Tigger Sound
สังคมออนไลน์คุณภาพของคนรักเครื่องเสียง
ทดสอบเสียง HK1.1 By Tiggersound https://www.facebook.com/tiggersound/videos/10218510874389162

ข้อคิดจาก.........ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0 สมาชิก และ 5 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 13 January 2014

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ผมเพิ่งกลับจากการไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ผมได้ไปเยี่ยมเยือนมาหลายครั้งย้อนหลังไปประมาณ 30 ปีเศษ ๆ  ความรู้สึกในภาพรวมทั่ว ๆ ไปก็คือ  ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่  “เจริญมาก”  ในทุก ๆ  ด้านทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจซึ่งส่งผลให้สังคมของญี่ปุ่นที่ผมมองเห็นจากภายนอกนั้นดู  “สมบูรณ์”  ไปหมด  ประเด็นก็คือ  มันดีแบบนี้มาตั้งแต่ครั้งแรก ๆ  ที่ผมไปญี่ปุ่น  ดังนั้น  ถ้าจะพูดถึงการ “เติบโต”  หรือ  “อัตราการพัฒนา” ให้ดีขึ้นนั้น  อาจจะไม่สูงเลย  ว่าที่จริงในช่วงกว่า 10 ปี หรืออาจจะใกล้ ๆ 20 ปีมาแล้วที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะ “ไม่ไปไหนเลย”  สาเหตุใหญ่นั้นผมคิดว่าน่าจะมาจากการที่อัตราการเกิดของพลเมืองญี่ปุ่นนั้นต่ำมาก  และคนก็มีอายุที่ยืนยาวมาก  ดังนั้นอายุเฉลี่ยของคนจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจน  กลายเป็นสังคมของ “คนแก่”  และญี่ปุ่นเองก็ไม่ต้องการที่จะรับคนต่างชาติเข้าเมืองเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สังคมของญี่ปุ่น “ด้อยลง”  นอกจากประเด็นเรื่องคนแก่ตัวลงแล้ว  ผมคิดว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะงักงันยาวนานอาจจะเป็นเพราะนิสัยหรือแนวความคิดของคนญี่ปุ่นเองนั้น  ค่อนข้างที่จะอนุรักษ์นิยมมาก  หรือเป็นคนที่มีวินัยสูง  ทุกคนต่างก็ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างเคร่งครัด  ไม่ใคร่มีใคร  “แหกกฎ” หรือ  “คิดแตกต่าง”  ซึ่งนี่อาจจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดน้อยลงไป   ซึ่งในอดีตนั้น  อาจจะไม่มีปัญหาในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากนัก   แต่ในระยะหลังเป็นสิ่งจำเป็น  และนี่อาจจะทำให้ญี่ปุ่นมีปัญหาพอสมควรทีเดียวในโลกยุคปัจจุบัน

          สิ่งที่ผมพูดข้างต้นนั้นก็เป็นเรื่องของการพรรณนาที่เราต่างก็ได้รับรู้จากการได้สัมผัส  จากสื่อและหนังสือที่มีการเผยแพร่มาต่อเนื่อง  ในฐานะที่เป็นนักลงทุน  ผมเองอยากที่จะ  “อ่าน” ข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่สะท้อนออกมาจากตลาดหุ้นนั่นก็คือ  ดัชนีนิกเกอิที่เป็นดัชนีตลาดหุ้นหลักของญี่ปุ่นเพื่อที่จะดูหรือยืนยันว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นเป็นจริงตามที่มีการพูดกันแค่ไหน  และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  พยายามทำนายว่ามันจะไปอย่างไรต่อไป

           มองย้อนหลังไป 30 ปี ตั้งแต่ปี 1983 นั้น  ดัชนีนิกเกอิเริ่มต้นประมาณ 10,000 จุดเศษ ๆ  และนั่นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลัง  “ขึ้นสุดยอด”  ผมยังจำได้ถึงสถานะและบทบาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ  ของญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลก  ไล่ตั้งแต่บริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเนชั่นแนล  เครื่องเสียงของโซนี่ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของเจมส์บอนด์  รถยนต์ของโตโยต้าและนิสสันที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศไทย  และชิ้นส่วนสินค้าไฮเท็คจำนวนมากที่แม้แต่บริษัทชั้นนำของอเมริกันหรือนาซ่าก็ต้องพึ่งพิง  นอกจากนั้น  ความรู้และแนวความคิดในการบริหารงานแบบญี่ปุ่นเช่น  ระบบการควบคุมสินค้าคงคลังแบบเป็นศูนย์หรือการบริหารงานแบบ  Just in Time   และแนวความคิดอื่น ๆ  อีกมากต่างก็ได้รับการขานรับว่าเป็นวิธีการบริหารงานที่ทำให้ญี่ปุ่น  “ครองโลก”  ในทางธุรกิจ   หนังสือ How To หรือการพัฒนาตนเองทางธุรกิจบนแผงหนังสือต่างก็เป็นเรื่องของญี่ปุ่น

           ในช่วงประมาณ 6 ปี คือถึงสิ้นปี 1989 ดัชนีนิเกอิได้ปรับขึ้นไปอย่างต่อเนื่องแทบไม่สะดุดเลยขึ้นไปเป็นประมาณ 39,000 จุดหรือขึ้นไปเป็นเกือบ 4 เท่า  คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณปีละ 25%  และนี่น่าจะเรียกว่าเป็น  “ทศวรรษทอง” ของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง  ราคาของหุ้นญี่ปุ่นนั้นสูงจนนักวิชาการหลายคนบอกว่า  “เป็นไปไม่ได้”  ค่า PE ของตลาดสูงเป็นหลายสิบเท่า  ผมจำได้ว่ามากกว่า 50 เท่า  แต่นักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมากที่เห็นดัชนีขึ้นเอา ๆ  ต่างก็เถียงว่าญี่ปุ่นนั้น “ไม่เหมือนสหรัฐ”  หรือประเทศอื่นในโลก  หุ้นของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถือโดยสถาบันหรือบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันล็อกกันไว้หมดและไม่ขาย  แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยของญี่ปุ่นต่ำมากแค่ 1-2% ต่อปี  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นที่มีค่า PE 50 เท่าก็ไม่แพง  เพราะเท่ากับมีผลตอบแทนของกำไรปีละประมาณ 2% เหมือนกัน  ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ  ราคาที่ดินของญี่ปุ่นเองก็สูงมาก  อาจจะยิ่งกว่าหุ้น  มีการคำนวณกันว่า  ราคาที่ดินทั้งประเทศของญี่ปุ่นนั้น  ถ้าคิดตามราคาตลาดแล้ว  มีค่ามากกว่าราคาที่ดินทั้งหมดของสหรัฐที่มีพื้นที่ใหญ่กว่าไม่รู้กี่สิบเท่า  ที่ดินเฉพาะในโตเกียวก็สูงกว่ารัฐใหญ่ที่สุดหลาย ๆ รัฐของอเมริการวมกัน

           สิ้นปี 1989 สำหรับผมก็คือ “ยอดดอยฟูจี” ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น  ตลาดหุ้นเริ่มถล่มทะลาย  ภายในเวลาหนึ่งปี  ดัชนีตกลงไปเหลือประมาณ 24,000 จุด  หรือลดลงประมาณ 38%  แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพังทะลายของความเชื่อเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ว่าหุ้นของญี่ปุ่นไม่มีวันตกเพราะมันถูกถือโดยคนที่จะไม่ขาย  มันเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของความคิดที่ว่าญี่ปุ่นคือ “ราชัน” ทางเศรษฐกิจที่จะยึดกุมโลก  มันเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายของความเชื่อที่ว่าสินค้าญี่ปุ่นนั้นจะครองใจคนทั้งโลกโดยที่คู่แข่งไม่มีทางตามทันเพราะญี่ปุ่นมีคนที่ดีและฉลาดที่สุดและมีตลาดภายในที่ใหญ่พอที่จะสร้าง Economies of Scale ที่เป็นฐานให้กับกิจการทุกชนิดได้  มีแต่อเมริกาเท่านั้นที่อาจจะเป็นคู่แข่ง  ประเทศเล็กอย่างเกาหลีในเอเซียหรือฟินแลนด์ในยุโรปไม่ได้อยู่ในสายตาที่จะก้าวเข้ามาแข่งขันได้

           ดัชนีนิกเกอิตกลงมาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปีจนถึงเดือนมีนาคม 2003 เหลือเพียงประมาณ 8,000 จุด  หรือลดลงมาประมาณ 80% ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของวิกฤติอย่างแท้จริงซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก  หลายประเทศรวมถึงไทยนั้นพบว่าเมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ดัชนีหุ้นมักจะลดลงต่อเนื่องประมาณ 3 ปี  และดัชนีจะตกลงมาเหลือเพียง 10% ถึง 20% จากจุดสูงสุด  หลังจากนั้นดัชนีนิกเกอิก็เริ่มฟื้นตัว  ดัชนีปรับขึ้นไปเป็นเวลากว่า 4 ปีเป็นประมาณ 18,000 จุด  ในปี 2007  แต่แล้วในปี 2008 ก็เกิดวิกฤติซับไพรม์ในอเมริกาและลามไปทั่วโลกซึ่งทำให้ดัชนีนิกเกอิตกลงไปถึงเกือบ 60% เหลือเพียงประมาณ 7,500 จุดในช่วงต้นปี 2009

           จนถึงสิ้นปี 2012  ดัชนีนิกเกอิก็ยังอยู่ที่เพียงประมาณ 10,400 จุด ห่างไกลจากจุดสูงสุดก่อนซับไพรม์ที่ 18,000 จุด มากในขณะที่ตลาดหุ้นอื่น ๆ  โดยเฉพาะในเอเชียที่ดัชนีวิ่งเกินไปมากแล้ว  ญี่ปุ่นนั้นดูเหมือนว่ามีปัญหาทางด้าน  “พื้นฐาน”  ของเศรษฐกิจประเทศและบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ  บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่หลายบริษัทใกล้ล้มละลายและไม่สามารถแข่งขันได้โดยเฉพาะในสินค้าไฮเท็คยุคใหม่  แม้แต่สินค้าธรรมดา ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ถูกแย่งชิงตลาดไปมาก  คนญี่ปุ่นเองแม้ว่าจะยังฉลาดและมีวินัยสูงแต่ด้วยวัยที่สูงขึ้นมากก็ยากที่จะเติบโตต่อไป  การเติบโตทางเศรษฐกิจดูเหมือนว่าจะนิ่งมาเป็นสิบ ๆ  ปี  เรียกว่าเป็น  Loss Decade หรือเป็น “ทศวรรษที่หายไป”   อย่างไรก็ตาม  การตกต่ำของดัชนีนิกเกอินั้นก็ทำให้หุ้นของญี่ปุ่นกลายเป็นหุ้นที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอดีต  ว่าที่จริงหลาย ๆ บริษัทนั้นถูกกว่าหุ้นของบริษัทในเมืองไทยที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ  กันด้วยซ้ำ

           สังคมญี่ปุ่นเองคงถึงจุดที่ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ประเทศ  “ติดหล่ม” มานาน  และนี่ก็เป็นที่มาของการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีนโยบาย  “ก้าวร้าว”  และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ  นายอาเบะกล้าที่จะพิมพ์เงินเพื่อ “สร้างเงินเฟ้อ” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ  เขากล้าแม้กระทั่งยอมให้คนไทยเข้าประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว  เขายังทำอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่มีใครเคยคิดทำในสังคมแบบญี่ปุ่น  และนี่ทำให้ดัชนีนิกเกอิของปีที่แล้วปรับตัวขึ้นถึง 57% เป็นประมาณ 16,300 จุด  เป็นการปรับตัวสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และน่าจะดีที่สุดในโลกสำหรับตลาดหุ้นหลัก ๆ   ประเด็นต่อจากนี้ก็คือ  เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะไปได้ต่อไหมและมากน้อยแค่ไหน  จริงอยู่  แนวความคิด  วัฒนธรรม  และวิธีการนั้นสามารถเปลี่ยนได้โดยเฉพาะในคนญี่ปุ่นที่ฉลาด  มุ่งมั่นและมีวินัยสูงรวมถึงการเป็นคนที่มีสุขภาพดีเลิศ  แต่การที่คนแก่ตัวลงและโอกาสหรือความตั้งใจที่จะเพิ่มคนนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย  มองในระยะยาวแล้ว  ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นนั้นจะฟื้นได้จริง ๆ  มากน้อยแค่ไหน  ดังนั้น  ถ้าจะลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นแล้ว  ผมคิดว่าผมคงอยากที่จะเลือกเป็นรายตัวมากกว่าการซื้อกองทุนรวมที่อิงอยู่กับเศรษฐกิจโดยรวมของญี่ปุ่น

Posted by nivate at 9:21 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/13/1387




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
"ชีวิตนั้นช่างง่ายดายหรือนั่นเป็นแค่เพียงฝันกลางวัน"

อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนไม่ประสบความสำเร็จได้ก็ตือ พวกเขามุ่งมั่นในความเชื่อที่ผิดว่า "ชีวิตนั้นช่างง่ายดาย" พวกเขาจึงเลือกที่จะทำแต่สิ่งที่ง่ายกว่า เลือกทำตามคำแนะนำที่ทำได้ง่าย และมั่งมุ่งไปสู่เป้าหมายเล็กๆ ง่ายๆ สุดท้ายพวกเขาจึงเป็นได้แค่คนตัวเล็กๆ อยู่อย่างนั้น "คนที่ประสบความสำเร็จมุ่งมั่นจะทำงานไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเขาเสมอ" คนที่มุ่งมั่นอยากมีเงิน 1 แสนในตอนนี้ ความมุ่งมั่นครั้งถัดไปของเขาคือ ทำให้ได้ 1 ล้านบาท เมื่อไปถึงเป้ายหมาย 1 ล้านบาทแล้ว ต่อไปก็จะมุ่งมั่นทำ 100 ล้าน 1000 ล้าน การมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยสร้างให้คนคนนั้นเก่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม อย่ากลายเป็นคนช่างฝัน ซึ่งหมายถึงหลายๆ คนที่ตั้งเป้าหมายไว้แบบผิดๆ เช่น ฝันอยากรวยหุ้นร้อยล้านแต่กลับไม่เคยศึกษาใฝ่หาความรู้ ไม่มีการวางแผน แต่ก็ยังหวังลมๆแล้งๆ ว่าจะมีปาฏิหาริย์ "การใฝ่ฝันโดยไม่มีการศึกษา ไม่มีมีแผน และไม่มีการลงมือทำ ทำให้กลายเป็นคนเพ้อเจ้อ พวกช่างฝัน"

-Robert T.Kiyosaki


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 20 January 2014

4 พลังการเมืองกับหุ้นไทย

เคยสงสัยไหมว่าทำไมการเมืองไทยจึง  “วุ่นไม่รู้จบ”  และการเมืองมีผลกระทบกับหุ้นมากน้อยแค่ไหน?  วันนี้ผมจะพยายามอธิบายความเข้าใจของผมที่เคยผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงของประเทศไทยมานับไม่ถ้วนตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และได้พยายามศึกษาบทความข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์  รัฐศาสตร์ และผู้รู้อื่น ๆ  โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ผมกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองซึ่งมีผลกระทบกับผลตอบแทนการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว   ในระยะสั้นนั้น  แน่นอน  ทำให้หุ้นผันผวนรุนแรงตามสภาพการณ์ของการเมือง  และในระยะยาวนั้น  การเมืองเป็นตัวกำหนดเสถียรภาพทางสังคมและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อหรือทำลายธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีซึ่งเป็นเสาหลักของระบบทุนนิยมเสรี  ทั้งสองประการนั้นเป็น  “น้ำที่หล่อเลี้ยง”  ให้หุ้นแต่ละตัวอยู่ได้ดีหรือเหี่ยวเฉา

โชคร้ายของประเทศไทยก็คือ  เรามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายบ่อยเหลือเกินซึ่งทำให้หุ้นมีความผันผวนเป็นระยะ ๆ  ตลอดมา  แต่โชคดีที่ว่า  หลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาทุกครั้ง  การเมืองไทยก็กลับมาสู่ระบบที่มีเสถียรภาพทางสังคมและระบบเศรษฐกิจค่อนข้างจะเอื้ออำนวยกับธุรกิจเอกชนและตลาดเสรีและดังนั้น  หุ้นไทยหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวไปตามพื้นฐานของหุ้นตามปกติ   ผลก็คือ  ความผันผวนในระยะสั้นที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาก็มักจะกลายเป็นโอกาสของคนที่กล้าและเข้าใจเรื่องของการเมืองในประเทศไทยและเป็นนักลงทุนระยะยาว

การที่ประเทศไทยมี “วิกฤติทางการเมือง” บ่อยครั้งนั้น  ผมคิดว่ามาจากการที่เรามีระบบหรือแนวคิดทางการเมืองรวมถึงผู้เล่นหรือผู้ที่มีบทบาททางการเมืองใหญ่ ๆ อยู่อย่างน้อย 4 กลุ่ม ที่ต่างก็มีบทบาทหรืออำนาจใกล้เคียงกัน  อำนาจทั้ง 4 นี้ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่แต่มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา  บางช่วงบางเวลาอำนาจที่ 1 ก็จับมือกับอำนาจที่ 3 เพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ 2 โดยมีอำนาจหรือพลังที่ 4 ที่อยู่เฉย  บางช่วงบางตอนอำนาจหรือพลังที่ 3 ก็อาจจะโดดเด่นเหนือกว่าอำนาจอื่นและปกครองประเทศอย่างราบรื่นจนเกิดวิกฤติการเมืองและมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอำนาจของกลุ่มใหม่    ในบางช่วงบางเวลาพลังหนึ่งอาจจะโดดเด่นเติบโตในขณะที่อำนาจบางอย่างก็ถดถอยลง  ทั้งหมดนี้ทำให้การเมืองไทยมีพลวัตในการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤติสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่พลังหรืออำนาจทางการเมืองนั้นตกอยู่กับพลังบางอย่างเพียงพลังเดียวที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่มายาวนาน

