Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



ศักดิ์ศรีของหุ้น


เวลาที่จะเลือกหุ้นลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะคิดถึงอยู่เสมอก็คือ ความโดดเด่น ความยิ่งใหญ่ และความสำคัญของบริษัท ต่อลูกค้า

   และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศว่ามีมากน้อยแค่ไหน  ถ้าไม่มีบริษัทนี้จะเกิดอะไรขึ้น  ถ้าคำตอบก็คือ  บริษัทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของคนจำนวนมาก  หรือสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของคนมากมายในขณะที่หาสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันจากบริษัทอื่นไม่ได้หรือได้ยาก  ในกรณีอย่างนี้  ผมก็จะสนใจและอาจจะให้คุณค่าสูง  และคำว่าคุณค่าสูงของผมนั้น  ผมจะวัดจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท

 ตัวอย่างเช่นบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดว์สนั้น สำคัญหรือยิ่งใหญ่ขนาดที่ว่าทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีโปรแกรมนี้มิฉะนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำงานอะไรไม่ได้เลย ดังนั้น มูลค่าหุ้นของไมโครซอฟท์จะต้องสูง  “มโหฬาร”  เหตุเพราะว่าคนจำนวนเป็นพันล้านทั่วโลกต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน  ข้อเท็จจริงก็คือ  ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้  หุ้นไมโครซอฟท์เป็นหุ้นที่มี Market Cap. สูงที่สุดในโลก  แนวคิดที่ว่ามูลค่าหุ้นนั้นมีความสัมพันธ์กับความสำคัญของบริษัท  ผมขอใช้คำว่า  “ศักดิ์ศรี” ของหุ้น  นั่นคือ  ศักดิ์ศรีของการที่เป็นโปรแกรมที่คนทั่วโลกต้องใช้

 ลองมาดูอีกบริษัทหนึ่งคือบริษัทแอ๊ปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ของ สตีฟ จ็อบส์ นี่คือบริษัทที่คนทั่วโลกคอยติดตามหาซื้อผลิตภัณฑ์ไฮเทครุ่นใหม่ล่าสุด ทั้งๆ ที่สินค้าของบริษัทไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นแต่มันเป็นสิ่งที่คน “คลั่งไคล้” ศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำนวัตกรรมที่โดดเด่นโดนใจสุดๆ ของคนรุ่นใหม่ทำให้หุ้นของแอปเปิลมีมูลค่าสูงขึ้นมโหฬารและแซงไมโครซอฟท์ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 เรายังเห็นศักดิ์ศรีของหุ้นกูเกิล  เว็บไซต์ที่คนทั่วโลกต่างก็เข้าไปค้นหาข้อมูลที่หลากหลายไม่จำกัด  หรือเฟซบุ๊คที่คนนับหลายร้อยล้านและกำลังเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เข้ามาใช้บริการ เหล่านี้ผมคิดว่าจะต้องมีมูลค่าหุ้นมหาศาล ซึ่งเราไม่สามารถประเมินมูลค่าได้จากตัวเลขกำไรในปัจจุบัน เหตุก็เพราะว่ามันยังขยายตัวไปเรื่อยๆ และยังเป็นช่วงที่บริษัทอาจต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายมากเพื่อรองรับกับการขยายตัวในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะคาดการณ์หรือคำนวณหามูลค่าที่เหมาะสมก็อาจจะต้องมองไปข้างหน้าที่ยาวไกล  ดูว่าในที่สุดแล้วจะมีคนกี่คนที่จะเป็นลูกค้าและบริษัทจะมีกำไรเท่าไรซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเราก็อาจจะพบว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นในปัจจุบันนั้น  ยังน่าจะห่างจากมูลค่าที่น่าจะเป็นในอนาคตอีกมาก พูดง่ายๆ ราคามัน “ไม่สมศักดิ์ศรี” ในฐานะที่เป็น …. และถ้าเราพบหุ้นแบบนี้  การซื้อลงทุนก็อาจจะทำให้เราได้กำไรมหาศาล

 ธุรกิจจำนวนมากนั้นผลิตสินค้าที่สำคัญมากและเป็นสินค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อลูกค้าและระบบเศรษฐกิจ  เช่น โรงกลั่นน้ำมัน แต่ถ้ามองในแง่บริษัทแล้ว ความสำคัญก็อาจจะมีไม่มาก เพราะถ้าบริษัทเป็นอะไรไป บริษัทหรือโรงกลั่นอื่นก็ยังผลิตอยู่สามารถทดแทนได้ และแม้ว่าจะทดแทนได้ไม่หมด เราก็ยังสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้  ดังนั้น ศักดิ์ศรีของการเป็นโรงกลั่นในแง่ของหุ้นก็มีไม่มากนัก

 กิจการบางอย่าง เช่น สาธารณูปโภค นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผู้คนทั้งประเทศและไม่มีบริษัทอื่นมาแทนได้ถ้าบริษัทเป็นอะไรไป แต่กิจการเหล่านั้นก็มักจะถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่ให้ตั้งราคาสูง บางกิจการถูกบังคับให้ตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ แบบนี้ ศักดิ์ศรีก็มีแต่แปลงให้เป็นราคาหุ้นไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น

 ตัวอย่างของกิจการในเมืองไทยที่ผมเห็นว่าสามารถนำเรื่องของศักดิ์ศรีมาพูดได้และก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็คือ  หุ้นการบินไทย ย้อนหลังไปเพียงไม่เกิน 2-3 ปีในช่วงที่หุ้นการบินไทยตกต่ำลงเหลือเพียง 7-8 บาทถ้าผมจำไม่ผิด ในช่วงนั้น Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทของการบินไทยอยู่ที่หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเท่ากับราคาเครื่องบินโบอิง 747 เพียง 2-3 ลำ แต่ถ้าดูจริงๆ แล้ว ศักดิ์ศรีของการบินไทยคือการเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนเกือบครึ่งหนึ่งที่ต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยด้วยเครื่องบินต้องใช้บริการ  นอกจากนั้นการบินไทยยังถือหุ้นใหญ่โดยรัฐที่มี  “ศักดิ์ศรี” ที่จะต้องรักษาบริษัทไว้  ดังนั้น ราคาหรือมูลค่าตลาดของหุ้นการบินไทยในช่วงนั้นจึงดู “ไม่สมศักดิ์ศรี” ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องกำไรขาดทุนหรือฐานะการเงินอะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เป็นอย่างที่เห็น หุ้นการบินไทยปรับตัวขึ้นมหาศาลสมกับฐานะหรือศักดิ์ศรีของบริษัทคือกว่าแสนล้านบาท

 ลองมาดูบริษัทเอกชนธรรมดาที่สถานะหรือตำแหน่งในตลาดหรือในระบบเศรษฐกิจ “ยิ่งใหญ่” แต่ในช่วงหนึ่งราคาหุ้นหรือมูลค่าตลาดของหุ้น “ไม่สมศักดิ์ศรี” ตัวแรกก็คือ หุ้น CPF ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ฐานะของบริษัทในสังคมการค้าและอุตสาหกรรมทางด้านอาหารนั้นเป็นที่ประจักษ์มานาน  ยอดขายของบริษัทก็สูงเป็นแสนล้านบาทและยังเติบโตไปเรื่อยๆ แต่ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปี มูลค่าหุ้นของบริษัทก็เพียงแค่ 2-3 หมื่นล้านถ้าผมจำไม่ผิด  และก็อย่างที่เห็น หุ้น CPF ปรับตัวขึ้นมารับกับศักดิ์ศรีของบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาจจะเติบโตยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้  มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาท

 หุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งบังเอิญอยู่ในกลุ่มของ CP เช่นเดียวกันก็คือ หุ้น CPALL ย้อนหลังไปเพียง 3-4 ปีเช่นเดียวกัน  ศักดิ์ศรีของบริษัทก็คือ เป็นผู้นำที่โดดเด่นในตลาดสะดวกซื้อที่คนไทยนับวันจะใช้บริการมากขึ้นและในที่สุดก็น่าจะทั้งประเทศ  สำหรับหลายๆ  คนแล้ว  การขาดร้าน 7-11 นั้นก็จะเป็นการ “ยุ่งยาก” หรือ “ไม่สะดวก” เอามากๆ  แต่ในขณะนั้น  หุ้นของ CPALL ซึ่งโดยศักยภาพนั้นน่าจะมียอดขายเป็นแสนล้านบาทขึ้นไปกลับมี Market Cap. เพียง 3-4 หมื่นล้านบาทโดยไม่มีหนี้เงินกู้เลย  เป็นไปได้อย่างไรที่กิจการที่คนทั้งประเทศต้องใช้บริการเกือบทุกวันโดยที่หาคู่แข่งแทบไม่ได้จะมีมูลค่าเพียงเท่านั้น  และก็อย่างที่เห็น  หุ้น CPALL ปรับตัวขึ้นเป็นเกือบสองแสนล้านบาทสมกับศักดิ์ศรีที่ควรจะเป็น

 การดูว่าราคาหรือมูลค่าหุ้นนั้นสมกับศักดิ์ศรีของกิจการหรือไม่ เป็นศิลปะอยู่มากทีเดียว เนื่องจากตัวเลขผลการดำเนินงานในขณะที่วิเคราะห์นั้นใช้ไม่ได้  หลายครั้งต้องใช้จินตนาการว่าอนาคตของบริษัทจะเป็นอย่างไรใน 5 ปี 10 ปีหรือยาวกว่านั้น  การวิเคราะห์ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม  ถ้าทำถูก  ผลตอบแทนก็มหาศาล

ที่มา :




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 14 October 2013

หุ้นน่ากลัว


การที่ลงทุนในตลาดหุ้นมานานมากและได้เห็นเหตุการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ  ของผู้บริหารจำนวนมากในตลาดทำให้ผมพบความ “ไม่โปร่งใส”  ในการบริหารงานในบริษัทจำนวนมาก  บางเรื่องก็เป็น  “ความจำเป็น”  ทางธุรกิจ  บางเรื่องก็เป็นการกระทำของผู้บริหารที่เอาเปรียบหรือโกงบริษัท    บริษัทที่มีอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้มักจะมีลักษณะหรือโครงสร้างของการทำธุรกิจที่ “เอื้ออำนวย”  ให้เกิดการโกงได้ง่าย  การโกงนั้น  บางทีก็ทำให้บริษัทถึงกับล้มละลาย  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ทำให้ผลประกอบการไม่ดีหรือลุ่ม ๆ  ดอน ๆ   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  การลงทุนในหุ้นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่  “น่ากลัว”  และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ   และถ้าหุ้นไม่ถูกจริงหรือมีประเด็นที่น่าสนใจจริง ๆ  แล้ว  ผมก็จะไม่ลงทุน  และต่อไปนี้คือบางส่วนของหุ้นที่ผมคิดว่า  “น่ากลัว”

          หุ้นกลุ่มแรกก็คือ   หุ้นของบริษัทที่รับงานจากหน่วยงานของรัฐเช่น  งานรับเหมาก่อสร้างโครงการต่าง ๆ   เหตุผลก็เพราะว่างานเหล่านี้มักจะต้องมี  “รายจ่ายพิเศษ”  ที่เราคาดการณ์ไม่ได้  รายจ่ายนี้คือรายจ่ายที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อให้  “ได้งานและเพื่อที่จะสามารถส่งมอบงานอย่างไม่ติดขัด”   จริงอยู่  บริษัทมักจะรวมค่าใช้จ่ายนี้ไว้แล้วเวลาเสนอราคา   แต่การเปลี่ยนแปลงในระหว่างที่กำลังทำงานก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ซึ่งอาจทำให้บริษัทขาดทุนได้    นอกจากนั้น  การที่บริษัทมีรายจ่ายพิเศษที่ต้องจ่ายออกไปให้คนอื่นโดย  “ไม่มีใบเสร็จ”  อยู่แล้ว  การที่บริษัทจะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้กับผู้บริหารหรือคนที่ทำเรื่องจ่ายจึงเป็นเรื่องง่ายและตรวจสอบไม่ได้   ผลก็คือ  กำไรของบริษัทอาจจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่ารายจ่ายพิเศษจะมีมากน้อยแค่ไหน  และนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลาย ๆ  บริษัทที่มียอดขายมากมายแต่กลับไม่มีกำไรอยู่บ่อย ๆ

          หุ้นกลุ่มที่สองที่ “น่ากลัว”  คือบริษัทที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านดีลเลอร์รายใหญ่ ๆ  หรือตัวแทนที่ผู้บริหารเป็นเจ้าของ   ประเด็นก็คือ  ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้น  มักมียอดขายที่สูงมากแต่มีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายต่ำ  หากผู้บริหารต้องการทำกำไรให้ตนเองสูงสุด   เขาก็สามารถลดราคาขายให้กับดีลเลอร์ที่เป็นบริษัทส่วนตัว  อาจจะเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อยแต่เขาก็จะได้เงินมาก   และนั่นก็ทำให้บริษัทเสียหายและกำไรน้อยลงหรือไม่ได้กำไรเลย  ดังนั้น    การลงทุนในหุ้นแบบนี้  นักลงทุนจึงคาดผลประกอบการได้ยากและมีโอกาสเสียหายหนักถ้าเจ้าของหรือผู้บริหารไม่โปร่งใส

          หุ้นกลุ่มที่สามที่ผมรู้สึกไม่สบายใจและกลัวว่าผู้บริหารอาจจะไม่โปร่งใสก็คือ  บริษัทที่ซื้อกิจการหรือทรัพย์สินขนาดใหญ่จากบริษัทหรือคนที่  “ตรวจสอบไม่ได้”  หรือเป็นคนที่ไม่มีความน่าเชื่อถือพอ  ประเด็นก็คือ  ราคาที่จ่ายไปนั้นอาจจะสูงเกินไปมาก  หรือกิจการมีคุณสมบัติที่แย่หรือกำลังจะย่ำแย่ลง   แต่เหตุผลที่ซื้อในราคาแพงนั้น   อาจจะเป็นเพราะซื้อแล้วมี  “เงินทอน”  ให้กับผู้บริหารจากคนที่ขายซึ่งตรวจสอบไม่ได้เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชนหรือเป็นบุคคลธรรมดา   ในกรณีแบบนี้  ในที่สุดแล้ว  บริษัทก็จะเสียหายเนื่องจากกิจการหรือทรัพย์สินที่ซื้อมาไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีคุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายไป

           หุ้นกลุ่มที่สี่ที่ผมรู้สึกกลัวตลอดเวลาถ้าต้องถือหุ้นไว้ก็คือ  หุ้นของบริษัทที่มีลูกหนี้มากเมื่อเทียบกับยอดขายหรือขนาดทรัพย์สินหรือขนาดของเงินทุนของบริษัท  โดยเฉพาะถ้าลูกหนี้นั้นไม่ได้เป็นบริษัทหรือกิจการที่มีขนาดใหญ่ที่มีเรทติ้งที่ดีมาก  เหตุผลก็คือ  ลูกหนี้นั้นอาจจะเบี้ยวหนี้หรือกลายเป็นหนี้เสียและทำให้บริษัทเสียหายหนัก  บางครั้งอาจจะล้มละลายได้   การที่ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสียนั้นก็อาจจะมีได้หลายสาเหตุซึ่งรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่ตกต่ำลงอย่างหนัก  หรือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้บางรายที่เป็นลูกค้ารายใหญ่มาก  หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือ  เป็นลูกหนี้ที่เป็นกิจการของผู้บริหารที่ตั้งขึ้นเพื่อที่จะ  “โกงบริษัท”  ตั้งแต่แรกก็เป็นไปได้

           หุ้นกลุ่มที่ห้าที่ไม่ใช่เรื่องของการโกง  แต่เป็นบริษัทที่มีหนี้มากในขณะที่กิจการมีความไม่แน่นอนของผลประกอบการสูงเนื่องจากเป็นกิจการที่ขายสินค้าที่เป็นวัฏจักรหรือสินค้าที่มีความเป็นโภคภัณฑ์สูง  ประเด็นก็คือ  ในยามที่เกิดความยากลำบากขึ้น  บริษัทอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ซึ่งทำให้บริษัทมีปัญหาทางการเงินหนัก  บางทีอาจจะถึงกับล้มละลายได้  หรือในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นมาก  ผลกำไรของบริษัทก็อาจจะถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้

           หุ้นกลุ่มที่หกที่บ่อยครั้งคนในวงการนักเล่นหุ้นชอบมากเพราะเป็นหุ้นกลุ่มที่อาจจะให้ผลตอบแทนในระยะสั้นหวือหวา   แต่สำหรับผมที่เน้นการลงทุนในพื้นฐานและเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว  กลับเป็นหุ้นที่น่ากลัว  เนื่องจากผมไม่ใคร่เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี  หลายครั้งผมรู้สึกด้วยว่ามันเป็น  “เกมปั่นหุ้น”  ที่อาจจะไม่ผิดกฎหมาย  แต่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวได้มาก  และทำให้คนที่รู้ขายทำกำไรไปก่อน  แล้วทิ้งให้คนที่มาทีหลังหรือคนไม่รู้รับความเสี่ยงไป   และนี่ก็คือหุ้นของบริษัทที่มี  “วิศวกรรมการเงิน”  หรือการ  “ปรับโครงสร้าง”  ใหญ่ ๆ  ของบริษัทตลอดเวลา  โดยที่ผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินการหลักของบริษัทนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนอะไรที่สำคัญและก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเลิศอะไรนัก

           บริษัทที่น่ากลัวในกลุ่มที่หกก็เช่น  บริษัทที่เปลี่ยนแปลงหรือมีธุรกิจใหม่ ๆ  ที่มีนัยสำคัญสูงอยู่เรื่อย ๆ   บางทีนอกจากธุรกิจใหม่แล้ว  ชื่อของบริษัทก็ถูกเปลี่ยนไปตามแนวของธุรกิจใหม่จนเราจำไม่ได้ว่าเดิมบริษัทชื่ออะไร  ความน่ากลัวอยู่ที่ว่า  ธุรกิจใหม่นั้นอาจจะไม่ดีและทำให้ผลประกอบการเลวลงเนื่องจากบริษัทอาจจะไม่มีความสามารถหรือประสบการณ์พอในการทำงาน  เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าของเดิมบริษัทก็ทำไม่ได้ดีอยู่แล้ว  ของใหม่จะทำได้เหนือกว่าคู่แข่งได้อย่างไร!

