เดนตีสแกน เอ็กซเรย์ 3 มิติ ฝีมือคนไทยเครื่องแสกนคอมพิวเตอร์3มิติ


ตัวอย่างภาพที่สแกนได้จากเครื่อง ยืนยันความสำเร็จ จากต้นแบบในห้องปฏิบัติการจนสามารถนำไปใช้ได้จริง กับนวัตกรรม เดนตีสแกน หรือเครื่องเดนทัลซีที เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ สำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมทางช่องปากและงานทันตกรรม เครื่องแรกที่ผลิตโดยฝีมือนักวิจัยไทย
ที่นำร่องทดสอบใช้งานจริงมาแล้วกว่า 1 ปี สแกนคนไข้มาแล้วกว่า 140 ราย
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หัวหน้าโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์ และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) พัฒนาด้านฮาร์ดแวร์หรือตัวอุปกรณ์
เครื่องดังกล่าวพัฒนาโดยใช้เทคนิคลำแสงของรังสีเอกซ์แบบกรวย และตัวตรวจวัดรังสีแบบแฟลช พาแนล ดีเทคเตอร์ สามารถสแกนเก็บข้อมูลได้ 360 องศารอบตัว
คนไข้
แสดงข้อมูลได้ทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ ผ่านซอฟต์แวร์แสดงภาพ ทำให้การวินิจฉัยโรคบริเวณช่องปาก ขากรรไกร และกระดูกใบหน้ามีความแม่นยำมากขึ้น
สามารถใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนและผ่าตัดบริเวณช่องปาก สำหรับงานทันตกรรมรวมถึงวางแผนการจัดฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับต่ำกว่าการใช้เครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ 2 มิติทั่วไปอีกด้วย
ศ.ดร.ไพรัช บอกอีกว่า หลังจากต้นแบบประสบความสำเร็จ ได้ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยทางรังสีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
และเพื่อให้ทีมวิจัยมีความพร้อมที่จะพัฒนาเครื่องต้นแบบภาคสนาม คือ ติดตั้งและทดลองการใช้ในงานทางคลินิก ก่อนนำไปสู่การใช้งานจริง โครงการฯ จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทสุธาสินี เด็นทัล จำกัด ทดสอบการใช้งานทางคลินิกในมนุษย์
ปัจจุบันเครื่องดังกล่าวให้บริการอยู่ที่คลินิกนำร่องจำนวน 2 แห่ง คือที่ศูนย์ทันตกรรม เอสดีซี ย่านประชาชื่น และที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ด้าน ทพญ.ดร.สุธาสินี เกษมศานติ์ ผู้บริหารศูนย์ทันตกรรม เอสดีซี บริษัทสุธาสินี เด็นทัล จำกัด บอกว่า หลังจากทดสอบการใช้งาน พบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ที่มีราคากว่า 10 ล้านบาท ในขณะที่นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทยมีราคาประมาณ 5.5 ล้านบาท ช่วยในการวินิจฉัยหรือวางแผนการทำทันตกรรมได้ดีขึ้น คนไข้เสียค่าใช้จ่ายด้านการเอกซเรย์ลดลงกว่า 50 % แถมยังเสี่ยงต่อการรับรังสีน้อยลงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมาเยี่ยมชมการสาธิตการใช้งานของเครื่องดังกล่าวที่ศูนย์ทันตกรรม เอสดีซี บอกว่า จะมีการผลักดันให้มีการใช้งานเครื่องดังกล่าวในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
หากโรงพยาบาลใดสนใจ สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ.
ที่มา:
http://www.dailynews.co.th/technology/137541