พลังอำนาจทางการเมืองของไทยกลุ่มแรกก็คือ  พลังของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่มีมานาน  นี่คือสิ่งที่มีมานานตั้งแต่โบราณกาลแต่ก็ยังมีบทบาทสูงมาก  ตัวอย่างขนบธรรมเนียมที่คนไทยยึดถือซึ่งค่อนข้างมากกว่าหลายประเทศในโลกก็เช่น  เรานับถือความอาวุโสมากกว่าสังคมอื่น  เรายึดถือความเป็น “จ้าวคนนายคน”  ว่าเป็นเรื่องมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมากกว่าความมีชื่อเสียงอย่างอื่น  เรานับถือเรื่องของ  “ชาติตระกูล” สูง  เรามีการแบ่งแยกระหว่าง “ชนชั้น”  อยู่  “ในใจ”  แต่ก็ยอมรับให้มีการ “เลื่อนชั้น”  ได้ในระดับหนึ่ง  เป็นต้น  ขนบธรรมเนียมเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปทางการเมืองมาตลอด  ว่าที่จริง  ในช่วงที่ผมเป็นเด็กวัยรุ่นนั้น  คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างก็มักจะต้องมาจากคนที่มีเกียรติประวัติหรือฐานะทางตระกูลที่สูงโดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการระดับสูงและมีผลงานที่ “ดีเด่น”   แม้ว่าในระยะหลัง ๆ  คนรุ่นใหม่อาจจะยึดถือขนบธรรมเนียมเก่า ๆ  เหล่านี้น้อยลงแต่คนรุ่นเก่าส่วนมากก็ยังยึดมั่นกับอุดมการณ์และความเชื่อนี้   พลังของขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ก่อนปี 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองถือว่าเป็นพลังที่สูงที่สุดแทบจะพลังเดียว  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้น  พลังนี้ก็ถดถอยและมีการขึ้นลงเป็นระยะจนถึงปัจจุบัน

พลังที่สองก็คือ  พลังของสามัญชนหรือประชาชนธรรมดา  หรือถ้าจะพูดก็คือ  พลัง “ประชาธิปไตย”  นี่คือพลังการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศในปี 2475  ซึ่งในช่วงเกิดขึ้นใหม่ ๆ  นั้นมีพลังสูง  อย่างไรก็ตาม  ด้วยระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังต่ำอยู่ซึ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่พอ  ยังไม่เข้าใจถึงสิทธิของตนเองและไม่มีทรัพยากรในการสื่อสารที่จะทำให้เกิดพลังทางการเมือง  ดังนั้น  พลังของประชาชนจึงถดถอยลงต่อเนื่องยาวนาน  และแม้ว่าจะมีระบบการเลือกตั้งที่เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจทางการเมืองของตนซึ่งเป็นอานิสงค์จากอำนาจอื่นที่จะกล่าวถึงต่อไป    แต่พลังนี้ก็มักจะไม่สามารถที่จะเป็นแกนนำในการกำหนดความเป็นไปของประเทศมากนักจนกระทั่งในช่วงหลัง ๆ  สิบกว่าปีมานี้ที่พลังนี้มีการเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก  เหตุผลส่วนสำคัญก็คือ  การพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศที่ก้าวหน้ามากขึ้นมากประกอบกับการพัฒนาขึ้นของระบบการสื่อสารที่ทำให้พลังนี้เติบโตขึ้นมาก

พลังที่สามก็คือ  พลังของคนที่ถืออาวุธ  ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือทหาร  นี่คือพลังทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนักและกลายเป็นพลังที่เหนือกว่าและครอบงำการเมืองไทยมายาวนานจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้บทบาทของทหารลดลง  และแม้ว่าพลังอำนาจของทหารจะกลับขึ้นมาเป็นระยะเช่นหลังช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์ปี 2534  แต่อำนาจทางการเมืองของทหารก็ดูเหมือนว่าจะค่อย ๆ ลดลงแบบต่อเนื่องยาวนานและอาจจะกลายเป็นพลังอำนาจที่สนับสนุนอำนาจอื่นมากกว่าที่จะเป็นตัวหลักเห็นได้จากการที่ทหารไม่สามารถเข้าบริหารประเทศได้แม้ว่าจะสามารถทำรัฐประหารได้สำเร็จในระยะหลัง    เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าพลังอำนาจอื่นเติบโตขึ้น  “ระเบียบโลก”  เปลี่ยนไป  โดยเฉพาะการจบลงของ “สงครามเย็น”  ระหว่างโลกเสรีและสังคมนิยมที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นกระแสหลักของการปกครองในประเทศต่าง ๆ  ทั่วโลก

พลังที่ 4 ที่เป็นพลังสุดท้ายนั้นถือว่าเป็น  “Soft Power”  หรือพลังที่อ่อนไม่รุนแรง   ดูเหมือนไม่มีตัวตน  แต่เป็นพลังที่มีอำนาจไม่น้อยไปกว่าพลังอื่น  นี่คือความเป็น  Globalization หรือการที่โลกนั้นจะกลายเป็นหนึ่งเดียว  ประเทศแต่ละประเทศที่มีความเจริญถึงจุดหนึ่งจะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ต้องพึ่งพิงประเทศอื่น  โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น  เรามีการค้าขายกับต่างประเทศสูงมาก  เราซื้อและขายกับต่างประเทศมากกว่าสินค้าที่เราบริโภคเองเสียอีก  และโลกก็ได้กำหนด  “ระเบียบโลก”  ซึ่งเราไม่สามารถฝ่าฝืนได้ถ้าเรายังต้องการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศอื่น  ใน “ระเบียบโลก” ซึ่งหลาย ๆ  เรื่องก็ไม่ได้มีการเขียนไว้ชัดเจนแต่เป็นที่รู้กันว่าไม่เป็นที่ยอมรับนั้นรวมไปถึงเรื่องของการเมืองและอำนาจทางการเมืองที่ขัดแย้งกับความเชื่อสากลเช่นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นต้น   พลังของสังคมโลกนี้เป็นพลังที่อ่อนเนื่องจากมันไม่สามารถมายึดกุมอำนาจของประเทศไทยได้  แต่พลังอื่น ๆ  ทั้งหลายต้องฟังต้องพิจารณาเวลาตนเองจะทำอะไร  ประเด็นสำคัญก็คือ  มันต้องไม่ฝืน “กระแสโลก” มากนัก    ดังนั้น  พลังนี้จึงเป็นได้เพียงพลังที่สนับสนุนหรือต่อต้านคัดค้านพลังอื่น   มองในแง่นี้  พลังที่ได้ประโยชน์จากพลังของสังคมโลกก็คือ  พลังประชาธิปไตย  เนื่องกระแสโลกก็คือ  กระแสของประชาธิปไตย

พลังทั้ง 4 ที่กล่าวมานั้น  ในประเทศไทยผมคิดว่ายังคงจะต่อสู้กันไปและไม่สามารถจบลงโดยที่เหลือพลังเพียง 1 หรือ 2 พลังได้ในระยะเวลาอันสั้น  ในฐานะของนักลงทุน  ผมเพียงแต่หวังว่าการต่อสู้นั้นจะไม่รุนแรงจนเกินไป  และที่หวังต่อไปก็คือ  เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงในรอบนี้  ระบอบ  ปรัชญา  และแนวความคิดความเชื่อในการปกครองของไทยก็ยังเป็นเหมือนเดิมนั่นก็คือ  ประเทศก็ยังมีความสงบทางด้านของสังคม  และระบบเศรษฐกิจก็ยังเป็นเสรี  เป็นทุนนิยม  ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการลงทุนในตลาดหุ้น  และนั่นก็คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการสำหรับคนทุกคน   

 
Posted by nivate at 9:56 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/20/1389



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
คนนั้นเต็มไปด้วยความโลภ ความกลัว และความโง่เขลา

"ความจริงที่ว่าคนนั้นเต็มไปด้วย ความโลภ ความกลัว และ ความโง่เขลา เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ แต่สิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้คือ สิ่งไหนจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเท่านั้น " วอร์เร็น บัฟเฟต์ รู้ดีเสมอว่า ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นักลงทุนจะตื่นเต้นอย่างมากกับราคาหุ้นที่พุ่งขึ้น ขณะนั้นนักลงทุนจะพร้อมซื้อหุ้นมากขึ้น และเขายังรู้อีกว่า ในอีกช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งนักลงทุนจะตื่นกลัว และ ขายหุ้นทิ้งในราคาต่ำอย่างไร้เหตุผล แต่สิ่งที่วอเร็นไม่ทราบคือ มันจะเกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นนานเท่าไร และเกิดขึ้นเวลาใด แต่เขาพร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสที่เกิดจากความโลภและความกลัวของนักลงทุนที่สร้างโอกาสให้เค้า นี่คือแนวทางของนักลงทุนผู้ชาญฉลาด





ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 27 January 2014

Spiritual Freedom


Value Investor ผู้มุ่งมั่นเกือบทุกคนนั้น  ผมเชื่อว่าต่างก็มีเป้าหมายใหญ่ในชีวิตอย่างหนึ่งนั่นก็คือ  เขาต้องการที่จะมี  “อิสรภาพทางการเงิน” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่ามี  “Financial Freedom”  ความหมายก็คือ  เป็นคนที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง  มีเงินและทรัพย์สินมากพอที่จะเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวได้อย่างพอเพียงแม้ว่าจะไม่มีรายได้อื่นเลยตลอดชีวิต  ซึ่งผมเองคิดว่าถ้าจะทำอย่างนั้นได้  เขาจะต้องมีทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้  เช่น  หุ้น  พันธบัตร  หรือเงินสด  ที่มีคุณภาพดีอย่างน้อย 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยและเขารู้จักบริหารการลงทุนในระดับพื้นฐานที่จำเป็น    อิสรภาพทางการเงินนี้จะทำให้เขาแทบจะไม่ต้องกังวลกับการทำงานหาเงินซึ่งจะทำให้เขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ  ที่เขาชอบหรืออยากที่จะทำโดยไม่ต้องคิดถึงผลตอบแทนทางการเงิน  ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคน  “ฝัน”  ที่จะได้ไม่ใช่เฉพาะแต่ VI เท่านั้น   อย่างไรก็ตาม  ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ที่ได้ผ่านจุดแห่งเสรีภาพทางการเงินมาแล้ว   ผมคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์ได้  ว่าที่จริงอิสรภาพทางการเงินนั้นอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นอิสระของชีวิตมากนักด้วยซ้ำไปหาก  “อิสรภาพทางใจ”  หรือ  “Spiritual Freedom”  ของเรายังไม่มีหรือมีน้อยเกินไป

           คำว่าอิสรภาพทางใจนั้นมีความหมายมากมายแล้วแต่ว่าใครจะนิยาม  องค์กรหรือแนวความคิดที่พูดถึงเรื่องของ Spiritual Freedom มากที่สุดดูเหมือนว่าจะเป็นศาสนาต่าง ๆ  ที่มักจะเน้นให้ผู้ที่นับถือประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เรา  “หลุดพ้น”  จากกิเลสหรือพันธะทางใจทั้งมวลเพื่อที่จะทำให้เกิดความสุข  “ทางใจ” ที่มีความสำคัญและความหมายมากที่สุดในชีวิตของคนเรา   แต่ “อิสรภาพทางใจ” ที่ผมจะพูดถึงนั้น  จะเป็นไปในความหมายแบบคนธรรมดาหรือเป็นแนวปรัชญาอิงกับความคิดของ Victor Frankl  ที่อธิบายว่า Spiritual Freedom นั้น  เป็นเสรีภาพที่สูงและยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ที่จะเลือกทัศนะคติในชีวิตของตนเองภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนที่เขาก็ยังสามารถเลือกที่จะคิดและเดินในแนวทางของตนเองที่คิดว่าดีและถูกต้อง  ตัวอย่างที่นำมาซึ่งแนวความคิดดังกล่าวก็คือการที่คนยิวในค่ายกักกันของนาซีบางคนที่พยายามช่วยเหลือปลอบใจเพื่อนในขณะที่บางคนต้อง  “ขายจิตวิญญาณ” เพื่อเอาตัวรอด  หรืออย่างในกรณีของฉากการจมลงของเรือไททานิกที่เราเห็นในภาพยนต์ที่มีทั้งคนที่สงบช่วยเหลือปลอบใจคนอื่น  ในขณะที่คนบางคนแสดง “ธาตุแท้” ที่เห็นแก่ตัวออกมา

           ในการที่จะมี  “อิสรภาพทางใจ” ได้นั้น  เขาบอกว่า  ถ้าเราไม่ตั้งใจกำหนดหรือตัดสินใจว่าเราจะเป็นคนอย่างไรและพยายามทำและปฏิบัติตามสิ่งที่เรากำหนดนั้นไว้   สภาวะแวดล้อมและประสบการณ์ของเราก็จะกลายเป็นตัวกำหนดทั้งตัวตนของเราและชะตากรรมของเราเองในท้ายที่สุด   ในความหมายนี้ก็แปลว่า  การที่เราจะมีอิสรภาพทางใจได้นั้น  เราจะต้องศึกษาและหาความหมายต่าง ๆ  ในชีวิตที่เราคิดว่าเหมาะสม  เราไม่สามารถที่จะคิดโดย  “อัตโนมัติ” ในเรื่องต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมเพราะเหตุว่าความคิดของเรานั้นอาจจะถูก  “ครอบงำ”  โดยสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างมานานดังนั้นความคิดเราก็จะไม่อิสระที่จะคิดนอกกรอบนั้นออกไป  ส่วนตัวผมเองก็รู้สึกว่าตั้งแต่เด็กก็ถูก  “อบรมสั่งสอน”  จากบุคคลต่าง ๆ  มากมายรวมถึงหน่วยงานรัฐ  ศาสนา  และองค์กรต่าง ๆ  อีกมากมายนับไม่ถ้วน  ประสบการณ์ต่าง ๆ  ที่พบในสังคมเองก็  “หล่อหลอม”  ให้คิดและปฏิบัติในสิ่งที่เป็นกรอบประเพณีอันดีและถูกต้องในสังคม  ผมไม่เคยตั้งคำถามกับแนวคิดหรือสิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้น   ว่าที่จริงผมก็ไม่ควรคิดเพราะว่าถ้าเรายังต้องทำงานในองค์กรและมีตำแหน่งหน้าที่ในสังคม  การ  “ฝืน”  แนวทางเหล่านั้นคงทำให้เส้นทางอาชีพหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมีปัญหา   อย่างไรก็ตาม  เมื่อผมมีอายุมากขึ้นและกลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ผู้มุ่งมั่นและประสบความสำเร็จมีอิสรภาพทางการเงินที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น  ผมก็เริ่มค้นหาความหมายของชีวิต

           ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไป  ผมเริ่มมี  “อิสรภาพทางใจ” มากขึ้น  ไม่ใช่ในแบบของศาสนา  ว่าที่จริงอาจจะมีบางสิ่งที่แย้งด้วยซ้ำ  เพราะผมเริ่มที่จะคิดว่าเราอยากที่จะเป็น  “เสรีชน”  มากกว่าที่จะเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดของสังคมที่มีกรอบมากมายที่หลายอย่างผมก็ไม่เห็นด้วยและรู้สึกค้านอยู่ในใจ  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่ใช่  “กบฏ”  หรือนักปฏิวัติอะไร   ผมแก่เกินที่จะไปทำแบบนั้น  ผมเพียงแต่คิดว่าผมไม่ต้องการนับถือหรือเชื่ออะไรตามที่คนส่วนใหญ่ทำถ้าการศึกษาหรือมโนธรรมของผมพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมหรือถูกต้อง  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะหรือเป็นอานิสงค์จากการที่ผมกลายเป็น VI ที่ได้รับอิสรภาพทางการเงินและเริ่มที่จะมองหา  “อิสรภาพทางใจ” ที่มองอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นสิ่ง  “หรูหรา” ที่หลายคนไม่อาจจะแสวงหาได้ง่ายนักแม้ว่าเขาจะมีเงินมากยิ่งกว่า  เหตุผลก็คือ  ชีวิตและเงินทองของพวกเขายังต้องพึ่งพิงกับคนอื่น ๆ  อีกมากในสังคมที่ไม่ยอมรับความเป็น “เสรีชน” ของเขา  หรือที่เป็นไปได้มากกว่าก็คือ  เขาเองอยู่กับ “สภาพแวดล้อม” ที่มีอิทธิพลสูงในการกำหนดชีวิตของเขา

          ความเป็น  “เสรีชน”  ของผมนั้น  แน่นอน  เราก็ต้องมีสัญลักษณ์หรือสิ่งประทับใจที่ตรงหรือถูกจริตกับเรา  หนึ่งในนั้นก็คือเพลงซึ่งในอดีตผมก็เพียงแต่รู้สึกว่ามันมีความไพเราะและเป็นเพลงยอดนิยม  “อมตะ” แต่ก็ไม่มีความหมายใด ๆ  แต่ยิ่งนานและในระยะหลัง ๆ  ผมก็  “อิน” กับมันนั่นก็คือเพลง  “Imagine” ของ จอห์น เลนนอน  อดีตนักร้องของวง The Beetle ที่เป็นตำนานของวงดนตรีโลก  เพลง Imagine นี้เกิดขึ้นในปี 1971 ในยุคของสงครามเวียตนามที่ทำให้เกิดกระบวนการประท้วงต่อต้านสงครามและต่อต้านสังคมของคนหนุ่มสาวที่เรียกว่าพวก “ฮิบปี้” ซึ่งต่างก็  “แหกกฎ” ของสังคมโดยการไว้ผมยาว  แต่งตัวไม่เรียบร้อย  รวมถึงการประพฤติตนในแบบที่ไม่เป็นที่ยอมรับของธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม

         เนื้อหาของเพลงนั้นเรียบง่ายมากแต่มีพลังสูง  ผมคงไม่แสดงเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษแต่นำคำแปลมาให้อ่านดังนี้คือ  :   ลองจินตนาการสิว่าโลกนี้ไม่มีสวรรค์   มันง่ายถ้าคุณจะลอง  ไม่มีนรกอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา  เหนือหัวเราก็มีแต่ท้องฟ้า  ลองจินตนาการว่าทุกคนต่างก็อยู่เพื่อวันนี้  ลองจินตนาการว่าโลกนี้ไม่มีประเทศ  มันไม่ยากหรอกถ้าจะทำ   ไม่มีอะไรที่จะต้องฆ่าหรือต้องตายแทน   และก็ไม่มีศาสนาด้วย  ลองจินตนาการว่าคนทุกคนต่างก็ใช้ชีวิตอย่างสงบ   คุณคงบอกว่าผมเป็นนักฝันแต่ผมก็ไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น  ผมหวังว่าวันหนึ่งคุณจะร่วมฝันกับเรา  และวันนั้นโลกทั้งโลกก็จะเป็นหนึ่งเดียว   ลองจินตนาการว่าไม่มีการครอบครองอะไรทั้งสิ้น  ผมไม่รู้ว่าคุณจะทำได้ไหม  ไม่มีความจำเป็นต้องมีความโลภหรือความหิวโหย  เราทุกคนจะเป็นเหมือนดั่งพี่น้องร่วมโลก  ลองจินตนาการดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนทุกคนแบ่งปันโลกนี้อย่างเท่าเทียมกัน
         
    ผมไม่รู้ว่า VI ผู้มุ่งมั่นและมีอิสรภาพทางการเงินแล้วนั้น  ส่วนใหญ่มีอิสรภาพทางใจมากน้อยแค่ไหนและแนวความคิดของพวกเขาไปในทางไหน  แม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่รู้ว่าตนเองนั้นมีจิตใจที่  “เสรี”  และเป็น  “เสรีชน”  มากน้อยแค่ไหน  ผมรู้เพียงแต่ว่าการเป็น VI ที่มุ่งมั่นคงมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้แนวคิดของผมเปลี่ยนแปลงไปและกลายเป็น  “เสรีชน”  มากขึ้น  ผมเองไม่มั่นใจว่าการเป็นเสรีชนทำให้ผมมีความสุขมากขึ้นหรือไม่  ผมรู้เพียงแต่ว่าผมไม่สามารถที่จะกลับไปเป็นอย่างเดิมที่อยู่ในกรอบของขนบธรรมเนียมที่ผมพยายาม  “หนี”  ออกมาได้

Posted by nivate at 9:53 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/01/27/1391




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 3 Feb 2014

VI-Why?



