Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


คอลัมน์: โลกในมุมมองของVALUE INVESTOR: หลักที่คนไม่ทำตาม
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th) Tuesday, January 22, 2013  05:56
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   niwes_h@hotmail.com

          วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยพูดหลักการของเขาไว้ว่า "มีคนเอาไปกล่าวอ้างมากมาย แต่น้อยคนที่จะทำตาม" คงเป็นเรื่องดูดี ดูเท่ สำหรับคนที่อ้างคำพูดของบัฟเฟตต์ แต่ลึกๆ แล้ว เขาคงไม่เชื่อหลักการของบัฟเฟตต์ จะทำกำไรได้ดีเท่ากับแนวคิดและวิธีการของเขาเอง เขาอาจเชื่อสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ ว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบัฟเฟตต์  หรือเป็นสิ่งที่ดีในตลาดหุ้นอย่างตลาดหุ้นนิวยอร์ค หรืออาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักลงทุนบางคน ที่มีเงินมากมหาศาลอย่างบัฟเฟตต์ แต่ไม่ใช่สำหรับเขาที่มีพอร์ตเล็กนิดเดียว หรือในตลาดหุ้นไทยที่บริษัทส่วนมากเป็นบริษัทขนาดเล็ก และถ้าเป็นบริษัทใหญ่คุณภาพไม่โดดเด่นเหมือนอย่างในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่ทำตามสิ่งที่

          บัฟเฟตต์สอนในหลายเรื่อง   ว่าที่จริงในหลายหลักการที่บัฟเฟตต์พูดถึง เขากลับทำตรงกันข้าม ข้ออ้างของเขา คือ วิธีการลงทุนที่ดีที่สุด คือวิธีที่ถูกกับ "จริต" หรือสไตล์ หรือความชำนาญของตัวเอง "อย่าไปตีกอล์ฟตามวงของไทเกอร์วู้ด แต่ตีตามวงสวิงเหมาะกับร่างกายหรือความสามารถของตนเอง" เขาอาจพูดแบบนี้ ผมคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่นเป็นความคิดถูกหรือไม่ แต่อยากจะลองลิสต์ดูรายการที่ VI ไทยจำนวนไม่น้อยคิดและทำที่ดูเหมือนจะไม่ใช่แนวคิดของบัฟเฟตต์เลย

          เรื่องแรกคือบัฟเฟตต์บอกว่า การซื้อหุ้นของบริษัทดีเยี่ยมในราคายุติธรรม ดีกว่าการซื้อหุ้นของบริษัทธรรมดาราคาถูกมาก แต่ VI น้อยคนที่จะซื้อหุ้นของบริษัทดีมาก เพราะเขามักคิดว่า "แพง" เสมอ เมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่ง ที่กำลังมองอยู่ที่มีราคา "ถูกมาก" หลายคนอาจคิดหรือบอกว่า เขาคิดว่าการซื้อบริษัทที่ดีมาก บางทีอาจให้ผลตอบแทนที่ใช้ได้อยู่ แต่เมื่อเทียบกับบริษัทที่ "ถูกมาก" แล้ว ก็ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า ขณะที่ความเสี่ยงที่ราคาจะตกลงมามากกว่าเพราะราคา"สูง" สำหรับเขาแล้ว การซื้อบริษัทระดับรองลงมา ที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามากจึงคุ้มค่ากว่า

          เรื่องที่สองคือ ระยะเวลาลงทุนในหุ้นแต่ละตัว เรื่องนี้บัฟเฟตต์พูดไว้มากในหลายๆ โอกาส เริ่มตั้งแต่การโค้ดคำพูดของ ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์  ที่ว่า  ถ้าคุณซื้อหุ้นดีเยี่ยมในราคายุติธรรมได้แล้ว เวลาจะขายหุ้นคือ "ไม่มีวันขาย" หรือถือตลอดไป   หรืออีกครั้งหนึ่งบัฟเฟตต์ได้พูดถึงพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของคนในตลาดหลักทรัพย์ว่า  "นานมาแล้ว  เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน ได้ค้นพบทฤษฎีของการเคลื่อนไหวของวัตถุสามข้อซึ่งเป็นงานของอัจฉริยะ  แต่ความเป็นอัจฉริยะของเขานั้นไม่ได้ส่งมาถึงเรื่องการลงทุน  เขาขาดทุนอย่างหนักจากเหตุการณ์ฟองสบู่เซ้าธ์ซี ซึ่งทำให้เขาออกมาพูดว่า  ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวแต่ไม่สามารถวัดความบ้าคลั่งของมนุษย์   ถ้าเซอร์ไอแซ็คนิวตันไม่ชอกช้ำจากการสูญเสียครั้งนั้นเกินไป  เขาคงสามารถค้นพบกฎข้อที่สี่ของการเคลื่อนไหวนั่นคือ  สำหรับนักลงทุนโดยรวมแล้ว  ผลตอบแทนจะลดลงเมื่อการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น"

          VI ไทยส่วนใหญ่ที่ผมเห็นนั้น  ลงทุนในหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างสั้นมาก  น่าจะไม่เกิน 3-4 เดือน  คนที่ลงทุนยาวหน่อยก็อาจจะถึงปี  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เกินปีหรือสองปี จริงอยู่  นี่ก็อาจจะยาวแล้วเมื่อเทียบกับนักเล่นหุ้นทั่วไปที่อาจจะเล่นกันเป็นรายวัน แต่ถ้าจะบอกว่ามันเป็นการลงทุนที่เน้นในเรื่องของพื้นฐานหรือผลประกอบระยะยาวของธุรกิจตามหลักการแบบ VI แล้ว  ผมคิดว่าไม่ใช่  มันอาจจะเป็นเพียงการ "เล่นเก็งกำไรจากผลประกอบการระยะสั้น" มากกว่า

          เรื่องที่สามคือ  เรื่องของหุ้น Turnaround หรือหุ้นที่กำลัง "ฟื้นตัว" ซึ่งก็เป็นกลุ่มหุ้นที่กำลังร้อนแรงมากในช่วงนี้  เนื่องจากมันเป็นกลุ่มหุ้นที่มีราคากระโดดขึ้นไปมหาศาลเป็นหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้น  บางตัวขึ้นไปถึง 10 เท่าภายในเวลาปีเดียวก็มี   บัฟเฟตต์พูดสั้นๆ ว่า "Turnarounds seldom turnaround"  แปลว่าหุ้น "ฟื้นตัว"  นั้น น้อยครั้งที่จะ "ฟื้น"  ถ้าจะขยายความก็คือ  หุ้นกลุ่มนี้มักจะ  "ตาย"  มากกว่ารอด

          แต่สำหรับ VI ไทย  โดยเฉพาะในช่วงนี้  หุ้น "ฟื้นตัว" มีเพียบ  แทบจะพูดกันว่าตัวไหนจะ "ฟื้นตัว" รายต่อไป   ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างโดดเด่นตัวแล้วตัวเล่าพร้อมๆ  กับกำไรของบริษัทที่กำลังกลับมา  ไม่ว่าจะมาจาก "กิจการใหม่" หรือการ "ปรับโครงสร้างการเงินใหม่"  เป็นตัวยืนยันว่ามันกำลัง "ฟื้น"  เพราะฉะนั้น  ราคาจะต้องวิ่งแรง  ดังนั้น  การเข้าไปซื้อลงทุนก่อนก็จะทำเงินได้มหาศาล "หลายๆ เด้ง"  ดังนั้น  หุ้นก็วิ่งขึ้นไปไม่ว่าความจริงของธุรกิจจะเป็นอย่างไร   ถ้าจะพูดแบบคมๆ แบบ "วัดรอยบัฟเฟตต์"  เราก็อาจจะพูดว่าในตลาดหุ้นไทยนั้น  "Turnarounds always turnaround" แปลว่า  "หุ้นฟื้นตัวนั้น  ยังไงก็ต้องฟื้น"  ถ้ามีคนเชื่อและทำให้มันฟื้น

          เรื่องที่สี่ที่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ในการลงทุนนั้น  สิ่งหนึ่งที่บัฟเฟตต์พูดตลอดก็คือเรื่องความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร  เขาบอกว่า   "ครั้งหนึ่งมีคนบางคนพูดว่าในการจ้างคนมาทำงานนั้น  คุณมองหาคุณสมบัติสามประการคือ  ความซื่อสัตย์  ความฉลาดเฉลียว และความขยันหมั่นเพียร  และถ้าเขาไม่มีคุณสมบัติข้อแรก  คุณสมบัติอีกสองข้อจะฆ่าคุณ  ลองคิดดู  มันเป็นเรื่องจริง  ถ้าคุณจ้างคนที่ไม่มีคุณสมบัติข้อแรก  คุณก็อยากที่จะให้เขาโง่และขี้เกียจ"  เขายังเคยบอกว่าเขาไม่ต้องการลงทุนกับคนที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่เคยประสบความสำเร็จในการลงทุนกับผู้บริหารที่ไว้ใจไม่ได้และมีประวัติที่น่าสงสัย

          สำหรับ VI ไทยนั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะยึดกับหลักการนี้  อย่างน้อยเวลาพูด  แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเวลาเจอกับหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะมี "ประวัติ" ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่  "โปร่งใส"  แต่เวลานี้หุ้นดูเหมือนว่ามีราคาถูกมากหรือหุ้นอาจจะกำลัง  "ฟื้นตัว"  เขาจะยังสามารถยึดอยู่กับหลักการ  "ไม่เกี่ยวข้อง"  ได้หรือเปล่า    VI หลายคนอาจจะเปลี่ยนใจหรือไม่ก็อาจจะอ้างว่าพฤติกรรมที่ถูกกล่าวขวัญอาจจะไม่ชัดเจน  บางทีก็อาจจะดูว่าผู้บริหารอื่นก็ทำกัน  มากบ้างน้อยบ้างเป็นเรื่อง "ปกติ"

          ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ต่อให้ไม่น่าไว้วางใจยังไงก็ตาม  กำไรหรือผลประกอบการที่กำลังเกิดขึ้นนั้น  มันก็อาจจะคุ้มค่าอยู่ดี  กล่าวโดยสรุปก็คือ  เขาพร้อมจะ "หรี่ตาข้างหนึ่ง"  และเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะออก  "สีเทา" เพราะเขาคิดว่า  โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว  ว่าที่จริงการที่ผู้บริหารเป็นแบบนี้  ในใจเขากลับคิดว่าจะทำให้ราคาหุ้นมักจะวิ่งได้แรง และเร็วยิ่งกว่าที่ผู้บริหารยึดแต่ธรรมาภิบาลเป็นไหน ๆ  เพราะผู้บริหารที่ขาดธรรมาภิบาลนั้น  มักจะเข้ามาร่วม  "เล่นหุ้น"  ด้วย

          ทั้งหมดเป็นบางส่วนของคำพูดหรือหลักการที่คนชอบพูด แต่ไม่ใคร่จะปฏิบัติโดยอ้างเหตุยกเว้นและความไม่เหมาะสมกับสภาพและสถานการณ์ของตลาด  การที่คนปฏิบัติใน ทางตรงข้ามนั้น  แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีเหตุผล  ตรงกันข้าม  เขาอาจจะมีประสบการณ์ ที่ดี จากการทำแบบนั้น  พูดง่ายๆ สามารถทำกำไรได้มากกว่าจากการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่บัฟเฟตต์สอน  อย่างไรก็ตาม  ข้อเตือนใจของผมคือ  ผลการลงทุนที่ดีในช่วงเวลาหนึ่งนั้น  อาจจะไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าหลักการถูกต้อง   มันต้องอาศัยเวลาที่ยาวนาน  หลักการ ของบัฟเฟตต์หรือของ "เซียน" ระดับโลกนั้น  ส่วนใหญ่ถูกทดสอบมายาวนานว่าได้ผลดีและผมเชื่อว่าไม่ใคร่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือตลาดแต่ละแห่ง--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 14 January 2013
The New Elite

เมื่อผมยังเป็นเด็กนั้น  คนที่เป็น  “ชนชั้นนำ”  หรือที่เรียกกันว่า Elite ในภาษาอังกฤษนั้น  ที่สูงที่สุดน่าจะอยู่ในแวดวงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รวมถึงนายทหารชั้นสูงที่มี  “นามสกุล”  ที่เก่าแก่เป็นที่รู้จักกันในสังคม  พวกเขามีทรัพย์สมบัติมากกว่าคนทั่วไปมากโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นที่ดินในทำเลทองของกรุงเทพ  ลูกหลานของพวกเขามักเล่าเรียนในโรงเรียนชั้นนำของประเทศและถ้าเป็นเด็กผู้ชายก็จะย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำในต่างประเทศเมื่ออายุอาจจะซัก 12-15 ขวบ  และหลังจากนั้นก็อาจจะเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีชื่อเสียงระดับโลก  หลังจากนั้น  หลายคนก็กลับมารับราชการและอาจจะเล่นการเมืองจนมีตำแหน่งใหญ่โตมีชื่อเสียง  นั่นก็คืออีลิทชั้นสูงที่สุดซึ่งก็มีจำนวนน้อยมาก

           อีลิทระดับรองลงมาที่มีจำนวนมากกว่าและ  “มาแรงกว่า”  ก็คือ  กลุ่มเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้เริ่มสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว  คนกลุ่มนี้มักเป็นคน  “รุ่นที่สอง” ของชาวจีนอพยพที่เข้ามาริเริ่มธุรกิจที่ยังมีไม่มากนักในเมืองไทย  พวกเขาเริ่มเรียนรู้ที่จะ  “สร้างสถานะ”  ทางสังคมในด้านต่าง ๆ  โดยอิงกับธุรกิจและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในกลุ่มอีลิทชั้นสูงและพวกเดียวกัน  ลูกหลานของอีลิทในกลุ่มนี้มักเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำของประเทศเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในเครือคาทอลิกซึ่งมีประมาณ 7-8 แห่งทั้งโรงเรียนชายและหญิง  ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ก็มักจะรับนักเรียนจากพ่อแม่ที่เคยเป็นศิษย์เก่าทำให้ภาพของโรงเรียนกลายเป็นโรงเรียนของอีลิทไปด้วย   เด็กเหล่านี้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็มักจะเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ  บางคนที่สอบเอนทร้านซ์ไม่ติดก็เดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศที่เจริญแล้ว  เฉพาะอย่างยิ่งก็คืออเมริกาและอังกฤษ

          เวลาผ่านไปพร้อม ๆ  กับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมหาศาล  ระบบการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  ข้าราชการที่เคยมีบทบาทและบารมีสูงส่งถูกลดบทบาทลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่นักการเมืองที่มักจะมาจากประชาชนธรรมดากลับมีอำนาจมากขึ้นและมากขึ้น  ในด้านของนักธุรกิจเองนั้น  พวกเขาก็เติบโตและร่ำรวยขึ้นมากกว่า  “เศรษฐีและผู้ดีเก่า”  อย่างเทียบกันไม่ได้  เหล่านี้ทำให้อีลิทที่เป็นชนชั้นนำรุ่นแรกที่กล่าวถึงลดสถานะลง  ว่าที่จริงถ้ามีแต่  “นามสกุลเก่า”  แต่ไม่ได้ร่ำรวยมากแล้ว  ความเป็นอีลิทก็อาจจะถือได้ว่าหมดไปแล้ว  “อีลิทรุ่นใหม่”  ที่มักประกอบด้วยเจ้าของธุรกิจ  “สมัยใหม่”  ที่มีขนาดใหญ่ในวันนี้ไม่ได้มี  “นามสกุลเก่า”    พวกเขามีนามสกุลยาวที่อาจจะตั้งขึ้นมานาน 2-3 ชั่วอายุคน   ครอบครัวไม่มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับงานราชการและก็ไม่สนใจที่จะทำราชการยกเว้นว่าอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐในฐานะของนักการเมืองสำหรับบางคน

          ลูกของคนที่เป็นอีลิทรุ่นใหม่นั้น  ผมคิดว่าพวกเขาจะเริ่มเรียนในโรงเรียนอินเตอร์มากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ  หลายคนก็อาจจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก  แต่การส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกอย่างที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้น่าจะค่อย ๆ ลดลง   การมีลูกเรียนในโรงเรียนแบบไทยนั้นในไม่ช้าผมคิดว่าจะไม่ใช่หนทางของอีลิทรุ่นใหม่อีกต่อไป  คนที่ร่ำรวยมาก ๆ  และถือว่าเป็นอีลิทในวันนี้ที่ผมเห็นดูเหมือนว่าจะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ที่เปิดขึ้นมามากมาย  บางคนก็ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ  ในโรงเรียนอินเตอร์ที่ “แพงและโดดเด่น”  บางแห่งนั้น  เวลานี้เต็มไปด้วยเด็กที่พ่อแม่มีฐานะร่ำรวยมหาศาลและอาจจะต้องการที่จะให้ลูกได้อยู่ในบรรยากาศและเพื่อนที่มีพ่อแม่เป็นอีลิท  ดังนั้น  เราก็พอจะคาดได้ว่าเด็กเหล่านี้ที่จะกลายเป็นอีลิทในอนาคตจะเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก  พวกเขาจะ  “โกอินเตอร์”  อย่างเป็นเรื่องปกติโดยใช้ภาษาอังกฤษที่มีการใช้กันแพร่หลายเพิ่มขึ้นทั่วโลก

          ภาษาจีนที่อาจจะมีคนคิดว่าเราต้องรู้เพื่อสื่อสารติดต่อกับคนจีนที่มีกว่าพันล้านคนและธุรกิจของจีนที่กำลังเติบโตขึ้นมหาศาลและคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในที่สุดนั้น  ผมไม่คิดว่าอีลิทรุ่นใหม่จะสนใจเรียนรู้มากนัก  เหตุผลก็คือ  การติดต่อกับธุรกิจจีนโดยเฉพาะที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่นั้น  สามารถติดต่อเป็นภาษาอังกฤษได้เนื่องจากคนจีนเองก็จะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ  การที่อีลิทรุ่นใหม่จะเรียนรู้ภาษาจีนนั้นจึงไม่น่าจะ  “คุ้มค่า”   พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงเพื่อนนักเรียนร่วมสมัยของผมที่เรียนภาษาฝรั่งเศสและสเปนที่ป่านนี้อาจจะมีโอกาสใช้ให้เป็นประโยชน์น้อยมาก  เช่นเดียวกับภาษาญี่ปุ่นที่ผมคิดว่าไม่น่าจะสามารถทำเงินหรือเป็นประโยชน์มากนัก  เหตุผลที่ภาษาอื่น ๆ  มีการพูดในระดับสากลน้อยลงนั้นผมคิดว่าเป็นเพราะภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาที่  “ชนะ”  และเมื่อมันชนะมันก็จะได้เปรียบมากขึ้น  มันก็คล้าย ๆ  เครือข่ายสังคมที่ถ้ามีคนเข้ามาร่วมมากขึ้นก็ทำให้คนใหม่ ๆ  อยากเข้ามาร่วมมากขึ้น  และทำลายเครือข่ายที่เล็กกว่าในที่สุด  ด้วยเหตุผลแบบนี้   ผมจึงคิดว่าการเรียนภาษาจีนอาจจะไม่คุ้ม  และถ้าจะให้เลือกว่าเราสามารถใช้ภาษาอังกฤษที่ดีมากภาษาเดียว  กับการที่ใช้ได้สองภาษาแบบงู ๆ ปลา ๆ  ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้เท่ากัน  ผมเลือกที่จะขอใช้ภาษาอังกฤษดีกว่า

          อีลิทรุ่นใหม่นั้นไม่ได้เหมือนอีลิทรุ่นเก่าในด้านของสังคม  พวกเขาไม่จำเป็นต้องมี  “หัวโขน” หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าตามสายบังคับบัญชา  คนไม่สนใจว่าคุณจะเป็นหัวหน้ากอง  เป็นอธิบดี  เป็นทูต  เช่นเดียวกับตำแหน่งทางบริษัทหรือองค์กรทางธุรกิจว่าคุณเป็นผู้จัดการฝ่าย  เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ  หรือตำแหน่งอะไรในบริษัท  ชื่อเสียงหรือความ “ดัง”  หรือความสามารถที่เป็นที่ยอมรับจะเป็นสิ่งที่อีลิทแสวงหา  นี่คงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกหลานอีลิทในช่วงเวลานี้ต่างก็อยากเป็นดารา  นักร้อง  พิธีกร  แม้แต่ลูกหลานนักการเมืองใหญ่ที่โด่งดังหรือนักธุรกิจใหญ่มาก ๆ หลาย ๆ  คนเดี๋ยวนี้เลือกที่จะเป็นดารา  พิธีกร  หรือเป็นนักเขียน  แทนที่จะทำงานตามรอยพ่อแม่  แม้ว่างานนั้นอาจจะไม่ใช่งานถาวรที่จะทำต่อไปตลอด  ในอีกด้านหนึ่ง  อีลิทรุ่นใหม่หลายคนก็เข้ามาเกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับดาราซึ่งก็ทำให้ตนเองกลายเป็นคนดังไปด้วย  ว่าที่จริง  ดาราระดับ “ซุปเปอร์สตาร์”  ของไทยในขณะนี้ผมก็คิดว่าพวกเขาก็มีสถานะเป็นอิลิทกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยแล้วเมื่อดูจากฐานะการเงินและชื่อเสียงของพวกเขา

