Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 4 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 16 July 2013

นักลงทุนสายตาสั้น

การวิเคราะห์หามูลค่าของหุ้นเพื่อการลงทุนนั้น  แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะใช้ค่า PE ค่า PB หรือตัวเลขอื่น ๆ  ที่เป็นตัวเลขง่าย ๆ  ใช้ข้อมูลเพียงปีเดียวหรือข้อมูลปัจจุบัน   แต่ถ้าจะทำให้ถูกต้องตามทฤษฎีแล้ว   เราจะต้องประมาณการ “กระแสเงินสด”  หรือปันผลที่บริษัทจะจ่ายตลอดไปในอนาคต  เสร็จแล้วก็จะต้องคำนวณ  “มูลค่าส่วนลด”  หรือ  “ค่าปัจจุบัน” ของกระแสเงินทั้งหมดนั้นเราก็จะได้ว่า  “มูลค่าหุ้น” ควรเป็นเท่าไร  ซึ่งวิธีคำนวณแบบนี้เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะทำได้   ดังนั้นเราจึงเน้นไปที่การดูตัวเลขง่าย ๆ  เพียงตัวเดียวเป็นค่า  PE หรือพูดง่าย ๆ  ใช้ค่า E หรือกำไรเพียงปีเดียว

         แต่พอเราใช้ค่า PE ไปนาน ๆ  เข้าเราก็เลยลืมไปว่าค่า  E หรือกำไรต่อหุ้นเพียงปีเดียวนั้น   ที่จริงมีสมมุติฐานต่อว่า   จะต้องเป็นกำไรที่จะต้องต่อเนื่องไปตลอดไม่มีที่สิ้นสุดและต้องไม่ลดลงหรือหดหายไป  และนี่ก็คือสิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้เนื่องจากกำไรของบริษัทจำนวนไม่น้อยนั้นเป็นกำไรที่ไม่ต่อเนื่อง  บางบริษัทอาจจะกำไรต่อไปเพียงปีสองปี  บางบริษัทอาจจะยาวไป 8 ปีหรือ 15 ปี  หลังจากนั้นแล้วกำไรอาจจะหายไปมากหรือมีความไม่แน่นอนสูง  ดังนั้น  การใช้ค่า PE ในการกำหนดมูลค่าหุ้นจึงอาจจะไม่ถูกต้อง  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  มูลค่าหุ้นสูงเกินความเป็นจริง  ซึ่งทำให้การตัดสินใจซื้อขายหุ้นผิดพลาดไม่เป็น  “VI”  ปัญหานี้ผมอยากเรียกว่าเป็นการมองกิจการที่ไม่ไกลพอหรือเป็นเรื่องของ  “นักลงทุนสายตาสั้น”  มาดูกันว่ามีกิจการหรือบริษัทแบบไหนที่กำไรไม่ต่อเนื่องตลอดไป

          บริษัทกลุ่มแรกที่เห็นได้ชัดว่ากำไรน่าจะไม่ต่อเนื่องก็คือบริษัทที่มี “กำไรพิเศษ” ที่อาจจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง  ส่วนใหญ่แล้วนี่มักจะเกิดจากการขายทรัพย์สินก้อนใหญ่แล้วเกิดกำไรขึ้นมากหรืออย่างมีนัยสำคัญ  ในกรณีแบบนี้เราต้องไม่ใช้ค่า PE มาเป็นตัวบอกว่าหุ้นถูกหรือแพง  หรือถ้าจะใช้ PE ก็จะต้องตัดกำไรส่วนที่เป็นรายการพิเศษออกซึ่งจะทำให้มูลค่าหุ้นหายไปมาก   อย่างไรก็ตาม  ในช่วงหลัง ๆ  นี้   เรามักจะเห็นบริษัททำ  “กองทุนอสังหาริมทรัพย์”  โดยการขายทรัพย์สินบางส่วนเข้ากองทุนซึ่งทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น  “ผิดปกติ” ซึ่งนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนก็ไม่ควรที่จะให้มูลค่ากับกำไรนี้มากนัก   แต่ในบางบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าเป็นปกติและมีทรัพย์สินที่สร้างรายได้ค่อนข้างมากนั้น  พวกเขาก็มักจะมีการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนอยู่เรื่อย ๆ  บางทีเกือบจะทุกปี  ในกรณีแบบนี้เขาก็อาจจะอ้างได้ว่ากำไรของเขาที่ได้มาอย่างผิดปกติก็อาจจะกลายเป็นเรื่อง “ปกติ”  และดังนั้นก็น่าจะใช้ค่า PE ในการคำนวณมูลค่าหุ้นได้   แต่สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่าเราไม่ควรทำอย่างนั้น  ลองคิดดูก็จะเห็นว่าการขายทรัพย์สินอาจจะทำกำไรได้ดีขึ้นในปีนี้  แต่ในอนาคตกำไรของบริษัทก็จะน้อยลงจากทรัพย์สินตัวนั้น  ดังนั้น  ในกรณีแบบนี้ก็ต้องถือว่าเรากำลัง  “สายตาสั้น”

          กิจการที่ได้รับ “สัมปทาน” หรือได้รับ  “ใบอนุญาต”  ให้ทำธุรกิจที่กำหนด  ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีอายุยาวประมาณ 10-15 ปี นั้น  สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นที่มักจะมองกันเพียงไม่เกิน 2-3 ปี มันก็เป็นเวลาที่ยาวมากจนไม่ต้องคำนึงถึงว่ากำไรจะหมดไปก่อนที่เขาจะขายหุ้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงคิดคำนวณหามูลค่าโดยใช้ PE ที่ดูกำไรเพียงปีเดียวเป็นหลัก  ผลก็คือ  มูลค่าหุ้นมักจะสูงกว่าความเป็นจริง  อย่างไรก็ตาม   ก็อาจจะมีการโต้แย้งว่าสัมปทานหรือใบอนุญาตนั้นก็อาจจะถูกต่อออกไปเมื่อมันหมดอายุในอีกหลาย ๆ  ปีข้างหน้า   ดังนั้น  กำไรก็อาจจะถูกยืดออกไปไม่มีที่สิ้นสุด  ประเด็นนี้ผมเองก็คิดว่าถึงอายุจะต่อออกไปได้แต่กำไรนั้นก็อาจจะไม่เหมือนเดิม   ค่าสัมปทานหรือใบอนุญาตถ้ามีก็ต้องมีการปรับใหม่  โอกาสที่กำไรจะโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  อาจจะไม่ง่าย  สำหรับผม  มันเปรียบเทียบคล้าย ๆ  กับการ “เซ้ง” สิ่งปลูกสร้างไม่ใช่การ “ซื้อขาด”  ดังนั้น  เราจึงไม่สามารถให้มูลค่ามันสูง ๆ  ได้   ถ้าเราไปใช้ค่า PE ปกติในการประเมินมูลค่า  มันก็เหมือนกับว่าเรา  “สายตาสั้น”  ไม่มองไปไกลหลังจากสัมปทานหรือใบอนุญาตหมดอายุ

           ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  เราพบเห็นบริษัทที่ทำพลังงานทดแทนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กันค่อนข้างมาก   บริษัทเหล่านี้ต่างก็ขายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานของรัฐโดยได้รับการ  Subsidize หรือสนับสนุนเป็นเป็นเม็ดเงินต่อหน่วยของพลังงานไฟฟ้าที่ขายซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรคุ้มกับการลงทุน  แต่การสนับสนุนนี้จะทำเพียงไม่กี่ปีเช่น  8 ปี  หลังจากนั้นบริษัทก็อาจจะ “ขาดทุน”  ในกรณีแบบนี้  กำไรของบริษัทในช่วงแรกก็จะดีกว่าปกติและถ้าเราใช้ PE มาคำนวณหามูลค่าหุ้น  ราคาหุ้นก็จะสูงกว่าปกติ   และนี่ก็คืออีกกรณีหนึ่งของการที่นักลงทุน  “สายตาสั้น”  ไม่ได้มองไปถึงอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าที่กำไรจะหดหายไปอย่างมาก

            สายตาสั้นในเรื่องของการวิเคราะห์หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งก็คือบริษัทที่มีแบ็คล็อกหรืองานหรือสินค้าที่ลงนามสัญญาจ้างหรือซื้อขายไปแล้วรอทำและส่งของ  เช่นบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย   ในเรื่องนี้นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์หุ้นก็จะตั้งสมมติฐานว่าในช่วงเวลาหนึ่งหรือสองปีข้างหน้าบริษัทจะมียอดขายเท่าไรอย่างแน่นอนตามแบ็คล็อกที่มีอยู่และอาจจะรวมถึงยอดขายใหม่ที่จะทำได้เพิ่ม  หลังจากนั้นพวกเขาก็จะคำนวณกำไรที่จะทำได้โดยใช้ตัวเลขมาร์จินที่บริษัทเคยทำได้  จากนั้นก็จะได้กำไรต่อหุ้นซึ่งก็จะคูณกับค่า PE ซึ่งก็จะได้ “มูลค่าหุ้นที่เหมาะสม”   ประเด็นก็คือ  การประมาณการกำไรนั้นอาจถกเถียงได้ว่าจะเป็นไปตามที่คำนวณได้หรือใกล้เคียง   แต่การมองไปที่กำไรเพียงปีหรือสองปีนั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่อาจจะ  “สายตาสั้น”  อนาคตหลังจากนั้นมีความไม่แน่นอนสูง  ดังนั้น  การให้ค่า PE ตามปกติจึงอาจจะไม่เหมาะสม

           ความล้าสมัยของเทคโนโลยีหรือระบบการผลิตและการจัดจำหน่ายในสินค้าไฮเท็คหรือที่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของไฮเทคโนโลยีเช่นสินค้าที่เป็น  “ซอฟแวร์” ทั้งหลายนั้น  อาจทำให้กิจการหรือบริษัทบางแห่งหรือบางแบบมีความเสี่ยงที่ “ซ่อน” อยู่  นั่นก็คือ  ยอดขายและ/หรือกำไร  ของบริษัทในอนาคตที่ไม่ไกลนักอาจจะตกลงมามากมายเพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี   บางทีอาจจะถึงขั้นคุกคามความอยู่รอดของกิจการได้   ในฐานะของนักลงทุนแบบ VI เราต้องมองไปให้ไกลว่าบริษัทจะมีวันที่ยากลำบากแบบนั้นหรือไม่  และถ้าเราเห็น  เราก็ไม่ควรให้มูลค่าบริษัทโดยอิงเฉพาะกับกำไรต่อหุ้นที่เราเห็นในช่วงใกล้ ๆ  เท่านั้น  จริงอยู่  เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นแต่เรารู้ว่าความเสี่ยงนั้นเป็น  “ความเสี่ยงจริง”  ถ้าเราไม่นำมาพิจารณาในการประเมินราคาหุ้น  เราก็จะเป็นคน  “สายตาสั้น”  และอาจจะพลาดไปซื้อหุ้นที่มีราคาสูงเกินพื้นฐานได้  พูดง่าย ๆ ก็คือ  เราให้ค่า PE กับบริษัทสูงเกินไป
            การไม่เป็นคน  “สายตาสั้น”  และอาจจะ  “มองไกลเกินเหตุ”  นั้น  หลาย ๆ  ครั้งผมพบว่ามี “ต้นทุน” สูงอยู่เหมือนกันนั่นก็คือ  หลายครั้งราคาหุ้นที่มีกำไรดีเพียงสั้น ๆ  จากการมองของเรา  แต่ตลาดซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยคน  “สายตาสั้น”  เป็นส่วนใหญ่นั้นมองไม่เห็นหรือไม่มอง   ดังนั้นพวกเขาจึงเข้ามาไล่ซื้อหุ้นเนื่องจากเห็นว่าค่า PE  ต่ำทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมากและทำให้เราพลาดที่จะทำกำไรได้ง่ายและรวดเร็ว   อย่างไรก็ตาม  การทำกำไรแบบนี้นั้นอาจจะไม่ใช่แนว VI  และเป็นสิ่งที่เรียกว่า  “ทำถูกด้วยเหตุผลที่ผิด”  ถ้าเราซื้อและขายไปเมื่อหุ้นมันขึ้นเราก็ได้กำไร  แต่ถ้าเราพลาดและราคาหุ้นมันสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงที่เป็นระยะยาว   เราก็จะขาดทุนอย่างถาวร

Posted by nivate at 10:39 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/08/1311




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Wednesday, 24 July 2013

หุ้นถูก-หุ้นแพง


คำถามยอดนิยมในการลงทุนซื้อขายหุ้นแต่ละตัวของ VI ก็คือ  “หุ้นถูกหรือหุ้นแพง?”  คำถามยอดนิยมสำหรับนักเก็งกำไรที่มักจะเข้ามาเล่นหุ้นตามภาวะตลาดก็คือ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาจนต่ำหรือหุ้นถูกพอหรือยังที่จะ  “เข้าตลาด”  คำตอบสำหรับเรื่องนี้ก็คือ  ไม่มีใครรู้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์  เพราะถ้ารู้ก็รวยไปแล้ว   แต่ถ้าถามว่าในทางทฤษฎีนั้น  ปัจจัยอะไรเป็นตัวกำหนดว่าหุ้นแต่ละตัวควรมีราคาถูกหรือราคาแพง  แบบนี้เราก็พอพูดได้  เพราะทฤษฎีทางการเงินในเรื่องของการกำหนดราคาหุ้นนั้นมีการพัฒนามานานแล้วและหลักการอย่างคร่าว ๆ  มีดังต่อไปนี้

           ก่อนที่จะเข้าประเด็นเรื่องของทฤษฎี  เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า   คำว่าถูกหรือแพงของหุ้นแต่ละตัวนั้น  เราไม่ได้ดูว่าหุ้นแต่ละตัวมีราคากี่บาท  หุ้นราคา 100 บาทไม่ได้แปลว่ามันแพงกว่าหุ้นตัวละ 1 บาท  เพราะหุ้นตัวละร้อยบาทอาจจะมีกำไรปีละ 10 บาทและจ่ายปันผลปีละ 5 บาท ซึ่งดีกว่าหรือถูกกว่าหุ้นตัวละหนึ่งบาทที่มีกำไรปีละ 5 สตางค์และจ่ายปันผลปีละ 2 สตางค์   ดังนั้น  คำว่าหุ้นถูกหรือหุ้นแพงนั้น  จึงต้องเป็น  “ราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้นต่อปี”  หรือก็คือค่า  PE  อย่างที่เราคุ้นเคยกัน  สรุปก็คือหุ้นแพงก็คือ  หุ้นที่มีค่า PE สูง  และหุ้นถูกก็คือหุ้นที่มีค่า PE ต่ำ

           ประเด็นที่สำคัญก็คือ  หุ้นแบบไหนหรือกิจการแบบไหนที่ “ควร” จะแพงหรือมีค่า PE สูง  และกิจการแบบไหนที่ “ควร” จะถูกหรือมีค่า PE ต่ำ  เหตุผลก็เพราะว่า  ถ้าเราเจอกิจการที่ควรจะมีราคาแพงแต่ราคาหุ้นในตลาดนั้นยังถูกอยู่เราก็จะได้ซื้อหุ้นตัวนั้นไว้   เพราะเมื่อถึงวันหนึ่ง  ราคาหุ้นก็มักจะปรับขึ้นมาจนเหมาะสมกับคุณภาพของมันซึ่งทำให้เรากำไรจากการลงทุน  ตรงกันข้าม  ถ้าหุ้นตัวที่เราถืออยู่นั้นมีราคาแพงหรือมีค่า PE สูงลิ่ว  แต่เราดูจากปัจจัยต่าง ๆ  แล้วมันไม่ควรแพงขนาดนั้น  เราก็ควรที่จะขาย  เพราะในที่สุดราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงสะท้อน “พื้นฐาน” ของมัน

           ปัจจัยที่หุ้นควรมีราคาแพงตัวแรกก็คือ  การเจริญเติบโตของตัวธุรกิจ  ยิ่งกิจการมีการเติบโตของกำไรสูงและเติบโตต่อเนื่องยาวนาน  หุ้นก็ควรจะแพง  ยิ่งโตมากและโตได้นานมากหุ้นก็ควรจะยิ่งแพงหรือมีค่า PE สูงมากตาม   หุ้นที่โตน้อยหรือไม่โตเลย  ถ้า  “อย่างอื่นเหมือนกัน” ควรจะมีค่า PE ที่ต่ำกว่าหุ้นที่โตเร็วและโตนาน  ถ้าจะพูดกันในภาษาของนักลงทุนหุ้นก็คือ  หุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็วนั้น  ควรจะมี PE สูงกว่าหุ้นที่ไม่โตหรือโตน้อย  สูงกว่าเท่าไร?  บางคนก็บอกว่าสูงเท่ากับอัตราการเติบโต  เช่น  หุ้นที่โตปีละ 15%  ก็น่าจะมีค่า PE เท่ากับ 15 เท่า  หุ้นที่โตปีละ 20% ก็ควรจะมี PE 20 เท่า  แต่นี่ก็เป็นการพูดแบบหยาบ ๆ  เพราะไม่ได้บอกว่าต้องโตไปกี่ปี และก็ไม่ได้พูดว่า  “อย่างอื่นเหมือนกัน”  เพราะหุ้นแต่ละตัวนั้น  “อย่างอื่นมักไม่เหมือนกัน”

            ปัจจัยตัวที่สองก็คือ  ถ้า  “อย่างอื่นเหมือนกัน”  หุ้นของกิจการที่มีความเสี่ยงในการดำเนินการต่ำ  ควรจะแพงหรือมีค่า PE สูงกว่ากิจการที่มีความเสี่ยงสูง  ตัวอย่างเช่น  กิจการรับเหมาก่อสร้างที่มักจะมีรายได้และกำไรไม่ค่อยแน่นอนในแต่ละปีนั้น  ควรจะมีค่า PE  ต่ำกว่าธุรกิจสาธารณูปโภคเช่น  กิจการเกี่ยวกับ น้ำ  ไฟฟ้า  หรือการเดินทาง  ที่มีรายได้และกำไรมั่นคงกว่า  นี่ก็มาจากแรงจูงใจพื้นฐานของนักลงทุนที่มักจะ “ไม่ชอบเสี่ยง”  ดังนั้นจึงไม่อยากลงทุนในกิจการที่เสี่ยง  และดังนั้นเขาจะต้องซื้อในราคาที่ถูกหน่อยสำหรับกิจการที่เสี่ยงเช่น  การรับเหมาก่อสร้าง  ในทางตรงกันข้าม  นักลงทุนชอบลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงน้อย  ดังนั้น  พวกเขายอมจ่ายเงินแพงหน่อยเพื่อซื้อหุ้นที่ไม่ค่อยเสี่ยงแบบกิจการสาธารณูปโภค  ทำให้หุ้นพวกนี้มีค่า PE ที่สูงกว่า   แต่พอพูดแบบนี้  นักลงทุนไทยก็จะเถียงว่า  หุ้นรับเหมาในตลาดนั้นมักจะมีค่า PE ที่สูงกว่าหุ้นน้ำไฟมาก  แสดงว่าทฤษฎีน่าจะผิดไหม?  คำตอบของผมก็คือ  การที่ค่า PE ของหุ้นรับเหมาสูงกว่านั้น   อาจจะไม่ใช่เรื่องความเสี่ยงของธุรกิจ   แต่มันอาจจะสูงเพราะนักลงทุนคิดว่าการเติบโตของธุรกิจรับเหมานั้นสูงกว่าการเติบโตของธุรกิจน้ำไฟก็ได้ ไม่เกี่ยวกับความเสี่ยง  พูดง่าย ๆ  เพราะ  “อย่างอื่นไม่เหมือนกัน”

              ปัจจัยตัวที่สามก็คือ  ถ้า “อย่างอื่นเหมือนกัน”  บริษัทหรือหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลที่เป็นเงินสดสูงควรจะมีราคาแพงหรือมีค่า  PE สูงกว่าหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผลต่ำ   คำว่าอัตราการจ่ายปันผลก็คือ  เงินปันผลเมื่อเทียบกับกำไรต่อปีของบริษัทหรือที่เรียกว่า  Dividend Payout Ratio  เหตุผลก็คือ  การจ่ายปันผลมากนั้นทำให้ผู้ถือหุ้นได้เงินสดไปใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการและนั่นทำให้เขายอมจ่ายเงินซื้อหุ้นแพงขึ้นหรือยอมซื้อหุ้นที่มีค่า PE สูงขึ้น  ตัวอย่างเช่น  หุ้นตัวหนึ่งจ่ายปันผล 50%  ของกำไรอาจจะมี PE 15 เท่า แต่หุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งมี “อย่างอื่นเหมือนกัน” แต่จ่ายปันผล 100% ของกำไร  หุ้นตัวหลังก็อาจจะมีหรือควรมี PE 30 เท่า   ประเด็นนี้ก็อาจจะมีข้อถกเถียงอีกว่า  หุ้นในตลาดไทยจำนวนมากนั้น  บางบริษัทจ่ายปันผลในอัตราที่ต่ำ  บางบริษัทก็จ่ายปันผลเป็นหุ้นแทนที่จะเป็นเงินสด  แต่หุ้นเหล่านี้กลับมีค่า PE สูงกว่าหุ้นที่จ่ายปันผล 100% มาก   คำตอบเรื่องนี้ของผมก็เช่นเดิมนั่นคือ   ที่ PE สูงนั้นอาจจะเป็นเพราะนักลงทุนมองว่าบริษัทที่จ่ายปันผลน้อยดังกล่าวนั้น  น่าจะมี Growth หรือการเติบโตสูงกว่า  ดังนั้น  ค่า PE จึงสูงกว่า    แต่ถ้าบริษัทสามารถจ่ายปันผล 100%  และยังโตได้เท่ากับบริษัทที่จ่ายปันผลน้อยหรือไม่จ่ายปันผล  ผมเชื่อว่าหุ้นของบริษัทที่จ่ายปันผลได้ 100% จะมีค่า PE สูงกว่ามาก