ถ้าต้องการที่จะเป็น VI ที่เก่งกาจ  ผมคิดว่าเขาจะต้องสร้างนิสัย  “ขี้สงสัย”  ในทุก ๆ  เรื่องแม้แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่เคยแม้แต่คิดว่ามันจะเป็นอย่างอื่นนอกจากสิ่งที่  “รู้กันอยู่แล้ว”  หรือเป็นสิ่งที่คนยอมรับกันอย่างกว้างขวาง    ดังนั้น  สำหรับ VI แล้ว  เขาควรจะต้องหมั่น  “ตั้งคำถาม”  และ  “ตอบให้ได้”  ว่า  ทำไม?  ทำไม? และ ทำไม?  จึงเป็นอย่างนั้นหรือเป็นอย่างนี้  ถ้าตั้งคำถามเป็นและตอบได้ถูกต้อง  โอกาสที่จะเป็นนักลงทุนที่ดีและสร้างผลตอบแทนได้น่าประทับใจในระยะยาวก็เป็นไปได้สูง

          คำถามสำคัญข้อแรกที่ VI ต้องใช้เป็นประจำก็คือ  ทำไมบริษัทถึงกำไรดีกว่าหรือแย่กว่าคู่แข่งหรือบริษัทที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กัน?   โดยที่คำว่ากำไรดีในที่นี้ก็คือ  กำไรต่อยอดขาย หรือ Net Profit Margin

          ความสำคัญของคำถามนี้ก็คือ  กำไรเป็นตัวที่จะบอกถึง “คุณภาพ”  ของธุรกิจ  บริษัทที่กำไรดีกว่าก็มักจะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพสูงกว่า  และบริษัทที่มีคุณภาพสูงกว่าก็มักจะต้องมีค่ามากกว่าถ้าทั้งสองบริษัทมีกำไรคิดเป็นเม็ดเงินเท่ากัน  หรือถ้าจะสรุปก็คือ  บริษัทที่มีกำไรต่อยอดขายสูงกว่าควรจะมีค่า PE สูงกว่าถ้าปัจจัยอย่างอื่นเหมือน ๆ  กัน

          กำไรที่ดีกว่านั้น  จะต้องเป็นกำไรที่ดีกว่าเป็นปกติทุกปีหรือเกือบทุกปี  เช่นเดียวกัน  ธุรกิจนั้นจะต้องคล้ายกันมากหรือเหมือนกัน  ตัวอย่างเช่นเป็นบริษัทที่ทำโรงพยาบาล  หรือขายอาหารแบบภัตตาคารเป็นหลัก  หรือเป็นห้างค้าปลีกประเภทเดียวกัน  หรือเป็นธนาคารหรือธุรกิจหลักทรัพย์  หรือเป็นโรงแรมหรู เป็นต้น

          ถ้าเราพบว่าบริษัทหนึ่งมีกำไรต่อยอดขายที่ดีกว่าคู่แข่งทั้งหลายต่อเนื่องยาวนาน  นี่ก็คือข้อเท็จจริงว่ามันน่าจะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีอย่างแน่นอน  คำถามก็คือ  ทำไม?  อะไรทำให้มันดีกว่าคู่แข่ง?  และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  สิ่งที่ทำให้มันดีกว่าคู่แข่งนั้นจะมีอยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน?

          คำตอบของแต่ละบริษัทและในแต่ละธุรกิจนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน  บางทีอาจจะเป็นเรื่องของคุณภาพหรือยี่ห้อที่ทำให้คนยอมจ่ายราคาที่สูงขึ้นทำให้บริษัทมีกำไรดีกว่าปกติหรือดีกว่าคู่แข่ง  บางทีอาจจะเกิดจากการที่ต้นทุนของบริษัทต่ำกว่าปกติหรือต่ำกว่าคู่แข่งเนื่องจากบริษัทมียอดขายสูงกว่าบริษัทอื่นมาก  ทำให้มี Economies of Scale สูงกว่าคู่แข่งโดยทั่วไป   และในทั้งสองกรณีเราต้องถามต่อไปว่า  ถ้าเป็นเรื่องของคุณภาพหรือยี่ห้อนั้น  บริษัทจะยังรักษาให้โดดเด่นต่อไปได้มากน้อยและนานแค่ไหน  หรือถ้าเป็นเรื่องของต้นทุน  จะมีบริษัทอื่นหรือคู่แข่งสามารถสร้างยอดขายหรือปรับกระบวนการผลิตจนทำให้มีต้นทุนเท่ากับบริษัทผู้นำได้หรือไม่  เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องถามและหาคำตอบที่ถูกต้อง

          คำถามที่อาจจะได้ถามบ่อย ๆ ข้อสองก็อาจจะเป็นเรื่องของการเติบโตของบริษัท  ทั้งในด้านของยอดขายและกำไร  ถ้าบริษัทเติบโตเร็วและ/หรือเติบโตต่อเนื่องยาวนาน  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?  และมันจะโตต่อไปอีกมากน้อยและนานแค่ไหน?

         คำว่าเติบโตนั้น  เราก็ต้องรู้ว่ามันจะต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ  เช่น  มันควรจะเป็นการเติบโตจากภายในหรือ  Organic Growth นั่นคือ  โตจากการขยายงานหรือเพิ่มลูกค้าของบริษัทเอง  ไม่ใช่ไปซื้อกิจการมา  การเติบโตของกำไรก็ควรจะต้องเป็นการเติบโตของกำไรต่อหุ้นไม่ใช่กำไรโตขึ้นแต่ต้องเพิ่มทุนมากกว่า  ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง  นอกจากนั้น  การที่ยอดขายโตแต่กำไรกลับลดลงหรือโตน้อยกว่ามากก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์อะไรนัก   สรุปก็คือ  ต้องกำหนดให้ชัดเจนเสียก่อนว่าบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ  นั่นก็คือ  มียอดขายและกำไรเติบโตสอดคล้องกันต่อเนื่องยาวนานอาจจะไม่ต่ำกว่า 3-4 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย  และเหตุผลที่มันเติบโตก็คือ…

          คำตอบของคำถามว่าทำไมบริษัทจึงโตจะช่วยบอกให้เรารู้ว่ามันจะโตต่อไปหรือไม่และจะโตไปได้อีกแค่ไหน?

          บางทีอาจจะเป็นว่าบริษัทโตเพราะอุตสาหกรรมหรือธุรกิจนั้นโตขึ้น  โดยที่บริษัทก็โตไปกับอุตสาหกรรมโดยที่ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทก็คงเดิม  แบบนี้เราก็ต้องดูว่าอุตสาหกรรมจะโตไปได้อีกมากน้อยแค่ไหนซึ่งก็จะทำให้เราพอจะรู้หรือคาดได้ว่าบริษัทจะโตไปอีกเท่าไรในกรณีที่บริษัทยังสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้เท่าเดิม   บางทีอาจจะเป็นว่าบริษัทโตขึ้นเนื่องจากสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งมากขึ้นเนื่องจากคู่แข่งนั้นเป็นบริษัทที่ดำเนินการด้วยเทคโนโลยีหรือรูปแบบธุรกิจที่กำลัง  "ล้าสมัย”  ไม่สามารถแข่งขันได้  และดังนั้นจะค่อย ๆ  ลดจำนวนและปริมาณลงไปเรื่อย ๆ  โดยที่บริษัทก็จะเข้าไปแย่งตลาดมาเป็นของตนเองจนมีขนาดใหญ่ขึ้นไปถึงระดับหนึ่งซึ่งพอจะคาดการณ์ได้  หรือบางทีการเติบโตของบริษัทนั้น  อาจจะขึ้นอยู่กับฝีมือหรือความสามารถของบริษัทเองในการที่จะโตเนื่องจากตลาดนั้นอาจจะใหญ่มากแทบไม่มีข้อจำกัด  ถ้าเป็นแบบนี้  เราก็คงต้องวิเคราะห์ดูว่าบริษัทจะมีความสามารถและทรัพยากรที่จะโตต่อไปอีกมากน้อยแค่ไหน

             สำหรับ VI แล้ว  เมื่อเราพบกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ  ที่อาจจะกระทบกับการลงทุน  เราควรจะต้องถามว่า  ทำไมมันถึงเกิดแบบนั้น?  ตัวอย่างเช่น  เรื่องของการเมืองที่กำลังวิกฤติอยู่ในช่วงนี้  แทนที่จะดูว่าใครพูดหรือทำอะไรและเกิดเหตุการณ์รุนแรงอะไรบ้าง  เราควรจะต้องถามคำถามว่า  ทำไมประเทศไทยจึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้?   เราควรจะวิเคราะห์  “ภาพใหญ่” ที่เป็นเรื่องของ  “ระบบ” ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุหรือสถานการณ์ต่าง ๆ    ตัวบุคคลหรือข้อขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของ “ภาพเล็ก” ที่เป็นผล  ไม่ใช่  สาเหตุ   ดังนั้น  ถ้าเราตอบคำถามได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้การเมืองเป็นแบบนี้ได้  เราก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องขึ้นว่าสุดท้าย  หรืออนาคต  การเมืองของไทยจะเป็นอย่างไรและมันจะกระทบกับบริษัทต่าง ๆ  อย่างไร

           เรื่องของเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน  คำถามอาจจะต้องเริ่มจากคำว่า  ทำไม?  เช่น  ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงเติบโตต่อเนื่องมาช้านานและเอื้ออำนวยกับบริษัทจดทะเบียนให้เติบโตขึ้นส่งผลให้การลงทุนในหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมมาในช่วงเกือบ 40 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นถึงประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งก็เป็นอัตราที่ดีในระดับ “ยอดเยี่ยม” ทีเดียว  และคำตอบที่ได้ก็จะช่วยบอกเราว่าตลาดหุ้นไทยจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีต่อไปอีกมากน้อยแค่ไหน
          คำถามว่า  ทำไม?  นั้น  การที่จะตอบได้ดีและถูกต้อง  บ่อยครั้งเราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งต่าง ๆ มากมายรวมถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ  ประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง  และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญมากทีเดียว  ว่าที่จริงในระยะหลัง ๆ  นี้  เวลาที่ผมใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งต่าง ๆ  รวมกันนั้นมากกว่าเวลาในการศึกษาเรื่องของการลงทุนโดยตรงหลายเท่า  เหตุผลสำคัญที่ผมทำอย่างนั้นก็เพื่อที่จะตอบคำถามว่า  Why? ทำไม?  มันจึงเป็นอย่างนั้น     

Posted by nivate at 10:14 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/03/1394





ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 10 Feb 2014

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย

ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก  มีบทกลอนที่ทำนายถึงอนาคตของประเทศไทยบทหนึ่ง  ซึ่งลงท้ายด้วยคำว่า  “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย  น้ำเต้าน้อยจะถอยจมลง”  ความหมายกว้าง ๆ  ก็คือ  คนที่ “ต่ำต้อยไร้ค่า” ในคำนิยามสมัยนั้น  จะมีอำนาจวาสนาขึ้น  ในขณะที่คนที่ “สูงศักดิ์” กว่า  จะถดถอยตกต่ำลง   คำทำนายนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันที่เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ  โดยเฉพาะในทางการเมือง  ก็มักจะมีคนยกขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ในการชักนำความคิดคนอ่านหรือคนฟังให้เป็นคุณกับฝ่ายตน  อย่างไรก็ตาม  ในบทความนี้  ผมจะใช้ในความหมายที่เป็นกลาง  นั่นก็คือ  สิ่งที่ด้อยกว่าจะเติบโตโดดเด่นขึ้น  ในขณะที่สิ่งที่ดีเด่นกว่าจะถดถอยลง-ในทางเศรษฐกิจและหุ้น

             เริ่มต้นที่ประเทศต่าง ๆ  ในโลกนี้  ย้อนหลังไปไกลอาจจะซัก 40 ปีขึ้นไป  โลกของเราในขณะนั้นดูเหมือนว่าจะถูก “ครอบงำ”  โดยประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งก็คือ  ประเทศซีกโลกด้านตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส   ต่อมา  เยอรมันและญี่ปุ่นก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย   สัดส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกนั้นดูเหมือนว่าจะตกอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว   ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนานั้นน่าจะโตช้าหรือบางประเทศถึงกับถดถอยลง  พูดง่าย ๆ  ประเทศที่จนอยู่แล้ว  ยิ่งจนลง  ปัญหาใหญ่ก็คือ  ประเทศเหล่านั้นมีเด็กเกิดใหม่มาก  พูดกันในสมัยนั้นก็คือ  “ลูกมากยากจน”  ประเด็นสำคัญก็คือ  ประเทศขาดคนที่มีความรู้  เทคโนโลยีในการผลิต  ทุน  และผู้ประกอบการที่จะสร้างผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง  ดังนั้น  คนที่มีอยู่มากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ไม่มีประโยชน์  ตรงกันข้าม  กลับเป็น “ภาระ”  ที่ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น

            ต่อมาเมื่อโลก “เปิดกว้าง” ขึ้น  ผลจากความสงบ  ปราศจากสงคราม  ทั้งสงครามเย็นและสงครามร้อนของประเทศมหาอำนาจ  ประเทศต่าง ๆ  ก็เริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนมากขึ้น  การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มต้นขึ้นอย่างคึกคักโดยเฉพาะประเทศในเอเซียซึ่งนำโดยประเทศ  “เสือแห่งเอเซีย”  ที่มีประชากรน้อยและอยู่ในกลุ่มโลกเสรีในช่วงสงครามเย็นที่โลกยังไม่เปิดกว้างทั้งหมด  ต่อมาก็คือประเทศในเอเชียที่มีประชากรมากอย่างจีน  และอินเดีย ที่ได้เปิดประเทศเต็มที่หลังจากสงครามเย็นสงบลง   การเปิดประเทศนั้นทำให้ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาทำการผลิตได้โดยสะดวก  ปัญหาเรื่องความรู้  เทคโนโลยี  ทุน  และแรงงานหมดไป  ดังนั้น  การผลิตและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  ผลก็คือ  เศรษฐกิจของประเทศยากจนที่  “เปิดประเทศ”  จึงเติบโตเร็วอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็น Emerging Economy ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นทุกที ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วโตช้าลงไปมากเนื่องจากระดับการพัฒนาที่สูงอยู่แล้วกอร์ปกับการที่ประชากรไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

             “กระเบื้อง” ชิ้นใหญ่มโหฬารอย่างจีนได้เฟื่องฟูขึ้นมาแล้วและน่าจะยังขึ้นต่อไป  กระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ อีกหลายชิ้นข้างบ้านเราเช่น  เวียตนาม  พม่า  กัมพูชา  ลาว  กำลัง  “เปิดประเทศ”  ซึ่งจะนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นกระเบื้องที่จะเฟื่องฟูลอยต่อไป  และนี่ก็คือจุดที่ประเทศไทยควรจะต้องเข้าไป  “เกาะ” หรือเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่จะส่งเสริมให้เรามีความก้าวหน้าหรือมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเมื่อคำนึงถึงว่าประชากรของเราไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว    ประเด็นปัญหาของเราที่อาจจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าไปมีบทบาทที่คึกคักในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็คือ  “ปัญหาทางการเมือง”  และการบริหารประเทศที่ทำให้รัฐไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินการที่เหมาะสม  ตัวอย่างที่เห็นชัดในช่วงนี้ก็คือ  ระบบการขนส่งและ Logistic ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น  ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องใช้เวลาอีก 20 ปีเพื่อเชื่อมต่อรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน  เราจะเหลืออะไรเมื่อ  “กระเบื้อง” ทั้งหลายได้เฟื่องฟูไปหมดแล้ว?

