ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้สักนิดนะครับ เพราะมีสมาชิกหลาย ๆ ท่านยังไม่ทราบว่าควรจัดหาพาวเวอร์อย่างไร ? ให้เหมาะสมกับตู้หรือดอกลำโพงที่ใช้งานอยู่
ค่าตัวเลขของดอกลำโพงมักจะเขียนกันหลากหลายรูปแบบ
1. W เป็นค่าที่บอกว่าตู้นั้นรองรับกำลังขับจากพาวเวอร์แอมป์ได้เท่าไหร่ ? ไม่ได้หมายถึงว่า W เยอะจะต้องดังมากกว่า W น้อยเสมอไปนะครับ W ในที่นี้ยังแบ่งเป็น
- Wrm เป็นค่าที่ทดสอบด้วยการป้อนกำลังขับแบบต่อเนื่องด้วยสัญญาณ Sine Wave
- W program มากกว่า Wrms หนึ่งเท่าตัว ใช้เพื่อเป็นตัวเลขอ้างอิงในการกำหนดค่าพารามิเตอร์ในระบบเสียง(เสียงร้อง เสียงดนตรี) ซึ่งความแรงของสัญญาณไม่ต่อเนื่อง เช่น ใช้ในการตั้งค่า Limiter
- Wpeak (Max.) มากกว่า W program อีกหนึ่งเท่าตัว เป็นค่า Max. ที่สามารถรองรับได้ อาจจะเพียงไม่กี่นาที หรือ วินาที เท่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำ
2. dB เป็นค่าความดังของตู้หรือดอกลำโพง ซึ่งจะมีรูปแบบการเขียนเช่น
- SPL xxdB 1W / 1m หรือ Sensitivity xxdB 1W / 1m
- Max. Peak SPL xxxdB
เพื่อความเข้าใจที่ง่ายยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างสเปคดอกหรือตู้ลำโพง เช่น
1. Power : 300Wrms / 1200W Peak
2. Sensitivity SPL : 98dB 1W/1m
1. หมายความว่าตู้ลำโพงใบนี้รองรับกำลังขับได้ 300W แบบต่อเนื่อง และได้สูงสุด (เพียงชั่วครั้งชั่วคราว) ได้ 1200W
2. หมายความว่าเมื่อเราขับตู้ลำโพงใบนี้ด้วยกำลังขับจากแอมป์ 1W ตู้จะทำเสียงออกมาได้ดัง 98dB ที่ระยะห่างจากตู้ 1 ม.
ถามว่าแล้วดอกหรือตู้ใบนี้จะดังได้เต็มที่แค่ไหน?
ก็ใช้สูตรคำนวณได้ดังนี้
SPL rms = (10*(log RMS power)) + 1W/1m rating = (10* (log300))+98 = 122.77dB
SPL Peak = (10*(log Peak power)) + 1W/1m rating = (10* (log1200))+98 = 128.79dB
ดังนั้นการพิจารณาเลือกพาวเวอร์แอมป์ให้เหมาะกับตู้ หรือ ดอกลำโพง จึงควรจะให้มีกำลังขับมากกว่า หรือไม่น้อยกว่า Wrms ของตู้หรือดอกลำโพงที่เราใช้งานอยู่ครับ ขึ้นอยู่กับว่าท่านต้องการรีดความสามารถของดอกหรือตู้ลำโพงออกมาแค่ไหน?
เพราะในงานดนตรี ซึ่งแอมปิจูดหรือความแรงของสัญญาณไม่คงที่ตลอดเวลา ดอกลำโพงสามารถรับกำลังขับได้ถึงสองเท่าตัวของ Wrms ซึ่งก็คือ W program ได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่เกิดความเสียหาย (ถ้าผู้ขายไม่บิดเบือนตัวเลขเพื่อผลทางการค้านะครับ)