              ปัจจัยตัวสุดท้ายนั้นเป็นปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับตัวบริษัทแต่เป็นเรื่องของภาวะทางเศรษฐกิจนั่นก็คือ  อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด  ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำ  หุ้นทุกตัวควรจะมีราคาแพงขึ้นหรือค่า PE สูงขึ้น  เหตุผลก็คือ  เวลาที่ดอกเบี้ยต่ำนั้น  คนก็ไม่อยากจะฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ที่จะให้ผลตอบแทนต่ำ  ดังนั้น  พวกเขาก็จะย้ายเงินมาลงทุนในหุ้นที่น่าจะให้ผลตอบแทนที่จูงใจกว่าถ้าหากผลประกอบการและเงินปันผลและอื่น ๆ   “ยังเหมือนเดิม”  ดังนั้น  โดยทั่วไปแล้วเราจึงเห็นว่าเวลาที่อัตราดอกเบี้ยลดลง  ดัชนีหุ้นจึงเพิ่มสูงขึ้น  และในทางตรงกันข้าม  เมื่อดอกเบี้ยเริ่มที่จะปรับตัวสูงขึ้น  ราคาหรือดัชนีหุ้นก็มักจะร่วง  การที่ดัชนีหุ้นตกนั้น  จริง ๆ  แล้วก็คือ  หุ้นทุกตัวต่างก็มักจะตกลงมาหรือถูกลงซึ่งทำให้ค่า PE ลดลง

              ปัจจัยที่จะทำให้หุ้นควรถูกหรือแพงหรือมี PE สูงหรือต่ำดังกล่าวทั้งหมดนั้น  จะเห็นว่ามี 3 ปัจจัยที่เป็นเรื่องของบริษัทโดยตรง  มีเพียงหนึ่งปัจจัยที่เป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของกิจการโดยตรง  ข้อดีของเรื่องนี้ก็คือ  มันทำให้เราสามารถวิเคราะห์กิจการได้แม่นยำพอที่จะทำให้เราเลือกหุ้นที่จะสามารถเอาชนะตลาดและให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีได้  ข้อสรุปก็คือ  เราต้องพยายามมองหาหุ้นหรือกิจการที่มีการเติบโตค่อนข้างดีในระยะยาว  ยิ่งยาวมากก็ยิ่งดี  เราต้องการบริษัทที่มีกิจการที่มั่นคงสม่ำเสมอสามารถคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำในแต่ละปีและมีความสามารถที่จะต่อสู้แข่งขันเหนือคู่แข่งที่จะมาแย่งธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  และสุดท้าย  เราอยากหาธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดี   ต้องการเงินลงทุนในสินทรัพย์น้อยซึ่งจะทำให้สามารถจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตราที่สูงได้  ยิ่งสูงยิ่งดี   เมื่อเราพบกิจการ “ในฝัน”  ดังกล่าวแล้ว  เราก็ลองให้ค่า  PE ที่ “ควรจะเป็น” แก่หุ้นตัวนั้น  แล้วเปรียบเทียบกับค่า PE  จริง  ๆ  ในตลาดหุ้น  หากพบว่าค่า PE ของหุ้นในตลาดต่ำกว่าที่ควรเป็นมาก  เราก็ซื้อแล้วรอ
              ความเสี่ยงของการลงทุนนั้น  แน่นอน  มีอยู่เสมอ  เพราะปัจจัยเรื่องของอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นผลทางตรงกับราคาหุ้น  และเศรษฐกิจที่มีผลทางอ้อมที่อาจจะทำให้การเจริญเติบโตลดลง  ความเสี่ยงของธุรกิจเปลี่ยนไป  ดังนั้น  ไม่ว่าเราจะวิเคราะห์มาดีแค่ไหน  เราก็ไม่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงนี้ได้  วิธีที่ดีที่สุดก็คือ  การกระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นเป็นพอร์ต  อย่างน้อยอาจจะ 5-6 ตัวขึ้นไปเพื่อที่ว่าแม้แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด  เราก็ยังอยู่รอด

Posted by nivate at 3:41 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/24/1316





ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 29 July 2013

ฮอร์โมนกับการลงทุน



ซีรี่ส์ละครทางเคเบิลทีวีเรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” กำลังร้อนแรงเป็นที่กล่าวขวัญกันมากมาย  ก่อนหน้านี้ก็ในหมู่วัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลักของคนสร้าง  แต่ในขณะนี้สังคมทั่วไปก็ดูเหมือนกับเริ่มเข้ามาสนใจมากขึ้น  ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ผู้แสดงนำวัยรุ่นคนหนึ่งมีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลองใช้ยาเสพติดในชีวิตจริงที่คล้ายกับละครด้วย   เนื้อหาของละครเป็นเรื่องของชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่กำลังเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเป็นผู้ใหญ่  และในกระบวนการนั้น  พวกเขาจำนวนมากไม่รู้หรือไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ  ในชีวิต    การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่รุนแรงที่สุดนั้น  แน่นอน  ก็คือเรื่องของเพศที่เด็กหญิงกับเด็กชายจะเริ่มมีความแตกต่างกันมากทั้งในด้านของร่างกายและจิตใจ  ความแตกต่างนี้ในทางชีววิทยาเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของฮอร์โมนเพศซึ่งสำหรับผู้หญิงก็คือ  Estrogen  และสำหรับเพศชายก็คือ  Testosterone  แต่ว่าที่จริงฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้  ไม่ได้มีผลเฉพาะกับวัยรุ่นและความเป็นชายหรือหญิงเท่านั้น  มันยังมีผลต่อความคิด  พฤติกรรม และความสามารถของคนที่แตกต่างกันด้วย  มาดูกันว่า  ฮอร์โมนโดยเฉพาะ  เทสทอสเทอโรนที่มีมากในคนเพศชายมีผลอะไรกับการลงทุนกันบ้าง

            การศึกษาทางชีววิทยาสมัยใหม่นั้นพบว่าฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนหรือ  “ฮอร์โมนเพศชาย” นั้น  ทำให้ผู้ชายมักจะมีความสามารถและพฤติกรรมที่แตกต่างจากผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจนหรือ “ฮอร์โมนเพศหญิง” มากกว่า   หลัก ๆ  ก็คือ  ผู้ชายนั้นร่างกายถูก  “ออกแบบ” ผ่านระบบฮอร์โมนโดยเฉพาะเทสทอสเทอโรนให้มีความเหมาะสมกับการเป็น  “นักล่า”  ซึ่งจะต้องแข็งแรงกว่า กล้าเสี่ยงกว่า  และมีความสามารถในการคิดที่เป็นมิติสัมพันธ์เช่น  เรื่องของทิศทาง  ความเร็ว  แผนที่  การคำนวณต่าง ๆ  เพื่อที่จะสามารถเดินทางไปล่าสัตว์และนำอาหารกลับมาเลี้ยงลูกเมียได้  ส่วนผู้หญิงนั้น  ถูกออกแบบผ่านการมีฮอร์โมนเอสโทรเจนมากให้มีความเหมาะสมกับการเป็น  “ผู้เก็บสะสมและดูแลลูก”  ซึ่งจะต้องมีความอ่อนโยน  ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง  เข้าใจและสามารถอ่านความรู้สึกของคนอื่นว่าต้องการอะไรมากกว่าผู้ชาย  ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถดูแลเลี้ยงดูลูกที่ยังเล็กให้อยู่รอดจากภยันตรายต่าง ๆ

              หลักฐานที่แสดงว่าความแตกต่างที่กล่าวข้างต้นเป็นจริงนั้นมีให้เห็นเต็มไปหมด  ดูกันง่าย ๆ  ก็อย่างเรื่องของการขับรถหรือการทำงานทางด้านของช่างหรือการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ  ที่ต้องอาศัยความแม่นยำนั้น   ผู้ชายจะมีความสามารถสูงกว่าผู้หญิงมาก  แต่ที่จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้นผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการคำนวณซึ่งผู้ชายมักจะทำได้ดีกว่าผู้หญิงโดยเฉพาะที่ขยันเรียนเท่ากัน   สถิติของการแข่งขันคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์โอลิมปิกนั้นผมเชื่อว่าเด็กนักเรียนชายนั้นน่าจะได้เหรียญทองมากกว่านักเรียนหญิงมาก   และนี่นำมาสู่ประเด็นว่าผู้ชายมีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นโดยเฉพาะทางด้านเชิงปริมาณสูงกว่าผู้หญิง  และนี่ก็ทำให้ Value Investment ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ตัวเลขค่อนข้างมากนั้น  เป็นสิ่งที่อยู่ในแวดวงของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงมาก

              การ “กล้าเสี่ยง” ของผู้ชายที่มีฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมากนั้น  ทำให้ผู้ชายกล้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงในขณะที่ผู้หญิงมักจะ Conservative หรืออนุรักษ์นิยมกว่าจึงมักจะไม่กล้าที่จะลงทุนซื้อขายหุ้นมากนัก   หรือถ้าเข้ามาในตลาดหุ้นแล้วก็มักจะไม่กล้าเสี่ยงซื้อหุ้นในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งทั้งหมด  ในทางตรงกันข้าม  ผู้ชายบางคนที่มีเทสทอสเทอโรนสูงกว่าปกติก็อาจจะกล้ารับความเสี่ยงอย่างมากโดยการซื้อขายหุ้นน้อยตัวและอาจจะใช้มาร์จินมาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างเต็มที่  และนี่อาจจะทำให้ผู้ชายในกลุ่มนี้บางคนสามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาลสุดยอดแต่บางคนก็อาจจะขาดทุนจนล้มละลายได้เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือสถานการณ์ตลาดไม่เอื้ออำนวย  ความเชื่อของผมก็คือ  โดยเฉลี่ยแล้ว  ความกล้าเสี่ยงมากกว่าไม่ได้ทำให้ผู้ชายชนะในการลงทุนเมื่อเทียบกับผู้หญิง

            สัญชาติญาณของ  “นักล่า”  ของคนที่มีฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมากนั้น  ทำให้ผู้ชายน่าจะชอบเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่า  ในขณะที่การเป็นนักเก็บรวบรวมสะสมของผู้หญิงนั้น  น่าจะทำให้ผู้หญิงมีปฏิกริยาหรือซื้อขายหุ้นน้อยกว่าผู้ชาย  พูดง่าย ๆ  ผู้หญิงน่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาวที่สร้างผลตอบแทนจากการถือหุ้นหรือธุรกิจที่โตไปเรื่อย ๆ  มากกว่าผู้ชายที่พร้อมที่จะ  “กิน”  นักลงทุนคนอื่นโดยการซื้อหรือขายหุ้นเปลี่ยนตัวหุ้นไปมากกว่าผู้หญิง

            การถูกออกแบบตามธรรมชาติให้เป็น  “ผู้หาอาหาร”  ของผู้ชาย  ในขณะที่เป็น  “คนดูแลบ้านและลูก” ของผู้หญิงนั้น  ทำให้การ  “ลงทุนในหุ้น”  ซึ่งเป็นลักษณะของ   “การหาอาหารยุคใหม่”  เป็นเรื่องของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโดยเฉพาะที่เป็นการลงทุนแบบ  “เพื่อชีวิต”  ที่นักลงทุนทุ่มเททั้งเรื่องของเงิน  เวลา  และชีวิตจิตใจให้กับการลงทุน  จากการสังเกตของผมแล้ว  VI  ผู้มุ่งมั่นในเมืองไทยนั้น  ร้อยละ 90 ยังเป็นผู้ชาย  พูดถึงนักลงทุนรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็ยังเป็นหนุ่มมากกว่าสาวค่อนข้างมาก  ผมเองคิดว่าหน้าที่  “ผู้หาอาหาร”กับ “คนดูแลบ้านและลูก” ในสมัยนี้อาจจะอิงอยู่กับเรื่องเพศน้อยลงไปมากแล้ว  แต่เรื่องของการลงทุนในหุ้นเองนั้น  มันคงอิงอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของการ  “หาอาหาร”  เพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของ  “ความเสี่ยง”  และ  “ความเข้าใจในด้านของตัวเลข” ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเป็นเรื่องของความถนัดของผู้ชายและเป็นจุดอ่อนของผู้หญิง  ดังนั้น  ผู้หญิงในยุคนี้จึงคงยังไม่สบายใจนักที่จะทำในขณะที่พวกหล่อนต่างก็พร้อมกันออกไป  “หาอาหาร”  โดยการทำงานประจำในธุรกิจต่าง ๆ  ไม่น้อยกว่าผู้ชายไปแล้ว

            ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนนั้น  นิยามของมันอีกอย่างหนึ่งก็คือ  “ฮอร์โมนของผู้ชนะ”  นั่นคือ  ถ้าคุณอยากชนะหรือคนที่จะชนะนั้นคุณจะต้องมีฮอร์โมนตัวนี้ให้มาก  เพราะมันเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้คนอยากแข่งขันชิงดีชิงเด่น  ธรรมชาติสร้างผลกระทบนี้ขึ้นมาเพื่อดึงดูดเพศหญิงให้ชอบหรือมองหาผู้ชายที่จะเป็นผู้ชนะซึ่งจะเป็นพ่อที่ดีของลูกและเป็นผู้นำครอบครัว  ดังนั้น  นักลงทุนผู้ชายจึงมักจะเป็นนักลงทุนที่  Aggressive หรือกล้าได้กล้าเสียกว่าผู้หญิง  สิ่งนี้ผมไม่ได้คิดว่าดีหรือไม่ดี  เพราะการกล้ามากเกินไปก็อาจจะทำให้ผิดพลาดร้ายแรงได้   อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนที่ระมัดระวังมากนั้น  แม้ว่าโอกาสเสียหายร้ายแรงจะน้อย   แต่โอกาสที่จะโดดเด่นก็ยากเช่นเดียวกัน  ดังนั้น  เราจึงแทบไม่เคยได้ยินเซียนหุ้นระดับโลกที่เป็นผู้หญิงเลย  ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวว่ามีชมรมนักลงทุนในสหรัฐที่เป็นผู้หญิงล้วนกลุ่มหนึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมได้และมีการเขียนหนังสือการลงทุนที่มีชื่อเสียงออกมาชื่อ The Beardstown Ladies Common-Sense Investment Guide   แต่หลังจากนั้นก็พบว่าข้อมูลผลตอบแทนที่ใช้อ้างนั้นผิดพลาดและการลงทุนไม่ได้ดีอย่างที่อ้าง    นอกจากนั้น  ถ้าเราดูกันที่ประวัติหรือสถิติของเซียนหุ้นระดับโลกอย่างเช่นที่มีการเขียนเป็นหนังสือออกมาอยู่เรื่อย ๆ  ก็จะพบว่ามีเซียนหุ้นที่เป็นผู้หญิงน้อยมาก ๆ  หรือแทบไม่มีเลย
             “ฮอร์โมนของการลงทุน” นั้น  หรือที่จริงก็คือฮอร์โมนที่มีผลต่อความคิด  ความสามารถ  หรือพฤติกรรมของคน  ยังมีอยู่มากมาย  ตัวอย่างเช่น  ฮอร์โมน  Adrenaline ที่ทำให้คน  “ตอบสนองต่ออันตราย”  อย่างทันท่วงทีเพื่อให้มนุษย์เอาตัวรอดได้ในยามคับขัน  ก็เป็นสิ่งที่น่าจะมีผลต่อการลงทุนไม่น้อย  เพราะนี่ก็คือสิ่งที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นเวลามีข่าวที่  “น่าสะพรึงกลัว”  ทั้งที่มันอาจจะไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการ  ซึ่งทำให้เราเสียประโยชน์ไปมาก  ดังนั้น  เพื่อที่จะทำให้ฮอร์โมนเป็นมิตรกับเรา  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  เราต้องรู้และเข้าใจมันและต้องควบคุมมันด้วยเหตุผลที่มีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุน

Posted by nivate at 3:22 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/07/29/1321



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 5 August 2013

ธุรกิจโจร-Sunset Industry



ผมเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่ปลูกใหม่บนพื้นที่บ้านเดิมในซอยรางน้ำเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา   แต่ก็ถูกขโมยงัดแงะเข้าบ้านถึง 2 ครั้งเข้าไปแล้ว  ทั้ง ๆ ที่ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาโจรไม่เคยเข้าบ้านเลย   วิเคราะห์แล้วผมคิดว่าสาเหตุคือ   หนึ่ง  บ้านหลังเก่านั้นเป็นบ้านชั้นเดียวและใช้วัสดุพื้น ๆ ไม่มีการตกแต่งอะไรเลย  ดังนั้น  โจรจึงคิดว่าไม่มีของอะไรให้ขโมย  แต่บ้านหลังใหม่นี้สวยงาม  เจ้าของคงมีเงินและคงมีทรัพย์สินมีค่าที่จะลักได้  ข้อสอง  ก็คือ  กำแพงบ้านยังไม่ได้ติดเหล็กแหลมและหน้าต่างบ้านก็ไม่ได้ติดเหล็กดัด   ดังนั้น เป็นการง่ายที่จะปีนเข้าไปและงัดหน้าต่างกระจกเข้าบ้าน  โชคยังดี  ผมติดสัญญาณป้องกันขโมยไว้  ดังนั้น  โจรจึงไม่สามารถลักของมีค่าไปได้ทั้งสองครั้ง  แต่ผมเองก็คิดต่อไปว่า  เอาเข้าจริง ๆ  เราก็ไม่มีของมีค่าอะไรที่ควรแก่การขโมย  อย่างมากก็เครื่องเสียงราคาไม่เกิน 3-4 พันบาทซึ่งไปขายต่อก็อาจจะได้แค่ 1-2 พันบาทเป็นอย่างมาก  สิ่งที่กลัวไม่ใช่ของแต่เป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของคนในบ้าน   ความคิดต่อมาของผมก็คือ  นี่คือ  “สัจธรรม”  หรือเปล่าที่ว่าเมืองไทยนั้นเต็มไปด้วย  อาชญากรรมและมันไม่มีทางลดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

             โดยความบังเอิญ  ผมได้อ่านพบว่า  อาชญากรรมในประเทศพัฒนาแล้ว  ที่แต่เดิมย้อนหลังไป 20-30 ปี  ก็มีความคิดแทบจะเป็น “สัจธรรม” ว่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นนั้น  บัดนี้ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามันไม่เป็นความจริง  เพราะสถิติอาชญากรรมในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกมีการลดลงต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปีแล้วรวมถึงปีที่เศรษฐกิจตกต่ำคนตกงานเกือบ 20% อย่างในปัจจุบัน   คนไทยที่ยังคิดว่าเมืองนิวยอร์คโดยเฉพาะในบางย่านนั้นเป็นเขตอันตรายที่เดินแทบไม่ได้นั้นแสดงว่าเขาคงไม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้  เพราะนิวยอร์คเดี๋ยวนี้ปลอดภัยมาก  เช่น สถิติรถหายเคยสูงถึงปีละเกือบ 150,000 คันเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน  เดี๋ยวนี้เหลือแค่ปีละ 10,000 คัน   สถิติอาชญากรรมรุนแรงอื่น ๆ  ก็ลดลงน่าจะเหลือแค่ 20-30% จากอดีต  อาชญากรรมบางอย่างแทบจะสูญพันธุ์ไปเลย  ที่ดูเหมือนว่าน่าจะยังมีอยู่บ้างก็น่าจะเป็นเรื่องของการล้วงกระเป๋าโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในบางเมืองหรือการลักของในห้างร้าน  นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องของการโกงหรือต้มตุ๋นที่ไม่ได้มีอาการของความรุนแรงต่อร่างกาย

              สาเหตุที่อาชญากรรมลดลงอย่างต่อเนื่องมานานนั้นมีการวิเคราะห์กันมาก  ที่โดดเด่นและน่าจะมีผลจริง ๆ  ในระดับหนึ่งก็เช่น  ข้อแรก  คนในประเทศพัฒนาแล้วแก่ตัวลง  คนที่ก่ออาชญากรรมนั้นมักจะมีอายุระหว่าง 16- 24 ปี  ดังนั้นอาชญากรรมจึงมีน้อยลง  อย่างไรก็ตามสถิติในเมืองใหญ่บางแห่งที่มีคนอายุระดับนั้นมากขึ้นก็ไม่แสดงว่าอาชญากรรมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด  ดังนั้น  เรื่องอายุคนจึงเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น  เหตุผลต่อมาก็คือ  เรื่องการที่กฎหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในสหรัฐในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งทำให้เด็กที่เกิดโดยแม่ที่ยากจนและไม่เป็นที่ต้องการลดลง  นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาชญากรรมที่อาจจะเกิดจากเด็กกลุ่มนี้ลดลง  แต่นี่ก็คงไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงเพราะบางประเทศเช่นในอังกฤษก็อนุญาตให้มีการทำแท้งได้ก่อนหน้านั้นนานแต่สถิติอาชญากรรมก็ยังลดลงต่อเนื่อง

             เหตุผลประการที่สามที่มีการพูดกันอีกก็คือ  การเลิกใช้สารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน  เพราะมีความเชื่อกันว่าสารตะกั่วทำให้คนก้าวร้าวก่ออาชญากรรมง่าย  แต่นี่ก็คงเหมือนกับกรณีอื่น ๆ  ที่ว่าถ้ามันเลิกใช้มานานแล้ว  สถิติก็ไม่น่าจะลดลงต่อไปอีก  เหตุผลข้อที่สี่นั้นผมไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้ไหมเพราะเขาบอกว่าเป็นเพราะเด็กรุ่นใหม่นั้นไม่ค่อยก้าวร้าว  มีนิสัยดีขึ้น  และจำนวนคนที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ทั้งที่อายุกว่า 30 ปีแล้วโดยเฉพาะในยุโรปสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม  สถิติของคนที่ถูกจับเพราะก่ออาชญากรรมเป็นครั้งแรกในอังกฤษนั้นลดลงถึง 44%