               ผมพูดแต่เรื่องนอกบ้านซึ่งยังห่างไกลจากประเด็นของการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่บ้าง  แต่ “กระเบื้อง” ไม่ได้มีเฉพาะในต่างประเทศ  “กระเบื้อง” ที่อยู่ในบ้าน  หรือคนไทยที่ด้อยกว่าทางด้านเศรษฐกิจในประเทศไทยเองก็มีมากมาย  ว่าที่จริง ในอดีตย้อนหลังไป 40-50 ปี นั้น  ต่างจังหวัดทั้งหมดของประเทศไทยมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจน้อยมากเมื่อเทียบกับกรุงเทพ  จนคนแทบจะพูดกันว่า    “กรุงเทพก็คือประเทศไทย”  ต่อมา  อาจจะราว ๆ  20-30 ปีที่ผ่านมาเมื่อผมเริ่มทำงานที่เกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ  ตัวเลขที่ผมรู้สึกว่าเป็น “Magic Number”  หรือตัวเลข “อัศจรรย์” ก็คือ  กรุงเทพและปริมณฑลมักจะมียอดรวมของยอดขายของสิ่งต่าง ๆ  ประมาณ 50%  ส่วนต่างจังหวัดที่มีมากถึง 50-60 จังหวัดมีสัดส่วนรวมกันเท่ากับ 50%  เหมือนกัน  ตัวอย่างเช่น  ยอดขายรถยนต์  ยอดขายเทปเพลง  และอื่น ๆ  อีกมาก

              ประมาณซัก 10-20 ปีที่ผ่านมา  อาการกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอยของจังหวัดหัวเมืองของไทยก็เริ่มขึ้น   การเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั้งหลายโดยเฉพาะที่เป็นขนาดใหญ่เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี  ต่อมาก็เป็นธุรกิจรถยนต์  นี่ยังไม่นับอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออกทั้งหลายที่ถูกย้ายมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น  นั่นส่งผลให้จังหวัดชายทะเลที่เป็นท่าเรือน้ำลึก เช่น ชลบุรีและระยองเติบโตขึ้นมหาศาล  รายได้ต่อหัวสูงขึ้นเท่าเทียมหรือสูงกว่ากรุงเทพ  ต่อมาการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก็ส่งผลให้จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ  เช่น  ภูเก็ต  เชียงใหม่  ชลบุรี  ประจวบคีรีขันธ์ เติบโตขึ้นมากจากธุรกิจที่ให้บริการนักท่องเที่ยว  คนในจังหวัดเหล่านี้มีรายได้และพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ต่างจากกรุงเทพเท่าใดนัก  เวลาต่อมาเมื่อแรงงานเป็นที่ต้องการมากขึ้น จังหวัดที่มีคนมากและระยะทางไม่ห่างจากกรุงเทพหรือท่าเรืออย่างเช่นโคราชก็เริ่มมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากขึ้น  และสุดท้ายที่ดูเหมือนว่าจะเป็น  “คลื่นลูกล่าสุด”  ก็คือจังหวัดที่เป็นชายแดนทางผ่านติดต่อกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเปิดประเทศ  เช่น  อุดรธานี  แม่สอด  อรัญประเทศ  เชียงราย  ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอานิสงค์จากการค้าขายกับประเทศเหล่านั้นที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด  การค้าขายผ่านชายแดนรวมกันน่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่าการค้าขายกับประเทศใหญ่ ๆ  ของโลกแล้ว

              ตัวเลขกรุงเทพ 50% และต่างจังหวัด 50% นั้น  ขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ต่างจังหวัดของไทยโตเร็วขึ้นขณะที่กรุงเทพโตช้าลง  ธุรกิจหลาย ๆ  อย่างเริ่มจะอิ่มตัว  ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 เคยมีจำนวนร้าน 50% ในกรุงเทพขณะนี้กลายเป็น 45% และที่เปิดใหม่ก็เปิดในต่างจังหวัดมากกว่า  เช่นเดียวกัน  ชอปปิงมอลอย่างห้างของเครือเซ็นทรัลในระยะหลัง ๆ ต่างก็เปิดในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพ  สิ่งที่ตามก็คือร้านค้าทั้งหลายที่ขายสินค้าระดับสูงรวมไปถึงภัตตาคารที่ขายอาหารราคาสูงก็ขยายไปในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพ  ว่าที่จริงบริษัทที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคที่ยังเติบโตได้ในเวลานี้  ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องเน้นไปที่ต่างจังหวัดแทบทุกบริษัท   ครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีเวลาว่างหลังจากการบรรยายและได้ไปเดินเล่นในห้างเซ็นทรัลที่เชียงใหม่  ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ   มันแทบจะไม่ต่างจากชอปปิ้งมอลที่กรุงเทพเลย  และทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผมสรุปว่า  “กระเบื้อง” ในประเทศไทยนั้นกำลังเฟื่องฟูลอย  กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไป

             ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น  ข้อสรุปรวบยอดของผมก็คือ  “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย  น้ำเต้าน้อยจะถอยจมลง”  นั้น  กำลังเป็น “เมกาเทรนด์”  ในหลาย ๆ  สิ่งของโลกและของประเทศไทย  การวิเคราะห์หุ้นของเราจะต้องตระหนักในเรื่องนี้       
 
Posted by nivate at 2:04 PM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/10/1398




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 17 Feb 2014

โอกาสลงทุน


นักลงทุนระยะยาวที่เป็น Value Investor นั้น   โดยปกติมักจะไม่ใคร่ทำอะไรกับการซื้อ-ขายหุ้นมากนัก  เขาจะ “ขยับ” ก็ต่อเมื่อมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวหุ้นหรือสภาวะแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อตัวกิจการหรือบริษัทจดทะเบียน  การขายหุ้นนั้น  โดยปกติก็มักจะเกิดจากการที่กิจการมีพื้นฐานที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ  หรือไม่ก็ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจนแพงเกินพื้นฐานอย่างเห็นได้ชัด  หรือไม่ก็เพราะเขาพบหุ้นตัวอื่นที่มี Value หรือคุณค่าดีกว่ามากแต่เขาไม่มีเงินสดในมือที่จะซื้อมันได้   ส่วนการซื้อหุ้นนั้น  เขามักจะทำก็ต่อเมื่อเขาพบ  “โอกาสในการลงทุน”  ในหุ้นของบริษัทที่มีคุณสมบัติดีเด่นในระยะยาวที่มีราคาหุ้นที่เหมาะสมหรือราคาถูกกว่าพื้นฐาน
           หุ้นที่มีคุณสมบัติดีเด่นในระยะยาวนั้นควรมีคุณสมบัติหลาย ๆ  ข้อที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ:

          ข้อแรก  สินค้าหรือบริการของบริษัทจะต้องมีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งโดยตรงอย่างเห็นได้ชัด  นั่นก็คือ  มันเป็นสิ่งที่ลูกค้าเลือกที่จะใช้มากกว่าคู่แข่ง  คนใช้รู้สึกมีความภูมิใจหรือมีความรู้สึกที่ดีที่ได้ใช้  ถ้าจะพูดง่าย ๆ  ก็คือ  มันเป็นยี่ห้อยอดนิยมมานานที่ผู้คนหรือคนที่ใช้ส่วนใหญ่ต่างก็ชอบและมีความเชื่อมั่นในคุณสมบัติของมันจนไม่อยากจะเลือกยี่ห้ออื่นถ้าทั้งสองต่างก็สะดวกที่จะซื้อเหมือน ๆ  กัน   ประเด็นสำคัญก็คือ  ยี่ห้อนั้น  ไม่ใช่เพียงแต่เป็นยี่ห้อที่คนรู้จักกันแพร่หลายเท่านั้น  แต่ต้องเป็นยี่ห้อที่คนเลือกที่จะซื้อหรือใช้บริการเหนือกว่ายี่ห้ออื่นอย่างชัดเจน  นอกจากเรื่องของยี่ห้อแล้ว  กิจการที่โดดเด่นที่คู่แข่งต่อสู้ได้ยากก็คือ  บริษัทที่สามารถ  “ล็อค”  ลูกค้าให้อยู่ในมือได้ยาวนานโดยที่คู่แข่งเข้ามาแย่งธุรกิจไม่ได้หรือแย่งได้ยาก   อาจจะเพราะว่าบริษัทเป็นรายเดียวหรือน้อยรายที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการในกิจการที่เป็นสาธารณูปโภค  หรือบริษัทอาจจะควบคุมหรือได้ทำเลของสถานที่ให้บริการที่ดีเด่นกว่าที่คู่แข่งไม่สามารถหาได้แล้วเนื่องข้อจำกัดทางด้านที่ดิน  เหล่านี้เป็นต้น

          ข้อสอง  คุณสมบัติที่ดีเด่นในระยะยาวของกิจการก็คือ  มันเป็นกิจการที่ทำกำไรได้สูงวัดจากกำไรต่อยอดขายเมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยตรง  และกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงกว่า 15% ต่อปีต่อเนื่องยาวนาน  ยิ่งสูงก็ยิ่งดี

          ข้อสาม  บริษัทต้องขายสินค้าหรือบริการที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่ดี  นั่นอาจจะหมายความว่า  บริษัทขายสินค้าเป็นเงินสดและจ่ายเจ้าหนี้การค้าเป็นเงินเชื่อระยะยาว  บริษัทมีสินค้าคงคลังน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายหรือแทบไม่มีสินค้าคงคลังเลยเนื่องจากเป็นงานบริการ  บริษัทไม่ต้องลงทุนในการ  Maintain หรือบำรุงรักษาทรัพย์สินถาวรที่ใช้ในการให้บริการมากนัก  และสุดท้ายก็คือ  ถ้าบริษัทขยายงานหรือขยายกำลังการผลิตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทรัพย์สินถาวรหรือเพิ่มน้อย  แบบนี้ก็จะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทดีเยี่ยมขึ้นไปอีก

          ข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  กิจการยังมีการเติบโตต่อไปอีกยาวนานเนื่องจากตลาดเดิมยังไม่อิ่มตัวและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพกำลังเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนและชัดเจนและจะต่อเนื่องไปอีกนานเนื่องจากตลาดเหล่านั้นจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          หลังจากการกำหนดตัวกิจการที่เข้าข่ายเป็นหุ้นดีที่เหมาะสมจะลงทุนระยะยาวได้แล้ว  สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ  รอโอกาสที่จะซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสม  ซึ่งโดยปกติมักจะเกิดขึ้นไม่ง่าย  เหตุก็เพราะว่าหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นของกิจการที่คนเชื่อหรือยอมรับกันว่าเป็นบริษัทที่ดี  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็มักจะไม่ถูก  ค่า PE ก็มักจะสูงกว่าค่า PE เฉลี่ยของตลาด  หรือของบริษัทที่ดีเหมือนกันแต่ไม่ใช่บริษัทที่ดีเลิศ  เช่น  มีคุณสมบัติดีบางข้อแต่ขาดบางข้อ  หรือเป็นกิจการที่กำไรเติบโตเร็วอย่างเดียวแต่ความแข็งแกร่งหรือกระแสเงินสดไม่ดี  เป็นต้น  โอกาสที่หุ้นชั้นเยี่ยมจะมีราคาลดลงมาจนเหมาะสมที่จะลงทุนนั้นมักจะเกิดจากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ดังต่อไปนี้

           เรื่องแรกที่มักจะเป็น  “โอกาสทอง”  ก็คือ  เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้บริษัทเสียหาย  ไม่ว่าจะเกิดจากสถานการณ์แวดล้อมหรือเกิดจากความผิดพลาดของผู้บริหารซึ่งทำให้กำไรของบริษัทลดลงมาก  บางทีอาจจะถึงกับขาดทุน  แต่นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว  พื้นฐานของกิจการไม่เปลี่ยนแปลง  หรือเหตุการณ์นั้นสามารถแก้ไขได้ค่อนข้างแน่นอนในอนาคตไม่ไกลนัก  อย่างไรก็ตาม  ราคาหุ้นตกลงมามากจนต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ  กรณีอย่างนี้  เราต้องไม่รีรอที่จะซื้อหุ้นและถือไว้  อย่างน้อยจนกระทั่งบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว

           เรื่องที่สองที่มักเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นก็คือ  ตลาดหุ้นตกต่ำลงมามากและทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีเลิศตกต่ำลงไปด้วยจนคุ้มค่าที่จะซื้อลงทุนระยะยาว   กรณีแบบนี้ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะเข้าไปลงทุน   เพราะถ้าสภาวะตลาดปรับตัวดีขึ้นแล้ว  ราคาหุ้นของบริษัทที่ดีเลิศก็มักจะปรับขึ้นไปด้วย  ประเด็นก็คือ  ในบางครั้งที่ดัชนีตลาดตกต่ำลงแรงนั้น  หุ้นของบริษัทที่ดีเลิศอาจจะไม่ใคร่ตกลงมามากนักเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น  ๆ  ผลก็คือ  โดยเปรียบเทียบแล้ว  บางทีเราก็อาจจะอยากซื้อหุ้นตัวอื่นมากกว่า  โดยอาจจะหวังว่าเมื่อตลาดปรับตัวขึ้น  เราจะได้กำไรจากหุ้นตัวที่ปรับลดลงแรงกว่า  อย่างไรก็ตาม  โอกาสลงทุนหุ้นดีในระยะยาวในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวแรงนั้น  เป็นโอกาสที่เกิดได้บ่อยพอสมควรในตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีหุ้นผันผวนแรง

          เรื่องที่สามที่เป็นโอกาสในการลงทุนในหุ้นสุดยอดก็คือ  ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอย  ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นซบเซาและราคาหุ้นไม่ไปไหนมานาน  ราคาหุ้นที่ดีเลิศเองก็นิ่งมานานและมีแนวโน้มตกลงมาเนื่องจากผลประกอบการที่เติบโตน้อยลงอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปของนักลงทุนต่อคุณสมบัติของกิจการในประเด็นของการเติบโตของบริษัท  ผลก็คือ  ค่า PE ของบริษัทปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่หุ้นกำลังร้อนแรง  ถ้าเรามองดูแล้วพบว่าเศรษฐกิจในที่สุดก็จะฟื้นตัว  การเติบโตของบริษัทจะกลับมาเหมือนเดิมในไม่ช้าอย่างแน่นอนเนื่องจากการขยายตัวของตลาดที่มีศักยภาพสูงที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแบบเป็นเมกาเทรนด์  ในกรณีอย่างนี้   เราก็สามารถ  “ทยอย” ซื้อหุ้นที่มีคุณสมบัติดีที่เราต้องการจะถือยาว  เมื่อซื้อครบแล้วก็รอไปเรื่อย ๆ  จนกว่าภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะดีขึ้นและนั่นก็มักจะทำให้หุ้นชั้นยอดปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง  เราต้องมีความมั่นใจว่า  หุ้นของบริษัทที่แข็งแกร่งและมีคุณสมบัติที่ดีมากนั้น  จะต้องกลับมาเป็นหุ้นที่โดดเด่นเสมอโดยเฉพาะในช่วงที่ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดีวันหนึ่งวันใดในอนาคต
           ผมเองคิดว่า  เรื่องที่สามดังกล่าวนั้น  กำลังเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ก่อนหน้านี้ที่หุ้นร้อนแรงมากทำให้หุ้นที่ดีเลิศมีราคาขึ้นไปสูงมากและอาจจะทำให้มีราคาที่ไม่เหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว  ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้หุ้นคุณภาพดีเลิศปรับตัวลง  ถ้าบริษัทเหล่านั้นเป็นกิจการที่มีคุณสมบัติครบ  ซึ่งรวมถึงการเติบโตที่น่าจะยังไปต่อได้อีกมากโดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดของไทยที่บริษัทยังไม่ได้เข้าไปอีกมาก  ผมคิดว่าบริษัทเหล่านั้นจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเข้าไปซื้อลงทุนระยะยาว  ผลตอบแทนที่จะตามมาเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ  กลับมาเป็นปกติน่าจะอยู่ในอัตราที่ใช้ได้โดยที่ความเสี่ยงอาจจะไม่สูงนัก

Posted by nivate at 10:41 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/17/1400




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com
กฏมา10ข้อ ของแม่ทัพสุมาอี้ พี่นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

1. ซื้อก็ต่อเมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลจนมั่นใจว่ามูลค่าตลาดของหุ้นตัวนั้นต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคตทั้งหมดที่คาดหวังได้ของบริษัทเท่านั้น ซึ่งถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริง ซื้อมาแล้วไม่ต้องขายเลยก็ยังกำไร (กฎข้อนี้สำคัญมากห้ามผ่าฝืนเด็ดขาด)

2. ทิศทางของราคาหุ้นเป็นสิ่งที่ไม่มีทางทำนายได้ อย่าพยายามทำกำไรด้วยการ BLASH การเทรดหุ้นทุกวันเปรียบเสมือนการกระโจนเข้าใส่เครื่องบดเนื้อ

3. ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์บริษัทและอุตสาหกรรมให้มากที่สุด ไม่ต้องให้ความสำคัญกับการทำนายทิศทางเศรษฐกิจมหภาค เรือทุกลำต้องเผชิญพายุเหมือนกันหมด จงพยายามเลือกเรือลำที่ดีที่สุดแทนที่จะพยายามคาดเดาว่าพายุจะมาเมื่อไร

4. ราคาหุ้นไม่มีความสัมพันธ์กับกำไรในปัจจุบันแต่จะวิ่งไปตามความเชื่อของตลาดว่าพรุ่งนี้กำไรของบริษัทจะเป็นเท่าไร หุ้นที่ขึ้นไม่ใช่หุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี แต่หุ้นที่ขึ้นคือหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดีในวันนี้แต่กำลังจะดีขึ้นวันหน้าหรือหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดีอยู่แล้วและจะดีขึ้นไปอีก