           นอกจากเรื่องของการเปลี่ยนธุรกิจไปเรื่อย ๆ  แล้ว    บริษัทที่  “ใช้เครื่องมือทางการเงิน”  อย่างพร่ำเพรื่อ  โดยที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ  ก็เป็นสิ่งที่ผมมักจะกลัว  ตัวอย่างเช่น  การแตกพาร์จาก 1 บาทเหลือ 25 สตางค์ เพื่อ  “เพิ่มสภาพคล่อง”  ของหุ้น  ทั้งที่ราคาหุ้นก็ไม่ถึง 10 บาทอยู่แล้ว   หรือการออกวอแรนต์แจกให้ผู้ถือหุ้นมากมายหลาย ๆ  ชุดต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ  จนวอแรนต์นั้นมีสัดส่วนอาจจะเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งบริษัท  แบบนี้ผมก็ถือว่าไม่สมเหตุผล    ประเด็นก็คือ  ผมคิดว่าผู้บริหารไปเน้นการ “บริหารหุ้น”  มากกว่าการบริหารกิจการ  และดังนั้น  การเข้าไปซื้อหุ้นที่มีคนบริหารนั้น  จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว  เพราะเราอาจจะเข้าไปซื้อที่ราคาแพงเกินไปมากได้

           หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือหุ้นที่  “กินก่อน  จ่ายทีหลัง”  ตัวอย่างเช่น  สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่กิจการธุรกิจ    สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการแบบเงินผ่อน  บริษัทประกันภัย  เป็นต้น  บริษัทเหล่านี้นั้น   เมื่อขายบริการหรือผลิตภัณฑ์ของตน  พวกเขาก็จะกำไรทันทีในระยะสั้น  แต่ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นยังไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับลูกค้าหรือเหตุการณ์ในอนาคตว่าบริษัทจะได้รับเงินคืนหรือไม่  แต่โดยธรรมชาติของคนก็คือ  เราอยาก  “กินก่อน”  อนาคตไม่แน่นอนอย่าไปคิดมาก   เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าลูกค้าเสีย  เจ้านายก็อาจลืมไปแล้วว่าใครเป็นคนทำ  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  ธุรกิจแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว  เพราะเราอาจจะคิดว่าบริษัทกำลังโต  กำลังดีขึ้น  ทั้งที่อาจจะไม่จริงเพราะในที่สุด  บริษัทอาจจะต้อง  “จ่ายหนักทีหลัง” นั่นก็คือ  บริษัทเสียหายอย่างหนัก
            ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหุ้นที่น่ากลัวสำหรับผม  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะลงทุนไม่ได้  เพียงแต่ว่าเราจะต้อง Discount หรือลดมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นลง  นั่นก็คือ  หุ้นจะต้องมีราคาต่ำพอที่จะคุ้มสำหรับการลงทุน

Posted by nivate at 10:46 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/14/1350



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 21 October 2013

บิดาแห่งตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ



หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้คือ  Eugene Fama ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา  ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น  “บิดาแห่งตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ”  จากการเป็นผู้บุกเบิกแนวความคิดของ  “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” ที่เป็นความคิดที่ทรงพลังยิ่งตั้งแต่ช่วงต้นทรรศวรรษปี 1970 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

            แนวคิดหลักของทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพก็คือ  ตลาดหุ้นนั้นประกอบไปด้วยนักลงทุนที่มีความรู้  มีเหตุผล  มีข้อมูลเต็มเปี่ยม  และลงมือซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็วทันทีเมื่อมีข่าวสารที่กระทบกับพื้นฐานของกิจการ  กระบวนการนี้ทำให้ราคาของหุ้นปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงเสมอ  ทำให้ไม่มีใครสามารถที่จะซื้อขายหุ้นทำกำไรได้เหนือกว่าปกติต่อเนื่องยาวนานได้   พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพบอกว่า  ราคาหุ้นทุกตัวในตลาดนั้นมีราคาที่เหมาะสม—โดยเฉลี่ย  ดังนั้น  การที่จะทำกำไรจากการลงทุนในหุ้นโดยการวิเคราะห์หุ้น  หาซื้อหุ้นที่มีราคาถูกและขายหุ้นที่แพง  หรือหาจังหวะเข้าซื้อขายหุ้นนั้น  ไม่สามารถทำได้  ไม่ว่าจะใช้เทคนิคอะไร  รวมถึงหลักการแบบ VI ที่เราเชื่อถือกันว่าทำให้เราสามารถทำกำไรมากกว่าปกติได้

            ในการที่จะพิสูจน์ทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ  ฟามายังแบ่งแยกระดับของประสิทธิภาพของตลาดออกเป็น 3 ระดับ  นั่นคือ  หนึ่ง  “ประสิทธิภาพระดับอ่อน” หรือ “Weak Form” ซึ่งบอกว่า  การใช้ข้อมูลเฉพาะด้านของราคาหุ้นมาคาดการณ์ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงในอนาคตนั้น  ไม่สามารถทำได้  เพราะราคาหุ้นที่ขึ้นลงวันต่อวันหรือแม้แต่นาทีต่อนาทีนั้น  ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน  ราคาหุ้นนั้นขยับขึ้นลงเหมือน  “คนเดินสุ่ม”  หรือ  “Random Walk”  ไม่มีแบบแผน  เหตุผลก็คือ  ข้อมูลที่เข้ามากระทบหุ้นนั้นก็เป็นข้อมูลที่ “เดินสุ่ม”  เหมือนกัน  ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อนได้  ดังนั้น  ราคาจึงผันผวนไปตามข้อมูลที่ผันผวนคาดเดาไม่ได้ในระยะสั้น

           ถ้าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพอย่างอ่อนจริง  การใช้  “การวิเคราะห์ทางเทคนิค”  เพื่อหา “แนวรับแนวต้าน”  หรือ  “ราคาเป้าหมาย”  ของหุ้นหรือดัชนี  หรือการกำหนดจุดซื้อหรือขาย  ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้  พูดง่าย  ๆ  ถ้าซื้อขายหุ้นตามสัญญาณทางเทคนิคนั้น  ไม่มีทางทำกำไรได้  ถ้าทำไปเรื่อย ๆ  โอกาสที่จะขาดทุนสูงมาก  เพราะค่าคอมมิชชั่นจะกินหมด

           ประสิทธิภาพของตลาดระดับสองคือ  “ประสิทธิภาพระดับกลาง”  หรือ “Semi-Strong Form”  นั้น  ฟามาบอกว่า  ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีนักลงทุนอาชีพหรือนักลงทุนที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ  ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะจำนวนมาก  พวกเขาเหล่านี้จะซื้อขายหุ้นทันทีที่มีข่าวหรือมีการแจ้งข้อมูลออกสู่สาธารณะ  ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเข้าสู่มูลค่าที่เหมาะสมทันทีที่มีข่าวหรือข้อมูล  หรือทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขาย  ดังนั้น  การนำข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วมาทำการซื้อขายหุ้นจึงไม่มีประโยชน์  ถ้าพูดกันในวงการหุ้นก็เรียกว่า  ข่าวนั้น ถูก  Discount ไปแล้ว  หรือราคาหุ้นถูกตอบสนองไปหมดแล้ว  ราคาหุ้นหลังจากนั้นจะไม่เกี่ยวกับข่าวเดิมอีกต่อไป

            ถ้าประสิทธิภาพของตลาดระดับกลางเป็นความจริง  การวิเคราะห์หุ้นโดยใช้ข้อมูลสาธารณะ  เช่น ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจ  อุตสาหกรรม  หรือข้อมูลผลประกอบการและฐานะการเงินรวมถึงความเข้มแข็งทางด้านการตลาดหรืออื่น ๆ  ของบริษัทก็จะไม่เป็นประโยชน์  เพราะข้อมูลเหล่านี้นักลงทุนคนอื่นจำนวนมากก็  “รู้อยู่แล้ว”  ถ้าหุ้นนั้นดี  เขาก็ซื้อกันไปแล้ว  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงเหมาะสมกับพื้นฐานของบริษัทอยู่แล้ว   การเข้าไปซื้อจึงไม่สามารถทำกำไร “เกินกว่าปกติ”  ได้  พูดง่าย ๆ  หุ้นดี ราคาก็แพง  หุ้นแย่  ราคาก็ถูก  ไม่มีหุ้นดีราคาถูกหรอก  เพราะถ้าราคาถูก  คนก็เข้าไปซื้อ  ราคาก็ต้องปรับตัวขึ้นจนแพงอยู่แล้ว  ดังนั้น  ถ้าทฤษฎีนี้เป็นจริง  การวิเคราะห์หุ้นไม่ว่าจะใช้เทคนิคไหน  รวมถึงหลักการแบบ Value Investment ก็ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

            สุดท้าย ก็คือ “ประสิทธิภาพระดับสูงของตลาด”  หรือ  “Strong Form”  ซึ่งบอกว่า  ไม่มีข้อมูลอะไร  รวมถึง  “ข้อมูลภายใน”  ที่ยังไม่ได้เปิดเผยกับตลาดแต่รู้กันเฉพาะผู้บริหารหรือคนที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้สอบบัญชี  หรือหน่วยงานรัฐ ที่จะสามารถนำมาใช้ซื้อขายหุ้นทำกำไรได้เกินกว่าปกติ  เหตุผลก็คือ  ไม่มีใครสามารถ  “ผูกขาด”  ข้อมูลได้  คนที่รู้ข้อมูลภายในก็อาจจะมีหลายคน  และดังนั้นพวกเขาก็แย่งกันซื้อขายหุ้นก่อนที่ข่าวจะออก  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็สะท้อนไปก่อนที่คนใดคนหนึ่งจะลงมือทำ  ดังนั้น  การใช้ข้อมูลภายในก็ไม่สามารถทำให้สามารถทำกำไรเกินกว่าปกติไปได้

            การพิสูจน์ความถูกต้องของตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้น  ฟามาบอกว่าทำได้ยากมาก  ข้อแรกก็คือ  เราจะต้องหาว่าหุ้นแต่ละตัวนั้น   ควรจะมีผลตอบแทนที่เหมาะสมเท่าไรเสียก่อน  ถึงจะบอกได้ว่าเราได้กำไร “เกินกว่าปกติ” หรือไม่  การหาว่าหุ้นแต่ละตัวควรจะมีราคาที่เหมาะสมหรือให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมนั้นจำเป็นต้องมีโมเดลหรือสูตรที่จะคิด  หลังจากได้โมเดลนี้แล้ว  เราถึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเราสามารถใช้ข้อมูลหรือเทคนิคอะไรที่ทำให้เราสามารถทำกำไรได้เกินจากนั้นหรือไม่  ถ้าพบว่า  ไม่มีเทคนิคอะไรที่ทำผลตอบเกินกว่าปกติต่อเนื่องยาวนานเลยก็แสดงว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพสูง  ถ้าเราใช้ข้อมูลสาธารณะประเมินมูลค่าหุ้นแบบ VI  แล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติก็แสดงว่าตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพในระดับกลาง  ถ้าเราสามารถใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคซึ่งใช้แต่ข้อมูลด้านราคาหุ้นอย่างเดียวแล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่าปกติได้ก็แสดงว่าตลาดหุ้นไม่มีประสิทธิภาพเลย

            หลังจากบทความของ ฟามา ออกมาแล้ว  นักวิชาการก็สามารถพัฒนาโมเดลที่บอกว่าหุ้นแต่ละตัวควรจะมีมูลค่าหรือให้ผลตอบแทนเท่าไรต่อปี นำโดย มาร์โควิตซ์และชาร์ป ซึ่งบอกว่า  ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เหมาะสมแต่ละตัวนั้นขึ้นอยู่กับ  “ความเสี่ยง”  หรือค่า เบต้า  ถ้าหุ้นตัวนั้นเสี่ยงมากหรือ  “เบต้าสูง”  ผลตอบแทนที่เหมาะสมก็จะต้องมาก  ถ้าเสี่ยงน้อย  ผลตอบแทนก็น้อย  ถ้าไม่เสี่ยงเลยก็ได้ผลตอบแทนเท่ากับพันธบัตรรัฐบาล   และนี่ก็กลายเป็น  “ทฤษฎีทางการเงินสมัยใหม่”  ที่นักศึกษาทางการเงินทุกคนต้องเรียน  และทั้งมาร์โควิตซ์และชาร์ป ต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลทั้งคู่ก่อนหน้านี้

            การพิสูจน์ว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเป็น  “ดรามา” มาตลอดจนถึงทุกวันนี้  เช่น  มีการพบว่าการลงทุนแบบ VI ที่ซื้อหุ้นถูกค่า PE ต่ำสามารถทำกำไรเกินกว่าปกติได้  แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ดีว่า  โมเดลของชาร์ปนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง  เพราะผลตอบแทนนั้น  อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องของความเสี่ยงหรือเบต้าอย่างเดียว  ว่าที่จริง ฟามาเองก็เคยเสนอการศึกษาที่มีชื่อเสียงว่า  มีปัจจัยอื่นที่กำหนดผลตอบแทนของหุ้นด้วยนอกจากความเสี่ยง  และถ้าใช้โมเดลใหม่นั้น  ก็อาจจะพบว่าผลตอบแทนที่เกินกว่าปกตินั้น  เป็นผลตอบแทนที่เกิดจากปัจจัยอื่นที่ได้รับการชดเชย  เช่น  เป็นความเสี่ยงที่บริษัทจะเกิดการล้มละลายเป็นต้น  ในขณะที่เบต้านั้นเป็นความเสี่ยงของความผันผวนของราคาหุ้น

           ในฐานะของ VI ผมคิดว่าเราต้องมีเหตุผลและไม่ควรมีอคติ  ผมเองเชื่อว่าตลาดโดยรวมแล้วน่าจะต้องมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งขึ้นอยู่กับนักลงทุนหรือคนที่ “เล่น” อยู่  ดังนั้น  อย่าไปคิดว่า  “เรารู้แต่ตลาดไม่รู้”  โดยเฉพาะในยามที่มีนักลงทุนมืออาชีพและ  “VI”  มากมายในตลาดในปัจจุบัน  การวิเคราะห์ดูแบบง่าย ๆ  แล้วสรุปว่าหุ้นถูกหรือหุ้นแพงนั้น  ผมคิดว่าในช่วงเร็ว ๆ  นี้ทำเงินได้ยาก
 
Posted by nivate at 10:31 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/21/1352



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 28 October 2013

แววเซียน



จากประสบการณ์ของผม  คนที่มีความสามารถพิเศษ  มี “พรสวรรค์” และประสบความสำเร็จในการงานสูงนั้น  มักจะมีประวัติในตอนเด็กจนถึงประมาณอายุ 20 ปี หรือตอนจบปริญญาตรี  ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความชอบ  คุณสมบัติทางร่างกายและสมอง  และทักษะของเขา  ตัวอย่างเช่น  ไทเกอร์ วู้ด นักกอล์ฟมือหนึ่งของโลกนั้น  เขาจับไม้กอล์ฟและชอบตีกอล์ฟตั้งแต่เป็นเด็กเล็กมากถือไม้แทบไม่ไหว   แน่นอนว่าพ่อของเขานั้นตั้งใจฝึกเขาตั้งแต่ยังเล็กมากและนั่นอาจทำให้เขาชอบ  แต่ร่างกายและสมองของเขาก็คงต้องมีส่วนอยู่ไม่น้อยที่ทำให้เขาตีได้ดี  หลาย ๆ  อย่างคงประกอบกันทำให้ ไทเกอร์ วู้ด กลายเป็นยอดนักกอล์ฟในตำนานคนหนึ่ง

              สตีป จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งและสร้างผลิตภัณฑ์ของแอบเปิลคอมพิวเตอร์และถือว่าเป็นตำนานของนักประดิษฐ์มือต้น ๆ  ที่โลกรู้จักนั้น  ในวัยที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่นเขาน่าจะเป็นนักคิดและมีจินตนาการสูง  ผมไม่รู้จักประวัติของเขามากนัก  แต่ทราบว่าเขาเคยเดินทางไปแสวงหาความหมายของชีวิตในเอเซียและหันมานับถือศาสนาพุทธ  เขาเคยเรียนการออกแบบตัวอักษรแบบต่าง ๆ  ในมหาวิทยาลัย  ที่สำคัญเขาหมกมุ่นเล่นและคลุกคลีกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในช่วงที่อุปกรณ์ชนิดนี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นบนโลก   ในกรณีนี้  “สถานการณ์”  และ “โอกาสที่ได้สัมผัส”  มีส่วนสำคัญที่ทำให้จ็อบส์กลายเป็นอัจฉริยะทางด้าน IT และกลายเป็นตำนานของนักประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่คนทั้งโลกต่างก็ต้องการใช้อย่างแอบเปิล

            ในเรื่องของการลงทุนนั้น  ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเหนือไปกว่า วอเร็น บัฟเฟตต์  แต่อัฉริยะภาพของเขานั้น  ไม่ได้เกิดเมื่อเขาเรียนจบ  ทำงาน  และเริ่มลงทุน  เรามาดูประวัติของบัฟเฟตต์ตั้งแต่เด็กจนถึงเรียนจบปริญญาตรีและโทก็จะพบว่า  “แวว” ของความเป็น  “เซียน”  ของบัฟเฟตต์นั้น  น่าจะเริ่มตั้งแต่เขายังเป็นเด็กชั้นอนุบาลและก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ  ไม่มีหยุด

            ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ  บัฟเฟตต์ก็เริ่มรู้จักเร่ขายโค๊ก  โดยเขาซื้อโค๊กมาเป็นแพ็ค ๆ  ละ 6 ขวดในราคา 25 เซ็นต์ แต่ขายมันในราคาขวดละ 5 เซ็นต์ซึ่งทำให้เขาได้เงิน 30 เซ็นต์ ได้กำไร 5 เซ็นต์  หรือคิดเป็นกำไร 16% ของยอดขาย   ความสนใจในการที่จะ “หาเงิน” ของเขานั้นคงจะวนเวียนอยู่กับเขาตลอดเวลา  เพราะว่าแค่อายุ 11 ขวบ  เขาก็เริ่มซื้อหุ้นตัวแรก  ซึ่งก็คือหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท Cities Service โดยที่เขาซื้อร่วมกับพี่สาว เป็นจำนวน 6 หุ้น ในราคาหุ้นละ 38  เหรียญ พอซื้อแล้วราคาก็ตกลงมาเหลือ 27 เหรียญ ซึ่งทำให้พี่สาวเขากังวลและถามเขาทุกวันว่ามันจะเป็นอย่างไร  ดังนั้น  พอหุ้น Cities Service ปรับตัวขึ้นมาเป็น 40 เหรียญ  เขาก็ขายมันไป  และแทบจะทันทีหลังจากนั้น  หุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปจนถึง 200 เหรียญ สอนบทเรียนให้บัฟเฟตต์รู้ว่าเขาไม่ควรรีบขายหุ้นเพราะกลัวว่าหุ้นจะตก

             เหตุผลที่บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นตั้งแต่เด็กนั้นไม่ได้มีการกล่าวถึง  แต่ผมเชื่อว่าเป็นเพราะพ่อของบัฟเฟตต์เป็นเจ้าของและทำธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น  ดังนั้น  บัฟเฟตต์คงคุ้นเคยกับหุ้นตั้งแต่เด็ก  เขาคงรู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาขึ้นลงและเป็นหนทางหรือเครื่องมือในการทำเงินให้เขาได้  และดังนั้นเขาจึงเข้าไปลองดู   ความต้องการที่จะหาเงินของบัฟเฟตต์  หรือแรงขับที่จะสร้างความร่ำรวยของบัฟเฟตต์นั้นเป็นที่ประจักษ์  เพราะเมื่อเขาอายุแค่ 13 ขวบ  เขาก็ประกาศว่าเขาจะเป็นเศรษฐีเงินล้านเมื่ออายุ 30 ปี และถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเขาก็จะไป   “กระโดดตึกที่สูงที่สุดในเมืองโอมาฮา”

             บัฟเฟตต์เริ่มทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ  เขาขยายสมาชิกและเส้นทางส่งหนังสือพิมพ์ไปจนมีสมาชิกถึง 500 รายต่อวัน  พออายุถึง 15 ขวบ  เขาก็สามารถทำเงินได้ถึงสัปดาห์ละ 175 เหรียญซึ่งเท่ากับเงินเดือนของผู้ใหญ่อายุ 25 ปีทีเดียว

