Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 31 March 2014

Investment by…

เรื่องของการบริหารนั้น  เรามักจะมี “Key Word” หรือเป็นคำที่อธิบายหัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมต่าง ๆ  เช่นคำว่า  “Management by Objective”  หมายความว่าเป็นการบริหารแบบที่ยึดเอา  “เป้าหมาย” เป็นตัวตั้งหรือเป็นหัวใจสำคัญ   ในการลงทุนนั้น  ไม่มีคำแบบนี้ในตำรา  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าการลงทุนนั้น  อาจจะไม่ใคร่มีปัจจัยเดียวที่โดดเด่นขนาดเอามาเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน   อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีคนถามผมว่าผมลงทุนโดย  “ทำอย่างไร?”  คำตอบของผมก็คือ  ผมทำหลายอย่าง  และถ้าจะใช้คำเลียนแบบเรื่องของการบริหาร   ผมจะบอกอย่างนี้ครับ

                เริ่มต้นผมจะบอกว่า  การลงทุนของผมนั้นเป็น  “Investment by walking around” นั่นก็คือ  เวลาผมจะเลือกหุ้นลงทุน  ผมแทบไม่ฟังนักวิเคราะห์หรืออ่านจากบทวิเคราะห์ใด ๆ  เลย  ผมชอบ “เดินหา” ไปเรื่อย ๆ   ความหมายของผมก็คือ  ผมชอบเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางไปทำกิจกรรมเรื่องต่าง ๆ  ในสถานที่ ๆ แตกต่างกันไป  ผมไปทั้งในที่ ๆ เจริญหรือเป็นแหล่งที่คนมีฐานะดีไปกันและไปในที่ ๆ คนชั้นกลางหรือคนจนไปกันหรือเป็นแหล่งของคนชั้นรากหญ้า   ผมชอบไปต่างประเทศและก็เดินเล่นในที่ ๆ  สุดหรูเช่นเดียวกับที่ ๆ เสื่อมโทรม   การทำอย่างนั้น  จริง ๆ  แล้วไม่ใช่ว่าผมตั้งใจทำ  ผมเพียงแต่เป็นคนที่สนใจชีวิตและโลกกว้าง  ผมรู้สึกสนุกที่ได้ไปสัมผัสกับผู้คนที่หลากหลายและได้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของพฤติกรรมที่น่าสนใจของคนที่มีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับวัฒนธรรมของคนแต่ละถิ่น  และนี่ก็คือมิติแรกของการลงทุนในแบบของผม  ผมเชื่อว่าการที่เราได้รู้จักหรือสัมผัสกับ  “โลกที่กว้าง” จะทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้นและจะสามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ  ได้ถูกต้องมากกว่าการอยู่กับที่ในบริเวณแคบ ๆ

               ถัดจากการลงทุนแบบเดินไปหรือท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ  ก็คือ  การลงทุนแบบ  “Investment by watching around” นั่นคือ  การลงทุนของผมนั้น  มาจากการมองหรือสังเกตสิ่งต่าง ๆ  ที่อยู่รอบตัวโดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ  ที่เราสามารถนำไปประกอบในการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่เราจะลงทุน  ผมทำแบบนั้นจนเป็นนิสัยที่ติดตัว   เวลาผมเดินเข้าห้าง  ผมจะมองดูแทบทุกร้านที่ผมเดินผ่าน  ผมดูว่าร้านไหนมีคนมากและร้านไหนเหงา   ผมดูว่ามีสินค้าอะไรขายและมันเป็นอย่างนั้นมานานแล้วหรือมันเพิ่งมีมาไม่นาน   ผมชอบดูคนที่เดินผ่านไปมา  พวกเขามีหน้าตาท่าทางอย่างไร  แต่งตัวอย่างไรและเดินเร็วไหม?   เวลาผมไปบรรยายหรือไปสอนนักศึกษาในแต่ละแห่ง  ผมก็มักจะสังเกตว่าผู้ฟังเป็นอย่างไร  อายุเท่าไร  เขาสนใจมากน้อยแค่ไหน  ผมไม่ค่อยมองผ่าน ๆ  แต่ผมมักจะตั้งใจมอง  ผมคิดว่าการ  “สังเกต” สิ่งต่าง ๆ  นั้น  จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบและหา  “ผู้ชนะ” ได้ถูกต้อง  และนี่ก็คือกระบวนการในการเลือกหุ้นที่สำคัญข้อหนึ่ง

              วิธีการลงทุนของผมข้อต่อมาก็คือ  “Investment by  thinking around”  นี่คือกระบวนการสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ผมมักจะทำตลอดเวลา  นั่นก็คือ  ผมเป็นคนที่คิดตลอดเวลา  เวลาผมพบอะไรหรือสังเกตอะไรอยู่ผมก็จะคิดไปด้วย  เวลาคิดผมจะคิดในแง่ของการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ผมเห็นกับสิ่งที่เป็นแบบเดียวกันที่ผมเก็บไว้ในสมองที่ได้พบมาในอดีต  เวลาผมเห็นว่าร้านอาหารแห่งหนึ่งมีคนรอคิวยาว  ผมก็จะดูว่ามันเป็นอย่างนั้นแทบทุกวันหรือมันมีโปรโมชั่นพิเศษ  สิ่งที่ผมคิดนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีไหม  มันเป็นสถาบันที่ดีไหม  มันเป็นผู้ชนะหรือไม่  และมันจะเติบโตขึ้นหรือไม่ในอนาคต   แม้แต่เวลาที่ผมไม่ได้เดินดูอะไรหรือไม่ใช่เวลาที่ควรจะคิด เช่น  เวลาที่ผมกำลังวิ่งออกกำลังประจำวันในสวนข้างบ้าน  ผมก็มักจะคิดไปเรื่อย ๆ  ทบทวนสิ่งที่ผมเห็นหรือคิดค้างอยู่  ผมรู้สึกว่าเวลาวิ่งเหยาะ ๆ  นั้น  เหมาะกับการคิดในแบบ  “จินตนาการ”  ได้ดีกว่าเวลานั่งอยู่กับที่  บางทีมันอาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในที่กว้างที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีขีดจำกัดในการคิดหรือทำอะไรต่าง ๆ

              นอกจากการคิดแล้ว  ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมากที่สุดหรือใช้เวลามากที่สุดอย่างหนึ่งในแต่ละวันก็คือการอ่าน  ดังนั้น  หลักสำคัญของวิธีการลงทุนของผมก็คือ  “Investment by reading around”  ความหมายในข้อนี้ก็คือ  วิธีหาหุ้นลงทุนของผมนั้นมาจากการวิเคราะห์ที่ผมใช้ศาสตร์หรือความรู้ต่าง ๆ  หลากหลายมาก  และการที่จะมีความรู้แบบนั้นได้ก็หมายความว่าผมต้องอ่านหนังสือมากมายในหลาย ๆ  สาขาวิชาไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องของเศรษฐศาสตร์  การเงิน  การลงทุน  หรือเรื่องของการบริหารธุรกิจเท่านั้น  ว่าที่จริง  เวลาที่ใช้อ่านหนังสือถ้าคิดเป็นเรื่องของวิชาการแล้ว  ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น่าจะมากที่สุด  ทั้งประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ  เหตุผลที่ผมชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์นั้น  เป็นเพราะมันช่วยเล่าเรื่องของ  “วิวัฒนาการ”  ของสิ่งต่าง ๆ และของมนุษย์  ซึ่งจะทำให้ผมได้  “ภาพกว้าง”  หรือ  “ภาพใหญ่”  ซึ่งจะช่วยบอกให้รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ  เกิดขึ้นอย่างไร  ใครชนะ  ใครแพ้  และอนาคตน่าจะมุ่งไปทางไหน  และที่สำคัญที่สุด  ใครจะเป็นผู้ชนะ?   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  การลงทุนก็คือการที่เราต้อง  “Reading around”   

              หลักการลงทุนข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญหรือหัวใจข้อหนึ่งในการลงทุนที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จก็คือ  “Investment by staying around”  หรือการลงทุนที่ลงทุนไปเรื่อย ๆ  ไม่หนีออกจากตลาดในแง่ของพอร์ตความมั่งคั่งนั่นก็คือ  ทรัพย์สินส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดของผมมักจะอยู่กับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตลอดเวลา  เพราะผมคิดว่าตลาดหุ้นหรือการลงทุนในหุ้นของกิจการคือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว  นี่เป็นข้อหนึ่ง  ข้อที่สองในความหมายของการ Staying around  ก็คือ  ผมอยากลงทุนในหุ้นแต่ละตัวแบบถือยาว  ไม่ต้องคิดขายในเวลาอันสั้น  ผมคิดว่าปรัชญาการลงทุนที่ถูกต้องที่สุดก็คือ  ถ้าบริษัทดีเด่นและสามารถทำกำไรและเติบโตไปได้เรื่อย ๆ  บริษัทนั้นจะต้อง  “รวย”  และรวยขึ้นเรื่อย ๆ  และเราในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของมัน  เราก็จะต้องรวยตามกันไป  ไม่มีทางเป็นอื่น  ดังนั้น  หน้าที่สำคัญของการหาหุ้นลงทุนก็คือ  หาบริษัทที่ดีเยี่ยมและจะเติบโตในระยะยาว

                ความหมายของการ  Staying around ข้อที่สามของผมก็คือ  หัวใจสำคัญของการลงทุนนั้นอยู่ที่  “ระยะเวลาของการลงทุน”   ยิ่งเรามีเวลาลงทุนยาวนานเท่าไร  เราก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น  ทุกปีที่ผ่านไป  หุ้นในพอร์ตของเราควรจะโตขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 10% ขึ้นไป  ถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 7 ปี  ความมั่งคั่งหรือเงินเราก็โตขึ้นไปไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าตัว  ซึ่งผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก—ถ้าเราอายุยังน้อยและ/หรือมีสุขภาพดี  และเรายึดมั่นอยู่กับการลงทุนในหุ้นตลอดเวลาแม้ในยามที่ทุกอย่างดู  “น่ากลัว”  สำหรับผมแล้ว  การมีเวลาในการลงทุนมากนั้นถือว่าเป็น  “พร” ที่สำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งของการลงทุน  ดังนั้น  เราจะต้องหาเวลาให้ได้มากที่สุดเพื่อที่ว่าเราจะได้อยู่ดูการเติบโตของพอร์ตของเรา  โชคไม่ดีที่ผมอายุค่อนข้างมากแล้วเมื่อเริ่มการลงทุนอย่างจริงจัง   สิ่งที่ผมยังพอจะทำได้ก็คือ  พยายามรักษาสุขภาพให้ดีเพื่อที่จะทำให้อายุยืนขึ้น  โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องทำงานหรือวิเคราะห์การลงทุนให้หนักหรือเครียดเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนปีต่อปีแต่ทำให้อายุสั้นลง  ความสำเร็จของการลงทุนของผมในยามนี้อยู่ที่ว่าจะสามารถอยู่ลงทุนต่อไปได้อีกกี่ปีมากกว่าเรื่องของผลตอบแทนปีต่อปี  ถ้าจะพูดแบบ  “ดรามา”  หน่อยก็อาจจะบอกว่า   เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราอายุมากจน  “ใกล้ตาย”  การ “ลุ้น” ในเรื่องของผลตอบแทนหรือความมั่งคั่งของเราคงจะออกมาว่า  ปีนี้จะยัง  “Staying around”  หรือยังอยู่ไหม?  ถ้ายังรอดได้  โอกาสก็คือ  เราก็จะรวยขึ้นไปอีก 10%  ไม่ต้องไปคิดว่าจะทำได้ดีแค่ไหนเทียบกับตลาดหรือเทียบกับใคร ๆ

Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/31/1411



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 8 Apr 2014

หุ้นท่องเที่ยว …

การท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่โตต่อเนื่องระยะยาวเป็นเมกาเทรนด์มานานมาก  แม้แต่ในยามที่ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองรุนแรงและยาวนานกว่า 5-6 เดือน อย่างช่วงเร็ว ๆ นี้  การท่องเที่ยวก็ยังคงเติบโตได้ไม่ชะงักเหมือนกับธุรกิจอย่างอื่นทั้ง ๆ  ที่การท่องเที่ยวน่าจะถูก  “ผลกระทบ”  มากกว่า   เหตุผลที่การท่องเที่ยวเติบโตมาตลอดนั้นผมคิดว่ามีสาเหตุหลายประการนั่นคือ  ข้อแรก  การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่อาจจะพูดได้ว่า  “ฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์”  นั่นก็คือ  มนุษย์ที่อยู่รอดมาได้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนั้นก็มักจะเป็นคนที่ชอบการท่องเที่ยวที่จะทำให้สามารถหาอาหารเลี้ยงดูตนเองและเผยแพร่เผ่าพันธุ์โดยการแต่งงานกับคนที่อยู่ต่างถิ่นที่ทำให้เผ่าพันธุ์แข็งแรงไม่เป็นโรคภัยได้ง่าย  ดังนั้น  คนทั่วโลกต่างก็ชอบการท่องเที่ยวเมื่อมีความสามารถที่จะทำได้

          ข้อสอง  การ “เปิดประเทศ” เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวนั้น   เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา  นอกจากนั้น  ข้อมูลข่าวสารที่สามารถส่งถึงกันทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำมากผ่านระบบอินเตอร์เน็ตก็ทำให้คนสนใจไปเที่ยวในประเทศต่างๆ  เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และข้อสาม  ที่อาจจะสำคัญที่สุดก็คือ  ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่าแทบไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการพัฒนาของการบินโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นน้อยในขณะที่รายได้ของประชากรในโลกและประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง  ผลก็คือ  คนรายได้ปานกลางสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศหรือจังหวัดไกล ๆ ได้มากขึ้นมาก  และทั้งหมดนั้นก็คือเหตุผลที่ทำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง—เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

          จุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นผมคิดว่ามีอยู่ไม่น้อย  ข้อแรกที่ผมคิดว่าค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็คือ  คนไทยนั้น  “ให้บริการ”  ในแบบ  “Human touch” หรือการมี  “จิตใจ” ในการให้บริการสูง   คนไทยจะมีนิสัยอ่อนน้อมกับผู้ที่  “อยู่สูงกว่าตน”  เช่น  อายุหรือตำแหน่งทางสังคมสูงกว่า  นี่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมที่มีมานานและยังไม่ได้จางหายไปมากนัก  ดังนั้น  เวลาที่คนไทยให้บริการ  เราก็มักจะดูว่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติหรือคนที่รวยกว่านั้น  เป็นผู้ที่  “อยู่สูงกว่า”  เราก็จะให้บริการอย่างอ่อนน้อมซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ  ส่วนใหญ่ที่คนมีความรู้สึก  “เสมอภาค”  กันมากกว่าและไม่รู้สึกว่าจะต้องอ่อนน้อมให้กับลูกค้าที่มารับบริการมากนัก  ทำให้บริการในหลาย ๆ  ประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยนั้น  มักจะมีความแข็งกระด้างกว่า  ในหลาย ๆ  แห่งที่ผมพบนั้น  บริการอาจจะรวดเร็วมากแต่ความอ่อนโยนนั้นไม่ใคร่มี   ดังนั้น  ความประทับใจจึงไม่เกิดขึ้น

           จุดแข็งข้อที่สองของไทยผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ทะเลและชายหาดที่สามารถนอนเล่นอาบแดดได้ตลอดปี  หาดทรายของไทยหลายแห่งสวยงามมีชื่อติดระดับโลก  ดังนั้น  คนในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นซึ่งจำนวนมากเป็นคนที่มีกำลังซื้อสูงจึงนิยมมาพักผ่อนตากอากาศ  จริงอยู่  ประเทศที่มีอุณหภูมิคล้าย ๆ  ประเทศไทยและมีชายหาดที่สวยงามไม่น้อยกว่าไทยก็มีอยู่หลายแห่ง  แต่ประเทศเหล่านั้นหลายแห่งก็อาจจะยังไม่พัฒนามากนักโดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคทางด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว  ทำให้ความนิยมของนักท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือสามารถรับนักท่องเที่ยวได้น้อยกว่า

          จุดเด่นข้อสุดท้ายที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยมีความได้เปรียบในด้านของการท่องเที่ยวนั้น  ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้น   น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าอีกหลาย  ๆ  ประเทศ  ในขณะที่คุณภาพอาจจะสูงกว่า  ตัวอย่างเช่น  ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยรถแท็กซี่หรือรถสาธารณะอื่น ๆ  ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักอย่างหนึ่งนั้น  ในประเทศไทยค่อนข้างจะถูกและคุณภาพดีโดยเฉพาะในด้านของอาหาร  นอกจากนั้น  สินค้าโดยทั่วไปของไทยนั้นมีราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น   ดังนั้น  เราจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบต้นทุนต่ำประเภท  “แบ็คแพ็ค”  ได้มาก  และก็มักจะได้รับการโหวตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ  ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่เรื่อย ๆ

           ธุรกิจหรือหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้น  มีหลายกลุ่มแต่ที่โดดเด่นและตรงที่สุดประกอบด้วยหุ้นบริษัทการบิน  ท่าอากาศยาน  และโรงแรมและอาหาร  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องดีเสมอไป  เหตุผลอยู่ที่ว่า  การที่อุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่องยาวนานนั้นจริงอยู่ก่อให้เกิดความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย  ๆ   อย่างไรก็ตาม  มันก็ดึงดูดให้ผู้เล่นทั้งหน้าเดิมและหน้าใหม่เข้ามาลงทุนให้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ    ในยามที่กำลังการให้บริการเหลือล้น  ราคาการให้บริการก็อาจจะลดลงทำให้ไม่มีใครอยากเปิดบริการใหม่   ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น  ก็จะทำให้กำลังการให้บริการเริ่มจะไม่ใคร่เพียงพอและส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  สำหรับธุรกิจการบินและโรงแรมแล้ว  เวลาดี ๆ  ของอุตสาหกรรมจะสลับกับเวลาที่ไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ  ในขณะที่ท่าอากาศยานนั้น  ลักษณะของการเป็นผู้ให้บริการแทบจะรายเดียว  ก็จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมเสมอ

          มองในด้านของผลประกอบการจะพบว่า  ธุรกิจทั้งสามต่างก็เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ  ดังนั้น  ต้นทุนคงที่ของบริษัทต่าง ๆ  จะสูง  แต่ในด้านของต้นทุนแปรผัน  หรือต้นทุนที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการนั้นจะต่ำมาก  นั่นก็คือ  ถ้าเครื่องบินบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 50% ของที่นั่งเป็น  70% รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นเพียงอาหารที่ต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น  และนี่ก็คล้าย ๆ  กับกรณีของโรงแรมที่มีผู้เข้าพัก 50%  ซึ่งก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับการที่แขกเข้าพัก 70%  และก็เช่นเดียวกับสนามบินที่ค่าใช้จ่ายผันแปรนั้นจะต่ำมากในขณะที่ต้นทุนคงที่ที่เป็นต้นทุนเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคาจะสูงมาก

          ผลกระทบของบริษัทที่มีต้นทุนคงที่สูงและต้นทุนแปรผันต่ำก็คือ   กำไรหรือขาดทุนของบริษัทจะมีความหวือหวามากขึ้นอยู่กับปริมาณของลูกค้าหรือธุรกิจ  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  บริษัทที่มีปริมาณลูกค้าสูงกว่าจุดคุ้มทุนแล้ว  การเพิ่มขึ้นของลูกค้าหรือรายได้จะช่วยเพิ่มกำไรได้สูง  ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่าไร  กำไรก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นจนกระทั่งเต็มกำลังการผลิต  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าบริษัทมีลูกค้าน้อยลง  บริษัทก็จะขาดทุนรุนแรงเนื่องจากต้นทุนคงที่ที่อยู่ในระดับสูงจะไม่ลดลง  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นของกิจการอย่างการบินและโรงแรมนั้น  การติดตามดู Demand กับ Supply  รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทจึงเป็นหัวใจสำคัญ   โดยที่การเปลี่ยนแปลงในด้านของการบินนั้นจะค่อนข้างรวดเร็วมากเนื่องจากธรรมชาติของเครื่องบินที่สามารถจะ  “บิน”  ได้ ซึ่งทำให้การปรับตัวของการผลิตทำได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม  ธุรกิจการบินยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันที่ผันแปรอย่างรวดเร็วด้วย  ทำให้การบินนั้นมีความผันผวนของผลประกอบการสูง  ในส่วนของโรงแรมนั้น  การปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานจะทำได้ช้ากว่าเนื่องจากระยะเวลาของการสร้างโรงแรมต้องใช้เวลานาน  ดังนั้น  การเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการจึงเป็นไปอย่างไม่รวดเร็วนัก

           ในส่วนของสนามบินนั้น  ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะสดใสกว่า  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากธุรกิจสนามบินนั้นเป็นธุรกิจที่มักถูกควบคุมโดยรัฐ   ราคาค่าบริการจึงถูกควบคุมไม่ให้สูงเกินไปเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและเป็นการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องของการเดินทาง  ดังนั้น  กำไรของกิจการจึงไม่อาจจะทำได้เต็มที่หรือสูงสุดตาม  Demand  หรือความต้องการใช้ของลูกค้า  อย่างไรก็ตาม  ในยามที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว  กำไรก็จะเพิ่มขึ้นเร็วตามการเพิ่มของลูกค้าจนกว่าสนามบินจะ  “เต็มกำลังการให้บริการ”  และต้องลงทุนขยายสนามบินใหม่

          ก่อนที่จะจบการวิเคราะห์  ผมคงต้องเตือนว่า  เรายังต้องพิจารณาในด้านของราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวด้วยว่ามันจะต้องเหมาะสมกับพื้นฐานของมัน  ซึ่งนอกจากธรรมชาติของธุรกิจแล้ว  ก็ยังต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้บริหารและปัจจัยเฉพาะของแต่ละบริษัทด้วย
     
Posted by nivate at 9:57 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/04/08/1416



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
เซียนหุ้นวีไอ” ต้องการมีอิสระภาพทางการเงิน

นายแพทย์ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ คุณหมอวัยกลางคนวัย 43 ปี เคยล้มเหลวจากการลงทุนเพราะยึดนโยบาย “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” ทำให้ “ขาดทุน” จากวอร์แรนท์ตัวหนึ่งถือไว้จนราคาหุ้นแทบเป็น "ศูนย์" จากนั้นก็หยุดเล่นหุ้นไปพักใหญ่ก่อนจะกลับมาซื้อขายอีกครั้งในปี 2544 ด้วยแนวทาง Value Investor อย่างเต็มตัว ปัจจุบันคุณหมอเป็นเจ้าของพอร์ตหุ้นหลักเท่าไร “ไม่รู้” เพราะเจ้าตัวกอดความลับนี้ไม่ยอมเปิดเผย บอกเพียงว่าไม่แตกต่างอะไรจากคณะกรรมการสมาคมวีไอคนอื่นๆ...ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า "พอร์ตคงใหญ่ไม่ใช่เล่น"

หมอมุขเจ้าของชื่อล็อกอิน Paul vi ในเว็บไซต์ไทยวีไอ เปิดเผยกลยุทธ์การลงทุนส่วนตัวให้ฟังว่า หลักๆ จะเน้นดู 7 ข้อ คือ

1.หุ้นตัวนั้นต้องมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูง 15-20% ขึ้นไป ROE จะบ่งบอกความสามารถของผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น “ยิ่งสูง ยิ่งดี” แต่บางครั้งก็มีตัวหลอกเหมือนกัน หากบริษัทนั้นมีหนี้สินจำนวนมาก ฉะนั้นต้องดูดีๆ อย่ารีบเชื่อทันที!

ข้อ 2. หุ้นตัวนั้นต้องมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) สูงกว่า 10% ข้อ 3.ต้องมี PEG ratio น้อยกว่า 1 เท่า คือการเทียบค่า P/E ratio กับการเจริญเติบโตของกำไรสุทธิ (Growth) หาโดยเอาค่า P/E ratio ตั้งหารด้วยเปอร์เซ็นต์การเจริญเติบโตนั้น บริษัทใดที่ราคาหุ้นต่ำจะน่าซื้อ ถ้าค่า PEG ratio เกิน 1 แสดงว่าราคาหุ้นสูงเกินไป

ข้อ 4.ต้องมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ในระดับ 3.5-4% ขึ้นไป ถามว่าทำไมต้องเป็นตัวเลขนี้ เพราะเป็นตัวเลขที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปกติจะอยู่ระดับ 3%

5. หุ้นตัวนั้นต้องมีกระแสเงินสดสูงๆ ยิ่งไม่ต้องจ่ายหนี้ "ผมจะชอบมากเป็นพิเศษ"

ข้อ 6. ผู้บริหารต้องไว้ใจได้ (โปร่งใส) พูดแล้วทำได้จริง ซึ่งเราต้องไปคุยกับผู้บริหารบ่อยๆ ยิ่งเขาถือหุ้น 20-25% ผมยิ่งชอบเพราะมันจะบ่งบอกว่า เขาจะทุ่มเทในการทำงานมากขนาดไหน ข้อสุดท้าย จะดูปัจจัยทางกายภาพ ธุรกิจนี้มีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน โอกาสเติบโตของรายได้และกำไรเป็นอย่างไร สินค้าหรือธุรกิจหลักจะเติบโตไปตามชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และลูกค้านิยมชมชอบสินค้ามากหรือน้อยแค่ไหน ที่สำคัญจะดูว่าคู่แข่งของเขามีใครบ้าง หากจะมีคู่แข่งเกิดขึ้นใหม่จะเข้ามาในธุรกิจนี้ได้ง่ายหรือยาก

“ผมไม่นิยมดูเส้นเทคนิคและไม่เคยนำมาประยุกต์ใช้ เพราะไม่เข้าใจในหลักการ ส่วนใหญ่จะดูเพียงราคา ณ ปัจจุบัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าที่ประเมินไว้ว่ามันมีส่วนลด (Margin of Safety) เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ เช่น ถ้ามีส่วนลด 40-50% จากมูลค่าที่คิดไว้ก็พอใจที่จะซื้อแล้ว”

เซียนหุ้นคุณพ่อลูกสอง กล่าวต่อว่า ในพอร์ตมีหุ้นที่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ประมาณ 4-5 เท่า อยู่ใน 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.กลุ่มโมเดิร์นเทรด (ไม่บอกชื่อหุ้น) ตัวนี้ชอบมากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดค่อนข้างมาก มีอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์สูง ที่สำคัญการขยายสาขาส่วนใหญ่จะใช้โมเดลเดิมๆ ใช้เงินลงทุนไม่มากสามารถทำซ้ำๆ ได้ตลอดเวลา

ข้อดีของหุ้นโมเดิร์นเทรดตัวที่ลงทุนเขายังสามารถขยายสาขาได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามจังหวัดหัวเมืองขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และหาดใหญ่ รวมถึงหัวเมืองรองๆ เช่น ราชบุรี และนครปฐม เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ไปเปิดสาขาใหม่ พวกโมเดิร์นเทรดเล็กๆ ก็จะตามไปเปิดด้วย

รองลงมา คือ กลุ่มที่จะได้ผลประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ เช่น กลุ่มสื่อสาร โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย เพราะเขาจะมีอำนาจการต่อรองกับผู้บริโภคสูง และมีแนวโน้มจะเติบโตไปตามวิถีชีวิตของประชาชน

“จุดเด่นของหุ้นสื่อสารตัวนี้ (ที่ลงทุน) คือเขาจะมีกระแสเงินสดเยอะ ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อยี่ห้อสูงไม่ค่อยเปลี่ยนค่าย รวมถึงได้เปรียบในความใหญ่ ที่สำคัญสเปกทางการเงินของเขาตรงใจผมทุกอย่าง (หัวเราะ)"

กลุ่มที่สาม คือ หุ้นเทิร์นอะราวด์ กลุ่มนี้เคยสร้างผลตอบแทนได้ดีมาก โดยมักจะเข้าไปซื้อในช่วงที่ไม่มีนักลงทุนรายใดสนใจ หลังพบว่าธุรกิจนั้นเกิดความผิดพลาดเพียงชั่วคราวหากศึกษาแล้วพบว่าอนาคตเขากำลังจะดีขึ้นจะเข้าไปซื้อไว้ จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจ BizWeek พบว่า นพ.ประมุข เคยเข้าไปลงทุนในหุ้นเทิร์นอะราวด์ อาทิ หุ้นทาพาโก้, ไดเมท (สยาม), พรีบิลท์ และ ซิงเกอร์ประเทศไทย เป็นต้น