5. หุ้นบูลชิพที่เติบโตช้า แม้ downside จะต่ำ -20% แต่ upside ก็ต่ำด้วย +20% หุ้นเติบโตสูงจึงน่าลงทุนมากกว่าเพราะแม้ว่า downside ของมันอาจจะมากถึง -100% แต่ upside ของมันไม่มีขีดจำกัด (อาจเป็น 200% 500% 1000%...) พอร์ตที่มีหุ้นเติบโตสูงหลายๆ ตัวแม้จะผันผวนมากกว่าแต่จะวิ่งได้ไกลกว่าพอร์ตที่เต็มไปด้วยหุ้นบูลชิพในระยะยาวๆ

6. อย่าให้ความสำคัญกับ dividend yield มากนัก เพราะไม่มีกฎว่าบริษัทต้องจ่ายเงินปันผลเท่าเดิมทุกปี จงสนใจว่าบริษัทเอา retained earnings ไปลงทุนทำอะไรมากกว่า มูลค่าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบริษัทลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเท่านั้น

7. หุ้นเป็นหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนคุ้มค่ากับการเสี่ยงมากที่สุด อย่าเสียเวลาคิดว่าควรแบ่งเงินไปลงตราสารหนี้เท่าไรหุ้นเท่าไร เงินส่วนใหญ่ของคุณควรอยู่ในหุ้นกับเงินสดตลอดเวลา อย่ากลัว market crash เพราะในระยะยาวๆ ไม่มีตลาดหุ้นไหนในโลกที่ไม่สามารถกลับมาสูงกว่าจุดสูงสุดเดิมได้ เพราะเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยมโตต้องขึ้นเรื่อยๆ

8. จงละเลยหุ้นที่มีประวัติเรื่องเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือมีพฤติกรรมดูแลราคาหุ้นแม้แต่ครั้งเดียว ราวกับว่าบริษัทเหล่านั้นมิได้ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

9. โอกาสในตลาดหุ้นไม่ได้มีมากขนาดหาได้ทุกวันมิฉะนั้นผู้คนคงเลิกทำงานประจำ บริษัทคงเลิกนำเงินไปลงทุนนอกตลาด ในบรรดาหุ้น 20 ตัวที่คุณอยากซื้อในหนึ่งปี จงใช้เงินทั้งหมดที่มีอยู่ซื้อแค่ 1-2 ตัวที่คุณคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดใน 20 ตัวนั้น คุณจะพบว่าคุณจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการแบ่งเงินออกเป็น 20 ส่วนเพื่อซื้อทั้ง 20 ตัว

10. นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จร้อยทั้งร้อยมีความคิดที่เป็นอิสระ ถ้าคุณจอดรอไฟแดงอยู่ที่สี่แยกที่ไม่มีรถวิ่งอยู่ แต่รถคันหลังรุมกดดันคุณด้วยการบีบแตรไล่ให้คุณวิ่งออกไปเลย ถ้าคุณไม่สนใจแรงกดดันนั้นและรอจนไฟเขียวจึงค่อยไป คุณมีแนวโน้มที่จะเล่นหุ้นแล้วประสบความสำเร็จครับ

ทุกวันนี้blogของท่านแม่ทัพก็ไปติดอยู่ที่settrade
เป็นblogที่น่าอ่านมากครับ
http://portal.settrade.com/blog/1001ii/


ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 24 Feb 2014

ก้าวกระโดดของตลาดหุ้นไทย


ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา  หรือตั้งแต่สิ้นปี 2543 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้   ตลาดหุ้นไทยมีการพัฒนามาอย่าง  “ก้าวกระโดด” ในเกือบทุกด้าน

             เริ่มตั้งแต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ปิดที่ประมาณ 269 จุดตอนสิ้นปี 2543 ได้ปรับขึ้นมาเป็นประมาณ 1300 จุดเมื่อสิ้นปี 2556 หรือเติบโตขึ้นเกือบ 4 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยปีละประมาณ 13%   และถ้ารวมปันผลอีกปีละประมาณ 3% ก็จะเห็นว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้นให้ผลตอบแทนถึง 16% ต่อปีแบบทบต้น  ถ้าเราลงทุนระยะยาวต่อเนื่องมาตลอดโดยถือกองทุนรวมอิงดัชนีตลาด  เงิน 1 บาทจะกลายเป็นเงินเกือบ 7 บาท ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีและหาได้ยากมาก  โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงแรกตั้งแต่เปิดตลาดในช่วงต้นปี 2518 จนถึงสิ้นปี 2543 ที่ดัชนีปรับขึ้นน้อยมาก   กล่าวคือ  ในช่วงเวลา 26 ปี  ดัชนีตลาดปรับขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละประมาณ  3.9%  แบบทบต้น  ดังนั้นต้องถือว่าในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมานั้น  ดัชนีตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นอย่าง  “ก้าวกระโดด”  และนี่ก็ตรงกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2540

               การฟื้นตัวหรือการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์นั้น  ไม่ได้เกิดเฉพาะกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น  เพราะหลังจากภาวะวิกฤติและทุกอย่างเริ่มฟื้นตัวในปี 2544  สิ่งต่าง ๆ  ในตลาดหุ้นก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ  ทุก ๆ  อย่างกำลังดีขึ้นอย่าง  “ก้าวกระโดด”  ในความรู้สึกของผม

            นักลงทุนที่เข้ามาหลังจากปี 2543 นั้น  ผมคิดว่ามี Profile  หรือมีคุณสมบัติหรือมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากนักลงทุนที่  “เล่นหุ้น”  อยู่ในตลาดก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ  เพราะพวกเขากลายเป็น  “นักลงทุน”  ที่เน้นการเลือกซื้อหุ้นที่มี  “พื้นฐาน”  การดำเนินงานที่ดี  หุ้นที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนหรือมีกำไรต่ำ  มีผลประกอบการไม่แน่นอน  หุ้นมีการ  “ปั่น”  โดยนักลงทุน  “ขาใหญ่”  ที่เคยเป็นหุ้น  “ยอดนิยม”  นั้น  หมดความนิยมลงไปอย่างสิ้นเชิง  นักลงทุนหน้าใหม่นั้น  ไม่ใช่  “นักเก็งกำไร” ที่เข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อที่จะ  “เสี่ยงโชค”  อีกต่อไป   พวกเขาคือคนที่มีเงินเหลือเก็บที่ต้องการสร้างผลตอบแทนให้แก่เงินที่พวกเขาอาจจะต้องเก็บไว้เพื่อการเกษียน   พวกเขาคิดว่าการฝากเงินในสถาบันการเงินที่  “ปลอดภัย”  นั้น  “ไม่คุ้มค่า”  เพราะดอกเบี้ยแต่ละปีที่ได้รับนั้นต่ำมาก  ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่เคยสูงกว่า 10% ต่อปีก่อนวิกฤติลดลงมาเรื่อย ๆ  เหลือ 6% ในปี 2542  4% ในปี 2543  3.5% ในปี 2544 และหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำกว่า 3% มาเกือบทุกปีในช่วงเวลา 13 ปี

            นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย “รุ่นใหม่” นั้น  จำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่  กินเงินเดือนในบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่  พวกเขาเป็นคนที่มีการศึกษาสูงและมีความคิดที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกับคนรุ่นก่อน  พวกเขาเป็นคน “Gen- X” ที่มีความคิด “เสรี” กล้ารับความคิดใหม่ ๆ  ในทุกด้านของสังคม  และสำหรับเรื่องของเงินทองแล้ว  พวกเขาไม่เดินตามคนรุ่นก่อนที่มักคิดแต่ว่าหนทางแห่งความมั่งคั่งที่ดีและมีคุณธรรมนั้นจะต้อง  “ท่วมไปด้วยหยาดเหงื่อ”  พวกเขาเชื่อว่าหนทางแห่งความมั่งคั่งนั้นมีมากมายและมันมักจะมาจากความคิดสร้างสรรค์และ—การลงทุน  และพวกเขาก็ค้นพบว่าตลาดหุ้นนั้น  คือแหล่งการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะกับพวกเขาที่สุด  ตลาดหุ้นไม่ใช่แหล่ง  “อบายมุข” สำหรับนักเก็งกำไรหรือนักพนันในสายตาของพวกเขาและสังคมอีกต่อไป   นักลงทุนรุ่นใหม่เลิกพูดว่าตนเอง  “เล่นหุ้น”  แต่เป็น  “นักลงทุน”  คนที่ทุ่มเทและศึกษาการลงทุนเลือกแนวทางการลงทุนใหม่ที่กำลังเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทยที่เรียกว่า Value Investment ที่เพิ่งถูกนำมาเผยแพร่ในตลาดหุ้นไทยหลังวิกฤติตลาดหุ้นเป็นปรัชญาการลงทุนใหม่   “VI” กลายเป็นสัญลักษณ์ของความโดดเด่นของการลงทุน   คุณภาพของนักลงทุนส่วนบุคคลในตลาดหุ้นไทยนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งปริมาณและคุณภาพ

           บริษัทจดทะเบียนก่อนปี 2544 นั้น  ที่มีขนาดใหญ่ดูเหมือนว่าจะมีแต่หุ้นธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก  หุ้นกลุ่มใหญ่ที่มีอยู่ก็มักจะเป็นบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะของโภคภัณฑ์ เช่น บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  และธุรกิจอื่น ๆ ที่มีรายได้และกำไรที่ไม่แน่นอน  เรียกว่าเป็นกิจการที่มี  “คุณภาพต่ำ”  และเหมาะสำหรับ “เก็งกำไร” เท่านั้น   แต่หลังจากการเข้าตลาดของหุ้น  ปตท. ในปี 2546  ก็ดูเหมือนว่าคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  หุ้นจดทะเบียนขนาดใหญ่ของไทยเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น  เรามีกลุ่มพลังงานที่ใหญ่โตเช่นเดียวกับกลุ่มธนาคาร  เรามีหุ้นที่อิงกับการบริโภคที่ไม่ใช่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์  เรามีหุ้นในกลุ่มสื่อสารที่เติบโตขึ้นมาก  เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่มค้าปลีกและอื่น ๆ  ที่มีรายได้และกำไรเติบโตอย่างมั่นคง  หุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 10 อันดับในตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันถึง 7 อุตสาหกรรม

            ไม่เพียงแต่ขนาดและคุณภาพของกิจการเท่านั้นที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างโดดเด่น   Corporate Governance หรือบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนของไทยก็มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่าง  “ผิดหูผิดตา”  ความโปร่งใสของผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่นั้นดีขึ้นมาก  บริษัทขนาดกลางและแม้แต่บริษัทขนาดเล็กก็มีเรื่อง “ฉาวโฉ่”  น้อยลง  กรณีของการ “ปั่นหุ้น” ของผู้บริหารก็ลดลงไปมาก  ว่าที่จริง  CG ของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ได้รับการยกย่องว่าดีระดับต้น  ๆ  ของเอเซียโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอย่างจีนที่ยังมีปัญหามากจนนักลงทุนต่างชาติต่างก็ยังไม่สบายใจนักในการลงทุนในหุ้นจีนโดยเฉพาะในบริษัทที่เจ้าของยังเป็นเอกชน  ดังนั้น  พูดโดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่า  คุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น  เติบโตแบบ  “ก้าวกระโดด”  ในช่วง 13 ปีหลัง

            เรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือ  การหาข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลสำหรับนักลงทุน  นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการพัฒนาไปมากหลังวิกฤติเศรษฐกิจ  เริ่มตั้งแต่เวบไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีการจัดเรียงเป็นระเบียบที่ทำให้สามารถดูและวิเคราะห์ได้อย่างสะดวกย้อนหลังไป 4-5 ปี  รวมถึงข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ที่นักลงทุนสามารถหาเพิ่มเติมได้ทั้งจากเวบของตลาดและเวบของ กลต. ทำให้ตลาดหุ้นไทยนั้น   เป็นตลาดที่นักวิเคราะห์ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษาบริษัทและหุ้นจดทะเบียนได้อย่างสะดวกโดยเฉพาะใน  “ข้อมูลพื้นฐาน”  ที่จำเป็นในการลงทุน   นอกจากนั้น  ตลาดหุ้นไทยยังได้สร้างโปรแกรมประจำที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมาพบกับนักลงทุนที่เรียกว่า  Opportunity Day ซึ่งทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ข้อมูลในรายละเอียดของบริษัท  เข้าใจกลยุทธ์การดำเนินงานและรู้จักกับผู้บริหารซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการลงทุนในแบบที่ถูกต้อง  เท่าที่รู้  ยังไม่เห็นมีตลาดหุ้นที่ไหนในเอเชียที่จะเป็นเพื่อนกับนักลงทุนส่วนบุคคลขนาดนี้

            การให้ข้อมูลความรู้ในบริษัทจดทะเบียนและความรู้ทั่ว ๆ  ไปของตลาดทุนในบ้านเรายังขยายไปถึงสื่อต่าง ๆ  โดยเฉพาะทางทีวีที่เรามีช่องที่เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรงอย่างช่อง  Money Channel  ของตลาดหลักทรัพย์  และยังมีทีวีช่องอื่น ๆ  ที่เน้นการลงทุนค่อนข้างมากอย่างกรุงเทพธุรกิจทีวี  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วก็เกิดขึ้นหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงประมาณ 13 ปีที่ผ่านมา  และผมคิดว่านี่เป็นการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด”  ของเรื่องข้อมูลข่าวสารในการลงทุนของตลาดหุ้นไทย
           ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้น  ตลาดหุ้นไทยได้พัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหลาย ๆ  ด้านที่จำเป็นต่อการลงทุนของนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อย  มันทำให้นักลงทุนค่อนข้างที่จะสบายใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ  อีกหลายตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจพอ ๆ  กัน  และนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมยังยึดกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแม้ว่าราคาหุ้นอาจจะแพงกว่าหุ้นในประเทศอื่น ๆ  โดยเปรียบเทียบในขณะนี้
         
Posted by nivate at 11:40 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/02/24/1402





ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



โลกในมุมมองของ Value Investor         11 กุมภาพันธ์ 55

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

   การวิเคราะห์หุ้นนั้น  เราต้องวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณก่อน  นั่นก็คือ  เขาจะดูตัวเลขผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร  ถ้าดูไม่ดีโดยเฉพาะในปีล่าสุด  เขาก็อาจจะเลิกสนใจไปเลย  ถ้าดูดีหรือดีมาก  เขาก็จะศึกษาต่อทางด้านคุณภาพ  นั่นก็คือ  ดูว่าบริษัทขายอะไร  สินค้าโดดเด่นไหม  แนวโน้มของราคาของสินค้าหรือบริการเป็นอย่างไร  บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหนของอุตสาหกรรม  เป็นต้น   แต่สำหรับผมเองนั้น  ผมมักจะเริ่มต้นวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพก่อน  เริ่มจากการมองด้านการตลาดและต่อเนื่องไปทางด้านต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความได้เปรียบในเชิงแข่งขันของกิจการเทียบกับคู่แข่ง  เมื่อสนใจแล้ว  ผมจึงเริ่มวิเคราะห์ทางด้านปริมาณ  และตัวเลขทางการเงินที่ผมจะดูก่อนเลยก็คือตัวเลขสรุปข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ 4-5 ปี ย้อนหลัง  ที่มีอยู่ในเวบไซ้ต์ของตลาดหลักทรัพย์ set.or.th ของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท  และต่อไปนี้คือการแนวการวิเคราะห์ของผม

   ตัวเลขตัวแรกที่ผมสนใจมากก็คือ  กำไรสุทธิ  สิ่งที่ผมมองก็คือ  ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมากำไรของบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง  ถ้ากำไรของบริษัทนั้น  “ลุ่ม ๆ  ดอน ๆ”  นั่นคือ  บางปีก็กำไร  บางปีก็ขาดทุน  แบบนี้ก็อาจจะบอกได้ว่า  กำไรของบริษัทนั้น  “คาดการณ์ได้ยาก”   ดังนั้น  อนาคตกำไรของบริษัทก็คงไม่แน่นอน  อาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้  ลักษณะแบบนี้ผมก็จะรู้ว่าการหามูลค่าที่แท้จริงทำได้ยากมาก  ดังนั้น  บ่อยครั้งผมก็มักจะปล่อย  “ผ่าน”  ไป   ถ้ากำไรของบริษัทมีความผันผวนพอสมควรทีเดียวแต่ก็ยังกำไรอยู่ทุกปี  แบบนี้ผมก็จะดูว่าปีที่แย่ที่สุดเป็นอย่างไร  ถ้าพบว่าปีที่แย่ก็ยังได้กำไรคิดแล้วเท่ากับ  10%ของ Market Cap. หรือของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในปัจจุบัน  แบบนี้  ผมก็คิดว่าหุ้นของบริษัทก็อาจจะยังน่าสนใจ  เพราะถ้าในอนาคตกำไรไม่ต่ำกว่านั้น  การลงทุนซื้อหุ้นของผมในวันนี้ก็ยังทำผลตอบแทนได้ 10%  ต่อปี  ซึ่งถือว่าไม่เลวนัก

   ถ้ากำไร 4-5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็นนั้น  มีความ  “สม่ำเสมอ”  คือขึ้นลงในระดับ 10-20 %  แบบนี้  ผมก็จะสรุปว่ากำไรของบริษัทในอนาคตนั้นน่าจะพอ  “คาดการณ์ได้”  ผมก็จะศึกษาต่อไปว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้นน่าจะเป็นเท่าไรโดยอาจจะเทียบกับกำไรล่าสุดที่ผมเห็น     ถ้ากำไรที่สม่ำเสมอนั้น  เป็นกำไรที่ไม่ค่อยจะเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปีแรกสุดจนถึงปีสุดท้ายที่แสดงในตาราง   ผมก็มักจะสรุปว่าเป็นหุ้นของกิจการที่อาจจะ  “โตช้าหรือไม่โต”  แบบนี้มูลค่าพื้นฐานที่ผมจะให้ก็จะต่ำ  เช่น  อาจจะให้มูลค่าพื้นฐานไม่เกิน 10 เท่าของกำไรของปีล่าสุดที่ผมเห็น   แต่ถ้ากำไร 5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็นนั้น  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจเช่นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 15-20%  แบบนี้ผมก็อาจจะบอกตัวเองว่ามันอาจจะเป็นบริษัทที่กำลังโตเร็ว  ถ้าเป็นแบบนี้  ผมก็จะให้มูลค่ากับหุ้นสูงกว่าหุ้นที่ไม่โตมาก  อาจจะให้มูลค่าเท่ากับ 15-20 เท่าของกำไรของปีล่าสุดก็ได้

