Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



 Tuesday, 29 September 2015
  เรื่องเหล็กเหล็ก(อีกแระ)

   และแล้วเรื่องที่คนในแวดวงการเงินการธนาคารจับตากันมานานก็ “ระเบิด” ขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั่นก็คือ  การประกาศหยุดการชำระหนี้ของบริษัทผลิตเหล็ก “ต้นน้ำ” SSI UK ประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีหรือ SSI เทคโอเวอร์หรือซื้อมาจากบริษัททาทาสตีลของอินเดียเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ธนาคารที่ปล่อยกู้เงินจำนวนรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาทให้กับกลุ่ม SSI ประกอบด้วยแบงค์ไทยพาณิชย์ กรุงไทย และทิสโก้ ต่างก็ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเป็นจำนวนมาก  ราคาหุ้นของทั้งสามธนาคารและ SSI ปรับตัวลง  แม้ว่าจะไม่มากนัก  แต่นี่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าตลาดได้รับรู้สถานการณ์นี้มาก่อนเห็นได้จากการที่หุ้นทั้ง 4 ตัวนี้ต่างก็  Underperform หรือหุ้นปรับตัวแย่กว่าคู่แข่งหรือตลาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว  ผมเองได้ติดตามกรณีการซื้อกิจการและการปล่อยกู้นี้มาตั้งแต่แรกแบบห่าง ๆ  และก็คิดอยู่ในใจว่าในที่สุดมันอาจจะ  “ไปไม่รอด” และก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปลงทุนในหุ้นทุกตัวดังกล่าว    การที่ผมคิดอย่างนั้นก็เพราะว่าผมมีประสบการณ์ที่เลวร้ายกับธุรกิจเหล็กมาตั้งแต่สมัยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่บริษัทผลิตเหล็กหลาย ๆ  บริษัทต่างก็  “ล้มละลาย” หลังจากกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุนสร้างโรงงานที่ใหญ่โตไม่นาน  ว่าที่จริงโรงงานใหม่ที่สร้างนั้นแทบจะยังไม่ได้เปิดใช้บริษัทก็มีปัญหาแล้ว  กรณีของ SSI ครั้งนี้นั้น  สุดท้ายแล้วก็แทบจะเหมือนกับกรณีเหล็กยุคก่อนซึ่งผมยังพอจำความได้ประมาณดังต่อไปนี้

   ประเด็นแรกก็คือ  พฤติกรรมหรือแนวทางในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินนั้น  ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักนั่นก็คือ  มีคนอยากปล่อยกู้โดยเฉพาะให้กับโครงการใหญ่ ๆ  ที่ต้องการเงินกู้วงเงินสูงมาก ๆ  และเป็น  “เมกาโปรเจ็คท์” ที่มีความซับซ้อนและอาจจะต้องการความเป็น “มือโปร” สูงมาก  ดูเหมือนว่าคนที่ทำดีล “Syndicated Loan” หรือเงินกู้ที่มีวงเงินสูงเกินกว่าสถาบันการเงินเดียวจะปล่อยกู้ไหวนั้นจะมีความภูมิใจและอยากทำมันให้ “สำเร็จ” คือเป็น  “ผู้ชนะ”  ได้เป็นผู้นำในการปล่อยกู้  ดังนั้น  คนในกลุ่มนี้ในทุกสถาบันการเงินต่างก็พยายามเสนอตัวเป็นคนจัดการและปล่อยกู้ให้กับโครงการ  ประสบการณ์ของผมเองนั้นพบว่าหลายครั้งนั้นโครงการที่ขอกู้ไม่ “Sound” หรือไม่ดีพอที่จะให้เงินกู้เนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ  รวมถึงผลประกอบการ  ฐานะทางการเงิน ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเรื่องอื่น ๆ  อีกร้อยแปด  ส่วนตัวผมเองนั้น  ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง บ่อยครั้งก็ไม่เห็นด้วยแต่ก็มักจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้  เหตุผลก็เพราะว่าผมเป็นเสียงส่วนน้อยมาก  พนักงานหรือกรรมการคนอื่นต่างก็มักจะสนับสนุนทำให้บางครั้งผมก็  “ไม่อยากพูดอะไรมาก”  เพราะธรรมเนียมไทยนั้นบอกว่า  “หมูเขาจะหาม  อย่าเอาคานเข้าไปสอด”  และนั่นทำให้โครงการใหญ่ซึ่งรวมถึงโครงการเหล็กหลายโครงการได้รับเงินกู้มากมายแม้ว่าจะมีความเสี่ยงมาก

   ประเด็นที่สองนั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าของบริษัทที่ทำโครงการ   ถ้าถามว่าเขารู้ไหมว่าโครงการนั้นจริง ๆ แล้วไม่ดีพอที่จะทำ  คำตอบอาจจะเป็นว่าเขาก็รู้  แต่ที่ทำนั้นเป็นเพราะ “ความจำเป็น” ที่จะต้องทำเนื่องจากภาวะปัจจุบันตอนนั้น)  ถ้าไม่ทำก็ “ตาย”  เนื่องจากฐานะการแข่งขันหรือการทำธุรกิจของบริษัทนั้นถ้าไม่ขยายก็จะสู้กับคู่แข่งที่ใหญ่โตหรือ “กำลังจะขยาย”  ไม่ได้   ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ถ้าไม่ทำก็จะตายวันนี้  ถ้าทำอาจจะรอด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สถาบันการเงินหลายแห่ง  “ต่างก็มาเสนอเงินกู้ให้” ทั้ง ๆ  ที่บางทีบริษัทเองไม่ต้องการ  ดังนั้น  สำหรับบริษัทเองแล้ว  การทำโครงการใหญ่ ๆ  ขึ้นมานั้น  ความเสี่ยงอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตนเองมากนัก  บริษัทมีแต่  “ดีขึ้น”  หรือ  “โตขึ้น”  ผลตอบแทนส่วนตัวเองสูงขึ้นในกรณีที่โครงการประสบความสำเร็จ  แต่ในกรณีที่ล้มเหลว  ความเสียหายส่วนตัวก็อาจจะไม่มากนัก  บริษัทอาจจะต้องเข้าสู่การ  “ฟื้นฟูกิจการ” แต่หลังจากนั้นก็มีโอกาสที่จะสำเร็จและบริษัทโตขึ้นไปอีก  ความเสียหายจริง ๆ  นั้นน่าจะเป็นเรื่องของคนปล่อยกู้  เจ้าของบริษัทเองนั้นยังไงก็จะยังบริหารบริษัทอยู่และได้ได้ผลตอบแทนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  เผลอ ๆ  ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้ลดลงด้วยซ้ำ  เข้าทำนอง  “ถ้าดี  ผมได้  ถ้าแย่คุณเสีย”

   ประเด็นที่สามเป็นเรื่องของข้อมูลการวิเคราะห์โครงการและสินเชื่อหรือ  “เหตุผลในการปล่อยกู้”  นี่ก็เป็นประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมาตลอด  คนที่วิเคราะห์และนำเสนอนั้น  หลายครั้งดูเหมือนว่าจะตั้งต้นจากข้อสรุปว่าจะปล่อยสินเชื่อก่อน  เสร็จแล้วก็พยายามหาข้อมูลหรือทำข้อเสนอที่จะสนับสนุน  ซึ่งโดยหลักแล้วก็ต้องพยายามทำประมาณการทางการเงินที่ทำให้ธุรกิจมีกำไรและมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น   การคาดการณ์ที่สำคัญก็คือยอดขายและมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายของพวกเขานั้นมักจะมองโลกในแง่ดีหรือ  “โลกสวย”  ซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรดีและจ่ายคืนหนี้ได้อย่างสบาย  แต่ในกรณีที่  “เลวร้าย”  ซึ่งผมก็มักจะเห็นว่าไม่เลวร้ายจริง  บริษัทก็จะยังอยู่ได้และจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้แม้ว่าในบางครั้งอาจจะต้องเลื่อนตารางการชำระหนี้คืนออกไปบ้างแต่ดอกเบี้ยนั้นจะ “จ่ายได้เสมอ”   ส่วนเหตุผลที่ใช้ในการ “ตั้งสมมุติฐาน” นั้น  นอกจากการคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมที่ “สดใส” แล้ว  บ่อยครั้งก็มักจะรวมไปถึงการ  “Synergies”  ระหว่างธุรกิจเดิมของบริษัทกับโครงการใหม่เอาไว้ด้วย  นั่นก็คือ  โครงการใหม่นั้นจะช่วย “เสริมทางธุรกิจ” กับธุรกิจเดิมเช่น  ทำให้ต้นทุนถูกลงและ/หรือทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น  สรุปว่า  โครงการใหม่ที่ขอกู้เงินก้อนใหญ่นั้นมีความเป็นไปได้และ  “ความเสี่ยงต่ำ” ในมุมของเจ้าหนี้  เหนือสิ่งอื่นใด  “หลักประกันคุ้ม” และมีทุน “ส่วนของผู้ถือหุ้น” เพิ่มด้วย

   ถ้าถามผมว่าเหตุการณ์หลังจากการปล่อยกู้แล้วเป็นอย่างไร  คำตอบก็คือ  ไม่ใคร่มีอะไรที่เหมือนกับสิ่งที่นำเสนอ  สถานการณ์ของอุตสาหกรรมมักจะเลวร้ายลง  อย่าลืมว่า  อุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” นั้นแปลว่า  เมื่อเวลายิ่งผ่านไป  อุตสาหกรรมก็จะยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ  ถ้าโชคดีก็คือ  อาจจะมีปีที่ดีขึ้นบ้างชั่วคราว  สั้น ๆ  ปีสองปี  หลังจากนั้นก็จะตกลงไปใหม่  ในกรณีที่เลวร้าย  อุตสาหกรรมแย่ลงหนักอาจจะเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ  โครงการก็แทบจะมีปัญหาทันทีตั้งแต่เบิกเงินกู้ยังไม่หมด   ประมาณการและการคาดการณ์ทั้งหลาย  “ผิดไปจากที่คาด”  เนื่องจากเหตุผลร้อยแปด  เช่น การผลิตมีปัญหา  การเงินติดขัดเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนและเงินทุนส่วนของเจ้าของไม่มาตามที่สัญญาไว้  มีการทุ่มตลาดสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนที่มีกำลังผลิตเหลือล้นและต้นทุนต่ำ ทำให้ราคาขายต่ำกว่าต้นทุน  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้  ดังนั้น  จำเป็นต้อง  “ปรับโครงสร้างหนี้” เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียหรือ NPL ซึ่งจะกระทบกับสถาบันการเงิน  แต่ถ้าทำแล้วก็ยัง “ไม่รอด”  สุดท้ายก็ต้อง  “เข้าแผนฟื้นฟู” ซึ่งจะเป็นหนทางสุดท้าย

   ผมได้พูดถึงประสบการณ์ “ในอดีต”  แต่ก็คิดว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักแม้ว่าผมจะห่างจากวงการมานาน  เหตุผลก็เพราะว่าสิ่งที่ผมเห็นนั้นมันเป็นเรื่องของ  “จิตวิทยา”  ของคนที่คงไม่เปลี่ยนไปง่ายนัก  กระบวนการการปล่อยเงินกู้นั้นก็คงคล้าย ๆ  กับการเล่นหุ้น  คนเคยเจอประสบการณ์เก็งกำไร  ปั่นหุ้น  และขาดทุนหนักมาแล้ว  เวลาผ่านไป 10-20 ปี  คนก็กลับมาทำอย่างเดิมและขาดทุนหนักเหมือนเดิม  การปล่อยกู้โครงการใหญ่ก็คงไม่ต่างกัน  คนที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้นั้นจะต้องเป็นคนที่มีจิตใจที่ “กล้าหาญ”  พร้อมที่จะปฏิเสธ “ความเห็นร่วม” ของคนที่มี “แรงจูงใจร่วม”แต่เป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุผล  ลึก ๆ  แล้วผมคิดว่าบางทีคนปล่อยกู้ก็อาจจะคิดและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลแล้ว  เพียงแต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าการปล่อยสินเชื่อนั้นไม่เหมือนกับการลงทุนซื้อหุ้น  การปล่อยสินเชื่อนั้น  ถ้าคิดถูกคุณก็แค่ได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนซึ่งบางทีก็ต่ำมาก  แต่ถ้าผิดคุณก็ขาดทุนหนัก  เงินกู้แทบเป็นศูนย์  ดังนั้น  ถ้าไม่ดีจริงหรือมีความเสี่ยงสูง  จะปล่อยไปทำไม?  ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  อย่างน้อยถ้าดี  เราก็อาจจะได้กำไรมหาศาลอาจจะหลายร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ถ้าผิด เราก็แค่ขาดทุน 100% ในหุ้นตัวนั้น  ดังนั้น  การคิดจะต้องไม่เหมือนกัน

