เปิดปัดฝุ่น NPE GM-750 ก็เลยถ่ายรูปมาให้เพื่อนสมาชิกได้ดูภายในกันครับ
NPE GM-750 ตัวนี้เห็นเพื่อนสมาชิกในเว็บขายก็สะดุดตาตรงมีบาลานซ์ไมค์มาด้วย ซึ่งจากการที่ได้ใช้รุ่นพี่คือรุ่น FET-XXX จะมีปัญหานิดๆ เวลาใช้สายไมค์ยาวมีเสียงฮัม ภายหลังใช้มิกซ์ที่มีบาลานซ์ไมค์เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างจึงอยากได้เพาเวอร์มิกซ์ที่มีบาลานซ์ไมค์แต่ก็ยังชอบความถึกทนของเอ็นพีอี นี่แหละครับถึงสะดุดตาที่ภาคปรีไมค์บาลานซ์ *-* จากการใช้งานก็ถือว่าเสียงดีชอบครับติดนิดเดียวขุมพลังน้อยไปนิด 625 วัตต์@ 2 โอห์ม แต่มิใช่ปัญหาใหญ่เพราะสามารถพ่วงภาคปรีไปเพาเวอร์แท่นอื่นได้ เปิดเครื่องออกมายิ่งรักครับเพราะว่าภายในดูดีมากการจัดวางอุปกรณ์จุดเชื่อมต่อไม่ได้บัดกรีใช้ซอกเก็ทง่ายต่อการซ่อมบำรุง
หน้าตาโดยรวมก็ไม่ต่างจากรุ่นอื่นมากนัก รุ่นนี้ไฟแสดงผลใช้หลอด LED นะครับโดยส่วนตัวชอบเข็มมากกว่าดูคลาสิคดี

ไมค์อินพุท 4 ช่อง ไลน์สเตอริโอ 4 หรือเป็นโมโน 2 ช่องนั้นเองครับ ที่เห็นเป็นสเตอริโอนั้นจริงแล้ววงจรภายในก็รวมเป็นโมโนอยู่ดีนะครับ (อาจารย์หลายท่านทราบดีแล้วมิได้มีเจตนาเอามะพร้าวมาขายสวนนะครับ) มีปุ่มเกนปรับสัญญาณเข้าให้เหมาะสม ปรับโทนเสียงได้ 2 อย่าง/ช่องคือ LOW/HI และปรับความดัง

มีไฟ LED เพื่อบอกว่าตอนนี้สัญญาณเข้ามาแรงเกินแล้วนะลดเกนด้วยไม่งั้นเสียงแตกพร่า ไม่ไพเราะ... พลีสสส

EQ และ MASTER รุ่นพี่จะเรียงไว้แนวนอนส่วนรุ่นน้องขอเรียงแนวตั้งละกัน EQ 3 แบนด์ LOW/MID/HI

ด้านหลัง แท็บต่อลำโพงมีทั้งแบบฟูลเรนจ์และฮอร์น ระบบป้องกันใช้ระบบเดิมที่ใช้ง่ายซึ่งก็คือฟิวส์ ฟิวส์นั้นมีสองตัวต่างกันนะครับ เมื่อมีการเปลี่ยนฟิวส์โปรดใช้ให้ตรง
-ฟิวส์สำหรับไฟ AC เป็นฟิวส์แบบขาดช้า 10 แอมป์
-ฟิวส์สำหรับลำโพงแบบขาดเร็ว 20 แอมป์

พัดลม ใช้ของดีครับ SUNON ยี่ห้อนี้ใช้ทนทานนานปี

ภาพภายในโดยรวมการจัดวางอุปกรณ์ตำแหน่งต่างๆ เป็นสัดส่วนดีครับ (ก็ไม่เห็นต่างจากรุ่นอื่น 555) ลมเข้าเครื่องด้านข้างนะครับลมจะผ่านหม้อแปลงและแผงไดรฟ์แล้วผ่านมอสเฟต เย็นหลายที่ทั้งหม้อแปลงและแผงไดรฟ์เพิ่มเปอร์เซ็นความทนทานขึ้นมาอีกหน่อย