            การลงทุนเพื่อหาเงินหรือทำกำไรของบัฟเฟตต์นั้น  ดูเหมือนจะไม่จำกัดว่าเป็นอะไร  เพราะเมื่อเขาอายุ 14 ขวบและคงมีเงินเก็บอยู่พอสมควรนั้น  เขาก็ได้ซื้อฟาร์มขนาด 40 เอเคอร์หรือประมาณ 100 ไร่ ในราคา 1,200 เหรียญเพื่อเก็งกำไร   พอถึงอายุ 17 ปี  ซึ่งบัฟเฟตต์กำลังเรียนในปีสุดท้ายของชั้นมัธยม  เขาก็เริ่ม  “ทำธุรกิจ”   นั่นก็คือ  เขาซื้อเครื่องเล่นพินบอลเก่าในราคาเครื่องละ 25 เหรียญไปวางไว้ที่ร้านตัดผมเพื่อให้ลูกค้าหยอดเหรียญเล่น  ภายในเวลาไม่กี่เดือน  เขาก็มีเครื่องเล่นวางถึง 3 จุด  ซึ่งเขาก็ขายธุรกิจนี้ให้กับนายทหารผ่านศึกคนหนึ่งในปีเดียวกันที่ราคา 1,200 เหรียญ  ในเวลานั้น  บัฟเฟตต์มีเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 เหรียญแล้วโดยเฉพาะจากการทำงานส่งหนังสือพิมพ์  ดูเหมือนว่าเขาจะมีความสุขกับการหาเงินมากจนไม่ใคร่อยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย  อย่างไรก็ตาม  พ่อเขาก็กดดันให้เขาเรียน  และบัฟเฟตต์เองก็ได้รับการตอบรับให้เรียนที่วาร์ตันซึ่งเป็นคณะบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียอันโด่งดัง

            ถึงจุดนี้คงต้องกล่าวเสริมว่าบัฟเฟตต์นั้นเป็นเด็กที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในเรื่องของตัวเลขและคณิตศาสตร์   และการที่สามารถเข้าเรียนที่วาร์ตันได้นั้นแสดงให้เห็นว่าเขาน่าจะ “หัวดี” ทีเดียว  เพียงแต่อาจจะไม่ใคร่ชอบเรียน  เขาบ่นว่าเขา  “รู้ดีกว่าอาจารย์”  และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เขาย้ายมหาวิทยาลัยกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเนบราสกาที่บ้านเกิดในปี 3 และเรียนจบใน 3 ปีครึ่ง เวลานั้นเขาอายุเพียง 20 ปี และมีเงินเก็บถึงเกือบหนึ่งหมื่นเหรียญซึ่งถือว่ามากทีเดียว

           จุดเปลี่ยนชีวิตจริง ๆ ของบัฟเฟตต์อาจจะอยู่ที่การเรียนปริญญาโทซึ่งเขาสมัครที่คณะบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด  มหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของโลก  แต่ได้รับการปฏิเสธ  เขาจึงสมัครและได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนที่โคลัมเบีย มหาวิทยาลัยที่โดดเด่นพอ ๆ  กันเมื่อเขารู้ว่า เบน เกรแฮม อาจารย์และนักลงทุนที่มีชื่อเสียงทางด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์สอนอยู่ที่นั่น    และนี่ก็เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งว่าบัฟเฟตต์เองนั้นคงเรียนดีมากจึงสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำแบบนี้ได้

           เมื่อเรียนจบ  บัฟเฟตต์เสนอตัวทำงานให้กับเบน เกรแฮม โดยไม่รับเงินเดือนเพื่อที่จะได้เรียนรู้กับอาจารย์ในทางปฏิบัติ  และแม้ว่าบัฟเฟตต์จะเป็นนักเรียนเกรด A+ เพียงคนเดียวของเกรแฮม  แต่เขากลับไม่รับบัฟเฟตต์เนื่องจากเขาต้องการให้คนยิวซึ่งด้อยโอกาสได้งานนั้น  ทำให้บัฟเฟตต์เดินทางกลับบ้านไปทำงานในบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อ    สองปีต่อมา  เบน เกรแฮม จึงเสนองานให้กับบัฟเฟตต์ซึ่งเขาตอบรับทันทีและได้ทำงานเป็นเวลาสองปีก่อนที่เกรแฮมจะเกษียณปิดบริษัท  บัฟเฟตต์ ซึ่งอายุ 26 ปี มีเงินถึง 140,000 เหรียญ จึงกลับโอมาฮาและตั้งกองทุนบริหารหุ้นให้กับญาติและคนรู้จัก  และเริ่มตำนานการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน
             ประเด็นของเรื่องทั้งหมดที่ผมต้องการนำเสนอก็คือ  “เส้นทางชีวิต”  ของคนโดยทั่วไปนั้น  โดยสาระสำคัญแล้ว  มันเป็นเส้นที่มีความต่อเนื่องไม่ขาดตอน  มันคงคล้าย ๆ  กับระบบอานาล็อกที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแบบ 0 หรือ 1 แต่ค่อย ๆ  พัฒนาไปเรื่อย ๆ  ชีวิตของคนนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เกิดและค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่  ความสามารถต่าง ๆ  หรือศักยภาพต่าง ๆ  มีมาตั้งแต่เกิด  ความสนใจความชอบค่อย ๆ  ก่อตัวขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตในบางเรื่องมากกว่าเรื่องอื่น  สิ่งต่างๆ  เหล่านี้ประกอบเข้าด้วยกันทำให้คน ๆ  หนึ่งค่อย ๆ  พัฒนาไปในทิศทางที่ชัดเจนที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เด็ก  น้อยคนที่จะมีชีวิตที่หักเหไปจากสาระสำคัญเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่    ส่วนใหญ่แล้วคนเราถ้าจะหักเห  ก็มักจะหักเหในรายละเอียด  เช่น  สาระสำคัญก็คือ  คน ๆ หนึ่งนั้น  เส้นทางคือ ความร่ำรวย แต่รายละเอียดอาจจะเป็นว่าคน ๆ นั้นควรจะรวยจากการทำงานด้วยแรงงาน  แต่แล้วชีวิต “ผกผัน” กลายเป็นรวยจากการลงทุน เป็นต้น   ด้วยตรรกะแบบนี้  ผมจึงสรุปว่า  คนแทบทุกคนมี  “แวว”  ตั้งแต่เด็กแล้วว่าเขาจะเป็นอย่างไรเมื่อเขาโตขึ้น  เป็นสิ่งที่ยากมากที่คนจะ “เปลี่ยนไป” เมื่อเป็นผู้ใหญ่  เซียนนั้นมักจะต้องมีพื้นฐานเป็นเซียนเสมอ

Posted by nivate at 11:09 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/28/1354



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 4 November 2013
Inter Brand


การเติบโตขึ้นของการบริโภคของคนไทยนั้นเห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  เหตุผลก็เพราะว่ารายได้ของคนชั้นกลางและชั้นกลาง-ล่าง ที่เป็น “มนุษย์เงินเดือน”  นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อานิสงค์จากการที่แรงงานในประเทศไทยขาดแคลนอย่างหนัก  สิ่งนี้ส่งผลให้บริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับผู้บริโภคเติบโตเฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว  ไม่ใช่เป็นเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น  ความสามารถในการกู้เงินของคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นมหาศาล  อานิสงค์จากการที่พวกเขามีรายได้ที่แน่นอนและอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ต่ำมากติดต่อกันมานานหลายปี  บริษัทที่ขายสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภคที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างก็มียอดขายและกำไรที่เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต่างก็มักจะเป็นบริษัทที่ใหญ่และมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง  สิ่งนี้ส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้นและทำให้ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของหุ้นสูงขึ้นมาก   หุ้นกลุ่มผู้บริโภคที่นักลงทุนไม่ใคร่สนใจในอดีตนั้นกลายเป็นหุ้นยอดนิยม  จากหุ้นที่มีราคาถูกค่า PE ต่ำ ก็กลายเป็นหุ้นที่มีราคาแพงและค่า PE สูงลิ่ว      เทรนด์หรือแนวโน้มแบบนี้จะไปต่อไหม?  ความเสี่ยงคืออะไร?

              ย้อนหลังไป  อาจจะไม่ถึงหนึ่งหรือสองปี  ผมเอง  “รู้สึกดี” และสบายใจกับกิจการที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่มีความโดดเด่นและเป็นผู้นำ  สิ่งที่ผมได้  “สัมผัส”  อยู่บ่อย ๆ-  อาจจะเนื่องจากคนใกล้ชิดชอบ-ก็คือเรื่องของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวที่เป็นแฟชั่นและราคาย่อมเยาหรือไม่แพง  ผมเองคิดว่านี่เป็นธุรกิจที่ดีโดยเฉพาะถ้ากิจการนั้นมีความได้เปรียบคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นทางด้านของต้นทุนหรือด้านของยี่ห้อหรือด้านของการเป็นช่องทางการขายที่เป็นจุดหมายของคนซื้อ  ในตอนนั้นผมจึงสรุปว่ากิจการขายเสื้อผ้าที่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่คงได้เปรียบและน่าจะเติบโตไปได้ดีนั่นคือกลุ่มหนึ่ง  กลุ่มที่สองก็คือกิจการที่ขายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มียี่ห้อและราคาไม่แพงน่าจะไปได้ดี  และสาม  ศูนย์การค้าที่เป็น  “ศูนย์กลาง” ในการจำหน่ายเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นราคาไม่แพงคงทำได้ดี  ว่าที่จริงผมเคยรับรู้มาว่าอัตราค่าเช่าสำหรับร้านค้าในศูนย์เช่นที่อยู่แถวประตูน้ำนั้น   มีราคาแพงมากจนไม่น่าเชื่อ

             และแล้วในวันหนึ่งที่ศูนย์การค้าพารากอนซึ่งผมมักจะไปจ่ายตลาดเป็นประจำ   ผมก็พบกับความประหลาดใจมากที่เห็นว่ามีร้านขายเสื้อผ้าขนาดใหญ่มากเปิดขึ้นในจุดที่คนเดินผ่านมากที่สุด  ร้านนั้นคือ H&M ซึ่งเป็นร้านที่ผมเห็นเป็นประจำเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่ค่อนข้างเจริญอย่างในอังกฤษหรือฮ่องกง  ว่าที่จริงมันเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่คนใกล้ชิดผมต้องแวะเข้าไปซื้อเสื้อผ้าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ  เนื่องจากมันเป็นร้านที่ขายเสื้อผ้าที่มีแบบสวยงามทันสมัยออกแบบโดยนักออกแบบมีชื่อระดับโลกแต่ขายในราคาปกติ  ทุกครั้งที่เข้าร้านก็จะได้เสื้อผ้ามาหลายตัวเพราะสินค้ามีมากมายและหลากหลาย   ความประหลาดใจของผมนั้นไม่ใช่เพราะร้าน H&M มาเปิดที่เมืองไทย  แต่เป็นเพราะผมได้เห็นคนจำนวนมากเข้าคิวรอเข้าไปจับจ่ายในร้านที่เต็มไปด้วยผู้คนที่แทบจะแย่งกันซื้อราวกับว่าของนั้นแจกฟรี

             เดี๋ยวนี้ร้าน H&M ที่พารากอนไม่ได้แน่นเหมือนตอนเปิดร้านใหม่ ๆ  แต่ก็น่าจะยังขายดีมาก  และความสำเร็จนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ H&M เริ่มไปเปิดร้านที่สองหรือร้านที่เท่าไรผมไม่ทราบแต่ก็เห็นร้าน H&M เปิดใหม่ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 ที่เป็นแหล่งขายสินค้าแนวแฟชั่นที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   เหตุผลที่  H&M ประสบความสำเร็จมากนั้น  ช่วงแรกผมคิดว่ามันอาจจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว  เป็นเรื่องของ  H&M  เอง  แต่แล้วผมก็เริ่มได้รับรู้ว่า   ห้าง Uniqlo เครือข่ายขายเสื้อผ้าชั้นนำจากญี่ปุ่น  ซึ่งก็มีร้านอยู่ที่พารากอนและอาจจะที่ห้างชั้นนำอื่น ๆ  ด้วยนั้น  ก็ขายได้ดีมาก  ภาพของ Uniqlo เองนั้น  อาจจะไม่ได้เน้นทางด้านแฟชั่นมากเท่า H&M  แต่เป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีมาก  และที่สำคัญก็คือ  มีราคาถูกมากไม่ได้ต่างจากแบรนด์ที่เป็นของไทยเลย  ว่าที่จริงอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำถ้าเป็นยี่ห้อระดับสูงของไทย   ดังนั้น  ข้อสรุปของผมจึงกลายเป็นว่า  ตลาดของเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของไทยนั้น  ได้เข้าสู่การแข่งขันในระดับสากลเช่นเดียวกับตลาดในอังกฤษหรือฮ่องกงแล้ว  และสภาพการแข่งขันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

             แบรนด์ที่เป็นสากลหรือ International Brand ที่เข้ามาทำตลาดหรือขายสินค้าหรือบริการในประเทศไทยนั้นมีมานานและมีมากมาย  ในอดีตนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเข้ามาจับตลาด  “ระดับบน”  ก่อน  แต่เมื่อคนไทยที่เป็น Mass  หรือคนกลุ่มใหญ่  รวยขึ้นหรือมีเงินมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง  เขาก็เริ่มเข้ามาบริโภคมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ  คู่แข่งที่เป็นกิจการของคนไทยหรือแบรนด์ไทยก็ค่อย ๆ  ปรับตัวจนบางทีเราไม่เห็นว่ามันได้กระทบกับใครบ้าง  ตัวอย่างเช่น  อาหารจานด่วนเช่นพวกไก่ทอดหรือแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้น  แต่ในกรณีของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนี้   ผมคิดว่ามันมาเร็วมากและคงกระทบกิจการต่าง ๆ  ที่เป็นของคนไทยไม่น้อย  ผมเชื่อว่าร้านเครือข่ายขายเสื้อผ้าของไทยตอนนี้คงเริ่มรับรู้ถึงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกรุงเทพที่เป็นจุดที่อินเตอร์แบรนด์เริ่มบุก  ต่อไปผมเชื่อว่าในหัวเมืองใหญ่ก็จะตามมา   เสื้อผ้าที่มียี่ห้อเป็นแบรนด์ไทยนั้นผมคิดว่าจะยิ่งลำบากขึ้นไปอีกเนื่องจากภาพพจน์ที่ด้อยกว่าแถมราคาอาจจะแพงกว่า  สุดท้าย  แม้แต่ศูนย์การค้าปลีก-ส่งเสื้อผ้าแนวแฟชั่นนั้น   ผมก็คิดว่าความนิยมจะลดลงไปเรื่อย ๆ   เหตุผลก็เพราะคนที่นิยมเรื่องของแฟชั่นที่มีราคาถูกนั้น  เริ่มจะหันมาซื้อสินค้าอินเตอร์แบรนด์ที่มีราคาไม่ต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  นี่สังเกตจากคนใกล้ชิดผมเองที่ไปซื้อสินค้าน้อยลงมาก

             ถ้าเราถือหุ้นของกิจการที่ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคเป็นหลักและไม่ใช่เป็นยี่ห้อของต่างประเทศ  บริษัทเราเป็นผู้นำหรืออยู่ในกลุ่มผู้นำที่ประสบความสำเร็จ  มียอดขายและรายได้เติบโตดี  อานิสงค์จากการเปลี่ยนแปลงของการเป็นสังคมผู้บริโภค  และหุ้นมีราคาปรับตัวขึ้นสูงและหุ้นไม่ถูกหรือกลายเป็นหุ้นที่แพงมีค่า PE ที่สูงไปแล้ว  เราก็ต้องคิดไปถึงอนาคตด้วยว่าหุ้นตัวนั้นมีโอกาสที่จะต้องประสบกับการแข่งขันจาก  Inter Brand มากน้อยแค่ไหนและที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  บริษัทของเรานั้นจะสู้ได้หรือไม่และเพราะเหตุใด?  โดยทั่วไปเราต้องวิเคราะห์ปัจจัยของการแข่งขันในอุตสาหกรรมหรือในธุรกิจว่าอะไรเป็นตัวสำคัญและเรามีแค่ไหนเทียบกับอินเตอร์แบรนด์  หัวใจอยู่ที่สองเรื่องนั่นก็คือ  Economy of Scale  หรือต้นทุนว่าใครได้เปรียบ  กับเรื่องของยี่ห้อของสินค้าว่าใครโดดเด่นกว่าและสินค้านั้นคนคำนึงถึงยี่ห้อมากน้อยแค่ไหนด้วย
              ผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ  ที่เป็นเรื่องของการบริโภคและอินเตอร์แบรนด์เข้ามาแข่งขันหรือเกี่ยวข้องด้วยหรืออาจจะเข้าในอนาคตนั้นมีมากมาย  ลองนึกคร่าว ๆ  ก็รวมถึง  เฟอร์นิเจอร์  อาหาร  มือถือ  เครื่องสำอาง  ค้าปลีก  ผู้ให้บริการการสื่อสาร  แบ็งค์และบริการทางการเงิน  และอื่น ๆ  อีกมาก   ผลิตภัณฑ์ไหนที่มีกำไรต่อยอดขายดีหรือมีมาร์จินสูงและมีตลาดขนาดใหญ่ก็มักจะมีโอกาสที่อินเตอร์แบรนด์จะเข้ามามากกว่า  ความเข้มแข็งของบริษัทในประเทศก็มีส่วนสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินว่าอินเตอร์แบรนด์อยากเข้ามาหรือไม่  เพราะเขาเองก็รู้ว่า  การเข้ามาแข่งกับบริษัทที่ใหญ่  โดดเด่น  และอยู่ในบ้านตนเองนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่าย  กฎของสงครามที่ว่าผู้รุกต้องมีทรัพยากรเป็น 2 เท่าจึงจะเอาชนะฝ่ายรับได้นั้นยังเป็นจริง  ทั้งหมดนี้เราต้องรู้ไว้  เพราะในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัท  เราไม่อยากที่จะต้องสู้กับอินเตอร์แบรนด์ถ้าไม่จำเป็น  เพราะไม่ว่าจะชนะหรือแพ้  เราก็อาจจะเสียหายอยู่ดี  และในกรณีที่แพ้  ก็อาจจะกลายเป็นหายนะ   ดังนั้น  การวิเคราะห์เรื่องของอินเตอร์แบรนด์จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหุ้นที่ขายสินค้าให้ผู้บริโภค

Posted by nivate at 10:36 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/04/1362



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


ข่าวร้าย


ผมไม่ทราบว่ามีใครเคยทำวิจัยหรือไม่ ว่าข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะแนวธุรกิจมีข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีมากน้อยแค่ไหน แต่ผมพนันได้ว่า ข่าวร้าย มีมากกว่าหลายเท่า

คำว่า ข่าวร้าย นั้น ในความหมายของผมก็คือ ข่าวที่คนอ่านแล้วคิดว่ามันจะมีผลที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลง กำไรของธุรกิจต่างๆลดลง ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลง และหุ้นบางตัวจะมีราคาลดลง ทำให้คนรู้สึกวิตกกังวล และอาจจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อคลายความวิตกกังวลนั้น เช่น ลดการบริโภค หรือขายหุ้นทิ้ง

แต่ในความเป็นจริง ข่าวร้าย ที่ปรากฏนั้นอาจจะไม่เป็นจริง หรือถ้าเป็นจริงก็อาจจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ ต่อยอดขายหรือกำไรของกิจการต่างๆ ดังนั้น พื้นฐานของเศรษฐกิจและกิจการต่างๆอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจิตใจของคนรับข่าวอาจเปลี่ยนและราคาหุ้นอาจปรับตัวลงเนื่องจากปฎิกริยาของคนอ่านที่บังเอิญซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ลองมาดูสิครับว่ามันน่าเป็นอย่างนั้นไหม?