          ผมคงจะจบเรื่องอีลิทรุ่นใหม่ไปไม่ได้ถ้าจะไม่พูดว่านักลงทุนโดยเฉพาะแบบ VI ที่ประสบความสำเร็จสูงและ/หรือหรือมีพอร์ตการลงทุนที่ใหญ่โตด้วยเหตุผลอะไรก็ตามนั้น  กำลังน่าจะกลายเป็นอีลิทอีกกลุ่มหนึ่งที่ใหม่ที่สุดและใหม่กว่ากลุ่มดารา  แน่นอน  พวกเขาหลาย ๆ คนนั้นมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย  ทำธุรกิจ  และก็มีสถานะที่ดี  บางทีก็อาจจะเป็นอีลิทอยู่แล้ว  แต่การเป็นนักลงทุนนั้น  มันเป็นอีกสถานะหนึ่งที่สังคมน่าจะเริ่มยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ  พูดง่าย ๆ  คนไม่คิดว่าการร่ำรวยจากการลงทุนนั้นเป็นเรื่องของการพนันหรือเป็นเรื่องของคนขี้เกียจไม่ทำงาน   ที่สำคัญ  มันเป็นสถานะที่คนทั่วไปไขว่คว้าได้  มันมีบทเรียนที่คนสามารถเรียนรู้และใช้มันเพื่อที่จะไปถึงสถานะที่เป็นอีลิทในสังคม  และถ้าจะว่าไป  นี่คือเส้นทางที่จะทำให้คนเปลี่ยนสถานะได้โดยที่เขาไม่ต้องทำสิ่งที่เป็นการฉ้อฉลหรือเอาเปรียบคนอื่น  เพราะการลงทุน  โดยเฉพาะที่เป็นแบบ VI นั้น  มันเป็นเกมหรือการทำงานที่แฟร์ที่สุดอย่างหนึ่ง

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/01/14/1238


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 28 January 2013
ชีวิตที่เรียบง่าย

วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่งติดต่อกันมานาน  นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้บริหารของ เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับต้น ๆ  ของอเมริกาและของโลก  ดูจากโปรไฟล์แบบนี้คนก็ต้องคิดว่าชีวิตของเขาในแต่ละวันคงจะยุ่งเหยิงมากจนหาเวลาที่เป็นส่วนตัวได้ยาก  แต่เปล่าเลย  ในแต่ละวันเขาเดินทางไปทำงานอย่างสบาย ๆ  ขับรถเองออกจากบ้านถึงที่ทำงานก็กินเวลาไม่กี่นาที  เวลาทำงานของเขาส่วนใหญ่ก็คือการนั่งอ่านหนังสือซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ  เช่นหนังสือรายงานประจำปี  หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อเสนอขายหุ้นหรือกิจการให้เบิร์กไชร์  เวลาอีกส่วนหนึ่งก็คือการพูดคุยทางโทรศัพท์ที่น่าจะรวมถึงการสั่งซื้อหรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งก็ไม่ได้บ่อยหรือใช้เวลามากนัก  ที่น่าทึ่งก็คือ  เขาไม่นั่งดูจอคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามราคาหุ้นหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย  ว่าที่จริงเขาไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน  พูดกันว่าเขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือด้วย  แต่เรื่องนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจริงไหม  ครั้งหนึ่ง ลูกชายของ นางแคทเธอรีน เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ที่บัฟเฟตต์ร่วมถือหุ้นและสนิทสนมด้วยต้องการมาพบบัฟเฟตต์และขอนัดเวลา  บัฟเฟตต์ตอบว่า  “มาได้เลย  ผมไม่มีตารางเวลานัด”

          บัฟเฟตต์ไม่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น  เขากลับบ้านตามเวลาปกติ  ช่วงหัวค่ำเขาอาจจะนั่งดูทีวีพร้อมกับข้าวโพดคั่ว  บางวันก็เล่นบริดจ์ผ่านอินเตอร์เน็ตกับคู่ขา  ลูกของบัฟเฟตต์เคยเล่าว่า  ในช่วงวัยเด็กเขาไม่เคยเห็นพ่อทำงานบ้านอะไรเลย  วัน ๆ  เอาแต่อ่านหนังสือ  เวลาที่บัฟเฟตต์กินอาหารนอกบ้าน  เขาก็มักจะไปกินที่ร้านเดิม ๆ  และอาหารก็น่าจะ  “เดิม ๆ”  เขาบอกว่า  “ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม  อาหารร้านนี้อร่อยอยู่แล้ว”  เวลาที่บัฟเฟตต์เดินทางโดยเครื่องบินนั้น  เขาไปของเขาเองโดยไม่มีคนติดตาม  ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่ามีคนไปเจอบัฟเฟตต์ในสนามบิน  อาจจะในร้านแม็คโดนัลด์  เขาเข้าไปทักและพูดทำนองว่า  “คุณคือ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเปล่า”  ซึ่งบัฟเฟตต์ตอบว่า “ใช่”  แต่เขากลับอุทานว่า  “เป็นไปไม่ได้”  เขาคงคิดว่าบัฟเฟตต์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะมาเดินลากกระเป๋าแบบนี้ได้อย่างไร   ข้อสรุปของผมก็คือ  ชีวิตของวอเร็น บัฟเฟตต์  นั้น  เป็นชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของเขาในสังคม  และนั่นนอกจากเป็นเพราะอาชีพนักลงทุนนั้น  ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีความซับซ้อนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จแล้ว  ชีวิตที่เรียบง่ายยังเป็นสิ่งที่เขาเลือก  ครั้งหนึ่ง  เขาได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีของสหรัฐซึ่งในทางสังคมแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่มีเกียรติอย่างสูงและทุกคนต่างแสวงหา  แต่บัฟเฟตต์ปฏิเสธ  เขาคงคิดว่า  “ไม่รู้ไปทำไม”

           ผมเองเคยผ่านชีวิตของการเป็นผู้บริหารของธุรกิจมานาน  แม้ว่าจะไม่เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดแต่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่และเกี่ยวข้องกับสังคมในตลาดหลักทรัพย์  หลังจากลาออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวประมาณสิบปีมาแล้วผมก็พบความแตกต่างระหว่างการเป็นพนักงานหรือผู้บริหารธุรกิจกับการเป็นนักลงทุนในด้านของการใช้ชีวิตและสังคมอย่างชัดเจน

            ข้อแรกก็คือ  ชีวิตของการเป็นผู้บริหารโดยเฉพาะในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคมหรือราชการนั้น  เป็นชีวิตที่มีความเครียดสูงมาก  ประเด็นก็คือ   การที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องและจ้าวนายจำนวนมากนั้น  ทำให้ชีวิตเรา “ซับซ้อน” มาก  แต่ละวันเราจะมีเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจแตกต่างกันออกไป  เรื่องส่วนใหญ่ก็ไม่สำคัญอะไรนักต่อความสำเร็จขององค์กร  แต่การตัดสินใจอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจคนอื่นก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อหน้าและลับหลังทำให้เราเครียด  เรื่องที่สำคัญมากจริง ๆ  บางครั้งหรือบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถทำตามที่เราคิดได้เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัย  “เสียงส่วนใหญ่”  ที่คิดไปอีกทางหนึ่งหรือมี  “แรงจูงใจ”  บางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจไปอย่างนั้น  ประเด็นสำคัญก็คือ  แม้ว่าเราจะคิดและตัดสินใจในทางตรงกันข้ามแต่เราก็ต้อง “รับผิดชอบ” กับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นั้น  และนี่ก็ทำให้เกิดความเครียด  เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดในอนาคต  เราอาจจะต้องรับผิดไปด้วย

            ในเมืองไทยเรานั้น   ประเด็นที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นอีกก็คือ  กฎเกณฑ์และระบบกฎหมายและความยุติธรรมของเรานั้นยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร  ดังนั้น  ถ้าเราอยู่ในธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือรัฐมาก  เช่น  บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจการเงินอย่างที่ผมเคยทำ  “ความเสี่ยง” ของผู้บริหารก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ  ประเด็นก็คือ  ในระบบของบ้านเรานั้น  การ “กล่าวโทษ” ทำได้ง่าย  และความผิดนั้น  อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องของการทุจริตหรือความผิดพลาดของการตัดสินใจแต่เป็นเรื่องของการทำผิด “กฎระเบียบ”  ที่สุดจะ  “ซับซ้อน”  ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้คุณต้องตกเข้าไปสู่ “วังวน”  ของปัญหาที่จะทำให้ชีวิตของเราเครียดไปอีกนานถ้าถูกกล่าวโทษ

           ข้อที่สองก็คือ  การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารขององค์กรที่ใหญ่โตนั้นทำให้เรามีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนที่เป็นนักลงทุนในสายตาของคนทั่วไป  นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ยังยึดถือในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าค่อนข้างมากแม้ว่าจะค่อย ๆ  ลดลงในช่วงหลังนี้   การมี  “หัวโขน”  นั้น  แม้ว่าจะทำให้คนที่  “สวม”  อยู่รู้สึกดี  แต่มันก็ทำให้ชีวิตของเราซับซ้อนขึ้น  เราถูกทำให้ต้องคิดคำนึงถึงการ  “วางตัว”  ให้เหมาะสมกับ  “ชั้น”  หรือสถานะที่เราอยู่อย่างเคร่งครัด  เราจะทำตัว “มอซอ” หรือไม่ไปเคารพนบนอบ “ผู้ใหญ่”  ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ  ไม่ได้   แม้แต่ชีวิตส่วนตัวของเราเอง   เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแบบสบาย ๆ  ที่ดูแล้วอาจจะทำให้เรา  “เสียลุค”  ทำให้คน  “ขาดความนับถือ”  ได้    นอกจากนั้น  การเป็น  “คนสำคัญ”  ยังหมายความว่าคุณจะต้องมีหรือทำกิจกรรม  “เพื่อสังคม”  หรือต้อง  “เข้าสังคม”  กับคนกลุ่มต่าง ๆ  โดยเฉพาะที่อยู่ในระดับเดียวกันเป็นประจำซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตค่อนข้างที่จะเครียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีพื้นฐานนิสัยที่ค่อนข้างเป็นแบบ  “เสรีชน”

             ชีวิตของคนที่ทำงานหรือเป็นผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่นั้นดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงการมีชีวิตที่ซับซ้อนไปได้ยากและหลายคนก็อาจจะชอบมัน  ว่าที่จริงการมีชีวิตที่เรียบง่ายนั้นอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ทำงานในองค์กรด้วยซ้ำ  แต่ชีวิตของนักลงทุนนั้น  ผมคิดว่าเราต้องการความเรียบง่ายมากกว่า  เหตุผลก็คือ  ความเรียบง่ายนั้น  มักทำให้เราได้สัมผัสกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายได้มากกว่าความซับซ้อน  ว่าที่จริง  ปีเตอร์ ลินช์ เองเคยพูดไว้ว่า  “ถ้าคุณเป็นคนขับรถสิบล้อ  คุณจะได้เปรียบในการลงทุน”   ส่วนตัวผมเองนั้น  สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัทนั้น  ผมเองก็ยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีร้านสะดวกซื้อมากมายนัก  เหตุผลก็เพราะผมมีคนคอยจัดการเรื่องกาแฟและใบเสร็จค่าน้ำไฟรวมถึงเรื่องจิปาถะต่าง ๆ  แต่หลังจากออกมาเป็นนักลงทุนที่ต้องทำทุกอย่างเองเหมือนกับคนทั่วไป  ผมถึงได้ค้นพบว่านี่คือสิ่งที่คนเกือบทั้งประเทศต้องการแทบจะขาดไม่ได้
             ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น  ไม่ได้ช่วยแต่ในเรื่องของการลงทุน  ส่วนตัวผมเองนั้น  สามารถลดความเครียดลงได้น่าจะ 80-90%  จากการที่เลิกทำงานที่มีความซับซ้อนและความเครียดสูงลง  การที่พูดเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าเราควรลาออกจากงานมาลงทุนเต็มตัวเพื่อใช้ชีวิตที่เรียบง่าย  ผมเพียงแต่ต้องการบอกว่า  การทำชีวิตให้เรียบง่ายนั้น  เป็นสิ่งที่ดีและทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น  และการลงทุนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจจะทำให้เราสามารถเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้

Posted by nivate at 11:27 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/01/28/1244


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 4 February 2013
Stocks Mania

สถานการณ์หรือภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องของการ  “เก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง”  ในตลาดของทรัพย์สินต่าง ๆ  ที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวในที่ต่าง ๆ  ทั่วโลกและในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปีเท่าที่ผมยังจำความได้  และแน่นอน  ผมต้องนึกถึงประวัติของการเก็งกำไรระดับโลกที่ได้มีการจารึกไว้และเล่าขานต่อเนื่องกันมานานนั่นก็คือเรื่องของการเก็งกำไรอย่าง  “บ้าคลั่ง”  ในหัวดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงปี ค.ศ. 1634-1637  ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า  “Tulip Mania”

           เล่ากันว่าในช่วงนั้นผู้คน  “ขายบ้านขายช่อง” เพื่อที่จะนำเงินมาซื้อหัวทิวลิปที่มีลวดลายสวยงามที่เกิดขึ้นจากการที่มัน “ติดเชื้อไวรัส”  หรือจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตามที่ทำให้มันแปลกตาและหายากที่ทำให้คน  “อยากเล่น”  เพื่อที่จะ  “ขายต่อ”  ให้คนอื่นที่จะเข้ามา  “บิดราคา”  เพื่อที่จะซื้อและก็  “ขายต่อ”  ให้กับคนอื่นไปเรื่อย ๆ  ผ่าน  “ตลาดล่วงหน้า”  ที่เป็น  “สัญญากระดาษ”    ว่ากันว่าในช่วงที่ราคาหัวทิวลิปขึ้นสูงสุดนั้น  ทิวลิปที่  “สวยจริง ๆ” จะมีราคาเท่ากับรายได้ของช่างชำนาญงานถึง 10 ปี  คนที่เล่นเก็งกำไรหัวทิวลิปนั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนร่ำรวย  คนชั้นสูงและขุนนางที่ต่างก็  “ทนไม่ไหว”  กับการที่เห็นคนอื่น “รวยเอา ๆ  อย่างง่าย ๆ”  โดยการเข้าไปซื้อหัวทิวลิปในตลาด

            แน่นอนว่าราคาของหัวทิวลิปที่ขึ้นไปจน  “เกินพื้นฐาน”  ไปมาก ๆ  นั้น  ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้และก็ตกลงมาจนแทบจะไม่มีค่าหรือเท่ากับพื้นฐานของมัน   ว่าที่จริง  มูลค่าที่แท้จริงของทิวลิปนั้น  ถ้าไม่คิดถึงสีสันลวดลายของมันที่เป็นเรื่องของจิตใจแล้ว  มันก็คือดอกไม้ธรรมดา ๆ  ที่มีค่าน้อยมาก  การที่คนให้คุณค่ามันมากมายนั้น   แท้ที่จริงแล้วก็คือ  คุณค่าของการ  “เก็งกำไร”  คือซื้อเพื่อหวังจะขายต่อในราคาที่สูงขึ้น  แต่ตัวของมันสร้างรายได้หรือทำเงินน้อยมาก  หลังจากกรณีของ  “ฟองสบู่ดอกทิวลิป”  แล้ว  โลกและประเทศไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของการเก็งกำไรมาเรื่อย ๆ  ราวกับว่าคนไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น  หรือถ้าจะอธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ  คนไม่ได้สนใจว่า  “จุดสุดท้าย” จะเป็นอย่างไร  พวกเขาอาจจะเพียงแต่คิดว่าในระหว่างที่ราคากำลังขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” นั้น  โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว  “ยิ่งรอก็ยิ่งเสียโอกาส”  ดังนั้นเขาจึงเข้าไปเล่น  เหนือสิ่งอื่นใด  ฟองสบู่แต่ละครั้งมักจะอยู่นานเป็นปี ๆ

             ในประเทศไทยเองนั้น  ผมยังจำได้ว่าในช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ  ซึ่งก็ประมาณเกือบ 40 ปีมาแล้ว  ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่อยู่ ๆ  คนไทยก็เริ่มสนใจและเริ่มซื้อขายหินสวยงามชนิดหนึ่งที่เรียกว่า  “โป่งข่าม”  นี่คือหินที่มีสีและลวดลายแปลก ๆ ในแต่ละเม็ดไม่ซ้ำกัน  ขนาดของแต่ละเม็ดก็แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของหิน  เมื่อได้มาแล้วคนก็จะนำไปเจียระไนเพื่อนำไปทำหัวแหวนและเครื่องประดับอื่น ๆ เพื่ออวดกันในหมู่เพื่อนฝูง  เมื่อความนิยมในสังคมมีมากขึ้น  การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตามมา  หนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ  ก็เริ่มตีพิมพ์เรื่องราวและความสวยงามของหินชนิดนี้  และแล้วเรื่องราว“ปาฏิหาริย์”  ก็ตามมา   บ้างก็ว่าเมื่อสวมใส่โป่งขามแล้วทำให้โชคดี  บ้างก็อ้างว่ามันมี  “พลัง”  ในตัวที่ทำให้โรคภัยบางอย่างของผู้สวมใส่เช่นอาการหืดหอบหาย   ผู้หญิงบางคนบอกว่าใส่โป่งข่ามแล้วทำให้ใบหน้า  “มีน้ำมีนวลขึ้น”  ด้วย   ราคาของโป่งข่ามพุ่งขึ้นไปสูงมาก  บางเม็ดอาจจะขึ้นไปเป็นหมื่นหรือเท่าไรผมก็จำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าไป “เล่น” เลย   แต่หลังจากนั้นความนิยมก็ลดลงเรื่อย ๆ  จนแทบไม่มีราคา  เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักแล้วว่าโป่งข่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

            เมื่อราวซัก 10 ปีที่ผ่านมาเราคงจำกันได้ว่าคนไทยเริ่ม  “บ้า”  จตุคาม ที่เป็นเหรียญที่เข้าใจว่ามีคนจัดทำขึ้นเพื่อเป็น  “สิ่งศักดิสิทธ์”  เริ่มต้นจากนครศรีธรรมราชถ้าผมจำไม่ผิด  ต่อมาก็มีคนจัดทำมากขึ้น  ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่วัดหรือหน่วยงานจะหารายได้มาทำนุบำรุงองค์กรของตน   เมื่อมีการทำกันมากขึ้นก็เริ่มมีเรื่องราว  “ปาฏิหาริย์”  ตามมา   บางคนก็เริ่มสนใจในความ “งดงาม”  ของจตุคามที่ออกกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ   หลายคนแขวนจตุคาม  “เต็มคอ”  กลายเป็นแฟชั่น  และก็เช่นเคย  สื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์ก็เริ่มจับเรื่องนี้มาเล่น  ราคาของจตุคามบางรุ่นถูก  “ไล่ราคา”  ขึ้นไป   ผมก็ไม่แน่ใจว่ารุ่นที่แพงมาก ๆ  เป็นเท่าไร   แต่ราคาในระดับแสนบาทก็น่าจะมีอยู่บ้าง  อย่างไรก็ตาม   การเล่นจตุคามก็ตกลงอย่างรวดเร็ว  ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ  Supply หรือของใหม่นั้นออกมาได้เร็วและมากอย่างไม่มีข้อจำกัด  เดี๋ยวนี้คนเลิกหมดแล้ว  และผมเชื่อว่าจตุคามที่เคยโด่งดังก็คงมีราคาน้อยมาก

            ความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่มีผลกระทบ “ระดับชาติ”  ของไทยนั้นก็คือการเล่น  “แชร์แม่ชม้อย”  ซึ่งเป็น  “แชร์ลูกโซ่”  กองแรก ๆ ของไทยเมื่อประมาณซัก 35 ปีก่อน  นั่นก็คือ  การที่ “เจ้ามือ”  เสนอการลงทุนในอะไรบางอย่างที่กำลัง  “ร้อนแรง” เช่น  น้ำมันในกรณีของแม่ชม้อย  คนที่เข้ามาเล่นจะต้องจ่ายเงินค่าแชร์เช่น  ซื้อน้ำมันหนึ่งคันรถอาจจะเท่ากับ 10,000 บาท  หลังจากนั้นแต่ละเดือนเขาจะได้รับเงินปันผลตอบแทนเช่น  1,000 บาททุกเดือน   แน่นอน  เงินนั้นไม่ได้นำไปลงทุนซื้อน้ำมัน  แต่ถูกนำไปจ่ายเป็นปันผลให้กับคนที่ลงทุนมาก่อน   ตราบใดที่ยังมีคนใหม่มาลงทุนเพิ่ม  คนเก่าที่ลงทุนไว้ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเดือนละ 10% ไปเรื่อย ๆ  ซึ่งนี่ทำให้คนที่ยังไม่ได้ลงทุนเห็นและอยากเข้ามาลงทุนเพราะเป็นหนทางที่จะทำเงินได้ง่าย ๆ  บางคนอาจจะ “ขายบ้าน”  มาลงทุน  เพราะ  “ถ้าอยู่ได้ถึงปี  เงินก็ได้คืนมาหมดแล้ว”  ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคนที่เข้ามาตั้งแต่แรก ๆ  และอยู่ได้เกินปีแต่น่าเสียดายที่ว่าเขาไม่ได้เงินคืนเลย  เพราะเมื่อได้ปันผลมา  เขาก็ “โลภ”  แทนที่จะเก็บไว้  กลับนำไปลงทุนต่อ  ซึ่งทำให้ต้องหมดตัวเมื่อแชร์ “ล้ม”

