหุ้นใหม่โดยการให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิมนั้น  หลายครั้งและหลายบริษัทยังมีการออกวอแร้นต์ซึ่งก็คือสิทธิในการซื้อหุ้นใหม่ในเวลาที่กำหนด “แถม” ให้ด้วย   วอแร้นต์นั้นมักจะกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาหุ้นในตลาดในวันที่ออก  ดังนั้น  คนก็จะยังไม่ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นจนกว่าราคาตลาดจะสูงเกินกว่าราคาใช้สิทธิ  ผลก็คือ  บริษัทยังไม่ได้ “ดูด” เงินหรือไม่ได้เงินมาใช้  และบริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินสดมาให้กับผู้ถือหุ้น  แต่ผู้ถือหุ้นเองนั้นกลับสามารถนำวอแรนต์ไปขายได้เงินสดมา  การที่ผู้ถือหุ้นได้เงินสดนั้น  พวกเขาก็ตีความเสมือนว่าเป็น “ปันผล” ที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงคิดว่าหุ้นจะต้องมีมูลค่าสูงขึ้นและดังนั้นนักลงทุนก็จะเข้ามา  “เก็งกำไร”  ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา   แต่นี่ไม่ได้ตรงกับพื้นฐานที่ควรจะเป็นจริง ๆ  เพราะวอแร้นต์ที่ออกมานั้น  ถ้าในอนาคตถูกใช้สิทธิซื้อหุ้นใหม่  จำนวนหุ้นของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้กำไรและปันผลต่อหุ้นลดลง  ดังนั้น  คนที่จะเข้ามาซื้อหุ้นหลังจากวอแรนต์ออกไปแล้วจึงต้องคำนึงถึงหุ้นที่จะเพิ่มส่วนนี้  ข้อสรุปก็คือ การออกวอแร้นต์นั้น  มักจะไม่ได้มีผลอะไรต่อพื้นฐานของบริษัท   อาจจะดีต่อผู้ถือหุ้นเดิมที่ถือหุ้นและได้วอแร้นต์มาฟรีสามารถนำไปขายได้เงินสดมาคล้าย ๆ  กับได้ปันผล  แต่จะเป็นข้อเสียสำหรับนักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นภายหลังและไม่รู้ว่าอนาคตการเติบโตของกำไรของบริษัทจะลดลงเพราะอาจจะมีหุ้นใหม่ที่เกิดจากการใช้สิทธิของวอแร้นต์

การออกหุ้นใหม่ขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในราคาต่ำโดยไม่มีวอแร้นต์นั้น  เป็นการ “ดูดเงิน” จากผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นก็เพิ่มขึ้นทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง   ดังนั้น  นักลงทุนก็มักจะประเมินมูลค่าหุ้นโดยรวมลดลง  แต่การออกหุ้นใหม่ให้กับนักลงทุนคนอื่นหรือที่เรียกว่าทำ PP นั้น  มีความแตกต่างออกไป  ประการแรก  มันไม่ได้ “ดูดเงิน” จากผู้ถือหุ้นเดิมและประการที่สอง  ราคาที่ขายนั้นก็มักจะใกล้เคียงกับราคาตลาดทำให้บริษัทได้เงินมาใช้มากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น  ผลก็คือ  กำไรต่อหุ้นก็อาจจะไม่ลดลงหรือลดไม่มาก  มูลค่าหุ้นของบริษัทตามพื้นฐานจึงไม่ถูกกระทบและราคาหุ้นก็มักจะไม่ไปไหนมาก

อย่างไรก็ตาม  ในระยะหลังนี้  การออกหุ้นใหม่ที่เป็นแบบ PP ของหลายบริษัทกลับตั้งราคาขายที่ต่ำมาก  บางรายต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาดหลายเท่า  ผลกระทบต่อกิจการก็คือ  บริษัทได้เงินมาใช้ในกิจการไม่มาก  แต่จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่ามาก  กำไรต่อหุ้นของบริษัทจึงน่าจะลดลงมาก  มองในแง่นี้  มูลค่าของหุ้นก็น่าจะลดลงอย่างรุนแรง    อย่างไรก็ตาม  หุ้นหลายตัวกลับมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก  ประเด็นอาจจะเป็นว่า  กิจการเหล่านั้นจริง ๆ  แล้วนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นเดิมนั้นไม่ใคร่มีความหวังที่จะได้ปันผลเป็นเงินสดอยู่แล้วและความหวังในอนาคตก็ “ริบหรี่”  การได้เงินจาก  “คนอื่น”  มาช่วยกู้ฐานะของกิจการจะทำให้บริษัทดีขึ้น  เติบโต และสามารถทำกำไรและจ่ายปันผลได้  ดังนั้น  คนจึงเข้ามาซื้อหุ้น “เก็งกำไร” ทำให้หุ้นขึ้นไปมหาศาล  แต่ข้อสรุปของผมก็คือ  ในกรณีแบบนี้  พื้นฐานของบริษัทคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก  มูลค่ากิจการก็น่าจะใกล้เคียงกับของเดิม  คนที่ซื้อหุ้น PP คงได้กำไรมหาศาล  ส่วนคนที่ขาดทุนน่าจะเป็นคนที่เข้าไปซื้อหุ้น  “เก็งกำไร”  ที่มีราคาหรือมูลค่าสูงขึ้นมาก

การซื้อหุ้นคืนนั้น  ตรงกันข้ามกับการขายหุ้นเพิ่ม  ผลกระทบสุดท้ายจริง ๆ  ก็คือ  การ  “จ่ายเงินสด” ออกไปและ  “ลดจำนวนหุ้น” ลงซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น  นี่คือวิธีการที่ช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นได้มากในทัศนะของวอเร็น บัฟเฟตต์  และเหตุผลที่ทำได้ต่อเนื่องยาวนานก็เพราะว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูง  มีกระแสเงินสดดีและเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก   อย่างไรก็ตาม  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  บริษัทที่ประกาศซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่มักจะทำตอนหุ้นตกหนักและผู้บริหารต้องการ “พยุง” หรือรักษาราคาหุ้นไว้  พวกเขาอาจจะคิดว่าการประกาศจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรวมถึงการที่มี  “แรงซื้อ”  จากเงินก้อนใหญ่มากของบริษัทจะทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้หรืออาจจะวิ่งขึ้นด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่มีการซื้อคืนจำนวนมากต่างก็ไม่ใคร่จะดีนัก  หลายตัวราคาก็ยังตกต่ำอยู่ดีหลังมีการประกาศซื้อคืน  เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเมื่อบริษัทเริ่มซื้อหุ้นคืนระยะหนึ่งแล้วหุ้นก็ยังตกลงไปอีก  แต่พอถึงจุดนั้น  แทนที่บริษัทจะซื้อหุ้นเพิ่ม  บริษัทกลับหยุดซื้อ  ซึ่งก็เหมือนกับว่าเหตุผลที่ซื้อหุ้นคืนนั้นไม่ใช่เพราะเห็นว่าหุ้นมีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน  แต่ที่ประกาศซื้อคืนนั้น  เป็นเรื่องของการพยุงราคาที่อาจจะไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการจริง ๆ

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  การประกาศเพิ่มทุน  ออกหุ้นเพิ่ม  ให้สิทธิผู้ถือหุ้น  ขายหุ้นแก่นักลงทุนอื่น  แจกวอแร้นต์  หรือแม้แต่ซื้อหุ้นคืน  รวมถึงการลดพาร์ของหุ้นและอื่น ๆ  ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของการ  “เล่นเกม” การเงินที่พยายามเพิ่มราคาและมูลค่าหุ้นโดยที่มีผลกระทบกับพื้นฐานน้อย  ดังนั้น  ผมจะไม่ใคร่ชอบ  หุ้นจำนวนมากนั้นผมหลีกเลี่ยงเนื่องจากมันมีหุ้นจดทะเบียนค้างคารุงรังไปหมดผ่านวอแร้นต์จำนวนมหาศาลที่ไม่รู้ว่าจะแปลงมาเป็นหุ้นเมื่อไร  และดังนั้น  มันจึงไม่เหมาะที่จะถือระยะยาว  แต่เหมาะกับการเล่นเก็งกำไรสำหรับคนที่รู้ข้อมูลและคนที่มีโอกาสในการเล่นเกมนี้มากกว่าคนอื่น

Posted by nivate at 9:22 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/17/1493

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤศจิกายน 24, 2014, 12:34:46 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 24 November 2014
เล่นหุ้นต้องดูคน

การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น  นอกจากต้องดูข้อมูล “พื้นฐาน”  ต่าง ๆ  เช่นตัวเลขผลประกอบการและข้อมูลเชิงคุณภาพอื่น ๆ  เช่นความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว  การดู  “คน”   ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและหุ้นก็เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  นักลงทุนแนว VI นั้น  มักจะเน้นที่การดูผู้บริหารสำคัญและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเป็นหลักว่า  พวกเขานั้นมีความสามารถและความซื่อสัตย์และ  “เห็นแก่ผู้ถือหุ้น”  หรือมองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากน้อยแค่ไหน  การที่จะเข้าใจในตัวผู้บริหารได้ดีก็ต้องคอยติดตามว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไรในประเด็นต่าง ๆ  เกี่ยวกับบริษัท  และบางทีก็ในเรื่อง  “ส่วนตัว”  ด้วย   ส่วน “นักเก็งกำไร”  นั้น  จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ในเรื่องของ  “คน”  มากขึ้นมาก  เพราะนอกจากผู้บริหารแล้ว  พวกเขาจะต้องมองไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่  นักเล่นหุ้น  “ขาใหญ่” รวมไปถึงนักเล่นหุ้นคนอื่น ที่สนใจและเข้าไปเล่นหุ้นด้วย  ว่าที่จริงหลาย ๆ คนนั้นดูเรื่องนี้เป็นหลัก  ส่วนเรื่องพื้นฐานของบริษัทนั้นเป็นรอง  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์หุ้นได้ถูกต้องจริง ๆ  และถึงจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง  มันก็เป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  ที่ไม่มีประโยชน์มากนักในการเล่นหุ้นในช่วงสั้น ๆ  หรือวันต่อวัน

เรื่องของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นที่มีทุกวันเรื่องแรกก็คือ  การซื้อ-ขายของผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า Insider Trading นั้น  เป็นสิ่งที่ผมมักตามดูอยู่ห่าง ๆ  โดยทั่วไป  การซื้อขายจำนวนน้อยและทำโดยพนักงานหรือคู่สมรสนั้น  ผมคิดว่าไม่ใคร่จะมีความหมายหรือมีสัญญาณอะไร  ว่าที่จริงผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับบริษัท  แต่การซื้อหรือขายโดยผู้บริหารระดับสูงสุดหรือเป็นคนสำคัญของบริษัทนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีความหมายพอสมควร  การขายหุ้นจำนวนมากซึ่งบ่อยครั้งทำเป็นเรื่อง  “โอนออก” นั้น  เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกว่ามันหมายความว่าอะไร?  โดยส่วนใหญ่แล้วผมมองว่ามันอาจจะไม่ใคร่ดีนัก  เขาอาจจะดูว่าหุ้นมีราคาสูงมากหรืออาจจะเกินพื้นฐานไปแล้วเขาจึงขาย  หรือเขาแค่ต้องการลดความเสี่ยงที่มีหุ้นตัวเดียวมากเกินไป?  เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิด

บางครั้งผู้บริหาร  รวมถึงผู้บริหารสูงสุด  เข้ามาซื้อหรือขายหุ้นบ่อย ๆ  หรือ  “ตลอดเวลา”  ซึ่งในกรณีนี้  ส่วนมากแล้วจะเป็นการซื้อมากกว่าขาย  ถ้าเป็นแบบนี้  ผมมักมีความรู้สึกว่า  พวกเขาพยายาม “ส่งสัญญาณ”  ว่า  หุ้นเขา “ราคาถูกกว่าพื้นฐาน”  ดังนั้น  นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นจึงควรเข้ามาซื้อ  เพราะ  “ขนาดเจ้าของที่มีหุ้นมากมายอยู่แล้วยังเข้ามาเก็บหุ้นเลย”  อย่างไรก็ตาม  เราก็ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย  เพราะเจ้าของเองอาจจะมี  “วาระซ่อนเร้น” อยู่  พวกเขาอาจจะอยากทำให้ราคาหุ้นสูงเพื่อเหตุผลบางอย่าง  หรือไม่พวกเขาบางคนก็อาจจะคิดไปเองว่าหุ้นของตนเองมีราคาถูกโดยที่ตนเองก็วิเคราะห์ไม่เป็น  และมักจะมีความ  “ลำเอียง” ว่าหุ้นของบริษัทตนเองนั้นดีกว่าความเป็นจริง  ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน  สำหรับผมเองแล้ว  ผมไม่ชอบที่ผู้บริหารเข้ามาซื้อขายหุ้นตัวเองมากเกินไป  เพราะมันอาจจะทำให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตาม  “ธรรมชาติ”

ในช่วงที่ตลาดมีการเก็งกำไรในหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นตัวเล็กอย่างหนักนั้น  นักเล่นหุ้นจำนวนมากนั้น  ชอบดู  “ขาใหญ่”  ว่ากำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือเปล่า?  เพราะเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นจะปรับตัวแรงมากน้อยแค่ไหนสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ   มีนักเล่นหุ้นรายใหญ่เข้าไปซื้อ  ซึ่งจะทำให้หุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้อาจจะหลายเท่าในเวลาอันสั้น  ความคิดแบบนี้ผมคิดว่ามีอยู่มากในบรรดานักเล่นรายวันจำนวนมาก  ดังนั้น  นักเล่นหุ้นรายใหญ่จึงมักจะพยายามส่งข้อมูลหรือสัญญาณว่าตนเองได้เข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นจำนวนมากเพราะเห็นว่ามันเป็นหุ้นที่ดีราคาถูกและจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากอาจจะหลายเท่า  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็มักจะมีการปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วด้วยแรงซื้อของนักลงทุนและคนเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมาก  แต่หุ้นลักษณะแบบนี้นั้นก็มักจะมีอันตรายสูงที่จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วถ้ารายใหญ่ขายหุ้นทิ้งเนื่องจากราคาอาจจะสูงเกินพื้นฐานไปมาก  พูดถึงเรื่อง  “ขาใหญ่”  แล้ว  ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยในยามนี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก  เหตุผลก็เพราะตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงมายาวนานและนักลงทุนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” สามารถทำกำไรมโหฬารจนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก  ผลก็คือ  หุ้นตัวเล็กที่ “วิ่งกันระเบิด”  นั้น  แทบทุกตัวก็จะต้องมี  “ขาใหญ่” บางคนหรือบางกลุ่มเข้าไปเล่นทั้งสิ้น

การดูผู้บริหารหรือเจ้าของที่เกี่ยวกับตัวหุ้นนั้น  ยังต้องดูแรงจูงใจของพวกเขาด้วย  ผู้บริหารบางคนนั้น  ชอบ  “ดูแลหุ้น” ตัวเองมาก  เขาจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้หุ้นมีราคาดีมีปริมาณการซื้อขายสูง  การพูดโปรโมตหุ้นนั้น  จะทำอยู่ตลอดเวลาถ้าทำได้  นอกจากนั้น  หลายคนยังเข้าไปซื้อขายหุ้นของตนเอง  โดยอาจจะผ่านนอมินีหรือส่งเสริมให้คนอื่นเข้ามาช่วย “ทำราคา” ด้วย  เจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทบางคนโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมโตช้าหรือตะวันตกดินนั้น  ตรงกันข้าม  ไม่ดูแลหุ้นของตนเองเลย  พวกเขาไม่สนใจที่จะพบนักลงทุนหรือให้ข่าวข้อมูลของกิจการแก่นักลงทุนถ้าไม่จำเป็น  ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรเขาไม่สนใจ  ในกรณีแบบนี้  บ่อยครั้งก็พบว่าพวกเขาไม่ต้องการจะจ่ายปันผลที่งดงามให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย  ดูเหมือนว่าพวกเขาอยากจะบริหารบริษัทคล้าย ๆ  กับบริษัทส่วนตัวมากกว่า  ในทั้งสองกรณีคือ  ดูแลหุ้นตัวเองมากเกินไปและไม่ดูแลหุ้นเลยนั้น  ผมไม่ชอบทั้งคู่  โดยที่ไม่ชอบมากกว่าก็คือการไม่ดูแลหุ้นเลย  หุ้นที่ดีนั้นผมคิดว่า  ควรจะเป็นหุ้นที่ผู้บริหารและเจ้าของควร “ดูแล” พอประมาณในด้านของการให้ข้อมูลและการจ่ายปันผลรวมถึงการปรับในเรื่องต่าง ๆ  ยกเว้นการเข้ามาซื้อขายหุ้นเอง  การดูแลหุ้นมากเกินไปนั้น  ผมคิดว่ามันทำให้หุ้นอาจจะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง  ราคาอาจจะเกินมูลค่าที่แท้จริง  ในขณะที่หุ้นที่เจ้าของไม่ดูแลเลยนั้น  ผู้ถือหุ้นมักจะไม่ได้ผลตอบแทนตามพื้นฐานที่ควรเป็นและผมมักจะหลีกเลี่ยง

ประวัติหรือพฤติกรรมของผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมมอง   ถ้าเจ้าของมีประวัติเป็น  “นักเล่นหุ้น” เคยซื้อขายหุ้นในฐานะ  “ขาใหญ่” ผมจะไม่ชอบ  ข้อแรกก็คือ  ผมไม่แน่ใจในเรื่องทักษะหรือความสามารถในการบริหารธุรกิจที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ  ข้อสองก็คือ  ผมคิดว่าเขามักจะเน้นไปที่การทำหรือดูแลราคาหุ้นมากเกินไปซึ่งนี่อาจจะนำไปสู่ราคาหุ้นที่สูงกว่าพื้นฐาน  ผู้บริหารที่ดีนั้น  ควรเป็นคนที่คลุกคลีและสร้างธุรกิจด้วยตนเองหรือสืบทอดธุรกิจต่อมาอย่างประสบความสำเร็จ  ในด้านของประวัติทางการเงินนั้น  ผมชอบคนที่มีความรับผิดชอบและน่าเชื่อถือ  ไม่เคยถูก  “Blaklist” หรือถูก  “ตราหน้า” ในสังคมของสถาบันการเงินว่าเป็นลูกหนี้ที่  “เบี้ยว” หนี้ทั้งที่ธุรกิจยังพอไปได้  เช่นเดียวกัน  เขาก็ควรจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคมไม่มีประวัติที่  “น่ารังเกียจ”  และสุดท้ายก็คือ  เมื่อนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นและเป็นบริษัทมหาชนแล้ว  เขาควรที่จะต้องคำนึงถึงนักลงทุนเสมอเวลาที่จะตัดสินใจทำอะไรโดยเฉพาะในสิ่งที่มี  “ผลประโยชน์ขัดกัน” ระหว่างตนเองและบริษัทในฐานะที่เป็นของมหาชนที่เขาเป็นผู้บริหาร

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือเรื่องของคนที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นแต่ละตัวว่าพวกเขามีหลักการหรือกลยุทธ์การลงทุนหรือเล่นหุ้นอย่างไร  เป็น VI หรือเป็นแนวเทคนิค  พฤติกรรมของพวกเขาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรเช่นลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว  ต่าง ๆ  เหล่านี้  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราต้องค่อย ๆ  เรียนรู้และต้องอาศัยประสบการณ์เพราะมันไม่มีใครเขียนเป็นบันทึกให้อ่านหรือบางทีเราอ่านพบก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง   ถ้าจะถามว่าเราจะต้องรู้ไปทำไมว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ใครเป็นเจ้าของหรือใครเข้าไปเล่น  คำตอบของผมก็คือ  การที่รู้ว่าใครเข้าไปเล่นหุ้นตัวไหนนั้น  อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยบอกหรือเตือนเราว่า  ราคาหุ้นที่เราเห็นนั้น  อาจจะต่างจากมูลค่าพื้นฐานได้มากน้อยแค่ไหน  หุ้นบางตัวนั้น  ผมคิดว่าราคาอาจจะสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานได้หลายเท่า  กลายเป็นหุ้น  “อภินิหาร”  ได้  เพียงเพราะคนที่เข้าไปเล่นนั้นกล้าทำและทำได้  ในกรณีแบบนี้เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเล่นถ้าไม่ต้องการ  “หายนะ”


Posted by nivate at 9:24 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/24/1495

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 01, 2014, 09:07:04 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 1 December 2014
บุคลิกภาพกับการลงทุน

ผมเคยสงสัยมาตลอดว่าเราสามารถที่จะสอนคนให้เป็น Value Investor ที่เก่งกาจได้หรือไม่?  คำตอบในใจผมนั้นไม่ชัดเจน  ลึก ๆ แล้วผมคิดว่าการที่จะเป็น VI ที่เก่งมาก ๆ นั้น  ก็คงคล้าย ๆ  กับเรื่องของทักษะหลาย ๆ  อย่างที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสอนหรือการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว  แต่มันขึ้นอยู่กับยีนส์หรือบุคลิกของคน ๆ นั้นด้วย  พูดง่าย  คนบางคนนั้นจะสามารถเรียนรู้การลงทุนแบบ VI ได้ดีกว่าคนอื่นและจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว   ในขณะที่คนบางคนนั้นเรียนอย่างไรก็ไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้   อะไรเป็นสิ่งที่จะบอกว่าเรามีองค์ประกอบที่เหมาะสมที่จะเป็น VI ได้ดีกว่าคนอื่น?  คำตอบนี้ผมคิดว่าส่วนสำคัญมาจากบุคลิกภาพของคนคนนั้นว่าเขาเป็น  “คนแบบไหน”  และเรื่องนี้ผมก็ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ เสาวภา เชาวน์ชลากร อดีตอาจารย์แนะแนวนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาที่ผมได้มีโอกาสคุยด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า  คนแต่ละคนนั้นล้วนแต่มีบุคลิกภาพเด่นที่สามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มด้วยกัน  และแต่ละกลุ่มนั้นก็จะเหมาะกับงานหรือการเรียนแต่ละสาขา  คนที่มีบุคลิกหนึ่งแต่ไปเรียนหรือทำงานในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกันนั้นมักจะไม่ประสบความสำเร็จ   และในบทความนี้  ผมก็ถือโอกาสนำมาประยุกต์เพื่อที่จะดูว่าคนแต่ละแบบนั้นเหมาะสมกับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน

เริ่มจากกลุ่มที่ 1 ซึ่งก็คือ  คนที่มีบุคลิกภาพแบบสังคม หรือ Social Type  นี่คือคนที่ชอบติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คน  ชอบสนทนา   ชอบแสดงตัว  มีความเป็นมิตร  รื่นเริง  มีทักษะทางภาษา  ต้องการความสนใจและชอบช่วยเหลือผู้อื่น  มักหลีกเลี่ยงการใช้ความคิดเชิงปัญญา  มักจะแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงความรู้สึกและการใช้สัมพันธภาพระหว่างบุคคล  หลีกเลี่ยงงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์กลไกและวิทยาศาสตร์  ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือ  เป็นคนที่มีบุคลิกภาพของ  “ความเป็นผู้หญิง”  ในความคิดของผมแล้ว  คนที่มีบุคลิกภาพนี้อย่างโดดเด่นนั้น  คงไม่ใคร่ เหมาะสมกับการเป็นนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแบบ VI นัก  เนื่องจากเขาหรือหล่อนจะไม่ค่อยสนใจที่จะวิเคราะห์หาเหตุผลที่เป็นความจริงของบริษัท  พวกเขามักจะไม่สนใจเรื่องของตัวเลขทางธุรกิจหรือความมั่งคั่งมากนัก  ถ้าจะให้แนะนำก็คือ  ควรจะลงทุนผ่านกองทุนรวมจะดีกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง

    กลุ่มที่สองคือบุคลิกแบบกล้าคิดกล้าทำหรือ Enterprising Type  นี่คือคนที่มีลักษณะของการเป็นผู้นำ  มีความคิดริเริ่มและมีความเชื่อมั่นในตนเอง  กล้าถกเถียงโต้แย้ง  กล้าได้กล้าเสีย  ชอบผจญภัยพร้อมที่จะเสี่ยงพร้อมที่จะทดลอง  มีความเป็นอิสระ  อยากมีอำนาจและมีความก้าวร้าวทางวาจา  มีทักษะในการเจรจาต่อรองและลงทุน  มักหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่ต้องใช้กำลังความคิดเชิงปัญญาในระยะที่ยาวนาน  พวกเขาชอบการวางแผนและการสมาคม  ชอบการท่องเที่ยว  ชอบความเป็นระเบียบและรักษาประเพณี  ชอบพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่น  เป็นคนทำตามอารมณ์ตนเอง  ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือคนกลุ่มนี้เหมาะกับการทำธุรกิจหรือการลงทุนที่ต้องการการบริหารงาน บริหารคน  และการใช้ความคิดและการตัดสินใจที่รวดเร็วและมีความเสี่ยง  ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้สามารถเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นได้ไม่ยากแต่แนวทางการลงทุนนั้น  คงจะเป็นแนวเทรดหรือการซื้อมาขายไปมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว  การลงทุนของพวกเขานั้น  คงจะออกแนว  “ก้าวร้าว” กล้าได้กล้าเสียและสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์  สไตล์การลงทุนของพวกเขานั้น  บางครั้งก็เป็นแบบ VI แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่

กลุ่มที่ 3 คือบุคลิกภาพแบบอนุรักษ์นิยมหรือ Conventional Type  คนที่มีบุคลิกแบบนี้มักชอบกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและกิจกรรมทางภาษา  ยึดถือประเพณีดั้งเดิม  ชอบทำตามระเบียบแบบแผนมากกว่าคิดริเริ่มด้วยตนเอง  ให้คุณค่ากับการเป็นเจ้าของวัตถุหรือเป็นพวกวัตถุนิยมและเจ้าระเบียบ  ไม่ยืดหยุ่น  ชอบบทบาทของการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา  มีลักษณะเป็นผู้ตามชอบลอกเลียนแบบ  มีความรับผิดชอบ  และเป็นคนที่ยอมตามและพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่น  เป็นคนบึกบึนสู้งานและชอบสนุกสนาน  ถ้าจะพูดโดยสรุปก็คือ  พวกเขาน่าจะเป็น  “คนธรรมดา”  ที่ยึดถือระเบียบและคุณค่าทางสังคมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ  พวกเขาเหมาะกับการเป็น  “มนุษย์เงินเดือน”  ระดับกลางซึ่งผมคิดว่าอาจจะไม่ได้มีความโดดเด่นของบุคลิกที่จะมาเป็นนักลงทุนแบบ  “VI ผู้มุ่งมั่น”  ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่หรูมาก  อย่างไรก็ตาม  เขาก็น่าจะสามารถลงทุนโดยใช้หลักการ VI ที่เหมาะสมกับตนเอง  เช่น  ลงทุนระยะยาวในกิจการที่ดีหรือลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีเป็นต้น

กลุ่มที่ 4 คือบุคลิกภาพแบบจริงจังหรือ Realistic Type นี่คือคนที่ชอบกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลัง  ชอบทำงานอยู่กลางแจ้ง  กิจกรรมที่ไม่สลับซับซ้อน  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของ เช่น เครื่องจักรกลต่าง ๆ   มีความอดทน บึกบึน  กล้าแสดงผลงาน  พวกเขาจะขาดทักษะทางภาษา  ขาดทักษะทางการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและมักหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสังคมกับบุคคลอื่น  ค่อนข้างก้าวร้าว  มีค่านิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจในรูปแบบที่มีระเบียบแบบแผน  ยึดถือประเพณีนิยม  นิยมสิ่งที่เป็นรูปธรรมและลักษณะภายนอกของคนเช่น  เงิน  อำนาจ  สถานภาพทางสังคม  ถ้าจะพูดก็คือ  เป็นคนที่มีลักษณะของ  “ความเป็นชาย”  สูง  งานที่เหมาะนั้นน่าจะเป็นงานทางด้านวิศวกรรม  กีฬา หรือทหารตำรวจ  เป็นต้น  ส่วนการลงทุนเองนั้น  จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่น่าจะเหมาะเท่าไร  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะพวกเขานั้นอาจจะมีความเข้าใจมิติทางด้านคุณภาพน้อยเกินไปแม้ว่าความชำนาญด้านตัวเลขอาจจะดี

กลุ่มที่ 5 คือ บุคลิกภาพแบบสืบสวนสอบสวนหรือ Investigative Type นี่คือผู้ที่ชอบคิด สังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ชอบแก้ปัญหา ใฝ่รู้อย่างมีหลักการ  สนใจการจัดระบบ  การทดลองด้านกายภาพ ชีวภาพและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเพื่อที่จะได้เข้าใจและควบคุมปรากฏการณ์นั้น  ชอบทำงานที่สลับซับซ้อน  ชอบคิดมากกว่าที่จะลงมือทำ  ไม่ติดประเพณีนิยม เลี่ยงงานประเภทค้าขาย การเข้าสังคม  และไม่ชอบเลียนแบบ  มีความเชื่อมั่นในตนเอง  มีความคิดเห็นรุนแรง  มีความมานะบากบั่น อุทิศเวลาให้กับงาน  เก็บตัว  ไม่ใคร่สนใจสังคม  อาชีพที่เหมาะกับบุคลิกประเภทนี้น่าจะรวมถึงนักวิทยาศาสตร์  แพทย์  นักค้นคว้าวิจัยซึ่งรวมถึงนักวิเคราะห์หุ้น  และนี่คือบุคลิกที่ผมคิดว่าเหมาะกับการเป็น VI พันธุ์แท้มากที่สุด  และจากประสบการณ์ของผมรวมถึงที่เคยศึกษานักลงทุน VI ระดับโลก  ก็พบว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างก็ชอบศึกษาและเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ  มากมายหลากหลาย  ว่าที่จริงหลายคนนั้นมีความรู้และความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องอื่น ๆ  โดยเฉพาะในทางสังคมอาจจะเท่า ๆ  กับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นด้วยซ้ำ  เพียงแต่ชื่อเสียงในฐานะนักลงทุนนั้นมากกว่าจึง “กลบ” ความรู้ด้านอื่นหมด

กลุ่มสุดท้ายก็คือ  บุคลิกภาพแบบศิลปินหรือ Artistic Type คือคนที่ชอบทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนามธรรม เป็นอิสระ มีสุนทรีย์  รักความงาม  มีความเป็นตัวของตัวเองสูง  ชอบใช้ชีวิตและทำกิจกรรมตามลำพัง   ไม่ควบคุมตนเอง  มักจะทำสิ่งต่าง ๆ  ตามที่ใจปรารถนา   มีความต้องการที่จะแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะตัวของตน  ไม่ชอบเลียนแบบ   มีความคิดริเริ่ม  หลีกเลี่ยงงานประเภทที่ใช้ระเบียบแบบแผน   คนที่มีบุคลิกแบบนี้ผมคิดว่าคงยากที่จะเป็นนักลงทุนไม่ต้องคิดถึงว่าจะเป็น VI

ก่อนที่จะจบ  ผมคงต้องพูดว่าทุกคนนั้นต่างก็มีบุคลิกหลาย ๆ  อย่างอยู่ในตัว  เพียงแต่ว่าบางคนจะมีบุคลิกบางอย่างสูงกว่าบุคลิกอื่นมาก  และถ้าเป็นแบบนั้น  เราก็จะเห็นได้ชัดว่าเขาเป็นคน  “แบบไหน”  และก็มีโอกาสว่าเขาจะมีความสามารถในบางเรื่องมากกว่าคนอื่นโดยทั่วไป  สำหรับ VI แล้ว  คนที่จะได้เปรียบก็คือ  คนที่มีบุคลิกแบบสืบสวนสอบสวน  ที่ชอบตั้งข้อสงสัยและหาคำตอบว่าทำไมหุ้นตัวนั้นจึงน่าสนใจ  น่าซื้อหรือน่าขาย  ส่วนคนที่ไม่ได้มีบุคลิกนี้แบบชัดเจนก็ต้องตระหนักว่า  ถ้ารักจะลงทุนแบบ VI  เราก็ต้อง “ดึง” บุคลิกนี้ที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ให้มากที่สุด             
 
Posted by nivate at 9:30 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/01/1497

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 03, 2014, 04:10:04 pm


สัญญาณอันตราย/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ตลาดหุ้นไทยตอนนี้กำลังร้อนแรงดัชนีเพิ่มสูงขึ้นถึง 1600 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 นับจากต้นปีดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 300 จุดหรือเกือบ 30 เปอร์เซนต์ ช่วงนี้คนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อนเริ่มสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นเพราะเห็นคนที่อยู่ในตลาดหุ้นได้กำไรเยอะและหลายคนร่ำรวยจากหุ้น หลายคนเริ่มสอบถามที่จะเปิดพอร์ต หนังสือหุ้นเริ่มกลับมาขายดีอีกครั้งหลังจากที่เงียบหายไปในช่วงมีการประท้วงในประเทศไทย ตอนนี้มองไปทางไหนมีแต่คนเล่นหุ้นกันจำนวนมาก ทั้งพนักงานออฟฟิศหรือแม้แต่แม่บ้านรวมถึงคนทำงานทุกอาชีพ

    มีเพื่อนคนหนึ่งหลังจากที่ได้รู้ว่าผู้เขียนลงทุนในตลาดหุ้นจึงสอบถามมาว่าจะเล่นหุ้นทำอย่างไร เปิดพอร์ตที่ไหนดี จึงแนะนำให้ไปเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ที่รู้จัก ปรากฏว่าเพื่อนคนนั้นชักชวนเพื่อนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อนมาเปิดพอร์ตกันนับสิบคน หลังจากนั้นผู้เขียนจึงแนะนำให้ไปหาหนังสือเกี่ยวกับหุ้นมาลองศึกษาดู

    เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เจอแฟนคลับท่านหนึ่งเข้ามาทักทายโดยที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่ได้เห็นจากที่ผู้เขียนออกรายการทีวีและอ่านหนังสือจึงจำได้ ได้คุยกันเล็กน้อยได้ความว่ามีอาชีพเป็นแม่บ้านรับส่งลูกเรียนหนังสือ ลงทุนมาได้ปีสองปี ตอนนี้ซื้อหุ้นบริษัทเดียวเต็มพอร์ตเลย แต่ไม่แน่ใจว่าบริษัทจะดีจริงอย่างที่คิดหรือไม่เลยอยากได้คำแนะนำ

    ล่าสุดมีเจ้าของกิจการเอสเอ็มอีท่านหนึ่งเข้ามาทักทายและสอบถามว่าจะเริ่มต้นเล่นหุ้นอย่างไร ตอนนี้กิจการค้าขายไม่ค่อยดี จากที่เคยได้กำไรเดือนละหลายแสน ตอนนี้กลับต้องมาควักเนื้อขาดทุน กะเลิกกิจการให้คนเช่าแล้วหันมาเล่นหุ้น เพราะดูเหมือนได้กำไรง่ายดี มีคนได้เงินเยอะจากตลาดหุ้นเลยอยากจะรวยกับเขาบ้าง จึงถามว่าอยากเก็งกำไรหรืออยากลงทุน เขาบอกว่าอยากเก็งกำไรมากกว่าเพราะได้เงินเร็วดี นอกเหนือจากนั้นผู้เขียนติดต่อช่างเพื่อมาซ่อมเครื่องปรับอากาศที่บ้านปรากฏว่าช่างเห็นหน้าปกหนังสือที่เขียน เลยถามว่าจะรวยด้วยหุ้นได้อย่างไร ทำได้จริงไหม ตอนนี้อยากมาลงทุนในหุ้นแล้วเพราะน่าจะรวยเร็วกว่าทำงาน

    สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นึกถึงเมื่อปี 2556 ในช่วงที่ทองคำกำลังเป็นสิ่งที่ร้อนแรงและฟู่ฟ่ามากๆเพราะก่อนหน้านั้นทองคำมีราคาเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน คนที่ลงทุนทองได้กำไรกันถ้วนหน้า เวลาราคาทองลดลงจะเห็นคนเข้าไปในร้านทองกันเนืองแน่นเพื่อไปซื้อทองจนมีข่าวต้องแจกบัตรคิวเพื่อให้คนเข้าไปซื้อทอง หลังจากราคาลดลงเล็กน้อยทองคำก็มีราคาขึ้นไปได้อีก จนทำสถิติสูงถึงกว่า 25,000 บาทต่อน้ำหนักหนึ่งบาท ทุกคนพูดถึงแต่เรื่องทองไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ พ่อค้าแม่ค้าหรือแม้แต่นักวิเคราะห์ที่ออกรายการทีวียังพูดถึงทองคำว่าเป็นสิ่งที่น่าลงทุน ช่วงนั้นทุกคนคิดว่าราคาทองคำมีแต่จะขึ้นเพราะเป็นของที่หายากและความต้องการจากจีนและอินเดียที่มากขึ้นจะช่วยผลักดันให้ราคาทองมีราคาสูงขึ้นไปอีก แม้แต่หนังสือพิมพ์ยังสัมภาษณ์แม่ค้าขายหมูทอดที่หันมาลงทุนในทองคำจนได้กำไรมหาศาลกลายเป็นกูรูทองคำในชั่วข้ามคืน เพื่อนผู้เขียนหันไปซื้อทองคำแท่งเก็บเข้าตู้นิรภัยทั้งที่บ้านและที่ธนาคารจำนวนมาก บางคนซื้อทองคำเป็นร้อยๆบาท เวลาผ่านไปไม่ถึงสองปีดี ราคาทองตอนนี้ลดลงเกือบ 30 เปอร์เซนต์ ล่าสุดเหลือเพียงบาทละ 18,000 บาท คนที่ซื้อทองไว้ในช่วงสูงสุดถือว่าขาดทุนแล้วอย่างมาก แต่ก็คิดในใจว่าซื้อถือไว้ระยะยาว อย่างไรเสียราคาทองคงเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครทราบคือราคาทองจะกลับมาที่ราคาสูงสุดใหม่เมื่อไหร่ เพราะวัฎจักรของทองคำนั้นมีรอบระยะเวลาเป็นสิบปีเลยทีเดียว

    จะเห็นว่าการที่ผู้คนรอบข้างหันมาสนใจในตลาดหุ้นอย่างมากในช่วงนี้นั้นถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับนักลงทุนระยะยาว เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับการลงทุนในทองคำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ใครลงทุนไว้ก็ได้กำไรอย่างง่ายๆทำให้คนที่ไม่เคยสนใจในการลงทุนนั้นเริ่มมีความโลภอยากได้กำไรเหมือนคนอื่นบ้าง ตลาดหุ้นในช่วงนี้ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงที่ทุกคนทำเงินง่ายๆจากตลาดหุ้นนั้นเป็นช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดเหมือนดังคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตที่ว่า”จงโลภเมื่อคนอื่นกลัว และจงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ”

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58394

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 08, 2014, 01:53:05 am
นักลงทุน “ตัวพ่อ”/ประภาคาร ภราดรภิบาล

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของ “วันพ่อ” ผมจึงอยากจะทบทวนดูว่า ในแวดวงของการลงทุนนั้น มีนักลงทุนท่านใดบ้างที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “นักลงทุนตัวพ่อ” หรือ “บิดาแห่งการลงทุน”

    ท่านแรกที่ผมอยากกล่าวถึง ก็คือ “เบนจามิน เกรแฮม” ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” เขาเป็นผู้บุกเบิกและเผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยเน้นให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หนังสือ “The Intelligent Investor” เป็นผลงานที่เขาเขียนขึ้นในปี 1949 เพื่อเผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า แม้จะผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังได้รับการตีพิมพ์ใหม่หลายต่อหลายครั้ง และยังถือได้ว่าเป็นตำราที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าทุกคนควรจะต้องอ่าน

    ท่านต่อมา คือ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” ผู้เป็น “บิดาแห่งการลงทุนในหุ้นเติบโต” เขาเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดี กิจการมีความโดดเด่น มีอัตราการเติบโตที่ดี มีผู้บริหารที่เชื่อถือได้ โดยแนะนำให้นักลงทุนรู้จักการสืบเสาะเจาะข้อมูลให้ลึกซึ้งและรอบด้าน ที่เรียกว่า “Scuttlebutt” เขาเป็นผู้เขียนหนังสือ “Common Stocks and Uncommon Profits” ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือคลาสสิกอีกเล่มหนึ่งของแวดวงการลงทุน

    ท่านต่อมาเป็นผู้ที่ผมกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับ “ตัวพ่อ” ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี และยอมรับว่าเป็นสุดยอดนักลงทุนในยุคปัจจุบัน เขาได้นำเอาแนวทางการลงทุนทั้งจาก “เบนจามิน เกรแฮม” และ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” มาผสมผสานกัน จนกลายเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ทรงประสิทธิภาพ ทำให้เขายืนหยัดในวงการลงทุนมาได้อย่างยาวนาน และสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี

    ท่านต่อมาคือ “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” ผู้ได้รับฉายาว่า “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสของโลกการลงทุน” เป็นผู้จัดการกองทุนชาวอเมริกันคนแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ เขามองว่าขอบเขตของการลงทุนนั้นไม่ควรจำกัดเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุน จึงถือได้ว่า “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” เป็น “นักลงทุนตัวพ่อ” ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และบุกเบิกให้การลงทุนไร้ขอบเขตจำกัด

    สำหรับในแวดวงการลงทุนไทย ผู้ที่ผมเห็นว่าสมควรได้รับการยกย่องเป็น “นักลงทุนตัวพ่อ” ก็คือ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ซึ่งเป็นผู้นำเอาหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามาใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และยังเผยแพร่หลักการดังกล่าวให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปี โดยผ่านสื่อต่างๆ อย่างเช่น หนังสือ บทความ รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ และการสัมมนาด้านการลงทุนต่างๆ จนปัจจุบันนี้คำว่า VI (Value Investment) หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และมีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่ารุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในตลาดหุ้นไทย จึงถือได้ว่า “ดร.นิเวศน์” คู่ควรกับการเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของเมืองไทย” อย่างแท้จริง

    ทุกๆ ท่านที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ล้วนแต่เป็น “ผู้นำทาง” เป็น “แบบอย่าง” เป็น “แรงบันดาลใจ” สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ได้ดำเนินรอยตาม

    บทความนี้ผมจึงเขียนขึ้นมาด้วย “จิตคารวะ” แด่บรรดา “นักลงทุนตัวพ่อ” ทุกๆ ท่าน

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58404
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 08, 2014, 11:27:27 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 8 December 2014
อึ้ง-ทึ่ง-เสียว

บรรยากาศของตลาดหุ้นในช่วงนี้  ถ้าจะให้ผมบรรยายด้วยคำเพียง 3 คำ  ผมคิดว่าคำที่เหมาะสมที่สุดก็คือ  “อึ้ง-ทึ่ง-เสียว”  เพราะเหตุการณ์  เรื่องราว  และสถานะของหุ้นจำนวนไม่น้อยทำให้ผมเกิดความรู้สึกวนเวียนอยู่ในสามอาการดังกล่าวนั่นก็คือ  “อึ้ง”  เพราะเรื่องราวที่ปรากฏเป็นข่าวหรือบริษัทมีการกระทำหรือได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันท้าทายจริยธรรมและความเชื่อปกติของสังคมนักลงทุนมากจนทำให้เรา  “พูดไม่ออก”  หรือ  “ไม่กล้าพูด” หรือ  “ไม่อยากพูด”   ผม  “ทึ่ง” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างนั้น  มัน  “แหกกฎเกณฑ์” หรือทฤษฎี  หรือมันเกินไปจาก  “ประสบการณ์”หรือ  “ภาวะปกติ” ที่ผมคุ้นเคยไปมาก  และสุดท้าย  มัน  “เสียว”  เพราะหลาย ๆ  เรื่องที่เกิดขึ้นหรือเป็นข่าวนั้น  ดูเหมือนว่ามันน่ากลัวหรือดูมีความเสี่ยงสูง  แต่คนก็เข้าไปทำกันอย่าง  “บ้าคลั่ง” ราวกับว่ามันมีแต่ได้กับได้ในขณะที่ผมดูแล้วมันมีอันตรายสูงและตัวเอง  “เสียว” จนต้องพยายามลดความเสี่ยงลง

    ที่จริงผมเคยเจอสถานการณ์แบบ อึ้ง-ทึ่ง-เสียว มาแล้วในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมสุด ๆ ในช่วงประมาณปี 2536 ถึง 2538 อาการหลาย ๆ  อย่างในตลาดหุ้นในช่วงนั้นก็คล้าย ๆ  กับในช่วงนี้  ความแตกต่างดูเหมือนว่าจะเป็น  “รายละเอียด” ของเหตุการณ์และความรุนแรงของแต่ละเรื่อง  นอกจากนั้น  ความแตกต่างอีกข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ  ในช่วงนั้น  เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตเร็วมากระดับ 7%-10% ต่อปี จนทุกคนคิดว่าเรากำลังเป็น  “เสือ” ทางเศรษฐกิจของเอเชีย  ในขณะที่ปัจจุบัน  เศรษฐกิจไทยกำลัง  “มีปัญหา” และน่าจะเติบโต  “รั้งท้าย” ในเอเชีย  อย่างไรก็ตาม  คนต่างก็คิดว่าเราน่าจะกำลัง  “ฟื้นตัว”  ในขณะที่ช่วงปี 2536-2538 นั้น  เราโตอย่าง  “ไร้คุณภาพ” เป็น  “ฟองสบู่” ทางเศรษฐกิจ  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  อาการในตลาดหุ้นนั้น  คล้ายคลึงกัน  สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือ  มันจะจบเหมือนกันหรือไม่?

    เรื่องที่ทำให้ “อึ้ง” นั้น  ค่อย ๆ  ทยอยออกมาเป็นระยะ  หลาย ๆ  เรื่องก็จะเกี่ยวข้องกับคน “นอก” ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นและตลาดหุ้นในทางใดทางหนึ่งหรือนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ในตลาดหุ้น  ในอดีตนั้น  เราก็จะพบเหตุการณ์เช่นว่าคนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงในวงราชการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นที่มีแผนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  หรือมีนักการเมืองบางคนมาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นบางตัวอะไรทำนองนี้แต่ก็ไม่มีใครจะพูดอะไรเพราะมันเป็น  “สิทธิ” อันชอบธรรมของทุกคนตราบที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรของตลาด

    ประเด็นที่ทำให้คน “อึ้ง” นั้น  อยู่ที่ว่า “ดีล”  หรือเงื่อนไขที่ได้มานั้น  บางทีมันก็  “ดีเกินไป” และคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องเป็นอย่างนั้น  ใครได้ประโยชน์และใครเสียประโยชน์  และถ้าเป็นคนอื่นเขาจะได้เงื่อนไขแบบนั้นหรือไม่  ประเด็นที่สำคัญยังอยู่ที่ว่าไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนที่จะเข้าไปตรวจสอบหรือขัดขวางการดำเนินการอะไรอย่างจริงจัง   ว่าที่จริงพวกเขาก็อาจจะทำอะไรไม่ได้จริง ๆ  และเขาก็อาจจะไม่อยากทำเพราะเหตุผลสารพัดที่ไม่อยากจะพูด  นั่นก็คือ  พวกเขาก็  “อึ้ง”  เหมือนกัน  ในช่วงปัจจุบันนั้น  ผมเองก็คิดว่ามันมีหลายเรื่องที่ผมรู้สึกว่ามัน “แปลก” และมีความไม่ชอบมาพากล  แต่ในเมื่อมัน  “ไม่ผิดกฎเกณฑ์อะไร” ผมก็ได้แต่เก็บความคิดและความรู้สึกเอาไว้  และนี่ก็คือความหมายของคำว่า  “อึ้ง”

    เรื่องน่า “ทึ่ง” ที่ผมเห็นนั้นมีมากมาย  ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องที่  “ไม่น่าเป็นไปได้” โดยสามัญสำนึกหรือโดยประสบการณ์  “ปกติ”  นี่เป็นสิ่งที่มักปรากฏขึ้นในยามที่ตลาด  “ไม่ปกติ”  โดยเฉพาะในยามที่ตลาดบูมมาก ๆ  เป็น “ฟองสบู่”  ในอดีตนั้น  สิ่งที่เห็นชัดเจนและเป็นเรื่องน่าทึ่งก็คือราคาหุ้นขนาดเล็กโดยเฉพาะที่เป็นหุ้น  IPO นั้น  มีราคาที่สูงมากเกินกว่าผลประกอบการที่ทำได้ไปมากจนไม่น่าเชื่อ  และราคาที่ปรับขึ้นมานั้น  ส่วนมากก็ปรับขึ้นตั้งแต่วันแรก ๆ  ของการเข้ามาซื้อขายในตลาด  ในช่วงเร็ว ๆ นี้หุ้น IPO มีความน่าทึ่งยิ่งกว่าในช่วงปี 2536-2538   เพราะหลายตัวปรับขึ้นถึง 200% ในวันแรกนอกจากนั้น  หุ้นตัวเล็กที่มีเรื่องราวน่าสนใจก็มีราคาสูงมากจนไม่น่าเชื่อ  ค่า PE เฉลี่ยของหุ้น MAI ที่เป็นหุ้นตัวเล็กนั้น  สูงถึง 60-70 เท่า  และที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  ปริมาณการซื้อขายของหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดเพียงหลักพันล้านบาทนั้น  บ่อยครั้ง  สูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ระดับแสนล้านบาท

    นอกจากเรื่องของราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้นขนาดเล็กที่ “กลบรัศมี”  หุ้นตัวใหญ่แล้ว  ความน่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ  ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมหนักนั้น  เราก็มักจะพบความน่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  มักจะมีรายการ  “หนูกินช้าง” หรือ  “ปลาเล็กกินปลาใหญ่”  ในอดีตนั้น  เราเห็นบริษัทเงินทุนเอกธนกิจพยายามเทคโอเวอร์ธนาคารไทยทนุที่เป็นธนาคารที่ใหญ่กว่ามาก  แม้แต่ในต่างประเทศอย่างในตลาดสหรัฐเองนั้น  เวลาที่ตลาดหุ้นบูมหนักในบางครั้งเราก็จะเห็นความน่าทึ่งแบบนี้ที่ปลาเล็กหรือหุ้นบริษัทเล็กที่  “ร้อนแรง”  เทคโอเวอร์บริษัทใหญ่หรือกินปลาใหญ่ที่อ่อนแอ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้เราก็เริ่มได้ยินข่าวแบบนี้บ้างแล้วในตลาดหุ้นไทย

    เรื่องน่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  การเป็นเศรษฐี  “ช่วงข้ามคืน”  ของคนหลาย ๆ  คนโดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งแรกหรือในหุ้นเล็กที่  “มีการเปลี่ยนแปลง”  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นไป “มโหฬาร” ภายในระยะเวลาอันสั้น  ความร่ำรวยของคนหลายคนในช่วงเวลาอันสั้นนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง  โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการที่ถ้าเขาไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาด เหตุผลก็เพราะว่า  หลายบริษัทนั้น  ไม่ได้มีกำไรอะไรมากมายนักและมีขนาดเล็ก  ถ้าอยู่นอกตลาดก็อาจจะเป็นแค่บริษัทขนาดเล็กธรรมดา ๆ ที่เจ้าของไม่สามารถที่จะเป็นมหาเศรษฐีได้อย่างแน่นอน

    ความ “เสียว”  นั้น  น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมเป็นส่วนตัวมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสังคมนักลงทุนไทย  เหตุเพราะว่านักลงทุนส่วนใหญ่  รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น  นักวิเคราะห์  โบรกเกอร์ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็ยังมองว่าตลาดหุ้นไทยและหุ้นส่วนใหญ่นั้น  ยังแข็งแรงดีอยู่  ราคาหุ้นโดยส่วนรวมก็ยังไม่แพงเทียบกับเพื่อนบ้านแม้ว่าบางคนจะดูว่าหุ้นตัวเล็กมีราคาสูงเกินไปเป็น  “ฟองสบู่” แต่ถ้ามีปัญหาก็คงไม่กระทบกับหุ้นทั้งตลาด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สภาพของเศรษฐกิจ การเงิน สังคม  การเมืองและตลาดหุ้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรน่าวิตก  ค่า PE ตลาดหุ้นไทยที่สูงถึง 19 เท่าและพอ ๆ  กับจุดสูงสุดในช่วงวิกฤติตลาดหุ้นรอบที่แล้วก็อาจจะไม่ได้แปลว่าหุ้นไทยมีราคาแพง  เหตุผลก็เพราะอัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ที่ต่ำติดดิน  ดังนั้น  PE 19 เท่าจึงไม่ถือว่าแพง  แต่ถ้ายังคิดว่าแพงก็มีเหตุผลว่าคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในเวลานี้ก็สูงกว่าในอดีต  ดังนั้น  สรุปว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่ากลัว

    สิ่งที่ผมกังวลนั้น  เกิดจากเหตุการณ์และสถานการณ์หลาย ๆ  เรื่องที่โอกาสจะเกิดขึ้นอาจจะไม่สูงแต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็มี “ศักยภาพ”  ที่จะทำให้เกิดอาการช็อกได้กับตลาดหุ้น   ตัวอย่างเช่นเศรษฐกิจไทยในปีหน้า  ถ้ายังแย่อยู่แบบปีนี้  ผลก็อาจจะรุนแรงได้เพราะมันอาจจะเปลี่ยน “ความเชื่อ” ของนักลงทุนว่าหุ้นจะดี  เช่นเดียวกับด้านของการเมือง  ถ้าทุกอย่างไม่ได้  “ลงตัว”  ปัญหาก็อาจจะรุนแรงได้  ประเด็นสำคัญก็คือ  ทุกครั้งที่หุ้นปรับตัวขึ้นมามากและดัชนีหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงกว่ามาตรฐานระยะยาวแล้ว  โอกาสที่มันจะปรับตัวลงแรงก็มักจะมีสูงขึ้นเมื่อตลาดหุ้นประสบปัญหา  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้  ประกอบกับสัญญาณของความ  “อึ้ง” และ “ทึ่ง” ดังที่กล่าว  ผมจึงรู้สึก “เสียว” จนบอกไม่ถูก

Posted by nivate at 9:22 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/08/1500

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 08, 2014, 05:22:11 pm
บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์

  บัฟเฟตต์เป็นประธานผู้บริหารของบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งก่อตั้งขึ้น 170 ปีแล้วและเคยทำกิจการด้านสิ่งทอเป็นหลักก่อนที่บัฟเฟตต์และหุ้นส่วนจะซื้อกิจการมาดำเนินงานเมื่อปี 2508 บัฟเฟตต์ใช้บริษัทนั้นเป็นทางผ่านการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งทำกิจการหลากหลายอย่างรวมทั้งการประกันภัย หนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร ธนาคารและร้านสรรพสินค้า เขาซื้อหลายบริษัทมาควบรวมและซื้อหุ้นของอีกหลายบริษัทเป็นบางส่วน ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุด Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินรวมกันเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่องจนทำให้ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway เพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อหุ้นเป็น 75,000 ดอลลาร์ในเวลา 40 ปี

  มีผู้พยายามค้นหาปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จสูงอย่างน่ามหัศจรรย์นั้น เมื่อหลายปีก่อนมีหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชื่อ The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life พิมพ์ออกมา แต่กว่าผู้อ่านจะค้นพบปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จก็ต้องอ่านกันนานเพราะหนังสือเล่มนั้นมีความหนาเกือบ 1,000 หน้า ก่อนหน้านั้นมีผู้นำเอาข้อคิดในจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้ถือหุ้นในบริษัท Berkshire Hathaway มารวมเป็นหนังสือชื่อ The Essays of Warren Buffett: Lessons for Corporate America ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหนังสือทั่วไปและยาว 290 หน้า จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Michael Brush สรุปแนวคิดของบัฟเฟตต์ออกมาเป็น 10 ข้อเผยแพร่ไปตามสื่อต่าง ๆ ขอนำมาเล่าสู่กันเพราะมันน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ หรือมีเวลาไปเสาะหาหนังสือและต้นฉบับมาอ่านเอง


ข้อ1 – จงเป็นผู้มัธยัสถ์

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย เช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้นเวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ Michael Brush ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น บัฟเฟตต์ได้ค่าตอบแทนจากบริษัท Berkshire Hathaway เพียงปีละ 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 290,000 บาทเท่านั้น ต่างกับประธานผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปี บัฟเฟตต์ไม่มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวหลังจากเขาซื้อมาและหยุดจ่ายมาหลายทศวรรษแล้ว ฉะนั้นบริษัท Berkshire Hathaway เก็บผลกำไรไว้สำหรับลงทุนต่อได้จำนวนมาก

ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองก็มีเงินเหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อเพราะค่าตอบแทนที่ไม่สูงนักก็มักใช้ไม่หมด การไม่ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสสังคมยังผลให้เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยจ้องหารายได้จากการขายหุ้นที่มีอยู่ในมือ หรือจากการปันผลกำไรที่บริษัททำได้อย่างต่อเนื่อง เขามีเวลาสำหรับใช้พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ยิ่งกว่านั้นเขายังกดดันให้ผู้บริหารของกิจการที่เขาเข้าไปลงทุนกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์และพยายามจำกัดค่าค่าตอบแทนของผู้บริหารส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้สูงยิ่งขึ้น

ข้อ2 – จงยึดหลักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม

หรือมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบัน วิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุอาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ฉะนั้น ในช่วงนี้บัฟเฟตต์จะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้านน้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์และด้านการขนส่งทางรถไฟ

ข้อ3 – จงเดินทวนกระแส

บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้วเขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้ามเนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อสองสามปีก่อน บัฟเฟตต์ไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายยังผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของบางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงแต่มีความสำคัญพื้นฐานก็คือ บัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น

ข้อ4 – จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ

บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี้ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคอื่น

ข้อ5 – จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด

ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้นด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง

ข้อ6 – จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ

ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา “มูลค่าภายใน” (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้าย ๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต รายละเอียดของวิธีคำนวณอาจหาได้ในหนังสือชื่อ The Warren Buffet Way ของ Robert Hagstrom หรือเรื่อง The Market Gurus ของ John Reese และ Todd Glassman หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมาก ๆ บริษัทนั้นน่าสนใจเพราะมี “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” (margin of safety) สูงมาก

บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น หากสนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มาก ๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปีเพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่าง ๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์

ข้อ7 – จงมองหาบริษัทที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือล้อมรอบด้วยคูลึก

บริษัทจำพวกนี้มักมีประวัติในการทำกำไรได้ดีและมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนเพราะคู่แข่งเกิดขึ้นได้ยากมากอาจเนื่องมาจากอำนาจในการปกป้องของสิทธิบัตรและของเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บริษัทจำพวกนี้สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้โดยไม่กระทบยอดขายและมักไม่ได้รับผลกระทบมากนักในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นบัฟเฟตต์จึงถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทประกอบการรถไฟเพราะยากที่จะมีใครสามารถสร้างรางขึ้นมาแข่งได้ในทวีปอเมริกาเหนือ และในบริษัทโคคา-โคลาเพราะมีเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางพร้อมกับมีระบบการจัดจำหน่ายที่ลื่นไหลเป็นอย่างดีทั่วโลก

ข้อ8 – จงทุ่มเงินลงไปในบริษัทที่น่าซื้อ

เรื่องนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการเดินย้อนกระแส นักลงทุนโดยทั่วไปมักใช้การกระจายการลงทุนออกไปในหลายบริษัทเพื่อหวังลดความเสี่ยง แต่บัฟเฟตต์กลับชอบลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่า เมื่อใดเขามองเห็นโอกาสดีเป็นพิเศษ เมื่อนั้นเขาจะทุ่มทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นทันที เขามองว่าการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการมีความอดทนที่จะรอจนได้ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” สูงมาก ๆ เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้น ประวัติการลงทุนของเขาบ่งว่า ความสำเร็จของเขาเกิดจากผลตอบแทนสูงมากที่เขาได้จากการทุ่มลงทุนในหุ้นของบริษัทเพียงราวหนึ่งโหลเท่านั้น

ข้อ9 – จงซื้อเพื่อถือไว้หาผลกำไรในระยะยาว

บัฟเฟตต์มองว่าถ้าได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าควรลงทุนในบริษัทไหน บริษัทนั้นควรจะให้ผลกำไรดีเป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ที่ทนไม่ไหวที่จะดูราคาหุ้นของตนตกไป 50% อย่าคิดเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเด็ดขาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อซื้อหุ้นมาแล้วก็เลิกติดตามความเป็นไป ตรงข้าม ผู้ถือหุ้นจะต้องติดตามและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเห็นว่าบริษัทนั้นหมดโอกาสที่จะทำกำไรดีต่อไป หรือกำลังเดินเข้าภาวะยากลำบากเป็นเวลานาน เมื่อนั้นจงรีบขายออกไปทันที ด้วยหลักข้อนี้ บัฟเฟตต์จึงขายหุ้นจำนวนมากในบริษัทรับจำนองบ้านขนาดยักษ์ที่รู้จักกันในนาม Fannie Mae กับ Freddie Mac ก่อนที่สองบริษัทนั้นจะประสบปัญหาจนถูกรัฐเข้าไปยึดเมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่ง Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงคือ บัฟเฟตต์มองว่าการซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ รังแต่จะเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ที่ไม่ค่อยมีบทบาทพื้นฐานทางเศรษฐกิจนัก เช่น นายหน้าค้าหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารกองทุน เขาประเมินว่าคนเหล่านั้นหักเอาผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปราวปีละราว 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของผลกำไรทั้งหมดซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของบริษัท

ข้อ10 – จงเชื่อมั่นในอเมริกา

บัฟเฟตต์จะไม่มองว่าใครเข้ามาเป็นประธานาธิบดี หรือในขณะนี้วัฏจักรของเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน หากมองว่าในระยะยาวบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจะกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งแม้ในขณะนี้ดูจะมีปัญหาบ้างก็ตาม ฉะนั้นในปัจจุบัน บัฟเฟตต์จึงนำเงินจากส่วนที่ซื้อพันธบัตรไว้ออกมาใส่ลงในหุ้นของบริษัทที่เขามองว่ามีโอกาสทำกำไรได้ดีในระยะยาว

จาก FB เพจ รู้ทันหุ้นบ่าย
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 11, 2014, 09:16:52 pm
ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อไม่นานมานี้มีบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อ 20 พ.ย. 2557 แสดงความเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเสนอข่าวก่อนหน้าว่าตัวแทนของนักธุรกิจต่างชาติทั้งสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น “ตบเท้าเข้าพบคนของรัฐบาลไทย” เพื่อลอบบี้ไม่ให้แก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ทั้งนี้ บทความกล่าวต่อไปถึงการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกฎหมายฉบับนี้) ว่ามีเป้าหมายหลักคือ “เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อลดขึ้นตอนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมหรือผู้ที่ลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว” นอกจากนั้นกรมฯ ก็ยังรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ หากเป็นเช่นนั้นจริงผมก็ยังมองไม่เห็นว่าทำไมคนต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยจึงคัดค้านการปรับปรุงกฎหมายตามแนวทางดังกล่าว เพราะดูเสมือนว่าจะเป็นประโยชน์และไม่มีโทษกับชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยแต่ประการใด

แต่รายงานข่าวในช่วง 12-15 พ.ย.นั้นกลับพบว่านักธุรกิจต่างชาติมีความกังวลอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 3 สัปดาห์แล้ว แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและอาจจะยังมีความพยายามที่จะแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวต่อไปอีกจึงขอนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้านมาให้อ่านกันในตอนนี้และตอนหน้า

ความกังวลของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นทำให้นาย Saito ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าคณะทูตของญี่ปุ่น (รองจากเอกอัครราชทูตฯ) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าการแก้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 นั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย โดยกล่าวว่าหากมีการแก้กฎหมายก็จะทำให้การลงทุนร่วมหลายบริษัทต้องตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทย ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นจะต้องตัดสินใจยอมรับการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของธุรกิจดังกล่าวหรือจะต้องถอนตัวออกจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้นาย Saito แสดงความเห็นว่าในขั้นแรกธุรกิจญี่ปุ่นที่มีอยู่ในไทยในขณะนี้ ส่วนใหญ่อาจตัดสินใจทำธุรกิจต่อไป แต่จะเป็นข้อจำกัดการลงทุนใหม่จากประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ นาย Saito ประเมินว่าประมาณ 45% ของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในไทยซึ่งมีทั้งหมดกว่า 5,000 บริษัทน่าจะได้รับผลกระทบจากการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กล่าวคือจะกระทบบริษัทญี่ปุ่นกว่า 2,200 บริษัทนั่นเอง แต่ที่สำคัญคือญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติลำดับแรกของไทย โดยมีสัดส่วนการลงทุนกว่า 50% ของการลงทุนทั้งหมดจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นาย Saito สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างกะทันหันจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นหมดความเชื่อถือรัฐบาลไทยและจะกระทบกับบรรยากาศของการทำธุรกิจในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน สภาหอการค้าต่างชาติในไทยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจะส่งสัญญาณว่าประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สภาหอการค้าต่างชาติแถลงว่า จะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ กับข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวที่จะส่งผลในการจำกัดสิทธิและผลประโยชน์ของนักธุรกิจต่างด้าว ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเสนอแก้กฎหมายให้กีดกัน (protectionist) การลงทุนมากขึ้น และจะทำให้ไทยสวนกระแสการเปิดเสรีของกลุ่มประเทศอาเซียนโดยรวม พร้อมกันนั้น สมาคมนักธุรกิจยุโรปก็แสดงความกังวลว่าการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจะส่งสัญญาณในเชิงลบ (wrong message negative signal) พร้อมยังแสดงความแปลกใจว่าทำไมฝ่ายไทยจึงไม่ขอปรึกษาหารือกับประเทศที่จะได้รับผลกระทบในกรอบขององค์กรการค้าโลกหรือ WTO ก่อนที่จะมานำเสนอดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

จะเห็นได้ว่านักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยแสดงความกังวลอย่างออกหน้าออกตาและใช้คำที่ค่อนข้างจะรุนแรงมาก รวมทั้งมีการออกมาให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่การทูตด้วย ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวนั้นได้เคยดำเนินการเช่นเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในต้นปี 2007 หลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2006 โดยคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้อนุมัติการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวเมื่อ 9 มกราคม 2008 ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสภาหอการค้าต่างประเทศที่มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 28 ประเทศก็แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน โดยได้มีการเรียกนักข่าวมารับฟังแถลงการณ์อย่างละเอียดและมีเจ้าหน้าที่การทูตจากประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน แคนาดาและออสเตรเลียมาร่วมแถลงการณ์และ/หรือเป็นพยานในครั้งนั้นอีกด้วย โดยประธานหอการค้าต่างประเทศในสมัยนั้นก็แสดงความผิดหวังอย่างมากกับรัฐบาลไทย ซึ่งเขามองว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการลงทุนของต่างประเทศในไทย

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ต่อไปอีกหลายเดือนโดยรัฐบาลไทยได้พยายามปรับปรุงแก้ไขสาระบางประการแต่นักธุรกิจต่างชาติก็ยังไม่เห็นด้วย จนในที่สุดรัฐบาลไทยก็เลิกล้มการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวไปในที่สุด

มาถึงวันนี้บทความในไทยรัฐกล่าวถึงการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว 3 ครั้งและสรุปว่าส่วนใหญ่เห็นตรงกันที่จะแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” เพราะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เกิด “ตัวแทนอำพราง” ในลักษณะ “นอมินี” หรือการที่คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถทำธุรกิจต้องห้ามในไทยหรือธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยโดยไม่ต้องขออนุญาตและสรุปว่า เสมือนเป็นการปล้นชาติปล้นสมบัติของคนไทยไปเข้ากระเป๋าคนต่างชาติ โดยมีคนไทยสมรู้ร่วมคิดด้วย

เมื่อมีการกล่าวอ้างเช่นนี้ก็ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเท็จจริงเพียงใดและหากเป็นการปกป้องสมบัติของคนไทยจริง ทำไมการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจึงไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งผมขอนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของเรื่องนี้ในครั้งหน้าครับ

ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (2) / ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการที่นักธุรกิจต่างชาติที่มีกิจการในไทยออกมาคัดค้านข้อเสนอของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ต้องการจะปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 ทั้งนี้ จากข้อสรุปของกรมฯ นั้น ต้องการแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” เพราะเป็นจุดอ่อน ทำให้คนต่างด้าวสามารถทำธุรกิจต้องห้ามในไทยหรือธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยโดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ ทางการไทยยืนยันว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลและมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมิใช่ปิดกั้น ตลอดจนจะป้องกันไม่ให้กระทบต่อธุรกิจของต่างชาติที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 พ.ย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยภายหลังการชี้แจงสถานทูตและหอการค้าประเทศต่างๆ ถึงการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่าได้ชี้แจงให้นักลงทุนต่างชาติทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ผลสรุปใดๆ แต่เปิดรับฟังความคิดและจะสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะภายในเดือนธ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. หากครม.อนุมัติจึงจะเสนอให้สนช.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ รมว.พาณิชย์ย้ำว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ตั้งอยู่บนเงื่อนไข 3 ประการ คือต้องเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านที่มิได้ต้องตามเรื่องนี้มาก่อนก็อาจแปลกใจว่าหากฝ่ายไทยต้องการจะเปิดเสรีและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยยืนอยู่บนหลักเกณฑ์สากลและเงื่อนไข 3 ข้อข้างต้นแล้ว ทำไมนักธุรกิจต่างชาติจึงคัดค้านการแก้ไขดังกล่าว คำตอบคือวิวัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดการลงทุนของต่างชาตินั้น ทำให้ต่างชาติเข้าใจว่ารัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ในธุรกิจที่ได้ประกาศห้ามไว้ตามกฎหมาย ก็มีวิธีเลี่ยงทำให้ลงทุนเป็นเจ้าของได้ เพราะรัฐบาลไทยเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นส่วนใหญ่และมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการธุรกิจดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ประเทศไทยออกกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) 281 พ.ศ.2514 (ค.ศ.1972) ซึ่งกฎหมายดังกล่าว จำกัดการทำธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างเข้มงวด กำหนดประเภทธุรกิจที่สงวนเอาไว้ให้กับคนไทยในภาคผนวก 1 เช่น การทำนา ช่างตัดผมและการเป็นเจ้าของ (ที่ดิน) อีกส่วนหนึ่งในภาคผนวก 2 คือธุรกิจที่ห้ามต่างชาติเช่นกัน แต่โดยมีเหตุผลว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เช่น การขนส่งภายในประเทศและการทำเหมืองแร่ นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจที่ห้ามต่างชาติในภาคผนวก 3 เพราะคนไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ แต่อาจยกเลิกและเปิดให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการได้ในอนาคต เช่น ภาคเกษตรบางประเภท การก่อสร้าง โรงแรมและการท่องเที่ยวและการเป็นนายหน้าขายหุ้น แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปีก็ไม่เคยมีการตัดธุรกิจใดออกจากบัญชีดังกล่าว เพื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันแต่อย่างใด เว้นแต่การออกกฎหมายของอุตสาหกรรมบางประเภทโดยเฉพาะที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติมาบังคับใช้แทนปว.281 เช่น พ.ร.บ.โทรคมนาคม

แต่ในทางปฏิบัตินั้นรัฐบาลไทยเชื้อเชิญและส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นและเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายคือให้คนไทยถือหุ้นเกินครึ่งหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัตินั้นต่างชาติเป็นผู้ลงทุนเกือบทั้งหมดและมีอำนาจบริหารเต็ม ในขณะที่ผู้ถือหุ้นคนไทยมักจะถือหุ้นบุริมสิทธิที่ไม่มีอำนาจออกเสียงและได้รับผลตอบแทนตายตัว (คล้ายกับดอกเบี้ย) โดยไม่ยึดโยงกับผลประกอบการของบริษัท แม้ว่าปว. 281 จะมีการกำหนดโทษผู้ที่ “ถือหุ้นแทน” ต่างชาติเพื่อเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดคำนิยามให้ชัดเจนว่าการกระทำประการใดจึงจะเข้าข่ายของการถือหุ้นแทนหรือการเป็นนอมินี

ต่อมาในปี 1992 มีกรณีบริษัท ABB Distribution ซึ่งเป็นบริษัท “ไทย” โดยมีคนไทย 8 คนถือหุ้น 51% และหุ้นส่วนที่เป็นชาวสวิสถือหุ้น 49% แต่ผู้ถือหุ้นไทยนั้นถือ หุ้นบุริมสิทธิที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงและฝ่ายสวิสมีอำนาจเต็มในการบริหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายหนึ่งมองว่าหากพิจารณาในละเอียดรวมถึงการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนแล้วก็จะสรุปได้ว่าบริษัท ABB เป็นบริษัทต่างชาติ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นบริษัทไทยตามสัดส่วนของการถือหุ้น

ต่อมาเรื่องนี้จึงถูกส่งไปให้กฤษฎีกาตีความซึ่งก็ได้ตีความว่าบริษัท ABB เป็นบริษัทต่างชาติตามเจตนารมณ์ของปว.281 รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการแก้ปว.281 ให้พิจารณาสัญชาติของบริษัทโดยดูจากสัดส่วนของการถือหุ้น ข้อมูลและบทวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้นนี้มาจาก บทวิจัยของดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ในสัมมนาของ TDRI ในเดือนส.ค. 2006 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติเดือนก.ย. 2006 และมีการนำเอาเรื่องของการขายบริษัทชิน คอร์ปให้กับกองทุนเทมาเซ็กของสิงคโปร์มาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยการร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์สอบสวนว่าบริษัทชินคอร์ปเป็นบริษัทต่างชาติหรือไม่ เพราะมีข้อสงสัยว่าคนไทยที่ถือหุ้นข้างมากในบริษัทนั้นเป็นนอมินีของต่างชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นผลให้ต้องปิดบริษัทและคนไทยที่เป็นนอมินีตลอดจนผู้บริหารต่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกปรับและจำคุกได้

ดังนั้น จึงมองได้ว่าความพยายามที่จะแก้ไขและปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปี 2007 นั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสอบสวนบริษัทชินคอร์ปเพราะหากตีความว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทต่างชาติ โดยการตีความว่าคนไทยเป็นนอมินีก็อาจส่งผลให้บริษัทอื่นๆ อีกหลายพันบริษัทที่เป็นสัญญาติไทยโดยอาศัยโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารในลักษณะเดียวกันจะต้องถูกแปลงสถานะเป็นบริษัทต่างชาติโดยทันที ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ และต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นักธุรกิจต่างชาติตลอดจนสถานทูตต่างๆ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับความพยายามแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และแม้ว่าร่างแก้ไขพ.ร.บ.การทำธุรกิจของคนต่างด้าวจะได้รับความเห็นชอบจากครม.ในเดือนเม.ย. 2007 แต่เรื่องนี้ก็เงียบไปและไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จนกระทั่งมีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ ผมต้องของเล่าเพิ่มเติมด้วยว่าปว.281 ที่ได้รับการแก้ไขในปี 1992 (ให้พิจารณาความเป็น “ไทย” หรือ “ต่างชาติ” โดยพิจารณาเพียงสัดส่วนการถือหุ้น) นั้นต่อมาได้ถูกแปลงมาเป็นพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวในปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากกลับไปดูตัวเลขการลงทุนจะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปีในปี 1998-1999 มาเป็น 350,000 ล้านบาทต่อปีในปี 1999-2005 ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแก้ไขปว.281 ให้เป็นกฎหมายโดยยืนยันหลักการเดิมและการที่รัฐบาลไทยเองก็ต้องการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและเพิ่มทุนในบริษัทไทยหลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997-1998

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 16, 2014, 11:42:23 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 15 December 2014
ปรัชญา VI จากหนังสือลงทุน

ตั้งแต่หนังสือการลงทุนเล่มแรกที่ผมเขียนคือ  “ตีแตก” ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 แล้ว  ผมก็ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง  ถึงวันนี้ผมนับดูแล้วมีรวมกันเกือบ 20 เล่ม  ทุกเล่มนั้น  สิ่งที่ผมต้องคิดนอกจากเนื้อหาของหนังสือแล้วก็คือ “ชื่อ” ของหนังสือ  เพราะชื่อนั้นมีส่วนสำคัญที่จะทำให้หนังสือขายได้ดีหรือไม่ดีไม่น้อยไปกว่าเนื้อหา  ถ้าจะว่าไปก็คงเหมือนกับสินค้าที่จะขายดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ  “หีบห่อ” ไม่น้อย  ดังนั้น  ก่อนที่จะออกหนังสือ  ผมจึงต้องตั้งชื่อเรื่องที่ผมคิดว่ามันจะสื่อถึงประเด็นสำคัญที่มีต่อการลงทุนที่เข้ากับสถานการณ์ในขณะที่หนังสือออกวางแผง  ผลก็คือ  ถึงวันนี้ ผมมี  “ชื่อ” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการลงทุนแบบ VI เกือบ 20 ชื่อซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูก็พบว่าแต่ละชื่อนั้น  เหมือนกับเป็น “ปรัชญา” ที่สำคัญสำหรับ VI  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มต้นด้วยหนังสือชื่อ  “ลงทุนเพื่อชีวิต-ด้วยหุ้น”  นี่เป็นปรัชญาหรือหลักการลงทุนที่ผมเห็นว่าสำคัญและจะเปลี่ยนวิถีการลงทุนของเราโดยสิ้นเชิง  คนที่เข้ามา “เล่นหุ้น” โดยกันเงินส่วนหนึ่งเข้ามาซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  ไม่ใช่การลงทุน “เพื่อชีวิต”  แต่น่าจะเป็นการลงทุนเพื่อความสนุกสนานหรือความโลภหรือความต้องการทำกำไรเพื่อนำเงินมาใช้เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  โอกาสที่ชีวิตจะ  “เปลี่ยนแปลง” ไปจึงแทบไม่มี  เราจะเข้าไปลงทุนก็เฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นคึกคักและก็เลิกเล่นเมื่อทุกอย่างเหงา  เงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีไม่มาก  ชีวิตในระยะยาวของเราก็เหมือนเดิม  แต่การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น  เป็นการลงทุนที่เราตั้งความหวังว่าเมื่อเราแก่ตัวลงหรือมีอายุมากขึ้น  เราก็จะมีเงินมากพอที่จะทำให้เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน  มันจึงมีความสำคัญมากและไม่ใช่เรื่อง  “เล่น”  และสำหรับบางคนนั้น  มันเป็นหนทางที่จะทำให้  “รวย”  เป็นเศรษฐีได้  ดังนั้น  วิธีการลงทุนจึงต้องแตกต่างจากคนอื่น  ที่สำคัญก็คือ  เราต้อง “ทุ่มเท” ทรัพยากร  ทั้งทางด้านเม็ดเงินและแรงกายแรงใจที่จะทำให้มันบรรลุผล  นี่คือสิ่งเราต้องเลือก

หนังสือชื่อ “เซียนหุ้นพันธุ์แท้”  “เซียนหุ้นมือทอง”  และ “เทคนิคพิชิตหุ้น”  นั้น  บ่งบอกให้รู้ว่า  การลงทุนนั้น  ไม่ใช่ว่าจะแค่รู้จักชื่อหุ้นและสามารถสั่งซื้อสั่งขายได้โดยการการดูราคาหุ้นที่ขึ้นลงทุกวันและอ่านข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายวันหรือติดตามจากสื่อสมัยใหม่เท่านั้น   แต่การลงทุนที่ถูกต้องนั้นเราจะต้องเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง  เราต้องเรียนรู้จาก “เซียน” ที่เป็น  “ตัวจริง”  ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์   การเล่นหุ้นตามคนอื่นโดยที่เราไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริงในแง่ของมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น  โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะยาก  และนี่ก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า  “เล่นหุ้นตามเซียน” ที่ผมเขียนขึ้นในปีที่หุ้นที่  “เซียน”  เล่นกันมากมีการปรับตัวขึ้นอย่างมากมาย  แต่เนื้อหาที่แท้จริงของหนังสือก็คือ  “อย่าเล่นหุ้นตามเซียน”

วิธีการลงทุนที่ผมคิดว่าดีที่สุดในระยะยาวก็คือ  การพยายาม  “ชนะอย่างเต่า”  ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก  ว่าที่จริงถ้าจะหาคุณลักษณะการลงทุนของผมโดยเปรียบเทียบกับสัตว์แล้ว  ผมคิดว่าผมก็คือ  “เต่า”  นั่นก็คือ  ผมเน้นว่าผมเลือกที่จะ “เดินทาง” หรือลงทุนอย่างช้า ๆ  ไม่เลือกหุ้นที่หวือหวาที่อาจจะให้ผลตอบแทนเร็วมากแต่อาจจะมีความเสี่ยง  ผมอยากที่จะเดินไปเรื่อย ๆ  ไม่หยุด  ผมคิดว่าถ้าเรามี  “เวลา” ในการลงทุนยาวนานเหมือนอายุเต่า  เงินของเราก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ  โดยที่เราไม่ต้องรีบ    นอกจากนั้น  การเป็น  “เต่า” ที่มีกระดองหนาป้องกันตัวและสามารถอยู่ได้ในทุกสถานที่และสถานการณ์แม้แต่ในน้ำนั้น  ก็เปรียบเสมือนกับการลงทุนของเราที่จะต้องออกแบบพอร์ตการลงทุนของเราให้ปลอดภัยในทุกสถานการณ์รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่มักจะต้องเกิดขึ้นเสมอได้

ชื่อหนังสือสองเล่มที่จะบอกถึงความจริงแท้แน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งและเราจะต้องผ่านมันไปได้ก็คือ  “เล่นหุ้นในภาวะวิกฤติ”  และ  “เล่นหุ้นปีทอง”  ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงวิกฤติและทุ่มเททุกอย่างลงทุนในปีทอง  ว่าที่จริงในทั้งสองช่วงนั้น  ผมลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งสองช่วง  เหตุผลก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าปีไหนเป็นปีวิกฤติและปีไหนจะเป็นปีทองจนกระทั่งมันผ่านไปแล้วเราไม่รู้ล่วงหน้า   สิ่งที่เราต้องทำตลอดเวลาก็คือ  ออกแบบหรือเลือกหุ้นลงทุนที่จะทำให้เราอย่าเสียหายมากเกินไปเมื่อเกิดวิกฤติและกำไรดีแต่อาจจะไม่ดีเท่าคนอื่นที่เล่นเก็งกำไรมากเมื่อเป็นปีทอง  โดยวิธีนี้  ในระยะยาวแล้วเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  เหตุผลเพราะว่า  เวลาหุ้นตก 50% นั้น  เราจะต้องทำผลตอบแทนขึ้น 100%  เราถึงจะเท่าทุน  ดังนั้น  โดยทั่วไป  การป้องกันหุ้นตกย่อมดีกว่าพยายามทำกำไรให้มากขึ้น

ในการลงทุนนั้น  ถ้าเราหวังที่จะ  “รวย”  ไม่ได้หวังแค่ได้ผลตอบแทนปกติ  บ่อยครั้งเราต้องกล้าที่จะ  “ตีแตก”  นั่นก็คือ  ลงทุนในหุ้นบางตัวในจำนวนเงินที่มากกว่าปกติมาก  มันเป็นหุ้นที่เรา  “เดิมพัน”  สูงมาก  ถ้าเราชนะเราจะได้เงินมากอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  แต่ถ้าเราแพ้  เราก็อาจจะเสียหายหนัก  ดังนั้น  การที่เราจะลงทุนในหุ้นตัวนั้น  เราจะต้องมั่นใจมากว่าโอกาสที่เราจะชนะมีมาก  และโอกาสที่เราจะแพ้มีน้อย  และถ้าแพ้  เราก็จะต้องไม่เสียหายหนักเกินไปจนอยู่ไม่รอด  ซึ่งหลักเบื้องต้นง่าย ๆ ของผมก็คือ  อย่าถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 50% ของพอร์ต  นอกจากนั้น  บริษัทจะต้องมีความเสี่ยงที่จะ “หายนะ” ต่ำมาก  และสุดท้ายก็คือ  อย่าคิดว่าเราพบหุ้นที่เราสามารถ  “ตีแตก”  ได้ปีละหลาย ๆ  ตัว  ผมคิดว่าหุ้นที่สมควรที่เราจะตีแตกนั้น  ถ้าภายใน 5 ปีมีหนึ่งตัวก็สุดยอดแล้ว

หุ้นที่จะตีแตกหรือหุ้นที่เราคิดจะลงทุนเป็น “แกน” ของพอร์ตของเราในระยะยาวนั้น  ผมคิดว่าควรที่จะอยู่ในกลุ่มที่ผมเรียกว่า  “ซุปเปอร์สต็อก-มหัศจรรย์ของหุ้น VI” ซึ่งก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกมาในช่วงที่หุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” หรือหุ้นที่มีคุณสมบัติทางธุรกิจดีสุดยอดนั้น  สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างงดงาม  บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและบริษัทเป็นผู้นำที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วยเหตุผลหลายอย่างรวมถึงขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งหรือแทบจะเป็นบริษัทใหญ่บริษัทเดียวในอุตสาหกรรม  ดังนั้น  มันจึงทำกำไรได้สูงกว่าปกติและสามารถขยายตัวและเพิ่มความได้เปรียบมากขึ้นไปอีก  ส่งผลให้หุ้นมีการเติบโตต่อเนื่องยาวนาน   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้น  เราก็ต้องพึงระวังว่าราคาหุ้นจะไม่สูงเกินไป

