Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Tuesday, 16 March 2015
Synthetic Growth

ในภาวะตลาดหุ้นแบบ “กระทิง” หรือภาวะที่ตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงนั้น  หุ้นที่จะปรับตัวขึ้นเร็วและมากกว่าปกติมาก ๆ  ก็คือหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการดีขึ้นมากหรือ “คาดว่า” จะมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างโดดเด่นในอนาคตอันใกล้  คนที่เข้ามา “เล่น” หุ้นกลุ่มนี้จะบอกว่ามันเป็น  “หุ้นเติบโต”  หรือเป็น  “Growth Stock”  ซึ่งสามารถที่จะมีราคาแพงกว่าหุ้นทั่วไปได้  ดังนั้น  ค่า PE ของมันจึงสามารถที่จะสูงได้  บางทีเป็น 100 เท่า  เพราะอนาคตเมื่อกิจการมีกำไรโตขึ้นเร็วมาก  ค่า PE ก็จะลดลงมาเอง  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนที่  “กล้าได้กล้าเสีย” แล้ว  การหาหุ้นที่จะ  “โตเร็ว” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าปัจจัยอย่างอื่นในยามที่ตลาดกำลังร้อนแรง  หุ้นที่กำไรทรง ๆ หรือโตช้านั้น  แม้ว่าจะมีความมั่นคงสม่ำเสมอและบริษัทมีฐานะที่แข็งแกร่งในทางการตลาดหรือการเงินจึงไม่อยู่ในสายตา  เพราะหุ้นพวกนี้ราคาขึ้นช้าหรือไม่ไปไหน  เหนือสิ่งอื่นใดราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้ถูกด้วย

    ส่วนตัวผมเองนั้น  ผมเชื่อว่าการเจริญเติบโตของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญมากเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม  ความมั่นคงและฐานะทางการแข่งขันทางการตลาดของกิจการก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  หุ้นที่เพียงแต่โตขึ้นโดยที่ความสามารถในการแข่งขันไม่ได้เหนือกว่าคู่แข่งอื่นอย่างถาวรนั้น  ผมคงไม่ให้ราคาที่แพงมากนัก  ผมกลัวว่าการเจริญเติบโตของบริษัทอาจจะไม่ยาวนานเนื่องจากคู่แข่งก็จะเข้ามาแข่งขันเพิ่มและทำให้การเจริญเติบโตในอนาคตถดถอยลง  นอกจากนั้น  ผมก็ยังมักจะมองการเติบโตที่รวดเร็วและสูงกว่าปกติด้วยสายตาของคนที่  “ขี้สงสัย” หรือ “ระแวง”  ว่า  มันจะไม่สามารถโตแบบนั้นได้ยาวหรือบางทีก็คิดว่ามันไม่ใช่การเติบโตที่แท้จริง  มันอาจจะเป็นการ  “เติบโตเทียม”  หรือมันอาจจะเป็นการเติบโตที่ “สร้าง” หรือ “สังเคราะห์” ขึ้นมาอย่างตั้งใจซึ่งผมอยากจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  “Synthetic Growth” เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทโตเร็วมากในระยะสั้น   แต่จริง ๆ  แล้วมันอาจจะไม่ดีหรือไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว

    Synthetic Growth(SG)  แบบแรกที่มักทำกันในช่วงตลาดบูมก็คือ  การเทคโอเวอร์หรือการซื้อหรือควบรวมกิจการ  นี่เป็นการเติบโตที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในกิจการหรือที่เรียกว่า Organic Growth แต่เป็นการเติบโตจาก “ภายนอก” ที่ทำได้เร็วและง่าย   วิธีการเทคโอเวอร์บริษัทอื่นที่จะทำให้บริษัทดูเหมือนโตอย่างมี “คุณภาพ”  คือโตทั้งรายได้และกำไรและเป็น SG อย่างง่ายที่สุดก็คือการที่หุ้นของบริษัทที่มีราคาแพงคือบริษัท A มีค่า PE สูงลิ่วเช่นมีค่า PE 40 เท่า  ไปเทคโอเวอร์บริษัทอื่นคือบริษัท B ที่หุ้นมีราคาถูกกว่า  เช่น มีค่า PE 20 เท่า โดยการแลกหุ้นกัน  ซึ่งผลก็คือ  รายได้ของบริษัท A จะสูงขึ้น  เช่นเดียวกับกำไรต่อหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ  เหตุการณ์ที่บริษัท A ดูเหมือนจะโตอย่างรวดเร็วโดยการเทคโอเวอร์บริษัท B นั้น  จะทำให้คนเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท A ทำให้ราคาหุ้นบริษัท A สูงขึ้นและค่า PE ก็อาจจะสูงขึ้นไปอีก   ซึ่งก็ทำให้บริษัท A สามารถเทคโอเวอร์บริษัทอื่นต่อได้อีก  ดังนั้น  SG โดยการเทคโอเวอร์จึงเป็นวิธีที่คนนิยมกันมากในช่วงหุ้นบูมจัด

    SG แบบที่สองนั้น  คือการสร้างรายได้และความคาดหวังที่จะทำกำไรทันทีหรือในระยะสั้น  โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว  ตัวอย่างเช่น  บริษัทอาจจะสร้างรายได้โดยการลดราคาสินค้าหรือบริการเพื่อแย่งชิงลูกค้า  ทำให้บริษัทมีรายได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ตัวอย่างเช่น  บริษัทรับเหมาก่อสร้างเข้าประมูลงานในราคาต่ำ  หรือบริษัทลดราคาสินค้าลงมามากเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นมาก  ในกรณีแบบนี้  เราก็จะเห็นว่า บริษัทโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากและทั้ง ๆ  ที่ผลกำไรอาจจะยังไม่ออกมา  นักลงทุนก็อาจจะดูว่าบริษัทจะโตเร็วมากและเข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้สูงขึ้นไปได้มากในระยะสั้น  แต่เมื่อผลประกอบการออกมาพบว่าบริษัทไม่ได้กำไร  ราคาหุ้นก็อาจจะถูกกระทบได้

    การเร่งการเติบโตในแบบของ SG แบบที่สองนั้น  อาจจะมาจากธุรกิจที่เรียกว่า  “บินก่อน” ขอประทานโทษ  น่าจะเรียกว่า  “กินก่อนผ่อนทีหลัง” นั่นก็คือกิจการที่  “รายได้มักจะมาก่อนแต่ต้นทุนบางส่วนจะเกิดขึ้นทีหลัง”  ตัวอย่างเช่น  การปล่อยสินเชื่อทุกประเภทที่รายได้มักจะเกิดขึ้นทันทีที่ปล่อยกู้  แต่หนี้เสียซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญตัวหนึ่งนั้น  มักจะตามมาทีหลัง  ดังนั้น บริษัทที่ปล่อยกู้หรือสถาบันการเงินนั้น  สามารถที่จะเร่งการเติบโตโดยการทำ SG ได้เสมอ  ซึ่งก็จะทำให้บริษัทดูเหมือนจะโตเร็วมากในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะอันตราย  เพราะมันเป็น Synthetic Growth ที่ไม่คงทนเหมือนการเติบโตจริง ๆ

    พูดถึงเรื่อง “บินก่อนผ่อนทีหลัง” นั้น  ผมยังจำได้ว่าครั้งหนึ่ง  เราเคยมีบริษัทที่ขาย    “สมาชิกฟิตเนสตลอดชีพ” ในราคาถูก  และอีกบริษัทหนึ่งขายเวลาอินเตอร์เน็ตแบบเป็น “ซอง” คือต้องจ่ายเงินซื้อเวลาล่วงหน้าในราคาถูกในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายมากนัก  ทำให้ทั้งสองบริษัทดูมีการเติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นหุ้นเติบโตเร็วเป็น Growth Stock ที่แม้แต่ VI ก็ยังเชียร์กันมาก  แต่แล้วในที่สุดทั้งสองบริษัทก็ล้มเหลวเมื่อความจริงปรากฏในภายหลัง

    การทำ SG แบบที่สามนั้น  อาจจะมาจากการปรับระบบการลงบัญชีที่ทำให้รายได้หรือกำไรถูกรับรู้เร็วและต้นทุนสำคัญเช่นค่าเสื่อมราคานั้นถูกเลื่อนออกไปให้ช้าลง  นี่เป็นสิ่งที่บางทีก็ทำได้ไม่ผิดอะไร  แต่ผลก็คือ  ในระยะสั้น  รายได้และกำไรก็จะโดดเด่นขึ้น  แต่ในระยะยาวแล้วก็จะลดลง  บริษัทที่ทำแบบนี้  มักจะเป็นกิจการที่มีทรัพย์สินถาวรมากและเป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำธุรกิจ  ซึ่งทำให้การปรับระบบการลงบัญชีนั้นมีผลต่อผลประกอบการที่รายงานอย่างมีนัยสำคัญ  ตัวอย่างที่เราเคยเห็นก็น่าจะรวมถึงบริษัทที่เคยมีข่าวฉาวโฉ่อย่าง Enron ซึ่งทำธุรกิจพลังงาน  และ World Com ที่ทำธุรกิจสื่อสาร ในตลาดหุ้นอเมริกาซึ่งต่างก็มีทรัพย์สินถาวรจำนวนมากและต่างก็ใช้วิธีการลงบัญชีแบบที่ทำให้สามารถทำ SG ได้  อย่างไรก็ตาม  ในทั้งสองกรณีนั้น  ดูเหมือนว่าจะทำแบบผิดกฎหมายด้วย  และก็อย่างที่เห็น  ในช่วงต้นนั้น  หุ้นของทั้งสองบริษัทต่างก็วิ่งระเบิดเป็นขวัญใจของนักลงทุน  แต่เมื่อเรื่องแดงขึ้น  มันก็ล้มไม่เป็นท่า

    SG แบบสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงแต่ไม่ใช่ทั้งหมดก็คือการตั้งใจโกงของผู้บริหาร  นี่ก็มีวิธีการหลายแบบ  สิ่งที่แตกต่างจากการโกงบริษัทธรรมดาก็คือ  นี่คือการโกงเงินจากทั้งบริษัทและนักเล่นหุ้นด้วย  วิธีการยอดนิยมก็คือ  การขายสินค้าให้แก่ตัวเองหรือนอมินีโดยเฉพาะที่ติดตามตัวตนยาก  เช่น  อาจจะอยู่ในต่างประเทศ  การขายนี้จะมียอดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้กำไรเพิ่มขึ้นทันทีแต่ปัญหาก็คือ  มันเป็นการขายเชื่อไม่มีเงินสดจริง  มันเป็นการทำ SG   ผลก็คือ  บริษัทกลายเป็นบริษัทที่  “โตเร็ว”  และราคาหุ้นก็ถูกบิดราคาขึ้นไปสูงทำให้เจ้าของสามารถขายหุ้นทำกำไรอย่างงดงาม  นอกจากหุ้นแล้ว  เจ้าของก็จะได้เงินสดที่ได้จากการขายสินค้าที่ตนเองซื้อจากบริษัทด้วย  เมื่อทุกอย่างปรากฏ  บริษัทก็ล้มเหลว  ส่วนเจ้าของก็หนีไปหาความสุขในต่างประเทศที่ทางการไม่สามารถจับได้  นี่ก็เป็นกรณีของหลายบริษัท  หนึ่งในนั้นก็เป็นบริษัทดีลเลอร์ขายรถยนต์ที่เป็นหุ้นยอดนิยมอยู่พักหนึ่ง

    ประเด็นสำคัญที่ควรจะรู้สำหรับ VI ก็คือ  เราต้องเข้าใจว่าการเติบโตของบริษัทที่เราดูอยู่นั้นมันเป็นการเติบโตที่แท้จริงหรือเป็น Synthetic Growth  ถ้าเราคิดว่ามันเป็น SG เราต้องเข้าใจว่ามันอาจจะไม่โตแบบถาวรหรือคงทน  วันหนึ่งมันก็ต้องหยุดหรือถอยหลังได้  ถ้าราคาหุ้นแพงมากแล้ววัดจากค่า PE และค่าอื่น ๆ  การเข้าไปลงทุนนั้นอาจจะไม่คุ้มค่า  นั่นก็คือ  ถ้าบริษัทโตต่อไปได้  เราก็อาจจะแค่เสมอตัว  แต่ถ้าบริษัทเริ่มชะลอตัวลงเราอาจจะไม่ได้อะไร  แต่ถ้าบริษัทแย่ลงหรือล้มเหลว  มันก็อาจจะเป็นหายนะของการลงทุน

Posted by nivate at 10:49 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/10/1537



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 23 March 2015
หน้ามือ-หลังมือ

คนที่ “ผ่านโลกมามาก” ทั้งที่เป็นประสบการณ์โดยตรง  และการอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์ในหลาย ๆ  ด้านอย่างผมนั้น  มักจะมองอะไรต่าง ๆ  อย่าง  “ปลงอนิจจัง”  มากกว่าคนที่ยังมีอายุน้อยและผ่านประสบการณ์ทั้งโดยตรงและทางอ้อมน้อยกว่า  เหตุผลก็เพราะผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ  มากกว่า  ความเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นนั้น  จำนวนมากเป็นเรื่องของรสนิยมและแฟชั่นฉาบฉวยที่เปลี่ยนรวดเร็วแค่ข้าม “ฤดู”  ไม่กี่เดือนหรือปีสองปีและทุกคนก็เชื่อว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนั้น    บางเรื่องเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปีที่จะค่อย ๆ  เปลี่ยนไปและคนบางส่วนก็เชื่อว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นแม้ว่าคน “รุ่นเก่า” บางส่วนอาจจะ “ไม่ยอมรับ”  และเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องของความเชื่อที่ถูก  “ปลูกฝัง” ลงในสมอง  “ส่วนลึก”  ที่คนทุกคนต่างก็เชื่ออย่างมั่นคงว่ามันเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอนไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้นั้น  ผมก็เห็นมันเปลี่ยนไป  บางครั้ง  จาก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”  ดังนั้น  เวลาที่มีคนมาบอกว่าโลกหรือประเทศไทยหรือบริษัทหรืออะไรก็แล้วแต่  จะต้องหรือจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างจริงแท้แน่นอน  ด้วยเหตุผลที่ฟังดูแล้วน่าเชื่อถือ  มีหลักฐาน  เป็น “วิทยาศาสตร์”  บางครั้งผมก็จะไม่ค่อยเชื่อ  หรือไม่ก็ไม่นำมาเป็นประเด็นที่จะใช้มันในการตัดสินใจหรือประกอบการวิเคราะห์อย่าง  “เอาเป็นเอาตาย”  ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ครั้งหนึ่งคนคิดและเชื่ออย่างหนึ่ง  แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม

    ย้อนหลังไปแค่ 3-4 ปี ที่ราคาน้ำมันดิบโลกวิ่งขึ้นไปสูงมากร้อยกว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรล  คนก็เริ่มพูดว่าน้ำมันจะต้องมีราคาสูง  “ตลอดกาล”  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันต่ำกว่าร้อยเหรียญนั้น  “ลืมไปได้เลย”  เหตุเพราะบ่อน้ำมันจะค่อย ๆ  แห้งลง  การขุดหาบ่อใหม่จะมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ  เหนือสิ่งอื่นใด  โลกไม่ได้เจอบ่อน้ำมันขนาดใหญ่มาหลายสิบปีแล้ว  โลกประสบกับ  “Peak Oil” หรือปริมาณน้ำมันที่ขุดได้สูงสุดแล้วและกำลังลดลงเรื่อย ๆ  ในขณะที่การใช้น้ำมันก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดยักษ์อย่างจีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย เป็นต้น

    แต่แล้วราคาน้ำมันดิบก็ “ดิ่งลงเหว”  เหลือแค่ 50-60 เหรียญในเวลาอันสั้นในปีนี้  เหตุผลก็เพราะ  อเมริกาสามารถขุดน้ำมันบนบกด้วยวิธีใหม่ที่เรียกว่า Fracking ซึ่งทำให้ได้น้ำมันมากด้วยต้นทุนต่ำ  และทำให้อเมริกากลายเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่ทำให้ปริมาณการผลิตโลกมากกว่าความต้องการใช้  และนี่ทำให้ราคาน้ำมันลดลง  แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  มีความเชื่อกันใหม่ว่า  โอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันขึ้นไปสูงอย่างเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ยาก  เพราะโลกอาจจะเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ  รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในอนาคตจะเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรีหรือใช้ไฮโดรเจน   การปั่นไฟเพื่อใช้ในบ้านและอุตสาหกรรมก็จะเปลี่ยนไปใช้พลังแสงแดดหรือลมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้นทุนที่ต่ำลงเนื่องจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น  ดังนั้น  อนาคตของน้ำมันจึงกำลัง  “ริบหรี่” ตลอดกาล

    แม้แต่บัฟเฟตต์เองก็อาจจะเคยจับประเด็นเรื่องราคาน้ำมันที่อาจจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่มีลงและเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับการขุดหาน้ำมันเมื่อหลายปีก่อน  แต่ผมเข้าใจว่าตอนนี้เขาถอนการลงทุนไปหมดแล้ว  หลายคนอาจจะมีความเชื่อใหม่ที่มั่นคงว่า  “พลังงานทางเลือก” ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากชีวมวล  พลังงานแสงแดดและลม จะเป็นสิ่งที่จะเติบโตไปไม่มีหยุดเนื่องจากมันคือแหล่งพลังงานที่ใช้ได้  “ไม่มีวันหมด”  และดังนั้น  การลงทุนกับมันจะเป็นสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง  ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า  นี่คือเรื่องของ  “อนิจจัง”  เรื่องใหม่  เป็นไปได้ที่อีกร้อยปีข้างหน้า  โลกจะใช้พลังงานดังกล่าวมาก  แต่เส้นทางที่ไปและกิจการที่จะรุ่งเรืองนั้น  อาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคิดอย่างสิ้นเชิงก็ได้

    ครั้งหนึ่ง  อาจจะซัก 30-40 ปีที่แล้ว  คนกลัวเรื่องเงินเฟ้อกันมาก  เพราะเงินเฟ้อบางทีสูงถึงปีละ 10% ก็มี  เงินเฟ้อเป็น “ปีศาจ” ที่หลอกหลอนคนทุกชาติ  การต่อต้านเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างเอาเป็นเอาตาย   เพราะเงินเฟ้ออาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศและโลกล่มสลาย  แต่คนก็เชื่อกันว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ต้อง  “อยู่กับโลก”  เป็นไปไม่ได้ที่เงินจะไม่เฟ้อ  “คนรุ่นพ่อใช้เงินกันวัน 1 บาทแต่เดี๋ยวนี้ 100 บาทนั้นกาแฟหรูซักแก้วก็ยังซื้อไม่ได้”  แต่เดี๋ยวนี้  คนกลับกลัวว่าเงินจะไม่เฟ้อ  หลายประเทศต้องพยายามทำให้เงินเฟ้อเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ  การที่จะให้เงินเฟ้อถึง 2-3% นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับหลายประเทศ  หลายคนเชื่อว่าโอกาสที่โลกจะกลับมามีเงินเฟ้อสูง ๆ นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้วสำหรับประเทศที่เจริญและไม่ใช่เศรษฐกิจปิดยกเว้นแต่ประเทศจะเกิดวิกฤติรุนแรงและเงินท้องถิ่นหมดค่าลง

    ความคิดเรื่องของคนหรือประชากรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พลิก  “หน้ามือเป็นหลังมือ”   สมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นนั้น  ทุกคนบอกว่า  “ลูกมากจะยากจน”  นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่เป็นเรื่องของประเทศและเศรษฐกิจ  การลดการมีลูกหรือมีเด็กเกิดใหม่นั้นเป็น  “ภารกิจสำคัญ” ของประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย  เพราะ  “ประเทศจะพัฒนาไปไม่ได้ถ้ายังมีคนเกิดมาก ๆ”  ประเทศจีนเองถึงกับเป็นนโยบายของรัฐบาลที่บังคับให้ทุกครอบครัวมีลูกได้เพียงคนเดียว   เดี๋ยวนี้เราบอกว่าประเทศที่จะเติบโตได้เร็วนั้นก็คือประเทศที่มีประชากรมาก  มีคนหนุ่มสาวหรือเด็กมาก  ประเทศที่คนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและมีเด็กเกิดใหม่น้อยนั้น  โอกาสที่จะโตจะยากและในที่สุดก็จะลดลง  ตัวอย่างเช่น  ญี่ปุ่นและประเทศในยุโรปตะวันตก  สิงคโปร์เองตอนนี้ต้องส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น  ตอนนี้มีแต่คนคิดว่าเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” ที่ประเทศที่คนแก่ตัวลงแล้วจะมีประชากรเกิดใหม่มากขึ้น

    เรื่องของสุขภาพเองนั้น  เรามีความเชื่อที่  “ฝังหัว” มานานมากว่าคลอเรสเตอรอลทำให้เป็นโรคหัวใจ  และดังนั้น  เราควรจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลสูงโดยเฉพาะที่เป็นคนสูงอายุ  ดังนั้น  เวลาผมดื่มนมผมจึงมักเลือกนมพร่องมันเนย  ผมจะจำกัดการกินไข่ไม่เกินสัปดาห์ละ 2-3 ฟอง  ผมหลีกเลี่ยงเนื้อมัน ๆ และหนังไก่  ผมหลีกเลี่ยงกะทิ ทั้ง ๆ  ที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ผมชอบกิน  แต่คลอเรสเตอรอลผมก็ยังสูงกว่ามาตรฐานอยู่ดี  ดังนั้นผมต้องกินยาลดคลอเรสเตอรอลทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคเส้นเลือดอุดตัน  แต่ล่าสุดมี  “ผลการศึกษา” ที่พบว่าการกินอาหารไม่มีอะไรเกี่ยวกับระดับของคลอเรสเตอรอลในกระแสเลือดของเรา  เพราะคลอเรสเตอรอลส่วนใหญ่นั้นถูกผลิตขึ้นภายในร่างกายของเราอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ  อยากกินอะไรก็กินไป  มันไม่ได้เพิ่มหรือลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด  ที่จริง  การกินไข่วันละหลาย ๆ ฟองเป็นสิ่งที่ดี  มันมีสารอาหารที่วิเศษที่ช่วยการทำงานของร่ายกายและลดการเป็นอัลไซเมอร์  แต่ถึงวันนี้ผมเองก็ยังสงสัยว่า “ผลการศึกษา” เก่ามันผิดหรืออย่างไร?  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ยังไม่กล้ากินไข่หรืออาหารมันมากนัก  เพราะยังกลัวว่าอาจจะมี “ผลการศึกษา” ใหม่กว่าที่จะทำให้ผมต้อง “ช๊อก” เพราะเราเป็นโรคหัวใจเนื่องจาก “กินไม่ระวัง” เพราะเชื่อการศึกษาใหม่

