Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 3 November 2014
The Lewis Turning Point

สำหรับนักลงทุนระยะยาวนั้น  การคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าประเทศที่ตนเองลงทุนนั้น  จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไรนับว่ามีประโยชน์มาก  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  จะได้รู้ว่าบริษัทจดทะเบียนที่เราจะลงทุนนั้นจะมีการเติบโตเร็วขึ้นหรือช้าลงและอาจจะหยุดโตเมื่อไรตามภาวะเศรษฐกิจ  นอกจากนั้น  ประเทศหรือสังคมที่เศรษฐกิจไม่โตนั้น  โอกาสก็ยากที่ดัชนีหุ้นของประเทศจะปรับตัวขึ้นไปได้มาก  ตัวอย่างของตลาดหุ้นในยุโรปและญี่ปุ่นที่ไม่ไปไหนมานานตามภาวะเศรษฐกิจที่โตน้อยมากมานานย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดี  ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร?  เรื่องนี้ผมคิดว่าโมเดลของ Arthur Lewis นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล  ที่ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจตั้งแต่ 60 ปีที่แล้วสามารถจะอธิบายได้ดี

แนวความคิดของ Lewis ก็คือ  ในสังคมที่มีคนอยู่ในสองภาค  ภาคหนึ่งคือสังคมแบบ “ทุนนิยม” เช่นในเมืองหลวงหรือเมืองท่าขนาดใหญ่  กับอีกภาคหนึ่งคือสังคมแบบ  “พออยู่พอกิน”  เช่นในชนบทหรือในต่างจังหวัดที่ห่างไกลนั้น  กระบวนการการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะเริ่มต้นโดยที่โรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจสามารถที่จะลงทุนขยายงานโดยที่มี  “แรงงานส่วนเกินที่ไม่จำกัด”  จากชนบท  ดังนั้นพวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม  นี่ทำให้ธุรกิจมีกำไรดีกว่าปกติและกำไรที่ได้ก็นำไปลงทุนขยายงานเพิ่มโดยที่สามารถดึงคนจากชนบทมาทำงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม  กระบวนการนี้ทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่  จุดที่แรงงานในภาคพออยู่พอกินถูก “ดูดซับ” ไปหมดและการลงทุนเพิ่มต่อไปจะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นนั้นก็คือจุดที่เรียกว่า  “Lewis Turning Point” (LTP)

ณ. จุด LTP นั้น  ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  การหาแรงงานจะยากขึ้นมาก  อุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้นนั้นจะทำให้การลงทุนมีความคุ้มค่าน้อยลงเพราะผลตอบแทนจะต่ำลงส่งผลให้การขยายการลงทุนของประเทศลดลง  ผลก็คือ  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะชะลอลงกว่าที่เคยเป็นมาก  การที่จะทำให้ประเทศเจริญเติบโตต่อไปนั้น  ก็จะต้องอาศัยแรงงานใหม่นั่นก็คือ  คนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานใหม่  แต่โดยปกติมันมักจะไม่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนกับการเคลื่อนย้ายคนจากภาคเกษตรในต่างจังหวัดอยู่แล้ว  อีกวิธีหนึ่งก็คือ  การเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการทำงานสูงขึ้นซึ่งอาจจะใช้การเพิ่มสัดส่วนของเครื่องจักร  เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน  และอื่น ๆ  ซึ่งรวมถึงการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ  ที่มีคุณค่าสูงขึ้น  อย่างไรก็ตาม  เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ  เหมือนกับการดึงคนที่มีค่าแรงต่ำจากภาคเกษตรมาทำงาน

    ประเทศที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจตรงกับโมเดลของ Arthur Lewis ก็คือจีน  ส่วนตัวผมเชื่อว่าประเทศไทยเองก็เป็นแบบเดียวกัน  ว่า  เศรษฐกิจของเรากำลังมุ่งเข้าสู่  “จุดกลับของลิวอิส” หรือ LTP  ซึ่งหมายความว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะช้าลงเมื่อเทียบกับอดีต  “อย่าถาวร”  สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นก็คือ  ในปัจจุบันการหาแรงงานของไทยนั้นยากขึ้นมากจนเราต้องนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ค่าแรงเองก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเร็ว ๆ  นี้  และว่ากันว่าในชนบทของไทยนั้น  เวลานี้มีแต่คนแก่กับเด็ก  อัตราการว่างงานของไทยนั้นต่ำมากจนแทบเป็นศูนย์  ส่วนคนหนุ่มสาวต่างก็เข้ามาทำงานในเมืองกันหมด  ประเทศจีนเองนั้นก็มีอาการแบบเดียวกันที่ค่าแรงปรับตัวขึ้นสูงจากที่เคยต่ำมากจนเวลานี้สูงกว่าค่าแรงของไทยไปแล้ว

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ  Demography หรือโครงสร้างประชากรของทั้งจีนและไทยนั้นต่างก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่ประชากรวัยทำงานจะเพิ่มขึ้น  มีการศึกษาและพบว่าประชากรในวัยทำงานทั้งของจีนและไทยนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็จะลดลง  คาดการณ์กันว่าอาจจะภายในปี 2020-2025 หรือประมาณ 6-11 ปี จีนก็อาจจะถึงจุด LTP ส่วนของไทยเองนั้น  ผมก็คิดว่าไม่ต่างกันมาก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นและไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นเช่นการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงาน  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็จะช้าลงมาก

โครงสร้างประชากรของจีนนั้น  กล่าวกันว่ามีความผิดเพี้ยนไปอย่างแรงตรงที่มีนโยบาย “ลูกคนเดียว” มานานซึ่งทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ในช่วงเวลานั้นมีน้อยลงไปมาก  แม้ว่าในขณะนี้เริ่มจะมีการปรับในบางเขตของประเทศ  ก็ไม่น่าจะทันกาล  ส่วนของไทยเองนั้น  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน “รุ่นใหม่” ทำให้เรามีลูกน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด   ผมดูตัวเลขประชากรของไทยกับของจีนแล้วปรากฏว่าต่างก็มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกันมากทั้ง ๆ  ที่เราไม่ได้มีนโยบายลูกคนเดียวแบบจีน  นั่นคือ เรามีเด็กอายุ 0-14 ปี 17.6% ในขณะที่จีนมี 17.1%  อายุ 15-24 ปี เรามี 15% ในขณะที่จีนมี 14.7%   ในด้านของคนสูงอายุ  ตั้งแต่ 55-64 ปี  เรามี 10.9% ขณะที่จีนมี 11.3%  และคนที่เกษียณแล้วที่ 65 ปีขึ้นไป  เรามี9.5% ในขณะที่จีนมี 9.6%  ว่าที่จริงทั้งไทยและจีนต้องบอกว่าเรากำลังเป็นสังคม  “คนแก่” ของเอเซียในขณะที่  “คู่แข่ง” ของเราในอาเซียนเองนั้น  ต่างก็ยังเป็นสังคมของคน  “หนุ่มสาว”

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่น่าจะ  “เด็ก”  ที่สุด เพราะมีเด็กอายุไม่เกิน 14 ปีสูงถึง 33.7% ของประชากรหรือเกือบเท่าตัวของไทยในขณะที่คนแก่อายุเกิน 65 ปี ที่เกษียณแล้วมีแค่ 4.5% หรือน้อยกว่าครึ่งของไทย  ลองลงมาคือมาเลเซียที่มีเด็ก 28.8%  และคนแก่แค่ 5.5%  ตามด้วยอินโดนีเซีย ที่มีเด็ก 26.2% และคนแก่ 6.5%  ทั้งหมดนั้นน่าจะมาจากเรื่องของศาสนาที่ห้ามคุมกำเนิดทำให้มีประชากรเกิดมาก  ส่วนเวียตนามซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามคุมกำเนิดเองก็ค่อนข้างเป็นสังคมคนหนุ่มสาวมีเด็ก 24.3% และคนแก่เพียง 5.7%  ในส่วนของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  แม้ว่าโดยรวมยังอ่อนกว่าไทยเล็กน้อย  แต่ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ  ปัจจุบันมีคนแก่ 8.5% แต่มีเด็กเพียง 13.4%  เท่านั้น  ทำให้สิงคโปร์ต้องรนณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้น

ประเทศคู่แข่ง-และ “คู่ค้า”  ที่อยู่รอบบ้านเรานี้  กำลังมาแรงในด้านของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  พวกเขายังห่างจากจุด LTP มาก  ว่าที่จริงหลายประเทศเพิ่งจะเริ่มพัฒนาทางเศรษฐกิจและอาศัยแรงงานที่มีค่าแรงถูกที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด  ไทยเองใกล้หรืออาจจะถึงจุด LTP แล้ว  ดังนั้น  การที่จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปจึงต้องการแรงงานเพิ่มซึ่งในปัจจุบันก็คือแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก  เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มคนโดยการกระตุ้นให้คนไทยมีลูกมากขึ้นหรือเปิดรับคนเข้าเมืองแบบ อเมริกาหรือออสเตรเลีย  นอกจากนั้น  การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเนื่องจากมันจะช่วยสร้างความ “อยู่ดีกินดี” ของประชาชนอย่างแท้จริง  อย่างไรก็ตาม  นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมันต้องอาศัยการศึกษาที่ดีของประชากรและอื่น ๆ  อีกมากรวมถึงการจัดการและลงทุนในด้านของสาธารณูปโภคต่าง ๆ  ซึ่งก็ต้องอาศัยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมองการณ์ไกล  ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไทยยังไม่พร้อมนัก

ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่าเมืองไทยเองนั้น  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะ “รวม”  เป็นเออีซีในปีหน้า  เราคงเสียเปรียบ  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเราคงสู้ไม่ได้  และผลที่ตามมาก็คือ  ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นก็อาจจะไม่ดีนัก  อย่างไรก็ตาม  บริษัทจดทะเบียนไทยที่สามารถรุกเข้าไปในเออีซีก็อาจจะเติบโตได้ดีและรุ่งเรืองได้ทั้ง ๆ  ที่เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่โดดเด่นนัก  นอกจาก “ซุปเปอร์สต็อก”  เหล่านั้นแล้ว   อีกวิธีหนึ่งที่จะอยู่รอดและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็คือ  เข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นโดยตรง

Posted by nivate at 9:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/03/1487



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 10 November 2014
Amazing Japan

ผมเพิ่งกลับจากการเที่ยวเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ซึ่งก็ทำให้ผมได้ความรู้และความเข้าใจในประเทศและคนญี่ปุ่นมากขึ้น  ว่าที่จริง  ผมเองไปเยี่ยมเยือนญี่ปุ่นมาหลายครั้งและต้องถือว่าเป็นประเทศที่ผมไปเที่ยวมากที่สุดประเทศหนึ่ง  ไม่ใช่ว่าผมจะชอบมากเป็นพิเศษ  แต่เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าคนใกล้ชิดผมนั้นชอบไปเนื่องจากญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่ “อะไร ๆ  ก็ดูดีไปหมด”  แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่ดูมหัศจรรย์หรือน่าทึ่งอย่างปิรามิดหรือกำแพงเมืองจีน  แต่ญี่ปุ่นมีสินค้ามากมายที่  “กุ๊กกิ๊ก”  สภาพของเมืองและสถานที่ที่สะอาดดูดี  มีดอกและใบไม้ที่สวยงามในบางช่วงเวลา  มีคนที่สุภาพน่ารัก  มีอาหารการกินที่คุ้นปาก  มีสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดสร้างและบริหารอย่างดีซึ่งรวมถึงสวนสัตว์และสวนสนุกที่ทำได้ดีมากไม่นับโบราณสถานที่ไม่ด้อยกว่าใครในย่านนี้  และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมไปมากขึ้นยังอยู่ที่การเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าเพื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม  คนไทยที่ไปญี่ปุ่นหลังการเปิดให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด  เข้าใจว่าถึง 50% และผมก็รู้สึกได้จากการที่พบคนไทยจำนวนมากที่ฮอกไกโด

ความ “น่าทึ่ง” ของญี่ปุ่นนั้น  ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นในแง่ของสถานที่หรือโบราณสถานหรือการช็อบปิ้ง  แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากคนอื่นโดยเฉพาะคนไทยมากนั้นอยู่ที่คนและสังคมของคนญี่ปุ่นเองที่ผมคิดว่าหาได้ยากในโลกนี้  ในมุมหนึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่  “สมบูรณ์แบบ” ในแง่ที่ว่ามันทำให้การอยู่ร่วมกันของคนญี่ปุ่นมีความกลมเกลียว  ปรองดอง  และช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี  การทะเลาะเบาะแว้งทำร้ายกันหรือการโกงหรือฉ้อฉลมีน้อยมากเมื่อเทียบกับสังคมอื่น ๆ  ทั้ง ๆ ที่เป็นสังคมหรือประเทศที่ใหญ่มาก  มีผู้คนกว่าร้อยล้านคนและอยู่กันอย่าง “แออัด”  นอกจากนั้น  นิสัยและพฤติกรรมนั้นยังส่งมาถึงนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนอย่างตัวผมด้วย   

เริ่มที่ระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นนั้น  ต้องบอกว่าเป็นจุดเด่นที่หาไม่ได้ง่ายในสังคมอื่น  การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีการกำหนดไว้นั้นจะเป็นไปอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก  และเนื่องจากคนเกือบทั้งหมดทำตาม  คนที่ไม่ปฏิบัติจะถูกมองในแง่ที่ไม่ดีมาก  ผลก็คือ  น้อยคนจะ “แหกกฎ”   ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  การทิ้งขยะของแต่ละบ้านนั้น  เขาจะมีเวลากำหนดให้ทิ้งแน่นอนและขยะทุกชิ้นจะต้องมีการแยกแยะอย่างถูกต้องออกเป็นหลายใบ เช่น  ขยะเปียกหรือแห้งหรือขยะที่สามารถรีไซเคิลได้  เป็นต้น   ส่วนในที่สาธารณะนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่ทิ้งสิ่งของลงบนพื้น  ในบางกรณีที่ไม่สามารถหาถังขยะได้ซึ่งก็เกิดได้บ่อย ๆ  พวกเขาจะต้องเก็บกลับไปทิ้งที่บ้าน  ดังนั้น  ถนนหนทางและที่สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นจะสะอาดมาก   ไม่ต้องพูดถึงขยะ  แม้แต่ใบไม้ก็มักจะถูกเก็บโดยเจ้าของบ้านที่ต่างก็ต้องกวาดเก็บหน้าบ้านให้ดูสะอาดทุกวัน

คนไทยคงจำได้ถึงภาพที่คนญี่ปุ่นต่อแถวรับอาหารหรือความช่วยเหลือจากกรณีสึนามิอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มีการแซงคิวหรือแก่งแย่งกันทั้ง ๆ  ที่กำลังประสบความลำบากเหลือล้น   นั่นเป็นเรื่องปกติ  การเข้าคิวเพื่อรับบริการต่าง ๆ  หรือใช้บริการหรือทำสิ่งต่าง ๆ  นั้น  จะไม่มีการแซงคิวกันเลย  แม้แต่การข้ามถนน  ถึงจะไม่มีรถมาทุกคนต่างก็จะรอจนสัญญาณไฟเขียวขึ้นจึงจะข้าม  คนญี่ปุ่นนั้น  ตั้งแต่เด็กก็ถูกฝึกให้เป็นคนมีวินัยสูงมาก  ครูสอนเปียโนอย่างภรรยาผมเล่าว่า  เด็กเล็กชาติอื่นนั้น  มักจะไม่ค่อยซ้อมตามที่ครูสั่งก่อนเข้าเรียน  เวลาเรียน ก็มักจะลุกเดินไปมาและหาเรื่องคุย  แต่เด็กญี่ปุ่นนั้น  จะทำการบ้านหรือซ้อมเล่นตามที่ครูสั่งเสมอ  เวลาเรียนก็มักจะตั้งใจมีสมาธิในการเรียน  ผมเคยเห็นเด็กอนุบาลขึ้นรถไฟจากบ้านไปเรียนคนเดียวที่ญี่ปุ่นแล้วก็รู้สึกทึ่ง  ผมเพิ่งรู้จักไก้ด์คนไทยที่เคยเรียนที่ญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า  เขาไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมาส่ง  แต่ที่เขาทำอย่างนั้นได้ผมคิดว่าเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นนั้นสถิติอาชญากรรมต่ำมาก  และโรงเรียนก็ไม่ไกลจากบ้านและเด็กก็ไม่ไปเรียนที่ไกล ๆ  เนื่องจากโรงเรียนที่ญี่ปุ่นในระดับเด็กนั้นต่างก็มีมาตรฐานเท่ากัน

จุดที่เด่นมากที่สุดของญี่ปุ่นนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของวินัย  แต่เป็นเรื่องของความ  “เสมอภาค” ที่คนญี่ปุ่นยึดถือเมื่อมองคนอื่นหรือปฏิบัติต่อคนอื่น  ทุกคนเคารพสิทธิของคนอื่นอย่างเท่าเทียมกับสิทธิของตนเอง  เวลาจะทำอะไรจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้  และเรื่องของวินัยหลาย ๆ  เรื่องก็เกิดจากเรื่องนี้  เช่น  ที่เขาไม่แซงคิวคนอื่นก็เพราะเขารู้สึกว่าทุกคนเสมอกัน  การแซงคิวก็คือการไม่เคารพสิทธิของคนอื่นที่มาก่อนและต้องได้สิทธิก่อน  ดังนั้น  เรื่องของ  “มนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุง” ที่เอาเปรียบคนอื่นจึงไม่มี  เรื่องสิทธิของคนอื่นนั้นกินความไปถึงสิทธิที่จะอยู่อย่างสงบไม่มีใครมารบกวนไม่ว่ากรณีใดด้วย  ดังนั้น  เวลาที่ใครต้องการเลี้ยงสุนัข  สิ่งสำคัญก็คือเขาจะต้องเอาสุนัขไปเข้าโรงเรียนเพื่อสอนให้ไม่เห่าทำเสียงดังรบกวนชาวบ้านด้วย  พูดถึงความเสมอภาคแล้วต้องยอมรับว่าคนญี่ปุ่นนั้น  มีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่น ๆ    รายได้ระหว่างพนักงานในบริษัทที่เป็นผู้บริหารกับพนักงานนั้นไม่ต่างกันมาก  ผมเคยได้รับฟังมาว่าผู้บริหารกับคนขับรถของบริษัทใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นนั้นเงินเดือนอาจจะห่างกันแค่ 1 หรือ 2 เท่าตัวในขณะที่ในประเทศไทยนั้นอาจจะเป็น 8 หรือ 10 เท่า  และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นนั้นมีความเสมอภาคกันสูงมาก