ก่อนหน้านี้เพียงปีสองปี เราวิตกกันว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด ราคาข้าวของไม่ขึ้นเลยเพราะเงินเฟ้อต่ำมาก เรากลัวว่าคนจะไม่ยอมใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคและจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งจะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

เดี๋ยวนี้อัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มขึ้น ราคาสินค้ากำลังเริ่มปรับตัวขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เงินเฟ้อกำลังมา นี่เป็นข่าวร้ายที่น่าวิตกว่าจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ผมไม่รู้ว่าข่าวดอกเบี้ยลง หรือข่าวดอกเบี้ยขึ้นเป็นข่าวร้ายที่แท้จริงกันแน่ หรือทั้งสองข่าวต่างก็ไม่ใช่ข่าวร้ายทั้งคู่ รู้แต่ว่าคนอ่านข่าวโดยเฉพาะที่เป็นนักเล่นหุ้นจำนวนมากต่างก็วิตกกังวลทั้ง 2 เรื่อง เห็นได้จากการซื้อขายหุ้นมหาศาลในแต่ละวันโดยเฉพาะในวันที่มีข่าวพาดหัวตัวใหญ่และดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นลงเหมือนลูกดิ่ง

ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจยากไม่แพ้กัน เพราะในช่วงเกิดวิกฤติใหม่ๆที่ค่าเงินบาทอ่อนมาก คนต่างก็วิตกกันว่าเราคงต้องล้มละลายกันทั้งประเทศ เพราะบริษัทต่างก็ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมหาศาล นี่เป็นข่าวร้ายแน่นอนในช่วงนั้น แต่พอตอนหลัง ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยๆ คนก็เริ่มบ่นและเริ่มวิตกกันว่า ค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถส่งออกสินค้าได้เนื่องจากสินค้าของเราจะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เพราะฉะนั้น ข่าวค่าเงินบาทก็สามารถเป็นข่าวร้ายได้ในทุกกรณี

บางช่วงที่ค่าเงินบาทนิ่งและอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ขยับ เราก็มีข่าวร้ายเรื่องสงครามและการก่อการร้ายในต่างประเทศ ไล่ตั้งแต่สงครามในตะวันออกกลางซึ่งที่จริงเกิดขึ้นเกือบทุกวันอยู่แล้ว ไปจนถึงการถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ การโจมตีในบาหลี ยุโรป และรัสเซีย และสุดท้ายก็คือ การก่อการร้ายในภาคใต้ของเราเอง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาไปอย่างไร แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

แต่ถ้าถามว่า การก่อการร้ายกระทบอะไรกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้น คำอธิบายอาจจะมีได้เป็นสิบๆหน้า แต่เกือบทั้งหมดเป็นการกระทบ ?ทางอ้อม? ที่ไม่รู้ว่าจะมีผลแค่ไหน แต่สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมแล้วละก็ เขาบอกว่าน่าจะมีผลโดยตรง เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้นจะดีกว่า แต่ผมก็ยังเห็นเครื่องบินมีผู้โดยสารเต็มแน่นกันทุกเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ยังคงมากันตามปกติ แม้แต่บาหลีผมก็ได้ข่าวว่าคนกลับไปอย่างเดิมแล้ว ดูที่ผลการดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวกับโรงแรมและการขนส่งก็ดูดีเป็นปกติ เพียงแต่หุ้นยังไม่ไปไหนเพราะคนอาจจะยังวิตกกับการก่อการร้ายอยู่

ข่าวร้ายที่เกี่ยวกับคนบางทีก็ยังพอคาดการณ์ได้บ้าง แต่เรื่องของธรรมชาตินั้นก็ทำให้คนช็อคได้ไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่โรคซาร์เมื่อปีสองปีก่อนซึ่งช็อคคนทั้งโลก โดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางทำธุระหรือท่องเที่ยว คนต่างกลัวกันว่านี่อาจจะเป็นหายนะของมนุษย์ถ้าควบคุมไม่ได้ และก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง และแน่นอน คนเล่นหุ้นก็ต้องทิ้งหุ้นก่อนเพื่อความปลอดภัย

เรื่องของโรคซาร์จบไป ก็ตามด้วยโรคไข้หวัดนก ซึ่งผลกระทบหรือเป็นข่าวร้ายน้อยกว่า แต่ก็กระทบโดยตรงกับผู้ผลิตไก่เต็มๆและก็แน่นอน หุ้นในกลุ่มนี้ก็ถูกเทขายเพื่อความปลอดภัย

น้ำมันแพง ดูเหมือนจะเป็นข่าวร้ายที่รุนแรงและอาจ ทำลายเศรษฐกิจโลก และโดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพิงน้ำมันอย่างไทย เศรษฐกิจของประเทศจะถูกกระทบ ดุลการค้าอาจจะขาดดุล บริษัทที่ต้องใช้น้ำมันมาก เช่น ซีเมนต์ การขนส่ง หรือแม้แต่ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนจะถูกกระทบอย่างหนัก โดยรวมแล้ว นี่เป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นการถือหุ้นยาวในช่วงนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ข่าวร้าย ที่กระทบกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเฉพาะอย่างนั้น ยิ่งมีมากจนนับไม่ถ้วน บางเรื่องก็เป็นจริง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องที่นักลงทุนปริวิตกกันเกินเหตุซึ่งเป็นผลจาก แนวโน้มเล็กๆ หรือ แฟชั่น ที่เกิดขึ้นและมี นักอนาคตศาสตร์ ช่วยรับรอง ว่าเป็นจริง

หลายปีก่อนที่วิดีโอกำลังเฟื่อง คนก็พูดกันว่าโรงภาพยนต์จะต้องเจ๊งกันหมดเพราะวิดีโอจะถูกกว่า สะดวกกว่า และมีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อยๆจนไม่มีใครอยากเข้าโรงหนังหนังสือพิมพ์ นิตยสารเองก็จะต้องเจ๊ง เพราะว่าอินเตอร์เน็ทจะเข้ามาแทนที่ คนไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์เพราะสามารถอ่านได้จากคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน ธุรกิจเพลงจะตกต่ำลงเพราะวัยรุ่นหรือคนซื้อเทปเดี๋ยวนี้สามารถดาวโหลดเพลงเฉพาะที่ตนเองชอบทางอินเตอร์เน็ท เพราะฉะนั้นใครจะซื้อซีดีเพลง

คนรุ่นใหม่ดูแลรักษาสุขภาพกันมาก และนี่เป็นแนวโน้มใหญ่ เพราะฉะนั้นธุรกิจเหล้า บุหรี่ และแม้แต่น้ำอัดลมจะค่อยๆหดตัวลง และธุรกิจอย่างชาเขียวและน้ำผลไม้จะรุ่งเรือง เออ แต่เรื่องชีวจิตที่เคยดังระเบิดคงไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่กระมัง จึงเงียบๆไป

ไม่ว่า ข่าวร้าย จะเป็นจริงหรือไม่ หรือจะมีผลหรือไม่มีผล แต่ ข่าวร้าย ในอนาคตก็คงจะมีมากเหมือนเดิม ถ้าไม่มากขึ้น นักเล่นหุ้นเองก็จะยังคงวิตกกังวลกันทุกวัน และก็ซื้อและเทขายหุ้นตามข่าวอย่างไร้เหตุผลเหมือนเดิม

Value Investor ที่ดีนั้น ต้องวิเคราะห์ข่าวอย่างใจเย็น ส่วนใหญ่แล้ว ข่าวร้าย ไม่ใช่เรื่องอันตรายที่จะต้องทำอะไร แต่มันคือโอกาสที่จะเก็บหุ้นดีที่มีราคาถูกลงมากเพราะเป็นข่าวร้ายที่ไม่ร้ายนักในระยะยาว

*****************************

ข่าวร้าย
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
21 กันยายน 2547





ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 11 November 2013
การค้นหาหุ้นเมกาเทรนด์

คำถามยอดนิยมสำหรับ VI ที่เน้นลงทุนระยะยาวในกิจการที่จะเติบโตต่อเนื่องยาวเป็น   “เมกาเทรนด์”  ก็คือ  สำหรับประเทศไทยแล้ว  อุตสาหกรรมอะไรเป็นเมกาเทรนด์  เราจะดูได้อย่างไรว่าอะไรจะเป็นเมกาเทรนด์ในอนาคต?  และหุ้นตัวไหนจะได้ประโยชน์มากที่สุด?

          ก่อนอื่นเราจะต้องกำหนดนิยามของคำว่าเมกาเทรนด์เสียก่อนว่ามันคืออะไร   สำหรับผมแล้ว  นิยามที่จะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนนั้น  จะต้องเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจง  การบอกว่าอุตสาหกรรม IT เป็นเมกาเทรนด์นั้นกว้างเกินไป  ไม่มีประโยชน์ต่อการลงทุนนัก  เพราะอุตสาหกรรม IT นั้นครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก  ผลิตภัณฑ์บางอย่างเช่น  คอมพิวเตอร์ที่  “อยู่กับที่”  อาจจะไม่อยู่ในเมกาเทรนด์แล้ว  แต่คอมพิวเตอร์ที่  “เคลื่อนที่”  และต่อกับอินเตอร์เน็ตนั้นยังเป็นเมกาเทรนด์อยู่  เป็นต้น  นิยามอีกข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ  เมกาเทรนด์นั้นหมายความว่าผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจนั้นจะต้องมียอดขายเติบโตขึ้นเท่าไรและต่อเนื่องไปกี่ปี?   นิยามคร่าว ๆ ของผมอาจจะบอกว่าผลิตภัณฑ์จะต้องเติบโตขึ้นจากที่เป็นอยู่ไม่น้อยกว่า 3 เท่าภายในเวลา 10 ปี หรือพูดง่าย ๆ  ถ้าจุดเริ่มต้นของยอดขายของผลิตภัณฑ์เท่ากับ 100 บาท   ภายในเวลา 10 ปี  ยอดขายจะต้องเป็นอย่างน้อย 400 บาท  และนี่ก็คือการเติบโตแบบทบต้นอย่างน้อยปีละ 15%  ด้วย

          โดยนัยของนิยามเมกาเทรนด์ข้างต้น  เราก็จะพบว่า  ธุรกิจที่จะเป็นเมกาเทรนด์นั้น  อาจจะเป็นธุรกิจที่โตเร็วมาก  โตแบบทบต้นปีละ 30% และภายในเวลาเพียง 5 ปี  ยอดขายก็เป็น 4 เท่า แล้ว  และนี่ก็คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว  คนที่ซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์บางคนอาจจะดูเหมือนว่ามีความคลั่งใคล้  ผู้คนกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “เมกาเทรนด์”    ตัวอย่างก็เช่น  คอมพิวเตอร์แบบแทบเล็ตที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นต้น   แต่ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจบางอย่าง  ก็อาจจะไม่ได้โต “ระเบิด” อย่างนั้น  มันอาจจะโตปีละ 15-20%  ในบางปีที่ดี  และอาจจะโตแค่ 10-15% ในปีที่ไม่ดี  ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็น 10 ปี  ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตเป็น 4 เท่า  ตัวอย่างเช่น ธุรกิจโมเดินเทรดบางประเภท เป็นต้น  แบบนี้ผมก็ถือว่ามันเป็นเมกาเทรนด์เหมือนกัน

          ถัดจากเรื่องของนิยามเราต้องพูดถึงสาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากขึ้นเป็น 4 เท่าได้   ในกรณีอย่างนี้เหตุผลสำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ  เรื่องของพัฒนาการหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถสนองความต้องการของคนได้ดีกว่าเดิมไม่ว่าในด้านของคุณภาพหรือราคา  ส่งผลให้คนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นมากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องยาวนาน  ในบางกรณีก็อาจจะทำให้ผลิตภัณฑ์เดิมล้มหายตายจากไปเลยก็มี

          ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่จะกลายเป็นเมกาเทรนด์ได้นั้น  มักจะต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์  นั่นก็คือ  ข้อแรก  มันจะต้องทำให้มนุษย์ที่คำนึงถึงการอยู่รอด  รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นช่วยให้เขาอยู่รอดได้ดีขึ้น   หรือสอง  ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นจะต้องทำให้คนรู้สึกว่าเขาจะมีโอกาสมีคู่เผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ดีขึ้น   ความต้องการพื้นฐานข้อแรก  นั้นที่เห็นได้ชัดก็อาจจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ  อาหาร  ธุรกิจที่จัดให้เกิดความสะดวกสบายในทุก ๆ  ด้าน  และธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและความรู้ เป็นต้น  ส่วนข้อที่สองนั้นเป็นเรื่องที่กว้างมากที่อาจจะเกี่ยวข้องกับความสวยงาม  สินค้าฟุ่มเฟือย  การท่องเที่ยวเดินทาง  ข่าวสารและความรู้ต่าง ๆ  เป็นต้น   

          ประเด็นที่สำคัญของการเป็นเมกาเทรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องของความต้องการพื้นฐานเท่านั้น  เหตุเพราะว่าเราพัฒนามาไกลมากและคนก็มีปัจจัยเหล่านั้นอยู่แล้ว  เมกาเทรนด์นั้นจะเกิดขึ้นก็ต้องมีการพัฒนาหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาที่ทำได้ดีกว่าของเดิมจนคนเปลี่ยนมาใช้ของใหม่ที่ดีกว่า  และนี่ก็คือการเกิดขึ้นของเมกาเทรนด์ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างในอเมริกาหรือประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก  แต่สำหรับประเทศที่ยังมีรายได้ไม่สูงนักอย่างประเทศไทย  เมกาเทรนด์อาจจะเกิดขึ้นจากการที่คนไทยจำนวนมากขึ้นหันมาบริโภคหรือใช้บริการสิ่งที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่มีการคิดค้นขึ้นในโลก  แต่เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้วแต่ในอดีตมีคนที่มี  “ความสามารถที่จะใช้”  จำกัดเนื่องจากมันเป็นสินค้าที่  “แพงเกินไป”    แต่ในปัจจุบันนั้น  ด้วยรายได้ที่สูงขึ้น  คนไทยจำนวนมากขึ้นก็หันมาใช้บริการนั้น   และเมื่อรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนถึงจุดหนึ่ง  จำนวนคนที่มีความสามารถที่จะใช้ก็อาจจะมากขึ้นเป็นทวีคูณ  และนี่ก็คือกระบวนการหรือเส้นทางที่ก่อให้เกิด  “เมกาเทรนด์”  ในหลาย ๆ  ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย

          ตัวอย่างของเมกาเทรนด์ที่เกิดเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้นั้น  ผมคิดว่าน่าจะรวมถึงผลิตภัณฑ์  สินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคส่วนบุคคล   “สมัยใหม่”  ทั้งหลาย   แต่เดิมนั้น  เราพูดว่าคนชั้นกลางขึ้นไปจะใช้ชีวิตทำงานในออฟฟิส  เดินห้าง  กินอาหารภัตตาคาร  ซื้อเสื้อผ้าตามร้านติดแอร์  ดูหนัง  ขับรถ  เล่นเน็ต อยู่คอนโด  อะไรต่าง ๆ  เหล่านี้  ในขณะที่คนต่างจังหวัดและคนที่มีรายได้ต่ำยังไม่ใคร่จะได้ทำ  อย่างไรก็ตาม  รายได้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเร็วมากในช่วงหลัง ๆ  ก่อให้เกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด  ซึ่งทำให้สินค้าเหล่านั้นขายได้มากขึ้นในต่างจังหวัดและอาจจะกลายเป็นเมกาเทรนด์ได้ในบางผลิตภัณฑ์

          การที่จะดูว่าหุ้นตัวไหนจะได้ประโยชน์จากเมกาเทรนด์นั้นผมคิดว่าในกรณีของการที่เมกาเทรนด์เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของรายได้นั้นอาจจะดูไม่ยากนัก  เหตุผลก็เพราะว่าในกรณีแบบนี้เราอาจจะเห็นผู้ชนะอยู่แล้วเนื่องจากมันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจใหม่   ถ้าเราพบว่ามีบริษัทที่ Dominant หรือบริษัทที่แทบจะ  “ครอบงำ” ธุรกิจอยู่แล้ว  นั่นก็คือบริษัทที่จะได้ประโยชน์ชัดเจน  แต่ในกรณีของธุรกิจใหม่หรือธุรกิจที่ยังไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่  การวิเคราะห์ว่าบริษัทไหนจะชนะก็เป็นสิ่งที่จะจำเป็น  ในกรณีแบบนี้  เราก็จะต้องดูว่าใครมีกลยุทธ์ที่ดีและมีทรัพยากรที่จะต่อสู้แข่งขันมากกว่ากัน   อย่างไรก็ตาม  เราจะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า  โครงสร้างหรือลักษณะของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไรด้วย  เพราะในบางธุรกิจนั้น  เราอาจจะไม่สามารถหาผู้ชนะที่แท้จริงได้  การแข่งขันอาจจะรุนแรงอยู่ตลอดเวลาและแม้แต่  ผู้ชนะเองก็อาจจะทำกำไรไม่ได้มากนักก็ได้

          ที่พูดมาทั้งหมดนั้น  บางทีอาจจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าเมกาเทรนด์ที่น่าสนใจนั้นจะต้องเป็นธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องโตไม่ต่ำกว่าปีละ 15% หรือกำลังโตเร็วมาก ๆ  เท่านั้น  ที่จริงแล้ว  เมกาเทรนด์เองก็มีระดับของมันเหมือนกันและแต่ละคนก็มีนิยามที่แตกต่างกัน  สำหรับผมเองนั้น  บริษัทที่โตต่อเนื่องยาวนานเฉลี่ยทบต้นปีละ 10%  แต่ถ้ามันโตไปยาวนานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปผมก็คิดว่ามันเป็นบริษัทที่โตเร็วน่าสนใจมาก  ประเด็นก็คือ  มันต้องเป็นการโตที่มั่นคงแน่นอนและโอกาสที่จะหดตัวลงน้อยมาก  ในกรณีอย่างนี้  ผมเองก็จะให้คุณค่ามันค่อนข้างมาก  เหตุผลข้อแรกก็คือ  ผมเชื่อว่าธุรกิจที่โตขึ้นเรื่อย ๆ  นั้นมักจะมีกำไรดีขึ้นมากกว่ายอดขายเพราะบริษัทจะมี Economy of Scale ดีขึ้น  หรือต้นทุนต่อหน่วยลดลง  และเหตุผลข้อสองก็คือ  การโตช้าลงมาหน่อยอาจจะไม่ใช่ข้อเสียมากนักถ้ามันจะช่วยไม่ให้คู่แข่งเข้ามามากเกินไป

          สุดท้ายก็คือ  เมื่อค้นพบหุ้นที่จะเป็นเมกาเทรนด์แล้ว  หน้าที่ของเราก็คือ  ดูว่าราคาหุ้นเหมาะสมหรือไม่  โดยอาจจะดูจากอัตราผลตอบแทนจากปันผลในปีแรกบวกกับแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวพอสมควรของธุรกิจ  ถ้าดูแล้วคุ้มค่า  เราก็ควรจะซื้อและถือหุ้นไว้ให้ยาวนานตราบที่กิจการยังดีอยู่โดยที่ยังไม่มีคู่แข่งที่สามารถมาท้าทายบริษัทได้  และอย่าสนใจกับความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น

Posted by nivate at 9:45 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/11/1366



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 18 November 2013
จับคู่วิเคราะห์หุ้น


ในการวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะหาว่าตัวไหนน่าลงทุนหรือไม่นั้น  ในบางครั้งผมก็มักจะดูข้อมูลของบริษัทสองแห่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและอาจจะแข่งขันกันด้วย  เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลด้านต่าง ๆ  ทั้งทางด้านเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ   การหาหุ้นที่คล้ายคลึงกันนั้น  บางครั้งก็ง่ายเนื่องจากทั้งสองบริษัททำธุรกิจแบบเดียวกันและมีฐานลูกค้าใกล้เคียงกัน  ตัวอย่างเช่น  บริษัททั้งสองต่างก็เป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำและมีฐานลูกค้าที่เป็นคนมีรายได้สูงและชาวต่างประเทศ   หรืออีกตัวอย่างหนึ่งอาจจะเป็นธุรกิจที่เป็นเครือข่ายโรงแรมชั้นนำและขายอาหารภัตตาคารและจานด่วนหลากหลาย  เป็นต้น  แต่ในหลาย ๆ  กรณีการที่จะหาคู่บริษัทที่จะมาเปรียบเทียบก็อาจจะไม่ง่ายนัก  ในกรณีแบบนี้ผมก็มักจะหาทางเปรียบเทียบแบบอื่น ๆ   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะใช้ในการ  “ปิดท้าย”  การวิเคราะห์แบบจับคู่ก็คือเรื่องของมูลค่าของกิจการที่ตลาดให้กับแต่ละบริษัท  นั่นก็คือ  ดูว่า Market Cap. ของแต่ละบริษัทเป็นเท่าไร  สมเหตุผลหรือไม่?  โดยทั่วไปผมจะดูว่าหุ้นตัวไหนน่าจะถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกันทุกด้านแล้ว   จากนั้นก็อาจจะตัดสินใจ  บางครั้งก็อาจจะไม่เลือกทั้งสองตัว  บางครั้งเลือกตัวที่เด่นและคุ้มค่ากว่า  น้อยครั้งที่จะเลือกทั้งสองตัว   วิธีการจับคู่วิเคราะห์หุ้นนี้  ที่จริงคนที่ใช้เป็นเรื่องเป็นราวก็คือ  เบน  เกรแฮม ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Intelligent Investor อันโด่งดังนั่นเอง

          ถ้ามีบริษัทที่คล้ายกันอยู่แล้ว  การวิเคราะห์แบบจับคู่ก็ง่าย  เริ่มต้นนั้นผมจะดูที่ความสามารถในการแข่งขันก่อน  สิ่งที่ผมจะพิจารณาก็คือ  บริษัทไหนแน่หรือเก่งกว่ากันซึ่งก็จะต้องดูว่าอะไรเป็นปัจจัยที่สำคัญของการแข่งขันในธุรกิจ   เช่นถ้าเป็นเรื่องของโรงพยาบาล  แน่นอนว่าความสามารถหรือชื่อเสียงของแพทย์ก็ต้องเป็นเรื่องสำคัญ  นอกจากนั้นเรื่องของสถานที่และอุปกรณ์รวมถึงการบริการก็มีความสำคัญเป็นลำดับตามกันมา  เสร็จแล้วผมก็จะให้เรทติ้งว่าใครเหนือกว่าใครและเหนือกว่ามากไหม   จากนั้น  ผมก็จะต้องวิเคราะห์ตัวเลขผลประกอบการต่าง ๆ  ที่ผ่านมาเพื่อที่จะ “ยืนยัน”  ว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นจริงไหม  โดยปกติ  ผลประกอบการเช่น  อัตราการทำกำไรเมื่อเทียบกับยอดขายก็มักจะเป็นตัวบอกถึงความเข้มแข็งทางด้านการตลาดหรือความสามารถในการแข่งขันได้พอสมควร

          นอกจากการวิเคราะห์สิ่งที่เป็นอยู่แล้ว  ผมยังต้องดูถึงอนาคตว่าบริษัทไหนจะดีขึ้นหรือแย่ลงโดยเปรียบเทียบ  สิ่งสำคัญก็คือ  เราจะต้องดูถึงกลยุทธ์ที่แต่ละบริษัทใช้ในการแข่งขันและการเติบโต  ดูว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นนั้น  ใครกำลังโดดเด่นและใครกำลังถดถอย  ข้อมูลชิ้นนี้มีความสำคัญไม่น้อยโดยเฉพาะถ้าบริษัทหนึ่งโดดเด่นขึ้นในแง่ของการขายและการตลาดและแสดงออกให้เห็นจากผลประกอบการในช่วงเร็ว ๆ  นี้ที่ดีขึ้นมากกว่าคู่เทียบอย่างเห็นได้ชัด  เพราะนี่จะเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าอย่างแท้จริงในอนาคต

         หลังจากการวิเคราะห์ตัวกิจการหรือบริษัทแล้ว  สิ่งที่เราจะต้องดูต่อไปก็คือ  ราคา  นั่นก็คือ  ดูว่าค่า PE ค่า PB  อัตราผลตอบแทนปันผล   Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัท  และอื่น ๆ  ที่จะบอกว่าหุ้นตัวไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน   ในกรณีที่ใช้ค่า PE เป็นตัวดูความถูกแพง  ผมก็จะเปรียบเทียบ “คุณภาพ” กับ “ราคา”  หรือค่า PE ว่าแต่ละตัวเป็นอย่างไร  ถ้าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE ต่ำกว่า  แบบนี้ก็ชัดเจนว่าผมคงจะเลือกมัน  แต่ถ้าพบว่าคุณภาพสูงกว่าแต่ค่า PE ก็สูงกว่าด้วย  ในกรณีแบบนี้  เราก็ต้องใช้วิจารณญาณว่า  คุณภาพสูงกว่าแค่ไหน  และ PE สูงกว่าแค่ไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะบอก  เพราะนี่เป็นศิลปะและก็คงต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน   เป็นไปได้สูงเหมือนกันที่บางทีเราก็บอกไม่ใคร่ได้ว่าตัวไหนดีกว่า

          นอกจากการใช้ PE แล้ว  ผมก็มักจะต้องพิจารณาถึงมูลค่าตลาดของหุ้นว่าบริษัทไหนมากกว่ากันและมากเท่าไร  นี่เป็นการดูแบบ  “ภาพใหญ่”  ว่า  หุ้นที่เปรียบเทียบกันนั้น  ใครมีค่ามากกว่ากันและมากกว่าเท่าไร   ถ้าพบว่าบริษัทหนึ่งที่มีคุณภาพด้อยกว่าหรือพอ ๆ  กันและมีขนาดของธุรกิจใกล้เคียงกันแต่กลับมีมูลค่าตลาดสูงกว่ามาก  แบบนี้ผมก็อาจจะมองได้ว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งน่าสนใจกว่าและควรจะเป็นตัวเลือกถ้าเราจะลงทุนระยะยาว

           ในกรณีของหุ้นที่หาคู่วิเคราะห์เปรียบเทียบกับคู่แข่งไม่ได้เนื่องจากไม่มีบริษัทที่ใกล้เคียงในด้านของอุตสาหกรรมและขนาดที่เหมาะสม  การจับคู่วิเคราะห์สำหรับผมก็มักจะเน้นไปทางด้านของ Market Cap. เสียเป็นส่วนใหญ่  ในกรณีแบบนี้บ่อยครั้งก็มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือค่อนข้างใหญ่ที่ธุรกิจหรือยอดขายของบริษัทนั้นมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม  บางบริษัทอาจจะเกือบผูกขาดด้วยซ้ำ   หลักคิดของผมก็คือ  ถ้าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่บริษัททำนั้น  เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือจะใหญ่มากในอนาคต  บริษัทที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่ก็จะต้องมีมูลค่าตลาดที่มากตาม  แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น  เราอาจจะบอกได้ยาก  ดังนั้น  วิธีที่ดีกว่าก็คือ  เปรียบเทียบกับอีกบริษัทหนึ่งที่ใหญ่หรือยิ่งใหญ่แบบเดียวกัน   แต่อยู่ในอีกธุรกิจหนึ่งที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศเราเหมือนกัน  พูดง่าย  ๆ  เปรียบเทียบกับบริษัทที่มีมูลค่าพอ ๆ  กัน –ข้ามอุตสาหกรรม

           ถ้าบริษัทที่เราดูอยู่นั้น  อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่น่าจะโตเร็วกว่ามากและจะโตไปอีกมากจนมีขนาดที่ใหญ่กว่าอีกอุตสาหกรรมหนึ่งมาก    โอกาสที่บริษัทจะมีมูลค่าในอนาคตที่สูงกว่าบริษัทที่เราเปรียบเทียบก็จะมาก   ดังนั้น  เราก็จะบอกว่าหุ้นตัวนี้น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งโดยเปรียบเทียบ  และถ้าให้เราเลือกที่จะลงทุน  เราก็คงเลือกบริษัทนี้

           การเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรมนั้น  เป็นเรื่องที่ทำไม่ง่าย  ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะเห็นไม่ชัดว่าหุ้นที่เราดูอยู่นั้นถูกหรือไม่  แต่ในบางครั้ง  เราก็อาจจะพบว่าหุ้นบางตัวมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นที่มีคุณสมบัติทางด้านการแข่งขันในตลาดพอ ๆ กันแต่มีศักยภาพที่จะเติบโตน้อยกว่ามาก  ในกรณีแบบนี้  หน้าที่เราก็คือ  ซื้อหุ้นและก็ถือไว้ให้ยาวนาน  ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามคาด  หุ้นก็จะปรับตัวขึ้นจนมี Market Cap. หรือมีมูลค่าตลาดของหุ้น  “สมกับศักดิ์ศรี”  ของมัน
             การจับคู่  หรือบางทีจับหุ้นหลายตัวโดยเฉพาะที่มีธุรกิจคล้ายคลึงกัน  มาวิเคราะห์ร่วมกันนั้น  ผมคิดว่าเป็นการวิเคราะห์เสริมที่มีประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว  ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ  มันช่วยให้เราเข้าใจบริษัทมากขึ้นไปอีกจากการวิเคราะห์หุ้นตัวเดียว  มันทำให้เรารู้ว่าคุณภาพของหุ้นดีระดับไหนและมันแพงหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับอีกตัวหนึ่ง  ตัวอย่างง่าย ๆ  เช่น  ถ้าเราอยากซื้อหุ้นแบงค์ขนาดใหญ่  เราก็ควรศึกษาเทียบกับแบงค์ใหญ่ที่คล้ายกัน  เช่นเดียวกัน  ถ้าเราอยากซื้อแบงค์เล็ก  เราก็ควรต้องเปรียบเทียบกับแบงค์เล็กด้วยกัน  และบางทีเราก็อาจจะเปรียบเทียบกับแบงค์ใหญ่ไปด้วย  หรือถ้าเราต้องการซื้อหุ้นบันเทิง “ครบวงจร”  เราก็ควรจะเปรียบเทียบกับหุ้นอีกตัวหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน  เช่นเดียวกับหุ้นที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เราสามารถจะเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนเพราะพวกเขาทำธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมากและแข่งขันกันตลอดเวลา   ถ้าจะสรุปก็คือ  หุ้นจำนวนมากนั้น  หาคู่ที่จะมาเปรียบเทียบได้เสมอ  และ VI ผู้มุ่งมั่นก็ควรจะทำทุกครั้งที่มีโอกาส

Posted by nivate at 1:45 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/18/1368



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 25 November 2013
ทำงานไปลงทุนไป


ในระยะหลังประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมาหรือตั้งแต่สิ้นปี 2551 ในวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงเหลือเพียง 450 จุด  มาจนถึงปัจจุบันที่ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 1400 จุด  สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “VI”  จำนวนหนึ่งร่ำรวยขึ้นมากจนสามารถลาออกจากการเป็นพนักงานที่ทำงานกินเงินเดือนในกิจการธุรกิจหรือบริษัทต่าง ๆ  และหันมาเป็นนักลงทุน  “เต็มตัว”  หรือจะเรียกว่าเป็น  “นักลงทุนอาชีพ” ก็ไม่ผิด  เหตุผลที่พวกเขาลาออกมาลงทุนเต็มตัวนั้นก็เพราะว่าเขาจะได้มีเวลาศึกษาและค้นหาหุ้นที่น่าลงทุนซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้เวลามากและบ่อย ๆ  ต้องใช้เวลาในเวลางาน  เช่น การไป Visit Company เยี่ยมชมบริษัท  หรือไปพบผู้บริหารในงาน Opportunity Day ซึ่งจัดในเวลางาน

           การทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาและค้นหาหุ้นลงทุนนั้น  นักลงทุน “ผู้มุ่งมั่น”  ที่กล่าวถึงนั้นเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้พวกเขาลงทุนได้ดีขึ้น  สามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น “คุ้ม” กับรายได้ที่จะเสียไปจากการทำงาน  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้ามีเงินในพอร์ต 10 ล้านบาท  และถ้าเขาทำผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้จากปกติปีละ 5-10%  ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะทำได้ “ไม่ยาก”  เขาก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท  ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนทั้งปีของเขา  ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจลาออกจากงาน  และมุ่งมั่นสู่  “ดวงดาว”  นั่นก็คือ  รวยเป็นเศรษฐีจากตลาดหุ้น  และนั่นก็คือนักลงทุนที่  Aggressive หรือกล้าหาญและมั่นใจสุด ๆ  อาจจะ  เนื่องจากผลงานที่ทำมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นโดดเด่นมาก ๆ  ผลตอบแทนทำได้ปีละอาจจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย

            เช่นเดียวกัน นักลงทุนรุ่นหนุ่มสาวที่เพิ่งจะจบการศึกษาหลายคนที่พ่อแม่มีเงินมากและอาจจะไม่ได้มีธุรกิจใหญ่พอที่จะต้องให้ลูกมาดูแลธุรกิจหรือไม่อยากให้ลูกเข้ามาทำงานในธุรกิจของตนเอง  อาจจะรู้สึกว่าการลงทุนโดยเฉพาะแบบที่เป็น  “VI”นั้น  ก็เป็น  “การทำธุรกิจ”  เหมือนกัน  ดังนั้น  พวกเขาก็เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ  โดยการขอเงินพ่อแม่มาลงทุน   การลงทุนในช่วงแรกด้วยเงินไม่มากอาจจะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีทำให้เกิดความมั่นใจทั้งตัวเองและพ่อแม่  ดังนั้น  เขาจึงได้เงินลงทุนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ     ด้วย “ฝีมือ”  และอาจจะด้วยโชคหรืออะไรก็ตามแต่  ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังสูงลิ่วทำให้พอร์ตของเขาโตขึ้นเป็นสิบล้านบาทขึ้นไปในเวลาอันสั้น  ดังนั้น  เขาก็เลิกทำงานอย่างอื่นทั้งหมดและหันมาเป็นนักลงทุนอาชีพเต็มตัว  ลึก ๆ  แล้วเขาอาจจะกำลังคิดถึง วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่แทบไม่เคยทำงานประจำอย่างอื่นหลังจากเรียนจบ  แต่ประสบความสำเร็จระดับโลก  ว่าที่จริงเขาอาจจะคิดว่าเขาเก่งไม่แพ้บัฟเฟตต์เลย  เพราะผลตอบแทนของเขาที่ผ่านมานั้นสูงกว่าสถิติของบัฟเฟตต์มากแม้ในช่วงที่บัฟเฟตต์ยังมีพอร์ตเล็ก ๆ  ในช่วงต้นของชีวิตการลงทุน

          ประเด็นที่ผมจะพูดต่อไปก็คือ  เราควรที่จะเลิกทำงานประจำเป็นคนกินเงินเดือนแล้วมาลงทุน  เป็นนักลงทุนอาชีพเต็มตัวไหม?  และจะเลิกทำงานเมื่อไร?  หรือสำหรับคนที่พ่อแม่มีเงินมากพอ  ควรหรือไม่ที่เราจะเริ่มชีวิตการลงทุนตั้งแต่เรียนจบ  หรือเราควรที่จะทำงานไป-ลงทุนไป?

          ผมเองอยากจะเริ่มที่เรื่องของการทำงานประจำหรืองานที่ต้อง  “ใช้แรง”  เสียก่อนว่าทุกคนควรที่จะต้องทำเพื่อเป็น  “ประสบการณ์ของชีวิต”  การทำงานใช้แรงหรือทำงานประจำในหน่วยงานหรือการทำงานที่ต้องประสานเกี่ยวข้องกับคนอื่นนั้น  จะช่วยให้เราเป็นคนที่ “สมบูรณ์” ขึ้น  มันไม่ใช่เรื่องของการหาเงินเพียงอย่างเดียว  แต่มันเป็นเรื่องของสังคมที่คนควรจะมีเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวข้องกันซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมที่ดีขึ้น  เข้าใจชีวิตของคนอื่นได้ดีขึ้น  ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้การลงทุนในอนาคตของเราดีขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว  ดังนั้น  ผมคิดว่าการเริ่มต้นเป็นนักลงทุนเต็มตัวตั้งแต่อายุยังน้อยและยังไม่ได้ผ่านการทำงานแบบใช้แรงมานานพอนั้น  เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร  วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น  ทำงานใช้แรงมานานหลายปีทีเดียวตั้งแต่เรียนชั้นประถมและมัธยมรวมถึงช่วงจบมหาวิทยาลัยไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปีในฐานะนักวิเคราะห์หุ้นก่อนที่จะเริ่มชีวิตการลงทุนอาชีพ  ดังนั้น  คนที่เรียนจบใหม่ ๆ  จึงควรที่จะต้องทำงานไปด้วยถ้าอยากจะลงทุน  คนที่ไม่ทำงานเลยเอาแต่จะลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  บางทีอาจจะเป็น  “ข้ออ้าง”  ของคนที่  “ขี้เกียจ”  ทำงานที่ต้องใช้แรงงานก็ได้  โดยเฉพาะถ้าเขาลงทุนโดยไม่ได้ใช้เวลาศึกษาอะไรมากนัก

         สำหรับคนที่ไม่ได้มีพ่อแม่รวยและต้องพึ่งตนเองเป็นหลักนั้น  การทำงานกินเงินเดือนหรือการใช้แรงทำงานนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก  รายได้จากการทำงานนั้นเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอและมักจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะคนที่มีความสามารถและทุ่มเทให้กับการทำงาน  และถ้าโชคดีได้งานที่ชอบ   การทำงานก็ไม่ได้เป็นภาระที่หนักอกหรือต้อง “ฝืนใจทำ”   มันก็อาจจะเป็นกิจกรรมที่ทำแล้ว “มีความสุข”  ว่าที่จริงในยุคสมัยปัจจุบันและในอนาคต  การทำงานมีโอกาสที่จะทำให้เรา “ร่ำรวย” ได้เหมือนกัน  ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่คนทำงานกินเงินเดือนนั้น  “ไม่มีโอกาสรวย”   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การทำงานนั้น  เป็นกิจกรรมที่ดีเยี่ยมในแง่ของสังคมและบ่อยครั้งในแง่ของการทำเงิน  เหนือสิ่งอื่นใด  มันเป็นการได้ผลตอบแทนที่มักจะมีความเสี่ยงต่ำ  ดังนั้น  ก่อนที่เราจะละทิ้งมัน  เราควรจะพิจารณาให้รอบคอบจริง ๆ

         ข้อเสียของการทำงานสำหรับนักลงทุนก็คือ  พวกเขาคิดว่ามันทำให้เขาไม่มีเวลาไปวิเคราะห์หุ้นเท่าที่ควรและเขา  “เชื่อว่า”  มันทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยลงไม่ต่ำกว่า 5% หรือ 10% หรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี  แต่ในประเด็นนี้ผมเองคิดว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อนั้น  อาจจะไม่จริง  เหตุผลก็คือ  ในสมัยนี้เรามีเทคโนโลยีที่สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อเอามาศึกษานอกเวลาได้อย่างสะดวก  การไปเยี่ยมบริษัทเองนั้น  ก็อาจจะไม่ได้เพิ่มคุณค่าของการวิเคราะห์มากนัก  ดังนั้น  ความจำเป็นต้องลาออกจากงานเพื่อมาศึกษาหุ้นจึงมีความจำเป็นน้อยโดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้มีพอร์ตใหญ่โตมากมายอะไรนัก