“นอกจากนี้ผมก็ชอบลงทุนหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทน 7-10% เพราะมันจะทำให้พอร์ตของผมมั่งคงมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของผมอยู่ในรูปเงินสด หุ้นกู้ และสินทรัพย์อื่นๆ 10-20% ที่เหลือ 80% จะลงทุนในหุ้น โดยจะเน้นลงทุนหุ้นเติบโต 80% อีก 10-20% จะลงทุนหุ้นปันผล"

หมอมุข เล่าต่อว่า ตอนนี้มีหุ้นอยู่ในพอร์ต 8 ตัว ปกติจะถือลงทุนไม่เกิน 10 ตัว มากกว่านี้จะดูไม่ทัน หลังจากที่ซื้อหุ้นตัวไหนแล้วก็จะถือไปจนกว่าราคาหุ้นจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ถ้าราคาหุ้นขึ้นมาถึงราคาที่เหมาะสมแล้วแต่ยังหาตัวใหม่ที่ดีกว่าไม่ได้ ก็จะยังไม่ขาย บางตัวเคยถือนาน 2-3 ปี ระยะสั้นที่สุด 8 เดือน

"ตั้งแต่ผมเปลี่ยนมาลงทุนแนว VI "ผมไม่เคยขาดทุน" เพราะราคาที่ซื้อจะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ไม่ค่อยไล่ราคา..ผมรอได้ ไม่อยากติดบนรถไฟนานๆ (หัวเราะ) อีกอย่างราคาที่ซื้อคิดแล้วไม่แพงเกินไป และทุกครั้งที่ซื้อหุ้นตัวไหนผมจะจดไว้เสมอว่า ซื้อเมื่อไร ซื้อเพราะอะไร ราคาเป้าหมายเท่าไร และจะขายเมื่อไร”

นพ.ประมุข บอกว่า เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปถึงเป้าหมาย ก็จะย้อนกลับไปดูว่าหุ้นตัวนั้นขึ้นเพราะเหตุผลนี้(ที่จดไว้)หรือไม่ ถ้าขึ้นมาเร็วเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบของนักลงทุน แต่ราคายังไม่ถึงเป้าหมายก็อาจจะขายออกไปก่อน แล้วอาจกลับมาซื้อใหม่ถ้าราคาลดลง ตรงกันข้ามหากราคาหุ้นขึ้นเพราะจะมีข่าวดีที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนก็จะถือต่อไป การลงทุนจะถือคติว่า “การเป็นนักลงทุนแนว VI ไม่จำเป็นต้องซื้อจุดต่ำสุด ขายจุดสุงสุดเสมอไป”

คุณหมอ อธิบายยุทธวิธีการซื้อหุ้นของตัวเองให้ฟังว่า หากมั่นใจ 100% จะเข้าซื้อหุ้นตัวนั้น 30% ของพอร์ต (ไม่เกินนี้) วิธีการซื้อจะไม่ซื้อครั้งเดียว 30% แต่จะแบ่งซื้อเป็น 5-10 ไม้ ไม้ละ 10-20% มีทั้งเคาะซื้อทันที และตั้งรอ (ช่อง Bid) เพื่อเฉลี่ยต้นทุนและเพื่อความปลอดภัย เพราะถ้าซื้อทีเดียวบางครั้งความคิดเราอาจยังไม่ตกผลึกพอ แม้จะทำการบ้านมาดีแค่ไหนก็มีโอกาสพลาดได้

"บางคนใจร้อนไม่ยอมรอ..อาจพลาดได้ เวลาซื้อหุ้นกรุณาใจเย็นๆ จงให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นก่อนเสมอ ทุกครั้งที่ผมลงทุนถ้ามีความมั่นใจ 100% มักจะได้กำไร 3-4 เท่า แต่หากมั่นใจหุ้นตัวนั้นเพียง 50% ผมจะซื้อเพียง 10% ของพอร์ต เน้นซื้อแบบตั้งรับ (ตั้งรอ) ไม่ซื้อทันที โดยจะถอยไป 2-3 ช่องราคา บางครั้งก็ไม่ซื้อเลย ขอดูเรื่อยๆ ขอต่อรองราคา ผมจะไม่รู้สึกเสียดายถ้าตกรถไฟ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจธุรกิจ..อย่าซื้อ!!”

จากสถิติการลงทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณหมอได้รับผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจมาก ในปี 2553 ได้กำไร 100% ปี 2554 ทำกำไรได้ประมาณ 75% น้อยกว่าปี 2553 เพราะราคาหุ้นหลายตัวขึ้นมาสูงแล้ว และหาหุ้นดีๆ ได้ยากขึ้น รวมถึงมูลค่าพอร์ตเริ่มใหญ่ขึ้น ส่วนในปี 2555 ตอนต้นปีตั้งเป้าผลตอบแทนไว้ 40-50% แต่มาถึง ณ วันนี้ กำไรเกินมามากแล้ว เจ้าตัวบอกถ้าเฉลี่ยแต่ละปีได้กำไร 20% ก็ถือว่า “หรู” มากแล้ว

ส่วนคำถามประจำ..คุณหมอมีพอร์ตลงทุนเท่าไร? ความลับนี้เจ้าตัวไม่ยอมเปิดเผยโดยบอกเพียงว่า ทุกวันนี้ได้พบกับ “อิสระภาพทางการเงิน” แล้ว (อยู่ได้โดยให้เงินทำงานให้) คุณหมอบอกว่า กำลังค้นหา "หุ้นที่โลกลืม" ที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในอนาคต ถ้าใครค้นพบหุ้นลักษณะนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงมาก บางครั้งได้กำไร 3-4 เด้ง ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีครึ่ง นั่นเป็นเพราะไม่มีใครสนใจ

"ผมเคยซื้อหุ้นตัวหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เขาเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น เพราะงบการเงินเขาตรงสเปกผมทุกอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของกระแสเงินสด เขามีเยอะมาก ตอนนั้นมีคนบอกผมว่า ประเมินหุ้นตัวนี้ยากนะ แต่หลังจากผมหาข้อมูลจนครบถ้วนก็ซื้อเลยเพราะเชื่อว่าหุ้นตัวนี้ไปได้ไกลแน่นอน สุดท้ายก็เป็นจริง"

สำหรับหุ้นที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเลย นพ.ประมุข กล่าวว่า หุ้นที่มีการฟ้องร้องทางกฎหมายมีคดียาวเป็นหางว่าว รวมถึงหุ้นที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และหุ้นที่มีปัญหาด้านศีลธรรม ยิ่งเป็นหุ้นที่มีผู้บริหารไม่โปร่งใสออกแนวสีเทาๆ "ผมไม่ซื้อเลย"

"ผมไม่ค่อยชอบพวกหุ้นโรงงานที่มีการลงทุนเยอะๆ และหุ้นวัฎจักร เช่น คอมมูนิตี้ น้ำมัน และเหล็ก เพราะคาดการณ์ลำบาก ต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา แต่หากเป็นธุรกิจที่มีวัฎจักรยาวๆ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางตัวที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่ามูลค่า ก็ยังพอลงทุนได้"

แม้ชีวิตจะพบกับอิสระภาพทางการเงินแล้ว แต่คุณหมอและภรรยาจะยังยึดอาชีพ "หมอรักษาคนไข้" ต่อไป แต่อาจลดเวลาการทำงานลงบ้างตามอายุ ทุกวันนี้คุณหมอจะสอนลูกทั้ง 2 คน (ผู้หญิงคนโตอายุ 14 ปี และลูกชายอายุ 8 ปี) เกี่ยวกับการลงทุนโดยคนโตเริ่มซึมซับบางแล้ว ส่วนลูกๆจะเลือกเดินทางไหนทั้งสองหมอให้อิสระเต็มที

สุดท้าย

นพ.ประมุข ฝากบอกนักลงทุนมือใหม่ว่า นักลงทุนที่ดีควรจะเป็น “นักสำรวจ” ที่ดีด้วย ต้องหมั่นไปดูสินค้าที่เราเป็นเจ้าของ เช่น ไปเยี่ยมชมเคาน์เตอร์ หรือไปดูสินค้าตามห้าง และไปถามว่าเขาขายดีหรือไม่ เราจะได้กลับมาประเมินอนาคตของหุ้นตัวนั้นได้ถูก
"หนทางนี้จะนำท่านไปสู่คำว่า "อิสระภาพทางการเงิน" ได้หรือไม่..อยู่ที่ตัวของท่านเองแล้ว” คุณหมอกล่าวปิดท้าย


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
World’s VI




เบนจามิน เกรแฮม
(1894-1976)
“บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

เบนจามิน เกรแฮม คือปรมาจารย์การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 เขาได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” เกรแฮมเป็นผู้นำเสนอทฤษฏีใหม่ๆ ต่อแวดวงการลงทุนโลก ในยุคที่ทุกคนต่างมองหุ้นเป็นการเก็งกำไร นอกจากนี้ ตัวเขายังเป็นที่ปรึกษาและอาจารย์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุคปัจจุบัน

เกรแฮมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียด้วยผลการเรียนที่เยี่ยมยอด ก่อนจะไปทำงานในวอลสตรีทร่วมสิบปี และเติบโตในสายงานอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงออกมาตั้งบริษัทจัดการกองทุนของตัวเอง และได้ร่วมหุ้นกับ พอล นิวแมน ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ เกรแฮมได้ลงทุนด้วยทฤษฏีการลงทุนที่ตัวเองคิดค้นขึ้น และประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ร่วม 20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งสูงกว่าตลาดเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ด้วยจิตวิญญาณของนักวิชาการ เกรแฮมยังกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียควบคู่ไปด้วย และได้เขียนหนังสือสองเล่ม ซึ่งโด่งดังและได้รับการยอมรับสูงมากในแวดวงการลงทุนสหรัฐฯ นั่นก็คือ “Security Analysis” หรือ “การวิเคราะห์หลักทรัพย์” และ “The Intelligent Investor” หรือ “นักลงทุนผู้ชาญฉลาด”

โดยเฉพาะหนังสือเล่มหลัง ที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้อ่านตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและประทับใจมาก จนตัดสินใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยโคลัมเบียเพื่อที่จะได้เรียนกับเกรแฮม บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า The Intelligent Investor จากปลายปากกาของเกรแฮม คือหนังสือการลงทุนที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

หลักที่เป็นหัวใจของทุกทฤษฏีการลงทุนของเกรแฮมก็คือ การ “ใช้เหตุผล” ในการลงทุน โดยให้คว้าโอกาสจากความผิดพลาดของตลาด อย่าไปบ้าคลั่งตามมัน

เกรแฮมเปรียบเทียบตลาดหุ้นซึ่งมีแต่ความผันผวนและไร้เหตุผลเป็นเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง สมมุติชื่อว่า “Mr.Market”หรือ “คุณตลาด” ชายผู้มีพฤติกรรมแปรปรวน บางวันก็ตื่นกลัวจนไร้สติ บางวันก็อารมณ์ดีเกินเหตุ โดยนักลงทุนต้องรู้จักหาประโยชน์จากความไม่มีเหตุผลของเพื่อนที่แสนดีผู้นี้

นอกจากนี้ เกรแฮมยังชี้ชัดอีกว่า ในการเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนนั้น ควรมี “Margin of Safety”หรือ “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” ราคาหุ้นที่เข้าไปซื้อ ต้องต่ำกว่า “Intrinsic Value” หรือ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” ของบริษัท เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสียหายจากการลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

ที่สำคัญคือ นักลงทุนต้องมอง “หุ้น” เป็นส่วนหนึ่งของ “ธุรกิจ” ต้องมองภาพให้ออกว่าการ “เข้าซื้อหุ้น” คือการ “เข้าซื้อธุรกิจ” อย่ามองหุ้นแบบ “นักเก็งกำไร” คือเข้าไปซื้อหุ้นเพียงเพราะหวังว่าราคาของมันจะสูงขึ้นไป โดยไม่สนใจพื้นฐานใดๆ ไม่สนใจว่าบริษัททำธุรกิจอะไร อย่างไร

แม้หลักการลงทุนของเกรแฮม จะเป็นการเสนอการลงทุนในมิติใหม่ให้กับแวดวงการลงทุนโลก แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหลักที่ “เข้มงวด” และมีความเป็น “อนุรักษ์นิยม” จนเกินไป ทั้งยังเน้นหนักแต่ตัวเลขและงบการเงิน ซึ่งหากยึดหลักของเกรแฮมอย่างเคร่งครัด นักลงทุนอาจสูญเสียโอกาสในการลงทุนงามๆ มากมาย

ในช่วงที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เรียนจบใหม่ๆ เขาได้มาทำงานให้เกรแฮมอยู่ 2 ปี โดยลงทุนด้วยวิธีของเกรแฮมอย่างเคร่งครัด หลายปีต่อมา บัฟเฟตต์ได้พัฒนาตัวเองขึ้นไป และเอาหลักการลงทุนของเกรแฮมไปปรับใช้ โดยเน้นไปที่ “คุณภาพ” ของกิจการมากขึ้น มิใช่ดูแค่เพียง “ตัวเลข” ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงและกลายเป็นนักลงทุนผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์ก็ยังยกคุณความดีให้กับเกรแฮม โดยบอกว่า หลักการลงทุนที่เขาเอามาใช้จนร่ำรวยมหาศาลนั้น มาจากเกรแฮม 85%และ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ 15% ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันถึงความยิ่งใหญ่ของ เบนจามิน เกรแฮม “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

ภาพประกอบ : wikipedia.org

———————–


ฟิลลิป ฟิชเชอร์
(1907-2004)
“ผู้จุดประกายให้การลงทุนแบบเน้นการเติบโต”

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ฟิลลิป ฟิชเชอร์ เป็นผู้จุดประกายให้วิถีทาง “การลงทุนแบบเน้นการเติบโต” และเป็นหนึ่งในสองบุคคลที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ยึดเป็นแบบอย่างในการลงทุน อีกคนหนึ่งที่บัฟเฟตต์ยึดถือเป็นแม่แบบก็คือ “เบนจามิน เกรแฮม”

ฟิชเชอร์มีใจรักในการลงทุนมาต้ังแต่เด็ก ชอบฟังญาติผู้ใหญ่คุยกันเรื่องหุ้น เมื่อโตขึ้น เขาได้เข้าศึกษาที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยในหลักสูตรที่เรียน อาจารย์ผู้สอนจะพานักศึกษาไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทต่างๆ ทุกสัปดาห์ ทำให้เขาพัฒนาความคิดในการวิเคราะห์ธุรกิจขึ้นมานับตั้งแต่นั้น

เมื่อเรียนจบแล้ว ฟิชเชอร์ได้ไปทำงานธนาคารอยู่หลายปี และสั่งสมความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มเติม ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทจัดการกองทุนของตัวเอง ชื่อ “ฟิชเชอร์ แอนด์ โค” (Fisher & Co.)

“การลงทุนแบบเน้นการเติบโต” (Growth Investment) ตามหลักของฟิชเชอร์นั้น หมายถึงการเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ที่จริงแล้ว ต้องถือว่าการลงทุนประเภทนี้ แยกไม่ออกจาก “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investment) เพราะทั้งสองวิธีล้วนต้องศึกษามูลค่าพื้นฐานของกิจการให้ถ่องแท้ก่อนจะเข้าไปลงทุน

ประเด็นสำคัญที่สุดที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของฟิชเชอร์ก็คือ เขาให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” สูงมาก ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์คุณลักษณะของบริษัทในแง่ที่ไม่เกี่ยวกับตัวเลข เช่น การตลาด การขาย ความสามารถและจริยธรรมของผู้บริหาร ความได้เปรียบในการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือแม้แต่แบรนด์และเฟรนไชส์ของบริษัท ฯลฯ

ฟิชเชอร์มองว่า บริษัทที่น่าลงทุน ต้องไม่เพียงผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค และการจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องมี “การตลาด” ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตัวฟิชเชอร์เองก็อาจถือได้ว่าเป็น “นักการตลาด” ที่ยอดเยี่ยมและมีสายตาอันเฉียบคมคนหนึ่ง

วิธีค้นคว้าหาข้อมูลของธุรกิจที่ฟิชเชอร์ใช้และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ เทคนิค “การล้วงลึก” (Scuttlebutt) โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเชิงลึกเป็นหลัก อาทิ ไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร สัมภาษณ์อดีตพนักงานของบริษัท ตลอดจนสัมภาษณ์พนักงานของบริษัทคู่แข่ง ฯลฯ แล้วเอาข้อมูลมาประมวลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

ที่สำคัญก็คือ ฟิชเชอร์แนะให้ “มุ่งเน้น” (Focus) คือให้ลงทุนในบริษัทที่ “ดีที่สุด” จำนวน “น้อยบริษัท” แทนที่จะลงทุนในบริษัทที่ “ดีปานกลาง” จำนวนมากมายหลายบริษัท

เขาเชื่อว่ายิ่งกระจายการลงทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เรามีเวลาสำหรับบริษัทแต่ละบริษัทที่เข้าไปลงทุนน้อยลงเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง เพราะถูกถัวเฉลี่ยไปในหุ้นหลายตัว

การมุ่งเน้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฟิชเชอร์ที่แตกต่างจาก เบน เกรแฮม โดยสิ้นเชิง เขาย้ำว่า นักลงทุนควรเลือกลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ตนเองมีความชำนาญ

ที่สำคัญก็คือ ฟิชเชอร์บอกไว้ในหนังสือ “Common Stocks and Uncommon Profits” ที่เขาเขียนว่า …

เมื่อตัดสินใจลงทุนในบริษัทใดแล้ว ก็ควรถือหุ้นไว้ตลอดไปโดยไม่จำเป็นต้องขาย เว้นเสียแต่จะพบทีหลังว่าตัวเองวิเคราะห์ผิดพลาด หรือปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับฟิชเชอร์ เขาถนัดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามกับบัฟเฟตต์ที่ไม่ยอมข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเลย สุดยอดการลงทุนครั้งหนึ่งของฟิชเชอร์ คือการเข้าไปซื้อบริษัทเทคโนโลยีนอกสายตาที่ชื่อว่า “โมโตโรล่า” (Motorola) และบริษัทนี้ก็กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้

บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการลงทุนแบบเน้นการเติบโตไม่สนใจ “ราคาหุ้น” ขอเพียงเป็นกิจการพื้นฐานดีที่กำลังโตก็เข้าไปซื้อได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่จริงแล้ว ฟิชเชอร์ เน้นเสมอว่า ราคาของ “หุ้นเติบโต” (Growth Stock)ที่จะเข้าไปลงทุนนั้น ต้องเป็น “ราคาเหมาะสม” (Fair Price) แต่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเท่าไร เขาจึงเคยซื้อหุ้นของบริษัท ณ ราคาซึ่งพีอีเกิน 30 เท่ามาแล้ว

แม้บัฟเฟตต์จะบอกว่า ตัวเขาเป็นส่วนผสมของ “เกรแฮม 85 เปอร์เซ็นต์ และฟิชเชอร์ 15 เปอร์เซ็นต์” แต่หลายคนมองว่า อัตราส่วนนั้นน่าจะกลับกัน เพราะบัฟเฟตต์ลงทุนเหมือนฟิชเชอร์ยิ่งกว่าเกรแฮมเสียอีก

ไม่ว่าเราจะเรียกฟิชเชอร์ว่า “นักลงทุนแบบเน้นการเติบโต” (Growth Investor) หรือ “นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investor) ก็ตาม แต่วิธีลงทุนของเขาก็ถือเป็นแบบอย่างที่วีไอทุกคนควรเรียนรู้และปฏิบัติตาม หากมิได้ต้องการแค่ “ขจัดความเสี่ยง” แต่ “หวังผลเลิศ” และ “ขุมทรัพย์มหาศาล” จากการลงทุน

ภาพประกอบ : wikipedia.org

————————


 Sir_John_Templeton
เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน
“อัศวินวีไอ”
(1912-2008)

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในยุคบุกเบิก เขาเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของเบนจามิน เกรแฮม และเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของโลกไม่กี่คนที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นอัศวิน

เทมเพิลตันเกิดเมื่อปี 1912 ในชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบในเมืองวินเชสเตอร์ รัฐเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา เขาถูกปลูกฝังด้านคุณธรรมและจริยธรรมจากพ่อแม่ที่เป็นคนเคร่งศาสนา

พ่อของเขาเป็นนักกฎหมาย  แต่ก็รู้จักลงทุนและทำธุรกิจ โดยมักลงทุนซื้อไร่นาที่ไม่ค่อยมีใครต้องการมาด้วยราคาถูกๆ และขายทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สิ่งนี้ช่วยปลูกฝังจอห์นให้รู้จักมองหาสินทรัพย์ที่ต่ำกว่ามูลค่าอยู่เสมอ

เทมเพิลตันเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก โดยได้เกรด A แทบทุกวิชา เมื่อโตขึ้น เขาสอบเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล และเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนอย่างจริงจัง

ระหว่างนั้น สหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง หรือ “The Great Depression” ทำให้พ่อของเขาประสบปัญหาทางการเงินและไม่มีเงินส่งเขาเรียน จอห์นจึงยิ่งต้องเรียนให้ดีเพื่อให้ได้ทุนการศึกษา มิเช่นนั้นจะไม่มีเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน

แม้วิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน แต่มันก็เป็นจุดสตาร์ทที่ทำให้เทมเพิลตันในวัย 20 เริ่มต้นลงทุนในหุ้น ด้วยความรู้ที่สั่งสมมาประกอบกับสายตาอันเฉียบคม รู้จักมองหาสินทรัพย์ที่ “Undervalued” อยู่เสมอ ทำให้เขามองเห็นว่าหุ้นทั้งตลาดในขณะนั้นราคาถูกจนไม่น่าเชื่อ

พอเรียนจบจากเยล เทมเพิลตันได้ทุนไปศึกษาต่อด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นลงทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จอห์นยังออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก ประสบการณ์จากการท่องเที่ยว ทำให้เขาได้ศึกษาธุรกิจของประเทศต่างๆ ตลอดจนเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เทมเพิลตันเชื่อว่า การจะเข้าใจในบริษัทหนึ่งๆ อย่างถ่องแท้ คุณต้องเข้าใจบริษัทคู่แข่งซึ่งอยู่ในประเทศอื่นๆ ด้วย

ในปี 1937 หลังจากจบอ็อกซ์ฟอร์ด เทมเพิลตันก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนของบริษัทแห่งหนึ่งในนิวยอร์ค จอห์นเปลี่ยนงานอยู่ 1-2 ครั้ง ครั้นถึงปี 1940 เขาได้เข้าซื้อบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนแห่งหนึ่งด้วยเงิน 5,000 เหรียญ และเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มตัว

ในปี 1954 เทมเพิลตันได้ตั้งกองทุนชื่อ Templeton Growth Fund หรือ TGF เริ่มต้นด้วยสินทรัพย์ 7 ล้านเหรียญ (ตอนนั้นเขามั่งคั่งระดับหนึ่งแล้ว)

พอถึงปี 1992 หรือเกือบ 40 ปีต่อมา สินทรัพย์ของกองทุนก็ทวีค่าเพิ่มเป็น 22,000 ล้านเหรียญ ครั้นถึงปี 1997 TGF มีสินทรัพย์ถึง 80,000 ล้านเหรียญ มีผู้ถือหน่วยกว่า 4 ล้านคน เป็นผลงานการลงทุนที่น่าอัศจรรย์มาก

ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เทมเพิลตันได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนักที่เกาะบาฮามาส ในอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ด้วยความศรัทธาในวิถีชีวิตของชาวเกาะที่นั่น และอยากทุ่มเทเวลาเพื่องานการกุศลและศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเชื่อมั่นและศรัทธา โดยตั้งสำนักงานเล็กๆ อยู่บนชั้นสองของร้านตัดผม

ต่อมา เขาได้สัญชาติอังกฤษและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “อัศวิน” จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่สอง เมื่อปี 1987 ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของโลกไม่กี่คนที่ได้รับเกียรติยศอันนี้

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน เสียชีวิตลงในปี 2008 ขณะอายุ 95 ปี มีผู้คำนวณไว้ว่า ใครก็ตามที่ลงทุนใน Templeton Growth Fund ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ ในปี 1954 จนถึงวันที่เทมเพิลตันตาย เงินจำนวนนั้นจะเพิ่มมูลค่ากลายเป็น 7 ล้านเหรียญ เลยทีเดียว

หัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จของเทมเพิลตัน เกิดจากการมุ่งมั่นค้นหาหุ้นราคาถูกไปทั่วโลก เขาไปลงทุนในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งจีน ซึ่งนักลงทุนในเวลานั้นไม่เคยสนใจ และทำกำไรได้มหาศาล การกระจายการลงทุนแบบไร้พรมแดน ทำให้จอห์นพบโอกาสงามๆ มากกว่าคนอื่น และยังช่วยให้เขารอดตัวจากการพังครืนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษ 60 ด้วย

หลักการลงทุนของเทมเพิลตันที่น่าจดจำไปใช้มีอยู่มากมาย เช่น จงอย่าลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะนั่นเท่ากับเป็นการจำกัดโอกาสของตัวเอง โดยให้ติดตามข่าวสารทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างดียิ่ง อีกทั้งต้องมองการณ์ไกลไปข้างหน้าหลายๆ ปี อย่ามองสั้นๆ เพียงแค่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบริษัทนี้ในเดือนต่อไปหรือไตรมาสถัดไป

ที่สำคัญคือต้องรู้จัก “ทำตรงข้ามกับฝูงชน” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของเทมเพิลตัน เขาเป็นเจ้าของคำขวัญ “จงซื้อเมื่อคนอื่นขายอย่างสิ้นหวัง และจงขายเมื่อคนอื่นซื้ออย่างหิวกระหายบ้าคลั่ง”  ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชัดเจนมาก

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน ถูกยกย่องว่าเป็นครูผู้ชี้ทางให้นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าทั่วโลก ซึ่งนอกจากความสามารถในการลงทุนแล้ว การดำรงตนอยู่ในศีลธรรม รู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างสมถะ มัธยัสถ์อดออม ..

ทำให้ “อัศวินวีไอ” ผู้นี้ ได้รับความยอมรับนับถือสูงส่งยิ่ง และสมควรถูกจารึกชื่อไว้ในฐานะตำนานบทหนึ่งของแวดวงการลงทุนโลกอย่างไม่ต้องลังเลสงสัยเลย

แหล่งข้อมูล 1) Wikipedia  2) Investing the Templeton Way: The Market Beating Strategies of Value Investings Legendary Bargain Hunter, 2007. 3) The Great Investors, 2011.