    ในชีวิตเรานั้น  ผมคิดว่าเราถูกข้อมูลข่าวสาร  “ล้างสมอง”  ทุกวันตั้งแต่เด็กจนถึงแก่  ข้อมูลบางอย่างก็ไม่ได้มีความลำเอียงอะไรแต่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง  มันถูกประกาศหรือปล่อยออกมาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการแต่หลังจากนั้นมันก็อาจจะ “ติด” จนคนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอน  ข้อมูลหลายอย่างก็อาจจะถูกปล่อยออกมาโดยมีความตั้งใจเพื่อให้คนเชื่อด้วยเหตุผลที่มันเป็นประโยชน์ต่อคนปล่อยและมันก็ทำให้เราและสังคมเชื่อ   ผมเองคิดว่านักลงทุนจำเป็นที่จะต้องแยกแยะว่าอะไรเป็นของจริงแท้แน่นอน  ซึ่งนี่ก็ควรเป็นเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์  อะไรที่อาจจะไม่จริงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่ออย่างไม่มีคำถาม  นี่ก็คือสิ่งที่มักจะเป็นวิทยาศาสตร์ผสมกับศิลปะซึ่งก็มักจะรวมถึงเรื่องการแพทย์หรือสุขภาพ  และอะไรที่อาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงเท่ากันซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของศิลปะมากกว่าวิทยาศาสตร์ซึ่งน่าจะรวมถึงพฤติกรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ  ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงเวลาหนึ่ง  และสุดท้ายคือเรื่องที่เปลี่ยนไปได้แค่ข้ามคืนซึ่งก็คือเรื่องที่เป็นศิลปะล้วน ๆ  เช่นเรื่องของแฟชั่นหรือความเห่อของคน

 
Posted by nivate at 9:44 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/23/1542




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 30 March 2015
วิชาเทพ-วิชามาร


 คนที่เคยอ่านหนังสือ “กำลังภายในจีน” ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนยุคก่อนจะต้องรู้จักคำว่า  “วิชามาร” ซึ่งเป็นวิชาความรู้ในการต่อสู้ที่รุนแรง  ร้ายกาจ โหดเหี้ยม  และบางครั้งก็มักจะไม่คำนึงถึง  “จรรยาบรรณ” หรือ “กติกา” ในการต่อสู้  และคนที่ใช้วิชาแบบนี้ก็มักจะเป็นผู้ร้ายหรือเป็น  “มาร”  ส่วนคนที่เป็นพระเอกหรือคนดีที่เป็น  “เทพ”  นั้นก็มักจะใช้วิชาอีกแบบหนึ่งที่มีลักษณะตรงกันข้ามในเรื่องของรูปแบบ  เช่น  ไม่รุนแรงโหดเหี้ยม  แต่อาจจะอาศัยแรงของคู่ต่อสู้ที่ทำให้เขา  “แพ้ภัยตัวเอง”  วิชาเทพนั้นมักจะ  “อ่อนโยนและสงบนิ่ง” กว่า  นอกจากนั้นก็มักจะต้องยึดถือ “จรรยาบรรณ”  ในการต่อสู้  ไม่คดโกงหรือลอบกัดฝ่ายตรงข้าม  การต่อสู้ระหว่างมารและเทพนั้น  แม้ว่าในระยะแรกดูเหมือนมารจะได้เปรียบ  แต่ในท้ายที่สุดแล้ว  เทพก็มักจะเป็นฝ่ายชนะ

    ผมเองนั้นไม่ใช่คนที่ชอบอ่านหนังสือกำลังภายในเลย  อย่างไรก็ตาม  แนวคิดเรื่องวิชาเทพ-วิชามารนั้น  ผมคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการลงทุนได้ดี  สิ่งที่จะต้องประกาศไว้ก่อนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดก็คือ  ในเรื่องของการลงทุนนั้น  “วิชามาร” ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่เลวร้าย  และคนที่ใช้มันก็ไม่ใช่คนที่ไม่ดีเสมอไป  เช่นเดียวกัน  “วิชาเทพ”  เองก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป  และคนที่ใช้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่ดีเสมอไป   เช่นเดียวกัน  คนที่ใช้วิชาเทพมากก็ไม่ใช่ว่าจะต้องชนะ  และผู้ที่ใช้วิชามารเป็นหลักก็ไม่ใช่ว่าจะต้องแพ้  บ่อยครั้งมันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เช่นเดียวกับความสามารถของผู้ใช้  เหนือสิ่งอื่นใด  มีนักลงทุนน้อยคนที่จะใช้เฉพาะวิชามารหรือวิชาเทพเพียงอย่างเดียวในการลงทุน  ในบางโอกาส  แม้แต่คนที่ยึดถือวิชาเทพเป็นหลักมาก ๆ  ก็ยังใช้วิชามารเข้าเล่นด้วย  เช่นเดียวกัน  คนที่ดูเหมือนจะใช้วิชามารเป็นส่วนใหญ่ก็มักจะงัดวิชาเทพออกมาใช้  ดังนั้น  ความหมายที่ผมต้องการสื่อก็คือ  วิชาก็คือวิชา  มันเป็นกลาง  มันเป็นเสมือนอาวุธและลีลาที่ใครจะนำไปใช้ก็ได้ที่จะทำให้เขา  “ชนะ”

    ในเรื่องของการลงทุนนั้น  นิยามกว้าง ๆ  ที่ผมจะกำหนดว่าแบบไหนเป็นวิชามารและแบบไหนเป็นวิชาเทพนั้นจะล้อไปกับเรื่องของกำลังภายใน  หลัก ๆ  ก็คือ  ถ้าเป็นเรื่อง  “รุนแรง”  นั่นก็คือ  ลงทุนแล้วได้เสียมากและเร็วมาก  ก็จะถือว่าเป็น  “วิชามาร”  นั่นคือข้อแรก  ข้อสอง  ถ้าเป็นเรื่องที่ “ร้ายกาจ”  นั่นคือ  เข้าไปเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งแล้ว  เรา “ชนะ”  คือสามารถทำกำไรได้มโหฬาร  แต่คนที่ “แพ้” คือคนที่เล่นหุ้นตัวเดียวกันต้องขาดทุนอย่างหนัก  พูดง่าย  ๆ  คนที่ชนะ “กินเงินจากผู้แพ้”  แบบนี้ถือว่าเป็นวิชามาร  ตรงกันข้าม  ถ้าคนที่ชนะไม่ได้ได้เงินจากนักลงทุนคนอื่น   แต่ได้จากการที่บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้นมากทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและไม่ตกลงมาที่ทำให้คนอื่นขาดทุน

    นิยามข้อสุดท้ายก็คือ  เรื่องของความ “โหดเหี้ยม” และ/หรือ “ไร้จรรยาบรรณ”  นั่นก็คือ  การ “ปั่นหุ้น”  และการ  “ใช้ข้อมูลภายใน”  ในการลงทุน  นี่ถือว่าเป็น “วิชามาร”  ขั้นสุดยอดจริง ๆ  และคนที่เล่นแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็น  “มาร”  จริง ๆ  ในแง่ที่เป็นคนไม่ดี  และกรณีที่ทำมากจนเข้าข่ายผิดกฎหมายก็เสี่ยงที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญา  แต่สำหรับนิยามของผมเองนั้น  การปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายก็ต้องถือว่าเป็น “วิชามารขั้นสูง” ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้  และนิยามการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในนั้นเอง  ก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นสีเทา ๆ นั่นก็คือ  ถ้ามีการใช้กระบวนการในการปล่อยข่าวและ/หรือสร้างกระแสหรือภาพลักษณ์ของกิจการหรือหุ้นมากมายโดยที่มันไม่ใช่ความจริงหรือมีความไม่แน่นอนสูงเพื่อที่จะทำให้คนสนใจเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อที่จะผลักดันราคา  หรือมีการซื้อขายหุ้นนำเพื่อทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปรุนแรงเพื่อที่จะดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาร่วมวงซื้อขายอะไรทำนองนี้  แม้ว่าโดยนิยามทางกฎหมายอาจจะไม่ใช่การปั่นหุ้น  แต่โดยนิยามของผมแล้วมันก็คือการใช้วิชามาร

    มาดูกันว่าพฤติกรรมแบบไหนในการลงทุนที่เข้าข่ายการใช้ “วิชามาร” กันบ้าง  เบื้องต้นก็คือตามนิยามข้อแรกที่น่าจะเป็นวิชามารอย่างอ่อน  ผมคิดว่า  การลงทุนหรือเล่นหุ้นที่มีการใช้มาร์จินนั้น  เป็นการใช้วิชามารเพื่อที่จะเร่งผลตอบแทน  ยิ่งใช้มาร์จินสูงก็จะมีความรุนแรงหรือความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น  เช่นเดียวกัน  การกู้ยืมเงินจากพ่อแม่พี่น้องหรือญาติมาลงทุนรวมถึงการนำสินทรัพย์เช่นบ้านมาค้ำประกันเพื่อกู้เงินมาลงทุนต่าง ๆ  เหล่านี้ก็เป็นเรื่องการใช้วิชามารทั้งสิ้น  นอกจากนั้น  การลงทุนในตราสารการเงินที่มีความผันผวนสูงมาก ๆ  เนื่องจากลักษณะตราสารเองไม่ใช่ลักษณะของกิจการ  ตัวอย่างเช่นวอแร้นต์ที่ราคาแปลงสภาพสูงกว่าราคาของหุ้นแม่มาก  หรือการเล่นคอมโมดิตี้หรือพวกฟิวเจอร์หรือออปชั่นที่มีการวางเงินเพียงเล็กน้อยแต่มีระดับของการ  “พนัน”  สูงมาก  ผมก็ถือว่าเรากำลัง  “เล่นกับไฟ”  และดังนั้นมันจึงเป็นการใช้วิชามาร  ว่าที่จริง  การเข้าไปเล่นหุ้น IPO ในวันที่หุ้นเข้าตลาดในวันแรกในช่วงเร็ว ๆ นี้นั้น  ผมเองคิดว่ามันก็ไม่ห่างจากวิชามารมากนัก

    นิยามในข้อสองคือเรื่องของความ  “ร้ายกาจ” นั้น  ถ้าเกิดจากความตั้งใจของการเข้าไปไล่ราคาหุ้นเพื่อที่จะ “ปล่อยของ”  อย่างรวดเร็ว  นั่นก็คือการทำราคาหุ้นให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการต่าง ๆ  เพื่อที่ตนเองจะได้ขายในราคาสูงโดยที่รู้ว่าพื้นฐานของราคาหุ้นต่ำกว่านั้นมาก  ผลก็คือ  นักลงทุนคนอื่นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้อง  “บาดเจ็บ”  อย่างหนักเนื่องจากเข้าไปซื้อหุ้นที่แพงเกินพื้นฐานไปมากและต้องขายขาดทุนหนักหรือต้องติดหุ้นไปยาวนานมาก  ลักษณะแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้วิชามารอย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม  ยังมีการซื้อหุ้นและขายทำกำไรมากแต่คนอื่นขาดทุนอย่างหนักโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่ได้ตั้งใจ  นี่ก็คือการที่นักลงทุนเข้าไปเล่นหุ้นที่มีผลประกอบการที่มีความไม่แน่นอนสูงหรือมีวัฏจักรรุนแรง  พอเข้าไปแล้วราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปสูงมากอย่างรวดเร็ว   ซึ่งอาจจะเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของธุรกิจและ/หรือผลจากการซื้อหุ้นของเขาเอง  เขาจึงตัดสินใจขายหุ้นทิ้งอย่างรวดเร็วทำกำไรงดงามและทำให้ราคาตกลงอย่างหนักและทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเสียหาย  ในกรณีแบบนี้ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นเรื่องของวิชามารเหมือนกันแม้ว่าดีกรีจะอ่อนกว่าแบบแรก

    สุดท้ายคือนิยามของความโหดเหี้ยมและ/หรือไร้จรรยาบรรณในการลงทุน  นี่ก็คือการเล่นหุ้นในแบบที่อาจจะเป็นการเอาเปรียบคนอื่นอย่างชัดเจนเช่นการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้น  การเล่นหุ้นที่ใช้  “วิศวกรรมการเงิน” แบบวิชามาร  เช่น  การซื้อหุ้น PP หรือหุ้นใหม่ของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ๆ   การให้วอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก ๆ  ที่จะไดลูทหรือทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนในบริษัทน้อยลงมากในอนาคต  การแตกพาร์โดยไม่สมเหตุผล  และอื่น ๆ อีกมาก  แบบนี้ผมถือว่ามันเป็นเรื่องของการใช้วิชามารในการลงทุนหรือเล่นหุ้นทั้งสิ้น

    ถ้าจะถือว่าเซียนหุ้นระดับโลกคนไหนใช้วิชามารมากนั้น  ผมคิดว่า จอร์จ โซรอส เป็นคนหนึ่ง  เพราะการทำกำไรของโซรอสนั้น  บ่อยครั้งทิ้ง “หายนะ” ให้กับคนอื่น ๆ  อีกหลายคน  ส่วนคนที่ใช้วิชาเทพมากนั้น แน่นอน คือ วอเร็น บัฟเฟตต์  ที่ทำเงินโดยการเติบโตของกิจการที่เขาไปลงทุน  มีหุ้นน้อยมากที่บัฟเฟตต์ซื้อและขายทำกำไรได้งดงามแต่ในที่สุดคนที่ซื้อตามเจ๊ง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  บัฟเฟตต์ซื้อแล้วเขาแทบจะไม่เคยขายอย่างรวดเร็ว  จำนวนมากเขาถือมันไว้ตลอดชีวิต  บัฟเฟตต์นั้นได้เงินจากบริษัท  ไม่ได้ได้จากผู้ถือหุ้นคนอื่น

    ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ผมไม่รู้ว่าระหว่างคนที่ใช้วิชาเทพหรือคนที่ใช้วิชามารอย่างมีประสิทธิภาพนั้น  ใครทำกำไรหรือได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า  เป็นไปได้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นร้อนแรงและราคาหุ้นขึ้นเป็นกระทิงยาวนานนั้น  คนที่ใช้วิชามารเก่ง ๆ  น่าจะทำกำไรได้ดีกว่า  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวที่ตลาดหุ้นมักมีการขึ้นลงและมักจะมีช่วงที่เลวร้ายเป็นระยะ ๆ  คนที่ใช้วิชาเทพก็อาจจะสามารถทำผลงานเฉลี่ยได้ดีกว่าเช่นเดียวกัน  เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

Posted by nivate at 10:26 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/23/1542




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Tuesday, 7 April 2015
ฟองสบู่ (เล็ก ๆ) ของอสังหาริมทรัพย์

อาการที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นสูงติดต่อกันมายาวนานนั้น  ผมคิดว่าเป็นผลมาจากการที่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดต่อกันมายาวนาน  นักลงทุนบางส่วนไม่รู้จะฝากเงินในธนาคารหรือลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ไปทำไม  ดังนั้นพวกเขาจึงนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   แต่ไม่ใช่ตลาดหุ้นเท่านั้นที่ราคาเพิ่มขึ้น  อสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่เป็นคอนโดมิเนียมนั้น  ผมก็รู้สึกว่ามันมีราคาเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว  บางทีอาจจะไม่แพ้ตลาดหุ้นด้วยซ้ำ  นอกจากคอนโดมิเนียมแล้ว  ผมยังรู้สึกว่าอสังหาริมทรัพย์  “เชิงพาณิชย์”  ที่สามารถปล่อยเช่าได้ต่างก็ดูเหมือนว่าจะมีมูลค่าหรือราคาเพิ่มขึ้นมาก  และนั่นก็นำมาสู่การขยายตัวของคอนโดมีเนียมและอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ เช่น  ช็อบปิ้งมอล  และคอมมูนิตี้มอล เป็นต้น  ผมเองไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นสูงเกินไปหรือยัง  แต่เมื่อมองดูจากอาการต่าง ๆ  ที่ปรากฏเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ผมก็รู้สึกว่า  อย่างน้อยอสังหาฯเองก็น่าจะมี  “ฟองสบู่”  เล็ก ๆ  เกิดขึ้นแล้ว  และโอกาสที่ฟองสบู่จะ “แตก” ก็อาจจะมี  แม้ว่าการแตกของฟองสบู่อสังหาฯอาจจะไม่ได้รุนแรงและราคาอาจจะตกลงมาน้อย  แต่การขยายตัวของอสังหาฯในอนาคตก็อาจจะน้อยหรือซบเซาลงมากได้

    อาการ  “ฟองสบู่” ของอสังหาฯ  หรือว่าที่จริงเป็นอาการของทรัพย์สินเกือบทุกอย่างที่กำลังเป็นฟองสบู่นั้นมีหลายเรื่อง   อาการแรกก็คือ  ในการซื้ออสังหาฯ เช่นคอนโดหรือบ้าน  มีการปล่อยกู้สูงมาก  คนกู้อาจจะใช้เงินตัวเองเพียง 5-10%  อีก 90-95% เป็นเงินกู้  บางครั้งผมได้ยินว่าเราสามารถซื้อบ้านโดยไม่ต้องจ่ายเงินดาวน์เลย  แถมมีเงินให้อีก  เราแค่ลงนามในสัญญาเงินกู้แล้วก็คอยผ่อนทุกเดือนหลังจากนั้น  การผ่อนก็สบาย ๆ  ให้เวลาเป็นหลายสิบปี  ดูไปแล้วก็  “ดีกว่าเช่า”  เพราะถ้าเช่า  เงินก็จะหายไป  แต่ถ้าซื้อเงินผ่อน  สุดท้ายบ้านก็เป็นของเรา  เม็ดเงินปล่อยกู้ในอสังหาฯ เองนั้น  ผมก็เห็นว่ามีการปล่อยกู้ออกไปมาก  ทั้งในด้านของบ้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า  สถาบันการเงินเองก็อยากจะปล่อยเงินกู้ในส่วนนี้เพราะคิดว่ามันมีหลักประกันชั้นดีรองรับอยู่  ดังนั้น  อัตราดอกเบี้ยจึงค่อนข้างต่ำแม้ว่าอัตราส่วนการกู้ต่อเงินดาวน์จะค่อนข้างสูง

    อาการฟองสบู่ข้อต่อมาก็คือ  ในภาวะที่เป็นฟองสบู่นั้น  คนที่เป็น  “มือสมัครเล่น” จะเริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรม  หรือคนที่ไม่มีความสามารถที่จะมีบ้านได้ก็จะเข้ามาซื้อบ้านได้  ตัวอย่างเรื่องนี้ก็คือ โครงการคอมมูนิตี้มอลที่มีคนเข้ามาทำมากมาย  จำนวนมากนั้น  ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำมอลมาก่อนเลย  แต่เข้ามาทำเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ยาก  เขาอาจจะคิดว่าทำเลที่ดีจะทำให้มอลสำเร็จ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มันเป็นโครงการเล็ก ๆ  ที่ต้องการผู้เช่าไม่กี่ราย  การบริหารงานก็ไม่ต้องทำอะไรมาก   เราแค่เป็นจุดสะดวกที่คนในท้องถิ่นจะมาหาอะไรรับประทานและเดินเล่นในยามเย็นก็เพียงพอแล้ว   ในส่วนของบ้านหรือคอนโดเองนั้น  อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและระยะเวลาในการผ่อนส่งที่นานเป็นพิเศษ  ทำให้ค่าผ่อนรายเดือนต่ำมากจนคนที่ไม่น่าจะซื้อบ้านได้เนื่องจากรายได้ไม่พอสามารถจะซื้อได้   อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวแล้ว  อัตราดอกเบี้ยก็อาจจะเปลี่ยนไปซึ่งอาจจะทำให้เขาไม่สามารถผ่อนต่อได้

    สัญญาณฟองสบู่ข้อต่อมาก็คือ  คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมไม่กลัวความเสี่ยง  พวกเขาเชื่อว่าราคาของอสังหาฯ นั้น  “ไม่มีวันตก”  ว่าที่จริงความคิดนี้แทบจะฝังหัวคนไทยมานาน  แม้ว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ราคาอสังหาฯ ตกลงมาพอสมควร  แต่หลังจากนั้นแล้วมันก็มีแต่ขึ้นมาตลอด  ในช่วงหลัง ๆ  นี้  ราคาคอนโดมีการปรับตัวขึ้นมาสูงมากจนน่าตกใจ  คอนโดที่โดดเด่นกลางใจเมืองและติดสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่งราคาต่อตารางเมตรเท่ากับหลายแสนบาทแล้ว  แต่คนก็คิดว่าซื้อไว้ได้  เพราะเดี๋ยวโครงการใหม่ก็จะสูงขึ้นไปอีก  ในส่วนของช็อบปิงมอลเองนั้น  ก็ยังมีคนเปิดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ  จนผมรู้สึกว่าถึงวันหนึ่งมันจะไม่คุ้มทุนเนื่องจากผู้เช่าจะหายากขึ้นและราคาค่าเช่านั้น  วันหนึ่งอาจจะต้องปรับตัวลงถ้าความจริงปรากฏว่าเขาค้าขายไม่ดีอย่างที่คิด

    อาการที่จะชี้ว่าอาจจะมีฟองสบู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ความซับซ้อนของกระบวนการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ  ผมจะไม่พูดถึงเรื่องที่ผู้ซื้ออสังหาฯ รายย่อยบางรายอาจจะรู้สึกงง ๆ ที่ต้องลงนามในเอกสารแปลก  ๆ เวลาเซ็นต์สัญญาต่าง ๆ  แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของกองทุนอสังหาฯ หรือกองทุนอื่น ๆ  ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นอสังหาฯ  เราก็อาจจะพบเงื่อนไขหรือรายละเอียดมากมาย  เช่น  การรับประกันรายได้ในช่วง 2-3 ปีแรก  เงื่อนไขในการเช่าของเจ้าของทรัพย์สินเดิมที่ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน  และน่าจะยังมีเรื่องอื่น ๆ  อีกมากตามแต่ตัวโครงการแต่ละแห่ง  ผมเองคิดว่าเรื่องต่าง ๆ  เหล่านั้นค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจได้ยากว่ามันจะมีผลอย่างไรต่อผลตอบแทนของทรัพย์สินในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  นี่คือสัญญาณของฟองสบู่อย่างหนึ่ง  บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าความซับซ้อนนั้นทำให้คนงงและยอมซื้อของแพง ๆ  ก็ได้

    สัญญาณสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  เรื่องของสถาปัตยกรรมหรือสิ่งก่อสร้างของบริษัทในอุตสาหกรรม   ในยามที่กำลังเกิดฟองสบู่นั้น  มันจะโอ่อ่าอลังการที่สุด  ยกตัวอย่างเช่น  ในยุคที่สถาบันการเงินรุ่งเรืองสุด ๆ  นั้น  พวกเขาจะมีสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่เลิศหรูอลังการ  บางบริษัทก็มีเครื่องบินส่วนตัวที่เอาไว้ใช้เดินทางอย่างสะดวกสบาย  ในเรื่องของอสังหาฯ นั้น  ช่วงหลัง ๆ  นี้  เราก็เห็นความเลิศหรูของช็อบปิงมอลเกิดขึ้นและหรูขึ้นเรื่อย ๆ   คอนโดที่สร้างก็จะหรูขึ้นแพงขึ้นและสูงขึ้นเรื่อย ๆ  นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้ง ๆ  ที่ภาวะเศรษฐกิจของเรากำลังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก

    ฟองสบู่อสังหาฯ ถ้ามีอยู่แล้วตามที่ผมคิดก็อยู่ในภาวะที่น่าจะอันตรายพอสมควรเนื่องจากอาจจะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่ามันอาจจะกำลังค่อย ๆ  ยุบตัวลง  โดยที่อาจจะเริ่มต้นจากอสังหาฯ ที่มี “พื้นฐาน” ไม่ใคร่ดีนัก  ตัวอย่างเช่น  คอนโดในต่างจังหวัดที่เริ่มขายยากขึ้นมากจนบางโครงการอาจจะต้องล้มเลิกคืนเงินให้กับคนจองทั้ง ๆ  ที่ก่อนหน้านั้นโครงการคอนโดต่างจังหวัดบางแห่งนั้นขายได้อย่างรวดเร็ว   เช่นเดียวกัน  คอนโดในกรุงเทพที่ทำเลไม่ดีไม่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าก็มีการขายที่ช้ามาก

    ค่าเช่าที่จะได้จากการปล่อยเช่าคอนโดนั้น  ดูเหมือนว่าจะต่ำลงมาเรื่อย ๆ  และประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  การหาคนเช่าดูเหมือนว่าจะยากขึ้นและยากขึ้น  ผมรู้จักคนที่ทำอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าราคาถูกเองก็เริ่มบ่นว่า  “ไม่คุ้ม”  กับการลงทุนแล้ว  เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่ามีอพาร์ทเม้นท์เกิดเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการ  ดังนั้น  พวกอพาร์ทเม้นท์เก่าจึงอยู่ลำบากเนื่องจากคนเช่าจะสนใจในอาคารที่ใหม่กว่าแต่ราคาอาจจะพอ ๆ  กัน

    คอมมูนิตี้มอลเองนั้น  เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางแห่งนั้น “เหงา” มาก  อนาคตไม่สดใสและอาจจะไปไม่รอด  ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการขึ้นค่าเช่าที่มักจะวางกันไว้ว่าจะขึ้นทุก 3 ปี ปีละประมาณ 5% โดยเฉลี่ย  แม้แต่ช็อบปิงมอลขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ชั้นนำนั้น  ในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ  ผมเองเคยไปเดินดูก็พบว่าคนค่อนข้างน้อยแม้ในวันหยุด  และดังนั้นผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเพิ่มค่าเช่าได้แค่ไหนเมื่อถึงปีที่จะต้องปรับค่าเช่าเพิ่ม

    ในกรุงเทพและหัวเมืองท่องเที่ยวเองนั้น  แม้ว่าชอบปิงมอลขนาดใหญ่ส่วนมากดูเหมือนว่าจะยังสามารถปรับค่าเช่าได้ซึ่งทำให้มันมีมูลค่าสูง  แต่จำนวนมอลใหม่ที่เพิ่มขึ้นและหรูเลิศอลังการมากขึ้นโดยที่ความต้องการนั้นดูจากภาพใหญ่แล้วก็ไม่น่าจะมากขึ้นมาก  ผมเองก็ยังสงสัยว่าในอนาคตอันไม่ยาวนักจะสามารถเพิ่มค่าเช่าตามแนวที่เคยใช้มายาวนานหรือไม่

    โดยรวมแล้ว  ข้อสรุปของผมก็คือ  อสังหาฯ เองนั้น  มีอะไรหลายอย่างคล้าย ๆ  หุ้น นั่นคือ  ราคาปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานและมีราคาแพงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้จากค่าเช่า  อาการต่าง ๆ  หลายอย่างบอกว่ามันอาจจะมีฟองสบู่เล็ก ๆ  เกิดขึ้นและมีโอกาสที่มันจะ “ฝ่อ”  คือ การเติบโตต่อไปนับจากวันนี้อาจจะช้าลงมาก       

Posted by nivate at 4:00 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor
 

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/04/07/1547


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 20 April 2015
Don Quijote

ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงวันหยุดสงกรานต์ทั้ง ๆ  ที่เพิ่งไปญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา  เหตุที่ไปญี่ปุ่นอีกนั้นเป็นเพราะผมตัดสินใจเปลี่ยนโปรแกรมท่องเที่ยวกะทันหันจากประเทศในยุโรปแห่งหนึ่งเนื่องจากมีปัญหาบางอย่าง  และในระยะเวลาอันสั้นนั้น  ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดีและสะดวกที่สุดที่จะไปเที่ยวเนื่องจากเป็นประเทศที่สาธารณูปโภคในเรื่องของการเดินทาง  อัธยาศัยของผู้คน  สถานที่ท่องเที่ยวและช็อปปิง  และต้นทุนหรือราคาของค่าบริการและสินค้าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคุณภาพ  และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เราไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศในช่วงนี้  ทั้งหมดนั้นทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวลำดับต้น ๆ ของคนไทยในปัจจุบัน  และนั่นก็ทำให้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากจนน่าจะอยู่ในลำดับต้น ๆ  ของชาวต่างชาติที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจนทำให้สถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากในญี่ปุ่นต้องมีภาษาไทยเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ  จีนและเกาหลี  ในร้านค้ายอดนิยมของนักท่องเที่ยวบางแห่งนั้นถึงกับมีการประกาศเป็นภาษาไทยเพื่อแนะนำหรือเชียร์ให้คนไทยซื้อสินค้า

    เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ  ผมมักจะสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในท้องถิ่น  กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการซื้อขายตามห้างร้านต่าง ๆ  รวมถึงนักท่องเที่ยวว่าพวกเขาชอบทำอะไรกัน  และก็อย่างที่เป็นมาตลอด  ในถานะของนักลงทุน  ผมก็มักจะอดคิดไปถึงเรื่องหุ้นและการลงทุนไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การลงทุนนั้นเริ่มที่จะเป็นเรื่องโลกาภิวัตรมากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งหมายความว่าเราสามารถที่จะลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากได้โดยมีอุปสรรคน้อยลงมาก  และต่อไปนี้ก็คือข้อสังเกตของผมในการไปญี่ปุ่นเที่ยวนี้

    ข้อแรกก็คือ  คนที่ไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากจริง ๆ  ในช่วงนี้นั้นน่าจะเป็นคนจีนและคนไทยที่มีรายได้ปานกลาง  พวกเขาเป็นนักท่องเที่ยวประเภท  “Economy” ที่ไม่ได้ใช้จ่ายเงินมากนักโดยเฉพาะในสิ่งที่เป็น  “ความหรูหรา”  พวกเขาไม่อยู่โรงแรมที่แพงมาก  กินอาหารเหมือนคนชั้นกลางในท้องถิ่น  ชอบซื้อสินค้าราคาถูกและเข้าร้านสะดวกซื้อ  พวกเขาดูเหมือนจะชอบการช็อปปิงและดูธรรมชาติและบ้านเมืองมากกว่าการดูโบราณสถานและฟังเรื่องประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นหรือสถานที่  จำนวนของนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ผมรู้สึกว่าน่าจะมีนัยสำคัญมากขนาดที่จะช่วยให้ภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นได้  และทั้งหมดนี้ดูไปแล้วก็คล้าย ๆ  กับสถานการณ์ในประเทศไทยที่เรามีคนจีนที่มีโปรไฟล์คล้าย ๆ  กันเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมากจนน่าจะมีผลต่อการประคองเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้ไม่ให้เลวร้ายเกินไปเช่นเดียวกับในกรณีของญี่ปุ่น

    ข้อสังเกตที่สองของผมก็คือ  ร้านค้าขายยอดนิยมของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นน่าจะมีอย่างน้อย 2 ร้านหรือสองเครือข่าย  โดยร้านแรกคือร้านที่ขายสินค้าราคาถูกสารพัดชนิดที่ไม่ใช่สินค้าเน่าเสียเช่นอาหารสดหรือเป็นสินค้าแฟชั่นที่ตกยุคได้ง่ายเช่นพวกเสื้อผ้าชื่อ  “Don Quijote” ออกเสียงว่า “ดอน คี โฮ เต”  ส่วนอีกร้านหนึ่งนั้นเป็นร้านขายเครื่องสำอางและยาขนาดใหญ่ที่มีสินค้าสารพัดชนิดที่ผู้หญิงทุกคนต้องใช้เป็นประจำชื่อ “Matsumoto” ออกเสียงว่า “มัตสึโมโต”  เหตุที่ผมรู้ก็เพราะว่าเมื่อเข้าไปร้านทั้งสองนี้ก็จะพบคนไทยและคนต่างชาติที่เป็นคนเอเซียจำนวนมากหิ้วตะกร้าหาซื้อสินค้าสารพัดอย่าง  เวลาจ่ายเงินก็จะแสดงพาสพอร์ตเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีกรณีที่เราซื้อถึงจำนวนหนึ่ง  ซึ่งนี่ก็เป็นความสะดวกมากเทียบกับการที่ต้องไปเคลมภาษีคืนที่สนามบินอย่างในประเทศอื่น ๆ  หลายประเทศ  ร้านทั้งสองเครือข่ายที่ว่านี้  แน่นอน  ไม่ใช่ขายเฉพาะนักท่องเที่ยว  ว่าที่จริง  มันเป็นร้าน  “ยอดนิยม” ของคนญี่ปุ่นเองอยู่แล้วเห็นได้จากจำนวนลูกค้าที่ค่อนข้างคึกคักตลอดเวลา   เพียงแต่ว่านักท่องเที่ยวก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีนัยสำคัญมากโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

    จุดเด่นของ ดอนคีโฮเต นั้นอยู่ที่ราคาสินค้าที่ “ถูกที่สุด”  และมีของทุกอย่างที่คุณต้องการ  ดอนคีโฮเตจะทำทุกอย่างที่เป็นการประหยัดต้นทุน  การตกแต่งร้านมีน้อยมาก  ร้านเก่า ๆ บางแห่งของบริษัทอย่างเช่นร้านหนึ่งที่โอซากานั้นไม่มีแม้แต่บันไดเลื่อนแม้ว่าจะมีถึง 4-5 ชั้น  การวางสินค้าของบริษัทก็จะแน่นมากและชั้นวางสินค้าก็จะสูงขึ้นไปหลายชั้นจนหยิบไม่ถึง  สินค้าของบริษัทนั้นน่าจะมีขายทุกแบรนด์ถ้าราคาไม่แพง  แม้แต่สินค้าอย่างกระเป๋าหลุยส์วิตตองหรือแชนเนลก็มีขายแต่เป็นของเก่าที่อาจจะขายในราคา 20-30% ของราคาของใหม่เป็นต้น  สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว  นื่คือร้านสำหรับ  “คนจน”  หรือคนชั้นกลางที่ต้องการประหยัด ตำแหน่งการตลาดของร้านนั้นชัดเจนที่ว่ามันคือร้าน  “Super Cheap” ที่มีการออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น  และนั่นก็ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว  “รุ่นใหม่” ของเอเซียโดยเฉพาะจีนที่กำลังเติบโตอย่างมากเนื่องจากอานิสงค์ของการที่การเดินทางโดยเครื่องบินและค่าใช้จ่ายของการท่องเที่ยวที่ถูกลงมาก

    ผมเองรู้จัก ดอนคีโฮเต มาน่าจะ 2-3 ปีแล้วโดยไม่เคยรู้ว่ามันเป็นบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดโตเกียวมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว  การเที่ยวญี่ปุ่นครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่ามันคือหุ้นที่เริ่ม “ร้อนแรง” มาได้ 2-3 ปีแล้วโดยที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับการเติบโตของนักท่องเที่ยว  “ชนชั้นกลาง” ของเอเซียหรือไม่แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น  ย้อนหลังไป 3 ปี ราคาหุ้นของดอนคีโฮเตอยู่ที่ประมาณ 2600 เยนเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันราคาขึ้นไปที่ประมาณ 10,500 เยน หรือเป็นการปรับขึ้น 300% ในขณะที่ดัชนีนิกเกอิเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 130% เท่านั้น   ถ้าดูยอดขายของบริษัทก็พบว่ารายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 6-7% ซึ่งถ้ามองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นแทบไม่โตเลยในช่วงเดียวกันก็ถือว่าใช้ได้ทีเดียว  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  กำไรของบริษัทกลับโตได้ปีละถึงเกือบ 20% โดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  และนี่น่าจะเป็นแรงขับให้หุ้นปรับตัวขึ้นมาก  ผมเองคงสนใจที่จะลงทุนซื้อหุ้นดอนคีโฮเตถ้าราคาหุ้นไม่แพง  แต่เมื่อดูค่า PE ของบริษัทที่ประมาณ 39 เท่า และปันผลที่ประมาณแค่ 0.34% ต่อปีเทียบกับราคาหุ้นก็ทำให้ผม  “ถอย” และก็ได้แต่เสียดายว่า  “เรารู้ช้าไป 3 ปี”

    เช่นเดียวกับหุ้น ดอนคีโฮเต  หุ้นมัตสึโมโตเองก็จดทะเบียนในตลาดโตเกียวเช่นเดียวกัน  มองในแง่ธุรกิจแล้ว  มันอาจจะไม่เด่นเท่ากับดอนคีโฮเตเนื่องจากมันมีคู่แข่งที่อาจจะโดดเด่นพอ ๆ  กันในตลาดของคนญี่ปุ่น  แต่จุดที่ดีของหุ้นตัวนี้ก็คือ  ราคาหุ้นนั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากกว่าดัชนีตลาด  ค่า PE ของหุ้นนั้นก็อยู่ที่ประมาณ 21 เท่าขณะที่ปันผลต่อราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 1.4% ต่อปี  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าผลประกอบการและการทำกำไรของบริษัทดูจะไม่โดดเด่นนัก  และนี่ก็ทำให้ผมเองก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่ามันน่าซื้อหรือไม่

    บทสรุปโดยรวมของผมก็คือ  การท่องเที่ยวของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ  คนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นมหาศาลโดยเฉพาะในจีนประกอบกับการลดลงของราคาของการท่องเที่ยวทำให้คนชั้นกลางกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมหาศาลซึ่งส่งผลกระทบในทางที่ดีไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง  และกับธุรกิจที่เดิมไม่ได้อิงหรือเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเช่น  ธุรกิจค้าปลีกสินค้าผู้บริโภคเช่น ดอนคีโฮเตหรือมัตสึโมโตด้วย  หน้าที่ของเราในฐานะของนักลงทุนก็คือ  การวิเคราะห์หาดูว่าธุรกิจหรือบริษัทไหนจะได้ประโยชน์และอาจจะเป็นโอกาสในการลงทุน

Posted by nivate at 11:21 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/04/20/1555


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 27 April 2015
ฟองสบู่ของนักลงทุน

ในแวดวงตลาดหุ้นและการลงทุนนั้น  เราคุ้นเคยกับเรื่องของการ  “เฟ้อ” ของราคาหลักทรัพย์หรือที่มักเรียกกันว่า  “ฟองสบู่”  ซึ่งความหมายก็คือ  ราคาหลักทรัพย์ปรับขึ้นไปสูงกว่า “พื้นฐาน” ที่ควรเป็นอันมาก  ซึ่งอาการแบบนั้น  ในที่สุดแล้วมันก็มักจะ “แตก”  นั่นก็คือ  ราคาก็จะตกลงมาแรงจนถึงราคาพื้นฐานหรือต่ำกว่านั้น    เช่นเดียวกับราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์   สิ่งอื่น ๆ  ที่ปรับตัวขึ้นไปมากเกินกว่าที่ควรเป็นมาก  อาจจะไม่ใช่เรื่องของราคา  แต่เป็นเรื่องของปริมาณหรือแม้แต่ความรู้สึกทางสังคม  เราก็อาจจะเรียกว่าเป็น  “ฟองสบู่” ได้เหมือนกัน  และฟองสบู่ที่ว่านั้น  ในที่สุดมันก็มักจะ “แตก” และทุกอย่างก็จะปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งเป็นระดับที่น้อยลงไปมาก   หนึ่งใน  “ฟองสบู่”  ที่ผมเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ  กับการปรับตัวขึ้นอย่างแรงของหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กก็คือ  “ฟองสบู่ของนักลงทุนส่วนบุคคล”

    อาการ “ฟองสบู่ของนักลงทุน” นั้น  เห็นได้ชัดจากเครื่องชี้มากมายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี  เรื่องแรกก็คือ  จำนวนคนทั่วไปที่ไม่ได้เชี่ยวชาญการลงทุนเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นเองนั้น  เพิ่มขึ้นมาก  บางคนอาจจะเข้ามาลงทุนในกองทุนรวม  ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนว่าเขาต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อการ “เกษียณ”  และดังนั้นก็อาจจะไม่เกี่ยวกับการเร่งตัวของนักลงทุนหรือการเล่นหุ้น  แต่เมื่อดูไปแล้วผมเองก็สงสัยว่าพวกเขาจำนวนไม่น้อยนั้นกลับเป็นนัก “เก็งกำไร” จากการผันผวนของตลาดหุ้น  หลักฐานอยู่ที่ว่า  คนที่ลงทุนในกองทุนรวมจำนวนไม่น้อยเข้าไปซื้อกองทุน “ทริกเกอร์ฟันด์” โดยเฉพาะของตลาดหุ้นต่างประเทศ  โดยหวังที่จะทำกำไรเร็วและออกจากการลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม

    นอกจากหุ้นแล้ว  นักลงทุนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากนั้น  ยังพร้อมที่จะเข้าไปเล่นอะไรก็ได้ถ้าเขาคิดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้น  เช่น  วอแร้นต์ ทอง  น้ำมัน  คอนโด หรือบางทีก็อาจจะรวมไปถึงตราสารหรือการลงทุนที่ซับซ้อนอื่น ๆ  เช่น  กองทุนรวมอสังหาฯหรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ซับซ้อนบางกอง  และอาจจะรวมไปถึงการซื้อขาย “เงินดิจิตอล”  ที่มีความเสี่ยงสูงมากแต่ในความคิดของเขาอาจจะ  “ไม่เสี่ยง”  อย่าลืมว่าในช่วง  “ฟองสบู่”  นั้น  คนจะ “ไม่กลัวความเสี่ยง”

    สัญญาณที่สองของฟองสบู่ของนักลงทุนก็คือ  มี  “เซียน”  เกิดขึ้นมาก   ความเป็นเซียนนั้น  มักจะเกิดขึ้นจากการที่เขาสามารถทำเงินจากการลงทุนได้สูงมากในเวลาอันสั้นด้วยการลงทุนซื้อขายหุ้นหรือทรัพย์สินบางตัวในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของตนและข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวนั้นถูกเผยแพร่ออกมาผ่านสื่อที่มีคนติดตามกันมากทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและสื่อสังคมอื่น ๆ  ที่มีมากมายในวันนี้  นอกจากนั้น  บางคนก็อาจจะเป็น “เซียน” ได้จากการที่พอร์ตมีขนาดใหญ่เป็น  “พันล้านบาท”  โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสถิติหรือผลตอบแทนการลงทุนที่เห็นเป็นประจักษ์

    ความหลากหลายของ “เซียน”  หรือบางครั้งก็เรียกว่า “กูรู” การลงทุนเองนั้น  ก็มีมากมายตามฐานะ  ผลงาน  หรือ ชีวิต ของแต่ละคนที่ได้รับการกล่าวขวัญหรือได้มีการเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ  ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น  เราแทบจะเห็น “เซียน”  เกิดใหม่  แทบจะทุกเดือนหรือบางทีติดต่อกันหลายสัปดาห์  กูรูคนใหม่นั้นก็มักจะมีผลงานและชีวิตที่ “น่าทึ่ง” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับที่อายุของเซียนคนใหม่เองนั้นก็มีแนวโน้มจะน้อยลง  บางคนอายุเพิ่งจะ 30 ปีเศษก็ประสบความสำเร็จและอ้างว่ามีความมั่งคั่งเป็นร้อยหรือพันล้านบาทแล้วจากการลงทุนไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ  นอกจากนั้น  ชีวิตของเซียนเองก็ดูว่าเหมือน  “เทพนิยาย”  หรือ  “มหัศจรรย์” ขึ้นทุกที  ประวัติการทำงานหรือผลงานนั้นบางทีไม่รู้ว่าเคยทำอะไรแต่ความสำเร็จจากการลงทุนนั้นมาง่ายแทบจะ “พลิกฝ่ามือ”  แต่เขาก็มักจะเล่าว่ามันผ่าน  “อุปสรรคและวิกฤติ”  มามากมายก่อนที่จะมาเป็น  “เขาในวันนี้”