         ส่วนตัวผมเองคิดว่ากลยุทธ์ที่ดีกว่าก็คือ  เราควรที่จะทำงานไป-ลงทุนไปเรื่อย ๆ   การทำงานนั้นเป็นขั้นตอนแรกที่จะสะสมเงินทุนเริ่มต้นที่จะต้องนำไปลงทุนซื้อหุ้นในตลาด  รายได้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากการทำงานจะทำให้เรามีเงินเติมลงไปในพอร์ตเรื่อย ๆ  ทำให้พอร์ตโตเร็วขึ้นซึ่งในที่สุดก็จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงิน  นั่นก็คือ  คร่าว ๆ  พอร์ตควรจะใหญ่เป็นประมาณอย่างน้อย 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยซึ่งจะทำให้เราสามารถเลิกทำงานประจำได้โดยไม่เดือดร้อน  อย่างไรก็ตาม  เรายังไม่ควรเลิกทำงาน  เหตุผลก็คือ  รายจ่ายในอนาคตของเราอาจจะเพิ่มขึ้นมาก  อาจจะเนื่องจากการแต่งงาน  มีลูก  เจ็บป่วยรุนแรง  และเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่น ๆ  รวมถึงการที่หุ้นอาจจะตกลงมารุนแรงทำให้ความมั่งคั่งที่เหลืออยู่ไม่พอใช้จ่ายอย่างสบายใจ  การทำงานต่อไปจะทำให้เรามี  “Margin of Safety” หรือความปลอดภัยเพิ่มขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
         การที่เราจะเลิกทำงานและหันมาลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น  ผมคิดว่าเราควรยึดหลักว่า  หนึ่ง เราชอบทำงานหรือไม่  ถ้าชอบ  เราก็ไม่จำเป็นต้องเลิกเลย  ทำไปลงทุนไป  แต่ถ้าไม่ได้รักหรือชอบงานที่ทำ  เราก็ต้องคำนึงถึงว่ามันทำเงินให้เราคุ้มค่าหรือเพียงพอหรือไม่ที่เราจะทำต่อ  ผมเองคิดว่าตราบใดที่ผลตอบแทนจากการทำงานยังสูงถึง 20-30% ของรายได้จากการลงทุนต่อปี  ผมก็เห็นว่ามันยังคุ้มค่าที่จะทำ  เพราะการทำงานประจำด้วยจะทำให้พอร์ตหรือเงินเราโตเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  แต่หากว่ามันน้อยกว่านั้นแล้ว  การเลิกทำงานและลงทุนเพียงอย่างเดียวก็อาจจะดีกว่าและทำให้เรามีความสุขในชีวิตมากกว่า
Posted by nivate at 10:32 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/11/25/1372



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 2 December 2013
หุ้นผู้บริโภค

ช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมานั้น  หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในด้านของ  “คุณภาพ”  ของกิจการ  ก่อนหน้านั้นดูเหมือนว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ผลิตและขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์เป็นหลัก   บริษัทที่ขายสินค้ามี “ยี่ห้อ”  หรือบริษัทที่ขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค  ที่มีกำไรต่อยอดขายหรือมีมาร์จินสูง  ซึ่งถือว่าเป็นกิจการที่มี  “คุณภาพสูง”  นั้น  มักจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก  สัดส่วน Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของบริษัทที่มี  “คุณภาพดี”  เหล่านั้นมีน้อยมาก   แต่เดี๋ยวนี้  “หุ้นผู้บริโภค” มีมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ขึ้นมาก  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทเหล่านั้นมีการขยายตัวของยอดขายและกำไรสูงกว่าหุ้นโภคภัณฑ์  แต่ที่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การที่ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น   “แพง” ขึ้นมาก  นั่นก็คือ  ค่า PE  ของหุ้นผู้บริโภคสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับหุ้นโภคภัณฑ์ที่ยังมีค่า PE ในระดับ 10 เท่าบวก-ลบ  ในขณะที่หุ้นผู้บริโภคจำนวนมากมีค่า PE ในระดับอาจจะ 20 เท่าบวก-ลบ   และมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          หุ้น “ผู้บริโภค” ที่ผมกำลังพูดถึงนั้น  ไม่ใช่หุ้นตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจัดโดยตลาดหลักทรัพย์   แต่เป็นหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าหรือบริการด้วยตนเอง  บริษัทนั้นเป็นคนทำการตลาดเพื่อเชิญชวนให้คนมาซื้อสินค้า  บริษัทเป็นคนตั้งราคาขายสินค้าเอง  ยอดขายและกำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับนโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ  ที่บริษัทใช้แข่งขันกับคู่แข่งหรือต่อรองกับหน่วยงานควบคุมของรัฐในกรณีที่เป็นบริษัทที่อิงอยู่กับสัมปทานหรือกฎระเบียบต่าง ๆ    ดังนั้น  หุ้นผู้บริโภคจึงมีกระจายกันไปในหลาย ๆ  กลุ่มอุตสาหกรรม  ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร  ถ้าเขาขายให้คนซื้อที่มีเป็นพัน  หมื่น  แสน  หรือเป็นล้าน ๆ คน  สินค้าของเขามียี่ห้อที่คนรับรู้  และเขาเป็นคนทำการตลาดและกำหนดราคาเองได้  แบบนี้ก็เข้าข่ายที่เขาจะเป็น  “หุ้นผู้บริโภค”

           หุ้นผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่เริ่มปรากฏมากขึ้นในระยะหลังประมาณ 10 ปีมานี้   มักจะเป็นบริษัทที่เป็น  “ผู้ชนะ”  ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของตนเอง  พวกเขามักเป็นคนที่ขายสินค้าโดยตรงต่อผู้บริโภค  นั่นคือ  ไม่ได้ขายผ่านผู้อื่นมากนัก  ความหมายก็คือ  พวกเขามักมี “หน้าร้าน”  ที่ได้สัมผัสกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด  ที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือ  สินค้าหรือบริการของพวกเขานั้น  มักเป็นสินค้า “สมัยใหม่”  หรือเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ใช้กันมากขึ้น  พูดง่าย ๆ  เป็นสินค้าที่อยู่ใน “เมกาเทรนด์”    ลองมาดูกันว่ามีบริษัทไหนบ้าง  ไล่กันไปทีละกลุ่มอุตสาหกรรม

           กลุ่มแรกคือหุ้นในกลุ่มอาหารก็จะพบว่า  หุ้นผู้บริโภคขนาดใหญ่ตาม Market Cap. ก็คือ  หุ้น  CPF  ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนคิดเป็นมูลค่าตลาด 2 แสนล้านบาท  อย่างไรก็ตาม  สินค้าส่วนใหญ่ของ CPF นั้น  จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมากนั้น  น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่บริษัทถือหุ้นจำนวนมากใน CPALL ซึ่งเป็นหุ้นผู้บริโภคที่เติบโตขึ้นมาก  หุ้นตัวที่สองคือหุ้น M เครือข่ายร้านภัตตาคารซึ่งเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดที่มีมูลค่าตลาดกว่า 4 หมื่นล้านบาทกลายเป็นหุ้นใหญ่อันดับ 4 ในกลุ่ม  หุ้นตัวที่สามคือหุ้น MINT ซึ่งทำโรงแรมและร้านอาหาร ที่มีมูลค่าตลาดเกือบหนึ่งแสนล้านบาท เช่นเดียวกับ CENTEL ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 5 หมื่นล้านบาท  และนี่คือหุ้นที่ทำให้มูลค่าหุ้นในกลุ่มอาหารโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

           หุ้นกลุ่มที่สองก็คือ  หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะถือว่าอยู่ในหุ้นกลุ่มผู้บริโภคเช่นกันเนื่องจากมีการรับเงินฝากและให้สินเชื่อแก่บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม  การหาผู้ชนะในกลุ่มแบงค์เป็นเรื่องยาก  และธุรกิจนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างในการที่จะประสบความสำเร็จเช่นเรื่องของภาวะหนี้เสียและอื่น ๆ  ทำให้มูลค่าตลาดของแบงค์เองนั้นโตขึ้นไม่ได้มากเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม  พูดง่าย ๆ  เดิมเมื่อ 10 ปีก่อนแบงค์เองก็ใหญ่มากอยู่แล้ว  สำหรับผมแล้ว  กลุ่มแบงค์ยังไม่อาจจะพูดได้เต็มที่ว่าเป็นหุ้นผู้บริโภค

           หุ้นสถาบันการเงินที่เป็นหุ้นผู้บริโภคที่น่าสนใจมากเนื่องจากเพิ่งจะเติบโตขึ้นมาไม่นานก็คือ หุ้นในกลุ่มประกันชีวิตที่มีหุ้น  BLA และ SCBLIF ที่มีมูลค่าตลาด ประมาณ 7 หมื่นล้านบาททั้งคู่  จากที่ในอดีตนั้น  หุ้นในกลุ่มนี้แทบไม่มีใครสนใจและ Market Cap. น้อยมาก  ข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือ ทั้งสองบริษัทนั้น  มีลูกค้าที่อิงอยู่กับธนาคารขนาดใหญ่ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันและทำให้ประสบความสำเร็จ  เป็น  “ผู้ชนะ”

           กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผมคิดว่าเป็นหุ้นผู้บริโภคที่มีการเติบโตขึ้นมากในช่วง 10 ปีนี้มีหลาย บริษัทซึ่งน่าจะรวมถึงบริษัทที่พัฒนาห้างอย่าง CPN ซึ่งเติบโตขึ้นมากลายเป็นบริษัทขนาด  2  แสนล้านบาท  และบริษัทสร้างบ้านขายที่เติบโตขึ้นมากซึ่งรวมถึง LH ที่มีขนาด 1 แสนล้านบาท PS ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และบริษัทที่มีขนาดประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงหุ้น BLAND  LPN MBK QH SIRI SPALI

           หุ้นกลุ่มพาณิชย์น่าจะถือเป็นหุ้นกลุ่มผู้บริโภคที่ตรงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง และน่าจะเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าตลาดเพิ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ  ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  ในช่วงก่อนนั้น  กลุ่มพาณิชย์แทบจะไม่มีหุ้นที่มี Market Cap. ขนาดใหญ่เลย  แต่ปัจจุบันนั้น  หุ้นหลาย ๆ  ตัวกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่  บางตัวติดอันดับหนึ่งในสิบของหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาด  ประกอบไปด้วย  หุ้น CPALL ซึ่งมีมูลค่าถึงประมาณ 3 แสน 5หมื่นล้านบาท  หุ้น BIGC และหุ้น MAKRO ที่ต่างก็มีมูลค่าตลาดประมาณ 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท  หุ้น HMPRO ที่มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท  และหุ้น ROBINS ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

          ในกลุ่มของหุ้นบันเทิงซึ่งเป็นหุ้นผู้บริโภคที่เป็นผู้ชนะและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากก็คือ หุ้น BEC ซึ่งก็คือทีวีช่อง 3 มีมูลค่าตลาดสูงขึ้นมากถึงประมาณ แสนล้านบาท  นอกจากนั้นก็ยังมีหุ้น VGI ที่ขายโฆษณาที่เพิ่งเข้าตลาดไม่นานก็มีมูลค่าสูงขึ้นถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

          หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ในอดีตไม่ใคร่จะมีค่ามากนักในตลาดหุ้น  แต่ด้วยการเติบโตของหุ้นผู้บริโภคก็ทำให้หุ้นของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ BGH เติบโตขึ้นมหาศาลมีมูลค่าตลาดถึง 2 แสนล้านบาท  เช่นเดียวกัน โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์  BH  ก็เติบโตมีมูลค่าประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท

          หุ้นกลุ่มขนส่งซึ่งในอดีตมีเพียง THAI เท่านั้นที่มีมูลค่าตลาดสูง  ในปัจจุบันกลับกลายเป็นหุ้น AOT และหุ้นของ BTS ที่เป็นหุ้นผู้บริโภคที่มีมูลค่าสูงมากคือประมาณ 2 แสน 6 หมื่นล้านบาทและ 1 แสนล้านบาทตามลำดับ

          หุ้นกลุ่มสื่อสารที่เป็นหุ้นผู้บริโภคและมีขนาดเพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบนั้นรวมถึงหุ้นที่มีขนาดใหญ่มากอยู่แล้วอย่าง ADVANC ที่มีขนาดประมาณ 6 แสน 7 หมื่นล้านบาท หุ้น DTAC และ INTUCH หุ้นละ  2 แสน 5 หมื่นล้านบาท TRUE แสนสองหมื่นล้านบาท และ JAS 5.6 หมื่นล้านบาท
          หุ้นผู้บริโภคที่รวมเฉพาะในรายการที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  มี Market Cap. ถึงประมาณ  4 ล้านล้านบาทซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดหุ้นทั้งหมด  และนั่นก็คือตัวเลขที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  ตลาดหุ้นไทยกำลังเคลื่อนไปสู่การเป็นตลาดหุ้นที่มีหุ้นที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ   และดังนั้น  ค่า PE ของตลาดหุ้นไทยก็ควรต้องสูงขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ PE 10 เท่า

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/02/1374




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
สัมมนาหัวข้อ "สอนมือใหม่ ลงทุนอย่างไรได้หุ้นคุณค่า"
จากมหกรรมการลงทุนครบวงจรแห่งปี SET in the City 2013
วันอาืทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17.00-18.00 น.

<a href="http://www.youtube.com/v/UK8Bl8quEuc" target="_blank" class="new_win">http://www.youtube.com/v/UK8Bl8quEuc</a>


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 9 December 2013
หุ้น 10 เด้ง

บทความเมื่อสัปดาห์ก่อนของผมพูดถึง  “หุ้นผู้บริโภค” ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นในปัจจุบันว่าเป็น  หุ้นที่เป็น  “ผู้ชนะ”  ในแง่ที่มันได้เติบโตขึ้นมาจนมีขนาดใหญ่มาก  สัดส่วนของหุ้นผู้บริโภคในตลาดหุ้นคิดตาม  Market Cap. หรือมูลค่าตลาดนั้นเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นในกลุ่มอื่นโดยเฉพาะหุ้นของบริษัทผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์  ในบทความนั้น  ผมพูดถึงหุ้นผู้บริโภคขนาดใหญ่จำนวนประมาณเกือบ 30 ตัว    ในบทความนี้  ผมจะมองย้อนหลังไป 10 ปี และดูว่ามีหุ้นตัวไหนบ้างที่เติบโตขึ้นมากจนมีมูลค่าตลาดโตขึ้นเป็น 10 เท่าขึ้นไป  หรือเป็นหุ้น  “10  เด้ง”  ซึ่งเท่ากับการที่หุ้นให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 25%  ต่อปีแบบทบต้นและสามารถเรียกว่าเป็นหุ้น  “Super Stock” ได้

          หุ้นตัวแรกก็คือ  หุ้น MINT ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีราคาเพียง 1.99 บาท จนถึงช่วงปัจจุบันมีราคา 24 บาท  เท่ากับราคาปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 12 เท่า  นี่คือหุ้นที่ทำกิจการภัตตาคารทั้งที่เป็นอาหารจานด่วน  อาหารทั่วไป  ร้านไอศกรีม  และอีกครึ่งหนึ่งทำกิจการโรงแรมที่มีเครือข่ายกว้างขวางและขยายไปทั่วโลก   ส่วนหุ้นตัวที่สองก็คือหุ้น  CENTEL  ซึ่งก็เป็นบริษัทที่ทำกิจการแบบเดียวกับหุ้น MINT เกือบจะทุกประการ  หุ้น CENTEL ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคา 2.15 บาทเป็น 36 บาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16.7 เท่าในเวลา 10 ปี

          หุ้นตัวต่อมาคือหุ้น SCBLIF ซึ่งทำกิจการประกันชีวิตซึ่งมีการเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดให้ธนาคารเข้ามาเป็นผู้ขายประกันให้กับลูกค้าของธนาคารได้  ส่งผลให้ SCBLIF ซึ่งอยู่ในเครือแบงค์ขนาดใหญ่ในขณะนั้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว  ราคาหุ้นของ SCBLIF ปรับเพิ่มขึ้นจาก 13.28 บาทกลายเป็น 1046 บาท หรือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารถึง 78.8 เท่า  ถึงแม้ว่าราคาที่ประมาณ 13 บาทนั้นจะไม่ใคร่มีการซื้อขาย  และราคาที่เริ่มมีการซื้อขายในช่วง 7- 8 ปีที่ผ่านมาจะเป็นประมาณ 70 กว่าบาท  หุ้นตัวนี้ก็ยังเป็นหุ้น 10 เด้ง อยู่ดี

          หุ้นกลุ่มที่มีหุ้น 10 เด้งมากที่สุด  และเป็นหุ้นขนาดใหญ่ทุกตัวที่ผมได้กล่าวถึงก็คือหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ซึ่งประกอบด้วยหุ้น  BIGC CPALL  MAKRO HMPRO และ ROBINS  โดยที่หุ้น BIGC ปรับตัวขึ้นจาก 18.1 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็น 185 บาท  หรือเพิ่มขึ้นเป็น 10.2 เท่า   หุ้น CPALL เพิ่มขึ้นจาก 3.03 บาทเป็น 41.75 บาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 13.8 เท่า  หุ้น MAKRO เพิ่มขึ้นจาก 2.4 บาทเป็น 32.75 บาท หรือเพิ่มเป็น 13.7 เท่า  หุ้น HMPRO เพิ่มขึ้นมหาศาลจาก 0.49 บาท เป็น 10.6 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 21.6 เท่าในเวลา 10 ปี  และสุดท้ายหุ้น ROBINS ที่เพิ่มขึ้นจาก 3.5 บาทเป็น 53 บาทหรือเพิ่มขึ้น 15.1 เท่า

         หุ้นโรงพยาบาลที่โตขึ้นเป็นหุ้น 10 เด้งก็คือหุ้น  BGH ซึ่งโตขึ้นจาก 6.66 บาทเป็น 129.5 บาทหรือเพิ่มขึ้นมากถึง  19.4 เท่า  และนี่ก็คือหุ้นของโรงพยาบาลที่โตขึ้นเร็วมากด้วยกลยุทธ์การเทคโอเวอร์โรงพยาบาลทั่วประเทศ  กลายเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่  “ระดับโลก”  โดยที่ยังไม่ได้มีท่าทีว่าจะหยุด

          หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่น่าสนใจเนื่องจากมีหุ้นขนาดใหญ่มากอยู่หลายตัวก็คือหุ้นในกลุ่มสื่อสาร  ถ้ามองย้อนหลังไป 10 ปี กลับพบว่าไม่มีหุ้นตัวไหนที่เป็นหุ้น 10 เด้งเลยสำหรับหุ้นขนาดใหญ่  ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่บอกว่าหุ้นในกลุ่มสื่อสารขนาดใหญ่นั้น  ในอดีตก็ใหญ่มากอยู่แล้ว   อย่างไรก็ตาม  หุ้น TRUE นั้น  ในช่วงปลายปี 2551 มีราคาเพียง 0.81 บาท  ในขณะนี้ที่ช่วงปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 9.05 บาทหรือเพิ่มขึ้นเป็น 11.2 เท่า  เช่นเดียวกับหุ้น JAS ในช่วงต้นปี 2552 ก็มีราคาประมาณ 0.37 บาท และปรับเพิ่มขึ้นในปัจจุบันเป็น 7.9 บาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 21.4 เท่า