————————


one-up-on-wall-street
ปีเตอร์ ลินช์
ต้นตำรับ “รวยหลายเด้ง”
(1944 – ปัจจุบัน)

ปีเตอร์ ลินช์ เป็นหนึ่งในนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดในโลก กองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน ที่เขาบริหารอยู่เป็นเวลา 13 ปี ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ยปีละ 29.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นผลงานอันน่าอัศจรรย์และไม่เคยมีใครเทียบเทียมได้จนกระทั่งทุกวันนี้

ลินช์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 1944 ที่สหรัฐอเมริกา สมัยเด็ก เขาทำงานเป็นแคดดี้ที่สนามกอล์ฟ และได้ฟังแขกที่มาเล่นกอล์ฟคุยกันเรื่องหุ้น ทำให้เริ่มสนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ พออายุ 19 ปี เขาได้ทดลองซื้อหุ้นเป็นครั้งแรก โดยซื้อหุ้นของสายการบินฟลายอิ้ง ไทเกอร์ส ที่ราคา 7 เหรียญ ต่อมาหุ้นดังกล่าวทวีค่าเป็น 32.75 เหรียญ นั่นเป็น “หุ้นหลายเด้ง” ตัวแรกในชีวิตของเขา

ต่อมา ลินช์ เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่บอสตัน คอลเลจ ก่อนจะไปต่อปริญญาโท MBA ที่วอร์ตัน ซึ่งเป็น Business School ชั้นนำของโลก แต่ยังคงหาลำไพ่ด้วยการเป็นแคดดี้อยู่เหมือนเดิม นั่นทำให้เขาได้รู้จักกับ ดี. จอร์จ ซุลลิแวน ประธานกองทุนฟิเดลิตี้ และได้มาทำงานช่วงซัมเมอร์ที่ฟิเดลิตี้ โดยได้รับมอบหมายให้เขียนรายงานวิเคราะห์บริษัทต่างๆ

การได้ศึกษาข้อมูลธุรกิจอย่างลึกซึ้ง ทำให้เขารู้ว่าการเรียน MBA จากสถาบันอย่างวอร์ตัน แทบไม่ได้ช่วยอะไรในการลงทุนเลย ตรงกันข้าม กลับจะเป็นผลร้ายเสียด้วยซ้ำ เขาพบว่าทฤษฏีเชิงปริมาณทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ทฤษฏีตลาดทรงประสิทธิภาพ” (EMT) หรือ “ทฤษฏีการเดินสุ่ม” ที่สั่งสอนกันล้วนเป็นเรื่องเหลวไหล และไม่สามารถใช้ได้จริงในโลกแห่งการลงทุน

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลินช์เลิกเชื่อทฤษฏี และหันมาเน้น “ภาคปฏิบัติ” แทน ซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

หลังจากไปเกณฑ์ทหารมาสองปี ลินช์ได้เข้าทำงานเต็มเวลาที่ฟิเดลิตี้ในตำแหน่งนักวิจัย อีกไม่กี่ปีต่อมา เขาได้รับมอบหมายให้บริหารกองทุนแม็คเจลแลน ซึ่งขณะนั้นมีมูลค่า 18 ล้านเหรียญ โดยมีอำนาจในการซื้อขายหุ้นและตัดสินใจต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระ

และลินช์ก็ตอบแทนความไว้วางใจที่บริษัทให้กับเขาอย่างงดงามยิ่ง โดยในเวลา 13 ปี ที่บริหารกองทุน (1977-1990) เขาทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 29.2 เปอร์เซ็นต์ และทำให้มูลค่ากองทุนเพิ่มจาก 18 ล้านเหรียญ เป็น 14,000 ล้านเหรียญ

ใครก็ตามที่เริ่มต้นลงทุนในกองทุนแม็คเจลแลนด้วยเงิน 1,000 เหรียญ ณ วันที่ลินช์เข้ามาบริหาร เงินจำนวนนั้นจะงอกเงยกลายเป็น 28,000 เหรียญ ในวันที่เขาวางมือ

หลักการลงทุนของลินช์คือ ให้เน้น “การเติบโต” เป็นหลัก โดยลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างน้อย “10 เด้ง” หรือ 1,000 เท่า ลินช์บอกว่า นักลงทุนสามารถศึกษาหาข้อมูลในการลงทุนได้ตลอดเวลาจากสิ่งรอบๆ ตัว และไม่ต้องกลัวเลยว่าจะสู้พวกมืออาชีพไม่ได้ เขาเคยบอกว่า คณิตศาสตร์ทุกอย่างที่ต้องใช้ในการลงทุน เราทุกคนเรียนมาแล้วตั้งแต่อายุ 16

ลินช์ยังบอกอีกว่า นักลงทุนสมัครเล่นมีความได้เปรียบเหนือมืออาชีพเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่มีข้อจำกัดในการลงทุน จะลงทุนยังไงก็ได้ ซื้อหุ้นตัวไหนก็ได้ ด้วยเงินเท่าไรก็ได้ ต่างจากผู้จัดการกองทุนที่มีข้อจำกัดมากมาย

ในหนังสือ One Up on Wall Street ปีเตอร์ ลินช์ ได้แบ่งบริษัทออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ บริษัทโตช้า บริษัทแข็งแกร่ง บริษัทที่เป็นวัฏจักร บริษัทที่มีทรัพย์สินมาก บริษัทฟื้นตัว และบริษัทโตเร็ว (หรือบริษัทเฉพาะทาง)

ที่เขาโปรดปรานที่สุดก็คือ บริษัทเติบโต โดยต้องโตได้อย่างน้อย 20% ต่อปี หรือตั้งแต่ 10 เด้ง ถึง 40 เด้ง เขาบอกว่า ถ้าคุณลงทุนในหุ้นแบบนี้เพียง 1-2 ครั้ง คุณจะสบายไปทั้งชีวิตเลยทีเดียว

หลักในการเลือกหุ้นของลินช์ยังมีอีกหลายประการ เช่น ต้องเป็นหุ้นที่มี P/E ต่ำ มีคนสนใจน้อย งบดุลดี ยอดขายโต เงินสดเยี่ยม สินค้าคงเหลือโตช้า บริษัทมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ผู้บริหารต้องถือหุ้นของบริษัท เป็นธุรกิจที่ง่ายๆ แต่ยังโตได้อีกมาก และมีอุปสรรคในการที่คู่แข่งจะเข้ามาในตลาด

ที่สำคัญคือ นักลงทุนต้องเข้าใจบริษัทนั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยสามารถอธิบายได้ว่าบริษัททำธุรกิจอะไร ภายในเวลา “สองนาที” มิฉะนั้นถือว่า “สอบไม่ผ่าน” และยังไม่ควรเข้าลงทุน

ทั้งนี้ การเข้าใจในตัวบริษัทที่คุณลงทุนสำคัญกว่าเรื่องมหภาค และถ้าได้ลงทุนในบริษัทที่ดีแล้วก็ไม่ควรหวั่นไหวกับราคาที่ผันผวนไปมา เหตุผลเดียวที่คุณควรจะขายหุ้นก็ต่อเมื่อพื้นฐานของมันเปลี่ยนไปเท่านั้น

นอกจากนี้ ลินช์ยังเตือนไม่ให้สนใจเรื่องเทคนิค อย่าไปดูชาร์ต อย่าไปปวดหัวกับเทรนด์บ้าบอ อย่าไปแตะต้องฟิวเจอร์สหรือออปชั่น วิธีที่เหนือกว่าคือวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ อย่างการไปเดินในห้างสรรพสินค้าเพื่อมองหาธุรกิจชั้นดีที่มีลูกค้ามาอุดหนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง โดยตัวลินช์เองก็ใช้วิธีนี้ และทำให้ได้สุดยอดหุ้นมามากมาย

เคล็ดลับประการหนึ่งในการหาหุ้นหลายเด้งก็คือ ให้ลองดูธุรกิจที่น่าเบื่อ เพราะมันมักจะไม่ได้รับความสนใจและทำให้ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และควรลงทุนในบริษัทที่แม้แต่ “คนโง่” ยังบริหารได้ เพราะใครจะรู้ว่าสักวันคนโง่อาจจะมาบริหารมัน หุ้นคุณภาพที่ ลินช์ เคยลงทุน (บางตัวเป็น หุ้นหลายเด้ง) ก็อย่างเช่น ดังกิ้น โดนัท, IBM, แฟนนี่ เม, ฟอร์ด, ฟิลลิป มอร์ริส, วอลโว่, จีอี ฯลฯ

ปีเตอร์ ลินช์ เกษียณตัวเองเมื่ออายุเพียง 46 หลังจากบริหารกองทุนฟิเดลิตี้ แม็คเจลแลน มาได้ 13 ปี เพราะไม่อยากโหมงานหนักอีกต่อไป ประกอบกับอยากให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น และจะได้ไปทำงานการกุศลอย่างที่ต้องการ

หลังจากวางมือ ลินช์ได้ถ่ายทอดหลักการลงทุนของตัวเองไว้ในหนังสือ 3 เล่ม คือ “One Up on Wall Street”, “Beating the Street” และ “Learn to Earn” ซึ่งเป็นหนังสือการลงทุนที่อ่านสนุก ขายดีและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย ทำให้ชื่อเสียงของเขาขจรขจายไปไกล และมีนักลงทุนหลายชาติหลายภาษาเดินตามแนวทางของเขา

ผลงานอันยอดเยี่ยม บวกกับแก่นความรู้ในการเลือกหุ้นที่ทั้งง่าย มันส์ และเน้นการเติบโต ทำให้แม้จะเกษียณตัวเองไปนานแล้ว นักลงทุนทั่วโลกยังคงจดจำ ปีเตอร์ ลินช์ ในฐานะต้นตำรับ “รวยหลายเด้ง” แห่งแวดวงการลงทุนจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง : Beating the Street, One Up on Wall Street, The Great Investors, Wikipedia

ภาพประกอบ : Forbes.com

————————


 วอร์เรน บัฟเฟตต์
(1951-ปัจจุบัน)
“เทพเจ้าแห่งโอมาฮา”

เขียนโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เขาได้รับการจัดอันดับเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลกโดยนิตยสารฟอร์บส์เมื่อปี 2008 และเป็นอันดับที่ 3 ในปี 2010

ในบรรดามหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก บัฟเฟตต์เป็นคนเดียวที่เป็น “นักลงทุนมืออาชีพ” คือลงทุนอย่างเดียว ไม่ได้ทำธุรกิจอื่นใด ความสำเร็จของบัฟเฟตต์ ทำให้โลกได้รู้จักกับแนวทาง “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” และทำให้ตัวเขากลายเป็นไอดอลของนักลงทุนแบบเน้นปัจจัยพื้นฐานทั่วโลก

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เกิดที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา เป็นลูกชายของโฮเวิร์ด บัฟเฟตต์ นักธุรกิจและ ส.ส.พรรครีพับลิกันหลายสมัย เขามีสายเลือดของผู้ประกอบการและความเป็นนักลงทุนมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย

สมัยเด็ก บัฟเฟตต์รู้จักหาเงินด้วยสมองอันปราดเปรื่อง เขาซื้อโค้กมาหนึ่งแพ็ค 6 ขวด ราคา 25 เซนต์ แล้วเอาไปเร่ขายปลีกในราคาขวดละ 5 เซนต์ ได้กำไรแพ็คละ 5 เซนต์ และเคยเก็บลูกกอล์ฟที่หลงอยู่ในสนามไดรฟ์เอาไปขาย หาค่าขนมได้เป็นกอบเป็นกำ

พอเข้าสู่วัยรุ่น พ่อของเขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. วอร์เรนจึงย้ายตามพ่อไปอยู่ที่วอชิงตัน แต่ก็ยังมุ่งมั่นหาเงินต่อไป เขาหาลำไพ่ด้วยการเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ โดยบุกเบิกเส้นทางส่งหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ หลายสาย และเริ่มสร้างสัมพันธ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ตั้งแต่ตอนนั้น เขาเคยซื้อเครื่องพินบอลมือสองราคา 25 เหรียญไปตั้งในร้านตัดผม และทำเงินได้ถึง 50 เหรียญต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้ผู้เป็นบิดาทึ่งในพรสวรรค์ในการหาเงินของลูกชาย

พอจบมัธยมฯ บัฟเฟตต์ได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดแต่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ทว่านั่นกลับเป็นโชคดี เพราะทำให้เขาตัดสินใจไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อที่จะได้เรียนกับ เบนจามิน เกรแฮม ปรมาจารย์การลงทุน ผู้เขียนหนังสือ The Intelligent Investor ซึ่งเขาเคยอ่านและประทับใจมาก พอเรียนจบ บัฟเฟตต์ถึงกับเสนอตัวที่จะทำงานให้กับเกรแฮมฟรีๆ โดยไม่รับเงินเดือน แต่เกรแฮมปฏิเสธข้อเสนอนี้ บัฟเฟตต์จึงไปทำงานกับบริษัทของพ่อของเขา

แต่แล้ว อีกสามปีต่อมา เกรแฮมก็ชวนเขาไปทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บัฟเฟตต์จึงได้ทำงานกับอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักสมใจ เขาร่วมงานกับเจ้าของฉายา “คณบดีแห่งวอลล์สตรีท” อยู่สองปีเต็ม โดยเรียนรู้แนวทางของเกรแฮมจนหมดไส้หมดพุง ครั้นเกรแฮมเกษียณตัวเอง บัฟเฟตต์จึงกลับไปที่โอมาฮา และเริ่มต้นธุรกิจการลงทุนของเขา ด้วยความรู้ที่ได้ซึมซับจากอาจารย์มาอย่างเต็มเปี่ยม

บัฟเฟตต์รวบรวมเงินทุนจากญาติๆ ได้ 1 ล้านดอลล่าร์ แล้วก่อตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน “บัฟเฟตต์ แอสโซซิเอทส์” (Buffett Associates Ltd.,) ซึ่งต่อมากลายเป็น “บัฟเฟตต์ พาร์ทเนอร์ชิพ” (Buffett Partnership Ltd.,) โดยทำผลตอบแทนได้อย่างน่าอัศจรรย์ และทวีมูลค่าสินทรัพย์จนมีค่ามากกว่า 100 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ตัวบัฟเฟตต์เองก็ได้กลายเป็นมหาเศรษฐี

ความสำเร็จของบัฟเฟตต์ เกิดจากการลงทุนในสุดยอดบริษัทอย่าง เกโค, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส วอชิงตัน โพสต์ ฯลฯ ในเวลาที่ใครๆ พากันมองข้าม รวมทั้งบริษัทนอกตลาดอย่าง ซีส์ แคนดี้, บัฟฟาโล่ นิวส์ ฯลฯ แต่แล้วในปี 1969 เขาตัดสินใจที่จะยุบเลิกห้างหุ้นส่วน เพราะภาวะตลาดกระทิงในขณะนั้นทำให้ไม่สามารถหาหุ้นที่น่าลงทุนได้อีกแล้ว

ครั้นถึงปี 1973 ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง หรือ “The Great Depression” บัฟเฟตต์ซึ่งคอยอยู่นานได้เข้าไปเก็บหุ้นของหลายบริษัท รวมทั้งบริษัทสิ่งทอ เบิร์คไชร์ แฮธาเวย์ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้ซื้อหุ้นไว้พอสมควร แต่แล้วกลับพบว่าเบิร์คไชร์ประสบปัญหาในการแข่งขัน เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอในอเมริกาอยู่ในภาวะขาลง ไม่สามารถต่อกรกับคู่แข่งต่างชาติซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าได้

ปัญหาจากกรณีเบิร์คไชร์ ทำให้บัฟเฟตต์เริ่มคิดใหม่ทำใหม่ จากเดิมที่เคยยึดมั่นลงทุนด้วยหลักของเบนจามิน เกรแฮม อย่างเคร่งครัด เขาเริ่มรู้สึกว่านั่นอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสียแล้ว !!

พอถึงปี 1978 บัฟเฟตต์ได้ชักชวน “ชาร์ลี มังเจอร์” นักกฎหมายและนักลงทุนสมองเพชรซึ่งสนิทสนมกันมารับตำแหน่งรองประธานฯ ของเบิร์คไชร์ ซึ่งในเวลานั้นได้ถูกบัฟเฟตต์ทำให้กลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ เป็นกลไกในการเข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ

ชาร์ลี มังเจอร์ ได้ทำให้บัฟเฟตต์ก้าวออกจากเงาของเกรแฮมได้อย่างสมบูรณ์ และกล้าที่จะลงทุนโดยเน้นที่ “คุณภาพของกิจการ” มากขึ้น แทนที่จะมุ่งแต่ “ตัวเลขเชิงปริมาณ” อย่างเดียว

เบิร์คไชร์ภายใต้การกุมบังเหียนของบัฟเฟตต์และมังเจอร์ได้เข้าลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยมมากมาย อาทิ โคคาโคล่า, ดิสนีย์, ยิลเล็ตต์, วอลล์มาร์ท, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ฯลฯ และทำให้ชื่อของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้รับการยอมรับในฐานะนักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

หลักในการลงทุนของบัฟเฟตต์ เป็นการผสมผสานหลักของ เบนจามิน เกรแฮม เข้ากับหลักของ ฟิลิป ฟิชเชอร์ โดยเน้นว่า “ต้องวิเคราะห์ธุรกิจ อย่าวิเคราะห์ตัวหุ้น” อย่าทำตามฝูงชน จงคิดอย่างเป็นตัวเอง ต้องเน้นบริษัทที่มีอนาคตดีเยี่ยม มี “ความได้เปรียบในการแข่งขัน” มี “เฟรนไชส์” มีแบรนด์อันทรงพลัง มี “คูเมือง” หรืออุปสรรคสำหรับคู่แข่งหน้าใหม่ที่จะก้าวเข้ามาทำธุรกิจ มีผู้บริหารที่มีความสามารถและซื่อสัตย์

ที่สำคัญคือ คุณต้องเข้าใจในธุรกิจนั้นๆ อย่างถ่องแท้ โดยต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ใน “ขอบข่ายแห่งความชำนาญ” (Circle of Competence) ของคุณ ธุรกิจใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะดีขนาดไหน ไม่ว่าใครจะสรรเสริญอย่างไร หากบัฟเฟตต์ไม่รู้กระจ่างอย่างแจ่มแจ้ง เขาจะไม่ยอมซื้อหุ้นของมันเป็นอันขาด หลักข้อนี้ทำให้เขาเอาชนะวิกฤตได้ทุกครั้ง อาทิ เมื่อครั้งฟองสบู่ด็อตคอมแตกออกในปี 1999

นอกจากนี้ ราคาหุ้นต้องเป็น “ราคายุติธรรม” (Fair Price) คือต้องถูกหรือไม่แพงเกินไป โดยต้องมี “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” (Margin of Safety) อยู่ในระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” (Intrinsic Value) ของกิจการ และอย่าลืมเอากระแสเงินสดในอนาคตมา “คิดลด” (Discounted Cash Flow) ด้วย

เชื่อไหมว่า หากใครลงทุนกับบัฟเฟตต์ ด้วยเงิน 1,000 ดอลล่าร์ ตั้งแต่แรกเริ่มในปี 1956 จนถึงวันนี้ เงินจำนวนนั้นจะทวีมูลค่ากลายเป็นมากกว่า 25 ล้านดอลล่าร์ จนบัฟเฟตต์ได้รับฉายา “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา”

ในการประชุมประจำปีของเบิร์คไชร์ แฮธาเวย์ ที่จัดขึ้น ณ เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสก้า ได้กลายเป็นเทศกาลที่มีนักลงทุนหลายหมื่นคนทั่วโลกหลั่งไหลไปร่วมงาน เพื่อหวังจะได้พบปะพูดคุย และฟังถ้อยคำคมๆ จากตัวเขาและชาร์ลี มังเจอร์

ปัจจุบัน ในวัย 80 ปี บัฟเฟตต์ได้บริจาคเงินให้กับการกุศลเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้กับ มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ เขาให้คำมั่นสัญญาว่า จนถึงวันที่ตัวเขาตาย ทรัพย์สิน 99 เปอร์เซ็นต์ จะถูกผ่องถ่ายให้กับการกุศล หรือที่เขาเรียกว่า “My Philanthropic Pledge”

นอกจากนี้ ตัวเขาและบิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ยังออกเดินสายเพื่อร่วมรณรงค์ให้มหาเศรษฐีทั่วโลก สัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินของตัวเองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้กับการกุศล รวมทั้งออกมากระตุ้นให้คองเกรสเก็บภาษีคนรวยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก

ความเสียสละอันยิ่งใหญ่และจิตอันเป็นกุศลของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คงไม่เกินเลยไปหากจะบอกว่า เขาได้ยกระดับตัวเอง จากมหาเศรษฐีนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ กลายเป็น “ตำนาน” บทหนึ่งของโลกใบนี้ไปแล้ว

————————-



  แอนโธนี่ โบลตัน
“สุภาพบุรุษยอดนักลงทุน”
   (1950-ปัจจุบัน)

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นผู้จัดการกองทุนชื่อดังชาวอังกฤษ เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักลงทุนที่ดีที่สุดของสหราชอาณาจักร แม้ ปีเตอร์ ลินช์ สุดยอดผู้จัดการกองทุนระดับตำนานยังยกย่องว่า โบลตันเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก

โบลตันเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 1950 ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ประเทศอังกฤษ พ่อของเขาเป็นทนายความ และได้เลี้ยงดูฟูมฟักลูกชายในแบบของผู้ดีอังกฤษแท้ๆ เขาเป็นคนบุคลิกดี สุขุม สุภาพ ซื่อสัตย์ รู้จักวางตัวและให้เกียรติผู้อื่น ว่ากันว่าใครที่ได้รู้จักโบลตันต่างนิยมชมชอบเขาแทบทุกคน

โบลตันเรียนจบปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนจะหันเหไปทำงานในสายการเงิน โดยทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์สองแห่ง ก่อนที่ในปี 1979 จะมาลงเอยกับ ฟิเดลิตี้ บริษัทการลงทุนชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ปีเตอร์ ลินช์ ทำงานอยู่ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการลงทุน สาขาลอนดอน คนแรกของฟิเดลิตี้

ทันทีที่รับตำแหน่ง โบลตันได้รับมอบหมายให้บริหารกองทรัสต์ชื่อ Fidelity Special Situations Trust โดยเน้นลงทุนในหุ้นยุโรป เขาได้รับอิสระอย่างเต็มที่ในการบริหาร และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 19.5% ในระยะเวลา 28 ปี ระหว่างปี 1980-2007 เอาชนะ FTSE หรือดัชนีรวมหุ้นทุกตัวถึง 6 %

คนที่ลงทุนในกองทุนที่โบลตันบริหารตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 1980 ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ เงินจำนวนนั้นจะทวีมูลค่ากลายเป็น 1,480,200 เหรียญ ณ สิ้นปี 2007

ตรงจุดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้โบลตันจะทำได้ 19.5% ด้อยกว่า ปีเตอร์ ลินช์ ที่ทำได้ 29.2% เกือบ 10% แต่ลินช์บริหารกองทุนแม็คเจลแลนอยู่เพียง 13 ปี แล้วเกษียณตัวเองอย่างรวดเร็ว ขณะที่โบลตันทำงานต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปี ซึ่งย่อมต้องผ่านวัฏจักรต่างๆ ของตลาดหุ้นมามากกว่า

หลักการลงทุนของโบลตัน ข้อสำคัญที่สุดคือต้องกล้า “สวนกระแส” ต้องกล้าทำตรงข้ามกับฝูงชน รู้จักมองหาหุ้นที่ไม่มีใครสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่กำลังประสบปัญหา แต่มีสัญญาณว่ากำลังจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมักเป็นโอกาสงามๆ ในการลงทุน

โบลตันให้ความสำคัญกับพื้นฐานของกิจการตามหลักของ เบนจามิน เกรแฮม เขาเน้นว่าในการซื้อหุ้น เราต้องมองว่ากำลังซื้อ “ส่วนหนึ่งของธุรกิจ” และถามตัวเองว่าถ้าต้องซื้อบริษัทนั้นทั้งบริษัท จะซื้อหรือไม่ รวมทั้งควรศึกษาถึงความได้เปรียบในการแข่งขัน แฟรนไชส์ของบริษัท อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่ง เขานิยมบริษัทที่เข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นบริษัทที่มีความมั่นคงถาวร

อีกจุดหนึ่งที่โบลตันให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือเรื่องของ “ผู้บริหาร” เขาเน้นว่าผู้บริหารต้องมีความสามารถ และมีธรรมาภิบาล บริหารงานอย่างโปร่งใส พูดความจริง ไม่โม้ ที่สำคัญคือถ้าทำผิดแล้วต้องยอมรับผิด จุดนี้จุดเดียวทำให้รู้ได้เลยว่าผู้บริหารคนไหนไว้ใจได้หรือไม่ โดยเขาไม่เคยละเลยที่จะสานสัมพันธ์กับผู้บริหารบริษัทต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ โบลตันจะนัดประชุมกับผู้บริหารของบริษัทที่เขาเข้าไปลงทุนอยู่เสมออย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง โดยเขาจะจดบันทึกรายละเอียดในการประชุมทุกครั้งไว้เสมอ

ในเชิงปริมาณ โบลตันจะพิจารณาราคาหุ้นย้อนหลัง 3 – 10 ปี รวมทั้งตัวแปรอื่นๆ คือ ค่า P/E ค่า P/BV, กระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น (FCF), ดูผลตอบแทนจากเงินลงทุนเป็นกระแสเงินสด (CFROI), ดูอัตราส่วนราคาต่อยอดขาย ดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ดูสัดส่วนของหุ้นที่คนในถือ ดูรายงานทางการเงิน อันดับเครดิตของบริษัท ดูความเห็นของนักวิเคราะห์เพื่อทราบถึงความนิยมที่ผู้คนมีต่อหุ้นตัวนั้น

ที่สำคัญคือ โบลตันต้องการชุดของข้อมูลย้อนหลังไป 20 ปี หรืออย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี เขาบอกว่า ข้อมูลที่ไม่ถึง 10 ปี อาจไม่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจนั้นๆ

โบลตันเชื่อว่านักลงทุนต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างในการที่จะประสบความสำเร็จ โดยต้องรู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้ตรรกะ อย่าใช้อารมณ์ ต้องกล้าคิดอย่างเป็นอิสระ อย่าหลงใหลไปตามกระแสของคนหมู่มาก ขณะเดียวกันก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าหลงลำพอง มีความยืดหยุ่นและกล้าที่จะปรับเปลี่ยน ต้องรู้จักตั้งคำถาม รู้จักวิเคราะห์ รู้จักมองการณ์ไกล โดยให้ดูหุ้นเป็นรายตัว อย่าไปสนใจเรื่องมหภาคมากนัก

ก่อนวางมือไม่นาน โบลตันได้เอาเงินของกองทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นจีน เพราะเล็งเห็นว่าแผ่นดินมังกรจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ซึ่งการณ์ก็เป็นไปตามที่เขาคาดทุกประการ

โบลตัน เกษียณตัวเองในปี 2007 ขณะอายุ 57 ปี โดยหันไปเล่นดนตรี และเคยออกอัลบั้มของตัวเองด้วย นอกจากนี้ เขายังเขียนคอลัมน์ลงใน นสพ. Financial Times เพื่อให้คำแนะนำด้านการลงทุน ทว่าล่าสุด ในปี 2009 เขาทนความเย้ายวนของตลาดหุ้นจีนไม่ไหว จึงกลับเข้าทำงานกับฟิเดลิตี้อีกครั้งหนึ่ง โดยรับตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายการลงทุน ก่อนจะย้ายไปพำนักในฮ่องกงและเน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะ

แอนโธนี่ โบลตัน เป็นนักลงทุนในแบบฉบับของ “ผู้ดีอังกฤษ” แท้ๆ ผู้มากไปด้วยความสามารถและอุปนิสัยอันงดงาม การที่ ปีเตอร์ ลินช์ ยกย่องโบลตันว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก ย่อมเป็นเครื่องการันตีความสามารถของสุภาพบุรุษนักลงทุนผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

แหล่งข้อมูล : Wikipedia, The Great Investors

 ————————–


Charlie_Munger
ชาร์ลี มังเกอร์
“ที่สอง ที่โลกต้องจดจำ”
(1924-ปัจจุบัน)

ชาร์ลี มังเกอร์ เป็นรองประธานบริหารของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ เขาเป็นคู่หูของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และเป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างเบิร์คไชร์จนกลายเป็นมหาอาณาจักรการลงทุนที่ยิ่งใหญ่

มังเกอร์เกิดเมื่อปี 1924 ที่โอมาฮา เช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ โดยเขาแก่กว่าวอร์เรน 6 ปี สมัยวัยรุ่น เขาเคยทำงานในร้านขายของชำของคุณปู่ของวอร์เรน และถูกใช้งานหนักมาก แต่ก็ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจมากมายจากการรับจ็อบที่ร้านของครอบครัวบัฟเฟตต์ในครั้งนั้น

คู่หูของบัฟเฟตต์ผู้นี้ เป็นคนเฉลียวฉลาดและเชื่อมั่นในตัวเอง อุปนิสัยติดดิน กินง่ายอยู่ง่ายเช่นเดียวกับปู่บัฟฟ์ ที่ต่างกันคือปู่มังก์มีบุคลิกโผงผาง พูดจาขวานผ่าซากจนหลายคนมองว่าหยาบคาย ต่างจากบัฟเฟตต์ที่สุภาพ พูดจาดี และน่าคบหากว่า

หลังจบมัธยมฯ มังเกอร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ แต่แล้วเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาก็ต้องพักการเรียนและถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในกองทัพเช่นเดียวกับคนหนุ่มในยุคนั้น โดยประจำการอยู่ที่อลาสก้าในตำแหน่งนักอุตุนิยมวิทยา พอสงครามยุติลง เขาไม่ได้กลับไปเรียนที่มิชิแกน แต่เบนเข็มไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คณะนิติศาสตร์ และจบปริญญาตรีในปี 1948 ด้วยดีกรีเกียรตินิยม