    ฟองสบู่ของนักลงทุนเองนั้น  ยังเห็นได้จาก  “ความคาดหวังผลตอบแทน” จากการลงทุนที่สูงเกินกว่าที่จะเป็นในระยะยาว  นักลงทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ในขณะนี้น่าจะคิดว่าตนเองสามารถลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 15-20% ต่อปีในระยะยาวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก  เหนือสิ่งอื่นใด  พวกเขาได้รับคำบอกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวของตลาดหุ้นไทยนั้นอยู่ที่ประมาณ 12% ต่อปี ซึ่งไม่จริง)  ดังนั้น  ด้วยการลงทุนเองพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่านั้น  คนที่ลงทุนเองและประสบความสำเร็จ  “อย่างงดงาม”  ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีจึงมักจะตั้งเป้าผลตอบแทนของตนเองสูง  คนที่คิดว่าตนเอง  “ไม่เก่ง”  ก็อาจจะตั้งไว้ปีละ 15%  หรือพอร์ตโตเป็นเท่าตัวใน 5 ปี  รายที่คิดว่าตนเองก็เป็น  “เซียน” อาจจะตั้งไว้สูงถึงขนาดว่า  “10 ปีโต 10 เท่า”  หรือโตปีละประมาณ 26% หรือมากกว่านั้น  ซึ่งก็แปลว่าภายในเวลาไม่กี่ปีก็จะมีเงินเป็นร้อยเป็นพันหรือหมื่นล้านบาทได้ในชั่วชีวิตนี้

    แนวความคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จนั้น  มีมากมายตาม  “เซียน” หรือ  “กูรู”  ที่ประสบความสำเร็จสูง  ทฤษฎีการเงินที่เป็นวิชาการและได้รับการพิสูจน์จากนักวิชาการในระดับสากลที่บอกว่าการลงทุนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะตลาด  ทฤษฎีการเงินที่บอกว่าผลตอบแทนการลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยง  ผลตอบแทนที่สูงในตลาดหุ้นนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงนั้น  ไม่มีใครสนใจที่จะฟัง   ในตลาดหุ้นไทยวันนี้  ดูเหมือนว่าทุกทฤษฎีหรือหลักการนั้น  สามารถทำกำไรได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำได้ถูกต้องแค่ไหน  ในบางช่วง  Value Investment ดูเหมือนว่าจะโดดเด่นมากเมื่อ  เซียนหุ้น VI กำลังมาแรงและทุกคนต่างก็เป็น VI   ในบางช่วง  “เทคนิคอล” เองก็เป็นวิธีการที่ทำกำไรได้ดี  ถ้าคุณมี “วินัยกับกราฟ” ในหลาย ๆ  โอกาส  “เกร็ดการลงทุน” ของ “เซียน”  คนนั้นคนนี้คือวิธีที่จะทำเงินได้มากกว่าการยึดทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งตายตัว

    “อิทธิพล” และ  “บารมี”  ของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งของ “ฟองสบู่นักลงทุน”  ผมเชื่อว่าเวลานี้  นักลงทุนกลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อในระดับสูงมากที่คนค้าขายของหรูของแพงให้ความสนใจ  รถหรูระดับเฟอร์รารี่  คอนโดราคายูนิตละเป็นร้อยล้านบาท อาหารหรูหราจากเชฟระดับมิชลินหลายดาว นั้นผมคิดว่ามีลูกค้าที่เป็นนักลงทุนที่มีความมั่งคั่ง “ระดับมหาเศรษฐี” ในช่วงที่ผ่านมาหลายปีอยู่ไม่น้อย   นี่ยังไม่รวมรถหรูระดับเบนซ์  คอนโดราคา 10 ล้าน และสินค้าหรูอย่างอื่นที่มีลูกค้าที่เป็นนักลงทุน  “อาชีพ”  ที่มีความมั่งคั่งเกินอายุอยู่ไม่น้อย  ในส่วนของบริษัทหรือธุรกิจเองนั้น  อิทธิพลของนักลงทุนต่อผู้บริหารหรือการจัดการบริษัทนั้นผมเห็นว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับระดับที่ควรจะเป็นอย่างเช่นในต่างประเทศ  นักลงทุนส่วนบุคคลไทยนั้น  ผมคิดว่ามีสิทธิมีเสียงและเป็นกลุ่มคนที่บริษัทต้องคำนึงถึงมาก   พวกเขาต้องให้ข้อมูล  ต้องฟัง  และอาจจะต้องปฏิบัติตาม   ในหลาย ๆ กรณีในระยะหลังนั้น  นักลงทุนส่วนบุคคลสามารถเข้าไป “ยึดกุม” การบริหารของบริษัทได้ด้วยซ้ำ   

    สื่อสารเกี่ยวกับการลงทุนที่มีมากมายในปัจจุบันและแทบทุกรายการนั้นเน้นที่การลงทุนของนักลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นอาการอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีฟองสบู่ของนักลงทุนอยู่  แม้แต่รายการที่เป็นMass และเป้าหมายคือชาวบ้านทั่ว ๆ ไปนั้น  บางครั้งก็เริ่มเห็นการสัมภาษณ์นักลงทุนหรือดึงนักลงทุนที่  “ประสบความสำเร็จสูง” มาร่วมรายการ  “เซเลบ” ที่เป็นนักลงทุนและเป็น  “คนรุ่นใหม่”  มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และนั่นก็คือสัญญาณทั้งหมดที่ทำให้ผมเชื่อว่าเรากำลังมีฟองสบู่ของนักลงทุน  ผมเองเชื่อว่า  “ฟองสบู่”  นี้จะต้องแตกซักวันหนึ่ง  อาจจะตามการชะลอตัวลงยาวนานหรือการ “แตก” ของ  “ฟองสบู่” ตลาดหุ้น—ถ้ามี  และหลังจากนั้น  นักลงทุนก็จะกลับไปมีสถานะตามเดิมก่อนที่จะเกิดฟองสบู่ นั่นก็คือ  เป็นคนธรรมดา ๆ

Posted by nivate at 10:14 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/04/27/1557


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


พฤษภาคม 4, 2015
จิตวิทยาของคนเล่นหุ้น

 แม้ว่า Value Investor ผู้มุ่งมั่นส่วนใหญ่อาจจะบอกว่าตนเองไม่ใคร่สนใจภาวะตลาดหลักทรัพย์มากนักเพราะว่าเขา  “ลงทุนหุ้นเป็นรายตัว”  ไม่ได้ลงทุนในดัชนีหุ้น  แต่การดูภาวะตลาดหุ้นว่ามันน่าจะแพงหรือถูกก็ไม่ได้เสียอะไร  แต่ข้อดีก็คือ  อย่างน้อยมันอาจจะช่วยเตือนให้เราระมัดระวังมากขึ้นในยามที่คน  “กำลังโลภ”  หรือกล้ามากขึ้นในยามที่คน  “กำลังกลัว”  อย่างที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดไว้

    วิธีที่จะดูว่าภาวะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงไหนนั้น  นอกจากการดูตัวเลขดัชนีหุ้นหรือปริมาณการซื้อขายหุ้น  ค่า P/E  P/B  Dividend Yield หรือเครื่องชี้อย่างอื่นเช่น จำนวนของหุ้น IPO และราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก ๆ  แล้ว  อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราเห็น “ภาพใหญ่” ก็คือ  การวิเคราะห์เรื่องของ  “จิตวิทยา”  ของคนเล่นหุ้น   เพราะจิตวิทยาหรือความคิดของคนแต่ละคนจะสะท้อนไปถึงหรือเป็นตัวกำหนดการซื้อหรือขายหุ้นของเขา  และเมื่อรวมเอาความคิดของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  มันก็จะสะท้อนไปถึงหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น  ซึ่งในที่สุดก็สะท้อนไปที่ดัชนีตลาด  พูดแบบรวม ๆ  ก็คือ  ถ้าคนมองโลกในแง่ดีกับหุ้น  ราคาหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นไป  ตรงกันข้าม  ถ้าคนมองโลกในแง่ร้าย  หุ้นก็จะปรับตัวลงมา  ประเด็นก็คือ  มองโลกในแง่ดีแค่ไหน?  หรือมองโลกในแง่ร้ายแค่ไหน? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนส่วนใหญ่มองโลกไปในแง่ไหน?

    ก่อนที่เราจะพูดถึงว่าคนมองโลกในแง่ไหนนั้น  สิ่งที่จะต้องกำหนดก่อนก็คือ  ระดับของ  “จิตวิทยาสังคม”  ที่นักวิชาการได้กำหนดไว้เป็นขั้น ๆ  เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 นั่นก็คือ  สิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  Optimism หรือคนเริ่มมีความหวังหรือ  “มองโลกในแง่ดี”  และถ้าคนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี  สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ  พวกเขาจะอยากลงทุนซื้อหุ้นเพราะมองว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น  บริษัทจดทะเบียนจะขายสินค้าได้มากขึ้นและมีผลกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายปันผลได้สูงขึ้นหรือสูงกว่าการลงทุนอย่างอื่นที่มีอยู่เช่นการฝากเงิน  ผลก็คือ  ราคาหุ้นก็จะทยอยปรับตัวขึ้น  อาจจะถึง 10%

    ขั้นที่สองของจิตวิทยาสังคมก็คือ  Excitement หรือนักเล่นหุ้นจะเริ่มรู้สึก  “ตื่นเต้น” หลังจากที่หุ้นที่พวกเขาถือและดัชนีหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นมาถึงระดับหนึ่งที่ก็ยังไม่สูงมากจากจุดเริ่มต้น  คนที่ทำกำไรได้แล้วก็อาจจะเริ่มลงทุนเพิ่ม  นักเล่นหุ้นที่เคยเล่นและเลิกไปแล้วก็อาจจะเริ่มกลับเข้าตลาด  เม็ดเงินที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มก็จะผลักดันให้หุ้นและดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไปอีก  ดัชนีหุ้นในช่วงนี้อาจจะขึ้นไปแล้วถึง 20%

    ขั้นที่สามคือ Thrill หรือที่เรียกว่าขั้น  “เร้าใจ”  ถึงจุดนี้  คนที่เข้ามาตั้งแต่แรกก็เริ่มทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากการเล่นหุ้นและได้ประกาศหรือบอกต่อกับคนที่รู้จัก  หลายคนก็เริ่มเขียนหนังสือหรือแนะนำวิธีการลงทุนที่จะทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันสั้นผ่านสื่อต่าง ๆ  อัจฉริยะหรือเซียนหุ้นเริ่มปรากฏตัวขึ้น  การลงทุนในตลาดหุ้นกลายเป็นกิจกรรมที่ดีและทำเงินได้ดีกว่าการทำงานหรือลงทุนอย่างอื่น  คนที่ไม่เคยสนใจหุ้นแต่มีเงินก็เริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้น  การลงทุนดูเหมือนจะง่ายและทำเงินได้ดี  เม็ดเงินที่เข้ามาดันดัชนีหุ้นให้ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว  หุ้นอาจจะขึ้นไปแล้ว 40%

    ขั้นที่สี่คือ Euphoria หรือขั้น  “เคลิบเคลิ้ม”  นี่คือช่วงที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึงจุดสุดยอด  คนจำนวนมากคิดว่าหุ้นนั้นสามารถให้ผลตอบแทนได้มหาศาลในเวลาอันสั้น  หุ้นเกือบทุกตัวที่เป็น IPO ต่างก็ปรับตัวขึ้นไปมหาศาลตั้งแต่วันเข้าซื้อขายในตลาดวันแรก  หุ้นตัวเล็กตัวน้อยนั้น  ถ้ามีขาใหญ่หรือเซียนหุ้นเข้ามาเล่นก็จะวิ่งขึ้นมโหฬารภายในเวลาอันสั้น  การขึ้นลงของราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับข่าวหรือการคาดการณ์อนาคตมากกว่าพื้นฐานในปัจจุบัน  นักเล่นหุ้นระยะสั้นที่อายุน้อยและประสบความสำเร็จกลายเป็น  “มหาเศรษฐี”  จากเงินเริ่มต้นเพียงน้อยนิดปรากฏตัวขึ้นเป็นว่าเล่นกลายเป็น  “ไอดอล” ของคนจำนวนมาก  และนี่ก็ดึงดูดนักเล่นหุ้นหน้าใหม่ที่ไม่มีทั้งประสบการณ์และเงินแต่มี “ความฝัน”  ว่าจะรวยได้อย่างรวดเร็ว  เข้ามาในตลาดหุ้น  คนเลิกคิดว่าหุ้นนั้น  “มีความเสี่ยงสูง”  ช่วงนี้หุ้นอาจจะขึ้นมาจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 50% ถึงกว่า 100% แล้ว  และเริ่มจะตกลงเมื่อทุกคนที่สนใจเล่นหุ้นต่างก็อยู่ในตลาดหมดแล้ว

    ขั้นที่ห้านั้นเป็นช่วง “ขาลง”  ของตลาดหุ้นที่เรียกว่า Anxiety หรือช่วง “กังวล”  นี่คือช่วงที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เพิ่งเข้ามาในตลาดในช่วงที่ราคาหุ้นและดัชนีตลาดอยู่ในระดับสูงมาก  แทนที่จะกำไรง่าย ๆ เหมือนช่วงก่อนหน้านั้น  พวกเขากลับขาดทุนแม้จะไม่มากนัก  ราคาหรือดัชนีหุ้นตกลงมา  อาจจะแค่ 10%  นี่ทำให้เขากังวล  อย่างไรก็ตาม  นักวิเคราะห์และเซียนหุ้นต่างก็ปลอบใจว่านี่เป็นการปรับตัวเล็ก ๆ  น้อย ๆ  อนาคตหรือไตรมาศหน้าหุ้นก็จะปรับตัวขึ้น  ไม่มีอะไรน่าห่วง  บริษัทมีพื้นฐานที่ดี  เศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็จะดีขึ้นแน่นอน  เหนือสิ่งอื่นใด  หุ้นไม่ได้มีราคาแพงเทียบกับประเทศอื่นหรือเทียบกับการลงทุนอื่นหรือการฝากเงิน

    ขั้นที่หกก็คือ  Denial หรือ  “การปฏิเสธ”  นี่คือช่วงที่หุ้นตกลงมาอีก  อาจจะ 15-20% จากจุดสูงสุด  คนเล่นหุ้นต่างก็ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจ ผลประกอบการ  หรือภาวะทางการเงินนั้นไม่เอื้ออำนวย  และหุ้นอาจจะตกลงมาเพื่อสะท้อนความเป็นจริง  คนที่ยังถือหุ้นอยู่ “ปฏิเสธที่จะขาย”  แม้ว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้น  พวกเขาเชื่อว่าหุ้นจะต้องกลับมา  แน่นอน  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยได้ขายหุ้นไปแล้ว  พวกเขาอาจจะขาดทุนกำไรไปบ้าง  และนั่นทำให้หุ้นตก

    ขั้นที่เจ็ด  Fear หรือขั้น  “กลัว” นี่คือช่วงที่ราคาหุ้นตกลงไปมาก อาจจะ 20% ขึ้นไป  ข่าวเกี่ยวกับหุ้นและภาวะทางเศรษฐกิจการเงินและตลาดหุ้นน่ากลัว  คนที่ขาดทุนจากหุ้นมีมากมาย  ข่าวที่เกี่ยวกับหุ้นและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหายไปมาก  ข่าวคน “เจ๊ง” หุ้นเริ่มออกมาเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับ “ข่าวร้าย” ของบริษัทจดทะเบียน  สถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงขั้นที่แปดคือ Desperation หรือช่วง  “เข้าตาจน” หลายคนต้องเอาตัวรอดโดยอาจจะต้องขายหุ้นเท่าที่จะทำได้เพื่อรักษาเงินที่ยังเหลืออยู่และนั่นก็อาจจะทำให้หุ้นตกแรงจนถึงจุดที่แม้แต่หุ้นที่ดีก็ตกลงมามากราวกับว่ามันไม่มีค่า  ซึ่งนี่คือจิตวิทยาในขั้นที่ 9 ที่เรียกว่า  Panic หรือขั้น  “ขวัญผวา”  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่นักลงทุนตกใจกลัวอย่างรุนแรงและเทขายหุ้นโดยที่ไม่ได้สนใจมูลค่าพื้นฐานที่ควรเป็น  จนถึงขั้นที่ 10 ของจิตวิทยาที่เรียกว่า Capitulation หรือการ  “ยอมแพ้” ซึ่งจะตามมาด้วยขั้นตอนต่ำที่สุดทางจิตวิทยาคือ Despondency หรือ การ  “สิ้นหวัง”  ซึ่ง ณ.  จุดนั้นก็จะกลายเป็น “โอกาสที่ยิ่งใหญ่” ของการลงทุน  เพราะมันเป็นจุดที่หุ้นตกลงมาต่ำสุด

    ขั้นตอนการฟื้นตัวของหุ้นและตลาดหุ้นจะเริ่มต้นที่ขั้น 12 คือช่วง Depression หรือช่วง  “หดหู่”  ช่วงที่ 13 ช่วง Hope หรือช่วงของ  “ความหวัง”  และช่วงที่ 14 คือ Relief หรือช่วง  “ผ่อนคลาย” ซึ่งจะตามมาด้วยช่วง ที่หนึ่งคือ Optimism หรือนักลงทุนกลับมามองโลกในแง่ดีอีกครั้งหนึ่ง

    ถ้าจะถามว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนี้จิตวิทยาของนักลงทุนอยู่ในช่วงไหน  คำตอบของผมคงอยู่ที่ช่วงระหว่าง 3ถึง 5 นั่นก็คือ  ระหว่างช่วงเร้าใจ เคลิบเคลิ้ม และกังวล ซึ่งถ้าอยู่ที่ช่วงเร้าใจ  นั่นแปลว่าหุ้นยังอาจจะขึ้นได้อยู่อีกหนึ่งช่วงสุดท้าย  ถ้าเป็นช่วงเคลิบเคลิ้ม ก็แปลว่ามันกำลังอยู่ในจุดที่สูงที่สุดแล้ว  และถ้าเป็นช่วงกังวล  นั่นก็หมายความว่าหุ้นได้ผ่านจุดสูงที่สุดไปแล้วและกำลังจะตกลงมาเป็น “ขาลง” อย่างต่อเนื่อง  ระยะเวลาของแต่ละช่วงนั้น  เป็นสิ่งที่บอกไม่ได้ว่านานเท่าใด  และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการกำหนดและคาดการณ์ของนักลงทุนแต่ละคน

ที่มา:
http://www.thaivi.org/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99/



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



พฤษภาคม 11,2015
The Next Thailand (and beyond)


    ผมเพิ่งกลับจากการไปสำรวจภาวะการลงทุนและเยี่ยมเยียนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียตนามที่เมืองโฮจิมินซิตี้  การไปเวียตนามในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองของผมหลังจากครั้งแรกที่ผมไปกับทางมันนีแชนแนลเมื่อซักหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา  การไปครั้งนี้  เป็นการ “ไปกันเอง” ของกลุ่ม VI “อาวุโส” ประมาณเกือบ 20 คน  หลายคนมีเงินลงทุนในเวียตนามบ้างแล้ว และเกือบทุกคนกำลังดูว่าอาจจะไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามหลังจากที่เห็นว่าโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดน้อยลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพของบริษัทจดทะเบียน  และราคาหุ้นอาจจะแพงเกินไป  และต่อไปนี้ก็คือข้อสังเกตของผมซึ่งก็อิงจากการได้ไปเห็นบ้านเมืองและพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งได้ศึกษาข้อมูลและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ

    ข้อสรุปหลัก ๆ ของผมก็คือ  เศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อมหรือภาพใหญ่ของเวียตนามในขณะนี้คล้าย ๆ  กับของประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว  และเวียตนามกำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็วแบบเดียวกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา  แม้แต่ฉายาของการเป็น  “เสือแห่งเอเซีย” ที่ไทยเคยได้รับเราก็อาจจะได้เห็นว่าเวียตนามก็จะได้รับฉายาในทำนองคล้าย ๆ  กัน  พูดอีกแบบหนึ่ง  ผมคิดว่าเวียตนามก็คือ  “The Next Thailand” หรือจะเป็นประเทศไทยรายต่อไป  เพียงแต่ผมคิดว่า  เวียตนามในอนาคตอาจจะโตจนเท่าและ  “ผ่าน”  ประเทศไทยได้ถ้าเวียตนามยังรักษานโยบายและแนวทางที่ดีต่อการเติบโตในปัจจุบันต่อไปได้เรื่อย ๆ  ในขณะที่ไทยไม่แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ในขณะนี้

    ถ้ามองย้อนกลับไปซัก 40 ปี ซึ่งเป็นปีที่โฮจิมินแตกเวียตนามใต้กลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์  ระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียนนั้นน่าจะพอ ๆ  กัน  แต่หลังจากนั้น  สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งใช้นโยบาย  “เปิดประเทศ” และระบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดเสรีในขณะที่การเมืองนั้นแม้ไมใช่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไปเรื่อย ๆ  สลับไปมาระหว่างกลุ่มอำนาจหลัก ๆ   ก็สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างน่าประทับใจ  เหตุผลหรือปัจจัยที่ทำให้ไทยรวมถึงมาเลเซียเติบโตเร็วมากนั้น  ผมคิดว่าเป็นเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงและมีกระแสโลกานุวัตรสูง  ญี่ปุ่นซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับโลกตะวันตกมหาศาลถูกบังคับให้เพิ่มค่าเงินเยนซึ่งทำให้สินค้าราคาถูกที่ใช้แรงงานสูงไม่สามารถแข่งขันได้จึง  “ย้ายฐานการผลิต”  จากญี่ปุ่นไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงถูกและมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน  และประเทศที่ว่าก็คือ  มาเลเซียกับไทย

    ประเทศเวียตนาม  กัมพูชา ลาว นั้นเป็นสังคมนิยมที่เข้มข้น ดังนั้น ไม่สามารถที่จะรองรับการลงทุนได้  พม่าเองปกครองโดยเผด็จการทหารที่กองทัพคุมรัฐบาล  อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นอยู่ภายใต้เผด็จการซูฮาร์โตและมาร์คอสยาวนาน  ทั้งหมดนั้นญี่ปุ่นหรือโลกตะวันตกไม่อยากเข้ามาลงทุนและทำให้ประเทศไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร  พูดง่าย ๆ  ประเทศที่ระบบการปกครองเป็นแบบ “ปิด” นั้น  โตยาก  ประเทศที่จะเจริญเติบโตได้ดีนั้น  ผมคิดว่าต้องมีปัจจัยสำคัญ 3-4 ประการก็คือ  หนึ่ง ระบบต้องเอื้ออำนวยนั่นก็คือเป็นระบบเปิดที่ต้อนรับต่างชาติหรือเปิดให้คนสามารถแสดงความสามารถได้เต็มที่ซึ่งระบบที่ดีที่สุดน่าจะเป็นระบบเสรีประชาธิปไตย  สอง คนต้องมีคุณภาพหรือมี IQ สูงพอ  สาม จำนวนคนและอายุของประชากรในวัยทำงาน  และสี่ก็คือ  ทรัพยากรภายในประเทศ  ดังนั้น  ประเทศที่กล่าวถึงทั้งหมดจึงเริ่ม  “ล้าหลัง”  มาเลเซียและไทยกลายเป็น  “เสือแห่งเอเซีย”  จากการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันตกและญี่ปุ่นโดยมีคู่แข่งน้อยเนื่องจากประเทศอื่นไม่พร้อม

