ระดับของการฟัง
การฟังเป็นสื่อสำคัญยิ่งในการทำกิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวกับดนตรีเพราะดนตรีเป็นศิลปะซึ่งอาศัยเสียงเป็นสื่อโสตประสาทและการรับฟังจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากในการสื่อสารทางดนตรี การที่ผู้ฟังผู้หนึ่งผู้ใดจะได้รับ
อรรถรสจากการฟังมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการและระดับความเข้มข้นในการสามารถรับฟังของแต่ละท่านเอง
ระดับของการฟังของคนเราที่จะนำไปสู่ความซาบซึ้งขึ้นอยู่กับลักษณะและทัศนคติของผู้ฟังซึ่งจัดระดับการฟังดนตรีได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
(ณรุทธ์ สุทธจิตต์, 2535 : 1-3)
1. การฟังแบบผ่านหู (Passive Listening)
การฟังประเภทนี้เป็นการฟังโดยมิได้ตั้งใจหรือฟังแบบผ่าน ๆ หู การได้ยินเสียงดนตรีเป็นส่วนประกอบของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้นั้นกำลังกระทำอยู่ซึ่งเรากระทำกันอยู่ทั่วไปและเกือบตลอดเวลา เช่น การฟังเพลงตามห้างศูนย์การค้าขณะเดินเลือกซื้อสินค้าก็จะได้ยินเสียงเพลงลอยอยู่ในบรรยากาศ, ขณะรับประทานอาหารในร้านอาหารก็จะมีเสียงเพลงเพราะ ๆ เคล้าเข้าไประหว่างการรับประทานอาหารหรือการพูดคุย, ดนตรีประกอบในโฆษณา, ดนตรีประกอบรายการวิทยุ โทรทัศน์ หรือดนตรีที่ใช้เป็นแบ็คกราวด์ในภาพยนต์ต่าง ๆ เป็นต้น หรือหากจะเรียกว่าเป็นการได้ยินแบบไม่ได้ตั้งใจก็คงไม่ผิดเท่าใดนัก
การรับฟังดนตรีในระดับนี้จิตใจและความคิดของผู้ฟังไม่ได้มีใจจดจ่ออยู่กับเสียงดนตรีโดยตรงสักเท่าไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ฟังในระดับนี้จะได้รับความเพลิดเพลินใจสบายอารมณ์จากการซึมซาบไปกับบรรยากาศที่เสียงดนตรีนั้นมีส่วนสร้างขึ้น ซึ่งเป็นผลของเสียงดนตรีที่มีต่อสภาพแวดล้อมและจิตใจของมนุษย์
2. การฟังด้วยความตั้งใจ (Sensuous Listening)
การฟังดนตรีประเภทนี้เป็นระดับการฟังที่มีความตั้งใจฟังมากขึ้นกว่าระดับที่ 1 ผู้ฟังจะเกิดความนิยมชมชื่นกับเสียงดนตรีที่ไพเราะอาจเริ่มติดใจเสียงกระจ่างใสของโซปราโนแซกโซโฟน, เสียงสดใสของไวโอลิน, หรือเสียงดุดันของทรัมเป็ต ผู้ฟังระดับนี้ถ้าเขาชอบฟังเพลงประเภทใดก็มักให้ความสนใจต่อรายละเอียดของเพลงประเภทนั้นเป็นพิเศษ และส่วนมากเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาขั้นปานกลางไปจนถึงขั้นสูง และเป็นผู้ที่พร้อมจะได้รับความซาบซึ้งในคุณค่าทางด้านสุนทรียภาพ
3. การฟังอย่างเข้าถึงอารมณ์ (Emotional Listening)
การฟังดนตรีประเภทนี้ผู้ฟังมีจิตใจและความรู้สึกจดจ่อต่อเพลงที่ตนชอบฟังไปตามอารมณ์หรือมีปฏิกิริยาต่อเสียงดนตรีมากขึ้น ฟังเนื่องจากดนตรีทำให้สนใจและเกิดอารมณ์ร่วมขึ้นในจิตใจไปกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เขาคิดว่าเสียงเพลงสื่อออกมา เช่น เมื่อเรามีอารมณ์เศร้า มีอาการหม่นหมองปวดร้าวกระวนกระวายใจเพราะเรื่องใดเรื่องหนึ่งหากในช่วงเวลาขณะนั้นมีเสียงเพลงเข้ามาโดยเป็นเพลงซึ่งสื่ออารมณ์คล้ายคลึงกับอารมณ์ที่กำลังประสบอยู่ เราจะเปิดหูเปิดใจออกไปซึมซาบไปกับเสียงเพลงนั้น เป็นต้น
การฟังดนตรีประเภทนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยสามัญเช่นกันเพราะคนเราโดยทั่วไปก็มีอารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจแปรปรวนไปตามธรรมชาติของมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้นและมูลเหตุลึก ๆ ที่จูงใจให้เราติดใจฟังดนตรีด้วยระดับการฟังประเภทนี้ก็คือ ความรู้สึกพอใจ นอกจากนี้ยังเกิดจากความตั้งอกตั้งใจ มีจิตใจจดจ่อ มุ่งฟังส่วนที่เป็นอารมณ์สุข อารมณ์เศร้าของดนตรี ในแง่ที่มาสัมพันธ์กับอารมณ์ของตนเอง แต่ก็ยังมิได้มีความเข้าใจในดนตรีจนถึงขั้นซาบซึ้งอย่างแท้จริง
4. การฟังโดยรับรู้ความซาบซึ้ง (Perceptive Listening)