การลงทุนนั้น  เนื่องจากมันเป็นเรื่องระยะยาวมากแทบจะตลอดชีวิต  มันจึงควรเป็นอย่างชื่อหนังสือเรื่อง “การลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ” ไม่เคร่งเครียด  และสำหรับบางคนนั้น  เมื่อ “รวย” แล้วก็ควรเป็นการ  “รวยหุ้นอย่างพอเพียง”  ตามชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่ง   นั่นก็คือ  ไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น  รู้จักหาความสุขไม่ใช่จากการใช้เงิน  แต่หาความสุขโดยมีเงินเป็นตัวสนับสนุนในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงิน นอกจากนั้น  ในการลงทุนเราก็ควรจะนึกถึงเรื่อง  “ธรรมะกับการลงทุน” ที่เป็นชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่จะช่วยชี้นำการใช้ชีวิตในตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยกิเลศและความโลภด้วย

สุดท้ายก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกในโอกาสที่ผมอายุครบ 60 ปีเมื่อปีที่แล้วชื่อ “ก้าวเล็ก ๆ  ในตลาดหุ้น  ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า  ชีวิตคนเราที่จะประสบความสำเร็จนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องเริ่มจาก  “ก้าวที่เล็ก ๆ” โดยที่ก้าวของผมก็มาจากความคิดที่ว่าผมจะ  “รวยด้วยหุ้น”  ตามชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงแต่เขียนมานานแล้ว   และทั้งหมดนั้นก็คือ  “ปรัชญา VI” ที่ได้มาจากชื่อหนังสือการลงทุนที่ผมเขียนขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

Posted by nivate at 9:39 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/15/1503

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 16, 2014, 09:34:05 pm

ทฤษฎีปาร์ตี้ของปีเตอร์ ลินซ์/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังร้อนแรง นักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากกำลังเดินเข้าตลาดหุ้นเนื่องจากทนความเย้ายวนของผลกำไรที่ได้ของนักลงทุนรุ่นก่อนหน้าไม่ไหว หลายคนโพสอวดรถใหม่หรือนาฬิกาหรูที่ได้มาจากการทำเงินในตลาดหุ้นยิ่งเป็นเหมือนการกระตุ้นความโลภของเพื่อนๆที่พบเห็นโพสเหล่านั้นในโลกโซเชียลมีเดีย จากบัญชีนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นไทยเพียงหนึ่งแสนบัญชีเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันบัญชีซื้อขายหุ้นของรายย่อยมีถึงหนึ่งล้านบัญชี แสดงว่านักลงทุนเพิ่มเข้ามาเกือบสิบเท่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

การกล่าวถึงระดับความนิยมของตลาดหุ้นนั้น ปีเตอร์ ลินซ์เป็นผู้ที่ให้ข้อคิดเห็นได้อย่างดีมากใน”ทฤษฎีงานปาร์ตี้” (The Cocktail Party Theory) ที่เขาคิดขึ้นมาเองจากประสบการณ์การเป็นผู้จัดการกองทุนมากว่า 20 ปีและเขียนไว้ในหนังสือ”เหนือกว่าวอลสตรีท”ของเขา (One Up on Wall Street) ลินซ์แบ่งตลาดหุ้นออกเป็น 4 ระดับดังนี้

ระดับที่หนึ่ง ตลาดหุ้นกำลังตกต่ำและเพิ่งผ่านพ้นความหายนะมาหมาดๆ ไม่มีใครพูดถึงตลาดหุ้น ในงานปาร์ตี้ ผู้คนชอบพูดกับหมอฟันเกี่ยวกับเรื่องคราบหินปูนมากกว่าที่จะพูดกับปีเตอร์ ลินซ์เกี่ยวกับหุ้น ในช่วงนี้แสดงว่าตลาดหุ้นกำลังเริ่มที่จะปรับตัวขึ้น

ในประเทศไทย สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นึกถึงตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 หลังจากที่มีการลดค่าเงินบาท ตลาดหุ้นตกจาก 1,700 จุดลงมาเหลือเพียง 200 จุด ช่วงนั้นนักลงทุนรายย่อยต่างเจ๊งหุ้นกันถ้วนหน้า ไม่มีใครเอ่ยถึงคำว่าตลาดหุ้น ทุกคนต่างเมินหน้าหนีจากตลาด คนที่ยังถือหุ้นอยู่ต่างขาดทุนกันแทบทุกคน ส่วนคนที่ขายออกไปมักจะขายขาดทุนเสมอ หาคนที่ทำกำไรจากตลาดหุ้นช่วงนั้นน้อยมากๆ หลายคนเลิกเล่นหุ้นหันไปประกอบอาชีพด้านอื่น เป็นช่วงเวลาแห่งความหดหู่ในการลงทุนในตลาดหุ้น ผู้เขียนยังจำได้ว่าในช่วงนั้นรัฐบาลมีนโยบายให้ซื้อกองทุนอาร์เอ็มเอฟ (RMF) เพื่อนำมาลดหย่อนภาษี ผู้เขียนต้องการซื้อกองทุนหุ้น 100 เปอร์เซนต์ ปรากฏว่าเพื่อนที่เป็นผู้จัดการกองทุนบอกว่าอย่าซื้อกองทุนหุ้น ให้ซื้อกองทุนพันธบัตรแทน ถ้าซื้อกองทุนหุ้นจะไม่ยอมขายให้ แสดงให้เห็นว่าช่วงนั้นตลาดหุ้นแย่สุดๆเลยทีเดียว

ระดับที่สอง ผู้คนเริ่มพูดถึงตลาดหุ้นในงานเลี้ยง แต่ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงเกินไป คนในงานยังชอบคุยกับหมอฟันมากกว่าที่จะคุยกับปีเตอร์ ลินซ์เรื่องหุ้น ตอนนี้ตลาดน่าจะปรับตัวขึ้นประมาณ 15 เปอร์เซนต์

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติซัพไพร์ม ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงสูง หลายคนไม่ยอมลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้น แต่ไปซื้อกองทุนพันธบัตรหรือฝากเงินแทน ตลาดหุ้นไทยช่วงนั้นอยู่ระหว่าง 400-600 จุดและขึ้นๆลงๆอยู่ตลอดเวลา มีหลายครั้งที่ขึ้นไปถึง 700 จุดและตกลงมาอย่างรุนแรงทำให้หลายคนมองว่าเสี่ยงเกินไป นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเก็งกำไร การลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือวีไอเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆในตลาดที่ไม่มีคนสนใจมากนัก

ระดับที่สาม ทุกคนในงานรวมถึงหมอฟันพูดถึงตลาดหุ้นและรุมล้อมปีเตอร์ ลินซ์เพื่อถามว่าซื้อหุ้นอะไรดี ทุกคนในงานเลี้ยงซื้อขายหุ้นกันแทบทุกคนและไม่มีใครไม่พูดถึงตลาดหุ้น ช่วงนี้ตลาดเริ่มสูงขึ้น 30 เปอร์เซนต์

ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันเริ่มเหมือนระดับสามของทฤษฎีของลินซ์ ทุกวันนี้ทุกคนต่างพูดถึงการลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พนักงานออฟฟิศหรือแม้แต่คนขับแท็กซี่ เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่าวันหนึ่งขึ้นแท็กซี่ปรากฏว่าคนขับแท็กซี่ชวนคุยเรื่องหุ้น เพื่อนคนนั้นถึงกับงะจังงัง นึกไม่ถึงว่าตลาดหุ้นจะดึงดูดคนทุกอาชีพได้มากขนาดนี้ ในงานสัมมนาหุ้นจะพบผู้คนมากกมายตั้งหน้าตั้งตารอเพื่อที่จะเข้าไปฟังกูรูพูดถึงเรื่องหุ้น พอจบงานเหล่านักลงทุนก็เข้าไปห้องล้อมกูรูเหล่านั้นเพื่อที่จะได้รู้ว่าเซียนซื้ออะไรกันอยู่

ระดับสี่ ทุกคนล้อมรอบปีเตอร์ ลินซ์ แต่ที่ต่างจากระดับสามคือในระดับที่แล้วผู้คนถามลินซ์ว่าซื้อหุ้นอะไรดี แต่ในระดับสี่ผู้คนจะบอกลินซ์ว่าซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ซิดี แม้แต่หมอฟันยังบอกลินซ์ว่าตอนนี้เขาเล่นหุ้นเป็นอาชีพ อีกไม่กี่วันหุ้นที่คุยกันในงานเลี้ยงนั้นมีราคาสูงขึ้นทุกตัว ในที่สุดเพื่อนบ้านของลินซ์ยังมาบอกลินซ์ว่าให้ซื้อหุ้นตัวไหน นี่เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นกำลังจะตกลงอย่างรุนแรงในเร็วๆนี้

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58429
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 22, 2014, 10:58:06 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 22 December 2014
Happy Money

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือชื่อ “Happy Money” เขียนโดย Elizabeth Dunn และ Michael Norton หรือถ้าแปลเป็นไทยก็คือ  “เงินที่มีความสุข” ซึ่งเนื้อหาหลักก็คือ  “การใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดแก่ผู้ใช้”  ซึ่งเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคนและก็มักจะใกล้เคียงกันนั่นก็คือ  ใช้เงินเพื่อสนองความต้องการของตนเองในด้านต่าง ๆ  ตามที่ใจต้องการสูงสุดในขณะนั้นเราก็จะมีความสุขสูงสุด   แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่านั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ผิด  เพราะจากการศึกษาทางด้านจิตวิทยามากมายบอกว่า  ความสุขที่ได้จากการจ่ายเงินซื้อสิ่งของหรือบริการแต่ละอย่างด้วยเงินที่เท่ากันนั้นไม่เท่ากัน   สิ่งของหรือบริการบางอย่างจะให้ความสุขสูงกว่าและยาวนานกว่าสิ่งอื่น  ดังนั้น  ถ้าเรา  “ใช้เงินเป็น”  เราก็จะมีความสุขมากกว่าด้วยเงินที่เท่ากัน  มาดูกันว่าสิ่งของหรือบริการประเภทไหนให้ความสุขมากกว่าและการใช้เงินแบบไหนที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อ

หลักการใหญ่ข้อแรกที่ผู้เขียนนำเสนอก็คือ  การใช้เงินซื้อ  “ของ” นั้น  มักจะให้ความสุขน้อยกว่าการ“ซื้อประสบการณ์”  เพราะของนั้น  อาจจะให้ความสุขในขณะที่ซื้อ  แต่เวลาใช้ไปซักพักหนึ่งเราก็มักจะรู้สึกชิน  ความสุขก็จะหายไป  แต่ประสบการณ์นั้น  จะอยู่ในความทรงจำไปอีกนานและทำให้เรามีความสุข   วัตถุและสิ่งของนั้น  แม้ว่าจะเป็นของหรูราคาแพงเช่น เพชรพลอย  เครื่องเล่นไฟฟ้าราคาแพง  หรือแม้แต่บ้านหรูนั้น  มักจะให้ความสุขไม่เท่ากับประสบการณ์ที่น่าประทับใจที่เราได้ประสบอย่างเช่นการท่องเที่ยวที่สุดแสนจะโรแมนติคหรือท้าทายที่ “ตรึงอยู่ในความทรงจำ”

ประสบการณ์ที่จะทำให้มีความสุขมากนั้น  ควรที่จะมีคุณสมบัติ  เช่น  มันนำเราเข้าไปรู้จักและมีความสัมพันธ์กับคนอื่น  หรือมันมีเรื่องราวที่น่าประทับใจที่เราจะมีความสุขที่จะเล่ามันซ้ำ ๆ  ไปอีกนานทุกครั้งที่มีโอกาส  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกที่บ่งบอกตัวตนของเราอย่างใกล้ชิด  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เป็นโอกาสแบบ  “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่เราจะได้ประสบ เป็นต้น   ในความรู้สึกของผมเอง  ผมคิดว่าการ  “ซื้อประสบการณ์”  นั้น  มีคุณค่าและมีความสุขกว่าการซื้อสิ่งของจริง ๆ    ถ้าจะนับว่าผมใช้เงินไปกับอะไรที่ค่อนข้างมากในแต่ละปี  คำตอบก็คือการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือ  ได้ไปพบเห็นอะไรที่ดูแปลกตาและ  “มหัศจรรย์” ซึ่งทำให้ผมจำได้และต้องพูดหรือนึกถึงทุกครั้งที่มีโอกาส  ตัวอย่างเช่น  การได้เห็นปิรามิดในอียิปต์หรือเมืองเพตราที่เกิดจากการสลักหรือเจาะภูเขาสีชมพูเพื่อสร้างบ้าน  โบสถ์ และสิ่งก่อสร้างทั้งหลายของเมืองในจอร์แดน  เป็นต้น  ผมคิดว่านี่เป็นการใช้จ่ายเงินที่คุ้มค่าและให้ความสุขจริง ๆ  ดังนั้น  การซื้อประสบการณ์ที่ดีมากนั้นจึงควรที่จะเป็นสิ่งที่เราคิดถึงเป็นอันดับต้น ๆ  ในกรณีที่เรามีเงินพอที่จะทำได้

ข้อสองของการที่จะทำให้การใช้เงินก่อให้เกิดความสุขมากขึ้นก็คือ  “ทำให้มันเป็นการเลี้ยงฉลอง”  หรือพูดง่าย ๆ  อย่าทำอะไรหรือจ่ายเงินซื้ออะไรแบบเป็นเรื่อง  “ทำประจำ”  เพราะการที่เราทำอะไรซ้ำ ๆ  เป็นประจำนั้นจะทำให้เราเคยชิน  เราจะไม่รู้สึกว่าการทำอย่างนั้นจะเป็นความสุข  การมีหรือทำอะไรหรือกินอะไรที่เรามีอย่าง  “เหลือเฟือ”  นั้น   ความสนุก  ความอร่อย  หรือความสุขจะหายไปมาก  แต่อะไรที่เรานาน ๆ  จะมีโอกาสได้ทำหรือได้กินหรือได้ใช้มันนั้นจะดูมีคุณค่าและก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่า   พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมยังจำได้ว่าในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอยู่นั้น  ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่บ้านผมจะซื้อน้ำอัดลมมาประมาณครึ่งลังหรือประมาณ 12 ขวดถ้าจำไม่ผิด  และผมจะดื่มมันได้หลายวัน  ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่ผมชอบและมีความสุขที่ได้ดื่มมันมาก  เหตุผลก็เพราะมันแทบจะเป็นโอกาสเดียวของปีที่ผมจะได้  “เฉลิมฉลอง” และดื่มมันอย่างมีความสุข  เมื่อผมโตขึ้นและสามารถดื่มมันทุกวัน  ความสุขจากการดื่มน้ำอัดลมก็เหลือเพียงนิดเดียว  เทคนิคในการทำให้เรื่องต่าง ๆ เป็นการ  “เลี้ยงฉลอง” นั้น  ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงต้องค้นหา  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการดื่มกาแฟร้านดังเราก็อย่าไปกินทุกวัน  อาจจะกินแค่วันศุกร์หรืออะไรทำนองนี้  และกาแฟแก้วนั้นก็จะอร่อยเป็นพิเศษ  เพราะมันเป็นกาแฟที่เรา  “ตั้งใจรอ”  มาหลายวัน

“ซื้อเวลา”  นี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นการใช้เงินอย่างฉลาดและคุ้มค่าให้ความสุขมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  อีกหลาย ๆ  เรื่อง  เหตุผลก็คือ  เรามักจะ “เสียเวลา” ไปกับเรื่องที่ “ไม่รื่นรมย์” เป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก  “งานบ้าน” ที่เป็นงานประจำที่น่าเบื่อหน่าย  วิธีการที่จะตัดสิ่งที่น่าเบื่อและไม่ก่อให้เกิดความสุขแก่เราที่ง่ายที่สุดก็คือ  “จ้างให้คนอื่นทำ”  หรือลดหรือไม่ต้องทำเองแต่ไป “ซื้อ” มากินเพื่อที่จะตัดเวลาที่เราต้องทำกินเอง เป็นต้น  หลักการสำคัญของเรื่องการซื้อเวลานั้นก็คือ  งานนั้นถ้าเราทำเองจะต้องใช้เวลามากและเราไม่ชำนาญ  นอกจากนั้น  มันเป็นงานที่เราไม่ได้มีความสุขที่จะทำ  ตัวอย่างวิธีการ “ซื้อเวลา” ง่าย ๆ  ก็เช่น  เราไปซื้อเครื่องดูดฝุ่นที่ทำงานเองอัตโนมัติมาใช้ให้มันดูดฝุ่นเวลาเราไม่ได้อยู่ที่บ้าน  อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือ  เรายอมซื้อบ้านที่แพงขึ้นมากและมีพื้นที่ใช้สอยต่ำแต่มันอยู่ใกล้ที่ทำงานในเมืองแทนที่จะซื้อบ้านที่ใหญ่และอยู่นอกเมืองซึ่งห่างจากที่ทำงานมากซึ่งทำให้เราต้อง “เสียเวลา” เดินทางไปกลับทุกวันอย่างนี้เป็นต้น  การซื้อเวลาจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นที่จะทำอะไรต่าง ๆ  ที่มีความสุขและหลีกเลี่ยง “ความทุกข์” ที่เกิดจากการต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้ให้ความรื่นรมย์แก่เรา

“จ่ายก่อน  บริโภคทีหลัง”  นี่เป็นแนวคิดที่แปลกและหลายคนก็ไม่ใคร่จะเชื่อว่ามันจะเพิ่มความสุขได้  คนส่วนใหญ่ต้องการเลื่อนการจ่ายเงินออกไปให้นานที่สุดแต่ต้องการบริโภคหรือได้ใช้สินค้าก่อน  คนคิดว่า “บินก่อนผ่อนทีหลัง” นั้นมีความสุข  แต่จริง ๆ  แล้ว  การมานั่งผ่อนไปอีกหลายเดือนนั้นอาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา  การจ่ายพร้อมบินเองก็ไม่ได้ให้ความสุขเหมือนกับว่าเราจ่ายไปแล้วตั้งนาน  เพราะว่าเมื่อจ่ายไปแล้วหลังจากนั้นเราก็ “ตั้งตาคอย” ว่าเราจะได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุข   ในวันที่กำลังเที่ยวนั้น  เราก็เที่ยวอย่างสบายใจราวกับว่า  “เที่ยวฟรี”  จิตวิทยาของคนนั้น  เราชอบที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีต่ออนาคตที่ดี ๆ  ที่กำลังจะมาถึง  ดังนั้นในช่วงที่เรารอคอยเราจะมีความสุขมาก  แต่พอเรื่องนั้นมาถึงแล้วจริง ๆ  ความสุขก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว  ลองนึกดูว่าถ้าเราจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อเครื่องมือสื่อสารรุ่นใหม่ล่าสุดที่ทุกคนรอคอย  ช่วงที่เรากำลังรอนั้นเราจะมีความสุขมาก  แต่เมื่อได้แล้วไม่กี่วันอารมณ์ความสุขก็จะหายไป  ดังนั้น  ถ้าเรามีโอกาสคราวหลังเวลาซื้ออะไรให้พยายามจ่ายก่อน  อย่าจ่ายทีหลัง  แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าน้อยคนจะอยากทำ

เรื่องสุดท้ายของการจ่ายเงินที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าปกติก็คือ  การ  “ลงทุนในคนอื่น”  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  “ให้เงินคนอื่น” เพื่อช่วยเหลือเขาหรืออาจจะแค่ให้เขาดีใจที่ได้รับเงินหรือของที่เขาอยากได้  การทำบุญทำทานหรือการบริจาคเงินเพื่อการกุศลก็เป็นรายการใหญ่อันหนึ่งในเรื่องของการ  “ลงทุนในคนอื่น” นี่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องแปลกที่ว่าเราให้เงินคนอื่นแล้วเรากลับมีความสุขมาก  เราไม่เสียดายหรือ?  มีคนเคยถาม วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่าเขารู้สึกอย่างไรหลังจากที่เขาประกาศบริจาคเงินส่วนใหญ่ของเขาให้กับสาธารณกุศลโดยเฉพาะกองทุนของบิลเกต  เขาตอบว่าเขา  “มีความสุขมาก” เขาไม่ได้พูดเล่น  การศึกษาพบว่าคนที่บริจาคหรือให้เงินคนอื่นนั้น  จะได้รับความสุขทางใจสูง  แต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องสมัครใจเองจริง ๆ  ไม่ได้ถูกบังคับหรือเสมือนถูกบังคับให้บริจาค  และเขารู้ว่าเงินของเขานั้นจะไปถึงคนหรือองค์กรที่เขาเห็นว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างได้  ไม่ใช่ให้ไปแล้วก็ไม่มีความหมายอะไรกับผู้รับ

    ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดที่คนจำนวนมากอาจจะไม่ตระหนัก  บางทีเราอาจจะต้องคิดเหมือนกันว่าเราจำเป็นต้องเป็นเจ้าของบ้านไหม?  ถ้าการเป็นเจ้าของนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ให้ความสุขอะไรมากมาย  เงินที่เหลือจากการไม่ซื้อบ้านนั้น  อาจจะสามารถ  “ซื้อความสุข”  อย่างอื่นได้มากกว่าก็เป็นได้  ผมพูดเรื่องนี้เพราะนึกถึงตัวเองที่เพิ่งจะมีบ้าน  “ของตัวเอง” จริง ๆ  เมื่อ 2-3 ปีมานี้เองโดยที่ไม่รู้สึกว่าความสุขหายไปไหนเลยในหลายสิบปีที่ผ่านมา

Posted by nivate at 9:23 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/22/1504

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 29, 2014, 04:53:08 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 29 December 2014
สัญญาณแห่งดอย

เมื่อดัชนีหุ้นขึ้นมาสูงมากติดต่อกันหลายปีเป็นตลาดหุ้น “กระทิงดุ”  คำถามที่ตามมาก็คือ  ตลาดหุ้นขึ้นมาถึง “ดอย” หรือยัง?  เพราะถ้ามันใกล้หรือถึงจุดสูงสุดแล้ว  สิ่งที่หลายคนโดยเฉพาะนักลงทุนที่เล่นหุ้นระยะสั้นหรือระยะกลางจะทำก็คือ  ขายหุ้นทิ้งเสียเก็บเงินสดไว้รอช้อนหุ้นที่จะตกลงมาแรง ๆ  หรือไม่ก็หันไปลงทุนอย่างอื่นที่จะได้ผลตอบแทนดีกว่า  การที่จะวิเคราะห์ได้ว่าตลาดหุ้นใกล้ถึง Peak หรือจุดสูงสุดและกำลังปรับตัวลงมากลายเป็นตลาด “หมี” หรือไม่นั้น  เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก  เพราะตลาดหุ้นนั้น  ในระยะสั้น  “คาดการณ์ไม่ได้”  อย่างไรก็ตาม  จากการสังเกตของผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนที่คร่ำหวอดในตลาดหุ้นมายาวนานนั้น  ตลาดกระทิงที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดนั้น  มักจะมีอาการหรือสัญญาณหลาย ๆ  อย่างประกอบกันพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

    ข้อแรกก็คือ  ค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรของบริษัทของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปมักจะอยู่ในระดับสูงใกล้กับระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์  ค่า PB หรือราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปนั้นอยู่ในระดับสูง  ส่วนอัตราเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือ Dividend Yield นั้นจะค่อนข้างต่ำ  ดูจากตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ผมคิดว่าค่า PE ของตลาดหุ้นน่าจะใกล้ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับค่า PB  อย่างไรก็ตาม ปันผลนั้นยังค่อนข้างจะพอใช้ได้ที่ประมาณ 2.5%-3%  ในความเห็นของผมนั้น  ตัวเลขชุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหุ้นน่าจะถึงยอดดอยแล้ว  เหตุผลก็คือ  อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดของเราในช่วงนี้ต่ำเป็นประวัติการณ์  เงินฝากอยู่ในระดับไม่เกิน 2%-3%  ดังนั้น  ค่า PE ระดับ 17-18 เท่าและปันผลจากการลงทุนในหุ้นยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพอสมควร

ข้อสองคือ หุ้นที่เข้าข่ายที่จะเป็นหุ้น “Value” นั้นหาได้ยากขึ้นมาก  หุ้นดี ๆ  ราคาก็ค่อนข้างแพงเป็นส่วนใหญ่  ส่วนหุ้นพื้น ๆ  นั้น  ราคาก็ไม่ถูก  จริงอยู่  เราอาจจะพอลงทุนได้  แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มี “Margin of Safety” เหลือเพียงพอสำหรับ “VI พันธุ์แท้” ที่เน้นลงทุนระยะยาวจริง ๆ   ในข้อนี้ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ก็เข้าข่ายแล้ว

    ข้อสามที่อาจจะบ่งบอกว่าหุ้นใกล้ถึงดอยก็คือ  อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดกำลังขึ้น  หรือสภาพคล่องทางการเงินเริ่มลดลง  หรือในภาษาทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ  Money Supply กำลังหดตัว  ซึ่งในตลาดของไทยนั้น  ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยของเรายังไม่มีท่าทีว่าจะขึ้น  ว่าที่จริงอาจจะมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วยซ้ำถ้าดูจากการลงมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุดที่มีกรรมการ 2 เสียงลงมติให้ลดดอกเบี้ยในขณะที่เสียงส่วนใหญ่ยังให้คงไว้  อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าเรื่องนี้มีโอกาสเปลี่ยนได้เร็ว และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเองที่มีอิทธิพลต่อตลาดเงินโลกก็มีท่าทีว่าภายในปีหน้าก็จะปรับเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  สัญญาณข้อนี้จริง ๆ  ยังไม่น่าไว้วางใจ

    ข้อสี่คือเรื่องหุ้น IPO  นี่เป็นสัญญาณที่แรงมากในตลาดหุ้นไทย  นั่นก็คือ  ในช่วงที่ตลาดหุ้นใกล้ถึงจุดสุดยอดนั้น  จะมีหุ้น IPO ออกขายมากมายและราคาหุ้นที่เข้าตลาดในวันแรก ๆ ก็จะปรับตัวสูงขึ้นมาก  และนี่ก็เป็นข้อที่ผมรู้สึกกังวลว่า  ตลาดหุ้นไทยนั้นอาจจะใกล้ Peak

    ข้อห้าเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษา  แต่มีคนเคยศึกษาหรือให้ข้อสังเกตว่า  ถ้าหุ้นกว่า 75% ในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีราคาสูงกว่าแนวโน้มระยะยาวของมันมาระยะหนึ่งซึ่งอาจจะหลายปีแล้ว  ต่อมาจำนวนมันลดต่ำลงกว่า 75%  นี่ก็อาจเป็นสัญญาณว่า  หุ้นถึงดอยแล้ว  ผมเองไม่ทราบว่ามีใครศึกษาเรื่องแบบนี้ในตลาดหุ้นไทยหรือไม่  ความเชื่อของผมก็คือ  หุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ  นี้นั้น  กว่า 75%  มีราคาสูงกว่าแนวโน้มระยะยาวเพราะราคาหุ้นได้สูงขึ้นมามาก  สิ่งที่ไม่รู้ก็คือ  ขณะนี้มันลดลงมาต่ำกว่า 75% หรือไม่

    ข้อหก  คือสัญญาณที่ ปีเตอร์ ลินช์ เรียกว่า ทฤษฎี  “งานเลี้ยงค็อกเทล” นี่คือเหตุการณ์ที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักลงทุนมืออาชีพหันมาสนใจการลงทุนหรือเล่นหุ้น  ช่วงแรก ๆ  ก็อาจจะสนใจไม่มาก  แต่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างรวดเร็ว  การทำเงินจากการเล่นหุ้นดูเหมือนจะง่ายมาก  คนก็สนใจหุ้นมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่คนที่ไม่ควรสนใจลงทุนในหุ้นเลยเช่นช่างทำผมหรือคนขับแท็กซี่หันมาสนใจเรื่องหุ้น  ถ้าเกิดอาการแบบนี้  ก็อาจจะเป็นสัญญาณว่าหุ้นกำลังถึงยอดดอยและใกล้จะลง  จากการสังเกตของผม  ผมคิดว่าช่วงนี้ในตลาดหุ้นไทยมีคนกลุ่มใหม่ ๆ  เข้ามาสนใจลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่น่าจะค่อนข้างมีฐานะและ/หรือมีการศึกษาพอสมควร  ส่วนในคนทั่วไปนั้นผมก็คิดว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แต่ผมไม่รู้ว่ามากเท่าไร  โดยรวมแล้ว  น่าจะเป็นช่วงที่มีความตื่นตัวในหุ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ผมเคยเจอมา  ดังนั้น  ผมคิดว่าอาการนี้น่าจะ  “ก้ำกึ่ง” สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้

    ข้อเจ็ด  คือเรื่อง  “การสนองตอบต่อข่าวสารของหุ้น”  ความหมายก็คือ  ในช่วงที่หุ้นยังเป็น “ขาขึ้น” หรืออยู่ในภาวะกระทิงอยู่นั้น  ข่าวสารที่ดี ๆ  เช่น  บริษัทประกาศผลประกอบการที่ดี  ราคาหุ้นก็จะ  “วิ่ง” รับกับข่าวชิ้นนั้น  บางทีวิ่งมากกว่าข่าวดีด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงที่จะสิ้นสุดยุคกระทิง  ข่าวดีที่ประกาศออกมานั้นกลับไม่ได้ได้รับการตอบรับที่ดีเท่า  บางครั้งประกาศข่าวดีแต่ราคาหุ้นกลับลง  ดูเหมือนว่าหุ้นนั้นรับข่าวดีไปหมดแล้ว  ไม่มีเงินเหลือที่จะซื้อหุ้นอีกต่อไป  คนรอแต่จะขายหุ้น   สำหรับในข้อนี้  ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่เห็น  ผมยังรู้สึกว่าข่าวดีนั้นยังได้รับการตอบรับที่ดี  บางทีหุ้นยังขึ้นมากกว่าข่าวโดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก ๆ  ที่ราคายังขึ้นมากมายรับข่าวดีเล็ก ๆ  ที่อาจจะไม่ผลอะไรกับบริษัทจริง ๆ

    ข้อแปดคือเรื่อง  “การเปลี่ยนกลุ่มหุ้นชั้นนำในตลาด”  ความหมายของเรื่องนี้ก็คือ  ในแต่ละช่วงเวลานั้น  จะมีหุ้นบางกลุ่มเป็นหุ้นกลุ่มชั้นนำในตลาดเช่น  ถ้าย้อนหลังไปหลายสิบปี  ในช่วงนั้น หุ้นกลุ่มแบงค์เคยเป็นหุ้นกลุ่มนำ  ต่อมาอสังหาริมทรัพย์ก็เคยเป็นกลุ่มที่ทุกคนสนใจเล่นและมีขนาดใหญ่  เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มไฟแน้นซ์  ต่อมาก็หุ้นสื่อสารและกลุ่มพลังงานที่โดดเด่นมาจนถึงล่าสุด  คำถามก็คือ  ตอนนี้เรากำลังมีการ  “เปลี่ยนกลุ่ม”  หรือไม่โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน?  ที่อาจจะมีปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ  ในเรื่องนี้ผมเองก็วิเคราะห์ไม่ออก  แต่การเปลี่ยนกลุ่มหุ้นชั้นนำในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วนั้น  หลายครั้งสอดคล้องกับการกลับตัวของทิศทางดัชนีตลาดหุ้น

    ข้อเก้าก็คือ  เรื่องของข่าวสารข้อมูลตลาดหุ้นและการลงทุนทางสื่อมวลชนด้านต่าง ๆ  ในช่วงใกล้ถึงจุดสูงสุดของตลาดหุ้นนั้น  ข่าวและคอมเม้นท์จะมีมากมายในสื่อซึ่งถ้ามากถึงจุดหนึ่งก็จะออกทางสื่อมวลชน  “กระแสหลัก” สำหรับในข้อนี้ผมคิดว่า  “ข่าวหุ้น”  ของไทยนั้น  มีค่อนข้างมากและกว้างขวาง  การจัดสัมมนาและมหกรรมต่าง ๆ  เกี่ยวกับหุ้นได้รับการต้อนรับมากขึ้นเรื่อย ๆ   บ่อยครั้งสื่อกระแสหลักก็นำเรื่องเกี่ยวกับตลาดหุ้นไปออก  ข้อนี้ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยมีอาการระดับ 8-9  จากคะแนนเต็ม 10

    สุดท้ายคือคำพูดหรือความรู้สึกของคนที่มีเงินและเป็นนักลงทุน  ในช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นแย่ที่สุดอย่างช่วงปีวิกฤติ 2540 นั้น  ทุกคนบอกว่า “Cash is King”  แต่ในช่วงที่หุ้นจะถึง “ดอย”  นั้น  คำพูดจะเปลี่ยนเป็น  “Cash is Trash” หรือเงินก็คือ “ขยะ”  และสำหรับผมที่ช่วงนี้ผมมีเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นไปบางส่วนนั้น  ผมรู้สึกอยู่บ้างเหมือนกันว่าเงินสดที่ถืออยู่นั้นได้ดอกเบี้ยต่ำเหลือเกิน  ดูคล้ายกับขยะอะไรอย่างนั้น  และทั้งหมดก็คือสัญญาณบางส่วนที่เมื่อนำมาประมวลว่าหุ้นไทยตอนนี้อยู่ที่ระดับไหน  ข้อสรุปของผมก็คือ  มันยังผสมผสานระหว่างใช่กับไม่ใช่ดอย  นักลงทุนแต่ละคนจะต้องตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรกับพอร์ตของตน


Posted by nivate at 10:59 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor 

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/29/1506


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 05, 2015, 12:27:57 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 5 January 2015
Operation Big Bubble

ผมชอบอ่านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามโดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง  เพราะนี่คือสงครามที่  “มีครบทุกเรื่องและทุกรส”  มันเป็น “สงครามแห่งมวลมนุษยชาติ”  มันทำลายล้างอย่างบ้าคลั่งในขณะเดียวกันมันก็ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่อาจจะหาได้ในช่วงเวลาแห่งความสงบ  เพียง 4-5 ปี  โลกเปลี่ยนไปอาจจะเท่ากับศตวรรษ  เรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในสงครามก็คือ  “แผนปฏิบัติการ” ทั้งหลายในการเอาชนะข้าศึกในแต่ละเรื่อง  แผนเหล่านั้นถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีรายละเอียดที่ซับซ้อน  ความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลาย ๆ  เรื่อง  สิ่งที่สำคัญรวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายและตัว  “แผนปฏิบัติการ” ว่ากำหนดขึ้นได้ดีและถูกต้องแค่ไหน  แผนที่ดีนั้นมักนำไปสู่ชัยชนะ  แต่แผนที่เลวนั้นนำไปสู่ความพ่ายแพ้  “Operation Sea Lion” ของเยอรมันในการเข้ายึดครองอังกฤษนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะกองทัพเรือเยอรมันนั้นด้อยกว่ากองทัพเรืออังกฤษมากในขณะที่กองทัพอากาศเองก็ไม่ได้เหนือกว่าอังกฤษมากนัก  ตรงกันข้าม  “Operation Overlord” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “D-Day” ของฝ่ายสัมพันธมิตรในการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีนั้น  ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  ผมพูดถึงเรื่องนี้เพราะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ดูเหมือนว่าบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งกำลังทำ  “ปฏิบัติการเกี่ยวกับหุ้น” ที่ผมอยากจะเรียกว่า  “Operation Big Bubble” หรือ OBB

    เป้าหมายของ OBB นั้น  ก็เพื่อที่จะ  “ยกระดับ”  ราคาหุ้นเป้าหมายให้สูงขึ้น อาจจะเป็นร้อยเท่าในเวลาอาจจะแค่ 3-4 ปี  ปฏิบัติการนี้  จะเป็นการใช้เครื่องมือโดยเฉพาะทางการเงินหลากหลายที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลสูงในการขับดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว  ในขณะเดียวกัน  การสร้างแหล่งที่มาของรายได้และกำไรของบริษัทใหม่ ๆ  ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะเป็น “ฐาน”  ให้การเพิ่มขึ้นของราคานั้นมีความเป็นไปได้เนื่องจากผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ  นั้น  จะเป็นแหล่งของการเติบโตของกำไรอย่างรวดเร็วเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ต่อปีจากฐานที่ต่ำมากได้  ซึ่งนี่จะช่วยสนับสนุนราคาที่ขึ้นไปสูงมากจนทำให้ค่า PE เป็น 100 เท่าและยังมีนักวิเคราะห์ที่สามารถแนะนำให้ซื้อหุ้นโดยบอกว่ายังไม่แพงได้

    OBB ที่จะประสบความสำเร็จนั้น  ยังต้องมี  “ปฏิบัติการทางจิตวิทยา” ที่มีประสิทธิผลสูง  สื่อสารมวลชนทุกด้านจะต้องถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับข่าวสารที่จะต้องมีออกมาต่อเนื่องรวมถึง  “ข่าวลือ” ที่จะต้องมีออกมาเป็นระยะ  ข่าวทุกชิ้นจะต้องเอื้อต่อการที่จะให้คนเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจะโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและราคาหุ้นหรือมูลค่าหุ้นจะต้องเพิ่มขึ้นมหาศาลเนื่องจากจะมี  “การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง”  และบริษัทจะ  “ไม่เหมือนเดิม”  บริษัทจะโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตไปอีกนาน

    กระบวนการที่จะขับราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้น   จะไม่ใช้การพุ่งขึ้นเพียงครั้งเดียวและก็  “ดับ”  แต่จะต้องมีปฏิบัติการย่อย ๆ  ออกมาเป็นระยะ ๆ  ทั้งเรื่องของตัวกิจการและผลประกอบการ  และเรื่องของปฏิบัติการทางการเงินและจิตวิทยา  ทั้งหมดนั้นต้องสอดคล้องกัน  ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ราคาหุ้นในตลาดจะต้องพุ่งขึ้นตามกันไปไม่สามารถให้หุ้นอยู่นิ่งได้  เพราะราคาหุ้นนั้นเป็นข้อมูลสำคัญที่สุดที่จะยืนยันว่าสตอรี่หรือเรื่องราวต่าง ๆ  ที่สาธารณชนได้รับนั้น  “ถูกต้อง”   การปล่อยให้ราคาหุ้นไหลลงมานานเกินไปจะทำลายความเชื่อมั่นของคนลง  ดังนั้น  การ  “ดูแลราคาหุ้น” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในปฏิบัติการ BBO การที่จะ  “ปิดปฏิบัติการ”  เพื่อทำกำไรมหาศาลนั้น   จำเป็นที่จะต้องทำอย่างระมัดระวังและเป็นการทยอยทำและทำในยามที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วไปต่อตัวหุ้นขึ้นสูงสุดเท่านั้น

    ลองมาดูปฏิบัติการ BBO ที่มีการใช้กันในช่วงเร็ว ๆ  นี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงดูก็จะพบว่าบริษัท   “เป้าหมาย”  นั้น  ล้วนเริ่มจากบริษัทที่เล็กมาก  มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. นั้นอยู่ในหลักเพียงร้อยล้านบาทเท่านั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นบริษัทที่มียอดขายและกำไรน้อยมาก  จำนวนมากยังขาดทุนอยู่  สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการ  “เปลี่ยนธุรกิจ”  โดยการหันมาทำธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็วและทำเงินดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงเนื่องจากอาจจะเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องแข่งขันหรือเป็นธุรกิจที่ทำกำไรอยู่แล้วในขณะที่บริษัทเข้าไปซื้อมาจากเจ้าของหรือคนอื่นที่อาจจะให้ดีล  “พิเศษ”   ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่า  พลังงานทดแทนโดยเฉพาะที่เป็นพลังงานแสงแดดดูเหมือนว่าจะเป็นธุรกิจ  “ยอดนิยม”  ที่ถูกนำมาใช้ใน BBO  มาก  นอกจากนั้นก็อาจจะมีธุรกิจในด้านของ  “เศรษฐกิจใหม่”  ที่เรียกว่า ดิจิตอลอีโคโนมีก็อาจจะมีเช่นกัน  ในบางรายก็อาจจะใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากมันเป็นเรื่องง่ายที่จะโตเร็วเป็นพิเศษจากธุรกิจนี้สำหรับบางราย

    ในการทำ BBO นั้น  สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือการทำ  “ปฏิบัติการทางการเงิน”    เนื่องจากเป็นเรื่องง่ายและ  “ไม่มีต้นทุน”  ที่จะทำ  ดังนั้น  เครื่องมือทางการเงินจึงถูกใช้อย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา  สิ่งแรกที่มักจะทำกันก็คือ  การลดพาร์หรือมูลค่าทางบัญชีของหุ้นเพื่อทำให้หุ้นมีราคาซื้อขายที่  “ถูกลง”  มากที่สุดที่จะทำได้แต่อาจจะไม่ได้ทำครั้งเดียวแต่ค่อย ๆ  ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับดันราคาหุ้น  สมมุติราคาพาร์เท่ากับ 1 บาทต่อหุ้นและราคาหุ้นในตลาดเท่ากับ 3 บาท  การลดพาร์เหลือ 25 สตางค์ก็จะทำให้ราคาตลาดเหลือเพียง 75 สตางค์ซึ่งจะทำให้คนรู้สึกว่าหุ้นถูกมากราคาไม่ถึงบาท  พอรอบต่อไปซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งปีต่อมา  เขาก็อาจจะลดพาร์ลงอีกเหลือเพียง 10 สตางค์หรือต่ำกว่านั้น  ผลก็คือ คนจะเข้ามาซื้อหุ้นเพราะหุ้น “ไม่แพง”

    เมื่อบริษัทเริ่มทำธุรกิจใหม่และวางแผนจะต้องโตอย่าง  “ก้าวกระโดด”  สิ่งที่บริษัทต้องทำก็คือ  การเพิ่มทุนเพื่อนำไป  “ลงทุน”  และการไป  “เทคโอเวอร์”  บริษัทอื่น   การประกาศ  เพิ่มทุนโดยให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิม  มหาศาล เช่น  ให้สิทธิ 1 ต่อ 1 ที่ราคา 1 บาท  แต่ถ้าให้สิทธิเฉย ๆ  ก็อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นรู้สึกแย่ว่าต้อง  “เสียเงิน”  ดังนั้น  บริษัทก็มักจะต้อง  “แถมวอแร้นต์” ให้อย่าง  “จุใจ” ซึ่งก็จะทำให้คนแห่กันเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปอย่างแรงเพราะคนคิดว่าวอแร้นต์ที่ได้มานั้นถ้าเอาไปขายก็ได้เงินสุดจะคุ้มค่า   นี่ก็เป็นการหาเงินมาทำโครงการที่จะทำเงินให้บริษัท  แต่ถ้าจะทำเพียงครั้งเดียว  ราคาหุ้นก็จะ “หมดแรง” วิ่ง  ดังนั้น  เมื่อเวลาผ่านไป  หรือบางทีก็เวลาเดียวกัน  บริษัทก็จะต้องประกาศเพิ่มทุนใหม่อีก  แต่คราวนี้จะออกเป็น  PP หรือการขายให้แก่  “บุคคลภายนอก”  ที่อาจจะมี  “บารมี”  เพียบในแง่ของการเป็นนักลงทุน  ในราคาที่ถูกมากเพื่อเป็นการดึงดูดให้คนเข้ามาเล่นหุ้นด้วยความเชื่อมั่นว่าหุ้นจะต้อง “ไปต่อ”  และก็อีกเช่นกัน  เพื่อที่จะทำให้ “ดีล” ไปได้  วอแร้นต์ก็มักจะถูกนำมาใช้อีกนั่นก็คือ  ถ้ามีปัญหาตรงไหนก็แจกวอแร้นต์ให้  ปัญหาก็จะหมดไป

    บางบริษัทในตลาดที่ทำ BBO ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีโดยใช้กลยุทธ์และเครื่องมือดังที่กล่าวมาทั้งหมดแบบ  “เต็มสตรีม”  นั้น  เราก็ได้เห็นราคาหรือควรจะต้องเรียกว่ามูลค่าหุ้นนั้นเพิ่มขึ้นจากหลัก 100 ล้านบาทกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท หรือเป็นการเติบโตขึ้นกว่า 100 เท่าในเวลาแค่ 2-3 ปี และทำให้เจ้าของดั้งเดิมกลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วข้ามคืน   เงินที่ได้มานั้น  ไม่ได้เกิดจากตัวธุรกิจเนื่องจากบริษัทก็ยังมีรายได้และกำไรน้อยมาก  แต่เงินนั้นมาจากนักลงทุนจำนวนมากที่ต่างก็เชื่อมั่นว่าบริษัทนั้น  “มีอนาคตที่สดใสมาก”  หรือไม่ก็เกิดจากนักเล่นหุ้นที่เชื่อมั่นว่า  หุ้นตัวนั้นจะต้อง  “ทำเงิน” ให้เขาได้อย่างรวดเร็วจากราคาที่พุ่งขึ้นเรื่อย ๆ   ในส่วนตัวผมเองนั้นผมเห็นว่า  ในปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามหรือหุ้น  คนที่เข้าไปเป็น  “เบี้ย” เช่นทหารเลวหรือนักเล่นหุ้นรายย่อยน้อยคนจะได้ผลตอบแทนที่ดี  ถ้าโชคดี  ทหารก็ได้เหรียญกล้าหาญแต่โอกาสตายสูง  นักลงทุนรายย่อยนั้น  โอกาสที่จะรอดและได้  “เหรียญกล้าหาญ” มีน้อย   มีแต่คนที่คิดและสั่งดำเนินการเท่านั้นที่มีโอกาสเป็นวีรบุรุษหรือกลายเป็นมหาเศรษฐีแม้ว่าในบางครั้งก็  “ตาย” ได้เหมือนกัน

Posted by nivate at 11:02 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/01/05/1509
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 06, 2015, 02:33:00 pm

สิ่งที่หวงแหนที่สุด / คุณโจ ลูกอิสาน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เป็นแนวทางการลงทุนที่มีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า เราซื้อหุ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการ กิจการที่มีกิจกรรมทางเศรษกิจ มีคนทำงานกันจริงๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นหากกิจการมีกำไร เราจะได้รับส่วนแบ่งกำไรนั้นไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือรับส่วนแบ่งเงินสดอย่างเงินปันผล หน้าที่ของนักลงทุนคือซื้อหุ้นของบริษัทที่ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น เพราะนั่นจะทำให้เรามีกำไรสูงสุด  ทัศนคติที่ว่า"การวิเคราะห์หุ้นคือการวิเคราะห์กิจการ" จึงสำคัญ ทัศนคติจะเป็นเหมือนเข็มทิศที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความคิดในการลงทุนของเรา ทัศคติที่ถูกต้องทำให้เราเดินไปถูกเส้นทาง คนฉลาดมากๆหากเลือกเส้นทางผิดก็อาจไม่ถึงจุดหมาย  ในทำนองเดียวกันคนที่ไม่ได้ฉลาดมาก หากเขาหรือเธอเลือกเดินในเส้นทางที่ถูกต้องก็ถึงจุดหมายได้แม้ต้องใช้เวลาบ้างก็ตาม

ในโลกการลงทุนจริงๆมีปัจจัยทางด้านอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องบ่อยๆ การดำรงทัศนคติให้แน่วแน่ ไม่สั่นคลอนไปตามกระแสต่างๆเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเย็น  อารมณ์กลัวจะทำให้นักลงทุนขายหุ้นไปตอนที่ตลาดตกต่ำซึ่งทำให้เขาเสียหายสูงสุด(ทั้งที่ควรจะซื้อ) ความโลภจะทำให้นักลงทุนมองแต่โลกที่สดใสและพร้อมจะซื้อหุ้นในทุกๆราคา(ทั้งที่ควรจะขาย) และความริษยา ทำให้นักลงทุนมองวิธีการลงทุนของคนอื่นดีกว่าของตัวเองเสมอ ปัจจัยอารมณ์เหล่านี้เป็นธรรมชาติที่อ่อนแอของมนุษย์ เป็นความจำเป็นที่่เราต้องรู้เท่าทันและเอาชนะความอ่อนแอที่ติดตัวเรามานี้ให้ได้  ทัศนคติที่ถูกต้องจะทำให้เราเอาชนะความอ่อนแอนี้ได้ และจะทำให้เราข้ามผ่านเวลาที่แย่และเวลาที่เลวร้ายสุดๆ ไปได้

เมื่อเรายึดกิจการเป็นหลัก เราจะไม่ขายหุ้นเพียงเพราะตลาดตกต่ำ เราจะไม่ซื้อหุ้นตอนที่ตลาดมองโลกในแง่ดีมากๆ และเราจะไม่อิจฉาคนอื่นที่ใช้แนวทางอื่นและทำกำไรได้มากกว่า เพราะในโลกการลงทุนจริงๆผลตอบแทนระยะยาวที่มากกว่า 20%ต่อปี เป็นสิ่งที่คนเพียง"หยิบมือเดียว"ในโลกเท่านั้นที่ทำได้ ผลตอบแทนที่สูงกว่านั้นเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการมองโลกด้านดีด้านเดียว การมองโลกในแง่ดีทำให้เรามองแต่ผลตอบแทนจนละเลยความเสี่ยง ทั้งที่ความจริงในโลกธุรกิจหรือทุกอย่างในโลกนี้มีความเสี่ยงแฝงอยู่ทั้งสิ้น ถ้าเปรียบเทียบการการลงทุนแนว vi คงเป็นการเดินทีละก้าวอย่างช้าๆแต่มั่นคงเต็มไปด้วยความระมัดระวัง และมักไม่เดินถอยหลัง การรับความเสี่ยงมากๆเพื่อผลตอบแทนสูงๆเหมือนการกระโดดที่พร้อมจะเจ็บตัวได้ทุกเมื่อ

นักลงทุนแบบ vi กับทัศนคติที่ว่าหุ้นคือบริษัท และพื้นฐานกิจการจะกำหนดราคาหุ้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเสมือนหางเสือเรือที่จะพาเราเดินทางไปให้ถึงฝั่ง เป็น"ทัศนคติที่เราต้องหวงแหนที่สุด" เมื่อไหร่ที่เราตัดสินใจลงทุนโดยละเลยหลักการข้างต้น นั่นแสดงว่าเราเริ่มมีปัญหาแล้ว..

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 07, 2015, 12:32:00 am
Friday, 17 October 2008
0078: MOS ตามอำเภอใจ
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

ไม่รู้ว่าผมจะทำให้นักลงทุน "ช็อค" รึเปล่า ถ้าผมจะบอกว่าคำว่า ส่วนลดเพื่อความปลอดภัย หรือที่เรียกว่า MOS Margin of Safety) ตามแนวคิดของ Value Investment นั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคล (Subjective) ล้วนๆ ครับ

ต่อให้นักลงทุนระดับตำนานสองคนตีราคาหุ้นที่ปลอดภัยของหุ้นตัวเดียวกันก็จะออกมาไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับ เกณฑ์ที่นักลงทุนแต่ละคนเลือกใช้ ประสบการณ์ ความรู้ ข้อมูล ตลอดจนความลำเอียงส่วนตัวที่ไม่เหมือนกันด้วย ไม้บรรทัดที่นักลงทุนแต่ละคนใช้ไม่เหมือนกัน ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่เหมือนกัน การลงทุนที่มี MOS แล้วนั้นจึงยังไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ

ในรอบหลายๆ ปี วอเรน บัฟเฟตถึงจะซื้อหุ้นในปริมาณที่มีนัยสำคัญสักครั้งหนึ่ง บัฟเฟตเองเคยพูดว่า เขาต้องรอถึง 16 ปีกว่าจะได้ซื้อหุ้นโค้ก ในช่วง Tech Bubble นั้น เขาไม่ได้ซื้อหุ้นอะไรอย่างมีนัยสำคัญเลย เป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 7 ปี เขาบอกว่า เขาไม่พบหุ้นที่มีราคาที่น่าสนใจ เขาจึงไม่ซื้อ ไม้บรรทัดของบัฟเฟตนั้นจึงน่าจะเป็นไม้บรรทัดที่ใช้ความระมัดระวังสูงมากทีเดียว

ถ้าหากทุกวันนี้คุณก็ใช้ MOS ของคุณอยู่ แต่คุณกลับพบหุ้นที่น่าซื้อได้แทบทุกเดือน ย่อมแสดงว่า ไม้บรรทัดของคุณเปราะบางกว่าไม้บรรทัดของบัฟเฟตเป็นอย่างมาก ความปลอดภัยในการลงทุนของคุณจึงย่อมน้อยกว่าบัพเฟตและเพราะเหตุนี้คุณจึงไม่อาจคาดหวังผลตอบแทนในระดับเดียวกับบัฟเฟตได้ แม้ว่าคุณจะอ้างว่าคุณลงทุนแบบเดียวกับบัฟเฟตแล้วก็ตาม

ที่จริงแล้ว การลงทุนโดยมี MOS หรือไม่นั้นยังไม่สำคัญเท่ากับการที่คุณมีความอดทนมากแค่ไหนที่จะรอคอยให้หุ้นที่อยากได้มีราคาที่เหมาะสมก่อนค่อยซื้อ บางคนอยากซื้อหุ้นตัวไหนมากๆ ก็หาเหตุผลต่างๆ นานา(แบบเข้าข้างตัวเอง) มาผ่อนคลายไม้บรรทัดของตัวเองลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ซื้อหุ้นในที่สุด (เป็นโรคกระเป๋าร้อน) แบบนี้ มี MOS ก็เหมือนไม่มีครับ เพราะเป็น MOS ตามอำเภอใจ

คุณอาจจะรู้สึกว่าไม้บรรทัดของบัฟเฟต "เว่อร์" ไปหรือเปล่า อะไรกันตั้งหลายปีไม่ได้ซื้อหุ้นอะไรเลย แต่ถ้าไม้บรรทัดของบัฟเฟตไม่แตกต่างจากไม้บรรทัดของคนอื่นๆ บัฟเฟตก็คงไม่อาจเป็นนักลงทุนระดับตำนานได้

เช่นนี้แล้ว คุณสมบัติของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้น นอกเหนือจากความสามารถที่จะถือหุ้นในระยะยาวได้แล้ว ความสามารถในการรอคอยที่จะไม่ซื้อหุ้นจนกว่าหุ้นจะมีราคาที่เหมาะสม (ไม่ว่าจะต้องรอนานมากแค่ไหน) ก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันด้วย แต่เรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าที่ควร

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 09, 2015, 04:52:19 pm
พอร์ตอภิมหาเศรษฐี / คนขายของ

updated: 08 ม.ค. 2558 เวลา 06:55:03 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


สื่อต่างประเทศประเมินว่า หาก บิล เกตส์ไม่บริจาคเงินของเขาเข้ามูลนิธิ Bill & Melinda Gates ตอนนี้เขาคงเป็นผู้ที่มั่งคั่งทีมีสินทรัพย์ทั้งหมดเกินกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นคนแรกของโลก แต่ถึงแม้บริจาคไปแล้ว ตอนนี้ บิล เกตส์ ก็ยังคงเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินกว่า 82,000 ล้านเหรียญ หลายคนอาจจะเข้าใจว่าความมั่งคั่งของบิล เกตส์ ส่วนใหญ่ตอนนี้คงอยู่ในบริษัท Microsoft ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง แต่เปล่าเลย ณ ตอนนี้มูลค่าของหุ้น Microsoft ทั้งหมดที่เขามีราวๆ 14,000 ล้านเหรียญ คิดเป็นแค่ 17% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ยิ่งกว่านั้นเขามีแผนที่จะลดสัดส่วนการถือครองใน Microsoft ลงเรื่อยๆ มีการคาดการณ์ว่าอีกสี่ปีข้างหน้า บิล เกตส์จะไม่เหลือเงินลงทุนในบริษัทที่เขาก่อตั้งอีกเลย แล้วตอนนี้ความมั่งคั่งของเขาอยู่ที่ไหน? พอร์ตลงทุนหุ้นของเขามีหุ้นประเภทไหนบ้าง? และ เราจะเรียนรู้อะไรจากการจัดพอร์ตนี้ได้บ้าง? เราจะมาดูในรายละเอียดกัน

ปัจจุบันกว่า 78% ของสินทรัพย์ของบิล เกตส์อยู่ในบริษัทการลงทุนส่วนตัวของเขาชื่อ Cascade Investment LLC บริหารโดย Michael Larson อดีตผู้จักการกองทุนที่ บิล เกตส์ไว้วางใจเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี Cascade Investment ลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท แต่สัดส่วนใหญ่อยู่ในหุ้นของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คิดเป็นกว่า 38% ของสินทรัพย์ทั้งหมด มีมูลค่ารวมกันกว่า 24,000 ล้านเหรียญ โดยมี 5 บริษัทที่ถืออยู่ คิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของพอร์ตหุ้น หุ้นหลักห้าตัวนั้นได้แก่ 1) Canadian National Railway บริษัทรถไฟที่มีเครือข่ายครอบคลุมในแคนนาดาและตอนกลางของสหรัฐ คิดเป็น 27% ของพอร์ต 2) Republic Services บริษัทบริหารจัดการขยะที่ไม่อันตรายสำหรับอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยในหลายรัฐ คิดเป็น 17% ของพอร์ต 3) ECO LAB บริษัทขายผลิตภัณฑ์และให้บริการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ สำหรับลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหาร โรงพยาบาล และ อุตสาหกรรม คิดเป็น 14% ของพอร์ต 4) Deere & Co บริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรกลทางการเกษตร และ รับจัดเช่าซื้อ คิดเป็น 10% ของพอร์ต และ 5) AutoNation บริษัทขายรถยนต์มีหน้าร้านกระจายอยู่ทั่วอเมริกา มีรถยนต์ให้เลือกมากกว่า 30 แบรนด์ คิดเป็น 3.5% ของพอร์ต

จากข้อมูลการจัดพอร์ตของ Cascade Investment ดังกล่าวผมคิดว่ามีจุดที่น่าสนใจดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ธุรกิจที่อยู่ในพอร์ตส่วนใหญ่เป็นภาคบริการจะมีแค่ Deere & Co เท่านั้นที่เน้นการผลิต แสดงถึงมุมมองที่เป็นบวกต่อธุรกิจบริการมากกว่าการผลิตในอนาคต ประเด็นที่สอง เป็นพอร์ตที่เน้นเรืองความมั่นคงของกิจการ โดยเลือกกิจการที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไม่เน้นกิจการที่ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าไฮเทคหรือสินค้าแฟชั่นเลย นอกจากนั้นยังเน้นเรื่องการกระจายความเสี่ยง โดยหุ้นที่ถือครองจะกระจายไปตามอุตสาหกรรมต่างๆที่ไม่ทับซ้อนกัน และมีลูกค้าคนละกลุ่มอย่างชัดเจน ไม่ถือหุ้นตัวใดเกิน 50% ของพอร์ต หุ้นที่ถือมากที่สุดคิดเป็น 27% เท่านั้น ในกรณีเลวร้ายที่สุด ถ้าหุ้นที่ถือถึง 27% เกิดล้มละลายไป มูลค่าหุ้นที่เหลือของพอร์ตหากโตได้แบบอนุรักษ์นิยม ปีละ 10% ภายในสามปีกว่ามูลค่าพอร์ตจะกลับมาเท่าเดิม ประเด็นที่สาม หุ้นหลักที่ถือห้าตัวนี้ มีธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาเหนือ แสดงถึงมุมมองที่ บิล เกตส์ ให้ความเชื่อมั่นว่าอเมริกาจะยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปในอนาคต

Portfolio Management หรือ “การบริหารพอร์ตลงทุน” เป็นเรื่องที่ช่วยนักลงทุนบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี การศึกษา การจัด Portfolio ของนักลงทุนชั้นนำช่วยให้เราเข้าใจมุมมองการลงทุนของเขาเหล่านั้นได้ดีขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการลงทุนของเราในอนาคต

ที่มา:
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1420623010
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 13, 2015, 01:13:36 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 12 January 2015
แอบรักออนไลน์

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ดูละครหลังข่าวเรื่องใหม่ชื่อ  “แอบรักออนไลน์”  เพียงหนึ่งหรือสองตอนผมก็รู้สึกว่าละครเรื่องนี้น่าจะ “ฮิต” พอสมควรโดดเฉพาะสำหรับ  “คนเมือง”  หรือคนที่อยู่ในเมือง  มีการศึกษาและฐานะค่อนไปทางดี  ไม่ใช่ตลาด  “Mass” หรือผู้ชมที่อยู่ในชนบทซึ่งจะเป็นอีกตลาดหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่จะพูดถึงละครเรื่องนี้  เราก็ควรจะทำความเข้าใจเสียก่อนว่าตลาดละครหรือรายการต่าง ๆ  ในทีวีที่เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่นั้น  น่าจะมีอยู่ซัก 2-3 ตลาดนั่นก็คือ  ตลาดกลุ่ม “รากหญ้า”  นี่คือรายการที่เป็นที่นิยมของคนในชนบทเป็นส่วนใหญ่  รายการจะเน้นไปที่ความสนุกสนานแบบ “ตรงไปตรงมา”  เป็นเรื่องชีวิตและความฝันของ  “ชาวบ้าน”  นักแสดงและดาราที่นำเสนอก็จะมีความเป็น  “ชาวบ้าน”  ที่ผู้ชมสัมผัสได้เพราะไม่ได้มี  “ตระกูลรุนชาติ”  เนื้อหาก็มักจะมีเรื่องของความ  “ตลกโปกฮา” ปะปนอยู่เสมอ  หรือไม่ก็เป็นการ “ขายฝัน” ว่าจะร่ำรวยและมีฐานะดีขึ้นในชั่วข้ามคืนจากอะไรบางอย่างที่เป็นไปได้แต่โอกาสเกิดน้อย เช่น  การ “ถูกหวย” หรือการได้แต่งงานกับเศรษฐีหรือ  “คุณชาย” ที่มีตระกูลสูง

    ตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่งก็คือตลาด  “คนเมือง”  หรือคนที่อาศัยอยู่ในเมือง  คนกลุ่มนี้มักจะเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปที่มีการศึกษาและฐานะดีกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในประเทศ  ละครหรือรายการที่พวกเขาชอบดูนั้น  จะเป็นเรื่องที่  “ซับซ้อน” ขึ้นมาบ้าง  จะต้องมีการคิดคาดการณ์ปฏิกิริยาและความคิดของตัวละครหรือเรื่องราวต่าง ๆ  แม้ว่าจะเดาไม่ยากนัก  เนื้อเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องของ  “คนเมือง”  เช่น  เป็นชีวิตในสำนักงาน  ชีวิตของคนที่มีอาชีพที่มีคนรู้จักและเกี่ยวข้องกันมาก เช่น เป็นหมอ  เป็นแอร์โฮสเตส  ข้าราชการ   คนบันเทิงอะไรต่าง ๆ  เหล่านี้  ดาราหรือผู้นำเสนอรายการเองนั้น  ก็จะต้องเป็นคนที่ดู  “ไฮโซ”  หน้าตาจะต้อง  “อินเทรนด์”  ออกแนว “ลูกครึ่ง” หรือแบบ  “เกาหลี”  การแต่งหน้าแต่งตัวนั้นจะต้องออกแนว  “เป๊ะเวอร์” บ้านจะต้อง  “อลังการ” แม้ว่าตามเรื่องเจ้าของจะเป็น  “คนจน”  ส่วนเนื้อเรื่องหรือสาระนั้นก็จะออกแนว  “ชิงรักหักสวาท” หรือแนว  “โรแมนติกคอมเมดี้” ที่เน้นความน่ารัก  ซาบซึ้งและความตลกที่ “ไม่ได้ตั้งใจแสดง”

     ส่วนอีกตลาดหนึ่งที่น่าจะมีขนาดใหญ่ก็คือ  ตลาด  “ทั้งหมด”  นั่นก็คือ  เป็นรายการที่ดูกันได้ทุกกลุ่มทุกชนชั้น  แนวก็จะพยายามครอบคลุมเรื่องที่เป็น  “กลาง ๆ”  เช่น  เรื่องราวประวัติศาสตร์ย้อนยุคที่มีการ “ดัดแปลง” ให้  “ดูดี” ในสายตาของคนยุคปัจจุบัน  เช่น  ดารานำแสดงอาจจะเป็น “ลูกครึ่ง”  ที่ดูสวยหล่อ  ธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัยและไม่มีใครเขาทำกันแล้วก็จะต้องมีดัดแปลงให้สมจริงขึ้น  ถ้าเป็นรายการวาไรตี้หรือทอล์คโชว์ก็จะต้องเป็นเรื่องที่กลาง ๆ  และคนส่วนใหญ่สนใจ เช่น  เป็นเรื่องแปลก  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน  ดาราหรือแขกรับเชิญนั้นก็จะต้องไม่จำกัดเฉพาะที่เป็น  “ไฮโซ” แต่จะต้องไม่ใช่  “ชาวบ้าน” จากชนบทที่จะทำให้รายการเปลี่ยนไปทันทีเป็นแบบ Mass  ถ้าเป็นเรื่องของละครก็จะออกแนวยุค “ซิกตี้” หรือประมาณซัก 40-50 ปี ที่คนไทยเริ่มพัฒนาประเทศเป็นแบบสมัยใหม่ที่ยังมี  “คุณชายรุ่นสุดท้าย” ที่หล่อเหลาขับรถหรูเป็นชายในฝันของหญิงทุกคนแต่ยังมี  “ท่านแม่” ที่อาจจะคอยกีดกันความรักที่มีกับ “สามัญชน”  อะไรทำนองนี้

    ผมพูดออกนอกเรื่องไปไกลก็เพื่อจะให้ภาพตลาดของสื่อซึ่งนอกจากจะสะท้อนถึงธุรกิจด้านของทีวีและอีกหลาย ๆ  เรื่องแต่นี่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผมจะพูดถึง  สิ่งที่ผมต้องการวิเคราะห์จริง ๆ ก็คือ Content หรือเนื้อหาต่าง  ๆ ที่ถูกนำเสนอโดยเฉพาะที่ผ่านทางทีวีซึ่งยังเป็นช่องทางหลักของไทยนั้น  แท้ที่จริงมันเป็นสิ่งที่  “สะท้อนภาพของสังคม”  กล่าวคือ  ถ้าสังคมกำลังเป็นอย่างไรหรือคนกำลังนิยมอะไร  ละครในทีวีก็จะแสดงออกอย่างนั้น  ทีวีนั้น  ผมคิดว่าไม่ใช่ “ผู้นำ” แต่เป็น “ผู้ตาม”  แต่ในขณะเดียวกัน  เมื่อทีวีมีการนำเสนอ มันก็จะส่งผลให้คนอื่น ๆ  ทำตามหรือคิดตามด้วย  ซึ่งก็จะช่วย “กระพือ”  ให้สิ่งนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็น “กระแส”  หรือมีคนทำกันมากขึ้นนิยมกันมากขึ้นจนกว่ามันจะเป็นกระแสหลัก  หรือไม่อย่างนั้น  ความนิยมก็จะค่อย ๆ  หายไปเมื่อสิ่งนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่คนหรือสังคมต้องการให้มันคงอยู่อย่างถาวรจริง ๆ  แต่เป็นเพียง  “แฟชั่น” ที่ขึ้นอยู่กับ  “ช่วงเวลา”  อันสั้นนั่นก็คือ  “ดัง” ถึงขีดสุดแล้วก็ค่อย ๆ  “ดับ” ไป

    ละครเรื่องแอบรักออนไลน์นั้น  ผมคิดว่าสะท้อน “สังคมยุคใหม่” อย่างน้อย 2 เรื่องที่ผมไม่ใคร่ได้เห็นในละครหลังข่าวเรื่องอื่นมากนักนั่นก็คือ  เรื่องแรก  สังคมไทยตอนนี้เป็นสังคมที่น่าจะ  “ออนไลน์” กันอย่างมีนัยสำคัญและละครหลังข่าวเริ่ม “สะท้อน” มันออกมา   คนที่อ่านบทความนี้อาจจะมีความรู้สึกเหมือนว่าสังคมไทยนั้นติดต่อและพูดคุยผ่านอินเตอร์เน็ตมานานแล้วเนื่องจากตนเองทำมานานและเพื่อน ๆ  ก็ออนไลน์มาตั้งนานแล้ว  แต่ถ้าไปถาม  “ชาวบ้าน” ทั่ว ๆ ไป  ผมคิดว่าเราจะได้คำตอบมาอีกอย่างหนึ่ง  เนื้อเรื่องของละครนั้น  จะเดินผ่านข้อความออนไลน์ที่นักแสดงส่งถึงกันเป็นจำนวนมาก  แม้แต่คนที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกันและอาจจะนั่งใกล้ ๆ  กันก็อาจจะส่งข้อความกันแทนที่จะพูดกัน  และผมเชื่อว่า  การออนไลน์นั้นก็อาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และอยู่กับเราอย่างถาวรได้

    เรื่องที่สองที่ละครสะท้อนมันออกมาและผมเห็นว่าน่าสนใจมากก็คือ “หุ้น”   ในอดีตนั้น  เรื่องของหุ้นที่จะปรากฏออกมาทางละครหลังข่าวนั้น  อย่างมากก็เป็นแค่ว่าตัวแสดงนั้นประกอบอาชีพเกี่ยวกับหุ้นและไปทำอะไรบางอย่างที่ทำให้กระทบกับตัวแสดงคนอื่น  เช่น  ไปเทคโอเวอร์ธุรกิจที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนอะไรทำนองนี้  แต่ในกรณีของแอบรักออนไลน์นั้น  ดาราตัวเอกทั้งหมดอยู่ในบริษัทโบรกเกอร์ซึ่งให้บริการในการซื้อขายหุ้นให้กับลูกค้า  ฉากหลักของเรื่องนั้นอยู่ในออฟฟิสที่มีหน้าจอคอมพิวเตอร์ซื้อขายหุ้น  ว่าที่จริงมีแม้กระทั่งฉากการแสดงการวิเคราะห์หุ้นด้วยกราฟและตัวเลขที่ใช้ในการตัดสินใจเรื่องการซื้อขายหุ้นด้วย

    ตัวเอกของเรื่องเองนั้น  ก็เป็นการบอกว่าเรื่องหุ้นนั้น  เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เป็นชนชั้นนำของสังคม  โดยที่พระเอกอันดับหนึ่งเรียนจบจากคณะวิศวชั้นนำระดับประเทศ  แต่ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือ นางเอกซึ่งจบจากบอสตันที่ถือว่าเป็นสถานที่ศึกษาของคนชั้นสูงของไทย  นี่ก็หมายความว่าอาชีพหรืองานทางการเงินโดยเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหุ้นนั้น  เป็นความเท่  เป็นงานที่มีเกียรติ  และเป็นงานที่คนใฝ่ฝันอยากทำ  ในอีกมุมหนึ่ง  การที่ให้นางเอกเรียนจบมหาวิทยาลัยดังจากเมืองนอกแทนที่จะเป็นพระเอก  ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสังคมไทยที่ผู้ชายไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำหรือผู้ที่เหนือกว่าอย่างในละครรุ่นเก่าอีกแล้วที่ผู้ชายต้องเป็นคุณชายและนางเอกเป็นคนธรรมดา

     ยังมีฉากและเรื่องราวอีกมากที่บ่งบอกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาเป็นสังคมยุคใหม่ในละครเรื่องนี้    ในอเมริกานั้น  เราเห็นหนังเกี่ยวกับเรื่องของหุ้นมาตลอดเวลานานแล้ว  เรื่องล่าสุดที่ผมดูมาก็คือ  The Wolf of Wall Street ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ  “ความโลภและมุมมืด” ในตลาดหุ้น  หุ้นและตลาดหุ้นในอเมริกาอาจจะถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในระดับ Mass ในสังคมมานานแล้ว  เรื่องราวเกี่ยวกับหุ้นถ้าจะทำเป็นหนังจะต้องมีจุดเฉพาะเช่น  ความโลภอย่างหนัก เป็นต้น    แต่ในตลาดหุ้นไทยนั้น  หุ้นคงกำลัง “ไต่ระดับ” ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยบางกลุ่มมากขึ้นเรื่อยแต่ยังไม่ถึงกับเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่  ละครเรื่องแอบรักออนไลน์นั้น  เป็นจุดที่บอกว่า  ตอนนี้หุ้นกำลัง  “มาแรง” และมีคนเกี่ยวข้องสนใจมากพอที่จะนำเสนอในละครได้แล้ว  ดังนั้น  เราคงต้องระวังและจับตาดู  เพราะอะไรที่มาแรงเกินไปนั้น  แม้ว่าในระยะยาวมันก็ยังไปต่อได้  แต่ในระยะสั้น  มันก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลงแรงเช่นกัน    สำหรับผม  การเปิดตัวของละครเรื่องนี้ทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับหุ้นเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้    อย่างไรก็ตาม  ในด้านของความบันเทิงแล้ว  ผมก็ขอ  “แอบรัก”  ผลงานของคุณ แอน ทองประสม  ที่ผมคิดว่าทำได้ดีมาก  ทั้งการแสดงและการทำละครเรื่องนี้

Posted by nivate at 2:06 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor 

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/29/1506
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 21, 2015, 01:42:40 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 19 January 2015
กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง

เด็กจบปริญญาตรีใหม่ ๆ  หรือเพิ่งเริ่มทำงานมาได้สักพักหนึ่งบางคนนั้น  บางทีก็ “ฝัน” ที่จะร่ำรวยด้วยการลงทุนในหุ้น  พวกเขารู้สึกว่าหุ้นนั้นสามารถทำให้คนรวยได้เร็วและเหนื่อยน้อยที่สุด  ว่าที่จริงพวกเขาอาจจะคิดว่าการทำงานกินเงินเดือนนั้น  “ไม่มีทางรวย” เพราะเขาอาจจะลองนับดูเงินเดือนที่จะได้รับหรือได้รับแต่ละเดือนแล้วก็พบว่ามันแค่พอกินพอใช้หรือบางทีก็ไม่ใคร่พอด้วยซ้ำ  โอกาสที่จะรวยนั้นไม่มีแน่นอน  แต่ถ้า  “เล่นหุ้น”  และประสบความสำเร็จอย่าง  “เซียน”  หลาย ๆ  คนที่อ้างว่าเริ่มลงทุนด้วยเงินเพียงน้อยนิดหลักหมื่นหรือแสนบาทแล้วกลายเป็นเงินหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาทในเวลาไม่กี่ปี  โอกาสรวยเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีก็เป็นไปได้  ดังนั้น  คนหวังรวยเร็ว ๆ  ซึ่งก็เป็นแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากจึงมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้นและทุ่มเทให้กับการลงทุนหรือเล่นหุ้นจนอาจจะ “ลืม”  คิดถึงความเป็นจริงที่อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่ตนเองรับรู้มา  หรือความเป็นจริงของตนเองที่อาจจะไม่เหมาะกับการยึดถือการลงทุนเป็นอาชีพตั้งแต่เริ่มต้นทำงานหลังจากเรียนจบ

ผมคิดว่าคนที่หวังจะร่ำรวยเร็ว ๆ จากเงิน “เริ่มต้น” ที่น้อยหรือไม่มีเลยนั้น  จำเป็นที่จะต้องกำหนดกลยุทธ์ใหญ่หรือยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับตนเองเสียก่อน  ประการแรกก็คือ  ดูว่าตนเองมีจุดแข็งหรือความสามารถโดดเด่นทางด้านไหน  ถ้าเป็นคนเรียนเก่งและจบมาทางสายวิทยาศาสตร์  เช่น วิศวกรรมหรือแพทย์   หรือไม่ก็จบทางด้านที่เกี่ยวกับการเงินหรือธุรกิจในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ  ในกรณีแบบนี้  เราก็มี  “แต้มต่อ” ในเรื่องของการทำงานในองค์กรธุรกิจ  และถ้าเราขยันขันแข็งและมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  โอกาสที่เราจะทำเงินได้มากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมั่นคงก็จะมีมาก  และนี่เป็นหนทางที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้  ว่าที่จริงในสังคมไทยยุคใหม่นี้  พนักงานที่ทำงานจนร่ำรวยหรือมีความมั่งคั่งนั้น  มีไม่น้อยเลยและจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว    ดังนั้น  ถ้าใครมีคุณสมบัติดังกล่าว  ผมคิดว่าเราต้องใช้มันเต็มที่  นั่นก็คือ  มุ่งหน้าสู่การทำงานในธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็ว  ในบริษัทที่เปิดโอกาสให้เราเติบโตได้จนสามารถกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง  และเมื่อถึงจุดนั้น  เราก็จะมีความมั่งคั่งโดยที่มีความเสี่ยงน้อย  และในกรณีอย่างนี้  การทุ่มเทให้กับการทำงานคือสิ่งที่เราจะต้องทำอย่างเต็มที่

    ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้น “บูม” มานานนับสิบปีอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้และทำให้มีนักลงทุนที่รวยจากการลงทุนในหุ้นจำนวนมากรวมถึงคนหนุ่มสาวที่อายุเพิ่งจะสามสิบบวกลบ  คนจำนวนมากจึงคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนคือสิ่งที่สามารถทำให้เรารวยได้เร็วและง่าย  ดังนั้น  เส้นทางการลงทุนจึงเป็นเส้นทางที่หลายคนเลือกตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ  หรือเพิ่งทำงานมาไม่นาน  หลายคนทุ่มเทกับการวิเคราะห์หาหุ้นลงทุนโดยที่ให้ความสำคัญกับงานประจำน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเขาอาจจะคิดว่างานนั้นเป็นแค่  “ส่วนเสริม” ของการมุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง  พวกเขาอาจจะคิดว่าเมื่อถึงวันหนึ่งในอีกไม่นาน  เขาจะลาออกจากงานและมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว  ส่วนบางคนนั้น  พวกเขาปฏิเสธการทำงานหรือเลิกทำไปแล้วทั้ง ๆ  ที่เงินลงทุนยังไม่มากพอที่จะมี  “อิสรภาพทางการเงิน”  แต่พวกเขาคิดว่าเขาสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีพอที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและมีส่วนเกินที่จะนำไปลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคนที่ร่ำรวยได้  เขาเชื่ออย่างนั้นเนื่องจากผลงานที่ผ่านมาหลายปีนั้นสูงขนาดปีละอาจจะ 50% หรือ เกิน 100% และเขามั่นใจว่าการทำผลตอบแทนปีละ20%-30% ขึ้นไปนั้น  เป็นสิ่งที่ง่ายมากไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต  ซึ่งผมคิดว่า  พวกเขาคิดผิด!