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าแปลกเหมือนกันเมื่อคำนึงถึงว่าคนญี่ปุ่นนั้นเป็นคนที่เก่งและฉลาดวัดจาก IQ ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก  พวกเขาจะโค้งให้กันและกันเวลาพบเจอและทักทายกันไม่ว่าจะเป็นคนที่สูงกว่าในด้านของอายุหรือฐานันดรหรือความมั่งคั่ง  คำพูดในภาษาญี่ปุ่นนั้นบางทีจะรู้สึกว่ายาวมากในแต่ละประโยคที่พูด  คนที่รู้ภาษาบอกผมว่าเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่ามันมีความหมายที่เป็นการให้เกียรติหรือให้ความนับถือหรืออะไรทำนองนั้นอยู่ตลอดเวลาในการพูดกับคนอื่น  นอกจากนั้น  คนญี่ปุ่นจะไม่พูดอะไรที่จะทำให้คนอื่นเสียหน้าหรือเป็นการหักหน้าคนอื่น   บ่อยครั้งพวกเขาก็มักจะไม่พูดอะไรเลยในที่ประชุมสาธารณะ

พูดถึงเรื่อง  “หน้าตา” แล้ว  คนญี่ปุ่นคำนึงถึงหน้าตาสูงมาก  พวกเขาจะไม่ทำอะไรที่ทำให้หน้าตาเขาดูไม่ดี  พวกเขาต้องใช้สินค้าเช่นเสื้อผ้าที่มียี่ห้อดีถ้าสามารถทำได้  ว่ากันว่าผู้ชายญี่ปุ่นนั้นเลิกงานแล้วต้องกลับบ้านค่ำ  เพราะถ้ากลับเร็วจะถูกมองว่าไม่ได้ไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นธรรมเนียมของพนักงานที่ทำงานหนักและมีสังคมที่จะมีความก้าวหน้า  ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณเป็นพนักงานที่ไม่ค่อยมีอนาคต  ในด้านของผู้หญิงเอง  เมื่อแต่งงานแล้วก็มักจะต้องออกมาเป็นแม่บ้าน  ถ้ายังทำงานต่อก็จะถูกมองว่าสามีคงไม่ค่อยมีปัญญาเลี้ยงภรรยา  แต่เรื่องนี้ยังเป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ผมเองก็ไม่แน่ใจ  อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับเรื่องหน้าตาหรือไม่ก็คือ  คนญี่ปุ่นที่ทำงานผิดหรือพลาดนั้น  ก็มักจะต้องออกมาขอโทษต่อหน้าสาธารณชนอย่างที่เราพบเห็นบ่อย ๆ  เวลานักการเมืองหรือผู้บริหารกิจการทำผิดหรือทำพลาดรุนแรง  พวกเขาจะต้องออกมายอมรับและขอขมาซึ่งนี่ก็ตรงกันข้ามกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนทำผิดมักจะออกมาปฏิเสธหรือแก้ตัวเสมอ

สุดท้ายคือเรื่องของความ “เนี้ยบ”  ของคนญี่ปุ่นที่ผมประสบทุกครั้งที่มาซื้อของและใช้บริการในญี่ปุ่น  ตัวอย่างเช่น  ไม่ว่าเราจะซื้ออะไรที่ร้าน  เขาก็มักจะห่อด้วยกระดาษของขวัญให้เราเสมอ  ทำให้ดูเป็นของที่มีค่ามากทั้ง ๆ  ที่มันอาจจะเป็นแค่ขนมอบกรอบ  หรืออย่างเวลาเขายื่นของให้เราไม่ว่าจะเป็นจานอาหารหรือเงินทอน  เขาก็จะใช้สองมือจับของสิ่งให้เราเสมอ  และอีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ  เขาให้บริการทุกคนที่เป็นลูกค้าอย่างเสมอภาค  ไม่เหมือนสังคมอื่นที่มักจะดูว่าเราจะมีทิปให้หรือไม่  และคนญี่ปุ่นเองนั้นก็ไม่มีธรรมเนียมในการให้หรือรับทิปในการให้บริการด้วย

ผมไม่มีเนื้อที่เหลือพอที่จะสรุปอะไรทั้งสิ้น  ดูเหมือนว่าจะเป็นรายการโปรคนญี่ปุ่นสุด ๆ  แต่จริง ๆ  แล้วผมไม่มีอะไรซ่อนเร้น  ผมแค่ทึ่งและผมจึงเขียน  แค่นั้นจริง ๆ

Posted by nivate at 9:52 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/10/1490


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
ฤาจะสิ้นยุคทองวีไอ/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ในบทความของท่านดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากรในคอลัมน์ ”โลกในมุมมองของแวลูอินเวสเตอร์” ท่านดร.ได้กล่าวถึงการเติบโตของนักลงทุนแนววีไอในช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากสามารถสร้างฐานะจนร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยหลักการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือวีไอ จากตลาดหุ้นที่เติบโตจาก 400 จุดมาถึงเกือบ 1,600 จุดในปัจจุบันคิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 15 เปอร์เซนต์ต่อปี ในเวลาเดียวกันนักลงทุนวีไอจำนวนมากได้ผลตอบแทนมากกว่า 20-30 เปอร์เซนต์ต่อปี หรือหลายคนทำกำไรได้ปีละเป็นร้อยหรือสองร้อยเปอร์เซนต์ก็มีเป็นต้น

    หุ้นที่เป็นที่นิยมของวีไอในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นมาก ค่าพีอีของหุ้นในกลุ่มอย่างกลุ่มค้าปลีกหรือกลุ่มโรงพยาบาลมีค่ามากกว่า 40 เท่า ขณะที่พีอีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 18 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน 10 เท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่นับรวมถึงหุ้นขนาดเล็กในตลาดเอ็มเอไอหรือตลาดใหม่ (MAI) ที่บางบริษัทมีค่าพีอีมากเป็นร้อยเท่า และตลาดใหม่เองมีค่าพีอีถึง 50 เท่าเลยทีเดียว

    จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ท่านดร.นิเวศน์ถึงสรุปว่ายุคทองของวีไอได้จบสิ้นลงแล้ว โอกาสที่จะทำกำไรได้สูงๆเหมือนในอดีตที่ผ่านมานั้นได้หมดไป เนื่องจากหุ้นวีไอราคาเพิ่มสูงขึ้นมากรวมถึงดัชนีตลาดหุ้นเองที่สูงเป็นประวัติการณ์ ท่านกล่าวว่าการที่จะทำผลตอบแทนได้มากๆนั้นน้อยลงและนักลงทุนควรคาดหวังผลตอบแทนปีละ 10-15 เปอร์เซนต์ในอีกสิบปีข้างหน้า

    สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าแล้ว คำกล่าวของท่านดร.นิเวศน์ถือว่าเป็นคำเตือนของปรมาจารย์วีไอของประเทศไทย ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะสามารถทำกำไรจากหุ้นได้มาก โดยเฉพาะจากหุ้นเล็กๆที่มีมาร์เกตแคปไม่มากรวมถึงหุ้นเข้าข่ายหุ้นปั่นจำนวนมากที่ราคาหุ้นขึ้นได้ด้วยการสร้างข่าวหรือสร้างStoryที่ไม่รู้ว่าบริษัทจะทำได้ตามแผนในอนาคตที่วางไว้ได้หรือไม่แต่ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปรับข่าวล่วงหน้าไปแล้ว หุ้นที่เคยเป็นยอดนิยมของวีไอมีราคาสูงขึ้นมากโดยเฉพาะหุ้นที่เหล่านักลงทุนรายย่อยเข้าซื้อตามเซียนหุ้นรุ่นใหญ่

    ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้ามองในแง่ของพื้นฐานแล้วโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นนั้นก็ยังมีอยู่แต่ไม่มากนัก แต่โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานครั้งใหญ่นั้นมีโอกาสมากกว่า ซึ่งในความเป็นจริงคงไม่มีใครตอบได้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ ในช่วงที่นักลงทุนมองโลกในแง่ดี ตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆได้โดยไม่มีเหตุผล ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นคือในช่วงตลาดหุ้นแนสแดคบูมในช่วงบริษัทดอดคอมปีก่อนคศ. 2000 จอร์จ โซรอสและทีมงานของเขาอย่างสแตนลี่ ดรักเกลมิลเลอร์มองว่าตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติและจะต้องตกลงอย่างรุนแรง โซรอสและทีมจึงทำการยืมหุ้นมาขายและช๊อตดัชนีของแนสแดคจำนวนมาก ปรากฏว่าตลาดหุ้นแนสแดคยังคงปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆและโซรอสขาดทุนจำนวนมาก เนื่องมาจากเขายังคงมองว่าตลาดหุ้นจะต้องตกในระยะเวลาอันสั้นทำให้เขาคงสถานะช๊อตนั้นไว้ สุดท้ายจนตลาดหุ้นขึ้นไปเกือบสูงสุด โซรอสและทีมงานจึงยอมยกธงขาวขายสถานะช๊อตทั้งหมดและขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาล การขาดทุนครั้งนั้นทำให้ดรักเกลมิลเลอร์ต้องลาออกจากองทุนควอนตัมของโซรอสเพราะเก็งตลาดผิดพลาด ซึ่งในที่สุดตลาดหุ้นแนสแดกก็ตกลงอย่างมากเหมือนที่โซรอสคิดไว้แต่ใช้เวลานานกว่าที่เขาคาดไว้มาก ดังมีคำกล่าวไว้ในอดีตที่ว่า “ตลาดหุ้นนั้นอาจบ้าคลั่งได้นานกว่าการอยู่รอดของนักลงทุนเอง”

    ถึงแม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมามากแล้วในปัจจุบัน แต่ในบรรยากาศที่ราคาหุ้นส่วนใหญ่ราคาสูงมากนั้น ยังมีหุ้นบางบริษัทที่ไม่เป็นที่นิยมของตลาดรวมถึงหุ้นที่นักลงทุนต่างพากันกลัวและไม่กล้าซื้อเนื่องจากมีข่าวร้ายในอุตสาหกรรมหรือข่าวร้ายของตัวบริษัทเองทั้งๆที่เป็นบริษัทที่ดีและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นจึงต่ำกว่าราคาในอดีตมาก หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าหรือundervalue แต่ไม่มีใครกล้าซื้อ เพราะราคาหุ้นไม่ได้ขยับไปไหนมาเป็นเวลานาน  นักลงทุนส่วนใหญ่มักคิดว่าสู้เอาเงินไปซื้อหุ้นที่กำลังวิ่งๆจะได้เงินเร็วและง่ายกว่ามาซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่า สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้วคำพูดของบัฟเฟตที่จะยังใช้ได้ดีอยู่เสมอนั่นคือ “จงโลกเมื่อคนอื่นกลัว และจงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ” ปัจจุบันในตลาดหุ้นไทยความโลภกำลังครอบงำจิตใจของนักลงทุนไทยเป็นส่วนใหญ่

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58303


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 17 November 2014
ออกหุ้นเพิ่ม-ซื้อหุ้นคืน

ในตลาดหุ้นไทยนั้น  อาจจะเป็นเพราะคนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นจำนวนมากเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลที่เข้ามา  “เล่นหุ้น”  เพื่อหวังทำกำไรระยะสั้นในลักษณะของการ “เก็งกำไร”  ดังนั้น  ผลประกอบการระยะยาวของบริษัทจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาจะสนใจมากนัก  สิ่งที่เขาสนใจมากกว่าก็คือ  ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงในระยะสั้น  และสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะทำให้หุ้นขึ้นหรือลงในระยะสั้นนั้น  นอกจากผลประกอบการในระยะสั้นเพียงหนึ่งหรือสองไตรมาศแล้วก็คือ  “ข่าว”  ต่าง ๆ  ที่พวกเขาคิดว่ามีผลต่อราคาหุ้นในระยะสั้นหรือทำให้มูลค่าหุ้นโดยรวมของเขาเพิ่มขึ้น  ซึ่งการประกาศเรื่องหนึ่งที่มีผลค่อนข้างมากต่อมูลค่าหุ้นโดยรวมก็คือ  ข่าวการ  “ออกหุ้นเพิ่ม” และการ “ซื้อหุ้นคืน” ของบริษัท  อย่างไรก็ตาม  เรามาดูกันว่าเรื่องนี้จะมีผลอย่างไร  ทั้งในด้านของผลกระทบต่อราคาหุ้นและมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทในด้านของพื้นฐาน

ก่อนอื่นคงต้องบอกเสียก่อนว่า  ในความคิดของ Value Investor “พันธุ์แท้” นั้น  การออกหุ้นเพิ่มแทบจะร้อยทั้งร้อยมักเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์  เพราะพวกเขาคิดว่านี่คือการ “ดูดเงิน” เข้าบริษัทของธุรกิจ  การดึงเงินเข้าบริษัทนั้นอาจจะส่งผลดีต่อฐานะทางการเงินของกิจการ  แต่การมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมานั้นก็จะทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มูลค่าของหุ้นในทางทฤษฎีนั้น  จะมากหรือน้อย  ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดที่บริษัทจะ  “จ่ายออก” มาให้ผู้ถือหุ้นมากหรือน้อยและจ่ายออกมาเร็วหรือจ่ายออกมาช้า  ส่วนการ “ดูดเงิน” เข้านั้นจะเป็นตัว  “ทำลาย” มูลค่าของหุ้น  ประเด็นสำคัญก็คือ  VI ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่ดีมาก ๆ  แนวซุปเปอร์สต็อกนั้น  มักจะไม่ชอบลงทุนในกิจการที่มีผลกำไรต่ำและต้องลงทุนมาก  พวกเขาชอบบริษัทที่ทำกำไรดีและมีกระแสเงินสดดีมากที่มักจะไม่มีความจำเป็นต้องระดมเงินเข้าบริษัท  ดังนั้น  บริษัทที่พวกเขาลงทุนจึงไม่ใคร่มีความจำเป็นที่จะต้อง  “หาเงิน” โดยการออกหุ้นใหม่  ตรงกันข้าม  หุ้นเหล่านั้นมักจะ  “จ่ายเงิน”  ออกมาให้กับผู้ถือหุ้น  โดยวิธีการจ่ายปันผล  หรือไม่ก็โดยการซื้อหุ้นคืน

การออกหุ้นเพิ่มเพื่อระดมเงินเข้าบริษัทนั้น  มีสองวิธีใหญ่ ๆ  คือ  การออกหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นการให้สิทธิในการจองซื้อ  ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดนั้นมักจะกำหนดราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาตลาด  และจำนวนมากนั้นบริษัทก็จะจ่ายปันผลเป็นเงินสดเพื่อที่จะเอามาจองหุ้นและจ่ายภาษีเงินปันผล  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  บริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้น  ในกรณีแบบนี้ก็อาจจะถือได้ว่าบริษัทไม่ได้ดูดเงินของผู้ถือหุ้น  แต่บริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นอย่างที่ควรจะทำ  ถามว่าดีหรือไม่ต่อมูลค่าของกิจการ?  คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเงินที่เก็บเอาไว้นั้นเอาไปทำอะไร  ถ้าเงินนั้นสามารถเอาไปลงทุนเพื่อขยายกิจการอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีโอกาสทางธุรกิจสูงและ “รอไม่ได้”  เนื่องจากจะทำให้คู่แข่งเข้ามา “ยึดหัวหาด” แทน  ในกรณีแบบนี้ก็น่าจะพอรับได้  และมันอาจจะช่วยให้มูลค่าหุ้นของบริษัทดีขึ้น   แต่ถ้าไม่ใช่  มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีและอาจจะเป็นสันญาณว่าบริษัทกำลังขาดเงินหรือบริษัทกำลังนำเงินไปทำในสิ่งที่สุ่มเสี่ยงและอาจเกิดความเสียหายได้

การออกหุ้นใหม่โดยการให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิมนั้น  หลายครั้งและหลายบริษัทยังมีการออกวอแร้นต์ซึ่งก็คือสิทธิในการซื้อหุ้นใหม่ในเวลาที่กำหนด “แถม” ให้ด้วย   วอแร้นต์นั้นมักจะกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาหุ้นในตลาดในวันที่ออก  ดังนั้น  คนก็จะยังไม่ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นจนกว่าราคาตลาดจะสูงเกินกว่าราคาใช้สิทธิ  ผลก็คือ  บริษัทยังไม่ได้ “ดูด” เงินหรือไม่ได้เงินมาใช้  และบริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินสดมาให้กับผู้ถือหุ้น  แต่ผู้ถือหุ้นเองนั้นกลับสามารถนำวอแรนต์ไปขายได้เงินสดมา  การที่ผู้ถือหุ้นได้เงินสดนั้น  พวกเขาก็ตีความเสมือนว่าเป็น “ปันผล” ที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงคิดว่าหุ้นจะต้องมีมูลค่าสูงขึ้นและดังนั้นนักลงทุนก็จะเข้ามา  “เก็งกำไร”  ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา   แต่นี่ไม่ได้ตรงกับพื้นฐานที่ควรจะเป็นจริง ๆ  เพราะวอแร้นต์ที่ออกมานั้น  ถ้าในอนาคตถูกใช้สิทธิซื้อหุ้นใหม่  จำนวนหุ้นของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้กำไรและปันผลต่อหุ้นลดลง  ดังนั้น  คนที่จะเข้ามาซื้อหุ้นหลังจากวอแรนต์ออกไปแล้วจึงต้องคำนึงถึงหุ้นที่จะเพิ่มส่วนนี้  ข้อสรุปก็คือ การออกวอแร้นต์นั้น  มักจะไม่ได้มีผลอะไรต่อพื้นฐานของบริษัท   อาจจะดีต่อผู้ถือหุ้นเดิมที่ถือหุ้นและได้วอแร้นต์มาฟรีสามารถนำไปขายได้เงินสดมาคล้าย ๆ  กับได้ปันผล  แต่จะเป็นข้อเสียสำหรับนักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นภายหลังและไม่รู้ว่าอนาคตการเติบโตของกำไรของบริษัทจะลดลงเพราะอาจจะมีหุ้นใหม่ที่เกิดจากการใช้สิทธิของวอแร้นต์