             ดูเหมือนว่าเหตุผลที่น่าจะมีน้ำหนักที่สุดที่ทำให้อาชญากรรมลดลงก็คือ  โอกาสหรือความคุ้มค่าของการก่ออาชญากรรม  นั่นก็คือ  ในอดีตนั้น  สินค้าที่เป็นทรัพย์สินต่าง ๆ  มักมีราคาแพงและเฉพาะคนที่มีรายได้สูงพอเท่านั้นที่มีปัญญาซื้อมาใช้  เช่น  รถยนต์  เครื่องเล่นวิดีโอหรือเครื่องเสียง  เครื่องประดับต่าง ๆ  ซึ่งทำให้คนอยากขโมย  แต่ต่อมาสิ่งเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะถูกลงมาเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับรายได้ของคน  ดังนั้น  มันจึงอาจจะดูไม่ค่อยคุ้มนักที่จะทำ   ประกอบกับเหตุผลที่สำคัญก็คือ  เทคโนโลยีในการป้องกันและตามจับโจรนั้นมีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดและต้นทุนถูกมากเช่นกล้อง CCTV และระบบสัญญาณกันขโมยตามบ้านและห้างร้าน  เป็นต้น  สิ่งนี้ทำให้อาชญากรรมลดลงเนื่องจากผลตอบแทนที่จะได้รับถ้าทำสำเร็จลดลง  ในขณะเดียวกันโอกาสที่จะถูกจับได้  ทั้งในช่วงที่ก่ออาชญากรรมและหลังจากการกระทำแล้วสูงขึ้นมาก  พูดง่าย ๆ  Low Return แต่ High Risk หรือผลตอบแทนต่ำแต่ความเสี่ยงสูง  ดังนั้นเขาก็ไม่อยากทำ

              ในประเทศไทยเองนั้น  ผมไม่มีสถิติการเกิดอาชญากรรมว่าเป็นอย่างไร  ถ้าดูแนวโน้มจากประเทศพัฒนาแล้วก็น่าจะต้องค่อย ๆ  ลดลงไปเรื่อย ๆ  โดยเฉพาะการจี้ปล้นและการลักขโมย  อย่างไรก็ตาม  สถิติที่ดูแล้วไม่น่าที่จะลดลงในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็คือเรื่องของยาเสพติดที่ดูเหมือนว่าผลตอบแทนจะสูงมากซึ่งทำให้อาชญากรอยากหรือกล้าที่จะเสี่ยง  เช่นเดียวกัน  อาชญากรรมที่เกี่ยวกับการหลอกลวงทางด้านการเงินโดยเฉพาะผ่านทางอินเตอร์เน็ตน่าจะสูงขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนสูงและระบบการป้องกันและตามจับยังไม่ได้มีการพัฒนามากนัก  เช่นเดียวกัน  การหลอกลวงโดยอ้างอิงความเชื่อและอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อให้คนหลงเชื่อและจ่ายเงินให้แก่อาชญากรก็น่าจะยังคงดำเนินต่อไปไม่ลดลง  เหตุผลก็เพราะเราไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิผลพอในการป้องกันและตามจับ  พูดถึงเรื่องเหล่านี้แล้วก็ทำให้นึกถึงการลงทุนในตลาดหุ้นที่ผมคิดว่าอาจจะมีการประกอบอาชญากรรมอยู่ไม่น้อยโดยที่เราไม่รู้หรือทำอะไรไม่ได้ด้วย  เหตุผลก็เพราะผลตอบแทนนั้นสูงลิ่วแต่ความเสี่ยงกลับไม่มาก  บทลงโทษเองก็ไม่สูงนัก

             ผมไม่รู้ว่าสถิติการเกิดอาชญากรรมของไทยลดลงหรือยังใน พ.ศ. นี้  อาจจะยังเพิ่มอยู่  แต่ผมเชื่อว่าในที่สุดก็น่าจะลดลง  เพราะผมไม่เห็นว่าเราจะแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วตรงไหนยกเว้นรายได้ที่ในที่สุดเราก็น่าจะตามไปทันระดับของเขาในวันนี้   แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยเชื่อก็คือ  การคอร์รัปชั่นในวงราชการไม่มีลดมีแต่จะเพิ่มขึ้น  ผมเองก็ไม่รู้ว่านี่เป็นเรื่องจริงไหม  แต่สิ่งที่ผมคิดก็คือ  มันก็มีความเป็นไปได้ว่าการคอร์รัปชั่นในที่สุดก็น่าจะต้องค่อย ๆ  ลดลง  ว่าที่จริงประเทศที่เจริญแล้วแม้แต่ในอเมริกาครั้งหนึ่งก็มีการคอร์รัปชั่นกันมาก  เช่นเดียวกัน  ประเทศในเอเชียเช่น  สิงคโปร์ มาเลเซีย  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮ่องกงนั้น  ในสมัยก่อนก็มีการคอร์รัปชั่นกันมากเหมือนกัน  แต่เมื่อประเทศเจริญขึ้นและมีการสร้างระบบที่ป้องกันและต่อต้าน   การคอร์รัปชั่นก็ลดลงไปมาก  เรียกว่าเป็น  “อุตสาหกรรมตะวันตกดิน” ไปเลย  พูดแบบนี้หลายคนอาจจะมีความเห็นแย้งอย่างแรง  เขาอาจคิดว่าในระบบการเมืองและนักการเมืองแบบไทย  การคอร์รัปชั่นนั้นมีแต่จะมากขึ้นจนประเทศอาจ  “ล้มละลาย”  หรือ  “สิ้นชาติ”  ผมเองก็ไม่รู้ว่าการคอร์รัปชั่นของไทยจะลดลงได้อย่างไร    ผมเพียงแต่รู้ว่าอะไรที่มัน  “Impossible” หรือที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้เช่นเรื่องการลดลงของอาชญากรรมนั้น  มันก็เป็นไปแล้ว  การคอร์รัปชั่นนั้น  ว่าที่จริงมันก็เป็นอาชญากรรมอีกแบบหนึ่ง  เมื่อถึงเวลา  มันก็ควรต้องค่อย ๆ  ลดลง
              พูดถึงตรงนี้ผมเองก็นึกว่า  ตกลงมันเกี่ยวข้องกับการลงทุนไหม?  บอกตรง ๆ  ยังนึกไม่ใคร่ออก  เรื่องหนึ่งที่จะอ้างได้ก็คือ  บทความเรื่องนี้อาจจะสอนให้รู้ว่า  อุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทุกคนเชื่อกันขนาดเป็น  “สัจธรรม”  ว่ามันต้องไปเพียงทางเดียวเท่านั้น  มันก็อาจจะเปลี่ยนกลับทางได้อย่างไม่น่าเชื่อ  ไม่มีอะไร  Impossible  ทั้งด้านที่ดีและร้าย

Posted by nivate at 10:31 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/05/1322



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Tuesday, 13 August 2013

เทคโนทำลายล้าง



กิจการบางแห่งที่เคยแข็งแกร่งมากจนดูเหมือนว่ามันจะ “ไม่มีวันแพ้” และก็ไม่มีใครเคยคิดว่าจะถดถอยได้ในเร็ววันนั้น  ณ. ขณะนี้ดูเหมือนว่าชะตากรรมจะเปลี่ยนไป  ความรุ่งเรืองในอดีตตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว  หลาย ๆ  บริษัทอาจจะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเจริญเติบโตต่อเนื่องอย่างที่เคยเป็น  “ความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน”  หรือ DCA ที่บริษัทเคยมีเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้น  บริษัทก็ยังมีอยู่  แต่ว่า  “คู่แข่งใหม่” ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น  หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้ DCA ของบริษัทหมดความหมายลง  “เกมการแข่งขัน” หรือ “การต่อสู้”  ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเกิดขึ้นใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อมูลและการสื่อสารที่กำลัง  “ปฏิวัติโลก”  อย่างที่เราอาจจะ  “ไม่รู้ตัว”  และผมก็เริ่มที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้เมื่อได้ดู  “เทป” เดี่ยว 10 ของ โน้ต อุดม แต้พานิช ที่พูดถึงว่าเรา – คนที่มีอายุมาก-  จะสอนลูกหลานอย่างไร  ในเมื่อสิ่งต่าง ๆ  ที่เรารู้  กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย  สิ่งต่าง ๆ  ที่เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคดิจิตอล 1000% จะต้องเรียนรู้นั้น  ทั้งหมดอยู่ใน “กูเกิ้ล”

          ลองนึกถึงร้านขายหนังสือที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดอย่างร้านบาร์นแอนด์โนเบิลที่เราอาจจะเคยคิดว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่ดีเพราะในโลกยุคใหม่นั้นคนต้องค้นคว้าหาความรู้มากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน  การที่บริษัทมีร้านค้าเครือข่ายมากมายย่อมได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนรวมถึงทำเลที่เหมาะสมกว่าคู่แข่งประกอบกับชื่อเสียงและผลการดำเนินงานที่มีมาช้านานใครจะคิดว่ามันจะตกต่ำลงได้อย่างรวดเร็วและพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจมาไม่กี่ปี  แต่แล้วอเมซอนซึ่งขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตและขายหนังสือที่เป็น E-Book ซึ่งเป็นข้อมูลอิเลคโทรนิคก็เข้ายึดกุมธุรกิจหนังสือได้อย่างรวดเร็วในอเมริกาและอาจจะค่อย ๆ ลามไปในประเทศอื่น   ในเมืองไทยเองนั้น  แม้ว่าการขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตและหนังสือ E-Book อาจจะยังใช้เวลาอีกหลาย ๆ  ปี ที่จะเข้ามาแทนที่หนังสือเล่ม  แต่ผลกระทบจากการที่คนรุ่นใหม่เริ่มใช้เวลาอ่านข้อมูลอย่างอื่นในอินเตอร์เน็ตมากขึ้นแทนที่จะอ่านหนังสือเล่มก็ทำให้ธุรกิจหนังสือดูเหมือนว่าจะโตช้าลงมากหรืออาจจะไม่โตเลย  นี่ทำให้ธุรกิจขายหนังสือที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังเป็นธุรกิจที่โตเร็วและมีบริษัทที่เข้มแข็งเป็น  “ผู้ชนะ”  กลายเป็นบริษัทที่อาจจะต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อที่จะรักษาผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต   นี่เป็นผลจาก  “การทำลายล้างของเทคโนโลยี” เรื่องแรก

          ธุรกิจที่ผลิตและ/หรือขายสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้น  น่าจะเป็นผู้ที่รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรุนแรงที่สุด  เราเห็นความรุ่งเรืองและการดับสลายของสินค้าต่าง ๆ  เร็วมากจนไม่น่าเชื่อ  เช่นเดียวกับบริษัทที่เป็นผู้ผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ   ไล่ตั้งแต่เรื่องของโทรศัพท์มือถือของโมโตโรล่า  ถึงโนเกีย  และถึงโทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” ของแบล็กเบอร์รี่จนถึงแอปเปิลและซัมซุง  เราเห็นเครื่องเล่นดนตรีติดตัววอล์คแมนของโซนี่ที่ล้าสมัยไปเพราะเครื่อง  ไอพอด ของแอปเปิล ที่ก็ล้าสมัยไปเช่นเดียวกัน  แต่ที่หนักที่สุดน่าจะเป็นการตกต่ำลงของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เริ่มจากเครื่องตั้งโต๊ะ  เครื่องโน้ตบุ้ค  มาจนถึงเครื่องแบบแท็บเล็ตที่ต้องพึ่งพิงระบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออินเตอร์เน็ตไร้สายเป็นหลัก  ในด้านของเวบไซ้ต์ค้นหาเองนั้น  ในอดีตเรามียะฮูซึ่งก็ถูกทำลายโดยกูเกิลซึ่งดูเหมือนว่ากำลังจะ “สยายปีก”  ครอบงำธุรกิจอย่างที่ยากที่ใครจะท้าทายได้ง่าย   อย่างไรก็ตาม  เรื่องของเทคโนโลยีนั้น  ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต  ในเมืองไทยเองนั้น  กิจการที่อาจจะเป็น “เหยื่อ” รายแรก ๆ  ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกลุ่มนี้ก็คือผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อาจจะต้องปรับตัวอย่างมากที่จะรักษาผลประกอบการของตนเองไว้ให้ได้

          ธุรกิจบันเทิงและทีวีเป็นธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกระทบมาระดับหนึ่งแล้วและน่าจะกำลังถูกกระทบอย่างแรงในเร็ว ๆ  นี้  ก่อนหน้านี้ธุรกิจขายเทปล่มสลายไปเช่นเดียวกับแผ่นซีดีที่มียอดขายลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการเกิดขึ้นของการโหลดเพลงผ่านระบบอินเตอร์เน็ตอันทรงประสิทธิภาพ  การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลและทีวีผ่านระบบสายและไร้สายต่าง ๆ  ทั้งที่มีอยู่แล้วและอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตทำให้ธุรกิจทีวีที่ใช้คลื่นแบบอานาล็อกอยู่ในสภาพที่ไม่แน่นอนและมีอันตรายเป็นอย่างยิ่งที่จะ  “ถูกทำลาย”  โดยเทคโนโลยีใหม่ที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง

          อุตสาหกรรมบางอย่างเช่นพลังงานนั้น  ในอดีตเราไม่ใคร่จะนึกว่ามันอาจจะถูกกระทบโดยเทคโนโลยีใหม่ได้  ถ้าจะมีผลก็บ้างก็เป็นเรื่องของผลกระทบด้านบวกที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ทำให้การขุดค้นหาพลังงานนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถช่วยลดต้นทุนของกิจการได้  อย่างไรก็ตาม  การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการขุดเจาะและนำเชลแก๊สขึ้นมาใช้ในอเมริกานั้น   ว่ากันว่าทำให้ธุรกิจถ่านหินประสบปัญหาเนื่องจากเชลแก๊สมีราคาถูกกว่าถ่านหินและสะอาดกว่า  ทำให้ความต้องการถ่านหินลดลงส่งผลให้ราคาถ่านหินลดลงและอาจจะต่อเนื่องไปนาน  ผลก็คือ  หุ้นของบริษัทผลิตถ่านหินตกลงมาอย่างหนักราวกับว่ามันเป็นธุรกิจตะวันตกดินทั้ง ๆ  ที่ครั้งหนึ่งมันเป็นธุรกิจดาวรุ่งเนื่องจากความกลัวที่ว่าน้ำมันจะ “หมดโลก”  และมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ  ในช่วงก่อนหน้านี้

          ผู้ผลิตเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถทำลายล้างเทคโนโลยีเก่าสำเร็จนั้น  มักจะเจริญรุ่งเรืองกิจการมีกำไรก้าวกระโดด  หลาย ๆ  บริษัทกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่มหึมาในช่วงเวลาหนึ่ง  แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มักจะมีผู้ผลิตรายอื่นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อที่จะทำลายเทคโนโลยีที่เคยเป็นผู้ชนะ   ผลที่ตามมาก็คือ  บริษัทที่รุ่งเรืองตกต่ำลงมากมาย  บางทีแทบจะล้มละลาย  ดังนั้น  ชัยชนะของผู้ผลิตเทคโนโลยีจึงไม่แน่นอนมีขึ้นมีลง  บางทีก็เร็วมาก   อย่างไรก็ตาม  คนที่มักจะได้ประโยชน์อยู่เสมอจากการพัฒนาของเทคโนโลยีก็คือ  “ผู้ใช้” ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน  ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนหรือพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนเอง

          ผู้ใช้เทคโนโลยีที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ  ผู้ให้บริการที่ต้องใช้คนจำนวนมาก  นี่อาจจะรวมถึงกิจการบริการทางการเงินทั้งหลาย  เช่น  ธนาคาร  บริษัทการเงินที่ให้บริการแก่ผู้บริโภคจำนวนเป็นล้าน ๆ  ราย   หรือกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเช่นร้านซุปเปอร์สโตร์อย่างวอลมาร์ท ที่ต้องให้บริการคนทั้งประเทศและใช้พนักงานนับล้านคน เป็นต้น    ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ทำให้กิจการเหล่านี้สามารถลดต้นทุนการดำเนินงานลงได้มหาศาลและสามารถให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้น    ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นโดยไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย  ตัวอย่างของธุรกิจการเงินที่เห็นก็คือระบบเครื่อง ATM และอินเตอร์เน็ตหรือโฟนแบ้งกิ้งที่ลดภาระงานของพนักงานธนาคารไปจำนวนมาก  ในด้านของพวกร้านค้าปลีกสมัยใหม่ก็คือ  ระบบบาร์โค้ดที่ลดภาระงานและเพิ่มความรวดเร็วให้แก่การคิดเงินค่าสินค้าของพนักงานแคชเชียร์  นอกจากนั้น  ระบบการ  “ให้ลูกค้าคิดเงินเอง”  ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วก็น่าจะเป็น “คลื่น” ลูกต่อไปที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่
          ประเด็นของเทคโนโลยีนั้น  เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาเหมือนกันว่ามันจะไปทางไหน   อย่างไรก็ตาม  โดยการวิเคราะห์อุตสาหกรรม  เราก็พอจะบอกได้เหมือนกันว่าบริษัทหรือหุ้นที่เราดูอยู่นั้นมีโอกาสที่จะถูกทำลาย  หรือมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี  เราเองคงต้องการแบบหลัง  และถึงแม้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นเราก็คงไม่ให้คุณค่ากับมัน    แต่ถ้าจะดีที่สุดก็คือ  ผมอยากได้ธุรกิจที่จะไม่ถูกกระทบโดยเทคโนโลยีมากกว่า    มันก็คงเหมือนกับที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดว่า  อินเตอร์เน็ตคงไม่ทำให้การซื้อหรือการเคี้ยวหมากฝรั่งเปลี่ยนไป  ดังนั้น  เขาสบายใจมากกับการถือหุ้นหมากฝรั่งริกรี่  เช่นเดียวกับหุ้นโค๊กที่ยังไงคนก็ดื่มเหมือนเดิมไม่ว่าเทคโนโลยีอะไรจะเปลี่ยนไป 

Posted by nivate at 11:13 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/13/1326



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Tuesday, 19 August 2013

ลงทุนระยะยาว-ยาก



นักลงทุนจำนวนไม่น้อยอาจจะบอกว่าตนเองนั้น  “ลงทุนระยะยาว”  ผู้บริหารกองทุนต่าง ๆ  ทั้งไทยและต่างประเทศก็มักจะบอกว่าตนเองเน้น  “ลงทุนระยะยาว”  คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น  VI นั้น  ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าตนเอง  “ลงทุนระยะยาว”   แต่ถ้าเราไปสืบหรือได้มีโอกาสตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของคนส่วนใหญ่ที่ลงทุนหุ้นแบบ  “Active”  หรือใช้เวลากับการลงทุนค่อนข้างมากและบางคนเป็นนักลงทุนเต็มตัวหรือลงทุนเป็นอาชีพ  ผมเชื่อว่าพวกเขาส่วนใหญ่น่าจะมีการลงทุนที่ค่อนข้างสั้น  ถือหุ้นแต่ละตัวไม่เกินหนึ่งปีโดยเฉลี่ย  ถ้าคิดตามมาตรฐานทางวิชาการก็ต้องบอกว่าพวกเขา  “ลงทุนระยะสั้น”  หรือเป็นนักเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

           เริ่มต้นจากผู้บริหารกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชนทั่วไปก่อน  กองทุนเหล่านี้ต่างก็ต้องแข่งขันกับกองทุนอื่นที่มีอยู่มากมาย  พวกเขาต้องรายงานผลงานการลงทุนเป็นประจำทุกไตรมาศหรือทุกหกเดือนหรือทุกหนึ่งปีหรือว่าที่จริงคนก็อาจจะรู้ถึงผลงานการลงทุนได้แทบทุกวันผ่านมูลค่า  NAV หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยของกองทุน  ดังนั้น  ผู้บริหารกองทุนจึงมีแรงกดดันที่จะต้องสร้างผลงานให้ “น่าประทับใจ”  หรืออย่างน้อยก็ต้องให้  “เกาะกลุ่ม”  กับผลงานของคู่แข่งหรือดัชนีตลาดที่ใช้อ้างอิงตลอดเวลา   มิฉะนั้นลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนก็อาจจะถอนหรือขายหน่วยลงทุนออกทำให้กองทุนเล็กลงส่งผลให้การประเมินผลงานของผู้จัดการกองทุนที่ต้องทำทุกปีมีปัญหา  ด้วยเหตุดังกล่าว  การลงทุนซื้อขายหุ้นของผู้จัดการกองทุนจึงต้องเน้นหุ้นที่จะทำผลงานได้ดีในระยะเวลาไม่นานเกินไป  ซึ่งก็หมายความว่าต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในกระแสที่คนกำลัง  “เล่น”  นอกจากนั้น  เมื่อหุ้นตัวไหนมีกำไรมาก  พวกเขาก็มีความคิดที่อยากจะขายทำกำไรมากกว่าที่จะถือไว้ยาวซึ่งอาจจะเกิดการปรับตัวลงในช่วงที่จะมีการวัดผลงานได้  ผลก็คือ  กองทุนมีการซื้อขายหุ้นค่อนข้างมาก  ไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

            กองทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ซึ่งมักจะเป็นกองทุนที่ขายให้เฉพาะกับคนที่มีเงินมากและมีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มากและส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นกองทุนจากต่างประเทศ  ดังนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องสร้างผลงานระยะสั้นอะไรมากนักที่จะทำให้พวกเขาต้องซื้อหรือขายหุ้นบ่อย   อย่างไรก็ตาม  ผลตอบแทนของผู้บริหารกองทุนกลุ่มนี้มักจะอิงอยู่กับผลตอบแทนเป็นรายปีของกองทุน   ด้วยเกณฑ์ดังกล่าว  ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์จึงต้องสร้างผลงานในแต่ละปีให้ดีเพื่อที่ว่าตนเองจะได้ผลตอบแทนหรือโบนัสที่งดงาม  ดังนั้น  หุ้นที่มีกำไรมาก  พวกเขาก็มักจะอยาก “ล็อก” กำไรไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักประกันว่าผลงานประจำปีจะดีพอที่จะทำให้เขาได้เงินและได้ลูกค้าเพิ่มในปีต่อ ๆ  ไป   นอกจากนั้น  ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์เองก็มักจะต้องรายงานการซื้อและขายหุ้นแต่ละตัวให้ผู้ลงทุนทราบ  ถ้าผู้บริหารซื้อและลงทุนระยะยาวโดยไม่ขายเพื่อที่จะไปซื้อหุ้นตัวใหม่เป็นเวลาหลาย ๆ  ปี  ผู้ถือหน่วยลงทุนจะรู้สึกอย่างไร?  มันคงดูเหมือนกับว่าพวกเขาไม่ใคร่ได้ทำงาน  ซึ่งถ้าผลการลงทุนไม่ดีด้วย  ในที่สุดก็คงไม่มีคนอยากจะนำเงินมาให้พวกเขาบริหาร  ดังนั้น  เฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่จึงมักไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว

            นักลงทุนแนว VI ที่มุ่งมั่น  ซึ่งก็คือคนที่ลงทุนโดยอิงจากพื้นฐานของกิจการนั้น  พวกเขาไม่ต้องรายงานใครว่าแต่ละปีทำผลตอบแทนได้เท่าไร  แต่เนื่องจากระบบสื่อสังคมสมัยใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพมาก  ทำให้พวกเขารู้หรือเข้าใจว่า “คนอื่น”  นั้นกำลังทำผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน  ดังนั้น  หลาย ๆ  คนก็มี  “แรงกดดันทางใจ”  ที่จะต้องทำผลงานให้ดีพอ ๆ  กันหรือดีกว่า  ซึ่งวิธีที่เขาคิดว่าจะทำได้ก็คือ  การพยายามค้นหาหุ้นที่ยัง  Undervalue มากกว่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่ตลอดเวลา  เสร็จแล้วก็ขายหุ้นตัวที่ถืออยู่เพื่อที่จะนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่  “ถูกกว่า” และมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าหุ้นตัวเดิม  ผลก็คือ  พวกเขาซื้อ ๆ  ขาย ๆ  หุ้นค่อนข้างบ่อยตามการปรับของราคาหุ้นในกลุ่มที่เรียกว่า  “หุ้น VI” ซึ่งมีราคาขึ้นลงรุนแรงไม่แพ้ “หุ้นเก็งกำไร”  อื่น ๆ

            VI จำนวนมากที่ทำผลงานการลงทุนได้ยอดเยี่ยมในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมายังรู้สึกว่า   การลงทุนถือหุ้นยาวและเติบโตไปกับผลประกอบการของบริษัทนั้น  ก็อาจจะดี  แต่ก็ไม่สามารถจะโดดเด่นอย่างแน่นอน  เหตุผลก็คือ  ผลประกอบการของบริษัทในระยะยาวจริง ๆ  แล้วแทบจะไม่สามารถโตได้ปีละเกิน 15%  ซึ่งก็จะทำให้การถือหุ้นของบริษัทในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนไม่เกินปีละ 15%   ตัวเลขนี้สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงที่ผ่านมานั้น  เป็นผลตอบแทนที่แทบจะ  “รับไม่ได้”  พวกเขาคิดว่าอย่างน้อยเขาควรจะทำได้อาจจะปีละ 25% ขึ้นไป   ดังนั้น  พวกเขาจึงไม่คิดที่จะถือหุ้นตัวเดียวยาวหลายปีไม่ว่ากิจการจะดีแค่ไหน  พวกเขาคิดว่าเมื่อได้กำไรจากหุ้นตัวไหนมากแล้วและราคาหุ้นอาจจะไม่ถูกอีกต่อไป   เขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวหุ้นใหม่  ผลก็คือ  แม้แต่ “VI ระดับเทพ”  เองก็มีน้อยมากที่จะลงทุนระยะยาว

            การที่เราหานักลงทุนระยะยาวจริง ๆ ได้ยากมากนั้น   ยังอยู่ที่เหตุผลทางจิตวิทยา  ความรู้และความเข้าใจของคน  และอื่น ๆ  อีกหลายอย่างที่ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเป็น  “นักลงทุนระยะสั้น”  มากกว่าระยะยาว  ลองมาดูข้อแรกก็คือ  คนเราโดยเฉพาะที่เป็นคนมีความสามารถสูงนั้น  มักจะเป็นคนที่  Active มีความกระตือรือร้นสูง  พวกเขาต้องการ  Action หรือต้องมีการ  “ทำอะไรบางอย่าง”  เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ  การนั่ง  “กระดิกเท้า”  ไม่ทำอะไร  หรือคิดหรือทำอะไรชักช้าไม่ทันการนั้น   เป็นสัญญาณของคนที่ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้  ดังนั้น  นักลงทุนที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการลงทุนในตลาดหุ้นจึงมีแนวโน้มที่จะต้อง  “ทำ”  บางคนอาจจะบอกว่าไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อหรือขายหุ้น   แต่เขาต้องไปศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์หาหุ้นที่ถูกมากเมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานของกิจการตลอดเวลาเพื่อหาโอกาสที่งดงาม   ประเด็นก็คือ  ในที่สุดเขาก็พบเพชรเม็ดงามเม็ดใหม่เสมอ  ประเด็นก็คือ  เขามีเงินจำกัด  เขาไม่เหมือน วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่มีเงินใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ   ดังนั้น  เขาต้องขายหุ้นตัวเดิมและไปซื้อหุ้นตัวใหม่ที่อาจจะไม่ดีกว่า   แต่ถูกกว่า  และดังนั้น  เขาก็กลายเป็นนักลงทุนระยะสั้นโดยพฤติกรรม

           การเป็นนักลงทุนระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ทำยากและไม่แน่นอน  คนที่ทำจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการอย่างลึกซึ้ง  เขาต้องดูถึงโครงสร้าง  ภาวะ  และแนวโน้มของอุตสาหกรรม ในระยะยาว  เสร็จแล้วก็ต้องดูถึงความสามารถหรือความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทว่ามีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน  เขายังต้องดูถึงผู้บริหารว่ามีความสามารถและไว้วางใจได้หรือไม่  และแม้ว่าจะดูอย่างดีแล้ว  เขามีความมั่นใจแค่ไหนว่ามันจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไปยาวนานในอนาคต    ตรงกันข้าม  การลงทุนระยะสั้นนั้นทำง่ายกว่ากันมาก  การวิเคราะห์หุ้นอาจจะมองแค่ว่าในระยะเวลาไม่เกินปีบริษัทน่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ค่อนข้างแน่นอนมองจากปัจจัยหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น  บางทีอาจจะรู้และได้รับคำมั่นจากผู้บริหารซึ่งเป็น “ข้อมูลภายใน”  ว่า  ทุกอย่างกำลังไปได้ดี  ดังนั้น  การตัดสินใจและลงมือทำจึงทำได้ง่ายด้วยความมั่นใจที่สูง
            สุดท้าย  ตลาดหุ้นที่ผันผวน  ราคาหุ้นแต่ละตัวที่ผันผวนหนักในแต่ละวันนั้น  กระตุ้นให้คนเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวมาก  สมองคนถูกออกแบบมาให้พยายามลดความไม่แน่นอน  ให้พยายาม  “ลดความเสี่ยง”   แม้บางทีเราอาจจะคิดว่าหุ้นลงมาอย่างไม่มีเหตุผลไม่ควรทำอะไร  แต่เราก็อาจจะขายไปก่อนแล้วคิดว่าค่อยไปเก็บคืนที่ราคาต่ำกว่านั้นก็ได้   ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เรามีแนวโน้มเป็นนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาวถ้าเราไม่ฝืนมัน         

Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/19/1329



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




หุ้นขั้นเทพ

กันยายน 1, 2012 Filed under บทความ Posted by ดร.นิเวศน์

การวิเคราะห์หุ้นนั้น มีปัจจัยที่ต้องพิจารณามากมายทั้งในด้านเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนบางคนที่อาจจะมีความรู้ในเชิงธุรกิจไม่มากเนื่องจากอาจจะไม่ได้เรียนมาทางสายธุรกิจหรืออาจจะเพิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นเป็นนักลงทุนมือใหม่ และนี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมข้อสรุปของหุ้นแต่ละตัวจึงไม่เหมือนกันระหว่างนักลงทุนแต่ละ
คน หุ้นตัวหนึ่งนักลงทุนคนหนึ่งอาจจะดูว่าดีมากเป็นซุปเปอร์สต็อกในขณะที่อีกคนหนึ่งมองว่าเป็นหุ้นธรรมดา ๆ หรือหุ้นตัวหนึ่งนักเล่นหุ้นคนหนึ่งบอกว่ามันเป็น Growth Stock หรือหุ้นโตเร็ว ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่ามันเป็นหุ้นวัฎจักรที่เพียงแต่อยู่ในช่วงขาขึ้นและพร้อมที่จะลงในอนาคต วิธีที่จะดูว่าหุ้นหรือบริษัทที่เราสนใจนั้นน่าจะดีหรือไม่อย่างง่าย ๆ ก็คือ หาปัจจัยสำคัญที่สำคัญมาก ๆ บางตัวมาเป็นเครื่องชี้ที่จะบอกว่ามันเป็นหุ้นดีหรือหุ้นแย่ ตัวอย่างเช่น ถ้าการตลาดหรือยี่ห้อของสินค้าของบริษัทนั้นแข็งแกร่งสุดยอดเหนือกว่าคู่แข่งมาก โอกาสก็สูงว่าหุ้นของบริษัทก็น่าจะดีโดยที่เราอาจจะไม่ค่อยต้องพิจารณาปัจจัยอื่นมากหรือละเอียดนัก เป็นต้น
เครื่องชี้วัดที่สำคัญและวิเคราะห์ได้ง่ายตัวหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและสามารถนำมาใช้ได้ในหุ้นเกือบทุกตัวก็คือตัวเลขของผลประกอบการหรือกำไรในอดีตเพราะนี่คือผลงานที่บริษัททำได้มาแล้ว มันเป็น “ของจริง” ที่เกิดขึ้น และมันสามารถบอกไปถึงอนาคตได้โดยเฉพาะถ้ากำไรที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากผลการทำงานของบริษัทจริง ๆ ไม่ได้เกิดจากภาวะแวดล้อมที่ทำให้บริษัทกำไรดี พูดง่าย ๆ บริษัทไม่ได้กำไรดีเพราะบริษัท “โชคดี” แต่บริษัทกำไรดีเพราะบริษัทมีฝีมือดีมีความสามารถเหนือคู่แข่ง

วิธีที่จะตัดประเด็นของ “โชค” ออกจากตัวเลขผลประกอบการก็คือ การดูกำไรย้อนหลังไปหลาย ๆ ปี เพราะถ้าเป็นเรื่องของโชคแล้ว มันคงไม่เกิดติดต่อกันหลาย ๆ ปี มันน่าจะเกิดขึ้นอย่างมากก็น่าจะไม่เกิน 2-3 ปี หลังจากนั้นก็น่าจะกลับมาเป็นปกติซึ่งเราก็จะเห็นว่ากำไรหลังจากนั้นก็จะแย่ลงและเราก็สรุปได้ว่าบริษัทคงไม่เก่งอะไรนัก ตรงกันข้าม ถ้าเรามองผลประกอบการย้อนหลังไปยาว ๆ แล้วพบว่าบริษัทมีผลงานหรือผลประกอบการที่น่าประทับใจมาตลอด เราก็น่าจะสรุปได้ว่าบริษัทนี้มีความสามารถในการแข่งขันสูงและแน่นอนในอนาคตต่อไปมันก็น่าจะสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องยาวนาน เพราะบริษัทก็เหมือนคน ถ้าเก่งและมีความสามารถ อย่างไรก็ทำเงินได้ต่อไปในอนาคต
ข้อมูลผลกำไรย้อนหลังที่ผมคิดว่าน่าจะเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าบริษัทดีจริงหรือไม่น่าจะไม่น้อยกว่า 7-10 ปีขึ้นไป เพราะนี่นอกจากจะตัดประเด็นเรื่องโชคของบริษัทแล้ว มันยังตัดประเด็นของเรื่องวัฏจักร์ของธุรกิจที่มักจะมีเวลาขึ้นลงไม่เกิน 3-5 ปีด้วย ดังนั้น ถ้าจะหาปัจจัยสำคัญบางตัวที่จะบอกว่าบริษัทหรือหุ้นดีหรือไม่ ผมคิดว่าข้อมูลผลกำไรย้อนหลังประมาณ 7-10 ปี เป็นตัวที่สำคัญมากตัวหนึ่ง และข้อเสนอของผมก็คือ ถ้าบริษัทไหนมีกำไรสม่ำเสมอและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราตั้งแต่ 10% ต่อปีขึ้นไป มาตลอดโดยที่บริษัทไม่ต้องเรียกเงินจากผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเลย ก็ถือว่าบริษัทนั้นหรือหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยมโดยไม่ต้องไปดูปัจจัยอื่นมากมาย ถ้าจะใช้คำหรู ๆ แบบที่วัยรุ่นใช้กับดาราชายที่หน้าตาดีมากว่า “หล่อขั้นเทพ” ผมก็อยากจะเรียกหุ้นที่มีผลประกอบการดังกล่าวว่าเป็น “หุ้นขั้นเทพ”

นอกจากตัวเลขผลกำไรแล้ว ปันผลก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่สำคัญ เพราะถ้าบริษัทจ่ายปันผลออกมาน้อย กำไรในอนาคตก็ต้องมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าบริษัทจ่ายปันผลในแต่ละปีในอัตราสูงเช่นเกิน 50% ของกำไรแต่ละปีด้วย นี่ก็เป็นตัวเสริมให้เป็นหุ้นเทพมากขึ้น ถ้าอัตราการจ่ายปันผลต่ำความเป็นหุ้นขั้นเทพก็ควรจะลดลง นอกจากนั้น ความเป็นเทพมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับการเติบโตของกำไรเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา ถ้ากำไรโตปีละถึง 15% ขึ้นไป เราก็อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้นเทพมาก แต่ถ้ากำไรโตต่ำกว่า 10% แบบนี้ก็อาจจะเรียกว่าเทพธรรมดาหรืออาจจะไม่เทพเลยถ้ากำไรโตน้อยมากเพียงแค่ 4-5% เป็นต้น เช่นเดียวกัน ความสม่ำเสมอของกำไรในแต่ละปีก็เป็นตัวบอกความเป็นเทพมากหรือน้อยได้ บริษัทที่มีกำไรแทบจะเพิ่มขึ้นทางเดียวปีต่อปี ไตรมาศต่อไตรมาศ แบบนี้ก็เทพมาก แต่บริษัทที่มีกำไรสลับขึ้นลงและโดยเฉพาะที่มีแนวโน้มลดลงในช่วงท้าย ๆ แบบนี้ความเป็นเทพก็ด้อยลง
หุ้นเทพนั้น โดยปกติราคาจะวิ่งขึ้นเสมอและต่อเนื่องยาวนานตราบที่แนวโน้มของกำไรยังโตขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับอดีต ดังนั้นการถือหุ้นเทพนั้นบางครั้งเราสามารถถือยาวเป็น 5 ปี 10 ปีได้โดยไม่ต้องทำอะไร ในช่วงสั้น ๆ นั้น แน่นอน หุ้นเทพอาจจะมีราคาสูงหรือต่ำจนดูเหมือนกับว่ามันจะ Overvalue หรือ Undervalue แต่เราก็ไม่ควรที่จะต้องมีปฏิกิริยาอะไรนักยกเว้นว่ามันจะเกินไปมาก เหตุผลก็คือ ในที่สุดมันก็จะ “กลับมา” คือหุ้นก็จะขึ้นต่อไปตามผลประกอบการของมัน ผมเองเคยพบนักลงทุนหลายคนที่พยายาม “เล่นสั้น ๆ” ในหุ้นเทพ นั่นคือ เขาจะขายเมื่อหุ้นขึ้นไปแรง เสร็จแล้วก็กลับเข้าไปเก็บเมื่อหุ้นเทพปรับตัวลงมา ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายมันคุ้มค่าไหม เพราะบางครั้งต้องกลับไปซื้อในราคาแพงขึ้นเพราะหุ้นไม่ตกกลับลงมาตามที่คาด บางคนที่ “ขายหมู” ไปแล้วก็ไม่กลับมาซื้ออีกและทำให้พลาด “กำไร” มหาศาลที่ตามมาอีกหลาย ๆ ปี
ข้อจำกัดของการลงทุนในหุ้นเทพนั้นมีพอสมควร เหตุผลหนึ่งก็คือหุ้นเทพนั้นมักจะไม่ถูก นั่นทำให้VIจำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน พวกเขามักจะดูว่ากำไรที่โตขึ้นต่อปีของหุ้นขั้นเทพนั้นมักจะ “ไม่ใคร่สูง” เช่น “แค่ 15%” แต่ค่า PE ของหุ้นนั้นอาจจะสูงถึง 20 เท่าหรือมากกว่า และดังนั้น ค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเติบโตนั้นสูงกว่า 1 เท่า ดังนั้น ตาม “ตำรา” ก็ต้องบอกว่าไม่คุ้มที่จะลงทุน สำหรับประเด็นนี้ผมเองคิดว่าค่า PEG นั้นอาจจะใช้ไม่ได้กับเรื่องของหุ้นเทพ และส่วนใหญ่ที่ใช้กันก็มักจะมอง Growth หรือการเติบโตของกำไรไปแค่ 3-4 ปี ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของหุ้นเทพ

ข้อจำกัดต่อมาของหุ้นเทพก็คือ บางบริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนไม่นาน ดังนั้นจึงมีข้อมูลไม่พอ แต่ถ้าบริษัทนั้นกลายเป็นหุ้นเทพจริง ๆ ในเวลาต่อมา การลงทุนในหุ้นขั้นเทพตั้งแต่ตอนต้นอาจจะสามารถทำกำไรได้มหาศาล เพราะราคาหุ้นในขณะนั้นอาจจะไม่สูง และนี่นำมาสู่ข้อที่ต้องระวังที่สำคัญสำหรับการลงทุนในหุ้นเทพก็คือ เราต้องพิจารณาดูว่าหุ้นเทพที่เราดูอยู่นั้นกำลังอยู่ในหุ้นเทพ “ขั้นสุดท้าย” หรือเปล่า นั่นก็คือ การเติบโตของกำไรของหุ้นเทพนั้นใกล้สิ้นสุดหรือยังในขณะที่ราคาหุ้นเทพขึ้นไปสูงมาก เพราะถ้าเราเข้าไปลงทุนในช่วงที่บริษัทเริ่มอิ่มตัวไม่สามารถโตต่อไปได้แล้วด้วยเหตุผลต่าง ๆ ในที่สุดราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวลงไปเรื่อย ๆ โดยไม่กลับขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม หุ้นเทพส่วนมากก็มักจะมีอายุค่อนข้างยาว บางบริษัทอย่างหุ้นวอลมาร์ทในอเมริกานั้นเติบโตยาวนานหลายสิบปี ดังนั้น การสรุปว่าหุ้นขั้นเทพตัวที่มองอยู่นั้น “หมดยุค” แล้ว จะต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยทั่วไปแล้ว หุ้นขั้นเทพที่ไม่ใช่หุ้นไฮเท็คนั้น ถ้าจะตกต่ำลง ก็มักจะใช้เวลาเป็นปี ๆ หรือหลาย ๆ ปี ความจำเป็นที่จะต้องรีบขายนั้นมักจะไม่มี







ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 26 August 2013

ผลตอบแทนระยะสั้น-ยาวของหุ้น




ในการคำนวณหาผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นต่อปีที่เราคาดว่าจะได้รับแบบ VI นั้น   วิธีง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือการใช้สูตรที่ว่า  ผลตอบแทนการลงทุน “ระยะยาว” นั้น  จะเท่ากับอัตราปันผลตอบแทนในปีแรก  บวก  อัตราการเติบโตของกำไรหรือปันผลของบริษัท  ตัวอย่างเช่น  ถ้าในปีแรกที่เราลงทุนนั้น  เราคาดว่าจะได้ปันผลเป็นเงิน 3 บาทต่อหุ้น  ในขณะที่ราคาหุ้นเท่ากับ 100 บาท  แบบนี้ก็คืออัตราปันผลในปีแรกเท่ากับ 3%   และถ้าเราคาดว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ “โตเร็วมาก”  โดยเฉลี่ยแล้วกำไรหรือปันผลสามารถโตได้ถึง 12% ต่อปีไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาอาจจะ 20-30 ปีขึ้นไป  ถ้าเป็นแบบนี้  ผลตอบแทนระยะยาวของหุ้นตัวนี้ก็คือ  ปีละ 15% ทบต้น  ซึ่งก็ถือว่าเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นมากเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก” ที่หาได้ยาก  ในตลาดหลักทรัพย์อย่างตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นหลายร้อยตัวนั้น  ก็จะมีไม่กี่ตัวที่ทำได้  และถ้าใครถือหุ้นตัวนั้นไว้ยาวนานในปริมาณที่มาก  เขาก็อาจจะรวยไปเลย  ถ้าเป็นในต่างประเทศก็อาจจะเป็นระดับหุ้นโค๊กหรือวอลมาร์ท  ในตลาดหุ้นไทยนั้นผมไม่ได้ศึกษาดู  อาจจะเป็นหุ้นแบบปูนใหญ่ก็ได้