    ผมคิดว่าการที่จะพิสูจน์ได้ว่านักลงทุนคนไหนมี  “ความสามารถสูงเป็นพิเศษ” ได้จริงนั้น  เขาจะต้องผ่านการลงทุนที่ยาวนานระดับอย่างน้อย 15-20 ปีขึ้นไป  และสร้างผลตอบแทนที่ผมอยากเรียกว่า “Total Return” อย่างน้อย 20% ต่อปีแบบทบต้น  โดยที่เงินเริ่มต้นที่จะเริ่มบันทึกจะต้องมีนัยสำคัญสำหรับเขานั่นก็คือ  ไม่ใช่เงินเล็กน้อยที่เขาอาจจะเสียไปครึ่งหนึ่งโดยไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ  ตัวอย่างเช่น  เงินเริ่มต้นที่จดบันทึกผลตอบแทนนั้น  อาจจะเท่ากับรายได้จากการทำงาน 4-5 ปี ของเขา และเขาก็ไม่มีแหล่ง “เงินสำรอง” อื่น  เช่น เงินจากพ่อแม่ที่มีฐานะและพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนเมื่อเกิดความจำเป็น  และด้วยการวัดแบบนี้  ผมเชื่อว่า  เราอาจจะพบว่าจำนวน  “เซียนหุ้น”  ในตลาดหุ้นไทยอาจจะลดลงไปมาก  เหตุผลที่ผมต้องกำหนดระยะเวลาการวัดผลงานที่ยาวนานนั้นเป็นเพราะว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ  นั้น  เป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะอยู่ในช่วงบูมจัดที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนจะสูงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถมากนัก  ส่วนเรื่องผลตอบแทนทบต้นปีละ 20% นั้นผมตั้งไว้เพราะพอร์ตเริ่มต้นของคนหนุ่มสาวอาจจะไม่ใหญ่นักซึ่งทำให้อาจจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าปกติได้  ในกรณีที่เริ่มลงทุนด้วยพอร์ตขนาดใหญ่เป็น 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น  ผมคิดว่าผลตอบแทนถ้าได้ถึง 15% ต่อปีขึ้นไปก็ต้องถือว่ามีฝีมือในการลงทุนเป็นพิเศษแล้ว

    ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดอีกเรื่องหนึ่งก็คือคำว่า Total Return หรือ  “ผลตอบแทนรวม”  ของการลงทุน  เพราะนี่เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจเวลาวัดผลหรือวัดความสามารถในการลงทุนของตนเอง  ก่อนอื่นต้องกำหนดเสียก่อนว่าเม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนรวมของตนเองคือเท่าไรเสียก่อน   บางคนอาจจะคิดว่าเงินที่ตนเองเอามาลงทุนใน  “หุ้น” คือพอร์ตรวมของตนเอง   ดังนั้น  เวลาวัดผลก็จะดูว่าในแต่ละปีได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นเท่าไรแล้วก็บวกด้วยปันผล  ในกรณีแบบนี้ผมคิดว่าไม่เหมาะ  เพราะถ้าส่วนที่เรานำมาลงทุนในหุ้นนั้นมีเพียงนิดเดียว  ต่อให้ผลตอบแทนในหุ้นจะสูงมาก  มันก็ไม่ทำให้เรารวยหรือทำให้ผลตอบแทนเม็ดเงินของเราทั้งหมดสูงขึ้นมาได้มาก  วิธีที่ผมคิดว่าดีกว่าก็คือ  กำหนดว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้างที่เราไม่ได้ใช้เองและสามารถนำไปหารายได้ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ถือว่าเป็นเงินลงทุนหมด

    ตัวอย่างเช่น  เงินฝากธนาคารและหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีรายได้จากดอกเบี้ย  คอนโดที่เราซื้อมาไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยแต่นำไปปล่อยเช่าซึ่งค่าเช่าก็เป็นผลตอบแทน แบบนี้ถือเป็นเงินที่ต้องนับรวมในพอร์ตการลงทุน  ส่วนบ้านที่เราใช้อยู่อาศัยนั้นไม่นับเป็นเงินลงทุนเช่นเดียวกับรถยนต์ที่เราใช้  ส่วนเครื่องเพชรและทองรูปพรรณที่เราใช้ในการแต่งตัวนั้นไม่ถือเป็นเงินลงทุนในขณะที่ทองแท่งนั้น  แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่มัน “พร้อมขาย” และเราตั้งใจซื้อเพื่อลงทุนก็ต้องนับรวมในพอร์ตของเรา    เมื่อเรากำหนดได้ทั้งหมดแล้วว่าอะไรเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน  เราก็จะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินทุกรายการตาม  “ราคาตลาด” ในตอนต้นปีของแต่ละปี  กรณีที่ไม่มีราคาตลาดที่เราสามารถขายได้ชัดเจนเช่น  คอนโด  เราก็ควรกำหนดราคาที่ “อนุรักษ์นิยม” เช่น ใช้ราคาที่ซื้อมาแม้ว่าเราจะคิดว่าราคามันน่าจะเพิ่มขึ้นแล้ว เป็นต้น  ส่วนกรณีของทองแท่งนั้น  เราสามารถใช้ราคาตลาดได้เนื่องจากมันสามารถถูกนำไปขายได้จริง  หลังจากนั้นเราก็รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวและกำหนดว่านี่คือทุนทั้งหมดที่เรามีในการลงทุน

    ผลตอบแทนรวมหรือ Total Return นั้นก็คือมูลค่าของทรัพย์สินที่เรามีทั้งหมดตอนปลายปี  ลบตอนต้นปีแล้วหารด้วยมูลค่าพอร์ตทั้งหมดตอนต้นปีคูณด้วย 100  ก็จะได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนต่อปี  และเราทำแบบนี้ปีแล้วปีเล่า  ถ้าตัวเลขเฉลี่ยแบบทบต้นสูงถึง 15%-20%  ก็แสดงว่าเรามีความสามารถในการลงทุนสูงจริง  แต่ความสามารถนี้ไม่ใช่เกิดจากการลงทุนในหุ้นหรือเลือกหุ้นเก่งเพียงอย่างเดียว  แต่มันหมายความว่าเราสามารถจัดสรรเงินลงทุนในทรัพย์สินที่ถูกต้องด้วย  นั่นก็คือ  เราจัดสรรเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูง  นั่นก็คือหุ้นซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น  อย่างไรก็ตาม  การจัดเงินไปลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นด้วยนั้น  มันสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้  และนั่นก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงบ้างโดยไม่ลงทุนในหุ้นทั้ง 100%  และนี่ก็คือตัวเลขที่จะบอกว่าเรามีความสามารถในการลงทุนมากพอที่จะใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองหรือไม่

Posted by nivate at 9:59 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/01/19/1516

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มกราคม 27, 2015, 11:35:09 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 26 January 2015
The Zulu Principle

   เมื่อผม  “เริ่มเดินทาง” สาย Value Investment อย่างจริงจังประมาณ 20 ปีมาแล้วนั้น  การอ่านหนังสือการลงทุนจากต่างประเทศเป็นกิจกรรมที่ผมทำอย่างเข้มข้น  หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะแนว VI ที่  “โด่งดัง”  หรือเป็นหนังสือขายดีแบบ Best Seller แทบทุกเล่ม  เช่นเดียวกับหนังสือ Classic ที่ยอดเยี่ยมและไม่ขึ้นกับกาลเวลานั้น  ผมอ่านแทบทุกเล่ม  หนึ่งในหนังสือที่ผมรู้สึกว่าอ่านง่ายและได้ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากก็คือ  “The Zulu Principle”  หรือ  “หลักการของซูลู”  เขียนโดย Jim Slater  นักลงทุนชื่อดังชาวอังกฤษ หนังสือเขียนมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ผมอ่านเวอร์ชั่นของปี 1997 ปีที่ไทยเกิดวิกฤติทางการเงิน

   แนวความคิดของ จิม สเลเตอร์ ที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ก็คือเขาต้องการที่จะแนะนำให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นคนชั้นกลางของอังกฤษหันมาลงทุนอย่างชาญฉลาดในตลาดหุ้นและมีความสุขกับมัน  เขาบอกว่านักลงทุนรายย่อยทุกคนนั้น   สามารถที่จะเป็น  “ผู้เชี่ยวชาญ” ในอุตสาหกรรมหรือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ไม่ยาก  และถ้าทำแบบนั้นแล้ว  พวกเขานอกจากจะสามารถทำกำไรจากหุ้นที่เติบโตดีอย่างโดดเด่นมากแล้ว  ยังจะมีความสุขจากกระบวนการลงทุนนั้นด้วย

   ในหนังสือ  The Zulu Principle นั้น  จิม สเลเตอร์ บอกว่าเขาได้ความคิดจากภรรยา  นั่นคือ  ในวันหนึ่งภรรยาเขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูในอาฟริกาที่มีความโดดเด่นน่าสนใจมากจากหนังสือ Readers Digest  และเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น  ภรรยาเขาก็รู้เรื่องราวเกี่ยวกับซูลูมากกว่าตัวเขาเอง  และทันใดนั้น  เขาก็รู้สึกว่า  ถ้าภรรยาเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับซูลูทั้งหมดในห้องสมุดของท้องถิ่น  หล่อนก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านของซูลูที่โดดเด่นในเมือง Surrey   และถ้านางสเลเตอร์ตัดสินใจเดินทางไปประเทศอาฟริกาใต้  ใช้เวลาซัก 6 เดือนศึกษาที่มหาวิทยาลัยโจฮานเนสเบิร์กและใช้เวลาบางส่วนในชุมชนอนุรักษ์ของชนเผ่านี้  หล่อนก็สามารถที่จะเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูได้

   จิม สเลเตอร์บอกว่า  มันไม่ได้ใช้เวลามากมายนักที่จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ  คนทั่วไปที่ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงศึกษาบริษัทต่าง ๆ  ที่ผลิตหรือขายสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมหนึ่งนั้น  ในที่สุดก็จะรู้จักกับบริษัทและอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง  และเขาก็จะไม่ตัดสินใจอะไรผิดพลาดได้ง่าย    เขาจะรู้ว่าบริษัทไหนดีและบริษัทไหนไม่ดี  บริษัทไหนจะประสบความสำเร็จในด้านไหนมากกว่าบริษัทอื่น  เขาจะรู้ก่อนคนอื่นว่าบริษัทไหนจะมีข่าวอะไรดี ๆ  ออกมา  การที่คนพยายามศึกษาบริษัทต่าง ๆ  ในหลาย ๆ  อุตสาหกรรมมากเกินไปนั้น  สุดท้ายเขาก็จะไม่รู้อะไรอย่างจริงจัง  วิธีที่ดีกว่าก็คือ  พยายามจับแค่หนึ่งหรือสองอุตสาหกรรมก็พอ

   นอกจากวิธีการเรียนรู้แบบซูลูแล้ว  สเลเตอร์ยังบอกด้วยว่าการลงทุนในหุ้นนั้นเป็นทั้งเรื่องของการทำเงินที่งดงามและเป็นงานอดิเรกที่น่าสนใจในแง่ที่คุณจะได้รับความรื่นรมย์จากการใช้ความคิดและวิชาการ  นอกจากนั้นเขายังแนะนำให้นักลงทุนเข้าร่วมใน Investment Club หรือชมรมการลงทุนที่ซึ่งแต่ละคนจะช่วยกันเลือกหาหุ้นจากประสบการณ์ของตน  สเลเตอร์มองว่านักลงทุนรายย่อยนั้นมีข้อได้เปรียบบางอย่างเหนือนักลงทุนมืออาชีพ    เนื่องจากมีเงินลงทุนน้อย  ดังนั้น  พวกเขาสามารถลงทุนในบริษัทเล็กและสามารถเลือกเฉพาะหุ้นที่ดีที่สุดสิบตัวได้ในขณะที่นักลงทุนมืออาชีพต้องซื้อหุ้นจำนวนมากที่ทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีมากได้

   ในส่วนของการเลือกหุ้นนั้น  สเลเตอร์แนะนำว่าเราควรลงทุนในหุ้นที่มี PE ต่ำ  มีความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งอาจจะมาจากยี่ห้อของสินค้าที่โดดเด่นหรือมีสิทธิบัตรเฉพาะเช่นพวกยาเป็นต้น    และเมื่อพบหุ้นเหล่านี้แล้วก็จะดูต่อไปว่าบริษัทมีการเติบโตที่โดดเด่นหรือไม่  ซึ่งความหมายของการเติบโตก็คือ  บริษัทควรมี EPS หรือกำไรต่อหุ้นเติบโตในอัตราอย่างน้อย 15% ต่อปี  และการเติบโตนี้  ในความเห็นของเขาก็คือ  ควรมาจากการที่บริษัทสามารถ  “Clone” หรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วซ้ำ ๆ  เช่น เปิดร้านเครือข่ายเพิ่ม  เปิดภัตตาคารเพิ่ม หุ้นที่ทำได้แบบนี้จะมีอนาคตที่น่าสนใจมาก  ในส่วนของผู้บริหารของบริษัทนั้น  สเลเตอร์ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถตัดสินความสามารถหรือความซื่อสัตย์โดยเฉพาะของบริษัทเล็กที่โตเร็วได้   ดังนั้น  สิ่งที่เขาแนะนำก็คือ  ให้เริ่มดูจากตัวเลขต่าง ๆ  ของบริษัทก่อน  โดยที่  กฎสำคัญเป็นดังต่อไปนี้:

   หนึ่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น  บริษัทจะต้องกำไรทุกปีไม่มีข้อยกเว้น

   สอง  กำไรในช่วง 4 ปีหลังนั้นจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีและ EPS หรือกำไรต่อหุ้นปกติจากการดำเนินงานในปีล่าสุดจะต้องสูงสุด  ซึ่งนี่จะเป็นสัญญาณว่าบริษัทกำลัง “เดินหน้า” จริง ๆ

   สาม หุ้นอสังหาริมทรัพย์จะต้องถูกตัดออกเพราะว่ามันเป็นเรื่องของทรัพย์สินมากกว่าการเจริญเติบโต  ทรัพย์สินนั้นอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้แต่มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถของผู้บริหาร

   สี่  หุ้นควรจะมีโบรกเกอร์วิเคราะห์ติดตาม  และคำแนะนำจะต้องเป็น  “ซื้อ” กฏข้อนี้มีขึ้นเพราะสเลเตอร์คิดว่านักลงทุนรายย่อยนั้นไม่สามารถที่จะได้ข้อมูลลึก ๆ ของบริษัท  ดังนั้น  การได้นักวิเคราะห์มาช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์จะทำให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น

   ห้า สเลเตอร์ค่อนข้างจะระมัดระวังเกี่ยวกับหุ้นวัฏจักรเช่นหุ้นรับเหมาก่อสร้างมาก  ถ้าจะเป็นบริษัทที่โตเร็ว  หุ้นพวกนี้จะต้องเข้าข่ายตามกฎทั้งหลายที่กล่าวมาด้วย  ซึ่งนี่ก็มักจะทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ตกรอบไม่ถือว่าเป็นหุ้นเติบโตเร็ว

   สุดท้ายก็คือ  จิม สเลเตอร์ แนะนำว่าเราควรที่จะดูค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตของบริษัท  นั่นก็คือ  ค่า PE หรือระดับราคาหุ้นที่เราจ่ายเมื่อเทียบกับศักยภาพในการเจริญเติบโตของบริษัท  โดยหุ้นที่น่าสนใจก็คือหุ้นที่มีค่า PEG ต่ำกว่า 1 เท่า  โดยที่สเลเตอร์มองว่าหุ้นที่เรามองหาควรจะมีการเติบโตระหว่าง 15% ถึง 25% ต่อปี  เพราะหุ้นที่โตเกินนี้จะเป็นการโตที่ไม่ยั่งยืน  ดังนั้น  ถ้ามองในแนวนี้  หุ้นที่มี PE เกิน 25 เท่าโดยทั่วไปก็จะไม่น่าสนใจในสายตาของสเลเตอร์

   นอกจากเรื่องของตัวเลขดังกล่าวแล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่สเลเตอร์แนะนำก็คือ  เราควรหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทที่ผู้บริหารใช้ชีวิตอย่าง  “หรูหราฟู่ฟ่า” เกินไป  ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารใช้รถหรูเบอร์ป้ายทะเบียนรถพิเศษ  หรือถ้าผู้บริหารเข้าไปถือหุ้นค่อนข้างมากในสโมสรฟุตบอลนี่ก็จะเป็น “หายนะ”  เพราะมันเป็นเรื่องของ  “อีโก้” ที่ยิ่งใหญ่แต่มักเป็นกำไรที่ “จิ๊บจ๊อย”

    จิม สเลเตอร์ เป็นนักลงทุนที่มี  “สีสัน”  ในตลาดหุ้นของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะอายุประมาณ 40-50 ปี  เขาเป็นนักเทคโอเวอร์ประเภทซื้อบริษัทมาแล้วตัดขายทรัพย์สินทำกำไรรวดเร็วจนมีชื่อเสียงและเคยถูกดำเนินคดีแต่ก็หลุดมาได้  เขาเคยเล่นทองและคอมโมดิตี้  เป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังและอื่น ๆ  อีกมาก  เขาเคยรวยและ “จน”  จนแทบล้มละลายครั้งหนึ่ง งานอดิเรกของเขาคือการเล่นหมากรุกและเขาเคยบริจาคเงินเพื่อกิจกรรมนี้หลายล้านบาท  ดูเหมือนว่าเขาจะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้กลยุทธ์ในการต่อสู้เฉกเช่นเดียวกับที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบเล่นไพ่บริดจ์  ว่าที่จริงสเลเตอร์เองนั้นต้องถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ เพราะเขาเกิดในปี 1929 ในขณะที่บัฟเฟตต์เกิดปี 1930  ถึงปัจจุบันนี้  ชื่อของสเลเตอร์ก็เลือนหายไปแล้วแต่หนังสือหลายเล่มที่เขาเขียนนั้นก็จะยังอยู่ในชั้นของนักลงทุนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยรวมถึงตัวผมเอง  และ “หลักการของซูลู” ก็จะเป็นแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อไปอีกนาน

Posted by nivate at 9:40 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/01/26/1518

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2015, 06:08:42 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 2 February 2015
VI Summit 2015 ที่สิงคโปร์

   สัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญให้ไปพูดในฐานะ “Keynote Speaker” หรือเป็น “ผู้พูดหลัก” ในงานสัมมนาประจำปีของนักลงทุนแนว Value Investment ระดับ  “นานาชาติ” ชื่อ Value Investing Summit 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์  ปีนี้เข้าใจว่าเป็นปีที่ 4 แล้วที่มีการจัดสัมมนาประจำปีแบบนี้  ปีแรกมีผู้เข้าร่วมเพียง 4-500 คน หลังจากนั้นจำนวนคนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนปีนี้มีผู้เข้าร่วมถึง 1,400-1,500 คน ซึ่งทางผู้จัดอ้างว่าเป็นการชุมนุมนักลงทุนแนว VI ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก  อย่างไรก็ตาม  ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนสิงคโปร์  ตามด้วยคนมาเลเซีย  อินโดนีเซีย และอาจจะมีออสเตรเลียบ้างเล็กน้อย  ในขณะที่คนไทยนั้น  นับดูแล้วน่าจะเพียงแค่ไม่เกิน 7-8 คน  สถานที่จัดงานนั้นเนื่องจากต้องรับคนจำนวนมาก  ปีนี้จึงจัดที่ สิงคโปร์เอ็กซโปร์ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมและงานแสดงขนาดใหญ่ที่สุดแบบเดียวกับที่เมืองทองธานีของเรา

    งาน VI Summit 2015 นี้  จัดโดยบริษัทชื่อ 8I ของสิงคโปร์  โดยที่บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลักอย่างหนึ่งก็คือการให้บริการความรู้ทางด้านการลงทุนผ่านการเปิดคอร์สอบรมเรื่องการลงทุน  การขายหนังสือและสื่อทั้งหลายเกี่ยวกับการลงทุน  การจัดประชุมและสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนและอาจจะมีบริการด้านอื่น ๆ  ที่ผมไม่ทราบอีกหลายอย่าง  นอกจากนั้น  บริษัทยังมีพอร์ตโฟลิโอเงินลงทุนของตนเองในสิงคโปร์และประเทศต่าง ๆ  รวมถึงหุ้นของไทยด้วย  ที่สำคัญก็คือ  บริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียเมื่อ 3-4 สัปดาห์มานี้  โดยที่หุ้น IPO ส่วนใหญ่ก็ขายให้กับคนสิงคโปร์โดยเฉพาะที่เป็นลูกค้าที่ใช้บริการเรียนรู้เรื่องการลงทุนของบริษัท  ตั้งแต่หุ้นเข้าจดทะเบียน  ราคาหุ้นก็ขึ้นมาน่าจะประมาณเท่าตัวแล้วนับจากวันเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในวันแรก  ผมเชื่อว่าเขาวางตำแหน่งตนเองคล้าย ๆ  กับหุ้นเบิร์กไชร์ของบัฟเฟตต์ที่เน้นการลงทุนเงินของบริษัทเองในตลาดหุ้น  อย่างไรก็ตาม  บริษัทยังมีขนาดเล็กมาก  มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทน่าจะอยู่ในหลักพันล้านบาทบวกลบเท่านั้น

    งาน VI Summit ในครั้งนี้  ทำให้ผมได้รู้สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องของ VI สิงคโปร์หลายอย่างที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากชุมนุมหรือสังคม VI ของไทย  ภาพโดยรวมก็คือ  การสนับสนุนจาก “สถาบัน” อย่างเช่น  ตลาดหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินรวมถึงโบรกเกอร์และบริษัทจดทะเบียนต่อนักลงทุนน่าจะมีน้อยกว่าในกรณีของไทยมาก  สปอนเซอร์ของงานมีเพียงแบ็งค์เดียวและดูเหมือนว่าจะมานำเสนอในเรื่องของการประกันชีวิตเป็นหลัก  ดังนั้น  การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นเรื่อง “เชิงธุรกิจ” เป็นส่วนใหญ่นั่นคือ  ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องซื้อบัตรที่มีราคาค่อนข้างแพง  ตั๋วมีราคาใบละ 4-8,000 บาทขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ซื้อ  เช่น  ถ้าซื้อวันนี้เพื่อที่จะเข้าร่วมฟังในปีหน้า  ราคาอาจจะอยู่ที่ 4,000 บาทเป็นต้น  ราคาบัตรจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้วันงานที่ที่นั่งใกล้หมด

    งานสัมมนาคราวนี้กำหนดไว้ 2 วันเต็มคือวันเสาร์และอาทิตย์  โดยที่มีเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาต้องไปหาอาหารกินเองยกเว้นกลุ่มนักลงทุน “VIP” จำนวนอาจจะซักร้อยหรือสองร้อยคนที่จะมีการจัดเลี้ยงเพื่อที่จะให้พวกเขาได้รู้จักกันและได้คุยกับวิทยากรซึ่งผมเข้าใจว่าพวกเขาจะต้องจ่ายค่าสัมมนาอีกอัตราหนึ่ง  นอกจากไม่มีอาหารแล้ว  งานสัมมนาของเขายังไม่มีกาแฟหรือของว่างเลี้ยงด้วย  มีแต่น้ำเปล่าที่คนต้องไปกดเพื่อดื่มเอาเอง  เหตุผลที่เขาทำอย่างนั้นนอกจากเพื่อเป็นการลดต้นทุนแล้วผมยังคิดว่าเป็นเพราะจำนวนคนที่มีมากเกินกว่าที่จะให้บริการไหวด้วย  เช่นเดียวกัน ห้องประชุมนั้น  ก็ใช้ห้องจัดแสดงสินค้าแล้วนำเก้าอี้มาวางเต็มห้องซึ่งทำให้คนเข้าร่วมสัมมนาที่อยู่ท้ายห้องมองวิทยากรลำบากและคงต้องอาศัยดูจากจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่เป็นหลัก

    สถานการณ์ดังกล่าวนั้น  เมื่อเทียบกับสิ่งที่ VI ไทยได้รับแล้ว  ผมรู้สึกว่า  นักลงทุนไทยนั้น  ได้รับการดูแลและได้รับการสนับสนุนมากในด้านของการศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุน  เห็นได้จากการที่นักลงทุนส่วนบุคคลของไทยนั้น  สามารถฟังการสัมมนาฟรีได้มากมาย  หลาย ๆ  รายการมีอาหารเลี้ยง  ห้องสัมมนาก็มักจะเป็นห้องประชุมชั้นดีที่มีระดับลาดขึ้นและเก้าอี้สะดวกสบายเหมือนโรงหนัง  เหตุผลก็เพราะในเมืองไทยนั้น  เรามีสปอนเซอร์มากมายที่ต้องการขายบริการให้กับนักลงทุนรายย่อย  ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยของสิงคโปร์นั้น  น่าจะมีธุรกรรมน้อยจนบริษัทการเงินและหลักทรัพย์ไม่สนใจที่จะทำการตลาดด้วย  ไม่ต้องพูดถึงว่า  นักลงทุนรายย่อยของสิงคโปร์นั้น  ไม่มีโอกาสได้พบกับผู้บริหารบริษัทหรือเข้าร่วมฟังข้อมูลของบริษัทอย่างในงาน Opportunity Day ของไทย  ดังนั้น  นักลงทุนแนว VI ของสิงคโปร์จึงต้องจ่ายเงินและยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อแสวงหาความรู้เพื่อการลงทุนค่อนข้างสูงและพวกเขาดูตั้งใจฟังมากในงานสัมมนา

   หัวข้อของงาน VI Summit 2015 นั้น  ประกอบด้วยการบรรยายภาพรวมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของสิงคโปร์  การวิเคราะห์และแนะนำหลักทรัพย์ประมาณ 4-5 ตัวโดยนักวิเคราะห์ของบริษัท 8I ซึ่งพวกเขาทำได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นโบรกเกอร์หรือมีใบอนุญาต  นอกจากนั้นก็มีการแจกรางวัลเป็นแนว  “แหวนอัศวิน”  ให้แก่นักลงทุนจำนวนประมาณ 8 คนที่เป็นสมาชิกหรือลูกค้าเรียนคอร์สการลงทุนของบริษัทที่สามารถสร้างผลงานการลงทุนดีเด่นจนพอร์ตเติบโตเป็น  “นักลงทุนเงินล้านเหรียญ)” รายการทั้งหมดนั้นคละเคล้าสลับกันไปเพื่อไม่ให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย  ระหว่างเปลี่ยนรายการก็จะมีพิธีกรหรือผู้บริหารบริษัทขึ้นมาคั่นรายการเล็ก ๆ น้อยเพื่อสร้างความบันเทิงและโปรโมตผลงานการวิเคราะห์ในปีก่อนของบริษัทด้วย

   ส่วนตัวผมเองนั้นขึ้นพูดในวันสุดท้าย 2 ช่วง โดยช่วงแรกผมพูดในหัวข้อ  “A Golden Decade for Thai Value Investor” หรือ  “ทศวรรษทองของ VI ไทย” และในช่วงที่สองก่อนปิดงานสัมมนา  เป็นการพูดแบบอภิปรายตอบคำถามของผู้บรรยายหลายคนซึ่งประกอบด้วยผู้พูดจากออสเตรเลีย สิงคโปร์ และผม โดยมีผู้บริหารของ 8I เป็นผู้ดำเนินรายการ   เนื้อหาของการพูดของผมนั้นเป็นการอธิบายภาพของเศรษฐกิจ  การเงิน และตลาดหุ้นของไทย  รวมถึงเหตุผลและปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันตลาดหุ้นของเราในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา  หลังจากนั้นผมได้เล่าถึงกลยุทธ์การลงทุนแนว VI สามแนวทางที่มีการใช้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่สามารถเอาชนะตลาดและสร้างผลตอบแทนที่สูงลิ่วจนทำให้ VI จำนวนไม่น้อยร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ  ต่อจากนั้นผมก็สรุปถึงองค์ประกอบที่สร้างความสำเร็จให้กับ VI ไทย ซึ่งประกอบไปด้วย  “โชค” ที่พวกเขาเข้ามาลงทุนในตลาดในเวลาที่ถูกต้อง  การใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ VI ที่เน้นในหุ้นโตเร็ว  การเลือกหุ้นที่อยู่ในเมกาเทรนด์  ความนิยมของคนไทยต่อการลงทุนในหุ้น  และสุดท้ายก็คือ  ความกล้าที่จะลงทุนเงินร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้นผ่านการซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน ที่ทำให้ได้ผลตอบแทนที่งดงามมากและผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะไม่สามารถทำได้อีกแบบง่าย ๆ  ในประเทศไทย  โดยที่ผมคิดว่า  อนาคตของการลงทุนน่าจะอยู่ที่ตลาดหุ้นในเอเชียโดยเฉพาะเวียตนามกับจีน

    บรรยากาศของที่ประชุมสัมมนานั้น  ผมรู้สึกว่านักลงทุนค่อนข้างมีความตั้งใจและมีอารมณ์ร่วมค่อนข้างมากทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ขนาดใหญ่และมีคนร่วมฟังอยู่จำนวนมาก  ผมคิดว่านักลงทุนส่วนบุคคลแนว VI ของสิงคโปร์นั้น  ยังตามหลังไทยอยู่พอสมควรและพวกเขากำลังเริ่มศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางนี้อย่างมุ่งมั่น  ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ  VI นั้นยังไม่เป็นกระแสที่คนนิยมหรือพูดถึงเนื่องจากยังไม่มีใครที่ทำกำไรจากหุ้นมากพอ  ความนิยมในการลงทุนในหุ้นก็ยังน้อยเนื่องจากตลาดหุ้นไม่บูมมานาน  นอกจากนั้น  การส่งเสริมการลงทุนโดยหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินก็ยังมีน้อย  โลกของการลงทุนยังอยู่ในมือของนักลงทุนสถาบัน  อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าการพัฒนาของ VI สิงคโปร์และในย่านเอเชียน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ไทยเองอาจจะสามารถเป็น “ผู้นำ”  ได้  เพราะประสบการณ์ VI ของเรานั้น  น่าจะยาวกว่าคนอื่นในย่านนี้

Posted by nivate at 9:49 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/02/02/1520

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 13, 2015, 03:58:11 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 9 February 2015
ค่าเช่าตู้นิรภัย (ราคาแพง)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมคิดว่าผมควรมีตู้นิรภัยในธนาคารที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อที่จะเก็บทรัพย์สินมีค่าบางอย่างที่ผมและครอบครัวไม่เคยมีแต่ตอนนี้เริ่มมีบ้าง  ผมจึงไปติดต่อสาขาธนาคารที่ผมใช้อยู่เป็นประจำซึ่งก็เป็นธนาคารที่ผมใช้เป็นหลักมาหลายสิบปีแล้ว  โชคดีที่ยังมีตู้เหลืออยู่บ้างผมตัดสินใจเช่าแต่ก็รู้สึกว่าค่าเช่าใช้นั้นไม่ถูกเลย  ตู้ขนาดกว้างยาวเท่า ๆ  กับซองน้ำตาลใส่เอกสารขนาดใหญ่และสูงซักสิบกว่าเซนติเมตรนั้น  ค่าเช่าตกปีละ 4-5,000 บาท และเราต้องจ่ายมัดจำค่าแรกเข้าอีกน่าจะเป็นหมื่นบาทขึ้นไปถ้าจำไม่ผิด  ผมนึกดูแล้ว  นี่ก็เป็นธุรกิจที่ไม่เลวนักสำหรับธนาคาร  เพราะมันเหมือนกับว่าคนเช่าเป็นคนจ่ายค่าก่อสร้างห้องและตู้นิรภัย  เสร็จแล้วก็จ่ายค่าเช่ารายปีให้กับธนาคาร  ห้องและตู้นิรภัยนี้  ผมดูแล้วแทบไม่ต้องดูแลรักษาอะไร  ต้นทุนในส่วนนี้แทบไม่มี  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่มีทรัพย์สินหรือของสำคัญที่ต้องการเก็บรักษาในที่ที่ปลอดภัยนั้น  เงินแค่นี้ก็มักไม่มีปัญหาอะไร  ดังนั้น  ผมจึงตัดสินใจเช่า

    ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่อาวุโสอีกคนหนึ่งเข้ามาบอกว่าผมต้อง “ซื้อประกันชีวิต”  ด้วยจึงจะมีสิทธิเช่าตู้นิรภัยเพราะนี่คือ “นโยบาย” ของแบ็งค์ว่าจะเก็บตู้นิรภัยให้เช่าเฉพาะคนที่ซื้อประกันชีวิตเท่านั้น  ผมนั่งนิ่งด้วยความมึนงงไปชั่วขณะแต่แล้วก็เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น   ผมไม่เชื่อหรอกว่านี่คือนโยบายของธนาคาร  การทำแบบนั้นน่าจะผิดกฎเกณฑ์ของทางการและการปฏิบัติที่ดีในแง่ของการทำธุรกิจของธนาคารซึ่งต้องมีมาตรฐานสูง  แต่ผมเชื่อว่าเป็นข้ออ้างของสาขาที่ต้องการบีบให้ผมต้องทำประกันชีวิตเพราะนี่คือผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ธนาคารต้องการขายมากและสั่งการให้แต่ละสาขาต้องทำยอดขายให้ได้เป้ามิฉะนั้นก็จะกระทบกับการประเมินผลงานของสาขาและพนักงานแต่ละคน  ดูเหมือนว่าการประกันชีวิตจะเป็นสิ่งที่ทำกำไรสูงมากสำหรับธนาคารเช่นเดียวกับที่มันเป็นสิ่งที่  “ขายยาก” มาก  ดังนั้นแม้ว่าผมจะพยายามขอร้องว่าผมจะช่วยซื้อผลิตภัณฑ์อย่างอื่น  เช่น  กองทุนรวมตราสารการเงินระยะสั้น  เขาก็ยังยืนกรานว่าผมต้องซื้อประกันชีวิตเท่านั้นจึงจะสามารถเช่าตู้นิรภัยได้

    ว่าที่จริง  ผมเองถูกขอร้องแกมบีบบังคับมาหลายครั้งแล้วให้ซื้อประกันชีวิต  เกือบทุกครั้งที่ผมเข้าไปใช้บริการ  ผมจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้จนผมรู้สึกว่าการเข้าแบ็งค์นี้เป็นสิ่งที่ “น่าอึดอัด” แม้ว่าการต้อนรับและการใช้บริการอื่น ๆ  โดยทั่วไปนั้นค่อนข้างดีทีเดียว  คนในแบ็งค์เองก็รู้จักผมเป็นอย่างดีค่าที่ว่าผมใช้บริการมาหลายสิบปีและก็เข้าไปใช้บริการบ่อย ๆ  แทบทุกสัปดาห์  และประเด็นนี้เองก็อาจจะทำให้เขารู้ว่าผมนั้นพอมีเงินสดเหลือที่จะทำประกันชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อน  นอกจากนั้น  เขาอาจจะคิดด้วยว่าการทำประกันชีวิตนั้น  ผม “ไม่มีอะไรเสียเลย”  เพราะดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการประกันชีวิตนั้น  ดีกว่าการฝากเงินออมทรัพย์ที่ผมมีเงินคงค้างอยู่มากตลอดเวลาด้วยซ้ำ  แต่ผมก็ไม่ยอมทำประกันซักที  ผมบอกเขาว่า  ผมไม่มีความจำเป็นต้องประกันชีวิต  เพราะเงินที่จะได้ถ้าผมตายนั้น  มันไม่ได้มีความหมายอะไรกับทายาทผมเลย  ผมมีเงินเป็นมรดกเพียงพออยู่แล้ว  เหนือสิ่งอื่นใด  กรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น  ก็จะเป็น  “เบี้ยหัวแตก”  อีกอันหนึ่งที่อาจจะหายสาบสูญไปเมื่อเวลาผ่านไป เช่นเดียวกับทรัพย์สินอื่น ๆ  อีกหลายอย่างที่ผมคิดว่า  “ไม่รู้อยู่ไหน” หรือผมลืมไปแล้วว่ามีอยู่

    พนักงานธนาคารยังไม่ยอมให้ผมเช่าตู้นิรภัยอยู่ดี  เขาคงรู้สึกว่าด้วยเงินเอาประกันที่เขายอมลดลงมาเหลือเพียง 500,000 บาท เวลารับประกัน 15 ปี  และจ่ายเบี้ยเพียง 6 ปี ปีละ 166,750 บาท แถมในแต่ละปีนั้น  เขายังคืนเงินผลประโยชน์ให้ปีละ  “2.5%” ของเงินเอาประกันคิดเป็นเงินปีละ 12,500 ตลอดระยะเวลา 15 ปีด้วย  และเมื่อสิ้นสุดสัญญา 15 ปี ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ก็จะได้รับเงินเบี้ยประกัน 1,050,000 คืน ฟังดูแล้ว  ผมมีอะไรเสียหายหรือเสียเปรียบ?  วันนั้นผมต้องกลับบ้านไปคิด  พื้นฐานความคิดของผมก็คือ  การได้รับความ “คุ้มครอง” ในกรณีที่ผมตายนั้น  ไม่มีประโยชน์สำหรับผม  ในแง่ของการ  “ลงทุน”  เองนั้น  ผมไม่คิดว่ามันเป็นการลงทุนอะไรเลย  เม็ดเงินลงทุนมันน้อยเกินไป  นอกจากนั้น  ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในกรณีที่ผมไม่ตายใน 15 ปี ก็น่าจะต่ำมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันไม่คุ้มที่จะต้องใช้เวลาคอยส่งเบี้ยประกันหรืออื่นๆ  ข้อสรุปเบื้องต้นของผมก็คือ  “ค่าเช่าใช้ตู้นิรภัย” ของผมครั้งนี้ก็คือ  ประมาณ 1 ล้านบาทใน 15 ปี  ผมคิดว่ามัน  “แพงเกินไป”

    ผมตัดสินใจหาทางใหม่  ผมลองติดต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ที่ดูแลบัญชีผมในฐานะของลูกค้า  “High Net Worth” หรือลูกค้า “รายใหญ่” ของธนาคารที่ผมบังเอิญเข้าข่ายเนื่องจากระยะหลังผมมีเงินสดเหลือหลังจากที่ได้รับเงินจากปันผลหรือขายหุ้นแล้วไม่ได้นำกลับไปลงทุนในหุ้นอย่างที่เคยทำมาหลายสิบปี  การเป็นลูกค้ารายใหญ่นั้นผมรู้ว่ามีสิทธิประโยชน์หลายอย่างแต่ผมก็ใช้น้อยมาก  เหตุผลก็เพราะสิ่งที่แบ็งค์ให้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเท่าไรนัก  ดังนั้น  แบ็งค์แทบจะไม่เคยต้องเสียอะไรให้ผมเลย  ผมเองก็ไม่รู้สึกอะไร  ผมไม่ใช่คนที่แสวงหาหรือใช้ในสิ่งที่ผมไม่ต้องการแม้ว่ามันจะ “ฟรี” ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์  มันเสียเวลา และต้นทุนในการเสียเวลาของผมนั้นผมคิดว่ามัน  “สูงลิ่ว”  มากกว่าประโยชน์ที่จะได้ใช้ของที่เราไม่ต้องการ   แต่เวลานี้ผมต้องการตู้นิรภัย  เขากลับบอกให้ไม่ได้!  ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่อง  “ตลก” มาก   โชคดี  หลังจากการติดต่อซึ่งใช้เวลา 2-3 วัน  ผ่านช่องทางที่ “ไม่น่าเป็นไปได้”  ผมก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลบัญชีลูกค้ารายใหญ่  ซึ่งได้ช่วยให้ผมได้เช่าใช้ตู้นิรภัยของแบ็งค์ตามที่ต้องการโดยไม่ต้องจ่ายเงินที่แพงมาก  “สำหรับผม”

    เมื่อคิดดูให้ลึกซึ้งอีกทีหนึ่ง  กรณีนี้มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือไม่  สำหรับคนทั่วไปแล้ว  เขาจะเสียหายหนักหรือถ้าเขาต้องถูกขอร้องหรือบังคับให้ทำประกัน?  ถ้าผมไม่ได้มีเงินมาก   ข้อสรุปจะเป็นแบบนั้นหรือไม่?  คำตอบของผมในฐานะที่เป็น Value Investor ที่มุ่งมั่นก็อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก  ถ้าสมมุติว่าคุณเป็น VI ที่อาจจะมีความมั่งคั่งหรือมีเงินลงทุนในระดับเช่น 10 ล้านบาทและแน่นอนคุณรู้ถึงพลังของการเติบโตของการลงทุนแบบทบต้น  คุณก็จะรู้ว่าในระยะยาวเป็น 10 ปีขึ้นไปนั้น  ถ้าคุณลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีปีละ 20-30% อย่างที่อาจจะทำได้ในช่วงที่ผ่านมา  เงินค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายออกไปนั้น  ภายในเวลา 15 ปีจะมีมูลค่ามหาศาล  ดังนั้น  ถ้าคุณเอาเงินไป “จม”  อยู่ในการประกันชีวิต  คุณก็จะเสียโอกาสที่จะทำเงินไปมากมายโดยเฉพาะถ้าคุณคิดว่าคุณคงยังไม่ตายหรือถ้าตายทายาทก็ไม่เดือดร้อน  ลองมาดูกันว่าในกรณีกรมธรรม์ที่ผมถูกขอให้ซื้อนั้น  ถ้าคิดไปถึงวันสิ้นสุด 15 ปี เงินของคุณจะหายไปเท่าไรถ้าเราสามารถนำมันไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นตลอด 15 ปีและได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% แบบทบต้น   คำตอบที่ได้ก็คือ  ถ้าคุณเอาไปลงทุนเองเม็ดเงินจะกลายเป็นประมาณ 3.3 ล้านบาท ในขณะที่เงินที่คุณจะได้คืนจากการประกันเท่ากับประมาณ 1.3 ล้านบาท  ผลต่างก็คือ 2 ล้านบาท  แพงไหมครับสำหรับการใช้ตู้นิรภัย?

    ที่พูดมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้ต้องการที่จะบอกให้คนเลิกซื้อประกันชีวิต  การประกันชีวิตนั้นเป็นเรื่องดีถ้าคุณต้องการประกันความมั่นคงทางการเงินให้กับทายาทในกรณีที่คุณตายก่อนเวลาอันควรและพวกเขายังช่วยตัวเองไม่ได้  ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหาแบบนั้นแต่คุณคิดว่านี่เป็นการลงทุนอีกแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินธนาคาร  นี่ก็อาจจะยังมีเหตุผลอยู่ในกรณีที่คุณไม่มีความรู้ทางด้านการลงทุนหรือไม่กล้าที่จะ “เสี่ยง”  ในตลาดหุ้น  แต่ถ้าคุณเป็นคนที่รู้เรื่องการลงทุนดีและเข้าใจเรื่องของความเสี่ยงและคุณรับมันได้  การซื้อประกันชีวิตแบบออมทรัพย์นั้นก็อาจจะเป็นการตัดสินใจที่  “แพงมาก” ในกรณีที่ทายาทของคุณไม่ได้มีปัญหาทางการเงินถ้าคุณตาย  ดังนั้น  ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันชีวิตอาจจะเพราะด้วยทนแรง  “บีบ” อะไรไม่ไหวก็ตาม  คุณควรที่จะคิดให้หนักถึงผลทางการเงินของมัน

Posted by nivate at 11:58 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/02/09/1525

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 17, 2015, 03:24:09 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 16 February 2015
ฟองสบู่ Nasdaq VS MAI

การปรับตัวขึ้นของราคาหรือดัชนีหุ้น MAI ในช่วง 3-4 ปีมานี้สูงมากจนทำให้ผมคิดว่ามันเป็น  “ฟองสบู่” จากปลายปี 2554 ถึงปัจจุบัน ดัชนีปรับตัวขึ้นเป็นมากกว่า 3 เท่าในเวลา 3 ปี เศษ ๆ จากดัชนี 242 เป็นประมาณ 800 จุดในปัจจุบัน  ราคาหุ้นบางตัวปรับขึ้นมากกว่า 10 เท่าภายในช่วงเวลาดังกล่าว ดัชนีหุ้น MAI ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่วจนค่า PE สูงถึง 84 เท่า ค่า PB สูงถึง 7 เท่า และอัตราปันผลต่อราคาหุ้นเท่ากับ 0.6% ต่อปี  นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นตัวเล็กที่มักจะอยู่ในตลาดหุ้น MAI ถ้าจะว่าไป  ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยที่หุ้นจะ “เวอร์” ขนาดนี้  ถ้าจะหาประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นที่จะมาเปรียบเทียบ  ผมคิดว่ากรณี “ฟองสบู่หุ้น Nasdaq” หรือฟองสบู่หุ้น ไฮเท็คในช่วงต้นปี 2000 ในสหรัฐอเมริกาน่าจะนำมาเทียบเคียงและอาจจะเป็นบทเรียนให้เราได้

    ข้อแรกก็คือ  ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คนั้นเริ่มต้นในช่วงประมาณต้นปี 1997 พอถึงเดือนมีนาคมปี 2000 ดัชนีได้ปรับตัวขึ้นไปกว่า 3 เท่าในเวลาเพียง 3 ปีเศษ  ดัชนีวิ่งขึ้นจาก 1000 ต้น ๆ  เป็นเกือบ 4000 จุด หุ้นหลายตัวที่โดดเด่นเช่นหุ้น Cisco Systems ที่ทำเกี่ยวกับระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดนั้น  ผมจำได้ว่ากลายเป็นหุ้นที่มี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ที่สุดในโลกตัวหนึ่งทั้ง ๆ  ที่มันจดทะเบียนในตลาด Nasdaq หรือ  “ตลาดหุ้นตัวเล็ก” คล้าย ๆ  ตลาด MAI ในบ้านเรา  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นไฮเท็คโดยเฉพาะที่ทำเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตนั้นมีราคาวิ่งขึ้นไปสูงมาก  หลาย ๆ  ตัวราคาปรับขึ้นไปเป็นกว่าสิบเท่าในเวลาอันสั้น  ค่า PE ของดัชนี Nasdaq นั้นสูงถึง 100 เท่า   ดังนั้น  มองในแง่ของความ “เวอร์” ก็ต้องบอกว่าฟองสบู่หุ้นไฮเท็คดูเหมือนว่าจะสูงกว่าเล็กน้อยในนาทีนี้  แต่ก็ไม่แน่ว่าในที่สุดหุ้น MAI จะเหนือกว่าหรือไม่  เพราะฟองสบู่ไฮเท็คแตกไปนานแล้วในขณะที่หุ้น MAI ดูเหมือนว่าจะยังขึ้นอยู่

    ข้อสอง ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คนั้นเกิดขึ้นเพราะ Story หรือเรื่องราวการพัฒนาทางเท็คโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านอินเตอร์เน็ตที่กำลังกลายเป็นกระแสใหม่ของโลกที่คนธรรมดาทั้งโลกจะสามารถใช้มันได้ทุกวัน  กระแสนี้ทำให้คนคิดว่าบริษัทจดทะเบียนที่ทำเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นในระบบ  “เศรษฐกิจใหม่” ของโลก  มันจะทำรายได้และมีกำไรมหาศาลยิ่งกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เดิมที่มีอยู่ใน  “โลกเก่า” ในอนาคตอันใกล้แม้ว่าในขณะนั้นมันยังมีรายได้น้อยมากและจำนวนมากก็ยังไม่มีกำไรเลย  ตัวอย่างถ้าผมจำไม่ผิดก็เช่นบริษัทอเมซอนดอทคอมที่ขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่มีมูลค่าหุ้นใหญ่กว่าบริษัทบาร์นแอนด์โนเบิลซึ่งเป็นบริษัทขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกและอยู่มาน่าจะหลาย ๆ สิบปีแล้ว  ว่าที่จริงมูลค่าของอเมซอนในขณะนั้นใหญ่กว่าบริษัทขายหนังสือทั้งหมดในประเทศรวมกันด้วยซ้ำทั้ง ๆ  ที่ยังไม่มีกำไรเลย

    Story ของหุ้น MAI นั้นผมคิดว่าแตกต่างจากตลาด Nasdaq มาก  เนื่องจากนโยบายก็คือ  หุ้น MAI นั้นมีขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดเล็กเพื่อให้มีช่องทางการระดมทุนเพื่อการเติบโตและบริษัทขนาดเล็กที่เข้ามาจดทะเบียนก็มีหุ้นไฮเท็คน้อยมาก  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  เราก็ได้เห็น “กระแส” อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นนั่นก็คือเรื่องของพลังงานทดแทนซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดขึ้นโดยการ  สนับสนุนด้านราคาขายให้แก่บริษัทที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ  นี่ทำให้บริษัทที่ทำพลังงานทดแทนเกิดขึ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และก็ได้รับการ “ต้อนรับ”  จากนักลงทุนจำนวนมากที่อาจจะมองว่ามันจะเป็นธุรกิจที่จะโตไปได้อีกมหาศาลพร้อม ๆ กับกำไรที่จะเติบโตขึ้นเนื่องจากเม็ดเงินที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐไปอีกนาน    มองในแง่นี้ผมคิดว่า Story ของหุ้นไฮเท็คน่าจะเหนือกว่าหุ้น MAI มาก

   เรื่องที่สามที่ผมคิดว่าคล้าย ๆ  กันระหว่าง Nasdaq กับ MAI ก็คือ  บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในตลาด MAI ต่างก็พยายามเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทนเพราะอาจจะเห็นว่ามันทำกำไรได้  แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ  พวกเขาเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อ “สะท้อน” ให้เห็น “ทิศทาง” ที่บริษัทจะเดินไป  ประเด็นก็คือ  การเปลี่ยนชื่อนั้น  พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้คนสนใจหุ้นมากขึ้นและเข้ามาซื้อทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย  ชื่อที่จะทำให้คนสนใจนั้นจะต้องมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแสงอาทิตย์เช่นคำว่า  “โซลาร์” เป็นต้น  ในทำนองเดียวกัน  ในช่วงของฟองสบู่ไฮเท็คเองนั้น  บริษัทจำนวนมากต่างก็เปลี่ยนชื่อให้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตหรือไฮเท็ค เช่น  ต่อท้ายชื่อของบริษัทด้วยคำว่า  “ดอทคอม”  หรือ “ดอทเน็ต”  หรือ “โทรนิค”  อะไรทำนองนี้  มีการศึกษาพบว่าหุ้นของบริษัทที่มีการเปลี่ยนชื่อให้เข้ากับกระแสนั้น  ภายในเวลา 10 วันมีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 125 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ของเมืองไทยผมไม่รู้ว่าผลของการเปลี่ยนชื่อทำให้หุ้นขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน  แต่คิดว่าน่าจะมีผลอยู่เหมือนกัน

   ข้อสี่ที่ผมอยากเปรียบเทียบก็คือเรื่องของหุ้น IPO  ทั้งในตลาดหุ้น MAI และ Nasdaq ในช่วงฟองสบู่ก็คือ  มีการนำหุ้นเข้าตลาดจำนวนมากอย่างแทบไม่เคยปรากฏมาก่อน  หุ้นไฮเท็คจำนวนมากนั้น  เป็นเรื่องของ Concept หรือแนวความคิดใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อาจจะ “ปฏิวัติ” แนวความคิดหรือผลิตภัณฑ์เดิม  หุ้นที่เข้าตลาดในวันแรก ๆ  นั้นต่างก็  “วิ่งระเบิด” หลายสิบเปอร์เซ็นต์หรืออาจจะเป็นเท่าตัว   แต่ข้อเท็จจริงที่พบในภายหลัง หลังจากที่ฟองสบู่แตกก็คือ  ผลิตภัณฑ์จำนวนมากนั้นเป็นเพียง “ความฝัน” ที่ไม่รู้ว่าคนที่ซื้อหุ้นคิดว่ามันจะเป็นจริงได้อย่างไร  ตัวอย่างเช่น  บริษัทที่อ้างว่าเมื่อเสียบปลั๊กเข้าเครื่องคอมแล้วสามารถส่งกลิ่นที่ต้องการออกมาได้  เป็นต้น  ก็อย่างที่เราเห็น  หุ้น IPO จำนวนมากกลายเป็นกระดาษที่ไม่มีค่าเพราะบริษัทล้มละลายไปเมื่อ  “ฟองสบู่แตก”

   ในกรณีของหุ้น IPO ของตลาด MAI นั้น  ส่วนใหญ่หุ้นที่เข้าตลาดวันแรก ๆ  ก็มักจะวิ่งระเบิด  น่าจะปรับตัวสูงกว่าหุ้นไฮเท็คโดยเฉลี่ย  แต่ถ้ามองดูก็จะเห็นว่าหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นไม่ต้องพูดถึงว่ามันจะ “ปฏิวัติ” แนวความคิดอะไร   บางตัวอาจจะมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอยู่บ้างในแง่ที่มันยังไม่มีบริษัทในตลาดที่ทำแบบนั้น  ตัวที่โดดเด่นก็ดูเหมือนยังอยู่ที่ธุรกิจที่ดูเหมือนกำลังโตเช่น พลังงานทดแทน เป็นต้น  ดูเหมือนว่านักลงทุนจะดูแค่ว่ามันยังเป็นธุรกิจที่เล็กและจะโตได้เร็วเมื่อเข้ามาจดทะเบียนในตลาดแล้ว  ผมเองคิดว่าถ้า “ฟองสบู่” แตกจริง  บริษัทก็คงไม่ล้มละลาย  มันคงไม่ได้กระทบอะไรกับบริษัทมากมายนักเพราะหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนนั้นไม่ได้อาศัยเงินจากตลาดในการอยู่รอดแบบหุ้นไฮเท็ค ตรงกันข้าม  บริษัทได้เงินจาก IPO และดังนั้นจึงน่าจะมีฐานะทางการเงินดีขึ้น  สิ่งที่บริษัททำเองก็ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไรมากมายนัก  เป็นธุรกิจธรรมดา ๆ  ที่นักลงทุนอาจจะ “ฝัน” ว่าจะโตเร็วเท่านั้น

   บทสุดท้ายของตลาด Nasdaq ในปี 2000 ก็คือ  “ฟองสบู่แตก”  ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง  ปีแรกตกลงมาเกือบ 50% และตกต่ออีก 2 ปี ปีละ20% รวมแล้วตกลงมา ประมาณ 66%  หุ้นจำนวนมากล้มละลายกลายเป็น 0 แม้แต่หุ้น “สุดยอด”  และกลายมาเป็นหุ้นที่ “ยิ่งใหญ่” ในปัจจุบันบางตัวอย่างหุ้นอเมซอนนั้น  ในช่วงที่ตกต่ำมาก ๆ ปี 2001-2002 ก็ตกลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 10% จากราคาสูงสุดก่อนหน้านั้นเช่นเดียวกับหุ้นยาฮูและซิสโก้    ผมเองไม่แน่ใจว่าบทสุดท้ายของหุ้น MAI จะเป็นอย่างไร  เป็นไปได้ว่าฟองสบู่อาจจะไม่แตกและกำไรของบริษัทจดทะเบียนหุ้นตัวเล็กจะโตเร็วจนกระทั่งค่า PE ลดลงหรือราคาหุ้นก็ขึ้นไปอีกจน PE ทะลุ 100 เท่าก็เป็นไปได้  อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้น Nasdaq ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่า  มีโอกาสที่ฟองสบู่อาจจะแตก  และนั่นอาจจะหมายถึงความเสียหายที่รุนแรงสำหรับคนที่เข้าไป “เล่น”  ในยามนี้  เพราะประวัติศาสตร์นั้น  มีพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอ


Posted by nivate at 9:35 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/02/16/1528
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กุมภาพันธ์ 25, 2015, 09:55:55 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 23 February 2015
EQ ของบัฟเฟตต์

ถ้าพูดถึงความโดดเด่นของบัฟเฟตต์แล้ว  ผมคิดว่าสิ่งที่มาอันดับแรกคงไม่ใช่ความสามารถในการวิเคราะห์หาหุ้นที่มีราคาถูกเทียบกับคุณสมบัติของบริษัทในแต่ละช่วงเวลา  ยิ่งการ “ขุดหุ้น” หรือค้นหาหุ้นที่ดีแต่ยัง  “ไม่มีคนเห็น” นั้น  บัฟเฟตต์น่าจะไม่ได้ทำมานานมากแล้ว  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะมองแต่ “ภาพใหญ่”  ของบริษัทมากกว่ารายละเอียดลึก ๆ ของการดำเนินงานของบริษัท  เหตุผลส่วนหนึ่งนั้นคงเป็นเพราะว่าหุ้นที่บัฟเฟตต์จะลงทุนได้แต่ละตัวนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นมากจน  “รายละเอียด” ไม่ค่อยมีความหมาย  แต่สิ่งที่เป็นความโดดเด่นของบัฟเฟตต์ที่ผมคิดว่ามันยัง “คงทน” และเป็นคุณสมบัติติดตัวที่คนเลียนแบบได้ยากก็คือ  EQ หรือคุณสมบัติด้านอารมณ์และจิตวิทยาของการลงทุน  ว่าที่จริง ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น  “EQ ของบัฟเฟตต์”

    สิ่งแรกที่บัฟเฟตต์ไม่ยอมทำเลยก็คือ เขาจะไม่ลงทุนในสิ่งที่เขาไม่รู้หรือไม่อยู่ใน  “ขอบเขตของความรอบรู้” ของเขา  นั่นเป็นเหตุผลที่เขาไม่ยอมลงทุนใน “หุ้นไฮเท็ค” เลยทั้ง ๆ  ที่หุ้นไฮเท็คปรากฏขึ้นบนโลกมานานและหุ้นจำนวนมากมีราคาขึ้นไปมโหฬาร  แต่นั่นก็ไม่ทำให้ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์แย่เมื่อเทียบกับคนที่เล่นหุ้นแนวนั้น  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าหุ้น  “โลว์เท็ค” ของบัฟเฟตต์เองก็ปรับตัวขึ้นเหมือนกันแม้ว่าจะน้อยกว่า  แต่ข้อดีของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาจะไม่ขาดทุนถ้าหุ้นไฮเท็คจำนวนมากนั้นมีราคาตกลงมาอย่างแรงเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านที่เลวร้ายลง สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว  เขาเชื่อว่า  ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมของการลงทุนนั้น  มักจะมาจากธุรกิจธรรมดา ๆ  เช่นเฟอร์นิเจอร์หรือชอคโกแล็ตที่บริษัททำได้ดีมากจนเหนือคู่แข่งมาก

    ข้อสอง  บัฟเฟตต์จะไม่ยอมลงทุนในกิจการหรือโครงการลงทุนที่ “ย่ำแย่”  หรือให้ผลตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับเงินทุนที่ลงไปและเขาจะ  “ไม่ซื้อความหวัง”  เขาต้องการ  “ความจริง” ที่เป็นอยู่  ดังนั้น  เขาจะไม่สนใจหุ้น  “Turnaround” หรือโครงการที่จะช่วย “ฟื้นกิจการ” ของบริษัท  นี่เป็นเหตุให้เขามักจะซื้อแต่หุ้นของบริษัทที่มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE ที่สูงลิ่ว  หรือในกรณีที่เป็นบริษัทที่เขาควบคุมกิจการได้  เขาก็มักจะไม่อนุมัติให้เอาเงินสดของบริษัทไปลงทุนในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงิน  ตัวอย่างเช่นในกรณีของกิจการสิ่งทอของ เบิร์กไชร์ นั้น  เขาไม่ยอมใส่เงินลงไปเพื่อ  “ปรับปรุง” ให้บริษัท  “สามารถแข่งขันได้” กับคู่แข่งในเอเชีย  เพราะเขาคิดว่ายิ่งใส่เงินลงไปก็ยิ่ง “จม”  ดังนั้น  เขาจึงแค่ประคองธุรกิจสิ่งทอไปเรื่อย ๆ  และนำเงินสดที่ได้มาลงทุนซื้อหุ้นที่ดีอื่น ๆ  ซึ่งสร้างผลตอบแทนให้เขามหาศาลจนเป็น  “ตำนาน” ของเบิร์กไชร์ในวันนี้

    ข้อสามที่เป็นความคิดและอารมณ์ที่มั่นคงของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาเชื่อใน “ความจริง”  และสนใจใน “ข้อมูลรายงาน” น้อยกว่า    ความหมายก็คือ  เขาจะไม่ถูก “ลวง” ให้เชื่อโดยตัวเลขรายงานที่ถูก “จัดการ”  ให้ดูดีกว่าความเป็นจริง  ตัวอย่างเช่น  ถ้าบริษัทมีการตัดค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรหรือทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนต่ำกว่าที่ควรเป็น  เขาก็จะไม่เชื่อในตัวเลขกำไรที่จะออกมาดีกว่าปกติ  นอกจากนั้น  ถ้าเป็นกิจการที่เขาควบคุมเองได้  เขาก็จะไม่ยอมทำอะไรก็ตามที่อาจจะทำให้ดูดีในวันนี้แต่สุดท้ายแล้วก็จะแย่ภายหลัง  ตัวอย่างเช่น  ในช่วงหนึ่ง  เขาปฏิเสธที่จะขายประกันในราคาถูกเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้  เพราะเขาคิดว่าราคานั้นไม่คุ้ม  เขายอมให้กำไรของบริษัทในช่วงนั้นลดลงดีกว่าจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทขายประกันได้มากและมีกำไรแต่ในที่สุดแล้วก็จะเสียหายเมื่อผู้ซื้อประกันกลับมาเคลมประกันที่มากกว่ารายรับในภายหลัง    การที่เขาทำแบบนั้นทำให้ธุรกิจประกันของเบิร์กไชร์มีกำไรและแข็งแกร่งมาตลอด  ในขณะที่บริษัทประกันอื่นนั้นมักจะเสียหายจากการที่พยายามแข่งขันกันแบบ “ฆ่าตัวตาย”

    ข้อสี่ที่เป็น  “วินัย”  ที่เข้มแข็งมากของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาเป็นคนที่มีมีความ “อดทนต่อสิ่งยั่วเย้า”สูงมาก  เขาจะไม่ซื้อหุ้นเพียงเพราะมันอาจจะทำกำไรได้อย่างรวดเร็วและง่าย ๆ  แต่เป็นหุ้นที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและสามารถเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ยาวนานมาก ๆ นอกจากนั้นแล้ว  หุ้นของเขาจะต้องเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่พอที่เขาจะลงทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ  และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  ราคาที่จะซื้อนั้นต้องสมเหตุผล  มี Margin of Safety หรือมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะทำให้เขาไม่ขาดทุนในระยะยาวถ้าเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้น  การวิเคราะห์ของเขาเพื่อที่จะหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการนั้น  ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่เรื่องของกระแสเงินสดมากกว่าตัวเลขกำไรที่เป็นข้อมูลทางด้านบัญชีที่อาจจะไม่สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงเต็มที่  และนี่เป็นเหตุผลที่เขาชอบบริษัทที่มีกระแสเงินสดดีและต้องการเงินลงทุนในการขยายธุรกิจต่ำ   และด้วยเหตุผลที่ต้องการหาหุ้นที่สมบูรณ์แบบดังกล่าวทำให้เขาลงทุนในหุ้นน้อยตัวมาก  พูดง่าย ๆ  ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ที่เขาต้องการ  เขายินดีรอไปเรื่อย ๆ โดยไม่ทำอะไรทั้ง ๆ ที่มีเงินสดที่พอกพูนขึ้นมามากมายตลอดเวลาจากการจ่ายปันผลของบริษัทที่เขาถืออยู่

    ข้อห้า บัฟเฟตต์นั้นเห็นว่าการมองโลกในแง่ร้ายและความหดหู่ของคนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนซึ่งทำให้หุ้นตกลงมารุนแรงนั้น  เป็นโอกาสที่งดงามในการซื้อหุ้น  ในขณะที่ช่วงที่สังคมของนักลงทุนกำลังมองโลกในแง่ดีสุด ๆ จนแทบจะเคลิบเคลิ้มซึ่งทำให้หุ้นขึ้นไปอย่างไร้เหตุผลนั้น  เป็นเวลาที่จะต้องขายหุ้น  เหตุการณ์ช่วงวิกฤติในตลาดหุ้นอเมริกาในปี 2009 นั้น  บัฟเฟตต์เข้าซื้อหุ้นจำนวนมากที่ดูเหมือนว่ากำลังจะ “ล่มสลาย” และในตลาดนั้น  นักลงทุนต่างก็กำลังหนีตายและไม่มีเงินสดที่จะซื้อหุ้นเป็นพยานที่ยืนยันความมั่นคงในจิตใจของบัฟเฟตต์เป็นอย่างดี  ในทางตรงกันข้าม  บัฟเฟตต์เคยขายหุ้นทิ้งเกือบหมดพอร์ตในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 เนื่องจากหุ้นขึ้นเป็นกระทิงและราคาสูงมาก  เช่นเดียวกัน  เขาเคยซื้อหุ้นปิโตรเคมีของจีนและขายออกไปเมื่อราคาขึ้นไปสูงลิ่วอย่างไร้เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากบัฟเฟตต์เข้าไปซื้อมัน

    ข้อหกซึ่งใกล้เคียงกับข้อห้าก็คือ  ทุกครั้งที่เกิด “วิกฤติ” กับหุ้นที่ “ยิ่งใหญ่” และบัฟเฟตต์คิดว่ามันเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวครั้งเดียวและสามารถแก้ไขได้  เขาจะเข้าไปลงทุนอย่างหนักในหุ้นตัวนั้นเสมอ  ตัวอย่างมีมากมาย  เช่นกรณีที่เขาลงทุนในบริษัทอเมริกันเอ็กซเพรสเมื่อเกิดกรณีฉ่าวโฉ่เรื่องน้ำมันสลัดที่มีการฉ้อฉลกันในบริษัทแต่ตัวกิจการหลักที่เป็นบัตรเครดิตนั้นไม่ถูกกระทบ  เป็นต้น  ว่าที่จริง  หุ้นที่ยิ่งใหญ่จำนวนไม่น้อยนั้นถูกซื้อโดยบัฟเฟตต์ในช่วงที่มันมีราคาตกลงมาผิดปกติในยามที่เศรษฐกิจหรือบริษัทมีปัญหาที่  “แก้ไขได้”  หรือ “กำลังดีขึ้น” อย่างแน่นอน  และนี่ก็เป็นวิธีทำเงินที่สำคัญมากของบัฟเฟตต์

    สุดท้ายก็คือ  ระยะเวลาของการลงทุน  บัฟเฟตต์มองการลงทุนว่าคือการเข้าเป็นเจ้าของธุรกิจ  ดังนั้น  เมื่อซื้อแล้ว  เขาก็มักจะไม่มีความคิดว่าจะขาย  โดยเฉพาะบริษัทที่เขาคิดว่ามันเป็น ซุปเปอร์สต็อกหรือบริษัทที่จะโตต่อไปได้เรื่อย ๆ  เนื่องจากมันเป็นธุรกิจที่จะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ  ยาวนานและบริษัทมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนและธรรมชาติของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัยและหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ยาก  การที่ไม่คิดว่าจะขายในแทบทุกกรณีทำให้เขาไม่ติดตามราคาหุ้นแบบนักลงทุนทั่วไปที่ต้องติดตามบางทีทุกนาทีหรือทุกวัน  บัฟเฟตต์เองนั้นไม่มีจอดูราคาหุ้นด้วยซ้ำ  ดังนั้น  ราคาหุ้นที่ขึ้นลงผันผวนรายวันหรือรายเดือนจึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบัฟเฟตต์เลย  ถ้าจะมีบ้างก็คือ  ถ้าหุ้นตกลงมามาก  มันอาจจะเป็นโอกาสลงทุนสำหรับบัฟเฟตต์  แต่ก็เฉพาะที่เป็นหุ้นที่ดีมากที่บัฟเฟตต์ยังไม่ลงทุนเนื่องจากราคามันยังแพงเกินไปเท่านั้น

Posted by nivate at 10:47 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/02/23/1530
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 03, 2015, 09:44:29 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 2 March 2015
Scenario Investing

ในการลงทุนนั้น  ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจ  การเมือง  และสังคมของประเทศหรือตลาดที่เราลงทุนอยู่หรือที่เราจะเข้าไปลงทุนตลอดเวลา  ถ้าเรามีข้อจำกัดว่าเราคงต้องลงทุนในประเทศไทยเป็นหลักเนื่องจากเหตุผลบางประการ เช่น เรายังมีความรู้ไม่พอในตลาดของประเทศอื่น  สิ่งที่เราจะต้องดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็คือ  ภาพของประเทศไทยในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว  หลังจากนั้นก็จะต้องดูว่าดัชนีหุ้นอาจจะเป็นอย่างไรในอนาคต  อาจจะซัก 4-5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย  นอกจากนั้น  เราก็ต้องดูว่าหุ้นในพอร์ตที่เราถืออยู่นั้นจะขึ้นหรือลงในสถานการณ์อย่างนั้น  ในการวิเคราะห์นั้น  เพื่อที่จะให้เห็นภาพที่กว้างและไม่ให้เรา “ติดยึด” ว่ามันเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างจริงแท้แน่นอนซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากในการลงทุน  เราก็ควรที่จะ  “วาดภาพในอนาคต” เป็นหลาย ๆ  ภาพหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่าหลาย ๆ   Scenario แล้วก็ดูถึง  “โอกาสความเป็นไปได้” ของแต่ละภาพ  เสร็จแล้วเราก็จะต้องกำหนดกลยุทธการลงทุนของเรา

    สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมืองของเราในปัจจุบันนั้น  ต้องบอกว่าอยู่ในอาการที่ไม่ดี  หรือถ้าจะพูดว่าเลวร้ายพอสมควรก็ไม่น่าจะผิดนัก  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเราต่ำมากเกือบ 0% ในปีที่แล้วทั้ง ๆ ที่ไม่มีภาวะวิกฤติในระดับโลก  นี่เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก  ผมเองยังจำได้ว่าถ้าเป็นในสมัยก่อนที่ผมยังหนุ่มและเศรษฐกิจไทยกำลังโตวันโตคืนเฉลี่ยปีละถึง 7% นั้น  ปีที่ไทยโต 4% ถือว่าเป็นปีที่แทบจะเรียกได้ว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  คนเดือดร้อนกันไปทั่ว  ข้ออ้างที่ว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดีทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ไปด้วยในช่วงนี้นั้นก็พอฟังได้บ้าง  แต่มันก็ไม่สามารถหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่า  เศรษฐกิจไทยอาจจะกำลังเริ่มชะลอตัวอย่างถาวรด้วยเหตุผลทางด้านโครงสร้าง เช่น อายุของประชากรหรือความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ที่ผมพูดแบบนี้ก็เพราะว่าประเทศที่กำลัง “โตวันโตคืน” อย่างพม่าหรือ  เวียตนามนั้น  แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะแย่และคนเวียตนามจะบ่นว่า เศรษฐกิจในประเทศ “ตกต่ำ” นั้น  ปีที่แล้วเขาก็ยังโตกว่า 5%

    สถานการณ์ทางด้านสังคมและการเมืองของไทยเองนั้นก็อยู่ในภาวะที่ไม่ดี  ความแตกแยกกันทางความคิดมีอยู่สูงกว่าช่วงปกติ  ทางด้านการเมืองนั้นเองก็ยังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ  ถ้าจะเปรียบเทียบกับโลกแล้ว  เราน่าจะอยู่ในกลุ่มท้าย ๆ ของตารางทางด้านของพัฒนาการทางสังคมและการเมืองทั้ง ๆ ที่เราเคยได้รับการมองว่าเป็นประเทศและสังคมที่ค่อนข้างจะเปิดและปรับตัวเข้ากับโลกได้ดีประเทศหนึ่ง

    อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสถานะปัจจุบันก็คืออนาคต   ภาพหรือ Scenario ที่คนส่วนใหญ่มองก็คือ  ใช่!  เรากำลังแย่ทุกด้าน  แต่ทุกอย่างก็อาจจะกำลังดีขึ้น  เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น  สังคมและการเมืองก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น  และเนื่องจากมันแย่มาก  ดังนั้น  มันก็จะดีขึ้นมาก  เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นถึงประมาณ 4%  สังคมและการเมืองก็กำลังถูก “ปฏิรูป” ให้ดีขึ้น  ดังนั้น  ภาพอนาคตก็จะดีขึ้นไม่ใช่แย่ลง  แต่นั่นสำหรับผมก็เป็นเพียง Scenario หรือภาพหนึ่ง  เราจำเป็นต้องคิดถึงภาพอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้  อาจจะเป็นภาพที่  “ทรง ๆ”  คือเศรษฐกิจไม่ได้โตขึ้นขนาดนั้นเช่นเดียวกับสังคมและการเมือง  หรืออาจจะเป็นภาพที่  “แย่ลงไปอีก”  คือเศรษฐกิจก็ยังไม่โตและสังคมและการเมืองก็ไม่ดีขึ้นในอนาคตอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้า  แม้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นอาจจะไม่มากนัก

    ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องของดัชนีหุ้นในอนาคต  ซึ่งโดยทั่วไปนั้นก็ควรจะปรับตัวล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม  การเมืองในอนาคต  และความถูกความแพงของหุ้นในปัจจุบัน  ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นมากในอนาคตและหุ้นในปัจจุบันมีราคาถูกมาก  โอกาสก็เป็นไปได้มากว่าดัชนีหุ้นในอนาคตจะปรับตัวขึ้นไปได้ดีมาก  และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทยหลังปี 2542-43  และอีกครั้งหนึ่งหลังวิกฤติของอเมริกาในปี 2009  แต่ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นมากในอนาคตแต่หุ้นในปัจจุบันแพง  ดัชนีก็อาจจะยังปรับตัวขึ้นได้แม้ว่าการปรับตัวขึ้นอาจจะไม่มากนักอาจจะซักปีละ 10% ใน 2-3 ปีข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม  ถ้าหากภาพใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองไม่ได้ดีขึ้นในอนาคตแต่หุ้นในปัจจุบันแพง  ดัชนีตลาดหุ้นก็อาจจะนิ่งหรือตกลงมารุนแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภาพใหญ่แย่ลงไปอีก

    ในความรู้สึกของผมเองนั้น  ผมคิดว่าหุ้นไทยในปัจจุบันนั้นค่อนข้างแพง  ดังนั้น  แม้ว่าภาพใหญ่ของเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้น  โอกาสที่หุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงมากอย่างในอดีตก็อาจจะยาก  ผมเองคิดว่าดัชนีหุ้นโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าน่าจะเป็นจุดสูงสุดที่เราจะคาดได้  และนี่ก็คือ Scenario ที่ดีที่สุดของผม

    ภาพที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ  ภาพใหญ่ของไทยนั้น  อาจจะไม่ค่อยสดใสนัก  เศรษฐกิจก็โตขึ้นบ้างแต่ไม่สูงในอนาคตหลายปีข้างหน้า  แต่เนื่องจากดัชนีหุ้นไทยในปัจจุบันค่อนข้างสูงโอกาสก็เป็นไปได้ว่าหุ้นในอีกหลายปีข้างหน้าก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวแม้ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างช้า ๆ  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ค่า PE ของหุ้นจะลดลงจากระดับ 20 เท่าในปัจจุบันเหลือเพียง 10 เท่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  นั่นก็คือสิ่งที่เราจะเห็น  อย่างไรก็ตาม  จากวันนี้ถึงอีก 4 ปี ข้างหน้า  ดัชนีหุ้นอาจจะวิ่งขึ้นลงผันผวนทุกปีแต่สุดท้ายก็ไปไม่ไกลเนื่องจากพื้นฐานและราคาของหุ้นไม่เอื้ออำนวย  ตลาดแบบนี้เราเรียกว่า  Sideway Market  นักลงทุนระยะยาวทำกำไรได้ยาก

    ถ้าภาพใหญ่ของไทยเลวร้ายลงอีกในหลายปีข้างหน้า  และด้วยดัชนีหุ้นที่ค่อนข้างแพง  ก็เป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นไทยจะเข้าสู่ภาวะตลาดหมี  คือหุ้นจะลดลงในระยะยาวอีก 3-4 ปีข้างหน้า  คนที่ลงทุน  ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือยาวก็จะ “เจ็บตัว” อย่างหนัก  ความสนใจในหุ้นของคนไทยก็จะหมดไป  ปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วในปัจจุบันก็จะหายไปและถูกแทนที่ด้วยความซบเซาของการซื้อขายหุ้น  การลงทุนในหุ้นก็จะเป็นเรื่องของคนที่  กล้าได้กล้าเสียและกล้าเสี่ยงไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดาที่ลงทุนเพื่อชีวิตที่มั่นคงอย่างที่อาจจะเป็นบ้างในช่วงนี้

    แน่นอนว่ามี Scenario อื่นอีกหลายอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ผมเองดูว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยจึงไม่ได้พูดถึง  นักลงทุนคงต้องวิเคราะห์เอง  ส่วนตัวผมนั้นมองว่าโอกาสที่เป็นไปได้สูงก็คือ  ดัชนีหุ้นไทยถ้ามองไปข้างหน้า 3-4 ปี อาจจะไปได้ไม่ไกล  ในระหว่างทางนั้น  ในภาพหนึ่งก็คือ ดัชนีไป Sideway ไม่ได้ขึ้นหรือลงหนักมาก  ในอีกภาพหนึ่งก็คือ  ดัชนีหุ้นตกหนักมากแม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับวิกฤติเนื่องด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่คาดการณ์ไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ในที่สุดหุ้นก็ปรับตัวกลับขึ้นมาใกล้เคียงกับดัชนีในวันนี้ใน 3-4 ปีข้างหน้า  และนี่ต้องบอกอีกครั้งหนึ่งว่ามันเป็นการ “คาดเดา”

    กลยุทธการลงทุนของผมนั้น  แน่นอน  ไม่ได้มองเฉพาะตลาดหุ้น  เพราะผมเองไม่มีความสามารถในการลงทุนได้ทั่วโลก  ดังนั้น  ผมต้องดูสถานการณ์การลงทุนอย่างอื่นเช่น ดอกเบี้ย  พันธบัตร หุ้นกู้ หรือการลงทุนทางเลือกอย่างอื่นในประเทศไทยด้วย  น่าเสียใจที่ว่าการลงทุนทางเลือกอย่างอื่นนั้น  มีสภาพที่แย่พอ ๆ กับการลงทุนในตลาดหุ้นหรือแย่กว่า  นี่ก็เป็นความลำบากและ “อึดอัด” ใจของผมในการลงทุนในช่วงนี้  ผมคิดว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่อันตรายและโอกาสได้ผลตอบแทนสูงทำได้ยาก  ในขณะเดียวกัน  การลงทุนในสิ่งอื่นก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน  ดังนั้น  ผมจึงเลือกที่จะ “รอ” โดยเตรียมเงินสดเอาไว้บ้างเพื่อที่จะได้ “ฉกฉวยโอกาส”  ในกรณีที่เกิดเหตุหรือสถานการณ์ที่ทำให้หุ้นตกลงมาจนคุ้มที่จะลงทุน  แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดหรือไม่  และถ้าเวลาผ่านไปนาน ๆ  ต้นทุนในการถือเงินสดก็จะ “ท่วม” คิดแล้วก็รู้สึกอิจฉาเพื่อนนักลงทุนต่างชาติของผมบางคนที่เขาสามารถไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด 

Posted by nivate at 8:49 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/02/1532
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 10, 2015, 11:26:20 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 10 March 2015
Quote ของการลงทุน

ผมเป็นคนชอบอ่าน Quote หรือคำพูดที่ “แหลมคม” ของ “นักปราชญ์”  คนที่มีความสามารถ  หรือ “คนดัง” ในแวดวงต่าง ๆ  เพราะผมรู้สึกว่า Quote นั้นมักจะมีแนวความคิดและปรัชญาที่สำคัญที่สามารถบรรจุอยู่ในคำพูดสั้น ๆ  ไม่กี่ประโยคอ่านแล้วก็เข้าใจได้ทันที  ซึ่งก็แน่นอนว่า  ผมชอบอ่าน Quote ของกูรูการลงทุนมากมายที่ได้พูดไว้  และต่อไปนี้คือ Quote ที่ถูกรวบรวมโดยคุณพรชัย  รัตนนนทชัยสุข นักเขียนและนักลงทุนอาวุโสทางด้าน VI ซึ่งได้จัดทำเป็นหนังสือเพื่อแจกให้แก่คนที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม  ผมจึงถือโอกาสนี้ขอบคุณคุณพรชัยและนำ Quote บางส่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตลาดหุ้นในปัจจุบันที่กำลังร้อนแรงมาดูกัน

Quote แรกเป็นของ Michael K. Farr  “คุณไม่รู้ไม่เข้าใจ  แต่ราคาหุ้นมันขึ้นเอา ๆ  คุณเห็นคนที่ไม่ได้ฉลาดอะไรรวยเอา ๆ  ในขณะที่คุณมัวแต่ตั้งคำถามเพื่อพิจารณาเหตุผล  ในที่สุดคุณตัดสินใจว่า  การมัวนั่งพินิจพิเคราะห์ทำให้คุณไม่ได้กำไรอย่างคนอื่น  ไม่วิเคราะห์มันแล้ว  ซื้อเลยดีกว่า  คุณต้องมีหุ้นตัวนี้กับเขามั่งแม้ว่ามันจะเพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ก็เหอะ  ฟังคุ้น ๆ ปะ”

    คำพูดที่สองเป็นของ วอเร็น บัฟเฟตต์   “พอราคาหุ้นขึ้นต่อเนื่องแบบไม่ยอมตก  เราจะเริ่มคิดว่า  การขึ้นของราคาหุ้นมันคงสมเหตุผล  เราจะเริ่มมองเห็นโลกเสี้ยวเดียว  การขึ้นของราคาหุ้นและผลกำไรเป็นตัวกระตุ้นให้เราเชื่อ  เชื่อแม้ว่ามันจะขัดกับสามัญสำนึก  ข่าวดีกระจ้อยร่อยกระตุ้นราคาราวกับเป็นข่าวใหญ่น่าเฉลิมฉลอง  ส่วนข่าวร้ายและคำวิพากษ์วิจารณ์ถูกมองข้ามและไม่มีใครให้น้ำหนัก  จนในท้ายที่สุดเมื่อความเป็นจริงปรากฏ  “รู้งี้”  คือคำพูดที่จะหลุดออกมาจากปากเรา”

    บัฟเฟตต์ยังพูดต่อว่า  “ยามที่การใช้มาร์จินได้ผล  มันจะทำให้กำไรของคุณเพิ่มทวีคูณ  เมียคุณจะมองว่าคุณช่างฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก  เพื่อนบ้านจะอิจฉาคุณ  แต่การใช้มาร์จินเป็นสิ่งเสพติด  พอเคยได้กำไรอย่างมหัศจรรย์แล้ว  น้อยคนนักจะหวนกลับมาลงทุนแบบระมัดระวังได้  และก็อย่างที่พวกเราเคยเรียนตอนอยู่ประถมและหลายคนได้เรียนอีกครั้งตอนวิกฤติในปี 2008 ว่า  ไม่ว่าตัวเลขมันจะสวยหรูแค่ไหน  มันจะมลายไปทันทีถ้ามันถูกเอาไปคูณกับเลขศูนย์เพียงแค่ตัวเดียว  ประวัติศาสตร์บอกเราว่า  มันกลายเป็นศูนย์ได้บ่อยครั้ง  แม้ว่าคนที่ใช้มันจะเฉลียวฉลาดมากก็เหอะ”

    คำพูดที่สี่และห้าเป็นของ Jack D. Schwager “จะซื้อหรือถือหุ้นที่มีค่า PE สูง ๆ  การเติบโตของกำไรสุทธิต้อง  Feasible, Visible, Predictable และ Durable”

    “จังหวะที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นซื้อหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาวก็คือช่วงเวลาหลังจากที่หุ้นให้ผลตอบแทนไม่ดีติดต่อกันมายาวนาน”

คำพูดที่หกเป็นของ Peter Keefe  “คนชอบอยากรู้ว่าตลาดหุ้นเกิดภาวะฟองสบู่แล้วหรือยัง จนลืมไปว่า  ภาวะฟองสบู่ไม่ได้เกิดขึ้นได้กับตลาดโดยรวมเพียงอย่างเดียว  แต่อาจจะเกิดกับหุ้นเป็นกลุ่ม ๆ  หรือเป็นตัว ๆ ก็ได้”

    Quote ที่เจ็ดนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์การลงทุนอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์เลยก็ว่าได้เพราะเขาบอกว่า  “เวลาที่ตลาดหุ้นตกหนัก ๆ  จะเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถซื้อหุ้น Philip Fisher (หุ้นเติบโต) ได้ในราคา Benjamin Graham (P/E, P/B ต่ำ)”

    คำพูดที่แปดเป็นของ Francisco Garcia Parames  “การที่ราคาหุ้นขึ้นมา 20 เปอร์เซ็นต์มันหมายความว่าหุ้นตัวนี้มีความน่าสนใจน้อยลงไป 20 เปอร์เซ็นต์”

    Joel Greenblatt พูดว่า  “ความผิดพลาดข้อใหญ่ที่สุดสามข้อของนักลงทุนคือ  1. ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำ ตัดสินใจซื้อขายหุ้นตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นตอนเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น  ตอนอ่านบทวิเคราะห์หรืออ่านข่าว  2. ซื้อหุ้นแบบไม่รู้เรื่อง  ไม่มีความรู้  ประเมินมูลค่าบริษัทไม่ออก  ซึ่งถ้าประเมินไม่ได้  แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นถูกหรือเปล่า  3. ให้น้ำหนักกับผลประกอบการล่าสุดของบริษัทมากเกินไป”

    ถ้าเราคิดว่าหุ้น IPO คือสุดยอดของการลงทุน  เราควรฟัง วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่พูดว่า  “หุ้น IPO เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง  การที่ผู้บริหารต้องการขายหุ้น  ทำให้หุ้นพวกนี้ไม่น่าจะเป็นหุ้นที่ถูกที่สุดสำหรับการเข้าซื้อ”

     Quote ที่ 11 เป็นของ Stuart Walton  “ความเข้าใจผิดข้อใหญ่ที่สุดก็คือ  มีการเชื่อกันในวงกว้างว่า  การหาเงินด้วยการเทรดหุ้นเป็นเรื่องง่าย  คนพากันคิดว่า  พวกเขาสามารถเลิกทำงานและมานั่งเทรดหุ้นอย่างเดียวได้  สุดท้ายแล้ว  คนส่วนใหญ่จะต้องพบกับความผิดหวัง”

    คำพูดที่ 12 ถูกกล่าวโดย Jack Schwager  “ทำไมการขาดทุนครั้งใหญ่มักมีแนวโน้มเกิดตามหลังช่วงที่ดีที่สุด?  คำอธิบายหนึ่งก็คือ  ในยามที่อะไร ๆ ดูเหมือนจะสวยหรูเหมือนมีคนกำกับ  นักลงทุนมักจะเริ่มการ์ดตก  พวกเขาเริ่มลืมคิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น  อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ  ในช่วงดี ๆ แบบที่ว่า  แต่ละคนมักลงทุนสุดตัวทุ่มสุดขีด  คำเตือนของผมก็คือ  ในยามที่พอร์ตคุณสวยหรูดูดีนิวไฮมีหุ้นน้อยไป  อย่าการ์ดตกและจงระมัดระวังตัวให้มาก”

    คำพูดนี้เป็นของ Anthony Bolton  “จากการศึกษาพบว่า  เมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุด  นักลงทุนที่มีประสบการณ์น้อยมักคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าและมั่นใจมากกว่าว่าตัวเองจะสามารถเอาชนะตลาดได้ เมื่อเปรียบเทียบกับนักลงทุนที่อยู่ในตลาดมานาน”

    Quote ที่ 14 และ 15 เป็นของ Gerald M. Loeb เซียนหุ้นเก็งกำไร  “ผลของตลาดกระทิงที่มีต่อความคิดของเรา:  1. เราจะชื่นชมตัวเองว่าเรานี่แหละเซียนหุ้น  2.  รู้สึกว่าตัวเองโง่ที่อนุรักษ์นิยมเกินไปในช่วงที่ผ่านมาและจะนั่งคิดว่าถ้ากล้ากว่านี้จะได้เงินอีกเยอะเลย  3. เริ่มเสี่ยงมากขึ้นและอยากได้กำไรเร็วๆ จนกลายเป็นนักเก็งกำไร”

    “สามสาเหตุหลักที่จะทำให้เราขาดทุนคือ 1. ซื้อหุ้นมาในราคาที่แพงเกินไป 2. ซื้อหุ้นที่มีงบดุลอ่อนแอ 3. ไปหลงเชื่อตัวเลขคาดการณ์ผลกำไรที่สูงเกินจริง”

    คำพูดที่ 16 ซึ่งเป็นคำพูดสุดท้ายที่ไม่ระบุชื่อคนพูดก็คือ  “เรื่องของเรื่องก็คือ  หุ้นมันก็เป็นแบบนี้แหละ  บางทีมันก็ขึ้น  บางทีมันก็ลง  ตอนหุ้นขึ้นได้กำไร  ก็อย่าผยองปากกล้าจนเกินงาม  ตอนหุ้นตกขาดทุนหนักก็อย่าหดหู่ซึมเศร้าจนเกินควร  ใช้เหตุผลและปัญญานำทาง  อย่าใช้อารมณ์ตัดสินใจ”

Posted by nivate at 8:34 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/10/1537
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 17, 2015, 05:38:14 pm
20 เรื่องที่ลูกต้องรู้เพื่อการใช้เงินอย่างถูกต้อง

รายการ "หมอเงินหมอความ" นำเสนอหัวข้อ Money As You Grow (20 things kids need to know to live financially smart lives) ซึ่งเป็นโครงการของทางสหรัฐเพื่อให้ประชาชนมีสติในการใช้สตังค์มากขึ้นก่อน ที่ประเทศจะเละตุ้มเป๊ะ ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็เลยอยากนำมาแนะนำต่อครับ โดยเนื้อหาจะแบ่งไปตามช่วงอายุและจะมีตัวอย่างกิจกรรมที่แนะนำให้ทำด้วย

ขอบคุณทางรายการที่แนะนำอะไรดีๆ ครับ และขอบคุณต้นฉบับด้วย http://moneyasyougrow.org

อายุ 3-5 ปี

1. เราใช้เงินเพื่อซื้อของ
  - หัดนับเหรียญ
  - แยกแยะได้ว่าอะไรฟรี อะไรเสียตัง เช่น การเล่นกับเพื่อน, ไอศครีม, เติมน้ำมัน, เสื้อผ้า

2. เงินได้มาจากการทำงาน
  - อธิบายให้ลูกฟังว่าพ่อแม่ทำงานอะไร
  - อธิบายให้ลูกฟังว่าเพื่อนบ้านทำงานอะไร เช่น หมอ, ตำรวจ, คนขับรถ
  - อธิบายให้ลูกฟังว่าบางคนเปิดร้านทำธุรกิจเอง เรียกว่านักธุรกิจ
  - กระตุ้นให้ลูกคิดว่าลูกจะหาเงินได้อย่างไรบ้าง เช่นขายขนม

3. รู้จักรอก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออะไร
  - เวลารอคิว อธิบายให้ลูกฟังว่าบางทีเราก็ต้องรอเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
  - หากระปุก 3 กระปุกให้ลูกเพื่อ เก็บสะสม, ใช้จ่าย และแบ่งปัน
  - สอนให้เด็กเก็บเงินในกระปุกจนมีมากพอเพื่อซื้อของหรือขนม

4. แยกให้ออกระหว่างสิ่งที่เราจำเป็น (need) กับสิ่งที่เราอยากได้ (want)
  - เวลาซื้อของ ให้ลูกช่วยแยกแยะว่าอะไรเป็นของจำเป็น อะไรเป็นของที่อยากได้ซึ่งไม่ซื้อก็ได้

อายุ 6-10 ปี

5. หัดตัดสินใจเวลาใช้จ่าย
  - ให้ลูกช่วยตัดสินใจเวลาซื้อของว่าจะซื้อชิ้นไหนดี
  - ให้เงินลูกจำนวนนึงแล้วให้เขาเลือกซื้อผักผลไม้ให้

6. หัดเปรียบเทียบสินค้าก่อนซื้อ
  - พาลูกไปด้วยเวลาต้องเปรียบเทียบสินค้าจากหลายๆ ร้าน
  - ใช้คูปองหรือบัตรส่วนลดในการซื้อของ