    เวลาผ่านไปเกือบ 10-20 ปี  ประเทศต่าง ๆ  ในเอเซียเริ่มตระหนักว่าระบบการปกครองที่ผิดพลาดทำให้ประเทศล้าหลัง  ประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ  ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือแบบอื่นเริ่มเปลี่ยนแปลง  ระบบเศรษฐกิจกลายเป็นทุนนิยมและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ  นำโดยจีน  ต่อมาเวียตนาม ลาวกัมพูชาก็ตาม  หลังจากนั้นระบบเผด็จการมาร์คอสและซูฮาร์โตก็ “ล่มสลาย”  และสุดท้ายระบบทหารแบบเมียนมาร์ก็กำลังผ่อนคลายลง  นักลงทุนจากตะวันตกและประเทศที่ก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน จึงเริ่มมีตัวเลือกมากขึ้น  และด้วยการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ  รวมถึงคุณภาพของคน ค่าแรง และสาธารณูปโภค และตลาดท้องถิ่น  พวกเขาก็เริ่มเข้าไปลงทุนในประเทศที่ “ล้าหลัง” เหล่านั้นเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศดังกล่าวนั้นรู้ว่าตนเองยังด้อยกว่าก็เสนอเงื่อนไขในการลงทุนที่ดีกว่าประเทศที่เจริญมาก่อน  ผลก็คือ  เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นก็เริ่ม  “เดินหน้า” การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะหลัง ๆ  นี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจปีละ 5-7% เป็นอย่างต่ำ ในขณะที่ของไทยช้าลงมากโดยเฉพาะในช่วง 5-10 หลังนี้

    ระดับการพัฒนาของเวียตนามเวลานี้อยู่ที่ประมาณเท่ากับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหรือประมาณช่วงที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตในปี 2540  ตัวเลขการมีเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี  พัดลม  ตู้เย็น เครื่องซักผ้าต่อครอบครัวของเขาเวลานี้พอ ๆ  กับตัวเลขที่คนไทยมีเมื่อ 20 ปีก่อน  รถยนต์และแอร์อาจจะเท่ากับ 25-30 ปีแต่ผมคิดว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก  ส่วนมอเตอร์ไซต์นั้น  เวลานี้เขาน่าจะมีมากกว่าของเราในเวลานี้ด้วยซ้ำเนื่องจากมันเป็นพาหนะหลักในการเดินทางของทุกคนในเวียตนาม  ในส่วนของการผลิตซึ่งเน้นที่การส่งออกนั้น  เวียตนามก็ใช้กลยุทธเดียวกับของไทยเมื่อ 20 ปีก่อนนั่นก็คือ  ส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนและผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก  ตัวเลขการส่งออกนั้นเติบโตเร็วมากปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์จนเวลานี้คิดแล้วการส่งออกน่าจะไม่ต่ำกว่า 80% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าของไทย  ว่าที่จริงปริมาณการส่งออกไปอเมริกาของเวียตนามนั้นสูงกว่าของไทยไปแล้ว  แม้แต่ในยามที่การส่งออกกำลังชะลอตัวทั่วโลกในช่วงนี้  การส่งออกของเวียตนามก็ยังโตเป็นเลขสองหลัก  กระแสนี้น่าจะยังดำเนินต่อไปเพราะการลงทุนโดยตรงของเวียตนามยังมาแรงมาก  บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเช่นซัมซุงเลือกเวียตนามมากกว่าไทยแล้ว

    เมื่อดูไป  เวียตนามนั้นเหมือนไทยมาก  เราอยู่ในเขตภูมิอากาศเขตร้อนใกล้เคียงกัน  ขนาดของประเทศก็พอ ๆ  กัน  ความสมบูรณ์ของที่ดินก็น่าจะใกล้กันและอุดมไปด้วยน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก  คนเวียตนามเองก็เป็นคนที่ “ยืดหยุ่น” ไม่ “สุดโต่ง”  วัฒนธรรมและเชื้อชาติก็น่าจะเป็น  “2 ใน 3 จีน” ในขณะที่คนไทยก็อาจจะเป็น  “ครึ่งจีน”  ด้านศาสนาเองก็คงคล้าย ๆ  คนไทยที่บางทีผมก็งง ๆ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจ  ว่าที่จริง  ถ้ามาเดินในห้างร่วมกันเราก็คงไม่สามารถแยกได้ว่าคนไหนเป็นไทยหรือเวียตนามทั้งด้านหน้าตา ความสูงและรูปร่างรวมถึงอากับกริยาต่าง ๆ

    มีจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเวียตนามจะได้เปรียบไทยในระยะยาวก็คือ  คนเวียตนามมี IQ สูงกว่าไทยในการศึกษาเรื่อง IQ ระดับสากลทุกครั้ง  นอกจากนั้น  เวียตนามมีประชากรถึง 90 ล้านคนและยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วในขณะที่ไทยมี 67 ล้านคนและเพิ่มขึ้นน้อยและอาจจะลดลงในอนาคต  ส่วนจุดอ่อนก็คือ  ระบบสาธารณูปโภคในปัจจุบันยังไม่ดีนัก  การเดินทางด้วยรถยนต์ในเมืองและต่างจังหวัดช้ามากประมาณไม่เกิน 30-40 ก.ม. ต่อชั่วโมง  อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้น่าจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

    ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ระดับการพัฒนาของเวียตนามจะไล่กวดไทยอย่างรวดเร็วมาก  เพราะปัจจัยในการแข่งขันของเวียตนามกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ  ในขณะที่ไทยกลับด้อยลง  เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกำลังคนที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและระบบการปกครองและภาพใหญ่อื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะ  “ถอยหลัง” ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ความรู้สึกจากทริปเวียตนามครั้งนี้ในด้านของร่างกายก็คือร้อนมาก  เพราะมันเป็นกลางฤดูร้อน  แต่ในใจในฐานะที่เป็นคนไทยและจะต้องแข่งกับเวียตนามนั้น  ผมรู้สึก  “หนาว” อย่างบอกไม่ถูก   

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/05/11/1565



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



พฤษภาคม 18,2015
ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต


    ถ้าจะถามว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ VI จำนวนมากที่เราเห็นอยู่ในวันนี้มาจากอะไร  คำตอบผมคงเป็นว่า  พวกเขาหรือพวกเราถ้ารวมผมเข้าไปด้วยก็คือ  เราเริ่มการลงทุนอย่างจริงจังและเป็นการลงทุน  “เพื่อชีวิต”  อย่างเต็มตัวในช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของตลาดหุ้นไทย  นั่นก็คือ  เราเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงหลังปี 2540 ที่เป็นปีวิกฤติครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย  หลังปี 2540 เฉพาะอย่างยิ่งประมาณปี 2542-2543 นั้น  เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคง  GDP ของไทยเริ่มเติบโตประมาณ 4-5%  ต่อปีและรักษาระดับนั้นต่อไปได้ยาวนาน  อานิสงค์ส่วนหนึ่งที่สำคัญจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานก่อนหน้านั้นและในเวลาต่อมา  ทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ  อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาอย่าง  “มโหฬาร” เหลือเพียงไม่เกิน 2-3% ต่อปีต่อเนื่องกันมานับสิบปี  นี่ทำให้การบริโภคของคนไทยเติบโตขึ้นมากเพราะคนไทยสามารถกู้เงินได้ง่ายและมากเพื่อการใช้จ่ายส่งผลให้การผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเติบโตเร็วขึ้นทวีคูณ

   ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  มีการปรับโครงสร้างหนี้และลดระดับการกู้เงินลงไปมากทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นมาก  สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนจาก 4-5 เท่าลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือระดับที่ปลอดภัยส่วนใหญ่น่าจะไม่เกิน 1 เท่าตัว    เช่นเดียวกัน  ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่อิงอยู่กับผู้บริโภคก็เติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจในระดับน่าจะไม่ต่ำกว่าปีละ 6-7% ซึ่งก็ตามมาด้วยการจ่ายปันผลที่ดีที่ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในแต่ละปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% ต่อปี

   ระดับราคาและความถูกความแพงของตลาดหุ้นในช่วงปี 2542-43 วัดโดยค่า PE และค่าอื่น ๆ  นั้นส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่า 10 เท่า  บางปีนั้นต่ำเหลือเพียง 7-8 เท่าและก็มีบ้างที่เกิน 10 เท่าแต่ก็ไม่สูงถึง 20 เท่า  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  หุ้นจำนวนมากและไม่ได้เป็นหุ้นหรือกลุ่ม  “ยอดนิยม” ของสถาบันนั้น  มีราคาที่ถูกมีค่า PE ที่ต่ำกว่า 10 เท่าทั้ง ๆ  ที่มีการเติบโตของรายได้หรือกำไรเท่า ๆ  กับหรือสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ ที่มีสภาพคล่องสูง  และนั่นนำมาซึ่งการลงทุนของนักลงทุน  “VI รุ่นแรก”  ที่เข้ามาลงทุนโดยใช้หลักการของ เบน เกรแฮม ที่เน้นศึกษาข้อมูลพื้นฐานอย่างจริงจังและซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก  ถ้าจะเปรียบเทียบกับความคิดของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เคยพูดไว้ในปี 1974 ก็คือ  “ผมรู้สึกเหมือนคนที่กำลังกลัดมันในฮาเรม  นี่คือเวลาที่จะเริ่มลงทุน”

   ก็อย่างที่เห็น  เวลาสิบกว่าปีนับจากปี 2542-2543  จนถึงวันนี้  ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจประมาณ 7- 8 เท่าตัว ตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยแบบทบต้นประมาณ 15-16% ต่อปี กลายเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น  แต่สิ่งที่ “มหัศจรรย์”  จริง ๆ อยู่ที่นักลงทุน VI จำนวนมากที่สามารถเลือกและซื้อขายหุ้นรายตัวทำกำไรและผลตอบแทนสูงจนไม่น่าเชื่อ  บางคนได้กำไรเป็น 100เท่าตัว  ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเกิน 20-30% เป็นระยะเวลายาวนานกว่าสิบปี  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเศรษฐีทั้ง ๆ ที่มีเงินลงทุนส่วนตัวไม่มาก  หลายคนที่มีเงินเริ่มต้นสูงกลายเป็นมหาเศรษฐี  “หุ้น VI” ที่ครั้งหนึ่งเป็นหุ้นมีราคาถูกมากนั้น  ส่วนใหญ่กลายเป็นหุ้นมีราคาแพงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ มาก   หุ้นที่เคยเล็กบางตัวในวันนี้มีราคา  “หลุดโลก” คนที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นในวันนี้ไม่น่าที่จะสามารถสร้างผลกำไรที่งดงามอย่าง VI รุ่นก่อน  ผมคิดว่าเราไม่สามารถลงทุนหุ้นเพื่อ “เปลี่ยนชีวิต”  ได้ง่ายเหมือนเมื่อ 5 10 หรือ 15 ปีที่ผ่านมาในตลาดหุ้นไทย ความรู้สึกของผมในเวลานี้ก็คงคล้ายที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดในปี 1973 ว่า   “ผมรู้สึกเหมือนคนกลัดมันในทะเลทราย  ผมไม่สามารถหาหุ้นอะไรที่จะซื้อได้เลย”

   ถ้าจะมีที่ไหนที่จะเป็นโอกาสในการลงทุนคล้าย ๆ  ตลาดหุ้นไทยในปี 2542-2543 ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียตนามเป็นจุดหนึ่ง  ผมเองได้เขียนบทความเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับประเทศเวียตนามว่าจะเป็น  “The Next Thailand”  ในแง่ของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ  เวียตนามในวันนี้ก็คือไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และกำลังฟื้นตัว  นั่นก็คือเศรษฐกิจเวียตนามกำลังโตเร็วมาก  การโตนี้ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่โตเร็วขึ้นมากอานิสงค์จากการลดค่าเงินด่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาและการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเกาหลีและไต้หวันเช่นเดียวกับในกรณีของไทย    การบริโภคในประเทศเองผมก็คิดว่าน่าจะโตได้ดีเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ลดลงมากและรายได้ที่มากขึ้นของคนเวียตนาม  นอกจากนั้น ผมคิดว่าในไม่ช้าระบบการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ที่ยังมีน้อยมากก็จะพัฒนาขึ้นซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคเติบโตขึ้นทวีคูณ  การเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของเวียตนามนั้นจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายสิบปีเหมือนไทยในปี 2542-43

   ตลาดหุ้นเวียตนามโดยรวมในวันนี้เองนั้นก็คล้าย ๆ ตลาดหุ้นไทยหลังปี 2540  ประการแรก  หุ้นเวียตนามเพิ่งเผชิญ “วิกฤติ” และตกลงมาครึ่งหนึ่ง  ดัชนีเวียตนามเมื่อ 7-8 ปีก่อนสูงถึง 1170 จุด ปัจจุบันแค่ประมาณ 550 จุด  สอง ระดับ PE ของตลาดเวียตนามนั้นค่อนข้างต่ำ  น่าจะประมาณไม่เกิน 10-15 เท่า  แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ  ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นที่นิยมของสถาบันต่างประเทศจำนวนประมาณ 10-20 ตัว มีค่า PE คล้าย ๆ หุ้นขนาดใหญ่ของไทยที่มีค่า PE 10-20 เท่า  หุ้นขนาดเล็กจำนวนมากกลับมีค่าไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ต่ำกว่า 1 เท่าและมีปันผลต่อราคาหุ้นกว่า 5% บางตัวสูงถึง 10% โดยที่ภาพรวมของการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น  ผมคิดว่าสูงกว่าของไทยในช่วงปี 2542-43  เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียตนามต่อจากนี้น่าจะโตได้ถึงปีละ 6-7% ในขณะที่หลังวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตปีละประมาณ 5%

   จุดอ่อนของเวียตนามก็คือ  ค่าเงินเวียตนามอาจจะตกลงทำให้เราขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวถ้าเศรษฐกิจเวียตนามดีขึ้นเรื่อย ๆ  ค่าเงินก็อาจจะไม่อ่อนลงหรือกลับแข็งขึ้น  จุดอ่อนข้อที่สองก็คือ  เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทและกฎระเบียบของเวียตนามที่ยังอ่อนเมื่อเทียบกับของไทย  แต่นี่ก็น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อเวียตนามเปิดประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จุดอ่อนข้อสามอยู่ที่คุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนที่คุณภาพยังไม่ดีนักเนื่องจากระบบเศรษฐกิจของเวียตนามยังไม่เป็นเสรีร้อยเปอร์เซ็นต์  ทำให้การแข่งขันไม่รุนแรงพอ  ดูเหมือนว่าบริษัทที่ “ไม่พัฒนาพอ” ก็ยังอยู่ได้ในขณะที่บริษัทที่ “ชนะ” ก็ไม่ได้ “กินรวบ” และเติบโตโดดเด่นจนมีมูลค่าตลาดมาก ๆ   เหนือสิ่งอื่นใด  บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดยังเป็นรัฐวิสาหกิจ  ดังนั้น  คุณภาพของกิจการจึงอาจจะไม่โดดเด่นเหมือนในไทย  จุดอ่อนข้อสี่ก็คือ  หุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดีและสภาพคล่องในการซื้อขายสูงรวมทั้งราคาไม่แพงนั้น  มักจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศเต็ม 49%) ถ้าต้องการซื้อเรามักจะต้องซื้อจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศที่ราคาสูงกว่ากระดานปกติ 20-30% และจุดอ่อนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  การหาข้อมูลและการเยี่ยมบริษัทและพบปะผู้บริหารทำได้ยาก  ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์กิจการได้ง่ายเหมือนตลาดไทย

   ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดต่าง ๆ  ดังกล่าว  การลงทุนในเวียตนาม  “รอบแรก” เมื่อเกือบหนึ่งปีมาแล้วของผมจึงเป็นการซื้อหุ้นกระจายจำนวนมากกว่า 50 บริษัทโดยใช้ “ตะแกรงร่อน”  แบบ VI คือในด้านของราคา  ผมเลือกหุ้นที่มีค่า PE PB ต่ำ และปันผลตอบแทนสูง   ส่วนในด้านของคุณภาพ  ผมเลือกหุ้นที่มี ROE หรือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง  ใน “รอบสอง” ที่ผมกำลังคิดจะซื้อหุ้นเพิ่มหลังจากการเยี่ยมเยียนเวียตนามครั้งที่สอง  ผมคงเจาะหาหุ้นเป็นรายตัวและซื้อในปริมาณเม็ดเงินที่มากขึ้น  ผมเองหวังว่า  การลงทุนในเวียตนามช่วงนี้จะเหมือนกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2540 นั่นคือ  วันหนึ่งมันจะเติบโตขึ้นมากและ  “เปลี่ยนชีวิต” เราอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอีกซัก 10-20 ปี

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/05/18/1569



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Tuesday, 26 May 2015
สัญญาณจากเว็บบอร์ด
    
    ในยุคที่คนจำนวนมากต่างก็เฝ้าหน้าจอและสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตกันวันละหลายชั่วโมง  เว็บบอร์ดยอดนิยมเกี่ยวกับหุ้นคือห้องสินธรในเว็บพันธ์ทิพจึงเป็นที่ที่อารมณ์ ความรู้สึก ความรู้  ความเข้าใจ และความสนใจของคนเกี่ยวกับหุ้นถูกแสดงออกผ่านกระทู้และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  หมดยุคของการพูดคุยตามงานปาร์ตี้หรือการคุยกับช่างตัดผมหรือคนขับแท็กซี่เพื่อตรวจสอบจิตวิทยาของคนเกี่ยวกับตลาดหุ้นอย่างที่ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดไว้ในหนังสือของเขา  เดี๋ยวนี้ถ้าอยากรู้หรือติดตามสถานการณ์ของสังคมในวงกว้างต่าง ๆ  เกี่ยวกับหุ้น  เราก็เข้าไปดูกระทู้และสิ่งที่เขาคุยกันในเว็บไซ้ต์เกี่ยวกับหุ้นที่มีมากมาย

   เมื่อเร็ว ๆ  นี้ ผมได้พบกระทู้หนึ่งในเว็บสินธรที่น่าสนใจจึงอยากนำมาวิเคราะห์ดูว่ามัน  “ส่งสัญญาณ”  อะไรเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้  แต่ก็ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ตั้งใจที่จะดูแคลนคนที่ตั้งหรือตอบกระทู้ในทุก ๆ  ด้าน  ผมเพียงแต่ต้องการอธิบายข้อเท็จจริงและให้ข้อสังเกตว่าตอนนี้คนทั่ว ๆ ไป  นักลงทุนมือใหม่  หรือคนที่ไม่เชี่ยวชาญคิดอย่างไรเกี่ยวกับหุ้นและนั่นเป็น “สัญญาณ” อะไรที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกและนำมาใช้ในการพิจารณาเรื่องการลงทุนของเรา          หัวข้อกระทู้ก็คือ  “สอบถามเรื่องการลงทุน” และต่อไปนี้คือสิ่งที่มีการโพ้สต์ในกระทู้และข้อสังเกตของผม

   “สวัสดีครับพี่ ๆ  นี้เป็นกระทู้แรกของผมครับ  ยังไงแนะนำด้วยครับ  ขอเล่ารายละเอียดครับ  ตัวผมอายุ 27 ครับ  อาชีพเชฟ อยู่ร้านอาหารเล็ก ๆ  ในกรุงเทพฯ เงินเดือนพอเลี้ยงครอบครัวได้ 22,000    ผมมีแผนการไว้ในอนาคตคือ  อีก 5-7 ปีข้างหน้า  จะเลิกทำอาชีพนี้และจะกลับไปอยู่กับภรรยาที่ศรีสะเกษ  แต่ก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในอนาคต  เพราะคิดจะสร้างครอบครัวมีลูก 2-3 คน  เลยสนใจอยากเล่นหุ้น  ขอแค่สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน 40,000-50,000 ต่อเดือน  ผมต้องทำอย่างไรบ้าง  ต้องมีเงินลงทุนเท่าไร  ควรเริ่มต้นอย่างไรหรือมีที่ไหนที่สามารถสอนผมหรือแนะนำผมได้บ้าง  ถ้าเป็นไปได้สอนผมแบบลงมือทำไปด้วยกัน  จะดีมากเลยครับ

   อาจจะเป็นคำถามของหลาย ๆ ท่านทำไมต้องเล่นหุ้นละ  ทำค้าขายก็ได้นี่  คือที่ผมไปสำรวจที่ศรีสะเกษ  ไม่มีแหล่งสร้างรายได้ที่จะได้ตามเป้าที่ผมต้องการ  และเราจะไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวถ้าทำค้าขาย  เพราะต้องวิ่งหาตลาดตลอดเวลา  ร้านของชำก็ไม่มีคนซื้อของเหมือนในกรุงเทพ  นี้คือเหตุผลของผมครับ ผมเองไม่ใช่คนฉลาดมากครับ แต่อยากสร้างครอบครัวที่ไม่ต้องวิ่งหาเงินไปตลอดจนไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว)  ยังไงรบกวนพี่ ๆ ด้วยนะครับ  แนะนำน้องคนนี้หน่อยครับ”

   ความคิดเห็นที่ 1  “สามารถสร้างรายได้ต่อเดือน 40,000-50,000 ต่อเดือน”   “เอ่ออ  ต้องใช้ทุนกี่ล้านอ่ะคะ”