              ถ้าเราคิดว่าตลาดหลักทรัพย์นั้น  ก็เหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง  โดยที่ดัชนีตลาดหุ้นก็คือราคาหุ้น  เราก็จะพบว่า “หุ้นตลาด”  นั้น  เมื่อเข้ามาซื้อขายในวันแรกประมาณเดือนเมษายน 2518 มีราคาเท่ากับ 100 บาทต่อหุ้น  พอถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2556 คิดเป็นเวลาประมาณ 38 ปี 4 เดือนราคาหรือดัชนีขึ้นมาเป็น 1338 บาทต่อหุ้น นี่เท่ากับว่าผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาเท่ากับประมาณ 7% ต่อปีแบบทบต้น  นอกจากนั้น  ผู้ถือหุ้นตลาดยังได้ปันผลแต่ละปีประมาณ 3%   ดังนั้นเท่ากับว่าคนที่ลงทุนถือ “หุ้นตลาด” ในระยะยาวได้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมและน่าจะเหนือกว่าการลงทุนหลักอย่างอื่น  ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน  ซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรรัฐบาล  หรือแม้แต่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ต้องพูดถึงทองหรือการลงทุน “ทางเลือก” อื่น ๆ   ว่าที่จริง ตลาดหุ้นไทยนั้นต้องถือว่าเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในสหรัฐทีเดียวและดีกว่าตลาดหุ้นจำนวนมากในโลก   ผมเองไม่รู้ว่าตอนที่เริ่มมีการซื้อขาย “หุ้นตลาด” ในปีแรกนั้น  อัตราการจ่ายปันผลเป็นเท่าไร   แต่ถ้าให้คาดเดาผมคิดว่าก็อาจจะประมาณปีละ 3%   และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราก็สามารถที่จะพูดต่อได้ว่าอัตราการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วง 38 ปีที่ผ่านมาก็คือ 7% ต่อปี

            ในกรณีผลตอบแทน “ระยะสั้น” หรือ  “ระยะกลาง” ตั้งแต่หนึ่งปีหรือหลาย ๆ ปีจนถึง 10 ปีหรืออาจจะ 20 ปี นั้น  เราจะต้องเพิ่มตัวเลขอีกตัวหนึ่งเข้าไปในสูตรหาผลตอบแทนระยะยาวที่กล่าวข้างต้น  ตัวเลขตัวนั้นก็คือ  การเปลี่ยนแปลงของค่า PE หรือราคาเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น   ในกรณีที่ค่า PE ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมผลตอบแทนจากการลงทุนของเราก็เหมือนกับกรณีการลงทุนระยะยาว  เช่น  ปันผลปีแรก 3%  และกำไรโต 12% ผลตอบแทนทั้งปีเท่ากับ 15%    แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง  เช่น  ค่า PE เดิมของหุ้นเมื่อตอนเราซื้อหุ้นเท่ากับ 10 เท่า  แต่ในวันที่เราขายหุ้นหลังจากถือหุ้นมา 1 ปีเท่ากับ 20 เท่า  แบบนี้ก็ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณหนึ่งเท่าตัวหรือเท่ากับเราได้กำไรเพิ่มขึ้น 100%  เมื่อบวกกับผลตอบแทนจากปันผล 3% และผลตอบแทนจากการเติบโตของกำไรอีก 12%  กลายเป็นว่าผลตอบแทนในระยะเวลา 1 ปีของบริษัทนี้คือ 115%    แต่ถ้าสมมุติว่าการเปลี่ยนแปลงของค่า PE นี้เกิดขึ้นในปีที่ 2แทนที่จะเป็นปีแรก  ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 100%  นั้นก็จะต้องแบ่งออกเป็น 2 ปี หรือเท่ากับกำไรต่อปีที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 50%  เมื่อรวมกับผลตอบแทนจากปันผลเริ่มแรกที่ 3%  และอัตราการเติบโตที่ 12%  เท่ากับว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของหุ้นตัวนี้ก็คือประมาณ 65%    ยิ่งระยะเวลาการลงทุนยาวมาก  ผลกระทบจากการปรับค่า PE  ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ  จนในที่สุดก็แทบไม่มีผล

             การเปลี่ยนแปลงของ PE นั้น  มักจะเกิดขึ้นจากมุมมองต่อหุ้นที่เปลี่ยนไปของนักลงทุนนั่นก็คือ  ถ้านักลงทุนมองว่าบริษัทมีพื้นฐานที่ดีขึ้น  อนาคตจะมีกำไรที่โตเร็วขึ้นเนื่องจากเหตุผลอะไรก็ตาม  เขาก็จะเข้ามาลงทุนหรือยอมจ่ายมากขึ้นในการเข้ามาซื้อหุ้นหรือมาเป็นเจ้าของหุ้น   ผลก็คือราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปทั้งที่กำไรในระยะสั้น ๆ  อาจจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก  นี่ทำให้ค่า PE ปรับตัวสูงขึ้น  ตรงกันข้าม  ถ้านักลงทุนมองว่าพื้นฐานของบริษัทแย่ลง  อนาคตการเติบโตจะช้าลงหรืออาจจะติดลบ  เขาก็จะขายหุ้นทิ้งหรือจะซื้อแต่ต้องในราคาที่ต่ำลง  ผลก็คือ  ราคาหุ้นตกลงมา  ค่า PE ก็จะลดลง  และในกรณีหลังนี้  ผลตอบแทนของการลงทุนระยะสั้นหรือระยะกลางก็จะปรับตัวลง    จากตัวอย่างเดิมถ้าค่า PE ลดลงจาก 10 เท่า เหลือ 9 เท่า  ก็ทำให้ราคาหุ้นหายไป 1 เท่าของกำไรต่อหุ้นที่ 12%   ดังนั้น  ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ 15% ต่อปีก็กลายเป็นเหลือแค่ 3% ต่อปี ทั้ง ๆ ที่กำไรในปีแรกก็ยังโต 12%  อยู่

            จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเราก็จะเห็นว่าในระยะสั้นแล้ว  ผลตอบแทนจากการลงทุนส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับมุมมองหรือความเห็นของนักลงทุนต่อตัวหุ้นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรมากกว่าข้อเท็จจริงว่าผลประกอบการจะเป็นอย่างไรหรือบริษัทมีการจ่ายปันผลในปีแรกมากน้อยแค่ไหน  เพราะว่าผลตอบแทนการลงทุนนั้นมักจะถูกกระทบจากการปรับค่าของ PE ค่อนข้างมาก    แต่ในระยะยาวแล้ว  ผลตอบแทนของการลงทุนก็มักจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการที่เกิดขึ้นจริงต่อเนื่องยาวนานในอัตราที่ค่อนข้างสูงบวกกับอัตราการจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือ Dividend Yield ในปีแรก  ถ้าจะพูดตามหลักของ เบน เกรแฮม  ก็คือ  ในระยะสั้นตลาดหุ้นนั้นเป็นเหมือน “เครื่องลงคะแนน” ที่ “ความเห็น” ของนักลงทุนแต่ละคนจะเป็นตัวกำหนดราคาหุ้น  แต่ในระยะยาวแล้ว  ตลาดหุ้นเป็นเหมือน  “เครื่องชั่ง”  นั่นก็คือ  ราคาหรือผลตอบแทนของหุ้นขึ้นอยู่กับ  “น้ำหนัก”  หรือผลประกอบการที่บริษัททำได้จริง

             สำหรับ VI แล้ว  การที่จะเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหนนั้น  ผมคิดว่าเราควรคาดการณ์  “ผลตอบแทนระยะยาว”  เป็นหลัก    ค่าอัตราปันผลต่อราคาหุ้นหรือ Dividend Yield ในปีแรกนั้นน่าจะคาดการณ์ได้ไม่ยากนักเนื่องจากการคาดการณ์กำไรในระยะเวลาเพียงปีเดียวรวมถึงการจ่ายปันผลนั้นโอกาสผิดพลาดรุนแรงคงไม่สูง   ตัวเลขที่ยากกว่ามากก็คือ  อัตราการเจริญเติบโตของกำไรหรือปันผลในระยะยาวซึ่งอาจจะมองไปข้างหน้าอย่างน้อยประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป  ผมเองคิดว่าการประมาณการที่มากกว่าปีละ 15% ต่อปีนั้นเราจะต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นจริง ๆ  เพราะมันต้องหมายถึงว่าบริษัทเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก”จริง ๆ    เมื่อเราได้ตัวเลขสองตัวนี้แล้ว  เราก็จะรู้ว่าผลตอบแทนที่เราคาดหวังสำหรับการลงทุนในหุ้นตัวนั้นคือเท่าไร   ถ้าเราพบว่าหุ้นตัวหนึ่งน่าจะมีการเติบโตของกำไรเกิน 10% ต่อปีแบบทบต้นในระยะยาว  นี่ก็เพียงพอในขั้นต้นแล้วว่ามันอาจจะเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนโดยไม่ต้องคิดถึงอัตราปันผลตอบแทนในปีแรก
             อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุน  ตัวเลขค่า PE ของหุ้นตัวนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเท่า ๆ  กันเพราะเราเองอาจจะไม่ได้ลงทุนในระยะเวลาที่ยาวมากขนาดเป็นสิบ ๆ  ปีขึ้นไป  ดังนั้น  การเปลี่ยนแปลงในค่าของ PE จึงอาจจะกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนของเราได้   บางครั้งก็ค่อนข้างมาก   วิธีการที่จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนที่ดีก็คือ  ถ้าค่า PE  ในวันที่เราซื้อมีค่าค่อนข้างต่ำเช่นไม่เกิน 10 เท่า  โอกาสที่ค่า PE จะปรับขึ้นก็มีมากกว่าซึ่งนั่นจะทำให้ผลตอบแทนต่อปีของเราดีขึ้น  ถ้าค่า PE  อยู่ในช่วงกลาง  ๆ  เช่น ประมาณ  13-14 เท่า  เราก็อาจจะมองว่าผลตอบแทนก็คงประมาณที่เราคำนวณได้ต่อปีในระยะยาว  แต่ถ้าค่า PE  ค่อนข้างสูงเช่น  20 เท่า ขึ้นไป  เราก็ต้องระวังว่าโอกาสที่ค่า PE ในอนาคตอาจจะปรับตัวลงก็เป็นไปได้เพราะมุมมองของนักลงทุนต่อหุ้นในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปได้และนั่นจะทำให้ผลตอบแทนลดลง   แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน  ผลกระทบของ PE จะน้อยลงถ้าเราถือหุ้นยาวขึ้น  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนระยะยาวจริง ๆ  แล้ว  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็น่าจะยังเป็นเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตในระยะยาวของบริษัท

Posted by nivate at 10:30 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/08/26/1332




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 2 September 2013

การทำใจยามหุ้นตก


เวลาที่หุ้นตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเดือนอย่างเช่นในช่วงนี้ที่ดัชนีหุ้นได้ตกลงมาจากจุดสูงสุดประมาณ 1650 จุด เหลือเพียง 1294 จุดในวันที่ 30 สิงหาคม 2556 หรือเป็นการตกลงมาถึงเกือบ 22% ภายในเวลา 2-3 เดือน คำถามที่ผมมักจะได้รับก็คือ  เราควรทำอย่างไร?  ขายหรือซื้อ?  คำตอบของผมก็มักจะเป็นว่า  ไม่ควรทำอะไร  ถ้ามีหุ้นอยู่ก็ต้อง  ทำใจ!

           สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ถือหุ้นลงทุนต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบ ๆ ปีอย่างตัวผมเองนั้น  การทำใจข้อแรกก็คือ  คิดว่าหุ้นนั้นยังไม่ได้ตกลงมามากนัก-- มองจากการวัดผลระยะยาวปีต่อปี  เพราะถ้าดูจากดัชนีหุ้นเมื่อตอนสิ้นปี 2555 ที่ 1392 จุด  ดัชนีหุ้นก็เพิ่งตกลงมาเพียง 7% และถ้ารวมปันผลที่ประมาณ 3%  ที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ได้จ่ายไปแล้วในเดือนพฤษภาคม ก็แปลว่าตลาดนั้นติดลบไปเพียง 4%  ไม่ได้ร้ายแรงอะไรเลย   ว่าไปแล้ว  นี่อาจจะเป็นสถานการณ์ปกติที่มักจะเกิดขึ้นนั่นก็คือ  ตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมามากต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว  จากดัชนีเมื่อสิ้นปี 2551 ที่ 450 จุด คิดแล้วเป็นการปรับขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นปีละกว่า 30%  ดังนั้น  การที่ดัชนีในปีนี้จะปรับตัวลดลงบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ  และคนที่ลงทุนระยะยาวก็ยังไม่น่าจะเดือดเนื้อร้อนใจอะไรมากนัก

             การทำใจหรือปลอบใจตัวเองข้อที่สองก็คือ  ดูว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหรือหุ้นที่เราถืออยู่นั้น  ยังมีกำไรดีรวมถึงเงินปันผลที่คาดว่าจะจ่ายนั้นจะต่ำลงหรือเปล่า?  ถ้าคำตอบของเราก็คือ  บริษัทยังดีเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม   กำไรก็ยังไปได้  ปันผลก็น่าจะยังจ่ายได้ไม่ลดลง  มีแต่ราคาหุ้นเท่านั้นที่ตกลงไปมาก  ในกรณีอย่างนี้เราก็ไม่ควรจะเสียใจหรือวิตกอะไรมากนัก  เพราะการตกลงมาของหุ้นอาจจะเป็นเรื่องระยะสั้น   ในที่สุดราคาหุ้นก็จะกลับมา  ในระหว่างนั้น  เราก็รอรับปันผล  และถ้าเงินปันผลที่เราได้รับยังใกล้เคียงกับของปีก่อนหน้า   นั่นก็หมายความว่าการลงทุนของเราก็ยังอยู่ในเส้นทางของความสำเร็จเหมือนเดิม—ในระยะยาว

             การปลอบใจตัวเองในกรณีหุ้นตกลงมาแรงในระยะสั้น ๆ  นั้น  น่าจะมีหลายอย่างที่ทำได้  เช่น  ถ้าการตกลงมาของมูลค่าหุ้นในพอร์ตของเรานับจากปลายปีที่แล้วยังน้อยกว่าการตกลงมาของดัชนีหุ้นในตลาด  เราก็ควรจะรู้สึกดีใจที่ว่า  ยังไงเสียเราก็ยังทำได้ชนะตลาด  และถ้าเรายังรักษาสถิตินี้ได้  ในระยะยาวเราก็น่าจะทำได้ดีอยู่  อย่าไปคิดว่าเราเคยมีพอร์ตสูงสุดเท่านั้นเท่านี้แล้วตอนนี้มูลค่ามันหายไปมาก  พยายามคิดว่าพอร์ตของหุ้นในระยะสั้น ๆ  นั้น  บางครั้งมันก็ไม่ใช่ของจริง!  มันอาจจะเกิดจากการที่ตลาดกำลังร้อนแรงเกินไปและทำให้มูลค่าหุ้นของเราสูงเกินไป   ตอนนี้มันอาจจะปรับตัวลงมาที่มูลค่าที่มันควรจะเป็น  พูดง่าย ๆ  ผลงานของเราไม่ได้เลวร้ายอะไร  และนี่ก็อาจจะเป็นการปรับตัวเพื่อ  “สร้างฐานใหม่”

              บางทีหุ้นที่เราถืออยู่รวมถึงมูลค่าพอร์ตหุ้นของเราอาจจะทำได้แย่กว่าดัชนีตลาดหุ้น  นี่ก็อาจจะทำให้เราเศร้า  แต่ถ้าเรามองไปที่คนอื่นหรือเพื่อนบางคนแล้วพบว่าเขายิ่งหนักกว่า  เราก็อาจจะรู้สึกดีขึ้น  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ลองดูว่าย้อนหลังไปหลายปีผลการลงทุนของเราเป็นอย่างไร   ถ้าพบว่าเราทำผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดมาก   การที่เราทำได้แพ้ตลาดในครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  เพราะเป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะดีกว่าตลาดไปตลอด   แม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เองก็เคยแพ้ตลาดอยู่เป็นครั้งคราว  โดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ  นี้  ดังนั้น  เราจะเศร้าไปทำไม?

             สำหรับคนที่ไม่ได้มีเงินอยู่ในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์และโดยเฉพาะที่มีเงินสดอยู่ในอัตราที่สูง   การที่หุ้นตกมาแรงนั้น   เราก็ไม่ควรต้องเสียใจว่าขาดทุนจากหุ้น   เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะลงทุนซื้อหุ้นที่คุ้มค่า  เป็นหุ้น VI ด้วยเงินสดที่เรามีอยู่   การลงทุนของเราหลังจากนี้น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต  ว่าที่จริงคนที่ลงทุนหุ้นเต็มร้อยในขณะนี้จะต้องอิจฉาเราที่จะสามารถซื้อหุ้นคุณภาพดีราคาถูก  ประเด็นก็คือ  อย่าเสียใจกับการขาดทุนจากหุ้นจนทำให้หมดกำลังใจที่จะใช้เงินสดที่ถืออยู่เข้ามาลงทุนเพิ่ม  และนี่จะเป็น  “คำปลอบใจ” ที่มีค่าในระยะยาว

             ถ้าเรารู้สึกว่าผลการลงทุนของเรา ณ. ขณะนี้ก็คือ  “แพ้เกือบทุกด้าน” พอร์ตเสียหายหนัก  ทั้งเครียดทั้งเศร้า  แต่อย่า “ยอมแพ้”  การลงทุนนั้นมองอีกด้านหนึ่งก็คือการต่อสู้ที่มีเดิมพันที่สูงมาก  หลายครั้งนั้นเราได้ชัยชนะที่งดงาม   หลายครั้งเราแพ้และหดหู่  ทางหนึ่งก็คือคิดว่าหนทางข้างหน้ายังยาวไกล  วันหนึ่งเราก็จะต้องกลับมาได้ชัยชนะถ้าเรายึดหลักการการลงทุนอย่างถูกต้อง  ถ้าอยากให้กำลังใจกับตัวเองก็ลองนึกถึงเหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สองที่นายพล แมคอาเธอร์ ต้องพ่ายแพ้กองทัพญี่ปุ่นและหนีออกจากฟิลิปปินส์พร้อมกับคำกล่าวอมตะที่ว่า  “I shall return” ก็น่าจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น  เพราะหลังจากการหนีออกจากฟิลิปปินส์อย่าง “เสียศักดิศรี” อเมริกันก็ตีโต้กองทัพญี่ปุ่นในทุกด้านและกลายเป็นฝ่ายชนะอย่างสมบูรณ์ในภายหลัง

             การปลอบใจตนเองอีกอย่างหนึ่งที่ควรทำก็คือ  การศึกษาบริษัทหรือหุ้นที่เราถืออยู่อย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่งว่าพื้นฐานและความแข็งแกร่งของกิจการเป็นอย่างไร  อนาคตระยะยาวของบริษัทยังดีเหมือนเดิมหรือเปล่า  สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจยังเอื้ออำนวยต่อบริษัทหรือไม่  การถือหุ้นต่อไปน่าจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าใช่ไหม   ถ้าคำตอบก็คือใช่  เราก็ต้องมั่นใจว่าในที่สุดราคาหุ้นก็จะกลับมา  เพราะ  “สัจธรรม” ของหุ้นก็คือ  ราคาหุ้นในระยะยาวนั้นจะโตขึ้นตามกำไรของบริษัท  ดังนั้น  ใจเย็น ๆ  ไม่ต้องกระวนกระวายใจกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาในระยะสั้น

            ในบางเวลาเราอาจจะรู้สึกว่าเม็ดเงินหรือมูลค่าของพอร์ตของเราหายไปมากเหลือเกิน  บางคนเป็นหลายล้านหรือหลายสิบหรือหลายร้อยล้านบาท  เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากที่จะไม่เสียใจหรือเสียดาย  แต่ถ้าจะปลอบใจตนเองเราก็ต้องหันมามองในอีกมุมหนึ่งว่า  เงินที่เราเหลืออยู่นั้น  ที่จริงมันก็อาจจะยังมากอยู่มาก  มันยังสามารถรองรับการใช้ชีวิตของเราเหมือนเดิมอย่างไม่มีข้อสงสัย  ชีวิตเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปสักนิดเดียวเพราะการที่หุ้นตกลงมา  เราเศร้าเพราะ “ตัวเลขในบัญชีหุ้น” ลดลง  ซึ่งมันไม่น่าจะมีเหตุผลเลย  ดังนั้น  วิธีที่จะปลอบใจตนเองก็คือ  คิดเสียว่ามันเป็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  โดยที่เราไม่เคยได้ใช้มัน  ตราบใดที่ถึงเวลารอบบัญชีแล้วมีเม็ดเงินจากเงินปันผลเข้ามาในบัญชีเงินฝากของเรามากเหลือเฟือที่จะใช้จ่ายในชีวิตของเรา  ทุกอย่างก็  o.k.
              และสุดท้ายของการที่จะช่วยให้เราทำใจได้ดีในภาวะที่หุ้นตกลงมาเป็นตลาดหมีและทำให้กำไรของเราหดหายหรือขาดทุนไปมากเมื่อเทียบกับช่วงประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาหรือเทียบกับเมื่อตอนสิ้นปีที่แล้วก็คือการหันเข้าหาธรรมะและ/หรือการทำสมาธิ  ธรรมะนั้นผมมองว่าเป็นการช่วยให้เราทำใจได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในระยะยาว  เหตุผลที่สำคัญก็คือ  ธรรมะช่วยให้เรามองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต  สอนให้เรายอมรับ “ชะตากรรม” ได้ดีขึ้น  พูดง่าย ๆ  สอนให้เรารู้จัก “ปลง” และ “ละกิเลส”  ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ  มีทุกข์น้อยลงเมื่อมีเงินน้อยลง  ส่วนการทำสมาธินั้น  ผมคิดว่าช่วยในระยะสั้นที่บางครั้งจิตใจเรากระวนกระวายใจเกิดความเครียด  ผมเชื่อว่าการนั่งทำสมาธิหายใจเข้าออกช้า ๆ   นั้นจะทำให้จิตใจเราสงบและเราลืมหรือไม่สนใจว่าหุ้นกำลังตกเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ได้