หลังจากจบฮาร์วาร์ด มังเกอร์ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง ชื่อ มังเกอร์, โทลส์ แอนด์ โอลสัน โดยตัวเขาเป็นทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ พอถึงปี 1965 เขาวางมือจากการด้านกฎหมาย และหันมาทำงานด้านการลงทุนเต็มตัว โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริษัทการลงทุน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ตั้งแต่ปี 1962-75 บริษัทการลงทุนของมังเกอร์ทำผลตอบแทนทบต้นได้ถึง 19.8% ต่อปี ขณะที่ ดาวโจนส์ ให้ผลตอบแทนเพียง 5% จนฐานะของมังเกอร์ในเวลานั้น ถือว่าเข้าขั้น “เศรษฐี” เลยทีเดียว

นั่นหมายความว่า ชาร์ลี มังเกอร์ “เก่ง” และ “รวย” ตั้งแต่ก่อนที่จะมาเจอบัฟเฟตต์ ไม่ใช่รวยเพราะมาทำงานกับปู่บัฟฟ์เหมือนที่หลายคนเข้าใจ

ที่จริงแล้ว การพบกันครั้งแรกของมังเกอร์และบัฟเฟตต์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1959 ระหว่างที่มังเกอร์ยังทำงานด้านกฏหมายอยู่ โดยเพื่อนของพวกเขานัดให้มารับประทานอาหารกลางวันกัน ปรากฏว่าทั้งสองถูกชะตากันตั้งแต่แรกพบ และรู้สึกทันทีว่าอีกฝ่ายมีอะไรที่คล้ายคลึงกับตนเอง

บัฟเฟตต์พยายามหว่านล้อมมังเกอร์ว่าเขาน่าจะทำอย่างอื่นกับชีวิตแทนที่จะเป็นนักกฏหมาย โดยชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเป็นอาชีพที่ดีและทำเงินได้เยอะกว่ามาก เป็นไปได้ว่าคำแนะนำของบัฟเฟตต์ครั้งนั้นน่าจะมีอิทธิพลให้มังเกอร์เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น ทั้งคู่ยังติดต่อกันเป็นครั้งคราว ก่อนจะมาร่วมงานกันอย่างเป็นทางการในปี 1978  โดยบัฟเฟตต์ชวนให้มังเกอร์มารับตำแหน่งรองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ซึ่งตัวเขาเป็นประธานอยู่

พอได้มาร่วมงานกัน มังเกอร์และบัฟเฟตต์กลายเป็นสองคน สองคม ต่างรู้อกรู้ใจ เติมเต็มความคิดซึ่งกันและกัน ทำงานเข้าขา จนเบิร์คไชร์เติบใหญ่ต่อเนื่องกลายเป็นองค์กรขนาดยักษ์อันดับต้นๆ ของโลก ต้องถือว่าเป็นคู่หูที่ฟ้าลิขิตให้มาเจอกันโดยแท้

ที่สำคัญที่สุดคือ มังเกอร์ได้ทำให้บัฟเฟตต์ มาถึง “จุดก้าวกระโดด” สำคัญของชีวิต โดยเขาเป็นผู้ทำให้ “เทพเจ้าแห่งโอมาฮา” สลัดตัวเองหลุดจากกฏเกณฑ์ในการเลือกหุ้นอันเข้มงวดของเบนจามิน เกรแฮม และหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมากขึ้น อันเป็นแนวทางของฟิลิป ฟิชเชอร์ กูรูการลงทุนอีกคนหนึ่ง อันถือเป็นการ “เปิดโลกใหม่” ให้กับบัฟเฟตต์เลยก็ว่าได้

หลายคนมองว่า หากไม่ได้มังเกอร์ บัฟเฟตต์คงพลาดโอกาสงามๆ ในการลงทุนอีกมาก ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่า, พีแอนด์จี ฯลฯ แม้บัฟเฟตต์เองยังยอมรับว่า เขาเป็น “หนี้ความรู้” มังเกอร์ โดยบอกว่าตัวเขาคง “จน” กว่านี้เยอะ ถ้าฟังแต่ เบนจามิน เกรแฮม เพียงคนเดียว

หลักในการลงทุนข้อใหญ่ๆ ของมังเกอร์ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับบัฟเฟตต์ โดยให้เน้นธุรกิจที่มีคุณภาพ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ฐานะทางการเงินดี มีความสามารถในการทำกำไร มีส่วนต่างแห่งความปลอดภัย มีผู้บริหารที่เก่งและซื่อสัตย์

ทั้งนี้ มังเกอร์เป็นคนทำให้บัฟเฟตต์เลิกค้นหา “บริษัทระดับปานกลางในราคาถูก” แต่ให้หา “บริษัทยอดเยี่ยม ในราคายุติธรรม” อันเป็นหลักคิดที่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้องอย่างยิ่ง

ทุกวันนี้ มังเกอร์ยังทำงานกับบัฟเฟตต์ด้วยความสนุกสนานในออฟฟิศเล็กๆ ของเบิร์คไชร์ ในโอมาฮา เหมือนที่เป็นมาตลอดหลายสิบปี บัฟเฟตต์บอกว่า เขาและมังเกอร์จะทำงานต่อไปจนกว่าจะจำกันและกันไม่ได้

นอกจากนี้ ในการประชุมประจำปีของเบิร์คไชร์ทุกครั้ง มังเกอร์จะนั่งเคียงข้างบัฟเฟตต์บนเวที ต่อหน้านักลงทุนหลายหมื่นคนที่หลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก เพื่อตอบคำถามและพบปะกับพวกเขาเหล่านั้นเป็นเวลาหลายต่อหลายชั่วโมง

แม้ว่า “ที่สอง” มักไม่ค่อยเป็นที่จดจำของผู้คน แต่หากไม่มี “ที่สอง” อย่างมังเกอร์ ก็อาจไม่มี “ที่หนึ่ง” อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวันนี้ก็เป็นได้

นั่นทำให้เราควรยกย่อง ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานของเบิร์คไชร์ ฮาแธเวย์ ในฐานะ “ที่สอง ที่โลกต้องจดจำ” และจารึกชื่อของเขาไว้ในทำเนียบสุดยอดนักลงทุนโลกอย่างเต็มภาคภูมิ!!

ข้อมูลอ้างอิง: 4 Investment Gurus, The Great Investors, The Essays of Warren Buffett, Wikipedia

ภาพประกอบ : wikipedia.org

—————————



 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“ต้นแบบแห่งวีไอไทย”

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เกิดในครอบครัวคนจีนยากจนที่กรุงเทพมหานครในย่านตรอกจันทน์ เขตยานนาวา เขาไม่ทราบแม้วันเกิดที่แท้จริงของตัวเอง บิดามารดาเป็นคนจีนกวางตุ้ง เดินทางมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ สมัยเด็กอยู่บ้านหลังคามุงจาก พ่อเป็นช่างก่อสร้าง หาเช้ากินค่ำ ความเป็นอยู่ลำบากมาก ของขวัญวันเกิดที่วิเศษมากสำหรับเขาคือได้กินบะหมี่หนึ่งชาม

ดร.นิเวศน์มีพี่น้องสามคน โดยตัวเองเป็นคนสุดท้อง และเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ได้เรียนหนังสือ เด็กชายนิเวศน์เริ่มเรียนหนังสือที่ “โรงเรียนวัดดอน” (วัดที่ร่ำลือไปทั่วประเทศว่ามีป่าช้าผีดุมาก คือ “ป่าช้าวัดดอน” นั่นเอง) จนถึง ป.7 แล้วมาศึกษาต่อมัธยมศึกษาที่ รร.วัดสุทธิวราราม จนถึง ม.3 ก่อนจะสอบเข้า ม.ปลาย ที่ รร.เตรียมอุดมศึกษา

สมัยเด็ก เขาเคยทำการค้าเล็กๆ น้อยๆ โดยซื้อหมากฝรั่งหนึ่งแถวราคา 7.50 บาท เอามาขายปลีก ขายจนหมดทั้งแถวได้เงิน 11 บาท แล้วเอาไปซื้อขนมอื่นๆ จากตลาดน้อยมาขายเพิ่ม (คล้ายกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ซื้อโค้กหนึ่งแพ็คมาขายปลีกยังไงยังงั้น)

ดร.นิเวศน์ เป็นคนเรียนดีมาโดยตลอด วิชาที่เขาชอบมากคือคณิตศาสตร์และเรขาคณิต แม้จะเรียนเก่ง แต่เขาไม่สนใจที่จะเรียนแพทย์ เพราะไม่ชอบวิชาชีววิทยา และรู้สึกว่าอาชีพหมอใช้เวลาเรียนนานเกิน เนื่องจากตัวเขาฐานะยากจน จึงอยากเรียนจบเร็วๆ เพื่อออกมาทำงานหาเงินใช้มากกว่า ทำให้ตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเครื่องกล

ระหว่างเรียนที่จุฬาฯ ดร.นิเวศน์ทำกิจกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย สร้างฝายเก็บน้ำ ทำห้องสมุดให้กับเด็กยากไร้ ฯลฯ ซึ่งทำให้เขาได้เห็นโลกในมุมมองที่กว้างขวางขึ้น เขาบอกว่า ประสบการณ์ชีวิตสมัยเรียนปริญญาตรี มีส่วนสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมให้เขาเป็นตัวเขาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

หลังจากเรียนจบ งานแรกของ ดร.นิเวศน์ คือทำงานที่โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด เหตุผลที่เลือกงานดังกล่าวเพราะมี OT ทำให้ได้เงินเดือนเพิ่มเกือบสองเท่า ทั้งยังกินอยู่ฟรี หลังจากทำงานได้สองปี ดร.นิเวศน์ ได้มาเรียนต่อปริญญาโทที่นิด้า สาขาการตลาด จากการชักชวนของ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เพื่อนสนิท

หลังจากจบโทได้สองปี ดร.นิเวศน์จึงลาออกจากงานที่โรงงานน้ำตาล เพื่อตาม ดร.ไพบูลย์ ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ณ University of Mississippi โดยต้องสอบโทเฟลถึงสองรอบจึงผ่าน เนื่องจากไม่เก่งภาษาอังกฤษ

ครั้นจบปริญญาเอก ได้เป็นด็อกเตอร์ เขาจึงกลับมาเมืองไทย และเข้าสู่แวดวงการเงินเป็นครั้งแรก โดยไปทำงานที่ IFCT ก่อนจะย้ายไปทำงานที่นวธนกิจ เมื่อนวธรกิจปิดกิจการจึงไปเป็นที่ปรึกษาของดีแทค และไปทำงานที่ธนาคารนครหลวงไทยเป็นที่สุดท้าย

ดร.นิเวศน์เริ่ม “เล่นหุ้น” ในปี 2539 ระหว่างทำงานที่นวธรกิจ โดยใช้วิธีเก็งกำไร ซื้อๆ ขายๆ เหมือนนักลงทุนทั่วไป ก่อนจะเบนเข็มมาศึกษาแนวทาง “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” โดยอ่านคัมภีร์ของกูรูระดับโลกมากมายหลายเล่ม ที่สำคัญคือหนังสือ “The Intelligent Investor” ของเบนจามิน เกรแฮม ซึ่งเป็นเล่มเดียวกับที่จุดประกายให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ สนใจการลงทุน เช่นเดียวกับ ดร.นิเวศน์เองที่ตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ตลอดมา

ดร.นิเวศน์ เริ่มลงทุนแบบ Value Investment อย่างเป็นทางการในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งหุ้นไทยถูกมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยเงินต้น 10 ล้านบาทที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานประจำมาตลอดชีวิต ก่อนจะใช้เวลาสิบปี ทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจนมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท!!

นอกจากการเป็นนักลงทุนแล้ว ในปี 2541 เขายังได้เขียนหนังสือชื่อ “ตีแตก” ซึ่งเป็นเรื่องราวของโอกาสและความเป็นไปได้เพื่อประยุกต์ใช้กับการลงทุน และกลายเป็นหนังสือการลงทุนยอดนิยมของเมืองไทยมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ เขายังมีผลงานหนังสืออีกหลายเล่ม และจัดรายการโทรทัศน์ – วิทยุ ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

ดร.นิเวศน์ บอกว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เลือกเส้นทางเดินนี้ก็เพราะเขาได้ค้นพบตัวเองแล้วว่าชีวิตของเขาจะต้องเป็น “นักลงทุน” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขาบอกว่าตนเองได้รู้เป้าหมายของชีวิตอย่างชัดเจน จึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่นำตัวเองไปมุ่งสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยจะไม่ “แวะข้างทาง” ให้เสียเวลาอีกต่อไป

ทุกวันนี้ แม้จะไม่เป็นที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่จากการคิดคำนวณของ VI ไทยหลายคน คาดกันว่าพอร์ตการลงทุนของ ดร.นิเวศน์ มีค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เอาเฉพาะเงินปันผลของเขาแต่ละปี ก็เกินกว่าเงินต้น 10 ล้านบาทที่เริ่มลงทุนไปหลายต่อหลายเท่า ว่ากันว่าหากเขามีอายุถึง 80 ปี พอร์ตการลงทุนของเขาน่าจะทวีค่าถึง 10,000 ล้านบาท!!

คุณูปการของ ดร.นิเวศน์ ประการหนึ่งซึ่งมีคุณค่าอย่างประเมินไม่ได้สำหรับแวดวงการลงทุนไทยก็คือ เขาเป็นผู้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงในประเทศนี้ และลบล้างความเชื่อที่ว่า ตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่สามารถใช้การลงทุนแบบเน้นพื้นฐานออกไปได้

หลายคนขนานนาม ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ว่าเป็น “วอร์เรน บัฟเฟตต์ เมืองไทย” แต่ที่แน่ๆ เขาคือ “ต้นแบบของวีไอไทย” ตัวจริงเสียงจริง ชนิดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธอย่างแน่นอน

—————————

Copyrights @2013. สงวนลิขสิทธิ์ หากต้องการนำเนื้อหาในเว็บไซต์ ClubVI.com ไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา และห้ามใช้เพื่อการค้าเป็นอันขาด
ที่มา:
http://clubvi.com/worldsvi/


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday,  21 Apr 2014

บทสวด VI

การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น   ต้องการศรัทธาและความเชื่อมั่นในหลักการและกลยุทธ์บางอย่างที่แรงกล้าที่จะช่วยให้เราถือหุ้นระยะยาวได้อย่างถูกต้อง  เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักลงทุนจะสามารถทนถือหุ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นปี ๆ  หรือหลาย ๆ  ปี ผ่านช่วงเวลาที่หุ้นขึ้นไปเร็วและสูงหรือสูงมาก  และผ่านช่วงเวลาที่หุ้นตกลงมาเร็วและมากหรือตกลงมามากโดยไม่ได้ทำอะไร  เหตุเพราะคนเรานั้นต่างก็มีอารมณ์ที่จะสั่งให้ร่างกายและความคิดตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  ในช่วงเวลาที่ยาวนานของการลงทุนก็คงจะมีโอกาสบางครั้งที่เราจะตัดสินใจขายหุ้นที่เราถืออยู่ออกไปโดยใช้ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น   เช่นเดียวกัน  ในบางช่วงเวลา  เราก็จะใช้เหตุผลวิเคราะห์หุ้นแล้วก็พบว่าหุ้นตัวที่เราถืออยู่นั้นมีราคา  “แพง” เกินไปแล้ว  ถึงเวลาที่จะต้องขายและเปลี่ยนตัวเล่นใหม่  ดังนั้นเราก็จะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้ง ๆ  ที่เพิ่งจะลงทุนมาได้ไม่นานแต่ราคาหุ้นขึ้นไป “เกินคาด” และเกินกว่า “พื้นฐาน”  ของกิจการ

           ในบางครั้งอีกเช่นกัน  หลังจากที่เราเข้าถือหุ้นบางตัว   เราก็อาจจะได้รับข่าวสารข้อมูลที่ดูเหมือนว่าจะเป็น  “ข้อมูลภายใน”  เช่น  บริษัทอาจจะมีกำไรถดถอยลงในไตรมาศที่จะถึงนี้  หรือบริษัทอาจจะประสบปัญหาบางอย่างที่จะทำให้ผลประกอบการลดลงแต่ไม่กระทบกับผลการดำเนินงานระยะยาว  นี่ก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเพราะเราคิดว่าเมื่อข้อมูลนั้นถูกเปิดเผยออกมา  ราคาหุ้นก็จะลดลง  ดังนั้น  เราจึงตัดสินใจขายหุ้นตัวนั้นเสียก่อน   ทั้งหมดนั้น  เป็นเหตุผลบางส่วนที่ทำให้การลงทุนระยะยาวเป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักลงทุนจำนวนมาก 

          เพื่อที่จะลดความลำเอียงที่จะทำให้เราขายหุ้นเร็วเกินไปเนื่องจากเหตุผลของอารมณ์หรือเหตุผลที่อิงกับการวิเคราะห์หุ้นแบบระยะสั้น  ผมเสนอว่าเราควรจะต้องมี  “บทสวด”  เหมือนกับการสวดมนต์ที่เราท่องเอาไว้จนขึ้นใจเพื่อที่จะเตือนเราตลอดเวลาไม่ให้เราไขว้เขวออกนอกแนวทางที่ถูกต้อง   บทสวดเหล่านั้นมีมากมายและขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละคนที่จะกำหนดขึ้น  สำหรับผมเองนั้น  บทสวดต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าสนองต่อแนวทางการลงทุนระยะยาวได้ค่อนข้างดี

          บทแรกก็คือ  “ความมั่งคั่งของเราขึ้นอยู่กับผลประกอบการในระยะยาวของบริษัท”  นี่คือสิ่งที่เป็นหัวใจของการลงทุนแบบ VI อย่างแท้จริง  ความหมายก็คือ  ถ้าบริษัท  “รวย”  เราก็  “รวย”  ดังนั้น  หน้าที่ของเราก็คือ  ถือหุ้นของบริษัทที่จะรวยหรือมั่งคั่งในระยะยาวโดยอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดเรื่องอื่น  เช่น  ซื้อหุ้นที่จะมีคนเข้ามาซื้อต่อมากมายด้วยเหตุผลต่าง ๆ  ซึ่งรวมถึงผลประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นมากในระยะสั้นแต่ไม่แน่นอนในระยะยาว  เป็นต้น    ดังนั้น  ถ้าเราท่องบทสวดข้อนี้  เราก็จะถือหุ้นได้ยาวขึ้นตราบเท่าที่ผลประกอบการระยะยาวของบริษัทนั้นยังดีอยู่เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น

          บทสวดที่สองก็คือ  “อย่าตัดสินใจจากสิ่งที่เราไม่รู้” ความหมายข้อนี้จะต้องอธิบายเพิ่มเติมเนื่องจากความเป็นจริงที่ว่าในตลาดหุ้นนั้น  แทบจะไม่มีอะไรที่เราจะรู้ว่าต้องเกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  ไม่มีอะไรที่เราสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  คนที่คิดว่าตนเอง  “รู้”  นั้น  จำนวนมากเขา  “ไม่รู้”  คำว่ารู้ในความหมายของผมก็คือ  เป็นการรู้ถึง  “ความน่าจะเป็น”  ของสิ่งที่จะเกิดขึ้น   เช่น  ผมคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้า  จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะมากกว่าปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10%  หรือ  ยอดขายของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่ที่เราถืออยู่นี้  ในอีก 3 ปีข้างหน้าน่าจะโตขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 20%  โอกาสที่ผมจะคาดการณ์ถูกต้องน่าจะไม่น้อยกว่า 80%-90%  ในกรณีแบบนี้  ผมคิดว่าผม  “รู้”  และถ้าผมจะตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับหุ้น  ผมก็สามารถอิงกับข้อมูลนี้   ตรงกันข้าม  ผมคิดว่าผมไม่รู้ว่าราคาน้ำมันดิบหรือถ่านหินในอีก 3 ปีข้างหน้าจะขึ้นหรือลง  ผมคิดว่าโอกาสที่มันจะขึ้นนั้นมีเพียง 50%  เท่า ๆ  กับโอกาสที่จะลง  ในลักษณะแบบนี้  ผมจะบอกตัวเองว่า  “ผมไม่รู้”  ดังนั้น  ผมจะไม่ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นโดยอิงกับราคาน้ำมันหรือถ่านหิน  ถ้าผมจะซื้อหุ้นเหล่านี้  ผมก็จะต้องตัดสินใจจากเหตุผลอื่นที่เรา “รู้” ด้วยความเป็นไปได้อย่างน้อยอาจจะ 70%-80% ขึ้นไป

           บทสวดที่สาม  หุ้นที่ดีเยี่ยมนั้นควรจะต้องมี  “ยอดขายเพิ่มขึ้น  กำไรเพิ่มขึ้น  และ ปันผลเพิ่มขึ้น”  งวดแล้ว  งวดเล่า  ต่อเนื่องยาวนาน  และถ้าบริษัทยังรักษาสถิติแบบนั้นได้  เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขายหุ้น  ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้น  ควรเป็นยอดขายสินค้าตามปกติของบริษัทและการเพิ่มนั้น  ควรจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณ 2 เท่าของอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือประมาณ 10% ต่อปีขึ้นไป   กำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น  ควรจะดูทั้งกำไรรวมของบริษัทที่ควรโตอย่างน้อยปีละ 10%  และกำไรต่อหุ้นที่ควรจะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน  และสุดท้ายก็คือ  ปันผลของบริษัทควรจะมีการปรับขึ้นตามสัดส่วนกับกำไรของบริษัท  ถ้าเราพบว่าหุ้นที่เราถืออยู่มีผลประกอบการแบบนี้  เราก็ไม่ต้องสนใจว่าจะขายหุ้นไม่ว่าราคาจะผันผวนอย่างไร อย่าลืมว่าเราต้องการรวยไปกับบริษัท  เราไม่ได้ต้องการรวยจากการขายหุ้น

           อย่างไรก็ตาม  ยอดขายเพิ่ม  กำไรเพิ่ม  ปันผลเพิ่ม ในอัตราเท่านั้นเท่านี้  อาจจะไม่ต้องถึงกับเป็นกฎตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์   ในบางงวด  ยอดขายอาจจะพลาดเป้าบ้าง  ยอดขายได้แต่กำไรอาจจะพลาด  หรือแม้ว่ายอดขายและกำไรอาจจะเป็นไปตามที่กำหนด  แต่ปันผลอาจจะไม่ได้ตามที่คิด  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้  แต่โดยรวมแล้ว  ทิศทางควรจะเป็นอย่างนั้นนั่นคือ  ในภาวะปกติ  เราพอจะคาดการณ์ได้ด้วยความถูกต้องอาจจะกว่า 70%-80% ว่า  ยอดขายจะต้องเพิ่มอย่างน้อย 7%-8%  กำไรต่อหุ้นเพิ่มอย่างน้อย 10%  และปันผลต่อหุ้นก็เพิ่มอย่างน้อย 10%  เช่นเดียวกัน  และถ้าเราพบว่าหุ้นตัวที่เราถืออยู่ยังมีผลประกอบการแบบนี้   เราก็ถือหุ้นต่อไป   ถ้าหุ้นที่เราถืออยู่มีผลประกอบการหย่อนไปจากนี้หรือกลายเป็นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ   เราก็ต้องตรวจสอบและพิจารณาดูว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหรือไม่  ถ้าใช่  เราก็ถือหุ้นต่อไป  ถ้าไม่ใช่  และเราคิดว่าต่อไปบริษัทอาจจะไม่สามารถดำรงสถานะที่  “รายได้เพิ่ม  กำไรเพิ่ม ปันผลเพิ่ม”  ต่อเนื่องยาวนานแล้ว  เราก็อาจพิจารณาขายหุ้นทิ้ง

           สุดท้ายในกรณีที่เราอาจจะอยากขายหุ้นด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม  บางทีเราอาจจะต้องกลับไปสวดมนต์บทที่ว่า  มันเป็นกิจการที่เป็น  “Monopoly” หรือมันมี  “อำนาจผูกขาด”   สูง  นั่นหมายความว่าลูกค้าของบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นมากนักหรือไม่มีทางเลือกเลย  อย่างไรเสียก็ต้องใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท   คำว่าอำนาจผูกขาดนี้  อาจจะมาจากหลาย ๆ  ทางรวมถึงการที่บริษัทมีความสามารถหรือมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันสูงกว่าคู่แข่งมาก ๆ  จนเสมือนหนึ่ง  “ผูกขาด”  ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถทำกำไรที่ค่อนข้างมั่นคงแน่นอนและคู่แข่งเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งธุรกิจและกำไรได้ยากมากด้วย   เหตุผลที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นบทสวดด้วยนั้น   เนื่องจากว่าในบางครั้งธุรกิจหรือบริษัทที่เราซื้อหุ้นลงทุนนั้น  เราอาจจะพบปัญหาหรือข้อเสียหรือบริษัทอาจจะประสบปัญหาบางอย่างจนทำให้เราท้อใจอยากขายหุ้นทิ้ง  แต่ก่อนที่เราจะทำอย่างนั้น  เราก็ควรจะคำนึงถึงประเด็นที่ว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทที่มีจุดเด่นที่สำคัญมากอย่างหนึ่งนั่นก็คือ  มันมีอำนาจผูกขาดที่สูงทีเดียวหรือสูงลิ่ว  และเราต้องคิดต่อไปว่าอำนาจนั้นมีประโยชน์มากแค่ไหนและจะสามารถทำเงินในภายหลังหรือไม่  ถ้าใช่  เราก็อาจจะพิจารณาถือหุ้นต่อไป

          และทั้งหมดนั้นก็คือส่วนหนึ่งของ “บทสวด VI”  ที่ผมใช้ในการลงทุนถือหุ้นระยะยาว  ซึ่งมันทำให้ผมถือหุ้นได้ยาวขึ้นและได้ผลดีในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว  ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันดีกว่าการ  “ซื้อและขายหุ้น” ไปเรื่อย ๆ  ตามสถานการณ์ไหม   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนระยะยาวแบบ VI เป็นสิ่งที่ผมเลือกและเป็นสิ่งที่ผมชำนาญ  ดังนั้น  ผมต้องมีกลยุทธ์และหลักการที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุดที่ผมต้องยึดถือจนกลายเป็นบทสวดดังกล่าว

 
Posted by nivate at 11:33 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor  

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/04/21/1419



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 28 April 2014

หุ้นภัตตาคารVSบ้านจัดสรร

กลุ่มหุ้น  “ยอดนิยม-ตลอดกาล”  กลุ่มหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ก็คือ  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้านและคอนโดเพื่อขาย  หรือเรียกง่าย ๆ  ว่าหุ้นบ้านจัดสรร  เพราะนี่คือธุรกิจที่มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากในตลาดและมีนักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยซื้อขายหุ้นแต่ละวันจำนวนมาก  หุ้นในกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่งจะได้รับความนิยม  แต่เป็นหุ้นที่มีความคึกคักมานานหลายสิบปีแล้ว  มีแค่บางช่วงสั้น ๆ  ที่หุ้นซบเซาลง เช่น  ในภาวะที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤติขึ้นเท่านั้นที่ทำให้หุ้นเหงา  คุณลักษณะของหุ้นบ้านจัดสรรนั้นมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นพอสมควรจนทำให้วิธีการคิดวิเคราะห์นั้นควรจะแตกต่างจากกลุ่มอื่นค่อนข้างมาก

           หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งนั้นยังไม่ได้ร้อนแรงเท่าไรนักเนื่องจากว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดไม่มากเท่าและหลายบริษัทก็ยังทำธุรกิจอย่างอื่นด้วยนั่นก็คือ  ธุรกิจภัตตาคารขายอาหาร  อย่างไรก็ตาม  นับวันผมเชื่อว่าจะมีธุรกิจนี้เข้าจดทะเบียนเพิ่มขึ้นและบริษัทเหล่านั้นก็จะเน้นที่การทำภัตตาคารมากขึ้นเป็น  “Pure Play”  คือพูดได้ว่าเป็นหุ้นขายอาหารแบบภัตตาคารหรือขายอาหารพร้อมรับประทานเป็นหลัก  และเมื่อถึงวันนั้นผมเชื่อว่าหุ้นภัตตาคารจะเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมมากขึ้น   ดังนั้น  เราก็ควรจะมาทำความเข้าใจกับธุรกิจนี้ซึ่งผมคิดว่ามีอะไรน่าสนใจและก็มีความแตกต่างจากหุ้นของกิจการอื่น ๆ  พอสมควร