สวิตซ์ไฟใช้ตัวซีคร่อมไว้เวลาเปิดปิดจะได้ไม่กระชากตุบตับ บางทีผมก็สับสนนะครับตัวซีแต่มีค่าโอห์มด้วย หากเป็นตัวอาร์รบกวนอาจารย์ทั้งหลายให้ข้อมูลด้วยนะครับผมจะได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

ขุมพลัง ใช้รุ่นเดียวกันกับ GL-725 1450VA
52-0-52 โวลต์สำหรับภาคขยายและ
20-0-20 โวลต์สำหรับภาคปรี/รีเลย์/วียู

วงจรเร็คติไฟเออร์ผ่านไดโอดบริดจ์แล้วกรองด้วยตัวซีจากนั้นมาผ่านไอซี 7815/7915 อีกครั้งเพื่อให้ได้ไฟ +-15 โวลต์ ในส่วนนี้ใช้เลี้ยงวงจรหลายส่วนครับ ทั้งภาคปรีไมค์/ไลน์ วียูมิเตอร์ และรีเลย์

ภาคปรีไมค์ชอบตรงนี้แหละครับ บาลานซ์ไมค์ อิอิ

ซอกเก็ทการเชื่อมต่อแต่ละช่องใช้สายแพ ดูมีมาตรฐานดีครับ

มีแผ่นเหล็กไว้กันการรบกวนจากภาคอื่นๆ

ไดรฟ์ /ฟิวส์

ตัวเก็บประจุค่า 80V 10000 uf ทั้งหมด 4 ตัว

ไดรฟ์รุ่นนี้ออกแบบให้ภาคจ่ายไฟ รีเลย์อยู่รวมกันทั้งหมด

รีเลย์ตัดต่อลำโพงค่า 20 A โดยส่วนตัวคิดว่าในส่วนของวงจรป้องกันน่าจะอยู่ที่วงจรวียูเพราะตรงนี้เห็นมีแต่รีเลย์อย่างเดียว ผิดถูกขออภัยครับ

ภาคไดรฟ์เล็กนิดเดียว นิดเดียวก็เสียวได้ 555 L โช้คไม่ใส่นะครับ ใช้สายไฟต่อตรงไปเลย

แผ่นขนานเอาท์พุทออกแบบมาดีครับดูสวยงาม

ตัวต้านทานและตัวเก็บประจุต่างๆ ที่วงจรขนานมอสเฟต
R ขาเดรน ค่า 0.47 โอห์ม 7 วัตต์
R ขาเก็ท ค่า 470 โอห์ม (ตอนแรกเบลออ่านค่าผิดไม่มีอาจารย์ทักท้วงเลย อิอิ)
C คร่อมขา เก็ท/ซอร์ส ค่า 22/500
C คร่อมขา ซอร์ส/กราวน์ ค่า ... ดูไม่ออกจริงๆ ครับ อิอิ

เอาท์พุทมอสเฟตเบอร์ 10P/N20 รวมทั้งหมด 6 คู่

N บนซิงค์ไม่ใช่รอยแผลเป็นแฮร์รีพอตเตอร์นะครับ ช่างเอาดินสอเขียนไว้เวลาประกอบจะได้ไม่หลง

C กรองความถี่สูงสำหรับฮอร์น ไฮพาสฟิลเตอร์หรือโลคัทฟิลเตอร์ตัดความถี่ที่กี่เฮิร์ตมิทราบครับ ค่า 22 uf เทคนิคนี้ใช้มายาวนานแสดงว่าง่ายแต่ใช้ได้จริงจึงไม่เปลี่ยนแปลง อิอิ รุ่นนี้ทำมาดีครับที่แท็บต่อลำโพงใช้แผ่นปรินต์ด้วยดูมีระดับขึ้นมา

จบแล้วครับผม