Posted by nivate at 10:35 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/09/02/1334




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 16 September 2013

หลีกเลี่ยงหายนะจากวิกฤติตลาดหุ้น



   สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ  “วิกฤติตลาดหุ้น”  เพราะวิกฤติทำให้หุ้นตกลงมามาก  ผมเองนิยามว่าถ้าดัชนีตลาดลดลงตั้งแต่ประมาณ 40% ขึ้นไปภายในระยะเวลาหนึ่งปี  แบบนี้ผมถือว่าเป็นวิกฤติ   และถ้าเราถือหุ้นไว้เต็มพอร์ต  เราก็อาจจะขาดทุนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ได้ทั้ง ๆ  ที่หุ้นที่เราถืออยู่อาจจะมีพื้นฐานและผลประกอบการที่ยังดีอยู่  อย่างไรก็ตาม  บางครั้งวิกฤติตลาดหุ้นก็ฉุดให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปและการขาดทุนของเราก็อาจจะหนักจนแทบจะเป็น  “หายนะ”  ดังนั้น  หน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผมก็คือ  การพยายามหลีกเลี่ยง  “หายนะ”  ซึ่งรวมถึงหายนะจากภาวะตลาดหุ้น   ว่าที่จริง  ถ้านักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติตลาดหุ้นได้แล้วละก็  ผมคิดว่าเขาแทบจะไม่ต้องเลือกหุ้นเก่งกาจอะไรเลย   แค่ซื้อกองทุนรวมหุ้น  ถือไว้  แล้วก็ขายหน่วยลงทุนทิ้งเมื่อเห็นว่าตลาดหุ้นจะวิกฤติในระยะประมาณหนึ่งปีข้างหน้า   ทำได้แบบนี้ผลตอบแทนของเขาก็จะดีมากในระดับ  “เซียน”  ผมลองศึกษาคร่าว ๆ  ดูถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นว่าถ้าเราสามารถเลี่ยงหายนะที่เกิดจากวิกฤติตลาดหุ้นตั้งแต่เปิดตลาดมาจนถึงปัจจุบัน  ผลตอบแทนของเราจะเป็นอย่างไร?
   เริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ในเดือนเมษายน 2518 จนถึงสิ้นปี 2521 เป็นเวลาประมาณ 3 ปีแปดเดือนนั้น  ดัชนีตลาดเพิ่มขึ้นจาก 100 จุดเป็นประมาณ 258 จุด  หรือเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 160%  เท่ากับผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 29.5%  ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่หุ้นบูมอย่างหนักโดยเฉพาะในช่วงปี 2520 ถึง 2521 ส่วนหนึ่งจากการปั่นหุ้นและการใช้เงินกู้จากบริษัทเงินทุนบางแห่งเช่นราชาเงินทุนมาซื้อหุ้นของตนเองดันให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงเกินพื้นฐานไปมากในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมธุรกิจหลักทรัพย์   ในช่วงปลายปี 2521 นั้น  ถ้านักลงทุนตระหนักว่าตลาดหุ้นกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติและขายหุ้นออกไปหมด  เขาก็จะหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติตลาดหุ้นในปี 2522 ที่ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาประมาณ 42% เหลือเพียง 149 จุดในตอนสิ้นปีได้  ในช่วงเกือบ 4 ปีแรกของตลาดหุ้นนั้นเรายังไม่มีกองทุนรวมให้ลงทุนแต่นักลงทุนที่ลงทุนในช่วงนั้นต่างก็ได้กำไรกันโดยไม่ต้องเลือกหุ้น  เขาเพียงแต่อยู่ในตลาดก็พอแล้ว
   สมมุติว่าหลังจากปีวิกฤติ 2522  นักลงทุนนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นใหม่ในตอนสิ้นปี 2522 หรือต้นปี 2523 ที่ดัชนี 149 จุด  และเขาก็ถือมันไปเรื่อย ๆ  ตราบที่ยังไม่มีสัญญาณวิกฤติรอบใหม่แม้ว่าในช่วงปีแรก ๆ  ตลาดหุ้นจะซบเซามาก  ดัชนีตลาดหุ้นแทบจะไม่ขยับเลยเป็นเวลาติดต่อกันประมาณ 6 ปี  แต่หลังจากนั้นหุ้นก็ทะยานขึ้นในปี 2529 และพุ่งขึ้นอย่างแรงในปี 2530 ตามตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจนถึงเดือนตุลาคมที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday ที่ตลาดหุ้นถล่มทะลายทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม  เหตุการณ์แบล็กมันเดย์นั้น  ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจไทยเลย  ตลาดไทยเองก็ยังเป็นตลาดปิดที่ต่างชาติไม่สามารถลงทุนได้    ตลาดตกลงมาสั้นมากไม่กี่เดือนก็ปรับขึ้นไปใหม่  และผมคิดว่าหุ้นไทยน่าจะตกไม่ถึง 40%  ไม่ถือว่าเป็นวิกฤติตลาดหุ้น  ดังนั้นเราก็ถือหุ้นต่อไปจนถึงสิ้นปี 2532 ที่ดัชนีปรับขึ้นไปเป็น 770 จุด  เราตัดสินใจขายหุ้นไปเพราะเราเชื่อว่าตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติหลังจากที่มันปรับตัวขึ้นไปเกือบ 100%  ตั้งแต่ต้นปี 2532  ผลตอบแทนที่เราได้คือประมาณ 17.9%  ทบต้นเป็นเวลาถึง 10 ปี
   ตลาดหุ้นไทยวิกฤติและตกลงมาถึงเกือบ 50% ในช่วงปี 2533 ผลจากการที่อิรักเข้ายึดคูเวตซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของโลก  พอถึงสิ้นปี 2533 เราก็เริ่มกลับเข้าไปลงทุนที่ดัชนี 613 จุด   ในช่วงต้น ๆ  เราก็ประสบกับปัญหาทางการเมืองมากมายเช่นการปฏิวัติและเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535  อย่างไรก็ตามเราไม่คิดว่ามันจะกระทบกับตลาดหุ้นมากมายอะไร  แต่ข้อดีหลังจากนั้นก็คือ  ประเทศไทยหลังจากนั้นเราได้นายกที่มาจากการเลือกตั้งที่เน้นทางด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจ  ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นปีละกว่า 10% ติดต่อกันถึง 3 ปี  ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น  “ฟองสบู่”  เช่นเดียวกับดัชนีหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นไปสูงสุดถึง 1750 กว่าจุดในปี 2537  แต่เราก็ยังไม่ขายเนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังดีอยู่มากประมาณไม่ต่ำกว่า 7-8% ต่อปี อานิสงค์จากการลงทุนของเอกชนที่กู้เงินต่างประเทศเข้ามามากมาย  อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวลงมา 25- 30%  ในช่วงปี 2537-2538  พอถึงสิ้นปี 2538  เราก็เริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะไปต่อได้เนื่องจากการขาดดุลการค้าที่สูงมาก  สินค้าส่งออกของไทยไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากค่าเงินบาทที่ถูกผูกติดกับเงินดอลลาร์  เราจึงขายหุ้นไปที่ดัชนี 1281 จุด เพื่อเลี่ยงภาวะวิกฤติ  ผลตอบแทนที่ได้คือ  15.9% ต่อปีแบบทบต้นในเวลา 5 ปี
   ในปี 2539 และ 2540 เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ  เงินสำรองของประเทศหมดและเราต้องเข้าขอความช่วยเหลือจาก IMF  ต้องบอกว่าเรา “ล้มละลาย” ผลจากการใช้เงินเกินตัวของภาคธุรกิจเอกชนและความผิดพลาดของหน่วยงานการเงินของรัฐโดยเฉพาะแบงค์ชาติ  ปี 2539 ดัชนีตกลงไปจากจุดสูงสุดประมาณ 41% ปี 2540 ที่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท  ดัชนีตกลงไปอีก 55%  พอถึงสิ้นปี  เราตัดสินใจเข้าไปลงทุนในหุ้นอีกครั้งที่ดัชนี 373 จุด ภายในเวลา 2 ปี หุ้นฟื้นขึ้นมาเป็น 482 จุด แต่เราก็รู้สึกว่าปัญหาต่าง ๆ  โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากหายนะ  เราจึงขายไปได้ผลตอบแทน 13.7% ทบต้น    วิกฤติตลาดหุ้นเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงในปี 2543 ทำให้ดัชนีลดลงจาก 482 เป็น 269 เมื่อสิ้นปี 2543  เป็นการลดลงถึง 44% และเช่นเคย  เราคิดว่าเป็นโอกาสที่จะลงทุนในยามที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด
   เริ่มต้นจากปี 2544  ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ  ฟื้นตัว  การแก้ปัญหาของบริษัทต่าง ๆ  และสถาบันการเงินคืบหน้าไปเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ค่อย ๆ  ปรับตัวขึ้น  พอถึงปี 2546 ไทยก็ประกาศใช้หนี้คืน IMF  ก่อนกำหนด  ทุกอย่างดูสดใสทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความมั่นคงเนื่องจากเราได้รัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนสูง  ดัชนีในปีนั้นปรับขึ้นไปถึง 117%  แต่หลังจากนั้นเพียง 2-3 ปี  ประเทศไทยก็เกิดปัญหาการชุมนุมประท้วงเรียกร้องทางการเมืองอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549  อย่างไรก็ตาม  หุ้นก็ไม่ได้ถูกกระทบอะไรมากนักเช่นเดียวกับทุกครั้งจนมาถึงปี 2551 ที่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและลามไปทั่วโลกทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมา 47.5% แต่นี่เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถคาดได้แน่เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีปัญหาอะไร  ราคาหุ้นเองก็ไม่แพงเลย  ดังนั้น  เราไม่ได้ขายหุ้นเลยและยังคงถือมาตลอดจนถึงวันนี้ที่ดัชนีประมาณ 1400 จุด คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณ  13.9% ในช่วงเวลา 12 ปี 8 เดือน นับเป็นผลตอบแทนของตลาดที่ดีเยี่ยมยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทย
   จาก “ตุ๊กตา”  ที่ผมตั้งขึ้นว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงหายนะส่วนใหญ่ของวิกฤติตลาดหุ้นได้  ถ้านำภาพเหล่านั้นมาต่อกัน  ก็คำนวณได้ว่า  ผลตอบแทนจากการลงทุนจะได้ผลตอบแทนทบต้นสูงถึงประมาณ 17% ต่อปี  เป็นเวลาลงทุนประมาณ 33 ปี  เงินต้น 100 บาทจะกลายเป็น 19,500 บาท  ถ้าคิดรวมปันผลปีละประมาณ 3% ต่อปี จะได้ว่าผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นเท่ากับ 20% เงิน 100 บาทจะกลายเป็นประมาณ 43,000 บาท หรือโตขึ้น 430เท่า ในเวลาประมาณ 33 ปี โดยไม่ต้องเลือกหุ้นลงทุนเลย
   ในชีวิตจริงคงไม่ง่ายที่จะหลีกเลี่ยงจากหายนะของวิกฤติตลาดหุ้นได้ง่ายนัก  อย่างไรก็ตาม  สำหรับนักลงทุน  โดยเฉพาะคนที่เลือกจะเป็นนักลงทุนผู้มุ่งมั่นที่จะเลือกหุ้นเองนั้น  หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงก็คือ  การหลีกเลี่ยงหายนะจากการลงทุน  โดยเฉพาะจากวิกฤติตลาดหุ้น  เพราะเรา  “ไม่สามารถคาดการณ์ตลาด” ได้  อย่างไรก็ตาม  การตระหนักว่านี่คือความเสี่ยงจะช่วยให้เราเลือกการลงทุนได้ดีขึ้น  นั่นก็คือ  หากเกิดวิกฤติตลาดหุ้นขึ้น  พอร์ตของเราจะเป็นอย่างไร?  หายนะตามตลาดหรือไม่?  ถ้าใช่ เราก็อาจจะต้องเปลี่ยนตัวหุ้นลงทุน

โลกในมุมมองของ Value Investor   

ที่มา :




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




Monday, 23 September 2013

Fund Flow



ตัวเลขที่นักเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดตามมากที่สุดตัวหนึ่งนอกจากดัชนีตลาดก็คือ  ข้อมูลการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติประจำวัน   นอกจากนั้น  นักวิเคราะห์หุ้นเองก็มักจะคอยดูว่านักลงทุนต่างชาติกำลังขายหรือกำลังซื้อหุ้นสุทธิอยู่และก็อาจจะนำไปพยากรณ์ว่าวันพรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง   เหตุผลก็คือ  คนที่อยู่ในวงการหุ้นแทบทุกคนต่างก็เชื่อว่า  ถ้านักลงทุนต่างชาติซื้อ  หุ้นก็จะขึ้น  และถ้าพวกเขาขาย  หุ้นก็จะลง  อิทธิพลของนักลงทุนต่างชาตินั้นค่อนข้างสูง  เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขามักจะเข้ามาซื้อหรือขายพร้อม ๆ  กันในหุ้นตัวใหญ่ที่มีผลต่อดัชนีตลาดสูง  ดังนั้น  ถ้ารู้ว่าพวกเขาจะเข้ามาซื้อ  หุ้นก็จะขึ้น   นักลงทุนไทยก็จะเข้าไปซื้อด้วยเพื่อที่จะ  “เกาะกระแส”  การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ  ตรงกันข้าม  ถ้า  “ฝรั่ง”  ขาย  เราก็ต้อง  “โกย”   แต่ประเด็นก็คือ  เราจะสามารถเล่นหุ้นหรือลงทุนตาม  “Fund Flow”  หรือการเข้ามาซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติได้หรือไม่?  และต่อไปนี้คือความเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องของ  Fund Flow ซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่การไหลเข้าตลาดหุ้นของ  “เงินฝรั่ง”หรือ  “เงินไทย”

           ข้อสังเกตของผมเรื่องแรกก็คือ  ผมไม่แน่ใจว่าการซื้อหรือขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติประจำวันนั้น  ถ้าดูตามสถิติแล้วมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยจริง ๆ  หรือไม่  ผมเองเคยศึกษาเรื่องนี้นานมาแล้วในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังเล็กและยังไม่เป็นที่นิยมของคนไทยมากนักย้อนหลังไปน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ปี   ในครั้งนั้นผมจำได้ว่าตัวเลขออกมาชัดเจนขนาดบอกได้ว่า  ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิ 1,000 ล้านบาท  ดัชนีขึ้นไป 7 จุด  อะไรทำนองนี้  แต่ในช่วงหลังผมไม่แน่ใจว่ายังมีผลหรือไม่  ถ้าจะให้เดา  ผมคิดว่าไม่มีผลแล้วในยามที่คนไทยโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลมีการซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มากล้น   จริงอยู่  ในบางช่วงที่ต่างชาติซื้อสุทธิในปริมาณที่มากเป็น 2-3,000 ล้านบาทต่อวันขึ้นไป  เราอาจจะเห็นว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างโดดเด่นเป็นเลขสองหลัก   แต่ถ้าพวกเขาซื้อหรือขายสุทธิเพียงเล็กน้อยในระดับไม่เกิน 5-600 ล้านบาทต่อวัน  ผลที่มีต่อดัชนีอาจจะไม่ชัดเลยในทางสถิติ  และถ้าเป็นแบบนี้  การซื้อขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจึงอาจจะไม่มีผลอะไรเลยยกเว้นแต่ว่าเป็นการซื้อหรือขายสุทธิในปริมาณที่มากกว่าปกติ  เช่น  เกินหนึ่งพันล้านบาทต่อวันขึ้นไป  นี่เป็นประเด็นแรก

           ประเด็นที่สองที่ตามมาก็คือ  ถ้าต่างชาติซื้อสุทธิมากและหุ้นจะขึ้นเป็นเรื่องจริง  เราก็อาจจะไม่สามารถทำเงินจากการซื้อขายหุ้นได้ถ้าเราไม่ได้ซื้อหุ้นไว้ก่อน   การที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้นหลังจากที่เห็นข้อมูลการซื้อขายหุ้นประจำวันแล้วกลับจะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงขึ้นไปแล้ว  ผลก็คือ  เราอาจจะขาดทุนได้  ดังนั้น  การซื้อขายหุ้นโดยอิงกับข้อมูลการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติประจำวันจึงไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่รู้ว่าเขายังจะซื้อหุ้นสุทธิหรือขายหุ้นสุทธิมาก ๆ  อีกหรือเปล่าในวันพรุ่งนี้หรือวันต่อ ๆ  ไป

           ข้อถกเถียงของคนที่เชื่อในการเล่นหุ้นตาม Fund Flow ของต่างชาติก็คือ  เราสามารถคาดการณ์  “การเคลื่อนย้ายของเงินต่างชาติ”  ได้   และการเคลื่อนย้ายนี้จะมาเป็นระลอก  ไม่ใช่มาวันเดียวจบ  ดังนั้น  ถ้าเราเห็นเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาซื้อหรือขายหุ้นหนัก ๆ  ติดต่อกันหลายวัน  เราก็น่าจะสามารถบอกได้ว่าแนวโน้มจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง  และการเล่นหุ้นตามกระแสเงินไหลเข้าออกของต่างชาติน่าจะทำให้เราสามารถทำกำไรได้   คนที่ถกเถียงเรื่องแบบนี้นั้นยังมักจะมีเหตุผลในเชิงการเงินและเศรษฐกิจประกอบอีกมาก  อย่างเช่นในช่วงนี้ก็พูดถึงเรื่อง “การผ่อนคลายเชิงปริมาณ”  ของอเมริกาหรือ  QE ว่าจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายของกระแสเงินกันอย่างไร เป็นต้น   โดยส่วนตัวผมเองนั้น  ผมคิดว่าการพยากรณ์เรื่อง Fund Flow เป็นเรื่องที่ยาก  หรือถึงแม้จะพยากรณ์ได้ถูกต้องแต่ก็อาจจะไม่มีประโยชน์ถ้าคนอื่นหรือคนส่วนใหญ่ก็พยากรณ์ได้ถูกต้อง  ตัวอย่างเช่นเรื่องของ QE นั้น  ทุกคนก็รู้ว่าในที่สุดธนาคารกลางของสหรัฐก็ต้องลดอยู่ดี   แต่ในวันที่ประกาศลด  เงินลงทุนต่างชาติที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ได้ไหลออกก็ได้   เหตุผลก็เพราะนักลงทุนที่กลัวเรื่องนี้ต่างก็ถอนตัวออกไปหมดก่อนหน้านี้แล้วเพราะเขาคาดว่าการทำ QE นั้นจะต้องลดลงในที่สุด  เขาจึง “หนี” ก่อน

           สิ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่องของ “Fund Flow” จริง ๆ  นั้นอยู่ที่กระแสเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นในระยะยาวโดยเฉพาะของคนในประเทศ  เหตุผลก็เพราะว่า  การเคลื่อนย้ายเงินจากสถาบันการเงินหรือจากที่ไหนก็ตามเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในขณะที่จำนวนหุ้นจดทะเบียนมีการเพิ่มขึ้นน้อยมากนั้น   จะเป็นพลังที่สำคัญในการผลักดันราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน  พูดง่าย ๆ  ความต้องการหรือ Demand ของหุ้นมีมาก  แต่ Supply หรือจำนวนหุ้นที่มีไว้ขายมีน้อย  หุ้นก็ขึ้น

           ในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น  อาจจะมีช่วงเวลาที่คนในประเทศมีเงินสดมากกว่าปกติ  ในขณะที่มีภาระค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ ทำให้คนหรือประเทศมีเงินเหลือมาก  ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงมาก  ดังนั้น  เงินบางส่วนก็ถูกผันไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  ผลก็คือราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น  กระบวนการนี้อาจจะเกิดขึ้นนาน  อาจจะเนื่องจากมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมที่ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว   ผมกำลังบอกว่าอายุของประชากร  ซึ่งสัมพันธ์กับรายได้และรายจ่ายของคนในประเทศอาจจะมีส่วนสำคัญต่อเรื่องของ Fund Flow ที่ไหลเข้าออกจากตลาดหุ้นมากจนทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีทิศทางและแนวโน้มทางใดทางหนึ่งต่อเนื่องยาวนาน

           ถ้าเราลองคิดถึงว่าคน ๆ  หนึ่งนั้น  ช่วงเวลาในชีวิตของเขาที่เริ่มทำงาน  แต่งงาน  มีลูก  เงินที่เขาหาได้นั้น  มักจะต้องถูกใช้จ่ายไปแทบจะไม่เหลือสำหรับคนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก  แต่เมื่อลูก ๆ  โตและทำงานได้แล้ว  ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เขามีอายุประมาณ 45-60 ปี  เขาก็จะมีเงินเหลือมากทีเดียวเนื่องจากไม่ต้องเลี้ยงดูลูกและไม่ต้องผ่อนบ้านที่ผ่อนไปจนหมดแล้ว  นอกจากนั้น  เขาก็ต้องเริ่มเก็บและ “ลงทุน”  เพื่อการเกษียณที่จะตามมา  ดังนั้น เงินนี้บางส่วนก็จะ  “ไหล” เข้าตลาดหุ้น   ประเด็นก็คือ  ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น  มีอัตราการเกิดของเด็กใหม่ที่ลดลงและทำให้สังคมประกอบไปด้วยคนที่มีอายุระหว่าง 45-60 ปีมากขึ้น  นี่ก็จะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษ  และการไหลนี้จะต่อเนื่องประมาณ 10-15 ปี จนกว่าคนจะแก่และเลิกทำงานซึ่งทำให้มีเงินน้อยลงและเงินก็อาจจะเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นไปเรื่อย ๆ