            สุดท้ายของเรื่องความ “บ้าคลั่ง”  ของการเก็งกำไรที่แทบทุกประเทศต้องเคยประสบถ้าตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่งเกิดก็คือ  การเก็งกำไรในหุ้นที่รุนแรงจนกลายเป็น  “ฟองสบู่”  แน่นอน  ประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่องของ  “ฟองสบู่เซ้าท์ซี”  และฟองสบู่ในปี 1929 ในตลาดสหรัฐที่มีผลกระทบกว้างขวางทั่วโลกและกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อ  “ฟองสบู่แตก”  ราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 10%  แต่ความบ้าคลั่งหรือฟองสบู่ขนาดย่อม ๆ  นั้นก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ  แต่ละครั้งก็มักจะทิ้งเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 15-20 ปีขึ้นไป  ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศอาจจะมีน้อย   อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแล้ว  บ่อยครั้งมันเป็น  “หายนะ”   เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้นนั้น  แทบจะไม่มี “สัญญาณเตือน”  หรือมีก็ “ไม่มีใครเชื่อ”  เหตุเพราะว่า  “ฟองสบู่”  นั้นมักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ดีเยี่ยม  โดยทั่วไปก็มักจะเริ่มต้นจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดี  เศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นฐานใหม่ เช่น  “การเปิดเสรีทางการเงิน”  “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”  “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่”  หรือไม่ก็หลาย ๆ  เรื่องประกอบกันที่ทำให้คนเห็นว่า  หุ้นนั้นจะมีแต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ  และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ทำให้ราคาที่สูงลิ่วนั้นคงอยู่ไม่ได้  ต่อเมื่อหุ้นตกลงมาแล้ว  คนถึงได้รู้ว่าราคาที่เห็นนั้นเป็น  “ฟองสบู่”

            ก่อนที่จะจบบทความนี้  ผมคงต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เป็นฟองสบู่แล้ว  เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้  ผมเพียงแต่รู้สึกว่าในช่วงเวลานี้  คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังสนใจลงทุนในหุ้นกันมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน  ดังนั้น  ถ้าผมจะบอกว่าในช่วงนี้เป็นช่วง  “Stocks Mania”  หรือคนกำลังคลั่งไคล้ในหุ้น  ก็คงไม่ผิดจากความจริงไปมากนัก   
                                 
Posted by nivate at 11:27 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/04/1245



ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 11 February 2013

The New Middle Class



ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ “ยิ่งใหญ่” เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาพร้อม ๆ  กันทั่วโลก  นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่คนมีรายได้  “น้อย”  คิดหรือทำตัวคล้าย ๆ  กับ  “ชนชั้นกลาง”  โดยเฉพาะในการประท้วง  เรียกร้องสิทธิทางการเมือง  และต่อสู้เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในอดีตหรือโดยปกติจะเป็นเรื่องของคนชั้นกลางที่มีรายได้ประมาณ 10,000 เหรียญหรือ 300,000 บาทต่อปีขึ้นไปที่มีความมั่นคงในชีวิตและไม่ต้องคำนึงถึงปากท้องประจำวันที่จะคิดและทำ  ส่วนคนที่มีรายได้น้อยกว่านั้นในอดีตพวกเขามักจะขาดการศึกษา  การเรียนรู้  และข้อมูล  ที่มีราคาแพงและพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอ    แต่ในปัจจุบัน  ด้วยการพัฒนาและการกระจายตัวของอินเตอร์เน็ตที่มีราคาถูก  รวมถึงทีวีผ่านดาวเทียม  โทรศัพท์มือถือ  และข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซ้ต์ต่าง ๆ  ที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้คนที่มีรายได้ “น้อย”  สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตหรือคิดและทำแบบที่ชนชั้นกลางทำ  และนี่ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นในประเทศย่านแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง  ที่เรียกกันว่า  “อาหรับสปริง”  การประท้วงต่อต้านคอร์รัปชั่นและการเรียกร้องสิทธิทางสังคมต่าง ๆ  ในอินเดียและจีน  และแน่นอน  การประท้วงเรียกร้องต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้โดยเฉพาะของ  “คนเสื้อแดง”

          คำที่ใช้เรียกคนที่มีรายได้ “น้อย”  ที่ทำตัวคล้ายคนชั้นกลางนั้น  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า  “Virtual middle class” หรือ  “ชนชั้นกลางเสมือนจริง”  ในเมืองไทยนั้น  นักวิชาการบางคนเรียกว่า  “คนชั้นกลางระดับล่าง”   ชนชั้นกลางเสมือนจริงในประเทศอย่างอินเดียหรือจีนนั้น  มองกันว่ามีจำนวนหลายร้อยล้านคนหรือพอ ๆ  กับคนชั้นกลางในสองประเทศนั้น    ในประเทศไทยเองนั้น  คนชั้นกลางระดับล่างนั้นน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนหรือน่าจะเท่า ๆ  หรือมากกว่าคนชั้นกลางจริง ๆ  ด้วยซ้ำ  ดังนั้น  อิทธิพลหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความคิดและการกระทำของพวกเขาจึงมีมหาศาลแทบจะ  “เปลี่ยนโลก”  หรือ  “ปฏิวัติ”  แนวทางในการดำเนินชีวิต  สังคม  และการเมืองของประเทศ

           ในส่วนของประเด็นทางเศรษฐกิจที่เราสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากมันมีผลต่อการลงทุนของเรานั้น  เรื่องแรกก็คือ  คนชั้นกลางระดับล่างหรือผมอยากจะเรียกว่า   “คนชั้นกลางรุ่นใหม่”  นั้น  ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ทำงาน  “นอกระบบ”  นั่นคือ  พวกเขาไม่ได้ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ  ที่มีระบบของการบริหารงานบุคคลเป็นมาตรฐาน  มีสวัสดิการที่ดี  ตรงกันข้าม  คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น  มักเป็นพ่อค้าแม่ขายตามตลาด  เป็นคนขับรถรับจ้าง  เป็นพนักงานบริการ  เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่เป็น  SME  ที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย  หรือเป็นเกษตรกร “มืออาชีพ”   พูดถึงรายได้  พวกเขามักจะมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000-20,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 180,000-240,000 บาท  อย่างไรก็ตามรายได้ของพวกเขามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  อานิสงค์จากการที่แรงงานขาดแคลนอย่างหนักและการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล

            คนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยนั้น  กำลังบริโภคหลาย ๆ  สิ่ง หลาย ๆ  อย่างที่คนชั้นกลางทำ  ปรากฏการณ์ของ  “รถยนต์คันแรก”  ที่มียอดขายจำนวนมหาศาลนั้น  เกิดขึ้นเนื่องจากมันมีราคาเพียงไม่กี่แสนและสามารถผ่อนได้ด้วยเงินไม่กี่พันต่อเดือนซึ่งทำให้คนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถซื้อได้   เช่นเดียวกัน  คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นนิยมซื้อคอนโดที่มีราคาที่พวกเขาสามารถผ่อนได้จากเดิมที่บ้านนั้นเป็นความฝันเฉพาะของคนชั้นกลาง  นี่ไม่ต้องพูดถึงการผ่อนมอเตอร์ไซต์หรือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่สูง  แต่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงสำหรับชีวิตแบบคนชั้นกลางทั่วไป

            การซื้อสินค้าของคนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น   กำลังเหมือนกับคนชั้นกลางนั่นคือ  พวกเขาเข้าห้างค้าปลีกสมัยใหม่  พวกเขาอยากได้สินค้าและบริการที่ดี  “ในราคาที่ย่อมเยา”   ค่าที่ว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากและโตขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น  จึงเป็นเรื่องคุ้มค่าสำหรับธุรกิจที่จะขายให้กับพวกเขา   เช่นเดียวกัน  คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้น  กินอาหารในภัตตาคารมากขึ้นมาก  อาหารที่ขายในภัตตาคารตามห้างนั้น  เนื่องจากปริมาณการขายสูงทำให้มีการ  “ประหยัดจากขนาด”  ส่งผลให้ราคาต่อมื้อไม่แพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถกินได้  อาจจะเดือนละหลายครั้ง  หรืออย่างน้อยในวันเงินเดือนออก

            คนชั้นกลางรุ่นใหม่นั้นมักเป็น  “เสรีชน”  แบบเดียวกับคนชั้นกลาง  พวกเขาไม่ต้องการ  “พึ่งพิง”  ใครอย่างที่  “คนจน”  ในอดีตของไทยต้องทำกับคนที่ร่ำรวยหรือมีสถานะในสังคมที่สูงกว่า  เดี๋ยวนี้เราต้อง“ง้อ” ลูกจ้างที่มาทำงานกับเราในที่ทำงานหรือที่บ้าน  ความ  “เสมอภาค”  ของคนในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  สะท้อนได้จากละครทีวีหลังข่าวที่หนังแนว  “แรงเงา”  ที่ตัวเอกฝ่ายหญิงนั้นใช้วิธีต่อสู้แบบ  “ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน”  กับคนที่  “สูงกว่าทางสังคม”  ได้รับความนิยมล้นหลาม  ในขณะที่หนังแบบ  “บ้านทรายทอง”  ที่นางเอกยอมเป็น  “เบี้ยล่าง” คนที่ “สูงกว่าทางสังคม”  เพื่อที่จะใช้  “ความดี” เอาชนะใจพวกเขานั้น  ผมเชื่อว่าจะลดความนิยมลงไปเรื่อย ๆ  และแม้ว่าจะยังมีคนชื่นชอบอยู่  บทละครก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของ “คนรุ่นใหม่” ที่ดูแล้วอาจจะรู้สึกว่าความคิดและการกระทำของนางเอก  “ไม่มีเหตุผล”

             ลัทธิ  “บริโภคนิยม”  ที่เป็นเรื่องของคนชั้นกลางในอดีตนั้น  แน่นอน  ขณะนี้เป็นเรื่องที่คนชั้นกลางรุ่นใหม่รับเข้าไปอย่างเต็มที่   ราคาของสินค้าที่เคยแพงและคนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่สามารถซื้อหาหรือใช้ได้นั้น  ปัจจุบันพวกเขาสามารถใช้มัน  ผ่านระบบการ “ผ่อนส่ง”  ที่มีประสิทธิภาพสูง  ดังนั้น  พวกเขามีหนี้สินพอกพูนซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะ “ไม่แคร์”  พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ  การอดออมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมีความจำเป็นน้อยลงไปมากหลังจากที่รัฐได้เข้ามาดูแลผ่านโครงการสวัสดิการสังคมที่เรียกว่า  “ประชานิยม”  หลายอย่างโดยเฉพาะรายการ “30 บาทรักษาทุกโรค”
             ในฐานะของ VI นั้น  ความเข้าใจในพฤติกรรมของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ผมคิดว่ามีความสำคัญยิ่ง  เหตุผลก็คือ  พวกเขาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ใหญ่มาก  บริษัทที่สามารถหรือมีโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาจะสามารถสร้างรายได้และเติบโตไปได้มาก  หัวใจก็คือการออกแบบสินค้าและบริการที่มีราคาถูกและ  “คุ้มค่า”  นอกจากนั้น  มันต้องมีคุณภาพที่ดีและให้ความรู้สึกที่ทำให้ผู้ใช้มี  “ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ”  เมื่อได้ใช้หรือบริโภคมัน  นอกจากนั้น  ผลิตภัณฑ์จะต้องสอดคล้องกับ  “ไล้ฟสไตล์”  หรือแนวทางการใช้ชีวิตของพวกเขา  นั่นก็คือ  ต้องมีความสะดวกสบายและบริการที่ดี  ทั้งหมดนี้จะทำได้ก็จะต้องมีปริมาณธุรกิจที่ใหญ่หรือมากพอที่จะทำให้เกิด  Economies of Scale หรือใหญ่พอที่จะทำให้ต้นทุนลดลงมากจนคนชั้นกลางรุ่นใหม่สามารถบริโภคได้  “เป็นประจำ”  และถ้าเราสามารถค้นพบบริษัทแบบนี้  การลงทุนก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

Posted by nivate at 10:04 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/11/1249



ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 18 February 2013
ถนนทุกสาย..มุ่งสู่ตลาดหุ้น


   ตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงวันนี้เป็นเวลาแค่เดือนครึ่ง  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วเกือบ 10% และนี่เกิดขึ้นหลังจากที่ตลาดเมื่อปีที่แล้วปรับตัวขึ้นมาถึง 36% มูลค่าตลาดของหุ้นไทยในขณะนี้ประมาณ 13 ล้าน ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าผลผลิตรวมต่อปีหรือ GDP ของประเทศไปแล้ว  ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนั้น “มหาศาล” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ถ้านับจากสิ้นปี 2551 หรือเพียงประมาณ 4 ปีเศษๆ ที่ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 450 จุดนั้น  มูลค่าตลาดของหุ้นได้เพิ่มขึ้นมาแล้วน่าจะประมาณ 9 ล้านล้านบาท  และถ้าคิดว่าคนไทยเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นประมาณ 70% ในบริษัทจดทะเบียน ความมั่งคั่งของคนไทยก็เพิ่มขึ้นประมาณ 6.3 ล้าน ล้านบาท และถ้าคิดต่อไปอีกว่าในส่วนของคนไทยนั้น ผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่รัฐหรือก็คือนักลงทุนที่เป็น “ชาวบ้าน” ทั่วๆไปถือหุ้นประมาณ 70% ก็จะพบว่าคนไทยที่ถือหุ้นหรือเล่นหุ้นอยู่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท

   ในเม็ดเงิน 4.4 ล้านล้านบาทที่เพิ่มขึ้นมาใน “กระเป๋า” ของคนไทยที่มีหุ้นหรือถือหุ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น  ผมไม่รู้ว่ามีคนไทยกี่คนที่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ แต่ก็คงเป็นแค่หลักไม่เกิน 2-3 ล้านคน เฉลี่ยแล้วได้รับกันไปคนละประมาณ 2 ล้านบาทถ้าจะพูดอย่างหยาบๆ แต่คนจำนวนมากที่ถือหุ้นผ่านกองทุนรวมหุ้น โดยเฉพาะของกองทุนบำเหน็จบำนาญของราชการหรือ กบข. น่าจะได้เงินไปน้อยกว่านี้มาก  คนกลุ่มต่อมาที่จะได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นพอสมควรก็คือ คนที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวหรือ LTF และกองทุนเพื่อการเกษียณหรือ RMF ที่ลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว   กลุ่มต่อมาที่น่าจะได้รับเม็ดเงินไปค่อนข้างมากก็คือ คน “เล่นหุ้น” ที่อยู่ในตลาดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบแทนน่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 200% เช่นลงทุนไป 1 ล้านบาทก็น่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ล้านบาทกลายเป็น 3 ล้านบาท ในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมา

   กลุ่มคนที่ได้เงินไปเต็มๆ คือน่าจะ “ร่ำรวย” จากการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในรอบนี้ก็คือ  นักลงทุนที่ “มุ่งมั่น” ซึ่งบางคนก็เป็น “นักลงทุนอาชีพ” นั่นก็คือ ไม่ได้ทำงานประจำอื่น แต่ลงทุนเป็นหลักในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  คนเหล่านี้มักจะลงทุนเงินเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ และหลายคนนั้นกู้เงินและ/หรือใช้มาร์จินในการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้นเข้ามาซื้อหุ้นขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  คนที่ได้เงินมากจริงๆ ในหมู่คนกลุ่มนี้ก็คือคนที่เรียกตัวเองว่า “Value Investor” นั่นก็คือ  พวกเขาซื้อขายหุ้นโดยเน้นการเลือกหุ้นโดยอิงกับพื้นฐานของกิจการเป็นหลักแม้ว่าจังหวะการซื้อขายอาจจะแตกต่างกันออกไป พวกเขาอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าคน “เล่นหุ้น” ที่ซื้อขายรายวัน แต่เม็ดเงินของพวกเขานั้นมากกว่ามาก อาจจะเรียกได้ว่ารายใหญ่หรือ “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นในช่วงเวลานี้คือ VI  ผลตอบแทนของพวกเขาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้สูงมาก การได้ผลตอบแทนเป็น 10 เท่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับ VI ที่มุ่งมั่น  และผมเชื่อว่ามีบางคนโดยเฉพาะที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนน้อย  สามารถได้เป็นร้อยเท่า คือลงทุน 1 ล้านบาทภายใน 4 ปี กลายเป็น 100 ล้านบาท

   ความร่ำรวยของ VI ผู้มุ่งมั่น ซึ่งนาทีนี้อาจจะมีเป็นพันๆ คนเข้าไปแล้วและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเริ่มจะมีผลกระทบกับการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาแพงเช่น บ้านและรถยนต์  VI กลายเป็นกลุ่มที่เข้าไปซื้อคอนโดหรูในบางโครงการอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกัน รถยนต์หรูราคาแพงมากผมก็คิดว่ามาจากเงินในตลาดหุ้นของนักลงทุนผู้มุ่งมั่นเหล่านี้ไม่น้อย  โดยในกรณีของคอนโดนั้น ผมคิดว่า VI ที่ซื้อหลายคนก็มองเป็นเรื่องของการลงทุนไปด้วย  ส่วนในกรณีของรถหรูนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะเป็น “รางวัลชีวิต” สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ VI หลายคนได้เงินมามากเสียจนราคาของรถนั้น เป็นรายจ่ายเพียง “เล็กน้อย” ที่เขาอยากจะหาความสุขบ้าง

   กลุ่มคนที่รวยจากตลาดหุ้นมากที่สุดก็คือ เจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปมาก  ไม่ใช่เฉพาะกิจการที่มีผลประกอบการที่ดีเท่านั้นที่มีราคาหุ้นขึ้นไป หุ้นเกือบทุกตัวปรับตัวขึ้นไปสูงมาก บางบริษัทมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นเพิ่มขึ้นไปเป็น 10 เท่าตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  บางบริษัทหุ้นขึ้นไปร้อยเท่าก็น่าจะมี เจ้าของบริษัทหลายๆแห่งน่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีนี้เป็นพันๆล้านบาท  หลายบริษัทเป็นหมื่นล้านบาท และบางบริษัทเป็นแสนล้านบาท  แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นเลยบางทีก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปเท่าตัวมีเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านบาท  ที่โดดเด่นยิ่งกว่านั้นก็คือบริษัทที่เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเป็นครั้งแรกหรือหุ้น IPO ซึ่งทำให้เจ้าของได้เงินเพิ่มขึ้นมาก บางคน “มโหฬาร” จากบริษัทเดิมที่ทำกำไร “กระท่อนกระแท่น” และถ้าคิดจากเงินลงทุนที่ลงไปก็อาจจะหลักหลายสิบหรือร้อยล้านบาท เมื่อเข้าตลาดหุ้น มูลค่าก็กลายเป็นพันล้านบาท บางบริษัทเป็นหมื่นล้านบาทในชั่วเวลาข้ามคืน จากเจ้าของธุรกิจที่ “พออยู่ได้” เช่นเดียวกับเพื่อนนักธุรกิจระดับเล็กด้วยกัน พวกเขากลายเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีเมื่อหุ้นเข้าตลาดและราคาวิ่งขึ้นไปสิบเท่าหรือร้อยเท่าจากเม็ดเงินที่เขาลงไป

   นักลงทุนกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ นักลงทุนต่างชาติ พวกเขามีจำนวนไม่มากแต่ได้เม็ดเงินมหาศาล ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเขาได้เงินไป 2.7 ล้าน ล้านบาท  แน่นอน  กองทุนที่เป็นสถาบันขนาดใหญ่คือคนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป แต่ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนแล้ว  กองทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงมากก็คือพวกเฮดจ์ฟันด์หรือ Private Fund ที่รับเงินจากคนที่มีเงินมากๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและในเอเซียที่เป็นตลาดเกิดใหม่  ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมานั้น กำไรต่อปีที่พวกเขาได้รับจากตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 30% ในช่วง 4 ปี นั้นเงิน 1เหรียญน่าจะได้ผลกำไรมากกว่า 2 เหรียญหรือ 200%  ซึ่งเป็นอัตราที่นักลงทุนต่างชาติแทบจะหาที่ไหนในโลกไม่ได้

   และทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากในประเทศไทยที่มีเงินสดเหลืออยู่ในธนาคารจำนวนมาก รวมถึงคนที่ยังไม่ค่อยมีเงินแต่หวังที่จะ “รวย” หรือสะสมเงิน “เพื่ออนาคต” ต่างก็ “มุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น” พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะลงทุนหรือเลือกหุ้นที่ถูกต้อง  พวกเขารู้เพียงแต่ว่าตลาดหุ้นนั้นกำลังปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าบางวันมันจะตกลงมาบ้าง แต่ชั่วไม่กี่วันมันก็ดีดกลับมาและสูงกว่าเดิม การซื้อและขายหุ้นก็ดูไม่ยากอะไรนัก บางคนอาจจะคิดว่าก็ใช้วิธีถามจากเพื่อนที่ “มีความสามารถ” หรือเล่นอยู่และได้กำไรมามาก  ผลกำไรนั้นอยู่ที่ “ปลายนิ้ว” พวกเขาไม่คิดถึงเรื่องขาดทุนเท่าไร เพราะอาจจะยังไม่เห็นใครเล่นแล้วขาดทุนเลยในช่วงหลายๆ ปี  มีแต่รวยขึ้นเรื่อยๆ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เขาก็ไม่ได้ลงทุนมากมายอะไรเทียบกับความมั่งคั่งที่มีอยู่ การที่จะแบ่งเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยน้อยนิดมาลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีทางผิดพลาด เขาลองมาแล้วเพียงแค่ 2 เดือน ตอนนี้ได้ไปแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับการฝากเงิน 5 ปี  ดังนั้น ขณะนี้เขาอยากลงทุนเพิ่ม เขาได้รับคำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดผ่านสื่อมากมาย ทุกคนบอกว่าตลาดหุ้นยังไม่แพงและดัชนีจะไปถึง 1700 จุดในสิ้นปีนี้  เขาไม่เข้าใจหรอกว่ามันคือขึ้นไปแค่ไหน เขาคิดเพียงแต่ว่า ตลาดหุ้นคือที่ที่จะทำเงินได้เร็วมาก ดังนั้น เขาจึงเข้ามา ถนนทุกสาย..กำลังมุ่งสู่ตลาดหุ้น

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/18/1251


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Tuesday, 26 February 2013

หุ้นล่าฝัน


ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดขีดนั้น  ถ้าสังเกตดูคร่าว ๆ  ก็จะพบว่า  หนึ่ง  บริษัทขนาดใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นบ้าง  ส่วนใหญ่ก็ไม่มากนัก  คิดทั้งปีก็อาจจะโตซัก 10% -15%  เรียกว่าไม่ได้โดดเด่นมากขนาดที่จะทำให้หุ้นขึ้นไปได้ถึง 30%-40%  อย่างที่เกิดขึ้น  แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่ก็คือ  พวกเขามักจะมีแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาก  มีการกู้เงินหรือบางทีก็เพิ่มทุนกันขนานใหญ่เพื่อที่จะไปลงทุน  ทั้งในและต่างประเทศ  สอง  บริษัทเล็ก ๆ  นั้นมักมีกำไรที่โตแบบ  “ก้าวกระโดด”  ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ภาวะเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีขึ้นและอื่น ๆ  อีกมากมายรวมถึงการที่บริษัทเหล่านั้นมีขนาดเล็ก  กำไรที่เคยมีก็มักจะน้อยหรือมีฐานที่ต่ำ   ดังนั้น  เวลาที่กำไรดีขึ้น  เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะสูง  บางบริษัทจึงโตได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นไปนั้นกลับสูงลิ่วยิ่งกว่ามาก  ผลก็คือ  หุ้นตัวเล็ก ๆ  มีค่า PE สูงมาก  ค่า PE 30-40 เท่าจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับหุ้นกลุ่มนี้  สาม  หุ้นจำนวนไม่น้อยนั้น  กำไรของบริษัทเองก็ไม่ได้โดดเด่นนัก  บางบริษัทเองอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่โตยากหรือแข่งขันหนัก  การหวังให้กำไรเติบโตจึงทำได้ยาก  ดังนั้น  พวกเขาจะหาอะไรมาเป็นตัว  “ขับเคลื่อนหุ้น”  ที่มักจะพร้อมจะวิ่งอยู่แล้วถ้ามีอะไรมากระตุ้นในภาวะแบบนี้?

กลยุทธ์ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนราคาหุ้นที่ “ทรงพลัง” มากอย่างหนึ่งในภาวะตลาดหุ้น “กระทิงดุ” ก็คือ  การทำธุรกิจที่กำลังร้อนแรง  เป็นธุรกิจแห่งอนาคต  เป็นธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก  และเป็นธุรกิจที่บริษัทเองนั้นก็อาจจะทำอยู่แล้ว  หรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่บริษัทอ้างว่าสามารถทำได้และมีความรู้ความสามารถเพียงพอ  ถ้าจะให้เรียกแบบให้เห็นภาพผมอยากจะเรียกว่าเป็น  “ธุรกิจในฝัน”  ซึ่งความหมายอาจจะออกได้เป็นสองแนวทางนั่นคือ  หนึ่ง  มันเป็นธุรกิจ “ในฝัน” เพราะว่ามันเป็นธุรกิจที่คนทั่วไปรู้สึกว่ามันมีศักยภาพที่จะโตและทำกำไรได้มากมายซึ่งจะทำให้หุ้นมีมูลค่าสูงมาก  เพราะนอกจากกำไรหรือค่า E ที่เพิ่มขึ้นแล้ว  ค่า PE ของหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปได้หลาย ๆ  เท่าอย่างง่ายดาย  และในอีกความหมายหนึ่งก็คือ  มันเป็นธุรกิจ  “ในฝัน”  เพราะว่ามันเป็นธุรกิจที่สามารถ “สร้างฝัน”  ให้กับคนทำหรือนักลงทุนก่อนที่ “ผลลัพธ์” จะเกิดขึ้นจริงอีกนาน   ซึ่งในระหว่างนี้ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปได้มากมาย  บางทีเป็นหลายเท่าตัว  เพียงพอที่จะทำให้ใครต่อใครรวยไปได้มากมายอยู่แล้ว

มาดูกันว่าหุ้นบูมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้มี “ธุรกิจในฝัน” อะไรที่บริษัทจดทะเบียนนำมาใช้ในการขับเคลื่อนหุ้นกันบ้าง  เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นที่ราคาน้ำมันกำลังพุ่งขึ้นแรงก็คือ  ถ่านหิน  ซึ่งก็มีการพูดกันว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีมากมายและจะมาแทนที่น้ำมันดิบที่กำลังหมดไป  หุ้นที่ทำเกี่ยวกับถ่านหินอยู่แล้วหรือคนที่มีธุรกิจใกล้เคียงต่างก็เตรียมตัว “ลุย”  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปไม่น้อย  น่าเสียดายว่าความฝันเรื่องถ่านหินค่อนข้างสั้น  นักเล่นหุ้นที่เข้าไปเก็งกำไรกับธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหินบางคนที่ถอนตัวไม่ทันจึงน่าจะเจ็บตัวไป   แต่เรื่องของพลังงานทดแทนนั้นไม่หมดลงไป  ธุรกิจเกี่ยวกับเอทธานอลที่ทำจากผลิตผลการเกษตรก็เกิดขึ้น  รวมถึงไบโอดีเซลเช่นน้ำมันที่ทำจากปาล์มน้ำมัน  อย่างไรก็ตาม  ความฝันในเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปไกลนัก  ราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวขึ้นไปมากนัก  เหตุผลก็คงเป็นว่ามันได้รับการสนับสนุนจากรัฐค่อนข้างน้อยมากเนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐที่จะมารับซื้อผลิตผลเป็นเรื่องเป็นราวในราคาที่ทำกำไรได้  ผลก็คือ  มันกลายเป็น “ฝันร้าย”  ในเวลาอันสั้น  คนที่ทำกำไรจากฝันนี้น่าจะมีน้อยมาก

เรื่องของพลังงานทดแทนที่เป็นธุรกิจ  “ในฝัน” จริง ๆ  น่าจะเป็นเรื่องของโซลาร์เซลหรือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด  และพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม  ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจ “ในฝัน” ก็คือ  การที่รัฐบาลมาช่วย “สร้างฝัน” ให้กับบริษัทและนักลงทุน  นั่นก็คือ  การไฟฟ้าจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับผู้ผลิตและขายไฟทุกหน่วยไฟฟ้าที่จ่ายเข้ามาในระบบของการไฟฟ้าซึ่งทำให้การทำธุรกิจนี้ไม่ขาดทุนและมีผลตอบแทนที่เหมาะสม  นั่นก็คือ  บริษัทที่ลงทุนได้ผลตอบแทนคุ้มค่าของเงินที่ลงทุนไปเช่น  อาจจะปีละ 10%   แต่นี่ก็คงจะไม่ใช่อะไรที่จะทำให้นักลงทุนจริง ๆ  ตื่นเต้น   เพราะผลตอบแทนที่ 10%  ต่อปีนั้น  เป็นผลตอบแทนที่คนลงเงินจะต้องได้อยู่แล้ว  ประเด็นอยู่ที่รัฐนั้น  ยินดีที่จะจ่ายค่าชดเชยในช่วงประมาณซัก 8-9 ปีแรกมากผิดปกติที่จะทำให้บริษัทกำไรมาก ๆ  และหลังจากนั้นบริษัทก็จะไม่ได้รับการชดเชยเลย  พูดง่าย ๆ  บริษัทจะกำไรมากผิดปกติใน 8 ปีแรก  และหลังจากนั้นจะ “ขาดทุน”  และนี่ก็คือความฝันที่ “คนเล่นหุ้น”  อยากได้  นั่นก็คือ  กำไรของบริษัทในช่วงเวลาถึงแปดปีจะดูดีมาก  บริษัทจะเป็นบริษัทที่  กำไรดีและ  “โตเร็ว” รวมทั้งมีผลประกอบการที่  “สม่ำเสมอ”   และถ้าจะแถมอีกก็คือ  มีกระแสเงินสดที่ดีมากเนื่องจากการไฟฟ้าจะจ่ายเงินสดให้ตลอดเวลาโดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนเพิ่ม  มองหยาบ ๆ  อาจจะกลายเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ดังนั้น  ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะ  “พุ่งทะลุฟ้า”  เพราะไม่มีคนสนใจว่าอีก 8-9 ปีที่กำไรอาจจะหายไปนั้นบริษัทจะทำอย่างไร  คนเล่นหุ้นนั้น  มีน้อยคนที่จะมองเกินปีสองปี  แม้แต่นักลงทุนระยะยาวบางคนก็มองไม่เกิน 3-4 ปี  ดังนั้น  นี่คือฝันที่แท้จริงโดยเฉพาะในยามหุ้นบูม

ธุรกิจ “ในฝัน” ล่าสุดที่กำลังขับเคลื่อนราคาหุ้นหลาย ๆ  ตัวในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง  สิ่งพิมพ์  สื่อสาร และอื่น ๆ  ก็คือ  ทีวีดาวเทียม  ทีวีและทีวีดิจิตอล  โทรศัพท์ระบบ 3G และอาจจะ 4G  ซึ่งเป็นผลจากการที่ กสทช. จะเปิดให้มีการประมูลใบอนุญาตประกอบการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ธุรกิจที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นจะทำให้บริษัทที่เข้าไปประมูลสามารถที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณโดยที่รายจ่ายก็อาจจะไม่สูงนักเนื่องจากบริษัทอาจจะมีอุปกรณ์  และ/หรือมี Content หรือเนื้อหาอยู่แล้ว   บริษัทเพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มคนในการนำเสนอบ้างก็สามารถให้บริการหรือเข้าสู่ธุรกิจที่มี  “กำไรสูงลิ่ว”  เหล่านี้ได้  นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างก็มองถึงอัตราค่าโฆษณาที่เป็นอยู่ว่าผู้ให้บริการรายใหม่คงจะได้ส่วนแบ่งไปไม่น้อย  และนั่นจะทำให้กำไรของบริษัทก้าวกระโดด  พวกเขาอาจจะลืมไปว่าตัวเลขที่ใช้นั้นคือตัวเลขอัตราค่าโฆษณาในภาวะ  “ผูกขาด” ซึ่งอาจจะแตกต่างจากอัตราในภาวะที่มีการแข่งขันแบบ  “เชือดคอ”  ก็เป็นได้  แต่จะอย่างไรก็ตาม  ในเวลานี้ดูเหมือนว่าคนจะไม่สนใจเรื่องความจริง  เขาสนใจเรื่องความฝัน   ดังนั้น  ราคาหุ้นของบริษัทต่าง ๆ  ที่ประกาศจะเข้ามาทำธุรกิจต่างก็วิ่งกันอุตลุต
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ผมก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่  “ล่าฝัน”  ทั้งหลายนั้น  ในที่สุดก็จะพบกับความจริงที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  แต่ผมเชื่อว่าบริษัทจำนวนมากซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่จะล้มเหลวไม่ได้กำไรมากอย่างที่ฝันในธุรกิจใหม่ ๆ  ที่ร้อนแรงที่เข้าไปทำ  ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นที่พัฒนาทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้น  อย่างไรก็ตาม  ก็จะมีบางบริษัทที่ทำธุรกิจ “ในฝัน”  และประสบความสำเร็จสูงจนกลายเป็นบริษัทที่โดดเด่นและยิ่งใหญ่   และหุ้นของบริษัทที่ดีดตัวขึ้นไปมากในช่วงของ  “ความฝัน”  ก็จะยังเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  ทำให้คนที่เข้าไปซื้อและถือไว้ยาวนานรวยไป  ส่วนบริษัทที่ล้มเหลวไม่สามารถทำได้ตามที่ฝันไว้  หุ้นของบริษัทที่ปรับตัวขึ้นไปมากก็จะตกต่ำลงมามากจนกลายเป็น  “ฝันร้าย” ของนักลงทุน   สำหรับผมเองแล้ว  ผมไม่ค่อยถนัดและก็ไม่อยากเสี่ยงในการทำนาย “ฝัน” ดังนั้น  โดยส่วนใหญ่แล้วผมก็จะหลีกเลี่ยง  “หุ้นล่าฝัน”  ที่มักจะมีมากในช่วงตลาดกระทิงอย่างที่เป็นอยู่ในช่วงนี้
Posted by nivate at 1:39 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/02/26/1254


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 4 March 2013

ก้าวเล็ก ๆ ในตลาดหุ้น-ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต


ในช่วงประมาณปี 2539 ถึงปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทยนั้น  ผมเองเป็นหนึ่งในผู้บริหารสถาบันการเงินที่ตกอยู่ในท่ามกลาง “มรสุม”  ที่พัดกระหน่ำสถาบันการเงินและกิจการธุรกิจเกือบจะทุกแห่งของประเทศไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุด  แต่ละวันเราต้องหาทาง  “เอาตัวรอด”  นั่นก็คือ  หาเงินจากทุกแหล่งที่ทำได้เพื่อนำมาคืนผู้ฝากเงินที่กำลังขาดความมั่นใจและทยอยถอนเงินออกเมื่อตั๋วเงินครบกำหนดอายุการฝาก  ทุกวันพนักงานที่ดูแลการฝากเงินจะรายงานว่าวันนั้นมีคนมาถอนออก “สุทธิ” เป็นจำนวนเท่าไร  ตัวเลขสามสี่ร้อยล้านบาทดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่ “ปกติ”  เราเรียกมันว่า Bleeding  หรือเลือดไหลไม่หยุดและในไม่ช้าเราอาจจะต้อง  “ตาย”  เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะหยุดมัน  วิธีหนึ่งก็คือ  การรวมกิจการสถาบันการเงินหลาย ๆ  แห่งแล้วก็อาจจะหาทุนมาเพิ่ม  แต่ในยามนั้นไม่มีใครต้องการถือหุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน  ดูเหมือนว่าธุรกิจกำลังล้มละลายทั้งประเทศ  และแล้วเมื่อมีการประกาศลอยค่าเงินบาทในกลางปี 2540 บริษัทจำนวนมาก  และเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินเกือบทั้งหมดก็ “ล้ม” กันจริง ๆ

           ผมต้องถูกให้ออกจากงาน  ด้วยวัย 44 ปี และวุฒิการศึกษาปริญญาเอกทางด้านการเงิน  โอกาสที่จะหางานใหม่ในธุรกิจการเงินไม่มีเพราะสถาบันต่าง ๆ ถูกปิดหรือลดขนาดลง  มีลูกเล็กที่ยังเรียนอยู่ในโรงเรียนอินเตอร์ที่มีค่าเล่าเรียนแพงลิ่วปีละหลายแสนบาท  และภรรยาทำงานพาร์ทไทม์ในฐานะครูเปียโนผมย่อมต้องกังวลว่าจะ  “ทำอย่างไรกับชีวิต”  หรือถ้าจะพูดกันให้ตรงที่สุดก็คือ  จะจัดการเรื่องการเงินอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่ธุรกิจต่างๆ กำลัง “ล่มสลาย” โชคยังดีที่ผมพอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง  ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทบวกลบ  เงินจำนวนนี้ผมคิดดูแล้วไม่เพียงพอที่จะส่งลูกเรียนตลอดจนจบปริญญาตรีในสายที่เป็นการเรียนอินเตอร์ได้ถ้าผมไม่ทำอะไรซักอย่างนอกจากการฝากเงินกินดอกเบี้ย

          การบริหารการเงินส่วนบุคคล  “มาตรฐาน”  ที่บอกว่า   ถ้าอายุมากและโอกาสทำงานหาเงินในอนาคตมีน้อยเราก็ไม่ควรลงทุนในอะไรที่  “เสี่ยง”  เช่น หุ้น  เพราะถ้าเรา “พลาด”  เราจะไม่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายได้อีก   แต่ถ้าไม่ลงทุนในหุ้นเพราะ “เสี่ยงเกินไป”  และการฝากเงินก็ไม่ใช่ทางออก   การ  “ทำธุรกิจ” เองก็ยิ่งเสี่ยง  โดยเฉพาะในยามที่ความต้องการของประชาชนลดลงมากมาย  แล้วผมจะต้องทำอย่างไรที่จะสามารถรักษามาตรฐานการดำรงชีวิตแบบเดิมได้?

          ทางออกที่ผมค้นพบก็คือ  Value Investment!  ลงทุนในหุ้นเหมือนกับการทำธุรกิจ   ว่าที่จริงจุดเริ่มต้นจริง ๆ  ควรจะเป็นว่าผม “ทำธุรกิจ”  โดยการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์!  ด้วยเงิน 10 ล้านบาท  ผมสามารถเริ่มทำธุรกิจได้  ไม่ใช่ธุรกิจเดียว  แต่หลาย ๆ  ธุรกิจ    ธุรกิจที่ผมเลือกนั้นจะต้อง “ปลอดภัย”  ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างแรง  เช่น  อาหารราคาถูก  หรือกิจการส่งออกที่ประเทศไทยกำลังได้เปรียบในเรื่องของค่าเงินบาทที่ลดลงมาก   ผมวิเคราะห์แล้วพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลประกอบการที่ดี  มีฐานะการเงินยอดเยี่ยมแทบจะ  “ปลอดหนี้”  และบริษัทนั้นปลอดภัยดีทีเดียวในแง่ของการดำเนินการ   ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น  “ถูกเหลือเชื่อ”  ค่า PE มักไม่เกิน 10 เท่า  หลายบริษัทเพียง 6-7 เท่า  เฉพาะปันผลที่ผมจะได้เมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็ประมาณปีละ 10%  ซึ่งแปลว่า  ด้วยเงิน 10 ล้านบาท  ผมจะได้รับปันผลถึงปีละ 1 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่ผมจะใช้จ่ายได้โดยไม่กินเงินต้นเลย   อาจจะมีประเด็นว่า  หุ้นเหล่านั้นแทบไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย  คือซื้อได้  แต่อย่าหวังที่จะขายได้ราคา  ถ้าจะว่าไป  ตลาดหุ้นโดยรวมก็มีการซื้อขายน้อยมาก  วันละประมาณ 2-3 พันล้านบาทเท่านั้น  แต่ผมก็ไม่แคร์เลย  เพราะผมลงทุนโดยมีสมมุติฐานว่าผม  “ทำธุรกิจ”  ผมพร้อมที่จะถือมันไปตลอดชีวิต

         แน่นอน  ผมไม่ได้เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ  ผม “เล่นหุ้น”  มานานก่อนหน้านั้นเป็นสิบปี  การเล่นหุ้นของผมนั้นเป็นเรื่องของการ “เสี่ยงโชค”  โดยอาศัยฝีมือในการวิเคราะห์ผลประกอบการระยะสั้น ๆ  ของกิจการประกอบกับภาวะตลาดหุ้น  ผมเล่นหุ้นเพราะต้องการได้กำไรเร็ว ๆ  เงินที่ได้กำไรนั้นผมก็จะเก็บเข้ามาในบัญชีเงินฝากรวมเข้ากับเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ  ที่ผมได้รับ  สำหรับผม  มันคล้าย ๆ  กับเงินโบนัสที่จะทำให้ผมมีเงินเก็บเพิ่มเร็วขึ้นและมากขึ้น  แต่มันไม่เคยเป็น  “ชีวิต”  ของผม  ผมไม่ต้องการ  “เสี่ยง”  เงินจำนวนมากในตลาดหุ้น  ผมไม่เคยคิดที่จะ  “รวย” จากหุ้นหรือตลาดหุ้น  ผมคิดว่าถ้าจะรวยก็ต้องมาจากการทำงาน  ว่าที่จริงผมไม่เคยคิดที่จะรวยอย่างจริง ๆ  จัง ๆ ด้วยซ้ำเพราะผมรู้สึกว่าเวลาของการที่จะร่ำรวยของผมมันผ่านไปแล้วหลังจากที่ผมไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา  การจบปริญญาเอกนั้นผมคิดว่ามันเป็นปัจจัยที่ลดโอกาสของการที่จะเป็นคนรวยไปมากเนื่องจากข้อแรก  มันเสียเวลากับการเรียนมาก  และข้อสอง  มันทำให้เราไม่กล้าเสี่ยง