         นอกจากหุ้น 10 เด้ง ดังที่กล่าวถึงแล้ว  หุ้นผู้บริโภคขนาดใหญ่บางตัวก็มีการเติบโตขึ้นมากเป็นหลายเท่าในช่วง 10 ปี โดยหุ้นตัวแรกก็คือ  หุ้น CPF ที่ราคาปรับขึ้นจาก 3.9 บาทเป็น 27.5 บาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า  หุ้นตัวที่สองคือหุ้น CPN ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.75 บาทเป็น 42 บาท หรือเพิ่มขึ้น 8.8 เท่า ในเวลา 10 ปี  และสุดท้ายคือหุ้น BH ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.3 บาท เป็น 90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 เท่า  และนี่ก็คือหุ้นที่โตประมาณ ปีละ 20% เศษ ๆ  แบบทบต้นในเวลา 10 ปี ซึ่งต้องถือว่าเป็น  หุ้นที่ “ยิ่งใหญ่”  ได้

        หุ้นชุดสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือหุ้นที่โตประมาณปีละ 15% แบบทบต้นเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยมประกอบไปด้วยหุ้น PS ที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.86 บาทเป็น 20.3 บาทหรือโตขึ้นเป็น 4.2 เท่าในเวลา 10 ปี  หุ้น LPN ที่โตขึ้นจาก 3.71 บาทเป็น 18.7 บาท  หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า  หุ้น JAS ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.41 บาทเป็น 7.9 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5.6 เท่าในเวลา 10 ปี

         หุ้น 10 เด้ง ในเวลา 10 ปี ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น  ผมเห็นว่าเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม  “หุ้นเติบโต”  หรือเป็น Growth Stock และเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  ในแง่ที่มันเป็นกิจการที่แข็งแกร่งเป็นผู้นำโดยเฉพาะในด้านของฐานะทางการตลาด  อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น  “เมกาเทรนด์”  ที่ยังเติบโตได้ดีไปอีกหลาย ๆ ปีและมีศักยภาพสูงในแง่ที่ว่าตลาดในอนาคตยังเติบโตต่อไปได้อีกมาก    มีผลประกอบการที่มั่นคงสม่ำเสมอ  มีคุณสมบัติทางธุรกิจที่ดีเยี่ยมอื่น ๆ เช่น  เป็นกิจการที่มีกระแสเงินสดที่ดีมาก  มีกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ  ROE ในระดับที่สูง  และสุดท้ายก็คือ  เป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่พอสมควรในช่วงก่อนที่มันจะเริ่มเติบโตกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่หรือใหญ่มากในปัจจุบันซึ่งทำให้มันเป็นหุ้นที่นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นในจำนวนที่มีนัยสำคัญได้ในช่วงที่ราคาหุ้นยังต่ำอยู่  พูดง่าย ๆ  หุ้น 10 เด้งที่พบนั้น  ไม่ใช่กิจการขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูง   สำหรับนักลงทุนทั่ว ๆ ไปแล้ว  นี่คือหุ้นดีที่ลงทุนได้อย่างสบายใจและให้ผลตอบแทนสุดยอดในระยะยาว

          แน่นอนว่าหุ้นที่กลายเป็นหุ้น 10 เด้งในเวลา 10 ปีในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมานั้น  ไม่ได้มีเฉพาะซุปเปอร์สต็อกดังที่กล่าวเท่านั้น   มีหุ้นอีกจำนวนไม่น้อยที่มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าหรือมากกว่านั้นโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กถึงเล็กมากที่โตขึ้นมากและสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนมหาศาลในเวลาอันสั้น  หุ้นเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วก็คือหุ้นกลุ่ม  “Turnaround” หรือหุ้นที่เคยมีปัญหาหนักแทบเอาตัวไม่รอดแต่ในที่สุดก็  “ฟื้นตัว”  ด้วยเหตุผลต่าง ๆ  เช่น หันไปทำธุรกิจใหม่หรือแก้ไขปัญหาทางการเงินสำเร็จ  หรือแก้ไขหรือปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจจนสามารถฟื้นผลการดำเนินงานของกิจการขึ้นมาได้  อย่างไรก็ตาม  หุ้นเหล่านี้  บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถซื้อหุ้นจำนวนมากในราคาที่ต่ำมากได้เนื่องจากสภาพคล่องในการซื้อขายอาจจะน้อยมาก  นอกจากนั้น  ก็เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงหากกิจการไม่ฟื้นและต้องเพิ่มทุนมหาศาลซึ่งจะ Dilute หรือลดสัดส่วนหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมลงไปมาก
           หุ้น 10 เด้งอีกกลุ่มหนึ่งถ้าจะมีก็คือ  หุ้น “Cyclical” หรือหุ้นวัฏจักร  ซึ่งมักเป็นหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโภคภัณฑ์ที่มีราคาผันผวนรุนแรง  ในยามที่ราคาสินค้าตกต่ำสุดขีดนั้น  ราคาหุ้นก็มักจะตกต่ำลงไปมากอย่างไม่น่าเชื่อ  และนั่นก็คือจุดที่จะทำให้มันกลายเป็นหุ้น “10 เด้ง”  ถ้าราคาสินค้าเริ่มเปลี่ยนทิศอย่างแรงซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตาม  และในบางครั้งมากเป็น 10 เท่าในเวลาอันสั้น  ประเด็นก็คือ  หุ้นวัฏจักรนั้น  ราคาที่สูงขึ้นเป็น 10 เท่านั้น  อาจจะไม่สามารถยืนอยู่ได้นาน  เมื่อ “หมดรอบ”  มันก็มักจะปรับตัวลงอย่างแรงซึ่งทำให้การลงทุนโดยเฉพาะในยามที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงแล้วกลายเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนทั่ว ๆ  ไปแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะทำกำไรจากหุ้นในกลุ่มนี้

Posted by nivate at 10:07 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/09/1377



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 16 December 2013
กองทุนรวม สิ่งที่เจ้าของไม่มีสิทธิ์ควบคุม


Value Investor มีแนวคิดในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นว่า  เวลาเราลงทุนซื้อหุ้นก็เหมือนกับว่าเราเป็น  “เจ้าของกิจการ”  การเป็นเจ้าของกิจการนั้นหมายความว่าเราย่อมมีสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมเวลาบริษัทหรือธุรกิจมีกำไรและเราเห็นว่าควรจะนำเงินมาแบ่งให้เจ้าของตามที่สมควร    การเป็นเจ้าของนั้นหมายความว่าเราสามารถที่จะติดตามข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของกิจการ  และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ  เราต้องสามารถที่จะแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทเช่นเดียวกับการอนุมัติแผนหรือการดำเนินงานที่สำคัญยิ่งยวดของกิจการได้

          เป็นความจริงที่ว่าสำหรับบริษัทที่มีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นเกิน 50% ของบริษัท  ก็เป็นเรื่องยากที่เราในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยจะสามารถเข้าไปกำหนดหรือแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทหรือเข้าไปมีสิทธิมีเสียงให้บริษัทจ่ายปันผลให้ถูกใจเราได้  แต่บ่อยครั้งเราก็เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทนั้น  เหตุผลก็เพราะเราเชื่อว่า  ในฐานะของผู้ถือหุ้นใหญ่  เขาก็คงควบคุมการบริหารงานของบริษัทให้ดีที่สุดเช่นเดียวกับการจ่ายปันผลในอัตราที่เหมาะสม  เพราะนั่นเป็นผลประโยชน์ของเขาเองด้วย  แต่สำหรับบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นที่กระจายตัวมาก  ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เลย  เป็นบริษัทมหาชนจริง ๆ  ในกรณีแบบนี้  ผู้ถือหุ้นรายย่อยก็มีความหมายและอาจจะมีความสามารถที่จะควบคุมการบริหารงานของบริษัทได้ผ่านกลไกทางกฎหมายและกฎเกณฑ์ของการเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมใหญ่ประจำปีของผู้ถือหุ้น

          บางคนอาจจะพูดว่านั่นคือ  “ความฝัน”  จะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมีคะแนนเสียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในบริษัทได้  นักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีหุ้นไม่กี่ร้อยหุ้นจะเสียเวลาไปควบคุมหรือให้ความเห็นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นทำไม?  ถ้าเขาไม่พอใจการบริหารงานของบริษัทเขาก็คงขายหุ้นทิ้งมากกว่าที่จะพยายามไปแก้ไขอะไรในบริษัท  ดังนั้น  การควบคุมกิจการของนักลงทุนนั้นจึงเป็นไปไม่ได้  นั่นฟังดูมีเหตุผล  แต่ความจริงก็คือกระบวนการของตลาดทุนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้  นั่นก็คือ  ถ้ามีคนไม่พอใจการบริหารงานของบริษัทมาก ๆ  และทยอยขายหุ้นทิ้งไปเรื่อย ๆ   ราคาหุ้นก็จะตกลงไปเรื่อย ๆ  และนั่นจะทำให้มีนักลงทุนบางคนเห็นโอกาสที่จะเข้าไปซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเข้าไปควบคุมบริษัทได้ผ่านการลงคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น  หลังจากนั้น  เขาก็จะสามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนผู้บริหารหรือวิธีการดำเนินงานที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีและจ่ายปันผลให้กับตัวเองได้มากคุ้มค่า  ราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นมาก  ซึ่งจะทำให้เขาได้กำไรอย่างงดงาม  และนี่ก็คือกระบวนการของตลาดทุนที่สามารถควบคุมบริษัทจดทะเบียนให้ดำเนินการในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นได้

          หลักทรัพย์ที่เป็น “หุ้น” ของแต่ละบริษัทนั้น  ไม่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุม  เนื่องจากเรามีกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีและมีกฎเกณฑ์อื่น ๆ  ตามที่กำหนดโดยหน่วยงานรัฐที่บริษัทจะต้องปฏิบัติ   แต่ในกรณีของกองทุนรวมต่าง ๆ  ที่นำเงินของกองทุนไปลงทุนในหุ้นหรือทรัพย์สินหรือกิจการต่าง ๆ  ที่มีธรรมชาติเป็น  “หุ้น”  นั้น   การควบคุมกลับทำไม่ได้หรือทำได้น้อยมาก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่า   “ผู้ถือหน่วยลงทุน”  นั้น  ไม่ใช่  “ผู้ถือหุ้น”  และไม่มีการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนประจำปีที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเข้ามามีสิทธิมีเสียงจัดการ  “การบริหารหน่วยลงทุน”  ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนมากที่สุด  นอกจากนั้น  ผู้ถือหน่วยลงทุนนั้น  โดยปกติจะเป็นนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาลงทุนด้วยเหตุผลเดียวนั่นคือ  ต้องการได้ผลตอบแทนเป็นรายปีในอัตราที่ตนเองคาดว่าจะได้จากการลงทุนที่บริหารโดยคนที่เสนอตัวตั้งแต่แรก  ถ้าผู้บริหารทำไม่ดี  สิ่งที่ผู้ถือหน่วยจะทำได้ก็คือ  ขายหน่วยลงทุนนั้นทิ้ง  อาจจะโดยการขายคืนกับกองทุนหรือขายในท้องตลาดแล้วแต่กรณี   ผู้ถือหน่วยไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปเทคโอเวอร์กองทุนแล้วปลดผู้บริหารกองทุนออก

           ในกรณีของกองทุนรวมหุ้นนั้น  ผมคิดว่าความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้บริหารกองทุนนั้นมีไม่มากนัก  การขายหน่วยลงทุนทิ้งเมื่อเราดูว่าเขาบริหารไม่ดีเป็นทางออกที่เหมาะสมและนั่นจะทำให้บริษัทต้องปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้ามาซื้อหน่วยลงทุนใหม่  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีของกองทุนรวมอื่นเช่น  กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น  ผมคิดว่าการที่เจ้าของหน่วยลงทุนไม่มีสิทธิหรือมีน้อยมากในการควบคุมการบริหารกองทุนนั้น  เป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่ทำให้นักลงทุนเสียประโยชน์ในกรณีที่ผู้บริหารกองทุนทำงานไม่ดีและไม่เป็นผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือว่าเป็นเจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เข้าไปลงทุน  เหตุผลก็เพราะ  ในหลาย ๆ กรณี  เงินในกองทุนทั้งหมดนั้นถูกเอาไปลงทุนในทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวเช่น  เป็นตึก ๆ  เดียว  เป็นสนามบินเดียว  เป็นระบบรถไฟฟ้า  ต่าง ๆ  เป็นต้น  นี่เท่ากับว่ากองทุนก็คือเจ้าของทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นหุ้นที่มีผลตอบแทนขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของตัวทรัพย์สินที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ  รวมถึงฝีมือหรือความสามารถของผู้บริหารทรัพย์สินนั้น   ดังนั้น  เราควรจะต้องมีเครื่องมือที่จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถควบคุมกิจการได้  ไม่ใช่บอกแค่ว่าถ้าไม่พอใจก็ให้ขายหน่วยลงทุนทิ้ง

           ตัวอย่างที่ผมอยากจะยกมาให้เห็นถึงจุดอ่อนในเรื่องของการควบคุมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็คือ  ถ้าสมมุติว่ามีอาคารสำนักงานให้เช่าแห่งหนึ่งอยู่ใน “ทำเลทอง” และอาคารนี้มีเจ้าของเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้ถือหน่วยจำนวนมาก  คนที่ซื้อหน่วยลงทุนนั้นถูกทำให้เชื่อว่าตึกนี้จะมีผู้เช่าเต็มและทำรายได้ซึ่งจะจ่ายเป็นปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยคิดเป็น  8% ต่อปี  อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตึกแล้วก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่สามารถหาผู้เช่าได้มากเท่าที่ควรเนื่องจากปัญหาหลายอย่าง  ผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยแทบจะไม่มีโดยที่ผู้บริหารดูเหมือนจะไม่ได้แก้ไขอะไรที่เหมาะสม  ราคาของหน่วยลงทุนตกต่ำลงไปกว่าครึ่ง  คิดไปแล้ว  ถ้าเราสามารถซื้อหน่วยได้ทั้งหมดเราจะใช้เงินอาจจะแค่ 1 พันล้านบาท  แต่ตัวอาคารสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่นั้น  สามารถขายในท้องตลาดได้ 2 พันล้านบาท  ในฐานะที่เป็น VI ผมคิดว่านี่คือโอกาสที่ผมจะทำกำไรได้ถ้าผมสามารถเทคโอเวอร์กองทุนและเปลี่ยนผู้บริหารที่จะสามารถหาผู้เช่าและสร้างรายได้มาจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยคุ้มค่า  หรือถ้าทำไม่ได้ก็สามารถขายตึกและคืนเงินให้กับเจ้าของหน่วยลงทุนได้ในอัตราที่สูงกว่าราคาหน่วยในตลาดหุ้นถึง 2 เท่า  แต่ประเด็นก็คือ  ถึงผมจะซื้อหน่วยลงทุนได้แต่ผมก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอาคารได้  มันเป็นกรณีที่  “เจ้าของไม่มีสิทธิ”
           ผมคิดว่าน่าจะมีกรณีที่การบริหารมีปัญหาแต่เจ้าของแก้ไม่ได้เพราะไม่มีสิทธิในกรณีของกองทุนรวมต่าง ๆ  ยกเว้นกองทุนรวมหุ้นอีก  และมันจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ   นอกจากเหตุผลเรื่องฝีมือหรือความสามารถในการบริหารแล้ว  ยังมีประเด็นของเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ระหว่างผู้บริหารกับตัวทรัพย์สิน  นั่นคือ  ผู้บริหารนั้นมีธุรกิจและกิจกรรมเกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์สินมากมายและลึกซึ้งซึ่งจะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียประโยชน์ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวแต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีช่องทางที่จะเข้าไปควบคุมเกี่ยวข้อง ประเด็นเหล่านี้บางทีจะค่อย ๆ  เกิดมากขึ้นในอนาคตและนี่ก็คือความเสี่ยงที่ทำให้ผมเองไม่อยากรับและทำให้ผมเองหลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุนเหล่านี้  ผมเองคิดว่าถ้าทรัพย์สินดีและผมอยากจะลงทุน  ผมจะลงทุนในบริษัทที่ขายทรัพย์สินให้กับกองทุนดีกว่า  เพราะนอกจากจะได้ราคาดีแล้ว  อนาคตเขาก็อาจจะยังบริหารหรือควบคุมทรัพย์สินเหล่านั้นที่เขาอาจจะต้องใช้อยู่เป็นหลัก    เขาน่าจะได้เปรียบในการทำข้อตกลง  คนที่เสียเปรียบน่าจะเป็นผู้ถือหน่วยลงทุน

Posted by nivate at 11:05 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/16/1379



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 23 December 2013
มองเทคนิคแบบ VI

เวลาฟังนักวิเคราะห์ทางเทคนิคพูดถึงราคาหุ้นของแต่ละตัวว่าจะไปทางไหน  ควรจะซื้อหรือขาย  หรือมีแนวต้านแนวรับเท่าไรแล้ว  ผมจะไม่สนใจเลย  เหตุผลก็เพราะผมไม่เชื่อว่าวิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะสามารถทำเงินได้  ประเด็นสำคัญก็คือ  การซื้อ ๆ ขาย ๆ  เมื่อราคาขยับไปเพียงเล็กน้อยนั้นทำให้กำไรที่ได้รับคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็น้อยตามไปด้วย  และนี่หมายความว่าราคาหุ้นต้องขยับไปตามที่เราคาดด้วยวิธีทางเทคนิคด้วย  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  ราคาหุ้นอาจจะขยับไปในทางตรงกันข้าม  ผลก็คือเราก็จะขาดทุน  ดังนั้น  ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคอาจจะบอกได้ถูกต้องถึง 60-70%  บอกผิด 30-40%  แต่ในขณะเดียวกัน  เราต้องเสียค่าคอมมิชชั่นทุกครั้งไม่ว่าเราจะถูกหรือผิด  ผลก็คือ  เราก็ไม่เหลืออะไร  เป็นไปได้ว่าเราจะขาดทุนมากกว่ากำไรเพราะเราซื้อขายบ่อยมาก  ดังนั้น  โอกาสที่เราจะรวยหรือได้กำไรมาก ๆ  จากการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาซื้อขายหุ้นเป็นประจำจึงเป็นไปได้ยากมาก

           ถ้าจะถามว่าผมไม่ยอมรับเลยใช่ไหมว่าเรื่องของเทคนิคนั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุผลและก็อาจจะเป็นจริงสามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้  คำตอบของผมก็คือ  ไม่ใช่!  เรื่องของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้น  อาจจะมี “รูปแบบ”  ที่พอจะคาดการณ์ได้  มันอาจจะมีเหตุผลรองรับ   ว่าที่จริงผมเองก็มักจะสังเกตดูการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบางตัวอยู่เรื่อย ๆ เมื่อมีเวลาว่าง  ผมไม่ได้ใช้กราฟราคาหรือปริมาณการซื้อขายหุ้นแบบนักเทคนิคมืออาชีพ   ผมแค่นั่งดูการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นแต่ละวันและก็พยายามคิดว่ามีอะไรเกิดขึ้น  “เบื้องหลัง”  หุ้นตัวนั้น  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นเคลื่อนไหวอย่างที่มันกำลังเป็น

           เหตุผลข้อแรกก็คือเรื่องของ “จิตวิทยา” ของนักลงทุน   ผมคิดว่าเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นอาจจะเคลื่อนไหวไปตาม  “จิตวิทยาหมู่”  ของ  “มวลมหาประชากรของนักลงทุน”  ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นที่พวกเขาเชื่อว่าจะวิ่งขึ้นไปมากด้วยเหตุผลบางอย่าง   ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นขึ้นไปจริงตามคำทำนาย  หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า  Self- Prophecy  กระบวนการก็คือ  เมื่อนักลงทุนเห็นราคาหุ้นของหุ้น  “ยอดนิยม”  ปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  พวกเขาก็อยากจะ  “กระโดดขึ้นรถ”  เพื่อขอทำกำไรไปด้วย  นั่นก็คือ  พวกเขาเข้าไปซื้อหุ้น   และการซื้อหุ้นของพวกเขาก็มีส่วนที่จะช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น  ดังนั้นหุ้นก็จะวิ่งขึ้นต่อไปตามที่พวกเขาคาดไว้   และนี่ก็จะดึงดูดให้นักลงทุนคนใหม่เข้ามาซื้อเพิ่มเพื่อหวังทำกำไรและก็ทำให้หุ้นเพิ่มต่อขึ้นไปอีก