การฟังประเภทนี้เป็นการฟังที่ผู้ฟังเห็นสุนทรีย์หรือเห็นความงามขององค์ประกอบต่าง ๆ ของเสียงดนตรีโดยตรง ซึ่งอาศัยความมีสมาธิ และมีสภาพจิตใจ อารมณ์ที่สงบนิ่ง เป็นการเห็นความงามของการที่องค์ประกอบต่าง ๆ นั้นมาสัมพันธ์กันอย่างลงตัวอย่างมีศิลปะ องค์ประกอบพื้นฐานของดนตรี เช่น การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของแนวทำนอง จังหวะ เสียงประสาน และสีสันของเสียงซึ่งคีตกวีได้ทำการยักย้ายถ่ายเทและปรุงแต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ดนตรีได้โดยมีหลักการเป็นผู้ฟังดนตรีที่มีการศึกษาค้นคว้าสั่งสมประสบการณ์ในการฟังมาเป็นอย่างดี
ระดับการฟังที่กล่าวมา 4 ระดับข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการฟังของมนุษย์เราทั้งสิ้น โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของบทเพลงที่บุคคลผู้นั้นเลือกฟังและขึ้นอยู่กับการรับรู้ต่อเสียงดนตรี และความต้องการที่จะเข้าถึงสุนทรีย์ของดนตรีในระดับใดผู้นั้น การฟังในระดับที่ 1,2,และ3 ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นระดับการฟังที่เข้าใจได้ไม่ยากนักเนื่องจากไม่ต้องอาศัยความเข้าใจในกระบวนการ การคิดทางดนตรีและทักษะในเชิงดนตรีมากนักโดยมีความรู้เพียงระดับหนึ่งก็สามารถเข้าถึงได้ ส่วนการฟังดนตรีระดับที่ 4 นั้นต้องเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเสียงดนตรีโดยตรง ซึ่งประกอบไปด้วยแง่มุมและมิติต่าง ๆ จึงต้องอาศัยความตั้งใจ
และความต้องการที่จะฟัง สมาธิจริง ๆ และผู้สนใจต้องมีความเข้าใจกับส่วนต่าง ๆ ขององค์ประกอบทางดนตรีซึ่งประกอบด้วย เสียง แนวทำนอง จังหวะ เสียงประสาน และสีสันของเสียงอย่างพอสมควรเพื่อเป็นพื้นฐานในการฟังดนตรีให้เกิดความซาบซึ้ง
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ไขแสง ศุขวัฒนะ (2535 : 48-49) ยังได้ให้ความหมายและคำจำกัดความของการฟังไว้ดังนี้
การฟังดนตรีก็เหมือนกับการกระทำกิจกรรมอย่างอื่น ๆ คือ จะต้องมีลำดับหรือขั้นตอนเพื่อที่จะให้เกิดผลดีแก่ผู้กระทำ ขั้นตอนของการฟังดนตรีมีดังต่อไปนี้
- การได้ยิน (Hearing)
ในขั้นแรกผู้ฟังจะต้องได้ยินเสียงดนตรีเสียก่อน ครั้นต่อมาเมื่อเกิดความสนใจขึ้นก็จะผ่านไปถึงขึ้นที่สอง คือ ขั้น การฟัง
- การฟัง (Listening)
ในขั้นนี้ก็จะเป็นการวัดได้ว่า เขาเริ่มแบ่งความสนใจมาให้กับเสียงของดนตรีบ้างแล้ว และถ้าเขายังมีใจจดจ่อที่จะได้ยินต่อเนื่องกันไปก็หมายความว่า เขาได้สนใจที่จะฟังดนตรีแล้ว
- การคิด (Thinking)ขณะที่เขากำลังฟังดนตรีอยู่ เขาก็จะเริ่มคิดในเสียงดนตรีที่เขาได้ยินการคิดนี้ลึกซึ้งแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้ฟังดนตรีแต่ละคน
- การรู้สึก (Feeling)
การคิดย่อมนำมาซึ่งความรู้สึกหวั่นไหวทางอารมณ์ซึ่งเรียกว่า การรู้สึก การรู้สึกนี้เป็นขั้นตอนสำคัญของการฟังดนตรี ผู้ฟังจะเริ่มรู้คุณค่า (appreciate) บทเพลงที่ฟังมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการรู้สึกนี้
- การจำ (Remembering)
เป็นขั้นสุดท้ายของการฟังดนตรี เพลงบทใดถ้าผู้ฟังสนใจและได้ฟังซ้ำบ่อย ๆ ก็จะจำได้ เมื่อจำได้และยังสนใจอยากจะฟังเพลงนั้นอีกก็เท่ากับว่าผู้ฟังผู้นั้นได้รู้คุณค่าของเพลงบทนั้นแล้วเป็นอย่างดี
นิยามของคำว่า ผู้ฟังดนตรี (ไขแสง ศุขวัฒนะ ,2535 : 49)
ผู้ฟังดนตรี คือ ผู้พร้อมที่จะรับกระแสเสียงที่ผู้ขับร้องหรือเครื่องดนตรีของผู้บรรเลงเปล่งออกมา โดยผ่านขบวนการตีความหมายอย่างละเอียดลออจากบทเพลงของคีตกวี หรือจะกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ผู้ฟังเป็นผู้พร้อมที่จะรับฟังบทเพลงด้วยความชื่นชอบ
ความชื่นชอบหรือการรู้คุณค่าในสิ่งที่มีคุณค่าที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า appreciation ของ
ผู้ฟังคนหนึ่งคนใดจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับพื้นฐาน 3 ประการ คือ
1. การฟังมามาก และหาโอกาสที่จะฟังอยู่เรื่อย ๆ
2. การฝึกฝนในด้านรสนิยม (teste) ให้เป็นผู้มีรสนิยมในการฟังที่ดี
3. ความกระตือรือร้นที่จะศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง
KENNY G--- FOREVER IN LOVE
http://www.4shared.com/embed/79475834/f29b66e9