การออกหุ้นใหม่ขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในราคาต่ำโดยไม่มีวอแร้นต์นั้น  เป็นการ “ดูดเงิน” จากผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้นก็เพิ่มขึ้นทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง   ดังนั้น  นักลงทุนก็มักจะประเมินมูลค่าหุ้นโดยรวมลดลง  แต่การออกหุ้นใหม่ให้กับนักลงทุนคนอื่นหรือที่เรียกว่าทำ PP นั้น  มีความแตกต่างออกไป  ประการแรก  มันไม่ได้ “ดูดเงิน” จากผู้ถือหุ้นเดิมและประการที่สอง  ราคาที่ขายนั้นก็มักจะใกล้เคียงกับราคาตลาดทำให้บริษัทได้เงินมาใช้มากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น  ผลก็คือ  กำไรต่อหุ้นก็อาจจะไม่ลดลงหรือลดไม่มาก  มูลค่าหุ้นของบริษัทตามพื้นฐานจึงไม่ถูกกระทบและราคาหุ้นก็มักจะไม่ไปไหนมาก

อย่างไรก็ตาม  ในระยะหลังนี้  การออกหุ้นใหม่ที่เป็นแบบ PP ของหลายบริษัทกลับตั้งราคาขายที่ต่ำมาก  บางรายต่ำกว่าราคาหุ้นในตลาดหลายเท่า  ผลกระทบต่อกิจการก็คือ  บริษัทได้เงินมาใช้ในกิจการไม่มาก  แต่จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่ามาก  กำไรต่อหุ้นของบริษัทจึงน่าจะลดลงมาก  มองในแง่นี้  มูลค่าของหุ้นก็น่าจะลดลงอย่างรุนแรง    อย่างไรก็ตาม  หุ้นหลายตัวกลับมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก  ประเด็นอาจจะเป็นว่า  กิจการเหล่านั้นจริง ๆ  แล้วนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นเดิมนั้นไม่ใคร่มีความหวังที่จะได้ปันผลเป็นเงินสดอยู่แล้วและความหวังในอนาคตก็ “ริบหรี่”  การได้เงินจาก  “คนอื่น”  มาช่วยกู้ฐานะของกิจการจะทำให้บริษัทดีขึ้น  เติบโต และสามารถทำกำไรและจ่ายปันผลได้  ดังนั้น  คนจึงเข้ามาซื้อหุ้น “เก็งกำไร” ทำให้หุ้นขึ้นไปมหาศาล  แต่ข้อสรุปของผมก็คือ  ในกรณีแบบนี้  พื้นฐานของบริษัทคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก  มูลค่ากิจการก็น่าจะใกล้เคียงกับของเดิม  คนที่ซื้อหุ้น PP คงได้กำไรมหาศาล  ส่วนคนที่ขาดทุนน่าจะเป็นคนที่เข้าไปซื้อหุ้น  “เก็งกำไร”  ที่มีราคาหรือมูลค่าสูงขึ้นมาก

การซื้อหุ้นคืนนั้น  ตรงกันข้ามกับการขายหุ้นเพิ่ม  ผลกระทบสุดท้ายจริง ๆ  ก็คือ  การ  “จ่ายเงินสด” ออกไปและ  “ลดจำนวนหุ้น” ลงซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น  นี่คือวิธีการที่ช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นได้มากในทัศนะของวอเร็น บัฟเฟตต์  และเหตุผลที่ทำได้ต่อเนื่องยาวนานก็เพราะว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูง  มีกระแสเงินสดดีและเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก   อย่างไรก็ตาม  ในตลาดหุ้นไทยนั้น  บริษัทที่ประกาศซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่มักจะทำตอนหุ้นตกหนักและผู้บริหารต้องการ “พยุง” หรือรักษาราคาหุ้นไว้  พวกเขาอาจจะคิดว่าการประกาศจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรวมถึงการที่มี  “แรงซื้อ”  จากเงินก้อนใหญ่มากของบริษัทจะทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้หรืออาจจะวิ่งขึ้นด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่มีการซื้อคืนจำนวนมากต่างก็ไม่ใคร่จะดีนัก  หลายตัวราคาก็ยังตกต่ำอยู่ดีหลังมีการประกาศซื้อคืน  เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเมื่อบริษัทเริ่มซื้อหุ้นคืนระยะหนึ่งแล้วหุ้นก็ยังตกลงไปอีก  แต่พอถึงจุดนั้น  แทนที่บริษัทจะซื้อหุ้นเพิ่ม  บริษัทกลับหยุดซื้อ  ซึ่งก็เหมือนกับว่าเหตุผลที่ซื้อหุ้นคืนนั้นไม่ใช่เพราะเห็นว่าหุ้นมีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน  แต่ที่ประกาศซื้อคืนนั้น  เป็นเรื่องของการพยุงราคาที่อาจจะไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการจริง ๆ

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  การประกาศเพิ่มทุน  ออกหุ้นเพิ่ม  ให้สิทธิผู้ถือหุ้น  ขายหุ้นแก่นักลงทุนอื่น  แจกวอแร้นต์  หรือแม้แต่ซื้อหุ้นคืน  รวมถึงการลดพาร์ของหุ้นและอื่น ๆ  ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของการ  “เล่นเกม” การเงินที่พยายามเพิ่มราคาและมูลค่าหุ้นโดยที่มีผลกระทบกับพื้นฐานน้อย  ดังนั้น  ผมจะไม่ใคร่ชอบ  หุ้นจำนวนมากนั้นผมหลีกเลี่ยงเนื่องจากมันมีหุ้นจดทะเบียนค้างคารุงรังไปหมดผ่านวอแร้นต์จำนวนมหาศาลที่ไม่รู้ว่าจะแปลงมาเป็นหุ้นเมื่อไร  และดังนั้น  มันจึงไม่เหมาะที่จะถือระยะยาว  แต่เหมาะกับการเล่นเก็งกำไรสำหรับคนที่รู้ข้อมูลและคนที่มีโอกาสในการเล่นเกมนี้มากกว่าคนอื่น

Posted by nivate at 9:22 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/17/1493



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 24 November 2014
เล่นหุ้นต้องดูคน

การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น  นอกจากต้องดูข้อมูล “พื้นฐาน”  ต่าง ๆ  เช่นตัวเลขผลประกอบการและข้อมูลเชิงคุณภาพอื่น ๆ  เช่นความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว  การดู  “คน”   ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและหุ้นก็เป็นเรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง  นักลงทุนแนว VI นั้น  มักจะเน้นที่การดูผู้บริหารสำคัญและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเป็นหลักว่า  พวกเขานั้นมีความสามารถและความซื่อสัตย์และ  “เห็นแก่ผู้ถือหุ้น”  หรือมองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากน้อยแค่ไหน  การที่จะเข้าใจในตัวผู้บริหารได้ดีก็ต้องคอยติดตามว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไรในประเด็นต่าง ๆ  เกี่ยวกับบริษัท  และบางทีก็ในเรื่อง  “ส่วนตัว”  ด้วย   ส่วน “นักเก็งกำไร”  นั้น  จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ในเรื่องของ  “คน”  มากขึ้นมาก  เพราะนอกจากผู้บริหารแล้ว  พวกเขาจะต้องมองไปถึงผู้ถือหุ้นใหญ่  นักเล่นหุ้น  “ขาใหญ่” รวมไปถึงนักเล่นหุ้นคนอื่น ที่สนใจและเข้าไปเล่นหุ้นด้วย  ว่าที่จริงหลาย ๆ คนนั้นดูเรื่องนี้เป็นหลัก  ส่วนเรื่องพื้นฐานของบริษัทนั้นเป็นรอง  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์หุ้นได้ถูกต้องจริง ๆ  และถึงจะวิเคราะห์ได้ถูกต้อง  มันก็เป็นเรื่อง  “ระยะยาว”  ที่ไม่มีประโยชน์มากนักในการเล่นหุ้นในช่วงสั้น ๆ  หรือวันต่อวัน

เรื่องของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นที่มีทุกวันเรื่องแรกก็คือ  การซื้อ-ขายของผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า Insider Trading นั้น  เป็นสิ่งที่ผมมักตามดูอยู่ห่าง ๆ  โดยทั่วไป  การซื้อขายจำนวนน้อยและทำโดยพนักงานหรือคู่สมรสนั้น  ผมคิดว่าไม่ใคร่จะมีความหมายหรือมีสัญญาณอะไร  ว่าที่จริงผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับบริษัท  แต่การซื้อหรือขายโดยผู้บริหารระดับสูงสุดหรือเป็นคนสำคัญของบริษัทนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีความหมายพอสมควร  การขายหุ้นจำนวนมากซึ่งบ่อยครั้งทำเป็นเรื่อง  “โอนออก” นั้น  เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกว่ามันหมายความว่าอะไร?  โดยส่วนใหญ่แล้วผมมองว่ามันอาจจะไม่ใคร่ดีนัก  เขาอาจจะดูว่าหุ้นมีราคาสูงมากหรืออาจจะเกินพื้นฐานไปแล้วเขาจึงขาย  หรือเขาแค่ต้องการลดความเสี่ยงที่มีหุ้นตัวเดียวมากเกินไป?  เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิด

บางครั้งผู้บริหาร  รวมถึงผู้บริหารสูงสุด  เข้ามาซื้อหรือขายหุ้นบ่อย ๆ  หรือ  “ตลอดเวลา”  ซึ่งในกรณีนี้  ส่วนมากแล้วจะเป็นการซื้อมากกว่าขาย  ถ้าเป็นแบบนี้  ผมมักมีความรู้สึกว่า  พวกเขาพยายาม “ส่งสัญญาณ”  ว่า  หุ้นเขา “ราคาถูกกว่าพื้นฐาน”  ดังนั้น  นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นจึงควรเข้ามาซื้อ  เพราะ  “ขนาดเจ้าของที่มีหุ้นมากมายอยู่แล้วยังเข้ามาเก็บหุ้นเลย”  อย่างไรก็ตาม  เราก็ต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย  เพราะเจ้าของเองอาจจะมี  “วาระซ่อนเร้น” อยู่  พวกเขาอาจจะอยากทำให้ราคาหุ้นสูงเพื่อเหตุผลบางอย่าง  หรือไม่พวกเขาบางคนก็อาจจะคิดไปเองว่าหุ้นของตนเองมีราคาถูกโดยที่ตนเองก็วิเคราะห์ไม่เป็น  และมักจะมีความ  “ลำเอียง” ว่าหุ้นของบริษัทตนเองนั้นดีกว่าความเป็นจริง  ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน  สำหรับผมเองแล้ว  ผมไม่ชอบที่ผู้บริหารเข้ามาซื้อขายหุ้นตัวเองมากเกินไป  เพราะมันอาจจะทำให้ราคาหุ้นไม่เป็นไปตาม  “ธรรมชาติ”

ในช่วงที่ตลาดมีการเก็งกำไรในหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นตัวเล็กอย่างหนักนั้น  นักเล่นหุ้นจำนวนมากนั้น  ชอบดู  “ขาใหญ่”  ว่ากำลังเข้ามาเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือเปล่า?  เพราะเขาเชื่อว่า  ราคาหุ้นจะปรับตัวแรงมากน้อยแค่ไหนสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ   มีนักเล่นหุ้นรายใหญ่เข้าไปซื้อ  ซึ่งจะทำให้หุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้อาจจะหลายเท่าในเวลาอันสั้น  ความคิดแบบนี้ผมคิดว่ามีอยู่มากในบรรดานักเล่นรายวันจำนวนมาก  ดังนั้น  นักเล่นหุ้นรายใหญ่จึงมักจะพยายามส่งข้อมูลหรือสัญญาณว่าตนเองได้เข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นจำนวนมากเพราะเห็นว่ามันเป็นหุ้นที่ดีราคาถูกและจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากอาจจะหลายเท่า  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็มักจะมีการปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วด้วยแรงซื้อของนักลงทุนและคนเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมาก  แต่หุ้นลักษณะแบบนี้นั้นก็มักจะมีอันตรายสูงที่จะปรับตัวลงอย่างรวดเร็วถ้ารายใหญ่ขายหุ้นทิ้งเนื่องจากราคาอาจจะสูงเกินพื้นฐานไปมาก  พูดถึงเรื่อง  “ขาใหญ่”  แล้ว  ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยในยามนี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก  เหตุผลก็เพราะตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงมายาวนานและนักลงทุนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” สามารถทำกำไรมโหฬารจนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก  ผลก็คือ  หุ้นตัวเล็กที่ “วิ่งกันระเบิด”  นั้น  แทบทุกตัวก็จะต้องมี  “ขาใหญ่” บางคนหรือบางกลุ่มเข้าไปเล่นทั้งสิ้น

การดูผู้บริหารหรือเจ้าของที่เกี่ยวกับตัวหุ้นนั้น  ยังต้องดูแรงจูงใจของพวกเขาด้วย  ผู้บริหารบางคนนั้น  ชอบ  “ดูแลหุ้น” ตัวเองมาก  เขาจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้หุ้นมีราคาดีมีปริมาณการซื้อขายสูง  การพูดโปรโมตหุ้นนั้น  จะทำอยู่ตลอดเวลาถ้าทำได้  นอกจากนั้น  หลายคนยังเข้าไปซื้อขายหุ้นของตนเอง  โดยอาจจะผ่านนอมินีหรือส่งเสริมให้คนอื่นเข้ามาช่วย “ทำราคา” ด้วย  เจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทบางคนโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมโตช้าหรือตะวันตกดินนั้น  ตรงกันข้าม  ไม่ดูแลหุ้นของตนเองเลย  พวกเขาไม่สนใจที่จะพบนักลงทุนหรือให้ข่าวข้อมูลของกิจการแก่นักลงทุนถ้าไม่จำเป็น  ราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรเขาไม่สนใจ  ในกรณีแบบนี้  บ่อยครั้งก็พบว่าพวกเขาไม่ต้องการจะจ่ายปันผลที่งดงามให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วย  ดูเหมือนว่าพวกเขาอยากจะบริหารบริษัทคล้าย ๆ  กับบริษัทส่วนตัวมากกว่า  ในทั้งสองกรณีคือ  ดูแลหุ้นตัวเองมากเกินไปและไม่ดูแลหุ้นเลยนั้น  ผมไม่ชอบทั้งคู่  โดยที่ไม่ชอบมากกว่าก็คือการไม่ดูแลหุ้นเลย  หุ้นที่ดีนั้นผมคิดว่า  ควรจะเป็นหุ้นที่ผู้บริหารและเจ้าของควร “ดูแล” พอประมาณในด้านของการให้ข้อมูลและการจ่ายปันผลรวมถึงการปรับในเรื่องต่าง ๆ  ยกเว้นการเข้ามาซื้อขายหุ้นเอง  การดูแลหุ้นมากเกินไปนั้น  ผมคิดว่ามันทำให้หุ้นอาจจะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง  ราคาอาจจะเกินมูลค่าที่แท้จริง  ในขณะที่หุ้นที่เจ้าของไม่ดูแลเลยนั้น  ผู้ถือหุ้นมักจะไม่ได้ผลตอบแทนตามพื้นฐานที่ควรเป็นและผมมักจะหลีกเลี่ยง

ประวัติหรือพฤติกรรมของผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมมอง   ถ้าเจ้าของมีประวัติเป็น  “นักเล่นหุ้น” เคยซื้อขายหุ้นในฐานะ  “ขาใหญ่” ผมจะไม่ชอบ  ข้อแรกก็คือ  ผมไม่แน่ใจในเรื่องทักษะหรือความสามารถในการบริหารธุรกิจที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ  ข้อสองก็คือ  ผมคิดว่าเขามักจะเน้นไปที่การทำหรือดูแลราคาหุ้นมากเกินไปซึ่งนี่อาจจะนำไปสู่ราคาหุ้นที่สูงกว่าพื้นฐาน  ผู้บริหารที่ดีนั้น  ควรเป็นคนที่คลุกคลีและสร้างธุรกิจด้วยตนเองหรือสืบทอดธุรกิจต่อมาอย่างประสบความสำเร็จ  ในด้านของประวัติทางการเงินนั้น  ผมชอบคนที่มีความรับผิดชอบและน่าเชื่อถือ  ไม่เคยถูก  “Blaklist” หรือถูก  “ตราหน้า” ในสังคมของสถาบันการเงินว่าเป็นลูกหนี้ที่  “เบี้ยว” หนี้ทั้งที่ธุรกิจยังพอไปได้  เช่นเดียวกัน  เขาก็ควรจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคมไม่มีประวัติที่  “น่ารังเกียจ”  และสุดท้ายก็คือ  เมื่อนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นและเป็นบริษัทมหาชนแล้ว  เขาควรที่จะต้องคำนึงถึงนักลงทุนเสมอเวลาที่จะตัดสินใจทำอะไรโดยเฉพาะในสิ่งที่มี  “ผลประโยชน์ขัดกัน” ระหว่างตนเองและบริษัทในฐานะที่เป็นของมหาชนที่เขาเป็นผู้บริหาร

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือเรื่องของคนที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นแต่ละตัวว่าพวกเขามีหลักการหรือกลยุทธ์การลงทุนหรือเล่นหุ้นอย่างไร  เป็น VI หรือเป็นแนวเทคนิค  พฤติกรรมของพวกเขาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรเช่นลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว  ต่าง ๆ  เหล่านี้  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราต้องค่อย ๆ  เรียนรู้และต้องอาศัยประสบการณ์เพราะมันไม่มีใครเขียนเป็นบันทึกให้อ่านหรือบางทีเราอ่านพบก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง   ถ้าจะถามว่าเราจะต้องรู้ไปทำไมว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ใครเป็นเจ้าของหรือใครเข้าไปเล่น  คำตอบของผมก็คือ  การที่รู้ว่าใครเข้าไปเล่นหุ้นตัวไหนนั้น  อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยบอกหรือเตือนเราว่า  ราคาหุ้นที่เราเห็นนั้น  อาจจะต่างจากมูลค่าพื้นฐานได้มากน้อยแค่ไหน  หุ้นบางตัวนั้น  ผมคิดว่าราคาอาจจะสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานได้หลายเท่า  กลายเป็นหุ้น  “อภินิหาร”  ได้  เพียงเพราะคนที่เข้าไปเล่นนั้นกล้าทำและทำได้  ในกรณีแบบนี้เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเล่นถ้าไม่ต้องการ  “หายนะ”


Posted by nivate at 9:24 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/11/24/1495



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 1 December 2014
บุคลิกภาพกับการลงทุน