   ตัวเลขตัวสำคัญต่อมาที่ผมจะดูก็คือ  ค่า  ROE  หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  ถ้าตัวเลขนี้ในทั้ง 4-5 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 10%  ต่อปี    ผมก็จะบอกตัวเองว่าบริษัทนี้กำไรไม่ดี  เป็นบริษัทที่มีคุณค่าค่อนข้างน้อยในเชิงธุรกิจ  บริษัทไม่ควรลงทุนขยายงานเพิ่มเพราะทำไปก็ไม่คุ้ม  ถ้ามีเงินสดเหลือควรจะจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า  แต่ถ้าค่า ROE ของบริษัทสูงเกิน 15%  ทุกปี  หรืออาจจะสูงเกิน 20%  ทุกปี  แบบนี้ก็แสดงว่าเป็นธุรกิจที่ดีมากเพราะทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นสูงกว่าการลงทุนอื่นของผู้ถือหุ้นเอง  และสูงกว่าต้นทุนการเงินของบริษัท   อย่างไรก็ตาม  ผมก็จะต้องดูเพิ่มว่า  ROE ที่สูงนี้  ไม่ได้เป็นเพราะบริษัทมีหนี้เงินกู้จากธนาคารสูงเกินไปด้วย

   ตัวเลขสำคัญตัวที่สามก็คืออัตรากำไรสุทธิคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย  ตัวเลขนี้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกัน  เช่น  ถ้าเป็นผู้ค้าปลีก  ตัวเลขอาจจะอยู่ที่เพียง 3-5%   แต่ธุรกิจเช่น โรงแรม อาจจะสูงถึง 20%  เหตุผลสำคัญก็คือ  ผู้ค้าปลีกมักมียอดขายสูงดังนั้น  กำไรเพียง 3%  ก็ได้กำไรมากแล้ว  ในขณะที่โรงแรมนั้น  ยอดขายมักจะต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้สร้างโรงแรม  ดังนั้น  Profit Margin ก็จะต้องสูงจึงจะคุ้ม  ประเด็นสำคัญของตัวเลขนี้ก็คือ  ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว  บริษัทที่มี Margin สูงกว่าก็มักจะแสดงว่าเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติหรือคุณภาพที่สูงกว่า  พูดง่าย ๆ  มี Value สูงกว่า   นอกจากตัวเลขรายปีแล้ว  แนวโน้มของตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญมาก  ถ้า  Profit Margin  ค่อย ๆ  เพิ่มขึ้นทุกปี  เช่น  ปีแรกเป็น 4%  ต่อมาเป็น 4.2%  และถึงปีสุดท้ายหรือปีล่าสุดกลายเป็น 5%  แบบนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า  คุณภาพของบริษัทนั้นดีขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้ Value หรือมูลค่าของบริษัทสูงขึ้นเรื่อย ๆ

   ตัวเลขที่สี่ที่ผมสนใจก็คือ    มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ  Market Cap.  นี่คือตัวเลขที่บอกว่าอดีต 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดให้มูลค่าบริษัทเท่าไร  และปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าเท่าไร  ประเด็นที่ต้องระวังก็คือ   บริษัทมีวอแร้นต์หรือสิทธิที่จะเพิ่มจำนวนหุ้นอยู่หรือไม่และมีมากเท่าไร   เพราะถ้ามีมากและจะออกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก  ตัวเลข Market Cap. ที่เห็นล่าสุดก็อาจจะไม่จริง  เราอาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าสิ่งที่เห็น  ข้อมูลมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นนี้เป็นตัวที่บอกว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไรถ้าเราจะเป็นเจ้าของบริษัททั้งหมด ลองเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขหลาย ๆ  ตัวเราก็จะพอมีไอเดียว่ามันถูกหรือแพง

   ตัวเลขที่ห้าที่สำคัญมากก็คือ ค่า PE ซึ่งบอกถึงความถูกหรือแพงของหุ้นในกรณีที่บริษัท  “มีกำไรที่สม่ำเสมอ”  ค่า PE  ที่ปานกลางก็คือค่า PE ที่เท่า ๆ  กับค่า PE  ของตลาดโดยรวมซึ่งในช่วงนี้มีค่าประมาณ 12 -13 เท่า  ถ้าหุ้นที่เราดูอยู่มีค่า PE ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าถูกและถ้าสูงกว่านี้ก็ถือว่าแพง  แต่หุ้นจะน่าซื้อหรือไม่นั้นต้องดูราคาเปรียบเทียบกับคุณภาพด้วย  ถ้ากิจการดี  ค่า PE จะสูงบ้างก็อาจจะคุ้ม  ตรงกันข้าม  ถ้าบริษัทไม่ดีเลย  ค่า PE แม้ว่าจะต่ำก็อาจจะไม่คุ้มค่า

   ตัวเลขที่หกก็คือค่า PB ซึ่งบอกถึงราคาหุ้นเทียบกับมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิของบริษัท  ค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงนี้ก็ประมาณเท่ากับ 2 เท่าเศษ ๆ ดังนั้น  หุ้นที่มีค่า PB สูงกว่า  2 เท่าก็ถือว่าแพงกว่าค่าเฉลี่ย  อย่างไรก็ตาม  ค่า PB นั้นก็มักจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่สินทรัพย์มีราคาตลาดใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชีอย่างเช่นในกรณีของสถาบันการเงิน  ส่วนบริษัทอีกจำนวนมากนั้น  ค่า PB  ก็บอกอะไรได้ไม่มากนัก

   และสุดท้ายก็คือ  อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน  นี่คือตัวเลขที่บอกว่ามันเป็น  “หุ้นปันผล”หรือเปล่า  ถ้าตัวเลขนี้อยู่ในขั้น 5-6%  เกือบทุกปี  นี่ก็อาจจะบอกได้ว่าหุ้นตัวนี้น่าจะเป็นแนวหุ้นปันผลดี  ความเสี่ยงก็น่าจะต่ำหน่อยและก็อาจจะเหมาะสำหรับบางคนหรือเหมาะสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหุ้นที่ไม่เสี่ยงมาก 






ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 3 March 2014

VI กับความสุข


เป้าหมายในชีวิตของ Value Investor นั้น  ดูเหมือนว่าจะเน้นไปที่ความมั่งคั่งและการมี “อิสรภาพทางการเงิน”  แต่ถ้าคิดให้ลึกขึ้นไปอีกนิดหนึ่งเราก็ต้องบอกว่าเป้าหมายสุดท้ายจริง ๆ นั้นก็คือ  การมีความสุขในชีวิต  ซึ่งเงินก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำให้เรามีความสุข   อย่างไรก็ตาม  ลำพังแต่เงินนั้น  มันอาจจะไม่สามารถสร้างความสุขได้จริง  เพราะความสุขนั้น  มักจะมาจากแหล่งอื่น ๆ  โดยที่เงินเป็นเพียงปัจจัยที่  “อำนวย”  ให้เกิดความสุข  มากกว่าที่มันจะก่อให้เกิดความสุขโดยตัวของมันเอง  เพราะจากการศึกษาของ Arthur Brooks ประธานของสถาบัน American Enterprise ที่มีการเผยแพร่เป็นหนังสือเมื่อเร็ว ๆ นี้  ได้พบว่าใครคือคนที่มีความสุขรวมถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร   และในสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้  ผมก็จะพยายามอธิบายว่า  ในฐานะของ VI  เราจะเป็นคนที่มีความสุขไหม  และเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้เรามีความสุขมากที่สุด

           เรื่องแรกที่พบก็คือ  ยีนส์เป็นสิ่งที่มีบทบาทในการกำหนดความสุขของคนเรามาก  ข้อนี้ส่วนตัวผมเองคิดว่าเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง  คนบางคนนั้น แม้ว่าจะไม่ได้มีเงินทองอะไรมากนัก  แต่ชีวิตเขาก็ดูมีความสุขดีกว่าคนที่รวยกว่ามาก  ประเด็นก็คือ  เขามีอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ  เขาไม่เป็นคนที่  “ดิ้นรน”  หาเงินทองอะไรมากนักและพึงพอใจกับการใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ   เขาเป็นคนไม่เครียดและ “ปล่อยวาง”  ในเรื่องต่าง ๆ  ได้มาก  ซึ่งทั้งหมดนั้น  ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากยีนส์ของเขาที่กำหนดให้เขาเป็นคนอย่างนั้นมากกว่าที่จะมาจากการอบรมสั่งสอนหรือจากสภาวะแวดล้อมรอบตัว  ในทางตรงกันข้าม  คนอีกคนหนึ่งอาจจะเกิดมาเป็นคนที่มีอารมณ์ “ร้าย”  หรืออารมณ์รุนแรง  มีเรื่องอะไรมากระทบก็จะตอบสนองมากกว่าปกติ  เขาอาจจะเป็นคน  “ขี้หงุดหงิด”  หรืออาจจะเป็นคน  “ขี้กังวล”  หรือมองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา  ดังนั้น  แม้ว่าเขาอาจจะมีเงินมากเหลือเฟือ  เขาก็มักจะมีความสุขน้อยกว่าคนแรก

          นอกจากเรื่องของจิตใจแล้ว  ยีนส์ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดสุขภาพทางกายของแต่ละคนค่อนข้างมาก  คนที่เกิดมามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์  มีภูมิต้านทานโรคสูง  และไม่มีจุดอ่อนของยีนส์ที่จะทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเป็นโรคที่ไม่มีเชื้อเช่น  เบาหวาน  มะเร็ง  และอื่น ๆ  อีกมาก นั้น  ผมคิดว่าเขาน่าจะมีความสุขมากกว่าคนที่เกิดมาด้วยยีนส์ที่อ่อนแอกว่า  มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือมีโอกาสที่จะเกิดโรคความเสื่อมของร่างกายที่จะทำให้เกิดโรคร้ายโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น  ในกรณีแบบนี้  คนที่มียีนส์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านอารมณ์จิตใจและทางด้านร่างกายก็น่าที่จะมีความสุขมากกว่า   และดังนั้น  ผมเองคิดว่าเขาเป็นคนที่โชคดีไม่แพ้คนที่  “เกิดมารวย”

           ข้อสรุปเรื่องที่สองก็คือ  ความยากจนนั้น  จะลดความสุขในชีวิตลง  แต่คนที่มีเงินถึงจุดหนึ่งแล้ว  เงินที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ช่วยให้ความสุขเพิ่มขึ้นมากนัก  ประเด็นก็คือ  เงินเท่าไรถึงจะเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขเกือบเต็มที่?  สำหรับเรื่องนี้  ผมคิดว่าคำตอบคงขึ้นอยู่กับแต่ละคน  แต่สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ  เราจะต้องดูว่ารายจ่ายของเรานั้น  เริ่ม “นิ่ง” หรือยัง?  คนที่ยังไม่แต่งงานหรือยังไม่มีลูกครบจำนวนตามที่ต้องการนั้น  จะไม่สามารถบอกได้เลยว่ารายจ่ายจะเป็นอย่างไรในอนาคต  ดังนั้น  การคำนวณว่าเราจะต้องมีรายได้เท่าไรหรือพอร์ตลงทุนเท่าไรจึงจะทำให้เรามีความสุขค่อนข้างเต็มที่นั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  คำแนะนำของผมก็คือ  เราควรจะมีเงินมากกว่าที่เราคิดว่าจำเป็นที่จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงินซักเท่าตัวเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมีความสุขค่อนข้างเต็มที่ตาม  “ศักยภาพ”  ของเรา

           เรื่องที่สามที่ผมคิดว่าสำคัญมากและคนทั่วไปอาจจะไม่ตระหนักก็คือข้อสรุปที่ว่า  เมื่อความต้องการทางด้านวัตถุและบริการพื้นฐานของเราได้รับการตอบสนองแล้ว  งานที่เราพึงพอใจนั้นมีความสำคัญมากกว่าเงิน  สิ่งที่คนเราต้องการนั้น  ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นความสำเร็จ  แต่จะต้องเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามหรือความสามารถของเราไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดโดยโชคหรือความบังเอิญเช่น  การถูกหวยหรือลอตเตอรี่หรือจากการพนัน  เพราะจากการศึกษาพบว่า  คนที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลแจ็คพอตนั้น  หลังจาก 6 เดือนผ่านไป  ความสุขกลับลดลง  ผมเองคิดว่าคนที่เป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและมีเงินมากนั้น  หลังจากเลิกเล่นแล้ว  แม้ว่าจะยังมีเงินแต่ความสุขน่าจะลดลงมาก  สำหรับ VI ที่ประสบความสำเร็จเองนั้น  ผมก็คิดว่า  ความสุขที่เกิดจากการได้เงินนั้นจะเกิดขึ้นมากในช่วงแรก ๆ  แต่ในระยะยาวต่อมาที่มีเงินมากขึ้นและมากขึ้น   ความสุขจากการได้เงินเพิ่มก็จะลดน้อยลงแต่จะกลายมาเป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากกว่า  และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนยังลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ  แม้ว่าจะมีเงินมากมายเหลือเฟือแล้ว

            เรื่องที่สี่ก็คือ  การศึกษาพบว่า  คนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น  โดยทั่วไปมักจะมีความสุขมากกว่าพวกที่เป็นนักเสรีนิยม  เหตุผลนั้นผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะคนที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น  มักจะมีที่  “ยึดเหนี่ยว”  มากกว่า  พวกเขามีศรัทธาและความเชื่อต่อศาสนา  ครอบครัว  และขนบธรรมเนียมประเพณีโดยที่อาจจะไม่มีการ  “ตั้งคำถาม” อะไรที่จะทำให้จิตใจว้าวุ่น  ในขณะที่คนที่เป็นนักเสรีชนนั้น  มักจะคิดมากกว่าและตั้งคำถามกับสิ่งเป็นอยู่  ซึ่งบ่อยครั้ง  เขาอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยและต่อต้าน - อย่างน้อยก็ในใจ  และนั่นก็อาจจะทำให้พวกเขารู้สึก  “แปลกแยก”  และทำให้มีความสุขน้อยลง

           การศึกษายังสรุปด้วยว่า  แหล่งของความสุขนั้น  อย่างน้อยมี 4 อย่างที่สำคัญและอยู่ในความควบคุมของเราเองและไม่เกี่ยวกับเรื่องของเงิน  นั่นก็คือ  ความศรัทธา  ครอบครัว  เพื่อน  และงาน  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  คนเราจะมีความสุขมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเรามีหรือเราสร้างสิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้นในทางที่ดี ๆ  ไว้มากน้อยแค่ไหนด้วย   คร่าว ๆ  ก็คือ  ถ้าเรามีศรัทธาในคำสอนหรือศาสนา  มีครอบครัวที่อบอุ่น  มีเพื่อนสนิทที่สามารถปรึกษาหารือได้  และมีงานที่เราพอใจและมีความสุขที่จะทำ  เราก็จะมีความสุขในระดับหนึ่งแล้วเมื่อเทียบกับคนที่  “ขาดตกบกพร่อง”  ในประเด็นดังกล่าว  ว่าที่จริงมีการศึกษาที่พบว่าคนที่เข้าโบสถ์โดยเฉลี่ยมีความสุขกว่าคนที่ไม่ไป  คนที่แต่งงานมักมีความสุขมากกว่าคนโสด  เช่นเดียวกับคนที่มีเพื่อนมากและคนที่พึงพอใจในงานที่มักจะมีความสุขมากกว่าคนที่มีเพื่อนน้อยและไม่ชอบงานของตนเอง

           การเป็น VI นั้น  ผมคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียในแง่ของความสุข  เรื่องของพื้นฐานสุขภาพใจและกายที่เป็นเรื่องของยีนส์นั้น  เราเลือกไม่ได้เป็นเรื่องของ  “ดวง”  แต่การเป็น VI โดยเฉพาะที่ประสบความสำเร็จพอสมควรนั้น  ผมคิดว่าจะช่วย “ปลดปล่อย”  ความเครียดและความกังวลจากงานประจำและน่าจะมีเวลาที่จะดูแลสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้นซึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้มีความสุขมากขึ้น  นี่เป็นข้อดีที่ผมเห็นข้อแรก   เรื่องของเงินหรือความยากจนที่อาจจะทำให้ความสุขลดลงนั้น  ผมก็คิดว่าการเป็น VI น่าจะช่วยได้ไม่น้อย  โดยเฉพาะถ้าเราลงทุนทบต้นไปเรื่อย ๆ  ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินของเราเพิ่มพูนขึ้นตามอายุของเราซึ่งจะสอดคล้องกับรายจ่ายของเราที่มักจะเพิ่มขึ้นเมื่อเรามีลูกและต้องดูแลคนสูงอายุ  ดังนั้น  นี่ก็ส่งเสริมความสุข  ประเด็นต่อมาคือเรื่องของงานหรือความสำเร็จจากการกระทำนั้น  ผมเชื่อว่า  VI ส่วนใหญ่น่าจะชอบการลงทุนของตนเอง  พวกเขาอยากทำงานนี้  และจะมีความสุขเมื่อเห็นพอร์ตโตขึ้นอย่างมั่นคง  นี่ก็เป็นความสุขที่สำคัญ  สุดท้ายที่ผมคิดว่าการเป็น VI อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความสุขเพิ่มก็คือ  เรื่องของแนวทางของความคิดและสังคม  นั่นก็คือ  VI นั้น  อาจจะเป็นคนที่ “คิดมาก”  กว่าปกติ  หลายคนเป็น “ศิลปินเดี่ยว”  มีความคิดที่อิสระและอาจจะมีเพื่อนน้อย  ซึ่งไม่ส่งเสริมการมีความสุข   อย่างไรก็ตาม  โดยรวมแล้ว  ผมคิดว่า  การเป็น VI นั้น  น่าจะเป็นหนทางที่มีความสุขมากขึ้นและมากกว่าคนอีกหลายอาชีพ