            เหตุผลข้อสองที่อาจจะเป็นเบื้องหลังของราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  หรือปรับตัวลงมาเรื่อย ๆ  “ตามเทคนิค”  ก็คือเรื่องของการ  “มีข้อมูลที่ไม่เท่ากัน”  ของนักลงทุนเกี่ยวกับตัวบริษัทนั้น ๆ  ยกตัวอย่างเช่น  บริษัทอาจจะค้นพบเหมืองทองคำ  หรือกำลังได้งานหรือสัญญาที่จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยมในอีกหลายปีข้างหน้า  คนที่รู้ก่อนก็คือบุคคลภายในบริษัท Insider) หรือคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเข้ามาซื้อหุ้นก่อนและทำให้ราคาหุ้นขยับปรับตัวขึ้น   ครั้นแล้วคนเหล่านั้นก็จะบอกคนใกล้ชิดหรือเพื่อนซึ่งก็จะเข้ามาซื้อเป็นรายต่อไปซึ่งก็จะทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก   ต่อมานักวิเคราะห์ซึ่งสังเกตเห็นราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นก็ค้นพบข้อมูล  อาจจะโดยการเปิดเผยของบริษัท  ก็จะออกบทวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อหุ้น   ต่อจากนั้น  นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ก็อาจจะเข้ามาซื้อหุ้นล็อตใหญ่เก็บเข้าพอร์ตส่งผลให้ราคาวิ่งขึ้นอย่างแรง  และสุดท้าย  นักลงทุนรายย่อยประเภท  “แมงเม่า”  ก็ได้รับรู้ข่าวสารที่  “ดีสุดยอด”  นั้นและเข้ามาซื้อหุ้นซึ่งก็ยิ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอีก  กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดทันทีแต่ค่อย ๆ  ทยอยเกิดขึ้นส่งผลให้ราคาค่อย ๆ  ปรับตัวขึ้น  อาจจะเป็นหลายเดือน  ดังนั้น  นี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเทคนิคสามารถเข้ามาทำกำไรได้ในจุดใดจุดหนึ่ง

           เหตุผลข้อที่สาม  เป็นเรื่องของการตอบสนองของคนหรือนักลงทุนต่อข่าวสารที่มักจะไม่พอดีหรือไม่สมบูรณ์หรือไม่ทันทีโดยเฉพาะข้อมูลที่จะต้องนำไปวิเคราะห์เพิ่มเติม  ตัวอย่างเช่นเรื่องของผลประกอบการที่ประกาศออกมาของบริษัท   สมมุติว่าบริษัทประกาศว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด   นักลงทุนบางส่วนก็จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มแต่หลายคนก็ยังอาจจะรีรอเพราะยังไม่แน่ใจว่ากำไรนั้นจะดีต่อไปมากน้อยแค่ไหน   หลายคนอาจจะยังไม่ทันได้วิเคราะห์  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นบ้างแต่ยังไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น  ต่อมาเมื่อนักวิเคราะห์เข้าไปตรวจสอบและออกคำแนะนำให้ซื้อ  ราคาหุ้นก็อาจจะขยับตัวขึ้นไป   กระบวนการนี้ทำให้ราคาค่อย ๆ  ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้นักเทคนิคสามารถเข้าไปซื้อหุ้นทำกำไรได้

            ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  เบื้องหลังของ “แนวรับแนวต้าน”  นั้น  อาจจะเกิดขึ้นจาก  “ความทรงจำ”  ของนักลงทุนต่อราคาหุ้นในอดีต   ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นตัวหนึ่งมีการซื้อขายกันที่ราคาประมาณ 10 บาทต่อหุ้นเป็นระยะเวลานานซึ่งทำให้มีคนจำนวนมากที่ซื้อหุ้นมาในต้นทุนประมาณนั้น   ครั้นแล้วราคาหุ้นก็ตกลงมาเหลือเพียง 8 บาทต่อหุ้น   ดังนั้น  เมื่อหุ้นค่อย ๆ  ปรับตัวกลับมาที่ 10 บาทต่อหุ้น  คนที่ขาดทุนจำนวนมากก็จะขายเพื่อ “เอาทุนคืน”    ผลก็คือ  หุ้นจะวิ่งเกิน 10 บาทไปยาก   ดังนั้น 10 บาทจึงกลายเป็น  “แนวต้าน”  ในทางตรงกันข้าม  เมื่อหุ้นแกว่งตัวอยู่ที่ระดับราคาค่อนข้างต่ำในระดับหนึ่งมานาน   นักลงทุนจำนวนมากที่พลาดโอกาสหรือพลาดจังหวะที่จะซื้อเมื่อหุ้นอยู่ในระดับราคาที่สูงก็จะเข้ามาช้อนซื้อหุ้นเมื่อหุ้นตัวนั้นตกลงมาที่ระดับราคาที่ต่ำ  ผลก็คือ  ที่ราคานั้นจะเป็น  “แนวรับ”  ที่ราคาจะไม่ลดต่ำกว่านั้นง่าย ๆ

           จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองนั้น  ผมคิดว่าเหตุผลต่าง ๆ  ที่กล่าวถึงคงมีความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย  ผมเคยเห็นหุ้นที่วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  ยาวนานและสูงมาก  โดยที่ผมไม่คิดว่าพื้นฐานของมันจะดีพอที่จะรองรับราคาที่ขึ้นไป  แต่ในใจก็รู้สึกว่ามันคงจะขึ้นไปอีก  เหตุผลก็เพราะว่ามี  “แรงเชียร์” และมีคนสนใจพูดถึงกันมาก  และแม้แต่ VI ชั้นนำบางคนก็ถือหุ้นจำนวนมาก  ดังนั้น  หุ้นตัวนั้นก็คงต้องขึ้นตามที่มีการคาดไว้  เป็น  Self Prophecy  ส่วนในกรณีของหุ้นที่ขยับขึ้นไปในลักษณะที่ว่าอาจจะมีข่าวดีที่บุคคลภายในรู้ก่อนและเริ่มซื้อหุ้นและต่อมาก็มีคนใกล้ชิดหรือคนที่อาจจะรู้ข่าวเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ  ก็เป็นสิ่งที่ผมเคยพบมาก่อน  เช่นเดียวกับเรื่องของการประกาศผลประกอบการที่ดีขึ้นแต่การปรับขึ้นของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาเป็นระยะ ๆ   ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา  สุดท้ายในเรื่องของแนวรับแนวต้านนั้น  ผมก็รู้สึกว่ามันอาจจะมีความเป็นจริงอยู่เหมือนกันแต่ไม่ใช่ในแบบที่นักเทคนิคพูด  แนวรับแนวต้านที่บางครั้งผมพบนั้น  จะเป็นลักษณะที่หุ้นบางตัวนั้น  พอลงถึงจุดหนึ่งก็มักจะมีแรงซื้อเข้ามารับเหมือน  ๆ  กับว่าคราวก่อนที่หุ้นลงมาแล้วไม่ได้ซื้อ  คราวนี้เป็นโอกาส  และดังนั้น  หุ้นก็มักไม่ลงต่ำกว่านั้น
           ทั้งหมดที่พูดถึงนั้น  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่จริงแท้แค่ไหน  มันอาจจะเป็นความรู้สึกของผมเองที่ติดตามดูราคาของหุ้นบางตัวที่ผมสนใจและก็เห็น  “อาการ”  หรือรูปแบบของราคาหุ้นเป็นแบบนั้น  แต่ถ้าทำการศึกษาจริง ๆ  ในหุ้นจำนวนมาก  มันอาจจะไม่เป็นแบบนั้นก็ได้   แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ผมก็ยังไม่เคยใช้การสังเกตหรือการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาตัดสินใจซื้อขายหุ้นจริง ๆ  เลย  ผมยังยึดมั่นว่าจะไม่ใช้ความรู้สึกมาเป็นหลักในการซื้อขายหุ้นเพราะความรู้สึกนั้นอาจจะผิดเพราะมันมักจะ “ลำเอียง”  โดยที่เราไม่มีทางจะรู้ตัว  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ความรู้สึกนั้น  มักจะทำให้การถือหุ้นลงทุนของเราสั้นลง  และนี่อาจจะไม่คุ้มค่าเลย  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  “อาการทางเทคนิค” ของหุ้นนั้น  เอาไว้ดูเล่นดีกว่า  อย่าเอาไปตัดสินใจซื้อขายหุ้นเลย

Posted by nivate at 11:34 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/12/23/1381




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 6 January 2014

นิยามความรวยแบบ VI



ผมได้อ่านบทความของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ซีอีโอ ของบริษัท CPALL ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้เรื่อง  “นิยามความรวยแห่งศตวรรษใหม่”  ซึ่งพูดถึงเรื่องของคนรวยจีนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ถูก  “เยาะเย้ย” ว่า  “ขาดรสนิยม ขาดความรู้และขาดวัฒนธรรม”  เพราะ  “มีแต่เงิน”  ในบทความนั้นบอกว่า  การมีแต่เงินนั้นไม่เพียงพอที่จะบอกว่าเป็นคนรวยได้  คนรวยแห่งศตวรรษใหม่นั้นยังต้องมีอีกหลายอย่างที่ผมจะอ้างถึงต่อไป  นอกจากนั้น  ผมก็จะเสริมหรือเพิ่มเติมความเห็นของผมว่า  คนรวยที่แท้จริงนั้นควรจะทำตัวอย่างไรถึงจะมีความสุข   และในฐานะที่เป็นคนรวยด้วยการลงทุนแบบ VI นั้น  เราทำได้มากน้อยแค่ไหน?         

         ข้อแรกที่คุณก่อศักดิ์พูดถึงก็คือ  คนรวยจะต้องมีเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขในครอบครัว  ไม่ใช่คุณพ่อวางมาดผู้ยิ่งใหญ่คอยดุลูก ๆ ให้กลัวจนตัวลีบเหมือนคนรุ่นก่อน  สำหรับเรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพราะนี่คือความสุขที่เงินไม่สามารถซื้อได้  ครอบครัวที่มีความหรรษากลมเกลียวกันดีและพ่อแม่ลูกสามารถพูดจาหยอกล้อกันได้อย่างสนุกสนานโดยที่ไม่ต้อง  “วางมาด” นั้น  ผมคิดว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์  หมดยุคแล้วที่พ่อจะต้องเป็นคนเคร่งขรึม  มีอำนาจเด็ดขาด   เป็นคนสั่งให้คนในบ้านทำสิ่งนั้นสิ่งนี้  บ้านที่จะมีความสุขที่ดีควรจะเป็นบ้านที่ปกครองแบบ  “ประชาธิปไตย”  ที่คนในบ้านต่างก็มีสิทธิมีเสียงที่จะออกความเห็นและตัดสินใจร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ  ในกรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็ควรจะต้องตามเสียงส่วนใหญ่  ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย   การใช้ความเป็นพ่อหรือแม่หรือการ “ใช้เงิน”เพื่อมาบังคับให้สมาชิกในบ้านปฏิบัติตามนั้น  มักจะทำให้เกิดความเครียดหรือความไม่สบายใจและทำให้เสียงหัวเราะน้อยลง         

          คนที่รวยนั้น  หลายคนประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจหรือการบริหารที่ต้องจัดการเรื่องคนค่อนข้างมาก  จึงอาจจะทำให้ “ติดนิสัย”  ชอบสั่งการหรือบริหารคนอื่น  เช่นเดียวกัน  การที่ต้องมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจและการงานมากมายก็อาจจะทำให้ต้อง  “วางมาด” และก็อาจจะติดนิสัยเช่นเดียวกัน  ดังนั้น  คนรวยเหล่านี้อาจจะต้อง “ปรับตัว”  เวลากลับมาที่บ้าน  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่รวยด้วยการลงทุนแบบ VI แล้ว  ดูเหมือนว่า  เขาน่าจะมีปัญหาน้อยที่จะ “เล่นหัว” กับลูก  หรือหยอกล้อกับคู่ครองโดยไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ         

          ข้อสอง  คนรวยศตวรรษใหม่ควรมีเวลาสำหรับครอบครัว  ญาติมิตร และสังคม  นี่ก็เป็นสิ่งที่คนรวยอาจจะขาดแคลน  เหตุผลก็คือคนรวยส่วนใหญ่นั้น  มักจะเกิดจากการทำธุรกิจหรือการทำงานอย่างหนักจนกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง  ดังนั้น  พวกเขามักจะมีแต่เวลาทำงานแต่ไม่ใคร่มีเวลาให้กับครอบครัว  ญาติมิตรและสังคม  ในประเด็นนี้  ผมคิดว่าคนรวยควรที่จะต้องจำกัดเวลาการทำงานให้พอเหมาะและกันเวลาโดยเฉพาะสำหรับครอบครัว  ญาติมิตร  และสังคมให้เหมาะสม  ตัวอย่างเช่น  การอุทิศเวลาในวันหยุดให้กับครอบครัว  การเสียสละเวลาให้กับงานทางสังคม  เช่น  การสอนหนังสือหรือการทำงานเพื่อสังคมอย่างอื่นในระดับที่เหมาะสม  เป็นต้น  ซึ่งสำหรับ VI แล้ว  มักจะไม่มีปัญหาเลย  เพราะเรามักจะมีเวลา  “เหลือเฟือ”         

          ข้อสาม  คนรวยศตวรรษใหม่ต้องใช้เงินเป็น  ไม่ใช่เอาแต่สะสมแต่ปล่อยให้ตัวเองและครอบครัวอยู่อย่างแร้นแค้น  ข้อนี้ก็คือกรณีของคนที่ตระหนี่เกินไป   มีเงินแล้วไม่ยอมใช้เลย  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ไม่ยอมให้คนในครอบครัวใช้จ่ายตามควรแก่อัตภาพด้วย  ถ้าเป็นอย่างนี้  การมีเงินก็ไม่มีประโยชน์จะเป็นคล้าย ๆ  กับ  “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์”  คนรวยนั้น  จริง ๆ  แล้วผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยหรูหราเกินเหตุ  แต่ก็ควรจะใช้เท่าที่มันจะทำให้เราและครอบครัวมีความสะดวกสบายและมีความสุข  “เท่าที่เงินจะซื้อได้”  แต่ต้องไม่พยายาม  “หาหรือสร้างความสุขด้วยเงิน”  ความหมายก็คือ  อย่าคิดหาวิธีใช้เงิน  เพราะนี่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง         

          ข้อสี่  คนรวยศตวรรษใหม่นั้น  ต้องรู้จักชื่นชมความงามแห่งชีวิตและท่องเที่ยวพักผ่อน  พูดง่าย ๆ  ถ้ามีเงินก็ควรต้องท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ  ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมของโลก  ชื่นชมกับธรรมชาติที่แปลกตาในประเทศต่าง ๆ   เช่นเดียวกัน  การชมการแสดง  กีฬาและการละเล่นต่าง ๆ  ที่เป็นความงดงามหรือแสดงออกถึงความสามารถระดับสูง  ก็เป็นสิ่งที่คนรวยควรทำ  นี่เป็นเรื่องที่เราให้ “รางวัลชีวิต” กับตัวเองเมื่อเราสามารถทำเงินมากและประสบความสำเร็จในชีวิต         

          ข้อห้า  คนรวยในศตวรรษใหม่จะต้องรู้จักชื่นชมและยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น  อย่าอิจฉาริษยา   และอย่าพยายามเปรียบเทียบความมั่งมีกับคนอื่น  เหตุผลของผมก็คือ  การทำอย่างนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์  เพราะเราจะไม่มีวันพอใจกับสิ่งที่มีแม้ว่ามันจะมากจนเหลือใช้แล้ว  เราต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกันมากตั้งแต่เกิด  เรามีความสามารถในแบบที่ไม่เหมือนกัน  เช่นเดียวกัน  แต่ละคนก็  “มีโชค”  ไม่เท่ากัน  ดังนั้น  การเปรียบเทียบกันจึงไม่มีประโยชน์  จงพยายามเข้าใจว่า  เงินที่ได้มาโดยสุจริตนั้นเป็น  “ผลพลอยได้”  จากการทำสิ่งที่ดีและถูกต้องในสังคมโลกของเศรษฐกิจในปัจจุบัน    ถ้าเรารวยก็หมายความว่าสังคมได้ตอบแทนการทำงานของเราเป็นอย่างดี  และถ้าคนอื่นจะร่ำรวยแบบเดียวกัน  สิ่งที่เราควรทำก็คือ  “อนุโมทนา”           

          ข้อหก  ซึ่งเป็นความเห็นของผมเองนั้น  ผมคิดว่าคนรวยในนิยามนั้น   ควรที่จะต้องเคารพและให้เกียรติคนอื่นเท่า ๆ  กับที่อยากเห็นคนอื่นให้เกียรติกับตนเอง  พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ  เห็นว่าทุกคนมี  “ศักดิ์ศรี”  เท่า ๆ  กัน  ไม่ว่าเขาจะมีเงินน้อยกว่าหรือมากกว่าเราแค่ไหน   นี่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ผมประสบกับตัวเองนั่นก็คือ  ผมเคยจนไม่มีเงินเลยมาก่อน  เช่นเดียวกับไม่มีสถานะอะไรในทางสังคม  และผมก็ได้พบปะกับผู้คนที่ร่ำรวยและมีสถานะที่สูงส่งกว่ามาก  เวลาผ่านไป  ผมมีฐานะดีขึ้นเรื่อย ๆ  และมากขึ้นเรื่อย ๆ  และมากกว่าคนที่เคยร่ำรวยกว่าผม   เช่นเดียวกัน  สถานะทางสังคมของผมก็เปลี่ยนไปในทางที่สูงกว่าคนที่สถานะสูงที่ผมรู้จัก  ทั้งหมดนั้นมันเคยดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้แต่มันก็เป็นไปแล้ว   นี่ทำให้ผมรู้สึกว่าทุกสิ่งเปลี่ยนไปได้   ไม่มีใครเหนือกว่าใครหรือมีศักดิ์ศรีมากกว่ากันจริง ๆ   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  ทุกคนมีโอกาสรวยและประสบความสำเร็จได้เท่า ๆ  กัน  ไม่มีใครด้อยกว่าใครโดยเฉพาะคนที่มีความพยายามมาก  ซึ่งผมจะให้เกียรติเสมอ         

          สุดท้าย  สำหรับคนรวยในศตวรรษนี้ก็คือ  เราก็ควรจะต้องรู้จักแบ่งปัน  นี่คือการให้กับคนอื่นซึ่งในความเห็นผมนั้น  ควรจะเริ่มต้นจากญาติที่ใกล้ชิดถ้าพวกเขายังขาดแคลน  ต่อมาก็คือคนที่ด้อยโอกาสหรือคนที่ขาดแคลน  การให้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินแต่อาจจะเป็นแรงงานหรือการเผยแพร่ความรู้ก็ได้ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าด้วยซ้ำ  ประเด็นสำคัญก็คือ  มันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการให้เพื่อผลทางการประชาสัมพันธ์หรือหน้าตาที่ไม่ได้เกิดผลอะไรกับผู้รับมากนักอย่างที่คนรวยรุ่นเก่าอาจจะทำกันอยู่แล้ว

Posted by nivate at 11:26 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/06/1385