ผมเคยสงสัยมาตลอดว่าเราสามารถที่จะสอนคนให้เป็น Value Investor ที่เก่งกาจได้หรือไม่?  คำตอบในใจผมนั้นไม่ชัดเจน  ลึก ๆ แล้วผมคิดว่าการที่จะเป็น VI ที่เก่งมาก ๆ นั้น  ก็คงคล้าย ๆ  กับเรื่องของทักษะหลาย ๆ  อย่างที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสอนหรือการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว  แต่มันขึ้นอยู่กับยีนส์หรือบุคลิกของคน ๆ นั้นด้วย  พูดง่าย  คนบางคนนั้นจะสามารถเรียนรู้การลงทุนแบบ VI ได้ดีกว่าคนอื่นและจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว   ในขณะที่คนบางคนนั้นเรียนอย่างไรก็ไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้   อะไรเป็นสิ่งที่จะบอกว่าเรามีองค์ประกอบที่เหมาะสมที่จะเป็น VI ได้ดีกว่าคนอื่น?  คำตอบนี้ผมคิดว่าส่วนสำคัญมาจากบุคลิกภาพของคนคนนั้นว่าเขาเป็น  “คนแบบไหน”  และเรื่องนี้ผมก็ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ เสาวภา เชาวน์ชลากร อดีตอาจารย์แนะแนวนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาที่ผมได้มีโอกาสคุยด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า  คนแต่ละคนนั้นล้วนแต่มีบุคลิกภาพเด่นที่สามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มด้วยกัน  และแต่ละกลุ่มนั้นก็จะเหมาะกับงานหรือการเรียนแต่ละสาขา  คนที่มีบุคลิกหนึ่งแต่ไปเรียนหรือทำงานในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกันนั้นมักจะไม่ประสบความสำเร็จ   และในบทความนี้  ผมก็ถือโอกาสนำมาประยุกต์เพื่อที่จะดูว่าคนแต่ละแบบนั้นเหมาะสมกับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน

เริ่มจากกลุ่มที่ 1 ซึ่งก็คือ  คนที่มีบุคลิกภาพแบบสังคม หรือ Social Type  นี่คือคนที่ชอบติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คน  ชอบสนทนา   ชอบแสดงตัว  มีความเป็นมิตร  รื่นเริง  มีทักษะทางภาษา  ต้องการความสนใจและชอบช่วยเหลือผู้อื่น  มักหลีกเลี่ยงการใช้ความคิดเชิงปัญญา  มักจะแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงความรู้สึกและการใช้สัมพันธภาพระหว่างบุคคล  หลีกเลี่ยงงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์กลไกและวิทยาศาสตร์  ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือ  เป็นคนที่มีบุคลิกภาพของ  “ความเป็นผู้หญิง”  ในความคิดของผมแล้ว  คนที่มีบุคลิกภาพนี้อย่างโดดเด่นนั้น  คงไม่ใคร่ เหมาะสมกับการเป็นนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแบบ VI นัก  เนื่องจากเขาหรือหล่อนจะไม่ค่อยสนใจที่จะวิเคราะห์หาเหตุผลที่เป็นความจริงของบริษัท  พวกเขามักจะไม่สนใจเรื่องของตัวเลขทางธุรกิจหรือความมั่งคั่งมากนัก  ถ้าจะให้แนะนำก็คือ  ควรจะลงทุนผ่านกองทุนรวมจะดีกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง

    กลุ่มที่สองคือบุคลิกแบบกล้าคิดกล้าทำหรือ Enterprising Type  นี่คือคนที่มีลักษณะของการเป็นผู้นำ  มีความคิดริเริ่มและมีความเชื่อมั่นในตนเอง  กล้าถกเถียงโต้แย้ง  กล้าได้กล้าเสีย  ชอบผจญภัยพร้อมที่จะเสี่ยงพร้อมที่จะทดลอง  มีความเป็นอิสระ  อยากมีอำนาจและมีความก้าวร้าวทางวาจา  มีทักษะในการเจรจาต่อรองและลงทุน  มักหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ที่ต้องใช้กำลังความคิดเชิงปัญญาในระยะที่ยาวนาน  พวกเขาชอบการวางแผนและการสมาคม  ชอบการท่องเที่ยว  ชอบความเป็นระเบียบและรักษาประเพณี  ชอบพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่น  เป็นคนทำตามอารมณ์ตนเอง  ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือคนกลุ่มนี้เหมาะกับการทำธุรกิจหรือการลงทุนที่ต้องการการบริหารงาน บริหารคน  และการใช้ความคิดและการตัดสินใจที่รวดเร็วและมีความเสี่ยง  ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้สามารถเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นได้ไม่ยากแต่แนวทางการลงทุนนั้น  คงจะเป็นแนวเทรดหรือการซื้อมาขายไปมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว  การลงทุนของพวกเขานั้น  คงจะออกแนว  “ก้าวร้าว” กล้าได้กล้าเสียและสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์  สไตล์การลงทุนของพวกเขานั้น  บางครั้งก็เป็นแบบ VI แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่

กลุ่มที่ 3 คือบุคลิกภาพแบบอนุรักษ์นิยมหรือ Conventional Type  คนที่มีบุคลิกแบบนี้มักชอบกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมและกิจกรรมทางภาษา  ยึดถือประเพณีดั้งเดิม  ชอบทำตามระเบียบแบบแผนมากกว่าคิดริเริ่มด้วยตนเอง  ให้คุณค่ากับการเป็นเจ้าของวัตถุหรือเป็นพวกวัตถุนิยมและเจ้าระเบียบ  ไม่ยืดหยุ่น  ชอบบทบาทของการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา  มีลักษณะเป็นผู้ตามชอบลอกเลียนแบบ  มีความรับผิดชอบ  และเป็นคนที่ยอมตามและพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่น  เป็นคนบึกบึนสู้งานและชอบสนุกสนาน  ถ้าจะพูดโดยสรุปก็คือ  พวกเขาน่าจะเป็น  “คนธรรมดา”  ที่ยึดถือระเบียบและคุณค่าทางสังคมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ  พวกเขาเหมาะกับการเป็น  “มนุษย์เงินเดือน”  ระดับกลางซึ่งผมคิดว่าอาจจะไม่ได้มีความโดดเด่นของบุคลิกที่จะมาเป็นนักลงทุนแบบ  “VI ผู้มุ่งมั่น”  ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่หรูมาก  อย่างไรก็ตาม  เขาก็น่าจะสามารถลงทุนโดยใช้หลักการ VI ที่เหมาะสมกับตนเอง  เช่น  ลงทุนระยะยาวในกิจการที่ดีหรือลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีเป็นต้น

กลุ่มที่ 4 คือบุคลิกภาพแบบจริงจังหรือ Realistic Type นี่คือคนที่ชอบกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลัง  ชอบทำงานอยู่กลางแจ้ง  กิจกรรมที่ไม่สลับซับซ้อน  กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของ เช่น เครื่องจักรกลต่าง ๆ   มีความอดทน บึกบึน  กล้าแสดงผลงาน  พวกเขาจะขาดทักษะทางภาษา  ขาดทักษะทางการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและมักหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสังคมกับบุคคลอื่น  ค่อนข้างก้าวร้าว  มีค่านิยมทางการเมืองและเศรษฐกิจในรูปแบบที่มีระเบียบแบบแผน  ยึดถือประเพณีนิยม  นิยมสิ่งที่เป็นรูปธรรมและลักษณะภายนอกของคนเช่น  เงิน  อำนาจ  สถานภาพทางสังคม  ถ้าจะพูดก็คือ  เป็นคนที่มีลักษณะของ  “ความเป็นชาย”  สูง  งานที่เหมาะนั้นน่าจะเป็นงานทางด้านวิศวกรรม  กีฬา หรือทหารตำรวจ  เป็นต้น  ส่วนการลงทุนเองนั้น  จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่น่าจะเหมาะเท่าไร  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะพวกเขานั้นอาจจะมีความเข้าใจมิติทางด้านคุณภาพน้อยเกินไปแม้ว่าความชำนาญด้านตัวเลขอาจจะดี

กลุ่มที่ 5 คือ บุคลิกภาพแบบสืบสวนสอบสวนหรือ Investigative Type นี่คือผู้ที่ชอบคิด สังเกต วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ชอบแก้ปัญหา ใฝ่รู้อย่างมีหลักการ  สนใจการจัดระบบ  การทดลองด้านกายภาพ ชีวภาพและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเพื่อที่จะได้เข้าใจและควบคุมปรากฏการณ์นั้น  ชอบทำงานที่สลับซับซ้อน  ชอบคิดมากกว่าที่จะลงมือทำ  ไม่ติดประเพณีนิยม เลี่ยงงานประเภทค้าขาย การเข้าสังคม  และไม่ชอบเลียนแบบ  มีความเชื่อมั่นในตนเอง  มีความคิดเห็นรุนแรง  มีความมานะบากบั่น อุทิศเวลาให้กับงาน  เก็บตัว  ไม่ใคร่สนใจสังคม  อาชีพที่เหมาะกับบุคลิกประเภทนี้น่าจะรวมถึงนักวิทยาศาสตร์  แพทย์  นักค้นคว้าวิจัยซึ่งรวมถึงนักวิเคราะห์หุ้น  และนี่คือบุคลิกที่ผมคิดว่าเหมาะกับการเป็น VI พันธุ์แท้มากที่สุด  และจากประสบการณ์ของผมรวมถึงที่เคยศึกษานักลงทุน VI ระดับโลก  ก็พบว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างก็ชอบศึกษาและเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ  มากมายหลากหลาย  ว่าที่จริงหลายคนนั้นมีความรู้และความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องอื่น ๆ  โดยเฉพาะในทางสังคมอาจจะเท่า ๆ  กับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นด้วยซ้ำ  เพียงแต่ชื่อเสียงในฐานะนักลงทุนนั้นมากกว่าจึง “กลบ” ความรู้ด้านอื่นหมด

กลุ่มสุดท้ายก็คือ  บุคลิกภาพแบบศิลปินหรือ Artistic Type คือคนที่ชอบทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนามธรรม เป็นอิสระ มีสุนทรีย์  รักความงาม  มีความเป็นตัวของตัวเองสูง  ชอบใช้ชีวิตและทำกิจกรรมตามลำพัง   ไม่ควบคุมตนเอง  มักจะทำสิ่งต่าง ๆ  ตามที่ใจปรารถนา   มีความต้องการที่จะแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะตัวของตน  ไม่ชอบเลียนแบบ   มีความคิดริเริ่ม  หลีกเลี่ยงงานประเภทที่ใช้ระเบียบแบบแผน   คนที่มีบุคลิกแบบนี้ผมคิดว่าคงยากที่จะเป็นนักลงทุนไม่ต้องคิดถึงว่าจะเป็น VI

ก่อนที่จะจบ  ผมคงต้องพูดว่าทุกคนนั้นต่างก็มีบุคลิกหลาย ๆ  อย่างอยู่ในตัว  เพียงแต่ว่าบางคนจะมีบุคลิกบางอย่างสูงกว่าบุคลิกอื่นมาก  และถ้าเป็นแบบนั้น  เราก็จะเห็นได้ชัดว่าเขาเป็นคน  “แบบไหน”  และก็มีโอกาสว่าเขาจะมีความสามารถในบางเรื่องมากกว่าคนอื่นโดยทั่วไป  สำหรับ VI แล้ว  คนที่จะได้เปรียบก็คือ  คนที่มีบุคลิกแบบสืบสวนสอบสวน  ที่ชอบตั้งข้อสงสัยและหาคำตอบว่าทำไมหุ้นตัวนั้นจึงน่าสนใจ  น่าซื้อหรือน่าขาย  ส่วนคนที่ไม่ได้มีบุคลิกนี้แบบชัดเจนก็ต้องตระหนักว่า  ถ้ารักจะลงทุนแบบ VI  เราก็ต้อง “ดึง” บุคลิกนี้ที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ให้มากที่สุด             
 
Posted by nivate at 9:30 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/01/1497



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


สัญญาณอันตราย/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ตลาดหุ้นไทยตอนนี้กำลังร้อนแรงดัชนีเพิ่มสูงขึ้นถึง 1600 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 นับจากต้นปีดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 300 จุดหรือเกือบ 30 เปอร์เซนต์ ช่วงนี้คนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อนเริ่มสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นเพราะเห็นคนที่อยู่ในตลาดหุ้นได้กำไรเยอะและหลายคนร่ำรวยจากหุ้น หลายคนเริ่มสอบถามที่จะเปิดพอร์ต หนังสือหุ้นเริ่มกลับมาขายดีอีกครั้งหลังจากที่เงียบหายไปในช่วงมีการประท้วงในประเทศไทย ตอนนี้มองไปทางไหนมีแต่คนเล่นหุ้นกันจำนวนมาก ทั้งพนักงานออฟฟิศหรือแม้แต่แม่บ้านรวมถึงคนทำงานทุกอาชีพ

    มีเพื่อนคนหนึ่งหลังจากที่ได้รู้ว่าผู้เขียนลงทุนในตลาดหุ้นจึงสอบถามมาว่าจะเล่นหุ้นทำอย่างไร เปิดพอร์ตที่ไหนดี จึงแนะนำให้ไปเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ที่รู้จัก ปรากฏว่าเพื่อนคนนั้นชักชวนเพื่อนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อนมาเปิดพอร์ตกันนับสิบคน หลังจากนั้นผู้เขียนจึงแนะนำให้ไปหาหนังสือเกี่ยวกับหุ้นมาลองศึกษาดู

    เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เจอแฟนคลับท่านหนึ่งเข้ามาทักทายโดยที่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่ได้เห็นจากที่ผู้เขียนออกรายการทีวีและอ่านหนังสือจึงจำได้ ได้คุยกันเล็กน้อยได้ความว่ามีอาชีพเป็นแม่บ้านรับส่งลูกเรียนหนังสือ ลงทุนมาได้ปีสองปี ตอนนี้ซื้อหุ้นบริษัทเดียวเต็มพอร์ตเลย แต่ไม่แน่ใจว่าบริษัทจะดีจริงอย่างที่คิดหรือไม่เลยอยากได้คำแนะนำ

    ล่าสุดมีเจ้าของกิจการเอสเอ็มอีท่านหนึ่งเข้ามาทักทายและสอบถามว่าจะเริ่มต้นเล่นหุ้นอย่างไร ตอนนี้กิจการค้าขายไม่ค่อยดี จากที่เคยได้กำไรเดือนละหลายแสน ตอนนี้กลับต้องมาควักเนื้อขาดทุน กะเลิกกิจการให้คนเช่าแล้วหันมาเล่นหุ้น เพราะดูเหมือนได้กำไรง่ายดี มีคนได้เงินเยอะจากตลาดหุ้นเลยอยากจะรวยกับเขาบ้าง จึงถามว่าอยากเก็งกำไรหรืออยากลงทุน เขาบอกว่าอยากเก็งกำไรมากกว่าเพราะได้เงินเร็วดี นอกเหนือจากนั้นผู้เขียนติดต่อช่างเพื่อมาซ่อมเครื่องปรับอากาศที่บ้านปรากฏว่าช่างเห็นหน้าปกหนังสือที่เขียน เลยถามว่าจะรวยด้วยหุ้นได้อย่างไร ทำได้จริงไหม ตอนนี้อยากมาลงทุนในหุ้นแล้วเพราะน่าจะรวยเร็วกว่าทำงาน

    สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นึกถึงเมื่อปี 2556 ในช่วงที่ทองคำกำลังเป็นสิ่งที่ร้อนแรงและฟู่ฟ่ามากๆเพราะก่อนหน้านั้นทองคำมีราคาเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน คนที่ลงทุนทองได้กำไรกันถ้วนหน้า เวลาราคาทองลดลงจะเห็นคนเข้าไปในร้านทองกันเนืองแน่นเพื่อไปซื้อทองจนมีข่าวต้องแจกบัตรคิวเพื่อให้คนเข้าไปซื้อทอง หลังจากราคาลดลงเล็กน้อยทองคำก็มีราคาขึ้นไปได้อีก จนทำสถิติสูงถึงกว่า 25,000 บาทต่อน้ำหนักหนึ่งบาท ทุกคนพูดถึงแต่เรื่องทองไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ พ่อค้าแม่ค้าหรือแม้แต่นักวิเคราะห์ที่ออกรายการทีวียังพูดถึงทองคำว่าเป็นสิ่งที่น่าลงทุน ช่วงนั้นทุกคนคิดว่าราคาทองคำมีแต่จะขึ้นเพราะเป็นของที่หายากและความต้องการจากจีนและอินเดียที่มากขึ้นจะช่วยผลักดันให้ราคาทองมีราคาสูงขึ้นไปอีก แม้แต่หนังสือพิมพ์ยังสัมภาษณ์แม่ค้าขายหมูทอดที่หันมาลงทุนในทองคำจนได้กำไรมหาศาลกลายเป็นกูรูทองคำในชั่วข้ามคืน เพื่อนผู้เขียนหันไปซื้อทองคำแท่งเก็บเข้าตู้นิรภัยทั้งที่บ้านและที่ธนาคารจำนวนมาก บางคนซื้อทองคำเป็นร้อยๆบาท เวลาผ่านไปไม่ถึงสองปีดี ราคาทองตอนนี้ลดลงเกือบ 30 เปอร์เซนต์ ล่าสุดเหลือเพียงบาทละ 18,000 บาท คนที่ซื้อทองไว้ในช่วงสูงสุดถือว่าขาดทุนแล้วอย่างมาก แต่ก็คิดในใจว่าซื้อถือไว้ระยะยาว อย่างไรเสียราคาทองคงเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครทราบคือราคาทองจะกลับมาที่ราคาสูงสุดใหม่เมื่อไหร่ เพราะวัฎจักรของทองคำนั้นมีรอบระยะเวลาเป็นสิบปีเลยทีเดียว

    จะเห็นว่าการที่ผู้คนรอบข้างหันมาสนใจในตลาดหุ้นอย่างมากในช่วงนี้นั้นถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับนักลงทุนระยะยาว เพราะเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับการลงทุนในทองคำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่ใครลงทุนไว้ก็ได้กำไรอย่างง่ายๆทำให้คนที่ไม่เคยสนใจในการลงทุนนั้นเริ่มมีความโลภอยากได้กำไรเหมือนคนอื่นบ้าง ตลาดหุ้นในช่วงนี้ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงที่ทุกคนทำเงินง่ายๆจากตลาดหุ้นนั้นเป็นช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดเหมือนดังคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตที่ว่า”จงโลภเมื่อคนอื่นกลัว และจงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ”

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58394



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
นักลงทุน “ตัวพ่อ”/ประภาคาร ภราดรภิบาล

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของ “วันพ่อ” ผมจึงอยากจะทบทวนดูว่า ในแวดวงของการลงทุนนั้น มีนักลงทุนท่านใดบ้างที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “นักลงทุนตัวพ่อ” หรือ “บิดาแห่งการลงทุน”