7. การแชร์ข้อมูลออนไลน์อาจเป็นอันตรายได้
  - เรียนรู้ว่าลูกเข้าเว็บไหนบ้าง และบล็อคเว็บที่ไม่น่าไว้วางใจ
  - ตั้งกฏกับลูกว่าไม่ให้ใส่ข้อมูลส่วนตัวลงในเว็บไซต์ เช่น วันเกิด, ที่อยู่, เบอร์โทร, โรงเรียน
  - ไม่ให้ซื้อของออนไลน์ (รวมถึงเกมส์) เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

8. สอนให้ฝากเงิน
  - พาลูกไปธนาคาร
  - สอนให้รู้ว่าฝากเงินกับธนาคารจะได้รับดอกเบี้ย
  - เปิดบัญชีเงินฝากให้ลูก

อายุ 11-13 ปี

9. สอนให้รู้จักเก็บเงินเอง (ไม่ใช่พ่อแม่เก็บให้)
  - แนะนำให้ลูกเก็บเงินไว้อย่างน้อย 10% ของเงินที่ได้รับ
  - พาลูกไปฝากเงินที่ธนาคารปีละ 2-3 ครั้ง ชี้ให้ดูจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น
  - เพื่อเป็นการกระตุ้น พ่อแม่อาจจะเสนอฝากเงินเพิ่มให้อีก 25% ทุกครั้งที่ลูกฝากเงิน

10. การใส่ข้อมูลการเงินบนเว็บอาจโดนขโมยได้
  - แนะนำว่าการใส่ข้อมูลบัตรประชาชน, เลขที่บัญชีธนาคาร, เลขที่บัตรเครดิต อาจะเป็นอันตรายยังไง
  - สอนว่าโจรอาจใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปปลอมแปลงแล้วขโมยเงินเราได้
  - เตือนว่าระวังอะไรก็ตามที่บอกว่า "ฟรี" ออนไลน์เช่นเกมส์ เพราะเราอาจถูกหลอกได้
  - ห้ามเปิดหรือตอบอีเมลล์จากคนที่ไม่รู้จัก และห้ามคลิ๊กโฆษณาป๊อบอัพเด็ดขาด

11. ยิ่งออมเร็ว เงินยิ่งเติบโตเร็ว
  - สอนให้รู้จักดอกเบี้ยทบต้น และคำนวณให้ดู

12. รู้จักบัตรเครดิต
  - อธิบายว่าการใช้บัตรเครดิตก็เหมือนกับการกู้ยืม ถ้าไม่สามารถจ่ายได้หมดก็จะโดนดอกเบี้ย
  - ให้ลูกหาข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและโปรโมชั่นบัตรเครดิตของหลายๆ สถาบัน
  - สอนการซื้อของออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตอย่างปลอดภัย

อายุ 14-18 ปี

13. ประเมินค่าใช้จ่ายเมื่อต้องเลือกมหาวิทยาลัย (ในสังคมอเมริกัน เด็กมักจ่ายค่าเทอมเองหรือกู้)
  - ชี้ให้เห็นว่าคนที่เรียนจบปริญญาตรีมักจะมีรายได้สูงกว่าคนที่ไม่เรียน
  - คุยกับลูกว่าพ่อแม่จะช่วยจ่ายได้แค่ไหน
  - เปรียบเทียบค่าเทอม, เงินกู้, ค่างวด, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และอัตราการเรียนจบของแต่ละสถาบัน

14. หลีกเลี่ยงการใช้บ้ตรเครดิตถ้าไม่สามารถจ่ายคืนได้เต็มจำนวน
  - ตามนั้น

15. รู้จ้กกับภาษี
  - สอนให้รู้ว่าเรายได้ที่ได้รับจะโดนหักภาษี
  - อธิบายว่าเงินภาษีไปไหน
  - สอนเรื่องฐานภาษี, การลดหย่อนภาษี และการจ่ายภาษีประจำปี

16. รู้จักวางแผนเกษียณ

อายุ 18 ปีขึ้นไป

17. สอนการใช้บัตรเครดิต
  - การค้างชำระบัตรเครดิตส่งผลต่อประวัติทางการเงินในอนาคต อาจไม่สามารถทำบัตรหรือกู้เงินได้ หรือได้ในดอกเบี้ยที่แพงกว่าปกติ
  - เลือกใช้บัตรเครดิตที่ดอกเบี้ยต่ำ, ฟรีค่าทำเนียม, ระยะปลอดดอกเบี้ยยาว, โปรโมชั่นเหมาะกับเรา

18. จำเป็นต้องมีประกันสุขภาพ
  - สอนวิธีเลือกประกันสุขภาพให้เหมาะสม
  - ดูว่าพ่อแม่มีประกันสุขภาพที่คุ้มครองถึงลูกด้วยหรือไม่
  - แนะนำประกันชนิดอื่นๆให้รู้จัก เช่นอัคคีภัย, ประกันรถยนต์

19. เก็บเงินให้พอใช้อย่างน้อย 3 เดือนของรายจ่ายประจำในกรณีฉุกเฉิน

20. สอนให้รู้จักการลงทุนและความเสี่ยง
  - การกระจายความเสี่ยง
  - แนะนำให้รู้จักกองทุนรวม ผลประกอบการ ค่าธรรมเนียม
  - ให้ลูกนึกถึงรายจ่ายในอนาคตและวางแผน เช่นซื้อบ้านในอีก 10 ปี, ซื้อรถในอีก 5 ปี



ที่มา:
http://pantip.com/topic/33377935
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 17, 2015, 05:43:14 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 16 March 2015
Synthetic Growth

ในภาวะตลาดหุ้นแบบ “กระทิง” หรือภาวะที่ตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงนั้น  หุ้นที่จะปรับตัวขึ้นเร็วและมากกว่าปกติมาก ๆ  ก็คือหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการดีขึ้นมากหรือ “คาดว่า” จะมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างโดดเด่นในอนาคตอันใกล้  คนที่เข้ามา “เล่น” หุ้นกลุ่มนี้จะบอกว่ามันเป็น  “หุ้นเติบโต”  หรือเป็น  “Growth Stock”  ซึ่งสามารถที่จะมีราคาแพงกว่าหุ้นทั่วไปได้  ดังนั้น  ค่า PE ของมันจึงสามารถที่จะสูงได้  บางทีเป็น 100 เท่า  เพราะอนาคตเมื่อกิจการมีกำไรโตขึ้นเร็วมาก  ค่า PE ก็จะลดลงมาเอง  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนที่  “กล้าได้กล้าเสีย” แล้ว  การหาหุ้นที่จะ  “โตเร็ว” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าปัจจัยอย่างอื่นในยามที่ตลาดกำลังร้อนแรง  หุ้นที่กำไรทรง ๆ หรือโตช้านั้น  แม้ว่าจะมีความมั่นคงสม่ำเสมอและบริษัทมีฐานะที่แข็งแกร่งในทางการตลาดหรือการเงินจึงไม่อยู่ในสายตา  เพราะหุ้นพวกนี้ราคาขึ้นช้าหรือไม่ไปไหน  เหนือสิ่งอื่นใดราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้ถูกด้วย

    ส่วนตัวผมเองนั้น  ผมเชื่อว่าการเจริญเติบโตของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญมากเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม  ความมั่นคงและฐานะทางการแข่งขันทางการตลาดของกิจการก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  หุ้นที่เพียงแต่โตขึ้นโดยที่ความสามารถในการแข่งขันไม่ได้เหนือกว่าคู่แข่งอื่นอย่างถาวรนั้น  ผมคงไม่ให้ราคาที่แพงมากนัก  ผมกลัวว่าการเจริญเติบโตของบริษัทอาจจะไม่ยาวนานเนื่องจากคู่แข่งก็จะเข้ามาแข่งขันเพิ่มและทำให้การเจริญเติบโตในอนาคตถดถอยลง  นอกจากนั้น  ผมก็ยังมักจะมองการเติบโตที่รวดเร็วและสูงกว่าปกติด้วยสายตาของคนที่  “ขี้สงสัย” หรือ “ระแวง”  ว่า  มันจะไม่สามารถโตแบบนั้นได้ยาวหรือบางทีก็คิดว่ามันไม่ใช่การเติบโตที่แท้จริง  มันอาจจะเป็นการ  “เติบโตเทียม”  หรือมันอาจจะเป็นการเติบโตที่ “สร้าง” หรือ “สังเคราะห์” ขึ้นมาอย่างตั้งใจซึ่งผมอยากจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  “Synthetic Growth” เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทโตเร็วมากในระยะสั้น   แต่จริง ๆ  แล้วมันอาจจะไม่ดีหรือไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว

    Synthetic Growth(SG)  แบบแรกที่มักทำกันในช่วงตลาดบูมก็คือ  การเทคโอเวอร์หรือการซื้อหรือควบรวมกิจการ  นี่เป็นการเติบโตที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในกิจการหรือที่เรียกว่า Organic Growth แต่เป็นการเติบโตจาก “ภายนอก” ที่ทำได้เร็วและง่าย   วิธีการเทคโอเวอร์บริษัทอื่นที่จะทำให้บริษัทดูเหมือนโตอย่างมี “คุณภาพ”  คือโตทั้งรายได้และกำไรและเป็น SG อย่างง่ายที่สุดก็คือการที่หุ้นของบริษัทที่มีราคาแพงคือบริษัท A มีค่า PE สูงลิ่วเช่นมีค่า PE 40 เท่า  ไปเทคโอเวอร์บริษัทอื่นคือบริษัท B ที่หุ้นมีราคาถูกกว่า  เช่น มีค่า PE 20 เท่า โดยการแลกหุ้นกัน  ซึ่งผลก็คือ  รายได้ของบริษัท A จะสูงขึ้น  เช่นเดียวกับกำไรต่อหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ  เหตุการณ์ที่บริษัท A ดูเหมือนจะโตอย่างรวดเร็วโดยการเทคโอเวอร์บริษัท B นั้น  จะทำให้คนเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท A ทำให้ราคาหุ้นบริษัท A สูงขึ้นและค่า PE ก็อาจจะสูงขึ้นไปอีก   ซึ่งก็ทำให้บริษัท A สามารถเทคโอเวอร์บริษัทอื่นต่อได้อีก  ดังนั้น  SG โดยการเทคโอเวอร์จึงเป็นวิธีที่คนนิยมกันมากในช่วงหุ้นบูมจัด

    SG แบบที่สองนั้น  คือการสร้างรายได้และความคาดหวังที่จะทำกำไรทันทีหรือในระยะสั้น  โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว  ตัวอย่างเช่น  บริษัทอาจจะสร้างรายได้โดยการลดราคาสินค้าหรือบริการเพื่อแย่งชิงลูกค้า  ทำให้บริษัทมีรายได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ตัวอย่างเช่น  บริษัทรับเหมาก่อสร้างเข้าประมูลงานในราคาต่ำ  หรือบริษัทลดราคาสินค้าลงมามากเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นมาก  ในกรณีแบบนี้  เราก็จะเห็นว่า บริษัทโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากและทั้ง ๆ  ที่ผลกำไรอาจจะยังไม่ออกมา  นักลงทุนก็อาจจะดูว่าบริษัทจะโตเร็วมากและเข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้สูงขึ้นไปได้มากในระยะสั้น  แต่เมื่อผลประกอบการออกมาพบว่าบริษัทไม่ได้กำไร  ราคาหุ้นก็อาจจะถูกกระทบได้

    การเร่งการเติบโตในแบบของ SG แบบที่สองนั้น  อาจจะมาจากธุรกิจที่เรียกว่า  “บินก่อน” ขอประทานโทษ  น่าจะเรียกว่า  “กินก่อนผ่อนทีหลัง” นั่นก็คือกิจการที่  “รายได้มักจะมาก่อนแต่ต้นทุนบางส่วนจะเกิดขึ้นทีหลัง”  ตัวอย่างเช่น  การปล่อยสินเชื่อทุกประเภทที่รายได้มักจะเกิดขึ้นทันทีที่ปล่อยกู้  แต่หนี้เสียซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญตัวหนึ่งนั้น  มักจะตามมาทีหลัง  ดังนั้น บริษัทที่ปล่อยกู้หรือสถาบันการเงินนั้น  สามารถที่จะเร่งการเติบโตโดยการทำ SG ได้เสมอ  ซึ่งก็จะทำให้บริษัทดูเหมือนจะโตเร็วมากในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะอันตราย  เพราะมันเป็น Synthetic Growth ที่ไม่คงทนเหมือนการเติบโตจริง ๆ

    พูดถึงเรื่อง “บินก่อนผ่อนทีหลัง” นั้น  ผมยังจำได้ว่าครั้งหนึ่ง  เราเคยมีบริษัทที่ขาย    “สมาชิกฟิตเนสตลอดชีพ” ในราคาถูก  และอีกบริษัทหนึ่งขายเวลาอินเตอร์เน็ตแบบเป็น “ซอง” คือต้องจ่ายเงินซื้อเวลาล่วงหน้าในราคาถูกในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายมากนัก  ทำให้ทั้งสองบริษัทดูมีการเติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นหุ้นเติบโตเร็วเป็น Growth Stock ที่แม้แต่ VI ก็ยังเชียร์กันมาก  แต่แล้วในที่สุดทั้งสองบริษัทก็ล้มเหลวเมื่อความจริงปรากฏในภายหลัง

    การทำ SG แบบที่สามนั้น  อาจจะมาจากการปรับระบบการลงบัญชีที่ทำให้รายได้หรือกำไรถูกรับรู้เร็วและต้นทุนสำคัญเช่นค่าเสื่อมราคานั้นถูกเลื่อนออกไปให้ช้าลง  นี่เป็นสิ่งที่บางทีก็ทำได้ไม่ผิดอะไร  แต่ผลก็คือ  ในระยะสั้น  รายได้และกำไรก็จะโดดเด่นขึ้น  แต่ในระยะยาวแล้วก็จะลดลง  บริษัทที่ทำแบบนี้  มักจะเป็นกิจการที่มีทรัพย์สินถาวรมากและเป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำธุรกิจ  ซึ่งทำให้การปรับระบบการลงบัญชีนั้นมีผลต่อผลประกอบการที่รายงานอย่างมีนัยสำคัญ  ตัวอย่างที่เราเคยเห็นก็น่าจะรวมถึงบริษัทที่เคยมีข่าวฉาวโฉ่อย่าง Enron ซึ่งทำธุรกิจพลังงาน  และ World Com ที่ทำธุรกิจสื่อสาร ในตลาดหุ้นอเมริกาซึ่งต่างก็มีทรัพย์สินถาวรจำนวนมากและต่างก็ใช้วิธีการลงบัญชีแบบที่ทำให้สามารถทำ SG ได้  อย่างไรก็ตาม  ในทั้งสองกรณีนั้น  ดูเหมือนว่าจะทำแบบผิดกฎหมายด้วย  และก็อย่างที่เห็น  ในช่วงต้นนั้น  หุ้นของทั้งสองบริษัทต่างก็วิ่งระเบิดเป็นขวัญใจของนักลงทุน  แต่เมื่อเรื่องแดงขึ้น  มันก็ล้มไม่เป็นท่า

    SG แบบสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงแต่ไม่ใช่ทั้งหมดก็คือการตั้งใจโกงของผู้บริหาร  นี่ก็มีวิธีการหลายแบบ  สิ่งที่แตกต่างจากการโกงบริษัทธรรมดาก็คือ  นี่คือการโกงเงินจากทั้งบริษัทและนักเล่นหุ้นด้วย  วิธีการยอดนิยมก็คือ  การขายสินค้าให้แก่ตัวเองหรือนอมินีโดยเฉพาะที่ติดตามตัวตนยาก  เช่น  อาจจะอยู่ในต่างประเทศ  การขายนี้จะมียอดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้กำไรเพิ่มขึ้นทันทีแต่ปัญหาก็คือ  มันเป็นการขายเชื่อไม่มีเงินสดจริง  มันเป็นการทำ SG   ผลก็คือ  บริษัทกลายเป็นบริษัทที่  “โตเร็ว”  และราคาหุ้นก็ถูกบิดราคาขึ้นไปสูงทำให้เจ้าของสามารถขายหุ้นทำกำไรอย่างงดงาม  นอกจากหุ้นแล้ว  เจ้าของก็จะได้เงินสดที่ได้จากการขายสินค้าที่ตนเองซื้อจากบริษัทด้วย  เมื่อทุกอย่างปรากฏ  บริษัทก็ล้มเหลว  ส่วนเจ้าของก็หนีไปหาความสุขในต่างประเทศที่ทางการไม่สามารถจับได้  นี่ก็เป็นกรณีของหลายบริษัท  หนึ่งในนั้นก็เป็นบริษัทดีลเลอร์ขายรถยนต์ที่เป็นหุ้นยอดนิยมอยู่พักหนึ่ง

    ประเด็นสำคัญที่ควรจะรู้สำหรับ VI ก็คือ  เราต้องเข้าใจว่าการเติบโตของบริษัทที่เราดูอยู่นั้นมันเป็นการเติบโตที่แท้จริงหรือเป็น Synthetic Growth  ถ้าเราคิดว่ามันเป็น SG เราต้องเข้าใจว่ามันอาจจะไม่โตแบบถาวรหรือคงทน  วันหนึ่งมันก็ต้องหยุดหรือถอยหลังได้  ถ้าราคาหุ้นแพงมากแล้ววัดจากค่า PE และค่าอื่น ๆ  การเข้าไปลงทุนนั้นอาจจะไม่คุ้มค่า  นั่นก็คือ  ถ้าบริษัทโตต่อไปได้  เราก็อาจจะแค่เสมอตัว  แต่ถ้าบริษัทเริ่มชะลอตัวลงเราอาจจะไม่ได้อะไร  แต่ถ้าบริษัทแย่ลงหรือล้มเหลว  มันก็อาจจะเป็นหายนะของการลงทุน

Posted by nivate at 10:49 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/10/1537

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 24, 2015, 06:43:15 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 23 March 2015
หน้ามือ-หลังมือ

คนที่ “ผ่านโลกมามาก” ทั้งที่เป็นประสบการณ์โดยตรง  และการอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์ในหลาย ๆ  ด้านอย่างผมนั้น  มักจะมองอะไรต่าง ๆ  อย่าง  “ปลงอนิจจัง”  มากกว่าคนที่ยังมีอายุน้อยและผ่านประสบการณ์ทั้งโดยตรงและทางอ้อมน้อยกว่า  เหตุผลก็เพราะผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ  มากกว่า  ความเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นนั้น  จำนวนมากเป็นเรื่องของรสนิยมและแฟชั่นฉาบฉวยที่เปลี่ยนรวดเร็วแค่ข้าม “ฤดู”  ไม่กี่เดือนหรือปีสองปีและทุกคนก็เชื่อว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนั้น    บางเรื่องเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปีที่จะค่อย ๆ  เปลี่ยนไปและคนบางส่วนก็เชื่อว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นแม้ว่าคน “รุ่นเก่า” บางส่วนอาจจะ “ไม่ยอมรับ”  และเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องของความเชื่อที่ถูก  “ปลูกฝัง” ลงในสมอง  “ส่วนลึก”  ที่คนทุกคนต่างก็เชื่ออย่างมั่นคงว่ามันเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอนไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้นั้น  ผมก็เห็นมันเปลี่ยนไป  บางครั้ง  จาก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”  ดังนั้น  เวลาที่มีคนมาบอกว่าโลกหรือประเทศไทยหรือบริษัทหรืออะไรก็แล้วแต่  จะต้องหรือจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างจริงแท้แน่นอน  ด้วยเหตุผลที่ฟังดูแล้วน่าเชื่อถือ  มีหลักฐาน  เป็น “วิทยาศาสตร์”  บางครั้งผมก็จะไม่ค่อยเชื่อ  หรือไม่ก็ไม่นำมาเป็นประเด็นที่จะใช้มันในการตัดสินใจหรือประกอบการวิเคราะห์อย่าง  “เอาเป็นเอาตาย”  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ครั้งหนึ่งคนคิดและเชื่ออย่างหนึ่ง  แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม

    ย้อนหลังไปแค่ 3-4 ปี ที่ราคาน้ำมันดิบโลกวิ่งขึ้นไปสูงมากร้อยกว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล  คนก็เริ่มพูดว่าน้ำมันจะต้องมีราคาสูง  “ตลอดกาล”  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันต่ำกว่าร้อยเหรียญนั้น  “ลืมไปได้เลย”  เหตุเพราะบ่อน้ำมันจะค่อย ๆ  แห้งลง  การขุดหาบ่อใหม่จะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ  เหนือสิ่งอื่นใด  โลกไม่ได้เจอบ่อน้ำมันขนาดใหญ่มาหลายสิบปีแล้ว  โลกประสบกับ  “Peak Oil” หรือปริมาณน้ำมันที่ขุดได้สูงสุดแล้วและกำลังลดลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่การใช้น้ำมันก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดยักษ์อย่างจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น

    แต่แล้วราคาน้ำมันดิบก็ “ดิ่งลงเหว”  เหลือแค่ 50-60 เหรียญในเวลาอันสั้นในปีนี้  เหตุผลก็เพราะ  อเมริกาสามารถขุดน้ำมันบนบกด้วยวิธีใหม่ที่เรียกว่า Fracking ซึ่งทำให้ได้น้ำมันมากด้วยต้นทุนต่ำ  และทำให้อเมริกากลายเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่ทำให้ปริมาณการผลิตโลกมากกว่าความต้องการใช้  และนี่ทำให้ราคาน้ำมันลดลง  แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  มีความเชื่อกันใหม่ว่า  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันขึ้นไปสูงอย่างเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ยาก  เพราะโลกอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ  รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตจะเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีหรือใช้ไฮโดรเจน   การปั่นไฟเพื่อใช้ในบ้านและอุตสาหกรรมก็จะเปลี่ยนไปใช้พลังแสงแดดหรือลมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้นทุนที่ต่ำลงเนื่องจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น  ดังนั้น  อนาคตของน้ำมันจึงกำลัง  “ริบหรี่” ตลอดกาล

    แม้แต่บัฟเฟตต์เองก็อาจจะเคยจับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่อาจจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่มีลงและเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับการขุดหาน้ำมันเมื่อหลายปีก่อน  แต่ผมเข้าใจว่าตอนนี้เขาถอนการลงทุนไปหมดแล้ว  หลายคนอาจจะมีความเชื่อใหม่ที่มั่นคงว่า  “พลังงานทางเลือก” ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากชีวมวล  พลังงานแสงแดดและลม จะเป็นสิ่งที่จะเติบโตไปไม่มีหยุดเนื่องจากมันคือแหล่งพลังงานที่ใช้ได้  “ไม่มีวันหมด”  และดังนั้น  การลงทุนกับมันจะเป็นสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง  ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า  นี่คือเรื่องของ  “อนิจจัง”  เรื่องใหม่  เป็นไปได้ที่อีกร้อยปีข้างหน้า  โลกจะใช้พลังงานดังกล่าวมาก  แต่เส้นทางที่ไปและกิจการที่จะรุ่งเรืองนั้น  อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดอย่างสิ้นเชิงก็ได้

    ครั้งหนึ่ง  อาจจะซัก 30-40 ปีที่แล้ว  คนกลัวเรื่องเงินเฟ้อกันมาก  เพราะเงินเฟ้อบางทีสูงถึงปีละ 10% ก็มี  เงินเฟ้อเป็น “ปีศาจ” ที่หลอกหลอนคนทุกชาติ  การต่อต้านเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างเอาเป็นเอาตาย   เพราะเงินเฟ้ออาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศและโลกล่มสลาย  แต่คนก็เชื่อกันว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้อง  “อยู่กับโลก”  เป็นไปไม่ได้ที่เงินจะไม่เฟ้อ  “คนรุ่นพ่อใช้เงินกันวัน 1 บาทแต่เดี๋ยวนี้ 100 บาทนั้นกาแฟหรูซักแก้วก็ยังซื้อไม่ได้”  แต่เดี๋ยวนี้  คนกลับกลัวว่าเงินจะไม่เฟ้อ  หลายประเทศต้องพยายามทำให้เงินเฟ้อเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ  การที่จะให้เงินเฟ้อถึง 2-3% นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับหลายประเทศ  หลายคนเชื่อว่าโอกาสที่โลกจะกลับมามีเงินเฟ้อสูง ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้วสำหรับประเทศที่เจริญและไม่ใช่เศรษฐกิจปิดยกเว้นแต่ประเทศจะเกิดวิกฤติรุนแรงและเงินท้องถิ่นหมดค่าลง

    ความคิดเรื่องของคนหรือประชากรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พลิก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”   สมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นนั้น  ทุกคนบอกว่า  “ลูกมากจะยากจน”  นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่เป็นเรื่องของประเทศและเศรษฐกิจ  การลดการมีลูกหรือมีเด็กเกิดใหม่นั้นเป็น  “ภารกิจสำคัญ” ของประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย  เพราะ  “ประเทศจะพัฒนาไปไม่ได้ถ้ายังมีคนเกิดมาก ๆ”  ประเทศจีนเองถึงกับเป็นนโยบายของรัฐบาลที่บังคับให้ทุกครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว   เดี๋ยวนี้เราบอกว่าประเทศที่จะเติบโตได้เร็วนั้นก็คือประเทศที่มีประชากรมาก  มีคนหนุ่มสาวหรือเด็กมาก  ประเทศที่คนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและมีเด็กเกิดใหม่น้อยนั้น  โอกาสที่จะโตจะยากและในที่สุดก็จะลดลง  ตัวอย่างเช่น  ญี่ปุ่นและประเทศในยุโรปตะวันตก  สิงคโปร์เองตอนนี้ต้องส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น  ตอนนี้มีแต่คนคิดว่าเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” ที่ประเทศที่คนแก่ตัวลงแล้วจะมีประชากรเกิดใหม่มากขึ้น

    เรื่องของสุขภาพเองนั้น  เรามีความเชื่อที่  “ฝังหัว” มานานมากว่าคลอเรสเตอรอลทำให้เป็นโรคหัวใจ  และดังนั้น  เราควรจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลสูงโดยเฉพาะที่เป็นคนสูงอายุ  ดังนั้น  เวลาผมดื่มนมผมจึงมักเลือกนมพร่องมันเนย  ผมจะจำกัดการกินไข่ไม่เกินสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง  ผมหลีกเลี่ยงเนื้อมัน ๆ และหนังไก่  ผมหลีกเลี่ยงกะทิ ทั้ง ๆ  ที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ผมชอบกิน  แต่คลอเรสเตอรอลผมก็ยังสูงกว่ามาตรฐานอยู่ดี  ดังนั้นผมต้องกินยาลดคลอเรสเตอรอลทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคเส้นเลือดอุดตัน  แต่ล่าสุดมี  “ผลการศึกษา” ที่พบว่าการกินอาหารไม่มีอะไรเกี่ยวกับระดับของคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือดของเรา  เพราะคลอเรสเตอรอลส่วนใหญ่นั้นถูกผลิตขึ้นภายในร่างกายของเราอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ  อยากกินอะไรก็กินไป  มันไม่ได้เพิ่มหรือลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด  ที่จริง  การกินไข่วันละหลาย ๆ ฟองเป็นสิ่งที่ดี  มันมีสารอาหารที่วิเศษที่ช่วยการทำงานของร่ายกายและลดการเป็นอัลไซเมอร์  แต่ถึงวันนี้ผมเองก็ยังสงสัยว่า “ผลการศึกษา” เก่ามันผิดหรืออย่างไร?  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ยังไม่กล้ากินไข่หรืออาหารมันมากนัก  เพราะยังกลัวว่าอาจจะมี “ผลการศึกษา” ใหม่กว่าที่จะทำให้ผมต้อง “ช๊อก” เพราะเราเป็นโรคหัวใจเนื่องจาก “กินไม่ระวัง” เพราะเชื่อการศึกษาใหม่

    ในชีวิตเรานั้น  ผมคิดว่าเราถูกข้อมูลข่าวสาร  “ล้างสมอง”  ทุกวันตั้งแต่เด็กจนถึงแก่  ข้อมูลบางอย่างก็ไม่ได้มีความลำเอียงอะไรแต่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง  มันถูกประกาศหรือปล่อยออกมาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการแต่หลังจากนั้นมันก็อาจจะ “ติด” จนคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอน  ข้อมูลหลายอย่างก็อาจจะถูกปล่อยออกมาโดยมีความตั้งใจเพื่อให้คนเชื่อด้วยเหตุผลที่มันเป็นประโยชน์ต่อคนปล่อยและมันก็ทำให้เราและสังคมเชื่อ   ผมเองคิดว่านักลงทุนจำเป็นที่จะต้องแยกแยะว่าอะไรเป็นของจริงแท้แน่นอน  ซึ่งนี่ก็ควรเป็นเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์  อะไรที่อาจจะไม่จริงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่ออย่างไม่มีคำถาม  นี่ก็คือสิ่งที่มักจะเป็นวิทยาศาสตร์ผสมกับศิลปะซึ่งก็มักจะรวมถึงเรื่องการแพทย์หรือสุขภาพ  และอะไรที่อาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงเท่ากันซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ซึ่งน่าจะรวมถึงพฤติกรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ  ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง  และสุดท้ายคือเรื่องที่เปลี่ยนไปได้แค่ข้ามคืนซึ่งก็คือเรื่องที่เป็นศิลปะล้วน ๆ  เช่นเรื่องของแฟชั่นหรือความเห่อของคน

 
Posted by nivate at 9:44 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/23/1542


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มีนาคม 31, 2015, 12:39:36 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 30 March 2015
วิชาเทพ-วิชามาร


 คนที่เคยอ่านหนังสือ “กำลังภายในจีน” ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนยุคก่อนจะต้องรู้จักคำว่า  “วิชามาร” ซึ่งเป็นวิชาความรู้ในการต่อสู้ที่รุนแรง  ร้ายกาจ โหดเหี้ยม  และบางครั้งก็มักจะไม่คำนึงถึง  “จรรยาบรรณ” หรือ “กติกา” ในการต่อสู้  และคนที่ใช้วิชาแบบนี้ก็มักจะเป็นผู้ร้ายหรือเป็น  “มาร”  ส่วนคนที่เป็นพระเอกหรือคนดีที่เป็น  “เทพ”  นั้นก็มักจะใช้วิชาอีกแบบหนึ่งที่มีลักษณะตรงกันข้ามในเรื่องของรูปแบบ  เช่น  ไม่รุนแรงโหดเหี้ยม  แต่อาจจะอาศัยแรงของคู่ต่อสู้ที่ทำให้เขา  “แพ้ภัยตัวเอง”  วิชาเทพนั้นมักจะ  “อ่อนโยนและสงบนิ่ง” กว่า  นอกจากนั้นก็มักจะต้องยึดถือ “จรรยาบรรณ”  ในการต่อสู้  ไม่คดโกงหรือลอบกัดฝ่ายตรงข้าม  การต่อสู้ระหว่างมารและเทพนั้น  แม้ว่าในระยะแรกดูเหมือนมารจะได้เปรียบ  แต่ในท้ายที่สุดแล้ว  เทพก็มักจะเป็นฝ่ายชนะ

    ผมเองนั้นไม่ใช่คนที่ชอบอ่านหนังสือกำลังภายในเลย  อย่างไรก็ตาม  แนวคิดเรื่องวิชาเทพ-วิชามารนั้น  ผมคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการลงทุนได้ดี  สิ่งที่จะต้องประกาศไว้ก่อนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดก็คือ  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  “วิชามาร” ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่เลวร้าย  และคนที่ใช้มันก็ไม่ใช่คนที่ไม่ดีเสมอไป  เช่นเดียวกัน  “วิชาเทพ”  เองก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป  และคนที่ใช้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่ดีเสมอไป   เช่นเดียวกัน  คนที่ใช้วิชาเทพมากก็ไม่ใช่ว่าจะต้องชนะ  และผู้ที่ใช้วิชามารเป็นหลักก็ไม่ใช่ว่าจะต้องแพ้  บ่อยครั้งมันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เช่นเดียวกับความสามารถของผู้ใช้  เหนือสิ่งอื่นใด  มีนักลงทุนน้อยคนที่จะใช้เฉพาะวิชามารหรือวิชาเทพเพียงอย่างเดียวในการลงทุน  ในบางโอกาส  แม้แต่คนที่ยึดถือวิชาเทพเป็นหลักมาก ๆ  ก็ยังใช้วิชามารเข้าเล่นด้วย  เช่นเดียวกัน  คนที่ดูเหมือนจะใช้วิชามารเป็นส่วนใหญ่ก็มักจะงัดวิชาเทพออกมาใช้  ดังนั้น  ความหมายที่ผมต้องการสื่อก็คือ  วิชาก็คือวิชา  มันเป็นกลาง  มันเป็นเสมือนอาวุธและลีลาที่ใครจะนำไปใช้ก็ได้ที่จะทำให้เขา  “ชนะ”

    ในเรื่องของการลงทุนนั้น  นิยามกว้าง ๆ  ที่ผมจะกำหนดว่าแบบไหนเป็นวิชามารและแบบไหนเป็นวิชาเทพนั้นจะล้อไปกับเรื่องของกำลังภายใน  หลัก ๆ  ก็คือ  ถ้าเป็นเรื่อง  “รุนแรง”  นั่นก็คือ  ลงทุนแล้วได้เสียมากและเร็วมาก  ก็จะถือว่าเป็น  “วิชามาร”  นั่นคือข้อแรก  ข้อสอง  ถ้าเป็นเรื่องที่ “ร้ายกาจ”  นั่นคือ  เข้าไปเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งแล้ว  เรา “ชนะ”  คือสามารถทำกำไรได้มโหฬาร  แต่คนที่ “แพ้” คือคนที่เล่นหุ้นตัวเดียวกันต้องขาดทุนอย่างหนัก  พูดง่าย  ๆ  คนที่ชนะ “กินเงินจากผู้แพ้”  แบบนี้ถือว่าเป็นวิชามาร  ตรงกันข้าม  ถ้าคนที่ชนะไม่ได้ได้เงินจากนักลงทุนคนอื่น   แต่ได้จากการที่บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้นมากทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและไม่ตกลงมาที่ทำให้คนอื่นขาดทุน

    นิยามข้อสุดท้ายก็คือ  เรื่องของความ “โหดเหี้ยม” และ/หรือ “ไร้จรรยาบรรณ”  นั่นก็คือ  การ “ปั่นหุ้น”  และการ  “ใช้ข้อมูลภายใน”  ในการลงทุน  นี่ถือว่าเป็น “วิชามาร”  ขั้นสุดยอดจริง ๆ  และคนที่เล่นแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็น  “มาร”  จริง ๆ  ในแง่ที่เป็นคนไม่ดี  และกรณีที่ทำมากจนเข้าข่ายผิดกฎหมายก็เสี่ยงที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญา  แต่สำหรับนิยามของผมเองนั้น  การปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายก็ต้องถือว่าเป็น “วิชามารขั้นสูง” ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้  และนิยามการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในนั้นเอง  ก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นสีเทา ๆ นั่นก็คือ  ถ้ามีการใช้กระบวนการในการปล่อยข่าวและ/หรือสร้างกระแสหรือภาพลักษณ์ของกิจการหรือหุ้นมากมายโดยที่มันไม่ใช่ความจริงหรือมีความไม่แน่นอนสูงเพื่อที่จะทำให้คนสนใจเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อที่จะผลักดันราคา  หรือมีการซื้อขายหุ้นนำเพื่อทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปรุนแรงเพื่อที่จะดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาร่วมวงซื้อขายอะไรทำนองนี้  แม้ว่าโดยนิยามทางกฎหมายอาจจะไม่ใช่การปั่นหุ้น  แต่โดยนิยามของผมแล้วมันก็คือการใช้วิชามาร

    มาดูกันว่าพฤติกรรมแบบไหนในการลงทุนที่เข้าข่ายการใช้ “วิชามาร” กันบ้าง  เบื้องต้นก็คือตามนิยามข้อแรกที่น่าจะเป็นวิชามารอย่างอ่อน  ผมคิดว่า  การลงทุนหรือเล่นหุ้นที่มีการใช้มาร์จินนั้น  เป็นการใช้วิชามารเพื่อที่จะเร่งผลตอบแทน  ยิ่งใช้มาร์จินสูงก็จะมีความรุนแรงหรือความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น  เช่นเดียวกัน  การกู้ยืมเงินจากพ่อแม่พี่น้องหรือญาติมาลงทุนรวมถึงการนำสินทรัพย์เช่นบ้านมาค้ำประกันเพื่อกู้เงินมาลงทุนต่าง ๆ  เหล่านี้ก็เป็นเรื่องการใช้วิชามารทั้งสิ้น  นอกจากนั้น  การลงทุนในตราสารการเงินที่มีความผันผวนสูงมาก ๆ  เนื่องจากลักษณะตราสารเองไม่ใช่ลักษณะของกิจการ  ตัวอย่างเช่นวอแร้นต์ที่ราคาแปลงสภาพสูงกว่าราคาของหุ้นแม่มาก  หรือการเล่นคอมโมดิตี้หรือพวกฟิวเจอร์หรือออปชั่นที่มีการวางเงินเพียงเล็กน้อยแต่มีระดับของการ  “พนัน”  สูงมาก  ผมก็ถือว่าเรากำลัง  “เล่นกับไฟ”  และดังนั้นมันจึงเป็นการใช้วิชามาร  ว่าที่จริง  การเข้าไปเล่นหุ้น IPO ในวันที่หุ้นเข้าตลาดในวันแรกในช่วงเร็ว ๆ นี้นั้น  ผมเองคิดว่ามันก็ไม่ห่างจากวิชามารมากนัก

    นิยามในข้อสองคือเรื่องของความ  “ร้ายกาจ” นั้น  ถ้าเกิดจากความตั้งใจของการเข้าไปไล่ราคาหุ้นเพื่อที่จะ “ปล่อยของ”  อย่างรวดเร็ว  นั่นก็คือการทำราคาหุ้นให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการต่าง ๆ  เพื่อที่ตนเองจะได้ขายในราคาสูงโดยที่รู้ว่าพื้นฐานของราคาหุ้นต่ำกว่านั้นมาก  ผลก็คือ  นักลงทุนคนอื่นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้อง  “บาดเจ็บ”  อย่างหนักเนื่องจากเข้าไปซื้อหุ้นที่แพงเกินพื้นฐานไปมากและต้องขายขาดทุนหนักหรือต้องติดหุ้นไปยาวนานมาก  ลักษณะแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้วิชามารอย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม  ยังมีการซื้อหุ้นและขายทำกำไรมากแต่คนอื่นขาดทุนอย่างหนักโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่ได้ตั้งใจ  นี่ก็คือการที่นักลงทุนเข้าไปเล่นหุ้นที่มีผลประกอบการที่มีความไม่แน่นอนสูงหรือมีวัฏจักรรุนแรง  พอเข้าไปแล้วราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปสูงมากอย่างรวดเร็ว   ซึ่งอาจจะเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของธุรกิจและ/หรือผลจากการซื้อหุ้นของเขาเอง  เขาจึงตัดสินใจขายหุ้นทิ้งอย่างรวดเร็วทำกำไรงดงามและทำให้ราคาตกลงอย่างหนักและทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเสียหาย  ในกรณีแบบนี้ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นเรื่องของวิชามารเหมือนกันแม้ว่าดีกรีจะอ่อนกว่าแบบแรก

    สุดท้ายคือนิยามของความโหดเหี้ยมและ/หรือไร้จรรยาบรรณในการลงทุน  นี่ก็คือการเล่นหุ้นในแบบที่อาจจะเป็นการเอาเปรียบคนอื่นอย่างชัดเจนเช่นการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้น  การเล่นหุ้นที่ใช้  “วิศวกรรมการเงิน” แบบวิชามาร  เช่น  การซื้อหุ้น PP หรือหุ้นใหม่ของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ๆ   การให้วอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก ๆ  ที่จะไดลูทหรือทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนในบริษัทน้อยลงมากในอนาคต  การแตกพาร์โดยไม่สมเหตุผล  และอื่น ๆ อีกมาก  แบบนี้ผมถือว่ามันเป็นเรื่องของการใช้วิชามารในการลงทุนหรือเล่นหุ้นทั้งสิ้น

    ถ้าจะถือว่าเซียนหุ้นระดับโลกคนไหนใช้วิชามารมากนั้น  ผมคิดว่า จอร์จ โซรอส เป็นคนหนึ่ง  เพราะการทำกำไรของโซรอสนั้น  บ่อยครั้งทิ้ง “หายนะ” ให้กับคนอื่น ๆ  อีกหลายคน  ส่วนคนที่ใช้วิชาเทพมากนั้น แน่นอน คือ วอเร็น บัฟเฟตต์  ที่ทำเงินโดยการเติบโตของกิจการที่เขาไปลงทุน  มีหุ้นน้อยมากที่บัฟเฟตต์ซื้อและขายทำกำไรได้งดงามแต่ในที่สุดคนที่ซื้อตามเจ๊ง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  บัฟเฟตต์ซื้อแล้วเขาแทบจะไม่เคยขายอย่างรวดเร็ว  จำนวนมากเขาถือมันไว้ตลอดชีวิต  บัฟเฟตต์นั้นได้เงินจากบริษัท  ไม่ได้ได้จากผู้ถือหุ้นคนอื่น

    ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมไม่รู้ว่าระหว่างคนที่ใช้วิชาเทพหรือคนที่ใช้วิชามารอย่างมีประสิทธิภาพนั้น  ใครทำกำไรหรือได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า  เป็นไปได้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นร้อนแรงและราคาหุ้นขึ้นเป็นกระทิงยาวนานนั้น  คนที่ใช้วิชามารเก่ง ๆ  น่าจะทำกำไรได้ดีกว่า  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวที่ตลาดหุ้นมักมีการขึ้นลงและมักจะมีช่วงที่เลวร้ายเป็นระยะ ๆ  คนที่ใช้วิชาเทพก็อาจจะสามารถทำผลงานเฉลี่ยได้ดีกว่าเช่นเดียวกัน  เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

Posted by nivate at 10:26 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/23/1542


หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 07, 2015, 04:09:08 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 7 April 2015
ฟองสบู่ (เล็ก ๆ) ของอสังหาริมทรัพย์

อาการที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นสูงติดต่อกันมายาวนานนั้น  ผมคิดว่าเป็นผลมาจากการที่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดต่อกันมายาวนาน  นักลงทุนบางส่วนไม่รู้จะฝากเงินในธนาคารหรือลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ไปทำไม  ดังนั้นพวกเขาจึงนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   แต่ไม่ใช่ตลาดหุ้นเท่านั้นที่ราคาเพิ่มขึ้น  อสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นคอนโดมิเนียมนั้น  ผมก็รู้สึกว่ามันมีราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว  บางทีอาจจะไม่แพ้ตลาดหุ้นด้วยซ้ำ  นอกจากคอนโดมิเนียมแล้ว  ผมยังรู้สึกว่าอสังหาริมทรัพย์  “เชิงพาณิชย์”  ที่สามารถปล่อยเช่าได้ต่างก็ดูเหมือนว่าจะมีมูลค่าหรือราคาเพิ่มขึ้นมาก  และนั่นก็นำมาสู่การขยายตัวของคอนโดมีเนียมและอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ เช่น  ช็อบปิ้งมอล  และคอมมูนิตี้มอล เป็นต้น  ผมเองไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นสูงเกินไปหรือยัง  แต่เมื่อมองดูจากอาการต่าง ๆ  ที่ปรากฏเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ผมก็รู้สึกว่า  อย่างน้อยอสังหาฯเองก็น่าจะมี  “ฟองสบู่”  เล็ก ๆ  เกิดขึ้นแล้ว  และโอกาสที่ฟองสบู่จะ “แตก” ก็อาจจะมี  แม้ว่าการแตกของฟองสบู่อสังหาฯอาจจะไม่ได้รุนแรงและราคาอาจจะตกลงมาน้อย  แต่การขยายตัวของอสังหาฯในอนาคตก็อาจจะน้อยหรือซบเซาลงมากได้

    อาการ  “ฟองสบู่” ของอสังหาฯ  หรือว่าที่จริงเป็นอาการของทรัพย์สินเกือบทุกอย่างที่กำลังเป็นฟองสบู่นั้นมีหลายเรื่อง   อาการแรกก็คือ  ในการซื้ออสังหาฯ เช่นคอนโดหรือบ้าน  มีการปล่อยกู้สูงมาก  คนกู้อาจจะใช้เงินตัวเองเพียง 5-10%  อีก 90-95% เป็นเงินกู้  บางครั้งผมได้ยินว่าเราสามารถซื้อบ้านโดยไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์เลย  แถมมีเงินให้อีก  เราแค่ลงนามในสัญญาเงินกู้แล้วก็คอยผ่อนทุกเดือนหลังจากนั้น  การผ่อนก็สบาย ๆ  ให้เวลาเป็นหลายสิบปี  ดูไปแล้วก็  “ดีกว่าเช่า”  เพราะถ้าเช่า  เงินก็จะหายไป  แต่ถ้าซื้อเงินผ่อน  สุดท้ายบ้านก็เป็นของเรา  เม็ดเงินปล่อยกู้ในอสังหาฯ เองนั้น  ผมก็เห็นว่ามีการปล่อยกู้ออกไปมาก  ทั้งในด้านของบ้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า  สถาบันการเงินเองก็อยากจะปล่อยเงินกู้ในส่วนนี้เพราะคิดว่ามันมีหลักประกันชั้นดีรองรับอยู่  ดังนั้น  อัตราดอกเบี้ยจึงค่อนข้างต่ำแม้ว่าอัตราส่วนการกู้ต่อเงินดาวน์จะค่อนข้างสูง

    อาการฟองสบู่ข้อต่อมาก็คือ  ในภาวะที่เป็นฟองสบู่นั้น  คนที่เป็น  “มือสมัครเล่น” จะเริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรม  หรือคนที่ไม่มีความสามารถที่จะมีบ้านได้ก็จะเข้ามาซื้อบ้านได้  ตัวอย่างเรื่องนี้ก็คือ โครงการคอมมูนิตี้มอลที่มีคนเข้ามาทำมากมาย  จำนวนมากนั้น  ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำมอลมาก่อนเลย  แต่เข้ามาทำเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ยาก  เขาอาจจะคิดว่าทำเลที่ดีจะทำให้มอลสำเร็จ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันเป็นโครงการเล็ก ๆ  ที่ต้องการผู้เช่าไม่กี่ราย  การบริหารงานก็ไม่ต้องทำอะไรมาก   เราแค่เป็นจุดสะดวกที่คนในท้องถิ่นจะมาหาอะไรรับประทานและเดินเล่นในยามเย็นก็เพียงพอแล้ว   ในส่วนของบ้านหรือคอนโดเองนั้น  อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและระยะเวลาในการผ่อนส่งที่นานเป็นพิเศษ  ทำให้ค่าผ่อนรายเดือนต่ำมากจนคนที่ไม่น่าจะซื้อบ้านได้เนื่องจากรายได้ไม่พอสามารถจะซื้อได้   อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวแล้ว  อัตราดอกเบี้ยก็อาจจะเปลี่ยนไปซึ่งอาจจะทำให้เขาไม่สามารถผ่อนต่อได้

    สัญญาณฟองสบู่ข้อต่อมาก็คือ  คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมไม่กลัวความเสี่ยง  พวกเขาเชื่อว่าราคาของอสังหาฯ นั้น  “ไม่มีวันตก”  ว่าที่จริงความคิดนี้แทบจะฝังหัวคนไทยมานาน  แม้ว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ราคาอสังหาฯ ตกลงมาพอสมควร  แต่หลังจากนั้นแล้วมันก็มีแต่ขึ้นมาตลอด  ในช่วงหลัง ๆ  นี้  ราคาคอนโดมีการปรับตัวขึ้นมาสูงมากจนน่าตกใจ  คอนโดที่โดดเด่นกลางใจเมืองและติดสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่งราคาต่อตารางเมตรเท่ากับหลายแสนบาทแล้ว  แต่คนก็คิดว่าซื้อไว้ได้  เพราะเดี๋ยวโครงการใหม่ก็จะสูงขึ้นไปอีก  ในส่วนของช็อบปิงมอลเองนั้น  ก็ยังมีคนเปิดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ  จนผมรู้สึกว่าถึงวันหนึ่งมันจะไม่คุ้มทุนเนื่องจากผู้เช่าจะหายากขึ้นและราคาค่าเช่านั้น  วันหนึ่งอาจจะต้องปรับตัวลงถ้าความจริงปรากฏว่าเขาค้าขายไม่ดีอย่างที่คิด

    อาการที่จะชี้ว่าอาจจะมีฟองสบู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ความซับซ้อนของกระบวนการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ  ผมจะไม่พูดถึงเรื่องที่ผู้ซื้ออสังหาฯ รายย่อยบางรายอาจจะรู้สึกงง ๆ ที่ต้องลงนามในเอกสารแปลก  ๆ เวลาเซ็นต์สัญญาต่าง ๆ  แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของกองทุนอสังหาฯ หรือกองทุนอื่น ๆ  ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นอสังหาฯ  เราก็อาจจะพบเงื่อนไขหรือรายละเอียดมากมาย  เช่น  การรับประกันรายได้ในช่วง 2-3 ปีแรก  เงื่อนไขในการเช่าของเจ้าของทรัพย์สินเดิมที่ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน  และน่าจะยังมีเรื่องอื่น ๆ  อีกมากตามแต่ตัวโครงการแต่ละแห่ง  ผมเองคิดว่าเรื่องต่าง ๆ  เหล่านั้นค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจได้ยากว่ามันจะมีผลอย่างไรต่อผลตอบแทนของทรัพย์สินในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  นี่คือสัญญาณของฟองสบู่อย่างหนึ่ง  บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าความซับซ้อนนั้นทำให้คนงงและยอมซื้อของแพง ๆ  ก็ได้

    สัญญาณสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  เรื่องของสถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้างของบริษัทในอุตสาหกรรม   ในยามที่กำลังเกิดฟองสบู่นั้น  มันจะโอ่อ่าอลังการที่สุด  ยกตัวอย่างเช่น  ในยุคที่สถาบันการเงินรุ่งเรืองสุด ๆ  นั้น  พวกเขาจะมีสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่เลิศหรูอลังการ  บางบริษัทก็มีเครื่องบินส่วนตัวที่เอาไว้ใช้เดินทางอย่างสะดวกสบาย  ในเรื่องของอสังหาฯ นั้น  ช่วงหลัง ๆ  นี้  เราก็เห็นความเลิศหรูของช็อบปิงมอลเกิดขึ้นและหรูขึ้นเรื่อย ๆ   คอนโดที่สร้างก็จะหรูขึ้นแพงขึ้นและสูงขึ้นเรื่อย ๆ  นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้ง ๆ  ที่ภาวะเศรษฐกิจของเรากำลังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก

    ฟองสบู่อสังหาฯ ถ้ามีอยู่แล้วตามที่ผมคิดก็อยู่ในภาวะที่น่าจะอันตรายพอสมควรเนื่องจากอาจจะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่ามันอาจจะกำลังค่อย ๆ  ยุบตัวลง  โดยที่อาจจะเริ่มต้นจากอสังหาฯ ที่มี “พื้นฐาน” ไม่ใคร่ดีนัก  ตัวอย่างเช่น  คอนโดในต่างจังหวัดที่เริ่มขายยากขึ้นมากจนบางโครงการอาจจะต้องล้มเลิกคืนเงินให้กับคนจองทั้ง ๆ  ที่ก่อนหน้านั้นโครงการคอนโดต่างจังหวัดบางแห่งนั้นขายได้อย่างรวดเร็ว   เช่นเดียวกัน  คอนโดในกรุงเทพที่ทำเลไม่ดีไม่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าก็มีการขายที่ช้ามาก

    ค่าเช่าที่จะได้จากการปล่อยเช่าคอนโดนั้น  ดูเหมือนว่าจะต่ำลงมาเรื่อย ๆ  และประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การหาคนเช่าดูเหมือนว่าจะยากขึ้นและยากขึ้น  ผมรู้จักคนที่ทำอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าราคาถูกเองก็เริ่มบ่นว่า  “ไม่คุ้ม”  กับการลงทุนแล้ว  เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่ามีอพาร์ทเม้นท์เกิดเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการ  ดังนั้น  พวกอพาร์ทเม้นท์เก่าจึงอยู่ลำบากเนื่องจากคนเช่าจะสนใจในอาคารที่ใหม่กว่าแต่ราคาอาจจะพอ ๆ  กัน

    คอมมูนิตี้มอลเองนั้น  เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางแห่งนั้น “เหงา” มาก  อนาคตไม่สดใสและอาจจะไปไม่รอด  ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการขึ้นค่าเช่าที่มักจะวางกันไว้ว่าจะขึ้นทุก 3 ปี ปีละประมาณ 5% โดยเฉลี่ย  แม้แต่ช็อบปิงมอลขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำนั้น  ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ  ผมเองเคยไปเดินดูก็พบว่าคนค่อนข้างน้อยแม้ในวันหยุด  และดังนั้นผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเพิ่มค่าเช่าได้แค่ไหนเมื่อถึงปีที่จะต้องปรับค่าเช่าเพิ่ม

    ในกรุงเทพและหัวเมืองท่องเที่ยวเองนั้น  แม้ว่าชอบปิงมอลขนาดใหญ่ส่วนมากดูเหมือนว่าจะยังสามารถปรับค่าเช่าได้ซึ่งทำให้มันมีมูลค่าสูง  แต่จำนวนมอลใหม่ที่เพิ่มขึ้นและหรูเลิศอลังการมากขึ้นโดยที่ความต้องการนั้นดูจากภาพใหญ่แล้วก็ไม่น่าจะมากขึ้นมาก  ผมเองก็ยังสงสัยว่าในอนาคตอันไม่ยาวนักจะสามารถเพิ่มค่าเช่าตามแนวที่เคยใช้มายาวนานหรือไม่

    โดยรวมแล้ว  ข้อสรุปของผมก็คือ  อสังหาฯ เองนั้น  มีอะไรหลายอย่างคล้าย ๆ  หุ้น นั่นคือ  ราคาปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานและมีราคาแพงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้จากค่าเช่า  อาการต่าง ๆ  หลายอย่างบอกว่ามันอาจจะมีฟองสบู่เล็ก ๆ  เกิดขึ้นและมีโอกาสที่มันจะ “ฝ่อ”  คือ การเติบโตต่อไปนับจากวันนี้อาจจะช้าลงมาก       

Posted by nivate at 4:00 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/04/07/1547
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 26, 2015, 01:59:58 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 20 April 2015
Don Quijote

ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงวันหยุดสงกรานต์ทั้ง ๆ  ที่เพิ่งไปญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา  เหตุที่ไปญี่ปุ่นอีกนั้นเป็นเพราะผมตัดสินใจเปลี่ยนโปรแกรมท่องเที่ยวกะทันหันจากประเทศในยุโรปแห่งหนึ่งเนื่องจากมีปัญหาบางอย่าง  และในระยะเวลาอันสั้นนั้น  ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดีและสะดวกที่สุดที่จะไปเที่ยวเนื่องจากเป็นประเทศที่สาธารณูปโภคในเรื่องของการเดินทาง  อัธยาศัยของผู้คน  สถานที่ท่องเที่ยวและช็อปปิง  และต้นทุนหรือราคาของค่าบริการและสินค้าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคุณภาพ  และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เราไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศในช่วงนี้  ทั้งหมดนั้นทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวลำดับต้น ๆ ของคนไทยในปัจจุบัน  และนั่นก็ทำให้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากจนน่าจะอยู่ในลำดับต้น ๆ  ของชาวต่างชาติที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจนทำให้สถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากในญี่ปุ่นต้องมีภาษาไทยเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ  จีนและเกาหลี  ในร้านค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยวบางแห่งนั้นถึงกับมีการประกาศเป็นภาษาไทยเพื่อแนะนำหรือเชียร์ให้คนไทยซื้อสินค้า

    เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ  ผมมักจะสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในท้องถิ่น  กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการซื้อขายตามห้างร้านต่าง ๆ  รวมถึงนักท่องเที่ยวว่าพวกเขาชอบทำอะไรกัน  และก็อย่างที่เป็นมาตลอด  ในถานะของนักลงทุน  ผมก็มักจะอดคิดไปถึงเรื่องหุ้นและการลงทุนไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การลงทุนนั้นเริ่มที่จะเป็นเรื่องโลกาภิวัตรมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งหมายความว่าเราสามารถที่จะลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากได้โดยมีอุปสรรคน้อยลงมาก  และต่อไปนี้ก็คือข้อสังเกตของผมในการไปญี่ปุ่นเที่ยวนี้

    ข้อแรกก็คือ  คนที่ไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากจริง ๆ  ในช่วงนี้นั้นน่าจะเป็นคนจีนและคนไทยที่มีรายได้ปานกลาง  พวกเขาเป็นนักท่องเที่ยวประเภท  “Economy” ที่ไม่ได้ใช้จ่ายเงินมากนักโดยเฉพาะในสิ่งที่เป็น  “ความหรูหรา”  พวกเขาไม่อยู่โรงแรมที่แพงมาก  กินอาหารเหมือนคนชั้นกลางในท้องถิ่น  ชอบซื้อสินค้าราคาถูกและเข้าร้านสะดวกซื้อ  พวกเขาดูเหมือนจะชอบการช็อปปิงและดูธรรมชาติและบ้านเมืองมากกว่าการดูโบราณสถานและฟังเรื่องประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นหรือสถานที่  จำนวนของนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ผมรู้สึกว่าน่าจะมีนัยสำคัญมากขนาดที่จะช่วยให้ภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นได้  และทั้งหมดนี้ดูไปแล้วก็คล้าย ๆ  กับสถานการณ์ในประเทศไทยที่เรามีคนจีนที่มีโปรไฟล์คล้าย ๆ  กันเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมากจนน่าจะมีผลต่อการประคองเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้ไม่ให้เลวร้ายเกินไปเช่นเดียวกับในกรณีของญี่ปุ่น

    ข้อสังเกตที่สองของผมก็คือ  ร้านค้าขายยอดนิยมของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นน่าจะมีอย่างน้อย 2 ร้านหรือสองเครือข่าย  โดยร้านแรกคือร้านที่ขายสินค้าราคาถูกสารพัดชนิดที่ไม่ใช่สินค้าเน่าเสียเช่นอาหารสดหรือเป็นสินค้าแฟชั่นที่ตกยุคได้ง่ายเช่นพวกเสื้อผ้าชื่อ  “Don Quijote” ออกเสียงว่า “ดอน คี โฮ เต”  ส่วนอีกร้านหนึ่งนั้นเป็นร้านขายเครื่องสำอางและยาขนาดใหญ่ที่มีสินค้าสารพัดชนิดที่ผู้หญิงทุกคนต้องใช้เป็นประจำชื่อ “Matsumoto” ออกเสียงว่า “มัตสึโมโต”  เหตุที่ผมรู้ก็เพราะว่าเมื่อเข้าไปร้านทั้งสองนี้ก็จะพบคนไทยและคนต่างชาติที่เป็นคนเอเซียจำนวนมากหิ้วตะกร้าหาซื้อสินค้าสารพัดอย่าง  เวลาจ่ายเงินก็จะแสดงพาสพอร์ตเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีกรณีที่เราซื้อถึงจำนวนหนึ่ง  ซึ่งนี่ก็เป็นความสะดวกมากเทียบกับการที่ต้องไปเคลมภาษีคืนที่สนามบินอย่างในประเทศอื่น ๆ  หลายประเทศ  ร้านทั้งสองเครือข่ายที่ว่านี้  แน่นอน  ไม่ใช่ขายเฉพาะนักท่องเที่ยว  ว่าที่จริง  มันเป็นร้าน  “ยอดนิยม” ของคนญี่ปุ่นเองอยู่แล้วเห็นได้จากจำนวนลูกค้าที่ค่อนข้างคึกคักตลอดเวลา   เพียงแต่ว่านักท่องเที่ยวก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีนัยสำคัญมากโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

    จุดเด่นของ ดอนคีโฮเต นั้นอยู่ที่ราคาสินค้าที่ “ถูกที่สุด”  และมีของทุกอย่างที่คุณต้องการ  ดอนคีโฮเตจะทำทุกอย่างที่เป็นการประหยัดต้นทุน  การตกแต่งร้านมีน้อยมาก  ร้านเก่า ๆ บางแห่งของบริษัทอย่างเช่นร้านหนึ่งที่โอซากานั้นไม่มีแม้แต่บันไดเลื่อนแม้ว่าจะมีถึง 4-5 ชั้น  การวางสินค้าของบริษัทก็จะแน่นมากและชั้นวางสินค้าก็จะสูงขึ้นไปหลายชั้นจนหยิบไม่ถึง  สินค้าของบริษัทนั้นน่าจะมีขายทุกแบรนด์ถ้าราคาไม่แพง  แม้แต่สินค้าอย่างกระเป๋าหลุยส์วิตตองหรือแชนเนลก็มีขายแต่เป็นของเก่าที่อาจจะขายในราคา 20-30% ของราคาของใหม่เป็นต้น  สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว  นื่คือร้านสำหรับ  “คนจน”  หรือคนชั้นกลางที่ต้องการประหยัด ตำแหน่งการตลาดของร้านนั้นชัดเจนที่ว่ามันคือร้าน  “Super Cheap” ที่มีการออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น  และนั่นก็ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว  “รุ่นใหม่” ของเอเซียโดยเฉพาะจีนที่กำลังเติบโตอย่างมากเนื่องจากอานิสงค์ของการที่การเดินทางโดยเครื่องบินและค่าใช้จ่ายของการท่องเที่ยวที่ถูกลงมาก

    ผมเองรู้จัก ดอนคีโฮเต มาน่าจะ 2-3 ปีแล้วโดยไม่เคยรู้ว่ามันเป็นบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดโตเกียวมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว  การเที่ยวญี่ปุ่นครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่ามันคือหุ้นที่เริ่ม “ร้อนแรง” มาได้ 2-3 ปีแล้วโดยที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับการเติบโตของนักท่องเที่ยว  “ชนชั้นกลาง” ของเอเซียหรือไม่แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น  ย้อนหลังไป 3 ปี ราคาหุ้นของดอนคีโฮเตอยู่ที่ประมาณ 2600 เยนเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันราคาขึ้นไปที่ประมาณ 10,500 เยน หรือเป็นการปรับขึ้น 300% ในขณะที่ดัชนีนิกเกอิเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 130% เท่านั้น   ถ้าดูยอดขายของบริษัทก็พบว่ารายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 6-7% ซึ่งถ้ามองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นแทบไม่โตเลยในช่วงเดียวกันก็ถือว่าใช้ได้ทีเดียว  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  กำไรของบริษัทกลับโตได้ปีละถึงเกือบ 20% โดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  และนี่น่าจะเป็นแรงขับให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาก  ผมเองคงสนใจที่จะลงทุนซื้อหุ้นดอนคีโฮเตถ้าราคาหุ้นไม่แพง  แต่เมื่อดูค่า PE ของบริษัทที่ประมาณ 39 เท่า และปันผลที่ประมาณแค่ 0.34% ต่อปีเทียบกับราคาหุ้นก็ทำให้ผม  “ถอย” และก็ได้แต่เสียดายว่า  “เรารู้ช้าไป 3 ปี”

    เช่นเดียวกับหุ้น ดอนคีโฮเต  หุ้นมัตสึโมโตเองก็จดทะเบียนในตลาดโตเกียวเช่นเดียวกัน  มองในแง่ธุรกิจแล้ว  มันอาจจะไม่เด่นเท่ากับดอนคีโฮเตเนื่องจากมันมีคู่แข่งที่อาจจะโดดเด่นพอ ๆ  กันในตลาดของคนญี่ปุ่น  แต่จุดที่ดีของหุ้นตัวนี้ก็คือ  ราคาหุ้นนั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากกว่าดัชนีตลาด  ค่า PE ของหุ้นนั้นก็อยู่ที่ประมาณ 21 เท่าขณะที่ปันผลต่อราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 1.4% ต่อปี  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าผลประกอบการและการทำกำไรของบริษัทดูจะไม่โดดเด่นนัก  และนี่ก็ทำให้ผมเองก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่ามันน่าซื้อหรือไม่

    บทสรุปโดยรวมของผมก็คือ  การท่องเที่ยวของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ  คนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นมหาศาลโดยเฉพาะในจีนประกอบกับการลดลงของราคาของการท่องเที่ยวทำให้คนชั้นกลางกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมหาศาลซึ่งส่งผลกระทบในทางที่ดีไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง  และกับธุรกิจที่เดิมไม่ได้อิงหรือเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเช่น  ธุรกิจค้าปลีกสินค้าผู้บริโภคเช่น ดอนคีโฮเตหรือมัตสึโมโตด้วย  หน้าที่ของเราในฐานะของนักลงทุนก็คือ  การวิเคราะห์หาดูว่าธุรกิจหรือบริษัทไหนจะได้ประโยชน์และอาจจะเป็นโอกาสในการลงทุน

Posted by nivate at 11:21 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/04/20/1555
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ เมษายน 27, 2015, 02:03:27 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 27 April 2015
ฟองสบู่ของนักลงทุน

ในแวดวงตลาดหุ้นและการลงทุนนั้น  เราคุ้นเคยกับเรื่องของการ  “เฟ้อ” ของราคาหลักทรัพย์หรือที่มักเรียกกันว่า  “ฟองสบู่”  ซึ่งความหมายก็คือ  ราคาหลักทรัพย์ปรับขึ้นไปสูงกว่า “พื้นฐาน” ที่ควรเป็นอันมาก  ซึ่งอาการแบบนั้น  ในที่สุดแล้วมันก็มักจะ “แตก”  นั่นก็คือ  ราคาก็จะตกลงมาแรงจนถึงราคาพื้นฐานหรือต่ำกว่านั้น    เช่นเดียวกับราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์   สิ่งอื่น ๆ  ที่ปรับตัวขึ้นไปมากเกินกว่าที่ควรเป็นมาก  อาจจะไม่ใช่เรื่องของราคา  แต่เป็นเรื่องของปริมาณหรือแม้แต่ความรู้สึกทางสังคม  เราก็อาจจะเรียกว่าเป็น  “ฟองสบู่” ได้เหมือนกัน  และฟองสบู่ที่ว่านั้น  ในที่สุดมันก็มักจะ “แตก” และทุกอย่างก็จะปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งเป็นระดับที่น้อยลงไปมาก   หนึ่งใน  “ฟองสบู่”  ที่ผมเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ  กับการปรับตัวขึ้นอย่างแรงของหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กก็คือ  “ฟองสบู่ของนักลงทุนส่วนบุคคล”

    อาการ “ฟองสบู่ของนักลงทุน” นั้น  เห็นได้ชัดจากเครื่องชี้มากมายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี  เรื่องแรกก็คือ  จำนวนคนทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญการลงทุนเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นเองนั้น  เพิ่มขึ้นมาก  บางคนอาจจะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม  ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนว่าเขาต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อการ “เกษียณ”  และดังนั้นก็อาจจะไม่เกี่ยวกับการเร่งตัวของนักลงทุนหรือการเล่นหุ้น  แต่เมื่อดูไปแล้วผมเองก็สงสัยว่าพวกเขาจำนวนไม่น้อยนั้นกลับเป็นนัก “เก็งกำไร” จากการผันผวนของตลาดหุ้น  หลักฐานอยู่ที่ว่า  คนที่ลงทุนในกองทุนรวมจำนวนไม่น้อยเข้าไปซื้อกองทุน “ทริกเกอร์ฟันด์” โดยเฉพาะของตลาดหุ้นต่างประเทศ  โดยหวังที่จะทำกำไรเร็วและออกจากการลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม

    นอกจากหุ้นแล้ว  นักลงทุนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากนั้น  ยังพร้อมที่จะเข้าไปเล่นอะไรก็ได้ถ้าเขาคิดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้น  เช่น  วอแร้นต์ ทอง  น้ำมัน  คอนโด หรือบางทีก็อาจจะรวมไปถึงตราสารหรือการลงทุนที่ซับซ้อนอื่น ๆ  เช่น  กองทุนรวมอสังหาฯหรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนบางกอง  และอาจจะรวมไปถึงการซื้อขาย “เงินดิจิตอล”  ที่มีความเสี่ยงสูงมากแต่ในความคิดของเขาอาจจะ  “ไม่เสี่ยง”  อย่าลืมว่าในช่วง  “ฟองสบู่”  นั้น  คนจะ “ไม่กลัวความเสี่ยง”

    สัญญาณที่สองของฟองสบู่ของนักลงทุนก็คือ  มี  “เซียน”  เกิดขึ้นมาก   ความเป็นเซียนนั้น  มักจะเกิดขึ้นจากการที่เขาสามารถทำเงินจากการลงทุนได้สูงมากในเวลาอันสั้นด้วยการลงทุนซื้อขายหุ้นหรือทรัพย์สินบางตัวในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของตนและข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวนั้นถูกเผยแพร่ออกมาผ่านสื่อที่มีคนติดตามกันมากทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและสื่อสังคมอื่น ๆ  ที่มีมากมายในวันนี้  นอกจากนั้น  บางคนก็อาจจะเป็น “เซียน” ได้จากการที่พอร์ตมีขนาดใหญ่เป็น  “พันล้านบาท”  โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสถิติหรือผลตอบแทนการลงทุนที่เห็นเป็นประจักษ์

    ความหลากหลายของ “เซียน”  หรือบางครั้งก็เรียกว่า “กูรู” การลงทุนเองนั้น  ก็มีมากมายตามฐานะ  ผลงาน  หรือ ชีวิต ของแต่ละคนที่ได้รับการกล่าวขวัญหรือได้มีการเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ  ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น  เราแทบจะเห็น “เซียน”  เกิดใหม่  แทบจะทุกเดือนหรือบางทีติดต่อกันหลายสัปดาห์  กูรูคนใหม่นั้นก็มักจะมีผลงานและชีวิตที่ “น่าทึ่ง” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่อายุของเซียนคนใหม่เองนั้นก็มีแนวโน้มจะน้อยลง  บางคนอายุเพิ่งจะ 30 ปีเศษก็ประสบความสำเร็จและอ้างว่ามีความมั่งคั่งเป็นร้อยหรือพันล้านบาทแล้วจากการลงทุนไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ  นอกจากนั้น  ชีวิตของเซียนเองก็ดูว่าเหมือน  “เทพนิยาย”  หรือ  “มหัศจรรย์” ขึ้นทุกที  ประวัติการทำงานหรือผลงานนั้นบางทีไม่รู้ว่าเคยทำอะไรแต่ความสำเร็จจากการลงทุนนั้นมาง่ายแทบจะ “พลิกฝ่ามือ”  แต่เขาก็มักจะเล่าว่ามันผ่าน  “อุปสรรคและวิกฤติ”  มามากมายก่อนที่จะมาเป็น  “เขาในวันนี้”

    ฟองสบู่ของนักลงทุนเองนั้น  ยังเห็นได้จาก  “ความคาดหวังผลตอบแทน” จากการลงทุนที่สูงเกินกว่าที่จะเป็นในระยะยาว  นักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ในขณะนี้น่าจะคิดว่าตนเองสามารถลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 15-20% ต่อปีในระยะยาวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาได้รับคำบอกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวของตลาดหุ้นไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปี ซึ่งไม่จริง)  ดังนั้น  ด้วยการลงทุนเองพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่านั้น  คนที่ลงทุนเองและประสบความสำเร็จ  “อย่างงดงาม”  ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจึงมักจะตั้งเป้าผลตอบแทนของตนเองสูง  คนที่คิดว่าตนเอง  “ไม่เก่ง”  ก็อาจจะตั้งไว้ปีละ 15%  หรือพอร์ตโตเป็นเท่าตัวใน 5 ปี  รายที่คิดว่าตนเองก็เป็น  “เซียน” อาจจะตั้งไว้สูงถึงขนาดว่า  “10 ปีโต 10 เท่า”  หรือโตปีละประมาณ 26% หรือมากกว่านั้น  ซึ่งก็แปลว่าภายในเวลาไม่กี่ปีก็จะมีเงินเป็นร้อยเป็นพันหรือหมื่นล้านบาทได้ในชั่วชีวิตนี้

    แนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จนั้น  มีมากมายตาม  “เซียน” หรือ  “กูรู”  ที่ประสบความสำเร็จสูง  ทฤษฎีการเงินที่เป็นวิชาการและได้รับการพิสูจน์จากนักวิชาการในระดับสากลที่บอกว่าการลงทุนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะตลาด  ทฤษฎีการเงินที่บอกว่าผลตอบแทนการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยง  ผลตอบแทนที่สูงในตลาดหุ้นนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงนั้น  ไม่มีใครสนใจที่จะฟัง   ในตลาดหุ้นไทยวันนี้  ดูเหมือนว่าทุกทฤษฎีหรือหลักการนั้น  สามารถทำกำไรได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำได้ถูกต้องแค่ไหน  ในบางช่วง  Value Investment ดูเหมือนว่าจะโดดเด่นมากเมื่อ  เซียนหุ้น VI กำลังมาแรงและทุกคนต่างก็เป็น VI   ในบางช่วง  “เทคนิคอล” เองก็เป็นวิธีการที่ทำกำไรได้ดี  ถ้าคุณมี “วินัยกับกราฟ” ในหลาย ๆ  โอกาส  “เกร็ดการลงทุน” ของ “เซียน”  คนนั้นคนนี้คือวิธีที่จะทำเงินได้มากกว่าการยึดทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งตายตัว

    “อิทธิพล” และ  “บารมี”  ของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งของ “ฟองสบู่นักลงทุน”  ผมเชื่อว่าเวลานี้  นักลงทุนกลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อในระดับสูงมากที่คนค้าขายของหรูของแพงให้ความสนใจ  รถหรูระดับเฟอร์รารี่  คอนโดราคายูนิตละเป็นร้อยล้านบาท อาหารหรูหราจากเชฟระดับมิชลินหลายดาว นั้นผมคิดว่ามีลูกค้าที่เป็นนักลงทุนที่มีความมั่งคั่ง “ระดับมหาเศรษฐี” ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีอยู่ไม่น้อย   นี่ยังไม่รวมรถหรูระดับเบนซ์  คอนโดราคา 10 ล้าน และสินค้าหรูอย่างอื่นที่มีลูกค้าที่เป็นนักลงทุน  “อาชีพ”  ที่มีความมั่งคั่งเกินอายุอยู่ไม่น้อย  ในส่วนของบริษัทหรือธุรกิจเองนั้น  อิทธิพลของนักลงทุนต่อผู้บริหารหรือการจัดการบริษัทนั้นผมเห็นว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับระดับที่ควรจะเป็นอย่างเช่นในต่างประเทศ  นักลงทุนส่วนบุคคลไทยนั้น  ผมคิดว่ามีสิทธิมีเสียงและเป็นกลุ่มคนที่บริษัทต้องคำนึงถึงมาก   พวกเขาต้องให้ข้อมูล  ต้องฟัง  และอาจจะต้องปฏิบัติตาม   ในหลาย ๆ กรณีในระยะหลังนั้น  นักลงทุนส่วนบุคคลสามารถเข้าไป “ยึดกุม” การบริหารของบริษัทได้ด้วยซ้ำ   

    สื่อสารเกี่ยวกับการลงทุนที่มีมากมายในปัจจุบันและแทบทุกรายการนั้นเน้นที่การลงทุนของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีฟองสบู่ของนักลงทุนอยู่  แม้แต่รายการที่เป็นMass และเป้าหมายคือชาวบ้านทั่ว ๆ ไปนั้น  บางครั้งก็เริ่มเห็นการสัมภาษณ์นักลงทุนหรือดึงนักลงทุนที่  “ประสบความสำเร็จสูง” มาร่วมรายการ  “เซเลบ” ที่เป็นนักลงทุนและเป็น  “คนรุ่นใหม่”  มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และนั่นก็คือสัญญาณทั้งหมดที่ทำให้ผมเชื่อว่าเรากำลังมีฟองสบู่ของนักลงทุน  ผมเองเชื่อว่า  “ฟองสบู่”  นี้จะต้องแตกซักวันหนึ่ง  อาจจะตามการชะลอตัวลงยาวนานหรือการ “แตก” ของ  “ฟองสบู่” ตลาดหุ้น—ถ้ามี  และหลังจากนั้น  นักลงทุนก็จะกลับไปมีสถานะตามเดิมก่อนที่จะเกิดฟองสบู่ นั่นก็คือ  เป็นคนธรรมดา ๆ

Posted by nivate at 10:14 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/04/27/1557
หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 05, 2015, 03:39:46 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

พฤษภาคม 4, 2015
จิตวิทยาของคนเล่นหุ้น

 แม้ว่า Value Investor ผู้มุ่งมั่นส่วนใหญ่อาจจะบอกว่าตนเองไม่ใคร่สนใจภาวะตลาดหลักทรัพย์มากนักเพราะว่าเขา  “ลงทุนหุ้นเป็นรายตัว”  ไม่ได้ลงทุนในดัชนีหุ้น  แต่การดูภาวะตลาดหุ้นว่ามันน่าจะแพงหรือถูกก็ไม่ได้เสียอะไร  แต่ข้อดีก็คือ  อย่างน้อยมันอาจจะช่วยเตือนให้เราระมัดระวังมากขึ้นในยามที่คน  “กำลังโลภ”  หรือกล้ามากขึ้นในยามที่คน  “กำลังกลัว”  อย่างที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดไว้

    วิธีที่จะดูว่าภาวะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงไหนนั้น  นอกจากการดูตัวเลขดัชนีหุ้นหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น  ค่า P/E  P/B  Dividend Yield หรือเครื่องชี้อย่างอื่นเช่น จำนวนของหุ้น IPO และราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก ๆ  แล้ว  อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเห็น “ภาพใหญ่” ก็คือ  การวิเคราะห์เรื่องของ  “จิตวิทยา”  ของคนเล่นหุ้น   เพราะจิตวิทยาหรือความคิดของคนแต่ละคนจะสะท้อนไปถึงหรือเป็นตัวกำหนดการซื้อหรือขายหุ้นของเขา  และเมื่อรวมเอาความคิดของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  มันก็จะสะท้อนไปถึงหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  ซึ่งในที่สุดก็สะท้อนไปที่ดัชนีตลาด  พูดแบบรวม ๆ  ก็คือ  ถ้าคนมองโลกในแง่ดีกับหุ้น  ราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นไป  ตรงกันข้าม  ถ้าคนมองโลกในแง่ร้าย  หุ้นก็จะปรับตัวลงมา  ประเด็นก็คือ  มองโลกในแง่ดีแค่ไหน?  หรือมองโลกในแง่ร้ายแค่ไหน? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนส่วนใหญ่มองโลกไปในแง่ไหน?