          ผมจับหุ้นบ้านจัดสรรมาพูดกับหุ้นภัตตาคารในบทความเดียวกันนั้น  เป็นเพราะผมคิดว่าหุ้นสองกลุ่มนี้  แม้ว่าจะดูเหมือนไม่มีอะไรใกล้เคียงกันนั้น  กลับมีความเหมือนกันในหลาย ๆ  เรื่อง  เช่นเดียวกับที่มีความแตกต่างกันในหลาย ๆ  เรื่อง  และถ้าเราเข้าใจก็จะทำให้เราวิเคราะห์หุ้นทั้งสองกลุ่มได้ดีขึ้น

          ความเหมือนกันของธุรกิจสองกลุ่มก็คือ  ตลาดของธุรกิจมีขนาดใหญ่มากคิดเป็นแสน ๆ  ล้านบาทต่อปี  แต่ในขณะเดียวกันมีผู้เล่นหรือผู้ขายหรือให้บริการจำนวนมากโดยที่ไม่มีบริษัทไหนที่จะ Dominate หรือครอบงำธุรกิจได้เลย   พูดง่าย  ๆ  แม้แต่บริษัทที่ใหญ่ที่สุดก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยมาก  ดังนั้น  จึงพูดได้ว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์  ไม่มีใครกำหนดหรือควบคุมตลาดได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  เหตุผลก็คือ  ข้อแรก  ความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคนั้นมีความหลากหลายมาก  ในเรื่องของบ้านก็เป็นเรื่องของทำเลที่ไม่มีบริษัทไหนสามารถจะยึดกุมได้   ส่วนในเรื่องของอาหารนั้น  คนกินก็ต้องการอาหารที่มีรสชาติแตกต่างกันมากมายตลอดทั้งสัปดาห์  เดือนและปี  ความสามารถที่จะสนองความต้องการทั้งหมดเป็นไปไม่ได้  ข้อสองก็คือ  การเข้ามาของบริษัทหรือกิจการใหม่ ๆ  นั้นเกิดขึ้นได้เสมอและทำได้ไม่ยาก  บริษัทเหล่านั้นสามารถที่จะแข่งขันและอยู่ได้ถ้ามีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแม้ว่าจะเป็นกิจการขนาดเล็ก  ดังนั้น  ทั้งสองธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจที่ใครเก่ง  มียี่ห้อ และอาจจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าบ้างก็เติบโต  ใครไม่เก่งก็ค่อย ๆ ถดถอยลง

          ความเหมือนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของสองธุรกิจนี้ก็คือ   แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์  แต่ก็เป็นธุรกิจที่มี “กำไรดี”  นั่นก็คือ กำไรก่อนต้นทุนค่าโสหุ้ยค่อนข้างจะสูง  ดังนั้น  ถ้าบริษัทสามารถขายสินค้าได้สูงพอ  เมื่อหักต้นทุนค่าโสหุ้ยต่าง ๆ  แล้ว  บริษัทก็มักจะสามารถทำกำไรต่อยอดขายได้ค่อนข้างสูง  เหตุผลที่เป็นแบบนี้ก็คือ  ลูกค้าที่ซื้อบ้านหรือลูกค้าที่เข้ามากินอาหารในภัตตาคารนั้น  ไม่ได้เข้ามาเพราะเรื่องของราคาเพียงอย่างเดียว  คุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กัน  ดังนั้น  บริษัทสามารถตั้งราคาที่ทำให้มีกำไรที่ดีได้   และนี่ทำให้บริษัทที่มียอดขายที่ดีสามารถทำกำไรได้สูงโดยไม่ถูกแย่งชิงลูกค้าเหมือนธุรกิจโภคภัณฑ์ที่การแข่งขันขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลัก

            ข้อดีของสองธุรกิจที่คล้ายกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การขยายตัวหรือเพิ่มยอดขายนั้น  ต้องการเงินลงทุนโดยเฉพาะทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นไม่มากนัก  ในส่วนของภัตตาคารนั้น  บริษัทแทบไม่ต้องใช้ทุนอะไรเลย  เนื่องจากมักจะใช้วิธีการเช่าร้านและการขายก็เป็นเงินสดในขณะที่การซื้อวัตถุดิบมักเป็นเงินเชื่อ  แต่ในส่วนของการสร้างบ้านขายนั้น  อาจจะคิดว่าบริษัทต้องลงทุนสร้างบ้านให้เสร็จก่อนที่จะขายได้เงินมา  อย่างไรก็ตาม  บริษัทบ้านจัดสรรนั้นสามารถที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินมาซื้อที่และสร้างบ้านได้ค่อนข้างมาก  ดังนั้น  เงินทุนในส่วนของเจ้าของที่จะต้องใช้จริง ๆ  จึงไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขายหรือเทียบกับกำไรที่จะได้  สรุปก็คือ  นี่ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็น  Capital Intensive  หรือต้องลงทุนสูง  และดังนั้น  จึงเป็นธุรกิจที่ดี

            มาถึงเรื่องความแตกต่างของสองธุรกิจนี้  ผมพบว่าธุรกิจภัตตาคารดูเหมือนจะดีกว่าพอสมควรโดยมีประเด็นสำคัญก็คือ  ธุรกิจภัตตาคารนั้นมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการสูงกว่าธุรกิจบ้านจัดสรรมาก   เหตุผลก็คือ  ข้อแรก  ธุรกิจภัตตาคารนั้นมีจำนวนลูกค้ามากกว่ามาก  บางแห่งอาจจะมีลูกค้าเป็นล้าน ๆ  ราย  ในขณะที่ลูกค้าของบริษัทบ้านจัดสรรนั้นแต่ละปีอาจจะมีแค่หลักพันหรือหมื่นรายเท่านั้น   นอกจากนั้น  การที่ลูกค้าภัตตาคารส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่ซื้อซ้ำหรือเป็นลูกค้าประจำ  นี่ทำให้รายได้ของกิจการมีความสม่ำเสมอ  ในขณะที่ลูกค้าบ้านจัดสรรนั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกค้าใหม่และดังนั้น  บริษัทจะต้องเริ่ม  “นับหนึ่ง”  ใหม่ทุกปี  นี่ทำให้ผลประกอบการอาจจะไม่แน่นอนเนื่องจากสินค้าในปีใหม่อาจจะไม่ “โดนใจ” ลูกค้าใหม่ได้  และข้อสุดท้ายก็คือ  อาหารภัตตาคารนั้น  มีราคาต่ำกว่าบ้านมากและอาหารเป็นสิ่งที่เลื่อนการบริโภคไม่ได้  ดังนั้น  เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย  ยอดขายของภัตตาคารจะถูกกระทบน้อยกว่าบ้านจัดสรรมาก

           ความแตกต่างที่ทำให้ภัตตาคารน่าจะเป็นธุรกิจที่ดีกว่าบ้านจัดสรรอีกข้อหนึ่งก็คือ  ภัตตาคารนั้นมียี่ห้อหรือมีรสชาดอาหารและบริการที่ทำให้ลูกค้า “ติด”  ได้มากกว่าบ้านจัดสรรที่ลูกค้าอาจจะให้คุณค่าของยี่ห้อน้อยกว่ามาก  มองในแง่นี้  ภัตตาคารสามารถสร้างความได้เปรียบที่ยั่งยืนหรือ  Durable Competitive Advantage ได้ง่ายกว่า  ในขณะที่ธุรกิจบ้านจัดสรรนั้นทำได้ยาก

          ความแตกต่างที่สำคัญข้อสุดท้ายที่ทำให้ธุรกิจภัตตาคารน่าสนใจและทำให้มี  “คุณค่า” กว่าธุรกิจบ้านจัดสรรก็คือ  การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม  เหตุผลที่การซื้ออาหารกินเป็นธุรกิจที่โตเร็วกว่านั้น   เป็นเพราะรายได้ของคนไทยนั้นเพิ่มขึ้นในขณะที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง  นั่นทำให้คนยอมจ่ายเงินกินอาหารภัตตาคารที่อร่อยกว่าและต้นทุนเมื่อเทียบกับการทำอาหารกินเองที่บ้านนั้นแคบลง   แต่ในกรณีของบ้านจัดสรรนั้น  อุตสาหกรรมน่าจะโตช้าลงไปเรื่อย ๆ   เหตุผลเป็นเพราะคนไทยนั้นมีอัตราการเกิดน้อยลงมากและจะเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ   ดังนั้น  ความต้องการบ้านจะค่อย ๆ  ลดลงในเวลาไม่นานนัก

           ข้อสรุปของผมก็คือ  ธุรกิจภัตตาคารนั้น  โดยพื้นฐานแล้วเป็นธุรกิจที่ดีกว่าธุรกิจบ้านจัดสรรถ้าบริษัทประสบความสำเร็จ  เหตุผลก็คือ  มันเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ดีพอ ๆ  กันแต่มีความสม่ำเสมอกว่ามากและมีโอกาสที่จะเติบโตตามอุตสาหกรรมได้มากกว่า  ว่าที่จริงหุ้นภัตตาคารในสหรัฐหลายตัว เช่น หุ้นแม็คโดนัลด์นั้นเป็นหุ้นประเภท “ซุปเปอร์สต็อก”  ที่มีมูลค่าสูงมาก  ในตลาดหุ้นไทย  ผมคิดว่าเพิ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของหุ้นภัตตาคารที่จะเติบโต   อย่างไรก็ตาม  การลงทุนในหุ้นภัตตาคารนั้นก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงราคาของหุ้นด้วย  เพราะถึงแม้ว่ากิจการภัตตาคารในระยะยาวอาจจะดีแต่ค่า PE  ก็สูงกว่าหุ้นในกลุ่มบ้านจัดสรร   ดังนั้น  จึงไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าหุ้นในกลุ่มไหนน่าลงทุนกว่า   เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นภัตตาคารของไทยอาจจะไม่สามารถเติบโตกลายเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกก็ได้เมื่อคำนึงถึงว่าบริษัทที่เป็นอินเตอร์แบรนด์อย่างแม็คโดนัลด์หรือ KFC ต่างก็ดำเนินงานในประเทศไทยมาช้านานแล้ว  การเอาชนะภัตตาคารเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
 
Posted by nivate at 10:13 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/04/28/1421




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Tuesday, 6 May 2014

วิธีโต

การลงทุนในหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมแบบหนึ่งก็คือ  การลงทุนในหุ้นที่  “โตเร็ว”  ในราคาที่ไม่แพงหรือราคาถูก  เรื่องของราคานั้น  หุ้นบางตัวก็ดูไม่ยากว่าแพงหรือไม่แพง   แต่หุ้นบางตัวก็ดูยาก  ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและผลประกอบการของบริษัท  ถ้าเราพบหุ้นที่โตเร็วในราคาหุ้นที่ดูไม่ยากว่าราคาไม่แพง  เราก็ควรจะซื้อและถือไว้นาน ๆ   แล้วผลตอบแทนที่ดีก็จะตามมา   ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดในวันนี้ก็คือ  หุ้นที่โตเร็วหรือหุ้นที่โตนั้น  บางทีก็มีความซับซ้อนที่ทำให้เราวิเคราะห์ผิดได้  ถ้าจะให้ดี  เราควรจะต้องรู้ว่าหุ้นตัวนั้นมี “วิธีโต”  อย่างไร  ซึ่งจะทำให้เรามีความมั่นใจว่า  การเติบโตนั้นจะไม่มีอุปสรรคและจะไม่ถดถอยกลับหรือหดตัวลงในภายหลัง

           วิธีโตแบบแรกที่ง่ายและแน่นอนกว่าวิธีอื่น ๆ  อีกหลายวิธีก็คือ  การขยายร้านสาขาของบริษัทไปยังทำเลอื่นที่มีลักษณะของผู้บริโภคและฐานะทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับฐานของลูกค้าเดิมของกิจการ   ตัวอย่างเช่น  กิจการค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งหลายที่ขายสินค้าในประเทศไทยและอาจจะมีร้านค้าครอบคลุมประมาณ 30% ของหัวเมืองในประเทศอยู่แล้ว   การเติบโตต่อไปก็คือ  การขยายสาขาไปยังหัวเมืองที่เหลืออยู่   โอกาสที่บริษัทจะประสบความสำเร็จก็น่าจะสูง  เหตุผลก็คือ  คนไทยนั้นมีพฤติกรรมคล้าย ๆ  กันในการบริโภคสินค้า  ถ้าหัวเมืองหลัก ๆ  ชอบ  คนเมืองอื่นก็น่าจะชอบ  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  รายได้ของคนในเมืองที่บริษัทจะขยายสาขาไปก็น่าจะใกล้เคียงกับเมืองเดิมหรือมีศักยภาพที่จะเป็นลูกค้าของร้านได้       ดังนั้น  การเติบโตโดยวิธีเปิดสาขาเพิ่มในประเทศจึงเป็นวิธีโตที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ  อย่างไรก็ตาม  การเปิดสาขา  “ข้ามประเทศ”  หรือในประเทศอื่นนั้น  บริษัทอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากความแตกต่างของผู้บริโภคและความเข้มแข็งของบริษัทยังไม่มีในตลาดนั้น

            วิธีโตแบบที่สองก็คือ  การเพิ่มปริมาณการขายสินค้าให้กับผู้บริโภคมากขึ้น  นี่คือสินค้าที่ขายให้คนจำนวนมากซึ่งโดยปกติก็จะต้องมีการโฆษณาหรือมีการตลาดที่จะเข้าถึงผู้คนผ่านสื่อสารมวลชนต่าง ๆ   รวมถึงการที่ผลิตภัณฑ์จะต้องโดนใจลูกค้าเป้าหมาย  เช่นเดียวกัน  ช่องทางจัดจำหน่ายก็จะต้องทั่วถึงและจะต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ  อีกมาก   การเพิ่มปริมาณการขายนั้น  ยังขึ้นอยู่กับภาวะอุตสาหกรรมด้วยว่าสินค้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงของการเติบโต  อิ่มตัว  หรือถดถอย  ถ้าอุตสาหกรรมกำลังเติบโต  โอกาสที่บริษัทจะโตเร็วก็จะมากขึ้น  ถ้าอุตสาหกรรมอิ่มตัวหรือกำลังถดถอย  ก็เป็นเรื่องยากที่กิจการจะโตไปได้อย่างราบรื่น   ดังนั้น  การเติบโตโดยวิธีนี้  จึงเป็นการเติบโตที่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารของบริษัทและภาวะของอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เป็นเรื่องยาก   อย่างไรก็ตาม  ถ้าบริษัทไหนสามารถทำได้ดี  นี่ก็จะเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพ  เพราะเมื่อโตแล้วบริษัทก็มักจะสามารถรักษาการเติบโตต่อไปได้ไม่เปลี่ยนไปง่าย ๆ

           การเติบโตแบบที่สามก็คือ   โตเพราะราคาสินค้าปรับตัวขึ้น  นี่มักจะเกิดกับธุรกิจที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาปรับตัวขึ้นลงตามภาวะอุปสงค์-อุปทานของประเทศไทยหรือของโลก  การเติบโตแบบนี้  ซึ่งบางช่วงนั้นกินเวลาหลายปีอาจทำให้เราเข้าใจว่าบริษัทนั้นเติบโต  แต่จริง ๆ  แล้ว  การเติบโตนั้นอาจจะสะดุดหรือแม้แต่ถดถอยลงก็เป็นได้เนื่องจากราคาสินค้าอาจจะปรับตัวลดลงในอนาคต  ดังนั้น  การเติบโตแบบนี้จึงเป็นการโตที่ไม่ใคร่มีคุณภาพ  ในหลาย ๆ  บริษัทที่มีการใช้กำลังการผลิตเต็มที่แล้วและอยู่ในอุตสาหกรรมที่สินค้ามีราคาผันผวนมาก  เราอาจจะต้องบอกเลยว่ามันเป็นบริษัทที่  “ไม่โต”  แม้ในช่วงสั้น ๆ  ยอดขายจะเพิ่มขึ้นมาก

          การเติบโตแบบที่สี่ก็คือ  โตเพราะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น  นี่คือการเติบโตของธุรกิจที่มีลูกค้าน้อยรายและซื้อครั้งละมาก ๆ  เพื่อที่จะนำไปใช้งานหรือไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อที่จะไปขายต่อ   ตัวอย่างเช่น  โรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ   บริษัทรับเหมาก่อสร้าง  เป็นต้น  การเติบโตแบบนี้มีข้อเสียที่สำคัญก็คือ  มาร์จินหรือผลกำไรต่อยอดขายมักจะไม่ใคร่สูงและบ่อยครั้งไม่คงที่ขึ้นอยู่กับสภาวะการแข่งขันในแต่ละช่วง  เช่นเดียวกัน  การเติบโตบางครั้งก็ไม่ยั่งยืนเนื่องจากผู้ซื้อมักเป็นรายใหญ่ที่มีอำนาจในการต่อรองสูงและสามารถเปลี่ยนผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการซึ่งทำให้ยอดขายของบริษัทหดหายไปได้มาก  ดังนั้น  การโตของบริษัทแบบนี้ก็อาจจะมีคุณค่าไม่มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริษัทต้องลงทุนสูงและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 12%-13% ต่อปี

           วิธีการเติบโตแบบที่ห้าก็คือ  การโตโดยการซื้อหรือควบรวมกิจการ  วิธีนี้อาจจะทำให้ยอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดดและไม่ลดลงในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  การโตโดยวิธีนี้มักจะไม่มีประโยชน์ถ้า   หนึ่ง  มันเป็นการซื้อกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการเดิมของบริษัท  และสอง มันอยู่ในกิจการเดิมหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมแต่มันไม่ได้สร้าง Synergy หรือสร้างประโยชน์จากการรวมกิจการเข้าด้วยกันมากพอ  การโตแบบนี้เราไม่ควรที่จะไปเพิ่มค่าให้กับหุ้นเลยยกเว้นแต่ว่าราคาซื้อกิจการจะต่ำมาก   อย่างไรก็ตาม  การโตโดยการ Take Over ธุรกิจเดียวกันที่สามารถช่วยลดต้นทุนหรือเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้มากโดยที่ราคาซื้อไม่สูงเกินไปนั้น  ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการเติบโตที่ดีได้

            การโตเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การโตในธุรกิจการเงิน  วิธีโตในธุรกิจการเงินนั้น  หลายเรื่องเป็นเรื่องง่ายแต่มีความเสี่ยงสูงและอาจจะไม่มีประโยชน์   การโตที่มีประโยชน์  เช่น  การโตของฐานเงินฝากที่เป็นประชาชนทั่วไปนั้นเป็นเรื่องยากพอสมควรและต้องใช้เวลา  แต่เมื่อโตแล้วก็ทำให้บริษัทมีต้นทุนเงินทุนที่ต่ำต่อเนื่องยาวนานและปริมาณค่อนข้างแน่นอน    การโตที่ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวเช่น  2-3 ปีขึ้นไปก็อาจจะล้มเหลวก็คือ  การเติบโตของสินเชื่อหรือลูกหนี้   เพราะการโตของสินเชื่อนั้น  ในช่วงแรกก็มักจะก่อให้เกิดรายได้สูงกว่ารายจ่ายที่เป็นต้นทุนของดอกเบี้ย  แต่เมื่อเวลาผ่านไปลูกหนี้อาจจะผิดนัดชำระหนี้กลายเป็นหนี้เสียซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุน  ประเด็นก็คือ  เราไม่รู้ว่าลูกหนี้ที่ปล่อยไปจะกลายเป็นหนี้เสียมากน้อยแค่ไหน  เราเพียงแต่รู้ว่า  การปล่อยเงินกู้นั้นสามารถทำได้ง่ายและเราสามารถโตได้ง่ายถ้าเรายอมปล่อยให้ลูกหนี้ที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี  ดังนั้น  การโตของสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ปล่อยเงินกู้เราจึงไม่ควรให้คุณค่ามากนักถ้าเราไม่มั่นใจว่าคุณภาพของลูกค้าเป็นอย่างไร

            การเติบโตของกิจการนั้น   ยังมีประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การเติบโตนั้นดีหรือมีคุณค่าไม่เท่ากันนั่นก็คือ  มันเป็นการโตที่ต้องลงทุนมากน้อยแค่ไหน?    ถ้าการโตต้องใช้เงินลงทุนสูง  การโตก็มีประโยชน์น้อยลงเทียบกับการโตที่ไม่ต้องลงทุนมาก  เหตุผลสำคัญก็คือ  ถ้าต้องใช้เงินลงทุนมากผลตอบแทนการลงทุนก็น้อยลง  และถ้าน้อยลงจนถึงจุดหนึ่ง  เช่น  ทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 10%  ต่อปี  ก็ไม่มีประโยชน์ที่บริษัทจะทำ  ในกรณีแบบนี้  บริษัทควรจะจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นจะดีกว่า  เพราะผู้ถือหุ้นสามารถที่จะนำเงินนั้นไปลงทุนในกิจการอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  ในอีกด้านหนึ่ง  การโตที่ต้องใช้ทุนมากนั้น  เราก็ต้องดูด้วยว่าทุนนั้นใช้ทำอะไร?  ถ้าเป็นอุปกรณ์แบบ  “ไฮเท็ค”  หรือเป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรพิเศษที่มีความเฉพาะตัว  เราก็ต้องระวังว่ามันอาจจะล้าสมัยได้ง่ายและทำให้เราต้องลงทุนเพิ่มเติมในภายหลังซึ่งทำให้กระแสเงินสดลดน้อยลง

           สุดท้ายที่ผมยังไม่ได้พูดถึงแต่อยากเตือนก็คือ  “ราคาของการเติบโต”  เพราะบ่อยครั้ง  บริษัท“ซื้อการเติบโต”  ด้วยราคาที่แพงมาก  และนั่นอาจจะไม่คุ้มค่าโดยเฉพาะถ้าผลประโยชนที่จะได้นั้นไม่ชัดเจน   
 
Posted by nivate at 3:02 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/05/06/1425




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
กลยุทธ์การลงทุน :เหตุการณ์ที่สร้างราคา

          บริษัทใดก็ตามที่มี Free Cash Flow หรืองบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักงบลงทุนเป็นบวกใน ไตรมาสแรก หลังจากติดลบมาหลายๆ ปี ราคาหุ้นตัวนั้นจะมีการตอบสนองเป็นบวกและบวกมากๆ ด้วยนักลงทุน ทุกคนต่างต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ (Abnormal Returns) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหมั่นศึกษาถึงงบการเงิน งบกระแสเงินสด ภาวะอุตสาหกรรม ความคิดของนักลงทุนสถาบันของหุ้นตัวนั้น เพื่อหาปัจจัยบวก (Drivers) ใน การผลักดันราคาหุ้นว่าจะปรับตัวขึ้นเมื่อไรและอย่างไร

          Drivers ต่างๆ เหล่านี้ จะมาพร้อมกับการปรับมุมมองของการลงทุนให้ดีขึ้น (Upgrade) นำไปสู่การเปลี่ยน คำแนะนำในที่สุด เช่น จากคำแนะนำเดิมจาก "ถือ" (Hold) เป็น "ซื้อ" (Buy) หรือจาก "ซื้อ" เป็น "ซื้ออย่างเต็มที่" (Strong Buy) แต่ Drivers ต่างๆ เหล่านี้ จะต้องเป็นสิ่งที่ตลาดไม่ได้คาดหมาย

          ถ้านักลงทุนสามารถคาดการณ์เหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ นักลงทุนท่านนั้นก็สามารถมีผลตอบแทน สูงกว่าปกติได้ (Buy before market expectations) เนื่องจากในตอนที่หุ้นตัวนั้นราคาถูกๆ นักลงทุนส่วนใหญ่ยัง ไม่มีหุ้นนั้นในพอร์ต จะเป็นสภาพ Under-owned Stocks เมื่อมีข่าวดีแบบไม่ได้คาดหมาย (Unexpected Good News) นักลงทุนจะรุมซื้อ และทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นในที่สุด

         ในทางกลับกัน ถ้านักลงทุนได้คาดการณ์เหตุการณ์นั้นแล้ว ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตแล้ว หุ้นตัวนั้นจะกลายเป็น สภาพ “Over-owned” คือสภาพที่ทุกคนมีหุ้นตัวนั้นอยู่ในพอร์ต เมื่อข่าวดีออกมา จะถูกเทขายทำกำไรทันที กลายเป็นสภาพ Buy on expectations and sell on facts

          ผมได้รวบรวมเหตุการณ์ 13 เหตุการณ์ (จริงๆ มีมากกว่านี้มาก) ที่จะเป็นตัวผลักดัน หรือทำให้หุ้นมีโอกาส ปรับ ตัวขึ้นในขณะที่ราคายังต่ำอยู่

          กรณีที่ 1 : ผลการดำเนินงาน "มากกว่า" คาดหมาย (Results beat market expectations) เช่น หุ้นใน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีตัวหนึ่ง นักวิเคราะห์และนักลงทุนได้คาดการณ์ว่า ผลกำไรในไตรมาส 1 ของปี 2548 ได้ กำไรกว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 250 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกันกับไตรมาสเดียวกันนี้แล้ว ซึ่งเป็นผล การเติบโตของกำไรอย่างมหาศาล แต่เมื่อบริษัทได้ประกาศผลการดำเนินงานแล้ว ก็เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด แต่ราคาหุ้นตัวนั้นกลับถูกแรงเทขายทำกำไร แสดงว่า การคาดการณ์ผลการประกอบการที่ดีนั้น ได้ถูกคาดการณ์ และนักลงทุนได้ซื้อหุ้น (Build Position) ไว้แล้ว นักลงทุนกลับมุ่งความสนใจไปในผล การดำเนินงานในไตรมาส ถัดไปทันที (Forward Expectation) แต่ในทางกลับกัน ถ้าผลกำไรของบริษัทได้เพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท ซึ่งมาก กว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก หุ้นบริษัทปิโตรเคมีตัวนั้นจะตอบสนองในทางบวกทันที เนื่องจากบรรดานักวิเคราะห์ จะพากันพาเหรดกันปรับผลกำไรขึ้นทันที (Upgrade and Re-rate)

          กรณีที่ 2 : งบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักงบลงทุน (Free Cash Flow) เป็นบวกในไตรมาส แรกหลังจากติดลบมานาน ผมได้ศึกษาเรื่องนี้มา 15 บริษัท พบสิ่งที่น่าสนใจว่า บริษัทใดก็ตามที่มี Free Cash Flow หรืองบกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักงบลงทุนเป็นบวกในไตรมาสแรก หลังจากติดลบมาหลายๆ ปี ราคาหุ้นตัวนั้นจะมีการตอบสนองเป็นบวกและบวกมากๆ ด้วย การที่ Free Cash Flow เป็นบวก สะท้อนให้เห็นถึง ธุรกิจกำลังฟื้นตัว (Turn Around) เนื่องจากบริษัทได้ผ่านขั้นตอนการลงทุนไปแล้ว และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว ดอก ผลจากการลงทุนนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เหลือจากการลงทุน สามารถคืนหนี้ได้เร็วขึ้น และจ่ายเงิน ปันผลให้ผู้ถือหุ้นเร็วขึ้น แต่ถ้า Free Cash Flow ยังคง "ติดลบ" หมายความว่า บริษัทต้องกู้เงินเพิ่ม หรืออาจต้อง รบกวน กระเป๋าเงินผู้ถือหุ้นเพิ่มโดยการเพิ่มทุน เช่นในปี 2546 Free Cash Flow ของ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART) เป็นบวกครั้งแรกในไตรมาส 3 ในรอบหลายปี ประกอบกับบริษัทได้ประสบความสำเร็จ ในการปรับโครง สร้างหนี้ด้วย หนี้ได้ลดลงอย่างมหาศาลในปีนั้น ทำให้ราคาหุ้นของ SAMART ได้ทะยานขึ้นราว 4-5 เท่า ในระยะ เวลา 1 ปี