    ท่านแรกที่ผมอยากกล่าวถึง ก็คือ “เบนจามิน เกรแฮม” ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” เขาเป็นผู้บุกเบิกและเผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยเน้นให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หนังสือ “The Intelligent Investor” เป็นผลงานที่เขาเขียนขึ้นในปี 1949 เพื่อเผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า แม้จะผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังได้รับการตีพิมพ์ใหม่หลายต่อหลายครั้ง และยังถือได้ว่าเป็นตำราที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าทุกคนควรจะต้องอ่าน

    ท่านต่อมา คือ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” ผู้เป็น “บิดาแห่งการลงทุนในหุ้นเติบโต” เขาเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดี กิจการมีความโดดเด่น มีอัตราการเติบโตที่ดี มีผู้บริหารที่เชื่อถือได้ โดยแนะนำให้นักลงทุนรู้จักการสืบเสาะเจาะข้อมูลให้ลึกซึ้งและรอบด้าน ที่เรียกว่า “Scuttlebutt” เขาเป็นผู้เขียนหนังสือ “Common Stocks and Uncommon Profits” ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือคลาสสิกอีกเล่มหนึ่งของแวดวงการลงทุน

    ท่านต่อมาเป็นผู้ที่ผมกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนระดับ “ตัวพ่อ” ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี และยอมรับว่าเป็นสุดยอดนักลงทุนในยุคปัจจุบัน เขาได้นำเอาแนวทางการลงทุนทั้งจาก “เบนจามิน เกรแฮม” และ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” มาผสมผสานกัน จนกลายเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ทรงประสิทธิภาพ ทำให้เขายืนหยัดในวงการลงทุนมาได้อย่างยาวนาน และสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี

    ท่านต่อมาคือ “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” ผู้ได้รับฉายาว่า “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสของโลกการลงทุน” เป็นผู้จัดการกองทุนชาวอเมริกันคนแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ เขามองว่าขอบเขตของการลงทุนนั้นไม่ควรจำกัดเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุน จึงถือได้ว่า “เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน” เป็น “นักลงทุนตัวพ่อ” ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และบุกเบิกให้การลงทุนไร้ขอบเขตจำกัด

    สำหรับในแวดวงการลงทุนไทย ผู้ที่ผมเห็นว่าสมควรได้รับการยกย่องเป็น “นักลงทุนตัวพ่อ” ก็คือ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ซึ่งเป็นผู้นำเอาหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามาใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และยังเผยแพร่หลักการดังกล่าวให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปี โดยผ่านสื่อต่างๆ อย่างเช่น หนังสือ บทความ รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ และการสัมมนาด้านการลงทุนต่างๆ จนปัจจุบันนี้คำว่า VI (Value Investment) หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า กลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และมีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่ารุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในตลาดหุ้นไทย จึงถือได้ว่า “ดร.นิเวศน์” คู่ควรกับการเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของเมืองไทย” อย่างแท้จริง

    ทุกๆ ท่านที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ล้วนแต่เป็น “ผู้นำทาง” เป็น “แบบอย่าง” เป็น “แรงบันดาลใจ” สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ได้ดำเนินรอยตาม

    บทความนี้ผมจึงเขียนขึ้นมาด้วย “จิตคารวะ” แด่บรรดา “นักลงทุนตัวพ่อ” ทุกๆ ท่าน

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58404


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 8 December 2014
อึ้ง-ทึ่ง-เสียว

บรรยากาศของตลาดหุ้นในช่วงนี้  ถ้าจะให้ผมบรรยายด้วยคำเพียง 3 คำ  ผมคิดว่าคำที่เหมาะสมที่สุดก็คือ  “อึ้ง-ทึ่ง-เสียว”  เพราะเหตุการณ์  เรื่องราว  และสถานะของหุ้นจำนวนไม่น้อยทำให้ผมเกิดความรู้สึกวนเวียนอยู่ในสามอาการดังกล่าวนั่นก็คือ  “อึ้ง”  เพราะเรื่องราวที่ปรากฏเป็นข่าวหรือบริษัทมีการกระทำหรือได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันท้าทายจริยธรรมและความเชื่อปกติของสังคมนักลงทุนมากจนทำให้เรา  “พูดไม่ออก”  หรือ  “ไม่กล้าพูด” หรือ  “ไม่อยากพูด”   ผม  “ทึ่ง” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างนั้น  มัน  “แหกกฎเกณฑ์” หรือทฤษฎี  หรือมันเกินไปจาก  “ประสบการณ์”หรือ  “ภาวะปกติ” ที่ผมคุ้นเคยไปมาก  และสุดท้าย  มัน  “เสียว”  เพราะหลาย ๆ  เรื่องที่เกิดขึ้นหรือเป็นข่าวนั้น  ดูเหมือนว่ามันน่ากลัวหรือดูมีความเสี่ยงสูง  แต่คนก็เข้าไปทำกันอย่าง  “บ้าคลั่ง” ราวกับว่ามันมีแต่ได้กับได้ในขณะที่ผมดูแล้วมันมีอันตรายสูงและตัวเอง  “เสียว” จนต้องพยายามลดความเสี่ยงลง

    ที่จริงผมเคยเจอสถานการณ์แบบ อึ้ง-ทึ่ง-เสียว มาแล้วในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมสุด ๆ ในช่วงประมาณปี 2536 ถึง 2538 อาการหลาย ๆ  อย่างในตลาดหุ้นในช่วงนั้นก็คล้าย ๆ  กับในช่วงนี้  ความแตกต่างดูเหมือนว่าจะเป็น  “รายละเอียด” ของเหตุการณ์และความรุนแรงของแต่ละเรื่อง  นอกจากนั้น  ความแตกต่างอีกข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ  ในช่วงนั้น  เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตเร็วมากระดับ 7%-10% ต่อปี จนทุกคนคิดว่าเรากำลังเป็น  “เสือ” ทางเศรษฐกิจของเอเชีย  ในขณะที่ปัจจุบัน  เศรษฐกิจไทยกำลัง  “มีปัญหา” และน่าจะเติบโต  “รั้งท้าย” ในเอเชีย  อย่างไรก็ตาม  คนต่างก็คิดว่าเราน่าจะกำลัง  “ฟื้นตัว”  ในขณะที่ช่วงปี 2536-2538 นั้น  เราโตอย่าง  “ไร้คุณภาพ” เป็น  “ฟองสบู่” ทางเศรษฐกิจ  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  อาการในตลาดหุ้นนั้น  คล้ายคลึงกัน  สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือ  มันจะจบเหมือนกันหรือไม่?

    เรื่องที่ทำให้ “อึ้ง” นั้น  ค่อย ๆ  ทยอยออกมาเป็นระยะ  หลาย ๆ  เรื่องก็จะเกี่ยวข้องกับคน “นอก” ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นและตลาดหุ้นในทางใดทางหนึ่งหรือนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ในตลาดหุ้น  ในอดีตนั้น  เราก็จะพบเหตุการณ์เช่นว่าคนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงในวงราชการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นที่มีแผนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  หรือมีนักการเมืองบางคนมาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้นบางตัวอะไรทำนองนี้แต่ก็ไม่มีใครจะพูดอะไรเพราะมันเป็น  “สิทธิ” อันชอบธรรมของทุกคนตราบที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรของตลาด

    ประเด็นที่ทำให้คน “อึ้ง” นั้น  อยู่ที่ว่า “ดีล”  หรือเงื่อนไขที่ได้มานั้น  บางทีมันก็  “ดีเกินไป” และคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องเป็นอย่างนั้น  ใครได้ประโยชน์และใครเสียประโยชน์  และถ้าเป็นคนอื่นเขาจะได้เงื่อนไขแบบนั้นหรือไม่  ประเด็นที่สำคัญยังอยู่ที่ว่าไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนที่จะเข้าไปตรวจสอบหรือขัดขวางการดำเนินการอะไรอย่างจริงจัง   ว่าที่จริงพวกเขาก็อาจจะทำอะไรไม่ได้จริง ๆ  และเขาก็อาจจะไม่อยากทำเพราะเหตุผลสารพัดที่ไม่อยากจะพูด  นั่นก็คือ  พวกเขาก็  “อึ้ง”  เหมือนกัน  ในช่วงปัจจุบันนั้น  ผมเองก็คิดว่ามันมีหลายเรื่องที่ผมรู้สึกว่ามัน “แปลก” และมีความไม่ชอบมาพากล  แต่ในเมื่อมัน  “ไม่ผิดกฎเกณฑ์อะไร” ผมก็ได้แต่เก็บความคิดและความรู้สึกเอาไว้  และนี่ก็คือความหมายของคำว่า  “อึ้ง”

    เรื่องน่า “ทึ่ง” ที่ผมเห็นนั้นมีมากมาย  ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องที่  “ไม่น่าเป็นไปได้” โดยสามัญสำนึกหรือโดยประสบการณ์  “ปกติ”  นี่เป็นสิ่งที่มักปรากฏขึ้นในยามที่ตลาด  “ไม่ปกติ”  โดยเฉพาะในยามที่ตลาดบูมมาก ๆ  เป็น “ฟองสบู่”  ในอดีตนั้น  สิ่งที่เห็นชัดเจนและเป็นเรื่องน่าทึ่งก็คือราคาหุ้นขนาดเล็กโดยเฉพาะที่เป็นหุ้น  IPO นั้น  มีราคาที่สูงมากเกินกว่าผลประกอบการที่ทำได้ไปมากจนไม่น่าเชื่อ  และราคาที่ปรับขึ้นมานั้น  ส่วนมากก็ปรับขึ้นตั้งแต่วันแรก ๆ  ของการเข้ามาซื้อขายในตลาด  ในช่วงเร็ว ๆ นี้หุ้น IPO มีความน่าทึ่งยิ่งกว่าในช่วงปี 2536-2538   เพราะหลายตัวปรับขึ้นถึง 200% ในวันแรกนอกจากนั้น  หุ้นตัวเล็กที่มีเรื่องราวน่าสนใจก็มีราคาสูงมากจนไม่น่าเชื่อ  ค่า PE เฉลี่ยของหุ้น MAI ที่เป็นหุ้นตัวเล็กนั้น  สูงถึง 60-70 เท่า  และที่น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  ปริมาณการซื้อขายของหุ้นตัวเล็กที่มีมูลค่าตลาดเพียงหลักพันล้านบาทนั้น  บ่อยครั้ง  สูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ระดับแสนล้านบาท

    นอกจากเรื่องของราคาและปริมาณการซื้อขายของหุ้นขนาดเล็กที่ “กลบรัศมี”  หุ้นตัวใหญ่แล้ว  ความน่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ  ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมหนักนั้น  เราก็มักจะพบความน่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  มักจะมีรายการ  “หนูกินช้าง” หรือ  “ปลาเล็กกินปลาใหญ่”  ในอดีตนั้น  เราเห็นบริษัทเงินทุนเอกธนกิจพยายามเทคโอเวอร์ธนาคารไทยทนุที่เป็นธนาคารที่ใหญ่กว่ามาก  แม้แต่ในต่างประเทศอย่างในตลาดสหรัฐเองนั้น  เวลาที่ตลาดหุ้นบูมหนักในบางครั้งเราก็จะเห็นความน่าทึ่งแบบนี้ที่ปลาเล็กหรือหุ้นบริษัทเล็กที่  “ร้อนแรง”  เทคโอเวอร์บริษัทใหญ่หรือกินปลาใหญ่ที่อ่อนแอ  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้เราก็เริ่มได้ยินข่าวแบบนี้บ้างแล้วในตลาดหุ้นไทย

    เรื่องน่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  การเป็นเศรษฐี  “ช่วงข้ามคืน”  ของคนหลาย ๆ  คนโดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นครั้งแรกหรือในหุ้นเล็กที่  “มีการเปลี่ยนแปลง”  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นทะยานขึ้นไป “มโหฬาร” ภายในระยะเวลาอันสั้น  ความร่ำรวยของคนหลายคนในช่วงเวลาอันสั้นนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง  โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการที่ถ้าเขาไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาด เหตุผลก็เพราะว่า  หลายบริษัทนั้น  ไม่ได้มีกำไรอะไรมากมายนักและมีขนาดเล็ก  ถ้าอยู่นอกตลาดก็อาจจะเป็นแค่บริษัทขนาดเล็กธรรมดา ๆ ที่เจ้าของไม่สามารถที่จะเป็นมหาเศรษฐีได้อย่างแน่นอน

    ความ “เสียว”  นั้น  น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมเป็นส่วนตัวมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสังคมนักลงทุนไทย  เหตุเพราะว่านักลงทุนส่วนใหญ่  รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น  นักวิเคราะห์  โบรกเกอร์ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็ยังมองว่าตลาดหุ้นไทยและหุ้นส่วนใหญ่นั้น  ยังแข็งแรงดีอยู่  ราคาหุ้นโดยส่วนรวมก็ยังไม่แพงเทียบกับเพื่อนบ้านแม้ว่าบางคนจะดูว่าหุ้นตัวเล็กมีราคาสูงเกินไปเป็น  “ฟองสบู่” แต่ถ้ามีปัญหาก็คงไม่กระทบกับหุ้นทั้งตลาด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สภาพของเศรษฐกิจ การเงิน สังคม  การเมืองและตลาดหุ้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรน่าวิตก  ค่า PE ตลาดหุ้นไทยที่สูงถึง 19 เท่าและพอ ๆ  กับจุดสูงสุดในช่วงวิกฤติตลาดหุ้นรอบที่แล้วก็อาจจะไม่ได้แปลว่าหุ้นไทยมีราคาแพง  เหตุผลก็เพราะอัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ที่ต่ำติดดิน  ดังนั้น  PE 19 เท่าจึงไม่ถือว่าแพง  แต่ถ้ายังคิดว่าแพงก็มีเหตุผลว่าคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในเวลานี้ก็สูงกว่าในอดีต  ดังนั้น  สรุปว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่ากลัว

    สิ่งที่ผมกังวลนั้น  เกิดจากเหตุการณ์และสถานการณ์หลาย ๆ  เรื่องที่โอกาสจะเกิดขึ้นอาจจะไม่สูงแต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็มี “ศักยภาพ”  ที่จะทำให้เกิดอาการช็อกได้กับตลาดหุ้น   ตัวอย่างเช่นเศรษฐกิจไทยในปีหน้า  ถ้ายังแย่อยู่แบบปีนี้  ผลก็อาจจะรุนแรงได้เพราะมันอาจจะเปลี่ยน “ความเชื่อ” ของนักลงทุนว่าหุ้นจะดี  เช่นเดียวกับด้านของการเมือง  ถ้าทุกอย่างไม่ได้  “ลงตัว”  ปัญหาก็อาจจะรุนแรงได้  ประเด็นสำคัญก็คือ  ทุกครั้งที่หุ้นปรับตัวขึ้นมามากและดัชนีหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงกว่ามาตรฐานระยะยาวแล้ว  โอกาสที่มันจะปรับตัวลงแรงก็มักจะมีสูงขึ้นเมื่อตลาดหุ้นประสบปัญหา  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้  ประกอบกับสัญญาณของความ  “อึ้ง” และ “ทึ่ง” ดังที่กล่าว  ผมจึงรู้สึก “เสียว” จนบอกไม่ถูก

Posted by nivate at 9:22 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/08/1500



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
บัญญัติ 10 ประการของวอร์เรน บัฟเฟตต์

  บัฟเฟตต์เป็นประธานผู้บริหารของบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งก่อตั้งขึ้น 170 ปีแล้วและเคยทำกิจการด้านสิ่งทอเป็นหลักก่อนที่บัฟเฟตต์และหุ้นส่วนจะซื้อกิจการมาดำเนินงานเมื่อปี 2508 บัฟเฟตต์ใช้บริษัทนั้นเป็นทางผ่านการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งทำกิจการหลากหลายอย่างรวมทั้งการประกันภัย หนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร ธนาคารและร้านสรรพสินค้า เขาซื้อหลายบริษัทมาควบรวมและซื้อหุ้นของอีกหลายบริษัทเป็นบางส่วน ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุด Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินรวมกันเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่องจนทำให้ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway เพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อหุ้นเป็น 75,000 ดอลลาร์ในเวลา 40 ปี

  มีผู้พยายามค้นหาปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จสูงอย่างน่ามหัศจรรย์นั้น เมื่อหลายปีก่อนมีหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ชื่อ The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life พิมพ์ออกมา แต่กว่าผู้อ่านจะค้นพบปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จก็ต้องอ่านกันนานเพราะหนังสือเล่มนั้นมีความหนาเกือบ 1,000 หน้า ก่อนหน้านั้นมีผู้นำเอาข้อคิดในจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้ถือหุ้นในบริษัท Berkshire Hathaway มารวมเป็นหนังสือชื่อ The Essays of Warren Buffett: Lessons for Corporate America ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหนังสือทั่วไปและยาว 290 หน้า จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะอ่านจบ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Michael Brush สรุปแนวคิดของบัฟเฟตต์ออกมาเป็น 10 ข้อเผยแพร่ไปตามสื่อต่าง ๆ ขอนำมาเล่าสู่กันเพราะมันน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ หรือมีเวลาไปเสาะหาหนังสือและต้นฉบับมาอ่านเอง


ข้อ1 – จงเป็นผู้มัธยัสถ์

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย เช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้นเวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ Michael Brush ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น บัฟเฟตต์ได้ค่าตอบแทนจากบริษัท Berkshire Hathaway เพียงปีละ 100,000 ดอลลาร์ หรือประมาณเดือนละ 290,000 บาทเท่านั้น ต่างกับประธานผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ๆ ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปี บัฟเฟตต์ไม่มีรายได้จากเงินปันผลของบริษัท Berkshire Hathaway เพราะบริษัทนั้นจ่ายเงินปันผลครั้งเดียวหลังจากเขาซื้อมาและหยุดจ่ายมาหลายทศวรรษแล้ว ฉะนั้นบริษัท Berkshire Hathaway เก็บผลกำไรไว้สำหรับลงทุนต่อได้จำนวนมาก

ส่วนตัวบัฟเฟตต์เองก็มีเงินเหลือเพื่อนำไปลงทุนต่อเพราะค่าตอบแทนที่ไม่สูงนักก็มักใช้ไม่หมด การไม่ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสสังคมยังผลให้เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคอยจ้องหารายได้จากการขายหุ้นที่มีอยู่ในมือ หรือจากการปันผลกำไรที่บริษัททำได้อย่างต่อเนื่อง เขามีเวลาสำหรับใช้พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ยิ่งกว่านั้นเขายังกดดันให้ผู้บริหารของกิจการที่เขาเข้าไปลงทุนกำจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์และพยายามจำกัดค่าค่าตอบแทนของผู้บริหารส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นทำกำไรได้สูงยิ่งขึ้น