Posted by nivate at 11:56 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor


ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/03/1404



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 10 March 2014

Hi-So Party



การใช้เวลาว่างเพื่อการพักผ่อนของผมนั้น   ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการชมละครหลังข่าวในตอนค่ำ  เวลาที่ผมไปจ่ายตลาดประจำสัปดาห์ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสมัยใหม่นั้น  ผมก็มักจะไปแวะตามร้านหนังสือเพื่อที่จะดูว่ามีหนังสือที่เป็นวิชาความรู้ใหม่ ๆ  ที่ผมสนใจไหม   และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ  การแวะดูนิตยสารต่าง ๆ  บนแผงหนังสือซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะดูแค่นางแบบหรือนายแบบและเรื่องราวที่อยู่บนปกหนังสือ  สิ่งที่ผมสนใจนอกจากความรู้และความบันเทิงแล้วก็คือ  “เทรนด์หรือกระแสของสังคม”  ว่าเป็นอย่างไรหรือกำลังไปทางไหน?  สิ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องของดาราหรือคนที่อยู่บนจอทีวีหรืออยู่บนปกนิตยสาร  เพราะคนเหล่านี้ก็คือคนที่มีชื่อเสียงหรือกำลัง “ดัง”  ด้วยเหตุผลต่าง ๆ  และก็มักจะเป็นคนร่ำรวยเป็นที่อิจฉาหรือหมายปองของคนในสังคม  พวกเขาเป็น “เซเลบ” และอยู่ในสังคมที่เรียกกันว่าเป็น “Hi-So Party”  ความคิดและวิถีชีวิตของพวกเขานั้นมักจะเป็นสิ่งที่ล้ำหรือนำหน้าคนทั่วไปในสังคมหรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่คนในสังคมกำลังทำอยู่   ดังนั้น  การติดตามพวกเขาจะทำให้เรารู้ว่าสังคมกำลังคิดและทำอย่างไรและกำลังไปทางไหนซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการลงทุนหรือนักลงทุน  เพราะประเด็นของเราก็คือ  เราต้องการลงทุนในธุรกิจที่กำลังเติบโต  เราต้องการอยู่ในสิ่งที่เป็นอนาคต  เราต้องการเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่และกำลังเปลี่ยนไปเพื่อที่เราจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้นได้อย่างราบรื่น

          คนที่สูงอายุอย่างผมนั้นหลายคนอาจจะบอกว่าเสียเปรียบที่จะเรียนรู้และเข้าใจความคิดหรือพฤติกรรมของคน  “รุ่นใหม่”  ข้อนี้ผมก็คิดว่าจริง  อย่างไรก็ตาม  ผมมีข้อดีที่พอจะชดเชยความเสียเปรียบได้เหมือนกันนั่นก็คือ  ผมอาจจะเข้าใจ  “การเปลี่ยนแปลง”  ได้มากกว่าคนรุ่นใหม่  เหตุผลก็เพราะผมได้เห็นว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปีนั้นแต่ละช่วงเป็นอย่างไร  ใครคือผู้นำหรือเซเลบในสังคม  ความคิดของคนและขนบธรรมเนียมประเพณีในสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง  ซึ่งนั่นก็ส่งผลไปถึงการใช้จ่ายต่าง ๆ  และการเติบโตและร่วงโรยของธุรกิจและกิจการต่าง ๆ  ของประเทศไทยมากกว่าคนรุ่นใหม่ที่อาจจะเห็นเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้   แต่ไม่รู้ว่าในอดีตเป็นอย่างไร   และก็อาจจะทำให้ไม่รู้ว่าอนาคตนั้นอาจจะเปลี่ยนไปได้อีกมากน้อยแค่ไหน  และนี่ก็เป็นข้อได้เปรียบของคนสูงอายุที่พยายาม “หวนรำลึก”  ถึงความหลัง… ตั้งแต่เด็ก

          เริ่มตั้งแต่ผมเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับแรกเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบเศษ ๆ  เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว  ผมก็รู้จักกับเซเลบคนแรกที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์นั่นก็คือ  คุณ อาภัสรา หงสกุล อดีตนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย  หลังจากได้รับตำแหน่ง  คุณอาภัสราก็เป็นข่าวมากมาย  และแน่นอนหนึ่งในเรื่องต่าง ๆ  ก็คือเรื่องของ  “คู่หมาย”  ที่เป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวง  “Hi-So Party”    ซึ่งก็เป็นข้าราชการที่มีอนาคตไกลหรือบุคคลที่สูงศักดิ์ในสายตาของคนในสังคมในช่วงเวลานั้น    นั่นก็แสดงให้เห็นว่า  สังคมไทยในช่วงนั้นยังไม่ได้อยู่ใน  “เทรนด์”  ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะทำให้มี  “เซเลบ” ในวงการอื่น ๆ เป็นเรื่องเป็นราว

          ต่อมาเมื่อผมจบปริญญาตรีและเริ่มทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดระดับอำเภอที่เริ่มมีความ “เจริญ”  เข้าถึงบ้าง   ในช่วงเวลานั้นกลุ่มคนที่สังคมยอมรับว่าร่ำรวยมากกลุ่มหนึ่งก็คือ  เจ้าของร้านทองย่านเยาวราช   ผมจำไม่ได้ว่ามี “เซเลบ”  ที่เป็นเจ้าของร้านทองเยาวราชหรือไม่   แต่สิ่งที่ผมเจอก็คือ  เซเลบ  “ระดับท้องถิ่น”  ที่เป็นลูกสาวเจ้าของร้านทองในอำเภอที่ผมทำงานอยู่  ผมเองคงเป็น  เซเลบระดับท้องถิ่นเหมือนกันเนื่องจากการเป็นวิศวกรในโรงงานขนาดใหญ่ในท้องถิ่นนั้นก็ต้องถือว่ามีศักดิ์ศรีอยู่ไม่น้อยในสายตาของคนที่อยู่ในอำเภอนั้น  ผมเองไม่ได้คิดที่จะจีบสาวที่ว่าเป็นเรื่องเป็นราวอะไร  เพียงแต่จะยกประเด็นให้เห็นว่า  ในช่วงเวลานั้น  สังคมไทยกำลังเริ่มมีธุรกิจเกี่ยวกับทองที่กำลังร้อนแรง  เป็นจุดที่คนไทยเริ่มมีเงินเหลือและต้องรักษาหรือ “เก็บ”  ไว้ในรูปของทองรูปพรรณ  การฝากเงินไว้ในธนาคารยังเป็นเรื่องที่ “ใหม่”  สำหรับคนจำนวนมาก

          ช่วงต่อมาคือยุคที่การเกษตรของไทยกำลังโตเต็มที่นั้น  ผมจำได้ว่าเจ้าของโรงสีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้น  เป็นคนมีชื่อเสียงมากในแวดวงของสังคมและการค้า  บ่อยครั้งเขาให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางหรือนโยบายที่รัฐบาลควรทำเมื่อเกิดภาวะผิดปกติหรือภาวะวิกฤติในเรื่องของข้าวที่เป็นพืชผลส่งออกที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ  แต่หลังจากนั้นไม่นาน  ประเทศไทยก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นประเทศที่ทำอุตสาหกรรมมากขึ้น  เซเลบที่อยู่ในวงการข้าวก็ค่อย ๆ  ลดระดับลง  จนถึงปัจจุบันแม้ว่าเรายังส่งออกข้าวจำนวนมากไม่น้อยกว่าเดิมแต่ความมั่งคั่งหรือสถานะของคนที่อยู่ในวงการข้าวนั้นไม่อาจเทียบได้กับวงการอื่น ๆ  อีกหลายอย่างที่เติบโตเร็วกว่ามากได้

          อุตสาหกรรมแรกที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและสร้าง  “เซเลบ”  ที่รวมไปถึงนักการเมืองชื่อดังก็คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ   “จ้าวพ่อ” สิ่งทอกลายเป็นคนที่เป็นข่าวมากที่สุดในแวดวงของเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ  เวลามีวิกฤติหรือมีปัญหาทั้งเรื่องของการค้าหรือเรื่องแรงงาน  หนังสือพิมพ์ก็จะต้องถามเจ้าของโรงงานสิ่งทอรายใหญ่ของประเทศ  ความร้อนแรงของธุรกิจสิ่งทอนั้นสะท้อนออกมาทางเพลงซึ่ง “ดังระเบิด”  เช่น  เพลง “สาวโรงงาน” ที่ชื่อฉันทนา  แต่แล้ว  เวลาของธุรกิจสิ่งทอก็หมดลง  บริษัทสิ่งทอขนาดใหญ่มากบางแห่งก็ล้มละลาย  จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีเซเลบจากวงการสิ่งทอแล้ว

          จากธุรกิจโรงงานก็ข้ามมาถึงธุรกิจบริการ เช่น  การเงินโดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับธนาคารและหลักทรัพย์ และต่อมาก็คือสื่อสาร  สุขภาพ  อสังหาริมทรัพย์เพื่อค้าและให้เช่า  ค้าปลีกและภัตตาคาร   นี่คือกลุ่มที่ยังอยู่ใน “เทรนด์”  แม้ว่าความร้อนแรงของแต่ละธุรกิจอาจจะมาไม่พร้อมกันเช่นเดียวกับการสิ้นสุดที่น่าจะไม่พร้อมกันเช่นเดียวกัน

          ธุรกิจธนาคารนั้น  ว่าที่จริงมีเซเลบที่ “ดังระเบิด”  ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นเด็กและช่วงทำงานใหม่ ๆ   เฉพาะอย่างยิ่งก็คือคุณบุญชู โรจนเสถียร อดีตผู้จัดการแบงค์กรุงเทพ ที่ได้ชื่อว่าเป็น  “ซาร์เศรษฐกิจ”  ที่ต่อมาได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และคนในแวดวงธนาคารต่างก็เป็นข่าวและได้รับการร้องขอคำปรึกษาจากผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐอยู่เป็นประจำ  แม้จนถึงทุกวันนี้  นายธนาคารก็ยังเป็นเซเลบอยู่ไม่น้อยซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าธุรกิจธนาคาร  “ไม่มีวันตาย”   ถัดจากธนาคารแล้ว  สื่อสารดูเหมือนจะสร้างเซเลบที่ดังระเบิดสุด ๆ  เมื่อไม่นานมานี้  เจ้าของธุรกิจอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดังขนาดกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ  ในด้านอื่น ๆ  เช่น สุขภาพนั้น  ถึงแม้ว่าจะมีน้อยที่เป็นเซเลบแต่ก็อยู่ในระดับที่เป็นคนรวยระดับต้น ๆ  ของประเทศเช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเซเลบมากมายทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์
          ในด้านของบุคคลธรรมดาที่ทำเงินจากผลการทำงานของตนเองนั้น  ดารา  นักร้อง  ดูเหมือนว่าจะเป็นเซเลบมากขึ้นมากมายโดยอาจจะมีนักกีฬาที่มีชื่อเสียงตามมาห่าง ๆ  โดยที่นักการเมืองที่มีตำแหน่งในระดับรัฐบาลและข้าราชการนั้น  ความเป็นเซเลบได้ตกลงมามาก  สังคมไทยดูเหมือนว่าจะมุ่งเข้าสู่สังคมของการบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ  และนี่ก็น่าจะเอื้ออำนวยต่อสินค้าหรือบริษัทที่เน้นการบริโภคของประชาชนระดับที่เป็น Mass ที่เน้น  “ความหรูหรามีระดับ” แต่มีราคาที่คนส่วนใหญ่พอรับได้  และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงมุมมองเล็ก ๆ  เกี่ยวกับการติดตามสังคมของ Hi-So Party ที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนโดยเฉพาะแบบ VI ที่เน้นการลงทุนระยะยาวตามกระแสของสังคม

Posted by nivate at 10:41 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/03/1404



ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com



Monday, 17 March 2014

หุ้นเครื่องแต่งตัว

เมื่อคนมีรายได้มากขึ้นจนสามารถใช้จ่ายในสิ่ง  “จำเป็น”  ของชีวิต เช่น อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย  และการรักษาโรค ที่เป็นพื้นฐานแล้ว  สิ่งต่อมาที่คนจะใช้จ่ายก็คือ  การทำให้ตนเอง  “ดูดี” โดยเฉพาะในสายตาของเพศตรงข้าม  นี่ก็เป็นเรื่อง  “ธรรมชาติ”  ที่ว่ามนุษย์นั้นมี  “ภารกิจสำคัญ” ที่จะต้อง  เอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์   การทำให้ตัวเองดูดีขึ้นเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามนี้จึงเป็นธุรกิจใหญ่และจะเติบโตได้ดีในภาวะที่คนในสังคมมีรายได้สูงขึ้นจนผ่านจุดที่มีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นอย่างอื่นแล้วและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมที่คนมีรายได้สูงขึ้น  อาจจะเรียกว่าเป็นสังคมของ  “คนชั้นกลาง” ก็ได้   และนี่ก็คือสิ่งที่ผมคิดว่ากำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย  นั่นก็คือ  คนไทยกำลังมีเงินมากขึ้นถึงจุดที่จะ “แต่งตัว” กันมากขึ้น  และนี่อาจจะทำให้บริษัทหรือหุ้นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการแต่งตัวมีโอกาสที่จะเติบโต  เป็นโอกาสในการลงทุนของ VI ที่เน้นการลงทุนระยะยาวได้

           ความหมายของคำว่า  “เครื่องแต่งตัว”  ของผมนั้น  รวมถึงการทำอะไรก็ได้ที่ทำหรือใช้  “ติดกับตัว” เราที่จะทำให้เรา  “ดูดีขึ้น”   ดังนั้น  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงรวมไปถึงเรื่องที่ลึกลงไปถึงผิวหนังเช่น  การศัลยกรรมพลาสติกและการดูแลผิวที่ทำโดยคลินิคเสริมความงามทั้งหลายที่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แม้ว่าจะมีการพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ  และอาจจะเข้าตลาดในไม่ช้า   ธุรกิจนี้ผมคิดว่าน่าสนใจเห็นได้จากการขยายตัวของธุรกิจอย่างรวดเร็วและมีการเปิดกิจการไปทั่วทุกหัวระแหงในที่ชุมนุมชนในเมืองใหญ่ ๆ  รวมถึงในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ก็มีคลินิกเสริมความงามเป็นมาตรฐานกันไปแล้ว

           ธุรกิจต่อมาก็คือ  ธุรกิจเครื่องสำอางซึ่งก็เป็นธุรกิจใหญ่มานานแต่ในช่วงระยะหลังนี้ดูเหมือนว่าจะโตขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในเครื่องสำอางที่มีคุณภาพสูงขึ้นแต่ราคากลับไม่สูงมากนัก  นอกจากนั้น  การใช้เครื่องสำอางของคนไทยในระยะหลังนั้น  เพิ่มจำนวนและปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ   คนไทยยุคใหม่นี้ไม่ได้ใช้แค่แป้งผัดหน้า  แต่เราใช้ตั้งแต่ครีมที่ทำให้ผิวขาว  ครีมทาตัวที่ทำให้ผิวนุ่ม  เรามีผลิตภัณฑ์สารพัดที่ทำให้ผมและตาดูสวยงามขึ้น  เรามีผลิตภัณฑ์สารพัดที่ทำให้ดูอ่อนเยาว์  นอกจากนั้น  ผู้ชายเองก็เริ่มหันมาใช้เครื่องสำอางกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ดังนั้น  ธุรกิจเครื่องสำอางจึงน่าจะโตได้ดีโดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีคุณภาพแต่มีราคาที่รับได้ของคนชั้นกลาง  ซึ่งในตลาดหลักทรัพย์เราก็บริษัทจดทะเบียนที่เพิ่งเข้าตลาดอยู่ 2-3 บริษัทที่ทำธุรกิจนี้เป็นเรื่องเป็นราว

           ธุรกิจเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่นนั้นต้องถือว่าอยู่ในตลาดหุ้นมานานมาก   อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าหุ้นส่วนใหญ่นั้นเป็นเพียงหุ้น  “สิ่งทอ”  ที่ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับคนที่ผลิตและขายเสื้อผ้าที่เป็นสินค้าแฟชั่น  ซึ่งในกรณีแบบนี้  หุ้นก็จะไม่ใช่หุ้นเครื่องแต่งตัวในนิยามของผมจริง ๆ    ในความหมายที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ  เสื้อผ้าที่จะเป็นเครื่องแต่งตัวที่คนไทยรุ่นใหม่ที่มีเงินมากขึ้นต้องการนั้น   จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีแบรนด์ที่ดูดี  มีราคาที่ไม่แพง  และนี่ก็คือสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะโตเร็วในสภาวะของประเทศไทยในช่วงนี้  โดยที่หุ้นที่เข้าข่ายก็คล้าย ๆ  กับในกรณีของเครื่องสำอางที่มักเป็นบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดในระยะหลัง ๆนอกจากเสื้อผ้าแล้ว  พวกรองเท้าและกระเป๋าถือที่เป็นเครื่องหนังก็เป็นเครื่องแต่งตัวอีกอย่างหนึ่งที่โตตามกันไป  อย่างไรก็ตาม  กิจการเหล่านี้ดูเหมือนว่าในเมืองไทยอาจจะเล็กเกินไปหรือไม่มีบริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

           กลุ่มสุดท้ายของเครื่องแต่งตัวก็คือ  เครื่องประดับโดยเฉพาะที่เป็นทองหรือเพชรพลอย   ดูเหมือนว่าทองที่เคยเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องแต่งตัวหลักสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนั้นจะถดถอยไปจนเกือบล้าสมัยแล้ว  ส่วนเพชรนั้นผมคิดว่ายังอยู่ในกระแส  เหตุผลก็คงเป็นเพราะคนไทยที่เป็นคนชั้นกลางมีรายได้มากขึ้นในขณะที่ราคาของเครื่องประดับเพชรในปัจจุบันจะไม่ได้ปรับขึ้นไปมาก  การซื้อเครื่องประดับเพชรจึงน่าจะเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตไปได้  และนี่ก็เช่นเดียวกัน  บริษัทที่อยู่ในตลาดที่ทำเกี่ยวกับเครื่องประดับเพชรก็ยังค่อนข้างใหม่  และสุดท้ายที่เป็นกลุ่มเล็กและผมไม่รู้จะไปรวมไว้กับใครก็คือ   ธุรกิจแว่นตาแฟชั่นซึ่งในเมืองไทยก็ดูเหมือนว่าจะเติบโตขึ้น  คนหันมาใส่แว่นมากขึ้น  และซักวันหนึ่งเราก็อาจจะมีบริษัทขายแว่นเข้ามาจดทะเบียนก็เป็นได้