   จขกท. “ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรอ่ะครับ  อยากรู้เช่นกัน  ก่อนจะได้ขนาดนั้นต้องเริ่มยังไง  ผมเองคงไม่มีทุนขนาดนั้น  เริ่มจากเล็ก ๆ  ไปหาใหญ่  ตามเป้าในอนาคต 40,000-50,000 ต่อเดือน  ต้องทำยังไง  เริ่มลงจากอะไรก่อนดี  เพราะเท่าที่เคยได้ยินข้อมูลมา  บางท่านเริ่มลงทุนจากแค่ 50,000 บาท  ไปจนปัจจุบันมีรายได้มากกว่าปีละ 10,000,000 บาท  ผมเองไม่มีโอกาสได้เจอคนที่เขาทำแบบนี้ได้  เลยมาถามจากพี่ ๆ นะครับ”

   ความคิดเห็นที่ 2   “ต้องดูว่ามีเงินทุนอยู่ในมือเท่าไร  ถ้ามีซัก 9-10 ล้าน  ซื้อกองทุนหุ้นปันผลทิ้งไว้ไม่ต้องเฝ้าพอร์ตมาก  ไม่เครียด  เฉลี่ยปันผลปีละ 7-8% ก็พอได้ปีละ 6-7 แสนอยู่ แต่บางปีไม่ปันผลก็มี)  ทุน 5-6 ล้าน ลงทุนในหุ้นรายตัวที่พื้นฐานดี ๆ ซื้อมาขายไประหว่างปีบ้าง  กำไรตามตลาดซัก 10% ก็น่าจะพอหวังได้อยู่แต่ต้องศึกษาดี ๆ    ทุนต่ำกว่า 5 ล้าน อาจจะต้องมาเล่นหุ้นสายเทคนิค  เข้าเร็ว  ออกเร็วอาจจะมีโอกาสได้  แต่ก็มีโอกาสเสียมากเหมือนกัน..  แบบนี้อาจจะเครียดหน่อย”

   ความคิดเห็นที่ 3  “มันยากอยู่นะครับ 40,000-50,000 ต่อเดือน  ทุนต้องหนาหน่อย  ที่สำคัญสามารถต้องถึงด้วย  ถ้าทุนพี่ 100,000 ทำกำไรได้เดือนละ 40,000-50,000 ก็เท่ากับกำไรประมาณ 50% (มันยากอยู่นะครับ)  ทำกำไรได้ 15-20% ต่อเดือนทุกเดือนก็เก่งแล้วครับ  พี่ลองซื้อหนังสือหุ้นสายเทคนิคมาศึกษาดูครับ  มีความรู้ให้เราเยอะเลย”

   ความคิดเห็นที่ 4  “ถ้าต้องการ 50,000 บาทต่อเดือน = 600,000 บาท/ปี ถ้าลงทุนแบบไม่ต้อง active มาก  หวังจากเงินปันผลเป็นหลัก  คิดเฉลี่ยคร่าว ๆ = 5% ต่อปี ก็ควรมีเงินต้น 12 ล้านบาทครับ  ทั้งนี้คุณต้องมีความรู้ในการลงทุนระดับหนึ่งครับที่จะสามารถบริหารเงินต้นนี้ให้ได้ผลตามเป้าและไม่เสี่ยงเกินไป  โดยสรุป  คุณเริ่มต้นคิดมาถูกทางแล้ว  ต่อจากนี้ก็อยู่ที่การใฝ่หาความรู้เร่งเก็บเงินเพื่อ  “การลงทุนเพื่อชีวิต” ครับ  โชคดีครับผม”

   ความคิดเห็นที่ 5  “ถ้าตั้งคำถามแบบนี้  ยังไม่ต้องรีบครับ  ทำงานเก็บเงินไปก่อน  ผมคำนวณให้คร่าว ๆ ก่อน  ห้าหมื่นบาทต่อเดือนก็ปีละ 6 แสน ถ้าเล่นแบบซื้อหุ้นปันผล  หาหุ้นที่ปันผลปีละ 5% (หักภาษีแล้ว)  คุณต้องมีต้นทุนเท่ากับ 600,000/.05 =  12 ล้านบาทครับ   ส่วนที่บอกว่าบางท่านเริ่มลงทุนจากแค่ 50,000 บาท ไปจนปัจจุบันมีรายได้มากกว่าปีละ 10,000,000 บาท อาจจะมีจริงแต่เป็นแค่ 1 ในล้านหรือหลายล้าน  แต่คนที่มีเงินเป็นล้านเหลือแค่หลักแสนหรือหลักหมื่นนั้นมีเยอะกว่ามากมายเพียงแต่ไม่ได้มาเล่าให้ใครฟังครับ  การตั้งคำถามแบบนี้เหมือนถามว่าล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ขายอยู่แผงไหนครับ  ผมจะไปซื้อ  ประมาณนั้นครับ”

   จขกท. “555  จากคำตอบพวกพี่ผม  ผมนี้น้ำตาไหลเลย  แต่ชีวิตมันต้องมีทางออก  เท่าที่พูดมา  ถ้าผมต้นทุนน้อย  ควรเริ่มต้นจากการเล่นหุ้นด้านเทคนิคก่อน  ค่อยไปด้านการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 5% (หักภาษีแล้ว) แบบไม่ต้องเฝ้า  ขอบคุณครับ  อย่างน้อยทำให้ผมเห็นทางที่จะวิ่งต่อ  ตอนแรกมืดสนิท  งั้นผมควรซื้อหนังสืออันไหนมาศึกษาดีครับ”

   ความคิดเห็นที่ 6  “ทำงานแบ่งเงินมาลงทุนในหุ้นปันผลไปเรื่อย ๆ จนมีเงินลงทุน 15 ล้านบาท  แค่นี้เอง  ไม่ยาก ๆ”

   ข้อสังเกตของผมจากกระทู้นี้ก็คือ  หนึ่ง ช่วงนี้หุ้นคงเป็น “ฟองสบู่” อยู่บ้าง  เพราะคนที่มีอาชีพเป็นเชฟและไม่ได้มีเงินมากสนใจลงทุนในหุ้นและมองว่าหุ้นเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ที่อาจจะสามารถทำให้เราร่ำรวยได้โดยไม่ต้องทำอะไรเหนื่อยยากโดยที่เราอาจจะไม่ต้องมีเงินลงทุนมาก  สอง  อาจจะมีคนไม่น้อยที่คิดว่าเราสามารถทำผลตอบแทนจากหุ้นได้เดือนละ 15-20% ถ้าเราเก่งพอสมควรในด้านการซื้อขายหุ้นแบบเทคนิคแต่ถ้าเก่งมากก็อาจจะได้เดือนละ 50%   นี่ก็เป็นสัญญาณฟองสบู่เหมือนกัน  สาม  น่าจะมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่า  ช่วงที่มีเงินน้อย ๆ และต้องเร่งสร้างพอร์ตนั้น  จะต้องเล่นแบบเทคนิค  หลังจากมีเงินมากแล้วค่อยลงทุนแบบกินปันผลแบบสบาย ๆ  ไม่เครียด  และสุดท้ายก็คือ  “นิยาย” ของเซียนหุ้นที่ร่ำรวย  “จากหมื่นเป็นร้อยล้าน”  จากหุ้นภายในไม่กี่ปีนั้น  สามารถสร้างฝันให้กับนักลงทุนเสมอ  และก็เช่นเดียวกัน  นิยายแบบนี้มักแพร่หลายในช่วงฟองสบู่หุ้น
   

Posted by nivate at 10:07 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/05/26/1572


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Tuesday, June 2015
  จัดกลุ่มหุ้นจากผลประกอบการ


    เทคนิคการวิเคราะห์และคัดเลือกหุ้นที่จะซื้อ—และขาย  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มากอย่างหนึ่งก็คือ  การวิเคราะห์และแยกแยะหุ้นออกเป็น 6 แบบในสไตล์ของปีเตอร์ ลินช์ เซียนหุ้น “ในตำนาน” ชื่อดัง  โดยหุ้นแต่ละตัวนั้นจะถูกคัดแยกหรือกำหนดออกมาว่ามันเป็น 1 ใน 6 กลุ่มดังต่อไปนี้คือ  1 หุ้นโตช้า  2 หุ้นโตเร็ว  3 หุ้นแข็งแกร่ง 4 หุ้นทรัพย์สินมาก 5 หุ้นวัฎจักร หรือ 6 หุ้นฟื้นตัว  ในกรณีที่เป็นหุ้นโตช้า  ปีเตอร์ ลินช์ บอกว่าเราไม่ควรซื้อเลย  เขาจะชอบหุ้นโตเร็วเพราะราคาหุ้นจะขึ้นไปมากซึ่งเขาก็จะถือไว้จนกระทั่งหุ้นหรือบริษัทเริ่มหยุดโตซึ่งก็มักจะใช้เวลาหลาย ๆ  ปี และนี่คือหุ้นที่ทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตเพิ่มขึ้นมาก  บางครั้งเขาก็ซื้อหุ้นที่แข็งแกร่งในเวลาที่มันไม่แพงและจ่ายปันผลที่ดีและจะขายเมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไป 20-30% ต่อปี  หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่เขามักจะต้องซื้อเก็บไว้บ้างเพราะมันช่วย “ถ่วง” ไม่ให้พอร์ตผันผวนเกินไป  หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมากนั้นเมื่อเราเจอว่าทรัพย์สินมีค่ามากเมื่อเทียบกับราคาหุ้นและเป็นทรัพย์สินที่จะสามารถนำมาขายได้กำไรมากในเวลาไม่นาน  ก็เป็นหุ้นที่ลงทุนได้  ในกลุ่มหุ้นวัฏจักรนั้น  เราต้องซื้อในยามที่หุ้นกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำสุดแล้วและกำลังจะขึ้นซึ่งก็เป็นช่วงที่บริษัทไม่มีกำไรหรือกำไรน้อยมากทำให้ค่า PE สูง  และควรขายเมื่อกำไรดีขึ้นมาก ๆ  ค่า PE ต่ำ  ในกลุ่มสุดท้ายที่เป็นหุ้นฟื้นตัวนั้น  ควรซื้อบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีและการฟื้นตัวนั้นเป็นไปได้สูง  ขายเมื่อบริษัทฟื้นตัวและมีกำไรแล้ว

    ประเด็นก็คือ  นักลงทุนจำนวนมากนั้น  วิเคราะห์ไม่ออกหรือวิเคราะห์ผิดพลาดว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นกลุ่มไหน   ข้อผิดพลาดที่เกิดมากที่สุดนั้นอยู่ที่  “หุ้นโตเร็ว”  ที่ทุกคนอยากจะซื้อเนื่องจากมันเป็นหุ้นที่จะทำกำไรได้มากและเร็ว  นักลงทุนมักจะมองว่าถ้ากำไรและยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นในปีล่าสุดในระดับที่สูงเช่น 30-40%  และยิ่งถ้าเพิ่มมาแล้ว 2 ปี แบบนี้เขาก็จะสรุปเลยว่ามันเป็นหุ้นโตเร็วและจะเข้าไปซื้อ  “ไล่ราคา”  ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปแรงซึ่งก็ยิ่งทำให้คนอื่นเชื่อกันว่านี่คือ “หุ้นโตเร็ว”  และเข้าไปร่วมซื้อด้วยทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปอีก  แต่นี่อาจจะไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริง  เพราะหลังจากนั้น  กำไรของบริษัทอาจจะลดลงและราคาหุ้นก็ตกตามกันไป  คนที่เข้าไปเล่น “หุ้นโตเร็ว”  หลังจากที่หุ้นขึ้นไปโดยที่มันไม่ใช่หุ้นโตเร็วจริงก็จะขาดทุนได้   ดังนั้น  การวิเคราะห์หุ้นเพื่อที่จะแบ่งกลุ่มหุ้นจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง  และต่อไปนี้ก็คือวิธีดูว่าหุ้นตัวไหนควรอยู่กลุ่มไหนจากข้อมูลผลประกอบการของบริษัท

    การดูผลประกอบการที่จะพอบอกได้ว่าเป็นหุ้นกลุ่มไหนนั้น  จำเป็นที่เราจะต้องดูข้อมูลย้อนหลังซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยต้อง 4-5 ปีขึ้นไปในทุกกรณี  โดยที่ถ้าเราพบว่ายอดขายและ/หรือกำไร ของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น  แม้ว่าในหลายกรณีจะมีกำไรทุกปี  แต่การเติบโตมีน้อยเฉลี่ยไม่เกิน 5-6%  หรือบางทีมองย้อนกลับจากปีล่าสุดไป 4-5 ปีนั้น  ตัวเลขกำไรก็เท่าเดิม  แบบนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นหุ้นโตช้าหรือไม่โต  ในบางกรณีกำไรกลับลดลงด้วยซึ่งก็ถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มเดียวกัน  และถ้าเราเจอแบบนี้  วิธีที่ดีก็คือ  อย่าไปซื้อแม้ว่าบางทีเขาอาจจะจ่ายปันผลใช้ได้และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดด้วยซ้ำ  เพราะถ้าเราซื้อไว้  อนาคตกำไรอาจจะลดลงและปันผลก็จะลดลงด้วย

    ถ้าเราดูข้อมูลพบว่ายอดขายและกำไร “ปกติ” ของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี  บางทีแม้ว่าภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ดีแต่ผลประกอบการของบริษัทก็ยังโต  โดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นการเติบโตต่อปีเกิน 10% หรือบางทีเกิน 15% แบบนี้เราก็อาจจะกำลังเจอหุ้นโตเร็วเข้าแล้ว  ถ้าเราวิเคราะห์ต่อและพบ “แหล่งของการเติบโต”  เช่น เกิดจากอุตสาหกรรมที่เติบโต  หรือการกินส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่ง  ไม่ใช่ราคาของสินค้าที่เพิ่มขึ้น  แบบนี้ก็อาจจะชัดเจนว่ามันเข้าข่ายเป็นหุ้นโตเร็วที่เราจะซื้อได้  บางทีในราคาที่อาจจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดนั่นก็คือ  เราอาจจะให้ค่า PE ที่สูงถึง 20-30 เท่าในบางกรณีก็เป็นไปได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  ที่กำลังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้นานโดยมีความเสี่ยงต่ำ

    หุ้นตัวใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูง  เป็นธุรกิจที่อยู่มานาน  มีผลประกอบการที่ดีมีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ  และมีการเติบโตพอใช้ประมาณ 5-10% ต่อปี ในปีที่ “เลวร้าย” ก็มักจะยังมีกำไรแม้ว่าอาจจะลดลงบ้างแต่ก็ไม่มาก  อาจจะซัก 20-30%  มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในระดับเฉลี่ยของตลาดเช่น 2.5-3.5% ต่อปี แบบนี้มักจะเข้าข่ายเป็น “หุ้นแข็งแกร่ง” ที่เรามักจะมีโอกาสได้ลงทุน  และจังหวะที่ดีก็คือช่วงที่ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวลงมาจนค่า PE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตหรือต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอย่างอื่นเช่นการฝากเงิน  เมื่อซื้อหุ้นไว้แล้วก็อาจจะต้องรอจนหุ้นปรับตัวขึ้นไปทำกำไรให้เราคุ้มค่าเช่นได้กำไรเฉลี่ยปีละ10-15% เราก็อาจจะพิจารณาขายทิ้ง  เพราะโดยปกติราคาหุ้นแข็งแกร่งนั้นมักจะปรับตัวหรือโตขึ้นไปไม่สูงมากเนื่องจากมันอาจจะตัวใหญ่เกินไปและกำไรก็มักจะไม่สามารถโต “ก้าวกระโดด” แบบหุ้นโตเร็ว

    ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทแล้วพบว่าในช่วง 5-6 ปีหรือถ้าให้ดีดูย้อนหลังไป 10 ปี นั้น  ในบางช่วงบริษัทมีกำไรดีมากติดต่อกันหลายปี  แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ขาดทุนติดต่อกันหลายปี แล้วก็ย้อนกลับมากำไรอีก  แบบนี้เราก็อาจจะเจอกับหุ้นวัฏจักรเข้าให้แล้ว  แน่นอน ในบางครั้งเราอาจจะไม่เห็นการขาดทุน  แต่กำไรในบางช่วงมักจะสูงและบางช่วงก็มักจะต่ำ  ช่วงเวลาของการขึ้นลงในแต่ละบริษัทก็อาจจะไม่เท่ากัน  บางบริษัทนั้นเวลาดีอาจจะหลายปีเช่นเดียวกับเวลาที่ไม่ดี  บางบริษัทก็อาจจะดีแค่ปีหรือสองปีแล้วก็กลับไปแย่  ในกรณีแบบนี้  เราต้องรู้ว่าเวลาซื้อหุ้นนั้น  อย่าไปดูว่าบริษัทกำลังกำไรดี  เราต้องดูว่า “วัฏจักร” มันอยู่ในช่วงไหน  การเล่นหุ้นวัฏจักรนั้นไม่ง่ายโดยเฉพาะถ้าเราไม่ได้อยู่ในวงการของธุรกิจ  ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ  อย่าซื้อในราคาที่สูงเกินไปและอย่าไปเข้าใจผิดว่ามันเป็นหุ้นโตเร็ว

    ถ้าเราเปิดดูข้อมูลผลประกอบการแล้วพบว่ากำไรก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจนัก  แต่ข้อมูล PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นทางบัญชีนั้นต่ำมาก  เช่น  ในปัจจุบันที่ค่าเฉลี่ยของตลาดประมาณ 2.1 เท่าและบริษัทใน MAI เท่ากับ 4.3 เท่า  แต่ของบริษัทเท่ากับแค่ 0.7 เท่า แบบนี้ก็อาจจะสงสัยว่าบริษัทอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นทรัพย์สินมาก  ถ้าเราศึกษาต่อแล้วพบว่าทรัพย์สินที่ลงบัญชีไว้นั้น  น่าจะมีค่าหรือมีราคาตลาดที่สูงไม่น้อยกว่ามูลค่าในบัญชีหรืออาจจะสูงกว่าด้วยซ้ำ  เช่น เป็นที่ดินในทำเลที่ดีมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาหรือขายต่อได้ไม่ยาก  และกำไรที่ได้นั้นอาจจะมากกว่า Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดบวกหนี้สินทั้งหมดของบริษัทมาก  แบบนี้  เราก็อาจจะพิจารณาซื้อหุ้นแล้วก็รอว่าวันหนึ่งผู้บริหารจะขายทรัพย์สินนั้นออกไปซึ่งจะส่งผลให้ได้กำไรและราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากซึ่งก็จะเป็นวันที่เราจะขายหุ้นทิ้ง  อย่างไรก็ตาม  การซื้อหุ้นทรัพย์สินมากนั้น  ถ้าผู้บริหารไม่ทำอะไรกับทรัพย์สินและปล่อยทิ้งไว้นาน  เราก็อาจจะขาดทุนจากการเสียโอกาสทางการเงินได้

    สุดท้าย  ถ้าเราพบหุ้นที่เคยกำไรแต่ต่อมาขาดทุนอย่างหนักและขาดทุนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ดูไปแล้วไม่รู้ว่าธุรกิจจะ “รอด” หรือเปล่า  อย่างไรก็ตาม  หนี้สินของบริษัทเปรียบเทียบกับขนาดของทรัพย์สินแล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่สูงเกินไป  สินค้าของบริษัทเองก็ยังขายได้ แข่งขันได้พอสมควร  ถ้ามองลึกลงไปแล้วพบว่าปัญหาของบริษัทที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวหรือเป็นสาเหตุจากปัจจัยที่พอแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องระดมทุนใหม่มากมายมาแก้ปัญหา  เราก็อาจจะได้พบกับหุ้นฟื้นตัวแล้ว  เวลาซื้อหุ้นก็น่าจะเป็นว่าบริษัทได้เริ่มกระบวนการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตอบรับการฟื้นฟูแล้วในขณะที่มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. ของบริษัทนั้นอยู่ในระดับต่ำสุด
    

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/06/02/1574


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
.