          ผมเป็น  Value Investor โดยความจำเป็น   การเปลี่ยนแปลงจากคนเล่นหุ้นเป็น VI ในช่วงปี 2539-40 นั้นเพื่อความอยู่รอด  ไม่ได้หวังรวยเร็วและก็ไม่คิดว่าจะรวย  แม้ว่าต่อมาเมื่อเริ่มเห็นผลว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดีโดยมีความเสี่ยงต่ำผมจะเริ่มตั้ง  “ความฝัน” ว่าจะรวย  แต่ทั้งหมดนั้นก็อิงอยู่กับผลตอบแทนประมาณ 10%  ต่อปีเท่านั้น  ความรวยที่ผมหวังนั้น  มาจากระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวมาก  คือผมคิดที่จะลงทุนไปจนตายที่ประมาณ 80 ปี  ซึ่งโดยวิธีแบบนี้  ทุกคนสามารถรวยได้ถ้ามีความตั้งใจพอและรักษาหลักการลงทุนแบบปลอดภัยสไตล์ VI อย่างมั่นคง 

          “ก้าวเล็ก ๆ”  ที่ผมเริ่มเดินเข้าไปในตลาดหุ้นโดยเปลี่ยนวิธีการลงทุนเป็นแบบ VI ในปี 2540 นั้น  ได้ส่งผลที่ยิ่งใหญ่กับชีวิตของผม  ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ  ผมคิดว่าโชคคงมีส่วนอยู่ไม่น้อย  ผมบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งในชีวิตที่เคยตั้งไว้ก่อนเวลา 20 ปี   ที่จริงมากกว่าที่ตั้งไว้หลายเท่า  นอกจากเงินแล้ว  แนวความคิดเรื่อง Value Investment ที่ผมเผยแพร่มาตลอดกว่า 15 ปีได้กลายเป็นแนวความคิดหลักอย่างหนึ่งในตลาดหุ้นไทย  คนที่ใช้แนวทางนี้ในการลงทุนต่างก็ทำกำไรได้มากมาย  หลาย ๆ  คนนั้นรวยเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่ถึง 40 ปีจากการลงทุนแบบ VI และนั่นทำให้คนจำนวนมากต่างก็มุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น
           ประเด็นก็คือ  คนที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงนี้ต่างก็มักจะก้าวเข้ามาด้วย  “ก้าวที่ยิ่งใหญ่”  เพียงไม่กี่เดือนหรืออาจจะเพียงปีหรือสองปีเขาก็คิดไปถึงวันที่ตนเองจะรวยเป็นเศรษฐีที่คนทำงานหรือผู้ประกอบการอาจจะต้องใช้เวลาเป็นหลายสิบปี  พวกเขาคงคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ  นี้และผลตอบแทนที่เขาทำได้ในช่วงสั้น ๆ  ที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไปอีกนานเท่านานซึ่งทำให้เขารวยได้แม้ว่าจะเริ่มด้วยเงินลงทุนที่ไม่มาก  แต่นี่จะเป็นจริงหรือ?  ส่วนตัวผมเองคิดว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา  อาจจะซักประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงเวลา “พิเศษ”  สำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ไทยที่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่นักลงทุนทั้งโลก  “อิจฉา”  แต่สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ  และต่อเนื่องยาวนาน  ผมเชื่อว่าช่วงเวลาพิเศษนี้น่าจะใกล้จบลงและตลาดหุ้นไทยและ VI จะกลับมาสู่ภาวะปกติ  ดังนั้น  ผมคิดว่าคนที่กำลังเข้ามาในตลาดหุ้นควรที่จะรักษา  “ก้าว”  ที่จะเข้ามาในตลาดให้เป็น “ก้าวเล็ก ๆ”  คืออย่าหวังผลเลิศเกินไป  และถ้าทำได้แบบนี้  มันก็จะกลายเป็น “ก้าวที่ยิ่งใหญ่” ในชีวิตในอนาคต     

Posted by nivate at 10:03 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/04/1258


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 11 March 2013

จะขายหุ้นเมื่อไร



ในช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์บูมมาก ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้  ผมมักได้ยินหรือได้รับรู้ถึงความกระตือรือร้น-และความกังวลของคนสองกลุ่มที่อยู่ในตลาดหุ้น-หรือกำลังจะเข้ามาในตลาดหุ้น เกี่ยวกับว่า  เขาควรจะซื้อหรือเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือยัง?  นี่เป็นคำถามข้อแรกโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือนักลงทุนที่ไม่ได้ทุ่มเทนักกับการลงทุนแต่รู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้น่าจะมีโอกาสทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากเงิน   และอีกคำถามหนึ่งก็คือ  เขาควรจะขายหุ้นได้แล้วหรือยัง?  นี่ก็มักเป็นคำถามโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือเก่าหรือคนที่ทุ่มเทกับการลงทุนที่อาจจะมองว่าราคาหุ้นในตลาดได้ปรับตัวขึ้นมาสูงและเร็วมาก  พวกเขากลัวว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐาน  ดังนั้น  เขาควรจะขายหุ้นไปก่อนหรือไม่ก่อนที่มันจะตกลงมาและทำให้ผลกำไรหรือความมั่งคั่งของเขาลดลงไปมาก   ในการตอบคำถามของคนสองกลุ่มในสถานการณ์หรือภาวะตลาดเดียวกัน  แต่คำถามกลับเป็นตรงกันข้าม  ผมอยากจะบอกดังนี้

          ข้อแรก  เราควรจะซื้อหุ้นไหม?  คำตอบของผมก็คือ  ในการซื้อหุ้นนั้น  หลักการแบบ VI ก็คือ  เราต้องพอจะมีไอเดียหรือประเมินได้ว่า  “มูลค่าพื้นฐาน”  ของบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นควรจะเป็นเท่าไร  เมื่อได้แล้ว  เราก็มาดูว่า  “ราคา” ของหุ้นตัวนั้นเป็นเท่าไร  จุดที่เราจะซื้อก็คือ  ราคาหุ้นจะต้องต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน  และในกรณีที่เราไม่ใคร่มั่นใจว่าเราคำนวณหรือประมาณมูลค่าพื้นฐานได้ถูกต้อง  เนื่องจากว่าเรายังไม่มีความสามารถมากนักหรือกิจการของบริษัทไม่ใคร่สม่ำเสมอ  เราก็จะต้องซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของบริษัทมากขึ้น  โดยส่วนต่างที่ว่านี้ก็คือ  “Margin of Safety”  ซึ่งต้องมีเพื่อความปลอดภัยในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

          การหา “มูลค่าพื้นฐาน” นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก  ในทางปฏิบัตินักวิเคราะห์จึงหาตัวเลขที่ง่าย ๆ  มาใช้  ตัวเลขยอดนิยมตัวหนึ่งก็คือค่า  PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นต่อปีของบริษัท  วิธีก็คือ  ดูว่ากำไรต่อหุ้นในปีที่ผ่านมาหรือใน 4 ไตรมาศที่ผ่านมาเป็นเท่าไร  เสร็จแล้วก็คูณด้วยตัวเลขตัวหนึ่ง  เช่น  15 เท่า  ก็จะได้  “ราคาพื้นฐาน”  ต่อหุ้น  ตัวเลข 15 นั้นอาจจะมาจากค่า PE เฉลี่ยของหุ้นตัวนั้นในอดีต  หรืออาจจะมาจากค่า PE ของอุตสาหกรรมของหุ้นตัวนั้น  หรืออาจจะอ้างอิงจากค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ที่ประมาณ 18 เท่าในช่วงนี้   และนี่ก็จะจบประเด็นว่าเราควรจะซื้อหุ้นหรือไม่

          ข้อที่สองที่ผมอยากจะพูดถึงมากกว่าก็คือ  กฎเกณฑ์ในการขายหุ้น  ซึ่งสำหรับ VI หลายคนนั้นอาจจะมองว่ามันควรจะเป็นเกณฑ์เดียวกับการซื้อหุ้น  นั่นก็คือ  ถ้าราคาหุ้นเกินหรือสูงกว่ามูลค่าหรือราคาพื้นฐาน  เราก็ควรจะขายหุ้นทิ้ง  คือถ้าคุณไม่ซื้อซึ่งจะทำให้คุณต้องถือมัน  มันก็จะต้องถูกขายออกไป  แต่นี่ไม่ใช่วิธีการของ “VI ในตำนาน” หลาย ๆ  คน  ที่ดูเหมือนว่าการขายหุ้นอาจจะมีกฎเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมรวบรวมมาเพื่อให้พิจารณา
          ข้อแรกก็คือ  เราควรขายหุ้นถ้าเรา  “คิดผิด”  ซึ่งนี่อาจจะไม่เกี่ยวกับราคาหรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นเลยก็ได้  ตัวอย่างเช่น  เราคิดว่าบริษัทนั้นเป็นกิจการที่ “โตเร็ว” ต่อมาเราพบว่ายอดขายหรือกำไรที่เห็นนั้นไม่ได้มาจากธุรกิจปกติแต่เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว  แบบนี้  เราอาจจะขายหุ้นทิ้งเลย  หรืออาจจะต้องวิเคราะห์ใหม่ซึ่งอาจจะทำให้เราพบว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะถือไว้

          ข้อสอง  พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่เราถือหุ้นมาระยะหนึ่ง  นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลง  แต่เป็นเรื่องที่ว่าพื้นฐานหรือการดำเนินงานหรือความเข้มแข็งของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง   อาจจะเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหรือเกิดจากคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้าและเริ่มได้เปรียบในการแข่งขัน  ถ้าเป็นแบบนี้  การขายหุ้นก็มักเป็นทางเลือกที่ดีแม้ว่าอาจจะต้องขายในราคาที่ลดลงไปมากหรือแม้แต่ขายขาดทุน

          ข้อสาม  มีหุ้นหรือทางเลือกอื่นที่คุ้มค่ากว่าหุ้นที่เราถือไว้อย่างชัดเจนและเราไม่มีเงินสดในการลงทุน  ในกรณีนี้เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อไปซื้อหุ้นตัวใหม่  อย่างไรก็ตาม  ในกรณีนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าหุ้นตัวใหม่นั้นดีกว่าหุ้นบางตัวที่เราถือไว้จริง ๆ  เนื่องจากโดยปกติแล้ว  ความเข้าใจของเราในหุ้นตัวใหม่มักจะน้อยกว่าหุ้นที่เราถืออยู่   การขายหุ้นในกรณีนี้เองมักจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของมูลค่าพื้นฐานหรือราคาหุ้น  นั่นคือ  มันอาจจะยังเป็นหุ้น  Value อยู่   เพียงแต่ว่าเราไปเจอหุ้นที่ดีมี Value มากกว่ามากเท่านั้น

          ข้อสี่  หุ้นที่เราถืออยู่นั้น  มีราคาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานไปมากอย่างเห็นได้ชัด  นี่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นเป็น  “กระทิงดุ”  อย่างในช่วงนี้   หรืออาจจะเกิดขึ้นได้กับหุ้นขนาดเล็กที่มีแรงเก็งกำไรเข้ามาสูงหรือมีการ  “ปั่นหุ้น”  ตัวนั้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินพื้นฐานมากอย่างไม่ต้องสงสัย  ในกรณีแบบนี้  เราก็ควรจะขายทิ้ง  และก็หวังว่าจะกลับเข้าไปซื้อใหม่ได้ในราคาที่ต่ำลงเมื่อตลาดตกลงมาหรือเมื่อการเก็งกำไรหรือการปั่นหุ้นนั้นหมดไป   เกณฑ์ข้อนี้น่าจะเป็นข้อเดียวที่การตัดสินใจขายหุ้นนั้น  อิงอยู่กับราคาหุ้นตัวนั้นในตลาด  หัวใจสำคัญก็คือ  เราต้องเห็นว่ามันมีสถานการณ์สองอย่างนั่นก็คือ  ตลาดหลักทรัพย์ใกล้เป็นฟองสบู่  หรือไม่ก็ปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นสูงลิ่วมีการซื้อขายเกินวันละ 4-5% ของ Market Cap. ติดต่อกันนาน บางวันอาจจะหลายสิบเปอร์เซ็นต์

          ข้อสุดท้ายก็คือ  ในบางครั้งหุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากจนมันมีมูลค่าสูงเกินไปในพอร์ตโฟลิโอของเรา  ในกรณีนี้  เราอาจจะรู้สึกว่ามันเสี่ยงเกินไปถ้าเกิดอะไรขึ้น  ยกตัวอย่างเช่นเราไม่อยากให้หุ้นตัวไหนใหญ่เกิน 30% ของพอร์ต  และเกิดมีหุ้นตัวหนึ่งซึ่งเราอาจจะซื้อมาครั้งแรกเท่ากับ 10% ของพอร์ต  แต่ราคามันเพิ่มขึ้นเร็วและมากกว่าหุ้นตัวอื่นจนทำให้มันเป็น 35% แบบนี้เราก็อาจจะขายไป 5% ให้เหลือเพียง 30%  เป็นต้น
          กล่าวโดยสรุปก็คือ  การขายหุ้นนั้นอาจจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างจากการซื้อหุ้น  เหตุผลใหญ่น่าจะเกิดจากการที่เราไม่สามารถที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำทำให้เราไม่รู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงหรือไม่-ยกเว้นในบางกรณีที่ตัวเลขและสัญญาณทุกอย่างชัดเจน  ในกรณีของวอเร็น บัฟเฟตต์เองนั้น  จะเห็นว่าเขาขายหุ้นน้อยมาก  เคยมีครั้งหนึ่งที่เขาซื้อหุ้นน้ำมันแห่งชาติของจีนและขายไปเนื่องจากราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนเขาต้องขายไปนั่นคือการขายในกรณีข้อสี่  เขาขายหุ้นของบริษัทการบินแห่งหนึ่งไปเพราะเขา  “คิดผิด”  ตามข้อหนึ่ง  ตั้งแต่นั้นเขาไม่เคยสนใจหุ้นการบินอีกเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นธุรกิจที่ “ลำบากมาก” รวมถึงกิจการสิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เขาบอกว่าคิดผิดที่ไปซื้อ    หุ้นที่พื้นฐานเปลี่ยนไปตามข้อสองของบัฟเฟตต์น่าจะมีเหมือนกันถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอาจจะรวมถึงกิจการรองเท้าที่บัฟเฟตต์เคยซื้อ  ในข้อสามนั้น  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะมีเงินสดใหม่ ๆ  เข้ามาลงทุนตลอดเวลา  ดังนั้น  เขาแทบไม่ต้องขายหุ้นเพื่อหาเงินสดมาลงทุนในหุ้นตัวใหม่เลย  และในข้อสุดท้ายเรื่องของขนาดของหุ้นนั้น  บัฟเฟตต์เองเคยซื้อหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรสเกือบ 50% ของพอร์ต  แต่ผมก็จำไม่ได้ว่าเขาต้องขายออกไปเพื่อลดขนาดของมันลงหรือไม่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น  เขาก็ไม่เคยมีปัญหาว่าหุ้นตัวไหนจะใหญ่เกินไปเนื่องจากพอร์ตของเขาใหญ่โตมหาศาล  ส่วนตัวผมเองนั้น  เท่าที่จำได้ก็ดูเหมือนว่าจะยึดเกณฑ์การขายหุ้น 5 ข้อดังกล่าวพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  ที่เน้นลงทุนหุ้นแนว  “ซุปเปอร์สต็อก”

Posted by nivate at 2:00 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/11/1261



ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 18 March 2013

VI กับฟองสบู่

 
สถานการณ์ตลาดหุ้นที่ร้อนแรงมากในช่วงนี้ทำให้ VI รุ่นเก่า ๆ อย่างผมและอาจจะอีกหลายคนที่เคยผ่านสภาวะตลาดหุ้นตกต่ำและ “อับเฉา” มานานรู้สึกกังวลว่าราคาหุ้นส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะรวมถึงหุ้นที่ตนเองถืออยู่อาจจะมีราคาแพงเกิน “พื้นฐาน”  และในไม่ช้าก็อาจจะตกลงมาได้มากมายเมื่อ  “ฟองสบู่แตก”  แน่นอนว่าจะต้องมีข้อถกเถียงว่าภาวะตลาดหุ้นตอนนี้เป็นฟองสบู่จริงหรือ?  ราคาหุ้นที่ขึ้นมามากนั้นดูแล้วก็ยังมีเหตุผลรองรับได้  ว่าที่จริงค่า PE ในปีหน้าที่วัดความถูก-แพงของหุ้นไทยก็ยังแค่ 13-14 เท่า  พอ ๆ  กับตลาดหุ้นอื่นในเอเชียและในโลก  แต่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในปีหน้านั้นจะเติบโตสูงกว่า  ดังนั้น  ในสายตาของนักวิเคราะห์จำนวนมาก  หุ้นไทยยังน่าสนใจยิ่งกว่าอีกหลาย ๆ ตลาด  ดังนั้น  “ฟองสบู่” จึงยังไม่มี  ถ้าจะมีบริษัทที่แพงจัดก็คงเป็นบริษัทเล็ก ๆ  ที่มีการเก็งกำไรกันสูงและราคาขึ้นไปมากจนทำให้ PE สูงลิ่วเกิน 40 เท่า  หรือบางบริษัทเป็นร้อยเท่า  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เรายังหาหุ้นที่ไม่แพงและน่าสนใจลงทุนเป็นหุ้นแบบ VI ได้อีกไม่น้อย  ดังนั้น  เราก็จะยังลงทุนต่อไป  เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์  หรือ  “เกินร้อย”  โดยการใช้มาร์จิน  สำหรับนักลงทุนจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็น VI หรือไม่  นี่เป็น  “โอกาสทอง”  ที่จะรวยได้อย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์  “กลัวอะไร?”