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/09/29/1623


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 5 October 2015
ลงทุนในตลาด Sideways 

    ตลาดหุ้นไทยนับจากสิ้นปีที่แล้วดูเหมือนว่าจะ “ดูไม่ดี” เลย   ดัชนีตลาดหุ้นปิดตลาดสิ้นปี 2557 ที่ประมาณ 1,498 จุด ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2558 ดัชนีตกลงมาเหลือ 1,346 จุด หรือตกลงมาประมาณ 10% หลายคนอาจจะมองว่านี่คือ “ตลาดหมี” ที่ตลาดหุ้นตกลงมาต่อเนื่องยาวนาน  แต่ผมเองคิดว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะเป็นตลาดหมีมองไปข้างหน้าอีกหลายปีนั้นน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก  เป็นไปได้มากกว่าที่ในอีกซัก 5 ปีข้างหน้านั้น  ตลาดน่าจะเป็น  ตลาด “Sideways” หรือตลาดที่ดัชนีหุ้น  “ไม่ไปไหนยาวนาน” แม้ว่าระหว่างนั้นหุ้นก็อาจจะ “ตกลงมาแรง” และ “ขึ้นไปแรง” เป็นช่วง ๆ 

   เหตุผลที่ผมเชื่ออย่างนั้นเป็นเพราะว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมายาวนานหลายปีซึ่งถือว่าเป็นตลาดหุ้น “กระทิง” โดยที่การปรับตัวขึ้นนั้นมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ  ประการแรกก็คือ  กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้น  ในระยะประมาณ 6 ปี จากปี 2008  ถึงสิ้นปีที่แล้ว  กำไรเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึงปีละเกือบ 15%  (ส่วนสำคัญมาจากการที่ฐานของกำไรที่ต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาและอีกส่วนหนึ่งมาจากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% มาที่ 20%)  และประการที่สองก็คือ  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากประมาณ 7 เท่าเป็น 17.8 เท่า นั่นทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 450 จุด เป็น 1,498 จุด หรือตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นถึงปีละ 22% โดยเฉลี่ยแบบทบต้นในเวลา 6 ปี  และนั่นทำให้ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยขึ้นมาถึงจุดที่จะไปต่อได้ยากเนื่องจากเหตุผล 2 ประการเช่นกันนั่นก็คือ  ข้อแรก  กำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะโตขึ้นน้อยลงมากนับจากนั้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มจะโตช้าลงมาก  โดยที่ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้าผมคิดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนอาจจะโตได้ปีละไม่เกิน 10% ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่น่าจะโตช้าลง  “อย่างถาวร”   และข้อสอง  ค่า PE ของตลาดเองที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็น่าจะต้องปรับตัวลงสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ผมคิดว่าน่าจะไม่เกิน 10 เท่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

   ผลของการที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตเพียง 10% ต่อปี  และค่า PE ปรับตัวลงมาเหลือ 10 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นจะทำให้ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,350 จุด  ซึ่งต่ำกว่า 1,498 จุดประมาณ 10%  ดังนั้น  ผมจึงสรุปว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะเข้าสู่  “ตลาด Sideways” ตั้งแต่ปี 2558 นี้แม้ว่าดัชนีในช่วงต้นปีกลับปรับตัวขึ้นไปกว่า 1,600 จุด  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ดัชนีลดลงเหลือ 1,346 จุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558   เราคงต้องติดตามต่อว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรไปเรื่อย ๆ  ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า  ผมเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตลาดจะต้องเป็น Sideways อย่างที่คาดเดา  แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง  เราควรมีกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไรที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้?

   กลยุทธ์แรกที่อาจจะคิดได้ก็คือ  สำหรับนักลงทุนระยะยาว  เราก็ขายหุ้นทิ้งทั้งหมด  เพราะถ้าผ่านไป 5 ปีแล้วดัชนีหุ้นไม่ขึ้นเลย  การลงทุนระยะยาวก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย  จะลงทุนไปทำไม?  คำตอบของผมคือ  ถึงราคาหุ้นไม่ขึ้น  เราก็ยังได้รับปันผลประมาณ 3%  ต่อปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการฝากเงินแล้ว  เราก็อาจจะไม่ขาดทุนอะไร  ส่วนการลงทุนอย่างอื่นก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั้น   ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ถ้าเราเลือกหุ้นลงทุนที่ดี  เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดซึ่งอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนสูงขึ้น  อาจจะถึง 7-8% ต่อปี  นั่นก็จะทำให้การลงทุนในหุ้นยังเป็นการลงทุนที่ดีกว่าการออกจากตลาดอย่างสิ้นเชิง  ส่วนในกรณีของนักเล่นหุ้นระยะสั้นนั้น  พวกเขาอาจจะไม่ได้ถูกกระทบอะไรมาก  เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า  ในระยะสั้น ๆ  หุ้นอาจจะขึ้นลงได้แรงเป็นระยะ ๆ  ดังนั้นพวกเขาก็สามารถเทรดหุ้นทำกำไรได้แม้ว่าโดยรวมแล้วอาจจะยากกว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิงยาวนาน   ความเห็นโดยรวมของผมก็คือ  เราอาจจะยังลงทุนซื้อขายหุ้นอยู่  แต่อาจจะไม่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  เราควรถือเงินสดไว้พอสมควรเพื่อที่จะฉกฉวยโอกาสช่วงที่หุ้นอาจจะปรับตัวลงมาแรงซึ่งจะทำให้เราสามารถซื้อหุ้นราคาถูกได้  นอกจากนั้น  เมื่อหุ้นมีราคาปรับตัวขึ้น  เราก็อาจจะขายหุ้นทิ้งบ้างเพื่อทำกำไร  การ  “ซื้อแล้วถือ” อย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลดีเหมือนอย่างในช่วงที่หุ้นเป็นตลาดกระทิง

   กลยุทธ์ต่อมาก็คือ  การออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ดูแล้วมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตได้ดีและราคาหุ้นยังถูกกว่า  นี่ก็เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ   อย่างไรก็ตาม  ประสบการณ์และความรู้จักตลาดและหุ้นในต่างประเทศของเรานั้นมักจะน้อยกว่าการลงทุนในประเทศมาก  ดังนั้น  โอกาสที่เราจะทำผลตอบแทนได้ดีก็น้อยลง  วิธีการแก้อย่างหนึ่งก็คือการซื้อกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดของหุ้นต่างประเทศ  แต่นี่ก็ไม่รับประกันว่าเราจะทำผลตอบแทนได้ดี  เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่งในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็มีราคาแพงไม่น้อยไปกว่าตลาดหุ้นไทย  การเข้าตลาดผิดจังหวะเวลาก็อาจจะทำให้เราเสียหายได้

   ถ้าเรายังเลือกที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่อาจจะกำลังเป็นตลาด Sideways กลยุทธ์ในการเลือกหุ้นของเราก็ควรที่จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดนั่นก็คือ  ภาวะที่ค่า PE ของตลาดและหุ้นโดยทั่วไปจะค่อย ๆ  ปรับลดลงต่อเนื่องยาวนาน  ซึ่งนั่นทำให้ราคาหุ้นจะขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยกำไรของบริษัทที่จะต้องเติบโตขึ้นมากกว่าการปรับลดลงของค่า PE  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีค่า PE ลดลงปีละ 10%  กำไรของบริษัทนั้นจะต้องโตขึ้นมากกว่า 10% ต่อปี เช่น 15% ต่อปี จึงจะทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นได้ 5% ต่อปี  และถ้าหุ้นตัวนี้ให้ปันผลตอบแทนปีละ 3%  ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนี้ยังให้ผลตอบแทนรวมปีละ 8% ซึ่งก็จะเป็นผลตอบแทนที่ดีในยามที่หุ้นไม่ไปไหน  และนี่ก็คือเงื่อนไขข้อแรกที่ว่าหุ้นที่เราจะเลือกลงทุนนั้นจะต้องเป็นหุ้นที่เติบโตแม้ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

   นอกจากหุ้นที่เราเลือกควรจะเป็นหุ้นที่ยังโตแล้ว  อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ  “คุณภาพ” ของบริษัทควรจะดีมากด้วย  และคำว่าคุณภาพนี้ก็คือมันเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  หรือถ้าจะพูดในภาษาของ VI ก็คือ  มันมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตมีอนาคต  ผลประกอบการของบริษัทมีความมั่นคงไม่ผันผวนรุนแรงแม้ว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะ “เลวร้าย”  หรือพูดง่าย ๆ  มันเป็นหุ้น “Defensive”   ส่วนในด้านของตัวเลขทางการเงินก็จะดีกว่าบริษัทที่มีคุณภาพต่ำกว่านั่นก็คือ  ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่า 15% ต่อปี  บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงและไม่ต้องลงทุนในทรัพย์สินถาวรมากเพื่อที่จะรักษาดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์หรือขยายงาน   เป็นบริษัทที่มีหนี้สถาบันการเงินน้อยหรือเป็นบริษัทที่มีกำไรสามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้อย่างสบายรวมทั้งลักษณะของธุรกิจมีความแน่นอนของผลประกอบการสูงมาก  หรือถ้าจะสรุปอย่างง่าย ๆ  ก็คือ  บริษัทที่เราเลือกนั้นควรจะมีลักษณะของ “Super Company”  เหตุผลที่เราต้องเลือกหุ้นที่มีคุณภาพสูงนั้น  เป็นเพราะคุณภาพจะเป็นเครื่องรับประกันว่าบริษัทจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้และเมื่ออุปสรรคผ่านพ้นไป  มันก็จะกลับมาเติบโตใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และนี่จะทำให้ค่า PE ของหุ้นไม่ปรับตัวลงมามากตามภาวะตลาด

   ประเด็นสุดท้ายก็คือ  เราควรจะเลือกหุ้นที่มีผลตอบแทนปันผลที่ดีในยามตลาด Sideways  เพราะปันผลนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ Downside Risk หรือความเสี่ยงที่เราจะเสียหายน้อยลงในกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง  มีการศึกษาในตลาดหุ้นอเมริกาว่าในช่วงที่เป็นตลาด Sideways ยาวนานนั้น  ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้จากการลงทุนในหุ้นนั้น  90% มาจากเงินปันผล  ในขณะที่ในช่วงตลาดหุ้นกระทิง  ผลตอบแทนจากปันผลเป็นเพียงประมาณ 20% เท่านั้น  นั่นก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปันผลในช่วงตลาด Sideways  และทั้งหมดก็เป็นแนวทางการลงทุนและเลือกหุ้นหากตลาดหุ้นเป็นตลาด Sideways  แน่นอนว่าไม่มีใครบอกได้ 100% ว่าตลาดหุ้นใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจริง ๆ  กลยุทธ์ที่กล่าวถึงนั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่พยายามลดความเสี่ยงในการลงทุน  หากตลาดไม่เป็นไปตามที่คาด  ผมเองก็คิดว่าความเสียหายจากการยึดกลยุทธ์นี้ก็มีไม่มาก  อย่างมากก็แค่เสียโอกาส  เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับนักลงทุนก็คือ  เราจะต้องติดตามสถานการณ์และประเมินตลอดเวลาว่าตลาดและหุ้นที่เราลงทุนนั้นกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนและปรับตัวตาม

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/05/1632


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



  Monday, 12 October 2015
หนังสือเล่มเล็ก

   ชีวิตประจำวันหรือ  “งานประจำ” ของผมทุกวันนี้ไม่ใช่การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์และสั่งซื้อขายหุ้น  ไม่ใช่การเฝ้าติดตามราคาหุ้นรายนาทีหรือรายชั่วโมง  เพราะปกติผมจะซื้อหรือขายหุ้นปีละไม่กี่ครั้งและครั้งละไม่กี่วัน  ผมคำนวณคร่าว ๆ  แล้วหุ้นแต่ละตัวที่ซื้อมาจะถูกถือไว้โดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 5 ปี  ดังนั้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นของผมจะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของผม  สำหรับโบรกเกอร์แล้ว  ผมน่าจะเป็น  “ลูกค้ารายย่อย--ขนาดใหญ่”  แม้ว่าช่วงที่มีการซื้อขายแต่ละครั้งอาจจะมีปริมาณมาก  การซื้อขายหุ้นของผมจึงไม่ใช่  “งานลงทุน” แต่เป็นงานเล็ก ๆ  ที่ต้องทำเป็นบางครั้งเมื่อผมเจอหุ้นที่จะซื้อหรือขาย

   การ  “ติดตามหุ้น” นั้น  สิ่งที่ “ไม่สำคัญ” แต่ผมก็ทำตลอดเวลาก็คือการดูจอราคาหุ้นเป็นระยะเมื่อนั่ง  “ทำงาน”  ที่บ้านซึ่งก็คือ  “สำนักงาน” ของผม   การดูราคาหุ้นนั้น  ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องของ  “สัญชาติญาณ” ของคนที่น่าจะ  “อดไม่ได้”  ที่จะต้องเฝ้าดู “ทรัพย์สมบัติ” ของตนถ้ามัน  “กอง”  อยู่ตรงหน้า หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือการที่คนชอบ  “ลุ้น” ว่าตนเอง “ได้หรือเสีย”   บน  “จอคอมพิวเตอร์”  ขณะที่ผมนั่งทำงานอื่นอยู่ที่โต๊ะ   แต่ในกรณีที่ผมต้องออกไปทำงานหรือมีกิจธุระนอกบ้าน  ผมก็ไม่จำเป็นต้องติดตามราคาหุ้น  พูดอย่างสรุปก็คือ  ผมไม่ได้ใช้เวลากับการดูราคาหุ้นเป็นเรื่องเป็นราว  ผมจะ  “จับตาดู” หุ้นบางตัวในบางช่วงเวลาเพื่อมองหา  “โอกาส”  ในการที่จะซื้อหรือขายเท่านั้น

   การติดตามหุ้นที่สำคัญของผมนั้น  คือการติดตามการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ผมลงทุนอยู่และบริษัทอื่นที่ผมสนใจแต่ยังไม่ได้ลงทุน   การติดตามการดำเนินงานนั้น  ผมใช้วิธีการอ่านจากหนังสือ  หนังสือพิมพ์และวารสารต่าง ๆ รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ตและทางทีวีที่ผมพบเจอโดยไม่ได้ตั้งใจ  นอกจากนั้น  ผมก็ยังติดตามบริษัทจากการไป  “จ่ายตลาด”  ซื้ออาหารและของใช้ประจำวันที่ผมทำเป็นประจำเกือบทุกสัปดาห์รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ผมทำเป็นระยะ  ดังนั้น  นี่ก็ไม่ใช่งานที่ผมต้อง “ใช้เวลา” เป็นเรื่องเป็นราว  ส่วนการติดตาม  “ผลการดำเนินงาน”  ที่เป็นตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทนั้น  ผมก็ใช้เวลาเพียงปีละ 4 ครั้ง คือในช่วงที่มีการประกาศผลประกอบการรายไตรมาศและรายปี

   การเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะบริษัทใหม่ ๆ  ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดนั้น  ผมโชคดีที่ว่าผมทำรายการทีวีที่เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน  ทุกสัปดาห์ผมจะได้คุยและซักถามผู้บริหารประมาณ 2-3 บริษัท  ดังนั้น  ผมก็จะได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทจำนวนมากเนื่องจากผมทำรายการนั้นมาหลายปีแล้ว  บริษัทหลายแห่งนั้นผมเคยพูดคุยด้วยหลายครั้งและนั่นก็พอเพียงที่ผมจะใช้เป็นฐานหลักของการวิเคราะห์หุ้นรายตัว  ผมคิดว่าผมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพบบริษัทเพื่อที่จะศึกษาตัวบริษัทมากนัก  ดังนั้น  ผมไม่ไปงาน Opportunity Day หรือไปคุยกับผู้บริหารบริษัทก่อนที่จะพิจารณาซื้อหุ้น  มีบางบริษัทที่ผมถือหุ้นจำนวนมากที่ผมอาจจะไปเยี่ยมเยียนติดตามการดำเนินงานอยู่บ้างเหมือนกันแต่นั่นเป็น  “ข้อยกเว้น” ไม่ใช่เรื่องปกติ

   การไปพบผู้บริหารหรือผู้ให้ข้อมูลที่เรียกว่า IR ของบริษัทเป็นการ  “ส่วนตัว” นั้น  ข้อดีก็คือ  บางครั้งเราอาจจะได้ข้อมูลลึก ๆ  หรือความเข้าใจในสถานการณ์ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นโดยเฉพาะที่เป็น “เรื่องดี ๆ”  ของบริษัท  เช่นเดียวกับเรื่องที่ “ไม่ดี” ที่เราอาจจะเห็นหรือรู้สึกได้  ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราสามารถ  “ฉกฉวยโอกาส” ในการซื้อหรือขายหุ้นและทำกำไรหรือลดการขาดทุนได้อย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นก็อาจจะทำให้เข้าใจในตัวบริษัทมากขึ้นซึ่งทั้งสองเรื่องนั้น  สำหรับ VI หลายคนแล้วก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด  สำหรับบางคนแล้วเขาแทบจะบอกว่าถ้าไม่เจอผู้บริหารเขาก็จะไม่ซื้อหุ้นเลย   อย่างไรก็ตาม  การไปพบบริษัทแบบนั้นก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันในความเห็นของผมนั่นก็คือ  การไปพบผู้บริหารอาจจะทำให้เราถูก “ชักนำ” ให้เกิด  “ความลำเอียง” ว่าบริษัทมีคุณสมบัติดีกว่าที่ควรจะเป็นและ/หรือเชื่อว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้รวดเร็วต่อเนื่องด้วยความสามารถของบริษัทและผู้บริหารทั้ง ๆ  ที่ข้อมูลผลประกอบการของกิจการที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้บอกอย่างนั้น  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  เราอาจจะถูกชักนำให้  “เชื่อในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์”  สำหรับผมเองที่เน้นการลงทุนระยะยาวที่ต้องอิงอยู่กับ  “พื้นฐานระยะยาว” ของบริษัทเป็นหลักนั้น  หุ้นที่จะเข้าข่ายควรจะต้องได้รับการ  “พิสูจน์ด้วยตัวเลขผลประกอบการ” มาพอสมควรแล้วว่าเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม  ความจำเป็นต้องพบผู้บริหารมีน้อย

   งานหลักที่สำคัญและใช้เวลามากของผมจริง ๆ ในทุกวันนี้น่าจะอยู่ที่การอ่านหนังสือที่เป็น  “ความรู้ที่หลากหลาย”  และต้องเป็น  “ความรู้ที่แท้จริง”  นั่นก็คือ  เป็นความรู้ที่ได้รับการศึกษาและพิสูจน์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ความรู้ที่ผมสนใจศึกษานั้นรวมถึงเรื่องของจิตวิทยา  ประวัติศาสตร์  สังคมวิทยาและการเมือง  สงครามและการแข่งขัน  เรื่องของการเงินและการแข่งขันทางธุรกิจ  ความรู้เกี่ยวกับสถิติและความน่าจะเป็น  และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก เป็นต้น   เมื่ออ่านและเข้าใจหัวใจหรือข้อสรุปของความรู้นั้นแล้ว  ผมก็จะพยายาม “เชื่อมโยง” ความรู้ต่าง ๆ  เหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ  ในชีวิต  ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมทำนั้นจะเป็นแนวทางที่ ชาร์ลี มังเกอร์  คู่หูและหุ้นส่วนของบัฟเฟตต์ทำหรือไม่  แต่ที่ได้ทำมานานผมรู้สึกว่าผมมีความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ของโลกมากขึ้น  ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลมากขึ้น  และนี่อาจจะช่วยให้ผมสามารถตัดสินใจลงทุนได้ดีขึ้นอย่างที่มังเกอร์บอก

   การอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจกับความรู้ ทฤษฎี ประวัติศาสตร์และเรื่องราวมากมายของโลก  อาทิเช่น  เรื่องของตลาดเสรีและระบบทุนนิยมที่บุกเบิกโดย อาดัม สมิทธิ  ทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งของ ชาร์ล ดาร์วิน  สงครามและการแข่งขันระหว่างประเทศที่ฉายภาพโดดเด่นจากสงครามใหญ่โดยเฉพาะสงครามโลกทั้งสองครั้ง  การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แนวทางแบบ Value Investment ของเบน เกรแฮม และการเกิดขึ้นของทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มนักวิชาการนำโดย ยูจีน ฟามา มาร์โควิทซ์และชาร์ป   ทฤษฎีการแข่งขันทางธุรกิจโดยเฉพาะในด้านของการกำหนดกลยุทธ์ที่นำเสนอโดย Aries กับ Jack Trout ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของโลกและไทย   และการขึ้นลงและวิกฤติตลาดหุ้นทั่วโลก  เป็นต้น  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลามากมายโดยเฉพาะถ้าเราต้องเริ่มต้นจากศูนย์เนื่องจากเราไม่ได้เรียนมาเลยจากห้องเรียนหรือ  “ติดลบ”  เนื่องจากเราเรียนมาด้วยข้อมูลหรือทฤษฎีที่ผิด

   ด้วยปริมาณข้อมูลและความรู้มากมายที่อาจจะมีประโยชน์มหาศาลในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะอ่านหรือศึกษาได้หมดในเวลาอันสั้น  และสำหรับคนที่ยังมีภารกิจงานประจำที่ต้องทำตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ผมคิดว่าเขาคงมีเวลาไม่พอ  ส่วนตัวผมเองนั้นก็ต้องยอมรับว่าความรู้หลากหลายเหล่านั้น  ส่วนใหญ่ผมได้มาหลังจากที่เลิกทำงานประจำมาเมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว  นอกจากนั้น  ผมได้ค้นพบว่า  วิธีที่จะเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ  ได้รวดเร็วขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ  พยายามอ่าน  “หนังสือเล่มเล็ก”  ที่อธิบายหรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ  ซึ่งระยะหลัง ๆ  ผมได้เห็นว่ามีออกมามากขึ้น  หนังสือเล่มเล็กนั้นมีข้อดีคือมันช่วยสรุป  “หัวใจ”  ของเรื่องต่าง ๆ  เอาเฉพาะ “แก่น” หรือ  “พื้นฐาน” ของเรื่องโดยไม่สนใจรายละเอียดที่บางครั้งทำให้เรา  “หลงทาง” หรือสับสน  “หนังสือเล่มเล็ก”  ในความหมายของผมนั้นอาจจะรวมถึงหนังสือ  “การ์ตูน” สั้น ๆ  หรือภาพยนตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวที่เป็น   “ภาพใหญ่” ได้ในเวลาอันสั้น  และนี่ก็คือเทคนิคการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้ทดลองดู  มันอาจจะส่งผลกระทบให้เราได้อย่างมหาศาลกับการลงทุน—และชีวิต