Monday, 8 June 2015
M&A ยี่ห้อบัฟเฟตต์
 


    การทำ M&A หรือการซื้อหรือควบรวมกิจการนับวันจะเป็นเรื่องปกติของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วแต่กิจการเดิมที่มีอยู่นั้นไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเร็วและมากพอเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ   การซื้อกิจการต่าง ๆ  ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรือธุรกิจใหม่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่บริษัทที่มีทรัพยากรทางการเงินเหลือเลือกใช้   ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า  มันคุ้มค่าไหมที่จะทำ?  เพราะแม้ว่าการซื้อกิจการจะทำให้มีรายได้และอาจจะทำกำไรเพิ่มทันทีแต่ราคาที่ซื้อก็มักจะแพงกว่าปกติค่อนข้างมาก  ถ้าเป็นบริษัทหรือหุ้นในตลาดก็มักจะแพงกว่าอย่างน้อยก็ 30-40% จากราคาก่อนมีข่าวเทคโอเวอร์  อย่างไรก็ตาม  คนที่ซื้อกิจการก็มักจะมี “ข้อแก้ตัว” หรือมีเหตุผลว่าตนเองจะสามารถปรับปรุงหรือพัฒนากิจการที่ซื้อมาให้ดีขึ้นได้อย่าง “ก้าวกระโดด” ผ่านกิจกรรมบางอย่างเช่น  เปลี่ยนผู้บริหาร  หรือไม่ก็โดยการทำ  “Synergies” หรือสามารถสร้างรายได้เพิ่มและ/หรือลดต้นทุนให้กับกิจการเมื่อนำธุรกิจใหม่และธุรกิจเดิมที่มีอยู่มา “บริหารร่วมกัน”  ดังนั้น  สำหรับบริษัทที่เทคโอเวอร์บริษัทอื่นแล้ว  พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเสมอ  และก็เช่นเดียวกัน  นักลงทุนจำนวนมากก็มักจะคิดว่าบริษัทจะดีขึ้นและโตขึ้นอย่างรวดเร็วพวกเขาจึงแห่กันไปซื้อหุ้น  ผลก็คือ  ทั้งหุ้นของบริษัทที่ถูกเทคและ บริษัทที่เทคโอเวอร์คนอื่นต่างก็ “วิ่งกันระเบิด”  ในวันประกาศข่าว   อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์บอกเราว่า  หลังจากการเทคโอเวอร์แค่ 2-3 ปี ความหวังหรือความฝันมักจะสูญสลาย  การทำ M&A ส่วนใหญ่มีแต่ทำให้บริษัทแย่ลง

    วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  คนส่วนใหญ่คิดว่าเขาเป็น “นักลงทุน” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกที่รู้ว่าจะซื้อและขายหุ้นตัวไหนให้ได้กำไรงดงาม   แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าที่จริงแล้วการลงทุนของบัฟเฟตต์ส่วนใหญ่แล้วก็คือ  การเทคโอเวอร์หรือทำ M&A นั่นก็คือ  เขามักจะซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทหรือเป็นหุ้นใหญ่ที่เขามีอำนาจควบคุมเหมือนกับเป็นเจ้าของโดยที่เขาซื้อโดยไม่มีจุดประสงค์ในการขาย  บัฟเฟตต์ทำแบบนี้มานานหลายสิบปีและเป็นเจ้าของบริษัทมากมาย  รายได้และกำไรของบริษัทที่อยู่ใน “อาณาจักร” ของเบิร์กไชร์รวมกันนั้นสูงเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐรองจากหุ้นอย่างวอลมาร์ทหรือแอปเปิลคอมพิวเตอร์  บัฟเฟตต์ทำได้อย่างไรในการเทคโอเวอร์บริษัทที่ดีเยี่ยมและไม่เป็นปัญหาในภายหลังอย่างคนอื่นและเขาบริหาร  “บริษัทลูก ๆ” อย่างไรที่ทำให้เบิร์กไชร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้ง ๆ ที่ทั้งบริษัทแม่ที่เมืองโอมาฮามีคนทำงานไม่เกิน 20 คน

    ความสำเร็จในการทำ M&A ของบัฟเฟตต์นั้นผมคิดว่าอยู่ที่  “ยี่ห้อ” ของบัฟเฟตต์ที่ต้องบอกว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือนและทำให้มัน  “ขาย” ได้ดีมาก  พูดง่าย ๆ  เจ้าของธุรกิจที่ดี ๆ และอยากที่จะขายธุรกิจเนื่องด้วยเหตุผลร้อยแปด  ถ้าเลือกได้  พวกเขาอาจจะอยากขายให้บัฟเฟตต์แม้ว่าบางทีราคาขายอาจจะถูกกว่าขายให้คนอื่นด้วยซ้ำ  นี่ทำให้บัฟเฟตต์สามารถซื้อหุ้นหรือกิจการที่ดีเยี่ยมในราคาถูกอยู่ตลอดเวลา  สิ่งนี้ประกอบกับความสามารถในการบริหารกิจการและคนของบัฟเฟตต์  และเม็ดเงินสดต้นทุนต่ำโดยเฉพาะจากกิจการประกันภัยและจากเงินปันผลจากบริษัทลูกจำนวนมหาศาล  ทำให้เบิร์กไชร์สามารถซื้อบริษัทที่ดีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุดและไม่ประสบปัญหาเหมือนบริษัทอื่น   มาดูกันว่า  “ยี่ห้อ” หรือชื่อเสียงของการทำ M&A ของบัฟเฟตต์คืออะไร

    ข้อแรก บัฟเฟตต์จะไม่ทำ M&A แบบ  “ไม่เป็นมิตร”  นั่นก็คือ  ถ้าผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทไม่เห็นด้วยกับการเสนอเทคโอเวอร์  บัฟเฟตต์ก็จะไม่เข้าไปซื้อ  เหตุผลก็คือ  เวลาบัฟเฟตต์ซื้อกิจการนั้น  เงื่อนไขสำคัญก็คือ  ผู้บริหารจะต้องอยู่บริหารต่อไป  เพราะบัฟเฟตต์คิดว่าคุณค่าของบริษัทหรือกิจการนั้นอยู่ที่ผู้บริหาร  ถ้าเขาซื้อแล้วผู้บริหารออกไปใครจะบริหารและเขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนใหม่จะทำได้ดีเช่นคนเก่าและกิจการจะดี  “เหมือนเดิม”  และนี่ก็เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขข้อสองนั่นก็คือ

    บัฟเฟตต์จะซื้อเฉพาะกิจการที่ดีหรือดีเยี่ยมเท่านั้น  เขาไม่สนใจกิจการที่ย่ำแย่หรือกิจการที่จะ “Turn Around” หรือกิจการที่จะ “ฟื้นตัว”  เพราะเขาพูดว่าหุ้นเหล่านี้มักจะไม่ฟื้นจริง  ยกเว้นแต่ว่าถ้าเป็นบริษัทที่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินแต่ตัวธุรกิจนั้นยังดีเยี่ยม  แบบนี้เขาก็จะสนใจเพราะเบิร์กไชร์นั้นมีเงินสดมากและต้นทุนต่ำที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนเต็มที่  ตัวอย่างน่าจะเกิดในช่วงวิกฤตซับไพร์มปี 2008-9 ที่บริษัทดีเยี่ยมจำนวนมากเช่น GE และสถาบันการเงินหลายแห่งเกือบล้มละลายเพราะขาดเงินซึ่งบัฟเฟตต์เข้าไปลงทุนอัดฉีดเงินให้จนฟื้น

    ข้อสามที่เป็นที่ชื่นชอบของเจ้าของธุรกิจที่ต้องการขายบริษัทให้กับบัฟเฟตต์ก็คือ  เขาจะไม่มีการปลดผู้บริหารหรือบุคคลากรของบริษัท  เขาต้องการให้เจ้าของเดิมบริหารบริษัทต่อไป  “ตลอดชีวิต” ดังนั้น  สำหรับเจ้าของที่เป็นผู้บริหารด้วยนั้น  เมื่อขายให้บัฟเฟตต์แล้ว  พวกเขาก็จะยังทำงาน  “ที่เขารัก”  และมีชีวิตประจำวันเหมือนเดิม  พวกเขาจะรู้สึกแย่ในกรณีที่ถ้าขายให้กับคนอื่นแล้วบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีอัตลักษณ์เดิมของครอบครัวและที่สำคัญที่สุดก็คือพนักงานเก่าแก่ที่เคยอยู่ด้วยกันและผูกพันกันมานานอาจจะถูก “ลอยแพ” ถ้าขายให้คนอื่น

    ข้อสี่ก็คือ  บัฟเฟตต์ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัทที่เขาเทคโอเวอร์โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจประจำ  เขาอาจจะติดต่อกับบริษัทบ้างอาจจะปีละครั้งหรือไม่ต้องคุยเลย  สิ่งที่บัฟเฟตต์ต้องการให้ผู้บริหารทำก็คือ  “คิดและทำเหมือนเป็นเจ้าของบริษัท”  อะไรที่เป็นประโยชน์คุ้มค่าก็ทำ  อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องทำ  ตัวอย่างเช่น  อย่าขยายงานถ้าผลตอบแทนต่ำ  ผลงานของผู้บริหารนั้นวัดที่ผลกำไรเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น  ถ้าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนต่ำก็อย่าลงทุน  ให้จ่ายเป็นปันผลออกมา  ไม่ต้องห่วงว่าบริษัทจะโตช้าหรือไม่โต

    ข้อห้าและน่าจะเป็นเรื่องที่ “หักล้าง” ความคิดเรื่อง M&A สายหลักอย่างสิ้นเชิงก็คือ  บัฟเฟตต์ไม่สนใจเรื่อง Synergies ทางด้านการทำธุรกิจ  บริษัทในเครือข่ายของเบิร์กไชร์นั้นต่างคนก็ต่างอยู่ไม่จำเป็นที่จะต้องมาหาทางเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดต้นทุน  ไม่ต้องมายุ่งกันในเรื่องของการขายหรือการตลาด  ตัวอย่างเช่น  เบิร์กไชร์มีบริษัทที่ขายเฟอร์นิเจอร์หลายแห่งหลายเมืองแต่ทุกรายต่างก็ทำของตนเองไม่ยุ่งเกี่ยวกัน  ผมคิดว่ากลยุทธ์นี้ทำให้แต่ละบริษัทต่างก็ไม่ต้องไปขึ้นอยู่หรือไปสัมพันธ์ทางธุรกิจกับคนอื่นซึ่งจะทำให้แต่ละคนมีความคล่องตัวน้อยลงซึ่งอาจจะกลายเป็นว่าผู้บริหารที่เคยมี  “อิสระ”  ก่อนถูกเทคโอเวอร์  กลายเป็นว่าจะไม่มีอิสระแล้ว  ดังนั้น  แนวทางของบัฟเฟตต์ข้อนี้น่าจะทำให้เจ้าของและผู้บริหารบริษัทอยากขายบริษัทให้บัฟเฟตต์มากกว่าขายให้คนอื่น  เพราะขายไปแล้วตนก็ยังมีอิสระในการทำงานเหมือนเดิม  Synergies แบบเดียวที่บัฟเฟตต์ให้กับบริษัทลูก ๆ ก็คือ ในเรื่องของการเงิน  นั่นก็คือ  เวลาบัฟเฟตต์เทคโอเวอร์บริษัทแล้ว  เขามักจะช่วยลดต้นทุนทางด้านการเงินให้  เช่น  เคยจ่ายดอกเบี้ยสูงก็จะจ่ายต่ำลงเพราะเครดิตของเบิร์กไชร์นั้นดีมาก

    สองข้อสุดท้ายที่ทำให้ยี่ห้อเทคโอเวอร์ของบัฟเฟตต์ดึงดูดใจเจ้าของธุรกิจมากก็คือ  เขาสามารถ  “ปิดดีล” ได้เร็วมากและมักจะไม่มีการทำ “Due Diligent” หรือศึกษาข้อมูลรายละเอียดของบริษัทให้  “เสียอารมณ์” อย่างบริษัทอื่น  ถ้าตกลงราคาได้เขาสามารถจ่ายเงินได้ภายใน “บ่ายนี้”  หรือใน “วันจันทร์” เป็นเงินสด  ไม่ใช่เป็นการแลกหุ้นหรือจ่ายเป็นงวด ๆ  นอกจากนั้น  คนขายอาจจะรู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็น “หนึ่งในบริษัทของเบิร์กไชร์”  และทั้งหมดนี้ก็คือ  “ยี่ห้อ” ของเบิร์กไชร์ ที่  “สุดยอด” ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้และน่าจะเป็นปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่บัฟเฟตต์ได้สร้างไว้

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com





 
  ม้าลายในดงสิงห์

    หนึ่งในนักลงทุนที่ “ยิ่งใหญ่” ของโลกแต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นหลังก็อาจจะไม่ค่อยรู้จักก็คือ Ralph Wanger อดีตผู้จัดการกองทุนตระกูล “Acorn” ที่โด่งดังในช่วงกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1970-2003  เขาดังเพราะว่าผลงานในช่วง 33 ปี ของเขานั้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยถึงปีละ 16.3% ในขณะที่ดัชนี S&P หรือดัชนีตลาดนั้นให้ผลตอบแทนเพียง 12.1%  ความแตกต่างถึงปีละกว่า 4% ต่อปีเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปีนั้น  เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากสำหรับการลงทุนที่มีพอร์ตขนาดใหญ่เป็นแสนล้านบาท  นอกจากเรื่องของผลงานแล้ว  สิ่งที่ทำให้แวงเกอร์ดังเป็นพิเศษก็คือ  เขาเป็นผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้นำในการลงทุนในหุ้น “ขนาดเล็ก”  ที่โตเร็วทั้งในตลาดหุ้นสหรัฐและต่างประเทศเป็นคนแรก ๆ   อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คนกล่าวขวัญถึงก็คือ  “รายงานถึงผู้ถือหน่วยลงทุน” ที่เขาส่งให้ลูกค้าของเขาเป็นประจำทุกไตรมาศนั้น  ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสาระความรู้และน่าอ่าน  ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ศึกษาแต่มันคงจะคล้าย ๆ  กับรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์  และหลังจาก  “ประสบความสำเร็จสูง” ก็เป็น  “ธรรมเนียม” ที่จะต้องมี  “หนังสือ”  ของตนเอง  ซึ่งผมได้อ่านมานานแล้วตั้งแต่ผมเริ่มชีวิตการลงทุนใหม่ ๆ  หลังปีวิกฤติตลาดหุ้นไทยในปี 2540  หนังสือที่เขาเขียนชื่อ  “A Zebra In Lion Country” แปลเป็นไทยก็คือ  “ม้าลายในดงสิงห์”

    ความหมายของ  “ม้าลายในดงสิงห์” ของแวงเกอร์ก็คือ  เขาเปรียบนักลงทุนรายย่อยเป็น  “ม้าลาย” ที่หากินกันเป็นฝูงในทุ่งหญ้า  ม้าลายที่อยู่ตรงกลางของฝูงนั้น  ปกติก็มักจะ “ปลอดภัย” จากการกลายเป็นอาหารของสิงโตที่มักจะล่าเหยื่อที่เป็นม้าลาย  อย่างไรก็ตาม  ม้าลายที่หากินอยู่กลางฝูงนั้นก็มักจะได้กินแต่หญ้าจำนวนน้อยและคุณภาพต่ำที่ถูกเหยียบย่ำโดยฝูงม้าลาย  ความหมายก็คือ  ถ้าเราเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ “กลัวความเสี่ยง”  เราก็จะลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมเช่น  ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ที่เป็น  “หุ้นมาตรฐาน” ของตลาดหรือลงทุนในกองทุนรวม  แต่วิธีนี้เราก็ต้องยอมรับว่าจะได้ผลตอบแทนที่ “ต่ำ”   ในทางตรงกันข้าม  ม้าลายที่หากินอยู่ที่ขอบรอบนอกของฝูงนั้น  ก็มักจะได้กินหญ้าจำนวนมากที่เขียวขจีแต่พวกมันก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ฝูงสิงโตจะเข้าโจมตีและจับมันเป็นอาหาร  ความหมายก็คือ  ถ้านักลงทุนรายย่อยอยากที่จะรวยหรือทำเงินจากการลงทุนสูง  เขาจะต้องกล้าลงทุนใน  “หุ้นขนาดเล็ก” ซึ่งจะต้อง  “เสี่ยง”  และจะต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่รอดได้อย่างปลอดภัย

    ในตลาดหุ้นไทยนั้น  นักลงทุนรายย่อยบ้านเราที่มักจะเข้ามา “เล่นหุ้น” โดยไม่มีความรู้ในการลงทุนจริง ๆ  นั้น  มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น  “แมงเม่า”  นั่นก็คือ  เข้ามาซื้อขายหุ้น  “ตามแห่”  คือถ้าหุ้นตัวไหนราคาปรับตัวขึ้นแรงและเร็วพวกเขาก็จะแห่เข้าไปซื้อตาม  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าหุ้นตัวนั้นเริ่มปรับตัวลง  พวกเขาก็จะรีบชิงขายโดยไม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานของกิจการไม่ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง  ผลก็คือพวกเขาก็มักจะขาดทุน  นี่เปรียบเสมือนกับแมงเม่าที่มักจะบินเข้าไป “เล่นกับไฟ”  ที่มีคนจุดขึ้น  ซึ่งก็มักจะถูก “เผา”สถานเดียว  พูดง่าย ๆ  กลยุทธ์แบบนี้มีแต่ขาดทุน  โอกาสกำไรไม่มี

    ในระยะหลังที่การลงทุนแบบ “VI”  เกิดขึ้นในประเทศไทย  นักลงทุนรายย่อยที่เป็น VI นั่นคือคนที่ศึกษาหลักการลงทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ดีมีราคาถูกนั้น  พวกเขาพบว่าหุ้น  “ขนาดเล็กที่โตเร็ว” นั้น  เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมกว่าการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ทำให้พวกเขาจำนวนมากประสบความสำเร็จสูงมากโดยที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา  พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงจากการขาดทุนที่มักเกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อยตลอดมา  พวกเขาได้กำหนด  “มาตรฐานใหม่” ขึ้นมาว่า  นักลงทุนรายย่อยที่รู้จริงและใช้หลักการแบบ VI นั้น  ไม่ใช่แมงเม่าที่จะถูกหลอกล่อให้บินเข้ากองไฟ  ตรงกันข้าม  พวกเขานั้นคือ  “ม้าลาย” ที่หากินอยู่ที่ขอบนอกของฝูงที่ได้กิน “หญ้าที่เขียวขจี” และสามารถเอาตัวรอดจาก  “สิงห์”  ที่คอยจับม้าลายที่ไม่รู้จักวิธีหลบหลีก “กรงเล็บ” ของมัน

    แน่นอนว่าไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็ก” ทุกตัวเป็นหุ้นที่ดีน่าลงทุน  และก็ไม่ใช่ “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว”  ทุกตัวเป็นหุ้นที่น่าลงทุน  ตรงกันข้าม  หุ้นตัวเล็กไม่ว่าจะโตเร็วหรือไม่  ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ใช่หุ้นที่น่าลงทุน  จริงอยู่ หุ้นเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็ว  บ่อยครั้งก็ทำกำไรให้กับนักลงทุนบางคนมหาศาล  แต่กลับทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากขาดทุนอย่างหนัก  ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คือ  นักลงทุนรายย่อยเหล่านี้ก็คือ  “ม้าลาย”  ที่ออกมาหากินหญ้าที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่ตระหนักว่ามันมีอันตรายจาก “สิงโต”  ที่คอยจับ “เหยื่อ”  ที่ไม่รู้และมองหาแต่หญ้าที่ “เขียวขจี” อยู่ที่ขอบนอกของฝูงโดยที่ไม่รู้วิธีป้องกันหรือเอาตัวรอดเมื่อสิงโตมา  และนี่ก็คือนักลงทุนที่  “พยายามเป็น VI” โดยที่ไม่ได้ศึกษาจริง ๆ  พวกเขาเข้ามาเล่น  “หุ้นตัวเล็กที่โตเร็ว” ที่มีราคาปรับตัวขึ้นมากและเร็วเพราะหวังผลตอบแทนที่สูงลิ่วแต่กลับขาดทุนอย่างหนักเมื่อหุ้นปรับตัวลง  พวกเขา  “ร้องไห้หนักมาก”  อย่างที่วัยรุ่นชอบพูดกันในช่วงเร็ว ๆ  นี้

    วิธีที่จะเป็น  “ม้าลายที่หากินหญ้าที่เขียวขจีที่อยู่ขอบนอกของฝูงและเอาตัวรอดได้” ของแวงเกอร์นั้น  พอสรุปได้คร่าว ๆ  ดังต่อไปนี้

    ประการแรกก็คือ  ให้เน้นการมองหรือค้นหาแนวโน้มหรือเทรนด์ที่จะดำเนินต่อเนื่องไปอย่างน้อย 4- 5 ปีข้างหน้า  เพราะเขาเห็นว่าชีวิตของเรานั้นจะถูกขับเคลื่อนโดยกระแสของเศรษฐกิจและสังคมเหล่านั้น  ซึ่งก็จะไปขับเคลื่อนยอดขายและกำไรของบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  ตัวอย่างเช่น แวงเกอร์เองนั้นมองว่ามีเทรนด์ที่จะดำเนินต่อไปอีก 4-5 เรื่องคือ  1)  การปฏิวัติของระบบข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะผลกระทบของมันต่อต้นทุนต่าง ๆ  2) คือการขยายตัวของระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต 3) ธุรกิจความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจซึ่งจะถูกเร่งขึ้นโดยการเพิ่มขึ้นของคนรุ่นเบบี้บูมที่มีความมั่งคั่งสูง  4) คือระบบ Outsource หรือการจ้างบริษัทภายนอกทำงานแทนบริษัทของธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ  ที่จะเพิ่มมากขึ้น  สุดท้ายคือ 5) การเจริญเติบโตของธุรกิจบริหารเงินซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในโลกที่คนมีความมั่งคั่งสูงและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

    ประการที่สองที่เป็นหลักการและคำแนะนำของแวงเกอร์ก็คือ  เขาบอกว่าบริษัทขนาดเล็กนั้น  โดยเฉลี่ยแล้วจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่  แต่เราควรจะหลีกเลี่ยงบริษัทขนาด “จิ๋ว”  เพราะมันจะมีความเสี่ยงสูงเกินไป  (เช่น ขนาด Market Cap.ไม่ควรต่ำกว่า 2-3000 ล้านบาท เป็นต้น)  บริษัทขนาดเล็กที่ดีที่สุดควรเป็นบริษัทที่โดดเด่นและยึดครองตลาดเฉพาะจุดหรือ Niche ของตนเอง  ซึ่งคุณลักษณะของมันควรจะรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้คือ  1) บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดที่โตขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน  2) มีการออกแบบที่ดี 3) ถ้าเป็นการผลิตก็ต้องมีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ 4) ผู้บริหารมีความเป็นผู้ประกอบการที่โดดเด่น 4) มีทักษะทางการตลาดสูง 5) ธุรกิจมีกำไรต่อยอดขายหรือ Profit Margin สูง  นอกจากนั้น  แวงเกอร์ชอบบริษัทที่ทำธุรกิจที่อยู่ปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ  ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ธุรกิจไมโครชิพและหุ้นอย่าง Intel เติบโตเร็ว  แวงเกอร์จะชอบที่จะลงทุนในบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใช้ผลิตภัณฑ์ไมโครชิพมากกว่า

    ประการต่อมาก็คือ  แวงเกอร์เน้นลงทุนในบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมีหนี้น้อยและธุรกิจนั้นสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ดีเขาจะหลีกเลี่ยงพวกบริษัทฟื้นตัว  บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานและหุ้น IPO ที่มักจะมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ  และสุดท้าย  เขาจะดูความถูกความแพงของหุ้นจากค่า PEG คล้าย ๆ  กับปีเตอร์ ลินช์ หรือที่ดีไปกว่านั้นก็คือ  เขาชอบที่จะคาดการณ์กำไรต่อหุ้นใน 2 ปีข้างหน้าแล้วคูณด้วยค่า PE ที่เหมาะสมเพื่อหามูลค่าที่เหมาะสม  เมื่อซื้อหุ้นได้ถูกต้องแล้ว  เขาบอกว่าเราควรสามารถที่จะถือมันไว้ได้อย่างน้อย 4-5 ปี  และจะขายต่อเมื่อราคาขึ้นไปสูงเกินกว่าพื้นฐานหรือเมื่อค่า PE สูงเกินไปเพื่อลดความเสี่ยง  ทั้งหมดนั้นคือหลักการ  แต่ในชีวิตจริงเขาบอกว่าเขาจะประเมินและทบทวนสถานการณ์ตลอดเวลาเพื่อที่จะดูว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นและพอร์ตของตนเอง

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 22 June 2015 
  อุตสาหกรรมดาวตก