           สิ่งที่ผมกลัวก็คือ กลัวว่ามันจะเป็น “ฟองสบู่”  จริงอยู่  ราคาหุ้นอาจจะดูไม่แพงเมื่อมอง PE ในปีหน้า  แต่ถ้าดูค่า PE ย้อนหลังหนึ่งปีซึ่งเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่การคาดการณ์  ค่า PE ตอนนี้ก็น่าจะเกือบ 20 เท่าซึ่งก็ต้องถือว่าแพง  แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเหตุการณ์หรือสภาวะแวดล้อมและสัญญาณต่าง ๆ  โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่สูงจนบางวันกว่า 8 หมื่นล้านบาทนั้น  มันบอกว่าฟองสบู่อาจจะกำลังเกิดขึ้นแล้วและมันอาจจะแตกเมื่อไรก็ได้  ว่าที่จริงในตลาดหุ้นที่เป็นฟองสบู่เกือบทุกครั้งนั้น  เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นฟองสบู่  จนถึงวันที่มันแตกนั่นแหละที่เราถึงรู้ว่ามันคือฟองสบู่  และทุกครั้งที่หุ้นขึ้นไปแรงมากมันก็มี  “เหตุผล”  เสมอ  และมันไม่ใช่เหตุผลของคนธรรมดา  แต่เป็นเหตุผลของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังและ  “เซียนหุ้น” ทั้งหลาย  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  นี่เป็นเวลาที่ผม  “กังวล”  ความกังวลของผมนั้น  ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการศึกษาประวัติศาสตร์  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือประวัติของ เบน เกรแฮม กับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เคยผ่านเหตุการณ์ที่อาจจะคล้าย ๆ  แบบนี้เหมือนกัน

           ในปี 1969 นั้น  ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในช่วงที่ “บูมจัด”  มันเป็นการปรับตัวขึ้นที่ติดต่อกันมายาวนานเกือบ 20 ปี  หลังจากประมาณปี 1950 ที่ตลาดหุ้นเริ่มวิ่งขึ้นอย่างแรงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงและเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มบูม     วอเร็น บัฟเฟตต์  เองนั้น  เข้าตลาดหุ้นเต็มที่ในปี 1957 เขาเข้ามาลงทุนในยามที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างค่อนข้าง  “มีเสถียรภาพ” มาตลอดจนถึง 1969 ที่ตลาดขึ้นไปอยู่ที่  “ดอย” ในความรู้สึกของเขา  เขาตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเกือบหมดเพื่อคืนเงินให้กับคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหารในห้างหุ้นส่วนที่เขาจัดตั้งขึ้น  เขาบอกว่าเขาไม่สามารถหาหุ้นที่ถูกพอที่เขาจะลงทุนได้  ดังนั้น  เขาจึงคืนเงินให้กับคนที่มาลงทุนกับเขา  หลังจากนั้น  เขาก็ “อยู่เฉย ๆ”  และคงรอว่าเมื่อไรหุ้นจะตกลงมาจนมีราคาถูกพอที่จะให้เขากลับไปซื้อได้    อย่าลืมว่าในช่วงต้นของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์ซึ่งก็คงประมาณ 12 ปีเศษ ๆ นั้น  เขาเน้นการซื้อหุ้นราคาถูกแบบ เบน เกรแฮม

           หลังจากบัฟเฟตต์ขายหุ้นทิ้ง  ดัชนีดาวโจนส์ก็เริ่มปรับตัวลงมาบ้างแต่ก็ยังกระเด้งกลับเป็นระยะ ๆ  อย่างไรก็ตาม  การลดลงของราคาหุ้นคงจะไม่มากพอที่บัฟเฟตต์จะกลับเข้าไปซื้อเขาจึงยังนิ่งอยู่  เขาเล่าว่ามันเป็นเวลาการรอคอยที่  “ยาวนาน”  และคงจะน่าเบื่อและ “ทรมาน” มากสำหรับเขา  เขาบอกว่าเขาต้อง  “นั่งทับมือตัวเอง”  ไว้ในขณะที่มองดูเพื่อนฝูงและนักลงทุนคนอื่นรวยเอา ๆ เป็นเวลา 3 ปีจนถึงปี 1973 ซึ่ง  “ฟองสบู่แตก” อันเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงลิ่ว  อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5 เป็น 10%  สงครามเวียตนามกำลังร้อนแรงและเงินเฟ้อขึ้นสูงลิ่ว  ดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง 45% ภายในเวลาปีครึ่ง  ชาร์ลี มังเกอร์ ซึ่งบริหารกองทุนของเขาเองนั้นขาดทุนไปกว่า 50%   แต่บัฟเฟตต์เองมีเงินสด “เต็มมือ”  เขาเข้าไปซื้อหุ้นในยามที่ตลาดหุ้นตกต่ำสุดขีดและเต็มไปด้วยความ “โลภ” เขาเล่าว่า  “ผมรู้สึกเหมือนชายที่อดอยากขาดเซ็กส์มานานที่ตกเข้าไปในฮาร์เร็ม”  พอถึงสิ้นปี 1974  เงินทั้งหมดของเขาก็กลับเข้าไปอยู่ในตลาดหุ้น  แต่ในตอนนี้เขากลับไม่ซื้อหุ้น “ถูก ๆ”  แบบเกรแฮมที่เคยทำ  เขาเริ่มซื้อหุ้นของกิจการ  “สุดยอด”  ในราคาที่ต่ำมากเช่น วอชิงตันโพสต์  ในปริมาณที่มากจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  เขาทำได้เพราะหุ้นคงจะถูกมาก

            ผมไม่แน่ใจว่าบัฟเฟตต์ขายหุ้นทิ้งและหลีกเลี่ยง “หายนะ” ในปี 1973-74 ได้เพราะเขามีบทเรียนจาก เบน เกรแฮม หรือไม่  แต่ประวัติศาสตร์บอกว่า  เกรแฮมนั้น  “เจ๊งหุ้น”  ในช่วงวิกฤติครั้งใหญ่ในปี 1929 ที่ตลาดหุ้นร่วงลงมาเกือบ 90% ในเวลาประมาณ 3 ปีจนถึงปี 1932-33  เพราะเขาไม่ได้ขายหุ้นทิ้งในยามที่ตลาดหุ้นบูมแบบ  “บ้าคลั่ง”  แต่ “ผู้เชี่ยวชาญ” นักวิเคราะห์  และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโนเบลไพรซ์ บอกว่าตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น  “อย่างมีเหตุผล” หลังจากที่มัน “หักปากกา”  คนที่พร่ำพูดว่าหุ้นแพงเกินไปมาตลอดครั้งแล้วครั้งเล่า  “หายนะ”  ครั้งนั้นทำให้หุ้นตกลงมามโหฬารและทำให้หุ้นจำนวนมากมีราคาต่ำจนไม่น่าเชื่อซึ่งทำให้เกรแฮมกลับเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นที่ราคาต่ำแบบ  “แบกับดิน” ซึ่งมีอยู่มากมาย  ในระหว่างนั้นเขาได้เริ่มสอนวิชาการวิเคราะห์หลักทรัพย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและได้รวบรวมคำสอนเขียนเป็นหนังสือชื่อ  Securities Analysis ซึ่งกลายเป็น “ไบเบิล”  ของการลงทุนแบบ  Value Investments ในเวลาต่อมา

            เบน เกรแฮม นั้น  ในที่สุดก็สามารถ  “ชดใช้”  คือทำผลตอบแทนคืนให้คนที่นำเงินมาให้เขาลงทุนและขาดทุนในปี 1929 ได้ด้วยหลักการการลงทุนแบบ VI ที่เขาคิดขึ้น  ส่วนตัวเขาเองนั้น  เขาก็ลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีมาก  อย่างไรก็ตาม  เนื่องด้วยวัยที่สูง  เขาเกษียณอายุไปด้วยเงินไม่มาก  แค่เพียงพอใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสบายในฝรั่งเศสและเสียชีวิตไปนานแล้วและกลายเป็นตำนานที่คนเรียกว่า  “บิดาแห่ง VI”  ส่วน วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  ตั้งแต่กลับมาลงทุนหลังวิกฤติปี 1973-74 เขาก็ปรับตัวไม่เน้นการลงทุนแบบ VI ดั้งเดิมที่เน้นซื้อหุ้นถูก  แต่ชอบที่จะลงทุนหุ้นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก”  และถือหุ้นยาวแบบแทบจะไม่ขายเลยไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน  เขาอาจจะค้นพบว่าถ้าเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยมจริง ๆ  แล้ว  ความจำเป็นต้องขายแทบจะไม่มี  ดังนั้น  หลังจากวิกฤติปี 1973 แล้ว  เขาก็ไม่เคย “ออกจากตลาดหุ้น”  อีกเลย  อาจจะมีบ้างในบางช่วงที่หุ้นอาจจะแพงจนหาหุ้นที่จะลงทุนไม่ใคร่ได้  สิ่งที่เขาจะทำก็คือการ “สะสมเงินสด”  ที่อาจจะได้จากปันผลหรืออื่น ๆ  ให้มากเพื่อรอว่าจะได้มีโอกาสซื้อหุ้นที่อาจจะตกลงมามาก ๆ  ในยามที่เกิดวิกฤติ  ซึ่งเขาก็เพิ่งได้ทำเมื่อเร็ว ๆ นี้หลังจาก  “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ในปี 2008 ที่เขาได้เข้าซื้อหุ้นของกิจการดี ๆ จำนวนมากในราคาที่ถูกสุด ๆ และนี่ก็คือคนที่กลายเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตในฐานะนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในโลก
            ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น  ผมเองก็ไม่ได้แนะนำว่า VI ของไทยในช่วงนี้ควรที่จะทำตามสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำในปี 1969 แม้ว่าจะมีอะไรหรือมีสถานการณ์บางอย่างเหมือนกัน  นอกจากนั้น  การที่บัฟเฟตต์ขายหุ้นทิ้งในปี 1969 นั้น  แม้ว่าจะดูเหมือนว่าตัดสินใจถูกต้อง  แต่ที่จริงถ้าเขาตัดสินใจถือไปอีก 1-2 ปี  เขาก็อาจจะได้ผลตอบแทนดีขึ้นไปอีก  ดังนั้น  สิ่งที่ VI จะทำจึงควรต้องคิดคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ  เฉพาะตัวของตนเองประกอบด้วย  ประวัติศาสตร์นั้น  ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องทำตาม  มันเป็นเพียงสิ่งที่เราต้องตระหนักและคิดตามเท่านั้น

Posted by nivate at 10:00 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/18/1263




ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com





Monday, 25 March 2013

PE3

 

การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยค่า PE หรือราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นต่อปีของบริษัทนั้น  เป็นวิธีการที่ถูกใช้โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มากที่สุด  เหตุผลสำคัญก็คือ  มันเป็นวิธีการที่ง่าย  เข้าใจได้ง่าย  และมันพอที่จะเป็น  “ตัวแทน” แบบหยาบ ๆ  ของการคำนวณหา  “มูลค่าที่แท้จริง”  ของหุ้นตามทฤษฎีทางการเงิน

           คำอธิบายเรื่อง PE  ที่ใช้กับคนทั่วไปแล้วฟังดูรู้เรื่องเข้าใจง่ายข้อแรกก็คือ  ค่า PE นั้นบอกให้เรารู้ว่าถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวนั้นจะใช้เวลาเท่าไรจึงจะ “คืนทุน”  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นมีค่า PE 15 เท่าก็แปลว่าถ้าลงทุนในหุ้นตัวนั้นจะใช้เวลา 15 ปีจึงจะคืนทุนถ้าบริษัทกำไรเท่าเดิมทุกปี   นี่ก็เป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่ายมาก  แต่จริง ๆ  แล้วก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่มักจะไม่เป็นความจริงเท่าไรนัก  นั่นก็คือ  สมมุติว่าถ้าบริษัทกำไรหุ้นละ 1 บาทต่อปีและราคาหุ้นเท่ากับ 15 บาทต่อหุ้นซึ่งทำให้หุ้นมีค่า PE เท่ากับ 15 เท่า  บริษัทนั้นจะต้องจ่ายปันผลปีละ 1 บาท  คือจ่ายปันผลจากกำไรทั้งหมดเราถึงจะได้เงินทุนคืนใน 15 ปี  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  บริษัทส่วนใหญ่มักจะจ่ายปันผลเพียงประมาณ 50% ของกำไร  ดังนั้น  ถ้าบริษัทจ่ายแค่ 50 สตางค์  หุ้นที่มี PE 15 เท่าก็ต้องใช้เวลาถึง 30 ปีถึงจะคืนทุน
           คำอธิบายอีกแบบหนึ่งที่อาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่าก็คือ  ให้แปลงค่า PE เป็น EP คือกลับเศษเป็นส่วน  เช่นค่า PE เท่ากับ 20 เท่า  ถ้ากลับกันก็กลายเป็น 1 ส่วน 20 หรือเท่ากับ  .05  แล้วคูณด้วย 100 ก็จะเป็น 5%  นั่นก็คือ  ถ้าลงทุนหุ้นตัวนี้จะได้ผลตอบแทนปีละ 5%  ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างอื่น  เช่น การฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรซึ่งอาจจะได้ผลตอบแทน 2% และ 4% ต่อปี ตามลำดับ  ซึ่งในกรณีอย่างนี้เราก็สามารถตัดสินใจได้ว่าเราต้องการซื้อหุ้นตัวนี้หรือไม่  มันแพงหรือถูกในสายตาของเรา  แต่นี่ก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานเช่นกันว่ากำไรของบริษัทยังเท่าเดิมทุกปีและบริษัทจะจ่ายปันผลจากเงินกำไรทั้งหมดซึ่งก็มักจะไม่จริง

           แม้ว่าสมมุติฐานที่ว่าบริษัทจะมีกำไรเท่าเดิมและบริษัทจะจ่ายปันผล 100% ของกำไรมักจะไม่จริง  แต่การใช้ค่า PE ก็ยังมีเหตุผลอยู่ดี  เหตุเพราะว่า  ข้อแรก  กำไรของบริษัทนั้นจริง ๆ  แล้วไม่เท่าเดิมแต่มันมักจะเพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง  ดังนั้น  ถ้าเราตั้งสมมุติฐานว่าเท่าเดิมแต่มันเพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนที่ลงทุนซื้อหุ้นไว้  เพราะจำนวนปีที่ได้ทุนคืนก็จะลดลง  หรือถ้ามองเป็น EP ผลตอบแทนในอนาคตต่อปีก็จะเพิ่มขึ้น  แทนที่จะเป็น 5% ก็อาจจะกลายเป็น 10%  หรือมากกว่านั้นถ้ากำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          ข้อสอง  ของสมมุติฐานที่ว่าบริษัทจะต้องจ่ายปันผลจากกำไรทั้งหมดซึ่งมักจะไม่จริง   แต่คำอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ  ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่จ่ายปันผลเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ของกำไร  แต่กำไรส่วนที่เหลือก็ไม่ได้หายไปไหนยังคงเก็บอยู่ในบริษัทซึ่งจะถูกนำไปลงทุนขยายกิจการเพิ่มซึ่งก็จะทำให้กำไรในอนาคตสูงขึ้น  ดังนั้น  สมมุติฐานข้อนี้จึงไม่น่าที่จะกระทบกับเรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้น   สรุปแล้วก็คือ  ค่า PE นั้นน่าจะยังพอใช้ได้ในการที่จะบอกว่าหุ้นถูกหรือแพง

          แต่ประเด็นของการใช้ค่า PE ก็ยังไม่จบ  เพราะนักวิเคราะห์บางคนก็ใช้ค่า E ของอดีตหนึ่งปีหรือ 4 ไตรมาศที่ผ่านมาเรียกว่า Trailing PE  ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะค่าที่ได้นั้นเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว  เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์บางคนก็ใช้ค่า E หรือกำไรต่อหุ้นในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้าหรือเรียกว่า Forward PE ซึ่งตัวเลขผลกำไรต่อหุ้นของบริษัทที่นำมาใช้นั้นมาจากการประมาณการณ์ของตนเองหรือจากค่าเฉลี่ยของประมาณการของนักวิเคราะห์หลาย ๆ คน   การใช้ตัวเลข  “ในอนาคต”  นั้น  นัยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับทฤษฎีทางการเงินที่ว่าราคาหรือมูลค่าของหุ้นนั้น  ควรที่จะเป็นราคาที่สะท้อนอนาคตของกำไรของกิจการ  เวลาเราซื้อหุ้นนั้น  เราซื้ออนาคต  เราจะได้ปันผลจากผลประกอบการในอนาคต  ไม่ได้ได้จากอดีต  ดังนั้น  การใช้ค่า E ของปีหน้าน่าจะดีกว่าค่า E ของปีที่แล้ว

          ความเห็นของผมก็คือ  ผมชอบที่จะดู  “ความจริง” การใช้ข้อมูลที่เกิดจากการคาดการณ์นั้นมีโอกาสผิดพลาดได้มากโดยเฉพาะกับบริษัทบางประเภทที่ผลกำไรของกิจการขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกมากมายเช่น ราคาสินค้าในตลาดโลก  ภาวะเศรษฐกิจ  หรือการแข่งขันจากคู่แข่ง เป็นต้น  ดังนั้น ถ้าให้เลือก  ผมอยากจะใช้ค่า Trailing PE มากกว่า Forward PE ที่ใช้ค่า E ที่คาดว่าจะเกิดใน 1 ปีข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม  ค่า Trailing PE เองนั้นก็มีข้อเสียมากมายที่ทำให้มันใช้ไม่ได้เลยถ้ากำไรในอนาคตของบริษัทลดลงหรือลดลงไปมากซึ่งนี่มักจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ที่ราคาสินค้าขึ้นลงรุนแรงโดยที่ต้นทุนไม่สามารถปรับตามได้ทันที  หรือไม่ก็เกิดขึ้นกับบริษัทที่ไม่แข็งแกร่งและไม่มีความได้เปรียบในแข่งขันอย่างยั่งยืนที่จะทำให้สามารถรักษาผลประกอบการให้สม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้   ดังนั้น  ในกรณีของหุ้นแบบนี้ผมจะทำอย่างไร

           คำตอบของผมก็คือ  ส่วนใหญ่แล้วผมก็จะไม่ใช้ค่า PE เลยในการประเมินมูลค่าหุ้นเหล่านั้น  และถ้าจะพูดไป  ส่วนใหญ่แล้วผมก็จะไม่ลงทุนในหุ้นประเภทที่กำไรในอนาคตระยะยาวไม่แน่นอนและมีโอกาสลดลง  แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ค่า PE สำหรับหุ้นแบบนี้  ผมจะใช้ค่า PE ที่มาจากการคาดการณ์ค่า E หรือกำไรใน 3-4 ปีข้างหน้า  จะเรียกว่าใช้ PE3 ก็ได้  โดยที่กำไรในอีกสามปีข้างหน้านั้นผมจะมีวิธีการคาดการณ์โดยอิงจากหลาย ๆ  ปัจจัย  ที่สำคัญก็คือ  ผมไม่ดูแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมขณะนั้นเพราะผมคิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้ามันน่าจะเปลี่ยนไปแล้ว   สิ่งที่ผมจะดูก็คือ  ยอดขายของบริษัทจะเป็นเท่าไร  เสร็จแล้วผมก็คูณด้วย Profit Margin หรือกำไรต่อยอดขายที่ควรจะเป็นในอุตสาหกรรมนั้นหรือกำไรต่อยอดขายโดยเฉลี่ย 4-5 ปีย้อนหลังของบริษัท ซึ่งจะทำให้ผมได้ตัวเลขกำไรของบริษัทในอีก 3 ปีข้างหน้าและดังนั้นผมก็คำนวณค่า PE3ได้  ถ้าผลออกมาว่าค่า PE3 ที่ได้นั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งหมายความว่าหุ้นตัวนั้นถูก  ผมก็อาจจะตัดสินใจซื้อ  ถ้าไม่ใช่ผมก็คงไม่ทำอะไร
           ข้อดีของการใช้ PE3 หรือ PE5 ซึ่งใช้ตัวเลขกำไรในอีก 5 ปีข้างหน้าก็คือ  มันช่วยตัดปัญหาเรื่องวัฏจักรธุรกิจออกไปได้มาก  เช่นเดียวกับที่มันตัดประเด็นเรื่องภาวะธุรกิจขาขึ้นหรือขาลงของบริษัทที่ไม่ได้แข็งแกร่งแต่ผลประกอบการที่เห็นนั้นขึ้นอยู่กับ “โชคเคราะห์” ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะสั้น   แต่ถ้าถามว่าผมมั่นใจแค่ไหนกับตัวเลขการประมาณการณ์กำไรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า  คำตอบของผมก็คือ  ผมไม่คิดว่าผมจะคาดการณ์ได้ถูกตรงตามเวลาที่กำหนด  แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นก็คือ  ในช่วงเวลา 3-5 ปีข้างหน้านั้น  มันน่าจะต้องมีสักวันหรือปีหนึ่งที่บริษัทจะสามารถทำกำไรอย่างน้อยเท่ากับที่ผมประมาณการณ์ไว้  และเมื่อถึงวันนั้น   ผมก็คิดว่าหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นไปตามผลประกอบการที่ดี ๆ  หรือตามที่ผมคาด  และนั่นก็คือวันที่ผมจะมีโอกาสขายหุ้นทำกำไรที่เพียงพอต่อการรอคอยในช่วง 3 หรือ 5 ปีข้างหน้า  คำนวณอย่างหยาบ ๆ  ก็คือ  ผมอยากเห็นราคาหุ้นขึ้นไปหนึ่งเท่าตัวภายในเวลา 5 ปี
Posted by nivate at 3:16 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/03/25/1266


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
มี ’100 ล้าน’ ไม่ยากอย่างที่คิด สูตรรวย ‘ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร’ : กรุงเทพธุรกิจ



เปิดวิธีคิดฉบับ How To..ทำอย่างไร? เคล็ดลับสู่เงิน ‘ร้อยล้าน’ ไม่ใช่แค่ฝันเฟื่อง ‘ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร’ แนะวิธีลงทุนเด็ดๆ โกยกำไรปีละ 20%

“ถ้าคนเราไม่ประหยัด หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ(ใช้) นอกจากไปโกงเขามา ไอ้การโกงนี่มันได้มาแบบเงินล้นฟ้า แต่ก็ไม่มีความสุข ถ้าคนเราทำอาชีพสุจริตแต่ไม่ประหยัด ชีวิตนี้ก็ไม่มีทางร่ำรวย”

วลีเด็ดของ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ประธานชมรมคนออมเงิน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเงินและภาษี วัย 65 ปี ที่ปัจจุบันมีทรัพย์สินเงินทองนับ “พันล้านบาท” จากนิสัยมัธยัสถ์มาตลอดชีวิต

ครอบครัว วลัยเสถียร นับถือคาทอลิก แต่มีความเชื่อว่า โชคดีมาหนเดียวแต่โชคร้ายอาจเกิดขึ้นได้หลายหน ดังนั้น พวกเราต้อง “จ่าย” ให้น้อยกว่า “รับ” เราจึงจะเก็บความมั่งคั่งเอาไว้ได้ … เมื่อหาเงินมาได้ 10 บาท ก็จะนำไปใช้ 5 บาท ส่วนที่เหลืออีก 5 บาท ก็เก็บออม อาจารย์สุวรรณทำมาแบบนี้ตลอดหลายสิบปี ด้วยความเชื่อที่ว่า หาได้มากน้อยเท่าไรไม่สำคัญ จ่ายมากน้อยเท่าไรเป็นเรื่องสำคัญกว่า

ดร.สุวรรณ สร้าง “เซอร์ไพรส์” ครั้งแสดงบัญชีทรัพย์สินเมื่อตอนเป็น รมช.พาณิชย์ ช่วงปี 2544 ส่วนตัวมีทรัพย์สินมากถึง 557 ล้านบาท ส่วนภรรยามีทรัพย์สิน 121 ล้านบาท สองคนรวมกันมีทรัพย์สินเกือบ 700 ล้านบาท ปัจจุบันอาจารย์เป็นประธานกรรมการ บมจ.เอสวีไอ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ใครหลายคนอาจเห็นชื่อประธานชมรมคนออมเงิน แอบ “ออมหุ้น” SVI เกือบ 5 ล้านหุ้น มูลค่าเฉียด 12 ล้านบาท มีต้นทุนอยู่ที่หุ้นละ 2.34 บาท ทำเอาหุ้นตัวนี้ “แอบขึ้น” ไปอย่างมากจากเหล่าสาวกที่แห่ซื้อตาม

ตั้งแต่เกษียณจากงานการเมือง ก็หันมาเอาดีทางด้านงานเขียนหนังสือประเภท “ฮาวทู” มีผลงานบนแผงหนังสือนับสิบเล่ม เรียกได้ว่าเป็น “กูรู” ด้านการเงินชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทย อาทิ พ่อสอนลูกให้รวย, สอนเมียให้รวย, สอนเพื่อนให้รวย, กลยุทธ์การปลดหนี้ และจ่ายภาษีก็รวยได้ เป็นต้น และเป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาต่างๆอย่างต่อเนื่อง

ดร.สุวรรณ บอกผ่าน กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า ถ้าคุณอยากกอดเงิน “ร้อยล้าน” ไม่ได้อยากอย่างที่คิด หากเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ แต่อาจต้องใช้เวลานานถึง 15 ปีขึ้นไป เพราะคงไม่มีใครเก่งมากพอที่จะหาเงินก้อนโตได้ภายในเวลา 3-5 ปีหรอกจริงมั้ย!