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/12/1635


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



 Monday, 19 October 2015
  ยีนส์กับการลงทุน


   ผมรู้จัก “ยีนส์” ครั้งแรกสมัยที่ผมเรียนวิชาชีววิทยาในระดับมัธยมศึกษา  ในตอนนั้นผมไม่ได้สนใจอะไรนักเพราะคิดว่ามันเป็นแค่ความรู้ที่เอาไว้สอบเข้าคณะแพทยศาสตร์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นสาขาที่ผมไม่สนใจที่จะเรียนต่อ  ผมกลับมาสนใจเรื่องของยีนส์เมื่อประมาณ 10 ปีมานี้เองเนื่องจากยีนส์ถูกนำมาอธิบายเรื่องของจิตวิทยามากขึ้นเรื่อย ๆ  จนกลายเป็นสาขาหนึ่งเรียกว่า  “จิตวิทยาวิวัฒนาการ”  ความรู้เรื่องของยีนส์ที่เป็นตัวกำหนดอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วแบบ  “ก้าวกระโดด”  จนถึงวันนี้ผมคิดว่าแทบทุกพฤติกรรมของคนเรานั้นสามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ของยีนส์  ยีนส์น่าจะมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนแต่ละคน  “เกินครึ่ง”  ส่วนที่เหลือก็มาจากการอบรมสั่งสอนและสังคมที่เราอยู่  ดังนั้น  ถ้าจะเข้าใจเรื่องของคนผมคิดว่าเราต้องเข้าใจเรื่องของยีนส์ของมนุษย์ที่ถูกออกแบบมา—เพื่อที่จะเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ของมัน  โดยที่ยีนส์ในมนุษย์นั้น  ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโลกในช่วงกว่าหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา  และดังนั้น  เราจึงต้องเข้าใจว่าทำไมบางครั้งเราจึงทำอะไร  “แปลก ๆ”  ในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมากมายแล้ว

   ธุรกิจหรือบริษัทที่ผลิตสิ่งของหรือบริการนั้น  ถ้ามองลึก ๆ  จริง ๆ  แล้วก็คือกลุ่มคนที่เข้ามารวมกันเพื่อทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น  ดังนั้น  ความคิดและพฤติกรรมทั้งหลายของบริษัทก็คือความคิดและพฤติกรรมของคน  บริษัทต้องเอาตัวรอด  เติบโต  และขยายตัวแตกหน่อไปเรื่อย ๆ เหมือนคน   บางคนอาจจะบอกว่าบริษัทนั้น  “ไม่มีวันตาย”  ถ้าไม่เจ๊ง   ผมเองคิดว่านี่ก็เหมือนกับยีนส์ที่  “ไม่มีวันตาย”  แม้ว่าคนจะตายแต่ยีนส์ในตัวคนนั้นอาจจะ “ส่งผ่าน”  ต่อไปยังลูกหลานแล้ว  ยกเว้นคน ๆ  นั้นไม่มีลูก  โดยนัยดังกล่าว  บริษัทก็จะต้องทำทุกอย่างคล้าย ๆ  คนนั่นก็คือ  ต้อง “แข่งขัน” แย่งชิงทรัพยากรกับคนอื่นแต่ในเวลาเดียวกันก็ต้อง “ร่วมมือ” กับคนอื่นเพื่อที่จะเอาตัวรอดและขยายตัวต่อไป  โดยที่วิธีการ  ความคิดและอารมณ์ของบริษัทนั้นก็คงคล้าย ๆ  กับคน  ตัวอย่างเช่น  บริษัทแต่ละแห่งมีความสามารถไม่เท่ากัน  เวลาตัดสินใจส่วนใหญ่ก็ใช้เหตุผลแต่อารมณ์ก็มีส่วนอย่างมาก เป็นต้น

   สิ่งของและบริการที่เป็นสินค้าที่มีการผลิตขึ้นในโลกนี้สุดท้ายแล้วก็เพื่อตอบสนองต่อคนที่ต้องการเอาตัวรอด  เติบโต  และเผยแพร่เผ่าพันธุ์  สินค้าและบริการที่จะเป็นที่ต้องการมากนั้นจะต้องช่วย  “เพิ่มโอกาส” ให้คนเอาตัวรอด  เติบโตและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้มากขึ้น  สินค้าหรือบริการอะไรที่ “ใกล้” กับเรื่องของการเอาตัวรอด  เติบโต และเผยแพร่เผ่าพันธุ์ จะเป็นที่ต้องการมากกว่าสินค้าที่  “ห่าง” จากความต้องการดังกล่าว  สินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถช่วย “เพิ่มโอกาส”  ดังกล่าว  อาจจะเพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ได้ใช้สินค้านั้นอยู่แล้วความต้องการก็จะไม่เพิ่ม  แต่ถ้ามีสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมในการเพิ่มโอกาสอยู่รอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์  คนก็จะต้องการสินค้านั้นเพิ่มหรือแทนที่สินค้าเดิม  ด้วยแนวความคิดแบบนี้   เราก็จะสามารถวิเคราะห์เรื่องของเทรนด์หรือเมกาเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในสินค้าต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

   ภาวการณ์ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  เกิดขึ้นเพราะคนที่ตัดสินใจซื้อขายหุ้น  คนที่ซื้อขายหุ้นนั้น  พวกเขาทำเพื่อการ  “เอาตัวรอดและเติบโต”  ดังนั้น  บางครั้งพวกเขาก็กลัวและต้อง  “หนีตาย” ขายหุ้นทิ้งโดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น  เหมือนกับการที่คนในสมัยดึกดำบรรพ์หนีเสืออย่าง  “ไม่คิดชีวิต”  ไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น  เวลาที่เขาคิดว่าหุ้นกำลังขึ้นเป็น “กระทิง”  ยีนส์อาจจะบอกว่าต้องรีบ  “กอบโกย”  ช้าไม่ได้  “อาหารจะหมด”  ถ้า “แย่งไม่ทัน”  นี่ก็ก่อให้เกิดภาวะความผันผวนของราคาหุ้นตลอดเวลา  การที่เราเข้าใจเรื่องของยีนส์ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมจะช่วยให้เราลงทุนในตลาดหุ้นได้ดีขึ้น

   การวิเคราะห์หุ้นของเรานั้น  สิ่งที่ต้องทำเพิ่มจากการวิเคราะห์ปกติตามมาตรฐานทั่วไปแล้ว  สิ่งหนึ่งที่เราควรทำเพิ่มเติมก็คือการวิเคราะห์  “เหตุจูงใจ” ของแต่ละคนที่เป็นคนให้ข่าวสารและข้อมูล  เพราะเราควรจะต้องยึดมั่นหลักการสำคัญที่ว่าคนจะทำอะไรก็ตามก็เพราะยีนส์จะเป็นตัวกำหนดที่แท้จริงไม่ใช่สมองที่เป็น “ผู้ปฎิบัติ”  และสิ่งที่คนจะทำก็คือ  การเอาตัวรอด  เติบโต  แพร่พันธุ์  อะไรที่ไม่สอดคล้องคนเราก็จะไม่ทำ  พูดอีกทางหนึ่งก็คือ  คนเรานั้นจะทำอะไร  “เพื่อตัวเอง”  แม้ว่าบางครั้งจะทำ  “เพื่อคนอื่น”  แต่สุดท้ายแล้วเขาก็จะได้รับการ   “ตอบแทน” ในแง่ของการเป็นที่รักนับถือชมชอบซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถ  เอาตัวรอดได้ดีขึ้นและ/หรือ เผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ดีขึ้น  การที่ต้องวิเคราะห์เรื่องแรงจูงใจนั้นเป็นเพราะว่าคนให้ข้อมูลหรือข่าวสารนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากเราและอาจจะ “หลอก” เราให้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาแต่เป็นโทษกับเราได้

   ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้  ไม่ได้หมายความว่ายีนส์จะมีความคิดหรือชีวิตจิตใจที่สั่งการและเรารับรู้ได้  กระบวนการทำงานนั้นก็คือ  ยีนส์จะเป็นตัวสร้างฮอร์โมนและสารอะไรต่าง ๆ  ที่ประกอบเป็นตัวเราและสมองและประสาทต่าง ๆ  ของเราที่ทำให้เรามีความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ  ที่ทำให้เรารัก  ชอบ  เกลียด  กลัว  เสียใจ  ดีใจกับบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่ว่าเราจะได้พยามไขว่คว้า  หลีกหนี หรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ  ในทางที่จะทำให้เรามีโอกาสอยู่รอดได้ดีขึ้น  เติบโตและเผยแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นโดยที่เรา  “ไม่รู้ตัว”   เรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นถ้าเรายังอยู่ในยุคหมื่นปีที่แล้วที่ยีนส์ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เป็นไร่นาป่าเขาและไม่มีซุปเปอร์มาร์เก็ตและตลาดหุ้น  เพราะเราคงทำไม่ผิดจากสิ่งที่ควรทำ  แต่ในศตวรรษที่ 21 ที่สังคมเรามีความซับซ้อนมากนั้น  การ “ทำตามใจ” นั้น  อาจจะเกิดความเสียหายได้  เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการซื้อขายหุ้นบ่อยแทบทุกวันเพราะ  “อยากได้กำไรหรือหนีการขาดทุน”  นั้น  เป็นหนทางที่  “ลดโอกาสเอาตัวรอด”  แต่เราทำเพราะเราแยกไม่ออกว่าตลาดหุ้นตกหรือขึ้นนั้น  แตกต่างจากการเห็นเสือหรือหมู

   ยีนส์ของคนทั้งโลกนั้นมีความเหมือนกันเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์  อาจจะแตกต่างกันไปบ้างก็เพราะคนบางกลุ่มอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกับคนกลุ่มอื่น  เช่น  คนที่อาศัยอยู่ในแถบที่หนาวเย็นก็อาจจะมีสีผิวที่แตกต่างกับคนที่อยู่ในแถบร้อนรวมทั้งอาจจะมีความสามารถและพฤติกรรมที่แตกต่างกับคนในแถบร้อน  “เล็กน้อย”  จนแทบไม่มีความหมาย  ดังนั้น  เวลาที่จะดูว่าสินค้าหรือบริการอะไรจะเป็น  “เมกาเทรนด์” ในประเทศไทยต่อไปนั้น  วิธีง่าย ๆ  อย่างหนึ่งก็คือการดู “เมกาเทรนด์”  ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่ร่ำรวยกว่า  เหตุผลก็เพราะว่าคนในประเทศหรือสังคมที่รวยกว่าจะมี  “กำลังซื้อ”  หรือมีรายได้มากพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการของคนก่อน  ส่วนคนไทยนั้น  เนื่องจากเรายังมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ถึงวันหนึ่งเราก็จะเริ่มมีกำลังซื้อพอที่จะใช้สินค้าหรือบริการนั้น  ซึ่งเราก็จะใช้แน่นอน  เพราะนั่นคือสินค้าที่  “ยีนส์”  ของมนุษย์ต้องการ  กล่าวโดยสรุปก็คือ  คนนั้นเหมือนกันทั้งโลก  สิ่งที่แตกต่างก็คือรายได้  คนบางคนมีปัญญาที่จะซื้อใช้  แต่คนบางคนไม่มีเงินพอ  ถ้าเมื่อไรเขามีเงินพอ  เขาก็ใช้  ถ้าสองประเทศต่างก็มีรายได้เท่ากัน  พฤติกรรมและการใช้จ่ายและการบริโภคจะใกล้เคียงกันมาก

   การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของยีนส์และวิวัฒนาการของคนนั้น  แต่เดิมเรามักต้องอ่านจากหนังสือภาษาอังกฤษ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้เราก็มีโอกาสที่ได้อ่านหนังสือแปลและโชคดีที่เราเริ่มมีคนไทยที่เริ่มเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยหนังสือที่ผมเห็นว่าเขียนได้ดีมากและแนะนำให้อ่านก็คือหนังสือชื่อ “500 ล้านปีของความรัก” ทั้ง 2 เล่ม เขียนโดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา  หนังสือทั้งสองเล่มนี้แน่นอนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องของหุ้นและการลงทุนเลย  แต่ผมคิดว่าเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตและการลงทุนซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตในยุคปัจจุบัน


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/19/1638


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



  Monday, 26 October 2015
  Corner


    บ่อยครั้งในตลาดหุ้นจะมีหุ้นบางตัวที่ราคาวิ่งขึ้นไปสูงลิ่ว  “เกินพื้นฐาน”  ไปมากโดยที่หา  “เหตุผล” ไม่ได้  หุ้นที่มี PE เป็น 50 หรือ 100 เท่า และค่า PB สูง 5 หรือ 10 เท่านั้น  โดยปกติก็จะต้องเป็น  “Super Stock” นั่นคือ  มันควรที่จะมีคุณสมบัติทางธุรกิจดีเยี่ยม  มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือกว่าคู่แข่ง  มีกำไรดี  มีการเติบโต  มีฐานะทางการเงินดี  มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง และอื่น ๆ  อีกมาก  หรือไม่อย่างนั้นหุ้นก็อาจจะต้องเป็นกิจการที่กำลัง “ฟื้นตัว” จากภาวะวิกฤติและกำไรอาจจะยังไม่มาแต่เห็นได้ชัดว่ากำไรจะโตก้าวกระโดดในไม่ช้า  แต่หุ้นแบบนี้ก็จะต้องมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดที่ต่ำเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจของบริษัทวัดจากยอดขายและเปรียบเทียบกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน   

   หุ้นที่มีราคาแพงมากโดยที่ไม่ได้เป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกหรือไม่ได้เป็นหุ้นที่กำลังฟื้นตัว  และที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเดียวกันที่มีคุณสมบัติดีกว่า  มีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่า  มียอดขายและกำไรสูงกว่าและมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งกว่า  แต่หุ้นกลับมีราคาแพงกว่าและบ่อยครั้งมีมูลค่าตลาดของหุ้น หรือ Market Cap. สูงกว่านั้น  คำอธิบายก็มักจะออกมาว่าเป็นเพราะนักลงทุนคาดว่าบริษัทจะ  “โตเร็วกว่า”  แต่ถ้าดูจริง ๆ  ก็จะพบว่ามันก็คงไม่โตเร็วนัก และถึงโตเร็วกว่าบ้าง  แต่มันก็คงจะไม่เท่าคู่แข่งที่โตกว่ามากในเวลาอันสั้น  ดูอย่างไรมันก็อธิบายไม่ได้ว่าราคามันสูงขนาดนั้นได้อย่างไรมองในแง่ของ  “พื้นฐาน”  และนั่นก็นำมาสู่เรื่องของการ “เก็งกำไร” และการ “ปั่นหุ้น” แต่ในบางกรณีเราก็ไม่มั่นใจนักว่ามันคืออะไร  ตัวอย่างที่ชัดเจนเมื่อเร็ว ๆ  นี้ก็คือการที่หุ้นของแบ้งค์ขนาดกลางตัวหนึ่งมีราคาและมูลค่าหุ้นสูงขึ้นมาเท่าหรือใหญ่กว่าแบ้งค์ขนาดใหญ่บางตัว  หรือหุ้นของบริษัทเช่าซื้อบางตัวที่ใหญ่กว่าหุ้นของแบ้งค์เล็กที่ทำเช่าซื้อเป็นหลักและยังมีธุรกิจอื่นอีกหลายอย่างที่ใหญ่กว่าบริษัทเช่าซื้อมาก

   ทฤษฎีของผมก็คือ  หุ้นที่มีราคาสูงลิ่วโดยที่เหตุผลไม่รองรับเท่าที่ควรนั้น  อาจจะมาจากสิ่งที่เรียกกันในแวดวงของนักลงทุนว่าหุ้นตัวนั้น  ถูก  “Corner”  หรือแปลเป็นไทยว่าหลักทรัพย์ถูก  “ต้อนเข้ามุม”  ซึ่งความหมายหรือคำจำกัดความก็คือ  คนที่  Corner หรือต้อนหุ้นเข้ามุมก็คือคนที่ควบคุมจำนวนหุ้นหรือหลักทรัพย์หรือโภคภัณฑ์ไว้มากพอที่จะทำให้สามารถปั่นหรือกำหนดราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์หรือโภคภัณฑ์นั้นได้  พูดง่าย ๆ  ถ้าหุ้นถูกต้อนเข้ามุมแล้ว  เราแทบจะทำให้ราคามันขึ้นไปได้สูงลิ่ว  อาจจะเป็น 10 เท่าได้ในเวลาอันสั้นโดยที่พื้นฐานของกิจการไม่ได้มีอะไรที่จะสนับสนุนราคาหรือมูลค่าหุ้นขนาดนั้น

   ประวัติศาสตร์ของการทำ Corner ที่ค่อนข้างจะ “บันลือโลก” ก็คือการทำ Corner ตลาดของแร่เงินของพี่น้องตระกูล Hunt ที่พยายามกวาดซื้อแร่เงินในตลาดโลกในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้น 1980  ซึ่งทำให้แร่เงินมีราคาเพิ่มขึ้นจาก 11 เหรียญต่อออนซ์เป็น 50 เหรียญต่อออนซ์  อย่างไรก็ตาม  สุดท้ายราคาแร่เงินก็ตกกลับไปสู่ราคาที่ต่ำกว่า 11 เหรียญภายในเวลา 2 เดือนอันเป็นผลจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎการใช้มาร์จินในการซื้อขายโภคภัณฑ์ของตลาด  ทำให้พี่น้องตระกูล Hunt ต้องล้มละลาย  หลังจากนั้นก็ยังมีกรณีของการ Corner ตลาดทองแดงและโภคภัณฑ์อื่น ๆ  รวมถึงการ Corner ตัวหุ้นในหลาย ๆ  ประเทศโดยเฉพาะที่เป็นตัวใหญ่และเป็นที่สนใจของสังคม  กรณีหนึ่งที่ดังมากก็คือการ Corner หุ้นโฟล์กสวาเกนในปี 2008 โดยบริษัท Porsche หรือที่บ้านเราเรียกปอร์เช่ ซึ่งทำให้หุ้นโฟล์กกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในเวลาสั้น ๆ  แต่ดีลนั้นก็ไม่สำเร็จและทำให้ Adolf Merckle นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในอุตสาหกรรมคนหนึ่งของเยอรมันต้องฆ่าตัวตายเนื่องจากไปชอร์ตหุ้นโฟล์กไว้มากและต้องขาดทุนมหาศาลเมื่อราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก

   การ Corner หุ้นตัวเล็ก ๆ  นั้น  แน่นอน คงไม่เป็นข่าวหรือมีประวัติศาสตร์ให้เราศึกษา  แต่จากประสบการณ์ที่ผมพบในตลาดหุ้นไทยมานานนั้น  ผมคิดว่าการทำ Corner หรือ “ต้อน” หุ้นตัวเล็ก ๆ  หรือหุ้นที่มี Free Float หรือหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยแม้ว่าหุ้นอาจจะมีขนาดใหญ่  น่าจะมีการทำกันอยู่เรื่อย ๆ  โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นสดใสเป็นตลาดหุ้นกระทิงที่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยสนใจการเล่นหุ้นในตลาดมากเป็นพิเศษ   ผมลองคำนวณคร่าว ๆ  หลายครั้งก็พบว่าจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดของหุ้นตัวเล็กหรือมีหุ้นหมุนเวียนในตลาดต่ำนั้น  บางทีเงินเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาทก็สามารถ Corner หุ้นได้อย่างสบายมาก   และเมื่อคิดถึงขนาดของพอร์ตของนักเล่นหุ้นส่วนบุคคลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย  ๆ   กอร์ปกับการที่สามารถใช้มาร์จินซื้อหุ้นได้อีกเท่าตัว  รวมถึงการที่อาจจะมีการ “เล่นกันเป็นทีม” ของนักลงทุนหลายราย  การ Corner หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยจึงน่าจะทำได้ง่ายและน่าจะมีการทำกันไม่น้อย  หลักฐานก็คือ  หุ้นตัวเล็กที่มี Free Float ต่ำจำนวนมากมีค่า PE เป็นหลายสิบถึงร้อยเท่าและมี PB ที่สูงลิ่วทั้ง ๆ  ที่กิจการไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก

   กลยุทธ์ Corner หุ้นนั้น  ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ได้ทำเงินให้กับนักเล่นหุ้นจำนวนมาก  หลายคนกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุยังน้อย  เหตุผลที่ประสบความสำเร็จนั้น  แน่นอน  ส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือภาวะตลาดหุ้นที่สดใสและการที่คนไทยที่มีเงินเหลือไม่มีช่องทางการลงทุนที่ดีกว่าจึงนำมาลงทุนในตลาดหุ้น  แต่หุ้นที่ถูก Corner นั้น  ในที่สุดก็จะมีมูลค่าและราคาสูงตลอดไปไม่ได้และวันหนึ่งจะต้องตกลงมามาก  และนั่นคือวันที่จะต้องมีคนเสียหายขาดทุนหนัก  บางครั้งก็คือคนที่ทำ Corner เสียเองอย่างที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในประวัติศาสตร์

   ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  การทำ Corner นั้น  ผิดกฎหมายไทยหรือไม่?  ผมคงไม่สามารถตอบได้เนื่องจากไม่ใช่นักกฎหมาย  สิ่งที่ผมรู้ก็คือ  การที่จะจับหรือฟ้องร้องคนที่ทำ Corner นั้น  ผมคิดว่ายากมาก  ประเด็นก็คือ  ทุกคนมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นในตลาดโดยไม่ต้องมีหน้าที่อะไรยกเว้นซื้อเกิน 25% ของหุ้นทั้งหมดที่จะต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด  แต่ข้อเท็จจริงก็คือหุ้นที่อยู่ในตลาดหรือ Free Float จริง ๆ  นั้นมักจะมีไม่ถึง 25% ด้วยซ้ำ  สิ่งที่ต้องทำเมื่อซื้อถึง 5% ก็แค่รายงาน  แต่นี่ก็ไม่ใช่ข้อเสียอะไร  เพราะนั่นมักจะเป็นการ “ส่งสัญญาณที่ดี” ในการที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้น  ดังนั้น  เรื่องของ Corner นั้น  ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับหุ้นจำนวนมากและไม่มีใครจะทำอะไรได้มากนักตราบที่หุ้นในตลาดยังมีขนาดเล็กมากอยู่  ในบางครั้งหุ้นนั้นก็อาจจะถูก  Corner โดยไม่มี  “เจ้ามือ” ก็เป็นไปได้แต่เป็นผลการกระทำ “ร่วม” ของนักลงทุนหลาย ๆ คนที่อาจจะรู้จักกันดีหรือบางทีก็อาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ  แต่หุ้นขึ้น  ทุกฝ่ายก็มีความสุข  ส่วนการขายหุ้นเมื่อหุ้นมีราคาสูงขึ้นไปมากนั้นเองก็ไม่มีกฎอะไรที่จะห้ามหรือเป็นความผิด  ดังนั้น  คนที่ทำ Corner นั้น  ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะผิดอย่างไรถ้าเขาจะทยอยขายหุ้นออกไปจนหมดและทำกำไรมหาศาลตราบที่ยังมีคนซื้อหุ้นอยู่

   หน้าที่ของ Value Investor เองนั้น  ผมคิดว่าเราไม่ควรเข้าไปร่วมวงทำหรือก่อให้เกิด Corner ในหุ้นแต่ละตัว  เพราะราคาที่ไม่ใช่  “ธรรมชาติ”  นั้น  ในที่สุดก็ต้องลงมา  การทำนายหรือคาดการณ์ว่ามันกำลังขึ้นหรือลงเป็นเรื่องที่ยาก  เช่นเดียวกับการอดทนไม่ตอบสนองต่อความยั่วเย้าของราคาหุ้นที่กำลังถูกต้อนเข้ามุม  นี่ก็เป็นบททดสอบ VI ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า  เราจะเป็น VI ได้แค่ไหน?