ข้อ2 – จงยึดหลักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม

หรือมีความอดทนเพื่อรอโอกาสทองที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนอย่างหนักของตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบัน วิกฤติเศรษฐกิจและความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุอาจทำให้หุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งตกลงมาอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ฉะนั้น ในช่วงนี้บัฟเฟตต์จะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ มีรายงานข่าวออกมาว่าเขาได้เข้าไปซื้อหุ้นในหลายบริษัทที่ทำกิจการด้านน้ำมันปิโตรเลียม ด้านการบริการพลังงานไฟฟ้า ด้านธนาคารพาณิชย์และด้านการขนส่งทางรถไฟ

ข้อ3 – จงเดินทวนกระแส

บัฟเฟตต์เฝ้ามองว่าฝูงนักลงทุนจะพากันเดินไปทางไหนแล้วเขาจะพยายามเดินไปทางตรงข้ามเนื่องจากทางที่นักลงทุนพากันไปนั้น โอกาสในการทำกำไรได้อย่างงดงามมีน้อยเพราะนักลงทุนพวกนั้นได้ผลักดันราคาของหุ้นให้สูงขึ้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อตอนที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องเมื่อสองสามปีก่อน บัฟเฟตต์ไม่เข้าไปร่วมด้วย แต่ในตอนนี้ นักลงทุนจำนวนมากมองหาทางเทขายยังผลให้ราคาหุ้นโดยทั่วไปตกและหุ้นของบางบริษัทตกมากเป็นพิเศษ ตอนนี้บัฟเฟตต์ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาถูก จึงมีข่าวว่าเขาเข้าไปซื้อหุ้นของหลายบริษัท เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงแต่มีความสำคัญพื้นฐานก็คือ บัฟเฟตต์ทำการบ้านอย่างละเอียดและต่อเนื่อง นั่นคือ วิเคราะห์บริษัทต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น

ข้อ4 – จงเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ

บัฟเฟตต์จะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่เขาไม่เข้าใจว่าผลิตอะไรออกมาและไม่รู้อย่างแจ้งชัดว่าบริษัทนั้นทำกำไรได้อย่างไร ทั้งที่ในยุคนี้ มหาเศรษฐีจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเพื่อนซี้ของเขาเอง เช่น บิล เกตส์ ด้วย แต่บัฟเฟตต์หลีกเลี่ยงการซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ฉะนั้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอันเป็นตอนที่ราคาหุ้นของภาคเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บัฟเฟตต์จึงไม่เข้าไปซื้อเพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไม่รู้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะทำกำไรได้อย่างไร อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลปรากฏว่านักลงทุนพากันสูญเงินจำนวนมหาศาลเมื่อฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตก แต่บัฟเฟตต์ทำกำไรได้อย่างงดงามจากการลงทุนในภาคอื่น

ข้อ5 – จงอย่าฟังนักวิจารณ์หรือการยืนยันของตลาด

ยุคนี้มีนักวิจารณ์จำนวนมากออกมาวิจารณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง คนกลุ่มนี้มีความเห็นสารพัดและมักจะให้การยืนยัน หรือไม่ก็แย้งการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนใหญ่ ๆ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวรายวันของราคาหุ้นยังเป็นเสมือนการยืนยันในระยะสั้นด้วยว่าการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ บัฟเฟตต์จะไม่ฟังคำวิจารณ์และไม่ต้องการดูราคาหุ้นว่าไปทางไหน เขาจะตัดสินใจบนฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเอง

ข้อ6 – จงค้นหาของดีราคาถูกให้พบ

ในกระบวนการค้นหาหุ้นราคาถูก บัฟเฟตต์เริ่มวิเคราะห์เพื่อค้นหา “มูลค่าภายใน” (intrinsic value) ของบริษัทเป็นขั้นแรก กระบวนการนี้อาจมองดูว่าราคาหุ้นของบริษัทคล้าย ๆ กันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็คำนวณค่าปัจจุบันของเงินสดที่บริษัทนั้นน่าจะทำได้ในอนาคต รายละเอียดของวิธีคำนวณอาจหาได้ในหนังสือชื่อ The Warren Buffet Way ของ Robert Hagstrom หรือเรื่อง The Market Gurus ของ John Reese และ Todd Glassman หากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดต่ำกว่ามูลค่าภายในมาก ๆ บริษัทนั้นน่าสนใจเพราะมี “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” (margin of safety) สูงมาก

บัฟเฟตต์ไม่ค่อยสนใจเรื่องผลกำไรต่อหุ้น หากสนใจในผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) ส่วนต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับต้นทุน และภาระหนี้สินของบริษัท นอกจากนั้นเขายังต้องการเห็นบริษัททำเงินสดได้มาก ๆ แล้วนำไปลงทุนอย่างชาญฉลาด หรือไม่ก็จ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นของตนคืน ในกระบวนการวิเคราะห์นี้ เขาจะมองย้อนไปในอดีตอย่างน้อย 5 ปีเพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่าง ๆ กัน ฉะนั้น เขาจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์

ข้อ7 – จงมองหาบริษัทที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือล้อมรอบด้วยคูลึก

บริษัทจำพวกนี้มักมีประวัติในการทำกำไรได้ดีและมีความได้เปรียบอย่างยั่งยืนเพราะคู่แข่งเกิดขึ้นได้ยากมากอาจเนื่องมาจากอำนาจในการปกป้องของสิทธิบัตรและของเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง บริษัทจำพวกนี้สามารถขึ้นราคาสินค้าและบริการได้โดยไม่กระทบยอดขายและมักไม่ได้รับผลกระทบมากนักในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฉะนั้นบัฟเฟตต์จึงถือหุ้นจำนวนมากในบริษัทประกอบการรถไฟเพราะยากที่จะมีใครสามารถสร้างรางขึ้นมาแข่งได้ในทวีปอเมริกาเหนือ และในบริษัทโคคา-โคลาเพราะมีเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางพร้อมกับมีระบบการจัดจำหน่ายที่ลื่นไหลเป็นอย่างดีทั่วโลก

ข้อ8 – จงทุ่มเงินลงไปในบริษัทที่น่าซื้อ

เรื่องนี้เป็นลักษณะหนึ่งของการเดินย้อนกระแส นักลงทุนโดยทั่วไปมักใช้การกระจายการลงทุนออกไปในหลายบริษัทเพื่อหวังลดความเสี่ยง แต่บัฟเฟตต์กลับชอบลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่า เมื่อใดเขามองเห็นโอกาสดีเป็นพิเศษ เมื่อนั้นเขาจะทุ่มทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้นทันที เขามองว่าการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและการมีความอดทนที่จะรอจนได้ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” สูงมาก ๆ เป็นมาตรการลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ฉะนั้น ประวัติการลงทุนของเขาบ่งว่า ความสำเร็จของเขาเกิดจากผลตอบแทนสูงมากที่เขาได้จากการทุ่มลงทุนในหุ้นของบริษัทเพียงราวหนึ่งโหลเท่านั้น

ข้อ9 – จงซื้อเพื่อถือไว้หาผลกำไรในระยะยาว

บัฟเฟตต์มองว่าถ้าได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าควรลงทุนในบริษัทไหน บริษัทนั้นควรจะให้ผลกำไรดีเป็นเวลานาน ฉะนั้นผู้ที่ทนไม่ไหวที่จะดูราคาหุ้นของตนตกไป 50% อย่าคิดเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเด็ดขาด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อซื้อหุ้นมาแล้วก็เลิกติดตามความเป็นไป ตรงข้าม ผู้ถือหุ้นจะต้องติดตามและวิเคราะห์เหตุการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเห็นว่าบริษัทนั้นหมดโอกาสที่จะทำกำไรดีต่อไป หรือกำลังเดินเข้าภาวะยากลำบากเป็นเวลานาน เมื่อนั้นจงรีบขายออกไปทันที ด้วยหลักข้อนี้ บัฟเฟตต์จึงขายหุ้นจำนวนมากในบริษัทรับจำนองบ้านขนาดยักษ์ที่รู้จักกันในนาม Fannie Mae กับ Freddie Mac ก่อนที่สองบริษัทนั้นจะประสบปัญหาจนถูกรัฐเข้าไปยึดเมื่อปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งซึ่ง Michael Brush ไม่ได้กล่าวถึงคือ บัฟเฟตต์มองว่าการซื้อขายหุ้นบ่อย ๆ รังแต่จะเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ที่ไม่ค่อยมีบทบาทพื้นฐานทางเศรษฐกิจนัก เช่น นายหน้าค้าหุ้น ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้บริหารกองทุน เขาประเมินว่าคนเหล่านั้นหักเอาผลกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไปราวปีละราว 140,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 20% ของผลกำไรทั้งหมดซึ่งมีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของบริษัท

ข้อ10 – จงเชื่อมั่นในอเมริกา

บัฟเฟตต์จะไม่มองว่าใครเข้ามาเป็นประธานาธิบดี หรือในขณะนี้วัฏจักรของเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน หากมองว่าในระยะยาวบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจะกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งแม้ในขณะนี้ดูจะมีปัญหาบ้างก็ตาม ฉะนั้นในปัจจุบัน บัฟเฟตต์จึงนำเงินจากส่วนที่ซื้อพันธบัตรไว้ออกมาใส่ลงในหุ้นของบริษัทที่เขามองว่ามีโอกาสทำกำไรได้ดีในระยะยาว

จาก FB เพจ รู้ทันหุ้นบ่าย


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อไม่นานมานี้มีบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อ 20 พ.ย. 2557 แสดงความเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเสนอข่าวก่อนหน้าว่าตัวแทนของนักธุรกิจต่างชาติทั้งสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น “ตบเท้าเข้าพบคนของรัฐบาลไทย” เพื่อลอบบี้ไม่ให้แก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

ทั้งนี้ บทความกล่าวต่อไปถึงการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกฎหมายฉบับนี้) ว่ามีเป้าหมายหลักคือ “เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อลดขึ้นตอนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมหรือผู้ที่ลงทุนในไทยอยู่ก่อนแล้ว” นอกจากนั้นกรมฯ ก็ยังรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ หากเป็นเช่นนั้นจริงผมก็ยังมองไม่เห็นว่าทำไมคนต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยจึงคัดค้านการปรับปรุงกฎหมายตามแนวทางดังกล่าว เพราะดูเสมือนว่าจะเป็นประโยชน์และไม่มีโทษกับชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยแต่ประการใด

แต่รายงานข่าวในช่วง 12-15 พ.ย.นั้นกลับพบว่านักธุรกิจต่างชาติมีความกังวลอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 3 สัปดาห์แล้ว แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและอาจจะยังมีความพยายามที่จะแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวต่อไปอีกจึงขอนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้านมาให้อ่านกันในตอนนี้และตอนหน้า

ความกังวลของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นทำให้นาย Saito ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าคณะทูตของญี่ปุ่น (รองจากเอกอัครราชทูตฯ) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าการแก้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 นั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย โดยกล่าวว่าหากมีการแก้กฎหมายก็จะทำให้การลงทุนร่วมหลายบริษัทต้องตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทย ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นจะต้องตัดสินใจยอมรับการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของธุรกิจดังกล่าวหรือจะต้องถอนตัวออกจากการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้นาย Saito แสดงความเห็นว่าในขั้นแรกธุรกิจญี่ปุ่นที่มีอยู่ในไทยในขณะนี้ ส่วนใหญ่อาจตัดสินใจทำธุรกิจต่อไป แต่จะเป็นข้อจำกัดการลงทุนใหม่จากประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ นาย Saito ประเมินว่าประมาณ 45% ของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในไทยซึ่งมีทั้งหมดกว่า 5,000 บริษัทน่าจะได้รับผลกระทบจากการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กล่าวคือจะกระทบบริษัทญี่ปุ่นกว่า 2,200 บริษัทนั่นเอง แต่ที่สำคัญคือญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติลำดับแรกของไทย โดยมีสัดส่วนการลงทุนกว่า 50% ของการลงทุนทั้งหมดจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นาย Saito สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างกะทันหันจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นหมดความเชื่อถือรัฐบาลไทยและจะกระทบกับบรรยากาศของการทำธุรกิจในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน สภาหอการค้าต่างชาติในไทยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจะส่งสัญญาณว่าประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สภาหอการค้าต่างชาติแถลงว่า จะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ กับข้อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวที่จะส่งผลในการจำกัดสิทธิและผลประโยชน์ของนักธุรกิจต่างด้าว ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเสนอแก้กฎหมายให้กีดกัน (protectionist) การลงทุนมากขึ้น และจะทำให้ไทยสวนกระแสการเปิดเสรีของกลุ่มประเทศอาเซียนโดยรวม พร้อมกันนั้น สมาคมนักธุรกิจยุโรปก็แสดงความกังวลว่าการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจะส่งสัญญาณในเชิงลบ (wrong message negative signal) พร้อมยังแสดงความแปลกใจว่าทำไมฝ่ายไทยจึงไม่ขอปรึกษาหารือกับประเทศที่จะได้รับผลกระทบในกรอบขององค์กรการค้าโลกหรือ WTO ก่อนที่จะมานำเสนอดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

จะเห็นได้ว่านักธุรกิจต่างชาติในประเทศไทยแสดงความกังวลอย่างออกหน้าออกตาและใช้คำที่ค่อนข้างจะรุนแรงมาก รวมทั้งมีการออกมาให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่การทูตด้วย ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือการแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าวนั้นได้เคยดำเนินการเช่นเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในต้นปี 2007 หลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2006 โดยคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้อนุมัติการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวเมื่อ 9 มกราคม 2008 ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสภาหอการค้าต่างประเทศที่มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 28 ประเทศก็แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน โดยได้มีการเรียกนักข่าวมารับฟังแถลงการณ์อย่างละเอียดและมีเจ้าหน้าที่การทูตจากประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน แคนาดาและออสเตรเลียมาร่วมแถลงการณ์และ/หรือเป็นพยานในครั้งนั้นอีกด้วย โดยประธานหอการค้าต่างประเทศในสมัยนั้นก็แสดงความผิดหวังอย่างมากกับรัฐบาลไทย ซึ่งเขามองว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการลงทุนของต่างประเทศในไทย

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ต่อไปอีกหลายเดือนโดยรัฐบาลไทยได้พยายามปรับปรุงแก้ไขสาระบางประการแต่นักธุรกิจต่างชาติก็ยังไม่เห็นด้วย จนในที่สุดรัฐบาลไทยก็เลิกล้มการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวไปในที่สุด

มาถึงวันนี้บทความในไทยรัฐกล่าวถึงการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว 3 ครั้งและสรุปว่าส่วนใหญ่เห็นตรงกันที่จะแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” เพราะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เกิด “ตัวแทนอำพราง” ในลักษณะ “นอมินี” หรือการที่คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถทำธุรกิจต้องห้ามในไทยหรือธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยโดยไม่ต้องขออนุญาตและสรุปว่า เสมือนเป็นการปล้นชาติปล้นสมบัติของคนไทยไปเข้ากระเป๋าคนต่างชาติ โดยมีคนไทยสมรู้ร่วมคิดด้วย

เมื่อมีการกล่าวอ้างเช่นนี้ก็ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเท็จจริงเพียงใดและหากเป็นการปกป้องสมบัติของคนไทยจริง ทำไมการแก้ไขพ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าวจึงไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งผมขอนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของเรื่องนี้ในครั้งหน้าครับ

ไม่ปิดกั้นต่างด้าวลงทุน (2) / ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการที่นักธุรกิจต่างชาติที่มีกิจการในไทยออกมาคัดค้านข้อเสนอของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ต้องการจะปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. 2542 ทั้งนี้ จากข้อสรุปของกรมฯ นั้น ต้องการแก้ไขคำนิยามของ “คนต่างด้าว” เพราะเป็นจุดอ่อน ทำให้คนต่างด้าวสามารถทำธุรกิจต้องห้ามในไทยหรือธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยโดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ ทางการไทยยืนยันว่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากลและมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมิใช่ปิดกั้น ตลอดจนจะป้องกันไม่ให้กระทบต่อธุรกิจของต่างชาติที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ในวันที่ 27 พ.ย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยภายหลังการชี้แจงสถานทูตและหอการค้าประเทศต่างๆ ถึงการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่าได้ชี้แจงให้นักลงทุนต่างชาติทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ผลสรุปใดๆ แต่เปิดรับฟังความคิดและจะสรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะภายในเดือนธ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. หากครม.อนุมัติจึงจะเสนอให้สนช.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ รมว.พาณิชย์ย้ำว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ตั้งอยู่บนเงื่อนไข 3 ประการ คือต้องเป็นการส่งเสริมการลงทุน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านที่มิได้ต้องตามเรื่องนี้มาก่อนก็อาจแปลกใจว่าหากฝ่ายไทยต้องการจะเปิดเสรีและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยยืนอยู่บนหลักเกณฑ์สากลและเงื่อนไข 3 ข้อข้างต้นแล้ว ทำไมนักธุรกิจต่างชาติจึงคัดค้านการแก้ไขดังกล่าว คำตอบคือวิวัฒนาการของการบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดการลงทุนของต่างชาตินั้น ทำให้ต่างชาติเข้าใจว่ารัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แม้ในธุรกิจที่ได้ประกาศห้ามไว้ตามกฎหมาย ก็มีวิธีเลี่ยงทำให้ลงทุนเป็นเจ้าของได้ เพราะรัฐบาลไทยเลือกที่จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นส่วนใหญ่และมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการธุรกิจดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ประเทศไทยออกกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเป็นครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติ (ปว.) 281 พ.ศ.2514 (ค.ศ.1972) ซึ่งกฎหมายดังกล่าว จำกัดการทำธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างเข้มงวด กำหนดประเภทธุรกิจที่สงวนเอาไว้ให้กับคนไทยในภาคผนวก 1 เช่น การทำนา ช่างตัดผมและการเป็นเจ้าของ (ที่ดิน) อีกส่วนหนึ่งในภาคผนวก 2 คือธุรกิจที่ห้ามต่างชาติเช่นกัน แต่โดยมีเหตุผลว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เช่น การขนส่งภายในประเทศและการทำเหมืองแร่ นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจที่ห้ามต่างชาติในภาคผนวก 3 เพราะคนไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ แต่อาจยกเลิกและเปิดให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการได้ในอนาคต เช่น ภาคเกษตรบางประเภท การก่อสร้าง โรงแรมและการท่องเที่ยวและการเป็นนายหน้าขายหุ้น แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปีก็ไม่เคยมีการตัดธุรกิจใดออกจากบัญชีดังกล่าว เพื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันแต่อย่างใด เว้นแต่การออกกฎหมายของอุตสาหกรรมบางประเภทโดยเฉพาะที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติมาบังคับใช้แทนปว.281 เช่น พ.ร.บ.โทรคมนาคม