           อาการเงินไหลเข้าตลาดหุ้นยาวนานและทำให้ดัชนีหุ้นขึ้นเป็นสิบปีขึ้นไป  และหลังจากนั้นหุ้นก็โตช้าลงยาวนานนั้น  เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์คในช่วงทศวรรษ ปี 1991-2000 ที่หุ้นปรับตัวขึ้นจาก ประมาณ 2600 จุดเป็น 10450 จุด หรือประมาณ 4 เท่าในเวลา 10 ปี  คิดเป็นการเพิ่มขึ้นปีละ 15% แบบทบต้น ซึ่งถือว่าเป็น“ประวัติการณ์” ครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปี  ดัชนีดาวโจนส์ขึ้นมาอยู่ที่เพียง 15450 จุดหรือขึ้นมาแค่ 50% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเพียงปีละ 3% เท่านั้น
           ตลาดหุ้นไทยนั้น  ตั้งแต่ต้นปี 2544  ที่ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 270 จุด จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 13 ปี ได้ปรับขึ้นเป็น 1500 จุด หรือประมาณ 5.5 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 14.5% นับเป็นการเติบโตต่อเนื่องยาวนานและสอดคล้องกับอายุของประชากรที่ดูเหมือนว่ากำลังมีรายได้สูง  ลูกโต และกำลังใกล้เกษียณดังที่กล่าวไว้   อนาคตของตลาดหุ้นไทยนั้น  ถ้าเชื่อในทฤษฎีดังกล่าว  ประกอบกับการที่คนไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนสูงอายุในเวลาอาจจะ 10-20 ปีข้างหน้า  ผมก็คิดว่าในที่สุดผลตอบแทนการลงทุนก็จะลดลงไปยาวนาน  แต่ในระหว่างนี้  กระแสเงินจากคนไทยก็น่าจะยังไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไม่น้อยและน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยดีต่อไปได้อีกระยะหนึ่งอาจจะ 5-10 ปี  แต่หลังจากนั้นเราก็อาจจะต้องไปลงทุนในตลาดอื่นที่คนยังหนุ่มและเพิ่มขึ้นเร็วอย่างในประเทศ AEC ส่วนใหญ่  เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป   

Posted by nivate at 10:39 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/09/23/1342




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ลงทุนอย่างมีความสุข

ความผันผวนของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นรุนแรงมากโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้นๆ สิ่งนี้ก่อให้เกิดกำไรหรือผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับความเสียหายมากมายให้กับคนที่เข้ามาเล่นหุ้นในตลาดแบบเก็งกำไร

ความสุขแบบเพ้อฝันและความโศกเศร้าเสียใจดูเหมือนว่าจะเป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้นในตลาดหลักทรัพย์ ชีวิตของคนเล่นหุ้นจำนวนมากผูกพันอยู่กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ นั่นก็คือเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นชีวิตเขาก็มีความสุข เมื่อดัชนีปรับตัวลงชีวิตเขาก็เป็นทุกข์

ความหวาดกลัวต่อการสูญเสียทำให้นักเล่นหุ้นมีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาตราบที่ยังมีหุ้นอยู่ในมือ การแก้ปัญหาสำหรับหลายคนก็คือการถือหุ้นให้สั้นลง โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นผันผวนสูงนั้นคนจำนวนมากไม่ยอมถือหุ้นข้ามวันด้วยซ้ำ นั่นเป็นเหตุที่ทำให้การซื้อขายแบบหักลบกลบหนี้ภายในวันเดียวกันหรือเรียกว่า Net Settlement หรือการซื้อหุ้นตอนเช้าแล้วขายตอนบ่ายมีมากถึง 20 ? 30% ของการซื้อขายหุ้นทั้งตลาด

คนเล่นหุ้นจำนวนมากคงเห็นว่านั่นคือความสุขของการเล่นหุ้น คือเมื่อลงเงินแล้วก็อยากเห็นผลเร็วว่าได้หรือเสีย และคำว่าได้หรือเสียก็คือต้องเห็นเม็ดเงินในบัญชีว่ามีเพิ่มขึ้นหรือลดลง แน่นอน ถ้าเม็ดเงินเพิ่มขึ้นความสุขก็ตามมา แต่ถ้าเม็ดเงินลดลง ความสุขจากการเล่นหุ้นก็กลายเป็นความทุกข์

โดยเฉลี่ยแล้วคนที่เล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นซื้อๆขายๆเป็นนิจสินในช่วงเกือบ 30 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดมานั้น ผมคิดว่านอกจากจะไม่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ยังขาดทุนด้วย เพราะในช่วง 28 ปีของตลาดหลักทรัพย์นั้น การลงทุนให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 6 ? 7% เท่านั้น ในขณะที่คนเล่นหุ้นระยะสั้นต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายปีหนึ่งๆผมคิดว่ามากกว่านั้น เพราะฉะนั้นข้อสรุปของผมก็คือ คนเล่นหุ้นในช่วงที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี โดยเฉลี่ยแล้วมีความทุกข์มากกว่าความสุข และนั่นทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากจะลงทุนในหุ้น

วิธีการลงทุนในหุ้นที่จะมีความสุขมากกว่าความทุกข์ โดยเฉพาะสำหรับคนทั่วๆไปที่มีเงินออมระยะยาวนั้น ผมมีความเห็นว่าควรจะเป็นการลงทุนในแนว Value Investment ที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีคุณภาพดีและราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรเป็น โดยสูตรง่ายๆที่ผมเสนอก็คือ

ข้อแรก กันเงินประมาณ 30% ของทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องหรือเงินในบัญชีที่คุณไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อีกนานมาก(ไม่ต่ำกว่า 5 ปี) เอามาลงทุนในหุ้น โดยที่เงินนี้ถ้าเกิดต้องสูญเสียไปมาก คุณก็ยังไม่เดือดร้อน แต่อย่าเพิ่งห่วงไปว่าคุณจะสูญเสียมาก ผมพูดเผื่อไว้เท่านั้นเพราะโอกาสเกิดอย่างนั้นมีน้อย ถ้าคุณปฏิบัติตามวิธีที่ผมจะพูดต่อไป

ข้อสอง เลือกหุ้น 5 ? 6 ตัวในอุตสาหกรรมต่างๆกัน โดยหุ้นแต่ละตัวจะต้องเป็นกิจการที่มีคุณภาพดี นั่นก็คือเป็นธุรกิจที่อยู่มานานพอสมควร มีกำไรและจ่ายปันผลตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เจ้าของไม่มีประวัติที่เสียหาย และถ้าจะให้ปลอดภัยขึ้นไปอีก ก็ควรเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของเขาก็จะยิ่งดี แต่นี่ก็ยังไม่พอจะต้องพิจารณาประกอบกับข้อสาม

ข้อสาม ราคาที่ซื้อหุ้นดังกล่าวในข้อสองจะต้องถูก และการที่จะดูว่าหุ้นถูกหรือแพงนั้นจะต้องดูที่ค่า PE, PB และ DP โดยเงื่อนไขง่ายๆก็คือ ค่า PE ไม่ควรจะเกิน 10 เท่า ซึ่งแปลว่าการลงทุนจะให้ผลตอบแทนปีละไม่ต่ำกว่า 10% ค่า PB เป็นตัวประกอบว่าเราจ่ายเงินแพงกว่าผู้ถือหุ้นเดิมมากน้อยแค่ไหน พยายามอย่าให้เกิน 2 เท่า ค่า DP บอกว่าในแต่ละปีเราจะได้เงินปันผลคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินที่เราลงทุนไป ซึ่งผมคิดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 4% ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเหลือเพียงปีละ 1%

ข้อสี่ เมื่อซื้อเสร็จแล้วก็ให้กอดหุ้นเหล่านั้นไว้อย่าไปขายเมื่อหุ้นขึ้นหรือลงในช่วงสั้นๆ โดยเฉลี่ยแล้วผมคิดว่าควรถือหุ้นไว้สัก 5 ปี นั่นก็คือ ถ้าคุณมีเงินลงทุน 1 ล้านบาท ปีหนึ่งคุณควรขายออกไปโดยเฉลี่ยเพียง 200,000 บาท แต่เมื่อขายแล้วก็ต้องเอาเงินที่ได้ไปซื้อหุ้นตัวใหม่แทน โดยที่การตัดสินใจขายหุ้นและซื้อหุ้นตัวใหม่นั้นมาจากการวิเคราะห์และติดตามที่จะกล่าวถึงในข้อห้า

ข้อห้า เมื่อคุณซื้อหุ้นแล้วคุณก็คือเจ้าของบริษัทคนหนึ่ง ดังนั้นคุณจะต้องติดตามผลการดำเนินงานของกิจการในทุกไตรมาส จะต้องติดตามข่าวคราวจากหน้าหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจเป็นประจำ ติดตามการเคลื่อนไหวทางการตลาดของบริษัทซึ่งรวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ และถ้าบริษัทเป็นผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภค คุณก็ควรจะลองใช้หรือคอยสังเกตว่าสินค้าหรือบริการของบริษัทเป็นอย่างไรด้วย

ข้อหก ในส่วนของราคาหุ้นนั้น คุณจะต้องไม่ตื่นเต้นเมื่อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งวิ่งขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วในบางช่วง คุณไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบขาย สิ่งที่คุณควรสนใจมากกว่าก็คือมูลค่าของราคาหุ้นทั้งพอร์ตหรือของหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ว่ามันปรับตัวขึ้นลงอย่างไร ถ้ามูลค่าปรับตัวขึ้นก็ถือว่าคุณมาถูกทาง และถ้ามันปรับตัวลงหลังจากลงทุนมานานพอสมควรแล้ว(เป็นปี) บางทีคุณอาจจะต้องทบทวนตัวหุ้นที่เลือกมา

ถ้าคุณทำอย่างที่กล่าวมาทั้ง 6 ข้อ อย่างมั่นคง ผมคิดว่าโอกาสที่คุณจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 10% โดยที่บางส่วนประมาณ 4 ? 5% จะมาจากเงินปันผล และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นจะมีสูง นั่นหมายความว่าภายในเวลาประมาณ 7 ปี มูลค่าของพอร์ตลงทุนของคุณจะโตขึ้นเป็นเท่าตัว โดยที่คุณจะไม่ต้องกังวลว่าดัชนีตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร

คุณอาจจะกังวลบ้างในช่วงแรกๆที่คุณเริ่มลงทุนตามแบบที่กล่าว โดยเฉพาะถ้าคุณเฝ้าตามดัชนีหรือราคาหุ้นในพอร์ตมากเกินไป หรือคุณไปฟังนักเล่นหุ้นหรือเพื่อน ?ผู้หวังดี? มากเกินไป

แต่ถ้าคุณผ่านช่วงเวลามาพอสมควรและพอร์ตคุณเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ จนโอกาสที่คุณจะ ?ขาดทุน? คือมูลค่าของพอร์ตลดลงต่ำกว่าต้นทุน มีน้อยลงมากแล้ว เมื่อนั้นคุณก็จะเลิกกังวล และจะรู้สึกว่าการลงทุนของคุณนั้นไม่เสี่ยง ความมั่นใจในการลงทุนจะเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคุณจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการเล่นหุ้นระยะสั้น ทั้งหมดนี้จะทำให้คุณเป็นนักลงทุนที่มีความสุข

***********************

ลงทุนอย่างมีความสุข

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://www.sarut-homesite.net/2009/07/%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82-%E0%B8%94%E0%B8%A3/



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com




ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นิสัยเซียน

โลกในมุมมองของ Value Investor

เซียนหุ้นชั้นนำของโลกแต่ละคนมักมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ละคนมักมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ศึกษาดูจะพบว่าเซียนเหล่านั้นมักมีนิสัยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในหลายๆเรื่อง และต่อไปนี้คือนิสัยที่ผมคิดว่าเราควรศึกษาและประยุกต์ใช้ ถ้าเราอยากจะเป็น “เซียน” บ้าง
.
เรื่องแรกก็คือ เซียนตัวจริงนั้น เวลาลงทุน เรื่องที่คิดมากที่สุดกลับไม่ใช่ว่าจะทำกำไรได้มหาศาลแค่ไหน แต่เป็นว่า จะรักษาเงินต้นเอาไว้ได้อย่างไร และนี่ก็คือกฎข้อหนึ่งและข้อสองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ซึ่งบอกว่า หลักการลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าขาดทุน และอย่าขาดทุน
.
เรื่องที่สองก็คือ การลงทุนนั้น เซียนแต่ละคนจะมีหลักปรัชญา หลักการ และวิธีการลงทุนที่ชัดเจนเป็นแบบฉบับของตนเอง ไม่มีการมั่วหรือเป็น “มวยวัด” สิ่งต่างๆเหล่านั้นถูกพัฒนาและทดสอบมาเป็นอย่างดีเป็นเวลายาวนาน และจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกลับไปกลับมา
.
เรื่องที่สามก็คือ เซียนหุ้นนั้นไม่ชอบความเสี่ยงแต่ชอบความแน่นอน และความ “ได้เปรียบ” เวลาจะลงทุนอะไรมักจะคิดถึงโอกาสชนะว่ามีสูงกว่าโอกาสที่จะแพ้มากน้อยแค่ไหน ถ้าโอกาสชนะมากกว่าแพ้เพียงเล็กน้อย เขามักจะ “ไม่เล่น” เพราะฉะนั้น เราจะไม่เห็นคนเหล่านี้เล่นรูเล็ตหรือเข้าคาสิโนเพื่อการพนันซึ่งโอกาสชนะมี แค่ 30-40% ขณะที่โอกาสแพ้อยู่ที่ 60-70% แต่การลงทุนที่โอกาสชนะสูงมากๆนั้นมีไม่มาก ดังนั้นเซียนจึงมักไม่เล่นหรือลงทุนบ่อยนัก
.
เรื่องที่สี่ก็คือ เซียนนั้นลงทุนในสิ่งที่ตนเองรู้จักดี มีการวิเคราะห์และคิดเอง ไม่เชื่อคนอื่นโดยไม่ได้พิจารณาด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง ในทางตรงกันข้าม เซียนจะไม่ลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ หรือการลงทุนนั้นไม่เข้าเงื่อนไขที่ตนเองกำหนด หรือตนเองไม่สบายใจที่จะลง ตัวอย่างเช่นหุ้นที่มีค่า PE และ/หรือ PB สูงเกินไป หุ้นที่ผู้บริหารไม่น่าไว้วางใจ เป็นต้น แม้ว่าหุ้นเหล่านั้นอาจจะทำกำไรให้ได้ง่ายและเร็วในบางสถานการณ์
.
นิสัยที่ห้าก็คือ เซียนส่วนใหญ่จะไม่ “กระจายความเสี่ยง” โดยการกระจายการถือหุ้นมากเกินไป เซียนมักจะมีหุ้นหลักตัวใหญ่ๆในพอร์ตซึ่งเป็นตัวที่จะกำหนดผลงานหรือความเป็นความตายในการลงทุนเพียงไม่กี่ตัวแม้ว่าเขาจะมีหุ้นย่อยๆเป็น 10 หรือ 100 และแม้แต่ 1,000 ตัว อย่างพอร์ตของ ปีเตอร์ ลินช์ หุ้นตัวหลักๆเหล่านั้นก็คือหุ้นที่สร้างความแตกต่างและทำให้เซียนเป็นเซียนขึ้นมาได้
.
ข้อสรุปในเรื่องนี้ก็คือ การเป็นเซียนนั้น คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกหุ้นถูกทุกตัวหรือแม้จะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ข้อสำคัญก็คือ ในหุ้น 10 ตัว คุณอาจจะเลือกถูกเพียง 3 ตัว แต่ถ้าหุ้น 3 ตัวนั้นเป็นหุ้นที่ทำกำไรมหาศาลก็เพียงพอแล้วสำหรับผลงานที่ดีเยี่ยม
.
นิสัยที่หกก็คือ เซียนหุ้นตัวจริงนั้นมี “EQ” ของการลงทุนสูง ไม่ใคร่หวั่นไหวกับภาวะตลาดผันผวนหรือข่าวต่างๆ ที่อาจจะดูรุนแรงแต่ผลกระทบจริงต่อการลงทุนมีน้อย นิสัยในกลุ่มนี้ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักใจเย็น สามารถอดทนรอได้อย่าง “ไม่มีเวลาจำกัด” ถ้ายังไม่เห็นโอกาส ขณะเดียวกัน ถ้าเห็นโอกาส “ลอยมาตรงหน้า” เซียนหุ้นสามารถตัดสินใจ และลงมือได้ทันทีไม่มีการผัดวันประกันพรุ่ง หรือต้องไปศึกษาพินิจพิจารณายืดยาว ความรู้สึกของผมก็คือ เซียนหุ้นชั้นนำคงจะมีความคิดต่างๆอยู่ในใจที่พร้อมอยู่แล้ว เมื่อโอกาสเปิดก็คว้าได้ทันที
.
พฤติกรรมที่เจ็ดของเซียนหุ้นก็คือ ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ภาษาหุ้นและการลงทุนก็คือ สามารถ “Cut Loss” ได้ทันทีเมื่อเห็นว่าหลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่ไม่เป็นไปตามที่คาด หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เหตุผลในการซื้อหมดไป พูดง่ายๆ เซียนหุ้นมักไม่ยอม “ติดหุ้น” อย่างนักลงทุนประเภท “แมงเม่า” ซึ่งไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดโดยการขายหุ้นที่ขาดทุนมากทิ้งได้
.
ข้อแปดที่ผมเลือกมาก็คือ เซียนหุ้นนั้น เวลาลงทุนแต่ละครั้งจะต้องมี “Story” หรือเรื่องราว หรือเหตุผลหลักว่าทำไมจึงลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์นั้น ซึ่งไม่ใช่เพราะคิดว่าราคาหุ้นจะขึ้น แต่จะต้องเป็นเรื่องอื่นๆที่เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลต่อราคาหุ้นในที่สุด เรื่องราวอาจเป็นได้ทั้งเรื่องระยะสั้นหรือระยะยาว อาจเป็นได้ทั้งเรื่องของตัวธุรกิจเอง หรือเรื่องภายนอกที่จะส่งผลอย่างสำคัญต่อตัวธุรกิจและราคาหลักทรัพย์ในที่สุด
.
นิสัยที่เก้าก็คือ เซียนหุ้นนั้นมักจะเป็นคนบ้าหุ้น หายใจเข้าออกเป็นเรื่องของการลงทุน ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของตนมักจะอยู่ในหลักทรัพย์ การลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่ใช่คนที่เฝ้ากระดานหุ้น ติดตามราคาหุ้นทุกนาที เพราะเซียนหุ้นตัวจริงนั้นไม่จำเป็นและมักไม่สนใจการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ในระยะสั้น เซียนหุ้นชอบศึกษาและติดตามความเป็นไปของกิจการ ภาวะแวดล้อม และประเด็นอื่นๆที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์มากกว่า
.
สุดท้ายก็คือ นิสัยส่วนตัวของเซียนการลงทุน ที่ดูแล้วก็น่าแปลก ค่าที่ว่าเซียนหุ้นมักจะเป็นคนที่มีความมั่งคั่งมหาศาล (ถ้าไม่มั่งคั่ง ใครจะเรียกว่าเป็นเซียน!) แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับใช้ชีวิตธรรมดาแบบคนชั้นกลางระดับสูงเล็กน้อย และไม่มีใครเลยที่ใช้ชีวิตความเป็นอยู่สูงกว่าระดับความมั่งคั่งของตนเอง ทั้งที่ดูไปแล้ว เงินสำหรับเซียนนั้น หามาได้ง่ายและเร็ว แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ชอบใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือใช้เงินไม่คุ้มค่า
.
นิสัยทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่ได้หมายความว่าเซียนทุกคนต้องมีเหมือนกันหมด เพียงแต่เป็นนิสัยที่เซียนหลายๆคนที่ผมศึกษามี และผมคิดว่านิสัยหลายๆข้อมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จในการลงทุนให้แก่เขา และผมเชื่อว่า ถ้า Value Investor นำเอาไปใช้และทำให้เป็นนิสัย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนคงจะมีสูงขึ้น
.
นิสัยเซียน
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
22 ตุลาคม 2547





ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 30 September 2013

ภาษาเปลี่ยนโลก

ผมอยู่มาจนถึงปัจจุบันก็ 60 ปีเข้าไปแล้ว  สิ่งที่รู้สึกว่าเป็น “จุดด้อย” ที่สำคัญของตนเองและไม่สามารถปรับขึ้นได้จนเท่ากับหรือใกล้เคียงกับ  “เจ้าของ”  ก็คือ  “ภาษาอังกฤษ”   ปัญหาก็คือ  ในช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่มนั้น  ผมไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนภาษาอังกฤษที่ดีพอและผมไม่รู้ว่าภาษาอังกฤษนั้นเป็นวิชาที่สำคัญมากและสำคัญยิ่งกว่าวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ที่ผมคิดว่าเป็นวิชาของคนเก่งที่ต้องอาศัยตรรกะและความคิดระดับสุดยอด   ภาษาอังกฤษเริ่มมีความสำคัญก็ในตอนที่ผมเริ่มเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องอ่านตำราทางวิชาการจากต่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม  ความสำคัญของมันก็เป็นแต่ในเรื่องของการที่จะทำความเข้าใจทฤษฎีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง  ในกรณีของผมก็คือเรื่องทางวิทยาศาสตร์  วิศวกรรม  เศรษฐศาสตร์  และบริหารธุรกิจ   ความสามารถของผมในด้านเหล่านี้ก็เป็นแต่ในเรื่องของการอ่านและการเขียนเท่านั้นซึ่งก็ยังช้าและด้อยกว่าเจ้าของภาษาอยู่ไม่น้อย  ส่วนภาษาอังกฤษในสาขาความรู้อื่น ๆ  และเรื่องทั่วไปนั้น  ความสามารถของผมต้องบอกว่าต่ำกว่าเจ้าของภาษามาก  ระดับความเร็วในการอ่านนั้นผมคิดว่าอาจจะทำได้เพียงครึ่งหนึ่งของเจ้าของภาษาที่มีศักยภาพในระดับเดียวกัน   ส่วนการฟังและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดนั้น   ความสามารถของผมยิ่งห่างจากเจ้าของภาษาสุดกู่อันเป็นผลจากการขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ในช่วงต้นของชีวิตซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะในด้านของการพูด