          กรณีที่ 3 : การเปลี่ยนแปลงภาวะอุตสาหกรรม หุ้นจะเป็นไปตามวัฏจักรของอุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) ซึ่งจะมีผลต่ออำนาจการต่อรอง (Pricing Power) ของผู้ซื้อและผู้ขาย และกระทบต่อกำไร (Margins) ของผู้ขายเช่นเมื่อปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ในประเทศไทย มีจำนวนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Property Development) จำนวนมากกว่า 2,000 ราย แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จำนวนผู้ประกอบการกลับลดลงเหลือแค่ 100-200 ราย ในขณะที่ความต้องการบ้านถึงแม้จะลดลงแต่การลดลงยังน้อยกว่าจำนวนผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่ ซึ่งแน่นอนต้องเป็นผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่อยู่รอด สามารถกำหนดราคาขาย ได้ ในช่วงปี 2542-2547 เป็นยุคทองของผู้แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เช่น บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ในกรณีที่ผู้ขายรายอื่นล้มหายตายไป หรืออยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ LH กลับสามารถทำกำไรขั้นต้น (Gross Margins) โตถึง 40-45 เปอร์เซ็นต์ แทบจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของวงการอสังหาริมทรัพย์ ลักษณะ วัฏจักรอุตสาหกรรมแบบนี้เรียกว่า “Oligopoly Business” (อุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการน้อยราย แต่ผู้ประกอบการ สามารถตั้งราคาขายที่มีกำไรสูงได้) ซึ่งอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing Power) จะอยู่ที่ผู้ขาย หุ้นของบริษัท ในอุตสาหกรรมจะปรับตัวขึ้นอย่างมาก เช่น ราคาหุ้น LH ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 20 บาท (Par 10 บาท) มาเป็น 14 บาท (Par 1 บาท) เนื่องจากกำไรจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเมื่อไรก็ตามเมื่อกำไรมาก ก็ต้องดึงดูด จำนวนผู้ประกอบการเข้ามามากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการรายเก่าที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้สินมา มีการลดเงิน ต้นและลดดอกเบี้ยมากมาย ทำให้ต้นทุนของบริษัทเหล่านี้ถูกลง

            สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีผู้ประกอบการหน้าใหม่และหน้าเก่าเกิดขึ้นแทบจะทุกวันในปี 2546 ถึง 2547 วัฏจักร อุตสาหกรรมเปลี่ยนทันทีจาก Oligopoly เป็นการแข่งขันกันอย่างค่อนข้างดุเดือด (Perfect Competition) ราคา หุ้นของบริษัทในกลุ่มนี้ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน โรงกลั่นโรงสุดท้ายที่สร้าง ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสร้างเมื่อปี 2538-2539 จากนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โรงกลั่นไม่ว่าจะดีอย่างไรก็ขาดทุน มหาศาล ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ไทยออยล์ (THAI OIL), บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (STAR Refinery) เนื่องจากหนี้เพิ่มขึ้นและความต้องการลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนหลบเลี่ยงในช่วงนั้น ราคา หนี้ของโรงกลั่นเหล่านี้ถูกเทขายในราคา 25 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาด (ราคาได้ตกต่ำกว่าราคาหนี้มาก) จาก นั้นใช้เวลาประมาณเกือบ 8-9 ปี ทำให้กลุ่มโรงกลั่นถึงมีกำไรมากๆ ถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ธนาคารที่ซื้อหนี้ ของไทยออยล์ ที่ราคา 25-30 เปอร์เซ็นต์ ของราคาหน้าตั๋ว แล้วแปลงหนี้เป็นทุนสามารถทำกำไรมหาศาล

          กรณีที่ 4 : การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์หรือแก้ไขสัญญาสัมปทาน เช่น ในกรณี บมจ.ไอทีวี (ITV) เมื่อปี 2547 ที่ได้รับการลดค่าสัมปทานจากที่ต้องจ่ายปีละกว่า 1,000 ล้านบาท มาเป็นจ่ายปีละ 200-300 ล้านบาท หรือการที่บริษัทยูบีซี (UBC) สามารถมีโฆษณาในเคเบิลทีวีได้ ตลอดจนการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้ของบริษัท โทรคมนาคมต่างๆ ซึ่งการแก้ไขเหล่านี้ ค่าต้นทุนและการแบ่งรายได้กับภาครัฐลดลง ผลกำไรของบริษัทนั้นเพิ่ม ขึ้น แต่ถ้ามีการกลับคืนของสัญญาสัมปทาน ราคาหุ้นก็พร้อมจะปรับตัวลงทันที

          กรณีที่ 5 : การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใหม่หรือเป็นมืออาชีพ (Strategic Partner) เช่น ในกรณีที่ บมจ.แมกเนคคอมพ์ พรีซิชั่น (Magnecomp) เข้าซื้อกิจการ บมจ.เค อาร์ พรีซิชั่น (KRP) เมื่อปลายปี 2547 ในอดีต KRP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์แขนจับหัวอ่าน ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ขาด ทุนมาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา และต้องมีการเพิ่มทุนอยู่เสมอ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ KRP ไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ เมื่อแมกเนคคอมพ์ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้เข้าซื้อกิจการของ KRP โดยการออกหุ้น ทำการแลกหุ้น (swap) และเอาโรงงานของแมกเนคคอมพ์ในสิงคโปร์มา ภายในไตรมาส แรกหลังเข้าซื้อกิจการ บริษัท KRP และแมกเนคคอมพ์มีผลการประกอบการที่ดีขึ้น นอกจากนี้ราคาที่แลก หุ้นกัน ทำให้เกิดค่าความนิยม (Good Will) น้อยมาก ทำให้บริษัทแมกเนคคอมพ์ไม่ต้องมีการคิดค่าใช้จ่ายทางด้าน ความนิยมด้วย หรือในกรณี บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย (TPI) ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ซึ่งบมจ. ปตท. (PTT) และ “พันธมิตร” ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 3.30 บาท นักลงทุนก็มีความ เชื่อว่าหลังจากที่ บมจ.ปตท เข้ามาบริหารงานใน IRPC อาจจะทำให้มูลค่าหุ้นของ IRPC เพิ่มขึ้นกว่ามูลค่าทาง บัญชีได้

          กรณีที่ 6 : หุ้นที่ได้รับความสนใจภายใต้สภาพเศรษฐกิจภาวะใดภาวะหนึ่ง ในปกติสภาวะเศรษฐกิจจะมี ทั้งเงินเฟ้อและเงินฝืด ในสภาวะใดสภาวะหนึ่งของเศรษฐกิจ อาจก่อให้เกิดกระแสเกี่ยวกับการลงทุน (Investment Theme) เกิดขึ้น เช่น ในภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งเป็นสภาวะที่ปริมาณสินค้ามีมากกว่าความต้อง การ (Over Capacity) ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวลดลง กำลังซื้อหดอย่างฉับพลัน ผู้บริโภคชะลอ การซื้อ ทำให้สินค้าหลายอย่างขายไม่ได้ กระแสการลงทุนในช่วงนี้จะเน้นไปสู่หุ้นกลุ่มที่มีอำนาจผูกขาด (Monopoly) หรือมีอำนาจเหนือผู้บริโภค เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้พลังงาน ทำให้หุ้นกลุ่ม พลังงานขนาดใหญ่บางบริษัท มีอำนาจในการผูกขาดหรือเกือบผูกขาดเป็นระยะเวลานาน อำนาจกึ่ง ผูกขาดนี้อาจ มาจากสิทธิมอบให้จากภาครัฐ หรือความที่บริษัทนั้นมีส่วนแบ่งตลาดมหาศาลจนสามารถกำหนดราคาได้ หรือเป็น บริษัทที่กระแสเงินสดแข็งแกร่ง จนกระทั่งการขยายตลาดในอนาคตนำไปสู่การผูกขาดในระยะยาว (Life-long Monopoly) เงินจะไหลไปสู่การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้และจะทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ

          กรณีที่ 7 : การเป็นบริษัทหายาก (Scarcity) โดยลักษณะผลิตภัณฑ์หรือรายได้ของบริษัทเหล่านี้ต้องไม่ เหมือนใครในท้องตลาด (มี Unique and Scarcity) จะมีอุปสงค์ (Demand) สูงทำให้นักลงทุนยินดีที่จะจ่ายราคา แพง (Premiums) เพื่อซื้อหุ้นกลุ่มนี้ P/E Ratio ของหุ้นกลุ่มนี้จะไม่ต่ำ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่นักลงทุนให้ Premium กับหุ้นกลุ่มนี้ เช่น หุ้นในกลุ่มพลังงานตัวหนึ่ง ทำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถซื้อขายที่ PE สูงถึง 20-30 เท่าได้ ตราบเท่าที่บริษัทจะมีผลกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถ้าผลกำไรเติบโตลดลง หุ้นก็มีโอกาส ปรับตัวลงได้อย่างมาก

         กรณีที่ 8 : หุ้นที่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ และธุรกิจจนสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์จากการล้มละลาย (Bankruptcy and Distress) จะสังเกตได้ว่าก่อนวิกฤติทางการเงินปี 2540 บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้ลงทุน ในธุรกิจต่างๆ นอกเหนือจากธุรกิจที่ตัวเองทำและถนัดอยู่ โดยมีความคิดว่าการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ (Diversified) ถือว่าเป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ไกล (High Vision) และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้ โดยที่ตัวเอง ไม่มีความชำนาญ การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเป็นผู้ถือร่วมในลักษณะการร่วมทุน (Joint Ventures) ในอัตราส่วน 20-25 เปอร์เซ็นต์ โดยหวังจะได้ผลกำไร (Equity Accounting) มาช่วยผลกำไรบริษัทแม่ โดยมิได้ สนใจว่าบริษัทร่วมทุนนั้นจะมีเงินปันผลหรือไม่ เพื่อต้องการให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทแม่ดูดี เพื่อทำจะได้ P/E ที่ต่ำ หรืออาจจะจัดตั้งในรูปแบบบริษัท Holding Company ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งในขณะนี้ใช้โครงสร้างแบบนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงของรายได้

         บริษัทก่อสร้างใหญ่ๆ ก็มักทำโครงสร้างแบบร่วมทุนโครงการต่างๆ เพื่อการประมูลงาน หรือเข้าไปถือใน บริษัทซัพพลายเออร์ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มักเป็นเงินกู้ เมื่อเศรษฐกิจถดถอย กระแสเงินสดในบริษัทร่วมทุน เหล่านี้ไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัทแม่ที่ยืมมาร่วมทุนได้ ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ มีการ ลดเงินต้นและลดดอกเบี้ย (Hair cut) ทำให้มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้น และมีการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ สินทรัพย์หลัก (Non-core Assets) เช่น บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งแน่นอนว่า ราคาหุ้นของบริษัท นั้นจะทรุดหนัก แต่นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษ ต้องหาจังหวะลงทุนในช่วง “ราคาที่ถูกทุบ ลงมา” (Distress) โดยที่เราต้องศึกษาและมั่นใจว่า บริษัทนั้นต้องไม่ถูก “ลดทุน” หรือถูก Written off ในส่วน ของทุนจดทะเบียนจนหมด ผมเคยแนะนำให้ “เฮดจ์ฟันด์” ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ผลตอบแทน 14 เท่า ในรอบ 2 ปี

         กรณีที่ 9 : การนำบริษัทลูก (Subsidiary) หรือบริษัทร่วม (Associates) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าให้บริษัทแม่ เพราะบริษัทแม่สามารถมี “กำไรที่ยังไม่รับรู้” (Unrealized Gains) เนื่องจากเป็นมูลค่า ซ่อนเร้น ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทแม่เพิ่มขึ้น ถ้ามูลค่าของบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมอยู่ในงบดุลของบริษัทแม่ มูลค่าเหล่านั้นจะถูกบันทึกเป็นมูลค่าทางบัญชีเท่านั้น แต่ถ้าบริษัทลูกและบริษัทร่วมนั้นถูกจดทะเบียนใน ตลาด หลักทรัพย์ มูลค่านั้นจะเป็น “มูลค่าตลาดทันที” (Market value) ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีมูลค่าประมาณ 2-3 เท่าของมูล ค่าทางบัญชี บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัทที่ได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถค้นหาได้ว่า บริษัท ไหนมีมูลค่าซ่อนเร้นอยู่โดยการเปลี่ยนจากมูลค่าทางบัญชี เป็นมูลค่าตลาด เราก็ลงทุนหุ้นตัวนั้นล่วงหน้าก่อน ก่อนที่คนทั่วไปจะค้นพบ

         กรณีที่ 10 : บริษัทที่มีโครงสร้างทางการเงินหรือธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisitions) การควบรวมกิจการจะเกิดขึ้นได้ ถ้าบริษัทที่ต้องการซื้อ (Acquirers) เห็นประโยชน์ที่ “ซ่อนเร้น” (Hidden) หรือไม่ซ่อนเร้นในกิจการที่บริษัทกำลังถูกซื้อหรือ “ควบรวมกิจการ” (Takeover Target) ทำให้เกิดการ เก็งกำไรได้ บริษัทที่มีโอกาสถูกควบรวมกิจการ มักมีลักษณะ

          ก.เป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ (Assets) , ที่ดิน (Land Bank) หรือใบอนุญาต (Licenses) ที่ซ่อนอยู่มหาศาล จนกระทั่งมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านั้น มีมูลค่ามากกว่ามูลค่าหุ้นทั้งหมดของ บริษัท (Market Capitalization) หรือมากกว่ามูลค่ากิจการทั้งหมดของบริษัท (Enterprise Value) อย่าลืมว่า Enterprise Value จะมีค่าเท่ากับมูลค่า หนี้สินสุทธิ + มูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งโดยปกติมูลค่า Enterprise value จะมีค่ามากกว่ามาร์เก็ตแคปเสมอ ยกเว้นในกรณีที่บริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้หรือมีเงินสดในมือ

          ข.บริษัทที่ขาดทุนสะสมมากจนสามารถนำ “ขาดทุนสะสม” (Loss Carried Foreword) มาใช้ในการหักภาษี ได้

          ค.มีเงินสดในมือมากกว่ามาร์เก็ตแคป จะเห็นว่า บางช่วงขณะ ราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์บางบริษัท ได้ ตกลงมามาก จนกระทั่งมูลค่าเงินสดในงบดุลมากกว่ามาร์เก็ตแคปเสียอีกทำให้เป็นโอกาสในการถูกซื้อกิจการเพื่อ เอาเงินสดในบริษัทได้

          ง.การควบรวมกิจการในลักษณะแนวดิ่ง (Vertical Integration) ซึ่งสามารถทำได้ทั้งทางขึ้นหรือต้นน้ำ (Upward) และทางลงหรือปลายน้ำ (Downward) เช่น บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ หรือ NPC มีความพยายามที่จะ ขยายกิจการไปทางปลายน้ำ เพื่อลดความผันผวนของกำไรและราคาผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตอยู่ หรือกรณีกลุ่ม ธนาคารขนาดใหญ่ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ทำ ธนาคารเต็มรูปแบบ (Universal Banking) ทำให้ ธนาคารขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องการต่อยอดธุรกิจสินเชื่อประเภทเช่าซื้อ หรือ Leasing ที่ตัวเองยังไม่มีความถนัด กลุ่มบริษัท Leasing หรือสถาบันการเงินที่จะเป็นเป้าหมายในการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ บริษัทที่ถูก เข้าซื้อจะมีลักษณะทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในอัตราส่วนที่สูงหรือกองทุนขั้น 1 เช่น ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยปกติ สถาบันการเงินถ้ามีทุน 10 บาท สามารถขยายสินเชื่อได้ 10-12 เท่า หรือ 100 บาท หรือ 120 บาท

          ถ้ามี “อัตราส่วนกองทุนขั้นที่หนึ่งสูง” หมายความว่า สถาบันการเงินนั้นสามารถขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มทุน นอกจากนี้การควบรวมอาจจะควบรวมกิจการทางแนวราบ (Horizontal Integration) เพื่อลด จำนวนคู่แข่งหรือสกัดดาวรุ่งก็ได้ เช่น การควบรวมกิจการระหว่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) กับ อีจีวี (EGV) แต่การควบรวมกิจการแบบนี้อาจก่อให้เกิดค่า “กู๊ดวิลล์” (Good will หรือส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายกับ มูลค่าทางบัญชี) และจะทำให้บริษัทที่เป็นบริษัทแม่ (Acquirers) มีกำไรที่ลดลงจากการตัดค่าใช้จ่ายทางกู๊ดวิลล์ ได้ แต่ถ้าการควบรวมกิจการเป็นไปในลักษณะการเกิดบริษัทใหม่ หรือ Amalgamation เช่นกรณี บมจ.ปิโตรเคมี แห่งชาติ (NP) กับ บมจ.ไทยโอเลฟินส์ (TOC) การรวมลักษณะนี้ทำให้ บมจ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สามารถมีสิทธิในการออกเสียงได้ ตลอดจนนำไปสู่การลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น บมจ.ไทยโอเลฟินส์ ได้

          เหมือนสมัยหนึ่งนานมาแล้ว บริษัทเคเบิลทีวี 2 แห่งในประเทศไทย เช่น ยูทีวี กับ ไอบีซี รวมกันเกิดบริษัท ใหม่เป็น “ยูบีซี” แต่ถ้าการควบรวมแบบซื้อกิจการเลยเหมือนในกรณีเมเจอร์ ผู้ถือรายใหญ่จะไม่มีสิทธิในการออก เสียง

         กรณีที่ 11 : การเพิ่มทุนแต่กลับทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นและทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น เช่น กรณีบมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) ที่มีการเพิ่มทุนในปี 2546 และการเพิ่มทุนนี้ทำให้ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets) หลังเพิ่มทุนสูงขึ้น

         กรณีที่ 12 : การที่บริษัทสามารถเริ่มจ่ายเงินปันผลให้เป็นครั้งแรก (Dividend Signaling)ไม่ว่าจะมาก หรือ น้อยก็ตาม ราคาหุ้นจะตอบสนองในทางบวกทันที เช่น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) เริ่มจ่ายปันผลในปี 2546 หลังจากเป็น Holding company ที่ไม่จ่ายปันผลเสียนาน ราคาหุ้น SHIN ก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อมา

         กรณีที่ 13 : การที่ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าสร้างใหม่ (Replacement Cost) มาก ซึ่งจะทำให้หุ้นของบริษัทนั้น มีการปรับตัวขึ้นมาก เช่น HMPRO (เมื่อกลางปี 2547) TPI (เมื่อกลางปี 2547 เช่นกัน) รายละเอียดในเรื่องนี้ ผม จะขยายความต่อไป เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเราสามารถหาหุ้นที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นสูงเป็น ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ราคา

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ Money Game โดย วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล
ขอขอบคุณ คุณเงินเย็น ที่อนุเคราะห์สำหรับบทความที่ดี

ที่มา:
http://www.thaistockinfo.com/forum2010/f0058.html



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

principles of Success



Paktor

ณ โรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง มีป้ายติดไว้ว่า..

(1.01)^365 = 37.8 และ (0.99)^365 = 0.03

อาจจะงงเล็กน้อยว่า มันหมายความว่าอย่างไร??
เชื่อว่า..เมื่อท่านรู้ความหมายแล้วจะทึ่ง!!!

1.01 หมายถึง ถ้าหากเราเพิ่มความขยันขึ้นเพียงวันละเล็กน้อย คือ มากกว่าแค่ 0.01 เราก็จะขยันขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย เราจะขยันขึ้นกว่าเดิม 37.8 เท่า ในเวลา 1 ปี !!

ในทางตรงข้าม ถ้าหากเราทำตัวแบบผลัดวันประกันพรุ่ง เหยาะแหยะ ลดความขยันลงเรื่อยๆ เช่น เอาน่า..วันนี้เหนื่อยแล้ว พักหน่อยนึง เมื่อวานก็อ่านเยอะแล้ว ให้รางวัลตัวเองหน่อยละกัน อ่านลดลงนิดนึงนะ ถ้าทำไปเรื่อยๆ แบบนี้ ในเวลาเพียงหนึ่งปี เราจะขยันลดน้อยลงกว่าเดิมถึง 33.3 เท่า !!

ดังนั้น จงอย่าดูถูกความขยัน แม้เพียงเล็กๆน้อยๆ ก็ตาม แล้วสุดท้าย เราก็จะได้เห็นผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ของมันอย่างแน่นอน!!

เชื่อว่า..หลักคิดนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง..
คราวนี้คงรู้กันแล้วนะว่า... “คนญี่ปุ่น เขาสร้างชาติกันได้อย่างไร??”

goPaktor
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=718917928152223&set=a.613030392074311.1073741829.593155360728481&type=1

Cr. : Superposition



福田愛 คือ ประเด็น ที่เค้า เขียนมา เค้าไม่ได้ ให้คำณวนตัวเลขค่ะ เค้าจะเปรียบเทียบ กับตัวเลขเฉยๆ ค่ะ เเต่ถ้าจะคำณวนก็จะออก มาเเบบนั้น
เค้าเปรียบเทียบว่า

>>1.01 = มีค่า มากกว่า เลข1 นิดเดียว
>>0.99= 0.99 มีค่า น้อยกว่า เลข1
>>ค่าของ 0.025518(0.3)จะมีความเเตกต่างของเลข1.01กับ0.99 นิดเดียว
เเต่ถ้าเอา เลข สองอย่างนี้ มารวมกันเป็นระยะเวลหนึ่งปี
สิ่งที่คิดว่า มีค่าน้อย ถ้ารวม เป็นความพยายาม ก็จะ ประสบความสำเร็จผล เหมือนหลักคณิตศาสตร์ 1.01^365=37.783
0.99^365=0.02

1.01 ถ้าคุณพยายาม กับ0.09 ที่คุณขี้เกียจ

" เวลาจะทำอะไร ถ้าใช้เวลาเป็นปีๆ การกระทำที่สะสมเรื่อยๆมาก็จะประสบความสำเร็จ"

ยกตัวอย่างง่ายๆ
มีคน สองคน คนนึง พยายาม วิดพื้นทุกวัน วันละสิบครั้ง กับอีกคน นึง กินๆๆๆ โดยไม่ออกกำลังกาย คุณคิดว่า คนสองคนนี้ อีกหนึ่งปีจะเป็นเช่นไร??

หรือ

มีออมสิน อยู่ หนึ่งใบ คนนึง สะสม เงินวันละสิบบาท กับอีกคน มีออมสินเเละไม่หยอด อีกหนึ่งปีต่อมา จะเป็นเช่นไร

เค้า ให้เปรียบเทียบ ความพยายาม ที่เราทำสะสม ค่ะ

ขอโทษนะคะถ้าเเตกประเด็น
แปลตามเว็บที่เซิรทค่ะ http://search.yahoo.co.jp/search?p=1.01&ei=UTF-8&fr=applep1&pcarrier=SoftBank&pmcc=440&pmnc=20

福田愛 การคำณวน เเบบ1.01(365)=378
เเปลภาษายี่ปุ่นตามป้าย "ถ้าคุณ พยายามเเค่ไหน ความพยายาม นั้น ก็จะส่งผลต่อคุณ "

การคำณวน0.99(365)=0.03
แปลภาษายี่ปุ่น ตามป้าย"ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่พยายาม ไม่ว่าจะทำอะไร ความสำเร็จก็จะไม่สำริดผล "

มันเป็นการคำณวนของ ท่านประธาน rakuten ชื่อ มิขิทานิ ท่านกล่าวว่า ถ้า คนเรา พยายาม ทำให้ 1.01 เป็นพลังต่อสู้ ทุกวันๆ (นับหนึ่งวันเป็นปี =365 วัน)
วันที่เหลือ ก็จะฮึด สู้ได้ เเต่ทางกลับกัน ถ้า 0.99 เปอรเซนต์ คุณไม่สุ้ 365วัน ที่เหลือก็จะไม่มีค่า
ตามสูตรคำณวน
1.01^365 =37.783 ปัดเศษ เปน 38
เเละ 0.09^365=0.255
ปัดเศษ เป็น 0.3

ท่านได้ตั้งชื่อการคำณวน นี้ว่า
principles of Success



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

Thai Focused Equity Fund Agora Vancouver talk July 26, 2012

<a href="http://www.youtube.com/v/86TDce8wVAI#t=1071" target="_blank" class="new_win">http://www.youtube.com/v/86TDce8wVAI#t=1071</a>



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Tuesday, 19 May 2014

ลอนดอน...เมืองที่สองของโลก

ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวลอนดอน  หรือพูดให้ตรงกว่าก็คือ  ไป “เยี่ยมเยือน” ลอนดอนอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ไปมาหลายครั้ง  เหตุที่ผมไปลอนดอนบ่อยกว่าอีกหลาย ๆ  เมืองส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกสาวผมได้ไปเรียนปริญญาโทที่นั่น  และผมก็เชื่อว่าคนไทยอีกหลาย ๆ  คนที่ไปลอนดอนบ่อยกว่าไปเมืองอื่นก็คงมีเหตุผลคล้าย ๆ  กับผมที่ว่าไปลอนดอนเพราะลูกเรียนหนังสืออยู่    แต่ลอนดอนไม่ได้ดึงดูดเฉพาะคนที่ไปเรียนและครอบครัวเท่านั้น  ลอนดอนดึงดูดคนไปเยี่ยมเยือนหลากหลายมากจนทำให้มันกลายเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลกแทนที่เมืองปารีสไปแล้วในการจัดอันดับปีล่าสุดที่ลอนดอนได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวประมาณ 17-18 ล้านคนถ้าผมเข้าใจไม่ผิด  ในความรู้สึกของผม  ลอนดอนและอาณาเขตรอบ ๆ  ลอนดอนนั้น  ไม่ใช่เป็นแค่เมืองที่น่าเที่ยวเท่านั้น   แต่มันกำลังกลายเป็นหรือมีศักยภาพที่จะเป็น  “เมืองที่สองของโลก”

           ความหมายของเมืองที่สองของโลกก็คือ  มันคล้าย ๆ  กับ  “บ้านที่สอง”  ของเรา  เราอาจจะอยู่กรุงเทพเป็นหลักแต่มีอีกบ้านหนึ่งอยู่ที่เขาใหญ่หรือเชียงใหม่เรียกว่าเป็นบ้านที่สองที่เราจะไปพักเป็นบางโอกาส  หรือในบางทีก็ไปอยู่เลยนาน ๆ  และอาจจะกลายเป็น “บ้านที่หนึ่ง” หรือบ้านแรกเลยก็ได้เวลาที่เราเกษียณหรือต้องการ “หลบ”  จากอะไรบางอย่างหรือต้องการ  “ลี้ภัย”  ไปอยู่ในที่ ๆ  ปลอดภัยหรือปลอดจากสิ่งไม่พึงประสงค์  สำหรับผมแล้ว  ลอนดอนมีคุณสมบัติที่จะเป็น “เมืองที่สอง”  ของคนทั่วโลกมากกว่าเมืองอื่น ๆ  อีกหลายเมืองเช่นเดียวกับที่มันเป็นเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก  มาดูกันว่าทำไม?