หากคุณอยากพบกับ Road to Wealth หรือ หนทางสู่ความมั่งคั่ง ให้ปฏิบัติตัวดังนี้…

ข้อแรก ต้องเป็นคนที่หมั่นศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา ไม่ใช่เรียนจบแล้วก็แล้วกัน ความคิดต้องมีความทันสมัย ก้าวทันทุกเหตุการณ์ ที่สำคัญต้องเก่งภาษาอังกฤษ ไม่เช่นนั้นหากินลำบากแน่นอน

ข้อสอง คุณต้องขยัน เป็นคนหนักเอาเบาสู้ ถึงไหนถึงกัน

ข้อสาม ต้องหมั่นดูแลความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ตัวเองต้องตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย

ข้อสุดท้าย คุณต้องรู้จักประหยัด อดออม อย่าโลภเป็นอันขาด เพราะความโลภเป็นหนทางสู่ความไม่มั่นคงในชีวิต ข้อคิดและนิสัยเหล่านี้ ถือพื้นฐานของคนที่จะร่ำรวย

“เงินร้อยล้านบาท ถ้าอยากมีต้องรีบทำ ควรเริ่มคิดตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 หรือปี 3 ถ้าช้ากว่านั้นอาจไม่ทันการณ์ แต่ถ้าไม่หวังสูงมาก อยากมีเงินสัก 5 ล้านบาท ก่อนอายุ 40 ปี ก็สามารถทำตามวิธีนี้ได้เหมือนกัน”

การลงทุน เรื่องอายุก็สำคัญ ถ้าหากอายุยังน้อย 20-30 ปี ก็สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มาก เนื่องจากยังมีเวลาการทำงานเหลืออีกมากเมื่อพลาดพลั้งไปก็ยังหาเงินได้ใหม่ แต่หากอายุเยอะไม่ควรลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าผิดพลาดไปก็จะไม่มีเวลาแก้ตัว ชีวิตบั้นปลายจะลำบาก นอกจากนี้ เรื่องการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลายประเภทก็มีความสำคัญ

ประธานชมรมคนออมเงิน แนะนำว่า สมมติ ถ้ามีเงิน 100 บาท อาจแบ่งเงินออกมาราวๆ 50-60% เพื่อนำไปลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าเป็นช่วงนี้ก็ควรเน้นหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากกลุ่มนี้จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แต่ควรจะเลือกซื้อตัวไหนบ้าง คงต้องขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล คงไม่สามารถบอกเป็นตัวๆได้

“ผมไม่ใช่เซียนหุ้น ไม่เชี่ยวชาญขนาดนั้น ที่สำคัญไม่อยากคุยเรื่องหุ้นเท่าไรนัก” อาจารย์ออกตัว

ส่วนหุ้นกลุ่ม Modern Trade (ธุรกิจค้าปลีก) ถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสยามแม็คโคร (MAKRO) ซีพี ออลล์ (CPALL) และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ส่วนตัวชอบ MAKRO มากที่สุด เพราะเมื่อปี 2552 มีกำไรต่อหุ้นสูงถึง 6.36 บาท เมื่อเทียบกับหุ้น BIGC ที่มีกำไรต่อหุ้นเพียง 3.58 บาท ส่วนหุ้น CPALL  มองว่าแพงไปหน่อย แต่หากมองในแง่เงินปันผลก็โอเค

มุมมองส่วนตัวของ ดร.สุวรรณ เชื่อว่า ตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปี 2553 และปี 2554 คงจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าดัชนีสิ้นปี 2553 จะขึ้นจาก 780-790 จุด มายืนแถวๆ 860 จุด หรือบวกมาประมาณ 10% กลุ่มยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ก็ชอบ เพราะหุ้นกลุ่มนี้จ่ายเงินปันผลดี ส่วนตัวมองว่ากลุ่มนิคมอุตสาหกรรมกำลังจะฟื้นตัว หลังลงไปสัมผัส “จุดต่ำสุด” ฉะนั้นหากมีเงินก็รีบหาจังหวะเก็บไว้ได้

โดยเฉพาะ ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) หุ้นตัวนี้เขามีดีตรงเงินปันผล ส่วน อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ซื้อเก็บไว้ก็ดีเชื่อว่าราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นหลังสถานการณ์การเมือง และภาวะเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

ด้านกลุ่มท่องเที่ยว ถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง เพราะตอนนี้กลุ่มนักธุรกิจกลับมาแล้ว และอีกไม่นานกลุ่มท่องเที่ยวจะตามมา ส่วนกลุ่มที่เข้ามาจัดงานประชุม และแสดงสินค้า อาจยังกล้าๆกลัวๆ คงต้องให้เวลาเขาอีกสักหนึ่งปี

นอกจากการลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีและจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอแล้ว กูรูท่านนี้ยังแนะนำว่า ให้นักลงทุนแบ่งเงินประมาณ 10-15% ไปลงทุนในทองคำ เชื่อว่าสิ้นปีนี้ทองคำอาจขึ้นมายืนระดับ 20,000 บาท ได้ไม่ยาก และอีก 5-10% ให้เก็บเป็นเงินสดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ส่วนที่เหลือให้นำไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่ ดร.สุวรรณ แนะนำมานานแล้ว บ้านของอาจารย์ที่ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานด้วย อยู่ในซอยสุขุมวิท 8 (ซอยปรีดา) อาจารย์ซื้อมาเพียง 5 ล้านบาท เมื่อ 20-30 ปีก่อน ปัจจุบันเฉพาะที่ดินก็มีมูลค่าหลายสิบล้านบาทแล้ว ถ้าเทียบกับฝากเงินแบงก์ ใช้ประโยชน์กับบ้านไม่ได้ แต่บ้านทำให้เราอยู่สบาย

“หากคุณลงทุนตามแบบฉบับของผม รับรองได้ว่าจะได้รับกำไรเข้ากระเป๋าปีละ 20% แน่นอน แต่ทั้งหมดต้องทำบนความไม่เสี่ยง ไม่โลภ และหุ้นแต่ละตัวต้องมีการเติบโตที่ดี และมีเงินปันผลสม่ำเสมอ” อาจารย์ย้ำ

ถามเรื่องทิศทางเศรษฐกิจ ดร.สุวรรณ เชื่อว่าทุกอย่างคงไปได้ด้วยดี ดูจากราคาสินค้าเกษตรที่มีทิศทางดีขึ้น ปกติประเทศไทยจะส่งออกแต่วัตถุดิบ แต่วันนี้ส่งเป็นสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งการส่งออกในลักษณะนี้จะมีมาร์จินที่ดีกว่า ยิ่งมองไปในธุรกิจยานยนต์จะเห็นเลยว่า ปีนี้ผลิตรถยนต์ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนค่าเงินบาทอาจยืนราวๆ 32.2-32.3 บาท คงไม่ลงไปอยู่ 31 บาทแน่นอน สำหรับราคาน้ำมันอาจนิ่งอยู่ระดับ 80-85 เหรียญต่อบาร์เรล

“ผมมองการเมืองไทย คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเดือนเมษายน ปี 2554 ก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว”

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ ต้องมองว่า 3 ประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ก็คงดีขึ้นตามลำดับ แม้จะไม่ดีขึ้นมากมาย แต่ก็ดีกว่าย่ำอยู่ที่เดิม ส่วนตัวมองว่าประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรราวๆ 100 – 200 ล้านคน จะเป็นประเทศที่น่าจับตามอง เพราะการเมืองเขาดีกว่าเรามาก ฉะนั้น ถ้าเขาขยับทำอะไรขึ้นมา คงมีผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเหมือนกัน

ถ้าย้อนดูบทสัมภาษณ์เก่าๆ ปรัชญาการใช้ชีวิตของ ดร.สุวรรณ คงหนีไม่พ้นบทเรียนเกี่ยวกับ “คุณ ค่าของเงิน”  ความมัธยัสถ์ อดออม และการใช้เงินทำงาน ที่สำคัญชีวิตนี้อย่าไปเป็นหนี้ เรามีเราใช้เท่าที่มี อยากซื้ออะไรมีตังค์ซื้อก็ซื้อ ถ้าไม่มีตังค์ก็อดออมเอาไว้ก่อน วันหลังมีตังค์ก็ไปซื้อดีที่สุด ทั้งหมดคือหลักการใช้ชีวิตที่ต้องมีการวางแผน และไม่ประมาท

มี 100 ล้าน ไม่ยากอย่างที่คิด สูตรรวย ‘ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร’

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

http://www.cglifeapp.com/index.php?option=com_content&view=article&id=226%3A-100------&catid=8%3Aidea-hub&Itemid=82


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
“สับเกียร์รอ”วันใดดัชนีสัมผัส 1,700 จุด พร้อมเร่งเครื่องหนี คำสถบของ “ต้นตำรับ VI” ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “เจ้าของพอร์ตกว่า 2 พันล้าน”

“เผ่น !!!” เป็นคำตอบสุดท้าย “หากตลาดหุ้นไทยแตะ 1,700 จุด เหมือนปี 2537” ประโยคนี้ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor -VI) คนแรกของเมืองไทย ประกาศกลางเวที “เปิดประสบการณ์ตามหาหุ้นตัวแรก Your First Stock” ที่มีนักลงทุนแนว VI จับจองเก้าอี้มากกว่าครึ่งห้องประชุมสังเวียน ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คำพูดนี้ถูกถ่ายทอดถึงหู “แฟนพันธุ์แท้ VI” เพียงไม่กี่วัน ก่อน SET INDEX ปรับตัวลดลงรวม 112.68 จุด ในช่วงวันที่ 18-22 มี.ค.56 มูลค่าซื้อขายสูงถึง 101,361.64 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนจะ “ดิ่งเหว” หนักสุด 50 จุด ปิดตลาดที่ 1,478.97 จุด เมื่อวันที่ 22 มี.ค.56 แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ"กระทิงหนุ่ม" นักลงทุน “ตะลุย” ซื้อหุ้นไม่ยั้งมากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทุบสถิติสูงสุดใหม่เกือบทุกวัน

“เซียนหุ้นลายคราม” ลงจากเวทีมาขยายความเรื่องนี้ให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า..."หากดัชนีขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุด เหมือนปี 2537 ที่ทำได้ 1,770 จุด จริงๆ บอกตรงๆผมคงไม่อยู่แล้ว (หัวเราะ) อย่างน้อยต้องขายหุ้นออกไปสัก 50% หรือไม่ก็ล้างพอร์ตลงทุนให้หมด กลัวซ้ำรอยอดีตที่หุ้นไทยค่อยย่อตัวลงมา หลังขึ้นไปแตะจุดสูงสุด"

เขาทำท่าคิด ก่อนพูดต่อว่า "แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ก็คงต้องมาดูสถานการณ์ต่างๆอีกครั้ง ผมอาจไม่ทำแบบนั้นก็ได้ นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น ตามสถิติของผมมักไม่ค่อยขายหุ้นครั้งละมากๆหรือล้างพอร์ต หมดเกลี้ยง เพราะผมจะถือหุ้นแต่ละตัวนาน 3-4 ปี บางตัวครอบครองยาว 7-8 ปี ส่วนตัวไม่ค่อยนิยมดูดัชนีเท่าไร"

ถ้าดัชนีแตะ 1,700 จุด ขณะที่พอร์ตลงทุนไม่ขยับเลย แบบนี้ก็ไม่ไหว คงต้องมีขายกันบ้าง เจ้าตัวบอก

หากจะให้ทำนาย SET index ปลายปี 2556 จะไปยืนจุดไหน? ดร.นิเวศน์ บอกว่า.. "คำถามนี้ยังตอบไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้ถ้าให้บอกเท่ากับว่าจะต้องคาดการณ์อารมณ์ของนักลงทุน แต่พอจะประเมินได้ว่า หากดัชนีขึ้นแตะ 1,700 จุด เท่ากับว่าตลาดหุ้นขึ้นไปแรงเกิน ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเหมือนกัน ปี 2555 ตลาดหุ้นขึ้นไป 36% ถ้าปี 2556 ขึ้นไปที่ 1,700 จุด เท่ากับว่าตลาดขึ้นไปกว่า 30% เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยหวือหวา 2 ปีติดต่อกัน เหตุการณ์อย่างนี้เป็นอะไรที่นานๆจะเกิดขึ้น ขึ้นแรงขนาดนี้บ่งบอกได้ว่า เกิดจากการ “เก็งกำไร” ฉะนั้นนักลงทุนต้องระวัง"

ถามต่อว่าภาวะตลาดหุ้นเช่นนี้ แนะนำนักการลงทุนอย่างไร? เขาบอกว่า.. "ดูจากตัวผมเอง ไม่ได้ช้อนหุ้นมาพักใหญ่แล้ว เท่าที่ดูราคาหุ้นทุกตัวแพงมาก (ลากเสียงยาว) ไม่มีหุ้นตัวไหนที่รู้สึกว่าเข้าไปซื้อแล้ว “สบายใจ” สักตัว ภาวะเช่นนี้เน้นถือลงทุนหุ้นที่มีอยู่แล้วต่อไป ดีกว่าไปไล่ซื้อหุ้นตัวใหม่ๆ ผมยังไม่เห็นหุ้นตัวไหนซื้อแล้ว “ปลอดภัย” ที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนเยอะขึ้น คนเหล่านี้มีโอกาส “ขาดทุนสูง” อย่าลืมคุณเข้ามาซื้อตอนราคาสูงแล้ว เว้นเสียแต่ว่าเจอ “เนื้อคู่” หลังเล็งแล้วพบว่า 3 ปีข้างหน้า โอกาสโกยผลตอบแทนจากการลงทุนสูง ก็ขอได้โปรดอย่ารีรอ”

ดร.นิเวศน์ ยังบอกด้วยว่า ส่วนตัว “กังวล” ทุกครั้งที่เห็นตลาดหุ้นขึ้นๆ แบบนี้ ก่อนจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์” อภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งช่วงตลาดหุ้นมีลักษณะดีๆ แบบนี้ ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้หาซื้อหุ้นดีๆถูกๆไม่ได้ เพราะราคาแพงทุกตัว ซึ่ง “วอร์เรน” เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นช่วงหลังวิกฤติ เขาจึงตัดสินใจล้างพอร์ตลงทุนหมดเกลี้ยง ขายหุ้นทิ้งไม่นานราคาหุ้นก็ขึ้นไม่ยอมลง

“วอร์เรน” เคยเล่าว่า ในช่วงปี 1974 มันช่างเป็นเวลาของการรอคอยที่ “แสนยาวนาน น่าเบื่อ และทรมานมาก” เพราะเขาต้อง “นั่งทับมือตัวเอง” ไม่ยอมซื้อหุ้น ขณะเดียวกันต้องมานั่งมองเพื่อนๆและนักลงทุนคนอื่นๆโชว์ “ความร่ำรวย” ผ่านไป 3 ปี ตลาดหุ้นเกิดภาวะ “ฟองสบู่แตก” หลังราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงปรี๊ด อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10%

ขณะที่สงครามเวียดนามกำลังร้อนแรง และเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงลิ่ว ดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง 50% ภายในระยะเวลาปีครึ่ง ตอนนั้น “วอร์เรน” กระโดดเข้าสู่ตลาดหุ้นอีกครั้ง นำเงินทั้งหมดซื้อหุ้น ทำตัวเหมือนผู้ชายขาดเซ็กส์มานานกว่า 3 ปี พอเห็นฮาเร็มก็รีบกระโดดเข้าใส่ เจอหุ้นตัวไหนก็สวยและถูกไปหมด เขาซื้อแบบเป็นบ้าเป็นหลัง

หลังเล่าช่วงชีวิตหนึ่งของ “วอร์เรน” จบ “ด็อกเตอร์” ก็ย้อนมาพูดถึงพอร์ตลงทุนของตัวเองว่า.. "วันนี้ผมไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตลงทุนของตัวเองเลยจริงๆ ทุกอย่างยังคงเดิมรอรับเพียงแต่เงินปันผลเท่านั้น อย่างปี 2555 ผมได้รับเงินปันผลจากการลงทุน “หลักร้อยล้าน” แว่บแรกผมรู้สึก “เรื่องจริงหรอ” ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าจะได้ผลตอบแทนมากกมายอย่างนี้ เพราะช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน ผมได้เงินปันผลแค่หลัก “ล้านบาท” เท่านั้น ปัจจุบันสัดส่วนลงทุน 95% ยังอยู่ในตลาดหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 5% ถือเป็นเงินสด"

ถ้าจะให้วิเคราะห์ว่าหุ้นกลุ่มไหนที่ยังพอเข้าไปลงทุนได้? .."ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้จริงๆ ตลาดหุ้นเป็นแบบนี้ก็ต้องไปเสาะแสวงหุ้นดีๆกันเอาเอง (หัวเราะ) ในช่วงสภาวะแบบนี้หุ้นก็ยังไม่ปลอดภัยเท่าไร แต่หากต้องการลงทุนจริงๆก็อยากให้นักลงทุนเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และสามารถทนต่อวิกฤติ (ถ้ามี) ต้องทนต่อความผันผวนของภาวะแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่งหุ้นในลักษณะแบบนี้ ถ้าในอนาคตเกิดมีปัญหาขึ้นมาก ราคาก็ยังพอยืนอยู่ได้ คำแนะนำนี้ใช้ได้ตอนหุ้นอยู่ในภาวะขาลง"

ดร.นิเวศน์ ยอมรับว่า ณ เวลานี้ มีหุ้นบางตัวถึงเวลาลงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็กๆ ที่มีราคา “แพงเว่อร์” เรียกว่าสูงเกินพื้นฐาน หลังมีแรงเก็งกำไรเข้ามาเพียบ นั่นอาจรวมไปถึงหุ้น IPO ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นด้วย หลายตัวราคาสูงเกิน

"ผมคิดว่าหากจะเกิดภาวะฟองสบู่ หุ้นเหล่านี้มีผลทำให้เกิดโดยตรงจะเรียกว่า “ฟองสบู่ของหุ้นตัวเล็ก” ก็พูดได้นะ !! ตราบใดที่ตลาดหุ้นยัง “ฮอตฮิต” และ “ร้อนแรง” แถมหุ้นไอพีโอก็ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนแบบนี้"

ต้องยอมรับว่าหุ้นไอพีโอเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเก็งกำไร เพราะว่าหุ้น IPO ส่วนใหญ่เป็นหุ้นไซส์เล็ก และไม่มีราคาอ้างอิงพื้นฐานอะไรเลย เพราะว่าเป็นหุ้นที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่รู้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ไหน ดังนั้นนักลงทุนก็เข้ามาเก็งกำไรกันอย่างสนุนสนาน เขาบอก

นักลงทุนต่างชาติส่งสัญญาณ “ถอดเงิน” ออกจากหุ้นไทยหรือยัง? “อาจารย์” บอกว่า ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนว่าต่างชาติจะถอดเงินกลับประเทศ เพราะเศรษฐกิจบ้านเขายังไม่ฟื้นตัวหวือหวา แต่จริงๆแล้วต่างชาติ ก็ไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเยอะแยะ ถ้าลองดูตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาต่างชาติเข้ามาในเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจะเป็นรายย่อยภายในประเทศมากกว่าที่เข้ามาเล่น “เก็งกำไร” เพราะว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเงินฝากธนาคาร อีกอย่างต่างชาติคงยังไม่ถอนเงินกลับไป ตราบใดที่เงินยังอยู่ใน “ภาวะล้นโลก” แบบนี้

ก่อนจบบทสนทนา ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น "วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์เมืองไทย" แนะนำนักลงทุนมือใหม่ว่า..

"คุณควรกระจายความเสี่ยงไว้บ้าง อย่าลงทุนซื้อหุ้นกระจุกตัวเพียงหุ้นตัวเดียว คุณควรลงทุนหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 30% หากเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ใสกิ๊ก ควรซื้อหุ้นสัก 5 ตัว โดยให้เข้าไปลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเฉลี่ยประมาณ 20% ของพอร์ตลงทุน พยายามหาหุ้นที่มีพื้นฐานดีๆมีกิจการดีเยี่ยม มีความแข็งแกร่ง คู่แข่งสู้ไม่ได้ กิจการพวกนี้จะถูกกระทบโดยปัจจัยภายนอกน้อยมาก เชื่อผม...!!"