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/10/26/1641


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 2 November 2015
 
  TPP กับหุ้น


    เรื่องของการเปิดเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศอื่นนั้น  เท่าที่ผ่านมาก็มักจะไม่เป็นประเด็นการโต้แย้งกันมากมายนัก  เหตุผลก็เพราะดูเหมือนว่าจะไม่มีข้อเสียอะไรกับคนไทยที่เป็นคนธรรมดามากนัก  แต่ข้อดีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจนั้นค่อนข้างชัดเจนกว่าในแง่ที่ว่าการค้าขายโดยเฉพาะการส่งออกจะมากขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกจะได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีการนำเข้าจากประเทศที่เป็นคู่สัญญากับเรา  ทำให้สินค้าของเราได้เปรียบคู่แข่งส่งผลให้สามารถส่งออกไปขายได้มากขึ้น  ในส่วนของการนำเข้าเองนั้น  ก็ดูเหมือนว่าเราก็อาจจะนำเข้าเท่าเดิม  เพียงแต่เปลี่ยนจากการนำเข้าจากประเทศอื่น  เราก็นำเข้าจากประเทศคู่สัญญาแทน  ดังนั้น  การทำสัญญาเปิดการค้าเสรีจึงเป็นสิ่งที่ให้ผลดีและไม่ค่อยจะมีอะไรเสียมากนัก  สถิติการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีสัญญากับเราก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการส่งออกไปประเทศอื่น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่นการส่งออกรถยนต์ของไทยไปออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังมีสัญญาเปิดการค้าเสรี  นี่ยังไม่พูดถึงจีนและประเทศใน AEC ที่การค้าขายระหว่างกันเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเรามีข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างขวาง

   การพยายามเปิด “ตลาดเสรี” ของไทยนั้น  ต้องถือว่าเราทำมาตลอดในประวัติศาสตร์  ตั้งแต่สมัย “สุโขทัย” ถ้าเราเชื่อ “ศิลาจารึกหลักที่1” ที่ว่า… “ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว  เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย  ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า” และส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทยก็พบว่ารัฐไทยนั้นค่อนข้าง “เปิด” ในแง่ของการต้อนรับและค้าขายกับต่างชาติมาตลอด  ว่าที่จริงถ้าจะพูดว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในยุค 50-60 ปีหลังที่เติบโตขึ้นมามหาศาลนั้น  เกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญก็คือ  เราเป็นประเทศ “เปิด” ที่เป็นทางเลือกที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการ  “ย้ายฐานการผลิต”  จากประเทศของตนที่มีต้นทุนสูงกว่า  มาสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำและถูกจำกัดทางด้านการค้าจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาน้อยกว่า

   ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น  การ “เปิด” ประเทศของไทยดูเหมือนว่าจะลดน้อยลง  ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากภาวะทางการเมืองที่ทำให้ไทยไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่มีการโต้แย้งในสังคมได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมานั้น  ไทยได้มีสัญญาทางการค้าเสรีกับประเทศอื่นค่อนข้างมากอยู่แล้ว  ดังนั้น  ปัญหาที่เราจะเสียเปรียบคู่แข่งทางด้านการค้าที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น มาเลเซียที่อยู่สูงกว่าเราเล็กน้อย  และเวียตนามที่อยู่ต่ำกว่าเราเล็กน้อย  ก็ไม่มี  พูดง่าย ๆ  ถึงแม้เราจะห่างเหินจากการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศมานาน  เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก  แต่แล้ว  โดยไม่คาดคิด  กลุ่มการค้าเสรีกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า  TPP หรือ Trans-Pacific Partnership หรือข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคทรานส์แปซิฟิกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาก็กำลังเกิดขึ้นและประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม

   ความสำคัญของ TPP ก็คือ  มันประกอบด้วยประเทศขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลกคืออเมริกาและญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ  ริมมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน 12 ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 40% ของโลก  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับไทยและประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยในเรื่องของการส่งออกก็คือ TPP มีอเมริกาอยู่  การเข้าร่วมใน TPP ก็หมายถึงการที่ได้เข้าถึงตลาดอเมริกาที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมหาศาล  ประเทศที่อยู่ใน TPP เมื่อส่งสินค้าเข้าอเมริกาต่อไปจะไม่เสียภาษีหรือเสียน้อยกว่าประเทศที่อยู่นอก TPP มาก  พูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ  เมื่อ TPP มีผลบังคับใช้  สินค้าไทยก็จะเสียเปรียบสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียมากรายการใหญ่ ๆ  เช่น   สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกจากไทยอาจจะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากเวียตนามและมาเลเซียได้เพราะสินค้าไทยอาจจะต้องเสียภาษีถึง 17% ในขณะที่คู่แข่งไม่เสียภาษีเลย

   บางคนอาจจะเถียงว่าทุกวันนี้เราส่งออกไปอเมริกาไม่ได้มากมายนักเพียงแค่ 10% ต้น ๆ  ของสินค้าส่งออกไทยทั้งหมด  ดังนั้น  ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจจะไม่มากแม้ว่าไทยอาจจะไม่ได้อยู่ใน TPP แต่ถ้ามองลึกลงไปผมคิดว่าผลกระทบนั้นน่าจะสูงทีเดียว  ประเด็นแรกก็คือ  อเมริกานั้นเป็นประเทศ “ผู้นำเข้าตลอดกาล”  นั่นก็คือ  อเมริกานั้นจะนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกต่อเนื่องยาวนาน  หรือเป็นผู้นำเข้าสุทธิได้ไปเรื่อย ๆ  โดยไม่มีปัญหาเนื่องจากทุกประเทศต่างก็ต้องการเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรองของประเทศ  ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ  นั้นมักจะพยายามเป็นผู้ขายหรือผู้ส่งออกไม่อยากเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อเพื่อที่ว่าตนจะได้มีเงินดอลลาร์มาเป็นเงินทุนสำรอง  ดังนั้น  สหรัฐจึงเป็นดินแดนที่คนอยากจะค้าขายด้วย  เพราะขายแล้วมักได้เปรียบดุลการค้า  ซึ่งนั่นรวมถึงไทยและหลาย ๆ  ประเทศในเอเชีย  ดังนั้น  แม้จะขายให้อเมริกา 10%  แต่เราก็ได้เปรียบดุลการค้ามาก ไม่เหมือนขายกับประเทศอื่นที่บางทีเราเสียเปรียบ

   ประเด็นที่สองและอาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การได้ขายเข้าไปในตลาดอเมริกาได้มากกว่าคู่แข่งมากนั้น  จะทำให้บริษัทในมาเลเซียและเวียตนามมียอดขายที่สูงซึ่งจะก่อให้เกิด Economies of Scale ซึ่งก็คือทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตต่ำลง  และนั่นจะทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดอื่นนอกเหนือจากอเมริกาด้วย  ผลก็คือ ข้อแรก  สินค้าไทยจะส่งออกได้น้อยลงในตลาดอื่นด้วย  และข้อสองที่ตามมาก็คือ   บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ  ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าขายทั่วโลกต่างก็จะอยากเข้าไปลงทุนในเวียตนามและมาเลเซียมากขึ้นแทนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย  ดังนั้นการลงทุนในประเทศไทยก็จะน้อยลงและที่จะแย่ขึ้นไปอีกก็คือ  บริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทยอยู่แล้วก็อาจจะย้ายฐานไปอยู่ในประเทศทั้งสอง  ตัวอย่างที่เห็นก็เช่น บริษัทซัมซุงที่ได้ย้ายโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จากไทยไปเวียตนามแล้ว  เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทที่ย้ายไปอยู่มาเลเซีย  ผลก็คือ  การจ้างงานและการส่งออกของไทยก็จะลดลงและจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่ใช่แค่ว่าเศรษฐกิจจะไม่โตขึ้นแต่อาจจะกลายเป็นติดลบก็เป็นได้

   ล่าสุดดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะประกาศแล้วว่าจะขอเข้าร่วม TPP และต่อไปฟิลิปปินส์ก็อาจจะตามมา  แต่ดูเหมือนว่าไทยจะยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เนื่องจากยังมีคนคัดค้านและระบบภายในประเทศของเราก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่พร้อมซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องกันมาน่าจะเกือบ 10 ปีมาแล้ว  สิ่งที่ไทยควรจะเข้าใจก็คือ  ประเทศในอาเซียนเกือบทั้งหมดนั้นต่างก็เป็นคู่แข่งกันหรือกำลังจะเป็นคู่แข่งกันในเกือบทุกอุตสาหกรรมในด้านของการส่งออกเพราะเราต่างก็มีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจที่คล้ายกันนั่นก็คือ  เราต่างก็อาศัยการลงทุนของบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก  ในอดีตที่ผ่านมานั้น  มาเลเซียและไทยได้เปรียบเนื่องจากเรา  “เปิดประเทศ” และต้อนรับนักลงทุนต่างชาติมากกว่าเราจึงก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อนบ้านใน AEC แต่ในขณะนี้ดูเหมือนว่าเราจะเริ่ม  “ล้าหลัง” ซึ่งถ้าเราไม่รีบปรับตัวเราก็อาจจะ  “แพ้”  สิ่งนี้ประกอบกับการที่ประชากรของเราแก่ตัวลงมากกว่าประเทศคู่แข่งมากทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเราถดถอยลงอย่างน่าใจหาย หลายปีมานี้เราน่าจะเติบโตช้าที่สุดในอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ  ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในอนาคตก็ดูเหมือนว่าเราจะยัง “รั้งท้าย” อยู่   ยิ่งถ้าเราไม่เข้าร่วม TPP เราก็อาจจะยิ่งถูก  “ทิ้ง”  ไว้ข้างหลัง  และไม่แน่ว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าเราอาจจะกลายเป็น  “คนป่วยแห่งเอเซีย”  อย่างที่ครั้งหนึ่งฟิลิปปินส์เคยเป็นก็เป็นได้

   ที่พูดมาทั้งหมดนี้  ผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น  แต่อย่างไรก็เป็นข้อกังวลลึก ๆ  ในฐานะของนักลงทุนระยะยาวที่ผลตอบแทนและอนาคตภาพใหญ่ของการลงทุนผูกติดอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ  ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือในฐานะของคนไทยที่อย่างไรก็ยังต้องอยู่และตายในประเทศนี้  ผมก็หวังที่จะเห็นประเทศไทยที่ยังเติบโตและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  เพราะนั่นจะทำให้เป็นสังคมที่คนอยู่กันอย่างมีความสุข  สังคมที่เศรษฐกิจ “ถดถอย” นั้น  มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ  มากมายและจะหาความสงบได้ยาก  เพราะเศรษฐกิจและสังคมนั้น  จริง ๆ แล้วก็แทบเป็นเรื่องเดียวกันในโลกยุคปัจจุบัน


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/11/02/1644


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



 Monday, 9 November 2015
นิสัยบัฟเฟตต์


   ถ้าจะพูดถึงคนที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงมากระดับโลกและจะเป็น  “ตำนาน” ที่คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไปอีกนานนั้น  แน่นอนว่าบัฟเฟตต์ต้องเป็นหนึ่งในนั้น  นิสัยหรือพฤติกรรมของคนที่อยู่ในระดับนี้ส่วนใหญ่ที่เราได้รับรู้ก็คือ  พวกเขามีชีวิตที่หรูหรา  อยู่ในสังคมของ “คนชั้นสูง”  มีความรู้สึกและวางตัวที่อาจจะเรียกว่า  “เย่อหยิ่ง”  และ “โอ้อวดตนเอง” เป็นต้น  แต่สำหรับบัฟเฟตต์เองแล้ว  เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น  หรือถ้าจะมีก็น้อยกว่าคนอื่นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงมาก  ผมไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเป็นเพราะว่าบัฟเฟตต์เป็น  Value Investor และ VI นั้นโดยธรรมชาติมักจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนรวยกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้น  พอรวยแล้วก็ยังไม่ได้เปลี่ยนนิสัยแบบคนที่รวยจากอาชีพอื่น