    ก่อนที่เราจะพูดถึงว่าคนมองโลกในแง่ไหนนั้น  สิ่งที่จะต้องกำหนดก่อนก็คือ  ระดับของ  “จิตวิทยาสังคม”  ที่นักวิชาการได้กำหนดไว้เป็นขั้น ๆ  เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 นั่นก็คือ  สิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  Optimism หรือคนเริ่มมีความหวังหรือ  “มองโลกในแง่ดี”  และถ้าคนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี  สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พวกเขาจะอยากลงทุนซื้อหุ้นเพราะมองว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น  บริษัทจดทะเบียนจะขายสินค้าได้มากขึ้นและมีผลกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายปันผลได้สูงขึ้นหรือสูงกว่าการลงทุนอย่างอื่นที่มีอยู่เช่นการฝากเงิน  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็จะทยอยปรับตัวขึ้น  อาจจะถึง 10%

    ขั้นที่สองของจิตวิทยาสังคมก็คือ  Excitement หรือนักเล่นหุ้นจะเริ่มรู้สึก  “ตื่นเต้น” หลังจากที่หุ้นที่พวกเขาถือและดัชนีหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นมาถึงระดับหนึ่งที่ก็ยังไม่สูงมากจากจุดเริ่มต้น  คนที่ทำกำไรได้แล้วก็อาจจะเริ่มลงทุนเพิ่ม  นักเล่นหุ้นที่เคยเล่นและเลิกไปแล้วก็อาจจะเริ่มกลับเข้าตลาด  เม็ดเงินที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มก็จะผลักดันให้หุ้นและดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไปอีก  ดัชนีหุ้นในช่วงนี้อาจจะขึ้นไปแล้วถึง 20%

    ขั้นที่สามคือ Thrill หรือที่เรียกว่าขั้น  “เร้าใจ”  ถึงจุดนี้  คนที่เข้ามาตั้งแต่แรกก็เริ่มทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากการเล่นหุ้นและได้ประกาศหรือบอกต่อกับคนที่รู้จัก  หลายคนก็เริ่มเขียนหนังสือหรือแนะนำวิธีการลงทุนที่จะทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันสั้นผ่านสื่อต่าง ๆ  อัจฉริยะหรือเซียนหุ้นเริ่มปรากฏตัวขึ้น  การลงทุนในตลาดหุ้นกลายเป็นกิจกรรมที่ดีและทำเงินได้ดีกว่าการทำงานหรือลงทุนอย่างอื่น  คนที่ไม่เคยสนใจหุ้นแต่มีเงินก็เริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้น  การลงทุนดูเหมือนจะง่ายและทำเงินได้ดี  เม็ดเงินที่เข้ามาดันดัชนีหุ้นให้ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว  หุ้นอาจจะขึ้นไปแล้ว 40%

    ขั้นที่สี่คือ Euphoria หรือขั้น  “เคลิบเคลิ้ม”  นี่คือช่วงที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงจุดสุดยอด  คนจำนวนมากคิดว่าหุ้นนั้นสามารถให้ผลตอบแทนได้มหาศาลในเวลาอันสั้น  หุ้นเกือบทุกตัวที่เป็น IPO ต่างก็ปรับตัวขึ้นไปมหาศาลตั้งแต่วันเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก  หุ้นตัวเล็กตัวน้อยนั้น  ถ้ามีขาใหญ่หรือเซียนหุ้นเข้ามาเล่นก็จะวิ่งขึ้นมโหฬารภายในเวลาอันสั้น  การขึ้นลงของราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับข่าวหรือการคาดการณ์อนาคตมากกว่าพื้นฐานในปัจจุบัน  นักเล่นหุ้นระยะสั้นที่อายุน้อยและประสบความสำเร็จกลายเป็น  “มหาเศรษฐี”  จากเงินเริ่มต้นเพียงน้อยนิดปรากฏตัวขึ้นเป็นว่าเล่นกลายเป็น  “ไอดอล” ของคนจำนวนมาก  และนี่ก็ดึงดูดนักเล่นหุ้นหน้าใหม่ที่ไม่มีทั้งประสบการณ์และเงินแต่มี “ความฝัน”  ว่าจะรวยได้อย่างรวดเร็ว  เข้ามาในตลาดหุ้น  คนเลิกคิดว่าหุ้นนั้น  “มีความเสี่ยงสูง”  ช่วงนี้หุ้นอาจจะขึ้นมาจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 50% ถึงกว่า 100% แล้ว  และเริ่มจะตกลงเมื่อทุกคนที่สนใจเล่นหุ้นต่างก็อยู่ในตลาดหมดแล้ว

    ขั้นที่ห้านั้นเป็นช่วง “ขาลง”  ของตลาดหุ้นที่เรียกว่า Anxiety หรือช่วง “กังวล”  นี่คือช่วงที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เพิ่งเข้ามาในตลาดในช่วงที่ราคาหุ้นและดัชนีตลาดอยู่ในระดับสูงมาก  แทนที่จะกำไรง่าย ๆ เหมือนช่วงก่อนหน้านั้น  พวกเขากลับขาดทุนแม้จะไม่มากนัก  ราคาหรือดัชนีหุ้นตกลงมา  อาจจะแค่ 10%  นี่ทำให้เขากังวล  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์และเซียนหุ้นต่างก็ปลอบใจว่านี่เป็นการปรับตัวเล็ก ๆ  น้อย ๆ  อนาคตหรือไตรมาศหน้าหุ้นก็จะปรับตัวขึ้น  ไม่มีอะไรน่าห่วง  บริษัทมีพื้นฐานที่ดี  เศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็จะดีขึ้นแน่นอน  เหนือสิ่งอื่นใด  หุ้นไม่ได้มีราคาแพงเทียบกับประเทศอื่นหรือเทียบกับการลงทุนอื่นหรือการฝากเงิน

    ขั้นที่หกก็คือ  Denial หรือ  “การปฏิเสธ”  นี่คือช่วงที่หุ้นตกลงมาอีก  อาจจะ 15-20% จากจุดสูงสุด  คนเล่นหุ้นต่างก็ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจ ผลประกอบการ  หรือภาวะทางการเงินนั้นไม่เอื้ออำนวย  และหุ้นอาจจะตกลงมาเพื่อสะท้อนความเป็นจริง  คนที่ยังถือหุ้นอยู่ “ปฏิเสธที่จะขาย”  แม้ว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้น  พวกเขาเชื่อว่าหุ้นจะต้องกลับมา  แน่นอน  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยได้ขายหุ้นไปแล้ว  พวกเขาอาจจะขาดทุนกำไรไปบ้าง  และนั่นทำให้หุ้นตก

    ขั้นที่เจ็ด  Fear หรือขั้น  “กลัว” นี่คือช่วงที่ราคาหุ้นตกลงไปมาก อาจจะ 20% ขึ้นไป  ข่าวเกี่ยวกับหุ้นและภาวะทางเศรษฐกิจการเงินและตลาดหุ้นน่ากลัว  คนที่ขาดทุนจากหุ้นมีมากมาย  ข่าวที่เกี่ยวกับหุ้นและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหายไปมาก  ข่าวคน “เจ๊ง” หุ้นเริ่มออกมาเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับ “ข่าวร้าย” ของบริษัทจดทะเบียน  สถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงขั้นที่แปดคือ Desperation หรือช่วง  “เข้าตาจน” หลายคนต้องเอาตัวรอดโดยอาจจะต้องขายหุ้นเท่าที่จะทำได้เพื่อรักษาเงินที่ยังเหลืออยู่และนั่นก็อาจจะทำให้หุ้นตกแรงจนถึงจุดที่แม้แต่หุ้นที่ดีก็ตกลงมามากราวกับว่ามันไม่มีค่า  ซึ่งนี่คือจิตวิทยาในขั้นที่ 9 ที่เรียกว่า  Panic หรือขั้น  “ขวัญผวา”  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นักลงทุนตกใจกลัวอย่างรุนแรงและเทขายหุ้นโดยที่ไม่ได้สนใจมูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็น  จนถึงขั้นที่ 10 ของจิตวิทยาที่เรียกว่า Capitulation หรือการ  “ยอมแพ้” ซึ่งจะตามมาด้วยขั้นตอนต่ำที่สุดทางจิตวิทยาคือ Despondency หรือ การ  “สิ้นหวัง”  ซึ่ง ณ.  จุดนั้นก็จะกลายเป็น “โอกาสที่ยิ่งใหญ่” ของการลงทุน  เพราะมันเป็นจุดที่หุ้นตกลงมาต่ำสุด

    ขั้นตอนการฟื้นตัวของหุ้นและตลาดหุ้นจะเริ่มต้นที่ขั้น 12 คือช่วง Depression หรือช่วง  “หดหู่”  ช่วงที่ 13 ช่วง Hope หรือช่วงของ  “ความหวัง”  และช่วงที่ 14 คือ Relief หรือช่วง  “ผ่อนคลาย” ซึ่งจะตามมาด้วยช่วง ที่หนึ่งคือ Optimism หรือนักลงทุนกลับมามองโลกในแง่ดีอีกครั้งหนึ่ง

    ถ้าจะถามว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนี้จิตวิทยาของนักลงทุนอยู่ในช่วงไหน  คำตอบของผมคงอยู่ที่ช่วงระหว่าง 3ถึง 5 นั่นก็คือ  ระหว่างช่วงเร้าใจ เคลิบเคลิ้ม และกังวล ซึ่งถ้าอยู่ที่ช่วงเร้าใจ  นั่นแปลว่าหุ้นยังอาจจะขึ้นได้อยู่อีกหนึ่งช่วงสุดท้าย  ถ้าเป็นช่วงเคลิบเคลิ้ม ก็แปลว่ามันกำลังอยู่ในจุดที่สูงที่สุดแล้ว  และถ้าเป็นช่วงกังวล  นั่นก็หมายความว่าหุ้นได้ผ่านจุดสูงที่สุดไปแล้วและกำลังจะตกลงมาเป็น “ขาลง” อย่างต่อเนื่อง  ระยะเวลาของแต่ละช่วงนั้น  เป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ว่านานเท่าใด  และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการกำหนดและคาดการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน

ที่มา:
http://www.thaivi.org/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99/

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 12, 2015, 07:00:05 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

พฤษภาคม 11,2015
The Next Thailand (and beyond)


    ผมเพิ่งกลับจากการไปสำรวจภาวะการลงทุนและเยี่ยมเยียนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียตนามที่เมืองโฮจิมินซิตี้  การไปเวียตนามในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองของผมหลังจากครั้งแรกที่ผมไปกับทางมันนีแชนแนลเมื่อซักหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา  การไปครั้งนี้  เป็นการ “ไปกันเอง” ของกลุ่ม VI “อาวุโส” ประมาณเกือบ 20 คน  หลายคนมีเงินลงทุนในเวียตนามบ้างแล้ว และเกือบทุกคนกำลังดูว่าอาจจะไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามหลังจากที่เห็นว่าโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดน้อยลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพของบริษัทจดทะเบียน  และราคาหุ้นอาจจะแพงเกินไป  และต่อไปนี้ก็คือข้อสังเกตของผมซึ่งก็อิงจากการได้ไปเห็นบ้านเมืองและพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งได้ศึกษาข้อมูลและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ

    ข้อสรุปหลัก ๆ ของผมก็คือ  เศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อมหรือภาพใหญ่ของเวียตนามในขณะนี้คล้าย ๆ  กับของประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว  และเวียตนามกำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็วแบบเดียวกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา  แม้แต่ฉายาของการเป็น  “เสือแห่งเอเซีย” ที่ไทยเคยได้รับเราก็อาจจะได้เห็นว่าเวียตนามก็จะได้รับฉายาในทำนองคล้าย ๆ  กัน  พูดอีกแบบหนึ่ง  ผมคิดว่าเวียตนามก็คือ  “The Next Thailand” หรือจะเป็นประเทศไทยรายต่อไป  เพียงแต่ผมคิดว่า  เวียตนามในอนาคตอาจจะโตจนเท่าและ  “ผ่าน”  ประเทศไทยได้ถ้าเวียตนามยังรักษานโยบายและแนวทางที่ดีต่อการเติบโตในปัจจุบันต่อไปได้เรื่อย ๆ  ในขณะที่ไทยไม่แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ในขณะนี้

    ถ้ามองย้อนกลับไปซัก 40 ปี ซึ่งเป็นปีที่โฮจิมินแตกเวียตนามใต้กลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์  ระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียนนั้นน่าจะพอ ๆ  กัน  แต่หลังจากนั้น  สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งใช้นโยบาย  “เปิดประเทศ” และระบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดเสรีในขณะที่การเมืองนั้นแม้ไมใช่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไปเรื่อย ๆ  สลับไปมาระหว่างกลุ่มอำนาจหลัก ๆ   ก็สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างน่าประทับใจ  เหตุผลหรือปัจจัยที่ทำให้ไทยรวมถึงมาเลเซียเติบโตเร็วมากนั้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงและมีกระแสโลกานุวัตรสูง  ญี่ปุ่นซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับโลกตะวันตกมหาศาลถูกบังคับให้เพิ่มค่าเงินเยนซึ่งทำให้สินค้าราคาถูกที่ใช้แรงงานสูงไม่สามารถแข่งขันได้จึง  “ย้ายฐานการผลิต”  จากญี่ปุ่นไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงถูกและมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน  และประเทศที่ว่าก็คือ  มาเลเซียกับไทย

    ประเทศเวียตนาม  กัมพูชา ลาว นั้นเป็นสังคมนิยมที่เข้มข้น ดังนั้น ไม่สามารถที่จะรองรับการลงทุนได้  พม่าเองปกครองโดยเผด็จการทหารที่กองทัพคุมรัฐบาล  อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นอยู่ภายใต้เผด็จการซูฮาร์โตและมาร์คอสยาวนาน  ทั้งหมดนั้นญี่ปุ่นหรือโลกตะวันตกไม่อยากเข้ามาลงทุนและทำให้ประเทศไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร  พูดง่าย ๆ  ประเทศที่ระบบการปกครองเป็นแบบ “ปิด” นั้น  โตยาก  ประเทศที่จะเจริญเติบโตได้ดีนั้น  ผมคิดว่าต้องมีปัจจัยสำคัญ 3-4 ประการก็คือ  หนึ่ง ระบบต้องเอื้ออำนวยนั่นก็คือเป็นระบบเปิดที่ต้อนรับต่างชาติหรือเปิดให้คนสามารถแสดงความสามารถได้เต็มที่ซึ่งระบบที่ดีที่สุดน่าจะเป็นระบบเสรีประชาธิปไตย  สอง คนต้องมีคุณภาพหรือมี IQ สูงพอ  สาม จำนวนคนและอายุของประชากรในวัยทำงาน  และสี่ก็คือ  ทรัพยากรภายในประเทศ  ดังนั้น  ประเทศที่กล่าวถึงทั้งหมดจึงเริ่ม  “ล้าหลัง”  มาเลเซียและไทยกลายเป็น  “เสือแห่งเอเซีย”  จากการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันตกและญี่ปุ่นโดยมีคู่แข่งน้อยเนื่องจากประเทศอื่นไม่พร้อม

    เวลาผ่านไปเกือบ 10-20 ปี  ประเทศต่าง ๆ  ในเอเซียเริ่มตระหนักว่าระบบการปกครองที่ผิดพลาดทำให้ประเทศล้าหลัง  ประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ  ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือแบบอื่นเริ่มเปลี่ยนแปลง  ระบบเศรษฐกิจกลายเป็นทุนนิยมและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ  นำโดยจีน  ต่อมาเวียตนาม ลาวกัมพูชาก็ตาม  หลังจากนั้นระบบเผด็จการมาร์คอสและซูฮาร์โตก็ “ล่มสลาย”  และสุดท้ายระบบทหารแบบเมียนมาร์ก็กำลังผ่อนคลายลง  นักลงทุนจากตะวันตกและประเทศที่ก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน จึงเริ่มมีตัวเลือกมากขึ้น  และด้วยการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ  รวมถึงคุณภาพของคน ค่าแรง และสาธารณูปโภค และตลาดท้องถิ่น  พวกเขาก็เริ่มเข้าไปลงทุนในประเทศที่ “ล้าหลัง” เหล่านั้นเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศดังกล่าวนั้นรู้ว่าตนเองยังด้อยกว่าก็เสนอเงื่อนไขในการลงทุนที่ดีกว่าประเทศที่เจริญมาก่อน  ผลก็คือ  เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นก็เริ่ม  “เดินหน้า” การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะหลัง ๆ  นี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจปีละ 5-7% เป็นอย่างต่ำ ในขณะที่ของไทยช้าลงมากโดยเฉพาะในช่วง 5-10 หลังนี้

    ระดับการพัฒนาของเวียตนามเวลานี้อยู่ที่ประมาณเท่ากับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหรือประมาณช่วงที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตในปี 2540  ตัวเลขการมีเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี  พัดลม  ตู้เย็น เครื่องซักผ้าต่อครอบครัวของเขาเวลานี้พอ ๆ  กับตัวเลขที่คนไทยมีเมื่อ 20 ปีก่อน  รถยนต์และแอร์อาจจะเท่ากับ 25-30 ปีแต่ผมคิดว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก  ส่วนมอเตอร์ไซต์นั้น  เวลานี้เขาน่าจะมีมากกว่าของเราในเวลานี้ด้วยซ้ำเนื่องจากมันเป็นพาหนะหลักในการเดินทางของทุกคนในเวียตนาม  ในส่วนของการผลิตซึ่งเน้นที่การส่งออกนั้น  เวียตนามก็ใช้กลยุทธเดียวกับของไทยเมื่อ 20 ปีก่อนนั่นก็คือ  ส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนและผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก  ตัวเลขการส่งออกนั้นเติบโตเร็วมากปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์จนเวลานี้คิดแล้วการส่งออกน่าจะไม่ต่ำกว่า 80% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าของไทย  ว่าที่จริงปริมาณการส่งออกไปอเมริกาของเวียตนามนั้นสูงกว่าของไทยไปแล้ว  แม้แต่ในยามที่การส่งออกกำลังชะลอตัวทั่วโลกในช่วงนี้  การส่งออกของเวียตนามก็ยังโตเป็นเลขสองหลัก  กระแสนี้น่าจะยังดำเนินต่อไปเพราะการลงทุนโดยตรงของเวียตนามยังมาแรงมาก  บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเช่นซัมซุงเลือกเวียตนามมากกว่าไทยแล้ว

    เมื่อดูไป  เวียตนามนั้นเหมือนไทยมาก  เราอยู่ในเขตภูมิอากาศเขตร้อนใกล้เคียงกัน  ขนาดของประเทศก็พอ ๆ  กัน  ความสมบูรณ์ของที่ดินก็น่าจะใกล้กันและอุดมไปด้วยน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก  คนเวียตนามเองก็เป็นคนที่ “ยืดหยุ่น” ไม่ “สุดโต่ง”  วัฒนธรรมและเชื้อชาติก็น่าจะเป็น  “2 ใน 3 จีน” ในขณะที่คนไทยก็อาจจะเป็น  “ครึ่งจีน”  ด้านศาสนาเองก็คงคล้าย ๆ  คนไทยที่บางทีผมก็งง ๆ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจ  ว่าที่จริง  ถ้ามาเดินในห้างร่วมกันเราก็คงไม่สามารถแยกได้ว่าคนไหนเป็นไทยหรือเวียตนามทั้งด้านหน้าตา ความสูงและรูปร่างรวมถึงอากับกริยาต่าง ๆ

    มีจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเวียตนามจะได้เปรียบไทยในระยะยาวก็คือ  คนเวียตนามมี IQ สูงกว่าไทยในการศึกษาเรื่อง IQ ระดับสากลทุกครั้ง  นอกจากนั้น  เวียตนามมีประชากรถึง 90 ล้านคนและยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วในขณะที่ไทยมี 67 ล้านคนและเพิ่มขึ้นน้อยและอาจจะลดลงในอนาคต  ส่วนจุดอ่อนก็คือ  ระบบสาธารณูปโภคในปัจจุบันยังไม่ดีนัก  การเดินทางด้วยรถยนต์ในเมืองและต่างจังหวัดช้ามากประมาณไม่เกิน 30-40 ก.ม. ต่อชั่วโมง  อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้น่าจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

    ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ระดับการพัฒนาของเวียตนามจะไล่กวดไทยอย่างรวดเร็วมาก  เพราะปัจจัยในการแข่งขันของเวียตนามกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่ไทยกลับด้อยลง  เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกำลังคนที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและระบบการปกครองและภาพใหญ่อื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะ  “ถอยหลัง” ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ความรู้สึกจากทริปเวียตนามครั้งนี้ในด้านของร่างกายก็คือร้อนมาก  เพราะมันเป็นกลางฤดูร้อน  แต่ในใจในฐานะที่เป็นคนไทยและจะต้องแข่งกับเวียตนามนั้น  ผมรู้สึก  “หนาว” อย่างบอกไม่ถูก   

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/05/11/1565

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ พฤษภาคม 30, 2015, 09:54:11 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

พฤษภาคม 18,2015
ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต


    ถ้าจะถามว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ VI จำนวนมากที่เราเห็นอยู่ในวันนี้มาจากอะไร  คำตอบผมคงเป็นว่า  พวกเขาหรือพวกเราถ้ารวมผมเข้าไปด้วยก็คือ  เราเริ่มการลงทุนอย่างจริงจังและเป็นการลงทุน  “เพื่อชีวิต”  อย่างเต็มตัวในช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของตลาดหุ้นไทย  นั่นก็คือ  เราเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงหลังปี 2540 ที่เป็นปีวิกฤติครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย  หลังปี 2540 เฉพาะอย่างยิ่งประมาณปี 2542-2543 นั้น  เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคง  GDP ของไทยเริ่มเติบโตประมาณ 4-5%  ต่อปีและรักษาระดับนั้นต่อไปได้ยาวนาน  อานิสงค์ส่วนหนึ่งที่สำคัญจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานก่อนหน้านั้นและในเวลาต่อมา  ทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ  อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาอย่าง  “มโหฬาร” เหลือเพียงไม่เกิน 2-3% ต่อปีต่อเนื่องกันมานับสิบปี  นี่ทำให้การบริโภคของคนไทยเติบโตขึ้นมากเพราะคนไทยสามารถกู้เงินได้ง่ายและมากเพื่อการใช้จ่ายส่งผลให้การผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเติบโตเร็วขึ้นทวีคูณ

   ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  มีการปรับโครงสร้างหนี้และลดระดับการกู้เงินลงไปมากทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นมาก  สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนจาก 4-5 เท่าลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือระดับที่ปลอดภัยส่วนใหญ่น่าจะไม่เกิน 1 เท่าตัว    เช่นเดียวกัน  ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่อิงอยู่กับผู้บริโภคก็เติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจในระดับน่าจะไม่ต่ำกว่าปีละ 6-7% ซึ่งก็ตามมาด้วยการจ่ายปันผลที่ดีที่ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในแต่ละปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% ต่อปี

   ระดับราคาและความถูกความแพงของตลาดหุ้นในช่วงปี 2542-43 วัดโดยค่า PE และค่าอื่น ๆ  นั้นส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่า 10 เท่า  บางปีนั้นต่ำเหลือเพียง 7-8 เท่าและก็มีบ้างที่เกิน 10 เท่าแต่ก็ไม่สูงถึง 20 เท่า  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  หุ้นจำนวนมากและไม่ได้เป็นหุ้นหรือกลุ่ม  “ยอดนิยม” ของสถาบันนั้น  มีราคาที่ถูกมีค่า PE ที่ต่ำกว่า 10 เท่าทั้ง ๆ  ที่มีการเติบโตของรายได้หรือกำไรเท่า ๆ  กับหรือสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ ที่มีสภาพคล่องสูง  และนั่นนำมาซึ่งการลงทุนของนักลงทุน  “VI รุ่นแรก”  ที่เข้ามาลงทุนโดยใช้หลักการของ เบน เกรแฮม ที่เน้นศึกษาข้อมูลพื้นฐานอย่างจริงจังและซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก  ถ้าจะเปรียบเทียบกับความคิดของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เคยพูดไว้ในปี 1974 ก็คือ  “ผมรู้สึกเหมือนคนที่กำลังกลัดมันในฮาเรม  นี่คือเวลาที่จะเริ่มลงทุน”

   ก็อย่างที่เห็น  เวลาสิบกว่าปีนับจากปี 2542-2543  จนถึงวันนี้  ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจประมาณ 7- 8 เท่าตัว ตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยแบบทบต้นประมาณ 15-16% ต่อปี กลายเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น  แต่สิ่งที่ “มหัศจรรย์”  จริง ๆ อยู่ที่นักลงทุน VI จำนวนมากที่สามารถเลือกและซื้อขายหุ้นรายตัวทำกำไรและผลตอบแทนสูงจนไม่น่าเชื่อ  บางคนได้กำไรเป็น 100เท่าตัว  ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเกิน 20-30% เป็นระยะเวลายาวนานกว่าสิบปี  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเศรษฐีทั้ง ๆ ที่มีเงินลงทุนส่วนตัวไม่มาก  หลายคนที่มีเงินเริ่มต้นสูงกลายเป็นมหาเศรษฐี  “หุ้น VI” ที่ครั้งหนึ่งเป็นหุ้นมีราคาถูกมากนั้น  ส่วนใหญ่กลายเป็นหุ้นมีราคาแพงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ มาก   หุ้นที่เคยเล็กบางตัวในวันนี้มีราคา  “หลุดโลก” คนที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นในวันนี้ไม่น่าที่จะสามารถสร้างผลกำไรที่งดงามอย่าง VI รุ่นก่อน  ผมคิดว่าเราไม่สามารถลงทุนหุ้นเพื่อ “เปลี่ยนชีวิต”  ได้ง่ายเหมือนเมื่อ 5 10 หรือ 15 ปีที่ผ่านมาในตลาดหุ้นไทย ความรู้สึกของผมในเวลานี้ก็คงคล้ายที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดในปี 1973 ว่า   “ผมรู้สึกเหมือนคนกลัดมันในทะเลทราย  ผมไม่สามารถหาหุ้นอะไรที่จะซื้อได้เลย”

   ถ้าจะมีที่ไหนที่จะเป็นโอกาสในการลงทุนคล้าย ๆ  ตลาดหุ้นไทยในปี 2542-2543 ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียตนามเป็นจุดหนึ่ง  ผมเองได้เขียนบทความเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับประเทศเวียตนามว่าจะเป็น  “The Next Thailand”  ในแง่ของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ  เวียตนามในวันนี้ก็คือไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และกำลังฟื้นตัว  นั่นก็คือเศรษฐกิจเวียตนามกำลังโตเร็วมาก  การโตนี้ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่โตเร็วขึ้นมากอานิสงค์จากการลดค่าเงินด่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาและการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเกาหลีและไต้หวันเช่นเดียวกับในกรณีของไทย    การบริโภคในประเทศเองผมก็คิดว่าน่าจะโตได้ดีเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ลดลงมากและรายได้ที่มากขึ้นของคนเวียตนาม  นอกจากนั้น ผมคิดว่าในไม่ช้าระบบการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ที่ยังมีน้อยมากก็จะพัฒนาขึ้นซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคเติบโตขึ้นทวีคูณ  การเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของเวียตนามนั้นจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายสิบปีเหมือนไทยในปี 2542-43

   ตลาดหุ้นเวียตนามโดยรวมในวันนี้เองนั้นก็คล้าย ๆ ตลาดหุ้นไทยหลังปี 2540  ประการแรก  หุ้นเวียตนามเพิ่งเผชิญ “วิกฤติ” และตกลงมาครึ่งหนึ่ง  ดัชนีเวียตนามเมื่อ 7-8 ปีก่อนสูงถึง 1170 จุด ปัจจุบันแค่ประมาณ 550 จุด  สอง ระดับ PE ของตลาดเวียตนามนั้นค่อนข้างต่ำ  น่าจะประมาณไม่เกิน 10-15 เท่า  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นที่นิยมของสถาบันต่างประเทศจำนวนประมาณ 10-20 ตัว มีค่า PE คล้าย ๆ หุ้นขนาดใหญ่ของไทยที่มีค่า PE 10-20 เท่า  หุ้นขนาดเล็กจำนวนมากกลับมีค่าไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ต่ำกว่า 1 เท่าและมีปันผลต่อราคาหุ้นกว่า 5% บางตัวสูงถึง 10% โดยที่ภาพรวมของการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น  ผมคิดว่าสูงกว่าของไทยในช่วงปี 2542-43  เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียตนามต่อจากนี้น่าจะโตได้ถึงปีละ 6-7% ในขณะที่หลังวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตปีละประมาณ 5%

   จุดอ่อนของเวียตนามก็คือ  ค่าเงินเวียตนามอาจจะตกลงทำให้เราขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวถ้าเศรษฐกิจเวียตนามดีขึ้นเรื่อย ๆ  ค่าเงินก็อาจจะไม่อ่อนลงหรือกลับแข็งขึ้น  จุดอ่อนข้อที่สองก็คือ  เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทและกฎระเบียบของเวียตนามที่ยังอ่อนเมื่อเทียบกับของไทย  แต่นี่ก็น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อเวียตนามเปิดประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จุดอ่อนข้อสามอยู่ที่คุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนที่คุณภาพยังไม่ดีนักเนื่องจากระบบเศรษฐกิจของเวียตนามยังไม่เป็นเสรีร้อยเปอร์เซ็นต์  ทำให้การแข่งขันไม่รุนแรงพอ  ดูเหมือนว่าบริษัทที่ “ไม่พัฒนาพอ” ก็ยังอยู่ได้ในขณะที่บริษัทที่ “ชนะ” ก็ไม่ได้ “กินรวบ” และเติบโตโดดเด่นจนมีมูลค่าตลาดมาก ๆ   เหนือสิ่งอื่นใด  บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดยังเป็นรัฐวิสาหกิจ  ดังนั้น  คุณภาพของกิจการจึงอาจจะไม่โดดเด่นเหมือนในไทย  จุดอ่อนข้อสี่ก็คือ  หุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดีและสภาพคล่องในการซื้อขายสูงรวมทั้งราคาไม่แพงนั้น  มักจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศเต็ม 49%) ถ้าต้องการซื้อเรามักจะต้องซื้อจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศที่ราคาสูงกว่ากระดานปกติ 20-30% และจุดอ่อนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การหาข้อมูลและการเยี่ยมบริษัทและพบปะผู้บริหารทำได้ยาก  ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์กิจการได้ง่ายเหมือนตลาดไทย

   ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดต่าง ๆ  ดังกล่าว  การลงทุนในเวียตนาม  “รอบแรก” เมื่อเกือบหนึ่งปีมาแล้วของผมจึงเป็นการซื้อหุ้นกระจายจำนวนมากกว่า 50 บริษัทโดยใช้ “ตะแกรงร่อน”  แบบ VI คือในด้านของราคา  ผมเลือกหุ้นที่มีค่า PE PB ต่ำ และปันผลตอบแทนสูง   ส่วนในด้านของคุณภาพ  ผมเลือกหุ้นที่มี ROE หรือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง  ใน “รอบสอง” ที่ผมกำลังคิดจะซื้อหุ้นเพิ่มหลังจากการเยี่ยมเยียนเวียตนามครั้งที่สอง  ผมคงเจาะหาหุ้นเป็นรายตัวและซื้อในปริมาณเม็ดเงินที่มากขึ้น  ผมเองหวังว่า  การลงทุนในเวียตนามช่วงนี้จะเหมือนกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2540 นั่นคือ  วันหนึ่งมันจะเติบโตขึ้นมากและ  “เปลี่ยนชีวิต” เราอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอีกซัก 10-20 ปี

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/05/18/1569

หัวข้อ: Re: *_* ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 08, 2015, 10:34:16 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, 26 May 2015
สัญญาณจากเว็บบอร์ด
    
    ในยุคที่คนจำนวนมากต่างก็เฝ้าหน้าจอและสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตกันวันละหลายชั่วโมง  เว็บบอร์ดยอดนิยมเกี่ยวกับหุ้นคือห้องสินธรในเว็บพันธ์ทิพจึงเป็นที่ที่อารมณ์ ความรู้สึก ความรู้  ความเข้าใจ และความสนใจของคนเกี่ยวกับหุ้นถูกแสดงออกผ่านกระทู้และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  หมดยุคของการพูดคุยตามงานปาร์ตี้หรือการคุยกับช่างตัดผมหรือคนขับแท็กซี่เพื่อตรวจสอบจิตวิทยาของคนเกี่ยวกับตลาดหุ้นอย่างที่ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดไว้ในหนังสือของเขา  เดี๋ยวนี้ถ้าอยากรู้หรือติดตามสถานการณ์ของสังคมในวงกว้างต่าง ๆ  เกี่ยวกับหุ้น  เราก็เข้าไปดูกระทู้และสิ่งที่เขาคุยกันในเว็บไซ้ต์เกี่ยวกับหุ้นที่มีมากมาย

   เมื่อเร็ว ๆ  นี้ ผมได้พบกระทู้หนึ่งในเว็บสินธรที่น่าสนใจจึงอยากนำมาวิเคราะห์ดูว่ามัน  “ส่งสัญญาณ”  อะไรเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้  แต่ก็ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ตั้งใจที่จะดูแคลนคนที่ตั้งหรือตอบกระทู้ในทุก ๆ  ด้าน  ผมเพียงแต่ต้องการอธิบายข้อเท็จจริงและให้ข้อสังเกตว่าตอนนี้คนทั่ว ๆ ไป  นักลงทุนมือใหม่  หรือคนที่ไม่เชี่ยวชาญคิดอย่างไรเกี่ยวกับหุ้นและนั่นเป็น “สัญญาณ” อะไรที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกและนำมาใช้ในการพิจารณาเรื่องการลงทุนของเรา          หัวข้อกระทู้ก็คือ  “สอบถามเรื่องการลงทุน” และต่อไปนี้คือสิ่งที่มีการโพ้สต์ในกระทู้และข้อสังเกตของผม

   “สวัสดีครับพี่ ๆ  นี้เป็นกระทู้แรกของผมครับ  ยังไงแนะนำด้วยครับ  ขอเล่ารายละเอียดครับ  ตัวผมอายุ 27 ครับ  อาชีพเชฟ อยู่ร้านอาหารเล็ก ๆ  ในกรุงเทพฯ เงินเดือนพอเลี้ยงครอบครัวได้ 22,000    ผมมีแผนการไว้ในอนาคตคือ  อีก 5-7 ปีข้างหน้า  จะเลิกทำอาชีพนี้และจะกลับไปอยู่กับภรรยาที่ศรีสะเกษ  แต่ก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคต  เพราะคิดจะสร้างครอบครัวมีลูก 2-3 คน  เลยสนใจอยากเล่นหุ้น  ขอแค่สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน 40,000-50,000 ต่อเดือน  ผมต้องทำอย่างไรบ้าง  ต้องมีเงินลงทุนเท่าไร  ควรเริ่มต้นอย่างไรหรือมีที่ไหนที่สามารถสอนผมหรือแนะนำผมได้บ้าง  ถ้าเป็นไปได้สอนผมแบบลงมือทำไปด้วยกัน  จะดีมากเลยครับ

   อาจจะเป็นคำถามของหลาย ๆ ท่านทำไมต้องเล่นหุ้นละ  ทำค้าขายก็ได้นี่  คือที่ผมไปสำรวจที่ศรีสะเกษ  ไม่มีแหล่งสร้างรายได้ที่จะได้ตามเป้าที่ผมต้องการ  และเราจะไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวถ้าทำค้าขาย  เพราะต้องวิ่งหาตลาดตลอดเวลา  ร้านของชำก็ไม่มีคนซื้อของเหมือนในกรุงเทพ  นี้คือเหตุผลของผมครับ ผมเองไม่ใช่คนฉลาดมากครับ แต่อยากสร้างครอบครัวที่ไม่ต้องวิ่งหาเงินไปตลอดจนไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว)  ยังไงรบกวนพี่ ๆ ด้วยนะครับ  แนะนำน้องคนนี้หน่อยครับ”

   ความคิดเห็นที่ 1  “สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน 40,000-50,000 ต่อเดือน”   “เอ่ออ  ต้องใช้ทุนกี่ล้านอ่ะคะ”

   จขกท. “ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรอ่ะครับ  อยากรู้เช่นกัน  ก่อนจะได้ขนาดนั้นต้องเริ่มยังไง  ผมเองคงไม่มีทุนขนาดนั้น  เริ่มจากเล็ก ๆ  ไปหาใหญ่  ตามเป้าในอนาคต 40,000-50,000 ต่อเดือน  ต้องทำยังไง  เริ่มลงจากอะไรก่อนดี  เพราะเท่าที่เคยได้ยินข้อมูลมา  บางท่านเริ่มลงทุนจากแค่ 50,000 บาท  ไปจนปัจจุบันมีรายได้มากกว่าปีละ 10,000,000 บาท  ผมเองไม่มีโอกาสได้เจอคนที่เขาทำแบบนี้ได้  เลยมาถามจากพี่ ๆ นะครับ”

   ความคิดเห็นที่ 2   “ต้องดูว่ามีเงินทุนอยู่ในมือเท่าไร  ถ้ามีซัก 9-10 ล้าน  ซื้อกองทุนหุ้นปันผลทิ้งไว้ไม่ต้องเฝ้าพอร์ตมาก  ไม่เครียด  เฉลี่ยปันผลปีละ 7-8% ก็พอได้ปีละ 6-7 แสนอยู่ แต่บางปีไม่ปันผลก็มี)  ทุน 5-6 ล้าน ลงทุนในหุ้นรายตัวที่พื้นฐานดี ๆ ซื้อมาขายไประหว่างปีบ้าง  กำไรตามตลาดซัก 10% ก็น่าจะพอหวังได้อยู่แต่ต้องศึกษาดี ๆ    ทุนต่ำกว่า 5 ล้าน อาจจะต้องมาเล่นหุ้นสายเทคนิค  เข้าเร็ว  ออกเร็วอาจจะมีโอกาสได้  แต่ก็มีโอกาสเสียมากเหมือนกัน..  แบบนี้อาจจะเครียดหน่อย”

   ความคิดเห็นที่ 3  “มันยากอยู่นะครับ 40,000-50,000 ต่อเดือน  ทุนต้องหนาหน่อย  ที่สำคัญสามารถต้องถึงด้วย  ถ้าทุนพี่ 100,000 ทำกำไรได้เดือนละ 40,000-50,000 ก็เท่ากับกำไรประมาณ 50% (มันยากอยู่นะครับ)  ทำกำไรได้ 15-20% ต่อเดือนทุกเดือนก็เก่งแล้วครับ  พี่ลองซื้อหนังสือหุ้นสายเทคนิคมาศึกษาดูครับ  มีความรู้ให้เราเยอะเลย”

   ความคิดเห็นที่ 4  “ถ้าต้องการ 50,000 บาทต่อเดือน = 600,000 บาท/ปี ถ้าลงทุนแบบไม่ต้อง active มาก  หวังจากเงินปันผลเป็นหลัก  คิดเฉลี่ยคร่าว ๆ = 5% ต่อปี ก็ควรมีเงินต้น 12 ล้านบาทครับ  ทั้งนี้คุณต้องมีความรู้ในการลงทุนระดับหนึ่งครับที่จะสามารถบริหารเงินต้นนี้ให้ได้ผลตามเป้าและไม่เสี่ยงเกินไป  โดยสรุป  คุณเริ่มต้นคิดมาถูกทางแล้ว  ต่อจากนี้ก็อยู่ที่การใฝ่หาความรู้เร่งเก็บเงินเพื่อ  “การลงทุนเพื่อชีวิต” ครับ  โชคดีครับผม”

   ความคิดเห็นที่ 5  “ถ้าตั้งคำถามแบบนี้  ยังไม่ต้องรีบครับ  ทำงานเก็บเงินไปก่อน  ผมคำนวณให้คร่าว ๆ ก่อน  ห้าหมื่นบาทต่อเดือนก็ปีละ 6 แสน ถ้าเล่นแบบซื้อหุ้นปันผล  หาหุ้นที่ปันผลปีละ 5% (หักภาษีแล้ว)  คุณต้องมีต้นทุนเท่ากับ 600,000/.05 =  12 ล้านบาทครับ   ส่วนที่บอกว่าบางท่านเริ่มลงทุนจากแค่ 50,000 บาท ไปจนปัจจุบันมีรายได้มากกว่าปีละ 10,000,000 บาท อาจจะมีจริงแต่เป็นแค่ 1 ในล้านหรือหลายล้าน  แต่คนที่มีเงินเป็นล้านเหลือแค่หลักแสนหรือหลักหมื่นนั้นมีเยอะกว่ามากมายเพียงแต่ไม่ได้มาเล่าให้ใครฟังครับ  การตั้งคำถามแบบนี้เหมือนถามว่าล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ขายอยู่แผงไหนครับ  ผมจะไปซื้อ  ประมาณนั้นครับ”

   จขกท. “555  จากคำตอบพวกพี่ผม  ผมนี้น้ำตาไหลเลย  แต่ชีวิตมันต้องมีทางออก  เท่าที่พูดมา  ถ้าผมต้นทุนน้อย  ควรเริ่มต้นจากการเล่นหุ้นด้านเทคนิคก่อน  ค่อยไปด้านการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 5% (หักภาษีแล้ว) แบบไม่ต้องเฝ้า  ขอบคุณครับ  อย่างน้อยทำให้ผมเห็นทางที่จะวิ่งต่อ  ตอนแรกมืดสนิท  งั้นผมควรซื้อหนังสืออันไหนมาศึกษาดีครับ”

   ความคิดเห็นที่ 6  “ทำงานแบ่งเงินมาลงทุนในหุ้นปันผลไปเรื่อย ๆ จนมีเงินลงทุน 15 ล้านบาท  แค่นี้เอง  ไม่ยาก ๆ”

   ข้อสังเกตของผมจากกระทู้นี้ก็คือ  หนึ่ง ช่วงนี้หุ้นคงเป็น “ฟองสบู่” อยู่บ้าง  เพราะคนที่มีอาชีพเป็นเชฟและไม่ได้มีเงินมากสนใจลงทุนในหุ้นและมองว่าหุ้นเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ที่อาจจะสามารถทำให้เราร่ำรวยได้โดยไม่ต้องทำอะไรเหนื่อยยากโดยที่เราอาจจะไม่ต้องมีเงินลงทุนมาก  สอง  อาจจะมีคนไม่น้อยที่คิดว่าเราสามารถทำผลตอบแทนจากหุ้นได้เดือนละ 15-20% ถ้าเราเก่งพอสมควรในด้านการซื้อขายหุ้นแบบเทคนิคแต่ถ้าเก่งมากก็อาจจะได้เดือนละ 50%   นี่ก็เป็นสัญญาณฟองสบู่เหมือนกัน  สาม  น่าจะมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่า  ช่วงที่มีเงินน้อย ๆ และต้องเร่งสร้างพอร์ตนั้น  จะต้องเล่นแบบเทคนิค  หลังจากมีเงินมากแล้วค่อยลงทุนแบบกินปันผลแบบสบาย ๆ  ไม่เครียด  และสุดท้ายก็คือ  “นิยาย” ของเซียนหุ้นที่ร่ำรวย  “จากหมื่นเป็นร้อยล้าน”  จากหุ้นภายในไม่กี่ปีนั้น  สามารถสร้างฝันให้กับนักลงทุนเสมอ  และก็เช่นเดียวกัน  นิยายแบบนี้มักแพร่หลายในช่วงฟองสบู่หุ้น
   

Posted by nivate at 10:07 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/05/26/1572
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 11, 2015, 11:05:09 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Tuesday, June 2015
  จัดกลุ่มหุ้นจากผลประกอบการ


    เทคนิคการวิเคราะห์และคัดเลือกหุ้นที่จะซื้อ—และขาย  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มากอย่างหนึ่งก็คือ  การวิเคราะห์และแยกแยะหุ้นออกเป็น 6 แบบในสไตล์ของปีเตอร์ ลินช์ เซียนหุ้น “ในตำนาน” ชื่อดัง  โดยหุ้นแต่ละตัวนั้นจะถูกคัดแยกหรือกำหนดออกมาว่ามันเป็น 1 ใน 6 กลุ่มดังต่อไปนี้คือ  1 หุ้นโตช้า  2 หุ้นโตเร็ว  3 หุ้นแข็งแกร่ง 4 หุ้นทรัพย์สินมาก 5 หุ้นวัฎจักร หรือ 6 หุ้นฟื้นตัว  ในกรณีที่เป็นหุ้นโตช้า  ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเราไม่ควรซื้อเลย  เขาจะชอบหุ้นโตเร็วเพราะราคาหุ้นจะขึ้นไปมากซึ่งเขาก็จะถือไว้จนกระทั่งหุ้นหรือบริษัทเริ่มหยุดโตซึ่งก็มักจะใช้เวลาหลาย ๆ  ปี และนี่คือหุ้นที่ทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตเพิ่มขึ้นมาก  บางครั้งเขาก็ซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งในเวลาที่มันไม่แพงและจ่ายปันผลที่ดีและจะขายเมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไป 20-30% ต่อปี  หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่เขามักจะต้องซื้อเก็บไว้บ้างเพราะมันช่วย “ถ่วง” ไม่ให้พอร์ตผันผวนเกินไป  หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมากนั้นเมื่อเราเจอว่าทรัพย์สินมีค่ามากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นและเป็นทรัพย์สินที่จะสามารถนำมาขายได้กำไรมากในเวลาไม่นาน  ก็เป็นหุ้นที่ลงทุนได้  ในกลุ่มหุ้นวัฏจักรนั้น  เราต้องซื้อในยามที่หุ้นกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำสุดแล้วและกำลังจะขึ้นซึ่งก็เป็นช่วงที่บริษัทไม่มีกำไรหรือกำไรน้อยมากทำให้ค่า PE สูง  และควรขายเมื่อกำไรดีขึ้นมาก ๆ  ค่า PE ต่ำ  ในกลุ่มสุดท้ายที่เป็นหุ้นฟื้นตัวนั้น  ควรซื้อบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีและการฟื้นตัวนั้นเป็นไปได้สูง  ขายเมื่อบริษัทฟื้นตัวและมีกำไรแล้ว

    ประเด็นก็คือ  นักลงทุนจำนวนมากนั้น  วิเคราะห์ไม่ออกหรือวิเคราะห์ผิดพลาดว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นกลุ่มไหน   ข้อผิดพลาดที่เกิดมากที่สุดนั้นอยู่ที่  “หุ้นโตเร็ว”  ที่ทุกคนอยากจะซื้อเนื่องจากมันเป็นหุ้นที่จะทำกำไรได้มากและเร็ว  นักลงทุนมักจะมองว่าถ้ากำไรและยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นในปีล่าสุดในระดับที่สูงเช่น 30-40%  และยิ่งถ้าเพิ่มมาแล้ว 2 ปี แบบนี้เขาก็จะสรุปเลยว่ามันเป็นหุ้นโตเร็วและจะเข้าไปซื้อ  “ไล่ราคา”  ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปแรงซึ่งก็ยิ่งทำให้คนอื่นเชื่อกันว่านี่คือ “หุ้นโตเร็ว”  และเข้าไปร่วมซื้อด้วยทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปอีก  แต่นี่อาจจะไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริง  เพราะหลังจากนั้น  กำไรของบริษัทอาจจะลดลงและราคาหุ้นก็ตกตามกันไป  คนที่เข้าไปเล่น “หุ้นโตเร็ว”  หลังจากที่หุ้นขึ้นไปโดยที่มันไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริงก็จะขาดทุนได้   ดังนั้น  การวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะแบ่งกลุ่มหุ้นจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง  และต่อไปนี้ก็คือวิธีดูว่าหุ้นตัวไหนควรอยู่กลุ่มไหนจากข้อมูลผลประกอบการของบริษัท

    การดูผลประกอบการที่จะพอบอกได้ว่าเป็นหุ้นกลุ่มไหนนั้น  จำเป็นที่เราจะต้องดูข้อมูลย้อนหลังซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยต้อง 4-5 ปีขึ้นไปในทุกกรณี  โดยที่ถ้าเราพบว่ายอดขายและ/หรือกำไร ของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น  แม้ว่าในหลายกรณีจะมีกำไรทุกปี  แต่การเติบโตมีน้อยเฉลี่ยไม่เกิน 5-6%  หรือบางทีมองย้อนกลับจากปีล่าสุดไป 4-5 ปีนั้น  ตัวเลขกำไรก็เท่าเดิม  แบบนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นโตช้าหรือไม่โต  ในบางกรณีกำไรกลับลดลงด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มเดียวกัน  และถ้าเราเจอแบบนี้  วิธีที่ดีก็คือ  อย่าไปซื้อแม้ว่าบางทีเขาอาจจะจ่ายปันผลใช้ได้และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดด้วยซ้ำ  เพราะถ้าเราซื้อไว้  อนาคตกำไรอาจจะลดลงและปันผลก็จะลดลงด้วย

    ถ้าเราดูข้อมูลพบว่ายอดขายและกำไร “ปกติ” ของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี  บางทีแม้ว่าภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ดีแต่ผลประกอบการของบริษัทก็ยังโต  โดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นการเติบโตต่อปีเกิน 10% หรือบางทีเกิน 15% แบบนี้เราก็อาจจะกำลังเจอหุ้นโตเร็วเข้าแล้ว  ถ้าเราวิเคราะห์ต่อและพบ “แหล่งของการเติบโต”  เช่น เกิดจากอุตสาหกรรมที่เติบโต  หรือการกินส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่ง  ไม่ใช่ราคาของสินค้าที่เพิ่มขึ้น  แบบนี้ก็อาจจะชัดเจนว่ามันเข้าข่ายเป็นหุ้นโตเร็วที่เราจะซื้อได้  บางทีในราคาที่อาจจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดนั่นก็คือ  เราอาจจะให้ค่า PE ที่สูงถึง 20-30 เท่าในบางกรณีก็เป็นไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ที่กำลังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้นานโดยมีความเสี่ยงต่ำ

    หุ้นตัวใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูง  เป็นธุรกิจที่อยู่มานาน  มีผลประกอบการที่ดีมีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ  และมีการเติบโตพอใช้ประมาณ 5-10% ต่อปี ในปีที่ “เลวร้าย” ก็มักจะยังมีกำไรแม้ว่าอาจจะลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก  อาจจะซัก 20-30%  มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในระดับเฉลี่ยของตลาดเช่น 2.5-3.5% ต่อปี แบบนี้มักจะเข้าข่ายเป็น “หุ้นแข็งแกร่ง” ที่เรามักจะมีโอกาสได้ลงทุน  และจังหวะที่ดีก็คือช่วงที่ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวลงมาจนค่า PE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตหรือต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอย่างอื่นเช่นการฝากเงิน  เมื่อซื้อหุ้นไว้แล้วก็อาจจะต้องรอจนหุ้นปรับตัวขึ้นไปทำกำไรให้เราคุ้มค่าเช่นได้กำไรเฉลี่ยปีละ10-15% เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้ง  เพราะโดยปกติราคาหุ้นแข็งแกร่งนั้นมักจะปรับตัวหรือโตขึ้นไปไม่สูงมากเนื่องจากมันอาจจะตัวใหญ่เกินไปและกำไรก็มักจะไม่สามารถโต “ก้าวกระโดด” แบบหุ้นโตเร็ว

    ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทแล้วพบว่าในช่วง 5-6 ปีหรือถ้าให้ดีดูย้อนหลังไป 10 ปี นั้น  ในบางช่วงบริษัทมีกำไรดีมากติดต่อกันหลายปี  แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ขาดทุนติดต่อกันหลายปี แล้วก็ย้อนกลับมากำไรอีก  แบบนี้เราก็อาจจะเจอกับหุ้นวัฏจักรเข้าให้แล้ว  แน่นอน ในบางครั้งเราอาจจะไม่เห็นการขาดทุน  แต่กำไรในบางช่วงมักจะสูงและบางช่วงก็มักจะต่ำ  ช่วงเวลาของการขึ้นลงในแต่ละบริษัทก็อาจจะไม่เท่ากัน  บางบริษัทนั้นเวลาดีอาจจะหลายปีเช่นเดียวกับเวลาที่ไม่ดี  บางบริษัทก็อาจจะดีแค่ปีหรือสองปีแล้วก็กลับไปแย่  ในกรณีแบบนี้  เราต้องรู้ว่าเวลาซื้อหุ้นนั้น  อย่าไปดูว่าบริษัทกำลังกำไรดี  เราต้องดูว่า “วัฏจักร” มันอยู่ในช่วงไหน  การเล่นหุ้นวัฏจักรนั้นไม่ง่ายโดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้อยู่ในวงการของธุรกิจ  ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ  อย่าซื้อในราคาที่สูงเกินไปและอย่าไปเข้าใจผิดว่ามันเป็นหุ้นโตเร็ว

    ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการแล้วพบว่ากำไรก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจนัก  แต่ข้อมูล PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชีนั้นต่ำมาก  เช่น  ในปัจจุบันที่ค่าเฉลี่ยของตลาดประมาณ 2.1 เท่าและบริษัทใน MAI เท่ากับ 4.3 เท่า  แต่ของบริษัทเท่ากับแค่ 0.7 เท่า แบบนี้ก็อาจจะสงสัยว่าบริษัทอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นทรัพย์สินมาก  ถ้าเราศึกษาต่อแล้วพบว่าทรัพย์สินที่ลงบัญชีไว้นั้น  น่าจะมีค่าหรือมีราคาตลาดที่สูงไม่น้อยกว่ามูลค่าในบัญชีหรืออาจจะสูงกว่าด้วยซ้ำ  เช่น เป็นที่ดินในทำเลที่ดีมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาหรือขายต่อได้ไม่ยาก  และกำไรที่ได้นั้นอาจจะมากกว่า Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดบวกหนี้สินทั้งหมดของบริษัทมาก  แบบนี้  เราก็อาจจะพิจารณาซื้อหุ้นแล้วก็รอว่าวันหนึ่งผู้บริหารจะขายทรัพย์สินนั้นออกไปซึ่งจะส่งผลให้ได้กำไรและราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากซึ่งก็จะเป็นวันที่เราจะขายหุ้นทิ้ง  อย่างไรก็ตาม  การซื้อหุ้นทรัพย์สินมากนั้น  ถ้าผู้บริหารไม่ทำอะไรกับทรัพย์สินและปล่อยทิ้งไว้นาน  เราก็อาจจะขาดทุนจากการเสียโอกาสทางการเงินได้

    สุดท้าย  ถ้าเราพบหุ้นที่เคยกำไรแต่ต่อมาขาดทุนอย่างหนักและขาดทุนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ดูไปแล้วไม่รู้ว่าธุรกิจจะ “รอด” หรือเปล่า  อย่างไรก็ตาม  หนี้สินของบริษัทเปรียบเทียบกับขนาดของทรัพย์สินแล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่สูงเกินไป  สินค้าของบริษัทเองก็ยังขายได้ แข่งขันได้พอสมควร  ถ้ามองลึกลงไปแล้วพบว่าปัญหาของบริษัทที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือเป็นสาเหตุจากปัจจัยที่พอแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องระดมทุนใหม่มากมายมาแก้ปัญหา  เราก็อาจจะได้พบกับหุ้นฟื้นตัวแล้ว  เวลาซื้อหุ้นก็น่าจะเป็นว่าบริษัทได้เริ่มกระบวนการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตอบรับการฟื้นฟูแล้วในขณะที่มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. ของบริษัทนั้นอยู่ในระดับต่ำสุด
    

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/06/02/1574
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 11, 2015, 11:09:12 pm
.(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 8 June 2015
M&A ยี่ห้อบัฟเฟตต์
 


    การทำ M&A หรือการซื้อหรือควบรวมกิจการนับวันจะเป็นเรื่องปกติของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วแต่กิจการเดิมที่มีอยู่นั้นไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเร็วและมากพอเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ   การซื้อกิจการต่าง ๆ  ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรือธุรกิจใหม่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่บริษัทที่มีทรัพยากรทางการเงินเหลือเลือกใช้   ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า  มันคุ้มค่าไหมที่จะทำ?  เพราะแม้ว่าการซื้อกิจการจะทำให้มีรายได้และอาจจะทำกำไรเพิ่มทันทีแต่ราคาที่ซื้อก็มักจะแพงกว่าปกติค่อนข้างมาก  ถ้าเป็นบริษัทหรือหุ้นในตลาดก็มักจะแพงกว่าอย่างน้อยก็ 30-40% จากราคาก่อนมีข่าวเทคโอเวอร์  อย่างไรก็ตาม  คนที่ซื้อกิจการก็มักจะมี “ข้อแก้ตัว” หรือมีเหตุผลว่าตนเองจะสามารถปรับปรุงหรือพัฒนากิจการที่ซื้อมาให้ดีขึ้นได้อย่าง “ก้าวกระโดด” ผ่านกิจกรรมบางอย่างเช่น  เปลี่ยนผู้บริหาร  หรือไม่ก็โดยการทำ  “Synergies” หรือสามารถสร้างรายได้เพิ่มและ/หรือลดต้นทุนให้กับกิจการเมื่อนำธุรกิจใหม่และธุรกิจเดิมที่มีอยู่มา “บริหารร่วมกัน”  ดังนั้น  สำหรับบริษัทที่เทคโอเวอร์บริษัทอื่นแล้ว  พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเสมอ  และก็เช่นเดียวกัน  นักลงทุนจำนวนมากก็มักจะคิดว่าบริษัทจะดีขึ้นและโตขึ้นอย่างรวดเร็วพวกเขาจึงแห่กันไปซื้อหุ้น  ผลก็คือ  ทั้งหุ้นของบริษัทที่ถูกเทคและ บริษัทที่เทคโอเวอร์คนอื่นต่างก็ “วิ่งกันระเบิด”  ในวันประกาศข่าว   อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์บอกเราว่า  หลังจากการเทคโอเวอร์แค่ 2-3 ปี ความหวังหรือความฝันมักจะสูญสลาย  การทำ M&A ส่วนใหญ่มีแต่ทำให้บริษัทแย่ลง

    วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  คนส่วนใหญ่คิดว่าเขาเป็น “นักลงทุน” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกที่รู้ว่าจะซื้อและขายหุ้นตัวไหนให้ได้กำไรงดงาม   แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าที่จริงแล้วการลงทุนของบัฟเฟตต์ส่วนใหญ่แล้วก็คือ  การเทคโอเวอร์หรือทำ M&A นั่นก็คือ  เขามักจะซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทหรือเป็นหุ้นใหญ่ที่เขามีอำนาจควบคุมเหมือนกับเป็นเจ้าของโดยที่เขาซื้อโดยไม่มีจุดประสงค์ในการขาย  บัฟเฟตต์ทำแบบนี้มานานหลายสิบปีและเป็นเจ้าของบริษัทมากมาย  รายได้และกำไรของบริษัทที่อยู่ใน “อาณาจักร” ของเบิร์กไชร์รวมกันนั้นสูงเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐรองจากหุ้นอย่างวอลมาร์ทหรือแอปเปิลคอมพิวเตอร์  บัฟเฟตต์ทำได้อย่างไรในการเทคโอเวอร์บริษัทที่ดีเยี่ยมและไม่เป็นปัญหาในภายหลังอย่างคนอื่นและเขาบริหาร  “บริษัทลูก ๆ” อย่างไรที่ทำให้เบิร์กไชร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้ง ๆ ที่ทั้งบริษัทแม่ที่เมืองโอมาฮามีคนทำงานไม่เกิน 20 คน

    ความสำเร็จในการทำ M&A ของบัฟเฟตต์นั้นผมคิดว่าอยู่ที่  “ยี่ห้อ” ของบัฟเฟตต์ที่ต้องบอกว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือนและทำให้มัน  “ขาย” ได้ดีมาก  พูดง่าย ๆ  เจ้าของธุรกิจที่ดี ๆ และอยากที่จะขายธุรกิจเนื่องด้วยเหตุผลร้อยแปด  ถ้าเลือกได้  พวกเขาอาจจะอยากขายให้บัฟเฟตต์แม้ว่าบางทีราคาขายอาจจะถูกกว่าขายให้คนอื่นด้วยซ้ำ  นี่ทำให้บัฟเฟตต์สามารถซื้อหุ้นหรือกิจการที่ดีเยี่ยมในราคาถูกอยู่ตลอดเวลา  สิ่งนี้ประกอบกับความสามารถในการบริหารกิจการและคนของบัฟเฟตต์  และเม็ดเงินสดต้นทุนต่ำโดยเฉพาะจากกิจการประกันภัยและจากเงินปันผลจากบริษัทลูกจำนวนมหาศาล  ทำให้เบิร์กไชร์สามารถซื้อบริษัทที่ดีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุดและไม่ประสบปัญหาเหมือนบริษัทอื่น   มาดูกันว่า  “ยี่ห้อ” หรือชื่อเสียงของการทำ M&A ของบัฟเฟตต์คืออะไร

    ข้อแรก บัฟเฟตต์จะไม่ทำ M&A แบบ  “ไม่เป็นมิตร”  นั่นก็คือ  ถ้าผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทไม่เห็นด้วยกับการเสนอเทคโอเวอร์  บัฟเฟตต์ก็จะไม่เข้าไปซื้อ  เหตุผลก็คือ  เวลาบัฟเฟตต์ซื้อกิจการนั้น  เงื่อนไขสำคัญก็คือ  ผู้บริหารจะต้องอยู่บริหารต่อไป  เพราะบัฟเฟตต์คิดว่าคุณค่าของบริษัทหรือกิจการนั้นอยู่ที่ผู้บริหาร  ถ้าเขาซื้อแล้วผู้บริหารออกไปใครจะบริหารและเขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนใหม่จะทำได้ดีเช่นคนเก่าและกิจการจะดี  “เหมือนเดิม”  และนี่ก็เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขข้อสองนั่นก็คือ

    บัฟเฟตต์จะซื้อเฉพาะกิจการที่ดีหรือดีเยี่ยมเท่านั้น  เขาไม่สนใจกิจการที่ย่ำแย่หรือกิจการที่จะ “Turn Around” หรือกิจการที่จะ “ฟื้นตัว”  เพราะเขาพูดว่าหุ้นเหล่านี้มักจะไม่ฟื้นจริง  ยกเว้นแต่ว่าถ้าเป็นบริษัทที่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินแต่ตัวธุรกิจนั้นยังดีเยี่ยม  แบบนี้เขาก็จะสนใจเพราะเบิร์กไชร์นั้นมีเงินสดมากและต้นทุนต่ำที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนเต็มที่  ตัวอย่างน่าจะเกิดในช่วงวิกฤตซับไพร์มปี 2008-9 ที่บริษัทดีเยี่ยมจำนวนมากเช่น GE และสถาบันการเงินหลายแห่งเกือบล้มละลายเพราะขาดเงินซึ่งบัฟเฟตต์เข้าไปลงทุนอัดฉีดเงินให้จนฟื้น

    ข้อสามที่เป็นที่ชื่นชอบของเจ้าของธุรกิจที่ต้องการขายบริษัทให้กับบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาจะไม่มีการปลดผู้บริหารหรือบุคคลากรของบริษัท  เขาต้องการให้เจ้าของเดิมบริหารบริษัทต่อไป  “ตลอดชีวิต” ดังนั้น  สำหรับเจ้าของที่เป็นผู้บริหารด้วยนั้น  เมื่อขายให้บัฟเฟตต์แล้ว  พวกเขาก็จะยังทำงาน  “ที่เขารัก”  และมีชีวิตประจำวันเหมือนเดิม  พวกเขาจะรู้สึกแย่ในกรณีที่ถ้าขายให้กับคนอื่นแล้วบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีอัตลักษณ์เดิมของครอบครัวและที่สำคัญที่สุดก็คือพนักงานเก่าแก่ที่เคยอยู่ด้วยกันและผูกพันกันมานานอาจจะถูก “ลอยแพ” ถ้าขายให้คนอื่น

    ข้อสี่ก็คือ  บัฟเฟตต์ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัทที่เขาเทคโอเวอร์โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจประจำ  เขาอาจจะติดต่อกับบริษัทบ้างอาจจะปีละครั้งหรือไม่ต้องคุยเลย  สิ่งที่บัฟเฟตต์ต้องการให้ผู้บริหารทำก็คือ  “คิดและทำเหมือนเป็นเจ้าของบริษัท”  อะไรที่เป็นประโยชน์คุ้มค่าก็ทำ  อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องทำ  ตัวอย่างเช่น  อย่าขยายงานถ้าผลตอบแทนต่ำ  ผลงานของผู้บริหารนั้นวัดที่ผลกำไรเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น  ถ้าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำก็อย่าลงทุน  ให้จ่ายเป็นปันผลออกมา  ไม่ต้องห่วงว่าบริษัทจะโตช้าหรือไม่โต

    ข้อห้าและน่าจะเป็นเรื่องที่ “หักล้าง” ความคิดเรื่อง M&A สายหลักอย่างสิ้นเชิงก็คือ  บัฟเฟตต์ไม่สนใจเรื่อง Synergies ทางด้านการทำธุรกิจ  บริษัทในเครือข่ายของเบิร์กไชร์นั้นต่างคนก็ต่างอยู่ไม่จำเป็นที่จะต้องมาหาทางเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดต้นทุน  ไม่ต้องมายุ่งกันในเรื่องของการขายหรือการตลาด  ตัวอย่างเช่น  เบิร์กไชร์มีบริษัทที่ขายเฟอร์นิเจอร์หลายแห่งหลายเมืองแต่ทุกรายต่างก็ทำของตนเองไม่ยุ่งเกี่ยวกัน  ผมคิดว่ากลยุทธ์นี้ทำให้แต่ละบริษัทต่างก็ไม่ต้องไปขึ้นอยู่หรือไปสัมพันธ์ทางธุรกิจกับคนอื่นซึ่งจะทำให้แต่ละคนมีความคล่องตัวน้อยลงซึ่งอาจจะกลายเป็นว่าผู้บริหารที่เคยมี  “อิสระ”  ก่อนถูกเทคโอเวอร์  กลายเป็นว่าจะไม่มีอิสระแล้ว  ดังนั้น  แนวทางของบัฟเฟตต์ข้อนี้น่าจะทำให้เจ้าของและผู้บริหารบริษัทอยากขายบริษัทให้บัฟเฟตต์มากกว่าขายให้คนอื่น  เพราะขายไปแล้วตนก็ยังมีอิสระในการทำงานเหมือนเดิม  Synergies แบบเดียวที่บัฟเฟตต์ให้กับบริษัทลูก ๆ ก็คือ ในเรื่องของการเงิน  นั่นก็คือ  เวลาบัฟเฟตต์เทคโอเวอร์บริษัทแล้ว  เขามักจะช่วยลดต้นทุนทางด้านการเงินให้  เช่น  เคยจ่ายดอกเบี้ยสูงก็จะจ่ายต่ำลงเพราะเครดิตของเบิร์กไชร์นั้นดีมาก

    สองข้อสุดท้ายที่ทำให้ยี่ห้อเทคโอเวอร์ของบัฟเฟตต์ดึงดูดใจเจ้าของธุรกิจมากก็คือ  เขาสามารถ  “ปิดดีล” ได้เร็วมากและมักจะไม่มีการทำ “Due Diligent” หรือศึกษาข้อมูลรายละเอียดของบริษัทให้  “เสียอารมณ์” อย่างบริษัทอื่น  ถ้าตกลงราคาได้เขาสามารถจ่ายเงินได้ภายใน “บ่ายนี้”  หรือใน “วันจันทร์” เป็นเงินสด  ไม่ใช่เป็นการแลกหุ้นหรือจ่ายเป็นงวด ๆ  นอกจากนั้น  คนขายอาจจะรู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็น “หนึ่งในบริษัทของเบิร์กไชร์”  และทั้งหมดนี้ก็คือ  “ยี่ห้อ” ของเบิร์กไชร์ ที่  “สุดยอด” ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้และน่าจะเป็นปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่บัฟเฟตต์ได้สร้างไว้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 15, 2015, 03:46:58 pm



(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 
  ม้าลายในดงสิงห์

    หนึ่งในนักลงทุนที่ “ยิ่งใหญ่” ของโลกแต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นหลังก็อาจจะไม่ค่อยรู้จักก็คือ Ralph Wanger อดีตผู้จัดการกองทุนตระกูล “Acorn” ที่โด่งดังในช่วงกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1970-2003  เขาดังเพราะว่าผลงานในช่วง 33 ปี ของเขานั้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 16.3% ในขณะที่ดัชนี S&P หรือดัชนีตลาดนั้นให้ผลตอบแทนเพียง 12.1%  ความแตกต่างถึงปีละกว่า 4% ต่อปีเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปีนั้น  เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากสำหรับการลงทุนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่เป็นแสนล้านบาท  นอกจากเรื่องของผลงานแล้ว  สิ่งที่ทำให้แวงเกอร์ดังเป็นพิเศษก็คือ  เขาเป็นผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้นำในการลงทุนในหุ้น “ขนาดเล็ก”  ที่โตเร็วทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐและต่างประเทศเป็นคนแรก ๆ   อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนกล่าวขวัญถึงก็คือ  “รายงานถึงผู้ถือหน่วยลงทุน” ที่เขาส่งให้ลูกค้าของเขาเป็นประจำทุกไตรมาศนั้น  ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสาระความรู้และน่าอ่าน  ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษาแต่มันคงจะคล้าย ๆ  กับรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์  และหลังจาก  “ประสบความสำเร็จสูง” ก็เป็น  “ธรรมเนียม” ที่จะต้องมี  “หนังสือ”  ของตนเอง  ซึ่งผมได้อ่านมานานแล้วตั้งแต่ผมเริ่มชีวิตการลงทุนใหม่ ๆ  หลังปีวิกฤติตลาดหุ้นไทยในปี 2540  หนังสือที่เขาเขียนชื่อ  “A Zebra In Lion Country” แปลเป็นไทยก็คือ  “ม้าลายในดงสิงห์”

    ความหมายของ  “ม้าลายในดงสิงห์” ของแวงเกอร์ก็คือ  เขาเปรียบนักลงทุนรายย่อยเป็น  “ม้าลาย” ที่หากินกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้า  ม้าลายที่อยู่ตรงกลางของฝูงนั้น  ปกติก็มักจะ “ปลอดภัย” จากการกลายเป็นอาหารของสิงโตที่มักจะล่าเหยื่อที่เป็นม้าลาย  อย่างไรก็ตาม  ม้าลายที่หากินอยู่กลางฝูงนั้นก็มักจะได้กินแต่หญ้าจำนวนน้อยและคุณภาพต่ำที่ถูกเหยียบย่ำโดยฝูงม้าลาย  ความหมายก็คือ  ถ้าเราเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ “กลัวความเสี่ยง”  เราก็จะลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมเช่น  ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่เป็น  “หุ้นมาตรฐาน” ของตลาดหรือลงทุนในกองทุนรวม  แต่วิธีนี้เราก็ต้องยอมรับว่าจะได้ผลตอบแทนที่ “ต่ำ”   ในทางตรงกันข้าม  ม้าลายที่หากินอยู่ที่ขอบรอบนอกของฝูงนั้น  ก็มักจะได้กินหญ้าจำนวนมากที่เขียวขจีแต่พวกมันก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ฝูงสิงโตจะเข้าโจมตีและจับมันเป็นอาหาร  ความหมายก็คือ  ถ้านักลงทุนรายย่อยอยากที่จะรวยหรือทำเงินจากการลงทุนสูง  เขาจะต้องกล้าลงทุนใน  “หุ้นขนาดเล็ก” ซึ่งจะต้อง  “เสี่ยง”  และจะต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดได้อย่างปลอดภัย

    ในตลาดหุ้นไทยนั้น  นักลงทุนรายย่อยบ้านเราที่มักจะเข้ามา “เล่นหุ้น” โดยไม่มีความรู้ในการลงทุนจริง ๆ  นั้น  มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น  “แมงเม่า”  นั่นก็คือ  เข้ามาซื้อขายหุ้น  “ตามแห่”  คือถ้าหุ้นตัวไหนราคาปรับตัวขึ้นแรงและเร็วพวกเขาก็จะแห่เข้าไปซื้อตาม  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าหุ้นตัวนั้นเริ่มปรับตัวลง  พวกเขาก็จะรีบชิงขายโดยไม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานของกิจการไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  ผลก็คือพวกเขาก็มักจะขาดทุน  นี่เปรียบเสมือนกับแมงเม่าที่มักจะบินเข้าไป “เล่นกับไฟ”  ที่มีคนจุดขึ้น  ซึ่งก็มักจะถูก “เผา”สถานเดียว  พูดง่าย ๆ  กลยุทธ์แบบนี้มีแต่ขาดทุน  โอกาสกำไรไม่มี

    ในระยะหลังที่การลงทุนแบบ “VI”  เกิดขึ้นในประเทศไทย  นักลงทุนรายย่อยที่เป็น VI นั่นคือคนที่ศึกษาหลักการลงทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ดีมีราคาถูกนั้น  พวกเขาพบว่าหุ้น  “ขนาดเล็กที่โตเร็ว” นั้น  เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมกว่าการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ทำให้พวกเขาจำนวนมากประสบความสำเร็จสูงมากโดยที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา  พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงจากการขาดทุนที่มักเกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อยตลอดมา  พวกเขาได้กำหนด  “มาตรฐานใหม่” ขึ้นมาว่า  นักลงทุนรายย่อยที่รู้จริงและใช้หลักการแบบ VI นั้น  ไม่ใช่แมงเม่าที่จะถูกหลอกล่อให้บินเข้ากองไฟ  ตรงกันข้าม  พวกเขานั้นคือ  “ม้าลาย” ที่หากินอยู่ที่ขอบนอกของฝูงที่ได้กิน “หญ้าที่เขียวขจี” และสามารถเอาตัวรอดจาก  “สิงห์”  ที่คอยจับม้าลายที่ไม่รู้จักวิธีหลบหลีก “กรงเล็บ” ของมัน

    แน่นอนว่าไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็ก” ทุกตัวเป็นหุ้นที่ดีน่าลงทุน  และก็ไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว”  ทุกตัวเป็นหุ้นที่น่าลงทุน  ตรงกันข้าม  หุ้นตัวเล็กไม่ว่าจะโตเร็วหรือไม่  ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุน  จริงอยู่ หุ้นเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็ว  บ่อยครั้งก็ทำกำไรให้กับนักลงทุนบางคนมหาศาล  แต่กลับทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากขาดทุนอย่างหนัก  ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คือ  นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ก็คือ  “ม้าลาย”  ที่ออกมาหากินหญ้าที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่ตระหนักว่ามันมีอันตรายจาก “สิงโต”  ที่คอยจับ “เหยื่อ”  ที่ไม่รู้และมองหาแต่หญ้าที่ “เขียวขจี” อยู่ที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่รู้วิธีป้องกันหรือเอาตัวรอดเมื่อสิงโตมา  และนี่ก็คือนักลงทุนที่  “พยายามเป็น VI” โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริง ๆ  พวกเขาเข้ามาเล่น  “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว” ที่มีราคาปรับตัวขึ้นมากและเร็วเพราะหวังผลตอบแทนที่สูงลิ่วแต่กลับขาดทุนอย่างหนักเมื่อหุ้นปรับตัวลง  พวกเขา  “ร้องไห้หนักมาก”  อย่างที่วัยรุ่นชอบพูดกันในช่วงเร็ว ๆ  นี้

    วิธีที่จะเป็น  “ม้าลายที่หากินหญ้าที่เขียวขจีที่อยู่ขอบนอกของฝูงและเอาตัวรอดได้” ของแวงเกอร์นั้น  พอสรุปได้คร่าว ๆ  ดังต่อไปนี้

    ประการแรกก็คือ  ให้เน้นการมองหรือค้นหาแนวโน้มหรือเทรนด์ที่จะดำเนินต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4- 5 ปีข้างหน้า  เพราะเขาเห็นว่าชีวิตของเรานั้นจะถูกขับเคลื่อนโดยกระแสของเศรษฐกิจและสังคมเหล่านั้น  ซึ่งก็จะไปขับเคลื่อนยอดขายและกำไรของบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ตัวอย่างเช่น แวงเกอร์เองนั้นมองว่ามีเทรนด์ที่จะดำเนินต่อไปอีก 4-5 เรื่องคือ  1)  การปฏิวัติของระบบข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะผลกระทบของมันต่อต้นทุนต่าง ๆ  2) คือการขยายตัวของระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต 3) ธุรกิจความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจซึ่งจะถูกเร่งขึ้นโดยการเพิ่มขึ้นของคนรุ่นเบบี้บูมที่มีความมั่งคั่งสูง  4) คือระบบ Outsource หรือการจ้างบริษัทภายนอกทำงานแทนบริษัทของธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ  ที่จะเพิ่มมากขึ้น  สุดท้ายคือ 5) การเจริญเติบโตของธุรกิจบริหารเงินซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่คนมีความมั่งคั่งสูงและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

    ประการที่สองที่เป็นหลักการและคำแนะนำของแวงเกอร์ก็คือ  เขาบอกว่าบริษัทขนาดเล็กนั้น  โดยเฉลี่ยแล้วจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่  แต่เราควรจะหลีกเลี่ยงบริษัทขนาด “จิ๋ว”  เพราะมันจะมีความเสี่ยงสูงเกินไป  (เช่น ขนาด Market Cap.ไม่ควรต่ำกว่า 2-3000 ล้านบาท เป็นต้น)  บริษัทขนาดเล็กที่ดีที่สุดควรเป็นบริษัทที่โดดเด่นและยึดครองตลาดเฉพาะจุดหรือ Niche ของตนเอง  ซึ่งคุณลักษณะของมันควรจะรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้คือ  1) บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดที่โตขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน  2) มีการออกแบบที่ดี 3) ถ้าเป็นการผลิตก็ต้องมีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ 4) ผู้บริหารมีความเป็นผู้ประกอบการที่โดดเด่น 4) มีทักษะทางการตลาดสูง 5) ธุรกิจมีกำไรต่อยอดขายหรือ Profit Margin สูง  นอกจากนั้น  แวงเกอร์ชอบบริษัทที่ทำธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ  ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ธุรกิจไมโครชิพและหุ้นอย่าง Intel เติบโตเร็ว  แวงเกอร์จะชอบที่จะลงทุนในบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใช้ผลิตภัณฑ์ไมโครชิพมากกว่า

    ประการต่อมาก็คือ  แวงเกอร์เน้นลงทุนในบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมีหนี้น้อยและธุรกิจนั้นสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดีเขาจะหลีกเลี่ยงพวกบริษัทฟื้นตัว  บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานและหุ้น IPO ที่มักจะมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ  และสุดท้าย  เขาจะดูความถูกความแพงของหุ้นจากค่า PEG คล้าย ๆ  กับปีเตอร์ ลินช์ หรือที่ดีไปกว่านั้นก็คือ  เขาชอบที่จะคาดการณ์กำไรต่อหุ้นใน 2 ปีข้างหน้าแล้วคูณด้วยค่า PE ที่เหมาะสมเพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม  เมื่อซื้อหุ้นได้ถูกต้องแล้ว  เขาบอกว่าเราควรสามารถที่จะถือมันไว้ได้อย่างน้อย 4-5 ปี  และจะขายต่อเมื่อราคาขึ้นไปสูงเกินกว่าพื้นฐานหรือเมื่อค่า PE สูงเกินไปเพื่อลดความเสี่ยง  ทั้งหมดนั้นคือหลักการ  แต่ในชีวิตจริงเขาบอกว่าเขาจะประเมินและทบทวนสถานการณ์ตลอดเวลาเพื่อที่จะดูว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นและพอร์ตของตนเอง

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 22, 2015, 08:33:49 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 22 June 2015 
  อุตสาหกรรมดาวตก

    ถ้าจะมีอุตสาหกรรมอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว—จากอุตสาหกรรมที่ดีมากกลายเป็นธุรกิจที่ย่ำแย่เพียงชั่วเวลา “ข้ามคืน”  ผมคิดว่ามันคือธุรกิจการออกอากาศทางโทรทัศน์หรือเรียกง่าย ๆ ว่า  ธุรกิจ “TV” สาเหตุนั้นเกิดจากการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อออกอากาศแบบดิจิตอลจำนวน 24 ใบของ กสทช. ซึ่งก่อให้เกิดทีวีขึ้นใหม่ 24 ช่องที่ผู้ชมสามารถรับชมรายการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  การที่อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปมากนั้น  มาจากการที่  “พลังขับเคลื่อน” ของอุตสาหกรรม 5 พลัง  หรือที่เรียกกันว่า “Five Forces Model” ของ Michael Porter ของอุตสาหกรรมทีวีของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  “จากหน้ามือเป็นหลังมือ”  มาดูกันว่าเป็นอย่างไร

    พลังขับเคลื่อนแรกคือ  “การแข่งขันระหว่างบริษัท”   ตามแนวคิดของพอร์ตเตอร์ก็คือ  อุตสาหกรรมอะไรก็ตาม  หากคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีน้อย  การแข่งขันกันของบริษัทต่าง ๆ  ก็จะมีน้อยเพราะความต้องการของคนใช้มีมากกว่าจำนวนผู้ให้บริการ  และนั่นก็คือพลังที่ดีสำหรับอุตสาหกรรม  อุตสาหกรรมที่เป็นแบบนี้ก็จะทำกำไรได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมากมายเต็มไปหมด  ในอดีต  ทีวีช่องฟรีนั้นก็มีเพียงไม่กี่ช่อง  ที่ทำงานแบบการค้าจริง ๆ  ดูเหมือนจะมีเพียง 3-4 ช่อง ทำให้ช่องเหล่านั้นสามารถตั้งราคาค่าโฆษณาได้สูงและบริษัทผู้ให้บริการสามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติ  แต่ปัจจุบันที่มีถึงเกือบ 30 ช่อง  พลังขับดันข้อนี้ก็กลายเป็นด้านลบไปในทันทีเพราะมีบริษัทที่แข่งขันมากเกินไปมาก

    พลังขับเคลื่อนที่สองก็คือ  “อำนาจของซัพพลายเออร์”   นั่นก็คือ  ถ้าอุตสาหกรรมมีซัพพลายเออร์จำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาเสนอขายสินค้าหรือบริการ  พวกเขาก็จะต้องแข่งขันในด้านของคุณภาพและราคาอย่างหนัก  บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็จะมีต้นทุนสินค้าต่ำและคุณภาพที่ดีที่จะนำมาขายต่อ  นี่เป็นพลังหรือปัจจัยที่ดีที่จะช่วยให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมสามารถทำกำไรได้สูง  แต่ถ้าซัพพลายเออร์มีไม่พอในขณะที่มีบริษัทผู้ซื้อมาก  อำนาจของซับพลายเออร์ก็จะสูง  อุตสาหกรรมนั้นก็จะแย่ลงนั่นก็คือทำกำไรได้ต่ำลง  ในอดีต  ผู้ผลิตรายการป้อนให้กับฟรีทีวีนั้น  มักจะไม่มีอำนาจต่อรองกับเจ้าของช่อง  ดังนั้น  ธุรกิจฟรีทีวีจึงมีพลังขับที่เป็นบวก  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดทีวีดิจิตอลขึ้น  ซับพลายเออร์หรือผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพสูงกลายเป็นสิ่งที่หายาก  เพราะพวกเขาต่างก็ไปทำช่องทีวีของตนเอง  ดังนั้น  ช่องทีวีต่าง ๆ จึงไม่ได้เปรียบทางด้านของซับพลายเออร์อีกต่อไป  พลังด้านบวกก็กลายเป็นพลังด้านลบ

    พลังขับเคลื่อนที่สามคือ  “อำนาจของลูกค้า”  นี่คือพลังที่เกิดขึ้นจากเอกลักษณ์หรือแบรนด์ของสินค้าหรือบริการที่ทำให้ลูกค้าติดและเป็นสินค้าที่พวกเขาจะเลือกใช้  ถ้าอุตสาหกรรมนั้นลูกค้ามักจะติดที่จะเลือกแบรนด์  นั่นก็คืออุตสาหกรรมที่ดีและจะทำให้บริษัทมีกำไรสูง  แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่สินค้ามีความคล้ายคลึงกันมาก  การจดจำของแบรนด์ต่ำและลูกค้าไม่ได้มีการติดยึดและพร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น  แบบนี้ก็ถือว่าอำนาจของลูกค้ามีสูงก็จะเป็นผลลบต่อกิจการ  กำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในกรณีของธุรกิจทีวีในอดีตนั้น  ผมคิดว่าอำนาจของผู้ชมมีไม่มาก  เนื่องจากรายการทีวีมักจะไม่หลากหลาย  ทางเลือกที่จะไปชมรายการแบบเดียวกันของช่องอื่นมีไม่มาก  แต่หลังจากที่มีช่องทีวีเกิดขึ้นมากมาย  การเปลี่ยนไปชมรายการของช่องอื่นที่ดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาก็เพิ่มขึ้นมาก  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ

    พลังขับเคลื่อนที่สี่ก็คือ  “อุปสรรคในการเข้ามาและออกไปจากตลาด”    ถ้าการเข้ามาในอุตสาหกรรมเป็นเรื่องยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง  เช่น  ต้องมีใบอนุญาตหรือต้องลงทุนสูง  หรือการแข่งขันกับผู้เล่นเดิมทำได้ยากเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ   แบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ดีของอุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนในอุตสาหกรรมสูง  ตรงกันข้าม  ถ้าอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมมีน้อย  การเข้าสู่อุตสาหกรรมทำได้ง่ายและถ้ายิ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ออกไปยากก็จะทำให้เกิดภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน  นอกจากนั้นบริษัทที่เข้ามาใหม่ก็อาจจะสามารถลอกเลียนแบบหรือมีกลยุทธ์ในการแข่งขันที่สามารถเอาชนะผู้เล่นเดิมได้  ในกรณีแบบนี้ก็ถือว่าเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมทำให้ทำกำไรได้ต่ำ   ธุรกิจฟรีทีวีในอดีตนั้น  อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่สูงมาก  ว่าที่จริงในช่วงเวลานับสิบ ๆ  ปีนั้นไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเลย  แต่ในปัจจุบันนั้น  การเข้ามาเล่นหรือแข่งขันของรายใหม่นั้นผมคิดว่ามีอุปสรรคน้อย  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากดีเป็นร้าย

    พลังขับเคลื่อนสุดท้ายก็คือ  “สินค้าหรือบริการที่ทดแทนกันได้”  อุตสาหกรรมที่สินค้าหรือบริการไม่มีสินค้าอื่นมาทดแทนได้หรือทดแทนได้น้อยนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ผลตอบแทนของอุตสาหกรรมสูงขึ้น  ตรงกันข้าม  อุตสาหกรรมที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการแบบเดียวกันได้ในราคาที่น่าพอใจและสินค้าเหล่านั้นมีมากมาย  แบบนี้ก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนหรือกำไรของอุตสาหกรรมต่ำลง  ในกรณีของธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีต  สินค้าทดแทนการชมทีวีนั้นมีไม่มาก  แต่ในระยะหลังที่ระบบอินเตอร์เน็ตแพร่หลายและราคาถูกลงมาก  เช่นเดียวกับระบบทีวีที่มีต้นทุนในการรับชมต่ำมากเช่นกรณีของทีวีดาวเทียม  สินค้าทดแทนฟรีทีวีก็สูงขึ้นมาก  ดังนั้น  ปัจจัยในด้านของสินค้าทดแทนของธุรกิจฟรีทีวีก็กลายเป็นลบ

    การดูว่าอุตสาหกรรมไหนดีหรือไม่นั้น  โดยปกติเราก็จะต้องดูพลังทั้งห้าประกอบกัน  ถ้าพลังหรือปัจจัยส่วนใหญ่นั้นเป็นบวก  โอกาสก็เป็นไปได้สูงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยสูง  ถ้าพลังส่วนใหญ่เป็นลบผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าพลังทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นก็แสดงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมก็จะทำกำไรได้ดี  บริษัทที่โดดเด่นก็จะทำกำไรได้สูงลิ่ว  ตรงกันข้าม  ถ้าพลังทั้งหมดนั้นเป็นลบ  บริษัทในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็จะมักจะทำกำไรได้ยาก แม้แต่บริษัทที่เก่งหรือดีมากในอุตสาหกรรมก็อาจจะลำบาก

    ธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีตต้องถือว่าพลังขับดันทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นทำให้แทบทุกบริษัทที่อยู่ในธุรกิจต่างก็ได้กำไรกันทั่วหน้าโดยที่บริษัทที่เด่นนั้นทำกำไรได้สูงมากจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  อย่างไรก็ตาม  หลังจากการเปิดดิจิตอลทีวี  พลังทั้งห้าก็เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นลบแทบจะทั้งหมด  ดังนั้น  ถ้าจะคาดเดาต่อก็คือ  ธุรกิจทีวีจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีและน่าจะให้ผลตอบแทนต่ำลงไปมาก  บริษัทที่โดดเด่นเองนั้น  ในระยะสั้นหรืออาจจะถึงกลางก็อาจจะยังทำกำไรได้พอสมควรเนื่องจากคู่แข่งใหม่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะแข่งขัน  แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะหาบริษัทที่กำไรดีเยี่ยมเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ยาก  ตรงกันข้าม  เนื่องจากมันอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีแล้ว  บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำก็อาจจะขาดทุนและบางบริษัทก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้  ว่าที่จริงในช่วงนี้เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางบริษัทได้ประกาศ “ถอนตัว”  ออกจากธุรกิจแล้ว  ผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอื่นถอนตามอีก  อุตสาหกรรมฟรีทีวีตอนนี้ดูเหมือนจะเป็น  “อุตสาหกรรมดาวตก” ไปแล้วหรือ?  เวลาจะเป็นสิ่งที่บอก  ในระหว่างนี้  คนที่กำลังเล่นหุ้นทีวีโดยตั้งอยู่บนความคิดหรือสมมุติฐานว่านี่คือธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีอย่างที่เข้าใจมาตลอดนั้นจะต้องระวัง  เพราะถ้ามันไม่ใช่  เราก็อาจจะไม่เห็น  “กำไรที่งดงาม” ในธุรกิจฟรีทีวีอย่างที่เป็นในอดีต และดังนั้น ราคาหุ้นของกิจการที่ทำฟรีทีวีก็ไม่ควรมีพรีเมียมมากหรือค่า PE สูงอย่างที่เคยเป็น


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/06/22/1584
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ มิถุนายน 30, 2015, 10:02:33 am


(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 Monday, 29 June 2015
 
เสาหลักของการลงทุน
 


    ถ้าจะเป็นนักลงทุนที่ดีนั้นเราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง?  นี่คือคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนแต่ละคนจะตอบไม่เหมือนกัน—ขึ้นอยู่กับว่าเขามีแนวความคิดและกลยุทธ์การลงทุนแบบไหนและอย่างไร  สำหรับผมซึ่งมีแนวทางการลงทุนระยะยาวที่เน้นพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก  ผมคิดว่าความรู้และวิชาต่อไปนี้เป็น  “เสาหลัก”  หรือพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน

    เสาที่หนึ่งหรือความรู้พื้นฐานกลุ่มแรกก็คือ  “ทฤษฎีการลงทุน”  นี่คือทฤษฎีเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะที่มีการศึกษาและพิสูจน์ว่ามีความถูกต้องเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแล้ว  หัวใจที่สำคัญก็คือกลุ่มทฤษฎี  “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” และ  “การลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอสมัยใหม่”  ที่บอกว่าตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์นั้นมีประสิทธิภาพสูงในการกำหนดราคาหุ้นทุกตัว  พูดง่าย ๆ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหาหุ้นหรือหลักทรัพย์ราคาถูกหรือราคาแพงได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง  ผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ “ความเสี่ยง” ของหลักทรัพย์  กล่าวคือหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสูงก็จะเสี่ยงมาก  ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงเช่น  ลงทุนในหุ้นกู้  พันธบัตร หรือเงินฝากแบ้งค์  และการลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอที่กระจายการลงทุนในหลาย ๆ กลุ่มหลักทรัพย์ทั้งหุ้น  พันธบัตร เงินฝากและทรัพย์สินอื่น ๆ  ในระดับของ “ความเสี่ยง” ที่เรารับได้

    นอกจากทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพแล้ว  เราก็ควรที่จะต้องเรียนรู้แนวความคิดของการลงทุนในสไตล์ต่าง ๆ  ที่มีการอ้างกันว่าสามารถที่จะทำให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าปกติได้เช่น  การลงทุนแบบ “Value Investing” หรือ VI  หรือการลงทุนแบบ “Growth Investing” หรือการลงทุนในหุ้นโตเร็ว  หรือแม้แต่การลงทุนแนว “Momentum” หรือแนว “เทคนิค”  เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้และเข้าใจว่าแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดอย่างไรและเราจะเลือกแนวทางไหนในการลงทุน

    เสาที่สองก็คือ  “ประวัติศาสตร์ของการลงทุน”  นี่คือความรู้ที่มักหาไม่ได้จากหนังสือตำราการลงทุนและมักจะไม่มีการสอนในหลักสูตร MBA  ประวัติศาสตร์การลงทุนนั้นมักกระจายอยู่ในหนังสือพอกเก็ตบุคเกี่ยวกับการลงทุนต่าง ๆ    เรื่องสำคัญที่เราควรจะต้องทำความเข้าใจเวลาอ่านประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นก็คือประวัติผลตอบแทนระยะยาวของหุ้น  ความผันผวนที่เกิดขึ้น  และที่สำคัญมากก็คือ  ประวัติของการเกิดของ “ฟองสบู่” และการแตกของมัน  รวมถึงสถานการณ์ที่ตลาดตกต่ำเนื่องจากความเจ็บปวดจากการลงทุนของนักลงทุนและ “โอกาส” ของการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

    เสาที่สามก็คือ  “จิตวิทยาในการลงทุน”  นี่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในด้านของวิชาการลงทุนที่คนรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนนั้นมีส่วนต่อราคาหุ้นมากกว่าเหตุผล  ในระยะหลัง ๆ  นั้น  การศึกษาเรื่องจิตวิทยาที่กระทบกับการลงทุนก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ   ความเข้าใจในเรื่องนี้จะทำให้เราสามารถซื้อขายหุ้นได้ถูกต้องถูกเวลามากขึ้นและอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น  นอกจากนั้น  ผมเองยังคิดว่าจิตวิทยาของคนนั้น  ยังเป็นตัวกำหนดความต้องการสินค้าและบริการที่เขาต้องการ  และอุตสาหกรรมหรือกิจการหรือบริษัทแบบไหนจะเติบโตและแบบไหนจะถดถอย  ในส่วนนี้ผมมักจะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านเรื่องของ  “ประวัติศาสตร์ของมนุษย์” และ “ยีนส์” ของมนุษย์ ที่ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในการกำหนดเรื่องของพฤติกรรมและจิตวิทยาของคน

    เสาที่สี่ก็คือ  “ความรู้ทางธุรกิจ”  นี่คือความรู้และความเข้าใจในเรื่องการทำธุรกิจ  ประการแรกเลยเราจะต้องรู้  “ภาษาธุรกิจ” หรือบัญชี  นั่นก็คือ  เราควรจะสามารถอ่านจากงบการเงินได้ว่าฐานะและผลประกอบการของธุรกิจเป็นอย่างไร  ฐานะการเงินแข็งแกร่งแค่ไหน  บริษัททำกำไรได้ดีหรือไม่  เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดวิธีการลงบัญชีแต่เราต้องรู้ตัวเลขหลัก ๆ  ที่จะบอกว่าผลงานของบริษัทที่ผ่านมานั้นโดดเด่นหรือเลวร้ายแค่ไหน   ในส่วนนี้คนที่ไม่ได้เรียนทางด้านบัญชีอาจจะกังวลแต่ผมคิดว่ามันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง  หนังสือการอ่านบัญชีสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานนั้นมีมากมายและไม่ได้ใช้เวลามากที่จะเรียนรู้

    ความรู้ทางธุรกิจที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าอุตสาหกรรมหรือบริษัทไหนดีหรือแย่นั้น  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตลาด  ความรู้ทางด้านการตลาดที่ผมคิดว่าสำคัญสำหรับการเลือกอุตสาหกรรมหรือหุ้นนั้น  จะเป็นเรื่องของ  “ความสามารถหรือกลยุทธ์ในการแข่งขัน” ซึ่งน่าเสียใจว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่ได้สอนกันในชั้นเรียนของ MBA  ดังนั้น  วิธีที่ดีก็คืออ่านจากหนังสือการตลาดที่เกี่ยวกับ  “กลยุทธ์” หรือ  “ตำแหน่ง”  ทางการตลาด  หรือ “Business Model” หรือรูปแบบการทำธุรกิจ  ของบริษัทแต่ละแห่ง  ประเด็นสำคัญก็คือ   สุดท้ายเราควรจะต้องเข้าใจว่าแต่ละธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยอะไร  มีปัจจัยอะไรที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทหนึ่งเอาชนะอีกบริษัทหนึ่งได้  และปัจจัยนั้นจะอยู่ต่อไปอย่างถาวรโดยที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้  หรืออยู่ได้แค่ชั่วคราว   โดยสรุปแล้ว  ความรู้ทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดก็คือรู้ว่า “คุณภาพ”  ของบริษัทนั้นดีแค่ไหน

    สุดท้ายของเรื่องธุรกิจก็คือ  เราควรจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมูลค่าที่ควรเป็นของกิจการ  พูดง่าย ๆ  แต่ละบริษัทที่เราสามารถกำหนด “คุณภาพ” ได้แล้ว  เราควรจะซื้อในราคาเท่าไร  เช่น  จะให้ค่า PE ค่า PB ปันผลตอบแทน  และมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. เท่าไร  ซึ่งในส่วนนี้ประเด็นสำคัญก็คือ  เราต้องมั่นใจว่าเรารู้จักคุณภาพของมันเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการประเมินเรื่องของราคา  คำเตือนของผมก็คือ  หุ้นส่วนใหญ่นั้น  เรามักจะไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ถูกต้องเนื่องจากตัวธุรกิจผันผวนเกินไป

    เสาหลักสุดท้ายที่เราควรรู้ก็คือ  “ธุรกิจของการลงทุน”  นี่ก็คือคนที่ให้บริการและเกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหลาย  ซึ่งรวมถึงโบรกเกอร์  ผู้จัดการกองทุนรวม  ตลาดและกลต. นักวิเคราะห์หุ้น  หนังสือพิมพ์  เวบไซ้ต์ ไลน์ และรายการวิทยุและทีวีเกี่ยวกับหุ้น  บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ  เหล่านี้ต่างก็มี  “Agenda” หรือ  “วาระ”  ของตนเอง  ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ตรงกับนักลงทุนที่ต้องการทำกำไรหรือได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน  นอกจากนั้น  บางคนอาจจะมีวัตถุประสงค์ตรงกันข้ามกับเรานั่นคือ  เขาต้องการทำเงินจากเราโดยการพูดให้เราเชื่อและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขา  การศึกษาในเรื่องนี้นั้นผมคิดว่าเราต้องวิเคราะห์ถึง “แรงจูงใจ”  ของแต่ละคนโดยดูว่าผลประโยชน์ของเขาอยู่ตรงไหน   เช่นเดียวกัน  ในด้านของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  ผู้บริหารหรือเจ้าของเองบางทีเราก็อาจจะกล่าวได้ว่าเขาก็มีแรงจูงใจหรือมีวาระของตนเองที่อาจจะไม่สอดคล้องกับเรา  ดังนั้น  เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ  เช่น  การขายหุ้น IPO  การออกตราสารเช่น วอแร้นต์  การลดพาร์  และอื่น ๆ  นั้น  เขาทำเพื่ออะไร  เป็นประโยชน์และทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเพิ่มขึ้นหรือไม่

    หลังจากที่ได้ศึกษาความรู้พื้นฐานทั้งห้ากลุ่มแล้ว  การลงทุนของเราก็จะอยู่บนแนวทางที่เหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น  ถ้าเรารู้ลึกซึ้งจริง ๆ  ก็เป็นไปได้ที่เราจะประสบความสำเร็จสูงกว่า “ปกติ”  หรือในกรณีที่เราขาดความสามารถบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถเป็นนักลงทุนที่โดดเด่นได้  อย่างน้อยเราก็น่าจะปลอดภัยกว่าคนที่มีพื้นฐานน้อยกว่า  แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่คนจะเริ่มลงทุนหลังจากเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว  แต่อย่างน้อย  คนที่ลงทุนอยู่  รวมถึงคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็ควรที่จะศึกษาความรู้เหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้ความรู้ “แน่น” ขึ้นซึ่งจะช่วยการลงทุนต่อไปในอนาคต  จำไว้เสมอว่าการเรียนรู้นั้น  เราไม่สามารถหยุดได้ตลอดชีวิต  เพราะถ้าหยุด  นั่นก็แปลว่าเราจะถอยหลัง  และนั่นอาจจะกลายเป็นหายนะได้ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จมามากเพียงใด

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/06/29/1586
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 07, 2015, 09:36:12 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 6 July 2015
  หุ้นแบ้งค์


    สัปดาห์ที่แล้วหุ้นกลุ่มแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งปรับตัวลดลงอย่างแรง  ประมาณ 4-5% ในวันเดียวทั้งที่ตลาดหุ้นโดยทั่วไปและหุ้นขนาดใหญ่ตัวอื่นไม่ได้ถูกกระทบอะไรมากนัก  เหตุผลนั้นมีการอธิบายว่าเป็นเรื่องของปริมาณหนี้เสียหรือ NPL ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กหรือ SME ที่มีอยู่มากในแบ้งค์ขนาดใหญ่บางแห่ง  ซึ่งจะทำให้แบ้งค์มีต้นทุนสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นและจะทำให้กำไรลดน้อยลงในไตรมาศสองและต่อไปในช่วงที่เหลือของปี  นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มปรับประมาณการกำไรของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลง

    นอกจากเรื่องของหนี้เสียของ SME แล้ว  ภาพของธุรกิจแบ้งค์เองนั้นก็ไม่สดใส  สภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำลงและยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวชัดเจนก็ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อมีน้อยซึ่งจะส่งผลให้กำไรโดยรวมไม่เติบโต  นอกจากนั้น  อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แบ้งค์ต้องประกาศลดเพื่อให้สอดคล้องกับการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบ้งค์ชาติ  แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นกลับลดลงน้อยกว่า  นั่นอาจทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยหรือ Net Interest Margin (NIM) ของแบ้งค์ขนาดใหญ่ลดลงด้วย  ผลก็คือ  กำไรของแบ้งค์โดยเฉพาะที่เป็นแบ้งค์ขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีลูกค้าเป็นกิจการหรือบริษัทต่าง ๆ  จำนวนมากนั้น  น่าจะมีแนวโน้มลดลงพอสมควร

    ในส่วนของแบ้งค์ขนาดเล็กนั้น  ธุรกิจหลักอย่างหนึ่งก็คือ  การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่เป็นการเช่าซื้อรถยนต์  ธุรกิจนี้ถูกกระทบมาน่าจะเป็นปีแล้วก่อนที่แบ้งค์ขนาดใหญ่จะประสบปัญหาเรื่อง NPL  ในรอบนี้  เหตุผลก็เพราะว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ”  รอบนี้ดูเหมือนว่าจะเริ่มจากบุคคลธรรมดาที่ก่อหนี้มากขึ้นมากในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ขาดรายได้ที่จะจ่ายหนี้เงินกู้และกลายเป็น NPL  มาได้ระยะหนึ่งแล้วและอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีก นี่ก็เป็นเรื่องของสินเชื่อ  แต่แบ้งค์ขนาดเล็กเองนั้น  ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือ  ธุรกิจหลักทรัพย์  ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะถูกกระทบเหมือนกันในยามที่ตลาดหุ้นซบเซาอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้  ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำลงในปีนี้ทำให้รายได้จากค่าคอมมิชชั่นลดลง  เช่นเดียวกัน  ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นที่ลดลงก็น่าจะส่งผลให้กิจกรรมด้านของวาณิชธนกิจลดลง  เช่นเดียวกับกิจกรรม “Prop Trade” หรือการลงทุนในหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของแบ้งค์ที่อาจจะมีกำไรลดลง  ผลก็คือ  แบ้งค์เล็กก็อยู่ในฐานะที่ไม่ดีเช่นเดียวกับแบ้งค์ใหญ่

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ทำให้หุ้นแบ้งค์เล็กถูก “เทขาย”  มาน่าจะหลายเดือนหรือปีก่อนและหุ้นแบ้งค์ใหญ่ถูกเทขายมากในช่วงนี้  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ทั้งกลุ่มตกลงมาต่อเนื่องจนกลายเป็นหุ้นกลุ่มที่มีราคา  “ถูกที่สุด”  ในตลาดหลักทรัพย์  โดยที่ค่า PE ของแบ้งค์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 เท่ากับ 9.74 เท่า ค่า PB เท่ากับ 1.31 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนเท่ากับปีละ 3.36% ในขณะที่ค่า PE ของตลาดอยู่ที่ 19.89 เท่า  ค่า PB อยู่ที่ 2.02 เท่า และปันผลเท่ากับ 2.94% ต่อปี   มองอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  ราคาของหุ้นแบ้งค์ในขณะนี้ถูกเป็น “ครึ่งหนึ่ง” ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวม  อะไรทำให้หุ้นแบ้งค์มีราคาถูก?   หรือหุ้นแบ้งค์ไม่ได้ถูก  แต่ตลาดหุ้นไทยมีราคาแพง?  นี่คือคำถามที่ผมพยายามตอบ

    คำตอบหนึ่งที่คนอาจจะพยายามอธิบายก็คือ  หุ้นแบ้งค์มีราคาถูกกว่าหุ้นกลุ่มอื่นเพราะแบ้งค์นั้นอาจจะประสบปัญหาผลการดำเนินการตกต่ำมากกว่าบริษัทกลุ่มอื่น ๆ  ทั้งหมดเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นกระทบกับแบ้งค์มากกว่าภาค “เศรษฐกิจจริง”   ข้อนี้  ผมเองอยากเถียงว่า   จริงอยู่ในช่วง “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นจากภาค “การเงิน” นั้น  แบ้งค์อาจจะเสียหายมากกว่าคนอื่น  แต่ในช่วงที่เป็นเรื่องของความ “ซบเซา” ของเศรษฐกิจนั้น  แบ้งค์น่าจะถูกกระทบในระดับกลาง ๆ  คือเท่ากับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ  นั่นก็คือ  หุ้นบางกลุ่มอาจจะดีกว่าและบางกลุ่มก็อาจจะแย่กว่าแบ้งค์  ผลประกอบการของแบ้งค์น่าจะตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมนั่นคือ  ถ้าเศรษฐกิจโตแค่ 2-3% แบ้งค์ก็น่าจะโตเท่า ๆ  กันหรืออาจจะไม่โตแต่แบ้งค์ก็ไม่น่าจะ  “หายนะ” แบบที่มักเกิดขึ้นเวลามี  “วิกฤติการเงิน” ที่สภาพคล่องทางการเงินหดหายไปอย่างรวดเร็ว

    คำตอบส่วนตัวของผมก็คือ  หุ้นแบ้งค์นั้น  “ไม่ได้ถูก”  แต่หุ้นแบ้งค์ในขณะนี้นั้นน่าจะมีราคาที่  “สมเหตุผล” สำหรับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจของแบ้งค์ในขณะนี้  เพราะถ้าเราดู  “ประวัติศาสตร์” ของตลาดหุ้นไทยและหุ้นแบ้งค์ในระยะยาวแล้ว  เราก็จะพบว่าค่า PE ของตลาดหุ้น  ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียงกับค่า PE ของกลุ่มแบ้งค์ที่เป็น  “ตัวแทนเศรษฐกิจไทย”  นั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในระดับประมาณ 10 เท่า เท่านั้น  การที่ค่า PE ของตลาดในช่วงนี้และหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในช่วงก่อนหน้านี้เล็กน้อยมีค่าสูงถึงเกือบ 20 เท่าหรือสิบกว่าเท่านั้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยมีการ “เก็งกำไร” ที่สูงกว่าปกติ  และการเก็งกำไรนี้มาจากนักลงทุนไทยโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่เข้ามาลงทุนหรือ  “เล่นหุ้น”  กันมากสังเกตได้จากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากมาหลายปีโดยเฉพาะในหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูงจนทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยนั้น  “สูงที่สุด” ในหมู่ประเทศใน AEC

    การเข้ามา  “เล่นหุ้น” ของนักลงทุนส่วนบุคคลทำให้เกิดภาวะที่คล้าย ๆ  กับมี  “ตลาดคู่” ในตลาดหลักทรัพย์  นั่นคือ  ตลาดของ “นักเก็งกำไร” ที่ประกอบด้วยนักลงทุนส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่  กับตลาดของ “นักลงทุน”  ที่ประกอบไปด้วยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก   โดยที่ “หุ้นเก็งกำไร”  นั้นก็มักจะเป็นหุ้นขนาดเล็กและ/หรือหุ้นที่มี Free Float ต่ำ และมี Story หรือเรื่องราวที่จะชักจูงให้คนเข้ามาเล่นได้มาก  ในขณะที่หุ้น  “ลงทุน” นั้น  มักเป็นหุ้นขนาดใหญ่ถึงใหญ่มากที่มีปริมาณหุ้นซื้อขายในตลาดมหาศาลและไม่มีใครสามารถไล่หรือทำราคาได้

   ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจนถึงปัจจุบันนั้น  ผมคิดว่าคนไทยรุ่นใหม่เข้าเล่นหุ้นกันมากขึ้นและได้นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นมาก  พวกเขามักจะเล่นหุ้นที่เป็นหุ้นเก็งกำไรมากกว่าหุ้นลงทุน  ทำให้ตลาดหุ้น “เก็งกำไร”  เช่น  หุ้นในตลาดหุ้น MAI และหุ้นเล็กและหุ้น  “มี Story” ในตลาดหลักทรัพย์มีราคาสูงขึ้นมาก  ค่า PE ในตลาดหุ้น MAI สูงขึ้นไปถึง 63 เท่าในปัจจุบัน  เช่นเดียวกับหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่มี Story ในตลาด SET ก็มีราคาแพงลิ่วพอ ๆ กัน  “ดีกรี”  หรืออัตราการเก็งกำไรใน  “ตลาดหุ้นเก็งกำไร”  นี้  ผมคิดว่ายังคง  “ร้อนแรง”  พอสมควรเห็นได้จากการที่หุ้นขนาดเล็กและหุ้น IPO ขนาดเล็กก็ยังสามารถแสดง  “อภินิหาร”  ได้แม้ในยามที่ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่เอื้ออำนวย

   ใน  “ตลาดหุ้นลงทุน” นั้น  คนที่เป็นผู้เล่นหลักซึ่งได้แก่นักลงทุนต่างประเทศนั้น  ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น  ตรงกันข้าม  พวกเขา  “ทยอยถอนทุน” ออกไปเรื่อย ๆ มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว  แม้ว่านักลงทุนสถาบันของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควรแต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  นี้ที่ภาวะเศรษฐกิจและเรื่องอื่น ๆ  ของไทยไม่เอื้ออำนวย  ดังนั้น  ราคา “หุ้นลงทุน”  จึงไม่เพิ่มขึ้นและบางทีกลับลดลง  โดยที่หุ้นกลุ่มแบ้งค์ซึ่งแทบจะเป็นหุ้นของนักลงทุนโดยเฉพาะนั้น  เป็นกลุ่มที่สะท้อนความคิดและมุมมองของ  นักลงทุนได้ดีที่สุด  และนั่นก็น่าจะเป็นที่มาว่าทำไมหุ้นกลุ่มแบ้งค์จึงมีราคา  “ถูก”  เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นกลุ่ม  “เก็งกำไร”

   ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ผมไม่รู้ว่าหุ้นกลุ่มแบ้งค์ในเวลานี้ถูกหรือต่ำกว่าพื้นฐานหรือไม่  แต่เนื่องจากมันเป็นกลุ่มที่  “ถูกที่สุดในตลาด” ในเวลานี้  และก็ไม่แพงกว่าข้อมูลในประวัติศาสตร์ของมัน  ผมจึงคิดว่ามันเป็นกลุ่มที่ “น่าสนใจ” ถ้าเราคิดว่าประเทศและตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะเกิด “วิกฤติ” ในอนาคตอันใกล้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/06/1589
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 14, 2015, 09:50:31 am
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 Monday, 13 July 2015
ตลาดหุ้นจีน- ซุปเปอร์คาสิโน 

    ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ตลาดหุ้นจีนดูเหมือนจะเป็นตลาดหุ้นที่ “ร้อนแรงที่สุดในโลก”  เพราะดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นมาจากประมาณ 2,100 จุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2014 ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นประมาณ 5,370 จุดในวันที่ 10 มิถุนายน 2015 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ  155% ในเวลาเพียงปีเดียว  แต่แล้ว  ภายในเวลาเพียงไม่ถึงเดือน  ดัชนีหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็ตกลงมาอย่างหนักเป็น “วิกฤตตลาดหุ้น” คือถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2015 ดัชนีก็ลดลงเหลือเพียง 3,659 จุด หรือเป็นการตกลงมาถึง 32% ก่อนที่จะดีดกลับมาประมาณ 6% ภายในเวลาเพียง 2 วัน เมื่อรัฐบาลจีนออกมาตรการ “กู้ตลาดหุ้น” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ดัชนีปิดตลาดวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2015 ที่ 3,878 จุด หรือคิดเป็นการตกลงมาจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนที่แล้วประมาณ 28%

   ผมเองไม่รู้ว่าหลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป  แต่เชื่อว่า  “ความผันผวน” ของราคาหุ้นจีนน่าจะดำรงต่อไปอีกนาน  เหตุผลก็เพราะว่าตลาดหุ้นจีนนั้น  เป็น  “ตลาดหุ้นของนักลงทุนส่วนบุคคล” นั่นคือ  ปริมาณการซื้อขายหุ้นน่าจะกว่า 80% นั้น  เป็นการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไป  “เก็งกำไร” ในตลาดหุ้น  ว่าที่จริง  ตลาดหุ้นจีนนั้นไม่ได้เพิ่ง “ผันผวนรุนแรง” หรือเป็นตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมากเมื่อเร็ว ๆ  นี้   ตลาดหุ้นจีนนั้นมีความผันผวนรุนแรงมาโดยตลอด  เพียงแต่ว่างวดนี้ดูเหมือนว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไป “ร่วมวง” มากเป็นพิเศษเนื่องจากจีนได้เปิดตลาดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนได้ง่ายขึ้นมากในปีที่แล้ว  และตลาดหุ้นก็ใหญ่ขึ้นมาก  ดังนั้น  มันจึงเป็นข่าวใหญ่ที่คนสนใจกันทั่วโลกรวมถึงนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนกองทุนรวมหุ้นจีนทั้งที่กำไรและขาดทุนกันอย่างหนัก

   ความผันผวนของหุ้นจีนนั้นผมดูแล้วก็คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยเพียงแต่จะรุนแรงกว่าเนื่องจากพฤติกรรมและนักลงทุนในตลาดนั้นมีความคล้ายคลึงนั่นก็คือ  เป็นตลาดที่เต็มไปด้วยนักลงทุนส่วนบุคคลหรือนักลงทุนรายย่อย แต่ในตลาดหุ้นไทยนั้น  เรายังมีนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศที่ค่อนข้างใหญ่กว่าจีนโดยเปรียบเทียบเนื่องจากเราเปิดตลาดหุ้นและเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนนานกว่า    อีกส่วนหนึ่งที่คล้ายกันก็คือ  ลักษณะประชากรศาสตร์และระดับของความมั่งคั่งของคนจีนกับไทยนั้น  มีความใกล้เคียงกันมาก  นั่นคือ  เรามีอายุเฉลี่ยของคนในประเทศและรายได้ต่อหัวของคนพอ ๆ  กัน  และนั่นอาจจะทำให้พฤติกรรมการลงทุนคล้าย ๆ  กัน   ลองมาดูว่าตลาดหุ้นจีนกับไทยคล้ายกันอย่างไรและต่างกันตรงไหน

   เรื่องแรกนั้นลองมาดูกันที่ “ความเสี่ยง” ของการลงทุนในตลาดก่อน  ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้นั้น “เปิดใหม่” เมื่อปลายปี 1990 นับจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 24 ปี  ปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบหรือขาดทุนเท่ากับ 10 ปี  ปีที่กำไรเท่ากับ 14 ปี  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือขาดทุนประมาณ 42% กำไรประมาณ 58%  ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นเปิดมาตั้งแต่ปี 2518 ถึงปีนี้ก็ 40 ปีแล้ว  ปีที่บวกน่าจะ 22 ปี และปีที่ลบ 18 ปี คิดแล้วเป็นปีที่ขาดทุน 45% และปีที่กำไรเท่ากับ 55% ซึ่งก็ต้องพูดว่าทั้งสองตลาดนั้นมีความเสี่ยงสูงทั้งคู่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาที่ตลาดหุ้นในแต่ละปีนั้นจะให้ผลตอบแทนแต่ละปีเป็นบวกน่าจะไม่ต่ำกว่า 70% ส่วนปีที่ผลตอบแทนติดลบน่าจะต่ำกว่า 30%

   ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องของผลตอบแทนรายปี  ตลาดหุ้นจีนนั้นต้องพูดว่าปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกนั้น  มักจะเป็นปีที่ได้ผลตอบแทนที่สูงมาก  คือให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 64.4%  เช่นเดียวกัน ปีที่เป็นลบก็ให้ผลตอบแทนที่เลวร้ายคือประมาณลบ 22.2%  ต่อปีโดยเฉลี่ย  ส่วนในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมดูแค่หลังจากวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา  ผลตอบแทนของปีที่เป็นบวกนั้นเท่ากับ 37% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ส่วนปีที่เป็นลบนั้นเท่ากับลบ 21.8% ต่อปี ซึ่งก็ต้องถือว่าผลตอบแทนแต่ละปีนั้นค่อนข้างจะผันผวนรุนแรงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะในปีที่ติดลบ

   ถ้ามองใน “ระยะยาว” และลืมความ “ผันผวน” ในแต่ละปี  เราก็จะพบว่าทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นจีนต่างก็ให้ผลตอบแทนที่ดี  หุ้นไทยนั้น  ในเวลา 40 ปี  ราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจาก 100 จุดเป็น ประมาณ 1,485 จุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 คิดแล้วคนที่ลงทุนระยะยาว 40 ปีจะได้กำไรหรือผลตอบแทนปีละประมาณ 7%   ถ้าคิดรวมปันผลปีละประมาณ 3% ก็คือได้ผลตอบแทนปีละ 10% โดยเฉลี่ย  ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม  “ระดับโลก”  เหตุคงเป็นเพราะประเทศไทยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากระดับ  “ดารา” และน่าจะพอ ๆ  กับผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐที่ได้ผลตอบแทนปีละประมาณปีละ 10% เช่นเดียวกันเพียงแต่ของอเมริกานั้น  สถิติยาวกว่าไทยมาก  คือน่าจะเกือบ 100 ปี

   ตลาดหุ้นจีนนั้น  เพิ่งจะเริ่มดำเนินการใหม่มาได้ 24 ปี  ราคาหุ้นในวันเปิดตลาดน่าจะ 100 จุดเช่นกัน  แต่เวลาผ่านไป 24 ปีนั้น  ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับตัวขึ้นไปถึง 3,878 จุด สูง 2.6 เท่าของดัชนีตลาดหุ้นไทย  คิดเป็นผลกำไรจากราคาหุ้นโดยเฉลี่ยทบต้นถึงปีละประมาณปีละ 16.5% หรือกว่า 2 เท่าของหุ้นไทย  ถ้ารวมปันผลด้วยปีละ 3-4% ผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนก็สูงลิ่วถึงประมาณ 20% ต่อปีโดยเฉลี่ย  ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนน่าจะระดับ “ต้น ๆ ของโลก”  เหตุผลก็คงเป็นเพราะประเทศจีนในช่วง 24 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงมากเป็น  “ซุปเปอร์สตาร์” อานิสงค์จากการปรับระบบของประเทศเป็น “ทุนนิยม” และ “เปิดประเทศ” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำของจีนยุคใหม่

   มองย้อนหลังไปตั้งแต่เปิดตลาดหุ้น  หุ้นไทยเคยขึ้นไปแบบ  “ซุปเปอร์บูม” มาหนึ่งครั้งคือในปี  2537 ที่ดัชนีขึ้นไปถึง 1,753 จุด แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลงมาต่อเนื่องเหลือเพียง 200 จุดเศษ ๆ หรือเป็นการลดลงถึงเกือบ 90% หลังวิกฤติในปี 2540 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วราคาก็ยังไม่กลับไปที่จุดสูงสุดเดิมแม้ว่าหุ้นกำลังไต่ระดับขึ้นเป็นซุปเปอร์บูมอีกครั้งหนึ่งในช่วงเร็ว ๆ นี้    ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ก็เช่นเดียวกัน  ตลาดหุ้นเคยเป็น  “ซุปเปอร์บูม” มาหนึ่งครั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2007 ดัชนีขึ้นไปสูงสุดที่ 6,092 จุด แต่หลังจากนั้นมันก็เกิด  “วิกฤติ” ดัชนีร่วงลงมาจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2008 เหลือเพียง 1,628 จุด หรือเป็นการลดลงถึง 73% ในเวลาเพียงปีเศษ ๆ  และจนถึงวันนี้ดัชนีก็ยังไม่กลับไปถึงจุดเดิมแม้ว่าหุ้นกำลังไต่ระดับเป็นซุปเปอร์บูมอีกครั้งหนึ่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้

   มองโดยสรุปแล้ว  ภาพของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้นั้น  ผมคิดว่าเป็นตลาดหุ้นที่คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยในหลาย ๆ  ด้านเพียงแต่ว่ามัน “สุดโต่ง” ยิ่งกว่า  มันเป็นตลาดหุ้นที่มีการ  “เก็งกำไร”  สูงมากเห็นได้จาก  “ภาพใหญ่”  ต่าง ๆ  ที่ได้กล่าวถึงแล้ว  และ  “ภาพเล็ก”  จากข้อเท็จจริงที่ว่า  หุ้นตัวเล็กที่ทำราคาได้ง่ายนั้นมีค่า PE เกิน 50 เท่าเป็นเรื่องปกติ  ในขณะที่หุ้นตัวใหญ่นั้นมีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า คล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นไทยที่หุ้นตัวใหญ่ก็ไม่ได้มีค่า PE สูงมากนัก ในขณะที่หุ้นตัวเล็กมีค่า PE 60 เท่าเป็นเรื่องปกติ  แต่ในแง่ของพื้นฐานของตลาดแล้ว  ที่ผ่านมา  ตลาดหุ้นจีนก็คล้าย ๆ กับหุ้นไทยในแง่ที่ว่ามันให้ผลตอบแทนระยะยาวที่งดงามมาจนถึงวันนี้โดยที่หุ้นจีนนั้นให้ผลตอบแทนที่  “สุดยอด”

   ถ้าจะให้นิยามกับตลาดหุ้นจีนในวันนี้  ผมคงต้องบอกว่ามันคือ  “ซุปเปอร์คาสิโน” ที่คนเล่นหุ้นเหมือนการพนันที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงมาก  แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็น  “ซุปเปอร์” ก็คือ  คุณมีโอกาสรวยมหาศาลถ้าคุณ  “เล่นเป็น”  นั่นก็คือ  ลงทุนระยะยาวผ่านร้อนผ่านหนาวไปให้ได้  ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นไทยก็คงคล้ายกัน   อย่างไรก็ตาม  นั่นคืออดีต  อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน  นับจากวันนี้ไป  ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้  ทั้งตลาดหุ้นจีน--และไทย

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/13/1593
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 20, 2015, 03:13:52 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 20 July 2015
นักลงทุน 4 แนว

    การลงทุนหรือเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  มีวิธีหรือแนวทางใหญ่ ๆ 4 แบบ  แนวทางแรกคือ  แนว  “เทคนิค”  ที่นักลงทุนระยะสั้นนิยมใช้กันมาก  เครื่องมือหรือข้อมูลที่ใช้ก็คือราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีต  แนวทางที่สองคือแนว Value Investment หรือ VI ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และตัวบริษัทอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการก่อนลงทุน  แนวทางที่สามคือ Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นเติบโตที่เน้นการค้นหากิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจสูงเป็นพิเศษ  และแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือการลงทุนที่ไม่เน้นการเลือกหุ้น  แต่เน้นการกระจายการลงทุนในหุ้นจำนวนมากและจัดสรรทรัพย์สินให้เหมาะสมเพื่อที่จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

    นักลงทุนแนว “เทคนิค”  มีความเชื่อว่า  การขึ้นลงของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับ  “จิตวิทยา” หรือความเห็นหรืออารมณ์ของคนเล่นหุ้นเป็นหลัก  พื้นฐานหรือผลประกอบการหรือความเข้มแข็งของกิจการนั้น  ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10%  ดังนั้น เราแทบไม่จำเป็นต้องดู  สิ่งที่ต้องดูจริง ๆ  ก็คือพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละช่วงเวลาซึ่งอาจจะเป็นนาทีเป็นวันหรือเป็นเดือน  เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวที่จะชี้ว่าราคาหุ้นในอนาคตอันสั้นจะวิ่งไปทางไหนและที่ราคาเท่าไร

    ทฤษฎีหรือความเชื่อของนักเทคนิคก็คือ  ข้อแรก ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทเช่น กำไรและปันผลในอดีต  และผลประกอบการในอนาคตของบริษัทนั้น  ถูกสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นทั้งอดีตและปัจจุบันหมดแล้วไม่ว่าจะดีหรือร้าย  ดังนั้นไม่ต้องไปวิเคราะห์หรือดูว่าผลประกอบการในอดีตเป็นอย่างไร  ว่าที่จริงแทบไม่ต้องดูด้วยซ้ำว่าบริษัททำอะไรหรือขายสินค้าอะไร  และ  หลักการข้อสองของนักเทคนิคก็คือ  ราคาหุ้นนั้นมักเคลื่อนไหวไปตาม  “เทรนด์” หรือแนวโน้มของมัน  หุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นก็มักจะวิ่งขึ้นต่อไป  หุ้นที่กำลังลงก็มักจะวิ่งลงต่อไป  หุ้นที่กำลังนิ่ง ๆ  ก็จะอยู่อย่างนั้น  จนกว่า “เทรนด์” มันจะ “เปลี่ยน” ซึ่งสิ่งที่จะบอกก็คือ  กราฟของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในอดีตและปัจจุบัน

    โชคดีที่ข้อมูลการซื้อขายหุ้นในปัจจุบันทั้งหมดนั้นถูกเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์  ดังนั้น  การวิเคราะห์กราฟราคาด้วยเกณฑ์ทาง “เทคนิค” ต่าง ๆ  จึงทำได้ง่ายมากและเป็น  “เรียลไทม์” นี่ทำให้ “นักเทคนิค”  สามารถกำหนดจุดซื้อหรือจุดขายของหุ้นแต่ละตัวได้ตลอดเวลา  มันจึงเป็นวิธีการลงทุนที่ทำได้ง่ายแทบจะ  อัตโนมัติสำหรับทุกคนที่ใช้แนวการลงทุนนี้

    ทฤษฎีการลงทุนที่สองก็คือ  การลงทุนแบบ Value Investment หรือ VI  นี่เป็นวิธีการที่นักลงทุนมองว่าหุ้นนั้นก็คือธุรกิจหรือบริษัท   สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พยายามวิเคราะห์หรือคำนวณหา  “มูลค่าที่แท้จริง” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความคิดเห็นของคนในตลาดหุ้น  พวกเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นนั้นมักแตกต่างจากมูลค่าที่แท้จริงและเป็น “คนละเรื่อง”  การหามูลค่าที่แท้จริงนั้น  สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการประเมินหรือคาดการณ์ว่ากำไรและปันผลในอนาคตระยะยาวของบริษัทเป็นอย่างไร  ซึ่งถ้าจะทำได้ก็ต้องศึกษายอดขาย  ต้นทุน  ความสามารถในการแข่งขันของกิจการ  ฐานะการเงินและอื่น ๆ อีกมาก  หลังจากนั้นก็จะต้องคำนวณว่าหุ้นควรมีมูลค่าเท่าไร  ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  “กระแสเงินสด”  หรือปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากบริษัทตลอดไป และเนื่องจากผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทนั้น  มักจะขึ้นอยู่กับสภาวะทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย   ดังนั้น  การวิเคราะห์จึงมักจะต้องเริ่มจากการมองหรือคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดด้วย

    โดยหลักแล้ว  ถ้าปัจจัยอื่นเหมือนกัน  มูลค่าของกิจการนั้นจะสูงขึ้นถ้า  1)  กำไรและปันผลโตเร็วขึ้น  2) อัตราการจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับกำไรหรือ Dividend Payout Ratio สูงกว่าหรือเพิ่มขึ้น  3) กิจการหรือหุ้นมีความเสี่ยงต่ำกว่า  และ  4) อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำกว่าหรือต่ำลง

    นักลงทุนแนว VI แบบ “ต้นตำรับ” หรือดั้งเดิมนั้น  มักชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคาหุ้นต่ำกว่า “มูลค่าที่แท้จริง” มาก  หรือเรียกว่ามี “Margin of Safety” สูง  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ชอบลงทุนในหุ้นที่มีราคา  “ถูกมาก”  วัดจากค่า PE และ PB ที่ต่ำ และปันผลตอบแทนที่สูง  ซึ่งในแนวทางนี้มักจะทำให้พบแต่หุ้นที่มี “คุณภาพ” ต่ำในสายตาของนักลงทุนทั่วไปเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม  VI ก็มักจะไม่สนใจ  พวกเขาเชื่อว่า  “หุ้นแบกะดิน” เหล่านี้  ส่วนใหญ่แล้วในที่สุดราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปที่มูลค่าที่แท้จริงของมัน   ดังนั้น  การซื้อหุ้นเหล่านี้หลาย ๆ  ตัวเป็นพอร์ตโฟลิโอก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติ

    แนวทางการลงทุนที่สามคือแนวลงทุนในหุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็ว  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ว่าที่จริงก็ใช้หลักการคล้าย ๆ  กับหุ้น VI  ในแง่ที่ว่ามันจะต้องมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน  นอกจากข้อมูลในอดีตแล้ว  นักลงทุนแนว Growth ยังต้องวิเคราะห์หรือคาดการณ์ “อนาคต” ไปไกลและต้องมั่นใจว่าไม่ผิดพลาด   หุ้นที่พวกเขาชอบนั้นมักจะต้องมี  “Story” หรือเรื่องราวที่  “เร้าใจ” ในแง่ที่ว่าบริษัทจะเติบโตเร็วมาก   อาจจะเพราะอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์และบริษัทจะเป็นผู้นำหรือได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  รายได้และกำไรจะเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ในอนาคตจนทำให้กิจการมีมูลค่าที่แท้จริงสูงขึ้นมามากและสูงกว่าราคาหุ้นในปัจจุบัน  ดังนั้น  ราคาหุ้นในปัจจุบันจึงไม่เป็นประเด็นว่าจะแพงหรือถูกเมื่อวัดด้วยค่า PE PB หรือปันผลที่ใช้ตัวเลขของอดีตและปัจจุบัน   ในความเป็นจริง  หุ้นต่าง ๆ  เหล่านี้  เนื่องจากมักเป็นหุ้นที่  “ร้อนแรง” และ “เร้าใจ” และเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก  จึงมักจะมีราคาสูงขึ้นมากทำให้ค่า PE และ PB สูงกว่าปกติและมักจะมีปันผลที่ต่ำมาก  อย่างไรก็ตาม  คนที่เล่นหุ้น Growth นั้นเชื่อว่านี่คือวิธีที่จะทำเงินได้เร็วและมากกว่าแนวทางอื่น

    นักลงทุนแนวทางสุดท้ายก็คือ  การลงทุนแบบ Passive หรือแนวลงทุนหุ้น “ตามดัชนี”  เช่น  ซื้อกองทุนรวม “SET 50” ที่ไม่มีการคัดเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของตลาด 50 ตัว เป็นต้น  คนที่เลือกแนวทางนี้มีความเชื่อตามทฤษฎี  “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ”  ที่บอกว่า  หุ้นในตลาดทุกตัวนั้น  ต่างก็มีราคาที่เหมาะสมกับพื้นฐานอยู่แล้วเนื่องจากมันเป็นราคาที่คนจำนวนมากที่มีความรู้มีข้อมูลและมีเหตุผลมาตกลงซื้อขายกัน  เป็นไปไม่ได้ที่มันจะ  “ผิดราคา” อย่างเป็นระบบ  หรือพูดง่าย ๆ  หุ้นบางตัวและบางครั้งอาจจะ “ผิดราคา” ได้  แต่ซักพักหนึ่งราคาก็จะกลับมาที่ราคาที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยเฉลี่ยแล้ว  หุ้นบางตัวและบางเวลาอาจจะแพงแต่บางตัวบางเวลาก็อาจจะถูกไม่มีใครสามารถซื้อหุ้นถูกได้ตลอด  ดังนั้น  ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามเลือกหุ้น  การซื้อหุ้นลงทุนที่ดีที่สุดก็คือ  ซื้อหุ้นกระจายไปทุกตัวและจ่ายต้นทุนค่าธรรมเนียมการซื้อขายและบริหารการลงทุนที่ต่ำที่สุด  นั่นก็คือ ซื้อกองทุนหุ้นอิงดัชนีที่คิดค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนต่ำที่สุด

    การศึกษาจากข้อมูลในอดีต “ทั่วโลก” นั้นพบว่า  การลงทุนแนว VI ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในระยะยาว  รองลงมาน่าจะเป็นการลงทุนแบบ Passive ตามด้วยการลงทุนในหุ้นเติบโต  ส่วนการเล่นหุ้นแนวเทคนิคนั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจศึกษาแล้วและน่าจะเป็นแนวที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดเนื่องจากต้นทุนการซื้อขายหุ้นที่สูงมากทำให้ผลตอบแทนต่ำลง    นั่นคือผลการศึกษาที่ใช้ข้อมูลจำนวนมาก  แต่ในเรื่องของนักลงทุนแต่ละคนนั้น  แน่นอน  ต้องมีคนประสบความสำเร็จสูงมากแม้ว่าจะใช้เทคนิคหรือแนวทางที่ด้อยกว่าโดยเฉลี่ย  และในชีวิตจริงนั้น  มีนักลงทุนน้อยคนที่จะยึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างเคร่งครัด  นักลงทุนหลายคนใช้แนวทางหลายแบบ “ผสมผสาน” กัน  เช่นบางคนบอกว่าเวลาเลือกหุ้นใช้แนวทาง VI หรือ Growth  แต่  “จังหวะซื้อ” หรือขายก็ “ดูกราฟ”  ทางเทคนิค เป็นต้น  ผมเองไม่รู้ว่าแต่ละคนควรใช้วิธีไหน  ประสบการณ์ส่วนตัวผมก็คือ  ผมชอบหุ้น Growth ที่มีความแน่นอนสูงและซื้อในราคาที่ต่ำหรือราคา “ยุติธรรม”

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/20/1595
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 21, 2015, 10:03:06 pm

หลังจากที่ผมอ่านหนังสือ "The little book of value investing" จบ
ผมก็รู้สึกประทับใจหลายๆ ประโยคที่อยู่ในเล่มนี้
อยากจะแชร์ให้ทุกคนได้รู้ไปด้วยกัน...
(ย้ำนิดนึงนะครับว่า เป็นหลักการในการลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า
แนวอื่นอาจจะมีหลักการคิดแบบอื่นก็ได้นะครับ)

1. การตัดสินใจลงทุนอย่างมีความรอบรู้  สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคุณ
    มันสามารถทำให้คุณเกษียณได้อย่างสบาย
2. การลงทุนแบบหุ้นคุณค่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีกฎกติกาที่ตายตัว
    แต่มันประกอบไปด้วยหลักการจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นปรัชญาการลงทุน
3. เวลาที่ควรซื้อหุ้น คือช่วงเวลาที่มันลดราคาอยู่
    ไม่ใช่ในช่วงที่มีราคาสูง อันเกิดจากการที่ใครๆ ก็อยากซื้อ
4. ความงดงามของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือ ความเรียบง่ายที่มีเหตุผล
    โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญสองข้อ คือ Intrinsic value, Margin of safety
5. การซื้อ 1 เหรียญในราคา 66 เซนต์ คือสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนหุ้นคุณค่า
    หลายต่อหลายคนมีผลงานที่เอาชนะตลาดโดยรวม
6. ถ้าคุณถือหลักการของการลงทุนแบบหุ้นคุณค่า เมื่อเวลาหุ้นมีราคาถูกคุณต้องกล้าซื้อ
    คุณต้องลืมเสียงนกเสียงการอบๆ ตัวคุณ และจงใช้ประโยชน์จากการลดราคาลงของหุ้น
    ในทางกลับกันถ้าหุ้นแพงและราคาเริ่มเข้าใกล้หรือเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง
    ซึ่งดูแล้วไม่มี Margin of safety เหลืออยู่ คุณต้องขายทิ้ง
7. วิธีการลงทุนที่ทดสอบจนเห็นผลแล้วว่าใช้ได้ดี
    คือการซื้อหุ้นที่ขายในราคาต่ำเพียงไม่กี่เท่าของกำไร (P/E ต่ำๆ)
8. แนวคิดเรื่อง Earnings yield จะช่วยได้มากเมื่อต้องมีการเปรียบเทียบ
    ถึงโอกาสในการลงทุน
9. ทุกแนวโน้มเดินไปชั่วนิรันดร์จนกระทั่งถึงจุดที่จบลง
    สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มไม่ได้ไปต่ออย่างถาวร
10. การก้าวข้ามไปลงทุนในต่างประเทศได้สร้างโอกาสเพิ่มขึ้นในการเลือกหุ้น
      ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าได้มากกว่าเดิมเยอะ
11. หุ้นที่ขายต่ำกว่า "ยอดเงินสดสุทธิ" เป็นอีกวิธีที่เกรแฮมโปรดปราน
12. เหตุผลจริงๆ ในการลงทุนทั่วโลก คือการเพิ่มโอกาสอีกเท่าตัวในการ
      หาหุ้นลงทุนที่มีศักยภาพเพื่อให้มีตัวเลือกมากขึ้นนั่นเอง
13. การไล่ล่าหาโอกาสลงทุนในต่างแดน ผมจะเลือกโดยเน้นหนักไปประเทศที่พัฒนาแล้ว
      ผมต้องการระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและรัฐบาลที่มีเหตุผล

14. เมื่อคณะกรรมการซื้อหุ้นคืนจากตลาด น่าจะเป็นการบ่งบอกถึงความเชื่อของพวกเขา
      ว่าราคาหุ้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
15. หุ้นที่ดูไม่ดีในวันนี้ กลายเป็นหุ้นที่ดีในวันหน้า
      และหุ้นขวัญใจในวันนี้ กลายเป็นหุ้นในวันหน้า
16. กฎข้อสำคัญของการลงทุนหุ้นคุณค่า คือพยายามรักษาตัว Margin of safety
17. หุ้นหลายตัวที่ราคาถูก ถูกเลือกเข้ามาด้วยเหตุผลที่ว่ามันมีปัญหาปัจจัยทางด้านพื้นฐาน
      ที่ทำให้มันไม่มีคุณค่า
18. บริษัทที่มีหนี้มากเกินไปมักจะมีโอกาสรอดยาก เมื่อถึงเวลาเศรษฐกิจขาลง
19. นักวิเคราะห์มักจะสนใจผลกำไรระยะสั้นมากกว่าความสำเร็จในระยะยาว
20. ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือ อยู่ในอุตสาหกรรมที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้
21. ผมชอบอยู่กับธุรกิจที่เราเข้าใจและมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
22. การมีชัยในการลงทุน หมายถึงการไม่ขาดทุน
      งบดุลที่แข็งแรงเป็นตัววัดที่ดี โดยเฉพาะความสามารถในการอยู่รอดยามวิกฤติ
23. บริษัทในอุดมคติ คือบริษัทที่สามารถใช้เงินทุนที่เพิ่มขึ้น
      และนำไปลงทุนเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้น โดยมีผลตอบแทนในระดับที่สูง
24. จริงอยู่ครับที่คุณต้องใช้ความอุตสาหะเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจถึงความแตกต่าง
      ในโลกใบนี้ แต่ก็คุ้มค่า วิถีการลงทุนหุ้นคุณค่าแบบโลกาภิวัฒน์
      ทำให้คุณมีโอกาสในการลงทุนมากขึ้น
25. การลงทุนนอกประเทศมีข้อแตกต่างที่สำคัญกับการลงทุนเฉพาะในตลาดบ้านเราคือ สกุลเงิน
26. การลงทุนหุ้นคุณค่าระยะยาว เปรียบเหมือนการนั่งเครื่องบิน
      ระหว่างทางคุณอาจจะเจออากาศที่เลวร้าย แต่ถ้าเครื่องบินของคุณอยู่ในสภาพที่ดี
      ช้าหรือเร็วคุณก็จะถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย และอาจจะตรงเวลาด้วย
27. ปัญหาของคนส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากการที่เขาไม่สามารถนั่งอยู่เงียบๆ คนเดียวได้
28. การลงทุนแบบหุ้นคุณค่าจะให้ผลดีมากต่อเมื่อเป็นการลงทุนแบบระยะยาว
      และยังไม่เห็นวิธีการลงทุนแบบอื่นที่ดีกว่า
29. การลงทุนแบบหุ้นคุณค่า ยังต้องการความกล้าที่จะซื้อหุ้นที่คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการถือ
      มันดูไม่ดี มันดูไม่น่าสนใจ
30. ที่จริงแล้ว ผมยังไม่เคยพบนักลงทุนหุ้นคุณค่าที่ได้ผลลัพท์ไม่ดี ถ้าได้ลงทุนมานานกว่า10 ปี
      การลงทุนแนวหุ้นคุณค่าต้องการความวิริยะมากกว่าปัญญา และการมีขันติที่สูง
      มันเป็นเรื่องของการทำงานหนักมากกว่าการมีแต่สูตรยากๆ ที่สำคัญเมื่อเวลาผ่านไป
      นักลงทุนควรจะได้รางวัลจากการซื้อหุ้นในราคาที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง

             - Traveller's trade -


หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กรกฎาคม 27, 2015, 04:31:47 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 Monday, 27 July 2015
  หุ้นในฝัน ปั่น 100 เด้ง

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้  แทบทุกวันเราจะเห็นหุ้นตัวเล็ก ๆ ติดเข้ามาในอันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับในตลาดหลักทรัพย์   ในบรรดาหุ้นตัวเล็กเหล่านั้น  หุ้นกลุ่มหนึ่งที่มักติดอันดับเข้ามาบ่อยมากที่สุดก็คือหุ้นที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นบางคนเรียกว่า  “หุ้นปั่น”  ซึ่งความหมายก็คือ  เป็นหุ้นที่มี  “เจ้ามือ” ที่เป็นนักลงทุน “รายใหญ่” หรือเป็น “เจ้าของบริษัท” เข้ามา  “ทำราคาหุ้น”  ด้วยกระบวนการต่าง ๆ  เช่น  การปล่อยข่าวลือ  การประกาศ “ข่าวดี” ต่าง ๆ  เช่น การเทคโอเวอร์  การทำธุรกิจใหม่  “แห่งอนาคต”  การแจกหุ้นและวอแรนต์ฟรี  การแตกพาร์หุ้น การออกหุ้นใหม่ทั้งที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและที่ให้นักลงทุนรายใหญ่  และอื่น ๆ  อีกมากที่จะทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยตื่นเต้นและเข้ามาเก็งกำไรในหุ้น  นอกจากนั้น  “เจ้ามือ” เองก็ต้องเข้ามา “เล่น” ซื้อขายหุ้นให้คึกคักและ “ดันราคา” ขึ้นไปอย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว  พื้นฐานหรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทไม่ดีหรือ  “แย่มาก”  บางบริษัทนั้นแทบจะอยู่ในสถานะใกล้  “ล้มละลาย”

    แน่นอนว่า  “เจ้ามือ” จะไม่เคยประกาศว่าตนเองกำลัง “ปั่น” หรือทำราคาหุ้น  เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย  ตรงกันข้าม  พวกเขาจะบอกหรือแสดงออกว่าที่ราคาหุ้นขึ้นไปนั้นเป็นเพราะบริษัทกำลัง “ฟื้นตัวอย่างยิ่งใหญ่” ที่จะทำให้อนาคตของบริษัทสดใสมากและบริษัทจะมีรายได้และกำไรสูงมากด้วยธุรกิจใหม่ ๆ  ที่บริษัทกำลังจะสร้างหรือซื้อมา  การ “เติบโต” ของบริษัทในอนาคตนั้นจะเป็น “ร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปี” ดังนั้นราคาหุ้นที่คิดจากค่า PE ในวันนี้ก็ควรจะสูงมากได้เท่า ๆ  กับการเติบโตนั่นก็คือ ค่า PE ก็ควรสูงได้เป็น 100 เท่า  และนั่นทำให้เขาซื้อแบบ  “Strong Buy” คือซื้อมากและไม่สนใจราคา และนั่นทำให้ราคาวิ่งอย่างแรง  และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยซื้อตาม  และนั่นทำให้ราคาวิ่งแรงขึ้นไปอีก  และนั่นทำให้นักเล่นหุ้นรายย่อยอื่นซื้อตามซึ่งทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วเนื่องจากปริมาณหุ้นที่ Float หรือกระจายอยู่ในตลาดมีน้อย  ผลก็คือ   ราคาหุ้นขึ้นไป “เกินพื้นฐาน” มาก  แต่นักเล่นหุ้นก็ไม่สนใจ  เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว  เขาไม่ได้ลงทุนถือหุ้นยาว  พวกเขาเข้ามา “เล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น”

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการอธิบายโดยภาพรวม  หลักฐานที่เป็นตัวเลขหรือกรณีศึกษานั้น  ผมเองก็ไม่ค่อยได้เห็นและส่วนตัวก็ไม่สนใจเนื่องจากมันไม่ใช่หุ้นที่เราสนใจลงทุน   อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่ามันก็คงไม่เสียหายและเสียเวลานักที่จะลองดูหุ้นที่เข้าข่าย  “หุ้นปั่น”  ว่าหน้าตาและพฤติกรรมของมันเป็นอย่างไร ผมจะไม่บอกชื่อหุ้นแต่ข้อมูลที่ผมใช้นั้นเป็นข้อมูลจริงที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์

    หุ้นตัวแรกนั้น  ชื่อเดิมผมเองก็จำไม่ได้และบริษัทอาจจะเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง  แต่มองย้อนหลังถึงปี 2554 พบว่ารายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3-400 ล้านบาท กำไรไม่ถึง 5 ล้านบาท  ในเวลานั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดก็ประมาณ 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งก็อาจจะดูว่าปกติและเหมาะสม  แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่ายอดขายของบริษัทจะลดลงเรื่อย ๆ  และจากกำไรก็กลายเป็นขาดทุน ปี 2555 บริษัทขาดทุนกว่า 50 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท และปีที่แล้วก็ยังขาดทุนอีกกว่า 50 ล้านบาทในขณะที่รายได้เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท  เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทอาจจะมีปัญหาแข่งขันไม่ได้  และบริษัทเองก็จำเป็นต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ให้ติดลบซึ่งจะทำให้หุ้นต้องออกจากตลาด  อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียว  มูลค่าหุ้นของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่แล้วที่ Market Cap. ขึ้นมาเป็นกว่า 10,000 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 100 เท่า  กลายเป็นหุ้น 100 เด้งภายในเวลา 3-4 ปี เหตุผลที่ขึ้นนั้น  พูดกันว่าเพราะบริษัทหันไปทำธุรกิจใหม่ “แห่งอนาคต” ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อนและมีศักยภาพหรือมีขนาดของธุรกิจสูงมาก  อย่างไรก็ตาม  ล่าสุดหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงและรายได้และกำไรก็ยังไม่เกิดขึ้น  มูลค่าหุ้นก็ลดลงเหลือ “เพียง”กว่า 4,000 ล้านบาท หรือยังเป็นหุ้น 40 เด้งในเวลา 4 ปี

    หุ้นตัวที่สองนั้น  เคยอยู่ในธุรกิจวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก  ย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทเศษแต่ขาดทุนประมาณ 40 ล้านบาท นั่นอาจจะเพราะปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น มูลค่าตลาดของหุ้นเองอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาทซึ่งก็ดูไม่ผิดปกติ  ถึงปี 2555 บริษัทก็ฟื้นขึ้นบ้าง แต่พอถึงปี 2556 และ 2557 ธุรกิจของบริษัทก็แย่ลงอาจจะเนื่องจากคู่แข่งที่มีมากขึ้น  รายได้ของบริษัทลดเหลือเพียง 100-200 ล้านบาทต่อปี กำไรปีล่าสุดติดลบถึงเกือบ 100 ล้านบาท  แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงกว่า 30,000 ล้านบาท หรือเป็นการเพิ่มขึ้น 100 เท่าตัวในเวลา 3 ปี เหตุผลน่าจะเป็นเพราะบริษัทได้ประกาศทำธุรกิจใหม่  “แห่งอนาคต” นั่นก็คือ  “พลังงานทดแทน”  ที่บริษัทได้รับสัญญาขายไฟฟ้ามาแล้วจำนวนมาก  ดังนั้น  แม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลงในช่วงนี้  หุ้นของบริษัทก็ยังคงราคาอยู่ได้แม้ว่าไตรมาศ 1 ปีนี้บริษัทจะยังแทบไม่มีรายได้และยังขาดทุนอยู่  ดูเหมือนว่าทุกคนมองไปที่อนาคต  ว่าที่จริง บริษัทสามารถเรียกทุนเพิ่มขึ้นได้จำนวนมากเพื่อที่จะทำธุรกิจที่จะ “โตไปได้อีกนาน”

    หุ้น “100 เด้ง” ตัวที่ 3 นั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าบริษัทเคยทำอะไรมาก่อน  แต่ช่วงหลังที่หุ้นบริษัทวิ่งขึ้นมามากนั้นน่าจะเป็นเพราะบริษัทเปลี่ยนไปทำธุรกิจที่มี “อนาคตสดใส” มาก  และสามารถทำได้แทบจะไม่จำกัดนั่นก็คือ  “รายการทีวี”   มองย้อนหลังไปปี 2554 บริษัทมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทและมีกำไรประมาณ 20 ล้านบาทซึ่งก็น่าจะถือว่าใช้ได้แต่คงเป็นเพราะธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจ  “ขนาดเล็ก” ที่มีศักยภาพจำกัด มูลค่าหุ้นของบริษัทจึงเท่ากับเพียงประมาณ 50 ล้านบาท  ในปีต่อ ๆ มาก็ดูเหมือนว่าธุรกิจของบริษัทก็ทรง ๆ  และโตขึ้นบ้างในแง่รายได้  แต่กำไรของบริษัทนั้นก็ไม่ไปไหน  ที่สำคัญปี 2557 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของวงการทีวีที่กลายเป็นดิจิตอล  กำไรของบริษัทก็เหลือเพียง 1 ล้านบาทและล่าสุดในไตรมาศ 1 ปี 2558 นั้นบริษัทขาดทุนกว่า 20 ล้านบาท จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 ล้านบาท  แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ  ราคาหุ้นของบริษัทได้เพิ่มขึ้นมโหฬารทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทสูงถึงกว่า 5,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าในเวลา 3 ปีครึ่ง

    นอกจาก “หุ้นปั่น  100 เด้ง” ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว  ยังมี  “หุ้นปั่น 50 เด้ง”  “หุ้นปั่น 20 เด้ง”  และ “หุ้นปั่น 10 เด้ง” ในเวลา 3-4 ปี อีกหลาย ๆ  ตัวที่ผมไม่มีเนื้อที่จะเขียน  แต่ละตัวก็มี “Story” หรือ “วีรกรรม” ที่ “น่าทึ่ง” แต่ที่สำคัญก็คือ  “ซ้ำซาก” ที่กลายมาเป็น  “สิ่งบ่งบอก” หรือ“อาการ” ของ  “หุ้นปั่น”  นั่นก็คือ

    “หุ้นปั่น” มักจะมีอดีตของผลประกอบการที่ย่ำแย่ขาดทุนต่อเนื่องหรือกำไรน้อยมาก   ข้อสองก็คือ  พวกเขาอ้างว่าบริษัทจะมี  “อนาคต” ที่ “สดใสมาก” ที่อาจจะต้องใช้เวลายาวหน่อยแต่ผู้บริหารมั่นใจว่าจะสำเร็จแน่นอน  ข้อสาม พวกเขาต้องการและมักจะต้องเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาในอดีตของบริษัทและนำเงินนั้นมาสร้างธุรกิจใหม่ที่สดใสมากนั้น   ข้อสี่ บ่อยครั้งพวกเขาจะเปลี่ยนชื่อบริษัทให้สะท้อนถึงความเป็นธุรกิจ  “แห่งอนาคต” ที่น่าตื่นเต้นและทำเงินมหาศาลรวมทั้งอาจจะเพื่อให้คน “ลืม” ความล้มเหลวของอดีต  ข้อห้า  ธุรกิจใหม่ของพวกเขานั้น  บ่อยครั้ง  คำนวณหามูลค่าที่แท้จริงยากเนื่องจากเหตุผลมากมายเช่น  เป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด  เป็นธุรกิจที่อิงอยู่กับกับอนาคตที่ไกลและไม่แน่นอน  เป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับภาวะหรือปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้  และเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีกำไรแต่คาดว่าจะเติบโตมหาศาล  เป็นต้น   และสุดท้าย  หุ้นปั่นแทบจะทุกตัวนั้น  จะใช้เทคนิค “วิศวกรรมทางการเงิน” เช่น  แตกพาร์  แจกวอแร้นต์ฟรี เพื่อสร้างความรู้สึกว่าหุ้นถูกและผู้ถือหุ้นหรือคนเล่นหุ้นได้ผลประโยชน์ “ฟรี”

    คำถามสุดท้ายก็คือ  หุ้นปั่นนั้น  บางทีสามารถขึ้นไปได้ 100 เท่าแต่ขาดทุนได้แค่ 100% น่าเล่นหรือไม่?  คำตอบของผมก็คือ  โอกาสของคนเล่นที่จะได้กำไรขนาดนั้นมีน้อยมากถ้าไม่ใช่เจ้ามือ  แต่โอกาสที่หุ้นปั่นราคา 100 บาทที่เราถืออยู่จะเหลือ 1 บาทกลับมีมากกว่า  ดังนั้น คำตอบของผมก็คือ  ถ้าเจอหุ้นที่มีอาการเป็น “หุ้นปั่น” ดังที่ว่า  เราก็ควรจะถอยห่างไว้  มิฉะนั้น  เราอาจจะทนไม่ไหวที่จะเข้าไปเล่น

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/07/27/1597
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 05, 2015, 12:32:33 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 Monday, 3 August 2015
Warrant=Worry

    ถ้าจะถามว่ามีหลักทรัพย์อะไรที่ผมไม่ชอบและไม่อยากเกี่ยวข้องหรือลงทุนถ้าไม่มีเหตุผลพิเศษจริง ๆ  แล้วละก็  มันก็คือ  Warrant หรือ “สิทธิที่จะซื้อหุ้นออกใหม่ของบริษัท”   โดยธรรมชาติแล้ว  หลักทรัพย์ที่มีการคิดค้นขึ้นมาและมีการนำออกมาใช้อย่างแพร่หลายในโลกทุกประเภทนั้น  มันก็จะต้องมีประโยชน์ต่อบริษัทหรือหน่วยธุรกิจที่ออกมัน  และก็แน่นอน  มันก็ต้องมีประโยชน์ต่อการดำรงอยู่หรือการเติบโตของธุรกิจและต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของวอแรนต์ที่มีการนำออกมาใช้กันมากมายในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมเห็นว่าจำนวนมากเป็นการออกมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ผิดจากที่ควรเป็นเพื่อผลประโยชน์ของคนบางคนหรือบางกลุ่มมากกว่าที่จะเป็นผลดีต่อตัวบริษัทหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ  ต่อมูลค่าของบริษัท  ซึ่งก็คือไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม  และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มันอาจจะเป็น  “ยาพิษ” ต่อนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในราคาสูงเพราะคิดว่าวอแรนต์เป็นสิ่งที่ดีและจะทำให้บริษัทเติบโตหรือมีคุณค่ามากขึ้น

    เหตุผลหลักของผมก็คือ  วอแรนต์นั้น  มีโอกาสที่จะถูกใช้สิทธิหรือแปลงเป็นหุ้นได้ในราคาที่กำหนดไว้ตายตัวซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดของหุ้นในอนาคต  บางทีต่ำกว่ามาก  และนี่จะทำให้ “สัดส่วน” ของผู้ถือหุ้นเดิมลดลง  ยิ่งมีการออกวอแรนต์จำนวนมากและราคาแปลงสภาพหรือราคาใช้สิทธิต่ำ  ผู้ถือหุ้นเดิมก็จะถูก  “Dilute” หรือถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทมากเท่านั้น  และในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่ออกวอแรนต์จำนวนมากเมื่อเทียบกับหุ้นทั้งหมดของบริษัทในราคาใช้สิทธิค่อนข้างต่ำ  ซึ่งนี่ก็จะทำให้หุ้นของบริษัทเหล่านั้นมีความน่าสนใจลดลง  ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาวที่  ลงทุนในหุ้นที่เราคิดว่าจะมีกำไรต่อหุ้นโตขึ้นเรื่อย ๆ  ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  แต่พอถึงเวลานั้นกลับมีหุ้นใหม่ที่ถูกใช้สิทธิจากวอแรนต์เข้ามาเพิ่มทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ผลก็คือ กำไรต่อหุ้นไม่โตและดังนั้นราคาหุ้นก็จะไม่ไปไหน  หุ้นแบบนี้เราจึงไม่ค่อยสนใจ  มันเหมือน  “ตาลยอดด้วน” คือต้นตาลที่ถูกตัดยอดเสียแล้ว  โอกาสที่จะโตไปมาก ๆ  ก็ไม่มี  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  หุ้นที่มีวอแรนต์ออกมานั้น  จะเป็นหุ้นที่ทำให้ผมกังวล  และหุ้นทุกตัวนั้น  ก่อนที่จะซื้อ  ผมจะต้องตรวจสอบดูว่ามันมีวอแรนต์ไหม

    เป็นที่น่าตกใจว่า  มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากออกวอแรนต์มากมายเหมือนกับไม่สนใจว่าในอนาคตบริษัทอาจจะมีหุ้นเพิ่มขึ้นมากและทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ดูคร่าว ๆ  วอแรนต์ในตลาดหุ้นหลักหรือ SET มีกว่า 100 หลักทรัพย์จากหุ้นทั้งหมด 500 กว่าบริษัท หรือประมาณ 20% แต่ในตลาดหุ้นขนาดเล็กหรือ MAI นั้น  เรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 50 หลักทรัพย์จากหุ้นเพียงร้อยกว่าตัว  คิดแล้วเรามีวอแรนต์ถึงประมาณ 40% ของหุ้น  จริงอยู่ว่าบางบริษัทนั้นมีวอแรนต์หลายตัวที่ออกมาขาย  แต่ผมคิดว่าจำนวนบริษัทที่ออกวอแรนต์นั้นมีมากเกินไป  และเหตุผลที่บริษัทออกวอแรนต์นั้น  ผมคิดว่าเกิดจากแรงจูงใจที่จะ  “ขับดันราคาและ/หรือมูลค่าหุ้น” มากกว่าเหตุผลทางการเงินของบริษัท

    ประเด็นที่สองที่ผมคิดว่าน่ากังวลยิ่งกว่าก็คือเรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้นของเหล่านักวิเคราะห์หรือนักลงทุน  เท่าที่ผมเห็นนั้นดูเหมือนว่าคนจะไม่สนใจเรื่องของ Dilution ในอนาคต  ในทางบัญชีเองนั้น  ผมก็ไม่เห็นว่าปริมาณหุ้นที่จะมาจากวอแรนต์ในอนาคตจะถูกนำมาคิดในงบบัญชีปัจจุบัน  ดังนั้น  บริษัทที่ออกวอแรนต์มากมาย  คิดเป็นปริมาณหุ้นก็อาจจะหลาย ๆ  สิบเปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมดนั้น  จึงไม่ถูกกระทบอะไรเลยทั้ง ๆ ที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะ “มหาศาล”  กำไรต่อหุ้นอาจจะหายไปครึ่งหนึ่งก็ได้  นักบัญชีหรือนักวิเคราะห์อาจจะเถียงว่าวอแรนต์นั้นอาจจะไม่ถูกใช้สิทธิในอนาคต  ดังนั้น  ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาลงบัญชีในวันนี้  แต่ข้อถกเถียงของผมก็คือ  มันก็อาจจะถูกใช้สิทธิได้  ดังนั้น  ถ้าเราจะ “อนุรักษ์นิยม” ซึ่งก็เป็นหลักการของนักบัญชี  เราก็ควรจะ  “สำรอง”  ไว้ก่อนไหม  เหมือน ๆ  กับที่เราสำรองค่าเผื่อ “หนี้สูญ” หรือ “ทรัพย์สินเสื่อมค่า”  ทั้ง ๆ  ที่หนี้หรือทรัพย์สินนั้นอาจจะยังไม่เสียแต่มีโอกาสเกิดขึ้นพอสมควร   พูดง่าย ๆ  ข้อเสนอผมก็คือ  บริษัทไหนออกวอแรนต์ก็จะต้องคิดจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเลยเวลาคิดกำไรต่อหุ้น  หรือไม่ก็ต้องคิดเป็น  “ต้นทุน” ของการออกวอแรนต์เพื่อเอาไปหักจากรายได้หรือกำไรประจำปีของบริษัท  นี่ก็จะทำให้บริษัทต้องคิดก่อนว่าคุ้มไหมที่จะออกวอแรนต์แต่ละครั้ง

    ผมเองไม่ใช่นักบัญชีและก็ไม่แน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นถูกต้องเป็นไปได้แค่ไหน  แต่ถ้ามองตาม Common Sense หรือสามัญสำนึกแล้ว  มันน่าจะเป็นอย่างนั้น   ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรายอมให้ออกวอแรนต์ได้อย่างไม่จำกัดและไม่มีผลอะไรต่อบัญชีในวันนี้  โดยผมสมมุติว่าบริษัท W นั้น  ตั้งขึ้นมาเพื่อ  “ขายวอแรนต์” โดยไม่ทำอย่างอื่น  สิ่งที่บริษัททำก็คือออกวอแรนต์ราคาใช้สิทธิต่ำมากขายแก่บุคคลทั่วไปที่เป็น  “ลูกค้า”   ราคาวอแรนต์ที่ขายหน่วยละ 1 บาท จำนวน 100 ล้านหุ้น บริษัทก็ได้เงินปีละ 100 ล้านบาท  ต้นทุนสินค้าก็มีแค่ของใช้และค่าเช่าสำนักงาน  ค่าแรงพนักงานขายและธุรการเล็กน้อย สิ้นปีบริษัทอาจจะทำกำไรได้ปีละ 90 ล้านบาท  ดังนั้นถ้าเราให้ค่า PE แค่ 20 เท่า เท่ากับ PE ตลาด  หุ้นก็มีมูลค่าถึง 1800 ล้านบาทเข้าไปแล้ว  กลายเป็นหุ้นที่คนอยากเล่นกันมากและก็น่าจะวิ่งขึ้นไปอีกเพราะว่าอีกซักระยะหนึ่งก็จะมีวอแรนต์ชุดสองตามมาในราคาใช้สิทธิที่น่าสนใจยิ่งกว่า “วอร์ 1” โดยที่  “วอร์ 2” เองนั้น  ก็ “ไม่มีต้นทุน”  กำไรที่ได้ก็ “มโหฬาร”

    บางคนอาจจะเถียงว่าในชีวิตจริงใครจะทำ  การขายวอแรนต์แล้วเอามาเป็นรายได้ทำไม่ได้ในทางบัญชี  เรื่องนี้ถ้าเป็นปัญหาผมก็สามารถสมมุติเรื่องใหม่  แปลงเป็นว่าบริษัท G นั้นทำธุรกิจปกติขายสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการโฆษณามหาศาล  ต้นทุนโฆษณาปีละ 100 ล้านบาท แต่ผลประกอบการของบริษัทนั้นไม่มีกำไร  วันหนึ่งบริษัทก็คิด “ลดต้นทุน” โดยการออกวอแรนต์ให้กับบริษัทโฆษณาแทนการจ่ายเป็นเงินซึ่งบริษัทโฆษณาก็ยินดี  ดังนั้น  พอสิ้นปีบริษัท G ก็มีกำไร 100 ล้านบาท หุ้นก็วิ่ง  เช่นเดียวกับวอแรนต์ที่วิ่งขึ้นไปยิ่งกว่า และนั่นก็เป็นเหตุผลที่บริษัทโฆษณายินดีรับวอแรนต์แทนเงิน  ทุกฝ่ายต่างก็มีความสุข  รวมถึงคนที่เล่นหุ้น G ในตลาดหุ้นที่เห็นว่าบริษัทกำลัง  “Turnaround” หรือฟื้นตัวจากภาวะย่ำแย่

    เรื่องราวที่ผมสมมุติขึ้นมานี้  แม้ว่าจะยังไม่เห็นหรือไม่ชัดเจนว่ามีใครทำบ้าง  แต่ผมคิดว่าในตลาดหุ้นทุกวันนี้  วอแรนต์ถูกนำมาใช้ในวิธีการต่าง ๆ  เสมือนหนึ่งว่ามัน  “ไม่มีต้นทุน”  และมันสามารถขับดันราคาหรือมูลค่าหุ้นได้โดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้น  อย่างไรก็ตาม  “ความจริงที่แท้จริง” ของหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ  มูลค่าของบริษัทหรือหุ้นนั้น  จะต้องเกิดจากการกระทำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ  ไม่ใช่การพิมพ์ตัวอักษรและตัวเลขง่าย ๆ ไม่กี่ตัว  ดังนั้น  แม้ว่าในระยะสั้น ๆ  คนจะ “ถูกลวง” ว่าวอแรนต์นั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นในตลาดก็จะต้องกลับมาสู่มูลค่าที่แท้จริงตามตัวธุรกิจที่แท้จริง  ผลที่เราจะคาดได้ก็คือ  คนที่เข้าไปเล่นหุ้นที่มีการนำวอแรนต์มา “เล่น” และราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปหรือมูลค่าหุ้นรวมวอแรนต์ปรับตัวขึ้นไปมากเกินความเป็นจริง  ก็จะขาดทุนอย่างหนัก  ความเสียหายของคนเล่นวอแรนต์อาจจะเป็น  “หายนะ”

    สิ่งที่เราในฐานะ VI จะทำได้นั้นก็คงเป็นเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ  คือเรา “เฉย” เสียกับหุ้นที่มีวอแรนต์พ่วงเต็มไปหมด  ไม่ต้องพูดว่าเราจะเล่นตัววอแรนต์เองเลย    แต่ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นมานาน  ผมก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง  ระบบการรายงานทางบัญชีของเราจะสามารถสะท้อนเรื่องของการออกวอแรนต์ของบริษัทจดทะเบียนอย่างที่มันควรจะเป็น   และเช่นเดียวกัน  ผมก็หวังด้วยว่าวันหนึ่งหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของเราจะออกกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้คนใช้วอแรนต์ในทางที่จะฉกฉวยประโยชน์จากสังคมของการลงทุนโดยรวม  สำหรับผมแล้ว  Warrant = Worry 

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/03/1600
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 16, 2015, 07:16:38 pm
 
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 10 August 2015
เวลาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อก

   นักลงทุนแนว VI “พันธุ์แท้” ที่ชื่นชมและศรัทธา วอเร็น บัฟเฟตต์ หลายคนมักชอบที่จะอ้างคำพูดที่ “คลาสสิก” ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ว่า  “หุ้นนั้นไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน  สิ่งที่คุณต้องทำทั้งหมดก็คือ  ซื้อหุ้นในธุรกิจที่ยิ่งใหญ่  บริหารโดยผู้จัดการที่มีความสามารถและความซื่อสัตย์สูงสุด  ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของมัน  เสร็จแล้วคุณก็ถือหุ้นนั้นไว้ตลอดกาล”

   ผมเองก็ยึดถือแนวทางส่วนใหญ่ของบัฟเฟตต์ในการลงทุนมานาน  อย่างไรก็ตาม  “ดีกรี” หรือความเข้มข้นในการที่จะปฏิบัติตามหลักการของบัฟเฟตต์นั้น  ก็ยังคงไม่เท่าสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ  เหตุผลไม่ใช่เพราะผมไม่เชื่อเขา  แต่เป็นเพราะสถานการณ์และตัวบริษัทหรือหุ้นที่อยู่ในประเทศไทยนั้น  ด้อยกว่าในตลาดหุ้นสหรัฐมาก   ประการแรกก็คือ  บริษัทที่  “ยิ่งใหญ่” ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ยังห่างชั้นจากตลาดหุ้นสหรัฐมาก  เราเป็นได้เพียงบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยในขณะที่บริษัทในสหรัฐที่ยิ่งใหญ่นั้น  ยิ่งใหญ่ในระดับโลกทั้งนั้น  ประการที่สองก็คือเรื่องของความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์ของผู้บริหารเองนั้น  เราก็ต้องยอมรับว่า  ในสังคมไทยที่ยังพัฒนาน้อยกว่า  บางทีเราก็ต้องยอมลดมาตรฐานลงมาบ้าง  และในประการสุดท้ายก็คือ  เรื่องของการถือหุ้นไว้ “ตลอดกาล”  นี่ก็เป็นเรื่องที่ยาก  เนื่องจากความ “ยิ่งใหญ่” ของหุ้นไทยนั้น  อาจจะไม่พอหรือไม่สามารถดำรงไว้ได้นานเหมือนกับหุ้นของสหรัฐ  ว่าที่จริง  แม้แต่หุ้นที่ยิ่งใหญ่หลายบริษัทของสหรัฐเองนั้น  เมื่อเวลาผ่านไปนานพอ  มันก็ตกต่ำลงมาเหมือนกันเพราะ  ไม่มีอะไรจะอยู่ “ค้ำฟ้า” ได้

   คำถามสำคัญสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนในแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ก็คือ  เราจะขายหุ้นเมื่อไร?   คำตอบนั้นผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเวลาที่เป็นเดือนหรือปี  ผมเองลงทุนซุปเปอร์สต็อกมานาน  วันที่ผมซื้อหุ้นนั้น  ผมไม่เคยคิดว่าจะขายในอีกกี่เดือนหรือกี่ปีข้างหน้า  ผมไม่เคยคิดว่าราคาเท่าไรจะขาย  พูดง่าย ๆ ไม่มีเป้าหมายว่าจะขาย  แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะถือตลอดกาล  ถ้าจะต้องตอบก็คือ  ผมจะถือไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์มันจะบอกว่าเราควรจะขายแล้ว   และต่อไปนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าผมควรที่จะพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่ถืออยู่

   เรื่องแรกก็คือ  ตลาดของสินค้าของบริษัทเริ่ม “อิ่มตัว”  นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่ง  เพราะในความหมายของซุปเปอร์สต็อกนั้น  มันมักจะเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่กำลังเติบโตและบริษัทเป็น  “ผู้ชนะ” ที่ครอง Market Share หรือส่วนแบ่งตลาดที่สูงสุดและเหนือคู่แข่งมาก  ดังนั้น  การที่ยอดขายจะเติบโตได้เร็วต้องหมายความว่าตัวอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะต้องโตต่อไป  แต่ถ้าคนเกือบ “ทั้งประเทศ” ที่มีเงินและต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทต่างก็ได้ใช้แล้ว  โอกาสที่บริษัทจะโตเร็วแบบเดิมก็จะยาก  และเมื่อถึงจุดนั้น  บริษัทก็จะสูญเสียสถานะของการเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  ค่า PE ที่สูงของหุ้นก็จะค่อย ๆ  ลดลง  บริษัทจะกลายเป็นหุ้น  “แข็งแกร่ง”  ที่ยังใหญ่โต  มีกำไรที่ดี  แต่ไม่โตหรือโตช้า  ผลก็คือ  ราคาหุ้นอาจจะไม่ไปไหนหรือลดลงด้วยซ้ำ  ดังนั้น  ถ้าเราคิดว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว  เราก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นทิ้งก่อนที่ “ภาพ” ของบริษัทจะเปลี่ยนไป

   ข้อที่ต้องระวังมากสำหรับเรื่องของการ “อิ่มตัว” ของตลาดก็คือ  เราอาจจะเข้าใจผิดหรือสับสนระหว่างการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดขายของบริษัทโตช้าลง  กับการอิ่มตัวของตลาด  วิธีที่จะดูทางหนึ่งก็คือ  ดูว่าอัตราการใช้สินค้าหรือบริการหรือยอดขายของอุตสาหกรรมเทียบกับ GDP ว่ามันสูงพอ ๆ  กับอัตราของประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาพอ ๆ กันหรือสูงกว่าหรือยัง  ถ้ายังห่างมาก  นี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าการชะลอตัวของยอดขายน่าจะเป็นเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่า เป็นต้น

   ประเด็นที่สองที่ทำให้เราต้องพิจารณาขายหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็คือเรื่องของ  “การแข่งขัน”  นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่ตลาดสินค้าอิ่มตัว  จริงอยู่ที่ว่าซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะเป็น  “ผู้ชนะ”  ในการแข่งขันที่ค่อนข้าง “เด็ดขาด”  อย่างไรก็ตาม  นั่นมักจะเป็นการชนะที่เกิดจาก Model หรือรูปแบบทางธุรกิจที่ใช้อยู่  แต่ประเด็นสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ  มี Model ทางธุรกิจใหม่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและมากซึ่งเป็นอานิสงค์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ  สามารถนำมาใช้และทำให้ได้เปรียบธุรกิจที่ใช้ Model เดิม  ตัวอย่างเช่น  บริษัทวอลมาร์ทที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในด้านของการค้าปลีกสินค้าของใช้ประจำวันนั้น  เมื่อเร็ว ๆ  นี้ก็ดูเหมือนว่ากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทอะเมซอนที่ขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต  เป็นต้น  ในกรณีแบบนี้  เราอาจจะมองว่าวอลมาร์ทกำลัง “แพ้” อะเมซอนในการแข่งขันและราคาหุ้นก็สะท้อนออกมาโดยการที่หุ้นอะเมซอนในขณะนี้มีมูลค่าสูงกว่าหุ้นวอลมาร์ทแล้ว

   ในตลาดไทยเองนั้น  เราก็ได้เห็นหุ้นค้าปลีกหรือหุ้นบันเทิงบางตัวสูญเสีย “ความสามารถในการแข่งขัน” ให้กับ  “เทคโนโลยีไอที” ที่เปลี่ยน “แผนภูมิ”  ในการแข่งขันไปอย่างสิ้นเชิง  ตัวอย่างเช่น กิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ทั้งหลายที่เสีย “ลูกค้า”  ให้กับสื่ออิเลคโทรนิกที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกมาก  หรือตลาดเทปเพลงหรือภาพยนตร์ที่กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยในยุคที่ทุกอย่างสามารถ “ดาวน์โหลด” จากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

   เรื่องที่สามก็คือ  บางครั้งเราอาจจะต้องพิจารณาขายซุปเปอร์สต็อกเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านของกฎหมาย  กฎเกณฑ์ และระเบียบใหม่ในการทำธุรกิจของหน่วยงานรัฐ  ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญในแง่ที่ว่ามันเป็น  “อำนาจที่ยิ่งใหญ่” ที่สามารถ “Overrule” หรือ “ลบล้าง”  ทุกเรื่องรวมถึงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ได้  โดยปกติ  บริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้นมักจะไม่ได้อาศัย “รัฐ” ในการแข่งขัน  แต่ในทางตรงกันข้าม  กฎเกณฑ์ที่ออกใหม่สามารถ “ทำลาย”  หรือลดความสามารถในการทำกำไรของซุปเปอร์สต็อกได้มาก  ผมเองเวลาที่ถือหุ้นซุปเปอร์สต็อกไว้  ผมจะไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎระเบียบอะไรทั้งสิ้นในอุตสาหกรรม   เพราะซุปเปอร์สต็อกนั้น  โดยปกติไม่มีคู่แข่งที่จะทำลายมันได้อยู่แล้วยกเว้น  “อำนาจรัฐ”

   ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์ในเร็ว ๆ  นี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านของธุรกิจทีวี  การเปลี่ยนแปลงในแง่ของการการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่โทรคมนาคม  และที่เราอาจจะไม่ได้คิดหรือตระหนักถึงก็คือ  การเปลี่ยนแปลงที่มาจากหน่วยงาน  “เหนือรัฐ” จากนอกประเทศ  เช่น เรื่องของการบิน การประมง และอื่น ๆ  อีกมาก  ทั้งหมดนั้นเราต้องคอยติดตามและวิเคราะห์ว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรกับซุปเปอร์สต็อกของเรา

   เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดก็คือ  ราคาหรือมูลค่าหุ้นซุปเปอร์สต็อก  นี่เป็นประเด็นที่ผมจะไม่ค่อยสนใจมากนักยกเว้นแต่ว่าราคามัน  “เวอร์”  ไปจริง ๆ  อย่างไรก็ตาม  ประสบการณ์ก็คือ  หุ้นซุปเปอร์สต็อกที่แท้จริงนั้น  แม้ว่าบางครั้งราคาจะขึ้นไปสูงมากวัดจากค่า PE  เช่นสูงเป็น 30-40 เท่า มันก็ไม่ใช่ราคาที่ Overvalue หรือราคาสูงเกินพื้นฐานโดยเฉพาะถ้าวัดจาก  Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัท  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้นมักจะมีศักยภาพสูงมาก  มันจะโตไปเรื่อย ๆ  ไปอีกนานจนมีขนาดใหญ่มาก  ดังนั้น  แม้ว่าในบางช่วงที่ดูเหมือนว่าจะแพงเกินไป  เราก็มักจะไม่จำเป็นต้องขาย  อย่างไรก็ตาม  ในบางครั้ง  โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นมีมูลค่าสูงมากแล้ว  และตลาดหุ้นกำลังเป็น “ฟองสบู่”  แบบนี้  เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/10/1604

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 28, 2015, 11:59:11 pm
(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 17 August 2015 
  บทเรียนหุ้นขาลง

   ถ้าดูโดยภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วเราก็จะพบว่าดัชนีหรือราคาตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 นั้น  ไม่ได้มีการปรับตัวลงมามากนัก  ดัชนีตลาดลดลงมาเพียง 94 จุดหรือเป็นการปรับลงมาประมาณ 6.3% และถ้าคิดรวมปันผลที่ได้ประมาณ 3% นักลงทุนระยะยาวโดยเฉลี่ยก็น่าจะขาดทุนประมาณ 3.3% ถือว่าน้อยมาก  แต่ถ้าคุยกับนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากก็จะพบว่าตลาดปรับตัว “รอบนี้” ค่อนข้าง “หนัก”  หลายคน  “ร้องไห้หนักมาก”  เพราะเพิ่งเข้ามาเล่นหุ้นในตลาด  ไม่เคยได้กำไรแต่ขาดทุนหนักมากเนื่องจากหุ้นที่เข้าไปเล่นนั้นเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีความผันผวนสูง  จำนวนมากจดทะเบียนในตลาดหุ้น MAI อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่านักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ก็ยังไม่ถอนใจออกจากตลาด  ความหวังที่จะ “เอาคืน” หรือทำกำไรจากตลาดหุ้นยังมีอยู่  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขาอาจจะคิดว่าหุ้นก็ลงมามากแล้ว  คงไม่ลงไปอีกมากนักแต่น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้  เขาอาจจะเชื่อว่าการเล่นหุ้นนั้น  “ต้องกล้าในยามที่คนอื่นกลัว”

    ลองวิเคราะห์ดูข้อมูลตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันก็พบว่า  ตลาดของหุ้นขนาดใหญ่หรือ SET นั้น ราคาหุ้นตกลงมาไม่มากนักเพียงแค่ 6.3% วัดจากดัชนี   ส่วนค่าความถูกความแพงวัดจากค่า PE ก็ปรากฏว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้วค่า PE ของ SET เองอยู่ที่ 17.81 เท่าเทียบกับ 18.49 เท่าในปัจจุบัน  ซึ่งเท่ากับว่าหุ้นขนาดใหญ่นั้น  คนยังคงให้  “คุณค่า”  เท่าเดิม  นั่นก็คือ  ถ้าคุณลงทุนในตลาดหุ้นวันนี้  แต่ละปีก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 5-6%  หาได้จากการกลับเศษเป็นส่วนของค่า PE คือค่า EP ที่เท่ากับ 1 หารด้วย 18 โดยประมาณ)  ซึ่งก็เป็นอัตราที่ดีพอใช้เมื่อเทียบกับการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตร   การที่ราคาหุ้นตกลงมานั้น  เกิดจากผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา   นี่ก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมาในแง่ที่ว่าราคาหุ้นนั้น  “ขึ้นอยู่กับพื้นฐานหรือผลประกอบการ”  ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนับจากต้นปี

    ในส่วนของตลาดหุ้นขนาดเล็กที่วัดจากดัชนีหุ้น MAI นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ดัชนี MAI ปรับตัวลดลงจากประมาณ 700 จุดเหลือเพียง 585 จุดในช่วงเวลาเดียวกันหรือลดลงประมาณ 16.4%  และถ้าคิดรวมปันผลที่ประมาณ 0.9% ก็จะทำให้โดยเฉลี่ยแล้วหุ้นให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ยประมาณ 15.5% หรือนักเล่นหุ้นขาดทุนเป็นประมาณ 4.7 เท่าเมื่อเทียบกับตลาด SET และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนบุคคลรายย่อยจึงเสียหายค่อนข้างหนักทั้ง ๆ ที่ตลาดโดยรวมไม่ได้เลวร้ายมากนัก

    หุ้น MAI ที่ตกลงมานั้น  ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง  แต่ราคาหุ้นที่ลดลงนั้นน่าจะเกิดจากการที่การ “เก็งกำไร”  ในหุ้นตัวเล็กนั้นลดลง  ความหมายของผมก็คือ  ราคาของหุ้นนั้น  โดยปกติจะมาจากสองส่วนนั่นคือ  ราคาที่เกิดจากพื้นฐานกับราคาที่เกิดจากการเก็งกำไร  ราคาที่เกิดจากพื้นฐานนั้น  คือราคาที่เกิดจากความสามารถในการทำกำไรปกติของบริษัทที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ตัวเลขกำไรตัวนี้ถ้าคูณ 18 เท่าก็จะเป็นค่าของราคาหุ้นตามพื้นฐาน  ส่วนราคาที่มาจากการเก็งกำไรนั้น  จะเป็นราคาที่นักลงทุนให้กับหุ้นโดยดูจากการคาดการณ์กำไรในอนาคต  หุ้นตัวไหนหรือกลุ่มไหนที่คนคาดหวังสูงมากว่าจะทำกำไรได้ดีมากในอนาคตก็จะได้ราคาสูงมาก  เช่น ถ้านักลงทุนคาดว่าในอนาคตกำไรจะเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้น เขาอาจจะให้ราคาบริษัทเพิ่มขึ้น 50 เท่า เป็นต้น แต่ถ้าหุ้นตัวไหนไม่มีการ “เก็งกำไร”  ราคาหุ้นก็จะมาจาก  “พื้นฐาน”  เพียงอย่างเดียว

    ดูจากค่า PE ของตลาดหุ้น MAI นั้น  เมื่อปลายปีที่แล้วค่า PE เท่ากับ 69.6 เท่า  ก็น่าจะชัดเจนว่าไม่ใช่ราคาที่เกิดจากพื้นฐานเพียงอย่างเดียวแน่นอน  เพราะถ้าคิดเป็นค่า EP ก็จะให้ผลตอบแทนคนลงทุนเพียงปีละไม่ถึง 1% ดังนั้น  หุ้นตลาด MAI จึงมีมูลค่าที่เกิดจากราคาเก็งกำไรอยู่มาก  ถ้าเราสมมุติว่าหุ้นในตลาด MAI มี “คุณค่า” เท่ากับหุ้นในตลาด SET คือควรมีค่า PE ประมาณ 18-19 เท่า  เราก็จะคำนวณได้ว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เกิดจาก  “การเก็งกำไร” นั้นเท่ากับการมีค่า PE เพิ่มขึ้นอีก 50 เท่า 69.6-19) เมื่อสิ้นปีที่แล้ว  พูดง่าย ๆ  หุ้นในตลาด MAI เมื่อสิ้นปีที่แล้วนั้น  มีราคาตามพื้นฐานเพียง 18-19 เท่าของกำไรแต่มีราคาตามการเก็งกำไรถึง 50 เท่าของกำไรที่ “คาด” ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

    ถึงวันนี้  ค่า PE ของตลาด MAI ลดลงมาเหลือ 59.8  หรือลดลงมาประมาณ 10 เท่าของกำไรและนี่ทำให้ดัชนีหุ้น MAI ลดลงมาประมาณ 16.4%  การลดลงมานี้ผมคิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานอะไรนักเพราะกำไรของหุ้น MAI ก็ไม่ได้ลดลง  ราคาหุ้นที่ลดลงนั้น  ผมคิดว่าเกิดจากการเก็งกำไรที่ลดลง  และการเก็งกำไรที่ลดลงนั้น  ผมคิดว่าเกิดจากการที่ความคาดหวังที่บริษัทจะโตขึ้นลดลง  และความคาดหวังที่ลดลงนั้นผมคิดว่าน่าจะเกิดจากสองประเด็นใหญ่ก็คือ  หนึ่ง  Story ของบริษัทหรือเรื่องราวที่สร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุนนั้นเริ่ม  “สั่นคลอน” เช่น ที่คาดว่าจะทำธุรกิจใหม่มีกำไรมหาศาล  เมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นลดลง  คาดว่าจะได้สัญญาขายไฟฟ้าทางเลือกก็ยังไม่ได้  อะไรทำนองนี้  เป็นต้น  ข้อสอง กำไรที่เคยคาดการณ์หรือหวังว่าจะทำได้จากยอดขายสินค้าเดิมที่จะ “เพิ่มขึ้นมาก” นั้น  อาจจะยังไม่มาหรือยอดขายอาจจะเพิ่มขึ้นแต่มาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำกว่าเดิมมาก  เช่น เคยขาย 100 กำไร 20 ซึ่งเป็นกำไรที่ “มโหฬาร” นั้น  เมื่อเวลาผ่านไปพบว่ากำไรแบบนั้นไม่สามารถทำต่อเนื่องได้  ในกรณีทั้งสองแบบนี้อาจจะเริ่มทำให้คนที่ซื้อหุ้นไว้เริ่มกลัวและขายหุ้นทิ้งก่อนที่  “ความจริงจะปรากฏ”  มากขึ้นเรื่อย ๆ  ราคาหุ้นตลาด MAI และหุ้นตัวเล็กหลาย ๆ ตัว จึงปรับตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ

    คำถามสำคัญก็คือ  การปรับตัวลงของหุ้น MAI นั้น  ลดลงมาพอหรือยัง?  คำตอบก็คือ  ไม่มีใครรู้!  แต่ถ้าดูจากค่า PE ที่ประมาณ 60 เท่าในวันนี้และสมมุติว่าค่า PE ที่เหมาะสมตาม  พื้นฐานควรจะประมาณไม่เกิน 20 เท่า  ราคาที่เกิดจากการเก็งกำไรก็ยังสูงถึง 40 เท่าของกำไร  หรือพูดง่าย ๆ  ถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น  ราคาปัจจุบันก็จะเท่ากับ 60 บาทต่อหุ้น  โดยเป็นราคาพื้นฐานแค่ 20 บาทและราคา “เก็งกำไร” อีก 40 บาท ก็หมายความว่าหุ้นตัวนี้หรือหุ้นกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะตกลงมา 40 บาทเหลือเพียง 20 บาทต่อหุ้นหรือเป็นการลดลงประมาณ 66% ถ้า  “การเก็งกำไรหมดไป”

    คำถามที่ตามมาก็คือ  แล้วการเก็งกำไรจะหมดไปได้อย่างไร?  คำตอบของผมก็คือ  ไม่รู้!  แต่ปัจจัยสำคัญของการเก็งกำไรก็คือ  ภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรงนั้นส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรสูง  แต่บางทีตลาดหุ้นที่ “ไม่เลวร้าย” ก็ไม่ทำลายการเก็งกำไรเท่าไรนัก  บางทีถ้าหุ้นตัวใหญ่ไม่ดี  คนก็ยังอาจจะหันมาเล่นเก็งกำไรในหุ้นตัวเล็กได้  แต่ในกรณีที่ตลาดหุ้นเกิด “แพนิก”  หุ้นตกลงมาแรงและกลายเป็นตลาดหมี  แบบนี้ก็อาจจะทำให้การเก็งกำไรหายไปได้

    บ่อยครั้ง  การเก็งกำไรในหุ้นรายตัวก็อาจจะหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไปและ Story ไม่เป็นไปตามที่คาด  หุ้นตัวนั้นอาจจะมีค่า PE 100 เท่าแต่เป็นราคาพื้นฐานเพียง 20% อีก 80% เป็นการเก็งกำไร ดังนั้น  เมื่อ  “ฝันสลาย”  ราคาหุ้นก็อาจจะตกลงมา 80% ได้

    บ่อยครั้งการเก็งกำไรนั้นมาจากการที่มี  “จ้าวมือ” ซึ่งเป็นรายใหญ่ซื้อและถือหุ้นจำนวนมากในบริษัททำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและหุ้น Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดมีน้อย  ลักษณะนี้ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมาง่าย ๆ  แม้ว่า Story หรือกำไรที่คาดหวังยังไม่เกิด  “ภาพ” ที่ถูกส่งออกมาก็คือให้นักเก็งกำไร  “รอต่อไป  เดี๋ยวก็มา” ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ลงมากนัก

    หุ้นตัวเล็กที่  “ล่มสลาย”  จริง ๆ  นั้น  มักจะเกิดจาก “ความเชื่อมั่นหมดไป” ด้วยเหตุอะไรก็ตามและมักรวมถึงการที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่เป็น  “จ้าวมือ”  ทิ้งหุ้นหมดสิ้น  ในวันนั้นก็จะกลายเป็น “หายนะ” ของหุ้นที่ราคาหรือมูลค่าลดลงมา  บางที 90% หรือมากกว่านั้น  ประวัติศาสตร์สอนเราว่า  เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นธรรมดาโลกและก็อย่าได้คิดว่ามันจะไม่เกิดกับเราถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันเป็นนิจสิน

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/17/1606

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 30, 2015, 10:54:30 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 Monday, 24 August 2015
อารมณ์ของนักลงทุน 

    สิ่งที่นักลงทุนจะต้องคิดและจัดการนั้น  นอกจากการศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์กิจการและตัวหุ้นแล้วก็คือ  “อารมณ์และความรู้สึก” ของตัวเองเวลาลงทุน  เพราะเรื่องนี้มีผลต่อความสำเร็จ  อาจจะไม่น้อยไปกว่าความสามารถในการเลือกหุ้น  ลองมาดูกันว่ามีอารมณ์ที่สำคัญอะไรบ้างที่เราจะต้อง “ควบคุมดูแล” หรือจัดการให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

    ความโลภ  นี่เป็นอารมณ์ที่สำคัญมากที่มักจะมีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างแรง  สุภาษิตโบราณของไทยบอกว่า  “โลภมากมักลาภหาย”  แต่ในการลงทุนนั้น  นอกจากลาภจะหายแล้ว  เราก็อาจจะ “หมดตัว” ได้ด้วย  ความโลภในเรื่องของการลงทุนนั้นก็คือ  เราไม่ได้ต้องการเพียงผลตอบแทนที่ “เหมาะสม” จากการลงทุนซึ่งมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย  แต่เรา  “โลภมาก”  อยากได้ผลตอบแทนที่สูงลิ่วเกินกว่าที่ตัวกิจการหรือหุ้นจะให้ได้  ดังนั้นหลาย ๆ  คนจึงใช้ “เครื่องมือขยายผล” ที่จะเพิ่มผลตอบแทน  เช่น  การเล่นหุ้นด้วยมาร์จินซึ่งก็คือการกู้เงินมาลงทุน  หรือแทนที่จะลงทุนในหุ้นปกติก็ไปเล่นวอแร้นต์ของหุ้นที่มักมีราคาต่ำและราคาขึ้นลงบางทีเป็นหลายเท่าของหุ้นตัวแม่  ผลที่เกิดขึ้นก็คือ  ความเสี่ยงของการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก  และมีโอกาสที่เราจะ “หมดตัว”  นั่นก็คือ  ถ้าหุ้นตกหนักถึงจุดหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง  เงินลงทุนของเราอาจจะกลายเป็นศูนย์ได้  ดังนั้น  ถ้าไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนจริง ๆ  แล้วละก็  เราก็อย่าไปโลภขนาดนั้น  ถ้าหุ้นมันดีจริงเราก็กำไรดีมากอยู่แล้ว  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไป “รีบรวย” เกินไป

    ความโลภนั้น  ยังทำให้เรา “ทุ่มซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหุ้นร้อนแรงมากกว่าปกติเพราะเราเห็นว่าจะทำเงินได้มาก  นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมานั่นก็คือ  คนจำนวนมากนั้น  ในช่วงที่ตลาดหุ้น “เหงา”   พวกเขาก็มักจะลงทุนในหุ้นไม่มากนัก  เงินส่วนใหญ่อาจจะถูกฝากไว้กับสถาบันการเงิน  ต่อมาหุ้นคึกคักและราคาปรับตัวขึ้นพวกเขาก็เริ่มรู้สึกดี  นักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นและราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนทำให้หุ้นคึกคักถึง  “ขีดสุด”  ในระหว่างนั้น  เม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนในหุ้นของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แต่เราก็ยังไม่พอใจ  เราคิดว่าถ้าเรานำเงินมาลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม  เราก็จะได้กำไรเพิ่มขึ้นไปอีก  เราเริ่มขอเงินหรือขอยืมเงินพ่อแม่  คู่ครอง หรือนำเงินจากแหล่งอื่นที่พอจะหาได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม เราไม่คิด  “ถอนเงิน” ที่ได้กำไรมาแล้วในช่วงที่หุ้นกำลังปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  เรานำเงินใหม่เข้าไปลงทุนทั้ง ๆ  ที่หุ้นนั้นมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ  และถ้ามองในฐานะนักลงทุนระยะยาวแล้ว  ราคาที่แพงหรือสูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนในอนาคตของการลงทุนลดลง  มันอาจจะไม่ใช่เวลาที่เราจะลงทุน  มันคือความเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียหายหนักได้และบ่อยครั้งมันก็เป็นอย่างนั้น

    ความกลัว  นี่เป็นอารมณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับความโลภ  เรากลัวการขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น  สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ  เรากลัวการขาดทุน  “หลังจากที่เราขาดทุนไปแล้ว” ทางตัวเลข  ก่อนที่หุ้นจะตกและเราขาดทุนนั้น  เราไม่ได้กลัวขาดทุน  เพราะถ้าเรากลัวเราก็คงจะไม่ซื้อตั้งแต่แรก  ตอนเราซื้อนั้น  เราไม่กลัวว่าจะขาดทุน  ตรงกันข้าม  เราคิดว่าเราจะได้กำไรเราไม่ได้คิดถึงการขาดทุน  พอหุ้นตกถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึก  “เจ็บ”  เช่น หุ้นตกไป 20%  เราจะเริ่มรู้สึกกลัว  กลัวว่ามันจะตกลงไปอีกและเราจะเสียหายหนัก  ดังนั้น  เราก็อาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้ง ๆ ที่กิจการของบริษัทอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย  ราคาหุ้นผันผวนด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่รู้แต่เราตัดสินใจขายด้วยอารมณ์ของความกลัว

    ความกลัวตลาดหุ้นตกหนัก  กลัววิกฤติตลาดหุ้น  กลัวว่าเมื่อตลาดหุ้นตกหนักหุ้นทุกตัวก็จะตกลงมาตาม  ดังนั้น  เมื่อตลาดหุ้นตกลงมาแรง  เราก็มักจะขายหุ้นทุกตัวที่ถืออยู่ทันทีเพราะเรากลัวว่าถ้าไม่รีบขายมันจะตกลงไปอีกในนาที  ชั่วโมงหรือวันต่อ ๆ  ไป  ความกลัวในเรื่องของดัชนีตลาดนั้น  ทำให้เราต้องซื้อขายหุ้นบ่อยมาก  และทำให้เรากลายเป็นคน “เล่นดัชนี” โดยไม่รู้ตัว  ไม่ใช่เป็นคนลงทุนในหุ้นเป็นรายตัวอย่างที่ควรจะเป็น  ผลก็คือ  เราไม่ได้กำไรอะไรเลยในระยะยาวเพราะค่าคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาซื้อ-ขายของหุ้นนั้น  กินผลตอบแทนที่จะได้หมด

    ถ้าเราจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้น  สิ่งสำคัญก็คือทำอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ บอก  นั่นก็คือ  “จงพยายามกลัวเมื่อคนอื่นกำลังกล้า และพยายามกล้าเมื่อคนอื่นกำลังกลัว” ดูว่าตนเองซื้อหุ้นน้อยลงไหมเวลาคนกำลังเล่นหุ้น  ซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มาก  และเราเข้าไปซื้อหุ้นอย่างคึกคักเวลาคนอื่นชะลอหรือหยุดเล่นหุ้นกันแล้วหรือไม่ ถ้าใช่ก็แปลว่าเราเริ่มสามารถควบคุมตัวเองในด้านของความโลภและความกลัวได้ดีขึ้น

    อารมณ์ดีใจ-เสียใจ เวลาหุ้นขึ้น-หุ้นตก  นี่ก็เป็นความรู้สึกธรรมดาของนักลงทุน  แต่คนที่มีประสบการณ์หรือระดับ EQ ในการลงทุนสูงก็จะสามารถควบคุมตนเองได้ดีกว่า  นั่นก็คือ  เวลากำไรก็จะไม่ดีใจจนเกินไป  เช่นเดียวกัน  เวลาขาดทุนก็จะไม่ “ฟูมฟาย”  หรือเศร้าเสียใจมากนัก  พวกเขาจะดูว่ามันมีเรื่องของความ “ผันผวน” อยู่ในราคาหุ้นอยู่มากโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ  ดังนั้น  หุ้นขึ้นหรือหุ้นลงวันต่อวันหรือเดือนต่อเดือนนั้น  อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้อง  ในระยะเวลาสั้น ๆ  นั้น  ราคาหุ้นอาจจะขึ้นหรือลงได้โดยที่ไม่ได้อิงอยู่กับผลประกอบการหรือความเข้มแข็งหรือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก็ได้  ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจมากจนเกินไป  รอดูไปจนถึงสิ้นปีแล้วค่อยประเมินดูว่าเราควรจะดีใจหรือเสียใจโดยดูว่าหุ้นขึ้นหรือหุ้นลงไปเท่าใด  นอกจากนั้น  เราก็ควรจะต้องประเมินด้วยว่าหุ้นที่ขึ้นหรือลงนั้นสอดคล้องกับตัวกิจการหรือบริษัทหรือไม่

   ถ้าหุ้นขึ้นและบริษัทดีขึ้น  นี่คือสิ่งที่เราควรจะยินดี  ถ้าหุ้นขึ้นแต่ที่จริงบริษัทไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง  เราก็ควรจะ “ดีใจ” ที่เรา  “โชคดี”  แต่ถ้าหุ้นลงและบริษัทก็แย่ลงแบบนี้เราก็ควรจะเสียใจที่เราคาดการณ์ผิด  และในกรณีสุดท้าย  ถ้าหุ้นตกลงมาแต่กิจการของบริษัทกลับดีขึ้น  แบบนี้เราก็ไม่ควรที่จะเสียใจ  เพราะไม่ช้าก็เร็วหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นได้  พูดโดยสรุปก็คือ  หุ้นขึ้นลงในช่วงเวลาสั้น ๆ  นั้น  ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจอะไรมากมายเพราะมันอาจจะเปลี่ยนไปได้อีกมากระหว่างที่ยังไม่ “สิ้นปี” หรือยาวพอ  การ “วางเฉย” ต่ออารมณ์ดีใจหรือเสียใจนั้น  จะช่วยให้เราไม่ตัดสินใจอะไรอย่างรวดเร็วและไม่รอบคอบ  การตัดสินใจเวลาเราดีใจหรือเวลาเราเสียใจนั้น  ผมคิดว่าจะทำให้เรามีความลำเอียงและอาจไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ดี เช่น ทำให้เราซื้อหรือขายหุ้น  “ผิดเวลา”

   ความรู้สึกเหมือนถูก  “ทรมาน”  นั้น  นักลงทุนก็มักจะพบเจออยู่บ่อย ๆ   บางครั้งบางช่วงเวลานั้น  ตลาดหุ้นขึ้นเอา ๆ  แต่หุ้นที่เราถืออยู่กลับนิ่งหรือตกลงมาอีกต่างหาก  เราได้แต่มองและรู้สึก “ทรมานใจ”  จนในบางครั้งเราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเพื่อที่จะไปซื้อหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  เพราะ  ความ “อดทน” ของเราอาจจะมีจำกัด  นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่เรียกว่า  “สนามหญ้าของเพื่อนบ้านเขียวกว่าเสมอ” นักลงทุนที่ “ทนทรมาน” ได้น้อยก็จะมีแนวโน้มที่จะรอหุ้นให้ขึ้นตามพื้นฐานไม่ไหวและขายหุ้นเร็วเกินไปอยู่เรื่อย ๆ  เช่นเดียวกัน  บางช่วงเวลา  อาจจะเป็นปี ๆ ตลาดหุ้นเอาแต่ปรับตัวลงอยู่เรื่อย ๆ  พอร์ตหุ้นที่เราถืออยู่โดยรวมก็ไม่ไปไหนหรือปรับตัวลดลงเป็นระยะ ๆ  เรารู้สึก “ทรมานใจ” และถ้าทนไม่ไหว  เราก็อาจจะตัดสินใจทำอะไรที่ไม่เหมาะสม  เช่น  ขายหุ้นที่ดีมีคุณค่าทิ้ง เป็นต้น

   ความรู้สึก  “กังวล” นอนไม่หลับ  กลัวว่าบางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้นแล้วกระทบกับการลงทุนของเราอย่างแรง เช่นกลัวว่าตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติหรือกลัวว่าหุ้นที่เราถืออยู่นั้นอาจจะถูกผลกระทบที่รุนแรงที่เรา  “กลัว”  อยู่  นี่ทำให้เรากังวลทั้ง ๆ  ที่โอกาสจะเกิดขึ้นอาจจะน้อย  ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องพิจารณาวิเคราะห์  “Scenario”  หรือภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหลาย ๆ  ภาพแล้วดูว่าผลจะเป็นอย่างไรโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาพเลวร้ายที่สุด  เสร็จแล้วก็ตัดสินใจทำสิ่งที่จะช่วยลดความกังวลนั้นให้เหลือน้อยลงจนยอมรับได้  หลังจากนั้นก็  “เลิกกังวล” เพราะเราจะไม่มีวัน “เจ๊ง” จากการลงทุนอย่างแน่นอนถ้าเราวิเคราะห์ “ความเสี่ยง” อย่างดีแล้ว


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/24/1608
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ สิงหาคม 31, 2015, 12:46:05 pm
 

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 31 August 2015
ปัจจัยด้านต้นทุน 


    นักธุรกิจและนักลงทุนไทยนั้น  ดูเหมือนจะไม่ใคร่ให้ความสำคัญกับการ “ลดต้นทุน” ของการผลิตมากเท่ากับการ “เพิ่มรายได้”  โดยการขยายธุรกิจหรือการเพิ่มยอดขาย  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะการลดต้นทุนนั้น  มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของการมองย้อนหลังหรืออยู่กับที่  เป็นการมองด้านลบ  เป็นเรื่องของงาน “หลังบ้าน” ที่คนทำไม่ได้เครดิตหรือหน้าตาแต่มักจะถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมงานที่บ่อยครั้งต้องถูกลดผลตอบแทนหรือรายได้หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่าง ๆ  ที่เคยได้รับ  ดังนั้น  เวลาที่บริษัทอยากที่จะทำกำไรเพิ่มหรือรักษากำไรไว้ให้ได้  กลยุทธ์หลักจึงมักจะเน้นไปที่การเพิ่มรายได้แทนที่จะลดรายจ่ายหรือต้นทุนของสินค้าหรือบริการ   แต่นั่นคือกลยุทธ์ในอดีตที่อาจจะเหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดีมีโอกาสที่จะขายสินค้าเพิ่มได้ง่าย   ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยลงและการเติบโตเร็ว ๆ  อาจจะเกิดยากขึ้นเรื่อย ๆ  กลยุทธ์การทำกำไรของธุรกิจในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนไป   การ “ลดต้นทุน”  อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ    “ปัจจัยด้านต้นทุน” อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดผลประกอบการของบริษัทในช่วงเร็ว ๆ  นี้  หรือพูดง่าย ๆ ในมุมของนักลงทุนก็คือ  หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีอาจจะมาจากการที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มาก  ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทเน้นโตเร็วอย่างที่ผ่านมา

   ต้นทุนหลัก 3 ด้านของธุรกิจเกือบทุกประเภทก็คือ  ต้นทุนทางด้านแรงงาน  ต้นทุนด้านวัตถุดิบ  และต้นทุนทางด้านการเงินหรือต้นทุนของการลงทุน   มองจาก “ภาพใหญ่” โดยทั่ว ๆ  ไปแล้ว  ก็เป็นเรื่องที่ “โชคดี” ที่ว่าดูเหมือนบริษัทส่วนใหญ่น่าจะมีต้นทุนที่ลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นเพราะ  ข้อแรก  ค่าแรงงานของไทยในช่วงนี้คงไม่ใคร่เพิ่มขึ้นมากนักเปรียบเทียบกับในอดีต   เรื่องของวัตถุดิบเองนั้น  ดูเหมือนว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบของสินค้าต่าง ๆ  มีราคาลดลงมากเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์การเกษตร  ในส่วนของต้นทุนการเงินนั้น  ดอกเบี้ยก็ลดลงอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์  ดังนั้น  ธุรกิจที่มีต้นทุนเหล่านี้ในสัดส่วนที่สูงก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่สามารถขายสินค้าในราคาเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับราคาเดิมได้  ตัวอย่างเช่นกิจการที่ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อรายย่อยหรือผู้บริโภค  ตัวอย่างเช่น  ราคาอาหารสำเร็จรูปนั้นไม่ได้ลดลงในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และวัตถุดิบในการปรุงอาหารลดลง  เช่นเดียวกัน  ราคาค่าโดยสารแท็กซี่ก็ไม่ได้ลดแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงมาเป็นต้น

    ลองมาดูว่าบริษัทหรืออุตสาหกรรมไหนจะได้ประโยชน์มากน้อยเท่าไรจากการที่ราคาของปัจจัยการผลิตทั้งสามด้านลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ   ประเด็นแรกก็คือเรื่องแรงงาน  บริษัทที่ใช้คนจำนวนมากในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ  มีต้นทุนค่าแรงงานสูง  การที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นน้อยนั้นคงไม่ถึงกับทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดลงแต่ก็จะทำให้มันไม่ใคร่เพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นมาในอดีต  นอกจากนั้น  ในกรณีที่เป็นพนักงานในระดับที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง  การลดการใช้โอเวอร์ไทม์หรือการใช้เครื่องจักรมาแทนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็สามารถที่จะลดต้นทุนทางด้านแรงงานได้

    ในระยะยาวแล้ว  การเพิ่มประสิทธิภาพของคนงานและลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแรงงานอย่าง “ถาวร” มักจะขึ้นอยู่กับการ “ปรับกระบวนการทำงาน” โดยการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านไอทีเข้ามาช่วย  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตที่เด่นชัดก็เช่นในเรื่องของธุรกิจค้าปลีกที่มีการนำบาร์โค้ดมาใช้ในการคิดเงินค่าสินค้าและการใช้ระบบเอทีเอ็มในระบบธนาคารพาณิชย์เป็นต้น  ในส่วนของการผลิตทางอุตสาหกรรมเองนั้นก็มีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคนในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม  ในส่วนนี้ถ้าหากเป็นการผลิตสินค้าเพื่อขายให้กับผู้ซื้อรายใหญ่  บริษัทก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนักเพราะราคาขายก็จะลดลงเนื่องจากคู่แข่งก็มักจะใช้หุ่นยนต์เหมือนกันทำให้ต้องลดราคาเพื่อให้แข่งขันได้  ดังนั้น  บริษัทที่จะได้ประโยชน์จริง ๆ  จะต้องเป็นบริษัทที่สามารถทำได้อยู่รายเดียวหรือน้อยรายในขณะที่คู่แข่งไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยเหตุผลบางอย่างเช่น  คู่แข่งเป็นรายเล็กที่ไม่คุ้มที่จะใช้ระบบอัตโนมัติเหล่านั้น เป็นต้น

    ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นโภคภัณฑ์นั้น  ราคาที่ลดลงซึ่งทำให้ต้นทุนลดลงนั้นมักจะเป็นเรื่องชั่วคราวแม้ว่าอาจจะเป็นหลายปี  ซึ่งนั่นก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ใช้วัตถุดิบเหล่านั้น  ตัวอย่างของบริษัทที่ได้ประโยชน์มากเช่น กิจการที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมัน เช่น บริษัทที่ทำเกี่ยวกับโลจิสติคขนส่งสินค้าจำนวนมากซึ่งน่าจะรวมถึงผู้ค้าปลีกที่ขายสินค้าประจำวัน  การบิน  การขนส่งทางเรือ  และรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในกระบวนการผลิตเช่น  ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์การเกษตรเช่น น้ำมันพืช ข้าว เนื้อสัตว์ เหล่านี้ ก็คงเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ขายอาหาร หรือถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อย่างยางพาราก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยางในการผลิตชิ้นส่วนยาง เป็นต้น

    ในระยะยาวแล้ว  การลดต้นทุนวัตถุดิบนั้น  ขึ้นอยู่กับกระบวนการการผลิตที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าแต่สามารถทดแทนกันได้เช่น  การใช้ถ่านหินแทนน้ำมันหรือก๊าซในการให้ความร้อนในกระบวนการผลิตสินค้า  การใช้วัสดุชีวมวลที่มีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้า “พลังงานทดแทน” ขายให้แก่การไฟฟ้าเป็นต้น

    สุดท้ายก็คือเรื่องของต้นทุนเงินทุนที่ลดลง  นี่ก็เป็นเรื่องของบริษัทที่มีเงินกู้สูงมากและเป็นต้นทุนที่สูงของกิจการ  การที่ดอกเบี้ยลดลงในรอบนี้และดูเหมือนว่าจะยังต่ำอยู่ยาวนานพอสมควร  นี่ก็จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนที่ลดลงโดยที่รายได้จากการขายสินค้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น  พูดง่าย ๆ  ว่าได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย  บริษัทที่มีหนี้มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินและรายได้นั้น  ส่วนมากก็จะเป็นบริษัทที่ต้องลงทุนในโรงงานและ/หรืออุปกรณ์ที่มีราคาสูงเรียกว่าเป็นธุรกิจ Capital Intensive และกระแสเงินสดของกิจการไม่ดีนัก  เช่น เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก และปิโตรเคมี เป็นต้น

   บริษัทที่มี “หนี้” มากนั้น  ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจดังกล่าว  ว่าที่จริง  สถาบันการเงินต่าง ๆ  นั้น  ต่างก็มีหนี้มากทั้งนั้น  ดังนั้น  ต้นทุนในการกู้ยืมจึงลดลง  ประเด็นอยู่ที่ว่ารายได้หรือเงินที่ปล่อยกู้ให้ลูกค้าลดลงด้วยหรือไม่  ในกรณีของธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจทั่วไปนั้นรายได้ก็ลดลงตามดอกเบี้ยที่ลดลงด้วย  จึงไม่ได้ประโยชน์  แต่ธนาคารหรือบริษัทลีสซิ่งที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยตายตัวรายได้จะไม่ลดลงก็จะได้ประโยชน์

   กล่าวโดยสรุปก็คือ  หุ้นหรือบริษัทที่มีต้นทุนลดลงอย่างมีนัยยะเนื่องจากบริษัทอาจจะมีต้นทุนด้านบุคลากรสูง  และ/หรือ มีต้นทุนด้านพลังงานสูง  และ/หรือมีต้นทุนทางด้านการเงินสูง ก็จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจในรอบนี้  ยิ่งมีปัจจัยต้นทุนสูงและหลายด้านก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น  นอกจากนั้น  ถ้าพิจารณาว่าเศรษฐกิจไทยเองอาจจะไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะโตเร็วมากอีกต่อไปแล้ว  บริษัทที่เน้นกลยุทธ์ในเรื่องของการลดต้นทุนในทุก ๆ ด้านดังกล่าวก็น่าจะเป็นบริษัทที่มีผลงานทำกำไรที่ดีกว่าบริษัทที่เน้นแต่กลยุทธ์การเติบโตเพียงอย่างเดียวและดังนั้นก็น่าจะมี Value หรือคุณค่ามากขึ้น  นั่นก็คือ  มันควรมีค่า PE ที่สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน 


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/08/31/1614

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 01, 2015, 05:41:29 pm

 รู้จัก “ฟิลลิป ฟิชเชอร์”/ประภาคาร ภราดรภิบาล

    “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นการเติบโต” และเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นครูที่สุดยอดนักลงทุนแห่งยุคอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ให้การยอมรับนับถือ

    “ฟิชเชอร์” เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากนั้นเขาได้ก่อตั้งบริษัท Fisher & Company ที่ซานฟรานซิสโกในเดือนมกราคม 1931 ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่ฤกษ์งามยามดีสักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นช่วงที่เพิ่งเกิดสภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression ปี 1929) แต่กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ถูกต้อง หลังจากผ่านพ้น 2 ปีแห่งความเลวร้ายของตลาดหุ้น นักลงทุนจำนวนมากรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจโบรกเกอร์ที่พวกเขาเคยใช้บริการ และหันมารับฟังมุมมองใหม่ๆ ในการลงทุนจากคนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง “ฟิชเชอร์” ประกอบกับช่วงเวลานั้นธุรกิจกำลังถดถอย จึงเป็นช่วงเวลาที่บรรดาผู้บริหารบริษัทมีเวลาว่างอย่างเหลือเฟือ “ฟิชเชอร์” เล่าว่า ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติ เขาคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบและพูดคุยได้ง่ายๆ เช่นนั้นเป็นแน่

    Fisher & Company ค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 1935 ธุรกิจก็ติดลมบน และมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น

    “ฟิชเชอร์” มีความเชื่อมั่นในการลงทุนแบบเน้นการเติบโตเป็นอย่างมาก เขายังเคยเขียนเสียดสีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าไว้ว่า “การใช้ข้อมูลทางบัญชีและสถิติ ซึ่งคนทั่วไปมองว่าเป็นเหมือนหัวใจของความสำเร็จในการลงทุน ถ้าใช้ความพยายามมากพอ อาจจะทำให้ค้นพบหุ้นราคาถูก ซึ่งหุ้นบางตัวอาจมีราคาถูกจริง แต่ในบางกรณีมันอาจเป็นธุรกิจที่กำลังจะย่ำแย่หนัก ไม่เพียงเท่านั้น การวินิจฉัยจากข้อมูลทางสถิติล้วนๆ อาจทำให้เห็นว่าหุ้นมีราคาถูก ทั้งๆ ที่ราคาซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกในวันนี้ อาจเป็นราคาที่สูงมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็เป็นได้”

   นอกจากนี้ “ฟิชเชอร์” ยังมั่นใจว่าการลงทุนแบบเน้นการเติบโต ซึ่งก็คือ การซื้อหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งและน่าสนใจนั้น เป็นวิธีการลงทุนที่ฉลาดกว่า เขาเขียนไว้ว่า “ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา การค้นหากิจการที่มีความโดดเด่นจริงๆ และถือมันผ่านความผันผวนของวัฏจักรของตลาด ได้พิสูจน์ว่า สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าการพยายามซื้อหุ้นในราคาถูกแล้วขายในราคาแพง”

    “ฟิชเชอร์” ให้คำจำกัดความของบริษัทที่มีความโดดเด่นว่า “เป็นบริษัทที่มียอดขายและกำไรเติบโตเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี” การลงทุนแบบเน้นการเติบโตตามแบบของ “ฟิชเชอร์” มีเป้าหมายหลักคือบริษัทขนาดใหญ่ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ และใช้กลยุทธ์ซื้อแล้วถือระยะยาว ในขณะที่นักลงทุนแบบเน้นการเติบโตส่วนใหญ่ซื้อขายค่อนข้างถี่ แม้จะมีเป้าหมายเป็นบริษัทขนาดใหญ่เช่นเดียวกับ “ฟิชเชอร์” แต่ต่างกันตรงที่พวกเขาไม่ชอบการถือหุ้นระยะยาว

    สำหรับ “ฟิชเชอร์” แล้ว การลงทุนระยะยาวในบริษัทที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นนั้น ก็เพื่อให้เงินลงทุนของเขาเติบโตไปในระยะยาวพร้อมๆ กับการเติบโตของบริษัทนั่นเอง

    นี่ก็คือ กลยุทธ์การลงทุนของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” นักลงทุนระดับตำนานอีกผู้หนึ่งในโลกของการลงทุน

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 09, 2015, 05:24:33 am

... มองตลาดหุ้นขาลง ให้เป็นโอกาส
... ตลาดหุ้นขาลงไม่ได้ฆ่าใคร แต่กลับเป็นโอกาสในการซื้อหุ้น
... ถ้าผู้คนเริ่มวิ่งหนีออกจากหุ้นดี ๆ จงเตรียมพร้อมที่จะลุยไปกับหุ้น
... จงมองหาบริษัทที่มีคุณภาพที่กำลัง “ลดราคา”
... สำหรับคุณภาพ นั่นหมายถึง พื้นฐานที่รองรับธุรกิจและคุณภาพของทีมบริหาร

“นักลงทุนจะไม่ขาดทุนเมื่อตลาดปรับตัวลง จะมีก็เพียงนักเก็งกำไรเท่านั้นที่ขาดทุน”

(http://www.uppic.org/image-A3D6_55EF5EA1.jpg)

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 24, 2015, 01:10:30 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 7 September 2015
Good Company in Bad Industry
 


    การเลือกหุ้นลงทุนนั้น  สิ่งแรกที่เราควรจะต้องวิเคราะห์ก็คือเรื่องของ “ภาพใหญ่”  หรือเรื่องของเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครองสังคมและกฎระเบียบต่าง ๆ  ของรัฐที่ใช้ในการควบคุมตัวธุรกิจในภาพรวม  ต่อมาก็คือ “ภาพกลาง” ซึ่งก็คือเรื่องของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจว่าโครงสร้างและการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นเป็นอย่างไรหรืออาจจะพูดแบบง่าย ๆ  ธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยปัจจัยอะไรบ้าง   และสุดท้ายถึงจะวิเคราะห์ว่าตัวบริษัทเป็นอย่างไร  โดดเด่นแค่ไหน  ราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร  นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์แบบ “Top Down” ที่เป็นการวิเคราะห์แบบ  “มาตรฐาน”  ตามตำรา  แต่ VI จำนวนมากรวมถึงคนดังระดับโลกหลายคนเช่น ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเขาไม่สนใจภาพใหญ่โดยเฉพาะทางด้านของเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม  สิ่งที่เขาสนใจก็คือบริษัทที่เขาจะลงทุนเท่านั้น  บางคนเรียกการวิเคราะห์แนวนี้ว่าเป็น  “Bottom Up” ความหมายคงเป็นว่าเขาจะเน้นดูที่ตัวบริษัทเป็นหลัก  คือวิเคราะห์ดูเฉพาะตัวหุ้นที่เขาสนใจโดยไม่ดูว่าอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในสภาวะดีหรือร้าย  ว่าที่จริง  ปีเตอร์ ลินช์บอกว่า  หุ้นที่ “ดีมาก ๆ” กลุ่มหนึ่งก็คือ  “Good Company in Bad Industry”  เหตุผลก็คือ  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ “เลวร้าย” หรือกำลังตกต่ำนั้น  การแข่งขันมีน้อย  หลาย ๆ  บริษัทต้องถอนตัวออกไปหรือ  “เจ๊ง”  ทำให้บริษัทที่ดีนั้นกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและทำกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตัวอย่างในสหรัฐก็คือเรื่องของธุรกิจพรมปูพื้น เป็นต้น   

   ส่วนตัวผมเองนั้น  ผมชอบดูทั้งแบบ Top Down และ Bottom Up  หรือพูดง่าย ๆ  ดูทั้งสองด้าน  ผมคิดว่าปัจจัยของภาพใหญ่นั้น  มีส่วนสำคัญสำหรับการลงทุนไม่น้อยไปกว่าภาพเล็ก  ความคิดผมก็คือ  VI ระดับเซียนหรือตำนานนั้น  ส่วนมากอยู่และลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้วมานานแต่ที่สำคัญก็คือ  เป็นประเทศที่  “ภาพใหญ่”  นั้นดีต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบหรือเป็นร้อยปีมาแล้ว  จะมีก็แต่ช่วงสั้น ๆ  ที่ภาพใหญ่แย่เช่นช่วงสงครามโลกหรือสงครามใหญ่อย่างเช่นสงครามเวียตนามหรือเกาหลีที่กระทบภาพใหญ่โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในบางช่วง  แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ  ระบบโครงสร้างการปกครอง สังคมและกฎหมายของอเมริกานั้นไม่ใคร่มีปัญหาและดีขึ้นตลอดเช่นเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ดังนั้น  แม้ในบางช่วงที่ภาพใหญ่แย่  แต่ถ้าคุณลงทุนในหุ้นที่ดี  ผลลัพธ์ก็มักจะออกมาดีเสมอจนคุณไม่ต้องสนใจเรื่องภาพใหญ่หรือเศรษฐกิจเลย  แต่ในสังคมหรือตลาดหุ้นอื่นที่ภาพใหญ่ไม่ดี  ผมคิดว่าการลงทุนโดยมองแต่ภาพเล็กนั้นค่อนข้างอันตราย  ในตลาดหุ้นอย่างญี่ปุ่นหรือในยุโรปหลาย ๆ ประเทศ  หรือในลาตินอเมริกา  ที่เศรษฐกิจตกต่ำมานาน  การลงทุนแบบมองแต่ตัวหุ้นนั้นคงทำกำไรได้ยาก

    สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของการลงทุนที่มองเฉพาะภาพกลางกับภาพเล็กนั่นก็คือ  ระหว่างบริษัทกับภาพของอุตสาหกรรมและเป็นการมองในระดับโครงสร้างมากกว่าสถานการณ์หรือภาวะของอุตสาหกรรม   แนวความคิดพื้นฐานของผมก็คือ  อุตสาหกรรมหรือที่ถูกต้องก็คือธุรกิจนั้น  มีคำว่า  “ธุรกิจที่แย่”  หรือ  “ธุรกิจที่ดี”  ธุรกิจที่แย่นั้นในนิยามของผมก็คือธุรกิจที่โดยรวมแล้วทำผลกำไรหรือผลตอบแทนเทียบกับเงินลงทุนต่ำ  ยิ่งต่ำมากก็ยิ่งแย่  โดยที่ธุรกิจที่แย่นั้นมักจะขายสินค้าที่มีการแข่งขันสูงโดยลักษณะของธุรกิจ  และการที่มีการแข่งขันสูงนั้นเนื่องจากคนซื้อมีอำนาจการต่อรองสูงเพราะคนขายนั้นพร้อมที่จะเข้ามาเสนอขายตลอดเวลาถ้าการขายนั้นยังมี “กำไร” ที่คุ้มกับ  “ต้นทุน” การผลิตสินค้าแม้ว่าอาจจะไม่สามารถชดเชยต้นทุนทั้งหมดซึ่งรวมถึงต้นทุนที่  “คงที่”  เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร์เป็นต้น

    ถ้ามองอย่างหยาบ ๆ  ธุรกิจที่ “แย่มาก” นั้น  น่าจะเริ่มจากธุรกิจที่ขายสินค้าที่แข่งขันกันด้วยราคาเป็นหลักและสินค้านั้นมีตลาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ   เช่นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งออกตลาดโลกและเป็นสินค้าที่ประเทศไทยเสียเปรียบทางด้านต้นทุนเนื่องจากเหตุผลทางด้านค่าแรงงานและภาษีอาทิเช่น  สิ่งทอ หรืออาจจะรวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีบางอย่าง  ในกรณีแบบนี้  ก็เป็นเรื่องที่ยากมากที่บริษัทจะยังดีอยู่ได้แม้ว่าบริษัทนั้นจะเป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรม  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือผลิตภัณฑ์สิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เป็น “บริษัทสิ่งทอที่ดีเยี่ยม” ของบัฟเฟตต์แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงเนื่องจากมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่ “แย่มาก” เกินกว่าที่จะรับไหว  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมคิดว่าเรามีบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่มากไม่น้อย  ซึ่งสำหรับผมแล้ว  ผมก็มักจะ “ขอบาย”  หรือไม่ขอเกี่ยวข้องสนใจลงทุนแม้ว่าบางบริษัทอาจจะ “ดีเยี่ยม”

    ธุรกิจที่ “แย่” แต่อาจจะไม่มากนั้น  ผมนิยามคร่าว ๆ  ว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผู้ซื้อไม่ได้มองที่ราคาสินค้าเป็นหลักแต่ดูคุณภาพด้วย  แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็มักจะมีความแตกต่างกันน้อยในแต่ละยี่ห้อของสินค้า    นอกจากนั้น  ผู้ขายเองก็ไม่ขายในราคาที่ต่ำจนไม่มีกำไรหรือไม่มีมาร์จิน  ว่าที่จริงในบางผลิตภัณฑ์นั้น  ส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนแปรผันหรือต้นทุนโดยตรงของการผลิตอาจจะสูงด้วยซ้ำ  แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็นธุรกิจแย่ก็เพราะว่ามีคนขายหรือผู้ให้บริการเข้ามาเสนอสินค้าได้อย่างแทบไม่จำกัด  และผู้เล่นรายใหม่นั้นต่างก็สามารถเสนอสินค้าได้ในราคาและคุณภาพที่ไม่ต่างจากคนที่ขายอยู่มากนัก  ผลก็คือ  มีการแข่งขันที่สูงมากตลอดเวลาในอุตสาหกรรมซึ่งทำให้คนที่ “ไม่เก่ง” นั้น  บ่อยครั้งก็อยู่ไม่รอด  แต่ก็จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแทนที่ตลอดเวลา  ดังนั้น  การทำกำไรสูง ๆ ในอุตสาหกรรมโดยรวมก็ทำไม่ได้  อย่างไรก็ตาม  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่แบบนี้ก็อาจจะมี “บริษัทที่ดี” หรือดีเยี่ยมสามารถทำกำไรได้สูงหรือสูงมาก  บางทีต่อเนื่องยาวนานเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ได้  เพราะสามารถทำ “โมเดลธุรกิจ” ที่ทำให้ตนเอง “ได้เปรียบอย่างถาวร”  ในการแข่งขันกับคู่แข่ง

    ตัวอย่างของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่แย่นั้น  น่าจะรวมถึงธุรกิจขายอาหารภัตตาคารที่มีผู้เล่นมากมายและแข่งขันกันได้หมด  อย่างไรก็ตาม  บริษัทที่ดีหรือดีเยี่ยมอย่างในอเมริกา เช่น หุ้นแมคโดนัลหรือเคเอฟซีนั้น  ก็เป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมที่สามารถทำกำไรได้มโหฬารและถือว่าเป็นซุปเปอร์สต็อกได้  ธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่เพราะมีร้านเฟอร์นิเจอร์มากมายที่เปิดขายและสามารถแข่งขันได้พอ ๆ  กันหมด  แต่บัฟเฟตต์ก็มีหุ้นเนบราสกาเฟอร์นิเจอร์มาร์ทและอีกหลายบริษัท  เช่นเดียวกัน ธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนป้อนให้อุตสาหกรรมก็น่าจะถือว่าเป็นธุรกิจที่แย่  แต่บัฟเฟตต์ก็เพิ่งลงทุนซื้อหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดของเขาในบริษัท Precision Castparts     ใช้เงินถึง 37.2 พันล้านล้านเหรียญ เนื่องจากนี่คือบริษัทที่ดีเยี่ยมในอุตสาหกรรมแย่นี้เพราะมันผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินที่บริษัทอื่นยากที่จะเข้ามาแข่งขันได้

    ธุรกิจที่แย่มากแต่ก็อาจจะมีบางบริษัททำได้ดีในต่างประเทศเช่น การบินที่แทบทุกบริษัทไม่มีกำไรหรือขาดทุนแต่หุ้นเซ้าท์เวสต์แอร์ไลน์  สายการบินแบบโลว์คอสท์สายแรก ๆ ของโลกทำกำไรได้ดี  อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น  สายการบินโลว์คอสท์ก็มีเพิ่มขึ้นมากและการทำกำไรในธุรกิจแย่นี้ก็ยังลำบากอยู่มาก  ดังนั้น  ถ้าเราพบว่าหุ้นที่เราลงทุนเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดี  มีการบริหารที่ดี  แต่อยู่ในธุรกิจที่แย่  เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทมีปัจจัยอะไรที่ทำให้มันสามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยมและปัจจัยนั้นน่าจะอยู่นานแค่ไหน  ถ้าตรวจสอบดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่คงทนและคู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้มันก็เป็นหุ้นที่เราจะถือยาวและให้คุณค่าหรือให้ค่า PE สูงขึ้นได้บ้าง    แต่ถ้าดูแล้วพบว่ามันเป็นปัจจัยที่บริษัทได้เปรียบชั่วคราวและไม่ช้านานคู่แข่งก็จะเข้ามาเลียนแบบได้  แบบนี้เราก็ต้องระวังและไม่ให้มูลค่าหรือให้ค่า PE ที่สูงเกินไป  เพราะในไม่ช้า  ความได้เปรียบก็จะหายไปและบริษัทก็จะไม่สามารถรักษากำไรที่ดีนั้นไว้ได้เพราะมันอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่  ตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่มีลักษณะนี้ในตลาดหุ้นไทยนั้นก็คือ  ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายที่มีผู้เล่นมากมายแต่หา “ผู้ชนะ” ที่ถาวรยาก  เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ผมคิดว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ดีหรืออาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แย่ด้วยซ้ำเนื่องจากการแข่งขันที่มากแต่ก็มีบริษัทที่ดีที่ทำกำไรได้ดี  เพียงแต่ผมคิดว่าปัจจัยการแข่งขันนั้นไม่ได้มีความได้เปรียบอะไรที่ถาวรที่จะทำให้มันสามารถมีค่า PE ที่สูงมาก ๆ  ได้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/07/1617
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 24, 2015, 01:13:26 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 14 September 2015
สั้น VS ยาว

    ผมอยู่ในตลาดหุ้นมานานและสังเกตเห็นว่า   สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะแยกแนวทางการลงทุนระหว่างนักลงทุนกลุ่มหนึ่งกับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งออกจากกันได้เด่นชัดที่สุดนั้น  ไม่ใช่การเป็น  “นักลงทุนหรือนักเก็งกำไร”  หรือไม่ใช่  “นักเทคนิคหรือเป็น VI”  หรือไม่ใช่  “นักเล่นหุ้นเติบโตหรือเล่นหุ้นถูก”  เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่นั้นต่างก็มีความเป็นนักเก็งกำไรและนักลงทุนอยู่ในตัว   ไม่รู้จะแยกยังไง  บางคนเป็น VI แต่ก็ดูกราฟด้วยหรือดูบ้าง  นักเทคนิคที่ผมรู้จักจำนวนมากนั้น  ต่างก็ดูพื้นฐานด้วยไม่ใช่มองแต่กราฟ  เช่นเดียวกัน  ผมแทบจะไม่เคยเห็นคนที่เล่นแต่ Growth โดยไม่สนใจหุ้นที่ถูกมากเลย

   สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สามารถที่จะแยกนักลงทุนออกจากกันได้ชัดที่สุดนั้นน่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนหรือมุมมองต่อเรื่องของระยะเวลาในการถือครองหุ้นหรือพูดง่าย ๆ  คุณเป็นคน  “เล่นสั้นหรือเล่นยาว”  เหตุที่ผมใช้คำว่า  “มุมมอง” นั้น  เป็นเพราะว่านี่คือ  “ฐานทางความคิด” ของการลงทุนในการพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกหุ้น  ถือหุ้น  ขายหุ้น  และเรื่องอื่น ๆ  อีกมาก  ถ้าจะหาชีวิตนักลงทุนเอกของโลกมาเปรียบเทียบที่ดี  เราก็คงจะเห็นได้ชัดเจนว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นคนที่  “เล่นยาว”  สุดโต่ง  ในอีกด้านหนึ่ง  จอร์จ โซรอส น่าจะเป็นตัวแทนของคนที่  “เล่นสั้น”  และสองคนนี้ผมคิดว่ามีมุมมองต่อเรื่องของการลงทุนคนละด้านอย่างเห็นได้ชัดทั้งเวลาซื้อ  เวลาถือครอง และเวลาขาย  รวมถึงเรื่องของความเสี่ยงและประเด็นอื่น ๆ แต่ทั้งสองต่างก็ประสบความสำเร็จพอ ๆ กัน   แน่นอนว่าบางครั้งบัฟเฟตต์ก็ถือหุ้นสั้นบ้างเช่นเดียวกับที่โซรอสเองก็น่าจะเคยถือหุ้นยาวแต่นั่นมักเป็นข้อยกเว้นหรือเป็นรายการย่อยไม่ใช่รายการหลัก  หุ้นหรือหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ของคนที่ “เล่นยาว” นั้นต้องถือยาว  ส่วนคนที่ “เล่นสั้น” นั้น  ต้องถือสั้น  ไม่ว่าเจ้าตัวจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนที่ลงทุนแนวไหน

   ในความคิดของผมแล้ว  คนที่ตั้งใจถือหุ้นไม่เกินประมาณ 1 ปี ก็ต้องถือว่าเป็นคน  “เล่นสั้น” แม้ว่าเจ้าตัวจะบอกว่าตนเองเป็นคนลงทุนระยะยาว  คนที่ตั้งใจถือหุ้นยาวกว่านั้นโดยเฉพาะที่ไม่ได้ตั้งเป้าเวลาที่จะขายเลยนั้นก็อาจจะถือว่าเป็นคนที่  “เล่นยาว”  มองจากเกณฑ์นี้แล้วผมคิดว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่  รวมถึงสถาบันลงทุน เช่น บลจ. ทั้งหลายที่บริหารเงินให้กับคนอื่น  ก็น่าจะถือว่าเป็นคนที่ “เล่นสั้น”  คนที่ “เล่นยาว” นั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มของ VI ที่อายุมากหน่อยหรือไม่ก็เป็นสถาบันลงทุนที่เน้นระยะยาวเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  กองทุนรวมระยะยาว LTF หรือ RMF กองทุนของบริษัทประกันภัยหรือประกันชีวิต  และกองทุนของบริษัทหรือกงสีที่ไม่เน้นที่จะต้องโชว์ผลงานการลงทุนให้กับใครมากนักและสามารถถือหุ้นได้โดยไม่ต้องพะวงกับการถูก “ถอน” การลงทุน

   ความแตกต่างของมุมมองระหว่างนักลงทุนที่ถือสั้นกับถือยาวนั้นผมคิดว่ามีมากมายผมจะลองไล่ไปเรื่อย ๆ  โดยสิ่งที่ผมจะพูดนั้นอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากการศึกษาทางวิชาการแต่เป็นเรื่องที่ผมเคยได้ยินนักลงทุนโดยเฉพาะที่ชอบ “เล่นสั้น” พูดหรือทำ  ส่วนสำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น  นอกจากสังเกตจากคนอื่นแล้วก็เป็นเรื่องของความคิดผมเองในฐานะนักลงทุนระยะยาวที่มักจะมีความคิดและวิธีทำที่แตกต่างจากนักลงทุนระยะสั้น

   เริ่มต้นก็คือประเด็นสำคัญเรื่องของผลตอบแทน  คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าการเล่นสั้นนั้นกำไรดีกว่าการเล่นยาว  เหตุผลก็เพราะว่ามันสามารถทำกำไรได้ “หลายรอบ”  เช่น ถ้าคุณซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวภายใน 3 เดือน คุณก็จะมีโอกาสทำกำไรได้ปีละ 4 รอบ  ถ้าได้รอบละ “แค่ 10%” ปีหนึ่งก็กำไรไปแล้ว 40%  คนที่เล่นสั้นนั้นเชื่อว่าหุ้นแต่ละตัวจะมีจังหวะของการวิ่งเร็วเป็นบางช่วง  ดังนั้น  เราก็ควรซื้อก่อนที่มันจะ  “วิ่ง”  หรือเริ่มวิ่ง  และขายเมื่อมันขึ้นไปอย่างรวดเร็วซึ่งมักจะไม่กี่เดือน  หลังจากนั้นมันก็อาจจะขึ้นช้าลงหรืออาจจะปรับตัวลงมา  ดังนั้นเราไม่ควรจะถือต่อแต่ควรจะขายทิ้งและไปหา “ตัวใหม่” ที่กำลังจะมา   ส่วนคนที่เล่นยาวนั้น  เชื่อว่าการถือหุ้นที่มีพื้นฐานมั่นคงโดดเด่นนั้น  หุ้นก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ปีหนึ่งอาจจะถึง 10-20% โดยเฉลี่ยตามกำไรของบริษัทที่เขาค่อนข้างมั่นใจว่าจะโตไปได้เรื่อย ๆ  ในอัตราที่ค่อนสูงเกิน 10% ต่อปีไปอีกหลายปี  การขายและเปลี่ยนตัวเล่นนั้นเขาก็ไม่แน่ใจว่าตัวใหม่จะมีผลงานเท่าตัวเก่าหรือไม่  พวกเขากลัวว่าจะเป็นการ  “ขายหมูแล้วไปซื้อควาย” อย่างที่ชอบพูดกันในหมู่นักลงทุน  นั่นคือขายหุ้นที่ขึ้นต่อแล้วไปซื้อหุ้นที่ซื้อแล้วก็ตกลงมา

   ประเด็นที่สองก็คือเรื่อง “จุดของการทำกำไร”  นักเล่นสั้นนั้นบอกว่า  “กำไรอยู่ที่การขาย”  นั่นคือ  การลงทุนนั้น  กำไรที่มากนั้นมักจะมาจากการขาย  นั่นก็คือ  คุณต้องรู้ว่าจะขายหุ้นตัวที่ซื้อมาเมื่อไร  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือต้องขายในช่วงที่หุ้นดีดตัวขึ้นมาแรงสู่จุดที่สูงมากในระยะสั้น  บางครั้งแค่พลาดไปไม่กี่วันหรือบางทีนาที  กำไรก็อาจจะหายหมดหรือลดน้อยลงไปมาก  ดังนั้น  ทักษะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนเล่นสั้นก็คือ  การจับจังหวะขาย  ส่วนคนเล่นยาวนั้นบอกว่าการขายนั้นไม่สำคัญ  กำไรเกิดขึ้นเมื่อเรา  “ซื้อหุ้นถูกตัว”  นั่นก็คือหุ้นที่มีคุณภาพที่ดีเยี่ยมในราคาถูก  ถ้าคุณซื้อหุ้นแบบนี้ได้  คุณไม่จำเป็นต้องรีบขายแม้ว่าในบางช่วงเวลาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่าปกติและคุณ “พลาด” ที่จะขายมัน  แต่ในอนาคตต่อมา  มันก็มักจะปรับตัวขึ้นมาอีกจนสูงเท่าหรือสูงกว่าเดิม  ดังนั้น  การขายไม่สำคัญ  “กำไรอยู่ที่การซื้อ”

   “ยาวคือเสี่ยง  สั้นคือไม่เสี่ยง”  นี่คือคติประจำใจของคนเล่นสั้นที่คิดว่าการลงทุนระยะยาวนั้นเสี่ยงมากเนื่องจากในระยะยาวแล้วทุกอย่างก็อาจจะเปลี่ยนไป  ทั้งเรื่องของพื้นฐานของกิจการ  ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็เปลี่ยนไป  ยิ่งเวลาผ่านไปมากโอกาสที่เรื่องร้าย ๆ  จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้น  ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้  ดังนั้น  การถือหุ้นยาวคือเสี่ยง  บางคนนั้นแค่ถือหุ้นข้ามวันหยุดก็รู้สึกเสี่ยงแล้ว  แต่นักเล่นยาวนั้นมองตรงกันข้าม  พวกเขารู้สึกว่าในระยะสั้นนั้น  ทั้งตลาดและราคาหุ้นจะมีความผันผวนขึ้นลงเอาแน่อะไรไม่ได้  แต่ในระยะยาวแล้ว  ดัชนีหุ้นก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้าเราถือยาวเป็น 5 ปีหรือ10 ปี  หรือถ้าเริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ 40 ปีที่แล้ว  ดัชนีตลาดจะให้ผลตอบแทนถึงปีละ 10% โดยเฉลี่ย  ไม่เสี่ยงเลย  นอกจากนั้น  สำหรับหุ้นรายตัวแล้ว  ถ้าคุณซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งและเติบโตระยะยาวโดยการพิจารณาพื้นฐานของกิจการอย่างถี่ถ้วน  โอกาสก็สูงที่กำไรของบริษัทจะโตขึ้นเรื่อย ๆ  และถ้าเป็นอย่างนั้น  ราคาหุ้นก็ต้องปรับตัวขึ้นไปตาม  ดังนั้น  “ถือยาวไม่เสี่ยง ถือสั้นเสี่ยง”

   คนที่เล่นสั้นนั้นชอบหุ้นที่มี  “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งก็มีหลากหลาย  คนที่เล่นสั้นมากชอบการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น  หุ้นที่นิ่ง ๆ  เขาไม่สนใจ  เขาสนใจหุ้นที่กำลังขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วโดยไม่สนใจว่าบริษัททำอะไร   คนที่เล่นสั้นแต่ไม่มากอาจจะชอบหุ้นของกิจการที่เป็นวัฏจักรและวัฏจักรกำลังเป็นขาขึ้น   บางคนชอบหุ้นของกิจการที่กำลังฟื้นตัว  จำนวนมากชอบหุ้นที่กำลังมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเนื่องจากสถานการณ์บางอย่างทางอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวย  ทั้งหมดนั้นมักจะมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ  มันต้องเป็นหุ้นขนาดเล็กหรือมี Free Float ต่ำที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งได้เร็วมากและมโหฬารได้  พวกเขาคิดว่านี่คือการทำเงินได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น  ส่วนพวกเล่นยาวนั้นมักจะชอบหุ้นที่  “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” แต่ต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือ  “ก็กิจการมันดีมากอยู่แล้ว”  การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอน  เป็นความเสี่ยง

   สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือมุมมองเกี่ยวกับปันผล  นักเล่นสั้นนั้นมักจะไม่ใคร่ “แคร์”  เรื่องเงินปันผลมากนัก  พวกเขาเห็นว่าเงินปันผลนั้นคิดเป็นผลตอบแทนน้อยนิด  พวกเขาคิดว่า “เทรดแค่ 2-3 วันก็เท่ากับเงินปันผลทั้งปีแล้ว” ดังนั้น  ปันผลจึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะมอง  ส่วนนักลงทุนระยะยาวนั้น  ปันผลเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกหุ้นลงทุนไม่น้อย  ว่าที่จริงในระยะยาวแล้ว  ปันผลในตลาดหุ้นไทยนั้นคิดเป็นผลตอบแทนเกือบครึ่งหนึ่งของผลตอบแทนทั้งหมด  ดังนั้น  บ่อยครั้งในการลงทุนพวกเขาคิดถึงปันผลในการเลือกหุ้นลงทุนด้วย

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/14/1619
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 28, 2015, 11:55:14 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 21 September 2015
  หลอก VI

    ในโลกของการลงทุนในหุ้นนั้น  การใช้ข่าวสารเพื่อ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับหุ้นนั้น  เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการทำกันเป็นล่ำเป็นสัน  ยิ่งมี “แรงจูงใจ” มากเท่าไร  การใช้ข่าวสารก็มีมากขึ้นเท่านั้น  แรงจูงใจที่จะเพิ่มมูลค่าของหุ้นนั้น  ส่วนใหญ่ก็มาจากผู้ถือหุ้นตั้งแต่รายเล็กย่อยไปจนถึงรายใหญ่ที่อาจจะเป็น  “เจ้าของ” ที่เป็นคนบริหารบริษัทด้วย   การเพิ่มมูลค่าของหุ้นโดยการใช้ข่าวสารในความหมายที่ผมพูดนั้น  เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลที่ดี ๆ เกี่ยวกับบริษัท เช่น  ทำให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทนั้นมีคุณสมบัติดีเยี่ยมในการแข่งขันทางธุรกิจ  สภาวะที่เอื้ออำนวยของอุตสาหกรรม  แผนงานการเจริญเติบโตของบริษัท   ในขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงหรือแก้ต่างข้อด้อยหรือจุดอ่อนที่มีคนชี้ให้เห็นหรือเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป

    กระบวนการให้ข่าวสารเพื่อทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าหรือราคาปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันนั้น  ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตก่อนวิกฤติปี 2540 ที่มักจะเล่นแต่เรื่องข่าวสารเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ “ขาใหญ่”และการ  “ปั่นราคาหุ้น”  เป็นหลัก  ในระยะหลังที่นักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น “VI” หรือนักลงทุนที่เน้นการลงทุนแนว  “พื้นฐาน” จำนวนมาก  ข่าวสารที่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาใช้ในการ  “เพิ่มมูลค่า” ของกิจการ  นอกจากนั้นสื่อสารที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงไปมาก  นั่นคือ  มันมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกจนแทบจะ “ไม่มีต้นทุน” ผลก็คือ   หุ้นจำนวนมากนั้น  มีมูลค่าเพิ่มขึ้น “ตามพื้นฐาน”  หรือ  “สูงเกินกว่าพื้นฐาน”  เนื่องจากการให้ข่าวสารที่ดี ๆ  มากกว่าสิ่งที่แย่ ๆ  ทำให้นักลงทุนเห็นบริษัทในทางที่ดีเกินกว่าความเป็นจริงและเข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปมากกว่าความเป็นจริง

    คงไม่เป็นปัญหาถ้าข่าวสารที่ส่งออกไปเพื่อเพิ่มราคาหุ้นนั้นเป็นข่าวสารที่ถูกต้องและสิ่งที่คาดในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง  ประเด็นก็คือ  เนื่องจากแรงจูงใจที่จะเพิ่มราคาหุ้นนั้นมีสูง  ในบางครั้งและในบางบริษัทจึงมีผู้ถือหุ้นและ/หรือผู้บริหารที่ให้ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยเพื่อที่จะ  “หลอก” ให้คนเชื่อเพื่อที่จะได้หลงเข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้ขึ้นไปสูงเกินความเป็นจริง  โดยที่วิธีการหรือเรื่องที่จะใช้หลอกนั้น  แน่นอน  จะต้องไม่ทำให้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของทางการ  และคนที่จะถูกหลอกนั้นก็ต้องเชื่อและนำเรื่องนั้น “บอกต่อ” ให้คนอื่นเชื่อตามอีกอย่าง “ทวีคูณ”  ยิ่งมากก็ยิ่งดี  และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้นั่นก็คือ  การ  “หลอก VI” ซึ่งถ้าคิดโดยสามัญสำนึกแล้วพวกเขาไม่ควรทำ  เหตุเพราะว่า “VI” นั้นดูเหมือนว่าน่าจะเป็นคนที่มีความ  “รอบรู้”  มี “เหตุมีผล” และ  “ไม่ใช่คนที่จะถูกหลอกง่าย ๆ”  แต่นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง

    ผมเองมีความเชื่อว่าการที่คน ๆ หนึ่งจะถูกหลอกได้ง่ายหรือยากนั้น  อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเป็น “VI” หรือคุณเป็น  “แมงเม่า”  แต่มันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคนที่หลอก  ถ้าสถานการณ์เอื้ออำนวยและคนที่จะถูกหลอกนั้นมี  “ความพร้อมที่จะให้หลอก” อาจจะเนื่องจากมีอารมณ์โลภหรืออะไรก็ตาม  และคนที่หลอกนั้นมีความรอบรู้ มีข้อมูล และ/หรือความเป็นเหตุเป็นผลเหนือกว่าคนที่จะถูกหลอก  การหลอกก็จะประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ  กัน   ว่าที่จริง  คนที่เป็น VI อาจจะถูกหลอกได้อย่างมั่นคงกว่าคนที่เป็นแมงเม่าด้วยซ้ำเนื่องจากพวกเขาอาจจะเชื่อด้วย  “เหตุผล”  โดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ผิด

    เรื่องราวการหลอกหรือเรื่องไม่จริงที่ผมเคยได้ประสบมาและ VI จำนวนไม่น้อยมักจะเชื่อนั้น  ผมจะลองจัดกลุ่มโดยเริ่มจากเรื่องแรกก็คือ  “บริษัทหรือกิจการเป็นผู้นำหรือมีเทคโนโลยีที่คนอื่นทำไม่ได้  ดังนั้นบริษัทก็จะได้งานหรือได้ธุรกิจที่กำลังจะโตมหาศาล”  ผมเองเคยเป็นวิศวกรโรงงานมานานหลายปี  “ธรรมเนียม” อย่างหนึ่งที่ผมเคยประสบและคิดว่าถึงวันนี้ก็คงไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากก็คือ  วิศวกรทั่ว ๆ ไปนั้น  ไม่ค่อยหวงเทคโนโลยี  เรายินดีต้อนรับถ้าใครอยากมาดูเทคนิคของเรา  ดังนั้น  ผมไม่ใคร่จะเชื่อเวลามีใครอ้างว่าคนอื่นหรือบริษัทอื่นทำไม่ได้  เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าจำเป็น  บริษัทอื่นอาจจะมา “ซื้อตัว” คนของบริษัทที่อ้างว่าเป็นรายเดียวที่ทำได้ก็ได้

    เรื่องที่ว่าบริษัทหนึ่งจะ  “เก่ง”  กว่าบริษัทอื่นนั้น  สิ่งที่ผมจะให้น้ำหนักจริง ๆ  ควรจะเป็นเรื่องของ  “โครงสร้าง” ของบริษัท  เช่น  บริษัทมีปัจจัยได้เปรียบในเรื่องของขนาดที่ทำให้คู่แข่งไม่สามารถทำเลียนแบบได้มากว่าเรื่องของเทคโนโลยีหรือระบบที่มักจะสามารถจัดหามาได้มากกว่า

    เรื่อง “หลอก VI” กลุ่มที่สองนั้น  ผมยกให้เป็นเรื่องของ  “อนาคตของบริษัท” นี่คือการที่หลอกว่าอนาคตยอดขายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรของบริษัทจะ “โตก้าวกระโดด” โดยดูตัวเลขจากอดีตที่บริษัทโตขึ้นมาหลายปีในอัตราที่สูงลิ่วแต่จากฐานที่ต่ำมาก  ประเด็นที่ไม่น่าจะจริงก็คืออัตรากำไรต่อยอดขายหรือมาร์จินที่สูงลิ่วในอดีตทั้ง ๆ ที่สินค้านั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือเป็นสินค้าที่โดยธรรมชาติไม่สามารถทำมาร์จินได้สูงนั้น  อาจจะมาจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวหรือรายได้พิเศษอื่น ๆ  ที่ผู้บริหารไม่ได้บอก  “VI” ที่  “ถูกหลอก” ก็จะรู้สึกดีกับกิจการมากว่าเป็นบริษัทที่  “โตเร็ว”  และดังนั้นจึงทุ่มซื้อหุ้นและบอกเพื่อน “VI” ด้วยกันว่ามันเป็นหุ้นที่โตเร็วและหุ้นจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

    การหลอก VI อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเองก็ไม่ได้แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือเรื่องของการซื้อหุ้นของเจ้าของและ/หรือผู้บริหาร  และนักลงทุน “รายใหญ่”  ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่ผมสังเกตพบอยู่เรื่อย ๆ ก็คือ การซื้อขายหุ้นและการ “โอนหุ้น” ของเจ้าของที่บางทีดูไม่ใคร่สมเหตุผล  ตัวอย่างเช่น  หุ้นบางตัวนั้น  เจ้าของมักเข้ามาซื้อหุ้นอยู่เรื่อย ๆ  ในจำนวนไม่มากนักหรือน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่เขาถืออยู่แล้ว  ส่วนตัวผมเองนั้นอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นการ  “หลอก” โดยการแสดงให้คนเห็นว่าเขาในฐานะเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นเห็นว่าหุ้นนั้นมีราคาต่ำเกินไปจึงเข้ามาซื้ออยู่เรื่อย ๆ   เหตุผลของผมก็คือ  ถึงแม้ว่าหุ้นจะถูกในสายตาของเขา  เขาก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพื่อหวังกำไรเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย  เพราะถ้าในอนาคตหุ้นปรับตัวขึ้น  เขาก็มีหุ้นเดิมมากอยู่แล้ว  จะไปซื้อเพิ่มขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อยทำไม  ปล่อยให้หุ้นหมุนเวียนในตลาดให้มีสภาพคล่องดีขึ้นจะดีกว่า  เรื่องของการซื้อขายหรือโอนหุ้นรวมถึงการเข้ามาซื้อหุ้นแบบ PP ที่ต้องแสดงต่อสาธารณะนั้น  ผมคิดว่าในหลายกรณีมี  “ลูกหลอก” อยู่  ดังนั้น  เราต้องประเมินดูก่อนจะใช้ข้อมูลนั้น

    เรื่องของการถูกหลอกนั้น  ผมคิดว่าทุกคนแม้แต่ตัวผมเองที่เป็นคน  “ขี้สงสัยและเชื่อคนยาก”  ก็มีโอกาสที่จะถูกคนที่มีความรู้บางเรื่องสูงกว่าหลอกในเรื่องนั้น  กระบวนการที่สำคัญนอกจาก  “เรื่องราวที่สมเหตุสมผล”  แต่ไม่จริงแล้ว  ยังขึ้นอยู่กับ “ความถี่ในการรับรู้”  ด้วย  ดังนั้น  คนที่หลอกคนอื่นก็จะต้องพูดซ้ำหรือย้ำอยู่เรื่อย ๆ  ทุกครั้งที่มีโอกาส  นี่คือกระบวนการของการ  “ล้างสมอง”  ที่ได้ผลมาตลอดในประวัติศาสตร์  ความเป็นจริงก็คือ  ถ้าคนถูกป้อนข้อมูลเข้าสมองมากและนานพอ  เขาก็จะเชื่อในสิ่งนั้นแม้ว่าตอนแรกจะฟังดูไม่มีเหตุผลที่ดีพอ  แต่ในกรณีที่เหตุผลก็ดูดีแต่ไม่จริงและเราก็ไม่รู้ว่าไม่จริงแต่เราเชื่อเพราะว่าเราอยากเชื่อ)  เราก็จะเชื่อทันทีและเชื่ออย่างมั่นคงจนกว่าความจริงจะปรากฏและหักล้างความเชื่อนั้นอย่างสิ้นเชิง  และนี่ก็คือจุดอ่อนของนักลงทุนทุกคนไม่เว้นแม้แต่ VI เพราะในปัจจุบันนั้น  “VI” กลับกลายเป็นเป้าหมายของคนที่คิดจะหลอกในตลาดหุ้น

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/21/1621

หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ กันยายน 30, 2015, 12:26:10 am

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 Tuesday, 29 September 2015
  เรื่องเหล็กเหล็ก(อีกแระ)

   และแล้วเรื่องที่คนในแวดวงการเงินการธนาคารจับตากันมานานก็ “ระเบิด” ขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั่นก็คือ  การประกาศหยุดการชำระหนี้ของบริษัทผลิตเหล็ก “ต้นน้ำ” SSI UK ประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีหรือ SSI เทคโอเวอร์หรือซื้อมาจากบริษัททาทาสตีลของอินเดียเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ธนาคารที่ปล่อยกู้เงินจำนวนรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาทให้กับกลุ่ม SSI ประกอบด้วยแบงค์ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และทิสโก้ ต่างก็ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเป็นจำนวนมาก  ราคาหุ้นของทั้งสามธนาคารและ SSI ปรับตัวลง  แม้ว่าจะไม่มากนัก  แต่นี่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าตลาดได้รับรู้สถานการณ์นี้มาก่อนเห็นได้จากการที่หุ้นทั้ง 4 ตัวนี้ต่างก็  Underperform หรือหุ้นปรับตัวแย่กว่าคู่แข่งหรือตลาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว  ผมเองได้ติดตามกรณีการซื้อกิจการและการปล่อยกู้นี้มาตั้งแต่แรกแบบห่าง ๆ  และก็คิดอยู่ในใจว่าในที่สุดมันอาจจะ  “ไปไม่รอด” และก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นทุกตัวดังกล่าว    การที่ผมคิดอย่างนั้นก็เพราะว่าผมมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับธุรกิจเหล็กมาตั้งแต่สมัยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่บริษัทผลิตเหล็กหลาย ๆ  บริษัทต่างก็  “ล้มละลาย” หลังจากกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุนสร้างโรงงานที่ใหญ่โตไม่นาน  ว่าที่จริงโรงงานใหม่ที่สร้างนั้นแทบจะยังไม่ได้เปิดใช้บริษัทก็มีปัญหาแล้ว  กรณีของ SSI ครั้งนี้นั้น  สุดท้ายแล้วก็แทบจะเหมือนกับกรณีเหล็กยุคก่อนซึ่งผมยังพอจำความได้ประมาณดังต่อไปนี้

   ประเด็นแรกก็คือ  พฤติกรรมหรือแนวทางในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินนั้น  ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักนั่นก็คือ  มีคนอยากปล่อยกู้โดยเฉพาะให้กับโครงการใหญ่ ๆ  ที่ต้องการเงินกู้วงเงินสูงมาก ๆ  และเป็น  “เมกาโปรเจ็คท์” ที่มีความซับซ้อนและอาจจะต้องการความเป็น “มือโปร” สูงมาก  ดูเหมือนว่าคนที่ทำดีล “Syndicated Loan” หรือเงินกู้ที่มีวงเงินสูงเกินกว่าสถาบันการเงินเดียวจะปล่อยกู้ไหวนั้นจะมีความภูมิใจและอยากทำมันให้ “สำเร็จ” คือเป็น  “ผู้ชนะ”  ได้เป็นผู้นำในการปล่อยกู้  ดังนั้น  คนในกลุ่มนี้ในทุกสถาบันการเงินต่างก็พยายามเสนอตัวเป็นคนจัดการและปล่อยกู้ให้กับโครงการ  ประสบการณ์ของผมเองนั้นพบว่าหลายครั้งนั้นโครงการที่ขอกู้ไม่ “Sound” หรือไม่ดีพอที่จะให้เงินกู้เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ  รวมถึงผลประกอบการ  ฐานะทางการเงิน ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเรื่องอื่น ๆ  อีกร้อยแปด  ส่วนตัวผมเองนั้น  ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง บ่อยครั้งก็ไม่เห็นด้วยแต่ก็มักจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้  เหตุผลก็เพราะว่าผมเป็นเสียงส่วนน้อยมาก  พนักงานหรือกรรมการคนอื่นต่างก็มักจะสนับสนุนทำให้บางครั้งผมก็  “ไม่อยากพูดอะไรมาก”  เพราะธรรมเนียมไทยนั้นบอกว่า  “หมูเขาจะหาม  อย่าเอาคานเข้าไปสอด”  และนั่นทำให้โครงการใหญ่ซึ่งรวมถึงโครงการเหล็กหลายโครงการได้รับเงินกู้มากมายแม้ว่าจะมีความเสี่ยงมาก

   ประเด็นที่สองนั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าของบริษัทที่ทำโครงการ   ถ้าถามว่าเขารู้ไหมว่าโครงการนั้นจริง ๆ แล้วไม่ดีพอที่จะทำ  คำตอบอาจจะเป็นว่าเขาก็รู้  แต่ที่ทำนั้นเป็นเพราะ “ความจำเป็น” ที่จะต้องทำเนื่องจากภาวะปัจจุบันตอนนั้น)  ถ้าไม่ทำก็ “ตาย”  เนื่องจากฐานะการแข่งขันหรือการทำธุรกิจของบริษัทนั้นถ้าไม่ขยายก็จะสู้กับคู่แข่งที่ใหญ่โตหรือ “กำลังจะขยาย”  ไม่ได้   ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ถ้าไม่ทำก็จะตายวันนี้  ถ้าทำอาจจะรอด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สถาบันการเงินหลายแห่ง  “ต่างก็มาเสนอเงินกู้ให้” ทั้ง ๆ  ที่บางทีบริษัทเองไม่ต้องการ  ดังนั้น  สำหรับบริษัทเองแล้ว  การทำโครงการใหญ่ ๆ  ขึ้นมานั้น  ความเสี่ยงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตนเองมากนัก  บริษัทมีแต่  “ดีขึ้น”  หรือ  “โตขึ้น”  ผลตอบแทนส่วนตัวเองสูงขึ้นในกรณีที่โครงการประสบความสำเร็จ  แต่ในกรณีที่ล้มเหลว  ความเสียหายส่วนตัวก็อาจจะไม่มากนัก  บริษัทอาจจะต้องเข้าสู่การ  “ฟื้นฟูกิจการ” แต่หลังจากนั้นก็มีโอกาสที่จะสำเร็จและบริษัทโตขึ้นไปอีก  ความเสียหายจริง ๆ  นั้นน่าจะเป็นเรื่องของคนปล่อยกู้  เจ้าของบริษัทเองนั้นยังไงก็จะยังบริหารบริษัทอยู่และได้ได้ผลตอบแทนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เผลอ ๆ  ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้ลดลงด้วยซ้ำ  เข้าทำนอง  “ถ้าดี  ผมได้  ถ้าแย่คุณเสีย”

   ประเด็นที่สามเป็นเรื่องของข้อมูลการวิเคราะห์โครงการและสินเชื่อหรือ  “เหตุผลในการปล่อยกู้”  นี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมาตลอด  คนที่วิเคราะห์และนำเสนอนั้น  หลายครั้งดูเหมือนว่าจะตั้งต้นจากข้อสรุปว่าจะปล่อยสินเชื่อก่อน  เสร็จแล้วก็พยายามหาข้อมูลหรือทำข้อเสนอที่จะสนับสนุน  ซึ่งโดยหลักแล้วก็ต้องพยายามทำประมาณการทางการเงินที่ทำให้ธุรกิจมีกำไรและมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น   การคาดการณ์ที่สำคัญก็คือยอดขายและมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายของพวกเขานั้นมักจะมองโลกในแง่ดีหรือ  “โลกสวย”  ซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรดีและจ่ายคืนหนี้ได้อย่างสบาย  แต่ในกรณีที่  “เลวร้าย”  ซึ่งผมก็มักจะเห็นว่าไม่เลวร้ายจริง  บริษัทก็จะยังอยู่ได้และจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้แม้ว่าในบางครั้งอาจจะต้องเลื่อนตารางการชำระหนี้คืนออกไปบ้างแต่ดอกเบี้ยนั้นจะ “จ่ายได้เสมอ”   ส่วนเหตุผลที่ใช้ในการ “ตั้งสมมุติฐาน” นั้น  นอกจากการคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมที่ “สดใส” แล้ว  บ่อยครั้งก็มักจะรวมไปถึงการ  “Synergies”  ระหว่างธุรกิจเดิมของบริษัทกับโครงการใหม่เอาไว้ด้วย  นั่นก็คือ  โครงการใหม่นั้นจะช่วย “เสริมทางธุรกิจ” กับธุรกิจเดิมเช่น  ทำให้ต้นทุนถูกลงและ/หรือทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น  สรุปว่า  โครงการใหม่ที่ขอกู้เงินก้อนใหญ่นั้นมีความเป็นไปได้และ  “ความเสี่ยงต่ำ” ในมุมของเจ้าหนี้  เหนือสิ่งอื่นใด  “หลักประกันคุ้ม” และมีทุน “ส่วนของผู้ถือหุ้น” เพิ่มด้วย

   ถ้าถามผมว่าเหตุการณ์หลังจากการปล่อยกู้แล้วเป็นอย่างไร  คำตอบก็คือ  ไม่ใคร่มีอะไรที่เหมือนกับสิ่งที่นำเสนอ  สถานการณ์ของอุตสาหกรรมมักจะเลวร้ายลง  อย่าลืมว่า  อุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” นั้นแปลว่า  เมื่อเวลายิ่งผ่านไป  อุตสาหกรรมก็จะยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ  ถ้าโชคดีก็คือ  อาจจะมีปีที่ดีขึ้นบ้างชั่วคราว  สั้น ๆ  ปีสองปี  หลังจากนั้นก็จะตกลงไปใหม่  ในกรณีที่เลวร้าย  อุตสาหกรรมแย่ลงหนักอาจจะเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ  โครงการก็แทบจะมีปัญหาทันทีตั้งแต่เบิกเงินกู้ยังไม่หมด   ประมาณการและการคาดการณ์ทั้งหลาย  “ผิดไปจากที่คาด”  เนื่องจากเหตุผลร้อยแปด  เช่น การผลิตมีปัญหา  การเงินติดขัดเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนและเงินทุนส่วนของเจ้าของไม่มาตามที่สัญญาไว้  มีการทุ่มตลาดสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนที่มีกำลังผลิตเหลือล้นและต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาขายต่ำกว่าต้นทุน  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้  ดังนั้น  จำเป็นต้อง  “ปรับโครงสร้างหนี้” เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียหรือ NPL ซึ่งจะกระทบกับสถาบันการเงิน  แต่ถ้าทำแล้วก็ยัง “ไม่รอด”  สุดท้ายก็ต้อง  “เข้าแผนฟื้นฟู” ซึ่งจะเป็นหนทางสุดท้าย

   ผมได้พูดถึงประสบการณ์ “ในอดีต”  แต่ก็คิดว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักแม้ว่าผมจะห่างจากวงการมานาน  เหตุผลก็เพราะว่าสิ่งที่ผมเห็นนั้นมันเป็นเรื่องของ  “จิตวิทยา”  ของคนที่คงไม่เปลี่ยนไปง่ายนัก  กระบวนการการปล่อยเงินกู้นั้นก็คงคล้าย ๆ  กับการเล่นหุ้น  คนเคยเจอประสบการณ์เก็งกำไร  ปั่นหุ้น  และขาดทุนหนักมาแล้ว  เวลาผ่านไป 10-20 ปี  คนก็กลับมาทำอย่างเดิมและขาดทุนหนักเหมือนเดิม  การปล่อยกู้โครงการใหญ่ก็คงไม่ต่างกัน  คนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้นั้นจะต้องเป็นคนที่มีจิตใจที่ “กล้าหาญ”  พร้อมที่จะปฏิเสธ “ความเห็นร่วม” ของคนที่มี “แรงจูงใจร่วม”แต่เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุผล  ลึก ๆ  แล้วผมคิดว่าบางทีคนปล่อยกู้ก็อาจจะคิดและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลแล้ว  เพียงแต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าการปล่อยสินเชื่อนั้นไม่เหมือนกับการลงทุนซื้อหุ้น  การปล่อยสินเชื่อนั้น  ถ้าคิดถูกคุณก็แค่ได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนซึ่งบางทีก็ต่ำมาก  แต่ถ้าผิดคุณก็ขาดทุนหนัก  เงินกู้แทบเป็นศูนย์  ดังนั้น  ถ้าไม่ดีจริงหรือมีความเสี่ยงสูง  จะปล่อยไปทำไม?  ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  อย่างน้อยถ้าดี  เราก็อาจจะได้กำไรมหาศาลอาจจะหลายร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าผิด เราก็แค่ขาดทุน 100% ในหุ้นตัวนั้น  ดังนั้น  การคิดจะต้องไม่เหมือนกัน

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/29/1623
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 28, 2015, 09:26:11 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

Monday, 5 October 2015
ลงทุนในตลาด Sideways 

    ตลาดหุ้นไทยนับจากสิ้นปีที่แล้วดูเหมือนว่าจะ “ดูไม่ดี” เลย   ดัชนีตลาดหุ้นปิดตลาดสิ้นปี 2557 ที่ประมาณ 1,498 จุด ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ดัชนีตกลงมาเหลือ 1,346 จุด หรือตกลงมาประมาณ 10% หลายคนอาจจะมองว่านี่คือ “ตลาดหมี” ที่ตลาดหุ้นตกลงมาต่อเนื่องยาวนาน  แต่ผมเองคิดว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะเป็นตลาดหมีมองไปข้างหน้าอีกหลายปีนั้นน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก  เป็นไปได้มากกว่าที่ในอีกซัก 5 ปีข้างหน้านั้น  ตลาดน่าจะเป็น  ตลาด “Sideways” หรือตลาดที่ดัชนีหุ้น  “ไม่ไปไหนยาวนาน” แม้ว่าระหว่างนั้นหุ้นก็อาจจะ “ตกลงมาแรง” และ “ขึ้นไปแรง” เป็นช่วง ๆ 

   เหตุผลที่ผมเชื่ออย่างนั้นเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมายาวนานหลายปีซึ่งถือว่าเป็นตลาดหุ้น “กระทิง” โดยที่การปรับตัวขึ้นนั้นมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ  ประการแรกก็คือ  กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้น  ในระยะประมาณ 6 ปี จากปี 2008  ถึงสิ้นปีที่แล้ว  กำไรเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึงปีละเกือบ 15%  (ส่วนสำคัญมาจากการที่ฐานของกำไรที่ต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาและอีกส่วนหนึ่งมาจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% มาที่ 20%)  และประการที่สองก็คือ  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากประมาณ 7 เท่าเป็น 17.8 เท่า นั่นทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 450 จุด เป็น 1,498 จุด หรือตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นถึงปีละ 22% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นในเวลา 6 ปี  และนั่นทำให้ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยขึ้นมาถึงจุดที่จะไปต่อได้ยากเนื่องจากเหตุผล 2 ประการเช่นกันนั่นก็คือ  ข้อแรก  กำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะโตขึ้นน้อยลงมากนับจากนั้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มจะโตช้าลงมาก  โดยที่ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้าผมคิดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจจะโตได้ปีละไม่เกิน 10% ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าจะโตช้าลง  “อย่างถาวร”   และข้อสอง  ค่า PE ของตลาดเองที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็น่าจะต้องปรับตัวลงสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ผมคิดว่าน่าจะไม่เกิน 10 เท่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

   ผลของการที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตเพียง 10% ต่อปี  และค่า PE ปรับตัวลงมาเหลือ 10 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นจะทำให้ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,350 จุด  ซึ่งต่ำกว่า 1,498 จุดประมาณ 10%  ดังนั้น  ผมจึงสรุปว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะเข้าสู่  “ตลาด Sideways” ตั้งแต่ปี 2558 นี้แม้ว่าดัชนีในช่วงต้นปีกลับปรับตัวขึ้นไปกว่า 1,600 จุด  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ดัชนีลดลงเหลือ 1,346 จุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558   เราคงต้องติดตามต่อว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรไปเรื่อย ๆ  ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า  ผมเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตลาดจะต้องเป็น Sideways อย่างที่คาดเดา  แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง  เราควรมีกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไรที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้?