          เรื่องแรกก็คือ  ภาษาของเมืองที่เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลที่คนใช้กันทั่วโลก  นี่ทำให้คนที่ไปเที่ยวหรือไปอยู่มีความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารโดยไม่ต้องไปเรียนรู้อะไรใหม่  เราสามารถไปท่องเที่ยวได้เองโดยไม่ต้องอาศัยล่าม  คนในลอนดอนนั้นสามารถที่จะเข้าใจคำพูดของเราแม้ว่าสำเนียงภาษาอังกฤษของเราจะไม่ดีนัก  อาจจะเนื่องจากพวกเขาคุ้นเคยกับคนต่างชาติหลากหลายมาก  เช่นเดียวกัน  คนที่ให้บริการที่เราต้องใช้นั้น  จำนวนมากก็เป็นคล้าย ๆ  กับเราคือเป็นชาวต่างชาติหรือมีเชื้อสายต่างชาติเช่นเป็นชาวอินเดียในอังกฤษที่มีอยู่มาก  ดังนั้น  เราจึงไม่ค่อยรู้สึกว่าจะอึดอัดมากนักที่จะพูดภาษาอังกฤษในสำเนียงที่แปลกจากเจ้าของภาษา

          เรื่องที่สองก็คือ  ลอนดอนนั้นเป็นเมืองที่เป็น  “นานาชาติ”  มาก  สังเกตได้จากคนที่อยู่ในรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีคนที่มีหน้าตาและผิวพรรณหลากหลายโดยเฉพาะที่เป็นชาวเอเซียใต้เช่นอินเดียหรือปากีสถานที่เป็นเมืองในเครือจักรภพของอังกฤษเป็นจำนวนมาก  ในสถานที่อื่น ๆ  โดยเฉพาะในสถานที่ ๆ  ให้บริการเช่นร้านค้าต่าง ๆ  ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารนั้น  พนักงานก็มักเป็นคนที่มาจากคนเชื้อชาติอื่น  ที่ไม่ใช่คนอังกฤษ  ดังนั้น  ความรู้สึก “แปลกแยก”  ของคนจะมีน้อย  ความรู้สึกประเภท  “เหยียดผิว”  ในลอนดอนเองนั้นผมก็แทบไม่เจอเลย  เหตุผลอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะคนอังกฤษและโดยเฉพาะคนในลอนดอนนั้นมีความ  “ก้าวหน้า”  มาก  และพวกเขาได้ผ่านสภาวการณ์การเลวร้ายด้านเชื้อชาติมามากและเข้าใจและยอมรับการอยู่ร่วมกันของคนต่างเชื้อชาติสูง  ดังนั้น  นี่ทำให้การอยู่ในลอนดอนเราจะไม่รู้สึกว่าเป็น  “ประชาชนชั้นสอง”  เราได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันกับคนอื่น ๆ

          เรื่องที่สามคือสาธารณูปโภค  โดยเฉพาะการเดินทางนั้น  ลอนดอนน่าจะเป็นเมืองที่มีความสะดวกมากที่สุดแห่งหนึ่ง  เหตุผลก็เพราะแทบทุกแห่งที่เราจะไปนั้นสามารถไปโดยรถไฟฟ้าใต้ดินได้โดยที่ไม่ต้องเดินมากนัก  ค่าโดยสารก็ไม่แพงและเราสามารถตีตั๋วเป็นรายวันหรือรายสิบวันหรือรายเดือนได้โดยที่เราจะสามารถไปได้ทุกแห่งที่กำหนด  ตั๋วนั้นนอกจากรถไฟใต้ดินแล้วยังใช้ร่วมกับรถเมลบนดินที่สะดวกสบายด้วย  นอกจากนั้น  แท็กซี่ในลอนดอนเองก็มีมากและสามารถเรียกได้ทุกแห่ง  ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  รถบนท้องถนนนั้นมีไม่มากและไม่ติดแม้ในช่วงเร่งรีบ  พูดง่าย  ๆ  การเดินทางในลอนดอนนั้น  ใช้เวลาค่อนข้างน้อยไม่ว่าจะไปที่ไหน  ดังนั้น  การอยู่ในลอนดอนนั้นทำให้เรามีเวลาทำสิ่งต่าง ๆ  ได้มากเพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางมากนัก

          เรื่องของการพักผ่อนหย่อนใจและความบันเทิงต่าง ๆ  นั้น  ลอนดอนมีไม่น้อยหน้ากว่าใคร  เริ่มตั้งแต่  “ของฟรี”  เช่น  สวนสาธารณะเช่น  ไฮด์ปาร์ค ที่ใหญ่โตและสวยงามเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และทะเลสาบ  ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ  เช่น  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ  วิทยาศาสตร์  สงคราม  ศิลปะและภาพวาด และอื่น ๆ  ที่ไม่เก็บค่าผ่านประตู  ซึ่งผมคิดว่าเป็นนโยบายที่ยอดเยี่ยมของอังกฤษที่จะส่งเสริมให้คนมาชมและศึกษาประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม และความก้าวหน้าของประเทศและของโลกผ่านพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นและดูแลอย่างดีเยี่ยมสุดยอด  ทุกครั้งที่ผมไปลอนดอน ผมก็มักจะต้องไปสวนและไปพิพิธภัณฑ์บางแห่ง  นอกจากของฟรีแล้ว  ลอนดอนยังมีสิ่งบันเทิงที่ดีระดับโลกเช่น  การแสดงละครเพลงที่มีโรงละครระดับมาตรฐานจำนวนมาก  นอกจากนั้น  คนที่ชอบฟุตบอล  ลอนดอนก็เป็น “สวรรค์”อีกแห่งหนึ่งของพวกเขา  เพราะมีการแข่งขันของทีมดังในพรีเมียร์ลีกอยู่แทบจะตลอดปี

          ความปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการอยู่อาศัยและการท่องเที่ยวนั้น  ลอนดอนเองก็เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสูงมาก  การเดินอยู่ตามถนนแม้ว่าจะหลังเที่ยงคืนไปแล้วก็มักจะไม่มีปัญหาอะไร  เช่นเดียวกับอันตรายจากรถยนต์เองก็ไม่สูงเหตุเพราะว่าผู้ขับขี่มักจะจอดให้คนเดินข้ามถนนตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด  โรคภัยจากอาหารหรืออากาศเป็นพิษนั้นก็ดูเหมือนว่าจะน้อย   ว่าที่จริงผมไม่เคยท้องเสียเพราะเรื่องของอาหารเลยในลอนดอน เช่นเดียวกับการเป็นหวัดเพราะติดเชื้อ

          การศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการอยู่อาศัยนั้น  ในลอนดอนมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ดีระดับโลกมากมาย  ทั้งหมดสอนเป็นภาษาอังกฤษ  อีกเรื่องหนึ่งก็คือ  เรื่องของการเงินนั้น  ลอนดอนเป็นศูนย์กลางทางการเงินทำให้มีความสะดวกมากในการโอนเงิน  ฝาก  ลงทุน  และการถอนเงินมาใช้จ่ายไม่ว่าคุณจะเป็นคนจากประเทศไหน  ทั้งหมดนี้ทำให้ลอนดอนเป็นเมืองที่น่าอยู่และทำให้คนทั่วโลกถ้าเลือกได้มักจะอยากเลือกอยู่ลอนดอนเป็นบ้านที่สอง  ที่อาจจะเป็นประเด็นอยู่บ้างก็คือเรื่องของค่าครองชีพที่ลอนดอนนั้นไม่ได้ถูกอย่างอีกหลายเมือง  ค่าบ้านหรือค่าเช่าอพาร์ตเม้นต์เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ  อย่างมีราคาแพง  แต่นี่ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนรวย

          สถิติปัจจุบันก็คือ  ลอนดอนนั้นมีคนรวยที่ติดระดับโลกสูงที่สุด  พวกเขาบางส่วนมาจากหลายประเทศ  คนดังฮอลลีวูดเช่น  มาดอนน่าเลือกอยู่ลอนดอน  เจ้าของห้างแฮรอดที่ดังระดับโลกชาวอียิปต์ก็อยู่ลอนดอน  ดร. ป๋วย อึ๊งภากร  ตอนหนีจากเมืองไทยสมัย 6 ตุลา 19 ก็ไปอยู่เมืองใกล้ลอนดอน  ว่าที่จริงนักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยนั้นผมเชื่อว่ามี “เซฟเฮ้า” หรือบ้านอยู่ในหรือใกล้ลอนดอน  และนักธุรกิจหรือคนรวยจำนวนไม่น้อยในเมืองไทยก็มีบ้านอยู่ในลอนดอน  เหตุผลก็เพื่อเอาไว้ให้ลูกหลานอยู่เวลาไปเรียน  และบางคนก็อาจจะซื้อไว้ลงทุน  คนเชื่อมั่นในประเทศอังกฤษที่ซึ่งระบบกฎหมายมีมีความแน่นอนชัดเจนมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง  เชื่อมั่นในคนอังกฤษที่มีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันของคนทุกคน  และทั้งหมดนี้ก็ทำให้ถนนของ  “คนรวย”  ทั่วโลกมุ่งสู่ลอนดอน
 
Posted by nivate at 9:58 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/05/19/1428




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Tuesday, 26 May 2014

IPO ร้อน ๆ


ตั้งแต่ปี 2552 หรือหลัง “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” เป็นต้นมา  ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องยกเว้นก็อาจจะปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงเล็กน้อย  ผลของมันก็คือ  ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ที่มุ่งมั่นจำนวนไม่น้อยร่ำรวยไปตาม ๆ  กันจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลาไม่นานเพียง 4-5 ปี  เหตุผลที่นักลงทุนทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนได้มโหฬารนั้น  นอกจากเรื่องของการที่ตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้นสูงและเร็วมากแล้ว  ยังอยู่ที่กลยุทธ์ในการลงทุนที่พวกเขาเน้นในหุ้นตัวเล็กที่มีการเติบโตสูงกว่าดัชนีโดยรวมมากด้วย  นี่เป็นประเด็นแรก   อีกประเด็นหนึ่งก็คือ  VI หรือนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเหล่านั้นยังมีการใช้มาร์จินหรือกู้เงินซื้อหุ้นในอัตราที่สูงมากซึ่งช่วย  “ขยาย”  ผลตอบแทนเป็นทวีคูณ  ผลก็คือ  ผลตอบแทนของนักลงทุนบางกลุ่มนั้นสูงลิ่วปีละหลายสิบหรือบางทีเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ และอาจจะทำให้หุ้นตัวเล็กเป็นหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยสนใจมากกว่าหุ้นตัวใหญ่มาก

           อาการที่หุ้นตัวเล็กที่มีผลประกอบการที่ดีหรือมี  Story หรือเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น  “วิ่ง”  ระเบิด  เมื่อมีการ  “โหม” เข้าซื้อของนักลงทุนนั้น  ผมคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่ “บูม”  จัดเป็นกระทิง  ยิ่งบูมนาน  หุ้นดังกล่าวก็จะมีมากและบ่อยขึ้น  แต่เมื่อการปรับตัวของดัชนีขึ้นไปสูงมากและนานพอจนอาจจะเริ่มชะลอตัว  หุ้นตัวเล็กที่มีผลการดำเนินงานดีและมีสตอรี่เด่นก็ถูกค้นพบและมีราคาปรับตัวขึ้นไปจนเกือบหมด  การวิ่งระเบิดของหุ้นตัวเล็กก็จะน้อยลง  นักลงทุนจำนวนหนึ่งก็จะหันมาหาหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถมาทดแทน   และนี่ก็คือหุ้นที่เข้าตลาดครั้งแรกหรือเข้ามาเทรดใหม่ที่เรียกกันว่าหุ้น  IPO  พวกเขาเข้ามาซื้อขายหุ้นเหล่านี้กันอย่าง  “บ้าคลั่ง”  โดยเฉพาะในวันแรก ๆ  ของการเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นมักปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่วจนไม่น่าเชื่อ  ราคาหุ้นคิดตามค่า PE หรือ PB สูงหรือแพงมากพอ ๆ  หรือมากกว่าหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก”   ในฐานะของ VI  เรามองหุ้น IPO อย่างไร?

            ประการแรก  ผมคิดว่าหุ้น IPO หลายตัวในภาวะตลาดบูมนั้น  อาศัยสภาวะของการเก็งกำไรที่มีอยู่มากในตลาดหุ้นเข้ามาระดมทุนและสร้างมูลค่าของกิจการที่สูงกว่าความเป็นจริง  พูดง่าย ๆ  บริษัทสามารถขายบางส่วนของกิจการในราคาที่สูงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น  เงินที่บริษัทได้รับจากการขายหุ้น IPO นั้นมีมากพอที่จะทำให้บริษัท  “สบาย”  และสามารถที่จะ “เติบโต”  เร็วขึ้นซึ่งสำหรับบริษัทนั้นแทบไม่มีอะไรจะเสียเลย  ในส่วนของเจ้าของนั้น  แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเมื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น   แต่มูลค่ารวมของความมั่งคั่งวัดจากจำนวนและราคาของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดก็มักจะสูงขึ้นมากจากเดิมที่ความมั่งคั่งนั้นวัดได้ไม่ชัดเจนเพราะไม่มีราคาซื้อขาย  แต่สำหรับนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้น IPO นั้น  พวกเขาได้อะไร?

            ในระยะสั้น  ในภาวะที่ตลาดหุ้นยังอยู่ในโหมดของความสดใส  การซื้อ  “หุ้นจอง”  หรือหุ้น IPO  ก่อนเข้าตลาดนั้นดูเหมือนว่าจะ  “ปิดประตูขาดทุน”  เหตุเพราะว่าวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดนั้น  การเก็งกำไรหรือแม้แต่  การ “ดูแลราคาหุ้น”  ของเจ้าของหรือใครก็ตาม  มักจะทำให้ราคาหุ้นสามารถขึ้นไปเหนือราคาจองเสมอ  และถ้าโชคดี  ราคาขึ้นไปสูงกว่าราคาจองหลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือบางทีเป็นร้อย  คนได้หุ้นจองก็ทำเงินได้ง่าย ๆ อย่างรวดเร็วจากการลงทุนไปเพียงไม่กี่วัน   แต่ปัญหาก็คือ  หุ้นจองในภาวะที่ตลาดหุ้นร้อนแรงนั้น  “หาได้ยาก”  ถ้าคุณไม่ได้เป็นนักเล่นหุ้นรายใหญ่หรือมีสายสัมพันธ์พิเศษกับเจ้าของบริษัทหรือผู้รับประกันการจำหน่ายหุ้น   ส่วนการเข้าไปซื้อหุ้นที่เข้าใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ในวันแรก ๆ  ของการซื้อขายนั้น  ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการเก็งกำไรล้วน ๆ  ด้วยเหตุผลที่ว่า  หุ้นจองหรือ IPO ในความเห็นของผมนั้น  มักจะถูกตั้งราคาที่สูงกว่าพื้นฐานอยู่แล้วโดยที่ปรึกษาและรับประกันการจำหน่ายหุ้น  และถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นในวันแรก ๆ  ที่ราคาวิ่งสูงขึ้นไปอีก  นั่นก็แปลว่าเรากำลังซื้อหุ้นที่ยิ่งสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก  ดังนั้น  ถ้าเราถือหุ้นลงทุนระยะยาว  เราก็น่าจะขาดทุนมากกว่าที่จะกำไร  เพราะในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งเข้าสู่พื้นฐานของมัน

            เหตุผลที่ผมเชื่อว่าหุ้น IPO ส่วนใหญ่นั้นถูกกำหนดให้มีราคาสูงกว่าพื้นฐานนั้น  เป็นเพราะว่าราคานั้นมักถูกกำหนดโดยเจ้าของบริษัทที่รู้จัก “พื้นฐาน” ของบริษัทเป็นอย่างดี  และขายให้กับนักลงทุนโดยทั่วไปที่มักจะไม่รู้จักกับบริษัทเลยหรือรู้จักแบบผิวเผินแต่มาซื้อหุ้นเพราะหวัง “เก็งกำไร”  ในระยะสั้น  ดังนั้น  เขาจึงไม่สนใจมากนักว่าราคาจะแพงหรือถูก    อาจจะมีข้อถกเถียงว่าคนที่กำหนดหรือคำนวณราคาหุ้น IPO คือผู้ที่รับประกันการจำหน่ายหุ้นซึ่งก็คือที่ปรึกษาการเงินที่มีความรู้ในการประเมินราคาหุ้นเป็นอย่างดี  ดังนั้น  ราคาหุ้นที่ขาย IPO ก็น่าจะเป็นราคาที่ยุติธรรม  ว่าที่จริงโบรกเกอร์ก็มักจะพูดว่าราคาหุ้นที่ตั้งนั้นมี  “ส่วนลด” จากราคาพื้นฐานด้วยซ้ำ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าขายไม่หมดเขาก็ต้องรับซื้อหุ้น IPO  นั้นไว้เอง  ดังนั้น  ราคาหุ้น IPO จึงไม่น่าจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น  แต่ข้อถกเถียงนี้ผมคิดว่าอาจจะไม่ถูกต้อง  ข้อโต้แย้งของผมก็คือ ข้อแรก  ที่ปรึกษาไม่รู้หรือไม่สามารถประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมได้จริง  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอิงตัวเลขบางตัวเช่น  ค่า PE ของปีที่ผ่านมาหรือปีปัจจุบันที่กำลังจะมาถึงโดยที่บ่อยครั้งบริษัทนั้นไม่ได้มีผลประกอบการที่มั่นคงสม่ำเสมอพอที่จะใช้กำไรที่เห็นในช่วงสั้น ๆ  มาประเมินมูลค่าหุ้นได้  เป็นต้น  ข้อสอง โบรกเกอร์ไม่มีปัญหาในการขายหุ้น IPO ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูม  ดังนั้น  เขาก็ไม่กลัวว่าจะขายหุ้น IPO ไม่ได้

            เหตุผลที่ผมไม่ใคร่สนใจซื้อหุ้น IPO หลังจากเข้ามาเทรดในตลาดใหม่ ๆ  อีกข้อหนึ่งก็คือ  หุ้นเหล่านี้มักจะมีประวัติหรือข้อมูลผลประกอบการที่สั้นมากเพียง 2-3 ปีที่เปิดเผยให้เราเห็น  นอกจากนั้น  เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนมาก่อน  ความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็มักจะไม่เพียงพอ  ที่สำคัญก็คือ  ข้อมูลผลประกอบการปีล่าสุดเองนั้นก็มักจะต้องถูกทำให้ดูดีเพื่อที่ที่ปรึกษาการเงินจะได้สามารถตั้งราคาหุ้นให้สูงขึ้น  ดังนั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ากำไรที่ดูดีนั้นมาจากการ  “แต่งตัว”  หรือทำให้ดูดีด้วยวิธีการทางบัญชีหรือเกิดจากกลยุทธ์ประเภทดึงกำไรให้เกิดก่อนแล้วค่อยไปลดกำไรในภายหลังหรือไม่  ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมอาจจะไม่เข้าใจหรือรู้จักบริษัทจริง ๆ  และเป็นความเสี่ยง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นใหม่ ๆ  เหล่านี้มีอัตราของการเก็งกำไรสูงมากมองจากอัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนมือของหุ้นที่สูงลิ่ว  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็มักจะสูงกว่าความเป็นจริง   ผมจึงมักเลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่งหรือซื้อขายหุ้น IPO โดยเฉพาะการซื้อขายหลังจากเข้าตลาดไปแล้ว

            แน่นอนว่ามีหุ้น IPO บางตัวที่ “ร้อนแรง”  ตั้งแต่วันเปิดจอง    ร้อนแรงมากในวันที่เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยและผลประกอบการของบริษัทที่ประกาศออกมาดูน่าประทับใจรวมถึงการคาดการณ์อนาคตที่ดูสดใส  หรือร้อนแรงมากเนื่องจากเหตุผลที่ว่ามันเป็นหุ้นตัวเล็กที่มีหุ้นจำนวนน้อยและอาจจะมีคนที่เล่นหรือ “ดูแล” หุ้นอย่างมีประสิทธิผล  แต่ในระยะยาวแล้ว  ราคาหุ้นก็จะต้องสะท้อนถึงพื้นฐานที่แท้จริงของมัน  และนั่นก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดหุ้นซบเซาหรือนักลงทุนหมดความสนใจในตัวหุ้นเนื่องจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คนคาดหวัง  ราคาหุ้นก็จะตกลงมาอย่างหนักและคนที่ซื้อหุ้นไว้ก็จะเสียหาย  ดังนั้น  โดยทั่วไปแล้ว  ถ้าผมได้หุ้นจองมา  ผมก็มักจะขายหุ้นค่อนข้างเร็วหลังจากที่มันเข้าซื้อขายในตลาด  โอกาสที่ผมจะถือเก็บไว้ยาวนานมีน้อย  โอกาสที่ผมจะซื้อหุ้น IPO ที่เข้าตลาดใหม่ ๆ เพื่อเก็บไว้ยาวเพื่อลงทุนแทบจะไม่มีเลย  เมื่อผมยังเป็นเด็กนั้น  มีเนื้อเพลงเกี้ยวสาวยอดนิยมประโยคหนึ่งบอกว่า  “เก่า ๆ  เป็นสนิม  ใหม่ ๆ  หน้าตาจุ๋มจิ๋ม”  แต่ในตลาดหุ้นนั้น  ผมคิดว่าหุ้น เก่า ๆ  นั้นไม่เป็นสนิมและหุ้นใหม่ ๆ  นั้นหน้าตาก็ไม่จุ๋มจิ๋ม ครับ
 
Posted by nivate at 2:42 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/05/26/1429




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
สุข แบบ vi สบาย แบบ 3 แวลูอินเวสเตอร์

เปิดใจ 3 แวลูอินเวสเตอร์เล่นหุ้นอย่างไรให้ 'สุข+รวย' ยึดหลักการ 'ง่ายๆ-พอเพียง-มีเหตุผล' รับทั้งกำไรได้ทั้งความสุขแบบทูอินวัน

เป็นนักลงทุนมายาวนานและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บ ไซต์ Thaivi.com แต่ด้วยหน้าที่การงาน ทำให้ ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เพิ่งมีโอกาสบอกเล่าประสบการณ์ลงทุนเป็นครั้งแรก เจ้าตัวเน้นย้ำก่อนว่าเป็นการลงทุนส่วนตัวเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำที่ทำอยู่

จุดเริ่มต้นในกระดานหุ้น ธันวาเล่าว่าหลังเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นและมีเงินเก็บพอสมควร จึงเริ่มลงทุนหุ้นตามคำชักชวนของคนรู้จัก สมัยนั้นยังใช้ระบบ เคาะกระดาน ผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน อยู่ตึกอมรินทร์ทาวเวอร์

ผมลงทุนตามอารมณ์สิบกว่าปีกำไรได้นิดเดียว แต่ขาดทุนเยอะล้างพอร์ตแล้วสองสามครั้ง ผ่านวิกฤติตั้งแต่อิรักบุกคูเวต จนถึงลอยตัวค่าเงินบาทปี 2540 เจ็บตัวมาตลอดทาง

จุดเปลี่ยนในชีวิตนักลงทุนของธันวา เกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางไปประเทศ สิงคโปร์มีโอกาสอ่านหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ และ ตีแตก ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ถึงเริ่มเดินเข้าสู่วิถีนักลงทุนหุ้นคุณค่า

ช่วงแรกๆ ผมเลือกลงทุนหุ้นปันผลเป็นหลัก ต่อมาก็พัฒนาเริ่มดูภาพเศรษฐกิจใหญ่ประกอบเน้นธุรกิจที่จับต้องได้และสามารถประเมินผลประกอบการข้างหน้าได้

พอร์ตลงทุนในปัจจุบัน มีหุ้นอยู่ 5 ตัว เป็นกลุ่มโมเดิร์นเทรด 2 ตัว โรงพยาบาล และอาหาร ส่วนตัวจะเลือกหุ้นที่อิงกับ "ปัจจัยสี่" แต่ให้น้ำหนักกับหุ้นที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าและที่อยู่อาศัยน้อยกว่าอาหารและยา ที่สำคัญต้องเป็นผู้นำในธุรกิจและมีธรรมาภิบาลระดับสูงด้วย

ธันวา อธิบายว่าข้อดีของหุ้นโรงพยาบาล คือ ลูกค้าแทบจะไม่มีอำนาจต่อรองราคาได้เลย ผลประกอบการก็ดีปันผลสูง แต่บางตัวก็ติดกับดักสภาพคล่อง โอกาสขายออกมีน้อย

โครงสร้างผู้ถือหุ้นก็สำคัญ ธันวาเลือกที่จะลงทุนบริษัทที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้บริหารด้วย เพราะจากประสบการณ์ผู้บริหารที่ไม่มีหุ้นจะให้ความสำคัญกับกิจการน้อยกว่าคนที่มีหุ้นในมือ

ด้วยภารกิจในงานประจำที่เร่งรัด จึงต้องลงทุนหุ้นไม่กี่ตัว ปกติจะถืออยู่ที่ 5 ตัว แต่ก็ติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่องถ้ามีเวลาก็จะไป Company Visit ทุกไตรมาส

นอกจากนี้ผมยังลงกองทุนหุ้นไว้ 3 กองเพราะผมคิดว่าผลตอบแทนยังไงก็ดีกว่าไปลงทุนแบบอื่นแน่นอน

ธันวา เล่าให้ฟังอีกว่า ทุกวันนี้พอใจกับชีวิตการเป็นแวลูอินเวสเตอร์ มีกลุ่มนักลงทุนที่มีแนวคิดเหมือนกับเป็นเพื่อนพูดคุย เมื่อมีการจัดกิจกรรมของชมรมก็จะมาแนะนำนักลงทุนหน้าใหม่ทุกครั้ง

ส่วนการลงทุนครั้งใหญ่ของชีวิต เร็วๆ นี้ กำลังเตรียมสร้างบ้าน "หลังที่สอง" รวมถึงวางแผนการศึกษาให้บุตรสาว "สองคน" สร้างสมดุลระหว่าง "สุขใจ" และ "สบายกระเป๋า" ได้อย่างลงตัว

ด้าน พรชัย รัตนนนทชัยสุข คนไทยเพียงคนเดียวที่คลั่งไคล้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงขนาดดั้นด้นไปซื้อหุ้น "เบิร์คไชร์ ฮาธะเวย์" (Berkshire Hathaway) เพื่อหวังไปพบตัวจริงเสียงจริงของ "บัฟเฟตต์" ในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีถึงเมืองโอมาฮา สหรัฐอเมริกา

พรชัย เป็นผู้แปลและเรียบเรียงหนังสือของวอร์เรน บัฟเฟตต์, เบนจามิน เกรแฮม, ปีเตอร์ ลินช์ รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนหลายเล่ม เขาจบปริญญาตรีด้านเภสัชกรเมื่อปี 2537 เริ่มทำงานครั้งแรกในบริษัทยาแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ (MBA) และได้เข้าทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงก์ ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต

พรชัย เริ่มต้นชีวิตนักลงทุนเมื่อประมาณปี 2535-2537 ซึ่งตลาดหุ้นบูมมาก แต่ก็เล่นแบบเก็งกำไรและไม่ประสบความสำเร็จ

"แรกๆ ผมเลือกหุ้นโดยกางบทวิเคราะห์โบรกเกอร์ว่าเขาเชียร์หุ้นตัวไหนบ้าง แต่แล้วก็ขาดทุน เพราะเราไม่ได้ดูเลยว่า ราคาหุ้น ค่าพี/อี ค่าพี/บี ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร พอซื้อเข้าไปจึงขาดทุน ช่วงที่เข้าไปดัชนี 1,000 จุดต้นๆ หลังจากนั้นมันตกลงมาต่ำสุด 207 จุด ผมรู้สึกเลยว่าการเชื่อผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่วิธีที่ทำกำไรได้"

จากประสบการณ์ครั้งนั้นเขาจำได้ว่า ซื้อหุ้นไว้ที่ดัชนี 1,300 จุด ตกลงมาเหลือ 200 จุด แต่หุ้น SE-ED ราคากลับขึ้นจาก 28 บาท ไป 36 บาท เริ่มเห็นว่ามันมีหุ้นบางตัวที่เอาชนะตลาดได้ จากนั้นมาก็เป็นแวลูอินเวสเตอร์เต็มตัว โดยวิธีการลงทุนจะค้นหาหุ้นที่ราคาตลาดถูกกว่ามูลค่ากิจการที่คำนวณได้ และต้องเป็นธุรกิจที่คาดการณ์รายได้ในอนาคตได้ ไม่ผันผวน มีจุดแข็งในธุรกิจ และมองเห็นคู่แข่งว่าเป็นใคร

"หุ้นพวกอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี งานประมูล พวกนี้ไม่แน่นอนคาดเดาไม่ได้เลย หุ้นพวกนี้ต้องหลีกเลี่ยง"

พอร์ตส่วนตัวตอนนี้พรชัยเปิดเผยว่า มีหุ้นไทยแค่ 2 ตัวเท่านั้น ตอนนี้เน้นถือเงินสดเพราะมองว่าราคาหุ้นขึ้นมาเยอะมากแล้ว แต่เริ่มนำเงินไปลงทุนที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนตรง ปัจจุบันมีอยู่ 8 ตัว โดยให้เหตุผลว่าต้องมีเยอะกระจายความเสี่ยงเพราะข้อมูลน้อยกว่าเมืองไทย

"ผมแบ่งสัดส่วนพอร์ตถือเงินสด 20% หุ้นที่สหรัฐฯ 10% ที่เหลือเป็นหุ้นไทยสองตัว 60-70% ถ้าผมลงทุนหุ้นกระจุกเพียงไม่กี่ตัว แปลว่า ผมมั่นใจในตลาดหุ้นมากๆ แต่ถ้าซื้อหลายตัว แปลว่า ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง"

ช่วงเวลาที่ขายหุ้น ปกติจะถือหุ้นไว้จนกว่าราคาจะขึ้นมาใกล้เคียงกับมูลค่าที่คำนวณไว้ หรือไปเจอหุ้นตัวอื่นที่มีมูลค่าถูกกว่าก็จะสลับตัวเล่น แต่บางครั้งถ้ารู้ว่าเลือกผิดตัวก็จะตัดใจขายไปเลย