   มาดูกันว่าบัฟเฟตต์มีนิสัยแบบไหนที่ค่อนข้างจะแปลกจากคนรวยและมีชื่อเสียงอื่น—และคนธรรมดา  บางทีนิสัยแบบบัฟเฟตต์นั้นอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด  และถ้าเป็นแบบนั้น  การเรียนรู้นิสัยบัฟเฟตต์ก็น่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนที่จะนำมาใช้

   นิสัยแรกที่ผมเห็นก็คือ  การให้ความรัก  นับถือ และเชื่อใจคนอื่นอย่างเต็มที่เมื่อเขาเข้าไปร่วมงานด้วย  นั่นคือ  เมื่อเขาตัดสินใจเข้าไปซื้อธุรกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเบิร์กไชร์แล้ว  เขาก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานและการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องยกเว้นเฉพาะการลงทุนใหญ่ ๆ และการจัดสรรกำไรเท่านั้น  เขาจะให้ความรัก ความนับถือ  และเชื่อใจต่อคนหรือซีอีโอที่บริหารงานมากและดูเหมือนว่าจะไม่เคย “ตั้งคำถาม” อะไรกับการทำงานหรือตัดสินใจของพวกเขาเลย  สิ่งที่เขาบอกกับซีอีโอก็คือ  ให้พวกเขาคิดและทำเหมือนกับว่าพวกเขานั้นเป็นเจ้าของบริษัทเท่านั้น  การให้ความรัก  นับถือและเชื่อใจแก่คนอื่นนั้น  ทำให้บัฟเฟตต์ได้รับความรัก  ความนับถือและเชื่อใจตอบจากคนอื่นเท่า ๆ  กัน  เห็นได้จากการที่ผู้บริหารหรือซีอีโอของเบิร์กไชร์นั้นมักจะอยู่กับบัฟเฟตต์ไปตลอดไม่ไปไหนและบัฟเฟตต์เองก็แทบจะไม่เคยให้ใครออก  เขาบอกว่าระบบของเบิร์กไชร์นั้น  “ไม่มีการเกษียณ”  สำหรับซีอีโอ

   นิสัยที่สองที่แตกต่างจากคนอื่นของบัฟเฟตต์ก็คือ  ความ  “จงรักภักดี”  ที่มีต่อสิ่งรอบตัว  ที่สำคัญก็คือ  เมื่อบัฟเฟตต์ซื้อธุรกิจมาแล้ว  เขาก็จะเก็บรักษามันไว้  “ตลอดไป”  แม้ว่าหลายกิจการนั้นพื้นฐานอาจจะเปลี่ยนไปแล้วเขาก็มักจะไม่ขายทิ้งเหมือนนักลงทุนอื่น  เขายังเก็บหุ้นไว้เพราะเขาอยู่กับมันมานานและรู้จักผู้บริหารเป็นอย่างดี  เขายินดีที่จะได้รับผลตอบแทนที่ลดลงและในที่สุดอาจจะล้มหายตายจากไป  ผมคิดว่าเขาคงคิดว่าเขาได้รับผลตอบแทนจากบริษัทมานานและมากพอแล้ว  ดังนั้น  ถ้าเขาจะเสียหายบ้างจากการที่ไม่ได้ขายมันไปก่อน  มันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก  นอกจากเรื่องของธุรกิจแล้ว  ผมก็รู้สึกว่าบัฟเฟตต์นั้นชอบทำอะไรซ้ำ ๆ  เดิม ๆ  เช่น  เขาชอบกินอาหารเช่น  สเต็กร้านเดิม ๆ ดื่ม โค๊กแบบเดิม ๆ เป็นสิบ ๆ ปีอย่างไม่รู้เบื่อ  ดูเหมือนว่าเขาจะ “จงรักภักดี” ต่อสิ่งที่เขาคิดว่าดีอยู่แล้วมาก  ความคิดของเขาก็คือ  ไม่รู้จะ “เสี่ยง” ไปทำไมกับของใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าดีหรือไม่

   ความคิดที่อิสระและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก  นี่คือนิสัยอีกอย่างหนึ่งของบัฟเฟตต์  เขาไม่เคยทำตามคนอื่นหรือตามความคาดหวังของสังคม  เขาไม่เคยกลัวที่จะถูกมองว่าเป็นคน “ตกยุค” เช่นในช่วงที่หุ้นไฮเท็คเติบโตเป็น “ฟองสบู่” ช่วงปีทศวรรษปี 1990 ถึง 2000 เขาเองก็ไม่สนใจลงทุนในหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากซึ่งทำให้การคาดการณ์รายได้และกำไรทำได้ยากมากและเขาเองก็ไม่รู้จักธุรกิจดีพอ  ผลงานการลงทุนของเขาจึงดูไม่ดีนักเมื่อเทียบกับคนที่ลงทุนในหุ้นไฮเท็คเหล่านั้น   เช่นเดียวกัน  ในบางช่วงการแข่งขันทางด้านการขายประกันภัยรุนแรงมากและทุกคนต่างก็ขายประกันในราคาที่  “ขาดทุน” เพื่อที่จะสร้างยอดขายให้เติบโตและทำกำไรในระยะสั้น  บัฟเฟตต์ปฎิเสธที่จะทำตาม   เขา “ยอม” ถูกมองเป็นบริษัทที่กำลัง “ถดถอย” ในขณะที่บริษัทอื่นโตขึ้น  แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไป  ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คแตก  และบริษัทประกันที่ขายประกันราคาถูกเกินไปต้องขาดทุนหนัก  บัฟเฟตต์ก็กลับมามีผลงานที่โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม

   นิสัยที่สี่ของบัฟเฟตต์ก็คือ  เขากำหนดขอบเขตและมาตรฐานของตนเองหรือพูดหยาบ ๆ  ก็คือ  เป็นตัวของตัวเองสูง  เขาไม่สนใจและไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ทุกเรื่องหรือทุกอุตสาหกรรม  เพราะเขาเลือกเฉพาะอุตสาหกรรมและบริษัทที่เขารู้เท่านั้น  เขากำหนด Circle of Competent หรือขอบเขตความสามารถของเขาที่เขาจะทำได้ดีและเขาจะไม่ออกจากขอบเขตนี้   สิ่งที่บัฟเฟตต์ทำนั้น  เขาก็จะหาธุรกิจหรือบริษัทที่ดูได้ง่ายเข้าใจง่ายและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง  เขาพูดว่าเขาพยายามหารั้วเตี้ย ๆ ซักหนึ่งฟุตเพื่อที่ว่าเขาจะได้ข้ามมันไปง่าย ๆ   เขาไม่ต้องการรั้วสูง ๆ  เพื่อที่จะแสดงความสามารถในการกระโดดข้ามมัน  ดังนั้น  เราจึงเห็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้น  ส่วนมากจึงเป็นหุ้นของธุรกิจธรรมดามากเช่น บริษัทขายซ้อสมะเขือเทศ  ร้านเฟอร์นิเจอร์  ร้านขายเครื่องประดับเพชร  บริษัทรถไฟ  ธนาคาร และอื่น ๆ  ที่เข้าใจไม่ยากและไม่เห็นจะมีอะไรน่าตื่นเต้นในยุคที่เครื่องมือสื่อสารอย่างไอแพดเปลี่ยนรุ่นทุก 2- 3 ปีและมีฟีเจอร์ใหม่ ๆ  เกิดขึ้นตลอดเวลา

   มาตรฐานที่บัฟเฟตต์ใช้เองนั้น  เขาบอกว่าเขาไม่สนใจมาตรฐานของสังคมหรือคนอื่น  เขาไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองตนเองอย่างไร  เขาแนะนำว่านักลงทุนควรที่จะมี  Inner Score Card หรือมาตรฐานที่อยู่ภายในใจของเรา  นั่นก็คือ  ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นหรือสนใจว่าคนอื่นเขาจะมองเราอย่างไร  เราควรที่จะกำหนดมาตรฐานของตนเองว่าเราตั้งเป้าไว้เหมาะสมและทำได้ตามเป้าหรือไม่  เช่น ถ้าเราคิดว่าเราควรทำผลตอบแทนการลงทุนได้ปีละ 12% ทบต้นโดยการลงทุนในหุ้นที่มีระดับความความเสี่ยงที่ยอมรับได้  เช่นต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัวและไม่มีหุ้นตัวใดที่มีสัดส่วนสูงเกิน  30%  ในกรณีแบบนี้   เราก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ  ไม่ใช่ว่าพอเห็นคนอื่นกำลังทำผลตอบแทนดีเยี่ยมกว่าเรา  เราก็พยายามไปเปรียบเทียบกับเขาเพราะกลัวว่าเราจะถูกมองว่าไม่มีความสามารถเท่า  เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้น  กลยุทธ์และวิธีการต่าง ๆ  ก็จะรวนไปหมด  และเราก็อาจจะไม่มีความสุขในการลงทุนหรือทำงาน

   นิสัยสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงและแปลกไปจากเพื่อนระดับเดียวกันของเขาก็คือ  บัฟเฟตต์นั้นแม้ว่าจะรวยเป็นอันดับ 1-3 ของโลกมานาน  แต่เขาเป็นคนที่มีความสมถะและประหยัดมาก  ดูเหมือนว่าเขาจะชอบผู้บริหารที่เน้นการลดต้นทุนการดำเนินงานโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก  เขาไม่ชอบความฟุ่มเฟือยในทุกกรณี  เขาไม่ชอบผู้บริหารที่กินเงินเดือนสูงมากโดยที่ไม่ได้อิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท  ตัวบัฟเฟตต์เองนั้นถ้าจำไม่ผิดเขารับเงินเดือนในฐานะของซีอีโอเบิร์กไชร์ปีละแค่ 100,000 เหรียญซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่ใหญ่ขนาดเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา  ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองนั้น  ทุกวันนี้เขาก็ยังอยู่บ้านเดิมที่อยู่มาหลายสิบปีที่เขาซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นเหรียญและน่าจะเป็นบ้านระดับชนชั้นกลาง  เขายังขับรถเองและใช้ชีวิตเหมือนคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่

   หลายคนคงเถียงในใจว่านิสัยส่วนตัวของบัฟเฟตต์นั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนของเขา  แต่ผมเองเชื่อว่านิสัยส่วนตัวกับการลงทุนนั้นคงจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่  ผมเองได้อ่านประวัติของ VI ระดับโลกและได้ศึกษา VI เด่น ๆ หลายคนในตลาดหุ้นไทยที่ผมรู้จัก  ผมพบว่านิสัยของพวกเขาหลาย ๆ  คนนั้น  มีบางส่วนคล้าย ๆ  กับของ บัฟเฟตต์  ที่กล่าวถึง  ผมคิดว่านิสัยบางอย่างนั้นเอื้ออำนวยให้คน ๆ  นั้นกลายเป็นนักลงทุนและเข้าใจและตัดสินใจในการลงทุนได้ดีขึ้น  นิสัยบางอย่างก็ขัดแย้งกับการเป็นนักลงทุนและทำให้เขาเป็นนักลงทุนที่ดีได้ยาก  ดังนั้น  ก่อนที่จะลงทุนโดยเฉพาะในแนว VI  เราควรวิเคราะห์นิสัยของตนเองก่อนว่า  เรามีแนวโน้มที่จะเป็น VI ที่ดีได้ไหม