แต่ในทางปฏิบัตินั้นรัฐบาลไทยเชื้อเชิญและส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นและเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายคือให้คนไทยถือหุ้นเกินครึ่งหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัตินั้นต่างชาติเป็นผู้ลงทุนเกือบทั้งหมดและมีอำนาจบริหารเต็ม ในขณะที่ผู้ถือหุ้นคนไทยมักจะถือหุ้นบุริมสิทธิที่ไม่มีอำนาจออกเสียงและได้รับผลตอบแทนตายตัว (คล้ายกับดอกเบี้ย) โดยไม่ยึดโยงกับผลประกอบการของบริษัท แม้ว่าปว. 281 จะมีการกำหนดโทษผู้ที่ “ถือหุ้นแทน” ต่างชาติเพื่อเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดคำนิยามให้ชัดเจนว่าการกระทำประการใดจึงจะเข้าข่ายของการถือหุ้นแทนหรือการเป็นนอมินี

ต่อมาในปี 1992 มีกรณีบริษัท ABB Distribution ซึ่งเป็นบริษัท “ไทย” โดยมีคนไทย 8 คนถือหุ้น 51% และหุ้นส่วนที่เป็นชาวสวิสถือหุ้น 49% แต่ผู้ถือหุ้นไทยนั้นถือ หุ้นบุริมสิทธิที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงและฝ่ายสวิสมีอำนาจเต็มในการบริหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์มีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายหนึ่งมองว่าหากพิจารณาในละเอียดรวมถึงการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนแล้วก็จะสรุปได้ว่าบริษัท ABB เป็นบริษัทต่างชาติ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นบริษัทไทยตามสัดส่วนของการถือหุ้น

ต่อมาเรื่องนี้จึงถูกส่งไปให้กฤษฎีกาตีความซึ่งก็ได้ตีความว่าบริษัท ABB เป็นบริษัทต่างชาติตามเจตนารมณ์ของปว.281 รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการแก้ปว.281 ให้พิจารณาสัญชาติของบริษัทโดยดูจากสัดส่วนของการถือหุ้น ข้อมูลและบทวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้นนี้มาจาก บทวิจัยของดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ในสัมมนาของ TDRI ในเดือนส.ค. 2006 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติเดือนก.ย. 2006 และมีการนำเอาเรื่องของการขายบริษัทชิน คอร์ปให้กับกองทุนเทมาเซ็กของสิงคโปร์มาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยการร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์สอบสวนว่าบริษัทชินคอร์ปเป็นบริษัทต่างชาติหรือไม่ เพราะมีข้อสงสัยว่าคนไทยที่ถือหุ้นข้างมากในบริษัทนั้นเป็นนอมินีของต่างชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะเป็นการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นผลให้ต้องปิดบริษัทและคนไทยที่เป็นนอมินีตลอดจนผู้บริหารต่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกปรับและจำคุกได้

ดังนั้น จึงมองได้ว่าความพยายามที่จะแก้ไขและปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปี 2007 นั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสอบสวนบริษัทชินคอร์ปเพราะหากตีความว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทต่างชาติ โดยการตีความว่าคนไทยเป็นนอมินีก็อาจส่งผลให้บริษัทอื่นๆ อีกหลายพันบริษัทที่เป็นสัญญาติไทยโดยอาศัยโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารในลักษณะเดียวกันจะต้องถูกแปลงสถานะเป็นบริษัทต่างชาติโดยทันที ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ และต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ นักธุรกิจต่างชาติตลอดจนสถานทูตต่างๆ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับความพยายามแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และแม้ว่าร่างแก้ไขพ.ร.บ.การทำธุรกิจของคนต่างด้าวจะได้รับความเห็นชอบจากครม.ในเดือนเม.ย. 2007 แต่เรื่องนี้ก็เงียบไปและไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จนกระทั่งมีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับการควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ ผมต้องของเล่าเพิ่มเติมด้วยว่าปว.281 ที่ได้รับการแก้ไขในปี 1992 (ให้พิจารณาความเป็น “ไทย” หรือ “ต่างชาติ” โดยพิจารณาเพียงสัดส่วนการถือหุ้น) นั้นต่อมาได้ถูกแปลงมาเป็นพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวในปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากกลับไปดูตัวเลขการลงทุนจะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปีในปี 1998-1999 มาเป็น 350,000 ล้านบาทต่อปีในปี 1999-2005 ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแก้ไขปว.281 ให้เป็นกฎหมายโดยยืนยันหลักการเดิมและการที่รัฐบาลไทยเองก็ต้องการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและเพิ่มทุนในบริษัทไทยหลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997-1998



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 15 December 2014
ปรัชญา VI จากหนังสือลงทุน

ตั้งแต่หนังสือการลงทุนเล่มแรกที่ผมเขียนคือ  “ตีแตก” ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2542 แล้ว  ผมก็ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง  ถึงวันนี้ผมนับดูแล้วมีรวมกันเกือบ 20 เล่ม  ทุกเล่มนั้น  สิ่งที่ผมต้องคิดนอกจากเนื้อหาของหนังสือแล้วก็คือ “ชื่อ” ของหนังสือ  เพราะชื่อนั้นมีส่วนสำคัญที่จะทำให้หนังสือขายได้ดีหรือไม่ดีไม่น้อยไปกว่าเนื้อหา  ถ้าจะว่าไปก็คงเหมือนกับสินค้าที่จะขายดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ  “หีบห่อ” ไม่น้อย  ดังนั้น  ก่อนที่จะออกหนังสือ  ผมจึงต้องตั้งชื่อเรื่องที่ผมคิดว่ามันจะสื่อถึงประเด็นสำคัญที่มีต่อการลงทุนที่เข้ากับสถานการณ์ในขณะที่หนังสือออกวางแผง  ผลก็คือ  ถึงวันนี้ ผมมี  “ชื่อ” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของการลงทุนแบบ VI เกือบ 20 ชื่อซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูก็พบว่าแต่ละชื่อนั้น  เหมือนกับเป็น “ปรัชญา” ที่สำคัญสำหรับ VI  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มต้นด้วยหนังสือชื่อ  “ลงทุนเพื่อชีวิต-ด้วยหุ้น”  นี่เป็นปรัชญาหรือหลักการลงทุนที่ผมเห็นว่าสำคัญและจะเปลี่ยนวิถีการลงทุนของเราโดยสิ้นเชิง  คนที่เข้ามา “เล่นหุ้น” โดยกันเงินส่วนหนึ่งเข้ามาซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น  ไม่ใช่การลงทุน “เพื่อชีวิต”  แต่น่าจะเป็นการลงทุนเพื่อความสนุกสนานหรือความโลภหรือความต้องการทำกำไรเพื่อนำเงินมาใช้เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  โอกาสที่ชีวิตจะ  “เปลี่ยนแปลง” ไปจึงแทบไม่มี  เราจะเข้าไปลงทุนก็เฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นคึกคักและก็เลิกเล่นเมื่อทุกอย่างเหงา  เงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีไม่มาก  ชีวิตในระยะยาวของเราก็เหมือนเดิม  แต่การลงทุนเพื่อชีวิตนั้น  เป็นการลงทุนที่เราตั้งความหวังว่าเมื่อเราแก่ตัวลงหรือมีอายุมากขึ้น  เราก็จะมีเงินมากพอที่จะทำให้เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน  มันจึงมีความสำคัญมากและไม่ใช่เรื่อง  “เล่น”  และสำหรับบางคนนั้น  มันเป็นหนทางที่จะทำให้  “รวย”  เป็นเศรษฐีได้  ดังนั้น  วิธีการลงทุนจึงต้องแตกต่างจากคนอื่น  ที่สำคัญก็คือ  เราต้อง “ทุ่มเท” ทรัพยากร  ทั้งทางด้านเม็ดเงินและแรงกายแรงใจที่จะทำให้มันบรรลุผล  นี่คือสิ่งเราต้องเลือก

หนังสือชื่อ “เซียนหุ้นพันธุ์แท้”  “เซียนหุ้นมือทอง”  และ “เทคนิคพิชิตหุ้น”  นั้น  บ่งบอกให้รู้ว่า  การลงทุนนั้น  ไม่ใช่ว่าจะแค่รู้จักชื่อหุ้นและสามารถสั่งซื้อสั่งขายได้โดยการการดูราคาหุ้นที่ขึ้นลงทุกวันและอ่านข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายวันหรือติดตามจากสื่อสมัยใหม่เท่านั้น   แต่การลงทุนที่ถูกต้องนั้นเราจะต้องเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง  เราต้องเรียนรู้จาก “เซียน” ที่เป็น  “ตัวจริง”  ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์   การเล่นหุ้นตามคนอื่นโดยที่เราไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริงในแง่ของมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น  โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะยาก  และนี่ก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า  “เล่นหุ้นตามเซียน” ที่ผมเขียนขึ้นในปีที่หุ้นที่  “เซียน”  เล่นกันมากมีการปรับตัวขึ้นอย่างมากมาย  แต่เนื้อหาที่แท้จริงของหนังสือก็คือ  “อย่าเล่นหุ้นตามเซียน”

วิธีการลงทุนที่ผมคิดว่าดีที่สุดในระยะยาวก็คือ  การพยายาม  “ชนะอย่างเต่า”  ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก  ว่าที่จริงถ้าจะหาคุณลักษณะการลงทุนของผมโดยเปรียบเทียบกับสัตว์แล้ว  ผมคิดว่าผมก็คือ  “เต่า”  นั่นก็คือ  ผมเน้นว่าผมเลือกที่จะ “เดินทาง” หรือลงทุนอย่างช้า ๆ  ไม่เลือกหุ้นที่หวือหวาที่อาจจะให้ผลตอบแทนเร็วมากแต่อาจจะมีความเสี่ยง  ผมอยากที่จะเดินไปเรื่อย ๆ  ไม่หยุด  ผมคิดว่าถ้าเรามี  “เวลา” ในการลงทุนยาวนานเหมือนอายุเต่า  เงินของเราก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ  โดยที่เราไม่ต้องรีบ    นอกจากนั้น  การเป็น  “เต่า” ที่มีกระดองหนาป้องกันตัวและสามารถอยู่ได้ในทุกสถานที่และสถานการณ์แม้แต่ในน้ำนั้น  ก็เปรียบเสมือนกับการลงทุนของเราที่จะต้องออกแบบพอร์ตการลงทุนของเราให้ปลอดภัยในทุกสถานการณ์รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่มักจะต้องเกิดขึ้นเสมอได้

ชื่อหนังสือสองเล่มที่จะบอกถึงความจริงแท้แน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งและเราจะต้องผ่านมันไปได้ก็คือ  “เล่นหุ้นในภาวะวิกฤติ”  และ  “เล่นหุ้นปีทอง”  ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงวิกฤติและทุ่มเททุกอย่างลงทุนในปีทอง  ว่าที่จริงในทั้งสองช่วงนั้น  ผมลงทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งสองช่วง  เหตุผลก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าปีไหนเป็นปีวิกฤติและปีไหนจะเป็นปีทองจนกระทั่งมันผ่านไปแล้วเราไม่รู้ล่วงหน้า   สิ่งที่เราต้องทำตลอดเวลาก็คือ  ออกแบบหรือเลือกหุ้นลงทุนที่จะทำให้เราอย่าเสียหายมากเกินไปเมื่อเกิดวิกฤติและกำไรดีแต่อาจจะไม่ดีเท่าคนอื่นที่เล่นเก็งกำไรมากเมื่อเป็นปีทอง  โดยวิธีนี้  ในระยะยาวแล้วเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  เหตุผลเพราะว่า  เวลาหุ้นตก 50% นั้น  เราจะต้องทำผลตอบแทนขึ้น 100%  เราถึงจะเท่าทุน  ดังนั้น  โดยทั่วไป  การป้องกันหุ้นตกย่อมดีกว่าพยายามทำกำไรให้มากขึ้น

ในการลงทุนนั้น  ถ้าเราหวังที่จะ  “รวย”  ไม่ได้หวังแค่ได้ผลตอบแทนปกติ  บ่อยครั้งเราต้องกล้าที่จะ  “ตีแตก”  นั่นก็คือ  ลงทุนในหุ้นบางตัวในจำนวนเงินที่มากกว่าปกติมาก  มันเป็นหุ้นที่เรา  “เดิมพัน”  สูงมาก  ถ้าเราชนะเราจะได้เงินมากอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  แต่ถ้าเราแพ้  เราก็อาจจะเสียหายหนัก  ดังนั้น  การที่เราจะลงทุนในหุ้นตัวนั้น  เราจะต้องมั่นใจมากว่าโอกาสที่เราจะชนะมีมาก  และโอกาสที่เราจะแพ้มีน้อย  และถ้าแพ้  เราก็จะต้องไม่เสียหายหนักเกินไปจนอยู่ไม่รอด  ซึ่งหลักเบื้องต้นง่าย ๆ ของผมก็คือ  อย่าถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกิน 50% ของพอร์ต  นอกจากนั้น  บริษัทจะต้องมีความเสี่ยงที่จะ “หายนะ” ต่ำมาก  และสุดท้ายก็คือ  อย่าคิดว่าเราพบหุ้นที่เราสามารถ  “ตีแตก”  ได้ปีละหลาย ๆ  ตัว  ผมคิดว่าหุ้นที่สมควรที่เราจะตีแตกนั้น  ถ้าภายใน 5 ปีมีหนึ่งตัวก็สุดยอดแล้ว

หุ้นที่จะตีแตกหรือหุ้นที่เราคิดจะลงทุนเป็น “แกน” ของพอร์ตของเราในระยะยาวนั้น  ผมคิดว่าควรที่จะอยู่ในกลุ่มที่ผมเรียกว่า  “ซุปเปอร์สต็อก-มหัศจรรย์ของหุ้น VI” ซึ่งก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกมาในช่วงที่หุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” หรือหุ้นที่มีคุณสมบัติทางธุรกิจดีสุดยอดนั้น  สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างงดงาม  บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและบริษัทเป็นผู้นำที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันด้วยเหตุผลหลายอย่างรวมถึงขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งหรือแทบจะเป็นบริษัทใหญ่บริษัทเดียวในอุตสาหกรรม  ดังนั้น  มันจึงทำกำไรได้สูงกว่าปกติและสามารถขยายตัวและเพิ่มความได้เปรียบมากขึ้นไปอีก  ส่งผลให้หุ้นมีการเติบโตต่อเนื่องยาวนาน   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกนั้น  เราก็ต้องพึงระวังว่าราคาหุ้นจะไม่สูงเกินไป

การลงทุนนั้น  เนื่องจากมันเป็นเรื่องระยะยาวมากแทบจะตลอดชีวิต  มันจึงควรเป็นอย่างชื่อหนังสือเรื่อง “การลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ” ไม่เคร่งเครียด  และสำหรับบางคนนั้น  เมื่อ “รวย” แล้วก็ควรเป็นการ  “รวยหุ้นอย่างพอเพียง”  ตามชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่ง   นั่นก็คือ  ไม่ใช้จ่ายเกินความจำเป็น  รู้จักหาความสุขไม่ใช่จากการใช้เงิน  แต่หาความสุขโดยมีเงินเป็นตัวสนับสนุนในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงิน นอกจากนั้น  ในการลงทุนเราก็ควรจะนึกถึงเรื่อง  “ธรรมะกับการลงทุน” ที่เป็นชื่อหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่จะช่วยชี้นำการใช้ชีวิตในตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยกิเลศและความโลภด้วย

สุดท้ายก็คือหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกในโอกาสที่ผมอายุครบ 60 ปีเมื่อปีที่แล้วชื่อ “ก้าวเล็ก ๆ  ในตลาดหุ้น  ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า  ชีวิตคนเราที่จะประสบความสำเร็จนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องเริ่มจาก  “ก้าวที่เล็ก ๆ” โดยที่ก้าวของผมก็มาจากความคิดที่ว่าผมจะ  “รวยด้วยหุ้น”  ตามชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงแต่เขียนมานานแล้ว   และทั้งหมดนั้นก็คือ  “ปรัชญา VI” ที่ได้มาจากชื่อหนังสือการลงทุนที่ผมเขียนขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

Posted by nivate at 9:39 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/15/1503



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

ทฤษฎีปาร์ตี้ของปีเตอร์ ลินซ์/วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังร้อนแรง นักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากกำลังเดินเข้าตลาดหุ้นเนื่องจากทนความเย้ายวนของผลกำไรที่ได้ของนักลงทุนรุ่นก่อนหน้าไม่ไหว หลายคนโพสอวดรถใหม่หรือนาฬิกาหรูที่ได้มาจากการทำเงินในตลาดหุ้นยิ่งเป็นเหมือนการกระตุ้นความโลภของเพื่อนๆที่พบเห็นโพสเหล่านั้นในโลกโซเชียลมีเดีย จากบัญชีนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นไทยเพียงหนึ่งแสนบัญชีเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันบัญชีซื้อขายหุ้นของรายย่อยมีถึงหนึ่งล้านบัญชี แสดงว่านักลงทุนเพิ่มเข้ามาเกือบสิบเท่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

การกล่าวถึงระดับความนิยมของตลาดหุ้นนั้น ปีเตอร์ ลินซ์เป็นผู้ที่ให้ข้อคิดเห็นได้อย่างดีมากใน”ทฤษฎีงานปาร์ตี้” (The Cocktail Party Theory) ที่เขาคิดขึ้นมาเองจากประสบการณ์การเป็นผู้จัดการกองทุนมากว่า 20 ปีและเขียนไว้ในหนังสือ”เหนือกว่าวอลสตรีท”ของเขา (One Up on Wall Street) ลินซ์แบ่งตลาดหุ้นออกเป็น 4 ระดับดังนี้