โดยแนะว่า หุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับ “น้ำมัน ถ่านหิน” จำพวกนี้ควรจะ “หลีกเลี่ยง” การเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ควรเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เห็นและจับต้องได้ ถ้าไม่รู้ว่าหุ้นตัวนี้ทำธุรกิจอะไร ก็ขออย่าเดินเข้าไปเสี่ยง แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ก็สามารถเป็นนักลงทุน VI ที่ครอบครองราคาหุ้นดีไม่แพงได้ เพียงแต่ต้องออกตามล่ากันหน่อย ถ้าเจอตัวดีๆลงทุนไปเลย 100% มันคือ “โอกาสทอง” ที่จะทำให้รวยได้อย่างรวดเร็วที่สุด

หลักการลงทุนของชายชื่อ “นิเวศน์” คือ “ถ้าไม่มั่นใจ ไม่ทำ การลงทุนต้องมีกำไร หากลงทุนแล้วพบว่ามีโอกาสขาดทุนภายใน 3 ปี ผมไม่เข้าไปซื้อเด็ดขาด”

“ย้อนรอย” เจ้าของพอร์ต 2 พันล้าน
“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ย้อนประวัติการลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรก ก่อนมีมูลค่าลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาทให้ฟังว่า "ตอนนั้นผมอายุ 40 ปี ถูกให้ลาออกจากงานประจำ พูดง่ายๆ ไม่มีงานทำนั่นละ (หัวเราะ) ตอนนั้นกลับมานั่งคิดทบทวนว่าจะต้องหาอะไรทำเพื่อมาเลี้ยงชีวิต อายุก็มากขึ้นทุกวัน ภาระค่าใช้จ่ายก็เยอะ ลูกก็ยังเรียนอยู่แถมเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ที่มีค่าเล่าเรียนแพงลิ่วปีละหลายแสนบาทอีกต่างหาก ภรรยาก็ทำงานพาร์ทไทม์ เป็นคุณครูสอนเปียโน ตอนนั้นผมกังวลมากว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตดี หากยังไม่มีงานทำมีหวังครอบครัวต้องลดมาตรฐานค่าครองชีพแน่ๆ ถือว่าช่วงนั้นหนักหนาเหมือนกัน ตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้หางานทำค่อนข้างยาก ผมเรียนจบด้านการเงิน ช่วงนั้นธนาคารโดนปิด ไฟแนนซ์ล้มเพียบ..."

ทางออกของเขาในขณะนั้นคือ “Value Investment” ลงทุนในหุ้นให้เหมือนกับการทำธุรกิจ

"ผมตัดสินใจควักเงิน 10 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถามว่าทำไมต้องลงทุนแนวนี้ ผมสามารถใช้เงินเพียงเท่านี้ แต่สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้หลากหลาย และเป็นธุรกิจที่ผมคัดเลือกแล้วว่า “ปลอดภัย” ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ตอนนั้นเลือกช้อนหุ้นกลุ่มอาหารราคาถูก และหุ้นที่ดำเนินกิจการส่งออก"
ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ตอนนั้นนั่งวิเคราะห์แล้วพบว่า เมืองไทยยังมีบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลประกอบการที่ดี มีฐานะการเงินยอดเยี่ยม เรียกว่าแทบจะ “ปลอดหนี้” และมีความ “ปลอดภัยดี” ในแง่ของการดำเนินการ ที่สำคัญ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น “ถูกเหลือเชื่อ” ค่า P/E ไม่เกิน 10 เท่า หลายๆบริษัทมีค่า P/E เพียง 6-7 เท่า คิดเฉพาะเงินปันผลที่จะได้รับเมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็ประมาณปีละ10% แล้ว

"ผมไม่ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงปี 2540 แต่ “เล่นหุ้น” มานานก่อนหน้านั้นเป็น 10 ปี ก็เข้ามาเหมือนกับทุกคน เดินมาด้วย “ความโลภ” เต็มๆ เพราะว่าเข้ามาตอนตลาดหุ้น “บูม” มากๆ ตอนนั้นคิดเพียงว่าอยากจะได้เงิน เล่นหุ้นแบบเก็งกำไร “ซื้อๆ ขายๆ” เล่นลักษณะนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี ถามว่าตอนนั้นรวยไหม?? “ไม่รวย” ตอบเลย"
ตอนนั้นมีหุ้นตัวหนึ่งที่ใครๆพากันเรียกกันว่า “หุ้น IPO” ออกมาขายเพียบ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไป 2-3 เท่า เหมือนกับตอนนี้เป๊ะเลย (อาจารย์กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง) ตอนโน่นทำงานอยู่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ก็จะได้หุ้นไอพีโอ 100-200 หุ้น เขาจะขายให้เราก่อน 2-3 สัปดาห์ แล้วค่อยนำไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เชื่อหรือไม่ยังไม่ทันจะเทรด ราคาหุ้นไอพีโอซื้อขายนอกตลาดสูงกว่าราคาไอพีโอ 50% แล้ว สุดยอดมั้ยละ !!! เขาเผย

"แรกๆ ก็เล่นหุ้นไอพีโอ สักพักก็เข้ามาเล่นหุ้นที่ซื้อขายอยู่แล้วในกระดาน เพราะว่าหุ้นไอพีโอนานๆจะมาสักตัว เปรียบเหมือนล็อตเตอรี่ เดือนหนึ่งออก 2 ครั้ง ไม่ทันกิน ก็เลยกระโดดเข้ามาในตลาดหุ้นเอง ตอนนั้นซื้อหวยแบบรายวันกันเลย เล่นหุ้นแบบว่าสนุกสนาน หวังจะได้เงินมาใช้ ขาดทุนก็คงไม่เป็นไรมาก เพราะว่าเราไม่ได้เล่นเยอะ แต่พอมาดูโดยรวม ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิต (ยิ้ม)"

“ด็อกเตอร์” ยืดอกยอมรับว่า ตัวเขาเป็นนักลงทุน Value Investor โดยความจำเป็น เปลี่ยนจากคนเล่นหุ้นมาเป็นนักลงทุนแนว VI ในช่วงปี 2539-2540 ก็เพื่อ “ความอยู่รอด” ไม่ได้หวัง “รวยเร็ว” และไม่คิดว่าจะ “รวย” แม้ว่าหลังจากนั้นจะเริ่มเห็นว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดี โดยมีความเสี่ยงต่ำ ทำให้เริ่มตั้ง “ความฝัน” ว่าจะ “รวย” แต่ทั้งหมดก็อิงอยู่กับผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น ความรวยที่หวังนั้นมาจากระยะเวลาของการลงทุนที่ยาวมาก
ดร.นิเวศน์ ยังเล่าว่า เมื่อก่อนเวลาได้ “เงินปันผล” มักจะนำไปลงทุนต่อ ไม่ค่อยถือ “เงินสด” แต่ตอนนี้เริ่มถือบ้างแล้ว แต่ถ้าในช่วง 10 ปีก่อน ไม่ค่อยถือเท่าไร ได้เงินปันผลมา ก็นำไปลงทุนซื้อหุ้นต่อ ฉะนั้นถ้านักลงทุนหน้าใหม่ๆ เริ่มเข้ามาลงทุนแล้ว จงเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีเงินปันผลสูงๆ จะทำให้มองเห็นเป้าหมายในอนาคต เพราะว่าเงินปันผลในอดีตจะเป็นตัวบอกว่าปีนี้จะมีเงินปันผลเท่าไหร่ และปีต่อไปจะสามารถลงทุนได้เท่าไหร่ และเงินปันผลจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่

"ถ้าเดินกลยุทธ์แบบนี้ วันหนึ่งคุณจะมีเงินปันผล เกินเงินเดือน และเกินรายได้ประจำ เมื่อนั้นก็จะเป็น “อิสระทางการเงิน” เมื่อมีเงินแล้วก็ต้องนำไปลงทุนเรื่อยๆ สะสมเป็นหุ้นในพอร์ต จะได้ไม่ใช้เงินจากทางอื่น คุณก็จะมีพอร์ตลงทุนใหญ่ขึ้น อนาคตเงินปันผลก็จะมากขึ้น เมื่อนั้นก็อาจไม่ต้องทำงานเลยก็อยู่ได้สบายๆ......"


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 1 April 2013

ตลาดหุ้น AEC


ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนตลาดหุ้นสิงคโปร์และตลาดหุ้นมาเลเซียในช่วงเร็ว ๆ นี้กับนักลงทุน VI กลุ่มหนึ่งโดยการจัดของ Money Channel  ร่วมกับโบรกเกอร์ในประเทศไทยบางแห่ง  วัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือการที่จะได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับตลาดหุ้นของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลัง  “รวมเป็นตลาดเดียวกัน”  นอกจากนั้นก็เพื่อที่จะรู้จักกับบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจที่เราอาจจะสนใจลงทุน  โดยที่ในการเดินทางไป  เราได้พบกับบริษัทหลายแห่งที่ผู้บริหารได้มาเสนอข้อมูลและตอบข้อซักถามของพวกเราในแนวทางที่คล้าย ๆ  กับรายการ  Opportunity Day ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเป็นประจำ  และต่อไปนี้คือข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับตลาดหุ้นของสองประเทศนี้และอาจจะแถมข้อสังเกตอื่น ๆ ที่ผมได้รับทราบมาจากแหล่งอื่น ๆ  ที่ผมเคยสัมผัสหรือพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์บ้าง

          ก่อนที่จะเข้าประเด็นของตลาดหุ้นผมอยากจะพูดถึงสภาพของบ้านเมืองและผู้คนตามที่ผมได้เห็นนั่นก็คือ  ทั้งสองประเทศนั้นต่างก็ “เจริญ” กว่าประเทศไทย  เพราะรายได้ต่อหัวของคนสิงคโปร์นั้นสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า  ว่าที่จริงสิงคโปร์นั้นผมเข้าใจว่ากลายเป็นประเทศที่คนมีรายได้ตัวหัวสูงที่สุดในโลกไปแล้วและนี่ถ้าเปรียบเทียบก็น่าจะเป็น  “เมืองหลวง”  ของ AEC แต่มีประชากรน้อยน่าจะเพียง 3-4 ล้านคน  ส่วนมาเลเซียนั้น  รายได้ต่อหัวสูงเป็นสองเท่าของไทยแต่จำนวนคนก็ยังไม่มากประมาณเกือบ 30 ล้านคนยังไม่ถึงครึ่งของไทย   และจากการสังเกตถึงราคาสินค้าที่ซื้อขายรวมถึงบริการต่าง ๆ  นั้นผมรู้สึกว่ามีราคายุติธรรมไม่ใช่แบบในยุโรปหรือประเทศนอกเอเซียบางแห่งที่ตัวเลขรายได้ต่อหัวสูงแต่ซื้อสินค้าได้น้อยซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่า  “รวยไม่จริง”   ในกรณีของสิงคโปร์หรือมาเลเซียนั้น  ผมเชื่อว่าเขารวยกว่าเราจริง

          ความ “เจริญ”  อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเห็นได้ชัดก็คือสภาพของบ้านเมืองโดยเฉพาะตึกรามบ้านช่อง  ถนนหนทางและสาธารณูปโภคต่าง ๆ  ของสิงคโปร์และมาเลเซียนั้นเหนือกว่าไทยมาก  ข้อแรกก็คือ  ถนนของเขานั้นมีมากและเป็นแนวเดียวกับอังกฤษหรือยุโรปที่มี “พรุน” ไปหมด  รถทั้งหลายไม่ได้ออกมาจากซอยและเข้าสู่ถนนหลักไม่กี่เส้นที่ทำให้รถติดมากอย่างในกรุงเทพ  ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ถนนของเขาสะอาดและเต็มไปด้วยต้นไม้ยืนต้นที่เป็นระเบียบและทำให้ไม่ใคร่ร้อนและดูสบายตา  ในส่วนของอาคารต่าง ๆ  นั้น  ทั้งในสิงคโปร์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซียต่างก็ดูสวยงามและมี  “ศิลปะ”  แตกต่างจากกรุงเทพที่มักจะสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยม “ทื่อ ๆ” เน้นการใช้สอยเป็นหลัก  นอกจากนั้นอาคารขนาดเล็กประเภท  “ตึกแถว” ขายสินค้าจิปาถะที่เห็นกันเต็มเมืองอย่างในบ้านเราก็มีน้อยมาก  ร้านโชว์ห่วยหรือร้านสะดวกซื้อของเขาจึงมักจะสิงหรืออยู่ในตึกใหญ่และก็มีไม่มากเหมือนอย่างในเมืองไทย  ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเขาคง “ได้มา” จากอังกฤษที่ได้ “วางรากฐาน” ให้กับอาณานิคมสองแห่งนี้มาอย่างดี

          มาในเรื่องของตลาดหุ้นนั้น  ความแตกต่างที่ชัดเจนจากเมืองไทยที่ผมเห็นก็คือ  ตลาดของสิงคโปร์และมาเลเซียดูเหมือนว่าจะถูก “ครอบงำ”  โดยนักลงทุนสถาบัน  ความสนใจของนักลงทุนส่วนบุคคลมีน้อย  ผมไม่ได้ดูราคาและความเคลื่อนไหวของหุ้นต่าง ๆ  ในตลาด  แต่จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของตลาดและคนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองตลาดดูเหมือนว่าในตลาดหุ้นของเขาจะไม่ใคร่มีหุ้นตัวเล็กที่หวือหวาที่ราคาปรับตัวมากมายพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่มากยิ่งกว่าหุ้นยักษ์ระดับประเทศ  และนั่นทำให้การซื้อขายหุ้นของทั้งสองแห่งไม่ใคร่จะมี  “สีสัน”  ช่วงที่เราไปที่สิงคโปร์นั้น  หุ้นที่สร้างสีสันและกล่าวขวัญกันมากก็คือหุ้นของเบียร์ช้างของคนไทยที่ไปเทคโอเวอร์หุ้น F&N  และในช่วงที่เราอยู่ที่มาเลเซียนั้น  เขาบอกกับเราว่าเขา  “อิจฉา” ที่ตลาดหุ้นไทยนั้นมีปริมาณการซื้อขายสูงและมีความคึกคักมากซึ่งเป็นผลจากการที่เรามีนักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนส่วนบุคคลมาก  ถ้าจะสรุปก็คือ  ตลาดหุ้นไทยนั้นมีความผันผวนและมีการเก็งกำไรสูงกว่าตลาดหุ้นของสิงคโปร์และมาเลเซียมาก  สำหรับนักลงทุนที่ชอบเล่นหุ้นแบบ  “ได้เสีย” แล้ว  ผมคิดว่าตลาดหุ้นทั้งสองแห่งนี้คงไม่น่าจะ “สนุก” นัก

          พูดถึงหุ้นที่น่าสนใจสำหรับผมแล้ว  ในตลาดหุ้นสิงคโปร์  ผมคิดว่ากิจการที่น่าจะมีความเข้มแข็งแข่งขันได้ในระดับโลกอย่างน้อยมีสองสามประเภทนั่นคือ  สถาบันการเงินที่สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางการเงินโลก  แบงค์ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์นั้นใหญ่กว่าแบงค์ใหญ่ที่สุดในไทยหลายเท่า  ราคาหุ้นเองก็ไม่แพง  ค่า PE อยู่ในระดับสิบเท่าต้น ๆ  ในขณะที่ค่า PB ก็เพียงหนึ่งเท่าต้น ๆ  ปันผลก็ไม่น้อยกว่าแบงค์ไทย  ถัดจากสถาบันการเงินก็น่าจะเป็นพวกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ   ที่เป็นเจ้าของตึกหรูขนาดใหญ่จำนวนมากในสิงคโปร์ที่เป็นเกาะที่ขาดแคลนที่ดินที่ราคาน่าจะปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ ในระยะยาว  นอกจากนั้น  หุ้นที่น่าสนใจเนื่องจากความก้าวหน้าของสิงคโปร์ก็คือกิจการโรงพยาบาลที่สิงคโปร์มีความสามารถในการแข่งขันไม่แพ้ใครในโลก

          ในส่วนของมาเลเซียนั้น  ผมคิดว่ามีหุ้นอยู่กลุ่มหนึ่งที่ผมไม่ได้มีโอกาสพบผู้บริหารก็คือ  กิจการเกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มที่มาเลเซียมีความได้เปรียบในระดับโลก  น้ำมันปาล์มนั้นสามารถนำไปใช้บริโภคได้ทั้งในด้านอาหารคนและการใช้เป็นไบโอดีเซลที่มีราคาแข่งขันกับน้ำมันประเภทอื่นได้  และด้านของอาหารและพลังงานนั้นก็เป็นอุตสาหกรรมที่น่าจะโตต่อเนื่องในระยะยาว  ที่สำคัญราคาน้ำมันปาล์มที่ตกต่ำในช่วงนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นได้   นอกจากน้ำมันปาล์มแล้ว  ธุรกิจที่ทำอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการ  “สร้างเมืองใหม่”  ที่อยู่ติดกับสิงคโปร์ก็น่าสนใจค่าที่ว่าสิงคโปร์นั้นขาดแคลนที่ดิน  ดังนั้น  คนสิงคโปร์ก็อาจจะสนใจมาซื้อที่และอสังหาริมทรัพย์ในเขตมาเลเซียที่อยู่ห่างออกไปแค่สะพานข้ามช่องแคบที่แบ่งระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย  นอกจากนั้น  หุ้นที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลของมาเลเซียเองก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกับในกรณีของสิงคโปร์  เหตุผลนั้นนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว  ยังอาจจะเป็นเพราะการเป็นประเทศมุสลิมที่ทำให้พวกเขาสามารถดึงดูดคนไข้ชาวมุสลิมทั่วโลกที่มาจากประเทศที่ระบบการรักษาพยาบาลยังไม่ได้มาตรฐานด้วย
          ปัจจัยในเรื่องของการเติบโตของเศรษฐกิจเรื่องหนึ่งก็คือในเรื่องของโครงสร้างของประชากร

ขณะนี้สิงคโปร์มีปัญหาในเรื่องที่มีคนเกิดน้อยลงมากจนรัฐบาลสิงคโปร์ต้องรณรงค์ให้คนมีลูกมากขึ้นแต่ก็ไม่ใคร่สำเร็จ  อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลสิงคโปร์ก็ส่งเสริมให้คนมาอาศัยและเป็นประชาชนของสิงคโปร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีเงินหรือเป็นคนที่มีคุณภาพสูง  ตัวอย่างเช่น จิม โรเจอร์ นักลงทุนที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็อพยพมาเป็นพลเมืองของสิงคโปร์  นอกจากนั้น รายชื่อคนรวยระดับโลกบางคนก็เริ่มเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสิงคโปร์เนื่องจากระบบภาษีที่เอื้ออำนวยรวมถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตในสิงคโปร์นั้นสูงไม่แพ้ที่ใดในโลก  ในส่วนของมาเลเซียนั้น  ประชากรมาเลเซียค่อนข้างจะมีอายุน้อย  คนหนุ่มสาวมีจำนวนมาก  ขณะที่เดินเล่นในมอลผมเองสังเกตเห็นว่ามีเด็กวัยรุ่นจำนวนมาก  ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสายมาเลย์เดินมาเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่  ส่วนหนึ่งที่คนเกิดมากอาจจะเป็นเพราะศาสนาอิสลามที่อาจจะไม่นิยมการคุมกำเนิดก็อาจจะเป็นได้  ดังนั้น  สำหรับมาเลเซียแล้ว  การเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะไปได้ยาวกว่าเมืองไทยที่อัตราคนเกิดน้อยลงและคนแก่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับประชากรโดยรวม
          ผมเองยังไม่มีการลงทุนในตลาดหุ้นทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์  ที่จริงผมน่าจะสนใจที่จะศึกษาและลงทุนในตลาด AEC มากกว่านี้ถ้าไม่ใช่เพราะว่าเรายังไม่ยกเว้นภาษีจากปันผลที่ได้รับจากตลาดต่างประเทศ  จริงอยู่  ในตลาดหุ้นไทยเราก็ต้องเสียภาษีจากปันผลแต่เราสามารถที่จะให้หัก ณ. ที่จ่ายและไม่ต้องนำมาคิดรวมกับรายได้ปกติ  ซึ่งทำให้เป็นภาระหลาย ๆ อย่าง  และแม้ว่าเราจะสามารถ  “เลี่ยง” ภาษีนี้ได้ทางเท็คนิค  แต่ผมก็ยังไม่อยากทำ  ผมได้แต่หวังว่าวันหนึ่งรัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ซึ่งจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้น AEC เป็นที่นิยมมากกว่านี้ และนั่นจะทำให้ตลาด AEC รวมกันอย่างแท้จริง

Posted by nivate at 1:51 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor 

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/04/01/1272


ออนไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com

<a href="https://www.youtube.com/v/bwYBc-FEi4A" target="_blank" class="new_win">https://www.youtube.com/v/bwYBc-FEi4A</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/DJReHkPOMLc" target="_blank" class="new_win">https://www.youtube.com/v/DJReHkPOMLc</a>