สถานการณ์ที่ตลาดหุ้นลงมาแรงๆ อย่างช่วงปลายปี 2551 พรชัยบอกว่า หุ้นในพอร์ตไม่ได้ตกลงไปมาก แต่ถือโอกาสขายตัวที่แพงออกไปแล้วไปซื้อตัวอื่นที่ถูกกว่า เพื่อให้หุ้นในพอร์ต Under Value ตลอดเวลา

แนวทางของผมก็คือ เราซื้อหุ้นในตลาดไม่ใช่ซื้อตลาดหุ้น ส่วนใหญ่ผมไม่ได้จำต้นทุนหรอก กำไรก็ไม่ได้จำ ถือว่าการลงทุน คือ ความสุขของชีวิต

ทุกวันนี้การลงทุนหลักๆ ยังคงเป็นการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อกองทุนหุ้นเหมือนกัน นอกจากนี้ก็ยัง "ลงทุนความรู้" โดยบินไปอบรมด้านการลงทุนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบีย รวมถึงให้ความสำคัญกับครอบครัวด้วย

แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นการลงทุนเหมือน กันก็คือ การบินไปประชุมผู้ถือหุ้น เบิร์คไชร์ ฮาธะเวย์ ที่เมืองโอมาฮา สหรัฐอเมริกา พยายามทำให้ได้ทุกปี เจ้าตัวเผยว่าเป็น "ความสุข" ที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เพราะได้กระทบไหล่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตัวเป็นๆ

ทางด้านแวลูอินเวสเตอร์หมายเลขหนึ่งของเมืองไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ยอมรับในสังขารตอนนี้ แก่ลง คำนวณอะไรเยอะๆ ไม่ไหว วิธีเลือกหุ้นที่จะลงทุนจะดูบริษัทที่ทำงานเหมือน พนักงานเก็บเงิน มีความแน่นอนสูงและมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินได้ต่อเนื่องในอนาคต

บริษัทต้องไม่ลงทุนมาก แต่รับเงินเรื่อยๆ เราแค่มองดูว่า อนาคตผู้คนยังเลือกที่จะเดินทางไป ให้เก็บเงินอีกหรือไม่ แต่ไม่ใช่หุ้นทางด่วนนะบอกก่อน เจ้าตัวว่า ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าอาจารย์นิเวศน์ หมายถึงหุ้น CPALL ที่มีติดพอร์ต 22.50 ล้านหุ้น มูลค่าเกือบ 480 ล้านบาท

อาจารย์นิเวศน์ บอกว่า ตอนนี้มีหุ้นในพอร์ต "สิบตัว" (อาทิ CPALL, IT, HMPRO, IRC, APRINT) ลงทุนหนักๆ อยู่ 6-7 ตัว ส่วนใหญ่ซื้อแล้วไม่คิดจะขาย ถือยาวตั้งแต่ห้าปีเป็นต้นไป บางตัวสิบกว่าปีแล้วก็ไม่ขาย ถ้าจะขายก็คือไปเจอหุ้นตัวอื่นที่มูลค่าลดลงมาแล้ว เปลี่ยนตัวเล่น เท่านั้นเอง

ส่วนการลงทุนอื่นๆ ยังคงเป็นเรื่องการศึกษาของลูกสาวที่เตรียมบินไปเรียนต่อต่างประเทศเร็วๆ นี้

สุขใจ-สบายกระเป๋า หลักการของสามแวลูอินเวสเตอร์ "ง่ายๆ-พอเพียง-มีเหตุผล" รับทั้งกำไรได้ทั้งความสุขแบบทูอินวัน

Credit : thaivi.com


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
ลงทุนแบบวอร์เรนบัฟเฟตต์ – Money talk

http://www.blip.tv/file/3641809

ขอบคุณ คุณ sorawut แห่งเวป Thaivi ครับ

ขออนุญาตสรุปเนื้อหาแบบ hard core ที่เกี่ยวข้องกับหลักการงทุนหุ้นคุณค่านะครับ ฉบับเต็มสามารถฟังได้ตามลิงค์ด้านบนเลยครับ

วอร์เรน บัฟเฟตต์คือใครโดย ดร. นิเวศน์

อายุโดยประมาณราวๆ 80 ปี ในความคิดอาจารย์ คิดว่า วอร์เรน คือคนที่พระเจ้าสร้างมาเป็นตำนานแห่งการลงทุน เนื่องจากปัจจัยที่เกื้อหนุนหลายๆอย่างคือ

1) ชอบลงทุน ตั้งแต่เด็กชอบซื้อของมากขายต่อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือโพยม้า ทั้งที่ฐานะทางบ้านไม่ได้จนอะไร เพราะพ่อเป็นถึง สส. ของอเมริกา
2) มีความรู้ที่ถูกต้องในการลงทุน โดยที่มีอาจารย์คือ เบนจามิน เกรแฮม บิดาแห่ง value investment โดยวอ์เรนเป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนมาก ถึงขนาดเกรแฮมถือว่าเป็นนักศึกษาที่ได้เกรด A+ คือได้เกรด A แบบเต็มร้อย
3) มีเวลาในการลงทุนมาก ตั้งแต่อายุ 11 ปี แต่ลงทุนจริงๆจังๆตอนเรียนจบ ถ้านับประสบการณ์ ก็ได้ประมาณห้าสิบกว่าปี สำหรับนักลงทุนแล้ว เวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน เพราะพลังแห่งผลตอบแทนทบต้น
4) เข้าตลาดในจังหวะที่อเมริกากำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และมีการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยวอร์เรนเริ่มลงทุนในบริษัทที่ขณะนั้นยังมีขนาดเล็กอยู่ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆตามเศรษฐกิจ
แต่ปัจจัยเดียวที่วอร์เรนยังไม่มีคือจำนวนเงินลงทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก

คัมภีร์เล่มแรกที่สอนวอร์เรน บัฟเฟตต์ โดย คุณพรชัย
หนังสือ The Intelligence Investor ของเบนจามิน เกรแฮม เปรียบเสมือนตำราเล่มแรกที่ทำให้วอร์เรน รู้สึกเหมือนกับว่าได้เปิดหูเปิดตาสู่การลงทุนที่เฝ้ารอ หลังจากศึกษาตำราอื่นๆมานาน โดยเด็กหนุ่มวอร์เรนในขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี

หลักการลงทุนแบบวอร์เรน โดย ดร.กุษยา
สรุปแบบสั้นๆคือ
1) ให้รู้จักในสิ่งที่คุณลงทุนให้ดีที่สุด อะไรที่เราไม่เข้าใจ อย่าไปยุ่งกับมัน
2) อ่านให้มากๆ ก่อนที่จะลงทุน ไม่มีวิธีที่เป็นทางลัด อ่านแล้วคิดให้เป็นตัวของตัวเอง
3) ถ้าคุณไม่คิดที่จะถือหุ้นนั้นไปสิบปี แม้ สิบนาทีก็อย่าซื้อ ก็คือให้ซื้อแบบลงทุระยะยาว
4) ลงทุนซื้อหุ้น คือการลงทุนในกิจการ เสมือนการเป็นหุ้นส่วน ต้องดูผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์

การปรับใช้หลักคิดของวอร์เรนในการลงทุนในชีวิตจริงของคุณพรชัย
หลักการลงทุนของวอร์เรนต์แบ่งออกเป็นสองส่วน
1) ทัศนคติต่อการลงทุน: เวลาซื้อหุ้น ให้รู้ว่าเรากำลังซื้อธุรกิจ อย่าหวั่นไหวไปกับราคาหุ้น
2) การวิเคราะห์บริษัท: ลงทุนในธุรกิจที่เราเข้าใจ เข้าใจในที่นี้คือ การเข้าใจว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้านี้ บริษัทจะยังเป็นที่หนึ่งในตลาดอีกหรือไม่ และเลือกบริษัทที่มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เพราะวอร์เรนมองช่วงการลงทุนในระดับ 10-20 ปี
เช่น ปี 1988 การลงทุนในบริษัทโค้ก ในณะนั้น ซึ่งเทียบได้กับ 30% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์เลยทีเดียว
ปล. บริษัทเบิร์กไชร์ เกิดจากการที่วอร์เรนซื้อหุ้นโดยกรองหุ้นที่มีลักษณะเป็น Net Net คือมีสินทรัพย์หมุนเวียนลบหนี้สินหมุนเวียนที่ 19 USD ต่อหุ้นแต่ราคาขณะนั้นคือ 7 USD เขาจึงทำการสะสมหุ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในที่สุด

ตัวอย่างการลงทุนที่ประสบความสำเร็จของวอร์เรนที่ประสบความสำเร็จ
ดร.กุษยา: การลงทุนในบริษัทไจโก้ (GEIGO) บริษัทประกันที่วอร์เรนลงทุนทำให้มีเงินทุนที่เป็นแหล่งสนับสนุนเนื่องจากธรรมชาติของธุรกิจ
คุณพรชัย: การลงทุนในโค้ก ที่ขณะนั้นมี PE 15 เท่า โดย 10 ปีหลังจากนั้น ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 28%
ดร. นิเวศน์: การลงทุนในบริษัทอเมริกันเอกซ์เพรส ซึ่งวอร์เรนเคยถือถึง 50% ของพอร์ต เกิดเหตุการณ์สำคัญในขณะนั้นคือเกิดเรื่องฉาวโฉ่ในบริษัท ซึ่งขณะนั้นให้บริการบัตรเครดิตที่เป็นที่รู้จักอย่างทั่วโลก แต่เรื่องฉาวโฉ่นั้นเกิดจากคนใน เกี่ยวกับเรื่องน้ำมันสลัด ซึ่งทำให้เกิดค่าเสียหายมาก ทำให้หุ้นตกอย่างรุนแรง แต่วอร์เรนยังมองว่าตัวธุรกิจหลักยังคงไปได้ดี ทำให้วอร์เรนต์ทุ่มซื้ออย่างมาก
ทำให้เกิดข้อคิด classic ของวอร์เรนในเรื่องของการซื้อธุรกิจที่แข็งแกร่ง แต่เกิดวิกฤติเพียงชั่วคราวที่ไม่กระทบกับธุรกิจหลัก

ตัวอย่างการลงทุนที่ล้มเหลว
ดร.กุษยา:การลงทุนในบริษัทเบิร์กไชร์ ซึ่งซื้อแล้ว แต่บริษัทกลับต้องปิดและเปลี่ยนเป็น holding company อย่างในปัจจุบัน
คุณพรชัย: ซื้อแล้วขาดทุน –> ช่วงแรกดูจาก ratio แต่ไม่ได้ดูผู้บริหาร เช่น ห้างสรรพสินค้า (น่าจะเซียร์)
ควรซื้อแต่ไม่ซื้อ –> รู้ว่าธุรกิจน่าจะดีแต่ซื้อเพียงเล็กน้อย ไม่ซื้อต่อ เช่น หุ้น Wall mart
ดร.นิเวศน์: การลงทุนในหุ้นการบิน ซึ่งโดยธรรมชาติมีการแข่งขันที่สูง

หลักการของวอร์เรนกับการลงทุนในเมืองไทย

คุณพรชัย: คิดว่าใช้ได้ในเมืองไทย แต่สิ่งที่ลำบากคือการหาบริษัทที่เรามั่นใจว่าจะมีการเติบโตในระยะ 10-20 ปี อาจจะหาได้ยาก
ดร.นิเวศน์: มองว่าหลักการลงทุนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งวอร์เรนเปลี่ยนแนวจากการลงทุนแบบสเปะสปะ ซื้อถูกขายแพงแต่หลังๆ เปลี่ยนเป็นการลงทุนในการซื้อหุ้นที่ดีมากๆแล้วเก็บไว้ อาจด้วยประสบการณ์, อายุและขนาดพอร์ต
ดร.กุษยา: หลักใหญ่ๆที่เอามาใช้น่าจะทำได้หมด แต่เอามาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การทำความเข้าใจกับบริษัทที่จะลงทุนให้มากๆ แต่มีข้อระวังในส่วนของความถูกต้องของข้อมูล การพิจารณาแยกแยะระหว่างความเห็นกับความจริง และอาจจะต้องระวังในแง่ของจิตวิทยาในการลงทุน
ดร.นิเวศน์: ให้เอาหลักการมาใช้ โดยหามุมมองที่สำคัญ ที่ทำให้หุ้นแตกต่างและโดดเด่นชัดเจน ตัวอย่างเช่น หุ้นรถไฟ ซึ่งดูเป็นหุ้นที่หมดยุค แต่วันดีคืนดี (เร็วๆนี้) วอร์เรนกลับลงทุนในระดับที่สูงมาก โดยมีมุมมองใหม่คือ ราคาน้ำมัน ที่ไม่น่าจะถูกอีกต่อไป ทำให้ค่าขนส่งสูงมาก ซึ่งคนที่จะได้เปรียบก็คือ เรือกับรถไฟ แต่เรือค่อนข้างมีคู่แข่งและข้อจำกัดอยู่มาก ซึ่งในอนาคต คนน่าจะหันมาใช้รถไฟในการขนส่งแทน (ประกอบกับบริษัทมีที่ดินอยู่มาก)ดังนั้น การซื้อหุ้นทุกตัว จึงควรซื้อโดยซื้อหุ้นที่มีมุมมองที่เฉียบคม มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ราคาถูกแล้วเข้าซื้อ … ถ้ายังไม่มีมุมมองที่เฉียบคม ก็อย่าเพิ่งไปซื้อ…
ดร.กุษยา: เสริมเรื่องของมุมมองที่เฉียบคมว่า เกิดจากความเข้าใจในธุรกิจที่ทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเป็นวอร์ชิงตันโพสต์, โค้ก โดยวอร์เรนจะซื้อหุ้นในขณะที่ยังไม่เป็นที่สนใจ
คุณพรชัย: เสริมเรื่องความเฉียบคมว่า แค่ความเข้าใจอาจจะไม่พอ โดยตอนที่วอร์เรนซื้อ โค้กเริ่มมีการ focus ที่ตัวธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่มีการลงทุนกระจายไปยังธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกลับเป็นการเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายกระจายไปยังต่างประเทศ โดยวอร์เรนไม่ได้ดูเพียงแค่ PE ที่ดูเหมือนสูง แต่หากเมื่อดูอัตราการดื่มโค้กที่ยังมีโอกาสอีกมากในเอเชีย เช่น ในเมืองจีนบริโภคโค้กแค่ 0.3 ขวดต่อปีเท่านั้น ซ฿งเป็นมุมมองที่ตลาดยังไม่รับรู้

ความสนใจของหุ้นในโลกยุคใหม่
ดร.นิเวศน์: วอร์เรนไม่ซื้อหุ้นในโลกยุคใหม่ เช่น ในยุคดอทคอม เนื่องจากเพราะเค้าไม่แน่ใจว่าอนาคตในอีก 10-20 ปีเป็นอย่างไร

หากคนอายุมากๆแล้ว การมองยาวขนาดนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร
คุณพรชัย: อาจจะไม่ได้กำหนดตายตัวว่าเป็น 10-20 ปี เพียงแต่ในขณะที่ซื้อนั้น เรามองอนาคตระยะยาวหรือไม่

การลงทุนใน TFEX วอร์เรน สนใจหรือไม่
คุณพรชัย: ไม่เคยพบ แต่หากจะมี วอร์เรนก็จะลงทุนในปริมาณไม่มาก หรือกรณีชอบใจผู้บริหาร ก็อาจจะซื้อติดไว้ แต่ไม่มาก

วอร์เรนเล่นมาร์จินหรือไม่
ดร.กุษยา: วอร์เรนจะซื้อด้วยเงินสดเท่านั้น ไม่มีการกู้เงินมาซื้อหุ้น

วอร์เรนมีความสุขหรือไม่
คุณพรชัย: คิดว่ามีความสุข เพราะจะทำอะไรก็ได้ทำ แต่วอร์เรนไม่ค่อยอยากจะทำอะไรมาก
ดร.นิเวศน์: มีความสุข เพราะวอร์เรนสามารถอยู่บ้านเล่นบริดจ์อยู่กับบ้านได้
ดร.กุษยา: วอร์เรนไม่ได้กังวลเรื่องว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะตก

คนอเมริกามองวอร์เรนอย่างไร
คุณพรชัย: ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งเคยขอวีซ่าไปอเมริกา ปีแรกไม่ผ่าน แต่ปีสองพอโชว์ใบหุ้นของเบิรก์ไชร์ เจ้าหน้าที่กงสุลก็ออกวีซ่าให้ทันที


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 2 June 2014

ลงทุนอสังหา ฯ แบบบัฟเฟตต์


สำหรับ Value Investor ที่เน้นการลงทุนในหุ้นแล้ว  การลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นที่ดินเป็นสิ่งที่ไม่ใคร่พึงประสงค์นัก  ประสบการณ์ส่วนตัวผมเองเกี่ยวกับการลงทุนในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ก็แย่มาก  เงินลงทุนย้อนหลังไปกว่า 10 ปีจนถึงวันนี้ก็ยังติดลบและว่าที่จริงไม่สามารถที่จะ “Cut Loss”  หรือขายตัดขาดทุนได้เพราะที่ดินนั้น  “หาคนซื้อไม่ได้”   ดังนั้น  เป็นเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้วที่ผมไม่เคยซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกเลย  และก็คิดว่าถ้าจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ผมก็จะซื้อเพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น  จะไม่ซื้อเพื่อการลงทุน  เพราะการลงทุนในอสังหา ฯ นั้น  ผมไม่มีความชำนาญและผมก็รู้สึกว่าส่วนใหญ่แล้วมันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้น   และจากการศึกษาชีวิตของนักลงทุนเอกทั้งหลายของโลกอย่างเช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น  ผมก็แทบไม่เคยได้ยินเลยว่าเขาลงทุนในอสังหา ฯ ยกเว้นการซื้อไร่ที่บ้านเกิดในช่วงวัยรุ่น  บัฟเฟตต์เองนั้นคงไม่สนใจที่จะเอาเงินไปจมในสิ่งปลูกสร้างมากมายนัก  ดังนั้น  แม้แต่บ้านของเขาที่อาศัยอยู่นั้นก็เป็นบ้านแบบชนชั้นกลางที่เขาซื้อและอาศัยอยู่มาหลายสิบปี  เงินส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดถูกนำไปลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงและทำให้เขากลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกระดับต้น ๆ  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเร็ว ๆ  นี้  บัฟเฟตต์ได้เปิดเผยการลงทุนในอสังหา ฯ ของเขา  มันเป็นการลงทุนเล็ก ๆ  ที่เขานำขึ้นมาพูดเพื่อที่จะเป็นบทเรียนให้กับนักลงทุนในหุ้นแบบ VI

           บัฟเฟตต์พูดในหนังสือรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์ว่าเขาได้กลับไปเยี่ยมเยือนฟาร์มขนาด 400 เอเคอร์ น่าจะประมาณ 1,000ไร่) ที่เมืองเทคามาร์ของตนเอง  ซึ่งนี่เป็นการกลับไปดูเพียงครั้งที่สองหลังจากที่เขาซื้อมาเมื่อปี 1986 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้วในราคา 280,000 เหรียญ    เขาเล่าว่าในช่วงปี 1973 ถึง 1981 นั้นราคาพืชผลในย่านมิดเวสต์คือแถวเนบราสกาบ้านเกิดของเขามีราคาพุ่งขึ้นสูงมากเป็น  “ฟองสบู่”  สาเหตุเนื่องจากคนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น  ครั้นแล้วฟองสบู่ก็แตกทำให้ราคาที่ดินทำไร่ตกลงมาถึง 50% หรือมากกว่านั้นส่งผลให้ชาวไร่ที่กู้เงินมาซื้อที่และธนาคารท้องถิ่นที่ปล่อยกู้ล้มละลายเป็นจำนวนมากคิดเป็นจำนวนถึง 5 เท่าของการล้มละลายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้    ในปี 1986 บัฟเฟตต์ได้เข้าไปซื้อฟาร์มจากสถาบันประกันเงินฝากของรัฐที่ยึดที่ดินจากการล้มละลายมาขายในราคา 280,000 เหรียญ ซึ่งต่ำกว่าราคาที่แบงค์ปล่อยกู้ไปพอสมควรในหลายปีที่ผ่านมา  บัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำไร่เลย  แต่เขามีลูกชายที่รักการทำไร่และรู้ว่าที่แต่ละเอเคอร์จะสามารถปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้เท่าไรและต้องใช้ต้นทุนเท่าไรในการดำเนินการ  จากนั้นเขาก็คำนวณได้ว่ากำไรที่ได้จะเป็นประมาณ 10% ต่อปีในช่วงนั้น  นอกจากนั้น  บัฟเฟตต์ยังคาดว่าประสิทธิภาพของการเพาะปลูกในอนาคตจะต้องดีขึ้นและราคาของพืชผลก็น่าจะสูงขึ้นซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแม้ว่าระหว่างทางอาจจะมีบ้างที่ราคาพืชผลอาจจะผันผวนบ้าง   เวลาผ่านไปจนถึงวันนี้เป็นเวลา 28 ปี  กำไรของการทำฟาร์มเพิ่มขึ้น 3 เท่า และราคาของที่ดินเพิ่มขึ้น 5 เท่าหรือมากกว่านั้น  บัฟเฟตต์เองก็ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำฟาร์ม

            การลงทุนในอสังหา ฯ เรื่องที่สองของบัฟเฟตต์เกิดขึ้นในปี 1993  ขณะที่บัฟเฟตต์เป็น CEO ของซาโลมอนบราเดอร์ที่เขาเข้าไปแก้ปัญหาของบริษัทที่เมืองนิวยอร์ค   เขาได้รับทราบว่ามีอาคารพาณิชย์ที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์คประกาศขายโดยกองทุนแก้ปัญหาหนี้เสียที่ได้ยึดที่จากการล้มละลายเนื่องจาก  “ฟองสบู่แตก”   และนี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่บัฟเฟตต์บอกว่าการวิเคราะห์การลงทุนเป็นเรื่องง่ายเช่นเดียวกับเรื่องของฟาร์มที่เนบราสก้า   นั่นก็คือ  ราคาที่เขาซื้อนั้นจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 10% ต่อปีจากการปล่อยเช่าอาคารให้กับผู้เช่าที่เป็นร้านค้าขายสินค้าให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก  ข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือ  ในช่วงที่เขาซื้อนั้น  อาคารถูกบริหารโดยกองทุนซึ่งไม่มีประสิทธิภาพทำให้มีหลายห้องว่างอยู่โดยไม่มีคนเช่า  เขาคิดว่าเมื่อเขาซื้อแล้วก็สามารถนำมาปล่อยเช่าเพิ่มเติมได้   นอกจากนั้น  พื้นที่เช่าประมาณ 20% เป็นการเช่าระยะยาวในราคาตารางฟุตละ 5 เหรียญในขณะที่ราคาเช่าปกติของรายอื่นเท่ากับ 70 เหรียญ  ดังนั้น  ในเวลาอีก 9 ปีที่สัญญาเช่าจะหมดอายุ  เขาก็จะได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีกมาก   บัฟเฟตต์ตัดสินใจซื้ออาคารร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการบริหารอาคารพาณิชย์

           หลังจากสัญญาเช่าระยะยาวหมดอายุแล้ว  ผลตอบแทนของการลงทุนก็เพิ่มขึ้นเป็น 35% ต่อปีคิดจากเงินลงทุนครั้งแรก  ยิ่งกว่านั้น  ในระหว่างทาง  บัฟเฟตต์ได้ไปกู้เงิน “รีไฟแน้นซ์” หรือกู้หนี้ใหม่มาใช้คืนหนี้เก่าที่เขาไปซื้ออาคารอีก 2 ครั้งในปี 1996 และ 1999 ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเขาได้เงินคืนคิดเป็น 150% ของเงินที่เขาจ่ายไปเพื่อซื้ออาคาร  นั่นเท่ากับว่าเขาได้กำไร 50% หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 6 ปีแถมได้ตึกมาฟรี ๆ   ประเด็นที่น่าทึ่งก็คือ  วอเร็น บัฟเฟตต์ ยังไม่เคยไปดูอาคารหลังนี้เลย

          บัฟเฟตต์บอกต่อว่ารายได้ทั้งจากฟาร์มและอาคารพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ต่อไปเป็นสิบ ๆ  ปี    แม้ว่ากำไรอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายแต่การลงทุนทั้งสองจะมั่นคงและน่าพอใจสำหรับการลงทุนตลอดชีวิตของเขาและต่อไปถึงลูกและหลาน  เขาเล่าเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกถึงพื้นฐานของการลงทุนที่ว่า   คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในการลงทุน   แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ  คุณจะต้องตระหนักในข้อจำกัดของคุณและจะต้องปฎิบัติตามแนวทางที่แน่นอนว่าจะใช้ได้ผล   จงทำทุกอย่างให้ง่ายและอย่าพยายามเล็งผลเลิศ  เมื่อถูกเสนอว่าจะได้กำไรแบบง่าย ๆ และรวดเร็วต้องรีบปฎิเสธทันที   เน้นในเรื่องของผลิตภาพในอนาคตของทรัพย์สินที่คุณกำลังดูอยู่  ถ้าคุณไม่มั่นใจกับการประเมินผลตอบแทนเป็นเม็ดเงินของทรัพย์สินในอนาคตก็อย่าไปซื้อ  ไม่มีใครสามารถประเมินการลงทุนได้ทุกตัว  คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องแต่คุณต้องเข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่

           ถ้าคุณเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของราคาของอสังหา ฯ ที่คุณกำลังคิดที่จะซื้อ  คุณก็กำลังเก็งกำไร  ไม่มีอะไรผิดหรือไม่เหมาะสม  อย่างไรก็ตามบัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่มีความสามารถที่จะเก็งกำไรและก็ค่อนข้างไม่เชื่อคนที่อ้างว่าสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน  ในกรณีอสังหาฯเล็ก ๆ  สองแห่งของเขา  เขาคิดแต่เพียงว่ามันจะผลิตหรือให้บริการอะไรได้  เขาไม่สนใจความผันผวนของราคารายวัน  เกม ๆ  นี้คนที่จะชนะก็คือคนที่เน้นไปที่  “สนาม”  ไม่ใช่คนที่เน้นไปที่  “กระดานคะแนน”  ความหมายของเขาก็คือ  อย่าไปสนใจราคาอสังหาฯ แต่ให้สนใจว่าตัวอสังหาฯ นั้นทำเงินได้แค่ไหนและอย่างไร  เช่นเดียวกัน  การคิดถึงและพยากรณ์เรื่องภาวะเศรษฐกิจหรือภาพของตลาดก็เป็นเรื่องที่เสียเวลาและอาจจะอันตราย  เพราะว่ามันทำให้เรามองไม่เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ  กับการลงทุนของเรา  เขาบอกว่าเมื่อเขาซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งแล้ว  อะไรที่เกิดขึ้นในปีต่อมาคือปี 1987 และ 1994 ไม่มีความสำคัญกับความสำเร็จของการลงทุนของเขาเลยและเขาก็จำอะไรไม่ได้  เขารู้แต่เพียงว่า  ข้าวโพดก็ยังคงถูกปลูกและเติบโตขึ้นที่เนบราสก้า  และนักศึกษาก็ยังมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค

           สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับการลงทุนในอสังหาฯตัวเล็ก ๆ  สองตัวกับการลงทุนในหุ้นของบัฟเฟตต์ก็คือ  หุ้นนั้นมีราคาให้เราเห็นนาทีต่อนาทีในขณะที่อสังหาฯ ไม่มี แต่การวิเคราะห์การลงทุนนั้นก็เหมือนกัน  ก่อนที่จะจบบทความนี้ผมเองก็มีข้อสังเกตก็คือ  การซื้ออสังหาฯ ทั้งสองแห่งของบัฟเฟตต์นั้น  เป็นการซื้อจากการยึดของสถาบันการเงินในทรัพย์สินที่ราคาขึ้นไปเป็นฟองสบู่และตกลงมาอย่างหนักเมื่อฟองสบู่แตก  ซึ่งทำให้ราคาน่าจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก  และนี่ก็เป็นโอกาสของบัฟเฟตต์ที่จะซื้อทรัพย์สินที่มีคุณค่ายอดเยี่ยมในราคาที่ถูกสุดยอด  ซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ  ก็ยังสามารถได้ผลตอบแทนที่งดงามจากการลงทุนได้โดยใช้หลักการแบบ VI
 
Posted by nivate at 3:54 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 
ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/06/02/1431