ระดับที่หนึ่ง ตลาดหุ้นกำลังตกต่ำและเพิ่งผ่านพ้นความหายนะมาหมาดๆ ไม่มีใครพูดถึงตลาดหุ้น ในงานปาร์ตี้ ผู้คนชอบพูดกับหมอฟันเกี่ยวกับเรื่องคราบหินปูนมากกว่าที่จะพูดกับปีเตอร์ ลินซ์เกี่ยวกับหุ้น ในช่วงนี้แสดงว่าตลาดหุ้นกำลังเริ่มที่จะปรับตัวขึ้น

ในประเทศไทย สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นึกถึงตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 หลังจากที่มีการลดค่าเงินบาท ตลาดหุ้นตกจาก 1,700 จุดลงมาเหลือเพียง 200 จุด ช่วงนั้นนักลงทุนรายย่อยต่างเจ๊งหุ้นกันถ้วนหน้า ไม่มีใครเอ่ยถึงคำว่าตลาดหุ้น ทุกคนต่างเมินหน้าหนีจากตลาด คนที่ยังถือหุ้นอยู่ต่างขาดทุนกันแทบทุกคน ส่วนคนที่ขายออกไปมักจะขายขาดทุนเสมอ หาคนที่ทำกำไรจากตลาดหุ้นช่วงนั้นน้อยมากๆ หลายคนเลิกเล่นหุ้นหันไปประกอบอาชีพด้านอื่น เป็นช่วงเวลาแห่งความหดหู่ในการลงทุนในตลาดหุ้น ผู้เขียนยังจำได้ว่าในช่วงนั้นรัฐบาลมีนโยบายให้ซื้อกองทุนอาร์เอ็มเอฟ (RMF) เพื่อนำมาลดหย่อนภาษี ผู้เขียนต้องการซื้อกองทุนหุ้น 100 เปอร์เซนต์ ปรากฏว่าเพื่อนที่เป็นผู้จัดการกองทุนบอกว่าอย่าซื้อกองทุนหุ้น ให้ซื้อกองทุนพันธบัตรแทน ถ้าซื้อกองทุนหุ้นจะไม่ยอมขายให้ แสดงให้เห็นว่าช่วงนั้นตลาดหุ้นแย่สุดๆเลยทีเดียว

ระดับที่สอง ผู้คนเริ่มพูดถึงตลาดหุ้นในงานเลี้ยง แต่ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยงเกินไป คนในงานยังชอบคุยกับหมอฟันมากกว่าที่จะคุยกับปีเตอร์ ลินซ์เรื่องหุ้น ตอนนี้ตลาดน่าจะปรับตัวขึ้นประมาณ 15 เปอร์เซนต์

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติซัพไพร์ม ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงสูง หลายคนไม่ยอมลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้น แต่ไปซื้อกองทุนพันธบัตรหรือฝากเงินแทน ตลาดหุ้นไทยช่วงนั้นอยู่ระหว่าง 400-600 จุดและขึ้นๆลงๆอยู่ตลอดเวลา มีหลายครั้งที่ขึ้นไปถึง 700 จุดและตกลงมาอย่างรุนแรงทำให้หลายคนมองว่าเสี่ยงเกินไป นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเก็งกำไร การลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือวีไอเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆในตลาดที่ไม่มีคนสนใจมากนัก

ระดับที่สาม ทุกคนในงานรวมถึงหมอฟันพูดถึงตลาดหุ้นและรุมล้อมปีเตอร์ ลินซ์เพื่อถามว่าซื้อหุ้นอะไรดี ทุกคนในงานเลี้ยงซื้อขายหุ้นกันแทบทุกคนและไม่มีใครไม่พูดถึงตลาดหุ้น ช่วงนี้ตลาดเริ่มสูงขึ้น 30 เปอร์เซนต์

ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันเริ่มเหมือนระดับสามของทฤษฎีของลินซ์ ทุกวันนี้ทุกคนต่างพูดถึงการลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พนักงานออฟฟิศหรือแม้แต่คนขับแท็กซี่ เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่าวันหนึ่งขึ้นแท็กซี่ปรากฏว่าคนขับแท็กซี่ชวนคุยเรื่องหุ้น เพื่อนคนนั้นถึงกับงะจังงัง นึกไม่ถึงว่าตลาดหุ้นจะดึงดูดคนทุกอาชีพได้มากขนาดนี้ ในงานสัมมนาหุ้นจะพบผู้คนมากกมายตั้งหน้าตั้งตารอเพื่อที่จะเข้าไปฟังกูรูพูดถึงเรื่องหุ้น พอจบงานเหล่านักลงทุนก็เข้าไปห้องล้อมกูรูเหล่านั้นเพื่อที่จะได้รู้ว่าเซียนซื้ออะไรกันอยู่

ระดับสี่ ทุกคนล้อมรอบปีเตอร์ ลินซ์ แต่ที่ต่างจากระดับสามคือในระดับที่แล้วผู้คนถามลินซ์ว่าซื้อหุ้นอะไรดี แต่ในระดับสี่ผู้คนจะบอกลินซ์ว่าซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้ซิดี แม้แต่หมอฟันยังบอกลินซ์ว่าตอนนี้เขาเล่นหุ้นเป็นอาชีพ อีกไม่กี่วันหุ้นที่คุยกันในงานเลี้ยงนั้นมีราคาสูงขึ้นทุกตัว ในที่สุดเพื่อนบ้านของลินซ์ยังมาบอกลินซ์ว่าให้ซื้อหุ้นตัวไหน นี่เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นกำลังจะตกลงอย่างรุนแรงในเร็วๆนี้

ที่มา:
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=58429


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 22 December 2014
Happy Money

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือชื่อ “Happy Money” เขียนโดย Elizabeth Dunn และ Michael Norton หรือถ้าแปลเป็นไทยก็คือ  “เงินที่มีความสุข” ซึ่งเนื้อหาหลักก็คือ  “การใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดแก่ผู้ใช้”  ซึ่งเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคนและก็มักจะใกล้เคียงกันนั่นก็คือ  ใช้เงินเพื่อสนองความต้องการของตนเองในด้านต่าง ๆ  ตามที่ใจต้องการสูงสุดในขณะนั้นเราก็จะมีความสุขสูงสุด   แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่านั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ผิด  เพราะจากการศึกษาทางด้านจิตวิทยามากมายบอกว่า  ความสุขที่ได้จากการจ่ายเงินซื้อสิ่งของหรือบริการแต่ละอย่างด้วยเงินที่เท่ากันนั้นไม่เท่ากัน   สิ่งของหรือบริการบางอย่างจะให้ความสุขสูงกว่าและยาวนานกว่าสิ่งอื่น  ดังนั้น  ถ้าเรา  “ใช้เงินเป็น”  เราก็จะมีความสุขมากกว่าด้วยเงินที่เท่ากัน  มาดูกันว่าสิ่งของหรือบริการประเภทไหนให้ความสุขมากกว่าและการใช้เงินแบบไหนที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อ

หลักการใหญ่ข้อแรกที่ผู้เขียนนำเสนอก็คือ  การใช้เงินซื้อ  “ของ” นั้น  มักจะให้ความสุขน้อยกว่าการ“ซื้อประสบการณ์”  เพราะของนั้น  อาจจะให้ความสุขในขณะที่ซื้อ  แต่เวลาใช้ไปซักพักหนึ่งเราก็มักจะรู้สึกชิน  ความสุขก็จะหายไป  แต่ประสบการณ์นั้น  จะอยู่ในความทรงจำไปอีกนานและทำให้เรามีความสุข   วัตถุและสิ่งของนั้น  แม้ว่าจะเป็นของหรูราคาแพงเช่น เพชรพลอย  เครื่องเล่นไฟฟ้าราคาแพง  หรือแม้แต่บ้านหรูนั้น  มักจะให้ความสุขไม่เท่ากับประสบการณ์ที่น่าประทับใจที่เราได้ประสบอย่างเช่นการท่องเที่ยวที่สุดแสนจะโรแมนติคหรือท้าทายที่ “ตรึงอยู่ในความทรงจำ”

ประสบการณ์ที่จะทำให้มีความสุขมากนั้น  ควรที่จะมีคุณสมบัติ  เช่น  มันนำเราเข้าไปรู้จักและมีความสัมพันธ์กับคนอื่น  หรือมันมีเรื่องราวที่น่าประทับใจที่เราจะมีความสุขที่จะเล่ามันซ้ำ ๆ  ไปอีกนานทุกครั้งที่มีโอกาส  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกที่บ่งบอกตัวตนของเราอย่างใกล้ชิด  หรือมันเป็นประสบการณ์ที่เป็นโอกาสแบบ  “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่เราจะได้ประสบ เป็นต้น   ในความรู้สึกของผมเอง  ผมคิดว่าการ  “ซื้อประสบการณ์”  นั้น  มีคุณค่าและมีความสุขกว่าการซื้อสิ่งของจริง ๆ    ถ้าจะนับว่าผมใช้เงินไปกับอะไรที่ค่อนข้างมากในแต่ละปี  คำตอบก็คือการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ผมชอบเป็นพิเศษก็คือ  ได้ไปพบเห็นอะไรที่ดูแปลกตาและ  “มหัศจรรย์” ซึ่งทำให้ผมจำได้และต้องพูดหรือนึกถึงทุกครั้งที่มีโอกาส  ตัวอย่างเช่น  การได้เห็นปิรามิดในอียิปต์หรือเมืองเพตราที่เกิดจากการสลักหรือเจาะภูเขาสีชมพูเพื่อสร้างบ้าน  โบสถ์ และสิ่งก่อสร้างทั้งหลายของเมืองในจอร์แดน  เป็นต้น  ผมคิดว่านี่เป็นการใช้จ่ายเงินที่คุ้มค่าและให้ความสุขจริง ๆ  ดังนั้น  การซื้อประสบการณ์ที่ดีมากนั้นจึงควรที่จะเป็นสิ่งที่เราคิดถึงเป็นอันดับต้น ๆ  ในกรณีที่เรามีเงินพอที่จะทำได้

ข้อสองของการที่จะทำให้การใช้เงินก่อให้เกิดความสุขมากขึ้นก็คือ  “ทำให้มันเป็นการเลี้ยงฉลอง”  หรือพูดง่าย ๆ  อย่าทำอะไรหรือจ่ายเงินซื้ออะไรแบบเป็นเรื่อง  “ทำประจำ”  เพราะการที่เราทำอะไรซ้ำ ๆ  เป็นประจำนั้นจะทำให้เราเคยชิน  เราจะไม่รู้สึกว่าการทำอย่างนั้นจะเป็นความสุข  การมีหรือทำอะไรหรือกินอะไรที่เรามีอย่าง  “เหลือเฟือ”  นั้น   ความสนุก  ความอร่อย  หรือความสุขจะหายไปมาก  แต่อะไรที่เรานาน ๆ  จะมีโอกาสได้ทำหรือได้กินหรือได้ใช้มันนั้นจะดูมีคุณค่าและก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่า   พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมยังจำได้ว่าในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอยู่นั้น  ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่บ้านผมจะซื้อน้ำอัดลมมาประมาณครึ่งลังหรือประมาณ 12 ขวดถ้าจำไม่ผิด  และผมจะดื่มมันได้หลายวัน  ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่ผมชอบและมีความสุขที่ได้ดื่มมันมาก  เหตุผลก็เพราะมันแทบจะเป็นโอกาสเดียวของปีที่ผมจะได้  “เฉลิมฉลอง” และดื่มมันอย่างมีความสุข  เมื่อผมโตขึ้นและสามารถดื่มมันทุกวัน  ความสุขจากการดื่มน้ำอัดลมก็เหลือเพียงนิดเดียว  เทคนิคในการทำให้เรื่องต่าง ๆ เป็นการ  “เลี้ยงฉลอง” นั้น  ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงต้องค้นหา  แม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการดื่มกาแฟร้านดังเราก็อย่าไปกินทุกวัน  อาจจะกินแค่วันศุกร์หรืออะไรทำนองนี้  และกาแฟแก้วนั้นก็จะอร่อยเป็นพิเศษ  เพราะมันเป็นกาแฟที่เรา  “ตั้งใจรอ”  มาหลายวัน

“ซื้อเวลา”  นี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นการใช้เงินอย่างฉลาดและคุ้มค่าให้ความสุขมากกว่าเรื่องอื่น ๆ  อีกหลาย ๆ  เรื่อง  เหตุผลก็คือ  เรามักจะ “เสียเวลา” ไปกับเรื่องที่ “ไม่รื่นรมย์” เป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก  “งานบ้าน” ที่เป็นงานประจำที่น่าเบื่อหน่าย  วิธีการที่จะตัดสิ่งที่น่าเบื่อและไม่ก่อให้เกิดความสุขแก่เราที่ง่ายที่สุดก็คือ  “จ้างให้คนอื่นทำ”  หรือลดหรือไม่ต้องทำเองแต่ไป “ซื้อ” มากินเพื่อที่จะตัดเวลาที่เราต้องทำกินเอง เป็นต้น  หลักการสำคัญของเรื่องการซื้อเวลานั้นก็คือ  งานนั้นถ้าเราทำเองจะต้องใช้เวลามากและเราไม่ชำนาญ  นอกจากนั้น  มันเป็นงานที่เราไม่ได้มีความสุขที่จะทำ  ตัวอย่างวิธีการ “ซื้อเวลา” ง่าย ๆ  ก็เช่น  เราไปซื้อเครื่องดูดฝุ่นที่ทำงานเองอัตโนมัติมาใช้ให้มันดูดฝุ่นเวลาเราไม่ได้อยู่ที่บ้าน  อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือ  เรายอมซื้อบ้านที่แพงขึ้นมากและมีพื้นที่ใช้สอยต่ำแต่มันอยู่ใกล้ที่ทำงานในเมืองแทนที่จะซื้อบ้านที่ใหญ่และอยู่นอกเมืองซึ่งห่างจากที่ทำงานมากซึ่งทำให้เราต้อง “เสียเวลา” เดินทางไปกลับทุกวันอย่างนี้เป็นต้น  การซื้อเวลาจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นที่จะทำอะไรต่าง ๆ  ที่มีความสุขและหลีกเลี่ยง “ความทุกข์” ที่เกิดจากการต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้ให้ความรื่นรมย์แก่เรา

“จ่ายก่อน  บริโภคทีหลัง”  นี่เป็นแนวคิดที่แปลกและหลายคนก็ไม่ใคร่จะเชื่อว่ามันจะเพิ่มความสุขได้  คนส่วนใหญ่ต้องการเลื่อนการจ่ายเงินออกไปให้นานที่สุดแต่ต้องการบริโภคหรือได้ใช้สินค้าก่อน  คนคิดว่า “บินก่อนผ่อนทีหลัง” นั้นมีความสุข  แต่จริง ๆ  แล้ว  การมานั่งผ่อนไปอีกหลายเดือนนั้นอาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา  การจ่ายพร้อมบินเองก็ไม่ได้ให้ความสุขเหมือนกับว่าเราจ่ายไปแล้วตั้งนาน  เพราะว่าเมื่อจ่ายไปแล้วหลังจากนั้นเราก็ “ตั้งตาคอย” ว่าเราจะได้ไปเที่ยวอย่างมีความสุข   ในวันที่กำลังเที่ยวนั้น  เราก็เที่ยวอย่างสบายใจราวกับว่า  “เที่ยวฟรี”  จิตวิทยาของคนนั้น  เราชอบที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีต่ออนาคตที่ดี ๆ  ที่กำลังจะมาถึง  ดังนั้นในช่วงที่เรารอคอยเราจะมีความสุขมาก  แต่พอเรื่องนั้นมาถึงแล้วจริง ๆ  ความสุขก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว  ลองนึกดูว่าถ้าเราจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อเครื่องมือสื่อสารรุ่นใหม่ล่าสุดที่ทุกคนรอคอย  ช่วงที่เรากำลังรอนั้นเราจะมีความสุขมาก  แต่เมื่อได้แล้วไม่กี่วันอารมณ์ความสุขก็จะหายไป  ดังนั้น  ถ้าเรามีโอกาสคราวหลังเวลาซื้ออะไรให้พยายามจ่ายก่อน  อย่าจ่ายทีหลัง  แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าน้อยคนจะอยากทำ

เรื่องสุดท้ายของการจ่ายเงินที่จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าปกติก็คือ  การ  “ลงทุนในคนอื่น”  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  “ให้เงินคนอื่น” เพื่อช่วยเหลือเขาหรืออาจจะแค่ให้เขาดีใจที่ได้รับเงินหรือของที่เขาอยากได้  การทำบุญทำทานหรือการบริจาคเงินเพื่อการกุศลก็เป็นรายการใหญ่อันหนึ่งในเรื่องของการ  “ลงทุนในคนอื่น” นี่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องแปลกที่ว่าเราให้เงินคนอื่นแล้วเรากลับมีความสุขมาก  เราไม่เสียดายหรือ?  มีคนเคยถาม วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่าเขารู้สึกอย่างไรหลังจากที่เขาประกาศบริจาคเงินส่วนใหญ่ของเขาให้กับสาธารณกุศลโดยเฉพาะกองทุนของบิลเกต  เขาตอบว่าเขา  “มีความสุขมาก” เขาไม่ได้พูดเล่น  การศึกษาพบว่าคนที่บริจาคหรือให้เงินคนอื่นนั้น  จะได้รับความสุขทางใจสูง  แต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องสมัครใจเองจริง ๆ  ไม่ได้ถูกบังคับหรือเสมือนถูกบังคับให้บริจาค  และเขารู้ว่าเงินของเขานั้นจะไปถึงคนหรือองค์กรที่เขาเห็นว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างได้  ไม่ใช่ให้ไปแล้วก็ไม่มีความหมายอะไรกับผู้รับ

    ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการใช้เงินที่จะก่อให้เกิดความสุขสูงสุดที่คนจำนวนมากอาจจะไม่ตระหนัก  บางทีเราอาจจะต้องคิดเหมือนกันว่าเราจำเป็นต้องเป็นเจ้าของบ้านไหม?  ถ้าการเป็นเจ้าของนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ให้ความสุขอะไรมากมาย  เงินที่เหลือจากการไม่ซื้อบ้านนั้น  อาจจะสามารถ  “ซื้อความสุข”  อย่างอื่นได้มากกว่าก็เป็นได้  ผมพูดเรื่องนี้เพราะนึกถึงตัวเองที่เพิ่งจะมีบ้าน  “ของตัวเอง” จริง ๆ  เมื่อ 2-3 ปีมานี้เองโดยที่ไม่รู้สึกว่าความสุขหายไปไหนเลยในหลายสิบปีที่ผ่านมา

Posted by nivate at 9:23 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/12/22/1504