    ถ้าจะมีอุตสาหกรรมอะไรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว—จากอุตสาหกรรมที่ดีมากกลายเป็นธุรกิจที่ย่ำแย่เพียงชั่วเวลา “ข้ามคืน”  ผมคิดว่ามันคือธุรกิจการออกอากาศทางโทรทัศน์หรือเรียกง่าย ๆ ว่า  ธุรกิจ “TV” สาเหตุนั้นเกิดจากการให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อออกอากาศแบบดิจิตอลจำนวน 24 ใบของ กสทช. ซึ่งก่อให้เกิดทีวีขึ้นใหม่ 24 ช่องที่ผู้ชมสามารถรับชมรายการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  การที่อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปมากนั้น  มาจากการที่  “พลังขับเคลื่อน” ของอุตสาหกรรม 5 พลัง  หรือที่เรียกกันว่า “Five Forces Model” ของ Michael Porter ของอุตสาหกรรมทีวีของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  “จากหน้ามือเป็นหลังมือ”  มาดูกันว่าเป็นอย่างไร

    พลังขับเคลื่อนแรกคือ  “การแข่งขันระหว่างบริษัท”   ตามแนวคิดของพอร์ตเตอร์ก็คือ  อุตสาหกรรมอะไรก็ตาม  หากคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมมีน้อย  การแข่งขันกันของบริษัทต่าง ๆ  ก็จะมีน้อยเพราะความต้องการของคนใช้มีมากกว่าจำนวนผู้ให้บริการ  และนั่นก็คือพลังที่ดีสำหรับอุตสาหกรรม  อุตสาหกรรมที่เป็นแบบนี้ก็จะทำกำไรได้ดีกว่าอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมากมายเต็มไปหมด  ในอดีต  ทีวีช่องฟรีนั้นก็มีเพียงไม่กี่ช่อง  ที่ทำงานแบบการค้าจริง ๆ  ดูเหมือนจะมีเพียง 3-4 ช่อง ทำให้ช่องเหล่านั้นสามารถตั้งราคาค่าโฆษณาได้สูงและบริษัทผู้ให้บริการสามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติ  แต่ปัจจุบันที่มีถึงเกือบ 30 ช่อง  พลังขับดันข้อนี้ก็กลายเป็นด้านลบไปในทันทีเพราะมีบริษัทที่แข่งขันมากเกินไปมาก

    พลังขับเคลื่อนที่สองก็คือ  “อำนาจของซัพพลายเออร์”   นั่นก็คือ  ถ้าอุตสาหกรรมมีซัพพลายเออร์จำนวนมากที่พร้อมจะเข้ามาเสนอขายสินค้าหรือบริการ  พวกเขาก็จะต้องแข่งขันในด้านของคุณภาพและราคาอย่างหนัก  บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็จะมีต้นทุนสินค้าต่ำและคุณภาพที่ดีที่จะนำมาขายต่อ  นี่เป็นพลังหรือปัจจัยที่ดีที่จะช่วยให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมสามารถทำกำไรได้สูง  แต่ถ้าซัพพลายเออร์มีไม่พอในขณะที่มีบริษัทผู้ซื้อมาก  อำนาจของซับพลายเออร์ก็จะสูง  อุตสาหกรรมนั้นก็จะแย่ลงนั่นก็คือทำกำไรได้ต่ำลง  ในอดีต  ผู้ผลิตรายการป้อนให้กับฟรีทีวีนั้น  มักจะไม่มีอำนาจต่อรองกับเจ้าของช่อง  ดังนั้น  ธุรกิจฟรีทีวีจึงมีพลังขับที่เป็นบวก  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดทีวีดิจิตอลขึ้น  ซับพลายเออร์หรือผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพสูงกลายเป็นสิ่งที่หายาก  เพราะพวกเขาต่างก็ไปทำช่องทีวีของตนเอง  ดังนั้น  ช่องทีวีต่าง ๆ จึงไม่ได้เปรียบทางด้านของซับพลายเออร์อีกต่อไป  พลังด้านบวกก็กลายเป็นพลังด้านลบ

    พลังขับเคลื่อนที่สามคือ  “อำนาจของลูกค้า”  นี่คือพลังที่เกิดขึ้นจากเอกลักษณ์หรือแบรนด์ของสินค้าหรือบริการที่ทำให้ลูกค้าติดและเป็นสินค้าที่พวกเขาจะเลือกใช้  ถ้าอุตสาหกรรมนั้นลูกค้ามักจะติดที่จะเลือกแบรนด์  นั่นก็คืออุตสาหกรรมที่ดีและจะทำให้บริษัทมีกำไรสูง  แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่สินค้ามีความคล้ายคลึงกันมาก  การจดจำของแบรนด์ต่ำและลูกค้าไม่ได้มีการติดยึดและพร้อมจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น  แบบนี้ก็ถือว่าอำนาจของลูกค้ามีสูงก็จะเป็นผลลบต่อกิจการ  กำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในกรณีของธุรกิจทีวีในอดีตนั้น  ผมคิดว่าอำนาจของผู้ชมมีไม่มาก  เนื่องจากรายการทีวีมักจะไม่หลากหลาย  ทางเลือกที่จะไปชมรายการแบบเดียวกันของช่องอื่นมีไม่มาก  แต่หลังจากที่มีช่องทีวีเกิดขึ้นมากมาย  การเปลี่ยนไปชมรายการของช่องอื่นที่ดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาก็เพิ่มขึ้นมาก  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากบวกเป็นลบ

    พลังขับเคลื่อนที่สี่ก็คือ  “อุปสรรคในการเข้ามาและออกไปจากตลาด”    ถ้าการเข้ามาในอุตสาหกรรมเป็นเรื่องยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง  เช่น  ต้องมีใบอนุญาตหรือต้องลงทุนสูง  หรือการแข่งขันกับผู้เล่นเดิมทำได้ยากเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ   แบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยที่ดีของอุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนในอุตสาหกรรมสูง  ตรงกันข้าม  ถ้าอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมมีน้อย  การเข้าสู่อุตสาหกรรมทำได้ง่ายและถ้ายิ่งเมื่อเข้ามาแล้วก็ออกไปยากก็จะทำให้เกิดภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน  นอกจากนั้นบริษัทที่เข้ามาใหม่ก็อาจจะสามารถลอกเลียนแบบหรือมีกลยุทธ์ในการแข่งขันที่สามารถเอาชนะผู้เล่นเดิมได้  ในกรณีแบบนี้ก็ถือว่าเป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมทำให้ทำกำไรได้ต่ำ   ธุรกิจฟรีทีวีในอดีตนั้น  อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของรายใหม่สูงมาก  ว่าที่จริงในช่วงเวลานับสิบ ๆ  ปีนั้นไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเลย  แต่ในปัจจุบันนั้น  การเข้ามาเล่นหรือแข่งขันของรายใหม่นั้นผมคิดว่ามีอุปสรรคน้อย  ดังนั้น  นี่ก็เป็นอีกพลังหนึ่งที่เปลี่ยนจากดีเป็นร้าย

    พลังขับเคลื่อนสุดท้ายก็คือ  “สินค้าหรือบริการที่ทดแทนกันได้”  อุตสาหกรรมที่สินค้าหรือบริการไม่มีสินค้าอื่นมาทดแทนได้หรือทดแทนได้น้อยนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ผลตอบแทนของอุตสาหกรรมสูงขึ้น  ตรงกันข้าม  อุตสาหกรรมที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้สินค้าอื่นที่สามารถตอบสนองความต้องการแบบเดียวกันได้ในราคาที่น่าพอใจและสินค้าเหล่านั้นมีมากมาย  แบบนี้ก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออุตสาหกรรมและทำให้ผลตอบแทนหรือกำไรของอุตสาหกรรมต่ำลง  ในกรณีของธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีต  สินค้าทดแทนการชมทีวีนั้นมีไม่มาก  แต่ในระยะหลังที่ระบบอินเตอร์เน็ตแพร่หลายและราคาถูกลงมาก  เช่นเดียวกับระบบทีวีที่มีต้นทุนในการรับชมต่ำมากเช่นกรณีของทีวีดาวเทียม  สินค้าทดแทนฟรีทีวีก็สูงขึ้นมาก  ดังนั้น  ปัจจัยในด้านของสินค้าทดแทนของธุรกิจฟรีทีวีก็กลายเป็นลบ

    การดูว่าอุตสาหกรรมไหนดีหรือไม่นั้น  โดยปกติเราก็จะต้องดูพลังทั้งห้าประกอบกัน  ถ้าพลังหรือปัจจัยส่วนใหญ่นั้นเป็นบวก  โอกาสก็เป็นไปได้สูงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยสูง  ถ้าพลังส่วนใหญ่เป็นลบผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมก็จะต่ำ  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าพลังทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นก็แสดงว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและบริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมก็จะทำกำไรได้ดี  บริษัทที่โดดเด่นก็จะทำกำไรได้สูงลิ่ว  ตรงกันข้าม  ถ้าพลังทั้งหมดนั้นเป็นลบ  บริษัทในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็จะมักจะทำกำไรได้ยาก แม้แต่บริษัทที่เก่งหรือดีมากในอุตสาหกรรมก็อาจจะลำบาก

    ธุรกิจฟรีทีวีนั้น  ในอดีตต้องถือว่าพลังขับดันทั้งห้าต่างก็เป็นบวก  นั่นทำให้แทบทุกบริษัทที่อยู่ในธุรกิจต่างก็ได้กำไรกันทั่วหน้าโดยที่บริษัทที่เด่นนั้นทำกำไรได้สูงมากจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”  อย่างไรก็ตาม  หลังจากการเปิดดิจิตอลทีวี  พลังทั้งห้าก็เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นลบแทบจะทั้งหมด  ดังนั้น  ถ้าจะคาดเดาต่อก็คือ  ธุรกิจทีวีจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีและน่าจะให้ผลตอบแทนต่ำลงไปมาก  บริษัทที่โดดเด่นเองนั้น  ในระยะสั้นหรืออาจจะถึงกลางก็อาจจะยังทำกำไรได้พอสมควรเนื่องจากคู่แข่งใหม่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะแข่งขัน  แต่ในระยะยาวแล้วก็อาจจะหาบริษัทที่กำไรดีเยี่ยมเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ยาก  ตรงกันข้าม  เนื่องจากมันอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ดีแล้ว  บริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำก็อาจจะขาดทุนและบางบริษัทก็อาจจะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจได้  ว่าที่จริงในช่วงนี้เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางบริษัทได้ประกาศ “ถอนตัว”  ออกจากธุรกิจแล้ว  ผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทอื่นถอนตามอีก  อุตสาหกรรมฟรีทีวีตอนนี้ดูเหมือนจะเป็น  “อุตสาหกรรมดาวตก” ไปแล้วหรือ?  เวลาจะเป็นสิ่งที่บอก  ในระหว่างนี้  คนที่กำลังเล่นหุ้นทีวีโดยตั้งอยู่บนความคิดหรือสมมุติฐานว่านี่คือธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีอย่างที่เข้าใจมาตลอดนั้นจะต้องระวัง  เพราะถ้ามันไม่ใช่  เราก็อาจจะไม่เห็น  “กำไรที่งดงาม” ในธุรกิจฟรีทีวีอย่างที่เป็นในอดีต และดังนั้น ราคาหุ้นของกิจการที่ทำฟรีทีวีก็ไม่ควรมีพรีเมียมมากหรือค่า PE สูงอย่างที่เคยเป็น


Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/06/22/1584


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9017
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




 Monday, 29 June 2015
 
เสาหลักของการลงทุน
 


    ถ้าจะเป็นนักลงทุนที่ดีนั้นเราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง?  นี่คือคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนแต่ละคนจะตอบไม่เหมือนกัน—ขึ้นอยู่กับว่าเขามีแนวความคิดและกลยุทธ์การลงทุนแบบไหนและอย่างไร  สำหรับผมซึ่งมีแนวทางการลงทุนระยะยาวที่เน้นพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก  ผมคิดว่าความรู้และวิชาต่อไปนี้เป็น  “เสาหลัก”  หรือพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน

    เสาที่หนึ่งหรือความรู้พื้นฐานกลุ่มแรกก็คือ  “ทฤษฎีการลงทุน”  นี่คือทฤษฎีเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะที่มีการศึกษาและพิสูจน์ว่ามีความถูกต้องเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแล้ว  หัวใจที่สำคัญก็คือกลุ่มทฤษฎี  “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” และ  “การลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอสมัยใหม่”  ที่บอกว่าตลาดทุนหรือตลาดหลักทรัพย์นั้นมีประสิทธิภาพสูงในการกำหนดราคาหุ้นทุกตัว  พูดง่าย ๆ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหาหุ้นหรือหลักทรัพย์ราคาถูกหรือราคาแพงได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง  ผลตอบแทนที่เราจะได้จากการลงทุนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ “ความเสี่ยง” ของหลักทรัพย์  กล่าวคือหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนสูงก็จะเสี่ยงมาก  ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงเช่น  ลงทุนในหุ้นกู้  พันธบัตร หรือเงินฝากแบ้งค์  และการลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอที่กระจายการลงทุนในหลาย ๆ กลุ่มหลักทรัพย์ทั้งหุ้น  พันธบัตร เงินฝากและทรัพย์สินอื่น ๆ  ในระดับของ “ความเสี่ยง” ที่เรารับได้

    นอกจากทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพแล้ว  เราก็ควรที่จะต้องเรียนรู้แนวความคิดของการลงทุนในสไตล์ต่าง ๆ  ที่มีการอ้างกันว่าสามารถที่จะทำให้นักลงทุนสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าปกติได้เช่น  การลงทุนแบบ “Value Investing” หรือ VI  หรือการลงทุนแบบ “Growth Investing” หรือการลงทุนในหุ้นโตเร็ว  หรือแม้แต่การลงทุนแนว “Momentum” หรือแนว “เทคนิค”  เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้และเข้าใจว่าแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดอย่างไรและเราจะเลือกแนวทางไหนในการลงทุน

    เสาที่สองก็คือ  “ประวัติศาสตร์ของการลงทุน”  นี่คือความรู้ที่มักหาไม่ได้จากหนังสือตำราการลงทุนและมักจะไม่มีการสอนในหลักสูตร MBA  ประวัติศาสตร์การลงทุนนั้นมักกระจายอยู่ในหนังสือพอกเก็ตบุคเกี่ยวกับการลงทุนต่าง ๆ    เรื่องสำคัญที่เราควรจะต้องทำความเข้าใจเวลาอ่านประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นก็คือประวัติผลตอบแทนระยะยาวของหุ้น  ความผันผวนที่เกิดขึ้น  และที่สำคัญมากก็คือ  ประวัติของการเกิดของ “ฟองสบู่” และการแตกของมัน  รวมถึงสถานการณ์ที่ตลาดตกต่ำเนื่องจากความเจ็บปวดจากการลงทุนของนักลงทุนและ “โอกาส” ของการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

    เสาที่สามก็คือ  “จิตวิทยาในการลงทุน”  นี่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในด้านของวิชาการลงทุนที่คนรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนนั้นมีส่วนต่อราคาหุ้นมากกว่าเหตุผล  ในระยะหลัง ๆ  นั้น  การศึกษาเรื่องจิตวิทยาที่กระทบกับการลงทุนก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ   ความเข้าใจในเรื่องนี้จะทำให้เราสามารถซื้อขายหุ้นได้ถูกต้องถูกเวลามากขึ้นและอาจจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น  นอกจากนั้น  ผมเองยังคิดว่าจิตวิทยาของคนนั้น  ยังเป็นตัวกำหนดความต้องการสินค้าและบริการที่เขาต้องการ  และอุตสาหกรรมหรือกิจการหรือบริษัทแบบไหนจะเติบโตและแบบไหนจะถดถอย  ในส่วนนี้ผมมักจะศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านเรื่องของ  “ประวัติศาสตร์ของมนุษย์” และ “ยีนส์” ของมนุษย์ ที่ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในการกำหนดเรื่องของพฤติกรรมและจิตวิทยาของคน

    เสาที่สี่ก็คือ  “ความรู้ทางธุรกิจ”  นี่คือความรู้และความเข้าใจในเรื่องการทำธุรกิจ  ประการแรกเลยเราจะต้องรู้  “ภาษาธุรกิจ” หรือบัญชี  นั่นก็คือ  เราควรจะสามารถอ่านจากงบการเงินได้ว่าฐานะและผลประกอบการของธุรกิจเป็นอย่างไร  ฐานะการเงินแข็งแกร่งแค่ไหน  บริษัททำกำไรได้ดีหรือไม่  เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดวิธีการลงบัญชีแต่เราต้องรู้ตัวเลขหลัก ๆ  ที่จะบอกว่าผลงานของบริษัทที่ผ่านมานั้นโดดเด่นหรือเลวร้ายแค่ไหน   ในส่วนนี้คนที่ไม่ได้เรียนทางด้านบัญชีอาจจะกังวลแต่ผมคิดว่ามันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง  หนังสือการอ่านบัญชีสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานนั้นมีมากมายและไม่ได้ใช้เวลามากที่จะเรียนรู้

    ความรู้ทางธุรกิจที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าอุตสาหกรรมหรือบริษัทไหนดีหรือแย่นั้น  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตลาด  ความรู้ทางด้านการตลาดที่ผมคิดว่าสำคัญสำหรับการเลือกอุตสาหกรรมหรือหุ้นนั้น  จะเป็นเรื่องของ  “ความสามารถหรือกลยุทธ์ในการแข่งขัน” ซึ่งน่าเสียใจว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ใคร่ได้สอนกันในชั้นเรียนของ MBA  ดังนั้น  วิธีที่ดีก็คืออ่านจากหนังสือการตลาดที่เกี่ยวกับ  “กลยุทธ์” หรือ  “ตำแหน่ง”  ทางการตลาด  หรือ “Business Model” หรือรูปแบบการทำธุรกิจ  ของบริษัทแต่ละแห่ง  ประเด็นสำคัญก็คือ   สุดท้ายเราควรจะต้องเข้าใจว่าแต่ละธุรกิจนั้นแข่งขันกันด้วยอะไร  มีปัจจัยอะไรที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทหนึ่งเอาชนะอีกบริษัทหนึ่งได้  และปัจจัยนั้นจะอยู่ต่อไปอย่างถาวรโดยที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบได้  หรืออยู่ได้แค่ชั่วคราว   โดยสรุปแล้ว  ความรู้ทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดก็คือรู้ว่า “คุณภาพ”  ของบริษัทนั้นดีแค่ไหน

    สุดท้ายของเรื่องธุรกิจก็คือ  เราควรจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมูลค่าที่ควรเป็นของกิจการ  พูดง่าย ๆ  แต่ละบริษัทที่เราสามารถกำหนด “คุณภาพ” ได้แล้ว  เราควรจะซื้อในราคาเท่าไร  เช่น  จะให้ค่า PE ค่า PB ปันผลตอบแทน  และมูลค่าตลาดของหุ้นหรือ Market Cap. เท่าไร  ซึ่งในส่วนนี้ประเด็นสำคัญก็คือ  เราต้องมั่นใจว่าเรารู้จักคุณภาพของมันเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการประเมินเรื่องของราคา  คำเตือนของผมก็คือ  หุ้นส่วนใหญ่นั้น  เรามักจะไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ถูกต้องเนื่องจากตัวธุรกิจผันผวนเกินไป

    เสาหลักสุดท้ายที่เราควรรู้ก็คือ  “ธุรกิจของการลงทุน”  นี่ก็คือคนที่ให้บริการและเกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหลาย  ซึ่งรวมถึงโบรกเกอร์  ผู้จัดการกองทุนรวม  ตลาดและกลต. นักวิเคราะห์หุ้น  หนังสือพิมพ์  เวบไซ้ต์ ไลน์ และรายการวิทยุและทีวีเกี่ยวกับหุ้น  บุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ  เหล่านี้ต่างก็มี  “Agenda” หรือ  “วาระ”  ของตนเอง  ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ตรงกับนักลงทุนที่ต้องการทำกำไรหรือได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน  นอกจากนั้น  บางคนอาจจะมีวัตถุประสงค์ตรงกันข้ามกับเรานั่นคือ  เขาต้องการทำเงินจากเราโดยการพูดให้เราเชื่อและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขา  การศึกษาในเรื่องนี้นั้นผมคิดว่าเราต้องวิเคราะห์ถึง “แรงจูงใจ”  ของแต่ละคนโดยดูว่าผลประโยชน์ของเขาอยู่ตรงไหน   เช่นเดียวกัน  ในด้านของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น  ผู้บริหารหรือเจ้าของเองบางทีเราก็อาจจะกล่าวได้ว่าเขาก็มีแรงจูงใจหรือมีวาระของตนเองที่อาจจะไม่สอดคล้องกับเรา  ดังนั้น  เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ  เช่น  การขายหุ้น IPO  การออกตราสารเช่น วอแร้นต์  การลดพาร์  และอื่น ๆ  นั้น  เขาทำเพื่ออะไร  เป็นประโยชน์และทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นเพิ่มขึ้นหรือไม่

    หลังจากที่ได้ศึกษาความรู้พื้นฐานทั้งห้ากลุ่มแล้ว  การลงทุนของเราก็จะอยู่บนแนวทางที่เหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น  ถ้าเรารู้ลึกซึ้งจริง ๆ  ก็เป็นไปได้ที่เราจะประสบความสำเร็จสูงกว่า “ปกติ”  หรือในกรณีที่เราขาดความสามารถบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถเป็นนักลงทุนที่โดดเด่นได้  อย่างน้อยเราก็น่าจะปลอดภัยกว่าคนที่มีพื้นฐานน้อยกว่า  แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่คนจะเริ่มลงทุนหลังจากเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว  แต่อย่างน้อย  คนที่ลงทุนอยู่  รวมถึงคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็ควรที่จะศึกษาความรู้เหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้ความรู้ “แน่น” ขึ้นซึ่งจะช่วยการลงทุนต่อไปในอนาคต  จำไว้เสมอว่าการเรียนรู้นั้น  เราไม่สามารถหยุดได้ตลอดชีวิต  เพราะถ้าหยุด  นั่นก็แปลว่าเราจะถอยหลัง  และนั่นอาจจะกลายเป็นหายนะได้ไม่ว่าเราจะประสบความสำเร็จมามากเพียงใด

Posted by nivate in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา:

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/06/29/1586