           ในแง่ของการลงทุน  ผมคิดว่าธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องแต่งตัวนั้นมีความน่าสนใจ  เหตุผลไม่ใช่แค่ว่ามันเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็วเนื่องจากคนไทยรวยขึ้นและต้องการแต่งตัวมากขึ้นเท่านั้น  แต่เป็นเพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เป็นที่  “ต้องการ”  ไม่ใช่สินค้า  “จำเป็น”  ดังนั้น  คนจะยอมจ่ายเงินมากกว่าต้นทุนการผลิตมากด้วยเหตุผลที่ว่าเขา  “พอใจ”  หรือ   “อยากได้”   ด้วยเหตุนี้  สินค้าเครื่องแต่งตัวจึงมักจะมีมาร์จินหรือเปอร์เซ็นต์กำไรขั้นต้นต่อยอดขายสูงเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น ๆ  อีกหลายอย่าง  พูดหยาบ ๆ  ก็เช่น  เสื้อผ้าขายตัวแถมตัวก็ยังกำไร  หรือเพชรเม็ดหนึ่งราคาต้นทุนค่าเพชร 3,000 บาทแต่ขาย 10,000 บาท  อย่างไรก็ตาม  ถ้าขายน้อยชิ้น  กำไรที่ได้อาจจะไม่พอกับค่าเช่าหรือค่าโสหุ้ยอื่น   ดังนั้นประเด็นยอดขายที่ทำได้  ซึ่งมักจะอิงกับเรื่องของแบรนด์หรืออื่น ๆ  จึงเป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายว่าบริษัทไหนจะกำไรหรือขาดทุน  หรือบริษัทไหนจะกำไรดีมากและบริษัทไหนจะไปไม่รอด

           ความสามารถในการทำการตลาด  ซึ่งรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์  การจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย  การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของบริษัทเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแข่งขัน  บริษัทที่โดดเด่นในช่วงเร็ว ๆ  นี้ที่ผมสังเกตเห็นก็คือบริษัทที่ขายสินค้าที่มีคุณภาพดีและตั้งราคาไม่ใคร่แพง
ที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่รับได้  การออกแบบหีบห่อนั้นต้องดูทันสมัยแนวเกาหลีหรือญี่ปุ่นในกรณีของเครื่องสำอาง  ส่วนทางด้านของเสื้อผ้าและเครื่องประดับอาจจะเป็นแนวของยุโรปที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบ  ช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นดูเหมือนว่าคนจะสนใจซื้อจากร้านที่ขายสินค้าเฉพาะอย่างเช่น  เป็นร้านขายเสื้อผ้าหรือขายเครื่องสำอางที่คนมีโอกาสเลือกสินค้าได้หลากหลาย   อย่างไรก็ตาม  ในกรณีสินค้าราคาถูกลงมาหรือเป็นสินค้าพื้น ๆ  นั้น   ความสะดวกก็เป็นเรื่องสำคัญในการจัดจำหน่าย

          ขนาดของกิจการเทียบกับคู่แข่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะบอกว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือไม่  การมียอดขายที่สูงกว่านั้น  ทำให้บริษัทจะมี Economies of Scale คือมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนซึ่งรวมถึงต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนของสินค้า  และต้นทุนทางด้านการตลาด   การมีสาขาร้านที่ขายสินค้าเฉพาะที่มีจำนวนมากนั้นโดยตัวของมันเองก็เหมือนกับเป็นการโฆษณาเนื่องจากผู้บริโภคจะเห็นบ่อยและช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ  นอกจากนั้น  บริษัทจะสามารถมีสินค้าหลากหลายกว่าคู่แข่งได้  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้จะดึงดูดให้คนอยากเข้าร้านและเลือกซื้อสินค้าของบริษัทมากกว่าคู่แข่งที่มียอดขายน้อยและ/หรือไม่มี “หน้าร้าน” เพียงพอ    ดังนั้น  การได้เปรียบทางด้านของต้นทุนไม่เพียงแต่จะทำให้บริษัทกำไรดีแต่ยังทำให้ยอดขายของบริษัทโตเร็วขึ้นและก่อให้เกิดกำไรเพิ่มขึ้นอีก  เป็นวงจรแห่งความมั่งคั่ง

           ข้อเสียของธุรกิจเครื่องแต่งตัวก็มีอยู่เหมือนกันนั่นคือ  ธุรกิจนี้ใช้ทุนไม่มากและการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย  นอกจากนั้น  ปัจจัยในการแข่งขันเองก็เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายคล้าย ๆ  กับแฟชั่นเหมือนกัน  ความนิยมเกาหลีหรือญี่ปุ่นอาจจะเปลี่ยนไป  ช่องทางการจัดจำหน่ายก็อาจจะเปลี่ยนไปได้ง่ายเนื่องจากสินค้ามักจะเป็นชิ้นเล็ก  ช่องทางใหม่ ๆ  และการตลาดแบบใหม่อาจจะทำให้บริษัทที่ดีเยี่ยมเดิมตกยุคหรือล้าสมัย  นอกจากนั้น  สินค้าจากต่างประเทศที่เรียกว่า  Inter Brand ที่โดดเด่นระดับโลกก็มีโอกาสที่จะเข้ามาแข่งขันกับผู้ที่ประสบความสำเร็จเดิมได้  ดังนั้น  การติดตามข้อมูลและพัฒนาการของหุ้นเครื่องแต่งตัวเป็นเรื่องสำคัญ  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าหากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดขายได้สูง  การทำกำไรก็จะดีมาก  ซึ่งจะทำให้หุ้นของบริษัทเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

           ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการวิเคราะห์ในด้านของตัวธุรกิจซึ่งจะเห็นว่ามีทั้งโอกาสและความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย   การที่จะเลือกลงทุนในหุ้นนั้นเราก็ยังจำเป็นที่จะต้องดูถึงความถูกความแพงหรือความคุ้มค่าของราคาหุ้น  สิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงก็คือค่า PE ของหุ้นเครื่องแต่งตัวนั้น  ถ้าสูงเกินไปก็ต้องระวังเนื่องจากธุรกิจนี้ของไทยดูเหมือนว่าจะยังไม่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับบริษัทระดับซุปเปอร์สต็อกของต่างประเทศบางแห่ง
Posted by nivate at 9:52 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/17/1408




ออฟไลน์ www.STS-AUDIO.com

  • ขายเครื่องเสียงพีเอ-สตูดิโอ,ซาวการ์ด,ฯลฯ รับสั่งของทุกชนิดจาก USA Tel.081-0322-062
  • Moderator
  • เจ้าของวง
  • *****
    • กระทู้: 9025
  • Line ID : www.sts-audio.com
    • www.STS-AUDIO.com


Monday, 24 March 2014

กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก



ในช่วงที่ผมเริ่มเป็น VI ใหม่ ๆ เกือบ 20 ปีมาแล้วนั้น  ผมเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาถูก  เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงนั้นตลาดหุ้นตกต่ำมาก  หุ้นในตลาดแทบทุกตัวต่างก็มีราคา  “ถูก”  การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกจึงทำได้ง่าย  กลยุทธการลงทุนของผมในตอนนั้นก็คือการซื้อหุ้นที่มีคุณภาพพอใช้ได้แต่มีราคาถูกมาก   หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีราคาถูกพอสมควรทีเดียว  ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นพร้อม ๆ  กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ  ราคาหุ้นทั่วไปในตลาดก็ไม่ถูกเหมือนเดิมแต่ก็ยังค่อนข้างถูก   กลยุทธการลงทุนของผมก็เปลี่ยนแปลงไป  ผมหันมาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดีมากที่มีราคาถูกหรือราคา  “ไม่แพง”  เป็นแนวลงทุนแบบ  Super Stock  จวบจนถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นปกติแล้วและตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาเต็มที่ตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น  ส่งผลให้หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นซุปเปอร์สต็อกมีราคาแพงขึ้นมากจนแทบจะไม่เหลือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยในการลงทุน   ปัญหาของผมก็คือ  ถ้าเราได้รับปันผลมาหรือขายหุ้นบางตัวทิ้งเราควรจะเอาเงินไปลงทุนแบบไหน?  และนี่นำมาสู่ประเด็นที่ผมจะพูด  นั่นก็คือ  กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์

             ในภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นนั้น  เรายังมีกลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มที่มีหุ้นราคาถูกอยู่ในความหมายที่ว่า  ค่า PE  ยังต่ำกว่าหรือประมาณ 10 เท่าต้น ๆ    ค่า PB ไม่ถึง 1 หรือหนึ่งเท่าเศษ ๆ  และผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3-4% ของปีล่าสุด  การที่หุ้นมีราคาถูกนั้น   ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดีหรืออาจจะมีปัญหาการทำกำไรในอนาคตทำให้ตลาดไม่ให้คุณค่ามันเท่ากับธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ   อย่างไรก็ตาม  “ตลาดอาจจะผิด”  ในบางอุตสาหกรรมหรือในหุ้นบางตัว   ดังนั้น  กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูกของผมนั้น  หลัก ๆ แล้วก็คือ  พยายามหาหุ้นที่  “ถูกมาก”  ที่ตัวธุรกิจหรือกิจการอาจจะไม่  “เลวร้าย”  อย่างที่ตลาดหรือนักลงทุนทั่ว ๆ  ไปคิด  ลองมาดูกันไปทีละกลุ่มที่อาจจะเป็นเป้าหมายในการลงทุนเนื่องจากว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ยังมีราคาถูกหรือไม่แพงในยามนี้

              หุ้นกลุ่มแรกที่ยังถูกอยู่และก็คงถูกไปเรื่อย ๆ  ก็คือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม  “ตะวันตกดิน”  เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร  ผู้ผลิตสิ่งทอที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแฟชั่น  และอุตสาหกรรมเหล็ก  เป็นต้น  หุ้นในกลุ่มนี้มีปัญหาว่าในระยะยาวแล้วอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นซึ่งทำให้ธุรกิจต้องค่อย ๆ  หดตัวลง  ดังนั้น  การลงทุนในหุ้นถูกกลุ่มนี้จึงไม่มีประโยชน์  โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจะยากมาก  กลยุทธก็อาจจะเป็นว่าเราไม่สนใจจะดู  อย่างไรก็ตาม  คนที่เข้าใจกิจการอย่างลึกซึ้งก็อาจจะหาหุ้นที่ไม่ได้ผลิตสินค้า  “ตะวันตกดิน”  อย่างที่คนอื่นคิดแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น   ถ้าพบบริษัทที่มีอนาคตแต่ราคาถูกมากก็สามารถลงทุนได้  ประเด็นสำคัญก็คือ   เราไม่ควรมองผลประกอบการระยะสั้นแล้วเข้าไปซื้อหุ้นในกลุ่มตะวันตกดินแม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูกมาก

              หุ้นกลุ่มต่อมาที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็คือหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายอานิสงค์จากการที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ  นี้จากผลกระทบเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนตัวลง    การที่หุ้นขายบ้านจัดสรรหรือทำคอนโดมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะธุรกิจนี้อาจจะค่อนข้าง  “อิ่มตัว”  และมีคู่แข่งมาก  อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ  ดังนั้น  โดยปกติที่หุ้นอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มีราคาถูกจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผล  การที่จะหวังให้หุ้นมีค่า PE ที่สูงขึ้นจึงอาจจะหวังไม่ได้มากนัก  ดังนั้น  ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้  นอกจากหุ้นจะต้องถูกมากแล้ว  ผมคิดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่จะมีกำไรมากขึ้นอย่างน้อยในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอย่างค่อนข้างแน่  เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น  ด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น  ราคาหุ้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม  โดยที่ค่า PE ก็ยังเท่าเดิมหรือไม่น่าจะต่ำลง  แต่ถ้าโชคดี  ค่า  PE  ก็เพิ่มขึ้นด้วยเราก็จะได้  “สองเด้ง”   ส่วนข้อที่ต้องระวังก็คือ  อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน  ถ้ามีการปรับขึ้นแรง  ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลง  เช่นเดียวกัน  ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก การซื้อบ้านก็อาจจะลดลงมาก  และนั่นทำให้การลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงพอสมควร

             หุ้นกลุ่มใหญ่มากกลุ่มหนึ่งที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่พอสมควรก็คือหุ้นธุรกิจการเงินซึ่งรวมถึงหุ้น ธนาคาร  เงินทุน  และหลักทรัพย์  หุ้นในกลุ่มนี้ที่นักลงทุนให้คุณค่าน้อยทำให้มีค่า PE PB ไม่สูง  และปันผลตอบแทนค่อนข้างดีนั้น  เป็นเพราะเรื่องของความเสี่ยงที่ “รุนแรง”  ในกรณีของบริษัทที่อิงอยู่กับการปล่อยกู้อย่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทให้สินเชื่อเช่าซื้อทั้งหลาย  โดยที่บริษัทเหล่านี้อาจจะประสบกับปัญหาหนี้เสียที่รุนแรงซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุนหนักหรืออาจจะล้มละลายได้เนื่องจากจำนวนเงินปล่อยกู้นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัทเอง  ส่วนในกรณีของธุรกิจหลักทรัพย์เองนั้น  การแข่งขันในธุรกิจรุนแรงและมักเป็นการแข่งขันกันทางด้านของราคาเป็นหลัก  ในอีกด้านหนึ่งนั้น   ปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทโบรกเกอร์เองนั้น  ก็มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะของตลาด  ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความไม่แน่นอนสูงมาก  ดังนั้นราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จึงไม่สามารถจะแพงเหมือนธุรกิจอื่นที่มีความแน่นอนกว่า

              กลยุทธการลงทุนในธุรกิจปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นแบงค์หรือบริษัทให้กู้เช่าซื้อนั้น  ผมคิดว่าการที่หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกลัวเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในด้านของบุคคลธรรมดา  ดังนั้น กลยุทธที่ควรใช้ก็คือ  เราควรเลือกหุ้นที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มที่ราคาก็ถูกอยู่แล้ว  นอกจากนั้น  เราควรต้องดูว่าหนี้เสียของบริษัทนั้นจะสามารถควบคุมได้ไม่สูงเกินไป  นอกจากนั้น  ความสม่ำเสมอของผลงานในอดีตก็ควรจะต้องเป็นปัจจัยประกอบในการวิเคราะห์ด้วย  ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์นั้น  ผมคิดว่าถ้าจะลงทุนควรจะเน้นที่ความถูกมาก ๆ  เช่น  เฉพาะเงินสดที่มีในบริษัทก็อาจจะมากกว่าราคาหุ้นแล้ว  ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าเลิกบริษัทเอาเงินมาแบ่งกันก็อาจจะคุ้มแล้ว  ผมเองไม่ทราบว่ายังมีหุ้นหลักทรัพย์ที่ถูกขนาดนั้นหรือไม่  แต่นี่ก็คือกลยุทธหนึ่งที่จะซื้อหุ้นหลักทรัพย์

              หุ้นพลังงาน “ดั้งเดิม” บางตัว  นี่คือหุ้นขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานที่มีมานาน  หุ้นบางตัวนั้นขนาดใหญ่มากและทำธุรกิจหลากหลายเกี่ยวกับพลังงาน   แม้ว่ากิจการจะมีกำไรผันผวนตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวไปเรื่อย ๆ  แต่ในระยะยาวแล้ว  กำไร  “ปกติ”  ของบริษัทก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้  อย่างไรก็ตาม  หุ้นในกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ทำให้ขาดแรง  “เก็งกำไร” จากนักลงทุนรายย่อย  นอกจากนั้น  การเติบโตของกิจการเองก็ไม่สูง  ทำให้ตลาดไม่ใคร่ให้คุณค่ามากนัก  ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ถือว่ายังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็ควรจะต้องเข้าใจว่า  ข้อแรก  ราคานั้นไม่ได้ถูกมาก  ข้อสอง  การจะได้ผลตอบแทนมากและเร็วน่าจะยาก  การลงทุนควรจะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนพอสมควรและความเสี่ยงไม่สูง  ส่วนกลยุทธการลงทุนก็เช่นเคย  ต้องเน้นที่หุ้นที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน  ขณะเดียวกัน  ผลประกอบการก็จะต้องมีความสม่ำเสมอมั่นคงพอสมควร  และปันผลที่ได้ก็ต้องค่อนข้างดี  อย่างน้อยควรจะได้ถึง 4%ในปีล่าสุด

              ทั้งหมดนั้นก็คือกลยุทธคร่าว ๆ  ของการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์  การลงทุนนี้  สำหรับผมแล้ว  มันเป็นการเลือกที่เรียกว่า  “Second Best”  คือ  ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้  และจริง ๆ  ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด  แต่มันยังดีกว่าการเก็บเป็นเงินสดไว้ในธนาคาร  การลงทุนในหุ้นถูกแบบนี้  อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ถือไว้ยาวนานมาก  เราต้องคอยเฝ้าดูอยู่เสมอว่ามันถึงเวลาขายหรือยัง  ไม่ใช่แค่ดูหุ้นตัวที่เราลงทุน  แต่ต้องดูว่ามีโอกาสที่จะพบหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่าและถือลงทุนระยะยาวกว่าได้หรือไม่  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  นี่คือการลงทุนที่อาจจะไม่  “ถาวร”  แต่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้  และดังนั้น  มันจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ของพอร์ตของเรา
 
Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา :
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2014/03/24/1410