          ความสำคัญของภาษาอังกฤษในความเห็นของผมนั้นอยู่ที่ว่ามันเป็นภาษา  “สากล”  และมันเป็นภาษาของประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกติดต่อกันมาน่าจะเกือบ 200 ปี  ตั้งแต่อังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 และสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 และจนถึงปัจจุบัน  นี่ทำให้หนังสือที่รวบรวมความรู้ทั้งหลายในโลกต่างก็ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ  การติดต่อทางการทูต การค้า และสังคมทั่วโลกซึ่งรวมถึงระบบอินเตอร์เน็ตต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ  เช่นเดียวกับกิจกรรมบันเทิงชั้นนำระดับโลกเช่นภาพยนตร์และละครเวทีต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก  และด้วยเหตุที่โลกของเรานั้นอยู่ในกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่ขอบเขตของดินแดนกำลังลดความสำคัญลงเรื่อย ๆ  และประชาชนสามารถที่จะเดินทางหรือติดต่อกับคนอื่นได้ทั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำลงมาก  ภาษา  “กลาง” ที่ทุกคนต้องใช้จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และสำหรับคนที่  ก้าวหน้าที่สุดในแต่ละสังคม  ภาษาอังกฤษจึงกลายเป็นภาษาที่ผมคิดว่า “จำเป็น” อย่างยิ่งยวด  และถ้าจะให้ผมทำนายในขั้นนี้ก็คือ  ถ้าหากคุณจะเป็นคนชั้นนำอย่างที่เรียกว่า  “อิลิท”  ในยุคต่อไป  คุณจำเป็นที่จะต้องรู้และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาก  ไม่ใช่แค่ 40-50% ของเจ้าของภาษาอย่างที่ผมเป็น

          ทุกวันนี้  ผมเองรู้สึกว่าผมอ่านหนังสือดี ๆ  ซึ่งส่วนมากก็คือหนังสือภาษาอังกฤษได้ “ไม่ทัน”  กับหนังสือที่ออกใหม่และวางบนแผงไม่ต้องพูดถึงหนังสือคลาสสิกเก่า ๆ  ที่ยังมีอีกมากมายในหัวข้อความรู้ที่ผมสนใจ   เหตุผลสำคัญก็คือ  ผมอ่านได้ไม่เร็วพอ  หนังสือหลายเล่มกองอยู่บนโต๊ะทำงานและบางเล่มอาจจะถูกอ่านเพียงสั้น ๆ  แล้วก็ทิ้งไว้เนื่องจากคุณภาพที่ไม่ดีพอหรือไม่ตรงกับความสนใจของผมจริง ๆ   โชคดีที่ในระยะหลัง ๆ  นี้  เริ่มมีหนังสือแปลเป็นภาษาไทยหรือมีคนไทยที่เริ่มเขียนหนังสือที่มีคุณภาพสูงมากขึ้นในเรื่องที่ผมสนใจ  ซึ่งในกรณีแบบนี้ผมก็จะซื้อมาอ่านอย่างไม่ลังเล  เพราะผมจะอ่านได้เร็วขึ้นมาก

          หนังสือที่ช่วย  “เปลี่ยนโลก” ของผม  นั่นคือ  ทำให้ผมรู้จักโลกดีขึ้นมาก  เข้าใจชีวิต  สังคม  และรัฐชาติต่าง ๆ ในโลกนั้นมักจะอิงอยู่กับเรื่องของทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน  ที่พูดถึงพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมถึงมนุษย์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร  หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ “มนุษยชาติ” และประวัติศาสตร์ของอารยะธรรมและประเทศต่าง ๆ  นั้นทำให้เราเห็นวิวัฒนาการของคนและสังคมและรู้ว่าอนาคตน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป  ประวัติศาสตร์ของสงครามและการทำลายล้างอย่างเช่นเรื่องของสงครามโลกและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นก็สอนให้เราตระหนักในเรื่องของความเสี่ยงเช่นเดียวกับการเรียนรู้ว่าทำไมฝ่ายหนึ่งจึงชนะและฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้  ว่าที่จริงนี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตต่างก็ต้องต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาตัวรอด  ทั้งหมดนั้นก็จะช่วยให้เรารู้ว่าอนาคตของประเทศไทยหรือสังคมไทยที่เราอาศัยอยู่นั้นจะเป็นอย่างไรเพื่อที่ว่าเราจะได้ตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ  ได้ถูกต้อง  ซึ่งสำหรับผมแล้ว   การลงทุนก็เป็นหนึ่งในนั้น   และหนังสือดี ๆ  ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ส่วนมากมักจะเป็นภาษาอังกฤษ  ส่วนหนังสือภาษาไทยนั้น  หลายเล่มก็เขียนได้ดี  อย่างไรก็ตาม  หนังสือบางเล่มที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือการเมืองนั้น  บางทีก็มี “ความลำเอียง” ที่ทำให้เราไม่ได้ความจริงที่จะชี้นำอนาคตได้

          ความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ดีนั้น   ผมคิดว่าน่าจะทำให้ชีวิตของเราได้สัมผัสกับความรื่นรมย์  “ระดับโลก”  เช่น  การดูละครเพลงบอร์ดเวย์  ซึ่งต้องอาศัยภาษาอังกฤษที่ดีมาก  หรือการชมภาพยนต์โดยไม่ต้องอ่านซับไตเติลมากนัก  นอกจากนั้น  สำหรับคนที่ชอบอ่านวรรณกรรม  ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษก็น่าจะช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้นมากสำหรับความบันเทิงที่สุนทรีกว่าความบันเทิงที่จำกัดเฉพาะที่มีในภาษาไทยเท่านั้น  จริงอยู่  ในปัจจุบันนั้นหนังสือแปลมีแพร่หลายขึ้นมาก   แต่ผมคิดว่าการอ่านจากต้นฉบับน่าจะมีอรรถรสกว่าไม่น้อย

          การเขียน  ฟัง และพูด ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น  ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การอ่านโดยเฉพาะคนที่ยังต้องทำงาน   ในตำแหน่งที่สูงของทุกองค์กรในปัจจุบันและเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตนั้น  ภาษาอังกฤษที่เป็นเรื่องของการฟัง  พูด  และเขียนได้อย่างดีจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนคนที่ภาษาอังกฤษแย่นั้นแทบจะไม่มีโอกาสที่จะก้าวหน้าอย่างโดดเด่นได้  เหตุผลก็เพราะเมื่อองค์กรใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับคนต่างประเทศที่ต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร  โดยส่วนตัวผมเองจากประสบการณ์การทำงานกับองค์กรใหญ่ ๆ  มาหลายแห่งก็พบว่าภาษาอังกฤษที่ไม่ดีของตนเองโดยเฉพาะการฟัง พูด และเขียน นั้น  น่าจะเป็นตัวที่ถ่วงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอยู่ไม่น้อยทั้ง ๆ  ที่เวลานั้นประเทศไทยก็ยังไม่ได้เปิดมากเหมือนวันนี้

          ผมคงตระหนักในความสำคัญของภาษาอังกฤษมานานและนั่นเป็นเหตุผลที่ผมส่งลูกเรียนในโรงเรียนอินเตอร์มาตั้งแต่ชั้นอนุบาลซึ่งจะทำให้เขาได้ภาษาอังกฤษที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา  มันเป็น  “การลงทุน” ที่สำคัญและใช้เงินมากทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้ในช่วงนั้นของผมเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว  ผลของการที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เกือบจะเหมือนกับเจ้าของภาษาทำให้ลูกผมสามารถเดินทางและติดต่อกับชาวต่างชาติได้อย่างสบายใจและมีความสุขจากสิ่งบันเทิงระดับโลกได้โดยไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษา  เขาไปเรียนในสถาบันชั้นนำระดับโลกได้ในขณะที่ผมต้องเรียนในสถาบันการศึกษาธรรมดามาก ๆ  ในสหรัฐส่วนหนึ่งเพราะภาษาอังกฤษไม่ดี  เขามีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติหลายชาติขณะศึกษาในกรุงลอนดอนที่หลังจากจบการศึกษาแล้วก็ยังติดต่อกันตลอดเวลาและเมื่อมีโอกาสก็มาเยี่ยมเยียนกัน   เมื่อคนหนึ่งแต่งงานเพื่อน ๆ  ก็ยังไปร่วมพิธีเหมือนกับเพื่อนที่อยู่ประเทศเดียวกัน

          ผมเองคิดว่าภาษาอังกฤษนั้น “เปลี่ยนโลก” ของลูกผมจากสิ่งที่ผมทำ  ภาษาอังกฤษ “เปลี่ยนโลก” ของผมแต่มันก็ยังไปได้ไม่เต็มที่เนื่องจากผมไม่มีโอกาสในยามเด็ก  ผม “ดิ้นรน”  ไปเรียนต่างประเทศหลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งแล้วโดยมีเหตุผลลึก ๆ  จริง ๆ  อยู่ที่การได้เรียนรู้และอยู่ในสังคมของคนพูดภาษาอังกฤษ  สี่ปีของการศึกษานั้น  สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ผมได้รับก็คือ  ความสามารถในการอ่านและศึกษาเรื่องการเงินและการลงทุนแบบ VI ในภายหลัง  เช่นเดียวกัน  ผมยังมีความสามารถในการอ่านและเสพสิ่งอื่น ๆ  ที่มีความสำคัญและเป็นความบันเทิงของชีวิตแม้ว่าจะไม่เต็มร้อย    สำหรับคนที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษ  การ “ลงทุน” เรียนรู้มันอย่างทุ่มเทนั้นจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่า  ยิ่งเรียนอายุน้อยก็ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น   

Posted by nivate at 10:44 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/09/30/1344



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 7 October 2013

ตลาดหุ้นเวียตนาม


“ผมอยากมีลูกมาก ๆ  ซัก 6 คนถ้าเป็นไปได้  เขาจะได้เลี้ยงเราในยามแก่เฒ่า  ถ้ามีลูกน้อยแล้วเขาเกิดตายไปด้วยเราจะลำบาก  ดูซิมันอันตรายเวลาขับมอเตอร์ไซต์บนท้องถนน   หรือบางทีก็อาจจะเป็นโรคตายก่อนวัยอันควรก็ได้  มีลูกมากก็มีความสุข”

           นั่นเป็นคำพูดของไก้ด์หนุ่มเวียตนามอายุ 24-25 ปี ที่พูดไทยได้ชัดเจนคล่องแคล่ว  เขาเป็นชายหนุ่มที่ดูทันสมัย  แต่งตัวและทำผมแบบวัยรุ่นสไตล์เด็กแนวของไทย  เขาเป็นคนนำทางร่วมไปกับกลุ่มนักลงทุนไทยที่ไปท่องเที่ยวและชมตลาดหุ้นโฮจิมินของเวียตนามและพบปะกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งซึ่งจัดโดยมันนีแชนเนล  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย   ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปด้วย  และต่อไปนี้คือข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับตลาดหุ้นเวียตนามและอนาคตของการลงทุนในประเทศนั้น

           ความน่าทึ่งของเวียตนามสำหรับผมก็คือ  ประเทศนี้กำลังมีวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจคล้าย ๆ  กับประเทศไทยเมื่อสมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่นเป็นเวลา 40 ปี มาแล้ว  เพียงแต่ว่ามันอาจจะแรงกว่ามากเนื่องจากประเทศเวียตนามขณะนี้มีประชากรถึงกว่า 90 ล้านคน  คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนุ่มสาวอายุก็คงพอ ๆ  กับไก้ด์หนุ่ม  ประเด็นก็คือ  ประชากรของเวียตนามในอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้าคงจะเพิ่มขึ้นไปอีกมากทีเดียวอนุมานจากความคิดและความต้องการของไก้ด์ที่อยากมีลูกมากและยังมองว่าการมีลูกมากนั้นเป็นเสมือนการลงทุนอย่างหนึ่งที่จะทำให้ตนเองสบายในยามแก่เฒ่าซึ่งเป็นความคิดของคนในยุคพ่อแม่ผม   การมีประชากรที่เป็นคนอายุน้อยมากมายในปัจจุบันและต่อไปอีกในอนาคตนั้น   ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเซียและที่อื่น ๆ  ทั่วโลก

             ผมถามเขาว่ารับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูไหวหรือ?  รัฐบาลให้เรียนฟรีหรือเปล่า?  คำตอบก็คือ  ทุกอย่างคนเวียตนามต้องออกเอง  การเรียนโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยนั้นแพงมาก  อย่างไรก็ตาม  น่าจะมีคนเวียตนามเพียง 10-15% เท่านั้นที่เรียนถึงระดับวิทยาลัย  ทั้งหมดนั้น  ผมนึกดูแล้วก็คล้าย ๆ  กับเมืองไทยในสมัยหลายสิบปีก่อนที่  “ไม่มีอะไรฟรีหรือที่รัฐบาลออกให้”   แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกไม่น้อยกว่า 5-6 คน ก็สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามอัตภาพ  ลูกคนที่เรียนดีบางคนก็ได้รับการศึกษาถึงระดับวิทยาลัย  ส่วนคนที่  “ไม่ได้เรียน”  ก็ออกไปทำงานเป็นช่าง  เป็นคนงานโรงงาน  และอื่น ๆ  ที่ไม่ต้องใช้ความรู้ระดับมหาวิทยาลัย   งานของคนเหล่านี้  แม้ว่าจะไม่ได้ทำรายได้มากเพราะค่าแรงต่ำ  แต่ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ  อานิสงค์จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนไต้หวัน  และนั่นได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตมาโดยตลอด  และบังเอิญ  นี่ก็เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวียตนามที่นักลงทุนใหญ่ในปัจจุบันก็คือ  ไต้หวันและญี่ปุ่น

            คนเวียตนามในเวลานี้ต้องถือว่ายังยากจนอยู่มากเหมือนเมืองไทยในสมัย 40 ปีก่อน  พวกเขายังบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นหลักแม้ว่าในโฮจิมินจะมีร้านแบรนด์เนมหรูจากต่างประเทศที่ดัง ๆ  เกือบทุกยี่ห้อ  แต่จำนวนร้านก็มีไม่มากและคนที่เข้าร้านนั้นส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเวียตนามและคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศหยิบมือเดียว   สินค้าที่ต้องใช้เงินมากเช่น  บ้านจัดสรรหรือรถยนต์ที่มีราคาขายพอ ๆ  กับเมืองไทยนั้น  ยังคงมียอดขายน้อยกว่าเมืองไทยมาก  เหตุผลนอกจากความมั่งคั่งแล้วก็คือ  ระบบการซื้อเงินผ่อนยังไม่เกิดขึ้น  คนชั้นกลางต้องค่อย ๆ  เก็บสะสมเงินจนได้เป็นล้านบาทขึ้นไปถึงจะมีปัญญาซื้อบ้านหรือรถได้  ซึ่งนี่ทำให้การบริโภคน้อยลงไปมากเทียบกับเศรษฐกิจที่มีระบบนี้  เรื่องสินค้าเงินผ่อนนี่ก็เช่นกัน  ก่อนหน้าที่เมืองไทยจะมีระบบนี้แพร่หลาย  ผมก็จำได้ว่าการซื้อบ้านหรือการมีรถยนต์นั้น  เป็นเรื่อง “ไกลเกินเอื้อม” ในช่วงที่ผมเพิ่งทำงานหลังจบปริญญาตรีใหม่ ๆ   สิ่งที่คนเวียตนามมีปัญญาซื้อค่อนข้างมากในขณะนี้ก็คือมอเตอร์ไซต์  ที่มีอยู่เต็มท้องถนนและทำให้รถยนต์ต้องแล่นช้ากว่าปกติมาก  ชั่วโมงละประมาณ 20 กิโลเมตรในเมือง  และอาจจะ 30-40 ก.ม. นอกเมือง  ทำให้ประสิทธิภาพในด้านของโลจิสติกต่ำมาก  การเดินทางเพียง 100 ก.ม. ออกไปยังเมืองท่าหรือเมืองตากอากาศอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง

            ปัญหาที่ฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจโตได้เร็วไปกว่าปีละ 6-7% ที่เป็นอยู่ในช่วงนี้นั้น  ที่สำคัญที่สุดในความเห็นของผมน่าจะอยู่ที่ระบบของความคิดและการปกครองของรัฐบาลที่ยังติดอยู่กับระบบสังคมนิยมที่รัฐควบคุมอยู่พอสมควร  ความไม่แน่นอนของแนวทางการควบคุมระบบการเงินซึ่งทำให้ตลาดการเงินไม่มีเสถียรภาพเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่วระดับอาจจะ 7-8% ต่อปี  และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด่องกับเงินเหรียญสหรัฐผันผวนมากและลดลงมาต่อเนื่องเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นหรือตราสารการเงินขาดทุนทั้ง ๆ  ที่ราคาหุ้นอาจจะสูงขึ้นในแง่ของเงินด่อง

           ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  เศรษฐกิจเวียตนามก็ยังร้อนแรงมากในช่วงหลาย ๆ  ปีที่ผ่านมา  และแล้วมันก็ “ระเบิด”  ขึ้นในช่วงปีสองปีนี้  ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงอย่างหนัก  เศรษฐกิจมหภาคดูไม่ดีเนื่องจากมีภาวะขาดดุลการค้าสูงและเงินทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐต่ำ  เศรษฐกิจภายในประเทศก็ชะลอตัวลงอย่างแรง  ดัชนีตลาดหุ้นลดลงมามาก  สำหรับคนเวียตนามแล้วดูเหมือนว่านี่จะเป็นวิกฤติ  แต่สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนแล้ว  มันอาจจะเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก

           ประการแรกก็คือ  อัตราเงินเฟ้อดูเหมือนจะลดลงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้มากขึ้นอานิสงค์จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ  อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นก็ดูเหมือนจะมีเสถียรภาพขึ้น  ซึ่งก็คงต้องเป็นอย่างนั้นเมื่อค่าเงินด่องลดลงมามากแล้ว  มันจะลดกันลงไปได้อีกแค่ไหน!  เช่นเดียวกัน  ดัชนีหุ้นก็ลดลงมามากมายและคนเล่นหุ้นในเวียตนามซึ่งมีจำนวนเป็นล้านคนและมากกว่านักลงทุนรายย่อยในบ้านเรานั้นต่างก็  “เลิกเล่น”  เนื่องจากขาดทุนกันอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา  ว่าที่จริง  Market Cap. หรือมูลค่าตลาดหุ้นของโฮจิมินนั้นลดลงเหลือน้อยมาก  ประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3-4% ของตลาดหลักทรัพย์ไทย  ในขณะที่ขนาดของเศรษฐกิจเวียตนามนั้นเท่ากับ 30-40% ของไทย  ดังนั้น  โอกาสที่ตลาดหุ้นเวียตนามจะโตขึ้นจึงน่าจะมีมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ระยะสั้นก็คือเมื่อเศรษฐกิจของเวียตนามฟื้นจากภาวะ  “วิกฤติ” เล็ก ๆ ในช่วงนี้   ระยะยาวก็คือ  เมื่อเศรษฐกิจเวียตนามมีการพัฒนาขึ้นตามศักยภาพที่ควรเป็นของประเทศที่มีทรัพยากรมากประกอบกับการที่มีประชากรสูง  ยิ่งไปกว่านั้น  คนเวียตนามเอง  จากการสำรวจขององค์กรระหว่างประเทศพบว่าเป็นคนที่มีระดับ IQ สูงระดับต้น ๆ  ของเอเชีย  ดังนั้น  เมื่อระบบการปกครองและบริหารเศรษฐกิจของประเทศลงตัวแล้ว  ประเทศก็ควรจะก้าวหน้าและเติบโตต่อไปได้มาก  และแน่นอน  มูลค่าของบริษัทจดทะเบียนก็ต้องสูงขึ้นตาม
           ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นโฮจิมินนั้นน่าสนใจมากด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้ว  อย่างไรก็ตาม  อุปสรรคในการลงทุนก็ยังมีอยู่มาก  ข้อแรกก็คือ  ความน่าเชื่อถือของการบริหารงานของบริษัทรวมถึงระบบบัญชีต่าง ๆ  ที่อาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน  ว่าที่จริง  กลต. เวียตนามเองก็เพิ่งตั้งขึ้นเข้าใจว่าปีที่แล้วนี่เอง  อีกข้อหนึ่งก็คือ  บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมักจะถือหุ้นและควบคุมโดยรัฐที่มีผลประกอบการดีนั้น  ดูเหมือนว่าจะถูกต่างชาติซื้อจนเต็มเพดาน  ถ้าเราต้องการจะต้องซื้อเป็นบล็อกและจ่ายราคาพรีเมียมอย่างน้อย 20% และราคาหุ้นก็ไม่ถูก  และสุดท้ายก็คือ  ข้อจำกัดของแบ็งค์ชาติของไทยเองที่ไม่อนุญาตให้คนไทยเอาเงินออกไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามอาจจะเนื่องจากดูว่ามัน  “อันตราย”  ซึ่งสำหรับประเด็นหลังนี้  ผมเองก็รู้สึกประหลาดใจมากว่า  ทำไมเจ้าหน้าที่จึงต้องมาห่วงแทนผมซึ่งเป็นเจ้าของเงิน?
   
Posted by nivate at 10:48 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor 

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2013/10/07/1346