   กลยุทธ์แรกที่อาจจะคิดได้ก็คือ  สำหรับนักลงทุนระยะยาว  เราก็ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด  เพราะถ้าผ่านไป 5 ปีแล้วดัชนีหุ้นไม่ขึ้นเลย  การลงทุนระยะยาวก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย  จะลงทุนไปทำไม?  คำตอบของผมคือ  ถึงราคาหุ้นไม่ขึ้น  เราก็ยังได้รับปันผลประมาณ 3%  ต่อปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการฝากเงินแล้ว  เราก็อาจจะไม่ขาดทุนอะไร  ส่วนการลงทุนอย่างอื่นก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั้น   ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ถ้าเราเลือกหุ้นลงทุนที่ดี  เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดซึ่งอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนสูงขึ้น  อาจจะถึง 7-8% ต่อปี  นั่นก็จะทำให้การลงทุนในหุ้นยังเป็นการลงทุนที่ดีกว่าการออกจากตลาดอย่างสิ้นเชิง  ส่วนในกรณีของนักเล่นหุ้นระยะสั้นนั้น  พวกเขาอาจจะไม่ได้ถูกกระทบอะไรมาก  เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า  ในระยะสั้น ๆ  หุ้นอาจจะขึ้นลงได้แรงเป็นระยะ ๆ  ดังนั้นพวกเขาก็สามารถเทรดหุ้นทำกำไรได้แม้ว่าโดยรวมแล้วอาจจะยากกว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงยาวนาน   ความเห็นโดยรวมของผมก็คือ  เราอาจจะยังลงทุนซื้อขายหุ้นอยู่  แต่อาจจะไม่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  เราควรถือเงินสดไว้พอสมควรเพื่อที่จะฉกฉวยโอกาสช่วงที่หุ้นอาจจะปรับตัวลงมาแรงซึ่งจะทำให้เราสามารถซื้อหุ้นราคาถูกได้  นอกจากนั้น  เมื่อหุ้นมีราคาปรับตัวขึ้น  เราก็อาจจะขายหุ้นทิ้งบ้างเพื่อทำกำไร  การ  “ซื้อแล้วถือ” อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลดีเหมือนอย่างในช่วงที่หุ้นเป็นตลาดกระทิง

   กลยุทธ์ต่อมาก็คือ  การออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ดูแล้วมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตได้ดีและราคาหุ้นยังถูกกว่า  นี่ก็เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ   อย่างไรก็ตาม  ประสบการณ์และความรู้จักตลาดและหุ้นในต่างประเทศของเรานั้นมักจะน้อยกว่าการลงทุนในประเทศมาก  ดังนั้น  โอกาสที่เราจะทำผลตอบแทนได้ดีก็น้อยลง  วิธีการแก้อย่างหนึ่งก็คือการซื้อกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดของหุ้นต่างประเทศ  แต่นี่ก็ไม่รับประกันว่าเราจะทำผลตอบแทนได้ดี  เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีราคาแพงไม่น้อยไปกว่าตลาดหุ้นไทย  การเข้าตลาดผิดจังหวะเวลาก็อาจจะทำให้เราเสียหายได้

   ถ้าเรายังเลือกที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่อาจจะกำลังเป็นตลาด Sideways กลยุทธ์ในการเลือกหุ้นของเราก็ควรที่จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดนั่นก็คือ  ภาวะที่ค่า PE ของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปจะค่อย ๆ  ปรับลดลงต่อเนื่องยาวนาน  ซึ่งนั่นทำให้ราคาหุ้นจะขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยกำไรของบริษัทที่จะต้องเติบโตขึ้นมากกว่าการปรับลดลงของค่า PE  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีค่า PE ลดลงปีละ 10%  กำไรของบริษัทนั้นจะต้องโตขึ้นมากกว่า 10% ต่อปี เช่น 15% ต่อปี จึงจะทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นได้ 5% ต่อปี  และถ้าหุ้นตัวนี้ให้ปันผลตอบแทนปีละ 3%  ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนี้ยังให้ผลตอบแทนรวมปีละ 8% ซึ่งก็จะเป็นผลตอบแทนที่ดีในยามที่หุ้นไม่ไปไหน  และนี่ก็คือเงื่อนไขข้อแรกที่ว่าหุ้นที่เราจะเลือกลงทุนนั้นจะต้องเป็นหุ้นที่เติบโตแม้ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

   นอกจากหุ้นที่เราเลือกควรจะเป็นหุ้นที่ยังโตแล้ว  อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ  “คุณภาพ” ของบริษัทควรจะดีมากด้วย  และคำว่าคุณภาพนี้ก็คือมันเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  หรือถ้าจะพูดในภาษาของ VI ก็คือ  มันมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตมีอนาคต  ผลประกอบการของบริษัทมีความมั่นคงไม่ผันผวนรุนแรงแม้ว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะ “เลวร้าย”  หรือพูดง่าย ๆ  มันเป็นหุ้น “Defensive”   ส่วนในด้านของตัวเลขทางการเงินก็จะดีกว่าบริษัทที่มีคุณภาพต่ำกว่านั่นก็คือ  ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่า 15% ต่อปี  บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงและไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินถาวรมากเพื่อที่จะรักษาดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์หรือขยายงาน   เป็นบริษัทที่มีหนี้สถาบันการเงินน้อยหรือเป็นบริษัทที่มีกำไรสามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้อย่างสบายรวมทั้งลักษณะของธุรกิจมีความแน่นอนของผลประกอบการสูงมาก  หรือถ้าจะสรุปอย่างง่าย ๆ  ก็คือ  บริษัทที่เราเลือกนั้นควรจะมีลักษณะของ “Super Company”  เหตุผลที่เราต้องเลือกหุ้นที่มีคุณภาพสูงนั้น  เป็นเพราะคุณภาพจะเป็นเครื่องรับประกันว่าบริษัทจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้และเมื่ออุปสรรคผ่านพ้นไป  มันก็จะกลับมาเติบโตใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และนี่จะทำให้ค่า PE ของหุ้นไม่ปรับตัวลงมามากตามภาวะตลาด

   ประเด็นสุดท้ายก็คือ  เราควรจะเลือกหุ้นที่มีผลตอบแทนปันผลที่ดีในยามตลาด Sideways  เพราะปันผลนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ Downside Risk หรือความเสี่ยงที่เราจะเสียหายน้อยลงในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง  มีการศึกษาในตลาดหุ้นอเมริกาว่าในช่วงที่เป็นตลาด Sideways ยาวนานนั้น  ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้จากการลงทุนในหุ้นนั้น  90% มาจากเงินปันผล  ในขณะที่ในช่วงตลาดหุ้นกระทิง  ผลตอบแทนจากปันผลเป็นเพียงประมาณ 20% เท่านั้น  นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปันผลในช่วงตลาด Sideways  และทั้งหมดก็เป็นแนวทางการลงทุนและเลือกหุ้นหากตลาดหุ้นเป็นตลาด Sideways  แน่นอนว่าไม่มีใครบอกได้ 100% ว่าตลาดหุ้นใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจริง ๆ  กลยุทธ์ที่กล่าวถึงนั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่พยายามลดความเสี่ยงในการลงทุน  หากตลาดไม่เป็นไปตามที่คาด  ผมเองก็คิดว่าความเสียหายจากการยึดกลยุทธ์นี้ก็มีไม่มาก  อย่างมากก็แค่เสียโอกาส  เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับนักลงทุนก็คือ  เราจะต้องติดตามสถานการณ์และประเมินตลอดเวลาว่าตลาดและหุ้นที่เราลงทุนนั้นกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนและปรับตัวตาม

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/05/1632
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 28, 2015, 09:29:05 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 12 October 2015
หนังสือเล่มเล็ก

   ชีวิตประจำวันหรือ  “งานประจำ” ของผมทุกวันนี้ไม่ใช่การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และสั่งซื้อขายหุ้น  ไม่ใช่การเฝ้าติดตามราคาหุ้นรายนาทีหรือรายชั่วโมง  เพราะปกติผมจะซื้อหรือขายหุ้นปีละไม่กี่ครั้งและครั้งละไม่กี่วัน  ผมคำนวณคร่าว ๆ  แล้วหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อมาจะถูกถือไว้โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 5 ปี  ดังนั้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นของผมจะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของผม  สำหรับโบรกเกอร์แล้ว  ผมน่าจะเป็น  “ลูกค้ารายย่อย--ขนาดใหญ่”  แม้ว่าช่วงที่มีการซื้อขายแต่ละครั้งอาจจะมีปริมาณมาก  การซื้อขายหุ้นของผมจึงไม่ใช่  “งานลงทุน” แต่เป็นงานเล็ก ๆ  ที่ต้องทำเป็นบางครั้งเมื่อผมเจอหุ้นที่จะซื้อหรือขาย

   การ  “ติดตามหุ้น” นั้น  สิ่งที่ “ไม่สำคัญ” แต่ผมก็ทำตลอดเวลาก็คือการดูจอราคาหุ้นเป็นระยะเมื่อนั่ง  “ทำงาน”  ที่บ้านซึ่งก็คือ  “สำนักงาน” ของผม   การดูราคาหุ้นนั้น  ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องของ  “สัญชาติญาณ” ของคนที่น่าจะ  “อดไม่ได้”  ที่จะต้องเฝ้าดู “ทรัพย์สมบัติ” ของตนถ้ามัน  “กอง”  อยู่ตรงหน้า หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือการที่คนชอบ  “ลุ้น” ว่าตนเอง “ได้หรือเสีย”   บน  “จอคอมพิวเตอร์”  ขณะที่ผมนั่งทำงานอื่นอยู่ที่โต๊ะ   แต่ในกรณีที่ผมต้องออกไปทำงานหรือมีกิจธุระนอกบ้าน  ผมก็ไม่จำเป็นต้องติดตามราคาหุ้น  พูดอย่างสรุปก็คือ  ผมไม่ได้ใช้เวลากับการดูราคาหุ้นเป็นเรื่องเป็นราว  ผมจะ  “จับตาดู” หุ้นบางตัวในบางช่วงเวลาเพื่อมองหา  “โอกาส”  ในการที่จะซื้อหรือขายเท่านั้น

   การติดตามหุ้นที่สำคัญของผมนั้น  คือการติดตามการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ผมลงทุนอยู่และบริษัทอื่นที่ผมสนใจแต่ยังไม่ได้ลงทุน   การติดตามการดำเนินงานนั้น  ผมใช้วิธีการอ่านจากหนังสือ  หนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ตและทางทีวีที่ผมพบเจอโดยไม่ได้ตั้งใจ  นอกจากนั้น  ผมก็ยังติดตามบริษัทจากการไป  “จ่ายตลาด”  ซื้ออาหารและของใช้ประจำวันที่ผมทำเป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ผมทำเป็นระยะ  ดังนั้น  นี่ก็ไม่ใช่งานที่ผมต้อง “ใช้เวลา” เป็นเรื่องเป็นราว  ส่วนการติดตาม  “ผลการดำเนินงาน”  ที่เป็นตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทนั้น  ผมก็ใช้เวลาเพียงปีละ 4 ครั้ง คือในช่วงที่มีการประกาศผลประกอบการรายไตรมาศและรายปี

   การเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะบริษัทใหม่ ๆ  ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดนั้น  ผมโชคดีที่ว่าผมทำรายการทีวีที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน  ทุกสัปดาห์ผมจะได้คุยและซักถามผู้บริหารประมาณ 2-3 บริษัท  ดังนั้น  ผมก็จะได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทจำนวนมากเนื่องจากผมทำรายการนั้นมาหลายปีแล้ว  บริษัทหลายแห่งนั้นผมเคยพูดคุยด้วยหลายครั้งและนั่นก็พอเพียงที่ผมจะใช้เป็นฐานหลักของการวิเคราะห์หุ้นรายตัว  ผมคิดว่าผมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพบบริษัทเพื่อที่จะศึกษาตัวบริษัทมากนัก  ดังนั้น  ผมไม่ไปงาน Opportunity Day หรือไปคุยกับผู้บริหารบริษัทก่อนที่จะพิจารณาซื้อหุ้น  มีบางบริษัทที่ผมถือหุ้นจำนวนมากที่ผมอาจจะไปเยี่ยมเยียนติดตามการดำเนินงานอยู่บ้างเหมือนกันแต่นั่นเป็น  “ข้อยกเว้น” ไม่ใช่เรื่องปกติ

   การไปพบผู้บริหารหรือผู้ให้ข้อมูลที่เรียกว่า IR ของบริษัทเป็นการ  “ส่วนตัว” นั้น  ข้อดีก็คือ  บางครั้งเราอาจจะได้ข้อมูลลึก ๆ  หรือความเข้าใจในสถานการณ์ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เป็น “เรื่องดี ๆ”  ของบริษัท  เช่นเดียวกับเรื่องที่ “ไม่ดี” ที่เราอาจจะเห็นหรือรู้สึกได้  ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราสามารถ  “ฉกฉวยโอกาส” ในการซื้อหรือขายหุ้นและทำกำไรหรือลดการขาดทุนได้อย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นก็อาจจะทำให้เข้าใจในตัวบริษัทมากขึ้นซึ่งทั้งสองเรื่องนั้น  สำหรับ VI หลายคนแล้วก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด  สำหรับบางคนแล้วเขาแทบจะบอกว่าถ้าไม่เจอผู้บริหารเขาก็จะไม่ซื้อหุ้นเลย   อย่างไรก็ตาม  การไปพบบริษัทแบบนั้นก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันในความเห็นของผมนั่นก็คือ  การไปพบผู้บริหารอาจจะทำให้เราถูก “ชักนำ” ให้เกิด  “ความลำเอียง” ว่าบริษัทมีคุณสมบัติดีกว่าที่ควรจะเป็นและ/หรือเชื่อว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้รวดเร็วต่อเนื่องด้วยความสามารถของบริษัทและผู้บริหารทั้ง ๆ  ที่ข้อมูลผลประกอบการของกิจการที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้บอกอย่างนั้น  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  เราอาจจะถูกชักนำให้  “เชื่อในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์”  สำหรับผมเองที่เน้นการลงทุนระยะยาวที่ต้องอิงอยู่กับ  “พื้นฐานระยะยาว” ของบริษัทเป็นหลักนั้น  หุ้นที่จะเข้าข่ายควรจะต้องได้รับการ  “พิสูจน์ด้วยตัวเลขผลประกอบการ” มาพอสมควรแล้วว่าเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม  ความจำเป็นต้องพบผู้บริหารมีน้อย

   งานหลักที่สำคัญและใช้เวลามากของผมจริง ๆ ในทุกวันนี้น่าจะอยู่ที่การอ่านหนังสือที่เป็น  “ความรู้ที่หลากหลาย”  และต้องเป็น  “ความรู้ที่แท้จริง”  นั่นก็คือ  เป็นความรู้ที่ได้รับการศึกษาและพิสูจน์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ความรู้ที่ผมสนใจศึกษานั้นรวมถึงเรื่องของจิตวิทยา  ประวัติศาสตร์  สังคมวิทยาและการเมือง  สงครามและการแข่งขัน  เรื่องของการเงินและการแข่งขันทางธุรกิจ  ความรู้เกี่ยวกับสถิติและความน่าจะเป็น  และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก เป็นต้น   เมื่ออ่านและเข้าใจหัวใจหรือข้อสรุปของความรู้นั้นแล้ว  ผมก็จะพยายาม “เชื่อมโยง” ความรู้ต่าง ๆ  เหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ  ในชีวิต  ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมทำนั้นจะเป็นแนวทางที่ ชาร์ลี มังเกอร์  คู่หูและหุ้นส่วนของบัฟเฟตต์ทำหรือไม่  แต่ที่ได้ทำมานานผมรู้สึกว่าผมมีความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ของโลกมากขึ้น  ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลมากขึ้น  และนี่อาจจะช่วยให้ผมสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นอย่างที่มังเกอร์บอก

   การอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจกับความรู้ ทฤษฎี ประวัติศาสตร์และเรื่องราวมากมายของโลก  อาทิเช่น  เรื่องของตลาดเสรีและระบบทุนนิยมที่บุกเบิกโดย อาดัม สมิทธิ  ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งของ ชาร์ล ดาร์วิน  สงครามและการแข่งขันระหว่างประเทศที่ฉายภาพโดดเด่นจากสงครามใหญ่โดยเฉพาะสงครามโลกทั้งสองครั้ง  การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แนวทางแบบ Value Investment ของเบน เกรแฮม และการเกิดขึ้นของทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มนักวิชาการนำโดย ยูจีน ฟามา มาร์โควิทซ์และชาร์ป   ทฤษฎีการแข่งขันทางธุรกิจโดยเฉพาะในด้านของการกำหนดกลยุทธ์ที่นำเสนอโดย Aries กับ Jack Trout ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของโลกและไทย   และการขึ้นลงและวิกฤติตลาดหุ้นทั่วโลก  เป็นต้น  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลามากมายโดยเฉพาะถ้าเราต้องเริ่มต้นจากศูนย์เนื่องจากเราไม่ได้เรียนมาเลยจากห้องเรียนหรือ  “ติดลบ”  เนื่องจากเราเรียนมาด้วยข้อมูลหรือทฤษฎีที่ผิด

   ด้วยปริมาณข้อมูลและความรู้มากมายที่อาจจะมีประโยชน์มหาศาลในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะอ่านหรือศึกษาได้หมดในเวลาอันสั้น  และสำหรับคนที่ยังมีภารกิจงานประจำที่ต้องทำตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ผมคิดว่าเขาคงมีเวลาไม่พอ  ส่วนตัวผมเองนั้นก็ต้องยอมรับว่าความรู้หลากหลายเหล่านั้น  ส่วนใหญ่ผมได้มาหลังจากที่เลิกทำงานประจำมาเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว  นอกจากนั้น  ผมได้ค้นพบว่า  วิธีที่จะเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ  ได้รวดเร็วขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ  พยายามอ่าน  “หนังสือเล่มเล็ก”  ที่อธิบายหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ  ซึ่งระยะหลัง ๆ  ผมได้เห็นว่ามีออกมามากขึ้น  หนังสือเล่มเล็กนั้นมีข้อดีคือมันช่วยสรุป  “หัวใจ”  ของเรื่องต่าง ๆ  เอาเฉพาะ “แก่น” หรือ  “พื้นฐาน” ของเรื่องโดยไม่สนใจรายละเอียดที่บางครั้งทำให้เรา  “หลงทาง” หรือสับสน  “หนังสือเล่มเล็ก”  ในความหมายของผมนั้นอาจจะรวมถึงหนังสือ  “การ์ตูน” สั้น ๆ  หรือภาพยนตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวที่เป็น   “ภาพใหญ่” ได้ในเวลาอันสั้น  และนี่ก็คือเทคนิคการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้ทดลองดู  มันอาจจะส่งผลกระทบให้เราได้อย่างมหาศาลกับการลงทุน—และชีวิต

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/12/1635
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 28, 2015, 09:31:27 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

 Monday, 19 October 2015
  ยีนส์กับการลงทุน


   ผมรู้จัก “ยีนส์” ครั้งแรกสมัยที่ผมเรียนวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมศึกษา  ในตอนนั้นผมไม่ได้สนใจอะไรนักเพราะคิดว่ามันเป็นแค่ความรู้ที่เอาไว้สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นสาขาที่ผมไม่สนใจที่จะเรียนต่อ  ผมกลับมาสนใจเรื่องของยีนส์เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้เองเนื่องจากยีนส์ถูกนำมาอธิบายเรื่องของจิตวิทยามากขึ้นเรื่อย ๆ  จนกลายเป็นสาขาหนึ่งเรียกว่า  “จิตวิทยาวิวัฒนาการ”  ความรู้เรื่องของยีนส์ที่เป็นตัวกำหนดอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ  “ก้าวกระโดด”  จนถึงวันนี้ผมคิดว่าแทบทุกพฤติกรรมของคนเรานั้นสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ของยีนส์  ยีนส์น่าจะมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนแต่ละคน  “เกินครึ่ง”  ส่วนที่เหลือก็มาจากการอบรมสั่งสอนและสังคมที่เราอยู่  ดังนั้น  ถ้าจะเข้าใจเรื่องของคนผมคิดว่าเราต้องเข้าใจเรื่องของยีนส์ของมนุษย์ที่ถูกออกแบบมา—เพื่อที่จะเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ของมัน  โดยที่ยีนส์ในมนุษย์นั้น  ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโลกในช่วงกว่าหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา  และดังนั้น  เราจึงต้องเข้าใจว่าทำไมบางครั้งเราจึงทำอะไร  “แปลก ๆ”  ในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมากมายแล้ว

   ธุรกิจหรือบริษัทที่ผลิตสิ่งของหรือบริการนั้น  ถ้ามองลึก ๆ  จริง ๆ  แล้วก็คือกลุ่มคนที่เข้ามารวมกันเพื่อทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น  ดังนั้น  ความคิดและพฤติกรรมทั้งหลายของบริษัทก็คือความคิดและพฤติกรรมของคน  บริษัทต้องเอาตัวรอด  เติบโต  และขยายตัวแตกหน่อไปเรื่อย ๆ เหมือนคน   บางคนอาจจะบอกว่าบริษัทนั้น  “ไม่มีวันตาย”  ถ้าไม่เจ๊ง   ผมเองคิดว่านี่ก็เหมือนกับยีนส์ที่  “ไม่มีวันตาย”  แม้ว่าคนจะตายแต่ยีนส์ในตัวคนนั้นอาจจะ “ส่งผ่าน”  ต่อไปยังลูกหลานแล้ว  ยกเว้นคน ๆ  นั้นไม่มีลูก  โดยนัยดังกล่าว  บริษัทก็จะต้องทำทุกอย่างคล้าย ๆ  คนนั่นก็คือ  ต้อง “แข่งขัน” แย่งชิงทรัพยากรกับคนอื่นแต่ในเวลาเดียวกันก็ต้อง “ร่วมมือ” กับคนอื่นเพื่อที่จะเอาตัวรอดและขยายตัวต่อไป  โดยที่วิธีการ  ความคิดและอารมณ์ของบริษัทนั้นก็คงคล้าย ๆ  กับคน  ตัวอย่างเช่น  บริษัทแต่ละแห่งมีความสามารถไม่เท่ากัน  เวลาตัดสินใจส่วนใหญ่ก็ใช้เหตุผลแต่อารมณ์ก็มีส่วนอย่างมาก เป็นต้น

   สิ่งของและบริการที่เป็นสินค้าที่มีการผลิตขึ้นในโลกนี้สุดท้ายแล้วก็เพื่อตอบสนองต่อคนที่ต้องการเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์  สินค้าและบริการที่จะเป็นที่ต้องการมากนั้นจะต้องช่วย  “เพิ่มโอกาส” ให้คนเอาตัวรอด  เติบโตและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้มากขึ้น  สินค้าหรือบริการอะไรที่ “ใกล้” กับเรื่องของการเอาตัวรอด  เติบโต และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ จะเป็นที่ต้องการมากกว่าสินค้าที่  “ห่าง” จากความต้องการดังกล่าว  สินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถช่วย “เพิ่มโอกาส”  ดังกล่าว  อาจจะเพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ได้ใช้สินค้านั้นอยู่แล้วความต้องการก็จะไม่เพิ่ม  แต่ถ้ามีสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมในการเพิ่มโอกาสอยู่รอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์  คนก็จะต้องการสินค้านั้นเพิ่มหรือแทนที่สินค้าเดิม  ด้วยแนวความคิดแบบนี้   เราก็จะสามารถวิเคราะห์เรื่องของเทรนด์หรือเมกาเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในสินค้าต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

   ภาวการณ์ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  เกิดขึ้นเพราะคนที่ตัดสินใจซื้อขายหุ้น  คนที่ซื้อขายหุ้นนั้น  พวกเขาทำเพื่อการ  “เอาตัวรอดและเติบโต”  ดังนั้น  บางครั้งพวกเขาก็กลัวและต้อง  “หนีตาย” ขายหุ้นทิ้งโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น  เหมือนกับการที่คนในสมัยดึกดำบรรพ์หนีเสืออย่าง  “ไม่คิดชีวิต”  ไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น  เวลาที่เขาคิดว่าหุ้นกำลังขึ้นเป็น “กระทิง”  ยีนส์อาจจะบอกว่าต้องรีบ  “กอบโกย”  ช้าไม่ได้  “อาหารจะหมด”  ถ้า “แย่งไม่ทัน”  นี่ก็ก่อให้เกิดภาวะความผันผวนของราคาหุ้นตลอดเวลา  การที่เราเข้าใจเรื่องของยีนส์ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมจะช่วยให้เราลงทุนในตลาดหุ้นได้ดีขึ้น

   การวิเคราะห์หุ้นของเรานั้น  สิ่งที่ต้องทำเพิ่มจากการวิเคราะห์ปกติตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว  สิ่งหนึ่งที่เราควรทำเพิ่มเติมก็คือการวิเคราะห์  “เหตุจูงใจ” ของแต่ละคนที่เป็นคนให้ข่าวสารและข้อมูล  เพราะเราควรจะต้องยึดมั่นหลักการสำคัญที่ว่าคนจะทำอะไรก็ตามก็เพราะยีนส์จะเป็นตัวกำหนดที่แท้จริงไม่ใช่สมองที่เป็น “ผู้ปฎิบัติ”  และสิ่งที่คนจะทำก็คือ  การเอาตัวรอด  เติบโต  แพร่พันธุ์  อะไรที่ไม่สอดคล้องคนเราก็จะไม่ทำ  พูดอีกทางหนึ่งก็คือ  คนเรานั้นจะทำอะไร  “เพื่อตัวเอง”  แม้ว่าบางครั้งจะทำ  “เพื่อคนอื่น”  แต่สุดท้ายแล้วเขาก็จะได้รับการ   “ตอบแทน” ในแง่ของการเป็นที่รักนับถือชมชอบซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถ  เอาตัวรอดได้ดีขึ้นและ/หรือ เผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ดีขึ้น  การที่ต้องวิเคราะห์เรื่องแรงจูงใจนั้นเป็นเพราะว่าคนให้ข้อมูลหรือข่าวสารนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากเราและอาจจะ “หลอก” เราให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาแต่เป็นโทษกับเราได้

   ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้  ไม่ได้หมายความว่ายีนส์จะมีความคิดหรือชีวิตจิตใจที่สั่งการและเรารับรู้ได้  กระบวนการทำงานนั้นก็คือ  ยีนส์จะเป็นตัวสร้างฮอร์โมนและสารอะไรต่าง ๆ  ที่ประกอบเป็นตัวเราและสมองและประสาทต่าง ๆ  ของเราที่ทำให้เรามีความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ทำให้เรารัก  ชอบ  เกลียด  กลัว  เสียใจ  ดีใจกับบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่ว่าเราจะได้พยามไขว่คว้า  หลีกหนี หรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ  ในทางที่จะทำให้เรามีโอกาสอยู่รอดได้ดีขึ้น  เติบโตและเผยแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นโดยที่เรา  “ไม่รู้ตัว”   เรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นถ้าเรายังอยู่ในยุคหมื่นปีที่แล้วที่ยีนส์ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นไร่นาป่าเขาและไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดหุ้น  เพราะเราคงทำไม่ผิดจากสิ่งที่ควรทำ  แต่ในศตวรรษที่ 21 ที่สังคมเรามีความซับซ้อนมากนั้น  การ “ทำตามใจ” นั้น  อาจจะเกิดความเสียหายได้  เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการซื้อขายหุ้นบ่อยแทบทุกวันเพราะ  “อยากได้กำไรหรือหนีการขาดทุน”  นั้น  เป็นหนทางที่  “ลดโอกาสเอาตัวรอด”  แต่เราทำเพราะเราแยกไม่ออกว่าตลาดหุ้นตกหรือขึ้นนั้น  แตกต่างจากการเห็นเสือหรือหมู

   ยีนส์ของคนทั้งโลกนั้นมีความเหมือนกันเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์  อาจจะแตกต่างกันไปบ้างก็เพราะคนบางกลุ่มอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกับคนกลุ่มอื่น  เช่น  คนที่อาศัยอยู่ในแถบที่หนาวเย็นก็อาจจะมีสีผิวที่แตกต่างกับคนที่อยู่ในแถบร้อนรวมทั้งอาจจะมีความสามารถและพฤติกรรมที่แตกต่างกับคนในแถบร้อน  “เล็กน้อย”  จนแทบไม่มีความหมาย  ดังนั้น  เวลาที่จะดูว่าสินค้าหรือบริการอะไรจะเป็น  “เมกาเทรนด์” ในประเทศไทยต่อไปนั้น  วิธีง่าย ๆ  อย่างหนึ่งก็คือการดู “เมกาเทรนด์”  ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่ร่ำรวยกว่า  เหตุผลก็เพราะว่าคนในประเทศหรือสังคมที่รวยกว่าจะมี  “กำลังซื้อ”  หรือมีรายได้มากพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการของคนก่อน  ส่วนคนไทยนั้น  เนื่องจากเรายังมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ถึงวันหนึ่งเราก็จะเริ่มมีกำลังซื้อพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการนั้น  ซึ่งเราก็จะใช้แน่นอน  เพราะนั่นคือสินค้าที่  “ยีนส์”  ของมนุษย์ต้องการ  กล่าวโดยสรุปก็คือ  คนนั้นเหมือนกันทั้งโลก  สิ่งที่แตกต่างก็คือรายได้  คนบางคนมีปัญญาที่จะซื้อใช้  แต่คนบางคนไม่มีเงินพอ  ถ้าเมื่อไรเขามีเงินพอ  เขาก็ใช้  ถ้าสองประเทศต่างก็มีรายได้เท่ากัน  พฤติกรรมและการใช้จ่ายและการบริโภคจะใกล้เคียงกันมาก

   การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของยีนส์และวิวัฒนาการของคนนั้น  แต่เดิมเรามักต้องอ่านจากหนังสือภาษาอังกฤษ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้เราก็มีโอกาสที่ได้อ่านหนังสือแปลและโชคดีที่เราเริ่มมีคนไทยที่เริ่มเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยหนังสือที่ผมเห็นว่าเขียนได้ดีมากและแนะนำให้อ่านก็คือหนังสือชื่อ “500 ล้านปีของความรัก” ทั้ง 2 เล่ม เขียนโดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา  หนังสือทั้งสองเล่มนี้แน่นอนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องของหุ้นและการลงทุนเลย  แต่ผมคิดว่าเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตและการลงทุนซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตในยุคปัจจุบัน


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/19/1638
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ตุลาคม 28, 2015, 09:34:35 pm

(http://image.ohozaa.com/i/541/VK2yRc.gif)

  Monday, 26 October 2015
  Corner


    บ่อยครั้งในตลาดหุ้นจะมีหุ้นบางตัวที่ราคาวิ่งขึ้นไปสูงลิ่ว  “เกินพื้นฐาน”  ไปมากโดยที่หา  “เหตุผล” ไม่ได้  หุ้นที่มี PE เป็น 50 หรือ 100 เท่า และค่า PB สูง 5 หรือ 10 เท่านั้น  โดยปกติก็จะต้องเป็น  “Super Stock” นั่นคือ  มันควรที่จะมีคุณสมบัติทางธุรกิจดีเยี่ยม  มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือกว่าคู่แข่ง  มีกำไรดี  มีการเติบโต  มีฐานะทางการเงินดี  มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง และอื่น ๆ  อีกมาก  หรือไม่อย่างนั้นหุ้นก็อาจจะต้องเป็นกิจการที่กำลัง “ฟื้นตัว” จากภาวะวิกฤติและกำไรอาจจะยังไม่มาแต่เห็นได้ชัดว่ากำไรจะโตก้าวกระโดดในไม่ช้า  แต่หุ้นแบบนี้ก็จะต้องมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดที่ต่ำเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจของบริษัทวัดจากยอดขายและเปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน   

   หุ้นที่มีราคาแพงมากโดยที่ไม่ได้เป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกหรือไม่ได้เป็นหุ้นที่กำลังฟื้นตัว  และที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเดียวกันที่มีคุณสมบัติดีกว่า  มีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่า  มียอดขายและกำไรสูงกว่าและมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งกว่า  แต่หุ้นกลับมีราคาแพงกว่าและบ่อยครั้งมีมูลค่าตลาดของหุ้น หรือ Market Cap. สูงกว่านั้น  คำอธิบายก็มักจะออกมาว่าเป็นเพราะนักลงทุนคาดว่าบริษัทจะ  “โตเร็วกว่า”  แต่ถ้าดูจริง ๆ  ก็จะพบว่ามันก็คงไม่โตเร็วนัก และถึงโตเร็วกว่าบ้าง  แต่มันก็คงจะไม่เท่าคู่แข่งที่โตกว่ามากในเวลาอันสั้น  ดูอย่างไรมันก็อธิบายไม่ได้ว่าราคามันสูงขนาดนั้นได้อย่างไรมองในแง่ของ  “พื้นฐาน”  และนั่นก็นำมาสู่เรื่องของการ “เก็งกำไร” และการ “ปั่นหุ้น” แต่ในบางกรณีเราก็ไม่มั่นใจนักว่ามันคืออะไร  ตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อเร็ว ๆ  นี้ก็คือการที่หุ้นของแบ้งค์ขนาดกลางตัวหนึ่งมีราคาและมูลค่าหุ้นสูงขึ้นมาเท่าหรือใหญ่กว่าแบ้งค์ขนาดใหญ่บางตัว  หรือหุ้นของบริษัทเช่าซื้อบางตัวที่ใหญ่กว่าหุ้นของแบ้งค์เล็กที่ทำเช่าซื้อเป็นหลักและยังมีธุรกิจอื่นอีกหลายอย่างที่ใหญ่กว่าบริษัทเช่าซื้อมาก

   ทฤษฎีของผมก็คือ  หุ้นที่มีราคาสูงลิ่วโดยที่เหตุผลไม่รองรับเท่าที่ควรนั้น  อาจจะมาจากสิ่งที่เรียกกันในแวดวงของนักลงทุนว่าหุ้นตัวนั้น  ถูก  “Corner”  หรือแปลเป็นไทยว่าหลักทรัพย์ถูก  “ต้อนเข้ามุม”  ซึ่งความหมายหรือคำจำกัดความก็คือ  คนที่  Corner หรือต้อนหุ้นเข้ามุมก็คือคนที่ควบคุมจำนวนหุ้นหรือหลักทรัพย์หรือโภคภัณฑ์ไว้มากพอที่จะทำให้สามารถปั่นหรือกำหนดราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์หรือโภคภัณฑ์นั้นได้  พูดง่าย ๆ  ถ้าหุ้นถูกต้อนเข้ามุมแล้ว  เราแทบจะทำให้ราคามันขึ้นไปได้สูงลิ่ว  อาจจะเป็น 10 เท่าได้ในเวลาอันสั้นโดยที่พื้นฐานของกิจการไม่ได้มีอะไรที่จะสนับสนุนราคาหรือมูลค่าหุ้นขนาดนั้น

   ประวัติศาสตร์ของการทำ Corner ที่ค่อนข้างจะ “บันลือโลก” ก็คือการทำ Corner ตลาดของแร่เงินของพี่น้องตระกูล Hunt ที่พยายามกวาดซื้อแร่เงินในตลาดโลกในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้น 1980  ซึ่งทำให้แร่เงินมีราคาเพิ่มขึ้นจาก 11 เหรียญต่อออนซ์เป็น 50 เหรียญต่อออนซ์  อย่างไรก็ตาม  สุดท้ายราคาแร่เงินก็ตกกลับไปสู่ราคาที่ต่ำกว่า 11 เหรียญภายในเวลา 2 เดือนอันเป็นผลจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎการใช้มาร์จินในการซื้อขายโภคภัณฑ์ของตลาด  ทำให้พี่น้องตระกูล Hunt ต้องล้มละลาย  หลังจากนั้นก็ยังมีกรณีของการ Corner ตลาดทองแดงและโภคภัณฑ์อื่น ๆ  รวมถึงการ Corner ตัวหุ้นในหลาย ๆ  ประเทศโดยเฉพาะที่เป็นตัวใหญ่และเป็นที่สนใจของสังคม  กรณีหนึ่งที่ดังมากก็คือการ Corner หุ้นโฟล์กสวาเกนในปี 2008 โดยบริษัท Porsche หรือที่บ้านเราเรียกปอร์เช่ ซึ่งทำให้หุ้นโฟล์กกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในเวลาสั้น ๆ  แต่ดีลนั้นก็ไม่สำเร็จและทำให้ Adolf Merckle นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในอุตสาหกรรมคนหนึ่งของเยอรมันต้องฆ่าตัวตายเนื่องจากไปชอร์ตหุ้นโฟล์กไว้มากและต้องขาดทุนมหาศาลเมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

   การ Corner หุ้นตัวเล็ก ๆ  นั้น  แน่นอน คงไม่เป็นข่าวหรือมีประวัติศาสตร์ให้เราศึกษา  แต่จากประสบการณ์ที่ผมพบในตลาดหุ้นไทยมานานนั้น  ผมคิดว่าการทำ Corner หรือ “ต้อน” หุ้นตัวเล็ก ๆ  หรือหุ้นที่มี Free Float หรือหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยแม้ว่าหุ้นอาจจะมีขนาดใหญ่  น่าจะมีการทำกันอยู่เรื่อย ๆ  โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นสดใสเป็นตลาดหุ้นกระทิงที่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยสนใจการเล่นหุ้นในตลาดมากเป็นพิเศษ   ผมลองคำนวณคร่าว ๆ  หลายครั้งก็พบว่าจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดของหุ้นตัวเล็กหรือมีหุ้นหมุนเวียนในตลาดต่ำนั้น  บางทีเงินเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาทก็สามารถ Corner หุ้นได้อย่างสบายมาก   และเมื่อคิดถึงขนาดของพอร์ตของนักเล่นหุ้นส่วนบุคคลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย  ๆ   กอร์ปกับการที่สามารถใช้มาร์จินซื้อหุ้นได้อีกเท่าตัว  รวมถึงการที่อาจจะมีการ “เล่นกันเป็นทีม” ของนักลงทุนหลายราย  การ Corner หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยจึงน่าจะทำได้ง่ายและน่าจะมีการทำกันไม่น้อย  หลักฐานก็คือ  หุ้นตัวเล็กที่มี Free Float ต่ำจำนวนมากมีค่า PE เป็นหลายสิบถึงร้อยเท่าและมี PB ที่สูงลิ่วทั้ง ๆ  ที่กิจการไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก

   กลยุทธ์ Corner หุ้นนั้น  ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ได้ทำเงินให้กับนักเล่นหุ้นจำนวนมาก  หลายคนกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุยังน้อย  เหตุผลที่ประสบความสำเร็จนั้น  แน่นอน  ส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือภาวะตลาดหุ้นที่สดใสและการที่คนไทยที่มีเงินเหลือไม่มีช่องทางการลงทุนที่ดีกว่าจึงนำมาลงทุนในตลาดหุ้น  แต่หุ้นที่ถูก Corner นั้น  ในที่สุดก็จะมีมูลค่าและราคาสูงตลอดไปไม่ได้และวันหนึ่งจะต้องตกลงมามาก  และนั่นคือวันที่จะต้องมีคนเสียหายขาดทุนหนัก  บางครั้งก็คือคนที่ทำ Corner เสียเองอย่างที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในประวัติศาสตร์

   ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  การทำ Corner นั้น  ผิดกฎหมายไทยหรือไม่?  ผมคงไม่สามารถตอบได้เนื่องจากไม่ใช่นักกฎหมาย  สิ่งที่ผมรู้ก็คือ  การที่จะจับหรือฟ้องร้องคนที่ทำ Corner นั้น  ผมคิดว่ายากมาก  ประเด็นก็คือ  ทุกคนมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นในตลาดโดยไม่ต้องมีหน้าที่อะไรยกเว้นซื้อเกิน 25% ของหุ้นทั้งหมดที่จะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด  แต่ข้อเท็จจริงก็คือหุ้นที่อยู่ในตลาดหรือ Free Float จริง ๆ  นั้นมักจะมีไม่ถึง 25% ด้วยซ้ำ  สิ่งที่ต้องทำเมื่อซื้อถึง 5% ก็แค่รายงาน  แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้อเสียอะไร  เพราะนั่นมักจะเป็นการ “ส่งสัญญาณที่ดี” ในการที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้น  ดังนั้น  เรื่องของ Corner นั้น  ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับหุ้นจำนวนมากและไม่มีใครจะทำอะไรได้มากนักตราบที่หุ้นในตลาดยังมีขนาดเล็กมากอยู่  ในบางครั้งหุ้นนั้นก็อาจจะถูก  Corner โดยไม่มี  “เจ้ามือ” ก็เป็นไปได้แต่เป็นผลการกระทำ “ร่วม” ของนักลงทุนหลาย ๆ คนที่อาจจะรู้จักกันดีหรือบางทีก็อาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ  แต่หุ้นขึ้น  ทุกฝ่ายก็มีความสุข  ส่วนการขายหุ้นเมื่อหุ้นมีราคาสูงขึ้นไปมากนั้นเองก็ไม่มีกฎอะไรที่จะห้ามหรือเป็นความผิด  ดังนั้น  คนที่ทำ Corner นั้น  ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะผิดอย่างไรถ้าเขาจะทยอยขายหุ้นออกไปจนหมดและทำกำไรมหาศาลตราบที่ยังมีคนซื้อหุ้นอยู่

   หน้าที่ของ Value Investor เองนั้น  ผมคิดว่าเราไม่ควรเข้าไปร่วมวงทำหรือก่อให้เกิด Corner ในหุ้นแต่ละตัว  เพราะราคาที่ไม่ใช่  “ธรรมชาติ”  นั้น  ในที่สุดก็ต้องลงมา  การทำนายหรือคาดการณ์ว่ามันกำลังขึ้นหรือลงเป็นเรื่องที่ยาก  เช่นเดียวกับการอดทนไม่ตอบสนองต่อความยั่วเย้าของราคาหุ้นที่กำลังถูกต้อนเข้ามุม  นี่ก็เป็นบททดสอบ VI ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า  เราจะเป็น VI ได้แค่ไหน?

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/26/1641
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 12, 2015, 08:08:52 pm

(http://www.uppic.org/image-F81E_566C1AA5.jpg)

Monday, 2 November 2015
 
  TPP กับหุ้น


    เรื่องของการเปิดเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศอื่นนั้น  เท่าที่ผ่านมาก็มักจะไม่เป็นประเด็นการโต้แย้งกันมากมายนัก  เหตุผลก็เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีข้อเสียอะไรกับคนไทยที่เป็นคนธรรมดามากนัก  แต่ข้อดีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจนั้นค่อนข้างชัดเจนกว่าในแง่ที่ว่าการค้าขายโดยเฉพาะการส่งออกจะมากขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกจะได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีการนำเข้าจากประเทศที่เป็นคู่สัญญากับเรา  ทำให้สินค้าของเราได้เปรียบคู่แข่งส่งผลให้สามารถส่งออกไปขายได้มากขึ้น  ในส่วนของการนำเข้าเองนั้น  ก็ดูเหมือนว่าเราก็อาจจะนำเข้าเท่าเดิม  เพียงแต่เปลี่ยนจากการนำเข้าจากประเทศอื่น  เราก็นำเข้าจากประเทศคู่สัญญาแทน  ดังนั้น  การทำสัญญาเปิดการค้าเสรีจึงเป็นสิ่งที่ให้ผลดีและไม่ค่อยจะมีอะไรเสียมากนัก  สถิติการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีสัญญากับเราก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการส่งออกไปประเทศอื่น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นการส่งออกรถยนต์ของไทยไปออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังมีสัญญาเปิดการค้าเสรี  นี่ยังไม่พูดถึงจีนและประเทศใน AEC ที่การค้าขายระหว่างกันเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเรามีข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างขวาง

   การพยายามเปิด “ตลาดเสรี” ของไทยนั้น  ต้องถือว่าเราทำมาตลอดในประวัติศาสตร์  ตั้งแต่สมัย “สุโขทัย” ถ้าเราเชื่อ “ศิลาจารึกหลักที่1” ที่ว่า… “ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว  เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย  ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า” และส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทยก็พบว่ารัฐไทยนั้นค่อนข้าง “เปิด” ในแง่ของการต้อนรับและค้าขายกับต่างชาติมาตลอด  ว่าที่จริงถ้าจะพูดว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในยุค 50-60 ปีหลังที่เติบโตขึ้นมามหาศาลนั้น  เกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญก็คือ  เราเป็นประเทศ “เปิด” ที่เป็นทางเลือกที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการ  “ย้ายฐานการผลิต”  จากประเทศของตนที่มีต้นทุนสูงกว่า  มาสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำและถูกจำกัดทางด้านการค้าจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาน้อยกว่า

   ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น  การ “เปิด” ประเทศของไทยดูเหมือนว่าจะลดน้อยลง  ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากภาวะทางการเมืองที่ทำให้ไทยไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่มีการโต้แย้งในสังคมได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมานั้น  ไทยได้มีสัญญาทางการค้าเสรีกับประเทศอื่นค่อนข้างมากอยู่แล้ว  ดังนั้น  ปัญหาที่เราจะเสียเปรียบคู่แข่งทางด้านการค้าที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซียที่อยู่สูงกว่าเราเล็กน้อย  และเวียตนามที่อยู่ต่ำกว่าเราเล็กน้อย  ก็ไม่มี  พูดง่าย ๆ  ถึงแม้เราจะห่างเหินจากการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศมานาน  เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก  แต่แล้ว  โดยไม่คาดคิด  กลุ่มการค้าเสรีกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า  TPP หรือ Trans-Pacific Partnership หรือข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคทรานส์แปซิฟิกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาก็กำลังเกิดขึ้นและประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม

   ความสำคัญของ TPP ก็คือ  มันประกอบด้วยประเทศขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลกคืออเมริกาและญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ  ริมมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน 12 ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 40% ของโลก  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับไทยและประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในเรื่องของการส่งออกก็คือ TPP มีอเมริกาอยู่  การเข้าร่วมใน TPP ก็หมายถึงการที่ได้เข้าถึงตลาดอเมริกาที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมหาศาล  ประเทศที่อยู่ใน TPP เมื่อส่งสินค้าเข้าอเมริกาต่อไปจะไม่เสียภาษีหรือเสียน้อยกว่าประเทศที่อยู่นอก TPP มาก  พูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ  เมื่อ TPP มีผลบังคับใช้  สินค้าไทยก็จะเสียเปรียบสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียมากรายการใหญ่ ๆ  เช่น   สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกจากไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียได้เพราะสินค้าไทยอาจจะต้องเสียภาษีถึง 17% ในขณะที่คู่แข่งไม่เสียภาษีเลย

   บางคนอาจจะเถียงว่าทุกวันนี้เราส่งออกไปอเมริกาไม่ได้มากมายนักเพียงแค่ 10% ต้น ๆ  ของสินค้าส่งออกไทยทั้งหมด  ดังนั้น  ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจจะไม่มากแม้ว่าไทยอาจจะไม่ได้อยู่ใน TPP แต่ถ้ามองลึกลงไปผมคิดว่าผลกระทบนั้นน่าจะสูงทีเดียว  ประเด็นแรกก็คือ  อเมริกานั้นเป็นประเทศ “ผู้นำเข้าตลอดกาล”  นั่นก็คือ  อเมริกานั้นจะนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกต่อเนื่องยาวนาน  หรือเป็นผู้นำเข้าสุทธิได้ไปเรื่อย ๆ  โดยไม่มีปัญหาเนื่องจากทุกประเทศต่างก็ต้องการเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรองของประเทศ  ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ  นั้นมักจะพยายามเป็นผู้ขายหรือผู้ส่งออกไม่อยากเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อเพื่อที่ว่าตนจะได้มีเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรอง  ดังนั้น  สหรัฐจึงเป็นดินแดนที่คนอยากจะค้าขายด้วย  เพราะขายแล้วมักได้เปรียบดุลการค้า  ซึ่งนั่นรวมถึงไทยและหลาย ๆ  ประเทศในเอเชีย  ดังนั้น  แม้จะขายให้อเมริกา 10%  แต่เราก็ได้เปรียบดุลการค้ามาก ไม่เหมือนขายกับประเทศอื่นที่บางทีเราเสียเปรียบ

   ประเด็นที่สองและอาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การได้ขายเข้าไปในตลาดอเมริกาได้มากกว่าคู่แข่งมากนั้น  จะทำให้บริษัทในมาเลเซียและเวียตนามมียอดขายที่สูงซึ่งจะก่อให้เกิด Economies of Scale ซึ่งก็คือทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตต่ำลง  และนั่นจะทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดอื่นนอกเหนือจากอเมริกาด้วย  ผลก็คือ ข้อแรก  สินค้าไทยจะส่งออกได้น้อยลงในตลาดอื่นด้วย  และข้อสองที่ตามมาก็คือ   บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ  ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าขายทั่วโลกต่างก็จะอยากเข้าไปลงทุนในเวียตนามและมาเลเซียมากขึ้นแทนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย  ดังนั้นการลงทุนในประเทศไทยก็จะน้อยลงและที่จะแย่ขึ้นไปอีกก็คือ  บริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยอยู่แล้วก็อาจจะย้ายฐานไปอยู่ในประเทศทั้งสอง  ตัวอย่างที่เห็นก็เช่น บริษัทซัมซุงที่ได้ย้ายโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จากไทยไปเวียตนามแล้ว  เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทที่ย้ายไปอยู่มาเลเซีย  ผลก็คือ  การจ้างงานและการส่งออกของไทยก็จะลดลงและจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่ใช่แค่ว่าเศรษฐกิจจะไม่โตขึ้นแต่อาจจะกลายเป็นติดลบก็เป็นได้

   ล่าสุดดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะประกาศแล้วว่าจะขอเข้าร่วม TPP และต่อไปฟิลิปปินส์ก็อาจจะตามมา  แต่ดูเหมือนว่าไทยจะยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เนื่องจากยังมีคนคัดค้านและระบบภายในประเทศของเราก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่พร้อมซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องกันมาน่าจะเกือบ 10 ปีมาแล้ว  สิ่งที่ไทยควรจะเข้าใจก็คือ  ประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมดนั้นต่างก็เป็นคู่แข่งกันหรือกำลังจะเป็นคู่แข่งกันในเกือบทุกอุตสาหกรรมในด้านของการส่งออกเพราะเราต่างก็มีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจที่คล้ายกันนั่นก็คือ  เราต่างก็อาศัยการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก  ในอดีตที่ผ่านมานั้น  มาเลเซียและไทยได้เปรียบเนื่องจากเรา  “เปิดประเทศ” และต้อนรับนักลงทุนต่างชาติมากกว่าเราจึงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อนบ้านใน AEC แต่ในขณะนี้ดูเหมือนว่าเราจะเริ่ม  “ล้าหลัง” ซึ่งถ้าเราไม่รีบปรับตัวเราก็อาจจะ  “แพ้”  สิ่งนี้ประกอบกับการที่ประชากรของเราแก่ตัวลงมากกว่าประเทศคู่แข่งมากทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเราถดถอยลงอย่างน่าใจหาย หลายปีมานี้เราน่าจะเติบโตช้าที่สุดในอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ  ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในอนาคตก็ดูเหมือนว่าเราจะยัง “รั้งท้าย” อยู่   ยิ่งถ้าเราไม่เข้าร่วม TPP เราก็อาจจะยิ่งถูก  “ทิ้ง”  ไว้ข้างหลัง  และไม่แน่ว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเราอาจจะกลายเป็น  “คนป่วยแห่งเอเซีย”  อย่างที่ครั้งหนึ่งฟิลิปปินส์เคยเป็นก็เป็นได้

   ที่พูดมาทั้งหมดนี้  ผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น  แต่อย่างไรก็เป็นข้อกังวลลึก ๆ  ในฐานะของนักลงทุนระยะยาวที่ผลตอบแทนและอนาคตภาพใหญ่ของการลงทุนผูกติดอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ  ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือในฐานะของคนไทยที่อย่างไรก็ยังต้องอยู่และตายในประเทศนี้  ผมก็หวังที่จะเห็นประเทศไทยที่ยังเติบโตและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  เพราะนั่นจะทำให้เป็นสังคมที่คนอยู่กันอย่างมีความสุข  สังคมที่เศรษฐกิจ “ถดถอย” นั้น  มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ  มากมายและจะหาความสงบได้ยาก  เพราะเศรษฐกิจและสังคมนั้น  จริง ๆ แล้วก็แทบเป็นเรื่องเดียวกันในโลกยุคปัจจุบัน


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/11/02/1644
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 30, 2015, 08:16:54 pm

(http://www.uppic.org/image-F81E_566C1AA5.jpg)

 Monday, 9 November 2015
นิสัยบัฟเฟตต์


   ถ้าจะพูดถึงคนที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากระดับโลกและจะเป็น  “ตำนาน” ที่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปอีกนานนั้น  แน่นอนว่าบัฟเฟตต์ต้องเป็นหนึ่งในนั้น  นิสัยหรือพฤติกรรมของคนที่อยู่ในระดับนี้ส่วนใหญ่ที่เราได้รับรู้ก็คือ  พวกเขามีชีวิตที่หรูหรา  อยู่ในสังคมของ “คนชั้นสูง”  มีความรู้สึกและวางตัวที่อาจจะเรียกว่า  “เย่อหยิ่ง”  และ “โอ้อวดตนเอง” เป็นต้น  แต่สำหรับบัฟเฟตต์เองแล้ว  เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  หรือถ้าจะมีก็น้อยกว่าคนอื่นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงมาก  ผมไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเป็นเพราะว่าบัฟเฟตต์เป็น  Value Investor และ VI นั้นโดยธรรมชาติมักจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนรวยกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้น  พอรวยแล้วก็ยังไม่ได้เปลี่ยนนิสัยแบบคนที่รวยจากอาชีพอื่น

   มาดูกันว่าบัฟเฟตต์มีนิสัยแบบไหนที่ค่อนข้างจะแปลกจากคนรวยและมีชื่อเสียงอื่น—และคนธรรมดา  บางทีนิสัยแบบบัฟเฟตต์นั้นอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด  และถ้าเป็นแบบนั้น  การเรียนรู้นิสัยบัฟเฟตต์ก็น่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนที่จะนำมาใช้

   นิสัยแรกที่ผมเห็นก็คือ  การให้ความรัก  นับถือ และเชื่อใจคนอื่นอย่างเต็มที่เมื่อเขาเข้าไปร่วมงานด้วย  นั่นคือ  เมื่อเขาตัดสินใจเข้าไปซื้อธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเบิร์กไชร์แล้ว  เขาก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานและการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องยกเว้นเฉพาะการลงทุนใหญ่ ๆ และการจัดสรรกำไรเท่านั้น  เขาจะให้ความรัก ความนับถือ  และเชื่อใจต่อคนหรือซีอีโอที่บริหารงานมากและดูเหมือนว่าจะไม่เคย “ตั้งคำถาม” อะไรกับการทำงานหรือตัดสินใจของพวกเขาเลย  สิ่งที่เขาบอกกับซีอีโอก็คือ  ให้พวกเขาคิดและทำเหมือนกับว่าพวกเขานั้นเป็นเจ้าของบริษัทเท่านั้น  การให้ความรัก  นับถือและเชื่อใจแก่คนอื่นนั้น  ทำให้บัฟเฟตต์ได้รับความรัก  ความนับถือและเชื่อใจตอบจากคนอื่นเท่า ๆ  กัน  เห็นได้จากการที่ผู้บริหารหรือซีอีโอของเบิร์กไชร์นั้นมักจะอยู่กับบัฟเฟตต์ไปตลอดไม่ไปไหนและบัฟเฟตต์เองก็แทบจะไม่เคยให้ใครออก  เขาบอกว่าระบบของเบิร์กไชร์นั้น  “ไม่มีการเกษียณ”  สำหรับซีอีโอ

   นิสัยที่สองที่แตกต่างจากคนอื่นของบัฟเฟตต์ก็คือ  ความ  “จงรักภักดี”  ที่มีต่อสิ่งรอบตัว  ที่สำคัญก็คือ  เมื่อบัฟเฟตต์ซื้อธุรกิจมาแล้ว  เขาก็จะเก็บรักษามันไว้  “ตลอดไป”  แม้ว่าหลายกิจการนั้นพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปแล้วเขาก็มักจะไม่ขายทิ้งเหมือนนักลงทุนอื่น  เขายังเก็บหุ้นไว้เพราะเขาอยู่กับมันมานานและรู้จักผู้บริหารเป็นอย่างดี  เขายินดีที่จะได้รับผลตอบแทนที่ลดลงและในที่สุดอาจจะล้มหายตายจากไป  ผมคิดว่าเขาคงคิดว่าเขาได้รับผลตอบแทนจากบริษัทมานานและมากพอแล้ว  ดังนั้น  ถ้าเขาจะเสียหายบ้างจากการที่ไม่ได้ขายมันไปก่อน  มันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก  นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว  ผมก็รู้สึกว่าบัฟเฟตต์นั้นชอบทำอะไรซ้ำ ๆ  เดิม ๆ  เช่น  เขาชอบกินอาหารเช่น  สเต็กร้านเดิม ๆ ดื่ม โค๊กแบบเดิม ๆ เป็นสิบ ๆ ปีอย่างไม่รู้เบื่อ  ดูเหมือนว่าเขาจะ “จงรักภักดี” ต่อสิ่งที่เขาคิดว่าดีอยู่แล้วมาก  ความคิดของเขาก็คือ  ไม่รู้จะ “เสี่ยง” ไปทำไมกับของใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าดีหรือไม่

   ความคิดที่อิสระและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก  นี่คือนิสัยอีกอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์  เขาไม่เคยทำตามคนอื่นหรือตามความคาดหวังของสังคม  เขาไม่เคยกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นคน “ตกยุค” เช่นในช่วงที่หุ้นไฮเท็คเติบโตเป็น “ฟองสบู่” ช่วงปีทศวรรษปี 1990 ถึง 2000 เขาเองก็ไม่สนใจลงทุนในหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากซึ่งทำให้การคาดการณ์รายได้และกำไรทำได้ยากมากและเขาเองก็ไม่รู้จักธุรกิจดีพอ  ผลงานการลงทุนของเขาจึงดูไม่ดีนักเมื่อเทียบกับคนที่ลงทุนในหุ้นไฮเท็คเหล่านั้น   เช่นเดียวกัน  ในบางช่วงการแข่งขันทางด้านการขายประกันภัยรุนแรงมากและทุกคนต่างก็ขายประกันในราคาที่  “ขาดทุน” เพื่อที่จะสร้างยอดขายให้เติบโตและทำกำไรในระยะสั้น  บัฟเฟตต์ปฎิเสธที่จะทำตาม   เขา “ยอม” ถูกมองเป็นบริษัทที่กำลัง “ถดถอย” ในขณะที่บริษัทอื่นโตขึ้น  แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป  ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คแตก  และบริษัทประกันที่ขายประกันราคาถูกเกินไปต้องขาดทุนหนัก  บัฟเฟตต์ก็กลับมามีผลงานที่โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม

   นิสัยที่สี่ของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขากำหนดขอบเขตและมาตรฐานของตนเองหรือพูดหยาบ ๆ  ก็คือ  เป็นตัวของตัวเองสูง  เขาไม่สนใจและไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทุกเรื่องหรือทุกอุตสาหกรรม  เพราะเขาเลือกเฉพาะอุตสาหกรรมและบริษัทที่เขารู้เท่านั้น  เขากำหนด Circle of Competent หรือขอบเขตความสามารถของเขาที่เขาจะทำได้ดีและเขาจะไม่ออกจากขอบเขตนี้   สิ่งที่บัฟเฟตต์ทำนั้น  เขาก็จะหาธุรกิจหรือบริษัทที่ดูได้ง่ายเข้าใจง่ายและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง  เขาพูดว่าเขาพยายามหารั้วเตี้ย ๆ ซักหนึ่งฟุตเพื่อที่ว่าเขาจะได้ข้ามมันไปง่าย ๆ   เขาไม่ต้องการรั้วสูง ๆ  เพื่อที่จะแสดงความสามารถในการกระโดดข้ามมัน  ดังนั้น  เราจึงเห็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้น  ส่วนมากจึงเป็นหุ้นของธุรกิจธรรมดามากเช่น บริษัทขายซ้อสมะเขือเทศ  ร้านเฟอร์นิเจอร์  ร้านขายเครื่องประดับเพชร  บริษัทรถไฟ  ธนาคาร และอื่น ๆ  ที่เข้าใจไม่ยากและไม่เห็นจะมีอะไรน่าตื่นเต้นในยุคที่เครื่องมือสื่อสารอย่างไอแพดเปลี่ยนรุ่นทุก 2- 3 ปีและมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ  เกิดขึ้นตลอดเวลา

   มาตรฐานที่บัฟเฟตต์ใช้เองนั้น  เขาบอกว่าเขาไม่สนใจมาตรฐานของสังคมหรือคนอื่น  เขาไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองตนเองอย่างไร  เขาแนะนำว่านักลงทุนควรที่จะมี  Inner Score Card หรือมาตรฐานที่อยู่ภายในใจของเรา  นั่นก็คือ  ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือสนใจว่าคนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร  เราควรที่จะกำหนดมาตรฐานของตนเองว่าเราตั้งเป้าไว้เหมาะสมและทำได้ตามเป้าหรือไม่  เช่น ถ้าเราคิดว่าเราควรทำผลตอบแทนการลงทุนได้ปีละ 12% ทบต้นโดยการลงทุนในหุ้นที่มีระดับความความเสี่ยงที่ยอมรับได้  เช่นต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัวและไม่มีหุ้นตัวใดที่มีสัดส่วนสูงเกิน  30%  ในกรณีแบบนี้   เราก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ  ไม่ใช่ว่าพอเห็นคนอื่นกำลังทำผลตอบแทนดีเยี่ยมกว่าเรา  เราก็พยายามไปเปรียบเทียบกับเขาเพราะกลัวว่าเราจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถเท่า  เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้น  กลยุทธ์และวิธีการต่าง ๆ  ก็จะรวนไปหมด  และเราก็อาจจะไม่มีความสุขในการลงทุนหรือทำงาน

   นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงและแปลกไปจากเพื่อนระดับเดียวกันของเขาก็คือ  บัฟเฟตต์นั้นแม้ว่าจะรวยเป็นอันดับ 1-3 ของโลกมานาน  แต่เขาเป็นคนที่มีความสมถะและประหยัดมาก  ดูเหมือนว่าเขาจะชอบผู้บริหารที่เน้นการลดต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก  เขาไม่ชอบความฟุ่มเฟือยในทุกกรณี  เขาไม่ชอบผู้บริหารที่กินเงินเดือนสูงมากโดยที่ไม่ได้อิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท  ตัวบัฟเฟตต์เองนั้นถ้าจำไม่ผิดเขารับเงินเดือนในฐานะของซีอีโอเบิร์กไชร์ปีละแค่ 100,000 เหรียญซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่ขนาดเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา  ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองนั้น  ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่บ้านเดิมที่อยู่มาหลายสิบปีที่เขาซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นเหรียญและน่าจะเป็นบ้านระดับชนชั้นกลาง  เขายังขับรถเองและใช้ชีวิตเหมือนคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่

   หลายคนคงเถียงในใจว่านิสัยส่วนตัวของบัฟเฟตต์นั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนของเขา  แต่ผมเองเชื่อว่านิสัยส่วนตัวกับการลงทุนนั้นคงจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่  ผมเองได้อ่านประวัติของ VI ระดับโลกและได้ศึกษา VI เด่น ๆ หลายคนในตลาดหุ้นไทยที่ผมรู้จัก  ผมพบว่านิสัยของพวกเขาหลาย ๆ  คนนั้น  มีบางส่วนคล้าย ๆ  กับของ บัฟเฟตต์  ที่กล่าวถึง  ผมคิดว่านิสัยบางอย่างนั้นเอื้ออำนวยให้คน ๆ  นั้นกลายเป็นนักลงทุนและเข้าใจและตัดสินใจในการลงทุนได้ดีขึ้น  นิสัยบางอย่างก็ขัดแย้งกับการเป็นนักลงทุนและทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ดีได้ยาก  ดังนั้น  ก่อนที่จะลงทุนโดยเฉพาะในแนว VI  เราควรวิเคราะห์นิสัยของตนเองก่อนว่า  เรามีแนวโน้มที่จะเป็น VI ที่ดีได้ไหม


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/11/09/1649
หัวข้อ: Re: ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เริ่มหัวข้อโดย: www.STS-AUDIO.com ที่ ธันวาคม 30, 2015, 08:21:11 pm

(http://www.uppic.org/image-F81E_566C1AA5.jpg)

 Monday, 16 November 2015
หุ้นมือถือ

    สัปดาห์ที่แล้วข่าวใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมและตลาดหุ้นก็คือ  การประมูลคลื่นความถี่วิทยุย่าน 1800 MHz เพื่อที่จะใช้กับโทรศัพท์มือถือระบบ 4G  เหตุผลแรกก็คือ  มันจะเป็น “ก้าวใหญ่” ของการพัฒนาระบบสื่อสารของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” และตามทันประเทศอื่น ๆ  หลังจากที่ไทยค่อนข้างจะล้าหลังมานาน  เหตุผลต่อมาก็คือ  การแข่งขันของผู้เข้าประมูลนั้นมีความจริงจังและรุนแรงซึ่งทำให้ตัวเลขเม็ดเงินของผู้ชนะ 2 ราย คือ AIS และ TRUE สูงมากกว่าที่เคยคือสูงถึงรายละประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่ออายุสิทธิการใช้ 15 ปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าที่คาดถึงเท่าตัว  และสุดท้ายสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทสื่อสารที่เข้าประมูล 4 ราย ที่ต่างก็ตกลงมาอย่างทั่วหน้าทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  โดยที่หุ้น AIS ตกลงมาประมาณ 6.6% ในวันที่กำลังประมูลและตัวเลขราคาการประมูลสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ  หุ้น TRUE ตกลงมาถึง 8% หุ้น DTAC ตกลงมา 8.2% และหุ้น JAS ซึ่งถึงแม้จะไม่ตกแต่ก็ได้ตกลงมาก่อนแล้วตั้งแต่วันเริ่มประมูลที่ประมาณ 6%  ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาค่าใบอนุญาตใช้คลื่นที่สูงมากนั้น  มีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทมาก  เพราะมันจะเป็นตัวที่บอกว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้จะมากหรือน้อยในอนาคต

   วันต่อมาหลังจากที่รู้ตัวผู้ชนะและผู้แพ้แล้ว  หุ้นของผู้ชนะคือ AIS ก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 1%  หุ้น TRUE นั้นอยู่ที่เดิม  ส่วนหุ้นผู้แพ้การประมูลคือ DTAC ปรับลดลงถึงประมาณ 7.6%  และหุ้น JAS ปรับลดลง 5.5%   การที่หุ้นของบริษัทผู้ชนะไม่ได้ปรับขึ้นและหุ้นผู้แพ้ปรับลดลงรุนแรงทั้ง ๆ  ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่แพงลิ่วนั้น  ถ้าจะตีความก็คือ  นักลงทุนมองว่าถึงจะเป็นผู้ชนะและจะสามารถขยายธุรกิจมือถือได้อย่างสะดวก  กำไรของบริษัทก็อาจจะไม่ดีนักเพราะต้นทุนของการให้บริการจะสูงในขณะที่รายได้ก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนักเนื่องจากถูก กสทช. บังคับไม่ให้เพิ่มค่าบริการจากเดิม  ส่วนในกรณีของผู้แพ้นั้น  คนก็มองว่าในอนาคต  ธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะ DTAC ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงทำให้กำไรลดลง  ในส่วนของ JAS เองนั้น  แม้ว่ายังไม่ได้ทำธุรกิจมือถือเลย  ดังนั้นจึงไม่ควรถูกกระทบอะไรทั้งสิ้น  แต่นักลงทุนก็คงมองว่า  ในอนาคตถ้ามี 4G แล้ว  ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตมีสายของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบเนื่องจากคนอาจจะหันไปใช้อินเตอร์เน็ตไร้สายของโทรศัพท์มือถือมากกว่า  ดังนั้น  หุ้น JAS จึงถูกกระทบแรงรอง ๆ  จาก DTAC

   บทเรียนของหุ้นมือถือในครั้งนี้ก็คือ  ข้อแรก  หุ้นของกิจการให้บริการสินค้าที่มีลักษณะเป็น  “โภคภัณฑ์” นั่นคือ  การแข่งขันของการขายสินค้าหรือบริการขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลักนั้น  มีความไม่แน่นอนสูงและหา “ผู้ชนะ” อย่าง  “ถาวร”  ได้ยาก  ช่วงเวลาที่กิจการจะมีผลประกอบการที่ดีน่าประทับใจก็คือช่วงที่ความต้องการสินค้าหรืออุปสงค์มีมากแต่ผู้ให้บริการหรืออุปทานมีจำกัด  ซึ่งในช่วงเวลาอย่างนั้น ราคาของสินค้าหรือบริการก็จะสูงกว่าต้นทุนมาก  แทบทุกบริษัทก็จะทำกำไรได้สูงกว่าปกติโดยที่แต่ละบริษัทนั้นไม่ต้องมีความสามารถพิเศษหรือเก่งกว่าคู่แข่งแต่อย่างใด  และนี่ก็คือเหตุผลที่บริษัทมือถือสามารถทำกำไรได้ดีมากและราคาหุ้นก็สูงขึ้นไปตามกัน  เพราะธุรกิจนี้มีผู้ให้บริการที่จำกัดเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่วิทยุของไทยที่ถูกยึดครองโดยหน่วยงานรัฐมานานและเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เอกชนเข้ามาใช้ได้ผ่านการประมูลคลื่นบางส่วนเมื่อไม่กี่ปีมานี้   แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ให้บริการหรือผู้ขายมีมากพอ  ราคาสินค้าและบริการก็จะลดลงจนทำให้กำไรลดลงจนเหลือแค่กำไรปกติ  เมื่อนั้น  หุ้นก็จะกลับมาสู่ราคาที่เหมาะสมซึ่งก็ไม่ควรจะสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของมัน

   บทเรียนอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  หุ้นที่ถูกควบคุมโดยรัฐและกฎเกณฑ์พิเศษนั้น  จะมีความเสี่ยงเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับที่บางทีก็คาดการณ์ได้ยากมาก  เหตุเพราะว่ากฎต่าง ๆ  สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในเวลา  “ข้ามคืน”  และผลกระทบนั้นบางครั้งสูงมากและทำให้กำไรลดลงไปมากได้  เหตุผลก็เพราะว่าบ่อยครั้ง  ธุรกิจเหล่านี้  เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมหรือกำหนดต้นทุนและราคาโดยคนไม่กี่คน  ไม่ได้กำหนดโดยตลาดเสรี  นี่ทำให้ต้นทุนและราคาไม่สะท้อนความเป็นจริง  และบางครั้งมันก็สูงไปมาก  แต่วันหนึ่งมันก็อาจจะถูกทำให้ลดต่ำลงโดยคนอีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ตลาดเสรีอีกเช่นกัน  ธุรกิจมือถือเองก็เป็นเช่นนั้น  และการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะกำลังเริ่มต้นขึ้นในกรณีของโทรศัพท์มือถือ

   เหตุผลสำคัญที่ทำให้หุ้นมือถือและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตกลงมาแรงนั้น  นาทีนี้คนก็ยังน่าจะมองไปที่เหตุการณ์เฉพาะเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงกว่าปกติมาก  นักลงทุนส่วนใหญ่ยังอาจจะไม่ได้คิดว่าถึงค่าประมูลจะไม่ได้สูงขนาดนั้น   มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจมือถือที่เคยอยู่อย่างสบายและทำกำไรดีมาก่อนเนื่องจากจำนวนผู้เล่นและคลื่นความถี่ที่จำกัด   ก่อนหน้านี้พวกเขาคิดว่าการประมูลน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทมือถือที่จะสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น  นักวิเคราะห์ต่างก็เชียร์ว่าถ้ามีการประมูลเมื่อไรก็จะเป็น  “ข่าวดี” โดยเฉพาะสำหรับหุ้นบางตัวแต่ก็ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับหุ้นตัวอื่น  พวกเขาไม่เคยวิเคราะห์  “โครงสร้างการแข่งขัน” ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่เป็นลบ  นั่นก็คือ  การแข่งขันที่มากขึ้นจะทำให้ราคาการให้บริการลดลง  ผลก็คือ  รายได้โดยรวมของอุตสาหกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายกับเพิ่มขึ้น  พูดง่าย ๆ  ผู้บริโภคได้บริการที่ดีขึ้นในราคาเท่าเดิมส่วนผู้ให้บริการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น  สถานการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตโดยที่ความต้องการของผู้บริโภคยังมีเท่าเดิม

   ถ้ามองว่าเรากำลังจะมีการประมูลใบอนุญาตอีกครั้งในเร็ว ๆ  นี้ในคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือกำลังการผลิตหรือการให้บริการก็จะเพิ่มขึ้นอีก  และถ้ามีผู้ให้บริการรายใหม่เช่น JAS ชนะด้วย  นี่ก็จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่อุปทาน “ล้น” และผู้เล่นรายใหม่ต้องเข้ามาแย่งลูกค้าจากรายเก่าด้วยการลดราคาลงแล้ว  ผมก็คิดว่าหุ้นมือถือทั้งกลุ่มก็จะถูกกระทบรุนแรงอีกครั้ง  การทำ  “สงครามราคา”  ก็จะรุนแรงมากเนื่องจากธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่สูงมากจากค่าธรรมเนียมและการลงทุนในอุปกรณ์ที่สูง  แต่ต้นทุนแปรผันคือค่าใช้จ่ายในการให้บริการอื่น ๆ  นั้นต่ำมากซึ่งทำให้ผู้เล่นที่ยังไม่มีลูกค้าสามารถลดราคาค่าบริการลงไปได้ต่ำมากเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าแทนที่จะปล่อยให้กำลังผลิตว่างอยู่โดยไม่มีการใช้

   เรื่องราวของการเปิดให้ใบอนุญาตดิจิตอลทีวีหลายสิบช่องเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานั้น  ปัจจุบันก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการแข่งขันของสถานีทีวีแล้วในแง่ที่บริษัทที่มีอยู่เดิมมีกำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับที่ผู้เล่นรายใหม่ต่างก็  “บาดเจ็บ” อย่างหนักเนื่องจากสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จากการขายโฆษณาทีวีของตนจะมากพอที่จะคุ้มกับต้นทุนการดำเนินงานของสถานี  ประเด็นก็คือ  ก่อนการประมูล  ผู้เล่นรายใหม่เองคิดว่าเขาจะสามารถขายโฆษณาได้ในจำนวนเวลาที่มีและในอัตราที่สูงระดับหนึ่งซึ่งในความคิดของเขาก็คือค่อนข้างจะต่ำมากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเห็นอยู่ในโครงสร้างการแข่งขันเดิม  ดังนั้น  เขาคิดว่าสิ่งที่ประมาณการไว้นั้นค่อนข้าง  “อนุรักษ์นิยม”  อยู่แล้ว  แต่หลังจากที่เริ่มเปิดดำเนินการกันทุกราย  เขากลับพบว่าสิ่งที่เขาคาดการณ์นั้นกลับผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง  ตัวเลขรายได้ต่ำกว่าที่คาดมาก  เหตุผลก็เพราะว่า  เมื่อทุกสถานีเปิดขึ้นมา  ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในแง่ที่แย่ลงมากและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  ธุรกิจทีวีอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเยี่ยมอีกต่อไปแล้ว  ดังนั้น  คนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจะต้อง “คิดใหม่”

   ผมเองก็ไม่มั่นใจเต็มร้อยว่าธุรกิจมือถือได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่  เหตุผลก็เพราะว่าผู้เล่นในธุรกิจเองนั้น  ถึงอาจจะมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังน้อยไม่เหมือนธุรกิจทีวี  นอกจากนั้น  เรื่องของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเองก็ดูเหมือนว่ายังอยู่ในช่วง  “ขาขึ้น”  เมื่อเทียบกับทีวีที่อาจจะเป็น “ขาลง”  อย่างไรก็ตาม  ผมเองเชื่อว่า  ธุรกิจมือถือเองนั้น  น่าจะถดถอยลงมากกว่าที่จะดีขึ้นนับจากนี้ไป

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/11/16/1653