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/11/09/1649


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



 Monday, 16 November 2015
หุ้นมือถือ

    สัปดาห์ที่แล้วข่าวใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมและตลาดหุ้นก็คือ  การประมูลคลื่นความถี่วิทยุย่าน 1800 MHz เพื่อที่จะใช้กับโทรศัพท์มือถือระบบ 4G  เหตุผลแรกก็คือ  มันจะเป็น “ก้าวใหญ่” ของการพัฒนาระบบสื่อสารของไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” และตามทันประเทศอื่น ๆ  หลังจากที่ไทยค่อนข้างจะล้าหลังมานาน  เหตุผลต่อมาก็คือ  การแข่งขันของผู้เข้าประมูลนั้นมีความจริงจังและรุนแรงซึ่งทำให้ตัวเลขเม็ดเงินของผู้ชนะ 2 ราย คือ AIS และ TRUE สูงมากกว่าที่เคยคือสูงถึงรายละประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่ออายุสิทธิการใช้ 15 ปี ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าที่คาดถึงเท่าตัว  และสุดท้ายสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทสื่อสารที่เข้าประมูล 4 ราย ที่ต่างก็ตกลงมาอย่างทั่วหน้าทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  โดยที่หุ้น AIS ตกลงมาประมาณ 6.6% ในวันที่กำลังประมูลและตัวเลขราคาการประมูลสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าตกใจ  หุ้น TRUE ตกลงมาถึง 8% หุ้น DTAC ตกลงมา 8.2% และหุ้น JAS ซึ่งถึงแม้จะไม่ตกแต่ก็ได้ตกลงมาก่อนแล้วตั้งแต่วันเริ่มประมูลที่ประมาณ 6%  ดังนั้นจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าราคาค่าใบอนุญาตใช้คลื่นที่สูงมากนั้น  มีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทมาก  เพราะมันจะเป็นตัวที่บอกว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้จะมากหรือน้อยในอนาคต

   วันต่อมาหลังจากที่รู้ตัวผู้ชนะและผู้แพ้แล้ว  หุ้นของผู้ชนะคือ AIS ก็ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 1%  หุ้น TRUE นั้นอยู่ที่เดิม  ส่วนหุ้นผู้แพ้การประมูลคือ DTAC ปรับลดลงถึงประมาณ 7.6%  และหุ้น JAS ปรับลดลง 5.5%   การที่หุ้นของบริษัทผู้ชนะไม่ได้ปรับขึ้นและหุ้นผู้แพ้ปรับลดลงรุนแรงทั้ง ๆ  ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่แพงลิ่วนั้น  ถ้าจะตีความก็คือ  นักลงทุนมองว่าถึงจะเป็นผู้ชนะและจะสามารถขยายธุรกิจมือถือได้อย่างสะดวก  กำไรของบริษัทก็อาจจะไม่ดีนักเพราะต้นทุนของการให้บริการจะสูงในขณะที่รายได้ก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนักเนื่องจากถูก กสทช. บังคับไม่ให้เพิ่มค่าบริการจากเดิม  ส่วนในกรณีของผู้แพ้นั้น  คนก็มองว่าในอนาคต  ธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะ DTAC ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลงทำให้กำไรลดลง  ในส่วนของ JAS เองนั้น  แม้ว่ายังไม่ได้ทำธุรกิจมือถือเลย  ดังนั้นจึงไม่ควรถูกกระทบอะไรทั้งสิ้น  แต่นักลงทุนก็คงมองว่า  ในอนาคตถ้ามี 4G แล้ว  ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตมีสายของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบเนื่องจากคนอาจจะหันไปใช้อินเตอร์เน็ตไร้สายของโทรศัพท์มือถือมากกว่า  ดังนั้น  หุ้น JAS จึงถูกกระทบแรงรอง ๆ  จาก DTAC

   บทเรียนของหุ้นมือถือในครั้งนี้ก็คือ  ข้อแรก  หุ้นของกิจการให้บริการสินค้าที่มีลักษณะเป็น  “โภคภัณฑ์” นั่นคือ  การแข่งขันของการขายสินค้าหรือบริการขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลักนั้น  มีความไม่แน่นอนสูงและหา “ผู้ชนะ” อย่าง  “ถาวร”  ได้ยาก  ช่วงเวลาที่กิจการจะมีผลประกอบการที่ดีน่าประทับใจก็คือช่วงที่ความต้องการสินค้าหรืออุปสงค์มีมากแต่ผู้ให้บริการหรืออุปทานมีจำกัด  ซึ่งในช่วงเวลาอย่างนั้น ราคาของสินค้าหรือบริการก็จะสูงกว่าต้นทุนมาก  แทบทุกบริษัทก็จะทำกำไรได้สูงกว่าปกติโดยที่แต่ละบริษัทนั้นไม่ต้องมีความสามารถพิเศษหรือเก่งกว่าคู่แข่งแต่อย่างใด  และนี่ก็คือเหตุผลที่บริษัทมือถือสามารถทำกำไรได้ดีมากและราคาหุ้นก็สูงขึ้นไปตามกัน  เพราะธุรกิจนี้มีผู้ให้บริการที่จำกัดเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่วิทยุของไทยที่ถูกยึดครองโดยหน่วยงานรัฐมานานและเพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เอกชนเข้ามาใช้ได้ผ่านการประมูลคลื่นบางส่วนเมื่อไม่กี่ปีมานี้   แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ให้บริการหรือผู้ขายมีมากพอ  ราคาสินค้าและบริการก็จะลดลงจนทำให้กำไรลดลงจนเหลือแค่กำไรปกติ  เมื่อนั้น  หุ้นก็จะกลับมาสู่ราคาที่เหมาะสมซึ่งก็ไม่ควรจะสูงมากเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของมัน

   บทเรียนอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  หุ้นที่ถูกควบคุมโดยรัฐและกฎเกณฑ์พิเศษนั้น  จะมีความเสี่ยงเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับที่บางทีก็คาดการณ์ได้ยากมาก  เหตุเพราะว่ากฎต่าง ๆ  สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในเวลา  “ข้ามคืน”  และผลกระทบนั้นบางครั้งสูงมากและทำให้กำไรลดลงไปมากได้  เหตุผลก็เพราะว่าบ่อยครั้ง  ธุรกิจเหล่านี้  เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมหรือกำหนดต้นทุนและราคาโดยคนไม่กี่คน  ไม่ได้กำหนดโดยตลาดเสรี  นี่ทำให้ต้นทุนและราคาไม่สะท้อนความเป็นจริง  และบางครั้งมันก็สูงไปมาก  แต่วันหนึ่งมันก็อาจจะถูกทำให้ลดต่ำลงโดยคนอีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ตลาดเสรีอีกเช่นกัน  ธุรกิจมือถือเองก็เป็นเช่นนั้น  และการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะกำลังเริ่มต้นขึ้นในกรณีของโทรศัพท์มือถือ

   เหตุผลสำคัญที่ทำให้หุ้นมือถือและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตกลงมาแรงนั้น  นาทีนี้คนก็ยังน่าจะมองไปที่เหตุการณ์เฉพาะเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงกว่าปกติมาก  นักลงทุนส่วนใหญ่ยังอาจจะไม่ได้คิดว่าถึงค่าประมูลจะไม่ได้สูงขนาดนั้น   มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจมือถือที่เคยอยู่อย่างสบายและทำกำไรดีมาก่อนเนื่องจากจำนวนผู้เล่นและคลื่นความถี่ที่จำกัด   ก่อนหน้านี้พวกเขาคิดว่าการประมูลน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทมือถือที่จะสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น  นักวิเคราะห์ต่างก็เชียร์ว่าถ้ามีการประมูลเมื่อไรก็จะเป็น  “ข่าวดี” โดยเฉพาะสำหรับหุ้นบางตัวแต่ก็ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับหุ้นตัวอื่น  พวกเขาไม่เคยวิเคราะห์  “โครงสร้างการแข่งขัน” ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่เป็นลบ  นั่นก็คือ  การแข่งขันที่มากขึ้นจะทำให้ราคาการให้บริการลดลง  ผลก็คือ  รายได้โดยรวมของอุตสาหกรรมไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายกับเพิ่มขึ้น  พูดง่าย ๆ  ผู้บริโภคได้บริการที่ดีขึ้นในราคาเท่าเดิมส่วนผู้ให้บริการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น  สถานการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตโดยที่ความต้องการของผู้บริโภคยังมีเท่าเดิม

   ถ้ามองว่าเรากำลังจะมีการประมูลใบอนุญาตอีกครั้งในเร็ว ๆ  นี้ในคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สิ่งที่จะตามมาอีกก็คือกำลังการผลิตหรือการให้บริการก็จะเพิ่มขึ้นอีก  และถ้ามีผู้ให้บริการรายใหม่เช่น JAS ชนะด้วย  นี่ก็จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ที่อุปทาน “ล้น” และผู้เล่นรายใหม่ต้องเข้ามาแย่งลูกค้าจากรายเก่าด้วยการลดราคาลงแล้ว  ผมก็คิดว่าหุ้นมือถือทั้งกลุ่มก็จะถูกกระทบรุนแรงอีกครั้ง  การทำ  “สงครามราคา”  ก็จะรุนแรงมากเนื่องจากธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่สูงมากจากค่าธรรมเนียมและการลงทุนในอุปกรณ์ที่สูง  แต่ต้นทุนแปรผันคือค่าใช้จ่ายในการให้บริการอื่น ๆ  นั้นต่ำมากซึ่งทำให้ผู้เล่นที่ยังไม่มีลูกค้าสามารถลดราคาค่าบริการลงไปได้ต่ำมากเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าแทนที่จะปล่อยให้กำลังผลิตว่างอยู่โดยไม่มีการใช้

   เรื่องราวของการเปิดให้ใบอนุญาตดิจิตอลทีวีหลายสิบช่องเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานั้น  ปัจจุบันก็แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการแข่งขันของสถานีทีวีแล้วในแง่ที่บริษัทที่มีอยู่เดิมมีกำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับที่ผู้เล่นรายใหม่ต่างก็  “บาดเจ็บ” อย่างหนักเนื่องจากสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จากการขายโฆษณาทีวีของตนจะมากพอที่จะคุ้มกับต้นทุนการดำเนินงานของสถานี  ประเด็นก็คือ  ก่อนการประมูล  ผู้เล่นรายใหม่เองคิดว่าเขาจะสามารถขายโฆษณาได้ในจำนวนเวลาที่มีและในอัตราที่สูงระดับหนึ่งซึ่งในความคิดของเขาก็คือค่อนข้างจะต่ำมากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเห็นอยู่ในโครงสร้างการแข่งขันเดิม  ดังนั้น  เขาคิดว่าสิ่งที่ประมาณการไว้นั้นค่อนข้าง  “อนุรักษ์นิยม”  อยู่แล้ว  แต่หลังจากที่เริ่มเปิดดำเนินการกันทุกราย  เขากลับพบว่าสิ่งที่เขาคาดการณ์นั้นกลับผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง  ตัวเลขรายได้ต่ำกว่าที่คาดมาก  เหตุผลก็เพราะว่า  เมื่อทุกสถานีเปิดขึ้นมา  ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในแง่ที่แย่ลงมากและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  ธุรกิจทีวีอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเยี่ยมอีกต่อไปแล้ว  ดังนั้น  คนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจะต้อง “คิดใหม่”

   ผมเองก็ไม่มั่นใจเต็มร้อยว่าธุรกิจมือถือได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่  เหตุผลก็เพราะว่าผู้เล่นในธุรกิจเองนั้น  ถึงอาจจะมีเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังน้อยไม่เหมือนธุรกิจทีวี  นอกจากนั้น  เรื่องของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตเองก็ดูเหมือนว่ายังอยู่ในช่วง  “ขาขึ้น”  เมื่อเทียบกับทีวีที่อาจจะเป็น “ขาลง”  อย่างไรก็ตาม  ผมเองเชื่อว่า  ธุรกิจมือถือเองนั้น  น่าจะถดถอยลงมากกว่าที่จะดีขึ้นนับจากนี้ไป

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/11/16/1653